โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดคำประท้วงละเมิดหยุดยิงรอมฎอน แกะรอยปริศนา ‘Spoiler’ ฝ่ายอื่นจากทั้งสองฝ่าย?

Posted: 27 Jul 2013 02:40 PM PDT

เปิดคำประท้วงละเมิดหยุดยิงรอมฎอน พร้อมข้อเรียกร้องให้จัดการพวกป่วนในกระบวนการสันติภาพ อย่ายั่วยุให้เกิดการตอบโต้ วงประชุมลับชี้มีฝ่ายอื่นจากทั้งสองฝ่าย 

การเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวมะสุเพียน มามะ อายุ 29 ปีของนายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะมีไม่บ่อยนักที่จะมีผู้ใหญ่ระดับจังหวัดเข้าไปเยี่ยมคนที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิต และเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่

มะสุเพียน มามะ มีหมายจับติดตัวถึง 4 หมาย ถูกวิสามัญเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 หลังเจ้าหน้าที่ปิดล้อมจับกุมในพื้นที่บ้านยานิง หมู่ที่ 2 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยก่อนถูกวิสามัญ เจ้าหน้าที่ระบุว่านายมะสุเพียนได้ใช้ปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่หลายนัด

โดยมะสุเพียนอยู่ระหว่างหลบหนีจากการก่อเหตุลอบวางระเบิดทหารชุดสันติสุขที่ 404 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดบริเวณไฟฟ้าเชิงสะพานบ้านปาเร๊ะลูโบะ ม.9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา

กรณีของมะสุเพียนยังถือเป็นกรณีสำคัญที่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่าเป็นชนวนเหตุซึ่งนำไปสู่การยื่นหนังสือประท้วงของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น(BRN) ต่อดาโต๊ะสรีอะหมัด ซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น โดยกล่าวหาว่าฝ่ายไทยได้ละเมิดขอตกลงที่จะลดการใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนและอีก 10 วันในเดือนเซาวัล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา

จนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงตามมาอีกหลายครั้ง เช่น เหตุยิงตำรวจ ยิงคนไทยพุทธ กราดยิงร้านน้ำชา ล่าสุดที่เป็นเหตุสะเทือนขวัญมาก คือเหตุลอบวางระเบิดรถตำรวจที่หน้าโรงพยาบาลจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทำให้ครูที่ขับรถมาประสบเหตุพอดีเสียชีวิตไป 2 คน บาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน

โดยที่เหตุการณ์ล่าสุดนี้ พล.ท.ภราดรพัฒนถาบุตรเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทย ระบุว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นยอมรับว่า ไม่ได้มีเป้าประสงค์ต่อครู แต่เป็นจังหวะที่ครูผ่านมาพอดี โดยกลุ่มที่ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มย่อยของบีอาร์เอ็น ดังนั้นจะเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่าในคำประท้วงของบีอาร์เอ็นที่ลงนามโดยนายฮัซซัน ตอยิบ นั้น ระบุอย่างชัดเจนว่า ทางบีอาร์เอ็นขอประท้วงฝ่ายไทยจากกรณีสังหารนายมะสุเพียน มามะ

ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วง"การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน"เนื่องจากเป็นการละเมิดข้อตกลงการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนอย่างชัดแจ้งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอที่จะให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเคารพข้อตกลงดังกล่าว ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นมาแล้วแต่เหตุดังกล่าวผลักดันให้บีอาร์เอ็นถึงจุดสิ้นสุดความอดกลั้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างการยั่วยุที่ไม่จำเป็นขึ้น

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า บีอาร์เอ็นยังตั้งคำถามต่อฝ่ายไทยว่าเหตุใดการกระทำซึ่งเป็นการบ่อนทำลายการริเริ่มเพื่อสันติภาพจึงเกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้ว ผู้ก่อกวนสันติภาพนั้นอาจเป็นมือที่มองไม่เห็นที่ต้องการให้ทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและฝ่ายทางการไทยเข้าใจผิดและต่อสู้กันเอง ทั้งนี้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยกันอยู่ ยืนยันว่าที่ผ่านมาฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้นพยายามอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด แต่กลับมีผู้ที่ประสงค์จะยั่วยุให้มีการตอบโต้ เพื่อที่จะบ่อนทำลายกระบวนการทั้งหมดนี้

แหล่งข่าวกล่าวย้ำต่อว่าในคำประท้วงยังระบุด้วยว่าทางรัฐบาลไทยต้องระมัดระวังในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและต้องไม่สร้างความสับสน เพราะจะทำให้คนในพื้นที่ไม่สนับสนุนการพูดคยสันติภาพ ในขณะเดียวกัน บีอาร์เอ็นยังเรียกร้องให้ฝ่ายไทยต้องแสดงความจริงใจผ่านการลงมือทำมากยิ่งขึ้น โดยต้องควบคุมหน่วยงานของรัฐที่กำลับ่อนทำลายการริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน เพราะเข้าใจดีว่าในขณะนี้มีผู้ก่อกวนพยายามจะทำให้การพูดคุยสันติภาพนั้นประสบกับความล้มเหลว

ฝ่ายบีอาร์เอ็นยังเน้นย้ำว่าจะทำตามสัญญาต่อไปและเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายอดทนอดกลั้น แม้ว่าความอดทนจะยังมีขีดจำกัด แต่ในคำประท้วงก็ยังได้อ้างถึงความสำเร็จในการริเริ่มสันติภาพในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอน

เวลานี้ บีอาร์เอ็นเชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา การริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอนเป็นความพยายามที่ดีที่จะแสดงความจริงใจและความเอาจริงเอาจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทั้งสองฝ่ายพยายามต่อไป

อย่างไรก็ตามในการประชุมลับๆ ของพล.ท.ภราดรกับนายฮัสซัน ตอยิบ โดยสื่อสารผ่านดาโต็ะศรีอัฮหมัด ซัมซามีน โดยไม่ได้เจอหน้ากัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อตอบคำถามต่อคำประท้วงดังกล่าวข้างต้น โดยพล.ท. ภราดร ยังได้เริ่มต้นจากการขอบคุณที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นลดการก่อเหตุรุนแรงลงในเดือนรอมฎอนในช่วงที่ผ่านมา

แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในฝั่งประเทศมาเลเซียระบุว่า ทั้งไทยและบีอาร์เอ็นอ้างว่า มีฝ่ายอื่นๆออกมาปฏิบัติการก่อกวนในช่วงสองอาทิตย์ในเดือนรอมฎอนนี้ เพื่อดิสเครดิตและทำลายประกาศการหยุดยิงในระยะสั้นและดิสเครดิตและทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในระยะยาว

"ที่สำคัญเป็นฝ่ายอื่น จากทั้งสองฝ่าย" แหล่งข่าวระบุ

หลังการพบปะดังกล่าว พล.ท.ภราดร ยืนยันอีกครั้งในการให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2556ที่หอประชุมกองทัพเรือราชนาวิกสภาหลังการจัดแสดงปาฐกถาหัวข้อ "การเจรจาสันติภาพทางออกวิกฤตชายแดนใต้" ว่า จากข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งไทยกับบีอาร์เอ็นกำลังสืบสภาพร่วมกัน

"ได้สถิติที่ชัดเจนหลังจากเดือนรอมฎอน โดย 17 วันแรกของเดือนรอมฎอนมีกว่า 20 เหตุการณ์ แต่เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็น 5-6 เหตุการณ์เท่านั้น นอกจากนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มอื่นและภัยแทรกซ้อนอื่น" พล.ท.ภราดร ระบุ

