โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เก็บประเด็น ปมร้อน 2.2 ล้านล้าน อภิปรายสภา-กระแสรอบนอก

Posted: 28 Mar 2013 01:37 PM PDT

28 มี.ค.56 ที่รัฐสภา มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรเป็นพิเศษ มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ จำนวน 2 ล้านล้านบาท

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้คือจะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจะเชื่อมโยงฐานการผลิตกับฐานการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสำเร็จตามเป้าหมายจึงต้องลงทุนโดยวางแผนเงินทุนระยะยาว ซึ่งต้องวางแผนหาแหล่งเงินทุนที่มีศัยกภาพ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินการเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากแผนกู้เงินในการจัดการหนี้สาธารณะ

จากนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีความจำเป็นที่ต้องเสนอการลงทุนขนาดใหญ่ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ หลังจากปัจจัยการเมืองที่มีความขัดแย้งในปี 2549 ทำให้ประเทศมีการพัฒนาถดถอย และไม่ได้รับการยอมรับ มิติในการลงทุนขนาดใหญ่ไม่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนในการขนส่งสูงถึงร้อยละ 15  ทำให้ความสามารถในการแข่งขันถดถอย การขนส่งส่วนใหญ่ใช้ถนนเป็นหลัก ซึ่งขีดความสามารถทางด้านการขนส่งของไทยลดลง ส่วนแนวคิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่เชื่อมโยงการลงทุนทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดการลงทุนได้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเน้นการเชื่อมฐานเศรษฐกิจเดิมต่อยอดกับการเชื่อมฐานเศรษฐกิจใหม่ เท่ากับเป็นการเสริมฐานรายได้ใหม่ที่จะมีการลงทุนกับประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงทุนระบบรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่เน้นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาด่านเข้าของประเทศให้มีความมั่นคงและทันสมัยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยคำนึงถึงการกระจายความเจริญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น มีการกระจายความเจริญจากหัวเมืองไปยังเมืองรอบนอกเพื่อขยายความเจริญออกไปจากเมืองกรุง พร้อมกับการเชื่อมโยงไปยังเมืองใหญ่ในชนบท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนโดยเชื่อมห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม การผลิตและการส่งออกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก รวมถึงลดเวลาในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังใช้หลักการเชื่อมเมืองไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ไปยังเมืองใกล้เคียง เชื่อมเมืองต่อเมืองของการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมด เชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวว่า ยังมีหลายคนมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องกู้เงินผ่านการออก พ.ร.บ.แทนการใช้งบประมาณประจำปี ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าระบบงบประมาณรายปีไม่สามารถเอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนาน หลายตัวอย่างในอดีตเช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลเห็นว่าโครงการลงทุนเหล่านี้เป็นโครงการสำหรับประชาชนที่แท้จริง จึงไม่ควรถูกแปรเปลี่ยนในสภาวะการเมืองที่มีความผกผัน นอกจากการลงทุนด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังเสริมด้วยงบประมาณประจำปีและการเชิญชวนเอกชนมาลงทุนด้วย ทั้งนี้รัฐบาลมีความมั่นใจว่ามีเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย โดยจะเน้นการกู้เงิระยะยาว และใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม เชื่อว่าการกู้เงินระยะยาวจะไม่กระทบกับฐานะทางการคลัง แม้การกู้เงินอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น แต่การลงทุนจะทำให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง ในภาพรวมแล้วหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับที่บริหารได้ อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดความผันผวนในอนาคตได้ สำหรับความโปร่งใส ขอยืนยันว่าการดำเนินการจะมีความโปร่งใสและเข้มงวดกว่างบประมาณประจำปี โดยจะยึดการดำเนินการตามระเบียบการใช้เงินของสำนักนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ทำเอกสารประกอบและบัญชีแนบท้ายที่มีความละเอียดเสนอแล้ว  ส่วนการดำเนินโครงการได้ให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ดูแลตรวจสอบ โดยสภาฯ สามารถตรวจสอบผ่านคณะกรรมการธิการ ซึ่งจะมีการรายงานผลการดำเนินการทุกปี ประกอบกับการที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ระดับชุมชน รวมถึงจัดนิทรรศการเสนอโครงการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น

