ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักวิชาการเยอรมันเชียร์ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วยคนงานที่เสียเปรียบ
- TCIJ: ‘คนลุ่มน้ำอีสาน’ เห็นพ้องทำข้อมูลพื้นที่ ดัน ‘โมเดลการจัดการน้ำทางเลือก’
- เดินหน้าสู้ต่อ ยื่นคำคัดค้าน: Insects in the backyard vs กรรมการเซ็นเซอร์
- TCIJ: ร้อง “สกู๊ปข่าว 7 สี” เสนอข่าวคาดเคลื่อน กล่าวหา “สมัชชาคนจน” ยึดป่าชุมชน
- ทีนิวส์รายงาน ฎีกา"ทักษิณ" ขัดม.4 พรฎ. ปี50
- ทางการรวบหนุ่มโปรแกรมเมอร์ อ้างมีข้อความหมิ่นฯ ในเฟซบุ๊ก
- เปิดชื่อ 11 กสทช. ทหารพรึ่บ !
- ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง
- ประชาไทบันเทิง: The Sims Social
- วิโรจน์ ณ ระนอง: โครงการ “ประกันราคาข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
- ศาลให้ประกันผู้หญิงยิง ฮ.แล้ว!
นักวิชาการเยอรมันเชียร์ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ช่วยคนงานที่เสียเปรียบ Posted: 05 Sep 2011 10:42 AM PDT (5 ก.ย.54) ในการสัมมนาเรื่อง นโยบายค่าจ้าง: แนวคิดร่วมสมัย มุมมองและประสบการณ์ จัดโดยเครือข่ายองค์กรแรงงาน โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ (Hans-Joerg Herr) ศาสตราจารย์จาก Berlin School of Economics เยอรมนี กล่าวว่า ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงในหลายประเทศ เนื่องจากการปฏิวัติของฝ่ายอนุรักษนิยม ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ที่เปลี่ยนแปลงระบบการเงิน ลดกฎระเบียบ ผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ในตลาดแรงงาน ทำให้ช่องว่างของรายได้ห่างมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ในบางประเทศ มีการใช้จ่ายโดยส่วนรวมสูง แต่ก็ทำให้เกิดหนี้ เช่นในเยอรมนี ที่กระตุ้นการใช้จ่าย โดยปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาก็คือ การดูแลตลาดแรงงาน ทำให้เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสำคัญขึ้นมา ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ กล่าวว่า การเพิ่มค่าจ้างจะทำให้การกระจายรายได้ของทั้งประเทศเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้จ่ายส่วนรวม โดยในทศวรรษที่ 1950-1960 ยุคของระบบนายทุน หรือยุค Fordism เฮนรี ฟอร์ดบอกว่าจะขายรถยนต์ได้ ต้องให้ค่าจ้างคนงานมากขึ้น ยุคนั้น คนงานจึงมีรายได้สูง โดยมีบริษัทอื่นๆ ทำตามกัน และเป็นที่มาของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อข้อถกเถียงว่า การเพิ่มอัตราค่าจ้างจะทำให้เกิดการว่างงานนั้น เขากล่าวว่า จากการศึกษาในเชิงสถิติไม่พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงจะทำให้การว่างงานเพิ่ม โดยแมคโดนัลด์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพิ่มค่าจ้างให้คนงาน ก็ไม่พบว่ามีการจ้างงานน้อยลง ขณะที่ในสเปน ซึ่งคนงานมีค่าจ้างต่ำจำนวนมาก พบว่ามีการว่างงานสูง และแม้โมเดลเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจริงในบางภาคอุตสาหกรรม เขามองว่า แม้จะฟังดูใจร้าย แต่ก็ต้องปล่อยให้กิจการนั้นขาดทุนไป ซึ่งก็จะเป็นโอกาสสำหรับกิจการอื่นให้ผลิตมากขึ้น ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ เสนอว่าการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำควรแยกออกจากการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างทั่วไปซึ่งทำโดยสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องแรงงานที่ยากจน เสียเปรียบ หรือมีสหภาพแรงงานอ่อนแอ ไม่สามารถต่อรองได้ นอกจากนี้ ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปี โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยยกตัวอย่าง คณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นในสมัยโทนี่ แบลร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนสหภาพแรงงานนายจ้าง นักวิชาการอิสระ โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะมีข้อเสนอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี พร้อมทำงานวิจัยในเชิงข้อมูลออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้ เขาระบุว่า แม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะสำคัญ แต่ก็ไม่ควรเน้นมากเกินไป ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรทดแทนการเจรจาต่อรอง ยังควรมีกลไกเจรจาต่อรองในอุตสาหกรรมต่างๆ และควรมีระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นอิสระจากค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ทำให้คนจนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ต้องมีระบบสวัสดิการเพื่ออุดช่องว่างนี้ด้วย ต่อคำถามว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรครอบคลุมบุคคลจำนวนเท่าใด เขาตอบว่า แต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาควรครอบคลุมครอบครัวด้วย แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือเยอรมนี อาจให้เพียงพอสำหรับบุคคลคนเดียว เนื่องจากคนไม่นิยมแต่งงานกันแล้ว ดังนั้นจะไม่เป็นธรรมหากกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามครอบครัว อย่างไรก็ตาม ในประเทศพัฒนาแล้วควรมีระบบสวัสดิการสังคมที่มาดูแลบุตรและครอบครัวด้วย
ส่วนค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับคน 1 คน ซึ่งประกอบด้วยค่าอาหารสามมื้อ ค่าเดินทาง ค่าน้ำไฟ ค่าเช่าบ้าน โทรศัพท์ ค่าเครื่องอุปโภค ค่าใช้จ่ายอื่นๆ พบว่าเป็นเงิน 348.39 บาท ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตร ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ารักษาพยาบาล ขณะที่หากคำนวณตามอนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นครอบคลุมถึงครอบครัวรวม 3 คนจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 561.79 บาท ทั้งนี้ในแบบสำรวจดังกล่าว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เช่น เงินที่ส่งให้พ่อแม่ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเครื่องสำอางค์ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ทำบุญ กิจกรรมบันเทิง หาความรู้ และเงินออม
