ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'วิกิลีกส์' แฉไอเออีเอเคยเตือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นไม่สามารถทานต่อแผ่นดินไหวรุนแรงได้
- ก.สาธารณสุขญี่ปุ่น ปรับระดับการรับรังสีของ จนท.โรงไฟฟ้าเพิ่ม
- เครือข่ายพลเมืองเน็ต: ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาคดีผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ
- ศอ.รส.เข้ม สั่งห้ามม็อบชุมนุมหน้ารัฐสภา เผยเตรียมออกหมายเรียกแนวร่วม พธม.ทำร้าย ตร.
- บาห์เรนประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน ด้านชาติอาหรับส่งทหารช่วย รบ.บาห์เรนปราบผู้ประท้วง
- วันหยุดเขื่อนโลก: เครือข่ายลุ่มน้ำพม่าเรียกร้องรัฐบาลนักลงทุนยุติสร้างเขื่อนในพม่า
- รายงานพิเศษ: “สาละวิน” สายน้ำอิสระ ที่กำลังจะถูกกักบริเวณ
- ‘หมอประเวศ’ยันไม่ลาออกตาม‘อานันท์’แจงยุบสภาไม่เกี่ยวกับปฏิรูป
- "สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ" ยันปริมาณรังสีแกมมาในไทยยังปกติ
- กวีตีนแดง:ฝันของผู้ยากไร้ (The Possible Dream)
- จูเลียน อัสซานจ์: "อินเทอร์เน็ตคือเครื่องมือสอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
- กก.สิทธิ ตามติดกรณี "วีระ-ราตรี" เน้นคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน
- 3 หน่วยงานยูเอ็น หนุนใช้ซีแอลลดราคายาต้านไวรัส เพิ่มการเข้าถึงยา
- ศาลยกคำร้องดีเอสไอยื่นถอนประกัน 7 แกนนำ นปช.
- เสวนา: จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ 'พื้นที่' สังคมไทย (ตอนที่ 2)
'วิกิลีกส์' แฉไอเออีเอเคยเตือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นไม่สามารถทานต่อแผ่นดินไหวรุนแรงได้ Posted: 16 Mar 2011 01:58 PM PDT วิกิลีกส์เผยไอเออีเอ เคยเตือนว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นไม่สามารถทานต่อแผ่นดินไหวรุนแรงได้ พร้อมแฉรัฐบาลญี่ปุ่นเคยกลับคำตัดสินของศาลที่สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่ง ซึ่งศาลระบุว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุประชาชนจะได้รับสารกัมมันตภาพรังสี ขณะที่มี ส.ส.ญี่ปุ่นเคยให้ข้อมูลกับทูตสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นละเลยเรื่องพลังงานทางเลือก แถมทำให้ต้นทุนที่แท้จริงและปัญหานิวเคลียร์เป็นเรื่องคลุมเครือ
หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ของอังกฤษ รายงานเมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. ว่า เว็บไซต์วิกิลีกส์ เปิดเผยข้อมูลว่า ทางการญี่ปุ่นได้รับการเตือนเมื่อสองปีก่อนโดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ ว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นไม่สามารถต้านทานเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ โดยเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอ กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปี 2551 ว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยล้าสมัยแล้ว และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะทำให้เกิด “ปัญหาร้ายแรง” แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐบาลญี่ปุ่นเคยให้หลักประกันว่าจะยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด แต่ขณะนี้ต้องเผชิญคำถามซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ว่ามาตรการที่ได้ทำไปนั้นเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่ ทางการญี่ปุ่นตอบสนองต่อคำเตือนด้วยการสร้างศูนย์รับมือภาวะฉุกเฉินขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ แต่มีการออกแบบมาให้ทนต่อแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ริกเตอร์เท่านั้น ขณะที่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ (11 มี.ค.) รุนแรงถึง 9.0 ริกเตอร์ การเตือนเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ประเทศซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งของโลก ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมกลุ่มความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศจี 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 ในเอกสารที่วิกิลีกส์เผยแพร่กล่าวว่า “เขา (เจ้าหน้าที่ไอเออีเอ) ได้อธิบายเกี่ยวกับแนวทางด้านความปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีการปรับปรุงแก้ไขกันเพียง 3 ครั้ง ในระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา และว่า ทางไอเออีเอได้ตรวจสอบแนวทางดังกล่าวใหม่แล้ว” “เช่นกัน ผู้นำเสนอยังได้ยกตัวอย่างเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบางกรณี ซึ่งรุนแรงเกินขีดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกแบบเอาไว้ และนี่จะเป็นปัญหาหนักที่นำไปสู่การจัดการมาตรฐานความปลอดภัยด้านแผ่นดินไหว” ในเคเบิลของสถานทูตสหรัฐอเมริกาดังกล่าว ซึ่งถูกเผยแพร่ในวิกิลีกส์ และเทเลกราฟ ยังอ้างอิงคำพูดของผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่ได้มีการระบุชื่อ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางในการปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเหตุแผ่นดินไหวที่มีการปรับปรุงแก้ไขเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 35 ปี นอกจากนี้ วิกิลีกส์ยังเปิดเผยรายงานที่ระบุว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้คัดค้านคำสั่งของศาลในการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น เนื่องจากเกรงว่าโรงไฟฟ้าจะไม่สามารถทนต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ โดยศาลตัดสินว่า มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับสารกัมมันตภาพรังสี ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับโรงงาน ซึ่งสร้างมานานแล้วและสามารถรองรับเหตุแผ่นดินไหวในระดับ 6.5 ริกเตอร์ โดยเทเลกราฟขยายเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 81 ไมล์จากชายฝั่ง มีกำลังถึง 9.0 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเคเบิลที่บันทึกไว้ในเดือนมีนาคมปี 2549 รายงานข้อกังวลของศาล ไม่ได้รับการเผยแพร่โดยสำนักงานด้านความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ ของประเทศญี่ปุ่น ในบันทึกกล่าวว่า “สำนักงานด้านความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ ของญี่ปุ่น เชื่อว่าแกนปฏิกรณ์มีความปลอดภัย และการวิเคราะห์เรื่องความปลอดภัยทั้งหมดนั้นมีความเหมาะสมแล้ว โดยรัฐบาลประสบความสำเร็จในการกลับคำตัดสินของศาลในปี 2552 ในเคเบิลอีกฉบับ รายงานถึงความกังวลของวอชิงตันที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ของญี่ปุ่นที่นำเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เก่ากลับมารีไซเคิลอีก ซึ่งมีความเสี่ยงอันตราย เคเบิลฉบับดังกล่าว อ้างคำพูดของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่รายงานว่า “มีบางสิ่งที่ไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับวิธีที่โรงไฟฟ้าทุกแห่งกำลังดำเนินไปเหมือนกันภายใต้ฉลาก “นโยบายแห่งชาติ” เราเห็นการแข่งกันลดต้นทุนในหลายกรณี ซึ่งยิ่งมีผลกระทบต่อความเสี่ยงภัย” ในเคเบิลยังเปิดโปงนายทาโร โคโนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเคยแจ้งแก่นักการทูตสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมปี 2551 ว่ารัฐบาลกำลัง “ปกปิด” อุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ ส.ส.ญี่ปุ่นผู้นี้กล่าวหารัฐบาลว่าละเลยต่อพลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างเช่น พลังงานลม ในเคเบิลเขียนว่า “เขากล่าวหาต่อ “มิติ” (กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI) ว่ากำลังปกปิดเรื่องอุบัติเหตุจากนิวเคลียร์ และทำให้ต้นทุนที่แท้จริงและปัญหาจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เป็นเรื่องคลุมเครือ” เขากล่าวด้วยว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่นได้ทำให้มีการหยิบยกเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับการเก็บนิวเคลียร์ ทั้งนี้นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเมื่อครั้งที่มีการเตือนภัยเรื่องนิวเคลียร์ โดยเขาเพิ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อปี 2552 และเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนปี 2553
แปลและเรียบเรียงจาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ก.สาธารณสุขญี่ปุ่น ปรับระดับการรับรังสีของ จนท.โรงไฟฟ้าเพิ่ม Posted: 16 Mar 2011 01:47 PM PDT กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ปรับระดับการรับรังสีของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าเพิ่มเป็น 250มิลลิซีเวิร์ต จักรพรรดิญี่ปุ่นแถลงการณ์ทางทีวีครั้งแรกในรอบ 22 ปี แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
