โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กมธ.กิจการสภาฯ สอบซื้อ 'นาฬิกา' แพง

Posted: 15 Aug 2013 12:14 PM PDT


(15 ส.ค.56) ที่รัฐสภา  นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วันนี้คณะกรรมาธิการฯ ประชุมพิจารณากรณีการจัดซื้อจัดจ้างนาฬิกาแขวนผนัง ไอแพด ของ ส.ส.สมาชิกรัฐสภา และโครงการจัดตั้งห้องประชุมยุทธศาสตร์เพื่อการตัดสินใจของรัฐสภา (วอร์รูม) โดยเชิญนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาฯ เข้าชี้แจง แต่มอบหมายให้นายนุกูล สัณฐิติเสรี รองเลขาธิการฯ เข้าชี้แจงแทน

นายนุกูล สัณฐิติเสรี ชี้แจงว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดซื้อนาฬิกาแขวนผนังจำนวน 200 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท เฉลี่ยเรือนละ 75,000 บาท มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากความจริงแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุมเวลาและการบริหารเวลาภายในรัฐสภาทั้งระบบ โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรประสบปัญหาในการนัดหมายเวลากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากนาฬิกาในห้องประชุมแต่ละห้อง เดินไม่ตรงกันและบางเรือนไม่เดิน ทำให้การบริหารเวลาเกิดความผิดพลาด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดทำโครงการระบบนาฬิกาของรัฐสภาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า งบประมาณ 15 ล้านบาท สำหรับการติดตั้งระบบนาฬิกาของรัฐสภา ไม่ใช่มูลค่าของนาฬิกาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นตัวแสดงผล ที่มีความเที่ยงตรงตลอดเวลา มีการเชื่อมต่อกับดาวเทียมและระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งสัญญาณเวลาให้กับนาฬิกาเครื่องลูกข่ายทั้งหมด รวมถึงมีการ Back Up ระบบเวลาให้กับชุดควบคุมนาฬิกาหลักให้สามารถรักษาเวลาต่อเนื่องในกรณีไฟฟ้าดับได้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากนี้งบประมาณดังกล่าวยังรวมถึงคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชั่น และระบบการเชื่อมต่อกับมาตรฐานเวลาในระบบของสำนักมาตรวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ และระบบการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้สายใยแก้วนำแสง Fiber Optic สำหรับเชื่อมโยงระหว่างอาคารที่มีความเสถียรสูง ระบบการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าและสายสัญญาณ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายนุกูล กล่าวด้วยว่า ระบบนาฬิกาดังกล่าวมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศ ในกลุ่มทวีปยุโรป กลุ่มทวีปอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีการใช้ที่สถาบันมาตรวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ สำหรับนาฬิกาที่จัดซื้อและติดตั้งทั้งหมดมีจำนวน 240 เครื่อง และมีการดำเนินการที่โปร่งใสตามระเบียบของราชการทุกประการ

ด้านกรรมาธิการฯ ทักท้วงว่า ตรวจสอบนาฬิกาที่จัดซื้อ พบมีราคาเพียง 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนการจัดซื้อไอแพดให้กับ ส.ส. ส.ว.และเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีบริษัทขอร่วมประมูล 6 บริษัท แต่ยื่นซองประมูลเพียง 2 บริษัท รวมมูลค่า 55 ล้านบาท จำนวน 808 เครื่อง  ส่วนการตั้งวอร์รูม กรรมาธิการซักถามเหตุผลการทำห้องดังกล่าว ทั้งนี้ นายนุกูลตอบคำถามกรรมาธิการฯ ทั้ง 3 เรื่องไม่ได้ แต่จะส่งคำชี้แจงเป็นเอกสารให้ภายหลัง ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้รัฐสภาเสียหาย ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย

อย่างไรก็ตาม นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการฯ แสดงความไม่พอใจ เพราะเชิญนายสุวิจักขณ์เข้าชี้แจงหลายครั้ง แต่มอบหมายให้คนอื่นมาชี้แจงแทน ดังนั้น ประชุมครั้งต่อไปขอให้มาชี้แจงด้วย

 


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 1, 2

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐวิสาหกิจจับมือไล่ กสทช. จวกเกณฑ์จัดสรรคลื่นเอื้อเอกชน

Posted: 15 Aug 2013 11:23 AM PDT

(15 ส.ค.56) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพร.ท) ประกอบด้วย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 200 คน เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านขอให้ กสทช. ยุติบทบาทการทำหน้าที่กำกับดูแล 3 ประเด็น ได้แก่

1.การประมูลทีวีดิจิตอล เดือน ต.ค. 56 ซึ่ง อสมท.ต้องแข่งขันกับภาคเอกชน ทั้งที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจของรัฐและนำส่งรายได้แผ่นดิน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อองค์กรและจะกระทบต่อการจัดหารายได้และการจัดส่งรายได้เข้าแผ่นดิน และการลดเวลาให้เปลี่ยนจากการออกอากาศจากระบบอะนาล็อกมาเป็นดิจิตอล ภายใน 5 ปี จากเดิมที่กำหนด 10 ปี ตลอดจนหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอลที่ไม่เป็นธรรม

โดยชี้ว่า อสมท. เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ของรัฐในอดีตเพียงรายเดียว ที่ถูกประกาศของ กสทช. ผลักไปประมูลทีวีดิจิทัล แต่ช่องที่เหลือเช่น ช่อง 11 ช่อง 5 ไทยพีบีเอส ได้รับจัดสรรคลื่นสาธารณะและสามารถมีโฆษณาได้ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ  ใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนการประมูลช่องข่าว กสทช. ยังปรับลดรายการข่าวจากเดิมที่ต้องมีข่าวร้อยละ 75 เหลือแค่ร้อยละ 50 ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหันมาประมูลช่องข่าว เพื่อผลิตรายการวาไรตี้ แทนที่จะไปประมูลช่องวาไรตี้  เนื่องจากช่องข่าว ราคาเริ่มประมูลถูกกว่าช่องวาไรตี้อย่างมาก ขณะเดียวกัน ทีวีดิจิทัลมีได้เป็น 100 ช่อง แต่ กสทช.  กำหนดให้มีเพียง 24 ช่อง ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

2.การจัดสรรคลื่นความถี่โทรศัพท์ระบบ 3G ที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนที่ชนะการประมูล สร้างโครงข่ายโทรศัพท์เป็นสมบัติของเอกชนได้ ทั้งที่โครงข่ายเหล่านี้เป็นสมบัติชาติ และยังโอนเลขหมายโทรศัพท์สมบัติชาติไปเป็นของเอกชนอย่างเสรี ซึ่งจะกระทบต่อบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที

และ 3.กรณีที่คลื่นโทรศัพท์ 1800 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานใน ก.ย. นี้และต้องคืนคลื่นให้ กสทช.ทำให้รายได้ที่จะส่งให้แผ่นดินลดลง รวมทั้งคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติตกไปอยู่ที่เอกชน

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) เปิดเผยภายหลังเข้าหารือร่วม กสทช.ว่า ให้กรอบระยะเวลาพิจารณาข้อคัดค้านดังกล่าวไม่เกิน 7 วัน โดยเบื้องต้นเป็นกระบวนการหารือเพื่อหาข้อยุติถึงผลกระทบขององค์กรรัฐวิสาหกิจ แต่หลังจากนี้จะยื่นขอให้ประธานวุฒิสภาถอดถอน กสทช. ฟ้องศาลปกครองเรื่องการใช้โครงข่ายร่วม การกำกับดูแลที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ในวันที่ 23 ส.ค. 56 จะเปิดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป

ด้าน ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.ดูแลภารกิจยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร และนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน กฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ รักษาการรองเลขาธิการกสทช. ภารกิจกระจายเสียงและโทรทัศน์  ร่วมกันเปิดเผยว่า จะรีบนำข้อร้องเรียนและคำคัดค้านของสรส. เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) และที่ประชุม กสทช. ตามลำดับ โดยยืนยันว่า กสทช.ได้ปฎิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553  ที่กำหนดให้จัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูล และสร้างการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ภารกิจโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.ดำเนินการตามกรอบข้อกฎหมายกำหนด ซึ่งทั้ง กสทช. และ สรส. มีจุดยืนเช่นเดียวกันคือดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ แต่แตกต่างกันที่รายละเอียด เนื่องจากรัฐวิสาหกิจคำนึงถึงการสร้างรายได้จากการดำเนินการ ขณะที่ กสทช. ต้องคำนึงถึงการบริหารคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้กรอบของกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ยอมรับว่า กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจหนึ่งที่จะต้องนำคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ในช่วงเวลาปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนผ่าน กสทช. ต้องคำนึงถึงการดูแลหลายฝ่าย จึงย่อมไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันในทุกมุมมองได้   

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า อสมท. นั้นด้วยฐานะถือเป็นเอกชน เพราะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องประมูลทีวีดิจิตอล เพราะกฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งคณะรัฐมนตรี ก็เห็นชอบประมูล ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มีความกังวลใดๆ และมั่นใจว่าการประมูลทีวีดิจิตอล จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.นี้แน่นอน

 

 

ที่มา: สำนักข่าวไทย สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ใบแจ้งข่าว กสทช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

11 นักวิชาการแถลงจุดยืน นิรโทษฯ เฉพาะประชาชน

Posted: 15 Aug 2013 10:42 AM PDT

นักวิชาการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชี้ผู้เกี่ยวข้องต้องไม่มีส่วนในการพิจารณา แนะดำเนินการเปิดเผย ย้ำต้องนิรโทษเฉพาะประชาชน ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง
 
15 ส.ค.56 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า กลุ่มนักวิชาการได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง จุดยืนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยเนื้อหาระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาโดยรัฐสภานั้น อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผูกพันโดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
เป็นที่เข้าใจและสามารถยอมรับในหลักการได้ว่า เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าวดำรงอยู่บนพื้นฐานของความพยายามเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่มสังกัดที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตน
 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงข้อกังวลของผู้คนที่ติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ จะพบว่ามีประเด็นที่อยู่ในความสนใจและพึงพิจารณาดำเนินการอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 3 ข้อ
 
1.ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเยียวยาทางกฎหมายในครั้งนี้ จะต้องมิใช่บุคคลในระดับผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการภายใต้กลไกอำนาจรัฐ หรือการสั่งการมวลชนผู้ชุมนุม
 
กล่าวให้ชัดกว่านั้น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะต้องยืนบนหลักสำคัญคือ มุ่งละเว้นโทษเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่จะไม่เอื้อประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจความรับผิดชอบสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง
 
2.บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมโดยตรงในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงในทุกเหตุการณ์ นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน จะต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ได้เสียของตนเองโดยตรง
 
หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งอันพึงพิจารณาคือ กระบวนการบัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ จะต้องไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองของการไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดที่ได้กระทำลงไป อันจะสร้างปัญหาระยะยาวและแก้ไขได้ยากต่อการปกครองด้วยหลักกฎหมาย
 
3.ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่ต้นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง ทุกขั้นตอนในการพิจารณาจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย
 
วิธีการสร้างความเปิดเผยดังกล่าว สามารถกระทำได้ตั้งแต่ให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกครั้ง เปิดให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่รายงานความคืบหน้า อธิบายความหมายนัยสำคัญในแต่ละเนื้อหา แต่ละประเด็นข้อถกเถียง
 
ภายใต้กระบวนการนี้จะส่งผลให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน เหตุผล บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยถือผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง บทบาทหน้าที่ดังกล่าววางอยู่บนหลักการใด แตกต่างกันอย่างไร และบรรลุความเห็นพ้องต้องกันในเงื่อนไขใด
 
หากกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดำเนินภายใต้จุดยืนสำคัญดังกล่าว จะเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม อันจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
ทั้งนี้ นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ จำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1.นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 3.นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 5.นายชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 6.นายศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
7.นายเจษฎ์ โทณวณิก ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม 8.นายสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9.นายจักษ์ พันธุ์ชูเพชร อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 10.นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ 11.น.ส.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: โครงการพัฒนา 2 ล้านล้านบาท ต้องเดินหน้า

