โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จิตอาสา กับ CSR

Posted: 07 Sep 2011 12:50 PM PDT

คำว่า ‘จิตอาสา’ กำลังมาแรง บ้างก็ว่าคือ ‘ปาง’ หนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (CSR: Corporate Social Responsibility) ในที่นี้มาวิเคราะห์กันให้ชัดเจนว่า ‘จิตอาสา’ กับ CSR เกี่ยวพันหรือแตกต่างกันอย่างไร อาจมีความพยายามในการใช้จิตอาสาในเชิงหลอกลวงให้วิสาหกิจขาดความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่

 

อาสาสมัครเป็นสิ่งที่ดี

การอาสาทำดี มีจิตอาสาย่อมเป็นสิ่งที่ดี สมควรได้รับการยกย่อง การทำดีย่อมดีต่อตนเองและผู้อื่น อย่างน้อยก็ทำให้คนทำดีสบายใจ ผิดกับการทำชั่วย่อมทำให้ผู้กระทำร้อนรุ่มไม่เป็นสุข การร่วมกันทำดีเป็นหมู่คณะในวิสาหกิจหนึ่งยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีและบรรยากาศที่ดีในหมู่คณะ การทำดีเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาให้ความสำคัญโดยเริ่มจากการทำทานที่ถึงพร้อมและโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น

เรามีคนทำดีสูงสุดคือระดับศาสดา รองลงมาคือ ‘Saint’ ทั้งหลาย เช่น แม่ชีเทเรซา หรือผู้ที่พึงเคารพที่บำเพ็ญความดีมาชั่วชีวิต เช่น ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม คุณมีชัย วีระไวทยะ ฯลฯ แต่จะให้คนทุกคนเป็นผู้มีจิตอาสาระดับนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะคนส่วนมากยังต้องดิ้นรนกับการทำมาหาเลี้ยงชีวิตเช่นสามัญชน อย่างไรก็ตามเราควรส่งเสริมให้คนทำดี

หน่วยงานที่อาสาทำดีในสังคมมีให้เห็นทั่วไป และทำงานค่อนข้างได้ผลโดดเด่นดีเลิศ เช่น มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ที่แม้แต่ดาราบางคนก็ยังไปเป็นอาสาสมัครกู้ภัย นอกจากนี้ในส่วนของนักธุรกิจก็ยังมีสโมสรที่เกี่ยวข้อง เช่น โรตารี่ ไลอ้อน ซอนต้า เป็นต้น รวมทั้งสมาคมและมูลนิธิเด่น ๆ เช่น มูลนิธิดวงประทีป สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นต้น ความเสียสละของมวลสมาชิกเหล่านี้ในการบริจาคทานหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ล้วนเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม

 

รังสรรค์คำใหม่ ๆ

กิจกรรมทำดีก็มีการเปลี่ยนรูปแบบ เช่น กิจกรรมที่ดำเนินการโดยผู้ที่มีฐานะดีในสังคม ก็คือกิจกรรมแจกข้าวของเหล่าคุณหญิงคุณนาย ซึ่งเริ่มต้นในช่วง 50-60 ปีก่อน แต่ในระยะหลังมา กิจกรรมเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นการทำดีเอาหน้า หรือหวังลาภยศสรรเสริญ หรือเป็นการทำดีแบบไม่ยั่งยืนต่อผู้รับ บางครั้งการไปแจกของยังอาจสร้างความยุ่งยากใจให้กับผู้แจก เพราะผู้รับแจกยังอาจตามมาขอรับของแจกเป็นระยะ ๆ จนสร้างความรำคาญแก่ผู้แจกบางส่วน เป็นต้น

โดยที่กิจกรรมทำดีไม่จำเป็นต้องการเป็นการแจกสิ่งของหรือเงินทอง แต่ยังหมายถึงการให้ด้วยแรงงาน ปัญญา เครือข่าย ช่องทางตลาด การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การให้ทุนการศึกษา และอื่น ๆ ดังนั้นคำใหม่ ๆ จึงถูกรังสรรค์ขึ้นมาจาก ‘การแจกของ’ เป็น ‘การบำเพ็ญประโยชน์’ ‘การแบ่งปัน’ ‘กิจกรรมเพื่อสังคม’ และ ‘จิตอาสา’ ในที่สุด สมัยก่อนเมื่อนักศึกษาว่าง ก็อาจ ‘ออกค่ายอาสาพัฒนา’ แต่เดี๋ยวนี้ก็เรียก ‘จิตอาสา’ ตาม ๆ กันไป

 

มีความรับผิดชอบก่อนแล้วค่อยอาสา

อันที่จริง การอาสาทำดีถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของ CSR ที่แสดงออกถึงการมีน้ำใจ เมื่อผู้รับได้รับน้ำใจดังกล่าว ก็จะเห็นถึงคุณค่าของผู้ให้ และกลับมาใช้บริการของผู้ให้ เช่น การทำโฆษณาเรียกน้ำตาของบริษัทประกันชีวิตชุดต่าง ๆ ก็คงส่งผลให้ผู้ชม ซึ้งใจกับความใจดี-เห็นใจเพื่อนมนุษย์ของวิสาหกิจแห่งนี้ และซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดก่อนและเมื่อพร้อมจึงค่อยไปอาสาทำดี หรืออาจอาสาทำดีไปพร้อม ๆ กับความรับผิดชอบก็ยิ่งดีใหญ่ แต่จะมุ่งแต่การทำดี โดยละเลยความรับผิดชอบ วิสาหกิจที่ดีต้องรับผิดชอบต่อทั้งผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ต่อลูกจ้าง ต่อคู่ค้าหรือผู้ให้บริการ (Suppliers) ต่อลูกค้า-ผู้บริโภค ต่อชุมชนโดยรอบ ต่อสังคมโดยรวม ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลก ฯลฯ สิ่งที่พึงส่งเสริมให้วิสาหกิจตระหนักก็คือ หากขาดซึ่งความรับผิดชอบ ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับละเมิด ผิดทั้งกฎหมายแพ่ง อาญา ฯลฯ ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง

 

ความรับผิดชอบของนักศึกษา

ตัวอย่างหนึ่งของการให้ก็คือกรณีของนักศึกษา เรามักจะบอกให้เด็กและเยาวชนทำดี ให้นักศึกษารับใช้ประชาชน มีจิตอาสา แต่โดยทั่วไปการให้นั้นเป็นการไปจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ อาจมีบางทีที่การให้มาจากผู้ที่ต่ำกว่า เช่น กรณีนิทาน ‘ราชสีกับหนู’ เป็นต้น แต่ก็ถือเป็นข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง การจะสร้างจิตสำนึกแก่นักศึกษาให้มีรู้จักเสียสละนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรให้พวกเขาตระหนักถึงหน้าที่ด้วย เพราะปีหนึ่ง ๆ รัฐบาลออกเงินถึง 35,646 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่อนักศึกษาหนึ่งคน [2] ในขณะที่นักศึกษาเองออกค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด ยกเว้นในโปรแกรมนานาชาติของนักศึกษาส่วนน้อยที่อาจเก็บค่าเล่าเรียนปีละนับแสนบาท และแม้แต่ในกรณีมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐบาลยังตามไปสนับสนุนการศึกษาอีกมากมาย

โดยนัยนี้ เราต้องสอนนักเรียน นักศึกษาให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่โกงกินในวันหน้าอันเป็นการทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ และไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

 

ความรับผิดชอบของบริษัทประกัน

ดังที่นำเสนอไว้ข้างต้นว่า การระดมฉายหนังโฆษณาเชิงคุณธรรมที่ซึ้งกินใจหรือส่งเสริมให้คนทำดี แบบ ‘ปูพรม’ โดยใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จนคนดูแล้วอดหลั่งน้ำตาไม่ได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลดีทันตาเห็นแบบ online กล่าวคือคงมีคนดูจำนวนพอสมควรที่ ‘ปลื้ม’ จนซื้อประกันเพราะความซึ้งใจในวิสาหกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบหลักของบริษัทประกันชีวิตไม่ได้อยู่ที่การทำกิจกรรม ‘จิตอาสา’ เช่นนี้

การสร้างยี่ห้อ หรือ Brand ของวิสาหกิจประกันภัยให้ดีและยั่งยืนนั้น อยู่ที่การพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า วิสาหกิจประกันภัยนั้น ๆ มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้เอาประกัน ไม่เบี้ยว ไม่บ่ายเบี่ยงการจ่ายเงินประกัน มีบริการที่สะดวกและมีคุณภาพทัดเทียมกับวิสาหกิจประกันภัยต่างชาติ ด้วยเบี้ยประกันที่ใกล้เคียงหรือถูกกว่าวิสาหกิจต่างชาติ ถ้าเราพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยตัวเลขและสถิติที่ชัดเจน วิสาหกิจก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนจากปากต่อปาก หาไม่ก็เป็นเพียงการกระตุ้นยอดขายแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ เป็นระยะ ๆ เท่านั้น เผลอ ๆ หากผู้บริหารวิสาหกิจนั้น ‘หัวใส’ เช่นวิสาหกิจบางแห่ง อาจทำโฆษณาเพิ่มความดังให้กับตนเองเพื่อปูทางไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือเล่นการเมืองในอนาคตก็เป็นได้

 

ระวังสำลักความรัก

การมีจิตอาสานั้น เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก ถือเป็นคตินิยมแบบคริสต์ศาสนาที่สอนให้รักในเพื่อนมนุษย์ และรักและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว [3] แต่ในหลักพุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้รักแม้แต่รักต่อองค์พระพุทธเจ้าเอง พระพุทธองค์สอนเรื่องกาลามสูตร ไม่สอนให้สักแต่เชื่อ พระพุทธองค์ยังตรัสให้เห็นว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” [4] พุทธศาสนาเน้นความเมตตา ซึ่งบางคนก็อาจตีความเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข (รักโดยไม่หวังผลตอบแทน) อะไรทำนองนั้น

บางคนกล่าวไว้สวยหรูว่า ‘ให้ความรักกันเต็มแผ่นดิน ความสงบสุขก็จะบังเกิด โลกก็จะน่าอยู่ ฯลฯ’ ประโยคสมมติ (If Clause) อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะทำให้คนส่วนใหญ่รักกันขนาดไหน แต่เราขาดซึ่งการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้คนชั่วประกอบอาชญากรรม ความสงบสุขก็ไม่อาจเกิดขึ้น บางทีอาจต้องระวังการทำดีด้วยข้ออ้าง ‘ความรัก’ เพราะ เป็นการหลอกให้เราหลงเชื่อ ต้มเราเพื่อขายสินค้า คือแทนที่คนจะซื้อสินค้าหรือบริการเพราะคุณภาพ กลับหลงซื้อเพราะความศรัทธาในการทำดี นอกจากนี้ หากเราสังเกตให้ดี จะมีการอาสาทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว ความผิดต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น อาชญากรก็มักชอบบริจาค คนที่ทำผิดกฎหมาย ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็มักชอบอ้างว่าตนมี CSR เป็นต้น

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการหลงทำความดีจนกลายเป็น ‘ม้าลำปาง’ คือขาดการมองอย่างรอบด้าน จนถูกทำให้โง่งม เบื่อเมา ไม่กีดขวางการทำชั่วของอาชญากร เช่น เรายกย่องคนทำดีที่ช่วยปลูกป่าต่าง ๆ (เช่น กรณี ด.ต.วิชัย สุริยุทธ ที่เคยถูกหาว่าเป็นคน (บ้า) ปลูกต้นไม้ 2,000,000 ต้น [5]) จนหลงเข้าใจว่าการปลูกป่าเป็นหนทางสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การที่สังคมการมุ่งเน้นการทำดีด้วยการปลูกป่าโดยลืมดูการตัดไม้ทำลายป่า ก็เท่ากับปล่อยให้อาชญากรกอบโกยโดยไร้ผู้ขัดขวาง ปล่อยให้ท่านสืบ นาคะเสถียรตายฟรี เพราะป่าก็ยังลดลงในอัตราใกล้เคียงกับก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต [6]

