โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

Posted: 28 Jul 2013 12:35 PM PDT

ทั้งสองท่านมิใช่บุคคลสาธารณะ พ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองท่านก็มิใช่บุคคลสาธารณะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเศร้าโศกเสียใจอันประมาณมิได้ของผู้ยังอยู่ที่เป็นคนใกล้ชิดกับผู้จากไป อย่าทำให้ความเศร้าโศกของเพื่อนมนุษย์เป็นมหรสพสำหรับเราเลย เราทำกันมามากพอแล้วในสังคมไทย ทำกันจนคนจะไม่เหลือความเป็นคน

ความเห็นต่อกรณีการโหมเสนอข่าวผู้เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าที่แกรนด์แคนยอน

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: อย่าใจดำกันนักเลย

Posted: 28 Jul 2013 12:15 PM PDT

กรณีอาจารย์คณะวิศวะฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภรรยาที่เพิ่งจากไปนั้น เชื่อว่าทุกคนที่ทราบข่าวก็คงสะเทือนใจ แต่สิ่งดีที่สุดที่เราควรทำเพื่อแสดงความรู้สึกเห็นใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ ไม่ควรเป็นอาการตื่นเต้นอยากรู้ความเคลื่อนไหวของเรื่องราวเหมือนนั่งดูเรียลลิตี้โชว์ เพราะนี่ไม่ใช่หนัง ไม่ใช่การแสดงโชว์ใดๆหากเป็นเรื่องจริง และเราที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคารพความรู้สึกนึกคิดของญาติพี่น้องและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง 

ไม่จำเป็นและไม่สมควร ที่บรรดาสื่อและเพจต่างๆ จะต้องแข่งกันนำรูปงานแต่งงานจากเฟสบุ๊คของอาจารย์ผู้จากไป หรือรูปต่างๆ ของหนุ่มสาวทั้งสองท่านมาเสนอย้ำแล้วย้ำอีกในที่สาธารณะ อีกทั้งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องตามไปสัมภาษณ์พ่อแม่พี่น้องของผู้จากไป ตามเฝ้าหน้าบ้าน เฝ้าหน้าที่ทำงาน โทรศัพท์หาทั้งวันทั้งคืนเพื่อขอสัมภาษณ์ หรือตามแอดเพื่อนและญาติๆ ในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เพื่อดูความเคลื่อนไหว 

ข่าวความคืบหน้าอะไรหรือในกรณีนี้ที่สังคมจำเป็นต้องรู้ ? 

ทั้งสองท่านมิใช่บุคคลสาธารณะ พ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองท่านก็มิใช่บุคคลสาธารณะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเศร้าโศกเสียใจอันประมาณมิได้ของผู้ยังอยู่ที่เป็นคนใกล้ชิดกับผู้จากไป อย่าทำให้ความเศร้าโศกของเพื่อนมนุษย์เป็นมหรสพสำหรับเราเลย เราทำกันมามากพอแล้วในสังคมไทย ทำกันจนคนจะไม่เหลือความเป็นคน 

มีข่าวอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอีกมากมายที่สื่อและผู้บริโภคสื่อควรสนใจและติดตามใกล้ชิดมากกว่านี้ 

ใครอ่านแล้วไม่เข้าใจ โปรดตั้งสติและค่อยๆ คิดเรื่อง "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" 

ถ้าเป็นเราเอง เราจะรู้สึกอย่างไร จะเจ็บปวดเศร้าโศกเพียงใด จะอยากให้ใครต่อใครที่เราไม่รู้จักเลย มารุมซักถามเรื่องราวและความรู้สึก ติดตามถ่ายรูปเรา เผยแพร่รูปลูกหลานของเราในครอบครัวของเราที่เมื่อวานนี้ยังยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุข ยังเป็นความหวังของเรา แต่วันนี้จากเราไปอย่างกระทันหัน และเรายังทำใจไม่ได้เลยว่าเขาจากเราไปแล้ว.......ไหม? 

อย่าใจดำกันนักเลย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมต้านโลกร้อนจี้รัฐเรียกค่าเสียหาย ปตท.กรณีน้ำมันรั่วอ่าวไทย

Posted: 28 Jul 2013 11:29 AM PDT

จากเหตุน้ำมันรั่วจากท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC ในเครือ ปตท.  กลางทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลมีคราบน้ำมันกระจายตัวบนผิวน้ำเป็นวงกว้าง

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐเรียกค่าเสียหายทางทรัพยากรแทนประชาชนกรณีดังกล่าวจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 โดยทันที พร้อมกับนำเงินดังกล่าวจัดตั้งกองทุนดูแล ชดเชย อาชีพของชาวประมง และอาชีพต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน

อนึ่ง ในแถลงการณ์ระบุ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบละเว้น เพิกเฉยสมาคมฯจะใช้สิทธิฟ้องศาลเพื่อบังคับให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้น
 
 
 
 
***********************************************************************************
 
แถลงการณ์
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
เรื่อง รัฐต้องเรียกค่าเสียหายทางทรัพยากรแทนประชาชนกรณีท่อน้ำมันรั่วกลางอ่าวไทย
..................................
 
ตามที่เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบ G 67 ขนาด 16 นิ้วรั่ว ที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring)  ขณะกำลังมีการส่งน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมื่อเวลา 06.50 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดการรั่วไหลออกมาอย่างมหาศาลมากกว่า 50 ตันหรือ 50,000 ลิตรนั้น
 
คราบน้ำมันดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์ทะเล อาทิเช่น วงจรของปลาทู กระทบต่ออาชีพของชาวประมง กระทบต่อระบบการท่องเที่ยว เพราะคราบน้ำมันจะถูกคลื่นซัดมาถึงชายหาดพื้นที่ท่องเที่ยวได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชัดแจ้ง ฯลฯ
 
แม้บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 4 ลำพร้อมน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน  35,000 ลิตร แม้จะไปแยกสลายคราบน้ำมันดังกล่าวบนพื้นผิวทะเลให้จมลงแล้วก็ตาม แต่ทว่าน้ำยาขจัดคราบน้ำมันกลับจะเป็นพิษต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทะเล เพราะสารอันตรายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะบริเวณก้นทะเลที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และอาชีพประมงของชาวบ้านทั้งระบบในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย หาใช่พื้นที่ทะเลมาบตาพุดแต่เพียงแห่งเดียวไม่
 
ดังนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต้องเป็นธุระในการดำเนินการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไป ซึ่งเป็นทรัพยากรของของชาติจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แทนประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยทันที ตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 โดยทันที พร้อมกับนำเงินดังกล่าวจัดตั้งกองทุนดูแล ชดเชย อาชีพของชาวประมง และอาชีพต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดังกล่าว
 
อนึ่ง หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ละเว้น เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบดังกล่าว ในการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้นต่อไป รวมทั้งการร้องเอาผิดทางวินัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายต่อไป
 
ประกาศมา ณ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2556
 
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
 
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารกองทัพรัฐฉานปะทะทหารพม่าตายเจ็บนับสิบ ในรัฐฉานภาคเหนือ

Posted: 28 Jul 2013 10:54 AM PDT

เกิดเหตุทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ปะทะกับทหารพม่าที่เขตเมืองจ๊อกเม ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ทั้งนี้นับตั้งแต่เจ้ายอดศึก เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่เนปีดอว์ เกิดการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายแล้วรวม 3 ครั้ง

มีรายงานว่าทหารกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ปะทะกับกองทัพพม่าครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่บ้านป่างเคือเจือก ตำบลฮูโสน อยู่ระหว่างหมู่บ้านกุงโหลงและหมู่บ้านฮูโสน เขตเมืองจ๊อกเม ทางเหนือของรัฐฉาน ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า  เหตุปะทะกันครั้งนี้ ทำให้ทหารพม่าเสียชีวิตจำนวน10 นาย และบาดเจ็บอีก 17 นาย ขณะที่ฝ่ายทหารไทใหญ่สูญเสียทหาร 1 นาย โดยการปะทะเกิดขึ้นตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืนก่อนที่เหตุการณ์สงบลง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พลโทเจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังไทใหญ่ RCSS/SSA เดินทางไปพบหารือกับนายเต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารไทใหญ่ RCSS/SSA แล้ว 3 ครั้ง  ครั้งแรกเกิดเหตุปะทะกันที่เมืองน้ำจ๋าง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ครั้งที่ 2 ที่เมืองลาง ในเขตเมืองกึ๋ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และครั้งล่าสุดที่เมืองจ๊อกเม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2554 อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นมาทหารทั้งสองฝ่ายยังคงปะทะกันต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้นับจำนวนครั้งการปะทะกันแล้วรวม 117 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมกับที่ปะทะกับกองกำลังรักษาชายแดน (อาสาสมัคร) ของกองทัพพม่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่ารายหนึ่งกล่าวว่า การเจรจารเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน ภาคสังคมและเศรษฐกิจ ทางกลุ่มติดอาวุธสามารถที่จะหารือกับทางรัฐบาลพม่า แต่ถ้าเกี่ยวกับประเด็นทางทหารจำเป็นเป็นต้องหารือกับกองทัพพม่าและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่าโดยตรง เพราะปัญหาการสู้รบเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากกองทัพพม่าทั้งสิ้น

