โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลเลื่อนสอบพธม.กรณีปิดสนามบินไป 2 ธ.ค.

Posted: 29 Jul 2013 12:33 PM PDT

ศาลเลื่อนสอบคำให้การ พธม. ปิดสนามบิน 2 ธ.ค.นี้ กำชับ พธม.ห้ามปลุกระดมประชาชน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ขณะที่ "จำลอง" นัดถก พธม.พรุ่งนี้ ด้าน "ตุลย์" ยันร่วมชุมนุม แต่ไม่ผิดเงื่่อนไข

 
เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29  ก.ค. 2556 ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมปิดสนามบิน รวม 8 สำนวน คดีหมายเลขดำที่ อ.973/2556, อ.1067/2556, อ.1204/2556, อ.1279 /2556, อ.1316/2556, อ.1406/2556, อ.1522/2556 และ อ.1559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. กับพวก รวม 96 คน
 
ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกัน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 กรณีร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุม ปิดล้อมท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.2551
 
โดยวันนี้ พล.ต.จำลอง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก จำนวน 93 คน เดินทางมาศาล ขณะที่จำเลยไม่มาศาล จำนวน 3 คน และยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณา ประกอบด้วย นายปราโมทย์ หอยมุกข์ ระบุประสบเหตุลื่นล้มในห้องน้ำเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา, นายคงกฤษณ์ คงสัมพันธ์ ต้องเก็บอัฐิบุตรชายที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา และนางลักขณา ดิษยะศริน สาเหตุเนื่องจากได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ ให้เดินทางไปร่วมงานบุตรรับปริญญาบัตร ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 3 คนติดภารกิจส่วนตัว ไม่มีเหตุจงใจหลบหนีหรือไม่มาศาล ขณะที่จำเลยบางคนยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความ ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยจำเลยประสงค์จะแต่งตั้งทนายความเอง ดังนั้น เมื่อยังไม่มีทนายความจึงไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ ศาลจึงอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานและสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 09.30 น. และกำชับให้จำเลยที่ยังไม่มีทนายความแต่งตั้งทนายความให้เสร็จ เนื่องจากคดีนี้เลื่อนมาเป็นเวลา 2 ครั้งแล้ว 
 
ส่วนที่อัยการโจทก์ได้แถลงขอรวมคดีทั้ง 8 สำนวน เข้าเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน และจำเลยในคดีนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งศาลได้สอบถามทนายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้รวมเป็นคดีเดียวกัน โดยให้ยึดสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อ.973 /2556 ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เป็นหลัก
 
ขณะที่ศาลได้กำชับจำเลยทั้ง 96 คน ไม่ให้กระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายทางบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้
 
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ศาลได้เรียก นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จำเลยร่วมในคดีนี้มาสอบถามถึงพฤติกรรมและข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อปิดล้อมไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพิธีภายในกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่า อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าวจริง ศาลจึงแจ้งว่าการที่ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างที่พิจารณาคดี ศาลต้องพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่ปรากฏไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 คือ ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการปล่อยชั่วคราวนั้นมีหรือไม่เพียงใด ซึ่งในคดีนี้ เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดี รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ตามมาตราดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสอง ได้รับการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากศาลตั้งการให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว อันเป็นสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรม
 
นอกจากนี้ ศาลยังเชื่อถือจำเลยทั้งสองว่าจะไม่หลบหนี ไม่ยุ่งกับพยานหลักฐานหรือไม่ก่อเหตุอันตราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฐานความผิดที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในคดีนี้เป็นฐานความผิดร้ายแรง และมีอัตราโทษสูง ศาลจึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง
 
ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันนี้ศาลได้เรียกสอบถามพฤติกรรมตนเอง กรณีที่ไปชุมนุมปิดล้อมที่กระทรวงกลาโหม ในเรื่องนี้ศาลได้เคยมีเงื่อนไขกับตนไว้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จึงห้ามตนไปกระทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งศาลก็ได้เตือนให้เคร่งครัดในเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว และไม่ให้ตนกระทำการในลักษณะเช่นนี้อีก ส่วนเรื่องการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ตนจะต้องไปปรึกษานักกฎหมายและทนายความความว่าจะสามารถเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพ โดยที่ไม่ขัดเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่
 
พร้อมกันนี้ นายไชยวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่มีการชุมนุม ตนได้เตือนมวลชนให้ชุมนุมอยู่ที่บริเวณภายนอกกระทรวง กลาโหม และชุมนุมภายในใต้กฎหมายกำหนด ขณะที่ตนมองว่า คำสั่งของศาลในวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานให้กับจำเลยในคดีปิดสนามบินรายอื่นๆ ว่าต่อไปจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างไรบ้าง
 
ส่วน พล.ต.จำลอง แกนนำ พธม. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ จะเรียกประชุมแกนนำ พธม. เพื่อหารือและกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง ที่อาจจะมีผลต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเวลา 10. 00 น. ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ จะเข้าร่วมด้วยในวันที่ 4 สค.นี้หรือไม่ ขึ้นอยู่การประชุมในวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีมติเป็นอย่างไร
 
ขณะเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ กลุ่มเสื้อหลากสีจะไปร่วมชุมนุมอย่างแน่นอน แต่จะไม่ทำอะไรที่จะผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล.
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบาย ตปท.ของไทย

Posted: 29 Jul 2013 12:08 PM PDT

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อภิปรายนโยบายต่างประเทศของรัฐไทย จากยุคอาณานิคมถึงยุคหลังสงครามเย็น ทั้ง "ไผ่ลู่ลม" การทูตนิ่งเงียบของอาเซียน การทูตยุคชาติชาย-ทักษิณ ที่ลดบทบาทข้าราชการ และเน้นความสำคัญเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง พร้อมวิจารณ์นโยบายต่างประเทศรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่สร้างสรรค์ และกลับไปฟังข้าราชการมากขึ้น จนแนวอนุรักษ์นิยมกลับมามีบทบาท

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มีวงเสวนาที่ Book Re:public ในหัวข้อ "เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบายต่างประเทศของไทย" โดยมีวิทยากรคือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

ปวินเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงคำศัพท์และแนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ กระบวนการสร้างระเบียบโลก (world order/system) โดยถ้าหากโลกมีระเบียบ ก็เป็นไปได้ที่โลกจะมีสันติภาพ แต่เมื่อใดที่ระเบียบโลกเกิดปัญหา ก็มักจะนำไปสู่สงคราม โดยการกำหนดระเบียบโลกส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากประเทศมหาอำนาจ หรือ Superpower ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศภายในโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไทยก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศขนาดกลาง มีความสามารถทำได้บางอย่าง แต่บางอย่างเราก็ไม่มีศักยภาพ (capability)

ศักยภาพของแต่ละประเทศสัมพันธ์กับผลประโยชน์แห่งชาติ (national interests) โดยการที่จะบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติได้จำเป็นต้องดูศักยภาพของประเทศตนเอง จะสามารถทำอะไรในเวทีโลกได้มากน้อยแค่ไหน การกำหนดนโยบายต่างประเทศจึงต้องสอดคล้องกับทั้งระเบียบโลก ศักยภาพของประเทศ และผลประโยชน์แห่งชาติ

นอกจากนั้น การกำหนดนโยบายต่างประเทศยังมีหลายแบบ เช่น การสร้างพันธมิตร (Alliance) ซึ่งไทยเน้นนโยบายนี้มาตลอด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือทำให้เราขาดความเป็นตัวเอง ข้อดีอาจได้ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือนโยบายแบบใครไปไหนไปด้วย (Bangwagoning) รวมทั้งนโยบายแบบโดดเดี่ยวตนเอง (Isolation)

ปวินกล่าวต่อถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ประเทศตั้งแต่ในช่วงยุคอาณานิคม ซึ่งมหาอำนาจจะอยู่ในยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ที่ยิ่งใหญ่จากกองทัพเรือ จนสามารถล่าอาณานิคมได้เกือบครึ่งโลก การตอบสนองต่อมหาอำนาจของแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป อย่างพม่าก็เลือกจะต่อสู้กับการยึดครองของอาณานิคม แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้กับอังกฤษได้ หรือเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศส

ขณะที่ไทยตอบสนองแตกต่างออกไป ทำให้เราเป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่อันนี้ก็ถูกโต้เถียงแล้วในเรื่องการตกเป็นอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการของไทย โดยทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายสาเหตุที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม เช่น จุดที่ตั้งยุทธศาสตร์ใจกลางของภูมิภาค หรือคำอธิบายเรื่องการมองการณ์ไกลของพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดก็กลายเป็น myth ไป

ปวินกล่าวว่านโยบายต่างประเทศของไทยมีลักษณะที่ถูกเรียกว่าเป็นแบบ "ไผ่ลู่ลม" คือลมมาทางไหนก็ไปทางนั้น เช่น อังกฤษมาก็ไปตามอังกฤษ ฝรั่งเศสมาก็ไปตามฝรั่งเศส หรือมีการใช้อังกฤษต่อสู้กับฝรั่งเศส หรือฝรั่งเศสสู้กับอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด หรืออาจอธิบายว่าเป็นการทูตแบบสองหน้า (Two-faced diplomacy) ซึ่งต่อหน้าทำแบบหนึ่ง ลับหลังก็ทำแบบหนึ่ง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็สะท้อนภาพของการเอนไปเอนมาของนโยบายของไทย พอญี่ปุ่นเข้ามา เราคิดว่าสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็ไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่พอเห็นว่าญี่ปุ่นกำลังแพ้ ก็หันไปหาอเมริกา โดยการอาศัยจุดยืนของเสรีไทยในการอ้างอิง การฑูตแบบของไทยจะหันไปหันมาแบบนี้ได้ตลอด

จนสมัยสงครามเย็น ซึ่งสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไทยหันไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ในช่วงระหว่างการต่อสู้ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศส และสหรัฐได้เข้ามาช่วยฝรั่งเศส ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เข้ามาช่วยเวียดนาม ทำให้กลายเป็นสงครามแบบตัวแทน จนเมื่อเวียดนามสามารถเอาชนะทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐได้ นำไปสู่ความพยายามที่เวียดนามจะเทคโอเวอร์ของอินโดจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต เวียดนามจึงรุกรานกัมพูชาในปี 1979

หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงทฤษฎีโดมิโน เมื่อเห็นประเทศข้างเคียงเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คิดว่าไทยจะเป็นโดมิโนตัวต่อไป และต้องหันไปหาสหรัฐฯ มากขึ้น โดยรัฐบาลในช่วงสงครามเย็นที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร ก็ขยายทฤษฎีนี้ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างระเบียบภายในประเทศ ทำให้ผู้นำสามารถที่จะจูงจมูกได้ สงครามเย็นได้ให้บทบาทอันนี้กับกองทัพ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไปเชื่อมกับคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ ผ่านการวาดภาพลักษณะของคอมมิวนิสต์ว่าเป็นศัตรู เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในช่วงเดียวกับที่เวียดนามได้ชัยชนะนั้น จีนกับสหภาพโซเวียตก็แตกคอกัน โดยจีนได้กำหนดนโยบายใหม่ ที่ตบหน้าโซเวียต โดยให้การสนับสนุนกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามในกัมพูชา คือกลุ่มเขมรแดง ซึ่งไทยก็สนับสนุนด้วย นำไปสู่สงครามในกัมพูชา

เป็นเรื่องตลกเหมือนกัน ที่เราวาดภาพให้คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูอันดับหนึ่ง แต่หันกลับไปผูกมิตรแบบจีน แต่ไม่เอาคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ขณะเดียวกันก็ไม่เอาคอมมิวนิสต์ในไทย ทำให้เห็นว่าการวาดภาพของคอมมิวนิสต์มันหลวม ทั้งหมดเพื่อนำไปรับใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้นำ

ปี 1975 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สถาปนาความสัมพันธ์การทูตกับจีน สะท้อนนโยบายไผ่ลู่ลม เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่เห็นว่าโซเวียตเป็นภัยมากกว่าจีน ก็หันกลับไปสร้างความสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ก็ยังคงส่งเงินกลับมาสนับสนุนกองทัพไทย สถานการณ์นี้ยาวนานไปถึงช่วงจบสงครามเย็น

นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังมีการทูตแบบพหุพาคี ซึ่งมักจะออกมาแบบเป็นองค์การต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสงครามเย็น เช่น ในค่ายคอมมิวนิสต์ มีการรวมกันของโคมินเทิร์น (COMINTERN 1919-1943) หรือกลุ่มที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด (Non-Alignment) คือฝ่ายที่อยากเป็นกลาง แต่ก็ไม่ค่อยประสบสำเร็จเท่าไร ได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย

ส่วนโลกเสรีก็มีความร่วมมือมากมาย ส่วนใหญ่เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น ASA (Association of SEA 1961--67) เพื่อต่อต้านจีนและโซเวียต หรือ SEATO (1954-77) ซึ่งตั้งขึ้นเป็นพี่น้องกับ NATO ในยุโรป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีแค่สองประเทศในภูมิภาคนี้เข้าร่วมคือ ไทย, ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่สนับสนุน โดยมององค์กรนี้ด้วยความระแวงสงสัย ว่าตะวันตกจะจูงจมูกและมีวาระชัดเกินไปในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

