โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

พรรคการเมืองใหม่เสียดายรัฐบาลรีบยุบสภา “สุริยะใส” ชี้หนีปัญหา

Posted: 13 Mar 2011 11:42 AM PDT

 
พรรคการเมืองใหม่เสียดายรัฐบาลรีบยุบสภา
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่พรรคการเมืองใหม่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรค นายสำราญ รอดเพชร รองหัวหน้าและโฆษกพรรค และ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย นายสำราญ กล่าวถึงท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่า จะมีการยุบสภาในช่วงเดือน พ.ค.ว่า มีความชัดเจนแล้วว่าจะมีการประกาศยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.ค.ซึ่งแม้จะเป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย และนายกฯมีอำนาจ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ใช้เวลาที่เหลือตามวาระอีก 9-10 เดือน แก้ไขและปฏิรูปปัญหาสำคัญๆ ของบ้านเมืองให้แล้วเสร็จ
 
นายสำราญ กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วการรีบยุบสภาภายใต้ข้ออ้างให้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศชี้อนาคตของบ้านเมือง ตามที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวอ้างนั้น น่าจะเกิดจากการอับจนปัญญาและจนความสามารถที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย และที่สำคัญ เกิดจากกรอบความคิดกลเกมทางการเมือง โดยวาดหวังว่า ตัวเองจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีอะไรแน่นอนแม้แต่น้อย และแม้สภาวการณ์ทางการเมืองเบื้องหน้ายังไม่มีอะไรแน่นอนและน่าเป็นห่วง และการเลือกตั้งก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งกลไกหนึ่งของประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองใหม่ขอทำหน้าที่เสนอตัวเองเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนคนไทย โดยจะส่งผู้สมัครที่กลั่นกรองคัดสรรแล้ว ให้มากที่สุดตามความเหมาะสม
 
โฆษกพรรคการเมืองใหม่ ยังได้สนับสนุนแนวคิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้รัฐบาลใช้เวทีสภาออกกฎหมายลูกรองรับการเลือกตั้ง แทนที่จะใช้การออกระเบียบของ กกต.ดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว และยังฝากไปถึงการทำหน้าที่ของ กกต.ด้วยว่า ล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท เพื่อให้ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่ามากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 1 พันล้านบาท ดังนั้น กกต.จะต้องพิสูจน์ตัวเองในการทำหน้าที่กำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไป อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมให้ลงได้ หากทำไม่ได้ก็ควรพิจารณาตัวเองหรือเสนอทางออกทางเลือกที่ดีกว่า กกต.
 
 
สมศักดิ์ยันการยุบสภาไม่ใช่การคืนอำนาจให้ประชาชน
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การยุบสภาของรัฐบาลนั้น ไม่ควรใช้คำว่าคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะตามรัฐธรรมนูญเมื่อมีการเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนก็ยังมีอำนาจในการตรวจสอบ หรือมีสิทธิของประชาชนอยู่ แต่ที่ผ่านมาการยุบสภาเป็นเรื่องเครื่องมือในการแก้ปัญหาของนักการเมือง ที่ไม่สามารถจัดการกันในกลุ่มนักการเมืองได้ จึงต้องตัดสินใจยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีตัวอย่างเช่นการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม ก็ถูกศาลตีความว่ากระทำผิด ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.แต่เมื่อมีการเลือกตั้งก็สามารถกลับมาได้ ทั้งที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดไปแล้ว ซึ่งไม่น่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในระบอบประชาธิปไตย เป็นการใช้เสียภาษีของประชาชนจัดการเลือกตั้งโดยเปล่าประโยชน์
 
หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ กล่าวอีกว่า มีข้อมูลจาก กกต.ที่ออกมายอมรับว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการซื้อเสียงกันอย่างมโหฬาร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235-236 นั้น กำหนดให้ กกต.ทำหน้าที่ให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม เสมอภาค ดังนั้น เมื่อ กกต.มีข้อมูลเช่นนี้แล้ว จึงควรวางแนวทางการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในระดับ กกต.จังหวัด ที่ไม่ควรให้มีการครอบงำของกลุ่มการเมือง เบื้องต้นควรที่จะมีการการกำหนดวงเงินในการหาเสียงเป็นอำนาจของ กกต.ที่ปัจจุบันกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละคนไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ก็มีการใช้เกินกันเป็นปกติ ดังนั้น กกต. ควรออกระเบียบใหม่ กำหนดงบประมาณ 3-5 แสนบาทต่อผู้สมัคร 1 คนก็น่าจะเพียงพอ เพื่อนำงบประมาณที่เหลือไปช่วยพรรคการเมืองเล็กๆ เป็นการเปิดโอกาสแสดงวิสัยทัศน์เป็นทางเลือกประชาชน รวมทั้งควรมีการเข้มงวดเรื่องการกระทำผิด ที่ต้องให้ใบแดง ตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงสมัคร เนื่องจากการให้เพียงใบเหลือง เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด สามารถกลับมาลงสมัครใหม่และอาจได้รับเลือกอีก ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สุจริตเที่ยงธรรมไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ประชาชนต้องรับเคราะห์
 
 
สมศักดิ์ยัน กมม. พร้อมลงเลือกตั้ง แต่ไม่กำหนดจำนวน ส.ส. เพราะเท่ากับดูถูกประชาชน
ในส่วนกรณีความพร้อมของพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะพรรคการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ต้องมีความพร้อมที่จะลงสมัคร ซึ่งขณะนี้จะเริ่มมีการกลั่นกรองตัวบุคคล โดยในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 30 มี.ค.ก็ประกาศขั้นตอนและกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร เพื่อให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นทางเลือกให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า พรรคจะไม่ใช้วิธีสกปรก เพราะปรารถนาที่จะเห็นเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมยกระดับไปสู่อารยะที่ เป็นประชาธิปไตยแท้จริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลเรื่องของความรุนแรง หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะตำรวจที่มีหน้าที่ดูแลบบ้านเมือง ไม่สามารถละเลยได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองใหม่ได้กำหนดเป้าหมายและจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งไว้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากทำเช่นนั้นจะเป็นการดูถูกประชาชน เพราะไม่มีใครที่สามารถรู้ได้ว่า พรรคจะได้คะแนนเท่าไร เพียงแต่พรรคมีหน้าที่นำนโยบายที่ทำได้จริงไปเสนอต่อประชาชน รวมทั้งคนที่ซื่อสัตย์ เสียสละ ซึ่งผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองจากประชาชนในพื้นที่ สาขาพรรค ศูนย์ประสานงาน และคณะกรรมการคัดเลือกมาเป็นลำดับ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการเสนอตัวผู้สมัครของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามพื้นที่เป้าหมายของพรรคคงเป็นพื้นที่ในเมืองเขตชั้นในของแต่ละจังหวัด ในส่วนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกพรรคต้องส่งเต็มจำนวนคือ 125 คน โดยเราจะคำนึงถึงเพศ อาชีพ ตัวแทนภูมิภาค ให้มีความหลากหลายที่สมดุลและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ยังมีแนวคิดที่จะหนุนให้สตรีเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองให้มากขึ้นด้วย
 
เมื่อถามต่อถึงการระดมทุนของพรรค หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่กล่าวว่า พรรคเราไม่มีนายทุน มีการบริหารจัดการที่ตรงไปตรงมา ใช้งบประมาณจากค่าบำรุงของสมาชิก ในส่วนการระดมทุนก็มีบ้าง แต่ไม่มากนัก เน้นระดมทุนผ่านทางมวลชนที่เคยทำงานร่วมต่อสู้กันมา คงไม่ใหญ่โตอย่างที่บางพรรคทำ
 
 
สุริยะใสชี้รัฐบาลชิงยุบสภาเป็นการหนีปัญหา
ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวเสริมว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตเรื่องการกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้งหรือปฏิทินการเมืองของ นายกฯ หลังหารือ กกต.ว่า ไม่เคยมีรัฐบาลไหนส่งสัญญาณหรือกำหนดปฏิทินเลือกตั้ง ทั้งที่อายุรัฐบาลเหลืออีกกว่า 8 เดือน กำหนดล่วงหน้ากว่า 4 เดือน ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการที่รัฐบาลชุดนี้อับจนปัญญาแก้ปัญหาประเทศ สถานการณ์รุมเร้ารัฐบาล ทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดโปงมากขึ้น ทำให้สังคมเริ่มเห็น และยังมีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องประกาศกำหนดการยุบสภา เป็นเหตุให้ประชาธิปไตยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองอีกครั้ง และไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางประชาธิปไตยอย่างที่คนในพรรคประชาธิปัตย์พยายามอวดอ้าง แต่เป็นการหนีปัญหามากกว่า
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ ฉบับ16: ปัญหากฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอการรณรงค์ยกเลิก ม.112

Posted: 13 Mar 2011 09:53 AM PDT

 

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มจะได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและในหลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่เพราะความลึกลับของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับความพยายามของหน่วยงานของรัฐที่เริ่มให้ความหมายใหม่ของความผิดฐานนี้ว่าเป็นความผิดฐานล้มเจ้าด้วย ความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อเรื่องนี้จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวในการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีข้อสังเกตว่าเรื่องราวที่เริ่มอึกทึกกึกก้องนี้ดำเนินคู่ขนานไปกับความเงียบงันของวงวิชาการนิติศาสตร์ เหมือนกับเรื่องครึกโครมอื้อฉาวอีกหลายเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา...
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร สมควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ในระดับตัวบทกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ

ปัญหาประการแรกของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ ปัญหาการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ 4 ตำแหน่ง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าตำแหน่งซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะไว้เป็นพิเศษนั้นมีตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วประมวลกฎหมายอาญาจะมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลธรรมดา คือ การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่น เป็นการกระทำที่มีโทษทางอาญาก็ตาม แต่การมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด  บทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษนี้มีปรากฏเช่นกันแม้ในประเทศที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เท่ากับประมุขของรัฐทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก อนึ่งหากในทางนิตินโยบาย ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการคุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ก็จะต้องอธิบายให้เห็นเหตุผลความจำเป็น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะกำหนดอัตราโทษให้เท่ากับบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐไม่ได้

ปัญหาประการที่สองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 คือ ปัญหาอัตราโทษ ปัจจุบันโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ คือ โทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล คือ โทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี ฤาให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าหนึ่งพันห้าร้อยบาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย ความไม่สมเหตุสมผลของอัตราโทษตามมาตรา 112 คือ ในขณะที่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นโทษจำคุกนั้น กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินสามปี โดยไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งหมายความว่าศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยเพียงใดก็ได้ แต่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย กลับกำหนดไว้สูงสุดถึงสิบห้าปี โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปี มีข้อสังเกตด้วยว่าในคราวประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ พ.ศ. 2500 นั้น โทษตามมาตรา 112 คือ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ อาจกล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาประการที่สามของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ การไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดในกรณีที่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ซึ่งประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องสามารถกระทำได้ การไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจกระทำได้เช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันกับราชการแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรในทางรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ย่อมไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าการกระทำของตนนั้นจะถูกตีความว่าเป็นการกระทำอันครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บุคคลนั้นก็ไม่อาจยกเอาข้อต่อสู้ที่ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดได้ ในขณะที่การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา สามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้  มีข้อสังเกตว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของไทยที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2477 นั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 104 ว่า การกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ รัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆที่ได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

นอกจากปัญหาในแง่ของหลักการการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่ง ระดับอัตราโทษ ตลอดจนเหตุยกเว้นความผิดที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาที่ดูจะหนักกว่าและแก้ไขได้ยากกว่าคือปัญหาการตีความตัวบทมาตรา 112 โดยองค์กรตุลาการ ปัญหาดังกล่าวนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเข้าใจอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กล่าวให้ถึงที่สุดการตีความบทบัญญัติมาตรา 112 แยกไม่ออกจากความเข้าใจในเรื่อง “ระบอบ” การปกครอง

ถึงแม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 112 จะใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจนตามสมควร คือ คำว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งหมายความว่า การกระทำที่ไม่สมควร การกระทำที่มีลักษณะไม่เคารพ ไม่นับถือ ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากแนวทางการปรับใช้กฎหมายของศาล ตลอดจนการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและการฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการย่อมจะเห็นได้ว่ามีการนำเอาถ้อยคำของบทบัญญัติมาตรานี้ใช้บังคับไปถึงการไม่แสดงความเคารพ ซึ่งบางกรณีก็เป็นการแสดงออกต่อสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น การไม่ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย  ในทางหลักวิชา การใช้กฎหมายอาญาในลักษณะเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นการเทียบเคียงบทกฎหมายลงโทษบุคคล ซึ่งถือว่าต้องห้าม ไม่สามารถกระทำได้ในทางกฎหมายอาญา ผลพวงจากการนี้ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะผู้ที่แสดงความคิดเห็นอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานนี้ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับที่มากไปกว่าตัวบทดังที่ได้ชี้ให้เห็นโดยสังเขปนี้ จะแก้ไขได้ก็แต่โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคคลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่า บทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของประมุขของรัฐนั้น จะต้องได้รับการใช้และตีความให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้และตีความเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพ้นสมัยเสียแล้ว

กล่าวให้ถึงที่สุด การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมไม่อาจแก้ไขได้แต่เพียงระดับตัวบทเท่านั้น เพราะแม้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว ก็ยังคงต้องมีบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของประมุขของรัฐเข้ามาแทนที่อยู่ดี การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนจึงต้องแก้ที่สำนึกเกี่ยวกับอุดมการณ์ของการปกครองที่อยู่เบื้องหลังตัวบท และเป็นตัวกำกับการตีความตัวบท จะต้องทำให้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสำนึกของบรรดาบุคคลทั้งปวงในกระบวนการยุติธรรม

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำลังทำกันอยู่นั้น จึงต้องเป็นการยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการในทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา และต้องเป็นการยกเลิกอุดมการณ์ในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งการกระทำในระดับอุดมการณ์นี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง และกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ให้รับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญให้ถูกต้องต่อไป.

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านปากมูลไม่กล้าออกรายการสด เกรงเผชิญหน้าม็อบหนุน "อิสระ" ลั่นเปิดเขื่อนเมื่อไรลาออกทันที

Posted: 13 Mar 2011 06:30 AM PDT

ม็อบหนุนปิดประตูเขื่อนปากมูลกว่า 500 คน บุกให้กำลังใจ นายอิสสระ สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี และ รมว.พัฒนาสังคมฯ ที่จะดีเบตกับแกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาปากมูล ส่งผลให้ตัวแทนปากมูลไม่กล้ามาร่วมรายการสด ลั่นลาออกหากเปิดเขื่อนปากมูล

 


 

ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

13 มี.ค. 54 - ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จ.อุบลราชธานี มีกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนการปิดประตูเขื่อนปากมูลประมาณ 500 คน รวมตัวบริเวณสนามหญ้าหน้าสถานีโทรทัศน์ เนื่องจาก นายอิสสระ สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็น ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี จะออกโทรทัศน์รายการบอกข่าวเล่าแจ้งสุดสัปดาห์ เวลา 08.00-09.00 น.
      