 

หมายเหตุ: "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายค้านกัมพูชาได้ที่นั่งเพิ่มพรวด - ปีกรัฐบาลที่นั่งลด แต่ยังชนะเลือกตั้ง

Posted: 28 Jul 2013 09:21 AM PDT

ผลเลือกตั้งกัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการ พรรครัฐบาล "พรรคประชาชนกัมพูชา" ที่นำโดย "ฮุน เซน" ชนะได้ ส.ส. 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้าน "พรรคสงเคราะห์ชาติ" ที่นำโดย "สม รังสี"ได้ ส.ส. 55 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวโดยคว้าชัยถล่มทลายในพนมเปญ

สม รังสี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติ ปราศรัยกับผู้สนับสนุนที่เสียมราฐ เมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้สม รังสี กลับเข้ากัมพูชามาตั้งแต่ 19 ก.ค. หลังลี้ภัยการเมืองนาน 4 ปี เนื่อจากถูกเล่นงานด้วยคดีการเมือง และต่อมาฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ขอให้สมเด็จนโรดมสีหมุนีพระราชทานอภัยโทษให้กับสม รังสี ฮุน เซ็น "บนพื้นฐานของจิตวิญญาณแห่งเอกภาพและการปรองดองแห่งชาติ" (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยสถานีวิทยุ VOD กัมพูชา)

การหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเมื่อ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดโฆษกรัฐบาลระบุว่าพรรคประชาชนกัมพูชา (CCP) ชนะ ได้ ส.ส. 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ได้ ส.ส. 55 ที่นั่ง (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

ป้ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี 2555 ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

 

ตามที่กัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันนี้ (28 ก.ค.) นั้น เมื่อสักครู่นี้ เขียว กัณหะฤทธิ์ โฆษกรัฐบาลกัมพูชา และรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร ได้โพสต์บนเฟซบุ๊คของเขาว่าการเลือกตั้งทั่วไป 28 ก.ค. ผลเบื้องต้น พรรคประชาชนกัมพูชา (CCP) ชนะการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่ง ส.ส. 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ได้ที่นั่ง ส.ส.55 ที่นั่ง

ทั้งนี้คำประกาศของ เขียว กัณหะฤทธิ์ เกิดขึ้นก่อน ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชายังไม่มีผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามนี้ พรรครัฐบาลจะได้ที่นั่งลดลง 22 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2551 ที่พรรครัฐบาลกัมพูชาได้ 90 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 26 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับคราวก่อนที่ได้ ส.ส. 29 ที่นั่ง โดยที่ผลการเลือกตั้งที่พนมเปญนั้น พรรครัฐบาลได้เพียง 1 ที่นั่ง อีก 11 ที่นั่งเป็นของพรรคสงเคราะห์ชาติ

ขณะที่พรรคฟุนซินเปกซึ่งการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้ ส.ส. 2 ที่นั่งนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งนำโดยสมเด็จพระอนุชนโรดม อรุณรัศมี พระราชธิดาองค์สุดท้องของอดีตกษัตริย์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ผลอย่างไม่เป็นทางการ พรรคฟุนซินเป็กไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในเขตใด

สำหรับการเลือกตั้ง 28 ก.ค. 2556 ชาวกัมพูชามีสิทธิเลือกตั้ง 9 ล้านคน แบ่งกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 123 เขต

ขณะที่ก่อนหน้านี้ หลังปิดหีบการเลือกตั้งไม่นาน มีการเผยแพร่คำประกาศของนายสม รังสี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งอ้างว่าชนะการเลือกตั้ง แต่ต่อมาก็ได้ถอนคำประกาศดังกล่าว

ขณะที่ในช่วงเช้าวันนี้ นายสม รังสี โพสต์สถานะในเฟซบุ๊คของเขา เพื่อให้ผู้สนับสนุนกลับไปสังเกตการณ์การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งว่า "สำคัญมาก ขอให้กลับไปที่หน่วยเลือกตั้งในเวลาบ่าย 3 เพื่อปกป้องคะแนนของท่าน จับตาการนับคะแนน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครขโมยการเลือกตั้งครั้งนี้"

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้เมื่อ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา กษัตริย์นโรดม สีหมุนีของกัมพูชาได้พระราชทานอภัยโทษให้กับ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศมาร่วม 4 ปี โดยผู้ขอพระราชทานอภัยโทษคือฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และต่อมาสม รังสีได้เดินทางกลับพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 19 ก.ค. และหลังจากกลับมาแล้ว เขาได้เข้ามาช่วยลูกพรรคหาเสียง แม้ว่า กกต.กัมพูชา จะระบุว่าเขาขาดคุณสมบัติที่จะสมัครเป็นผู้แทนก็ตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จุดเปลี่ยนภูมิทัศน์บนพื้นที่สูง

Posted: 28 Jul 2013 08:55 AM PDT

การเปลี่ยนแปลง พื้นที่ชนบท-การเกษตร พื้นที่สูง-การอนุรักษ์ ฯลฯ เป็นสถานการณ์ที่มีความพยายามทำความเข้าใจและถกเถียงกันมานาน โดยที่ชุดคำเหล่านี้มักมาควบคู่กันเสมอ แต่กรณีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบ้านก่อวิละจากบทความที่นำเสนอมาทั้งหมดนั้น ได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากกว่านั้น เมื่อพื้นที่ชนบท ไม่ได้มีแค่การเกษตร (เพื่อยังชีพ) แบบที่เคยเข้าใจกัน แต่ยังมีเรื่องของการจ้างแรงงานและการบริโภคเพื่อสร้างตัวตนใหม่ของคนชายขอบ ขณะที่พื้นที่สูงไม่ได้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์เท่านั้นแต่ยังเป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลก

ข้อถกเถียงทั่วไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นที่สูง มักกล่าวถึงผู้มีบทบาทเกี่ยวข้อง 2-3 กลุ่ม ได้แก่ หน่วยงานรัฐที่พยายามควบคุมจำกัดการใช้ที่ดินและทรัพยากร  เกษตรกรในพื้นที่ที่เป็นเสมือนผู้ที่ถูกกระทำจากนโยบายรัฐแต่ฝ่ายเดียว และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ แต่จากบทความทั้งห้าชิ้นที่เสนอมานั้นจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ระบบการผลิต การใช้ทรัพยากร และความสัมพันธ์ทางสังคมในบ้านก่อวิละซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น "ชนบท" หรือ "พื้นที่สูง" หรือ "สังคมเกษตร" หรือ "ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์" นั้นมีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับต่าง ๆ ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายย่อย-รายใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่รับซื้อผลผลิต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ สหกรณ์การเกษตรฯ ไปจนถึงธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรข้ามชาติ  ฯลฯ

บ้านก่อวิละในกระแสการเปลี่ยนแปลง

บ้านก่อวิละ เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ขนาด 70 ครัวเรือน ตั้งอยู่บนเทือกเขาของพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุดในจังหวัด การเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าของรัฐทำให้บ้านก่อวิละเป็นเช่นเดียวกับชุมชนอีกจำนวนมากที่ถูกรัฐและสังคมเพ่งเล็งด้วยเกรงว่าจะมีการขยายพื้นที่เกษตรเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ ยิ่งไปกว่านั้นการเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังทำให้พวกเขาถูกจับจ้องมากขึ้นอันเนื่องมาจากภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในสองลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ ในด้านหนึ่งก็เข้าใจกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ด้อยการศึกษาไม่มีความรู้ในการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีความเข้าใจว่าชาวปกาเกอะญอมีวิถีการผลิตและวิถีชีวิตแบบ "ดั้งเดิม" ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติและอนุรักษ์ป่า ภาพลักษณ์ทั้งสองด้านดังกล่าวล้วนส่งผลต่อการพยายามกำกับควบคุมชุมชนให้ "แช่แข็ง" อยู่แบบเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จะเป็นไปอย่างไรก็ตาม

แท้ที่จริงชุมชนบ้านก่อวิละ เป็นเช่นเดียวกันกับชุมชนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อยู่ภายใต้บริบทสำคัญอย่างน้อย  4 ประการ

ประการที่หนึ่ง บ้านก่อวิละตั้งอยู่ในเขตป่าของรัฐ ที่มีการโต้แย้งในเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งยืดเยื้อมานาน แม้ว่าชาวบ้านจะไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินเหล่านั้น แต่พวกเขาก็อ้างว่าชุมชนตั้งขึ้นมาก่อนที่รัฐจะประกาศพื้นที่นั้นเป็นเขตป่าและชาวบ้านใช้ที่ดินสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ แม้ว่าจะมีความพยายามเคลื่อนไหวต่อรองและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มานานกว่าสิบปี แต่ปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่ ที่ดินยังคงมีความคลุมเครือในเรื่องสิทธิ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังคงเข้าไปใช้ที่ดินเรื่อยมา

