ประชาไท | Prachatai3.info |
- น้ำบึงเกลือเอ่อล้น ฟื้นวิถีชุมชนดอนฮังเกลือ แต่ชาวบ้านยังหวั่นแล้งซ้ำ
- สรุปเหตุ 4 วัน บึ้มทั่วชายแดนใต้ ตายแล้ว 6 บาดเจ็บ 42
- แกนนำ นปช.ประกาศสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ขอคนเสื้อแดงเตรียมพร้อมในที่ตั้ง
- ตร.แจงยังไม่ได้จับ 'ปูเค็ม' ชุมนุมที่ พท. แค่เชิญมาเจรจาที่ สน.
- เราเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกัน: ญาติเหยื่อปุโละปุโย
- งานวิจัยกับคองเกรส
- องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ร่วม แนวปฏิบัติในการทำข่าวช่วงบังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคง
น้ำบึงเกลือเอ่อล้น ฟื้นวิถีชุมชนดอนฮังเกลือ แต่ชาวบ้านยังหวั่นแล้งซ้ำ Posted: 03 Aug 2013 12:41 PM PDT น้ำบึงเกลือเต็มเอ่อหลังฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ด้านชาวบ้านหวั่นหากหน่วยงาน อบต.ยังไม่เร่งดำเนินการบริหารจัดการระบบน้ำ คาดช่วงหน้าแล้งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนที่ผ่านมา ภายหลังประสบปัญหาน้ำในบึงเกลือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า 'ทะเลอีสาน' แห้งลงนับแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระดับน้ำแห้งจนเห็นเป็นลานดินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พืชผักของชาวบ้านที่ปลูกไว้แห้งตายเกือบหมด ทั้งยังกระทบต่อการหาปลา กระทั่งปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมฝนได้ตกหนักมาอย่างต่อเนื่องหลายวัน นายบุญตา หมุนวงศ์ ชาวชุมชนดอนฮังเกลือ กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำในบึงเกลือเอ่อล้นขึ้นมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านทั้งในชุมชนและละแวกใกล้เคียง ได้ฟื้นคืนการทำมาหากินในหนองน้ำใหญ่นี้อีกครั้ง ทั้งนี้ 'ทะเลอีสาน' ที่เป็นผืนน้ำกว้างใหญ่กว่า 5 พันไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งหาปลา แหล่งน้ำทำเกษตรกรรม หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมาหลายชั่วอายุคน บุญตา กล่าวด้วยว่า โดยปกติวิถีชุมชนหาอยู่หากินโดยพึงพิงธรรมชาติ ภายหลังว่างจากนาหว่านไถ ก็ล่องเรือไปหาจับปลา จับกุ้งตามหนองน้ำ รวมทั้งหาเก็บหอย กบ เขียด เก็บผักบุ้ง หรือสิ่งที่สามารถนำมาเลี้ยงชีวิตประกอบอาหารทำกินกันในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปหาซื้อจับจ่ายในท้องตลาดให้มากนัก ถือเป็นการประหยัดรายจ่ายไปในตัว อีกทั้งส่วนที่เหลือจากการจับมายังนำไปขายเพื่อเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะในหนองน้ำนั้นมีความหลากหลาย ถือเป็นโรงครัวใหญ่ ที่ชุมชนสามารถเข้ามาประกอบอาชีพกันได้ สำหรับกิจกรรมวันนี้ ชาวชุมชนดอนฮังเกลือร่วมกันพายเรือไปกลางโคก หรือที่เรียกว่าเกาะกลางลำคลองบึงเกลือ เพื่อไปหาจับหนูพุก หรือหนูนา ครั้งนี้เป็นวันที่ 4 ทีออกตามจับหนู ตั้งแต่เช้ายันเย็น บุญตาเล่าว่า นอกจากจะนำหนูที่ล่าได้มาประกอบอาหารกินกันในครอบครัวแล้ว ส่วนที่เหลือจากการแบ่งกัน เพราะชุมชนดอนฮังเกลือที่มีสมาชิกอยู่ 19 ครอบครัวนี้ ใช้ชีวิตแบบการมีส่วนร่วมหากินทั้งจับปลารวม รวมทั้งทำนารวม แปลงผักสวนครัวรวมในพื้นที่ราว 30 ไร่ หากเหลือจากการปันแบ่งกันก็นำออกไปขาย ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งหนู 2 ตัวจะนำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม และหาการจับหนูแต่ละครั้งจะได้หนูประมาณ 40 - 50 ตัว อย่างไรก็ตาม บุญตายังคงกล่าวถึงความกังวลของเขาและชาวบ้านว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้ หาก อบต.หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่สามารถลงมือบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังโดยการกักน้ำให้พอใช้ตลอดทั้งปีแล้ว วิถีชุมชนซึ่งมีรายได้จากการหาปลา จับสัตว์น้ำ จับหนู ปลูกพืชผักมาเลี้ยงชีวิตได้ อาชีพของพวกเขาคงหายไปกับสายน้ำที่แห้งขอดลงไปเหมือนที่ผ่านมา บุญตา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้ชาวบ้านจะเสนอให้มีการป้องกันภัยแล้งโดยให้มีการยกระดับฝายกั้นน้ำจากเดิมที่มีระดับต่ำมากให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไม้ให้ไหลออก และทาง อบต.บึงเกลือก็เคยรับปากจะดำเนินการยกระดับฝายให้สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ ชุมชนดอนฮังเกลือมีความขัดแย้งอยู่กับ อบต.บึงเกลือ เพราะทาง อบต.พยายามขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ เพื่อจะเนรมิตบึงเกลือทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวชุมชนดอนฮังเกลือจึงลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน และได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สรุปเหตุ 4 วัน บึ้มทั่วชายแดนใต้ ตายแล้ว 6 บาดเจ็บ 42 Posted: 03 Aug 2013 10:28 AM PDT สรุปเหตุการณ์ความไม่สงบ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ 31 ก.ค.2556 ถึง 3 ส.ค.2556 ตาย 6 บาดเจ็บ 42 ราย มีเหตุระเบิดทั่วทั้ง 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2556 ถึงวันที่ 3 ส.ค.2556 รวมทั้งสิ้นกว่า 33 เหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่ และประชาชน เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีก 42 ราย ซึ่งเป็นเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั่วทั้ง 3 จังหวัด ในช่วงของ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งสรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้ 1.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.05 น. ลอบวางระเบิด ชป.ทพ.4708 เก็บกู้ได้ เพราะพบเห็นผู้ต้องสงสัยก่อน เหตุเกิดในพื้นที่ ม.5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา 2.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.30 น. ลอบวางระเบิดตำรวจ สภ.ลำใหม่ ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา 3.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 10.25 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ อส. อ.บันนังสตา ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดภายในโรงเรียนบ้านเตาปูน อ.บันนังสตา จ.ยะลา 4.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 14.12 น. ลอบวางระเบิด ชป.ร้อย ทพ.4708 ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 นาย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดในพื้นที่ บ.ปาจอ อ.ยะหา จ.ยะลา 5.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 17.00 น. ใช้อาวุธซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1731 ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กาสังใน ม.6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 6.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.25 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1512 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.บาราโฮม อ.