โดยมี นายสุชัย เจริญมุกขยนันท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อดีเบตกับ นายกฤษกร ศิลารักษ์ ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
      
ทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ต้องมาเชิญชาวบ้านที่มาให้กำลังใจออกไปอยู่ด้านนอกสถานี เพราะเกรงตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนที่จะเข้าร่วมรายการสด ไม่กล้าเดินทางเข้ามาในสถานี กระทั่งถึงเวลา นายสุชัย ได้รับแจ้งจากนายกฤษกร ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน จะใช้วิธีโฟนอินเข้าร่วมรายการ เพราะจากการตรวจสอบของกลุ่มสมัชชาคนจน พบมีคนที่ได้รับการจัดตั้งบางคนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุน ทำให้กลัวไม่ได้รับความปลอดภัยหลังออกรายการเสร็จแล้ว
      
นายสุชัย จึงดำเนินรายการโดยมี นายอิสสระ สมชัย มาออกรายการสดเพียงคนเดียว สำหรับเนื้อหาการดีเบตผ่านรายการของทั้งสองฝ่าย ยังคงอยู่ในประเด็นความจำเป็นของแต่ละฝ่าย โดยฝ่ายสมัชชาคนจนยืนยันว่า การเปิดเขื่อนปากมูล จะทำให้สภาพแวดล้อมของแม่น้ำมูลอุดมสมบูรณ์ขึ้น และทำให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำที่เคยสูญเสียรายได้จากการจับปลาไปปีละกว่า 150 ล้านบาทกลับมามีรายได้อีกครั้ง ถ้ามีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่ม สมัชชาคนจน
      
ส่วนนายอิสสระ ยืนยันว่า การเปิดประตูเขื่อนปากมูล ทำให้แม่น้ำเกิดความแห้งแล้ง มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังสองฝั่งแม่น้ำกว่า 500 ครอบครัว มีปลาเลี้ยงอยู่ในความดูแลกว่า 4,000 กระชัง ต้องได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ จึงขอให้กลุ่มสมัชชาคนจนยึดตามมติ ครม.เมื่อปี 2551 คือให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลปีละ 4 เดือน และปิด 8 เดือนตามเดิม
      
“สำหรับการเยี่ยวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ผ่านมาจำนวน 6 ครั้ง ชาวบ้าน 6,176 ราย ได้รับเงินตอบแทนไปแล้ว 489,540,000 บาท ไม่น่าจะมาเรียกร้องเอาอะไรอีกแล้ว” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว
      
ด้านนายกฤษกร ตัวแทนชาวบ้านปากมูล กล่าวว่า เสียดายโอกาสที่ไม่ได้ไปร่วมดีเบตกับนายอิสสระ เพราะฝ่ายตนมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปาก มูล จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่เมื่อมีการเกณฑ์คนจากนอกพื้นที่มากดดัน เกรงไม่ปลอดภัย จึงปล่อยให้นายอิสสระเสนอข้อมูลของตนเพียงฝ่ายเดียว
      
ส่วนข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ก็ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 ซึ่งให้นักวิชาการไปจัดทำแนวทางการเปิดประตูเขื่อนปากมูลแล้วเสนอกลับไปยัง ครม.ภายใน 45 วัน
      
“สำหรับการชดเชยความเสียหายที่ผ่านมา ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง เป็นเพียงบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลาม การเปิดประตูเขื่อนปากมูล จึงเป็นทางออกของทุกฝ่ายในปัญหานี้”

ทั้งนี้ภายหลังการร่วมรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นแล้ว นายอิสสระ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยกับกลุ่มประชาชนที่ให้การสนับสนุนที่ด้านหน้าสถานี โทรทัศน์ ช่อง 11 อุบลราชธานี ว่า ยืนยันคัดค้านการเปิดประตูเขื่อนปากมูล และขอท้าเอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน หากครบ 45 วันที่ศึกษาแล้ว ยังมีมติ ครม.ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล ก็พร้อมลาออกจากตำแหน่ง

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกช่วยจำ “แผลเก่า” ถึง “แผลใหม่”: 7 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย

Posted: 13 Mar 2011 05:21 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: บันทึกช่วยจำ “แผลเก่า” ถึง “แผลใหม่” บทความรำลึกครบรอบ 7 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร

 

1. หะยีสุหลงถูกอุ้มหาย 24 มีนาคม 2497

หะยีสุหลงตัวแทนของชาวมลายูมุสลิมปาตานีได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย จากข้อเรียกดังกล่าวจึงทำให้หะยีสุหลงถูกมองเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน ถูกจับดำเนินคดี 2 ข้อหาสำคัญ คือเป็นกบฏและหมิ่นประมาทรัฐบาลที่กล่าวหากดขี่ประชาชน ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลงพ้นมลทินข้อหากบฏ หลังจากนั้นตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกพบหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนากับบุตรและเพื่อนรวมจำนวน 4 คน แต่ทว่าหลังจากนั้น ก็ไม่พบร่องรอยของหะยีสุหลงและพวก ทำให้เข้าใจกันในหมู่คนมลายูว่า หะยีสุหลงได้ถูกฆ่าและจับถ่วงน้ำที่ทะเลสาบสงขลา

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

ปี 2500 อันเป็นปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หะยีอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงคนถัดจากอาห์มัด โต๊ะมีนา เป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ในช่วงการรณรงค์หาเสียง ประเด็นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของศาสนาและการเมือง ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่มาเลเซีย ได้รับเอกสารจากอังกฤษในปีเดียวกันนั้น ความตื่นตัวของชาวมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้เรื่องสิทธิและเสรีภาพแห่งตนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง หะยีอามีน โต๊ะมีนาได้รับเลือกให้เป็นส.ส.ปัตตานีทั้ง 2 ครั้งที่มีการเลือกตั้งซ้อน ๆ กันถึง 2 ครั้งในปี 2500

   

2. ประท้วงหน้ามัสยิดกลางปัตตานี 2518

ชาวมลายูมุสลิมถูกทหารซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่วัดเชิงเขา ต.บารูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ได้กั้นรถและตรวจค้น ก่อนที่ชายทั้ง 5 คน กลายเป็นศพถูกนำไปโยนทิ้งแม่น้ำบริเวณสะพานกอตอ เนื่องจากความไม่พอใจที่มีการฆ่าชาวบ้านที่ “สะพานกอตอ” ได้ทำให้นำไปสู่การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมเกิดขึ้นหน้าศาลา กลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 11 ธ.ค. 2518 การ ประท้วงผ่านไปได้แค่ 3 วัน ในคืนวันที่ 13 ธ.ค. 2518 มีมือลึกลับขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีก 25 คน ก่อนจะย้ายมาชุมนุมสถานที่ใหญ่ ณ มัสยิดกลางปัตตานี

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

ปีรุ่งขึ้นสังคมไทยตกอยู่ในภาวะ “ลงแดง” กลุ่มฝ่ายขวา ได้การปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 2519
หลังจากนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้นักศึกษามลายูปาตานี ตั้งกลุ่ม”สลาตัน” เพื่อออกรณรงค์เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย แต่ทว่าปัญญาชนอีกจำนวนหนึ่งได้ไปตั้งกลุ่มใต้ดินติดอาวุธ นามว่า PULO [1] เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐไทย ทำให้เกิดกลุ่มติดอาวุธขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากความเจ็บแค้นของการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานี

   

3. การประท้วงฮิญาบ 2531

การประท้วงฮิญาบ เป็น เวลาหนึ่งสัปดาห์ที่จ.ยะลาเมื่อปี 2531 เป็นการประท้วงเพื่อสนับสนุนนักศึกษามุสลิมในสถาบันราชภัฎยะลาประมาณ 7 คน ที่ต้องการแต่งฮิญาบตามบัญญัติอิสลาม คือปกปิดเรือนร่างทั้งหมดด้วยเสื้อผ้าหลวม ๆ ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ ซึ่งขัดกับเครื่องแบบของสถาบัน การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องแต่งกาย ตามบัญญัติศาสนาของนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการทุกกระทรวงของสตรีมุสลิม เป็นการต่อสู้ที่เกิดจากภาคประชาชนภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วย สิทธิในการนับถือศาสนา

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

กรณีประท้วงฮิญาบทำให้กลุ่มวาดะฮฺนำโดย นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา และ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 และในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. ทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เลยแม้แต่คนเดียว

   

4. อุ้มหายทนายสมชาย 12 มีนาคม 2547

ในฐานะของทนายที่ติดตามคดีทางภาคใต้ และได้เห็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน สมชาย นีละไพจิตร จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังล่า 50,000 รายชื่อ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ และออกมาเปิดโปงการทรมานผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน ทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งคณะแพทย์เข้าไปดูอาการของผู้ต้องหา ก่อนที่จะถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มลักพาตัวไปในรถคันหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือในช่วงนั้น "ทนายสมชาย" กำลังดำเนินคดีสำคัญอยู่คือ เป็นทนายให้กับจำเลยในคดีก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาเป็นมลายูมุสลิม 5 คน ถูกจับกุมและถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

การถูกบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้เรื่องของกระบวนการสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น เป็นคดีหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้รัฐบาลจะประสบความสำเร็จใน การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา รวมถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่สิ่งเดียวที่รัฐยังไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ ความยุติธรรม และ ความเสมอภาคทางกฎหมาย จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องภายในสังคมมลายูปาตานี ในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้น และเกิดการทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิความเป็นพลเมืองตามขึ้นมาด้วย

   

5. กรณีมัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน 2547

เมื่อเช้าตรู่วันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มผู้ก่อการ ได้โจมตีป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดกรือเซะ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน ได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ มีประชาชประมาณ 2,000-3,000 คน รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณมัสยิด เจ้าหน้าที่ปิดล้อมมัสยิดอยู่นานครึ่งค่อนวัน ทางตำรวจทหารตัดสินใจบุกเข้าไปในมัสยิด ใช้ระเบิดมือและอาวุธ จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่ภายในมัสยิดทั้ง 32 คนเสียชีวิต การสังหารกลุ่มบุคคลภายในมัสยิด กรือเซะ ดังกระฉ่อนแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยภาพรวมต่างๆที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ทำ ให้คนต้องจบชีวิตลงกว่าหลายร้อยคน นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้นั้นทำให้ความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดน ภาคใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

ในความทรงจำ กับความรุนแรงครั้งนี้ ได้ตอกย้ำความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทำอย่างยิ่ง เพราะว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้ ได้กระทำต่อหน้าชาวมลายูมุสลิมปาตานีทั้วโลก เหตุเพราะว่าได้มีการถ่ายทอดสดทางทีวีในการปราบปรามและสังหารครั้งนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลแลรัฐไทย ได้ถึงขีดต่ำสุด และเป็นความรู้สึกเย็นยะเยือกทางด้านสังคม การเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง จนทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งต่อมาหลังจากนั้น ได้ทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ no vote แก่รัฐบาลไทยรักไทย และต่อมาพรรคการเมืองฝ่านตรงกันข้ามได้รับการเลือกจากประชาชนในพื้นที่กลับมาอีกครั้ง

   

6. สังหารหมู่ตากใบ 25 ตุลาคม 2547

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยต่างๆ ถูกระดมมาเพื่อสลายผู้ชุมนุมชาวมุสลิม ที่มารวมตัวกันอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ชุมนุมประท้วง 7 คนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงอีก 78 คนขาดอากาศหายใจ หรือถูกทับจนเสียชีวิตระหว่างที่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัว การดูแลทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาหลายวัน ที่ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 1,200 คนอยู่ในความควบคุมของทหาร ทำให้มีผู้ประท้วงจำนวนมากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง และต้องถูกตัดแขน หรือขา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบ แต่ผู้ชุมนุมประท้วงชาวมุสลิม 58 คนกลับถูกตั้งกล่าวหาว่า กระทำความผิดในทางอาญา

ผลสะเทือน

ผลสะเทือนทางการเมือง

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและยื้อเยื้อ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนกระทั่งสู่กระบวนการยุติธรรมศาลไทย ที่ตัดสินว่า การตายของผู้ชุมนุมเพราะว่าขาดอากาศหาย ไร้ซึ่งคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดต่อชาวมลายูมุสลิมปาตานี ในทางกลับกันลูกหลานและญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิต ก็ได้ตัดสินใจจะเข้าร่วมในการปฎิบัติกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เหตุผลของกลุ่มที่ติดอาวุธมีพลังและโน้มน้าวให้เด็กรุ่นใหม่เข้าขบวนการ ส่วนทางการเมือง ทำให้เกิดภาวะ “รัฐล้มเหลว” อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ครบรอบเจ็ดปีการหายไปของทนายสมชาย
20.30 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554
เอกรินทร์ ต่วนศิริ

 

หมายเหตุ:

  1. อนึ่ง องค์กรปลดล่อยสหปัตตานีหรือพูโล (อังกฤษ: Patani United Liberation Organization) ก่อตั้งเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2511 โดยตวนกูบีรอ กอตอนีลอ หรือ อดุลย์ ณ วังคราม บัณฑิตจากอินเดีย ได้รวมเพื่อนๆ จัดตั้งองค์กรนี้ที่ซาอุดิอาระเบีย การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการปลุกระดมมวลชนโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น พูโลจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 ผู้นำกองกำลังที่สำคัญมีหลายคน เช่น หะยียูโซะ ปากีสถาน และหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีการส่งเยาวชนไปฝึกวิชาทหารและการก่อวินาศกรรมที่ลิเบียและซีเรีย องค์กรเริ่มมีปัญหาจากการปราบปรามของรัฐและนโยบายใต้ร่มเย็นในช่วงหลัง จน พ.ศ. 2525 จนนำไปสู่การแตกแยกภายในองค์กร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปร. ย้ำกระจายถือครองที่ดินต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า วอนทุกฝ่ายร่วมผลักให้เป็นจริง

Posted: 13 Mar 2011 05:04 AM PDT

นักวิชาการ มธ. ชี้กระจายการที่ดินอย่างเป็นธรรม ต้องเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก กก.ปฏิรูปย้ำจะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง “สาทิตย์” ยอมรับโฉนดชุมชนยังมีปัญหาเพราะกฎหมายยังไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 54  ที่ห้องประชุมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย  ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยได้จัดเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปความเป็นธรรมในสังคมไทย”

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะตอบรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินบางประเด็น แต่ก็มีบางเรื่องที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงขอเน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องกระจายการถือครอง ด้วยการใช้มาตรการทางทางภาษีในอัตราสูง รวมทั้งภาคสังคม ฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน

“พรรคการเมืองต้องออกมารับลูก เพราะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 5-6 ฉบับ หากไม่รับลูกก็จะปฏิรูปไม่สำเร็จ  ส่วนนักวิชาการจำเป็นที่ต้องออกมาแสดงความเห็นเพื่อนำข้อมูลวิชาการมาคุยกันเพื่อใช้ข้อมูลขับเคลื่อนร่วมกัน สิ่งแรกที่สามารถทำได้เลยคือ การเปิดเผยข้อมูล ไม่จำเป็นต้องทำข้อมูลใหม่แต่สามารถเปิดเผยได้ด้วยการใช้รัฐธรรมนูญ เพราะการเปิดเผยข้อมูลเรื่องที่ดินถือเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนอีกทางหนึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกิดขึ้น”