ประการที่สอง บ้านก่อวิละจัดเป็นชุมชน "ห่างไกล" จากศูนย์กลางอำนาจรัฐ ในด้านหนึ่งรัฐจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไป "พัฒนา" จึงมีโครงการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่แถบนั้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ  และสำหรับชาวบ้านเองพวกเขาก็เปิดรับและต้องการ "การพัฒนา" ดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับปรุงถนน ไฟฟ้า การศึกษา และพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเป็นพื้นที่ห่างไกลซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าก็ทำให้ที่ตั้งชุมชนของพวกเขาเป็นพื้นที่ที่ควร "อนุรักษ์" ไว้ให้มีสภาพธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมถึงการที่ผู้คนในพื้นที่นั้นไม่ควรที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและระบบการผลิตไปจากเดิม เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแนวทาง "การพัฒนา" กับ "การอนุรักษ์"

ประการที่สาม การทำเกษตรเชิงพาณิชย์เป็นวิถีการผลิตที่สำคัญของชุมชนเกษตรกรรมส่วนใหญ่ในประเทศ ในบ้านก่อวิละเองมีการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเรื่อยมา จากเดิมที่เคยทำเกษตรแบบพอยังชีพก็ค่อย ๆ ปรับมาสู่การทำเกษตรเพื่อการค้า ทั้งโดยการส่งเสริมของรัฐด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ฯลฯ และทั้งโดยการดิ้นรนต่อสู้กับแรงกดดันต่าง ๆ ของชาวบ้านเอง เช่น การปลูกพืชเพื่อแสดงการใช้ที่ดินอันนำไปสู่การอ้างสิทธิในที่ดินที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย การสร้างรายได้เพื่อขยับฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น ฯลฯ

ประการสุดท้าย  บ้านก่อวิละไม่ได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชนอยู่ภายใต้บริบทใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และผลผลิตทางการเกษตรกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในชุมชนก่อวิละเป็นสินค้าสำคัญของห่วงโซ่การค้าที่โยงใยธุรกิจการค้าจากระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติและระดับโลก การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนบ้านก่อวิละในแง่นี้จึงไม่ใช่การผลิตเฉพาะเพื่อปากท้องของชาวบ้านที่นั่น แต่บ้านก่อวิละนับเป็นหน่วยการผลิตหนึ่งของระบบการผลิตโลก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: ภาพสะท้อนต่อมุมมองทางความคิด

จากบทความทั้งห้าชิ้นที่ผ่านไป ผู้เขียนพยายามนำเสนอให้เห็นว่าการปลูกข้าวโพดในชุมชนบ้านก่อวิละสามารถสะท้อนความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนบนพื้นที่สูง ได้อย่างน้อย 5 มิติด้วยกัน

หนึ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรแบบพันธสัญญา โดยทั่วไปมักเห็นว่าเป็นเรื่องของ "นายทุน" ที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยโดยวางเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้อย่างเป็น "ระบบ" แต่จากกรณีการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบ้านก่อวิละได้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ภายใต้พันธสัญญาที่เป็นระบบระเบียบชัดเจน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ที่วางเงื่อนไขให้เกษตรกรเป็นฝ่ายเสียเปรียบ บทความยังชี้ให้เห็นอีกว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรแบบพันธสัญญาไม่ได้มีเฉพาะบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมายทั้งในระดับท้องถิ่น และเหนือกว่าระดับท้องถิ่น  ขณะที่เกษตรกรบ้านก่อวิละถูกเข้าใจว่าถูกล่อหลวงหรือไม่รู้เท่าทันระบบทุนนิยม แต่บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรของพวกเขาได้ผ่านการเรียนรู้และแสวงหาทางเลือกมาพอควร แม้ว่าวิถีการผลิตที่ชาวบ้านเลือกจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเขาเผชิญอยู่ 

สอง เกษตรกรบนพื้นที่สูงมักถูกนำเสนอภาพลักษณ์และถูกจำกัดควบคุมให้มีฐานะเป็นผู้อนุรักษ์ป่า มีระบบการผลิตเชิงอนุรักษ์ แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมากเลือกที่จะทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วยเหตุผลเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเขา กรณีชุมชนก่อวิละ บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถสร้างตัวตนแบบใหม่ที่ไม่ใช่ผู้ที่มีวิถีชีวิต "เรียบง่าย" "สมถะ" หรือ "เป็นมิตรกับธรรมชาติ" แบบที่คนภายนอกอยากเห็น แต่เป็นตัวตนที่ไปพ้นจากภาพลักษณ์ "ชาวเขา" ผู้ "ด้อยพัฒนา" ล้าหลัง ซึ่งคนทั่วไปมักมองพวกเขาเช่นนั้น  สำหรับชาวบ้านก่อวิละตัวตนแบบใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าความทัดเทียมของสถานะทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่ทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมเสียก่อน  สำหรับชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้อยู่บนสนามของการต่อสู้ต่อรองเพื่อช่วงชิงทรัพยากรกับรัฐเพียงสนามเดียว แต่ในชีวิตประจำวันยังต้องเผชิญกับพื้นที่การต่อสู้ต่อรองที่ซับซ้อนหลายระดับ ยุทธวิธีที่ใช้จึงมีความหลากหลายและปรับใช้แตกต่างกันไป งานศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านไม่ได้ยึดติดอยู่กับการสร้างความชอบธรรมเพียงด้านหนึ่งด้านใด แต่ดิ้นรนและแสวงหาความชอบธรรมในมิติอื่นๆ เช่น ความชอบธรรมในฐานะพลเมืองของรัฐที่จะได้รับการพัฒนา ความชอบธรรมในฐานะเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการและนโยบายของรัฐ และที่สำคัญคือ ความชอบธรรมในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรในเครือข่ายธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม

สาม การปลูกข้าวโพดและพืชเชิงพาณิชย์ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลต่อการจัดช่วงชั้นใหม่ภายในชุมชน ภายใต้ระบบการผลิตแบบดั้งเดิม ฐานะทางเศรษฐกิจชี้วัดจากการปลูกข้าวพอกินตลอดทั้งปี ซึ่งสัมพันธ์กับการถือครองที่นา  และหากยึดตามระบบการผลิตและจารีตประเพณีแบบเดิม เป็นการยากที่ "คนยากจน" ในชุมชนจะขยับฐานะขึ้นมาได้ เพราะบรรพบุรุษไม่ได้บุกเบิกนาที่นาเอาไว้ให้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาปลูกพืชพาณิชย์ ทำให้ครัวเรือนที่ "ยากจน" ซึ่งไม่มีที่นามาแต่เดิมมีโอกาสขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ซึ่งหมายถึงการจัดปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งความสัมพันธ์ภายในชุมชนและระหว่างคนในชุมชนกับคนภายนอกชุมชน นอกจากนั้น บทความยังชี้ให้เห็นว่าการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นทั้งเป็นผลมาจาก และส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับสิทธิในการถือครองที่ดิน จากที่เคยใช้ระบบสิทธิส่วนรวมในที่ไร่ มาสู่การครอบครองที่ดินแบบปัจเจกที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

สี่ เมื่อมีการกล่าวโทษเรื่อง "การตัดไม้ทำลายป่า" อันเกิดขึ้นจากการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง จำเลยของข้อกล่าวหามักตัดตอนเพ่งเล็งไปที่เกษตรกรผู้ผลิตเท่านั้น  โดยเชื่อว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมและกลไกตลาด แต่บทความได้ชี้ให้เห็นว่าการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านเล็ก ๆ บนพื้นที่สูง แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนมากที่เข้ามาเกี่ยวพันกันและได้รับประโยชน์จากเครือข่ายการผลิตและการค้านั้น ตั้งแต่ผู้รับซื้อรายย่อย เจ้าของรถบรรทุก เจ้าของโรงอบ ธุรกิจอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่รัฐบาลเองที่มีรายได้จากภาษีและผลตอบแทนในด้านอื่น ๆ จากการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และธุรกิจอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยที่เกษตรกรเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าอันยาวเหยียดนั้น โดยที่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มอื่น ๆ กลับ "ลอยตัว" จากข้อกล่าวหาดังกล่าว

สุดท้าย  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนก่อวิละ เกิดขึ้นบนพื้นที่ที่มีความคลุมเครือในเรื่องแนวเขตและกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้ความคลุมเครือจะถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่มันก็เปิดโอกาสให้ผู้กระทำการที่เกี่ยวข้องใช้ช่องว่างจากความไม่ชัดเจน ตีความหรืออธิบายเพื่อประโยชน์ในกระบวนการต่อรอง จนเกิดการจัดปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากชุดความสัมพันธ์เดิม โดยไม่มีผู้กระทำการฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจนำหรือด้อยอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นสภาวะที่เปิดให้เกิดการต่อรองเพื่อค้นหากฎเกณฑ์หรือสถาบันทางสังคมรูปแบบใหม่ที่เปิดช่องให้ผู้กระทำการหลากหลายกลุ่มเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดการความคลุมเครือ ซึ่งหมายรวมถึงการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาตีกรอบให้ชาวบ้านใช้พื้นที่อยู่ในขอบเขตอันจำกัด  อย่างไรก็ตาม  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชุมชนก็เป็นไปได้ในพื้นที่คลุมเครือด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถต่อรองกับรัฐเพื่อสิทธิในที่ดิน และเปิดให้ชาวบ้านต่อรองกันเอง บทความตั้งข้อสังเกตว่าหากแนวเขตที่กำหนดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านและทำให้พวกเขามีสิทธิที่มั่นคงในที่ดิน แนวเขตก็คงจะช่วยสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการทำกินให้ชาวบ้านได้ตามการกล่าวอ้างของผู้ที่เข้าไปแสดงบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหา แต่หากการกำหนดแนวเขตไม่นำไปสู่การรับรองสิทธิ แนวเขตก็คงจะเป็นเพียงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมจำกัดสิทธิของชาวบ้านเท่านั้นเอง  นอกจากนั้น บทความยังชี้ให้เห็นว่าในกระบวนการจัดทำแนวเขตเพื่อจำกัดการใช้ที่ดินนั้นเองที่ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรเข้าสู่พื้นที่ป่ามากขึ้น แม้ว่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างรับรู้และยากจะปฏิเสธ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมากกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง

บทความทั้งห้าชิ้นที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเกษตรในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนพื้นที่สูง โดยพยายามนำเสนอให้เห็นโครงข่ายความสัมพันธ์อันโยงใยกับตัวแสดงมากมายที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ ระบบการผลิต การใช้ทรัพยากร และความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับท้องถิ่น  หรือกล่าวได้ว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงแค่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง แต่มันเป็นปรากฏการณ์เบื้องหน้าที่เชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงในอีกหลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงไม่อาจทำความเข้าใจเฉพาะกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมชาวนา หากแต่ควรทำความเข้าใจผ่านแนวคิดการปรับโครงสร้างในชนบทที่เชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและภาคการบริโภค การปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงทางความคิด เพราะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น  หากแต่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขอื่นๆ อย่างซับซ้อน ในแง่นี้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากจะเป็นยุทธวิธีทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นยุทธวิธีทางการเมืองในฐานะกระบวนการสร้างความมั่นคงในที่ดินท่ามกลางแรงกดดันและความไม่มั่นคงในชีวิต การสร้างตัวตนใหม่ของกลุ่มคนชายขอบที่ถูกเบียดขับจากสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและเหนือกว่าระดับท้องถิ่น

ข้อเสนอของแต่ละบทความนำมาสู่ข้อสรุปสั้น ๆ ร่วมกันว่าอย่าตัดสินเกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงพาณิชย์บนพื้นที่สูงด้วยข้อกล่าวหาง่าย ๆ ว่าพวกเขา "โง่ จน และโลภ" จึงทำการเกษตรที่ไม่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแท้ที่จริงแล้วการเลือกวิถีการผลิตของพวกเขานั้นเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่านั้น

ในทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ที่เรามักตัดสินสิ่งที่เห็นเพียงฉาบฉวยและมีข้อสรุปเพียงง่าย ๆ มากกว่าที่จะพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปให้ลึกซึ้งกว่านั้น เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นปัญหา มักเป็นกลุ่มคนที่อยู่ปลายสุดของโครงข่ายความสัมพันธ์ แต่แม้ว่าพวกเขาจะด้อยอำนาจที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยู่เฉย ๆ เพื่อรอคอย "คำแนะนำ" หรือ "การช่วยเหลือ" จากกลุ่มคนอื่นผู้มักหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นรู้มากกว่า หรือรู้ดีกว่า ผู้ด้อยอำนาจเหล่านั้น ที่ร้ายไปกว่านั้น คำแนะนำ และการช่วยเหลือมักมาพร้อมกับการกำกับควบคุมวิถีชีวิตของผู้ด้อยอำนาจ มากกว่าจะเป็นการปลดปล่อยพวกเขาให้มีอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง     

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

Posted: 28 Jul 2013 06:37 AM PDT

[1] เกริ่นนำ: ความหลากหลายและความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐถือเป็นหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาขั้นสูง (Higher Education) แก่นักศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านั้นได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการศึกษา ไปใช้ในชีวิตการทำงานในอนาคต ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนอกจากจะเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพในสาขาวิชาต่างๆแล้ว สถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังถือเป็นสถานที่ที่มีการประกอบกิจกรรมด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ในระดับอุดมศึกษากับกิจกรรมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมอุดมศึกษา เช่น กิจกรรมส่งเสริมวิชาการที่จัดโดยหน่วยงานหรือคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย กิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษารุ่นพี่ที่มีชั้นปีที่สูงกว่าและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะด้านการศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ย่อมต้องประกอบด้วยผู้คนที่มีที่มาหลากหลายหรือผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป (different  characteristics) ได้แก่ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ อนึ่ง ความหลากหลายของบุคคลากรที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนบริการสาธารณะระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ย่อมประกอบด้วยผู้คนที่ดำรงสถานะในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่แตกต่างกันออกไป[1] ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างด้วยเงินรายได้ พนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยเงินงบประมาณแผ่นดิน พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากงบประมาณแผ่นดิน ลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินรายได้ ลูกจ้างประจำที่จ้างจากเงินงบประมาณแผ่นดินและลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย ซึ่งผู้ดำรงสถานะที่แตกต่างกันเหล่านี้ย่อมมีหน้าที่และภารกิจตามความชำนาญหรือลักษณะงานที่สนใจ เช่น หน้าที่ในทางการบริหารมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานระดับต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หน้าที่ทางวิชาการในการสอนและถ่ายทอดความรู้และหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมบริการสาธารณะด้านการศึกษา เป็นต้น นอกจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐประกอบด้วยบุคลากรผู้ดำรงสถานะและมีหน้าที่ที่แตกต่างกันแล้ว สถาบันอุดมศึกษาของรัฐก็ยังประกอบด้วยนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นแรงงานที่สำคัญของชาติในอนาคต โดยนักศึกษาในระดับต่างๆ นี้ ย่อมมีที่มาหรือมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ

ความหลายหลาย (diversity) ของบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาในด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในหลากหลายกรณีที่แตกต่างกันตัวอย่างเช่น การเลือกปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติระหว่างเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย การเลือกปฏิบัติของอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อนักศึกษา และการเลือกปฏิบัติของนักศึกษารุ่นพี่ที่มีอายุมากกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่สูงกว่าต่อรุ่นน้องที่มีอายุน้อยกว่าหรือศึกษาในชั้นปีที่ต่ำกว่า เป็นต้น

แม้ว่าบุคลากรประเภทต่างๆ และนักศึกษาระดับต่างๆ อาจมีสภาพร่างกาย สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม เพศ เพศวิถี สีผิว ศาสนา ความเชื่อและวิถีการดำรงชีวิตคู่ที่ไม่เหมือนกันตามลักษณะทางธรรมชาติหรือตามลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล หากแต่ความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับโอกาสต่างๆในสังคมมหาวิทยาลัย (inequality of opportunity)[2] ย่อมส่งผลให้เกิดการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรหรือนักศึกษา กล่าวคือ ความไม่เท่าเทียมในด้านโอกาสหรือการเข้าถึงโอกาสประการต่างๆ ย่อมนำมาสู่การเลือกปฏิบัติในสังคมมหาวิทยาลัยจนนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (unfairness) ในหลายกรณี ด้วยเหตุนี้เอง

การส่งเสริมความเท่าเทียม (equality) ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการส่งเสริมความเท่าเทียมผ่านกลไกต่างๆ ย่อมเป็นเครื่องประกัน (assurance)[3] ว่าบุคลากรผู้ดำรงสถานะต่างๆ นักศึกษาระดับชั้นต่างๆ และบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของสถาบันการศึกษาจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมโดยปราศจากการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือหน่วยงานภายในอื่นๆ ที่สังกัดอยู่ภายใต้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในหลายประเทศจึงได้พยายามกำหนดเครื่องมือประเมินและกระบวนการในการตรวจสอบว่าสถาบันการศึกษาของตนหรือหน่วยงานในสถาบันการศึกษาของตนมีระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมประการอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตัวหลายหลายและแตกต่างกันในด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ หรือไม่ โดยระเบียบ ข้อบังคับและนโยบาย รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติในกรณีอื่นๆที่ไม่เป็นธรรม ย่อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบ (adverse impacts) ต่อการได้รับโอกาสและการเข้าถึงโอกาสของบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในขณะนั้น[4]

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น รัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงควรกำหนดแนวทางป้องกันหรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคลที่มีที่มาที่หลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัวที่หลากหลาย โดยรัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการระบุลักษณะของบุคคลที่ต้องได้รับการคุ้มครอง (protected characteristics)[5] กล่าวคือ รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการอุดมศึกษาต้องกำหนดมาตรการรองรับบุคคลที่มีความหลากหลายในลักษณะเหล่านี้ ให้มีสิทธิและโอกาสให้เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปในสังคม ได้แก่ อายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ[6]

