โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอแบคโพลล์เผยคนส่วนใหญ่รับทุจริตได้ หากได้ผลประโยชน์ด้วย

Posted: 06 Jul 2013 01:52 AM PDT

เอแบคโพลล์เผยผลวิจัยประชาชนเกิน 60%​ ยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริตแต่ตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างและเกษตรกรที่ยอมรับได้ถึง 78.9% ​รองลงมาคือนักเรียนนักศึกษา 73.3%

 
6 ก.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า เอแบคโพลล์ได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "สถานการณ์ทัศนคติอันตรายของสาธารณชนคนไทย ว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชัน ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย" โดยส่วนใหญ่ 70%​ ระบุว่า เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชันในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชันผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
 
ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนถึง 88.9% รู้สึกผิดหวัง หากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชันเสียเอง โดย 11.1%​ ระบุว่าไม่รู้สึกอะไร และกลุ่มตัวอย่างถึง 94.5%​ เห็นด้วยว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชันควรถูกตรวจสอบด้วย มีเพียง 5.5% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
 
เอแบคโพลล์ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อคำถาม แนวโน้มทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชัน ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ยังคงอยู่เหมือนเดิมนับตั้งแต่เดือน พ.ย.54 จนถึงขณะนี้ โดยผลวิจัยในเดือนมิ.ย. พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 65.0%​ ยอมรับได้ ซึ่งไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับ 65.5%​ในเดือน มี.ค. โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่า 60%​ยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริตคอรัปชันแต่ตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย เมื่อจำแนกออกตามประเภทผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ชายยอมรับในเรื่องดังกล่าวได้ถึง 67.7% ​ในขณะที่ผู้หญิงยอมรับได้ 60.5%​
 
อย่างไรก็ตาม จากการจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีสัดส่วนการยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นเกินกว่าครึ่ง โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73.0%​ มีทัศนคติอันตรายยอมรับได้รัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชัน ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมาคือช่วงอายุระหว่าง 20-29% ​ยอมรับได้ในสัดส่วน 69.4% 
 
เมื่อแยกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มรับจ้าง/เกษตรกร ส่วนใหญ่ หรือ 78.9% ยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริตคอรัปชัน ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา 73.3%​ พนักงานบริษัทเอกชน 67.1% ​แม่บ้าน เกษียณอายุ 63.5% ​ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว 62.8% ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 54.0%  โดยมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างในทุกอาชีพยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริตคอรัปชันแล้วตนเองได้ผลประโยชน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เผยค่ายมือถือรับเงื่อนไขขยายวันหมดอายุพรีเพดครั้งละ 30 วัน สะสมไม่เกิน 365 วัน

Posted: 06 Jul 2013 01:42 AM PDT

6 ก.ค. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในกรณีการกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงิน หรือ พรีเพด ว่า จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ได้ข้อสรุปตรงกันว่าบัตรเติมเงินพรีเพดสามารถมีวันหมดอายุได้
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้ตอบรับเงื่อนไขตามที่กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้กำหนดไว้  โดยจะจัดให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พรีเพด) ได้รับเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อการเติมเงินทุกมูลค่า รวมทั้งในการเติมเงินเข้าสู่ระบบทุกครั้ง บริษัทจะนับระยะเวลาการใช้งานที่ผู้ใช้บริการได้รับรวมกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ รวมระยะเวลาสูงสุดในการสะสมวันใช้งานได้ 365 วัน
 
ก่อนหน้านี้ กสทช.พยายามบังคับใช้ข้อกำหนดห้ามโทรศัพท์แบบเติมเงินหมดอายุ แต่ผู้ประกอบการโต้แย้งตลอดมาว่า การไม่ให้บัตรเติมเงินพรีเพดไม่มีวันหมดอายุเลย และไม่ระงับการให้บริการเลยนั้นจะส่งผลกระทบเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจะมีเลขหมายโทรศัพท์ตกค้างโดยที่ไม่มีการใช้งานอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ลัทธิบูชาตัวบุคคลในพุทธศาสนาแห่งรัฐ

Posted: 06 Jul 2013 01:22 AM PDT

 

" ท่านพุทธทาสก็คิดว่า

ทุกคนมีเสรีภาพตีความพระไตรปิฎก

และปฏิบัติธรรมหรือแปลความหมายของธรรม

ที่เป็นพุทธวัจนะมาสู่ชีวิตตนเองได้โดยตรง

ไม่จำเป็นต้องผ่านพระสงฆ์ หรือองค์กรสงฆ์ "

 
 
(จากแฟ้มภาพกลุ่มพุทธทาสศึกษา)
 
 
 
พักเรื่อง "พุทธศาสนากับประชาธิปไตย ตอนที่ 15" เอาไว้ก่อน ขอแวะพูดถึงเรื่องฮ็อตในวงการสงฆ์ที่กลายเป็นประเด็นวิจารณ์กันอื้ออึงในโซเชียลมีเดียและในสื่อหลักกว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเรื่องพระนำรถโบราณราคาแพงมาจอดโชว์ที่วัดโดยอ้างว่าเป็น "กุสโลบายละความโลภ" พระนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวใช้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง  พระนักปฏิบัติชื่อดังที่สึกกะทันหันและจดทะเบียนสมรสกับสาวไฮโซหลังสึกเพียงไม่กี่วัน เป็นต้น
 
ที่จริงแล้วเรื่องราวในข่าวเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ หากคิดว่านั่นจะทำให้พุทธศาสนาเสื่อม ก็ต้องถามว่าพุทธศาสนาที่มั่นคงมีหน้าตาเป็นอย่างไร เท่าที่เห็นพูดกันอยู่ในปัจจุบันเวลาพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนา หากเป็นมุมมองจากสถาบันสงฆ์ และชาวพุทธที่ถูกกล่อมเกลามาภายใต้วัฒนธรรมการศึกษาทางพุทธศาสนา ประเพณีพิธีกรรมแบบ "พุทธศาสนาแห่งรัฐ" หมายถึงพุทธศาสนาที่ผ่านการเผยแผ่ขององค์กรปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ ความมั่นคงของพุทธศาสนาย่อมหมายถึงความมั่นคงของสถาบันสงฆ์ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ
 
แต่ถามว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาแห่งรัฐดังกล่าวสอดคล้องกับความงอกงามของพุทธศาสนาเชิงเนื้อหาสาระที่ไปกันได้กับคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค และเสรีภาพแบบโลกสมัยใหม่หรือไม่?
 