แถลงการณ์ เรื่อง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงโดยประกาศว่า หากได้รับการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล จะดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศในทันที ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าวและให้การสนับสนุนนโยบายนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พวกเรา เหล่าผู้ใช้แรงงาน ต่างคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติทันทีตามที่สัญญาไว้ แต่กลับมีพลังกดดันอย่างเข้มข้นจากฝ่ายผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง จนทำให้รัฐบาลยินยอมลดเป้าหมายในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวลง จนล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการนโยบายนี้เฉพาะใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภูเก็ต พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน อันประกอบด้วยองค์กรแรงงานระดับชาติ ดังมีรายชื่อข้างล่าง ได้ติดตามประเด็นค่าจ้างมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า การปรับค่าจ้างเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้แรงงานในทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน ดังข้อเท็จจริงที่ได้จากสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานในหลายจังหวัด พบว่า ผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่มีค่าครองชีพไม่แตกต่างกัน ดังนั้น พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน จึงขอแสดงจุดยืนในประเด็นค่าจ้างดังต่อไปนี้
เครือข่ายองค์กรแรงงาน ณ วันที่ 5 กันยายน 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TCIJ: ‘คนลุ่มน้ำอีสาน’ เห็นพ้องทำข้อมูลพื้นที่ ดัน ‘โมเดลการจัดการน้ำทางเลือก’ Posted: 05 Sep 2011 05:46 AM PDT เปิดเวทีวิพากษ์นโยบายจัดการน้ำของรัฐฯ นักวิชาการจวกคิดแบบแยกส่วน ละเลยความสัมพันธ์ของมนุษย์กับภูมินิเวศ ด้านชาวบ้านลุ่มน้ำร่วมระดมความคิดเสนอแนวทางการจัดการน้ำทางเลือก ผลักดันเป็นโมเดลเสนอรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2554 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และนักวิชาการในแวดวงสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จัดเวทีวิชาการวิพากษ์นโยบายการจัดการน้ำและบทเรียนจากประสบการณ์ชุมชนอีสาน โดยเชิญชาวบ้านจากลุ่มน้ำโขงอีสาน ชี ห้วยหลวง หนองหาน ลำพะเนียง และแก่งละว้า จำนวนกว่า 300 คน ร่วมถอดบทเรียนและเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกเสนอรัฐบาลใหม่ ช่วงแรก วิทยากรได้ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์นโยบายของการจัดการลุ่มน้ำของรัฐบาล เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้เข้าใจภาพรวมของนโยบาย แผนและโครงการการจัดการน้ำในอีสาน อาทิ การผันน้ำข้ามประเทศ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำในภูมิภาค โครงการระบบเครือข่ายน้ำพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ และนิเวศอีสานกับการจัดการน้ำ เมื่อเข้าสู่ช่วงที่สอง มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างวิทยากรกับชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆเกี่ยวกับประสบการณ์และปัญหาของแต่ละพื้นที่อย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีการระดมความคิดเสนอแนวทางการจัดการน้ำทางเลือกร่วมกันเพื่อผลักดันโมเดลการจัดการน้ำเสนอรัฐบาลต่อไป นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี แลกเปลี่ยนในเวทีว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาที่เกินความจำเป็น คนชนบทอีสานไม่ได้ต้องการน้ำปริมาณมากๆ อย่างที่รัฐคิด น้ำที่มีอยู่มันก็เพียงพออยู่แล้ว ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการน้ำของรัฐดังกล่าวยังมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ที่สำคัญคือการละเลยการมองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ภูมิปัญญา และภูมินิเวศเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น ทางออกของการจัดการน้ำที่จะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้นั้น จึงต้องเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่น คืนอำนาจการตัดสินในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้กับชาวบ้าน เพื่อให้มีการจัดการน้ำในระดับย่อย กระจายตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับภูมินิเวศ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในภาคอีสาน ลักษณะของการเกษตรจะต่างกับการเกษตรในภาคกลางโดยสิ้นเชิง ถ้าไปทำนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในหนอง บึง ที่อยู่ในอีสาน เราพัฒนาได้เพียงบางที่ เพราะบางที่เราสูบน้ำในช่วงหน้าแล้ง เกลือก็ตามมา ผลกระทบก็คือว่า น้ำที่เข้าไปอยู่ในแปลงเกษตรจะทำให้ข้าวตาย อันนี้พิสูจน์ได้จากโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่เคยทำมาแล้ว หรือพอเป็นโครงการโขงชีมูลที่มีการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนราษีไศล และเขื่อนอื่นๆ จะมีเพียงบางเขื่อนเท่านั้นที่สามารถสูบน้ำได้จากน้ำมูล น้ำชี มาใช้ได้ “พฤติกรรมของการเกษตรในภาคอีสานเกือบจะทั้งหมดต้องทำนาโดยการใช้น้ำจากธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำในระบบชลประทาน” นายหาญณรงค์กล่าว ส่วนนายวิเชียร ศรีจันนนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลยกเลิก หยุด หรือชะลอโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการจัดการน้ำตามแนวทางของรัฐบาลได้สร้างผลกระทบทางลบมากกว่าประโยชน์ที่รัฐได้บอกกับชาวบ้านเอาไว้ ตัวอย่างที่ลำพะเนียงชัดเจนมาก ระบบนิเวศในลำพะเนียงเสื่อมโทรม “ทรัพยากรที่มันเคยมีอยู่หลากหลาย ชาวบ้านสามารถไปเอามาเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เอาไปขายตลาดก็ทำไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้ ธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงไปหมด แล้วใครจะเข้ามารับผิดชอบให้ชาวบ้าน ถ้าไม่ใช่พวกเรารับผิดชอบตัวเราเอง” นายวิเชียรกล่าว นายคงเดช เข็มนาค กรรมการกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า กล่าวในทำนองเดียวกันว่าโครงการจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน มีการสร้างคันดินล้อมรอบแก่งเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงแก่งละว้าได้ น้ำเอ่อล้นท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน ดังนั้นรัฐจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาจากนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐที่ล้มเหลว นายคงเดชกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเวทีจะยุติลงทางวิทยากร และชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า แต่ละพื้นที่ต้องกลับไปประมวลสถานการณ์และถอดบทเรียนของพื้นที่ตนเอง เพื่อจัดทำข้อมูลระดับพื้นที่ที่ถูกต้อง ชัดเจน แล้วนำเสนอเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำให้กับรัฐบาลต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เดินหน้าสู้ต่อ ยื่นคำคัดค้าน: Insects in the backyard vs กรรมการเซ็นเซอร์ Posted: 05 Sep 2011 04:16 AM PDT
สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard และธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.54 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 2 ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคำให้การต่อศาลปกครองอ้างเหตุผลหลายประการคัดค้านคำฟ้องของผู้กำกับภาพยนตร์ และล่าสุด วันที่ 2 ก.ย. 54 ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ยื่นคำคัดค้านคำให้การ โต้แย้งกลับในทุกประเด็น โดยมีประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น
ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุม เพราะแม้องค์ประชุมจะครบ แต่คนที่ไม่ได้ดูหนังแล้วมาลงมติย่อมเป็นมติที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่มาจากข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ครบถ้วน และในรายงานการประชุมยังปรากฏว่ามีกรรมการบางท่านที่ไม่ได้ดูหนังแต่มาออกความเห็นเป็นไปในทางที่ไม่อนุญาตให้ฉาย ซึ่งอาจชักจูงให้กรรมการท่านอื่นเข้าใจผิดไปด้วยได้ กรรมการไม่ได้ศึกษาเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” ในสังคม ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า การออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ผู้ถูกฟ้องคดีต้องใช้ดุลพินิจด้วยความระมัดระวัง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมีความคิดเห็นต่อ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่แตกต่างกัน กรรมการพิจารณาภาพยนตร์เป็นแค่ตัวแทนของคนกลุ่มเดียวเท่านั้น หากใช้เพียงความคิดเห็นส่วนตัวในการตัดสินใจ จึงไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปในสังคมไทย และไม่อาจตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศได้ การไม่อนุญาตให้ฉาย กับ เรตห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า ที่จริงแล้วคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ กับคำสั่งให้เรต ห นั้น เป็นคำสั่งเดียวกัน มีผลทางกฎหมายเหมือนกัน การตีความกฎหมายว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ กับคำสั่งให้เรต ห เป็นคำสั่งที่ต่างกันจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจออกคำสั่งที่กว้างขวางไม่มีขอบเขต ไม่เป็นธรรมต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงต้องตีความให้ถูกต้อง และผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่มีลักษณะใดที่จะสั่งไม่อนุญาตให้ฉายได้เลย ขอเรียกค่าเสียหาย 400,000 ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า กรณีนี้ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเป็นตัวเงินที่ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จมาพิสูจน์ แต่เป็นการเรียกค่าความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้ เป็นค่าเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งศาลมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและกำหนดค่าเสียหายให้ตามความร้ายแรงของกรณี หลังจากยื่นคำคัดค้านในวันนี้แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเวลาอีก 30 วันเพื่อยื่นคำคัดค้านอีกครั้ง เท่ากับทั้งสองฝ่ายมีโอกาสส่งเอกสารต่อศาลฝ่ายละ 2 ครั้งเท่ากัน หากไม่มีฝ่ายไหนติดใจนำส่งเอกสารเพิ่มเติม ศาลจะรวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานทั้งหมดไปพิจารณาเพื่อพิพากษาคดี โดยหากมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มเติมได้ แต่เนื่องจากในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี คือ ธัญญ์วาริน และทีมกฎหมายได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่ให้อำนาจแก่รัฐในการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ขัดต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นศาลปกครองจึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะพิพากษาคดีนี้ได้ อนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์แนวดรามา นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่มีพ่อเป็นสาวประเภทสอง และลูกๆ ไม่ยอมรับในตัวพ่อที่แตกต่างจากพ่อของคนอื่น จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมากับครอบครัวนี้ ภาพยนตร์มุ่งจะสื่อสารให้สังคมมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และให้มองเห็นทุกคนในความเป็นมนุษย์มากกว่ามองเห็นกรอบที่สังคมกำหนดขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่ธัญญ์วาริน เป็นทั้งผู้กำกับ นักแสดงนำ และอำนวยการสร้างเอง เดิมมีกำหนดฉายเพียงวันละหนึ่งรอบ ในโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิล์ด เพียงแห่งเดียว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.2551 จึงนำมาสู่การฟ้องคดีครั้งนี้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TCIJ: ร้อง “สกู๊ปข่าว 7 สี” เสนอข่าวคาดเคลื่อน กล่าวหา “สมัชชาคนจน” ยึดป่าชุมชน Posted: 05 Sep 2011 04:14 AM PDT วันนี้ (5 ก.