สาเหตุที่ต้องมีการกำหนดลักษณะของบุคลที่ต้องได้รับการคุ้มครองเอาไว้เป็นการเฉพาะ ก็เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เปิดโอกาสในการทำงานหรือโอกาสในการเข้าถึงบริการต่างๆของมหาวิทยาลัย อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยอาจแบ่งเป็นสามประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาที่มีที่มาแตกต่างกันอย่างเท่าเทียม กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในควรให้นักศึกษาในประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาภาคปกติหรือนักศึกษาภาคสมทบและนักศึกษาระดับชั้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีหรือนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา รวมไปถึงผู้สมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา[7] ให้ได้รับประสบการณ์ (experience) จากบริการทางการศึกษาหรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานภายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยหน่วยงานต่างๆ ในสถาบันการศึกษาต้องพยายามหลีกเลียงความไม่แน่นอนที่ไม่เหมาะสม (unnecessary instability) อันเกิดจากการปฏิบัติงานหรือกระบวนการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือการปฏิบัติต่อนักศึกษาในมาตรฐานที่แตกต่างกัน[8]  ประการที่สอง สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องปฏิบัติต่อบุคลากรที่ดำรงสถานะต่างๆ หรือบุคลากรประเภทต่างๆ อย่างเท่าเทียม กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในควรปฏิบัติต่อบุคลากรในเรื่องของการจ้างงาน การพิจารณาจริยธรรมและวินัย การมอบสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และสิทธิเกื้อกูล อย่างเท่าเทียม ฉะนั้น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานภายในสถาบันอุดมศึกษาควรกำหนดกลไกต่าง (mechanisms) สำหรับสร้างความมั่นใจว่าบุคลากรประเภทต่างๆ หรือบุคลากรที่ดำรงสถานะต่างๆ จะได้รับความเป็นธรรม (fairness) ในกรณีแห่งการจ้างงานและสถาบันการศึกษาจะต้องปฏิบัติหรือดำเนินการต่างๆ อย่างเท่าเทียมและปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (compliance)[9]

ประการที่สาม การที่นักศึกษาระดับชั้นปีต่างๆ และนักศึกษาระดับต่างๆ ต้องปฏิบัติต่อการอย่างเท่าเทียม กล่าวคือ การประกอบกิจกรรมของนักศึกษาในชั้นปีต่างๆ หรือนักศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ต้องกระทำกิจกรรมบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทีมหรือความเสมอภาค โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบันโดยอาศัยเหตุแห่งความแต่งต่างของลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ในการประกอบกิจกรรมของนักศึกษา นักศึกษาทุกชั้นปีจำต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม การกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติจากเหตุแห่งความแตกต่างกันจากอายุหรือชั้นปี เป็นสิ่งที่ไม่สมควรในสังคมอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่คำนึงถึงคุณค่าหรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในแต่ละปัจเจกบุคคล ดังนั้น นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่สูงกว่าหรือนักศึกษาที่มีอายุมากกว่า ไม่ควรที่จะจัดกิจกรรมหนึ่งกิจกรรมใดอันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาชั้นปีที่ต่ำกว่าหรือนักศึกษาที่มีอายุน้อยกว่า เป็นต้น

[2] การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น การส่งเสริมความเท่าเทียมให้บุคคลที่มีที่มาอันหลากหลายให้ได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคและปราศจากการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ โดยอาศัยเหตุแห่งลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลมาเป็นข้ออ้างในการเลือกปฏิบัติ จึงกลายมาเป็นสิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือสถาบันการศึกษาระดับอื่นๆของรัฐควรส่งเสริมและสนับสนุน ด้วยเหตุนี้ หลายสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันจึงได้กำหนดกลไกและวิธีการในการจัดการความหลากหลายและความเท่าเทียม (Managing Equality and Diversity) เพื่อบริหารจัดการบุคคลที่มีที่มาอันหลากหลายหรือมีความแตกต่างในลักษณะเฉพาะด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ให้ได้รับการปฏิบัติหรือได้รับโอกาสต่างๆจากทางสถาบันการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยคำนึงถึงบริบทแห่งกฎหมาย (legal context) ทั้งในส่วนที่เป็นบทบัญญัติอันเป็นกฎหมายพื้นฐานของรัฐที่กล่าวถึงความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมหรือการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนในสังคมทั่วไปและสังคมแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงต้องจัดมาตรการหรือกระบวนการเพื่อรับทราบถึงผลกระทบหรือปัญหาเกี่ยวกับการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติขึ้นในองค์กรหรือหน่วยงานที่สังกัดองค์กรของตนหรือไม่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรงจากการปฏิบัติต่อผู้ที่มีความแตกต่างกันด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศในแบบมาตรฐานที่แตกต่างกันหรือการเลือกปฏิบัติโดยอ้อมจากขั้นตอน กระบวนการ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันอันไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียม (Equality impact assessment – EqIA) ถือเป็นมาตรการหรือกระบวนการที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐอาจจัดทำขึ้นเพื่อให้สถาบันหรือหน่วยงานที่สังกัดในสถาบันต่างๆ ได้รับทราบถึงผลกระทบหรือปัญหาเกี่ยวกับการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติขึ้นในสถาบันการศึกษาของตน ซึ่งการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียม หมายถึง การทบทวนนโยบาย (institution's policies) และข้อบังคับ (regulatory framework) เพื่อเสริมสร้างความมั่นในว่าสถาบันอุดมศึกษาจะไม่เลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสถาบันอุดมศึกษาจะส่งเสริมความเท่าเทียม ซึ่งการทบทวนนโยบายและข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนั้น ต้องผ่านกระบวนการประเมิน (process of assessing) ผลกระทบอันเนื่องมาจากนโยบาย ระเบียบหรือข้อบังคับของทางสถาบันการศึกษาและผลกระทบประการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคในหน่วยงาน[10]

http://www.actionforchildren.org.uk/media/46846/seven-strands-of-equality.gif

ภาพที่ 1: สถาบันอุดมศึกษาของรัฐย่อมประกอบบุคคลที่มีที่มาอันหลากหลายหรือมีความแตกต่างในลักษณะเฉพาะด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกันออกไป                                                                                     ที่มา: Action for Children. (2011). Equality and diversity. Retrieved July 15, 2013, from http://www.actionforchildren.org.uk/about-us/jobs/equality-and-diversity

http://www.leics.gov.uk/eia_picture.jpg

ภาพที่ 2: วงจรการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียม                                                                                                                                                                      ที่มา: Leicestershire County Council. (2012). Equality Impact Assessments. Retrieved July 15, 2013, http://www.leics.gov.uk/index/your_council/equality_and_diversity/equality_impact_assessments.htm

[3] หลักเกณฑ์และกระบวนการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

การทบทวนนโยบาย ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง เพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุแห่งความหลากหลายและความเท่าเทียมในสังคมอุดมศึกษา จะได้ทราบถึงข้อบกพร่องหรือช่องว่าง (loophole) ของนโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับในส่วนที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรืออาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกรณีต่างๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบาย ระเบียบและข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังอาจทำให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานในสถาบันการศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถพัฒนาแนวทางการปฏิบัติ (treating)[11] ต่อผู้คนต่างๆในสังคมอุดมศึกษาอย่างเป็นธรรมและแนวทางในการสร้างเสริมคุณค่า (valuing)[12] จากความหลากหลายของผู้คนในสังคมอุดมศึกษาในอนาคต ตัวอย่างเช่น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐอาจสร้างกลไกหรือกระบวนการในการปฏิบัติการขจัดการล่วงละเมิดในกรณีต่างๆ  (harassment) และการทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อ (victimisation) จากการใช้อำนาจหรือการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้น การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมจึงจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์และกระบวนที่เหมาะสมและชัดเจน เพราะสามารถทำให้เกิดกลไกในการตรวจสอบความเท่าเทียม (equality monitoring) อันทำให้ทราบถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในทุกระดับ ซึ่งการตรวจสอบความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐย่อมสามารถทำได้โดยผ่านการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ตัวอย่างเช่น การใช้ข้อมูลทางสถิติที่มุ่งหาข้อสรุปเชิงปริมาณ โดยเน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ค้นพบ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านการให้ข้อมูลจากแบบสอบถาม ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอาจตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์หรือภาพเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) ที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างหรือความหลากหลายในด้านอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศ ของผู้บริหารสถาบัน บุคลากรของสถาบัน นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบัน ซึ่งเมื่อสถาบันอุดมศึกษาได้หลักฐานเชิงประจักษ์หรือภาพเชิงประจักษ์มาแล้ว ก็จะทำให้สถาบันการศึกษาได้ทราบถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือการเลือกปฏิบัติในสถาบันการศึกษา โดยผ่านกระบวนการทบทวน (review) สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาในกรณีต่างๆ อันจะทำให้การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมดังกล่าวสามารถนำปัญหาที่ค้นพบจากการสำรวจข้อมูลด้านความเท่าเทียมดังกล่าว มาจัดทำเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดการความเท่าเทียม (equality objectives) เพื่อนำวัตถุประสงค์ดังกล่าวมากำหนดลงในแผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมหรือแผนป้องกันการเลือกปฏิบัติ (action plans) ต่อไปในอนาคต