แต่ในช่วงนี้ก็มีการก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) ขึ้นในปี 1967 โดยสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) เหตุที่องค์การนี้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เพราะไม่มีมหาอำนาจต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นจุดแข็งของอาเซียนมาถึงทุกวันนี้ จุดมุ่งหมายแม้ไม่ได้พูดชัดเจน แต่ลึกๆ ก็ตั้งขึ้นมาเพี่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ อีกประการหนึ่งคือความสำเร็จในการสร้างศัตรูร่วมกัน นำไปสู่การลดความระแวงสงสัยในประเทศสมาชิกด้วย

ความคิดของอาเซียนนี้เริ่มต้นมาจากประเทศไทย เริ่มจากคุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เห็นว่าการที่ไทยจะอยู่รอดได้ ปลอดจากการเข้าแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ ก็ต้องรวมตัวกันกับเพื่อนบ้าน แล้วพยายามขายไอเดียนี้ให้กับประเทศอื่น แล้วเขาก็เอาด้วย

ปวินให้ความเห็นว่า ข้อจำกัดของอาเซียนคือมีลักษณะกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย ทุกอย่างต้องใช้ฉันทามติหมด โดยไม่มีระบบโหวต ไม่มีการใช้วีโต้ ภายใต้ฐานคิดว่าเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเดินไปช้ามาก หรือการใช้วิธีการไม่พูดกันในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ (quiet diplomacy) แม้แต่ในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นความร่วมมือยังมีลักษณะเป็นไปตามความคุ้นเคยของตัวบุคคลระหว่างผู้นำ (personal familiarity) ซึ่งก็สร้างปัญหาในเชิงระบบให้กับองค์กร และอันที่สำคัญคือกฎการไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน (non-interference) เพราะกลัวประเทศอื่นๆ มายุ่งในประเทศ เราเลยไม่ยุ่งกับคนอื่น ซึ่งกลายไปเป็นบรรทัดฐานของอาเซียน แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุงแล้วก็ตาม

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด พร้อมการแตกสลายของโซเวียต อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ลดน้อยลงในภูมิภาคนี้ โดยถอนฐานทัพออกไปส่วนใหญ่ เกิดประเทศเอกราชต่างๆ รวมถึงการมาถึงของโลกโลกาภิวัตน์ และการไหลเวียนของข่าวสารต่างๆ

ในช่วงนี้มีทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศที่พยายามอธิบายการเมืองใหม่ในช่วงนั้น เช่น เรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรม (clash of civilizations -Huntington) โดยเสนอว่ายุคหลังสงครามเย็น ความขัดแย้งที่เคยถูกกดเก็บเอาไว้ในช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์จะโผล่ขึ้นมา อารยธรรมนี้วางอยู่บนเรื่องศาสนา วัฒนธรรม หรือชาติพันธุ์ต่างๆ หรือความคิดจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History -Fukuyama) ที่เห็นว่าการที่โลกเสรีได้รับชัยชนะ สะท้อนว่าโลกมาสู่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ คือพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาธิปไตยต่อให้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไร แต่ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการของระบบการเมืองของโลก ประชาธิปไตยกลายเป็นจุดสิ้นสุดของโลก โดยที่โลกจะมีสันติภาพ ก็ต่อเมื่อประเทศทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสงครามเย็นถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยการสิ้นสุดของความขัดแย้งในกัมพูชา นำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ฮุนเซนได้รับความชอบธรรมจากชัยชนะ ส่วนเวียดนามเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น เป็นการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังเห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเลือกเปิดเศรษฐกิจเสรี แต่ยังปิดการเมืองไว้ก่อน

ขณะเดียวกัน ก็มีความรู้สึกไม่แน่นอนจากระเบียบโลกที่ยังไม่ชัดเจน และโลกมีลักษณะหลายขั้วมากขึ้น (multi-polar) ซึ่งสร้างตัวเลือกด้านการต่างประเทศให้มากขึ้น มีเสรีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งมหาอำนาจประเทศเดียว รวมทั้งความเป็นโลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ในอาเซียนก็มีการกำหนดท่าทีใหม่ มีการรับสมาชิกใหม่ คือ พม่า (1997), กัมพูชา (1999) แม้ทั้งสองประเทศจะยังไม่พร้อมก็ตาม มีการพัฒนาองค์การภายใน มีการวางกรอบความร่วมมือที่แตกย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติการเงิน (1997) นำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยไม่ต้องพึ่งองค์กรต่างๆ หากมีปัญหาด้านการเงิน รวมทั้งการขยายกรอบไปเป็นอาเซียน+3 (เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น)

ส่วนในประเทศไทย ทศวรรษ 1990 มีความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองภายใน ยุคของเปรมจบลง พลเอกชาติชายเข้ามาพร้อมความคิดใหม่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งกลุ่มบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มหัวกะทิในการทำวิสัยทัศน์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องพึ่งข้าราชการประจำของกระทรวงต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีลักษณะยึดติดและเป็นอนุรักษ์นิยม

ชาติชายได้เสนอนโยบายใหม่ที่เปลี่ยนจากเน้นเรื่องความมั่นคงไปเป็นด้านเศรษฐกิจ คือนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่นโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อตัวแสดงเก่าๆ โดยเฉพาะทหาร ที่ไม่เหลือบทบาทให้เล่นอีกต่อไป เรื่องนโยบายต่างประเทศจึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร 2534

หลังยุคชาติชาย ไทยยังมีบทบาทในการตั้ง AFTA (1992) หรือ ARF (1994) ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการเสนอนโยบายเรื่องพม่า Constructive engagement policy คือการเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองในพม่า วิพากษ์วิจารณ์การเมืองพม่าได้ โดยในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ถูกรัฐบาลพม่าผลักดันให้อพยพเข้ามาในไทย แต่เรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนผิดหวังกับคุณสุรินทร์ เมื่อมาเป็นเลขาธิการของอาเซียน แต่ไม่ได้ผลักดันเรื่องพม่าเลย

ในช่วงนี้สหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มาก แต่ไปทุ่มให้ประเทศในตะวันออกกลาง โดยไม่เคยส่งผู้นำระดับสูงมาประชุมในภูมิภาคนี้เลยเป็นเวลาหลายปี ขณะเดียวกันบทบาทของจีนเพิ่มขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ซึ่งปัจจัยนี้เองก็กลับทำให้สหรัฐฯ กลับมาในภูมิภาคนี้อีกครั้งในช่วงโอบามา รวมทั้งอินเดียเองก็เติบโตขึ้น จากนโยบายมองตะวันออก (Look East 1991)

จนหลังศตวรรษใหม่ บริบทของเหตุการณ์ 9/11 และสงครามการก่อการร้าย สหรัฐฯ กลับมาพร้อมการช่วยเหลือทางทหาร มีการจัดการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐในไทย (cobra gold) ซึ่งทำให้ไทยได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐด้านการทหาร และต่อสู้กับภัยจากการก่อการร้าย แม้จะเกิดรัฐประหารในไทย และสหรัฐจะงดความร่วมมือต่างๆ หลายด้านหลังรัฐประหาร แต่ก็ยังมีการซ้อมรบร่วมอยู่ ส่วนจีนได้เสนอความร่วมมือด้านการทหารด้วย แม้จะเล็กกว่า รวมทั้งการลงนาม FTA ในปี 2003 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่จีนและอินเดียลงนามด้วยภูมิภาคนี้

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้หันมาเน้นความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ กลายเป็นการทูตเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงน้อยลง นั่นเท่ากับบทบาทของกองทัพที่มีต่อนโยบายต่างประเทศน้อยลงเช่นกัน ในช่วงนี้ ทักษิณทำในสิ่งที่ผู้นำไทยไม่เคยทำ การคิดนโยบายใหม่ๆ เช่น การเสนอ ACD รวมประเทศในเอเชียมาไว้ด้วยกัน โดยไทยมีศูนย์กลางสำคัญ แต่ไม่สำเร็จ, จัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างลุ่มน้ำอิรวดี แม่โขง และเจ้าพระยา ที่ไทยเข้าไปให้ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ให้เงินกู้ หรือให้ความช่วยเหลือโครงการต่างๆ

และนโยบายต่างประเทศยังสอดคล้องกับนโยบายประชานิยมในประเทศด้วย โดยการอ้างเรื่องการเปิดตลาดให้กับสินค้า OTOP คือยิงนกนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งในแง่พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นด้วย แต่ก็มีความเป็นชาตินิยมมากๆ เช่น เรื่องการประกาศเอกราชเมื่อสามารถคืนหนี้ให้กับ IMF

ปวินกล่าวต่อถึงบทบาทของกระทรวงต่างประเทศ ว่าถูกท้าทายมาตลอดเวลาในช่วงที่รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลมองข้ามกระทรวงไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีสิทธิ์จะทำนโยบายเอง ข้าราชการประจำต่างหากที่ต้องทำนโยบายเสริมรัฐบาล แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยกระทรวงก็มีการเมืองภายใน และมีลักษณะความเป็นเจ้าขุนมูลนายมานาน ทำให้ปฏิเสธจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในบางเรื่อง รวมทั้งปัญหาการกำหนดนโยบายโดยไม่เข้าใจความเป็นจริงที่อยู่ในท้องถิ่น ไปจนถึงภายใต้ความแตกแยกทางการเมืองแบบนี้ ยิ่งสร้างความแตกแยกภายในระหว่างกลุ่มที่ฝักฝ่ายกลุ่มสีต่างๆ และไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนั้น ความขัดแย้งภายในประเทศยังนำไปสู่ Linkage Politic คือความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยใช้การเมืองระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำลายคู่ต่อสู้หรือสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในการเมืองภายใน เช่น การยกเลิกนโยบายต่างประเทศสมัยทักษิณทั้งหมดหลังรัฐประหาร หรือประเด็นเขาพระวิหาร นโยบายต่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การเมืองภายใน และกำจัดศัตรู, ปฏิเสธการเข้ามาตั้งของ NASA

ปวินทิ้งท้ายว่าในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศหรือไม่ ด้วยทั้งยังไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลย และขาดความสนใจในนโยบายต่างประเทศ อาจเนื่องเพราะปัญหาการเมืองภายในเอง นอกจากนั้นยังทำให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทกลับขึ้นมาได้ โดยรัฐบาลหันกลับมาฟังกระทรวงมากขึ้น ทำให้นโยบายอนุรักษ์นิยมกลับมามีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรีนพีซจี้รัฐทบทวนนโยบายพลังงานที่ครอบงำโดยอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล

Posted: 29 Jul 2013 11:13 AM PDT

จากกรณีน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลรั่วไหลลงสู่ทะเลแถบระยองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายด้านพลังงาน และยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

 
28 ก.ค. 56 - จากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลรั่ว ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (1)
 
"ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทยในช่วง 30 ปีนี้ ปตท. ควรออกมารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยวของไทย" พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
 
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (2) ซึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ถ้าการขจัดคราบน้ำมันนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของประเทศไทยที่จะจัดการได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรสากลได้
 
"บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน" พลาย ภิรมย์ กล่าวเสริม
 
การขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวของแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทอย่างน้อย 39 บริษัท ที่กำลังดำเนินการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
 
การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยมีการจัดการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก เราไม่ควรอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เราก็มีมาตรการในการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนอยู่แล้ว การเริ่มต้นในวงกว้างในเรื่องยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับยานพาหนะทุกประเภทต้องไม่ใช่แค่เพียงเพื่อประหยัดน้ำมันนับล้านๆ บาร์เรล แต่ต้องลดความต้องการใช้น้ำมัน และทำให้การเกิดน้ำมันรั่วไหลน้อยลงด้วย" พลาย ภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติม
 
หมายเหตุ
 
1)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในอดีต เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจผลิตและสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลก ทั้งในเมียนมาร์ ออสเตรเลีย (แหล่งผลิตน้ำมันมอนทารา ในทะเลติมอร์) รวมถึงแหล่งผลิตทรายน้ำมันในแคนาดา บริษัท ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 65 ใน ปตท.สผ. คิดเป็นร้อยละ 32 ของธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย บริษัท ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ประกอบธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซใต้น้ำขนาดใหญ่ในอ่าวไทย เป็นเครือข่ายของสถานี LPG ทั่วประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตไฟฟ้า การผลิตปิโตรเคมี การสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจขายส่งน้ำมันเบนซิน บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, พีทีที เอเชีย แปซิฟิก ไมนิง และ ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 
2)  รายละเอียดเกี่ยวกับแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ดูได้ที่  http://www.md.go.th/asean-ospar_files/national_plan_new.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: อำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ต่อกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800

Posted: 29 Jul 2013 10:26 AM PDT

โดยเหตุที่สัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือคลื่น 1800 MHz ระหว่างบริษัท บมจ.กสท กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และระหว่าง บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งหลังจากที่สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว คาดหมายกันว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่งค้างอยู่ในระบบ และในกรณีที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานดังกล่าว จนผู้ใช้บริการไม่ได้เตรียมตัวที่จะโยกย้ายไปรับบริการในระบบอื่น กรณีย่อมคาดหมายได้ว่าจะมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงได้ออก "ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ....." เพื่อจะแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นเนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้อำนาจของ กสทช.ในลักษณะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของทั้งผู้ให้สัมปทานตามสัญญา (บมจ.กสท) ผู้รับสัมปทานตามสัญญา (ทรูมูฟ และดิจิตอลโฟน) ผู้รับบริการ ตลอดจนผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดโทรคมนาคมหลายประการ อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ "ใบอนุญาต" แล้ว จะต้องนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรกันใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ที่กล่าวถึงข้างต้น หากได้รับการประกาศใช้จริง จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยเหตุที่ร่างประกาศดังกล่าวสัมพันธ์กับอำนาจในการถือครองและใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz  หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ให้ยุติเสียก่อน (1.) แล้วจึงวินิจฉัยอำนาจของ กสทช. ในการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ (2.) และเนื้อหาของร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ในประการสุดท้าย (3.)