ไม่ว่า "ผู้ทำลาย" หรือ Spoiler ในกระบวนการสันติภาพจะมาจากฝ่ายไหน อาจเพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย แต่ก็ใช่ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นจะหยุดลง

หวังว่าการกระทำของ Spoiler คงไม่เป็นไปเพื่อให้มีการฆ่าและล้างแค้นไปมากันต่อไปไม่รู้จบ อย่างที่นางสาวบีสมี สุหลง อายุ 23 ปี ภรรยาของนายมะสุเพียนบอกว่า "ขอให้สามีดิฉันเป็นรายสุดท้าย อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปอ้างตัวเป็น "อัลกออิดะห์" ขอไล่ล่าทักษิณถูก YouTube ลบเกลี้ยง

Posted: 27 Jul 2013 01:33 PM PDT

กรณีมีผู้โพสต์คลิปอ้างตัวเป็นอัลกออิดะห์ ประกาศว่าจะไล่ล่า "ทักษิณ ชินวัตร" ล่าสุดถูก YouTube ลบเนื่องจากละเมิดนโยบายด้านความรุนแรง แม้มีผู้คัดลอกและโพสต์ใหม่ไว้ในหมวดคลิปตลก แต่ก็ยังถูกลบเกลี้ยง เหลือรอดเพียงคลิปล้อเลียนที่เอาเสียง "ทักษิณ" ทับลงไปแทน ขณะที่ข้อมูลผู้โพสต์คลิป "Mansoor ahmed volvo" พบว่ามักใช้ภาษาอูรดร์ ซึ่งใช้ในปากีสถานและบางรัฐในอินเดียแสดงความเห็นท้ายคลิป YouTube

ช่วงหนึ่งของคลิป "Al-Qaeda video against former Thailand Prime Minister"  อย่างไรก็ตามคลิปดังกล่าวโพสต์ได้ไม่นานก็ถูก YouTube ลบออกโดยให้เหตุผลว่า "ละเมิดนโยบายด้านความรุนแรง"

เมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) มีผู้ใช้นามว่า "Mansoor ahmed volvo"  ได้เผยแพร่วิดีโอความยาว 2 นาที 45 วินาที ลงใน YouTube ระบุชื่อว่า "วิดีโอของอัลกออิดะห์ ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร" หรือ "Al-Qaeda video against former Thailand Prime Minister" โดยแบ่งวิดีโอออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอาหรับ อีกช่วงเป็นการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ในระหว่างที่มีการอ่านแถลงการณ์ ชายที่ยืนอยู่ตรงกลางได้ชี้ไปที่รูป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วย

"เพื่อแก้แค้นให้กับการฆ่าชาวมุสลิมในภาคใต้ ในปี 2547" เสียงในคลิปช่วงที่ประกาศเป็นภาษาอังกฤษระบุ พร้อมขู่ด้วยว่า "เราจะตามล่าคุณทุกที่ทุกเวลา" และในตอนท้ายคลิปได้เรียกร้องให้ชาวมุสลิมทั้งหมดทุกชาติในโลกให้จดจำทักษิณ และสังหารทักษิณในทุกที่

โดยหลังจากที่คลิปดังกล่าวถุกเผยแพร่ ได้มีสื่อมวลชนไทยหลายสำนักให้ความสำคัญและรายงานถึงคลิปดังกล่าว โดยข่าวดังกล่าวที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ และทีนิวส์ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก บ้างก็เห็นด้วยกับแถลงการณ์ บ้างก็ระบุว่าจะสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว บ้างก็วิจารณ์กลุ่มดังกล่าว เป็นต้น

"มือที่สี่" ร่วมชี้ตัว "ทักษิณ ชินวัตร"

ทั้งนี้ในคลิปซึ่งมีการเผยแพร่ ในช่วงวันเกิดครบปีที่ 64 ของทักษิณพอดีนั้น ระหว่างที่มีการอ่านแถลงการณ์จนถึงวินาทีที่ 41 นอกจากมีผู้อ่านแถลงการณ์ และมีผู้ยืนประกบรวม 3 คนแล้ว ยังมีมือของบุคคลที่ 4 ยื่นมาที่หน้าจอด้านขวา ชี้ไปที่รูป พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ขณะที่ในคลิปช่วงที่เป็นการอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ แม้จะมีเสียงอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่ชายคนที่ทำท่ายืนอ่านแถลงการณ์ไม่ได้ขยับริมฝีปากแต่อย่างใด

ส่วนใหญ่ "Mansoor ahmed volvo" มักจะโพสต์แสดงความเห็นใน YouTube เป็นภาษาอูรดูร์ แต่มักจะเป็นข้อความซ้ำๆ จน YouTube ปิดกั้นเนื่องจากพิจารณาว่าเป็นข้อความสแปม

ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าคลิปดังกล่าวเผยแพร่โดยกลุ่มอัลกออิดะฮ์จริงหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้โพสต์คลิป ที่ใช้ชื่อบัญชีใน YouTube ว่า "Mansoor ahmed volvo" พบว่าได้สมัครไว้ตั้งแต่ 25 พ.ย. 2012 โดยเขามักจะโพสต์ข้อความแสดงความเห็นใน Youtube โดยใช้ภาษาอูรดูร์ ซึ่งใช้ในปากีสถาน และหลายรัฐในอินเดีย ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า เขามักจะแสดงความเห็นในข่าวที่เกี่ยวข้องกับปากีสถาน และเป็นข้อความที่้ซ้ำๆ  กัน เช่น ในบทสัมภาษณ์อดีตประธานาธิบดีมูชาราฟของปากีสถาน (อ่านต่อ) หรือในคลิปการลอบสังหารผู้บัญชาการตำรวจนาม Safwat Ghayur ที่เมืองปาชาวาร์ ทางตะวันออกของปากีสถานติดกับชายแดนอัฟกานิสถาน (อ่านต่อ) อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนมากที่เขาโพสต์มักจะถูกปิดกั้นเนื่องจาก YouTube พิจารณาว่าเป็นข้อความสแปม

ต่อมาไม่นาน คลิป  "Al-Qaeda video against former Thailand Prime Minister" ดังกล่าวได้ถูก YouTube ลบออก โดยระบุว่าเป็นการละเมิดนโยบายด้านความรุนแรง และต่อมามีผู้ใช้ YouTube รายอื่นได้คัดลอกและโพสต์คลิปดังกล่าว แต่ก็ถูก YouTube ลบออกไปหมด แม้ว่าบางคลิปจะตั้งเป็นหมวด "ตลก" ก็ยังถูก YouTube ลบออกไป แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้นามว่า "Toor5Pai" ได้โพสต์วิดีโอดังกล่าว แต่เปลี่ยนเสียงในวิดีโอ เป็นเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งกล่าวในโอกาสวันคล้ายวันเกิดปีที่ 64 เข้าไปแทน (ชมวิดีโอที่นี่) โดยผ่านไปหลายชั่วโมงก็ยังไม่ถูกลบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุรุนแรงในอียิปต์ล่าสุด คนเจ็บ-ตาย ล้นสถานพยาบาล

Posted: 27 Jul 2013 11:29 AM PDT

เหตุการณ์รุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นล้ม ปธน.มอร์ซี ในอียิปต์เมื่อมีการใช้กระสุนจริงในการปะทะโดยฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซีอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ยิงจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย ด้านอัลจาซีรา ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 120 ราย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 4,500 ราย หลังผู้นำกองทัพประกาศชุมนุมสนับสนุนการปราบปรามการ "ก่อการร้าย"

