โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สอบครูใหญ่ ร.ร.ในมาเลเซีย จัดให้ นร.ที่ไม่ได้ถือศีลอดทานมื้อเที่ยงในห้องน้ำ

Posted: 25 Jul 2013 12:27 PM PDT

รมช.ศึกษามาเลเซียเข้าตรวจสอบโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังผู้ปกครองร้องเรียนว่าครูใหญ่ปรับห้องน้ำให้เป็นโรงอาหาร สำหรับ นร.ที่ไม่ใช่มุสลิมใช้ช่วงถือศีลอด ด้านครูใหญ่ชี้แจงว่าโรงอาหารใช้ไม่ได้เพราะกำลังปรับปรุง ขณะที่ตำรวจมาเลเซียเตือนการแชร์รูป "มื้อเที่ยงในห้องน้ำ" ของโรงเรียนดังกล่าวอาจผิดกฎหมายปลุกระดม

ที่มาของภาพ: The Sun Daily

มาเลเซียกินี รายงานว่า ตำรวจรัฐสลังงอร์ ในมาเลเซีย ออกมาเตือนคนที่แชร์ภาพนักเรียนกินข้าวในห้องน้ำของโรงเรียน ว่าอาจะถูกสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายการปลุกปั่นยั่วยุ หรือ Sedition Act 1948 ได้

ภาพที่ถูกแชร์ครั้งแรกในเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นภาพของเด็กนักเรียนชาวจีนและอินเดียของโรงเรียนศรีปริศตินา เขตสุไหงบุโละ รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ถูกจัดให้รับประทานอาหารกลางวันบนโต๊ะที่ตั้งอยู่ในบริเวณห้องน้ำของโรงเรียน เนื่องจากครูใหญ่ของโรงเรียนสั่งให้ปิดโรงอาหาร เพื่อให้ความเคารพแก่ช่วงถือศีลอดหรือรอมฎอนของศาสนาอิสลาม

รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งรัฐสลังงอร์กล่าวว่า การเผยแพร่ภาพดังกล่าว จะสร้างความแตกแยกและการเหยียดเชื้อชาติศาสนา และระบุว่าตำรวจจะดำเนินคดีกับใครก็ตามที่เผยแพร่ข้อมูลที่ยั่วยุดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์

อนึ่ง พ.ร.บ.การปลุกปั่นยั่วยุ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทางการมาเลเซียใช้ควบคุมสื่อ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยประเทศไทยกำลังจะมีการออกกฎหมายลักษณะเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง ซึ่งสถานะล่าสุดคือ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อย่างไรก็ตาม ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ก็มีชาวมาเลเซียจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยใน นสพ.ออนไลน์มาเลเซียกินี รายงานความเห็นของผู้อ่านที่แสดงความเห็นว่า "หวังว่าจะเกิดกรณีเช่นนี้เพียงหนเดียวเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเขาจำเป็นจะต้องได้รับการอบรมเรื่องความรับผิดชอบด้านคุณธรรม" บ้างก็เสนอว่า การที่โรงเรียนทำเช่นนี้จะไม่เป็นการส่งเสริมมนุษยธรรมร่วมกันในสังคม การทำแบบนี้จะเป็นการสอนว่า "เราเหนือกว่าเขา" และ "ศาสนาของเราดีกว่าศาสนาของเขา" ซึ่งจะทำให้เด็กที่เติบโตมามีมุมมองหลงในเชื้อชาติตัวเอง บ้างก็เสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐคลี่คลายปัญหาโดยเร็วก่อนที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาทางเชื้อชาติ และเสนอว่าควรมีความเคารพซึ่งกันและกันระหว่าทุกเชื้อชาติและศาสนา

ล่าสุดนั้น The Sun Daily ของมาเลเซียรายงานเมื่อ 24 ก.ค. ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย พี กะมละนาทัน ได้เดินทางไปตรวจโรงเรียนดังกล่าว และครูใหญ่ของโรงเรียน โมฮัมหมัด นาซีร์ โมฮัมหมัด นูร ได้ชี้แจงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ที่ใช้โรงอาหารไม่ได้ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงโรงอาหาร โดยแต่เดิมโรงอาหารของโรงเรียนมีความคับแคบ รองรับนักเรียนได้ 500 คน แต่ปัจจุบันมีนักเรียนถึง 600-700 คน จึงย้ายนักเรียนมายังโรงอาหารชั่วคราวดังกล่าว เขายังยืนยันด้วยว่าแม้แต่นักเรียนมุสลิมเองก็ต้องมาใช้โรงอาหารชั่วคราวนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม นอกจากนี้ในข่าวยังมีการเผยแพร่ภาพที่ครูของโรงเรียนรวมทั้งตัวครูใหญ่ก็ต้องใช้ห้องน้ำดังกล่าวแทนโรงอาหารเช่นกัน

อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ปกครองและเอ็นจีโอชุมชน ที่มารอพบครูใหญ่ ต่างยืนยันว่าบุตรหลานของพวกเขาเพิ่งถูกย้ายให้มารับประทานอาหารที่โรงอาหารชั่วคราวดังกล่าวเมื่อ 12 ก.ค. นี้

นอกจากนี้ในรายงานของ The Sun Daily เมื่อ 25 ก.ค. ระบุว่า ผู้ปกครองที่ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเปิดเผยว่ามีผู้โทรศัพท์มาขู่ว่าจะทำลายทรัพย์สินของเธอ และลักพาตัวลูกสาวของเธอ อย่างไรก็ตามเธอยืนยันว่าที่ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมีสาเหตุเป็นเพราะไม่แน่ใจเรื่องความสะอาดของห้องน้ำอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ หรือศาสนา

ขณะที่ครูใหญ่ของโรงเรียนได้ถูกสั่งพักงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังเกิดเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยที่ผลการสอบสวนของฝ่ายการศึกษารัฐสลังงอร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึก "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (1) มิตรร่วม "หลังคาเรือน" ศรีบูรพา

Posted: 25 Jul 2013 12:07 PM PDT


"ศรีบูรพา"หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในญี่ปุ่น (คาดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนนิยาย "ข้างหลังภาพ"


"ผมเคยคิดว่า เมื่อผมตายแล้ว ผมถึงจะยอมเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง และบันทึกบางเล่ม เพราะบางสิ่งบางอย่าง สถานการณ์ยังไม่ยอมให้เปิดเผยออกไป!"

เป็นคำกล่าวของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งได้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของทุกข้อมูลจากสมุดบันทึกนับสิบเล่มของเขา ขณะทบทวนย้อนอดีตการไปเยือนจีน เมื่อปี พ.ศ.2501 ในนาม "คณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย" พร้อมคณะนักเขียนไทย 12 ชีวิต โดยมีนักเขียนเรืองนาม เจ้าของรางวัล "บุคคลดีเด่นของโลก" จากองค์การยูเนสโก "ศรีบูรพา" หรือกุหลาบประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าคณะ และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นเลขานุการคณะ

ในที่สุด คณะนักเขียน 10 ชีวิตดังกล่าวได้เลือกตัดสินใจกลับประเทศไทย แต่เหลือเพียง 2 ชีวิตที่ตัดสินใจเลือกลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป คือหัวหน้าคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและเลขานุการคณะ

บุคคลดังกล่าว ก็คือ ศรีบูรพา และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

บัดนี้ ศรีบูรพาได้ลาลับจากวงวรรณกรรมไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงผลงานอมตะไว้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาแนวทางจากแนวคิดของบุคคลดีเด่นของโลกผู้หนึ่ง

ส่วน สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังมีชีวิตในกรุงปักกิ่ง

เพื่อย้อนรำลึกเรื่องราวจากความทรงจำครึ่งศตวรรษในจีน ตั้งแต่นาทีแรกที่สัมผัสผืนแผ่นดิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานร่วม 50 ปี เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก บทสัมภาษณ์ดังกล่าวจึงพรั่งพรูจากปากของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เสมือนเป็นสิ่งตกค้างที่ใคร่เปิดเผยให้ชาวไทยได้ร่วมรับรู้มานับนาน



ใครคือ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์"

ธงไตรรงค์หน้าห้องพักเงียบสงบบริเวณ "สวนหญ่าหยวน" อันร่มรื่นใน "โรงแรมมิตรภาพปักกิ่ง" ของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งห้อมล้อมด้วยชาวต่างชาติจากทั่วโลกที่ไปทำงานให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีนในอาณาบริเวณที่ได้ชื่อว่า "เขตเฉพาะผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ" บ่งบอกได้ชัดเจนว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นคนไทย

ปี พ.ศ.2541 เป็นปีแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสผืนแผ่นดินจีน และรู้จักกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุโส" ของ "นิตยสารภาพจีน" (CHINA PICTORIAL) สังกัดกรมการพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีน จวบจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากการบอกเล่า ให้สัมภาษณ์ และเปิดสมุดบันทึกนับสิบเล่มของเขา จึงเป็นกระบวนการทำงานนับจากปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

"ศรีบูรพากับผมมีท่าทีอย่างนี้ คือ ไปชมที่ไหนก็ต่างคนต่างจด

พอกลับมาถึงที่พัก ศรีบูรพามักจะเรียกผมเข้าไปในห้อง และเปิดสมุดบันทึกของท่านทบทวนดู ตรงไหนสงสัยหรือจดไม่ทันก็ถามผม เช่นตรงนี้หมายความว่าอะไร ตรงนั้นหมายความว่าอย่างไร แล้วท่านก็เขียนเพิ่มเติม

รู้สึกว่าจดอย่างละเอียด โดยเฉพาะเกี่ยวกับการคุยกันกับนักประพันธ์ หรือของแปลกใหม่ ท่านก็จดคือจดอย่างละเอียด กลับมาก็มาเช็กกันอีกที เป็นอย่างนี้เกือบทุกครั้ง

ศรีบูรพาท่านให้ผมเอาสมุดบันทึกมาด้วย แล้วถามทบทวน เพราะบางทีท่านก็จดไม่ทัน ส่วนผมก็ใช้วิธีเดียวกับท่าน แต่จะไปทบทวนกับล่าม"

บัดนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในวัย 80 ปี ยังคงใช้ชีวิตพำนักในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นนักเขียนและอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "อิสรภาพ" ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักโทษคดี "กบฏสันติภาพ" ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในที่สุดได้ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ในจีน พร้อม "ศรีบูรพา"

สำหรับ ศรีบูรพา บัดนี้ได้ลาลับจากวงการวรรณกรรมไปแล้วในประเทศจีน ทิ้งไว้เพียงผลงานอมตะ และชื่อเสียงเกริกไกร อันเป็นต้นแบบที่ดีของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนไทยผู้มีอุดมการณ์

ส่วน สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังคงพำนักอยู่ในจีนเฉกเช่นก้าวแรกที่ไปสัมผัสผืนแผ่นดินมังกร ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2501 เป็นต้นมา

"ตอนนั้นเราเพิ่งออกจากคุก แล้วทางจีนเชิญเรามาด้วยเหตุผลว่า ประเทศจีน-ไทย มีความสัมพันธ์กันมานานนับพันปีแล้ว เรื่องอะไรเมื่อรัฐบาลไม่ชอบพอกัน แล้วไม่ให้เราไปมาหาสู่กัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศขาดลง เราจึงมาจีน..."

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ สรุปวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางไปจีนในครั้งนั้น

กล่าวได้ว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นับถือ "ศรีบูรพา" เป็น "กัลยาณมิตร" ที่เขาเชิดชูยกย่อง ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและผลงาน และพยายามเก็บทุกความทรงจำหรือหลักฐานต่างๆ ที่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันไว้อย่างน่าประหลาดใจ ด้วยเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน และความชราภาพที่มาเยือน แต่เขาก็ยังคงจดจำแทบทุกรายละเอียดของ "ศรีบูรพา" ได้เป็นอย่างดี

เหตุผลหนึ่งนั้น สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในฐานะที่เคยมี "ปากกาเป็นอาวุธ" โดยเป็นทั้งบรรณาธิการนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่า

"เพราะผมจดบันทึกเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้เป็นสิบเล่ม และยังเก็บรักษาอยู่!"

ตัวอย่าง เช่น เอกสารคำปราศรัยเรื่อง "วรรณคดีสมัยปัจจุบัน" ของ ศรีบูรพา ซึ่งศรีบูรพาใช้สำหรับการบรรยายให้นักศึกษาต่างชาติฟัง ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในระหว่างนั้น จนถึงบัดนี้ได้ผ่านกาลเวลามานับนานร่วมครึ่งศตวรรษ จนกระดาษเหลืองกรอบและหมึกพิมพ์จางตามระยะเวลา แต่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็ยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

"ผมเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 46 ปีแล้ว ต้นฉบับคำปราศรัยนี้พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด ผมเข้าใจว่า ศรีบูรพา เป็นผู้พิมพ์เพื่อเตรียมไปกล่าวคำปราศรัยและมีอยู่ฉบับเดียว...

อย่างไรก็ดี ต้นฉบับคำปราศรัยนี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศจีน และอยู่ในมือส่วนบุคคลคงจะมีแต่ฉบับของผมเท่านั้น เพื่อนชาวจีนคงไม่กล้าเก็บรักษาไว้ เพราะตลอดเวลาเกือบครึ่งศตวรรษมานี้ ในประเทศจีนมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง ที่รุนแรงที่สุดคือ "การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม"

เอกสารภาษาต่างประเทศที่อยู่ในมือของส่วนบุคคลในเวลานั้นเป็นเป้าที่จะถูกทำลาย ใครก็คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะเก็บรักษาไว้

สำหรับผมที่กล้าเก็บรักษาต้นฉบับคำปราศรัยของศรีบูรพาไว้ ก็เพราะแน่ใจว่า เรดการ์ดคงจะไม่มาค้นบ้านผม..."


