โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพแรงงานยุโรปประท้วงใหญ่ นโยบายรัดเข็มขัด

Posted: 18 Sep 2011 12:49 PM PDT

ที่มาภาพ: ETUC-CES

 



ที่มาคลิป: ETUC-CES

18 ก.ย. 54 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประชาชน, นักกิจกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานจากทั่วยุโรปกว่า 50,000 คน รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลยุโรป ที่ประเทศโปแลนด์

ประชาชน, นักกิจกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานส่วนใหญ่เดินทางมาจากสเปน, โปรตุเกส, อิตาลี, เยอรมัน, นอร์เวย์, ฮังการี, ลิทัวเนีย และสโลเวเนีย นำโดยนายแบร์นาเดตต์ เซกอล (Bernadette Segol) ประธานสหพันธ์แรงงานยุโรป (European Trade Union Confederation - ETCU) ได้รวมตัวกันเดินขบวนในเมือง Wroclaw ทางใต้ของโปแลนด์ เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายชาติในยุโรป เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้มีการตัดลดเงินเดือนและปลดคนงานออกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การประท้วงมีขึ้นในวันเดียวกับที่กลุ่มรัฐมนตรีคลังของยุโรปจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือแก้วิกฤตประเทศกลุ่มยูโรโซนหลายประเทศอาจล้มละลาย เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะล้นเพดาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แกนนอน Expo มหกรรมจากมวลชนสู่ผู้ปฏิบัติงาน

Posted: 18 Sep 2011 10:20 AM PDT

หลากหลายกิจกรรมกว่า 40 ซุ้มและนิทรรศการกับงานแกนนอน Expo พัฒนาการจากมวลชนสู่ผู้ปฏิบัติงาน การจุดพลุของกลุ่มขนาดเล็กเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.54 ระหว่างเวลา 12.00-20.00 น.ที่ผ่านมา ที่ชั้น 6 อิมพีเรียลลาดพร้าว ได้มีการจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “แกนนอน Expo” โดยมีกลุ่มร่วมจัดประกอบด้วย กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันต้นกล้า กลุ่มประกายไฟ องค์กรเลี้ยวซ้าย กลุ่ม F.A.N. สมาพันธ์แกนนอนสากล เครือข่ายแกนนอนแห่งกาแลซีทางช้างเผือกและ Ban the Hollywood CLUB เป็นต้น โดยตลอดกิจกรรมมีทั้งคนเสื้อแดงและประชาชนทั่วไปสลับเปลี่ยนเข้าร่วมงานประมาณพันคน

โดยกิจกรรมเริ่มต้นในตอนเทียงด้วยการกล่าวปราศรัยและต้อนรับของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และตามด้วยละครเวทีของกลุ่มประกายไฟการละคร เรื่อง “กุหลาบปลายปืน” ที่เสียดสีคณะรัฐประหารเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีการทำรัฐประหาร 19 ก.ย.49

หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมแนะนำซุ้มแกนนอนและนิทรรศการต่างๆ โดย กิ๊บเก๋ พาเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนอนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวกิจกรรมเสื้อแดงที่ผ่านมา ซึ่งมีซุ้มและนิทรรศการกว่า 40 ซุ้ม ตัวอย่างเช่น ซุ้มจัดแสดงสินค้าของกลุ่มคนงาน TRY ARM ซุ้มครอบครัวพยาบาลอาสากมลเกด อัคฮาด ซุ้มของสำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์ ซุ้มของกลุ่มเพื่อนนักโทษการเมือง(FOPP) ซุ้มจำหน่ายหนังสือขององค์การเลี้ยวซ้าย นิทรรศการนักโทษการเมืองในมาตรา 112 และปัญหาของนักโทษการเมือง นิทรรศการแผนที่คนตายช่วงเดือน พ.ค.53 ซุ้มกลุ่มเอื้ออาทรมีนบุรีและกลุ่มพลังหญิง ซุ้มของสถาบันต้นกล้า ซุ้มบริการนวดตอกเส้น โดยกลุ่มตอกเส้นหัวใจแดง ซุ้มนิตยสาร RED Power ซุ้มขายหนังสือทางวิชาการและการเมือง ซุ้มเว็บ go6tv.com ซุ้มบริการตรวจสุขภาพของกลุ่มอาสาพยาบาล FARED และหน่วยอาสาพยาบาลเคลื่อนที่ VHG ซุ้มกลุ่ม REDplus.tv ซุ้มหุ่นนิ่งการเมือง ซุ้ม RED Poll ซุ้มเรดซีนีม่า ซึ่งมีการจัดกิจกรรมฉายหนัง เช่นเรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่ และ The Forgotten ซุ้มกิจกรรมชี้เบาะแสสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซุ้มบล็อกพ่น ซุ้มกลุ่ม F.A.N ที่มีการสาธิตการทำเข็มกลัดรณรงค์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเวทีเล็ก ซึ่งมีการจัดแสดงการร้องเพลงเพื่อชีวิต เพื่อประชาธิปไตย การจัดเสวนาเทคนิคการแต่งบทกวี พร้อมทดลองให้ผู้ร่วมงานแต่งบทกวีบทกลอนประชันกันด้วย

หลังจากมีการแนะนำซุ้มและนิทรรศการเสร็จในส่วนของเวทีกลางได้มีกิจกรรมประมูลสินค้าของบุคคลสำคัญที่เป็นเสื้อแดงและรูปที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเพื่อนำรายได้ช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองและสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วย

ในช่วง 18.00 น.ได้มีเสวนาในหัวข้อ ทิศทางของประชาธิปไตยไทย (ภายใต้วัฒนธรรมรัฐประหาร จาก 19 กันยา ถึงไหนไม่รู้) โดยวิทยากรที่ร่วมเสวนาประกอบด้วย ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักวิชาการอิสระ และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ โดยมี ชัยธวัช ตุลาฑล กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นผู้ดำเนินรายการ (คลิกเพื่อรับชม ที่มา: Youtuve.com/patchara95) และหลังจากนั้นปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีโดยวงท่าเสา ซึ่งมีวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนักร้องนำ

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงหนึ่งในองค์กรร่วมจัดเปิดเผยถึงที่มาของกิจกรรมนี้ว่า “เกิดจากนักกิจกรรมที่เคยทำกิจกรรมในแวดวง NGO ได้คุยกัน ซึ่งจริงๆแล้วพวกเรา NGO ได้สนใจรวมกลุ่มขนาดเล็กมานานแล้ว เรื่องของการทำฐาน แล้วเราเห็นว่าปรากฏการณ์ในรอบปีที่ผ่านมาของกลุ่มขบวนของเสื้อแดงมีลักษณะของการปรับฐานขบวนใหม่”

“แต่ก็อาจเรียกว่าไม่ได้ถึงกลับเป็นกระแสหลัก แต่เป็นกระแสที่มีนัยสำคัญภายใต้วาทกรรมที่เราเรียดว่า “แกนนอน” ซึ่งดำเนินการมาได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็เลยคิดว่าทำไม่เราไม่เอากลุ่มแกนนอนต่างๆที่ได้ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้วซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย ได้มาพบปะกันแล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือแนวคิด เพื่อส่งเสริมการเกิดกลุ่มแกนนอนและการบริหารจัดการขบวนที่ประกอบด้วยแกนนอนจำนวนมาก” แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าว

เกี่ยวกับตัวแบบแบบแกนนอนกับการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น บก.ลายจุด กล่าวว่า “มันสอดเครื่องเรื่องการกระจายอำนาจ และรูปแบบที่เป็นกลุ่มเล็กเหมาะกับการเป็นกลุ่มเรียนรู้ ประชาธิปไตยไทยมันต้องการสภาพการเรียนรู้ในอัตราเร่งที่ต้องสูง ดังนั้นการทำกลุ่มขนาดเล็กกระบวนการเรียนรู้จะทำได้ดีกว่า”

“ถ้าเราทำแกนนอนกลุ่มเล็กจะทำให้สมาชิกของกลุ่มได้มีโอกาสมีส่วนร่วมและจะเกิดดุลยภาพ จะทำให้พวกสุดโต่งจะทำอะไรได้ยาก เพราะเซลล์ส่วนต่างๆมีความคิดของตัวเอง เพียงแต่ว่าเราต้องปักธงให้ชัดว่าตัวอุดมการณ์จะต้องชัดเจนว่าเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ดังนั้นถ้ามีใครหลุดออกจากกรอบนี้ไปก็จะถูกทาน จะนำขบวนไปไม่ได้ที่เหลืออยู่ก็จะไม่ตาม เว้นเสียแต่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นกิจกรรมที่มีแนวทางที่ถูกต้อง ขบวนก็จะเคลื่อนไปเองตามความถูกต้องไม่ได้เคลื่อนตามการนำ” สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของแกนนอน

สำหรับความคาดหวังกับการจัดงานนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวว่า “คิดว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายพวกที่เป็นกลุ่มขนาดย่อย และเป็นการจุดพลุให้เห็นความสำคัญของกลุ่มขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละกลุ่มเป็นอิสระต่อกันมีความสัมพันธ์กันในแนวระนาบ เชื่อว่าหลังจากงานนี้จะทำให้เรารู้จักกันมากขึ้นและเราได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของแต่ละกลุ่มย่อยมากขึ้น”

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ แกนนอจากสมาพันธ์แกนนอนสากล เปิดเผยถึงเหตุผลที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ว่า “แนวทางการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย แนวทางเรื่องการเป็นแกนนอนมันสำคัญในแง่ของการทำให้ขบวนการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยมันเข้มแข็งจากฐานรากขึ้นมา เพราะการพึ่งพาแกนนำอย่างเดียวมันไม่พอ ประชาชนแต่ละส่วนควรจะเข้มแข็งขึ้นมา และแนวทางหนึ่งที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มแกนนอน หรือตัวเองมีคนเดียวก็เป็นแกนนอนเลย คือสามารถนำตัวเองได้ มองเห็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของขบวนได้ และจัดการสร้างกิจกรรมสร้างยุทธวิธีต่างๆของตัวเองขึ้นมาได้เอง”

“แกนนอนยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมันเหมือนเป็นคำพูดเล่นๆ “ไม่มีแกนนอนมีแต่แกนนอนอะไรอย่างนี้” แต่จริงๆแล้วแกนนอนตอนนี้เริ่มเยอะขึ้น แต่ว่ามันยังไม่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง ดังนั้นการจัดให้เป็นแกนนอนเอ๊กโปคือการทำให้คนมาเห็นว่า แกนนอนมันไม่ได้เป็นยากและมีทำได้หลายแบบ แล้วแต่เราจะสร้างสรรค์เองเลย อยากให้คนได้มาดูและกลุ่มแกนนอนแต่ละกลุ่มที่มาออกซุ้มได้รู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งคิดว่าในอนาคตแกนนอนจะได้ขยายตัวและหลากหลายมากขึ้นเข้มข้นมากขึ้น” กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ย้ำถึงความคาดหวังในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

นอกจากนี้ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของแกนนอนกับการรัฐประหารอีกว่า “หากต่อไปถ้ามีแกนนอนมากๆ คนทุกคนสามารถที่จะปฏิบัติการด้วยตัวเองได้รัฐประหารจะไม่น่ากลัวแล้ว เราสามารถที่จะต้านรัฐประหารทุกคนได้โดยไม่ต้องรอแกนนำ”

วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยหนึ่งในองค์กรร่วมจัดกิจกรรมนี้ให้เหตุผลในการจัดกิจกรรมว่า “การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีทั้งแนวตั้งกับแนวนอน ซึ่งถ้าเห็นบทบาทในช่วงหนึ่งที่แกนนำโดนจับโดนปราบหมด บทบาทของแกนนอนออกมามากขึ้น โดยเฉพาะหลังสลายการชุมนุม การเคลื่อนไหวของมวลชนที่มีการปฏิบัติการกันเองเพื่อเรียกร้องช่วยเหลือเพื่อนหรือเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรม หรือการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ เราจะเห็นภาพของการเคลื่อนไหวแนวราบซึ่งสามารถผลักดันไปต่อได้ ทำให้ขบวนการต่อสู้ต่อไปได้ จนทุกวันนี้แกนนอนออกมาแล้วก็มีการขับเคลื่อนต่อ”

เกี่ยวกับความคาดหวังถึงพัฒนาการของแกนนอนหลังกิจกรรมนี้ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เห็นว่า “งานนี้คงจะได้รู้จักหลายๆกลุ่มมากขึ้น ก่อนหน้านี้เคยได้ยินชื่อเขาบ้างหรือเคยพบเจอกันในที่ชุมนุม แต่งานนี้เหมือนงานที่เราเริ่มที่ทำงานปฏิบัติการอะไรร่วมกันของบรรดาแกนนอน ได้รู้จักกันในระดับที่มากขึ้น”

“เรื่องรัฐประหารนึกถึงตอนที่มีการพูดกันว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังปี 35 ซึ่งวันนี้ก็รู้สึกแบบนั้นว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่ไม่มีหลักประกัน ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้น แต่แล้วปี 49 รัฐประหารก็กลับมาอีก ประชาชนตอนนี้มีความชัดเจน แต่การเคลื่อนตัวอาจจะช้า คือเกิดการรัฐประหารคนออกมาทันทีทันใดมันไม่เกิดขึ้น อย่างบทพิสูจน์รัฐประหารปี 49 มาวันนี้ใช้เวลา 3-4 ปีมันพิสูจน์แล้วว่ารัฐประหารมันได้สร้างความเสียหาย ดังนั้นคนที่ต้องคิดมากๆคือชนชั้นปกครองผู้นำทางสังคม ว่ารัฐประหารอาจไม่เกิดผลเสียทันทีแต่ผลระยะยาวมันเกิดและมันยืนยันได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ” วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ กล่าวทิ้งท้ายเนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร19 กันยา พ.ศ.2549

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 ปี 19 ก.ย.รัฐประหารปลุกประชาชนตื่น

Posted: 18 Sep 2011 09:48 AM PDT

รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ผลักดันให้ สุนทร พฤกษพิพัฒน์ ผันตัวเองจากนักการตลาดมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง จากผู้ที่ไม่สนใจการเมือง กลายมาเป็นผู้ใส่ใจต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีจุดยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเผด็จการ เขาและเพื่อนร่วมกันตั้งเว็บไซต์ "Thaifreenews" เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนทั้งฝั่งเหลืองและแดงอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่ช่วงที่มีคนหลักร้อยชุมนุมขับไล่ คมช. จนถึงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และต่อมาจนถึงการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 จนถึงปัจจุบันสุนทรเป็นหนึ่งในจำนวนคนนับล้าน ที่ตื่นตัวทางการเมืองจากการรัฐประหาร เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลไทยกับการประหารประชารัฐ

Posted: 18 Sep 2011 09:38 AM PDT

 
 
 
 
* * *
“จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”
 
ถ้อยคำตอนหนึ่งของคำถวายสัตย์ที่ตุลาการไทยต้องปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
* * *
เพลงชาติสอนให้เราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประชารัฐ แต่ประชารัฐกลับถูกประหารมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แม้วันนี้ผ่านมาได้ ๕ ปี แต่คราบเลือดและรอยแผลยังมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ไม่เว้นแต่ในหน้าของรัฐธรรมนูญและอีกหลายหน้าของราชกิจจานุเบกษา
 
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐ (“คดีที่ดินรัชดาฯ”) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๖ ก
 
ในหน้าที่ ๘-๙ ศาลฎีกา กล่าวว่า
 
 
 
“เห็นว่า ในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้งนั้น ผู้ทำการรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มารวมไว้โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวหรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด”
“แม้แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่าตามปกติผู้ทำการรัฐประหารจะยังคงให้อำนาจตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิตบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้น”
“ในการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ”
“ส่วนศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป”
 
(ลงชื่อ นายทองหล่อ โฉมงาม  นายสมชาย พงษธา  นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย  นายสมศักดิ์ เนตรมัย  นายวัฒนชัย โชติชูตระกูล  นายประพันธ์ ทรัพย์แสง  นายพิชิต คำแฝง   นายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช  และนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา)
 
 
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕/๒๕๕๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๐๗ ก
 
หน้าที่ ๓๒ และ ๓๕ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ คณะรัฐประหารจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจสูงสุด คำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อประเทศชาติจะตั้งอยู่ได้ในความสงบต่อไป”
“โดยที่เหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารบ้านเมืองอยู่ในสภาวะแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ประกอบกับ
มีข้อเท็จจริงที่สนับสนุนให้เห็นถึงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นสาเหตุแห่งการรัฐประหาร คณะรัฐประหารจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำอันเป็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติจึงจำต้องให้อำนาจแก่คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ”
“แต่ประการสำคัญยังมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอัยการสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบถ่วงดุลและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี อันเป็นไปตามหลักการแห่งการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) แล้ว”
 
(ลงชื่อ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
 
ในหน้าที่ ๓๘-๓๙ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“เห็นว่า ประเทศไทยถูกคุกคามและบ่อนทำลายให้เสื่อมโทรมด้วยปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมาโดยตลอด เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งยังขัดขวางและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบงานยุติธรรมปกติที่ออกแบบมาสำหรับอาชญากรรมสามัญทั่วไปได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนสืบสวน สอบสวน ก่อนการพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีอิสระและอำนาจเพียงพอที่จะตรวจสอบหรือดำเนินคดีต่อผู้มีฐานะและอำนาจระดับสูงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“สภาพปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศ นับว่าเป็นปัญหาเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเป็นพิเศษขึ้นเพื่อแก้ไข ซึ่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จำเป็นต้องมี ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศสามารถทำหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศได้จริง”
“ประกาศคณะปฏิรูปฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นที่การตรวจสอบในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น มิได้มีเนื้อหาส่วนใดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเลยผู้ที่ถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นศาลได้อย่างเต็มที่ทั้งในการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลตามประกาศนี้จะกระทำได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น กระบวนการตรวจสอบในชั้นก่อนฟ้องตามประกาศดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนหรือขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม หรือสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด…” 
 
(ลงชื่อ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
 
ในหน้าที่ ๔๔ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“...การใช้อำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของคณะปฏิรูปฯ เช่นกัน ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ ๓๐ จึงมีฐานะ มีศักดิ์และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย”
“เมื่อคณะปฏิรูปฯ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้น ใช้อำนาจออกประกาศฉบับนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะปฏิรูปฯ มีวัตถุประสงค์จะให้มีองค์กรทางบริหารที่มีอำนาจหน้าที่เสริมและผสานการใช้อำนาจซึ่งแบ่งแยกอยู่ใน ๓ องค์กรดังกล่าวมาบูรณาการให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจหน้าที่ทางบริหารของทั้ง ๓ องค์กรนี้ด้วย เพื่อตรวจสอบและสอบสวนเรื่องที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตต่อประเทศชาติตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งต้องกระทำโดยเร็วและภายในกรอบระยะเวลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงต่อประเทศชาติ”
 
(ลงชื่อ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
ในหน้าที่ ๔๘ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“เห็นว่าประกาศ คปค. ๓๐ มีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะออกโดยผู้ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในขณะนั้น ดังที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕/๒๔๙๖, ๑๖๖๓/๒๕๐๕ และ ๖๔๑๑/๒๕๓๔ และประกาศ คปค.ดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็นกฎหมายอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมาย ที่มีศักดิ์เดียวกันมายกเลิก (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓๔/๒๕๒๓)”
 
