โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายกะเหรียงเพื่อวัฒนธรรมฯ หนุนมติ ครม. แก้ปัญหาแก่งกระจาน

Posted: 29 Sep 2011 10:24 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.54 ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนาการร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาเรื่อง “มติครม. วันที่ 3 สิงหาคม กับสิทธิการอยู่อาศัยของกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปพบกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่ถูกเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวจากบ้านบางกลอยบนส่วนหนึ่งที่มาอาศัยอยู่กับญาติที่บ้านบางกลอย-โป่งลึก ของเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะกรรมการอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ  ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวเปรียบเทียบกรณีกรณีที่มีนักเรียนมาแต่งชุดนาซีว่า ในขณะที่มีคนต่างชาติเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ดีไม่เหมาะสม แต่สังคมไทยไม่สนใจ ไม่เข้าใจ เหมือนกับกรณีของแก่งกระจานเช่นกัน สังคมไทยนั้นจำเป็นต้องสนใจ ต้องออกมาบอกว่าอะไรที่ผิด

เขากล่าวว่า มติครม. 3 สิงหาคม 2553 นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคมไทย ให้หันกลับมามองกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และในช่วงที่ยกร่างมตินั้นก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยและให้ความเห็นชอบ อยากย้ำทำความเข้าใจว่าการยุติการจับกุมตามมติครม.นั้น เป็นการยื่นระยะเวลาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้จะมีการประชุมคระกรรมการตามมติครม.ดังกล่าวในวันที่ 10 ต.ค.นี้

นอกจากนี้นายสุรพงษ์เสนอว่าหากมีการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เครือข่ายนั้นควรจะโต้แย้งและสื่อสารต่อสาธารณะต่อประเด็นนั้น

นายวีระวัฒน์ ธีระประสาสน์ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กล่าวว่าจากภาพถ่ายของอุทยานนั้นที่เป็นเพียงภาพชาวบ้านถือปืนแก๊ปนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องถึงขั้นเข้าไปปฏิบัติการโดยใช้กองกำลัง

“ใครก็ตามที่เข้าไปจัดการทรัพยากรนั้น หากมุ่งเน้นไปที่เรื่องเดียวยากที่จะสำเร็จ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องปรับทัศนคติ เพราะการจัดการป่านั้นมันแฝงเรื่องวัฒนธรรมอยู่ด้วย ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ผมใช้เวลา 5 ปี กว่าจะเข้าใจไร่หมุนเวียน “

นอกจากนี้นายชัยวัตน์ยังกล่าวถึงการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าหากเปรียบเทียบจากกรณีของวังน้ำเขียวนั้นจะเห็นว่ามีการส่งฟ้องศาลซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 20 ปี กว่าจะมีการรื้อถอน ในขณะที่กรณีของแก่งกระจานเข้าไปดำเนินการเผาบ้านเลย

นายสังวาลย์ อ่อนเภา

ด้านนายสังวาลย์ อ่อนเภา อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีด้วย เขาเคยเดินเข้าไปสำรวจชุมชนในพื้นที่บริเวณผืนป่าแก่งกระจาน ทั้งฝั่งลำน้ำภาชีในฝั่งจังหวัดราชบุรี จากบ้านห้วยม่วง ห้วยน้ำหนัก พุระกำ มาจนถึงสันปันน้ำ มาฝั่งลำน้ำบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน บ้านบางกลอยบน บางกลอยล่าง บางกลอย-โป่งลึก ตั้งแต่ปี 2528 ก่อนที่คณะจากศูนย์ฯจะเข้าไปจัดทำทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้าน หรือ ท.ร.ชข.ในปี 2531

โดยในบริเวณใจแผ่นดินอยู่สูงกว่า ไล่ลงมาบางกลอยบน พบชุมชนตั้งอยู่เป็นป๊อกหรือหย่อมบ้านขนาดเล็ก บริเวณแนวชายแดน จะเป็นแนวสันปันน้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 กว่าเมตร ที่เป็นพื้นที่เขาสูง ซึ่งยากลำบากต่อการเดินทางทั้งจากฝั่งไทยข้ามไปพม่า และข้ามจากพม่าเข้ามาฝั่งไทย โดยบ้านบางกลอยบนจะอยู่บริเวณที่เรียกว่าสามแพร่ง คือบริเวณแนวริมน้ำที่แม่น้ำเขาพะเนินทุ่งรวมกับแม่น้ำบางกลอยไหลลงแม่น้ำเพชร โดยในบริเวณบ้านจะพบว่ามีต้นขนุน มะพร้าว ส้มโอ ที่มีขนาดใหญ่ อายุหลายปี ซึ่งน่าจะบอกได้ว่าเป็นลักษณะชุมชนที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม

เขากล่าวว่า นอกจากนี้จากประสบการณ์เห็นว่าที่ผ่านมานโยบายการอพยพแล้วจัดสรรที่ทำกินไม่เคยได้ผล เช่น กรณีการอพยพที่ อ.ปัว จ.น่าน อพยพม้งร่องส้าน และกรณีที่อ.อุ้มผาง พื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้จริง สุดท้ายชาวบ้านก็กลับไปทำกินที่เก่า เจ้าหน้าที่ก็รับรู้

ด้านนายพฤ โอ่โดเชา  เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความในใจว่า หลังจากได้ลงไปพบกับพี่น้องปากาเกอะญอที่แก่งกระจาน รู้สึกว่ามันโหดร้ายมาก ไม่มีข้าวกิน ไม่มีที่อยู่ ภาพที่ผ่านมาตลอดคือคนทำให้ภาพว่าทำลายป่า ตอนนี้คิดหนักว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์แบบนี้จะมาถึงบ้านตน

สำหรับมติครม. 3 ส.ค.53 นั้น แนวนโยบายครอบคลุมประเด็นปัญหา อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงในเรื่องอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมทั้งการเร่งรัดสิทธิในสัญชาติให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงเดิม) ที่อพยพเข้าตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2528

ทั้งนี้หลังจากนี้เครือข่ายจะกลับไปประชุมหารือและจัดทำข้อมูลในประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนต่อไป 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดุษฎี บุญทัศนกุล ถึงสมคิด เลิศไพฑุรย์

Posted: 29 Sep 2011 10:04 AM PDT

ขอบคุณค่ะ ที่นำปรีดี มาเทียบเท่ากับ สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพลป.

 

29 กันยายน 2554

เปิดใจคนเขียน “สุภาพบุรุษไพร่”

Posted: 29 Sep 2011 09:59 AM PDT

เปิดใจคนเขียน “สุภาพบุรุษไพร่”

“สุภาพบุรุษไพร่” เป็นหนังสือจากค่ายมติชนที่กำลังจะวางแผงทั่วประเทศ แม้ว่าเจ้าของเรื่อง “ณัฐวุฒ ใสยเกื้อ” จะเกริ่นไว้ในหนังสืออย่างถ่อมตัวว่า “มันจะขายได้หรือ” แต่กวาดตาดูแฟนคลับเสื้อแดงแล้ว เชื่อแน่ว่าว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องขายดีอย่างยิ่ง

ประชาไทคุยกับ “ฟ้ารุ่ง ศรีขาว” ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เจ้าของงานเขียนเล่มนี้ ถึงข้อสังเกตของเธอต่อแกนนำเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตยไทยในช่วงเวลาอันใกล้ ทำไมเธอจึงทำหนังสือเล่มนี้ และทำไมเลือกเขียนเรื่องของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดงที่อายุน้อยที่สุด รากเหง้าทางการเมืองสั้นที่สุดในบรรดาแกนนำเสื้อแดง

“เพราะณัฐวุฒิรับสาย(โทรศัพท์)ง่ายที่สุด แต่คนอื่นไม่ค่อยรับสาย ฮ่าๆๆ” เจ้าของหนังสือกล่าวกลั้วหัวเราะ เหมือนพูดเล่น แต่ในฐานะนักข่าวด้วยกัน เราทราบดีว่า นั่นคือเรื่องจริง ที่ว่าณัฐวุฒินั้นเป็นแหล่งข่าวที่เข้าถึงง่ายมาก แม้แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแกนนำด้วยกันเอง ก่อนที่เธอจะกล่าวตอบคำถามต่อไปอย่างจริงจัง

 

ทำไมณัฐวุฒิ?

เพราะเราเห็นความขัดแย้งกันระหว่างจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มจากความเป็นตลก ที่ไม่มีราคา คนไม่สนใจ คนไปสนใจจักรภพ (เพ็ญแข) วีระ (มุสิกพงศ์) เพราะความอาวุโสหรือบทบาทก่อนหน้านั้น ขณะที่เรารู้สึกว่าเราฟังวีระไม่เข้าใจ เราไม่ได้เห็นในยุคที่คุณวีระยิ่งใหญ่ ต่อมาหลังจากณัฐวุฒิ พูดเรื่องไพร่ อำมาตย์ ก็เลยรู้สึกว่าการนำของณัฐวุฒิเปลี่ยนไปจากความตลกมาสู่ทฤษฎีที่เราเคยเรียนตอนเป็นนักศึกษา (รัฐศาสตร์ มธ.) มันคงเกี่ยวกับแบกกราวด์ความรู้สึกของเราด้วยตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย และครูบาอาจารย์ก็ชอบพูดประชดประชันทำนองภูมิใจในความเป็นไพร่ ก็เลยแปลกใจว่าถ้าจักรภพพูดเราก็เฉยๆ เพราะเขาจัดว่าเป็นปัญญาชน แต่ณัฐวุฒิ เหมือนคนตลก ขำๆ บางทีก็ดุดันแล้วมาพูดในเนื้อหาที่เรารู้สึกอยู่เป็นทุนเดิม ก็เลยสนใจเขา

และจากการรู้จักกันโดยส่วนตัวก็เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น หลังจากเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เราก็ตามไปคุยกับเขาหลังแถลงข่าว โดยถามว่าในฐานะแกนนำจะรับผิดชอบอย่างไรที่คนบาดเจ็บและทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย แต่ณัฐวุฒิเหมือนคนมีความรู้สึกไม่ดีกับเราและเสียงแข็งใส่เราว่า ใครจะอยากให้มวลชนเจ็บตัว คือ เขาไม่เก็บความรู้สึกว่าเขาไม่อยากให้เป็นแบบนี้

ต่อมาเราก็ไปทำข่าวสายอื่น ไม่ได้มาตามม็อบทุกวันเหมือนช่วงตั้งเวทีสนามหลวง เมื่อฝ่ายเสื้อแดงได้เป็นรัฐบาล มีช่วงที่ไม่ได้ทำข่าวณัฐวุฒิ มาเจออีกทีตอนที่มีเวทีผ่านฟ้า เจอกันหลังเวที ณัฐวุฒิก็คุยกับเราแล้วถามว่ามีอะไรจะคอมเมนต์ หรือวิจารณ์เขาไหม และท่าทีเหมือนใจเย็นลง รู้สึกว่าจากปี 2550 มาปี 2553 เขาเปลี่ยนไปในระยะเวลาไม่กี่ปี เปลี่ยนทั้งในแง่ที่คนอื่นคิดกับเขาและทั้งที่ตัวเรารู้สึกว่าเขาเปลี่ยนแปลง

เปิดใจคนเขียน “สุภาพบุรุษไพร่”

 

ความประทับใจจากการทำหนังสือเล่มนี้

ตอนที่เขาคิดว่าจะตอบตกลงกับเราที่จะเขียนเรื่องราวของเขา เราคิดว่าเขาไม่ได้มั่นใจว่าเราจะเขียนถึงเขาในทางบวกหรือลบ ที่ประทับใจมากคือเขาบอกว่าให้เขียนได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นตัวตลกหรือผู้ร้ายก็ให้สะท้อนออกมาตามที่เรามอง "เป็นหนังสือของน้อง ให้ใช้เสรีภาพของสือมวลชนในการทำงาน" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพูดระหว่างที่เขาอยู่ในห้องขัง เราเดาว่าเขาไม่มั่นใจว่าเราจะเขียนถึงเขาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่คนสนิทกับเขาในความหมายที่ว่าจะทำให้เขามั่นใจได้ว่าจะเข้าข้างเขา

อีกอย่างที่ประทับใจคือ (หัวเราะ) ระหว่างที่เรากำลังทำหนังสือเล่มนี้ คือช่วงเวลาที่ณัฐวุฒิอยู่ในคุก และมีหลายคนถามเราว่า “มันมีค่าขนาดนั้นเลยหรือ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือ เพื่อนๆ สื่อมวลชนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ขณะที่การเมืองไทย “ความจริง” เป็นสิ่งที่รัฐบอกว่าอยากจะหาออกมาให้ได้ มีการตั้งคณะกรรมการและงบประมาณใหญ่โตมโหฬาร เหมือนสังคมนี้โหยหาความจริง ขณะที่เพื่อนนักข่าวหลายคนเล่าความจริงให้เราฟังโดยไม่มีเงื่อนไขอะไร ไม่มีอะไรต้องเอามาแลกเปลี่ยนกัน เราได้ฟังเหตุการณ์จริงโดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณรัฐไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรอันซับซ้อน แต่แน่นอนการให้คุณค่าข้อเท็จจริงอันเดียวกันคนที่มีพื้นฐานความคิดต่างกันก็คงจะแปรความหรือให้น้ำหนักต่อข้อเท็จจริงนั้นต่างกันไป

ตอนที่ชอบที่สุดในหนังสือคือ “สว่างแสงชาดอาภรณ์” ซึ่งเป็นเรื่องราวช่วงท้ายของการชุมนุม ขณะที่ลูกสาวของณัฐวุฒิ “ชาดอาภรณ์” ถือกำเนิดขึ้นมาในเช้าวันที่ 10 พ.ค. 2553 ที่ชอบเพราะว่ามันเหมือนฉากในหนังดีน่ะ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันเขาต้องคิดทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว แต่อีกแง่หนึ่งก็มีเรื่องขบวนการ นึกภาพตัดไปตัดมา ระหว่างที่ชุมนุมกับโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ได้รับโทรศัพท์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้แล้วว่าคุณอยู่ตรงไหน ทำให้เขาต้องหนี

วันนั้นมีอีกคู่ความสัมพันธ์ที่ไปกันไม่ได้คือ แกนนำกับแกนนำ

 

อุปสรรคของงานเขียน

เวลา เรามีงานประจำต้องทำ ตอนทำไม่มีใครรู้เยอะ ในแง่การเขียนการเรียบเรียงยากตอนวางโครงเรื่องที่เราต้องตัดสินใจว่า เรื่องอะไรน่าจะบ่งบอกเรื่องราวของคนเสื้อแดงและณัฐวุฒิ อีกอย่าง เวลาที่จะคุยกับเขาก็มีระยะเวลาจำกัด เพราะเขาอยู่ในเรือนจำ ก็เพิ่งมาทราบภายหลังว่าคุณศิริสกุลและญาติๆ แกนนำแต่ละคนเป็นคนระบุว่าให้เยี่ยมเวลานี้ทุกวัน ทั้งที่ครอบครัวสามารถเปลี่ยนได้ตามสะดวก แต่คุณศิริสกุลเห็นว่าคนเสื้อแดงมาเยี่ยม ก็จะได้รู้ตรงกันว่ามาตอนกี่โมง เราก็เลยไปเยี่ยมพร้อมๆ คนเสื้อแดงจำนวนมาก ต้องก้มผ่านซี่กรง เราก็เกรงใจคนเสื้อแดงที่เขาอยากจะคุยกับแกนนำด้วยว่าเขาอุตส่าห์มาไกลก็อยากจะคุย เราไม่ได้คิดจะถือตัวว่าเรามาเขียนหนังสือให้เขาต้องได้อภิสิทธิ์ เพราะคนที่มาเยี่ยมก็เท่ากันหมดคือทุกคนอยากสื่อสารกับแกนนำ