คำตอบคือ "ไม่" เพราะสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นมีความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ สังฆะดังกล่าวจึงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อแปลความหมายของธรรมะมาสู่การจัดระเบียบชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ และมีความเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือสนับสนุนกันและกันในการศึกษาธรรมเพื่อให้แต่ละคนมีเสรีภาพในการแสดงออก และมีเสรีภาพด้านในตามศักยภาพแห่งตน
 
แต่องค์กรสงฆ์ปัจจุบันเป็นระบบอำนาจนิยมชนชั้น เปรียบเทียบก็คือ ในอดีตพุทธะและสมาชิกแห่งสังฆะมาจากวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบสังฆะ วรรณะนั้นๆ ก็ถูกยกเลิกไปกลายเป็นสมาชิกแห่งสังฆะที่มีความเสมอภาค เช่นมีไตรจีวร อัฐบริขารเท่ากัน แสดงความเคารพกันตามอาวุโสทางพรรษา แต่มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากล่าวตักเตือนกันภายใต้วัฒนธรรมความเป็นพี่เป็นน้องที่มีป้าหมายคืออิสรภาพทางจิตวิญญาณร่วมกัน ทว่าองค์กรสงฆ์ปัจจุบัน พระสงฆ์มาจากลูกชาวบ้านแล้วไต่เต่าไปสู่ชนชั้นทางสมณศักดิ์และอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็มักเป็นที่มาของผลประโยชน์ทางวัตถุเงินทอง
 
ที่สำคัญบทบาทของพุทธศาสนาแห่งรัฐคือการสถาปนาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง จะเห็นว่าระบอบราชาธิปไตยของทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์ ล้วนแต่อ้างพุทธศาสนายกย่องกษัตริย์ให้เป็นเทพยดา เป็นพระโพธิสัตว์ ในธิเบตถือว่าทะไลลามะเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ กัมพูชากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์
 
สำหรับไทยนั้นกษัตริย์เป็นทั้งพ่อปกครองลูก เป็นสมมติเทพ เทวราชา ธรรมราชา เป็นอวตารของพระนารายณ์ เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า ดังหลักฐานที่ชัดเจนคือคำราชาศัพท์ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน "ข้าพระพุทธเจ้า" ก็หมายความว่าพสกนิกรคือ "ข้าของพระพุทธเจ้า (ที่เป็นกษัตริย์)" นั่นเอง
 
นอกจากนี้ พุทธศาสนาแห่งรัฐยังสถาปนาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ว่าเป็น "เนื้อนาบุญ" ที่มีอานุภาพดลบันดาลให้ผู้บริจาคทำบูญได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ ความสำเร็จในชีวิต การงาน ความรัก การแก้กรรม ไปจนถึงได้สวรรค์ นิพพาน เป็นต้นตามที่ผู้บริจาคทำบุญตั้งจิตอธิษฐาน
 
พุทธศาสนาแห่งรัฐจึงสร้าง "อภิมนุษย์ทางโลก" คือชนชั้นปกครองในระบบเก่า และ "อภิมนุษย์ทางธรรม" คือพระสงฆ์ผู้มีคุณวิเศษต่างๆ เป็นพระอริยะ อรหันต์ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าในประวัติศาสตร์พุทธศาสนานั้น ปรากฏรายชื่อพระอรหันต์เฉพาะในสมัยพุทธกาล มาถึงยุคพระเจ้าอโศก ในไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นต้นมาไม่ปรากฏรายชื่อพระอรหันต์เลย เพิ่งมาปรากฏรายชื่อพระอรหันต์มากเป็นพิเศษตั้งแต่ยุคพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นต้นมา ซึ่งพระอรหันต์ก็มักเป็นพระในนิกายธรรมยุตที่เจ้าเป็นผู้สถาปนาขึ้น
 
นี่หมายความว่า พุทธศาสนาแห่งรัฐได้สร้าง "ลัทธิบูชาตัวบุคคล" ขึ้นมาครอบงำจิตสำนึกของผู้คน แต่พุทธะไม่ได้สอนให้บูชาตัวบุคคล ให้เราเคารพตนเอง เชื่อมั่นในสติปัญญาของตนเอง พึ่งตนเองได้ ปกครองตนเองได้และให้เคารพหลักการคือ "ธรรมวินัย"  ก่อนปรินิพพานพุทธะมอบ "ธรรมวินัย" ให้เป็นศาสดาของชาวพุทธ ซึ่งหมายความว่าให้ชาวพุทธยึดถือหลักการยึดธรรมวินัยเป็นหลักในการฝึกตนเพื่อความงอกงามทางปัญญาและกรุณา เพื่อความมีมโนธรรมสำนึกต่อส่วนรวมและมีอิสรภาพด้านใน ไม่ตกเป็นทาสของการครอบงำใดๆ
 
ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงท่านพุทธทาสภิกขุซึ่งก็เหมือนกับมาร์ติน ลูเธอร์ ที่เป็นนักคิดสำคัญในการปฏิรูปศาสนาในนิกายโปรเตสแตนท์ โดยเขากลับไปหาพระคัมภีร์ ยืนยันว่าชาวคริสต์ทุกคนมีเสรีภาพตีความคัมภีร์ เข้าใจพระคัมภีร์ และเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่าน "สื่อกลาง" คืออำนาจศาสนจักร และนักบวช ท่านพุทธทาสก็คิดทำนองเดียวกันว่าทุกคนมีเสรีภาพตีความพระไตรปิฎก และปฏิบัติธรรมหรือแปลความหมายของธรรมที่เป็นพุทธวัจนะมาสู่ชีวิตตนเองได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านพระสงฆ์ หรือองค์กรสงฆ์ ดังที่ท่านบรรยายเรื่อง "บวชอยู่ที่บ้าน" เป็นต้น
 
เมื่อได้เถียงกับเพื่อนที่บวชเรียนมาสายพระ เขาอ้างว่า "ถวายเครื่องบินเจ็ต รถโรลสรอยซ์ แก่พระทุกวันนี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ ในสมัยพุทธกาลเขาสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าเป็นห้าร้อยกว่าล้าน พันล้าน..." ผมฟังแล้วก็รู้ว่านี่คือปัญหาการศึกษาพุทธศาสนาแบบ "ท่องจำตามคัมภีร์อรรถกถา" ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นหลังพุทธกาลราว 1,000 ปี (พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถาเกิด พ.ศ.956 การศึกษาคณะสงฆ์ไทยเดินตามคัมภีร์ของพระพุทธโฆษาจารย์เป็นส่วนมาก)
 
แต่ท่านพุทธทาสปฏิเสธระบบการศึกษาพุทธศาสนาแห่งรัฐ แล้วกลับไปหาคัมภีร์อย่างวิพากษ์ ท่านปฏิเสธอรรถกถา ปฏิเสธอภิธรรม ยืนยันวินัยปิฎก กับสุตตันตปิฎก แต่เน้นการนำเสนอคำสอนในพระสูตรหรือสุตตันตปิฎก 
 
ถามว่า ทำไม "คำบรรยายธรรม" ของท่านพุทธทาสเป็นเหตุเป็นผล มีความสอดคล้องทางตรรกะในตัวเองสูงมาก คำตอบก็เพราะนั่นคือคำบรรยายที่ถอดความมาจากพระสูตรอันเป็นคำสอนที่เชื่อกันว่าน่าจะตรงตามที่พุทธะสอนมากที่สุด
 
แต่การศึกษา การสอน ประเพณีพิธีกรรมของพุทธศาสนาแห่งรัฐที่ยึดติดคัมภีร์อรรถกถา และอ้างอิงเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถามาสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลคือต้นเหตุของวัฒนธรรมโปรโมทพระอริยะ พระอรหันต์ และการแข่งขันทำการตลดาขายบุญในปัจจุบัน
 