สิ่งหนึ่งที่พึงยอมรับก็คือ ปัญหาของสังคมของเราในทุกวันนี้ ไม่ใช่อยู่คนคนทำดีน้อยไป หรือคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนไม่ดีพอ พวกเขาส่วนใหญ่คือ ‘ปุถุชน’ ที่ยังมีรักโลภโกรธหลง แต่ไม่ใช่คนไม่ดีที่ต้องได้รับการบำบัด แต่หากทำตัวละกิเลสให้ดีกว่านี้ย่อมดี แต่ปัญหาสังคมในทุกวันนี้เกิดจากคนไม่ดีส่วนน้อยที่มีอำนาจบีฑาคนส่วนใหญ่ ปล้นชิงทรัพยากรไปจากคนอื่น เช่น โจร (ทุกระดับ) ย่อมเป็นคนส่วนน้อย ดังนั้นการเรียกร้องให้คนทำดี โดยไม่ใส่ใจปราบปรามคนไม่ดี จึงเป็นการมองด้านเดียวที่อันตรายเพราะทำให้คนไม่ดีไม่ถูกรบกวนและที่สำคัญไม่ได้รับการปราบปราบเพื่อความผาสุกของปุถุชน

 

สรุป: ทำ CSR ให้ถูกทาง

โดยสรุปแล้ว วิสาหกิจใด ๆ จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากจะดำเนินการแบบ ‘จิตอาสา’ ซึ่งให้บุญตอบแทนแบบ online แล้ว ยังต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อสังคมด้วยการที่ไม่ละเมิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เราต้องดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นวิสาหกิจยังต้องมีมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพและทางธุรกิจ โดยมีการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่ใช่กระทำเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อ อย่าให้ใครหรือวิสาหกิจใดเชิดชู ‘จิตอาสา’ จนบดบังความรับผิดชอบที่ต้องมีของตน

ดังนั้น CSR จึงมีเนื้อหาใจกลางที่ความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไมได้ ส่วน ‘จิตอาสา’ เป็น Option เพิ่มเติม ผมจึงขออัญเชิญพระราชดำรัสเรื่องความรับผิดชอบมาเพื่อให้เป็นมงคลต่อทุกท่าน ดังนี้:

“เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า ‘รับผิดชอบ’ ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้...” [7]

 

อ้างอิง

  1. ดร.โสภณ พรโชคชัย กรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ หอการค้าไทย กรรมการบริหาร สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ Email: sopon@area.co.th FB: www.facebook.com/pornchokchai
  2. โปรดดูการแจกแจงตัวเลขงบประมาณการศึกษาจากบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน’ ณ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market232.htm
  3. คริสต์ศาสนา: http://th.wikipedia.org/wiki/ศาสนาคริสต์
  4. โปรดดูบทความ ‘พระพุทธศาสนามอง "ความรัก" ไว้ว่าอย่างไร? ควรมีหรือควรกำจัด มีหลักธรรมใดยืนยันหรือไม่?’ http://www.wat-buddhabharami.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=90188&Ntype=5
  5. โปรดอ่าน เรื่อง ‘ด.ต.วิชัย สุริยุทธ คน(บ้า)ปลูกต้นไม้ 2,000,000 ต้น’ ที่ http://grou.ps/nonta/blogs/item/855109
  6. โปรดอ่านบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘อย่าปล่อยให้ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ตายฟรี’ ที่ Make Money, September 2010 p.86-87: http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market203.htm
  7. พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2519

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เปิดเวทีพลังงานเมืองอุดรฯ ชี้ปัญหา “นิวเคลียร์” แจงแผน “PDP” ไม่เป็นธรรม

Posted: 07 Sep 2011 12:44 PM PDT

 
วานนี้ (7 ก.ย.54) เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ได้แก่ Mekong School Alumni, เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศแม่น้ำโขง (MEE Net), เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต, เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอีสาน จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคมไทย” โดยมีนักศึกษา กลุ่มชาวบ้าน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนกว่า 100 คน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล
 
 
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต อภิปรายให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และมีโครงสร้างที่ขัดแย้งกันเองอยู่ ด้านหนึ่งเกิดแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งภาครัฐโดยเฉพาะ กฟผ.ยังแสดงท่าทีในการเป็นผู้ค้าไฟฟ้า เช่น แผนในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสร้างภาระในการแบกรับต้นทุนที่ไม่จำเป็นของประชาชน
 
“พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กัน ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 47.33 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ภาคธุรกิจ ร้อยละ 25.69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคที่อยู่อาศัยครัวเรือน ใช้ไฟทั้งประเทศเพียงร้อยละ 21.17 เปอร์เซ็นต์” นายสันติกล่าว
 
นายสันติ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อเท็จจริง ไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามานั้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศทั้งสิ้น จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังที่จะเกิดขึ้นในประเทศนั้นผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการผลิตค่อนข้างสูง
 
“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพื้นที่ จ.อุดรธานีเอง และมีแนวโน้มว่าเหมืองแร่โปแตชที่จะเกิดขึ้นแห่งนี้ จะเป็นแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน” ผู้แทนกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตกล่าว
 
นายสันติ ยังนำเสนอผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากกากนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ใต้เหมืองแร่โปแตชอัซเซ ประเทศเยอรมนี ทั้งสองกรณีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่อยู่โดยรอบรัศมีแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง
 
“ปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศซึ่งถือว่าประเทศที่เจริญแล้ว มีมาตรการเตรียมรับมือกับปัญหาอย่างเป็นระบบ ผู้คนมีระเบียบวินัย และกฎหมายที่มีธรรมาภิบาล แต่ก็พบว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และยังมีการปกปิดข้อมูล ข่าวสาร แล้วถ้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร” นายสันติตั้งคำถาม
 
ด้านนายบุญเลี้ยง โยทะกา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง2-อุดรธานี3 ได้เข้าร่วมเวทีในวันนี้ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โดยแท้จริงแล้วชาวบ้านเองไม่ได้ต้องการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน เหมืองแร่ หรือแม้แต่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งหมดต่างเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
 
“รัฐควรส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม  พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ที่มีความยั่งยืน สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และเห็นผลแล้ว” นายบุญเลี้ยงกล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้กับการเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตย

Posted: 07 Sep 2011 12:32 PM PDT

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา การคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้เริ่มปรากฏชัดมากขึ้น และได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อโต้ตอบการเปิดฉากรุกเดินหน้าโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล หรือโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ ในการคัดค้าน ทางนักกิจกรรม นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการท้องถิ่น ได้ถ่ายทอดข้อมูลด้านผลกระทบไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายจนเกิดการตื่นตัวและรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านจนถึงเครือข่ายระดับจังหวัดและระดับภาค ประชาชนที่เข้าร่วมมีหลากหลาย ทั้งเกษตรกร ชาวประมงรายย่อย ผู้รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าในเขตเทศบาล นักการเมืองท้องถิ่น ครู ฯลฯ ขณะที่กิจกรรมการคัดค้านก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีขนาดเล็กให้ข้อมูลความรู้ตามหมู่บ้าน การจัดขบวนแห่และเวทีรณรงค์ในระดับอำเภอและจังหวัด การกดดันและเรียกร้องจริยธรรมทางวิชาการต่อสถาบันการศึกษาที่รับจ้างทำงานวิจัยหรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แก่โครงการเหล่านี้ การเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ใช้อำนาจสั่งระงับโครงการฯ เป็นต้น

ล่าสุดมี ”ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่มีสีสันจากการ planking หมู่กลางถนนเพชรเกษม ยังมีข้อเสนอคู่ขนานในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมีใจความสำคัญคือ ก่อนเดินหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ รัฐบาลจะต้องทำตัวอย่างที่ชัดเจนของการโครงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในกรณีนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกให้ได้เสียก่อน

โครงการพัฒนาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ชุดใหญ่ภายใต้การวางแผนของสภาพัฒน์ฯ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในอนาคต ประกอบด้วยการถมทะเล การสร้างเขื่อน การตัดเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย การสร้างท่าเรือน้ำลึก การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ คลังน้ำมัน การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มผู้คัดค้านกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อฐานทรัพยากรอันจะมีผลต่อการประกอบอาชีพ ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ ประสบการณ์เลวร้ายจากการสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ชี้ชัดถึงชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ ขณะเดียวกันวิธีการสกปรกไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ทำร้าย การหว่านเงินซื้อตัวผู้นำ การทุ่มเงินมหาศาลเพื่อการประชาสัมพันธ์และจ้างสถาบันการศึกษามาทำงานให้ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่สามารถไว้วางใจแผนพัฒนาภาคใต้ได้

ในสถานการณ์ปกติ การคัดค้านโครงการพัฒนาในลักษณะเช่นนี้มักถูกมองในแง่ลบจากสาธารณะอยู่แล้วในข้อหาต่อต้านความเจริญ ส่วนชาวบ้านที่ไม่ยินยอมให้โครงการพัฒนามาลงในพื้นที่บ้านตนก็ถูกมองว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ ขณะที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมในปัจจุบัน ท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายอื่นกับกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาฯ ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น การที่ผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้บางส่วนเคยกระโจนเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ออกบัตรเชิญการรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาลสมัครและสมชาย รวมทั้งสนับสนุนขบวนการปฏิรูปประเทศไทย ประกอบการจัดกิจกรรมที่คึกคักทันทีตั้งแต่ก่อนหน้าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะได้เริ่มต้นการบริหารประเทศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้จะถูกตั้งข้อสังเกตอย่างเหมารวม โดยเฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วนว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บ้างก็สงสัยไปไกลว่ามีพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งมีการโยงการคัดค้านการพัฒนาเข้ากับการสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งโยงใยไปถึงกลุ่ม “เจ้า”

ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็ถูกบางส่วนในกลุ่มผู้คัดค้านเหมารวมว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการพัฒนาเหล่านี้ รวมทั้งถูกมองว่าดีแต่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงด้วยกันแต่ละเลยความทุกข์ของผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนานี้

เป็นที่น่ากังวลว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะยิ่งนำไปสู่การแบ่งขั้วที่เน้นการเผชิญหน้าแบบเหมารวมและทำให้ต้นตอหรือประเด็นปัญหาที่ควรจะถกเถียงกันเรื่องแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมถูกละเลย สถานการณ์ดูแย่ลงไปอีกเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ พยายามหาจุดขายใหม่ด้วยการเปลี่ยนสีตัวเองจากเหลืองมาเป็นเขียวในนาม ‘กลุ่มการเมืองสีเขียว’ อันเป็นสีที่ขบวนเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก รวมทั้งผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ ใช้เป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงระบบนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แม้จะมีแนวโน้มที่ดีว่าล่าสุดในปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เน้นย้ำประเด็นการสลายสีเหลือง-แดงมาเพื่อมาร่วมกันคัดค้านแผนพัฒนาที่ไม่เหมาะสม ขณะที่คนเสื้อแดงในภาคใต้หลายคนก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในปฏิบัติการนี้ ขณะเดียวกันสำหรับชาวบ้านจำนวนมากที่ร่วมการคัดค้านแล้วนั้น การเมืองสีเสื้อยังดูห่างไกลจากการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้องในชีวิตประจำวัน กระนั้นยังไม่มีหลักประกันว่าการเหมารวม การแบ่งขั้ว และการเผชิญหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองมีความแหลมคมร้อนแรงขึ้น

คงจะเป็นเรื่องไร้เดียงสาหากจะบอกให้สองฝ่ายซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันหันมาสมานฉันท์ร่วมกันคัดค้านโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สำหรับคนเสื้อแดงนั้นเจ็บปวดที่คนตาย 92 ศพ คนเจ็บและพิการอีกกว่า 2,000 คน และคนที่ติดคุกโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกเกือบ 200 คน ดูจะยังไม่สำคัญมากเพียงพอที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งยังไม่สามารถทำให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานผ่านทางการเลือกตั้งว่า มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและเป็นรูปแบบหนึ่งในการกำหนดอนาคตของตนเองเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้บางส่วนมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากถูกหลอกลวงหักหลังใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งหลายชุด พวกเขาจึงรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการเมืองการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์และการผูกขาดทางอำนาจของนักการเมือง กระนั้นความแตกต่างของจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย สิ่งสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ความต่างนี้นำสู่ความเกลียดชัง การแบ่งขั้ว และการเผชิญหน้าโดยปราศจากเหตุผล รวมทั้งจะต้องมีเกณฑ์ที่ยึดถือได้ร่วมกันบนฐานของความเป็นประชาธิปไตย

