โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศอ.รส.เตือนปล่อยข่าวสร้างความวุ่นวายในโซเชียลฯ อาจโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

Posted: 04 Aug 2013 02:53 PM PDT

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษก ศอ.รส. แถลงข่าวภายหลังประชุมสรุปสถานการณ์การชุมนุมและกำชับการปฏิบัติว่า การประชุม ศอ.รส.ได้รายงานสถานการณ์การข่าว โดยสรุปบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หรือหน้าสวนลุมพินี มีการจัดตั้งเต็นท์เรียบร้อยตั้งเวที ขนาด 7x12 เมตร รถเครื่องเสียง 5 คัน แสดงให้เห็นว่าพร้อมรวมพลกระจายจุดต่างๆ ตอนนี้ทางตำรวจนครบาลรายงานมีจำนวนผู้ชุมนุม บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 จำนวน 300 คนและทยอยเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ส่วนอีกกลุ่มที่ท้องสนามหลวงประมาณ 80 คน และมีแนวโน้มจะเดินทางกลับ จากการตรวจสอบกับมวลชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมพบว่าให้มีการเตรียมสัมภาระสำหรับพักค้างแรม ได้ 2-3 วัน และให้มารับค่าใช้จ่ายในพื้นที่ชุมนุม

พล.ต.ต.ปิยะเผยว่า ในการประชุมข่าวกรองได้นำเสนอข่าวที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม แถลงว่ามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านเข้าร่วมชุมนุมด้วย ขณะนี้หลายท่านได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนที่เป็นอดีตตำรวจ ทาง ศอ.รส.ได้ตรวจสอบจากท่านที่มีชื่อโดยตรง อย่าง พล.ต.ท.อดิเทพ ปัญจมานนท์ อดีต ผบช.ปส. ที่ได้ทำหนังสือยืนยันถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผอ.ศอ.รส.ว่าไม่ได้เข้าร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ส่วน พล.ต.อ.บุญทิน วงศ์รักมิตร ทางลูกชายก็โทร.มาแจ้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่อยู่ระหว่างการรักษาสุขภาพร่างกายไม่เกี่ยวข้อง
       
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ที่ประชุม ศอ.รส.ได้ตั้งทีมฝ่ายกฎหมายตรวจสอบข่าวในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีเจตนาปล่อยข่าวสร้างสถานการณ์วุ่นวาย ให้เข้าใจผิด การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และมีการกดไลก์ กดแชร์ ถือว่ามีความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ จากการตรวจสอบของทีมงานพบว่าบางข่าวไม่เป็นความจริง เช่นข้อความที่บอกว่าจะมีการระดมกำลังทหาร จะมีการปฏิวัติ และการแอบอ้างชื่อบุคคลหากบุคคลที่ถูกแอบอ้างไปแจ้งความดำเนินคดี ผู้เผยแพร่ก็จะมีความผิด
       
ขณะนี้ทาง พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.แจ้งกำลังพลเสริม 11 กองร้อย เข้าพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนกำลังรอบที่ 2 รอติดตามการข่าวว่าจำเป็นต้องเข้ามาหรือไม่ ส่วนทางด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้กำชับให้ ผบ.กองกำลังเน้นรักษาสถานที่ และให้ทุกกองบังคับการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว บก.ละ 1 ชุด หากเกิดสถานการณ์สามารถเคลื่อนเข้ามาสนับสนุนได้ทันที และให้ฝ่ายกฎหมายบันทึกคำชี้แจง คำปราศรัยโดยตลอด ว่ามีข้อความใดผิดกฎหมายหรือไม่ ยืนยันว่าพร้อมดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ในส่วนของการจราจรทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการตำรวจจราจร จะตรวจสอบการจราจรโดยตลอดหากจุดไหนมีปัญหาให้รีบชี้แจงและให้จัดชุดคลี่คลายการจราจรลงพื้นที่ การตั้งด่านความมั่นคงภายในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 11 จุดและรอบนอกอีกจำนวนหนึ่ง ยืนยันว่าเป็นการตั้งด่านตามปกติ ไม่ได้มีการสกัดกั้นผู้มาชุมนุมแต่อย่างใด พร้อมปฏิเสธข่าวที่มีสื่อมวลชนบางฉบับลงข่าวว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการอบรมการถ่ายภาพให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่มีการใช้งบประมาณสูงอย่างที่เป็นข่าว เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญมาอบรมการถ่ายภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ถูกวิธีโดยใช้โทรศัพท์และกล้องที่มีอยู่
       
ด้าน พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษก ศอ.รส.กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้กำชับการปฏิบัติให้ยึดหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ที่ประกาศไป ให้ระมัดวังไม่ประมาท ระวังภัยแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ให้ทุกกองบังคับการเตรียมกองร้อยควบคุมฝูงชนสนันสนุนไว้ในที่ตั้ง และให้ทุกระดับมีหน่วยด้านการข่าวทั้งระดับสถานีตำรวจ จนถึงระดับกองบัญชาการ ในส่วนของกองบัญชาการให้รอง ผบช.1 คนรับผิดชอบด้านการข่าวโดยตรง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ เนื่องจากตำรวจได้ตั้งด่านรอบพื้นที่กทม. ขออภัยในความไม่สะดวกที่ต้องตรวจอาวุธ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง ในส่วนการจราจรช่วงนี้มีฝนตกการจราจรติดขัดให้ประชาชนติดตามข่าวสารการชุมนุมอยู่ที่บ้านพัก นอกจากนั้นสำนักงานตำวจแห่งชาติได้จัดทีมแพทย์ไว้บริการผู้ชุมนุมที่ไม่สบายไว้ 3 จุด คือ บช.น. ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความฝันเล็กๆในการสู้รัฐประหาร

Posted: 04 Aug 2013 09:52 AM PDT

บทบรรณาธิการ เวบไซด์ www.pub-law.net สำหรับวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 หัวข้อ "วันพิพากษาคดีรถดับเพลิง" ของ ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือประเด็นใหม่ แต่ อาจารย์ นันทวัฒน์ ได้เขียนเรื่องนี้ และ นสพ มติชน ได้นำไปลง(คลิ๊ก) โดยนำไปจากบทบรรณาธิการ ตั้งแต่2 มกราคม พศ 2555 เท่าที่ทราบในแวดวงวิชาการ ก็คงจะมีแค่ อ นันทวัฒน์ และ คณะ นิติราษฎร์ ที่มีข้อเสนอในการ "จัดการ"กับปัญหาการทำรัฐประหารในประเทศไทยผ่าน

กระบวนการยุติธรรมผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนไทย1คน  จึงอยากเขียนบทความนี้เพื่อแสดงความเห็นสั้นๆ

คดีรถและเรือดับเพลิงคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554  เป็นคดีทางการเมืองที่พัวพัน หลายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ของ กรุงเทพมหานคร ไล่ตั้งแต่ อดีต ผู้ว่า กทม ที่ ชื่อ สมัคร สุนทรเวช สืบเนื่องมาถึง นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน และเกี่ยวพันกับการปฎิวัติรัฐประหาร 19กันยายน พศ 2549 เนื่องจาก คณะกรรมการ คตส ได้ถูกแต่งตั้ง โดย คณะรัฐประหาร (คมช แล้วแปลงร่างเป็น คปค) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องดำเนินคดี กับนักการเมืองและข้าราชการ หลายท่าน เช่น นาย โภคิน พลกุล นาย วัฒนา เมืองสุข นาย ประชา มาลีนนท์ เป็นต้น จนปัจจุบันนี้ รถยนต์ และเรือดับเพลิงที่ได้ซื้อมา ก็ยังไม่มีใครกล้านำมาใช้งาน เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมายเพิ่มเติม

ประเด็นนี้ ได้มีการถกเถียงกันอีกครั้งในวง วิชาการ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พศ 2556 ในงานเสวนาวิชาการ ชื่อ " หลัก นิติรัฐ นิติธรรม กับ การวางรากฐานประชาธิปไตย" ที่จัดโดยความร่วมมือระหว่าง IDS( Institue of Democratization Studies) และ มูลนิธิ KAS(Konrad-Adenauer-Stiftung e.V.) July 26th 2013, โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท โดย นาย จาตุรนต์ ฉายแสง (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รมว ศึกษา) ได้ร่วมรับฟังและกล่าวสรุปในงานครั้งนี้

ศ ดร นันทวัฒน์ บรมานันท์ อภิปรายประเด็นโดยสรุปคร่าวๆโดยผู้เขียนว่า ศาลฎีกา มีโอกาสในการพิจารณาตัดสิน คดีนี้ โดยมีความเห็นว่า การยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร โดย คมช เป็นการกระทำ ที่ เป็นกบฎ มีความผิดตาม กฎหมาย อาญา มาตรา 113 ดังนั้น การดำเนิคดีนี้ ผู้ฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย และพิพากษายกฟ้อง เพื่อเป็นการไม่รับรองอำนาจรัฐประหาร

