ประชาไท | Prachatai3.info |
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ตักบาตร"
- เตรียมยื่นประกันตัว รอบ 15 ภรรยาสมยศขอชื่อคนหนุน-ยันสมยศไม่หลบหนี
- เพจสโมสรนิสิตศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขออภัยกรณีมีรูปฮิตเลอร์ในงานรับปริญญา
- กฤษณะ ฉายากุล: ข้าว
- ประจักษ์ ก้องกีรติ: 40 ปี 14 ตุลา-40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: อียิปต์ยามกองทัพล้มประชาธิปไตย
- บทความสั้นจู๋ : Patriarchy Politics แบบไทยๆ
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ตักบาตร" Posted: 14 Jul 2013 08:44 AM PDT |
เตรียมยื่นประกันตัว รอบ 15 ภรรยาสมยศขอชื่อคนหนุน-ยันสมยศไม่หลบหนี Posted: 14 Jul 2013 04:37 AM PDT สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาสมยศ ผู้ต้องขังคดี 112 อดีต บก.นิตยสาร Voice of Taksin แถลงข่าวเตรียมเพิ่มเงินประกันตัว รวมเป็น 4 ล้านบาท ยืนยันสมยศไม่หนี หลังศาลปฏิเสธประกันตัว 14 ครั้ง
(14 ก.ค.56) ที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 11 ปีด้วยความผิดตามมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา กล่าวในการแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อนายสมยศ ว่า ที่ผ่านมา มีการยื่นประกันตัวสมยศมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน จนปัจจุบันรวมแล้ว 14 ครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธตลอดด้วยเหตุผลว่า เป็นความผิดร้ายแรง กระทบต่อจิตใจของประชาชน และเกรงว่าจะหลบหนี ทั้งที่มีหลักฐานพยานโจทก์ชี้ว่าไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนี โดยเจ้าหน้าที่ ตม. จ.สระแก้ว ระบุว่า คนที่จะหลบหนีข้ามประเทศจะไม่เดินทางผ่านช่องทาง ตม. แต่สมยศผ่านเข้าออกทางด่านอรัญประเทศหลายครั้ง และกลับเข้ามาในช่องทางเดียวกันทุกครั้ง สุกัญญา ระบุว่า การต่อสู้ให้สมยศได้ออกมาต่อสู้คดีสำคัญอย่างยิ่ง การยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 15 จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. นี้ โดยนอกจากเหตุผลที่จะยื่นต่อศาลแล้ว จะมีการเพิ่มวงเงินประกันขึ้น จากที่เคยยื่น ที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 2,262,000 บาท ได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นที่ดินของครอบครัวของตนเองอีก 1 แปลง มูลค่า 1,500,000 บาท เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ประกันตัวเพื่อให้สมยศหลบหนี พร้อมชี้ว่าครอบครัวของตนเองมีหน้าที่การงานที่ชัดเจน ยืนยันว่าต้องการสู้คดีในประเทศไทย โดยหลักทรัพย์ที่ยื่นรวมเกือบสี่ล้านบาท ซึ่งมากกว่าคดีร้ายแรง ที่ใช้เพียง 1 ล้านบาทก็เพียงพอ สุกัญญา กล่าวต่อว่า ทนายในประเทศ คือ วสันต์ พานิช ส่วนทนายในต่างประเทศ ได้รับการสนับสนุนจาก โรเบิร์ต อัมสเตอดัม ซึ่งกำลังประสานงานกับองค์กรสิทธิ ต้องการต่อสู้ว่าสิทธิในการแสดงความเห็นควรมีอยู่ ไม่เช่นนั้น นักข่าวหรือผู้ประกอบอาชีพใดๆ ก็มีสิทธิโดน 112 เหมือนกัน ทั้งนี้ ตนเองและครอบครัว รวมถึงผู้ร่วมรณรงค์แคมเปญฟรีสมยศและปล่อยนักโทษการเมืองจัดทำแถลงการณ์เพื่อเป็นหลักประกันต่อศาลว่าประชาชนในประเทศเห็นด้วยให้มีการปล่อยตัวสมยศ ตามสิทธิพลเมืองที่จะได้รับ และยินดีเป็นหลักประกันว่าสมยศจะไม่หลบหนี โดยได้ขอให้ผู้เข้าฟังร่วมลงรายชื่อด้วย วสันต์ พานิช ทนายความของสมยศตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังมีการฟ้องคดีและนำสืบ ในบทความแรก มีการสืบโดยให้นักศึกษานิติศาสตร์ มธ. ซึ่งฝึกงานที่ดีเอสไอ มาอ่านบทความและบอกว่าเข้าใจว่าอย่างไร ไม่แน่ใจว่านักศึกษาจะต้องมีความเห็นเหมือนกับดีเอสไอหรือไม่ ถามว่า ทำไมไม่เอานักศึกษาหรือคนทั่วไปมาอ่านว่ามีความเห็นอย่างไร นอกจากนั้นก็เป็นทหารที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกมาให้ความเห็น และที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 10 ปี จากการเป็นผู้จัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร วสันต์ ชี้ว่า ในอดีต เมื่อจะฟ้องหนังสือพิมพ์ลงข่าวหมิ่นประมาท ต้องฟ้อง บก. ที่เป็นผู้เผยแพร่ ให้ร่วมรับผิด ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายในยุคเผด็จการ แต่ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา ไม่อนุญาตให้มีการสั่งปิดโรงพิมพ์ ถ้าจะรับผิดในฐานะบรรณาธิการ แปลว่าสมยศจะต้องรู้เนื้อหาในหนังสือล่วงหน้า แต่พยานโจทก์ที่สืบมาส่วนใหญ่ยืนยันว่า พอหนังสือออกรายปักษ์ นักเขียนมักจะส่งล่วงหน้า 1-2 วันก่อนส่งโรงพิมพ์ ถามว่าบรรณาธิการจะมีเวลาตรวจหรือไม่ อย่างเก่งฝ่ายพิสูจน์อักษรก็อาจได้ตรวจทาน ประกอบกับผู้ใช้นามปากกา "จิตพลจันทร์" เขียนเป็นประจำ จาก 21 ฉบับ เขียนมาแล้ว 15 ฉบับ โดยเจ้าของโรงพิมพ์ พยานโจทก์ยังบอกว่า แม้รายได้ดี แต่พิมพ์ไม่ทัน เพราะต้นฉบับมาช้ามาก สุดท้ายจึงต้องไม่รับพิมพ์ ดังนั้น จะเห็นว่าโอกาสที่บรรณาธิการจะอ่านตรวจก่อนจึงไม่มี ถามว่า สมยศในฐานะบรรณาธิการ ซึ่งจะมีความผิดต่อเมื่อต้องมีกฎหมายกำหนดหรือต้องรู้ จำเป็นต้องรับผิดด้วยหรือ นี่คือประเด็นที่อุทธรณ์ คือ คำพิพากษาต้องยืนด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีกฎหมายบอกว่าผิด จะลงโทษไม่ได้ ทั้งนี้ ในการยื่นขอประกันตัว ซึ่งถูกปฏิเสธมาตลอดด้วยเหตุผลว่าสมยศมีพฤติกรรมจะหลบหนีนั้น ชี้ว่า หลังมีหมายจับเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2554 สมยศได้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. และกลับมาวันที่ 21 ก.