ที่สำคัญแต่ละฝ่ายควรจะตระหนักถึงลักษณะร่วมของประเด็นที่ตนให้ความสำคัญ “อำมาตย์” ของคนเสื้อแดงกับชนชั้นนำที่ได้รับผลประโยชน์และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการต่างๆ ในแผนพัฒนาภาคใต้แท้จริงแล้วก็คือส่วนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการ เทคโนแครต สถาบันการเมืองแบบจารีต ฯลฯ ที่มีสายสัมพันธ์ในทางธุรกิจจากหน่วยงานหรือบรรษัทข้ามชาติที่ดำเนินการ ขณะเดียวกันการที่คนเสื้อแดงถูกเข่นฆ่าปราบปรามและไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมืองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็คือสภาพการณ์ที่ไม่แตกต่างจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่แทบไม่เคยได้เข้าถึงความยุติธรรมเท่าเทียมในการต่อรองเพื่อหยุดยั้งโครงการหรือเพื่อเรียกร้องการชดเชยต่อความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจังจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ ควรมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในฐานะทางออกที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตที่เป็นจริงที่พ้นไปจากการวาดภาพโรแมนติกบนฐานแนวคิดแบบชุมชนนิยม โดยจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทและฐานทรัพยากรในปัจจุบัน รวมทั้งการเสนอทางออกที่สามารถตอบคำถามในระดับมหภาคได้ อาทิ การจัดหาพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่พึงปรารถนา การขจัดความยากจนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงการพัฒนา เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงก็ต้องมองถึงทางเลือกในการพัฒนาที่จะนำมาสู่ความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริงและไม่ต้องมีใครที่ถูกบังคับให้เสียสละหรือจ่ายในราคาแพงมากกว่าคนอื่นๆ

หากกระบวนการประชาธิปไตย หมายถึงการส่งเสริมให้เกิดรูปแบบของสังคมที่มีความเท่าเทียมเป็นพื้นฐานบนความตระหนักว่า สมาชิกในชุมชนการเมืองต่างมีศักดิ์และสิทธิเสมอกันภายใต้การอำนวยให้เกิดความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะต่อคนที่ถูกขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรม การคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้และการเรียกร้องความเป็นธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงจึงมีจุดร่วมกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างประชาธิปไตย

การคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้กับการเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตย

ภาพประกอบ: กิจกรรม “แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41: คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง” เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2554 ที่วนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร (ภาพโดยวันชัย พุทธทอง)

 

............................

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 2-8 กันยายน 2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธอนาคิสต์

Posted: 07 Sep 2011 12:20 PM PDT

บทความชิ้นนี้เขียนโดย แกรี่ สไนเดอร์ กวีชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. ๑๙๖๑ และถูกกล่าวถึงในฐานะงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่แสดงออกซึ่งแนวคิดที่ต่อมาได้พัฒนาเป็น “Engaged Buddhism” (“พุทธผูกพัน” หรือ “พุทธไม่ลอยนวล”)

 

คำสอนพุทธศาสนาโอบอุ้มสรรพสิ่งในสากลจักรวาล และสรรพชีวิตในนั้นต่างก็มีธรรมชาติภายในอันสมบูรณ์ด้วยปัญญา ความรัก และความกรุณา โต้ตอบสัมพันธ์ และพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของพุทธศาสนา การตระหนักรู้ถึงธรรมชาติที่ว่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อ และถูกทำให้มีขึ้นด้วย “ตัวเรา” ไม่มีทางที่เราจะเข้าถึงธรรมชาตินั้นได้อย่างแท้จริงเลย ตราบใดที่เรายังไม่เรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากตัวตน

ในทัศนะของพุทธศาสนา สิ่งที่กั้นขวางการเผยของธรรมชาติที่ว่านี้ คือ อวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งแสดงออกมาในรูปความกลัว และความอยากอันไม่มีที่สิ้นสุด ในทางประวัติศาสตร์ นักพุทธปรัชญาไม่อาจวิเคราะห์ถึงขีดขั้นที่อวิชชาหรือทุกข์ถูกทำให้เกิดขึ้นหรือถูกส่งเสริมโดยปัจจัยทางสังคมได้ ด้วยเหตุที่ว่าความกลัวหรือความอยากนั้นถือเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วๆ ไปของความเป็นมนุษย์ นั่นได้ทำให้พุทธปรัชญามักมุ่งความสนใจไปที่ ญาณวิทยา และ “จิตวิทยา” โดยปราศจากการให้ความสนใจไปที่ปมปัญหาทางประวัติศาสตร์หรือทางสังคมแต่อย่างใด แม้ว่าพุทธศาสนามหายานจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างออกไปสู่การปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งมวล ทว่าความสำเร็จจริงๆของพุทธศาสนาคือพัฒนาการของระบบการปฏิบัติภาวนา อันนำไปสู่เป้าหมายของการปลดปล่อยปัจเจกบุคคลเพียงหยิบมือที่พร้อมจะอุทิศตนฝึกฝนปฏิบัติจนหลุดพ้นเป็นอิสระจากบ่วงรัดรึงทางจิตหรือเงื่อนไขทางวัฒนธรรมต่างๆ เท่านั้น ส่วนพุทธศาสนาแบบสถาบันนั้นกลับพร้อมที่จะยอมรับหรือปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและอำนาจกดขี่ของระบบการเมืองใดๆก็ตามที่มีอยู่ในวัฒนธรรมนั้น นี่อาจหมายถึงความตายที่ใกล้พุทธศาสนาเข้ามาแล้วทุกทีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ นับเป็นความตายต่อการทำหน้าที่อันเปี่ยมความหมายของความกรุณา ซึ่งปัญญาโดยปราศจากกรุณานั้นไม่อาจรู้สึกถึงความทุกข์ใดๆได้

ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถจะแสร้งทำเป็นไร้เดียงสา หรือปิดตัวเองอยู่ในความไม่รู้ต่อความเป็นไปของอำนาจรัฐ การเมือง และกรอบศีลธรรมทางสังคมได้อีกต่อไป ระบบการเมืองท่ามกลางกระแสโลกสมัยใหม่รักษาการมีอยู่ของมันได้ ก็ด้วยการส่งเสริมความอยากและความกลัว อันเปรียบได้กับกลไกป้องกันตัวเองอันมหึมา “โลกอิสระ” กลับกลายเป็นต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจบนระบบดูดีที่ถูกกระตุ้นด้วยความโลภที่ไม่มีวันพอ ความต้องการทางเพศที่ไม่มีวันถึงจุดที่พอใจ และความเกลียดชังที่ไม่มีที่ทางให้ปลดปล่อย เว้นจะกระทำต่อตัวเอง ต่อคนใกล้ชิดที่เราควรจะให้ความรัก หรือต่อประเทศหรือกลุ่มคนที่กำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่เท่าเทียม

สภาวการณ์ของสงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่ทั้งหมด (รวมถึงสังคมคอมมิวนิสต์ด้วย) ไปสู่ความเป็นผู้บิดเบือนที่ชั่วร้ายต่อศักยภาพของมนุษย์ที่แท้จริง มันได้สร้างประชากร “เปรต” มากมาย ภูตผีที่หิวโหย พุงกาง และปากเท่ารูเข็ม ผืนดิน ป่าไม้ และสัตว์น้อยใหญ่ถูกกลืนหายไปกับของสะสมก่อมะเร็งทั้งหลาย อากาศและน้ำของดาวดวงนี้กำลังถูกทำให้ปนเปื้อนโดยสิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติของมนุษย์หรือองค์กรทางสังคมของมนุษย์ ที่โดยตัวมันเองต้องอาศัยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ขัดแย้ง กดขี่ และก่อความรุนแรง งานวิจัยทางมานุษยวิทยาและจิตวิทยาได้มอบหลักฐานที่เด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง จากการค่อยๆมองไปยังธรรมชาติของตัวเราผ่านการภาวนา ครั้นเราบ่มเพาะศรัทธาและปัญญาในธรรมชาติดังกล่าวมากขึ้น การภาวนาก็จะนำเราให้ลงลึกสู่การตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถึงราก

การสละสันโดษอย่างเต็มใจและเบิกบานของพุทธศาสนาสรรค์สร้างพลังด้านบวก ศีลห้ากับการปฏิเสธที่จะทำร้ายหรือพรากชีวิตในทุกรูปแบบสามารถส่งผลสะเทือนต่อประเทศชาติได้ การปฏิบัติภาวนา ซึ่งเราต้องการแค่ “พื้นที่ให้หยัดยืน” ได้ปัดเป่าภูเขาขยะที่ถูกยัดใส่จิตใจโดยสื่อสารมวลชนและมหาวิทยาลัยซุปเปอร์มาร์เก็ต ศรัทธาในมนุษยธรรมที่เอื้อเฟื้อและสงบเย็นด้วยความปรารถนาแห่งรักอันเป็นธรรมชาติ ได้ทำลายอุดมการณ์ซึ่งคอยปิดหู ปิดตา และปิดปากเราอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังชี้บอกหนทางสู่รูปแบบของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ซึ่งจะทำให้เหล่า “นักศีลธรรม” ทั้งหลายประหลาดใจ และเปลี่ยนแปลงกองทัพแห่งมนุษย์ผู้เลือกที่จะเป็นผู้ฟาดฟัน เพียงเพราะเขาไม่รู้จะเป็นผู้รักหรือผู้ให้ได้อย่างไร

อวตังศกะ (คีกอน) คือพุทธปรัชญาแขนงหนึ่งที่มองโลกในฐานะข่ายแหอันผูกโยง ที่ซึ่งสรรพสิ่งและสรรพชีวิตมีความจำเป็นต่อกันและเปี่ยมความสำคัญในตัวมันเอง จากมุมหนึ่ง อำนาจรัฐ สงคราม และ และสิ่งทั้งหลายที่เรามองว่า “ชั่วร้าย” ต่างก็ถูกรวมอยู่ในโลกภาพกว้างทั้งหมดนี้อย่างไม่ประนีประนอมเช่นกัน เหยี่ยว-การโฉบ-และกระต่ายป่า เป็นหนึ่งเดียวกัน จากจุดยืนของ “มนุษย์” เราไม่อาจวางใจในโลกทัศน์เช่นนั้นได้ นอกเสียจากสรรพชีวิตจะมองด้วยสายตาอันรู้แจ้งเหมือนๆกันทั้งหมด โพธิสัตว์มีชีวิตอยู่โดยอาศัยสายตาของผู้ทนทุกข์ จึงสามารถช่วยเหลือผู้ทนทุกข์เหล่านั้นได้

เมตตาธรรมในโลกตะวันตกอยู่ในรูปของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนเมตตาธรรมในโลกตะวันออกอยู่ในรูปของสติปัญญาในปัจเจกบุคคลที่มีต่อตัวตนหรือความว่างพื้นฐาน เราต้องการทั้งสองอย่าง เพราะทั้งสองต่างก็แสดงถึงสามแง่มุมสำคัญของเส้นทางธรรม อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งโดยสัญชาตญาณของจิตแห่งความรักและความชัดเจน ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้ความสับสนและความก้าวร้าวที่ถูกขับเคลื่อนโดยอัตตา การภาวนาจะทำให้เราเข้าไปในจิตใจเพื่อมองเห็นสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งสัญชาตญาณพื้นฐานของจิตใจอันกระจ่างชัดเยี่ยงนั้นคือที่ที่เราจะวางใจอยู่ได้ ศีลจะนำเรากลับมาสู่หนทาง ผ่านแบบอย่างการปฏิบัติและความรับผิดชอบในการกระทำ ซึ่งสูงสุดคือเพื่อชุมชนอันแท้จริง อันหมายถึงสังฆะแห่ง “สรรพชีวิต”