ย.2554) สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ กรณีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้นำเสนอ สกู๊ปข่าว 7 สีช่วยชาวบ้าน เรื่องสมัชชาคนจนยึดป่าชุมชน เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2554 โดยอ้างว่า ที่ดินสาธารณะอ่างเก็บน้ำลำสะโตนซึ่งชาวบ้านบ้านใหม่ไทยถาวรช่วยกันพัฒนาแล้วตั้งเป็นตลาดชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้ถูกกลุ่มคนอ้างตัวเป็นสมัชชาคนจนถือวิสาสะบุกรุกโค่นต้นไม้ แล้วปลูกกระต๊อบยึดครองตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว โดยคนในพื้นที่ดังกล่าวได้เข้าร้องเรียนต่อหลายหน่วยงานให้ช่วยเจรจาขอที่ดินคืนแต่ไม่เป็นผล สมัชชาคนจน ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่า สมัชชาคนจนในพื้นที่ดังกล่าวคือ ชุมชนโคกอีโด่ย ซึ่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ซึ่งประสบปัญหาการถูกอพยพออกจากที่ดินทำกินบริเวณพื้นที่ช่องตะโก-ลำสะโตน เมื่อปี พ.ศ.2536 เนื่องจากหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ เพื่อใช้เป็นสนามฝึกทางยุทธการ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กระทั่งปี 2540 รัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา จากนั้นได้มีมติให้ดำเนินการจัดพื้นที่ใหม่รองรับการแก้ไขปัญหาทดแทนพื้นที่เดิม โดยให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มผู้เดือดร้อน เนื้อจำนวน 1,632-1-21 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ต่อมาในปี 2541 กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ขอผ่อนผันให้เข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการแก้ไขปัญหาจะยุติ ในปัจจุบันกลุ่มผู้เดือดร้อนเข้าทำประโยชน์เนื้อที่ดินประมาณ 600 ไร่ ต่อมาปี 2552 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านใหม่ไทยถาวร ได้เสนอให้มีขุดลอกหนองแค (อ่างเก็บน้ำลำสะโตน) โดยมีสำนักงานชลประทานจังหวัดสระแก้วเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อมีการดำเนินการขุดลอก ผู้ใหญ่หมู่ที่ 5 ได้นำชาวบ้านปักหลักเขตที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่ทำกินของสมัชชาคนจนในชุมชนโคกอีโด่ย และให้นำดินจากการขุดลอกมาทิ้งไว้ในพื้นที่ปักหลักเขตที่สาธารณประโยชน์ ทำให้สมาชิกชุมชนโคกอีโด่ยได้รับความเสียหาย จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใหญ่หมู่ที่ 5 และพวก และร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว แต่ผู้ใหญ่หมู่ที่ 5 บ้านใหม่ไทยถาวรได้เจรจาและยอมรับว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยได้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 60,000 บาท พร้อมทั้งได้ทำหลักฐานไว้ด้วย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น สมัชชาคนจนเห็นว่าการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่ได้มีการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน จึงทำให้สมัชชาคนจนเกิดความเสียหาย ดังนั้นสมัชชาคนจนจึงขอเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ดำเนินการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมทราบต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทีนิวส์รายงาน ฎีกา"ทักษิณ" ขัดม.4 พรฎ. ปี50 Posted: 05 Sep 2011 03:40 AM PDT เว็บไซต์ทีนิวส์ รานงาน อ้าง พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ระบุ ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องมีตัวตนอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือ ถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือ ที่อาศัยที่ศาล หรือ ทางราชการกำหนด เว็บไซต์ทีนิวส์รายงานข่าวจากสำนักพระราชวัง ถึงการยื่นถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ให้ยึดตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ซึ่งมีความชัดเจน ตาม มาตรา 4 ที่ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวตนอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือ ถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือ ที่อาศัยที่ศาล หรือ ทางราชการกำหนด การยื่นถวายฏีกาของพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ใด ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและยึดกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีความอาญาเป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตามหลักการหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฏหมาย ก็ไม่ควรที่จะเสนอมา ขณะเดียวกันกฏหมายยังกำหนดคุณสมบัติด้วยว่า ต้องเป็น บุตร ภรรยา หรือ ญาติสนิทรวมอยู่ด้วย ด้านความคืบหน้าล่าสุดกรณีคนเสื้อแดงล่ารายชื่อประชาชนกว่า 3 ล้านคน ขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ขณะนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์แล้ว โดยส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พิจารณาทำความเห็นเสนอ ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีผู้เข้าชื่อ 3 คน นามสกุล"ชินวัตร" แต่ไม่ใช่ บุตร-ภรรยา และ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในสมัยที่ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ได้ทำหนังสือให้ นายพายัพ มาแสดงตัวยืนยันแต่นายพายัพ ไม่ติดต่อกลับมา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทางการรวบหนุ่มโปรแกรมเมอร์ อ้างมีข้อความหมิ่นฯ ในเฟซบุ๊ก Posted: 05 Sep 2011 03:35 AM PDT 4 ก.ย. 54 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพัฒน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี มีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านพักบริเวณย่านลาดพร้าว ด้วยข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “...” (เซ็นเซอร์) ซึ่งทางการอ้างว่ามีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง สำนักงานกฎหมายราษฎร์ประสงค์ เปิดเผยว่า ล่าสุด สุรพัฒน์ยังถูกคุมขัง ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว คดีดังกล่าว เป็นกรณีล่าสุดที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษระหว่าง 3 ถึง 15 ปี และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษสูงสุด 6 เดือนถึง 5 ปี สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 05 Sep 2011 03:31 AM PDT