พ. เช่นนี้จะอ้างว่ามีพฤติกรรมหลบหนีได้หรือไม่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เพจสโมสรนิสิตศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขออภัยกรณีมีรูปฮิตเลอร์ในงานรับปริญญา Posted: 14 Jul 2013 03:54 AM PDT เพจของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ขออภัยต่อกรณีปรากฏภาพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในป้ายแสดงความยินดีบัณฑิต ระบุอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนิสิตที่จัดทำ ขณะที่ยังไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการของผู้บริหารจุฬาฯ จากกรณีที่ศูนย์ไซมอน วีเซนธาล (Simon Wiesenthal Center) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวยิว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประณามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากการใช้รูปภาพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นภาพประกอบฉากถ่ายรูปวันรับปริญญา โดยระบุว่ารู้สึก "ไม่พอใจอย่างมาก" และ "รังเกียจ" ที่บุคลากรมหาวิทยาลัยเงียบงันและเฉยเมยต่อการใช้ภาพดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยอับราฮัม คูเปอร์ นักบวชศาสนายิว ผู้ช่วยคณบดีของศูนย์ไซมอน วีเซนธาลกล่าวว่า "ศูนย์ไซมอน วีเซนธาล รู้สึกโกรธเคืองและรังเกียจอย่างมากต่อการแสดงภาพในที่สาธารณะเช่นนี้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย รูปนี้ยังตั้งแสดงอยู่ใกล้ๆ กับอาคารภาคประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย เรารู้สึกไม่พอใจอย่างมากต่อคนที่สร้างภาพล้อเลียนนี้ขึ้นมา และต่อคนที่โพสท่า 'ซีก ไฮล์' ของนาซี และยังเสียใจและรังเกียจความเงียบงันจากชนชั้นนำของมหาวิทยาลัย ที่ล้มเหลวในการให้เอารูปดังกล่าวออก" พร้อมแนะนำด้วยว่าอาจจะถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยจะดูเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นบทเรียนในการจัดการเรียนการสอนเรื่องการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้แก่ทั้งบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) เพจของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์สเตตัสขออภัยจากกรณีที่เกิดขึ้นว่า "ในนามของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขออภัยในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับป้ายแสดงความยินดีบัณฑิตใหม่ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2556 ซึ่งปรากฏภาพวาดที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งภาพวาดนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ในการพาดพิงถึงฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มนิสิตที่จัดทำ ซึ่งทางสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ต้องขออภัยในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ด้วย" อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (13 ก.ค.) ยังไม่มีคำชี้แจงหรือท่าทีอย่างเป็นทางการของผู้บริหารของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันที่โรงเรียนพระหฤทัย จ.เชียงใหม่ เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งได้ใส่ชุดเครื่องแบบทหารนาซีเดินพาเหรดในวันกีฬาสีของโรงเรียน ทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศสประจำเชียงใหม่ เดินทางมาที่โรงเรียนเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2550 นักเรียนจากโรงเรียนทิวไผ่งาม กรุงเทพฯ กว่า 200 คนแต่งกายเป็นชุดทหารนาซีในงานกีฬาสี พร้อมทั้งเปล่งเสียงคารวะผู้นำฮิตเลอร์เลียนแบบกองทัพนาซีเมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้กันยา เขมานันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งามในเวลานั้น ต้องทำการขอโทษอย่างเป็นทางการไปยังศูนย์ไซมอน วีเซนธาล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 14 Jul 2013 02:49 AM PDT ปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยในขณะนี้หนีเรื่องข้าวไปไม่พ้น การที่ฝ่ายหนึ่งมีนโยบายในการจัดการเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับค่าราคาที่สูงขึ้นจนสามารถเลี้ยงตนเองได้ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาและได้รับความยินยอมสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านนโยบายนี้นอกรัฐสภากล่าวหาว่าการจัดการเรื่องข้าวของรัฐบาลได้ดำเนินการไปโดยไม่ถูกต้องจนมีข้าวเน่ามีข้าวที่ปนเปื้อนสารมีพิษมีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนี้ เป็นต้น การกล่าวหาในทางร้าย มุมมองในระบอบประชาธิปไตยที่แอบอ้างกันว่าเป็นสิทธิในการพูดวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่แม้ประชาชนทุกคนก็สามารถกระทำได้ หากการกระทำในการกล่าวหานั้นก่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม แต่การกล่าวหาร้ายๆ ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นจำเป็นต้องมีหลักการพื้นฐานในการตรวจสอบมารองรับว่าข้าวมันเน่าทั้งหมดทั้งหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นหรือไม่ ข้าวมันไม่มีความปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อนทั้งหมดหรือไม่ และมีการทุจริตเรื่องข้าวจริงหรือไม่ ความจริงแล้วข้าวไม่ได้เน่าทั้งหมด