ประชาไท | Prachatai3.info |
- วงเสวนาในร้านโรตีจี้ทั้ง 'รัฐไทย-BRN' ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน
- สำรวจความคิดเห็นประชาชนซีเรียต่อแผนการโจมตีของสหรัฐฯ
- ประกาศยื่น รมว.มหาดไทย ขอผู้ว่าฯ ตรังทำหน้าที่ต่อ ชมตั้งใจแก้ปัญหาจริง
- รัฐโลก ศาสนา และสิทธิมนุษยชน
- ศาสนากับรัฐ : การตีความอุดมการณ์ศาสนา (พุทธ) เพื่อรับใช้อุดมการณ์รัฐของชนชั้นปกครองไทย
- เปิดผลวิจัย คนไม่เชื่อเฮทสปีชในเน็ต สร้างความรุนแรงทางกายภาพ
- สมัชชาวิชาการเกษตรกรรมแถลงปิดงาน ยืนหยัดปกป้องสิทธิ 'เกษตรกร-ชุมชน-ผู้บริโภค'
- ชาวบ้านแม่ตาววอนนายกสั่ง 6 หน่วยงาน หยุดอุทธรณ์คดีแคดเมียม
- รายงานธนาคารโลกเผยสัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปของไทยสูงขึ้น
วงเสวนาในร้านโรตีจี้ทั้ง 'รัฐไทย-BRN' ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน Posted: 31 Aug 2013 02:20 PM PDT วิทยุ Media Selatan จัดวงเสวนาชาวบ้านในร้านโรตียะลา ย้ำการพูดคุยสันติภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม เสนอแนะทั้งรัฐไทยและ BRN ต้องเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชน รับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ที่ร้านโรตีนายอุสมาน ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) จัดเสวนาหัวข้อ "ความคาดหวังของคนยะลาต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการ BRN" มีผู้เข้าร่วม 20 คน โดยมีการถ่ายทอดเสียงผ่านทาง Media Selatan ด้วย อาจารย์ยูซุฟ ดอเลาะห์ นักจัดรายการวิทยุในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยและ BRN ที่ใช้แนวทางการพูดคุยสันติภาพในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ แต่การพูดคุยสันติภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานเจตนาที่ดีจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง "อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด"อาจารย์ยูซุฟ กล่าว นายมุกตา อาลี ข้าราชการครูจังหวัดยะลา กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ควรที่จะมีธงมาแล้วว่าต้องการอะไรจากการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจของทั้ง 2 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ "เมื่อช่วงต้นเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา ประชาชนหวังว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ได้ เนื่องจากมีเหตุความรุนแรงน้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงเบื้องต้นในการลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฏอนและหลังรอมฏอนอีก 10 วัน แต่ความหวังประชาชนก็ล่มสลาย เมื่อมีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายเดือนรอมฏอน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรอความหวังจากสันติภาพต่อไป"นายมุกตา กล่าว นายมุกตา กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลรับข้อเสนอของ BRN ด้วย อาจจะ 2 หรือ 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ไม่จำเป็นต้องรับทั้งหมด เพราะหากรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ "โดยพื้นฐานของการเจรจา ต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว คิดว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ ยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้นอีก เพราะในฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้เข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้สามารถใช้เวลาได้สั้นที่สุด" นายมุกตา กล่าว นายมุกตา กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่มีการพูดคุยสันติภาพในแต่ละครั้ง รัฐต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่ก่อน และนำข้อสรุปที่ได้ซึ่งเป็นข้อเสนอของประชาชนส่วนใหญ่ไปเสนอในเวทีพูดคุยสันติภาพ นายอาฮามะ บากอซัง ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า ไม่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้นที่ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทางฝ่าย BRN ก็ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน เพื่อให้รู้ว่าประชาชนมีความต้องการอย่างไรต่อการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ หมายเหตุ : 5 ข้อเสนอของ BRN 1. นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator) 2.การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปาตานี ที่นำโดย BRN กับนักล่าอานานิคมสยาม 3.ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO 4.นักล่าอานานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข 5.นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร BRN เป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สำรวจความคิดเห็นประชาชนซีเรียต่อแผนการโจมตีของสหรัฐฯ Posted: 31 Aug 2013 11:14 AM PDT ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าวางแผนโจมตีซีเรียเหตุจากการใช้อาวุธเคมี เว็บไซต์ข่าว Globalpost รวบรวมความคิดเห็นส่วนหนึ่งของประชาชนชาวซีเรียและกลุ่มกบฏต่อแผนการโจมตีในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Globalpost นำเสนอความคิดเห็นของชาวซีเรียต่อการพยายามแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธของสหรัฐฯ โดยอ้างว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีสังหารผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยทางการสหรัฐฯ ได้รับเสียงสนับสนุนจากฝรั่งเศส และเยอรมนี ขณะที่ทางการอังกฤษจำต้องยอมรับมติในที่ประชุมสภาทำให้มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ "ประชาชนชาวซีเรียได้แสดงความเห็นออกมามาก แต่ไม่มีใครฟัง" ผู้หญิงชาวดามาสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ที่ทำงานในวงการศิลปะเคยกล่าวไว้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา "ชาวซีเรียรู้สึกว่า ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากความเจ็บปวดของพวกเขา" และเมื่อสำนักข่าว Globalpost ถามถึงเรื่องแผนการจู่โจมของสหรัฐฯ กับชาวซีเรีย ก็มีความคิดเห็นออกมาดังนี้ อับดุล อะซีซ คนทำงานธนาคารกล่าวว่า คนในดามาสกัสมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องการโจมตีของสหรัฐฯ แต่โดยส่วนตัวเขาไม่สนับสนุนการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธเพราะเขาคิดว่ารัฐบาลอเมริกันเป็นศัตรูของประเทศ ขณะเดียวกันอะซีซก็บอกว่ากลุ่มที่สนับสนุนการแทรกแซงไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย รามา ทาราบิชี ผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมนอกกรุงดามาสกัสกล่าวว่าในตอนแรกเธอไม่คิดว่าประเทศตะวันตกจะวางแผนโจมตีจริง ส่วนตัวเธอเองรู้สึกกังวลและคับข้องใจ "สำหรับฉันแล้วเหมือนกับว่ากรณีของอิรักกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง" ทาราบิชีกล่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าว ซารี อัคมีนาส กล่าวว่าเขาจะไม่หนีออกจากประเทศเมื่อมีการโจมตี และต้องการอยู่เพื่อช่วยสร้างซีเรียขึ้นมาใหม่ ส่วนทาลาล อตราเช จากตอนใต้ของซีเรียบอกว่าการโจมตีกองทัพซีเรียจะยิ่งทำให้กลุ่มที่ทำสงครามศาสนาเข้มแข็งขึ้น "ผมเชื่อว่าเรากำลังเฝ้าดูความย่อยยับของสังคมและประเทศ... ที่เกิดจากความขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมือง ยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจ" อตราเชกล่าว ทางด้านอับดุลลาห์ โอมาร์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ถูกกลุ่มกบฏยึดครองใกล้กับตุรกีเปิดเผยว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในที่เขาอาศัยอยู่สนับสนุนการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามันจะทำให้ฝ่ายกบฏได้เปรียบฝ่ายรัฐบาล แต่ในความคิดของเขาเองเขาคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น "ประชาชนชาวซีเรียจะทนทุกข์ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ฝ่ายรัฐบาลหรือกลุ่มหัวรุนแรง" โอมาร์กล่าว บาเซล อัลมาซรี เป็นคนหนึ่งที่เคยสนับสนุนการปฏิวัติกล่าวว่า ตอนนี้ทุกอย่างดูไม่ชัดเจน ในตอนนี้เหมือนเป็นสงครามระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงกับกลุ่มเผด็จการ อัลมาซรีกล่าวอย่างลังเลว่า การแทรกแซงจากต่างชาติอาจจะเป็นคำตอบที่เหลือเพียงอย่างเดียว
มูฮัมหมัด รัสลัน นักรบกลุ่มกบฏปลดปล่อยชาติซีเรีย (FSA) กล่าวว่า การโจมตีด้วยจรวดมิสไซล์อาจจะยังไม่มากพอและมาช้าเกินไป แต่กลุ่มเพื่อนนักรบกบฏและตัวเขาเองสนับสนุนการโจมตีครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม รัสลันบอกว่าจริงๆ แล้วพวกเขาต้องการให้มีคนช่วยเสริมกำลังอาวุธให้มากกว่า ขณะที่ร้อยเอก ฟาดี เจ้าหน้าที่ของ FSA ที่ร่วมกับกลุ่มกองกำลังแนวหน้าปฏิบัติการ (Jabhat al-Umma al-Islamiya) ซึ่งอยู่ในเมืองและโดยรอบเมืองอเล็ปโป กล่าวว่าเขารู้สึกสองจิตสองใจ เพราะคิดว่าในแง่หนึ่งการโจมตีครั้งนี้ก็อาจจะไม่รุนแรงพอที่จะจัดการกับรัฐบาลซีเรีย โดยที่โอมาร์ อัล-ฮอมซี นักรบ FSA ที่อยู่ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษในเมืองติดกับชายแดนเลบานอนกล่าวในทางเดียวกันว่า พวกเขาไม่คิดว่าการโจมตีของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้
สถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 31 ส.ค. คณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธของสหประชาชาติได้ออกจากพื้นที่เกิดเหตุ รวมถึงมีการนำหลักฐานและปากคำของพยานกลับไปด้วย ทางประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา กล่าวว่าจะมีการพิจารณาโจมตีซีเรียขณะที่นักวิจารณ์หลายคนเรียกร้องให้เขารอผลการสืบสวนของยูเอ็นเสียก่อน แต่โอบามารวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคอร์รี่ ก็ยืนยันว่าพวกเขาเชื่อมั่นในเรื่องที่ทางการซีเรียเป็นผู้ใช้อาวุธ โดยเคอร์รี่บอกว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีกลุ่มคนของรัฐบาลซีเรียอยู่ในพื้นที่เพื่อเตรียมการ 3 วันก่อนเกิดเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมี เคอร์รี่กล่าวอีกว่า มีกลุ่มที่สนับสนุนการโจมตีของพวกเขาอย่างสันนิบาตอาหรับ, ตุรกี, ออสเตรเลีย และฝรั่งเศสผู้เป็น "พันธมิตรเก่าแก่ของเรา" ขณะที่ทางการซีเรียออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า เคอร์รี่ พยายามสร้างความชอบธรรมในการโจมตี และบอกว่าข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อาวุธเคมีนั้นไม่มีมูลความจริง ทางด้าน ราซาน ไซตูเนห์ จากศูนย์บันทึกการละเมิดสิทธิในซีเรีย (VDC) เปิดเผยในการสัมภาษณ์ต่อวารสาร Foreign Policy ว่า ทีมงานของ VDC และทีมสื่อของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เข้าไปบันทึกภาพของการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซามัลกาเสียชีวิตทั้งหมด จากการสูดดมแก๊สพิษ โดยมีเธอเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต
Here's what Syrians have to say about intervention, Globalpost, 30-08-2013 'A crime against humanity': US makes the case for military action against Syria, The Independent, 30-08-2013 U.N. inspectors leave Syria as Obama weighs military action, CNN, 31-08-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประกาศยื่น รมว.มหาดไทย ขอผู้ว่าฯ ตรังทำหน้าที่ต่อ ชมตั้งใจแก้ปัญหาจริง Posted: 31 Aug 2013 09:50 AM PDT 2 เครือข่ายชาวบ้านตรัง ให้กำลังใจ 'ธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล' หลังถูกสั่งย้ายเข้ากรุ ประกาศจะยื่นหนังสือ รมว.มหาดไทย ขอคืนตำแหน่งให้ผู้ว่าฯ อยู่ต่อไป พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกฯ-รมต.เกษตรฯ ให้แก้ปัญหายางพาราโดยสันติ เวลาประมาณ 11.30 น.วันที่ 30 ส.