(16 มี.ค.54) มติชนออนไลน์รายงานอ้างสำนักข่าวเอพีว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ปรับเพิ่มระดับรังสีสูงสุดที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถรับได้ โดยชี้ว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤติการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ แม้ว่าจะมีการเพิ่มระดับแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ต้องออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นระยะๆ ตลอดวันนี้ (16 มี.ค.) ทำให้ภารกิจการลดอุณหภูมิของเครื่องปฏิกรณ์ต้องสะดุดตามไปด้วย โดยกระทรวงประกาศเพิ่มระดับรังสีที่สามารถสัมผัสได้โดยไม่เป็นอันตราย จาก 100 มิลลิซีเวิร์ต เป็น 250 มิลลิซีเวิร์ต โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนตาม "สถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" จักรพรรดิญี่ปุ่นแถลงการณ์ทางทีวี แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง สมเด็จพระจักรพรรดิใช้วิธีการบันทึกเทปจากพระราชวังอิมพีเรียล และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในภายหลัง ได้แสดงความเห็นใจต่อชาวญี่ปุ่นทุกคน พระองค์ตรัสว่าจำนวนผู้ตายเพิ่มขึ้นทุกวัน และไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายตัวเลขจะไปถึงเท่าไร พระองค์ยังแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ให้แก้ไขวิกฤตการณ์ได้สำเร็จ พระองค์ขอให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนร่วมมือกัน และดูแลกันในยามที่ประเทศยากลำบากอย่างนี้ ขอให้ประชาชนไม่ยอมแพ้ และดำเนินชีวิตต่อไป นี่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางโทรทัศน์ครั้งแรกของพระจักรพรรดิ นับตั้งแต่ครองราชย์มาเป็นระยะเวลา 22 ปี ปัจจุบันพระองค์มีพระชนมายุ 77 ปี เมื่อครั้งที่แผ่นดินไหวในเมืองโกเบปี 1995 สมเด็จพระจักรพรรดิไม่ได้ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ แต่ใช้วิธีออกเยี่ยมผู้ประสบภัยแทน การปรากฏตัวทางสื่อกระจายเสียงของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นถือว่ามีความ สำคัญมาก โดยครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 1945 พระบิดาของพระจักรพรรดิอากิฮิโต คือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้กล่าวผ่านวิทยุเพื่อประกาศความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เครือข่ายพลเมืองเน็ต: ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาคดีผู้ออกแบบเว็บ นปช.ยูเอสเอ Posted: 16 Mar 2011 01:20 PM PDT หมายเหตุ : ชื่อข้อเขียนเดิม "คำถามถึงความเข้าใจเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของฝ่ายยุติธรรม ผลกระทบต่อเสรีภาพประชาชน และข้อสังเกตในการใช้หลักฐานบันทึกการจราจร"
ข้อสังเกตจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ต่อคำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ norporchorusa.com ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ลงในเว็บไซต์ดัง กล่าว และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ดังกล่าว (16 มี.ค. 2554) คำพิพากษาของศาล กรณีผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ (ข่าว: จำคุก 13 ปี ผู้ออกแบบเว็บ 'นปช.ยูเอสเอ' ผิด ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ) แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถึงความเป็นไปได้และข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยี เช่น: *การโยงการเข้าถึง FTP ได้ ว่าเท่ากับการเป็นผู้ดูแลระบบ (ข้อเท็จจริง: บริการ FTP เป็นบริการทั่วไปที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้ได้ ทั้งแบบระบุผู้ใช้และไม่ระบุผู้ใช้ รวมถึงลำดับชั้นของสิทธิในการเข้าถึงก็ยังมีหลายระดับ) *การเข้าใจว่าเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้ เท่ากับว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาในระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ (ข้อเท็จจริง: ระบบคอมพิวเตอร์หนึ่งๆ โดยทั่วไป จะมี "ห้อง" หลายห้อง โดยผู้ใช้แต่ละคนอาจเข้าถึงห้องบางห้องได้ ในขณะที่เข้าห้องอื่นๆ ไม่ได้ หรือ ดูได้อย่างเดียว (read-only) แก้ไขหรือเพิ่มเติมไม่ได้ หรือกระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีห้องดังกล่าวอยู่) *ความไม่เข้าใจว่าระบบอินเทอร์เน็ตนั้น ประกอบด้วยหลายบริการ ที่แยกจากกัน เช่น อีเมล, FTP, เว็บ (WWW), แชท, ฯลฯ และทำงานจากการประสานกันของหลายชิ้นส่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องดูแลโดยผู้ดูแลระบบคนเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาที่ใช้คำว่า "ผู้ดูแลระบบ" ซึ่งมิได้มีการอธิบายที่ชัดเจนว่าเป็นผู้ดูแลระบบของระบบย่อยหรือชิ้นส่วนไหน *ต่อเนื่องจากประเด็นข้างต้น ยังมีความไม่เข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเว็บ ว่าสามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน-อย่างเป็นอิสระจากกันอย่างไร ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาที่อ้างถึงการเข้าถึง FTP ได้ ว่าหมายถึงการสามารถแก้ไขเนื้อหาในเว็บได้ (ข้อเท็จจริง 1: แม้ผู้ใช้จะสามารถอัปโหลดและแก้ไขเนื้อหาแฟ้มที่เข้าถึงด้วย FTP ได้ก็ตาม แต่ดังที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าระบบคอมพิวเตอร์มักประกอบด้วย "ห้อง" หลายห้อง และแฟ้มในห้องเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องดูได้ผ่านเว็บ - นั่นคือต่อให้แก้ไขแฟ้มใน FTP ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าแก้ไขเนื้อหาในเว็บได้; ข้อเท็จจริง 2: ในกรณีของคดีนี้ ระบบเว็บของ norporchorusa.com ใช้ซอฟต์แวร์จัดการเนื้อหาชื่อ Joomla ซึ่งเก็บเนื้อหาข้อความลงในระบบฐานข้อมูล SQL - ซึ่งการเข้าถึง FTP ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในระบบฐานข้อมูล SQL ได้) ความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีในประเด็นต่างๆ ดังที่ได้แสดงตัวอย่างไปบ้างแล้วนี้ ได้ส่งผลต่อการพิจารณาคดี ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา และยังจะส่งผลกระทบต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว นักกิจกรรมด้านสิทธิ และตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้เกิดข้อคำถามขึ้นว่า การพิจารณาคดีโดยศาลในครั้งนี้ ได้มีความพยายามหยิบยกข้อแก้ต่าง หลักฐานพยาน และข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีมาอย่างครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ ทั้งนี้ บนพื้นฐานของหลักฐานพยานจากทั้งฝ่ายโจกท์และจำเลย อย่างพื้นฐานที่สุด โดยไม่ต้องกล่าวถึงความสลับซับซ้อนของเทคโนโลยีอื่นๆ เลยก็ได้ เราขอตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีดังกล่าวนี้ บันทึกการจราจร (log file) ซึ่งเป็นหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งผู้สนับสนุน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องเก็บเพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้นถูกใช้เพื่อการระบุและติดตามผู้ต้องหาเท่านั้น และไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่เพื่อการอำนวยความยุติธรรมและพิสูจน์ความผิด(หรือไม่ผิด)ของผู้ต้องหา โดยสรุปแล้ว พยานหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีการนำสืบในศาล ไม่สามารถระบุให้สิ้นสงสัยได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ดูแลระบบ(ของระบบซอฟต์แวร์ของระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา)จริงหรือไม่ และผู้โพสต์จริงหรือไม่ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอินเทอร์เน็ต ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษา ในประเด็นหลักการการพิจารณาความอาญาไว้ว่า: ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักสำคัญที่สุดในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็คือ 1.ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหา เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด ปกติคดีความที่เกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิคมากๆ แบบนี้ คนที่หนักคือโจทก์อยู่แล้ว ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ศาลมักต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คือ ยกฟ้อง... คำถามเรื่องนี้จึงมีว่า 1. โจทก์สืบยังไงหรือ ศาลถึงสิ้นสงสัย ? (ทั้งที่ ในเหตุผล ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสงสัยอยู่) (บันทึกคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ จะได้มีการเผยแพร่ต่อไป)