"แด่ มิตรร่วมหลังคาเดียวกับ "ศรีบูรพา"

: สุชาติ ภูมิบริรักษ์"


นั่นเป็นคำอุทิศที่เขียนด้วยลายมือประณีตบรรจงในหนังสือชื่อ "บันทึกอิสรชน" ของ "ศรีบูรพา" ที่ "ชนิด สายประดิษฐ์" นักแปลเจ้าของรางวัล "สุรินทราชา" ซึ่งเป็นภริยาของ "ศรีบูรพา" ได้เขียนมอบให้แก่ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" เพื่อนสนิท

สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้ชื่อว่าเป็น "มิตรร่วมหลังคา" เดียวกับ "ศรีบูรพา" มาตั้งแต่ครั้งตกทุกข์ได้ยาก และร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมผืนบรรณพิภพในแผ่นดินไทย ร่วมกิน "ข้าวแดงแกงเนื้อเน่า" (จากคำกล่าวของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์) ในคุกบางขวาง กรณีต้องคดี "กบฏสันติภาพ"

และอยู่ร่วมใต้ชายคาเดียวกันบนผืนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 เป็นต้นมา จวบจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต ศรีบูรพา ณ โรงพยาบาลเสเหอ ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของชีวิต ก่อนจะฝากร่างลง ณ สุสาน "ปาเป่าซาน" และคืนอัฐิสู่แผ่นดินไทยอันเป็นที่รัก

ช่วงชีวิตขณะนั้น นอกจาก "ศรีบูรพา" จะมีครอบครัวอบอุ่นอันมีศรีภริยา "ชนิด สายประดิษฐ์" และรวมถึง "สุรพันธ์ สายประดิษฐ์" บุตรชายเป็นคู่คิดเคียงเรือนอย่างใกล้ชิดในผืนแผ่นดินจีนจวบจนถึงบั้นปลายของชีวิต พร้อมสหายอื่นๆ ทั้งไทยและจีนจำนวนหนึ่งแล้ว

"สุชาติ ภูมิบริรักษ์" คือหนึ่งในมิตรสนิทซึ่ง "ศรีบูรพา" ได้ให้ความไว้วางใจเสมอมา 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวในตุรกีถูกจับ-ไล่ออก หลังทำข่าวการประท้วงต้านรัฐบาล

Posted: 25 Jul 2013 10:47 AM PDT

จากเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของตุรกีตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. มาจนถึงตอนนี้มีนักข่าวในตุรกี 59 คนต้องออกจากงานจากการกดดันของรัฐบาลและสื่อทุนใหญ่ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอ้างว่ามีนักข่าว 64 รายถูกจับกุมและอีกร้อยกว่ารายถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย

24 ก.ค. 2013 เว็บไซต์ CommonDreams.org ระบุว่ามีผู้สื่อข่าวในตุรกีถูกจับกุมเนื่องจากพวกเขารายงานข่าวการประท้วงรัฐบาล ขณะที่เจ้าของสื่อบางแห่งในตุรกีไล่ลูกน้องนักข่าวออกจำนวนหนึ่งหลังจากถูกกดดันโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน

พรรครีพับรีกันพีเพิลปาร์ตี (CHP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของตุรกีกล่าวในรายงานว่ามีนักข่าว 64 รายถูกจับกุมตัว และอีก 123 รายถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย

"นายกรัฐมนตรีทำให้ประเทศกลายเป็นที่กึ่งๆ สถานดัดสันดานแบบเปิด และทำให้นักข่าวอยู่ไม่ได้" เคมัล คิลิซดาโรกลู หัวหน้าพรรค CHP กล่าวในการแถลงข่าว

เคมัลกล่าวอีกว่า ชาวตุรกีอยู่ในสภาพที่เจ้าของสื่ออยู่ภายใต้การบังคับของผู้มีอำนาจทางการเมือง และจำต้องนำเสนอข่าวสารที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองยอมรับได้เท่านั้น ราวกับว่าตุรกีถูกย้อนเวลากลับไปเมื่อ 105 ปีที่แล้ว

การประท้วงในตุรกีเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. จากการที่มีคนกลุ่มหนึ่งประท้วงต่อต้านการรื้อถอนสวนสาธารณะเกซี แต่ต่อมาก็มีประชาชนมาร่วมประท้วงในประเด็นอื่นๆเช่นเรื่องเสรีภาพและการที่รัฐบาลตุรกีพยายามทำให้ประเทศกลายเป็นรัฐศาสนามากขึ้น

โดยเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็ได้ออกแถลงการณ์กล่าวถึงการที่ตำรวจของตุรกีตั้งเป้ามาที่นักข่าวในช่วงการประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ โดยในแถลงการณ์ระบุว่ามีนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายคนถูกไล่ออก มีสื่อบางแห่งถูกสั่งห้ามตีพิมพ์ สื่อไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงมีนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากถูกจับกุมและถูกสั่งให้ออกจากประเทศ

สหภาพสื่อนานาชาติ (United Press International หรือ UPI) กล่าวในรายงานข่าวว่ามีผู้สื่อข่าว 59 คนออกจากงานนับตั้งแต่มีการรายงานข่าวการประท้วงรื้อถอนสวนสาธารณะ โดยมี 22 คนถูกไล่ออก ซึ่งในจำนวนนั้นถูกไล่ออกจากการที่พวกเขาแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งลาออกท่ามกลางบรรยากาศของการปิดกั้นสื่อ

โกคาน เดอมุส ประธานสหภาพนักข่าวตุรกีสาขาอิสตันบูลกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวเหล่านั้นทำงานหนักเพื่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และการออกจากงานของพวกเขามาจากนโยบายการปิดกั้นสื่อหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงที่สวนสาธารณะเกซี

หนึ่งในนักข่าวที่ต้องออกจากงานคือ ยาวูซ เบย์ดาร์ เขาถูกไล่ออกจากงานหนังสือพิมพ์รายวัน Sabah หลังจากที่เขาได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ พูดถึงเรืองการที่เจ้าของสื่อมีความเกี่ยวพันธ์บางอย่างกับรัฐบาลตุรกี

ยาวูชกล่าวในบทความว่า ปัญหาอยู่ที่สื่อกระแสหลักมีเจ้าของเป็นคนรวยที่มีอำนาจอยู่ในภาคส่วนเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม, การธนาคาร และการก่อสร้าง และเนื่องจากมีช่องโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์จำนวนไม่มากที่สามารถสร้างกำไรได้ ผู้ประกอบการจึงใช้สื่อเป็นเครื่องมือจูงใจของรัฐบาล และมีผู้บริหารที่ยอมจำนนต่อนักการเมือง

"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะข่าวอย่างจริงจังในระบบที่น้ำเน่าแบบนี้ เรื่องผลประโยชน์เหล่านี้ทำให้ห้องข่าวส่วนใหญ่ของตุรกีกลายเป็นคุก การทำข่าวเรื่องการคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจแทบจะเป็นศูนย์" ยาวูชกล่าว

 

เรียบเรียงจาก
Turkey Jails 64 Journalists For Coverage of People's Protest, CommonDreams, 24-07-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'องค์การพิทักษ์สยาม' นัดชุมนุม 4 ส.ค. ยังอุบสถานที่ หวั่นถูกสกัด

Posted: 25 Jul 2013 10:46 AM PDT

องค์การพิทักษ์สยาม แถลงเรียกร้องแนวร่วมชุมนุมใหญ่ 4 ส.ค.นี้ ยังไม่เปิดเผยสถานที่ เพราะกลัวถูกสกัด ด้านอัยการศาลแขวงดุสิตเลื่อนสั่งคดี '127 ผู้ชุมนุมม็อบองค์การพิทักษ์สยาม' ฝ่านฝืน พ.ร.บ.มั่นคง เหตุพิจารณาสำนวนไม่เสร็จ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. มีรายงานว่า ตัวแทนมวลชนในนามกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ  นำโดย พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาค ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) พร้อมด้วยนายไทกร พลสุวรรณ  พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุวรรณ พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัฒน์ พล.อ.ท.วัชระ ฤทาคณี และนายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยนายไทกร อ่านแถลงการณ์เรียกร้องแนวร่วมทุกจังหวัดรวมพลมาชุมนุมในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ พร้อมระบุจากการวิเคราะห์สถานการณ์และเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 นั้น เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม  ดังนั้น ทางกองทัพประชาชนฯ จึงจะเก็บมาเป็นประสบการณ์และพร้อมตอบโต้อย่างสันติ และเป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมให้มากที่สุด และการชุมนุมครั้งนี้มีเป้าหมาย คือการโค่นล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก โดยการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น

พร้อมกันนี้ยังไม่ขอเปิดเผยสถานที่ที่จะจัดการชุมนุม เนื่องจากอาจจะมีการสกัดกั้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา  ส่วนกระแสข่าวที่กระทรวงมหาดไทยมีการสกัดกั้นประชาชนในต่างจังหวัดไม่ให้เข้าร่วมชุมนั้น กองทัพประชาชนก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับข้าราชที่ขัดขวางการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธของประชาชน ขณะเดียวกัน ยังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อนายทหาร 30 คนที่จะเข้าร่วมชุมนุม  เนื่องจากมีนายทหารแสดงความจำนงร่วมชุมเป็นอย่างมาก  ทางกองทัพประชาชนจึงขอนัดหมายให้พร้อมเพรียงกันและจะเผยรายชื่อในเวลาที่เหมาะสมต่อไป


อัยการศาลแขวงดุสิตเลื่อนสั่งคดี 'ม็อบองค์การพิทักษ์สยาม' เหตุพิจารณาสำนวนไม่เสร็จ
วันเดียวกัน เวลา 10.00น. ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ( ดุสิต) ถ.บรมราชชนนี อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดสั่งคดีม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งนายธเนศ หอมทวนลม ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม อพส.กับพวกซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุม รวม 127 คน ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กรณีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 127 คน ที่แยกดำเนินคดี 3 สำนวน สำนวนที่ 1 นายธเนศ หอมทวนลม กับพวกรวม 97 คนที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ในวันที่ 24 พ.ย.55 , สำนวนที่ 2 นายยี่ไทย ปิตะวนิค กับพวกรวม 16 คน ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวันในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย.55 และสำนวนที่ 3 น.ส.พิชญ์สินี พิพลัชภามลกับพวก รวม 14 คนที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวันในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พ.ย.55

อย่างไรก็ดี น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความผู้ต้องหา เปิดเผยว่า อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดสั่งคดีวันนี้ออกไปก่อน เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ โดยนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ ปชป.ไม่เสนอร่างนิรโทษกรรม-มาร์คประกาศขวางพิจาณาในสภาฯ ถึงที่สุด

Posted: 25 Jul 2013 10:39 AM PDT

มติประชาธิปัตย์ชัดเจน ไม่เสนอร่างนิรโทษกรรม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและ พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระการประชุม ส่วนมาร์คประกาศขวางพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ถึงที่สุด
 
มติ ปชป.ไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอลงกรณ์
 
เนชั่นทันข่าว: เมื่อวันที่ 25 ก.ค.56 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยหลังประชุมกรรมการบริหารพรรคว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ ทางการเมืองหลังเปิดสภาฯ และมีความเป็นห่วงว่าการเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีความขัดแย้ง เพราะจะมีภาคประชาชนหลายส่วนมารวมตัวชุมนุม ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติที่จะให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและพ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระการประชุม
 
และพรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะร่วมหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพราะเห็นว่าการเดินหน้าพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลเป็นการล้างผิด ให้ผู้กระทำผิดคดีอาญาและแกนนำเสื้อแดง ซึ่งรัฐบาลไม่ถือเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงและไม่คลอบคลุมผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 คดีอาญา และเรื่องการทุจริต 

สำหรับกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ได้มีการทำความเข้าใจกันแล้วในที่ประชุม ซึ่งนายอลงกรณ์ ก็เข้าใจและเห็นตรงกันจะไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนาม ส.ส.จนกว่ารัฐบาลจะถอนร่างทั้งหมดออกมา ซึ่งในพรรคไม่มีความขัดแย้ง
 
ส่วนกำหนดการจัดเวทีปราศรัยผ่าความจริง ของพรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมที่จะจัดติดต่อกัน 3 วันก่อนเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เพราะประเมินว่าจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อรัฐบาลจะนำเข้าที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค.56 พรรคจะหารืออีกครั้งในการประชุมส.ส.วันที่ 30 ก.ค.รวมทั้งแนวทางการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรด้วย อย่างไรก็ตามหากมวลชนมาชุมนุมทางพรรคก็ไม่ห้ามหาก ส.ส.จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ก็เป็นสิทธิ์ทำได้หากไม่ทำผิดกฎหมาย

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยระบุว่าเข้าใจจุดยืนพรรค และให้โฆษกพรรคเป็นผู้ชี้แจง ทั้งนี้สีหน้าของนายอลงกรณ์ไม่สู้ดีนัก
 
 
มาร์คประกาศขวางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ถึงที่สุด
 
มติชนออนไลน์: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่าน่าผิดหวังที่รัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่เห็นเรื่องการเมืองของคนเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องการจะได้รับการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยไม่คำนึงถึงหลักบ้านเมือง จะเป็นการทำลายระบบกฎหมาย และยังไม่มีหลักประกันหรือความมั่นใจว่า จะไม่มีการพ่วงกฎหมายฉบับอื่น หรือสอดแทรกเรื่องอื่นเข้าไป
 
ส่วนที่มีการอ้างว่า กระทรวงมหาดไทยสำรวจความเห็นคนส่วนใหญ่ ต้องการให้มีการนริโทษกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่เชื่อ ยกเว้นจะมีคำถามในลักษณะชี้นำ เพราะสภาพในปัจจุบันไม่มีตรงไหนบ่งชี้ว่า เป็นไปอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะขอคัดค้านในสภาให้ถึงที่สุด
 
 
เพื่อไทยยันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 7-8 ส.ค.
 
สำนักข่าวไทย: เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 24 ก.ค.56 คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย นำโดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค และนายอุดมเดช รัตนเสถียร กรรมการบริหารพรรค ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในการประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยวานนี้ (23 ก.ค.) ได้หารือถึงสถานการณ์การเมืองที่มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 ส.ค. ว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใด ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าให้ดำเนินการไปตามระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย พรรคยังยืนยันตามมติเดิมให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาในวาระแรก เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายลงได้ และคาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ในการประชุมสภาฯ วันที่ 7-8 ส.ค.นี้ สำหรับการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาลวันนี้ เมื่อมีมติออกมาอย่างไรจะนำเข้าที่ประชุมพรรควันที่ 30 ก.ค.

ส่วนกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า หากมีเจตนาที่ดีต่อประชาชนก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง เว้นแต่จะมีการดำเนินการด้วยจุดประสงค์อื่น เช่น ต้องการล้มรัฐบาล จึงมีเงื่อนไขอื่นเข้ามา พรรคเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรรุนแรง และน่าจะเป็นไปตามกรอบการดำเนินการตามปกติ

เมื่อถามว่าเหตุใดช่วงที่ผ่านมาจึงปล่อยให้มีการถกเถียงถึงการพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้งที่พรรคมีความชัดเจนอยู่แล้ว นายภูมิธรรมกล่าวว่า การถกเถียงเป็นสีสันของประชาธิปไตย จะไปห้ามใครพูดหรือไม่พูดเรื่องใดไม่ได้ การเลื่อนระเบียบวาระมาไว้ในวาระแรกเป็นการแสดงเจตจำนงของพรรคที่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ต้องคลี่คลาย ส่วนการแสดงความเห็นแตกต่างกันเป็นสิ่งที่ทำได้

นายอุดมเดช รัตนเสถียร กล่าวว่า ก่อนปิดสมัยประชุมสภาที่ผ่านมาทางพรรคให้เหตุผลการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาแล้ว ถ้าไม่มีร่างกฎหมายอื่นที่มีความสำคัญกว่าเข้ามาคงต้องพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ส่วนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท กำลังอยู่ในการดำเนินการ ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีตารางเวลาพิจารณาวันที่ 14-15 ส.ค.