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลการปฏิรูปที่ดินหลายประเทศ และจากประสบการณ์เรื่องที่ดินในเมืองไทยเห็นได้ชัดว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเกิดขึ้นจากกลไกตลาดการซื้อขายที่ดินมีความเสรี จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ใครมีเงินมากก็ซื้อที่ดินมาก โดยพบว่าหลังปี 2540 มีที่ดินเกือบ 40 ล้านไร่กลายเป็นที่ดินเน่าเอ็นพีแอล. และ เอ็นพีเอ. เมื่อกลไกตลาดบิดเบือนก็ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นวิธีแก้ไขต้องแทรกแซงกลไกตลาดให้ทำงานอยู่ในระดับที่รับใช้สังคม ด้วยการกระจายที่ดินออกมาให้ได้ ด้วยมาตรการทางภาษีก้าวหน้าในอัตราสูง เพราะคนที่ซื้อที่ดินเก็บไว้เก็งกำไรเขาจะได้คายที่ดิน

“เมื่อปี 2543 มีที่ดินถูกปล่อยให้ทิ้งร้างถึง 47 ล้านไร่ แต่เมื่อปี 2550 ราคาข้าวดีดตัวสูงขึ้นจึงเกิดปรากฎการณ์คนแห่กลับไปสู่ภาคเกษตร ทำให้เกิดการเช่าที่ดินเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ราคาเช่าที่ดินไร่ละประมาณ 500-1,000 บาทต่อไร่ แต่ตอนนี้สูงขึ้นถึงไร่ละ 1,500-2,000 บาทหรือร้อยละ 35-40 ของต้นทุนของการทำนา เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน ดังนั้นต้องทำให้ภาษีที่ดินสูงในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเกิดขึ้น ถ้าทำได้ผลอย่างน้อยเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือนก็จะได้รับการดูแล สำหรับข้อเสนอในการจำกัดการถือครองที่ดิน 50 ไร่นั้นถือเป็นเพียงเกณฑ์ที่วางไว้เท่านั้น แต่เรายังยืนยันว่าหากใครอยากจะถือครองมากกว่านี้ก็ได้ แต่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า”นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว

ด้านนายอภิชาติ สถิตนิรมัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ คือ การกระจุกตัวของที่ดินโดยเจ้าของที่ดินส่วนมากจะเป็นนายทุนและนักการเมืองไม่ใช่เกษตรกรที่ใช้ที่ดินในการทำการเกษตร   อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งคือภาคเกษตรกรเองก็มีปัญหา

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533-2552 พบว่าแรงงานภาคการเกษตร หนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-34 ปีลดลงถึง  4.1 ล้านคน ทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก จนต้องนำเทคโนโลยีด้านการผลิตมาใช้เป็นจำนวนมาก

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า  หากจัดแบ่งเกษตรกรออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรมืออาชีพที่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงตลาดในภาคการเกษตรได้ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5-6 แสนคน และถือครองที่ดินมากกว่า 40 ไร่ และกลุ่มเกษตรพอเพียงซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำการเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพ ตนเป็นห่วงเกษตรกรกลุ่มนี้เพราะส่วนใหญ่มีบุตรหลานไปทำงานในเมืองและส่งเงินกลับมาให้ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง คนเหล่านี้ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนและมีแหล่งราย 80 เปอร์เซ็นต์นอกภาคการเกษตร

“ผมเสนอทางออกเรื่องการกระจายที่ดิน คือต้องเร่งปฏิรูปให้เกิดการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินตามมูลค่าในอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่ตามขนาดพื้นที่ โดยนำที่ดินทุกส่วนออกมาตีมูลค่าใหม่ให้หมด เช่น หากเป็นที่ดินที่ทำกินหรือทำการเกษตรควรเก็บในราคาเท่านี้ หรือที่ดินที่เก็บไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่ดินที่นายทุนหรือนิติบุคคลซื้อไว้เก็งกำไร เราต้องตีความเรื่องนี้ให้ใหม่หมดเพราะที่ดินในภาคชนบทกับที่ดินในเมืองต่างกัน หากเราทำตรงนี้ได้จริง จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล รวมทั้งต้องเก็บภาษีมรดกด้วย เพราะภาษีเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนในการถือครองที่ดินสูงขึ้น การแทรกแซงตลาดด้วยราคาภาษีจะทำให้เกิดการกระจายที่ดินออกมาอย่างแน่นอน”นายอภิชาติกล่าว

ด้าน น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่รัฐจะทำการปฏิรูปที่ดินให้เกิดอย่างแท้จริงรัฐต้องทำการปฏิรูปเรื่องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อน เพราะปัจจุบันนี้มีเกษตรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก หากพูดเรื่องปฏิรูปที่ดินพูดเรื่องช่วยเหลือชาวบ้านและคนยากจน แต่ยังมีชาวบ้านและคนยากจนจำนวนมากถูกจับกุมคุมขังอยู่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง รัฐต้องปลดล็อคเรื่องคดีความให้กับชาวบ้านทั้ง 3 ส่วนคือคดีความที่อยู่ในชั้นอัยการ ชั้นศาล และอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดี รัฐบาลต้องมีนโยบายในการยุติและชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน เพราะถ้าจะสงบศึกแต่ไม่ยุติข้อบาดหมางการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก็ไม่มีประโยชน์

นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดิน เป็นนโยบายที่รัฐบาลจะต้องรับไว้ โดยเฉพาะในเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องศึกษาร่วมกัน เราควรมีสถาบันวิจัยที่ทำการวิจัยในเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และศึกษาอย่างแท้จริงว่าควรจะมีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจำนวนเท่าไหร่ถึงจะทำให้กลุ่มนายทุนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากคายที่ดินเหล่านั้นออกมา

“รัฐต้องกล้าผลักดันเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าเพราะปัจจุบันการจัดเก็บภาษีที่ดินเหล่านี้ไม่ได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง  รัฐควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการดูแลในเรื่องที่ดินใหม่โดยต้องกล้ากระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น และต้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองในการปฏิรูปที่ดินได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโฉนดชุมชน เรื่องธนาคารที่ดิน และการยกร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินที่รัฐจะดำเนินการนั้นภาคประชาชนต้องการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการจัดการโดยต้องมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าไปร่วมยกร่างด้วยเพราะทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของประชาชน” ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าว

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมองย้อนไปดูมติครม.ก็จะพบว่ามีการพูดคุยกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องธนาคารที่ดินก็เคยพูดเมื่อปี 2525 ส่วนกฎหมายปฏิรูปที่ดินก็พูดกันมาตั้งแต่ปี 2518 และมีกฎหมายอื่นๆ อีกมากที่พูดถึงการปฏิรูปที่ดิน

“ตอนนี้มีข้อมูลว่า ที่ดินของรัฐกว่าสิบล้านไร่ถูกบุกรุก โดยการบุกรุกมี 2 แบบ คือ การบุกรุกครอบครองและรัฐประกาศทับที่ดิน แต่พบว่าจำนวนที่รัฐประกาศทับที่ดินทำกินมีจำนวนที่น้อยกว่า  ดังนั้นการปฏิรูปที่ดินจะต้องดูว่า มีจำนวนเกษตรกรที่ยากจนและไร้ที่ดินกินอยู่จำนวนกี่ราย และเกษตรกรที่บุกรุกที่ดินของรัฐจำนวนกี่ราย แล้วบุกรุกเพื่ออะไร หากเป็นคนยากจนจริงๆ เราคงต้องหาวิธีช่วยเหลือให้เขามีที่ดินทำกิน อาจจะอยู่ในรูปแบบของโฉนดชุมชน ที่ตอนนี้ยอมรับว่ามีปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่สามารถให้โฉนดชุมชนมีกรรมสิทธิ์ได้”นายสาทิตย์ กล่าว

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการขอโฉนดชุมชนทั่วประเทศ 195 ชุมชน 36 จังหวัด หรือ 1.4 หมื่นคน โดยอนุมัติไปแล้ว 35 แปลง ได้ส่งมอบแล้ว 2 แปลง ส่วนอีก 33 แปลงนั้นยอมรับว่าปัญหาข้อกฎหมายจากหลายหน่วยงาน ที่จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อออกกฎกระทรวงที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ส่วนความคืบหน้าเรื่องธนาคารที่ดินนั้นขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อในการตั้งกรรมการชั่วคราว  ซึ่งจะนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และให้ประชาชนขึ้นทะเบียนการไร้ที่ดินทำกินไว้ แล้วจากนั้นจะทำการพิสูจน์สิทธิต่อไปว่าไร้ที่ดินทำกินและยากจนจริงหรือไม่

“สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน คือ การผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ที่กฤษฎีกา หากดูตามปฏิทินการเมืองก็คงไม่สามารถประกาศใช้ได้รัฐบาลนี้ เพราะสัปดาห์หน้าก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเปิดสภากลับเข้ามาก็คงจะพิจารณาไม่ทัน เนื่องจากนายกฯ บอกว่าจะมีการยุบสภา”

 นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังมีความไม่ชัดเจนต่อข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เรื่องการถือครองที่ดิน 50 ไร่ และเคยทำหนังสือไปสอบถามก่อนหน้านี้ว่า นิติบุคคลจะสามารถถือครองได้หรือไม่ ซึ่งคปร.ก็ตอบกลับมา ถ้าหากคปร.ยืนยันว่านิติบุคคลสามารถถือครองได้ แต่ถ้าเห็นว่ามาตรการนี้ต้องดำเนินด้วยอัตราภาษีก็ถือว่าแนวคิดรัฐบาลกับแนวคิดคปร.ตรงกัน

“คาดว่าในครม.จะมีพิจารณาเรื่องนี้ในอีก 2 สัปดาห์ จะมีการเสนอควบคู่ไปกับการเสนอให้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องดูว่ากระทบข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ส่วนข้อมูลการถือครองได้พูดคุยกันว่าชื่อผู้ถือครองที่ดินจะถูกตีความว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ คงต้องถกเถียงกันพอสมควร รัฐบาลชุดนี้มองว่าการเปิดเผยข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ และการปฏิรูปที่ดินก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องมองถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย”นายสาทิตย์ กล่าว

อนึ่งประเด็นเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมนี้ จะมีการนำเข้าสู่เวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 – 26 มีนาคมนี้ ที่เมืองทองธานี โดยมีระเบียบวาสำหรับการพิจารณาและรับรอง 2 เรื่อง คือ  การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือออกแถลงการณ์ เยียวยาคน-หยุดเขื่อนขนาดใหญ่

Posted: 13 Mar 2011 04:54 AM PDT

 
13 มี.ค. 54 – เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือออกแถลงการณ์ “คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ เร่งเยียวยาผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ เร่งเยียวยาผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
           
14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสัญญาลักษณ์ของการหยุดเขื่อนโลก พี่น้องผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกได้ร่วมกันประกาศก้องให้คนทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลทั่วโลก ต้องตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           
พวกเรา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเอนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัยที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทั่วโลกต้องร่วมมือกันยับยั้งมหัตภัยเขื่อน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลของตนเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน
           
สำหรับประเทศไทย เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น และเราเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย แสดงความรับผิดชอบรวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำมูล เยียวยาชาวบ้านผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะชาวประมงที่ต้องเป็นหนี้สินจากการหาปลาในแม่น้ำมูลไม่ได้มากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดกั้นทางอพยพองปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูลจากการสร้างเขื่อนปากมูล
           
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาระวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นอย่างมาก บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศท้ายน้ำอย่างประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม อย่างชัดเจนมาแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรยุติการสนับสนุนและหยุดผลักดันเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินอย่างเด็ดขาด
 
ด้วยจิตรคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
14 มีนาคม 2554 ประเทศไทย
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

100 ปี สตรีสากล เครือข่ายสตรีชายแดนใต้ร้องรัฐ-สื่อ-สังคม คืนชีวิตปกติสุข

Posted: 12 Mar 2011 11:37 PM PST

13 มีนาคม 2554 เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ออกแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันครบรอบวันสตรีสากล รีบแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสตรีเสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์รวม 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน โดยแถลงการณ์มีข้อเรียกร้อง มีดังนี้

 

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากลสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กว่า 4,000 คน บาดเจ็บกว่า 7,000 คน เป็นสตรีที่ต้องสูญเสียสามี ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวกว่า 2,000 ครอบครัว ซึ่งต้องดูแลบุตรที่กำพร้าพ่อ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และยังมีสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการที่สามี หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องคดีความมั่นคงอีกกว่า 7,000 ครอบครัว สภาพดังกล่าวนี้ นับเป็นภาระที่สตรีต้องเผชิญ ซึ่งหนักหน่วงกว่าสตรีในพื้นที่ใดๆของประเทศนี้

ในวาระครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล สตรีจากทั่วทุกแห่ง ได้มีโอกาสเฉลิมฉลอง พร้อมกับส่งเสียงแห่งความ ทุกข์ยาก และเสนอข้อเรียกร้องที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า ให้คนทั้งประเทศ และทั่วทุกมุมโลกได้รับฟังและสนับสนุนมา ตั้งแต่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และตลอดต่อเนื่องในดือน อันเป็นวาระโอกาส ที่มีความหมายสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

พวกเรา เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และสตรีที่ร่วมขับเคลื่อนงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่ ขอร่วมเสนอข้อเรียกร้อง ดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง
1. รีบแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และหวาดระแวง

2. ปกป้อง และคุ้มครองทุกชีวิต ไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะการสูญเสีย ทำให้สตรี โดยเฉพาะผู้เป็นแม่และเมีย ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก และกลายเป็นผู้ต้องแบกรับภาระและผลกระทบอันหนักหน่วงตามมาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และรัฐบาลเองก็ต้องแบกรับภาระทางงบประมาณในการเยียวยาเช่นที่ดำเนินการมาหลายปี

3. เพิ่มมาตรการพิเศษในการปกป้องคุ้มครองสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่นับวันได้กลายเป็นเหยื่อโดยตรงของสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสตรีที่เสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์รวม 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน

4. มาตรการด้านความมั่นคงใดๆที่ใช้ต่อบุรุษ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสตรี ขอให้ยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อสตรีและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชนและสื่อทางเลือก
1. คำนึงถึงผลกระทบในการนำเสนอข่าวสาร ที่จะทำให้เกิดความบาดหมางและแตกแยกระหว่างประชาชน ที่นับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม เพราะปัจจุบัน ประชาชนทั้งสองศาสนา ล้วนเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง

2. นำเสนอข่าวสารที่จะช่วยทำให้คนในประเทศ เข้าใจรากเหง้าและความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ มากกว่าปรากฏการณ์รายวัน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การนำเสนอข่าวสาร ความเคลื่อนไหว มุมมองของสตรีและภาคประชาสังคมในการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง

ข้อเรียกร้องต่อสตรีและชุมชนสังคมชายแดนใต้
1. ขอให้เท่าทันต่อสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจากฝ่ายใด

2. ใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องที่ต้องการ หรือเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม



