โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกษตรกรรมในเมือง กับการรื้อฟื้นความเป็นชุมชนและการพัฒนาสังคม

Posted: 07 Jul 2013 10:53 AM PDT

โดยทั่วไปว่า เรามักเข้าใจว่าเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่คู่กับชนบท แต่พูดตามความจริงแล้ว เกษตรกรรมที่ทำในเมือง (Urban agriculture) มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐอเมริกา เกษตรกรรมในเมืองมีจุดกำเนิดจากแรงบันดาลใจหลากหลาย นับตั้งแต่ความต้องการผลิตอาหารกินเอง ความต้องการให้การศึกษาแก่คนในเมือง ความต้องการพัฒนาสังคม ไปจนถึงความต้องการสร้างชุมชนโดยผ่านการเกษตรกรรรม และความต้องสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เกษตรกรรมในเมืองมีรูปแบบหลากหลาย นับตั้งแต่สวนขนาดใหญ่ของชุมชน ไปจนถึงสวนหลังบ้านของครอบครัว ที่ต้องการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือน และฟาร์มขนาดเล็ก โครงการให้การศึกษาแก่เยาวชน รวมถึงการทำฟาร์มเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ เกษตรกรรมในเมืองยังครอบคลุมกิจกรรมทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดอีกด้วย

ส่วนการที่ผู้นำของการริเริ่มเกษตรกรรมในเมืองมักจะมีบทบาททางสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การส่งเสริมสุขภาวะของสังคม การรณรงค์ปัญหาโรคร้อน ความเป็นธรรมทางอาหาร และนิเวศวิทยาในเขตเมือง เป็นต้น ทำให้มีคำพูดว่า เกษตรกรรมในเมืองจึงถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Urban agriculture as a social movement) ในสังคมสมัยใหม่ การที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบนี้เอื้อประโยชน์หลากหลาย ทำให้เห็นว่าเกษตรกรรมในเมืองสามารถนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมอย่างกว้างขวาง ความต้องการใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรกรรมในเมืองมีภาพลักษณ์ของการปฏิวัติในแบบที่ Michael Ableman เกษตรกรและนักเขียนเรียกว่า "การปฏิวัติเงียบ" (A Quiet revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติการผลิตอาหารและการตลาด และเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการที่จะใช้เกษตรกรรมเพื่อช่วยให้บรรลุอุดมคติที่ต้องการและสร้างความยั่งยืน อย่างไรก็ดี เกษตรกรรมในเมืองอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรืออาจเป็นแค่การทำสวนธรรมดาๆ หรือทางเลือกในการดำรงชีวิตของคนในเมืองก็ได้ เกษตรกรรมในเมืองจะมีความหมายอย่างไรก็ขึ้นกับเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของการทำเกษตรกรรมในเมืองแต่ละโครงการเป็นสำคัญ

ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจาก US Department of State ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนชื่อ Economic Empowerment Program Exchanged Fellow Program ที่ให้ผ่าน The Maureen and Mike Mansfield Center มหาวิทยาลัยมอนทาท่า สหรัฐอเมริกา เพื่อไปเรียนรู้และเยี่ยมชมโครงการหลายแห่งในมลรัฐมอนทาน่า ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมในเมือง สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ค้าผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น และผู้ประกอบการด้านแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม รวมถึงธุรกิจการเกษตรเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร

ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมโครงการ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มลรัฐมอนทาน่า ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความเป็นชุมชนผ่านการทำเกษตรกรรม โครงการนี้สร้างโอกาสให้คนในเมืองสามารถเป็นผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเท่ากับช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนั้นโครงการยังมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการพัฒนาสังคม ดังจะเห็นได้จากการมุ่งผลิตอาหารเพื่อช่วยเหลือคนจน ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร และผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ในที่นี้ ไม่ได้เน้นการผลิตเพื่อการค้า แต่ต้องการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่มีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตอาหารอย่างยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือการเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคในเมือง ผ่านระบบตลาดทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ  


 เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

ประวัติศาสตร์ของเกษตรกรรมในเมืองสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การทำสวนครัวมีเป้าหมายเพื่อผลิตอาหารให้พอเลี้ยงประชากร และเป็นวิธีที่รัฐบาลส่งเสริมให้พลเมืองมีส่วนร่วมในสงคราม ผ่านการผลิตอาหารส่งไปเลี้ยงกองกำลังทหารในสนามรบ ในนามโครงการชื่อ "The Victory Garden Campaign" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ ของสหรัฐสี่กระทรวง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เกษตรกรรมในเมืองได้เปลี่ยนสถานะเป็นกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน ส่วนสวนเกษตรภายใต้โครงการ The Victory Garden Campaign ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรของชุมชนในเมือง (Urban community gardens) แต่ก็ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่จนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 รัฐบาลสหรัฐมีบทบาทในการส่งเสริมเกษตรกรรมในเมืองมาตั้งแต่ต้น ผ่านการออกกฎหมายและการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน รัฐบาลใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือชาวเมืองผู้มีรายได้น้อยให้มีอาหารพอกิน เช่น กฎหมายของมลรัฐแมสซาชูเซส อนุญาตให้ผู้มีรายได้น้อยทำการเกษตรบนผืนดินว่างเปล่าเพื่อยังชีพ โครงการสวนในเมือง (Urban Garden Program) ของ USDA จำนวนมากก็เริ่มดำเนินการในช่วงนี้ เน้นให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคด้านการเกษตรแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในปีแรกของการดำเนินการ โครงการนี้ให้การสนับสนุนเกษตรกรรมใน 6 เมือง เช่น นิวยอร์ค ชิคาโก ลอสแองเจลิส ฟิลาเดลเฟีย ดีทรอย และฮุสตัน แต่การขยายการสนับสนุนหน่วยงานรัฐท้องถิ่นในหลายมลรัฐทั่วประเทศ ส่งผลให้โครงการนี้ต้องยุติการดำเนินการลงเนื่องจากขาดงบประมาณ

ราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เริ่มมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมหลายกลุ่มหันมาสนใจเกษตรกรรมในเมือง เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมือง กลุ่มเรียกร้องสันติภาพ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่ม Back-to-the-city กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ฯลฯ เกษตรกรรมในเมืองเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลโดยชุมชนในเขตเมือง ไม่ได้จัดการโดยองค์กรภายนอกเช่นที่ผ่านมา บางองค์กรให้ความสนใจกับการสร้างชุมชนเกษตรกรขึ้นมาใหม่โดยผ่านการทำเกษตร สำหรับเกษตรกรส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกในช่วงนี้ พวกเขาแสวงหาวิธีการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองหาระบบตลาดที่เกษตรกรจะสามารถนำผลผลิตไปขายให้ผู้บริโภคในเมืองโดยตรง ส่วนผู้บริโภคในเมืองก็มีโอกาสช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย


เกษตรกรรมในเมืองปัจจุบัน

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบัน กระแสความตื่นตัวเรื่องเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนจากโครงการภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล มาสู่การเป็นกิจกรรมของชุมชน ในปัจจุบัน เกษตรกรรมในเมืองทำภายใต้จุดประสงค์ที่เคยเป็นมาในอดีต เช่น การให้ศึกษา การฝึกทักษะชีวิตให้เยาวชนและผู้ใหญ่ การรื้อฟื้นความสนใจโครงการ The Victory Garden Campaign ขึ้นมาใหม่ การรื้อฟื้นความเป็นชุมชนขึ้นมาใหม่ การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมือง ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกามีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สวนชุมชน (Community garden) สวนหลังบ้าน โครงการเข้าถึงอาหาร โครงการของผู้ประกอบการ มีการก่อตั้งเครือข่ายของผู้ทำเกษตรกรรมในเมืองในปี 1992 มุ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมามีการตั้งเครือข่ายต่างๆ เช่น The Community Food Security Coalition (CFSC) The MetroAg Alliance Growing Food and Justice for All กล่าวได้ว่า เกษตรกรรมในเมืองกลายเป็นที่สนใจของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง

งานวิจัยที่ศึกษาเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกามักจะให้ความสนใจสวนชุมชนและสวนของผู้ประกอบการ เนื่องจากมองว่าเกษตรกรรมในเมืองมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้การศึกษาและสร้างความเป็นชุมชนให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง เกษตรกรรมในเมืองมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยให้คนจนเมืองและคนที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสามารถเข้าถึงอาหารสดและสะอาด ช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าอาหาร ช่วยให้ได้ออกกำลังกาย ฝึกทักษะอาชีพ และช่วยสร้างงานสำหรับคนชายขอบ เช่น เยาวชนกลุ่มเสี่ยง คนไร้บ้าน ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ ผู้หญิงที่ไม่มีงานทำ เป็นต้น  

ในแง่ประโยชน์ทางด้านจิตวิทยา เกษตรกรรมในเมืองช่วยให้ประชากรในเมืองและเพื่อนบ้านสามารถเข้าถึง ควบคุมและจัดการที่ดินสาธารณะได้ ทำให้คนในเมืองได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติที่มีอยู่ในเขตเมือง และทำให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัยน่าอยู่ มีงานวิจัยที่ศึกษาเกษตรกรรมในสามเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พบว่าเกษตรกรรมในเมืองสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยาแก่คนในเมืองในสังคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เกษตรกรรมในเมืองมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในเมืองเช่นกัน เพราะมีการใช้ยาฆ่าแมลงและการกำจัดขยะปนเปื้อนสารเคมีอย่างไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะที่ถูกทิ้งร้างก็มักจะมีปัญหาในเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะโลหะหนักที่มีอันตราย

ในแง่ข้อจำกัดและสิ่งท้าทายสำหรับเกษตรกรรมในเมือง มีงานวิจัย (Kaufman and Baikey 2000: 56-29 อ้างใน Reynolds  2010: 32) กล่าวถึงข้อจำกัดและสิ่งท้าทายสำหรับเกษตรกรรมในเมือง 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง ด้านพื้นที่ทำเกษตรกรรม เช่น การปนเปื้อนสารพิษ ความมั่นคง ระบบกรรมสิทธิ์ สอง ด้านบทบาทของรัฐ เช่น การออกกฎหมายควบคุมของรัฐ การขาดการสนับสนุนของรัฐ สาม ด้านกระบวนการผลิต เช่น การขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน การขาดการวางแผนทางธุรกิจที่เหมาะสม การสูญเสียเป้าหมายที่วางไว้ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน สี่ ด้านวิสัยทัศน์ เช่น มุมมองด้านลบต่อการทำเกษตรในเมือง การทำแปลงเกษตรร่วมกันของคนอเมริกันกับคนผิวสี นอกจากนี้ การบูรณาการเป้าหมายทางสังคมเข้ากับเกษตรกรรมในเมืองก็เป็นสิ่งท้าทายเช่นเดียวกัน รวมถึงทัศนคติที่เชื่อว่าเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะอยู่ในเมือง ก็นับเป็นประเด็นท้าทายสำหรับการทำเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐด้วยเช่นกัน จากเหตุผลดังกล่าว การส่งเสริมเกษตรกรรมในเมืองจึงต้องอาศัยวิธีการเชิงบูรณาการ เพื่อให้สามารถนำเสนอประเด็นที่ท้าทายเหล่านี้ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกษตรกรรมในเมือง การขยายความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ผู้ทำเกษตรกรรมในเมือง การให้การศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรกรรมในเมือง การส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับระบบเกษตรกรรมในเมือง การประยุกต์ใช้งานวิจัยกับระบบนิเวศในเมืองและการเกษตร การหารูปแบบของการทำเกษตรกรรมในเมืองที่เหมาะสมเพื่อทำการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ และเป็นแนวทางของการพัฒนาต่อไปในอนาคต


 เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

ประสบการณ์จากการเยี่ยมชมโครงการเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกา

มูลนิธิ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจหลายโครงการ ได้แก่ หนึ่ง โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมในโรงเรียน (Farm to School) ให้การอบรมความรู้ด้านการเกษตร จัดทำหลักสูตรการเกษตรในโรงเรียน การฝึกภาคสนามในฟาร์มภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยมอนทาน่า (PEAS FARM) การบรรยายในห้องเรียน การออกค่ายภาคฤดูร้อน การสอนทำอาหาร ทำสวนครัวและทำฟาร์ม โครงการนี้ให้การศึกษาแก่ชาวเมืองมิสซูล่าในเรื่องอาหารและแหล่งผลิตอาหาร โดยผ่านการลงมือทำงานจริงในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนและผู้ใหญ่เกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร การเกษตร วิทยาศาสตร์ และชีวิตประจำวัน

สอง โครงการสวนชุมชน (Community garden) โครงการนี้ทำแปลงรวมของชุมชนในละแวกใกล้ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั่วเมืองมิสซูล่า พื้นที่ทำสวนชุมชนอาจเป็นของเทศบาล โบสถ์ หรือองค์กรเอกชนที่นำมาแบ่งสรรเป็นแปลงย่อยเล็กๆ แล้วให้ผู้สนใจเช่าสำหรับทำสวนปลูกพืชผัก ไม้ดอก สมุนไพร เพื่อบริโภค เพื่อขาย หรือเพื่อสันทนาการ สวนชุมชนแต่ละแห่งจัดหาที่ดินทำการเกษตรให้แก่สมาชิกขนาดกว้าง 15 ฟุต และยาว 15 ฟุต พร้อมอุปกรณ์ในการทำเกษตร น้ำ ปุ๋ย ฟาง ความรู้ นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับคำแนะนำจากผู้ประสานงานโครงการ