ในเรื่องนี้ แนวคำตัดสินของศาลฎีกาที่ผ่านมายึดหลัก ฎีกาเดิม ที่ 1662/2505 กล่าวโดยสรปว่า"เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจโดยสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย" อ นันทวัฒน์ คาดหวังว่า นี่จะเป็นโอกาสอันดี ว่าศาลจะยืนยันตามหลักการเดิมหรือไม่

อดีต รองประธานศาลฎีกา นายสถิตย์ ไพเราะ ซึ่งเป็นผู้บรรยายร่วมได้ตอบโดยทันพลันว่า " คือ อ นันทวัฒน์ผิดหวังแน่นอนครับ เพราะอย่างนี้ครับ ปืนมา กฎหมายเงียบครับ...ความคิดอันนี้นี้มีอยู่ตลอดแต่ว่ามันเป็นปัญหาอย่างนี้ครับ คือเกี่ยงกันอยู่ พอปืนมา กฎหมายเงียบ หมายความว่า ศาลก็ต้องปล่อย ต้องถามประชาชนว่าเขาจะเอาอย่างไร เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายเมื่อทหารแย่งอำนาจไปก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแย่งคืน ขอประทานโทษนะครับ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปแย่งช่วยประชาชน "

(credit pitvfanpage ที่ youtube http://youtu.be/aQctQplP6LY 3.47นาที)

โดยสรุป ผู้เขียนมีความประสงค์เพียงเพื่อเป็นส่วนเล็กๆของสังคม ส่งเสียงถ่ายทอดความคิดของบุคคลในวงการกฎหมายในการพยายามหาหนทางหลุดพ้นจากวงจรปฎิวัติ ที่ดูอย่างไรก็ไม่สามารถตีความให้สอดคล้องกับ นิติรัฐ นิติธรรม และประชาธิปไตยได้ เพียงแต่ว่า การตอบคำถามของ อดีตผู้พิพากษา นาย สถิตย์ ไพเราะ(ในฐานะความคิดเห็นส่วนตัว) อาจจะเป็นการดูโลกอันเลวร้ายถ้าประชาชนฝากความหวังไว้ที่ศาลยุติธรรมหรือเป็นการดูโลกอันเป็นจริงที่ถ้าประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมี1คะแนนเสียงเท่ากันไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมเพศการนับถือศาสนาหรือการศึกษาอย่างไร นายสถิตย์ได้กระตุ้นให้เราทุกคนออกมาช่วยกันทุกวิถีทางที่จะทำลายรัฐประหาร ให้หมดไปจากเมืองไทย ที่ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 108 เหตุผลนิรโทษกรรม

Posted: 04 Aug 2013 09:41 AM PDT

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ 108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 นั้น โดย คุณกฤตยา อาชวณิชกุล ประธาน ศปช รายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมดถึง 1833 คน จนถึงขณะนี้ คดีสิ้นสุด 1644 คน อยู่ระหว่างการถูกจำคุก 5 คน คดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 150 คดี ไม่ได้ประกันตัวอยู่ในคุกอีก 13 คน และยังมีคดีอื่นเกี่ยวเนื่องอีก 55 คดี ซึ่งกรณีเหล่านี้ คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง เหตุผลสำคัญที่นำมาสู่กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ มีที่มาจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เปิดทางให้เจ้าหน้ารัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจกับคนเสื้อแดงอย่างไม่เคารพในสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ ยังมาจากการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน

ดังนั้น ประธาน  ศปช.จึงสรุปว่า "การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็น ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเพื่อให้หันหน้ากลับมาปรองดองกัน แต่เพื่อเป็นการแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐ และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี" และ ศปช.ยังเห็นว่า ในระยะยาว ไม่เพียงแต่ต้องผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมดอีกด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าว สอดคล้องกับการที่ สภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมจะกลายเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณา มีรายงานว่าในขณะนี้ มีกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองแห่งชาติ รอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาถึง 6 ฉบับตามชื่อผู้เสนอคือ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ฉบับนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ฉบับนายสามารถ แก้วมีชัย ฉบับนายนิยม วรปัญญา ฉบับนายวรชัย เหมะ และ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ฉบับที่พรรคเพื่อไทยได้มีมติแล้วว่าจะผลักดันสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาก่อน ก็คือ ฉบับของนายวรชัย เหมะ ซึ่งมี ส.ส.ผู้สนับสนุน 41 คน โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 สิงหาคม นี้

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยมีหลักการที่จะนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ด้วยเหตุผลว่าพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเพื่อเป็นการให้โอกาส เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ดังนั้น ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายนี้จึงระบุให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และถ้าบุคคลนั้นอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีไม่ว่าในขั้นตอนใด ให้ถือเป็นการสิ้นสุด

ปรากฏว่าในขณะนี้เมื่อใกล้ถึงวาระการพิจารณาก็ได้เกิดกระแสการต่อต้านคัดค้าน ดังเช่นที่มีมา เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอว่า กฎหมายนี้จะนำประเทศไปสู่วิกฤต เพราะจะมีคนออกมาต่อต้าน จึงเสนอให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายออกจากสภา นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ตามร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ พวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และต่อมา นายอภิสิทธิ์ก็ได้กล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ว่า ตนเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับที่ผู้ก่อเหตุเผาสถานที่ราชการและเอกชน รวมถึงทำผิดกฎหมายอาญาแล้วไม่มีความผิด ซึ่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ไม่ได้ระบุข้อยกเว้นความผิด ดังนั้น จึงชัดเจนว่า สุดท้ายจะนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย กฎหมายนี้จึงเป็นร่างที่ต้องคัดค้าน

แต่ที่น่าตกใจคือท่าทีของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ได้กล่าวกับสำนักข่าวทีนิวส์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมว่า กรณีสภาผู้แทนราษฎรเตรียมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะไม่ได้นิยามว่า เหตุการณ์ทางการเมืองคือ เหตุการณ์อะไรบ้าง และจะรวมมาตรา 112 หรือไม่ และกรณีที่อธิบายว่า จะไม่นิรโทษกรรมผู้สั่งการ แกนนำเสื้อแดงอาจจะอ้างว่า เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์จะได้หลุดพ้นจากความผิด "กฎหมายมันก็ยุ่งตายเลย"

สรุปแล้ว อธิบดีศาลวิตกว่า กฎหมายนี้จะนิรโทษพวกมาตรา 112 และจะช่วยแกนนำเสื้อแดงให้พ้นผิด ทั้งที่ยังไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงคนใดอ้างตัวเป็นผู้สังเกตการณ์เลย ความวิตกของอธิบดีศาล จึงเป็นคนวิตกที่เกินกว่าข้อมูล แต่ปัญหาหลักในประเทศนี้ที่อธิบดีศาลไม่ได้พูดก็คือ การที่กระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐานมุ่งเล่นงานแต่คนเสื้อแดงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ศาลได้สั่งเลื่อนการพิจารณาคดีพันธมิตรปิดสนามบินอีกครั้ง ผลจากกรณีนี้คือ ฝ่ายพันธมิตรยังไม่มีใครถูกลงโทษทั้งที่เหตุการณ์ปิดสนามบินเกิดมาแล้วเกือบ 5 ปี และการที่ผู้ต้องหาฝ่ายพันธมิตร 96 คนทุกคนได้รับการประกันตัว ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับผู้ต้องหาฝ่ายคนเสื้อแดงที่ต้องติดคุกล่วงหน้าเพราะไม่ได้รับการประกันตัว เช่นเดียวกัน กรณีเหตุการณ์เข่นฆ่าสังหารกลางเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาแล้ว 3 ปี ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกจำกุมลงโทษไปแล้วมากมาย แต่ฝ่ายก่อการเข่นฆ่าสังหาร ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีอะไรเลย ความคืบหน้าในขบวนการยุติธรรมในด้านนี้มีน้อยมาก

ยิ่งกว่านั้น การกีดกันผู้ต้องหากรณีมาตรา 112 จากการนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ทุกคนก็เป็นเหยื่อของสถานการณ์ และไม่เคยได้รับความเป็นธรรม การที่ศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวตั้งแต่แรก ทำให้นักโทษ 112 เช่นคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจำคุกมาแล้ว 5 ปีในความผิดที่ควรจะเป็นลหุโทษมาก คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณเอกชัย หงส์กังวาน และ คุณยุทธภูมิ มาตรนอก ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้ง และเป็นผลิตผลจากความอยุติธรรมทั้งสิ้น การช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ออกจากคุก จะก่อให้เกิดวิกฤตภายในชาติได้อย่างไร ส่วนที่อ้างกันว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เห็นมีมาตราใดที่จะโยงไปได้เช่นนั้น

กล่าวโดยสรุป การรัฐประหาร การก่อการสังหารหมู่ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนเสื้อแดงต้องสนับสนุนร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ เพื่อจะส่งผลในเบื้องแรกให้เกิดการช่วยเหลือพี่น้องที่ยังคงติดอยู่ในคุก และคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังคงอยู่ภายใต้กระบวนการลงโทษภายใต้การใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน

ส่วนข้อบกพร่องหรือความไม่ถูกใจในเนื้อหาของกฎหมาย ก็คงจะต้องมีการผลักดันกันต่อไป และถ้าพรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนี้ไม่สำเร็จ ก็คงจะต้องถึงเวลาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องออกพระราชกำหนด เพื่อให้เกิดผลในการนิรโทษกรรมโดยทันที เพราะถ้ารัฐบาลไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม และยังปล่อยให้คนเสื้อแดงติดคุกต่อไป ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงคงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข 3 สิงหาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คิดง่ายเกิน..

