โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กอ.รมน.สรุปเหตุไฟใต้ช่วงรอมฎอนเกิดน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 50

Posted: 10 Aug 2013 12:54 PM PDT

กอ.รมน.สรุปเหตุไฟใต้ช่วงรอมฎอนน้อยที่สุดตั้งแต่ปี2550 รวม 69 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่มุ่งเป้าเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้สอดคล้องกับป้ายผ้า–พ้นสีไล่ทหาร ระบุมีเป้าหมายอ่อนแค่ 5 รวมลอบยิงอิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานี ชี้ตั้งแต่เริ่มพูดคุยสันติภาพมีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าลดลง แต่เจ้าหน้าที่ตกเป็นเป้าเพิ่ม

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฏอน 2556 ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฏอน ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2556 พบว่า ปรากฏเหตุการณ์ทั้งสิ้น 69 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการก่อเหตุลอบวางระเบิดต่อเป้าหมายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ทหาร สอดคล้องกับการติดแผ่นป้ายผ้าและการพ้นสีสเปรย์ โดยมีข้อความในทำนองขับไล่ทหารออกจากพื้นที่

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุอีกว่า แต่อย่างไรก็ตามในเดือนรอมฏอนปีนี้ไม่เกิดเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมในเขตเมืองหรือเขตเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากเดือนรอมฏอนปี 2555 ที่เกิดเหตุคาร์บอมในเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ ทั้งในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก เมื่อ 20 กรกฎคม 2555 และที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุต่อไปว่า ส่วนการก่อเหตุลอบยิงก็เช่นกัน เป้าหมายหลักยังคงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์มีเพียง 5 เหตุการณ์เท่านั้น รวมถึงเหตุลอบยิงนายยะโก๊บ หร่ายมณี โต๊ะอิหม่าม ประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาสายกลางไม่นิยมความรุนแรง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามในเดือนรอมฏอนปีนี้ได้เกิดเหตุการณ์ใช้ระเบิดเพลิงเพื่อทำลายต่อเป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น โรงงาน บริษัท และร้านค้า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุอีกว่า หากเปรียบเทียบในเชิงปริมาณ พบว่าเดือนรอมฏอน 2556 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนรอมฏอน 2555 แต่ยังน้อยกว่าในห้วงเดือนรอมฏอนของทุกปีนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่า หากเปรียบเทียบในเชิงคุณภาพด้านความสูญเสีย พบว่าเดือนรอมฏอน 2556 มีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน ซึ่งน้อยกว่าในห้วงเดือนรอมฏอนของทุกปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 2550 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อสังเกตว่าในเดือนรอมฏอนปีนี้ หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว จะพบว่าเป้าหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ลดลง

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นมา ปรากฏว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุลดลง เฉลี่ยวันละ 0.31 คนต่อวัน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 0.43 นายต่อวัน

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะยังคงดำรงความมุ่งหมายตามมาตรการที่กำหนดไว้ด้วยการมุ่งเน้นเพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมกับจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการติดตามคนร้ายที่กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ': BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

Posted: 10 Aug 2013 12:30 PM PDT

บทสัมภาษณ์ 'ฮัสซัน ตอยิบ' ต่อสื่อมวลชนชายแดนใต้ เรื่อง BRN กับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ย้ำปัญหาไฟใต้ต้องจบลงบนโต๊ะเจรจา วอนทุกฝ่ายร่วมมือสนับสนุน หากรัฐบาลให้อำนาจปกครอง ขอให้มั่นใจว่าจะดำรงความยุติธรรม ปกครองตามกฎหมายอิสลาม พร้อมเคารพคนศาสนาอื่นและถือเป็นสมาชิกครอบครัว

หมายเหตุ: ฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในฐานะหัวหน้าคณะตัวแทนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยได้ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) พร้อมด้วยสำนักข่าวประชาไท โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) และสื่อจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซีย

โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ด้วยภาษามลายู ซึ่งแปลสรุปเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์ชินทาโร่ ฮารา อาจารย์สาขาวิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้ คลิปเสียงสัมภาษณ์ดังกล่าว มีการออกอากาศในรายการโลกวันนี้ ของสถานีวิทยุ Media Selatan ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2556

 

000

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างไร ?

ผมฮัสซัน ตอยิบ หวังว่ากระบวนการสันติภาพจะประสบความสำเร็จ แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนโต๊ะเจรจา นอกจากนี้มาเลเซียในฐานะผู้ไกลเกลี่ย ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวกก็ต้องมีความจริงใจเหมือนกัน

ดังนั้น ขอยืนยันว่าฝ่าย BRN เอาจริงเอาจังในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เพราะการต่อสู้ของเราไม่อาจจะสิ้นสุดในสนามรบ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม แต่จุดจบของการต่อสู้ของเราอยู่บนโต๊ะเจรจา คนที่อ้างว่าเราต้องการล้มโต๊ะเจรจานั้น คือแค่เอาจินตนาการตัวเองมาเล่าอย่างเดียว แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้เราก็รบมาแล้ว แต่จุดจบก็ต้องเป็นโต๊ะเจรจา ฉะนั้นการเจรจาจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีการหยุดนิ่งหรือการชะงัก

 

เป้าหมายในการโจมตีของ BRN ?

เราไม่โจมตีเป้าหมายอ่อน (soft target) ทั้งโต๊ะอิหม่าม โต๊ะคอเต็บ โต๊ะบิหลั่น คนเหล่านี้ถือว่าเป็นเป้าหมายอ่อน รวมถึงย่านเศรษฐกิจด้วย เป้าหมายในการโจมตีของเราคือกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เพราะฉะนั้นเราอยากจะบอกว่า พื้นที่ย่านเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธมารักษาความปลอดภัย

ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของโต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่เราก็ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของใคร ขอยืนยันอีกครั้งว่า เป้าหมายการโจมตีของเราคือกำลังติดอาวุธอย่างเท่านั้น เราไม่โจมตีเป้าหมายอ่อนหรือเป้าหมายเศรษฐกิจ ใครโจมตีเป้าหมายเหล่านี้ เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน ต้องรอผลการสอบสวน

 

รูปแบบการปกครองในความหมายและความต้องการของ BRN ?

ถ้าสมมุติว่า รัฐบาลให้สิทธิแก่เราสามารถปกครองโดยตนเองได้ การปกครองของเราก็ต้องเป็นการปกครองที่ยุติธรรมที่สุด โดยมีกฎหมายอิสลามเป็นหลัก เมื่อมีการปกครองตามกฎหมายอิสลาม เราก็ต้องมองว่า คนที่นับถือศาสนาอื่นก็เป็นสมาชิกครอบครัวของเราเช่นกัน เมื่อเรากดขี่พวกเขา ก็ถือว่าเป็น "ฮารอม" (ผิดกฎหมายอิสลาม) และเป็นบาปด้วย

เพราะฉะนั้น การปกครองของเรา ก็ต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ชาวจีนและชาวสยามในปาตานีก็ไม่ต้องเป็นห่วง ตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่เป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติ สังคมของเราก็เป็นสังคมหลากหลายเชื้อชาติเช่นเดียวกัน ลองสังเกตดูชาวสยามในอำเภอตุมปัต (Tumpat) รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พวกเขาก็สามารถสร้างวัดและปฏิบัติศาสนกิจของเขาได้ การที่ต่างคนต่างนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ไม่มีปัญหาตามหลักการอิสลาม

 

สถานการณ์ในเดือนรอมฎอนปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

ในเดือนรอมฎอนปีนี้ มีเหตุรุนแรงน้อยลง และหวังว่าทุกท่านสามารถต้อนรับวันอีดิลฟิตรีอย่างสันติ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลด้วย ถึงแม้ว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่ปฏิบัติเงื่อนไขทั้งหมด 7 ข้อที่เราได้ยื่นมาแล้วแม้แต่ข้อเดียว แต่เราก็ให้การพิจารณาต่อการลดความรุนแรง เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันแรกของเดือนรอมฎอนไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ต่อมามีการใช้ความรุนแรงและมีคนเสียชีวิตทุกวัน จนทำให้คนในสนามอดทนไม่ได้ จนต้องก่อนเหตุแต่เป็นการให้คำเตือนต่อรัฐบาล ไม่ใช่การแก้แค้น

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในพื้นที่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่าย BRN หรือฝ่ายรัฐบาล ต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพ

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน?