27 ก.ค. 2013 - สำนักข่าว ดิ อินดิเพนเดนท์ รายงานเหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุดในประเทศอียิปต์ โดยระบุว่ามีประชาชนผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุน โมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร ถูกสังหารอย่างน้อย 70 ราย โดยหน่วยรักษาความสงบ ในที่เดียวกับที่เคยเกิดเหตุแบบเดียวกันมาแล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว

หน่วยแพทย์ในพื้นที่กล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะมีประชาชนมากกว่า 100 รายถูกสังหาร แม้ว่าตัวเลขยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ความรุนแรงช่วงการประท้วงฮอสนี มูบารัค เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ดิ อินดิเพนเดนท์ ระบุว่า เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมหลายพันคนดำเนินมาจนถึงช่วงเช้าวันเสาร์ ใกล้กับย่านชานเมืองนาสร์ซิตี้ ในกรุงไคโร โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งติดอาวุธปืนกลเบาและสวมหน้ากากดำได้ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งปักหลักอยู่ในพื้นที่ตลอดเดือนนี้

ผู้ประท้วงสนับสนุนมอร์ซี เรียกร้องให้มีการนำมอร์ซีกลับคืนสู่ตำแหน่ง โดยเมื่อราว 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพหลังจากที่มีผู้ประท้วงต่อต้านมอร์ซีจำนวนมาก

สำนักข่าว ดิ อินดิเพนเดนท์ กล่าวถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ล่าสุดว่าพวกเขาต้องคอยสร้างแนวกั้นชั่วคราวเพื่อหลบกระสุน ขณะที่บางส่วนต้องคอยหลบกระสุนอยู่หลังรถยนต์ โดยกระสุนยิงมาจากทุกทิศทาง

ขณะที่หน่วยแพทย์ซึ่งอยู่ห่างออกไปหนึ่งไมล์ครึ่ง ต้องคอยดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บล้นเกินจำนวนมากและมีมาไม่ขาดสาย มีบางคนถูกยิงโดยกระสุนจริงและมีบางคนต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน แต่ในที่สุดหน่วยแพทย์ก็ล้มเลิกความตั้งใจเมื่อพบว่าเสบียงทางการแพทย์ถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว ด้านหลังของหน่วยแพทย์มีห้องดับจิตซึ่งสร้างไว้ชั่วคราว มีศพ 27 ร่างถูกห่อไว้ด้วยผ้าขาว

"มันคือหายนะชัดๆ" ดร. อาห์เมด ฟาวซี แพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลชั่วคราวกล่าว "เรื่องนี้นับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

ด้านอัลจาซีรา ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 120 ราย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 4,500 ราย โดย โฮดา อับเดล ฮามิด ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานจากในพื้นที่ว่าผู้ชุมนุมต่อต้านฝ่ายทหารยังคงปักหลักชุมนุมอยู่หลายแห่ง ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมสนับสนุนกองทัพได้กลับไปแล้วหลังออกมาชุมนุมในช่วงวันศุกร์ และสถานการณ์ก็ตึงเครียดอย่างมากเมื่อฝายกองทัพประกาศว่าจะ "จัดการปัญหา" นี้


นายพล อัล-ซีซี ประกาศชุมนุมสนับสนุนปราบปราม "การก่อการร้าย"

โดยเมื่อวันศุกร์ (26) ที่ผ่านมาทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านมอร์ซีได้ออกมาชุมนุมตามท้องถนน หลังจากที่นายพล อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ได้ประกาศให้กลุ่มผู้ต่อต้านมอร์ซีออกมาชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนการปราบปราม "การก่อการร้าย"

เกฮัด เอล-ฮัดแดด โฆษกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกล่าวว่ามีการเปิดฉากยิงเริ่มต้นขึ้นก่อนการละหมาดช่วงเช้าเล็กน้อย เกฮัดบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่จงใจ "ยิงเพื่อสังหาร"

แต่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โมฮาเหม็ด อิบราฮิม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลรักษาการของคณะรัฐประหารปฏิเสธว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิงใส่ประชาชน แต่เป็นฝ่ายผู้ชุมนุมที่ใช้กระสุนจริงยิงใส่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และกล่าวหาอีกว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ

อัลจาซีรา ระบุอีกว่า ช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลอียิปต์สองช่องกล่าวถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นน้อยมาก

เหตุรุนแรงที่ตามมาหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตในอียิปต์แล้วไม่ต่ำกว่า 200 ราย โดยส่วนมากผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

 


แปลและเรียบเรียงจาก

Scores killed in clashes at pro-Morsi rally, Aljazeera, 27-07-2013
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2013/07/201372774215454742.html

Egypt unrest: At least 70 supporters of Mohamed Morsi killed by security services in Cairo, The Independent, 27-07-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/africa/egypt-unrest-at-least-70-supporters-of-mohamed-morsi-killed-by-security-services-in-cairo-8734675.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ต้นแบบจริยธรรมไทยๆ

Posted: 27 Jul 2013 08:42 AM PDT


ระยะหลังมานี้ เวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า "ไทยๆ" เรามักหมายถึงสิ่งที่มีภาวะย้อนแย้งในตัวเอง (paradox) หรือเป็นภาวะชวนหัวชวนไห้ในเวลาเดียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า "ตลกร้าย" (irony)
 
เช่น "ประชาธิปไตยไทยๆ" คือประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพได้เท่าที่ชนชั้นปกครองในระบบเก่าอนุญาตให้มี ไม่ใช่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตกลงร่วมกันในการวางกรอบการมีเสรีภาพ หรือ "รักเจ้าแบบไทยๆ" ก็คือการประณาม หยาบคาย ไล่คนที่คิดต่าง คนที่เรียกร้องเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเจ้าตามหลักการประชาธิปไตยให้ออกไปจากประเทศไทย เป็นต้น
 
ความเป็นไทยๆที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เมื่อเร็วๆนี้เอแบคโพลล์รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ "บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม" ของสังคมไทย เช่น นักการเมืองที่ควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 41.7 ระบุ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันดับสอง ร้อยละ 31.6 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
 
สำหรับบุคคลที่เป็นข้าราชการที่ควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 44.8 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก อันดับสอง ร้อยละ 27.8 ระบุ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
 
นอกจากนี้ผู้ใหญ่ในสังคมที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าควรเป็นต้นแบบในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 41.2 ระบุ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันดับสอง ร้อยละ 23.0 ระบุ นายชวน หลีกภัย
 
เมื่อดู "บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม" ดังกล่าว ทำให้เรารู้สึกได้ว่านี่คือ "ต้นแบบจริยธรรมไทยๆ" ไล่จากด้านล่างขึ้นไป พลเอกเปรมกับอดีตนายกฯชวนนั้น คนคงจะนึกถึงภาพว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง แต่นี่เป็นความซื่อสัตย์ในความหมายแคบ ไม่ครอบคลุมความซื่อสัตย์ในหลักการสำคัญที่ควรจะเป็น เช่น สื่อ นักวิชาการ และสังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามว่า พลเอกเปรมในฐานะประธานองคมนตรี "ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?"
 
เพราะรัฐธรรมนูญห้ามองคมนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง การที่ประธานองคมนตรีแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ หรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น "สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด" หรือ "ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ" หรือการนำหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ เป็นต้น เป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมอย่างไร
 
สำหรับนายชวน หลีกภัย แม้จะมีภาพพจน์เป็นนักการเมืองมือสะอาด แต่บทบาทรักษาจารีตที่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ คือบทบาทของผู้มีความ "ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยจริงหรือ?"  
 
ความไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญและต่อหลักการประชาธิปไตย คือปัญหาสำคัญที่สุดที่เป็นต้นเหตุของการทำรัฐประหารซ้ำซาก เป็นรากเหง้าของการรักษาสถานะ อำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้ถูกอ้างอิงทำรัฐประหารได้ไม่สิ้นสุด จึงเป็นความไม่ซื่อสัตย์ที่ส่งผลร้ายแรงต่อความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการโกงของนักการเมืองอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่สังคมไทยกลับไม่เคยตั้งคำถามต่อความไม่ซื่อสัตย์ดังกล่าวอย่างจริงจัง
 
ส่วนบุคคลต้นแบบทางจริยธรรมฝ่ายราชการ เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ทั้งสองคนต่างก็มีส่วนร่วมในระดับวางแผน สั่งการในการสลายการชุมนุมปี 2553 ยิ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร และเป็นผู้มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุมที่ประชาชนเสียชีวิตเกือบร้อยคน บาดเจ็บร่วมสองพันคน โดยที่ "บุคคลต้นแบบทางจริยธรรม" ดังกล่าวนี้ ไม่เคยแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมยอมรับความผิดพลาด และขอโทษประชาชนเลยสักครั้ง
 
สำหรับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะยังไม่มี "รอยด่างทางจริยธรรม" หรือการกระทำในทางที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อหลักการประชาธิปไตย และการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน แต่ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรายังไม่เห็นนายกฯยิ่งลักษณ์แสดง "ความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage)" ในเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง นักโทษ 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น
 
แม้เราจะเข้าใจสถานการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและอ่อนไหวต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่เราก็ยังอยากเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวมากกว่าที่เป็นมา
 
พูดอย่างถึงที่สุดต้นแบบทางจริยธรรมไทยๆที่สะท้อนผ่านโพลล์ดังกล่าว ฉายให้เห็นหน้าตาของ "ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยว" คือทรรศนะที่ปลูกฝังอบรมเรื่อง "คนดี" คนมีคุณธรรมจริยธรรมที่กตัญญู จงรักภักดีต่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
 
แต่เป็นชาติที่ไม่มีประชาชน ไม่มีประชาธิปไตย คนดีที่กตัญญู จงรักภักดีจึงไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องเคารพรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ไม่จำเป็นต้องเคารพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของประชาชน
 
ฉะนั้น การทำรัฐประหารในนามความจงรักภักดี จึงเป็นการกระทำจากฝ่ายที่อ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมตลอดมา นักการเมืองที่ซื่อสัตย์เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมก็คือนักการเมืองที่ยอมรับรัฐประหารเช่นนั้น และ/หรือไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะต่อต้านรัฐประหารเช่นนั้นอย่างจริงจัง
 
ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวดังกล่าวจึงเป็น "อุปสรรคสำคัญที่สุด" ของพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะในสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า เขาปลูกฝังทรรศนะทางจริยธรรมอีกชุดหนึ่ง คือทรรศนะทางจริยธรรมที่มองว่า "มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน" กล่าวคือ เท่าเทียมในเสรีภาพที่จะเลือกการมีชีวิตที่ดี เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง เสรีภาพทางศาสนา ฯลฯ
 
แต่ในสังคมไทย "ไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียม" เลย เช่น ฝ่ายที่อ้างความจงรักภักดี จะสรรเสริญบุคคลที่พวกตนรักอย่างเกินจริงอย่างไรก็ได้ จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือประณาม ขับไล่นักการเมืองที่พวกตนเกลียด พรรคการเมือง มวลชน หรือใครก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการใดๆก็ได้ แม่กระทั่งวิธีรัฐประหาร แต่อีกฝ่ายไม่มีแม้แต่เสรีภาพจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่ฝ่ายแรกอ้างอิงมาเล่นการเมือเพื่อดิสเครดิต หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม นี่คือ "สองมาตรฐานของเสรีภาพ" ในการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นผลพวงของการปลูกฝังทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยว
 
ทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวยึดโยงอยู่กับ "ลัทธิบูชาตัวบุคคล" สังคมไทยใช้ศาสนาสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลขึ้นมา ทำให้คนในชาติมีมุมมองทางจริยธรรมแบบคับแคบที่พูดถึงแต่เรื่อง "คนดี" สร้างจินตนาการผิดๆ ว่าคนดีคือ "พระเอกขี่ม้าขาว" มาแก้ทุกปัญหาของประเทศได้ เราจึงไม่เชื่อใจประชาชน ไม่มีวัฒนธรรมเคารพหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกัน ขาดความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างระบบสังคมการเมืองที่ดี ชนชั้นปกครองจึงมักจะฉวยโอกาสเข้ามาคิดแทน ตัดสินใจแทน ออกแบบกติกา หรือระบบสังคมการเมืองแทน ซึ่งมักเป็นไปเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นหลัก
 
สังคมไทยจะไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่ก้าวข้ามทรรศนะทางจริยธรรมที่บิดเบี้ยวที่ยึดติดลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ เราจำเป็นต้องปลูกฝังจริยธรรมสาลกที่ปลุกมโนธรรมสำนึกและสร้างค่านิยมเคารพหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เวลาพูดถึง "จริยธรรม" ไม่ใช่พูดเพื่อยกย่อง "คนดี" อย่างที่ทำกันมาตามความเคยชิน แต่ควรพูดเพื่อยกย่องการกระทำที่มี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" คือการกระทำที่แสดงออกถึงการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพในสังคมประชาธิปไตย
 
ที่สำคัญต้องเลิกใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมืออวยคุณวิเศษของชนชั้นปกครอง แต่ใช้พุทธศาสนาในความหมายของวิถีการฝึกตนเองเพื่ออิสรภาพด้านใน และเพื่อให้เกิดสำนึกสนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมทางสังคม
 
 
 
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข (27 ก.ค.-2 ส.ค.2556)
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษการเมืองแถลงหนุนร่างนิรโทษกรรม ฉ.วรชัย เท่านั้น

Posted: 27 Jul 2013 08:32 AM PDT

'สุดา รังกุพันธ์' อ่านแถลงการณ์ 22 นักโทษการเมืองเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ หนุน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ เท่านั้น ระบุเป็นอีกช่องทางเพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันโดยไม่หวาดระแวง ลดความขัดแย้ง พร้อมเชิญชวนเสื้อแดงหนุนร่างนี้

สุดา รังกุพันธ์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลและกลุ่ม 29 ม.ค.หมื่นปลดปล่อย

วันที่ 26 ก.ค. 2556 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินเสวนาหัวข้อ 108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) 'สุดา รังกุพันธ์' อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลและกลุ่ม 29 ม.ค.หมื่นปลดปล่อย ผู้รณรงค์เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง อ่านแถลงการณ์ ของ 22 นักโทษการเมืองเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ แสดงจุดยืนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ของ ส.ส.วรชัย เหมะ