เมือง จ.ปัตตานี 7.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 17.45 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณถนนสายสวนพิธาน พื้นที่ บ.บลูกา ม.1 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด 8.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.00 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1732 ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ราษฎรบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.1 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา 9.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.05 น. ลอบวางระเบิด และซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ ตชด.44 เสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.จาเราะแป อ.ธารโต จ.ยะลา 10.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 18.30 น. พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 2 จุด ของจริง 1 ของปลอม 1 เก็บกู้ได้ เหตุเกิดบริเวณตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา 11.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 05.10 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4201 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.โต๊ะบาลา ม.5 ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 12.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 07.30 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4205 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กะลูบี ม.11 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 13.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 13.00 น. ซุ่มยิง ร้อย ทพ.2204 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.พงสตา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 14.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 07.00 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4516 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 15.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.00 น. ลอบวางระเบิดเพลิง บริเวณร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและร้ายขายของชำ บริเวณเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา สามารถเก็บกู้ยิงทำลายไว้ได้โดยปลอดภัย เหตุเกิดบริเวณเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 16.วันที่ 2 ส.ค.2556 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 3 จุด ดังนี้ - เวลา 02.55 น. เพลิงไหม้โรงงานยางไทยปักษ์ใต้ เลขที่ 43 ม.6 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลาเป็นเหตุให้ตัวอาคารเก็บยางพาราถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย - เวลา 03.05 น. เพลิงไหม้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ AIS ใกล้สะพานท่าสาป ม.1 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้สายไฟ และอุปกรณ์ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย - เวลา 03.10 น. เพลิงไหม้โรงงานไม้ยาง พีพาราวู๊ด บริเวณถนนสาย 15 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้ตัวอาคาร และไม้แปรรูปถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย 17.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.20 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 2 จุด ดังนี้ - หจก.ยูเนียนพลาสติก พื้นที่ ม.6 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา - โรงงานผลิตท่อซีเมนต์ยะลาไพบูรณ์กิจ พื้นที่ ม.2 ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับความเสียบางส่วน และรถบรรทุกสิบล้อ และรถโฟล์คลิฟต์ได้รับความเสียหาย 18.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 07.29 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4706 เสียชีวิต 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.1 ต.บาโงซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา 19.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 14.15 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ร.15232 ได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กาลูปัง ม.2 ต.กาลูปัง อ.รามัน จ.ยะลา 20.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 19.47 น. ลอบวางระเบิด โดยใช้ระเบิดชนิดแสวงเครื่องบรรจุในรถจักรยานยนต์ แล้วจุดชนวนระเบิด เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดหน้าธนาคารอิสลาม สาขาบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา 21.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลาประมาณ 03.15 น. ลอบวางเพลิงเผารถรีไซกิ้ง จำนวน 1 คัน และรถบดถนน จำนวน 1 คัน ซึ่งจอดเรียงกันอยู่ที่บริเวณตรงข้ามสถานีอนามัยบ้านทุ่งนเรนทร์ ม.5 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 22.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.20 น. ลอบวางเพลิงในพื้นที่ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จำนวน 3 จุด ดังนี้ - ร้านมินิมาร์ท ของบริษัทศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ เลขที่ 46 ม.7 ต./อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี - ร้านพงศ์ภัทรสปอร์ต เลขที่ 174/7 ร้านโลโก้ เลขที่ 174/8 และ ร้านเสาวดีการค้า เลขที่ 174/15-16 พื้นที่ ม.7 ต./อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี - ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัทพิธานพาณิชย์ พื้นที่ ม.1 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รถจักรยานยนต์เสียหาย จำนวน 50 คัน และตัวอาคารเสียหาย จำนวน 3 คูหา ค่าเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท 23.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 09.20 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ร.15332 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.7 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี 24.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 11.50 น. ตรวจพบระเบิดฝังไว้ใต้ผิวถนน ต่อวงจรลากสายจุดชนวนระเบิด บริเวณพื้นที่ บ.เจาะบองอ ม.5 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เก็บกู้ได้ 25.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 17.00 น.ลอบวางระเบิด ร้อย.ทพ.2210 ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 26.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 17.00 น. ยิง จ.ส.อ.อาหาแซ บาเน็ง สังกัด ร.152 ช่วยราชการที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเกี่ยวกับยาเสพติดและงานมวลชน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี 27.