โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สนธิ ลิ้มทองกุล

Posted: 02 Aug 2013 12:53 PM PDT

"เลิกคิดได้แล้วว่าสนธิจะออก สนธิแป๊ะลิ้มไม่ออก แป๊ะลิ้มโดนคดีล็อกคอเอาไว้ แป๊ะลิ้มไม่ออกหรอก แป๊ะลิ้มเหนื่อยแล้ว และแป๊ะลิ้มเป็นลูกเจ๊กธรรมดาไม่ได้เป็นสะใภ้หรือลูกเขยตระกูลใหญ่โตมโหฬารที่ไหน"
2 ส.ค.56, แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ทางเอเอสทีวี

ศาล รธน.ไฟเขียวชุมนุม 4 ส.ค. ชี้ยังไม่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง

Posted: 02 Aug 2013 08:32 AM PDT

2 ส.ค. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่นายมาลัยรักษ์ ทองชัย นายชาญ ไชยะ แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนชนเพื่อประชาธิปไตย ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การที่พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ประธานองค์กรพิทักษ์สยามที่ตั้งขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อ คณะร่วมเสนาธิการ และนายไทกร พลสุวรรณ นัดชุมนุมเพื่อขับไล่และโค่นล้มรัฐบาล ในวันที่ 4 ส.ค. นี้ สถานที่และเวลายังไม่ชัดแจ้ง โดยจะปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมทั้งจะปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
 
โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ตามคำร้องยังไม่มีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย 2550 ข้อ 17 (2) จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ส่วนคำขออื่นไม่จำต้องพิจารณา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผ่าแผนเงินกู้น้ำ 3.5 แสนล้าน และไปให้ไกลกว่าคาพิพากษาศาลปกครอง

Posted: 02 Aug 2013 08:08 AM PDT

 
บทความขนาดยาวดัดแปลงจาก เอกสารประกอบเวทีสัมมนาปัญหาน้ำท่วม ๒๕๕๔ "จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงนครปฐม: ประชาชนอยู่ไหน?" วันอังคารที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๔๕ น. ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย  สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)  ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ  ได้ดำเนินการร่วมกันภายใต้โครงการสรุปประสบการณ์และบทเรียนเพื่อจัดทำแผนรับมืออุทกภัย กรณีปัญหาการจัดการน้ำและอุทกภัย ๒๕๕๔ (ตุลาคม ๒๕๕๕ – กรกฎาคม ๒๕๕๖) 
 
บทนำ
 
ปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็คือ หนึ่ง-ปริมาณน้ำมหาศาลจากสภาพอากาศที่คาบเกิดซ้ำในรอบไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี  สอง-ไม่สามารถบูรณาการข้อมูลเพื่อพยากรณ์หรือคาดการณ์น้ำท่วมให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกันหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ มีข้อมูลหลายชุดและหลายทิศทางจนทำให้ผู้ตัดสินใจระดับปฏิบัติการตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง/นโยบาย มีการตัดสินใจสับสนไปหมด ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  สาม-ท้องถิ่น ภูมิภาคก็สับสนว่าจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเองก่อน (ช่วยเหลือตัวเองก่อน) หรือตัดสินใจภายใต้การเชื่อมโยงพื้นที่ตัวเองกับพื้นที่อื่น ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรือไม่ อย่างไร จนเกิดความสับสนต่อระดับปฏิบัติการว่าจะต้องรอฟังผู้บังคับบัญชา หน่วยงานเบื้องบน-หน่วยงานระดับกรม กอง กระทรวง- หรือหน่วยงานที่เป็นฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไรดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐  แต่หน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้เลย ทำให้เกิดสภาวะต่างคนต่างทำ (ต่างหน่วยงาน/องค์กร) ไม่สามารถบูรณาการชี้ทิศทางคำสั่งที่เป็นไปในทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบได้  
 
สี่-ความลังเลใจและสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของ ๒ เขื่อนใหญ่ เป็นอย่างน้อย คือ เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ยังไม่นับรวมเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก และประตูระบายน้ำสำคัญอีกหลายแห่ง ที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและการปล่อยน้ำในฤดูฝน เหล่านี้สะท้อนความผิดพลาดในการพยากรณ์ปริมาณน้ำสะสมของเขื่อน กว่าจะพยากรณ์ คาดการณ์ และคิดคำนวณ รวมทั้งใคร่ครวญได้ว่าปริมาณน้ำปี ๒๕๕๔ มันเป็นปริมาณน้ำมหาศาลที่คาบเกิดซ้ำในรอบไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเฉลี่ยที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ก็อืดอาด เชื่องช้าสะท้อนภาพของระบบราชการของไทยได้เป็นอย่างดี  เหล่านี้เป็นสาเหตุการกักเก็บน้ำจนเกือบล้นความจุในสองเขื่อนใหญ่ดังกล่าว ที่ไม่พยายามทยอยปล่อยระบายออกมาตั้งแต่ช่วงต้นของฤดูฝน  
 
ห้า-ความลังเลสับสนที่สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อน ดังกล่าว ร่วมกับเขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยาและป่าสัก และประตูระบายน้ำในระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อการตัดสินใจกั้นน้ำไว้เพื่อไม่ให้ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วยเมืองและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้มวลน้ำมหาศาลถูกโยกไปมาในทุ่งตั้งแต่ใต้เขื่อนชัยนาทลงมา ถ่วงรั้งและฝืนไม่ให้มวลน้ำไหลลงต่ำตามธรรมชาติของมัน จนก่อเกิดเป็นมวลน้ำมหาศาลที่มีปริมาณมากและหนัก โดยเริ่มแรกกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านปริมณฑลรอบนอกเข้ามาในกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมและเมืองรอบนอก เมื่อต้านทานไม่ไหวก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ และเมื่อต้านทานไม่ไหวอีกคำรบหนึ่งก็ยังมีความพยายามกักกั้นไว้ไม่ยอมให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ ชั้นในอีก  
 
หก-การเมืองกันน้ำเข้า-ดันน้ำออก หรือกระทำการอื่นใดเพื่อไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่เลือกตั้งและพื้นที่ปกครองตัวเอง พบเห็นเป็นจุด ๆ เต็มไปหมด ตั้งแต่หน่วยหรือพื้นที่การเมืองและปกครองระดับเล็กที่สุดในชุมชน ท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด ด้วยวิธีคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นหน่วยหรือพื้นที่การเมืองก็มีความคิดเพียงแค่ห่วงคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสมัยหน้าของตนและพวก ในส่วนของหน่วยหรือพื้นที่ปกครองก็คิดเพียงแค่ความนิยมหรือการสร้างอำนาจบารมีให้เกิดขึ้นกับตน เครือญาติและพวกพ้อง ที่สามารถกันน้ำเข้า-ดันน้ำออกได้ โดยต้องการให้เขตตัวเองไม่มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น ส่วนเขตเลือกตั้งอื่นและเขตปกครองอื่นจะเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ไม่สนใจ  ในประเด็นปัญหานี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเผชิญเหตุและบัญชาการเหตุการณ์ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกันน้ำเข้า-ดันน้ำออก ของพื้นที่การเมืองและปกครองตั้งแต่พื้นที่ระดับเล็กสุดขึ้นไปได้เลย หรือกล่าวในทางกลับกันก็คือกฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการกันน้ำเข้า-ดันน้ำออกในแต่ละพื้นที่ด้วยซ้ำไป เพราะหน่วยงานเตรียมการเผชิญเหตุและบัญชาการเหตุการณ์ถูกบังคับให้มีอำนาจและหน้าที่แยกย่อยเป็นส่วน ๆ ไม่สามารถมองภาพเชื่อมโยงในระดับลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบได้ จึงทำให้ต้องคิดเอาตัวรอดตัวใครตัวมันในพื้นที่การเมืองและปกครองของตนเองก่อน
 
จุดสูงสุดที่สะท้อนความล้มเหลวในการตัดสินใจระดับนโยบายเกิดขึ้นจากการประกาศใช้มาตรา ๓๑ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐  เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔  เพราะต้องการรวบอำนาจให้ทุกระดับของหน่วยงานราชการขึ้นตรงต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพราะตั้งแต่เกิดมวลน้ำก้อนใหญ่ใต้เขื่อนภูมิพลและจากทางลุ่มน้ำยมและน่านที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ก็เกิดปัญหาการบริหารจัดการน้ำแบบไร้ทิศทางตามย่อหน้าข้างต้นมาโดยตลอด จนมวลน้ำจากทุ่งหลายแห่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มรวมตัวกันเป็นปริมาณมหาศาลไหลเข้ากรุงเทพฯ รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว เพราะน้ำเริ่มไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ รอบนอก ซึ่งเป็นเขตที่รอรับน้ำต่อจากจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีแล้ว สะท้อนให้เห็นสถานการณ์จวนตัว บีบคั้นและกดดันที่พุ่งเข้าใส่ฝ่ายการเมืองและราชการที่ก่อนหน้านี้มีแนวทางเดียวกันมาโดยตลอด คือ ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่กลับปล่อยให้มวลน้ำในทุ่งหลายแห่งของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมตัวกันเป็นปริมาณมหาศาลเพื่อจะไหลผ่านกรุงเทพฯ ในระยะเวลาอันใกล้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว 
 
การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่ครองตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี และฝ่ายค้านที่ครองตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารมหานครกรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าราชการ ที่ใช้กรุงเทพฯ เป็นตัวประกันเพื่อชี้ชะตากระแสนิยมและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยิ่งรุนแรงขึ้นตามมวลน้ำที่มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีแนวทางเดียวกันมาโดยตลอด คือ ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ 
รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว เพื่อบังคับให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ ที่ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจากพรรคฝ่ายค้าน ตอบสนองให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ ลงสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
แม้การประกาศใช้มาตรา ๓๑ ดังกล่าว เพื่อต้องการให้เกิดการทำงานรวดเร็วและสร้างเอกภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ล่าช้าเกินไป ไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ตามที่คาดหวัง เพราะเกิดความลังเลในการตัดสินใจทั้งจากฝ่ายรัฐบาลที่บริหารราชการประเทศและฝ่ายค้านที่บริหารราชการกรุงเทพฯ ตลอดเวลาว่าจะยินยอมให้น้ำท่วมเข้ามาในกรุงเทพฯ ชั้นในและรอบ ๆ ชั้นในหรือไม่ หรือแค่ไหนเพียงใด ที่จะไม่เป็นการเสียคะแนนนิยมทั้งสองฝ่ายการเมือง (หลังจากที่กั้นกรุงเทพฯ ชั้นนอกเอาไว้ไม่อยู่ จนเกิดน้ำท่วมเข้ามาแล้ว) 
 
ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้เอง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๕๕๔  รัฐบาลจึงได้ริเริ่มแนวคิดเพื่อจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) อย่างจริงจังขึ้นมา เพื่อวางแผนป้องกันและเตรียมการรับมือในภายภาคหน้าโดยไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่เหมือนดังเช่นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ อีกต่อไป  และอาศัยโอกาสจากน้ำท่วมใหญ่ดังกล่าวเพื่อรวบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรน้ำที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานระดับเดียวกันและหลายระดับใน กระทรวง กรม กอง สำนัก ฯลฯ เข้าไปขึ้นกับหน่วยงานเดียว ซึ่งได้มีความพยายามมาหลายครั้งหลายหนแล้วในช่วงเวลาประมาณสิบห้าปีก่อนหน้านี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
 
 
 
 
 
AttachmentSize
ดาวน์โหลดฉบับเต็ม: ผ่าแผนเงินกู้น้า 3.5 แสนล้าน และไปให้ไกลกว่าคาพิพากษาศาลปกครอง888.29 KB
ไฟล์ประกอบ: ผังองค์กรจัดการน้ำเบ็ดเสร็จ199.71 KB
ไฟล์ประกอบ: ผัง-ยุทธศาสตร์ฟื้นฟู+สร้างอนาคตประเทศ175.11 KB
ไฟล์ประกอบ:เปรียบเทียบ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน - ร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้าน183.37 KB
ไฟล์ประกอบ: ขั้นตอนอีไอเอ-สผ.237.11 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

นายกแถลงออกทีวีนัดหารือทุกกลุ่มสัปดาห์หน้า 'ปฎิรูปการเมือง'

Posted: 02 Aug 2013 07:23 AM PDT

นายกแถลงออกทีวี ย้ำแนวคิดสภาปฏิรูปจ่อเชิญทุกฝ่ายหาทางออกประเทศ ชี้จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ อ้างมีบุคคลบางกลุ่มมีท่าทีไม่ยอมรับประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และใช้ความรุนแรง

 
2 ส.ค. 56 - เมื่อเวลาประมาณ 20.15 น.  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงออกอากาศทางโทรทัศน์ ใจความสำคัญดังที่มีการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนี้
 
วันนี้ ดิฉันขอรบกวนเวลาของพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้มีโอกาสอธิบายถึงความคิดและแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ อันเป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้แถลงไว้กับพี่น้องประชาชน ตั้งแต่ที่ดิฉันได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
 