ไม่ได้มีสารพิษปนเปื้อนทั้งหมดหรืออาจไม่ได้มีสารพิษตกค้างเลยก็ได้ การกล่าวหาในทางร้ายตามที่ยกตัวอย่างมาจึงเป็นการทำลายตลาดข้าวทั้งระบบของประเทศไทยให้เกิดความเสียหายขาดความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งโลกขัดต่อหลักการในทางกฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ที่หากมีข้าวเน่าจริง ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องรับผิดชอบในการชดเชยเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภค และกรณีการนำส่งสินค้าข้าวไปขายยังต่างประเทศ คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าวจากทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบจนเป็นที่พอใจก่อนการส่งมอบกันอยู่แล้ว กับทั้งหลักกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ยังคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อในการชดเชยความเสียหาย เมื่อพบความชำรุดบกพร่องหรือเสื่อมราคาในสินค้า หากมีข้อสงสัยว่าข้าวไม่ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ก็มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้นได้ ซึ่งถ้าพบว่ามีอันตราย คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็มีอำนาจสั่งห้ามจำหน่ายสินค้านั้นได้หรือสั่งให้ดำเนินการให้เกิดความปลอดภัย อันเป็นวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนั้นแล้วกฎหมายคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยทางด้านอาหารซึ่งหมายความรวมไปถึงการจัดการให้สินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารบริโภคสำหรับมนุษย์มีความปลอดภัยด้วย องค์กรกำกับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และมีความปลอดภัยในสินค้าอาหารต่อประชาชน ที่มีอย่างครบถ้วนตามกฎหมายนั้น ไม่ได้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์แต่อย่างใดเลย น่าเสียดายและน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อให้ได้รับราคาที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีข้าวได้ถูกใช้วิธีการทางการเมืองในการกล่าวหาทำลายเครดิตความเชื่อมั่นจนกระทั่งข้าวของไทยได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายทั้งระบบ และจะต้องใช้เวลาและ งบประมาณอีกสักเพียงใดจึงจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ข้าวไทยกลับมาเป็นสินค้ายอดนิยมของตลาดโลกเหมือนเดิม....
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประจักษ์ ก้องกีรติ: 40 ปี 14 ตุลา-40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย Posted: 14 Jul 2013 02:21 AM PDT ประจักษ์ ก้องกีรติ อภิปราย "มรดกของ 14 ตุลา" ที่ทิ้งไว้ให้สังคมไทยคือ "ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" ชี้ลักษณะ "อีเหละเขะขะ" ของขบวนการ 14 ตุลา ที่ผสมชุดความคิดมั่วไปหมดตั้งแต่ซ้ายใหม่ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยมประชาธิปไตย จนถึงกษัตริย์นิยมด้วย แต่จุดร่วมคือโค่นเผด็จการทหาร ปิดท้ายด้วยขบวนการ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ที่เป็นราชาชาตินิยมล้วน ไม่มีประชาธิปไตยปน
13 ก.ค. 56 ร้าน Book Re: public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ "เสวนาว่าด้วยเรื่องคนเดือนตุลา" โดยมีวิทยากรคือ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ดำเนินรายการโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนแรกนี้ ประชาไทนำเสนอคำอภิปรายของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งได้นำเสนอในหัวข้อ "40 ปี 14 ตุลา 40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" 000 ประจักษ์เกริ่นนำว่าการพูดในหัวข้อนี้ มีเหตุมาจากการจัดพิมพ์ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" เป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 โดยในครั้งนี้ทางผู้จัดพิมพ์อยากให้เขียนบทสะท้อนย้อนคิดเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งได้นำมาสู่หัวข้อที่ตนจะพูดในวันนี้ ประจักษ์กล่าวว่ามรดกของ 14 ตุลาที่ทิ้งไว้ให้สังคมไทยประการที่สำคัญที่สุดคือ มรดกในแง่อุดมการณ์ โดยเฉพาะอุดมการณ์ที่เรียกว่า "ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" โดยขบวนการ 14 ตุลา นักศึกษาประชาชนนั้นไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นขบวนการที่ตนเรียกว่ามีลักษณะ "อีเหละเขะขะ" มาก คือมีการผสมกันมั่วไปหมดของอุดมการณ์ความคิดหลากหลายชุด โดยมีตั้งแต่ซ้ายใหม่ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยมประชาธิปไตย และรวมถึงอุดมการณ์กษัตริย์นิยมด้วย เพียงแต่มีจุดร่วมกันในเรื่องการโค่นล้มเผด็จการทหาร อุดมการณ์ชุดอื่นที่เติบโตมาจาก 14 ตุลานั้นได้ล่มสลายไปบ้าง อ่อนแอไปบ้าง เช่น สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ หรืออุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งก็ไม่เคยแข็งแรงในสังคมไทย กลับกลายเป็นว่าอุดมการณ์ที่ตกทอดมาและทรงพลังที่สุด คืออุดมการณ์ "ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" จนกลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำหลัก และเป็นเพดานทางความคิดของคนในสังคม เป็นกรอบจำกัดจินตนาการทางการเมือง และเป็นประชาธิปไตยในจินตกรรม (imagined democracy) ที่ทำให้คนในสังคมคิดถึงประชาธิปไตยไม่พ้นจากต้องมีราชาชาตินิยมกำกับ ประจักษ์กล่าวว่าตนพยายามดูว่าราชาชาตินิยมในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ได้คลี่คลายขยายตัวมาอย่างไร