                                                   เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
                                                                               วันที่ 13 มีนาคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้แรงงานเร่งสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ในวาระใกล้ยุบสภาฯ

Posted: 12 Mar 2011 09:06 PM PST

สภาพัฒนาการเมืองกระตุ้นแรงงานซึ่งมีจำนวนมากกำหนดนโยบายการเมือง นักวิชาการยังไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง เหตุมีสัญญาณเตือนภัย ชี้ขบวนการแรงงานไทยถูกกันจากการเมืองในระบบ ซ้ำไม่เข้มแข็ง ถูกจำกัดอำนาจต่อรองด้วยกฎหมาย

(13 มี.ค.54) โครงการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสัญจร สอนประวัติศาสตร์ สร้างสำนึกประชาธิปไตย มูลนิธิแรงงานไทย สนับสนุนโดยสภาพัฒนาการเมือง จัดการเสวนาหัวข้อ "ยุบสภา! เลือกตั้งใหม่! เล่น(กับ)การเมืองอย่างไร? ให้แรงงานไทยมีอำนาจต่อรอง" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์

ถามแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ทำไมกำหนดการเมืองไม่ได้
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง ปาฐกถาในหัวข้อ "สภาพัฒนาการเมืองกับแนวทางส่งเสริมสิทธิแรงงาน" ว่า ในวาระที่อาจมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ มีคำถามท้าทายว่า ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ในสังคมได้ใช้ขบวนใหญ่ในทางการเมืองมากเพียงใด ได้เอาความคิดของผู้ใช้แรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อโยงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพียงใด

ลัดดาวัลย์เปรียบเทียบว่า ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเมืองสนับสนุนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีบทบาทตัดสิน ใจนโยบายในชุมชน เช่นการทำถนน การดูแลป่า เพื่อสร้างฐานให้ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนแรงงานก็เช่นกัน ควรมีสหภาพที่เข้มแข็ง จัดการตนเองได้ มีสมาชิกที่ช่วยคิดทำให้สหภาพเข้มแข็ง โดยขณะที่ชุมชน มีบทบาทไปถึงระดับท้องถิ่น แรงงานก็ควรมีบทบาทในพื้นที่โรงงาน โดยให้เจ้าของโรงงาน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตทุกคน มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการใช้แรงงานเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ต้องไม่ให้ค่าสมองมากกว่าค่าแรงงานซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดผลผลิต เมื่อนั้น โรงงานก็น่าจะเติบโต

ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า อยากให้แรงงานตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และตั้งคำถามว่า ทำไมคนงานถึงปล่อยให้คนบางคนมาตัดสินใจแทน ทั้งที่เรามีจำนวนความคิดมากกว่า รวมถึงอยากเห็นพรรคแรงงาน ผู้ใช้แรงงานที่โดดเด่นเข้าไปนั่งใน สภาฯ เพื่อทำให้แรงงานเข้มแข็งขึ้น ให้ขบวนแรงงานขับเคลื่อนไปได้ ก้าวให้พ้นเรื่องค่าแรง สวัสดิการไปเรื่องอื่นๆ ให้มากขึ้น รวมถึงเกิดภาคีอื่นๆ มาร่วมกับแรงงาน

ชี้มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน แสดงความเห็นว่า ยังไม่มั่นใจนักว่าจะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่ามีสัญญาณเตือนภัย เช่น เมื่อพูดเรื่องการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่มีโอกาสอยู่เสมอ เพราะดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยยินดีให้ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมือง นอกจากนี้ มองว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งจะไม่หายไป เพราะผู้ช่วงชิงอำนาจไม่มีฝ่ายใดมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งชัยชนะเด็ดขาด และไม่มั่นใจกับกระบวนการเลือกตั้ง

ด้านคู่ขัดแย้งทางการเมือง ศักดินากล่าวว่า กลุ่มเสื้อเหลืองพูดเรื่องการเมืองแบบเก่า มองหาอำนาจพิเศษมาเริ่มต้นการ เมืองใหม่ ส่วนกลุ่มเสื้อแดง พูดถึงการโค่นล้มระบอบเก่า สร้างรัฐไทยใหม่ มีการพูดถึงโมเดลอียิปต์พอสมควร ขณะที่ในการชุมนุมเมื่อคืน (12 มี.ค.) แกนนำมีสัญญาณว่าจะใช้ฐานเสื้อแดงลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวต่อว่า แรงงานไทย 37 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในแง่การจัดสรรผลประโยชน์แล้ว สังคมผู้ใช้แรงงานควรมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง แต่ในไทยยังไม่มี โดยยกตัวอย่างประเทศที่คนงานมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองว่า มีเงื่อนไขเรื่องระบบการเมืองที่เป็น ประชาธิปไตย โดยแบ่งหยาบๆ ได้ สามแบบคือหนึ่ง เสรีนิยม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แบบที่ไทยเป็น สอง ประชาธิปไตยรวมศูนย์ ที่ใช้ในประเทศคอมมิวนิสต์ และสาม สังคมประชาธิปไตย ซึ่งคำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคม ถ้าอยากให้คนงานมีส่วนทางการเมือง คนงานควรมีสิทธิเลือกว่าต้องการประชาธิปไตยแบบไหน ทั้งนี้ สังคมต้องเปิดต่ออุดมการณ์ที่เอื้อต่อชนชั้นแรงงาน รวมถึงมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ ผู้ใช้แรงงานต้องมีจิตสำนึกทางชนชั้น ความตื่นตัวทางการเมือง

ศักดินายกตัวอย่างการเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานสองแบบ โดยแบบแรกคือเข้าไปเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองโดยตรง เช่น อังกฤษ สอง โดยอ้อม ทั้งนี้ไม่ว่าแบบไหน ล้วนแต่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง มีสมาชิกจำนวนมาก เพื่อแข่งกับพรรคฝ่ายทุนได้ ขณะที่ไทยมีข้อจำกัด ทั้งประชาธิปไตยที่เราใช้เป็นแบบ เสรีนิยมที่เอื้อต่อทุน กำหนดโดยคนส่วนน้อย ทำให้คนงานทำได้แค่ผลักดัน ล็อบบี้ เรียกร้องบนท้องถนน ซึ่งเป็นไปอย่างจำกัด เพราะการเมืองบนท้องถนนก็กำลังถูกกีดกันด้วยกฎหมายการชุมนุมที่กำลังจะออก ด้านอำนาจต่อรอง ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง รวมถึงไม่มีการรวมตัวที่เข้มแข็งด้วย โดยมีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพฯ 1.3% ขณะที่เดนมาร์ก มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากถึง 90%

นอกจากนี้ มองว่ายังไม่มีอุดมการณ์ร่วมที่จะเรียกร้องผู้ใช้แรงงานให้เป็นหนึ่ง เดียวกัน ขาดขบวนการสามประสาน ไม่มีวิสัยทัศน์ กลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด และที่สำคัญ คนงานไม่ตื่นตัวทางการเมือง มองไม่เห็นความสำคัญของการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง

สำหรับข้อเสนอระยะสั้น ศักดินาแนะนำว่า ต้องสร้างสายสัมพันธ์ เมื่อไม่มีพรรคของตัวเอง ก็ต้องสนับสนุนผู้ใช้แรงงานที่เข้าสู่การเมือง ส่วนข้อเสนอระยะยาว ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ขยายการจัดตั้ง เชื่อมขบวนการผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน คิดเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร

สุดท้าย ศักดินาย้ำว่า ไม่มีทางลัดหรือเส้นทางพิเศษสำหรับผู้ใช้แรงงาน มีเพียงการทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้ความอดทนและมุ่งมั่นเท่านั้น

สุนี ไชยรส นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่ว่ามีการเลือกตั้งหรือไม่ การเมืองก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะการเมืองเป็นเรื่องกำหนด นโยบาย แม้ไม่มีการเลือกตั้ง แรงงานต่อสู้ทางการเมือง โดยใช้พลังของแรงงานทุกรูปแบบ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีต ยุคเผด็จการแรงงานก็เคลื่อนไหวได้

สุนีเสนอว่า ยังต้องต่อสู้แบบ "สามประสาน" ด้วยคือ การต่อสู้ร่วมกันของแรงงาน ชาวนาและปัญญาชน เพราะสังคมไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องคาบเกี่ยวกับแรงงานภาคชนบท ถ้าไม่แก้ไขทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุนทั้งระบบ จะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองมีอำนาจต่อรองน้อยลง รวมถึงฝากว่าในวันแรงงานที่จะถึงนี้ ขบวนการแรงงานควรจะมีข้อเสนอต่อทุกพรรคการเมืองเพื่อกำหนดนโยบายในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย

ขณะที่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แสดงความเห็นกรณีที่ให้เลือกตัวแทนของแรงงานด้วยกันเพื่อเข้าสู่การเมืองว่า คนเหล่านั้นจะต้องผูกโยงกับขบวนการแรงงานด้วย โดยทำพันธสัญญาต่อกัน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นลัทธิพรรคพวกไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำรวจกระแส ‘ต้านรัฐประหาร’ คนเสื้อแดง

Posted: 12 Mar 2011 08:17 PM PST

เค้าลางของการกำหนดวันเลือกตั้งมีให้เห็นท่ามกลางกลิ่นของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นระลอก เราจึงลองสุ่มสำรวจความคิดเห็นของ ‘คนเสื้อแดง’ คู่ขัดแย้งกับการรัฐประหารโดยตรงว่าพวกเขาเตรียมรับมือกับอย่างไร คิดอย่างไร หลังจากเผชิญความสูญเสียไปเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่งกลับมาใหม่แบบมีเวทีปราศรัยเต็มรูปแบบ

  • ถ้ามีรัฐประหารอีกจะทำยังไง?
  • ทำไมถึงต้องต้านรัฐประหาร?
  • ถึงที่สุด ถ้าพรรคการเมืองปรองดองกันจะโอเคไหม?
  • เริ่มมาชุมนุมตั้งแต่เมื่อไหร่?
  • นิยาม "ประชาธิปไตย" ยังไง?
  • เขาว่ากันว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง?
  • คนชั้นกลางมักดูถูกม็อบเสื้อแดงว่าโง่ ถูกจ้างมา?
  • มีรัฐประหารอีกรอบทำไง?
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 6 - 12 มี.ค. 2554

Posted: 12 Mar 2011 02:18 PM PST

แรงงานดีเดย์1พ.ค.เลิกจ่ายเงินประกันสังคม

นายนิมิตร เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวภายหลังการเสวนาร่วมหาทางออก สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกันตน โดยเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนออกจากจากระบบประกันสังคม ในเรื่องบริการด้านสุขภาพ

"พวกเราได้ตัดสินใจแล้วที่จะหยุด จ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล ที่คิดเห็นเงินประมาณ คนละ 250 บาทต่อเดือนในวันที่ 1 พ.ค."นายนิมิตรกล่าว

นอกจากนี้จะจัดเคลื่อนไหวใหญ่ในรูป ของสมัชชาผู้ประกันตนเพื่อแสดงออกถึง แนวคิดปฏิเสธการรักษาในระบบประกันสังคม โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด้านสุขภาพในระบบสปสช.เช่นเดียวกับประชาชน ทั่วไป และให้หยุดจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชน ที่เติบโตจากรายได้หลัก เงินประกันสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคร้ายแรง ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และมีค่ายาแพง อย่างไม่รับผิดชอบ"นายนิมิตรกล่าว

ด้าน นส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าครั้งนี้จะเป็นการทำงานปกป้องสิทธิตัวเอง และสิทธิคนส่วนใหญ่ของสังคมที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาในระบบประกันสังคม

"แม้การกำหนดให้จ่ายเงินจะเป็น กฎหมายบังคับ แต่ในเรื่องนี้จะได้มีการศึกษาหาช่องทางที่จะไม่จ่ายโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ว่าพรบ.ประกันสังคมที่กำหนดให้จ่ายเงินสมทบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะขอให้คุ้มครองที่ผู้ประกันตนจะชะลอ ซึ่งผู้ประกันตนจะไม่จ่ายเงินสมทบจนกว่าจะมีคำวินิยฉัยที่ชัดเจน"นางสารี กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 6-3-2554)

"มาร์ค"รับลูกข้อเสนอองค์กรสตรีเนื่องในวันสตรีสากล โอ่อยู่ในนโยบาย รบ.เพียบ คนงานหญิงประท้วง

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายรัฐบาล ผู้หญิงทำงานกับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ในงานประกาศเจตนารมณ์ ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคนในวาระการเฉลิมฉอง 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม จัดโดย 33 เครือข่ายองค์กรแรงงาน องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง และองค์กรสิทธิมนุษยชน ตอนหนึ่งว่า ได้ติดตามปัญหาของผู้หญิงที่มีอยู่หลายมิติ และรัฐบาลให้ความสนใจแก้ปัญหาของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรื่องของข้อจำกัดของสตรีไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในหลายประเทศ และมีการติดขัดที่โอกาสในการทำงานของสตรีจะถูกจำกัดเมื่อมีครอบครัวแล้ว เราจึงพยายามแก้ปัญหา เช่น การออก พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ การทำแผนปฏิรูปประเทศในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นโยบายในการดูแลแม่และเด็กในระดับต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้ชายสามารถลาไปดูแลบุตรได้ การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กที่อยู่นอกระบบ เป็นต้น สำหรับคำประกาศเจตนารมณ์กับสิ่งที่รัฐบาลทำมีความสอดคล้องกัน และเรายังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม และทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯรับแผ่นประกาศเจตนารมณ์ฯจากเครือข่ายสตรี ปรากฏว่าหญิงสาวคนเดิมได้เดินมาถ่ายภาพนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นได้เขียนข้อความในแผ่นกระดาษ 3 แผ่น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยแผ่นแรกเป็นรูปฝ่ามือมีข้อความประกอบว่า "ใครเปื้อนเลือด?"  และแผ่นที่ 2 และ 3 เขียนเหมือนกันว่า "ดีแต่พูด" ซึ่งนายอภิสิทธิ์เห็นข้อความดังกล่าว จึงกล่าวก่อนเข้าปาฐกถาว่า "ผมขอความร่วมมือ วันนี้เป็นวันสตรีสากล ใครที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ผมขอให้ไปพูดกันข้างนอก และขอให้รอฟังในสภาฯ จะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด" หญิงคนดังกล่าวจึงเขียนแผ่นกระดาษอีกใบว่า "เหรอ" แล้วชูค้างไว้อีกจนจบงาน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็ปาฐกถาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเข้าไปดึงแผ่นกระดาษจากมือผู้หญิงคนดังกล่าว แต่เกิดการยื้อยุดกัน ขณะที่นางสุนี ไชยรส ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พยายามขอร้องให้ผู้หญิงคนนี้หยุดถือป้าย เพราะวันนี้ถือเป็นวันของสตรีจึงไม่ควรทำเช่นนี้ แต่หญิงคนดังกล่าวไม่สนใจ ซ้ำส่งต่อไปให้เพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยกันอีก 2 คน ซึ่งนั่งแถวถัดไปด้านหน้าชูป้ายที่เขียนว่า "ดีแต่พูด" ขึ้นตลอดการปาฐกถาทำให้นายอภิสิทธิ์มีสีหน้าไม่สู้ดีนักตลอดการพูด เนื่องจากมีสื่อมวลชนและช่างภาพเข้ารุมถ่ายรูปหญิงดังกล่าวรวมทั้งผู้ร่วม งานที่หันไปดูทำให้ไม่สนใจฟังปาฐกถาของนายกฯ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเข้าสอบถามทราบว่า กลุ่มหญิงดังกล่าวเป็นอดีตพนักงานบริษัท ไทรอัมพ์ ที่เคยออกมาประท้วงเพราะถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

 (มติชน, 6-3-2554)

ตลอดวันนี้มีแรงงานไทยจากลิเบียเดินทางกลับ 776 คน

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า วันนี้(6 มีค) มีแรงงานไทยจากประเทศลิเบียเดินทางด้วยสายการบินต่างๆ ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว 456 คน โดยกลุ่มสุดท้ายจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบินที่ QR610 EY418 และเที่ยวบินที่ EY408 จำนวน 320 คน ทำให้มีแรงงานเดินทางกลับแล้ว 776 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์จนถึงเที่ยงคืนวันนี้ คาดว่ามีแรงงานไทยกลับถึงประเทศแล้วประมาณ 5,547 คน โดยกรมการจัดหางานให้การช่วยเหลือ อาทิ มอบเงินให้รายละ 1,500 บาท แนะนำข้อมูล ข้อปฎิบัติในการรับสิทธิคุ้มครองแรงงาน และการจัดเตรียมรถโดยสารเดินทางกับภูมิลำเนา นายศิวพงษ์ แสนโภชน์ อายุ 33 ปี ซึ่งเดินทางถึงประเทศไทย ได้แสดงความยินดีและขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ ส่วนวันพรุ่งนี้(7 มีค)จะมีแรงงานทยอยเดินทางกลับอีกประมาณ 7 เที่ยวบิน หรือประมาณ 491 คน เที่ยวบินแรกที่จะมาถึง เที่ยวบินที่ QR612 เวลา 06.00 น.