ต่อข้อถามว่าหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมือง แล้วทำไมทางพรรคยังจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายอุดมเดชกล่าวว่า พรรคเห็นว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมีความจำเป็น เพราะต้องดูแลประชาชนที่มาชุมนุม จึงควรให้ความสำคัญกับคนที่ได้รับผลกระทบจากคดีความต่างๆ ด้วย แต่หากใครจะเอาร่างกฎหมายนี้ไปขยายผลทางใดคงต้องมีการชี้แจงกันต่อไป
 
 
บช.น.ระดม ตร. 600 นายดูแลสภาฯ ถกนิรโทษกรรม
 
เนชั่นทันข่าว: นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 3 ที่ดูแลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในรัฐสภา เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลความเรียบร้อยระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยกับคณะเป็นผู้เสนอว่า ตนเองประสานไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจล (ปจ.) จำนวน 3 - 4 กองร้อย หรือประมาณ 600 นายมาดูแลความเรียบร้อยภายในพื้นที่รัฐสภา
 
นายวิสุทธิ์ ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่จะเข้ามาประจำการในรัฐสภา ช่วงค่ำวันที่ 6 ส.ค. ส่วนพื้นที่ภายนอกรัฐสภาเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแล นอกจากนั้นในส่วนของตำรวจรัฐสภาได้สั่งให้มีการตรวจ ค้นอาวุธ หรือวัตถุระเบิดผู้ที่ผ่านเข้าออกในรัฐสภา เบื้องต้นเชื่อว่าสถานการณ์ช่วงที่มีการประชุมฯ จะไม่มีเหตุวุ่นวายหรือขัดแย้งจนทำให้มีการปิดล้อมอาคารรัฐสภา ส่วนการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ตนขอเรียกร้องให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญกำหนด

"ถ้ามีการปิดล้อมรัฐสภา เราได้มีการเตรียมบันได และทางออกฉุกเฉินไว้แล้ว ถ้าหากมีอะไรก็โกยอย่างเดียว แต่เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง" นายวิสุทธิ์ กล่าว
 

ที่มา: เนชั่นทันข่าวสำนักข่าวไทยมติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติผู้เสียหายฯปี 53 รับฟังความเห็น เล็งแก้ร่างพ.ร.บ. ขยายฐานนิรโทษกรรมให้มวลชน

Posted: 25 Jul 2013 10:24 AM PDT

กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ 53 แถลงเจตนารมณ์อีกครั้ง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง เล็งแก้มาตรา 3(4) ขยายฐานการนิรโทษให้ครอบคลุมประชาชนที่ถูกคุมขังมากที่สุด ยันไม่นิรโทษทหารที่กระทำ "เกินกว่าเหตุ" ไม่นิรโทษประทุษร้ายชีวิตผู้อื่น ไม่นิรโทษเผาสถานที่เอกชน แต่เชื่อศาลรับฟังมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

 

25 ก.ค.56 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.53 นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาค หรือ แม่น้องเกด และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ พ่อน้องเฌอ ผู้สูญเสียลูกในเหตุการณ์ดังกล่าว แถลงเจตจำนงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน หรือชื่อเต็ม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

นางพะเยาว์ อัคฮาด ได้แถลงเจตจำนงของกลุ่มญาติฯ ที่นำเสนอร่างนี้ว่า เสียงตอบรับร่างฉบับนี้เป็นที่น่าดีใจ เนื่องจากได้รับการตอบรับทั้งสิ่งที่เด่นชัด และสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ได้ประโยชน์กับผู้ถูกกระทำ ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกๆ สีเสื้อเพื่อให้ได้ออกจากเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีหลายร่างถูกบรรจุอยู่ในสภาก็คงมีความขัดแย้งกันอยู่แล้วเพราะเป็นคู่กรณีกันแทบจะทั้งหมด ร่างของญาติจึงเป็นร่างที่อยู่ตัวกลางและอยากให้ใช้เป็นหลักในการพิจารณา เนื่องจากเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เอื้อและไม่ได้อุ้มใคร

"พูดง่ายๆ ว่าร่างนี้ผู้ที่จะไม่ได้รับประโยชน์เลยคือ แกนนำหลักทั้งหลาย ผู้สั่งการและกองทัพ อย่างไรก็ตามเราโดนวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง เราจึงต้องการให้สังคมเป็นผู้ชี้ขัด" พะเยาว์กล่าว

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวถึงกระบวนการยกร่างว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าญาติไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการผลักดันให้เอาผิดทหารไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับญาติ ก่อนหน้านั้นนางพะเยาว์และญาติคนอื่นๆ ใช้วิธีตระเวนเดินทางไปร้องเรียนหลายที่ตลอดมา จนกระทั่งปีที่แล้วคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้เชิญ นางพะเยาว์ ตนเอง และนิชา ธุวธรรม ภรรยาพ.อ.ร่มเกล้า ในฐานะตัวแทนของญาติผู้เสียชีวิตไปให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีอยู่ 5 ฉบับในขณะนั้น ซึ่งมีร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิยม วรปัญญา เมื่อกลุ่มญาติได้ฟังผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแล้วพบว่า ร่างทั้งหมดจะมีปัญหาเพราะอาจนำไปสู่การละเว้นความผิด นิรโทษกรรมบุคคลซึ่งที่ผ่านมาก็มีความเจ็บปวดแบบนี้อยู่ กลุ่มญาติจึงเริ่มปรึกษากัน

จนเมื่อต้นปีนายวรชัย เหมะ ได้ยื่นร่างและให้สัมภาษณ์ว่าเป็นร่างที่นิรโทษกรรมประชาชนทุกคน ทำให้เกิดความหวังแต่ ปัญหาคือ ร่างของวรชัยไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการทางทหาร กฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่พูดถึงสิ่งที่จะนิรโทษกรรม กลุ่มญาติจึงรู้สึกว่ามีกระบวนการบางอย่างที่จะยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารในช่วงเม.ย.-พ.ค.53 ชอบธรรม จึงเริ่มปรึกษานักกฎหมาย อาจารย์กฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน สุดท้ายได้คำแนะนำว่าญาติน่าจะร่างกฎหมายด้วยตัวเอง เป็นเหตุที่เราต้องระดมญาติมาให้ความเห็นกัน

เขากล่าวด้วยว่า ก่อนยกร่างมีการให้ความเห็นกัน โดยอาจารย์ท่านหนึ่งช่วยตั้งต้นให้ โดยบอกว่าอย่าไปดูที่หน้าตาว่าจะนิรโทษให้ใคร เพราะเมื่อออกกฎหมายมาจริงๆ จะเป็นเรื่องที่ควบคู่กับการพิจารณาความอาญา ดังนั้น ต้องมองที่การกระทำ ว่าการกระทำใดควรนิรโทษ การกระทำใดไม่ควรนิรโทษ ซึ่งญาติก็ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้แล้ว โดยเราใช้หลักการทางกฎหมายที่กว้างที่สุด คือ หลักการของรัฐในการให้ความคุ้มครองประชาชนและทรัพย์สินของเอกชน  

"เราเชื่อว่ารัฐไม่มีสิทธิจะนิรโทษกรรมให้กับการฆ่าคนอื่น เพราะรัฐไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร นั่นข้อแรก ข้อที่สองคือ รัฐไม่มีสิทธินิรโทษในการทำลายทรัพย์สินของเอกชน เพราะรัฐไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินนั้น เราจึงยึดสองข้อนี้เป็นหลัก" พันธ์ศักดิ์กล่าว  

เขากล่าวว่า ภรรยาของพ.อ.ร่มเกล้าก็ออกมาพูดถึงร่างวรชัยว่าการนิรโทษกรรมประชาชนทุกคนไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเชื่อว่าสามีมาปฏิบัติหน้าที่ทางราชการทางทหาร เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่มีการกล่าวหาว่ามีกองกำลัง มีอาวุธในที่ชุมนุม กลุ่มญาติจึงเขียนมาตรา 3 (4) ขึ้นมาในส่วนของผู้ที่เผาทรัพย์สินเอกชนรวมถึงผู้ที่ประทุษร้ายต่อผู้อื่นถึงแก่ชีวิต โดยแยกออกจากมาตรา 4 ที่มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่ปฏิบัติการทางทหาร แต่อย่างที่หลายท่านทราบแล้วว่า มาตรา 3(1), (2), (3) นั้นได้คัดลอกมาจากร่างของคณะนิติราษฎร์ โดยได้รับคำบอกเล่าจากอาจารย์ท่านหนึ่งในนิติราษฎร์ว่าเป็นบริการวิชาการสาธารณะ จึงสามารถนำมาใช้ได้

เขากล่าวด้วยว่า ในร่างยังมีบางถ้อยคำที่มีปัญหา และเริ่มรับฟังความคิดเห็นมาเรื่อยๆ และพบว่าสุดท้ายยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่ การเข้าใจเนื้อหาเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนกันได้ และเป็นการยากที่จะร่างโดยเสร็จสมบูรณ์เพราะกลุ่มญาติไม่ใช่นักกฎหมาย เราก็อยากฟังความคิดเห็นเช่นกัน

"แต่ในส่วนที่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์ เราค่อนข้างแปลกใจเพราะเราเดินสายและพูดถึงเจตนารมณ์ของเรามากกว่าการพูดถึงเนื้อหาเพราะเราก็ยอมรับว่าเราไม่ได้แม่นเรื่องเนื้อหามากมายนัก เพื่อนบางคนได้ให้คำแนะนำหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการเผาทำลายทรัพย์สินราชการที่เราจะนิรโทษแล้วผมตัดข้อความออกไป โดยเพื่อนแนะนำว่าควรใส่กลับเขามาใหม่ รวมทั้งขยายความไปถึงการบุกรุกสถานที่ราชการ จะได้คลอบคลุมถึงทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อแดง ในส่วนทรัพย์สินเอกชน คงต้องพิสูจน์กันด้วยวิธีพิจารณาความอาญาว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าศาลจะรับฟังได้ ส่วนจะวินิจฉัยอย่างไรคงเป็นหน้าที่ของศาล" พันธ์ศักดิ์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า วันนี้จะเป็นการรับฟังอีกครั้ง หลังจากนั้นจะมีกลุ่มเพื่อนช่วยนำความคิดเห็นไปปรับใช้ในร่างหลักที่มีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของญาติ  หลังเสร็จสิ้นก็จะนำเสนอกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

"แต่สุดท้ายเราถือว่าเรายื่นกับรัฐสภา ส.ส.ท่านไหนจะมาลงชื่อก็เป็นเอกสิทธิของส.ส.แต่ละคน  เราปิดกั้นการลงชื่อไม่ได้ ถ้าสังคมตอบรับว่าร่างฉบับประชาชนดีกว่าร่างอื่นๆ ครอบคลุมและตอบโจทย์ปัญหาสังคมการเมืองได้มากกว่า หากส.ส.ท่านใดไม่ลงชื่อคงทำได้แค่เพียงให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามกับส.ส.ท่านนั้นเอง" พันธ์ศักดิ์กล่าว 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า ในขณะที่เรายังมีปัญหาเรื่องกีฬาสี การนิรโทษกรรมกลายเป็นของแสลงในบรรยากาศปัจจุบัน ว่ากันตามตรงคนส่วนใหญ่ในสังคมยังรับไม่ได้กับการนิรโทษกรรมเพราะมีความแค้นกันอยู่ มีคนอยู่ในอารมณ์นี้ซึ่งเป็นสิทธิที่คนจะแค้น ใครโดนเองย่อมต้องแค้น แต่ประเด็นการนิรโทษกรรมเกิดจากการที่มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการประกันตัว

"จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เริ่มแรกมันเกิดจากที่ คนกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แล้วหมดหนทาง จนเกิดการเคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายเพื่อเอาคนกลุ่มนี้ออกจากคุก แต่การไปนิรโทษกรรมก็เข้าเกมการเมืองพอเอากฎหมายเข้ามานิรโทษกรรมคน เพียงแค่ต้องการให้เขาออกจากคุกก่อน ที่จริงแล้วเรื่องนิรโทษกรรม เกือบทุกฝ่ายเอากลับไปได้ก่อนเลย ถ้าศาลให้สิทธิในการประกันตัวเสมอกันทุกฝ่าย กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับถอยได้หมด แต่มันเป็นเอกสิทธิ์ของศาลว่ากรณีใดจะให้ประกันตัว แต่มันก็ดันกันมาจนถึงจุดนี้"สมบัติกล่าว

"ผมได้รับเชิญมาในวันนี้เพราะบรรยากาศต่อการเสนอของญาติ วัฒนธรรมในการอภิปรายกันในเรื่องนี้แย่มาก ไม่มีวัฒนธรรมการถกเถียงกันอย่างมีเนื้อหาสาระ ผมให้สัมภาษณ์ว่าผมเห็นด้วยกับแนวทางของวรชัย เพราะเห็นว่าทำได้จริงในช่วงเวลาปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเสนอความคิดของเครือข่ายญาติเป็นสิทธิ หมายความว่าทุกฝ่ายมีสิทธิ ปชป.จะเสนออีกร่างก็เป็นสิทธิ แต่ผมแปลกใจที่พอเครือข่ายญาติเสนออกมาแล้วเกิดปฏิกิริยารุนแรงมาก" สมบัติกล่าว

สมบัติกล่าวถึงส่วนของเนื้อหาโดยยกกรณีจำเลยซึ่งถูกจับที่สามเหลี่ยมดินแดงในข้อหาปล้นปืนทหาร (ขึ้นไปแย่งปืนบนรถทหาร) จะมองว่าเป็นการปล้นหรือเป็นการยึดปืนจากทหาร ซึ่งแม้ประชาชนไม่มีสิทธิ แต่รูปการณ์ตอนนั้นประชาชนไปบล็อกทหารเพื่อไม่ให้เอากำลังและอาวุธเข้ามาสลายการชุมนุมกระทำความรุนแรงต่อประชาชน ถามว่าคนไปบล็อกมีเจตนาทางการเมืองไหม กรณีขอนแก่นมีบล็อกขบวนรถไฟที่ขนรถถังทหาร ถามว่าเป็นการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษภายใต้กฎหมายฉบับนี้ไหม กรณีเผาศาลากลาก็มีเหตุจูงใจทางการเมือง ต้องช่วยเขาออก มาต่อให้เผา การเผาศาลากลางที่อุบลราชธานี ตำรวจออกหมายจับคน 300 คนจากหลักฐานเพียงมีรูปปรากฏในที่ชุมนุม เวลานั้นรัฐใช้มาตรการหว่านแหเพื่อให้ประชาชนกลัว เวลานี้คนจำนวนมากยังกลับบ้านไม่ได้ ถามว่าถ้าถูกจับมาจะได้ประกันไหม กรณีการปล้นเซเว่นบริเวณบ่อนไก่ที่ถูกปิดล้อม มีเด็กวัยรุ่นวิ่งไปเอาอาหารมาแจกให้คนในชุมชน การกระทำแบบนี้จะพิจารณาอย่างไร นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่ามาตรา 112 อยู่ในร่างนี้ด้วยไหม  

"เอาเข้าจริงเรายังไม่มีความพร้อมในการพูดเรื่องนิรโทษกรรมเท่าไร แต่เราต้องเดินหน้าด้วยเหตุผลว่า คนของเราจำนวนหนึ่งอยู่ในคุก ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าได้ประกันตัวสู้กันชั้นศาล ใช้เวลาสักนิดแล้วมาพูดเรื่องนี้กันอีกทีจะดี" สมบัติกล่าว

เขายังให้ความเห็นต่อกรณีการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ต่อเรื่องนี้ว่า ผู้นำฝ่ายค้านมักพูดอะไรเก๋ๆ เช่นการบอกว่าผู้ถูกจับโดยพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ควรไปเอาผิด เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ตนก็เห็นหนึ่งในประชาชนจำนวนมากที่โดนข้อหานี้และถูกนำไปกักตัวที่ ตชด.ดังนั้น กรณีนี้แทบไม่เหลือใครแล้วที่โดนข้อหานี้แล้วไม่ติดคุก

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 กล่าวว่าพูดได้เพียงว่าสิ่งที่เรียกร้องให้นิรโทษกรรมเหมาะสมไหมในช่วงเวลานี้ โดยเท้าความว่าสมัยพฤษภาทมิฬ ทหารออกมาปราบปรามจนเกิดความสูญเสีย ก่อนออกจากเก้าอี้ก็ออกนิรโทษกรรมเลยโดยไม่มีการสอบสวน ไม่ว่าจะคัดค้านต่อสู้อย่างไรก็ไม่เป็นผล ญาติพฤษภาทมิฬเห็นว่า ไม่ว่าเหลืองหรือแดงครั้งหนึ่งเคยเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด แต่บัดนี้มีความเห็นต่างอยู่คนละข้าง นำพาสู่การเรียกร้องในปี 50-53 จนถูกรัฐตั้งข้อกล่าวหา จับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก มีทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงด้วย มองว่าทำอย่างไรจะให้พวกเขาได้พ้นทุกข์กลับไปหาครอบครัว  