 

มีคนแซวไหมว่าหลงเสน่ห์แกนนำหรือรับตังค์เขามาเขียน

(หัวเราะร่วน) มีคนแซวเหมือนกัน เพราะพี่เต้นแกเคยแซวว่าเราเป็นแฟนเก่าแก แต่คนฟังไม่รู้ที่มาที่ไป จริงๆ คือแกเคยปล่อยมุก แซวเพราะแกเคยเห็นเราตัวเล็กกว่านี้ แกเลยแซวว่า เราเป็นแฟนเก่าแต่ถูกผู้ใหญ่กีดกัน พอแกไปแต่งงานกับพี่แก้มเราเลยเสียใจจนตัวโตขนาดนี้ เดาว่าบุคคลที่สามได้ยินก็เลยเอาไปตีความใหญ่โต จริงๆ คือแกจะเล่นมุกว่าเราเปลี่ยนไปคือตัวโตขึ้นมาก

ส่วนเรื่องเงิน เราตกลงกับณัฐวุฒิตอนที่ขอเขียนเรื่องเขาว่าเขาจะคิดค่าเรื่องหรือเปล่า เขาบอกว่า “ถ้าขายได้ก็เป็นความสำเร็จของน้องเป็นผลงานของน้อง” ส่วนค่าเรื่องนี่ หนังสือพิมพ์เสร็จแล้วเรารับเงินค่าเรื่องจากสำนักพิมพ์มติชน

เปิดใจคนเขียน “สุภาพบุรุษไพร่”

 

นัยยะสำคัญทางการเมืองของหนังสือเล่มนี้

วิธีการเล่าของเราคือไม่ตัดสินคุณค่าว่าถูกผิด ดีเลว เป็นสิ่งที่เราได้มาจากการเรียนหนังสือในสายคิดที่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริง แต่ไม่ได้บอกว่าความจริงมีชุดเดียว เพราะแค่การพูดถึงข้อเท็จจริง ว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่มันก็ยากแล้ว ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องการชี้วัดตัดสิน

หนังสือเล่มนี้คงไม่สร้างแรงกระเพื่อมอะไรมากไปกว่าคนที่ไม่เคยรู้ประวัติของณัฐวุฒิได้รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเขา เพราะเราตั้งใจจะมองเรื่องด้วยความเป็นคนธรรมดา เหมือนชีวิตคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในสเกลใหญ่ แต่เราก็ไม่ใช่คนโรแมนติก หรือมีอุดมการณ์ขนาดที่ประชาไททำหนังสือ “คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต” เวลาเราพูดถึงณัฐวุฒิเราก็ยังลังเลว่าเขาเป็นอะไรกันแน่ คือเป็นคนธรรมดาที่ไม่ถูกให้ราคา หรือเขาเป็นคนระดับนำอยู่แล้ว ตั้งแต่ความเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คงพูดได้แค่ว่าเขาเป็นปัจเจกบุคคลที่อยูในส่วนประกอบของเหตุการณ์ใหญ่ แต่เขาเป็นคนธรรมดาหรือเปล่าเราก็ไม่แน่ใจ

แต่ท้ายที่สุดก็คงไม่พ้นที่เราจะเลือกให้คุณค่าด้านใดด้านหนึ่งเพราะที่สุดแล้วเราก็เลือกชื่อหนังสือ “สุภาพบุรุษไพร่” ที่บอกอยู่แล้วว่าบวกหรือลบ

 

คุณเคยบอกว่า การติดตามขบวนการเสื้อแดงมาตลอดทำให้มุมมองคุณเปลี่ยนไป ถึงวันนี้มองขบวนการเสื้อแดงอย่างไร

มีหลายคู่ความสัมพันธ์ว่าระหว่างแกนนำกับทักษิณเขารับเงินกันหรือเปล่าเราก็ไม่ได้ไปเจาะ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่เราสนใจ แต่อาจเป็นประเด็นของนักข่าวที่ชอบสืบสวนสอบสวนเขาคงสนใจ แต่เรามองว่ามีคู่ความสัมพันธ์อื่นๆ อีกที่น่าสนใจ เช่น คู่ความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำกับมวลชน ซึ่งในสายสัมพันธ์อันนี้มวลชนกับแกนนำเขาผูกพันกันด้วยความคิดร่วมกันบางอย่างอันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าใครรับเงินจากใคร เพราะว่าต่อให้ทักษิณใช้เงินจ่ายให้แกนนำจริงหรือใช้เงินหว่านกับมวลชนจริงๆ ต่อให้เป็นอย่างนั้น เราคิดว่าถ้าพวกเขาไม่มีความคิดความเชื่อบางอย่างร่วมกัน เขาก็คงไม่อดทนเดินในขบวนนี้ที่ต้องเผชิญการดูถูกดูแคลนสารพัดข้อกล่าวหา ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงจุดไหนของขบวนการก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“คันหู” จึงนำมาสู่การ “คันปาก”

Posted: 29 Sep 2011 09:38 AM PDT

ดรีกรีความดุเดือดเลือดพล่านในการวิจารณ์ข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” พุ่งไปสูงปรี๊ดเลย เมื่อ “แก๊งสนับสนุนรัฐประหาร” ที่อำพรางตัวด้วยการสวมเสื้อคลุมต่างๆ นาๆ ต่างก็พากันเฮละโลกันออกมา!!! “อัดกลุ่ม  อ.วรเจตน์” ไอ้ผมในฐานะของคนที่จบกฎหมายมาคนหนึ่ง ฟังเสียงวิพากษ์ของทั้ง 2 ด้าน ก็รู้สึก “คันหู้...คนหู” เพราะเหตุผลที่มีการกล่าวโจมตีนิติราษฎร์นั้น “บ่มิไก๊” เอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ “นิติราษฎร์เขานำเสนอประเด็นวิชาการ” แต่ก็กลับมีอยู่ไม่กี่คนที่จะมาเถียงกันในทางเนื้อหากันแบบตรงไปตรงมากันจริงๆ

จะมีก็แต่การกล่าวหาว่านิติราษฎร์ไปรับงานใครมา? ผมว่านิติราษฎร์เขาประกาศชัดเจนนะว่าเขารับงานของประชาชนที่รักในระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่พวกท่านล่ะตอบได้ไหมว่ารับงานใครเขามา?

หากมาดูก็จะเห็นว่า อ่ะ...โอเคล่ะ “อ.สมคิด” ก็พอจะมีประเด็นถกเถียงทางวิชาการ “บ้าง” แต่ อ.กิตติศักดิ์ที่แหละที่ผมขอปรบมือให้ดังๆ ซักแปะสองแปะ!!! ที่กระโดดเข้ามาถกเถียงกันในทางเนื้อหาทางวิชาการจริงๆ แต่ก็เป็นการแย้งที่ไร้น้ำหนักอย่างยิ่ง โอยยยยยยย ส่วน “แก๊งสภาทนายไม่ได้ความ” นี่ ไม่ต้องมาพูดถึงเลย ไม่มีเครดิตหรอก แต่ก็นะ ผมก็ “คันปาก” ต้องขอวิจารณ์เสียหน่อย เพราะผมก็เป็นทนายความด้วยน่ะซิ การที่คุณ “สากกกกกกกก” ออกมาพูดแบบนี้มันทำให้คนที่ประกอบวิชาชีพทนายความแบบผมต้องเสียหายอย่างยิ่งเลย

ยังไงก็แล้วแต่ ผมคงขอเกาะกระแส “อินเทนด์” เสียหน่อย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผ่าน “การตั้งคำถาม” แบบท่านอธิการบดีของ มธ. ที่ผมเห็นว่าน่าจะมีรากฐาน “ฮิต” มาจาก “อาจารย์แก้ว(สรร)” ที่ชอบเขียนบทความทำนองถามเอง ตอบเอง ชงเอง ชมเอง แล้วด่าคนอื่นเสียเองตลอดเวลา อุ๊บ!!! โอเค ยังไงงานนี้เขาไม่เกี่ยว (รึเปล่า?)

ขอตั้งคำถามแค่ 1 คำถามสำหรับ อ.กิตติศักดิ์

1. ตามที่อาจารย์อ้างคำพิพากษาของสูงสุดของอเมริกา (ซึ่งจริงๆ คดียังไปไม่ถึงนะคร้าบบบ คดีอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ระดับสหพันธรัฐเท่านั้น) ที่พิพากษามาแล้วสรุปกันแบบดื้อๆ ว่า “นี่ไง ศาลมีคำพิพากษามาโต้แย้งการทำประชามติของประชาชนได้หากเห็นว่าผิดกฎหมาย” อาจารย์ช่วยตอบผมหน่อยว่าผู้พิพากษาเขามาจากไหน? มาจากคณะรัฐประหารเหมือนของไทยไหม? แล้วรัฐธรรมนูญของอเมริกามาจากผลพวงของรัฐประหารหรือไม่? หากอาจารย์ตอบคำถามของผมได้ อาจารย์ก็จะรู้ว่าสิ่งที่อาจารย์บอกว่าคำพิพากษาของศาลอเมริกาเป็น Anti-Majority Decision เป็นคำพูดที่ผิดโดยชัดเจน ฟันธง!!! อนึ่ง อาจารย์ระวังผิดฐานดูหมิ่นศาลสูงสุดของอเมริกานะครับผม ถ้ามีคนอีเมลล์ไปฟ้องเขาอ่ะ

1 คำถามสำหรับ อ.สมคิด (เพราะมีหลายคนเขียนถึงอาจารย์แล้วผมจึงขอแค่ 1 คำถาม)

1.อาจารย์กำลังใช้ตรรกะของการกำจัด “นายทุนสามานย์” โดยไม่ได้มองถึงเรื่องประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐเลย ใช่หรือไม่? จริงๆ ขอแถมอีกซักหนึ่งหัวคำถาม (ข้อนี้อยากรู้เป็นการส่วนตัว) ตกลงจานนนนไปรับใช้พวกทหารจริงๆ ไหม?

2 คำถามสำหรับนายสากกกกก นายกสภาทนายไม่ได้ความ (ซึ่งเป็นคนละองค์กรกับที่ผมอยู่ คือ สภาทนายความที่รักในระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐ)

1. คุณใช้คำว่า “สภาทนายความ” ซึ่งมันสะท้อนถึง “องค์กรรวมทั้งหมด” ไปกล่าวอ้างโจมตีคนโน้นคนนี้ (นิติราษฎร์) คุณเอาอาณัติอะไรจากพวกผมๆ (ในฐานะทนายความ) ไป คุณรู้ได้ไงว่าผมคิดแบบคุณ ผมและผองเพื่อนทนายอีกหลายคน จริงๆ แล้วเห็นตรงกันข้ามกับคุณเลยนะ เวลาจะออกแถลงการณ์ในเชิง “องค์กร” กรุณาถามชาวบ้านชาวช่องเขาด้วย ทำประชามติของทนายน่ะเป็นไหม? หรือไอ้ความเป็นเผด็จการมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว? หากจะพูดก็กรุณาออกไปใช้สิทธิในฐานะนายสากกกก เดี่ยวๆ หรือกับเพื่อนๆ ร่วมแก๊งของพวกคุณเป็นรายบุคคลก็พอ อย่ามาเหมารวมพวกผมไปด้วย มิฉะนั้น พวกผมจะล่ารายชื่อเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ควรเป็นนายกฯ สภาทนายอีกต่อไป กรุณาออกมาแถลงขอโทษพวกกระผมด้วยนะครับ

2. “แก๊งสภาทนายไม่ได้ความ” ที่มีคุณสากกกกเป็นหัวเรือเนี้ยะ ตอบได้ไหมว่า “นิติรัฐคืออะไร?” แต่ผมเดาว่าตอบไม่ได้หรอก เพราะทุกวันนี้ก็ตอบกฎหมายผิดๆ ผิดๆ (ไม่ใช่ผิดๆ ถูกๆ นะ) อยู่ตลอด คงจะไม่มีปัญญาตอบกระมัง   

2 คำถามสำหรับสื่อกระแสหลัก

1. ทำไมจึงมุ่งเน้นแต่จะขายข่าวเท่านั้น การตั้งคำถามทำไมไม่เน้นไปในเชิงเนื้อหาให้พวกกลุ่มอาจารย์วรเจตน์และฝ่ายไม่เห็นด้วยมาคุยและถกเถียงกันว่า จริงๆ ข้อเสนอมีข้อดีข้อเสียยังไง ปฏิบัติได้จริงหรือไม่? หรือพวกเอ็งก็นิยมความไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน

2. สื่อกระแสหลักก็ยังยึดติดกับ “ทักษิณๆๆๆๆ” ไอ้ทักษิณเนี้ยะมันเป็นสิ่งมาบดบัง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายตามรัฐธรรมนูญนะเข้าใจไหม? ยกมันทิ้งไปได้ไหม แล้วทำใจด้วยความเป็นกลาง นำเสนอเนื้อหาของทั้งสองฝ่ายไปเลย อย่ามานั่งเสี้ยมๆๆ ให้ทะเลาะกันเฉยๆ เพื่อจะขายข่าวเท่านั้นเลย มันแสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะของสื่อกระแสหลักไทย เห็นแล้วอนาถใจ แค่นี้ทำได้ไหม?               

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: นิติราษฎร์กับคำถามท้าทายสังคมไทย

Posted: 29 Sep 2011 09:26 AM PDT

น่าสังเกตว่า “ปฏิกิริยา” ต่อข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อล้างรัฐประหารของนิติราษฎร์ แทนที่จะถกเถียงใน “ประเด็นหลัก” กลับไปถกเถียง “ประเด็นรอง” เช่น เรื่องเทคนิคทางกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณหรือไม่ จะทำให้เกิดความแตกแยก เป็นชนวนให้เกิดรัฐประหารรอบใหม่หรือไม่ ระบอบทักษิณ และลัทธิรัฐประหารอะไรเลวกว่ากัน กระทั่งเสียดสีว่านิติราษฎร์ คือ “นิติเรด” ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้นเหตุผลคัดค้านของบรรดาสื่อ นักการเมือง ทหาร นักวิชาการ นักกฎหมาย ทนาย หรือบรรดาผู้อ้างว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทั้งหลาย ทำให้เรารู้สึกได้ชัดแจ้งว่า สำหรับประเทศนี้การลบล้างรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญกว่าการล้มประชาธิปไตยอย่างเทียบกันไม่ได้
 
ประเด็นหลักที่นิติราษฎร์เสนอคือ “การล้างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” เป็นการล้างรัฐประหารบนจุดยืนที่ว่า รัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผิดในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตาม เช่น อย่างที่ สัก กอแสงเรือง อ้างว่า รัฐประหาร 19 กันยาเป็นรัฐประหารขจัดการโกงชาติบ้านเมือง ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ควรยอมรับ เพราะหากมีการโกงชาติบ้านเมืองจริงก็ต้องขจัดการโกงนั้นตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้ด้วยรัฐประหาร
 
ถ้าจะโต้ข้ออ้างแบบสัก กอแสงเรือง โดยไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนนัก แค่เรามองตามข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ้าทักษิณโกงชาติบ้านเมืองจริงตามที่คณะรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนกล่าวหา ถามว่าผลเสียหายจากการโกงของทักษิณ กับผลเสียหายที่ตามมาหลังใช้วิธีรัฐประหารขจัดทักษิณ อันไหนเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองมากกว่า
 
ความแตกแยกและความรุนแรงทางสังคมที่เกิดขึ้นกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราจะโยนความผิดให้ทักษิณคนเดียวได้อย่างไร ฝ่ายที่ใช้วิธีรัฐประหารขจัดทักษิณจะรับแต่ “ชอบ” ไม่ยอมรับ “ผิด” ใดๆ เลยเช่นนั้นหรือ?
 