(ลงชื่อ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
ในหน้าที่ ๕๓ นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ระดับพระราชบัญญัติ เพราะการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศ ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิรูปสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย”
 
(ลงชื่อ นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
 
ในหน้าที่ ๕๖ นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ (ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐) เป็นคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ยึดและได้ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศย่อมมีอำนาจสูงสุดในประเทศในฐานะเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คือเป็นผู้มีอำนาจตรากฎหมาย บังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการแต่ผู้เดียว ดังนั้นคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองดังกล่าวจึงถือเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับ”
 
(ลงชื่อ นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
 
ในหน้าที่ ๕๙-๖๐ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
“เห็นว่า เมื่อมีบุคคลหรือคณะบุคคลใดเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ บุคคลนั้นหรือหัวหน้าคณะบุคคลเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าอะไรย่อมได้ไปซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ และมีอำนาจออกประกาศหรือออกคำสั่งอันมีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนได้ ทำนองเดียวกับพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมมีผลเป็นกฎหมาย ดังนั้น การที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คปค. ย่อมมีอำนาจในการปกครองประเทศและมีอำนาจออกประกาศ
หรือคำสั่งต่าง ๆ ให้มีผลเป็นกฎหมาย หลักเกณฑ์เช่นนี้ยึดถือกันมาจนเป็นปกติประเพณีแล้ว”
 
(ลงชื่อ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
ในหน้าที่ ๖๓-๖๔ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 
“ภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา ศาลและนักนิติศาสตร์ไทยให้การยอมรับการทำรัฐประหารที่สำเร็จ โดยวินิจฉัยเสมอมาจนปัจจุบันว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงเป็นกฎหมายและเป็นได้แม้รัฐธรรมนูญ...”
 “คณะปฏิรูป ฯ ได้เล็งเห็นปัญหาการทุจริตคอรัปชันในรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงได้กระทำการยึดอำนาจ ฯ และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความต่อเนื่องและเพื่อดำรงสถานะของรัฐ อำนาจอธิปไตย ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดินมิให้สะดุดหยุดลง เพื่อกฎหมายฉบับเดิมที่อาจถูกยกเลิกตามกฎหมายใหม่ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปได้ เป็นการกระทำ เท่าที่จำ เป็น ได้สัดส่วนและไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ฉะนั้นจึงเห็นว่าไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐”
 
(ลงชื่อ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
 
 
ในหน้าที่ ๖๗ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
 
 
 “…ถือว่าประกาศและคำสั่งทั้งหลายข้างต้นเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ใช้บังคับได้ ตามประเพณีการปกครองและเป็นนิติประเพณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนและประเทศไทยยึดถือเป็นหลักในการปกครองประเทศตลอดมา ซึ่งต้องสอดคล้องและอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้เป็นหลักการและเหตุผลในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่า เหตุที่ทำ การยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้นก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน...”
 
(ลงชื่อ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
 
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๙/๒๕๕๒ (“คดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช”) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๙๐ ก
 
นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แสดงความเห็นแย้ง ความบางส่วนปรากฏว่า
 
 
“เห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน...นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย”
“การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”
“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ”
“ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์”
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์...”
 
(ลงชื่อ นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา)
อ่านความเห็นได้ที่  http://www.supremecourt.or.th/file/criminal/keerati%209-52.pdf
 
พิพากษาตุลาการไทยทุกท่านก็ไม่ต่างไปจากท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”
 
แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งประชารัฐถูกประหารอีกครั้ง จะมีผู้พิพากษาและตุลาการไทยกี่ท่านที่พร้อมจะยึดมั่นในคำถวายสัตย์เฉกเช่นที่ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ได้ประกาศไว้?
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: คนเสื้อแดงชุมนุมรำลึก 5 ปีรัฐประหาร

Posted: 18 Sep 2011 09:32 AM PDT

ประชาไท - เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ย. 54 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ประมาณห้าพันคนชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในโอกาสครบรอบ 5 ปีต่อต้านการทำรัฐประหาร  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้ปิดพื้นที่จราจรบริเวณถนนราชดำเนิน จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงสี่แยกคอกวัว

นอกจากนี้ในช่วงเวลา 18.30 น. ได้เกิดฝนตกลงมายังบริเวณที่ชุมนุมด้วย โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากยังคงอยู่ที่หน้าเวที และได้กางร่มหรือสวมเสื้ิอกันฝนเพื่อปักหลักฟังการปราศรัย มีรายงานว่าแกนนำ นปช. จะกลับมาจากประเทศกัมพูชาในช่วงบ่าย และจะเดินทางมาปราศรัยที่เวที ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ จะขึ้นปราศรัยในช่วงดึก

ผู้ชุมนุมเสื้อแดงฟังการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ย. 2554
ในโอกาสชุมนุมรำลึก 5 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

ผู้ชุมนุมเสื้อแดงฟังการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ย. 2554
ในโอกาสชุมนุมรำลึก 5 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

คนเสื้อแดงพับรูปนกมาประดับที่รั้วหน้าเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เมื่อ 18 ก.ย. 2554 (ที่มาของภาพ: ประชาไท)

ผู้ชุมนุมเสื้อแดงฟังการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ย. 2554
ในโอกาสชุมนุมรำลึก 5 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

นายนิสิต สินธุไพร แกนนำคนเสื้อแดง ผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยท่ามกลางสายฝน
ในโอกาสชุมนุมรำลึก 5 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เมื่อ 18 ก.ย. 2554 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เมื่อ 18 ก.ย. 2554 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เมื่อ 18 ก.ย. 2554 (ที่มาของภาพ: ประชาไืท)

คนเสื้อแดงรับประทานอาหารในร้านอาหารจานด่วนแห่งหนึ่ง ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ย. 54 (ที่มาของภาพ: ประชาไท)

นายสำราญ วางาม ผู้เป็นบิดาของนายสวาท วางาม คนเสื้อแดงซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ตั้งโต๊ะพร้อมวางรูปของลูกชายอยู่ริมถนนราชดำเนิน ใกล้สี่แยกคอกวัวจุดที่ลูกชายเสียชีวิต เพื่อแจ้งข่าวแก่คนเสื้อแดงว่าจะทำพิธีฌาปนกิจศพลูกชายในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ (ที่มาของภาพ: ประชาไท)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการกลุ่ม "นิติราษฎร์"

Posted: 18 Sep 2011 09:32 AM PDT

เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

18 ก.ย. 2554

แถลงการณ์นิติราษฎร์: ครบรอบการก่อตั้ง 1 ปีนิติราษฎร์ เสนอ 4 ประเด็น

Posted: 18 Sep 2011 07:29 AM PDT

18 ก.ย. 54 - ครบรอบการก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” 1 ปี เสนอ 4 ประเด็น แนวคิดลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร และการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550




คณะนิติราษฎร์
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์
 
 
ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
 
รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้
 
๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
๓.  ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง
 
๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด  และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้
 
๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
 
ประเด็นที่ ๒
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
 
ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น
 
๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง
 
๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙
 
๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)
 
ประเด็นที่ ๓
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
 
สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ  มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม
 
๑.  คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙  
 
๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น
 
๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘
 
ประเด็นที่ ๔
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย  
 
๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”
 
๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง    
 
๔. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ  “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้
 
๕. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล
 
๖. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ
 
 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
 
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔
 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเยียวยาที่เริ่มต้นขึ้นแล้วกับกะเหรี่ยงบางกลอย (แก่งกระจาน)

Posted: 18 Sep 2011 06:24 AM PDT

 

ภายในศาลาวัดท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพนายทัศน์กมล พบ ปู่คออิ๊ (หรือโคอิ) จากการพูดคุยกับปู่โคอิ ได้กล่าวว่าหลังจากที่ตนได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ อ.ป๊อด  ซึ่งตนจะเรียกอ.ป๊อดว่าเป็นลูกชายคนโต ของตนมาตลอด  จึงรู้สึกตกใจ  และเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ตนรู้สึกว่า อ.ป๊อดเป็นลูกชายที่น่ารักของตนคนหนึ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ตนได้สนิทสนมคุ้นเคยกับ อ.ป๊อด มานั้น  อ.ป๊อดได้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงมาอย่างมากมาย  และสิ่งที่สำคัญ อ.ป๊อดจะบอกกับชาวกะเหรี่ยงทุกคนเสมอว่าให้รักพ่อหลวง แม่หลวง ให้มากๆ และตั้งใจทำสิ่งที่ดีๆ อะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี อย่าไปทำ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด อีกทั้งยังให้ช่วยกันรักษาป่า อย่าไปทำลายป่า

ตนจึงมองว่าการเสียชีวิตขององป๊อดในครั้งนี้นั้นเกิดจากการที่อ.ป๊อดได้ช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง หากอ.ป๊อดไม่เข้ามาช่วยเหลือ อ.ป๊อดก็คงไม่ต้องมาเสียชีวิตลงแบบนี้ ซึ่งตนมองว่าเราทุกคนเป็นคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ในป่า มีพ่อหลวง แม่หลวง อันเป็นที่รัก  ต้องรักกัน สามัคคีกัน

ส่วนเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมาตนก็รู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมากที่ทางแม่หลวง  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ ได้ทรงพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งลงมาให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ตนและพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันลงมานั้นมีความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่ามาก

ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ ได้เดินทางมายังบ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย เพื่อนำสิ่งของพระราชทานมามอบให้กับชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันลงมา จำนวน 10 ครอบครัว โดยมอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 20 ถุง พระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 10 ภาพ และเงินพระราชทานครอบครัวละ 5,000 บาท ส่วนปู่โคอิ ยังได้รับสังกะสี จำนวน 70 แผ่น เพื่อมาซ่อมแซมหลังคาบ้านที่ปู่ได้อาศัยอยู่ในขณะนี้ 