อดุลย์กล่าวว่า เขาเคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม 11 สัปดาห์เต็ม แม้ว่าจะมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับการนิรโทษกรรมเมื่อคราวพฤษภาคม 2535 จนต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีสิทธิจะไปฟ้องร้องให้เป็นคดีได้ด้วยซ้ำ แต่ที่ออกมาเรียกร้องในเวลานี้เพราะเห็นว่านี่เป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนผู้ได้รับความทุกข์สมควรได้รับการปลดปล่อย เพราะ การกระทำผิดไม่ได้มุ่งหมายถึงขั้นเอาชีวิต เขาสมควรได้รับการลดโทษ จนกระทั่งได้ร่วมกับ คปก.ทำการศึกษาเปรียบเทียบร่างนิรโทษกรรมหลายฉบับ และคาดว่าคปก.จะเสนอหลักการต่อรัฐบาลในเวลาต่อไปว่า การนิรโทษกรรมควรจะเป็นแบบไหน การกระทำได้ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าแม้มีความเห็นต่าง แต่ร่างของวรชัยเหมะ และร่างของพะเยาว์ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะมีความมุ่งหมายจะนิรโทษกรรมให้ประชาชนเป็นหลัก แต่ร่างของวรชัยค่อนข้างกว้างกว่าและพยายามจะนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย

เขากล่าวว่า ที่น่าแปลกใจ คือ ตลอดมากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายปี 53 แต่ผู้นำเหล่าทัพยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ผู้นำเหล่าทัพและกองทัพเองก็ไม่เคยออกมายอมรับว่าทำผิด และยืนยันว่าทำถูกมาโดยตลอด จึงเป็นเรื่องน่าแปลกว่าร่างของนายวรชัยจะไปนิรโทษกรรมให้คนที่เขาไม่ผิดได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นแกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง ผู้สั่งการไม่ว่าอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนแล้วถูกกล่าวหาดำเนินคดีและยืนยันว่าพร้อมไปพูดในศาล

"กองทัพยังไม่เคยยอมรับผิด และว่าทำถูกด้วย แล้วจะไปนิรโทษกรรมให้คนไม่ยอมรับผิดได้อย่างไร นี่คือคำถามผม " อดุลย์กล่าว และว่าร่างทั้ง 6 ฉบับมีโอกาสจะสร้างความขัดแย้งสูงและตีความไม่รู้จบ เชื่อว่าฉบับประชาชนหากเปิดให้สังคมได้พิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสิ่งที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายจะได้ลดความขัดแย้งลงได้

ในอนุกรรมการพิจารณาร่างทั้ง 6 ฉบับ ของคปก. ซึ่งเมื่อรวมฉบับประชาชนแล้วเป็น 7 ฉบับ ได้ข้อสรุปจากสาธารณะชัดเจนว่า 1. คำถามว่าเรื่องนี้ควรออกเป็น พ.ร.ก. พ.ร.บ. หรือออกกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ สังคมตอบชัดว่า พ.ร.ก.เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่างนั้นจะต้องออกตั้งแต่ตอนเปลี่ยนรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมสงบ แต่เมื่อไม่ได้ทำ และปล่อยเวลานานมาเกือบ 3 ปี จึงคิดว่าควรออกเป็น พ.ร.บ. ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากพอสมควร 2.ใครอยู่ในข่ายบ้าง ตนได้เสนออาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ว่า การใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะการเผาศาลากลางมีความผิด แต่ก็นิรโทษกรรมได้ แต่นักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายอาญา แยกเรื่องนี้เป็นสองส่วน ว่าตั้งใจหรือวางแผนมาเผาโดยเฉพาะ หรือเกิดจากสถานการณ์ยั่วยุพาไปจนเกิดความรุนแรง อย่างหลังควรได้อานิสงส์  ส่วนการเผาเอกชนผิดอยู่แล้วไม่ต้องพูดถึง

ในช่วงท้ายได้เปิดให้มีการถกเถียง โดยอุเชนทร์ เชียงเสน นักกิจกรรมกล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มญาติกลายเป็นกระโดนต้องรับผิดในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ร่างกฎหมายของกลุ่มญาติไม่ได้เลวร้าย แต่ทำไมปฏิกิริยาของสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงจึงแรงมาก

สำหรับคนที่จุดประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมต้องให้เครดิตกับกลุ่มนิติราษฎร์ และกลุ่ม 29 มกราฯ แต่จุดเด่นของร่างนี้คือ การพูดถึงเรื่องทหาร อย่างไรก็ตาม เราสามารถเถียงกันได้ว่าร่างของวรชัยครอบคลุมถึงทหารหรือไม่ แต่อย่างไรเสียข้อเสนอของญาติในร่างนี้ก็ควรรับไว้

เขากล่าวต่อว่า เขาเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ว่า การเลือกนิรโทษกรรมโดยให้แยกแยะการเผาสถานที่เอกชนและการเผาสถานที่รัฐนั้นเป็นสิ่งลำบาก เพราะความรุนแรงของประชาชน เป็นปฏิกิริยาตอบกลับต่อความรุนแรงของรัฐ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนก็เผาทั้งสถานที่รัฐและสถานที่เอกชนด้วยความโกรธแค้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปมของเสื้อแดงหลายคนคือ กรณีไม่นิรโทษกรรมให้กับคนที่ใช้กำลังประทุษร้ายคนอื่นเพื่อมุ่งหมายเอาชีวิต เราต้องยอมรับว่ามีการยิงทหาร ตำรวจเสียชีวิต มีการยิงเอ็ม 79 จนคนที่สีลมเสียชีวิต

"เราไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้คือใคร แต่คนที่มุ่งหวังประทุษร้ายเอาชีวิตคนอื่น ต่อให้เป็นพวกเรา คนกลุ่มนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม" อุเชนทร์กล่าว

อานนท์ นำภา ทนายความแสดงความเห็นว่า จุดที่เห็นตรงกัน คือ หลักการที่จะไม่นิรโทษกรรมให้ทหารและผู้สั่งการทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพ ซึ่งในสถานการณ์จริงนั้นลำดับชั้นในการตัดสินใจเชื่อว่ามีน้อยกว่าระดับผู้บังคับบัญชาของทหาร  ซึ่งมักออกมาใส่ร้ายเสื้อแดงรายวัน สร้างแรงจูงใจให้ทหารชั้นผู้น้อยในการปราบปราม ส่วนที่หลายคนกังวลว่าไม่ควรเอาผิดทหารเกณฑ์ระดับปฏิบัติการ ในความเป็นจริงทหารเกณฑ์ไม่ได้รับอนุญาตให้พกปืน มีแต่ทหารชั้นสูงขึ้นไป และประเด็นของคำว่า "ไม่เกินกว่าเหตุ" ก็ไม่เป็นปัญหาหากยึดให้เป็นไปตามหลักสากล หลายกรณีชี้ชัดว่าเกินกว่าเหตุแน่ เช่นการยิงผู้ชุมนุมที่หัว การยิงใส่ถึง 11 นัด

ในส่วนที่เห็นต่างคือ ข้อจำกัดในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนนั้น เห็นว่า ต่อให้เป็นทรัพย์เอกชนก็ต้องยกเว้นให้เขาหากมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และต่อให้เป็นการกระทำที่ประทุศร้ายต่อชีวิตก็ควรนิรโทษกรรมหากมีเหตุจูงใจจากการเมือง เช่นกรณีที่เชียงใหม่ มีการปาของตอบโต้กันจนมีการยิงกันในช่วงค่ำ มูลเหตุจูงใจไม่ใช่การฆ่าเฉพาะราย ไม่ใช่โดนจ้างมาฆ่า แต่เป็นมูลเหตุโดยรวมของความขัดแย้ง

"หลายคดีที่ติดคุกตอนนี้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาวุธปืน วัตถุระเบิด  ถ้าไม่ได้มุ่งหมายอย่างอื่นนอกจากเจตนาทางการเมืองก็ควรครอบคลุม" อานนท์กล่าว

อุเชนทร์กล่าวว่า ในประเด็นของอานนท์ที่หยิบยกกรณีเชียงใหม่นั้น เวลาคิดเรื่องนิรโทษกรรม ต้องไม่คิดจากฝ่ายเหลืองหรือแดง ถ้าคิดจากขั้วตรงข้ามจะไม่ make sense ควรยึดหลักว่าถหากใช้กำลังประทุษร้ายไม่เกินกว่าเหตุต้องได้รับทั้งนิรโทษกรรมทั้งสองส่วน เพื่อทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันได้ อยู่กันได้

อานนท์  กล่าวว่า คำว่า "เกินกว่าเหตุ" ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนย่อมมีระดับที่แตกต่างกัน กรณีที่ยกตัวอย่างที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ต้องการให้นิรโทษกรรมเฉพาะเสื้อแดง เพราะกรณีของเสื้อเหลืองก็มีคดีของนายปรีชา ซึ่งถูกล่าวหาว่าจะขับรถทับตำรวจเมื่อ 7 ตุลา 2551 และถูกลงโทษหนักเช่นกัน แต่กรณีนี้มีเหตุจูงใจทางการเมืองแน่ ต้องได้รับนิรโทษกรรมเช่นกัน รวมถึงการกระทำของกลุ่มเสื้อเหลืองอีกหลายๆ กรณี

ผุสดี งามขำ  ซึ่งได้รับฉายาว่า "เสื้อแดงคนสุดท้าย" เนื่องจากปรากฏภาพนั่งอยู่ในที่ชุมนุมเป็นคนสุดท้ายในขณะทหารเข้าสลายการชุมนุม กล่าวว่า ร่างของญาติผู้สูญเสียถือเป็นร่างกลาง ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นจุดรวมของผู้สูญเสีย ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน เป็นหลักประกันให้แผ่นดินนี้ว่าจะไม่บ้าเลือดฆ่ากันอีกแม้ว่าจะมีความกดดันใดๆ แต่การที่เราไม่ใช่นักกฎหมาย ถ้อยคำอาจไม่รัดกุม แต่ที่ผ่านมามีการเห็นแก่ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง คนเสื้อแดงจำนวนมากด่าว่าญาติอย่างน่าเสียใจ จึงขอลาออกจากเสื้อแดง และต่อไปจะสู้ในฐานะประชาชน

พันธ์ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเวทีว่า กรณีคำว่า "เกินกว่าเหตุ" สุดท้ายต้องนำประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญาเข้ามาจับในกระบวนการนี้ ทุกร่างต่างก็ไม่มีกระบวนการ อาจต้องใส่กระบวนการนี้เข้าไปโดยต้องไปเริ่มที่ศาล อาจเริ่มจากการไต่สวนก่อน กรณีที่ยกตัวอย่างหลายๆ อย่างไม่ต้องถามว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ในกรณีที่มีหลายกรมกองในพื้นที่ จับคนทำจริงๆ ไม่ได้ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองทหารอยู่นั้น ตัว พ.ร.ก.ก็พูดว่าทำอะไรได้แค่ไหน หรือกรณีที่สุเทพชอบอ้างคำสั่ง ในฐานะประธาน ศอฉ.โดยชูกระดาษแผ่นเดียวว่าไม่มีการสั่งให้ใช้ความรุนแรง แต่ข้อเท็จจริงยังมีการฆ่ากัน 1 เดือน 9 วันแสดงว่ากระดาษแผ่นนั้นไม่มีความหมาย อย่างน้อยต้องโดนข้อหาละเว้น ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

เรื่องความกังวลว่าจะไม่ครอบคลุมนักโทษการเมืองนั้นเห็นว่า ต้องการขยายฐานการนิรโทษกรรมดังที่มีคนเสนอแนะ เพราะคำของญาติค่อนข้างรัดชัดและดิ้นไม่หลุด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะญาติก็ต้องการเจาะจงกับทหารด้วย คาดว่าทางกลุ่มจะเขียนใหม่ในส่วนถ้อยคำที่ตัดไป โดยเฉพาะประเด็นเผาสถานที่ราชการให้ได้รับการนิรโทษที่ถูกตัดไปต้องนำเข้ามาใหม่ เพราะในร่างเขียนเพียงว่าการเผาทำลายทรัพย์สินเอกชนเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม การขยายฐานนั้นรวมมวลชนทั้งสองฝ่ายเช่นกัน

กรณีร่างของวรชัยนั้น ไม่มีการเขียนเรื่องทหาร การไม่เขียนคือการเขียน กฎหมายนิรโทษต้องเขียนว่าจะนิรโทษใครบ้าง แต่จู่ๆ กลับไม่เขียนเรื่องนี้ นั่นเป็นปฏิบัติการที่ชอบธรรมทางกฎหมายแน่ๆ ที่จะให้การนิรโทษทหาร และเมื่อถามแล้วยิ่งมั่นใจ ทุกคนอึ้งเพราะไม่เคยมีใครเห็นร่างนี้ ฟังแต่การให้สัมภาษณ์ลอยๆ ของวรชัยที่จะนิรโทษประชาชนทุกคนยกเว้นแกนนำ ผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม ในชั้นกรรมาธิการจะไปเพิ่มเติมเนื้อหาที่จะเอาผิดทหารในภายหลังก็ไม่ได้ เพราะรับหลักการกระดาษแผ่นเดียวไปแล้ว ดังนั้นโดยความเข้าใจส่วนตัว กระดาษแผ่นแรกและเจตนารมณ์เจ้าของร่างจึงสำคัญ และเจตนารมณ์เขาก็ชัดแล้วว่าไม่เอาผิดทหาร

ในกรณีของมาตรา 112 เขากล่าวว่า ในมาตรา 3 (3) มีการตีความว่าอาจครอบคลุมการนิรโทษเรื่องนี้ กลุ่มญาติไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนเพิ่มเติม ส่วนในขั้นแปรญัตติจะมีการเขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นหรือไม่เป็นสิทธิของคณะกรรมาธิการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ "โอ๊ค พานทองแท้" ชี้แจงข้อผิดพลาด-กรณีโพสต์ภาพ นสพ. ปี 2518

Posted: 25 Jul 2013 10:04 AM PDT

พานทองแท้ ชินวัตร ขอโทษกรณีที่ในเพจมีการโพสต์ข้อความระบุว่ามีอาจารย์ มช. ส่งภาพ นสพ.เดลินิวส์ปี 2518 ไปให้ โดยชี้แจงว่าได้แก้ไขที่มาแล้วว่าทีมงานเป็นผู้พบ และได้แชร์ภาพไปใช้เอง พร้อมเผยว่าจะโพสต์คลิปความในใจทักษิณในวันเกิดปีที่ 64

ตามที่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ประชาไท รายงานกรณีที่ภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ธ.ค. 2518 ซึ่งถูกเผยแพร่ในเพจ "Oak Panthongtae Shinawatra" ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และระบุว่า "มีอาจารย์จากเชียงใหม่ท่านหนึ่ง ส่งมาให้ทีมงานดู" และต่อมา อ.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชี้แจงว่า ได้เผยแพร่ภาพหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในเฟซบุคส่วนตัว และมิได้ส่งไปให้นายพานทองแท้หรือทีมงานตามที่ถูกระบุในเพจ และชี้แจงด้วยว่าคำบรรยายในภาพต้นฉบับไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และไม่ประสงค์ให้ภาพถูกใช้โดยขั้วการเมืองฝ่ายใดนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ค.) เพจของ "Oak Panthongtae Shinawatra" ได้โพสต์คำชี้แจงข้อผิดพลาด และได้แก้ไขข้อความในสเตตัสเดิมเป็น "ทีมงานของผมไปพบภาพนี้ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ท่านหนึ่ง จึงได้แชร์มา แล้วนำมาให้ผม" แทนข้อความเดิมที่ระบุว่ามีอาจารย์ส่งมาให้ทีมงาน และแจ้งด้วยว่าจะลบโพสต์ที่ทีมงานชี้แจงออกไป ตามความประสงค์ของอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าของรูป

โดยในคำชี้แจงระบุว่า "ระหว่างผมไม่อยู่ก็เกิดมีข้อผิดพลาดบนหน้าเฟสบุ๊คนี้ ในกรณีที่ได้นำรูปภาพหนังสือพิมพ์เก่ามาโพสต์ครับ จริงอยู่ที่เป็นนสพ.ที่เผยแพร่ทั่วไป แต่ในกรณีไม่ได้คัดมาจากหอสมุด และเป็นรูปที่บุคคลอื่นถ่ายไว้ การนำมาใช้ก็ควรจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปเสียก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ควรให้เครดิตเจ้าของและต้องรู้ให้ชัดเจนว่า เจ้าของรูปต้องการให้เอ่ยนามหรือไม่ ถ้าต้องการฯ จะให้เอ่ยนามว่าอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อจะนำไปใช้ในเพจที่คนอ่านเยอะๆ ไม่เป็นส่วนตัว ก็ควรบอกให้เจ้าของรูปทราบด้วย เจ้าของจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ว่าจะให้ใช้รูปหรือไม่อย่างไร"

"ผมวิเคราะห์ดูแล้ว ความผิดพลาดมาจาก 3 ส่วนด้วยกันครับคือ ทั้งจากตัวผมเอง, ทีมงานและเครือข่าย Online ที่นับวันจะยิ่งขยายตัวในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ จนบางครั้งผมเองแทบจะไม่ทราบว่าใครเป็นใคร และข้อมูลเอกสารต่างๆนั้น มีที่มาที่ไปจากเครือข่ายในทีมใดบ้าง"

"กรณีนี้เริ่มมาจากทีมงานนำรูปหนังสือพิมพ์เก่ามาให้ผมดูครับ แล้วบอกมีหลายคนเมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์นี้แล้ว ต่างประหลาดใจว่าทำไมระยะเวลาห่างกัน 38 ปี การเมืองไทยจึงย่ำเท้าอยู่กับที่ ผมลองอ่านดูก็จริงอย่างเขาว่าครับ ข้อกล่าวหารัฐบาลก็เดิมๆ ปัญหาภาคใต้หลาย 10 ปี ก็ยังแก้กันไม่ตกเสียที ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลมาเป็นสิบๆ ครั้ง ให้แก้ปัญหาเองเองก็แก้ไม่เป็น พอเป็นฝ่ายค้านก็ด่ารัฐบาลด้วยถ้อยคำเดิมๆ การเมืองไทยไม่ไปไหนจริงๆ"

"ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงได้นำมาโพสต์ครับ ก่อนโพสต์ก็ถามทีมงานถึงที่มาที่ไป เพื่อให้เครดิตเจ้าของรูป ก็ได้คำตอบว่ามีเครือข่ายออนไลน์ทีมหนึ่งส่งมาให้ เมื่อผมถามต่อว่าเป็นรูปของใคร ก็แจ้งว่าเป็นของอาจารย์ท่านหนึ่ง ผมเข้าใจผิดจึงนำมาโพสต์โดยให้เครดิตเจ้าของรูปว่า "มีอาจารย์ท่านหนึ่งส่งมาให้" ซึ่งผิดครับ ที่จริงแล้วคืออาจารย์ท่านหนึ่งได้โพสต์ไว้ในเพจของตัวเอง แล้วมีเครือข่ายออนไลน์คนหนึ่ง เห็นแล้วชอบ จึงขออนุญาตอาจารย์นำไปใช้ต่อ ท่านก็ใจดีให้อนุญาต แต่ทำไม่ถูกตรงที่ไม่ได้บอก อ.ว่า จะส่งรูปนี้มาให้ทีมของผมเพื่อให้ผมพิจารณาเขียนลงเฟสบุ๊ค ซึ่งที่จริงควรจะบอกท่านไป ท่านจะได้พิจารณาว่าจะให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ครับ"

"ผมเขียนบทความเรื่อง นสพ.เก่านี้ ขณะบินไปเมืองจีนครับ เมื่อลงเครื่องก็ส่ง E-mail ให้ทีมงานช่วยโพสต์ให้ เนื่องจากที่เมืองจีนเขาบล็อคไม่ให้ใช้เฟสบุ๊ค ขณะอยู่ที่โน่นทีมงานได้แจ้งว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายชี้แจงข้อความที่ผิดพลาดในเฟสบุ๊ค แล้ว เวปผู้จัดการนำไปเล่นข่าว โดยลงชื่อจริง-นามสกุลจริงของอาจารย์ท่านนี้ ทีมงานจึงขออนุญาตลงชี้แจงเนื่องจาก ผู้ที่ส่งรูปมาให้ได้ส่งหลักฐานการขออนุญาตใช้รูปจาก อ.ท่านนี้มาให้ดู ผมก็อนุญาตให้ลงได้ และตลอดเวลาที่อยู่ที่จีนก็ไม่สามารถดูเฟสบุ๊คได้เลย"

"ผมพึ่งจะรู้หลังจากกลับมาเมืองไทยเมื่อวานนี้ว่า ทีมงานชี้แจงไม่ตรงประเด็นครับ การขอใช้รูปของเครือข่าย Online นั้น เป็นการขอโดยที่ อ.เข้าใจว่าจะนำไปโพสต์ในเฟสส่วนตัว และผมเขียนว่า อ.ส่งมาให้ ซึ่งไม่ถูกต้อง แถมในโพสต์ที่ทีมงานเขียนชี้แจง ยังได้ลง Capture หน้าจอเป็นข้อความขออนุญาตใช้รูป คนส่งได้ลบชื่อตัวเองออก แต่ไม่ได้ลบชื่อ อ.ท่านนี้ออก เนื่องจากต้องการยืนยันว่า ได้รับอนุญาตจากคนๆ เดียวกัน ซึ่งถึงแม้เวปผู้จัดการลงเปิดเผยชื่อชัดเจน ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่ควรเอาเป็นแบบอย่างครับ"

"ที่เขียนอธิบายเสียยาวนี้ เพื่อจะชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างครับ ผมและอาจารย์ท่านนี้ไม่เคยรู้จักกัน แต่ผมก็เข้าใจครับว่าความเป็นครูเป็นอาจารย์นั้น ย่อมต้องมีลูกศิษย์ลูกหาและคนรู้จัก ที่เคารพนับถือมากมาย หากเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันผิดๆ ท่านย่อมเกิดความเสียหาย ผมต้องขออภัยอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ความขัดแย้งในสังคมไทยเรามีมากแล้วครับ เมื่อเกิดความเข้าใจผิดกัน ผมต้องออกมาชี้แจงให้เคลียร์และยอมรับในความผิดพลาด และเพื่อเป็นการเคารพในสิทธิของอาจารย์ ผมจะให้ทีมงานแก้ไขข้อความเป็น "ทีมงานของผมไปพบภาพนี้ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ท่านหนึ่ง จึงได้แชร์มา แล้วนำมาให้ผม" และจะลบโพสต์ที่ทีมงานชี้แจงออกไป ตามความประสงค์ของอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าของรูปครับ" สเตตัสของเพจ "โอ๊ค พานทองแท้" ระบุ

ภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ พ.ศ. 2518 และที่มาของภาพซึ่งล่าสุดเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 25 ก.ค. 56 ได้มีการแก้ไขที่มาของภาพแล้ว ที่มา: เพจ Oak Panthongtae Shinawatra

นอกจากนี้ในสเตตัสดังกล่าว นายพานทองแท้ ได้กล่าวด้วยว่าได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อบันทึปเทปสัมภาษณ์ความในใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และจะนำมาเผยแพร่ในเพจของเขาในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) ซึ่งตรงกับวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปีที่ 64

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองในมุมที่ควรจะเป็น...! เหตุผลของ กสทช.สุทธิพล ในการขยายเวลาคืนคลื่น 1800 MHz ฟังขึ้นจริงหรือ?

Posted: 25 Jul 2013 10:02 AM PDT

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ออก (ร่าง) ประกาศ เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ซึ่งมีใจความสำคัญที่การยืดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) ใช้ให้บริการอยู่ และกำลังจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 ออกไปอีก 1 ปี หลายภาคส่วนในสังคมได้ออกมาวิจารณ์ถึงเนื้อหาในประกาศว่าน่าจะผิดเจตนารมณ์ในกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต นอกจากนั้น เสียงวิพากษ์ยังตั้งคำถามถึงการดำเนินงานอันล่าช้าของ กทค. จนนำไปสู่มาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่นโดยจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

ล่าสุด ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม ได้เขียนบทความ "มองต่างมุม...! ข้อเรียกร้องให้เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz เป็นประโยชน์ต่อ "ประชาชน-ประเทศชาติ" จริงหรือ..?"[1] แม้จะน่าแปลกใจที่ในฐานะ กทค. ด้านกฎหมาย ดร.สุทธิพลกลับไม่ชี้แจงถึงประเด็นฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการขยายระยะเวลาคืนคลื่น ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนตั้งคำถามไว้ ทว่าการออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ กสทช. ไม่สามารถจัดประมูลได้ทัน และอธิบายว่าการเร่งให้เกิดการประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศชาติอย่างที่สังคมพยายามเรียกร้อง ก็มีประเด็นน่าวิเคราะห์หลายข้อ ดังนี้

1. ดร.สุทธิพลอ้างว่า การที่ กสทช. ตัดสินใจไม่นำคลื่น 1800 MHz มาประมูลพร้อมกับคลื่น 2.1 GHz ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 เนื่องจากการนำคลื่นในช่วง 1800 MHz อีก 25 MHz มาประมูล อาจทำให้การแข่งขันในการเสนอราคาประมูลลดต่ำลงไปอีก ซึ่งการประมูลคลื่น 2.1 GHz ที่ผ่านมา กสทช. ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวมากพออยู่แล้ว

ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามในการประมูลคลื่น 2.1 GHz คือการตัดสินใจลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่มาอยู่ที่ 15 MHz โดยไม่ขยับราคาตั้งต้นให้ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ว่าจ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเมิน ทั้งที่มีการประมูลคลื่นทั้งหมด 45 MHz และคาดได้ว่าจะมีผู้เข้าประมูลเป็นผู้ประกอบการรายเดิมเพียง 3 ราย ส่งผลให้ไม่มีการแข่งกันเคาะราคา ด้วยเหตุนี้ การอ้างว่าหากมีการนำคลื่น 1800 MHz อีก 25 MHz มาประมูลพร้อมกัน จะทำให้การแข่งขันยิ่งลดลง จึงเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่สังคมวิจารณ์ นอกจากนั้น ทางเอกชนที่เข้าประมูลอย่างเอไอเอส ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคลื่น 2.1 GHz ที่ประมูลไปนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงอยากให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังหมดสัมปทานโดยเร็ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต้องการประมูลคลื่นของภาคเอกชน

2. ดร.สุทธิพลอ้างว่า กสทช. ถูกร้องเรียนและถูกฟ้องร้องจากหลายภาคส่วนในกรณีประมูล 3G ทำให้ต้องเสียเวลาไปกับการประชาสัมพันธ์และเดินสายชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ทว่า กสทช. ก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 และคณะกรรมการชุดดังกล่าวเองก็ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ซิมดับ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

การดำเนินการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น ถือเป็นงานท้าทายที่ กทค. ต้องเตรียมการหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงสัมปทานที่กำลังหมดอายุลง การขยายขีดความสามารถในการย้ายค่ายเบอร์เดิม (บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Number Portability) และเพิ่มช่องทางในการให้บริการดังกล่าวมากขึ้น (เช่น ผ่าน SMS เว็บไซต์ ฯลฯ) และการตั้งคณะอนุกรรมการรับผิดชอบการประเมินมูลค่าคลื่นและจัดประมูลคลื่นเพื่อหาผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ให้ได้ก่อนวันสิ้นสุดสัมปทานประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ผู้ชนะการประมูลมีเวลาเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการ

การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอเบื้องต้น จึงไม่เพียงพอต่อการเตรียมพร้อมให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา ซึ่งถือเป็นความไร้ประสิทธิภาพและไร้วิสัยทัศน์ในการทำงานของ กทค. อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ นอกจากนั้น อันที่จริงคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอให้ กทค. เร่งประชาสัมพันธ์และจัดประมูลให้ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมถึงนำเสนอแนวทางในการเยียวยาผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นต้องยืดระยะเวลาคืนคลื่นออกไป เช่น การนำคลื่น 1800 MHz ที่ยังว่างอยู่มาใช้รองรับผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทาน เพราะเห็นว่า กสทช. ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป ดังนั้น ข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ที่ถูกอ้างถึงจึงไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงแต่อย่างใด

3. ดร.สุทธิพลอ้างว่าการเร่งจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาซิมดับได้จริง เนื่องจากการสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งประเทศเหมือนบริการ 2G เดิม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี (เพราะผู้รับสัมปทานอย่างทรูมูฟและดีพีซีต้องโอนโครงข่ายและอุปกรณ์ให้กับผู้ให้สัมปทาน คือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด) และไม่มีอะไรรับประกันว่าผู้ชนะประมูลจะสามารถขอเช่าโครงข่ายกับ กสท ได้ เพราะ กสท ยังไม่เห็นด้วยกับการคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz

ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ได้ระบุชัดเจนว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะและคลื่นที่หมดอายุสัมปทานต้องนำกลับมาจัดสรรใหม่ด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น โดยมี กสทช. เป็นตัวแทนในการจัดการ ดังนั้น กสทช. จึงมีอำนาจอย่างชัดเจนที่จะชี้ว่า กสท ไม่มีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อหลังสิ้นสัญญาสัมปทาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเลือกของ กสท ที่ได้รับการโอนย้ายโครงข่ายและอุปกรณ์จึงมีอยู่ 2 ทาง คือ 1) เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อนำคลื่นมาให้บริการบนโครงข่ายของตน และ 2) ให้ผู้ชนะประมูลรายอื่นเช่าโครงข่ายเพื่อหารายได้ ด้วยเหตุนี้ หาก กสทช. ดำเนินแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น และจัดให้มีการประมูลล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ชนะการประมูลย่อมมีเวลาที่จะเจรจากับ กสท เพื่อขอเช่าโครงข่าย และ กสท ก็มีแนวโน้มที่จะให้เช่า เพราะย่อมดีกว่าปล่อยโครงข่ายเอาไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

นอกจากนั้น หาก ดร.สุทธิพล เชื่อว่า กสท "อาจจะ" ไม่ให้ผู้ชนะประมูลเช่าโครงข่าย เหตุใด กทค. จึงยังลังเลที่จะระบุว่าใครควรได้รับสิทธิดูแลลูกค้าต่อออกไปในช่วง 1 ปีของการขยายระยะเวลาคืนคลื่น เพราะจากข่าวที่ออกมาทั้งในและนอกห้องประชุมบอร์ด กทค. มีแนวโน้มที่จะให้ผู้ประกอบการรายเดิมอย่างทรูมูฟและดีพีซีได้รับสิทธินี้ไป ทั้งที่หากใช้ตรรกะของ ดร.สุทธิพล แล้ว การให้ทรูมูฟและดีพีซีได้สิทธิจะไม่ได้ลดความเสี่ยงในการที่ผู้บริโภคจะประสบกับเหตุการณ์ซิมดับแต่อย่างใด (เพราะถ้า กสท ไม่ให้เช่าโครงข่าย ทรูมูฟและดีพีซีก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการสร้างโครงข่าย)

นอกจากนั้น หาก ดร.สุทธิพล เชื่อว่าผู้ชนะประมูลจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการสร้างโครงข่ายใหม่ มาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป 1 ปี ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นเช่นกัน เพราะต่อให้ได้ผู้ชนะประมูลในปี 2557 (หลังจากนี้ 1 ปี) ผู้บริโภคที่ใช้บริการอยู่บนคลื่น 1800 MHz ก็จะประสบกับปัญหาซิมดับอยู่ดี เนื่องจากผู้ชนะประมูลไม่สามารถสร้างโครงข่ายขึ้นมารองรับบริการได้ต่อเนื่อง ดังนั้น วิธีการเดียวในการเยียวยาผู้บริโภคในกรณีนี้คือ การให้ผู้บริโภคโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นล่วงหน้า โดย กสทช. จำเป็นต้องทำการประชาสัมพันธ์และเพิ่มขีดความสามารถในการย้ายค่ายเบอร์เดิม ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ กสทช. ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องรอให้คลื่นหมดสัมปทานและขยายระยะเวลาออกไป 1 ปี เพราะเป็นสิ่งที่ กสทช. ทำได้มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว การอ้างของ ดร.สุทธิพลในแง่นี้จึงรังแต่จะตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช.