ต้องปฏิรูปพุทธศาสนาขนานใหญ่ โดยทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ จึงจะสามารถเลิกลัทธิบูชาตัวบุคคลไปสู่วัฒนธรรมการเคารพหลักการธรรมวินัยอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมเคารพหลักการประชาธิปไตยได้จริง
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ร่างกายปฏิบัติการของคนเสื้อแดง

Posted: 06 Jul 2013 01:04 AM PDT

งานวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับคนเสื้อแดงของสาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย น.ส.ฐิวารี วีรยะสบประสงค์ ในเรื่อง "การใช้ร่างกายปฏิบัติการทางสังคมของคนเสื้อแดง: กรณีศึกษาคนชนบทอีสาน" มีประเด็นอันน่าสนใจ ที่น่าจะนำมาแลกเปลี่ยนพอสมควร
 
"ร่างกาย"ในการศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงร่างกายทางกายภาพซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ แต่หมายถึง ร่างกายทางสังคม ที่มีคุณค่าและสัญลักษณ์ตามที่สังคมกำหนดและรับรู้ร่วมกัน นำมาสู่ปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งก็คือการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะในประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ
 
ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ขณะที่คนเสื้อแดงพยายามจะสื่อสารกับสังคมด้วยการประดับร่างกายด้วยเสื้อผ้าสีแดงและรวมตัวกันทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเป้าหมายในการต่อสู้ให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย แต่สภาวะของเขาซึ่งจำนวนมากคือชาวชนบทอีสาน จะถูกประเมินว่าเป็นพวก "โง่ จน เจ็บ"  และปฏิบัติการทางสังคมของเขาได้รับการตีความว่า ถูกหลอกใช้โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือบรรดาแกนนำที่ได้รับผลประโยชน์จากการนำคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหว นำมาสู่การจัดตำแหน่งทางสังคมให้กับคนเสื้อแดงระดับมวลขนชาวบ้านว่าเป็น"ควายแดง" และเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ก่อกวนบ้านเมือง หมายถึงว่า คนเสื้อแดงในระดับมวลชนนั้น นอกจากด้อยสติปัญญาแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่ป่าเถื่อนและรุนแรง จึงจะนำไปสู่การอนุมานได้ว่า การถูกฆ่าตาย หรือการติดคุกของคนเหล่านี้จึงไม่มีคุณค่าพอที่สังคมจะต้องให้ความสนใจ สังคมชนชั้นกลางจึงสามารถที่จะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปด้วยคะแนนเสียงจำนวนมากได้โดยไม่ต้องละอายแก่ใจ
 
ในงานของฐิวารี จึงตั้งใจที่จะตอบคำถามว่า คนชนบทอีสานในนามของคนเสื้อแดงใช้ร่างกายปฏิบัติการทางสังคมอย่างไร เพื่ออธิบายการจัดวางตำแหน่งทางสังคมของคน โดยอาศัยข้อมูลสัมภาษณ์อย่างมีส่วนร่วมจากคนเสื้อแดงอีสานที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ผลสรุปประการแรกจากการศึกษาพบว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากที่เป็นคนชนบทถูกอธิบายมาก่อนแล้วว่า ไม่ควรมีส่วนร่วมทางการเมืองจากวาทกรรมเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง ด้วยการกล่าวหาว่า คนชนบทอีสานนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงินและระบบอุปถัมภ์ อำนาจทางการเมืองของคนเหล่านี้ จึงกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองทุจริตที่รวมกันอยู่ในพรรคเพื่อไทย นำไปสู่การอธิบายว่า เสียงข้างมากของประชาชนจากภาคอีสานเป็นเสียงข้างมากที่ไร้คุณภาพ
 
ประการต่อมาก็คือ การที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยได้ใช้นโยบายประชานิยมและประสบความสำเร็จ แต่นโยบายเช่นนี้ก็ได้รับการพิจารณาว่า เป็นการนำเงินงบประมาณของชาติมาแจกให้คนชนบทเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อุดหนุนสินค้าของกลุ่มนายทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาล และสร้างความจงรักภักดีระหว่างคนชนบทกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างความแตกแยกกับคนในชาติที่ไม่เห็นด้วย และอาจนำมาซึ่งหายนะทางเศรษฐกิจ จึงต้องต่อต้านคัดค้าน และหาทางยับยั้งการบริหารของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้เร็วที่สุด
 
แต่งานของฐิวารีพบว่า ชาวบ้านหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับฝ่ายคนเสื้อแดงไม่ใด้เป็นเพราะการสูญเสียผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการประชานิยม หากเป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการที่ศาลสั่งยุบพรรคการเมือง แล้วยังเห็นว่าคนเสื้อแดงที่เป็นชาวชนบทไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ ด้วยกระบวนการทางการเมือง และทางศาลที่มุ่งแต่จะสนับสนุนกลุ่มการเมืองตรงข้าม
 
ประการต่อมาก็คือ คนเสื้อแดงดังตัวอย่างไม่ยอมรับว่า การต่อสู้ของพวกเขาเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ก็ไม่อาจนิยามได้ว่า เป็นสีของผู้ที่โง่ ถูกหลอก ถูกซื้อ แต่การเข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ทำให้พวกเขาได้ความรู้ทางการเมืองและสังคมเพิ่มเติม และได้พบแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน ส่วนวาทกรรมเรื่องเผาบ้านเผาเมืองกลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันเป็นวาทกรรมลวง ปราศจากหลักฐานอันชัดเจน เพราะพวกเขาไม่มีเป้าหมายที่จะเผาห้าง และไม่ได้เป็นผู้กระทำการเผาสถานที่ราชการเหล่านั้น
 
บทสรุปในเชิงความหมายในปฏิบัติการของคนเสื้อแดง อาจจะอธิบายได้ เช่น คนเสื้อแดงอีสานคือคนที่ลำบากยากจน ไม่มีการศึกษา ถูกดูหมิ่นดูแคลน แต่ไม่ได้ทำความผิด และต้องการที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม คนเสื้อแดงก็เหมือนคนเสื้อสีอื่นที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่ต้องการสร้างความแตกแยก เพียงแต่ต้องให้มีการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองได้โดยไม่ถูกจับติดคุก และประชาธิปไตยที่ต้องการเรียกร้อง ต้องมีมาตรฐานเดียวไม่ใช่สองมาตรฐาน การยอมรับความเป็นคนเสื้อแดงต้องปฏิเสธการนิยามที่ว่าด้วยคนชนบทคือ ผู้ที่ "โง่ จน เจ็บ" แต่ต้องหมายถึงมนุษย์ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับชนชั้นกลาง ชาวเมือง หรือคนกลุ่มอื่น
 
ดังนั้น ฐิวารีจึงเสนอว่า การพิจารณาคนเสื้อแดงในสังคมต้องยอมรับคนเสื้อแดงในฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ที่มีความคิดอ่าน ไม่ใช่ "ควายแดง" ต้องเข้าใจว่า ความชื่นชอบที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยและเพื่อไทย นำมาสู่การกระจายโภคทรัพย์ และให้โอกาสแก่ประชาชนมากกว่ารัฐบาลอื่นที่ผ่านมา วาทกรรมเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่เป็นจริงมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะคนอีสานก็เป็นเช่นเดียวกับคนภาคใต้และคนกรุงเทพฯ คือ เลือกตามความนิยมในพรรคการเมือง ไม่ได้เลือกเพราะเงินหรือระบบอุปถัมภ์แต่อย่างใด
 
ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นการสมควรที่จะมี่งานวิจัยในลักษณะของการเมืองร่วมสมัย ที่จะให้คำตอบแก่สังคมไทยปัจจุบันได้มากขึ้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุจริตคือเกราะบัง' จำนำข้าวสะท้อนอะไร

Posted: 05 Jul 2013 11:25 PM PDT

การจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ ทำให้ได้แง่คิดมุมมองและบทเรียนต่างๆ แก่รัฐบาลและสังคม

ประการแรก แม้จะมีการยกเลิกค่าพรีเมียมข้าว เพื่อยกระดับราคาข้าวให้ชาวนา จะมีการประกันราคาหรือจำนำข้าวมาหลายรัฐบาล โดยเฉพาะความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลชุดนี้ แต่ดูเหมือน ปัญหาของชาวนา การถูกเอาเปรียบ ความยากจนจะยังเหมือนเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ผู้เขียนขอยกส่วนหนึ่งของบทความที่เคยเขียนลงตีพิมพ์ในสยามรัฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2517 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ

...เมื่อเร็วๆ นี้ชาวนาภาคกลางจำนวนหนึ่งได้เดินขบวนมากรุงเทพฯและเสนอให้รัฐบาลทำการค้าข้าวเสียเอง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและเศรษฐกิจโดยส่วนรวมมากยิ่งกว่าระบบการค้าข้าวที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของชาวนาอย่างเปิดเผยและแข็งขันเช่นนี้นับเป็นครั้งแรก เท่าที่ผ่านมามีเพียงนักวิชาการและนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯจำนวนหนึ่งที่เป็นปากเป็นเสียงแทนชาวนา ด้วยเหตุนี้ขอเสนอของชาวนาจึงเป็นสิ่งที่น่าขบคิด การที่ชาวนาเสนอเช่นนี้ย่อมหมายความว่าการตลาดของข้าวหรือระบบวิธีการค้าข้าวในปัจจุบันนั้นใช้ไม่ได้(ในยุคนั้นยังมีทั้งการเก็บพรีเมียมข้าว และให้โควต้าส่งออกแกผู้ส่งออก ซึ่งพรีเมี่ยมข้าวโดยผลก็คือภาษีที่เก็บจากผู้สงออกเข้ารัฐ มีผลให้ผู้ส่งออกกดราคาซื้อข้าวจากชาวนา ระดับราคาข้าวในประเทศต่ำ แต่คนเมืองได้ประโยชน์ไม่ต้องกินข้าวแพง)...

การที่นักวิชาการหรือผู้ต้องการล้มรัฐบาล บอกว่าการจำนำข้าวเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด นั้นถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะตลาดข้าวมันไม่สมบรูณ์ กลไกตลาดไม่ได้ทำงานให้ความเป็นธรรมโดยเฉพาะกับชาวนา ข้อพิสูจน์ก็คือ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ก็ล้วนแทรกแซงตลาดเพื่อหวังช่วยชาวนาด้วยการประกันรายได้หรือจำนำข้าว แต่ทั้งสองวิธีก็มีข้อบกพร่อง แต่การจำนำข้าวโดยรัฐบาลนี้ มีความพยายามที่จริงจังกว่า ชาวนาชอบมากกว่าเป็นความพยายามที่จะดันราคาตลาดโลก และก็แน่นอนว่ามีปัญหาตามมามากว่า

ถ้ารัฐบาลยอมแพ้ เลิกโครงการจำนำ การตลาดข้าว ก็คงกลับไปเช่นเดิม ชาวนาก็คงถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นเดิม แต่หากรัฐทำต่อก็ไม่ควรย้ำอยู่กับที่เพียงวิธีการจำนำข้าว แต่ควรมองเป้าหมายไปที่สร้างกลไกตลาดให้ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละช่วง เช่น ชาวนา โรงสี เจ้าของโกดัง ผู้ส่งออกได้ส่วนต่างกำไรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม แนวคิดที่กว้างกว่า ไม่ว่าจะเป็นโซนนิ่ง การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปจากข้าว การให้ชาวนารวมตัวกันทำธุรกิจส่งออก หรือการให้นักเกษตรอุตสาหกรรมรายใหญ่เข้ามามีบทบาท การรวมตัวกับคู่แข่ง เหล่านี้ล้วนควรนำเข้ามาพิจารณา (บริษัทอาหารแปรรูป น้ำมันพืช อาหารสัตว์ ล้วนมีส่วนโดยตรงในการศึกษาวิจัย และแนะนำช่วยเหลือ เกษตรกร แต่ผู้ส่งออกข้าวไทยมีลักษณะเป็นแค่นายหน้าขายข้าว)

 

 2.

ประการทีสอง อดีตนายกสมัครได้กล่าววาทะเด็ดในช่วง 4-5 ปีก่อนเสียชีวิต สองเรื่องคือ ความกลัวทำให้เสื่อม พูดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็คือยิ่งรัฐบาลกลัวอำมาตย์มาก ไม่กล้าแก้รัฐธรรมนูญนั่นแหละรัฐบาลจะยิ่งเสื่อม อีกเรื่องก็คือ สุจริตคือเกราะบัง (เป็นส่วนหนึ่งของโคลงสุภาษิตไทย) เป็นคำกล่าวช่วงปราศรัย แสดงความมั่นใจว่าเพราะตนเองสุจริต ไม่ได้ทุจริต จึ่งไม่ต้องกลัวใคร พร้อมชี้แจงทุกเรื่อง ในกรณีการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เช่นกัน มีกระแสโจมตีมากมาย แต่ตราบเท่าที่ไม่มีการโกงกิน คอรัปชั่น โดยตรง ของ นายก ของรัฐมนตรี ส.ส. ของพรรค รวมถึงญาติมิตร ไม่มีการกระทำในลักษณะ สปก. 4-01 การโกงของอดีต รมว.กระทรวงสาธารสุข การบุกรุกป่าสงวน รัฐบาลก็คงอยู่บริหารต่อไปได้ ซึ่งสถานการณ์ ขณะเขียนบทความนี้ ก็เป็นเช่นนั้น เพราะยังไม่มีกระแสเกลียดชังของสังคมจากการทุจริตในระดับดังกล่าว ส่วนข้อโจมตีอื่นๆ นั้น สามารถชี้แจงได้ เช่น

ก. โครงการขาดทุน แม้จะมีความแตกต่างด้านตัวเลข ฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาลก็บอกว่า มากกว่า 2.3 แสนล้านบาท แต่เหตุผลหลักที่แตกต่างกันคือวิธีการลงบัญชี และการนับสต็อก ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติที่ 1.3 แสนล้านบาท แต่ประเด็นที่รัฐสามารถชี้แจงได้เพิ่มเติม คือ รัฐไม่ได้เล่นการพนัน หรือขายของถูกให้ต่างชาติแบบ ปรส. ซึ่งเงินหายออกจากระบบ จากการรายงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เงินออมของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเพิ่มจาก 1.4 ล้านบาทเป็น 2.5 ล้านบาท นี่พูดเฉพาะเงินออม ยังไม่นับเงินที่ชาวนาไปใช้หนี้หรือจับจ่ายใช้สอย

