โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ธาริต' พลิกยันคดีเสียชีวิต 13 ศพ 'ทหารอาจเอี่ยว' ด้านญาติเหยื่อค้านโผทหาร

Posted: 16 Sep 2011 10:54 AM PDT

"ธาริต"พลิกคดีการเสียชีวิต 13 ศพสลายเสื้อแดง ส่งสำนวนให้บช.น.ชันสูตรใหม่ อ้างหารืออัยการหลายรอบ พบคำอ้าง"ทหารเข้าไปปฏิบัติหน้าที่" ด้านญาติเหยื่อสลายการชุมนุมร้อง "รมว.กลาโหม" ค้านโผทหารตั้ง "ดาว์พงษ์-สรรเสริญ" ได้ดี

16 ก.ย. 54 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดีเอสไอทบทวนสำนวนคดีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจำนวน 13 ศพ ว่า ในวันจันทร์ที่ 19 ก.ย. นี้ ดีเอสไอจะนำสำนวนการเสียชีวิตทั้ง 13 ศพ ส่งกลับไปให้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อให้ตำรวจท้องที่เกิดเหตุไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้ง

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในชั้นสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิต 89 ศพ ดีเอสไอแยกคดีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การเสียชีวิตจากฝีมือกองกำลังชายชุดดำ กลุ่มแนวร่วมคนเสื้อแดง การเสียชีวิตที่ไม่สามารถสรุปได้เกิดจากฝีมือของคนกลุ่มใด และการเสียชีวิต 13 ศพ ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 13 ศพ จึงส่งสำนวนให้ตำรวจท้องที่ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต หรือทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ แต่บช.น. สอบสวนแล้วเห็นต่างจากดีเอสไอ โดยสรุปสำนวนว่า ไม่มีทหารคนใดอ้างว่ามีการเสียชีวิตในจุดใดหรือรายใดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน จึงส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอ

นายธาริต กล่าวอีกว่า ภายหลังรับมอบสำนวนคืนจากบช.น. ดีเอสไอได้ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการหลายครั้ง จนได้ข้อยุติว่า ในสำนวนการเสียชีวิต 13 ศพ มีการกล่าวอ้างของทหารว่า เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ คำอ้างตามพฤติการณ์อาจถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นตามขั้นตอนเมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจะต้องส่งสำนวนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสรุปสำนวนและส่งให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชี้ขาด

 “ดีเอสไอจะส่งสำนวนคดีการเสียชีวิตทั้ง 13 ศพกลับไปทำสำนวนชันสูตรพลิกศพใหม่อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ก่อนหน้านี้พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ปรึกษาดีเอสไอ ซึ่งตรวจสภาพบาดแผลจากภาพถ่ายแล้วให้ความเห็นว่านายฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนปืนอาก้า ซึ่งไม่ใช่อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่ทหาร ” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

ญาติเหยื่อสลายการชุมนุมร้อง "รมว.กลาโหม" ค้านโผทหารตั้ง "ดาว์พงษ์-สรรเสริญ" ได้ดี

วันเดียวกัน (16 ก.ย. 54) มติชนออนไลน์รายงานว่าที่กระทรวงกลาโหม นายกลิ่น เทียมมิตร อายุ 50 ปี ญาตินายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา แกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และ 19 พฤษภาคม 2553 กว่า 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องขอความเห็นธรรมผ่านทาง พ.อ.หญิง สุริยา สุวรรณประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กระทรวงกลาโหม

นายกลิ่นกล่าวว่า การเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้เพื่อต้องการคัดค้านนายทหารบางนายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา และทนไม่ได้ที่ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ แถมยังได้ดิบได้ดี

“พวกผมต้องการความยุติธรรม เรียกร้องแทนผู้เสียชีวิต จึงขอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วยทบทวนและพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตน์สุวรรณ เสธ.ทบ. และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก” แกนนำเสื้อแดงระบุ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป.ป.ช.แจ้งเชือดคดี "ไร่ส้ม-สรยุทธ์" 138 ล้าน

Posted: 16 Sep 2011 10:02 AM PDT

สอบนาน 4 ปี อนุฯ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “ไร่ส้ม-สรยุทธ์” และ จนท.อสมท. คดีเงินค่าโฆษณา อสมท.138 ล้าน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 54 ที่ผ่านมาเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่บริษัท อสมท. จำกัด ( มหาชน ) ร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงาน อสมท. เมื่อปี 2550 ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 รวมถึงบริษัทไร่ส้มจำกัด และกรรมการบริษัทไร่ส้ม ซึ่งมีนายสรยุทธ์ สุทัศนจินดา พิธีชื่อดังรวมอยู่ด้วย ทำให้ อสมท. ได้รับความเสียหายจากค่าโฆษณาเป็นเงิน 138,790,000 บาท จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะอนุกรรมการซึ่งมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ว่า เบื้องต้นได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น ผู้ที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาต้องเข้าชี้แจง หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนจะรวบรวมพยานหลักฐานและสรุปความเห็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่วินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งลงวันที่ 21 ธ.ค.49 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเป็นประธาน โดยฝ่ายบริหารมีมติให้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่พนักงานของบริษัท อสมท. 2 คน คือ 1.นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด ผู้ดูแลเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้ม ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ในการปลอมแปลงเอกสารและทำลายเอกสาร รวมทั้งรับสินบนจากบริษัทไร่ส้ม ทั้งนี้นางพิชชาภา ถูกไล่ออกไปแล้ว 2.นางเบจมาศ นนท์วงศ์ เป็นผู้ส่งโฆษณาให้แก่ นางพิชชาภาและบริษัทไร่ส้ม ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ทั้งนี้บริษัทไร่ส้มขณะที่ถูกกล่าวนั้น มีนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา และ น.ส.อังคณา วัฒนมงคลศิลป์ เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ส่วนพนักงาน อสมท. ที่เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อนายภักดี เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ปรากฏว่านายภักดี ได้เดินทางไปต่างประเทศ และจะกลับมาในสัปดาห์หน้า.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บรรษัทระดับโลกหวั่นมาตรการควบคุมเน็ตในไทย ทำธุรกิจชะงัก

Posted: 16 Sep 2011 09:42 AM PDT

เจมส์ ฮุกเวย์ ผู้สื่อข่าวเดอะวอลสตรีทเจอนัล รายงานความกังวลใจของบริษัทที่ประกอบธุรกิจออนไลน์ ต่อการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทย หวั่นชะลอการขยายตัวของธุรกิจ รายละเอียดมีดังนี้

---------
15 กันยายน 2554

กรุงเทพฯ – บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกส่งสัญญาณความกังวลต่อมาตรการควบคุมการจราจรทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายเฝ้าระวังอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปราบปรามการล่อลวงออนไลน์ และส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับถูกใช้เพื่อสอดส่องเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองในเว็บไซต์ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมระดับโลกที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย อาทิ กูเกิล ยาฮู อีเบย์ ฯลฯ
 
อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลอย่างสำคัญในประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นฮับการลงทุนนานาชาติ ปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากจับจ่ายของใช้ประจำวัน สั่งพิซซ่า และวิจารณ์การรัฐประหาร การจลาจล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผ่านทางออนไลน์
 
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทยเชื่อว่า คนไทยบางส่วนล้ำเส้นและกระทำการละเมิดขอบเขตของกฎหมายที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และราชวงศ์อย่างเข้มงวด  โดยในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่าน นักวิเคราะห์และนักกิจกรรมซึ่งสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความเห็น กล่าวว่า มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
สำหรับภาคธุรกิจที่ดำเนินการด้านอินเทอร์เน็ตนั้น แสดงความวิตกกังวลเป็นพิเศษต่อกรณีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กำลังเผชิญข้อกล่าวหาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุผลว่า เธอลบข้อความที่ไม่เหมาะสมออกจากกระดานการสนทนาสาธารณะช้าเกินไป หากศาลมีคำพิพากษาโดยมิให้มีการอุทธรณ์ จีรนุชอาจต้องจำคุกเป็นเวลากว่า 20 ปี
 
ธุรกิจรายอื่นๆ หวาดกลัวว่า พวกเขาอาจถูกดำเนินคดีได้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจออนไลน์
 
“หากมีการสร้างความรับผิดให้แก่ตัวกลางสำหรับความผิดที่เกิดจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต กรณีดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งและจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจของไทย” สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียกล่าวในแถลงการณ์ที่ออกสู่สาธารณะก่อนหน้านี้ สำหรับสหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย หรือ the Asia Internet Coalition เป็นองค์กรซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง ตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยอีเบย์ กูเกิล โนเกีย ไมโครซอฟท์ สไกป์ และยาฮู  มีจุดประสงค์เพื่อล็อบบี้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทั่วเอเชีย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทย
 
“การเปลี่ยนแนวทางการทำงานของอินเทอร์เน็ต โดยปฏิเสธความคุ้มครองของตัวกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกนั้น ย่อมส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศไทย” สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียระบุ หากแต่ไม่ได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันอาจเกิดจากกฎหมายที่เข้มงวดนี้ ทั้งนี้ บรรษัทสมาชิกปฏิเสธการให้ความเห็นที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาของแถลงการณ์
 
เหนือสิ่งอื่นใด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังกำหนดให้บรรษัทต่างๆ บันทึกการจราจรทางคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 90 วัน ทั้งนี้ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอินเทอร์เน็ตและสื่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “เป็นการสิ้นเปลืองอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ซึ่งต้องใช้บันทึกข้อมูลทั้งหมดอย่างมาก”
 
ขณะเดียวกัน สภาหอการค้าหลายแห่งกำลังจัดบรรยายสรุปความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทย
 
"ช่างน่าขันสิ้นดี ที่กฎหมายซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกรรมออนไลน์ ให้ผลในทางตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง" ไทเรล ฮาเบอร์คอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา ผู้ติดตามประเด็นการใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
 
ในกรณีดังกล่าว สงกรานต์ เตชะณรงค์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โต้ว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์นั้น ต่อต้านกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการปลอมแปลงบัตรเครดิต ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมธุรกิจออนไลน์”
 
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยถูกสะท้อนให้เห็นในหลายประเทศเอเชีย ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดการกับจำนวนประชากรออนไลน์ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การติดต่อไร้สายและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบโทรศัพท์มือถือกำลังขยายตัวขึ้นนั้น เวียดนามและจีนก็ได้เพิ่มความถี่ในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์สังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
 
ไมเคิล มิคาแลค อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงฮานอย กล่าวเตือนในปี 2551 ว่า การควบคุมเฟซบุ๊กนั้น อาจขัดขวางสายสัมพันธ์ของธุรกิจที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเวียดนามและสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในประเทศ เช่น มาเลเซีย กลับปล่อยให้อินเทอร์เน็ตทำงานอย่างเสรี แต่ใช้การออกกฎหมายการปลุกระดม (Sedition Act) เพื่อควบคุมกิจกรรมออนไลน์แทน
 
ถึงที่สุดแล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับผลกระทบของการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งหนึ่ง ประเทศไทยคือดวงประทีปแห่งประชาธิปไตย และยังคงสถานะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลับพบเจอกับทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นด้วยความไม่สงบทางการเมือง 
 
ความสำเร็จของทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองสายนโยบายประชานิยมและอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันซึ่งเป็นน้องสาวนั้น ได้เพิ่มความตึงเครียดให้แก่ประเทศ ซึ่งผู้นำทางการทหารและข้าราชการพลเรือนรอยัลลิสต์ถือครองอำนาจมาแต่เดิม ทั้งสองฝ่ายต่างใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อชนะใจปวงชน ในการถกเถียงเรื่องทิศทางประเทศไทย 
 