ค.56 ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ชาวบ้านจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม รวมกว่า 100 คน นำผลไม้ และดอกไม้เข้าให้กำลังใจนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังซึ่งจะถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งถือป้ายผ้า โดยมีข้อความว่า "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พบง่าย เข้าใจคนตรัง ตั้งใจแก้ปัญหา" และ "ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ พัฒนาตรังเป็นเมืองแห่งความสุข ที่ 3 ของประเทศ ที่ 1 ของภาคใต้" จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดและเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่นายธีระยุทธทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้พิสูจน์ให้เครือข่ายชาวบ้านเห็นว่าเป็นคนมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเป็นพ่อเมืองที่พบง่าย ตั้งใจแก้ปัญหา เป็นนักปกครองที่ทำงานโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม บูรณาการนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับจังหวัดตรัง "ท่านธีระยุทธวางเป้าหมายพัฒนาจังหวัดตรังไปสู่เมืองแห่งความสุข ไม่ใช่แค่ความเจริญทางวัตถุ และท่านก็สามารถทำได้อย่างน่าพอใจ ตัวชี้วัดหนึ่งของความสำเร็จคือ จังหวัดตรังได้รับการจัดอันดับจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้เป็นจังหวัดแห่งความสุขอันดับที่ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 1 ของภาคใต้ " จดหมายเปิดผนึกระบุ นางณัฐธยาน์ แท่นมาก ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากที่ได้รู้จักนายธีระยุทธ เชื่อว่าได้ทำหน้าที่พ่อเมืองตรังด้วยความรัก แม้ไม่ได้เป็นคนตรัง แต่ก็เข้าใจ และเข้าถึงคนตรัง ไม่สมควรที่จะเอานายธีระยุทธไปเก็บในไว้กรุ จึงขอโอกาสให้นายธีระยุทธได้แสดงฝีมือในช่วงอายุราชการที่เหลือ โดยหลังจากนี้จะยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไป "ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธผู้ว่าฯ ท่านใหม่ เพราะเชื่อว่ามีพ่อเมืองอีกหลายท่านที่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่ขอเวลาอีก 1 ปี ให้ท่านธีระยุทธได้สานต่องานที่ตั้งใจไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ หวังว่าพี่น้องชาวตรัง ส่วนราชการต่างๆ รวมถึงรัฐบาล และพี่น้องชาวไทย จะเข้าใจ และตอบสนองเจตนารมณ์ของเรา" นางณัฐธยาน์ กล่าว หลังจากนั้น เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช ผ่านนายพัลลภ เงินทอง เกษตรจังหวัดตรัง พร้อมทั้งได้ถือป้ายผ้า ระบุข้อความว่า "ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด" และ "เรื่องยางเป็นเรื่องปากท้อง รัฐบาลต้องจริงใจแก้ปัญหา อย่าบิดเบือน" นางสุวรรณี สุขเกษม ตัวแทนเครือข่ายรักษ์เจ้าไหม กล่าวว่า รู้สึกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ราคายางปั่นป่วนและตกต่ำนั้นไม่ใช่เป็นปัญหาภาคใต้ แต่เป็นปัญหาของชาติ เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ พ.ศ.2534 ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่ทำรายได้มากที่สุดของไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศไทย มันจึงเป็นปัญหาของชาติ เป็นปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ นางสุวรรณี กล่าวต่อมาถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ 2.รัฐบาลต้องยึดหลักสันติวิธีโดยยึดการเจรจา มีท่วงทำนองรับฟัง เข้าหาทุกกลุ่ม และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยหาข้อสรุปที่ชาวเกษตรกรรับได้ อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ 3.หามาตรการในการดูแล และมีนโยบายเอื้ออำนวยความสะดวกในการขนส่งพืชผลเกษตรอื่นๆ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ สะตอ รวมทั้งข้าว เพื่อการปริโภคแก่คนในชาติด้วย และ 4.หามาตรการระยะกลาง และระยะยาวในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำสู่ความสงบสุขแก่บ้านเมืองอย่างจริงจังต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือ เครือข่ายฯ ได้มีการพูดคุยที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง จนถึงเวลาประมาณ 14.00 น. หลังจากนั้นได้นำใบปลิว เรื่องขอให้ผู้ว่าฯ ธีระยุทธ เป็นผู้ว่าตรังต่อไป และกรณีการแก้ปัญหาการชุมนุมของชาวสวนยาง จำนวน 1,500 ชุด ไปแจกในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดตรัง ได้แก่ อ.เมือง อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา และ อ.กันตัง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 31 Aug 2013 08:57 AM PDT หลายกระแส หลายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นไปและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก จากกระแสความเป็นไปหรือทิศทาง ของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า new world order (NWD) ซึ่งมีความหมายอย่างน้อยก็ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือ หมายถึงกระแสความเป็นไปของโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำหรือ เป็นฝ่ายกำหนด กับความหมายที่สอง ซึ่งก็อยู่ในบริบทเดียวกัน คือ world government หรือรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลอเมริกันทำหน้าที่เป็นรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบ(order)โลก ตามแนวทาง ความเชื่อ และปรัชญาอเมริกัน ว่ากันตามจริงแล้วมีสิ่งที่ควรทราบอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับ new world order ที่หมายถึง สหรัฐอเมริกา ประการแรกคือ new world order มีหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น ที่สำคัญคือ new world order อิงอยู่กับอำนาจทางการทหารเป็นสำคัญ, ประการที่สอง คือ order ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายในเชิงการเข้าไปปฏิบัติการควบคุมหรือบังคับโดยตรง เสมอไป แต่เป็นการกำกับทางอ้อม โดยใช้อุดมการณ์ เป็นเครื่องมือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม ทุนนิยมเสรี สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งว่าไปแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ก็ดูสมเหตุสมผล ในเชิงมนุษย์นิยม หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เนื้อหาสาระของอุดมการณ์ เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกัน พลโลกผู้สนใจระเบียบเหล่านี้ ไม่พึงเพิก เฉยใส่ใจต่อรัฐธรรมนูญอเมริกัน เพื่อความเข้าใจอุดมการณ์ร่วมกันอย่างตรงกัน ในระเบียบอเมริกันชุุดนี้ ปัจเจกชน ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก ในนามของการมีสิทธิ เสรีภาพ ที่ไม่รุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ที่สำคัญผลพวงของระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงพื้นฐาน ของความเป็นปัจเจกภายนอกเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนลึกถึงกระบวนการด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นกระบวนการภายในของมนุษย์ ภายใต้ "ความเชื่อความศรัทธา" เช่น ผลพวงจากการประกาศตนเองเป็นรัฐมนุษยวิสัย (secular state) โดยไม่ยอมให้ความเชื่อและ ความศรัทธาด้านศาสนาขึ้นมาสัมพันธ์กับอุดมการณ์ของรัฐในเชิงของคำประกาศอุดมการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนต่อมารัฐมนุษย์วิสัยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตอเมริกัน ที่เน้นศูนย์กลางไปที่ความเป็นมนุษย์ หรือ "สิทธิมนุษยชน" นั่นเอง จากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหน้า ไหนก็ตามในโลก มีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน เช่น ความรักตัวกลัวตาย ความต้องการเสรีภาพ เป็นต้น แหละนั่นหมายถึงความเป็นสากลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม การที่จะไปกำหนดว่าชาตินั้นเผ่าพันธุ์นี้มีหลักสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกันระเบียบ อเมริกันถือว่าไม่มี แต่หากจะมีก็ไม่ใช่เป็นวิธีการคิดหรือการเชื่อที่ถูกต้อง เพราะมนุษย์มีความปรารถนา พื้นฐานเหมือนกัน การปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติด้านศาสนาหากขัดแย้งต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แล้วถือว่าขัดต่อระเบียบด้านสิทธิมนุษยชน แม้จะมีผู้มองว่าการจัดระเบียบของรัฐบาลอเมริกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอเมริกัน เองในหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกานี้มีผลให้โลกเกิดกระบวนทัศน์ใหม่หลายประการ กระบวน ทัศน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหลายกระบวนทัศน์นั้น และที่น่าแปลกก็คือ อุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกันไปตรงกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่มีเป้าประสงค์ คือ "การปลดปล่อย" เพียงแต่ต่าง ฝ่ายต่างให้นิยามของการปลดปล่อยแตกต่างกันไป อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เน้นการปลดปล่อยคนจากทุน นายทุน หรือเจ้าของกิจการ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกัน เน้นการปลดปล่อยเชิงความเป็นอิสระของ ปัจเจก ซึ่งหมายถึงว่า การที่เราสามารถอยู่กับทุนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจอย่างอิสระของเราเอง (แน่นอนว่าเราถูกทุนบังคับไม่มากก็น้อยให้เดินตาม) รวมถึงการที่เราจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็ตามที่ไม่ ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จนเกิดกระบวนทัศน์ ที่สำคัญอย่างหนึ่งและสหรัฐอเมริกาได้นำมาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อเมริกันเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากที่สุด หากกล่าวให้เลยไปจากผลประโยชน์นิยมเชิงวัตถุของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อุดมการณ์มนุษย์นิยม ของประเทศนี้ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดระเบียบ, new world order เป็นระเบียบสากลที่กำหนด จากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน) ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิที่เป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ และความปรารถนา ดังกล่าวยังรวมถึงความปรารถนาสากลในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาต่อลัทธิศาสนาของปัจเจก เพราะแน่นอนว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเชื่อปรากฎอยู่ภายในของเขาไม่ความเชื่อใดก็ความเชื่อหนึ่ง แม้ในบรรดาของคนที่อ้างตนว่า ไร้ศาสนาแต่ความไร้ศาสนาก็จัดเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1947 ถึง 1991 รัฐอเมริกันคอยจัดระเบียบอยู่ ตลอดเวลา จนกระทั่งอุดมการณ์ คอมมิวนิสต์ต้องยอมถอยร่นไปให้แก่การจัดระเบียบที่ว่า หมดยุค สงครามเย็น เป้าหมายของการจัดระเบียบกลับไปอยู่ที่ "รัฐศาสนา" (religious states) หรือถึงแม้จะไม่ ประกาศตนเป็นรัฐศาสนาก็ตาม แต่ประเทศที่มีลักษณะของความเป็นรัฐศาสนาซ่อนอยู่ภายในนั้น รัฐอเมริกันมองว่าไม่เข้ากับระเบียบของตน นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สาเหตุของการจัดระเบียบขึ้นกับสภาพการณ์ของ รัฐหรือประเทศนั้นๆด้วย เหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลของประเทศนั้นขัดแย้งกับแรงปรารถนาพื้นฐานของ มนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือ สิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยเหตุผลดังกล่าว การบุกอิรัค ยึดอาฟฆานิสถาน การถล่มลิเบีย และล่าสุด คือ การเตรียมการ(รอตัดสินใจ)กำหนดเป้าหมายโจมตีซีเรียจึงเกิดขึ้น ถัดมาจากช่วงสงครามเย็น โลกมุสลิม ถูกรัฐอเมริกันมองในเชิงของการขยายการใช้ระเบียบ และกลายเป็นหน้าด่านของการปะทะเพื่อการขยายระเบียบในปัจจุบัน ขณะเดียวกันผลการจัดระเบียบยังสัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ อุดมการณ์ความเป็น ปัจเจกในเรื่องความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนา, ความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนาที่ดำเนินการ โดยรัฐย่อมได้รับผลกระทบจากการจัดหรือขยายระเบียบของสหรัฐอเมริกาด้วย ดังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน รัฐพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา และสหภาพพม่า ซึ่งระเบียบที่ใช้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเชิง ความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ (เพราะมนุษย์มีสิทธิ์เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเห็นดีเห็นงาม โดยคน อื่นไม่เดือดร้อนจากความเชื่อและความศรัทธานั้น)และระเบียบว่าด้วยประชาธิปไตย แนวโน้มของจัดระเบียบส่วนหนึ่งที่รัฐอเมริกันกำลังขยายผล คือ การจัดระเบียบด้าน ความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิศาสนา รวมอยู่ในนั้นด้วยในเชิงการจำกัดอำนาจรัฐหรือแยกอำนาจรัฐออกจาก การจัดการหรือการควบคุมความเชื่อ ความศรัทธาในลัทธิศาสนา ต้องการให้เกิดการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์นิยมให้เพิ่มพูนมากขึ้น นั่นคือ ความเป็นมนุษยชนสากล หาไม่เช่นนั้นแล้วรัฐที่ยังดำเนินการควบคุมความเชื่อของประชาชนดังกล่าว ย่อมขัดกับ new world order ระเบียบ new world order เป็นระเบียบเสรี ไม่ได้บอกให้คน ไม่สามารถมีความเชื่อ ความศรัทธา ในลัทธิศาสนาใดๆได้ แต่ระเบียบดังกล่าวอ้างเหตุผลว่า การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาที่นิยามและยึดกุมโดยรัฐ กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นการละเมิดต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ สามารถนำไปสู่ ความรุนแรง และอาชญะต่างๆได้ หากรัฐไม่ปลดปล่อยพันธนาการความเชื่อ ความศรัทธา เหล่านี้ ให้เป็นเรื่องของปัจเจก ผมไม่ได้บอกว่าระเบียบนี้ผิดหรือถูกนะครับ แต่เห็นทีเราจะต้องหันมาใส่ใจพิจารณาใคร่ครวญถึงระเบียบนี้กันบ้างแล้ว.