จากแง่มุมสุดท้ายนี้ สำหรับฉันแล้ว หมายถึง การสนับสนุนการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมใดๆก็ตาม ที่กำลังจะเคลื่อนสังคมไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอันเป็นอิสระ เชื่อมต่อประสานกัน และเท่าเทียมกันอย่างไร้ชนชั้นวรรณะ มันหมายถึงการใช้วิถีทางอันหลากหลายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อารยะขัดขืน การวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเปิดเผย การชุมนุมประท้วง สันติวิธี การเป็นอยู่อย่างพอเพียง (ด้วยความพอใจ) หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่นุ่มนวล หากนั่นเป็นเรื่องของการระงับยับยั้งพวกหัวรุนแรงที่ไร้เหตุไร้ผล นั่นหมายถึงการให้พื้นที่อย่างเปิดกว้างที่สุดต่อความหลากหลายของพฤติกรรมปัจเจกบุคคลที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น เช่น ปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะสูบกัญชา กินเพโยเต้ มีคู่นอนหลายคน หรือรักร่วมเพศ เพราะนั่นคือโลกอันหลากหลายแห่งพฤติกรรมและวิถีปฏิบัติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามโดยจารีตตะวันตกแบบยิว-ทุนนิยม-คริสเตียน-มาร์กซิสต์ อาจกล่าวได้ว่ามันคือการเคารพในสติปัญญาและการเรียนรู้ของคน แต่ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนความโลภหรือหนทางอันนำไปสู่การสั่งสมอำนาจอย่างเห็นแก่ตัว มันคือหนทางของการเรียนรู้บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อตนเอง ทว่ายังเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับผู้คนด้วยเช่นกัน อาจเรียกได้ว่า “ก่อร่างสังคมใหม่ภายในเปลือกของสังคมเก่า” อันเป็นคำขวัญของสหภาพแรงงานโลกเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว

วัฒนธรรมแบบจารีตนิยมกำลังมาถึงวาระสุดท้ายในทุกกรณี และกำลังยื้อชีวิตตัวมันเองด้วยการพยายามเกาะกุมอยู่กับภาพ “ความดี” ในอดีตอย่างสิ้นหวัง แต่พึงจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเคยเป็นอดีตของวัฒนธรรมใดๆ สามารถถูกก่อร่างสร้างใหม่ขึ้นได้จากการสัมพันธ์กับจิตใต้สำนึกผ่านการปฏิบัติภาวนา ในมุมมองของฉันการปฏิวัติทางสังคมที่กำลังมาถึงจะตีวงและเชื่อมเราทุกคนในหลายๆทาง สู่แง่มุมอันสร้างสรรค์ที่สุดตั้งแต่ครั้งบรรพกาล หากเราโชคดี เราอาจบรรลุถึง ”วัฒนธรรมโลก” ในที่สุด จากการสืบสกุลทางมารดา อิสระจากการแต่งงาน เศรษฐกิจแบบสินเชื่อชุมชนตามธรรมชาติ ลดความสำคัญของอุตสาหกรรม จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และพื้นที่ป่าชุมชน สวนสาธารณะ และอุทยานแห่งชาติที่เพิ่มมากขึ้น

แกรี่ สไนเดอร์
๑๙๖๑

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นครศรีธรรมราช สู่เมืองอุตสาหกรรมหนัก?

Posted: 07 Sep 2011 11:59 AM PDT

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่เหมายหลักของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อใช้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ล้นทะลักออกมาจากมาบตาพุด จังหวัดระยะอง ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย

พื้นที่เป้าหมายที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อยู่ที่บ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล บนเนื้อที่ 19,000 ไร่

แน่นอน โครงการนี้ถูกต่อต้านจากภาคประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างหนัก เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้น้ำของอุตสาหกรรมหนัก

รวมทั้งโครงการตั้งฐานสนับสนุนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ก็ถูกคัดค้านด้วย

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ในฐานะแกนนำคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระบบคมนาคม ทั้งทางรถไฟ ถนน และท่าเรือที่จะสร้างขึ้นมารองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะถูกช่วนครศรีธรรมราชค้านทั้งหมด

“นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีพลังงาน เพราะฉะนั้นต้องต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อน เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถ้าไม่มีไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรมก็เกิดไม่ได้ การคัดค้านโรงไฟฟ้าเป็นการตัดยอดโครงการทั้งหมดที่จะตามมา” เป็นคำยืนยันของนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว

ปัจจุบันบรรยากาศการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปอย่างคึกคัก ขณะที่ความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. ก็พยายามลงพื้นที่ทำงานมวลชนออกประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง ที่ตำบลหน้าสตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และที่ตำบลกลาย ตำบลท่าขึ้น ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 800 เมกกะวัตต์

“เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาพลังงาน เพียงแต่เราออกมายืนยันว่า เราไม่เอาพลังงานสกปรก เราจะเอาพลังงานทดแทนที่สะอาดใช้ไม่มีวันหมด” เป็นคำยืนยันของ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เห็นชอบให้ย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก มายังพื้นที่พัฒนาชายบฝั่งทะเลภาคใต้ และแลนด์บริดจ์ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.)

ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และบริการที่มีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต

มีสาระสำคัญ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก การแปรรูปการเกษตร และพืชพลังงาน พร้อมทั้งเสนอแผนดำเนินการระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการ ทั้งการศึกษาและการทำงานในระดับพื้นที่ โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

ปี พ.ศ. 2551 ศึกษาความเป็นไปได้โดยเลือกพื้นที่เหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น

ปี พ.ศ. 2552–2553 ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์

ปี พ.ศ. 2554 ออกแบบรายละเอียด

ปี พ.ศ. 2555–2559 ลงมือก่อสร้าง

ปี พ.ศ. 2560–2590 เริ่มเดินเครื่องจักรโรงงาน

ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ช่วงต้นปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช (Southern Seaboard : SSB) ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536

ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีโครงการสำคัญคือ นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ในบริเวณพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้

หลังจากตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ความเคลื่อนไหวในพื้นที่เริ่มคึกคักขึ้น โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำเสนอที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่บ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล เนื้อที่ 19,000 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนาบอน ที่ตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน เนื้องที่ 5,500 ไร่ ซึ่งนำมาสู่การคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชน

นอกจากนี้ บ้านบางปอ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ต้องใช้พื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 5,000–10,000 ไร่ และต้องสร้างท่าเรือรองรับเรือขนาด 30,000–60,000 DWT ขึ้นมารองรับ

จึงไม่แปลกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ 2 แห่ง ที่ตำบลหน้าสตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และตำบลกลาย ตำบลท่าขึ้น ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา

ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมในอำเภอสิชลกับอำเภอขนอม รวมทั้งหมด 5 แห่ง จากพื้นที่ศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง (Cargo Distribution Center : CDC–Thongsong) ที่อำเภอทุ่งสง

โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองกลาย หมู่ที่ 6 บ้านปากลง ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน หมู่ที่ 5 ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล และโครงการเขื่อนลาไม ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด

ไม่แปลกที่นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว จะมองว่าโครงการเหล่านี้ จะส่งผผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนครศรีธรรมราชชนิดหนักหน่วงยิ่ง เพราะมีตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากหลายโครงการของรัฐให้เห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นริมชายฝั่งทะเล ที่อำเภอหัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ซึ่งยิ่งสร้างก็ยิ่งส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ

สิ่งที่นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ต้องการให้สังคมภายนอกรับรู้คือ โครงการเหล่านั้นส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่อย่างไร คนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีโครงการขนาดใหญ่

ส่วนในด้านความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว เกิดจากความร่วมมือทั้งในส่วนของภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น นักวิชาการ ก็จะทำวิจัยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

ขณะเดียวกัน มีการเชื่อมร้อยกับองค์กรอื่นๆ ทั้งในระดับภาคใต้ ระดับประเทศ และระดับโลกด้วย เช่น กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าไม่ต้องการโครงการขนาดใหญ่ มีการขึ้นป้ายคัดค้าน และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเชิญตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาลงนามในบันทึกร่วมกันว่า จะไม่สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานสกปรกในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทว่า มีอีกช่องทางที่ชาวบ้านยังไม่ได้ทำคือ การฟ้องร้องต่อศาล

ถึงกระนั้น ชาวบ้านถูกฟ้องศาลไปแล้วหนึ่งคดี เป็นคดีที่นายอิสรา ทองธวัช อดีตนายอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ฟ้องนายปิติพงษ์ คิดการเหมาะ ในข้อหาหมิ่นประมาท

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขึ้น 8 ปีไฟใต้ กระทบ 2 หมื่น ตาย 4 พัน ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังไม่ลงชายแดนใต้

Posted: 07 Sep 2011 11:49 AM PDT

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กันยายน 2554 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการดำเนินงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ชื่อ เยี่ยวยายุคเปลี่ยนผ่าน เสี่ยงกู่ร้องจากผู้ปฏิบัติงานเยียวยาชายแดนใต้สู่รัฐบาลใหม่ จัดโดยคณะทำงานประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเยียวยาจิตใจ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 (จังหวัดชายแดนภาคใต้) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายแพทย์อิทธิพล สุขแข็ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบ 4,771 แล้ว ภาย 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ จะเข้าไปเยียวยาจิตใจ ระยะที่ 2 จะเข้าไปประคับประคองด้านจิตใจและช่วยเหลือด้านต่างๆ ระยะที่ 3 จะติดตามเพื่อประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตต่อไป

“ขณะนี้มีองค์กรภาครัฐและภาคประชาชนที่ไม่หวังผลประโยชน์เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง” นายแพทย์อิทธิพล กล่าว

นายแพทย์อิทธิพล กล่าวว่า คณะทำงานประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเยียวยาจิตใจ ตั้งมาแล้ว 3 ปี มีการประชุมสรุปการทำงานทุกปี

นางโซรยา จามจุรี ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย กล่าวในงานสัมมนาว่า ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบแล้วจำนวน 20,689 ราย

นายต่อพงษ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะใช้กรอบศาสนา วิถีชุมชนเป็นหลัก แต่การแก้ปัญหาในมิติดังกล่าวจะทำอย่างไร 7 ปีที่ผ่านมามีการเอาใจใส่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบครอบคลุมให้มากที่สุด

“ความห่วงใยของพวกท่าน คือ รัฐบาลใหม่จะเข้าใจเป้าหมายของพวกท่านหรือไม่ รัฐบาลจะได้ยินเสียงร้องจากท่านหรือไม่ ขอเรียนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็เอาใจใส แต่เวลาที่ท่านจะลงมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มี เพราะท่านได้ยกประเด็นน้ำท่วมมาเป็นตัวตั้ง แต่ท่านก็ห่วงใยของท่านอยู่” นายต่อพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 6 กลุ่ม ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ประเด็นแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกเกณฑ์การเยียวยา และประเด็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพ

จากนั้นในวันที่ 8 กันยายน 25541 จะมีการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย และนำเสนอบทสรุปเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

สำหรับคณะทำงานประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเยียวยาจิตใจ ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ผู้แทนองค์กรภาครัฐใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ศูนย์เยียวยาจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานีและสงขลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์จังหวัด และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

ส่วนภาคประชาชน ประกอบด้วย ในนราธิวาส ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจังหวัด เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ จังหวัดยะลา ได้แก่ Deep peace กลุ่มฟ้าใส เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย โครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม จังหวัดสงขลา ได้แก่ กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวนาทับดุ ปิดถนนเพชรเกษม 43 บี้ กฟผ.ขอค่าชดเชยโรงไฟฟ้าจะนะ

Posted: 07 Sep 2011 11:43 AM PDT

เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 6 กันยายน 2554 ชาวบ้านตำบลนาทับและตำบลใกล้เคียง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 500 คน รวมตัวที่ศาลาเอนกประสงค์ชุมชนนาทับ ก่อนเคลื่อนขบวนเดินทางไปชุมนุมบริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา โดยร่วมกันกางเต็นท์ปิดถนนเพชรเกษม 43 หาดใหญ่–ปัตตานี ทั้ง 4 ช่องทางจราจร ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก

ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และตัวแทนจากโรงไฟฟ้าจะนะ เข้าเจรจากับกลุ่มชาวบ้านเพื่อให้เปิดถนน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มชาวบ้านยอมเปิดถนนฝั่งขาเข้าหาดใหญ่ 2 ช่องทางจราจร โดยชาวบ้านยังคงชุมนุมต่อ

นายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว ประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชนนาทับ เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้าน จะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะได้พบนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทวงถามข้อรียกร้องของชาวบ้านต้องการให้ฟื้นฟูคลองนาทับกลับสู่สภาพเดิม ส่งเสริมอาชีพเสริมเพื่อทดแทนให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในระหว่างการฟื้นฟู ทบทวนการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 จนกว่าจะแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าจะนะได้ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมมูลนิธิประมงคลองนาทับ ที่จัดตั้งโดยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ชาวบ้านได้ประชุมร่วมกับนายวิวัฒน์ สิริเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งได้รับข้อเสนอของชาวบ้านเพื่อรายงานไปยังผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทราบโดยขอเวลา 7 วัน ก่อนจะนำปัญหามาประมวลร่วมกับชาวบ้านในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554

นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนชาวบ้าน และส่วนราชการจังหวัดสงขลา ได้เจรจาร่วมกันมีข้อตกลงให้มีการตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใน 15 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามคำเรียกร้องของชาวบ้านแต่อย่างใด

นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากนั้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ตนและชาวบ้านร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการมูลนิธิประมงคลองนาทับ ที่จัดตั้งโดยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลา เป็นประธานมูลนิธิฯ ขอให้นำเงินในมูลนิธิฯ ที่มีอยู่ 20 ล้านบาท ไปใช้เยียวยา ส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า โดยให้เวลาในการแก้ปัญหาภายใน 15 วัน แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ตนและชาวบ้านจึงต้องกลับมาชุมนุมอีกครั้ง

นายโชติบริพัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ตนและชาวบ้านจะชุมนุมจนกว่านายสุทัศน์ลงมาเจรจารับข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะนะ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสามารถดำเนินการตามข้อเสนอของชาวบ้านได้

“หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยสัญญากันไว้ ชาวบ้านจะคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ แห่งที่ 2 ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านก็จะมีการชุมนุมประท้วงปิดโรงไฟฟ้าจะนะ จนถึงที่สุดจน และจะประท้วงซ้ำซากจนกว่าจะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะดำเนินการตำข้อเรียกร้องของชาวบ้าน” นายโชติบริพัฒน์ กล่าว

นายพิศาล เปิดเผยว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 จะมีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่าง ตัวแทนโรงไฟฟ้าจะนะ ตัวแทนชาวบ้าน และส่วนราชการจังหวัดสงขลา ที่โรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านโรงไฟฟ้าจะนะ

ชาวนาทับดุ ปิดถนนเพชรเกษม 43  บี้ กฟผ.ขอค่าชดเชยโรงไฟฟ้าจะนะ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปชช.ผู้เสนอกฎหมาย 7 ฉบับ เตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลดัน กม.ค้างสภา

Posted: 07 Sep 2011 11:37 AM PDT

วันนี้ (พฤหัสที่ 8 กันยายน) เวลา 9.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนผู้เสนอกฎหมายภาคประชาชน นัดรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภายืนยันว่า จะนำร่างกฎหมายที่ผ่านการเข้าชื่อหนึ่งหมื่นชื่อของประชาชนทั้งสิ้น 7 ฉบับแต่ค้างการอยู่ในสภาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วขึ้นมาพิจารณาต่อ

ทั้งนี้ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่มีการยุบสภา ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างพิจารณาอยู่ในสภาจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งได้ร้องขอต่อรัฐสภาให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับต่างๆ ภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หรือภายในวันที่ 29 กันยายน 2554

โดยร่างกฎหมายภาคประชาชนทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค ร่างพ.ร.บ. วิชาชีพแพทย์แผนไทย ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับสมานฉันท์แรงงานไทย)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปธ.กก.สิทธิมนุษยชนเนปาลขอเข้าเยี่ยม"สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

Posted: 07 Sep 2011 10:21 AM PDT

"บินดา ภันเด" ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภาเนปาล เตรียมเข้าเยี่ยม "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วันนี้

บินดา ภันเต ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภาของประเทศเนปาล (ที่มาของภาพ: icem.org)

7 ก.ย. 54 - มีรายงานข่าวว่า น.ส.บินดา ภันเด (Binda Pandey) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภาของประเทศเนปาล (Chairperson of Fundamental Rights and Directive Principle Committee of Constituent Assembly of Nepal) และสมาชิกของคณะประศาสน์การขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  (ILO) ได้ประสานงานมายังกลุ่มคนงานเพื่อประชาธิปไตย แจ้งความจำนงในการเดินทางมายังประเทศไทย และขอเข้าเยี่ยมคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยมีกำหนดเข้าเยี่ยมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ในวันที่ 15 ก.ย. 54 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 11 พ.ค. 54 นพ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เคยเดินทางเข้าเยี่ยมนายสมยศที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายภาคประชาชน ปกป้องป่าสักทอง-รักษาแม่น้ำยม

Posted: 07 Sep 2011 10:05 AM PDT

เสนออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำทั่วทั้งลุ่มน้ำยม 11 จังหวัด ให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ พร้อมจัดทำแก้มลิงในพื้นที่น้ำท่วมและ 77 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยม เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน บริหารจัดการลุ่มน้ำยมอย่างเป็นธรรม

 
วันนี้ (7 ก.ย.54) เครือข่ายภาคประชาชนออกแถลงการณ์ร่วม “ปกป้องป่าสักทอง เพื่อรักษาแม่น้ำยม” ณ วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ระบุรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์การร่วมเครือข่ายภาคประชาชน
 
ปกป้องป่าสักทอง เพื่อรักษาแม่น้ำยม
 
จากสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง จนทำให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถบจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง จนทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกครั้ง โดยอาศัยสถานการณ์น้ำเป็นข้ออ้าง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี ทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง และหลายครั้งเมื่อนักการเมืองหายใจเข้าออก เป็นต้องน้ำลายหกด้วยผลประโยชน์ของไม่สักทองจำนวนมหาศาล ที่จะถูกตัดโค่นจากพื้นที่หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต่อสถานการณ์ดังกล่าว พวกเราเห็นว่า
 
ข้อเท็จจริง พื้นที่สะเอียบมีป่าสักทองที่สมบูรณ์และหนาแน่น ขนาดลำต้นใหญ่กว่า 1 เมตรชุกชุมในพื้นที่มากกว่า 2 หมื่นไร่ สัตว์ป่าที่มีไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยชนิด และในจำนวนนี้มีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือไฟ นกยูง ส่วนในแม่น้ำซึ่งไหลผ่านป่าสัก ก็มีปลากว่า 100 ชนิด นอกจากนั้นในป่ายังมีพืชผักสมุนไพรซึ่งทรัพยากรเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำยมตอนบน ในลักษณะของป่าเบญจพรรณ (ป่าดิบแล้ง) โดยมีคนจากหลายหมู่บ้านทั้งใกล้และไกล เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า สำหรับเป็นอาหารและสร้างรายได้สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่รายรอบพื้นป่าแห่งนี้
 
ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว กำลังถูกคุกคามจากพยายามผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ด้วยอ้างว่า จะสามารถชะลอ และแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แม่น้ำยมตอนล่าง บริเวณจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัยได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกทักท้วงและคัดค้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ ถึงความเป็นไปได้จริงทั้งประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมา จนบรรดานักสร้างเขื่อนต่างถอยร่นและเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ด้วยการสร้างเขื่อนยมบนและยมล่าง เพื่อลดกระแสการต่อต้านลง ในขณะที่ผู้ที่เสนอให้สร้างเขื่อนยมบน ยมล่างยังไม่รู้ว่าจะสร้างบริเวณใด ผลกระทบจะมากน้อยเพียงใด เป็นเพียงการคิดโครงการในห้องแอร์ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงของพื้นที่ และไม่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในพื้นที่และในสังคม
 
จากการตรวจสอบข้อมูลของชุมชน เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง จะมีลักษณะแบบขั้นบันได คือน้ำจากเขื่อนยมล่างจะท่วมถึงท้ายเขื่อนยมบน ซึ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนก็จะท่วมป่าสักทองและพื้นที่การเกษตรของชุมชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุมชนชาวสะเอียบก็จะได้รับผลกระทบไม่ต่างอะไรกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้น เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง ก็คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงแต่สร้างวาทะกรรมใหม่เพื่อคลายอารมณ์ของคนในสังคมใหม่ เท่านั้นเอง
 
พวกเรา องค์กรประชาชนจากทั่วประเทศ มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมอย่างเป็นธรรม ดังนี้
๑.ให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 11 จังหวัด
 
๒. ให้มีการจัดการลุ่มน้ำตามสภาพความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ โดยให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ เช่น การทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 98 ตำบล
 
๓. ให้มีการจัดทำแก้มลิงในพื้นที่น้ำท่วม และลุ่มน้ำสาขาทั้ง 77 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยม
 
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ
กลุ่มเยาวชนตะกอนยม
องค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ
กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย จังหวัดแพร่
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
สภาองค์กรชุมชน จังหวัดสุโขทัย
กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิต และชุมชนลุ่มน้ำมูน
สมัชชาคนจน
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะจังหวัดลำปาง
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน)
 
วันที่ 7 กันยายน 2554 ณ วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายถึงนายกฯ: นโยบาย-มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

Posted: 07 Sep 2011 09:57 AM PDT

7    กันยายน    2554

เรื่อง      นโยบาย-มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
เรียน      น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนด้านที่อยู่อาศัย  กระผมในนามของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี2537 และสำรวจภาคสนามโดยมีฐานข้อมูลที่กว้างขวางที่สุดในประเทศไทย จึงทำหนังสือนี้มาเรียนเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบายและมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายและแผนการบริหารราชการของรัฐบาล ดังรายละเอียดต่อไปนี้:

1.  การส่งเสริมที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
            1.1    รัฐบาลควรส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน โดยรัฐบาลไม่ไปแข่งขันกับภาคเอกชน เช่น กรณีการสร้างบ้านเอื้ออาทรซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในอดีต เพราะภาคเอกชนก็สามารถผลิตที่อยู่อาศัยราคาถูกป้อนตลาดได้ดีอยู่แล้ว  การผลิตที่อยู่อาศัยของภาครัฐมักไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดเปิด
                        1.1.1    สภาพปัญหา: ในการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2543  ครัวเรือนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมีมากถึง 82.4% ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องส่งเสริมการมีบ้าน กลไกตลาดสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องสูญเสียงบประมาณที่ควรนำไปพัฒนาประเทศในทางอื่น  ผลการประกอบการของบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ต่างมีผลประกอบการที่ดี ไม่อยู่ในภาวะน่าห่วง  ยิ่งกว่านั้นปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยก็ไม่มีปรากฏ  ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ยังมีที่อยู่อาศัยในโครงการที่อยู่อาศัยเอกชน รอผู้ซื้อยู่ประมาณ 135,598 หน่วย  ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาที่ต้องกระตุ้นการสร้างที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด

                        อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่ายังมีที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท รอขายอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 22,130 หน่วย แยกเป็น บ้านเดี่ยว 267 หน่วย  บ้านแฝด 46 หน่วย  ทาวน์เฮาส์ 7,837 หน่วย  ห้องชุด 13,750  และที่ดินจัดสรร 230 หน่วย  ยิ่งหากนับรวมที่อยู่อาศัยมือสองก็คงมีรวมประมาณ 50,000 หน่วย

                        1.1.2    ข้อเสนอ: โดยที่ตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมอยู่ในภาวะปกติสุขดี รัฐบาลควรมุ่งเน้นสนับสนุนเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยชดเชยภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ลดภาษี ค่าธรรมเนียมโอนและค่าจดจำนองตามสมควร แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 50,000 หน่วยที่เป็นทั้งบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง และกำหนดรายได้ของผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือไม่เกิน 20,000-25,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน  ทั้งนี้รัฐบาลพึงสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยราคาถูกโดยตรง

                        1.1.3    ผลดี: รัฐบาลสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงประมาณ 200,000 คน จากจำนวนที่อยู่อาศัย 50,000 หน่วย เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และหากรวมในจังหวัดภูมิภาคด้วย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยนับล้านคน

            1.2    รัฐบาลควรจัดหาที่ดินเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง
                        1.2.1    สภาพปัญหา: โดยที่สภาพการจราจรติดขัด ระบบขนส่งมวลชนมีจำกัด การซื้อที่อยู่อาศัยนอกเมืองทำให้เกิดความสิ้นเปลืองเวลา ทรัพยากร ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อต่อกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย  และในขณะที่ที่ดินในเมืองควรใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อส่วนรวม แนวทางบ้านมั่นคงในปัจจุบันกลับมุ่งเน้นการปรับปรุงทางกายภาพและสังคมบางส่วน โดยไม่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้พ้นจากความเป็นชุมชนแออัด  และไม่ได้เป็นการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยอื่นเพิ่มเติมในพื้นที่ กลายเป็นการให้สิทธิพิเศษเฉพาะผู้บุกรุกเดิม และทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่ควรได้รับความช่วยเหลือจริงเสียโอกาส