ทางทหารกล่าวว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการที่มีชาวกะเหรี่ยงถูกผลักดันลงมาในเขตพื้นที่ บ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย ทางแม่ทัพภาคที่ 1 จึงได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจ รวบรวมรายชื่อ ผู้ที่ถูกผลักดัน และตรวจสอบถึงความเดือดร้อน  ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่ามีชาวบ้านที่ถูกผลักดันลงมา และได้มีการมาลงรายชื่อไว้กับทางหมู่บ้านจำนวน 10 ครอบครัว หลังจากนั้นในวันที่14 จึงได้มีการนำสิ่งของพระราชทานจำนวนดังกล่าวเข้ามาบริจาค ให้กับผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมด และทางทหารยังรับปากว่าจะดูแลจัดสรรที่ทำกินให้โดยจะประสานกับทางอุทยานฯ และกรรมการหมู่บ้านว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ที่ไหน อย่างไร

โดยเฉพาะปู่คออิ๊ ทางทหารได้สอบถามว่าถ้าหากให้ลงมาอยู่ด้านล่าง ที่บริเวณหมู่บ้าน ปู่จะขออยู่บริเวณใด ซึ่งทางปู่คออิ๊ ได้แจ้งว่าจะขอไปอยู่ที่บริเวณปลายกระทุ้งกลอง ซึ่งจะห่างจากบ้านโป่งลึก ประมาณ 7 กิโลเมตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่มาก อากาศดี อีกทั้ยังเป็นพื้นที่ที่เคยมีการทำกินมาก่อน โดยทางทหารได้รับปากว่าจะไปพูดคุยกับทางอุทยานฯให้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทุนนิยาม101: พัฒนาการระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย

Posted: 18 Sep 2011 01:31 AM PDT

รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอนที่สาม สัมภาษณ์นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการและนักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน ตอน พัฒนาการระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย โดยทยอยนำเสนอตอนที่หนึ่ง

สำหรับผู้ดำเนินรายการ "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอยเตอร์ยินดี หลังดีเอสไอรับ "ช่างภาพญี่ปุ่น" อาจเสียชีวิตเพราะ จนท. พร้อมจี้รื้อคดี

Posted: 17 Sep 2011 11:15 AM PDT

17 ก.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าสำนักข่าวเอเอฟพีเผยพร่ข่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ของไทย ระบุว่า ทหารอาจจะมีส่วนร่วมในการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์และพลเรือนอีก 12 คนในระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้วและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนคดีใหม่ 

เอเอฟพีระบุว่า นับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ดีเอสไอระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ดีเอสไอเชื่อว่าการเสียชีวิตหลายกรณีเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น จึงเชื่อว่าพวกเขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

ขณะที่รอยเตอร์ออกมาแสดงความยินดี โดยนายสตีเฟ่น อ๊าดเลอร์ บรรณาธิการข่าวของรอยเตอร์ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า ครอบครัวของมูราโมโตะและเพื่อนร่วมงานของเขาที่รอยเตอร์มีสิทธิอันสมควรที่จะได้รู้ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและใครที่อยู่เบื้องหลัง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 - 16 ก.ย. 2554

Posted: 17 Sep 2011 09:08 AM PDT


แรงงานโต้ขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี-ไม่ตกงาน

น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีผลสำรวจศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ระบุว่าหากรัฐบาลปรับนโยบายปรับเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท จะส่งผลให้บริษัทเอกชนเปิดรับผู้จบปริญญาตรีน้อยลงว่า ไม่น่าเป็นกังวลว่าคนที่จบปริญญาจะตกงานเพิ่ม เพราะปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างรองรับเดือนละ 2 แสนตำแหน่ง อีกทั้งเชื่อว่าจะมีการขยับเงินเดือนระดับวุฒิ ปวช.-ปวส.ให้สูงขึ้นตามไปด้วยตามกลไกของตลาด จะไม่ทำให้คนแห่ไปเรียนปริญญาตรีมากขึ้น พร้อมกับจะเสนอรัฐบาลให้ปี เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเตรียมของบ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้พัฒนาสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 แห่ง และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 65 แห่ง รวม 77 แห่ง

นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ที่ 0.7% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก และผู้ที่ตกงานมากที่สุดคือผู้ที่จบปริญญาตรีในสาขาสายสังคมศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ ส่วนสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากคือผู้ที่จบวุฒิ ปวช.-ปวส.ในสาขาต่างๆ

(ข่าวสด, 11-9-2554)

จัดหางานเตือนระวังมิจฉาชีพในคราบนายหน้าจัดหางานเถื่อน

นายอรเทพ อินทรสกุล จัดหางานจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ปัจจุบันขบวนการหลอกหลวงหาคนงานและประชาชนทั่วไปที่เดินทางเข้ามาหางานทำใน กรุงเทพฯ ตามสถานีขนส่ง หรือระหว่างที่มาพักแรมที่กรุงเทพฯ ประกอบกับประเทศไทยประสบภาวะอุทกภัย ทำให้ได้รับผลกระทบไม่สามารถทำการเกษตรได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปหางานทำ ในเมือง จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพล่อลวงคนหางานและประชาชนทั่วไป ซึ่งจะอ้างว่ามีรายได้ดีพร้อมสวัสดิการ อาหาร ที่พัก เมื่อคนงานหลงเชื่อและยินยอมที่จะไปทำงานด้วยก็จะพาตัวไปเพื่อนำไปขาย และบังคับให้เป็นแรงงานโดยไม่สมัครใจ เช่น ทำงานบนเรือประมง หรือทำงานที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย

จัดหางานจังหวัดระนอง จึงขอเตือนให้หาคนงานและประชาชนทั่วไป ระวังถูกนายหน้าจัดหางานเถื่อนหลอกลวง โดยอ้างตำแหน่งงานรายได้สูงเกินจริง สร้างความเชื่อถือโดยอ้างข้อมูลหรือบุคคลมาสนับสนุนคำพูดตน เพื่อจูงใจให้คนหางานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าหัวให้ เมื่อได้เงินไปแล้วมักหลบหนีไป เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวง จึงขอให้ผู้ที่ต้องการหางานทำตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงานว่าง สถานประกอบการ ทั้งในและนอกประเทศ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง โทร.0-7786-2026-8

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 11-9-2554)

พนักงานขู่ปิดท่าเรือคลองเตย จี้แก้ปมทุจริต-ขัดแย้งสหภาพ

11 ก.ย. 54 - แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา นายชัยธวัฒน์ ศรีม่วง นายกสมาคมสมอเงินการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมคณะได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ต่อ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล กทท.แก้ปัญหาเรื่องการประชุมของสหภาพแรงงาน กทท.ในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ไม่ชอบธรรมหลายเรื่องจึงขอให้ผู้บริหารกระทรวงแจ้งต่อกระทรวงแรงงานประกาศ ให้การประชุมครั้งนี้เป็นโมฆะ มิเช่นนั้น ในสัปดาห์หน้าสมาชิกสมาคมสมอเงินฯ 1,000 กว่าราย และควบคุมแกรนตี้ เครนหน้าท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) 16 แห่ง จะหยุดปฏิบัติการขนถ่ายสินค้า ขึ้น-ลงเรือสินค้าที่จอดเทียบท่า

การประชุมของกรรมการสหภาพ แรงงานการท่าเรือฯและสมาชิกจำนวน 200 คนมีการหนีไปประชุมที่จังหวัดระนองแทนกรุงเทพฯ มีการแจ้งให้สมาชิกทราบกระชั้นชิด โดยปิดประกาศการประชุมสหภาพแรงงานการท่าเรือฯในวันศุกร์ที่ 2 กันยายน จากระเบียบต้องปิดประกาศล่วงหน้าก่อนการประชุม 2 วันทำการ เพื่อให้สมาชิกเตรียมตัวลากิจต่อผู้บริหารการท่าเรือฯได้ทัน ทำให้สมาชิกไม่สามารถไปประชุมได้กว่า 2,200 คน

นอกจากที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานการท่าเรือฯจำนวน 147 คน ยังลงมติปลดสมาชิก 200 คน พ้นจากสมาชิกสหภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกปลดจะลงแข่งขันเป็นกรรมการสหภาพที่จะมีการเลือกตั้งใน เร็ว ๆ นี้

"การประชุมของสหภาพครั้งนี้ ผู้บริหารการท่าเรือฯค่อนข้างให้ท้ายกรรมการสหภาพชุดนี้ในการลาได้ทันก่อนการเดินทางไปประชุมในที่ห่างไกล"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สหภาพชุดปัจจุบันที่มีนายสมเกียรติ รอดเจริญ เป็นประธาน ไม่ค่อยปกป้องรักษาสิทธิ์ให้กับพนักงาน เช่น คัดค้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน นอกจากนี้การดำเนินการบางอย่างยังส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส และส่อทุจริตและเบียดบังผลประโยชน์ของ กทท.