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาสนากับรัฐ : การตีความอุดมการณ์ศาสนา (พุทธ) เพื่อรับใช้อุดมการณ์รัฐของชนชั้นปกครองไทย Posted: 31 Aug 2013 08:45 AM PDT ขอออกตัวก่อนว่าบทความนี้เป็นเพียงความรู้ ความรู้สึกและความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานชี้วัด ความผิดถูกได้แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการใช้สิทธิ์ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยของตนเองในสังคมที่เชื่อกันว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกผ่านตัวอักษร อุดมการณ์สูงสุดของศาสนาคือได้การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิตตามคติของแต่ละศาสนา เช่น เป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือบรรลุนิพพาน ตัดวงจรวัฏฏะสงสาร โดยระดับขั้นของการบรรลุขึ้นอยู่กับการละสังโยชน์แต่ละข้อในระดับต่างๆ ศาสนาคริสต์ คือการได้ไปอยู่กับพระเจ้าภายหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว ฯลฯ การจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้นจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต้องปฏิบัติตามหลักการของแต่ละศาสนา ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามนั้นบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของละศาสนาที่ตนศรัทธาได้ กระบวนการในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนา มีความแตกต่างกัน ข้อแตกต่างระหว่างศาสนานั้นอาจมีหลายประการ แต่ที่ผู้เขียนนึกได้ในตอนนี้ก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างเป้าหมายสูงสุด และกระบวนการที่ใช้ในการเข้าถึง ประเด็นที่ผู้เขียนนำมาขบคิดก็คือ กระบวนการหรือวิธีการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนานั้น ต่างมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ ที่แตกต่างกัน ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติที่แตกต่างกันของแต่ละศาสนานั้นจะไม่ของกล่าวถึงเพราะเป็นหลักและวิธีการจำเพาะของแต่ละศาสนาที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดทางศาสนา แต่ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจก็คือ ข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาบางข้อบางประเด็นที่ตีความโดยชนชั้นปกครองและถ่ายเทความเชื่อเหล่านั้นให้กับผู้ถูกปกครอง(ประชาชน ชาวบ้าน) ขัดกับหลักการของรัฐสมัยใหม่ ที่ ให้ความสำคัญต่อ ศักยภาพและความสามารถของมนุษย์ อีกทั้งเรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในสังคม หรือไม่ ? อุดมการณ์สูงสุดของรัฐในทัศนะของผู้เขียน คือสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism) ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ดีกินดีของประชาชนภายในรัฐ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ดี เป็นธรรม และคำนึงถึง เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในรัฐ ส่วนรูปแบบการปกครองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นมติของคนในรัฐเสมอไปว่า จะเลือกรูปแบบการปกครองใด เพราะมติหรือความเห็นของคนในรัฐที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือนั้น เป็นมติที่ใช้ไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเสรีไทยกลุ่มหนึ่งที่อภิวัฒน์รูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่ารูปการปกครองที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไม่เป็นธรรมและขัดกับหลักสากล โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่ผ่านการปลูกฝังจากชนชั้นปกครองให้ยอมจำนน ดังที่กล่าวมาแล้ว อาจจะไม่เห็นด้วยในขณะนั้น ซึ่งการจะบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐดังที่กล่าวแล้วมานั้น ก็มีวิธีการหรือกระบวนการของตนเอง ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาที่ถูกตีความโดยชนชั้นนั้น ขัดกับกระบวนการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐ เพราะการตีความความเชื่อทางศาสนา (พุทธ) เป็นไปในลักษณะให้ประชาชนจำนนต่ออำนาจ และทำให้ประชาชนรู้สึกขาดอำนาจและความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ หากแต่ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของบ้านเมือง ดังปรากฏ หนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยแต่โบราณเป็นอย่าสูงหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายว่ามนุษย์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่างๆ นานนับชาติไม่ถ้วนจนกว่ามนุษย์จะนิพพาน เวลาอยู่บนโลกนี้จึงไม่แน่นอน มีลักษณะอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้นาน เป็นเวลาแห่งความทุกข์หรือมีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตมนุษย์จึงมีแต่ความทุกข์ ที่สำคัญระยะ เวลาไม่เกินร้อยปีทีมนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ มนุษย์ไม่สามารถกำหนดสภาพและวิถีชีวิตของตนได้ เนื่องจากชีวิตในชาตินี้ถูกกำหนดไว้ในอดีตด้วยกรรมในชาติก่อน ๆและสังคมมนุษย์โดยรวมจะค่อยๆเสื่อมลงจนถึงกลียุคที่มนุษย์จะต้องล้มตายลงอย่าง ทุกขทรมาน มนุษย์ที่ทำกรรมดีจะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่ดีและมีอายุยืนนาน ถ้าทำกรรมชั่วก็จะได้ไปเกิดในช่วงเวลาที่เลวร้าย เช่น กลียุค เป็นต้น ต้องทำความเข้าใจกับผู้อ่านนิดนึงว่า คำว่า อุดมการณ์ศาสนากับอุดมการณ์รัฐ ที่ว่านี้ หมายเอาเฉพาะศาสนาพุทธต่อประเทศไทยเท่านั้น และนิยามคำว่า ขัด ที่กล่าวมาข้างต้น คือ การขัดในแง่ของการตีความหลักการทางศาสนาของรัฐเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองของชนชั้นปกครอง อุดมการณ์ของศาสนาพุทธในประเทศไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองต่ออุดมการณ์รัฐ ซึ่งเป็นการตีความคำสอนทางศาสนาที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาเรื่อยรังต่อการปลูกต้นกล้าแห่งความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย การใช้ศาสนาเพื่อใช้เป็นเครื่องรองรับความชอบธรรมต่อชนชั้นปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะอุดมการณ์ทางศาสนาไม่ได้มีเป้าหมายทางการปกครองแต่มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงสาระที่แท้จริงของการมีชีวิต และศาสนาเองโดยเฉพาะศาสนาพุทธก็เกิดขึ้นก่อนที่ความคิดเรื่องรัฐชาติจะเกิด สำหรับเรื่องอุดมการณ์รัฐนั้นไม่ต้องพูดถึง รัฐหรือการเมืองควรเดินตามอุดมการณ์และแนวทางของตนเองโดยใช้หลักทางศาสนามาประกอบในส่วนของการสร้างคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อความสงบสุขของคนในรัฐ ส่วน คุณธรรมขั้นสูงนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและความสมัครใจของปัจเจกคนในรัฐเอง สำหรับ คุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานนั้นประชาชนในรัฐจะต้องมีโดยมีสภาพบังคับในรูปของกฎหมาย เพราะหากประชาชนใน รัฐขาดเสียซึ่งคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานเสียแล้วรัฐก็ถึงกาลวิบัติ ศาสนาจึงควรอยู่ในสถานะที่เป็นเสาหลักทางความมั่นคง ที่พึ่งทางจิตใจ ทั้งยังเป็นเป้าหลอมพฤติกรรมและเป็นบ่อเกิดประเพณีวัฒนธรรมสร้างความเป็นอัตตลักษณ์ให้กับคนในรัฐ เมื่อใดก็ที่ประชาชนในรัฐเห็นว่าสถานะดังกล่าวของศาสนาไม่มีความจำเป็นต่อตนแล้ว ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็นต่อรัฐอีกต่อไป ในทัศนะของผู้เขียนเองมองว่า หากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐมองว่าสถานะของศาสนาไม่จำเป็นต่อรัฐ เมื่อนั้นรัฐเองก็ประสบความล้มเหลวต่อการดำรงอยู่ของรัฐ และสถานะที่รัฐควรปฏิบัติต่อศาสนาก็คือ ส่งเสริมสนับสนุน อุปถัมภ์ดูแล ให้สถาบันทางศาสนาทำหน้าที่ของตนเองเพื่อเอื้อต่อการนำพาสังคมให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของอุดมการณ์รัฐต่อไปและรัฐต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนาเป็นอันขาด เพราะการละเมิดสิทธิประชาชนในการเลือกนับถือศาสนานั้นขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐในระบอบประชาธิปไตยเสียเอง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐจะเข้ามาก้าวก่ายศาสนาในแง่ของการตีความและการบริหารจัดการหรือกำหนดรูปแบบโครงสร้างการบริหารให้กับคณะสงฆ์ไทย ( ในประเทศไทยโครงสร้างทางการบริหารของคณะสงฆ์เองก็ขัดกับอุดมการณ์พื้นฐานของศาสนาพุทธ ) ที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะการใช้ตรรกะทางโลกีย์บางเรื่องก็ขัดกับตรรกะทางโลกุตระอย่างรุนแรง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาศาสนาพุทธเป็นอันต้องอันตรธานจากประเทศที่เคยมีพระพุทธศาสนาไป เพราะการใช้อำนาจรัฐควบคุมศาสนาในทุกๆด้าน หากรัฐและประชาชนเห็นว่าศาสนา (พุทธ) ยังมีบทบาทสำคัญที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายของอุดมการณ์รัฐอยู่ ก็สมควรทบทวนและแก้ไขบทบาทของรัฐไทยที่มีต่อศาสนาได้กระมัง ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด (ขอย้ำอีกหนว่า) รัฐต้องทบทวนบทบาทของตนเองที่มีต่อศาสนาว่า ได้ก้าวล่วงศาสนาจากฐานคิดที่หลงผิดคิดว่าตนเอง(รัฐ)มีอำนาจและใช้อำนาจโดยขาดสำนึกและความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ของศาสนาและอุดมการณ์ของรัฐเอง เพราะถ้าสถาบันหลักของสังคมยังไม่เข้าใจขอบเขตและบทบาทอำนาจของตนเองแล้ว จะนำพาสังคมไทย (โดยชื่อ)ไปสู่อุดมการณ์สูงสุดของทั้งศาสนาและรัฐได้อย่างไร ? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดผลวิจัย คนไม่เชื่อเฮทสปีชในเน็ต สร้างความรุนแรงทางกายภาพ Posted: 31 Aug 2013 06:05 AM PDT เปิดงานศึกษาการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานการเมือง-ศาสนา-เชื้อชาติ พบผู้ตกเป็นเป้าความเกลียดชัง ไม่เชื่อเฮทสปีชมีพลังพอจนเกิดความรุนแรงทางกายภาพ นักวิชาการสื่อเชื่อสื่อออนไลน์แค่พื้นที่ระบายความรู้สึก ไม่ต่างผนังห้องน้ำ นักกิจกรรมเตือนการอ้างรวันดา อาจตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ถึงอิทธิพลสื่อ ส่งผลสื่อถูกคุมหนัก (30 ส.ค.56) ในงานรายงานผลการศึกษาในโครงการ "ค่านิยมดิจิทัลของเยาวชนกับความเกลียดชังในยูทูบ: ประสบการณ์จากสังคมไทย" ที่ห้อง 1001 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัทนา นันตา นิสิตปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอรายงานเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง โดยชี้ว่าที่ผ่านการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hatespeech ที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่มีการปลุกระดมว่าอีกฝ่ายไม่ใช่คน เป็นแมลงสาบ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา ในไทย ที่พระรูปหนึ่งบอกว่าฆ่าคนได้ไม่บาป หรือกรณีคลิปภาพยนตร์ Innocence of Muslims ที่นำไปสู่การประท้วงและเสียชีวิตของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในลิเบีย โดยงานนี้จะวิเคราะห์เนื้อหาการสื่อสารความเกลียดชังที่นำเสนอในพื้นที่เว็บไซต์ยูทูบ จำนวน 75 คลิปวิดีโอ โดยเป็นคลิปที่ถูกอัปโหลดระหว่างวันที่ 1 ม.ค.53-31 ธ.