นอกจากนั้น โครงการยังจัดอบรมผู้ทำสวนมือใหม่เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในเรื่องวิธีการทำสวน พฤกษศาสตร์ แหล่งอาหารและการทำอาหาร ในสวนชุมชน สมาชิกเก่าที่ทำเกษตรมานานจะทำงานร่วมกับสมาชิกใหม่ เรียนรู้จากกันและกัน และแบ่งปันทรัพยากรกัน สมาชิกสามารถมีอาหารพอกิน และประหยัดงบประมาณในการซื้ออาหาร เกิดความภาคภูมิใจ ได้ลิ้มรสชาติอาหารสดใหม่ที่ปลูกจากสวน นอกจากผู้มีรายได้น้อยแล้ว ประชาชนทั่วไปยังได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมกับโครงการนี้ ผ่านการเช่าที่ดินทำเกษตร การกินอาหารร่วมกัน การอ่านหนังสือใต้ร่มไม้ และการช่วยสนับสนุนเงินทุนสำหรับครัวเรือนที่ขาดแคลน โครงการสวนชุมชนบริจาคอาหารให้กับธนาคารอาหาร (Food Bank) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่บริจาคอาหารให้แก่คนจนที่เข้าไม่ถึงอาหาร ผู้ขาดแคลน บ้านพักเยาวชน และหน่วยงานอื่นๆ ในเมืองมิสซูล่า



เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: แปลงเกษตรใน Neighborhood Farm

สาม สวนแห่งเพื่อนบ้าน (Neighborhood farm) เป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ซึ่งมักจะในนามของโครงการหรือองค์กร เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยอาจจ่าย หรือไม่จ่ายค่าเช่าก็แล้วแต่ตกลงกัน เพื่อให้ผู้ที่อาศัยในย่านใกล้เคียงเข้ามาทำสวนพืชผักกินหรือขาย ฟาร์มใกล้บ้านผลิตพืชผักและอาหารสำหรับคนที่ขาดแคลน ร่วมกับโครงการอื่นๆ เช่น PEAS FARM ฟาร์มสำหรับเยาวชน สวนผลไม้ (Orchard garden)

สี่ โครงการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยง (Youth development) ให้การสนับสนุนทางด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการทำงานสำหรับเยาวชนที่มีปัญหาต้องคดี ติดยาเสพติดและไร้บ้าน โดยเยาวชนจะได้ทำงานในฟาร์ม (PEAS FARM) สัปดาห์ละสี่วัน ทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยมอนทาน่า ซึ่งมาเรียนรู้เรื่องการเกษตรในรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน และทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นชาวเมืองมิสซูล่าที่อาสาช่วยทำงานในฟาร์ม นอกจากนั้น เยาวชนกลุ่มเสี่ยงยังรับผิดชอบโครงการตลาดเคลื่อนที่ พวกเขาจะช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตสดๆ นำไปขายราคาถูกในชุมชนการเคหะและชุมชนที่อยู่อาศัยของคนพิการ นอกจากนั้น โครงการยังจัดส่งอาหารสดไปให้ธนาคารอาหารในเมืองมิสซูล่าด้วย รวมถึงขายผลผลิตในระบบผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิต (Community Supported Agricuture-CSA)

ระบบซีเอสเอเชื่อมต่อเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง เกษตรกรได้ประโยชน์จากการมีผู้ซื้อผลผลิตที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้กินอาหารที่สด อร่อย และราคาถูกกว่าพืชผักที่ขายในร้านค้าปลีก นอกจากนั้น เกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กันด้วย เกษตรกรได้รู้จักผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคก็ได้รู้จักเกษตรกรและรู้ว่าอาหารผลิตจากไหนและผลิตอย่างไร Garden City Harvest ดำเนินการระบบซีเอสเอ 3 ระบบ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคล้ายกันคือการเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับอาหาร การเกษตรและแหล่งผลิต แต่ช่วงฤดูกาลของการผลิต ราคาผลผลิตและปริมาณผลผลิตของแต่ละระบบมีรายละเอียดแตกต่างกัน


เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล : เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

โครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้เยาวชนมีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเอง สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ และมองเห็นโอกาสในชีวิตอื่นๆ อีกด้วย เห็นได้จากการที่เยาวชนกลุ่มเสี่ยงบางคนที่ผ่านการร่วมโครงการได้รับการจ้างเป็นพนักงานของโครงการ บางคนริเริ่มทำฟาร์มของตัวเอง และบางคนมีโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น

(ยังมีต่อ)

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Kristin Arfi  Reynolds. 2010. Urban Agriculture as Revolution: An Action Research and Social

          Movement Analysis of Food Production in Alameda County, California. Ph.D.

            Dissertation, University Of California.

Craig J. Pearson, Sarah Pilgrim, Jules Pretty OBE (Eds.). 2010. Urban Agriculture: Diverse

            Activities and Benefits for City Society. International Journal of Agricultural

          Sustainability. Vol. 8 Vol.1-2.

Jeremy N. Smith. 2010. Growing a Garden City. China: Skyhorse Publishing.

 

 

           

           

           

             

           

             

             

            

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุดมการณ์ชาตินิยมใน “คู่กรรม”

Posted: 07 Jul 2013 09:28 AM PDT

ถึงแม้ภาพยนตร์ "คู่กรรม" เวอร์ชันล่าสุดจะล้มไม่เป็นท่าอันแตกต่างจากเวอร์ชันละครซึ่งออกสู่สายตาสาธารณชนในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ยังมีคนถามผู้เขียนว่าอีกนานไหมที่นักสร้างภาพยนตร์ชาวไทยจะเลิกหยิบนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างอีก ทั้งไม่นับอภิมหาอมตะภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เช่น นางนาค บ้านทรายทอง  ปัญญาชนก้นครัว ข้าวนอกนาหรือแม้แต่บ้านผีปอบเสียที ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะเป็นในช่วงชีวิตของพวกเราหรือว่าจนกว่าประเทศต่างๆ จะจมน้ำกันหมดเพราะภาวะโลกร้อนหรือโลกถูกดาวหางชนจนพังพินาศไปหรือไม่  แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องมีภาพยนตร์คู่กรรมเวอร์ชันต่อไป (ซึ่งน่าจะรออีกไม่กี่ปีข้างหน้า) เพราะผู้สร้างภาพยนตร์ไม่กลัวว่าคนดูจะเบื่อเนื้อเรื่องแต่อาจจะพิจารณาเงื่อนไขอะไรบ้างอย่างมากกว่าอย่างเช่นภาพของผู้มารับบทเป็นคู่พระคู่นางโดยเฉพาะอังศุมาลิน หรือจุดขายอื่นๆ เช่นอาจมีคนสอดแทรกแนวคิดอื่นให้ทันสมัยเช่น "คู่กรรมเพื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือ "คู่กรรมฉบับเอาใจนักลงทุนญี่ปุ่นผ่านไทยสู่ทวาย"  เป็นต้น   กระนั้นต้องมีแนวคิดหลาย ๆอย่างที่ผู้เขียนจะวิเคราะห์ต่อไปนี้เหมือนเดิม