(5 ก.ย.54) วุฒิสภาประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติ กสทช. พ.ศ.2553 ผลโหวตลับเลือก กสทช. 11 ราย มีดังนี้ 1. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กิจการโทรคมนาคม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
Posted: 05 Sep 2011 12:08 AM PDT จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โดยเนื้อแท้แล้ว รัฐบาลกำลังจะทำโครงการ "ประกันราคาข้าว" ให้กับชาวนาทุกคน ซึ่งต่างกับในอดีตที่รัฐบาลมัก "แทรกแซง" หรือ "พยุง" ราคาข้าวโดยรับซื้อหรือรับจำนำข้าวเพียงบางส่วนในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักตกอยู่ที่คนที่จัดสรรโควต้าหรือโรงสีที่ได้โควต้า โครงการ "ประกันราคาข้าว" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ | |
ประชาไทบันเทิง: The Sims Social Posted: 05 Sep 2011 12:02 AM PDT จากเกม The Sim ของเหล่า Sim ทั้งหลายที่เคยทำ Sim ให้ลือชื่อมาก่อนไม่ว่าจะเป็น Sim City Sim Ant Sim Farm หรือแม้กระทั่ง The Sim ล่าสุด ที่เป็นการสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา เพื่อการมีชีวิตมีสังคม โดยผ่านทางการเล่นเกมที่พัฒนาชีวิตของตนเองขึ้น ขณะนี้ Sim ได้เข้ามาสู่โลกของ Social Networkสุดฮิต Facebook ในรูปแบบของ Beta มาได้สักพักใหญ่ๆ เพื่อนๆหลายๆคนได้เข้ามาเล่นแล้วติดกันอย่างหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางทีว่าจะลดลง เป็นไปได้ว่า อาจจะมีคนตกงาน โดนไล่ออกจากงานเพราะเล่นเกม Sim หรือไม่ก็ไม่เป็นอันหลับอันนอน หรือเหมือนหลิ่มหลี ไม่ได้เขียนบ้าเขียนบออะไรไปหลายวันหลายคืน งานการไม่ต้องไปทำกัน เหลือเวลานอนแค่ไม่กี่ชั่วโมง เพราะติดเกม The SIms Social โอ้ โน โนว์ที่หลิ่มหลีเล่นนี่ เพื่อเรียนรู้ค่ะ เรียนรู้ว่า เกมนี้เล่นยังไง (หลอกตัวเองอยู่ กระซิกๆๆ) เพราะหลิ่มหลีไม่เล่นเกมThe SIm แต่ก็เคยติดเกม Sim City มาเมื่อ โอ้ย ... ก็ เกือบยี่สิบปีก่อนโน่น กรี๊ด.. ฉันอายุเท่าไรแล้วนิ กระซิกๆๆๆๆ ฉะนั้นเพื่อนๆไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานของการเล่น The Sim มาก่อนก็เล่นได้ค่ะ มันก็แค่เกมการดำรงชีวิตเสมือนคนจริงๆ ใช้ชีวิตจริงๆในเกม ในคอมพิวเตอร์ และมาสู่โลก Social Network ทาง Facebook โดยมีสโลแกนเปิดตัวว่า Build A Home, Build A Relationship, Build A life สร้างบ้าน สร้างสัมพันธ์ สร้างชีวิต (สร้างในสิ่งที่เราไม่มีปัญญาจะสร้างได้ในชีวิตจริง) เกมเริ่มต้นที่ เมื่อเราเข้าเกมมา เราก็เลือกว่าเราจะเป็นเพศอะไร ผมสีไหน บุคลิกยังไง อยากจะเป็นแบบไหน แต่งกายอย่างไร หลังจากนั้น เราก็เข้าสู่โลกของบ้านส่วนตัว มีอุปกรณ์ให้ในวงจำกัดเพื่อเราจะสามารถเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ตามใจของเราเองในอนาคต เราจะได้พลังงานไว้ใช้ 15 พลัง ซึ่งพลังแต่ละแต้มจะเพิ่มภายใน 5 นาที ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะคลิ๊กไมโครเวฟเพื่อทำครัว ฝึกหัดกีตาร์ หรือวาดเขียน ก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานส่วนตัว ยกเว้นเรื่องส่วนตัวที่เราต้องในการบาลานซ์ชีวิตตัวเราเองก็คือ กิน ขี้ ปี้ นอน เที่ยว เล่น ผ่อนคลาย สร้างสุขภาวะให้กับตัวเอง เช่น การนอนพักไม่ว่าจะหลับจริงหรือแค่งีบ การกินไม่ว่าจะเปิดตู้เย็นหรือใช้ไมโครเวฟ การฟังเพลงซึ่งต้องเข้าไปช๊อปปิ้งซื้อวิทยุเอง การดีดกีตาร์ผ่อนคลาย การเล่นคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเล่นเกมหรือเล่นเวปไซด์ การเข้าห้องน้ำเพื่ออาบน้ำ แปรงฟัน ล้างมือ ทำธุระส่วนตัว ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ต้องใช้พลังงาน เกมให้เราได้ใช้พลังงานไปเพื่อการสร้างเงินเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต เช่น การใช้คอมพิวเตอร์สร้างทักษะในการเป็นBlogger นักเขียนวิจารณ์ แล้วได้สะสมเงินไปเพื่อซื้อทีวี วิทยุ เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เพื่อความบันเทิงใจ การทำสวนหน้าบ้านให้ได้เงินมาเพื่อไปซื้อพื้นที่ต่างๆขยายบ้านตัวเองได้ตามสะดวกโดยไม่ต้องไปขออนุญาตเทศบาลอำเภอ การแต่งเพลงวาดรูปทำครัวทำสวนเพื่อให้มีรายได้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสุขนิยมที่ชาวSimพึงกระทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทุกๆอย่าง แสนสุขใจเมื่อได้อยู่ในบ้านที่พร้อมครบไปซะหมด และเมื่อมีสิ่งต่างๆเกิดพังหรือต้องซ่อม Sim ตัวคุณก็สามารถที่จะซ่อมแซมได้ และในกิจกรรมหลากหลายนี้ก็จะมีรางวัลให้คุณ เป็น สบู่บ้าน พลังงานเพิ่มบ้าง หนังสือแผนงานบ้าง Museบ้าง ตะปู ความฝัน ความหวัง ฯลฯ เพื่อนำไปเพิ่มทักษะด้านอื่นให้คุณอีก เพราะถ้าคุณเก่งขึ้น มีทักษะทางครัว ดนตรี ศิลปะ การเขียน มากขึ้น คุณก็สามารถทำเงินได้มากขึ้นโดยไม่ต้องไปจบมหาวิทยาลัยเอาปริญญาไปให้เสียเวลา เรียนในบ้านก็ได้ หุหุ การมีเอกลักษณ์ส่วนตัวก็เป็นสิ่งสำคัญ The Sims Social ได้มีการให้คุณสะสมคะแนนในการสร้างอุปนิสัยส่วนตัวได้ เช่น จูบเก่ง (กรี๊ดดด) ทำอะไรไวเหมือนนินจา รักษาความสะอาด เรื่องเยอะ อดนอนเก่ง ซึ่งอยู่ในปุ่ม Traits แต่ Sim จะไม่ยอมให้คุณได้สุขสบายกายอยู่แต่ในบ้าน คุณจำเป็นต้องมีสังคมและรู้จักเข้าสังคมด้วย ความสนุกมันอยู่ตรงนี้แหละค่ะ The Sims Social ใน Facebook มันReality กว่ากันเยอะค่ะ เพราะมันเล่นกับเพื่อนของเราที่มีตัวตนจริงๆ คุยกันในห้องลับ หรือ ข้อความส่วนตัว ส่งของให้กัน และของกัน ทักทาย ด่าทอ ชวนกิ๊ก หรือแม้กระทั่งชวนเดท โอ้ย ...