ดร.สุทธิพลอ้างว่าต่อให้มีการประมูลล่วงหน้า แต่ผู้ชนะการประมูลจะนำคลื่นไปให้บริการ 4G เพราะการนำคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลได้ไปให้บริการ 2G จะไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ

หาก ดร.สุทธิพลเชื่อว่าคลื่น 1800 MHz จะถูกนำไปใช้ให้บริการ 4G อย่างแน่นอน ทางออกเดียวในการเยียวยาผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการ 2G ต่อไป คือการย้ายค่ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น เพราะนั่นหมายถึงการตัดความเป็นไปได้ที่ผู้ชนะการประมูลจะให้บริการ 2G ต่อจากรายเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ ซึ่งในกรณีนี้ กสทช. ก็ควรเร่งให้เกิดการโอนย้ายลูกค้าก่อนหน้านี้ 1 ปี โดยไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาคืนคลื่นออกไป

อันที่จริง กสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องดูแลฐานลูกค้าเดิมต่อไปอย่างน้อย 1 ปี โดยอาจนำคลื่นความถี่บางส่วนมาให้บริการ 2G ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 1 ปี และจากนั้นจึงสามารถนำมาให้บริการ 4G ได้ทั้งหมด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกันก็ไม่กีดกันศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารของไทย

กล่าวโดยสรุป แม้ ดร.สุทธิพลจะพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การดำเนินการทุกอย่างล่าช้าและสร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz แต่เหตุผลส่วนมากก็ไม่ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหาอย่างแท้จริง รวมถึงขัดกันเองกับท่าทีก่อนหน้าของ กสทช. ดังนั้น แทนที่ กสทช. จะคอยมา "มองในมุมที่ต่างออกไป" เพื่อหาคำอธิบายย้อนหลังให้กับการตัดสินใจของตน กสทช. ควรหันกลับมา "มองในมุมที่ควรจะเป็น" นั่นคือ การหาวิธีนำคลื่นในระบบสัมปทานกลับมาจัดสรรใหม่ในระบบใบอนุญาตให้ได้ตามเจตนารมณ์ในกฎหมายและกรอบเวลาที่ควรจะเป็น

 


[1] ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 หรือ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374577944&grpid&catid=02&subcatid=0207

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://nbtcpolicywatch.org/press_detail.php?i=1149

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: คนแม่มูนรอวันเปิดเขื่อน

Posted: 25 Jul 2013 09:44 AM PDT

25 ก.ค.56 - ในช่วงเวลาที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลเคลื่อนไหวเร่งเร้ารัฐบาลให้เปิดเขื่อน บรรยากาศที่หน้าเขื่อนปากมูลประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานยังปิดขวางทางน้ำ ขณะที่ผักตบชวาแพร่ขยายพันธุ์จนปิดปกคลุมลำน้ำมูน และลำน้ำสาขาเสมือนเป็นปราการอีกด่านหนึ่ง ซึ่งสำหรับชาวบ้านนี่จะเป็นปัญหาใหม่ต่อการหาปลาในฤดูกาลกำลังจะมาถึง
 
ชาวบ้านปากมูนซึ่งเป็นคนหาปลา ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเขื่อนปากมูล มาเป็นยาวนานกว่า 24 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาในทุกปีชาวบ้านปากมูนต้องจัดการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อให้ปลาเดินทางจากแม่น้ำโขงเข้ามาวางไขในลำน้ำมูนเหนือเขื่อนขึ้นไป
 
เมื่อปีที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ซึ่งนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ชาวบ้านปากมูน สามารถประกอบอาชีพหาปลาได้
 
ปีนี้ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านปากมูนกว่า 300 คน เดินทางจาก จ.อุบลราชธานีไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ตามมติ ครม.28 พ.ค.56 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.56 ให้เป็นผู้กำกับและดูแลการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
ในวันดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านปากมูน ได้ร้องขอให้นายวราเทพ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ให้ปลาเข้ามาแม่น้ำมูนได้ เพื่อที่คนหาปลาจะได้ประกอบอาชีพ ซึ่งนายวราเทพก็รับปากเป็นอันดี แต่จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด
 
อีกด้านหนึ่ง ที่ปากมูนขณะนี้ฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ฤดูน้ำแดง" อันเป็นช่วงของการอพยพของปลาในรอบปี ที่จะต้องเดินทางย้ายที่ตามรอบวัฏจักรของปลา แต่เมื่อเขื่อนปากมูลยังไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ปลาจำนวนมากไม่สามารถเดินทางจากแม่น้ำโขงเข้ามาสู่แม่น้ำมูนได้
 
คนหาปลาคนเหนือต่างก็เฝ้าคอยวันเวลาที่เขื่อนเปิดประตูรับปลา ส่วนคนท้ายเขื่อนลงไปถึงปากน้ำแม่น้ำสบโขงต่างออกมาจับปลากันอย่างคึกคัก นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 
 
ผักตบชวา อัดแน่นเหนือเขื่อนปากมูล
 
 
 
แก่งคันงัวที่ถูกปกคลุมไปด้วยผักตบชวา
 
 
 
มองจากอีกมุม ผักตบชวาขึ้นหนาแน่นเต็มพื้นน้ำจนดูเหมือนหญ้าที่ปกคลุมสนามฟุตบอล
 
 
 
บันไดปลาโจน
 
 
 
คนหาปลาท้ายเขื่อนปากมูล รอเขื่อนเปิด
 
 
 
ใกล้ปากแม่น้ำ ลำน้ำสองสีเต็มไปด้วยคนหาปลา
 
 
 
ไหลมอง ไหลเรือ ไปตามกระแสน้ำ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ.เร่งประเมินลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวง สัญญาจ้างมีผล1ต.ค.นี้

Posted: 25 Jul 2013 09:27 AM PDT

กระทรวงสาธารณสุขออกระเบียบให้มีการคณะกรรมการดำเนินการประเมินฯ ลูกจ้างชั่วคราวฯ เข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงฯ ให้แล้วเสร็จในวันที่ 27 ส.ค. และให้สัญญาจ้างมีผล 1 ต.ค. นี้ โดยปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีลูกจ้างชั่วคราวราว 117,000 คนทั่วประเทศ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศ 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย หลักเกณฑ์การประเมินลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่ง การกำหนดประเภทตำแหน่ง ลักษณะงาน และการจัดกรอบอัตรากำลัง การจ้าง ค่าจ้าง การได้รับเงินเพิ่ม สิทธิประโยชน์ และหลักเกณฑ์การลาออก เพื่อให้การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมเร่งรัดให้ประเมินลูกจ้างชั่วคราวฯเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 และให้สัญญาจ้างมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2556

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจระเบียบ หลักเกณฑ์การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบ และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 โดยส่วนราชการต้องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประเมินฯ ลูกจ้างชั่วคราวฯเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงฯ ตามหลักเกณฑ์ ให้แล้วเสร็จภายในวันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2556 และให้สัญญาจ้างมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีลูกจ้างชั่วคราว ประมาณ 117,000 คนทั่วประเทศ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ประกอบด้วย 1.หลักเกณฑ์ว่าด้วยการประเมินลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 2. การกำหนดประเภทตำแหน่ง ลักษณะงาน และคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่ม และการจัดกรอบอัตรากำลัง 3.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข การสรรหาและการเลือกสรร รวมทั้งแบบสัญญาจ้าง 4.ค่าจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 5.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ 6.สิทธิประโยชน์ของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไป และ 7.หลักเกณฑ์การลาออกจากการปฏิบัติงานในระหว่างสัญญาจ้างของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า พนักงานกระทรวงสาธารณสุข มี 2 ประเภท คือพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วไปได้แก่ พนักงานฯซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะเป็นงานประจำซึ่งเป็นภารกิจหลักและภารกิจสนับสนุนทั่วไปของหน่วยบริการในด้านงานเทคนิค งานบริการ งานบริหารทั่วไป งานวิชาชีพเฉพาะ และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขพิเศษได้แก่ พนักงานฯซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญสูงมากเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของหน่วยบริการ หรือมีความจำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว และไม่สามารถหาผู้ปฏิบัติที่เหมาะสมในหน่วยบริการได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำบัญชีตำแหน่งไว้ 128 สายงาน แยกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะงาน ดังนี้ 1.กลุ่มเทคนิค บริการ และบริหารทั่วไป เช่น นิติกร นักทรัพยากรบุคคล นักวิชาการเงินและบัญชี นักจัดการงานทั่วไป พนักงานประจำตึก พนักงานพิมพ์ เป็นต้น 2.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะหรือกลุ่มที่ต้องปฏิบัติงาน ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น และ3.กลุ่มเชี่ยวชาญ สำหรับการจ้างได้ให้จ้างตามกรอบอัตรากำลัง โดยต้องคำนึงถึงภารกิจ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิบัติราชการของหน่วยบริการ ที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อการให้บริการสุขภาพของประชาชน ภายใต้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(กพส.) ทั้งนี้ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขสามารถย้ายสถานที่ปฏิบัติงานภายในกรมเดียวกันได้ โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ

ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ลูกจ้างชั่วคราวที่จะเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงฯ หรือเงินรายได้การศึกษา ที่จ้างไว้เป็นรายเดือน และต้องมีชื่อตำแหน่งตามที่ กพส. ได้จัดระบบตำแหน่งไว้ 128 สายงาน โดย กพส. มีวิธีดำเนินการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งเป็น 2 ส่วนคือประเมินโดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้รับการประเมิน คะแนนเต็ม 50 คะแนน และประเมินในรูปคณะกรรมการของส่วนราชการโดยวิธีสัมภาษณ์ คะแนนเต็ม 50 คะแนน ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีคะแนนการประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินหน่วยบริการอาจเลิกจ้างหรือกำหนดวิธีการจ้างด้วยวิธีอื่นแทน

ทั้งนี้ ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุขได้มอบอำนาจการประเมินลูกจ้างชั่วคราว ให้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป ส่วนราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค มอบให้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลฯและผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขเป็นผู้ประเมิน โดยการนับค่าประสบการณ์ หน่วยบริการที่มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวฯ ที่มีลักษณะงาน/หน้าที่ความรับผิดชอบตรงกับตำแหน่งพนักงานกระทรวงฯ จะได้รับการปรับเงินค่าประสบการณ์ ร้อยละ 5 ต่อทุกประสบการณ์ 2 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี

 

 

ที่มา:
สธ.เร่งประเมินลูกจ้างชั่วคราวให้เสร็จใน 27 ส.ค. บรรจุเป็นพนักงาน สัญญาจ้างมีผล1ต.ค.นี้
http://www.hfocus.org/content/2013/07/4099

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เก้า” สุภัสสรา ธนชาต

Posted: 25 Jul 2013 09:07 AM PDT

"ถ้าวันนี้ เราทำละครที่สะท้อนปัญหาสังคมจริงๆ แล้วมีใครมาบอกว่า แบบนี้ไม่ดีไม่ถูกต้อง โดยไม่ดูเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเลย บอกแต่เพียงว่า ต้องโดนแบน จะถูกสั่งแบน หนูว่ามันใจแคบเกินไปนะ"

25 ก.ค.56, ผู้รับบท "สไปรท์" ในละครซีรีส์ เรื่อง "ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น" แสดงความเห็นต่อกรณีกระแสข่าว กสทช.เตรียมสั่งแบนละครเรื่องนี้

กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์ส่งสัญญาณรับมือ ศก.ถดถอยยาว 2 ไตรมาส

Posted: 25 Jul 2013 06:35 AM PDT

วันนี้ (25 ก.ค.56) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 62 คน เรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15–24 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.40 จุด ลดลงร้อยละ 39.3 จากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50
 
แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะอ่อนแอและเป็นสถานะที่อ่อนแอมากที่สุดในรอบ 1 ปี 6 เดือน โดยเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่ายังคงอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนเมษายน 2555 
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 41.50 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 และลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะยังคงแย่ลงจากปัจจุบัน และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 55.27 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 50 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่คอยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงไปมาก
 
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจากค่าดัชนีบ่งชี้ให้เห็นว่าภาวะดังกล่าวจะกินเวลาประมาณ 6 เดือนหรือ 2 ไตรมาสก่อนที่เศรษฐกิจจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2557 โดยจะมีการใช้จ่ายและการลงทุนจากภาครัฐกับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่จะคอยประคองเศรษฐกิจให้ยังคงขยายตัวได้อยู่
 
หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
 
รายละเอียดของผลสำรวจ
 
ภาพที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทย (จำแนกตามดัชนี)
 
 
ตารางที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
เปลี่ยนแปลง
จากช่วง
ก่อนหน้า (%)
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
52.46
46.77
32.39
48.31
50.00
59.23
68.97
68.10
21.31
-68.7
 2) การลงทุนภาคเอกชน
50.82
48.36
20.71
44.07
46.67
51.52
55.08
62.28
21.31
-65.8
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
52.59
54.03
45.71
57.14
51.69
46.21
61.40
59.82
43.33
-27.6
 4) การส่งออกสินค้า
69.17
66.39
20.00
36.21
23.77
11.36
24.58
19.49
13.11
-32.7
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
59.68
54.03
23.24
50.85
55.74
57.58
73.73
73.73
72.95
-1.1
ดัชนีรวม
56.94
53.92
28.41
47.31
45.57
45.18
56.75
56.68
34.40
-39.3
 
หมายเหตุ: ค่าดัชนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดย
ค่าดัชนีเท่ากับ 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะปกติ (สำหรับสถานะปัจจุบัน)  หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ เดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
ค่าดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะแข็งแกร่ง (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ดีขึ้น (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแอ (สำหรับสถานะปัจจุบัน) หรือหมายถึง นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ แย่ลง (สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าเปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
 
ตารางที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนข้างหน้า (เปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
66.07
45.08
62.14
56.03
57.63
50.78
61.61
50.00
30.83
 2) การลงทุนภาคเอกชน
57.41
42.24
69.57
58.62
51.72
41.41
52.59
51.82
31.90
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
70.69
71.19
71.64
75.00
70.34
57.38
66.36
67.59
49.14
 4) การส่งออกสินค้า
49.12
31.36
54.41
65.79
42.37
30.16
55.36
34.82
32.50
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
67.24
47.41
59.29
56.78
58.33
56.15
63.79
50.00
63.11
ดัชนีรวม
62.11
47.46
63.41
62.44
56.08
47.18
59.94
50.85
41.50
 