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/norporchorusa-observations สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศอ.รส.เข้ม สั่งห้ามม็อบชุมนุมหน้ารัฐสภา เผยเตรียมออกหมายเรียกแนวร่วม พธม.ทำร้าย ตร. Posted: 16 Mar 2011 12:55 PM PDT ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย แจงทราบข่าวผู้ชุมนุมหลายกลุ่มเตรียมรวมตัวค้าน กม.การชุมนุมสาธารณะ หน้ารัฐสภา เช้าวันที่ 17 นี้ อ้าง พ.ร.บ.มั่นคง ลั่นห้ามชุมนุมหน้ารัฐสภาเด็ดขาด เผยเตรียมออกหมายเรียกแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำร้ายตำรวจเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงภายหลังการประชุม ศอ.รส.ว่า ที่ประชุมรับรายงานว่าวันที่ 17 มีนาคม เวลา 09.00 น. จะมีผู้ชุมนุมจากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 24 มิถุนาฯ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี กลุ่มแดงสยาม และกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เดินทางมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ... ทาง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. จึงได้สั่งการห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวเด็ดขาด ตั้งแต่บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาสนามเสือป่าและพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ตามประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ยังได้รับรายงานว่าจะมีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมจาบจ้วง สถาบันเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งจะไม่ยินยอมให้บุคคลกลุ่มนี้เข้าไปในบริเวณรัฐสภาอย่างเด็ดขาด หากผู้ชุมนุมกระทำการฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการใช้กำลังป้องกันพื้นที่และจับกุมตัวทันที แต่ถ้าผู้ชุมนุมจะส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือบริเวณหน้ารัฐสภา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าว ถึงการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯว่า ขณะนี้ พล.ต.อ.วิเชียรกำชับและสั่งการให้ตำรวจรวบรวมหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่ทำร้ายร่างกายตำรวจขณะเข้าขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้หลักฐานเป็นรูปถ่ายผู้ชุมนุมที่ร่วมก่อเหตุ เพิ่มเติม รอการรวบรวมหลักฐานและออกหมายเรียกต่อไป "ส่วนการชุมนุม กลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่มประชาชนไทยฯ รอบทำเนียบรัฐบาลนั้น เบื้องต้นจากการเข้าเจรจาทราบว่า วันที่ 18 มีนาคมนี้ กลุ่มประชาชนไทยฯอาจจะย้ายพื้นที่การชุมนุมออกจากบริเวณ ถ.พิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกและสถานที่ตั้งร้านค้าบางส่วน" โฆษก ศอ.รส.กล่าวและว่า ดังนั้น ถ้าเปิดถนนพิษณุโลกได้ทุกอย่างก็น่าผ่อนคลาย ส่วนกลุ่มพันธมิตรคงต้องรอดูการเจรจาและติดตามสถานการณ์แต่ละวัน ซึ่งถ้าการเจรจาไม่เป็นผลและการชุมนุมมีผลกระทบต่อสังคม ตำรวจก็ต้องดำเนินการ
ที่มา: มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
บาห์เรนประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน ด้านชาติอาหรับส่งทหารช่วย รบ.บาห์เรนปราบผู้ประท้วง Posted: 16 Mar 2011 12:26 PM PDT กษัตริย์บาห์เรนประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน โดยต่อมาเกิดการปะทะเดือด ดับ 2 บาดเจ็บอีก 200 ด้านซาอุดีอาระเบียและชาติแถบอ่าวเปอร์เซีย ส่งทหารกว่า 1,000 นาย เข้าไปยังบาห์เรน เพื่อช่วยรัฐบาลบาห์เรน ปราบกลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาล (16 มี.ค.54) กองทัพบาห์เรนและกองกำลังรักษาความมั่นคง เปิดฉากปะทะและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ต่อต้านรัฐบาลหลายร้อยคนที่ร่วมชุมนุม บริเวณจัตุรัสเพิร์ล ใจกลางกรุงมานามา ขณะที่เสียงปืนยังคงได้ยินเป็นระยะ และเกิดกลุ่มควันสีดำขึ้นบริเวณจัตุรัส สำหรับทางการบาห์เรนแล้ว การกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงถือเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านการประท้วงของรัฐบาล มากกว่าจะเป็นกลยุทธิ์แห่งชัยชนะ ขณะที่กลุ่มต่อต้านยังคงสามารถระดมกำลังและแสดงการต่อต้านรัฐบาลได้ต่อไป สมเด็จพระราชาธิบดีฮามัด บิน อิซา อัลคอลิฟะห์ ของบาห์เรน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อรับมือกับการประท้วงและสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศใน ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภายหลังการประกาศได้เกิดเหตุปะทะลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งทำให้พลเรือนเสียชีวิต 2 ราย และพบผู้บาดเจ็บกว่า 200 คนขณะที่ทางการซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ทหารเสียชีวิต 1 นาย รัฐบาลบาห์เรนมอบอำนาจให้แก่ผู้บัญชาการกองทัพในการปราบปรามและรับมือการ ประท้วงของชาวมุสลิมชีอะห์ ที่ก่อเหตุประท้วงรัฐบาลรวมถึงราชวงศ์ที่ปกครองโดยชาวมุสลิมสุหนี่ และเกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลหลายครั้งในช่วงหลัง รวมถึงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย และชาติแถบอ่าวเปอร์เซีย ได้ส่งทหารจำนวนกว่า 1,000 นาย เข้าไปยังบาห์เรนเมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.) เพื่อช่วยรัฐบาลบาห์เรน ปราบกลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการส่งกองทัพข้ามแดนครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในเขตอาหรับ ในระหว่างที่เกิดเหตุความวุ่นวายทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น และสหรัฐออกมาเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว โดยกองทัพทหารต่างชาติจากสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (จีซีซี) ประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย, โอมาน, คูเวต, บาห์เรน, กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ทางการซาอุดิอาระเบีย ได้เพิกถอนหัวหน้าสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งประจำการอยู่ที่นั่น โดยกล่าวโทษต่อรายงานข่าวการประท้วงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ขณะที่รอยเตอร์ยังคงยืนยันข้อมูลตามรายงานข่าว อิหร่านได้กล่าวประณามต่อการแทรกแซงทางการทหารของชาติอาหรับ ว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และกล่าวทำนายว่า นั่นจะยิ่งทำให้วิกฤติการณ์ทางการเมืองในซาอุฯยุ่งยากยิ่งขึ้น รัฐบาลซาอุฯ แถลงว่า ได้สนองตอบข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กองกำลังร่วมป้องกันคาบสมุทรของประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งนำโดยซาอุฯ ก็ได้ข้ามเข้าไปยังบาห์เรนแล้ว ซาอุฯระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวเอสพีเอว่า สภารัฐมนตรียืนยันว่า ได้สนองตอบคำร้องขอของบาห์เรนให้ช่วยสนับสนุน ซึ่งภายใต้ข้อตกลงของสภาความร่วมมือในอ่าวเปอร์เซีย 6 ชาติ หรือจีซีซี ระบุว่า อันตรายใด ๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นกับความมั่นคงของประเทศสมาชิก ให้ถือเสมือนเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกทั้งหมด นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ส่งทหารตำรวจประมาณ 500 นายเพื่อช่วยคลี่คลายความตึงเครียดในบาห์เรน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า สมาชิกจีซีซีอื่น ๆ เช่น คูเวต โอมานและกาตาร์ เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ บาห์เรนยังได้ร้องขอไปยังมิตรประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย ให้ส่งกองกำลังเข้ามาช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศด้วย ด้านนายฟาร์ฮาน ฮัค โฆษกยูเอ็น กล่าวว่า นายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็น รู้สึกกังวลใจกับการที่ซาอุฯและยูเออี ส่งกำลังทหารเข้าไปในบาห์เรน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจในระดับสูงสุด และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อป้องกันการใช้กำลังและความรุนแรง ขณะที่ นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว เรียกร้องให้กองกำลังประเทศอ่าวเปอร์เซีย เคารพสิทธิของประชาชนในบาห์เรน
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
วันหยุดเขื่อนโลก: เครือข่ายลุ่มน้ำพม่าเรียกร้องรัฐบาลนักลงทุนยุติสร้างเขื่อนในพม่า Posted: 16 Mar 2011 11:51 AM PDT ชี้สถานที่สร้างเขื่อนยังเป็นพื้นที่สู้รบขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทหารรัฐบาล ขณะที่ประชาชนยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างช่วงก่อนเลือกตั้ง ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ระบุทหารพม่าขับไล่ชาวบ้านในรัฐฉานแล้วเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างเขื่อน เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายลุ่มน้ำพม่า ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกมีใจความว่า เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน ให้หยุดโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีแม่น้ำสาละวิน อิระวดี และแม่น้ำอื่นๆ รวมถึงแม่น้ำสาขาต่างๆ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 1. แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งในพม่าแล้ว แต่ไม่ได้ประกันว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น เห็นได้จากการสู้รบกันในพื้นที่ต่างๆ เช่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น เป็นต้น ซึ่งหลายพื้นที่ยังมีการส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่และยังมีสถานการณ์ตึงเครียดอยู่ โดยสถานที่เหล่านั้นยังเป็นพื้นที่ๆ มีโครงการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ 2. การเลือกตั้งที่ผ่านมาส่งผลให้มีการลงทุนในเพิ่มพม่ามากขึ้น จากการที่ผู้ลงทุนเห็นว่าชาวบ้านมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ซึ่งความจริงแล้วประชาชนยังถูกละเมิดสิทธิมนุษย์ชนไม่ต่างจากก่อนการเลือกตั้ง เพราะประชาชนพื้นที่ต่างยังไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรืออยู่ในพื้นที่อย่างปลอดภัยเพราะยังอยู่ในภาวะสงคราม 3. ขณะนี้เขื่อนในพม่า เช่น ในแม่น้ำอิระวดีที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นดินไหว ถ้ามีการสร้างเขื่อนนี้เกรงว่าถ้าแผ่นดินไหวจะเกิดภัยพิบัติ ส่งผลให้พื้นที่กว่าร้อยละ 60 ของประเทศพม่าได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุผลดังกล่าวเครือข่ายลุ่มน้ำพม่าจึงอยากเรียกร้องให้นักลงทุนและรัฐบาลในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีนให้หยุดสร้างเขื่อนในประเทศพม่าทั้งหมด ด้านจ๋ามตอง