Posted: 04 Aug 2013 09:26 AM PDT

.............................
 
เมื่อกฎหมายใด ๆ เข้าสภา
กติกา มีวาง ไว้อยู่นั้น
ไม่อาจออก นอกหลักการ ตกลงกัน
รัฐธรรมนูญ ขีดคั่น กำหนดความ
 
ผู้เสนอกฎหมาย มีหลายกลุ่ม
การประชุม จะเข้าฟัง ก็ไม่ห้าม
รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ ในนิยาม
ต้องทำตาม ทุกประการ ลองอ่านกัน
 
เมื่อกฎหมาย เข้าสภา อันทรงเกียรติ
ใช่ยัดเยียด ให้ยอมรับ อย่าประหวั่น
อาจเสนอ กฎหมายเอง มาประชัน
โดยเลือกสรร ข้อดี ที่ตกลง
 
ยี่สิบ ส.ส. เสนอได้
พรรคการเมืองใหญ่ ๆ เรื่องขี้ผง
พรรคเห็นชอบ ในร่างไหน ใจเจาะจง
หนังสือส่ง ร่าง ฯ สู้  สู่ประธานสภา
 
ประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็มีสิทธิ
รวมเป็นกลุ่ม ร่วมพินิจ คิดค้นหา
เป็นความเห็น กฎหมาย ต่างสภา
เพื่อทายท้า ความเป็นธรรม ที่ต้องการ
 
ทั้งๆ ที่   มีเวที  ให้ได้เล่น
ทุกประเด็น ดี ไม่ดี มีทุกด้าน
แล้วทำไม ไม่ใช้สภา มาทำงาน
ทั้งคัดค้าน สนับสนุน ที่เป็นธรรม
 
จึงสงสัย ใครหนอ ก่อวิกฤต
ทำสิ่งถูก ให้เป็นผิด คิดต่ำ ๆ
ทำสิ่งผิด ให้เป็นถูก ปลูก ระยำ
เพียร คิดคว่ำ ให้เป็นหงาย คิดง่ายเกิน...

 
3 สิงหาคม 2556
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรัทธาออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ต่อพุทธศาสนา

Posted: 04 Aug 2013 08:57 AM PDT


ภาพจาก:  http://mattersindia.com/buddhas-home-in-india-or-nepal

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากอดีจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสนใจว่ากระแสการนับถือศาสนาพุทธมีความเอียงเอนไปในลักษณะไหน ศรัทธายังคงดำรงอยู่และเป็นที่พึ่งให้กับคนรุ่นใหม่ได้หรือศาสนาพุทธกำลังตกอยู่ในวิกฤติขาลง สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนับถือศาสนาอย่างไร

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดความเป็น "สังคมโลกาภิวัฒน์" สังคมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากขึ้น มีความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล ทั่วทั้งโลก ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์

คนรุ่นใหม่ในช่วงยุคนี้สนใจและอยู่กับสังคมออนไลน์มากพอกับอยู่ในสังคมจริง และเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธที่จะอยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ เนื่องจากการไม่สนใจหรือใส่ใจสังคมออนไลน์อาจทำให้กลายเป็นคนที่ล้าหลังทางข้อมูลข่าวสาร แม้ในบางครั้งการที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนตำหนิถึงการใช้เกินความจำเป็น มองว่าคนรุ่นใหม่หมกมุ่นอยู่ในสังคมเสมือนจริงเกินไป ผู้ใหญ่เป็นห่วงและพยายามเตือนคนรุ่นใหม่ให้สนใจเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนของศาสนา

สังคมออนไลน์เป็นการส่งและรับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับศาสนา ถูกแชร์และโพสต์ใน Facebook, Youyube, Twiter ฯลฯ แน่นอนในโลกเสมือนจริงนี้ย่อมมีคนที่หลากหลายทั้งเคารพศรัทธาศาสนาพุทธและไม่ได้สนใจศาสนาพุทธ เมื่อเกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธขึ้นด้วยความเร็วของสังคมออนไลน์ทำให้ปรากฏการณ์เหล่านั้นถูกส่งต่อไปถึงคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับข้อมูลที่รวดเร็วบางครั้งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ทันได้ตั้งคำถามหรือคนหาข้อมูลความจริงแต่เชื่อชุดข้อมูลที่ได้รับ

เมื่อคนรุ่นใหม่รับชุดข้อมูลที่ไม่ทันได้ผ่านกระบวนสืบค้นและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงย่อมส่งผลต่อความเชื่อและศรัทธาในพุทศาสนา การล้อกันโดยยกเอาตัวอย่างนักบวชในศาสนาพุทธหรือพระสงฆ์ที่กระทำตัวไม่เหมาะสมและถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ทำให้คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายศาสนา กรณีพระขี่เครื่องบินเจ็ท สวมแว่น ใช้แบรนด์เนม พระสะพายย่ามสีชมพู พระตั้งวงดื่มของมึนเมา พระเสพสารเสพติด พระมมั่วสุมกามกับหญิง เป็นต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่อให้ศาสนาถูกมองว่าเสื่อม พระทำตัวไม่เหมาะกับเป็นผู้ที่สวมผ้าเหลือง คนรุ่นใหม่เสพข้อมูลในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในสังคมออนไลน์ ภาพด้านลบที่มากกว่าด้านบวกทำให้ความรู้สึกศรัทธาของคนรุ่นใหม่ลดลง มองว่าศาสนาพุทธเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากมาย

การนำภาพที่สื่อไปทางลบมาโพสต์ส่งต่อกัน หรือการตัดตกแต่งภาพพระไปในลักษณะตลกขบขันแสดงถึงอารณ์เยาะเย้ยสนุกสนาน หรือการคอมเม้นด่าเสียดสีกรณีทางศาสนาที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นวัฒนธรรมปกติของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์ ภาพพระที่เป็นไปในทางบวกไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับภาพที่ถูกตัดต่อในทางตลกขบขัน พิจารณาจากยอด Like ในหลายแฟนเพจมากมาย เหล่านี้คนรุ่นใหม่อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้คิดอะไร แต่ในขณะเดียวกันนั้นได้ทำให้คนรุ่นใหม่เสื่อมศรัทธาพุทธศาสนาจากความคิดของตนเอง บางครั้งการเข้าวัดฟังธรรมกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่การเข้าวัดเพื่อเวียนเทียนกับคนรักเป็นสิ่งที่ต้องไปมากกว่า หรือการทำบุญปล่อยสัตว์เป็นการไปเพื่อการถ่ายรูปและแชร์สถานะมากกว่าการศรัทธาในการให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์โลก เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็หาว่าคนรุ่นใหม่ห่างศาสนา อนาคตสังคมต้องประสบกับปัญหาความสงบ ระดับจิตใจของคนรุ่นใหม่จะลดลง หลักคำสอนของศาสนาจะไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่อย่างจริงใจ การค้นหาแก่นแท้ของศาสนาจะถูกละเลยและมองข้าม คนรุ่นใหม่จะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาได้อย่างมีเหตุมีผล