 

http://www3.hants.gov.uk/eslgbrief-1.gif

ภาพที่ 3: การปรับปรุงที่ต่อเนื่องผ่านการจัดการความเท่าเทียมและวงจรระดับมาตรฐานความเท่าเทียม                                                                                                           ที่มา: Hampshire County Council. (2011). Diagram of equality standards levels. Retrieved July 15, 2013, http://www3.hants.gov.uk/equality/diverse-workforce/standardlg/standardlg-levels.htm

[4] การคัดกรองประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมภายใต้นโยบาย ระเบียบและข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

การคัดกรองประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมภายใต้นโยบาย ระเบียบและข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (screening) ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมดังที่ได้มาจากข้อมูลการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ทำให้หน่วยงานของสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ หรือหน่วยงานภารกิจเฉพาะในสถาบัน ได้ทราบถึงแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนากลไกต่างๆ ในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติหรือกลไกในการส่งเสริมความเท่าเทียมเฉพาะจุด เฉพาะปัญหาหรือเฉพาะขอบเขตได้ดีมากยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมหรือการกระทำ (actions)[13] ต่างอันประกอบด้วย การระบุวัตถุประสงค์ของนโยบาย การระบุว่านโยบายเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มบุคคลใดบ้าง การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ และการระบุผลกระทบในด้านลบที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียม

[5] ประเด็นความท้าทายทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

กลไกและกระบวนการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมย่อมมีส่วนสนับสนุนในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียมหรือการต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยตรง ตัวอย่างเช่น รัฐสภาของประเทศอังกฤษได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียม ค.ศ. 2010 (Equality Act 2010) ขึ้น เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีอายุ ความพิการทางกาย การแปลงเพศ การแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร สีผิว ศาสนาและความเชื่อ เพศ และรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน อนึ่ง กฎหมายของอังกฤษดังกล่าวนอกจากจะบัญญัติในเรื่องของการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางอ้อมแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดหน้าที่ให้รัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมในหน่วยงานของตน (equality duty)[14] อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน มาตรา 149[15] แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียม ค.ศ. 2010 ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ รัฐหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องคำนึงถึง (due regard)  การขจัดการเลือกปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมาย การส่งเสริมโอกาสของผู้คนที่หลากหลายบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียม และการส่งเสริมความสัมพันธ์ภาพอันดีระหว่างผู้ที่มีที่มาที่หลากหลายและแตกต่างกัน อนึ่ง กระบวนการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ให้สถาบันการศึกษาของรัฐอันเป็นหน่วยงานของรัฐนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติตาม ซึ่งหากสถาบันการศึกษาของรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามไปในทิศทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียมแล้ว ศาลอังกฤษ[16] อาจมีดุลพินิจในการวินิจฉัยทบทวน (judicial review) เกี่ยวกับการบริการสาธารณะหรือการประกอบกิจกรรมต่างๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคลากร นักศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงศาลอาจพิเคราะห์ถึงความล้มเหลวในการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในการศึกษาของรัฐอันได้อีกด้วย[17]

จากที่กล่าวมาในข้างต้น อาจถือว่าได้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำต้องมีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดกลไกและกระบวนการประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันการศึกษาของตน[18] เพราะกลไกและกระบวนการดังกล่าวย่อมทำให้สถาบันการศึกษาของรัฐได้ทราบถึงจุดบกพร่องของนโยบาย ระเบียบและข้อบังคับ รวมไปถึงเหตุประการอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันบุคคลในกรณีต่างๆ กันในสังคมอุดมศึกษา[19]

[6] บทสรุป

การประเมินผลกระทบด้านความเท่าเทียมในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับวงการศึกษา ที่จะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายในสถาบันอุดมศึกษา ได้ทราบว่าองค์กรหรือหน่วยงานภายในของตนมีปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำหรือการเลือกปฏิบัติในกรณีต่างๆ อย่างไรบ้าง เพื่อจะได้นำผลการประเมินดังกล่าวไปวิเคราะห์ อันสามารถนำไปสู่การแก้ไขหรือปรับปรุงนโยบาย ระเบียบและข้อบังคับ รวมไปถึงการปฏิบัติต่างๆ ของสถาบันการศึกษาต่อไปในอนาคต

https://fbcdn-sphotos-g-a.akamaihd.net/hphotos-ak-frc1/5788_562492550438200_1208695797_n.jpg

ภาพที่ 4: สถาบันอุดมศึกษาของรัฐประกอบไปด้วยผู้บริหาร บุคลากรสายวิชาการ บุคลากรสายสนับสนุนและนักศึกษา ที่มีที่มาหลากหลายและต้องการได้รับการปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชา หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานกำกับดูแล อย่างเท่าเทียม                                                                                                                                                    ที่มา: เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย. (2012). เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ กรกฎาคม 16,. 2556, จาก, http://u-staff.blogspot.co.uk/




[1] University of Wisconsin-Madison. (2007). Benefits and Challenges of Diversity in Academic Settings. Retrieved July 14, 2013, from http://wiseli.engr.wisc.edu/docs/Benefits_Challenges.pdf

[2] Department of Education. (2010). The Importance of Teaching White Paper Equalities Impact Assessment. Retrieved July 14, 2013, from https://www.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/175430/CM-7980-Impact_equalities.pdf

[3] Equality Challenge Unit & Leadership Foundation for Higher Education. (2009). Governing bodies, equality and diversity: A handbook for governors of higher education institutions. London: Equality Challenge Unit, p 2.

[4] Equality and Human Rights Commission. (2009). Equality impact assessment guidance: A step-by-step guide to integrating equality impact assessment into policymaking and review. Manchester: Equality and Human Rights Commission, p 4.

[5] University of Liverpool. (2011). Protected Characteristic and Types of Discrimination Guidance Equality Analysis. Retrieved July 15, 2013, from http://www.liv.ac.uk/media/livacuk/hr-migrated/diversityequality/Protected_Characteristic_and_types_of_discrimination_guidanc.pdf

[6] โปรดดูนิยามและคำอธิบายเพิ่มเติมใน Equality and Human Rights Commission. (2013). Protected characteristics: definitions. Retrieved July 15, 2013, from http://www.equalityhumanrights.com/advice-and-guidance/new-equality-act-guidance/protected-characteristics-definitions/

[7] Equality Challenge Unit. (2010). Equality in admissions Contents Equality impact assessments in higher education.  Manchester: Equality and Human Rights Commission, pp  20-21.

[8] Department for Business, Innovation and Skills. (2011). Higher Education Students at the Heart of the System: Equality Impact Assessment. London: Department for Business, Innovation and Skills, p 7.

[9] University of Cambridge. (2009). Equality Impact Assessment on Recruitment: Update on actions stemming from findings and recommendations September 2009. Retrieved July 15, 2013, from http://www.admin.cam.ac.uk/offices/hr/equality/assessments/completed/recruitment/recruitment_cover.pdf

[10] Equality Challenge Unit & Higher Education Funding for England. (2007).Conducting Equality Impact Assessments in Higher Education. London: Equality Challenge Unit, p 2.

[11] University of Southampton. (2011). Equality Impact Assessment: Toolkit. Southampton: University of Southampton, p 4.

[12] Department of Health. (2009). Valuing People Now 'Making it happen for everyone' Equality Impact Assessment. London: Department of Health, pp 4-5.

[13] De Montfort University. (2010). Equality Impact Assessment: DMU International Strategy 2010-2014. Leicester: De Montfort University, pp 1-6.

[14] Government Equalities Office. (2011). Equality Act 2010 Public Sector Equality Duty What do I need to Know: A Quick Start Guide for Public Sector Organisations. London: Government Equalities Office, pp 1-10.

[15] Equality Act 2010 Section 149 'Public sector equality duty

(1) A public authority must, in the exercise of its functions, have due regard to the need to—

(a)eliminate discrimination, harassment, victimisation and any other conduct that is prohibited by or under this Act;

(b)advance equality of opportunity between persons who share a relevant protected characteristic and persons who do not share it;

(c)foster good relations between persons who share a relevant protected characteristic and persons who do not share it.

(2)A person who is not a public authority but who exercises public functions must, in the exercise of those functions, have due regard to the matters mentioned in subsection (1).

(3)Having due regard to the need to advance equality of opportunity between persons who share a relevant protected characteristic and persons who do not share it involves having due regard, in particular, to the need to—

(a)remove or minimise disadvantages suffered by persons who share a relevant protected characteristic that are connected to that characteristic;

(b)take steps to meet the needs of persons who share a relevant protected characteristic that are different from the needs of persons who do not share it;

(c)encourage persons who share a relevant protected characteristic to participate in public life or in any other activity in which participation by such persons is disproportionately low.

(4)The steps involved in meeting the needs of disabled persons that are different from the needs of persons who are not disabled include, in particular, steps to take account of disabled persons' disabilities.

(5)Having due regard to the need to foster good relations between persons who share a relevant protected characteristic and persons who do not share it involves having due regard, in particular, to the need to—

(a)tackle prejudice, and

(b)promote understanding.

(6)Compliance with the duties in this section may involve treating some persons more favourably than others; but that is not to be taken as permitting conduct that would otherwise be prohibited by or under this Act.

(7)The relevant protected characteristics are—

age;

disability;

gender reassignment;

pregnancy and maternity;

race;

religion or belief;

sex;

sexual orientation.