มันส์กว่า Sim ธรรมดาหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ก่อนอื่น ชื่อเพื่อนๆของเราที่อยู่ในลิสต์เฟสบุ๊ค ก็จะขึ้นมาที่แถบด้านล่างให้เราได้ Add Friend หรือ Invite เราก็จัดการเลยค่ะ ใครรับช้ารับเร็ว เราก็โทรจิก หรือ ส่งข้อความหลังไมด์ หน้าไมด์จิกกัดกันได้เต็มที่ พอโอเครับแอดกันแล้ว เราก็จะสามารถเข้าไปในบ้านเพื่อนได้เลย สำหรับเพื่อนใหม่ เราก็จะได้ extra พลังงาน 3 แต้มเมื่อไปเยี่ยมบ้านเขา และการไปเยี่ยมในแต่ละวัน แต่ละเช้า เราก็จะได้โบนัสเมื่ออยู่บ้านเพื่อนอีก 5 พลัง ซึ่งหลิ่มหลีก็จะใช้พลังงานโบนัสนั้นในการพัฒนาความสัมพันธ์ จากคนรู้จักคุ้นเคย เป็นเพื่อน เป็นเพื่อนที่ดี เพื่อนคนไหนที่เราอยากพัฒนาไปในด้านดี เราก็ชวนคุย ชื่นชม ชวนให้หัวเราะ ชวนนินทา ชวนดื่ม คนไหนไม่ชอบหน้าเราก็ทักทายแบบดูถูกดูแคลนได้ ทำชั่วที่บ้านเขาได้ เช่น ดูถูกทรงผม ดูถูกการแต่งบ้าน หรือแม้แต่ฉี่ในสวนผักของเขา ฮ่าๆๆๆ สนุกมาก และเพื่อนคนไหนดูน่าจีบ น่าชวนเดท เราก็จัดการจีบเลย ไอ้ตรงนี้แหละที่หลิ่มหลีมันส์มากกกก คิกๆๆๆๆ หลิ่มหลีเล่นมาหลายวัน ไม่มีใครมาจีบ และไปจีบใครก็ไม่สำเร็จ เลยเข้าไปแหกปากด่าเพื่อนในห้องลับใน Facebook มา ระทดระทวย โอดครวญ ว่าไม่มีใครรัก เหมือนดั่งขุนช้างที่โดนเมินเพราะรูปไม่งาม (หลิ่มหลีเล่นเป็นผู้ชาย...ทำไม? ตอบ ไม่รู้เหมือนกัน อยากเป็นทอมมั้ง) และแล้วก็มีคนบอกว่า เดี๋ยวหนูไปจีบพี่หลิ่มหลีค่ะ ...อร๊ายยยยยยยย ดีใจ เปิดทางกันสุดๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป The SIms Social ไม่ยอมให้เราข้ามขั้นตอนของเขา เราก็ต้องค่อยๆคุย ค่อยๆเจรจา พอตกลงปลงใจจะเป็นคู่รักกัน ไอ้ครั้งจะชวนกันไป Woohoo เลยก็ไม่ได้ (WooHoo แปลว่าร่วมรักกันค่ะ)ในแต่ละครั้งที่ไปเยี่ยมแฟน เราก็ไม่สามารถพูดตรงๆได้ว่า ขึ้นเตียงกันเถอะที่รัก แต่เราต้องค่อยๆเคลมให้เคลิมค่ะ ค่อยๆเจรจา ให้ดอกไม้ ชมความงาม จีบ ตอด เอ้ยไม่ใช่ โต้ตอบหวานๆ แล้วค่อยชวนขึ้นเตียง หรือว่าจะต้องไปอ่างอาบน้ำ หรือ woohoo ใต้ฝักบัวก็ได้ หุหุ แต่ไม่ใช่ว่าขั้นตอนนี้จะมาได้ง่ายๆ มันก็ต้องมีเตียงคู่ก่อน เตียงเดี่ยวทำไมไ่ด้ อ่างอาบน้ำก็ต้องซื้อ ก่อนจะทำอะไรก็ต้องขยายบ้านช่องห้องหอให้ดูดี ดังนั้น ก็ต้องรู้จักไปทำมาหากิน พัฒนาตัวเอง แหม แต่ตอนขึ้นเตียง เกมเขาทำได้น่ารักเหลือเกิน สองหนุ่มสาวพากันเดินเข้าห้อง แล้วก็เปลี่ยนเสื้อผ้า ขึ้นเตียง จูบกัน แล้วก็หายเข้าไปใต้ผ้าห่ม แล้วเตียงก็โยกซะ... อย่างมันส์ ชวนจินตนาการเป็นยิ่งนัก เกมชวนให้ติด หลิ่มหลีก็เล่นมาเยอะ ปลูกผัก ขโมยผัก เลี้ยงสัตว์ Farmville Restuarant city โอ้ย จนต้องหักดิบเลิกเล่นเกมไปพักใหญ่ แต่ตอนนี้กลับมาเล่น เพราะไม่มีรัฐบาลให้ด่าแล้ว ฮ่าๆๆๆๆ เออ จริงๆ Sim ก็ลืมเรื่องการเมืองไว้ในซิมเลยเนอะ คิกๆๆๆ แต่เกมก็มีอะไรบางอย่างที่ขาดตกบกพร่องไปนิดส์นะคะ อ่ะนะ ข้อเสียของเกมก็มี ที่แหม บอกตรงๆ ขัดใจสลิ่มและเสรีชนทั้งหลายมากๆ ตัวอย่างเช่น The SIms Social ไม่ให้มีกิ๊ก ให้มีแฟนแค่คนเดียว ไม่มันส์เลย ยุคนี้มันต้องมีกิ๊กมีกั๊กกะเขามั่ง อะนะ อะนะ จีบเพศเดียวกันก็ไม่ได้ คะแนนความสัมพันธ์ตก อันนี้หลิ่มหลีถือว่าไม่ให้เกียรติความรักหลากหลายเพศภาวะเลย จะหาพลังงานพิเศษเพิ่ม บางทีต้องไปหาในขยะ คุ้ยขยะจนนึกว่าตัวเองเป็นนักขายของซาเล้ง สรุป เกมนี้ เอาไว้ตอบโจทย์ คนขี้เหงา เพื่อนน้อย แต่ เอ.. หลิ่มหลีก็เพื่อนเยอะแล้วนิน่า แต่ก็อะนะ มันเพิ่มความสนุกที่ทำให้เสียการเสียงานได้ดีค่ะ เพราะเพื่อนชวนเล่น เล่นแล้วตะโกนเรียกเพื่อนได้ เหมือนตัวตนแท้จริงของกันและกันมาเจอกันทางอินเตอร์เนต ตอนนี้ไม่ขออะไรมาก ขอให้ 3G มาให้พร้อมซะทีเถอะ จะได้เล่นได้ทุกสถานที่ให้ระเบิดกระเจิดกระเจิง ไม่ต้องสนใจกันบ้านเมืองนี้ ลองเล่นกันให้สลบกันไปข้างนึงเลยนะคะ นะคะ ปล.. ว่าแต่ ค่ายเกมเจ้าของ The Sims Social นี่ต้องงง แน่ๆ เพราะเกมThe Sim เองตามสถิติคนไทยไม่ได้ติดอันดับปริมาณคนเล่นเยอะเมื่อดูที่ยอดขายแผ่นแท้ เพราะคนไทยเล่นแต่แผ่นผี ฮ่าๆๆๆ แต่The Sims Social ใน Facebook เราอาจได้เห็นคนไทยทำสถิติหนึ่งในห้าปริมาณคนเล่นเยอะที่สุดในโลกก็ได้ ชอบอยู่แล้ว เรื่องที่สุดในโลกเนี่ย อิอิ หุหุ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วิโรจน์ ณ ระนอง: โครงการ “ประกันราคาข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ Posted: 04 Sep 2011 11:37 PM PDT
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากถ้อยแถลงที่เราได้ยินได้ฟังจากรัฐบาลในขณะนี้ ปี 2554 ก็จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นประเทศไทยนำโครงการประกันราคาข้าวมาใช้ หลังจากที่หลายฝ่ายเคยเรียกร้องให้มีโครงการนี้มาหลายครั้งหลายคราในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เปล่าครับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้แถลงนโยบายว่าจะทำโครงการประกันราคาข้าว แต่ประกาศว่าจะรับจำนำข้าวเปลือกในราคาตันละ 15,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแทบจะฟันธงได้เลยว่าการจำนำทั้งหมดจะกลายเป็นการขายขาดที่ปราศจากการไถ่ถอน เพราะราคาข้าวเปลือกที่ตั้งเอา 15,000 บาทนี้เป็นราคาที่สูงกว่าราคาข้าวเปลือกที่เคยมีมาในอดีต (ก่อนเลือกตั้งหนนี้ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 10,200 บาท หรือแม้กระทั่งเมื่อต้นปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเกิดความแตกตื่นเรื่องวิกฤตพืชอาหารจนราคาข้าวสารขึ้นไปถึงสองหมื่นกว่าบาทนั้น ราคาข้าวเปลือกก็ยังขึ้นไปไม่ถึง 15,000 บาท!) ข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการ "จำนำข้าว" ครั้งนี้ กับโครงการ “จำนำ” "แทรกแซง" หรือ "พยุงราคา” ในอดีตก็คือ รัฐบาลนี้ประกาศว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ชาวนาเอามาจำนำ ซึ่งเมื่อประกอบกับราคาจำนำที่ตั้งไว้สูงเป็นประวัติการณ์แล้ว