ในกระแสที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่ต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ตระหนักถึงการวิเคราห์ข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล ออกมาปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ พิจารณาหลักคำสอนของพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นในสังคม เพื่อนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ แม้คนรุ่นใหม่จะไม่ศรัทธาในพุทธศาสนาก็มิใช่ความผิด แต่อย่าวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่เข้าใจในหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ให้ค้นหารายละเอียดของแต่ละเรื่องราวที่เกิดขึ้น มิใช่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเพราะเป็นกระแสหรือความจำใจเข้าจากการถูกบีบบังคับ ให้ขยับตัวเองเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของศาสนาด้วยความศรัทธา เพราะท้ายที่สุดศาสนาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ศาสนาทุกศาสนามุ่งหวังให้ผู้ที่นับถืออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การโพสต์หรือแชร์สถานะเกี่ยวกับศาสนาคนรุ่นใหม่จะต้องตระหนักด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำปราศรัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 3 ส.ค. 56 ที่ตลาดปัฐวิกรณ์

Posted: 04 Aug 2013 05:05 AM PDT

อภิสิทธิ์ยืนยันจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในระบบสภา ถ้าติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคมาตลอดจะเห็นได้ว่าประชาธิปัตย์ไม่เคยเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล แต่ยืนยันว่าพรรคจะไม่เอากฎหมายล้างผิด 

หมายเหตุ: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่คำปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ปราศรัยบนเวที "หยุดกฎหมายล้างผิดคิดล้มรัฐธรรมนูญ  หยุดเงินกู้ผลาญชาติ  หยุดอำนาจฉ้อฉล" ที่ตลาดปัฐวิกรณ์  เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 56 โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
3 สิงหาคม 2556 ตลาดปัฐวิกรณ์ บึงกุ่ม

พี่น้องชาวตลาดปัฐวิกรณ์ ชาวบึงกุ่ม พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และพี่น้องที่รักความถูกต้องทั้งประเทศ และทั่วโลกครับ สวัสดีครับ ผมต้องขอแสดงความชื่นชม แล้วก็คารวะ น้ำใจของพี่น้องประชาชนที่มาปักหลักที่เวทีผ่าความจริงแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ประมาณ 1 ชม. ก่อนหน้านี้ ฝนตกลงมาหนักมาก และต่อเนื่องแต่มีพี่น้องจำนวนมากครับ ตั้งแต่ผมเข้ามา อยู่ในเต้นท์ อยู่ในบริเวณรอบๆ เวทีปราศรัยแห่งนี้ที่สำคัญที่สุด มีพี่น้องจำนวนมากนั่งปักหลักที่นี่ไม่ถอยครับ ขอแสดงความคารวะ ต่อความหนักแน่น มั่นคงของพี่น้องครับ

พี่น้องครับวันนี้สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดสมัยประชุมแล้ว วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมใหม่ เดี๋ยวขออนุญาต ท่านที่ยืนข้างหน้านะครับ ถ้าจะยืนข้างหน้ากรุณาหุบร่มนิดนึงครับ เพราะรู้สึกว่าจะเริ่มหงุดหงิดว่าไม่เห็นหน้าผม สภาเปิดประชุม เปิดสมัยประชุมไปแล้ว ประชุมไปแล้ว 1 วัน โชคดีว่าทางประธานสภา รองประธานสภา ไม่บรรจุกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่ระเบียบวาระ แล้วก็ไม่มีความพยายามในการที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การประชุมในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

แต่วันนี้ครับ ผมเพิ่งได้รับหนังสือจากสภาผู้แทนราษฎร นัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งต่อไปคือวันพุธที่ 7 สิงหาคม วันพุธที่จะถึงนี้ครับ เปิดระเบียบวาระออกมาดูเรียบร้อยแล้วครับ ระเบียบวาระที่จะมีเรื่องที่จะเป็นเรื่องพิจารณาเรื่องแรกในการประชุมวันพุธที่จะถึงนี้ คือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ และพวก หมายความว่าถ้าการประชุมเป็นไปตามปกติ สิ่งแรกที่สภาจะต้องพิจารณาในวันพุธนี้ คือกฎหมายที่ได้รวบรวมพี่น้องประชาชนมาเกือบจะ 60 เวทีทั่วประเทศ แสดงพลังในการต่อต้าน คัดค้านมาโดยตลอด และเป็นกฎหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันมั่นคงในจุดยืนเดิมก็คือว่าคัดค้านจนถึงที่สุด

แน่นอนครับ รัฐบาลเองก็ทราบว่า กฎหมายฉบับนี้ กำลังทำให้เกิดความขัดแย้ง มิฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ที่รัฐบาลจะต้องประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงครอบคลุม 3 เขตปกครองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล และที่ตั้งของรัฐสภา เพียงเท่านี้ก็ฟ้องไปทั่วโลกแล้วครับว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางที่จะเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ เพราะถ้าเป็นกฎหมายเรื่องปรองดอง กฎหมายว่าด้วยการสมัครสมานสามัคคีนั่นหมายความว่าทุกคนจะต้องสนับสนุน ทุกคนจะต้องออกไปบอกว่ารีบออกกฎหมายนี้เร็วๆ และจะไม่เป็นเหตุที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้เลย ฉะนั้นรัฐบาลไม่ต้องถามคนอื่น ถามตัวเองว่าที่ต้องออกกฎหมายความมั่นคง หรือประกาศตามกฎหมายความมั่นคง ห้ามสัญจร 12 เส้นทาง เพราะอะไร ใครเป็นคนก่อเหตุ

เมื่อวานนายกรัฐมนตรีอ้างว่า ที่ต้องประกาศมาตรการ พรบ. ความมั่นคงนั้น จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องป้องกันเหตุร้ายความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ราชการและเอกชนทั่วไป ตลอดจนผู้ชุมนุม พี่น้องฟังแล้วเชื่อมั้ยครับ เชื่อมั้ยครับ ก็ดูสิครับ ประกาศปั๊บ ขู่สารพัดว่าจะจัดการกับประชาชนอย่างไร แล้วก็เคยทำมาแล้ว เมื่อตอนที่มีการชุมนุมใหญ่ครั้งหนึ่งในรัฐบาลนี้ ตอนนั้นเสธ. อ้าย กับคณะ นำคนมาชุมนุม ก็มีการจัดการกับประชาชน ที่อ้างว่าจากเบาไปหาหนัก พี่น้องก็ทราบดีว่า ไม่เป็นความจริงเพราะเจอแก๊สน้ำตาตั้งแต่เช้ามืด

ผมกราบเรียนว่า ข้ออ้างที่พูดถึงทั้งหมด ฟังไม่ขึ้น คุณบอกคุณมาปกป้องระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่คุณกำลังจะเอาเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มาพยายามปราบปรามคนที่เขาบอกว่า อย่าออกกฎหมายล้างความผิดให้กับคนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คุณบอกคุณกำลังจะคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ให้ประชาชน แต่คุณกำลังจะออกกฎหมายล้างผิดให้คนที่เอาอาวุธสงครามมาฆ่าประชาชน และเผาทรัพย์สินทั้งของราชการ และของเอกชน มันขัดแย้งโดยสิ้นเชิง และเราก็จึงยืนยันครับว่า เราต้องทำหน้าที่ของเราต่อไปในการคัดค้าน

วันพุธที่ผ่านมา เราปราศรัยที่บริเวณสกายวอร์ค สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี หลายคนอาจจะไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ตีความสารพัดว่าที่คุณสุเทพบอกว่า การออกไปต่อสู้ ถึงจุดที่จะเป็นประเด็นการแตกหักคือวาระ 3 มันช้าไปมั้ย หรือมันกลายเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาจริง เอาจังหรือไม่ ผมบอกกับพี่น้องครับ อยากทำความเข้าใจว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนอย่างนั้น เพราะเราบอกว่าเราต้องสู้ ทั้งใน และนอกสภา ถ้าเรากระโดดบอกว่า วันนี้เข้าไปชุมนุมแตกหักนอกสภา แล้วเรายังไม่ได้ทำหน้าที่ในสภา เขาก็จะบิดเบือน เขาก็จะกล่าวหาประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่เคารพในกติกาของระบบสภา แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำ ก็คือการแสดงออกในเวทีสภาให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ต่ออนาคตบ้านเมืองอย่างไร และจะต้องคัดค้านถึงที่สุด และจะต้องเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมาย หรือล้มกฎหมายฉบับนี้ในสภาให้ได้