ที่สำคัญในเชิงหลักการ หากถือว่ารัฐประหารควรเป็นวิถีทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ประเทศของเราจะไม่ต้องทำรัฐประหารเป็นรายปีงบประมาณกันเลยหรือ?
 
แต่ประเด็นของนิติราษฎร์ ไม่ใช่การชวนถกเถียงว่ารัฐประหารกับทักษิณใครผิดกว่า มันเป็นข้อเสนอที่ “ฟันธง” ไปเลยว่า แม้ทักษิณจะผิดจริงตามข้อกล่าวหาของคณะรัฐประหาร การกระทำรัฐประหารนั้นก็เป็นสิ่งที่ผิด และสมควรถูกลบล้างไป โดยให้ถือเสมือนว่าการทำรัฐประหารและการเอาผิดทางการเมืองกับฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือไม่มีสถานะและอำนาจที่ชอบธรรมทางกฎมายของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือสภาพนิติรัฐ นิติธรรมภายใต้ระบบอำนาจที่มาจากรัฐประหารอยู่จริง
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ทักษิณก็ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทักษิณไม่ได้เคยทำผิดในทางความเป็นจริง ฉะนั้น ข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวของทักษิณจึงสามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติในระบอบประชาธิปไตยได้ ทักษิณก็ไปสู้คดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นกลางต่อไป
 
ฉะนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงเป็นการชวนให้สังคมมาตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดในทางสังคมการเมือง คือคำถามที่ว่า สังคมเราควรจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบไหน และภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบนั้น เราจะอยู่ร่วมกันด้วยกฎกติกาอะไร จึงจะถือว่ายุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม
 
แน่นอนว่า ข้อเสนอให้ล้างรัฐประหาร หรือปฏิเสธรัฐประหารอย่างถาวร ก็คือข้อเสนอที่ว่าเราต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของราษฎรอย่างแท้จริง และภายใต้ระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่ถือเป็นข้อผูกพันที่สมาชิกของสังคมการเมืองทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกัน จะต้องเป็นกฎหมายหรือกติกาที่สร้างขึ้นบน “หลักความยุติธรรม” (the principles of justice) ที่เป็นธรรมแก่ทุกคน นั่นคือหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบนิติรัฐประชาธิปไตย
 
รัฐประหารคือการล้มนิติรัฐประชาธิปไตย กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่คณะรัฐประหารกำหนดขึ้น และการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเอาผิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับหลักความยุติธรรมอันเป็นพื้นฐานของนิติรัฐประชาธิปไตย ฉะนั้น ถ้าเรายืนยันว่าสังคมของเราควรเป็นสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็หมายความว่าเรายืนยันหลักความยุติธรรมหรือนิติรัฐประชาธิปไตย เมื่อยืนยันเช่นนี้ การล้างรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ
 
ความจริงไม่ใช่แค่การล้างรัฐประหารเท่านั้นที่เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค เช่น ม.112 เป็นต้น ก็ต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงด้วย
 
ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บอกว่า “กฎหมายมาตรา 112 ไม่ผิด แต่คนละเมิดกฎหมายดังกล่าวต่างหากที่ผิด” แสดงว่า เขาไม่เข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบุคคลสาธารณะของประชาชน จึงเป็นกฎหมายที่ผิด เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมคือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ส่วนที่ว่าคนผิดนั้น เพราะกฎหมายไปบัญญัติให้การกระทำที่ถูก (ตามหลักเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ) ของประชาชนกลายเป็นการกระทำที่ผิด ฉะนั้น กฎหมายที่ผิดเช่นนี้ (เป็นต้น) จึงควรยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงไม่ให้ขัดต่อหลักความยุติธรรมแห่งนิติรัฐประชาธิปไตย
 
ปรากฏการณ์ “คณะนิติราษฎร์” ไม่ว่าจะเรื่องรณรงค์ให้แก้ไข ม.112 หรือข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อล้างรัฐประหาร ถึงที่สุดแล้วก็คือการตั้งคำถามกับสังคมนี้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่เป็นนิติรัฐประชาธิปไตยไหม หากจะอยู่เราจำเป็นต้องปฏิเสธรัฐประหารให้เด็ดขาด ซึ่งจำเป็นต้องล้างรัฐประหาร และให้มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่กระทำรัฐประหารได้ เมื่อฝ่ายทำรัฐประหารนั้นๆ หมดอำนาจไป หรือบ้านเมืองคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย
 
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จึงเป็นการบังคับอยู่ในตัวของมันเองว่า ฝ่ายที่คัดค้านข้อเสนอจะกลายเป็นฝ่ายที่เอารัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐประหารไปโดยปริยาย และฝ่ายที่สนับสนุนข้อเสนอนี้คือฝ่ายที่เอาระบบสังคมการเมืองที่เป็นนิติรัฐประชาธิปไตยโดยปริยาย มันจึงไม่ใช่คณะนิติราษฎร์จะไปกล่าวหาฝ่ายคัดค้านว่าสนับสนุนรัฐประหาร แต่หลักการของข้อเสนอมันบังคับอยู่ในตัวของมันเองว่าต้องเป็นเช่นนั้น
 
โดยข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวโดยตรงกับเรื่องเอา-ไม่เอาทักษิณอีกแล้ว เพราะแม้คดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การกระทำของทักษิณที่ถ้าเป็นความผิดจริงก็ยังสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติในระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้
 
ถามว่าทักษิณได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์ในแง่ว่าได้รับโอกาสที่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางจริงๆ ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้ก็เป็นโอกาสที่ทุกคนพึงได้รับอยู่แล้ว ภายใต้หลักความเสมอภาคตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย  
 
โดยสรุป หากสังคมเราไม่ใช่สังคมหลอกตัวเอง หรือไม่ถูกทำให้ติดกับดักการหลอกตัวเอง แต่เป็นสังคมที่ชัดเจนแล้วว่า เราจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบนิติรัฐประชาธิปไตย ก็ไม่มีใครสามารถมีเหตุผลเพียงพอที่จะปฏิเสธหรือคัดค้าน “ประเด็นหลัก” ของข้อเสนอแห่งคณะนิติราษฎร์ได้
 
เมื่อเรายอมรับ “ประเด็นหลัก” ร่วมกันได้ “ประเด็นรอง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย (น่าโมโหไหมที่เวลาเกิดรัฐประหารแล้วบรรดา “เนติบริกร” ต่างเสริฟ “เทคนิคทางกฎหมาย” แก่คณะรัฐประหารอย่างเอาการเอางาน) หรือเรื่องทักษิณ (และ ม.112 ฯลฯ) ก็เป็นเรื่องที่สามารถปรับ หรือแก้ไขให้สอดคล้องกับประเด็นหลักได้อยู่แล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: แว่วเสียงคนทุกข์ เมื่อเพลงคันทรี่่สะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ

Posted: 29 Sep 2011 08:56 AM PDT

 

เป็นที่รู้กันดีว่าเพลงแนวคันทรี่ของอเมริกานั้นมักจะเขียนเนื้อเพลงเล่าเรื่องยิบๆ ย่อยๆ ในชีวิต จำพวกความสูญเสีย การโหยหาอดีต ความขัดสน

ในทุกวันนี้เนื้อหาเพลงคันทรี่เริ่มหันมาจับเรื่องปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

อาจฟังดูเหมือนเรื่องราวเดิมๆ ที่ดนตรีคันทรี่จะพูดถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากแต่คุณควรจะรู้ว่าเรื่องราวเดิมๆ นี้มีคนรอฟังอยู่เป็นจำนวนมากทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งแฟนเพลงคันทรี่ส่วนมากก็มาจากกลุ่มคนที่ต้องต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจกันทั้งสิ้น พวกเขาจึงหันมาใช้ดนตรีเพื่อปลอบประโลม

แฟนเพลงรายหนึ่งคือ จิม โยเซียส อายุ 53 ปี จากวินเซอร์ รัฐคอนเนกติคัท มาชมคอนเสิร์ทของคันทรี่สตาร์โทบี คีธ เขากล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจว่า "เป็นครั้งแรกเลยที่ผมรู้สึกอ่อนแอมาก"

ควันปิ้งบาร์บีคิวลอยเหนือรถกระบะที่จอดเรียงรายขณะที่แฟนๆ ร่วมวงปาร์ตี้กันก่อนงานเริ่ม "ผมรู้สึกเหมือนชายผิวขาวสูงวัยที่ทำทุกอย่างถูกต้องมาตลอด แต่ตอนนี้ผมรู้สึกราวกับว่าคนรุ่นถัดจากนี้อยากให้ผมออกไปเสีย" จิมกล่าว

แต่เสียงเพลงก็ทำให้เขาผ่านพ้นมาได้ โดยเฉพาะเพลงฮิตล่าสุดของรอนนี ดันน์ 'Cost of Livin'' ที่พูดถึงความยากลำบากของคนตกงานที่พยายามหางานอะไรก็ได้ทำ

"มันสร้างกำลังใจให้ผม แปลกดีเหมือนกัน พอฟังเพลงนั้นแล้วก็ทำให้ผมรู้สึกว่า 'เอาล่ะ ลุกขึ้นซะ เลิกพล่าม ตื่นตัวไว้ แล้วเดินหน้าลุยอีกครั้ง'"

 

เพลง Cost of Livin' ของ รอนนี่ ดันน์

 

"มันเป็นเพลงที่พูดถึงพวกเรา"

คนอื่นๆ ที่มาจอดรถรอฟังคอนเสิร์ทก็พูดถึงเรื่องราวซ้ำๆ กัน

"พวกเขารู้ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น" ซานดรา สกาเวตต้า กล่าว เธอมาจากโอ๊คเดล เคยเป็นอดีตพนักงานบริษัทประกันภัยที่ตกงานหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้หญิงอายุ 50 ผู้นี้ต้องพยายามออกหางานใหม่อย่างดูไม่มีความหวัง และเมื่อซานดรา ได้ฟังเพลงของรอนนี ดันน์ เธอก็รู้สึกเหมือนมีอะไรคมๆ ทิ่มแทงจิตใจ

"นั่นมันตัวฉัน ตัวฉันชัดๆ เลย พอฉันได้ฟังเพลงแล้วฉันก็รู้สึกหนาวสะท้าน มันเป็นเพลงที่พูดถึงพวกเรา"

เมื่อโทบี คีธ ขึ้นเวที ผู้คนก็โห่ร้องยินดีกับเพลง Made in America ที่พูดถึงเรื่องความรักชาติ (Patriotism) และการที่ผลผลิตจากต่างชาติกำลังคุกคามเข้ามาใน 'ประเทศบ้านเกิด'

เนื้อเพลงนี้โจมตีความเสื่อมโทรมทางวัตถุและจริยธรรม ซึ่งดูเหมือนว่าคนผิวขาวชนชั้นแรงงานในสหรัฐฯ จะชื่นชอบ

 

"คนที่ผมร้องเพลงให้เขาฟัง คือชายและหญิงที่อยู่ในชนชั้นนี้แหละ"

Made in America และ Cost of Livin' เป็นแค่ตัวอย่างของเพลงได้ประสบความสำเร็จในปัจจุบันที่พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ สามปีที่แล้วก็มีเพลงที่พูดถึงเรื่องนี้ อย่าง Shuttin' Detroit Down ของจอห์น ริช และ Red, White and Pink Slip Blue ของแฮงค์ วิลเลี่ยม จูเนียร์

เมื่อ โทบี คีธ พูดถึงเพลงของเขาเอง เขาไม่ได้พูดอะไรในเชิงแนวคิดปรัชญาแต่ก็บอกว่า เขารู้ว่าเขาแต่งเพลงนี้เพื่อใคร "คนที่ผมร้องเพลงให้เขาฟัง คือชายและหญิงที่อยู่ในชนชั้นนี้แหละ" คีธกล่าว

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักดนตรี เขาเคยเป็นคนงานบ่อน้ำมันในโอคลาโฮมาและนักฟุตบอลกึ่งมืออาชีพมาก่อน "เวลาที่ผมนั่งคงเขียนเนื้อเพลง ผมไม่ได้คิดว่าจะเขียนเพลงให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ (มหาเศรษฐีของสหรัฐฯ)ผมไม่ค่อยที่จะออกนอกลู่นอกทางไปเขียนในเรื่องที่ผมไม่รู้สักเท่าไหร่"

คีธ บอกอีกว่าดนตรีคันทรี่เป็นแนวที่เหมาะแก่การพูดถึงชีวิตชาวอเมริกันและปัญหาของชาวอเมริกันอีกแนวหนึ่งที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้คือ ฮิปฮอป "ผมเขียนในสิ่งเดียวกับที่พวกเขาเขียนนั่นแหละ" คีธกล่าว "ผมแค่อยู่คนละที่กับพวกเขาเท่านั้น"

 

"ทำให้รู้สึกใกล้ชิดบ้านเกิด แม้พูดถึงยามยากเข็น" ในย่านที่เต็มไปด้วยตึกรามอาคารของเมืองฮาร์ทฟอร์ด อาจจะไม่ค่อย

'คันทรี่' สักเท่าไหร่ แต่คีธก็บอกว่าแฟนๆ ในย่านนี้คึกคักกว่าย่านอื่น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักในเมื่อเมืองนี้มีคลื่นวิทยุเพลงคันทรี่่ที่ประสบความสำเร็จอย่าง 92.5 WWYZ

คอรี่ เมเยอร์ ผู้จัดรายการในช่วงเช้าบอกว่าเพลงในยุคนี้สะท้อนความรู้สึกที่อัดอั้นของเหล่าผู้ฟัง "พวกเขาพูดถึงสิ่งที่พวกเราทุกคนรู้สึก" คอรี่กล่าว "พวกเรารู้สึกว่าอยากให้มีใครสักคนให้ด่าพวกเขากำลังเปล่งเสียงจากความโกรธของพวกเรา"

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเสียงที่เป็นความโกรธ หากลองหมุนคลื่นเข้าไปฟังเพลงคันทรี่ทั่วประเทศดูแล้ว ลำดับเพลงในรายการก็ยังคงเป็นเพลงครึ้นเครงที่พูดถึงรถกระบะ, สาวขายาว และการดื่ม แต่กระนั้นมีบางคนเห็นว่าเพลงเหล่านี้ซ่อนความไม่สบายใจเอาไว้

"มีการพูดถึงเรื่องสภาพเศรษฐกิจในเพลงโดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพลงที่พูดถึงการตกงานอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น แต่รวมถึงในเพลงที่พูดถึงการค้นหาอัตลักษณ์และคุณค่าในตัวเอง" โจเซลิน นีล กล่าว นีลเป็นอาจารย์วิชาดนตรีสมัยนิยมจากมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา"เนื้อเพลงพวกนี้พยายามค้นหาทางออกให้กับผู้คน แต่ผู้ฟังเพลงคันทรี่่เองก็เป็นคนที่ตั้งคำถามด้วยว่า'เป้าหมายของชีวิตเราคืออะไร'" เรื่องนี้คงจะไม่มีใครรู้ดีไปกว่า จอห์น โฮวาร์ด