อีกประเด็นหนึ่งคือ การจ่ายค่าล่วงเวลาที่ผิดพระราชบัญญัติแรงงานมานับสิบปี ซึ่งตามกฎหมายต้องจ่ายค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 200-300 บาทต่อชั่วโมง แล้วแต่เงินเดือนของพนักงานรายนั้น ๆ เพราะงานในการท่าเรือฯเป็นงานขนถ่ายขึ้น-ลงเรือ ไม่ใช่การขนส่งที่ต้องจ่ายชั่วโมงละ 50 บาท จึงอยากให้ผู้บริหารการท่าเรือฯทำระบบค่าล่วงเวลาให้ชัดเจนและถูกต้องต่อไป

"ตอนนี้ศาลได้สั่งให้การท่าเรือฯจ่ายค่าเสียหายจากค่าล่วงเวลาที่ผิด กฎหมายแก่พนักงานระลอกแรกแล้ว 37 ล้านบาท ลอตที่สอง-สี่จะฟ้องร้องเรียกอีกตั้งแต่ 20-2,000 ล้านบาท จึงอยากให้ผู้บริหารการท่าเรือฯแก้ไขปัญหานี้"

(ประชาชาติธุรกิจ, 11-9-2554)

แรงงานบุกทำเนียบฯ ทวงถามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

12 ก.ย. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานทำเนียบรัฐบาลว่า ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นำโดยนายเสน่ห์ ชุมหฤทัย ประธานกลุ่มฯ ได้เดินทางมาที่ทำเนียบฯ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนและทวงถามสัญญาที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงว่า จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งนโยบายที่ประกาศไว้ดูเหมือนจะไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้กล่าวเปิดปาฐกถาในเรื่อง นโยบายค่าจ้างและแรงงานของรัฐบาลใหม่ ว่า การขึ้นค่าจ้าง 300 บาท จะนำร่องใน 7 จังหวัดก่อน โดยมีผลภายในเดือนมกราคมปีหน้า และจะทยอยปรับขึ้นร้อยละ 40 ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งการให้ข้อมูลเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า การประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศโดยทันที ไม่เป็นจริงตามที่หาเสียงไว้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศทั้งค่าแรงและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ควบคุมราคาสินค้า ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนด้วย

(สำนักข่าวไทย, 12-9-2554)

สอศ. เตรียมส่งนักศึกษา ปวส.1 จำนวน 400 คน ไปทำงานที่ออสเตรเลีย

นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงกรณีที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดูแลเรื่องการผลิตกำลังคนในโครงการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย ว่า ในเบื้องต้น สอศ. จะจัดส่งนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1 ที่ชำนาญด้านการก่อสร้าง จากวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยการอาชีพประมาณ 300-400 คน ไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นโครงการนำร่องในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ประเทศออสเตรเลียจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาทิ เงินเดือน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ส่วน สอศ. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้ก่อนเดินทาง

นางสาวศศิธารา กล่าวอีกว่า นักศึกษาที่ สอศ. จัดส่งไปทำงานจะได้รับใบอนุญาตการทำงานทุกคน ซึ่งก่อนการเดินทางทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมติวเข้มภาษาอังกฤษตามหลักสูตร ของออสเตรเลียเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะทดลองให้ไปเรียนและทำงานด้วยประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเหมือนกับการเรียนในสถานประกอบการ โดยจะมีการส่งครูไปดูแลนักศึกษาเพื่อให้เป็นที่ปรึกษาในการทำงานด้วย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 12-9-2554)

ก.แรงงาน เปิดรับฟังปัญหาและข้อเสนอของผู้ประกอบการ จากผลกระทบนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาทวิภาคีเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทางออกของนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกระทรวงแรงงานจัดขึ้น ว่า เป็นการเปิดเวทีรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวางมาตรการผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะ ได้รับผลกระทบ ในเบื้องต้นได้มีการประสานกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการช่วยเหลือด้าน ภาษี รวมถึงประสานกับกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้า การประปา ในการหาแนวทางลดค่าน้ำค่าไฟ ตามที่ภาคเอกชนเสนอ รวมไปถึงยังมีมาตรการลดการส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการหาอัตราที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นตัวเลขที่นายจ้างและลูกจ้างรับได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อยากให้ผู้ประกอบการรีบส่งข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือจากผลกระทบใน การปรับค่าจ้าง 300 บาท มาโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ทันการปรับค่าจ้างในวันที่ 1 มกราคม 2555

ด้าน นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งสรุปปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอให้กระทรวงแรงงาน เร่งวางมาตรการช่วยเหลือ โดยมองว่ารัฐบาลควรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการยกระดับความสามารถให้กับ ลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ลดต้นทุนการผลิต และมีชิ้นงานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทซับคอนแทรคอาจจะประสบปัญหากับนโยบายนี้ เนื่องจากต้นทุนของกลุ่มนี้คือค่าแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีบางบริษัทที่ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ด้วย เกรงว่าบริษัทซับคอนแทรคจะค่อยๆ หมดไป

ขณะที่ นายดรากันด์ เรสดิก ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกว่า 3 แสนแห่ง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีกลุ่มเอสเอ็มอีไม่ได้รับด้วย เพราะไม่ได้เสียภาษี และนโยบายปรับค่าจ้าง 300 บาท ส่งผลให้บางธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นบ้างแล้ว ทั้งนี้มองว่าการปรับค่าจ้างควรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะด้วย ซึ่งเกรงว่านโยบายค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้กลุ่มจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเสี่ยงตกงานได้ เพราะนายจ้างต้องการจ้างผู้มีประสบการณ์

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 12-9-2554)

ธุรกิจโรงแรมภูเก็ตพร้อมนำร่องขึ้นค่าแรง 300 บาท

นายสงกรานต์ อิสสระ กรรมการการผู้จัดการบริษัทชาญ อิสสระ ดิเวลลอพเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของรัฐบาล เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างแรงงานชั้นสูง ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนของพนักงานโรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต ที่เป็น  1  ใน จังหวัดนำร่อง การปรับค่าแรงนั้น  พร้อมที่จะปรับค่าแรงเช่นกัน แต่ปัจจุบันค่าแรงส่วนใหญ่ของพนักงานสูงกว่า 300 บาทต่อวัน ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม  ยอมรับว่าค่าแรงพนักงานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนธุรกิจโรงแรม และการปรับค่าแรงครั้งนี้มีผลต่อต้นทุนบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แต่เชื่อว่ามาตรการลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปี  2555 และร้อยละ  20 ในปีถัดไป จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการได้

ทั้งนี้  ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้ข้อสรุปว่าจะนำร่องปรับค่าแรงขั้นต่ำก่อน 7 จังหวัด ในอัตราร้อยละ  40 โดยใช้บัญชีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศใช้อยู่ขณะนี้เป็นฐาน ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัด  จะทยอยปรับขึ้น ซึ่งจะนำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการไตรภาคีเห็นชอบในวันที่ 15 ตุลาคมนี้  หากเห็นชอบจะส่งผลให้ค่าแรงใน 7 จังหวัดนำร่อง  คือ กรุงเทพมหานคร  สมุทรสาคร ปทุมธานีสมุทรปราการ   นนทบุรี และนครปฐม เพิ่มขึ้นเป็น 301 บาทต่อวัน จากปัจจุบัน 215 บาทต่อวัน  ขณะที่ภูเก็ตเพิ่มเป็น 309 บาท จาก 221 บาท

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตในช่วง  6  เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี โดยมีอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวร้อยละ  70-80 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากเอเชีย  ออสเตรเลีย รัสเซีย และยุโรป โดยภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะมีผลกระทบทำให้คนยุโรป ระดับกลาง ชะลอการท่องเที่ยวที่ภูเก็ตบ้าง

(สำนักข่าวไทย, 12-9-2554)

ค่าแรง 300 บ.ต่างชาติขยับย้ายหนี "ซับคอนแทร็ค" โอดเจ๊ง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกระทรวงแรงงานจัดการสัมมนาทวิภาคีเชิงปฏิบัติการเรื่อง ทางออกของนโยบาย การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวางมาตรการผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะได้รับ ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เป็นประธานการเปิดสัมมนา

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มีการประสาน กับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการภาษีช่วยเหลือ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคลในปี 2555 จาก 30% เหลือ 27% และประสานกับกระทรวงพลังงานการไฟฟ้า การประปา ในการหาแนวทางลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าตาม ที่ภาคเอกชนเสนอ รวมถึงยังมีมาตรการลดการส่งเงินสมทบ ประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง ซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาอัตราที่ดีที่สุด เพื่อให้ เป็นตัวเลขที่นายจ้างและลูกจ้างรับได้และเป็นมาตรการชั่วคราว รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คุ้มกับค้าจ้าง

"อยากให้ผู้ประกอบการเร่งส่งข้อเสนอที่ต้องการ ให้รัฐบาลช่วยเหลือจากผลกระทบในการปรับค่าเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ให้แก่แรงงานมาโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ทันการปรับค่าเพิ่มรายได้ใน 7 จังหวัดนำร่องได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานีและภูเก็ต ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และจะนำอัตราที่เพิ่มขึ้น 40% ไปบวกเพิ่มให้ 70 จังหวัด เพื่อปรับ ฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นก่อนปรับให้มีอัตรา 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ"รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภา องค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งสรุปปัญหา และข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอ ให้กระทรวงแรงงาน เร่งวางมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้กลุ่ม บริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) ประสบปัญหากับนโยบายนี้ มากเนื่องจากต้นทุนของกลุ่มนี้คือค่าแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีบางบริษัทที่ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บ้างแล้ว หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ด้วย เกรงว่าบริษัทซับคอนแทร็คจะค่อยๆ หมดไป นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็กซอน ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มขยับตัวเตรียมที่จะย้ายฐาน การผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าตรงแนวตะเข็บ ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก และแนวเขตติดกับ จ.กาญจนบุรี รวมถึงที่เกาะกง และปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ต้นทุนค่าแรงถูกกว่ามาก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80 บาทต่อวัน

นายเชียรช่วงกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบต่างชาติ กังวลกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาทมาก หากเป็นจริงหลายรายไปแน่ เพราะรายได้เท่าเดิม และต้นทุนค่าแรง ลดลง ซึ่งตนเองก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียม หาฐานการผลิตใหม่ รวมทั้งเพื่อนๆ ผู้ประกอบการที่เป็น หุ้นส่วนชาวเกาหลีพบว่าพื้นที่ที่น่าสนใจและเนื้อหอม มากที่สุดตอนนี้คือที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ค่าแรงถูก และมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมรองรับ

นายดรากันด์ เรสดิก ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกว่า 3 แสนแห่ง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ได้รับด้วย เพราะไม่ได้เสียภาษี ทั้งนี้เห็นว่าการปรับค่าจ้างควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป และเกรงว่านโยบาย ค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้กลุ่มจบใหม่เสี่ยงตกงานมากขึ้นเพราะนายจ้างต้องการจ้างผู้มี ประสบการณ์