                        1.2.2    ข้อเสนอ:
                        1.2.2.1  นำอาคารสงเคราะห์แบบแฟลตแต่เดิมที่มีความสูงเพียง 5 ชั้น เช่น แฟลตดินแดง มาพัฒนาใหม่ให้มีความสูงเพิ่มเติมเป็น 20-30 ชั้น เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยรายอื่น ๆ ที่ยังขาดโอกาสอยู่อาศัยได้เข้าอยู่เพิ่มเติม
                        1.2.2.2  นำที่ดินในชุมชนแออัดบุกรุกต่าง ๆ ของรัฐมาพัฒนาเป็น ‘บ้านมั่นคง’ (มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย) แนวใหม่ ที่ก่อสร้างเป็นอาคารแบบแฟลตที่มีความสูงหลายชั้น เพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม
                        1.2.2.3  นำที่ดินของทางราชการ เช่น กรมธนารักษ์ ซึ่งบางส่วนครองครองโดยส่วนราชการต่าง ๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยชัดแจ้ง มาจัดสร้างที่อยู่อาศัย การพัฒนาเมือง และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

                         1.2.3    ผลดี: รัฐบาลสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยได้เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยเสมอหน้า ไม่เห็นแก่กลุ่มทีได้รับประโยชน์เดิม ซึ่งเป็นการสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ และส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีสภาพน่าอยู่อาศัย

2.  รัฐบาลควรเร่งสร้างความมั่นคงให้กับระบบตลาดที่อยู่อาศัย โดย
            2.1    รัฐบาลควรมีนโยบายให้บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายและผู้บริโภคปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 ที่กำหนดการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคโดยพร้อมเพรียงกัน

                           2.1.1    สภาพปัญหา: จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ณ กลางปี 2554 มีบ้านที่ยังรอผู้ซื้ออยู่ 135,598 หน่วย โดยในจำนวนนี้มีหน่วยที่แล้วเสร็จ 100% เพียง 22,020 หน่วย และส่วนใหญ่ยังเสร็จไม่ถึง 60% ดังนั้นจึงมีความเปราะบางในระบบซื้อขายที่อยู่อาศัยอยู่พอสมควร หากเกิดปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ขึ้น อาจส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินเช่นในอดีต  และในปัจจุบัน โดยที่พระราชบัญญัตินี้เป็นแบบสมัครใจ จึงแทบไม่มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ

                           2.1.2    ข้อเสนอ: ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีนโยบายขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ แทนที่จะเป็นแบบสมัครใจเช่นในปัจจุบัน

                           2.1.3    ผลดี: ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการคุ้มครองของตลาดอสังหาริมทรัพย์และมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทางหนึ่ง

            2.2    รัฐบาลพึงควบคุมผู้ประกอบการ ผู้รับเหมาสร้างบ้าน และนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์

                           2.2.1    สภาพปัญหา: ในปัจจุบันยังไม่มีระบบการประกันทางวิชาชีพหรือการบริการ (Indemnity Insurance) สำหรับการซื้อสินค้าและบริการอสังหาริมทรัพย์ ที่จะยังความมั่นใจแก่ผู้บริโภค  ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้าและผู้บริหารทรัพย์สิน ยังไม่ได้รับการควบคุม มีเพียงการควบคุมกันเอง ซึ่งอาจเกิดการเอาเปรียบกันเองทางธุรกิจ หรือเป็นการคุ้มครองนักวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้องมากกว่าผู้บริโภค

                           2.2.2    ข้อเสนอ: รัฐบาลควรเสนอตราพระราชบัญญัติผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ แต่การตราพระราชบัญญัติอาจกินเวลานาน ในเฉพาะหน้านี้รัฐบาลจึงควร
                           2.2.2.1  ตั้งสภาอสังหาริมทรัพย์หรือคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อกำกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
                           2.2.2.2  ตั้งคณะกรรมการวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน-นายหน้า-บริหารทรัพย์สิน
                           ทั้งนี้รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมในฐานะผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน แต่กรรมการควรมาจากการเลือกตั้งของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการโดยตรงอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แต่งตั้งเป็นรายบุคคลหรือไม่ใช่แต่งตั้งจากกรรมการสมาคม เพื่อป้องกันการครอบงำโดยบุคคลเฉพาะกลุ่ม

                           2.2.3    ผลดี: การควบคุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคมีความมั่นใจในระบบตลาด ก็จะพากันซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น  การควบคุมนักวิชาชีพจะช่วยป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความมั่นคง เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ สถาบันการเงินและสังคมโดยรวม

3.  การบังคับใช้กฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชน
            3.1    รัฐบาลควรเป็นผู้จัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเอง

                        3.1.1    สภาพปัญหา: ผังเมืองกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 5 ปี ได้หมดอายุแล้ว แต่ยังสามารถต่ออายุได้อีกไม่เกิน 2 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการต่ออายุปีแรก  ร่างผังเมืองรวมที่จัดทำโดยกรุงเทพมหานคร ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการวางแผนการใช้ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ปัญหาประการหนึ่งก็คือ กรุงเทพมหานครมีอำนาจอย่างจำกัดในการก่อสร้างสาธารณูปโภค การจัดการที่ดิน การจัดทำบัญชีประเมินราคาทางราชการ และอื่น ๆ ซึ่งต่างจากประเทศที่เป็นแบบอย่างด้านผังเมืองทั่วโลก  นอกจากนั้นการจัดทำผังเมืองภาคปฏิบัติของกรุงเทพมหานครก็ยังต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการ

                        3.1.2    ข้อเสนอ: รัฐบาลควรเป็นผู้จัดทำผังเมืองรวมแทนท้องถิ่นเอง โดยผังเมืองใหม่นี้ควรมีอายุ 10 ปี เพื่อเป็นการวางแผนระยะยาวที่เน้นการพัฒนาแนวสูงแทนแนวราบ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม (เพิ่มความหนาแน่นแต่ลดความแออัดไร้ระเบียบ) โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้ถือเป็นแผนแม่บทที่หน่วยงานทั้งหลายต้องถือปฏิบัติในระยะของการบังคับใช้ผังเมือง ทั้งนี้ให้ถือเป็นแม่แบบในกระบวนการจัดทำผังเมืองในท้องที่อื่นด้วย

                        3.1.3    ผลดี: การวางผังเมืองระยะยาวที่บูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาเมืองใหม่ เมืองบริวาร เมืองชี้นำ การสร้างสาธารณูปโภค การจัดเก็บและประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี จะทำให้เมืองได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

            3.2    รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

                        3.2.1    สภาพปัญหา: ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นแต่ละแห่งยังไม่มีในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันมากในเรื่องนี้  ในปัจจุบันรายได้ของท้องถิ่นมาจากท้องถิ่นเพียง 10% นอกนั้นเป็นเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง จึงทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลในกระบวนการต่างๆ และทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการจัดการทรัพยากร

                        3.2.2    ข้อเสนอ:
                        3.2.2.1  ในเบื้องต้น รัฐบาลพึงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต่างจากภาษีอื่นเพราะเป็นภาษีที่นำมาพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง และยิ่งท้องถิ่นพัฒนา มูลค่าอสังหาริมทรัพย์จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภาษีที่เสียไป
                        3.2.2.2  จัดให้มีการประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามความเป็นจริงเพื่อการจัดเก็บภาษีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและเท่าเทียม
                        3.2.2.3  จัดพื้นที่ทดลองการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เป็นตัวอย่าง

            3.2.3    ผลดี: ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเสียภาษีและได้รับประโยชน์จากภาษี เป็นการกระจายอำนาจตามแนวทางการพัฒนาประเทศ และเมื่อมีการจัดเก็บภาษีนี้แล้ว ภาษีที่ซ้ำซ้อน เช่น ภาษีและค่าธรรมเนียมโอน ก็สมควรยกเลิก ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อขายแจ้งตามราคาจริง ทำให้ราคาซื้อขายที่แจ้งเป็นราคาจริง สามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินประกอบการจัดเก็บภาษีและเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ดียิ่งขึ้น

4.  การเร่งสร้างสาธารณูปโภค

            4.1    รัฐบาลควรเร่งพัฒนาระบบรถไฟฟ้า
                        4.1.1    สภาพปัญหา: ระบบรถไฟฟ้าต่าง ๆ ล่าช้ากว่ากำหนดมาก และหลายเส้นทางอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นเส้นทางออกสู่นอกเมือง ทั้งที่ระบบรถไฟฟ้าเหมาะสมสำหรับในเขตเมืองเป็นสำคัญ

                        4.1.2    ข้อเสนอ:
                        4.2.2.1  เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมือง รวมทั้งการขยายเส้นทางใหม่ ๆ เช่น ถ.ลาดพร้าว ถ.สามเสน ถ.พระรามที่ 3 ถ.พระรามที่ 4 ถ.พระรามที่ 9 เป็นต้น
                        4.2.2.2  ยกเลิกแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายที่ออกนอกเมืองที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง เพราะเป็นความสิ้นเปลือง และไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
                        4.2.2.3  เพื่อเป็นการระดมทุนที่เพียงพอ การให้สัมปทาน ควรเป็นลักษณะ BOT (Build, Operate, Transfer) โดยภาคเอกชนที่ลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้านเงินลงทุน การออกแบบ ดำเนินการก่อสร้างและการบริหารจัดการ โดยเอกชนบริหารจัดการโครงการตามอายุและข้อตกลงแห่งสัญญา และเมื่อสิ้นสุดสัญญา ผู้รับสิทธิจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ของกิจการทั้งหมดให้กับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ หรือแบบ BTO (Build, Transfer, Operate) หรือ BOO (Build, Own, Operate)ก็ได้ตามความเหมาะสม

                        4.1.3    ผลดี: เป็นการเปิดทำเลใหม่ ๆ ในการสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง ซึ่งจะเป็นการเปิดทางเลือกทำเลการอยู่อาศัยมากขึ้น  การมีอุปทานที่ดินมาก ย่อมไม่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงจนเกินความสามารถในการซื้อ

            4.2    รัฐบาลควรสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมอีก 10 สะพาน

               4.2.1    สภาพปัญหา: ความเจริญในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครขยายตัวอย่างรวดเร็วไปไกลมาก ทำให้การเดินทางไม่สะดวก เพิ่มต้นทุนการเดินทาง ในขณะที่ฝั่งตะวันตก ความเจริญจำกัดกว่าทั้งนี้เนื่องจากขาดสะพานข้ามแม่น้ำที่เพียงพอ

               4.2.2    ข้อเสนอ: รัฐบาลควรก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมบริเวณ บริเวณถนนสุโขทัย-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 68, ถนนกรุงเกษม-ถนนจรัลสนิทวงศ์ 44, ถนนเจริญกรุง-ถนนทวีธาภิเษก (อุโมงค์), ถนนท่าดินแดง-ถนนราชวงศ์, ถนนสี่พระยา-ถนนเจริญรัถ, ถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร 27, ถนนเจริญกรุง-ถนนพระรามที่ 2, ถนนบางนา-ตราด-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ข้ามบางกระเจ้า) และ ถนนสุขุมวิท-ถนนสุขสวัสดิ์ (ปากน้ำ-บางปลากด)

               4.2.3    ผลดี: ดังนั้นการมีสะพานข้ามแม่น้ำมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ความเจริญจะกระจายไปในเขตใจกลางเมืองด้านตะวันตกก็จะมีมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนฝั่งตะวันตกเดินทางได้สะดวก และถือเป็นการเปิดช่องทางและทำเลในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

5.  การป้องปรามการผลิตที่อยู่อาศัยล้นเกินในอนาคต

            5.1    รัฐบาลควรเตรียมมาตรการป้องกันการผลิตที่อยู่อาศัยล้นเกิน
                        5.1.1    สภาพปัญหา: ในขณะนี้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยกันอย่างขนานใหญ่ โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส คาดว่าในช่วงปี 2553-2555 จะมีอุปทานที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ถึง 330,000 หน่วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการล้นตลาดในปี 2556 ได้  ประกอบกับสถาบันการเงินก็อำนวยสินเชื่อในสัดส่วนที่เกือบเท่ากับมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่จดจำนอง ซึ่งถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย  ดังนั้นรัฐบาลจึงพึงเตรียมมาตรการการป้องปรามอุปทาน และการเยียวยาตลาดที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์หากเกิดวิกฤติในอนาคตไว้ด้วย