แน่นอนว่าการที่นวนิยายเรื่องหนึ่งๆ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่เนืองๆ ไม่นับเวอร์ชันละคร โทรทัศน์หรือละครเวทีหรือละครเพลง ย่อมเป็นตัวสะท้อนหรือตัวตอกย้ำวาทกรรมอะไรบางประการของสังคมได้อย่างดีจึงจะได้รับการตอบรับจากมวลชนอย่างล้นหลามแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร สำหรับคู่กรรมซึ่งสะท้อนภาพของญี่ปุ่นในฐานะศัตรูหรือผู้ยึดครองประเทศได้แตกต่างจากนวนิยายหรือภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติของไทยเรื่องอื่นที่มุ่งโจมตีผู้รุกรานยึดครองคือพม่าเหมือนท้องฟ้ากับก้นเหว[i] เพราะสำหรับคนไทยแล้วญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไทยเฝ้ามองอย่างชื่นชมมานาน ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ของเอเชียที่เปิดประตูสู่ตะวันตก มีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รวมไปถึงการพัฒนาการทางทหารจนทันสมัยกลายเป็นมหาอำนาจจนญี่ปุ่นเป็นเอเชียชาติแรกที่สามารถทำสงครามทางเรือชนะฝรั่งคือรัสเซียได้ในปี 1905  นายทหารไทยในยุคต้นๆ  เช่นพวกที่ก่อขบฏรศ.130  จึงให้การยกย่องญี่ปุ่นอย่างมาก 

แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 30-40 ญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้ร้ายด้วยลัทธิฟาสซิสต์และลัทธิทหารหรือหลายทศวรรษต่อมาญี่ปุ่นจะตั้งตัวจากความพินาศทางสงครามและกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจนถูกโจมตีโดยนักศึกษาไทยว่าเป็นภัยเหลืองหรือจักรวรรดินิยมใหม่ แต่คนไทยทั่วไปก็พอให้อภัยต่อญี่ปุ่นในฐานะนายทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่มาลงทุนในประเทศไทย สินค้าญี่ปุ่น  วัฒนธรรมญี่ปุ่นหรือ J-pop หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าไปท่องเที่ยวและน่าสงสารเห็นใจเมื่อโรงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะถูกซึนามิถล่มเมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้นการที่ภาพยนตร์จะสะท้อนภาพทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกในด้านลบอาจทำให้ไม่ได้รายได้จากคนดูชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่นิยมชมชอบญี่ปุ่น (แม้ว่าปัจจุบันจะน้อยกว่าเกาหลีก็ตาม) เป็นกอบเป็นกำนัก ที่สำคัญยังก่อให้ เกิดบรรยากาศไม่ค่อยดีต่อเศรษฐกิจไทย ยิ่งปัจจุบันญี่ปุ่นจะมาให้ไทยเป็นทางผ่านไปตีพม่าครั้งที่ 2 ในสมรภูมิเศรษฐกิจเสรีนิยม เราก็ต้องเอาใจพม่ากันมากกว่าเดิม

ตัวอย่างของความเกรงใจของสื่อไทยในการนำเสนอภาพของคนญี่ปุ่นก็ได้แก่ตอนที่ผู้เขียนจำได้ว่านานมากแล้วมีคนนำเรื่องสั้นของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชคือเรื่อง"มอม" มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ได้พบกับ ปัญหากับ ก.บ.ว.ในยุคนั้นมากเพราะถูกหั่นในฉากที่นำเสนอทหารญี่ปุ่นในด้านลบ ในทางกลับกัน  ไทยก็หันไปเชิดชูญี่ปุ่นผ่านแง่มุมอื่นทางประวัติศาสตร์อื่นๆ โดยมากเกี่ยวกับการทหาร เช่น ประวัติของนายยะมะดะ ซามูไรที่เดินทางมารับราชการเป็นทหารรับจ้างในสมัยพระเจ้าทรงธรรม จนได้กลายเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ในภาพยนตร์ตำนานพระนเรศวรก็มีคนญี่ปุ่นมาเป็นรับใช้ในกองทัพโดยได้บรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข   เข้าใจว่าคนญี่ปุ่นมาดูก็คงจะยิ้มแป้นด้วยความภูมิใจว่าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติของสยามประเทศ  กระนั้นการจะวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่คู่กรรมได้รับความนิยมเพราะคนไทยชื่นชอบญี่ปุ่นและต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่นก็คงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง เพราะทฤษฎีอื่นๆ ก็ดูเข้าทีไม่น้อยอย่างเช่นหลักจิตวิทยาที่เคยมีคนวิเคราะห์กันมาแล้วเช่น ความรักของอังสุมาลินเป็นแบบความรักแบบจำยอม (Masochist love) หรือเป็นความรักแบบโรมิโอกับจูเลียตที่หนุ่มสาวคู่รักมาจาก 2 ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกันหรือคนเขียนนิยมลัทธิทหารเพราะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาจึงใช้โกโบริเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งของกองทัพ ฯลฯ