โดยแถลงการระบุว่า ทุกวันนี้ความขัดแย้งของคนไทยในสังคมได้เกิดความหวาดกลัวหวาดระแวงต่อกันทำให้เกิดรอยต่อเส้นแบ่งกั้นมิตรภาพแล้วกลายมาเป็นเส้นแบ่งชนชั้นวรรณะในสังคมไทยโดยไม่รู้ตัว ปัญหาเหล่านี้เราคนไทยและผู้รักประชาธิปไตยรักคยวามยุติธรรมไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยปละละเลย เราสามารถมีส่วนร่วมหาทางแก้ไขให้คนไทยในสังคมหันหน้ามารักสามัคคีปรองดองกันได้ด้วยการให้อภัยกัน เราอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะทุกคนมีสิทธิเสรีที่เท่าเทียมกัน เพราะทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยคือพี่น้องกัน ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฏหมายนิรโทษกรรมเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมไทย

กลุ่มนักโทษการเมืองเรือนจำชั่วคราวหลักสี่จึงเห็นสมควรที่จะสนับสนุนร่างกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับของ ส.ส.วรชัย เหมะ เพราะมันจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของคนในสังคมไทยเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยโดยไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเราชาวเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม จะต้องเป็นสื่อและคนกลางที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ โดยการทำให้คนไทยในสังคมลดความขัดแย้งลงได้ เราจึงเป็นตรงกันว่าเราจะขอสนับสนุนร่างกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับของ ส.ส.วรชัย เหมะ เท่านั้น จึงอยากขอเชิญพ่อแม่พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมทุกท่านร่วมกันสนับสนุนร่างกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้

แถลงการณ์ 22 นักโทษการเมืองเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

9 สะดุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอน 2 : ความสัมพันธ์กับกองทัพ

Posted: 27 Jul 2013 04:35 AM PDT

การควบตำแหน่ง รมต. กลาโหมของยิ่งลักษณ์ อาจเป็นเพียงภาพเล็กๆ ของความพยายามต่อรองกับอำนาจทหารที่ เป็นปัจจัยอันดับ 1 ในปัจจัยวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ว่าได้ พร้อมกับงบประมาณกองทัพที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามมาด้วย 

หลังเหตุการณ์ พฤษภา 35 กองทัพถูกเรียกกลับเข้ากรมกอง บทบาทในทางการเมืองเริ่มลดน้อยลง รวมทั้งงบประมาณกองทัพที่ลดน้อยตามไปด้วย กองทัพจึงแทบจะไม่อยู่ในปัจจัยการวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาล หรือถึงอยู่แต่ก็อาจเป็นปัจจัยต้นๆ แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 กองทัพถูกจัดมาเป็นปัจจัยอันดับ 1 ในปัจจัยวิเคราะห์เสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ว่าได้ พร้อมกับงบประมาณกองทัพที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามมาด้วย

 

ทหารอาชีพ?

ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.49 มีการพูดถึงความเป็นทหารอาชีพของทหาร ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือ อย่างที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกาคนสำคัญอย่าง ฮันติงตั้น (Samuel Phillips Huntington) เขียนไว้ใน The Soldier and the State: The Theory and Politics pf Civil-Military Relations. Cambridge: Harvard University Press. ปี 1957 ซึ่งอ้างถึงในบทความ "ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองของ "ชายบนหลังม้า" ที่เขียนโดย  พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เมื่อปลายปี 49 โดยฮันติงตั้น มองว่า "ความเป็นทหารอาชีพ จะไม่ทำให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารในสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นนักเทคนิคในการบริหารจัดการความรุนแรงของรัฐ ซึ่งต่างจากทหารเมื่อสองร้อยปีที่แลวที่เป็นนักรบรับจ้าง หรือทหารของพระราชา.."

ในขณะที่พิชญ์ เองกลับมองว่า "วิธีคิดของฮันติงตั้นวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า "ความเป็นทหารอาชีพ" นั้นมีอยู่แบบเดียวคือต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นกลางทางการเมืองทั้งที่บ่อยครั้งความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่ผลักดันให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาจะเชื่อว่าเขาเป็นข้าฯรับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่"

และความคิดของกองทัพที่สะท้อนออกมาผ่านโอวาทเนื่องในงานพิธีประกาศให้ปี 2555 เป็นปีแห่งการพัฒนาบุคลากรของกองทัพบก ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.55 ที่ว่า "ให้ทหารทุกนาย เป็นทหารมืออาชีพ พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา พร้อมทั้งมีความจงรักภักดี เป็นทหารของพระมหากษัตริย์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน.." นั้นแสดงให้เห็นว่าผู้นำกองทัพอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มองความเป็นทหารอาชีพหรือทหารมืออาชีพแบบเดียวกับฮันติงตั้น แต่มองแบบที่พิชญ์วิเคราะว่าทหารเชื่อว่าเขาเป็นข้าฯรับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์หรือในที่นี้ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "ทหารของพระมหากษัตริย์" มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่

 

กองทัพในฐานะกลุ่มทุน

ประเด็นการเป็นกลุ่มทุนหรือเครือข่ายธุรกิจของกองทัพนั้น กานดา นาคน้อย ได้เขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ "เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย" ถึง 2 ตอน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพไม่ใช่เพียงบทบาทในเชิงปราบปรามของรัฐเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นกลุ่มทุน ซึ่งกานดา มองว่า กลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว รวมถึงมีธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง

และกานดายังมองถึงความสัมพันธ์ในฐานะกลุ่มทุนของกองทัพกับการรัฐประหารด้วยว่า การขยายทุนการขยายกิจการของกองทัพเข้าสู่ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital accumulation) ภายในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 กองทัพมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆในไทย ทำให้การป้องกันประเทศกลายเป็นกิจกรรมรองของกองทัพ กิจกรรมหลักของกองทัพคือการทำธุรกิจและทารัฐประหารเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยมีรัฐประหารบ่อยจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาวุธไทยต่ำมาก ไทยไม่มีวันกลายเป็นทุนนิยมสากลตราบใดที่ธุรกิจของกองทัพไม่โดนแปรรูปให้เป็นเอกชน การแปรรูปธุรกิจของกองทัพสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ

นอกจากการที่กองทัพไทยไม่ได้มีอำนาจในฐานะกลไกของรัฐในเชิงปราบปรามแล้ว ยังมีอำนาจจากการเป็นกลุ่มทุน รวมทั้งแนวคิดที่ต่อต้านการแทรกแซงถวงดุลจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและรัฐบาล จากกระแสการต่อต้านบทบาทของรัฐบาลที่จะเข้ามาจัดการตำแหน่งต่างๆของกองทัพ เหล่านี้จึงทำให้กองทัพมีสถานะคล้ายรัฐอิสระขึ้นมา จึงสรุปได้ทัพยังคงมีความสามารถในการล้มหรือทำรัฐประหารอยู่ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่มากหรือน้อยเท่านั้น อย่างที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาหน่วยงานความมั่นคง และคอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องราวในแวดวงนี้มายาวนาน มองว่า "ผมพูดมาตั้งแต่หลังปี 2535 ว่าไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะหมดไปจากการเมืองไทย เป็นแต่เพียงการทำจะทำได้ยากขึ้น  มันมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตถ้าเราไม่จัดการอะไรเลย หรือใช้ภาษาทฤษฏีนิดหนึ่งคือ เราไม่จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ให้มีกรอบที่ชัดเจนและมีบริบทความสัมพันธ์ที่แน่นอน นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่จัดเราก็ปล่อยทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกิน ตัวแบบคือ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีกับผู้นำทหาร รัฐประหารก็จะไม่เกิด แต่สุดท้ายก็เกิด"

 