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลาประมาณ 07.25 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4508 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.เจ๊ะเก ม.2 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 28.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 15.00 น. ลอบยิง อส. เสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 29.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 15.30 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4510 ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย เหตุเกิดถนนสายบ้านมะแกง-บ้านกูดง พื้นที่ บ.แบแร ม.6 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 30.วันที่ 2 ส.ค.2556 ตรวจพบวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องแบบเหยียบ บรรจุในกระป๋องผลไม้ ยี่ห้อมาลี น้ำหนักประมาณ 2 กก. บริเวณ บ.ป่าไผ่ ม.5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เก็บกู้ได้ 31.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ร้านขายของชำ เลขที่ 79/1 ม.3 ต./อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย 32.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.30 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 2 จุด พื้นที่รับผิดชอบ สภ.ห้วยปลิง อ.เทพา จ.สงขลา ดังนี้ - ร้านเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายลำไพล-โคกโพธิ์ พื้นที่ บ.นิคมเทพา ม.3 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย - ร้านเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายลำไพล-โคกโพธิ์ บ้านเลขที่ 304 บ.ลำไพล ม.3 ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย 33.วันที่ 3 ส.ค.2556 เวลา 03.25 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่รับซื้อของเก่า บริเวณพื้นที่ ม.9 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แกนนำ นปช.ประกาศสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ขอคนเสื้อแดงเตรียมพร้อมในที่ตั้ง Posted: 03 Aug 2013 10:19 AM PDT 3 ส.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่าประเทศไทยแตกแยกมานานมากแล้ว หลายคนจึงเสนอแนวคิดในการสร้างความปรองดองด้วยการเสนอกฎหมายต่างๆ ทั้งร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ล้วนแต่เป็นเจตนาดี ซึ่งไม่ตรงกับความประสงค์ของพรรคฝ่ายค้าน เขาแคลงใจว่า ทั้งหมดทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงขัดขวางทุกทาง ถึงขนาดฉีกปณิธานของพรรค ที่จะดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการผนึกกำลังนอกสภาฯ ต่อต้านระบอบทักษิณ เราต้องคิดกันให้ดีว่า ระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ การที่คนเสื้อแดงเกิดขึ้น และเติบโตมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านเผด็จการ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนไทยคนหนึ่งย่อมได้รับสิทธิเหมือนคนไทยทั้งประเทศ จากนั้นเวลา 14.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ มีสภาพเหมือนก่อนเหตุการณ์ 19 ก.ย. 49 การข่าวข้อมูลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เราเคยโชคร้ายที่เมื่อ 19 ก.ย.49 ไม่มีขบวนการของคนเสื้อแดงมาบอกความจริงเหมือนวันนี้ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. จะไม่มีทางเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นตัวละครเดิมตั้งแต่ปี 48–49 มีเป้าหมายขับไล่ล้มรัฐบาลที่เขาบอกว่า เป็นระบอบทักษิณ อย่างไม่จำกัดวิธีการ ซึ่งเราไม่พร้อมที่จะอยู่ในฐานะผู้แพ้อีกต่อไป เราต้องสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ต้องไม่มีระบอบอำมาตยาธิปไตยมาคั้นกลาง ซึ่งความแข็งแรงของรัฐบาล อยู่ที่ความแข็งแรงของประชาชน ไม่ใช่ความเมตตาของอำมาตย์ รัฐบาลต้องรู้ว่า มิตรที่แท้จริงคือ คนเสื้อแดง เท่านั้น รัฐบาลต้องไม่ถูกหลอกซ้ำซาก เราต้องขับเคลื่อนอย่างสุขุม ตนจึงขอให้คนเสื้อแดงอยู่ในที่ตั้ง รอฟังสัญญาณจากแกนนำ "ประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลคิดว่าเขาเป็นหุ้นส่วนของรัฐบาล อย่าผลักไสประชาชน และอย่านำไปสู่เหตุการณ์บาดเจ็บล้มตาย สูญเสียชีวิต และอิสรภาพ คนเสื้อแดงขอพูดในฐานะหุ้นส่วนชีวิตว่า ในสถานการณ์แบบนี้ต้องฟังมิตรมากกว่าศัตรู ถ้าหากฟังศัตรู รัฐบาลจะไปเร็ว ทั้งหมดเป็นความหวังดีของประชาชน" นายจตุพร กล่าว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า สถานการณ์ของรัฐบาลช่วงครึ่งปีหลัง (2556) เป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมที่สุด หากรัฐบาลประคับประคองรอดไปได้ รัฐบาลอยู่อีกยาว แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการโค่นล้มให้ได้ภายในปีนี้ รัฐบาลไม่ได้ปกป้องตัวเองโดยไม่ขับเคลื่อนอะไรเลย ตรงกันข้ามรัฐบาลต้องขับเคลื่อนเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งตนมั่นใจว่าภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ภารกิจร่วมคือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ขอฟันธงว่าการชุมนุมของคนพวกหน้ากากขาวและกลุ่มทหารแก่ ไม่มีทางล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้อย่างแน่นอน แต่ที่เรามาประชุมกันในวันนี้ เพราะห่วงปัจจัยอื่น เพราะทางการข่าวมีหลายกระแส ทั้งนี้ ตนเห็นว่า เวลานี้คนเสื้อแดงต้องเป็นเอกภาพ ในระยะต้นระฆัง ยกที่หนึ่ง ดังพรุ่งนี้ ให้เขาเดินไปก่อน เราทำหน้าที่ติดตามดู ไม่ต้องเข้าไปใกล้ หรือสังเกตการณ์ ยกที่สอง หากสถานการณ์ต้องเคลื่อนไหวใดๆ ขอความกรุณาคนเสื้อแดงทุกกลุ่มฟังสัญญาณจากแกนนำส่วนกลางเป็นหลัก ยกที่สามหากถึงสถานการณ์ที่เขาลงมือชัดเจน เช่น องค์กรอิสระลงดาบรัฐบาล หรือมีการลุกขึ้นมาก่อการรัฐประหาร ให้ถือปฏิบัติว่าการต่อต้านรัฐประหาร เป็นหน้าที่ของเสรีชน ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร จากนั้นแกนนำ นปช. ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์จุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยระบุว่า การอ้างเหตุผลในการเคลื่อนไหวนำประชาชนออกมาต่อต้านการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และชูคำขวัญโค่นล้มระบอบทักษิณ เป็นเรื่องที่ขาดความชอบธรรม เพราะเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว มุ่งนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ทั้งนี้ เห็นว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอนุรักษ์สุดขั้ว ที่จัดการเคลื่อนไหวในเวลานี้ ล้วนแสดงออกถึงการไม่ยอมรับกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้าม กลับใช้วิธีการอื่นเพื่อล้มล้างกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มตนเองขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองการปกครอง โดยสถานการณ์ขณะนี้ นปช.