 

1. ใครมีอำนาจถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz  หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการถือครองและใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ภายหลังสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสท.กับบริษัทดิจิตอลโฟน สิ้นสุดลงนั้น มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าเมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่จะคืนกลับไปยัง บมจ.กสท  ซึ่งเป็นผู้ให้สัญญาสัมปทานหรือไม่

หากพิจารณาตามหลักธรรมดา ในกรณีที่ระบบกฎหมายยังคงสภาพการประกอบกิจการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะเดิม คือ "ระบบสัมปทาน" ที่องค์กรของรัฐเป็นผู้ให้สัมปทานและเอกชนผู้รับสัมปทานตกลงเข้าร่วมการงานประกอบกิจการโทรคมนาคมตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาแล้ว เมื่อสัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมการงานสิ้นสุดลง องค์กรของรัฐที่ทรงอำนาจซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน ย่อมสามารถนำคลื่นดังกล่าวไปให้สัมปทานใหม่อีกได้ หรือจะดำเนินกิจการโทรคมนาคมด้วยตนเอง คือถือครองและใช้คลื่นเองก็ย่อมทำได้

อย่างไรก็ตาม ระบบกฎหมายไทยได้เปลี่ยนสภาพการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบที่องค์กรของรัฐให้สัมปทานเอกชนหรือให้เอกชนเข้าร่วมการงานเป็นระบบ "ใบอนุญาต" มีการแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมออกจากหน่วยงานที่ดำเนินกิจการโทรคมนาคม ดังจะเห็นได้จากการตั้ง กสทช. ให้ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการเปลี่ยนสภาพองค์กรของรัฐที่เคยทำหน้าที่ดังกล่าวพร้อมๆ กับการเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในรูปรัฐวิสาหกิจ ไปเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแต่ประการเดียว พร้อมทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นให้เป็นบริษัทเอกชนด้วย สถานะของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานคลื่น 1800 MHz แก่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน จึงกลายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ในชื่อของ บมจ.กสท  เพียงแต่ระบบกฎหมายกำหนดให้ บมจ.กสท เป็นผู้สืบทอดสิทธิหน้าที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อไม่ให้สัญญาสัมปทานที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยทำกับบริษัทเอกชนสิ้นสุดลงทันที อันจะมีผลเท่ากับรัฐไม่คุ้มครองสิทธิตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนและเท่ากับรัฐใช้อำนาจที่มีผลเสมือนการเวนคืนสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน (สิทธิที่จะประกอบการต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา) โดยไม่มีการจ่ายค่าทดแทนความเสียหาย รัฐธรรมนูญจึงกำหนดการคุ้มครองคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไว้ว่าการเปลี่ยนระบบการกำกับและการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบ "สัมปทาน" เป็นระบบ "ใบอนุญาต" นั้นไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้ทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 305)

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ บมจ.กสท ที่แปรรูปมาจากการสื่อสารแห่งประเทศสามารถเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ บทเฉพาะกาล มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 จึงบัญญัติให้คณะกรรมการในเวลานั้นออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (บมจ.กสท)รวมทั้งอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้จนกว่าจะถึงกำหนดที่จะต้องคืนคลื่น โดยใบอนุญาตที่ บมจ. กสท.ได้รับนั้นมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2568

ปัญหาที่โต้แย้งกันก็คือ หลังจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท และบริษัททรูมูฟ จำกัด และสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท และบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด สิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 แล้ว คลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวจะกลับคืนไปยัง บมจ.กสท และ บมจ.กสท มีสิทธิถือครองและใช้คลื่นดังกล่าวจนกว่าจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตในวันที่ 3 สิงหาคม 2569 หรือคลื่นดังกล่าวจะไม่คืนกลับไปยัง บมจ.กสท แล้ว แต่จะต้องนำไปให้ กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับกิจการโทรคมนาคมดำเนินการจัดสรรคลื่นตามระบบใบอนุญาตต่อไป

เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับสถานะของคลื่นความถี่ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 บัญญัติให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำหนดให้จัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติให้การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการประมูลคลื่นความถี่ และเมื่อสำรวจตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วไม่พบบทบัญญัติใดเลยที่บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานสามารถถือครองคลื่นและใช้คลื่นได้ต่อไปภายหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้ว

แม้หากจะมีผู้กล่าวอ้างว่า บมจ.กสท ซึ่งแปรรูปมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จึงสมควรให้ บมจ.กสท ถือครองคลื่นต่อไป เพราะสามารถนำคลื่นที่ได้รับกลับคืนมานั้นไปใช้ได้ทันที เนื่องจากหากให้มีการประมูล ก็ไม่เป็นที่แน่ใจได้ว่า บมจ.กสท จะยอมให้ผู้ชนะการประมูลใช้โครงข่ายตลอดจนเครื่องและอุปกรณ์ของตนหรือไม่ ข้อกล่าวอ้างนี้ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น การที่ บมจ.กสท มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ไม่เกี่ยวพันกับการถือครองและใช้คลื่นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่ บมจ.กสท มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2568 ก็ไม่ใช่เหตุที่สามารถนำมาใช้กล่าวอ้างว่าคลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวต้องกลับคืนไปยัง บมจ.กสท เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้วได้ เนื่องจากใบอนุญาตที่ บมจ.กสท ได้รับนั้น ระบบกฎหมายมุ่งหมายเพียงรับรองให้ บมจ.กสท มีฐานะเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมเหมือนผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นบริษัทเอกชนทั่วไป เพื่อความสามารถในการใช้คลื่นที่ตนเองประกอบกิจการอยู่เท่านั้น

สำหรับคลื่นที่ให้สัมปทานไปนั้น เมื่อระยะเวลาคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนตามสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หากตีความว่าคลื่นดังกล่าวกลับคืนไปยัง บมจ.กสท  ที่ บมจ.กสท สามารถถือครองและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ก็จะเกิดผลประหลาดและขัดแย้งกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมในระบบ "ใบอนุญาต" ที่ระบบกฎหมายไทยและรัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งขึ้นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้น คลื่นดังกล่าวจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็น "ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ได้เลย แต่จะกลายเป็นทรัพย์สินของ บมจ.กสท  ซึ่งบัดนี้ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอีกต่อไปแล้ว แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและเป็นผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมเสมอกับผู้ประกอบกิจการที่เป็นเอกชนรายอื่น  เพียงแต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่เท่านั้น 

นอกจากนี้หากคลื่นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวกลับคืนไปยัง บมจ. กสท. และให้ บมจ.กสท เป็นผู้ถือครองและใช้คลื่น หาก บมจ.กสท ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือครองและใช้คลื่นตกลงทำสัญญาให้บริษัทเอกชนใช้คลื่นต่อไป โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตน (ไม่ว่าจะออกแบบสัญญาในลักษณะอย่างไรหรือเรียกชื่อค่าตอบแทนอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ) ผลก็คือจะเกิดระบบ "สัมปทานจำแลง" ต่อไปภายใต้ระบบใบอนุญาตซึ่งประหลาดอย่างยิ่ง 

หรือแม้หาก บมจ.กสท ใช้คลื่นประกอบกิจการด้วยตนเอง ผลก็คือ คลื่นดังกล่าวจะไม่มีโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรต่อไปได้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และหากตีความกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  กับ บริษัททรูมูฟ และ บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟนไปในลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานกับสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมอื่นๆ ที่จะทยอยสิ้นสุดลง และในที่สุดแล้วคลื่นจำนวนมากจะกลับไปสู่การครอบครองของ "อดีตรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในกิจการโทรคมนาคม" ซึ่งบัดนี้กลายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนไปหมดแล้ว และ กสทช.ก็จะไม่สามารถนำคลื่นจำนวนมากดังกล่าวนั้นออกจัดสรรโดยวิธีการประมูลคลื่นได้

การตีความในลักษณะเช่นนี้นอกจากจะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับอย่างชัดแจ้งแล้ว ยังกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างรุนแรง ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ในสัญญาสัมปทานเท่านั้น และในที่สุดแล้วจะส่งผลกัดเซาะระบบ "ใบอนุญาต" ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะก่อตั้งด้วย เนื่องจากระบบใบอนุญาตจะมีได้เฉพาะแต่คลื่นที่ "อดีตรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในกิจการโทรคมนาคม" ไม่เคยถือครองเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง

อนึ่ง หากพิจารณาตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่แล้ว จะพบว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 83 และมาตรา 84 บัญญัติให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงคืนความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ประกอบกับการคุ้มครองสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) ได้รับรองไว้แล้ว ย่อมจะพบว่า กสทช.สามารถกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ได้เฉพาะกรณีของคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯจะได้รับการประกาศใช้เท่านั้น

โดยเหตุผลของเรื่อง เมื่อคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดเวลา ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตและมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่แล้ว องค์กรของรัฐดังกล่าวย่อมจะต้องกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้ชัดเจน เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ต่อไป ซึ่งการกำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นให้ชัดเจนแน่นอนลงไปนี้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 83 วรรคสามกำหนดเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจไว้ด้วยว่า กสทช.ต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่นั้น โดยจะต้องนำเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ที่ผู้ถือครองได้แจ้งไว้มาประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย กสทช.จะใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นความถี่ตามอำเภอใจหรือโดยปราศจากเหตุผลหาได้ไม่

อย่างไรก็ตามการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นที่กล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบกับระบบการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เป็นระบบใบอนุญาตแล้ว จะพบว่าใช้บังคับกับกรณีของการใช้คลื่นความถี่ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเท่านั้น หาได้หมายความถึงกรณีของการใช้คลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจนแน่นอนแล้วไม่

กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อระยะเวลาการใช้คลื่นตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับการรับรองเพื่อคุ้มครองสิทธิตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลงแล้ว คลื่นก็จะต้องคืนกลับมาเพื่อให้ กสทช.ดำเนินการจัดสรรใหม่โดยอัตโนมัติ กสทช.ไม่อาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้ต้องคืนคลื่นดังกล่าวในระยะเวลาก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงหรือให้ต้องคืนคลื่นดังกล่าวในระยะเวลาหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้วได้ เพราะจะขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

การให้เหตุผลทางกฎหมายว่าทำไม กสทช.ไม่อาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นตามสัญญาสัมปทานได้ อาจกระทำได้ในสองลักษณะ ซึ่งให้ผลทางกฎหมายไม่ต่างกัน คือ

1. ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่นั้น ใช้กับกรณีของคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดเวลาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคลื่นตามสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลาสิ้นสุดการใช้ที่แน่นอน

2. ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปใช้จัดสรรใหม่นั้นมีลักษณะเป็นบทกฎหมายทั่วไป (lex generalis) ในขณะที่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสัญญาสัมปทานและการกำหนดให้สิทธิการใช้คลื่นตามสัญญาสัมปทานต้องสิ้นสุดลง มีลักษณะเป็นบทกฎหมายเฉพาะ (lex specialis) ซึ่งต้องถือตามหลักการทั่วไปในการใช้กฎหมายว่า "บทกฎหมายเฉพาะย่อมตัดบทกฎหมายทั่วไปมิให้ใช้บังคับในเรื่องเดียวกัน" (lex specialis derogate legi generali)

ผลจากการตีความดังกล่าว ไม่ว่าจะให้เหตุผลในลักษณะใดก็คือ กสทช. ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นตามสัญญาสัมปทานได้ เนื่องจากระยะเวลาการใช้คลื่นดังกล่าวได้รับการกำหนดไว้แล้วในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ด้วยเหตุนี้แม้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯจะกำหนดให้ กสทช.มีอำนาจจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และให้กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นแม้ กสทช.ต้องการจะขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานออกไป กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟน แล้ว คลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวย่อมต้องคืนกลับมาเพื่อให้ กสทช.นำออกจัดสรรด้วยวิธีการประมูลต่อไป ทั้งนี้โดย กสทช.ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้แตกต่างไปจากระยะเวลาสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานดังกล่าว คือ วันที่ 15 กันยายน 2556 ได้

 

2. กสทช. มีอำนาจวางกฎในลักษณะเช่นที่ปรากฏในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง "มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ....." ได้หรือไม่

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการออกประกาศ กสทช. ว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงนั้น โดยเหตุที่ในขณะนี้ กสทช.ได้ออก "ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ....." เพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว การทำความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จึงจะใช้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นฐาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากร่างประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว อาจพิจารณาให้ความเห็นได้เป็นลำดับไปดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์ของการออกประกาศดังกล่าว ได้รับการบัญญัติไว้ในตอนต้นของร่างประกาศฯ ว่า "เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว ให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับประโยชน์และใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องปราศจากข้อจำกัดในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการขึ้นเพื่อใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง มิให้การได้รับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลง..." และ "...จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการขึ้นเพื่อมิให้การรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลง จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการไว้ดังนี้" ซึ่งจะเห็นได้ว่า ร่างประกาศฉบับนี้อ้างเฉพาะแต่เหตุผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการประการเดียว โดยไม่มีการพิจารณาคุณค่าอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมมาประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งการอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น ยังไม่มีการพิเคราะห์ถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้ใช้บริการในความคงอยู่ของสัญญาสัมปทานประกอบการออกประกาศฉบับนี้เลย การกำหนดวัตถุประสงค์ในการออกประกาศฉบับนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้ดุลพินิจอย่างครบถ้วนรอบด้าน