นี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โดยเนื้อแท้แล้ว รัฐบาลกำลังจะทำโครงการ "ประกันราคาข้าว" ให้กับชาวนาทุกคน ซึ่งต่างกับในอดีตที่รัฐบาลมัก "แทรกแซง" หรือ "พยุง" ราคาข้าวโดยรับซื้อหรือรับจำนำข้าวเพียงบางส่วนในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักตกอยู่ที่คนที่จัดสรรโควต้าหรือโรงสีที่ได้โควต้า เพราะโรงสีที่ได้โควต้าสามารถกดราคาข้าวโดยตีชนิดของข้าวต่ำกว่าความเป็นจริง และ/หรือ หักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในอัตราที่สูงเกินจริง เพราะโรงสีรู้ดีว่าถึงหักเกินจริงไปบ้าง ชาวนาที่ยังได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อยก็มักจะยอมขายหรือจำนำให้กับตนมากกว่าที่จะขนไปขายโรงสีอื่นในราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าราคาที่ตนตีให้ ในแง่นี้ นโยบาย “ประกันราคา” ที่ชาวนาทุกคนมีสิทธิ์จำนำข้าวทุกเมล็ดน่าจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของชาวนา เพราะถ้าโรงสีใดตุกติก ชาวนาก็สามารถไปจำนำที่โรงสีอื่นในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง (ซึ่งควรต้องมีจำนวนมากพอถ้าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด) นโยบายนี้จึงน่าจะช่วยให้ชาวนาได้รับราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่รัฐบาลประกาศมากกว่าโครงการจำนำข้าวในอดีต แต่ถึงแม้ว่าการประกันราคาข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดจะเอื้อให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ (คล้ายกับโครงการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่นำโครงการที่เสนอโดยทีดีอาร์ไอ [1] ไปใช้และตั้งชื่อใหม่ว่าเป็นโครงการ “ประกันรายได้” ซึ่งก็ไม่จริงตามชื่อเช่นกัน เพราะถ้าข้าวของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเกิดเสียหายหมดเพราะฝนแล้ง เขาก็จะเหลือรายได้แค่เงินชดเชยประมาณไร่ละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้นเอง) แต่น่าเสียดายที่โครงการที่ฟังดูดีอย่างโครงการประกันราคาข้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาตร์กลับมีโอกาสสร้างปัญหาใหญ่หลายประการ ประการแรก โครงการนี้จะทำให้ข้าวเกือบทุกเมล็ดวิ่งเข้ามาสู่โครงการจำนำของรัฐบาล เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีชาวนาไม่น้อยที่ปลูกข้าวแล้วเก็บไว้กินเอง (โดยมักเอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีใกล้บ้าน) แต่ในไม่ช้า ชาวนาเหล่านี้จะพบว่าพวกเขาจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการเอาข้าวไปขาย (“จำนำ” กับรัฐบาล) ในราคาสูง แล้วเอาเงินมาซื้อข้าวสารกินแทน (ยกเว้นกรณีที่รัฐบาลจะทำให้ข้าวสารมีราคาแพงตามไปด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงทีหลัง) เมื่อเป็นเช่นนี้ ปริมาณข้าวที่ออกมาเข้าโครงการจำนำก็จะสูงกว่าข้าวที่เข้าสู่ตลาดในปัจจุบัน และจะทำให้รัฐบาลกลายมาเป็นผู้ผูกขาดซื้อข้าวรายเดียวของประเทศโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อรัฐบาลกลายมาเป็นเจ้าของข้าวจำนวนมหาศาล รัฐบาลก็มีทางเลือกสองทางคือ (1) พยายามขายข้าวที่ทั้งหมดออกไปในราคาตลาดโลก (ซึ่งก็คงจะขาดทุนเป็นจำนวนมาก เพราะต้องขายข้าวจำนวนมากในราคาถูกกว่าที่ซื้อมา) (2) กักเก็บสต๊อกข้าวเอาไว้มากๆ ซึ่งถ้าทำให้ตลาดเชื่อได้ว่ารัฐบาลจะเก็บข้าวนี้เอาไว้เป็นเวลานาน ราคาตลาดก็อาจจะสูงขึ้นในช่วงต้นๆ แต่เมื่อไหร่ที่ก็ตามรัฐบาลปล่อยสต๊อกนี้ออกมา ราคาข้าวก็จะตกลง หรือถ้าไม่ปล่อยออกมาภายใน 1-2 ปี ข้าวก็จะเสื่อมคุณภาพ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียในกรณีนี้ ตั้งแต่ปีที่ 2-3 เป็นต้นไป รัฐบาลก็จะต้องปล่อยสต๊อกข้าวเก่าออกมาทุกๆ ปี ในกรณีนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถนำข้าวรุ่นใหม่ไปเก็บเป็นสต๊อกทดแทนของที่ปล่อยออกมาได้ แต่การเก็บสต๊อกก็จะไม่ช่วยยกระดับราคาอีกต่อไป เว้นแต่รัฐบาลจะใช้วิธีเพิ่มปริมาณสต๊อกใหม่ไปเรื่อยๆ ประการที่สอง ถ้ารัฐบาลดำเนินโครงการนี้ไปเรื่อยๆ ชาวนาทั้งรายเก่าและรายใหม่ก็จะหันมาปลูกข้าวกันมากขึ้น (ทุกวันนี้ เรามีจำนวนชาวนาลดลง แต่ผลผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นแทบทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยโดยเฉลี่ยบริโภคข้าวน้อยลง ถ้าต่อไปเรามีจำนวนชาวนาเพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำให้ผลผลิตและส่งออกเพิ่มเร็วขึ้นกว่านี้) ซึ่งนอกจากปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วจะหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐแล้ว ยังเพิ่มแรงกดดันให้ราคาตลาดลดลงด้วย แต่ถ้ารัฐบาลต้องการลดภาระนี้โดยให้ชาวนาลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวลง ก็อาจต้องใช้วิธีการแบบสหรัฐฯ หรือยุโรป ที่จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแทน แต่เงินชดเชยนี้ก็ต้องมากพอที่จะจูงใจไม่ให้ปลูกข้าวในช่วงที่รัฐบาลตั้งราคาข้าวไว้สูงๆ ด้วย ที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกรัฐบาลมักจะเชื่อว่าการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่จะทำให้เราสามารถใช้อำนาจทางการตลาดที่มีอยู่บ้างมากำหนดราคาส่งออกให้สูงขึ้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว แม้กระทั่งในตลาดผูกขาดที่มีผู้ขายเพียงรายเดียวหรือน้อยรายนั้น การใช้อำนาจการผูกขาดในการตั้งราคาให้สูงขึ้นนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ขายลดปริมาณสินค้าที่ขายลงเท่านั้น (ซึ่งเป็นวิธีที่ OPEC ทำเพื่อขึ้นราคาน้ำมันในอดีต) ในทางกลับกัน ถ้าผู้ผลิตมีเป้าหมายที่จะขายสินค้าที่ผลิตให้หมดในขณะที่ตนมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทางเลือกเดียวของผู้ขายคือลดราคาลง ซึ่งถ้ารัฐบาลทำเช่นนั้น ก็หมายความว่ารัฐบาลต้องขาดทุนจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวของโลก ที่ผ่านมา เราพบว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยแพงขึ้น