ตอนแรก ฝ่ายรัฐบาลอยากลดความรุนแรง แต่ฝ่าย BRN พร้อมที่จะยุติความรุนแรงโดยมีเงื่อนไข 7 ข้อที่เราได้เสนอแล้ว แต่ฝ่ายรัฐไม่รับเงื่อนไขเหล่านี้ ในเขตพื้นที่ชนบทก็ยังมีทหารอยู่เต็มและยังมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ก็มีการสกัดถนน การโจมตี การล้อมบ้าน การค้นบ้าน ฯลฯ แต่เราก็ใช้ความอดทน

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงรอมฎอนนั้น คือคำเตือนต่อฝ่ายรัฐบาลไทย ไม่ใช่การตีกลับ ถ้าเป็นการตีกลับ ถ้าคนของเราตายหนึ่งคน คนของเขาก็ต้องตายสิบคน การโจมตีในเดือนรอมฎอนเป็นคำเตือนต่อรัฐบาลเท่านั้น ความเสียหายจึงมีไม่มาก

พวกเราไม่ได้ลงนามในข้อตกลงการริเริ่มเดือนรอมฎอนสันติสุขนั้น เพราะมีเวลาน้อยมาก พวกเราอยากจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนลงนามในข้อตกลงก่อนเดือนรอมฎอน แต่ไม่มีการลงนาม อย่างไรก็ตาม เราก็ลดความรุนแรงได้ แม้ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประมาน 60-70 เปอร์เซ็นต์

ก่อนถึงเดือนรอมฎอนก็มีเหตุการณ์ยิงโต๊ะครูที่ปูลาฆาซิง (เหตุคนร้ายยิงนายอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ อายุ 51 ปี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) และสมาชิกขององค์กรเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ (JOP) หลายคนก็ถูกยิงตาย (เช่น เหตุคนร้ายยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556) คดีของพวกเขาก็ถูกยกฟ้องแล้ว แต่คนเหล่านี้้ก็ถูกยิงตาย

หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ คนที่ควบคุมนักรบในสนามก็โทรศัพท์มาหาผม และแจ้งว่าเด็กๆ ภายใต้การควบคุมเสียความอดทนแล้ว แต่ผมก็ให้คำแนะนำว่าต้องใช้ความอดทน พวกเขาก็โทรศัพท์มาหาสองสามครั้ง แต่ผมก็บอกว่าอดทนหน่อย

ผมก็เสียใจด้วยที่ว่าการลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนเกิดขึ้นอย่างไม่เต็มที เพราะความต้องการของเราก็คือ ไม่อยากจะก่อให้เกิดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนถึงวันที่ 10 ของเดือนเชาวัล

 

การควบคุมของกำลังในสนาม?

เราควบคุมพวกเขาอยู่มานานแล้ว แต่เมื่อเหตุการณ์ยิงสังหารเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ กองกำลังในสนามก็เสียความอดทน แต่อย่างไรก็ตาม เราให้ความสำคัญกับข้อตกลงนั้น ถ้าฝ่ายรัฐยังปฏิบัติและใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ก็เกิดขึ้น แต่มันเป็นแค่ชั่วคราว

 

การพูดคุยรอบต่อไปจะเกิดขึ้นหรือไม่ ?

เวลาสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไปยังไม่กำหนด แต่เราก็ได้เสนอเงื่อนไขแล้ว เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลให้คำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อเบื้องต้นว่า จะรับได้หรือไม่ ถึงแม้ไม่มีการพูดคุยอย่างเปิดเผย แต่เราก็จะติดต่อสื่อสารกับฝ่ายไทย โดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก

ในเดือนรอมฎอนเราก็ได้เจอกับผู้อำนวยความสะดวกสองครั้งแล้ว และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายไทยก็มาด้วย แต่เราไม่ได้เจอตัวต่อตัว แต่ติดต่อผ่านผู้อำนวยความสะดวก

 

ความร่วมมือกับขบวนการอื่นๆเป็นอย่างไรบ้าง ?

เราได้ประสานงานกับขบวนการอื่นๆ แล้ว เช่น Patani United liberation Organization (PULO) และ Barisan Islam PembebasanPatani (BIPP) และทั้งสององค์กรก็รวมกันในการพูดคุยด้วย แต่องค์กร PULO มีหลายสาย ซึ่งเป็นปัญหาของ PULO เอง ฉะนั้น PULO ก็ต้องสร้างความเอกฉันท์ในองค์กรเอง

 

ความรวมมือจากฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร ?

ขอให้ข้าราชการทั้งหลายและองค์กร NGO ต่างๆ ทำงานอย่างจริงจัง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นเห็นว่ายากหน่อย แต่ถ้าพรรคนี้ประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็ขอให้การสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพ พวกเขาอาจจะคิดว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพที่นำโดยพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์จะเสียเก้าอี้จากภาคใต้ พวกเขาไม่ควรคิดแบบนั้น ในโลกการเมือง คนที่ดี คนที่ทำงานเพื่อประชาชนนั่นแหละที่จะได้รับการสนับสนุนของประชาชน

เราก็ขอเรียกร้องทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ปาตานี ไม่ว่าจะเป็นชาวมลายู ชาวจีน หรือชาวสยามก็ตาม ให้ความรวมมือเพื่อสร้างสันติภาพ

 

บทบาทของพ...ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างไร?