ความชันของงบกองทัพกับความราบรื่นของรัฐบาล

งานศึกษาของ แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการสาขามานุษยวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 04 ก.ย. 53 ยืนยันว่าตัวเลขงบประมาณกองทัพเทียบกับผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ดู กราฟ 1)

กราฟ 1 งบประมาณกองทัพต่อ GDP

จากกราฟที่แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ทำแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 งบประมาณทางด้านการทหารของไทยได้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมากกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็ค่อยๆ ลดต่ำลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 49 แต่หลังจากรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นต้นมา งบประมาณทางด้านการทหารของไทยกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยจากสถิติของธนาคารโลก งบประมาณของกองทัพไทยได้แตะถึงหลัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 51 และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากการประมาณการตัวเลขโดยอ้างอิงพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 53

และความต่อเนื่องของการเพิ่มงบประมาณกองทัพนั้นก็ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ที่มีจำนวน 2.525 ล้านล้านบาท ได้ถูกเจียดไปให้กระทรวงกลาโหม ถึง 184,737.48 ล้านบาท ในขณะที่ปี 56 อยู่ที่ 180,491.53 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4,245.94 ล้านบาท

ดังนั้นจากความต่อเนื่องของการขึ้นงบประมาณเลี้ยงดูปูเสื่อกองทัพนี้จึงอาจไม่ถือเป็นปัจจัยคุกคามต่อเสถียรของรัฐบาลนี้

 

กระแสรัฐประหารในอียิปต์ – คลิปถั่งเช่า

หลังจากรัฐประหารในอิยิปต์ล้มรัฐบาลประธานาธิบดีมอร์ซีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สร้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการดังกล่าวทั้งในระดับสากล ที่มีทั้งสนับสนุนและต่อต้าน รวมทั้งในไทยด้วยเช่นกันที่มีทั้งสนับสนุนแต่ต่อต้าน และแน่นอนที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือหยิบยกมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองภายในประเทศด้วย

แม้กระทั้งผู้นำฝ่ายค้านอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ก็พูดถึงเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า อยากให้นายกฯ ย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกี บราซิล และล่าสุดเกิดการปฏิวัติในอียิปต์  รวมถึงประเทศในอาเซียนด้วยกันที่มีการประท้วงรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่เป็นประเทศที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลถูกเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ  ไม่ใส่ใจกับการรักษาผลประโยชน์ผู้เสียภาษีอากร เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่น ปิดกั้นเสรีภาพ ดังนั้นถ้านายกฯ ไปดูงานเรื่องนี้ ก็อยากให้กลับมาแก้ไขเงื่อนไขเหล่านี้ เพราะปัญหาของประเทศเราก็รู้ว่า กรุ่น ๆ อยู่ มีหลายกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตรงกับทุกประเทศที่ตนหยิบยกมาคือ ทุจริต ปิดกั้นเสรีภาพ ใช้อำนาจในทางมิชอบ ดังนั้นถ้ารัฐบาลเดินหน้าทำตามนโยบายที่สัญญาเอาไว้ เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ ไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ท้าทายอำนาจตุลาการ ปัญหาความตึงเครียดก็จะไม่เกิด อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อปัญหาการยึดอำนาจรัฐประหาร

เช่นเดียวกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่หยิบยกเหตุการณ์นี้มาสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มตนเองในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับปูทางสร้างความชิบธรรมให้กับทหารออกมาเคลื่อนไหว แต่เหมือนว่ากระแสดังกล่าวลดลงจากเหตุการณ์ที่อิยิปต์เองที่หลังจากทหารทำรัฐประหารมีประชาชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซีออกมาต่อต้าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมไปทั้งคลิป "ถั่งเช่า" คลิปเสียงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กับพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ที่เนื่อหาการสนทนามีบางช่วงบางตอนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพ ทำให้ผู้ที่เชียร์ทหารให้ออกมาล้มรัฐบาลค่อนข้างผิดหวังกับที่พึ่งของพวกเขาคือทหารด้วยเช่นกัน 

คลิกดูภาพใหญ่ที่นี่

 

การนั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหมของยิ่งลักษณ์

หลังการปรับคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งที่น่าสนจคือการนั่งรัฐมนตรีกลาโหมของนายกยิ่งลักษณ์ คู่ไปกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้หญิง แม้แต่วันแรกที่เข้ากระทรวง 11 ก.ค.ก็ถูก กลุ่มแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติ นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี และ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พร้อมด้วยแนวร่วม เดินทางมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหมเพื่อประท้วงการดำรงตำแหน่งดังกล่าวของนายก และหลังจากนั้น 20 ก.ค.ที่ผ่านมากลุ่มหน้าเดิมที่หลายคนร่วมชุมนุมคัดค้านการเข้ากระทรวงกลาโหมวันแรกของนายก โดยใช้ชื่อใหม่อย่าง "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" ก็แถลงเปิดตัว พร้อมมีข้อเรียกร้องหนึ่งที่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยทันที พร้อมขู่ด้วยว่าจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตามประเด็นการนั่งเก้าอี้ควบรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของนายกนั้น สุรชาติ บำรุงสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ไว้ว่า เหมือนการตอกย้ำภาพเดิม รัฐบาลพลเรือนคงมีความประสงค์ที่อยากเห็นการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเป็นไปได้ด้วยดี โดยอาศัยตัวนายกฯ รัฐมนตรีเข้ามานั่งเป็นประธานสภากลาโหมและดูแลกองทัพเอง พร้อมกับกล่าวด้วยว่าสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องทำในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมคือ การสร้างการบริหารจัดการที่ดี กับการสร้างประชาธิปไตยสำหรับกระทรวงกลาโหมในอนาคต

 

โผทหาร

มีแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่อธิบายการได้ประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งต่างๆทั้งทางการเมืองและสังคมว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (ECONOMIC  RENTS) ที่เป็นผลตอบแทนที่บุคคลได้รับมากเกินกว่าที่ควรจะได้หากดำเนินกิจกรรมตามปกติอย่างมีการแข่งขัน ดังนั้นผลประโยชน์ของกองทัพไม่เพียงในฐานะกลุ่มทุนอย่างที่กว่าในข้างต้นเท่านั้น หากแต่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการดำรงตำแหน่งด้วย ด้วยเหตุนี้การจัดโผทหารจึงมีนัยะของการรักษาผลประโยชน์เหล่านั้น รวมไปถึงสร้างความได้เปรียบในการแสวงหาผลประโยชน์ต่อไปด้วย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายต่างๆ ก็ต้องการมีสวนร่วมในการจัดสรรผลประโยชน์ตรงนี้ หากแต่ที่ผ่านมาอยู่ในมือของกองทัพกลุ่มต่างๆ เป็นสำคัญ แต่เมื่อนายกที่เป็นพลเรือนเข้ามาเป็น รมว.กลาโหมด้วย ประเด็นเหล่านี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดภายใต้วาทะกรรมที่ฝ่ายอนุรักษ์สร้างมาว่าเป็นการ "แทรกแซงข้าราชการ แทรกแซงกองทัพ" หรือ ล้วงลูก ซึ่งนายกฯ ก็ออกมาปัดตั้งแต่วันแรกที่เข้ากระทรวงว่าจะไม่มี ทั้งที่ความเป็นจริงฝ่ายการเมืองผู้เสนอนโยบายควรที่จะสามารถจัดการหรือกำหนดกับฝ่ายที่นำนโยบายไปปฏิบัติได้