ดิฉันตระหนักเสมอว่า ที่พี่น้องประชาชนได้ให้ความไว้วางใจกับดิฉันและพรรคเพื่อไทยนั้นคือการที่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ต้องการเห็นความสงบ สันติ และความปรองดองเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้
 
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า อดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สร้างสรรค์และความไว้วางใจ รวมทั้ง การเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และรัฐบาลพร้อมที่จะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และพยายามผลักดันให้มีการใช้เวทีรัฐสภามากกว่า ท้องถนนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
 
แต่ในขณะเดียวกันดิฉันก็เข้าใจเช่นกัน ว่าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เราจะคาดหวังให้เกิดความปรองดองที่แท้จริงนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งทุกคนก็เห็นแล้วว่าในบางช่วงเวลา มีความขัดแย้งปะทุขึ้นจนเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อสาธารณชน สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมเลย
 
ที่น่าเสียใจที่สุดคือ การที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่การแสดงออกกลับมีท่าทีที่ไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และใช้ความรุนแรง
 
ภายใต้สภาวะดังกล่าว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งต้องป้องกันเหตุร้ายและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ราชการ และเอกชนทั่วไป ตลอดจนผู้ชุมนุม ที่สำคัญคือเป็นการดูแลให้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่ในกรอบกติกาประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
 
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ
 
ดิฉันขอยืนยันว่า ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้ จะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ดิฉันเชื่อเสมอว่า ในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และต้องให้เกียรติและรับฟังเสียงส่วนน้อยควบคู่กันไป เพราะประชาธิปไตยเป็นของทุกคน ไม่ใช้เป็นของเฉพาะผู้ประสบชัยชนะทางการเมืองจากการเลือกตั้ง โดยการคงกติกาการรักษาความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแก่ทุกคน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนยังดำเนินการที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างเช่นจากโครงการประชาเสวนาในการหาทางออกของประเทศ ทั้งในประเด็นแนวทางการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค และการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลทั่วโลกยอมรับ
 
ภายใต้ความพยายามทั้งหมดนี้ ดิฉันเข้าใจดีว่าหลายกลุ่มหลายฝ่ายยังมีปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะมีความเชื่อที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในขณะนี้ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติที่ต่างต้องการเห็นลูกหลานของเราทุกคนมีความสุข อยู่ในสังคมที่มีความสงบและมีความมั่นคงทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้บรรลุความสำเร็จ
 
หลายคนบอกกับดิฉันว่า สิ่งที่ดิฉันคิดนั้นคงไม่มีวันเป็นไปได้ แต่ดิฉันกลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยมองว่าทุกครั้งที่มีปัญหา เราต้องมองให้เป็นโอกาส เพราะเมื่อครั้งที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554ดิฉันได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหา จนในที่สุดเราสามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรค และหยุดยั้งภัยพิบัตินั้นไว้ได้
 
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ
 
ดิฉันอยากให้คนไทยกลับไปคิดถึงความรู้สึกดีๆในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นคนละสถานการณ์ แต่คนไทยทุกคนได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเสื้อสีใด ชนชั้นใด หากเรารวมตัวกัน สมัครสามานสามัคคีกัน เราจะสามารถแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคไปได้
 
สำหรับภายใต้ภาวะปัจจุบันที่มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะนี้ และหลายคนกังวลว่าความขัดแย้งจะบานปลาย เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น ดิฉันจึงขอเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยการวางทิศทางข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ทิ้งความขัดแย้งไว้ในใจเพื่อประเทศของเรา โดยเปิดเวทีการระดมความคิดเห็น ที่จะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะพูดคุย ออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
 
โดยในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ร่วมกันคิดว่าเราจะวางอนาคตบ้านเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน อันจะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการพัฒนาชาติ สร้างความไว้วางใจ และความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง
 
ดิฉันต้องการเห็นบรรยากาศของความร่วมมือ ไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเมื่อหารือกันแล้ว ดิฉัน ใคร่เสนอให้มีการวางกลไกที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของคณะทำงานหรือเรียกชื่ออื่นตามความเหมาะสมเพื่อเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปทางการเมือง โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการวางรากฐานอนาคตในโครงสร้างทางการเมือง กำหนดแนวทางปฏิรูปกฎหมาย และวางพื้นฐานระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน
 
ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจถึงความปรารถนาดีของดิฉันในครั้งนี้ และวันนี้ดิฉันไม่ได้บอกว่าจะให้ทุกท่านลืมอดีต แต่เราต้องนำอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อทำให้ประเทศของเราเดินหน้า ก้าวพ้นความขัดแย้ง เราต้องเปิดโอกาสให้เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์และไว้ใจกัน เพื่อเป็นการมุ้งสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ มีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับอนาคตลูกหลานของเรา และไม่ควรทิ้งมรดกของความขัดแย้งให้เป็น ภาระของรุ่นต่อไป
 
สวัสดีค่ะ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศอ.รส.' แถลงประกาศ 'พ.ร.บ.ความมั่นคง' คาดผู้ชุมนุม 4 ส.ค. อาจถึงหมื่น

Posted: 02 Aug 2013 06:14 AM PDT

ศอ.รส. แจงมาตรการดูแลการชุมนุมภายใต้ กม.ความมั่นคงฯ ออกประกาศ 3 ฉบับ ห้ามบุคคลเข้าออกพื้นที่โดยรอบทำเนียบ-สภา 'ประชา' ระบุประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อคุมเหตุรุนแรง กองทัพประชาชนฯ ยื่น กก.สิทธิฯ สอบมติ ครม.ชุดเล็กประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ด้านราชตฤณมัยประกาศห้ามใช้สนามม้าชุมนุม 

 
2 ส.ค. 56 - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศบังคับใช้ กม.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ในช่วง 1-10 ส.ค.นี้ หลังจากประเมินว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ ว่า ได้ชี้แจงคำสั่งปฏิบัติการ รายละเอียดการทำงาน และการจัดกำลังเพื่อดูแลการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งจะใช้แนวทางการดูแลตั้งแต่มาตรการเบาไปถึงหนักตามหลักสากล
 
"ได้กำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยยึดหลักความเป็นสากล กฎหมายนี้ออกมาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้สามารถชุมนุมได้โดยเรียบร้อย" ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศอ.รส.ระบุ
 
พร้อมประเมินว่าจากข้อมูลการข่าว คาดว่าจะมีผู้มาชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.56 อย่างต่ำ 4 พันคนไปจนถึงระดับหมื่นคน และมีโอกาสยกระดับการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย หรือบุกรุกสถานที่ราชการหรือเขตหวงห้าม ก็จะถูกดำเนินคดี โดยมีระวางโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพื่อดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นว่า หลักสำคัญของการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนนั้น จนท.จะต้องพึงระลึกว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น จนท.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามกฎหมายที่กำหนด และหลักสิทธิมนุษยชน และหลักควบคุมฝูงชนที่เป็นหลักปฏิบัติสากล ซึ่งการใช้กำลังตามหลักการดังกล่าวจะหมายรวมถึงการใช้อุปกรณ์และอาวุธประกอบการใช้กำลังด้วยด้วย
 
ทั้งนี้ การจัดการกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายนั้น จนท.ที่รับผิดชอบจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องยึดถึงหลัก 4 ประการ คือ 1.หลักแห่งความจำเป็น คือให้จนท.ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น โดยต้องพยายามใช้วิธีการอื่นก่อนการใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม 2.หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ต้องเลือกวิธีจากเบาที่สุดและเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุดก่อน โดยต้องยึดหลักแห่งความได้สัดส่วน คือต้องใช้วิธีการและกำลังด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับพยันตรายที่คุกคาม เพื่อป้องกันสิทธิของตนเองและของผู้อื่น
 
3.หลักความถูกต้องตามกฎหมาย คือการพิจารณาใช้กำลังเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามหลักสากลกำหนดไว้ 4.หลักความรับผิดชอบ ให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง โดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ หรือการปฏิบัติ และให้มีการจัดเตรียมบรรเทาผลร้ายหรือเยียวยาหลังใช้กำลังเสร็จสิ้นไว้ด้วย
 
สำหรับหลักการใช้กำลังสากลในการใช้กำลังปฏิบัติการควบคุมฝูงชน จะมีทั้งหมด 10 ขั้นจากเบาไปหาหนัก ประกอบด้วย 1.วางกำลังในเครื่องแบบปกติ 2.การจัดรูปขบวน 3.การวางกำลังพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 4.เคลื่อนไหวกดดัน 5.ใช้คลื่นเสียง 6.แก๊สน้ำตา 7.บังคับร่างกาย 8.ฉีดน้ำ 9.กระสุนยางและอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และ 10.อาวุธปืนเฉพาะบุคคล(จะใช้เพียงกระสุนยางเท่านั้น) ทั้งนี้ก่อนจะเริ่มขั้นตอนที่ 5 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประกาศแจ้งเตือนต่อผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง
 
"การใช้อุปกรณ์อาจไม่ได้เรียงลำดับตามนี้ ขึ้นกับสถานการณ์ เช่น ทันทีที่เกิดการปะทะกันของฝูงชน เช่น กลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้ต่อต้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะต้องใช้โล่ กระบองก่อนใช้แก๊สน้ำตา เพื่อผลักดันมวลชนออก ทั้งหมดขึ้นกับเหตุการณ์ เราอาจใช้น้ำก่อนแก๊สก็ได้ การวินิจฉัยว่าจะใช้อะไรก่อนนั้นขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหตุการณ์" พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ ศอ.รส. ได้ออกประกาศคำสั่งปฏิบัติการ 3 ฉบับ ในการห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา และถนน 12 เส้นทางโดยรอบ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และ ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน พร้อมนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่จะใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม อาทิ ปืนยิงกระสุนยาง / แก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่า อุปกรณ์ที่จะใช้เป็นไปตามหลักสากล
 
บรรยากาศการรักษาความปลอดภัย บริเวณโดยรอบรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงวันที่ 2 ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะที่รัฐสภา ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องรถและบุคคลที่จะผ่านเข้าออก เช่นเดียวกับที่ทำเนียบรัฐบาล ทุกประตูทางเข้าออก มีการวางกำลังตำรวจ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตียม รถคุมผู้ต้องขัง สายตรวจ รถยกเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน แต่บรรยากาศยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยตลอดพื้นที่ ยังไม่ปรากฏมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม
 
อย่างไรก็ตาม ตลอดถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่ ได้ตั้งด่านความมั่นคง เพื่อป้องกันรถและบุคคลต้องสงสัย นำพาอาวุธ หรือสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาภายในพื้นที่ ส่วน ประชาชน ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ
 
 
"พล.ต.อ.ประชา" ระบุประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อคุมเหตุรุนแรง
 
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวลขึ้นได้ว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามหลักสากล ส่วนมาตรการในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.) จะเป็นผู้พิจารณา โดยมีลำดับการปฏิบัติเป็นขั้นตอนตามหลักสากล เริ่มตั้งแต่มาตรการเบาที่สุด เช่น ปิดกั้นการจราจร กำหนดเขตห้ามเข้า มีการใช้โล่และกระบอง ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาเป็นขั้นตอนที่แรงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำแนวทางการปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติว่าต้องไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ รัฐบาลมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ สำหรับควบคุมสถานการณ์ ส่วนจะใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเฝ้าระวังอย่างไรหากผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ  พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ฝ่ายข่าวของ กอ.รมน. สมช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเหล่าทัพต่างๆ มีข่าวตรงกันว่าจะมีการรวมพลังกันเพื่อต่อต้านไม่ให้มีการประชุมสภาฯ ล้มรัฐบาล ซึ่งเป้าหมายของผู้ชุมนุมชัดเจน จึงต้องป้องกันพื้นที่ 2 จุดคือ ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาไว้ให้ได้
 
"หากเราทำไม่ได้ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณากฎหมายไม่ได้ จึงไม่สามารถให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวบริเวณที่ประกาศพื้นที่ควบคุม 3 เขตคือ ดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่ายได้ ทั้งนี้ ที่เรากำหนดเขตพื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อยให้ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ฉบับนี้ไม่เหมือนกับกฎหมายฉบับอื่น เพราะจุดประสงค์คือการป้องกันภัยหรือภัยที่อาจจะเกิดขึ้นและกระทบกับความมั่นคง ดังนั้น เราใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและคลี่คลายเหตุ และการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะในอดีตก็มีการประกาศเพื่อป้องกันเหตุ ซึ่งมีพื้นที่ควบคุมมากกว่านี้มาแล้ว ส่วนผู้ชุมนุมจะกลัวหรือไม่เป็นเรื่องของความรู้สึก ซึ่งเราไม่ได้ต้องการให้เกิดความกลัว แต่ต้องการให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่า" พล.ต.อ.ประชา กล่าว
 
ส่วนที่มีข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นฟ้องศาลยุติธรรมว่ารัฐบาลพิจารณาการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ โดยไม่ชอบ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อถามว่ารัฐบาลจะพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อขอร่วมมือเฝ้าระวังกลุ่มมือที่สามเข้ามาปั่นป่วนหรือไม่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า การประสานงานภายในส่วนลึกของเรามีอยู่แล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางการข่าวได้รายงานให้ทราบถึงการเตรียมขนประชาชนจากพื้นที่ภาคใต้ทยอยมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การข่าวประเมินต่อเนื่อง เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายกระแส เรามีหน้าที่ประมวลและรวบรวมไว้ ซึ่งเราติดตามสถานการณ์โดยตลอด แม้การชุมนุมจะทำได้ตามกฎหมายแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย โดยชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ และต้องไม่กระทบกับความมั่นคงภายในของประเทศ
 
 
กอ.รมน.แจงเหตุผลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่าพ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 3 เขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค. เพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่า กอ.รมน.จะเน้นประเมินสถานการณ์รายวัน เบื้องต้นยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ ซึ่งการชุมนุมของทุกกลุ่มมีรัฐธรรมนูญรองรับ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องจำกัดเส้นทาง เพื่อป้องกันกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน พร้อมกับอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรให้ประชาชนทั่วไป ซึ่งหากสถานการณ์ไม่มีความรุนแรง สามารถประกาศยกเลิกการ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ก่อนวันที่ 10 ส.ค.
 