จอห์น ทำงานเป็นนายหน้าในฟลอริดามากว่า 20 ปี และสร้างสรรค์งานเพลงเป็นงานอดิเรกเท่านั้นแต่ต่อมาหลังจากบริษัทที่เขาทำงานอยู่ถูกฟ้องล้มละลายเขาก็ต้องกันมาหาดนตรีอย่างเต็มตัว

จอหฺ์นเขียนเพลง A Little Bit of Luck ออกมาอย่างรวดเร็วและเริ่มเล่นที่แถบชายฝั่งทะเลย่านนั้น

"พวกเขาชอบมัน" จอห์นพูดถึงคนที่มาดู

"ตอนแรกพวกเขาเริ่มเคาะเท้าตามจังหวะ แต่ต่อมาหลังจากเริ่มจับใจความได้

พวกเขาก็ตั้งใจฟังกันทันที"

เพลงของจอห์นได้รางวัลอันดับสามจากการประกวดแต่งเพลง

ถูกนำไปเปิดในวิทยุบ้างบางช่วง และเริ่มแพร่หลาย

สไตล์ของจอห์นออกไปทางจิมมี่ บัฟเฟตต์ มากกว่า แฮงค์ วิลเลียม ซึ่งเพลงของจอห์นมีวิธีการเล่าเรื่องในแบบคันทรี่่ดั้งเดิม

"ดนตรีคันทรี่เป็นแนวเพลงจำพวกที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้ชิดบ้านเกิด แม้ขณะที่พูดถึงช่วงเวลาอันยากเข็นและสภาพความเป็นจริง" จอห์นกล่าว

 

เพลง A Little bit of Luck ของ John Howard

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'PATANI MERDEKA' บนท้องถนน

Posted: 29 Sep 2011 08:51 AM PDT

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี2547 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจาก Deep south Watch ระบุว่ายอดเสียชีวิตจากเหตุการณ์โดยเฉลี่ยนั้น 2.5คนต่อวัน

ระหว่างทางของความขัดแย้งที่มีปลายทางอยู่ที่คำว่าสันติภาพนั้น ช่างเต็มไปด้วยบรรยากาศความหวาดระแวงของการใช้ชีวิตในสังคมแบบจำเป็นจะต้องแยกแยะว่า ใครคือมิตรใครคือศัตรูเพื่อความอุ่นใจเบื้องต้นในความปลอดภัยจากสายตาอันช่างสงสัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.ความมั่นคง บางช่วงบางคราวก็มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อาทิเช่น เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอร์ปาแย เหตุการณ์ซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและเหตุการณ์สุไลมาน แนซา เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธฯ เป็นต้น

ปรากฏการณ์แบบนี้ส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีบทบาทเรียกร้องความเป็นธรรมบ้าง ผลักดันให้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ(ชาติพันธ์)บ้าง จนเกิดเป็นกระแสการกระจายอำนาจบ้าง การปกครองตนเองบ้าง และล่าสุดที่เป็นกระแสสูงมากในปัจจุบัน ก็คือกระแสของกระบวนการสันติภาพ(peace process)ซึ่งนำขบวนร่วมโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ/สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า/ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยามหิดล/สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี/ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ด้วยความร่วมมือสนับสนุนของมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิสนับสนุนสันติภาพเบิร์คฮอฟ

อาจจะถือได้ว่ากระแสการกระจายอำนาจและกระแสการปกครองตนเองที่ตีคู่มากับกระแสกระบวนการสันติภาพนั้น ถ้าดูจากองค์กรหรือสถาบันที่ผลักดันข้างต้นแล้ว เป็นการสื่อสารที่เน้นกับกลุ่มเป้าหมายในสังคมชั้นนำและชั้นกลางทั้งในและต่างประเทศมากกว่าจะสื่อสารหรือเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนชั้นรากหญ้าได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพที่คาบเกี่ยวกับชะตาชีวิตของตนเองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในท้ายที่สุดของกระบวนการสันติภาพแล้ว จะสันติภาพแท้จริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชนรากหญ้า แต่ทว่าสิ่งที่เป็นกระแสสูงในระดับความสัมพันธ์ของสังคมรากหญ้านั้นคือคำว่า “PATANI MERDEKA” กลับถูกเพิกเฉยไม่ให้ความสนใจในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์เลยหรือว่าเป็นเพราะคำๆ นี้ไปอยู่บนท้องถนน บนหัวสะพาน บนป้ายริมถนน ไม่ได้ถูกสื่อสารในห้องประชุมในโรงแรมหรูอย่างคำว่า การกระจายอำนาจและการปกครองตนเอ

ทั้งๆที่คำว่า “MERDEKA” ถ้าแปลตรงๆก็คือ เอกราช นั่นเอง ซึ่งคำๆนี้จะตามมาด้วยคำว่า อิสรภาพเสมอ พูดถึงแล้วคำว่าเอกราชหรืออิสรภาพไม่ใช่เป็นคำใหม่หรือเรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดสำหรับสังคมไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ในทางกลับกันคำว่าเอกราชหรืออิสรภาพเป็นจุดกำเนิดของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป ดังคำประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกันทั้ง13อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ซึ่งร่างโดยโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ในการประชุมของผู้แทนทั้ง 13 อาณานิคม เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ซึ่งประกาศโดย จอร์จ วอชิงตัน ในฐานะแม่ทัพใหญ่มีความว่า

“เราถือความจริงเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งประจักษ์แจ้งด้วยตนเองกล่าวคือ ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ต่างได้รับสิทธิบางอย่างที่จะโอนให้แก่กันมิได้จากพระเจ้า สิทธิเหล่านี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข และเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้มนุษย์จึงได้ตั้งรัฐขึ้นมา และรัฐนี้ได้รับมอบอำนาจจากความยินยอมของผู้ที่อยู่ในปกครองของรัฐนั้น และเมื่อใด รูปการปกครองใด มุ่งทำลายหลักการสำคัญเหล่านี้แล้ว ประชาชนก็มีสิทธิที่เปลี่ยนรัฐนั้น หรือยุบเลิกรัฐนั้นเสีย แล้วจัดตั้งรัฐใหม่ขึ้นแทน ซึ่งวางรากฐานอยู่บนหลักการและจัดระเบียบการใช้อำนาจตามรูปดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดผลในการพิทักษ์ความปลอดภัย และความผาสุก ของประชาชน”

จากบริบทของการต่อสู้ของขบวนการอุดมการณ์ที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยซึ่งมีกลิ่นอายเพื่อการปลดแอกในหลักการคล้ายๆกับคำประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน13อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษข้างต้นและมีการใช้ยุทธวิธีสู้รบแบบจรยุทธ์นั้น คำว่า PATANI MERDEKA แม้ว่าจะอยู่บนท้องถนน บนหัวสะพาน บนป้ายริมถนน คงจะไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่เป็นงานศิลปะแน่นอน ส่วนจะมีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพที่ปาตานีนั้น ฝ่ายที่กำลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อไปคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะสันติภาพที่แท้จริงนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคำตอบอยู่ที่ความพึงพอใจของประชาชนชั้นรากหญ้า ถ้าไม่เป็นไปตามหลักการนี้สันติภาพที่ยื่นมานั้นก็คงจะมีความหมายเพียงแค่ “สันติ(แค่)ภาพ”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ใจ อึ๊งภากรณ์" ตอบโจทย์ "สมคิด เลิศไพฑูรย์"

Posted: 29 Sep 2011 08:21 AM PDT

คำถามเรื่องการต่อสู้นอกระบบกฎหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐคืนจาก "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านย้อนหลัง)

ใจ อึ๊งภากรณ์ขอตอบ....

ถาม: ถ้านาย ก.ทำรัฐประหารและได้อำนาจรัฐมา. เราจะต่อสู้นอกระบบกฏหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐกลับคืนมาได้หรือไม่?

ตอบ: ต้องดูว่ากฏหมายมาจากไหนและมีความเป็นธรรมและส่งเสริมประชาธิปไตยหรือไม่ ในระบบประชาธิปไตยการต่อสู้นอกรัฐสภา เช่นการนัดหยุดงานหรือการประท้วงมีความชอบธรรมเต็มที่ และนอกจากนี้กลุ่มนิติราษฏร์กำลังสู้ในกรอบกฏหมาย

ถาม: ถ้านาย ข. ได้อำนาจรัฐมาโดยถูกต้อง แต่ต่อมานาย ข.เป็นเผด็จการ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่มีหนทางตามกฏหมายจะเอานาย ข. ออกจากตำแหน่งได้ เราจะต่อสู้นอกระบบกฏหมายเพื่อเอาอำนาจรัฐกลับคืนมาได้หรือไม่"?

ตอบ: เราจะใช้ทุกวิธีทางในกรอบอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่นรณรงค์ไม่เลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเดินขบวน และการนัดหยุดงาน โดยเป้าหมายคือประชาธิปไตย แต่การทำรัฐประหารเป็นเรื่องอื่น เพราะไม่ได้สร้างประชาธิปไตย ตรงข้ามกัน

ในกรณีทักษิณ คนที่ไม่เห็นด้วยสามารถรณรงค์ตามกรอบประชาธิปไตยได้ แต่ปรากฏว่าพวกนักวิชาการเสื้อเหลืองมองว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกไทยรักไทย "โง่" "เข้าไม่ถึงข้อมูล" และ "ถูกจูงเหมือนควาย" ซึ่งเป็นการป้ายร้ายประชาชนไทย และมันนำไปสู่ความคิดว่าควรลดเสียงประชาชนตามสูตรพันพธมิตรฯ หรือการแต่งตั้ง สว. ครึ่งหนึ่งโดยทหาร

สมคิด เลิศไพฑูรย์ กำลังขยันแก้ตัวสำหรับการทำรัฐประหาร 19 กันยา และคัดค้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์

 

000

เบื้องหลังพวกเสื้อเหลืองที่คัดค้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

กลุ่มพลังหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ไม่พอใจกับประชาธิปไตย โดยเฉพาะในกองทัพ เครือข่ายองค์มนตรี หมู่ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจที่โกรธทักษิณ และปัญญาชนกับนักการเมืองเสรีนิยม กลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารมีจุดร่วมในการดูถูกและเกลียดชังคนจน สำหรับเขา การมีประชาธิปไตย “มากไป” ให้อำนาจ“มากเกินไป”กับคนจน ที่ลงคะแนนเสียงและส่งเสริมให้รัฐบาลใช้เงินอย่าง “ไม่ระมัดระวัง” ในการให้สวัสดิการ สำหรับคนเหล่านี้ที่สนับสนุนรัฐประหาร ประเทศไทยแบ่งแยกระหว่าง  “ชนชั้นกลางที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย” และ “คนจนในชนบทและเมืองที่โง่และขาดความรู้” แต่ความจริงตรงกันข้าม คนจนเข้าใจและสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่คนที่ใครๆ เรียกว่าเป็นคนชั้นกลางใช้ทุกวิถีทางที่จะปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเอง พวกที่เรียกหารัฐประหารหลงคิดว่าตัวเองคือ “ชาติ” โดยดูถูกและหันหลังให้พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทย ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นี่คือสาเหตุที่ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง และยังชนะจนถึงทุกวันนี้ภายใต้ชื่อพรรคเพื่อไทย การครองใจประชาชนด้วยนโยบายตามกระบวนการประชาธิปไตยนี้ คือสิ่งที่พวกนักวิชาการชนชั้นกลาง พวกเอ็นจีโอ พวกทหาร พวกข้าราชการชั้นสูง พวกนายทุนหัวเก่า และพรรคประชาธิปัตย์รับไม่ได้ ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย   แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน เวลาอำมาตย์ คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯ พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร แล้วแก้รัฐธรรมนูญจากที่เคยเป็น เพื่อลดอำนาจของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู”

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนสนับสนุนทักษิณหรือไทยรักไทย เพราะรัฐบาลทักษิณนอกจากจะไม่ยอมกระจายรายได้สู่คนส่วนใหญ่เท่าที่ควร ผ่านระบบรัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีจากคนรวยแล้ว ยังเป็นรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในภาคใต้และสงครามยาเสพติด แต่การทำลายประชาธิปไตยของพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยาและผลพวงทั้งหมดที่ตามมา ทำให้เราไม่สามารถกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคอร์รับชั่นในสังคมไทยไปอีกนาน ทำให้ประชาชนเสื้อแดงถูกฆ่าตายอย่างเลือดเย็นเมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ และเป็นการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการและอิทธิพลของโจรในกองทัพ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผอ.โรงเรียนทำหนังสือขออภัยกรณีนักเรียนแต่งชุดนาซี

Posted: 29 Sep 2011 08:04 AM PDT

รัฐมนตรีศึกษาฯ เผยเรื่องนักเรียนไทยแต่งชุดนาซีในวันกีฬาสีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รับจะลงไปดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือขออภัยแล้ว

มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรณีนักเรียนหญิงโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ แต่งตัวเลียนแบบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี พร้อมถือธงสวัสดิกะเดินขบวนในงานกีฬาสีประจำปีของโรงเรียน ก่อนภาพหลุดไปแพร่หลายอยู่ในโลกไซเบอร์ จนหนังสือพิมพ์เดลี่เมล์ของประเทศอังกฤษนำมาตีแผ่ สร้างความไม่สบายใจกับนานาประเทศ กงสุลเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาออกมาประท้วงโรงเรียนและเรียกร้องให้มีการสอนประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ ว่า ได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะกระทบความรู้สึกของคนจำนวนมาก โดยเบื้องต้นจะพยายามลงไปดูแล ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก

ขณะที่นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ โฆษก ศธ. กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังสถานทูตอังกฤษ อเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศสแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กนักเรียน ซึ่งคณะครูชี้แจงว่าไม่ทราบมาก่อน เพราะเป็นชุดการแสดงที่ไม่ได้แจ้งให้ครูทราบล่วงหน้า คณะนักเรียนและครูโรงเรียนจึงรู้สึกเสียใจ ซึ่งสถานทูตทั้ง 4 ประเทศรับทราบและเข้าใจแล้ว

วันเดียวกัน น.ส.ดรุณี ศรีประมงค์ ผอ. โรงเรียนพระหฤทัย จ.เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรื่อง "โรงเรียนพระหฤทัย ขออภัยสืบเนื่องจากกีฬาสีของโรงเรียน (Deeply Apologies)" เนื้อหาระบุว่า "กราบขออภัย ทุกท่านที่เคารพ เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2554 ทางโรงเรียนพระหฤทัย จ.เชียงใหม่ ได้จัดการแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียนขึ้น และมีการแบ่งสีเป็น 7 สี และหนึ่งในจำนวนนั้นคือสีแดง ได้จัดฉากเครื่องหมาย และแต่งกายในรูปแบบคล้ายกับเครื่องหมายนาซี ซึ่งเป็นการแสดงที่ผู้แสดงตั้งใจจะสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นสัญลักษณ์ของสีแดง อันเป็นสีที่นักเรียนสังกัดกลุ่มนี้อยู่ การแสดงครั้งนี้นักเรียนมิได้มีเจตนาจะกล่าวถึงการทำลาย และการฆ่าล้างเผ่าหรืออื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้เลย

ทางโรงเรียนพระหฤทัยรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในครั้งนี้ และขออภัยต่อการไม่ได้ติดตามการเตรียมการของนักเรียนก่อนที่จะจัดกิจกรรม อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันทางโรงเรียนขอขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาท้วงติง และชี้แจงตักเตือนถึงการกระทำดังกล่าว และกราบขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ รวมทั้งตั้งใจจะให้การศึกษาอบรมกับนักเรียนในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น จะเข้มงวดกวดขันในการแสดงต่อสาธารณชนยิ่งขึ้น และขอสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป"

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ด้านศูนย์ซีมอน วีเซนธาล องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวยิว ออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของศูนย์ เรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาคริสต์ในประเทศไทยประณามการเดินขบวนพาเหรดกีฬาสี ของโรงเรียนพระหฤทัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่งชุดเลียนแบบจอมเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และหน่วยเอสเอส พร้อมกับทำท่าให้ความเคารพฮิตเลอร์ โดยขบวนพาเหรดเริ่มเดินออกจากโรงเรียนออกไปถนนด้านนอกโรงเรียนด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไมจึงต้องรำลึก 35 ปี 6 ตุลา

Posted: 29 Sep 2011 07:18 AM PDT

                  ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ฉบับเต็มนั้นชื่อว่า “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519”  มีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษ ถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ มีการแจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐดังนี้

                 “......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม  2516  เมื่อ มีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน–ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

                ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม  ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป  ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ.............”   