สำหรับผู้เขียนคิดว่าสาเหตุอื่นที่ทำให้นวนิยายถูกสร้างมาเป็นภาพยนตร์หรือละครไปเรื่อยๆ เพราะนัยของลัทธิชาตินิยมที่ซ่อนเร้นในเรื่องที่ทำให้นวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ไม่มีใครจะเสียสติพอจะจัดให้เรื่องคู่กรรมว่าเป็นนวนิยายปลุกใจให้คนไทยรักชาติเหมือนศึกบางระจัน  เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างญี่ปุ่นและไทยในคู่กรรมดูเหมือนจะขัดกับวาทกรรมชาตินิยมดังในนวนิยายเรื่องอื่น   ความจริงแล้วหากมองให้ลึกไปกว่านั้นนวนิยายได้สะท้อนอุดมการณ์ชาตินิยมที่แนบเนียนกว่า เช่นถึงแม้คู่กรรมจะสะท้อนถึงเมืองไทยที่ตกอยู่ภายใต้    "ภาวะจำยอมภายใต้อำนาจของศัตรู"  เหมือนฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึดครองในปี 1940 คือไม่สามารถสร้างฉากหรือ scenario ที่นักรบชาวไทยเข้าสู้จนเลือดหยดสุดท้ายเพื่อปกป้องบ้านเมืองได้  แต่นวนิยายก็สามารถทำให้คนไทยรู้สึกดีได้โดยการนำเสนอภาพของตนเองไม่ได้อยู่ในด้านลบเช่นบรรยายว่าทหารญี่ปุ่นปฏิบัติต่อคนไทยดีกว่าชาติอื่นในเอเชียทำให้คนไทยที่คุ้นชินกับลัทธิชาตินิยมยังคงรักษาความเชื่อที่ว่า "ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร"เอาไว้ได้  เพราะญี่ปุ่นเสมือนไม่ได้ยึดครองไทยแต่เป็น"พันธมิตร" กับรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่าชั่วร้ายและทะเยอทะยานในช่วงที่องค์กษัตริย์กำลังประทับอยู่ต่างประเทศ  กล่าวคือญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิบัติต่อคนไทยในฐานะผู้ยึดครองแต่เป็นมิตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลในยุคนั้นรวมถึงความเชื่อคนไทยจำนวนมากในปัจจุบันและคงสืบต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้การให้ตัวแทนของฝ่ายไทยคืออังศุมาลินเท่ากับการทำให้ไทยมีเพศสภาพเหมือนผู้หญิง  (feminizing)  อันขัดแย้งกับการบรรยายเรื่องแบบชาตินิยมที่มักทำให้คนไทยเป็นผู้ชายเช่นเป็นนักรบที่แข็งแกร่ง แต่ก็เป็นตัวตอกย้ำมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นกับไทยว่าเหมือนเป็นคู่รักอย่างแสนดูดดื่มดุจดังเช่นงานวิวาห์ระหว่างโกโบริและอังศุมาลิน        อังศุมาลินจึงเปรียบกับทูตสันถวไมตรีของ 2 ชาติที่เป็นพันธมิตรเคียงคู่ไปด้วยกันโดยตั้งอยู่บนความเคารพและให้เกียรติกันจนเป็นการยกย่องความเป็นนักการทูตของคนไทย นอกจากนี้อังศุมาลินก็ยังแสดงถึงความเป็นอิสระของคนไทยเช่นมีความกล้าหาญสามารถช่วยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรร่างสูงโย่งที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการจับกุมตัวของทหารญี่ปุ่น อันสะท้อนว่าถึงแม้เธอจะเป็นคู่รักของโกโบริแต่ก็ไม่ถูกความเป็นญี่ปุ่นครอบงำความเป็นคุณธรรมของคนไทย 

ความสัมพันธ์อันแสนดีของไทยกับญี่ปุ่นเช่นนี้ เป็นตัวรับประกันว่าอังศุมาลินหรือผู้หญิงไทยคนอื่นไม่มีทางจะถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืนหมู่หรือถูกจับไปเป็นหญิงบำเรอกาม (Comfort Woman)   นอกจากนี้คนไทยยังไม่มีทางถูกทหารญี่ปุ่นบังคับให้ขุดดินแล้วฝังให้ตายทั้งเป็นพร้อมกันเป็นหมู่เหมือนคนจีนในเมืองนานกิงเมื่อปี 1937 เว้นแต่จะถูกลงโทษแต่ไม่รุนแรงเท่ากับคนชาติอื่นที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง แถมนวนิยายยังได้ชี้ได้ว่าเป็นเพราะพฤติกรรมไม่ดีของคนไทยเองที่เป็น"ไทยถีบ" ไปขโมยของทหารญี่ปุ่นก่อน ไทยจึงดูเหมือนว่ามีความเหนือกว่าจีน เกาหลีหรือเพื่อนประเทศกลุ่มอาเซียนที่โดนญี่ปุ่นบุกเข้าไปยึดครองเหมือนกัน แต่การนำเสนอเช่นนี้มักมองข้ามข้อมูลทางประวัติศาสตร์เช่นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นหรือคนไทยกับทหารญี่ปุ่นจนเกือบจะนำไปสู่สงครามระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกันจริงๆ หลายครั้งจนสิ้นสงครามโลก

การสะท้อนนัยของอุดมการณ์ชาตินิยมแบบแนบเนียนอีกวิธีหนึ่งของนวนิยายคือการดึงเอาตัวตนจากภายนอกเช่นต่างชาติซึ่งดูสูงส่งหรือมีความซับซ้อนกว่าเข้ามาเป็นของชาติตัวเอง[ii]  อย่างเช่นนวนิยายดึงเอาโกโบริมาเป็นเป็นวีรบุรุษของคนไทยโดยที่ยังคงเป็นทหารญี่ปุ่นอยู่คือความเป็นลูกครึ่งระหว่างคนไทยกับญี่ปุ่นแบบพิศดาร ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าไม่มีคู่กรรมเวอร์ชั่นใดที่เสี่ยงเอาคนญี่ปุ่นจริงๆ มาแสดงเป็นโกโบริ แม้ว่าพระเอกหลายคนค่อนข้างห่างจากผู้ชายญี่ปุ่นไปมากก็ตามอย่างเช่นนาทภูวนัย ธงชัย แม็คอินไตย  วรุฒ วรธรรม อย่างไรก็ตามการที่คุณทมยันตีเกิดเมื่อปี 2480 และเขียนเรื่องคู่กรรมเมื่อ พ.ศ.2508 ย่อมบอกได้ว่าเธอไม่น่าจะรับรู้ตัวตนหรือสามารถนำเสนอภาพที่แท้จริงของทหารญี่ปุ่นได้เลย แต่อาจจะมีลักษณะบางประการที่ดูสอดคล้องกันบ้างเช่นให้โกโบริเป็นลูกผู้ชายมีความกล้าหาญสามารถสู้จนตัวตายหรือทำฮาราคีรีก็ได้ ถึงแม้โกโบริจะเป็นคนญี่ปุ่นแต่การมีคุณธรรมและการยึดมั่นในสมเด็จพระจักรพรรดิของเขาย่อมทำให้ตัวละครเช่นนี้ย่อมสอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยมที่ผสมกับราชานิยมไม่น้อย