ส่วนกรณี นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีแผนจับตัวนายกรัฐมนตรีและประธานสภา เพื่อไม่ให้พิจารณาร่าง พ.รบ.นิรโทษกรรม ได้สำเร็จ พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ แต่เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว
 
 
ราชตฤณมัยฯประกาศ ห้ามใช้สนามม้าชุมนุมการเมือง
 
ด้าน พล.อ.จำลอง บุญกระพือ ผู้ช่วยเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคม ได้ออกหนังสือด่วน ถึงเลขาธิการกิตติมศักดิ์ ราชตฤณมัยสมาคม  ระบุว่า เนื่องจากจะมีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 4 ถึง 7 สิงหาคม ศกนี้ และเป็นเหตุให้รัฐบาล โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ออกประกาศพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2556 บังคับใช้ในเขตดุสิต เขตพระนครและเขตป้อมปราบฯ ซึ่งราชตฤณมัยสมาคมอยู่ในพื้นที่บังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเห็นควรว่า ให้ห้ามการใช้ประโยชน์ใด ๆ ของราชตฤณมัยสมาคม อาทิ บริเวณอาคารต่าง ๆ ของกลุ่มบุคคลใดที่จะพบปะรวมตัว ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อการรักษาความปลอดภัย
 
 
กองทัพประชาชนฯ ยื่น กก.สิทธิฯ สอบมติ ครม.ชุดเล็กประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ นำโดยนายพิเชษฐ พัฒนโชติ เข้ายื่นหนังสือต่อนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบกรณีรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ เนื่องจากเห็นว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเจตนาข่มขู่ มุ่งสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเดินทางมาร่วมชุมนุมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้
 
นายพิเชษฐกล่าวว่า การชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ซึ่งการจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กฎหมายได้กำหนดถึงความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวว่าต้องเห็นว่าการชุมนุมนั้นจะมีเหตุชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการชุมชุมเกิดขึ้น เป็นเพียงการนัดหมาย และการชุมนุมยังไม่ได้สร้างความเสียหายกับใครเลย จึงไม่น่าจะเข้าข่ายให้ออกประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว
 
"ตามปกติทุกวันพุธ รัฐบาลไม่ประชุมคณะรัฐมนตรี การอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ซึ่งตามกฎหมายแล้วคณะรัฐมนตรีมีเพียงชุดเดียวที่ประกอบด้วยรัฐมนตรี 35 คน ไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดเล็กตามที่อ้าง จึงเป็นไปได้ว่าการออกประกาศดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมุษยชนแห่งชาติตรวจสอบว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ข่มขู่ประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมชุมนุมให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม และเพื่อสกัดกั้นประชาชนที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือไม่" นายพิเชษฐ กล่าว
 
ด้านนางอมรากล่าวว่าถ้าตรวจสอบแล้วเข้าประเด็นละเมิดสิทธิจะส่งให้อนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบ ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ การชุมนุมที่จะมีขึ้นก็ขึ้นอยู่กับกรรมการสิทธิฯ แต่ละคนว่าจะลงพื้นที่สังเกตการณ์หรือไม่
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐได้เข้ายื่นคำร้องเดียวกันนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายกีรป กฤตธีรานนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งนายกีรป กล่าวว่า จะเร่งเสนอต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าจำเป็นต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือหรือไม่
 
 
เปิดชื่อ 12 ถนน ห้ามเข้าออก เว้นแต่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. มั่นคงฯ
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่า วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้มีการเผยแพร่  ประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ เรื่อง ห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
 
ประกาศระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖  ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการ กำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร นั้น
 
เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้ สถานการณ์ขยายลุกลามจนเกิดความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมทั้ง การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ และวรรคสาม ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงออกประกาศกำหนดดังนี้
 
ข้อ ๑ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
ข้อ ๒ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(๑) ถนนราชสีมา ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกประชาเกษม
(๒) ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
(๓) ถนนอู่ทองใน ตั้งแต่แยกอู่ทองในถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า
(๔) ถนนลิขิต
(๕) ถนนพระราม ๕ ตั้งแต่ สะพานอรทัย ถึง แยกสุโขทัย
(๖) ถนนสุโขทัย ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกสุโขทัย
(๗) ถนนราชวิถี ตั้งแต่ แยกการเรือน ถึง แยกราชวิถี
(๘) ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกพระรูป ถึง แยก จปร.
(๙) ถนนลูกหลวง ตั้งแต่ สะพานวิศุกรรมนฤมาณ (ถนนลูกหลวงตัดถนนราชสีมา) ถึงสะพานเทวกรรม (ถนนลูกหลวงตัดถนนนครสวรรค์)
(๑๐) ถนนพิชัย ตั้งแต่ แยกขัตติยานี ถึง ถนนราชวิถี
(๑๑) ถนนนครปฐม
(๑๒) ถนนกรุงเกษม แยกประชาเกษม ถึง แยกเทวกรรม
ทั้งนี้ ให้รวมถึงพื้นที่บริเวณถนน ทางเท้า คูคลอง และพื้นที่สาธารณะ ต่อเนื่องไปอีกในรัศมี๕๐ เมตร
 
ข้อ ๓ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ
รักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่า
เป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้
 
ข้อ ๔ ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์เผยคนกรุงเชื่อมั่นแผนจัดการน้ำของรัฐบาล 54.5 % แต่ห่วงทุจริต 69.9%

Posted: 02 Aug 2013 05:32 AM PDT

กรุงเทพโพลล์เผนผลสำรวจคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อมั่นแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 54.5% แต่ 69.9% ห่วงมีการทุจริตในงบประมาณบริหารจัดการน้ำ 

 
2 ส.ค. 56 - เนื่องด้วยกรมอุตุฯ มีประกาศเตือนภัยจากพายุเชบี ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงวันที่ 2 – 5 สิงหาคมนี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกฉียงเหนือ และอาจกระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง  "2 ปีผ่านมา  เหลียวหลังแลหน้าปัญหาน้ำท่วม " โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,194 คน พบว่า 
 
ในภาพรวมประชาชนร้อยละ 54.5 เห็นว่ารัฐบาลพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 45.5 เห็นว่ายังไม่พร้อม โดยประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีความพร้อมในด้านการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมมากที่สุด (ร้อยละ 64.9) ขณะที่มีความพร้อมในด้านการรับมือและความฉับไวในการแก้ปัญหาหากเกิดน้ำท่วมน้อยที่สุด (ร้อยละ 48.0)
 
เมื่อถามประชาชนว่ารัฐบาลจริงจังมากน้อยเพียงใดกับการวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.2 เห็นว่าจริงจังมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 46.8 เห็นว่าจริงจังน้อยถึงน้อยที่สุด และเมื่อถามต่อว่าเชื่อมั่นต่อแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 43.2 บอกว่า "เชื่อมั่น" ขณะที่ร้อยละ 37.5 ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 19.3 ไม่รู้เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำเลย
 
ส่วนความเห็นว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด กับการใช้เงินงบประมาณบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ร้อยละ 69.9 ระบุมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด
 
ด้านความกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากข่าวเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ  60.3 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ39.7 กังวลมากถึงมากที่สุด และเมื่อถามว่าปีนี้จะเกิดวิกฤตอุทกภัยรุนแรงเหมือนเมื่อปี 54 หรือไม่ ร้อยละ 48.0 คิดว่าจะเกิดรุนแรงน้อยกว่าปี 54 ร้อยละ 11.0  คิดว่าจะเกิดรุนแรงเหมือนปี 54 และร้อยละ 4.4 คิดว่าจะเกิดรุนแรงกว่าปี 54 ขณะที่ร้อยละ 36.6 คิดว่าจะไม่เกิดขึ้น
 
สำหรับการวางแผนซื้อ น้ำดื่ม อาหารแห้ง ตุนไว้ใช้ในกรณีที่เกิดน้ำท่วม  ประชาชนร้อยละ 64.3 คิดว่าจะไม่ซื้อ ขณะที่ร้อยละ 35.7 คิดว่าจะซื้อ
 
สุดท้ายเมื่อถามความเห็นว่าหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม รัฐบาลกับ กทม. จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมี ประสิทธิภาพหรือไม่ ร้อยละ 51.7 คิดว่าน่าจะต่างคนต่างทำงานหรือมีความร่วมมือกันน้อย ขณะที่ร้อยละ 48.3 คิดว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้รัฐบาลไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมต่อเหยื่อการสังหารที่ตากใบ

Posted: 02 Aug 2013 04:06 AM PDT

2 ส.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าคำตัดสินศาลฎีกาของไทยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 แสดงให้เห็นว่า ทางการไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต 85 ศพที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่อำเภอตากใบได้
 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงอาวุธปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเจ็ดคน และอีก 78 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจหรือเพราะถูกกดทับเป็นเวลานานในรถทหาร ระหว่างการส่งตัวไปยังค่ายทหารเพื่อควบคุมตัว ทั้งยังมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมอีกประมาณ 1,200 คนในค่ายทหารเป็นเวลาหลายวัน โดยไม่ให้การรักษาพยาบาล ทั้ง ๆ ที่หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น โดยระบุว่า แม้จะมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นแต่ก็ไม่อาจตำหนิเจ้าพนักงานได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ 
 
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคำสั่งศาลไม่กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน 85 คน ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปในลักษณะที่จงใจหรือโดยประมาท และด้วยเหตุดังกล่าวพวกเขาควรถูกนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของศาล ซึ่งครอบครัวของเหยื่อต้องรอคอยความยุติธรรมมา กว่าแปดปีแล้ว
 
"การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นทั่วไปในไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ คำตัดสินของศาลในวันนี้ไม่ได้เป็นการประกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทางการไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบ และจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ และต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ" อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว 
 
ทางการไทยประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2548 และคณะรัฐมนตรีมีมติขยายการประกาศใช้อีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 พระราชกำหนดดังกล่าวป้องกันไม่ให้มีการนำตัวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ
 
"ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป การสร้างสันติสุขในพื้นที่ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมาลงโทษ และต้องประกันว่าผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลไทยควรยกเลิกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก" อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว
 
ข้อมูลพื้นฐาน 
 
ในปี 2552 ภายหลังจากศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งในการไต่สวนการตายกรณีการเสียชีวิตของบุคคล 78 คนที่อำเภอตากใบทางภาคใต้ ศาลระบุว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุรายละเอียดของพฤติการณ์การตายตามที่กฎหมายกำหนด ญาติของผู้เสียชีวิตจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตาย ต่อมาได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ
 
คำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ระบุว่า ญาติของผู้เสียหายควรส่งคำคัดค้านยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น  ไม่ใช่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ผลจากคำสั่งดังกล่าวคือการพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งระบุว่า การเสียชีวิตของบุคคล 78 คนเป็นผลมาจากการขาดอากาศหายใจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ภาคประชาสังคมกรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล

Posted: 02 Aug 2013 03:45 AM PDT

ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ กรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล ระบุเป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม จี้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ด้วยการลงทุนมากขึ้นกับมาตรการในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 
2 ส.ค. 56 - กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนนำโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ออกแถลงการณ์ กรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลจี้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว รวมทั้งหน่วยงานรัฐต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน
 
อีกทั้งเห็นว่ากรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสังคมไทยต้องเรียนรู้และร่วมกันเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ด้วยการลงทุนมากขึ้นกับมาตรการในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หากภาคอุตสาหกรรมใดไม่ประสงค์ที่จะลงทุนเพื่อป้องกันปัญหา 
 
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์ภาคประชาสังคม กรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล
 
สืบเนื่องจากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลโดยกระจายครอบคลุมพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้างและในเวลาต่อมาคราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดบริเวณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ดซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ในระยะยาวการปนเปื้อนจากน้ำมันและสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดน้ำมันอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนได้
 