เครือข่ายปฏิบัติการผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN) กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าไม่ต่างกัน ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากการที่ทหารพม่าเข้ามาขับไล่ชาวบ้านโดยมีการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการเกณฑ์กำลังของชาวบ้านไปใช้แรงงาน เช่น ตักน้ำ ขนฟืน หาอาหารไปให้ และมีรายงานทหารข่มขืน และฆ่าชาวบ้าน โดยเกิดเหตุชายคนหนึ่งออกไปซื้อยาให้ภรรยา โดยร้านขายยาอยู่ห่างบ้านเพียง 150 เมตรก็โดนยิงเสียชีวิต ซึ่งบริเวณดังกล่าวแม้อยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีการทำสัญญาหยุดยิงแล้วก็ตาม ซึ่งความเดือดร้อนทั้งหมดมาจากการที่รัฐบาลทหารพม่าต้องการพื้นที่เพื่อหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ จ๋ามตอง กล่าวอีกว่า พื้นที่วิกฤติอยู่บริเวณพื้นที่สร้างเขื่อนในรัฐฉาน โดยขณะนี้ชาวบ้านถูกขับไล่ไปแล้ว 6 หมื่นคน โดยในรัฐคะเรนนี มี 3 เขื่อนที่จะก่อสร้าง หนึ่งในนั้นคือเขื่อนยวาติ๊ด ที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวิน โดยบริษัทจีนเริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวดำเนินการแล้ว และในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงก็ยังมีการสู้รบอยู่เรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพและใช้ชีวิตลำบากมาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รายงานพิเศษ: “สาละวิน” สายน้ำอิสระ ที่กำลังจะถูกกักบริเวณ Posted: 16 Mar 2011 11:34 AM PDT
ส่วนหนึ่งจากบทเพลงสาละวิน ของวงคาราบาว น่าจะบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่มีต้นกำเนิดเดียวกับแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ โดยยาว 2,800 กิโลเมตร และยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ไหลผ่านมณฑลยูนนาน ในจีน ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า “นู่เจียง” และผ่านรัฐฉาน รัฐคะเรนนี เมื่อผ่านรัฐกะเหรี่ยง แม่น้ำสาละวินจะเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับไทย ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน จนถึงบริเวณที่แม่น้ำเมยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน เรียกว่าสบเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินจะไหลเข้าสู่ตอนในรัฐกะเหรี่ยง ผ่านไปที่รัฐมอญ ลงสู่อ่าวเมาะตะมะ มหาสมุทรอินเดีย แม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายเดียวที่ไหลไปอย่างธรรมชาติไร้ปราการจากฝีมือมนุษย์ที่เรียกว่า “เขื่อน” มาขวางกั้นเอาไว้ แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนการผลิต ทำให้รัฐบาลไทยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า ภายใต้โครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า” เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแม่น้ำสาละวิน โดย กฟผ. จะสนับสนุนเงินทุนและสำรวจโครงการ โดยมีโครงการหลัก 2 โครงการ คือ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือเขื่อนเว่ยจี ขนาด 4,540 - 5,600 เมกะวัตต์ และโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่างหรือเขื่อนดากวิน ซึ่งจะสร้างที่บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยพื้นที่การก่อสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน มีขนาด 900 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีเขื่อนท่าซาง ขนาด 7,110 เมกะวัตต์ สร้างในแม่น้ำสาละวิน ช่วงที่ไหลผ่านรัฐฉาน ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขื่อนยวาติ๊ด ในแม่น้ำสาละวิน ตอนที่ไหลผ่านรัฐคะเรนนี ขนาด 600 เมกะวัตต์ และเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ขนาด 600 เมกะวัตต์ การสร้างเขื่อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินอย่างแน่นอน โดยสมศักดิ์ ศรีมาลี พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า สมัยก่อนชาวบ้านมีอาชีพทำไร่หมุนเวียนสลับกับทำนา แต่ปัจจุบันเริ่มมีอาชีพรับจ้างทำสวน ค้าขาย และทำประมง “ผมคิดว่าเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมบีบบังคับให้วิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องส่งลูกหลานไปเรียนนอกหมู่บ้าน บวกกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ที่ลดน้อยลง” พ่อหลวงสมศักดิ์เล่าว่า ถ้ามีเขื่อนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านจะน้อยลง การดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไป ภาครัฐซึ่งเป็นตัวการในการสร้างเขื่อนก็ไม่ได้ให้ความรู้หรือผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับทำให้เราหวั่นว่า เขื่อนคือทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ดีจริงๆ เพราะชาวบ้านอาจต้องแลกกับวิถีวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสายลมและสายหมอกยามเช้า ริมแม่น้ำสาละวิน ของวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งตรงกับ “วันหยุดเขื่อนโลก” ชาวบ้านมาช่วยกันเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ให้กับพระแม่คงคาบริเวณริมสายน้ำสาละวิน ก่อนที่จะทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งจะทำพิธีทางศาสนา คือ พุทธ คริสต์ รวมถึงความเชื่อดั้งเดิม โดยตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 13 มีนาคม ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจากจังหวัดใกล้เคียงได้เดินทางมาร่วมงานด้วยกว่า 50 คน พร้อมกับร่วมชมและแสดงการแสดงพื้นบ้าน และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในลุ่มน้ำของตน อา นัน สาวชาวคะฉิ่น รัฐซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ผู้รณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำอิระวดี หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของพม่า กล่าวว่า เมื่อเธอได้เห็นสาละวินก็รู้สึกดีใจมากเพราะยังไหลเป็นธรรมชาติ ต่างจากแม่น้ำอิระวดีที่แม้ยังไม่มีการสร้างเขื่อนแต่แม่น้ำก็เปลี่ยนสีแล้ว เพราะตอนนี้ชาวบ้านมากมายถูกขับไล่โดยทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง และมีการขุดทอง แร่ต่างๆ ทำให้ฝุ่นลงไปในแม่น้ำ ถ้ามีการสร้างเขื่อนจริงๆ ก็จะมีผลกระทบมากกว่านี้ เช่น กระแสน้ำจะเปลี่ยน ระดับการขึ้นลงของน้ำไม่เหมือนเดิม ตอนนี้หน้าดินเริ่มหายไปเรื่อยๆ “ชาวพม่ารู้กันดีว่าแม่น้ำอิระวดีเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงคนในพม่า เป็นลุ่มแม่น้ำที่ผลิตข้าวได้มากที่สุด การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านจะไม่ได้ใช้ไฟเลย แต่จะเป็นบริษัทที่มาลงทุนจะได้ประโยชน์ทั้งหมด ชาวบ้านไม่ได้รับอะไรเลย แต่จะได้รับผลกระทบทั้งหมดมากกว่า” อา นัน กล่าวอีกว่า เวลาที่ทหารพม่าเข้ามาไล่จะไม่อธิบายว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนหรือบอกเหตุผลล่วงหน้า และผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับเลย แต่จะสั่งให้ย้ายไป โดยในแม่น้ำอิระวดีจะมีการสร้างเขื่อนทั้งหมด 7 แห่ง โดยเฉพาะเขื่อนมิโซ ที่มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 60 หมู่บ้าน เวลาทหารพม่าขับไล่ก็ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย แต่จะบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างเดียว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยมาเกือบชั่วชีวิตก็จะเสียไป ตนจึงต้องการให้หยุดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำทั้งหมด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า ที่ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดที่แนวทางการใช้ทรัพยากรของเขาเอง ส่วนนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” จากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา ซึ่งผูกพันกับแม่น้ำโขงเล่าถึงความแตกต่างของแม่น้ำโขงกับสาละวินว่า แม่น้ำทั้งสองสายที่มีถิ่นกำเนิดที่เดียวกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของแม่น้ำแตกต่างกันมากเพราะในแม่น้ำโขงมีเขื่อน ซึ่งเขื่อนเป็นตัวเร่งทำให้เกิดวิกฤติต่างๆ เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่แม่น้ำสาละวินยังไม่มีเขื่อน ทำให้ทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ น้ำไหลได้อย่างเป็นธรรมชาติ เห็นได้จากขณะที่นั่งเรือมานั้น ได้พบกับชาวประมงที่สามารถจับปลาขนาดใหญ่หนักถึง 7 กิโลกรัม ได้ 1 ตัวทำให้ชาวบ้านที่เดินทางรู้สึกตื่นเต้นเพราะบ่งบอกให้เห็นว่าแม่น้ำสาละวินยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก “จะทำอะไรกับลำน้ำต้องคิดให้ดี ในอนาคตน่าเป็นห่วงสาละวินเพราะมีกลุ่มทุนจากหลายประเทศต้องการสร้างเขื่อนบนสาละวิน เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งเป็นอันตรายมากๆ เพราะมีคนพึ่งพาอาศัยสาละวินมากมายไม่ต่างจากแม่น้ำโขง การที่จะทำอะไรกับน้ำสาละวินต้องดูน้ำโขงเป็นตัวอย่าง เพราะมิเช่นนั้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนสาละวินไม่ต่างจากโขง เราพูดว่าถึงเขื่อนไม่ว่าสร้างช่วงใดของลำน้ำ คนบริเวณลำน้ำได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะแม่น้ำมีการขับเคลื่อนเป็นธรรมชาติ เช่นการเดินทางของปลา ซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตของคน” ครูตี๋ทิ้งท้ายว่า เขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาวของภัยแล้ง หรือน้ำท่วม แต่เป็นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น การสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบต่อหลายส่วน การแก้ปัญหาจริงๆ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างว่าปัญหาจริงๆ มาจากอะไร เช่น รักษาป่าต้นน้ำ ต้องมีการจัดการน้ำที่ดีไม่ให้เกิดปัญหากับแม่น้ำ ซึ่งเขื่อนในไทยก็เห็นชัด ชาวบ้านรู้ว่าฤดูแล้งก็เก็บน้ำไม่ได้ โดยหน้าที่ของเขื่อนไม่ได้มีหน้าที่สร้างน้ำแต่ต้องเก็บกักน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าต้นน้ำไม่มีน้ำ ไม่มีป่า เขื่อนก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ด้วยการทำให้ปลาสูญพันธุ์ เกิดวิกฤติต่างๆ เราจึงต้องทบทวนการสร้างเขื่อนแต่ละครั้งให้ดีๆ ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสืบชะตาแม่น้ำ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้อ่านแถลงการณ์ “คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ เร่งเยียวยาผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่” ระบุว่า 14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสัญลักษณ์ของการหยุดเขื่อนโลก พี่น้องผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกได้ร่วมกันประกาศก้องให้คนทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลทั่วโลก ต้องตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พวกเรา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเอนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัยที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทั่วโลกต้องร่วมมือกันยับยั้งมหัตภัยเขื่อน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลของตนเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน สำหรับประเทศไทย เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น และเราเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย แสดงความรับผิดชอบรวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำมูล เยียวยาชาวบ้านผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะชาวประมงที่ต้องเป็นหนี้สินจากการหาปลาในแม่น้ำมูลไม่ได้มากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดกั้นทางอพยพองปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูลจากการสร้างเขื่อนปากมูล เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นอย่างมาก บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศท้ายน้ำอย่างประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม อย่างชัดเจนมาแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรยุติการสนับสนุนและหยุดผลักดันเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินอย่างเด็ดขาด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
‘หมอประเวศ’ยันไม่ลาออกตาม‘อานันท์’แจงยุบสภาไม่เกี่ยวกับปฏิรูป Posted: 16 Mar 2011 09:16 AM PDT ‘หมอประเวศ’ ยันไม่ลาออกตามคณะกรรมการปฏิรูป เผยปฏิรูปไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พร้อมเดินหน้าลุย 3 ปีตามระเบียบแต่งตั้ง เชื่อแม้ ‘อานันท์’ จะหยุดตามมารยาท แต่ภาควิชาการยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง จากกรณีที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเตรียมเสนอพิมพ์เขียวเพื่อวางกรอบปฏิรูป ก่อนที่จะประกาศลาออกหลังรัฐบาลยุบสภา วันที่ 16 มีนาคม ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) โดยเจนศักดิ์ แซ่อึ้ง โดย ศ.นพ.ประเวศ ให้สัมภาษณ์ว่า คสป. จะไม่มีการลาออกภายหลังที่รัฐบาลยุบสภา โดยทางคณะกรรมการสมัชชาฯ ทราบดีว่ารัฐบาลแต่ละชุดไม่มีความมั่นคง ฉะนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีว่า หากรัฐบาลลาออก ก็ไม่มีความข้องเกี่ยวกับคณะกรรมการแต่อย่างใด “การปฏิรูปประเทศไทย ต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งทางสมัชชาฯได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่จะมีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ดังนั้นการลาออกของรัฐบาลจึงไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง คสป. หวังว่าจะทำงานต่อไปให้ครบตามเวลา 3 ปีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างกรอบแนวทางในการปฏิรูปต่อไปในอนาคต” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า การทำงานด้านปฏิรูปเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คสป. ได้สร้างเครือข่ายสังคมไว้มากมาย หากมีการประกาศลาออก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังขับเคลื่อนอยู่จะหยุดชะงัก ซึ่งในหลายเรื่องที่ได้สร้างพันธะเกี่ยวเนื่อง สร้างสัญญาไว้กับประชาชน อาจทำให้เสียความรู้สึกต่อกันได้ ขณะเดียวกันแม้ คปร. ของนายอานันท์ จะประกาศลาออก ตนก็เชื่อว่า ภาควิชาการก็ยังต้องดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่อง โดยในฐานะนักวิชาการนั้นต่อให้ไม่มีตำแหน่งก็ต้องทำงานได้เช่นเดียวกัน ด้านความตื่นตัวต่อกระแสปฏิรูป ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ในระดับเมืองหลวงยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ขณะที่ความสนใจจะตกอยู่ที่ระดับท้องถิ่น โดยหัวใจของการปฏิรูปคือการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อย่างไรก็หากพูดถึงการกระจายอำนาจเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะจะเกิดปัญหาตามมาว่าจะต้องส่งต่ออำนาจให้ใคร ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองควบคู่ตามไปด้วย “ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพฯ มีปัญหามากกว่าชนบทหลายเท่าตัว เพราะมีความกระจุกตัวค่อนข้างมาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ทั้งนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าสังคมโลกในอนาคตภาพของความเป็นชุมชนจะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งชุมชนในที่นี้หมายถึงการร่วมคิดร่วมทำ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่ แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นระบบ” ประธาน คสป. กล่าวถึงข้อดีที่ชุมชนจะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ว่า กรณีความมั่นทางอาหารซึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมขณะนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลกลางอาจไม่มีความสามารถพอในการช่วยเหลือ เนื่องจากการบริหารบ้านเมืองอิงอยู่กับเศรษฐกิจ และการตลาด ดังนั้นหากชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ผลิตอาหารเองได้ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วงอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นก็ต้องทำให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเองก่อนเช่นกัน วานนี้ (15 มี.ค.54) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ตอน หนึ่งถามว่า รัฐบาลยุบสภา คปร. ยังทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ นายอานันท์ ตอบว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปมีวาระ 3 ปี แต่ถ้าจะมีเลือกตั้ง โดยมารยาท เราก็ต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่มีความอิสระในการตัดสินใจว่าจะมีคณะกรรมการปฏิรูปหรือไม่มี ถ้ามีจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ แม้ว่าตามระเบียบสำนักนายกฯจะกำหนดให้เราอยู่ได้ถึง 3 ปี ถ้าเราจะอยู่ต่อก็อยู่ได้ แต่นิสัยคนไทย ถ้าเราอยู่ต่อก็จะบอกว่าหน้าด้านอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าเราบอกว่าเราต้องให้เกียรติกับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา เพื่อให้มีความอิสระที่จะตั้งหรือไม่ตั้ง ก็จะบอกว่าเราทิ้งงาน นี่คือวิธีคิดของสังคมไทย แล้วจะไปไหนกัน ถ้าคิดกันแบบนี้ลำบาก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
"สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ" ยันปริมาณรังสีแกมมาในไทยยังปกติ Posted: 16 Mar 2011 08:57 AM PDT เว็บไซต์สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เผยแพร่เอกสารถาม-ตอบ เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรังสี แจงสํานักงานฯ ได้ตั้งสถานีตรวจวัดรังสีแกมมาในอากาศจํานวน 8 สถานีทั่วประเทศไทย โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม ปริมาณรังสีแกมมาในอากาศยังอยู่ในระดับปกติ แจกแจงการทาเบตาดีนไม่มีผลต่อการป้องกันอันตรายจากรังสี คําถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรังสี 1. ถ้าจะเดินทางไปญี่ปุ่นจะปลอดภัยหรือไม่ และจะเดินทางได้หรือไม่ 2. รังสีจะมาถึงประเทศไทยหรือไม่ ถ้ามาจะรู้ได้อย่างไร และจะป้องกันตัวได้อย่างไร ข้อมูลปริมาณรังสีแกมมาในอากาศ ในแต่ละสถานี วันที่ 16 มีนาคม 2554 ซึ่งอยู่ ในระดับปกติ กรุงเทพฯ 46 nSv/h = 0.046 μSv/h = 0.000046 mSv/h 3. การรับประทานไอโอดีนมีผลอย่างไร จําเป็นแค่ไหน ทําไมต้องเป็นไอโอดีน และถ้าจําเป็นต้องใช้จะหาซื้อได้ที่ไหน ไอโอดีน กินเมื่อไหร่ – เมื่อเกิดอุบัติเหตุรังสี หรือนิวเคลียร์ ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่แนะนําให้กินเพื่อป้องกันการ uptake I-131 ของต่อมไทรอยด์ ปัจจุบันระดับรังสีจากการฟุ้งกระจายไอโอดีนรังสีจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นยังมาไม่ถึงประเทศไทย จึงไม่จําเป็นต้องรับประทานไอโอดีนเสถียรแต่อย่างใด 4. การทาเบตาดีนมีผลต่อการป้องกันอันตรายจากรังสีหรือไม่ 