ผมรู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่ผมจะบอกกับพี่น้องว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สส. ประชาธิปัตย์ พวกเราหลายคนไปคุยกับสส.พรรคเพื่อไทย ตกใจว่า สส.พรรคเพื่อไทย ยังไม่รู้เลยว่า กฎหมายของนายวรชัยนั้นมันจะมีความหมายอย่างไร เช่น เขาบอกว่า กำลังนิรโทษกรรมคนไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ บังเอิญไปติดคุก สส. เราเอารายชื่อคนที่ติดคุกอยู่ไปให้ดู ว่าที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั่นไปยิงวัดพระแก้ว ที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้น ยิง M79 จนคนตาย ที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้นคือคนที่เผาศาลากลาง เผาเซนทรัลเวิล์ด เผาสยามสแควร์ เผาเซ็นเตอร์วัน เผาสารพัดเผา แล้วที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้นคือคนที่ขึ้นเวทีเสื้อแดง หรือสนับสนุนกระบวนการเวทีเสื้อแดง สร้างวาทกรรม เรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ แล้วก็ลามไปถึงการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ สส. เพื่อไทยหลายคนไม่รู้ครับ เราก็จะให้รู้ เพราะเดี๋ยวจะอ้างว่า ฟังจากพรรค ฟังจากนายวรชัย ฟังจากแกนนำ ฟังจากฝ่ายกฎหมายมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องให้เขาได้ยินความจริงจากทุกฝ่าย ได้ยินก่อนจะได้รู้ว่า พวกคุณยืนยันใช่มั้ย ที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนเผา คนฆ่า คนหมิ่น คนก่อการร้ายทั้งหลาย

ให้โอกาสพวกคุณก่อนที่จะบอกว่า คุณยืนยันจะทำสิ่งนี้ แล้วถ้าผ่าน เราก็จะพยายามเปลี่ยนครับ ให้กฎหมายนี้เป็นไปตามหลักที่ถูกต้อง แล้วจะได้วัด จะได้เป็นตัวชี้ จะได้ฟ้องว่า สส.ทุกคน ไม่ว่าพรรคไหน คิดอย่างไร กับเรื่องเหล่านี้ ผมจะรอดดูว่า ถ้ามีคนแปรญัตติว่าไม่นิรโทษกรรมให้คนทำผิดมาตรา 112 สส.พรรคเพื่อไทย สส. พรรคไหนก็ตาม คนไหนบ้าง จะแสดงจุดยืนให้ชัดว่าคุณจะปล่อยให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และล้างผิดให้หรือไม่

ต้องทำให้ชัด ให้เป็นที่ปรากฏว่า จุดยืนคืออะไร ขณะเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ไม่มีโอกาสอย่างพวกผมเข้าไปอยู่ในสภา พี่น้องก็มีสิทธิ เสรีภาพเต็มที่ในการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเคียงข้างท่านในการทำสิ่งนี้ เราต้องเดินไปอย่างนี้ครับ เพื่อให้เกิดความรัดกุม เราต้องเดินไปอย่างนี้เพื่อพิสูจน์ให้คนที่อาจจะยังไม่รับรู้ รับทราบ คนที่ยังคิดว่ามีพื้นที่ตรงกลาง รอดูสิ่งนั้น สิ่งนี้ ให้ชาวโลกได้รับรู้ รับทราบว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร แต่ผมเห็นแล้วละครับ ว่าขณะที่เราก็ได้มีการรวบรวมแนวความคิดเผยแพร่ จัดเวที และพี่น้องประชาชนเริ่มแสดงออกมากขึ้น รัฐบาลก็รู้ตัวว่ากำลังทำในสิ่งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่ความเสี่ยง จึงต้องประกาศกฎหมายความมั่นคง และเมื่อคืนนายกรัฐมนตรี ก็จึงต้องออกมาปราศรัยกับพี่น้องประชาชน ไม่ทราบใครได้ดูบ้าง โอ้ แฟนๆ นายกฯ เยอะ ผมจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้วันนี้ครับ เดี๋ยวมีอีกหลายคนขึ้นมาปราศรัย แต่ผมพูดให้ชัดก่อนว่าที่นายกฯ พูดเมื่อวานนี้ หรือข้างหน้าตะโกนบอกผมว่า ที่อ่านเมื่อวานนี้ ผมต้องทำความเข้าใจ เพราะเจตนาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หลายเรื่องนายกฯ ไม่พูดความจริงกับประชาชน ผมขออนุญาตอ่านนะครับ นานๆ จะได้อ่านกับเขาบ้าง

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและรัฐบาล ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติ ด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า อดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สร้างสรรค์ และความไว้วางใจ รวมทั้ง รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง"

ท่านนายกฯ ไปอยู่ไหนมาครับ ไปอยู่อาฟริกา หรือไปอยู่ยุโรป หรือไปอยู่ที่ไหนมาครับ ไอ้ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง คือให้คนเอาลูกหิน ลูกแก้วมายิงพวกผมใช่มั้ย ไอ้ที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองคือให้เสื้อแดงมาบอกใช่มั้ยว่านายอภิสิทธิ์ไปไหน จะจับตัวแล้วไม่ให้กลับไปแบบมีชีวิต ผมจึงอยากจะบอกกับนายกรัฐมนตรีครับว่า อย่า อย่าพูดไม่จริงกับประชาชน สู้ สู้ยอมรับความจริงแล้วบอกว่าจะแก้ไข อย่างนั้นสิครับ พวกเราพร้อมจะให้โอกาสเพราะพวกเราเป็นคนใจกว้างพอ

บรรยากาศที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น และผมอยากจะบอกว่าในทางตรงกันข้ามครับ นายกรัฐมนตรีไม่สังเกตเหรอครับว่า ท่านนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทั่วประเทศ เพราะพวกผมไม่เคยคิดจะไปปลุกระดมไปต่อต้าน ภาคใต้ก็ไปได้ จนตั้งจังหวัดใหม่ชื่อ หาดใหญ่ไปแล้ว แล้วจะไปพื้นที่เหล่านี้ที ก็มีลูกน้องนายกฯ นั้นโทรมาขอ โทรมาขอคนของพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดไหน ก็โทรหา สส. จังหวัดนั้น อย่าเอาคนไปต่อต้าน พวกผมก็บอกไปแล้วว่าพวกผมไม่ทำ เพราะไม่มีสันดานเหมือนกับบางพวก ฉะนั้นอย่ามาป้ายสีว่าคนอื่นไม่ปรองดอง พวกผมประกาศมาตลอดว่า เชิญเป็นรัฐบาลให้ครบวาระ แต่เป็นรัฐบาลแล้วมาแก้ปัญหาประชาชน อย่าไปแก้ปัญหาพี่ชาย

โปรดฟังต่อ ที่น่าเสียใจที่สุด คือการที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน มีท่าทีไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล นี่ถ้าไม่ได้ดูนะ นึกว่ามีคนกำลังพูดถึงเสื้อแดงปี 52 – 53 แล้วก็พอดูแล้วก็ต้องดูอีกครั้งหนึ่งว่า คนที่พูด และอ่านประโยคเมื่อสักครู่นั้น ใส่เสื้อแดงอยู่หลังเวทีหรือเปล่า เมื่อปี 52 – 53 จ่ายสตางค์ให้ด้วยหรือเปล่า ให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างนั้น

ผมอยากจะบอกกับนายกรัฐมนตรีครับว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันจุดยืนของเราที่เชื่อมั่นในระบบสภา และที่เคลื่อนไหวกันมาทั้งหมดทั้งปี ถ้าจะฟังแม้แต่สัก 1 ชม. จะเข้าใจมาโดยตลอดได้ทันทีว่า ประชาธิปัตย์ไม่เคยเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์ไม่เอากฎหมายล้างผิด

แล้วก็ไม่ได้ดื้อดึงครับ ไม่ได้บอกว่าไม่ล้างผิดให้ใครทั้งนั้น เวลาที่มันมีข้อเสนอที่พอสมเหตุ สมผล ก็บอกว่า คุยกันได้ นายกฯ เคยขอความร่วมมือให้พวกผมไปทำเนียบ เรื่องปัญหาภาคใต้ พวกผมก็ไป แล้วผมก็เคยบอกด้วยวันนั้น ไปแล้ว ให้ข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งเตือนแนวคิดของทักษิณ ที่จะไปพูดคุยแบบเปิดเผยกับกลุ่ม BRN แล้ววันนี้ก็พิสูจน์แล้ว เตือนแล้วท่านไม่ฟัง แล้วปัญหาก็ยังลุกลามอยู่ แล้วก็แก้ยากขึ้นแต่พวกผมก็ไม่ได้ว่าอะไรในแง่ที่ว่าท่านเป็นรัฐบาล ท่านมีสิทธิ์ตัดสินใจ นี่พิสูจน์แล้วว่า ประชาธิปัตย์พร้อมจะหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งๆ ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม รังแก แล้วก็พวกผมก็ถูกไล่เช็คบิลดำเนินคดีสารพัดข้อหา เอาเงินบริจาคให้พรรคตัวเอง บำรุงพรรคตัวเอง ยังเอาผิดเลยนี่ ดีนะไม่ได้ไปช่วยเณรคำ ป่านนี้มันเอาตายเลย