Posted: 15 Aug 2013 10:27 AM PDT

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท สองโครงการนี้จะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของไทย ยกระดับประเทศเข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ยั่งยืน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ธนาคารโลกได้เลื่อนอันดับประเทศไทยให้เข้าอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle income country) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 35 ประเทศ เช่น อาฟริกาใต้ บราซิล จีน ฮังการี มาเลเซีย และเม็กซิโก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอีกมากมาย ประเทศไทยก็นับว่า ประสบความสำเร็จพอสมควรในการพัฒนายกระดับจากประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง

การพัฒนาประเทศในระยะเริ่มต้น จากประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้ปานกลางนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นจนเกินไป เพราะระบบเศรษฐกิจมีแรงงานล้นเกินมากมาย ค่าจ้างต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นวัตถุดิบราคาถูก ส่งออกสินค้าเกษตรไปแลกกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรม มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและระบบกฎหมายที่พึ่งพาได้ ระบบเศรษฐกิจก็จะพัฒนายกระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพของประชากรจากสังคมเกษตรดั้งเดิมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมขั้นต้นได้

แต่การยกระดับจากประเทศอุตสาหกรรมรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศรายได้สูงนั้นทำได้ยากกว่ามากเพราะไม่มีแรงงานล้นเกินและแหล่งทรัพยากรราคาถูกอีกต่อไป ต้องหันมาพัฒนาทักษะความรู้ของแรงงาน ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของงาน รู้จักดัดแปลงเทคโนโลยีของต่างชาติและคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองประกอบกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงรองรับ เช่น ระบบการศึกษา โทรคมนาคมและขนส่ง ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม ระบบกฎหมายและการบังคับใช้ที่สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น

นโยบายเหล่านี้ทำจริงได้ยากกว่าเพราะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาทั้งคุณภาพคนและโครงสร้างกายภาพ จึงเป็นเหตุให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในเวลาอันสั้น แต่กลับไม่สามารถยกระดับระบบเศรษฐกิจของตนต่อไปได้ ต้องติดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเป็นเวลายาวนาน สภาพดังกล่าวเรียกกันว่า "กับดักรายได้ปานกลาง" (Middle-income trap)

ประเทศไทยก็ติดอยู่ใน "กับดักรายได้ปานกลาง" เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยสังกัดอยู่ในกลุ่ม "ประเทศรายได้ปานกลาง" มายาวนานกว่า 30 ปีถึงปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางในอดีตจำนวนหนึ่งซึ่งเริ่มต้นพัฒนาประเทศในเวลาใกล้เคียงหรือหลังประเทศไทย กลับได้ก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ใต้หวัน แม้แต่มาเลเซียซึ่งเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมหลังประเทศไทยราวสิบปี ปัจจุบันก็มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยเกือบสองเท่า และจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงก่อนไทยอย่างแน่นอน

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางเนื่องจากปัญหาการยกระดับทักษะความรู้ของแรงงานไทย ระบบการศึกษาและอบรมแรงงาน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และการวิจัย แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ความล้าหลัง ต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำของโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งการขนส่งทางบกที่พึ่งพารถบรรทุกเป็นหลัก สิ้นเปลืองพลังงานสูง การขนส่งทางน้ำที่ขาดวิ่นไม่เป็นระบบ ระบบรถไฟที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 100 ปี สนามบินที่แออัดยัดเยียด แม้แต่ระบบถนนหลวงสี่ช่องจราจรก็ยังไม่ครบถ้วน

แนวคิดการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของประเทศมีการเสนอเป็นครั้งแรกในปลายสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย 1 เรียกว่า เมกาโปรเจ็คท์ แต่ก็ถูกล้มเลิกไปจากวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปถึง 8 ปี โครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาทจึงเป็นความพยายามอีกครั้งโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะบรรลุเป้าหมายการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ส่วนประกอบสำคัญของโครงการ 2 ล้านล้านบาท นอกจาก "รถไฟความเร็วสูง" แล้ว ยังมีการสร้างและขยายระบบรถไฟรางคู่ การขยายและเชื่อมต่อระบบถนนหลวงสี่ช่องจราจรให้ครบวงจร การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและท่าเรือ ระบบถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯและขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ เป็นต้น เป็นการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของทั้งประเทศให้ครบทั้งระบบอย่างแท้จริง

โครงการเหล่านี้ต้องมีการลงทุนสูง หลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง เมื่อสร้างเสร็จเริ่มให้บริการในระยะแรก รัฐบาลจะ "ขาดทุน" อย่างแน่นอน แต่ผลได้ที่มีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะเป็นทวีคูณ นอกจากจะกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องของเอกชนและต่างชาติในเศรษฐกิจไทยต่อไปได้อีกหลายสิบปีแล้ว ยังเป็นมาตรการกระจายความเจริญออกไปจากกรุงเทพฯที่ได้ผลที่สุด ความเจริญทางเศรษฐกิจ การลงทุน การก่อสร้างโดยรัฐและเอกชน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การจ้างงาน รายได้ และการใช้จ่ายจะกระจายจากกรุงเทพฯไปตามเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ตามเส้นทางถนนและเส้นทางน้ำที่ขยายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เกิดเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาคอีกหลายแห่ง

โครงการ 2 ล้านล้านบาทจะได้มาด้วยการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อโจมตีสำคัญ ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อรายได้ประชาชาติของไทยอยู่ที่ร้อยละ 44.3 ซึ่งยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในระดับเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าจะกู้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่รายได้ประชาชาติของไทยก็เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีไปจนถึงปี 2563 ขณะที่รัฐบาลไทยกู้เงินในโครงการจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันรวม 2.350 ล้านล้านบาท จะพบว่า ในปี 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อรายได้ประชาชาติของไทยจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 45.9 เท่านั้น การโจมตีโครงการดังกล่าวว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตหนี้สาธารณะจึงเป็นการกระพือความกลัวบนความเท็จเท่านั้น

พวกที่โจมตีคัดค้านโครงการพัฒนา 2 ล้านล้านบาทมีสองจำพวก พวกแรกเป็น "ฝ่ายแค้น" ที่ตั้งหน้าคัดค้านทุกเรื่อง โจมตีทุกประเด็น ไม่ว่าข้อโจมตีจะเป็นความเท็จและไร้สาระสักเพียงใด เพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกเม็ด ส่วนอีกจำพวกหนึ่งนั้นเป็นกลุ่มคนที่ยังขาดข่าวสารข้อมูลและอาจจะอ่อนไหวไปตามการกระพือของสื่อกระแสหลักที่อคติเกลียดชังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สำหรับคนกลุ่มหลังนี้ รัฐบาลมีหน้าที่จะต้องสื่อความเข้าใจในข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้อง

พวกเผด็จการจะใช้พรรคฝ่ายค้านและตุลาการขัดขวางโครงการจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาทอย่างถึงที่สุด เพราะการยกระดับเศรษฐกิจและโครงสร้างของประเทศไทยเข้าสู่โลกาภิวัฒน์จะมีผลเป็นการยกระดับจิตสำนึกและความคาดหวังของประชาชนไทยไปสู่โลกาภิวัฒน์ด้วย อันจะทำให้อำนาจจารีตนิยมที่พ้นสมัย ล้าหลัง และครอบงำคนไทยมายาวนานต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด

 

 

ที่มา: "โลกวันนี้วันสุข" 16 สิงหาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ชำแหละรายงาน กสม. ความตายในอุ้งมือนักสิทธิมนุษยชน

Posted: 15 Aug 2013 08:55 AM PDT

สรุปความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ  กับ 8 ข้อวิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" ออกมาอย่างเงียบๆ (อ่านรายงานดังกล่าวที่นี่) หลังจากใช้เวลาเขียนรายงานฉบับนี้ถึง 3 ปี. กสม. แบ่งเนื้อหารายงานออกเป็น 8 ประเด็น. ในแต่ละประเด็น กสม. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ชุมนุม นปช. และการกระทำของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ (ยกเว้นในประเด็นแรก ซึ่ง กสม. พูดถึงเฉพาะการกระทำของผู้ชุมนุม) ตารางต่อไปนี้ สรุปความเห็นของ กสม. ในแต่ละประเด็นโดยสังเขป.

 

ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ ผู้ชุมนุม

ความเห็นของ กสม. เกี่ยวกับ รัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐ

1. กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553

 

"ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์… ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ  รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตาม  ปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป  อันเป็นการใช้เสรีภาพที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น […] โดยเหตุการณ์นี้นํามาซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาต่อมา" (หน้า 30)

-

2.1 กรณีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสั่งจัดตั้งศูนย์อําานวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

 

"ปรากฏภาพและเสียงการปราศรัยของแกนนํากลุ่ม นปช. ที่มีลักษณะเป็นทํานองยั่วยุ ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ก่อความรุนแรงในบ้านเมืองเรื่อยมา" (หน้า 35)

 

"มาตรการที่มีผลเป็นการจําากัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้  และเป็นการจํากัดเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนรวมในระหว่างที่สถานการณ์  บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ อันมีเหตุความจําเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 38)

2.2 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล (PTV)

 

"การปราศรัยของแกนนําานปช. หลายคร้ัง  ที่มีลักษณะเป็นทําานองยั่วยุปลุกระดมผชุมนุมให้ก่อ  ความรุนแรงและความไม่สงบในบ้านเมืองอันเป็นภัยต่อความมั่นคง  ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมือง  เกิดความวุ่นวายและเหตุการณ์ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง  อันเข้าข่ายเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน  หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง" (หน้า 40)

"[การปิด PTV] เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้แล้ว และเป็นการกระทําเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ในการใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก่อให้เกิดผลต่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่ถูกจํากัดสิทธิและเสรีภาพ กรณีจึงเป็นการจำเป็นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" (หน้า 40)

 

2.3 กรณีที่ศอฉ. สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ตบางสื่อ

 

"มีเว็บไซต์  ที่ถูกปิดก้ันหลายเว็บไซต์  นอกจากมีเนื้อหาที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ก็ยังมีเนื้อหาสาระอื่นที่หลากหลายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้าม" (หน้า 43)

(รายงาน กสม. ไม่ได้กล่าวถึงสื่อสิ่งพิมพ์ แต่อย่างใด)

"มาตรการของรัฐที่มีผลเป็นการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นการใช้อํานาจ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อําานาจไว้  อย่างไรก็ตามการดําาเนินการตามอํานาจดังกล่าวของรัฐเป็นการจํากัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนที่เกินความเหมาะสมและเกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็น" (หน้า 43)

3. กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

 

"ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน หนังสติ๊กที่ใช้นอตเป็นลูกกระสุน รวมทั้งมีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยังมีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม อันอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนทั่วไปได้" (หน้า 47)

"เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47)

"การกระทํา[ของเจ้าหน้าที่รัฐ]ที่เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจํานวนมาก  การกระทําของรัฐจึงเป็นการกระทําโดยประมาทและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด" (หน้า 48)

"รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความประมาทน้ัน  ตลอดจนดําเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ตามสมควรแก่ผู้ที่ได้รับความสูญเสีย" (หน้า 48)

4. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม ๗๙ บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553

 

"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่ส่งผลทำให้เกิดความรุนแรง การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ  และทรัพย์สินได้รับความเสียหายต่อเนื่องมาโดยตลอด" (หน้า 52)

"การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในเหตุการณ์นี้[...]เป็นการชุมนุมที่เกินกว่าสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ [...] มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม" (หน้า 52-53)

"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์  ดังกล่าวละเลยการกระทําาอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งรัฐบาลควรดําาเนินการปกป้อง  สิทธิของประชาชนทีไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้มากกว่านี้" (หน้า 53)

 

5. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28เมษายน 2553

"ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ๑ นายจากอาวุธปืน  และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร  จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต" (หน้า 56)

"การกระทําของรัฐบาลได้ใช้ดุลยพินิจเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นข้อยกเว้นที่จะจํากัดการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" (หน้า 55)

6. กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจฬุาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553

 

"กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ […] ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และยังเป็นการกระทําที่ควรมีการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนร่วมในการกระทําดังกล่าวตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป" (หน้า 61)

 