(8)A reference to conduct that is prohibited by or under this Act includes a reference to—

(a)a breach of an equality clause or rule;

(b)a breach of a non-discrimination rule.

(9)Schedule 18 (exceptions) has effect.'

[16] โปรดดูบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองอังกฤษ (Administrative Court) ใน HM Courts & Tribunals Service. (2013). Administrative Court. Retrieved July 17, 2013, http://www.justice.gov.uk/courts/rcj-rolls-building/administrative-court

[17] โปรดดูคำวินิจฉัยของศาลอังกฤษเพิ่มเติมใน R. (on the application of Nash) v Barnet LBC [2013 EWHC 1067 (Admin) (QBD (Admin)) โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน Cross, M. (2013). 'High Court reject legal challenge to 'EasyCouncil''. Law Society's Gazette, 110 (16), 4.

[18] Fraser, C. (2012). 'Advancing equality during austerity'. Equality Opportunities Review, 226, 24 – 27.

[19] Yach, D. (2009). 'Integrated equality impact assessments- a practical approach'. Equality Opportunities Review, 188, 16-19.

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผาสุก พงษ์ไพจิตร: คนไทยเสียภาษีทุกคน และ คนรวยไม่ได้มีภาระภาษีสูงกว่าคนจนมากนัก

Posted: 28 Jul 2013 05:23 AM PDT

มีบทความในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อ้างถึงข้อมูลกรมสรรพากรที่บอกว่า ในเมืองไทยมีคนเสียภาษีรายได้ในอัตราระหว่าง ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 เพียงมากกว่า 3 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่อีกเกือบ 7 ล้านคน ได้รับการยกเว้น เพราะมีรายได้น้อยไม่ถึงเกณฑ์ที่ 150,000 บาทต่อปี จึงเห็นว่า ประชาธิปไตยในประเทศนี้มีปัญหา เริ่มแรกเลยถ้าการบริหารจัดการภาษีลักลั่นเช่นนี้ เราจะคาดหวังให้มีความเท่าเทียมกันได้อย่างไร 

ข้อมูลที่อ้างมาไม่ผิด แต่สำหรับผู้อ่านคนชั้นกลางทั่วไปที่ไม่รู้รายละเอียดเรื่องรายได้แหล่งต่างๆของรัฐ และภาระภาษีของคนกลุ่มต่างๆ อาจเข้าใจผิดได้ว่า เอาละวา ทั่วเมืองไทยนี้มีมนุษย์เงินเดือนอย่างเราเพียงกว่า 3 ล้านคนเท่านั้นฤๅ ที่เสียภาษีให้รัฐบาลใช้กันโครมโครม อย่างนี้มันก็ไม่แฟร์แน่นอน

แต่ข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบมีมากกว่านี้เช่น ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของภาษีทั้งหมด และขณะที่อัตราภาษีทางการ คือ ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 อัตราเฉลี่ยที่จ่ายจริงคือ ร้อยละ 10 เท่านั้น สาเหตุหลักคือ ผู้มีรายได้สูงได้รับการลดหย่อนมาก และมีจำนวนน้อยมาก

นอกจากนั้น เรื่องใครเสีย ไม่เสียภาษี และภาระภาษีสำหรับกลุ่มคนจน คนสถานะปานกลางและคนรวยต่างกันไหม แค่ไหน มีความซับซ้อนตามสมควร นักเศรษฐศาสตร์สนใจประเด็นเหล่านี้ จึงมีงานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ให้ความกระจ่างแก่เรา เช่นงานล่าสุดของ ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์  ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายได้ของรัฐบาลได้จากภาษีมีมากที่สุด (ร้อยละ 87) และในบรรดาภาษี ก็มีหลากหลายประเภท ดังแสดงในตารางข้างล่าง 

รายได้รัฐบาลแบ่งตามแหล่งที่มา พ.ศ.2552 (ร้อยละ)
ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา  10.6
รายได้นิติบุคคล  27.5
ภาษีสรรพสามิต  21.5
ภาษีมูลค่าเพิ่ม  15.1
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม  5.8
ภาษีอื่นๆ  6.6
รายได้ไม่ใช่ภาษี  13.0

ภาษีรายได้ในบทความที่อ้างถึงข้างต้น จำกัดอยู่ที่ ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 10.6 ของรายได้รัฐทั้งหมดเท่านั้น รายได้ภาษีสูงสุดมาจากภาษีสรรพสามิตบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหาก ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงเกือบร้อยละ 40 (21.5+15.1= 36.6) แล้วยังมีภาษีรายได้นิติบุคคลอีกถึงร้อยละ 27.5 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกคนที่ซื้อของต้องเสียภาษีนี้ไม่มีข้อยกเว้น งานศึกษาชี้ว่า คนรายได้น้อยมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าคนรายได้สูง (มูลค่าภาษี คิดเป็นร้อยละของรายได้บุคคล)

ภาษีสรรพสามิตนั้นเก็บจากน้ำมัน ยาสูบ สุราและเบียร์ รถยนตร์ และเครื่องดื่ม เป็นหลัก แต่ที่เก็บจากบุหรี่สุราเบียร์ (ภาษีบาป) นั้นรวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด เป็นที่น่าสนใจว่าสุราและยาสูบเป็นสินค้าที่คนจนคนรายได้น้อยบริโภค คนกลุ่มนี้จึงเสียภาษีเหล่านี้ค่อนข้างมาก 

เป็นที่น่าสังเกตุด้วยว่า ภาษีบาปนี้มีมูลค่าเกือบสองแสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 ทั้งหมด ซึ่งรวมกองทุนประกันสุขภาพกว่าแสนล้านบาทด้วย เท่ากับว่าคนมีรายได้ต่ำเองนั่นแหละที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลตนเอง เมื่อไปรับบริการสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐจัดการให้ 

สรุปภาพรวมก็คือ คนไทยทุกคนเสียภาษี แม้จะไม่เสียภาษีรายได้เพราะระดับรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เนื่องจากต้องเสียภาษีทางอ้อมในรูปของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และอื่นๆ

ประเด็นคำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ภาระภาษีสำหรับกลุ่มคนจน คนสถานะกลางและคนรวย ต่างกันไหม แค่ไหน?

งานศึกษาของ ดร.ชัยรัตน์ ใช้ข้อมูลปี 2531, 2541 และ 2552 มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจมากคือ

หนึ่ง โครงสร้างภาษีอาจจะดูก้าวหน้า แต่เอาเข้าจริง ไม่ได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง กลุ่มคนจนที่สุดไม่ใช่คนเสียภาษีน้อยที่สุด

สอง ภาระภาษีรวมของกลุ่มคนรายได้สูงสุด กับภาระภาษีรวมของกลุ่มคนรายได้ต่ำสุดต่างกันน้อยมาก

สาม กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น ในปี 2552 รับภาระภาษีรวมสูงถึงร้อยละ 18 พอๆ กับกลุ่มรายได้ปานกลางที่ร้อยละ 18.2 สำหรับกลุ่มรวยสุด ระดับภาระภาษีมากกว่าเพียงเล้กน้อยที่ ร้อยละ 27 

สุดท้าย ดร.ชัยรัตน์กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ไม่ควรต้องรับภาระภาษีรวมสูงถึงร้อยละ 18

แน่นอนว่าสรรพากรต้องการขยายฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความจำเป็น เพราะมีการหลีกเลี่ยงภาษีกันมาก ขณะเดียวกันระบบภาษีก็มีความไม่แฟร์แฝงอยู่มาก ตรงนี้ยังต้องการการปฏิรูปด้วย

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลพินิจ มติชนรายวัน 26 ก.ค.2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์สวน บก.ลายจุด ยันไม่ขอนิรโทษฯ-ชี้ร่างวรชัย ‘พวกหมิ่นฯ’ ได้ประโยชน์

Posted: 28 Jul 2013 02:59 AM PDT

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สวน บก.ลายจุด ยืนยันพูดคำไหนคำนั้น หลัก 2 ต่อ 1 ไม่ขอนิรโทษกรรมตัวเอง-สุเทพแลกทักษิณกลับมารับผิด ชี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย พวกที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะได้ประโยชน์ด้วย

 

คลิปนายอภิสิทธิ์ ปราศรัย 27 ก.ค.56

27 ก.ค.56 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ปราศรัยในเวทีประชาชน  "หยุดกฎหมายล้างผิดคิดล้มรัฐธรรมนูญ  หยุดเงินกู้ผลาญชาติ  หยุดอำนาจฉ้อฉล" ณ  สวนเบญจสิริ เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งยืนยันว่าตัวเองและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่เรียกร้องนิรโทษกรรม พร้อมทั้งยืนยันหลักการที่ตนเองเคยพูดไว้ว่า "พูดก็พูดด้วยความเป็นธรรม จะเสื้อแดง หรือผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต ผมกับคุณสุเทพ ไม่เคยเรียกร้องให้นิรโทษกรรมเลย เราบอกว่า พิสูจน์ความจริงกัน ผมเห็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายเสื้อแดงให้สัมภาษณ์ 2 – 3 วันก่อนว่านายอภิสิทธิ์ยังยืนยันหรือเปล่า ไปอยู่ที่ไหนมา คนอย่างผมพูดคำไหนคำนั้น ไม่เปลี่ยนอยู่แล้ว อย่าเอาสันดานนายคุณมาวัดคนอื่น"

คำยืนยันของนายอภิสิทธิ์นี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่จัดโดยกลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.53 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวตอนหนึ่งถึงนายอภิสิทธิ์ว่า "ผมอยากจะฟังท่าทีคุณอภิสิทธิ์ ตกลงเหลือ 3 คนจริงหรือเปล่า ไอ้ที่ไปท้าในสภาว่าเหลืออภิสิทธิ์-สุเทพ-ทักษิณ อะไรอย่างนั้น ตกลงยังยืนยันไหมหลักการนี้"

คลิปที่ บก.ลายจุด ถามท่าทีนายอภิสิทธิ์ถึงหลัก 2 ต่อ 1 เมื่อ 25 ก.ค.