พ.ต.ท.ทักษิณให้การสนับสนุนอย่างเต็มทีต่อกระบวนการสันติภาพ มีบางคนอ้างว่า ผมสนิทกับนายทักษิณมาก แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ใช่คนที่สนิทกัน ผมเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมาเลเซีย เมื่อมีกระบวนการสันติภาพนี้แหละ

 

000

'5ข้อ 7 ข้อ' เงื่อนไขเจรจาของ BRN

5 ข้อ 7 ข้อ คือข้อเสนอที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นเป็นเงื่อนไขในการพูดคุยสันติภาพต่อฝ่ายไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะใช้ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งต่อๆไป มีเนื้อหาดังนี้

 

ข้อเสนอ 5 ข้อ

นายฮัสซัน ตอยิบกับนายอับดุลการิม คอลิบ ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นแถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 มีเนื้อหาสรุป ดังนี้

1.ต้องให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ยไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก

2.การพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับนักล่าอาณานิคมสยาม

3.ในการพูดคุยต้องมีสักขีพยานจากกลุ่มประเทศอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)

4.ต้องปล่อยตัวผู้ถูกคดีความมั่นคงและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

5.ต้องยอมรับว่าองค์กร BRN. เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

ข้อเสนอ 7 ข้อ

นายฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านเว็ปไซต์ยูทูปวันที่ 20 มิถุนายน 2556 มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการในเดือนรอมฎอน-วันที่ 10 เดือนเซาวัล สรุปดังนี้

1.ต้องถอนทหารและทหารพรานจากกองทัพภาค 1, 2 และ 3 และตำรวจที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางออกจากพื้นที่ปาตานีทั้งหมด 2.แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านให้ไปอยู่ค่ายใหญ่ๆ ของแต่ละหน่วย 3.ต้องถอนกำลังตำรวจและตำรวจชายแดนออกจากเขตหมู่บ้าน

4.ปล่อย อส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน) ที่นับถือศาสนาอิสลามให้กลับไปปฏิบัติศาสนกิจและใช้ชีวิตกับครอบครัวในเดือนรอมฎอน 5.ต้องไม่ทำการโจมตี สกัดถนน และการจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด 6.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน 7.เงื่อนไขดังกล่าวต้องลงนามโดยนายกรัฐมนตรี และต้องประกาศในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนเพิ่มเติมว่า 1.ข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย 2.การเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ 3.ต้องกำหนดฐานะของหัวหน้าคณะตัวแทนไทยและฐานะของหัวหน้าคณะนั้นต้องมั่นคง 4.ไม่มีการเจรจาลับหรือไม่เปิดเผย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อีเมลที่ 'สโนว์เดน' ใช้บริการปิดตัว ประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามลอบเจาะข้อมูลผู้ใช้

Posted: 10 Aug 2013 10:01 AM PDT

เว็บไซต์ให้บริการอีเมลที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว Lavabit ปิดตัวลงโดยอ้างว่าทางการสหรัฐฯ พยายามเจาะดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ โดยผู้ให้บริการไม่อยากร่วมก่ออาชญากรรมต่อชาวอเมริกัน

9 ส.ค. 2013 - สำนักข่าว The Independent เปิดเผยว่าบริการอีเมลที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ เป็นผู้ใช้บริการปิดตัวลง เนื่องจากเจ้าของเว็บไซต์กล่าวว่า เขา "ไม่ต้องการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดฐานอาชญากรรมต่อประชาชนชาวอเมริกัน" จากการที่ทางการสหรัฐฯ พยายามเจาะเข้ามาดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้

เว็บไซต์อีเมลที่ปิดตัวลงคือ Lavabit ซึ่งมีสำนักงานในรัฐเท็กซัส ในเว็บไซต์ของพวกเขากล่าวว่า Lavabit เป็นบริการอีเมลที่พัฒนาไปไกลมากที่สุด และบอกอีกว่า "ที่ Lavabit พวกเราเน้นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวอย่างจริงจัง"

เจ้าของบริการอีเมล ลาดาร์ เลวิสัน กล่าวในจดหมายเปิดผนึกตีพิมพ์ในเว็บไซต์ www.lavabit.com ว่าเหตุที่เขาตัดสินใจปิดตัวบริการอีเมลลงเนื่องจากพบว่าทางการสหรัฐฯ พยายามเจาะเข้ามาดูข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ก็บอกว่าไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวได้

"ผมหวังว่าจะสามารถเล่าถึงประสบการณ์ที่ผมต้องเจอ จนทำให้ผมตัดสินใจในครั้งนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ ผมไม่สามารถบอกเล่าประสบการณ์ของผมในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ แม้ว่าผมจะพยายามส่งคำขอตามกระบวนการไปแล้ว 2 ครั้ง" เลวิสันกล่าวในแถลงการณ์

เลวิสันกล่าวเพียงว่า "ประสบการณ์ในเรื่องนี้สอนบทเรียนสำคัญให้ผมคือ หากไม่มีการรับรองจากสภาหรือคำสั่งศาลที่หนักแน่น ผมแนะนำอย่างจริงจังเลยว่าไม่ควรไว้ใจฝากข้อมูลส่วนตัวไว้กับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ"

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ Lavabit เคยบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จริงจังมากในการพยายามเจาะข้อมูล และระบบการเข้ารหัสความปลอดภัยของพวกเขาก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับบรรยากาศความกลัวการแสดงความคิดเห็น (chilling effect) ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2001 (PATRIOT Act) ซึ่งให้อำนาจหน่วยงาน FBI สามารถเรียกขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน หลบหนีจากประเทศสหรัฐฯ และเผยแพร่เอกสารลับของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ เรื่องโครงการสอดแนมอินเทอร์เน็ต ทำให้เป็นที่ต้องการตัวของทางการสหรัฐฯ โดยในตอนนี้สโนว์เดนได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยอยู่ในประเทศรัสเซียได้เป็นเวลา 1 ปี ข่าวเรื่องนี้ถูกนำเสนอโดย ทันยา ล็อกชีนา ที่ใช้อีเมลของ Lavabit ติดต่อกับสโนว์เดนก่อนช่วงที่จะมีการแถลงข่าว

และฐานข้อมูลออนไลน์ที่อยู่ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ก็เปิดเผยให้เห็นว่ามีคนที่ใช้ชื่อ Ed Snowden สมัครสมาชิกอีเมล Lavabit จำนวน 3 รายชื่อในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

เลวิสันบอกว่า หากเขาเปิดให้บริการอีเมลต่อไป เขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ก่ออาชญากรรมต่อประชาชนชาวอเมริกันทั้งหมด อยางไรก็ตาม เลวิสันยังได้ตั้งกองทุนเพื่อต่อสู้ปกป้องรัฐธรรมนูญในศาลอุทธรณ์เขต 4 ของสหรัฐฯ

เลวิสันย้ำว่า "อาชญากรรมต่อประชาชนชาวอเมริกัน" ที่เขากล่าวถึง หมายถึงการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการพยายามเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ และไม่ได้หมายถึงการเปิดโปงข้อมูลโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เขาบอกอีกว่าหากเป็นไปได้ก็อยากให้ Lavabit กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

 


เรียบเรียงจาก

Secure email service 'used by Edward Snowden' shuts down in protest against snooping, The Independent, 09-08-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/americas/secure-email-service-used-by-edward-snowden-shuts-down-in-protest-against-snooping-8753591.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สนธิ ลิ้มทองกุล เสนอให้ ส.ส.ปชป.ลาออกทั้งหมด แล้วพันธมิตรฯ จะร่วมสู้นอกสภา

Posted: 10 Aug 2013 08:08 AM PDT

แกนนำ พธม. เสนอประชาธิปัตย์ลาออกจาก ส.ส. ทั้งหมด เดินเกมนอกสภา แล้วแกนนำ พธม. จะร่วมมือด้วย โดยให้ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เชื่อคนจะออกมาเป็นล้านๆ ด้าน "เทพไท เสนพงศ์" ทวิตโต้ถ้าลาออก ส.ส. คิดหรือว่ารัฐบาลจะยุบสภา พร้อมบอกผู้สนับสนุนให้ใจเย็นๆ เพราะมีอีกหลายยก

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) ในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และได้ร่วมรายการด้วย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ โดยในรายการดังกล่าวเขาสวมแว่นตากันแดด โดยให้เหตุผลว่า "เผอิญตาเคือง เป็นต้องหิน" จึงต้องใส่แว่นดำ