"ขอยืนยันว่าโครงการจะมีการติดตามตรรวจสอบและดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลมีเจตจำนงทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดิฉันไม่อยากให้ถกเถียงว่าใครจะริเริ่ม แต่อยากเห็นประชาชนร่วมกันมีส่วนร่วมในการวางรากฐานเพื่อนาคตของลูกหลานคนไทยต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว


รมว.คมนาคม แจงยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการแข่งขัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงพร้อมทั้งเปิดวีดีทัศน์ ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 2020 โดยอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานประเทศเพื่อการแข่งขันในเวทีโลกว่า ขณะนี้เราใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักของประเทศ ที่ทั้งแพงสุดและเกิดมลภาวะมากที่สุด การขนส่งทางรางจะถูกลงมาเกือบครึ่ง ขณะที่ทางน้ำมีราคาถูกสุด ซึ่งหากปล่อยไปอย่างนี้อนาคตเราจะแข่งกับเพื่อนบ้านและชาติอื่นลำบาก เราจะยิ่งถอยหลังและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่วนทางอากาศนั้นเขาเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ เราหวังว่าในอนาคตรถไฟจะเป็นเช่นนั้น แต่ตอนแรกเราต้องดูแลเขาก่อน หากเอาจุดอ่อนตรงนี้มาเป็นโอกาสได้เราจะพลิกประเทศ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยลงทุกปี ตัวเลขทั่วโลกงบลงทุนในงบรายจ่ายประจำปีอย่างน้อยต้อง 25% แต่ของไทยระยะ 4-5 ปีหลังมานี้เหลือเพียง 12-15% โจทย์ที่เราต้องทำคือ การปรับรูปแบบขนส่งไม่ให้มีคอขวด รถติด ต้องยกคุณภาพชีวิตประชาชน งบฯ จากพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นกระดูกสันหลังประเทศ ส่วนงบฯ ปกติจะเป็นเส้นเลือดฝอย เมื่อรวม 2 งบฯ นี้ประเทศเราจะสมบูรณ์แบบ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการภายใต้แผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศนั้นมี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 11 สาย ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ โครงการติดตั้งและปรับปรุงเครื่องกั้นถนนที่เป็นจุดตัดทางรถไฟ ปรับปรุงอาณัติสัญญาณไฟสี ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงรถจักรแห่งใหม่ที่แก่งคอย สร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 83 แห่ง แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือชุมพร สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานที่จ.อ่างทอง สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจ.สตูล และแผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ

นายชัชชาติ กล่าวว่า 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงิน 1,042,376.74 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน อาทิ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านศุลกากร พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ พัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง แผนงานพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค วงเงิน 994,430.90 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ วงเงิน 387,821 ล้านบาท กรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงิน 170.450 ล้านบาท กรุงเทพฯ - ปาดังเบซาร์ วงเงิน 124,327.9 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี พัทยา-ระยอง โครงการสร้างรถทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-นครพนม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว วงเงิน 593,801.52 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต แอร์พอร์ตลิ้งค์ช่วงดอนเมือง-พญาไท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-บางแค รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม แบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู และหมอชิต-คูคต รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และแผนงานพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก อาทิ เร่งรัดขยาย 4 ช่องจราจร เวลาที่เหลืออีกกว่า 2 ปีมันง่ายมากที่จะไม่ทำอะไร เรามีแผนรายละเอียดชัดเจนอยู่ในเอกสารแนบท้ายว่า ปีไหนทำอะไร งบประมาณเท่าไหร่ ที่กังวลเรื่องความโปร่งใสนั้น เราก็กังวลไม่แพ้กัน หากเกิดคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสนั้น ครม.มีมติออกมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้าง การแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัทนิติบุคคลที่จะเข้าเสนองานต่อรัฐ และระบบอีอ็อกชั่น ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบได้