เห็นว่า อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ โดยอ้างความไม่สงบจากความความขัดแย้งในประเทศ หรือทำให้เกิดการแทรกแซงและทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน ด้วยการทำให้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงกับประชาชน อยู่ในฐานะครอบงำและสั่งการ มีบทบาทเหนืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ส่งผลให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่ง นปช.ยืนยันว่า ประชาชนจะคัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ ไม่ว่ากองทัพหรือใช้กฎหมายและอำนาจนอกระบบ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์แล้ว นปช.จะเตรียมพร้อมในที่ตั้งทั่วประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์และรอการนัดหมาย ในสถานการณ์ที่พลิกผัน หรือเกิดความรุนแรง เพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งให้ฟังการส่งสัญญาณจาก นปช.ส่วนกลางเท่านั้น โดยระหว่างนี้ จะจัดการปรับปรุงเครือข่ายผู้ประสานงานให้เข้มแข็งทุกระดับ จัดการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับการติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค รวมไปถึงการเตรียมพร้อมบุคลากร สถานที่และมวลชน ให้พร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลอดเวลา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตร.แจงยังไม่ได้จับ 'ปูเค็ม' ชุมนุมที่ พท. แค่เชิญมาเจรจาที่ สน. Posted: 03 Aug 2013 10:14 AM PDT ตำรวจแจงเชิญตัวผู้กองปูเค็มไปเจรจาที่ สน.มักกะสัน ยังไม่ได้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวแต่อย่างใด ด้าน ศอ.รส.เตือนเข้าเขตหวงห้ามฝ่าฝืนโทษ 6 เดือน เผยจับหนุ่มพกมีดเข้าพื้นที่แล้ว 1 ราย ส่งสน.ดุสิตดำเนินคดี 3 ส.ค. 56 - พ.ต.อ.กิติ ยุกตานนท์ ผกก.สน.มักกะสัน เปิดเผยถึงกรณี ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม เดินทางไปชุมนุมที่หน้าพรรคเพื่อไทยว่า ล่าสุดทางตำรวจได้เชิญตัวผู้กองปูเค็มไปเจรจาที่ สน.มักกะสัน ซึ่งไม่ได้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวแต่อย่างใด เนื่องจากผู้กองปูเค็มพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 5-6 คน แสดงเจตนาว่าจะปักหลักชุมนุมอยู่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน ทางตำรวจเห็นว่า อาจเป็นการไม่เหมาะสมและเกรงว่าจะเข้าข่ายความผิดเรื่องบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคล จึงมีการเจรจาโดยผู้กองปูเค็มเองก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงจัดสถานที่เหมาะสมคือที่ สน.มักกะสันในการพูดคุยเจรจา โดยขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มประชาชนไม่เอาระบอบทักษิณ นำโดย ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ประมาณ 50 คน รวมตัวชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ พท. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ดูแลความเรียบร้อยประมาณ 60 นาย ร.อ.ทรงกลดกล่าวว่า ที่มาในวันนี้เพื่อที่จะมาดูสถานที่ในการชวนมาร่วมชุมนุม พท.มีบรรยากาศที่ร่มรื่น มีร่มเงาให้ผู้ชุมนุม เป็นพรรคการเมืองของประชาชน อีกทั้งไม่อยู่ในเขตที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงและใช้สิทธิชุมนุมตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งสูงกว่ากฎหมายระดับ พ.ร.บ.และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากสภา หากยืนยันจะพิจารณาต่อไป ตนไม่ยอม ขอทำหน้าที่ปกป้องสถาบันตุลาการ จะไม่ยอมให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยย่ำยีอำนาจตุลาการ พร้อมฝากบอกรัฐบาลและ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ว่าผู้กองปูเค็มพร้อมรบ ซึ่งตนได้เตรียมจัดตั้งนักรบจรยุทธ์ ที่พร้อมจะรบในลักษณะสงครามกองโจร ซึ่งเป้าหมายกำหนดไว้แล้ว แต่ขอไม่บอก เมื่อถามว่า อย่างนี้จะเสี่ยงเกิดความรุนแรงหรือไม่ ร.อ.ทรงกลด กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมหรือไม่ หากถอนไป ก็ไม่เกิดความรุนแรง เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีจุดมุ่งหมายประชาชนทุกสีเสื้อซึ่งกลุ่มเสื้อเหลือง ก็ได้ประโยชน์ ร.อ.ทรงกลดกล่าวว่า ต้องกำหนดให้ชัดว่า ไม่รวมแกนนำ แต่การนิรโทษกรรมนั้น ผู้ทำผิดต้องสำนึกเสียก่อน ผู้เผาศาลากลางรับผิดหรือยัง หรือคนที่บงการสำนึกผิดหรือยัง เพราะเมื่อถึงการชุมนุมจริง รัฐบาลจะรับมือพวกเราไม่ไหว มีตำรวจเพียง 3 หมื่น แต่ประชาชนที่เห็นต่างมีถึง 12 ล้านคน ตำรวจหน้าสภาก็เอาไม่อยู่ สำหรับการที่นายกฯ ออกแถลงการณ์เดินหน้าสร้างปรองดองกับประชาชนทุกกลุ่ม ตนคิดว่าเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลเท่านั้น แค่คนแรกที่ไปคุยคือนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ผิดแล้ว เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไปคุยกัน ก็ไปหารือถึงประโยชน์ของตัวเอง และในขณะนี้ ตนทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้เตรียมมวลชนมาชุมนุม โดยพักอยู่ที่วัดพระธรรมกาย ส่วนแกนนำในเย็นนี้จะไปจัดชุมนุมที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง แต่ตนยังเชื่อว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะ ผอ.สอรส. จะไม่ทำร้ายประชาชน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ที่กำลังทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงเอง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันจะปักหลักชุมนุมที่ พท. แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารได้เจรจาขอร้องให้ไปชุมนุมบริเวณนอกอาคารที่ทำการพรรค แต่ ร.อ.ทรงกลดไม่ยอม โดยประกาศจะยืนอยู่บริเวณทางขึ้นหน้าพรรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารจะได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป นอกจากนี้ ร.อ.ทรงกลดประกาศจะนอนค้างคืนที่ พท.และในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะไปจัดกิจกรรมสลายสีเสื้อ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย ศอ.รส.เตือนเข้าเขตหวงห้ามฝ่าฝืนโทษ 6 เดือน ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีที่กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ประกาศใช้พื้นที่สวนลุมพินี เป็นพื้นที่การชุมนุมพรุ่งนี้ ถือว่า อยู่นอกเหนือเขตประกาศของ ศอ.รส. เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ ที่กำหนด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมือที่สามมาทำการยั่วยุ หรือใช้กำลังก่อความวุ่นวาย ทั้งนี้กองทัพประชาชนฯ มีสิทธิ์ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ในความสงบและปราศอาวุธ อย่างไรก็ตาม ห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเคลื่อนกำลังคน หรือดาวกระจาย เข้าไปในจุดต่าง ๆ ตามที่ประกาศห้าม หากฝ่าฝืนทาง ศอ.รส. จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป "ก็อนุญาต การชุมนุมเป็นสิทธิ์อยู่แล้ว จะเคลื่อนไปก็เคลื่อนได้ แต่ห้ามเข้าไปในเขตที่เราประกาศห้ามไม่ได้" เลขาธิการ ศอ.รส. กล่าว ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.รส. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ หากไม่จำเป็น ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ควรเดินทางออกจากเคหสถาน เนื่องจากจะมีปัญหาในเรื่องการจราจรที่ติดขัด ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม หากฝ่าฝืนเข้าไปในเขตที่ประกาศห้าม จะมีโทษจำคุก 6 เดือน บชน. คุมเข้มพื้นที่ พรบ.มั่นคง เผย จับหนุ่มพกมีดเข้าพื้นที่แล้ว 1 ราย ส่งสน.ดุสิตดำเนินคดี ด้าน พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กลุ่มต่างๆหลังมีการประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ควบคุมพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต และเขตพระนคร ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ ว่าล่าสุดกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับผู้ชุมุนมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หรือสวนลวนลุมพินี ซึ่งตำรวจจะมีการใช้กำลังตำรวจพื้นที่และกำลังควบคุมฝูงชนดูแล แต่จะเน้นดูพื้นที่ควบคุม 3 เขตที่ประกาศพรบ. มั่นคงเป็นหลัก ขณะที่การตั้งจุดตรวจพบว่ามีการจับกุมผู้พกพาอาวุธมีดเข้าพื้นที่1 รายยึดมีด 1 เล่มและได้ส่งดำเนินคดีสน.ดุสิตแล้ว ขณะที่การปิดประกาศของศอรส. จะพิจารณาปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โดยหากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็สามารถเส้นทางได้ปกติ ทั้งนี้หลังการประชุมพลตำรวจตรีปริญญาลงพื้นที่ตรวจสอบและกำชับกำลังพลในพื้นที่ตั้งจุดตรวจที่แยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งกำชับให้กำลังพลให้ตรวจตราพื้นที่อย่างละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่คาดคิด ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ไอเอ็นเอ็น, โพสต์ทูเดย์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เราเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกัน: ญาติเหยื่อปุโละปุโย Posted: 03 Aug 2013 09:36 AM PDT บันทึกและข้อสังเกตจากทีมสื่อ FT MEDIA ต่อคำตัดสินกรณีการไต่สวนการตายของชาวบ้านปุโละปุโย ที่ผลการไต่สวนคือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ขณะที่ข้อเท็จจริงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และชาวบ้านขัดกันอย่างสำคัญ หลังจากกระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเงียบๆได้ปีครึ่ง บ่ายวันที่ 31 กค.ที่ผ่านมาศาลปัตตานีก็ได้ฤกษ์อ่านคำสั่งไต่สวนการตายกรณีที่เรียกกันว่า "สี่ศพปุโละปุโย" อ่านจบไปได้สักพัก บรรดาญาติๆที่ร่วมรับฟังคำสั่งก็ยังคงทำหน้างงๆ ทนายความคือภาวิณี ชุมศรีเข้าไปอธิบายให้ฟังซ้ำ แต่ญาติบอกในที่สุดว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เข้าใจ ทำให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นความงงเพราะปรับความรู้สึกไม่ทันมากกว่า สีหน้าผิดหวังของพวกเขาดูปิดไม่มิด แม้ว่าหลายคนจะแสดงอาการเฉยเมยไร้ความรู้สึก อันเป็นวิธีการแสดงออกของผู้คนในพื้นที่นี้ที่เห็นเป็นประจำในยามที่พวกเขาอึดอัดใจ คำสั่งศาลที่ยาวเหยียดบ่ายวันนั้นได้รวบรวบเอาคำให้การของทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ญาติผู้สูญเสีย พยานที่บาดเจ็บ และอื่นๆ สรุปก็คือ จากคำให้การต่างๆ พบว่า เหตุการณ์ในคืนวันที่ 29 มค.2555 นั้นเกิดขึ้น หลังจากที่มีการยิงระเบิดเข้าใส่ฐานทหารพรานที่4302 ที่บ้านน้ำดำซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปจากที่เกิดเหตุ ซึ่งทำให้จนท.ชุดหนึ่งจากฐานนำรถออกลาดตระเวนจนกระทั่งมาพบกับรถของชาวบ้านทั้งเก้าคนที่กำลังจะไปละหมาดให้กับผู้ตายในพื้นที่ใกล้เคียง การเผชิญหน้ากันสั้นๆกลายเป็นจุดจบของสี่ชีวิตและคนบาดเจ็บอีกห้า นั่นเป็นภูมิหลังของเรื่องและเป็นจุดตั้งต้นของคดีความที่ทำท่าว่าจะยืดเยื้อหาที่ลงไม่ได้อีกราย สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป และเนื่องจากในที่เกิดเหตุไม่มีพยานอื่น สิ่งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการที่จะต้องพิสูจน์คำพูดของจนท. กับคำพูดของชาวบ้านที่รอดชีวิต เท่ากับว่า ทุกฝ่ายฝากความหวังไว้กับกระบวนการสอบสวนของจนท.ตำรวจกับการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นศาล ว่าความจริงอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายชาวบ้านและจนท.ให้การตรงกัน นั่นก็คือ ในการพบกันบนทางเบี่ยงของรถเจ้าหน้าที่และรถชาวบ้านนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้สัญญาณให้รถของชาวบ้านหยุด มีทั้งพูดเป็นภาษาไทย มลายูและทำสัญญาณมือ แม้ว่าฝ่ายชาวบ้านบางคนจะไม่ได้พูดเอาไว้ก็ตาม ในขณะที่คำให้การของซีกชาวบ้านระบุว่า ชาวบ้านเองก็ตะโกนบอกชัดเจนว่าพวกเขาจะไปละหมาด แต่ฝ่ายจนท.ไม่มีใครให้การว่าได้ยินเสียงชาวบ้านแต่อย่างใด สิ่งที่ขัดกันก็คือชาวบ้านให้การว่าถูกจนท.ยิงโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไร ขณะที่จนท.บอกว่ามีเสียงปืนดังมาจากรถของชาวบ้านก่อน ฝ่ายตนจึงยิงตอบโต้ และเนื่องจากเห็นคนยิงแล้วกระโดดหนีเข้าราวป่าทั้งยังยิงมาจากราวป่าด้วย จนท.จึงยิงไปทั้งที่รถและที่ราวป่าในเวลาเดียวกัน ข้อมูลจากการไต่สวนบอกต่อไปว่า หลังจากที่มีการยิงกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งที่ได้รับแจ้งเหตุตามเข้าไปในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ชุดหลังนี้ได้สั่งให้จนท.ชุดแรกออกไปรักษาความปลอดภัยห่างออกไปอีกด้านหนึ่งของถนน แล้วกลุ่มที่สองก็เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ มีรายละเอียดบางประการจากการให้การที่มีเรื่องราวเพิ่มเติมสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ นั่นก็คือว่า จากการให้การของจนท. มีคนในกลุ่มของจนท.ชุดหลังนี้ที่อ้างว่า มีผู้เห็นวัตถุต้องสงสัยใต้รถ จึงได้มีการสั่งให้นำรถรีว่า หรือรถหุ้มเกราะที่จนท.ชุดหลังนำไปด้วย ไปดันรถกระบะของชาวบ้านที่โดนยิงไปแล้วนั้น จากนั้นมีผู้เห็นว่ามีพานท้ายปืนอันหนึ่งโผล่ออกมาจากบริเวณด้านข้างของคนขับ และพอถอยรถรีว่าขึ้นมาก็พบว่ามีคนวิ่งหนีออกจากทางประตูรถกระบะแล้ววิ่งเข้าไปในแนวป่า แล้วจึงมีเสียงปืนดังขึ้นอีกสองนัด จึงได้มีการยิงตอบโต้กลับไปอีกชุดหนึ่งจากฝ่ายจนท. หลังจากนั้นจนท.ก็รอจนกระทั่งเมื่อมีรถปั่นไฟเข้าไปในที่เกิดเหตุตอนห้าทุ่มครึ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบรถอีกครั้ง จึงได้พบศพผู้ตายและผู้บาดเจ็บจึงได้นำคนเจ็บคนตายส่งโรงพยาบาลต่อไป คำสั่งศาลตอนหนึ่งจึงสรุปว่า "เมื่อเจ้าหน้าที่มาอีกชุดหนึ่ง ใช้อาวุธยิงที่เดิมอีก (ชาวบ้าน) จึงตาย การกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย" และในตอนท้ายคำสั่งระบุอีก "สรุปว่า ผู้ตายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนจากจนท.ทหารที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ยิง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย" บนเส้นทางของการต่อสู้ทางคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ข้อมูลแต่ละจุดแต่ละประเด็นดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสำหรับการต่อสู้ต่อไปและต่อความรู้สึกของญาติและสาธารณะ ย้อนหลังกลับไปเมื่อปีที่แล้วคือปี 2555 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง โดยมีประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี แวดือราแม มะมิงจิ เป็นประธาน มีจนท.