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่ชนชั้นนำทางการเมืองและผู้นำกองทัพต่างแข่งขันกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ความคิดเห็นที่เป็นการวิพากษ์สถาบันนั้น พระองค์เองกลับเคยมีพระราชดำรัสว่าคนไทยควรจะสามารถอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันฯ ได้ โดยปราศจากความกลัวต่อการถูกจับกุม 
 
ขณะนี้ รัฐบาลของยิ่งลักษณ์กำลังนำประเทศเข้าสู่การดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายหมิ่นฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม อยู่บำรุงนำทีม “วอร์รูม” ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 40 ราย ทำหน้าที่สอดส่องข้อความต่อต้านสถาบันฯ ในอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลยังได้รับการอบรมเพื่อเฝ้าระวังข้อความที่ไม่เหมาะสมด้วย
 
ปัจจุบัน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นเรื่องให้อัยการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์กว่า 36 คดี ซึ่งมากกว่าคดีที่ส่งศาลในปี 2542 ถึงสองเท่า
 
จักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกประจำทำเนียบรัฐบาล หนีออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีภายใต้ข้อกล่าวหาการหมิ่นสถาบันฯ ขณะที่นายโจ กอร์ดอน ชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ซึ่งถูกดำเนินคดีหลายข้อกล่าวหา หนึ่งในนั้นคือ ฐานโพสต์ลิงก์หนังสือพระราชประวัติต้องห้ามในบล็อกของเขา ซึ่งเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
 
ตามรายงานของ iLaw ซึ่งเฝ้าระวังการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย พบว่า มีเว็บไซต์กว่า 75,000 แห่งถูกบล็อคในปีที่ผ่านมา โดย 57,000 แห่งในจำนวนนี้ถูกพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เสรีภาพออนไลน์ถูกตัดตอนมากที่สุด พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐบล็อคแม้กระทั่งเว็บไซต์ยูทูบ ซึ่งมีผู้ใช้บางรายโพสต์วิดีโอล้อเลียนสถาบันฯ
 
ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยการใช้อินเทอร์เน็ตเผยแพร่ความรู้สึกต่อต้านสถาบันฯ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย 
 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจได้เข้าจับกุมนายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า เขาได้โพสต์ความเห็นที่เป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ 
 
“ผู้คนรู้สึกได้ว่าถูกเฝ้ามอง และนี่กำลังเปลี่ยนแปลงมุมมองที่คนมีต่ออินเทอร์เน็ต" ศ.ไทเรล ฮาเบอร์กอนแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว 
 

................................

แปลและเรียบเรียงจาก Thai Clampdown on Internet Traffic Worries Companies, The Wall Street Journal 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“หมอตุลย์” นำหลากสีชุมนุม ตั้งเป้าล่า 3 ล้านรายชื่อค้านอภัยโทษ "ทักษิณ"

Posted: 16 Sep 2011 08:13 AM PDT

“หมอตุลย์”กร้าวค้านทุกเรื่องการเดินหน้าขออภัยโทษให้ "ทักษิณ" ตั้งเป้าล่า 3 ล้านรายชื่อ-ชุมนุมทุกศุกร์ สับรัฐบาลเมินงานหลักเพื่อประชาชน


ที่มาภาพ: แฟนเพจระดมคนกรุงเทพต่อต้านเสื้อแดงชั่ว
 

16 ก.ย. 54 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน และกลุ่มเสื้อหลากสีได้มารวมตัวกันประมาณ 300 คน ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อร่วมกันตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษและการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นพ.ตุลย์ ให้สัมภาษณ์ ถึงการมารวมตัวครั้งนี้ว่า พวกตนจะคัดค้านการขออภัยโทษพ.ต.ท.ทักษิณทุกรูปแบบ ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ตั้งขึ้นมาก็ตั้งใจทำแต่เรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเรื่องหลักมากกว่านโยบายที่หาเสียง ซึ่งการยื่นฎีกาครั้งนี้หากถูกยกเลิกประชาชนที่ร่วมกันยื่นก็จะมาโทษสถาบัน ดังนั้นเราต้องร่วมกันปกป้องสถาบันตนจะรวบรวมรายชื่อรนที่คัดค้านฎีกาให้มากกว่า 3 ล้านรายชื่อและจะจัดกิจกรรมทุกวันศุกร์.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระเบิด 3 จุดรวด! และเจออีก 1 ลูก แต่กู้ได้ในสุไหงโกลก ตายแล้ว 4 เจ็บกว่า 40

Posted: 16 Sep 2011 07:24 AM PDT

16 ก.ย. 54 - เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่าเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ช่วงค่ำวันนี้ (16 ก.ย.) โดยคนร้ายลอบวางระเบิด 3 จุด จนเกิดระเบิดในเวลาไล่เลี่ยกัน จุดแรกที่สมาคมแต้จิ๋ว ในซอยข้างโรงพัก สภ.สุไหงโก-ลก จุดที่ 2 เป็นสี่แยกย่านชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และจุดที่ 3 ที่หน้าโรงแรมเมอร์ลิน โดยจุดที่ 3 เป็นระเบิดที่ติดตั้งในรถยนต์ หรือ "คาร์บอมบ์" ขณะที่ 2 จุดแรก มี 1 จุดที่เป็นระเบิดประกอบในรถจักรยานยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์บอมบ์

ทั้งนี้ แรงระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าดับทั้งเมือง เบื้องต้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานอย่างไม่เป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 4 ราย บาดเจ็บกว่า 40 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 15 ราย

นราธิวาส-วางระเบิด-ยิงถล่มฐานทหาร เจ็บ 3

ด้านครอบครัวข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.คืนวานนี้ (15 ก.ย.) แต่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เกรงกลุ่มคนร้ายจะวางแผนลวงดักสังหารเจ้าหน้าที่ขณะเข้าตรวจสอบ

จุดแรกเป็นบริเวณกอกล้วยริมถนนปากทางเข้าฐานปฏิบัติการณ์ทหาร พบคนร้ายซุกระเบิดแสวงเครื่อง แบบเคโม หนัก 10 ก.ก.จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย

จุดที่ 2 เป็นบริเวณป่าสวนยางพาราหลังฐานปฏิบัติการณ์ทหาร พบปลอกกระสุนปืนหลายชนิดจำนวนกว่า 100 ปลอก

จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ ส.อ.ศราวุธ คงเมือง หน.ชุด ร้อย ร.15114 ฉก.นราธิวาส 31 นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร รวม 6 นาย เดินเท้าออกจากฐานเพื่อไปตั้งจุดตรวจจุดสกัดภายในหมู่บ้าน เมื่อถึงบริเวณ 3 แยกทางเข้าฐาน ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนอาศัยความมืดแฝงตัวอยู่ในป่ารกทึบริมทาง ได้ใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิดที่นำไปวางไว้บริเวณกอกล้วย จนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย

ต่อมากลุ่มคนร้ายอีกชุดหนึ่งซึ่งมีจำนวน 10 คน พร้อมอาวุธปืนครบมือ ได้อาศัยความมืดลอบแฝงตัวเข้าไปในป่าสวนยางพาราซึ่งอยู่ด้านหลังของฐาน และใช้อาวุธปืนยิงถล่มใส่ฐานปฏิบัติการณ์ทหาร จนทั้ง 2 ฝ่ายเปิดฉากยิงปะทะกันเป็นระลอกๆนาน 10 นาที จนเสียงปืนสงบลง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่ากลุ่มคนร้ายได้วางแผนมาเป็นอย่างดี แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารอ่านเกมออก จึงทำให้ฐานปฏิบัติการณ์ทหารรอดจากการถูกกลุ่มคนร้ายบุกเข้าไปโจมตี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนุน ‘กรมเจ้าท่า’ ถมทรายชายฝั่งสะกอม ชาวบ้านหวั่นผลกระทบระหว่างก่อสร้าง

Posted: 16 Sep 2011 06:44 AM PDT

หนุน “กรมเจ้าท่า” ถมทรายชายฝั่งสะกอม ชาวบ้านหวั่นผลกระทบช่วงก่อสร้าง เสนอตั้งกรรมการฯ ลดปัญหากระทบกระทั่ง ระหว่างเจ้าท่ากับชาวบ้าน “คนตลิ่งชัน” กลัวกัดเซาะเฉพาะพื้นที่ เสนอถมทรายตลอดแนว 8 กิโลเมตร

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ที่ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทแอสตีคอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนาการมีส่วนร่วมพิจารณาร่างรายงานโครงการศึกษาสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่บริเวณหาดสะกอม อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2 มีส่วนราชการ ภาคเอกชน ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายสุพจน์ จารุลักขณา วิศวกรและผู้จัดการโครงการฯ  ชี้แจงว่า กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่บริเวณหาดสะกอม ระหว่างวันที่ 6–7 ตุลาคม 2553 วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานราชการ จากนั้นวันที่ 14 ธันวาคม 2553 จัดสัมมนาการมีส่วนร่วมฯ ครั้งที่ 1 ที่ศาลาประชาคมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา วันที่ 15 ธันวาคม 2553 จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 ที่ศาลาหมู่บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ วันที่ 24 มีนาคม 2554 จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ที่ศาลาหมู่บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ

นายสุพจน์ ชี้แจงพื้นที่โครงการว่า ตั้งอยู่ที่บริเวณหาดสะกอม ด้านทิศตะวันตกของปากร่องน้ำสะกอมในเขตท้องที่หมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก และหมู่ที่ 7 บ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สำหรับพื้นที่ศึกษามีขอบเขตครอบคลุม 3 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ตำบลสะกอมกับตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ และตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

นายสุพจน์ ชี้แจงอีกว่า จากการศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง สภาพชุมชน สภาพแวดล้อมโครงการ และลักษณะรูปแบบที่นำมาใช้แก้ปัญหา ได้มีการนำเสนอ สรุปแนวทางรูปแบบการป้องกันกัดเซาะชายฝั่งออกเป็น 5 แนวทางคือ 1.เติมทรายชายฝั่ง 2.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและถมทรายชายฝั่ง 3.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ 4.ก่อสร้างหัวหาดและเติมทรายชายหาด 5.ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น 2 ชั้น และเติมทรายชายหาด

นายสุพจน์ ชี้แจงอีกด้วยว่า  จากการศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง ศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนพบว่า ทางเลือกที่ 1 การเติมทรายชายหาดมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณข้างเคียง และกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลน้อย ชุมชนสามารถเดินเรือได้ตามปกติ ไม่มีสิ่งก่อสร้างในทะเล สามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ รวมทั้งค่าก่อสร้างต่ำ ตรงตามความต้องการของชุมชนที่ต้องการให้มีโครงสร้างน้อย

“สำหรับรูปแบบการก่อสร้างประกอบด้วย การเติมทรายชายหาดกว้างไม่น้อยกว่า 30 เมตร ยาว 2,250 เมตร ปรับปรุงซ่อมแซมเกาะกันกัดเซาะยาว 50 เมตร 2 ตัว รื้อย้ายและก่อสร้างเกาะกันกัดเซาะยาว 50 เมตร 1 ตัว รื้อย้ายและก่อสร้างเกาะกันกัดเซาะยาว 150 เมตร 1 ตัว ก่อสร้างแนวกันชนยาว 1,935 เมตร และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่โครงการบ้านโคกสัก ขนาดพื้นที่ประมาณ 1.88 ไร่” นายสุพจน์ กล่าว