"รัฐปล่อยให้มีการชุมนุมถึงขั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งเรื่อง  มลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้านที่อยู่ติดกับถนนราชดำริ  การตั้งด่านด้วยยางรถยนต์และไม้ไผ่ปิดกั้นกีดขวางทางเข้า-ออกโรงพยาบาล การตรวจค้นกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าออกโรงพยาบาล ตลอดจนการเข้าไปใช้พื้นที่ด้านหน้าตึก ภปร. เพื่อชุมนุมในเวลากลางคืนนั้น  จึงถือได้ว่ารัฐปล่อยปละละเลยการกระทําอันเป็นการละเมิดสิทธิมนษุยชนด้วย" (หน้า 60)

 

7. กรณีการเกิดเหตจุลาจล ปะทะ และทำลายทรพัย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19พฤษภาคม 2553

"ผลของการชุมนุมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นได้เกิดผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย  และการประกอบอาชีพ ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่น ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จึงยังไม่สอดคล้องและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ" (หน้า 70)

"การกระทําในการเผาอาคารทรัพย์สินนั้น  ได้แผ่ขยายไปถึง การเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในเวลาต่อมา [...] เป็นการกระทําาผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์  อันเป็นสถานที่ราชการ  ทําลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน  รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น  การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการกระทําที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)

 

 

"มีผู้บาดเจ็บ จํานวน ๔๐๔ คน  เสียชีวิต จํานวน ๕๑ คน [...] ยังไม่มี พยานหลักฐานยืนยันได้ว่าผู้ใดฝ่ายใดเป็นผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว  และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใคร [แต่] ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว" (หน้า 71)

 

8. กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนํากลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

 

"ไม่มีพยานยืนยันที่ปรากฏชัดว่า ศพของผู้เสียชีวิตบางศพได้เสียชีวิตนอกวัด  บางศพเสียชีวิตหน้าวัด  และบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด  แต่ศพทั้ง ๖ ศพได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในวัดภายหลังที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว" (หน้า 76)

"คงสรุปได้ว่า ถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม ไม่อาจรู้ถึงระยะใดเพียงใด" (หน้า 76)

"มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนี ไปมาและหลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามฯ แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่  เจ้าหน้าที่จึงมีความจําเป็นต้อง ป้องกันตนเอง" (หน้า 75)

"มาตรการที่รัฐบาลกำหนดปฏิบัติการนั้นเป็นกรณีจำเป็นสมควรตาม กฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว  และความเสียหายนั้นเกิดจากสถานการณ์ ยิงปะทะที่วุ่นวายระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในที่ชุมนุม  ความเสียหายส่วนหนึ่ง ย่อมอาจเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย" (หน้า 76)

 

วิจารณ์รายงาน กสม. ว่าด้วยการชุมนุม-สลายชุมนุม 53

1. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการละเมิดกฎหมาย

รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. นั้นไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการละเมิดกฎหมายนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การที่บุคคลทำผิดกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาละเมิดสิทธิมนุษยชน และการที่บุคคลทำถูกกฏหมายก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำถูกหลักสิทธิมนุษยชน แต่ในหน้า 52-53 กสม. เขียนว่า: 

"การชุมนุม [ของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 22 เมษายน 2553] มีการกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตลอดจนผลของความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในเหตุการณ์นี้ ทำให้ถือได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 52-53) เราจะเห็นได้ว่า กสม. ยก "การกระทำอันผิดกฎหมาย" ของกลุ่ม นปช. มาอ้างเป็นเหตุผลให้ข้อสรุปที่ว่ากลุ่ม นปช. "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ในความเป็นจริงแล้ว การละเมิดกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้รายงานของ กสม. ซึ่งควรจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับใช้เนื้อที่จำนวนมากบรรยายว่าผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐนั้นละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิ มนุษยชนเลย. รายงานของ กสม. นั้นแบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หัวข้อตามประเด็นการตรวจสอบ. แต่หัวข้อที่ 1 และ 2 นั้นไม่มีคำว่า "สิทธิมนุษยชน" ปรากฏอยู่แม่แต่คำเดียว (ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ในวลี "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน")

ในหัวข้อแรก ซึ่งเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. นั้น กสม. ใช้เนื้อที่ทั้งหมดไปกับการให้เหตุผลว่าเหตุใดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศอฉ. จึง "เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถกระทําได้" โดยที่ไม่ได้พูดถึงแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่ต้องรับผิด ในทำนองเดียวกัน ในประเด็นเรื่องการปิดสถานีโทรทัศน์พิเพิลแชนนัล (PTV) กสม. ก็ใช้เนื้อที่ทั้งหมดให้เหตุผลว่าทำไมการปิด PTV นั้นจึง "เป็นการกระทําภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อํานาจไว้" และ "จําเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว" โดยไม่เอ่ยคำว่า "สิทธิมนุษยชน" แม้แต่ครั้งเดียว.

 

2. กสม. ไม่เข้าใจความต่างระหว่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน กับหรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป

รายงานของ กสม. แสดงให้เห็นว่า กสม. ไม่เข้าใจเลยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ต่างจากการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือการละเมิดเสรีภาพทั่วไป. กสม. ใช้พื้นที่จำนวนมากในรายงาน บรรยายเกี่ยวกับการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและการละเมิดสิทธิเสรีภาพทั่วไป เช่น สิทธิเสรีภาพในการในยานพาหนะ, สิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ และสิทธิในทรัพย์สิน ราวกับว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ตัวอย่างเช่น ในหน้า 30 กสม. เขียนว่า: "ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นแหล่งธุรกิจที่สําคัญ เป็นการชุมนุมที่มุ่งปิดก้ันกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสําคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร  ท้ังเป็นการชุมนุมที่ใช้ระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายวันและไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสําคัญ รวมทั้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการดํารงชีวิตตามปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป" (หน้า 30) ในความเป็นจริง เสรีภาพการใช้ยานพาหนะโดยไม่ถูกกีดขวาง และเสรีภาพในการทำธุรกิจและประกอบอาชีพโดยไม่ถูกขัดขวางโดยการชุมนุม นั้นเป็นเสรีภาพทั่วไป แต่ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน

กสม. เขียนอีกว่า: "การ[ที่ผู้ชุมนุม]ไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทําเนียบรัฐบาล และบ้านพักนายกรัฐมนตรี เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองสถานที่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง" (หน้า 30) ในความเป็นจริง ไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนใดถือว่า การเทสิ่งสกปรกใส่หน้าบ้านหรือที่ทำงานผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในหน้า 72 กสม. เขียนว่า: "การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและเผาทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในทรัพย์สินผู้อื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ ตามมาตรา ๔๑ และเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ อันเป็นสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินเอกชน รวมทั้งลักทรัพย์ของผู้อื่น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์ สินของบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" (หน้า 72)

เสรีภาพที่จะไม่ต้องอยู่กับ "ความวุ่นวาย" นั้นไม่ใช่สิทธิมนุษยชน. และเสรีภาพในการไม่ถูกทำลายทรัพย์สิน แม้จะเป็นสิทธิที่ปกติแล้วรัฐให้การคุ้มครอง ก็ไม่ใช่สิทธิมนุษยชนเช่นกัน (หรือหากจะนับเป็นสิทธิมนุษยชน ก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต่ำมาก จนนักสิทธิมนุษยชนในโลกส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ)

 

3. กสม. จัดลำดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนผิด

การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนและคนทั่วไปต่างเห็นพ้องกันว่ารูปแบบที่รุนแรงที่สุดคือการละเมิดต่อชีวิตหรือศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ (ได้แก่ การฆ่า, การบังคับเป็นทาส) รองลงมาคือการละเมิดต่อร่างกาย (ได้แก่ การทำให้บาดเจ็บหรือพิการ, การซ้อม ทรมาน) ส่วนการละเมิดต่อทรัพย์สินนั้นโดยปกติมักไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือหากจะนับก็ต้องนับว่าอยู่ในระดับความรุนแรงต่ำกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ

แต่รายงานของ กสม. กลับให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการละเมิดต่อทรัพย์สิน และให้ความสนใจค่อนข้างน้อยกับการละเมิดต่อชีวิต. การจัดลำดับความสำคัญแบบกลับหัวกลับหางเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. ไม่เข้าใจเรื่องระดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาจเกิดขึ้นจากการที่ กสม. จงใจให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ และพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอีกกลุ่ม

ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วง มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ประมาณ 100 คนนั้น มีราว 60 คนที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 แต่ กสม. กลับใช้พื้นที่พูดถึงเรื่องนี้เพียง 11 หน้าจากรายงานทั้งหมด 92 หน้า ปริมาณพื้นที่นี้ยิ่งดูน้อยลงไปอีกเมื่อเราพิจารณาว่า กสม. ใช้พื้นที่ถึง 6 หน้ากระดาษพูดถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บแม้แต่รายเดียว

นอกจากนี้ การแบ่งหัวข้อรายงานของ กสม. ก็สะท้อนว่า กสม. ต้องการลดทอนน้ำหนักของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมอยู่แล้ว. กสม. แบ่งประเด็นตรวจสอบออกเป็น 8 ประเด็น โดยให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมเป็นเพียงประเด็นหนึ่งในจำนวน 8 ประเด็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งมาจากเหตุการณ์นี้

 

4. กสม. ละเลยที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณี

นอกจาก กสม. จะพยายามลดทอนความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กสม. ก็ยังเลือกที่จะไม่พิจารณากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในหลายกรณี โดยกล่าวข้ามกรณีเหล่านี้ไปเลยด้วย. และน่าสนใจว่ากรณีที่ กสม. เลือกไม่พิจารณาเหล่านี้นั้น เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นมีผู้เสียชีวิต 27 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารเพียง 5 คน และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชุมนุม แต่รายงานของ กสม. ส่วนที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ (ความยาว 6 หน้่า) กลับใช้พื้นที่เกือบทั้งหมดกล่าวถึงการเสียชีวิตและบาดเจ็บของทหาร แล้วกล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมเพียงประโยคเดียวเท่านั้น คือ: "ส่วนกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช. ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมแล้วจึงไม่จําเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้". แต่น่าสนใจว่า กรณีอื่นๆ ที่คดีอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหยื่อนั้น กสม. กลับอธิบายในรายงานอย่างละเอียด เช่น กรณีของนายเจ็มส์  สิงห์สิทธิ์ ผู้ต้องหายิงระเบิด M79 ที่ศาลาแดง เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน รายงานของ กสม. ส่วนที่ว่าด้วยเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น แทบไม่กล่าวถึงการตายของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตราว 60 คนเลย กสม. กล่าวถึงการบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตแบบรวมๆ ว่า "ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจาก สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553  มีผู้บาดเจ็บจำนวน 404 คน  เสียชีวิตจํานวน 51 คน". (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเก่าของศูนย์เอราวัณ ข้อมูลใหม่ของ ศปช. ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 59 คน ทราบชื่อแล้ว 58 คน.) กสม. ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเหยื่อเหล่านี้แม้แต่รายเดียว

หากพิจารณาเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นการละเมิดต่อชีวิต เราจะพบว่า กสม. ละเลยกรณีเหล่านี้ไปถึง 81 กรณี (กล่าวคือ กรณีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ 22 กรณี และผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม อีก 59 กรณี)

 

5. กสม. ละเลยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องบางประการ

นอกจาก กสม. จะละเลยที่จะพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงหลายกรณีแล้ว กสม. ยังละเลยที่จะเอ่ยถึงข้อเท็จจริงสำคัญบางประการ ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ตัวอย่างเช่น ความจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายนและระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ศีรษะหรือจุดสำคัญในลำตัวด้านบนด้วยกระสุนนัดเดียว ข้อเท็จจริงที่ว่าพลเรือนที่เสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่นั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้ใส่ชุดดำและไม่มีอาวุธในมือ ข้อเท็จจริงทีว่่าทหารมีการใช้พลซุ่มยิงระยะไกล และข้อเท็จจริงที่ว่าทหารใช้กระสุนจริงไปกว่า 117,000 นัด และในจำนวนนี้เป็นกระสุนปืนซุ่มยิง (สไนเปอร์) กว่า 2,500 นัด (คิดจากจำนวนกระสุนที่เบิกไปใช้ ลบกับจำนวนกระสุนที่ส่งคืนหลังสลายการชุมนุม)