ทั้งนี้ในรายการ นายสนธิ ได้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจพลาดที่ในรัฐสภาเมื่อ 7 ส.ค. ไม่ยอมเดินออกจากสภาทั้งหมด หลังฝ่ายรัฐบาลลงมติให้ประชุมต่อ โดยเขาเชื่อว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจออกจากสภามาทั้งหมด "ตรงนี้รัฐบาลก็เดินไม่เป็นนะ รัฐบาลไปไม่เป็นนะตรงนี้" และ ส.ส.เพื่อไทยที่เก๋าเกมก็จะบอกไม่ให้เดินหน้าออก พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะจะไม่มีความชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม นายสนธิกล่าวว่า "ประชาธิปัตย์นอกจากไม่ทำอันนี้แล้ว ยังเสือกไปร่วมในกรรมาธิการเขาอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่า ในกรรมาธิการก็แพ้"

นายสนธิกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ติดกับดักความกลัว คิดว่าถ้าเอามวลชนไปแล้วบุกเข้าสภาเดี๋ยวจะโดนดำเนินคดี ประชาธิปัตย์ถนัดแต่จะให้คนอื่นติดคุกแทน นอกจากนั้นยังติดกับดักในเรื่องการหลงตัวเอง ว่าตัวเองพูดเก่ง พูดแล้วคนจะฟัง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ชอบพูด

โดยตอนหนึ่งนายสนธิได้มีข้อเสนอว่า "ผมพูดเนี่ยผมอยากจะพูดให้สาวกพรรคประชาธิปัตย์ฟัง ให้ตั้งใจฟังกันให้ดีๆ คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมั้ย คำว่าเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองต้องหมายความว่า ต้องไม่ยอมรับระบบเดรัจฉานในสภานี้ หมายความว่ายังไง หมายความว่าต้องพิจารณา หาทางที่จะให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน วิธีเดียวที่จะหาทางให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันได้คือ พรรคประชาธิปัตย์ทุกคนต้องลาออกหมดเลย ลาออกมาเดินเกมการเมืองนอกสภา แล้วการเดินเกมการเมืองนอกสภา"

เมื่อลาออกจาก ส.ส. แล้วเดินเกมนอกสภาแล้ว นายสนธิกล่าวว่ายินดีร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ "ผมพร้อมจะร่วม พันธมิตรฯ พร้อมจะร่วม แต่คุณต้องลาออกนะ พันธมิตรฯ พร้อมจะร่วม ให้คุณนำ ผมไม่ต้องการนำ ผมเป็นผู้ตามคุณ ผมยินดีตามพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าคุณกล้าทำอย่างนี้ อาการเจ็บหลังของผมที่ผมโดนแทงทั้งหลัง และเจ็บหัวที่โดนยิงหัว ผมลืมได้ ผมทิ้งไว้ข้างตัวเลย เอาชาติมาก่อน"

"ถ้าอย่างนั้นแล้ว ระดมคนทั่วประเทศไทย 7 วันต้องมีคนเป็นล้านมา วันนั้นเพื่อไทยต้องเคาะประตูแล้วขอคุยด้วย เพราะเขาต้องขอคุยด้วยทันทีเลย ขอคุยด้วยตอนนั้นล่ะ คือการที่จะมากำหนดกติกาทางการเมืองที่มีภาคประชาชนเป็นส่วนร่วม ที่ไม่ใช่พึ่งพาหลักคณิตศาสตร์ วันนั้นเป็นวันที่เจรจาได้หมดทุกอย่าง และวันนั้นอาจจะเป็นวันที่บอกว่าให้ทหารมาตั้ง หรือให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว 2 ปี เพื่อมาตกลงกติกา วิธีการกันใหม่ นี่คือทางออกของประเทศไทย"

"แต่ถ้าประชาธิปัตย์ยังจมอยู่กับความคิดโง่ๆ หวังไปเชื่อทหารบางคนที่แทงกั๊กอยู่ว่าทหารจะออกมาสลับขั้วให้ ไม่ลงมาเล่นการเมืองกับประชาชน ประชาธิปัตย์ต้องถึงเวลาต้องมาเล่นการเมืองกับภาคประชาชน ต้องลาออกเลย สละระบบการเมืองนี้ไป ผมพร้อมจะเข้ามาร่วมและผมพร้อมจะเดินตามแกนนำประชาธิปัตย์ ให้ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และผมไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ ผมพร้อม จะให้ผมขึ้นเวทีพูดปราศรัยผมจะขึ้น ไม่ให้ขึ้น ผมก็ไม่ขึ้น แต่ผมจะไปแสดงความบริสุทธิ์ใจของผม ถ้าเราจะทำอย่างนี้เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อชาติ แต่ต้องไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าประชาธิปัตย์อยากจะปฏิรูปการเมือง อยากทำการเมืองให้ดี ประชาธิปัตย์ลาออกมาแล้วนำไปเลย จะให้ แม้กระทั่งอภิสิทธิ์อยากนำ นำไป สุเทพอยากนำ นำไปไม่เป็นไร ผมไม่ว่า แต่คุณลาออกมาได้ไหม พิสูจน์ตรงนี้ให้ผมดูหน่อย เสียสละให้ผมดูก่อน อย่าใช้นโยบายตีกินเหมือนเดิม ถ้าอย่างนั้นแล้วผมเชื่อ"

ทั้งนี้นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า ข้อเสนอของเขาไม่ใช่มติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าแกนนำคนอื่นๆ เห็นด้วย "ผมเชื่อว่าผมพูดกับพี่ลอง ผมพูดกับพี่พิภพ หรือ อ.สมเเกียรติ ทุกคนเอาด้วย เพราะทุกคนพวกผม และพันธมิตรฯ เป็นคนที่ไม่มีผลประโยชน์กับใคร แต่เอาชาติเป็นหลัก"

"วิธีนี้เท่านั้นเองที่จะทำให้ทุกอย่างกลับไปสู่ที่ศูนย์แล้วเริ่มกันใหม่ด้วยความแฟร์" นายสนธิกล่าวในรายการ

ถ้าปล่อยให้เพื่อไทยปู้ยี่ปู้ยําประเทศต่อไป ความผิดจะอยู่ที่ประชาธิปัตย์ เพราะมีศักยภาพสูงสุดในการเปลี่ยนประเทศได้ มีถึง 12 ล้านเสียง พันธมิตรฯ มีแค่ 1-2 ล้านเสียงเอง และมีผู้นำที่มีบารมีพอ ขอแค่ใส่ความกล้าเข้าไป การสู้ในสภารอถึงวาระ 3 เป็นแค่การซื้อเวลาตายเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ต้องตาย สู้ดิ้นออกมาก่อนและหาทางเกิดใหม่ดีกว่า

"ผมไม่ต้องไปพูดถึงความผิดพลาดเขา ที่เขามีอำนาจและเขาไม่ปราบเสื้อแดง เอาล่ะ ช่างมัน เขามีโอกาสล้างความผิดในชีวิตเขาได้ด้วยการลาออก เชื่อผมสิถ้าเขาลาออกปั๊บ รัฐบาลเดินไม่ถูกเลย เดินไม่เป็นจริงๆ นะ" นายสนธิกล่าว