5. ลูกเรือและกัปตันเครื่องบิน ที่จะบินผ่านน่านฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุ จะปลอดภัยหรือไม่ และต้องมีการป้องกันตัวอย่างไร 5.2. สัมภาระขึ้นเครื่องคาร์โก้จะดูแลอย่างไร 5.3. ลําตัวเครื่องบิน จะมีการเปรอะเปื้อน เป็นอันตรายหรือไม่ 6. ตั้งครรภ์อยู่ที่เมืองไทย จะมีผลกระทบหรือไม่ 7. ฝนตกที่เมืองไทยจะมีผลหรือไม่ 8. ระดับรังสีที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมีกี่ระดับ และมีผลอย่างไร 2) กรณีได้รับรังสีปริมาณตํ่า ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ แบบนี้ไม่สามารถสังเกตผลได้ชัดเจน แต่ในระยะยาว (10-40 ปี ข้างหน้า) จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 9. สามารถรับประทานอาหารที่มาจากญี่ปุ่นได้ หรือไม่ สําหรับผู้นําเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ถ้าต้องการทราบว่าอาหารมีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในสินค้าเกินมาตรฐานที่กําหนดหรือไม่ให้ติดต่อ “งานบริการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีสินค้าส่งออก” สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมออกใบรับรองรายงานผล รายละเอียดตาม http://www.tint.or.th/service/export.html เบอร์โทรติดต่อ 02 5790743 และ 037-392901-6 ต่อ 1857 10. ถ้าเป็นแพทย์และมีผู้ป่วยทางรังสีจะต้องรักษาอย่างไร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีตีนแดง:ฝันของผู้ยากไร้ (The Possible Dream) Posted: 16 Mar 2011 07:37 AM PDT ดินแดนใดหนอ แทรกแซงความฝัน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
จูเลียน อัสซานจ์: "อินเทอร์เน็ตคือเครื่องมือสอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" Posted: 16 Mar 2011 04:52 AM PDT แปลจาก Julian Assange tells students that the web is the greatest spying machine ever (http://www.guardian.co.uk/media/2011/mar/15/web-spying-machine-julian-assange)
ในการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งล่าสุด จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตเป็น "เครื่องมือสำหรับคอยสอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก" และมันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อเสรีภาพในการแสดงออกเสมอไป อัสซานจ์กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตอาจจะช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลและช่วยอำนวยการประสานงานระหว่างนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่มันก็ยังให้โอกาสรัฐที่จะจับตาดูและจับกุมผู้ต่อต้าน "แม้ว่าในบางที อินเทอร์เน็ตได้เปิดเผยให้เราได้รู้อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ และเป็นช่องทางให้เราได้ติดต่อประสานงานกันเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลและองค์กรที่กดขี่ผู้คน แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้สอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก" เขากล่าวกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในการบรรยายที่คนนับร้อยต่อคิวฟังนานนับชั่วโมง เขากล่าวต่อว่า "มัน [อินเทอร์เน็ต] ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างเสรีภาพในการแสดงออก มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างสิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างความเป็นพลเมือง แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่สามารถถูกใช้สร้างการจับตาดูประชาชนในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ชนิดที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน หากถูกใช้โดยพวกเรา โดยเหล่าผู้ที่เคลื่อนไหวทางสังคม โดยผู้ที่ต้องการจะหักเหทิศทางของโลกเทคโนโลยี มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราพอจะให้ความหวังได้" อัสซานจ์ยังเสนอว่าที่จริงแล้วเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีบทบาทต่อการลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางน้อยกว่าที่ถูกกล่าวอ้างโดยคนในแวดวงสื่อออนไลน์และนักการเมือง "ใช่ [ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก] ก็มีส่วนช่วยอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่มากเท่าที่สำนักข่าวอัลจาซีราทำก็ตาม แต่คู่มือที่นักเคลื่อนไหวในอียิปต์ผลิตขึ้นนั้นเขียนไว้ตั้งแต่หน้าแรกว่า 'อย่าใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์' และย้ำอีกในหน้าสุดท้ายว่า 'อย่าใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์'" "มันมีที่มาของเรื่องนี้อยู่ ที่จริงแล้วเคยมีการใช้เฟซบุ๊กเคลื่อนไหวลุกฮือในกรุงไคโรเมื่อสามสี่ปีก่อน มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เล็กมาก หลังจากเหตุการณ์นั้นเฟซบุ๊กก็ถูกใช้ในการสืบหาและรวบตัวเหล่าผู้นำขบวนการ ซึ่งต่อมาถูกซ้อมทรมาน สอบสวน และคุมขัง" อัสซานจ์กล่าวว่าข้อมูลสถานทูตสหรัฐฯ ที่วิกิลีกส์เผยแพร่นั้นแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่สหรัฐฯ มีต่ออดีตผู้นำตูนิเซีย และช่วยเสริมกำลังให้แก่กองกำลังปฏิวัติทั่วภูมิภาค "โทรเลขเกี่ยวกับตูนิเซียแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ นั้น ถ้าต้องเลือกข้างระหว่างฝ่ายกองทัพตูนิเซียกับฝ่ายอดีตประธานาธิบดี บิน อะลี แล้ว สหรัฐฯ อาจจะเลือกข้างกองทัพ" เขากล่าวต่อว่า "นี่เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้ประเทศรอบข้างตูนิเซียคิดว่าถ้าตนใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง ก็อาจจะไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ" อัสซานจ์ ผู้ซึ่งกำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งเนรเทศจากอังกฤษไปยังสวีเดนเนื่องจากถูกฟ้องด้วยข้อหาทางเพศ กล่าวว่าการเปิดเผยข้อมูลโดยวิกิลีกส์นั้นยังเป็นการบังคับให้สหรัฐฯ ต้องหยุดการแอบสนับสนุน มูบารัค อดีตผู้นำอียิปต์ "เนื่องจากการเปิดเผยโทรเลขเกี่ยวกับสุไลมาน [รองประธานาธิบดีอียิปต์ภายใต้การนำของมูบารัค] ซึ่งเป็นตัวเลือกของสหรัฐฯ และอิสราเอลที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง เนื่องจากการเปิดเผยถึงคำสั่งที่มูบารัคอนุญาตให้วิธีซ้อมทรมานของสุไลมาน รองประธานาธิบดี สหรัฐฯ โจเซฟ ไบเดน จึงไม่สามารถกล่าวได้อีกอย่างที่เคยว่ามูบารัคไม่ใช่เผด็จการ และทำให้ฮิลลารี คลินตัน ไม่สามารถออกมาสนับสนุนมูบารัคอย่างโจ่งแจ้งได้" เมื่อมีการถามถึงแบรดลีย์ แมนนิง พลทหารสหรัฐฯ ที่ถูกคุมขังเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักลอบเผยแพร่ข้อมูลลับให้วิกิลีกส์ อัสซานจ์กล่าวว่า "เราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นหนึ่งในแหล่งข่าว ระบบของเราถูกออกแบบมาให้เราไม่สามารถรู้ได้" อัสซานจ์ยังแสดงความเห็นใจต่อแมนนิงด้วยว่า "เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย และถ้าเขาไม่สามารถถูกเชื่อมโยงกับเราได้ นั่นก็แปลว่าเขาถูกคุมขังทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และถ้ามีการเชื่อมโยงระหว่างเขากับข้อมูลของเราจริง ก็แน่นอนว่าเราต้องมีส่วนรับผิดชอบบ้าง แต่ยังไม่มีการกล่าวหาใดๆ ว่าเขาถูกจับในเรื่องที่เกี่ยวกับเรา ข้อหามีเพียงเขาถูกจับหลังจากพูดคุยกับนิตยสาร ไวร์ด ในสหรัฐฯ" นอกจากนี้ อัสซานจ์ยังวิจารณ์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส ด้วยว่าเก็บงำเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการลับทางทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กก.สิทธิ ตามติดกรณี "วีระ-ราตรี" เน้นคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน Posted: 16 Mar 2011 04:00 AM PDT คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามติดกรณี "วีระ-ราตรี" เผย "กษิต" รับให้ความช่วยเหลือเต็มที่ทั้งทางด้านความเป็นอยู่และกฎหมาย รวมทั้งการประสานทนายความอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีนายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนไพบูลย์ เรียกร้องให้รัฐบาลประกันสิทธิและเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยได้รายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางไปเข้าพบนายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนไพบูลย์ ที่เรือนจำเปรยซอร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา และทราบข้อมูลว่า การเจ็บป่วยของนายวีระ มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากไม่ได้รับบริการการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและเท่าทันต่ออาการของโรค โดยนายวีระและนางสาวราตรี ได้ตั้งข้อสังเกตกับทางคณะว่า “รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่ากรณีการช่วยเหลือในเรื่องการเจ็บป่วยหรือกรณีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลกัมพูชา”และนายวีระฯ ได้แจ้งให้คณะทราบว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษ โดยต้องยื่นเรื่องขอถอนการอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะคาดว่าหากอุทธรณ์ อาจทำให้ระยะเวลายืดเยื้อ และหากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว อาจต้องใช้ช่องทางการพิสูจน์ความยุติธรรมผ่านทางศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากนั้น นางสาวราตรี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่ไม่ได้รับสิทธิที่จะพบทนายความเกิดผลเสียอย่างยิ่งเพราะไม่มีโอกาสต่อสู้คดีหรือเตรียมเอกสารใดๆ เลย ทั้งนี้ นางสาวราตรีฯ ระบุว่า จะไม่อุทธรณ์คดี ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันกับนายวีระฯ โดยเฉพาะประการสำคัญการที่ศาลกัมพูชาไม่เปิดโอกาสให้นำพยานบุคคลหรือเอกสารไปแก้ต่างในกระบวนการพิจารณาได้ ต่อจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายปริญญา ศิริสารการ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าพบนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และนายกษิตฯ ได้เน้นย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งทางด้านความเป็นอยู่และกฎหมาย รวมทั้งการประสานทนายความอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายไปประมวลเพื่อช่วยเหลือนายวีระฯ และนางสาวราตรีฯ โดยคำนึงถึงการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นสำคัญ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