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ กสม. กลับไม่นำมาพิจารณาหรือกล่าวถึงในรายงานแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่ทั้ง คอป. ศปช. และสื่อมวลชน ต่างเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

 

6. กสม. คาดเดาแรงจูงใจในการกระทำผิดของแต่ละฝ่ายเอาเอง อย่างไร้หลักฐานและมีอคติ

ในขณะที่ กสม. หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในกรณีที่ กสม. จำเป็นต้องกล่าวถึง กสม. ก็กล่าวถึงโดยคาดเดาเจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอย่างมองโลกแง่ดีอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม เมื่อ กสม. กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้ชุมนุมหรือผู้ต้องหาที่ กสม. เชื่อว่าอยู่ฝ่ายผู้ชุมนุม กสม. กลับมองเห็นเจตนาร้ายของคนเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างเช่น ในการบรรยายถึงการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมและ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ชายชุดดำ)" นั้น กสม. กล่าวว่าทหารต้องใช้อาวุธจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพราะ "เจ้าหน้าที่ทหาร[...]มีความจําเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทําให้ถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บได้ โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้" (หน้า 47) กสม. ยังคาดเดาเจตนาของทหารที่ยิงผู้ชุมนุมอย่างมองโลกในแง่ดีว่า เป็น "การกระทําโดยประมาท" (หน้า 48) ในทางตรงกันข้าม กสม. เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. นั้นเสียชิวิตจากการ "วางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหาร" (หน้า 50) และคาดโทษผู้กระทำผิดไว้เสร็จสรรพว่า "กระทําผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน"

 

7. รายงาน กสม. เต็มไปด้วย "ความจริงครึ่งเดียว"

รายงานของ กสม. เต็มไปด้วยความจริงครึ่งเดียว ที่มุ่งลดทอนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอภาพความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่ตอบโต้กัน ความจริงครึ่งเดียวเหล่านี้ หากพิจารณาโดยเคร่งครัดแล้วถือว่าเป็นเท็จ

ตัวอย่างเช่น ในหน้า 4 กสม. บรรยายว่า: "กลุ่ม นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดําเนิน ไปยังสี่แยกราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบ นอกจากนั้นยังได้มีการเคลื่อนการ ชุมนุมไปยังพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทําให้เกิดความวุ่นวาย สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น ทําให้มีการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตใน หลายกรณี เช่น กรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกคอกวัวและพื้นที่โดยรอบ กรณีความรุนแรงที่แยกศาลาแดง ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 กรณีความรุนแรงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553  และกรณีกลุ่ม นปช. บุกเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 เป็นต้น"

คำบรรยายนี้สื่อว่า การที่ นปช. ขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังแยกราช ประสงค์นั้นทำให้ "สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น" อันทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" ในเหตุการณ์ต่างๆ ในเดือนเมษายน 2553 ในแง่หนึ่ง คำบรรยายนี้ก็จริงอยู่ เพราะความรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่ได้หาก นปช. ไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก. แต่การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกันหากนักศึกษาไม่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัย และเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่ชุมนุมตั้งแต่แรก ข้อบกพร่องสำคัญของคำบรรยายของ กสม. คือ มันละเลยที่จะพูดถึงบทบาทของคู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ในการทำให้เกิด "การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต" นั่นคือ บทบาทของกองกำลังของรัฐและมวลชนฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น แม้ว่าคำบรรยายของ กสม. จะจริงหากตีความแบบหลวมๆ แต่หากตีความแบบเคร่งครัดแล้วก็ถือว่าเป็นเท็จ

คำบรรยายที่ยกมาข้างต้น เป็นตัวอย่างของกรณีที่ กสม. พยายามลดรูปความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐมีส่วนสำคัญ ให้เหลือเป็นความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ชุมนุมเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ยังมีกรณีที่ กสม. พยายามพูดถึงความรุนแรงของฝ่ายรัฐ แบบรวมๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายด้วย ตัวอย่างเช่น ในรายงานหน้า 56 กสม. เขียนว่า: "ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มนปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร จํานวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่ามีการกระทําอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต"

ถ้อยคำนี้สื่อว่า ผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้ "มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน" และสื่อว่าผู้ชุมนุม "กระทำการอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน" แต่ในความเป็นจริง ทหารหนึ่งรายที่เสียชีวิตนั้นคือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ซึ่งศาลอาญาได้วินิจฉัยแล้วมีคำสั่งมาแล้วว่าเสียชีวิตจากอาวุธของทหารด้วยกันเอง บางคนอาจสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กสม. อาจเขียนรายงานโดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาล? คำตอบคือ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะ กสม. ก็มีเขียนถึงคำสั่งศาลนี้อยู่ด้วยในหัวข้อเดียวกัน ดังนั้น กสม. ก็ย่อมรับรู้คำสั่งศาลอยู่แล้ว

 

8. รายงานของ กสม. ใช้ศัพท์ที่ออกแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์

รายานของ กสม. ใช้ภาษากำกวมที่สื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจผิด และศัพท์ที่ออกมาแบบมาเพื่อบิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ อยู่ตลอดทั้งฉบับ

กสม. รับเอาศัพท์เลี่ยง (euphemisms) ของ ศอฉ. และรัฐบาลขณะนั้นมาใช้ด้วย. รายงานของ กสม. ใช้คำว่า "กระชับพื้นที่" 9 ครั้ง และใช้คำว่า "ขอคืนพื้นที่" หรือ "ขอพื้นที่คืน" 8 ครั้ง

นอกจากนี้ กสม. ยังออกแบบถ้อยคำที่บิดเบือนสาระสำคัญของเหตุการณ์ ขึ้นมาเองด้วย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคมนั้น มีสาระสำคัญคือการสังหารคนราว 60 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกส่องยิงจุดสำคัญ และไม่มีอาวุธในมือขณะเสียชีวิต (ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การดูว่า "สาระสำคัญ" ของเหตุการณ์คืออะไร ต้องดูจากว่าในเหตุการณ์นั้น มีเหตุการณ์ย่อยใดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงที่สุด) แต่ กสม. กลับเรียกการสลายการชุมนุมนี้ว่า "กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553" ถ้อยคำนี้สื่อว่าสาระสำคัญของเหตุการณ์คือการที่ผู้ชุมนุมก่อจลาจล ต่อสู้เจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สิน (คำว่า "ปะทะ" นั้นสื่อว่าเป็นการเข้าชนกันของ คนสองกลุ่มซึ่งมีกำลังเท่าๆ กัน ซึ่งต่างจากการ "สลาย" หรือ "ปราบ" ที่มีฝ่ายหนึ่งรุก อีกฝ่ายหนึ่งรับ โดยที่ฝ่ายรุกมีกำลังเหนือกว่า)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ตายซ้ำ 2' สนนท. จี้ กสม.ลาออก ระบุรายงานสลายแดงบิดเบือน

Posted: 15 Aug 2013 05:57 AM PDT

สนนท. ประท้วงรายงานสลายการชุมนุมแดงปี 53 ของคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุบิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จี้รับผิดชอบลาออกทั้งคณะ พร้อมปฏิรูปที่มาโดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน

15 ส.ค.56 เวลา 12.00 น. ที่อาคารบี ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นำโดยนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออกจากตำแหน่ง และปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน

สนนท.ระบุว่ารายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม เสื้อแดงปี 53 นั้น บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้

ต่อมา นายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ รองเลขาธิการ กสม. เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือของ สนนท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว สนนท. มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกรายงานผลสรุปเหตุการณ์การชุมนุม ปี 53 พร้อมแสดงละครล้อเลียน สะท้อนว่า รายงานของ กสม. ฉบับนี้ เป็นการฆ่าผู้ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมให้ตายซ้ำ 2 อีกด้วย รวมทั้งมีการถือป้ายประท้วง เช่น 'ตายซ้ำ 2' 'คณะกรรมการคุ้มครองอภิสิทธิ์ชนแห่งชาติ' เป็นต้น

แถลงการณ์: กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกรายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.

            ในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานดังกล่าวในเชิงนโยบาย ซึ่งรายงานนี้เป็นรายงานที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้ซึ่งทั้ง 2 ประการที่เกิดขึ้นทั้งรายงานและการให้สัมภาษณ์พยายามบ่งบอกได้ว่ารัฐสามารถที่จะใช้กำลังทหารและกำลังอาวุธสงครามเข้าทำร้ายและสังหารผู้มาชุมนุมได้

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่มีบทบาทชัดเจนภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และมีอำนาจมากยิ่งขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ถือได้ว่าเป็นอีกองค์กรที่เป็นอุปสรรคและขัดขวางต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งคณะกรรมการก็เป็นบุคคลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการจากคณะรัฐประหาร

            อุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเห็นได้จากที่มาของคณะการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาจากการสรรหาซึ่งไม่สอดคล้องต่อบริบทในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนย้อนแย้งกับทิศทางที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและการปฏิบัติงานก็มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือที่รู้จักกันในวลีที่ว่า "2 มาตรฐาน" ทำให้ความเป็นอิสระกลับกลายเป็นองค์กรที่เลือกจะอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรที่มีรากเง้าเก่าแก่ในสังคมไทย

            ด้วยพฤติการณ์ของ กสม.  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) จึงเสนอทางออกแก่ กสม.ดังนี้

1.ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออกจากตำแหน่ง

2.ให้ปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

                                                                                                       15 สิงหาคม 2556

ภาพบรรยากาศ :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายความ ท้วง ปอท.ตรวจสอบไลน์ ต้องผ่านศาล

Posted: 15 Aug 2013 05:29 AM PDT

สภาทนายความออกแถลงการณ์ติง ปอท. ตรวจสอบไลน์ ระวังละเมิดสิทธิฯ ปอท.ยันคุยกับไลน์จริง แจงไลน์บอกปัดเพื่อปกป้องธุรกิจ ด้านกรรมการสิทธิฯ เล็งเชิญ ปอท.แจงกรณีสอบไลน์

(15 ส.ค.56) สภาทนายความออกแถลงการณ์กรณีการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลบนโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยหน่วยงานของรัฐ อันสืบเนื่องมาจากกรณีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มีแนวคิดที่จะตรวจสอบและออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้แอปพลิเคชั่น Line (ไลน์) โดยอ้างว่าเพื่อการป้องกันปัญหาการกระทบกับความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ เห็นว่า การที่ ปอท.จะทำการตรวจสอบและออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้ไลน์นั้น เป็นการอ้างข้อยกเว้นของกฎหมายซึ่งจะต้องแปลความในทางที่แคบ เพราะหลักการที่สำคัญกว่าก็คือ การที่ ปอท. ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎหมายและโดยเฉพาะจะต้องไม่เป็นการก้าวล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ทั้งต้องให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ได้กำหนดการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

ดังนั้นการที่ ปอท.จะทำการตรวจสอบและออกกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ไลน์โดยลำพังตนเอง ไม่ผ่านการตรวจสอบของศาลยุติธรรม จึงไม่ชอบ การจะตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดโดย ปอท. จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในแต่ละกรณี และจะต้องได้รับคำสั่งอนุญาตจากศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 105 เนื่องจากการส่งข้อความผ่านไลน์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่นซึ่งมีการส่งทางไปรษณีย์และโทรเลข ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนคดีและการพิจารณาคดี หรือเพื่อประกอบการกระทำซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางอาญา


ปอท.ยันคุยกับไลน์จริง แจงไลน์บอกปัดเพื่อปกป้องธุรกิจ
วานนี้ (14 ส.ค.56) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ตามที่ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น แถลงข่าวว่า ยังไม่ได้รับคำขออย่างเป็นทางการ จาก ปอท. ดังนั้น บริษัทไลน์ยังคงไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ในประเด็นดังกล่าวได้ในตอนนี้ และบริษัทไลน์ยังคงมีนโยบายหลักในการรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานโดยรักษามาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลนั้น ยืนยันว่า ตนเองได้พูดคุยกับบริษัทไลน์ไปก่อนหน้านี้จริง และทางบริษัทไลน์ก็ตอบรับพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ในการตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายแล้วด้วย