                  ความทรงจำ 6 ตุลา 2519 แทรกพื้นที่ทางการเมืองต่อเนื่องกันมาเป็นระยะๆ เมื่อการรำลึก 6 ตุลามาเยือน  ความพยายามสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่  สวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์หน้าหอประชุมใหญ่  ด้วยเหตุที่อนุสรณ์สถานของสามัญชนคนธรรมดาเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากยิ่ง ขณะที่อนุสรณ์ อนุสาวรีย์ของผู้กดขี่ประชาชนมีดาษดื่น การรำลึกจึงยิ่งสำคัญเป็นทวีคูณ    โครงการกำแพงประวัติศาสตร์สะท้อนความพยายามร่วมกันของคนเดือนตุลาและชาวธรรมศาสตร์ในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้ ด้วยความริเริ่มมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๙  อันเป็นวาระครบรอบ ๒๐ ปี ๖ ตุลา   เมื่อสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นชอบ และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างกำแพงประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

                   โครงการนี้จึงได้ดำเนินมาเป็นลำดับ   โดยมีท่านรองศาสตราจารย์นรนิติ  เศรษฐบุตร อธิการบดีในขณะนั้นร่วมกับ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ อดีตนักกิจกรรมและ ผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา อีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้จุดประกายให้โครงการนี้ได้ปรากฏ   ได้เคยตั้งความหวังว่าอนุสรณ์สถานและประติมากรรม 6 ตุลา จะเตือนใจว่าความขรุขระบนหินรูปเขื่อนสีเลือดเกรอะกรัง ของชิ้นงาน6 ตุลา 2519  ที่สะท้อนด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทย  จะช่วยเตือนสติแก่ทุกคนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต  แต่มันก็เกิดขึ้นซ้ำจนได้ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 และ เมษา พฤษภาปี 2553 ที่ผ่านมา

                   ความหมายสุดท้ายของการรำลึกที่สำคัญ และจะคงความสำคัญไปอีกยาวนาน คือ
                   เราจะต่อต้านเผด็จการกันอย่างไร?
                   เราจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยประชาชนอย่างไร?
                   และเราจะต้องมารำลึกถึงวีรชนคนตายกันอีกกี่ครั้งกี่หน
                   คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม

                   สายลมฝ่ายขวาอาจพัดแรง แต่สายลมแห่งการต่อสู้ก็กำลังกระพือโหม จากตะวันออกสู่ตะวันตก
                   จากเหนือจรดใต้ ประชาชนทั่วโลกกำลังต่อสู้กับระบบ ระบอบเก่าๆ  และร่วมกันปลดแอกสู่สังคมใหม่

                   ทุกๆ ปีเมื่อมีการจัดงานรำลึก งานด้านศิลปะ ดนตรี บทกวี ละคร นาฏลีลาและการแสดงรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นผลิตผลทางวัฒนธรรมที่ผลิดอกออกผลท่ามกลางการต่อสู้ เวทีอาจจะไม่ใหญ่ไม่โต แต่เปี่ยมด้วยพลัง ศรัทธา ความมุ่งมั่นของเหล่านักรบ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่  ที่พร้อมจะแปรเจตนารมณ์ของเหล่าวีรชนให้เป็นจริง....

 

.............................................................................................................

 

 สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา 
ระหว่างวันที่ 1-14 ตุลาคม 2554 

จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) 
โครงการกำแพงประวัติศาสตร์:ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 
และเครือข่ายเดือนตุลา
ร่วมกับ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน(CCP) 
กลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ(TCAD) 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD) 
กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์(LKS) 
กลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย(FMCD) 
--------------

กำหนดการ สัปดาห์รำลึก 35 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยประชาชน
ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

1-14 ตุลา นิทรรศการภาพจิตรกรรมการเมือง 
ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์

2 -9 ตุลา สัปดาห์ “ ตุลารำลึก” 
หนังสือการเมือง และ นิทรรศการหนังสือต้องห้าม

ณ บริเวณ ลานโพธิ์ ติดประตูท่าพระจันทร์ 

วันอังคารที่ 4 ตุลา ณ ลานโพธิ์ 
13.00 น. “ละครแขวนคอ” ชนวนเหตุอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19 

โดย ประกายไฟการละคร

วันพุธที่ 5 ตุลา ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์
14.00 น. - 16.30 น. ละครเวที “ แค้น” โดย กลุ่มละครกุหลาบแดง
16.30 น. - 18.00 น. เสวนา “จากพ่อจารุพงษ์ ถึง แม่น้องเกด”
ดำเนินรายการโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)
18.00 น. - 22.00 น. คอนเสิร์ตรำลึกวีรชนเดือนตุลา 
21.00 น. – 22.00 น. ละคร “อุโมงค์ตึกโดม” โดย ประกายไฟการละคร

วันพฤหัสที่ 6 ตุลา ณ สวนประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่
05.00 น. - 06.00 น. ละครสะท้อนความจริงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลา 2519 “ก่อนอรุณจะร่วง”
                                  โดยประกายไฟการละคร
07.00 น.- 07.30 น. พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 36 รูป 
07.30 น.– 09.00 น. พิธีวางพวงมาลา ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 
                                  และ กล่าวสดุดี โดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ
                                  - กรรมการญาติวีรชน
                                  - ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา
                                  - องค์กรประชาธิปไตย
                                  - อมธ. สภานักศึกษา 
                                  - ตัวแทนองค์กรร่วมจัดงาน ฯลฯ
09.00 น. - 10.00 น. กวี และนาฏลีลา รำลึกวีรชน 6 ตุลา
10.00 น. - 11.30 น. ปาฐกถาพิเศษ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
                                  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 
                                  ณ ห้องจี๊ด คณะนิติศาสตร์ 

11.30 น. - 12.30 น. การแสดง ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
                                  ละครเรื่อง "เก้าอี้"จากกลุ่มประกายไฟ และ Action ของนักศึกษาจากกลุ่มต่างๆ
                                  อ่านบทกวี ร้องเพลง และโปรยดอกกุหลาบ
13.00-14.30           เสวนา  มุมมองของนักศึกษากับเหตุการณ์6ตุลาฯ 
                                  ห้อง จี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
                                 - เสกสรร อานันทศิริเกียรติ 
                                 นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                 - รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ 
                                 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาอังกฤษอเมริกันศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                                 - ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข 
                                 นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14.30-17.00            เสวนาจากนักวิชาการ "จาก19-54 เส้นทางความยุติธรรมของสังคมไทย

(วิทยากรอยู่ในระหว่างติดต่อ)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำงานสังคมสงเคราะห์ ยกไว้ขึ้นหิ้ง: อนาคต “ซูจี” หลังเลือกตั้งพม่า

Posted: 29 Sep 2011 05:57 AM PDT

เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีของเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ร่วมกับ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Alternative ASEAN on Burma (ALTSEAN-Burma) ได้จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ "รัฐบาลใหม่ใต้เสื้อคลุมพลเรือน, ออง ซาน ซูจี : อนาคตเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมพม่า" เมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ ห้อง 301 ชั้น 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Ko Zaw Aung หลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล ทับจุมพล, กรรมการ กรพ. และผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยในช่วงท้ายของการเสวนา สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ได้อภิปรายถึงอนาคตทางการเมืองของออง ซาน ซูจีหลังรัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งเมื่อ 7 พ.ย. 2553 โดยสุภลักษณ์เสนอว่าทหารพม่าพยายามที่จะยกออง ซาน ซูจี “ขึ้นหิ้ง” เป็น “ลูกสาววีรบุรุษแห่งชาติ ทำงานสังคมสงเคราะห์” และอภิปรายเรื่องทิศทางที่กองทัพพม่ามีต่อกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศ โดยประชาไทจะทยอยนำเสนอการอภิปรายทั้งหมดต่อไป ในส่วนการอภิปรายช่วงท้ายของสุภลักษณ์มีรายละเอียดดังนี้

000

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่อนุญาตให้ออง ซาน ซูจี เข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองในฝ่ายบริหารอีกต่อไปแล้ว ซึ่งสถานภาพแบบนี้ ความจริงก็มีไอเดียมากในหมู่คณะทหารว่า ทหารพม่านะ ทหารไทยเล่าให้ฟัง ฟังหูไว้หูละกัน ทหารพม่าถ่ายทอดเรื่องนี้มาผ่านทหารไทย ผ่านรัฐบาลไทยมาถึงหูนักข่าวไทยว่า สิ่งที่เขาต้องการจะเห็นจากออง ซาน ซูจี คือฐานะของลูกสาววีรบุรุษแห่งชาติ ทำงานสังคมสงเคราะห์ ยกไว้ขึ้นหิ้ง นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ

ออง ซาน ซูจี ซึ่งผมเข้าใจว่าในระยะหลังๆ เธอก็ประนีประนอมกับแนวความคิดนี้ไม่น้อย คือออง ซาน ซูจี ดื้อเรารู้ เพราะคนอายุมากกว่าแม่เราดื้อทั้งนั้นแหละ แต่ว่าความดื้อรั้นเช่นว่านั้น อาจจะไม่สามารถ คือเนื่องจากด้วยวัยวุฒิที่ผ่านเลยไปมาก และก็ Back Up ของออง ซาน ซูจีคือพรรค NLD ก็ถูกทำลายมากและไม่เข้มแข็งพอ นี่ไม่นับว่าในกองทัพระบบราชการของพม่าเองมีใครบ้างอยากให้ออง ซาน ซูจี บริหารประเทศ

เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้ แน่ล่ะ ในการคุย 1 ชั่วโมงกับเต็ง เส่ง ผมไม่คิดว่าเขาแค่ยิ้มให้กัน Yes No OK How are you? คงไม่ คงพูดมากกว่านั้น อย่างน้อยที่สุดคงพูดว่า จะ Engage กับบริบทสังคม การเมืองพม่าอย่างไร ถึงจะสมฐานะ และสมศักดิ์ศรี และมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในสังคมเพียงพอ โดยที่ไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้โครงสร้างทางอำนาจของระบอบทหาร หรือระบอบราชการ และ Arrangement ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สภาพที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือการหาดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ของออง ซาน ซูจีกับกลุ่มอำนาจว่าจะทำอย่างไร ซึ่งบทบาทที่อาจจะเป็นไปได้ "Senior Citizen" เป็นยังไง อะไรประมาณนั้น ฟังดูคุ้นๆ แต่ออง ซาน ซูจี อาจจะมีบทบาทมากกว่านั้น เพราะออง ซาน ซูจี มีนานาชาติพยายามจะให้บทบาทออง ซาน ซูจี อย่างน้อยเท่าๆ กัน ถ้าดูสุ้มเสียงคือทุกคนไปพบเต็ง เส่งและออง ซาน ซูจี ขณะที่เมื่อก่อนนี้รัฐบาลพม่าไม่ให้พบออง ซาน ซูจี

เดี๋ยวอีกหน่อยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ก็จะไปพบออง ซาน ซูจีเช่นกัน คงไปขอบคุณที่ออง ซาน ซูจีที่พูดจาสนับสนุนเธอ

แต่นั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าการ Request พบออง ซาน ซูจี เป็นการบอกอย่างหนึ่งว่าทุกคนที่ Engage กับพม่า พยายาม Establish ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมืองให้ออง ซาน ซูจีรับได้ ทั้งในแง่ผู้อยู่ในอำนาจ ตัวออง ซาน ซูจี และสังคมพม่า ว่าจะจัดความสัมพันธ์แบบนี้กันอย่างไร

ต่อสภาพแบบนี้ผมเข้าใจว่าความพยายามที่จะรื้อฟื้นความแข็งแกร่งของพรรค NLD คงไม่มี อาจจะไม่จำเป็น หรือถ้าหากพรรค NLD จะทำในอนาคตอาจจะแยกตัวเองจากออง ซาน ซูจีให้ขาดกันไปเลยว่า การดำเนินงานของพรรค NLD ในฐานะพรรคการเมืองซึ่งก็ประสงค์อำนาจรัฐในที่สุด ก็ต้องดำเนินการเหมือนพรรคการเมืองทั่วๆ ไป ซึ่งมีจำนวนมากในพม่า แต่มีขนาดเล็กมาก นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ผมอาจจะผิด แต่ผมตัดสินในการวิเคราะห์จากสภาพที่เป็นอยู่ หรือออง ซาน ซูจี อาจจะอยากเป็นประธานาธิบดีก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ประธานาธิบดีคนต่อไป ถ้าเต็ง เส่งไม่ลงสมัยที่สอง อาจจะเป็นฉ่วย มาน (ประธานรัฐสภาพม่า) เขาเล็งกันไว้ขนาดนั้นแล้ว หรืออาจจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด นี่ก็จะเป็นการวาง Arrangement ทางอำนาจ เพราะฉะนั้นไม่มีออง ซาน ซูจีในสมการทางอำนาจหลังการเลือกตั้ง

หรือช่วงนี้ไม่มีแน่ หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีไหม ถ้าสมมติว่ามันราบรื่นถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหาของออง ซาน ซูจี