ส่วนตัวตนด้านอื่นของโกโบรินั้นก็น่าจะเกิดจากการที่คุณทมยันตีได้ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของชายชาติทหารในนวนิยายแบบพาฝันของยุโรปซึ่งได้รับความนิยมในเมืองไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมารวมไปถึงพระเอกในวรรณคดีไทย (?)   เช่นเขาซ่อนความอ่อนโยน ความอ่อนไหว (เล่นดนตรีขิม) และความเปิ่น (พยายามเรียนภาษาไทย) ภายใต้ความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็น Ideal type ของผู้ชายตามรสนิยมของผู้หญิงไทยในยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง เขาจึงดูเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่น่าจะผ่านศึกสงครามที่อื่นมาโชกโชน ไม่ผ่านสงครามที่เซี่ยงไฮ้หรือนานกิง ไม่มีการกล่าวถึงอุดมการณ์ฟาสซิสต์แบบญี่ปุ่น ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติแถมยังมีมุมมองที่ดีและชอบเมืองไทย การยกย่องทหารญี่ปุ่นแบบฝัน ๆ แบบโกโบริ ยังสอดคล้องกับอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางหรือราชาชาตินิยมที่เว้นไม่นำเสนอวีรกรรมของบุคคลบางกลุ่มซึ่งเป็น "คนนอก" ที่พวกกษัตริย์นิยมถือว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเช่นนวนิยายไม่ได้กล่าวถึงหรือยกย่องบรรดาทหาร ตำรวจและยุวชนทหารซึ่งต่อสู้กับการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นเพราะคนเหล่านั้นเป็นผลผลิตของระบบราชการที่วางโดยจอมพล ป. และต้องต่อสู้ภายใต้การปลุกระดมลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป.ที่ถูกโจมตีว่าเป็น "พวกล้มเจ้า"หมายเลข 1   แถมยังยุติการรบเพียงเพราะได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ต่อสู้จนตายเพราะรักชาติและพระมหากษัตริย์  นวนิยายยังทำให้ขบวนการเสรีไทยที่มีตัวแทนของวนัส "เพื่อนสนิท"ของอังศุมาลินด้อยพลังไปอีกเช่นกันเพราะขบวนการเสรีไทยเป็นสัญลักษณ์ของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น "พวกล้มเจ้า" หมายเลข 2 คือนายปรีดี พนมยงค์ (ทั้งที่ความจริงมีตัวละครหลักในการจัดตั้งเสรีไทยมากกว่านั้น)และยังร่วมมือกับฝรั่งที่ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดให้ชาวพระนครเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งโกโบริ ทั้งที่ความจริงแล้ว  ทั้ง 2 กลุ่มเป็นวีรบุรุษของคนไทยแต่มักไม่ถูกนำเสนอให้ชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ไทยในระนาบเดียวกับบรรพบุรุษของไทยแต่โบราณทั้งหลายเพราะไม่สามารถเข้าได้กับโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

จากเหตุผลข้างบนย่อมทำให้มีการวิเคราะห์ได้ว่านวนิยายคู่กรรมได้รับความนิยมเพราะนอกจากจะสะท้อนนัยของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มีวีรสตรีคืออังศุมาลิน แล้วโกโบริเป็นตัวละครที่เข้ามาชดเชยความเป็นทหารไทยผู้กล้าในอดีตที่สูญหายไปในช่วงที่พระมหากษัตริย์ไทยเสมือนไม่ได้มีตัวตนหรือบทบาทคือในช่วงที่สามัญชนไม่ว่าพลเรือนหรือทหารผลัดกันเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมากตั้งแต่หลัง  2475 จนมาถึงปี 2500 โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนไทยมักรู้สึกว่าตนนั้นด้อยความสามารถในการป้องกันประเทศมากที่สุด แต่โกโบริสามารถทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาเป็น         "Our Kind of guy"  มากว่าเสียกว่าคนไทยด้วยกันบางกลุ่มดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเสียอีกเพราะบทบาทของพวกเขาถูกบดบังโดยอิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม[iii] ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้รื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับนำไทยเข้าสู่สงครามเย็นและวาทกรรมของทหารกล้าซึ่งต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์จะเข้ามีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์และสื่อบันเทิงอื่นๆ  ของไทย

ด้วยการสะท้อนและการผลิตซ้ำนัยของชาตินิยมเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคู่กรรมจะยังคงเนื้อเรื่องเช่นนี้ไว้อยู่ตลอดไป.....

 

 


 

[i] การที่ภาพยนตร์ปลุกใจให้รักชาติทั้งหลายที่ผ่านมาของไทยมักจะมีศัตรูคือพม่า ก็เพราะรัฐไทยมีวาทกรรมหลักคือแนวคิดราชาชาตินิยมผสมกับลัทธิทหารนิยม แนวคิดราชาชาตินิยมก็คือลัทธิชาตินิยมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำชาติไทยต่อสู้กับศัตรูจนสามารถดำรงมาจนถึงปัจจุบันได้ ดังนั้นการสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับสงครามกับพม่าก็เป็นตัวตอกย้ำวาทกรรมเช่นนี้ได้เรื่อยๆ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ตำนานสุริโยทัยและตำนานพระนเรศวร 

 

[ii] วิธีการเช่นนี้มีในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องเช่นให้พระเอกซึ่งเป็นตัวแทนของคนผิวขาวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนต่างชาติหรือต่างเผ่าพันธุ์จนได้รับการยกย่องจากคนเหล่านั้นประดุจดังคนในกลุ่มของตัวเองเพื่อสะท้อนอุดมการณ์เสรีนิยมที่ยกย่องชนกลุ่มน้อย เช่น     Dances with Wolf หรือเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับตะวันออกอย่างเช่น  The Last Samurai

 

[iii] ตามความจริงถ้าไม่นับการแย่งชิงอำนาจ การทำรัฐประหารกันอย่างถี่ยิบแล้ว แล้วทหารในยุคนั้นก็ไม่ได้แกร่งกล้าน้อยไปกว่ายุคอื่นเลย แต่วีรกรรมของทหารไทยในยุคนั้นมักจะได้รับการถูกสร้างเป็นภาพยนตร์น้อยเต็มที เช่นการทำสงครามแย่งชิงดินแดนจากฝรั่งเศส (1940) ย่อมไม่มีทางถูกสร้างเป็นอันขาดเพราะกลายเป็นเชิดชูจอมพล ป.หรืออาจกระทบความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส  เป็นที่น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่อง มหาอุตม์ (2546) ให้ผู้ร้ายสามารถทำลายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งถูกสร้างในสมัยจอมพล ป.เพื่อยกย่องวีกรรมของทหารในสมรภูมินี้ได้ราบเป็นหน้ากลองโดยไม่ถูกทางการเซ็นเซอร์ อันสะท้อนว่าสังคมไทยซึ่งอ่อนไหวในเรื่องอนุสาวรีย์ไม่มีที่ว่างสำหรับจอมพล ป.จริงๆ   หรือการทำสงครามเกาหลีที่ทหารไทยในรัฐบาลจอมพล ป.ไปร่วมรบกับสหประชาชาติ (1950-1953) ภาพยนตร์ก็ดันไปเน้นความรักระหว่างทหารไทยกับสาวเกาหลีอย่างเช่นเรื่องอารีรังแทน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ขายที่ดินบริจาคของคลินิกแม่ตาว