จากการอ่านงานเขียนของหลายๆ คนที่สนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ได้พบความต่อเนื่องอย่างน่าสนใจระหว่างขบวนต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ที่ก่อตัวในปี 2548 กับขบวนการ 14 ตุลา โดยเฉพาะในมุมของผู้ที่เคลื่อนไหวเอง เช่น ในงานของสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งมองกันว่า 19 กันยา คือ 14 ตุลาภาคสอง หรือเป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจาก 14 ตุลา ไม่ได้แยกจากกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงความต่อเนื่องในตัวบุคคล แต่เป็นความต่อเนื่องในทางอุดมการณ์ ที่เห็นว่าการคัดค้านระบอบทักษิณ เป็นสิ่งเดียวกับที่ขบวนการ 14 ตุลาเคยทำ แต่ประจักษ์ก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวสองครั้งนี้ ไม่ได้มีรายละเอียดที่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่มีลักษณะที่กลายพันธุ์ไประดับหนึ่ง คือมันเปลี่ยนจาก "ราชาชาตินิยมเพื่อประชาธิปไตย" ไปเป็น "ประชาธิปไตยเพื่อราชาชาตินิยม" หรือถ้ามองแบบลบหน่อย อาจจะบอกว่ามันเปลี่ยนไปสู่ "ราชาชาตินิยมที่ไม่มีประชาธิปไตย" ประจักษ์ย้อนกล่าวถึงหน้าตาของวาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตยตอน 14 ตุลา ซึ่งเริ่มถูกพัฒนามาในช่วง 4-5 ปีก่อนเหตุการณ์ โดยสิ่งที่มันทำก็คือไปรื้อฟื้นอุดมการณ์ "กษัตริย์ประชาธิปไตย" กับรื้อฟื้นสิ่งที่อ.ธงชัยเสนอว่าเป็นอุดมการณ์ "ราชาชาตินิยม" เอาสองอันนี้มาแต่งงานกัน จนเกิดเป็นวาทกรรมใหม่ อุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยนั้น มีแหล่งผลิตสำคัญหลายแหล่ง ได้แก่ งานเขียนสารคดีการเมือง ซึ่งเริ่มประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งานเหล่านี้มองคณะราษฏรว่าปกครองอย่างเผด็จการ ในขณะที่ยกย่องรัชกาลที่ 7 ว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบนี้มาเฟื่องฟูอย่างมากในยุคของสฤษดิ์ ซึ่งมีการให้จัดทำพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ให้ประชาชนสักการะบูชาในฐานะที่พระองค์ "ทรงวางรากฐานให้ประชาธิปไตยไทย" อีกแหล่งหนึ่งคือในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งแม้เป็นนิตยสารที่ก้าวหน้าในหลายมิติ แต่ในมิติหนึ่งก็มีส่วนในการสร้างมรดกบาปเอาไว้ คือการทำให้ปรีดีและคณะราษฎรเป็นผู้ร้าย และมอง 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห้าม ขณะที่ฝ่ายรัชกาลที่ 7 เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งดูน่าเชื่อถือเพราะเป็นนิตยสารปัญญาชนหัวก้าวหน้า ไม่ได้อยู่แค่ในสารคดีการเมืองสมัครเล่นอีกต่อไป หรือแม้แต่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในช่วงนั้นก็ได้สร้างความเข้าใจผิดหลายประการต่อคณะราษฎร ซึ่งในช่วงหลังก็พยายามไถ่บาปโดยการฟื้นฟูชื่อเสียงให้ปรีดี อีกส่วนหนึ่ง คืองานวิชาการ เช่น งานของชัยอนันต์ สมุทวณิช เรื่อง "สัตว์การเมือง" เป็นหนังสือวิชาการรุ่นบุกเบิกเกี่ยวกับ 2475 โดยใช้วาทกรรมชิงสุกก่อนหามเช่นกัน มาทำให้เป็นวิชาการ และใช้ทฤษฎีมาอธิบายให้น่าเชื่อถือหนักแน่น มีเชิงอรรถและเอกสารประวัติศาสตร์อ้างอิง งานนี้มองประชาชนว่ายังไม่พร้อมกับการมีประชาธิปไตย และ 2475 เป็นเพียงการยึดอำนาจของข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือเป็นแค่การถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ไปสู่ข้าราชการ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกกลุ่มหนึ่ง คืองานบันทึกความทรงจำโดยอดีตนักโทษการเมืองฝ่ายกษัตริย์นิยม ที่เคยพยายามต่อสู้ในกบฏบวรเดช โดยนำเสนอตัวเองในฐานะเหยื่อของอำนาจเผด็จการของคณะราษฎร โดยเฉพาะการเปรียบเทียบจอมพลป. เป็นฮิตเลอร์และมุสโสลินี พล็อตเรื่องเป็นขาว-ดำ ธรรมะต่อสู้กับอธรรมะ คณะเจ้าสู้กับคณะราษฎร โดยพวกเขาพยายามสู้เอาประชาธิปไตยกลับมาให้ประชาชน แต่ก็พ่ายแพ้ไป ส่วนสุดท้าย คือการผลิตซ้ำโดยขบวนการนักศึกษาเอง ที่ได้เอาวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยมาใช้ เพื่อทำลายความชอบธรรมของระบอบถนอม-ประภาส ทำให้เกิดลักษณะที่พิสดาร คือนักศึกษาได้เชื่อมตัวเองกับความเป็นกษัตริย์นิยม รู้สึกว่าตนเองได้แรงบันดาลใจจากอดีตนักโทษการเมืองกษัตริย์นิยม และรัชกาลที่ 7 และกำลังสืบทอดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกขโมยไปโดยกองทัพ มองเห็นถนอมและประภาส เป็นเผด็จการสืบเนื่องมาจากจอมพลป.และคณะราษฎร งานอย่างของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกนำมาผลิตซ้ำในหนังสือนักศึกษาหลายเล่ม เผยแพร่ความคิดทำนองว่าประชาธิปไตยไทยมีมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง หรือหนังสือ "ภัยเขียว" ของนักศึกษาเชียงใหม่ ก็มีส่วนผลิตซ้ำอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยมองภัยเขียวหรือเผด็จการทหารว่ามีมาตั้งแต่ 2475 วาทกรรมนี้ขึ้นสู่จุดสูงสุดก่อน 14 ตุลา 2-3 ปี ผ่านการนำอุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยไปผูกกับราชาชาตินิยม กลายเป็นวาทกรรมใหม่ ซึ่งกษัตริย์มีสถานะสูงสุด คือเป็นทั้งนักชาตินิยมแบบเก่า ที่ค้ำจุนและปกป้องชาติไทยไว้ บวกกับมิติที่เป็นประชาธิปไตยเข้าไป สถาบันกษัตริย์จึงเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทั้งในยามที่เผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจภายนอก และเป็นที่พึ่งสุดท้ายในยามที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เผชิญกับภัยคุกคามภายใน พระองค์จึงเป็นผู้ทั้งรักษาชาติและรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ ประจักษ์เปรียบเทียบว่าวาทกรรมนี้นำเสนอรัชกาลปัจจุบันในฐานะรัชกาลที่ 5 บวกกับรัชกาลที่ 7 โดยวาทกรรมชาตินิยมเดิมเชิดชูรัชกาลที่ 5 ในฐานะกษัตริย์ชาตินิยม วาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยชูรัชกาลที่ 7 ในฐานะที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน วาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตยนั้นชูรัชกาลที่ 9 ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ที่เหนือกว่าทั้งรัชกาลที่ 5 และ 7 วาทกรรมทั้งหมดนี้ไปปรากฏเป็นจริง ในการต่อสู้บนท้องถนนของนักศึกษา 14 ตุลา โดยน่าจะเป็นครั้งแรกที่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ชูธงเรื่องราชาชาตินิยมบนท้องถนน เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลที่เขามองว่าไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะในเอกสารที่กลุ่มนักศึกษานำไปแจกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ วันที่ 13 ตุลาก่อนถูกจับกุม ได้อ้างอิงแรงบันดาลใจพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้ ที่ถูกกำกับด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมประชาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งกลายเป็นว่าในตอนจบของเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับมาคอนเฟิร์มหรือมาตอกย้ำ ว่าสิ่งที่นักศึกษาคิดหรือเชื่อนั้นเป็นจริง ว่ากษัตริย์กับประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน คือกษัตริย์ทรงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 000 ประจักษ์กลับมากล่าวถึงลักษณะอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในปี 2548-49 โดยทบทวนว่าวันแรกที่มีการสวมเสื้อ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" โดยคุณสนธิ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.48 หลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกถอดออกจากผังรายการ สโลแกนนี้ถูกชูตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ซึ่งในตอน 14 ตุลายังไม่มี จุดกำเนิดของสโลแกนนี้ ทางวารสาร Positioning ในเครือผู้จัดการ (ธ.ค.48) ได้ไปสัมภาษณ์สนธิ ลิ้มทองกุล ว่าเสื้อนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร สนธิตอบว่าในหลวงถูกละเมิดพระราชอำนาจไปเยอะ ก็เลยทำ ว่าเราจะสู้เพื่อในหลวง และต้องการให้ถวายพระราชอำนาจคืนให้ในหลวง นัยยะมีแค่นั้น ส่วนคำนูญ สิทธิสมาน ได้บันทึกว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการชุมนุมในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ได้ชูธงสองผืน คือธง "ถวายคืนพระราชอำนาจ" และ "พึ่งพระบารมี" ในรายการครั้งถัดๆ มา ก็มีการนำมวลชนไปถวายสัตย์ปฎิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่าจะร่วมกันทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดกระบวนการถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อการปฏิรูปการเมือง และตามมาด้วยการถวายฎีกาแด่ในหลวง ผ่านสำนักราชเลขาธิการและประธานองคมนตรี ก่อนนำไปสู่การขอนายกฯ พระราชทาน ก็ล้วนเป็นตรรกะที่สืบเนื่องจากธงสองผืนนี้ คำนูญอธิบายต่อว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำคือการกลับไปหาหลักการของลัทธิราชประชาสมาศัย ซึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2515) ได้วางเอาไว้ สนธิเอาหลักการนี้มาปัดฝุ่น โดยเห็นว่าการผูกขาดและฉ้อฉลอำนาจของรัฐบาลทักษิณ จะยุติลงได้ด้วยหลักลัทธิราชประชาสมาศัย หรือ 'ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน' อันเป็นหลักนิติธรรมดั้งเดิมของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข โดยมองกลุ่มทุนผูกขาดว่าจะเข้าไปแทรกตรงกลางระหว่างกษัตริย์กับประชาชน เพื่อให้ตนเองเป็นผู้นำใหม่ต่อประชาชน คำนูญยังเล่าโยงการคัดค้านระบอบทักษิณ เข้ากับการต่อต้านถนอม-ประภาส โดยเปรียบเทียบกรณีการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศขนคนไปร่วมงานวันเกิดและขึ้นบ้านใหม่ที่เชียงใหม่ ว่าเป็น "ทุ่งใหญ่ดิจิตอล" รวมทั้งการหยิบคำขวัญของ 14 ตุลา มาแปลง จาก "เอาประชาชนของเราคืนมา" หรือ "เอาเพื่อนของเราคืนมา" ซึ่งถูกใช้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับ ไปสู่การเรียกร้องด้วยสโลแกน "เอาประเทศไทยของเราคืนมา" และมองการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ว่ากำลังสานต่อภารกิจของ 14 ตุลา หรือแม้แต่เข้าใจและอธิบายตนเองว่าเป็น "ลูกเสือชาวบ้านยุคดิจิตอล" ประจักษ์ยังกล่าวถึงกลุ่มนักวิชาการที่ช่วยกันผลิตสร้างวาทกรรม โดยพยายามสร้างทฤษฎีราชาชาตินิยมประชาธิปไตยให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น งานของธีรยุทธ บุญมี ที่เสนอเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องมีคุณธรรม ที่นำโดยสถาบันกษัตริย์, นครรินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนประวัติศาสตร์ไทยฉบับราชาชาตินิยมประชาธิปไตย หรือเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอนำคุณธรรมมากำกับผู้นำจากการเลือกตั้ง ซึ่งในสังคมไทยรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยเหมือนกับนักวิชาการกลุ่มนี้มีโปรเจกต์ร่วมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย ที่พยายามจะสร้างทฤษฎีประชาธิปไตยแบบไทยๆ แบบที่มีคำขยายต่อท้าย ประจักษ์สรุปว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง" กับขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ ถึงที่สุดเป็นราชาชาตินิยม แบบที่ไม่มีประชาธิปไตย โดยบทความชิ้นหนึ่งซึ่งทางกลุ่มผู้จัดการสรุปการต่อสู้ของตนเอง หลังจากผ่านไป 4 ปีในการชูธง "เราจะสู้เพื่อในหลวง" (10 พ.