ปัญหาชนกลุ่มน้อย ผมคิดว่าอาจารย์ดุลยภาพ อาจจะลังเลเวลาวิเคราะห์ว่า พวก Hardliner กับพวก Reformer จะจัดการอย่างไร ผมเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้มานานแล้วล่ะคือเป็น Carrot and Stick ตลอดเวลาสำหรับพวกนี้ พวกที่แข็งขืนไม่ยอมวางอาวุธก็เล่นมัน แล้วก็แบ่งแยกพวกที่ยอมวางอาวุธและสวามิภักดิ์ อาจจะใช้สูตรขิ่น ยุ้นต์ แต่มีการวิจารณ์กันมากว่าขิ่น ยุ้นต์โมเดลไม่ทำงานในบางกรณี ในบางกรณีไม่ทำงาน แต่ในแง่การเมืองมันทำงานนะ ทำให้ชนกลุ่มน้อยได้อภิสิทธิ์บางอย่างในโซนของเขา เช่น พวกคะฉิ่น เป็นพวกที่เคยได้ ได้กลุ่มแรกเลย ได้สัมปทาน concession ในกิจการหยกและพลอย พวกว้าเคยได้ ไทใหญ่บางกลุ่มเคยได้ แต่เมื่อสิ้นขิ่น ยุ้นต์ ความคิดที่จะให้พวกนี้อยู่ก็เปลี่ยน คือพวกชนกลุ่มน้อยเมื่อปกครองตัวเองในเขตตัวเอง อย่างเช่นว้า ไม่ยอมพูดภาษาพม่า ไม่ใช้เงินจ๊าต คือพูดภาษาจีน ใช้เงินหยวน คุณคิดว่าในฐานะที่เป็นรัฐคุณยอมได้หรือเปล่า คุณยอมไม่ได้ คะฉิ่นก็เหมือนกันสนิทกับฝั่งจีนกว่าฝั่งพม่าอีก

เพราะฉะนั้น ความพยายามที่จะจัดการเรื่องนี้ อาจจะทำในหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน เราอาจจะมองว่านี่เป็นความแตกแยกในวิธีคิดนายพล แต่นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะ Ultimate Goal ให้ชนกลุ่มน้อยสยบยอม ความคิดความฝันที่จะทำเรื่องเขตปกครองตนเองอาจเหลืออยู่ไม่มากนัก อาจจะเหลืออยู่ในคนรุ่นเก่าๆ หรือพวกที่ได้รับการถ่ายทอดจากศูนย์กลางอำนาจการต่อสู้อาจจะมี แต่ไกลออกไปอาจจะไม่มีก็ได้

สูตรที่ออง ซาน ซูจีเสนอคือปางโหลง 2 ที่มีการนำเสนอช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ๆ ผมก็ดีใจไปกับเขาด้วยนะ ที่เขามีการแอบพบกันระหว่างตัวแทนพรรค NLD กับชนกลุ่มน้อย และออง ซาน ซูจีให้สัมภาษณ์อย่างมีความหวังราวตัวเองชนะการเลือกตั้งมา เสนอการประชุมปางโหลง 2 แต่เรื่องนี้หายไปกับสายลม เข้าใจว่าออง ซาน ซูจียังคงซีเรียสกับเรื่องนี้อยู่ ผมถามนักการทูตหลายคน ที่ไปพบออง ซาน ซูจีก็บอกว่ายังพูดเรื่องนี้ ไอเดียยังมีอยู่ แต่จังหวัดที่จะ Implement อันนี้ ถ้าไม่ได้รับความเห็นดีเห็นงามจากผู้มีอำนาจ ซึ่งผมไม่ได้ยินใครพูดเลย เต็ง เส่งก็ไม่เคยพูด เถ่ง เท (Thein Htay) รัฐมนตรีกระทรวงชายแดนก็ไม่เคยพูดเลยว่าปางโหลง 2 เป็นไปได้ไหม และใครจะเป็นตัวแทนใครในปางโหลง 2 ซึ่งยากในหมู่ชนกลุ่มน้อยด้วยกัน

ถ้าจะให้เดา ผมคิดว่ารัฐบาลจะจัดการกับชนกลุ่มน้อยไปเรื่อยๆ ถ้ายอมวางอาวุธก็กลับเข้าเป็น BGF ถ้าไม่วางอาวุธก็ลุยกัน พอพม่ามีความมั่นใจว่าเขาลุยได้แน่ ซึ่งเขาก็ทำว่าเขาลุยได้แน่ เขาก็จะทำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครส.สั่ง 'เคเอฟซี' รับกลับ 3 ลูกจ้างผู้ริเริ่มตั้งสหภาพ

Posted: 29 Sep 2011 05:39 AM PDT

กรณีอดีตพนักงานเคเอฟซี 3 คนที่ถูกเลิกจ้างหลังรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพและเรียกร้องสวัสดิการให้กับพนักงานระดับล่าง ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อขอให้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างบริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เจ้าของแบรนด์เคเอฟซี กับพนักงานทั้ง 3 คน

ล่าสุด (29 ก.ย.54) กฤษ สรวงอารนันท์ อดีตผู้จัดการเขต (area coach) หนึ่งในสามอดีตพนักงาน ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ครส.ได้วินิจฉัยในเบื้องต้นให้บริษัทยัมฯ รับพนักงานทั้งสามคนกลับเข้าทำงาน เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องเป็นการกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและกระทำถูกต้องตามขั้นตอน โดยหลังจากนี้ ครส.จะทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทเพื่อให้มีสภาพบังคับ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

กฤษ กล่าวด้วยว่า เมื่อทราบผลก็รู้สึกโล่งใจ และจากผลวินิจฉัยนี้ หวังว่าจะทำให้พนักงานรุ่นน้องรู้สึกสบายใจด้วยว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ตามที่ถูกกล่าวหา
 


อดีตพนักงานทอดไก่โชว์ ในวันยื่นหนังสือต่อ ครส.เพื่อขอให้แก้ไขข้อพิพาท
แฟ้มภาพ: จาก http://voicelabour.org/?p=5117

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อุโมงค์ผาเมืองเรื่องจินตนา แก้วขาว

Posted: 29 Sep 2011 02:40 AM PDT

 

คดีของจินตนา แก้วขาว แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูด ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีจากบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนับเป็นตัวอย่างคดีหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูดเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของขบวนการประชาชนจากการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเดิมเคยมีแผนที่จะก่อสร้างในพื้นที่แห่งนี้
 


แฟ้มภาพ: ประชาไท
 

แม้ว่าในขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะยกเลิกไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่มักจะต้องเผชิญกับการดำเนินในทางกฎหมายด้วยข้อหาต่างๆ ในกรณีของกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ่อนอก-หินกรูด จินตนาถูกฟ้องว่าได้ร่วมกับพวกจำนวนหลายคนบุกรุกเข้าไปในบริษัทซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด และร่วมกันใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการโรงไฟฟ้า อันเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกจึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับจินตนา และต่อมาทางอัยการก็ได้ฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล

คดีนี้ได้ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งมีคำพิพากษาที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ
 

คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายเลขแดง 3283/2546
(สรุปสาระและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)

  1. เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเอาไว้ในหมวดที่ 3 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) มาตรา 44 (เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ) มาตรา 46 (สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร) ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ในรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับในอดีต คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อนมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย
     
  2. ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อันมีความหมายว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลจะนำพยานหลักฐานใดมาฟังลงโทษจำเลยได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานนั้นไม่มีข้อตำหนิ ข้อบกพร่อง
     
  3. ในการวินิจฉัยของศาลได้ให้เหตุผลว่าพยานโจทก์บางส่วนมีคดีความกับคุณจินตนา และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาล ทำให้คำเบิกความขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้การเบิกความของพยานโจทก์ก็ขัดกัน บางส่วนเห็นคุณจินตนาเป็นผู้นำกลุ่มคัดค้านเข้ามาในบริเวณงานแล้วไปยืนบงการให้มีการเทของเสีย แต่บางส่วนของพยานก็ให้ปากคำว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้คัดค้านเอง ไม่ได้มีการสั่งจากจำเลย
     
  4. เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์โดยเฉพาะพยานบุคคลล้วนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องโดยเป็นพนักงานหรือมีผลประโยชน์ในทางอื่น เช่น เป็นผู้รับจ้างมาจัดอาหารในงานเลี้ยง
     
  5. การพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จึงต้องใช้ความระมัดระวังและเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วก็เกิดข้อสงสัยว่าพยานดังกล่าวถูกปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายจำเลยหรือไม่
     
  6. ศาลได้ตัดสินว่าพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หมายเลขแดงที่ 2355/2548
(สรุปสาระและเรียบเรียงโดยผู้เขียน)

  1. คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัทหรือไม่
     
  2. พยานโจทก์เบิกความว่าขณะที่พยานกำลังจัดเตรียมอาหารและตั้งโต๊ะเพื่อเลี้ยงแขกที่จะมาร่วมงาน จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดได้เดินนำพวกของจำเลยอีกหลายสิบคนเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุที่มีการตั้งเวทีดนตรีและโต๊ะอาหาร เมื่อจำเลยกับพวกเดินไปถึงบริเวณโต๊ะอาหาร จำเลยพูดว่าพวกเราเอาน้ำปลาวาฬใส่เลยพร้อมกับชี้นิ้วไปบริเวณโต๊ะ หลังจากนั้นพวกของจำเลยก็ได้เทน้ำปลาวาฬและขว้างปาสิ่งปฏิกูลในบริเวณงานเลี้ยง
     
  3. มีพยานจำนวน 4 คน ให้ปากคำในชั้นสอบสวนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเห็นจำเลยเป็นผู้สั่งการ แต่ในชั้นศาลกลับเบิกความแตกต่างไป บางคนเห็นว่าเดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ชี้นิ้วหรือพูดอะไร บางคนเห็นว่าจำเลยไม่ได้สั่ง
     
  4. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยาน 4 คน จะเบิกความแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวน “ก็อาจเนื่องจากพยานโจทก์เหล่านี้เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลย หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นจากความผิด” ซึ่งเมื่อได้พิจารณาคำให้การของจำเลยทั้ง 4 คนแล้วเห็นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นๆ จึงเชื่อว่าทั้ง 4 คน “ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นพิจารณา”
     
  5. อีกทั้งพยานโจทก์เหล่านี้ก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งบางคนก็ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำให้ร้ายจำเลย
     
  6. ที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้เข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุก็คงมีเฉพาะตัวจำเลยเบิกความลอยๆ เป็นพยานปากเดียว จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนในข้อนี้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุมีพวกของจำเลยอยู่ด้วย พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
     
  7. ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกอีกหลายคนได้เข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นของผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับพวกใช้ของเน่าเสียและสิ่งปฏิกูลขว้างปาใส่เวทีแสดงดนตรี โต๊ะอาหาร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน

จะเห็นได้ว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีการให้ความสำคัญและการให้ความหมายต่อข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป อย่างน้อยในประเด็นดังต่อไปนี้ ประการแรก สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง ความน่าเชื่อถือของพยาน ประการที่สาม การให้ปากคำในชั้นศาลกับชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนำมาซึ่งผลของการตัดสินที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะวินิจฉัยและมีคำพิพากษาไปในลักษณะเช่นใด ระหว่างการลงโทษตามศาลอุทธรณ์หรือยกฟ้องตามศาลชั้นต้น แต่ก็จะเป็นคดีที่เป็นบทเรียนอย่างสำคัญทั้งกับกระบวนการยุติธรรมและการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในสังคมไทย

 

 


หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 29 ก.ย.2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้ามนักศึกษาแสดงงานศิลปะ-อ้างแต่งครุยทำให้สถาบันเสียชื่อ

Posted: 29 Sep 2011 01:52 AM PDT

นักศึกษา มช. แต่งชุดครุยพร้อมล่ามโซ่แบกแท่งปูนร่วมแสดงผลงานในเทศกาล "madfiFESTO 2011" หวังตั้งคำถามเรื่องความดีและระบบการศึกษา แต่ไม่สามารถเข้าไปแสดงผลงานได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ รปภ. มหาวิทยาลัยห้ามเข้าหลัง ว. ไปสอบถามผู้บริหาร โดยให้เหตุผลว่าทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียงและครุยเป็นของสูง

ตามที่มีการจัดงานเทศกาล madiFESTO 2011 นิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อ/ศิลปะ/วัฒนธรรมในมิติที่สัมพันธ์ กับประเด็นสาธารณะและเรื่องราวในสังคม ซึ่งเริ่มเปิดงานตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. จัดโดยสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

นอกจากในงานจะมีกิจกรรม "ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) นำโดยนายมิตร ใจอินทร์ รณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่ประชาไทนำเสนอไปแล้วนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้ [1] | [2] | [3])

ล่าสุดมีรายงานว่า มีผลงานแสดงโครงการหนึ่งซึ่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้จัด แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 4 วัน และเหลือเวลาวันสุดท้ายสำหรับโครงการในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (30 ก.ย.)

นายกีรติ กุสาวดี นักศึกษาผู้จัดแสดงผลงาน "Be good ลองดี" หนึ่งในผลงานจัดแสดงในเทศกาล madiFESTO 2011 ถูกเจ้าหน้าที่ รปภ. ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบถาม พร้อมห้ามนายกีรติเข้าไปในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เหตุผลว่าการแต่งชุดครุยดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง (ที่มาของภาพ: นพ)

 

โดยผลงานของนายกีรติ กุสาวดี นักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ซึ่งได้จัดแสดงผลงาน "Be good ลองดี" ด้วยการแต่งกายด้วยชุดครุย พันธนาการตัวเองด้วยโซ่ซึ่งผูกติดกับแท่งปูน พร้อมลากรถเข็น เพื่อตั้งคำถามกับระบบการศึกษา และคุณค่าของ "ความดี" โดยนายกีรติได้พยายามตั้งแต่วันเปิดเทศกาลวันแรกคือวันที่ 26 ก.ย. ด้วยการจะเดินเท้าจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินทร์ ไปยังอาคารสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้เขาผ่านประตูมหาวิทยาลัยเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงงานได้

โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายกีรติพยายามเดินเท้าจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งสวนสัก ทางประตู ปตท. ถนนคันคลองชลประทาน แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญาต

และในวันนี้ (29 ก.ย.) นายกีรติพยายามเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่่ยนเป็นประตูด้าน ถ.ห้วยแก้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเดินผ่านข้างมหาวิทยาลัยด้านประตู ปตท. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกลุ่มเดิมก็เข้ามาห้ามเช่นเคย โดยคราวนี้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 6 คนเข้ามาล้อมนายกีรติ พร้อมบันทึกภาพ โดยหลังจากการวิทยุไปถามผู้บริหารมหา่วิทยาลัย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้บอกกับนายกีรติด้วยว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง และชุดครุยเป็นของสูง พร้อมไม่อนุญาตให้นายกีรติเข้าไปยังอาคาร อมช. ซึ่งเป็นสถานที่แสดงผลงาน

นายกีรติกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า ผลงานของเขาไม่ใช่การแสดง (Performance) แต่เขาถือว่าเป็นการใช้ชีวิต โดยโครงการของเขาต้องการค้นหาความหมายของ "ความดี" ที่คนในสังคมยึดถือ

ที่มา: ภาพจากสูจิบัตรโครงการ

โดยในสูจิบัตรโครงการ ดังกล่าวระบุที่มาของโครงการว่า "มหาวิทยาลัย สอนให้เราเป็นคนมีความรู้และความดีไปคู่กัน เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วนั้น บัณฑิตทุกคน ได้มีความรู้ติดตัวออกไปประกอบวิชาชีพ แต่ว่าความดีที่ทางสถาบันได้ปลูกฝังให้กับเหล่าบัณฑิตไม่มีเกณฑ์ใดวัดได้ว่า "ความดี" นั้นคืออะไร และแบบไหนเรียกว่า "ความดี" การทดลองใช้ชีวิตอยู่ในจุดศูนย์กลางของมหาลัย และคิดไตร่ตรองถึงเรื่องความดี ตลอดเวลา อาจจะทำให้สามารถหาคำตอบได้ว่า "ความดี" ที่ว่านั้นคืออะไร ถึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดแต่อย่างน้อยก็เป็นคำตอบในแง่มุมหนึ่ง"