ส่วนแถลงการณ์ที่ออกมานั้น ถือเป็นการปกป้องธุรกิจของเขา เพราะกลัวลูกค้าจะต่อว่าได้ ซึ่งทาง ปอท. จะทำการสอบในทางลับต่อไป ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนการที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า การตรวจสอบไลน์นั้นเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ผบก.ปอท. ระบุว่า ได้พูดคุยกับทางบริษัทไลน์มาหลายครั้ง ว่าจะเป็นผู้คัดเลือกข้อความมาให้ตรวจสอบ ว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ คงบังคับให้ส่งตรวจสอบทุกเรื่องไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบความผิดในไลน์น้อย ส่วนมากพบทางเฟซบุ๊ก แต่เตรียมไว้ในอนาคตหากเป็นช่องทางทำผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการในส่วนที่มีการร้องเรียน หรือเคยทำผิดในโซเชียลมีเดียอื่นๆ

ส่วนจะขยายผลการตรวจสอบไปยังแอปพลิเคชั่นแชทอื่นๆ ก็กำลังพิจารณา ยืนยันว่าไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะจะตรวจเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดเท่านั้น ไม่ต้องขออำนาจศาล เพราะไม่ได้ดูข้อความ เพียงเป็นการขอข้อมูลจากต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องขอผู้ใช้


กสม.เล็งเชิญ ปอท.แจงกรณีสอบไลน์
น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. กล่าวว่า ทางอนุกรรมการจะเชิญ ปอท. ตัวแทนของบริษัท ไลน์ และประชาชนผู้ใช้บริการมาให้ข้อมูล เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการวิเคราะห์สรุปว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ส่วนกรณีว่า ปอท.อ้างเรื่องความมั่นคงในการตรวจสอบ ถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า พนักงานสืบสวน มีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยต้องยึดหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญไม่ไปละเมิดสิทธิ์ หรือหากจะมีการละเมิดหน่วยงานของรัฐก็ต้องรับผิดชอบและสามารถถูกฟ้องร้องได้ อีกทั้งภาคเอกชนก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการ เพราะเอกชนมีหน้าที่ที่จะไม่ละเมิดสิทธิ์ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว หน่วยงานของรัฐมีระบบในการสืบสวนหาข้อมูลในทางอื่นไม่ใช่เฉพาะไลน์ ถ้าหากจะต้องมีการตรวจสอบไลน์จริง ปอท.ต้องมีเหตุผลสามารถยอมรับได้ ทั้งนี้คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า กสม.จะเรียก พล.ต.ต.พิสิษฐ์ มาให้คำชี้แจงต่อ
กรณีดังกล่าว

 

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ และ ไอเอ็นเอ็น 1, 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เผยข้อเสนอพัฒนานโยบายฉุกเฉินมาตรฐานเดียวยั่งยืน

Posted: 15 Aug 2013 05:14 AM PDT

รองเลขา สปสช.แจงหารือสมาคม รพ.เอกชน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนเห็นด้วยนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติ เผยข้อเสนอ กำหนดนิยามให้ชัดเจน มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ รวมถึงพัฒนาระบบการแจ้งใช้สิทธิผู้ป่วย ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินส่วนเกินอีกต่อไป

 
วันนี้ (15 ส.ค.56) นพ.สัมฤทธ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาลนั้นเป็นนโยบายที่ดี แต่ยังพบว่าการปฏิบัติมีปัญหา โดยเฉพาะมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ใช้บริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวถูกเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นโยบายระบุไว้ ว่า ทั้งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ทราบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ
 
นพ.สัมฤทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอด ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า นโยบายนี้ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาทันที ไม่เสียโอกาสการรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายได้ ที่สำคัญนโยบายนี้ เป็นการปิดช่องว่างของแต่ละกองทุน แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การขาดกฎระเบียบรองรับ ขอบเขตและความชัดเจนของภาวะฉุกเฉินยังเป็นประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกัน รวมถึงอัตราการจ่ายชดเชยที่จ่ายแก่โรงพยาบาลเอกชน
 
รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบให้มีความยั่งยืน โดยหลักการสำคัญของนโยบายคือ "ปิดช่องว่างที่มีของระบบต่างๆ ไม่ใช่ไปทดแทนระบบปกติที่มีของแต่ละกองทุน" และมาตรการสำคัญมี 7 ข้อ ประกอบด้วย
 
1.ให้มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ รวมถึงมีกลไกการอภิบาลระบบร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สปสช.เป็นผู้จัดการระบบ 2.ให้จำกัดขอบเขตของนโยบายนี้ไว้ที่ 'ฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต' และมีมาตรการสนับสนุนและกำกับอย่างมีประสิทธิผล โดยผู้ป่วยต้องไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการและไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยตรง ทั้งนี้แต่ละกองทุนยังต้องคงระบบการคุ้มครองและชดเชยบริการฉุกเฉินตามปกติสำหรับกรณีไม่ใช่วิกฤต หรือไม่ได้ขอแจ้งใช้สิทธิขณะรับบริการ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในระบบและไม่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน
 
3.ให้มีการปรับเพิ่มค่าบริการสำหรับกรณีวิกฤตสีแดงให้เหมาะสม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอัตราใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ 4.ให้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนต้องไม่ปฏิเสธการขอใช้สิทธิและเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยตรง
 
5.มีระบบการแจ้งขอใช้สิทธิและระบบอนุมัติตั้งแต่เริ่มเข้ารับบริการ ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะกำหนดเกณฑ์และระบบการจำแนกระดับฉุกเฉิน และเกณฑ์เมื่อพ้นจากภาวะวิกฤต โดยระบบนี้จะคุ้มครองกรณีเป็นฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ระบบจะออกเลขอนุมัติและโครงการนี้จ่ายให้ตามอัตราใหม่ที่จะตกลงกัน แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่ถึงกับวิกฤต เช่น ฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) หรือไม่เร่งด่วน (สีเขียว) จะส่งต่อข้อมูลไปยังกองทุนที่รับผิดชอบดูแลต่อไป และโรงพยาบาลต้องมีการแจ้งขอใช้สิทธิตั้งแต่เริ่มรับเข้าบริการวันแรก (หากไม่ได้แจ้งขอใช้สิทธิตามระบบนี้ก็ยังคงไปใช้สิทธิในระบบปกติของตนได้)
 
6. จัดให้มีการบริการสายด่วนให้คำปรึกษาการใช้บริการ ช่องทางการใช้บริการ และการดูแลตนเอง (Health Line) และ 7.มีระบบการจัดการของแต่ละกองทุนเพื่อส่งผู้ป่วยกลับเข้าสู่ระบบปกติโดยความสมัครใจเมื่อพ้นภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน
 
"ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่จะนำไปหารือในคณะกรรมการร่วมสามกองทุนปลายเดือนนี้ และนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอต่อไป ทั้งนี้คาดว่าการดำเนินการตามข้อเสนอนี้น่าจะลดปัญหาอุปสรรคที่มีได้" นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมชูป้ายหน้าสถานทูตอียิปต์ ประณามปราบประชาชน-รัฐประหาร

Posted: 15 Aug 2013 05:11 AM PDT

'จิตรา' นำนักกิจกรรมประณามรัฐบาล-กองทัพอียิปต์ปราบประชาชน ชี้การเลือกตั้งคือทางออก เตือนผู้ชู 'อียิปต์โมเดล" ในไทย ยกเหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ เสนอไต่สวนสาธารณะเหตุ 19 ก.ย.49 เพื่อหามาตรการป้องกันรัฐประหาร ต้องไม่นิรโทษทหาร
 
15 ส.ค.56 เวลา 13.00 น. ที่บริเวณหน้าอาคารสรชัย ถนนเอกมัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตอียิปต์ ประจำประเทศไทย มีกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ชุมนุมประณามการปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในอียิปต์ รวมถึงแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็วเพื่อเป็นทางออกในอียิปต์ พร้อมเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลไทยออกมาประณามเหตุการณ์การปราบปรามนี้
 
จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการรวมตัวนัดแนะกันผ่านเฟซบุ๊ก โดยต้องการประณามรัฐบาลและกองทัพอียิปต์ที่ปราบปรามและฆ่าประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารไม่ว่าที่ใดย่อมนำไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จ ประชาชนจะถูกปราบปราม เสนอให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็วเพื่อเป็นทางออกของอียิปต์ เพราะไม่ว่าประเทศจะเดินไปทางไหน จะเสรีมากขึ้นหรือจะอนุรักษ์นิยมมากขึ้นต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่ทหาร
 
จิตรา ยังฝากเตือนถึงผู้ที่เรียกร้องการรัฐประหารในไทย โดยชูอียิปต์โมเดลว่า ให้ดูสถานการณ์อียิปต์ในปัจจุบันเป็นอุทาหรณ์ การประท้วงรัฐบาลเป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้ แต่ต้องไม่เรียกทหารออกมา การหวังผลระยะสั้นเพียงเพื่อล้มรัฐบาลที่ตัวเองไม่ชอบโดยไม่สนใจวิธีการเรียกทหารออกมานั้น นอกจากประชาชนจะเสี่ยงที่จะถูกปราบปรามแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็จะถูกทำลายด้วย
 
สำหรับมาตรการป้องกันการรัฐประหารและการใช้กำลังปราบปรามประชาชนในไทยนั้น จิตรา เสนอว่า กรณีการนิรโทษกรรมที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ไม่ควรนิรโทษกรรมความผิดต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารหรือผู้ติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใด เพื่อเป็นหลักประกันว่าทหารจะไม่ออกมายิงประชาชนอีก รวมทั้งควรมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงของการรัฐประหารในไทยเมื่อ 19 ก.ย. 49 ด้วย เพื่อที่สาธารณชนและรัฐบาลพลเรือนจะได้ทราบถึงกระบวนการในการทำรัฐประหาร และจะได้หาแนวทางป้องกันต่อไป
 
จิตรา เปิดเผยถึงกิจกรรมในอนาคตว่าจะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กต่อไป เพื่อให้คนตระหนักถึงเหตุการณ์ในอียิปต์ และหลังจากมาแสดงออกในวันนี้แล้ว หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะเดินทางมาประท้วงที่หน้าสถานทูตนี้อีก ส่วนวันเวลานั้นยังไม่ได้กำหนด
นิธิวัต วรรณศิริ นักกิจกรรมทางการเมือง หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวด้วยว่า อยากฝากถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและรัฐบาลไทย รวมทั้งองค์การสหประชาชาติออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ รวมไปถึงประชาชนทุกสีทุกฝ่ายหากไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายประชาชนของรัฐบาลและกองทัพอียิปต์ให้แสดงออกผ่านช่องทางต่างๆ ที่ตนเองมี
 
สำหรับสถานการณ์ในอียิปต์นั้น เมื่อช่วง 16.00 น. วานนี้ ตามเวลาของอียิปต์ทางการอียิปต์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านทางโทรทัศน์ช่องรัฐบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากมีการปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ที่ถูกรัฐประหารช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขของอียิปต์เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 149 รายจากการปะทะกันที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีผู้บาดเจ็บ 1,403 ราย ขณะที่ทางกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2,200 ราย และมีราว 10,000 รายได้รับบาดเจ็บ 
 
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 421 คน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บประมาณ 3,500 คน แล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จะกลัวถูกดักฟังทำไม ถ้าคุณเป็นคนดี?