นายสมยศ เอื้ออภิสิทธิ์วงค์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า จากการศึกษาควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมเกาะกันกัดเซาะ จะส่งผลกระทบให้ตะกอนในน้ำมากขึ้น จึงต้องก่อสร้างในช่วงคลื่นลมสงบ และต้องมีมาตรการควบคุมที่เคร่งครัดไม่ให้ทิ้งวัสดุที่จะก่อสร้างลงในทะเล อาจส่งผลกระทบกับการทำประมงชายฝั่ง ควรมีการประชาสัมพันธ์และหามาตรการในการลดผลกระทบกับชุมชน

“ในช่วงการก่อสร้างจะมีรถบรรทุกขนทรายและหิน ทำให้มีฝุ่นควัน อาจทำให้ชาวบ้านเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่ายขึ้น จากเศษทราย เศษหินตกหล่น” นายสมยศ กล่าว

นายมูนิน หว่าหลำ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอจะนะ กล่าวว่า คนโคกสักและชาวบ้านตำบลสะกอมดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เลือกแนวทางถมทรายชายหาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะน้อย ไม่เหมือนกับการสร้างเขื่อนกัดเซาะในทะเล อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบกับการทำประมงชายฝั่ง ที่สามารถนำเรือเข้า–ออกฝั่งไปหาปลาได้ ทุกคนเห็นด้วยกับโครงการนี้

นายกะดิ้น แสงดี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ เสนอว่า อยากให้กรมเจ้าท่า ถมทรายชายหาดจากบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม จนถึงชายหาดบริเวณตำบลตลิ่งชันด้วย ไม่ใช่ดำเนินการแค่ 4 กิโลเมตร แต่ควรเป็น 8 กิโลเมตร ถ้าจะสร้างก็ต้องสร้างให้เหมือนกัน

“ถ้าพังก็พังเหมือนกันไม่ใช่ให้ตำบลสะกอมอยู่รอด แต่ตำบลตลิ่งชันยังถูกกัดเซาะชายฝั่งจนพังระเนนระนาด ขอให้กรมเจ้าท่าถมทรายชายหาดที่ตำบลตลิ่งชัน ไปเชื่อมต่อกับชายหาดบริเวณตำบลนาทับ ที่กำลังดำเนินโครงการเช่นกัน” นายกะดิ้น กล่าว

นายวรรณชัย บุตรทองดี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมเจ้าท่า ชี้แจงว่า เรื่องการกัดเซาะชายหาดที่ตำบลตลิ่งชัน ถ้าจะดำเนินการทางกรมเจ้าท่าจะต้องศึกษาสำรวจออกแบบก่อน จากการศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า ชายหาดตำบลสะกอมกัดเซาะรุนแรง แต่ชายหาดตำบลตลิ่งชันยังกัดเซาะน้อย จึงถมทรายชายหาดแค่ 4 กิโลเมตรก่อน

นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ แสดงความเห็นว่า ในช่วงของการก่อสร้างจะการจราจรจะติดขัดจากรถบรรทุกทราย บรรทุกหิน อีกทั้งสภาพถนนปัจจุบันก็ทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อย่ำแย่อยู่แล้ว ตนขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากชุมชนคอยประสานงานกับกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คอยแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนและลดความขัดแย้งระหว่างกรมเจ้าท่ากับคนในชุมชน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ชี้ ‘ความอยุติธรรมที่ชายแดนใต้ลึกมาก’

Posted: 16 Sep 2011 06:11 AM PDT

สรุปความ “รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังชุมชน–พลังผู้ไร้สิทธิกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง” ในงานโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand)

ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2554 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand)

เวลา 09.30 น. วันที่ 13 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน ก็เป็นคิวของ “รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังชุมชน–พลังผู้ไร้สิทธิกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง” ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ต่อไปนี้ เป็นข้อความเฉพาะบางส่วนที่น่าสนใจ ที่เก็บได้จากการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อนี้

………………………………………………

“ปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการคืนความยุติธรรมให้กับชุมชนมากขึ้น เอกสารของคนทำงานพัฒนาในพื้นที่นี้ ชี้ให้เห็นว่าหลังจากรัฐได้ฟังเสียงของคนในชุมชนแล้ว ในช่วงหลังองค์กรของรัฐได้ตระหนักว่า ความอยุติธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ลึกซึ้งมาก องค์กรของรัฐจึงพยายามปรับตัวคืนความยุติธรรมให้กับชุมชนในหลายมิติ ไม่ว่าการยอมรับให้มีสภาชุมชน หรือการสร้างนิติธรรมชุมชน นี่ถือเป็นเสียงที่ยอมรับในความชอบธรรมของชุมชน ที่เกิดจากปฏิบัติการของเสียงผู้ไร้เสียงที่ดังมากขึ้น จากการแสวงหาทางออกของสังคมที่มีความหลากหลาย

โครงสร้างฐานที่มั่นของชุมชนคือ การสร้างชุมชนในอุดมคติ และฐานในการปกครองตนเอง ที่มีอยู่ 3 ฐานคือ การปกครอง สังคมชุมชน และจิตวิญญาณ กรณีชุมชนตักวา 4 ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดเสาหลัก ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะ มัสยิดก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นกัน จากการอ่านเรื่องชุมชนตักวา พบว่า เริ่มจากบ้านมั่นคง จากการพูดคุยกันหลายฝ่าย เริ่มขยับจากบ้านไปสู่ชุมชน จากชุมชนไปสู่อุดมคติชุมชน นี่คือความต่อเนื่อง และการตกผลึก

การสร้างตัวตนของผู้ไร้สิทธิ์ท่ามกลางการกดทับ ผ่านปฏิบัติการทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ นำไปสู่การตกผลึกทางอุดมคติของชุมชนและมนุษย์ นี่คือการท้าทายสังคม ด้วยการกระตุกเตือนให้คนคิดถึงสิ่งที่สูงกว่ามนุษย์ ซึ่งไม่ได้สร้างจากตัวเปล่า แต่เป็นการขยายรากฐานทางปัญญาเดิม

แม้ในวันนี้ อาจจะยังไม่สามารถบรรลุทุกอย่างได้อย่างที่คาดหวัง แต่สิ่งที่ทำลงไปแล้ว และกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบั คือ การวางรากฐานทุกอย่างไว้ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง เพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่า และเข้าถึงอุดมคติสูงสุดของชีวิตมนุษย์

มนุษย์ต้องเชื่อมั่นในสังคมโดยรวม จึงจะสามารถแก้ปัญหา และกระบวนการต่อสู้ต่อรองของหลายฝ่าย จะเข้าสู่ความทรงจำกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันของมนุษย์ เกิดปรากฎการณ์การสร้างชุมชน เช่น ชุมชนศรัทธา ภายใต้อุดมคติใหม่ ถ้าหากปราศจากความเชื่อมั่นทางสังคมแล้ว ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเกิดปัญหามากมาย ถ้าหากมนุษย์กับมนุษย์เชื่อมั่นกันแล้ว หนทางการแก้ปัญหาก็จะมีมากยิ่งขึ้น ความเชื่อมั่นนี้หมายความว่า มนุษย์กับสังคมโดยรวม จะต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความเชื่อมั่นแบบนี้เป็นแนวทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคต ภายใต้ความเชื่อมั่นนี้ แม้กระทั่งหน่วยงานที่ค่อนข้างแข็งตัว และไม่ค่อยคิดอะไรมากนัก ก็สามารถปรับตัวเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น

ชุมชนคนไทยมักจะบอกว่า สังคมของตัวเองเป็นสังคมแห่งความสุข แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นที่กระทบกระเทือนได้ง่าย สังเกตจากกลุ่มทุนเข้าไปมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก มาจากการแสวงหาอย่างต่อเนื่อง ความพยายามปรับเปลี่ยนเรื่องเล่า เพื่อให้เกิดการประนีประนอมมากขึ้น ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เคยเขียนประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ รศ.ดร.รัตติยา สาและ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ นำไปแปลเป็นภาษามลายู คนในชุมชนชายแดนภาคใต้บอกว่า อยากได้ประวัติศาสตร์แบบนี้

การสร้างความเข้าใจใหม่ หรือการแสวงหาแนวทางเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเห็นเราได้ชัดขึ้น  ขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสเห็นคนอื่นได้ชัดเช่นเดียวกัน นอกจากการนำเสนอในส่วนที่เป็นแนวทางปฏิบัติการของเรา ยังมีส่วนสำคัญคือ บทสุรปที่บอกว่ามีเสียงในการปฏิบัติการของผู้ไร้เสียงจะดังมากขึ้น หากเสียงของผู้ไร้เสียงดังมากขึ้น ไม่มีใครอยู่เฉยได้ ไม่มีใครปฏิเสธความชอบธรรมได้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีปฏิบัติการที่ทำให้สังคมมองชุมชนคนใต้ได้ชัดขึ้น จากการสร้างอุดมคติก้าวข้ามความต้องการส่วนตัว จนเกิดแรงผลักดันและการเสียสละร่วมกัน”
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายชาวบ้านปักษ์ใต้เดินหน้าทำแผนพัฒนาภาคประชาชนสู้รัฐ

Posted: 16 Sep 2011 06:00 AM PDT

เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ประกาศเดินหน้าพัฒนาศักยภาพชุมชน ฝ่าสารพัดปัญหามุ่งสู่ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมทำแผนพัฒนาที่คนใต้ต้องการ สู้แผนพัฒนาภาครัฐ ดับฝันเมกะโปรเจ็กต์ จัดกระบวนการสื่อสารชุมชน พร้อมตอบโต้สร้างความยอมรับ

เมื่อเวลา 13.00–14.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand) ซึ่งจัดโดยโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการสรุปภาพได้ภาพรวมจากเวทีสมัชชาประชาชน “ว่าด้วยเสียงจากผู้ไร้สิทธิ” โดยนายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ จากเครือข่ายลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 


นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ

 

นายนฤทธิ์ สรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนมี 2 ส่วนคือ กลุ่มผู้กระทำ และกลุ่มผู้ถูกกระทำ 2 กลุ่มนี้มีมุมมองต่างกัน เจ้าของปัญหาคือ ชุมชนมีแนวคิดต้องการจัดการตนเอง โดยใช้พื้นที่และเครือข่าย รวมทั้งยอมรับความหลากหลายทั้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในการทำงานร่วมกัน ทุกกลุ่มมองว่าวิถีชีวิตอิงอยู่กับฐานทรัพยากรทุกประเภทในภาคใต้ ในการดำรงชีวิตจึงต้องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก

นายนฤทธิ์ กล่าวถึงปัญหาจากกลุ่มผู้กระทำว่า ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายต่างๆ จากหลักคิดต้องการพัฒนาให้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว ก่อให้เกิดแรงต้าน เมื่อพูดแผนพัฒนาต่างๆ แนวคิดเรื่องความเจริญ ความทันสมัย ทุนไร้พรมแดนยังคงครอบงำ และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ หรือการใช้อำนาจพิเศษจัดการกับผู้ขัดขวางความเจริญ ผู้ที่คิดต่าง การกีดกันการเข้าถึงความช่วยเหลือสนับสนุน ซึ่งเกิดจากมุมมองการพัฒนาที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดการกดดันชนกลุ่มน้อยที่ถูกมองว่า เป็นผู้ขัดขวางความเจริญ โดยมองว่าไม่ใช่คนไทย มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่แยกแยะ

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหานโยบายจากส่วนกลางส่งตรงถึงพื้นที่ ปากบารา ทะเลสาบสงขลา ที่อยู่อาศัยของชาวเล คนพลัดถิ่น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และปัญหาความอยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ผลกระทบจากภัยพิบัตินับเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยหลุดมือไปจากชาวบ้านในชุมชน นายทุนฉวยโอกาสออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชาวบ้าน ขณะที่ปัญหาจาหภัยพิบัติโดยตรง เกิดจากไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ความช่วยเหลือเข้าไปถึงพื้นที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง เล่นพรรคเล่นพวก

นายนฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ทั้งหมด ส่งผลให้ฐานทรัพยากรของคนใต้เสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรง ปัญหาที่พบคือ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกจำกัดพื้นที่ทางวัฒนธรรมรัฐไม่ยินยอมให้แสดงออก การถูกเบียดเบียนแหล่งทำกินของชาวเล ความไม่เสมอภาคที่คนไทยพลัดถิ่นได้รับ นำมาสู่การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม จนถูกกล่าวหาเป็นพวกหัวรุนแรง

“จากความขัดแย้งแบ่งแยกที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นอกจากความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับชุมชนจะเกิดขึ้นแล้ว ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเอกชน ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาโครงการขนาดใหญ่กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ” นายนฤทธิ์ กล่าว

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของกลุ่มสตรีก็ซับซ้อนเช่นกัน โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม ที่นำมาสู่การกดขี่ผู้หญิง เช่น มีภรรยา 4 แล้วไม่เลี้ยงดู เมื่อมีปัญหาก็หย่าร้างกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ การดูแลบุตร ครอบครัวที่ไม่มั่นคง ซึ่งมีผลกระทบต่ออนาคตของชาติ ขณะที่คุณภาพในการจัดการด้านการศึกษาด้อยลง ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลดลง เด็กถูกจัดการให้เหมือนกันทั่วประเทศ เด็กในโรงเรียนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความแตกแยก

นายนฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องทั้งหมดต้องการการพัฒนาแกนนำ เพิ่มศักยภาพในการจัดการครอบครัวให้กับกลุ่มสตรี ต้องสร้างความมั่นใจที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดและต่อสู้กับปัญหา ขณะที่รัฐใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือจัดการคน ชุมชนต้องใช้ความกลัวเป็นโอกาสในการยืนหยัดต่อสู้กับปัญหา ต้องมีกระบวนการจัดการกลุ่มและเครือข่าย ทั้งด้านทุน การศึกษา สร้างความเข้มแข็ง และการรับมือภัยพิบัติ พร้อมกันไปกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิ์ ที่กระทบจากแผนพัฒนา จากการจัดการที่ดิน และการรุกเข้าของธุรกิจการท่องเที่ยว ที่กระทบต่อชาวเลโดยตรง

“สำหรับการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของภาคใต้ ตอนนี้มีการนำเสนอเแผนพัฒนาภาคใต้ที่คนภาคใต้ต้องการ การเสนอรูปแบบการจัดการการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเอง มีกองทุนพัฒนาสตรี การพัฒนาสร้างความมั่นคงความยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว

ภายใต้การขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมด ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพของคน การเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งด้านลึก และด้านกว้างข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ข้ามภาค” นายนฤทธิ์ กล่าว

นายนฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดกระบวนการโต้ตอบของชุมชน การจัดการตนเองให้เป็นที่ปรากฏ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่มีความยั่งยืน มีการขับเคลื่อนเชิงรุกไปถึงทำเนียบรัฐบาล ไปถึงศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งจะต้องเพิ่มพื้นที่สื่อสารให้กับภาคพลเมือง ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย และระดับประเทศ

นายนฤทธิ์ สรุปถึงความก้าวหน้าของชุมชนว่า ที่เห็นชัดเจนคือรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำหน้าสังคมไปแล้ว แต่ยังไม่แสดงออกมาให้เห็นชัดๆ เป็นการสร้างความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเสรีอาเซียน ในมิติที่มากกว่าเศรษฐกิจขณะที่ศักยภาพด้านการศึกษาของคนรุ่นใหม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีรูปแบบการศึกษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่โรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ การจัดการศึกษาของรัฐ ความก้าวหน้าที่น่าสนใจคือ การจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเองของประชาชนที่ตื่นตัว มีการวางแผน มีการทำข้อมูล จนสามารถจัดการตัวเองได้เรียบร้อย และความก้าวหน้าในกลุ่มชาติพันธุ์ในมิติและประเด็นต่างๆ เช่น ความมั่นคงในชีวิต การศึกษา และพัฒนาเยาวชน การพัฒนาฐานอาชีพ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

นายนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือ การพัฒนาสตรีเข้าสู่มิติต่างๆ โดยใช้วัฒนธรรมการเลี้ยงลูก วัฒนธรรมความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการทำมาหากิน วัฒนธรรมการใช้ชีวิตในครอบครัว วัฒนธรรมศาสนา เป็นเครื่องมือจัดตั้งเครือข่ายต่างๆ ส่วรความก้าวหน้าอีกเรื่องคือ การใช้จุดอ่อนจากที่ถูกระแวง ไม่ได้รับการยอมรับ เป็นโอกาสในการสร้างชุมชนศรัทธา จนเกิดการยอมรับในสังคมเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความสงบ สันติสุข สมานฉันท์ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นกระบวนการ เปิดให้ภาคีทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมร่วมกันได้

“รัฐต้องปรับวิธีคิดในการพัฒนา ด้วยการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ รัฐต้องพร้อมที่จะรับข้อเสนอจากประชาชน รัฐต้องทบทวนและหยุดโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และหันมาฟังประชาชน หยุดสนับสนุนให้ประชาชนทะเลาะกันในชุมชน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ รัฐต้องขยายเครือข่าย ดึงภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นเข้าไปร่วมวางแผนการพัฒนา ขณะที่เครือข่ายประชาชนต้องเข้ามาร่วมผลักดันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับเชิงนโยบายด้วย” นายนฤทธิ์ กล่าว

นายนฤทธิ์ กล่าวว่า กระบวนการการเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองภาคพลเมือง ยังต้องการให้รัฐบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น และต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับ ที่สร้างปัญหาให้กับชุมชน นี่คือกระบวนการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ที่ทำให้คนในชุมชน คนยากจน คนไร้ที่อยู่ คนไร้สัญชาติ เป็นคน เป็นพลังของบ้านเมือง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘เชฟรอน’ ยึดทะเลแสนตารางกิโลเมตร ตั้งแท่นขุด ‘อุบลB12/27’ กลางอ่าวไทย

Posted: 16 Sep 2011 05:52 AM PDT

“เชฟรอน” ยึดทะเลอ่าวไทยแสนตารางกิโลเมตร ตั้งแท่นขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมอุบล B12/27 “ตำรวจน้ำสงขลา” จี้มาตรการกำจัดของเสีย ยันก้อนน้ำมันชายหาดสงขลา เป็นก้อนน้ำมันสุกนอกอ่าวไทย แจงรักษามาตรฐานดูแลมลพิษอย่างเคร่งครัด


แหล่งอุบล แปลงสัมปทานหมายเลข B 12/27 บริเวณอ่าวไทย
ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและการผลิต จำกัด

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมสงขลา 2 โรงแรมบี.พี.สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บริษัท ยูไนเต็ดแอนนาลิสต์ แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เตตร้าเทค อิงค์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและการผลิต จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1 โครงการผลิตปิโตรเลียม ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แหล่งอุบล แปลงสัมปทานหมายเลข B 12/27 บริเวณอ่าวไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน

นายสุขสรรพ์ จินะณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกร บริษัท เตตร้าเทค อิงค์ จำกัด ชี้แจงว่า โครงการผลิตปิโตรเลียมบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แหล่งอุบล แปลงสัมปทานหมายเลข B 12/27 บริเวณอ่าวไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสงขลาประมาณ 204 กิโลเมตร หรือ 110 ไมล์ทะเล ห่างจังหวัดนครศรีธรรมราช 153 กิโลเมตร หรือ 82 ไมล์ทะเล ห่างจากเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 190 กิโลเมตร หรือ 105 ไมล์ทะเล และห่างจากเกาะกูด จังหวัดตราด 399 กิโลเมตร หรือ 183 กิโลเมตร

นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ยูไนเต็ดแอนนาลิสต์ แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ชี้แจงว่า จะมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนวทางการประเมินผลกระทบด้านต่างๆของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คู่มือการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลของสผ. และเงื่อนไขของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นางวิลาสินี อโมนาศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน บริษัท ยูไนเต็ดแอนนาลิสต์ แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ชี้แจงว่า จะมีจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี เน้นเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวไทย จะรับฟังทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นางวิลาสินี ชี้แจงอีกว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 และวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอระโนด สทิงพระ และสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคม 2554 ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโครงการ และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชน และสื่อมวลชนในภาคใต้

“อีกทั้งในช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2555 จะมีการให้ข้อมูลข่าวสาร มีการสนทนากลุ่มย่อย สัมภาษณ์รายบุคคล และสำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถามกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน หน่วยงานต่างๆ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2” นางวิลาสินี กล่าว

พ.ต.ท.ไมตรี นักธรรม สารวัตรตำรวจน้ำสงขลา ถามว่า พื้นที่แปลงสัมปทานของเชฟรอน มีกี่แปลง แปลงหนึ่งเจาะกี่หลุม พื้นที่สัมปทานกว้างเท่าไหร่ และจะกระทบต่อการทำประมงหรือไม่

นายศักดิ์ชัย อมรศักดิ์ชัย วิศวกรสิ่งแวดล้อม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ชี้แจงว่า เชฟรอนมีพื้นที่สัมปทาน 10 แปลง บางแปลงมีพื้นที่ 1 พันตารางกิโลเมตร บางแปลง 2 หมื่นตารางกิโลเมตร บางแปลง 5 ห้าหมื่นตารางกิโลเมตร มีแท่นขุดเจาะประมาณ 300 แท่น จะมีกันพื้นที่บริเวณแท่นขุดเจาะในรัศมี 500 เมตร ไม่ให้ชาวประมงเข้าไป เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

“ถ้าตีตารางจะกินพื้นที่แต่ละแท่นขุดเจาะ 3–4 ตารางกิโลเมตร คูณจำนวนแท่นขุดเจาะ 300 แท่น หากนับพื้นที่รวมๆ แล้ว จะใช้พื้นที่ในอ่าวไทยเป็นแสนตารางกิโลเมตร” นายศักดิ์ชัย ตอบ

พ.ต.ท.ไมตรี ถามอีกว่า กระบวนการในการขุดเจาะมีการดูดหิน และสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาเท่าไหร่ มีขนาดเท่าไหร่ นำไปทิ้งที่ไหน ถ้าทิ้งในทะเลเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสะสมรวมกันเป็นกองหินขึ้นมา

นายสุขสรรพ์ ชี้แจงว่า บางส่วนจะปล่อยลงสู่ทะเล เศษหินก้อนใหญ่ๆ จะจม ส่วนก้อนเล็กจะกระจัดกระจายไปตามกระแสน้ำ ทั้งหมดจะมีการติดตามตรวจสอบ ส่วนปริมาณเศษหินจะปล่อยใกล้แท่นขุดเจาะใกล้ 20 เซนติเมตร สำหรับเศษหินเล็กๆ ที่กระจายในกระแสน้ำ อาจจะตรวจสอบลำบาก

พ.ต.ท.ไมตรี แสดงความเห็นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจจะทำให้เกิดการตื้นเขินจากการสะสมของเศษหินขนาดใหญ่ ส่วนเศษขนาดเล็กจะกระจายสู่ท้องทะเล และการรั่วไหลของสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการขุดเจาะ อาจส่งผลให้สภาพทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง

นายสุขสรรพ์ ชี้แจงอีกว่า กระบวนการขุดเจาะมีถังสำหรับเก็บสารเคมีสังเคราะห์ ถ้าส่งผลกระทบก็ส่งผลกระทบน้อยมาก