ย. 52) สรุปว่าสิ่งที่พวกเขาต่อสู้มาเป็นจริง เพราะพวกขบวนการล้มสถาบันฯ นั้นมีอยู่จริง และบุคคลที่อยู่เบื้องหลังก็เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่ ภารกิจนี้จึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สรุปสั้นๆ สำหรับตัวเขาเองคือเขาสู้เพื่อในหลวง จุดสุดยอดของวาทกรรมการต่อสู้นี้ก็คือขบวนการล้มเจ้า ซึ่งช่วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นภัยคุกคามสถาบันกษัตริย์ พันธมิตรฯ ไม่ได้ใช้ชูวาทกรรมราชาชาตินิยมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบตอน 14 ตุลา โดยถ้าถนอม-ประภาสเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตย ที่ต้องใช้สถาบันฯ มาช่วยต่อสู้ แต่ในตอนนี้สถานการณ์กลับกัน คือสถาบันพระมหากษัตริย์เองนั่นแหละ ที่กำลังถูกคุกคามจากระบอบประชาธิปไตยที่กำลังถูกยึดกุมโดยทุนสามานย์ ถ้า 14 ตุลา เป็นการใช้วาทกรรมราชาชาติเพื่อล้มล้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหารและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 19 กันยา 2549 ก็คือการล้มล้างประชาธิปไตยเพื่อราชาชาตินิยม ประชาธิปไตยถูกจับแยกออกจากราชาชาตินิยม กลายเป็นขั้วตรงข้าม แล้ววาทกรรมราชาชาตินิยมแบบเดิม ก็ถูกลดทอน เหลือเฉพาะด้านที่เป็นกษัตริย์นิยมกับชาตินิยมเป็นหลัก กลบด้านที่เป็นประชาธิปไตยหายไปหมด คู่ตรงข้ามที่ถูกสร้างขึ้นเป็นผลผลิตจากขบวนการนี้ คือการแบ่งระหว่างพวกล้มเจ้าและรักเจ้า ในฐานะคู่ตรงข้ามแบบมิตรและศัตรู การถกเถียงถูกดึงเข้าไปในเรื่องนี้ตลอด ไม่ค่อยได้ถกเถียงกันในเรื่องว่าคุณเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เวอร์ชั่นราชาชาตินิยมแบบ 14 ตุลาจึงยังมีด้านที่ก้าวหน้ากว่าแบบเวอร์ชั่น 2548 ประจักษ์สรุปว่า ถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะก้าวข้ามไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ขบวนการประชาชน ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม ต้องก้าวข้ามทั้งเวอร์ชั่น 2516 และ 2548 ไปเลย โจทย์คือทำอย่างไรที่การต่อสู้ทางการเมืองอย่าถูกดึงไปที่ประเด็นกษัตริย์นิยม วาทกรรมรักเจ้า-ล้มเจ้า รักชาติ-ไม่รักชาติ อยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรที่เราจะมาเถียงในมิติที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยมากขึ้น ทำอย่างไรที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะก้าวข้ามกรอบหรือเพดานของราชาชาตินิยมไป (ติดตามคำอธิปรายของธงชัย วินิจจะกูล ในตอนต่อไป) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: อียิปต์ยามกองทัพล้มประชาธิปไตย Posted: 14 Jul 2013 02:04 AM PDT ในที่สุด สถานการณ์ยึดอำนาจในอียิปต์ก็มีแนวโน้มลุกลามกลายเป็นการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน จนถึงวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม นี้ มีประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 50 คน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในอียิปต์ไม่น่าที่จะยุติลงได้โดยง่าย ทั้งนี้กองทัพอียิปต์ได้ก่อการยึดอำนาจตั้งแต่วันพุธที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อโค่นรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอรซี แล้วตั้งอัดลี มานซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แต่ฝ่ายกองทัพอ้างว่า ไม่ได้ทำการรัฐประหาร เพียงแต่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของประชาชน หลังจากที่ประชาชนนับแสนคนได้มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีมูรซีตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ปัญหาแรกสุดของข้ออ้างนี้ก็คือ ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งนับแสนคนเช่นกัน ก็ก่อการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมอรซี อียิปต์เป็นประเทศในกลุ่มอาหรับที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากถึง 84 ล้านคน และเป็นมิตรอันแน่นแฟ้นของสหรัฐอเมริกา ความสำคัญคือเป็นประเทศที่ควบคุมยุทธศาสตร์ คือ คลองสุเอช ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันของโลก ประวัติศาสตร์อียิปต์สมัยใหม่เริ่มจากการปฏิวัติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2495 โดยคณะทหารหนุ่มฝ่ายก้าวหน้าได้โค่นอำนาจของกษัตริย์ฟารุก ต่อมา คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ประเทศอียิปต์เป็นสาธารณรัฐ โดยมีนายทหารหนุ่มวัย 34 ปี คือ กามาล อับเดล นัสเซอร์ เป็นประธานาธิบดี นัสเซอร์ได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ แต่ปกครองประเทศในแบบเผด็จการ แม้ว่ามีการใช้นโยบายใหม่ เช่น การใช้นโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยม การปฏิรูปที่ดิน นอกจากนี้ก็คือ การรณรงค์ชาตินิยมอาหรับ เป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล และไม่นิยมตะวันตก โดยเฉพาะการยึดกิจการคลองสุเอช จากอังกฤษ อันนำมาซึ่งสงครามใน พ.