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6-3-2554)

แรงงานจากลิเบียร้องรัฐช่วยเหลือค่าจ้างค้างจ่าย-หนี้สิน

ความคืบหน้าแรงงานไทยจากผลกระทบ เหตุการณ์ไม่สงบในประเทศลิเบียยังคงเดิน ทางกลับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินแรกวันนี้มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลา 06.00 น. โดยสายการบินไทยเที่ยวบิน ทีจี 945 จากกรุงโรม ประเทศอิตาลี จำนวน 50 คน เที่ยวบินที่ 2 อีเค 374 จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จำนวน 15 คน ในเวลา 08.00 น. เที่ยวบินที่ 3 ทีจี 518 เวลา 08.40 น. จากยูเออี จำนวน 104 คน เที่ยวบินที่ 4 ในเวลา 08.45 น. จำนวน 245 คน ส่วนใหญ่คนงานที่เดินทางมาในช่วงเช้ามีสภาพที่อ่อนเพลียเพราะเหน็ดเหนื่อย จากเดินทาง

นายธีรพล แก้วดวงดี ชาวนครพนม กล่าวว่า ตนไปทำงานก่อสร้างที่พักอาศัยในกรุงตริโปลี สถานการณ์มีความรุนแรง ได้ยินเสียงปืนรอบที่พักตลอดเวลา รู้สึกดีใจที่สามารถรอดชีวิตกลับมาได้ เป็นการเดินทางไปทำงานต่างประเทศครั้งแรก และพบกับเหตุไม่คาดฝัน ขอฝากรัฐบาลช่วยเหลือติดตามค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงินเกือบ 30,000 บาท รวมถึงจัดหาตำแหน่งงานในต่างประเทศให้ เพราะตนยังมีหนี้สินจากการนำที่ดินไปจำนองเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นายชีวิน ผ่องแผ้ว ชาวหนองคาย อายุ 40 ปี กล่าวว่า ตนเคยทำงานต่างประเทศมาแล้ว ประเทศลิเบียเป็นประเทศที่ ถือว่ายากลำบากและเสี่ยงชีวิตมากที่สุด ก่อนเกิดเหตุตนเพิ่งทำงานได้เพียง 1 เดือน 20 วัน ยังไม่เคยได้รับค่าจ้างเลย มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางกว่า 100,000 บาท ยังกังวลการช่วยเหลือเรื่องเงินชดเชยเพราะไม่ทราบจะได้รับเงินคืนมามากน้อย เพียงใด ซึ่งนายจ้างระบุจะหารือกันหลังกลับถึงประเทศไทย แต่ตนคงไม่กลับไปทำงานลิเบียอีก โดยช่วงระหว่างอพยพในแคมป์มีคนงาน 700 คน เป็นคนไทย 29 คน และคนงานไทยเป็นชุดสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากแคมป์ ในวันที่ 1 มีนาคม ตนต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดิมตลอด 15 วันที่ได้รับการช่วยเหลือและเดินทางไปที่เมืองอื่นก่อนกลับมาไทย

นายสุพจน์ บุญเจริญ ผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้มีแรงงานไทยกลับมา 444 คน ตัวเลขล่าสุดมีคนไทยกลับมาถึงไทยแล้วรวมทั้งสิ้น  5,728 คน และคาดว่าจะเดินทางมาในช่วงบ่ายอีก 4 เที่ยวบิน

(สำนักข่าวไทย, 7-3-2554)

เตือนแรงงานไทยอย่าสวมแท็คด้วยการปลอมบัตร ปชช. หวังทำงานไต้หวันหลังครับ 9 ปี

นางสาวสุมล ถาวรวสุ จัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับการประสานจากสำนักงานแรงงาน ที่ดูแลคนงาน ณ กรุงไทเป ว่าเมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานแรงงานฯ ได้ให้ความช่วยเหลือคนงาน ซึ่งเคยเดินทางไปทำงานในไต้หวันมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาทำงาน 8 ปี 9 เดือน และได้เปลี่ยนชื่อ และทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ แล้วยื่นเรื่องขอกลับไปทำงานกับนายจ้างรายเดิม เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อบริษัทจัดหางานพาไปพิมพ์ลายนิ้วมือและขอใบถิ่นที่อยู่ที่สำนักงาน ตรวจคนเข้าเมืองไทจง กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองไทจงควบคุมตัวส่งให้อัยการดำเนินคดีในข้อหา ปลอมแปลงเอกสาร และแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าแรงงานไทยดังกล่าวเปลี่ยนชื่อก่อนการเดินทางมาทำงาน ทั้งๆ ที่เหลือเวลาทำงานไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งแสดงถึงเจตนาที่จะทำผิดกฎหมายการจ้างงานไต้หวัน ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานฯ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้คดี โดยโต้แย้งว่าการเปลี่ยนชื่อหรือเปลี่ยนนามสกุล เป็นสิทธิของประชาชนไทยที่กระทำได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้ง ยังเป็นความนิยมและความเชื่อของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ตน ดังนั้น การจับกุมในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

แต่เนื่องจากคดีนี้ได้ถูกส่งเข้าสู่ กระบวนการของศาลไต้หวันแล้ว จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ดังนั้น เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายการจ้างงานของไต้หวัน ทั้งที่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี จึงขอแจ้งเตือนให้แรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันครบ 9 ปี แต่ต้องการกลับไปทำงานในไต้หวันอีกครั้ง ให้รอร่างกฎหมายการจ้างงานฉบับใหม่ให้ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติก่อน ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขอนุญาตให้ขยายเวลาทำงานของแรงงานต่างด้าวออก ไปเป็น 12 ปี โดยระหว่างนี้ขอให้ละเว้นที่จะใช้วิธีใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎหมายการจ้างงานของไต้หวัน เพราะปัจจุบันทางการไต้หวันได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานของ แรงงานต่างด้าวที่จะเข้าไปทำงานในไต้หวัน โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการตรวจสอบฐานข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งพบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีแรงงานไทยถูกส่งตัวกลับประเทศหรือถูกดำเนินคดีไปแล้วหลายราย

ผู้ที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชั้น 2 ถนนสุพรรณบุรี ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์หมายเลข 0-3553-5388 , 0-3540-8205-6 ในวันและเวลาราชการ โดยไม่หยุดพักกลางวัน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 7-3-2554)

ศาลแรงงานกลางนัดไกล่เกลี่ยแอร์-ผู้บริหารการบินไทย 4 เม.ย.นี้

นายอากาศ วสิกชาติ ในฐานะทนายความของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางให้วินิจฉัยกรณีที่บริษัท การบินไทย ออกหลักเกณฑ์การปรับบุคลิกภาพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ผิดต่อสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมหรือไม่ ว่า ตนได้รับมอบหมายจากพนักงานการบินไทยรวม 22 คน ให้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานในวันนี้ เพื่อขอคำวินิจฉัยจากศาลเป็นบรรทัดฐาน พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาพนักงานกลุ่มนี้ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งหรือยุติ เรื่องด้วยการฟ้องร้อง แต่จากการไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน หรือเจรจากับผู้บริหารกลับไม่ได้ข้อยุติ โดยศาลแรงงานกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพร้อมคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาไกล่เกลี่ยที่ศาลแรงงานกลางในวันที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 09.00 น. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะกำหนดประเด็นพิจารณา ก่อนนัดไต่สวนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัท การบินไทยได้ออกหลักเกณฑ์การปรับบุคลิกภาพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) และรอบเอวหากลดไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ปฏิบัติงานบินภายในประเทศ หรือเส้นทางบินไปกลับวันเดียว และปฏิบัติงานภาคพื้นดิน ทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (8 มี.ค.) เวลา 10.00 น.ตัวแทนพนักงานจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานอ้วนกับ ผอมหรือไม่ด้วย

(สำนักข่าวไทย, 7-3-2554)

จบแล้ว สหภาพ-ผู้บริหาร MAXXIS สามารถตกลงข้อเรียกร้องกันได้

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 54 เวลา 13.00 น. มีการเจรจาขึ้นอีก 1 ครั้ง ณ ห้องประชุม สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร โดยทาง นางอัมพร  นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้ประสานงานให้เกิดการเจรจาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างของบริษัทแม็กซิส อินเตอร์แนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมอีสเทิร์น 300/1 หมู่ 1 ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งวันนี้ข้อเรียกร้องที่นายจ้างเรียกร้องเอากับลูกจ้างจบลงแล้วในเวลา 05.40 น.เป็นการเจรจาที่ทรหดอดทน และยาวนาน ผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ทำให้ข้อตกลงกันได้ทำให้ข้อเรียกร้อง และข้อพิพาทแรงงานเป็นอันยุติ ผลของข้อตกลงมีดังนี้

1. บริษัทฯและสหภาพแรงงานฯ ตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานจากเดิม 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเว้นในบางแผนกหรือหน่วยงานที่บริษัทฯพิจารณาแล้วเห็นว่ายังคงสภาพการทำงาน เดิม

2. บริษัทฯ ตกลงจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานทุกคนดังต่อไปนี้

2.1 ค่าทำงานกะบ่าย 40 บาท และค่าทำงานกะดึก 55 บาท

หมายเหตุ ทำงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงรวมเวลาพัก

2.2 เบี้ยขยัน

- แบบขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาท 900 บาท เพิ่มตามเดือน สำหรับพนักงานที่ต้องเข้าทำงาน 3 กะ

- แบบขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาท เพิ่มตามเดือน สำหรับพนักงานที่ไม่มีการทำงาน 3 กะ

หมายเหตุ ไม่มาสาย ไม่กลับก่อน ไม่ขาด ลางาน ไม่ป่วยมานอนห้องพยาบาลเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือขาดงานเกิน 1 ชั่วโมงในเวลาทำงาน ยกเว้นถ้าเป็นการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับคำสั่ง(ถึงได้รับ) ไม่ลางานบางชั่วโมง และถ้าไม่ผ่านในขั้นใดๆ ทำให้ไม่ได้รับเบี้ยขยันจะต้องกลับมาเริ่มต้นในขั้นแรกเสมอ

3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี

3.1 สำหรับพนักงานที่ไม่ได้มีการทำงาน 3 กะ จะได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี ดังนี้

3.1.1 พนักงานที่มีอายุงาน 1-4 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วัน

3.1.2 พนักงานที่มีอายุงาน 5-8 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 7 วัน

3.1.3 พนักงานที่มีอายุงาน 8 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 8 วัน

3.1.4 วันลาพักผ่อนประจำปีสูงสุดปีละ 8 วัน

3.1.5 ใช้สิทธิการลาไม่หมด สามารถสะสมได้ 2 ปีติดต่อกัน

3.2 สำหรับพนักงานที่ต้องการทำงาน 3 กะ จะได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี ดังนี้

3.2.1 พนักงานที่มีอายุงาน 1-3 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วัน

3.2.2 พนักงานที่มีอายุงาน 4-6 ปี ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 7 วัน

3.2.3 พนักงานที่มีอายุงาน 7-9 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 8 วัน

3.2.4 พนักงานที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 9 วัน

3.2.5 วันลาพักผ่อนประจำปีสูงสุดปีละ 9 วัน

3.1.5 ใช้สิทธิการลาไม่หมด สามารถสะสมได้ 2 ปีติดต่อกัน

4. ค่าเดินทาง (ค่ารถ) ให้แก้ไขใหม่เป็น

4.1 สำหรับพนักงานที่อยู่ในแผนกที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน 3 กะ บริษัทฯ กำหนดค่าเดินทาง(ค่ารถ)เดือนละ 850 บาท ตามระเบียบการจ่ายเดิม เมื่อหักให้ใช้เกณฑ์การหักวันละ 850 บาท หาร30 วัน

4.2 สำหรับพนักงานที่ไม่ได้การเปลี่ยนแปลงการทำงานเป็น 3 กะ บริษัทฯ กำหนดค่าเดินทาง(ค่ารถ) เดือนละ 800 บาท ตามระเบียบการจ่ายเดิม เมื่อหักให้ใช้เกณฑ์การหักวันละ 800 บาท หาร30 วัน

5. ค่าข้าว บริษัทฯ ให้ค่าข้าว 35 บาท สำหรับพนักงานที่ทำงานกะดึก ส่วนในช่วงเวลาอื่นๆ(กะเช้าและกะบ่าย) รวมถึงการทำงานล่วงเวลาให้คงเดิมและตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเดิม

6. บริษัทฯตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2553 ให้กับพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทฯ และที่มารายงานตัวภายในวันที่ 7 มีนาคม 2554 ถึงเวลา 17.00 น. เป็นจำนวนเงินและหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2552 สำหรับพนักงานที่มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 8-10 มีนาคม 2554 ถึงเวลา 17.00 น. บริษัทฯตกลงจ่ายเงินโบนัสฯ โดยหักเงินส่วนเพิ่มจำนวน 2,000 บาท สำหรับพนักงานที่มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป บริษัทฯไม่พิจารณาจ่ายเงินโบนัสทั้งนี้ ตามข้อกำหนดดังข้างต้น บริษัทฯจะทำการจ่ายเงินโบนัสสำหรับผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสนอกเหนือจากผู้ ที่บริษัทฯได้เคยมีประกาศตกลงไว้แล้ว บริษัทฯจะจ่ายให้ในวันที่ 22 มีนาคม 2554 โดยโอนเข้าบัญชีเงินเดือน