พ.ต.ท.ไมตรี ถามอีกว่า ในจังหวัดสงขลามีชาวบ้านพบก้อนเศษน้ำมัน หลังจากนั้นชาวบ้านก็ไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมามีการนำมาชั่งกิโล แล้วคำนวณน้ำหนักจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

นายสุขสรรพ์ ชี้แจงด้วยว่า สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในกระบวนการขุดเจาะมีราคาสูงมาก จะมีถังกักเก็บนำมาใช้ซ้ำในการขุดเจาะหลายครั้งมาก ในกระบวนการขุดเจาะสารดังกล่าวจะปะปนมากับเศษหิน แล้วจะผ่านกระบวนการแยก และจะทิ้งเศษหินบริเวณใต้แท่นขุดเจาะ ถ้าเป็นเศษหินเล็กๆแจะปลิวออกไปตามกระแสน้ำ 5–6 กิโลเมตร ในระยะเวลา 1–2 วันจะตกตะกอนลงสู่ทะเล ส่วนสารเคมีสังเคราะห์จะนำกลับมาใช้หมุนเวียน

“ที่มีชาวบ้านในจังหวัดสงขลาพบก้อนเศษน้ำมัน เราได้นำไปวิเคราะห์พบว่าไม่ได้เป็นก้อนน้ำมันดิบ แต่เป็นก้อนน้ำมันสุก อีกทั้งยังพบว่าไม่ใช่เศษน้ำมันจากอ่าวไทย เนื่องจากก้อนน้ำมันจะสามารถบอกได้ว่ามาจากที่ไหนเหมือนลายนิ้วมือของคน” นายสุขสรรพ์ กล่าว

พ.ต.ท.ไมตรี ถามด้วยว่า มีของเสีย หรือวัสดุอะไรบ้างที่นำกลับมาเข้าฝั่ง ไม่ว่านำมาใช้ต่อ หรือทำลายทิ้ง

นายสุขสรรพ์ ชี้แจงว่า วัสดุที่ขนกลับเข้าฝั่งจะมีขยะของพนักงาน ซึ่งจะมีระบบการคัดแยกเป็นอย่างดี อะไรสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ก็ใช้ซ้ำ ส่วนของเสียอื่นจะมีสีและวัสดุปนเปื้อนน้ำมัน ซึ่งจะมีการจัดการและใช้ระบบการขนส่งที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงอย่างเคร่งครัด โดยจะขึ้นฝั่งที่ท่าเรือประทีป ตรงแหลมแท่น มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำไปจัดการตามความเหมาะสม

พ.ต.ท.ไมตรี ถามอีกว่า มีบริษัทขุดเจาะน้ำมันใดบ้างที่มีการทิ้งเศษหิน หรือเศษก้อนน้ำมันลงทะเล ตนจะได้สามารถหาวิธีตรวจสอบจับกุม ถ้ามีการถ่ายของเสียลงสู่ทะเล

นายธรณิศวร์ ทรรพนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนโครงการ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ชี้แจงว่า สำหรับเชฟรอนไม่มีแน่นอน ตนคิดว่าทุกบริษัทพยายามทำตามมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากจะมีกระบวนการตรวจสอบติดตามจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานเช้ามาดูแลอย่างเข้มงวด แต่ละบริษัทจะต้องส่งรายงานการกำจัดของเสียให้กรมพลังงานธรรมชาติทุกเดือน สำหรับขั้นตอนการจัดการของเสียของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ตสร้างปัญญาหรือสร้างปัญหา?

Posted: 16 Sep 2011 05:26 AM PDT

รายงานพิเศษจาก "ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน" นานาทัศนะต่อนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนประถม 1

เมื่อประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม  หนึ่งในนโยบายที่ผู้นำประเทศต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆก็คือเรื่องการศึกษา  เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนตั้งความหวังเอาไว้  ว่าสิ่งนี้จะทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากความล้าหลังทุกข์ยากไปได้  หากคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ  ฉะนั้นในแต่ละปีรัฐบาลไทยจึงตั้งงบประมาณเพื่อระบบการศึกษาราว1 ใน 5 ของงบประมาณทั้งหมด  เช่นเดียวกับผู้นำใหม่อย่าง  น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่จำเป็นต้องดำเนินโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนระดับชั้น ป.1ทุกคนในประเทศตามที่เคยลั่นวาจาไว้เมื่อครั้งหาเสียง ถึงแม้บางคนจะมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายแก้บนก็ตาม  แต่เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เบื้องต้นแล้วจำนวน3 พันล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องแท็บเล็ตไม่รวมโปรแกรมเพื่อแจกนำร่องในต้นปีหน้า แน่นอนว่าจะต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เปเห็นด้วย

แท็บเล็ตคืออะไร

เชื่อว่าคนค่อนประเทศ โดยเฉพาะผู้มีอายุเป็นเลขหลายหลัก น้อยนักที่จะรู้ว่าแท็บเล็ตคืออะไร เอาไว้ใช้ทำอะไรหรือกระทั่งหน้าตามันเป็นอย่างไร  ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายอย่างรวบรัดว่า  แท็บเล็ต ก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง  มันสามารถถ่ายรูป  ถ่ายวิดีโอ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์บันทึกงานต่างๆได้ จะต่างกันตรงที่มันไม่มีแป้นพิมพ์  ไม่มีเม้าส์ให้คลิก  อยากทำอะไรให้กดๆลูบๆถูๆที่จอเอา  และที่สำคัญยังสามารถมันใช้มันท่องโลกอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย  ซึ่งจากความสามารถที่มีมากมายมหาศาลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยนี้ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นกังวลว่าจะไม่รู้จักและเท่าทันทันมากพอนั่นก็คือครูที่จะต้องสอนใช้เครื่องนี้ให้กับเด็กๆ  หากเป็นครูรุ่นใหม่วัยมันส์คงไม่เป็นปัญหามากนัก 

แต่สำหรับครูอย่าง ระพีพร  ชูเสน ครูวิทยาศาสตร์วัยใกล้เกษียณของโรงเรียนบ้านท่าบ่อ  ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  ยอมรับว่า ใจหนึ่งก็ดีใจที่นักเรียนจะได้รับสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆแต่ใจหนึ่งก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะให้ประโยชน์ต่อเด็กได้แค่ไหน  โดยเฉพาะตัวครูเองที่ใช้เครื่องนี้ไม่เป็น  และไม่รู้จะเก็บรักษายังไงจึงอยากให้ผู้ออกนโยบายได้มาศึกษาบริบทของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ด้วยว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะใช้สื่อรูปแบบใหม่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ใช้แท็บเล็ตให้ได้ประโยชน์ต้องรักการอ่าน

อีกประเด็นเกี่ยวกับการใช้งานแท็บเล็ตนี้หากอยากได้ประโยชน์ต้องอาศัยการอ่าน  ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี2554 พบว่าเด็กไทยมีสถิติการอ่านหนังสือลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เล่มต่อปี ถ้าเทียบกับเด็กสิงคโปร์ที่ว่ากันว่าหัวดีกว่าเราเพราะเขามีสถิติการอ่านหนังสือสูงถึง50-60 เล่มต่อปี เช่นเดียวกับเด็กเวียดนามที่มีสถิติการอ่านหนังสือสูงถึง 60เล่มต่อปี  และที่สำคัญเด็กระดับ ป.1อ่านหนังสือได้เป็นตุเป็นตะแล้วหรือ

นางนิตยา  เกลียวทอง ครูระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านท่าบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี บอกว่า ทุกวันนี้เวลาสอนเด็กๆระดับชั้น ป.1 ต้องคอยประกบเป็นคนๆไป เพื่อสอนให้เขาอ่านตัวหนังสือไปทีละคำ หากจะให้ไปอ่านแบบเอาเรื่องนั้น ไม่มีทาง  เช่นเดียวกับ นางสุธาพร ศรีเมือง  ครูโรงเรียนเดียวกันบอกว่า  ถ้าหากจะแจกให้กับเด็กชั้น  ป.1 นั้นไม่เหมาะเพราะเขายังอ่านหนังสือไม่ออก รักษาของไม่เป็น ซึ่งระดับที่เหมาะน่าจะเป็นชั้น ม.1  มากกว่า

คุณเห็นด้วยหรือไม่กับแนวนโยบายนี้

อ.ทรงพล อินทเศียร  อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  “มันเป็นนโยบายที่น่าสนใจมาก  มันเป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่มักจะเกิดขึ้นเวลาที่เรามีรัฐบาลใหม่ แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าการออกนโยบายกับการนำไปปฏิบัติใช้นั้น  มันจะสอดคล้องกันหรือไม่  เพราะปัจจุบันนี้แม้กระทั่งหนังสือเรียนในบางแห่งก็ยังขาดแคลนอยู่”

เฉลิมพงษ์ อูปแก้ว เจ้าหน้าที่ห้องแล็บคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ไม่เห็นด้วย  คิดว่าเด็กในระดับนี้น่าจะใช้กระดาษแบบเดิมมากกว่า  เพื่อที่จะได้ฝึกทักษะบางอย่าง  เช่น การอ่าน  การเขียนถ้าหากเปลี่ยนมาใช้สื่อการสอนแบบใหม่ทักษะพวกนี้ก็จะถูกลืมไป”

ผศ.ดร.จิรัฐญา ภูบุญอบ  รองคณบดีฝ่ายบริหาร  สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ยุคนี้เป็นยุคไอที  คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กจะต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว  ฉะนั้นหากเราส่งเสริมอย่างสร้างสรรค์เติมเนื้อหาที่เหมาะสมลงไป  มันก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กซึ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย”

นก  นิรมล  เมธีสุวกุล พิธีกรรายการทุ่งแสงตะวัน “คิดว่าไม่อยากไปให้ความสำคัญกับนโยบายนี้  เพราะเชื่อว่านโยบายแจกแท็บเล็ตไม่น่าใช่เรื่องหลักของกระทรวงศึกษาธิการ  ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากที่จะต้องทำ พี่นกเสนออยากให้ไปดูเรื่องการศึกษาทางเลือกและโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบ  จะแจกหรือไม่แจกไม่ใช่เรื่องสำคัญ”

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ โฮงเฮียนสืบสานล้านนา,การศึกษาทางเลือก “ปรัชญาของการศึกษาคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ทั้งกายใจและจิตวิญญาณ  แท็บเล็ทเป็นเพียงแค่ส่วนเสริม แต่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้สิ่งนี้เป็นตัวสร้างปัญหาเพิ่ม  เช่น เด็กติดเกม  ติดเทคโนโลยีซึ่งถ้าพวกเขาติดสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลง”

อาจารย์ อังคณา พรมรักษา สาขาการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาหรือสร้างเด็กเล็กๆนี่ยังไม่ควรแจกเครื่องมือ ซึ่งมันยังไม่จำเป็นเลยและประเทศเราก็ไม่ใช้ประเทศร่ำรวย  ออกจะยากจนด้วยซ้ำ  น่าจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า”

เงิน 5 พันล้านถ้าไม่เอาไปซื้อของเล่นให้เด็กแล้วยังมีอะไรที่จำเป็นมากกว่า

ในปีงบประมาณ 2555 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบก้อนใหม่จำนวน 4.1แสนล้านบาทที่ส่วนใหญ่เป็นงบสำหรับเรียนฟรี เป็นเงินกู้เพื่อการศึกษาและใช้สำหรับเคลียร์หนี้ให้ข้าราชการครู  มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นงบสำหรับนำมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้การศึกษามีมาตรฐาน  และส่วนใหญ่งบที่ว่าก็ลงไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ และมีศักยภาพแล้วตามสัดส่วนโครงสร้างการบริหาร  แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กตามชายขอบชนบทที่ห่างไกลยังขาดแคลนเหมือนเดิม  บางแห่งยังมีระบบนักเรียนสองคนต่อหนังสือ 1เล่มอยู่ อาคารเรียนหลังคาผุ โต๊ะเก้าอี้ชำรุด และโรงเรียนด้อยโอกาสเหล่านี้  ส่วนหนึ่งกำลังจะถูกยุบ

ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน  ทุกคนที่ถูกถามประเด็นนี้จะตอบเกือบตรงกันว่า  ยังมีสิ่งจำเป็นอย่างอื่นมากกว่าแท็บเล็ต  เช่น การช่วยเหลือโรงเรียนห่างไกลให้ได้มีอุปกรณ์การศึกษาที่ทั่วถึงและทัดเทียมกับเด็กในเมือง โรงเรียนบางแห่งกำลังจะถูกยุบเพราะมีจำนวนนักเรียนน้อย  เพราะอะไร เพราะมันขาดแคลนส่วนใหญ่จึงต้องย้ายไปในที่ที่มันครบและพร้อมกว่า

ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ประชุมการศึกษาวิจัยรูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้โดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พก พา หรือ One Laptop per Child จากผลวิจัยการนำร่องเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาในโรงเรียน4 ภูมิภาค ระดับ ป.3-6 พบว่าพฤติกรรมผู้เรียนต่อคอมพิวเตอร์พกพานั้น เด็ก มีความตื่นตัวจากคอมพิวเตอร์พกพาไม่ยืนยาว ซึ่งต้องอาศัยโรงเรียนและครูทำงานกับคอมพิวเตอร์พกพาให้มากขึ้น สำหรับเนื้อหาหลักสูตรและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากการใช้ เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา พบว่า ต้องมีการสร้างกิจกรรมเสริมศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนแบบองค์รวม ไม่เน้นด้านวิชาการ แต่มุ่งให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น

โครงการแจกแท็บเล็ตเริ่มเป็นรูปเป็นร่างซึ่งคาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มนำร่องแจกเด็กระดับชั้นป.1 ก่อนและเมื่อครอบคลุมทั้งโครงการเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาทุกคนจะได้รับแจก  แต่ยังไม่รู้ว่าถึงชั้นไหนแต่ที่แน่ๆต้องเตรียมควักกระเป๋าอีกไม่ต่ำกว่า2 หมื่นล้านแน่ และอีกคำถามที่คนสนใจว่าแท็บเล็ตที่เอามาแจกเป็นของระดับเดียวกับ  ไอแพ็ด หรือแท็บเล็ตยี่ห้อดังๆหรือเปล่า  แน่นอนว่ามันไม่ใช่เพราะน่าจะเป็นของราคาถูกจากเมืองจีนที่ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่าอยู่ได้ไม่เกิน3 เดือนแน่นอน  แสดงว่าต้องเสียเงินเปล่าเช่นนั้นหรือ ไปไปมามาล่าสุดรัฐบาลบอกไม่แจกให้ตัวเด็กแล้ว  แต่จะแจกให้โรงเรียนแทนและแท็บเล็ตก็ยังไม่รู้ว่าจะเอามาจากไหนเพราะอาจให้คณะวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยในไทยประกอบหรือไม่ก็มอบหมายให้ทางฝั่งสายอาชีวะศึกษาทำให้ก็ได้  เราคงต้องรอชมว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป และหวังว่าคงไม่ใช่นโยบายแก้บนอย่างที่เขาว่านะท่านนายกฯ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สหายเก่า" ศรีสะเกษ 170 รายยื่นขอชดเชยจากรัฐเพิ่ม

Posted: 16 Sep 2011 05:08 AM PDT

"ทนายแป๊ว" อดีตคนเดือนตุลา ประชุมอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.) ขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผ.ร.ท.) จำนวน 170 คน เพื่อทำความเข้าใจและคัดกรองเบื้องต้นรอบใหม่อีกครั้ง

16 ก.ย. 54 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 ส.ค. 52 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ศรีสะเกษ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดำเนินการในรูปคณะกรรมการ โดย จ.ศรีสะเกษ มีผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 245 คน ให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคล รายละ 225,000 บาท คิดเป็นเงิน 55,125,000 บาท ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ได้ดำเนินการจ่ายเงินไปแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าล่าสุด ที่ศูนย์ OTOP อบจ.ศรีสะเกษ นายพรชัย มณีนิล หรือ ทนายแป๊ว อดีตนักเคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกอบจ.ศรีสะเกษ ได้เชิญประชุมอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผ.ร.ท.) จำนวน 170 คน เพื่อทำความเข้าใจและคัดกรองเบื้องต้นรอบใหม่อีกครั้ง สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรอง หรือถูกคัดชื่อออกในรอบที่แล้ว โดยนายพรชัย ได้มอบหมายให้นายทิตย์ หรือพุทธ ละมูล หรือสหายพุทธ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) กองทัพภาคที่ 2 อีกครั้ง

ทั้งนี้อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.) ที่ขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผ.ร.ท.) ที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.ย. มีทั้งสิ้น 170 คน โดยมีผู้ที่เคยยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ถูกคัดรายชื่อออก เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายศิลชัย เลิศศรี หรือสหายยอด กับนางทิพย์รัตน์ ทองบ่อ หรือสหายฤดี จำนวน 110 คน ส่วนอีก 60 คน เป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านคูซอด ต.คูซอด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ที่ยังไม่เคยยื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยมาก่อน และขอยื่นรายชื่อเป็นครั้งแรกในรอบนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานฉบับ 2 คอป.ยื่น 7 ข้อรัฐบาลสร้างปรองดอง

Posted: 16 Sep 2011 04:54 AM PDT

รายงาน คอป. ฉบับ 2 ส่งถึงรัฐบาลแล้ว ยื่น 7 ข้อเพื่อสร้างปรองดอง อาทิ จัดสถานที่ควบคุมเสื้อแดงที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ ให้เยียวยาเหยื่อสถานการณ์การเมืองหลัง รปห.2549 ส่วนการดำเนินการคดีหมิ่นเบื้องสูง ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

19 ก.ย. 54 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะของคอป. ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์ของคอป. ว่า ก่อนหน้านี้คอป. ได้ส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่นำข้อเสนอแนะที่ผ่านมาร่วมพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างบรรยากาศของความปรองดองตามที่ได้แถลงเป็นนโยบายไว้ด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะของคอป.ครั้งล่าสุด ประกอบด้วย 7 ข้อเสนอหลัก คือ 1. รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของประชาชนต้องให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย ขณะที่ต้องมีการผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกฝ่ายที่มีส่วนให้เกิดความรุนแรงรวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยตามกระบวนการยุติธรรมด้วย

2.ขอให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลเองแม้จะชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของชัยชนะมาจากการประกาศนโยบายสนับสนุนการปรองดอง ต้องวางตัวเป็นกลางในสายตาของทุกฝ่าย รัฐบาลต้องกำกับการใช้อำนาจด้วยความอดทน จริงใจ

3. เห็นควรพิจารณาดำเนินคดีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย

โดยพนักงานสอบสวน อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาความมีเหตุหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ หากไม่มีเหตุดังกล่าวควรมีการยืนยันเพื่อให้สิทธิได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หากไม่ได้รับการปล่อยตัวรัฐบาลก็ควรจัดสถานที่ในการควบคุมอื่นที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เรือนจำปกติ เช่นสถานที่ที่เคยใช้กับนักโทษคดีการเมืองในอดีต

4. เห็นควรให้มีการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยต้องมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเยียวยาไม่ควรจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเม.ย. -พ.ค. 2553 แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชน โดยการเยียวยาไม่ควรมีเฉพาะตัวเงินแต่รวมถึงการให้โอกาสในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

5. ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลย เพื่อเยียวกลุ่มที่ตกสำรวจ ง จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคาพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจาเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว

6. คอป. มีความกังวลต่อสถานการณ์กระทำผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงและการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูงต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยึดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องสถาบัน และขอให้รัฐบาลทบทวนการดาเนินคดีที่นำประเด็นกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ “ล้มเจ้า” ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไปและอาจส่งผลต่อ ความปรองดองในชาติ

7.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ผลักดันให้มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเต็มที่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปฏิรูปสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้า

Posted: 16 Sep 2011 04:40 AM PDT

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีความก้าวหน้ามาก   แต่ในช่วงแรกของพระราชบัญญัติ ที่มีบทเฉพาะกาล  การจ่ายเงินให้หน่วยบริการสาธารณสุขต้องจ่ายผ่านกระทรวงสาธารณสุข  ตัวระบบมีประสิทธิภาพทางการเงินการคลัง น้อยกว่าเมื่อหมดบทเฉพาะกาล 

จากแผนภูมิภาพด้านล่างจะเห็นว่าหลังหมดบทเฉพาะกาลในปี 2549(ค.ศ.2006)   สัดส่วนของรายจ่ายเพื่อบริการสุขภาพของประเทศเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน  จากเดิมที่ประชาชน(รายจ่ายเพื่อสุขภาพนอกภาครัฐ)ยังมีสัดส่วนการจ่ายมากกว่า 30%  เป็นเหลือเพียง 27%ในปี2550 และเหลือ 25% ในปี 2551 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงนี้คือ ในปี 2550 การจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพตรงไปที่หน่วยบริการเป็นส่วนใหญ่  การปรับตัวของสถานพยาบาลหลังได้รับเงินตรง   ทำให้ภาระของสถานพยาบาลที่เพิ่มขึ้นจากการเกิดระบบหลักประกันสุขภาพเมื่อปี 2544 เริ่มสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ  แม้ว่าภาระงานยังคงเพิ่มขึ้นจากการขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์  และประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น  แต่ปัญหาทางการเงินการคลังของหน่วยบริการถูกบรรเทาไป  โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เม็ดเงินของระบบไม่ถูกแทรกแซงจากระบบเดิมมากนัก

 

อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะประนีประนอม  โดยการใช้กลไกของกระทรวงสาธารณสุขในระดับประเทศและระดับจังหวัด  ให้มีส่วนร่วมการจัดการทางการเงินดังกล่าว  แต่ผลสุดท้าย การประนีประนอมเหล่านี้  เป็นที่มาของความหย่อนยานในการจัดการการเงินการคลัง  และถูกนำมาอ้างว่าเป็นการขาดประสิทธิภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ  จนนำไปสู่ข้อเสนอการยุบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ให้เป็นกรมภายใต้กระทรวงสาธารณสุข

ในปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ของการจัดการระบบสุขภาพ  คือการขาดการปฏิรูปในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข  สปสช.เกิดจากกระบวนทัศน์ใหม่ทั้งด้านการตอบสนองประชาชนและด้านการจัดการ  การใช้เวลาและโอกาสไปกับระบบเดิม  ควรจะมีเป้าประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนและหน่วยบริการ  ความพยายามใหม่ๆจึงควรก้าวให้พ้นกระทรวงสาธารณสุข  ภาระกิจการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขคงต้องมีผู้ดำเนินการ  แต่ภาระกิจการปฏิรูปสำนักงานหลักประกันสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต  เป็นบทบาทที่อยู่ในมือคน สปสช.ที่หากไม่ดำเนินการเอง  อนาคตก็ต้องมีผู้เข้ามาดำเนินการ