ตารางที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 6 เดือนข้างหน้า (เปรียบเทียบกับปัจจุบัน)
ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2554
2555
2556
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
ต.ค.
ม.ค.
เม.ย.
ก.ค.
 1) การบริโภคภาคเอกชน
48.25
68.84
62.28
55.21
49.11
61.76
50.00
50.00
 2) การลงทุนภาคเอกชน
44.07
81.82
67.31
55.00
48.15
56.73
62.04
45.54
 3) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
70.00
75.00
75.93
61.82
60.83
70.41
81.13
60.71
 4) การส่งออกสินค้า
25.44
62.12
67.59
44.23
37.50
64.15
47.92
47.27
 5) การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
37.96
73.19
68.10
62.73
48.39
66.04
56.48
72.81
ดัชนีรวม
45.14
72.19
68.24
55.80
48.80
63.82
59.51
55.27
 
ตารางที่ 4 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้า
 
3 เดือนข้างหน้า
6 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะดีขึ้น
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
 
การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะทรงตัว
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
-ไม่มี-
การบริโภคภาคเอกชน
ปัจจัยขับเคลื่อนที่เชื่อมั่นว่า
จะแย่ลง
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
การส่งออกสินค้า
การลงทุนภาคเอกชน
การบริโภคภาคเอกชน
การส่งออกสินค้า
การลงทุนภาคเอกชน
 
 
รายละเอียดในการสำรวจ
 
วัตถุประสงค์: เพื่อสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันและทิศทางในอนาคตอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้า
 
กลุ่มตัวอย่าง: เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 32 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัททริสเรทติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ  ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล: การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด
 
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล: 15 – 24 กรกฎาคม 2556
 
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ: 25 กรกฎาคม 2556
ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง
 
 
จำนวน
ร้อยละ
ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่
 
 
หน่วยงานภาครัฐ
25
40.3
หน่วยงานภาคเอกชน
24
38.7
สถาบันการศึกษา
13
21.0
รวม
62
100.0
เพศ         ชาย
32
51.6
         หญิง
30
48.4
รวม
62
100.0
อายุ          18ปี – 25 ปี
1
1.6
26 ปี – 35 ปี
19
30.6
         36 ปี – 45 ปี
20
32.3
         46 ปีขึ้นไป
21
33.9
               ไม่ระบุ
1
1.6
รวม
62
100.0
การศึกษา   ปริญญาตรี
3
4.8
         ปริญญาโท
45
72.6
         ปริญญาเอก
14
22.6
รวม
62
100.0
ประสบการณ์ทำงานรวม
 
 
       1-5 ปี
11
17.7
       6-10 ปี
14
22.6
       11-15 ปี
10
16.1
       16-20 ปี
8
12.9
       ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
18
29.0
            ไม่ระบุ
1
1.7
รวม
62
100.0
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกลับมาของกองทัพลูกพระอาทิตย์

Posted: 25 Jul 2013 05:53 AM PDT

 
นายโทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโอซากาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกบังคับให้บำเรอกามแก่กองทัพญี่ปุ่น (Comfort women) ถึง 2 ครั้งอันสร้างเกิดความโกรธกริ้วแก่จีน เกาหลีใต้รวมไปถึงสหรัฐฯ ในครั้งแรกเขาปฏิเสธถึงการมีตัวตนของผู้หญิงเหล่านั้น ครั้งที่ 2 เขายอมถอยไปบ้างโดยบอกว่าทาสบำเรอกามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพที่เต็มไปด้วยทหารที่ต้องเผชิญอยู่กับความตายตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะถูกคนชาติเดียวกันโจมตีโดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan) และจะมีการออกมาขอโทษของนักการเมืองผู้นี้ แต่การกระทำดังกล่าวย่อมสามารถสะท้อนความคิดบางส่วนซึ่งซ่อนเร้นอยู่กับคนญี่ปุ่นในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมาสอดคล้องกับชัยชนะของพรรคแกนนำรัฐบาลคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) อย่างท่วมท้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาอย่างประจวบเหมาะ
 
นายฮาชิโมโตะเป็นหนึ่งในหัวหน้าพรรคบูรณะญี่ปุ่น(Japan Restoration Party) ซึ่งมีอุดมการณ์คือชาตินิยมและขวาตกขอบ (Far Right) ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในสภาล่างเมื่อปี 2012 เป็นอันดับ 3 ในอนาคตเป็นการทายได้ยากว่าพรรคบูรณะญี่ปุ่นจะสามารถยิ่งใหญ่จนเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะโดยปกติพรรคแบบขวาหรือซ้ายตกขอบในสังคมประชาธิปไตยมักได้คะแนนเสียงไม่มากนักเพราะประชาชนในประเทศนั้นมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน พรรคที่มีอุดมการณ์อยู่ตรงกลางซึ่งสามารถนำเอาอุดมการณ์ด้านใดมาผสมกันมักจะได้คะแนนเสียงจากทั้ง 2 สภามากที่สุด อย่างเช่น พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเคยผูกขาดการเป็นรัฐบาลมาหลายทศวรรษและสามารถกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ อย่างชินโซะ อาเบะ อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีประชาธิปไตยมีอุดมการณ์คือกลางค่อนขวาซึ่งก็ไม่ยากที่จะมีความคิดหลายอย่างสอดคล้องกับ พรรคบูรณะญี่ปุ่นโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 96 ซึ่งเป็นมาตราที่เปิดไปสู่การกำหนดรูปแบบและมาตรฐานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ อันอาจนำไปสู่การแก้ไขมาตราซึ่งเป็นที่อื้อฉาวมากที่สุดคือมาตรา 9 เพื่อให้ มีนัยสอดคล้องความคิดเห็นดังข้างบนของนายฮาชิโมโตะได้อย่างดี
 
มาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมีใจความโดยย่อคือ ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงครามคือไปรุกรานประเทศอื่น จึงไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเป็นของตัวเองไม่ว่าทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งมีการตีความครอบคลุมถึงการมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนโดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ และถูกนำมาประกาศใช้เมื่อปี 1947 โดยต้องการไม่ให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกอีก อย่างไรก็ตามภายหลังจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1949 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) ซึ่งสหรัฐฯ จำเป็นต้องถอนกองกำลังไปรบในเกาหลี ปล่อยให้ญี่ปุ่นอยู่เพียงเดียวดาย ทางสหรัฐฯ จึงพยายามตีความรัฐธรรมนูญใหม่โดยการให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังเป็นของตัวเองซึ่งพัฒนากลายเป็นกองกำลังป้องกันตัวเองหรือ Japan Self-Defense Force ถึงแม้ชื่อจะไม่ใช่กองทัพ (Army) แต่กองกำลังป้องกันตัวเองซึ่งเป็นกองกำลังที่มีความเข้มแข็งและมีอาวุธทันสมัยเหนือกว่าประเทศจำนวนมากที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่ากองทัพเสียอีก
 
นอกจากนี้งบประมาณของกองกำลังป้องกันตัวเองมีสูงมากเช่นในปี 2009 ญี่ปุ่นมีงบประมาณกว่า 46,000,000,000 เหรียญหรือร้อยละ 9 ของจีดีพีของทั้งประเทศ จัดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก แต่ลักษณะประการหนึ่งที่กองกำลังป้องกันตัวเองแตกต่างจากกองทัพของประเทศอื่นคือไม่สามารถออกไปปฏิบัติการนอกประเทศ แต่ในทศวรรษที่ 90 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่นำไปสู่นโยบายสงครามต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ กองกำลังป้องกันตัวเองได้ร่วมกับสหประชาชาติในการส่งหน่วยรักษาสันติภาพเข้าไปในประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง เช่น ไฮติ และโซมาเลีย ส่งกองเรือเข้าไปลาดตะเวรย่านมหาสมุทรอินเดีย หรือส่งกองกำลังไปช่วยเหลือสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานและอิรัก
 
การปล่อยให้กองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ของสหรัฐฯ เกิดจากความคาดหวังให้ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรต่อการร่วมกันรักษาดุลแห่งอำนาจและความมั่นคงในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการวางแผนในการโอบล้อมจีน จึงคาดหวังให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในยุคของบุช และโอบามา ประจวบกับความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะเซนกะกุหรือเตียวหยู ทั้ง 2 ชาติจึงได้ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้อย่างเต็มที่ เช่นจีนได้ปลุกกระแสชาตินิยมให้แก่คนจีนในการประท้วงญี่ปุ่นเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของสาธารณชนต่อพรรคคอมมิวนิสต์
 
ส่วนญี่ปุ่นก็ใช้ประโยชน์จากประเด็นเดียวกัน เพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจ และยังเป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อตอบรับกับภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือซึ่งมีท่าทีคุ้มดีคุ้มร้ายอันทำให้สาธารณชนญี่ปุ่นวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนยิ่งขึ้น อันจะส่งผลถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 1947 นั้นมีมานานหลายครั้งโดยเฉพาะมาตรา 9 เพื่อให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเต็มรูปแบบเพื่อตอบรับสงครามเย็น แต่แล้วก็ไม่สำเร็จสักที แม้ฝ่ายต้องการแก้จะอ้างเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปราศจากความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับการต้านจากฝ่ายซ้ายที่ระแวงว่าฝ่ายขวาจะทำเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ เพราะในอนาคตญี่ปุ่นอาจจะมีหัวรบนิวเคลียร์และทำการรุกรานประเทศอื่นเหมือนที่เคยทำมาในช่วงสงครามโลกก็ได้ ความกลัวเช่นนี้ไม่ได้เกินจริง เพราะการที่ญี่ปุ่นปฏิเสธการก่อกรรมทำเข็ญแก่ชาวเอเชียของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลายคนจะกล่าวขอโทษต่อประเทศที่เคยเป็นเจ้าทุกข์ในหลายวาระ แต่ก็ถูกมองว่าไม่มีการขอโทษอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียว อันแตกต่างกับเยอรมันรวมไปถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกตอกย้ำอยู่เสมอว่าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้ร้าย จึงกลายเป็นตัวเข้ามาแทนที่ความทรงจำของคนรุ่นใหม่ที่เลือนลางต่อหายนะที่ญี่ปุ่นได้รับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อมสะท้อนถึงลัทธิฟาสซิสต์หรือลัทธิขวาตกขอบที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นแม้ว่าจะสิ้นสุดสงครามไปแล้วก็ตาม
 
ที่สำคัญรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจของพรรคเสรีประชาธิปไตยยังสานต่อแนวคิดแบบขวาตกขอบ เช่นการไปคารวะสุสานยะซุกุนิของนายกรัฐมนตรีอย่างนายยาซึจิโร โคซึมิ และนักการเมืองคนอื่นๆ อยู่เรื่อยมา เพื่อยั่วยุให้ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่พอใจ เพราะสุสานยะซุกุนิมีส่วนหนึ่งเป็นที่เก็บกระดูกหรือใช้ภาษาอันสวยงามคือเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณของอาชญากรสงคราม รวมทั้งนายพลฮิเดะ โตโจซึ่งถูกศาลของฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอภายหลังสงคราม รวมไปถึงการที่รัฐบาลพยายามจำกัดสิทธิของประชาชนและการเน้นการบังคับให้ประชาชนเคารพต่อสัญลักษณ์ชาตินิยมเช่นธงชาติและเพลงชาติ ดังกรณีอื้อฉาวเช่นมีครูชาวญี่ปุ่นถูกลงโทษเพราะไม่ยืนเคารพธงชาติ
 
การปฏิเสธหญิงบำเรอกามของนายฮาชิโมโตะนั้นก็จัดว่าเป็นการสำแดงตนของพวกขวาตกขอบอีกแบบหนึ่ง คำพูดของเขานอกจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมของการรุกรานเอเชียโดยกองทัพญี่ปุ่นแบบอ้อมๆ แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนของพวกขวาจัดแบบให้ผู้ชายเป็นใหญ่ (Male Chauvinism) ที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุสนองความใคร่ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองการเมืองและการทหาร ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจว่า เหตุใดดัชนีความเสมอภาคทางเพศของญี่ปุ่นจึงต่ำที่สุดในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมและโลกที่ 1 ต่ำยิ่งกว่าประเทศโลกที่ 3 อย่างเช่น เคนยา ไทย หรือแม้แต่จีนที่วัฒนธรรมเหยียดเพศหญิงเสียอีก
 
ส่วนสหรัฐฯ นั้นแม้ว่าจะโกรธเคืองต่อความผิดของนายฮาชิโมโตะ ซึ่งหันมาแนะนำทหารสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะเกาะโอะกินะวะให้ใช้บริการทางเพศเพื่อทำให้ไม่กระเจิดกระเจิงในเรื่องทางเพศมากนัก แต่ก็เป็นพวกปากว่าตาขยิบ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาทหารสหรัฐฯ ได้ก่ออาชญากรรมทางเพศกับผู้หญิงญี่ปุ่นและได้รับการลงโทษจากทางการสหรัฐฯ ที่ดูไม่หนักหนานัก จนเป็นเหตุให้ชาวเกาะโอะกินะวะออกมาประท้วงขับไล่ฐานทัพสหรัฐฯ อยู่เป็นเนืองๆ อันแสดงว่าสหรัฐฯ ก็เป็นพวก Male Chauvinism ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองญี่ปุ่นเลย เพราะนึกถึงแต่ดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกเสียมากกว่าสิทธิมนุษยชน
 
ถ้าจะเปรียบเทียบคำพูดของนายกเทศมนตรีเมืองโอซากากับยุโรปก็คงคล้ายกับการปฏิเสธการมีอยู่ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust denier) ซึ่งในเยอรมันและหลายประเทศในยุโรปถึงกลับออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วมีเพียงการประณามก่นด่า แต่สำหรับนายฮาชิโมโตะซึ่งเป็นนักการเมืองแล้ว การพูดเช่นนี้ย่อมเกิดจากการคาดหวังต่อคะแนนเสียงของคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเขาพอจะหยั่งความรู้สึกได้ว่าเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามต่อเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกระแสความคิดแบบขวาที่หยั่งลึกอยู่ในญี่ปุ่นมานาน ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามจัดโครงสร้างทางการเมืองและสังคมเสียใหม่ให้มีรูปแบบประชาธิปไตย แต่สหรัฐฯ เองซึ่งเป็นขวาตกขอบดูเหมือนจะพอใจในการ "เลี้ยง" ให้ความคิดแบบขวาตกขอบของญี่ปุ่นยังเจริญงอกงามภายใต้รูปแบบประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้กับพวกฝ่ายซ้ายและประเทศอื่นที่เป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากจะแก้ก็ต้องมุ่งไปที่มาตรา 96 ซึ่งต้องใช้จำนวนสมาชิกของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาถึง 2 ใน 3 ในการยกมือสนับสนุน หากนับจำนวนสมาชิกสภาไดเอทของพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคพันธมิตรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพุทธคือพรรคนิวโคไมโตะก็คงจะเกินพอดี แต่ว่าพรรคนิวโคโมโตะไม่มีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคประชาธิปไตยเสรีจึงต้องอาศัยเสียงจากพรรคบูรณะญี่ปุ่น หรือโน้มน้าวพรรคฝ่ายค้านอื่นอีก สำหรับทัศนคติของประชาชนจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่เป็นไปได้ว่าในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น (รวมไปถึงเกาหลีเหนือ) อาจขยายวงกว้างไปกว่านี้ไม่ว่าจะเกิดจากความบังเอิญหรือความตั้งใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เชื้อแห่งลัทธิขวาตกขอบซึ่งเจริญงอกงามในความคิดของสาธารณชนญี่ปุ่นมาช้านานอาจออกผลผลิตใบจนทำให้คนญี่ปุ่นหันมาสนับสนุนการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญรวมทั้งมาตรา 9 ด้วยอันมีผลต่อการตัดสินของบรรดาสมาชิกสภาไดเอททั้งหลายแม้แต่ฝ่ายค้านก็ตาม และยังอาจส่งผลให้รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ (Referendum) ได้อย่างท่วมท้น
 