นับแต่เกิดเหตุการณ์บริษัทฯ ได้แถลงต่อสาธารณะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่ากังวลและบริษัทฯสามารถจัดการปัญหาได้ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพประชาชน ตลอดจนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนและมาตรการในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ ทำให้ประชาชนไม่อาจทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการและมาตรการในการจัดการปัญหาของบริษัทฯ รวมทั้งไม่สามารถติดตาม ตรวจสอบได้ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่เพียงใด
 
สำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาประโยชน์สาธารณะและปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่ให้ข้อมูลใดๆต่อสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนทำให้ประชาชนไม่รู้เท่าทันสถานการณ์และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการเปิดเผยแผนและมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อสาธารณะ ทำให้สังคมไม่สามารถมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของทั้งบริษัทฯและหน่วยงานรัฐได้ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างมาก
 
 
พวกเราองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล ดังต่อไปนี้
 
ข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ
 
๑. บริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
 
๒. บริษัทฯ ต้องเสนอแผนและวิธีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ โดยต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน
 
บริษัทฯ ต้องชี้แจงสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบและปริมาณรั่วไหลที่แท้จริงต่อสาธารณะ รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับจากน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก รวมทั้งต้องเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลอีกในอนาคต
 
ข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
๑. หน่วยงานรัฐต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน
 
๒. หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้แผนและมาตรการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันดิบที่เกิดขึ้นของบริษัทฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ และต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เสนอมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาการรั่วไหลเกิดขึ้นอีก รวมทั้งเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการจัดการปัญหาหากมีการรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระที่หน่วยรัฐตั้งขึ้น ตลอดจนต้องควบคุมตรวจสอบให้มีการดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
 
๓. หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบ ตลอดจนแผนและมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
 
๔. หน่วยงานรัฐต้องเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อดำเนินการให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
 
๕. หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนถึงสาเหตุและปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหล เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องปรามมิให้การกระทำผิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
 
๖. หน่วยงานรัฐต้องจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการจัดการปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอนาคต โดยเร่งด่วน 
 
พวกเราเห็นว่ากรณีท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสังคมไทยต้องเรียนรู้และร่วมกันเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ด้วยการลงทุนมากขึ้นกับมาตรการในเชิงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หากภาคอุตสาหกรรมใดไม่ประสงค์ที่จะลงทุนเพื่อป้องกันปัญหา ก็คงถึงเวลาที่รัฐและสังคมต้องทบทวนว่าควรจะอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไปหรือไม่ เพราะกิจการโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ ถ้าจำเป็นต้องมีอยู่ ก็ต้องดำเนินไปในลักษณะสอดคล้องกับความมั่นคงของของมนุษย์และระบบนิเวศ เนื่องจากไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจ จนต้องแลกด้วยสุขภาวะและชีวิตมนุษย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสูงสุดของมนุษย์
 
 
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
สมาคมรักษ์ทะเลไทย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
มูลนิธิอันดามัน
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
มูลนิธิเพื่อนช้าง
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
สมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
คณะกรรมการบริหารสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลมีคำสั่ง 4 ศพ ปุโละปุโย เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

Posted: 02 Aug 2013 03:18 AM PDT

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 56 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 กรณีชาวบ้าน 4 ศพ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
ศาลมีคำสั่งสรุปว่า จากพยานหลักฐาน ทำให้เห็นเหตุการณ์ สาเหตุมาจากเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากมีคนร้ายยิงฐาน กองร้อย 4302 บ้านน้ำดำ ม.2 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้ออกติดตามผู้ก่อเหตุ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุพบรถกระบะที่ผู้เสียชีวิตโดยสารมา ต่อมาได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวและป่าข้างทาง ต่อมาหน่วยทหารเข้ามาสมทบ และมีการใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวอีก เห็นว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามผู้ต้องสงสัย เมื่อนำมาประกอบกับรายงานชันสูตรบาดแผลศพของผู้ตายทั้งสี่ที่ระบุว่าผู้ตายทั้งสี่เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิง และพบรูกระสุนปืนทะลุรถกระบะหลายแห่ง เชื่อว่าผู้ตายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร 
 
ทั้งนี้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ภายหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ศาลจะส่งสำนวนคดีดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาต่อไป
 
อนึ่ง หากผู้กระทำความผิดอาญาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด คดีจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร (เว้นแต่ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกับพลเรือน คดีจึงจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาลยุติธรรม (พลเรือน)
 
ตามพระราชบัญญัติ ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2489 ม.13 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีลงโทษผู้กระทำความผิดกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร
มาตรา 49 ศาลทหารในเวลาปกติ อัยการทหารหรือผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (ทหาร) สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาที่ศาลทหารได้ แต่ในเวลาไม่ปกติ (ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก) อัยการทหารเท่านั้นเป็นโจทก์ ผู้เสียหายต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารได้เอง
 
ดังนั้น ในส่วนของคดีอาญา หากญาติผู้เสียชีวิตประสงค์จะฟ้องคดีอาญาเอง ก็ไม่สามารถจะยื่นฟ้องต่อศาลทหารได้ด้วยตนเอง ต้องมอบให้อัยการทหารฟ้องคดีแทนเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องผู้ตรวจการ ชงศาล รธน.ตีความ สภาปัดตกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ขัด รธน.หรือไม่

Posted: 02 Aug 2013 03:14 AM PDT

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีสภามีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชน 14,264 คนเข้าชื่อ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

สืบเนื่องจากกรณีสภาผู้แทนราษฏรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เข้าชื่อเสนอ ล่าสุด (2 ส.ค.56) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วย วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนผู้เสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน เฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่น.ส.วิไลวรรณ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน เป็นผู้เสนอนั้น เข้าข่ายเป็นการจงใจละเมิดสิทธิของประชาชน และปิดกั้นขัดขวางการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 163 หรือไม่

โดยหนังสือร้องเรียนระบุว่า "การลงมติไม่รับหลักการร่างระราชบัญญัติที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ที่มุ่งหมายรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ทั้งสาระของสิทธิ และขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชนโดยชัดแจ้งเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญและกำหนดการขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัตินั้นและคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องประกอบด้วยผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด"


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ ผิดหวังนโยบายรัฐไทย ประกันสังคมสองมาตรฐาน

Posted: 02 Aug 2013 02:30 AM PDT

 
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อแนวคิดของปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติซึ่งจะมีผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างเป็นระบบ รวมถึงกรณีสำนักงานประกันสังคมแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยกำหนดให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิครบ 7 กรณี โดยตัดสิทธิกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้แรงงานข้ามชาติมาตั้งรกรากในไทย

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ระบุว่า นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติและจะสร้างความตึงเครียด ความเป็นปรปักษ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติและสังคมไทย อีกทั้งยังขัดต่อหลักการและเจตจำนงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ แม้สหภาพแรงงานและเครือข่ายภาคประชาชนของไทย จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งขยายการคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารงานที่ต้องมีการอภิบาล แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าว

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ระบุุด้วยว่า หวังว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระต่อไปนั้นจะไม่รับหลักการและหรือร่างกฎหมายใดๆ ที่เสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่าง ที่มีการเลือกปฎิบัติและไม่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์และสิทธิที่เท่าเทียม
 

 

 

แถลงการณ์นโยบายรัฐไทยกำลังสร้างความไม่มั่นคงทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2553 สำนักงานประกันสังคมได้สัญญาว่าจะให้การคุ้มครองลูกจ้างแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเข้ามาทำงานถูกกฎหมายและได้ขึ้นทะเบียนประกันตน จ่ายเงินสมทบว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณีเท่ากับแรงงานไทย ข้อสัญญาดังกล่าวถูกทำให้เป็นนโยบายโดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2556 โดยกำหนดให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด

แรงงานข้ามชาติได้บากบั่นทำตามข้อกำหนดทุกขั้นตอน พวกเขาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อทำให้ตัวเองถูกกฎหมายและเชื่อว่าจะได้รับสิทธิที่แท้จริงสมกับความพยายามหลังจากที่พวกเขาเข้าสู่กระบวนการแล้วซึ่งรวมถึงเป็นประตูไปสู่การได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน การได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสังคมที่ได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี และหากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างลูกจ้างสามารถรับสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ แต่ว่ากลายเป็นว่าพวกเขากำลังถูกหลอก

มิใช่แค่ว่าพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาทจริงๆ แล้ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่พวกเขาจะได้รับทั้งเจ็ดประการกำลังถูกทำให้ลดลงไปต่อหน้าต่อตา

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานได้เปิดเผยว่า ตนได้ศึกษาข้อกฎหมายและมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ทำให้โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเท่าเทียมกับแรงงานไทยทั้งหมด  ควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยจากคำให้สัมภาษณ์ดูเหมือนว่าแรงงานหญิงจะตกเป็นเป้าในการจำกัดสิทธิที่ชัดเจนในขณะที่กรณีคลอดบุตรยังคงได้รับการคุ้มครองเฉพาะการทำคลอด แต่แรงงานหญิงจะถูกยกเว้นเงินทดแทนการขาดรายได้ในช่วงที่ลาคลอด และกรณีสงเคราะห์บุตรเพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเห็นความสำคัญของการคุมกำเนิด เพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เพราะแรงงานเหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานในไทยระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นและกรณีชราภาพควรปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินในรูปแบบบำเหน็จแทนการจ่ายเงินแบบบำนาญ 

ปลัดกระทรวงแรงงานยังกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีว่างงานนั้นแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับความคุ้มครองเนื่องจากเข้ามาทำงานในไทยด้วยความสมัครใจเมื่อพ้นสภาพการทำงานจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยต้องเดินทางออกจากประเทศไทยภายใน 7 วัน  [1]

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติรู้สึกตกใจและผิดหวังที่แนวคิดทางนโยบายเสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติซึ่งจะมีผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นพลเมืองชั้นสองอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นจากการรายงานข่าวของ สำนักข่าวแห่งชาติกรมประชาสัมพันธ์  เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม  พ.ศ. 2556 [2] ระบุด้วยว่าสำนักงานประกันสังคมได้แก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิครบ 7 กรณี โดยตัดสิทธิกรณีว่างงาน คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรออกไป เหตุผลที่ให้คือเนื่องจากไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวมาตั้งรกรากในไทย

นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการเลือกปฏิบัติและจะสร้างความตึงเครียด ความเป็นปรปักษ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติและสังคมไทย อีกทั้งยังขัดต่อหลักการและเจตจำนงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  ซึ่งในข้อ11 (2) ได้ระบุว่า เพื่อที่จะป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อสตรีด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการแต่งงานหรือความเป็นเพศมารดาและเพื่อประกันสิทธิอันแท้จริงของสตรีในการที่จะทำงาน รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อห้ามภายใต้การบังคับใช้ของข้อห้ามต่างๆ ไม่ให้มีการปลดเพราะเหตุแห่งการตั้งครรภ์หรือเพราะการลาคลอดบุตร รัฐต้องริเริ่มให้มีการลาคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง หรือได้ผลประโยชน์ทางสังคมที่เปรียบเทียบได้โดยไม่สูญเสียการงานเดิม อาวุโสในการทำงานหรือเงินช่วยเหลือทางสังคม 

พันธกรณีในข้อนี้ยังกำหนดให้รัฐส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและพัฒนาขอบข่ายของสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูเด็ก ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยจักต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยบุคคล องค์การ หรือวิสาหกิจใดๆ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ  ซึ่งถูกกำหนดไว้ในข้อ 2-5  โดยสิทธิดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือละเมิดได้

รัฐไทยในฐานะที่เป็นประเทศภาคีมีความผูกพันที่จะประกันสิทธิและงดเว้นจากการเข้าไปพัวพันในการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และรับประกันว่าเจ้าหน้าที่และสถาบันของรัฐจะปฏิบัติโดยสอดคล้องกับข้อผูกพันนี้  ดังนั้น ระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่างที่มีการเสนอนั้นจะเป็นการสร้างมิใช่การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี
 
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทยและเครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการแรงงาน) โดยข้อเสนอบางส่วนเสนอให้มีการขยายการคุ้มครองไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ  รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราที่แรงงานนอกระบบจะต้องสมทบ  รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารงานที่ต้องมีการอภิบาล  เนื่องจากข้อห่วงใยหลักของผู้ประกันตนคือการที่โครงสร้างในขณะนี้ของกองทุนประกันสังคมก่อให้เกิดการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้ และจะส่งผลให้กองทุนไม่สามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนทุกคนตามสิทธิที่มีได้ โดยร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงานและประชาชนนั้นมีเนื้อหาครอบคลุมมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน และสร้างอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงานในการเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนประกันสังคม  แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าว

เราได้แต่หวังว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระต่อไปนั้นจะไม่รับหลักการและหรือร่างกฎหมายใดๆ ที่เสนอให้มีระบบประกันสังคมสองระดับที่แตกต่าง ที่มีการเลือกปฎิบัติและไม่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์และสิทธิที่เท่าเทียม

 

[1] สำนักข่าวไทยTNA News 28 พ.ค. 2556 http://www.mcot.net/site/content?id=51a4768f150ba0ec2f0001ce#.Ufsh-1IeWSo
[2] http://thainews.prd.go.th

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดินหน้าคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว 'หมอหม่อง' ยันไม่ทบทวน หลังถูก 'อานันท์' ท้วง

Posted: 02 Aug 2013 02:08 AM PDT

กลุ่มผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวเดินหน้าคืนรางวัลแก่ ปตท.ด้าน 'นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์' โพสต์ FB ระบุขออภัย 'อานันท์ ปันยารชุน' หลังได้รับการติดต่อให้ทบทวนการคืนรางวัล เผยอยากมอบกลับให้รางวัลทำหน้าที่เตือนใจองค์กรให้รีบทำในสิ่งที่เหมาะสม
 
ที่มาภาพ: คนอนุรักษ์
 
วันนี้ (2 ส.ค.56) ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจำนวนหนึ่งเดินทางไปยัง หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท.ถนนวิภาวดี เพื่อนำถ้วยรางวัลคืนให้แก่ ปตท.จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วจากท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ในเครือ ปตท.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ลุกลามบานปลายกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในอ่าวไทย
 
นายเข็มทองและนางอาริยา โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2546 นัดหมายไปคืนถ้วยรางวัล ตั้งแต่เวลา 06.00 น.จากนั้นนายเข็มทองและนายโอ๊ค Kata Mahakayiได้ร่วมอดอาหารและน้ำเป็นเวลา 9 ชั่วโมง และร่วมทำกิจกรรมทางสัญลักษณ์โดยการใช้ศิลปะการตัดแปะ เพื่อส่งข้อความไปยัง ปตท.ก่อนคืนถ้วยรางวัลลูกโลกสีเขียวแก่ผู้แทนของ ปตท.ในเวลาประมาณ 16.00 น.
 