ซึ่งสุรชาติ มองว่า ทฤษฎีที่ว่าการมาคราวนี้จะทำให้สัดส่วนของเสียงโหวต ในการลงเสียงใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม การตั้งนายทหารในกระทรวงกลาโหมเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าอาจจะไม่ค่อยเป็นจริงมากนัก เพียงแต่ก็น่าสนใจว่าการมาครั้งนี้โดยตัวของนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเข้ามารับเอง มีความคาดหวังอะไร ดังนั้นโจทย์เรื่องโผทหารนั้นเป็นโจทย์เล็ก แต่บนบริบทที่มีความสัมพันธ์กันแบบหวาดระแวง เมื่อฝ่ายการเมืองหรือพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมก็มีความระแวง มาเพื่อทำโผ มาเพื่อรื้อโผ มาเพื่อจัดโผ

เมื่อนายกก็ยืนยันว่าจะไม่มีการลวงลูก ซึ่งตรงกับสิ่งที่ สุรชาติมองว่าเรื่อง "โผทหาร" ไม่ใช่จุดศูนย์กลางอย่างที่หลายคนเห็น เพราะนั่นเป็นโจทย์ระยะสั้นเกินไป และติดกับดักนำไปสู่การแตะเป็นหัก ดังนั้นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างไทย สุรชาติจึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลพลเรือนสามารถจัดการเรื่องนั้นได้จริง  ผู้นำพลเรือนจึงควรหันไปทำเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าและไม่เป็นปมขัดแย้งรุนแรงกับกองทัพ แต่ขณะเดียวกันเรื่องเหล่านั้นก็สามารถจะปรับกระบวนทัศน์ ของกองทัพ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยได้

 

สร้างประชาธิปไตยภายในเวทีในกองทัพภูมิต้านทานรัฐประหาร

ทั้งนี้กองทัพเองก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียว เท่ากับว่ามีกลุ่มในกองทัพกลุ่มอื่นที่อาจจะอยู่เฉยๆ หรือออกมาขัดขวางหากทหารกลุ่มหนึ่งทำการรัฐประหารได้ การออกมารัฐประหารกองทัพไม่สามารถทำโดยลำพังโดยไม่มีความชอบธรรมหรือฝ่ายประชาชนบางส่วนสนับสนุนได้ และสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากปี 49 ตรงที่ขณะนั้นไม่มีกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่พร้อมจะต่อต้านหรืออกมาเคลื่อนไหวทันทีอย่างเสื้อแดงหากมีการทำรัฐประหาร และเมื่อมีมวลชนกลุ่มหนึ่งออกมาต้าน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะมีทหารกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารออกมาสนับสนุนประชาชนเหล่านั้น ด้วยเหตุที่การรัฐประหารเป็นดีลหนึ่งทางธรุกิจในการจัดสรรทรัพยากร เมื่อประเมินแล้วต้นทุนสูงขึ้น ผลประโยชน์น้อยลง จากบทเรียนรัฐประหาร 49 โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารจึงยากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญคือโจทย์ใหญ่ อย่างที่สุรชาติ กล่าวว่า "มันมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตถ้าเราไม่จัดการอะไรเลย หรือใช้ภาษาทฤษฏีนิดหนึ่งคือ เราไม่จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ให้มีกรอบที่ชัดเจนและมีบริบทความสัมพันธ์ที่แน่นอน นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่จัดเราก็ปล่อยทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกิน ตัวแบบคือ นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ตัวเองมีกับผู้นำทหาร รัฐประหารก็จะไม่เกิด แต่สุดท้ายก็เกิด"

"เพราะฉะนั้นถ้าคิดย่างนี้การเมืองภาคพลเรือนสร้างประชาธิปไตยในเวทีนอกกองทัพ รัฐมนตรีกลาโหมในระยะเปลี่ยนผ่านภาระที่ที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้างประชาธิปไตยภายในเวทีในกองทัพ ผมตอบด้วยคำตอบที่เห็นในละตินอเมริกา ถ้าบอกว่าทำไม่ได้ เราตอบจากของจริงด้วยบทบาทกองทัพในบราซิล กองทัพในอาเจนตินา กองทัพในเปรู เคยมีบทบาทสูงกว่ากองทัพไทยเยอะในทางการเมือง แล้วเกิดอะไรขึ้น ประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตย หรือพูดในทางทฤษฎีคือเดินเลยระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปแล้ว" สุรชาติ กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

- 9 สะดุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอน 1: พ.ร.บ. ปรองดอง + นิรโทษกรรม

http://prachatai.com/journal/2013/07/47808

- แอนดรูว์ วอล์คเกอร์, มติชนออนไลน์, นักวิชาการออสเตรเลียทดลองทำกราฟงบประมาณรายจ่ายของกองทัพไทย ชี้หลังปี 49 ตัวเลขพุ่งพรวด, วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2553 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283519233

- ข่าวสดออนไลน์, "ยิ่งลักษณ์" เทงบฯแสนล้าน ซื้อใจทหาร ต้านข่าวปฏิวัติ, วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:31 น. http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM01ERTJNVGsxTUE9PQ==

- ผบ.ทบ.ย้ำกำลังพลต้องเป็นทหารมืออาชีพ ข่าวการเมือง วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2555 12:14น. http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=373961

- มติชนออนไลน์, "สุรชาติ บำรุงสุข" ชง10 โจทย์ใหญ่ ภารกิจ "นายกฯหญิง" ควบ "กลาโหม" ยุค เชื่อมต่อ "รบ.-กองทัพ" สัมภาษณ์พิเศษ โดย พนัสชัย คงศิริขันต์ / ปิยะ สารสุวรรณ 8 ก.ค.56 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373191710

- กานดา นาคน้อย, เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย, ตอนที่ 1 http://prachatai.com/journal/2012/03/39802 และ ตอนที่ 2 http://prachatai.com/journal/2012/04/40226

- ประชาไท, คุยกับสุรชาติ บำรุงสุข : 10 โจทย์ใหญ่กว่า 'โผทหาร' สำหรับรมว.กลาโหมใหม่, มุทิตา เชื้อชั่ง สัมภาษณ์ http://prachatai.com/journal/2013/07/47604

- ประชาไท,  ความเคลื่อนไหว กระทรวงกลาโหม-สนามหลวง http://prachatai.com/journal/2013/07/47672

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘Do or Die’ ทางเลือกแรงงาน ‘เอา-ไม่เอา’ กม.ประกันสังคม

Posted: 27 Jul 2013 03:34 AM PDT

การเดินทางของร่างกฎหมายประกันสังคม กำลังจะเข้าสู่วาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ เดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการวาระ 1 อภิปรายแสดงความเห็น จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะลงคะแนนโหวตรายมาตราที่มีการแก้ไข

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายประกันสังคมถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฏร จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.ร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน เข้าชื่อเสนอ 3.ร่างฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ 4.ร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จากนั้นสภาฯรับหลักการวาระ 1 แค่ร่างฉบับ ครม.และของนายเรวัติ แต่ตีตกร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ และนายนคร

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของขบวนแรงงานในการแก้กฎหมายประกันสังคมครั้งนี้ อยู่ที่การปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ เปลี่ยนสถานะจากหน่วยงานราชการมาเป็นนิติบุคคล มีเลขา สปส.ที่มาจากการสรรหา มีโครงสร้างการบริหารกองทุนที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ที่มาของกรรมการ สปส.ฝ่ายลูกจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อให้ผู้ประกันตน 10 ล้านคนมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนอย่างแท้จริง ตลอดจนแก้ไขนิยามลูกจ้างให้ครอบคลุมไปถึงคนรับงานไปทำที่บ้าน