นายวินิจฉัย ศรียะราช ผู้จัดการแผนกบริหาร ค่าจ้างและเงินเดือน บริษัท เอ็มเอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด กรุงเทพฯ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทมีพนักงานรายวัน และรายเดือน รวม 1,460 คน จึงอยากให้รัฐบาลปรับ ค่าจ้างแบบขั้นบันไดภายในเวลา 4 ปี เพื่อให้นายจ้างได้มี เวลาปรับตัว รวมทั้งให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตการภาษี นิติบุคคล เพราะหากปรับ ค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน อาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการที่เป็นเงินลงไปบ้างเพื่อนำมาโปะเงินค่าจ้างที่ เพิ่มขึ้น

ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การ ลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้เตรียมเสนอโมเดล ในการปรับค่าจ้าง 300 บาท โดยที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ตนได้นำไปทดลองใช้ที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร

โดยให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท แต่ ให้คงฐานรายได้เดิมเอาไว้ใช้ในการคำนวณสวัสดิการอื่นๆ เป็นเวลา 1 ปี เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกองทุนประกันสังคม เงินโบนัส ค่าโอที จากนั้น ปี 2556 ก็จะนำฐานรายได้ใหม่มาใช้คำนวณเหมือนเดิม เนื่องจากนายจ้างจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนถึง 2 เด้งในปีแรก ซึ่งนายจ้างก็ยอมรับโมเดลนี้

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการแรงงาน สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า วันนี้เราต้องการให้มีการ คุยกันทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่ง ฝ่ายลูกจ้างก็ไม่ได้ต้องการให้นายอยู่ไม่ได้ แต่ในเมื่อมันเป็น นโยบายของรัฐบาล ก็ต้องเดินหน้าไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะต้องยอมรับว่าค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดยังต่ำมาก

วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน ผู้แทนสมาคม ผู้ประกอบการด้านรักษาความปลอดภัยได้เข้าพบ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อหารือผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดย นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการด้านรักษา ความปลอดภัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านนี้มี 3,500 แห่ง มีลูกจ้าง 5 แสนคน มีความกังวลใจเรื่องการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาท จะทำให้ต้นทุนค่าจ้างขึ้นมาก จนอาจทำให้บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะ ไม่สามารถขึ้นค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเพิ่มได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทจะจัดเก็บค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 15,000 บาท และหากมีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ต้องเรียกเก็บค่าบริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นหัวละ 22,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องปรับค่าจ้าง 300 บาท และการปรับเพิ่มค่าจ้างจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากราคาสินค้าได้มีปรับตัวนำหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรปรับค่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ได้ก่อน

นพ.สมเกียรติ ฉายะวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วน ของนายจ้างซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างเพื่อช่วย ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ต่อวันว่า เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ ของประกันสังคม หากจะลดเงินสมทบก็จะลดสิทธิประโยชน์ ในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากกองทุนรักษา พยาบาลมีเงินไม่เพียงพอรัฐบาลก็จะสนับสนุนเพิ่ม

(แนวหน้า, 12-9-2554)

คณะทำงานฯประกันสังคมภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูประบบประกันสังคม กว่า 50 คน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้อง นายกรัฐมนตรี ให้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยคณะทำงาน มองว่า การเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง คณะทำงาน จึงรวบรวมรายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงาน จำนวน 14,264 คน โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดกระบวนการประกันสังคมทั่วหน้า อิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น

(ไอเอ็นเอ็น, 13-9-2554)

กมธ.แรงงาน วุฒิฯจัดโครงการไถ่แรงงานไทยโดนกักไต้หวัน 70 ชีวิตกลับบ้าน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่อาคารรัฐสภา 2 พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร  ส.ว.หนองคาย ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา แถลงว่า กมธ.ร่วมกับหน่วงานเอกชนจัดทำโครงการไถ่อิสรภาพแรงงานไทยในไต้หวันกลับสู่ มาตุภูมิ ภายหลังคณะอนุกรรมาธิการได้พบการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เสนอว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยในไต้หวันไม่ทราบจำนวนกระทำความผิดเล็กน้อยมีโทษ ปรับสถานเดียวแต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับคนละประมาณ 10,000-30,000 บาท ทำให้ถูกทางการไต้หวันกักตัวประมาณ 70 คน โดยหากมีเงินจะสามารถเสียค่าปรับและเดินทางกลับประเทศไทย

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวยังมีแรงงานไทยที่ป่วยทางสมองไม่สามารถช่วยตัวเองได้อีก 3 คน ต้องเดินทางกลับมารักษาตัวในประเทศไทยแต่ไม่เงินค่าเดิน ทาง กมธ.ร่วมกับสมาคมการค้าไทย-ไต้หวันเพื่อให้ความช่วยเหลือในการจ่ายค่าปรับ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกทุกได้ยากกลับสู่ มาตุภูมิ

(มติชน, 13-9-2554)

เครือข่ายผู้ป่วย จี้ เผดิมชัยชะลอออกกฎกระทรวง ส่วนเจ้าตัวรับลูกสั่งตั้งคณะทำงาน 2 ฝ่ายร่วมร่าง

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างและกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดต่างๆประมาณ 100 คน นำโดย นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯได้มายื่นหนังสือถึง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เพื่อขอให้ชะลอยกร่างกฎกระทรวงจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรา 52 พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 รวมทั้งทบทวนสัดส่วนคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบัน โดย รมว.แรงงาน ได้มารับหนังสือ และได้ให้ นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ รง.เป็นตัวแทนหารือกับแรงงาน

นางสมบุญ กล่าวว่า ขอให้กระทรวงแรงงานชะลอการพิจารณาการยกร่างกฎกระทรวงการจัดตั้งสถาบันส่ง เสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทบทวนสัดส่วนอนุกรรมการยกร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันให้มีส่วนสัดที่มีความ เหมาะสมและเป็นธรรมโดยให้มีสัดส่วนฝ่ายราชการ เครือข่ายแรงงานและประชาชนเท่ากันและประธานยกร่างกฎกระทรวงมาจากฝ่ายการ เมือง มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ก่อน

นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนร่างแผนแม่บทความปลอดภัยฉบับที่ 3 และโครงการ Zero Accident เนื่องจากแรงงานไม่มีส่วนร่วมจัดทำและเข้าไม่ถึงร่างแผนแม่บทดังกล่าวและ โครงการ Zero Accident ไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุจากการทำงานลดลง จนเป็นศูนย์อย่างแท้จริง รวมทั้งแก้ปัญหากรณีแรงงานบาดเจ็บจากการทำงานแล้วมีปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิ ตามพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน ทำให้ต้องไปใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาลทั้งๆที่ได้รับบาดเจ็บจาก การทำงาน
      
แรงงานเรียกร้องมาถึง 16 ปี ให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน อยากให้สถาบันนี้มีแขนขา จิตวิญญาณและมีอิสระในการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานให้แก่แรงงาน ไม่ใช่เป็นสถาบันที่มีแต่วิชาการ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อีกทั้งอยากให้นำดอกผลร้อยละ 20 ของกองทุนเงินทดแทนมาใส่ไว้ในกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯทุกปีด้วยนางสมบุญ กล่าว
      
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จะให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)นำข้อมูลร่างแผนแม่บทความปลอดภัยฉบับที่ 3 ขึ้นเว็บไซต์ของ กสร.รวมทั้งเปิดช่องทางร้องเรียนกรณีแรงงานบาดเจ็บจากการทำงานแล้วมีปัญหา เข้าไม่ถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนผ่านทางเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งนี้ รมว.รง.ได้รับข้อเสนอของเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ และสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความ ปลอดภัยฯ เช่น การจัดทำร่างกฎกระทรวง การกำหนดสัดส่วนคณะอนุกรรมการร่างกฎกระทรวง โดยให้มีตัวแทนฝ่ายกระทรวงแรงงานและฝ่ายแรงงานร่วมกันพิจารณาคาดว่า จะเสนอรายชื่อคณะทำงานให้รมว.แรงงานพิจารณาแต่งตั้งได้ภายในสัปดาห์นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-9-2554)

แรงงานเอสเอ็มอีหนีเข้าโรงงาน

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลของกำลัง คนภาคอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ปัจจุบันแรงงานที่ทำงานในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนต่อปี หรือ 25-30% ของแรงงานเอสเอ็มอีทั้งหมด 8-9 ล้านราย จะถูกผู้ประกอบการรายใหญ่ดึงตัวไปทำงาน เนื่องจากแรงงานมีทักษะเป็นที่ต้องการของโรงงาน และได้รับรายได้และสวัสดิการที่ดีกว่า

ทั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจรายเล็กอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมรายใหม่ที่จะเข้าสู่ ระบบ รวมถึงการพึ่งแรงงานต่างด้าว ทำให้ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเสียเวลาไปกับการฝึกคนงานอยู่ตลอดเวลา

เป็นเรื่องปกติของแรงงานที่ต้องการไปทำงานกับบริษัทที่ให้สวัสดิการที่ ดีเพราะรายใหญ่จะให้ผลตอบแทนมากกว่าที่เดิมถึง 2 เท่าตัว ดังนั้นรายเล็กก็ต้องทำใจที่แรงงานถูกดึงดูดไปจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มแรงงานที่จะเข้ามาทดแทนส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบปีละ 7-8 แสนราย รวมถึงแรงงานรับจ้างรายวันที่ในบางช่วงยังว่างงานอยู่ และแรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องเหนื่อยกับการฝึกอบรมทั้งการสอนภาษา และการทำงาน เพราะบางรายยังมีปัญหานับของให้ครบ 100 ชิ้นก็ยังทำไม่ได้นายยงยุทธกล่าว