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 เป็นผู้นำแถลงแสดงเจตนารมณ์ของผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวที่นำถ้วยรางวัลคืนให้แก่ ปตท.
ที่มาภาพ: คนอนุรักษ์
 
 
แถลงการณ์คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว

เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และประชาชนในพื้นที่ โดยที่ทางกลุ่ม ปตท. ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างโปรงใส และยังขาดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน สะท้อนถึงทัศนคติและหลักการบริหารขององค์กรที่ไม่ได้นำหัวใจ CSR เข้ามาอยู่ในการประกอบการทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ มาโดยตลอด พวกเรา กลุ่มผู้ประสงค์จะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว จึงขอคืนรางวัลดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการทีส่วนร่วมในการสร้างภาพสีเขียวขององค์กร ทังนี้ ทางกลุ่มยังชื่นชมการดำเนินงานของคณะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
 
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่สนใจและเกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
 
- เพื่อเป็นเวทีให้โอกาสและเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ศึกษา หรือ ปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
- เพื่อรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
-เพื่อกระตุ้นให้สังคมสนใจและให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
- เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ทั้งในด้านแนวคิด ทัศนคติ และแนวทางปฏิบัติ นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม
 
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว พวกเราอยากให้เจตนารมณ์ขอบงสถาบันฯ ได้เข้าไปอยู่ในอยู่ในหัวใจการทำงานของกลุ่ม ปตท. อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และระบบนิเวศโดยรอบ รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใส่โดยเร่งด่วนที่สุด

ทั้งนี้ การมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวคืนครั้งนี้ เป็นความตั้งใจที่ต้องการให้กลุ่ม ปตท.ได้ปรับปรุงการดำเนินงานอย่างจริงจังและจริงใจ โดยไม่มุ่งเน้นการปกป้องภาพลักษณ์ของลักษณ์ขององค์กร อย่างที่เคยเป็นมา
 
ลงชื่อ... กลุ่มผู้คือรางวัลลูกโลกสีเขียว 
2 สิงหาคม 2556
 
 
 
ทั้งนี้ ล่าสุดมีผู้แสดงเจตนาขอคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว แก่ ปตท.จำนวน 13 ราย ประกอบด้วย

1. นายรังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ 
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2550

2. นายเข็มทอง โมราษฎร์ และนางอาริยา โมราษฎร์ 
ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2546

3. หนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ รายสัปดาห์ 
(นางอัจฉราวดี บัวคลี่ สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง Thai PBS อดีต บก.) 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2550

4. นางสาวแม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา 
ผู้เขียน สารคดี "เขา ป่า นา เล : บันทึกที่หล่นหายในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา"
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2550

5. กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครปางแฟน จ.เชียงใหม่
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทกลุ่มเยาวชน เมื่อปี พ.ศ.2548

6. พระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก วัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2552

7. นิตยสาร โลกสีเขียว มูลนิธิโลกสีเขียว
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2549

8. นายจารุพงษ์ จันทรเพชร 
เจ้าของงานเขียน เรื่อง "ต้น เอ๋ย ต้นไม้" 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2549

9. นายเพชร มโนปวิตร
ผู้เขียน สารคดี "นกแต้วแล้วท้องดำ…บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์?"
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2546

10. นิตยสาร มนต์รักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2552

11. นิตยสาร สารคดี
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ.2549

12. นางสาวพิณประภา ขันธวุธ 
เจ้าของงานเขียน หนังสือรวมนิทาน "อาณาจักรขยะหรรษา" 
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทงานเขียน (ดีเด่น) เมื่อปี พ.ศ.2552

13. นายธนกร ฮุนตระกูล และนางสาวสายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา 
แห่งโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล เมื่อปี พ.ศ.2552
 
ขณะที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Rungsrit Kanjanavanit โพสต์ข้อความผ่านหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว และหน้าเพจกลุ่มคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท. โดย ระบุข้อความขออภัยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โทรศัพท์มาหาให้ทบทวนการคืนรางวัลดังกล่าวหลังทราบข่าว โดยยังยืนยันทำตามเจตนาเดิม
 
วันนี้หัวใจหนักอึ่ง

ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน โทรมาหา หลังทราบข่าวว่าผมจะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวกับ ปตท.ท่านเป็นผู้ที่ผมให้ความเคารพรักอย่างยิ่งมาโดยตลอด

ท่านขอให้ผม แยกระหว่าง รางวัลและคณะกรรมการลูกโลกสีเขียว กับ ปตท.เนื่องจาก คณะกรรมการลูกโลกสีเขียว ทำงานเป็นอิสระ กับ ปตท อย่างสิ้นเชิง ท่านเตือนว่าการ การประท้วง ปตท ของผม จะดึง สถาบันลูกโลกสีเขียว เช้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้ท่าน คณะกรรมการฯ และสิ่งที่คณะกรรมการฯ เพียรสร้างมาหลายปี เช่น เครือข่าย อนุรักษ์ ชุมชน เสียหาย จนอาจทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไป

ผมเรียนท่านว่า ผมเสียใจอย่างมากที่การตัดสินใจของผมมีผลต่อคณะกรรมการฯขนาดนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคาดไม่ถึง 

ผมรู้สึกหนักอึ้ง 

จากการตั้งใจที่ทำเพื่อความสบายใจของตนเอง ตอนนี้มีคนร่วมคืนรางวัลหลายท่านและกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบไปไกลกว่าที่ตนคาดไว้ และเกิดผลข้างเคียงที่ตนขาดไม่ถึง

แต่หลังจากไตร่ตรองอีกครั้ง ผมยังมองเห็นว่า แม้ การทำงานของคณะกรรมการ ลูกโลกสีเขียว จะเป็นอิสระ จาก ปตท.แต่เนื่องจาก ปตท. ใช้ รางวัลลูกโลกสีเขียว เป็น เครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพ ความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชน ของบริษัท ในขณะที่ สำนึกนี้ กลับขาดหายไปในเนื้องานและกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท ผมจึงมองว่า ผมไม่อาจ แยก รางวัลลูกโลกสีเขียว ออกจาก ปตท.ได้ 

ผมขอนำที่ ดร.สรณรัขฏ์ กาญจนะวณิชย์ พี่สาวเขียนไว้ดังนี้ "แม้ว่าเป้าหมายและการดำเนินงานของรางวัลลูกโลกสีเขียวจะเป็นงานที่เราเคารพและตระหนักในแรงงานแรงใจที่คณะกรรมการและทีมงานลูกโลกฯ ได้ทุ่มเทลงไปเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี และเราคงเคารพนับถือการทำงานและตัวบุคคลเหล่านั้นไม่เสื่อมคลาย และเราขอยืนยันว่าการตัดสินใจคืนรางวัลไม่ได้เป็นการลดคุณค่าการทำงานของทีมงานนี้"

และสิ่งที่คุณ อัจฉราวดี บัวคลี่ กล่าวไว้ "ด้วยความเคารพและภูมิใจในการตัดสินใจของกรรมการทุกท่าน ที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าปรารถนาดีต่อการมอบรางวัล และด้วยเหตุนี้คิดว่ารางวัลมีความหมาย จึงอยากส่งมอบกลับให้รางวัลได้ทำหน้าที่เตือนใจองค์กรให้รีบทำในสิ่งที่เหมาะสมกับเจตนาที่ทุกฝ่ายอยากให้เป็น"

ผมกราบขออภัย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ด้วยความเคารพอย่างที่สุด อีกครั้ง 

ผมจำเป็นต้องยืนยันเจตนาเดิมครั

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลายรอมฎอนยิ่งแรงวันเดียว 7 เหตุ ตร.ตาย 2 เจ็บรวม 11 ส่วนใหญ่โจมตีทหารพราน

Posted: 02 Aug 2013 01:11 AM PDT

1 ส.ค. เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 7 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นเหตุลอบวางระเบิดทหารพราน บาดเจ็บรวม 11 นาย ขณะที่ตำรวจถูกระเบิดที่ธารโตเสียชีวิต 2 นาย ตรงกับในวันที่ 23 ของเดือนรอมฎอน ยังเหลืออีก 17 วันที่อยู่ในข้อตกลงลดใช้ความรุนแรง

 


วันที่ 1 สิงหาคม 2556 เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 7 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นเหตุลอบวางระเบิดทหารพราน บาดเจ็บรวม 11 นาย ขณะที่ตำรวจถูกระเบิดที่ธารโตเสียชีวิต 2 นาย เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 05.10 น.คนร้ายลอบวางระเบิดชุดรักษาความปลอดภัยครูที่บ้านโตะบาลา หมู่ที่ 4 ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แรงระเบิดทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย คือ อส.ทพ.เริ่มพงษ์ ทวีรัตน์

เหตุการณ์ที่ 2 เวลาประมาณ  07.35 น. เกิดเหตุลอบวางระเบิด บริเวณบ้านกะลูปี หมู่ที่ 11 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย คือ อส.ทพ.สรพงศ์ ดีหนู และ อส.ทพ.เฉลิมพล โปเกลี้ยง โดยคนร้ายนำระเบิดซุกซ่อนไว้ข้างทาง

เหตุการณ์ที่ 3 เวลา 08.20 น. ลอบวางระเบิดทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ.45) บริเวณหน้าสถานีอนามัยบาโงสะโต บ้านละแต หมู่ที่ 4 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ ส.อ.สิทธิชัย ทองถึง ได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ที่ 4 เวลา 12.15 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงคราม ซุ่มยิง รถของทหารพรานหน่วยเฉพาะทหารพรานที่ 22 ทำให้ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ อส.ทพ.ชยานนท์ อาสาสู้ อายุ 29 ปี กระสุนถูกบริเวณสะโพก และอส.ทพ.ชาญชัย ไชยบุตร อายุ 29 ปี ถูกสะเก็ดกระสุนปืนบริเวณหน้าผาก เหตุเกิดบนถนนสาย 410 บ.พงสะตา หมู่ที่ 5 ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 

เหตุการณ์ที่ 5 เวลา 16.05 น.คนร้ายลอบวางระเบิดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) บนถนนสายชนบท บ.จาเราะแป หมู่ที่ 3 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 นาย คือ ร.ต.ต.ประภาส สุทธิอักษร และด.ต.สัมพันธ์ มณีรัตน์ ขณะลาดตระเวนเส้นทางรักษาความปลอดภัยครูโรงเรียนนิคมสร้างตนเองธารโต 5 โดยหลังเกิดระเบิด คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงโจมตีซ้ำ เจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้จนเกิดการปะทะกัน ประมาณ 5 - 10 นาที ก่อนคนร้ายอาศัยความชำนาญในพื้นที่หลบหนีไป พบเป็นระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนัก 50 กิโลกรัม

เหตุการณ์ที่ 6 เวลา 16.10 น. ลอบวางระเบิดทหารชุดรักษาความปลอดภัยครูจากหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 15 (ฉก.ยะลา 15) ขณะเดินทางด้วยเท้าบริเวณหัวสะพานบ้านตะบิงติงงี หมู่ที่ 1 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา หลังเสร็จภารกิจ ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ได้แก่ พลทหารธวัชชัย วงศ์ใหญ่ ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณขาซ้าย จ.ส.อ.สมชาติ ขายเครื่องเทศ ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณต้นขาขวาและซ้าย ส.อ.ภูมิภาค ไตรดวงรัตน์ มีบาดแผลถลอกบริเวณแผ่นหลัง พลฯ วสันต์ หมีคำ ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณศีรษะและ พลฯ ไพฑูรย์ บุญชัยวงศ์ ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณต้นขาซ้าย