2. โดยเหตุที่ประกาศฉบับนี้ มีลักษณะเป็นกฎ ถึงแม้ว่า กสทช. จะเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ในการออกประกาศที่มีลักษณะเป็นกฎ กสทช.ย่อมไม่มีอำนาจโดยตนเองในการออกกฎเรื่องใดๆมาใช้บังคับในกิจการโทรคมนาคมได้ ความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. มีความหมายในระบบกฎหมายแต่เพียงว่า กสทช.ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่โดยลักษณะของภารกิจย่อมต้องถือว่า กสทช.เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารประเภทที่ใช้อำนาจปกครอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กสทช. เป็นองค์กรฝ่ายปกครองที่เป็นอิสระ ในการออกกฎขึ้นใช้บังคับ จึงจำเป็นที่ กสทช.จะต้องอาศัยฐานอำนาจในการออกกฎจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ กสทช.จะออกกฎให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บทที่เป็นฐานอำนาจในการออกกฎไม่ได้ นอกจากนี้ กสทช.จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในทางแบบพิธีตลอดจนเงื่อนไขในทางเนื้อหาในการออกกฎอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้กฎดังกล่าวเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎดังกล่าวเป็นการทั่วไปได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบกับมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม

3. ตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ กสทช.ได้อ้างแหล่งอำนาจในการประกาศจากมาตรา 27 (4) (6) และ (13) และมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบกับมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งเมื่อพิจารณามาตราต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไม่พบว่ามาตราต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นฐานในการออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ฉบับนี้ได้ ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้ ดังนี้

3.1 บทบัญญัติมาตรา 27 (13) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ทั่วไปให้แก่ กสทช.ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานของการออกกฎไม่

3.2 บทบัญญัติมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ต้องปฏิบัติจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาคืนคลื่นความถี่เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติให้อำนาจ กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ได้รับคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ต้องปฏิบัติภายหลังจากการคืนคลื่นนั้นแล้ว ดังที่ปรากฏในร่างประกาศฉบับนี้

3.3 บทบัญญัติมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหาก กสทช.จะออกกฎเรื่องดังกล่าวก็ต้องเป็นกฎที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพักหรือหยุดการให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วน อันมีลักษณะเป็นการวางกฎเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการพักหรือหยุดการให้บริการ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องให้บริการต่อไปดังที่ปรากฏในร่างประกาศฉบับที่กำลังพิเคราะห์อยู่นี้เช่นกัน

3.4 มาตรา 27 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น หาใช่เป็นฐานทางกฎหมายในการให้อำนาจ กสทช. ออกกฎเกณฑ์กำหนดให้คู่สัญญาตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วมีหน้าที่ในการให้บริการต่อไปไม่ ดังนั้นมาตรา 27 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงไม่อาจเป็นฐานทางกฎหมายในการออกประกาศฉบับนี้ได้เช่นเดียวกัน

4. แม้จะมีผู้ใดพยายามตีความบทบัญญัติต่างๆ ที่ กสทช.กล่าวอ้างในร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ว่าเป็นฐานทางกฎหมายได้ แต่การอ้างฐานทางกฎหมายเหล่านั้นในที่สุดแล้วก็ไม่อาจเป็นไปได้อยู่ดี เนื่องจากจะขัดต่อหลัก "ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง" ที่ว่า "การกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย" เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากเมื่อคลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัทดิจิตอลโฟน ต้องกลับคืนมาเพื่อให้ กสทช.ดำเนินการจัดสรรใหม่ตามที่ได้วิเคราะห์มาแล้วข้างต้น กสทช.ย่อมจะต้องนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปจัดสรรโดยวิธีการประมูลเท่านั้น การดำเนินการต่อคลื่นความถี่ที่สิ้นสุดลงตามสัญญาสัมปทานในลักษณะอื่นใดนอกจากการนำมาจัดสรรโดยวิธีการประมูล แม้จะอ้างว่าเป็นการกระทำในระยะเวลาเพียงชั่วคราวเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ การกระทำเช่นว่านั้นย่อมขัดต่อกฎหมายทั้งสิ้น การอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างลอยๆโดยไม่วิเคราะห์แยกแยะความเชื่อโดยสุจริตของผู้ใช้บริการในความคงอยู่ของสัญญาสัมปทานมาประกอบด้วย ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับฟื้นคืนมาเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

5. นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว หากพิจารณาโครงสร้างของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ประกอบกับสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว จะเห็นได้ว่าร่างประกาศ กสทช.ฉบับนี้กำหนดสิทธิหน้าที่ในความสัมพันธ์ถึงสี่เส้าด้วยกัน คือ 1) กสทช. 2) บมจ.กสท  3) บริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน 4) ผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน หาใช่การกำหนดนิติสัมพันธ์ทางปกครองระหว่างผู้ออกกฎกับผู้ที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎแบบปกติธรรมดาทั่วๆ ไปไม่

โดยลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว แม้ กสทช.จะยืนยันว่าการออกประกาศนี้เป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวต่อไปเพียงหนึ่งปีหลังจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว "เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโยกย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่"ก็ตาม (ข้อ 3 ของร่างประกาศฯ) แต่โดยเนื้อแท้แล้วร่างประกาศฉบับนี้มีผลเสมือนเป็นการขยายอายุสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วออกไปอีกหนึ่งปีถึงแม้ว่าในทางรูปแบบจะดูเหมือนว่าสัญญาสัมปทานไม่มีอยู่แล้วเนื่องจากหากประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ บมจ.กสท และบริษัททรูมูฟ กับ บมจ.กสท และบริษัทดิจิตอลโฟน จะยังคงมีนิติสัมพันธ์กันต่อไปอีกภายใต้วัตถุแห่งสัญญาเดิม (คลื่นความถี่ 1800 MHz)

ถึงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญา แต่ก็จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ค่าตอบแทนการใช้คลื่นวิทยุ ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วน่าจะอยู่ประมาณไม่เกินร้อยละหกของรายได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดค่าสัมปทานที่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนต้องชำระตามสัญญาสัมปทานเดิมจากที่จะต้องจ่ายร้อยละสามสิบของรายได้ลง  อันจะทำให้บริษัททั้งสองได้ประโยชน์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายได้

อนึ่ง ตามร่างประกาศฯฉบับนี้ยังไม่แน่ชัดว่า บมจ.กสท จะได้รับประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์จากการยอมให้ใช้เครื่องและอุปกรณ์ของ บมจ.กสท ในการให้บริการ และจะเป็นปัญหาต่อไปว่า บมจ.กสท อาจไม่ยินยอมให้ใช้เครื่องและอุปกรณ์ตามสัญญา แต่ถ้า บมจ.กสท ยอมให้ใช้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนในลักษณะค่าเช่า กรณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นว่าร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีผลเป็นการขยายระยะเวลาของนิติสัมพันธ์ระหว่างระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และ บมจ.กสท  และบริษัทดิจิตอลโฟน ออกไป การกระทำที่โดยเนื้อแท้แล้วมีผลเสมือนเป็นการขยายอายุสัมปทานออกไปเช่นนี้เป็นสิ่งที่ กสทช.ไม่มีอำนาจและไม่อาจกระทำได้

6. ในแง่ของการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม กสทช.จะต้องคำนึงว่าผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมแต่ละรายย่อมทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วว่าสัญญาสัมปทานแต่ละฉบับนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ข้อมูลการได้มาซึ่งสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน และระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานแต่ละสัญญาเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการวางแผนทางธุรกิจและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหากเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้วก็จะก่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ตามหลักกฎหมายปกครอง รัฐโดยหน่วยงานที่กำกับกิจการโทรคมนาคมซึ่งก็คือ กสทช. ย่อมมีหน้าที่คุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจในประโยชน์อันเอกชนผู้ประกอบการอาจคาดหมายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพของข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่มีผลเป็นฝ่าฝืนความเชื่อถือและไว้วางใจของเอกชนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากจะไม่เอื้ออำนวยการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว ยังจะส่งผลให้รัฐเกิดความรับผิดตามมาอีกด้วย

7. โดยอาศัยเหตุผลทั้งปวงที่ได้แสดงให้เห็นข้างต้น จึงเห็นว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ หากได้รับการประกาศใช้แล้ว ย่อมจะต้องถือว่าเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

3. เนื้อหาในร่างประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า กสทช. ไม่สามารถออกประกาศในลักษณะดังกล่าวได้ ย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องพิเคราะห์เนื้อหาของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ต่อไปอีกว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สมควรตั้งข้อสังเกตบางประการที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของร่างประกาศฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้

1. ในร่างประกาศฉบับนี้ กสทช. นิยามความหมายของ "ผู้ให้บริการ" ว่า หมายความว่า ผู้ให้สัมปทานและหรือผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่สิ้นสุด ตามที่คณะกรรมการกำหนด  การกำหนดนิยามในลักษณะดังกล่าวขาดความชัดเจนแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าตกลงแล้ว ผู้ให้บริการ ตามร่างประกาศฉบับนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงกรณีของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สิ้นสุดลง หมายถึง บมจ. กสท. หรือ บริษัททรูมูฟ/บริษัทดิจิตอลโฟน หรือหมายถึงทั้ง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ/บริษัทดิจิตอลโฟน พร้อมกัน จะต้องรอให้ กสทช.มีมติกำหนดก่อน ทั้งๆที่ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการไว้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าตัวบุคคลผู้มีหน้าที่ตามร่างประกาศนี้กลับยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน

2. ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่ของบุคคลหลายคนไว้ หน้าที่ที่ได้รับการกำหนดไว้ในร่างประกาศฉบับนี้มีผลเป็นก้าวล่วงสิทธิของบุคคล เช่น หน้าที่ของ "ผู้ให้บริการ" ที่จะต้องให้บริการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ถือว่า บมจ.กสท  ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงมีหน้าที่ต้องให้บริการ ซึ่งเท่ากับว่า บมจ.กสท มีหน้าที่ที่จะต้องยอมให้ใช้โครงข่าย เครื่องและอุปกรณ์ ย่อมมีปัญหาว่าหาก บมจ. กสท.ไม่ยินยอมให้ใช้ จะมีมาตรการบังคับอย่างไร หาก กสทช. บังคับให้ บมจ.กสท  ยอมให้ใช้ กรณีจะกำหนดค่าตอบแทนการใช้เครื่องและอุปกรณ์อย่างไร และ กสทช.จะอาศัยอำนาจอะไรมาบังคับให้ บมจ.กสท ต้องยอมตาม

3. ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่บางประการไว้อย่างชัดแจ้งให้บุคคลผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ต้องปฏิบัติ แต่ไม่กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ เช่น กำหนดให้ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิรับผู้ขอใช้บริการรายใหม่ ให้รักษาคุณภาพการให้บริการและกำหนดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขการคุ้มครอง หรือให้เร่งรัดการโอนผู้ใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหน้าที่ตามร่างประกาศนี้ เป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการอาจไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยไม่สมบูรณ์ เช่นนี้หากเกิดการฝ่าฝืน ไม่มีความชัดเจนว่า กสทช.จะดำเนินการบังคับอย่างไร

เมื่อพิจารณาจากแนวทางแก้ปัญหากรณีมีผู้ค้างบริการอยู่ในระบบตามสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดลงตามร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้แล้ว เห็นว่า หากร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ กรณีย่อมเท่ากับ กสทช. ใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแก้ปัญหาโดยอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งๆที่ กสทช.ในฐานะองค์กรที่กำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ย่อมต้องทราบตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่แล้วว่าสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นปัญหาให้ต้องพิเคราะห์นี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 แต่ กสทช.ก็หาได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาไม่ คงปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินไปจนใกล้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงพยายามหาทางแก้ปัญหาโดยการอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การอ้างเหตุดังกล่าว แม้ในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า กสทช.ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคจริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถมองได้เช่นกันว่า กสทช.ย่อมเล็งเห็นแล้วว่าหากบุคคลใดคัดค้านวิธีการแก้ปัญหาตามร่างประกาศนี้ บุคคลดังกล่าวอาจถูกกล่าวหาว่าไม่แยแสไยดีความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ อันจะมีผลเป็นการ "ปิดปาก" ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยวิธีการที่มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายนี้โดยปริยาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ กสทช.ยากที่จะอธิบายก็คือ การแก้ปัญหาตามวิธีการที่ กสทช. เสนอตามร่างประกาศนี้ จะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของค่า "สัมปทาน" จากร้อยละสามสิบเหลือประมาณร้อยละหก ของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานเดิมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผลจากการนี้ทำให้ กสทช. นอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องในคดีปกครอง (การฟ้องเพิกถอนประกาศ กสทช.) แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องในคดีอาญาด้วย

เมื่อแนวทางแก้ปัญหาตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้ว กสทช.ย่อมต้องหาวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะอื่นเพื่อป้องกันการเกิดกรณี "ซิมดับ" ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ย่อมได้แก่ การเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานและให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นในตลาดโทรคมนาคม โดยในระหว่างระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกสองเดือนเศษนี้ กสทช.ต้องกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมขยายศักยภาพในการรับโอนผู้ใช้บริการตามสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดให้มากที่สุด อย่างเต็มกำลังความสามารถ และต้องกระทำอย่างจริงจังโดยเสมอภาคกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ในตลาดโทรคมนาคมทุกราย