ข. โครงการนี้ทำให้เสียแชมป์ส่งออก นี้เป็นเรื่องท้าทาย ความพยายามของรัฐบาลชุดนี้ที่จะช่วยชาวนาจะผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นถือว่าล้มและก็มีผลทำให้เสียแชมป์ส่งออก แต่เราจำเป็นต้องยึดติดกับการเป็นแชมป์ส่งออกข้าวหรือ ขอให้ดู ยางพารา แต่เดิม เราส่งออกเป็นอันดับสามของโลก แต่ปัจจุบันเป็นอันดับหนึ่งของโลก นั้นเพราะว่า ทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่สนใจที่จะเป็นแชมป์ หันไปให้ความสำคัญกับการผลิตและส่งออก ปาล์มน้ำมันมากกว่า เพราะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้มากกว่า ที่สำคัญสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง ในมาเลเซียพื้นที่เพาะปลูกยางพาราลดลงแต่พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสูงเป็น 3 เท่าของยางพารา

ค. การทุจริตโครงการนี้ถูกโจมตีว่าทุจริต รั่วไหล แต่ก็ยังเป็นการทุจริต ระดับปฏิบัติ เช่นข้าวหายในโกดังเอกชนที่ จังหวัดพิจิตร รัฐควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในเรื่องนี้ จับกุม ลงโทษ โกดังหรือผู้ลักลอบนำข้าวมาสวมสิทธิ์

ง. ทำให้ผู้ส่งออกไทย ต้องไปหาซื้อข้าวจากเขมรส่งออก ซึ่งก็ไม่เสียหาย คนไทยควรมีบทบาทเช่นนี้นานแล้ว คือ เป็นตัวกลางนำสินค้าจากประเทศอื่นไปขาย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปรมาหากินลักษณะนี้ในไทยนานแล้ว

ดังนั้นสุจริตคือเกราะบัง ข้อโจมตีอื่นๆ อธิบายได้ แต่ถ้าทุจริต ใครก็ช่วยไม่ได้

 

3.

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เอื้อต่อการบริหารจัดการของฝ่ายบริหาร หมวดเศรษฐกิจกำหนดให้รัฐต้องทำกว้างมาก การทำงานของรัฐบาลอาจถูกตีความว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐต้องส่งเสริม การขนส่งทาง ราง แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่า ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ในส่วนที่เกี่ยวกับระบายข้าวซึ่งเป็นหัวใจของการจำนำข้าว จะเสียหายมากหรือกลายเป็นกำไรก็อยู่ที่การขายข้าว รมว.กระทรวงพาณิชย์ รวมถึง ข้าราชการระดับสูงจึงถูกเพ่งเล็งให้แสดงฝีมือ แต่ มาตรา 84 ชองรัฐธรรมนูญชุดนี้ระบุว่ารัฐต้อง

(๑) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค

ฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องไปให้ ปปช. สอบเพื่อเอาผิดรัฐบาลและข้าราชการ สองเรื่องคือการที่รัฐแถลงว่าขายข้าวให้รัฐวิสาหกิจจีนนั้นไม่ใช่การขายแบบรัฐต่อรัฐ และการขายข้าวต้องขายผ่านผู้ส่งออกหรือผู้ประกอบการ จะขายเองไม่ได้ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปจาก ปปช. แต่การกระทำของฝ่ายค้านก็ได้ผล จากคำแถลงของนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศบอกว่ากำลังเสนอแนวทางการระบายข้าวโดยให้ผู้ซื้อต่างประเทศมาจับมือกับเอกชนไทยและยื่นความจำนงซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ เนื่องจากการเปิดให้ผู้ซื้อต่างประเทศมายื่นซื้อโดยตรงไม่สามารถทำได้ เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นก็คือ รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ จะขยันขายข้าวไม่ได้ ได้คำสั่งซื้อมา อาจถูก ปปช. ระงับไม่ให้ขาย หรือได้คำสั่งซื้อมา หรือต่างประเทศติดต่อมาโดยตรง ก็ต้องไปเสนอซื้อร่วมกับผู้ส่งออกไทย ซึ่งไม่ต้องทำอะไร ก็จะได้ส่วนแบ่งจากการให้ใช้ชื่อ ความสูญเสียระหว่างทางจากการจำนำ แทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้น และการทำเช่นนั้นก็เสี่ยงต่อการฟ้องว่าใช้บริษัทพรรคพวก

ข้อสะท้อนประการสุดท้ายจากการจำนำข้าวครั้งนี้ก็คือ แม้จะหวังดี นโยบายดี แต่ก็ต้องรอบคอบ ทีสำคัญต้องได้คนตั้งใจทำงาน คนเก่ง มารับผิดชอบด้วย

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองของความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ: ไวรัส HPV

Posted: 05 Jul 2013 11:02 PM PDT

ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) กำลังกลายเป็นประเด็นทางการแพทย์ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางบนพื้นที่สาธารณะ ในฐานะ "ความเสี่ยง" (Risk) หรือ "ภัยคุกคาม" (Threat) ที่ถูกนิยามขึ้นภายใต้ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ อันสลับซับซ้อน โดยอาศัยการแปรรูปข้อมูลสถิติการวิจัยนานับประการให้กลายเป็น "ความจริงสูงสุด" สำหรับผู้คนทุกคนในสังคม(ที่เข้ามาสัมพันธ์กับความรู้ชุดนี้ ไม่ว่าจะ โดยทางตรงหรือทางอ้อม) ให้ต้องเชื่อตามข้อมูลเหล่านี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แม้จะไม่มีความเข้าใจ ต่อรูปแบบหรือกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับเทคนิควิธี ทางการแพทย์เลยก็ตาม อนึ่งตามบทความนี้ไม่ได้มีนัยยะที่จะปฏิเสธ วิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นพลังของชุดความรู้หนึ่งๆว่า สามารถกำหนดความคิดความอ่านของผู้คน ผ่านกระบวนการประกอบสร้างทาง ความหมายของ "ความเสี่ยง" "สุขภาพ" และ "อันตราย" ซึ่งในที่สุดแล้ว ได้กลับมา กำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
           
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงขอเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจไวรัส HPV ผ่านกรอบคิดทฤษฎีเรื่อง สังคมความเสี่ยงสูง (Risk Society) กล่าวคือ ตามวิธีคิดของ Ulrich Beck "ความเสี่ยง" ถือเป็นรากฐานของความเปลี่ยนแปลงชิ้นสำคัญ บนสังคมสมัยใหม่ ที่เน้นการวิพากษ์ข้อเท็จจริงต่างๆที่ปรากฏขึ้นในสังคม (Reflexive Modernity) โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่ไม่อาจกำหนดกะเกณฑ์อะไรได้ และส่วนใหญ่เป็นผลพวง (By-Product) จากการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งในยุคก่อนหน้า(1)  เช่น ความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ความสะอาดของ สายพานการผลิตสินค้าประเภทอาหาร และการดูแลสุขภาพพลานามัยของผู้คน เป็นต้น
 