เหตุการณ์ที่ 7 เวลา 18.00 น. พบวัตถุต้องสงสัย 2 ชิ้น บริเวณตลาดเมืองใหม่ยะลาโดยมีคนเห็นคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์นำวัตถุต้องสงสัยมาวางในร้านค้าเลขที่ 97 ม2 ต.ยุโป อ.เมือง ยะลา ชิ้นแรกบรรจุในถุงพลาสติกสีขาวภายในมีโทรศัพท์พร้อมสายไฟต่อวงจร เจ้าของร้านโยนข้ามถนน หลังจากตรวจพบอีกชิ้น บรรจุในตะกร้าผลไม้สีเขียว ภายในมีแกลลอนน้ำมันเบนซิน 3 แกลลอน และวัตถุเป็นเหล็กมีโทรศัพท์ติดอยู่

ทั้งนี้ วันดังกล่าวตรงกับการถือศีลอดของชาวมุสลิมในวันที่ 23 ซึ่งเป็นช่วง 10 วันสุดท้าย และยังเหลืออีก 17 วันที่อยู่ในข้อตกลงลดการใช้ความรุนแรงระหว่างคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พยานฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับการเปิดโปงของแมนนิ่ง ไม่ได้ทำให้คนตาย

Posted: 01 Aug 2013 10:33 PM PDT

จากข้ออ้างหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยกล่าววิจารณ์การเปิดโปงข้อมูลสงครามสหรัฐฯ ว่าทำให้บุคคลบางส่วนตกอยู่ในอันตราย แต่ล่าสุดในการพิจารณาคดีของแบรดลีย์ แมนนิ่ง พยานฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ กลับยอมรับว่าไม่มีใครที่ถูกสังหารเพราะการเปิดโปงข้อมูลอย่างที่กลุ่มตาลีบันเคยอ้าง


1 ส.ค. 2013 - จากกรณีที่สิบตรีประจำการแบรดลีย์ แมนนิ่งถูกตัดสินให้มีความผิดฐานจารกรรมข้อมูล มีการเปิดเผยคำให้การของพลจัตวาโรเบิร์ต คารร์ เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามการจารกรรมระดับสูงที่อ้างว่าการเปิดโปงข้อมูลของแบรดลีย์ แมนนิ่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอัฟกานิสถานแย่ลง และอาจทำให้ประชาชนในประเทศอัฟกานิสถานและอิรักที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อยู่ในอันตราย

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน เปิดเผยว่า หลังจากมีการถามค้านโดยฝ่ายทนายของแมนนิ่ง คารร์กลับยอมรับว่า รายชื่อของผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในบันทึกสงครามฉบับที่ถูกเผยแพร่ผ่านวิกิลีกส์

โรเบิร์ต คารร์ เป็นพยานคนแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ เบิกตัวมาให้การในคดีของแมนนิ่ง เขาเคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการพิจารณาข้อมูลข่าวสาร (Information Review Task Force) ผู้เป็นตัวแทนกระทรวงกลาโหมในการสืบสวนเรื่องผลกระทบจากการเปิดโปงข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ผ่านวิกิลีกส์ แต่คารร์ก็ให้การในศาลว่าเขาไม่สามารถยกตัวอย่างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดโปงได้

โดยก่อนหน้านี้ คารร์ให้การต่อผู้พิพากษาว่า การเปิดโปงบันทึกสงครามอัฟกันเป็นเหตุให้มีชาวอัฟกันที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกสังหาร และกลุ่มตาลีบันก็กล่าวเปิดเผยต่อสาธารณชนอ้างว่าพวกเขาสังหารบุคคลนั้นเพราะเขาเป็นคนที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในข้อมูลบันทึกที่ถูกเปิดโปง

แต่ในการสืบพยานครั้งล่าสุด เมื่อถูกผู้พิพากษาซักถาม คารร์กลับบอกว่าผู้ที่ถูกสังหารไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ถูกเปิดโปง "กลุ่มตาลีบันสังหารเขาและโยงเขาเข้ากับบันทึกที่ถูกเปิดโปง แต่เมื่อพวกเรากลับไปดูบันทึกที่ถูกเปิดโปงแล้ว ไม่มีชื่อของบุคคลที่ถูกสังหารอยู่ในบันทึกนั้น" คารร์กล่าว

ข้อวิจารณ์อย่างหนึ่งของฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ คือการกล่าวหาว่าข้อมูลที่แบรดลีย์ แมนนิ่ง เปิดโปงผ่านวิกิลีกส์ ทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากโดยเฉพาะในอิรักและอัฟกานิสถานต้องตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากพลเมืองในทั้งสองประเทศมีบางคนได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพสหรัฐฯ ให้เป็น "ผู้คอยส่งสัญญาณเตือน" แต่ล่าสุดฝ่ายผู้พิจารณาผลกระทบของทางการสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับแล้วว่าไม่มีการค้นพบกรณีการสูญเสียชีวิตที่มีน้ำหนักมากพอสำหรับข้อวิจารณ์นี้

บันทึกสงครามอัฟกันที่ถูกเปิดโปงมีรายชื่อของคนในพื้นที่อยู่ราว 900 ชื่อ แต่ในจำนวนรายชื่อเหล่านี้มีจำนวนมากที่เสียชีวิตไปแล้ว และหลังการถามค้าน พยานฝ่ายรัฐบาลก็ยอมรับว่ามีรายชื่อบางคนที่สะกดผิดหรือแปลผิด

อย่างไรก็ตาม แบรดลีย์ แมนนิ่ง ได้ถูกตัดสินจำคุก 136 ปีจากข้อหาจารกรรม และข้อหาอื่นๆ อีก 19 ข้อหา แม้ว่าทนายความฝั่งแมนนิ่งจะพยายามยกหลักฐานต่างๆ ที่จะทำให้โทษเบาลง

"ดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเอาทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นให้สิบตรีแมนนิ่งเป็นผู้รับเคราะห์" เดวิด คอมบ์ ทนายความของแมนนิ่งกล่าว

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Bradley Manning leak did not result in deaths by enemy forces, court hears, The Guardian, 31-07-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/jul/31/bradley-manning-sentencing-hearing-pentagon

Manning sentencing: Wikileaks 'strained' US-Afghan ties, BBC, 01-08-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-23527053

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติผู้สูญเสียปี 53 - นักการเมือง ตอบโจทย์ นิรโทษกรรม...ทำเพื่อใคร?

Posted: 01 Aug 2013 03:05 PM PDT

ญาติผู้สูญเสียปี 53 ชี้ เป็นบทเรียนร้ายแรงตายต่อเนื่อง ไม่ยอมนิรโทษกรรมให้ทหาร-กระทำผิดต่อชีวิต แนะนักโทษควรได้รับสิทธิการประกันตัว 'วรชัย' เทียบพม่า-กัมพูชา ยังนิรโทษฯ 'โคทม' แนะผิด ม.112 ต้องพูดคุยกัน

1 ส.ค.56 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วม กับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาในกิจกรรม ราชดําเนินเสวนา เรื่อง "นิรโทษกรรม...ทําเพื่อใคร?" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ศุภชัย ใจสมุทร รองเลาขาธิการพรรคภูมิใจไทย พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา โคทม อารียา อาจารย์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล  อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 2535  พะเยาว์ อัคฮาด และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กลุ่มญาติผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย - พ.ค. 53 นอกจากนี้ ตามกำหนดการมีรายชื่อของนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม แต่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้


พะเยาว์ อัคฮาด


เหตุการณ์ปี 53 บทเรียนร้ายแรงเพราะตายต่อเนื่อง

พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค.53 กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของญาตินั้น แต่เดิมไม่คิดว่าจะต้องทำ เพราะคิดว่าเมื่อรัฐบาลขึ้นมาแล้วก็จะจัดการปัญหานี้โดยเร็วตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาลปีแรก แต่ก็ไม่ดำเนินการ เมื่อได้ยินแต่ละร่างฯ ที่ออกมา ถ้าเป็นร่างฯ ที่เหมายกเข่ง ก็จะประท้วงตลอดเพราะไม่เห็นด้วย เพราะเหตุการณ์ปี 53 ที่มีการฆ่าประชาชนกลางเมือง คิดว่ามันเป็นบทเรียนที่ร้ายแรง ซึ่งหลักฐานที่จะเอาผิดในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีเยอะมาก แต่เมื่อทุกคนให้นิรโทษกรรม ให้ยกโทษ ทำทุกอย่างให้ประเทศหมดความขัดแย้งนั้น จึงมองว่าการนิรโทษครั้งนี้จะต้องแตกต่างจากเหตุการณ์การเมืองในอดีต เพราะเหตุการณ์ปี 53 คู่กรณีต่างกันมี 4 คู่กรณี คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ กองทัพ กลุ่ม นปช.และประชาชน นิรโทษแบบเหมายกเข่งไม่ได้ มันต้องแยกแยะแต่ละกรณีให้ชัด

"เพราะเหตุการณ์ปี 53 มันแตกต่างกันจริงๆ มันมีการตายต่อเนื่อง ซึ่งแปลก อดีตที่ผ่านมาเมื่อมีคนตาย การรัฐประหารหรืออื่นๆ มันจะหยุดตั้งแต่วันที่มีคนเสียชีวิต แต่ปี 53 วันที่ 10 เม.ย. มีคนเสียชีวิต 20 กว่าศพ แต่กลายเป็นว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ถึงวันที่ 19 พ.ค.53 เป็นการตายต่อเนื่อง โดยไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น ทำไมไม่มีใครหยุดยั้งการตายตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. ซึ่งดิฉันกังวลและกังขาตรงนี้มากว่ามันมีเหตุอะไรที่มีการตายต่อเนื่อง และไม่มีใครยับยั้งตรงนี้เลย" พะเยาว์ กล่าว


ไม่ยอมนิรโทษกรรมให้ทหารทั้งหมด

พะเยาว์ กล่าวด้วยว่า คุณวรชัย เมื่อมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมา ก็บอกว่านิรโทษกรรมประชาชนทุกสีทุกกลุ่ม ซึ่งตนเองก็ดีใจเพราะต้องให้ประโยชน์แก่ประชาชนไม่ว่าสีใด เอาเขาออกไป แต่เมื่อไปค้นดูร่างของเขาก็พบว่าทุกสีทุกกลุ่มนั้นรวมทั้งทหารและตำรวจด้วย ซึ่งยอมไม่ได้  เพราะเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา คือเหมาหมดแล้ว ดังนั้นจึงขอค้าน จะไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมให้ทหารทั้งหมด โดยต้องแยกแยะในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุ ต้องแยกออก

มีการเอาประชาชนเข้ามาค้ำ ว่าถ้าใครไปขัดร่างของวรชัย แล้วประชาชนที่ติดคุกจะออกจากคุกช้า จึงย้อนถามกลับว่า 2 ปีกว่านั้นทำอะไรกันอยู่ มาเร่งอะไรตอนนี้ แต่กลับโทษร่างฯ ของกลุ่มญาติ ว่าถ้าเข้าไปจะทำให้กระบวนการพิจารณาช้าขึ้นนั้นมันไม่ใช่ ถือเป็นการสาดโคลนให้ตน ทั้งๆ ที่ทุกๆ ร่างฯ จะมีการขัดแย้งตลอด ไม่มีร่างไหนได้รับการสนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้าร่างฉบับประชาชนหากเข้าไปในสภาก็อาจมีส่วนในการลดความขัดแย้ง โดยร่างฯ นี้จะไม่มีนักกการเมืองหรือแกนนำได้ประโยชน์

ร่างฯ ของญาติมีการปรับแก้ เพื่อให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างฯ มีช่องโหว่หรือเสียประโยชน์อะไรจากประชาชน เมื่อทราบถึงช่องโหว่นั้นก็นำมาปรับปรุงโดยการช่วยเหลือแนะนำของนักกฎหมาย จึงได้เป็นร่างฯ ที่มีการปรับแก้ใหม่นี้

 


พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ 

 

ใช้หลักนิติธรรมมาช่วย แก้ ร่างฯ ใหม่

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค. 53 กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่มีการปรับแก้นี้ว่า ตอนแรกเรายึดหลักการทางกฎหมาย การกระทำผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ไม่ว่าเป็นใคร สุดท้ายได้ปรึกษาททนาย นักสิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมือง พบว่ามีหลายกรณีที่มีการพ่วงข้อหาเข้าไป ทำให้เขาต้องติดโทษนานขึ้น มีกระบวนการที่ขู่บังคับกระทำทารุณให้รับสารภาพ สุดท้ายเลยใช้หลักนิติธรรมมาช่วย เห็นว่าหลักการที่ร่างฯใหม่ ขยายฐานการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด โดยอาจจำเป็นต้องเว้นบางเรื่องไป

(คลิกอ่าน ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับประชาชน แก้ไขล่าสุด 1 ส.ค.56)


ไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดต่อชีวิต

"สิ่งที่เรายืนอยู่ก็คือว่าการกระทำผิดต่อชีวิต เราไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ใครได้ เพราะว่าไม่มีใครเอาชีวิตใครมาคืนแทนกันได้" พันธ์ศักดิ์ กล่าว

กรณีทรัพย์ของรัฐ หรือสัญลักษณ์อำนาจของรัฐ มองว่าที่ผ่านมาเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนก็ทำลายสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น 14 ตุลา 16 ก็มีการเผาทำลายทรัพย์ของรัฐ ในส่วนทรัพย์ของเอกชนคุยกันมาก เพราะมันมีบางกรณี เช่น กรณีเผาศาลากลาง แต่มีร้าน 7-11 อยู่ข้างใน หรือกรณีที่บ่อนไก่ที่ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อม แล้วมีเด็กไปลักทรัพย์เอาของร้านสะดวกซื้อมากินเนื่องจากทางออกถูกปิดล้อม เป็นต้น สุดท้ายกรณีที่เป็นทรัพย์เอกชนเรานิรโทษกรรม แต่ยังคงสิทธิของเอกชนในการฟ้องทางแพ่งได้

นอกจากการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดต่อชีวิตเราไม่นิรโทษกรรมแล้ว การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุก็ไม่นิรโทษกรรม การกระทำใดๆ ของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือแกนนำ เราก็ไม่นิรโทษกรรม แม้เรายังมองว่าแกนนำเป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่วันหนึ่งที่ขึ้นมาเป็นแกนนำ ก็ต้องรับผิดชอบในการชุมนุมทางการเมือง แต่ในฐานะประชาชนเขาก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ชุมนุมทางการเมือง สุดท้ายหากจะดำเนินคดีแกนนำก็ต้องดูว่ามีการยั่วยุ ปลุกปั่นให้ไปละเมิดต่อชีวิตผู้อื่น หรือทำให้เสียทรัพย์หรือไม่


ควรได้รับสิทธิการประกันตัวเสียก่อน

พันธ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่าก่อนเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นักโทษการเมืองควรได้รับสิทธิการประกันตัวเสียก่อน ซึ่งเป็นสิทธิทางกฎหมายเสร็จแล้วต้องเดินหน้ากระบวนการยุติธรรม หรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเชิงความเห็นของสังคม โดยที่นิรโทษกรรม ไม่ได้บอกว่าประชาชนเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่เขามีสิทธิที่จะแสดงออก ดังนั้นการนิรโทษกรรมเป็นการคืนสิทธิกับเขา ดังนั้นเขาไม่ใช่คนผิด รัฐต่างหากที่ผิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการนิรโทษกรรมจึงเป็นการที่ให้รัฐออกมาขอโทษประชาชนแล้วกระบวนการเดินหน้าต่อไปได้

 

 


ถาวร เสนเนียม และ ศุภชัย ใจสมุทร

 


การเมือง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ

ศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า ในช่วงสภาชุดที่แล้ว พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สำหรับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร ก.ย. 49 ถึง พ.ค. 53  ตอนนั้นเราคิดถึงการลดความขัดแย้งในสังคม ต้องแยกผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเนื่องจากอุดมการณ์ของตัวเองที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองออกมา  พรรคภูมิใจไทยเองก็ติดป้ายรณรงค์ไปทั่วประเทศ และมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าไปด้วย โดยไม่มีการนิรโทษให้ผู้ทำความผิดต่อความมั่นคง ทำลายทรัพย์สิน ต่อชีวิต ต่อร่างกายคนอื่น และความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งต้องแยกออก สำหรับผู้บริสุทธิ์ที่ว่านั้นคือพี่น้องประชาชนที่นั่งอยู่ข้างล่างแล้วเชียร์คนที่อยู่บนเวที ควรได้รับนิรโทษกรรม แต่คนที่อยู่บนเวทีไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

บรรยากาศที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนิรโทษกรรมนั้น แกนนำทั้งแดงและเหลือง ไม่เอา เหตุที่ไม่เอาเพราะแต่ละฝ่ายมีความเชื่อว่าถ้าในที่สุดแล้ววันหนึ่งตัวเองเข้าสู่อำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง อำนาจนั้นก็จะมาช่วยทำให้ตนเองพ้นผิด  สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย กับร่างอีก 4-5 ร่าง คิดว่ามันไม่ต่างกันมากมายในเนื้อหา คิดว่าเมื่อร่างของวรชัยไม่ต่างจากร่างอื่น ทั้งหมดก็เป็นร่าง พ.ร.บ.การเมืองเพื่อที่จะสร้างให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นเท่ากับว่าทั้งหมดเป็นเรื่องการเมือง

ยอมรับว่า กฎหมายนิรโทษฯ เป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งของการลดความขัดแย้ง สู่ปรองดอง แต่การจะนำมาใช้ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ แต่การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงตอนนี้ แสดงว่าเวลาไม่เหมาะสม และกระบวนการมันก็ไม่มีปี่มีขลุ่ย คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ถามว่าวันนี้มีหรือยัง สิ่งที่ สถาบันพระปกเกล้า เสนอว่ายังไม่เห็นว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ควรออกตอนนี้ เพราะควรไปสานเสวนากับประชาชนทั่วประเทศและรัฐบาลก็ตั้งงบประมาณตรงนี้ 100 ล้านบาทเพื่อไปสานเสวนา แต่ก็เกิดคำถามอีกว่าว่ามันไปถึงไหนแล้ว เหล่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการ" ซึ่งถือว่าเวลาตอนนี้มันยังไม่เหมาะสำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษฯ

หลักการสำคัญของการนิรโทษกรรม คือจะต้องไม่ออกมาแล้วกระทบต่อสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สิทธิของคุณนิชา (ภรรยา พลเอกร่มเกล้า) ที่ควรรับรู้ว่าความจริงสามีเขาถูกระเบิดหรือกระสุนใคร  ในต่างประเทศคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุด คือการขออภัย แต่วันนี้บ้านเมืองเรายังไม่มี  เรื่องวันนี้ร่าง พรบ.นิรโทษฯ ของวรชัย การนิรโทษเราเอาบุคคลเข้ามาเป็นตัวตั้งหรือไม่ ยึดหลักพวกคุณพวกผมในการนิรโทษฯ ดังนั้นจะต้องไม่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง
 

คดีหมิ่นฯ ไม่ควรนิรโทษกรรม

การนิรโทษต้องไม่ครอบคลุมหมดทุกกรณี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่อยู่ในสภาวันนี้ ใครที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้รับนิรโทษหรือไม่ กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ผู้ได้รับความเสียหายคือพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยเหตุนี้เรื่องหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องคุยกันให้เรียบร้อยก่อน และการบอกว่ามีเสียงข้างมากแล้วออกกฎหมาย มาล้างผิด แล้วบอกว่ากฎหมายเป็นใหญ่นั้น ก็ไม่ได้ ดังนั้นคิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาสำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

 


วีรวิท คงศักดิ์

 

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หาความจริงว่าใครผิดและยอมรับผิดก่อน

พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนก็มีความต้องการเหมือนกันคือความสงบให้บ้านเมือง แต่ปัญหาที่ผ่านมามันมีลักษณะปัญหาที่แตกต่างกันเยอะ เราไม่สามารถแยกแยะว่าเป็นความขัดแย้งของใคร การจะสมานฉันท์หรือประนีประนอมกันนั้น ต้องหาให้ได้ว่า ความขัดแย้งนั้นเกิดจากอะไร ใครขัดแย้งกับใครก่อน นำไปสู่การหาว่าใครผิดใครถูก เป็นกระบวนหาความจริง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ต้องหาว่าใครเป็นคนผิดใครเป็นคนทำ แล้วคนผิดยอมรับผิด แล้วมีการขออภัยความมีไมตรีก็จะเกิดขึ้น

ปัญหาคือ แล้วถ้ามีการตรากฎหมายออกมา มันจะมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการสมานฉันท์หรือไม่ ก็ถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ต้องทำความเข้าใจ คำว่า นิติรัฐ ไม่ใช่หมายถึง สภาออกกฎหมายแล้ว ทุกคนปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีการพูดคุยกัน
 

กระบวนการนิติบัญญัติ สิ่งสำคัญอยู่ที่หลักการและเหตุผลของกฎหมายนั้น

พลอากาศเอกวีรวิท กล่าวว่า การเสนอกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติบ้านเรา เราอาจไม่ต้องสนใจที่ถ้อยคำสาระมากนัก เพราะปรับแก้ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่หลักการและเหตุผลของกฎหมาย ว่าให้กรอบของการตรากฎหมายไว้อย่างไร  กรณี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนนั้นคิดว่าค่อนข้างแคบ เพราะระบุว่านิรโทษให้แก่ประชาชน ดังนั้น ตัวหลักการคือตัวที่จะบอกว่าเราจะให้นิรโทษใคร เราต้องเขียนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ต้องการจะออก

กฎหมายที่เข้าสภาตอนนี้หลักการค่อนข้างกว้าง เมื่อกว้างแล้ว ถึงวาระ 2 มีการแปรญัตติในขั้นกรรมาธิการ มันสามารถเติมแต่เนื้อหาให้อยู่ในกรอบของหลักการได้ ถ้าเขียนหลักการกว้าง ก็สามารถใช้เสียงข้างมากในกรรมาธิการในขั้นแปรญัตติที่ออกมาจนกระทั่งเป็นรูปร่างกฎหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเวลาประชาชนหรือสื่อมวลชนตรวจสอบต้องดูที่หลักการและเหตุผลของกฎหมายนั้นว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ แล้วมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนหรือไม่


ต้องเป็นกรณีๆ ไป

พลอากาศเอกวีรวิท กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 2 กระบวนการที่จะดำเนินการร่างกฎหมายจะต้องเป็นกรณีๆ ไป จะเห็นว่าแต่ละเหตุการณ์มีความแตกต่างและคู่กรณีต่างกันไป เช่น  กรณีหลังรัฐประหารมีการไปล้อมบ้านประธานองคมนตรี ในเดือน ก.ค.50 ไม่ได้มีสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นเรื่องของการเมืองต่อการเมืองเลย แต่เป็นความเข้าใจของกลุ่มคนที่เข้าใจว่าประธานองคมนตรีมีส่วนจึงไปล้อมแล้วเกิดความเสียหาย ในกรณีนิรโทษกรรมตามกฎหมาย กลุ่มนี้จะได้หรือไม่ ผู้ก่อการได้มีใครไปขอโทษขออภัยประธานองคมนตรีแล้วหรือไม่ ในเดือน เม.ย. 52 ที่มีการปิดล้อมผู้นำประเทศต่างๆ ที่พัทยา ยังมองไม่ออกว่าตรงนี้เป็นความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะใด หรือกรณีที่กระทรวงมหาดไทย คนไทยไม่เคยโกรธแค้นกันขนาดนี้ สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม ที่มีการทำร้ายกัน เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้ควรแยกออก จะเห็นว่า 3 กรณี เป็นสิ่งที่ต่างกัน

สำหรับกรณีวันที่ 10 เม.ย. เป็นสิ่งที่นักการทหารทุกคนมองได้ว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดา เป็นเรื่องมีการวางแผน เข้าไปในพื้นที่สังหารและใช้อาวุธสงคราม ในเมืองหลวงเราปล่อยให้มีการเอาอาวุธสงครามเข้ามาได้อย่างไร ยังมีทหารถูกทำร้ายด้วยอิฐตัวหนอน จนวันนี้พิการ คิดว่า คนไทยไม่ทำแบบนี้ ถ้านิรโทษกรรมเท่ากับว่า อันนี้ต้องมีการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ รวมทั้งกรณีปี 52 ที่ชุมชนนางเลิ้ง มีคนเสียชีวิต หรือกรณีสีลมปี 53 ที่มีประชาชนเสียชีวิต เราก็ต้องอธิบายสังคม ดังนั้น ถ้ากฎหมายนิรโทษฯ นี้ออกมา คุณวรชัย จะรับปากไหมว่าจะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น แล้วถ้าเป็นญาติผู้สูญเสียท่านๆ จะรู้สึกอย่างไร  รวมทั้งก่อนที่สภาจะตรากฎหมาย รัฐบาลหรือผู้เสนอร่าง มีมาตรการอะไร ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่เกิดขึ้นอีก

หากมีการออก พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เราจะมีกฎกติกา มารยาทอะไรกับการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ม. 63 แล้วจึงเอากรอบนั้นมาใช้กับการนิรโทษกรรม  รวมทั้งขณะนี้การที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะเป็นการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของรัฐบาลต่อไปหรือเปล่า 
 

แสวงหาความจริงก่อนแล้วค่อยนิรโทษกรรม

ถาวร เสนเนียม ชี้แจงว่าจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยคัดค้านการนิรโทษกรรมหรือการปรองดอง แต่คัดค้านความผิดบางประเภทที่ไม่ควรได้รับการนิรโทษฯ ดังนั้นเราจึงให้เสนอถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองหรือนิรโทษกรรมออกมาก่อน แล้วดำเนินการตาม คอป.และ สถาบันพระปกเกล้า เสนอคือมาแสวงหาความจริง แล้วถึงจะมาเสนอต่อไป โดยการออกกฎหมายนิรโทษฯ นั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ที่ทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายตามหลักที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ดังนั้นใครกระทำความผิดก็ต้องรับผลของการกระทำนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องออกไปเพื่อคืนความเป็นธรรมกับคนที่ไม่รับความเป็นธรรม
 