3 หน่วยงานยูเอ็น หนุนใช้ซีแอลลดราคายาต้านไวรัส เพิ่มการเข้าถึงยา Posted: 16 Mar 2011 03:38 AM PDT (16 มี.ค.54) 3 หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกเอกสารสรุปเชิงนโยบาย (policy brief) สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์ เช่น ที่ไทย อินเดีย บราซิลใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน
ที่มาภาพ: enggul องค์การอนามัยโลก (WHO), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ร่วมกันออกเอกสารสรุปเชิงนโยบาย (policy brief) ความยาว 12 หน้านี้ ภายใต้ชื่อ “การใช้มาตรการยืดหยุ่นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนาการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี” ซึ่งออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาการเข้าถึงการรักษาเอชไอวีด้วยการใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์ อาทิ การประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) เช่นที่ไทย และบราซิลได้ดำเนินการไปแล้ว และการกำหนดความชัดเจนของการให้สิทธิบัตรเพื่อขจัดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย หรือ ever-greening patent เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของอินเดีย เพื่อลดราคายาและเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน ในเอกสารร่วมของ 3 หน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า แม้การใช้มาตรการยืดหยุ่นฯ นี้ ได้ถูกประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเหล่านี้กดดันอย่างหนักเพื่อให้ยกเลิก โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทยและบราซิล แต่หน่วยงานยูเอ็นทั้งสามนี้เห็นว่า การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ประกาศไว้ในหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ทั้งนี้ในเอกสารยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีที่บังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงกว่าข้อตกลงทริปส์ว่าจะส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานของสหประชาชาติด้านการพัฒนาและสาธารณสุขเข้าใจและสนับสนุนการใช้ข้อตกลงความยืดหยุ่นของทริปส์ “เราเชื่อว่าการเข้าถึงการรักษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราจึงศึกษามาตรการต่างๆ ที่กฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศจะเอื้ออำนวยเพื่อให้เราสามารถเพิ่มการเข้าถึงยา, เข้าถึงการรักษาได้ แม้ที่ผ่านมาจะต้องผจญกับแรงกดดันของอุตสาหกรรมยา และประเทศมหาอำนาจบ้าง แต่เมื่อได้รับแรงสนับสนุนเช่นนี้ก็น่าดีใจ และเห็นด้วยที่จะขยายและให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาได้ใช้หนทางนี้ในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้กำลังมีการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดทำคู่มือการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อขจัดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย หรือ ever-greening patent เพื่อลดราคายาผูกขาดซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข” ทางด้านนางมิเชล ไชลด์ (Michelle Childs) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย องค์การหมอไร้พรมแดนสากล กล่าวว่า นี่จะเป็นก้าวย่างที่ดีมากๆ เพราะรายงานนี้จะส่งสัญญาณที่สำคัญว่า หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี ยอมรับและให้ความสำคัญว่า การสร้างความยั่งยืนในการจัดหาการรักษาให้กับผู้ติดเชื้อฯนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรการยืดหยุ่นของทริปส์ และยังช่วยกระจายความรู้เหล่านี้ให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติที่ต้องการแก้ปัญหาในประเทศตัวเองได้ปฏิบัติตาม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาลยกคำร้องดีเอสไอยื่นถอนประกัน 7 แกนนำ นปช. Posted: 16 Mar 2011 03:13 AM PDT
(16 มี.ค.54) กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว 7 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยระบุว่า 7 แกนนำทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ล่าสุด มีรายงานว่า ศาลอาญายกคำร้องของดีเอสไอแล้ว เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของอัยการ อนึ่ง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว 7 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, น.พ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายนิสิต สินธุไพร นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยดีเอสไอ ระบุว่า แกนนำทั้ง 7 คนไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมนำหลักฐานเป็นภาพถ่ายการเคลื่อนไหวทั้ง 7 แกนนำ นับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อกำหนดเงื่อนไขของศาลในการให้ประกันตัว
เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนา: จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ 'พื้นที่' สังคมไทย (ตอนที่ 2) Posted: 16 Mar 2011 01:21 AM PDT พฤกษ์พูดถึงความเพิกเฉยต่อสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองที่ทำให้มีคนตาย 90 กว่าคน การพูดถึง 'รัฐ' แต่ในเชิงนามธรรม การไม่มีผลประโยชน์ยึดโยงอะไรกับประชาชน วินัย บุญลือ เล่าเรื่องเปรียบเปรยว่านักศึกษาอาจยังเข้าไม่ถึงแก่นของอาจารย์
วันที่ 13 มี.ค. 2554 ในงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "ท้าทายสังคมศาสตร์ไทย: ความรู้ท่วมหัว เอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ ‘พื้นที่’สังคมไทย” นำเสวนา โดย พฤกษ์ เถาถวิล, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, วินัย บุญลือ ดำเนินรายการโดย อัจฉรา รักยุติธรรม ก่อนการเสวนา ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาว่าในฐานะที่ยังคงวนเวียนอยู่กับ วงการสังคมศาสตร์เช่นนี้ มี "ความคาดหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์อย่างไร มี "ความหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์หรือไม่ โดยกล่าวถึงชื่องานเสวนา "ความรู้ท่วมหัวเอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ว่าการเรียนสังคมศาสตร์สามารถสร้างความรู้เพื่อจะเป็นคำตอบของสังคมไทยได้ หรือไม่ ห้องเรียนสังคมศาสตร์ช่วยสร้างสังคมทีดีขึ้นได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังมากเกินไปหรือเปล่า หลังจากตอนที่ 1 ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของวิทยากร 2 ท่านคือ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ไปแล้ว ในตอนที่ 2 จะเป็นการนำเสนอข้อคิดเห็นของวิทยากรที่เหลืออีก 2 ท่านคือ ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล และ นายวินัย บุญลือ พฤกษ์: ความนิ่งเฉยอย่างน่าผิดหวังของปัญญาชน พฤกษ์กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาปัญญาชนเป็นกลุ่มที่คอยชี้นำ เป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ด้อยอำนาจได้เป็นอย่างดี ดูจากการวิจัยการเรียนการสอน การเข้าร่วมกิจกรรมกับบุคคลเหล่านั้น การเชื่อมโยงระหว่างปัญญาชนกับชาวบ้านคือเรื่องประเด็นปัญหาที่พวกเขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิฯ ของคนกลุ่มต่างๆ เรื่องคนชายขอบ เรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการร่วมกับชาวบ้านที่มีปัญหาเดือดร้อนต่างๆ พฤกษ์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองที่มีนัยสำคัญสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาชนทางสังคมศาสตร์กลับมีบทบาทที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา ส่วนใหญ่นิ่งเฉย แม้กระทั่งบางส่วนก็มีบทบาทที่สวนทางอย่างน่าผิดหวัง พฤกษ์ขยายความว่า ปรากฏการณ์สำคัญทางสังคมและการเมืองดังกล่าวคือ "การชุมนุมขนานใหญ่ของประชาชนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น" "เพียงแต่คนเหล่านี้นิยมทักษิณ และใส่เสื้อสีแดง" พฤกษ์กล่าว พฤกษ์กล่าวต่อว่า ปรากฏการณ์ต่อมาคือ "การสังหารโหดกลางเมือง 90 กว่าชีวิต" ท่ามกลางการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารผู้ที่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกลางเมืองหลวง แต่รัฐบาลที่ควรจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ก็ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นผู้กระทำหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ "แต่โดยบรรทัดฐานของสังคมอารยะทั่วไป รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เราไม่สมควรให้รัฐบาลอยู่" พฤกษ์กล่าว ประเด็นต่อมาพฤกษ์กล่าวถึงการพยายามเสนอการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล การใช้สองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม และการใช้กฏหมายอาญามาตรา 112 ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจที่ปัญญาชนส่วนใหญ่กลับเงียบเฉยต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยส่วนตัวพฤกษ์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ แม้บางคนอาจจะไม่นิยมเสื้อแดง แต่เหตุที่มีคนเสียชีวิตก็ควรถือว่าพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสามัญสำนึกขั้นต่ำมากๆ ที่คนไม่จำเป็นต้องเป็นปัญญาชนควรจะมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ "คนที่ยอมให้มันเกิดอย่างนี้ได้ ผมมองว่ามันน่าตกใจ" พฤกษ์กล่าว พฤกษ์กล่าวว่า แม้เรื่องเหล่านี้อาจต้องใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในการทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเป็นนักสังคมศาสตร์ นักสันติวิธี หรือนักสิทธิมนุษยชนชั้นแนวหน้า ก็เข้าใจได้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา เป็นเรื่องที่ข้ามพ้นจากเรื่องสีเสื้อ "เป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเว้น ถ้าเราละเว้นคำถามก็คือ เราจะมีปัญญาชนไว้ทำไม" พฤกษ์กล่าวและว่า "ผมอุปมาว่าเรากำลังนั่งคุยกันตามประสานักสังคมศาสตร์ กำลังคุยว่าเราจะทำให้สังคมมันดีขึ้นยังไง อยู่ๆ มีคนโยนศพลงมาหน้าห้องประชุม เราไม่ชอบหน้าคนนี้หรอก แต่มันตายอย่างมีเงื่อนงำ แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อสถานการณ์นี้" "เราจะละเว้นไม่สนใจได้หรือ ดังที่ปัญญาชนส่วนใหญ่บอกว่าเอาไว้ก่อนนะ เราไม่ถนัด เราขอเดินอ้อมไปก่อน ขอเดินข้ามไปก่อนเพราะเรามีภารกิจที่สำคัญรออยู่ข้างหน้า" พฤกษ์กล่าว และบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นการตั้งประเด็นไว้ให้ถกเถียงกันต่อไป พฤกษ์ให้ความเห็นว่า ประการแรกคือปัญหาเรื่องท่าทีต่อรัฐของปัญญาชน อาจารย์บางท่านอาจมองว่าปัญญาชนไทยไม่มีจินตภาพเรื่อง 'รัฐ' แต่พฤกษ์เห็นว่าคำว่า 'รัฐ' ที่ปัญญาชนไทยมองไม่ใช่รัฐโดยภาพรวม นักสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า 'รัฐ' คือสถาบันหลักที่กำกับความสัมพันธ์ในสังคม มีการวิจารณ์เรื่อง 'รัฐ' กันอย่างซับซ้อนแหลมคม แต่คำว่า 'รัฐ' ที่ปัญญาชนวิจารณ์ก็เป็นเพียงรัฐในเชิงนามธรรม "ปัญหาคือเวลาเราพูดเรื่องรัฐ เราพูดมันอยู่ในโลกวิชาการ เราพูดถึงรัฐที่เป็นนามธรรม เราวิจารณ์ในเชิงหลักการ เป็นรัฐที่เป็นอกาลิโก เหนือกาล เหนือสถานที่" พฤกษ์กล่าวและว่า "เวลาเราพูดเรื่องรัฐมันเหมือนเราพูดถึงนรก-สวรรค์" พฤกษ์กล่าวต่อว่า แต่เมื่อรัฐในความเป็นจริงสำแดงอำนาจออกมา แม้จะ "ป่าเถื่อน" "ต่ำต้อยกว่ามาตรฐานของสังคมอารยะ" เพียงใดก็ตามก็กลับละเว้นที่จะวิจารณ์ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องวิจารณ์ผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคม ก็จะเว้นไว้ก่อนหรือมีการแก้ต่างให้ "ดังนั้น พวกเราถึงวิจารณ์รัฐในทุกเรื่อง แต่ไม่วิจารณ์เรื่องกระบวนการยุติธรรม เราไม่วิจารณ์กองทัพ ไม่วิจารณ์องคมนตรี ไม่พูดถึงกฏหมายบางมาตรา แม้มันจะผิด หรือจะเป็นห่วงคล้องคอเราอยู่ก็ตาม" พฤกษ์กล่าวและบอกอีกว่า สิ่งเหล่านี้กลายเป็นท่าที เป็นวัฒนธรรมในวงปัญญาชน เป็นปัญหาสองมาตรฐานในวงวิชาการ หนีไม่พ้น ระบบอุปถัมภ์-ระบบราชการ "เศรษฐกิจจะแย่ คนจะตกงาน พรรคใดจะเป็นรัฐบาล ไข่จะชั่งกิโลขาย จะหาซื้อน้ำมันปาล์มไม่ได้ ประเทศไหนจะแผ่นดินไหว หรือรวมถึงการเคลื่อนไหวในแอฟริกา-โลกอาหรับด้วยก็ได้ มันก็ไม่เกี่ยวกับเรา" พฤกษ์กล่าวถึงท่าทีของปัญญาชนบางส่วน "สิ้นเดือนเราก็จะได้รับเงินเดือน และเงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เราทำงาน เพราะเจ้านายของเราคือระบบราชการ" พฤกษ์กล่าวถึงประการสุดท้ายคือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในระบบราชการ การได้เลื่อนขั้นทางวิชาการ การจะได้ตำแหน่งบริหาร การจะได้ทุนไปต่างประเทศขึ้นอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นเรื่องเส้นสายระบบอุปถัมภ์เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญของพวกเขา คือเรื่องการได้รับทุนวิจัย ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่มีอิทธิพลดูได้จากงบประมาณที่ได้รับแต่ละปี "แต่ก็คงเป็นการมักง่ายเกินไปที่จะบอกว่าแหล่งทุนวิจัยเหล่านั้นทำหน้าที่สนองความมั่นคงของรัฐอย่างทื่อๆ แต่ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่าทุนวิจัยมีวาระ (agenda) บางอย่าง และมีผู้มีอิทธิพลจำนวนหนึ่งในการเลือกสรรโครงการวิจัย" พฤกษ์กล่าว "สำหรับนักวิชาการอาวุโส การที่จะได้เป็นนักวิชาการโครงการขนาดใหญ่ วงเงินหลายๆ ล้าน การมีความสามารถทางวิชาการอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแหล่งทุนด้วย สำหรับนักวิชาการย่อยๆ ลงมาการจะได้ร่วมชุดวิจัยกับโครงการใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักวิชาการรุ่นใหญ่หรือไม่" พฤกษ์กล่าว พฤกษ์ให้ความเห็นต่อว่า ระบบอุปถัมภ์ทำให้เกิดการ "ว่าอะไรก็ว่าตามกัน" เช่นการที่ปัญญาชนบางกลุ่มเข้าร่วมเป็นเสื้อสีหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอะไรซับซ้อนไปกว่าผู้หลักผู้ใหญ่อาจารย์ของตนเข้าร่วมกับเสื้อสีนั้น หรือปัญญาชนที่เข้าร่วมคณะปฏิรูปเพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพชักชวนเข้าไป หรือปัญญาชนยึดโยงกับ ‘อำมาตย์’ มากกว่าประชาชน? "คงจะไม่ผิดที่จะเรียกส่วนที่เรายึดโยง โดยอาศัยวาทะยอดนิยมทางการเมืองว่า 'อำมาตย์' และคงจะไม่ผิดเกินไปหากเราบอกว่านักวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบอำมาตย์" พฤกษ์กล่าวและบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง เฉยชาต่อเหตุการณ์ ไม่กล้าพูดในสิ่งที่จะกระทบต่อสถานภาพ วิจารณ์ 'รัฐ' แบบที่เป็นนามธรรม เลือกสัมพันธ์กับชาวบ้านเพียงบางกลุ่มตามรสนิยมที่มี พฤกษ์เสนอทางออกต่อปัญหานี้ว่า ต้องทำให้ปัญญาชนมีความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกับประชาชน แทนที่จะยึดโยงกับระบบราชการหรือ "อำมาตย์" พฤกษ์ออกตัวว่าทางออกเชิงรูปธรรมที่เสนอนี้ยังเป็นท่าทีแบบทีเล่นทีจริง คือเสนอให้เงินเดือนแบบลอยตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีก็เงินเดือนขึ้น เศรษฐกิจแย่ก็เงินเดือนตก ส่วนเรื่องการทำประเมินต่างๆ เรื่องคุณภาพหลักสูตรหรือการขอทุนวิจัย ก็ต้องเปลี่ยนโดยการเอา สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ออกไป แล้วลองให้ อบต. เป็นผู้ประเมินดูบ้าง วินัย: เรื่องตลกของนักเทศน์เครายาว "มีนักเทศน์ชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง หนวดดกดำ พร่ำสอนในดินแดนหมื่นลี้พันวา พร่ำสอนเทศน์เกี่ยวกับทฤษฎี เช่น ความซับซ้อนของทฤษฎีไข่มดแดง ว่าชาวบ้านเขามีทฤษฎีไข่มดแดงหรือความซับซ้อนของสิทธิ หรือไม่เช่นนั้นก็คือต้นเหตุมรณะของมหาวิทยาลัยคอนแนล ที่คอนแนลปลูกแต่ต้นเอล์มอย่างเดียว พอมันตายก็ตายหมด แล้วเขาก็สรุปได้ว่าเพราะฉะนั้นทางออกก็คือ สรุปได้ว่าน่าจะเป็น 'บักแคว่นและต้นต๋าว' ที่จังหวัดน่าน" วินัยเล่า "ขณะที่พร่ำสอนอยู่นั้น ก็จะมีนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ปกติเขาจะนั่งอยู่บนแท่นธรรมมาสแทนโพเดียม ก็มีคนนั่งฟังอยู่แล้วมีคนหนึ่งก็เริ่มร้องไห้ เริ่มเศร้า เพราะนักเทศน์คนนี้ก็ตีหน้าเศร้าเล่าความจริงเขาฟัง แล้วก็เสริมซึมซับเอาความเศร้าเหล่านี้เข้ามาในจิตใจของตนเอง ยิ่งทำให้นักเทศน์คนนี้ฮึกเหิมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดสามารถดึงเอาอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังเหล่านี้ได้ ด้วยความฮึกเหิมหลังจากพูดเสร็จก็ลงไปถามว่า 'คุณป้าครับขอบคุณมากนะครับที่มาฟังผมพร่ำสอน รู้สึกดีใจมากที่มีอารมณ์ร่วม แต่ว่ามีความเศร้าอะไรหรือ' ป้าก็ตอบว่า 'ตอนที่ท่านเทศน์สอนอยู่นี้ หนวดยาวๆ ของท่านทำให้ดิฉันคิดถึงแพะของฉัน ที่เพิ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้ทำให้เกิดความเศร้า' " วินัยเล่าต่อ วินัยบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอจากเรื่องเล่านี้โยงกับประเด็นเรื่องห้องเรียนสังคมศาสตร์ต่อสังคมไทย โดยเริ่มชวนตั้งคำถามว่า 'สังคมไทย' มีจริงหรือไม่ เมื่อในดินแดนแถบนี้ไม่มี 'คนไทย' เลย มีแต่คนที่มีภาษาต่างกัน อยู่กระจัดกระจายกันที่นี่ ฉะนั้นความเป็นตัวตนของตนเองก็มีแบบที่ต่างกัน วินัยมองว่าการที่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ยังไม่มีบทบาทในปัจจุบันมากนัก และยังไม่เห็นผู้นำทางปัญญาคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องท้าทาย สังคมไทยตอนนี้ยังไม่มีคนที่เด่นขึ้นมาจริงๆ และสิ่งที่วินัยต้องการยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าดังกล่าวคือ นักศึกษาคนรุ่นใหม่อาจจะมัวมอง 'หนวด' ของอาจารย์โดยที่ไม่มองเนื้อหา ก็เลยเศร้าตามหนวด ฟังอีกอย่างหนึ่งคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เข้าถึงแก่นที่เขาพยายามจะสอน เลยอาจไม่มีอะไรเด่นขึ้นมาก็ได้ ‘นักวิชาการบ้านเช่า’ "ศาสตร์สมัยใหม่ไม่เคยเป็นพื้นที่การสรรค์สร้างของมนุษย์ ศิลป์ต่างหากที่เป็นตัวสร้างมนุษย์ ฉะนั้นเราควรเป็นสังคมศาสตร์ให้เป็นสังคมศิลป์ เป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ที่ดีในอนาคต" วินัยกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น