ทั้งนี้นายสนธิ กล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่ามวลชนจะเยอะมากขั้นต่ำเป็นล้านและเผลอๆจะสูงถึง 2-3 ล้านคน อย่างน้อยที่สุดพันธมิตรฯ ไปแน่ นี่จะเป็นการเปลี่ยนประเทศจริงๆ และตนเชื่อว่าด้วยปริมาณคน ความรู้ของมวลชน คนชนชั้นกลาง ด้วยอะไรต่ออะไรที่พร้อมอยู่ มันจะทำให้พรรคเพื่อไทยต้องมานั่งโต๊ะเจรจา แล้ววันนั้นทุกคนจะก้าวข้ามพรรคการเมืองทั้งหมดและก้าวข้ามทักษิณด้วย นี่คือข้อเสนอทางออกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังข้อเสนอของนายสนธิ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยโพสต์สเตตัสผ่านทวิตเตอร์ว่า "จะให้ผมลาออกจาก ส.ส.มาสู้นอกสภา ไม่ต่างอะไรกับ ปิ้งปลาประชดแมว เป็น ส.ส.ก็สู้ได้ทั้งในและนอกสภาไม่ดีกว่าหรือ?" [1] นอกจากนี้ยังโพสต์ว่า "ลาออกจาก ส.ส. ก็มีเลือกตั้งซ่อม คิดหรือว่ารัฐบาลนี้จะยุบสภา หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชาติหน้าก็เป็นไปไม่ได้" [2] "การสู้เพื่อขัดขวาง พ.ร.บ.นิรโทษ ยังมีอีกหลายยก ใจเย็นๆ นะพี่น้อง" [3] "ม็อบ 7 สิงหา เดินไปส่ง ส.ส. หน้าสภา เป็นแค่ออเดิร์ฟ" [4] ฯลฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารมาเลเซียถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ขณะลาดตระเวนตรงข้าม อ.สะเดา

Posted: 10 Aug 2013 06:48 AM PDT

สื่อมาเลเซียรายงานข่าวทหารมาเลเซียถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ขณะลาดตระเวนบริเวณรั้วกั้นชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรงข้าม อ.สะเดา โดยกระสุนมีทิศทางมาจากฝั่งไทย โดยมาเลเซียกินีรายงานว่าทหารรายดังกล่าวถูกยิงขณะกำลังตรวจสอบหลุมบริเวณรั้วกั้นพรมแดน

อะซามรุดดิน อซิซาน พลทหารมาเลเซีย ซึ่งถูกยิงเมื่อเช้ามืดวันนี้ (10 ส.ค.) ขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนที่รั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรงข้ามด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล Tuanku Fauziah ที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย (ที่มา: NST/Bernama)

 

วันนี้ (10 ส.ค. 56) หนังสือพิมพ์นิว สเตรท ไทม์ ของมาเลเซีย รายงานข่าวว่า อะซามรุดดิน อซิซาน อายุ 26 ปี สังกัดกรมทหารภาค 2 ของมาเลเซีย ค่ายสุไหง อารา รัฐปีนัง ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่ไหล่ ข้อศอกขวา และหัวเข่าทั้ง 2 ข้าง เมื่อเช้าเวลา 4.30 น. วันนี้ หรือ 3.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยขณะเกิดเหตุ อะซามรุดดิน และพลทหารคนอื่นกำลังลาดตระเวนบริเวณรั้วพรมแดนของชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่บูกิต กายู ฮิตัม (Bukit Kayu Hitam) รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ตรงข้าม อ.สะเดา จ.สงขลา ประเทศไทย โดยทิศทางของกระสุนมาจากฝั่งไทย และเมื่อเกิดเหตุยิง เพื่อนพลทหารคนอื่นสามารถหลบพ้นวิถีกระสุนได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ

อิบราฮิม โมฮัมหมัด ยูซูป สารวัตรตำรวจเขตกุบัง ปะสู รัฐเคดาห์ กล่าวว่า ทหารมาเลเซียได้รับบาดเจ็บจากปืนลูกซอง "ผู้ถูกยิงและเพื่อนกำลังตรวจสอบบริเวณรั้วพรมแแดน และเกิดการยิงขึ้นจากอีกฝั่งของรั้วพรมแดน" "เพื่อนทหารของเขาสามารถนำตัวผู้บาดเจ็บออกมาได้จากพื้นที่ ในขณะที่รอความช่วยเหลือ"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในเวลาเกิดเหตุช่วงเช้ามืด อิบราฮิมระบุว่าเป็นการยากที่จะระบุว่าผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุยิงดังกล่าวมีกี่คน

นิวสเตรทไทม์ ระบุด้วยว่า เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุได้ยิงปืนออกมาจากด้านหลังพุ่มไม้ ห่างจากรั้วพรมแดนไทย-มาเลเซียมาประมาณ 30 เมตร

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์มาเลเซียกินี รายงานเหตุการณ์นี้ด้วยและระบุว่าพลทหารรายดังกล่าวถูกยิง ในขณะที่อยู่ระหว่างลาดตระเวนและพบหลุมบริเวณรั้วพรมแดนไทย-มาเลเซีย

ขณะที่พลทหารที่ถูกยิง อาการล่าสุดอยู่ในขั้นพ้นขีดอันตรายแล้ว และยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ฝั่งไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมเด็จเกี่ยว' มรณภาพแล้ว สิริอายุ 85 ปี

Posted: 10 Aug 2013 04:09 AM PDT

เช้าวันนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพแล้ว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท สิริอายุ 85 ปี 6 เดือน โดยจะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพวันที่ 11 ส.ค. ที่วัดสระเกศ

มีรายงานว่า เวลา 8.41 น. เช้าวันนี้ (10 ส.ค.) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มรณภาพแล้ว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท สิริอายุ 85 ปี 6 เดือน โดยสาเหตุเบื้องต้นคาดว่า ติดเชื้อในกระแสโลหิต

โดย มติชนออนไลน์ รายงานว่า พระวิจิตรธรรมมาภรณ์  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เปิดเผยว่า จะมีพิธีเคลื่อนศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในเวลา 09.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไปยังวัดสระเกศฯ  จากนั้นเวลา 13.00 น. จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยคาดว่า จะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพ เวลา 17.00 น. แล้วจึงมีพิธีสวดพระอภิธรรม โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ระบุว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) นามเดิม เกี่ยว โชคชัย เป็นพระสงฆ์มหานิกาย และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ. 2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม

เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน การแต่งตั้งดังกล่าวทั้งสองครั้ง ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายทองก้อน วงศ์สมุทร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แก้วสรร' เล็งแปรญัตติ ชี้วางเพลิงนิรโทษไม่ได้

Posted: 09 Aug 2013 11:35 PM PDT

'แก้วสรร' เล็งแปรญัตติชั้น กมธ.นิรโทษกรรม ลั่นวางเพลิงเป็นคดีอาชญากรรมไม่ควรนิรโทษ ชี้ขั้นตอนกรรมาธิการคงมีโอกาสใช้เหตุใช้ผลได้น้อย เพราะพวกเสียงข้างมากคงลากไป ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่การลงคะแนนในวาระที่ 3 มากกว่า

 
10 ส.ค. 56 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เปิดเผยถึงการมีชื่ออยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้โทรศัพท์มาทาบทาม ขอให้ไปช่วยเหลือ เพราะคงเห็นว่าตนเองเข้าใจข้อแตกต่างกฎหมาย และสามารถอธิบายให้สภาฟังได้
 