เราก็มักจะสูญเสียตลาดส่งออกให้กับประเทศคู่แข่ง (ตัวอย่างเช่น ในปี 2535/36 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลดำเนินโครงการแทรกแซงอย่างมาก และประสบปัญหาการขาดทุนมากเช่นกัน) สำหรับความพยายามในการกำหนดราคาร่วมกับประเทศผู้ส่งออกข้าว 5 ประเทศในอดีตนั้น การศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่าไม่ได้บรรลุเป็นข้อตกลงที่มีผลในทางปฏิบัติจริงแต่อย่างใด [2] หลายท่านอาจถามว่าทำไมนโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงได้รับความสนใจและการวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นพิเศษ คำตอบส่วนหนึ่งคงมาจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความเชื่อมโยงกับที่พรรคไทยรักไทยเคยสร้างมาตรฐานทางการเมืองใหม่มาก่อนในการนำนโยบายที่หาเสียงมาดำเนินการจริง และในการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมานี้ พรรคการเมืองใหญ่ 3-4 พรรคแรกได้แข่งกันเสนอนโยบายซึ่งมีลักษณะของการอุดหนุนกลุ่มต่างๆ มากขึ้นอย่างชัดเจน (พรรคภูมิใจไทยเสนอโครงการประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์สัญญาว่าจะ “เพิ่มเงินกำไรในการประกันรายได้เกษตร”) การที่นโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเนื้อแท้ที่กลายมาเป็นโครงการประกันราคาที่แตกต่างไปจากนโยบายจำนำข้าวในอดีตก็เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงความดุเดือดในการแข่งขันในการเสนอนโยบายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ หลายท่านที่คุ้นเคยกับการที่เกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้ดีและขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงอาจสงสัยว่าประเทศเหล่านั้นสามารถอุดหนุนเกษตรกรโดยไม่มีปัญหาแบบเราหรือ คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ ประเทศที่มีราคาสินค้าเกษตรสูงมักเป็นประเทศที่ไม่ได้พึ่งการส่งออกสินค้าเหล่านั้น และในขณะเดียวกันก็มักจำกัดโควต้าหรือกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านั้นด้วย การที่ประเทศเหล่านี้ตัดการเชื่อมต่อสินค้าเกษตรกับตลาดโลกทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นถูกกำหนดด้วยความต้องการและกำลังซื้อในประเทศซึ่งประชากรมักจะมีกำลังซื้อที่สูงอยู่แล้ว แต่สำหรับประเทศที่ยังคงมุ่งขยายการผลิตด้านการเกษตรเช่นประเทศไทยนั้น ราคาสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกส่วนใหญ่จะขึ้นกับตลาดโลกค่อนข้างมาก การตัดการเชื่อมต่อกับตลาดโลกมีแต่จะทำให้ราคาภายในประเทศต่ำลง (ไม่เช่นนั้นจะมีของเหลือที่ขายไม่ออกในประเทศ) ในทางกลับกัน การพยายามดึงให้ราคาสินค้าภายในประเทศสูงกว่าตลาดโลกนั้นทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติที่สินค้าเหล่านี้มักจะมีราคาต่ำกว่าราคาส่งออก เมื่อใดก็ตามที่เราฝืนดึงราคาในประเทศขึ้นมาเหนือราคาส่งออกได้ ก็มักจะจูงใจให้มีการผลิตมากขึ้น แต่ก็มักจะมีปัญหาการส่งออกตามมาด้วย (เพราะสินค้าที่ผลิตเพิ่มมักมีต้นทุนสูงกว่าราคาตลาดโลก) และอาจต้องแก้ปัญหาผลผลิตล้นเกินด้วยการอุดหนุนส่งออก (ซึ่งวิธีนี้เท่ากับการนำภาษีของประชาชนไทยไปจ้างผู้บริโภคในต่างประเทศให้ซื้อสินค้าของเราเพิ่ม) ดังนั้น ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับโครงการหนึ่งโครงการใดของพรรคหนึ่งใด แต่เป็นปัญหาที่จะเกิดจากโครงการที่พยายามบิดเบือนตลาดทุกโครงการ ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมางบที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กับโครงการ “ประกันรายได้” ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากพอสมควรถ้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลและทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะ “เพิ่มเงินกำไรในการประกันรายได้เกษตร” แต่การที่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน (รวมทั้ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร มรว.ปรีดียาธร เทวกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) มีความห่วงใยโครงการจำนำ/ประกันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่า นอกจากจะเป็นเพราะปัญหาในอดีตของโครงการนี้ในยุคที่มีการจัดสรรโควต้าแล้ว ก็คงเป็นเพราะคาดกันว่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่า เนื่องจากมีพยายามเพิ่มราคาข้าวเปลือกถึงเกือบร้อยละ 50 แต่ถ้ารัฐบาลนี้หันมาปฏิรูปโครงการจำนำหรือประกันราคาข้าวทุกเมล็ดมาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยชาวนาบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดราคาจำนำหรือราคารับซื้อที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก (ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศจะตั้งราคาจำนำไว้ที่ร้อยละ 70-80 ของราคาเป้าหมาย—ซึ่งอิงแนวโน้มราคาในระยะยาว—เท่านั้น เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพในปีที่ราคาตลาดตกต่ำเป็นพิเศษ) นโยบายจำนำหรือประกันราคาข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลนี้ ก็จะกลายเป็นนโยบายใหม่ที่ชาวนาและเกษตรกรอื่นๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงในปีที่ราคาตกต่ำกว่าปกติได้ อ้างอิง:
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ศาลให้ประกันผู้หญิงยิง ฮ.แล้ว! Posted: 04 Sep 2011 09:26 PM PDT 5 กันยายน 2554 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ประกันตัว นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋าพร้อมกับพวกอีก 2 คนเป็นจำเลยคือ นายสุรชัย นิลโสภา และนายชาตรี ศรีจินดา โดยให้วางหลักทรัพย์รายละห้าแสนบาท โดยเบื้องต้นได้มี น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและเพื่อน ส.ส.อีกสองคนแสดงความจำนงขอใช้ตำแหน่งเข้าประกันตัว หากกระบวนในการประกันตัวแล้วเสร็จภายในวันนี้ นางนฤมลและพวกจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในเวลาประมาณ 20.00 น. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น