ข้อเสนอเบื้องต้นของการปฏิรูป

1. ระบบหลักประกันแห่งชาติ 

ระบบหลักประกันมีหลายระบบ  การยกระดับให้เกิดระบบหลักประกันแห่งชาติ คือการที่องค์กรที่ทำงานด้านหลักประกัน  ร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อระบบหลักประกันทุกระบบทั้ง หลักประกันสุขภาพ  ประกันสังคม  สวัสดิการข้าราชการ  การประกันผู้ประสบภัยจากรถ การประกันเอกชนและอื่นๆ  หรือในอนาคตก็สามารถรวมถึงความมั่นคงในอาชีพ ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการอื่นๆ เป้าหมายในเชิงสากลคือการสร้างระบบ Health and Social protection

2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อระบบหลักประกันแห่งชาติ

a. ในระดับประเทศ  ควรมีกลไกในระดับที่เหนือกว่าสำนักงานเพื่อนำไปสู่การประสานเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันแห่งชาติ
 

b. ในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กรุงเทพ ปรับกระบวนทัศน์สู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันแห่งชาติ  และเป็นองค์กรนโยบาย  การจัดการคลังรวมหมู่ระดับประเทศ  การติดตามประเมินผล  การพัฒนานวัตกรรมและสนับสนุนพื้นที่
 

c. สำนักงานหลักประกันสุขภาพระดับสาขาเขตในปัจจุบัน  ยกระดับเป็นองค์กรทางยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่  ดูแลการคลังรวมหมู่ระดับพื้นที่  การติดตามประเมินผลและพัฒนานวัตกรรมระดับเขต  ปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการให้มีตัวแทนหน่วยบริการและตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆอย่างสมดุล
 

d. ปรับเปลี่ยนการจัดการระดับสำนักงานสาขาจังหวัด  โดยแยกออกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งหากเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจริงควรใช้กลไกร่วมกับสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทุกจังหวัด  (ปัจจุบันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหน้าที่สำนักงานสาขาจังหวัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จ่ายค่าใช้จ่ายจากกองทุนให้แก่หน่วยบริการ การจัดการซื้อบริการในระดับพื้นที่ ชุมชน  ท้องถิ่น จึงควรก้าวให้พ้นระบบเดิม  ไปสู่การบริหารการเงินการคลังสุขภาพ  ในงบส่วนที่ไม่ได้จ่ายตรงไปยังหน่วยบริการจากส่วนกลาง  ไปสู่การคลังรวมหมู่ในระดับพื้นที่  โดยพัฒนาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  และรวมไปถึงการรวมทุน  ระดมทุนและการร่วมจ่ายในระดับดังกล่าว  รูปแบบของ Primary care trust – Area health commissioning – Area health office หรือองค์กรที่เหมาะสม ในระดับที่ต้องดูแลประชากร 200,000-500,000 คน โดยไม่ยึดโยงกับระบบราชการแบบเดิม จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

พื้นที่หลังการการปรับเปลี่ยนสาขาจังหวัด  สำนักงานสาขาเขตในปัจจุบันเป็นกลไกในระยะเปลี่ยนผ่าน  จะต้องทำให้มีการพัฒนากลไกระดับพื้นที่ย่อย  ซึ่งสามารถประสานความร่วมมือกับระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ท้องถิ่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ  หน่วยบริการและภาคีเครือข่าย  ให้จัดให้มีสาขาพื้นที่ย่อยดังกล่าว  โดยสาขาเขตยกระดับไปสู่การเป็นหน่วยบริหารทางยุทธศาสตร์  และสนับสนุนหรือช่วยในการดำเนินการสำหรับพื้นที่ที่ยังขาดความพร้อมในการพัฒนาสาขา

คงมีมุมมองและความเห็นที่แตกต่างกันอีกมากมาย  ในการทบทวนและกำหนดจังหวะก้าวในการพัฒนาสำนักงานเพื่อการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน  อย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม.แถลงคุ้มครองสิทธิเด็ก home school ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Posted: 16 Sep 2011 04:22 AM PDT

ชี้ระเบียบรับนักเรียน ม.1 โครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก home school เป็นปัญหาเชิงระบบ กระทบสิทธิของเด็ก home school ทั่วประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

16 ก.ย. 54 - นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  แถลงข่าวกรณีนางสาวจิราพัชร จันทร์แก้ว ร้องเรียนด่วนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ฟ้องคดีต่อ   ศาลปกครองกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค  ซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่าผู้สมัครต้องได้รับเกรดคะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 ไม่ต่ำกว่า 3.5  ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กีดกันเด็กชายเดชานันท์ สะอาดพงษ์ บุตรชายของผู้ร้องที่ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนปกติ โดยผู้ร้องได้จัดการศึกษาให้ที่บ้านในระบบบ้านเรียน (home school) ซึ่งเป็นสิทธิที่     ทำได้ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  แต่ด้วยระบบการประเมินผลคะแนนการเรียนแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป จึงทำให้บุตรของผู้ร้องต้องเสียสิทธิสมัครเข้าเรียนในโครงการดังกล่าวทั้งที่มีความรู้และคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครเข้าเรียนซึ่งจะหมดเขตการรับสมัครในวันที่ 15 กันยายน 2554

สำนักงาน กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีมูลเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กบ้านเรียนและเป็นปัญหาเชิงระบบที่กระทบต่อสิทธิการศึกษาของเด็กบ้านเรียนทั่วประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครอง  ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองฉุกเฉินให้แก่ผู้ร้อง สำนักงาน กสม. จึงจัดทำคำฟ้องและคำขอคุ้มครองชั่วคราวส่งให้ผู้ร้อง    ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 206/2554 และทำการไต่สวนฉุกเฉินแล้วมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ให้บุตรของผู้ร้องมีสิทธิเข้าสมัครเรียนได้  และผู้ร้องได้ให้บุตรชายสมัครเข้าเรียนทันตามกำหนดเรียบร้อยแล้ว

สำนักงาน กสม. จึงขอแสดงความยินดีต่อผู้ร้องและขอขอบพระคุณศาลปกครองนครศรีธรรมราชที่กรุณาสั่งคุ้มครองชั่วคราวอย่างทันท่วงที  และหวังว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองสิทธิการศึกษาของเด็กบ้านเรียนทั่วประเทศต่อไป  หลังจากนี้สำนักงาน กสม. จะเสนอให้ กสม. พิจารณาช่วยเหลือการดำเนินคดีของผู้ร้องต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: อย่าเล่นงานหมอวิชัยแบบนี้

Posted: 15 Sep 2011 09:16 PM PDT

 

อ่านข่าว “มติชน” เรื่องที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เรียกร้องให้ปลดหมอวิชัย โชควิวัฒน์ จากบอร์ด สปสช.เพราะทับซ้อนกับการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม แล้วผมก็รู้สึกเศร้าใจพร้อมกับห่วงใย เพราะมีทีท่าว่าหมอวิชัยจะถูก “ล้างบาง” หลังจากที่การตั้งบอร์ด สปสช.ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนก่อนหน้านี้ คนของฝ่ายการเมืองได้เข้ามาทั้งหมด กระทั่งหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็หลุดไปรายหนึ่งแล้ว

แน่นอน ผมวิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายลัทธิประเวศตลอดมา กระทั่งล่าสุดที่หมอวิชัยเป็นประธานอนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สอบ “อีเมล์ซื้อสื่อ” แล้วดันมาสรุปว่าค่ายมติชน “เอนเอียง” อย่างไม่ให้ความเป็นธรรม

แต่ในการต่อสู้กับลัทธิประเวศ เราก็ต้องแยกแยะ และต้องให้ความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ

อันที่จริงผมวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า บรรดา “กลุ่มสามพราน” สานุศิษย์หมอประเวศ นั่งไขว้กันไปไขว้กันมาใน 4 ส.คือ สวรส.สช.สปสช.และ สสส.แล้วก็มองเห็นแต่พวกตัวเอง ให้ทุนกันเอง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายสีเหลือง)

แต่พอเห็นทิศทางของการ “ล้างบาง” ใน สปสช.ก็บอกตรงๆ ว่าผมไม่สบายใจ และเป็นกังวล ถ้าฝ่ายการเมืองจะเข้ามายึด สปสช.เพราะประเด็นที่น่าห่วงใยที่สุดคือ ฝ่ายการเมืองจะยึดอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับไปให้ข้าราชการประจำในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตัวเองสั่งการได้ เข้ามาแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจะทำลายแก่นสำคัญของนโยบาย 30 บาท ที่พรรคไทยรักไทยผลักดันมากับมือ

อย่าลืมนะครับว่า 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จับใจประชาชนที่สุด และยั่งยืนที่สุด แม้แต่ธีรยุทธ บุญมี หรือพวกที่ต่อต้านนโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ ก็ยังต้องยอมรับว่า 30 บาทเป็น “สวัสดิการสังคม” นโยบายนี้ถือกำเนิดมาจากการที่หมอวิชัย กับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไปนั่งคุยกับทักษิณ

หมอสงวนเป็นเจ้าของไอเดีย ซึ่งเสนอทุกพรรคนั่นแหละ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ ทั้งที่นโยบาย 30 บาททดลองทำมาแล้วในรัฐบาลชวน ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หมอวิชัย หมอหงวน ไปคุยกับทักษิณ ผ่านการเชื่อมต่อของหมอมิ้ง ที่เป็นคนเดือนตุลาเพื่อนพ้องน้องพี่มหิดล

เมื่อทักษิณรับมาเป็นนโยบาย พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ผู้ปฏิบัติก็คือหมอเลี้ยบ รมช.สาธารณสุข คนเดือนตุลาจากมหิดลอีกเช่นกัน โดยตอนนั้นหมอมงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวง ร่วมกับหมอสงวน หมอวิชัย เครือข่ายหมอประเวศ และแพทย์ชนบท ช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่ จนประสบความสำเร็จ จากที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายไว้ตอนรัฐบาลไทยรักไทยแถลงนโยบาย ปรามาสว่าทำไม่ได้ (รวมถึงนักวิชาการและสื่ออีกมากมายที่ไม่เชื่อว่าทำได้)

ผมเคยเปรียบเทียบไว้ว่า หมอสงวนกับเครือข่ายหมอประเวศเป็นเหมือนแม่ของนโยบาย 30 บาท ทักษิณเป็นพ่อ คือหมอสงวนคิดมาสำเร็จแล้ว เหมือนไข่สุกแล้ว ขาดแต่สเปิร์ม ต้องอาศัยพ่อที่มีความกล้าคิดกล้าทำ (ปชป.ไม่มีสเปิร์ม ฮิฮิ)

ที่พูดนี่ไม่ใช่ผมจะมาลำเลิกบุญคุณที่มีต่อพรรคไทยรักไทยให้หมอวิชัย แต่ผมกำลังจะพูดถึงแก่นของนโยบาย 30 บาทต่างหาก

นโยบาย 30 บาทไม่ใช่การรักษาฟรีแบบใช้จ่ายสิ้นเปลือง ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่แก่นของนโยบายคือการปฏิรูประบบสาธารณสุข คือเกลี่ยงบประมาณใหม่กระจายลงสู่ชนบท จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามรายหัวประชากร

ในอดีตการจัดสรรงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข จัดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ตามจำนวนเตียง หมายถึงขนาดใหญ่เล็กของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลชุมชนมีขนาดไม่เกิน 120 เตียง โรงพยาบาลทั่วไป มีขนาด 120-500 เตียง โรงพยาบาลศูนย์ มีขนาด 500 เตียงขึ้นไป

การจัดตั้งโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ใช่ว่าจังหวัดใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ จังหวัดเล็กโรงพยาบาลทั่วไป เพราะบางจังหวัดเช่น ราชบุรี มี รพ.ศูนย์ 1 แห่ง รพ.ทั่วไป 3 แห่ง จังหวัดปราจีนบุรี มี ร.พ.อภัยภูเบศร์เป็น รพ.ศูนย์ (ยกฐานะสมัยป๋าเหนาะเป็นรัฐมนตรี)