                        5.1.2    ข้อเสนอ:
                        5.1.2.1  แม้ในปัจจุบันผู้ประกอบการจะพยายามลดทอนการเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อป้องกันปัญหาการผลิตล้นเกิน แต่หากมีแนวโน้มที่ชัดเจนถึงการผลิตล้นเกินจริง  รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายหยุดการเปิดตัวโครงการใหม่
                        5.1.2.2  ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงตรวจสอบราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันของสถาบันการเงินโดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่า 3 ล้านบาท เพื่อป้องปรามการอำนวยสินเชื่อที่สุ่มเสี่ยง รวมทั้งการสอบทานคุณสมบัติของผู้ได้รับสินเชื่อ
                        5.1.2.3  หากมีกรณีที่ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นสูงผิดปกติจากการเก็งกำไรระยะสั้น รัฐบาลสมควรออกมาตรการลดทอนอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าหลักทรัพย์ ตลอดจนการกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในระดับสูง เช่น 10% สำหรับการโอนขายต่ออสังหาริมทรัพย์ภายในเวลาสั้น ๆ เช่น 6 เดือนหรือ 1 ปี

                        5.1.3    ผลดี: เป็นการสร้างเสถียรภาพแก่ระบบตลาดที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะวิกฤติเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี2540-2542

             5.2    รัฐบาลพึงประสานทรัพยากรเพื่อการเตรียมการป้องปราม
                        5.2.1    สภาพปัญหา: รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา มักจะรับฟังปัญหาในวงการที่อยู่อาศัยจากสมาคมที่เกี่ยวข้องเพียงบางส่วน ยังขาดการระดมความคิดและข้อมูลเพื่อการวางนโยบายและแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

                        5.2.2    ข้อเสนอ:
                        5.2.2.1  ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มีสมาคมที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ผู้รับเหมาก่อสร้าง และนักวิชาชีพต่าง ๆ รวมแล้วเกือบ 30 แห่ง  รัฐบาลจึงควรจัดการระดมสมองและปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อทราบภาวะตลาดที่แท้จริงและเพื่อการวางนโยบายและแผนที่เหมาะสม
                        5.2.2.2  รัฐบาลพึงเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานศูนย์ข้อมูลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง  ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย  บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยินดีให้การสนับสนุนทางราชการเสมอ

                     กระผมเชื่อว่า หากรัฐบาลมีนโยบายที่ต่อเนื่องข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดหาที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นการวางรากฐานการพัฒนาเมือง และที่สำคัญจะได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างแท้จริง

                   ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากการสำรวจโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่รายเดือน และสำรวจภาวะการขายของโครงการที่เปิดขายในทุกรอบไตรมาส  ดังนั้นหากพบเงื่อนไขที่คาดการณ์ว่าก่อให้เกิดวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตที่จะกระทบกระเทือนต่อธุรกิจ บริษัทผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงิน ตลอดจนประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัย กระผมจะได้นำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อไป 

                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

                                                                                                ขอแสดงความนับถือ
                                                                                                (ดร.โสภณ พรโชคชัย)
                                                                                                ประธานกรรมการบริหาร
                                                                                                ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
                                                                                                บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เตรียมส่งฟ้องชาวบ้าน “คดีรุกที่ป่า” กรณีสวนป่าโคกยาว เงินประกันรายละแสน

Posted: 07 Sep 2011 09:06 AM PDT

ชาวบ้านทุ่งลุยลายต้องคดีรุกที่ป่า 2 คน จาก 10 คน เข้ารายงานตัวอัยการแล้วหลังชาวบ้านชุมนุมร้องนายอำเภอชะลอส่งสำนวนคดี ด้านอัยการแจ้งนายประกันถอนประกัน-เตรียมส่งคดีฟ้องศาล คนที่เหลือนัดต่ออย่างช้าไม่เกิน 29 ก.ย.นี้

 
วานนี้ (6 ก.ย.54) นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ ชาวบ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้ต้องหา2 คน จาก 10 คน ที่ถูกจับกุมพร้อมแจ้งความดำเนินคดีกรณีสวนป่าโคกยาวในข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว ตามที่ได้มีการประสานงานมายัง กำนัน ต.ทุ่งลุยลาย ในฐานะนายประกันของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เนื่องจากอัยการได้จัดทำสำนวนคดีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 นายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสารร่วมกับเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ อส.จำนวนกว่า 200 นาย สนธิกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่บริเวณพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และควบคุมตัวชาวบ้านจำนวน 10 คน ไปที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
 
ที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว เจ้าพนักงานได้แจ้งความก้าวหน้าการดำเนินคดีแก่นายทอง และนายสมปอง โดยแจ้งถึงการถอนประกันของนายประกัน พร้อมระบุว่าจะส่งฟ้องศาลจังหวัดภูเขียว ทำให้ชาวบ้านต้องหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามที่ศาลได้กำหนดวงเงินประกัน คนละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท
 
กระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น.ชาวบ้านได้พยายามทำการรวบรวมเงินจนครบตามจำนวน และดำเนินการประกันตัวทั้ง 2 คน ออกมาได้ในที่สุด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวมีชาวบ้านถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 10 ราย จำแนกเป็น 4 คดี คาดว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีการนัดหมายไปพบอัยการจังหวัดเป็นลำดับต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าได้ทำสำนวนเพิ่มเติม ใกล้เสร็จสิ้นหมดแล้ว อย่างช้าที่สุดจะนัดภายในวันที่ 29 ก.ย.นี้ และมีแนวโน้มที่นายประกันที่เป็นผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจะถอนประกันแบบเดียวกับคดีนายทอง และนายสมปอง
 
 
ชาวบ้านทุ่งลุยลาย บ้านโนนศิลา และชุมชนบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวนกว่า 120 คน ชุมนุมบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.54 ชาวบ้านทุ่งลุยลาย บ้านโนนศิลา และชุมชนบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวนกว่า 120 คน ได้รวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร เรียกร้องให้นายอำเภอคอนสารชะลอการส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่ออัยการ โดยในวันนั้นนายอำเภอคอนสารระบุว่าจะขอดูสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งจะขยายเวลายื่นต่อไปยังอัยการอีก 7 วัน ทำให้ชาวบ้านยอมรับข้อเสนอและสลายตัวไป
 
ทั้งนี้ พื้นที่สวนป่าโคกยาวเป็นพื้นที่พิพาท และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามายาวนาน โดยเมื่อปี พ.ศ.2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ กระทั่งมีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่ถูกอพยพ ขับไล่ออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีรายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่อง แถวของสวนป่าไปพลางก่อน จากนั้น นายก อบต.ทุ่งลุยลาย ได้มีหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เพื่อขอให้ราษฎรผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พิพาท โดยทำกินในระหว่างร่องระหว่างแถวของสวนป่า จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกรณีพื้นที่ป่าไม้ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ป่าไม้ ทั้งสิ้น 9 กรณี โดยมีกรณีสวนป่าโคกยาวรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SIU รายงาน รัฐประหาร-คอรัปชั่น-การเมืองไม่นิ่ง ส่งผลความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยตก 1 อันดับ

Posted: 07 Sep 2011 06:57 AM PDT

SIU ระบุ World Economic Forum (WEF) ตีพิมพ์รายงานขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกปี 2011 – 2012 พบขีดความสามารถการแข่งขันไทยร่วง 1 อันดับจากอันดับ 38 ในปีที่แล้ว มาเป็นอันดับที่ 39 ในปีนี้จากทั้งหมด 142 ประเทศ โดยคะแนนรวมอยู่ที่ 4.52 คะแนน

สำหรับประเทศเอเชียอื่น ๆ ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าไทยมีดังต่อไปนี้

SIU รายงาน รัฐประหาร-คอรัปชั่น-การเมืองไม่นิ่ง ส่งผลความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยตก 1 อันดับ

อันดับ 37 บาห์เรน (อันดับคงที่) คะแนนรวม 4.54 คะแนน
อันดับ 34 คูเวต (อันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ) คะแนนรวม 4.62 คะแนน
อันดับ 32 โอมาน (อันดับเพิ่มขึ้น 2 อันดับ) คะแนนรวม 4.64 คะแนน
อันดับ 28 บรูไน (อันดับคงที่) คะแนนรวม 4.78 คะแนน
อันดับ 31 สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ (อันดับร่วงลงมา 2 อันดับ) คะแนนรวม 4.89 คะแนน
อันดับ 30 จีน (อันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ) คะแนนรวม 4.90 คะแนน
อันดับ 24 เกาหลีใต้ (อันดับร่วงลงมา 2 อันดับ) คะแนนรวม 5.02 คะแนน
อันดับ 21 มาเลเซีย (อันดับเพิ่มขึ้น 5 อันดับ) คะแนนรวม 5.08 คะแนน
อันดับ 14 กาตาร์ (อันดับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ) คะแนนรวม 5.24 คะแนน
อันดับ 13 ไต้หวัน (อันดับคงที่) คะแนนรวม 5.26 คะแนน
อันดับ 11 ฮ่องกง (อันดับคงที่) คะแนนรวม 5.36 คะแนน
อันดับ 13 ญี่ปุ่น (อันดับร่วงลงมา 3 อันดับ) คะแนนรวม 5.40 คะแนน
อันดับ 3 สิงคโปร์ (อันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ) คะแนนรวม 5.63 คะแนน

ส่วนประเทศที่มีขีดความสามารถการแข่งขันเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับปีก่อนนี้โดยทำคะแนนรวมได้ที่ 5.74 คะแนน ในขณะที่ประเทศที่ได้อันดับรองลงไปคือ สิงคโปร์ (5.63), สวีเดน (5.61), ฟินแลนด์ (5.47), สหรัฐอเมริกา (5.43), เยอรมนี (5.41), เนเธอร์แลนด์ (5.41), และ เดนมาร์ก (5.40) ตามลำดับ

หากเทียบพัฒนาการด้านรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) พบว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1986 ประเทศไทยทำได้อยู่เหนือเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย

WEF ได้มีการแบ่งคะแนนขีดความสามารถการแข่งขันออกเป็น 3 ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ (1) ความต้องการพื้นฐาน (น้ำหนัก 40%) ไทยทำได้ 4.9 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 46 โดยหัวข้อย่อยในหมวดนี้จะประกอบไปด้วย ความเป็นสถาบัน, โครงสร้างพื้นฐาน, สภาพแวดล้องทางเศรษฐกิจมหภาค, การศึกษาขึ้นพื้นฐานและสาธารณสุข (2) ปัจจัยการขยายประสิทธิภาพ (น้ำหนัก 50%) ไทยทำคะแนนในหมวดนี้ได้ 4.4 คะแนนถือเป็นอันดับ 43 โดยหัวข้อย่อยในหมวดนี้จะประกอบไปด้วย การศึกษาและการฝึกอบรมขึ้นสูง, ประสิทธิภาพตลาดสินค้า, ประสิทธิภาพตลาดแรงงาน, การพัฒนาตลาดการเงิน, ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และขนาดตลาด (3) ปัจจัยด้านนวัตกรรมและปัจจัยที่ซับซ้อนขึ้น (น้ำหนัก 10%) ไทยทำคะแนนในหมวดนี้ได้ 3.7 คะแนน ถือเป็นอันดับ 51 โดยหัวข้อย่อยในหมวดนี้ประกอบไปด้วย ความซับซ้อนด้านธุรกิจ และนวัตกรรม

สำหรับสาเหตุ 3 อันดับแรกที่สร้างปัญหาต่อการประกอบธุรกิจในไทยนั้น WEF พบว่าสาเหตุมาจาก ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการรัฐประหาร (15.2 %) ตามมาด้วย การคอรัปชั่น (14.5 %) และการเมืองไม่เสถียร (12.9%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ WEF จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งกำลังจะก้าวเป็นขั้นเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่ประเทศที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

เข้าดูและดาวน์โหลดรายงาน The Global Competitiveness Report 2011-2012 ได้ที่เว็บไซต์ของ WEF

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย

Posted: 07 Sep 2011 04:03 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.54 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย 100 คน ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งและการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต่อศาล เมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 โดยสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกเมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกให้กับบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด
 
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด จำต้องหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลชี้การออกใบอนุญาตมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและกระทบต่อสิทธิชุมชนของชาวบ้านจำนวนมาก
 
 
สืบเนื่องจากกรณีประชาชนจำนวนมากใน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย ต.ริมกก อ.เมือง ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จนกระทั่งวันที่ 23 พ.ค.54 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านที่รวมกันในนามกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงรายจำนวน 100 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด
 