เมื่อได้มีการประชาสัมพันธ์และดำเนินการรับโอนผู้ใช้บริการอย่างเต็มศักยภาพแล้ว หากยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบเนื่องจากบุคคลนั้นไม่แสดงความจำนงย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่น หากเกิดกรณีซิมดับ ก็ย่อมจะต้องถือว่าบุคคลนั้นมีส่วนผิดในการไม่แสดงเจตจำนงย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นเอง

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น ระบบกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างสัมบูรณ์และโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ได้ แต่การคุ้มครองผู้ใช้บริการจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจ อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครอง เช่น ระบบกฎหมายย่อมไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ต้องใช้บริการในเทคโนโลยีเดิมตลอดไปได้ หากปรากฏว่าเทคโนโลยีนั้นพ้นสมัยเสียแล้ว การรักษาไว้ซึ่งบริการตามเทคโนโลยีเดิมจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากซึ่งไม่อาจคาดหมายจากผู้ให้บริการที่จะต้องให้บริการในเทคโนโลยีดังกล่าวไปตลอดกาลได้ นอกจากนี้การคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยหลักแล้วจะต้องคุ้มครองบนฐานของการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จะคุ้มครองบนฐานของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่

สำหรับกรณีที่ผู้ใช้บริการได้แสดงเจตจำนงในการโอนย้ายแล้ว เมื่อใกล้จะครบกำหนดแล้วปรากฏว่ายังไม่สามารถโอนย้ายได้หมด กสทช.อาจต้องประสานกับคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการให้มีการโอนย้ายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดพร้อมกัน (ย้ายยกล๊อต) ไปยังคลื่นความถี่อื่นที่สามารถรับการโอนย้ายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดได้ เพื่อป้องกันกรณีซิมดับ แต่กรณีนี้สมควรเป็นทางเลือกสุดท้าย (ultima ratio) เมื่อโอนส่วนที่เหลือทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่องแล้ว  ก็จะต้องเร่งโอนย้ายผู้ให้บริการตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการที่ได้แสดงเจตจำนงไว้แล้วให้เสร็จสิ้นต่อไป

กล่าวโดยสรุปผู้ทำความเห็น เห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการออกประกาศตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ และเสนอให้แก้ปัญหาโดยเร่งประชาสัมพันธ์และเพิ่มขีดความสามารถในการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการรายอื่นให้เต็มศักยภาพในระยะเวลาสองเดือนเศษก่อนที่สัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่เป็นปัญหาอยู่นี้จะสิ้นสุดลง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองงานเขียน 'คำ ผกา' สะท้อนภาพสตรี-การเมืองไทย

Posted: 29 Jul 2013 10:02 AM PDT

เปิดวงวิจารณ์งานเขียนคำ ผกา นักวิจารณ์ชี้ 'กระทู้ดอกทอง' เสนอทางเลือกใหม่ของความเป็นหญิงในสังคมไทย ในขณะที่ 'ก็ไพร่นี่คะ' สะท้อนแนวคิดหลักของคำ ผกาที่เปลี่ยนจากเฟมินิสต์มาสู่ชาตินิยมทางการเมือง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

 
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 56 โครงการปริญญาโท สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่าน และกองทุนนพพร ประชากุล  จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ชาตินิยม สตรีนิยาม ประโลมโลกย์นิยาย ใน ก็ไพร่นี่คะ และกระทู้ดอกทอง" โดยมีวิทยากรได้แก่ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สุธิดา วิมุตติโกศล จากภาคภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ และเสนาะ เจริญพร จากคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี โดยร่วมกันวิจารณ์งานเขียนของลักขณา ปันวิชัย ที่ใช้นามปากกา "คำ ผกา" ผ่านแนวคิดชาตินิยมและสตรีนิยม 
 
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ วิจารณ์งานเขียน "ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของคำ ผกา ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างปี 2550-2554 ว่าสะท้อนถึงการเริ่มก่อตัวของความเป็นชาตินิยมทางการเมืองของลักขณา ปันวิชัย โดยเฉพาะในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 ทำให้เธอค่อยๆ เปลี่ยนจากนักเขียนที่จับเรื่องเพศสภาวะเป็นหลัก หันมาวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองอย่างจัดจ้าน 
 

"ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เวียงรัฐยกตัวอย่างจากบทหนึ่งในหนังสือที่ชื่อว่า "นับแต่นี้ไป ไม่เหมือนเดิม" ซึ่งคำ ผกาได้ไปคุยกับชาวบ้าน จากอำเภอสันคะยอม จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของเธอ และพบว่า มีชาวบ้านธรรมดาๆ จำนวนมากที่ตื่นตัวทางการเมือง แสดงการคัดค้านรัฐประหารและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และมองพรรคการเมืองในฐานะผู้ให้บริการทางนโยบาย ต่างกับภาพเก่าๆ ที่คนส่วนมากเชื่อว่าชาวบ้านยังคงซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง หรือไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้คำ ผกา หันมาเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่ต่อสู้เรื่องการเมือง ร่วมกับชาวบ้านธรรมดาๆ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและศัตรูของประชาธิปไตยผ่านงานเขียน
 
จากชาตินิยมทางวัฒนธรรมสู่ชาตินิยมทางการเมือง
 
อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อธิบายถึงอุดมการณ์ในงานเขียนของคำ ผกาว่า ก่อนหน้านี้ คำ ผกา มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนด้านชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งตั้งคำถามเรื่องชาตินิยมไทย ความเป็นไทย และวัฒนธรรมเชื้อชาตินิยมของไทย ในขณะเดียวกันก็เสนอทางเลือกและให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา ความเป็นท้องถิ่น 
 
"พอมองจากตรงนี้ กระทู้ดอกทองจึงเปรียบเหมือนเป็นความพยายาม redefine ความเป็นหญิงในสังคมไทย ไม่ใช่แบบคุณหญิงกีรติ ผู้ชายก็ไม่ใช่แบบในนิยายน้ำเน่าอีกต่อไป คือพยายามโจมตีสิ่งที่มีอยู่แล้วพยายาม struggle ที่จะ redefine แต่การ redefine มันอาจจะยังไม่ชัดเจน มันอาจจะยังเป็นผ้าขาวม้า กางเกงใน ผ้าซิ่น และนมอยู่ ส่วนชุดไทยโดนด่า" เวียงรัฐกล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2552-2553 ก็ทำให้เธอกลายมาเป็น "นักชาตินิยมทางการเมือง" อย่างเต็มตัว โดยเวียงรัฐอธิบายความหมายของคำนี้ว่า เป็นอุดมการณ์ของชาติที่ตั้งอยู่บนความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ในกรณีของคำ ผกา สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความคิดแนวเสรีนิยมแบบกลางๆ ที่ประกอบไปด้วยอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง สิทธิ การเลือกตั้ง และความเท่าเทียม ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ไปจนถึงการขนส่งมวลชน
 
จากตรงนั้นเอง ที่คำผกา เริ่มเห็นศัตรูทางการเมืองของเธอ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยม พวกขวาจัด โดยเฉพาะ "ผู้ใหญ่" และ "คนดี" ของบ้านเมือง รวมถึงศาสนาที่ล้าหลัง สื่อเนียน สื่อเสี้ยม และความเป็นราชาชาตินิยม 
 

จากซ้ายไปขวา: เสนาะ เจริญพร สุธิดา วิมุตติโกศล และลักขณา ปันวิชัย
 
สิ่งที่อาจดูย้อนแย้งสำหรับคำ ผกา สำหรับหลายๆ คน อาจเป็นเพราะความเป็นหญิงของเธอที่แสดงออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งปกนิตยสารจีเอ็ม หรือมติชนสุดสัปดาห์ ที่เปิดเผยเรือนร่างอย่างชัดเจน และการแสดงตัวตนของตนเองว่าเป็น "หญิงดอกทองสามานย์ วันๆ เอาแต่อ่านนิยายประโลมโลกย์" มีแต่ความโลกีย์และความชั่วที่ขัดกับหลักพุทธศาสนาหรือแบบฉบับของกุลสตรีไทย แต่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์และพูดคุยเรื่องปัญหาการเมืองไทยอย่างถึงพริกถึงขิง  
 
"ที่ว่าย้อนแย้งนั้น ดิฉันมองว่าไม่ย้อนแย้งเพราะเขามีข้อเสนอที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ชัดเจน  แต่ความย้อนแย้งมันเกิดขึ้นเพราะความเป็น extreme แห่งเรือนร่าง และวาจา ด้วยเรือนร่างและวาจา เธออยู่ตรงข้าง extreme แต่ข้อเสนอของเธอมันอยู่เพียง middle of the road ไม่ได้อยู่เป็น extreme เพราะฉะนั้น เราจึงอาจรู้สึกว่ามันเป็น paradox แต่ข้อเสนอของเธอนั้นคงเส้นคงวาที่อยู่ตรงกลาง" เวียงรัฐกล่าว 
 
"ความเป็นเอ็กซ์ตรีมอีกอันหนึ่งคือโครงสร้างของสังคมไทย ที่เธอพูดเองว่าหลายๆ เรื่องตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 19 ศตวรรษที่ 18 บางเรื่อง 15, 14 นู่น ไสยศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม มันทำให้ข้อเสนอที่อยู่ตรงกลางมันดูเป็นเอ็กซ์ตรีมไป ดังนั้น ความย้อนแย้งในตัวเองที่มันเกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่ง มันเกิดเพราะเราดูจากคำพูด จากเรือนร่าง กับอีกอันหนึ่งเราเอามาเปรียบเทียบกับสังคมไทย แต่จริงๆ แล้วข้อเสนอของเธอเป็นแบบ moderate" 
 
อ่านสตรีไทยใน "กระทู้ดอกทอง"
 
หนังสือ "กระทู้ดอกทอง" เป็นหนังสือรวมเล่มบทความของคำ ผกา ในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในช่วงปี 2544-2546 เป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมและภาพยนตร์จากมุมมองสตรีนิยม ซึ่งคำ ผกา ได้วิจารณ์และตั้งคำถามกับการเป็นกุลสตรีและนางเอกไทยในอุดมคติภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในสังคม ผ่านตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในงานวรรณกรรมของไทย อาทิ ข้างหลังภาพ หรือสี่แผ่นดิน เป็นต้น 
 

"กระทู้ดอกทอง" โดยคำ ผกา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เสนาะ เจริญพร มองการวิจารณ์วรรณกรรมของคำ ผกา ในหนังสือเล่มนี้ว่า มีการหยิบกรอบคิดที่น่าสนใจมาวิจารณ์ตัวบท อาทิ การเปรียบความสัมพันธ์ของชายและหญิง เสมือนกับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและพลเมือง ที่ผู้มีอำนาจมักเอาความทรงจำ ความรักใคร่มากล่อมเกลาให้เกิดความเชื่องและสยบยอม อย่างในเรื่อง "นอบ" ที่แต่งโดยศรีบูรพา เมื่อปี 2481 ที่ตัวละครสามีในเรื่องใช้ความทรงจำมากล่อมภรรยาไม่ให้คิดกบฎ เช่นเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์หรือพิธีกรรมที่เอาการเมืองของความทรงจำมากล่อมเกลาคนในชาติ 
 
ในขณะที่สุธิดา วิมุตติโกศล สรุปภาพผู้หญิงในวรรณกรรมที่อยู่ใน "กระทู้ดอกทอง" ได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ ได้แก่ นางเอกสยบยอม อย่างคุณหญิงกีรติจากนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ หรือคุณพลอย จากเรื่องสี่แผ่นดิน มีลักษณะสง่า น่าเทิดทูน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถึงแม้ว่านางเอกจะมีลักษณะแก่นเซี้ยวบ้าง แต่สุดท้ายก็จะถูกพระเอกกำราบลงได้ สตรีลักษณะนี้ จะถูกคำ ผกา วิจารณ์และถอดรื้อไว้เยอะมาก 
 
ส่วนอีกสองแบบ คือนางเอกขบถ อย่างเช่น นางลำยอง ที่มีจุดจบด้วยการเสียชีวิตจากโรคที่สำส่อน แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงแบบนี้ไม่เป็นที่ต้องการ หรือเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม นางเอกลักษณะนี้จะมีลักษณะตรงข้ามจากนางเอกแม่แบบอย่างชัดเจน และถึงแม้จะมีลักษณะขบถบ้าง ก็จะยังติดอยู่ในอุดมการณ์ที่ชายเป็นใหญ่อยู่ดี ส่วนอีกแบบเป็นผู้หญิงที่ไว้แทนความเป็นชาติของไทย 
 
เสนอทางเลือกให้สตรี ต่างจากขนบประเพณีเดิม
 
สุธิดาสรุปว่า งานเขียนของคำ ผกา ที่วิจารณ์ขนบของสตรีไทยในนวนิยาย เป็นการเสนอและสร้างข้อเสนอ และทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงไทย ด้วยการขับเน้นขั้วตรงข้ามระหว่างสาวบริสุทธิ์ผุดผ่องและหญิงโสเภณี ซึ่งคำ ผกา ในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง จึงต้องถูกสร้างให้มีลักษณะเป็น"ดอกทอง" ไม่มีการศึกษาสูงมากมาย เป็นคนบ้านนอก และเสรีเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็วิจารณ์เฟมินิสต์กระแสหลัก ซึ่งชอบมองสตรีว่าเป็นผู้ถูกกระทำเพียงอย่างเดียวด้วย 
 
อาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ ได้ฉายภาพสตรีในนิยายไทยที่ผ่านมาให้เห็นว่า ในช่วงพ.ศ. 2470-2490 นางเอกยังเป็นพื้นที่การแข่งขันของตัวละครในนวนิยายว่าผู้หญิงที่ดีต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันก็สร้างขึ้นมาพร้อมกับความเป็นชาติของไทย ที่เริ่มมีแบบแผนของกุลสตรีที่ชัดเจนขึ้น ต่อมาในช่วง 2500-2510 ก็เริ่มมีคนอย่างโบตั๋น จากฝั่ง "ดอกทอง" หรือนางเอกที่ไม่ใช่แบบฉบับเข้ามาปะทะกับกุลสตรีไทย ต่อมา 2520-2530 ดอกทองจะเริ่มมีความสับสน ว่าจะแหกกรอบดีหรือไม่ 
 
แต่เมื่อมาถึงปี 2540 จนถึงร่วมสมัยมาทุกวันนี้ นางเอกจะมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด ยิ่งกว่าในช่วงเริ่มต้น รวมถึงพล็อตนิยายก็เป็นไปตามกรอบดั้งเดิมมาก ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุทาเทพ อาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงนางเอกในตอนนี้ได้ดีที่สุด ที่ย้อนกลับไปหาขนบแบบเก่า แต่ในขณะเดียกัน สุธิดาก็ชี้ว่า ยังมีนางเอกแบบในละครเรื่องฮอร์โมน ที่มีแข่งออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นสตรีก็ถูกแข่งขันได้อยู่ตลอดเวลาในสังคม
 
ด้านคำ ผกา กล่าวย้อนไปถึงที่ตีพิมพ์กระทู้ดอกทองในช่วงแรกว่า ตอนนั้นเป็นช่วงหลังที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 รู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่มีปัญหา ตนจึงอยากจะพูดเรื่องที่คนยังไม่พูดคือเรื่อง "จู๋กับจิ๋ม" หรือเรื่องเพศสภาวะ ในขณะที่ในแวดวงนักวิชาการก็เริ่มหยิบเรื่องโพสต์โมเดิร์นมาคุยมาศึกษามากขึ้น แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ตนจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องหันมาพูดเรื่องปัญหาทางการเมืองที่พื้นฐานแทน เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ความเท่าเทียม เรื่องประชาธิปไตย   
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจอังกฤษจับผู้ต้องสงสัยขู่ข่มขืนนักสตรีนิยมทางทวิตเตอร์

Posted: 29 Jul 2013 09:15 AM PDT

แคโรไลน์ เครียโด-เปเรซ ผู้รณรงค์ให้มีรูปผู้หญิงบนธนบัตรอังกฤษถูกข่มขู่ด้วยข้อความทางทวิตเตอร์จนกระทั่งไปฟ้องตำรวจ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยอายุ 21 ปีเอาไว้ได้ ขณะที่ทางทวิตเตอร์ให้สัญญาว่าจะพัฒนาระบบการรายงานแจ้งการใช้งานแบบผิดๆ ที่ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2013 สื่อในอังกฤษรายงานว่า ชายอายุ 21 ปีถูกตำรวจอังกฤษจับกุมตัวหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยส่งข้อความขู่ว่าจะข่มขืนนักกิจกรรมสตรีนิยมผู้ที่รณรงค์ให้มีรูปผู้หญิงบนธนบัตรเป็นผลสำเร็จ

แคโรไลน์ เครียโด-เปเรซ ผู้สื่อข่าวอิสระและนักสตรีนิยมได้รับข้อความต่อต้านทางทวิตเตอร์จำนวนมากรวมถึงข้อความขู่ว่าจะข่มขืนและสังหารเธอหลังจากที่เธอดำเนินการรณรงค์ล่ารายชื่อแสดงความไม่พอใจที่ทางธนาคารอังกฤษเปลี่ยนภาพบนธนบัตร 5 ปอนด์จากภาพของอลิซาเบธ ฟราย (ผู้ปฏิรูประบบเรือนจำให้มีการปฏิบัติต่อนักโทษอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น) เป็นภาพของวินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำให้บนธนบัตรของอังกฤษไม่มีภาพผู้หญิงคนอื่นอยู่เลยนอกจากภาพพระราชินีอังกฤษ

มีคน 35,500 คนร่วมลงชื่อรณรงค์กับแคโรไลน์จนทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางธนาคารอังกฤษได้สัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนรูปบนธนบัตรใบละ 10 ปอนด์ จากรูปชาร์ล ดาร์วิน เป็นรูปของเจน ออสเตน นักเขียนนิยายรัก

โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวชายอายุ 21 ปีในแมนเชสเตอร์ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งข้อความทวิตเตอร์ต่อต้านแคโรไลน์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีการพิจารณาข้อความทวิตเตอร์หลายร้อยข้อความเพื่อหาว่าเป็นการกระทำผิดตามกฏหมายการสื่อสารในเชิงประสงค์ร้าย (Malicious Communications Act)

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้เว็บไซต์ทวิตเตอร์มีปุ่มที่สามารถรายงานการใช้งานในทางที่ผิดได้โดยทันที ซึ่งในตอนนี้มีจำนวนผู้ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org มากกว่า 60,000 รายชื่อแล้ว

โทนี่ หวัง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัททวิตเตอร์อังกฤษกล่าวว่า ทางบริษัทมีความเข้มงวดจริงจังกับการใช้งานอย่างไม่เหมาะสมทางอินเตอร์เน็ต และขอให้ผู้ใช้รายงานการละเมิดกฏการใช้ทวิตเตอร์ให้พวกเขาทราบ หวังบอกอีกว่าทางทวิตเตอร์กำลังทดสอบวิธีการที่ทำให้การรายงานทำได้ง่ายขึ้น เช่นการใช้ปุ่ม report tweet บนหน้าจอแบบโทรศัพท์มือถือ และจะมีการยกเลิกบัญชีผู้ใช้ที่กระทำผิดกฏชั่วคราว

โดย อีเวทท์ คูเปอร์ รัฐมนตรีเงากระทรวงมหาดไทยได้เขียนไปต่อว่าทางทวิตเตอร์ว่า พวกเขาตอบสนองต่อเรื่องกรณีของแคโรไลน์อ่อนเกินไป จากการที่ทางทวิตเตอร์บอกให้แคโรไลน์ไปแจ้งตำรวจ โดยอีเวทท์คิดว่าแม้การแจ้งตำรวจจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่ทางทวิตเตอร์เองควรมีการสืบสวนและติดตามคดีนี้ด้วย


เรียบเรียงจาก
Man arrested over rape threats against Caroline Criado-Perez on Twitter, The Independent, 28-07-2013

Man held after banknote campaigner receives rape threats on Twitter, The Guardian, 28-07-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาอ่านคำสั่งกรณีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 1 ส.ค. นี้

Posted: 29 Jul 2013 08:15 AM PDT

ทนายสิทธิมนุษยชนเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีตากใบ กรณีญาติผู้เสียชีวิตร้องขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการตาย ที่ศาลฎีกา รัชดา วันที่ 1 ส.ค. นี้ 

 
29 ก.ค. 56 - ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากทนายที่เกี่ยวข้องในกรณีการฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีตากใบ กรณีญาติผู้เสียชีวิตร้องขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการตาย โดยมีเนื้อหาดังนี้
           
สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547  ต่อมาศาลจังหวัดสงขลาได้พิจารณาคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 78 คน ซึ่งตายในระหว่างทำการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร  แล้วศาลมีคำสั่งถึงสาเหตุการตายว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่  คดีหมายเลขดำ ช.16/2548  หมายเลขแดงที่ ช.8/2552    เป็นเหตุให้ญาติผู้ตายเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย   
 
ญาติผู้ตายจำนวน 34 คน จึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญา(ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาแล้วพิจารณาทำคำสั่งใหม่ให้ถูกต้อง เป็นธรรม โดยผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตาย ใครเป็นผู้ทำให้ตาย  ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม โดยบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ หลายชั้น มีการทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
 
ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าเมื่อศาลจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญารับคดีไว้และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก    ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น    ต่อมาผู้ร้องจึงยื่นฎีกา
 
บัดนี้ศาลฎีกาพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว  จึงมีกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2556  เวลา 9.00 น.  ที่ศาลอาญา(ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) คดีหมายเลขดำที่ ษ.43/2552  หมายเลขแดงที่ ษ.42/2552
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จาตุรนต์’ รับไทยขาดองค์ความรู้ พร้อมหนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญสันติภาพ

Posted: 29 Jul 2013 05:55 AM PDT

'จาตุรนต์' ยอมรับสังคมไทยขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ พร้อมสนับสนุนผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เห็นด้วยกลุ่มนักวิชาการตั้งเครือข่ายสันติศึกษาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วประเทศ

 
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ต่อคำถามที่หลังจากที่มีกระบวนการสันติภาพและการพูดคุยเรื่องของสันติภาพ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสังคมไทยไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ ทางกระทรวงศึกษาธิการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรและจะสร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยได้อย่างไร
 
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า องค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่ใหญ่มากของสังคมไทยทั้งประเทศ ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องประสานงานกับหลายๆฝ่าย เพื่อจะแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว และภาครัฐก็ต้องให้ความร่วมมือกับประชาชน เพราะประชาชนมีความกว้างขวางในพื้นที่
 
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย  และจะต้องช่วยหรือสนับสนุนในการส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้มา มาเผยแพร่และมาทำความรู้ ความเข้าใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
"แต่สิ่งที่ยากมากที่สุด คือการทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจในเรื่องความขัดแย้งและเรื่องกระบวนการสันติภาพ และอาจจะเกินกำลังของกระทรวงศึกษาธิการตามลำพัง ด้วยจึงจำเป็นต้องมีการให้ความร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆด้วย  แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ยินดีทีจะให้ความร่วมมือ และพร้อมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้" นายจาตุรนต์ กล่าว
 
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ได้ข่าวมาบ้างแล้วว่า มีกลุ่มนักวิชาการสันติศึกษาเตรียมที่จะตั้งเครือข่ายสันติศึกษา และเตรียมเสนอให้ตนสนับสนุนในเรื่องการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสันติศึกษาและการจัดการความขัดแย้งให้มากขึ้น ซึ่งเห็นด้วยเพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่แล้ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปะทะรับรอมฎอนในมินดาเนา ยอดตายพุ่ง 86 ราย

Posted: 29 Jul 2013 05:41 AM PDT

สำนักข่าว Manila Bulletin รายงานถึงสถานการณ์ระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters - BIFF) ซึ่งล่าสุดสูญเสียกำลังพลไป 86 นาย ทำให้ฝ่ายกองกำลังฟิลิปปินส์ยังคงตรึงกำลังเพื่อรับมือ
 
เอเลน่า เบลเลน จากสำนักข่าว Manila Bulletin Publishing Cooperation หรือ MB รายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ว่า หลังจากหนึ่งวันอันยาวนานของการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters - BIFF) ซึ่งล่าสุดสูญเสียกำลังพลไป 86 นาย ทำให้ฝ่ายกองกำลังฟิลิปปินส์ยังคงตรึงกำลังเพื่อรับมือ
 
สำหรับกลุ่ม BIFF เป็นกลุ่มที่แยกออกมาจาก MILF เมื่อปี 2008 มีเป้าหมายให้บังซาโมโรเป็นเอกราชและ ปฏิเสธกรอบข้อตกลงบังซาโมโรระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MILF
 
พล.ต. โรมิโอ คาปุส ผู้บัญชาการกองทหารราบที่ 6  กล่าวว่า "เราได้สั่งถอนกำลังที่ถูกสั่งปฏิบัติการช่วงเดือนรอมฎอนเรียบร้อยแล้ว" ทั้งยังเสริมอีกว่า เขาได้รับความกระจ่างจากคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับ MILF ในสามวันว่า จะมีการดำเนินการบังคับใช้การปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่ม BIFF
 
"ดังนั้นเราจะต้องปฏิบัติตามนั้น เพราะเราไม่ต้องการที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลว" เขากล่าว
คาปุสออกแถลงการณ์ในอีกสองวันหลังจากที่มีการต่อสู้อย่างหนักหน่วง ระหว่างกองกำลังทหารของรัฐบาลและ BIFF ทางตอนเหนือของโกตาบาโตและมากินดาเนา
 
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่า จำนวนของผู้บาดเจ็บล้มตายจากการปะทะกันเมื่อวันเสาร์ มี 25 ราย โดยเสียชีวิต 5 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บจากฝ่ายรัฐ 2 รายและฝ่าย BIFF รวมกัน 18 ราย
 
อย่างไรก็ตาม คาปุส ได้รายงานในวันจันทร์ว่า ได้สูญเสียกำลังทหารไป 86 นาย จากการต่อสู้อันหนักหน่วง เป็นทหาร 6 นายและ ฝ่าย BIFF 80 นาย
 
พ.อ.ดิกสัน เฮอโมโซ โฆษกฝ่ายกองบัญชาการทหารภาค 6 กล่าวว่า ในบรรดาทหารถูกสังหาร มีหนึ่งในนั้นคือ ร.ท.คาเรอโด ฟลอเรส และ ส.ต.ฯ เมแกน เบลโล และ โจนาธาน มอเรส ส่วนฝ่าย BIFF ที่ถูกสังหารมาจากพลเรือนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากทหารกล่าวว่า ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจาก BIFF ได้กระตุ้นให้ฝ่ายทหารร่วมกับตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PNP) และ กลุ่มปฏิบัติการร่วมเฉพาะกิจระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับเอ็มไอแอลเอฟ (GPH-MILF) การประกาศปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในเขตแดนของเนา และโกตาบาโต
 
เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า การต่อสู้ในมินดาเนาตอนกลางได้จบลงแล้ว และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตอนนี้กลับสงบสุขแล้ว
 
"อย่างไรก็ตาม กองทัพภาค 6 ก็ยังคงมีการเตรียมรับมือกับการโจมตีของอีกฝ่ายในทุกรูปแบบ" แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทหารกล่าว
 
พ.ท.รามอน ซาคาลา เจ้าหน้าทีกิจการพลเรือนของกองทัพฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จะมีการให้คำปรึกษาต่อบรรดาผู้นำของ MILF ก่อนการบังคับใช้ปฏิบัติตามทางกฎหมายเพื่อรับมือกับ BIFF ซึ่งเชื่อว่าหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่พักพิงเดียวกันกับนักต่อสู้ส่วนใหญ่ของ MILF
 
ซาคาลา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและ MILF เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินอยู่         
 
เฮอร์โมโซ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้ถูกจำกัดในเขต ชารีฟ เซย์โดนามุสตอฟาและ ดาโต๊ะ ปียัง ทั้งสองเขตอยู่ใน มากินดาเนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นของ BIFF
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ถูกคดีไฟใต้หวั่นไม่ปลอดภัย เตรียมยื่นขอมาเลเซียดูแล

Posted: 29 Jul 2013 05:01 AM PDT

เครือข่ายผู้ถูกคดีไฟใต้ จัดเสวนาพลังเครือข่ายประชาชนป้องกันภัยคุกคามท่ามกลางสันติภาพ หวั่นไม่ปลอดภัย เตรียมยื่นขอให้มาเลย์ดูแล

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาหลังเก่าเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติร่วม (JOP) ร่วมด้วยเครือข่ายครูตาดีกาชายแดนใต้ เครือข่ายโต๊ะอิหม่ามชายแดนใต้และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จัดเสวนาหัวข้อ "พลังเครือข่ายประชาชน ป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิตท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ" ครั้งที่ 2 มีผู้ร่วมฟังเสวนาประมาณ 200 คน
 
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ จากเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นายตูแวดานียา ตูแวแมแง จากสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากลุ่ม FT Media 
 
 
ในวงเสวนามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงความปลอดภัยของคนในพื้นที่ท่ามกลางการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้จับอาวุธ รวมทั้งคนที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งนายธรรมรัตน์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีสมาชิกของเครือข่ายซึ่งเป็นคนที่เคยถูกคดีความมั่นคงถูกฆ่าตายไป 5 คน จึงต้องมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่ไม่ให้มีคนถูกฆ่าตายอีก ท่ามกลางข้อตกลงสันติภาพระหว่างฝ่ายไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN)
 
ด้านนายตูแวดานียา ได้เสนอ 3 ทางเลือกสำหรับป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ถูกตามฆ่าอีก ได้แก่ 1.บังคับให้ตัวเองสูญหายไป เช่นหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การหายตัวไปแบบนี้ก็จะทำให้การค้นหาความจริงจะหายไปด้วย 2.การสู้แบบถอยโดยการลี้ภัยทางการเมืองแล้วต่อสู้จากภายนอกประเทศ และ 3.การสู้แบบรุกโดยการยืนหยัดต่อสู้ในบ้านเกิดของตัวเอง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ 3 เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
 
ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งระบุว่า ในเมื่อฝ่ายมาเลเซียเข้ามามีบทบาทในการบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นแล้ว ก็ควรจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลความปลอดภัยในคนในพื้นที่ด้วย
 
ขณะที่นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ซึ่งร่วมฟังเสวนาด้วย กล่าวว่า ในเมื่อมาเลเซียสามารถดึงฝ่ายไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นเข้ามาพูดคุยเพื่อสันติภาพได้ ก็ต้องเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่คนในพื้นที่ถูกฆ่าตายด้วย เพราะที่ผ่านมาเวลามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทางกองอำนวยการความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นคนตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นถามว่าแล้วจะมีความเป็นกลางได้อย่างไร
 
จากนั้นนายธรรมรัตน์ ได้แจ้งต่อผู้เข้าร่วมว่า ภายในไม่กี่วันนี้ ทางเครือข่าย JOP จะร่างหนังสือเพื่อยื่นต่อฝ่ายมาเลเซียผ่านสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยเพื่อให้เข้ามาปกป้องดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วยที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ เพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายอีก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม: วิจัยเผยปัจจัยความพร้อมวิทยุชุมชน-แนะ กสทช.สนับสนุนรอบด้าน

Posted: 29 Jul 2013 01:47 AM PDT

เวทีสาธารณะเปิด (ร่าง) สรุปผลการศึกษา "โครงการวิจัยการตรวจสอบคุณสมบัติ และปัจจัยความพร้อมของชุมชนในการดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนของประเทศไทย"  พร้อม 6 ข้อเสนอเบื้องต้นต่อ กสทช.
 
วันที่ 27 ก.ค.56 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเวทีสาธารณะ "โครงการวิจัย การตรวจสอบคุณสมบัติ และปัจจัยความพร้อมของชุมชนในการดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนของประเทศไทย" โดยมีตัวแทนวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 200 คนเข้าร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะต่อ ร่างผลการวิจัยอย่างคึกคัก
 
งานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก กสท.โดยใช้ระยะเวลาศึกษาจำนวน 6 เดือน (ระหว่างเดือนมี.ค.-ก.ย.56) ตามวัตถุประสงค์ 1.ศึกษาคุณสมบัติ และปัจจัยความพร้อมของชุมชนที่จะดำเนินการเป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชนที่มีประสิทธิภาพ 2.ศึกษากรอบแนวทาง รูปแบบ วิธีการหารายได้ของผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนของประเทศไทย และ 3.ศึกษากรอบแนวทาง กลไก การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชน
 
การศึกษาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวม 4 ภาค ผ่าน 2 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานีวิทยุในด้านการบริหารจัดการสถานีวิทยุจำนวน 20 สถานีใน 4 ภาค และ2.กลุ่มผู้ฟังวิทยุชุมชน จำนวน 200 คน ใน 4 ภาค โดยการเก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และวิธีการสังเกตการสัมภาษณ์บุคลากรของวิทยุชุมชน ตลอดจนผู้รับฟังรายการ หลังจากได้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณแล้ว ทีมวิจัยแต่ละภาคได้ประมวลสรุปผลการศึกษาและนำเสนอข้อมูลในเวทีประชุมกลุ่มย่อย เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม
 
 
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้นำกรอบแนวคิดการบริหารจัดการทางธุรกิจเพื่อมาใช้อธิบายการดำเนินของวิทยุชุมชน ซึ่งมักเป็นประเด็นที่วิทยุธุรกิจนำมากล่าวอ้างเสมอว่าวิทยุชุมชนเป็นอุดมคติ ทำไม่ได้จริงในสังคมไทย
 
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการวิทยุชุมชนแตกต่างจากการบริหารจัดการองค์กรรูปแบบอื่นอย่างมาก เพราะการบริหารจัดการโดยทั่วไปเป็นวิธีคิดเชิงธุรกิจที่ต้องการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับการลงทุน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำ ทั้งทุนด้านเวลา งบประมาณ และกำลังคน แต่ให้ผลตอบแทนสูง แต่การบริหารจัดการวิทยุชุมชนมุ่งเน้นการสร้างทุนทางสังคมมากกว่าตัวเงิน ดังนั้นการบริหารจัดการวิทยุชุมชนเป็นทักษะที่สำคัญในการดำเนินงานวิทยุชุมชนจึงจำเป็นต้องมีทิศทาง และวิธีการที่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของวิทยุชุมชนที่เน้นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และถ้าบริหารจัดการไม่ถูกต้อง อาจทำให้การดำเนินงานหลงทิศ ผิดเป้าหมาย เกิดปัญหา อุปสรรค นำไปสู่ความขัดแย้ง จนอาจต้องหยุดกระจายเสียงหรือปิดสถานีในที่สุด
 
สำหรับ ร่างผลจากการศึกษาการตรวจสอบคุณสมบัติ ปัจจัยความพร้อมของชุมชนในการดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนในประเทศไทย พบว่า สถานีวิทยุชุมชนมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักการดำเนินของสถานีวิทยุชุมชน คือ ชุมชนเป็นเจ้าของ ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และดำเนินงานในรูปแบบอาสาสมัคร เพื่อประโยชน์ชุมชน
 
โครงสร้างการบริหารจัดการของสถานี ประกอบด้วยหัวหน้าสถานี คณะกรรมการสถานี และอาสาสมัครฝ่ายต่างๆ ทุกสถานีมีรายได้ซึ่งมาจากการสนับสนุนของชุมชนเป็นหลัก ออกอากาศโดยไม่มีโฆษณาเพราะไม่แสวงหาผลกำไรในเชิงธุรกิจ เพื่อรักษาความเป็นอิสระ และเป็นปากเสียงของชุมชนการดำเนินงานของวิทยุชุมชนเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนและรักษาผลประโยชน์ ซึ่งสะท้อนผ่านสัดส่วนของรายการที่ชุมชนผลิตเองหรือรับรายการจากที่อื่นหากเป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับชุมชน มุ่งเน้นนำเสนอข้อมูลข่าวสารของชุมชนเป็นหลัก รวมทั้งการมีบทบาทสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆของชุมชน
 
ส่วนปัจจัยความพร้อมของชุมชนในการดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนในภาคเหนือ ซึ่งวิเคราะห์ตามกรอบ 5 M นั้น สรุปได้ดังนี้
 
1. ความพร้อมด้านบุคลากร (Man) ซึ่งประกอบไปด้วย หัวหน้าสถานี คณะกรรมการสถานี อาสาสมัครฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายผู้จัดรายการวิทยุ ฝ่ายการเงินและบัญชี ฝ่ายเทคนิค เป็นต้น พบว่าสถานีวิทยุชุมชนมีบุคลากรมาช่วยงานด้วยใจ ในลักษณะอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทน ยกเว้นบางแห่งที่มีเจ้าหน้าที่ประจำของสถานีที่ได้รับค่าตอบแทน แต่ก็ใช้เป็นรูปสวัสดิการมากว่าเป็นเงินเดือน บุคลากรที่มาทำงานวิทยุชุมชน จึงต้องมีคุณสมบัติประการแรกคือ เป็นคนดีซึ่งได้แก่ เป็นบุคคลที่เสียสละ รับผิดชอบต่อหน้าที่ของส่วนรวม มีความซื่อสัตย์สุจริต และคุณสมบัติรองลงมา คือ มีความรู้ความสามารถในการงานที่ตนรับผิดชอบ และ มีความเข้าใจหลักการของวิทยุชุมชน ตามลำดับ

ส่วนการได้มาของหัวหน้าสถานีและคณะกรรมการของสถานีนั้น นิยมใช้วิธีการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชน หรือคณะกรรมการโดยส่วนใหญ่มักเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว และมีศักยภาพในการดึงความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมมาสนับสนุนงานของสถานีวิทยุชุมชนได้
 
2. ความพร้อมด้านการเงิน (Money) พบว่าสิ่งที่ชุมชนให้การสนับสนุนวิทยุชุมชนมากที่สุด คือ ด้านการเงิน โดยเงินที่สนับสนุนนั้นได้มาจากสมาชิกในชุมชนเป็นหลัก และรองลงมาคือ หน่วยงานหรือองค์กรที่ก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชน รูปแบบที่วิทยุชุมชนนิยมใช้ในการระดมทุนหารายได้เข้าสถานีมากที่สุด คือ การจัดกิจกรรมทางศาสนา หรือ กิจกรรมประจำปีของชุมชน สถานีวิทยุชุมชนจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าของสถานี ค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ค่าซ่อมแซมเครื่องส่ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ประจำของสถานี
 
เมื่อสอบถามถึงความต้องการในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านการเงินให้เกิดความพร้อมในการดำเนินการวิทยุชุมชน พบว่า สถานีวิทยุชุมชนต้องการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนด้านเงินทุนแก่สถานีวิทยุชุมชนตามกฎหมายมากที่สุด โดยควรสนับสนุนในสัดส่วนระหว่างกสทช.และชุมชน ร้อยละ50:50 ของรายจ่ายทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 80,000 - 100,000 บาท/ปี เพื่อคงความเป็นอิสระในการดำเนินงานของวิทยุชุมชน และการพึ่งพาตนเองของวิทยุชุมชน
 
3. ความพร้อมด้านเนื้อหา (Material) พบว่า ผังรายการของสถานีในช่วงแรกจะมาจากการประชุมพิจารณาหรือกำหนดโดยคณะกรรมการสถานี แต่พอสถานีได้ดำเนินการออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะมีการปรับเปลี่ยนผังรายการตามข้อเสนอแนะจากผู้ฟังด้วย เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ฟัง โดยรายการส่วนใหญ่ที่บรรจุอยู่ในผังรายการของสถานีนั้น คนในชุมชนจะเป็นผู้ผลิตรายการเอง ซึ่งมีร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 40 นั้น เป็นรายการที่ถ่ายทอดสัญญาณหรือรับมาจากที่อื่น ซึ่งคณะกรรมการของสถานีก็จะเป็นผู้พิจารณากันว่า เนื้อหาของรายการที่รับมาจากที่อื่นนั้นต้องเป็นประโยชน์กับชุมชน
 