7. การปรับค่าจ้าง บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างประจำปีดังต่อไปนี้

7.1 บริษัทฯตกลงปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนเข้าฐานเงินเดือนจำนวน 2 บาทต่อวันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554

7.2 ต้องผ่านการทดลองงาน 119 วันแล้ว หากครบทดลองงานระหว่างกลางเดือนให้มีผลในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป

8. สภาพการจ้างอื่นใดที่ดีอยู่แล้วและไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้คงไว้ตามเดิม

9. ข้อตกลงฉบับนี้มีอายุ 14 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2554 บริษัทฯจะไม่นำมาคิด KPI ของการคิดโบนัสและการปรับค่าจ้าง บริษัทฯตกลงยุติการปิดงานตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯและของบริษัทฯ

10. ให้พนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานในแผนกเดิม ตำแหน่งเดิม หน้าที่การงานเดิมภายในวันที่ 10 มีนาคม 2554

เมื่อกลับเข้าไปทำงานแล้ว คนงานมีความกังวลว่าเค้าจะถูกนายจ้างกระทำกับเค้าอย่างนายจ้างของฟูจิตสึหรือเปล่า ที่ให้เช็คว่าตัวเองยังมีพักร้อนเหลือหรือไม่ ถ้ามีให้คนงานลาพักร้อน กลับไปแล้วพวกเค้าจะโดนกลั้นแกล้งหรือถูกเล่นงานแบบไหน และในรูปแบบใด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนงานต่างกังวล

ในวันที่ 5 มีนาคม 54 จะมีพิธีการที่ยึดเป็นประเพณีของการมีชุมนุมของขบวนการแรงงาน นั้นคือ พิธีการปิดการชุมนุม จัดขึ้นในเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึก ระลึกถึงสิ่งที่ทำร่วมกันตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันมา

 (นักสื่อสารแรงงาน, 6-3-2554)

เตรียมงานรองรับแรงงานไทยจากลิเบีย

วันนี้ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศ ลิเบีย ว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับเอาไว้ โดยมีบริษัท 3 แห่งที่แจ้งความประสงค์รับคนงาน โดยมีการตั้งบูธรับสมัครงานที่สนามบิน ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในตำแหน่ง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างท่อ และคนงานทั่วไป จำนวน 2,000 อัตรา บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด เปิดรับช่างตำแหน่งต่างๆ รวมกว่า 1,000 อัตรา และบริษัท ดับเบิ้ล วิง สปิริต เซอร์วิส จำกัด รับสมัครคนงานในตำแหน่งต่างๆ ประมาณ 4,000 อัตรา ซึ่งรวมตำแหน่งที่เปิดรับในขณะนี้ประมาณ 7,068 อัตรา
      
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานในต่างประเทศ ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประสานไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการแรงงานไทยในภาคก่อสร้างประมาณ 300-500 อัตรา และภาคการผลิตอีก 3,000 อัตรา ส่วนในประเทศกาตาร์งานกลุ่มอุตสาหกรรม รวม 110 อัตรา ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งานสาขาช่างจำนวน 478 อัตรา และประเทศคูเวต จำนวน 331 อัตรา รวมตำแหน่งงานในต่างประเทศทั้งสิ้น 4,419 อัตรา
      
ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเดินทางไปยังไต้หวัน เพื่อเจรจาขยายตลาดแรงงานรองรับแรงงานไทยที่มาจากประเทศลิเบีย
      
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทนายจ้าง ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยจะปล่อยกู้ให้กับแรงงานรายละ 50,000-150,000 บาท ในวงเงินธนาคารแห่งละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดของการปล่อยกู้ เบื้องต้นจะให้สิทธิพิเศษกับแรงงานที่เดินทางกลับมาจากประเทศลิเบียก่อน

(เดลินิวส์, 8-3-2554)

เผยแรงงานออกจากลิเบีย ถึงไทยแล้ว 7,035

โฆษกกระทรวง การต่างประเทศ ระบุ แรงงานออกจากลิเบีย ถึงไทยแล้ว 7,035 คน บางส่วนยังคงทำงานต่อที่ลิเบีย พร้อมยืนยัน เร่งช่วยเหลือแรงงานอย่างเต็มที่

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย ว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 7,035 คน จากแรงงานทั้งหมด 12,975 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงยอดของแรงงานใหม่ เนื่องจากตัวเลขเดิมของแรงงานไทยที่เดินทางไปโดยบริษัทจัดหางาน ที่อยู่ในลิเบียมีจำนวน 23,000 คน เป็นข้อมูลเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นจำนวนแรงงานที่ซับซ้อนกัน เพราะบางคน หมดสัญญากับบริษัทจัดหางานแล้ว แต่ยังคงทำงานอยู่ที่ลิเบียต่อ จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนในเรื่องจำนวนของแรงงานไทย

ส่วนกรณีที่หลายฝ่าย เข้าใจว่าการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยดำเนินการล่าช้ามีสาเหตุมาจาก งบช่วยเหลือของรัฐบาลยังส่งไม่ถึงกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากการช่วยเหลือแรงงานนั้นหน้าที่หลักเป็นของ บริษัทจัดหางานก่อน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่สนับสนุนเรื่องของหนังสือเดินทาง หรือการประสานการเช่าเครื่องบิน และยืนยันว่าการอพยพแรงงานได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-3-2554)

แอร์-สจ๊วตการบินไทยยื่นศาลแรงงานขอคุ้มครองให้ข่าวกับสื่อมวลชนได้

ศาลแรงงานกลาง 9 มี.ค.-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบ่ายวันนี้ (9 มี.ค.) นายอากาศ วสิกชาติ ทนายความของกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 22 คน ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของบริษัท ที่กำหนดให้พนักงานต้อนรับฯ บนเครื่องบินต้องมีค่า BMI และรอบเอวตามที่บริษัทกำหนด พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มพนักงานต้อนรับ เดินทางไปที่ศาลแรงงาน เพื่อยื่นคำร้องใช้สิทธิตามกฎหมายต่อศาลแรงงานขอความคุ้มครองชั่วคราวให้ กลุ่มพนักงานต้อนรับฯ ดังกล่าว โดยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน ในกรณีเดียวกันกับผู้บริหารที่เป็นจำเลยได้แถลงข่าวหรือให้ข่าวไว้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

นายอากาศ เปิดเผยว่า เนื่องจากกลุ่มพนักงานต้อนรับฯ ที่ยื่นฟ้องติดขัดระเบียบของบริษัทที่ระบุว่า ห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชน ยกเว้นผู้มีอำนาจ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสาร เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทำให้ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารออกมาชี้แจงข้อมูลฝ่ายเดียว เกิดปัญหาในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่ต้องการได้ข้อมูลจากฝ่ายพนักงาน ที่ได้รับผลกระทบบ้าง

คำร้องนี้เป็นการเปิดมิติใหม่ของ ข้อพิพาทด้านแรงงาน ถือเป็นคนแรกที่ขอใช้สิทธิคุ้มครองลูกความกรณีการให้ข่าวและข้อเท็จจริงกับ สื่อมวลชน หากศาลพิจารณาก็จะช่วยให้ลูกจ้างหรือพนักงานในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนสามารถใช้สิทธิชี้แจงกับสื่อได้ โดยไม่ถือว่าผิดระเบียบองค์กรนายอากาศ กล่าว

สำหรับคำร้องระบุว่าเนื่องจากนาย ชัชวาล เสนะวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินบริษัทการบินไทยฯ จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อโจทก์และพวกอย่างมาก เป็นเหตุให้โจทก์และพวกได้รับความเสียหาย มีผู้เข้ามาให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ แต่โจทก์ไม่สามารถไปออกรายการได้ เนื่องจากตามระเบียบของบริษัทมีกำหนดห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชน ยกเว้นผู้มีอำนาจเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารเพื่อปกป้อง ประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วยความจำเป็นดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลแรงงานกลางได้โปรดใช้อำนาจตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สั่งให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ก่อนมีคำพิพากษา โดยอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน ในกรณีเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวหรือให้ข่าวไว้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยในคำร้องระบุเพิ่มเติมด้วยว่า นอกเหนือจากโจทก์แล้ว การให้ข่าวกับสื่อมวลชนของจำเลยที่ 3 ยังเป็นการทำให้ลูกจ้างของบริษัท จำเลยที่ 1 อีก 40 คน ซึ่งได้รับผลจากคำสั่งในลักษณะเดียวกัน ไม่สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารเพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนได้ส่วน เสียของตนเช่นเดียวกัน จึงขอให้ศาลกำหนดให้คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องฉบับนี้ มีผลผูกพันกับพนักงานทั้ง 40 คนดังกล่าวด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

(สำนักข่าวไทย, 9-3-2554)

เอกชนขู่ลดแรงงานหากรัฐเดินหน้าขึ้นค่าจ้าง

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ได้เห็นพ้องร่วมกันว่า หากรัฐบาลต้องการให้มีการปรับค่าแรงตามนโยบาย เอกชนก็ต้องปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรมาใช้แทน ลดจำนวนแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานก็จะใช้วิธีผลักภาระนี้ไปที่การขึ้น ราคาสินค้า ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงต้องการให้ใช้กลไกขอ งคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (คณะกรรมการไตรภาคี) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกระบวนการทางกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่รัฐบาลออกมาประกาศว่าต้องการขึ้นค่าแรง

"ตามหลักการแล้วการพิจารณาขึ้นค่า แรงจะทำกันปีละ 2 ครั้งไม่ใช่ปรับขึ้นกันเรื่อยๆ โดยการขึ้นค่าแรงต้องนำปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ความสามารถในการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปมาเป็นหลักในการพิจารณา และหากรัฐบาลต้องการเพิ่มปัจจัยด้านค่าครองชีพเข้าไปเป็นปัจจัยเสริมก็ควรจะ ประกาศออกเป็นหลักเกณฑ์ด้วย เพื่อความชัดเจ"นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้การประกาศขึ้นค่าแรงของ รัฐบาลเป็นเรื่องประชานิยมมากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกระทบต่อภาคธุรกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการดึงค่าครองชีพให้สูงขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งถือเป็นความผันผวนทางนโยบาย

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงรัฐบาลจำเป็นต้องดูถึงกลไกต่อไปด้วยว่าขึ้นแล้วจะกระทบ เงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน กระทบขีดความสามารถเท่าไหร่ และจะมีกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร ซึ่งต้องคิดถึงระยะยาวด้วย การประกาศออกมาเฉยๆ โดยไม่มีการเชื่อมโยงหรือแผนการรองรับ ทำให้เอกชนไม่รู้ว่ารัฐบาลคิดอะไร มีเป้าหมายอะไร และนำมาวางแผนไม่ได้              

(โพสต์ทูเดย์, 9-3-2554)

เผยแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ไม่มาต่ออายุใบอนุญาตทำงานกว่า 2 แสนคน

ก.แรงงาน 9 มี.ค.- นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เปิดเผยความคืบหน้าในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน ต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า ในจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่มีใบอนุญาตทำงานในปี 2553 จำนวน 932,255 คน พบว่ามีผู้มาต่ออายุใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุใบอนุญาตเพียง 706,445 คน เท่ากับมีแรงงานที่ถูกกฎหมายหายไปจากระบบถึง 225,810 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.22 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะสูงที่สุดเมื่อเทียบจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่หายไปจากระบบในแต่ละปี ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-15

สาเหตุคาดว่ามาจากแรงงานบางส่วนได้ เดินทางกลับประเทศ หรือเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทำให้ขาดสิทธิ รวมถึงการที่มีข่าวว่าจะมีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ ทำให้แรงงานต่างด้าวชะลอการต่ออายุใบอนุญาต นอกจากนี้ แรงงานบางส่วนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยรอที่จะไปพิสูจน์สัญชาติก่อนมาขอต่อ อายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจไปแล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขแรงงานที่หายไปจากระบบกว่า 200,000 คน จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) ทราบเพื่อเร่งรัดปราบปรามจับกุมต่อไป.

(สำนักข่าวไทย, 9-3-2554)

สร.TIG ชี้แจงไกล่เกลี่ยวันที่ 9 มี.ค. ไม่ได้ เนื่องจากผู้แทนเจรจาต้องขึ้นศาลวันเดียวกัน

9 มี.ค. 54 - สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้ทำการนัดเหมายเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานภายใน 5 วัน โดยกำหนดนัดหมายในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) สาขาท่าลาน

เนื่องจากผู้บริหารของบริษัทไทยอิน ดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญากับลูกจ้างจำนวน 15 คนในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัวหรือตกใจ ตามสำนวนของสถานีตำรวจนครบาลบางนาคดีอาญาที่ 596/2552 โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) ได้กำหนดวัน เวลาและสถานที่ส่งตัวผู้ต้องหาท้ายบันทึกทราบนัดไว้ในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) ซึ่งทางบริษัทฯก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีเพราะผู้บริหารของบริษัทฯเป็นผู้ แจ้งความดำเนินคดีและคนงานก็ได้แจ้งการลางานเพื่อไปต่อสู้คดีไว้แล้ว ซึ่งรายละเอียดปรากฎตามที่ส่งมาด้วยหมายเลข 2 ผู้แทนของสหภาพฯในการเจรจาข้อเรียกร้องของบริษัทฯจำนวน 7 คนนั้น เป็นผู้ที่ถูกผู้บริหารดำเนินคดีใน 15 คนดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียล แก๊สให้ความเห็นว่าการดำเนินการดัง กล่าวเป็นการไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำเนินกิจการของสหภาพฯโดยปราศจากการแทรกแซง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 เกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากการถูกแทรกแซงในการทำงานขององค์กร และการบริหารงานขององค์กร ดังนั้นสหภาพฯ จึงไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ท่านกำหนดขึ้นได้ เพราะผู้แทนเจรจาของสหภาพฯทั้ง 7 ท่านต้องไปต่อสู้คดีที่ผู้บริหารของบริษัทฯแจ้งความดำเนินคดีไว้

(ประชาไท, 9-10-2554)

กต.เผย แรงงานไทยในลิเบียกลับถึงไทยแล้ว 7,975 ราย

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุด เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี การอพยพแรงงานไทยออกจากประเทศลิเบีย ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ตามที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศลิเบีย จำนวน 12,975 คน ส่วนตัวเลขอื่นนั้นเป็นตัวเลขที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดในรอบ 5 ปี โดยไม่ได้หักลบแรงงานที่เดินทางกลับแล้ว ดังนั้นจำนวน 12,975 คนนี้ ณ วันที่ 9 มี.ค.สามารถนำแรงงานไทยกลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 7,975 คน โดยขณะนี้ยังเหลืออยู่ที่ลิเบียอีก 201 คนเท่านั้น อยู่ที่กรุงตูนิส , ตูนิเซีย 1,488 คน และอยู่ที่ประเทศอื่น เช่น อียิปต์ , มอลต้า , กรีซ ฯลฯ อีก จำนวน 2,339 คน ซึ่งการดำเนินการอพยพแรงงานไทยที่ผ่านมา ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ ไปคอยอำนวยความสะดวกตลอด