โดยนายกีรติเหลือเวลาแสดงผลงานในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) เป็นวันสุดท้าย โดยคาดว่าเขาจะพยายามเดินทางเข้าไปในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก เพื่อแสดงผลงานที่อาคาร อมช. ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงโครงการของเขา

สำหรับเทศกาล madiFESTO 2011 ดังกล่าวจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อชื่อ “FALL” กิจกรรมในงานมีตั้งแต่การจัดแสดงงานศิลปะ ฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม และในพื้นที่สาธารณะต่างๆ หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่

สำหรับเทศกาล madiFESTO ดังกล่าว นอกจากที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ยังมีการจัดโครงการในหลายพื้นที่ทั่วเมืองเชียงใหม่ โดยแบ่งส่วนจัดแสดง 3 ส่วน ส่วนแรก FALL01 จะจัดระหว่างวันที่ 26 - 30 ก.ย. นี้ ส่วน FALL02 จะจัดระหว่างวันที่ 20 ก.ย. - 3 ต.ค. และ FALL03 จัดระหว่างวันที่ 27 ก.ย. - 3 ต.ค. โดยรายละเอียดของกำหนดการ และสถานที่สามารถชมได้ในเว็บของ madiFESTO

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: ถ้าคุณแน่อย่าแพ้ปี 4

Posted: 29 Sep 2011 12:46 AM PDT

 

 

เห็นคุณสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ, อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ อ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียงหน้าออกมาโต้นิติราษฎร์แล้ว ก็รู้สึกครั่นคร้ามอยู่ไม่น้อย อะโห แต่ละท่านมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีวิชามีสถาบัน ผมมันเรียนไม่จบปริญญา อย่าว่าแต่ไม่จบนิติศาสตร์ ปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 ยังไม่จบกะเขาเลย จะแสดงความเห็นดีหรือเปล่าหนอ

แต่ก็พอดี๊มี อ.พนัส ทัศนียานนท์, คุณกฤติกร วงศ์สว่างพานิช และคุณพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล จัดให้คนละดอก ผมก็เลยโล่งอก ขอเป็นผู้ตาม แบบไม่ต้องตอกย้ำประเด็นกฎหมายมากนัก เอาประเด็นแบบบ้านๆ ก็แล้วกัน

สำหรับ อ.พนัสเนี่ยยกให้เลย นอกจากเป็นอดีตคณบดีนิติ มธ. สมัยเป็น สว.เลือกตั้ง ท่านยังเป็นคู่ซี้ อ.แก้วสรร วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ แต่ท่านมีหลักมีเกณฑ์ ยึดมั่นประชาธิปไตย เป็นผู้ใหญ่ที่ควรคารวะ (อ.แก้วสรรคงไม่ว่าท่านรับจ๊อบ)

แต่คุณกฤติกรบอกเองว่าไม่ใช่นักกฎหมาย ส่วนคุณพุฒิพงศ์ ยังเป็นนักศึกษากฎหมาย ถามไปถามมาได้ยินว่ายังเรียนปี 4

คริคริ เด็กสมัยนี้สุดยอดเลย ถ้าไม่บอกเป็นนักศึกษาผมคงเรียก อ.พุฒิพงศ์ไปแล้ว นิติราษฎร์ยังไม่ต้องโต้ซักคำ เอ้า สมคิด-กิตติศักดิ์กดคำตอบแข่งเด็กปี 4 หน่อย....กริ๊ง

รอฟังอยู่นะครับ รอฟัง ท่านอธิการบดีเขียนอะไรอีกหน่อย อย่าปล่อยให้ผมเชื่อ อ.พุฒิพงศ์มากกว่า

หน้าหอรัฐประหาร

ในบรรดาท่านที่เอ่ยนาม คุณสักน่าสงสารที่สุด เพราะไม่ยักมีใครโต้แกเลย ทั้งที่อุตส่าห์แถลงในนามนายกสภาทนายความ (อ้าว เหรอ นึกว่าแกโต้ในนามอดีต คตส.) ซึ่งน่าจะตีความแบบบ้านๆ ได้ว่า สภาทนายความที่มีสมาชิก 5 หมื่นคน การันตีคำแถลงคุณสัก ไม่ใช่แค่ความเห็นของแกคนเดียว แต่ทนายทั้งประเทศร่วมหัวจมน้ำด้วย

ส่วนตัวผมชอบคุณสัก เคยสัมภาษณ์แก 2 ครั้ง (มั้ง) แถมตอนเป็น คตส.แกยังจัดงานราตรีใบตองแห้ง โดยบอกว่าสาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะอ่านเจอคอลัมน์ว่ายทวนน้ำในไทยโพสต์ นั่นแปลว่าแกก็อ่านที่ผมเขียนอยู่เหมือนกัน และเท่าที่ติดตามบทบาทมาตลอด ผมเชื่อว่าแกเป็นพวกปากกับใจไม่ตรงกัน อ้าว! ไม่ใช่ด่า คือพวกที่สนับสนุนและร่วมมือกับรัฐประหารมีจำนวนไม่น้อย ที่ใจจริงรักประชาธิปไตย แต่เลือกข้างไปแล้ว ก็จำเป็นต้องตะแบง ปากอย่างใจอย่าง

ฉะนั้นด้วยความสงสารคุณสัก ผมก็ต้องเริ่มด้วยการแสดงความเห็นใจแกซักหน่อย ว่าสาเหตุประการสำคัญที่ไม่มีใครเขาโต้คุณสัก เพราะแกซื่อมาก ไม่เนียนเหมือนคนอื่นๆ

แค่ลงท้ายว่า “การโกงบ้านโกงเมืองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่ารัฐประหาร ที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคน และกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ประชาชนให้การรับรอง”

แค่นั้นคุณสักก็พาสภาทนายความที่มีสมาชิก 5 หมื่นคนลงน้ำไปเรียบร้อยแล้ว มิพักต้องไปโต้แย้งอะไรมาก

คนอื่นๆ ที่ตอบโต้เขายังเนียนกว่าคุณสัก คือไม่กล้ายอมรับตรงๆ ว่าสนับสนุนรัฐประหาร (มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคน แต่ล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชนเนี่ยนะ) เขาเลี่ยงฮุ้นไปโต้ประเด็นอื่น เช่นคำพิพากษาลบล้างไม่ได้ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ตั้งโดย คมช.ฯลฯ เขาไม่ “ซื่อ” เหมือนคุณสักหรอก

ร้ายกว่านั้น คุณสักยังลงท้ายให้ประชาชนติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ พูดยังกะนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ตอนต้นคุณสักบอกว่าจะ “แสดงความเห็นทางกฎหมาย”

“ความเห็นทางกฎหมาย” ของคุณสักตั้งแต่ข้อ 1-7 ผมอ่านแล้วเหนื่อยใจ นี่ถ้าผมโดนคดีอะไรซักอย่าง คงไม่กล้าขอคุณสักเป็นทนาย เพราะคุณสักตีความไม่แตก แย้งไม่ตรงประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (แกล้ง?) ไม่เข้าใจว่านิติราษฎร์เสนอให้ “เสียเปล่า” เฉพาะประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19-30 ก.ย.2549 และรัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 36,37 คุณสักกลับไปพูดเหมือนไม่ใช่นักกฎหมายว่ารัฐบาล รัฐสภาปัจจุบัน ต่างมีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากรัฐประหารทั้งสิ้นไม่ควรให้สิ้นผล

คุณสักสอบตกทั้งสำนวนภาษาและการจับประเด็น เพราะข้อ 1 ขึ้นต้นมาบอกว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง” แต่ต่อมาก็บอกว่า “การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน” (อะไรคือเช่นเดียวกัน) จากนั้นก็บอกว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร”

ตกลงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื้อความขัดแย้งกันเอง (กระทั่งมาชัดเจนในข้อ 7)

ข้อ 1 บอกว่ารัฐประหารทำให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดถึง 17 ครั้ง แต่พอข้อ 6 คุณสักกลับบอกว่า
“ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใด เพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา”

แปลว่าอะไร แปลว่าคุณสักไม่ใช่แค่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2549 แต่เห็นว่ารัฐประหาร 17 ครั้งจำเป็น เพราะนักการเมือง(บางคน)ทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างนั้นหรือ

ข้อเดียวกันคุณสักยังต่อท้ายว่า “พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่นทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา”

มึนตึ้บ ผมไม่เข้าใจ คุณสักเอามาต่อท้ายข้อนี้ทำไม เนื้อความไม่เกี่ยวกันเลยกับเรื่องรัฐประหาร-ประชาธิปไตย ถ้าจะเอาไปต่อท้ายข้อ 3 ที่คุณสักคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ยังพอเข้าใจได้

เอ๊ะ หรือว่าคุณสักจะอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาสนับสนุนรัฐประหาร หรืออ้างว่ารัฐประหารทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็อ้างอย่างก้ำๆ กึ่งๆ ยังไงไม่รู้ ไม่เข้าใจตุ้ม

ผมยังงงอยู่ว่าคุณสักแกเขียนเองหรือใช้ทนายฝึกหัดตัดแปะ แต่สรุปได้ว่าคำแถลงนี้นอกจากเลอะเทอะทางความคิดอุดมการณ์แล้ว ยังสอบตกเรื่องการทำสำนวน การใช้ภาษา การเรียงลำดับ สับสนไปมา

บอกแล้วว่าถ้าผมโดนคดีคงไม่กล้าขอสภาทนายความ ฉะนั้น ฝากเตือน คปค.ด้วย ถ้าถูกลากคอขึ้นศาล อย่าเอาสภาทนายความแก้ต่างให้เชียว มีหวังติดคุกหัวโต

ย้อนกลับไปที่ข้อ 2 ความจริงข้อนี้ข้อเดียวคุณสักก็จบเห่แล้ว เพราะเป็นการ defend คตส.โดยนายกสภาทนายความ รอบหน้าท่านคงไปแถลงในฐานะ ส.ว.ลากตั้ง ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าท่านเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ถ้าจะตอบโต้ก็ควรประชุมอดีต คตส.แล้วให้คุณหญิงจารุวรรณนั่งหัวโต๊ะตอบโต้ไปเลย ไม่มีใครเขาว่าหรอก

ยังดีกว่าแอบไปใช้องค์กรโน้นองค์กรนี้

คำแถลงข้อ 3 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะกระแสปัจจุบัน แม้แต่ คอป.ก็ยังเห็นว่ามาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ (ไม่อยากอ้างวิกิลีกส์ ที่ว่าในหลวงทรงเตือนอภิสิทธิ์เรื่องการใช้ ม.112) แต่สภาทนายความกลับแสดงความเห็นสุดโข่งล้านปีแสง เหมือน ผบ.ทบ.กับพวกสลิ่มในเว็บบอร์ดเสรีไทย

คือถ้าท่านเป็นสมาคมฌาปนกิจอะไรซักอย่าง จะแถลงอย่างนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมว่า “สภาทนายความพึงเป็นสถาบันของสังคมในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สภาทนายความเป็นแถวหน้าของผู้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยมและผลักดันให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” อย่างที่พวกทนายเด็กๆ เข้าชื่อถอนหงอกเขาพูดไว้ หรือสภาทนายความจะเห็นว่าการดำเนินคดีแบบใครก็แจ้งความได้ ใครเป็นผู้ต้องหาไม่มีสิทธิประกัน ขังลืมไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน มีโทษหนักเกินสมควรแก่เหตุ และปิดกั้นสิทธิประชาธิปไตยในการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว

แต่อย่างว่า สภาทนายที่ควรส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียกร้อง ม.7 และเข้าไปร่วมมือกับรัฐประหาร จะเป็นเดชอุดม ไกรฤทธิ์, สัก กอแสงเรือง หรือเสรื สุวรรณภานนท์ ก็ไม่ต่างกัน นี่มันยุคอะไรของสภาทนายความ


ศาลนาซีกับตุลาการภิวัตน์

ในบรรดาผู้ออกมาโต้แย้งนิติราษฎร์ รายที่น่าฟังเห็นจะเป็นกิตติศักดิ์ ปรกติ สาเหตุเพราะ หนึ่ง กิตติศักดิ์ (คนรุ่น 6 ตุลาเพื่อนผม) โต้แย้งในประเด็นกฎหมาย และสอง กิตติศักดิ์ไม่เคยรับตำแหน่งใดๆ ในรัฐประหารหรือในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้เป็น คตส.ไม่ได้เป็น ส.ส.ร.และไม่ได้เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แม้จะเป็นกระบอกเสียงให้ตุลาการภิวัตน์ตลอดมา (โฆษกศาลประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

กิตติศักดิ์เลี่ยงไม่โต้เรื่องการลบล้างนิรโทษกรรมรัฐประหาร หรือลบล้างประกาศ คปค.แถมยังขึ้นต้นอย่างนุ่มนวลว่าขอคารวะนิติราษฎร์ที่กล้าคิดกล้าแสดงความเห็น (คุณสักไม่รู้จักเนียนแบบนี้มั่ง) กิตติศักดิ์เลือกโต้เรื่องการลบล้างคำพิพากษา 2 ประเด็นหลักๆ คือ โต้ว่ากรณีที่นิติราษฎร์ยกเรื่องลบล้างคำพิพากษาในยุคนาซีของเยอรมนีและฝรั่งเศสนั้น นำมาเทียบกับศาลไทยไม่ได้ ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซี ซึ่งฟังดูเหมือนมีน้ำหนักในสายตาคนทั่วไป แต่กรณีนี้ต้องแยกว่า หนึ่ง นิติราษฎร์ก็ไม่ได้บอกว่าเหมือนกัน เพียงแต่นิติราษฎร์ชี้ให้เห็นว่าการลบล้างคำพิพากษาให้เสียเปล่านั้น เป็นไปได้ในหลักกฎหมาย ไม่ใช่จะต้องยึดถือคำพิพากษาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลบล้างไม่ได้ ซึ่งนิติราษฎร์ไม่ได้ยกตัวอย่างแค่เยอรมนี ฝรั่งเศส แต่รวมถึงตุรกี ที่มีการรื้อฟื้นเอาผิดรัฐประหาร

ในหลักกฎหมาย คำพิพากษาจึงลบล้างได้ แล้วจึงค่อยมาเทียบเคียงกับกรณีของเราอีกครั้ง

สอง ในกรณีของเรา ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซีก็จริง แต่ตุลาการมีส่วนร่วมกับการรัฐประหารอย่างผิดสังเกต ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐประหาร 17 ครั้งของการเมืองไทย ตุลาการเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็น คตส. สนช. ส.ส.ร.ซึ่งก็ร่างรัฐธรรมนูญให้ตุลาการเข้ามาฮุบองค์กรอิสระ กระทั่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ คำพิพากษาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่ได้รับความเชื่อถือ

คำพิพากษาเหล่านี้ควรถูกลบล้าง และเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่

ประเด็นนี้ผมอาจพูดล้ำไปในข้อเท็จจริงมากกว่าข้อกฎหมาย เพราะข้อกฎหมาย อ.กฤติกรกับ อ.พุฒิพงศ์ตอบโต้ไว้แล้ว อ.พุฒิพงศ์เขียนชัดเจนว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองต้องยึดสำนวนของ ป.ป.ช. (กรณีนี้ คตส.ทำหน้าที่แทน ป.ป.ช.)เป็นหลัก โดยผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีทัศนะว่า ป.ป.ช.(คตส.) มีสถานะเหมือน “ศาลไต่สวน” เราจะใช้ความเข้าใจทั่วไปว่า คตส.เป็นเหมือนตำรวจหรืออัยการในคดีอาญาปกติไม่ได้ (ไม่ใช่ตำรวจกับศาลอย่างที่สมคิดยกตัวอย่าง)