ทั้งนี้ ร่างนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องกฎหมาย ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักคิดของพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มผู้เสียหาย โดยตนจะแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการส่วนของแกนนำและการวางเพลิง เพราะไม่ใช่ความผิดทางความผิด แต่เป็นคดีทางอาชญากรรม จึงไม่ควรนิรโทษกรรมทั้งสิ้น
 
ส่วนการไปขึ้นเวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ นั้น นายแก้วสรร เผยว่า เพราะเป็นห่วงคดี ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เช่น เรื่องการคอร์รัปชัน พร้อมไม่กังวล หากรัฐบาลมีการสอดไส้เนื้อหาอื่นเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ เพราะต้องเจอตนในสภาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่า เป็นเรื่องของ ส.ส. และ ส.ว. ที่จะยื่นร้องต่อองค์กรอิสระหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม นายแก้วสรร เชื่อว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ ขั้นตอนกรรมาธิการคงมีโอกาสใช้เหตุใช้ผลได้น้อย เพราะพวกเสียงข้างมากคงลากไป ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่การลงคะแนนในวาระที่ 3 มากกว่า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ปฏิรูป"

Posted: 09 Aug 2013 11:28 PM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ปฏิรูป"

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจ 'จากใจลูกสู่ใจแม่ ในวันแม่แห่งชาติ'

Posted: 09 Aug 2013 09:45 PM PDT

 
10 ส.ค. 56 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,228 คน พบว่า สิ่งที่เยาวชนตั้งใจจะทำถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 81  พรรษาในปีนี้มากที่สุดคือ เป็นคนดี ซื่อสัตย์ และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม  (ร้อยละ 52.1) รองลงมาคือ จะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน (ร้อยละ 18.3) และจุดเทียนชัยถวายพระพรให้สมเด็จ   พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน (ร้อยละ 17.8)
 
เมื่อถามถึงวิธีบอกรักแม่ของเยาวชนในโอกาสวันแม่ปีนี้ คือ ให้ดอกมะลิ/พวงมาลัย (ร้อยละ 29.7) รองลงมาคือ พูดบอกรักแม่ (ร้อยละ 24.4) และกอด/หอมแม่ (ร้อยละ 16.0) ส่วนการบอกรักแม่ผ่าน Social media ต่างๆ เช่น facebook Line Whatsapp Instagram เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในการบอกรักแม่ในยุคปัจจุบัน (ร้อยละ 13.2) 
 
ส่วนการกระทำของแม่ที่เยาวชนจะยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตมากที่สุดคือ ความขยัน ตั้งใจทำงาน (ร้อยละ 43.4)  รองลงมาคือ อดทน เข้มแข็ง สู้ชีวิต (ร้อยละ 18.1) และการเป็นคนดี มีเมตตา ซื่อสัตย์ (ร้อยละ 15.9)
 
สำหรับเรื่องที่เยาวชนเป็นห่วงแม่มากที่สุด คือ ปัญหาสุขภาพร่างกาย (ร้อยละ 45.3) รองลงมาคือ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย (ร้อยละ 18.6) และอุบัติเหตุจากการเดินทาง (ร้อยละ 11.2)
 
สิ่งที่ตัวเยาวชนเองคิดว่าจะปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดเพื่อให้แม่มีความสุขและสบายใจคือ จะตั้งใจเรียนหนังสือ (ร้อยละ 36.1) รองลงมาคือ จะเลิกเถียงแม่ (ร้อยละ 21.3) และจะช่วยแม่ทำงานบ้าน (ร้อยละ 15.0 )
 
สุดท้ายคำพูดที่เยาวชนไม่อยากได้ยินจากปากแม่มากที่สุดคือ ไม่อยากได้ยินคำด่าหรือว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย (ร้อยละ 14.0) รองลงมาคือคำว่า ไปไกลๆไปไหนก็ไป ไล่ออกจากบ้านและไล่ให้ไปเป็นลูกคนอื่น (ร้อยละ 8.8)  และคำว่า แม่ผิดหวังในตัวลูก ไม่คิดเลยว่าจะทำแบบนี้ (ร้อยละ 7.2)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนง.สอบสวนคดี 'จรูญ-สยาม' เบิกคลิป,พยาน,วิถี-ขนาดกระสุนชี้ถูกยิงมาจากทหาร

Posted: 09 Aug 2013 08:38 PM PDT

พนังงานสอบสวนคดี 'จรูญ-สยาม' เหยื่อกระสุนขอคืนพื้นที่ 10 เมษา ชี้ที่เกิดเหตุพบรอยกระสุน 108 รอย มาจากสะพานวันชาติไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไม่พบว่ามีวิถีตรงกันข้าม ระบุผู้ตายถูกกระสุนขนาด .223 ที่ยิงมาจากฝั่งของทหารทางสะพานวันชาติ

8 ส.ค. 56 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.13/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ขณะนั้น

โดยในวันนี้พนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ต.นิติ อินทุลักษณ์ นักวิทยาศาสตร์(สบ2) กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ผู้ตรวจวีดีโอคลิปที่เกี่ยวข้องกับเหตุกีร ร.ต.อ.อรีย์ธัช อธิสุรีย์มาศ พงส.สน.พลับพลาไชย 1 และ พ.ต.ท.สมชาย สินธนเจริญวงศ์ พงส.ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.พลับพลาไชย 1 พนักงานสอบสวนในคดีนี้

พ.ต.ต.นิติ เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 55 บก.น.6 ส่งแผ่นวีซีดีจำนวน 3 แผ่น มาให้ตรวจพิสูจน์ว่ามีร่องรอยการตัดต่อหรือไม่ จากผลการตรวจ ซีดีแผ่นที่ 1 มีข้อมูลแบ่งเป็น 2 แฟ้ม ไม่พบร่องรอยการตัดต่อเนื้อหาทั้งภาพและเสียง ส่วนซีดีแผ่นที่ 2 มีข้อมูลแบ่งเป็น 2 แฟ้ม แฟ้มที่ 1 เป็นคลิปขณะเกิดเหตุมี 3 แฟ้ม เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องกัน มีการเพิ่มเติมตัวเลขเปรียบเทียบลงในคลิป แต่ไม่พบร่องรอยการตัดต่อเนื้อหาของแฟ้มข้อมูลทั้งหมด

พ.ต.ต.นิติ เบิกความต่อว่า ส่วนแฟ้มที่ 2 มี 1 แฟ้ม เป็นคลิปเหตุการณ์ที่โรงพยาบาล มีการเพิ่มเติมตัวอักษรและเพิ่มเสียงเพลงในบางช่วงของเหตุการณ์ แต่ไม่พบร่องการตัดต่อเนื้อหาของคลิป สำหรับซีดีแผ่นที่  3 มี 1 แฟ้ม ปรากฏเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ มีการเพิ่มตัวอักษร เสียงบรรยาย และเสียงเพลง แต่ไม่พบร่องรอยการตัดต่อเนื้อหาของคลิป หลังการตรวจได้จัดทำรายงานการตรวจพิสูจน์ส่งให้ บก.น.6