ทั้งสามฝ่ายรวมทั้งทนายและตัวแทนญาติเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนั้นก็มีบทสรุปเช่นเดียวกันว่า กรณีสี่ศพปุโละปุโยเป็นการเสียชีวิตของชาวบ้านจากการยิงของจนท. แต่ที่อาจจะทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า ตนเองขยับเข้าใกล้ความเป็นธรรมได้มากกว่า ก็คือการที่คณะกรรมการชุดนั้นสรุปไว้ชัดว่าสถานะของชาวบ้านที่ตายเป็น "ผู้บริสุทธิ์" ขณะที่ในคำสั่งศาลกลับเปิดทางให้มีการสอบกันต่อไปเพราะคำที่ว่า จนท.ติดตามตัว "ผู้ต้องสงสัย" นอกจากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังระบุไว้ด้วยว่า ทหารที่ยิงนั้น ยิงเพราะ "สำคัญผิด" ซึ่งญาติกล่าวว่า ในฐานะของผู้สูญเสีย อย่างน้อยยังดีกว่าระดับหนึ่งเพราะถือว่ายอมรับว่าทำ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดพลาดก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจด้วย ก็คือเรื่องที่คำสั่งการไต่สวนระบุว่า การโดนยิงของชาวบ้าน โดนถึงสองครั้ง ครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่ชุดแรก แต่ต่อมาเมื่อจนท.ชุดที่สองไปถึง ได้ขอให้จนท.ชุดแรกถอยออก เพื่อให้ชุดใหม่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ปรากฏว่าในช่วงนี้มีการยิงใส่รถกระบะอีกหน โดยจนท.ชุดที่สองที่อ้างเหมือนกันว่า มีเสียงปืนยิงมาจากรถกระบะมาทางฝั่งจนท.เช่นเดียวกัน จุดนี้น่าจะยิ่งทำให้การหาตัวผู้กระทำเป็นงานหนักเพิ่มขึ้นเพราะมีจนท.ที่เกี่ยวข้องถึงสองชุด นอกจากนี้การที่พบว่ามีอาวุธในรถกระบะยิ่งทำให้เรื่องราวเข้มข้นไปในทิศทางที่พัวพันชาวบ้านทั้งกลุ่มทันที ประเด็นเหล่านี้น่าจะทำให้ทนายและญาติมีงานหนักมากขึ้น นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่ว่า คำสั่งไต่สวนการตายหนนี้ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นชี้ชัดว่า จนท.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ อันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวัง "เรารู้แน่ว่าชาวบ้านซึ่งเป็นพี่น้องเราหมด บริสุทธิ์จริงๆ" อาอีด๊ะ บือราเฮง ญาติรายหนึ่งกล่าว "ในเมื่อรัฐกระทำต่อประชาชน อยากให้มองว่าประชาชนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน แม้ไม่ได้ทำหน้าที่หน่วยงานรัฐแต่เรายังเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกันว่าความยุติธรรมความเป็นจริงมันอยู่ยังไงตรงไหน" "ตอนแรกๆก็มีความหวังต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เงินเจ็ดล้านห้ามันไม่ใช่ค่าของคน ร้อยล้านก็ไม่ใช่" อาอีด๊ะกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย "ในสามจังหวัดเราต้องการความอยู่รอด ความปลอดภัย เราเองก็สู้ แต่เราไม่ได้ไปยิงใคร แต่อยากให้มีความเสมอภาคของคนทั่วไป เราไม่ได้ว่ารัฐไม่ดี แต่คนที่ทำงานตรงนี้มันจะมีไหม ได้อ่านมาหลายคดีก็เป็นเหมือนกันแบบนี้ ตบท้ายก็อยู่ระดับนี้ จะทำยังไงให้มันกว้างกว่านี้ คนที่ยังไม่โดน ให้คดีของเราเป็นตัวอย่างก็ได้" "ชาวบ้านน่ะคาดหวังแต่ไม่มีหวัง พวกเราไม่รู้จะพึ่งใคร คนมีหนังสือมีการศึกษาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐอ่อนแอเกิน ก็ไม่ได้โทษว่ารัฐไม่ดีนะ รัฐน่ะดี แต่ทำไมล่ะ คนคนหนึ่งเสียชีวิตแล้วทำเฉยเหรอ มันไม่ใช่ คนอื่นอีกที่ต้องดำเนินชีวิต มันไม่มีหลักประกัน" หลังฟังคำสั่ง คำถามสำคัญสำหรับพวกเขาก็คือ จะทำอย่างไรต่อ ภาวิณี ชุมศรียอมรับว่าทนายความไม่อาจทำอะไรได้มากนักนอกจากติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป เพราะพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สานต่อในเรื่องคดีอาญา เส้นทางข้างหน้าคือหากพวกเขาพบว่ามีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินเหตุก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ – ซึ่งในกรณีนี้ต้องเป็นอัยการทหารเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นทหารพรานแต่ก็ต้องขึ้นศาลทหารตามกฎหมาย ตัวผู้เสียหายไม่มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องเอง เธอยอมรับว่า ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ศาลทหาร แม้แต่ศาลพลเรือนปกติ สาธารณะก็ยังไม่ได้เห็นการลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่กรณีเดียว แต่ภาวิณีกับลูกความของเธอยังคิดว่าจะต่อสู้ต่อไป อาอีด๊ะยอมรับว่าเธอยังไม่มั่นใจแต่รู้ว่าต้องสู้ต่อ "ยังไม่รู้จะไปซ้ายหรือไปขวาหรือว่าจะเดินตรง ยังคิดอยู่ ตัดสินใจไม่ถูก ความรู้สึกมันท้อ แต่ว่าต้องก้าวไป" ด้านทนายความภาวิณียอมรับว่าบางครั้งก็มีอาการท้ออยู่บ้าง "เทียบกับที่อื่นที่นี่มันยากจริงๆ อย่างที่กาฬสินธุ์ เราได้เห็นตำรวจถูกลงโทษ แต่ทำไมที่นี่มันไม่เคยเกิดเลยทั้งๆที่เห็นชัดๆว่าใครทำ กลไกมันล็อคไปหมด" "แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เรายังรออยู่ รอวันที่ฟ้าจะสดใส ถึงแม้ว่าวันนี้ฝนจะตก มันต้องมีสักวัน มันต้องมีจังหวะที่มันเปิดบ้าง" ทว่าในโลกโซเชียลมีเดียที่ข่าวไปเร็ว และปฏิกิริยามาเร็ว ทันทีที่โพสต์บทสรุปจากคำสั่งศาลได้ไม่ถึงสองนาที ก็มีผู้เข้าไปสะท้อนความเห็นทันที หลายเสียงแสดงความเหนื่อยหน่ายต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจด้วยก็คือปฏิกิริยาของนักกฎหมายด้วยกัน "กระบวนการยุติธรรมให้ได้แค่นี้จริงๆ" เป็นหนึ่งในความเห็นจากนักกฎหมายที่เคยทำงานในภาคใต้มาก่อนคือเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ "ดังนั้นควรยกเลิกกระบวนการไต่สวนการตายได้แล้ว" "ซ้ำซ้อนที่สุด"
เผยแพร่ครั้งแรกใน Deep South Watch ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 03 Aug 2013 03:05 AM PDT อนุสนธิจากการเดินทางไปดูงานที่แคปิตัลฮิล ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาคองเกรสอเมริกันทำให้ทราบ ถึงกลไกและวิธีการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรส (คองเกรสแมน /คองเกรสวูแมน - สส.) รวมกระทั่งถึง การทำงานของสมาชิก วุฒิสภา(ซีเนเตอร์- สว.) ซึ่งผมใคร่ตั้งข้อสังเกตต่อวิธีการทำงานของนักการเมือง ระดับชาติอเมริกันจากที่เห็น ดังนี้ 1.การทำงานของนักการเมืองอเมริกัน มีลักษณะการทำงานเป็นทีม สส.หรือสว.หนึ่งคนมีสำนัก งาน หรือออฟฟิศเป็นของตนเองอยู่ที่ตึกคองเกรส ในออฟฟิศดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ประจำแบ่งงานกันทำ เช่น งานด้านนโยบาย งานด้านกฎหมาย งานด้านสังคม งานด้านต่างด้าว(อิมมิเกรชั่น) เป็นต้น นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานท้องถิ่นที่เรียกว่า Local office ในเขตที่มาของนักการเมืองแต่ละคน เช่น สส. Dina Titus(เดโมแครต) นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานที่ดี.ซี.แล้ว เธอยังมีสำนักงานที่เมืองลาสเวกัส เขตเลือก ตั้งที่ 1ของรัฐเนวดาอีกด้วย โดยสำนักงานในเขตเลือกตั้งก็มีการแบ่งงานแบบเดียวกันกับสำนัก งานที่ดี.