Posted: 07 Jul 2013 07:38 AM PDT

ในที่สุดจนถึงขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่า พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ได้ขายที่ดินสองแปลงที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นที่ดินที่ซื้อด้วยเงินบริจาคจากผู้ใจบุญต่างประเทศเจาะจงให้คุณหมอซินเธีย แห่งคลินิกแม่ตาว ไว้ทำประโยชน์แก่สาธารณะ  พระกิตติศักดิ์ขายให้กับ พ.ต.ท.ชลเทพ ใหม่ไชย สวส.สภ.ฝาง  อำเภอที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

ทันทีที่ท่านสารวัตร ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลของเรื่องนี้ ก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ยินดีขายคืนให้กับมูลนิธิฯในราคาที่ซื้อมารวมค่าโอน สองล้านแปดแสนบาท

ผมเคยเป็นกรรมการมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ในช่วงปี 2547 ปีที่มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ตามที่มีผู้บริจาคเงินเท่ากับราคาที่ดิน  ขอเล่าเรื่องราวในช่วงนั้นว่า

ในปี2547นั้น มีการระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินสองแปลงให้กับคุณหมอซินเธีย ผู้อำนวยการคลินิกแม่ตาว

แปลงแรกโฉนดเลขที่11081 ราคา 1,776,696.85 บาท เป็นแปลงที่อยู่ติดทางเข้าคลินิก

แปลงที่สอง โฉนดเลขที่13389 ราคา 820,000 บาท เป็นแปลงที่อยู่ห่างออกไป ประมาณห้ากิโลเมตร รวมสองแปลงเป็นเงิน 2,596,696.85 บาท

มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ขณะนั้นมี อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นประธาน

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณเป็นรองประธาน มี พระสุพจน์ สุวโจ คุณสมเกียรติ  มีธรรม และตัวผมเอง เป็นกรรมการ  มีคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์   เป็นผู้ประสานงาน

ได้เห็นชอบจดทะเบียนครอบครองที่ดินดังกล่าว เนื่องจากคุณหมอซินเธียไม่ได้ถือสัญชาติไทยและคลินิกแม่ตาวไม่ได้เป็นนิติบุคคล

ในการทำหนังสือสัญญาขายที่ดินเมื่อ 8 มกราคม 2547 อาจารย์ดร.ประมวล เพ็งจันทร์และผมเป็นตัวแทนมูลนิธิฯ ลงนามซื้อขายที่ดิน โดยระบุวัตถุประสงค์ของการซื้อในแต่ละแปลงไว้ชัดเจนว่า

 " ซื้อเพื่อเป็นสถานที่ให้บริการด้านสาธารณสุข "สำหรับแปลงแรก

และ" ซื้อเพื่อเป็นสถานที่ให้การศึกษาพื้นฐาน " สำหรับแปลงที่สอง

ในครั้งนั้นผมและอาจารย์ประมวลได้พบกับคุณหมอซินเธีย ได้เห็นการทำงานการรักษาพยาบาล ได้เห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอาสามาทำงานในช่วงที่สามารถลาพักจากงานประจำ ได้เห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้คนมากมายที่เข้ามาขอรับการรักษา หลายคนเดินทางรอนแรมเป็นวันๆ เพื่อมาที่นี่

และได้ทราบว่าแต่ละปีคลินิกแห่งนี้ให้การรักษาพยาบาลแก่แรงงานชาวชาติและชนกลุ่มน้อยปีละเป็นแสนคน

ผมได้เห็นความมีเมตตาธรรมของคลินิกแม่ตาวที่ตั้งใจอย่างสุดความสามารถเท่าที่กำลังคนและทรัพยากรจะเอื้อให้เป็นไปได้ เป็นความประทับใจและรู้สึกดีใจว่ามูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก็พอมีส่วนช่วยให้ผู้ที่ตั้งใจทำบุญ บรรลุวัตถุประสงค์

ไม่นึกว่าเวลาผ่านไปไม่ถึงสิบปี มูลนิธิฯจะเอาที่ดินผืนนี้ไปขาย  ผมไม่เข้าจริงๆว่าท่านทำไปได้อย่างไร?  ทั้งที่รู้อยู่อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าโฉนดที่ดินสองแปลงที่มูลนิธิฯถือไว้นั้น  ผู้บริจาคเงินทำบุญมีวัตถุประสงค์อย่างไร

ไม่ทราบว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้กรรมการทุกท่านรับทราบหรือไม่ ผมอยากฟังความคิดเห็นจากกรรมการปัจจุบัน  อยากทราบว่าแต่ละท่านคิดอย่างไร?

ท่านทราบใช่ไหมครับว่าทางคลินิกได้โอนย้ายไปอยู่กับมูลนิธิสุวรรณนิมิตแล้ว และร้องขอให้ท่านโอนโฉนดไปให้กับมูลนิธิใหม่ดูแล  ทำไมท่านถึงปฏิเสธ ? ท่านเอามาขายทำไม?

ปัญหาเกิดขึ้นมาถึงขณะนี้ เมื่อ พ.ต.ท.ชลเทพ ใหม่ไชย ได้กล่าวแก่สาธารณะเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยินดีขายคืนในราคาที่ซื้อมา

ทำให้ผมมีข้อเสนอดังนี้

ขอเสนอให้กรรมการมูลนิธิฯมีมติ เอาเงินที่ขายได้ทุกบาททุกสตางค์ คืนให้แก่คลินิกแม่ตาว เพื่อจะให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ไปซื้อคืนต่อไป

ขอย้ำนะครับว่า หากมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ มีความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องการยึดเงินบริจาค ที่เขาไม่ได้มีเจตนาจะมอบให้ ไว้เป็นของตัว  ขอให้นำเงินที่ขายได้สองล้านแปดแสนบาท คืนให้แก่คลินิกแม่ตาวเสีย

ผมเชื่อว่าคนเรามีโอกาสผิดพลาด  หากทราบแล้วรีบตั้งสติแก้ไขก็จะผ่อนเบาปัญหาไปได้ ขอให้รีบทำทันทีได้ไหมครับ?