ไวรัส HPV ก็เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น คือ มีลักษณะของ ภัยอันตรายอันทรงพลังในช่วงเวลาปัจจุบัน และสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ต่ออนาคตของผู้คน ยกตัวอย่างเช่น การดำรงอยู่ของ HPV ในร่างกายของมนุษย์ จากการวิจัยทางการแพทย์พบว่า เราไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่เป็น พาหะ (Carrier) ของเชื้อไวรัส HPV จากการสังเกตโดยทั่วๆไป เนื่องจากไวรัสชนิดนี้จะ ไม่แสดงอาการของโรค (Symptoms) เฉกเช่นเดียวกับไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชนิดอื่นๆ(2) เช่น เอดส์ หรือ เริม ดังนั้นกว่าผู้ป่วยจะค้นพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับ ภัยคุกคามของ HPV ก็เมื่อเชื้อโรคร้ายได้กระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย และขยายตัวเป็นมะเร็งนานาชนิดแล้ว เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิงส่วนนอก (Vulvar Cancer) มะเร็งในอวัยวะเพศหญิง (Vaginal Cancer) มะเร็งองคชาติ (Penile Cancer) มะเร็งทวารหนัก (Anal Cancer) รวมไปถึงมะเร็งช่องคอ (Oropharyngeal Cancer)(3)
 
จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัส HPV ได้เชื่อมโยงความรู้สึกไม่มั่นคง (Uncertainty) ในปัจจุบันกาล (Present) เข้ากับภัยอันตรายที่ดำรงอยู่ในอนาคตกาล (Futurnity) ซึ่งไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะปรากฎตัวขึ้นหรือไม่(4) หมายความว่า อาจจะเกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้น หรือ เกิดในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน และนั่นทำให้ระดับความไม่มั่นคง ยิ่งทบเท่าทวีคูณ ก่อให้เกิดเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงในจินตนาการของผู้คนอย่างสุดขั้ว
 
ในขณะเดียวกันข้อมูลสถิติทางการแพทย์สมัยใหม่ ได้ยกระดับความน่า สะพรึงกลัวของไวรัส HPV ขึ้นไปอีกขั้น โดยจากการสำรวจของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้คนกว่า 79 ล้านคน ที่เป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ และพร้อมที่จะกระจายความเสี่ยงผ่านการติดต่อทางเพศ สัมพันธ์ในทุกๆรูทวาร (โดยมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นราว 14 ล้านคน ต่อปี)(5)
 
จากสภาพการณ์ข้างต้นความตึงเครียด (Tension) ได้ปรากฎขึ้นในมโนทัศน์ ของผู้คนอย่างยิ่งยวด ก่อให้เกิดการเรียกร้องช่องทางในการระบายความคับข้อง ออกจากจินตนาการของพวกเขาอย่างรวดเร็ว และนั่นนำไปสู่การเข้ามาของทุน บรรษัทยาข้ามชาติ พร้อมวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่มีราคาต่อ 1 โด้สอยู่ที่ 6,000 บาท ซึ่งการันตีการสร้างภูมิคุ้มกัน 3 ถึง 5 ปี ตามชนิดของวัคซีน (Gardasil และ Cervarix)
 
อย่างไรก็ตามทางเลือกที่มีราคาสูงลิบลิ่วขนาดนี้ เมื่อเทียบกับการป้องกัน ด้วยวิธีอื่นๆ จำเป็นจะต้องได้รับการสลักหลัง หรือ ประทับตรารับรอง โดยผู้มีอำนาจ ในการกำหนดทิศทางของความรู้ เช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกา คือ ACIP (Advisory Committee on Immunization Practices) ซึ่งทำการแนะนำอย่างถึงที่สุด (Recommended) ให้เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 12 ปีในสหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนป้องเชื้อไวรัส HPV ตั้งแต่ยัง ไม่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก รวมไปถึงผู้หญิงอายุ 12 -26 ปี เด็กผู้ชาย และชายวัย 12 – 26 ปี(6) ซึ่งระดับของการสร้างภูมิคุ้มกันก็จะแตกต่างกันไป และยังไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะคงทนถาวรแค่ไหน
 
ประเด็นต่อมาที่ควรค่าแก่ความสนใจก็คือ หาก HPV มีอันตรายอย่างที่ว่าจริง ผู้มีอำนาจหรือรัฐจะเข้ามาจัดการกับปัญหาความเสี่ยงนี้อย่างไร เช่น ในกรณีของประเทศ ไทย ที่ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่าการลงทุนฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในเด็กผู้หญิง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก จะคุ้มทุนในเชิงขนาด (Economy of Scale) หรือก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน (Cost Effectiveness) หรือไม่ เมื่อเทียบกับ การรักษาพยาบาลชนิดอื่นๆ เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น หรือ การรณรงค์ให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
 
ดังนั้นเมื่อยังหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดสรรช่องทางระบายความเสี่ยง ทั้งในเชิงกายภาพ (True Risk) และ ในมโนทัศน์ของผู้คน (Perception of Risk) ไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกของความไม่แน่นอนก็จะดำรงค์อยู่ต่อไป และค่อยๆแพร่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ผ่านข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมหาศาล จากหน่วยงานรัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ องค์กรสาธารณสุข สื่อสิ่งพิมพ์ และโลกออนไลน์ ภายใต้สายธารของกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ครอบคลุมทั่วทุกปริมณฑล ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันพลังของความรู้ชุดนี้ ที่ค่อยๆประทับลงบนจินตนาการของผู้คนอย่างแนบแน่น และขยายตัวไปสู่การ กำหนดพฤติกรรม และทางเลือกในโลกที่เป็นจริงของพวกเขา
 
 
อ้างอิง
 
(1)   Ulrich Beck. Risk Society Towards a New Modernity (Sage Publications Ltd.), 1992
(2)   Centers for Disease Control and Prevention. "Basic Information about HPV-Associated Cancers". http://www.cdc.gov/cancer/hpv/basic_info/index.htm
(3)      Centers for Disease Control and Prevention. "Genital HPV Infection – Fact Sheet". http://www.cdc.gov/std/HPV/STDFact-HPV.htm
(4)   Elke Krahmann. Risk Markets: The Commodification of Security and the Risk Society (ECPR), 2007
(5)   Centers for Disease Control and Prevention. "Genital HPV Infection – Fact Sheet". http://www.cdc.gov/std/HPV/STDFact-HPV.htm
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คู่เจรจาโปรดทราบ “รอมฎอนนี้คนชายแดนใต้อยากทำความดีอย่างสงบ สันติ”

Posted: 05 Jul 2013 10:39 PM PDT

"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่นบีมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน (ปีนี้ 2556 อยู่ระหว่าง 10 กรกฎาคม 2556 - 8 สิงหาคม 2556) ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม (ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)

บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด ('ศิยาม'ในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอด หมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำที่ทำให้เสียศีลอด นับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เวลากลางวัน)"

จากคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ 4 ผ่านอุสตาซฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทนของแนวร่วม 7 ข้อ (ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย อาจารย์ Hara Shintaro โปรดดูรายละเอียดสามภาษาได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4402) ทำให้คนของรัฐบาลไทยและหน่วยความมั่นคงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวด้วยคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปคงจะล้ม