ต้องไม่ก่อให้เกิดความแปลกแยก

ถาวร กล่าวว่า การทำนิรโทษกรรมต้องไม่ก่อให้เกิดความแปลกแยก ทำให้บรรยากาศเกิดความสมานฉันท์ ความเห็นชอบของหลายฝ่าย แต่ที่ผ่านมาจะเป็นนิรโทษฯ ที่เกี่ยวกับการเมืองและทางเทคนิค ทั้งๆ ที่ความผิดทางการเมืองนั้นต้องเป็นความผิดต่อรูปแบบการปกครองของรัฐ

สำหรับการนิรโทษกรรมนั้น กรณีทำผิดต่อประชาชนต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรม และการนิรโทษกรรมที่จะเข้าสู่สภา องค์กรของรัฐต้องวางมือทันที ในภารกิจหน้าที่ที่เขามีอยู่  แตในวันนี้หลายคนบอกว่าเขามีเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่ก็ต้องระวังจะกลายเเป็นการใช้เสียงข้างมากเพื่อเสียงข้างมากให้จงได้หรือไม่


นิรโทษกรรมเพื่อใคร

1. พี่น้องประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ กรณีนี้ยินดีให้รับการนิรโทษกรรม

2. ความผิดลหุโทษ หรือ โทษปรับสถานเดียว อันนี้เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรม

แต่นอกเหนือจากนั้น ถ้าให้นิรโทษกรรม กรณีคนที่ลูกเสียชีวิต พิการ จะทราบความจริงได้อย่างไร ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงไม่ใช่การเอาขยะซุกใต้พรม แล้วเลิกแล้วต่อกัน แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างไรก็ตามกฎหมายนิรโทษกรรมที่อยู่ในสภา เนื้อหาเป็นเรื่องปลีกย่อยที่จะถูกจูงไปตามเสียงข้างมาก แต่สิ่งที่ ป.ป.ช.ชี้ความผิดแล้ว หากได้ประโยชน์ดังกล่าว บ้านเมืองก็จะมองว่าคนทำผิดจะได้ประโยชน์จากการมีเสียงข้างมาก


อัยการสั่งไม่ฟ้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ถาวร กล่าวว่า สำหรับกรณีให้อัยการสั่งไม่ฟ้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะนั้นทำได้ แต่อยู่ที่อัยการจะกล้าหรือไม่ กรณีประชาชนที่ทำผิดโทษเล็กน้อย ลหุโทษ ถ้าอัยการใช้ความกล้าหาญไม่ฟ้องก็สามารถทำได้ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนั้นคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ถ้าทำเกินกว่าเหตุ ก็ไม่ควรนิรโทษกรรม


ถอนทุกร่างแล้วมาจับเข่าคุย

เมื่อทุกคนบอกว่าฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจ ก็น่าจะให้ 2 คนนี้คือคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอยากให้อัยการสั่งฟ้องเร็วๆ แกนนำผู้ชุมนุมก็ควรเอามาขึ้นศาล แล้วค้นหาความจริงกัน ดังนั้นตอนนี้ช่วยถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกร่างออกไป แล้วมาจับเข่าคุยกันดีกว่า
 

 


วรชัย เหมะ 


พม่า-กัมพูชา ยังนิรโทษฯ

วรชัย เหมะ กล่าวถึงสาเหตุที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เนื่องจากเห็นการกระทำของ 2 ข้าง คือฝ่ายที่ยึดถือกลไกอำนาจรัฐ กับฝ่ายประชาชนนั้น ทุกคดีที่ประชาชนถูกฆ่าในอดีต ผู้ฆ่าไม่เคยได้รับโทษ ประชาชนตายฟรีมาตลอด ขบวนการประชาชนถูกทำร้ายมาตลอด เรามีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับ ร่างมาแล้วเมื่อไม่พอใจก็ฉีกทิ้ง หากเราจะเห็นประเทศที่มีความสงบ การเมืองนิ่ง การพัฒนาประเทศได้ เศรษฐกิจดี หลายประเทศต้องการความนิ่งความสงบทางการเมือง  กรณีพม่าก็มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง แม้แต่ประเทศกัมพูชา ยังอภัยโทษให้นายสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน นี่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลที่สุด ดังนั้นประเทศไทยก็เหมือนกัน หลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารเราถอยหลังเข้าคลอง เราติดกับดักความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นต้องหาทางออกให้ประเทศ

ความขัดแย้งทางการเมืองก็มี 2 ซีก ซีกหนึ่งเป็นฝ่ายที่รักประชาธิปไตย กับฝ่ายคณะยึดอำนาจที่ใช้กลไกที่คุมประเทศอยู่ นี่คือความเป็นจริง เพราะฉะนั้น  ยึดอำนาจเสร็จก็สร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อวางกลไกอำนาจของตนเอง นำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยก ก่อให้เกิดการฆ่าประชาชนและติดคุก เพราะฉะนั้นความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่ในสังคม  กลุ่มการเมืองที่ออกมาต่อสู้ในความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน เราจะทำให้ความคิดต่างอยู่ได้ในประเทศ ต้องมีการยอมรับเสียงข้างมาก เนื่องจากเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากมาบอกว่า "เสียงข้างมากลากไป" แล้วจะใช้ระบอบอะไร จะให้เสียงข้างน้อยเอาปืนมายึดอำนาจหรืออย่างไร
 

เจ้าหน้าที่ทำให้ ปชช.เสียชีวิตต้องเป็นโทษ พธม.ได้นิรโทษฯด้วย

วรชัย มองว่าการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่จนทำให้ประชาชนเสียชีวิตก็ต้องเป็นโทษ สำหรับคนที่ติดคุกนั้น แม้แต่คนเดียวก็คือความเดือดร้อน โดยในตอนแรกเราเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด แต่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ ทั้งนี้ ตอนที่หาเสียงตนเสนอว่าต้องปล่อยนักโทษการเมือง จึงต้องดำเนินการเสนอออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนที่อยู่ในคุกก่อน เป็นความคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ รวมทั้งคดีก่อการร้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราก็ร่างไว้ให้มีการนิรโทษกรรม ยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการช่วยประชาชนจริงๆ คนที่ไม่ใช่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์
 

ทหารยังไม่โดนดำเนินคดีจะนิรโทษได้อย่างไร

"ถามว่าแล้วจะนิรโทษกรรมให้ทหารด้วยหรือเปล่า การนิรโทษกรรมเราก็บอกว่า "ผู้ที่ถูกดำเนินคดี" วันนี้ทหารยังไม่ถูกดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว ท่านดูสิครับไม่ได้ตั้งข้อหาเลย แล้วเราจะไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่มีคดี นี่คือเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการการกระทำของพวกเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการตั้งใจช่วยพี่น้องประชาชน ลดความขัดแย้งหันหน้าเข้าหากันพูดคุยกัน นำประเทศสู่ความสุขความสงบ" วรชัย กล่าว

 


ควรฟังเสียงประชาชนก่อน

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมความตั้งใจของคุณวรชัย แม้จะช้าไปหน่อยก็ต้องชื่นชม การออกกฏหมายนิรโทษกรรมนั้น ออกเป็น พ.ร.บ.น่าจะดีที่สุด ส่วนขอบเขตอยู่ตรงไหนนั้น คิดว่าเรื่องความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อความมั่นคงถ้าเป็นไปได้ก็ควรปล่อย แต่สำหรับกรณีความผิดต่อ ม.112 นั้น ควรเอาออกจากการนิรโทษกรรมไปก่อน

การใช้ความรุนแรงมี 2 ลักษณะ หนึ่ง เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ดังนั้น คนที่มาใช้ความรุนแรงนั้นต้องเป็นการตั้งใจมาใช้หรือมีการจ้างมาใช้ความรุนแรง และ สอง อีกพวกนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ และเป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์ของรัฐด้วย ดังนั้นควรแยกแยะออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม คุณวรชัย เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา วันนี้ความขัดแย้งเกิดจากอะไร เกิดจากความไม่สบายใจของสังคม เพราะกังวลว่าเสนอแล้วจะมีอะไรมาสอดไส้หรือไม่ และก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยไม่ตอบว่าจะนิรโทษกรรมถึงขนาดไหนด้วย

รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากมันจะนำไปสู่ความแตกแยก ก็ควรฟังเสียงประชาชนก่อน การโยนเข้าไปก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลายขึ้นอีก ควรยับยั้งก่อน ชะลอ และหยุดไปก่อน เพื่อให้สังคมลดระดับความกังวล
 

 


ผิดตาม ม.112 ต้องมีการพูดกัน

โคทม อารียา กล่าวว่า นิรโทษกรรมเพื่อใครนั้น มันเป็นจังหวะ วันนี้หลายฝ่ายฟังดูแล้วหลายฝ่ายก็ยกโทษผู้ชุมนุมธรรมดา นิรโทษกรรมนี้จะได้ผลตามที่ต้องการไหมนั้น อยากให้คุยกัน พร้อมทั้งต้องคุยกันในวาระที่ 1 อย่างตรงไปตรงมา ว่าต้องการนิรโทษ กลุ่มนี้หรือกลุ่มไหนก่อน ส่วนรายละเอียดไปคุยกันในขั้นกรรมาธิการได้ไหม รวมทั้งตัวร่าง พ.ร.บ.ฯ นั้น จะต้องมีความชัดเจนขึ้น

ประเด็นแรก เราจะกำหนดเงื่อนเวลาอย่างไร การนิรโทษจะบอกว่าวันนั้นถึงวันนั้น ถ้าเราบอกว่าครอบคลุมมากเกินไป ตั้งแต่ตั้ง พธม. จนกระทั่งถึงวันที่ 19 ก.ย.49 เหตุการณ์ช่วงนี้หรือเกี่ยวข้อง ถ้าผู้เข้าร่วมไม่ใช่ระดับนำจะนิรโทษกรรมให้นิรโทษกรรมไหม

ประเด็นที่ 2 รวมใคร ไม่รวมใคร ก็เป็นประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวเนื่องกัน เขาเหล่านั้นได้ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองโดยสุจริต

มีข้อยกเว้นไหม เช่น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มีกฎหมายรองรับ เว้นแต่ทำเกินกว่าเหตุ ไม่รวมถึงผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำการเคลื่อนไหว

ประเด็นที่ 3 แล้วความผิดอะไร ที่แน่ๆ ความผิดที่ไม่หนักหนาสาหัส เช่น ฝ่าฝืนกฎหมายอย่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ ควรได้รับการนิรโทษกรรม  ความผิดตามความมั่นคง อย่างความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 นั้นก็ต้องมีการพูดกัน เนื่องจากสังคมมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่

เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ไม่เป็นโทษร้ายแรง ความเห็นคือไม่รวมความผิดต่อชีวิต หรือทำร้าย เจ้าหน้าที่ถึงชีวิต ก็หนักเกินไปที่จะนิรโทษ แล้วความผิดฐานละเมิดทรัพย์สินว่าอย่างไร ความเห็นตน คิดคร่าวๆ ถ้าเป็นทรัพย์ของรัฐ ก็นิรโทษกรรมได้ไหม ถ้าทรัพย์เอกชน ก็ให้ว่ากันไป เพราะเอกชนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง
 

คณะกรรมการพิจารณากรณีคลุมเครือ

ข้อเสนอเพิ่ม คือทำอย่างไรให้ พ.ร.บ.มีผลพอสมควร ใครอยู่ในข่ายควรได้รับไป แต่ถ้ากรณีสงสัย จะทำอย่างไรก็ยกเหตุสงสัยให้จำเลย เป็นต้น หรืออาจตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมาพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อพิจารณาความจริงเป็นเรื่องๆ วินิจฉัยว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้า

หรืออีกทางเรื่อง ถ้าเชื่อโดยสุจริต ว่าได้รับการนิรโทษแต่ไม่ได้รับนั้นก็ไปแจ้งข้อเท็จจริงต่อ จนท. ก็ให้ประกัน แล้ว จนท. ไปดูว่าเขาให้ข้อเท็จจริงนั้นใช้ได้ไหม ถ้าได้ก็ไม่ฟ้องหรือจำหน่ายคดี แต่ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นการให้ความเท็จก็โดนคดีให้ความเท็จด้วย ที่เสนอคือ

1. วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้ากัน ลดความระแวงบาดหมาง ทำให้คนที่ทุกข์ยากขณะนี้ยืดตัวมาเป็นประชาชนเต็มขั้น

2. เมื่อวัตถุประสงค์ชัด กลุ่มเป้าหมายก็ต้องชัด

3 ความผิดอะไรยกให้หรือคนกลุ่มไหนยกให้

AttachmentSize
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับประชาชน แก้ไขล่าสุด 1 ส.ค.5650 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น