Posted: 15 Aug 2013 05:07 AM PDT

เครือข่ายพลเมืองเน็ต เผยแพร่ส่วนหนึ่งของบทความ Why Privacy Matters Even if You Have 'Nothing to Hide' ของ Daniel J. Solove ในเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งตอบคำถามว่า เหตุใดความเป็นส่วนตัวถึงสำคัญ แม้ว่าคุณไม่ได้มีอะไรจะต้องซ่อนก็ตาม ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

 


"ถ้าคุณไม่มีอะไรต้องซ่อน งั้นหมายความว่าคุณจะให้ผมถ่ายรูปคุณเปลือย และผมจะมีสิทธิเต็มที่ในรูปภาพนั้น ผมจะโชว์รูปให้เพื่อนบ้านของคุณดูได้ไหม..."
เป็นคำตอบจากผู้อ่านบล็อกของ Daniel Solove เมื่อเขาถามว่าคิดอย่างไรกับข้อถกเถียงเรื่อง "ไม่มีอะไรต้องซ่อน" (Nothing To Hide)

เมื่อได้ยินว่ารัฐบาลรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของประชาชน คนส่วนใหญ่มักบอกว่าพวกเขาไม่วิตกกังวล "ฉันไม่มีอะไรจะต้องซ่อน" พวกเขาประกาศ "หากว่าคุณไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีอะไรต้องกังวล และไม่จำเป็นต้องรักษาความเป็นส่วนตัว"

ประโยคที่ว่าไม่มีอะไรต้องปกปิดนั้น ต่อยอดมาจาก "สมมติฐานแบบผิดๆ ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวข้องกับการซุกซ่อนความผิด"

การสอดส่องสามารถยับยั้งกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการสื่อสาร และเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากของระบอบประชาธิปไตย

การเปรียบเทียบที่น่าจะเข้าท่าคือ นวนิยาย "คดีความ" (The Trial) ของฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka)*

จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ชายคนหนึ่งถูกจับกุมโดยที่ตัวเขาไม่รู้สาเหตุ เขาพยายามค้นหาชนวนเหตุที่ทำให้เขาถูกจับและหาว่ามันเกี่ยวกับเขาอย่างไร เขาพบว่าระบบศาลอันเร้นลับมีข้อมูลเกี่ยวกับเขามากมาย มันกำลังสืบสวนสอบสวนเขา แต่เขาก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่านี้

The Trial ฉายภาพระบบรัฐแบบราชการ (bureaucracy) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เข้าใจยาก โดยใช้ข้อมูลของบุคคลต่างๆ เพื่อตัดสินใจสิ่งที่สำคัญต่อบุคคลเหล่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมว่าข้อมูลของตัวเองถูกนำไปใช้อย่างไร

ปัญหาที่นำเสนอในงานของคาฟคาเป็นปัญหาที่มีลักษณะต่างจากปัญหาที่เกิดจากการสอดส่อง

มันไม่ได้อยู่ในลักษณะการห้ามดูข้อมูล แต่เป็นปัญหาเรื่องวิธีการปฏิบัติกับข้อมูล อันได้แก่ การจัดเก็บ การใช้ หรือการวิเคราะห์ข้อมูล มากกว่าแค่การรวบรวมข้อมูล กระบวนการเหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคลกับสถาบันของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้คนตื่นตระหนกด้วยการสร้างความรู้สึกของการไร้อำนาจเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อโครงสร้างทางสังคมด้วยการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อสถาบันทางสังคมที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของพวกเขา

สิ่งที่อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า "การรวบรวมข้อมูล" ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของข้อมูลที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตรายไว้ด้วยกัน (เช่นข้อมูลที่เราเรียกว่า metadata) เมื่อมันรวมตัวกัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถบอกเรื่องราวได้มากมาย

ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ แยกส่วนในแต่ละคราว เราอาจไม่รู้สึกอะไรกับระบบรักษาความปลอดภัย

รัฐบาลสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเราซึ่งเราอาจจะอยากปกปิดเอาไว้ได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณซื้อหนังสือเกี่ยวกับโรคมะเร็ง การซื้อนี้ไม่ได้เปิดเผยตัวมันเอง มันเพียงแค่เป็นตัวชี้วัดถึงความสนใจต่อโรค สมมติว่าคุณซื้อวิกผม การซื้อวิกผมอาจจะมาจากหลายเหตุผล แต่การรวมข้อมูลสองอย่างนี้ไว้ด้วยกัน มันอาจจะทำให้เชื่อมโยงได้ว่าคุณเป็นมะเร็งและอยู่ในขั้นตอนทำคีโม อาจจะจริงที่ว่าคุณไม่กังวลที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่คุณก็ต้องการที่จะมีตัวเลือกบ้าง

ปัญหาที่ทรงพลังมากต่อมาในเรื่องการลงทุนของรัฐบาลต่อข้อมูลส่วนบุคคลคือ สิ่งที่เรียกว่า "การถูกกันออกไป" การถูกกันออกไปเกิดขึ้นเมื่อผู้คนไม่รู้ว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับพวกเขาถูกใช้อย่างไร และเมื่อพวกเขาถูกกีดขวางจากการเข้าถึงและแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด

ระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลหลายประเทศดูแลรักษาฐานข้อมูลที่ใหญ่มากซึ่งปัจเจกบุคคลไม่สามารถเข้าถึงได้ อันที่จริงแล้ว เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชาติ การมีอยู่ของระบบเหล่านี้มักถูกเก็บเป็นความลับ

กระบวนการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ซึ่งกีดขวางความรู้และการข้องเกี่ยวของบุคคลเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการที่ผู้คนได้รับการปฏิบัติจากสถาบันของรัฐ และสร้างความไม่สมดุลเชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน

รัฐบาลควรมีอำนาจเหนือพลเมืองหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ประชาชนอยากจะซ่อน แต่เกี่ยวข้องกับอำนาจและโครงสร้างของรัฐ

น้อยมากที่ความเป็นส่วนตัวจะสูญเสียไปในคราวเดียว มันมักจะถูกกัดเซาะไปตามกาลเวลาทีละน้อย และละลายไปโดยที่เราไม่ทันรับรู้ จนกระทั่งเราเริ่มสังเกตเห็นว่ามันหายไปมากแค่ไหน

เมื่อรัฐบาลเริ่มเฝ้าดูหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชน คนจำนวนมากอาจจะยักไหล่ แล้วบอกว่า "มันก็แค่หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้นเอง"

เมื่อรัฐบาลเริ่มค้นติดตั้งกล้องวิดีโอวงจรปิดในพื้นที่สาธารณะ "แล้วไงเหรอ ก็แค่นั้นเอง มีกล้องไม่กี่ตัวจับตาดูบางพื้นที่เอง ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา"

จำนวนที่เพิ่มขึ้นของกล้องวงจรปิดอาจนำไปสู่เครือข่ายที่มากขึ้นของการสอดส่องด้วยวิดีโอ การสอดส่องทางไกลอาจช่วยเพิ่มการติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชน

รัฐบาลอาจเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในธนาคารของประชาชน "มันก็แค่บันทึกการใช้บัตรเครดิตที่ฉันต้องจ่ายอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร"

จากนั้นรัฐบาลก็อาจจะเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลการใช้บัตรเครดิต จากนั้นก็ขยายไปสู่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บันทึกเรื่องสุขภาพ ข้อมูลการจ้างงาน แต่ก้าวอาจจะดูเหมือนว่ามันเพิ่มขึ้นเพียงทีละน้อย แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง รัฐบาลจะจับตาดู และรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรา

"ชีวิตของฉันเหมือนกับหนังสือที่เปิดไว้อยู่แล้ว" คนอาจจะพูดกันแบบนี้ "ฉันไม่มีอะไรต้องซ่อน" แต่ตอนนี้รัฐบาลมีข้อมูลที่ใหญ่มากของประชาชนในทุกกิจกรรม ความสนใจ อุปนิสัยเกี่ยวกับการอ่าน การเงิน สุขภาพ ถ้ารัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลนี้สู่สาธารณะจะเป็นอย่างไร

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลกำหนดอะไรผิดพลาดซึ่งเป็นผลมาจากแบบแผนของกิจกรรม คุณอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม จะเป็นอย่างไรหากว่าคุณถูกห้ามขึ้นเครื่องบิน จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารัฐบาลคิดว่าธุรกรรมทางการเงินของคุณน่าสงสัย แม้ว่าคุณจะทำด้วยความปลอดภัยมากพอแล้วก็ตาม และมีการปลอมแปลงตัวตนของเราและใช้มันหลอกลวงคุณ แม้ว่าคุณจะไม่มีอะไรต้องซ่อน รัฐบาลก็อาจทำให้คุณตกอยู่ในอันตรายได้มากมาย

"แต่รัฐบาลไม่ได้อยากจะทำให้ฉันเสียหาย" อาจจะมีใครเถียงขึ้นมา ซึ่งมันก็จริงในหลายกรณี กระนั้นก็ตามรัฐบาลสามารถทำให้ประชาชนตกอยู่ในอันตรายได้ โดยไม่เจตนา เนื่องมาจากความผิดพลาดหรือความประมาท

 

 

--------------------------

แปล-ตัดบางส่วน-เรียบเรียง จากบทความชื่อ Why Privacy Matters Even if You Have 'Nothing to Hide' โดย Daniel J. Solove http://chronicle.com/article/Why-Privacy-Matters-Even-if/127461/


* "คดีความ" (The Trial) ฉบับแปลไทย จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สามัญชน | samanchonbooks พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2531

 

 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เอฟทีเอ ว็อทช์’ วิพากษ์งานวิจัย ‘FTA ไทย-EU’ หากไม่จงใจบิดเบือนก็ด้อยคุณภาพ

Posted: 15 Aug 2013 04:40 AM PDT

กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ชี้ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาฯ วิจัยผลกระทบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ไม่มีการทำข้อมูลที่ลึกซึ้ง ขาดบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่เพียงพอ ทั้งเรื่อง GSP-สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร-แอลกอฮอล์และบุหรี่-ยา
 
ตามที่ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "ผลกระทบจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป" ในวันนี้ (15 ส.ค.56) ที่ห้องจามจุรีบอลรูม A โรงแรมปทุมวันปรินเซส (คลิกดู)
 
นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ไปร่วมรับฟังการนำเสนอโครงการวิจัยดังกล่าว ให้ความเห็นในเวทีว่า เป็นงานศึกษาที่กล่าวถึงเพียงข้อมูลพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอ โดยขาดบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่เพียงพอ
 
"ไม่มีข้อค้นพบว่า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี, เทคนิคทางการค้า หรือ สุขอนามัยพืช ได้อย่างไร ทั้งที่ชี้ว่าประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ"
 
นายจักรชัย กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของการใช้เอฟทีเอเพื่อคงหรือเพิ่มสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ จีเอสพี ที่ภาคธุรกิจหวังอย่างมากจากการเจรจาครั้งนี้ ก็ไม่มีการศึกษาว่า หากไม่ได้ต่อสิทธิจีเอสพี ไทยจะเสียหายเท่าไรอย่างไร ไม่มีการศึกษาว่า สินค้าบางตัวแม้ไม่มีข้อได้เปรียบทางภาษีแล้วยังสามารถปรับตัวในด้านอื่นๆ ได้ ไม่มีข้อมูลเชิงตัวเลขที่จะสนับสนุนการเจรจาได้
 
เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่องสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่มีการศึกษาว่า การรักษาปริมาณการส่งออกไว้นั้น ผลประโยชน์จะเกิดเพิ่มขึ้นอย่างไร ละเลยประเด็นด้านการกระจายตัวของผลประโยชน์ โดยไม่ได้ชี้ว่า แรงงานจะได้ประโยชน์อย่างไร หรือจะได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร ขณะที่การเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์โคนม-โคเนื้อ ก็ไม่มีงานวิจัยเทียบเคียงกับการเปิดเสรีที่ไทยทำไว้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก่อนหน้านี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
 
รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยเรื่องแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้น ไม่มีการมองผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอย่างน่าตกใจ
 
"สะท้อนว่า ผู้วิจัยไม่ได้ทำข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนที่ผู้ลงทุนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทำให้รัฐหมดพื้นที่ทางนโยบายไป อีกทั้งไม่ศึกษาข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ชี้ให้เห็นว่า หากทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการในไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์แบบได้เปล่า (Free Rider) ด้วยซ้ำ" นายจักรชัยกล่าว
 
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับยานั้น รองประธานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกใจมาก ที่งานวิจัยแยกความเห็นเป็น 2 กลุ่มคือ ของผู้ผลิต (Manufacturers) กับความเห็นขององค์กรพัฒนาเอกชนและผู้บริโภค (NGOs – Consumers) การแบ่งแบบนี้ ไม่เหมาะกับความเป็นวิชาการ เพราะไม่ได้แยกชัดว่า ผู้ผลิตหมายถึงใคร ผู้ผลิตในประเทศ หรือตัวแทนบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งสำนักงานในไทยและตั้งสมาคมชื่อภาษาไทย ผลประโยชน์ 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก และมีความต้องการต่างกันมาก อีกทั้งคนที่เห็นเช่นเดียวกับองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้บริโภค ก็มิได้มีแค่องค์กรพัฒนาเอกชน แต่เป็นนักวิชาการ นักเภสัชศาสตร์ หน่วยงานรัฐ จำนวนมากก็เห็นเช่นนี้
 
ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลกับงานวิจัยในลักษณะนี้ ที่ผ่านมา ศูนย์ยุโรปศึกษาเคยรับศึกษาความยั่งยืนของเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป พบว่า พูดแต่ด้านดีเท่านั้น ไม่มีข้อเสนอให้ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเอฟทีเอเลย
 
"เมื่อพิจารณาข้อมูลการนำเสนอในวันนี้แล้ว การสรุปของศูนย์ยุโรปแบบนี้ หากไม่เจตนาบิดเบือนก็แสดงให้เห็นถึงความด้อยคุณภาพของงานวิชาการ" นางสาวกรรณิการ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในรอบที่ 2 นั้น จะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กำลังติดต่อเพื่อขอพบหัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายเพื่อหารือถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ และจะจัดกิจกรรมรณรงค์ในระหว่างการเจรจาด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และสนับสนุนผู้เจรจาฝ่ายไทยให้ยืนหยัดในประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนลุ่มน้ำอีสานต้าน ‘จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน’ ประกาศล่าชื่อ 3.5 แสนคนค้าน

Posted: 15 Aug 2013 03:27 AM PDT

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ร่วมนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม-นักศึกษา ประกาศจุดยืนต้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ยกบทเรียนความล้มเหลว โขง ชี มูล ชี้การสร้างเขื่อน 24 ปีที่ผ่านมาสร้างปัญหา จี้รัฐหยุด! ใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ
 
 
วันที่ 14 ส.ค.56 เวลา 11.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) นำกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการน้ำภาคอีสาน ในพื้นที่การสร้างเขื่อนและฝายกั้นน้ำในลุ่มน้ำโขง ชี มูล ร่วมกับนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนกว่า 60 คน ตั้งโต๊ะแถลงข่าว "คัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน บทเรียนจากความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าของโครงการโขง ชี มูล รัฐต้อง หยุด! การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ"
 
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากบทเรียนการจัดการน้ำของรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้โครงการโขง ชี มูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนบนลำน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเพิกเฉยที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมและชุมชน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นโครงการที่เพ้อฝันของนักการเมือง แล้วทุ่มงบประมาณลงไปอย่างมหาศาล ได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ที่มีแผนแม่บทมาแล้ว และการออกแบบก่อสร้างไม่คำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศท้องถิ่นแต่ละแห่ง ได้ทำลายลุ่มน้ำอีสาน
 
"ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนให้รัฐบาลและสังคมเห็นว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่จะทำลาย ระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ โดยจะร่วมกันติดตาม และเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชน 3.5 แสนคนคัดค้านอีกด้วย"
 
 
นายนิมิต หาระพันธ์ กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทนทุกข์ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี มาเป็นเวลา 20-30 ปี จากการที่รัฐบาลในสมัยนั้นโกหกกับชาวบ้านว่าจะทำเป็นฝายยางกั้นแม่น้ำ และบอกว่าจะเอาน้ำมาให้ ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลยว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ
 
"กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็แค่เข้าไปเป็นตัวประกอบเพราะโครงการได้ถูกกำหนดมาจากข้างบนแล้ว ทั้งที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับรับการแก้ไขปัญหาใหม่ก็ยังจะเข้ามาทับถมอีก สิ่งที่รัฐบาลเยียวยามามันก็ไม่คุ้มกับวิถีชีวิตและแหล่งทำมาหากินที่ชาวบ้านสูญเสียไป ซึ่งจะใช้อีกสักกี่แสนล้านมันก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาได้"
 
 
ด้านนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า จากเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรินา พัดถล่มในสหรัฐอเมริกา แล้วเกิดอุทกภัยน้ำท่วมหนักในหลายเมือง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ จึงทำให้อเมริกาหันมาทบทวนเกี่ยวกับวิศวกรรมการสร้างเขื่อนว่าไม่มีความเหมาะสมกับการจัดการน้ำ ท้ายที่สุดจึงนำมาซึ่งการทุบเขื่อนออก แล้วบทเรียนที่ไม่คุ้มค่าและล้มเหลวแบบนี้ประเทศไทยยังจะนำมาใช้ในบ้านเราอีกหรือ
 
"รัฐบาลควรสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่อันหลากหลายในแต่ละภูมินิเวศของพื้นถิ่น ให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศลุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้ภาคีต่างๆ ในลุ่มน้ำได้มีส่วนสำคัญร่วมกันในการกำหนดรูปแบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเหมาะสม และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม"
 
 
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน
 
ขอคัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
บทเรียนจากความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าของโครงการโขง ชี มูล
รัฐต้อง หยุด! การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ
 
จากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ในวงเงินมากถึง 3.5 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ได้เปิดให้เอกชนยื่นประมูลเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบรวม 9 โมดูล (Modules) อนุมัติงบประมาณ 2.85 แสนล้านบาท และโครงการย่อยที่อยู่นอก 9 โมดูล อีกจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท
 
ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติหลายแห่งในที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำอุดมสมบูรณ์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง เช่น ทุ่งบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทุ่งพิจิตร-ตะพานหิน จ.พิจิตร  ชุมแสง-เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์  ทุ่งบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทุ่งพระพิมลราชา จ.นครปฐม และพื้นที่ตามทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ชะลอโครงการฯ และให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยนำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
 
ในพื้นที่ภาคอีสานยังถูกบรรจุในโมดูลของโครงการ ได้แก่ Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ เขื่อนชีบน อ.หนองบัวแดง เขื่อนยางนาดี อ.บ้านเขว้า และ อ.หนองบัวระเหว เขื่อนโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และโครงการฟื้นฟูและบูรณะและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของหนองหาร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่นอก 9 โมดูล ทั้งนี้ จากบทเรียนการจัดการน้ำของรัฐ ภายใต้การดำเนินโครงการโขง ชี มูล ในพื้นที่ภาคอีสานก็ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์และการออกแบบก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศท้องถิ่นแต่ละแห่ง ได้สร้างหายนะมากมายต่อลุ่มน้ำอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนบนลำน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเพิกเฉยที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมและชุมชน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นโครงการที่เพ้อฝันของนักการเมือง แล้วทุ่มงบประมาณลงไปอย่างมหาศาล
 
ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามคำอวดอ้างที่ว่า "อีสานจะดินดำน้ำชุ่ม แก้ปัญหาความยากจน และการอพยพแรงงาน" โครงการเหล่านี้ได้ทำลายชุมชนท้องถิ่นอีสานอย่างรุนแรง ได้แก่  1) การสูญเสียแหล่งทำมาหากินของชุมชน คือ ป่าบุ่งป่าทามในทุกลุ่มน้ำ 2) เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็ม 3) การสูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้าน  4) ที่ดินทำกินของประชาชนหลายแสนไร่ถูกแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำโดยที่ไม่มีแผนในการชดเชย 5) ที่นานอกอ่างเก็บน้ำถูกน้ำท่วมผิดปกติจนนาข้าวเสียหายและไม่มีการรับผิดชอบใดๆทำให้สูญเสียโอกาสในที่ดินของตนเอง และ 6) ความจริงที่ปรากฏชัดก็คือ โครงการโขง ชี มูล เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า  จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาต่อต้าน และเรียกร้องความเป็นธรรม จากการก่อสร้างเขื่อน 14 แห่งในลุ่มน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา เช่น อ่างหนองหานกุมภวาปี ประตูน้ำห้วยหลวง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย และที่เลวร้ายที่สุด คือ สองเขื่อนในแม่น้ำมูล เขื่อนราษีไศล และ เขื่อนหัวนา ที่ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี แต่การตามแก้ผลกระทบ ใช้เวลา 20 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ และมีแนวโน้มจะบานปลายไปเรื่อยๆ รวมถึงโครงการ เขื่อนปากมูล ที่ถือได้ว่าทำลายระบบนิเวศและแหล่งอาหารของชาวบ้านในลุ่มน้ำมูลอย่างรุนแรง   
 
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน พร้อมด้วยองค์กรภาคี และบุคคลตามรายชื่อลงนามแนบท้าย จึงร่วมกันแสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน  และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
 
1)  ให้รัฐบาลยุติโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท อันจะก่อเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิเวศลุ่มน้ำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งพวกเราไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุด
 
2)  รัฐจะต้องไม่นำวิธีการแบบเดียวกันนี้มาใช้ในภาคอีสาน โดยเฉพาะโครงการธนาคารน้ำเขื่อนห้วยสามหมอ โครงการผันน้ำตามแรงโน้มถ่วง โขง เลย ชี มูล และ โครงการเครือข่ายจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณรวมกันมากมายมหาศาลถึง 9 ล้านๆ บาท
 
3)  รัฐบาลควรสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่อันหลากหลายในแต่ละภูมินิเวศของพื้นถิ่น มุ่งเน้นให้ภาคีต่างๆ ในลุ่มน้ำได้มีส่วนสำคัญร่วมกันในการกำหนดรูปแบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเหมาะสม การบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วม และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่า การให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศลุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการอนุรักษ์ คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญต่อลุ่มน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน
 
4)  รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิชุมชน และสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐ
 
5)  ให้รัฐบาลรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาอื่นๆ
 
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน
14 สิงหาคม 2556
 

 

AttachmentSize
แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน253 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

'หน้ากากขาว' เล็งเอาผิด 112 'ธาริต' เปรียบ นายกฯ ประมุขประเทศ

Posted: 15 Aug 2013 03:07 AM PDT

'กลุ่มหน้ากากขาว' ชุมนุมดีเอสไอประท้วง 'ธาริต' กรณีระบุนายกฯ เป็นประมุขประเทศ เล็งฟ้องดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน 'ธาริต' ชี้ถ้าฟังทั้งบริบทก็จะรู้ไม่เจตนาหมิ่น แจง 'ประมุขประเทศ' เป็นศัพท์รัฐศาสตร์

(15 ส.ค.56) เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน นำโดย บวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมหน้ากากขาวกว่า 50 คน ประท้วงหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากไม่พอใจกรณีที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าว รับคดีตัดต่อภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นคดีพิเศษ โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นประมุข ฝ่ายบริหาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี

โดยบวรอ่านหนังสือเปิดผนึกกล่าวโทษนายธาริตว่า กรณีที่นายธาริตแถลงจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการตัดต่อและเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมต่อนายกรัฐมนตรี และมีการใช้ถ้อยคำให้เหตุผลความจำเป็นที่ดีเอสไอต้องดำเนินคดีนี้ว่า "ดีเอสไอ ไม่ได้รับใช้การเมือง แต่ว่าประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกกระทำอย่างนี้ และเป็นความผิดที่ดีเอสไอรับผิดชอบ จึงต้องดำเนินการ" นั้น เป็นถ้อยคำที่บิดเบือนและสร้างความเสียหายต่อประเทศ อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ เพราะประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์จะถูกผู้ใดละเมิดมิได้

ดังนั้น นายธาริตจึงกระทำผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้นายธาริตเป็นข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมานานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นถึงอธิบดีดีเอสไอ การก้าวล่วงเกินองค์ประมุขเช่นนี้ไม่มีเหตุผลควรเชื่อได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล้อ เพราแม้มีผู้ทักท้วงมากมายแล้วแต่นายธาริตก็เพิกเฉยที่จะชี้แจง ทั้งนี้แม้จะเป็นโดยประมาทเลินเล้อความผิดนี้ก็มิอาจยอมความกันได้ ประกอบกับพฤติกรรมของนายธาริต ที่ผ่านมามักไม่ใส่ใจกับคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าที่ควร จนมีผู้กระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากมาย จึงเป็นข้อสงสัยในความจงรักภักดีของนายธาริตมาโดยตลอด

บวร ระบุด้วยว่า จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อกล่าวโทษนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และในฐานะผู้มีส่วนเสียกับคำพูดของนายธาริต โดยขอให้พักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อนายธาริต

บวร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้พักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อนายธาริต รวมทั้งจะยื่นหนังสือต่อพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีต่อนายธาริต ในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง จะสะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี มีความประสงค์เช่นเดียวกับนายธาริต ก็จะดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157


'ธาริต' แจง 'นายกฯ' ประมุขประเทศเป็นศัพท์รัฐศาสตร์
ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องมีการเปิดแถลงข่าวชี้แจงคำพูดดังกล่าว เพราะถ้าได้รับฟังบริบททั้งประโยคในการแถลงข่าวก็จะทราบเจตนาที่แท้จริงว่า ไม่มีเจตนาไม่เหมาะสม

ธาริต ระบุว่า ข้อเท็จจริงคือเป็นการพูดอ้างจากศัพท์ทางรัฐศาสตร์ ว่าด้วยอำนาจ 3 ฝ่ายของการบริหารบ้านเมือง คือ บริหาร ตุลาการ และ นิติบัญญัติ ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวโยงกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า ตนเองจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันมาตลอด ไม่คิดอาจเอื้อมกระทำการเช่นนั้นแน่ ดังนั้น ผู้ที่นำไปกล่าวอ้าง ถือว่าเป็นพวกที่มีอคติ ที่นำเรื่องแบบนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งคนที่นำมาพูดอาจจะเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเสียเอง

 


ที่มา: โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ และเดลินิวส์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องรบ.สวิสแก้ปัญหาเลือกปฏิบัติผู้ลี้ภัย หลังบางเมืองออกกฎห้ามลงสระน้ำสาธารณะ

Posted: 15 Aug 2013 02:51 AM PDT

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ชี้พบแนวโน้มกีดกันสิทธิของผู้ลี้ภัยในสวิส หลังจากหน่วนงานท้องถิ่นออกกฎห้ามไม่ให้ผู้อพยพที่เข้ามาลี้ภัยใช้บริการสระว่ายน้ำ สนามกีฬาและโรงเรียน โดยก่อนหน้านี้มีการโหวตห้ามสร้างหออะซาน และล่าสุดคือการเลือกปฏิบัติต่อพิธีกรดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์

นายแกรี่ ซิมส์สัน นักวิจัยอาวุโสด้านผู้อพยพและผู้แทนองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า เมืองเบรมการ์เท้น(Bremgarten) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับนครซูริค เมืองใหญ่ของสวิส ได้ออกกฎห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าว ใช้บริการสระว่ายน้ำหรือศูนย์กีฬาของเมือง โดยหนังสือพิมพ์ของสวิส รายงานเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า นายมาริโอ้ กัตติเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการอพยพ ได้ประกาศข้อตกลงระหว่างกระทรวงฯ กับเทศบาลเมืองเบรมการ์เท้น  อนุญาตให้หน่วยงานราชการออกกฎห้ามผู้ลี้ภัยใช้บริการสระว่ายน้ำ ศูนย์กีฬาและโรงเรียนได้


ตามคำกล่าวของนายกัตติเกอร์ระบุว่า กฎดังกล่าวใช้เฉพาะผู้ลี้ภัย เพราะว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัย และมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความไม่พอใจระหว่างชาวเมืองที่อาศัยกว่า 6,500 คนกับผู้ลี้ภัยไม่กี่สิบคนซึ่งอาจเพิ่มขึ้นถ้ามีผู้ลี้ภัยจำนวน 50คน เล่นฟุตบอลหรือว่ายน้ำพร้อมกัน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นเหตการณ์ล่าสุดที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของปัญหาการเลือกปฏิบัติในสวิตเซอร์แลนด์ จนกลายเป็นประเด็นและมีการตั้งคำถามในเรื่องนี้ทั้งจากชาวสวิส ต่างประเทศและสื่อ หลังเกิดกรณีกับนางโอปรา วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดังชาวอเมริกัน ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจากพนักงานร้านกระเป๋าหรูในนครซูริค เป็นข่าวใหญ่ไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2552 ประชาชนชาวสวิสลงคะแนนเสียงห้ามการก่อสร้างหออะซานประจำสุเหร่า  (หอคอยสูงที่ใช้สำหรับประกาศเรียกและกระจายเสียงเวลาละหมาด) และในปีถัดมา ยังได้รับรองให้เนรเทศชาวต่างชาติได้ทันที หากถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางอาญาที่ร้ายแรง ซึ่งหมายรวมถึงความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ แต่รัฐบาลกลางได้ยับยั้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชาวสวิสได้ออกเสียงรับรองให้เพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะยกเลิกการขอสถานะผู้ลี้ภัยกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และปรับลดสวัสดิการพื้นฐานของผู้ลี้ภัย ทำให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติต่างออกมาวิจารณ์

ภายใต้กฎหมายของสหภาพยุโรปและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลสวิสต้องอธิบายได้ถึงความชอบธรรมในการออกกฎที่เป็นข้อยกเว้นเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเดินทาง ซึ่งรัฐบาลสวิสต้องอธิบายได้ว่า การออกกฎไม่อนุญาตให้เข้าไปในสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือการใช้พื้นที่อำนวยความสะดวกของโรงเรียนรัฐนั้นเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน และไม่ขัดต่อหลักเรื่องการเลือกปฏิบัติระหว่างพลเมืองสวิสกับชาวต่างชาติ ซึ่งแกรี่ ซิมส์สัน ชี้ว่า หากพิจารณาตามหลักกฎหมายทั้งของยุโรปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว การออกกฎห้ามผู้ลี้ภัยเข้าใจพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ล้วนละเมิดหลักที่กล่าวมา

ผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงผู้ลี้ภัยจำนวน 23 คนที่อาศัยอยู่ก่อน แต่จะรวมถึงผู้ลี้ภัยอีก 125 คนที่กำลังจะเข้ามาพำนักในศูนย์รับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลในเมืองเบรมการ์เท้น ซึ่งได้เปิดทำการไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ผู้ลี้ภัยที่จะเปิดในเมืองแอลป์นาใน นวันที่ 19 สิงหาคมนี้ แต่ผู้ว่าการเมืองแอลป์นาชได้กล่าวว่า อาจมีการออกกฎห้ามผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าโรงเรียน ศูนย์กีฬา บ้านพักคนชรา และย่านที่อยู่อาศัยทั้งหมด และผู้ว่าการเมืองเมนซิงเก้น ซึ่งกำลังจะมีศูนย์ผู้ลี้ภัยภายในปี 2558 ก็ตรียมออกกฎห้ามลี้ภัยเข้าพื้นที่อ่อนไหว อย่างเช่นพื้นที่ใกล้โรงเรียน โดยให้เหตุผลว่า การอนุญาตให้เข้าใกล้พื้นที่อ่อนไหวเช่น โรงเรียนจะทำให้ผู้ลี้ภัยมีโอกาสพบกับเยาวชน เด็กนักเรียนชาย-หญิงที่เป็นพลเมืองสวิสได้

แกรี่ ซิมส์สัน ระบุในท้ายรายงานของเขาว่า สวิตเซอร์แลนด์มีผู้อพยพที่ลงทะเบียนแล้วจำนวน 75,000 คน และสวิสเซร์แลนด์ยังมีโอกาสที่จะไม่ทำให้ตัวเองเป็นทีน่าอับอายในทางระหว่างประเทศได้ ฮิวแมนไรช์วอทช์จึงขอเรียกร้องสวิตเซอร์แลนด์ ผูกพันตนและปฏิบัติตามหลักการและหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพในความแตกต่างหลากหลายและอดทนอดกลั้นอันเป็นหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติที่สำนักงานก็ตั้งอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์เอง ซิมส์สันยังเรียกร้องต่อรัฐบาลกลางว่าควรให้คำแนะนำกับเมืองเบรนทาร์เก้นให้เคารพหลักการไม่เลือกปฏิบัติและเคารพสิทธิการเดินทางอย่างเสรีของผู้ลี้ภัย รวมทั้งทำให้มั่นใจว่า ข้อตกลงทั้งหมดที่ใช้บริหารศูนย์ผู้ลี้ภัยของรัฐบาลจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

 

ที่มา: Asylum Seekers? Stay Out of the Pool In Switzerland

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปวิน' ชี้กต. จับตานักวิชาการหมิ่นสถาบันในต่างประเทศ

Posted: 15 Aug 2013 02:50 AM PDT

บทความ 'ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์' ในนิวแมนดาลาเผย กระทรวงต่างประเทศไทยหันมาจับตานักวิชาการและกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศ พร้อมทำแบล็กลิสต์เตรียมเอาผิดม. 112
 
 
15 ส.ค. 56 - รศ.ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยโตเกียว ได้เขียนบทความลงความลงเว็บไซต์ New Mandala โดยใช้ชื่อบทความว่า "Defending the monarchy" มีเนื้อหาระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อจับตาผู้อยู่ต่างประเทศ ที่อาจละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย และได้ตั้ง 'แบล็กลิสต์' ที่ประกอบด้วยนักวิชาการด้านไทยศึกษาหลายคน 
 
ด้านแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามในกระทรวงต่างประเทศยืนยันกับประชาไทว่ามีการจัดทำรายชื่อบัญชีดำดังกล่าวจริง 
 
บทความระบุว่า หน่วยงานดังกล่าว ซึ่งนำโดยรองปลัดกระทรวง จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานจากกองทัพเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ เปรียบเทียบรายชื่อในบัญชีดำ และประเมินว่าใครควรจะถูกตั้งข้อหาด้วยวิธีใดบ้าง นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า วิธีการดังกล่าวจะเป็นความลับ ซึ่งผู้ที่ถูกตั้งข้อหาจะไม่รู้ตัวจนกระทั่งเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว 
 
ปวินระบุในบทความว่า การพูดคุยดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการหารือเรื่องกิจกรรมในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ และเป็นการจับตากิจกรรมของขบวนการ "ศัตรูสถาบันกษัตริย์" ในต่างประเทศ และในหลายๆ ครั้ง ยังมีตัวแทนของสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านสถาบันในต่างประเทศ
 
บทความยังระบุต่อไปว่า หลังจากที่ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสันได้รับตำแหน่งประธานสมาคมเอเชียศึกษา (AAS) ในฐานะคนไทยคนแรก ได้มีการเผยแพร่บทความที่เขียนโดยบุคคลจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า ขบวนการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศ พยายามผลักดันให้มีบุคคลที่มีทัศนคติต่อต้านสถาบันเข้าไปอยู่ในสมาคมเอเชียศึกษา
 
บทความดังกล่าว คือ "ประชาชนคือป้อมปราการ" ซึ่งเขียนโดยภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อ้างว่า มีข้อเขียนของนักวิชาการ-นักข่าวชาวต่างชาติที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ พยายามบ่อนเซาะสถาบันกษัตริย์ เช่น งานเขียนของคนชื่อย่อ "เจ.เค." ซึ่งหมายถึง Joshua Kurlantzick จาก Council on Foreign Relations และ งานเขียนของ "เอ.เอ็ม.เอ็ม" ซึ่งหมายถึง Andrew MacGregor Marshall ซึ่งในบทความ ภุมรัตน์ระบุว่า ได้รับการว่าจ้างให้เขียนโจมตีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อพาดพิงสถาบันกษัตริย์ไทย
 
ปวินระบุว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังได้พยายามเชื่อมโยงการประชุมทางวิชาการของสมาคมเอเชียศึกษาที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหัวข้อเสวนาเรื่อง "สถาบันกษัตริย์หลังพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในประเทศไทย" ว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านสถาบันในสหรัฐอเมริกา และระบุด้วยว่า ในงานมีตัวแทนจากสถานกงสุลไทยในลอสแองเจลิสได้ถ่ายรูป และเขียนรายงานเกี่ยวกับงานดังกล่าวและส่งกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ 
 
"ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะลดแรงตึงเครียดทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หน่วยงานของรัฐกลับกระทำตรงกันข้าม ตัวแทนทางการทูตของไทยถูกบอกให้พิทักษ์สถาบันกษัตริย์อย่างเต็มที่ แม้ว่าจำเป็นจะต้องโกหก ปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง" บทความปวินระบุและว่า "การสู้รบปรบมือกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์มีแนวโน้มจะโหดร้ายมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเข้าใกล้การสิ้นสุดยุคสมัยของรัชกาลปัจจุบัน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น