กำลังจะนิรโทษกรรมให้คนหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ใครพูดแตะยิ่งลักษณ์ แตะทักษิณ นู้นมาแล้ว สน.นั้น สน.นี้ หมายเรียกไปแล้ว พยายามเล่นงานสารพัด พวกผมก็อดทน เพราะอยากจะประคับประคองบ้านเมืองให้เดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้นอย่ามาสงสัย ระแวงพวกผมว่าทำให้บ้านเมืองไม่มั่นคง คนที่ทำให้บ้านเมืองไม่มั่นคง คือคนเห็นแก่ตัวที่อยู่เมืองนอก ที่ไม่ยอมหยุดทำร้ายประเทศไทย แล้วก็ไปสร้างปัญหาเอาไว้ ทำความผิดเอาไว้ปี 52 – 53 จนมาขอให้คนไทยล้างความผิดให้

หลักเรื่องนี้ หลายคนพูดครับตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตประธานรัฐสภา อย่างคุณอุทัย พิมพ์ใจชน มีนักวิชาการ นักกฎหมาย ญาตินายทหารที่เสียชีวิต ออกมาพูดชัดเจนว่า ทุกคนอยากให้ประเทศมีทางออก แต่ไม่ใช่การยัดเยียดทางออกที่ต้องการเพียงแค่ช่วยคนเพียงกลุ่มเดียว แล้วทำลายหลักการของบ้านเมือง

ฉะนั้นที่ท่านนายกฯ พูดเมื่อคืนว่า ในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกัน บอกว่าจะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะ พูดคุยออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยเพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา ผมเห็นหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องพูดไปบ้างแล้วครับ ก่อนออกมาเห็นมี สว. กลุ่มนึง เขาก็บอก เขาไม่ร่วม แกนนำพันธมิตรบางท่านก็ออกมาบอกว่าไม่ร่วม จนกว่าจะมีการถอนกฎหมายนิรโทษกรรม

ผมก็เรียนว่า ผมเองนั้น เป็นคนที่พยายามหาทางออกให้กับประเทศชาติเสมอ ผมฟังเมื่อคืน ผมก็นั่งคิดในใจว่านายกฯ พูดไป หรืออ่านไปนั้น นายกฯ จะพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมสักคำมั้ย นายกฯ ไม่รู้จริงๆ เลยเหรอว่า ก่อนจะมาทำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี ไม่ได้มีความขัดแย้ง ไม่ได้จะมีการชุมนุมกันแบบนี้ นายกฯ ต้องรู้ครับ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ทำเป็นไม่รู้ แล้วในที่สุด วันนี้พอถูกสัมภาษณ์เรื่องนี้ก็บอกว่า พูดคุย ก็พูดคุยไป กฎหมายนิรโทษกรรมก็ให้สภาว่าไป มันแล้วจะพูดทำ จุด จุด จุด อะไรล่ะ คือบ้านเมืองกำลังขัดแย้งกันเรื่องนี้ คุณก็บอกว่ามาคุยกัน แล้วอย่าทะเลาะกัน แต่เรื่องนี้ทำต่อ ไม่มีความจริงใจ เพียงแต่เอาตัวนี้มาเป็นฉากหน้า แล้วเบื้องหลังก็เดินหน้าทำสิ่งที่มันเป็นปมความขัดแย้ง ที่คนเขาต่อต้านกันต่อไป อย่างนี้ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองได้เด็ดขาด

ต้องตั้งหลักใหม่ ผมก็นึกว่า เอ้า แล้วยังไงล่ะ นายกฯ จะมานั่งหัวโต๊ะ แสดงออกถึงความเป็นผู้นำว่าจะผ่าทางตัน จริงๆ นั้นผมรอว่าเมื่อไหร่จะมาแสดงความเป็นผู้นำ ปลดแอกตัวเองออกจากพี่ชายเสียที ปรากฏว่าสวมบทผู้นำแถลงกับประชาชนทั้งประเทศเสร็จไม่ถึง 1 คืน บอกว่าเรื่องนี้มอบให้ วรเทพ กับพงษ์เทพ ไปทำ ผมก็คิดในใจอีก แล้วอย่างนี้จะคุยกันทำ จุด จุด จุด อะไร ก็ถ้านายกฯ ยืนยันบอกว่า ก้าวก่ายสภาไม่ได้ เป็นเรื่องของสภา แล้วความขัดแย้งมันกำลังอยู่ในสภา จะมาชวนคุยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แล้วไม่ยุ่งกับสภา จะคุยไปทำไม

มันถึงเวลาที่นายกฯ ต้องตัดสินใจ จริงๆ ผมถือว่าตัดสินใจไปแล้ว วันที่บอกว่าเป็นเรื่องของสภา วันที่บอกว่ากฎหมายเดินหน้า ตัดสินใจแล้วไงว่า พร้อมที่จะนำบ้านเมืองสู่ความขัดแย้งเพียงเพื่อนิรโทษกรรม ล้างผิดให้กับพรรคพวกตัวเอง

ผมก็ไม่ต้องการให้บ้านเมืองถึงทางตัน ผมก็เสนอกลับไปว่า อยากคุยจริง พวกผมคุยได้ แต่สิ่งแรกต้องพิสูจน์ความจริงใจก่อน คืออย่าให้มีการถกกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา วันพุธนี้ ถ้าคุณยังเดินหน้าพูดวันพุธนี้ ผมไม่ต้องไปคุยบนโต๊ะเจรจา หรือโต๊ะปฏิรูป หรือโต๊ะอะไรที่จะจัดขึ้น ผมต้องไปทำอย่างเดียว ผมต้องไปลุยกันในสภา ให้ถึงที่สุด แล้วผมก็จะดูด้วยว่าที่เรียกร้องว่า มีอะไรไปพูดในสภา มีอะไรไปพูดในสภา พวกผมร้อยกว่าคนเตรียมพูดทุกคน ให้ได้พูดทุกคนสิ อย่าปิดอภิปรายนะ อย่าใช้เสียงข้างมากปิดอภิปราย อย่าอ้างว่า หมดเวลาแล้ว อย่าอ้างว่า เวลามีค่า เวลาของประชาชน ไม่ใช่เวลาของคุณ

ผมจึงยืนยันอีกครั้ง ประชาธิปัตย์ไม่ขัดขวาง กระบวนการใดที่จะนำไปสู่ความปรองดอง แต่ต้องมีความจริงใจต่อกัน และต้องเคารพความจริง ถ้าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ นายกฯ แถลงบอกว่า เพื่อให้การพูดคุยเริ่มต้นได้ จะให้พรรคเพื่อไทย ชะลอเรื่องนี้ ไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ วันพุธ ผมยืนยัน ประชาธิปัตย์มีคนไปคุยแน่ จุดยืนประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นจุดยืนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพวกเรา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการจะไปล้มล้างรัฐบาล ประชาธิปไตยอะไรทั้งนั้น แต่เราต้องการให้ระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภาคงความศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีไว้ เพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน และส่วนรวม

ผมพูดชัดๆ ยืนยันตามนี้ รอฟังคำตอบจากรัฐบาล นักข่าวไม่ต้องมาถามผมหลายรอบ ผมน่าเบื่อ ผมตอบทีไร ผมตอบเหมือนเดิม รัฐบาลนั่นแหละ ต้องตอบมาว่าจริงใจในการแก้ปัญหาสังคมมั้ย จริงใจจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยมั้ย ถ้าจริงใจ หยุดกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ไว้ก่อน แต่ระหว่างนี้ เราก็เดินหน้าผ่าความจริง พรุ่งนี้ก็มี ความจริงพรุ่งนี้ผมจะขึ้นไปแม่สอด เพราะว่าไปดูพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย แล้วก็จะรีบบินกลับมาผ่าความจริงกับพี่น้องที่โรงเรียนประชานิเวศน์ วันจันทร์ วันอังคาร ก็คงจะมีเวทีผ่าความจริงต่อเนื่อง ต่อไป เดี๋ยวสาทิตย์มาประกาศ ผมไม่ไปแย่งงานเขา วันพุธ คงมีผ่าความจริงไม่ได้ ถ้ากฎหมายเข้าสภา เพราะผมตั้งใจพูดกันจนสว่างอย่างน้อย

พี่น้องที่รักชาติทั้งหลาย ก็ยังมีหน้าที่กันครับ ช่วยกับพวกผม บอกต่อความจริง ระดมคนทั่วประเทศ หาวิธีการสะท้อนถึงรัฐบาลว่า การหาทางออกบ้านเมืองไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ได้ซับซ้อน แค่ถอนกฎหมายนิรโทษกรรม บ้านเมืองเดินหน้าได้ เราตกลงกันอย่างนี้นะครับ ก่อนที่จะให้คนอื่นขึ้นมาพูดต่อ ก็ต้องขอคำยืนยัน สู้ไม่สู้ (สู้) สู้ไม่สู้ (สู้) สู้ไม่สู้ (สู้) กราบขอบพระคุณครับพี่น้องครับ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 บทเรียนที่ได้จากกรณีทำให้กัญชาถูกกฎหมายในอุรุกวัย