ในขณะที่ข้อเสนอหลายข้อถูกใจคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เรียกร้องมานาน และหลายข้อในข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลไทยรวมทั้งกองทัพได้ปฏิบัติและมีแผนที่จะปฏิบัติอยู่แล้ว

สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ อยากจะให้เดือนรอมฎอนในปีนี้ สงบ สันติและหยุดความรุนแรงสักเดือนในขณะเดียวกันกระบวนการพูดคุยสันติภาพก็อยากให้ดำเนินการต่อเพื่อเป็นทางออกทางการเมืองเพราะผลสำรวจล่าสุดยืนยันในความต้องการดังกล่าวของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ อดีตรัฐมนตรีคนในพื้นที่กล่าวว่า ข้อเสนอ 7 ข้อ ของ BRN เพื่อแลกกับการยุติการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน นับว่าเป็นข้อเสนอที่โดนใจชาวมลายูปาตานีเป็นอย่างมาก แต่สำหรับฝ่ายรัฐไทยกลับเกิดอาการหงุดหงิดและหนักใจ จนทำให้เกิดกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ รัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคง 2 ท่านจะถูกเปลี่ยนตัว เพราะไม่นิ่งและสุขุมพอที่จะรับข้อเสนอหนักๆของ BRN

"เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช กับผู้มีอำนาจรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยึดครองนั้น มักจะได้รับข้อเสนอที่เป็นบทหนักๆ ไว้ก่อนและเป็นการอิงกับความต้องการของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่

"ไม่แปลกหรอกครับกับการเสนอให้เรียกทหารกลับสู่กรมกอง ไม่อยากใช้คำว่าถอนทหาร ให้งดจำหน่ายสุราน้ำเมา ปิดแหล่งบันเทิงอบายมุขและให้ อส.มุสลิมหยุดปฏิบัติหน้าที่ให้มุ่งเข้าหามัสยิดให้มากๆ ในช่วงรอมฎอน เป็นข้อเสนอที่โดนใจมุสลิมผู้ศรัทธาอย่างจัง

"แล้วทำไมผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องเครียดไปด้วย แทนที่จะต่อรองลดราวาศอก กลับปฏิเสธอย่างทันควัน รัฐบาลตัดสินใจถูกแล้วปรับครม.ครั้งนี้ที่จะเปลี่ยนผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงเอาคนที่มีจิตใจหนักแน่น นิ่งๆ ลึกๆ กว้างๆ หวานๆ สุขุมรอบคอบมาแทนครับ" (โปรดดูใน https://www.facebook.com/areepen.utarasint?fref=ts)

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ หรือ CSCD จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South Poll) เมื่อช่วงวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าวันนัดพูดคุยที่มาเลเซียระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยและตัวแทนขบวนการปลดปล่อยปาตานีในวันที่ 13 มิถุนายน เพียงเล็กน้อย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,006 ราย จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวมีข้อสรุปดังต่อไปนี้

1. ความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ซึ่งมีระดับเฉลี่ยของคะแนนอยู่ที่ 5.80 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางบวก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ กับการศึกษาในครั้งแรกมีจำนวนผู้ยอมรับกระบวนการสันติภาพร้อยละ 67.17 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การสนับสนุนและยอมรับต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนมีจำนวนสูงขึ้นในการสำรวจครั้งนี้

2. ข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายรวมทั้งข้อเรียกร้อง 5 ข้อจาก BRN ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อเทียบระดับคะแนน ข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับ คือ กลุ่มที่ได้คะแนนการยอมรับสูงมาก เป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนเรื่องการร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ การลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่สูงในระดับที่สอง คือข้อเรียกร้องเรื่องบทบาทภาคประชาสังคมในการพูดคุยสันติภาพ การเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน(พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และการปกครองแบบพิเศษ เป็นต้น

ส่วนข้อเรียกร้องในระดับที่สาม ส่วนใหญ่คือข้อเรียกร้องของ BRN คือการลงประชามติเรื่องอนาคตปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การให้มีประเทศอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอเป็นสักขีพยานในการเจรจา และการยกเลิกบัญชีดำที่หมายตัวผู้กระทำผิด เป็นต้น

ข้อเรียกร้องทั้งสามกลุ่ม ได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ตอบทั้งหมดแต่มีระดับความรู้สึกความเชื่อมั่นสูงต่ำแตกต่างกันไป

3. ข้อเรียกร้องของ BRN ได้รับคะแนนการยอมรับจากประชาชน ประชาชนรับได้ในระดับที่พอสมควร แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่า ระดับน้ำหนักไม่ใช่อยู่ในกลุ่มระดับคะแนนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของประชาชนเรื่องอื่นๆ จึงควรได้รับการพิจารณาโดยร่วมกับข้อเสนออื่นๆของภาคประชาชน

4. น่าสังเกตว่า ข้อเสนอของ BRN ที่มีคะแนนยอมรับค่อนข้างสูงมากกว่าข้อเสนออื่น 5 ข้อคือ ต้องการเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ มีระดับความเห็นยอมรับเฉลี่ยอยู่ที่ 6.94 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.8 อีกข้อก็คือต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียมีบทบาทเป็นตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยแทนที่จะเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเจรจา มีระดับความเห็นเฉลี่ยที่ 6.11 (โปรดดูรายละเอียดใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4397)

จริงอยู่ในประวัติศาสตร์อิสลามนั้นในสมัยศาสนทูตมุฮัมมัดเคยมีการทำสงครามที่เรียกว่าสงครามบัดร เมื่อวันที่ 17 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 2  (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน  http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1770) แต่เป็นสงครามที่ท่านป้องกันตนเองจากศัตรูที่เข้ามาโจมตีและหมายปองชีวิตท่านอย่างชัดเจน

อย่างไรก็แล้วแต่  คนในพื้นที่ตอนนี้อยากให้รอมฎอนปีนี้ เป็นจุดเริ่มตนของความสงบ สันติและหยุดความรุนแรง ดังนั้นไม่ว่าฝ่าย BRN หรือรัฐบาลและหน่วยความมั่นคงน่าจะชิงประกาศการสร้างบรรยากาศ การหยุดสงคราม และความรุนแรงโดยปราศจากเงื่อนไขก็จะได้ใจมวลชนคนพื้นที่อย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกันผู้เขียนในนามคณะทำงานประชาสังคมยังคงนำเสนอ แผนที่เดินทางสันติภาพแก่ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าจนบรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยนำความสันติสุขแก่ประชาชน ภาคประชาสังคมจะผนึกกำลังร่วมกันกับทุกฝ่าย แม้ว่าเวทีการพูดคุยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ (โปรดอ่านรายละเอียดใน http://www.deepsouthwatch.org/node/4352)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความวอชิงตันโพสต์วิพากษ์ รปห.ไม่มีข้อยกเว้น ล้วนเดินหน้าสู่ความมืดมัวและรุนแรง