(แนวหน้า, 10-3-2554)

เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานลาว

10 มี.ค. 54 - นายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งจากกรมการกงสุลว่าสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานที่แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 115 คน ที่เดินทางไปทำงานกับบริษัท เอแอลพี พัฒนาครบวงจรและก่อสร้างชลประทาน จำกัด ประสบปัญหานายจ้างค้างค่าจ้าง ปัจจุบันยังมีการชักชวนเพื่อนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานกับบริษัทดังกล่าว โดยแรงงานไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ไม่มีสัญญาจ้าง และไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องของกรมการจัดหางาน บริษัทจะให้พนักงานของตนเข้าไปติดต่อแรงงานไทยโดยตรง ทำให้ยากลำบากต่อการดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือ ขณะนี้สถานกงสุลใหญ่ ได้รับแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ว่าจ้างแรงงานไทยชุดใหม่จำนวนประมาณ 20 คน เข้าไปทำงานอีก

สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี จึงขอแจ้งเตือนให้คนหางานและประชาชนทั่วไปได้ทราบ หากมีผู้มาชักชวนให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โปรดอย่าหลงเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลจากกรมการจัดหางานก่อน เพื่อมิให้ถูกหลอกลวง และเพื่อป้องกันคนหางานรายใหม่ ที่อาจจะลักลอบเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่ผ่านขั้นตอนของกรมการจัดหางาน ขอให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี เลขที่ 199 หมู่ที่ 3 ถนนนารถมนตเสวี ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โทร.08-6516-5203 หรือ 0-3839-8051 ในวันและเวลาราชการ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

สรส.-คสรท.ยื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ

11 มี.ค. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 10.30 น. ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประมาณ 15 คนได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. .. ที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการวาระแรก และอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญกับประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่อยู่ จึงไม่อนุญาตให้เข้าอาคารรัฐสภา ทำให้กลุ่มผู้มายื่นหนังสือไม่พอใจ และบอกว่า เมื่อพวกตนมาดี แต่ไม่มีใครต้อนรับ วันข้างหน้าหากมากันมาก ก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน จากนั้นจึงได้เดินทางกลับ

(สำนักข่าวไทย, 11-3-2554)

มูลนิธิผู้บริโภคขู่ร้องนายกฯ ประกันสังคมไม่เป็นธรรม

เมื่อ เวลา 12.00 น. วันที่ 11 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลเป็นประจำทุกเดือน น.ส.สารี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง "ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน" เพื่อดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรม สำหรับประชาชนจำนวน 9.5 ล้่านคน ที่ต้องจ่ายค่าประกันสังคมทั้งที่ไม่สมควรจ่ายในส่วนนี้

จากที่ได้ ประกาศว่าในวันแรงงาน ที่ 1 พ.ค. นั้น จะงดจ่ายเงินค่าประกันสังคมในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ในความเป็นจริงแล้วไม่ต้องการทำให้เป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องการทำให้ลูกจ้างรู้ว่าขณะนี้เสียเปรียบ เพราะถูกหักค่าประกันตนจากเงินเดือนทุกเดือน เชื่อว่าถ้าลูกจ้างรู้เยอะๆ ก็จะตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งเหล่าลูกจ้างเป็นกลุ่มเดียวที่เสียเปรียบ เพราะนายจ้างยังใช้สิทธิบัตรทองฟรี เนื่องจากเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ แต่ลูกจ้างกลับต้องจ่ายสตางต์

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อยากเห็นลูกจ้างมีความตื่นตัว มีหลายสิบบริษัทที่โทรเข้ามาสนับสนุนให้ยกเลิกการจ่ายสตางค์เฉพาะใน ส่วนที่เป็นเรื่องสุขภาพ แต่อาจจะนำไปใส่ไว้ในประกันสังคมส่วนอื่น แทน เช่น เบี้ยชรา ส่วนเรื่องงดจ่าย จริงๆนั้นไม่ได้ต้องการงดจ่าย และเชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ทัน" น.ส.สารีกล่าว

ในส่วนการเรียก ร้องต่อจากนี้ ทางชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยู่ในระหว่างการติดตามเรื่องที่กรรมาธิการกำลังแก้กฏหมาย ว่าจะแก้ออกมาอย่างไร แล้วอาจจะพิจารณาว่าจำเป็นต้องไปพบนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสืือร้องขอความเป็นธรรมต่อกสม. ทำให้มีการนัดประชุมในวันพุธที่ 16 มี.ค. นี้ ซึ่งจะพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป.

(ไทยรัฐ, 11-3-2554)

เผยแรงงานไทยในญี่ปุ่น มีเกือบ 2 หมื่นคน

นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่สูงกว่า 10 เมตร พัดถล่มหลายเมืองโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ว่า จากการตรวจสอบกับสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศพบว่า มีแรงงานไทย เดินทางไปทำงานและฝึกงานแบบมีรายได้ ที่ประเทศญี่ปุ่น กระจายอยู่ในหลายเมือง รวมกว่า 19,700 คน จากจำนวนคนไทยทั้งหมดกว่า 42,200 คน แบ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย 13,700 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ และฝีมือ กว่า 2,400 คน กึ่งฝีมือฝึกงาน 4,300 คน  และแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้มีวีซ่าในการทำงาน กว่า 7,000 คน และแรงงานผิดกฎหมายกว่า 6,000 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยได้ เพราะระบบโทรศัพท์ที่ประเทศญี่ปุ่นล่มชั่วคราว และได้มีการอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากสถานทูตไทยในกรุงโตเกียวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งด่วน ให้ตั้งคณะทำงานเตรียมการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ภัยสงคราม หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ทั่วโลก โดยให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และเพื่อคอยติดตามช่วยเหลือแรงงานในประเทศต่างๆ ให้ทันท่วงที

(แนวหน้า, 11-3-2554)

แรงงานจากลิเบียกลับถึงไทยแล้วกว่า 9,000 คน

12 มี.ค. 54 - บรรยากาศที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เรียบร้อยในต่างประเทศ บริเวณอาคารผู้โดยสารขาเข้าประตู 10 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช้าวันนี้แรงงานไทยจากประเทศลิเบีย ยังคงทยอยกลับถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เที่ยวบินเริ่มตั้งแต่เวลา 05.45 น. โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 945 จากกรุงเอเธนส์ มีแรงงานไทยจำนวน 80 คน เที่ยวบินที่ 2โดยสายการบินไทยเที่ยวบินที่ทีจี 518 จากเมืองดูไบ ในเวลา 08.40 น.มีแรงงานไทยจำนวน 177 คน นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากกรุงเอเธนส์อีก 260 คน ที่รอการยืนยันเวลาที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ได้ให้แรงงานที่เพิ่งเดินทางกลับมาถึงรายงานตัว พร้อมกรอกชื่อที่อยู่ของตนเองและบริษัทนายจ้าง ก่อนแจ้งสิทธิที่คนงานจะได้รับเช่น หากเป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองคนงานตลอดอายุสัญญาจ้างบวกอีก 5 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท โดยสามารถติดต่อขอรับเงินได้ที่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และยังมีการมอบเงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารและค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาคนละ 1,500 บาท พร้อมจัดรถไปส่งที่บริเวณสถานีขนส่งด้วย สำหรับยอดรวมแรงงานกลับถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 9,261คน  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2,000 คน จะทยอยเดินทางกลับถึงไทยไม่เกินวันที่ 15 มีนาคมนี้

(สำนักข่าวไทย, 12-3-2554)

แรงงานไทยในญี่ปุ่น เกือบ 20,000 คน ปลอดภัยแล้วกว่าร้อยละ 90

12 มี.ค. 54 - นายกมล สวัสดิ์ชูแก้ว อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศญี่ปุ่นว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีแรงงานไทย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ และคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มหลายเมืองในประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่นและสถานเอกอัคร ราชทูตไทย สามารถติดต่อแรงงานส่วนใหญ่ได้แล้วกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 19,000 คน เพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงงานบางกลุ่มที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะที่เมืองมิยากิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักจากคลื่นยักษ์สึนามิ มีแรงงานไทยทำงานอยู่ 2 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ เพราะการสื่อสารถูกตัดขาด ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย กำลังอยู่ในระหว่างหาทางเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

(สำนักข่าวไทย, 12-3-2554)

 

คสรท.ตั้งคำถามถึงกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554 คระกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีการจัดเวทีแถลงข่าว ชำแหละกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพราะราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. โดยคุณชาลี ลอยสูง ประะานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย คุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธนฯและตัวแทนในกรรมาธิการ ได้ร่วมกันแถลงดังนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ในนโยบาย 9 ด้านที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อสร้างเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน ไทย หนึ่งในนั้นคือ นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ 3.2 เรื่องนโยบายแรงงาน ซึ่งระบุในข้อ 3.2.2 ว่ารัฐบาลจะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน

นับตั้งแต่ปี 2551 จวบจนปัจจุบัน การดำเนินการของรัฐบาลด้านปฏิรูปประกันสังคมที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การขยายประกันสังคมไปสู่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะนโยบายในระดับกระทรวงแรงงาน ทั้งในสมัยนายไพฑูรย์ แก้วทอง และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เร่งรัดให้มีการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประโยชน์และผลักดันการคุ้มครองตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปประกันสังคมให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม แม้ว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการเปิดงานสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 ว่า “…ผมอยากจะเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบัน ข้อเรียกร้องทั้งในเรื่องของการขยายการครอบคลุมของประกันสังคมก็ดี ทั้งในเรื่องของความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการของกองทุน ประกันสังคมก็ดี และการปฏิรูปในภาพรวมเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ เสียโดยตรง ผมถือว่า เป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปดำเนินการ ในส่วนของการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องของความต้องการที่จะเห็น
ธรรมาภิบาล หลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระนั้น ผมยืนยันครับว่า เป็นหลักคิดที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการที่จะเดินไป…”

ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ทั้งฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และฉบับบูรณาการแรงงาน ที่เสนอผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กับคณะ กับนายนคร มาฉิม กับคณะ และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 36 คน เพื่อพิจารณา โดยถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา โดยมีคณะกรรมาธิการประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พรรคเพื่อไทย 11 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2 คน พรรคภูมิใจไทย พรรคกิจสังคม พรรคมาตุภูมิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม หน่วยงานละ 1 คน

สถานการณ์เหล่านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ตนมีความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง หากแต่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยังเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูประบบประกันสังคมคือการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ที่ปัจจุบันยังขาดหลักประกันว่าจะเกิดขึ้น

ดังที่ปรากฏในการประชุมคณะ กรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกัน สังคม นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2554 พบว่า หลักการและเจตนารมณ์ ของการปฏิรูประบบประกันสังคม ที่เสนอไว้ในร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับบูรณาการแรงงาน) มิได้ถูกหยิบยกมาเป็นสาระสำคัญ หลักการดังกล่าว ประกอบด้วย

(1)    ประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหาร จัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและ ผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง สังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

(2)    ความโปร่งใส กระบวนการการตรวจสอบ กล่าวคือ ภายใต้ภาวะการบริหารงาน (กองทุน 7แสนล้าน) ที่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงที่ รวดเร็ว กิจการของ สปส. มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงจัดการให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  เพื่อให้ในที่สุด มีการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

(3)    บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ  ผู้ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการ หรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวก หรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนทำงาน

(4)    หนึ่งคนหนึ่งเสียง ในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในลักษณะหนึ่งคน หนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ  กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

(5)    ประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็น กองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคตเมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะได้รับ สิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่ออย่างน้อยเป็นหลักประกันให้กับ ตนเอง
 
โดยสรุป จากการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม นับตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นและท่าทีต่อกรรมาธิการ ดังนี้

ประการแรก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม บางส่วนยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งความเข้าใจมิติต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน และงานด้านสวัสดิการสังคม ดังนั้น จึงมักจะรับฟังข้อเสนอหน่วยงานของรัฐ จากสำนักงานประกันสังคมและสำนักงานกฤษฎีกาเป็นหลัก

ประการที่สอง กระบวนการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมาธิการฯ บ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามหลักการที่รัฐบาลแถลงไว้ การพิจารณาเนื้อหากฎหมายรายมาตราไม่ใช่ สาระสำคัญของการปฏิรูประบบประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอทั้ง 5 ประเด็น รวมทั้งแนวทางการปฏิรูประบบประกันสังคมที่นายกรัฐมนตรีเคยรับข้อเสนอ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ประการที่สาม คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร และการสรุปบันทึกการประชุมจะขาดความเห็นของคณะกรรมาธิการจากคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอความคิดเห็นของที่ปรึกษากรรมาธิการ ฝ่ายแรงงาน

ประการที่สี่ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการพิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 25 มาตรา จากทั้งหมด 46 มาตรา จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ฯ มีการพิจารณาอย่างรวดเร็วและรวบรัด เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ผ่านก่อนการยุบสภา เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ล่วงหน้าแล้ว

จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นต่อ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. .. ที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญในขณะนี้ ยังไม่ตอบโจทย์ในการปฏิรูประบบประกันสังคมไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และยังไม่ตอบคำถามต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของสมาชิกผู้ประกันตนจำนวน 9.4 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคม 8 แสนล้านบาท แต่อย่างใด

(นักสื่อสารแรงงาน, 12-3-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: สรุปสถานการณ์ “คนงานไทย” หนีตายจลาจล “ลิเบีย”

Posted: 12 Mar 2011 02:11 PM PST

ประเทศลิเบียเป็นประเทศที่ในระยะหลังมีคนไทยเดินทางไปทำงานเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.. 2553 ที่ผ่านมา มีคนไทยเดินทางไปทำงานประมาณ 4,905 คน โดยคาดการณ์ว่าแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศลิเบียน่าจะมีจำนวนประมาณ 23,000 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ภายหลังจากที่สหประชาชาติได้ยกเลิกมติคว่ำบาตรการค้าน้ำมันเมื่อปี พ.. 2546 ทำให้ลิเบียมีรายได้จากการค้าน้ำมันเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว และมีการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขุดเจาะน้ำมัน โครงการก่อสร้างต่างๆ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลลิเบียมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ การก่อสร้างถนน สนามบิน รถไฟ เป็นต้น

อีกทั้งรัฐบาลลิเบียยังมีนโยบายการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบการขนส่งทางน้ำ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ในขณะที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีโครงการที่จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ราชการ บ้านพักอาศัย โรงพยาบาล โรงแรม มหาวิทยาลัยและอีกหลายๆ โครงการ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้ความต้องการแรงงานในภาคต่างๆ จึงมีค่อนข้างสูง โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในภาคก่อสร้าง โดยเป็นแรงงานฝีมือเฉพาะด้าน เช่น ช่างเครื่องยนต์ ช่างเครื่องกล ช่างไฟฟ้า และช่างปูน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะทำงานในโครงการก่อสร้างที่เป็นการรับเหมาของบริษัทในยุโรป แคนาดา และเกาหลีใต้ที่เข้าไปรับประมูลโครงการได้ในประเทศลิเบีย ซึ่งโครงการขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้คนงานที่มีฝีมือจำนวนมาก บริษัทรับเหมามักจะจ้างคนงานไทยให้ไปทำงานเนื่องจากเป็นกลุ่มคนงานที่มักจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับนายจ้างเหมือนกับคนงานจากประเทศอื่นๆ  โดยรายได้ส่งกลับของคนงานไทยในลิเบียที่ส่งกลับมาประเทศไทยในปี 2553 มีมูลค่าสูงถึง 3,450 ล้านบาท