 

 

(อาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดบายศรีสู่ขวัญ “ธันย์ฐวุฒิ” อดีตผู้ต้องขัง 112

Posted: 07 Jul 2013 07:09 AM PDT

ภาพบรรยากาศงานบายศรีสู่ขวัญที่หน้าศาลอาญา\

สัมภาษณ์หนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ 3 ปี ในเรือนจำได้ข้อสรุปอะไรบ้าง 

 

7 ก.ค.56  ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดงานบายศรีสู่ขวัญ ให้อดีตนักโทษการเมืองคนล่าสุดที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา คือ ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์

ธันย์ฐวุฒิ อายุ 41 ปี เป็นอดีตผู้ดูแลเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (อ่านรายละเอียดคดีที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/19#detail)

เขาถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.53 โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเขาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คดี แต่ภายหลังได้ถอนอุทธรณ์และขอพระราชทานอภัยโทษพร้อมกับ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 12 ปีครึ่งจากมาตรา 112 และนายวันชัย แซ่ตัน ชาวสิงคโปร์ที่ถูกจำคุกจากมาตราเดียวกัน 15 ปี อย่างไรก็ตาม วันชัยได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนหน้านี้และถูกส่งตัวกลับสิงคโปร์หลังจากได้รับการปล่อยตัว เหลือเพียงสุรชัย แซ่ด่าน วัย 71 ปี ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดี 112 รายอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำได้แก่ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีจากการปราศรัยเวทีย่อยที่สนามหลวง ถูกคุมขังมาแล้ว 5 ปี คดีอยู่ระหว่างฎีกา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี รวมกับโทษจากข้อหาหมิ่นประมาท...สพรั่ง กัลยาณมิตรอีก 1 ปีรวมเป็น 11 ปี จากกรณีเป็นบรรณาธิการวารสารการเมืองซึ่งตีพิมพ์บทความของบุคคลอื่นที่เข้าข่ายหมิ่นฯ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์, เอกชัย (สงวนนามสกุล) ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือน จากกรณีขายซีดีสารคดีการเมืองของสถานีข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย, ยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) ถูกพี่ชายแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีเขียนถ้อยคำลงบนแผ่นซีดีของตัวเอง คดีอยู่ในชั้นศาล จะมีการสืบพยานนัดแรก  20 ส.ค.นี้

ธันย์ฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานบายศรีสู่ขวัญว่า ข้อสรุปจากการอยู่ในเรือนจำ 3 ปีกว่าคือ มวลชนต้องใช้สติให้มาก กล้าวิพากษ์วิจารณ์กันเอง และควรปล่อยผู้ต้องขัง 112 อย่างน้อยระดับมวลชน เพราะการคุมขังไว้ยิ่งสร้างความโกรธแค้น ไม่เป็นผลดีต่อผู้ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังยืนยันว่าจะมุ่งมั่นในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองให้ออกจากเรือนจำ และต้องการให้มีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตในเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังโดยทั่วไปด้วย เนื่องจากมีสภาพที่แออัดมากเนื่องจากระบบยุติธรรมของไทยไม่ค่อยให้ประกันตัว หรือมีการพิพากษาคดีเล็กๆ น้อยๆ ด้วยโทษจำคุก 1- 2 เดือนทั้งที่กระทำความผิดครั้งแรกเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รู้จักอาดลี มานซูร์ และเหตุผลที่ทหารแต่งตั้งเขาเป็นผู้นำชั่วคราวของอียิปต์

Posted: 06 Jul 2013 11:51 PM PDT

หลังเกิดรัฐประหารในอียิปต์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอียิปต์ประกาศให้อาดลี มานซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีทันทีที่มีการยึดอำนาจ นักวิเคราะห์มองว่ากองทัพเลือกมานซูร์เพราะภาพลักษณ์ดูเป็นกลาง และอาจต้องการใช้อำนาจทางอ้อมได้โดยไม่ถูกประณามเหมือนครั้งที่ยึดอำนาจมูบารัก


เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2013 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นกล่าวถึงอาดลี มานซูร์ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำชั่วคราวหลังการรัฐประหารในอียิปต์ โดยแม้จะทราบข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับตัวเขา แต่ซีเอ็นเอ็นก็บอกว่าอาดลีเป็นคนลึกลับและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักขณะเดียวกันนักวิเคราะห์มองว่าคุณสมบัติเช่นนี้เองที่ทำให้กองทัพเลือกเขาขึ้นมาเป็นผู้นำชั่วคราวแทน โมฮาเหม็ด มอร์ซี ที่เพิ่งถูกทำรัฐประหารไป

"เขาเป็นคนแบบที่กองทัพต้องการ เป็นคนที่ไม่ค่อยเด่น แต่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคนนับถือ" เดวิด ฮาร์ทเวลล์กล่าว เขาเป็นนักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือจากวารสาร Jane's Islamic Affairs

หน้าที่หลักของอาดลี มานซูร์ คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นงานถนัดในฐานะที่เขาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด มานซูร์ เกิดในกรุงไคโร เข้าเรียนโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยในประเทศก่อนจะไปเรียนต่อที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อาดลี มานซูร์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากมอร์ซีให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ในปีนี้หลังจากที่เขาหมดวาระจากตำแหน่งเดิม และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ไม่กี่วันก่อนเกิดการรัฐประหาร

มานซูร์ กล่าวว่า เขาได้รับอำนาจจากประชาชนให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขการปฏิวัติโค่นล้มมูบารักในปี 2011 โดยที่มานซูร์เป็นคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลทั้งในสมัยมูบารักและมอร์ซี โดยก่อนหน้านี้อาดลี มานซูร์ยังได้เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายการเลือกตั้งในปี 2012 ที่ทำให้มอร์ซีขึ้นสู่อำนาจได้

นักวิเคราะห์ เดวิด ฮาร์ทเวลล์กล่าวอีกว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะพยายามบอกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้สมคบคิดในหมู่ผู้พิพากษาที่คอยต่อต้านภราดรภาพมุสลิม แต่ก็ดูเหมือนข้อกล่าวหานี้จะไม่มีน้ำหนักพอ เพราะเขาดูเป็นกลางและทำงานในฐานะผู้พิพากษาได้อย่างถูกหลักการตามกฎหมาย

ซีเอ็นเอ็น ระบุอีกว่า ในการประท้วงครั้งล่าสุด มีผู้ต่อต้านรัฐบาลมอร์ซีบางกลุ่มที่เรียกร้องให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาอยู่ในอำนาจแทน ซึ่งเดวิด วิเคราะห์ว่าในครั้งนี้กองทัพของอียิปต์ต้องการแสดงบทบาทในทางอ้อม และไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจการเมืองโดนตรง

สิ่งที่เดวิดวิเคราะห์ต่างจากการปฏิวัติในปี 2011 ซึ่งหลังจากที่กองทัพยึดอำนาจจากมูบารัก พวกเขาก็เข้ามาควบคุมการเมืองโดยตรง และสูญเสียความนิยมจากประชาชนหลังจากที่มีการปราบปรามการประท้วงมาโดยตลอด

นายพล อับเดล ฟัตตาร์ อัล-ซีซี ผู้นำกองทัพอียิปต์กล่าวว่า "อาดลีจะช่วยสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีความหลากหลาย"

ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีมีอำนาจในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.

 


แปละและเรียบเรียงจาก
Egypt's Adly Mansour: Interim president, veteran judge, mystery man, 05-07-2013

http://edition.cnn.com/2013/07/04/world/meast/egypt-mansour-profile/index.html?hpt=hp_t1

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น