ประเด็นในคำฟ้องมีว่า กระบวนการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ประกอบกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานฯ ดังกล่าวขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรมอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ในทำเลไม่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างโรงงานทุกชนิด และพร้อมกันนั้นชาวบ้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยถ้าหากยังปล่อยให้มีการดำเนินการการก่อสร้างโรงงานต่อไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีเกษตรกรรมของประชาชนจำนวนมากซึ่งยากแกการเยียวยาในภายหลัง
 
ต่อมาในวันที่ 8 ก.ค.54 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีและทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผู้รับมอบอำนาจ และผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่1) รวมถึงตัวแทนบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด(ผู้ถูกฟ้องคดีที่2) มาให้ถ้อยคำต่อศาล โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลด้วยเหตุผลหลายประการ คือ ในการขอออกใบอนุญาตฯ ได้ใช้หนังสือความเห็นชอบให้จัดตั้งโรงงานของนายก อบต.เวียงเหนือ ฉบับลงวันที่ 20 ม.ค.52 โดยหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา อบต.เวียงเหนือ
 
การออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าวนั้นยังขัดแย้งกับมติคณะกรรมการกลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้มีมติว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงงานฯ และประกอบกับในการไต่สวนของศาลมีการรับข้อเท็จจริงว่ามีลำเหมืองสาธารณะ (คลองส่งน้ำ) อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างโรงงานฯ และได้มีการถมดินพาดผ่านลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวโดยไม่ได้ขออนุญาตกับ อบต.เวียงเหนือ และยังปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าวันที่ 10 พ.ค.53 สภา อบต.เวียงเหนือได้มีมติไม่สมควรให้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าชีมวล ดังนี้ ถือว่าเป็นการกระทบสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 และมาตรา 67 และขัดกับมาตรา 282และมาตรา283 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
 
ศาลปกครองยังให้เหตุผลต่อไปว่า หากให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เลขที่ (สรข.) 02-119 /2553 ฉบับลงวันที่ 4 มี.ค.53 มีผลบังคับใช้ต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนและประชาชน จนยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง และหากศาลการมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงรายจำนวนกว่า 1,000 คน ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คัดค้านการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานของบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ซึ่งจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม 2554 โดยทางจังหวัดเชียงรายชี้แจงกับชาวบ้านว่าจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และจะมีหนังสือแจ้งความคืบหน้าไปให้กลุ่มชาวบ้านทราบภายในสามวัน จนขณะนี้กลุ่มชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด
 
สรุปคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีโรงไฟฟ้าชีวมวล
 
 
คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๖/๒๕๕๔
สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่
วันที่ ๓๐ เดือน สิงหาคม ๒๕๕๔
 
                               นายบุญซ่น วงค์คำลือ ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐๐ คน   ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
 
                       คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ ๑ กับพวกรวม ๒ คน       ผู้ถูกฟ้องคดี
 
หนังสือถึง นายพนม บุตะเขียว และหรือ นางสาววราภรณ์ อุทัยรังสี และหรือ นางสาวอัญญาณี สิทธิอาษา และหรือ นายเฉลิมชัย การมั่งมี ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อย
 
ด้วยคดีนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ (สรข. ๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกให้แก่ผู้ถูกฟ้องที่ ๒ ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
สรุปย่อคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
 
โจทก์ให้การว่า พวกเขาเป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก่อนหน้านั้นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศเอื้อต่อการอยู่และดำรงชีวิตของสัตว์หลากหลายชนิด จนต่อมาชาวบ้านทราบว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดย บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ทำสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการใช้แกลบเป็นวัตถุดิบ ขนาดกำลังการผลิต ๙.๔ เมกะวัตต์ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๗๒ ไร่ โดยใช้น้ำจากแม่น้ำกกและใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๑๓ เป็นเส้นทางวัตถุดิบ โดยทางบริษัทได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านผู้อาจได้รับผลกระทบ ไม่เห็นด้วยจึงร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ในนามกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น แต่เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ให้กับ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ไม่ได้แจ้งข้อดีข้อเสียและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด ทั้งยังมีหนังสืออนุญาตให้ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างได้ตามความเห็นส่วนใหญ่ของประชาคม และอ้างว่าบริเวณพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวไม่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมอาคาร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒
 
ศาลได้ให้ความเห็นต่อคำฟ้องและคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ว่าเมื่อจำเลยได้รับความเดือดร้อนจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาด ๙.๔ เมกะวัตต์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้ให้ความเห็นชอบโดยไม่ผ่านที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือเพื่อให้ความเห็นชอบ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ นอกจากนั้นการออกใบอนุญาตดังกล่าวยังขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวลที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ว่า ไม่สมควรมีการก่อสร้าง คำฟ้องและคำร้องดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่ซึ่งบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นมีลำเหมืองสาธารณะประโยชน์ โดยบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้มีการถมดินพาดผ่านลำเหมืองสาธารณะ โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ประกอบกับเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้มีการประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นชอบให้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำกับกิจการ ถือว่าหนังสือลงฉบับวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒ เป็นหนังสือที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จึงไม่น่าจะชอบด้วยมาตรา ๖๖,๖๗,๒๘๑,๒๘๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์จึงมีมูลว่า การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของคณะกรรมการกำกับกิจการ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
 
หลักที่ศาลต้องพิจารณาประการแรกคือการใช้คำสั่งทางปกครองหรือใบอนุญาตดังกล่าวหากมีผลใช้บังคับต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการที่ บริษัทพลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ได้เข้ามาถมดิน ขุดบ่อ และสร้างบ้านพักคนงาน โดยผู้รับมอบอำนาจของบริษัท ให้การกับศาลในชั้นไต่สวนว่าหลังจากถมดินและทำการรางวัดจึงได้รู้ว่ามีลำเหมืองสาธารณะผ่ากลางอยู่ในพื้นที่จริงซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างต่อไป ประชาชนย่อมไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในลำเหมืองสาธารณะได้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่ำ เดิมเป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำของพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ ซึ่งได้มีการถมดินสูงขึ้นประมาณ ๓-๔ เมตร จากระดับเดิม และตั้งแต่ได้มีการถมดินทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่นา โดยหากศาลมีคำพิพากษาว่าการออกใบอนุญาตดังกล่าวมิชอบและให้เพิกถอน ทางบริษัทจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าชาวบ้านในพื้นที่ กรณีจึงเห็นว่า การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เลขที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ มีผลบังคับใช้ต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าใบอนุญาตดังกล่าวจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ก็ตาม แต่ทางบริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัด ยังมีสิทธิที่จะต่อใบอนุญาตดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต
 
หลักที่ต้องพิจารณาต่อมาคือการมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะก่อให้เกิดอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลในชั้นไต่สวนว่า หากศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของกำกับกิจการพลังงาน จึงเห็นได้ว่า การมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด
 
ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข.๕) ๐๒-๑๑๙/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกให้ บริษัท พลังงานสะอาดดี ๒ จำกัดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เครือมติชน" ลาออกจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

Posted: 07 Sep 2011 02:39 AM PDT

"เครือมติชน" ประกอบด้วย นสพ.มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ แจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หวังเกิดการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำสภาการฯ กลับสู่มาตรฐานของเจตนารมณ์ครั้งก่อตั้ง

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ให้แก่ ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเป็นหนังสือ "แจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ" และ "ชี้แจงข้อเท็จจริง อ้างถึง หนังสือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ สนช.129/13/2554 วันที่ 19 สิงหาคม 2554" ตามลำดับ ซึ่งมีเนื้อหาโดยละเอียด ดังนี้
----------

 

7 กันยายน 2554

เรียน ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง แจ้งลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย หนังสือชี้แจงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ในฐานะภาคีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และให้ความร่วมมือกับการทำหน้าที่และกิจกรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วยดีตลอดมา

กระผม ในฐานะตัวแทนของภาคีสมาชิกอันประกอบด้วยหนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอแจ้งต่อคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับขอลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2554

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์เพื่อเป็นองค์กรควบคุมกันเอง และส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และกิจการหนังสือพิมพ์ให้ดียิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกรณีล่าสุดกับภาคีสมาชิกอย่างหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสด สะท้อนว่าหลักการข้างต้นมิได้รับการธำรงรักษา ซ้ำยังถูกบิดเบือนด้วยอิทธิพลการเมืองจากภายนอก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่ามีอิทธิพลการเมืองภายนอกเข้าแทรกแซง และมีภาคีสมาชิกตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยังมิได้แสดงความกระตือรือล้นจะจัดการแก้ไข รวมไปถึงดำเนินการระงับความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบ ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศศักดิ์ศรีไปแล้วดังที่ควรปฏิบัติ กลับแสดงท่าทีเหมือนเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม

ตลอดเวลากว่า 30 ปี เครือมติชนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคงในวิชาชีพ เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชน ด้วยความเป็นมืออาชีพและวัตรปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสียด้านจรรยาบรรณ จนกระทั่งประสบกับข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้สาระเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้ กระผมในฐานะตัวแทนของภาคีสมาชิกทั้ง 3 จึงขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยหวังว่าการแสดงออกเช่นนี้จะทำให้เกิดการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกลับไปสู่มาตรฐานของเจตนารมณ์เมื่อครั้งก่อตั้งได้

หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ขอยืนยันว่า แม้จะมิได้เป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติแล้ว แต่หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับไปจนถึงกิจการอื่นๆ ในเครือ จะยังคงธำรงรักษาซึ่งมาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดังเช่นที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะถือกำเนิด พร้อมจะให้สังคมตรวจสอบความสุจริตโปร่งใสในการปฏิบัติงานได้ทุกเวลา และพร้อมให้ความร่วมมือกระทำการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ ไปจนถึงการการทบทวนสถานภาพและท่าที หากเจตนาและมาตรฐานเมื่อครั้งก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้รับการฟื้นฟูกลับมาสู่ความเป็นปกติดังเดิม

จึงเรียนมาด้วยความเคารพ

ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)

 

----------

7 กันยายน 2554

เรียน คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริง

อ้างถึง หนังสือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ สนช.129/13/2554 วันที่ 19 สิงหาคม 2554

หนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอเรียนชี้แจงคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่า ตามที่ คณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีข่าวอีเมลที่อ้างว่าเป็นของบุคคลในพรรคเพื่อไทยระบุว่ามีการจ่ายสินบนให้กับสื่อมวลชน และแถลงผลการสอบสวนไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554

หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ เพื่อชี้ให้เห็นความผิดปกติและความไม่ชอบมาพากลของการสอบสวนดังกล่าว ว่า

1.ดำเนินการไปโดยผิดหลักการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหัวข้อสอบสวนตามชอบใจ เมื่อบุคคลไม่ผิดก็ขยายไปที่องค์กร ไปจนถึงการสอบสวนลับหลังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง

2.วิธีการสอบสวนและการสรุปผลสอบสวน ขาดตรรกะและความรู้ความเข้าใจในการประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์

3.พฤติกรรมแห่งการสอบสวนและผู้สอบสวนมีเจตนาน่าเคลือบแคลง โดยเฉพาะความพยายามในการใช้ผลการสอบสวนนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม

หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสดเรียนย้ำว่าจะไม่ขอใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพราะยืนยันมาแต่ต้นแล้วว่าไม่ยอมรับผลการสอบสวนที่ผิดปกติของคณะอนุกรรมการได้ แต่การชี้แจงครั้งนี้เนื่องจากการสอบสวนพาดพิงถึงองค์กรหนังสือพิมพ์ ซึ่งคณะอนุกรรมการและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมิได้เปิดโอกาสให้ได้แสดงข้อเท็จจริงมาก่อน

ในฐานะภาคีสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสดขอยืนยันว่า ทั้งองค์กรและผู้ปฏิบัติงานของหนังสือพิมพ์ทั้งสอง ได้ประพฤติปฏิบัติตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพและข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอย่างซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด

หนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสดหวังว่าคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ประกอบไปด้วยผู้อาวุโสในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิจากวิชาชีพอื่นๆ จะพิจารณาเหตุที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นธรรม และแก้ไขความเสียหายให้กับภาคีสมาชิกที่ได้รับความเสื่อมเสียทั้งที่มิได้ประพฤติตามที่ถูกกล่าวหา


จึงเรียนมาด้วยความเคารพ

ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น