ซี.หรือแคปิตัลฮิล มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานตลอด 2. มีเจ้าหน้าที่(ทีม)ที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ การติดตามสถานการณ์ข่าวสารในประเด็นต่างๆ ของสมาชิกคองเกรส เนื่องจากการออกกฎหมายซึ่งเป็น หน้าที่ของสมาชิกคองเกรสโดยตรงนั้น สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและ ต่างประเทศ นอกเหนือไปจากผลต่อกระแสตอบรับหรือความนิยมจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ด้าน ข้อมูลข่าวสารที่ทำงานให้กับสมาชิกคองเกรสทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎ หมาย และการวางท่าทีในการแสดงความเห็นหรืออภิปรายของสมาชิกคองเกรสต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ทำให้สมาชิกคองเกรสสามารถวางตัวอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อคะแนนนิยมของ ประชาชน และภาพลักษณ์ของสมาชิกคองเกรสคนนั้นๆ 3. งานด้านวิจัย เป็นการทำงานด้านข้อมูลเชิงลึกของสมาชิกคองเกรส และเป็นส่วนหนึ่งของการ แสวงหาข้อมูลเพื่อการอภิปรายและนำเสนอปัญหาหรือข้อเท็จจริง สมาชิกสภาคองเกรสจำนวนไม่น้อยอา ศัยนักวิชาการเพื่อดำเนินการวิจัยประเด็นปัญหาก่อนที่จะนำไปสู่การอภิปรายในสภา หรือก่อนที่จะมีการ โหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับต่างๆ โดยหลายครั้งที่ผู้ดำเนินการวิจัยจากสำนักงาน ของสมาชิกคองเกรสต้องลงพื้นที่จริงทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูลและสรุปผลการวิจัยนั้นเสนอต่อผู้ ว่าจ้างคือ สมาชิกคองเกรส นั่นเอง ดังมีอยู่หลายครั้งที่ผู้วิจัยอเมริกันลงพื้นที่ในเมืองไทย เพื่อหาข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศของอเมริกัน เช่น สถานทูตสหรัฐฯ หน่วยงานสันติภาพอเมริกัน (US Peace Corps)ในไทย เป็นต้น น่าสังเกตว่าในช่วงหลังการแสวงหาข้อมูลของคองเกรสเพื่อการวิจัยของผู้วิจัยคองเกรส เป็นไปแบบคู่ขนาน หรือมี 2 ลักษณะ ได้แก่ หนึ่ง การแสวงหาข้อมูลจากหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลอเมริกันที่มีอยู่แล้ว เช่น หน่วยงาน Bureau of East Asian and Pacific Affairs ของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น และสอง การส่งผู้วิจัยลงพื้นที่โดยตรงเพื่อเจาะปัญหาเชิงลึก ขณะเดียวกันบางครั้ง สมาชิกคองเกรสก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น การลงพื้นที่ของสส. และสว.อเมริกันหลายในพื้นที่เขต แดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก เพื่อทราบปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามพรมแดน และปัญหายาเสพติด ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก ในด้านงบประมาณสำหรับวิจัย สมาชิกคองเกรสผู้ประสงค์ทำการวิจัยข้อมูลเชิงลึก สามารถดำเนินการได้ใน 3 ระดับ คือ 1. ดำเนินการในนามส่วนตัวของสมาชิกคองเกรสผู้นั้น โดยอาศัยงบประมาณจากสภาคองเกรสต่อหนึ่งสมาชิก ที่ได้รับตามปกติ 2. สมาชิกสภาคองเกรสทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณพิเศษจากสภาคองเกรสในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการวิจัยเพื่อให้มาซึ่งข้อเท็จจริงในบางประเด็น บางปัญหา 3. สมาชิกสภาคองเกรส ดำเนินการวิจัยภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆของ สภา (คองเกรส) ซึ่งก็จะต้องนำเสนอโครงการการวิจัยต่อสภาคองเกรสเพื่ออนุมัติงบประมาณ ก่อนการวิจัยจะเกิดขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ อเมริกันคองเกรสให้ความสำคัญต่อการวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็น "ข้อเท็จจริง" จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆก่อนนำไปอภิปรายหรือลงมติในสภา นอกเหนือไปจากการใช้หลัก เหตุผลเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในบรรดานักอภิปรายในสภา หรือในบรรดานักการเมืองระบบสภา โดยทั่วไป การวิจัย จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของนักการเมืองอเมริกันที่เลยไปจากการพ่นน้ำลายฉายเหตุผล ทางปากเพียงอย่างเดียว หากมันคือ การนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความเชื่อหรือความเห็นของนักการ เมืองว่าเป็นความจริง พร้อมผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อประเด็นของเพื่อนสมาชิกคองเกรส ประเด็นที่วิจัยกันส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่แหลมคม ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและลงมติร่าง กฎหมายของคองเกรส เช่น ประเด็นความมั่นคง ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นสังคม เป็นต้น การวิจัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชี้นำเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกคองเกรส โดยเฉพาะการตัดสินใจ ลงมติโดยไม่คำนึงความเป็นพรรคแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า แม้ภาพลักษณ์นักการเมือง อเมริกันเองจะไม่ได้ต่างไปจากภาพลักษณ์ของนักการเมืองของประเทศอื่นมากนักก็ตาม แต่บางครั้ง "ข้อเท็จจริง"จากงานวิจัยที่ถูกนำเสนอ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการรับรู้ของมวลชนหรือประชาชน ซึ่งเสียงของประชาชนเหล่านี้ มีผลต่อท่าทีของนักการเมือง นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความจริงในด้านต่างๆ คองเกรสได้จัดตั้งหน่วยงานบริการด้านการวิจัย คือ Congressional Research Service -CRS เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการวิจัยงานในส่วนของคองเกรสโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วหน่วยงานวิจัยแห่งนี้ เป็นหน่วยงานของคองเกรสโดยไม่สังกัดพรรค (ขึ้นกับ The Library of Congress) ทำหน้าที่ในการวิจัยตามปกติอยู่แล้ว แต่หากสมาชิกคองเกรสคนใดต้องการให้วิจัยประเด็น(เรื่อง)ใดเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ โดยการเสนอเรื่องไปยังหน่วยงาน CRS ได้ หมายความว่า สมาชิกคองเกรส สามารถทำการวิจัยได้ 2 ทาง คือ ใช้บริการหน่วยงานวิจัยกลางอย่าง CRS และดำเนินการวิจัยโดยสำนักงานและคณะ(กรรมาธิการ/ทีม)ของตนเอง เพราะหน่วยงานวิจัย CRS มีข้อจำกัดบางประการ เช่น กระบวนการอนุมัติประเด็นวิจัย กระบวนการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น ปัจจุบัน CRS มีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 600 คน จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ในปี 2012 คองเกรสอนุมัติเงินพื่อหน่วยงานแห่งนี้ จำนวน 106.8 ล้านเหรียญ โดย CRS ยังทำงานร่วมกับ สำนักงบประมาณของคองเกรส (The Congressional Budget Office) และ สำนักงานพิจารณาการงบประมาณของรัฐ(Government Accountability Office) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกคองเกรสทางด้านการเงิน หรือการงบประมาณของรัฐ ตรวจสอบระบบบัญชีของรัฐจากโครงการใช้จ่ายในด้านต่างๆ หากรวม 3 หน่วยงานของคองเกรส ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมทำงานมากกว่า 4,000 คน บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ CRS คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นปัญหาด้าน นโยบายสาธารณะให้กับสมาชิกคองเกรสได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการอภิปรายในสภา และเพื่อการตัดสินใจในการโหวตแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ CRS มี อย่างตรงไปตรงมา เพราะอย่างที่บอก คือ หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานวิจัยกลางของคองเกรส ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด การวิเคราะห์ของ CRS เองก็ไม่พร่ำเพรื่อ คือ จะให้คำปรึกษาด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ สมาชิกคองเกรสกรณีที่ได้รับการร้องขอ ส่วนใหญ่การให้ข้อมูลและคำปรึกษาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวน การด้านกฎหมาย กระบวนการด้านงบประมาณ และการทำงานเชื่อมกันระหว่าง 2 สถานที่ของสมาชิกคองเกรส คือ ที่ดี.