Posted: 04 Aug 2013 01:50 AM PDT

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เว็บไซต์ Globalpost นำเสนอบทวิเคราะห์กรณีการทำให้กัญชาถูกกฎหมายในอุรุกวัย โดยแม้ว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายจะเคยมีมาก่อนแล้วในบางรัฐของสหรัฐฯ และในประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่การปรับเปลี่ยนกฎหมายในกรณีของอุรุกวัยมีความต่างจากการปรับเปลี่ยนกฎหมายในที่อื่นๆ เช่นการที่อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีทั้งการปลูก การจำหน่าย และการเก็บภาษีกัญชา

สภาอุรุกวัยได้ผ่านร่างกฎหมายการควบคุมดูแลกัญชาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งหากการดำเนินการตามกฎหมายเป็นผลสำเร็จ จะทำให้ประเทศอเมริกาใต้อย่างอุรุกวัยกลายเป็นประเทศผู้นำด้านกฎหมายยาเสพติดที่ก้าวหน้า

Globalpost ระบุว่าสภาล่างของอุรุกวัยคาดว่ากฎหมายที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาสูงคงสามารถผ่านการพิจารณาได้ง่ายๆ และรัฐบาลอุรุกวัยก็มีแผนการทดลองใช้นโยบายนี้ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระดับชาติ และทั้งโลกก็จับตาดูอยู่

ขณะเดียวกันก็ชวนตั้งคำถามว่าประเทศอุรุกวัยที่มีประชากร 3 ล้านคน จะคิดอย่างไรกับการทดสอบกฎหมายยาเสพติดใหม่ และอะไรที่ทำให้กระบวนการของประเทศอุรุกวัยต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ หรือรัฐโคโลราโดซึ่งให้กัญชาถูกกฎหมายหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง และกฎหมายนี้มีโอกาสสำเร็จหรือไม่


เว็บไซต์ Globalpost สรุปบทเรียนสำคัญของการทำให้กัญชาถูกฏหมาในอุรุกวัยไว้ 5 ข้อ ดังนี้


บทเรียนข้อที่ 1 อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่ให้ทั้งการปลูก จำหน่าย และเสพกัญชาถูกกฎหมาย

สิ่งที่รัฐบาลอุรุกวัยเสนอไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงบางรัฐของสหรัฐฯ เพราะแม้ว่าในเนเธอร์แลนด์การเสพกัญชาจะถือเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายมานานแล้ว แต่ก็ยังคงมีการห้ามปลูก แต่ในอุรุกวัยนั้นตรงกันข้ามคือการให้รัฐมีบทบาทในการจัดการให้บริษัทเอกชนเป็นผู้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชา

รัฐบาลอุรุกวัยมีความต้องการแข่งขันกับการนำเข้ากัญชาอย่างผิดกฎหมายมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างปารากวัย ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ปลอดภัยกว่า และคุณภาพดีกว่าได้ อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีและการควบคุมจัดการเรื่องการบริโภคได้

การที่รัฐบาลอุรุกวัยมีส่วนร่วม ทำให้อุรุกวัยต่างจากรัฐวอชิงตันและโคโลราโด ที่มีการรับรองการเพาะปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายในจำนวนจำกัดเมื่อปีที่ผ่านมา

"นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก" ฮันนาห์ เฮตเซอร์ กล่าว เธอเป็นผู้จัดการด้านนโยบายของกลุ่มสหพันธ์นโยบายยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายยาเสพติดตามหลักวิทยาศาสตร์ "อุรุกวัยมีประวัติศาสตร์นโยบายยาเสพติดที่ก้าวหน้ามาก่อนแล้ว แต่เรื่องนี้ยิ่งทำให้ไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ อีกเป็นสิบก้าว"


บทเรียนข้อที่ 2 มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

ขณะที่อุรุกวัยดูก้าวหน้ามากจากการทำให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถูกกฎหมายและการผ่านร่างกฎหมายการทำแท้งที่ก้าวหน้าที่สุดในประเทศอเมริกาใต้ สมาชิกสภานิติบัญญัติของอุรุกวัยก็ยืนยันว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของความมั่นคงภายในประเทศมากกว่าเรื่องการมีแนวคิดแบบก้าวหน้า

ในการอภิปรายถกเถียงก่อนการลงมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้กลายคนพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบาย "สงครามยาเสพติด" เป็นนโยบายที่ล้มเหลว และเน้นย้ำว่าควรมีวิธีการใหม่

ซึ่งความจริงแล้ว กฎหมายการควบคุมดูแลกัญชามาจากนักวางนโยบาย 15 คนในฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โฮเซ มูจิกา เมื่อปีที่แล้วเพื่อตอบโต้กับปัญหาอาชญากรรมที่ทำให้ถึงขนาดมีการยิงกันในร้านฟาสต์ฟู้ด

แม้ว่าประเทศอุรุกวัยจะมีอัตราอาชญากรรมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ประชาชนก็กลัวเรื่องที่ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอัตราอาชญากรรมสูงขึ้น จากการที่โคเคนเหลวที่เรียกว่า "พาสต้าเบส" เริ่มได้รับความนิยม อัตราอาชญากรรมและการฆาตกรรมก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศที่เคยสงบสุขและปลอดภัยต้องหาวิธีทางแก้

ความกลัวว่าประเทศอุรุกวัยจะเกิดความโกลาหลนี้เองเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดการออกกฎหมายกัญชา

วิธีการของรัฐบาลอุรุกวัยทำให้ผู้ค้ายาเสพติดเสียผลประโยชน์ทั้งจากการแย่งรายได้และการทำให้ผู้ใช้กัญชาได้รับการคุ้มครองทำให้พวกเขาไม่ถูกชักนำไปสู่ "มุมมืดของสังคม" และมีโอกาสลองเสพยาชนิดอื่นอีก


บทเรียนข้อที่ 3 กฎหมายนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก

จากการสำรวจความคิดเห็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าชาวอุรุกวัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายกัญชา โดยเฉพาะนอกเขตเมืองหลวงมอนเตวิเดโอ ซึ่งมีประชากรอยู่เกือบร้อยละ 50 คนส่วนใหญ่จะมีมุมมองอนุรักษ์นิยมในเรื่องแบบนี้

นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยม เวโรนิกา อลองโซ ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะจัดการกับกัญชาอย่างไรโดยไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นอำมาตย์ที่ควบคุมไม่ได้ ขณะที่นักการเมืองคนอื่นๆ แสดงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการเสพกัญชา

การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือน เม.ย. 2013 มีผู้ลงความเห็นไม่เห็นด้วยกับกฎหมายกัญชาร้อยละ 66 และมีผู้สนับสนุนเพียงแค่ร้อยละ 25 มีนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนที่ต้องการให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกกฎหมายนี้ โดยท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ามีความพยายามบีบบังคับให้มีกฎหมายนี้ออกมา พรรครัฐบาลก็ได้มีการจัดประชุมกับชุมชนทั่วประเทศเพื่อขอความเห็นเรื่องกฎหมายฉบับนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มเอ็นจีโอก็มีการช่วยรณรงค์ให้ความรู้เรื่องข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ โดยมาร์ติน คอลลาโซ โฆษกของโครงการดังกล่าวบอกว่าการที่คนสนับสนุนน้อยเนื่องจากพวกเขาขาดความเข้าใจว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดอะไรบ้าง โดยมาร์ตินเชื่อว่าหากผู้คนเข้าใจกฎหมายจริง พวกเขาจะเห็นด้วยกับมัน

ร่างกฎหมายกัญชาของอุรุกวัยซึ่งออกมาเมื่อปีที่แล้วถูกปรับเปลี่ยนให้ดูเบาลงในปัจจุบัน จากเดิมที่รัฐบาลวางแผนเป็นผู้ผูกขาดการเพาะปลูกและจำหน่ายกัญชาแต่เพียงผู้เดียว การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงียบเสียงลงด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ยังคงมีส่วนที่น่าถกเถียงอยู่จึงเป็นไปได้ที่จะถูกกล่าวโจมตีหากมีการนำเสนอออกมา


บทเรียนข้อที่ 4 เป็นการตอกหน้านโยบายสงครามยาเสพติดของสหรัฐฯ แม้พวกเขาจะไม่จงใจมากนักก็ตาม

สื่อนานาชาติจำนวนมากในช่วงนี้รายงานว่าอุรุกวัยเป็น "ผู้นำ" ด้านประเด็นเรื่องกัญชา ซึ่งโดยรวมแล้วดูเหมือนจะเป็นการที่ประเทศละตินอเมริกาพยายามหาทางเลือกใหม่ๆ นอกจากนโยบายสงครามยาเสพติดที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่