หากวิเคราะห์เนื้อหาและรูปแบบของรายการ จะพบว่า เนื้อหารายการส่วนใหญ่จะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นความบันเทิงในด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นมากกว่ารายการประเภทอื่นๆ ส่วนผู้จัดรายการนั้น พบว่า เป็นคนในชุมชน กลุ่มนักเรียน นักศึกษามากที่สุด รองลงมาคือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น หมอ ครู ตำรวจ และสุดท้าย คือ นักปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เป็นต้น
 
ปัญหาของการจัดรายการวิทยุที่พบมากที่สุด คือ ด้านเวลาของผู้จัดรายการ ที่ขาดความต่อเนื่องในการมาจัดรายการวิทยุ และผู้จัดรายการก็ขาดทักษะในการจัดรายการวิทยุด้วย ดังนั้นเมื่อสอบถามถึงความต้องการในการพัฒนารายการ ผู้จัดรายการวิทยุชุมชนจะมีความต้องการอันดับหนึ่ง คือ ต้องการได้รับการอบรมในด้านการจัดรายการวิทยุหรือการเป็นผู้ประกาศ รองลงมา คือ การควบคุมเทคนิค การบันทึกเทปและการตัดต่อ และอันดับสุดท้ายคือ การเขียนบทวิทยุ และหน่วยงานที่เหมาะสมจะให้เป็นผู้จัดการอบรม คือ กสทช. หรือ สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิชาชีพในระดับท้องถิ่น
 
4. ความพร้อมด้านเทคนิค (Machine) จากผลการวิจัยพบว่า บุคลากรของวิทยุชุมชนมีการเรียนรู้ด้านเทคนิคกันเอง ซึ่งการเรียนรู้ด้านเทคนิคนี้ จะเป็นความรู้และทักษะในการจัดการดูแลเกี่ยวกับเทคนิคในเบื้องต้น เช่น การควบคุมเสียง การดูแลควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องส่ง เป็นต้น ส่วนความรู้และทักษะด้านเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้น ได้แก่ การซ่อมแซมเครื่องส่งเมื่อเสีย บุคลากรของสถานีวิทยุชุมชนยังไม่สามารถจัดการได้ ต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้จัดการ ซึ่งอยู่ภายนอกชุมชน และมีจำนวนจำกัด
 
เมื่อสอบถามถึงความต้องการให้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนความพร้อมด้านเทคนิค ผลปรากฏว่า วิทยุชุมชนต้องการให้ กสทช.สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้บริการคำปรึกษาและออกตรวจเครื่องส่งเป็นระยะ รองลงมาคือ อบรมให้ความรู้ด้านเทคนิค และสุดท้าย คือ ให้ กสทช.สนับสนุนด้านการเงินในการซ่อมแซมบำรุงเครื่องส่ง เพราะการซ่อมแซมเครื่องส่งในแต่ละครั้งนั้นเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
 
ส่วนปัญหาคลื่นแทรก คลื่นทับซ้อนซึ่งมาจากสถานีวิทยุแห่งอื่นนั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่และพบบ่อยมากที่สุดของวิทยุชุมชน มีถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของปัญหาด้านเทคนิคทั้งหมด ดังนั้นสถานีวิทยุชุมชนจึงเสนอมายัง กสทช.ให้ช่วยจัดระเบียบคลื่นความถี่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง
 
นอกจากนี้ ในการให้วิทยุชุมชนบันทึกรายการไว้เป็นหลักฐานตามกฎหมายนั้น จากผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เกือบทุกสถานีจะมีการบันทึกรายการไว้ในคอมพิวเตอร์ และซีดีหรือดีวีดีตามลำดับ แต่มีบางสถานีเท่านั้นที่ไม่สามารถบันทึกรายการได้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จะบันทึก และบุคลากรของสถานีก็ขาดทักษะในการบันทึกรายการ
 
5. ความพร้อมด้านการบริหารจัดการ (Management) พบว่า วิทยุชุมชนมีระบบการบริหารจัดการผ่านการประชุมของคณะกรรมการสถานีอย่างน้อย 1-3 เดือนต่อครั้งมากที่สุด และรองลงมาคือ มีการประชุมของคณะกรรมการเมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานี ซึ่งประเด็นที่ปรึกษาหารือกันในที่ประชุมของคณะกรรมการส่วนใหญ่หรือมากที่สุด ก็คือ เรื่องการบริหารจัดการ รองลงมาคือ เรื่องการจัดรายการวิทยุ และสุดท้ายเรื่องการจัดการด้านเทคนิค ตามลำดับ โดยการประชุมแต่ละครั้ง จะมีเลขานุการคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการในการประชุมหมุนเวียนช่วยกันจดบันทึกการประชุมไว้ด้วย
 
นอกจากสถานีวิทยุชุมชนจะมีการบริหารจัดการสถานีผ่านการประชุมของคณะกรรมการอยู่เป็นประจำแล้ว กลุ่มผู้ฟังทางบ้านก็สามารถแสดงความคิดเห็นหรือ ให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงการทำงานของสถานีวิทยุชุมชนผ่านช่องทางต่างๆได้ด้วย โดยผู้ฟังทางบ้านจะแสดงความคิดเห็นผ่านตัวผู้จัดรายการวิทยุหรือคณะกรรมการของสถานี เมื่อพบเจอกันในชุมชนมากที่สุด รองลงมา คือ เสนอแนะผ่านในรายการวิทยุ และสุดท้ายผ่านทางเว็บไซต์ของสถานี
 
การบริหารจัดการทางด้านการเงิน สถานีวิทยุชุมชนจะมีการบันทึกเป็นรายรับรายจ่ายเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบผ่านเอกสารซึ่งแสดงไว้ที่สถานี หรือการแจ้งผ่านรายการของสถานีในช่วงเวลาก่อนปิดสถานีทุกวัน หรือแจ้งให้ทราบในการประชุมของคณะกรรมการ
 
 
นอกจากนั้นโครงการวิจัยฯ ได้ศึกษากลยุทธ์การจูงใจของสถานีเพื่อให้ชุมชนสนับสนุนการดำเนินงานสถานีวิทยุชุมชน โดยวิเคราะห์ตามกรอบ 4P ซึ่งสรุปได้ดังนี้
 
1. สถานที่ตั้ง (Place) พบว่าสถานีวิทยุชุมชนตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ เดินทางไปมาได้สะดวก เอื้อต่อการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหรือสนับสนุนงานของวิทยุชุมชน เช่น ตั้งในที่ทำการองค์กรของชุมชน หรือศาสนาสถาน เป็นต้น
 
2. ผลิตภัณฑ์ (Product) พบว่า รูปแบบและเนื้อหารายการวิทยุนั้น กลุ่มผู้ฟังมองว่าดีอยู่แล้ว สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้ โดยสามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ รวมทั้งได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนด้วย ดังนั้น ผู้ฟังจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดรายการวิทยุ และผังรายการ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดมาจากคณะกรรมการของสถานีและผู้จัดรายการวิทยุเป็นหลัก
 
ส่วนเหตุผลในการติดตามรับฟังรายการมาโดยตลอดนั้น เพราะลีลาของผู้จัดรายการที่มีความเป็นกันเอง เป็นคนในชุมชน และใช้ภาษาถิ่นในการจัดรายการวิทยุ จึงทำให้เข้าใจง่ายเป็นหลัก รองลงมา คือ รูปแบบรายการมีความน่าสนใจ และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านมีส่วนร่วมในรายการด้วย
 
3. การสนับสนุนด้านราคา (Price) พบว่า ชุมชนให้การสนับสนุนวิทยุชุมชน ในรูปการบริจาคเงินมากที่สุด รองลงมาคือการบริจาคสิ่งของ สุดท้ายคือการเสนอตัวเป็นอาสาสมัครช่วยงานวิทยุชุมชนในด้านต่างๆ โดยการสนับสนุนด้านเงินมักเป็นรายครั้งหรือตามความสะดวกในโอกาสต่างๆ เช่น งานทอดผ้าป่าของสถานี การบริจาคในรูปแบบสิบลดหนึ่งของคริสตจักร เป็นต้นเหตุผลในการสนับสนุนเพราะผู้ฟังเห็นว่ารายการวิทยุมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อชุมชน สถานีมีบทบาทเป็นปากเป็นเสียง ทำหน้าที่ช่วยเหลืองานของชุมชน ผู้ฟังต้องการรักษาสถานีซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน รวมทั้งต้องการให้กำลังใจคณะกรรมการและผู้จัดรายการของสถานีที่เสียสละเพื่องานส่วนรวมมาโดยตลอด
 
4. กลยุทธ์จูงใจให้คนสนับสนุนสถานี (Promotion) พบว่า กลยุทธ์ในการสร้างแจงจูงใจให้คนในชุมชนหันมาสนับสนุนสถานีวิทยุชุมชนมากขึ้น ประกอบไปด้วย 1. ประเด็นในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ฟังสนับสนุน ซึ่งควรเป็นประเด็นเกี่ยวกับชาติ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น รองลงมาคือ ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคม เช่น เด็ก สตรี ผู้พิการ เป็นต้น และ 2. กลยุทธ์ที่จะทำให้มีรายได้จากการระดมทุนมากขึ้น ซึ่งได้แก่ การประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนผ่านทางสถานี การเขียนรายชื่อผู้บริจาคลงบนสิ่งของ และสุดท้าย คือ การออกไปถ่ายทอดสดกิจกรรมงานต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมองว่าวิทยุชุมชนช่วยเหลืองานของชุมชนมาโดยตลอด คอยอยู่เคียงข้างชุมชนเสมอ
 
ส่วนการคงความเป็นอัตลักษณ์หรือตัวตนของวิทยุชุมชน เพื่อให้ชุมชนสนับสนุนวิทยุชุมชนต่อไปหรือมากขึ้น คือ ควรเน้นความสามารถของผู้จัดรายการ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้นำสถานี และสุดท้ายคือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชน
 
ทั้งนี้ร่างสรุปผลงานวิจัยยังมีข้อเสนอเบื้องต้นต่อ กสทช. ดังนี้
1. เสนอให้ กสทช. ดำเนินการแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่แทรก/ทับซ้อนโดยเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาร่วมกันของสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ
 
2. แนวทางในการแก้ปัญหาคลื่นความถี่ทับซ้อนระหว่างสถานีวิทยุชุมชนกับสถานีธุรกิจ เสนอให้ กสทช. เป็นผู้เจรจากับสถานีธุรกิจที่คลื่นความถี่ทับซ้อนกับคลื่นของวิทยุชุมชน เนื่องจากสถานีวิทยุชุมชนเป็นสถานีขนาดเล็ก ไม่มีกำลังในการต่อรองกับสถานีธุรกิจได้
 
3. เสนอให้ กสทช. ทบทวนข้อกำหนดทางเทคนิคและกำลังส่งของสถานีวิทยุชุมชน ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ
 
4. การขอรับใบอนุญาต เป็นประเด็นปัญหาร่วมกันของสถานีกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งตัวแทนสถานีสะท้อนว่า ขั้นตอนและกระบวนการขอรับใบอนุญาตเป็นภาระแก่สถานีเป็นอย่างมากและไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของสถานีวิทยุชุมชนที่ทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร ซึ่งผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนการปฏิบัติทางราชการ สถานีกลุ่มตัวอย่างเกือบทุกสถานีประสบปัญหาเรื่องการกรอกเอกสาร การหาเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนตามที่ กสทช.กำหนด การแก้ไขเอกสาร การส่งเอกสารเพิ่มเติม และค่าใช้จ่ายในการตรวจเครื่องส่ง รวมถึงมีสถานีกลุ่มตัวอย่างหนึ่งสถานีที่ประสบปัญหาขึ้นทะเบียนไม่ทันในช่วงเวลาที่ กสทช. กำหนด คือ สถานีวิทยุชุมชนรือเสาะเรดิโอ จ.นราธิวาส ซึ่งมีสาเหตุจากช่องทางการสื่อสารของ กสทช. ที่เน้นการสื่อสารผ่านเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นช่องทางที่สถานีส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ประกอบกับสถานีอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และภาษาหลักในการสื่อสารของชุมชนซึ่งเป็นภาษาถิ่น (ภาษายาวี) ทำให้การได้ข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอและไม่ทันท่วงที ซึ่งมีผลให้ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตที่ตามประกาศ กสทช. ที่กำหนด
 
5. เสนอให้ กสทช. จัดให้มีการฝึกอบรมเสริมศักยภาพ 3 ด้าน คือ ก. ด้านการจัดรายการ ข. ด้านเทคนิค ค. ด้านการบริหารจัดการสถานี โดย กสทช.ช่วยสนับสนุนค่าอบรมและค่าเดินทางให้กับสถานีวิทยุชุมชน รวมถึงจัดทำคู่มือประกอบการอบรม เพื่อให้ตัวแทนสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมสามารถนำกลับมาเผยแพร่และส่งต่อความรู้ให้กับอาสาสมัครของสถานีคนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
6. เสนอให้ กสทช. คุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน รวมถึงให้ความรู้/ข้อมูลข่าวสารกับสถานีที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน เพื่อให้สถานีมีความรู้ความเข้าใจและสามารถรักษาสิทธิของตนได้ เสนอให้ กสทช. ทำความเข้าใจธรรมชาติของสถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการโดยระบบอาสาสมัคร ซึ่งบางครั้งมีภารกิจทำให้ไม่สามารถจัดรายการได้ตามที่กำหนดในผังรายการ
 
 
หมายเหตุ: คลิกอ่านความคิดเห็นของ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม อดีตกรรมการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ต่องานวิจัยนี้ได้ที่ วิจัยตรวจสอบคุณสมบัติปัจจัยความพร้อมของชุมชนฯ (วิทยุชุมชน)
 
 
ที่มา: ประชาธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น