คตส.เป็นศาลไต่สวน แล้วศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองเป็นศาลตัดสิน ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซีก็จริง แต่ที่มาและความชอบธรรมของ คตส.ส่งผลต่อคำพิพากษาสูงกว่าคดีอาญาปกติอย่างมาก ซึ่งเมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่เด็กอมมือก็ดูออก ว่าตุลาการภิวัตน์ร่วมมือกับรัฐประหารอย่างไร

คำพิพากษาเหล่านี้ควรถูกลบล้างและเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่

ถามกิตติศักดิ์อีกที ถ้าในปี 2524 มีนักวิชาการนิติศาสตร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 6 ตุลา ลบล้างนิรโทษกรรมคนที่เข่นฆ่าเพื่อนเรา ลบล้างคำพิพากษาที่อ้างประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน กิตติศักดิ์จะเห็นด้วยหรือไม่

ประเด็นที่สองที่กิตติศักดิ์โต้แย้งคือ อ้างว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนลบล้างคำพิพากษาไม่ได้ โดยหลังจากทำหน้าที่โฆษกศาลยกย่องสดุดีผู้พิพากษาจนไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาที่มีกิเลสตัณหาอย่างพวกเราแล้ว กิตติศักดิ์ก็ยกตัวอย่างคดีเพอรรี vs คนเหล็กอาร์โนลด์ ชวาเซนเนกเกอร์ (ตอนเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย) ซึ่งศาลสูงสุดพิพากษาว่า การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียห้ามพวกรักร่วมเพศแต่งงานกันนั้น ขัดต่อหลักความเสมอภาคและรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยกิตติศักดิ์ชี้ว่า ศาลตัดสินขัดต่อมติมหาชน แต่เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยก็ชี้ถูกชี้ผิดได้

อ.กฤติกรวิจารณ์ว่า อ.กิตติศักดิ์เทียบเคียงผิดฝาผิดตัว ใช่เลยครับ ศาลสูงสุดของอเมริกาพิพากษาเช่นนั้นก็เพื่อปกป้องหลักความเสมอภาค ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ปกป้องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย ชายกับชาย หญิงกับหญิง เขาจะแต่งงานกันมันหนักหัวใคร นี่คือสิทธิที่จะเอาเสียงข้างมากหรืออำนาจใดๆ มาลิดรอนไม่ได้

ศาลตัดสินขัดต่อมติมหาชนก็จริง แต่ยังอิงรัฐธรรมนูญ อิงหลักการประชาธิปไตย ซึ่งตรงกันข้าม ถ้าเรามองศาลไทยบ้าง เหตุใดศาลไทยจึงยอมรับรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยอมรับประกาศรัฐประหารเป็นกฎหมาย และเหตุใดศาลไทยจึงไม่ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ยึดหลักการประชาธิปไตย หรือหลักนิติรัฐ โต้แย้งอำนาจรัฐประหาร ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้มาจากการใช้กำลัง แย่ยิ่งกว่า “กฎหมู่” ของเสียงข้างมากอย่างที่กิตติศักดิ์อ้างเสียอีก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย เหตุใดตุลาการเสียงข้างมากจึงยอมรับเอาประกาศ คปค.มาลงโทษ 111 กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง ทั้งที่ขัดต่อหลักกฎหมายไม่ให้มีผลย้อนหลังในกรณีที่เป็นโทษ

เรื่องนี้ผมจำได้ว่า อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็เคยไม่เห็นด้วยกับตุลาการรัฐธรรมนูญ (ฉะนั้นที่สมคิดอ้างว่าปริญญาก็ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ต้องแยกแยะดีๆ นะครับ)

ตัวอย่างที่กิตติศักดิ์ยกมาจึงเทียบเคียงได้ในกรณีที่เป็นการลงประชามติขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติรัฐ ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย สมมติเช่น ลงประชามตินิรโทษกรรมทักษิณ นี่ทำไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าเป็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่พร้อมบัญญัติหมวดว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ลบล้างประกาศ คปค.ที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ และคำพิพากษาที่เป็นผลพวง กรณีนี่ทำได้แน่นอน


อาจารย์กับเด็ก

คราวนี้มาว่าถึงกรณีของ ด.ช.สมคิด ซึ่งเขียนคำถามมา 15 ข้อ อ.วรเจตน์บอกว่ามีประเด็นกฎหมายให้ตอบข้อเดียวคือข้อแรก

ข้อเดียวจริงๆ นอกนั้นเป็นการกระแนะกระแหน เหมือนเด็กพาโล หวงของเล่นของตัวเอง

ข้อแรก วรเจตน์โต้ไปแล้ว ข้อสอง สมศักดิ์ เจียมฯ โต้ซะหงายไปแล้ว ข้ออื่นๆ ก็กวนซะมากกว่าใช้หลักกฎหมาย เช่นคดีซุกหุ้น สมคิดก็รู้ไม่ใช่หรือว่า วรเจตน์ก็วิพากษ์วิจารณ์มาด้วยกัน สมคิดเป็นนักกฎหมายมหาชนระดับศาสตราจารย์ ทำไมต้องทำเป็นไม่เข้าใจเจตนาของนิติราษฎร์ว่าการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น จะลบล้างสิ่งที่รัฐบาลสุรยุทธ์ทำไปทั้งหมดไม่ได้ ลบล้างกฎหมายที่ สนช.ออกไปทั้งหมดไม่ได้ และถ้าจะลบล้างรัฐประหารย้อนหลังไปอีกก็ทำได้ แต่ต้องแยกแยะทีละประเด็นเพราะเหตุการณ์มันผ่านมานานแล้ว ผลกระทบต่อสังคมและประชาชนมีกว้างขวาง (แต่ถ้าจะลบล้างทีละประเด็นได้ เช่นรื้อฟื้นการสอบสวนเหตุการณ์ 6 ตุลา)

ที่น่าเกลียดมากคือสมคิดตั้งคำถามเรื่องลงโทษคณะรัฐประหาร โดยยกสุจินดา ถนอม ประภาส สฤษฏ์ จอมพล ป. แล้วลงท้ายด้วย อ.ปรีดี ผู้ก่อการปฏิวัติประชาธิปไตย ขอย้อนถามว่านี่หรือคือจิตสำนึกของคนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณเอาผู้ประศาสน์การซึ่งก่อการปฏิวัติยึดอำนาจอธิปไตยมาให้ปวงชนชาวไทย ไปเปรียบกับผู้ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชน

นี่หรือคืออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมคิดออกอาการปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่าง อย่างมีอารมณ์มากกว่าสาระ อ้างประชามติ (ซึ่งนิติราษฎร์ชี้แล้วว่าจอมปลอม ไม่มีตัวเปรียบเทียบ) อ้างบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ (สิทธิเสรีภาพกับผีอะไร ตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพมากที่สุด) แต่ไม่ยักเอาบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไปใช้กับมาตรา 112 (กวนซะอีกว่าถ้า 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 50 แล้วจะยกเลิก 50 ทำไม ความจริงนิติราษฎร์ชี้แล้วว่าขัดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 ที่บัญญัติหลักความสมควรแก่เหตุไว้)

ลงท้าย สมคิดก็ยังตีรวนไม่ให้วรเจตน์เข้าไปเป็น ส.ส.ร.อ้างเลอะเทอะว่าถ้า คมช.เลว ส.ส.ร.ชุดที่แล้วเล้ว รธน.2550 เลว รัฐบาลก็ต้องเลวด้วย

รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกลไกประชาธิปไตยครับ ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญเลวฉบับไหนก็จำใจต้องให้มีการเลือกตั้ง ส่วนที่เลวคือมันตั้งกลไกสกัดขัดขวาง บิดเบือนล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน แล้ว ส.ส.ร.ชุดนี้ถ้าจะมี รัฐบาลก็ประกาศไว้แล้วว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ร่วมกับการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ชอบธรรมกว่ารัฐประหาร

ตอนรัฐประหารไร้ความชอบธรรมกว่านี้ สมคิดยังอ้างว่า ในฐานะที่เรียนและสอนเรื่องรัฐธรรมนูญตลอดมา เมื่อถึงเวลาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าร่วมเพื่อให้เนื้อหาออกมาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ตอนนี้ สมคิดตีกันวรเจตน์เฉยเลย

อ.พุฒิพงศ์จึงบอกว่าไม่แปลกใจเลยที่รัฐธรรมนูญ 50 ร่างได้ห่วยแตก มักง่าย เมื่อได้เห็นวิธีการตั้งคำถามและมองประเด็นของสมคิด ซึ่งไม่ได้ใช้สติปัญญาทางวิชาชีพ พร้อมกับเรียกร้องความกล้าหาญให้อธิบายเป็นเนื้อความ

ในเฟซบุ๊กซึ่งสมคิดลากอาจารย์อีกหลายคนให้ก้นร้อนไปด้วย (อาจารย์เหล่านี้จำต้องเขียนความเห็นนะครับ ไม่เขียนก็จะถูกสังคมมองว่าไม่กล้าหาญ) ผมชอบใจความเห็นของนักศึกษา 3 คนที่เรียกร้องให้ผู้ไม่เห็นด้วยแสดงความเห็นทางวิชาการ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดอ่านน่าเลื่อมใสเพียงไร

“Bird Jakkit ด้วยความเคารพต่ออาจารย์นะครับ ผมมองว่า การที่กลุ่มนิติราษฎร์กล้าเสนอข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นความกล้าทางวิชาการอย่างมาก แล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตรงไหน

มันสำคัญอยู่ที่ว่าการเป็นนักกฎหมายเราจะต้องยึดมั่นในหลักวิชาที่เราเรียนมา การที่อาจารย์คณะเราคนอื่นซึ่งไม่เห็นด้วยไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด แต่ที่ไม่เห็นด้วยจะต้องบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร ตัวคำอธิบายหรือหลักการที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอมามีปัญหาในทางวิธีคิดอย่างไร หรือมีการบิดเบือนในทางกฎหมายอย่างไร

การบอกว่าไม่เห็นด้วยไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือการให้เหตุผลประกอบที่มีน้ำหนักในทางวิชาการ การที่จะวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนิติราษฎร์ ผมว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ที่สารัตถะของข้อเสนอ ไม่ใช่เอาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งของนักกฎหมายคือการโต้เถียงกันในทางเหตุผลเพื่อให้เกิดผลในทางสติปัญญาไม่ใช่หรือครับ

Natpakhan Latcharojana ผมอยากรู้จังเลยครับอาจารย์ ว่า อ.สุรศักดิ์ อ.เอกบุญ อ.อุดม อ.สุรพล อ.วิจิตรา อ.ไพโรจน์ อ.กิตติพงศ์ อ.ทวีเกียรติ อ.สมเกียรติ อ.วีรวัฒน์ อ.กิตติศักดิ์ อ.ปริญญา…..ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ ท่านอาจารย์เหล่านี้มีเหตุผลทางกฎหมายอย่างไร ?

Wanut Kosasu ผมว่านะครับ ความจริงถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหรือการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ ผมคิดว่า อาจารย์ก็น่าจะออกมาแสดงความเห็นทางวิชาการบ้าง ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักในช่วง 4-5 ปีหลังการรัฐประหารนี้นะครับ (อันนี้ผมหมายถึงเฉพาะการที่นักวิชาการทากฎหมายซึ่งมีความเห็นต่างกันจะมาถกกันเอง)

ตรงนี้ผมมองว่า ถ้าผมเป็นอาจารย์ผมคงไม่มาคอยห่วงหรือพะวงเรื่องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรอกครับ จริงอยู่การที่อาจารย์เป็นอธิการบดีอาจทำให้ภาพลักษณ์ถูกโยงไปที่เรื่องของการเคลื่อนไหวของธรรมศาสตร์ทั้งมหาวิทยาลัย แต่ในเมื่อเรายึดถือสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง แล้วทำไมจะต้องเอากรอบอย่างอื่นมาเป็นที่ตั้งเพื่อขัดขวางการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นการกระทำที่สุจริตด้วยล่ะครับ

คำกล่าวที่ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" มันมีข้อยกเว้นว่าเพราะเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เสรีภาพมันจึงมีเหมือนคนอื่นไม่ได้อย่างนั้นหรือครับ ผมเกรงว่า ผมจะเศร้าเสียใจมากกว่านี้ หากความแหลมคมทางวิชาการมันถูกบดบังโดยอคติบางอย่างซึ่งเราไม่รู้ตัว มัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่ จนลืมทำหน้าที่รักษาความถูกต้องตามความเชื่อของตนเอง และโดยเฉพาะความแหลมคมทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่ต้องมีการถกเถียงกัน แต่อีกฝ่ายกลับเป็นฝ่ายเงียบเฉยไม่ทราบว่ารออะไร

มาวันนี้ผมอยากเห็น "ความกล้าหาญทางวิชาการ" จากผู้ชายคนที่ชื่อ สมคิด เลิศไพฑูรย์อีกครั้งครับ

ในฐานะที่เป็นคนสนใจกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง ผมอยากทราบเหตุผลมากจริงๆ ครับ เป็นไปได้ไหมครับอาจารย์ที่ท่านอาจารย์เหล่านี้จะออก “แถลงการณ์” ชี้แจงเหตุผลทางกฎหมายมาหักล้างเหตุผลของกลุ่มนิติราษฎร์

ถ้าสามารถทำเช่นนี้ได้จริงๆ ผมจะยินดีมากๆ เลยละครับ แต่ขอเป็นเหตุผลทางกฎหมายเพียวๆ นะครับ เหตุผลเช่นที่ว่า รับงาน รับเงิน ใช้สถานที่ของคณะนิติศาสตร์ ผมว่าเหตุผลแบบนี้มันไม่ใช่แค่ไร้น้ำหนัก แต่ถึงขั้นไร้สาระเลยละครับ”

ก้นร้อนไหมละครับ ถ้าคุณแน่ ออกแถลงการณ์มาเลย ตามที่เด็กมันเรียกร้อง หรืออยากจัดแถลงแสดงความเห็นโต้กัน ท่านอธิการก็จัดได้เลย จัดเอง ไม่ต้องกลัวคนเสื้อแดงจะเข้าไปขว้างปาโห่ฮาเหมือนหมอตุลย์ (ซึ่งแน่นอนผมยอมรับว่ามวลชนเสื้อแดงยังไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี แต่ถ้าท่านอยากโต้ก็มีอีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องอ้างเรื่องนี้)

หลักวิชาไม่ได้เอาชนะกันที่จำนวนคน ดีกรี หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเอาจำนวนคนนั่นมันนักเลงยกพวกตีกัน นักวิชาการต้องวัดกันด้วยหลักการเหตุผล ไม่ใช่ดูว่าใครมีคนเข้าชื่อสนับสนุนมากกว่า พูดเหตุผลมาแล้วสังคมจะตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์หรือนักศึกษาปี 4

อย่า “กลวง” อย่างที่เด็กมันปรามาสก็แล้วกัน คริคริ

ใบตองแห้ง
29 ก.ย.54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น