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้อภิปรายคัดค้านข้อเสนอปรองดองที่กำลังผลักดันกันในสภา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.55 ซึ่งตอนหนึ่งอภิปรายถึงหลักการ 2 ต่อ 1 ว่า "และที่มีการท้าว่า 2 ต่อ 2 หรือไม่นั้น ผมให้ 2 ต่อ 1 คือ นิรโทษกรรมให้ทุกคนยกเว้นคน 3 คนคือ ผม นายสุเทพ และพ.ต.ท.ทักษิณ ท่านนายกฯ จะเอาหรือไม่ ขอให้มีแค่ 3 คนเท่านั้น ผมพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศ"

นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำในครั้งนั้นด้วยว่า "ผมต่อให้ 2 ต่อ 1 ผมกับคุณสุเทพ 2 คน ไม่รับการนิรโทษกรรม แลกกับคุณทักษิณไม่นิรโทษกรรมคนเดียว ที่เหลือนิรโทษให้หมด อย่างนี้ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน และคุณทักษิณกลับมาสู้คดีเลย วันนี้อย่าลากสภาไปรองรับการตอบโจทย์ของใคร ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาของบ้านเมืองอย่างแท้จริง อย่าทำให้คำว่าปรองดองถูกปล้น และอย่าให้นายปรองดองถูกลักพาตัว แล้วไปเอาเสื้อนิรโทษกรรมมาคลุมใส่ พวกผมไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนหากกระบวนการนั้นจะทำให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง"

คลิปที่นายอภิสิทธิ์ อภิปรายถึงหลัก 2 ต่อ 1 ในการนิรโทษกรรม 5 เม.ย.55

อย่างไรก็ตามในการปราศรัยในเวทีประชาชน เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ ยังระบุด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ  พวกที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะได้ประโยชน์ด้วย โดยเขากล่าวว่า "พี่น้องครับ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายนายวรชัยนั้นไม่ได้นิรโทษกรรมเฉพาะคนที่ไปชุมนุม เขียนด้วยว่า แม้ไม่ไปชุมนุม ถ้าทำความผิดที่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง ยุยงส่งเสริมให้คนต่อต้านรัฐ ให้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ไม่จำเป็นต้องไปทำร้ายร่างกาย ไม่จำเป็นต้องไปเผา ถ้าไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น ด้วยการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ให้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ผมถามต่อ ทั้งที่อยู่บนเวที ทั้งที่อยู่ข้างล่าง ทั้งที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไอ้พวกที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหลายนี้ ก็ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ด้วย เพราะพูดมาตลอดนี่ครับ เคลื่อนไหวกันมาตลอดบอกว่า เป็นเรื่องความผิดทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์ปราศรัยย้ำด้วยว่า "บางทีเรียกกันว่า ครึ่งซอยๆ นี่ คิดว่าไม่มีอะไร ไม่ใช่ครับ ความผิดหนักหนาสาหัสอย่างนี้ แล้วไม่นิยามกันให้ชัด อาทิตย์ที่แล้วนี่ ผมอธิบายเลยว่า ฉบับของญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่อย่างน้อยเขาเขียนให้มันชัดไปเลย คนฝ่าฝืน พ.ร.ก. ได้ คนทำผิดลหุโทษได้ คนที่ไปประทุษร้ายร่างกายชีวิตคนอื่นไม่ได้ อย่างนี้ชัดครับ แต่ของ วรชัย บอกแค่ว่า การกระทำใดๆ ถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ได้รับการนิรโทษกรรม ผมฟังนักวิชาการพูด อธิบายดีครับ ที่จริงคำว่า นิรโทษกรรม นั้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Amnesty รากศัพท์ของคำว่า Amnesty นี้ มาจากภาษากรีก คือการลืม คือขอให้ลืมๆ กันไป แต่ก่อนที่คนเราจะลืมได้นั้น มันต้องรู้ มันต้องจำได้ก่อน ของวรชัยยังไม่รู้เลยว่า รู้อะไร จำอะไร มันจะลืมหมดเลย ทั่วโลกนี่เขาจะนิรโทษกรรมเขาถึงต้องนิยามกันให้ชัดก่อนว่าอะไรเกิดขึ้น แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความตรงไหนอย่างไร ถ้าอยากจะลืม เลิกแล้วต่อกันก็ระบุให้ชัด ไม่ใช่มาเขียนคลุมเครืออย่างนี้ แล้วไอ้ฉบับสุดซอย มันมาต่อยอดง่ายๆ เลย บอกว่า ไอ้คดีที่ทักษิณทุจริตทั้งหมดถือเป็นคดีการเมือง ง่ายไหมล่ะครับ"

"นี่คือเหตุผลที่พวกผมถึงต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหลายที่อยู่ในสภา และเราไม่วางใจหรอกว่าวันที่ 7 (ส.ค.) จะเป็นฉบับของวรชัยฉบับเดียว เราไม่มีทางรู้จะเกิดอะไรขึ้น เพราะเขาถือคติอย่างเดียวว่า เขามีเสียงข้างมาก อยากจะทำอะไรก็จะทำ...ผมอยากจะเตือนรัฐบาลว่า ความคิดอย่างนี้ทำรัฐบาลพังมาหลายยุคแล้ว และความผิดอย่างนี้ตั้งแต่ต้น ทำให้คนบางคนถึงกลับประเทศไม่ได้ไงล่ะ" นายอภิสิทธิ์ปราศรัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Prachatai Eyes View: SONA Protest in the Philippines

Posted: 28 Jul 2013 01:47 AM PDT

Prachatai Eyes View: SONA Protest in the Philippines

1) State of the Nation Address หรือ SONA คือการกล่าวปราศรัยประจำปีของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ต่อหน้าสภาคองเกรส การกล่าวปราศรัยประจำปีนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1987 และจะกระทำในวันจันทร์ที่สี่ของเดือนกรกฎาคมทุกปี

2) ในปีนี้ ประธานาธิบดี นอยนอย อาคิโน บุตรชายของคอราซอน อาคิโน ประธาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์และนินอย อาคิโน วีรบุรุษแห่งชาติที่ถูกลอบสังหารในปี 1983 กล่าวปราศรัยถึงผลงานของรัฐบาลภายใต้การกุมบังเหียนของตนเองซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2010 และแผนการในอีกสามปีข้างหน้าที่รัฐบาลต้องการบรรลุเป้าหมาย

3) การพูดถึงผลงานและเป้าหมายของรัฐบาล 65 ประเด็นในวันจันทร์ที่ผ่านมาทำให้ SONA ที่มีความยาวถึง 1 ชั่วโมง 44 นาทีครั้งนี้เป็นการปราศรัยที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองฟิลิปปินส์

4) อย่างไรก็ดี กลุ่มการเมืองทั้งซ้ายจัดและกลางซ้ายได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของนอยนอย อาคิโน ดำเนินนโยบายเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่านโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและชนชั้นกลาง เช่น การปฏิรูปที่ดิน, การจัดการปัญหาชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในเขตเมโทร มะนิลา, การจัดการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการจัดสรรอย่างน้อย 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติให้กับงบประมาณด้านการศึกษา เป็นต้น เพราะความยากจนยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศและเป็นความท้าทายที่ทุกรัฐบาลต้องเผชิญ สถิติของคณะกรรมการสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ในปี 2012 ชี้ว่าชาวฟิลิปปินส์ 27.9% อาศัยอยู่ภายใต้เส้นความยากจน เท่ากับว่าจากจำนวนประชากร 97 ล้านคน ชาวฟิลิปปินส์ 27 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐต่อวัน

 

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิรโทษกรรม ๒๕๕๖"

Posted: 27 Jul 2013 11:25 PM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "นิรโทษกรรม ๒๕๕๖"

108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง: ตอนที่ 2

Posted: 27 Jul 2013 06:30 PM PDT

อภิปรายของนักวิชาการถึงเหตุผลที่จะต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์, อภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการอนุสาร อสท, สุดา รังกุพันธุ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน

การอภิปรายนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน "108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง" จัดโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.56 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

 

อภินันท์ บัวหภักดี

 

สุดา รังกุพันธุ์

 

ธงชัย วินิจจะกูล

 

ชมวิดีโอการอภิปรายของ กฤตยา อาชวนิจกุล, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และจาตุรนต์ ฉายแสง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น