ซี.และในแต่ละเขตเลือกตั้งของสมาชิกคองเกรส , CRS ยังทำหน้าที่สัมนาสมาชิกคองเกรสหน้าใหม่ เพื่อให้ทราบกฎหมายและเบียบต่างๆของคองเกรสอีกด้วย การจัดตั้งหน่วยงาน CRS ชี้ให้เห็นว่า คองเกรสถืองานวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ จึงนำมาสู่กระบวน การแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการของคองเกรส ไม่ใช่สักแต่เป็นสส.และสว. แล้ว อภิปรายหรือ ตัดสินใจลงมติแต่เพียงชุ่ยๆเท่านั้น แต่คนเป็นนักการเมืองต้องทำการบ้านด้านข้อมูล ข้อเท็จจริงมาอย่างดิบดี ไม่ใช่มัวแต่ลอกข้อมูล ลอกข่าว จากหนังสือพิมพ์ ตัดคลิปจากอินเตอร์เน็ต หรือจากสื่อต่างๆ ที่นิยมทำกันในบรรดานักการเมืองบางประเทศ พูดก็พูดเถอะครับ กรณีของรัฐสภาไทย มีความพยายามกันอย่างมากในการโปรโมทองค์กรรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการเมืองสำคัญแห่งหนึ่ง เช่น มีการจัดตั้งสื่อโทรทัศน์เป็นของตัวเอง เป็นต้น แต่สำหรับหน่วย งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำงานของ สส./สว.เพื่อให้เข้าถึงข้อเท็จจริงเชิงข้อมูลในด้านต่างๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจเสนอเรื่องนี้กันแต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ร่วม แนวปฏิบัติในการทำข่าวช่วงบังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคง Posted: 02 Aug 2013 09:46 PM PDT สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะสามารถเข้าทุกพื้นที่ของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ เผยแนวปฏิบัติในการทำข่าว หลังประชุมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (3 ส.ค.56) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมออกแถลงการณ์ เรื่อง แนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 รายละเอียดมีดังนี้
ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 ในพื้นที่ 3 เขตของกทม. คือ เขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง สององค์กรวิชาชีพสื่อ โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยืนยันถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะสามารถเข้าทุกพื้นที่ของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ แต่จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนหลายคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวทั้งสอง จึงประชุมร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อวางแนวปฏิบัติร่วมกันดังนี้ 1. กรณี "ปลอกแขน" สำหรับนักข่าวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสังเกตเห็นนักข่าวได้จากระยะไกล หรือในสภาวะชุลมุน แต่ปลอกแขนไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ระบุถึงการลงทะเบียนว่านักข่าวคนใดที่สามารถทำข่าวในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ตามกรอบสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว นักข่าวย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ในสนามข่าว โดยทางสมาคมนักข่าวฯ ได้เน้นย้ำกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ให้ใช้ดุลยพินิจตามกรอบกฎหมายพื้นฐาน โดยอาศัยเจตนา และพฤติกรรม ของนักข่าวและสื่อสารมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ หากนักข่าวมิได้แสดงเจตนา หรือ พฤติกรรม ในการยั่วยุ หรือ ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ นักข่าวที่อยู่ในสถานการณ์การชุมนุมไม่ถือว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุม และจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ ไม่ว่านักข่าวผู้นั้นจะสวมปลอกแขนหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ สมาคมนักข่าวฯ ขอให้นักข่าวติดปลอกแขนของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และพกบัตรนักข่าวของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดสามารถขอปลอกแขนดังกล่าวได้ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยให้ทำจดหมาย ถึง นายกสมาคมฯ เพื่อระบุจำนวนปลอกแขนที่ต้องการ ส่วนการออกหมายเลขที่จะเขียนบนปลอกแขนนั้นให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการเอง สมาคมนักข่าวฯ สนับสนุนให้หน่วยงานต้นสังกัด ทำหนังสือถึงนายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อประสานงานขอปลอกแขนดังกล่าว ส่วนสำนักข่าว และ นักข่าวที่ไม่ได้สังกัดกับทางสมาคมนักข่าวฯ เช่น นักข่าวอิสระ นักข่าวภูมิภาค และ นักข่าวต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการขอปลอกแขนดังกล่าวจากสมาคมนักข่าวฯ ได้ โดยนำหลักฐานจากต้นสังกัด หรือ สำนักข่าวที่ตนเองทำข่าวมายืนยัน 2. "การจัดพื้นที่ปลอดภัย" และ "การให้เวลาเพียงพอ" ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับปากและยืนยันว่า ในกรณีที่จะมีการสลายการชุมนุม หรือ ระงับเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประกาศเตือนอย่างเป็นระบบ และ ให้เวลาเพียงพอ แก่สื่อมวลชนในพื้นที่ในการเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ ที่อาจมีความรุนแรง แต่ในกรณีที่สื่อมวลชนเลือกที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อ ในขณะที่เกิดเหตุรุนแรง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับสื่อมวลชน ในกรณีที่มีการใช้แก๊สน้ำตา หรือ เครื่องมือปราบจลาจลรูปแบบต่างๆ โดยสื่อมวลชนต้องแสดงปลอกแขนที่มีรหัสตัวเลขร่วมกับบัตรสื่อมวลชนจากหน่วยงานต้นสังกัดในการเข้าพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว 3. ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกลาง เพื่อทำหน้าที่ประสานความเข้าใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน ในกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น โดยสื่อมวลชนสามารถสอบถามชื่อของผู้ทำหน้าที่ประสานงานกลางได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่ในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น