ขณะที่ ร.ต.อ.อรีย์ธัช เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 เวลา 21.30 น. ได้รับแจ้งจาก รพ.กลาง ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง บริเวณแยกคอกวัวต่อเนื่องถึงถนนดินสอให้ไปตรวจสอบ พยานจึงเดินทางไปพร้อมกับ พ.ต.ท.ปกรณ์ วะศินรัตน์ นายแพทย์ (สบ2) สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ พบศพชาย 2 คน มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืน จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบว่า เป็นนายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล ถูกนำส่งมาจากบริเวณถนนดินสอ

ร.ต.อ.อรีย์ธัช เบิกความต่อว่า จากนั้นพยานจึงเคลื่อนย้ายศพไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ในวันที่ 11 เม.ย. 53 เพื่อให้แพทย์ชันสูตรพลิกศพ เบื้องต้นยังไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อว่าการตายของทั้งสองเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาประมาณปลายปี 53 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มีมติให้คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเป็นคดีพิเศษ จึงส่งสำนวนการสอบสวนไปรวมกับคดีหลักที่ดีเอสไอ

พยานเบิกความอีกว่า กระทั่งวันที่ื 15 พ.ย. 54 ดีเอสไอส่งสำนวนกลับที่ สน.พลับพลาไชย 1 เนื่องจากมีทนายความญาติผู้ตายร้องขอให้ดำเนินการสอบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าการตายของทั้งสองเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 55 บก.น.6 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีดังกล่าว โดยพยานเป็นพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ด้วย จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดสรุปความเห็นว่า การตายของทั้งสองเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากนั้นทนายความญาติผู้ตายถามพยานว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนบริเวณใดบ้าง พยานเบิกความว่า มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ตามป้ายรถเมล์ เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ มีทิศทางมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พ.ต.ท.สมชาย เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 55 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม พยานวัตถุ และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมถึงคลิปวิดีโอที่ปรากฏภาพนายสยามเดินอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับที่นายวสันต์ ภู่ทอง ถูกยิง และคลิปวิดีโอในวันเกิดเหตุที่ปรากฏภาพการยิงมาจากฝั่งทหารที่อยู่ทางสะพานวันชาติ

พ.ต.ท.สมชาย เบิกความต่อว่า มีพยานบุคคล 5 ปาก ยืนยันว่าขณะนั้นมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม นปช. และเจ้าหน้าที่ทหาร ระหว่างนั้นพยานเห็นเจ้าหน้าที่ถอยร่นเข้าไปทางสะพานวันชาติ พร้อมกับได้ยินเสียงปืนดังขึ้น และเห็นแสงไฟจากปลายกระบอกปืนของทหาร ก่อนมีคนล้มลง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวรวม 5 ศพ ประกอบด้วย นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง นายทศชัย เมฆงามฟ้า นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล โดยพยานทั้งหมดยืนยันว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ

พ.ต.ท.สมชาย เบิกความอีกว่า ผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งในศพของนายจรูญมีการตรวจพบเศษโลหะเป็นลูกตะกั่ว จากการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า เป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ที่ใช้กับปืนเอชเค 33 ทาโวร์ และเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนที่ยืนยันได้จำนวน 108 รอย มีทิศทางจากสะพานวันชาติไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไม่พบว่ามีวิถีกระสุนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังสะพานวันชาติ

พยานเบิกความต่อว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงสรุปความเห็นว่า ผู้ตายทั้งสองเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ที่ยิงมาจากฝั่งของทหารทางสะพานวันชาติ ก่อนนำสำนวนส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่ 15 ส.ค. เวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุบตึกกลุ่มอาคารศาลฎีกา:ประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่ถูกทำลาย

Posted: 09 Aug 2013 07:11 PM PDT

การทุบตึกกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นเป็นประเด็นมานานพอสมควรและแล้วเรื่องก็เงียบหายไปนานพอสมควร เนื่องจากทางศาลนั้นยังมิได้ดำเนินการใดๆ แต่เรื่องนี้กลับตกเป็นที่ถกเถียงของสังคมอีกครั้ง เพราะทางศาลฎีกานั้นได้ดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างโดยกระทำอย่างแนบเนียนโดยดำเนินการทุบจากภายในก่อน(1) และเมื่อมีการรื้อถอนให้เห็นจากภายนอกแล้ว ทำให้กลุ่มอนุรักษ์และนักวิชาการ(2)รวมตัวยื่นเอกสารให้ทางศาลระงับการทุบตึกเสียก่อน แต่จนบัดนี้ ทางศาลก็คงดำเนินการต่อไป โดยยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมาย(3) ถึงแม้ว่า ทางกรมศิลปากรจะส่งหนังสือไปยังศาลและแจ้งความดำเนินการต่อตำรวจ ซึ่งเป็นเหตุซึ่งหน้า แต่ทางตำรวจก็มิได้ดำเนินการให้ระงับการทุบทำลาย

ประเด็นนี้ สะท้อนความรู้และความตระหนักของทั้งสองฝ่ายที่ต่างกันโดยทางศาลฎีกาตระหนักถึงความปลอดภัยและประโยชน์ใช้สอยโดยให้ทางศูนญ์บริการทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(4)เป็นผู้กระทำการศึกษาอาคารและเมื่อทำการศึกษาแล้วทางศาลก็ใช้หลักฐานนี้ เพื่อทำการรื้อแล้วสร้างใหม่ เพราะอาคารเหล่านี้เสื่อมสภาพมีความแตกร้าวและไม่ปลอดภัย ถ้าหากยังใช้อาคารนี้ แต่นายชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า ผลการศึกษาของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฎว่า ศาลไม่อยู่ในสภาพที่จะพัง นายชาตรีได้กล่าวเสริมอีกว่า ถึงแม้ว่า จะมีการศึกษา เมื่อปี 2550 มีความเสื่อมสภาพตามอายุ แต่ไม่เสื่อมสภาพเกินกว่าบูรณะซ่อมแซม(5) สอดคล้องกับนายสุวิชญ์ รัศมีภูมิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตึกกระทรวงกลาโหมที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูนที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ยังสามารถดำรงอยู่ได้จนปัจจุบันโดยการบูรณะและท่านได้กล่าวอีกว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นมีความแข็งแรงยิ่งกว่าตึกกระทรวงกลาโหมเสียอีก เนื่องจากโครงสร้างของกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นเป็นแบบคอนกลรีตเสริมเหล็ก(6)

ประเด็นต่อมา คือ ประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์กับความทรงจำโดยมีการปลูกฝังโดยชนชั้นนำไทย อย่างเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช(7) ทั้งทางด้านความคิดและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฎอย่างชัดเจนหลังการโต้อภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ.2475 (8)โดยสอดคล้องกับการเรียนประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับกลุ่มเจ้านายเป็นหลักโดยมีกลุ่มเจ้านายเป็นพระเอก และ ข้าราชบริพารนั้นเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเจ้านายโดยได้รับความดีึวามชอบ แต่คุณูปการนั้นก็มิอาจเทียบกับกลุ่มเจ้านายได้ และที่สำคัญ ตือ คณะราษฎร ถึงแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวร้ายในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ภาคบังคับโดยตรง แต่ก็มักจะมีการกล่าวร้ายแก่คณะราษฎรนอกบทเรียนต่างๆนานา ซึ่งคณะราษฎรมีความแตกแยกและได้กระทำการผิดพลาดต่างๆนานาจริง แต่ก็มิได้กล่าวถึงความดีความชอบของคณะราษฎร(9) ซึ่งอาจจะเป็นความบังเอิญหรือจงใจที่จะเลือกที่จะพูดสิ่งหนึ่งและไม่พูดอีกสิ่งหนึ่งโดยใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน

กลุ่มอาคารศาลฎีกา โดยเดิมทีนั้น เป็นที่ทำการศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลฎีกา ออกแบบโดยพระสาโรชนิมมานก์ ซึ่งอาคารนั้นเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่(10) ทำพิธีเปิดเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 ซึ่งวันเปิดนั้นมีความเชื่อมโยงกับวันที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเสา 6 ต้น ที่อาคารศาลฎีกานั้นแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และ มีอาคารที่เป็นที่ระลึกที่ได้เอกราชทางศาลหลังแก้สนธิสัญญาเบาริ่ง(11)

สมัยที่คณะราษฎรยังมีอำนาจนั้นมีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อตอกย้ำความก้าวหน้าที่ได้ระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น อนุสาวรียประชาธิไตย โรงแรมรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุริยานนท์ ศาลาเฉลิมไทย ห้างไทยนิยม ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ(อนุสาวรีย์ปราบกบฎบวรเดช)

แต่การลดทอนทางประวัติศาสตร์ก็ปรากฎขึ้น เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บัดนี้ ทุกคนเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์หลักสี่โดยน้อยคนนักที่จะรู้ภูมิหลัง การทุบศาลาเฉลิมไทย(12)ที่ริอาจเทียบรัศมีศาลาเฉลิมกรุง บัดนี้กลายเป็นลานมหาเจษฎาบดินทร์ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากทุบศาลาเฉลิมไทยก็เป็นลานที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆและก็มิได้มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งแตกต่างเมื่อครั้งยังมีศาลาเฉลิมไทยและเหยื่อรายล่าสุดที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงคณะราษฎร คือ อาคารชุดศาลฎีกา

เนื่องจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายนั้นแตกต่างกันโดยทางศาลเลือกที่จะเก็บอาคารหลังพระรูป(อาคาร 1) (13) ซึ่งสร้างเมื่อครั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(14) ครั้นยังทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่เลือกที่ทำลาย(15)อาคารด้านถนนราชดำเนิน(อาคาร 3) และอาคารด้านริมคลอง(อาคาร 2) ซึ่งเป็นอาคารที่มีความยึดโยงกับคณะราษฎรและเป็นที่ระลึกที่ได้เอกราชทางการศาลโดย นายชาตรี ประกิตนนทการ  กล่าวไว้อีกว่า อาคารหลังนี้มีคุณค่าที่จะเก็บและมีหลักฐานที่บ่งบอกความสำคัญจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามศาลก็ดำเนินการต่อโดยไม่สนกระแสทัดทาน(16)

ในด้านความชอบธรรมทางด้านกฎหมายนั้น ศาลยืนยันว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย(17) ถึงแม้ว่าอธิบดีกรมศิลปากรได้ทำหนังสือที่ให้ระงับการรื้อถอนไปยังศาล แต่ศาลก็ใช้บันทึกข้อความจากผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากรเป็นบรรทัดฐานที่ให้ทุบทั้งสองตึก(18) ซึ่งสะท้อนความผิดพลาดและการไม่รู้ข้อมูลซึ่งกันและกันภายในกรมศิลปากร และการที่สร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่แทนนั้น มีความสูง 32 เมตร ถึงแม้ว่าจะมีการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็นับเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ราชการใกล้เคียงที่ปฏิบัตืตามกฎหมายกำหนดอาคารในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในอย่างเคร่งครัด

 

 

เชิงอรรถ

(1)สัมภาษณ์ นายชาตรี ประกิตนนทการ

(2)มติชนออนไลน์ นักอนุรักษ์ อาจารย์สภาปัตย์ รวมตัวยื่นศาลฎีกาวิงวอนให้ยุติทุบตึกชี้คุณค่าประวัติศาสตร์

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357896240&grpid=00&catid=00 เผยแพร่วันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 17.23.27 น.

(3)ดาวน์โหลดจากfacebookของกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่วันที่ 8 มกราคม 2556

(4)มติชนออนไลน์

"อาจารย์สถาปัตย์ฯ" ร่อนจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อ ถามศาล-กรมศิลป์ฯ ความชอบธรรมทุบตึกเก่าศาลฎีกา

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356077506&grpid=00&catid=00 เผยแพร่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:46:00 น.

(5)ดร.สุวิชญ์ รัศมีภูมิ กล่าวในรายการ คม ชัด ลึก ตอน พิพากษา...ศาลฎีกา http://www.youtube.com/watch?v=hJv1Ufeqlzk

(6)อ้างแล้วจากข้อ (5)

(7)เว็บไซด์ของนิตยสาร สารคดี,โลกใบใหญ่ สถาปัตยกรรม-มรดก 2475:สถาปัตยกรรมคณะราษฎร, ไม่ปรากฎเวลาเผยแพร่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า "สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือ ไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้..."http://www2.sarakadee.com/web/modules.php?name=Section&op=viewarticle&artid=946 หลังจากเปิดล่าสุดก็ไม่ปรากฎแล้ว

(8)สัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ – เหลียวหลังแลหน้าประชาธิปไตยไทย 80 ปี ttp://www.sarakadee.com/2012/07/19/worajet/#sthash.m8To0l6x.dpuf

(9)ใจ อึ๊งภากรณ์,24 มิ.ย. 2475 นิยายและความจริง,http://prachatai.com/journal/2009/06/24767

(10)อ้างแล้ว (2)

(11)อ้างแล้ว (7)

(12)ประวัติศาลาเฉลิมไทย,http://vintageancient.blogspot.com/2010/12/blog-post_12.html

(13)ดาวโหลดเอกสารจากfacebookของกองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

บันทึกข้อความ เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ประธานศาลฎีกามอบหมายเกี่ยวกับการเจรจาสร้างศาลฎีกา  เผยแพร่วันที่ 7 มกราคม 2556 เอกสารชิ้นนี้ทางกรมศิลปากร โดย ผอ.สำนักโบราณคดี ให้ลงแท่นอาคารด้านริมคลอง(อาคาร 1)และอาคารด้านถนนราชดำเนิน(อาคาร 3) โดยคงเหลืออาคารหลังพระรูปไว้ ขัดแย้งกับ คำชี้แจง อาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานหรือไม่ เผยแพร่วันที่ 8 มกราคม 2556 รื้อถอนอาคารเก่าทั้ง 2 หลัง โดยอาคารหลังแรกเป็นอาคารศาลยุติธรรม ตั้งอยู่บริเวณหลังอนุสาวรีย์พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ฯ และหลังที่ 2 เป็นอาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ติดอยู่กับคลองหลอด เมื่อเทียบกับ บันทึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน้า 315 เผยแพร่วันที่ 25 ธันวาคม 2555

"www.coj.go.th/coj2008/download/supremecourtbuilding.pdf"กับการดำเนินการรื้อถอนจริงก้ยังคงเป้นอาคารศาลยุติธรรมหลังพระรูป

(14)บันทึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หน้า 315 อ้างแล้ว (13)

(15)อ้างแล้ว (13)

(16)อ้างแล้ว (1) (2) (4) (5) (7)

(17)คำชี้แจง อาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานหรือไม่ อ้างแล้ว (13)

(18)อ้างแล้ว (4)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น