Posted: 05 Jul 2013 08:57 PM PDT

ผู้ช่วย บก. ประจำหน้ากองบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ วิพากษ์รัฐประหารอียิปต์ ชี้ตัวอย่างในรอบ 50 ปีรวมถึงกรณีของไทยพิสูจน์แล้วว่า รัฐประหารไม่ให้ผลเป็นอย่างอื่นนอกจากความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องนับสิบปี

<--break->

แจ็คสัน ไดล์ ผู้ช่วยบรรณาธิการประจำหน้ากองบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ เขียนบทความ Egypt's misguided coup เผยแพร่ในวอชิงตันโพสต์ วิพากษ์กรณีที่ชาวอียิปต์ที่ออกมาต่อต้านประธานาธิบดี โมฮัมเม็ด มอร์ซี จำนวนไม่น้อยพยายามให้คำนิยามเกี่ยวกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาในลักษณะที่เป็นข้อยกเว้น หรือไม่เหมือนการรัฐประหารที่อื่นในโลก เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน และเป็นการรัฐประหารเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนว่า อียิปต์ไม่ใช่ข้อยกเว้นและไม่ได้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากกรณีอื่นๆ

เขากล่าวว่า ชาวอียิปต์จำนวนไม่น้อยอาจจะพยายามอธิบายว่ามีบางอย่างที่เรียกได้ว่าเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของการรัฐประหารโดยกองทัพที่มีประชาชนหนุนหลังซึ่งเกิดขึ้นในไคโรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่ทั้งโลกซึ่งเป็นพยานการรัฐประหารหลายครั้งหลายคราในรอบครึ่งศตวรรษนี้ จากบัวโนสไอเรสถึงกรุงเทพฯ ฝูงชนได้เรียกร้องให้นายพลทั้งหลายออกมาโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และแสดงการสนับสนุนเมื่อได้รับการตอบสนองจากกองทัพ ทว่าโดยปราศจากข้อยกเว้น ผลที่ตามมาของการรัฐประหารนั้นมีแต่ความมืดมัว และความรุนแรง หากไม่เกิดสงครามกลางเมือง ก็เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ หรือไม่ก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาอีกนับทศวรรษ และที่สำคัญคือ คนที่ถูกโค่นอำนาจลงไปด้วยการรัฐประหารก็จะกลับคืนสู่อำนาจในที่สุด ต่างกันที่เร็วหรือช้าเท่านั้น

ไดล์ ระบุว่าถึงลักษณะที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นกับอาร์เจนติน่า เวเนซุเอล่า ตุรกี ไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งเสรีหลังจากถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ การเลือกตั้งที่เสรีนำมาซึ่งกลุ่มอำนาจใหม่ ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่นั้นมักเป็นตัวแทนของคนจนและคนในชนบทที่มักไม่ค่อยได้โอกาสสัมผัสกับคุณค่าของวิถีแบบชนชั้นกลางและชนชั้นสูง แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลใหม่ที่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าและระบอบอำมาตย์ ตุลาการและสื่อ ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยหวังประโยชน์ในการเลือกตั้ง เหยียบย่ำเสรีภาพของพลเมือง และบ่อยครั้งก็บริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดทิศทางอย่างเลวร้ายด้วยการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้แล้วรัฐบาลของโมฮัมเม็ด มอร์ซีก็มีข้อแตกต่างเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ฮวน เปรอง ของอาร์เจนตินา, ฮูโก ชาเวซจากเวเนซุเอลา หรือทักษิณ ชินวัตร ของไทย แต่มอร์ซีล้มเหลวในการประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้าน ล้มเหลวในการจัดการกับเศรษฐกิจ ขณะที่ก็มีความพยายามเพียงเล็กน้อยในการจัดการกับอุดมการณ์อิสลาม

ไดล์ระบุว่าคนที่เชียร์รัฐประหารนั้นมีมายาภาพร่วมกันอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ พวกเขาจะคิดว่าเหล่านายทหารมีจุดร่วมกันกับตนเอง และสำหรับฝ่ายตรงข้ามที่พวกเขาเกลียดชังแล้ว แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งมาก็สามารถทำให้เป็นโมฆะไปได้ แต่ในความเป็นจริงก็คือ กองทัพนั้นไม่ได้สันทัดในการเจรจาหรือใช้แนวทางเสรีนิยม ทหารถนัดที่จะใช้กำลังบังคับ และแม้กองทัพจะไม่ได้ฆ่าหรือทรมานใคร แต่สิ่งที่ทำก็คือการกวาดล้างผู้นำทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงลงไป ปิดสื่อและปรับเปลี่ยนกติกาการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองและทางธุรกิจของตัวเอง

ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วหลังการโค่นประธานาธิบดีมูบารักลงไปเมื่อปี 2011 และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันพุธที่ผ่านมาก็เป็นเช่นเดียวกัน กองทัพปิดสถานีโทรทัศน์ และรวบตัวผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสรีประชาธิปไตยกำลังเฉลิมฉลองสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

เขาชี้ว่าทางที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ก็คือ กลุ่มอิสลามจะลงใต้ดินและนำไปสู่สงครามเหมือนที่เกิดขึ้นในอัลจีเรียเมื่อปี 1992 หรืออย่างที่อาจจะเป็นไปได้น้อยกว่าแต่ก็ยังเป็นไปได้ก็คือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะสะสมมวลชนผู้สนับสนุนมากพอที่จะเดินกลับเข้าสู่อำนาจ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของชาเวซ ในเวเนซุเอล่าเมื่อปี 2002

ทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ กลุ่มอิสลามรวมถึงกลุ่มซาลาฟีซึ่งสุดโต่งกว่ารัฐบาลที่ถูกโค่นลงไป จะใช้ช่วงเวลานี้ จัดรูปองค์กร เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมืองจากภาวะปั่นป่วนสับสนและสามารถจะชนะเลือกตั้งได้ เหมือนกับที่เสื้อแดงของทักษิณ หรือกรณีมุสลิมในตุรกี หรือผู้สนับสนุนเปรอง และฝ่ายสังคมนิยมในชิลีเคยทำมา ไดล์ยังยกตัวอย่างกรณีของนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่หวนคืนสู่อำนาจหลังโดนรัฐประหารไป 14 ปี โดยที่นายพลผู้นำการปฏิวัติถูกจับกุม

ไดล์กล่าวว่ามีวิธีการอื่นๆ ที่จะหยุดยั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจากการผูกขาดอำนาจและทำลายประชาธิปไตย นั่นก็คือ ต้องเรียนรู้จากตัวอย่างอื่นๆ เช่นกรณีของตุรกีที่มวลชนสามารถผลักรัฐบาลอิสลามออกจากอำนาจเบ็ดเสร็จได้ ขณะที่ก็คงรัฐธรรมนูญเอาไว้ได้ หรือกรณีของเวเนซุเอล่าที่ฝ่ายค้านเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเอง จัดรูปองค์กรและลงแข่งขันในการเลือกตั้งแม้จะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมและพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะยืนหยัดอย่างมีความพร้อม ในขณะที่รัฐบาลชาเวซกำลังค่อยๆ ล้มเหลวแตกยับไปด้วยตัวเอง

 

 

ที่มา: สรุปความจาก Egypt's misguided coup, Washington Post

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น