แต่ ส.ส.อุรุกวัยก็กล่าวย้ำว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการทำให้ประเทศสหรัฐฯ ดูเป็นผู้ร้าย แต่พวกเขาแค่ต้องการหาทางออกให้กับปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะตัวของอุรุกวัย

เซบาสเตียน ซาบินี หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักคนสำคัญของกฎหมายกัญชากล่าวว่า ประเทศอุรุกวัยไม่ได้ต้องการเป็นตัวอย่างให้กับชาวโลก พวกเขาแค่มีปัญหาเรื่องกัญชาและต้องการแก้ปัญหาในแบบของพวกเขาเอง

แต่แล้วกฎหมายใหม่นี้ก็ทำให้อุรุกวัยมีความขัดแย้งกับบุคคลที่ทำงานด้านการควบคุมยาเสพติดในต่างชาติ โดยสำนักงานควบคุมยาเสพติดนานาชาติของสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความกังวลถึงแนวทางของอุรุกวัยเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการอุรุกวัยปฏิบัติตามกฎหมายนานาชาติที่มีการจำกัดการใช้ยาเสพติดรวมถึงกัญชา


บทเรียนข้อที่ 5 มีโอกาสสูงมากที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านร่าง

กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีอิทธิพลอย่าง ดาริโอ เปเรซ ส.ส. และแพทย์จากบอร์ด ฟรอนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมพรรครัฐบาลฝ่ายซ้าย สายตาทุกคู่จับจ้องที่เปเรซ ซึ่งเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ แต่เมื่อเขาแสดงการสนับสนุนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาแม้จะมีความกังวลอยู่ ก็มีการประกาศทั่วทวิตเตอร์ว่าร่างกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

"เมื่อดาริโอ เปเรซ โหวตสนับสนุน กัญชาก็กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในอุรุกวัยทันที" นักข่าวท้องถิ่น ปาโบล ซานอคกีกล่าวในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการโหวตเสร็จสิ้น

เมื่อได้รับการสนับสนุนจากเปเรซแล้ว พรรครัฐบาลก็มีคะแนนเสียงมากพอในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ และในกระบวนการผ่านร่างสภาสูงซึ่งมีคนของพรรคแนวร่วมรัฐบาลอยู่เป็นส่วนใหญ่ กฎหมายฉบับนี้คงผ่านออกมาได้โดยง่าย

จากนั้นก็เหลือแค่ลายเซ็นรับรองจากประธานาธิบดีมูจิกา และการที่มูจิกาเป็นคนที่มีเสน่ห์ในการเป็นผู้นำสูง กฎหมายควบคุมดูแลกัญชาจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากแน่นอน

 


เรียบเรียงจาก

5 key takeaways from Uruguay's push to legalize marijuana, GlobalPost, 01-08-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/americas/130801/uruguay-legalize-marijuana-law-takeaways

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท. : นำวาระคัดค้านร่างประกาศฯ ม.37 ของวิชาชีพสื่อเข้าบอร์ด

Posted: 04 Aug 2013 01:36 AM PDT

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 28 ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.นี้ มีวาระน่าสนใจติดตาม เรื่อง การทบทวนพิจารณา "ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ..." ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่งด้วยความรอบคอบ  ตามที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับประธานกสทช.ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ได้เสนอวาระ "ขอให้ทบทวนแนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 และ มาตรา 39 – 40 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551" ซึ่งนางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. โดยกลุ่มงานประธานกรรมการและการประชุม นำเสนอความเห็นคัดค้าน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าว มาเพื่อทราบและพิจารณาทบทวนมติให้นำร่างประกาศฯ ดังกล่าว ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาเรื่อง "ชำแหละร่างประกาศ กสทช. คุมสื่อละเมิดเสรีภาพประชาชน" เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....เมื่อวันพุธที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารสมาคมนักข่าวฯ 

ตนได้รับการสอบถามถึงความคืบหน้าของสถานะร่างประกาศฉบับดังกล่าวจากวิทยากร ผู้เข้าร่วมการประชุม และสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างประกาศฉบับนี้ รวมทั้งในสาระสำคัญของการเสวนาดังกล่าวพบว่า วิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อและนักวิชาการด้านสื่อต่างเห็นตรงกันว่า ร่างประกาศฉบับนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอให้ กสท. พิจารณาถอนร่างรวมทั้งพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของแนวทางในการกำกับดูแลสื่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในมาตรา 37 - 39 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเพื่อป้องกันการเกิดข้อกังขาต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ ตลอดจนสาธารณชนในวงกว้าง และเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และขอให้กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ พิจารณาขอบเขตอำนาจหน้าที่ กสท. ตามมาตรา 37 และมาตรา 39 – 40  ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าว

ส่วนวาระอื่นน่าติดตาม ได้แก่ กสท.เตรียมพิจารณาแนวทางการถอนใบอนุญาตช่องดาวเทียมหลังตรวจสอบพบการออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่ละเมิดผู้บริโภคตามกฎหมาย รวมทั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอเสนอความเห็นต่อการตรวจสอบรายการการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยกำหนดรูปแบบ วิธีการ และการเฝ้าระวัง (Monitor) รวมถึงการลงโทษในกรณีที่ออกอากาศไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากพิจารณาสิ้นสุดแล้วว่าผู้ประกอบกิจการรายใดทำผิดกฎหมาย และกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการบรอดแคส พ.ศ.2555 ส่วนวาระอื่นน่าติดตามเพิ่มเติม การพิจารณาเห็นชอบ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .....

 

 
 
หมายเหตุ
               
มาตรา 39 ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพขององค์กร
 
ในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ให้แต่ละองค์กรตามวรรคหนึ่งจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมขึ้นโดยมีองค์ประกอบและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก

องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา 52 ก็ได้

มาตรา 40 ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เพื่อให้ดำเนินการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว และให้คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการขององค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เมื่อองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบผลการดำเนินการโดยเร็ว
 
ผลการดำเนินการในหมวดนี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรา 51 (1) )
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วางเกณฑ์ให้นายจ้างต้องทำสัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว

Posted: 04 Aug 2013 12:43 AM PDT

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ กรมการจัดหางาน เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง วางเกณฑ์ให้นายจ้างต้องทำสัญญาจ้างหากไม่ทำจะไม่ออกใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าว

 
4 ส.ค. 56 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่านายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการประมง ตามนโยบายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า กสร.มุ่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาการหลอกลวงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ โดยกสร.ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กำหนดมาตรการการทำงานและจ้างงานแรงงานภาคประมงโดยล่าสุดกสร.ร่วมกับไอแอลโอล และกรมการจัดหางาน (กกจ.) จัดทำสัญญาจ้างในงานประมงทะเล ซึ่งต้องมีรายละเอียดในหลายกรณี เช่น ชื่อลูกจ้าง นายจ้าง ระยะเวลาการทำงาน ค่าจ้างและค่าเปอร์เซ็นต์ในการขายปลา รวมทั้งสวัสดิการและที่พักอาศัย สาธารณูปโภคบนเรือที่ต้องได้มาตรฐาน และมีการออกเป็นข้อกำหนด หากนายจ้างไม่ทำสัญญากับลูกจ้าง กรมการจัดหางานจะไม่ออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากไม่มีสัญญาที่บ่งบอกในเรื่องสภาพการจ้างงานและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งขณะนี้กสร.ได้ส่งตัวอย่างสัญญาจ้างในงานประมงทะเลไปให้แก่ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน7จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนองและสตูลเรียบร้อยแล้ว
 
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะไปตรวจเยี่ยมกิจการประมง ที่จ.สงขลาด้วย ส่วนกรณีองค์กรต่างประเทศเผยแพร่สารคดีการค้ามนุษย์ในไทย โดยเฉพาะการใช้แรงงานประมงในจังหวัดตรังนั้น กสร.กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ หากพบว่านายจ้างมีการกระทำผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมมนา 'กษัตริย์ศึกษาในรัฐไทย'

Posted: 03 Aug 2013 11:23 PM PDT

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.56 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดสัมมนาเรื่อง 'กษัตริย์ศึกษาในรัฐไทย รัฐไทยกับการศึกษาสถาบันกษัตริย์' ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ  ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475 -2500) ซึ่งเขียนโดย ณัฐพล ใจจริง อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

ประชาไทขอนำเสนอบางส่วนของงานสัมมนา ซึ่งอภิปรายโดย ณัฐพล ใจจริง, สมศักดิ์ เจียมธรีสกุล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ณัฐพล ใจจริง

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น