ศ.2499 ต่อมา นัสเซอร์ก็นำประเทศเข้าสงครามกับอิสราเอลในเดือนตุลาคม พ.ศ.2510 อันนำมาสู่ความพ่ายแพ้ ทำให้นัสเซอร์เสื่อมศักดิ์ศรีอย่างมาก นัสเซอร์ถึงแก่กรรมในตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2513 รองประธานาธิบดีอัลวา ซาดัท ซึ่งเป็นนายทหารอีกคนหนึ่งที่ร่วมปฏิวัติ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซาดัทได้นำประเทศเข้าทำสงครามกับอิสราเอลอีกครั้งใน พ.ศ.2516 ซึ่งในครั้งนี้ อียิปต์สามารถรักษาสถานะไม่ประสบความพ่ายแพ้ ทำให้ซาดัทได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ซาดัทตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยหันมาสร้างมิตรภาพกับสหรัฐอเมริกา และยุติภาวะสงครามกับอิสราเอล ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์แห่งสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพให้ประธานาธิบดีซาดัทได้พบและเจรจากับนายกรัฐมนตรีเมนาเฮม เบกินแห่งอิสราเอลที่แคมป์เดวิดในสหรัฐอเมริกา และนำมาสู่การลงนามในสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิดในเดือนกันยายน พ.ศ.2521 ภายในประเทศ ประธานาธิบดีซาดัทได้ล้มเลิกเศรษฐกิจสังคมนิยม หันมารับการลงทุนจากตะวันตก ใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีมากยิ่งขึ้น การฟื้นความสัมพันธ์กับตะวันตกและมุ่งสู่ทุนนิยมสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ฝ่ายอิสลามหัวรุนแรง ซึ่งเห็นว่าซาดัททรยศต่อประเทศ ในวันที่ 6 ตุลาตม พ.ศ.2524 นายทหารที่เป็นฝ่ายชาตินิยมจัดจึงได้สังหารประธานาธิบดีซาดัทในขณะที่กำลังตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ฮอสนี มูบารัค รองประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน และอยู่ในตำแหน่งต่อมานานถึง 30 ปี ในลักษณะของเผด็จการ แม้ว่าจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งและลงประชามติรับรองถึง 3 ครั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ปราศจากคู่แข่ง จนถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ.2548 ที่เริ่มให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยมีผู้สมัครจากหลายพรรค มูบารัคลงสมัครในนามพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ และได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถึง 88.6 % นโยบายของมูบารัคก็คือ การรักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐ และรื้อฟื้นสถานะในโลกอาหรับ ในทางเศรษฐกิจมูบารัคก็ยังส่งเสริมระบบเสรีต่อไป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอย่างมาก ขณะที่ช่องว่างทางชนชั้นก็ยังคงรุนแรง โดยที่มูบารัคและครอบครัวก็ร่ำรวยอย่างมหาศาลภายใต้ระบบรัฐที่ทุจริตคอรับชั่นอย่างหนัก แต่กระนั้น อำนาจสถาปนาของกองทัพและศาลก็เป็นไปอย่างมั่นคง และกลายเป็นกำลังสำคัญในการค้ำจุนระบอบมูบารัค อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการบริหารไปหลายปี กระแสความไม่พอใจต่อมูบารัคขยายตัวมากขึ้น กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวมากกว่ากลุ่มอื่นคือ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2471 โดยมุ่งที่จะพื้นฟูหลักการดั้งเดิมของอิสลาม ยึดหลักชาตินิยมอาหรับ และต่อต้านทุนนิยมตะวันตก ในสมัยมูบารัคกลุ่มมุสลิมภราดรภาพถือว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย เมื่อเกิดกระแสอาหรับสปริงใน พ.ศ.2554 ประชาชนก็เริ่มชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีมูบารัค และขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นการจลาจล ในที่สุด ประธานาธิบดีมูบารัคต้องลาออกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และให้พล.อ.ฮุสเซ็น ทานวานี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการ เพื่อเปิดทางแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย การเลือกตั้งเสรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์มีขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน โมฮัมหมัด มอรซี ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปไตยและยุติธรรมซึ่งเป็นพรรคที่มาจากปีกทางการเมืองของอิสลามภราดรภาพ เพราะรัฐธรรมนูญของอียิปต์ห้ามตั้งพรรคการเมืองแนวศาสนาโดยตรง ปรากฏว่า มอรซีได้คะแนนเสียงมากที่สุด จึงได้เป็นประธานาธิบดีบริหารประเทศต่อมา เมื่อขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว มอรซีได้พยายามปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทอำนาจนำดั้งเดิม คือ กองทัพและศาล แต่ให้เพิ่มอำนาจแก่ประธานาธิบดีนอกจากนี้ก็คือ การให้เสรีภาพแก่ฝ่ายมุสลิมภราดรภาพที่จะแสดงบทบาทได้อย่างเปิดเผย จึงได้นำมาสู่ความไม่พอใจ ประการต่อมาคือความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจได้ช่วยโหมทวีความไม่พอใจ จึงได้เกิดกระแสต่อต้าน และนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมอรซี จนกลายเป็นเงื่อนไขของการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งของกองทัพ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายยึดอำนาจไม่ใช่คำว่ารัฐประหาร ก็เป็นเพราะเงินช่วยเหลือทางทหารจำนวนมหาศาลจากอเมริกา เพราะในทางกฎหมาย รัฐบาลอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือแก่กองทัพที่ก่อการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยไม่ได้ ปัญหาก็คือ การยึดอำนาจก็เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนเช่นกัน โดยตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม การชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของฝ่ายทหารเกิดขึ้นหลายเมือง โดยเฉพาะในกรุงไคโร เมืองอเล็กซานเดรีย แต่ละแห่งมีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน และนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรง จึงมึความเป็นไปได้ว่า การยึดอำนาจของกองทัพจะนำมาซึ่งความชะงักงันทางการเมือง โดยที่ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมอียิปต์ก็ยังคงดำเนินต่อไป และมีแนวโน้มที่จะกระทบอุตสาหกรรมการท่องเทียว ที่เป็นที่มาของรายได้สำคัญของประเทศ และจะนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก สถานการณ์ในอียิปต์คงจะยังไม่จบลงโดยง่าย บทเรียนจากเรื่องนี้ ก็เป็นดังเช่นบทเรียนที่เกิดขึ้นมาแล้วในไทย คือ การรัฐประหารแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แต่จะยิ่งนำมาซึ่งปัญหาใหม่ที่ยุ่งยาก และแก้ยากมากกว่าเดิม เพราะไปใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว
เผยแพร่ครั้งแรก:โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 419 13 กรกฎาคม 2556
, ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บทความสั้นจู๋ : Patriarchy Politics แบบไทยๆ Posted: 13 Jul 2013 10:28 PM PDT หากคุณไปถามคนแก่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนรุ่นนี้หลายๆคนจะมีความรักและเทิดทูนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ มากๆ (แน่นอนว่าเทิดทูนสถาบันฯมากๆเช่นกัน) คนแก่บางคนที่ผมเคยนั่งคุยด้วยเรียกจอมพลสฤษดิ์ว่า "พ่อ" เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่มี ท่านจอมพลเด็ดขาด ไว้ใจได้ บ้านเมืองสงบสุข ใครทำอะไรไม่ดีท่านใช้ "มาตรา 17" จัดการทุกคน ท่านรักประชาชนและรักสถาบัน นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและมีร่องรอยให้เห็นผ่านประสบการณ์ของคนรุ่นนั้น... ในขณะที่ปัจจุบันนี้ผมเคยได้ยินเสื้อแดงบางคนเทิดทูนทักษิณในลักษณะที่คน รุ่นเก่าเทิดทูนจอมพลสฤษดิ์อยู่บ่อยๆ ใช้ตรรกะคล้ายๆกันว่าตอนทักษิณเป็นนายก โจรผู้ร้ายน้อยลง ยาเสพติดน้อยลง จัดการอย่างเด็ดขาด นายกฯมีลักษณะอำนาจนิยมอยู่สูงมากทำให้ประชาชนสามารถฝากชีวิตเอาไว้ให้ได้ อะไรทำนองนี้ ผมกำลังคิดว่าสังคมไทย ในมุมหนึ่งนั้น "โหยหา" ผู้นำที่มีความเด็ดขาด เป็นนักเลง พึ่งพาได้อย่างในอุดมคติแท้ๆมากกว่าผู้นำที่จะมาจากประชาธิปไตยแต่ไม่เด็ด ขาดอะไร หรือผู้นำที่มาจากประชาธิปไตยก็จะต้องมีคุณลักษณะเป็นผู้นำตามแบบฉบับไทยๆ อย่างทักษิณ สังคมไทยไม่ค่อยแคร์เรื่องอำนาจนิยมนะครับ แต่แคร์เรื่องการใช้อำนาจนิยมนั้นต้องทำให้รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย พึ่งพาได้ นำพาไปสู่เป้าหมายที่ดีได้ คนเสื้อแดงหลายคนก็มองแบบนี้ เชื่อว่าคุณทักษิณเป็น "เผด็จการที่ดี" นำพาชีวิตของตนเองไปสู่ความรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าทักษิณอยู่บ้านเมืองสงบสุขดี -------------------------- ในแวดวงชุมชนนิยมเองผมก็เคยได้ยินปัญหาหนึ่งบ่อยมากๆๆๆๆ นั่นก็คือ "เราขาดผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง" ถ้าใครเคยทำงานชุมชนนี่จะร้องอ๋อเลยว่าเวลาระดมชาวบ้านมาพูดถึงปัญหาในชุมชน ก็มักจะมีการหยิบยกปัญหาเรื่องผู้นำไม่เข้มแข็งขึ้นมาพูดเสมอๆ ดังนั้น ผู้นำที่ดีในแบบฉบับไทยๆจะต้องเข้มแข็ง อำนาจนิยม นักเลง พึ่งพาได้ จะรักพวกพ้องมากกว่าชาวบ้านก็ไม่เป็นไร แต่ชาวบ้านจะต้องได้อะไรๆจากผู้นำด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องทำความเข้าใจ ภายใต้ประชาธิปไตยสมัยใหม่ กลไกการเลือกตั้งคือกลไกที่คัดสรรผู้นำประเภทนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำในทางการ เมือง นอกเหนือจากกลไกการเลือกตั้งก็ก็ยังมีกลไกประเภทอื่นๆที่ยังสามารถใช้ได้ เช่น ผู้นำตามธรรมชาติที่มาจาก consent (ในบริบทบทความของผมมันจะหมายถึง "ข้อตกลงร่วมกันตามธรรมชาติ")ของคนในสังคมการเมืองเล็กๆสังคมนั้น ชนิดว่าไม่ต้องเลือกตั้งแต่ก็รับรู้กันเองว่าใครคือผู้นำ ชาวบ้านนั้นเขาไม่คิดอะไรที่ซับซ้อนอย่างคนเมืองหรอกครับ เขามองง่ายๆแค่ว่าผู้นำคนไหนที่เขาสามารถฝากชีวิตเอาไว้ได้คนนั้นแหละคือผู้ นำของเขา ต่อให้ผู้นำโกงก็ไม่ว่าอะไร หรือเป็นเผด็จการขนาดไหนก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้กระจายทรัพยากรต่างๆลงมาให้ด้วย ---------------------------- ประชาธิปไตยแบบไทยๆจึงมีเรื่องที่น่าสนใจว่าวัฒนธรรมแบบ "พ่อขุน" นั้นได้ลงรากฐานไปลึกเพียงใด แม้ว่าเราจะส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ การตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำ การกำจัดความเลวร้ายในระบบการเมืองต่างๆมากเพียงไร วิธิคิดแบบ พ่อขุน ก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่เสมอ และทำให้ผู้นำทางการเมืองสามารถสถาปนาอำนาจของตนเองผ่านวัฒนธรรมแบบพ่อขุน ได้อยู่เสมอ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียดจอมพลสฤษดิ์ รักหรือเกลียดทักษิณ คุณก็ตกอยู่ภายใต้กลไกการเมืองแบบพ่อขุน คุณขับไล่ทักษิณด้วยการไปจับมือกับพ่อขุนในวัฒนธรรมเก่าจารีตนิยม คุณขับไล่อำมาตย์ด้วยการจับมือกับพ่อขุนใหม่ (นีโอพ่อขุน) ทุกอย่างมันก็ครือๆกันเพียงแต่อยู่คนละฝ่ายเท่านั้นเอง.. นี่คือ Patriarchy Politics แบบไทยๆครับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น