พูดได้ว่าในพื้นที่ไหนที่นักการเมือง พ่อค้าคหบดี หรือหลวงพ่อ หลวงตา มีบารมี สามารถหางบหรือหาเงินมาสร้างโรงพยาบาลได้ สิ่งที่ตกทอดให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่รวมถึงงบประมาณ บุคลากร ที่จะได้มากขึ้นตามจำนวนเตียง ทุกๆ ปีตลอดไป

แล้วประชาชนในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่ยากจนล่ะ ก็แห้วสิครับ งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขจัดให้ รพ.ชุมชนพิบูลมังสาหาร น้อยกว่า รพ.โพธาราม ซึ่งเป็น รพ.ทั่วไป ทั้งที่ประชากรราวๆ 1.3 แสนคนเท่ากัน

ภาคอีสานทั้งภาค มี รพ.ศูนย์ 6 แห่ง รพ.ทั่วไป 17 แห่ง ขณะที่ภาคกลางไม่นับกรุงเทพฯ มี รพ.ศูนย์ 5 แห่ง รพ.ทั่วไป 25 แห่ง ภาคกลางได้งบประมาณมากกว่า ได้หมอพยาบาลมากกว่า ทั้งที่ประชากรน้อยกว่าเยอะ

นโยบาย 30 บาทล้มระบบที่ว่านี้ทั้งหมด แล้วจ่ายงบประมาณใหม่ตามรายหัวประชากร สมมติจ่ายหัวละ 1 พันบาท พิบูลมังสาหารกับโพธาราม ก็จะได้ 130 ล้านเท่ากัน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ได้งบเฉพาะประชากรที่ตัวเองดูแล เช่น รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี ก็ได้เฉพาะจำนวนประชากรใน อ.เมือง แต่เมื่อ รพ.ชุมชนพิบูลมังสาหารส่งคนไข้มารักษาต่อที่ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ ก็ต้องเอาเงินมาจ่ายให้

แน่นอนที่ตอนแรกๆ พวก รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไปโวยวาย เพราะงบประมาณหายไปเพียบ และมีปัญหาเรื่องการเก็บเงินจาก รพ.ชุมชน มีปัญหาในทางปฏิบัติอีกหลายอย่าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นธรรมดาของการริเริ่มสิ่งใหม่ แต่ถ้าไม่ปฏิรูประบบเช่นนี้ ก็ไม่เกิดความเป็นธรรมและไม่สามารถกระจายสิทธิการรักษาพยาบาลให้ประชาชนได้ทั่วถึง

ถามว่าการปฏิรูปอย่างนี้ใครเดือดร้อน ก็แพทย์พยาบาลที่อยู่ตาม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปสิครับ เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่อยากเลือกอยู่ รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ อยากอยู่กรุงเทพฯ ใกล้กรุงเทพณ หรืออย่างน้อยก็ รพ.ในตัวจังหวัด ไม่มีใครอยากไปอยู่ รพ.ชุมชนหรอก การกระจายงบทำให้ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน ต้องจำกัดจำนวนแพทย์พยาบาล ไม่รับคนใหม่ คนเก่าต้องทำงานหนักขึ้น การจ่ายยาก็ต้องควบคุมให้ใช้เท่าที่จำเป็น (ใช้ยาแพงตามแรงยุดีเทลยาไม่ได้)

นอกจากทำงานหนักขึ้นแล้ว แพทย์พยาบาลยังต้องเผชิญกับ “การใช้สิทธิ” ของคนยากคนจน ซึ่งพวกประชาธิปัตย์อ้างว่าก่อนมี 30 บาทก็ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลปล่อยให้คนไข้ตายถ้าไม่มีเงินรักษา โรงพยาบาลมีเงินกองกลางเงินบริจาค ใช่ครับ แต่มันการขอความอนุเคราะห์ ขอความเมตตาปรานี แต่ 30 บาททำให้คนยากคนจนตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิ เป็นสิทธิที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิทธิที่สามารถเรียกร้องทวงถาม ขอเพียงกำเงิน 30 บาทเดินเข้าโรงพยาบาล แพทย์พยาบาลก็ต้องให้การรักษาจนหาย เมื่อประชาชนตระหนักว่าเป็นสิทธิ มันจึงมีเรื่องฟ้องร้องหรือร้องเรียนมากมาย ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี

นโยบาย 30 บาทจึงไม่เป็นที่พึงพอใจของแพทย์พยาบาลตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แม้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะมีทางออกด้วยการของบอุดหนุนทางวิชาการ แต่ก็ต้องจำกัดงบประมาณลงเช่นกัน (เชื่อได้ว่าการที่พวกหมอออกมาไล่ระบอบทักษิณเยอะ ก็มีสาเหตุจากเรื่องนี้ด้วย ตลกร้ายคือพวกหมอสายนี้กับสายหมอประเวศต่างก็ใส่เสื้อเหลืองมาเจอกัน)

นอกจากนี้ 30 บาทยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะหลังจากดำเนินนโยบายมาครบปี หมอเลี้ยบ หมอหงวน ก็ผลักดันให้รัฐบาลไทยรักไทยออกกฎหมายจัดตั้ง สปสช.เป็นหน่วยงานที่ถือเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของคนไทยทั้งประเทศ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและระบบราชการ แล้วเอาไปจัดให้ รพ.ต่างๆ ตามรายหัวประชากร

กระทรวงสาธารณสุขจึงหมดความหมายไปทันที เหลือแต่โครงไก่ ไม่ได้ถือเงินซื้อยาซื้ออุปกรณ์การแพทย์

พึงทราบด้วยว่าแพทย์สายบริหารในกระทรวง กับสายแพทย์ชนบท เครือข่ายหมอประเวศ เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน โดยเฉพาะตอนที่แพทย์ชนบทจับทุจริตยาสมัยหมอปรากรม วุฒิพงศ์ เป็นปลัดกระทรวง

การผลักดันนโยบาย 30 บาทของหมอเลี้ยบ หมอสงวน และแพทย์ชนบทในตอนนั้น จึงเจอศัตรูรอบด้าน ตั้งแต่ผู้บริหารในกระทรวง แพทย์พยาบาลตาม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.มหาวิทยาลัย รวมทั้ง รพ.เอกชน และแพทยสภา ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแพทย์ชนบทมาตลอดเช่นกัน

หลังหมอเลี้ยบออกจากกระทรวงสาธารณสุข ปล่อยให้เจ๊เป็นใหญ่ พวกผู้บริหารในกระทรวงพยายามจะล้มระบบ ด้วยการขอให้แยกเงินเดือนแพทย์พยาบาลออกมาจากงบประมาณรายหัว ซึ่งแปลว่าจะยังทำให้แพทย์พยาบาลกระจุกตัวอยู่ตาม รพ.ใหญ่ต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จ หลายปีที่ผ่านมา พวกผู้บริหารในกระทรวงทำได้แค่ขอแยกงบ 30 บาทเป็น 3 ส่วนคือ งบรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งยังจ่ายรายหัว แต่ขอให้กันงบผู้ป่วยในไปกองไว้ต่างหาก ให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปมาเบิกจาก สปสช.โดยตรง ทำให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปยังได้งบประมาณค่อนข้างเยอะ

ปัญหาก็คือ การที่ฝ่ายการเมืองไล่บี้สาวกหมอประเวศออกไปจาก สปสช.ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เช่นนี้แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อนโยบาย 30 บาท เพราะหัวใจของ 30 บาทไม่ได้อยู่ที่การรักษาฟรี แต่อยู่ที่การปฏิรูประบบดังกล่าว ถ้าคุณบอกว่ารักษาฟรี แต่เอางบประมาณและบุคลากรกลับไปกองอยู่ที่ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน รพ.มหาวิทยาลัย ชาวบ้านเดินไป รพ.ชุมชนแล้วเหลือหมออยู่แค่ 1-2 คน นโยบายนี้จะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

เพราะเท่าที่ได้ข่าวมานะครับ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเสนอให้รวบงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพ (30 บาทนั่นแหละ) ไปอยู่ในมือผู้ตรวจราชการกระทรวงซึ่งมีอยู่ 19 เขต เป็นผู้จัดงบให้โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเท่ากับล้ม สปสช.ไปโดยปริยาย แล้วก็จะกลับไปสู่ระบบเก่า ล้มค่าใช้จ่ายรายหัว (รวมทั้งนักการเมืองยังสามารถแทรกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง)

ฉะนั้นที่ผมกังวล จึงไม่ใช่กังวลแทนหมอวิชัย แต่กังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนโยบาย 30 บาทที่พรรคไทยรักไทยสร้างขึ้นด้วยมือ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนคนยากคนจน

ผมคัดค้านอคติทางการเมืองของเครือข่ายลัทธิประเวศ เรื่องใดที่พวกเขาทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องต่อสู้คัดค้าน ไม่ว่าหมอวิชัย หมอชูชัย (ตัวเอ้เลย) แต่เรื่องใดที่พวกเขาทำถูกและเป็นประโยชน์ประชาชน ก็ต้องยอมรับ เมื่อปี 50 ผมเลือกพรรคพลังประชาชน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการย้ายหมอศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล จากเลขา อย.เพราะหมอศิริวัฒน์ หมอวิชัย หมอสุวิทย์ หมอหงวน หมอมงคล ร่วมมือกันทำ CL ยา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน (ยาละลายลิ่มเลือดเม็ดละ 80 บาท ทำ CL แล้ว สปสช.ซื้อได้ในราคาแค่เม็ดละ 1.50 บาท)

คณะอนุกรรมการของหมอวิชัย “พิพากษา” มติชนอย่างไม่ยุติธรรม ผมก็ต้องปกป้องมติชน แต่ถ้าจะมีการ “ล้างแค้น” หมอวิชัย อีหรอบนี้ผมก็ต้องปกป้องหมอวิชัย แม้ไม่ทราบว่าจะทำได้แค่ไหน (ทำได้แค่เขียนนี่แหละ)

ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการ “กวาดล้าง” เครือข่ายลัทธิประเวศใน 4 ส.ซึ่งผมพูดไว้เองว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ หมอประเวศล้มรัฐบาลได้

อย่างเช่นการไล่บี้ สสส.ที่เที่ยวอนุมัติงบ 19 ล้าน 18 ล้าน ให้เครือข่ายกันเอง (วงเงินไม่เกิน 20 ล้าน ผู้จัดการ สสส.อนุมัติได้โดยไม่ต้องผ่านบอร์ด) ซึ่งหลายกรณีก็น่าเกลียด เช่น ให้งบสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ไปจัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชน หรือให้งบสถาบันอิศราแล้วมาตั้งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ที่ลงบทวิพากษ์นโยบายรัฐบาลถี่ยิบ

เพียงแต่เราต้องแยกแยะ และต้องคำนึงถึงเป้าหมายว่า เราต้องการทลายการผูกขาดขุมทรัพย์ภาษีเหล้าบุหรี่ของเครือข่ายลัทธิประเวศ เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ถูกเลือกสี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนควรมีอำนาจกำกับดูแลระดับหนึ่ง ไม่ใช่ 4 ส.เป็นรัฐอิสระ

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำ จนนำไปสู่การจัดซื้อยาซื้ออุปกรณ์ราคาแพง หรือเอาเงินไปหาเสียงกับ อสม.ตามสูตร

เราไม่ใช่พันธมิตรนะครับ ที่เห็นใครยืนตรงข้ามเป็นคนชั่วเลวต้องทำลายล้างให้หมด

ใบตองแห้ง
16 ก.ย.54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น