ทว่า เป้าหมายดังกล่าวยิ่งมายิ่งไกลออกไป เพราะแค่ขั้นตอนการรับหลักการวาระ 1 สภาผู้แทนราษฎรก็ปฏิเสธหลักการนี้เสียแล้ว ขณะที่ร่างฯ ฉบับที่รับหลักการนั้นยังกำหนดโครงสร้าง สปส.เป็นแบบเดิม ต่างกันแค่เรื่องจำนวนของกรรมการในบอร์ดเท่านั้น

นอกจากนี้ การแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการยังเดินไปคนละทางกับสิ่งที่แรงงานเรียกร้อง เพราะได้แก้ไขกฎหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานลงมานั่งเป็นประธานบอร์ด สปส.อีกต่างหาก จากเดิมที่ให้ปลัดกระทรวงเป็นประธาน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เพราะแทนที่แก้กฎหมายแล้วจะทำให้ สปส.ถูกแทรกแซงโดยการเมืองน้อยลง กลับยิ่งเพิ่มบทบาทให้มาร่วมจัดการเงินกองทุนมากกว่าเดิมเสียอีก

หากมองจากมุมของขบวนแรงงาน แม้จะผลักดันกันมาเป็นปีๆ แต่ก็ยังไม่เฉียดเข้าใกล้เป้าหมายที่ต้องการเลยแม้แต่น้อย และคงต้องทบทวนจุดยืนว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ต่อไป เพราะขั้นตอนในวาระ 2 หากมาตราไหนที่ไม่ได้แก้ไข ก็จะไม่มีการนำมาอภิปรายในสภา แต่หากมาตราไหนที่แก้ไขก็อภิปรายได้ และหากมีผู้สงวนคำแปรญัตติ ก็จะเปิดผู้สงวนฯอภิปราย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ไขใดๆ ที่เกิดขึ้นก็จะต้องไม่หลุดจากกรอบร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระ 1

ดังนั้น ความฝันให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระมีการบริหารกองทุนแบบมืออาชีพเป็นอันสลายไปตั้นแต่ต้น นอกจากนี้ กรรมาธิการยังใช้ร่างฯฉบับ ครม.เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งร่างฯ ฉบับดังกล่าวเน้นไปที่การแก้ไขรายละเอียดยิบย่อยในการปฏิบัติงานเสียมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ

และหากดูรายมาตราที่มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ จะมีการแก้ไขหลักๆ คือ มาตรา 8 แก้ให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมาเป็นประธานบอร์ด สปส.แทนปลัดกระทรวง และเพิ่มสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละ 6 คนเป็น 7 คน

อย่างไรก็ตาม มาตรานี้มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติหลายคน เช่น นายเชน เทือกสุบรรณ เห็นว่าควรให้ปลัดกระทรวงเป็นประธานบอร์ด สปส.และมีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 6 คน นายนคร มาฉิม เสนอให้ประธานบอร์ดมาจากการผู้ได้รับเสียงข้างมากของกรรมการ และ มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 7 คน โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด

นายชาลี ลอยสูง เสนอให้มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง - ลูกจ้างฝ่ายละ 8 คน นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เสนอให้ปลัดกระทรวงเป็นประธานบอร์ด สปส.มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 6 คน กรรมการทั้ง 2 ฝ่ายให้มาจากการเลือกตั้ง แต่กรรมการฝ่ายลูกจ้างต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรง

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังได้แก้ไขในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่เกินเงินสมทบที่ได้จากผู้ประกันตน จากเดิมซึ่งร่างฯฉบับครม.กำหนดให้จ่ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้จากผู้ประกันตนอีกด้วย รวมทั้งยังมีอีกหลายประเด็นที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติ เช่น นางรัชฎาภรณ์ เสนอให้แก้ไขประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรมาตรา 65 จากเดิมที่กำหนดให้เพียงแค่ 2 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยให้เบิกได้ตั้งแต่วันแรกของการเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินเข้าระบบมาไม่ต่ำกว่า 7 เดือน

เช่นเดียวกับ นายชาลี ที่เสนอให้เพิ่มเติมความในมาตรา 63 วรรค 1 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน โดยขอให้เพิ่มเติมในเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมทั้งค่าตรวจสุขภาพประจำปี และสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรตามมาตรา 75 จากเดิมที่จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 15 ปี เปลี่ยนเป็น 20 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการถกเถียงแก้ไขต่างๆ นานาแค่ไหน ก็เป็นเรื่องรายละเอียดวิธีปฏิบัติ แต่ที่สุดแล้วกรอบการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมก็ยังไม่หลุดจากร่างฯฉบับครม.และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ ที่ขบวนแรงงานต้องการจริงๆ

หรือแม้แต่คนที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่าง นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ก็ยังมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตอบโจทย์ในแง่การบริหาร เพราะบทบาทของบอร์ด สปส.ยังผสมๆ ระหว่างบอร์ดบริหารและบอร์ดที่ปรึกษา

"บอร์ดจะดูเรื่องการอนุมัติเงินเป็นหลัก แต่คนบริหารคือตัวสำนักงาน สปส. ขณะเดียวกันบอร์ดก็มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีด้วย แต่ในชั้นกรรมาธิการมีการพูดถึงแค่จำนวนกรรมการแต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องบทบาทหน้าที่ ดังนั้นอยากให้กำหนดบทบาทคณะกรรมการให้ชัดเจนกว่านี้" นพ.สมเกียรติ กล่าว

แล้วทางเลือกหลังจากนี้ขบวนแรงงานจะทำอย่างไรต่อ มีทางเลือกในการผลักดันกฎหมายอย่างไรบ้าง?

รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคม มองว่า การผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ ในขั้นตอนการแปรญัตติคงเอาชนะเสียงข้างมากได้ยาก แต่ก็ต้องอภิปรายหลักการและเหตุผลเพื่อคงเจตนาไว้ แล้วไปเสนอขอแก้ไขกฎหมายเป็นรายมาตราในภายหลัง

"บางมาตราอยากแก้ก็แก้ไม่ได้เพราะไม่ได้มีการเสนอแก้มาตั้งแต่ต้น เช่น เรื่องประธานบอร์ด สปส.แก้จากปลัดกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ได้แก้เรื่องอำนาจหน้าที่ของประธานไว้ ซึ่งจะตามไปแก้ก็แก้ไม่ได้ แล้วมันจะเป็นปัญหาในภายหลัง" รัชฎาภรณ์ แสดงความเห็น

ด้านสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มองว่า แนวทางของเครือข่ายแรงงานขณะนี้อาจจะยอมรับการแก้ไขกฎหมายแล้วผลักดันข้อเรียกร้องเท่าที่เป็นไปได้ อีกทางคือรอให้กฎหมายผ่านสภาฯแล้วค่อยขอแก้เป็นรายมาตรา และอีกทางอาจจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล้มกฎหมายฉบับนี้ไปเลยว่าเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เคยทำหนังสือแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผู้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม โดยระบุว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และให้ความสำคัญจนกำหนดเป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน กำหนดให้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมาธิการทั้งหมด

ดังนั้นสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายย่อมมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภา และการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ยังเป็นการใช้อำนาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย ระบุว่า วันที่ 30 ก.ค.นี้ เครือข่ายแรงงานจะประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านกรรมาธิการแล้ว จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบหรือไม่ เพื่อล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเลย

 

 

ที่มา: http://www.hfocus.org/content/2013/07/4123 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น