ผู้เขียนคงไม่เพ้อเจ้อถึงกลับจะบอกว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำร้อยเดิมเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าปัจจัยสำคัญบางอย่างยังคงดำรงอยู่ เช่นญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมของตัวเอง แต่จะบอกได้ว่าเป็นการหวนกลับมาเป็นกองทัพแบบเต็มรูปแบบของลูกพระอาทิตย์เพื่อลบความละอายใจที่มีต่อตนเองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามในการกำหนดอัตลักษณ์ของตนให้มีความเสถียร หลังจากวุ่นวายสับสนมานานจากสงครามโลกเช่นตัวเองนั้นเป็นผู้รุกรานหรือวีรบุรุษ และคราวนี้ลัทธิทหารนิยมและขวาตกขอบดังที่ได้กล่าวมาอาจจะเฟื่องฟูอีกครั้งมาผสมกับระบบทุนนิยมเช่นบรรษัทข้ามชาติและลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่น่าจะมีคนคาดหวังว่าจะพาญี่ปุ่นกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกเป็นอันดับ 2 หลังจากถูกจีนผลักไสไปเป็นอันดับ 3 หรืออาจจะยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น
 
นอกจากการโอบล้อมจีนโดยสหรัฐฯ และการอาละวาดของเกาหลีเหนือแล้ว การกลับมาของกองทัพญี่ปุ่นก็คงทำให้ดุลอำนาจของการเมืองระหว่างประเทศและการทหารในเอเชียแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิ้วกลม: อ่านฮอร์โมน

Posted: 25 Jul 2013 12:35 AM PDT

ฮอร์โมนคงไม่ใช่ละครเรื่องเดียวที่ถูก "ผู้ใหญ่" เพ่งเล็ง และอาจจะถูกแบนได้ หากผู้ใหญ่พิจารณาแล้วว่าเนื้อหา "ไม่เหมาะสม" ยังมีละครและหนังอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ถูกแบน ถูกเซ็นเซอร์อยู่เนืองๆ ในสังคมที่มี "ผู้ใหญ่" ที่ใช้ตัวเองเป็นมาตรวัดทางศีลธรรมและใช้ตัวเองตัดสินว่าเรื่องนั้นดีงามเรื่องนี้ไม่ดีงามอยู่เสมอๆ

ในมุมมองของ "ผู้ใหญ่" เด็กก็ยังเป็นเด็กอยู่วันยันค่ำ หากอยากให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ต้องป้อนแต่สิ่งดีๆ ให้พวกเขา

"เด็ก" ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความถึงเยาวชนเท่านั้น แต่หลายครั้งที่ "เด็ก" ในนิยามของ "ผู้ใหญ่" หมายถึงประชาชนในวงกว้าง

"ผู้ใหญ่" ในสังคมไทยมักมองว่าประชาชนเป็นเด็กที่รู้น้อยกว่าตัวเอง มีสำนึกทางศีลธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องคอยควบคุมสื่อต่างๆ ให้มีเนื้อหาที่ถูกต้องดีงาม มีคำสอนหรือบทสรุปท้ายรายการให้กระจ่างชัด "เด็ก" จะได้ไม่นำไปเลียนแบบ

แต่ "ผู้ใหญ่" คงลืมไปว่า "เด็ก" มีศักยภาพที่จะเติบโตทางความคิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ผ่านการคิดวิเคราะห์ด้วยสมองที่มี และผ่านตัวอย่างทั้งร้ายดีผสมกั

สิ่งเลวร้ายและสิ่งดี ซึ่งมีอยู่ในโลกความจริง

หากเรายอมรับความจริงเราก็จะได้เรียนรู้จากความจริง แต่หากเราหลอกตัวเอง นั่งฝันว่าบ้านเมืองและสังคมเราสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเด็กนักเรียนมีเซ็กส์กัน ไม่มีเด็กนักเรียนทำแท้ง ไม่มีพระที่หลุดออกนอกกรอบพระวินัย ไม่มีสิ่งที่ไม่ดีงาม และทำละครหรือหนังเพื่อบอกเล่าแต่ "ตัวอย่าง" ที่ดี เราจะได้เรียนรู้โลกความจริงได้อย่างไร

บ่อยครั้งในชีวิตที่เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น บ่อยไปที่เราคิดได้จากการอ่าน ฟัง ดู ชีวิตของตัวละครในโลกจินตนาการที่สมจริง

และความ "คิดได้" นี้จะยิ่งฝังลึกในสมอง หากมันผ่านการคิดใคร่ครวญ คิดวิเคราะห์ ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้พระเอก นางเอก ครู พระ หรือฮีโร่คนไหนในละครมาพูดสอนตอนอวสาน

แต่ "ผู้ใหญ่" ทั้งหลายไม่เชื่อใน "ศักยภาพในการคิดเป็น" ของประชาชน ที่เขามองเห็นว่าเป็น "เด็ก" อยู่เสมอ กลัวว่าหากได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีแล้วจะนำไปเลียนแบบ เป็นไปได้ไหมว่า "ผู้ใหญ่" ที่ปรารถนาดีทั้งหลายอาจเข้าใจว่าประชาชนไทยไม่มีความสามารถในการอ่าน

"การอ่าน" ที่ไม่ได้หมายความว่าสะกดคำและอ่านออกเสียงได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการ "อ่าน" ความหมายที่สอดแทรกอยู่ระหว่างเนื้อหา "อ่าน" แล้วคิดวิเคราะห์ ถกเถียง เชื่อมโยง คิดค้าน คิดโต้ คิดต่อ ซึ่งนำมาซึ่งการ "คิดเอง"

การเรียนแบบท่องจำในโรงเรียนจนเคยชินอาจทำให้ "ผู้้ใหญ่" หลงคิดไปว่า เวลาบอกให้อ่านอะไรแล้วเด็กจะไม่คิดต่อคิดโต้เลย เด็กจะท่องจำไปทำต่อโดยอัตโนมัติ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งเขียนถึงเรื่อง "อ่านหนังสือ" โดยบอกว่า "การอ่านเป็นวัฒนธรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตทั้งหมด ไม่ใช่ช่วงเวลาหนึ่งที่คนเอาตาจ้องตัวอักษร"

การที่คนเราจะ "อ่านหนังสือเป็น" นั้นต้องผ่านการฝึก เพราะถ้าไม่ผ่านการฝึก เราก็จะเป็นแค่คน "อ่านหนังสือออก" คือเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน แต่ไม่ได้ความคิดจากการอ่าน อ.นิธิ เปรียบว่าเหมือนการอ่านป้ายเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

"เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อรับรู้ประสบการณ์ของคนอื่น แต่อ่านหนังสือเพื่อทำให้เรามองเห็นประสบการณ์ของเราเองจากอีกมิติหนึ่งซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน คิดสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรือคิดต่าง คิดลึกไปกว่าเดิม รวมทั้งเหลาความสามารถที่จะรู้สึกของเราให้แหลมคมขึ้น" --วรรคนี้อ่านแล้วพยักหน้าหงึกหงัก

แต่สังคมไทย (ตั้งแต่ในโรงเรียน) เราถูกฝึกให้ "อ่านออก" ไม่ใช่ "อ่านเป็น" การอ่านจึงไม่สนุกโดยสิ้นเชิง เพราะอ่านแล้วไม่ได้คิด ไม่ได้ถกกัน ครูไม่ได้เอามาชวนวิเคราะห์ต่อกันในห้อง เมื่อไหร่ที่พูดถึง "การอ่านหนังสือ" จึงกลายเป็นเรื่องที่เด็กๆ (รวมถึงคนที่โตแล้ว) เบื่อหน่ายและส่ายหน้า

เราไม่ใช่สังคมที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เราขี้เกียจอ่าน หนัง ละคร วรรณกรรมหรือบทกวีที่ไม่ได้บอกกันตรงๆ จึงขายได้น้อยกว่าฮาวทูที่บอกทางลัดเป็นข้อๆ ให้ทำตาม และละครที่มีคำสอนท้ายเรื่อง ตัวละครขาวจัดดำจัด ชั่วก็ชั่วสุดๆ ดีก็ดีเลิศอย่างกับนางฟ้า จึงยังได้รับความนิยมมาโดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่นิสัยขี้เกียจอ่านของเราก็เกิดจากการที่ "ผู้ใหญ่" ไม่ปล่อยให้เรา "อ่าน" สิ่งต่างๆ ไม่ปล่อยให้คนในสังคมได้คิด วิเคราะห์ ถกเถียง จากสื่อที่นำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย เสนอแง่มุมความจริงบางอย่างของสังคม มิใช่โลกในนิยายที่มีแต่คุณชายหน้าตาดี และผู้หญิงที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อมาทวงสมบัติเจ้าคุณปู่คืนด้วยการโชว์ปานรูปแมวน้ำที่แก้มก้นข้างซ้าย หรืออะไรทำนองนั้น

ถ้าใช้ชีวิตอยู่ห่างจากความจริงและถูก "ผู้ใหญ่" ริบเอา "สิ่งที่จะอ่าน" สิ่งที่จะทำให้คิดเองได้แบบนี้ไปตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ที่คนในสังคมจะได้เติบโตทางความคิดไปพร้อมๆ กัน

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า "ผู้ใหญ่" ที่ไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนได้ฝึกการอ่านสิ่งต่างๆ จากสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลาย เขาหวังดีกับประชาชนและสังคมอย่างที่กล่าวอ้างหรือเปล่า หรือเขาอาจ "ใหญ่" และมีอำนาจจนเคยตัว และคิดว่ายิ่งประชาชนอ่านไม่เป็น คิดไม่เป็น ก็ยิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาท ปกครองง่าย ไม่หือ ไม่อือ ไม่คิดตั้งคำถามกระทั่งว่า เกณฑ์ในการตัดสินว่าละครหรือหนังเรื่องไหน "เหมาะสม" นั้นอยู่ในกำมือของ "ผู้ใหญ่" แค่ไม่กี่คนเท่านั้นเองหรือ 

หาก "เด็กๆ" ไม่เติบโต "ผู้ใหญ่" ก็จะมีอำนาจ ใช้อำนาจ และควบคุมตัดสินสิ่งที่จะป้อนให้เด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ต่อไปตราบชั่วกาลนาน

แต่สังคมที่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ควรเต็มไปด้วย "เด็ก" ที่คิดไม่เป็น และยิ่งไม่ควรเต็มไปด้วย "ผู้ใหญ่" ที่คิดไม่เป็น

ปล่อยให้พวกเราได้ "อ่าน" กันบ้างเถิดครับ


ไม่ควรรณรงค์เรื่องเมืองหนังสือโลกกันด้วยการแขวนโปสเตอร์ "อ่านกันสนั่นเมือง" เท่านั้น แต่ควรปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านทุกสิ่ง อ่านชีวิต อ่านโลก อ่านสังคม อ่านการเมือง อ่านหนัง อ่านละคร อ่านฮอร์โมน อ่านดาว อ่านไผ่ อ่านสไปรท์ อ่านเต้ย ให้เกิดขึ้นด้วย

เพราะหากเรามีนิสัยของการ "อ่าน" ติดตัว สิ่งเลวร้ายทั้งหลายก็จะทำร้ายเราได้ยาก เพราะเราจะไม่ท่องจำและเลียนแบบเหมือนนกแก้วนกขุนทองอีกต่อไป แต่เราจะ "อ่าน" และ "คิด" กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ปล่อยให้พวกเรา "อ่าน" และคิดเองบ้างเถิดครับ "ผู้ใหญ่" แล้วงานของพวกท่านจะเบาลงอีกเยอะ เอาเวลานั่งแบนหนังแบนละครไปคิดอะไรที่มีประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อีกมาก

ยิ่งแบนหนังแบนละคร ก็ยิ่งทำให้สังคมได้ประชาชนแบนๆ มากขึ้นทุกวัน

สังคมแห่งการอ่านจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีสิ่งต่างๆ ให้อ่านอย่างเสรีและหลากหลายเท่านั้น


 

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Roundfinger

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ทำไมต้องหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน

Posted: 24 Jul 2013 08:11 PM PDT

 

ในสถานการณ์ของความเป็นกับความตายบนรถพยาบาลฉุกเฉิน เวลาทุกวินาทีเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องชี้ชะตาว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะมีโอการรอดชีวิตต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลโดยเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนตระหนักถึง แต่ด้วยบางครั้งสภาพการจราจรติดขัดส่งผลให้หลายชีวิตพลาดโอกาสรอดชีวิต หรือบางครั้งบางคราวความเร่งรีบของรถพยาบาลได้ไปสร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายๆ คน ดังเช่นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จนเป็นเหตุทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินถูกตามไล่ยิง ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการ "หลีกทางให้รถพยาบาล"

นายต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ ผู้จัดการหน่วยกู้ชีพหงส์แดง กรุงเทพมหานคร หนึ่งในทีมกู้ชีพ ที่มีประสบการณ์การทำงานมากว่าสิบปี เล่าว่า ทุกครั้งที่นำรถพยาบาลออกเหตุเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทุกราย โดยเฉพาะการออกเหตุในกรุงเทพมหานครที่มีสภาวะการจราจรติดขัดยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าไปช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้เร็วที่สุด ซึ่งเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเคยได้ไปช่วยคุณยายที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว แต่ขณะขับรถเข้าไปรับผู้ป่วยในช่วงที่ขับรถเข้าซอยมีรถจำนวนมากที่ไม่หลีกทางให้ จนเกือบทำให้ไปรับผู้ป่วยไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีในลักษณะเดียวกัน ที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจในเรื่องการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน

"หลายคนตั้งคำถามว่าการออกเหตุแต่ละครั้งมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริงหรือไม่ที่อยู่บนรถพยาบาลนั้นๆ ผมขอยืนยันว่ามีผู้ป่วยจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยร้ายแรง อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน อุบัติเหตุที่รุนแรง หรือไม่ก็เป็นรถฉุกเฉินที่กำลังเร่งไปรับผู้ป่วย ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนขอทางจากรถพยาบาลฉุกเฉินควรหลีกทางให้ เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบนรถคันนั้นจะเป็นญาติพี่น้องคุณหรือไม่ และควรจะเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติทันทีโดยไม่ต้องคิดว่ามีกฎหมายบังคับหรือไม่ แต่ควรปฏิบัติให้กลายเป็นจิตสำนึก"

นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คือรถพยาบาลฉุกเฉินติดสัญญาณไฟแดง ดังนั้นหากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการประสานให้มีการเปิดไฟเขียวเพื่อให้รถพยาบาลสามารถนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สพฉ. ที่มีบทบาทหลักในการกำหนดมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าเรื่องนี้ควรมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกทางให้รถพยาบาล เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าไหร่ก็จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เปิดขึ้นทะเบียนและตรวจสภาพรถพยาบาลและรถกู้ชีพเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยรถกู้ชีพที่จะผ่านมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถยนต์ตู้ หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่กระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้าง และช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ.  ติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปสังเกตุเห็นรถพยาบาลในลักษณะดังกล่าวและกำลังเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินควรหลีกทางให้ เนื่องจากบนรถคันดังกล่าวมีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือกำลังเร่งไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตามสำหรับการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉินเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการจราจรทางบกมาตรา 75 ซึ่งในขณะที่ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หยุดรถหรือจอดรถ ในที่ห้ามจอดรถ ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุดแต่ต้อง ลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะขับรถไปปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 75 ก็ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ผู้ขับขี่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทได้ด้วยเช่นกัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น