ค.55 และสัมภาษณ์ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมายการสื่อสารความเกลียดชัง 15 คนและผู้เชี่ยวชาญ 10 คน ผลการวิเคราะห์เนื้อหาเบื้องต้นพบว่า ในปี 54 มีคลิปที่เข้าข่ายหรือมีแนวโน้มจะเป็นการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของการเมืองมากที่สุด เพราะในช่วงการเมืองรุนแรง มีการทำคลิปตอบโต้กันไปมา ส่วนคลิปที่อยู่บนฐานความเกลียดชังศาสนา-ลัทธิความเชื่อ มีมากในปี 55 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไฟใต้ที่รุนแรงมากขึ้น และมีคลิปที่สร้างความเกลียดชังบนฐานด้านเชื้อชาติมากในปี 54 จากกรณีนักศึกษา มธ. ทำคลิปส่งในวิชาเรียน แล้วมีเนื้อหากระทบคนลาว โดยมีการให้สัมภาษณ์ดูหมิ่น ทำให้เกิดคลิปตอบโต้กัน จนอธิการบดี มธ. ต้องขอโทษสถานทูต โดยวิธีการสื่อสารความเกลียดชังในคลิปวิดีโอที่พบมากที่สุด คือ การนำเสนอเรื่องราวว่ากล่มเป้าหมายคุกคามอย่างไร ดูถูกเหยียดหยามหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ประณามหรือประจาน และทำให้กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตลก ตามลำดับ มัทนา ระบุว่า เมื่อสัมภาษณ์ผู้เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมาย ถึงวิธีการรับมือ ตอบโต้หรือจัดการกับการสื่อสารความเกลียดชัง ในเชิงเทคโนโลยี ได้คำตอบว่า จะใช้วิธีแชร์คลิปที่ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่าเป็นการสื่อสารความเกลียดชังเข้ากลุ่มของตัวเองในเฟซบุ๊ก เข้าไปแสดงความเห็นตอบโต้ กดรายงาน (รีพอร์ต) ความไม่เหมาะสมของวิดีโอ ไปจนถึงร้องขอให้รัฐบล็อคเนื้อหาดังกล่าว ขณะที่ในเชิงสังคม จะให้ข้อมูลและรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มของตนเอง ปล่อยให้กลไกทางสังคมทำงาน ไปจนถึงใช้กฎหมายทางกลไก เช่น ฟ้องหมิ่นประมาท ไม่เชื่อความเกลียดชังในเน็ต ส่งผลรุนแรงทางกายภาพ มัทนา ระบุว่า ผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การสื่อสารความเกลียดชังในสื่อออนไลน์ เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่พิเศษ โดยมีความเป็นนิรนาม ไม่เห็นตัวผู้พูด จึงไม่ต้องเกรงใจ และการแพร่กระจายทำได้กว้างขวางและรวดเร็ว ขณะที่บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานเรื่องศาสนา/ลัทธิความเชื่อ ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในอดีตที่ผลิตโดยนักวิชาการตะวันตก ซึ่งสร้างภาพว่ามุสลิมเป็นศัตรูของโลกตะวันตก กระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลามในโลกตะวันตก สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และความเป็นไทยกระแสหลัก บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของเขื้อชาติ ได้แก่ การผลิตซ้ำของสื่อ โดยแช่แข็งภาพคนเชื้อชาติลาว รวมถึงไทยอีสานให้เป็นตัวตลก และการให้ความหมายกับภาษา วัฒธรรม วิถีชีวิตของชาวลาวและไทยอีสานแบบด้อยคุณค่า อย่างไรก็ตาม มัทนาชี้ด้วยว่าข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบด้วย การที่บางคลิปถูกปิดกั้นจากกระทรวงไอซีที บ้างถูกปิดช่องการแสดงความเห็น และข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ผ่านเหตุการณ์การเมืองมานานแล้ว ทำให้ความรู้สึกของที่กลุ่มเป้าหมายที่สัมภาษณ์แตกต่างจากตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ
เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ Hatespeech จะเป็นเรื่องในใจปกติ แต่ที่่ผ่านมาไม่มีช่องทางนำเสนอ ในสื่อหลักไม่มีพื้นที่ เข้าถึงยาก พอมาทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ อยู่ในช่องทางการสื่อสาร ด้านหนึ่ง การแสดงออกเช่นนี้จึงเป็นการเปิดช่องระบายด้านมืดของคนยุคออนไลน์หรือเปล่า ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดแต่ตั้งคำถามว่ามันมีผลอะไรตามมา เสนอให้มีการสัมภาษณ์กับคนที่ทำด้วยว่า เขามีความคิดอย่างไร เขาอาจจะแค่อยากด่า ไม่ได้จะทำอะไรจริงๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตาม มานะ แสดงความเห็นว่า การใช้ Hatespeech ผ่านออนไลน์นั้นยังพอรับได้กว่าการใช้ผ่านสื่อหลัก เพราะสื่อหลักเปิดโอกาสให้ตอบโต้น้อยกว่า ขณะที่สื่อออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้โต้ทางอื่นได้ ไม่ว่าท้ายเรื่อง หรือทำคลิปมาสู้
โดยอาทิตย์ระบุว่า มีการศึกษาที่ชี้ว่า สื่อวิทยุมีอิทธิพลน้อยมากในกรณีรวันดา โดยมีผลเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำการไม่กี่คน ไม่ใช่ผลในทางยั่วยุ แต่เป็นการทำให้ความคิดของคนเหล่านี้ตกผลึกมากขึ้น ว่าทำไมจึงมีความชอบธรรมในการทำสิ่งต่างๆ ทำให้มีข้ออ้าง แปลว่าต่อให้ไม่มีวิทยุ ก็ยังทำอยู่ (ดูเพิ่มเติมที่ http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/3791)
ในงานเดียวกัน เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 1 และผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 2 ปาฐกถานำในหัวข้อ เด็กและเยาวชนกับวัฒนธรรมการใช้สื่อออนไลน์ โดยกล่าวว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ชนิดที่แทบจะแยกไม่ออก เราจะกลายเป็นตัวประหลาดถ้าไม่อัพสเตตัสเฟซบุ๊ก เมื่อก่อนบนโต๊ะอาหาร อาจจะคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเพื่อนสบายดี ก็กลายเป็นถามถึงเรื่องราวที่อัพแทน เช่น รูปนี้ไปไหนมา นอกจากนี้ เรายังนัดประชุมกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อสารกันได้หลายคนพร้อมกัน โซเชียลเน็ตเวิร์ก-สายตาที่ไม่ตัดสิน ชวนตั้งคำถามกับสื่อที่เสพ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมัชชาวิชาการเกษตรกรรมแถลงปิดงาน ยืนหยัดปกป้องสิทธิ 'เกษตรกร-ชุมชน-ผู้บริโภค' Posted: 31 Aug 2013 02:04 AM PDT 31 ส.ค. 56 - ในงานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืนวันสุดท้ายได้มีการออกแถลงการณ์ "คำประกาศสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 5 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ พวกเราจากหลายภาคส่วนของสังคม ทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน นิสิต นักศึกษา นักพัฒนาเอกชน ได้มารวมตัวกันในเวทีสมัชชาวิชาการ เกษตรกรรมยั่งยืน ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม พวกเราได้ตระหนักร่วมกันถึงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย สู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อแบบแผนการผลิต สภาพแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ณ เวทีแห่งนี้พวกเราได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ระดมความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ บทเรียนตามวิถีทางที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต การจัดการตลาด และการสร้างนวัตกรรมสังคมใหม่ๆ ทั้งเมืองและชนบท เพื่อหลอมรวมให้เป็นพลังสร้างสรรค์สู่สังคมที่ยั่งยืนและมีอนาคตร่วมกัน เราขอประกาศว่า 1. เราจะประสานความร่วมมือในการค้นคว้าทดลอง แสวงหาความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ยั่งยืนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยพร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้นำไปสู่การปฏิบัติและรับใช้วิถีชีวิตของประชาชนในสังคมอย่างจริงจัง 2. เราจะผนึกกำลังกันสร้างสรรค์รูปธรรมความสำเร็จทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด ด้วยวิถีทางที่ยั่งยืน เพื่อสร้างพลัง ผลักดันการเรียนรู้และการเข้าร่วมของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง 3. เราจะประสานความร่วมมือเพื่อนำความรู้ประสบการณ์จากเวทีวิชาการครั้งนี้ และความรู้ที่คิดคำนึงถึงความยั่งยืน ความเป็นธรรม ความเสมอภาค จากทุกภาคส่วนของสังคม ในการนำมาเกื้อหนุนการสร้างสังคมที่พึงประสงค์ร่วมกัน 4. เราจะร่วมกันปกป้องสิทธิเกษตรกร ชุมชน และสิทธิผู้บริโภค เพื่อสร้างความสมดุลของสังคมให้เป็นธรรม และผลักดันนโยบายที่ตอบสนองต่อการสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนทั้งเมืองและชนบทร่วมกัน ประกาศ ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม 31 สิงหาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชาวบ้านแม่ตาววอนนายกสั่ง 6 หน่วยงาน หยุดอุทธรณ์คดีแคดเมียม Posted: 31 Aug 2013 01:03 AM PDT ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว ชายแดนแม่สอด เหยื่อแคดเมียม วอนนายกสั่งห้าม 6 หน่วยงานอุทธรณ์คดีแคดเมียม ชี้ได้รับความเดือดร้อนทางด้านจิตใจ สุขภาพ และทรัพย์สิน 31 ส.ค. 56 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าหลังชาวบ้าน ต.แม่กุ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณีปัญหาแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด ซึ่งศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ได้มีคำพิพากษาเมื่อ 14 ส.ค.56 ให้ประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น ล่าสุดชาวบ้านตำบลแม่กุ ตำบลพระธาตุผาแดง และตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 893 คน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียม ได้ให้ตัวแทนทำหนังสือยื่นหนังสือต่อนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด ทั้งนี้ เพื่อให้ทางอำเภอส่งไปหนังสือยังนายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และส่งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ 6 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , คณะกรรมการควบคุมมลพิษ , คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่อุทธรณ์คดี นายไพรัตน์ ยาเถิน ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสารแคดเมียม ตำบลแม่กุ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการอุทธรณ์คดี เพราะอยากให้เห็นแก่ความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทางด้านจิตใจ สุขภาพ และทรัพย์สิน จึงต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะได้สั่งการในเรื่องนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงานธนาคารโลกเผยสัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปของไทยสูงขึ้น Posted: 30 Aug 2013 11:06 PM PDT 31 ส.ค. 56 - เว็บไซต์ธนาคารโลกเปิดเผยว่าจากรายงาน Reducing elderly poverty in Thailand : the role of Thailand's pension and social assistance programs ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรวัยทำงานกำลังลดลง สัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปสูงขึ้น ทั้งนี้พบประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจคือ - จำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดและจะลดลงในปี 2573 - สัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 50 ปีข้างหน้า คือจากร้อยละ 15 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2603 - สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี)จะลดลงจากประมาณร้อยละ 54 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2593 - สัดส่วนคนจนในกลุ่มผู้สูงอายุสูงกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนคนจนของประชากรทั้งหมด โดยในปี 2553 ร้อยละ 10.9 ของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นคนยากจน ขณะที่สัดส่วนคนจนของประชากรทั้งหมดมีเพียงร้อยละ 7.7 เท่านั้น รัฐบาลมีโครงการบำนาญหลายโครงการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้อีกมากเพื่อเพิ่มประสิทธิผล - ปัจจุบันนี้มีโครงการบำนาญอยู่ 8 โครงการ ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ กัน - สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน มีเพียงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุเท่านั้นที่ปรากฏว่า ส่งผลกระทบในการป้องกันความยากจนในหมู่สูงอายุได้อย่างดี - หลายโครงการวางกรอบทางกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ - ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทุนบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม - การที่ไม่มีนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ชัดเจน จึงเกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลโครงการบำนาญต่างๆ ซึ่งมีความช่วยเหลือทางสังคมและโครงการชุมชนอื่นๆ ได้สนับสนุนอยู่แล้ว มีทางเลือกด้านนโยบายอยู่หลายทางที่จะรวมและปรับเปลี่ยนระบบบำนาญที่มีอยู่ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ - รัฐบาลอาจต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้ 1.ปรับเปลี่ยนและลดจำนวนโครงการบำนาญลง 2.ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ 3.กำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญโดยรวม - เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุภายใต้ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุคุ้มครองราษฎรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากโครงการบำนาญที่อยู่ในระบบอื่นๆ -รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากด้วยการปรับโครงสร้างของโครงการนี้ เพื่อให้เลือกคุ้มครองเฉพาะคนยากจนหรือคนที่มีความจำเป็นที่สุด เพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปจากคนกลุ่มนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น