ปัญหาแรงงานไทยในลิเบีย

ในช่วงเดือนกันยายน พ.. 2553 แรงงานไทยไปทำงานก่อสร้างในประเทศลิเบียกลุ่มที่บริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด จำนวน 216 เดินทางกลับมายังประเทศไทย และได้ร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน เนื่องจากแรงงานที่เดือนทางไปทำงานยังลิเบียมีปัญหากับนายจ้าง อาทิ ไม่จ่ายค่าจ้าง จ่ายค่าจ้างล่าช้า สภาพการทำงานเลวร้าย รวมถึงพบว่าตนเองเสียค่าหัวคิวแก่บริษัทจัดหางานสูงเกินไป คนงานเหล่านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอช่วยเหลือจากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้

1.เรียกร้องค่าหัวคิวคืนตามสัดส่วน กรณีที่บริษัทจัดหางานเรียกเงินค่าหัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือเกิน 4 เท่าของอัตราเงินเดือนสัญญาจ้าง 1 ปี

2.เรียกร้องเงินเดือนค้างจ่าย เงินล่วงเวลา เงินโอทีวันหยุด เงินหักต่อเดือน เงินโอทีบังคับและเงินโบนัสครบสัญญา 15 วันประมาณ 400 ดีนาร์

3.เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบที่เกิดจากการกู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ลิเบีย

4.เรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน หาตลาดแรงงานต่างประเทศให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เดินทางไปทำงานเพื่อให้มีเงินใช้หนี้ที่เกิดขึ้น 5.เรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ปรับลดค่าหัว ค่าบริการ ในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 6.จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐบาลอุดหนุนเงินกู้เพื่อคนหางาน

ล่วงมาถึงต้นปี พ.. 2554 ปัญหาของคนงานที่เคยไปทำงานที่ลิเบียเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา คนงานไทยในลิเบียก็ต้องมาพบกับชะตากรรมที่เลวร้ายครั้งใหม่ นั่นก็คือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในลิเบีย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.. 2554 ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านของความปลอดภัย ที่ในบางประเทศมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปปราบปรามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเกิดเหตุการณ์ปล้นสะดมแคมป์คนงานของชาวต่างชาติในประเทศเหล่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ โดยกรณีลิเบียได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยกลับมายังประเทศไทยบ้างแล้ว

ทั้งนี้มาตรการเบื้องต้นในการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ (จากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และถูกส่งตัวกลับมา) ของรัฐบาลไทย ประกอบไปด้วย

เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 16,500 บาท หากเป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไป ทำงานต่างประเทศจะได้รับเงินช่วย เหลือคนละ 15,000 บาท รวมทั้งค่ารถและค่าอาหารอีกรายละ 1,500 บาท ซึ่งแรงงานสามารถนำหลักฐานมาขอรับเงินได้ที่สำนักจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หากหลักฐานครบสามารถรับเงินได้ภายใน 4 วัน

การจัดหางานให้เบื้องตัน กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับเอาไว้ โดยมีบริษัท 3 แห่งที่แจ้งความประสงค์รับคนงาน โดยมีการตั้งบูธรับสมัครงานที่สนามบิน ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ในตำแหน่ง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างท่อ และคนงานทั่วไป จำนวน 2,000 อัตรา บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด เปิดรับช่างตำแหน่งต่างๆ รวมกว่า 1,000 อัตรา และบริษัท ดับเบิ้ล วิง สปิริต เซอร์วิส จำกัด รับสมัครคนงานในตำแหน่งต่างๆ ประมาณ 4,000 อัตรา ซึ่งรวมตำแหน่งที่เปิดรับในขณะนี้ประมาณ 7,068 อัตรา นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานในต่างประเทศ ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประสานไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการแรงงานไทยในภาคก่อสร้างประมาณ 300-500 อัตรา และภาคการผลิตอีก 3,000 อัตรา ส่วนในประเทศกาตาร์งานกลุ่มอุตสาหกรรม รวม 110 อัตรา ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งานสาขาช่างจำนวน 478 อัตรา และประเทศคูเวต จำนวน 331 อัตรา รวมตำแหน่งงานในต่างประเทศทั้งสิ้น 4,419 อัตรา

 เจรจาธนาคารปล่อยกู้ 3,000 ล้าน สำหรับคนงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศต่อ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 ว่า ด้หารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เบื้องต้นธนาคารกรุงไทยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จะปล่อยเงินกู้แห่งละ 1,000 ล้านบาทปล่อยกู้แรงงานรายละ 5 หมื่น-1.5 แ



 

สรุปสถานการณ์ “คนงานไทย” หนีตายจลาจล “ลิเบีย” (ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2554)

 

 

19 ก.พ. 54 - หลายฝ่ายเริ่มจับตาการประท้วงใน 'ลิเบีย' รวมถึงเตรียมความพร้อมการอพยพแรงงานไทย

21 ก.พ. 54 - กระทรงแรงงานเตรียมแผนอพยพแรงงานในลิเบีย ยังไม่ยืนยันมีคนไทยเสียชีวิต

22 ก.พ. 54 - ญาติแรงงานบุรีรัมย์ในลิเบีย กว่า 20 ราย ร้องขอความช่วยเหลือหวั่นไม่ปลอดภัย

23 ก.พ. 54 - อธิบดีกรมการจัดหางานได้เชิญบริษัทจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ มาร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศลิเบียและประเทศตะวันออกกลาง 30 บริษัท

23 ก.พ. 54 - คณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาล เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบียกว่า 23,600 คน ให้กลับประเทศโดยเร็วที่สุด

24 ก.พ. 54 -โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ล่าสุดมีแรงงานไทยสามารถอพยพหนีภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองใน ประเทศลิเบียได้แล้ว 2,000 คน โดยบริษัทจัดส่งแรงงานเป็นผู้ช่วยเหลือผ่าน 3 เส้นทาง ได้แก่ ผ่านชายแดนประเทศตูนีเซียจำนวน 2 ชุด ชุดละ 600 คน ผ่านชายแดนอียิปต์ กว่า 500 คน และเส้นทางเรือ จากท่าเรือเบงกาซี่ ไปเมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี กว่า 500 คน

25 ก.พ. 54 - เมื่อเวลา 00.05 น. ที่ผ่านมา นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน นำทีมช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศลิเบีย  ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ด้วยเที่ยวบิน TG 944 ไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี และต่อไปยัง ตูนิเซีย และเดินทางต่อไปยังชายแดนของประเทศลิเบีย เพื่อนำแรงงานไทยในลิเบีย จำนวน 4,000 คน เดินทางกลับประเทศไทย

25 ก.พ. 54 - เวลา 20.30 น. นางจันทิมา แก้วทอง ชาวบ้าน อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากนายสมจิต ไชยมา ผู้เป็นบิดา และเป็นหนึ่งในแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศลิเบีย โดยบิดาระบุว่ามีชายฉกรรจ์ชุดดำไม่ทราบจำนวน ยิงถล่มเข้ามาในแคมป์คนงานไทยซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมิซูราตาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามยังไม่มีแรงงานไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงดังกล่าว

26 ก.พ. 54 - แรงงานไทยในลิเบียชุดแรก จำนวน 33 คน เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 06.45 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีบรรดาญาติแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับกลับบ้านเกิด บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ทั้ง 33 คนที่เดิน ทางกลับมาชุดแรก เป็นการดำเนินการพากลับโดยนายจ้าง กระทรวงแรงงานได้ตั้งโต๊ะเพื่อให้แรงงานได้ลงทะเบียนข้อมูลประวัติ เพื่อจะให้การช่วยเหลือต่อไป

27 ก.พ. 54 - ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แรงงานไทยในประเทศลิเบียจำนวน 449 คน ได้เดินทางกลับเข้าประเทศเพิ่มเติม หลังเกิดจลาจล เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิต ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ท่ามกลางความดีใจของญาติๆที่มารอรับเป็นจำนวนมาก

27 ก.พ. 54 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศลิเบียว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศเร่งประสานงานกับนายจ้างที่ประเทศลิเบีย ให้อพยพแรงงานไทยไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อน เนื่องจากยังเกิดการสู้รบในจุดที่จะอพยพผ่าน โดยล่าสุดแรงงานไทยไปอาศัยอยู่ในประเทศอียิปต์ และตูนิเซีย ทั้งนี้แนวทางที่ดีที่สุดคือการอพยพทางเครื่องบินและทางเรือ

27 ก.พ. 54 - กระทรวงแรงงานเผยอพยพแรงงานไทยจากพื้นที่อันตรายในลิเบียได้แล้ว 4,000 คน

28 ก.พ. 54 - แรงงานไทยจากลิเบียชุดที่ 3 กว่า 100 คน เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ เผยถูกปล้นทั้งในแคมป์ที่พักและระหว่างเดินทางทรัพย์สินมีหมดตัว ยืนยันไม่กลับไปอีกเพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยง ร้องรัฐบาลเร่งช่วยแรงงานตกค้าง และดูแลค่าจ้างค้างจ่าย 2 เดือนพร้อมตั๋วเดินทาง จนถึงวันที่ 28 ก.พ. มีคนงานเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว 663 คน

1 มี.ค. 54 - ครม.อนุมัติ ในหลักการตามที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างประเทศขอในเรื่องเงินช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสบภัยในลิเบียจนต้องเดินทางกลับประเทศ เบื้องต้นรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือคนละ 15,000 บาท โดยกระทรวงแรงงานของบทั้งหมด 343 ล้านบาทส่วนกระทรวงการต่างประเทศขอ 403 ล้านบาท

1 มี.ค. 54 - นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากเดินทางประชุมระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และการลดอาวุธ ประจำปี 2011 ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา ว่า ระหว่างการประชุม ตนได้มีโอกาสพบหารือกับเครือข่ายสหประชาชาติ 2 องค์กร คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ทั้งนี้ ไอแอลโอ ได้ออกถ้อยแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลลิเบียปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย และรักษาสิทธิของแรงงานชาวลิเบียและแรงงานต่างชาติ

1 มี.ค. 54 - นายสุเมธ  มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมตำแหน่งงานไว้รองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจาก ประเทศลิเบียแล้ว หากมีความประสงค์ที่จะทำงานในประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งงานเดียวกันหรือใกล้เคียงในประเทศอื่นๆ

2 มี.ค. 54 - มีการเปิดเผยงบประมาณที่กระทรวงแรงานขอต่อ ครม. โดยรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่กระทรวงแรงงานเสนอ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์แรงงานไทยที่กลับจากลิเบีย คนละ 15,000 คน จำนวน 20,000 คน เป็นเงิน 300 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายอาหารสำหรับแรงงานที่กลับจากลิเบีย จำนวน 1 มื้อ และค่าพาหนะเพื่อกลับภูมิลำเนา ประเภทเหมาจ่าย คนละ 1,500 บาท จำนวน 20,000 คน เป็นเงิน 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี ค่าจ้างเหมารถบัสขนาด 40 ที่นั่ง จำนวน 5 คันๆละ 20,000 บาท ระยะเวลา 30 วัน เป็นเงิน 3 ล้านบาท ค่าออกข่าวเผยแพร่ความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบียทางวิทยุ โทรทัศน์ จำนวน 10 ครั้งๆละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 5 ล้าน ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพื่อติดต่อประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย จำนวน 1,296,000 บาท

2 มี.ค. 54 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่า กระทรวงแรงงาน ใช้งบช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย 344 ล้านบาท โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการออกสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ วงเงิน 5 ล้าน บาท นั้น ว่า เป็นงบการประชาสัมพันธ์เบอร์โทรศัพท์ของกระทรวงแรงงาน ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ญาติได้รับทราบเบอร์โทรศัพท์ช่วยเหลือ จะได้แจ้งข้อมูลและความเดือดร้อนของแรงงานไทยในลิเบียกลับมาที่กระทรวงแรง งาน รวมทั้งใช้เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาแล้วด้วย ซึ่งงบนี้ เป็นงบฉุกเฉิน ที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 5 วัน

2 มี.ค. 54 - สมาคมสื่อฯ โต้ ครม.เจียดงบ 5 ล้าน จ้างพีอาร์แผนอพยพแรงงานไทยในลิเบีย

3 มี.ค. 54 - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ  อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การขออนุมัติงบประมาณ 5 ล้าน บาท ใช้ประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือแรงงานในลิเบียผ่านสื่อเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ว่า เรื่องนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งให้ปรับลดงบประมาณในส่วนดังกล่าวลง รวมถึงงบประมาณอื่น ๆ  เช่น งบการจัดทำบันทึกข้อมูลแรงงานเดินทางกลับจากลิเบีย ค่าเบี้ยเลี้ยงที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ระดมมาช่วยแรงงานที่สนามบิน รวมการปรับลดงบลง 11 ล้านบาท จากที่กระทรวงฯ ขออนุมัติไว้ในครั้งแรก 343 ล้านบาท เหลืองบฯ ที่ขออนุมัติเพียง 332 ล้านบาท ซึ่งจะนำรายละเอียดเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้ง

4 มี.ค. 54 - ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้เดินทางเข้าพบทีมงานของกรมองค์การระหว่างประเทศ , กรมการกงสุล , กรม เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือเรื่องการสนับสนุนรัฐบาลไทยในการอพยพแรงงานไทยออกจากลิเบีย โดย IOM จะให้สำนักงานในดูไบคอยช่วยประสานเรื่องตั๋วเครื่องบินให้ไทย

4 มี.ค. 54 - กระทรวงแรงงานเพิ่มเงินช่วยเหลือค่ารถและค่าอาหารอีกรายละ 1,500 บาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือแรงงานไทยจากลิเบีย 16,500 บาท

4 มี.ค. 54 - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัทจัดหางาน จำนวน 30 แห่ง ที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศลิเบีย ว่า ล่าสุด มีแรงงานไทยอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว จำนวน 8,386 คน ในจำนวนนี้กลับถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 3,079 คน

8 มี.ค. 54 - นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย ว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 7,035 คน จากแรงงานทั้งหมด 12,975 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงยอดของแรงงานใหม่ เนื่องจากตัวเลขเดิมของแรงงานไทยที่เดินทางไปโดยบริษัทจัดหางาน ที่อยู่ในลิเบียมีจำนวน 23,000 คน เป็นข้อมูลเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นจำนวนแรงงานที่ซับซ้อนกัน เพราะบางคน หมดสัญญากับบริษัทจัดหางานแล้ว แต่ยังคงทำงานอยู่ที่ลิเบียต่อ จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนในเรื่องจำนวนของแรงงานไทย

12 มี.ค. 54 – กระทรวงแรงงานสรุปยอดยอดรวมแรงงานไทยในลิเบียกลับถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ (12 มี..) มีจำนวนทั้งสิ้น 9,261คน 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น