สำหรับผลการศึกษาการใช้แรงงานใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยังขาดแคลนแรงงานอีก 7 หมื่นคน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขาดแคลน 5 หมื่นคน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2-3 หมื่นคน และกลุ่มยานยนต์ 2 หมื่นคน โดยผู้ประกอบการจะแก้ปัญหาด้วยการดึงแรงงานจากบริษัทที่เล็กกว่าโดยให้ค่า จ้างที่สูง รวมถึงการหาแรงงานต่างด้าวและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงาน

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานประเภทฝีมือ 4 – 5 แสนราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน รองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมมากนัก และคนกลุ่มนี้ภาคอุตสาหกรรมพร้อมที่จะให้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทันที แต่หากเป็นแรงงานไร้ฝีมือต้องเสียเวลาในการฝึกอบรมหลายเดือนและที่สำคัญไม่ รู้ว่าฝึกแล้วจะสามารถทำงานได้หรือไม่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนและเชื่อโยงข้อมูลแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาด้านบุคคลากรภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน หรือมีบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะงาน เพราะหลังเข้าทำงานแล้วต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะก่อนปฎิบัติงานได้จริง จนต้องเสียเวลาและเสียโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถของบริษัท

(โพสต์ทูเดย์, 15-9-2554)

เผดิมชัยรับ 70 จว. รอขึ้นค่าแรง 3-4 ปี

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดเรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำวัน 300 บาท ของนาย ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับประชาชนว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 300 บาท แต่ปรากฎว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลกลับระบุว่าเป็นการเพิ่มรายได้แทน ซึ่งความหมายดังกล่าวแตกต่างออกไปจากคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะคำว่ารายได้ คือ ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะค่าจ้างอย่างเดียวเท่านั้น จึงต้องการสอบถามถึงความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ของผู้ใช้แรงงานเพราะรัฐบาลได้ประกาศถึง โครงการนำร่องเพียง 7 จังหวัดโดยจะเพิ่มขึ้นให้ 40 % ขณะที่มีอีก 70 จังหวัดที่ยังต้องรอการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ไปก่อน การดำเนินการแบบนี้ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งถ่างออกไปมากขึ้นอีก เช่น ภูเก็ต หนึ่งในจังหวัดนำร่องเดิมเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงสุดอยู่แล้ว 221 บาท และถ้าเพิ่มให้เข้าไป 40 %จะทำให้มีรายได้ประมาณ 310 บาท ขณะที่จังหวัดแวดล้อมที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเหมือนกัน อาทิ สุราษฎร์ธานี 172 บาท  พังงา 186 บาท ทำไมถึงยังไม่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเหมือนกับภูเก็ต  ในทางกลับกัน จังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยสุด คือ แพร่ 159 ซึ่งยังไม่ได้รับการปรับเพิ่ม จะเห็นได้ว่าส่วนต่างกับภูเก็ตที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดถึง 95%

นายเผดิมชัย ชี้แจงว่า ยืนยันว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาททำทันทีอย่างแน่นอนโดยตอนนี้กำลังดูความเป็นไปได้ภายใต้ของกรอบกฎหมาย อยู่เนื่องจากมีผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มที่มีรายได้ทางอื่นๆ ด้วย จึงต้องมีการพิจารณาให้ครบถ้วนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้อาจจะมีความล่าช้าแต่รัฐบาลมีเหตุผลที่จะสามารถอธิบายได้ไม่ใช่ รัฐบาลจะไม่ดำเนินการอะไรเลย โดยต้นเหตุสำคัญของความล่าช้ามาจากปฎิทินการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่ต้องล่าช้าออกไปเพราะเดิมจะต้องมีการเสนอกฎหมายงบประมาณเข้ามาสภาผู้แทน ราษฎรแล้วไม่ใช่มาเสนอกฎหมายในเดือนพ.ย.

"การขึ้นค่าจ้างให้ผู้กับผู้ใช้แรงงานต้องพิจารณาตามกรอบของคณะกรรมการ ไตรภาคีที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเข้าไปกราบนายจ้างเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงเพิ่ม ขึ้นอย่างเป็นธรรมทั่วประเทศ และจะมีมาตรกรช่วยเหลือในการลดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจากเดิม 30 % มาเป็น 23 % และในปีต่อไปจะจัดเก็บเพียง 20 % ซึ่งในส่วนของจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัดคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการภายใน3-4ปี"นายเผดิมชัยกล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 15-9-2554)

สปส.เล็งเพิ่มงบค่ารักษารายหัวเป็น 2,526 บ.

วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์   ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) และประธานคณะกรรมการประกันสังคม  กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการประกัน ประจำปี 2554 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ ว่า อยากให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายเครือข่ายของสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม 2.การดูแลแรงงานที่บาดเจ็บจากการทำงาน 3.การบริการทางการแพทย์ซึ่งต้องขยายไปสู่แรงงานนอกระบบและผู้ประกันตนใน พื้นที่ห่างไกล 4.เงินบำเหน็จบำนาญของผู้ประกันตนในวัยเกษียณ   ซึ่งขอให้ สปส.ยึดหลักความเสมอภาคของคนทั้งสังคมไม่ใช่ใครมีกำลังจ่ายมากก็ได้เงินมาก ใครมีกำลังจ่ายน้อยก็ได้น้อยเพราะสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้   และ 5.การปรับโครงสร้าง สปส.ซึ่งตนสนับสนุนให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระเพื่อให้มีความคล่อง ตัวในการบริหารและเลือกตั้งกรรมการ สปส.อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน
      
ปีหน้าจะขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบมาก ขึ้น  และให้ได้รับบริการรักษาพยาบาลสะดวกที่สุด รวมทั้งกำลังหาแนวทางให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ  50% ของเงินรายได้ 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งจะนำมาจากเงินของรัฐบาลและผู้ประกันตน  อีกทั้งจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรับโครงสร้าง สปส.เป็นองค์กรมหาชนต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณาช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร  “นพ.สมเกียรติ กล่าว 
      
ศ.นพ.เหลือพร ปุณณกันต์  กรรมการการแพทย์ของประกันสังคมและอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม  กล่าวในการอภิรายเรื่องการพัฒนาการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคมในอนาคตว่า คณะอนุกรรมการได้ศึกษาเรื่องการพัฒนาการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของ สปส.พบว่า   ปัจจุบันสปส.มีงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี      ทั้งนี้  ช่วง ปี ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนถอนตัวออกจากระบบประกันสังคมถึง 13 แห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ เนื่องจากอัตราที่สปส.จ่ายให้แก่สถานพยาบาลหัวละ 2,108 บาทต่อปี ได้ไม่เพียงพอ    ทำให้ประสบภาวะขาดทุน จึงได้ถอนตัว เช่น   ปี  2553  มีผู้ประกันตนกว่า 9.6  ล้านคนและมีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในอยู่ที่ 10,065  ล้านบาท และผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 16,320 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเข้าร่วมประกันสังคม  242 แห่งในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลได้กำไร 163  แห่ง และขาดทุน 79 แห่ง 
      
ผลการศึกษา พบว่า ปีหน้าจะมีผู้ประกันตนเพิ่มเป็น 10.4 ล้านคน   จะเสนอให้สปส.ปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวค่ารักษาพยาบาลให้แก่สถานพยาบาลในระบบ ประกันสังคมจากเดิมหัวละ 2,108 บาทต่อปีเพิ่มเป็น 2,526 บาทต่อปี ซึ่งต้นทุนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 23%    รวมทั้งปรับระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจากเดิมจ่ายอัตราเดียวกันหมดตาม สิทธิ ประโยชน์ที่กำหนดไว้ไปเป็นจ่ายตามกลุ่มโรคร่วมและตามมาตรฐานการให้บริการของ โรงพยาบาล  4  กลุ่มได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยรัฐ  โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ และโรงพยาบาลเอกชนเพื่อช่วยลดภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล  ทั้งนี้   เรื่องนี้จะประชาพิจารณ์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนแล้วนำผลประชาพิจารณ์เสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.จากนั้นเสนอบอร์ดสปส.ต่อไปศ.นพ.เหลือพร กล่าว
      
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์   อนุกรรมการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม กล่าวว่า จุดอ่อนที่สำคัญของ สปส.คือ ไม่ปรับปรุงระบบบริการรักษาพยาบาลและอัตราค่าใช้ จ่ายในการรักษาพยาบาลให้เหมาะสมกับสภาพความความเป็นจริงเห็นได้จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สปส.ไม่เคยปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้แก่ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนเลยเท่ากับไม่รักกันจริง  ไม่ดูแลให้เหมาะสม   ทำ ให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่แบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่นับวันมีแต่เพิ่ม ขึ้นไม่ไหวพากันถอนตัวไปจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน การให้บริการทางการแพทย์ของระบบดูแลสุขภาพอีกระบบหนึ่งก้าวหน้า กว่า สปส.และปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวค่ารักษาพยาบาลให้เหมาะสมทุกปี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-9-2554)

กรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปรับค่าจ้างของ รมว.แรงงาน

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็น 2 ระยะ ในปี 2555 และจะไม่ปรับอีก 3 ปี เพราะเป็นการฝืนความเป็นจริงของกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย การปรับค่าจ้างควรปล่อยให้เป็นไปตามระบบไตรภาคี หากผลออกมาเช่นไรจำนวนที่ขาด รัฐก็ควรเป็นผู้ช่วยเติมให้ครบ 300 บาท ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลเป็นการสนองต่อการหาเสียง โดยไม่คำนึงว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ หากปรับค่าจ้างมากเกินไปนายจ้างจะอยู่ไม่ได้เศรษฐกิจของประเทศก็จะเสียหาย การปรับค่าจ้าง 300 บาทในครั้งเดียว จึงเป็นการสร้างปัญหา

กรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวอีกว่า ระบบไตรภาคีมีมาเป็น 10 ปี ไม่เคยมีปัญหา และยืนยันว่าควรปรับค่าจ้างเป็นขั้นบันไดภายใน 4 ปี พร้อมฝากถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 16-9-2554)

ผู้นำแรงงาน ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็น 2 ระยะ ของ รมว.แรงงาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่ามีแนวคิดปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เป็น 2 ระยะ โดยจะให้ครบทุกจังหวัดในปี 2555 และจะไม่ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็นเวลา 3 ปี ว่า หากไม่ปรับค่าจ้าง 3 ปี แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกปี ผู้ใช้แรงงานจะทำเช่นไร โดยความจริงแล้วการปรับค่าจ้างควรปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งแม้มีการปรับค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมาก็เพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้จากการสำรวจอัตราค่าจ้างต่อวันที่แรงงานอยู่ได้ คือ 348 บาท หากไม่ปรับค่าจ้าง แรงงานต้องแบกรับภาระจากอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การปรับค่าจ้างหลังการปรับขึ้น 300 บาททั่วประเทศแล้ว ควรยึดตามการขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

นายชาลี กล่าวยืนยันว่า ควรปรับค่าจ้าง 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศในครั้งเดียว ส่วนการออกมาพูดว่าหลังปรับแล้วจะไม่ปรับค่าจ้างอีก 3 ปี เป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม และเมื่อมีปัญหาหรือเกิดผลกระทบเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรัฐบาลก็ควรแก้ครั้ง เดียวไปเลย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 16-9-2554)

นายจ้างเมินแนวทาง เผดิมชัยขอ 4 ปีปรับค่าจ้าง 300 บ.

16 ก.ย. 54 - นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยแนวทางของรมว.แรงงานเพราะเป็นแนวทางของฝ่ายการเมืองที่ไม่มี ข้อมูลรองรับชัดเจน และรัฐบาลจะการันตรีได้อย่างไรว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจจะดี จึงอยากให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททยอยปรับแบบขั้นบันไดภายในเวลา 4 ปีเช่นเดียวกับการปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท รวมทั้งปล่อยให้การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการการค่า จ้างกลางซึ่งเป็นระบบไตรภาคี 3 ฝ่ายได้แก่ฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คนและมีหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างรอบรับชัดเจนเช่น ค่าครองชีพของแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและโลกโดยปล่อยคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกันพิจารณาข้อมูล เหล่านี้และมีมติร่วมกันในปรับขึ้นค่าจ้างซึ่งระบบนี้ใช้มานานกว่า 10 ปีและไม่มีปัญหาใดๆ
      
นายปัณณพงศ์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายนายจ้างเห็นด้วยและเข้าใจดีว่านโยบายรัฐบาลอยากให้แรงงานกินดีอยู่ดี แต่อยากให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยเช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นซึ่งรัฐบาลก็ควบคุมไม่ได้ และผู้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าแพงเป็นประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่แรงงานได้ปรับค่าจ้างไม่กี่ล้านคน ส่วนนายจ้างก็มีต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้นเพราะเมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็น ค่าจ้างแรกเข้าแล้ว ก็ต้องขยับเพดานค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มีอยู่เดิมให้ได้มากกว่า 300 บาทต่อวัน การทำให้ลูกจ้างอยู่ดีกินดีแต่นายจ้างอยู่ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์
      
อยากให้การปรับค่าจ้างเป็นไปตามกลไกระบบไตรภาคี ไม่อยากให้รัฐบาลรุกคณะกรรมการไตรภาคีมากเกินไป เพราะขนาดนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทยังทำในระยะเวลา 4 ปี แล้วทำไมการปรับค่าจ้าง 300 บาท จะทำภายใน 3-4 ปีไม่ได้ ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถกำหนดแนวนโยบายได้แต่บอร์ดค่าจ้างกลาง จะตอบสนองนโยบายทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายการปรับขึ้นอยู่กับระบบไตรภาคี ควรให้กรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้คุยกันด้วยเหตุผลโดยมีฝ่ายรัฐคอยป้อน ข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีกรรมการฝ่ายรัฐและลูกจ้างจับมือกันโหวตซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ตาม กฎหมาย ทางฝ่ายนายจ้างก็มีสิทธิวอล์คเอาท์เช่นกัน แต่ฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากทำเช่นนั้นเพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อถือของต่าง ชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่ในประวัติศาสตร์ระบบไตรภาคีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งสามารถอธิบายถึงได้ทำไมถึงปรับขึ้นเท่านั้น เท่านี้นายปัณณพงศ์ กล่าว
      
นายอรรถยุทธ ลียะวนิช กรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะปรับค่าจ้าง 300 บาท 2 ระยะภายในปี 2555 และจะไม่ปรับอีก 3 ปี เพราะเป็นการฝืนกับความเป็นจริงของกลไกลการตลาด ซึ่งจะทำให้เจอความเสียหาย อยากให้รัฐบาลสงสารประเทศ ซึ่งการปรับค่าจ้างควรปล่อยให้เป็นไปตามระบบไตรภาคี หากผลออกมาเช่นไรจำนวนส่วนต่างของต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาทต่อวัน ทางรัฐบาลก็ควรเป็นผู้ช่วยเติมให้ครบ 300 บาท
      
ระบบไตรภาคีทำมาเป็น 10 ปี ก็ไม่มีปัญหา แต่หากจะมีการจับมือโหวตระหว่างฝ่ายรัฐและลูกจ้างก็ตอบไม่ได้ว่าจะ วอล์คเอาท์หรือไม่ จะต้องพิจารณาอีกครั้ง และยังยืนยันว่า ควรปรับค่าจ้างเป็นขั้นบันไดภายใน 4 ปีเช่นเดียวกับการปรับเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีจบใหม่เป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และขอถามรมว.แรงงานว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่เพราะแนวทางของรมว.แรง งานเป็นการหลอกตัวเอง เป็นการสนองต่อการหาเสียง โดยไม่คำนึงว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ ทั้งนี้ หากปรับค่าจ้างมากเกินไปนายจ้างจะอยู่ไม่ได้เศรษฐกิจของประเทศก็จะเสียหาย การปรับค่าจ้าง300 บาทในครั้งเดียวนั้น มีแต่จะสร้างปัญหา แก้ยังไงก็ไม่จบนายอรรถยุทธ กล่าว
      
นายชัยพร จันทนา กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม ปี 2555 และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรมว.แรงงานซึ่งจะไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น เวลา 3 ปีเพราะไม่มีใครบอกได้ภาวะเศรษฐกิจจะคงที่หรือไม่ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาสินค้ารัฐบาลควบคุมไม่ได้ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้ แรงงานมีค่าครองชีพที่อยู่ได้ ทั้งนี้ แม้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงาน เนื่องจากทุกวันนี้แรงงานมีค่าครองชีพสูงกว่าวันละ 400 บาท
      
นายชัยพร กล่าวอีกว่า เชื่อว่านโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของรัฐบาลทำได้แน่นอนและอยากให้ภาคธุรกิจใจกว้างยอมเฉือนกำไรออกมาจ่าย เพิ่มค่าจ้างเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีกำลังจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ และธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีกำไร แต่ไม่ยอมควักกำไรออกมาจ่ายเพิ่มค่าจ้าง ทำให้ที่ผ่านมาค่าจ้างถูกกดไว้ต่ำมาตลอดเพราะธุรกิจเอสเอ็มอีอ้างว่าไม่มี กำลังจ่ายทั้งที่แรงงานในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีมีแค่ประมาณ 1 ล้านคน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ถูกกดค่าจ้างไปด้วย
      
เชื่อว่ารัฐบาลคงจะหาทางปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทให้ได้ตามนโยบายที่หาเสียง หากรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไม่ได้จริงๆ ทางออกสุดท้ายที่รัฐบาลจะทำได้ก็คือ ดำเนินการผ่านระบบไตรภาคีโดยฝ่ายรัฐบาลและลูกจ้างจับมือกันโหวตขึ้นค่าจ้าง 300 บาทให้ได้ 10 เสียงต่อนายจ้าง 5 เสียงคิดเป็น 2 ใน 3 ของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็พร้อมโหวตช่วยรัฐบาล เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำถูกกดไว้มานานแล้ว และขณะนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าก็แพงขึ้นด้วยนายชัยพร กล่าว
      
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการคสรท. จ.สระบุรี ออกมาระบุว่าในวันที่ 7 ตุลาคมนี้จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ว่า วันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะออกมาเรียกร้องของคนงาน เนื่องจากเป็นวันการทำงานที่มีคุณค่าที่ทำกันเป็นประจำทุกปี โดยผู้ใช้แรงงานจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหว รณรงค์ให้นายจ้างภาครัฐเห็นความสำคัญของผู้แรงงาน ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 , 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ว่าด้วยสิทธิ์ในการรวมตัวและเจรจา ต่อรอง จึงจะมีการนำเรื่องค่าจ้างมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งจะมีการยื่นหนังสือต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทตามที่ได้หาเสียงไว้และการเคลื่อนไหวนี้จะมีต่อไปจนเดือนมกราคมปี 2555 คาดว่าจะมีแรงงานออกมาร่วมไม่ต่ำกว่า 5 พันคน
      
ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้น ค่าครองชีพแรงงานเพิ่มเป็นวันละ 348 บาทต่อคนแล้ว ทางคสรท.ยังยืนยันหากรัฐบาลไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2555 จะรวบรวมรายชื่อแรงงานกว่า 5 ล้านคนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท จากแนวคิดการปรับค่าจ้างร้อยละ 40 ทุกจังหวัด โดยแรงงานจะให้เวลารัฐบาลจนถึงเดือนมกราคม 2555 หากไม่ทำตามหาเสียงไว้ จะนำรายชื่อที่รวบรวมได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองฐานผิดกฎหมายในการเสียงโดยหา เสียงไว้แล้วไม่ทำตามสัญญาประธานคสรท. กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-9-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น