อภิสิทธิ์ยันไม่รับหลักการ พ.ร.บ. เห็นด้วยลงทุนพื้นฐานแต่ไม่เห็นด้วยที่จะกู้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายถึง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า พรรคมีมติชัดเจนไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ ดังกล่าว หากถามว่าทำไมเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าดูจากสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ก็อาจสรุปได้ว่าที่ต้องทำเพราะไม่สามารถเดินหน้าในการลงทุนพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผล  3 ประการ คือ 1.เงินงบประมาณไม่พอ 2.กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายไม่เอื้ออำนวยที่จะให้ลงทุน และ 3.ปัญหาเรื่องการเมือง

"วันนี้ที่พวกเราทุกคนยืนขึ้นคัดค้านกฎหมายนี้ ไม่มีใครไม่ต้องการเห็นรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น แต่กำลังบอกว่าท่านทำได้ เงินมี กฎหมายหลายฉบับก็เอื้อให้ทำได้ และทั้งหมดก็อยู่ที่การเมือง จึงต้องถามว่าหากเป็นความตั้งใจทางการเมืองที่จะทำเรื่องเหล่านี้จริง ทำไมต้องมาขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณปกติ"นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือปัญหาวินัยการเงินการคลัง เจตนาของท่านที่แท้จริงคืออะไร เมื่อตอนที่ตนเป็นรัฐบาล สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการกู้เงิน บ้างก็บอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ แล้วรัฐบาลนี้ได้หาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายทั่วประเทศว่าล้างหนี้ให้ประเทศ นี่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำไว้ 7 พันล้านบาท อยากถามว่าทำไมวันนี้กู้

"คาดว่าปีนี้หนี้สาธารณะจะเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ยังไม่ได้กู้ ต้องยอมรับว่าอนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก ที่บอกว่าใช้หนี้ 50 ปี หนี้ที่คนไทยต้องใช้คือ 5 ล้านล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี อยากถามว่าหากวันข้างหน้าถ้าเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแผนของรัฐบาลจะผิดหมด ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาตินู้น"นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่า เมื่อมีพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว รัฐบาลตั้งแต่ปี 56-60 จะต้องปรับลดงบขาดดุลเท่าไหร่ และหลังปี 60 รัฐบาลจะต้องจัดงบสมดุล ตนเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่กล้าเขียน ไม่กล้าดำเนินการตามนี้ วันนี้ที่กำลังกู้มาเชื่อว่าท่านกำลังทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่า การกู้เงินนอกงบประมาณเป็นปัญหาต่อการตรวจสอบ เพราะเราไม่มีอำนาจในการพิจารณาและตรวจสอบได้เลยว่าที่จะไปสร้างถนน รถไฟ  กิโลเมตรละกี่บาท เพราะเราแปรญัตติไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เราจะได้รับทราบว่า แต่ละปีท่านทำอะไร แต่ไม่มีอำนาจบอกเลยว่า โครงการไหนต้องปรับเปลี่ยน หรือแก้ไข

"ผมไม่ได้ระแวงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ เราเคยฟังนายกฯ พูดว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่จะฟื้นฟูน้ำท่วมจะมีระบบตรวจสอบโปร่งใสได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ การที่นายกฯบอกไม่ต้องห่วงเพราะมีระเบียบพัสดุ ฉะนั้นนายกฯ จะสั่งให้มีการเขียนไปในกฎหมายได้หรือไม่ว่า ทุกโครงการตามกฎหมายนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายระเบียบพัสดุ จะไม่มีการไปออกมติ ครม. ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบ 1.2แสนล้านบาท และ 3.5 แสนล้านบาท เพราะหากเป็นเช่นนี้จะน่าเชื่อถือมากขึ้น"นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า อยากถามว่า ถ้าสภาฯอนุมัติกฎหมายแบบนี้  วันข้างหน้าจะเป็นแบบอย่างหรือไม่ ต่อไปรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายงบประมาณมา มีรายการเงินเดือนอย่างเดียว จะลงทุนอะไร  ก็ไปออกกฎหมายกู้เงิน ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะการทำอย่างนี้ถือเป็นการเลี่ยงระบบการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ

 

กรณ์ท้ารัฐบาล 7 ข้อ
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายว่า เรื่องที่มีความสำคัญคือรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้ถึง 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ ฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการสร้างเงื่อนไข ไม่ต้องการถ่วงความเจริญ หากพูดถึงหลักการแล้วฝ่ายค้านไม่สามารถเห็นด้วย คือ 1.ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องการอาศัยการกู้เงินทั้งหมด เพราะสามารถให้สัปทานแก่เอกชนได้ 2. ทำไมต้องกู้นอกระบบงบประมาณ ทั้งที่สามารถกู้ในระบบได้ 3.พ.ร.บ. ฉบับนี้เสียงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจสะดุดการทำงานของรัฐบาลเอง

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยในการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้หลายประเด็น เช่น ที่มาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลอาจความจำเป็นในการกู้เพื่อพัฒนาระบบการขนส่ง แต่ไม่ได้มอบถึงประเด็นอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ แต่รัฐบาลมองแต่ด้านคมนาคม ไม่มีการมองถึงการพัฒนาคน ส่วนความมั่งคงทางการคลังนั้น รัฐบาลกำลังลดความน่าเชื่อถือของประเทศโดยการกู้เงิน 2 ล้านล้าน เรื่องดังกล่าวใครจะได้ประโยชน์ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ประชาชนแน่นอน สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ เรามีหนี้กองอยู่บนตักแน่นอน หากรัฐบาลไม่มีความพร้อม ก็จะเป็นภาระของประชาชน

นายกรณ์ กล่าวว่า  เห็นบทเรียนมาแล้วการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน3.5 แสนล้านบาท จึงไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนไปได้ ส่วนผลกระทบทางการคลัง ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่ต้องกู้ทั้ง 2 ล้านล้าน เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีที่ประเทศไทยสามารถรับภาระได้หรือไม่นั้น รัฐบาลไม่ได้พูดว่าแหล่งรายได้จะมาจากที่ใด ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป เพราะตัวภาษีมูลค้าเพิ่มแม้จะขยายตัวอยู่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องพูดความจริงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งเจ้าใจว่าต้องมาจากภาษีของประชาชน รัฐบาลมีแนวคิดในการปรับภาษีหรือไม่ เรายังไม่สามรถตอบได้ว่า หนี้สาธารณจะต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างจริงหรือไม่ การกู้เงินดังกล่าวไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะรัฐบาลระบุว่าจะกู้ในประเทศ เรื่องนี้จะเป็นการแย้งชิงระหว่างรัฐกับเอกชน วันนี้ประชาชนมีความสับสนกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น การคืนเงินต้น 50 ปี ซึ่งดอกเบี้ยต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก ใน 50 ปี ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นด้วย ทุก 1 เปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ย สุดท้ายเราไม่สารมารถรับภาระหนี้ได้หรือไม่ เช่นเมื่อมีการขาดทุนใครจะรับผิดชอบ ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบก็ไม่สามารถเห็นด้วยได้ หากรัฐบาลยังดื้อโดยใช้เสียงข้างมาก คิดว่ารัฐบาลไม่สารมารถอ้างเสียงข้างมากได้ เพราะเคยประกาศไว้ว่าต้องการล้างหนี้ให้ประชาชน แต่ที่เห็นอย่างเป็นการใช้หนี้


นายกรณ์ กล่าวว่า ขอท้ารัฐบาล 7 ข้อประกอบด้วย

1.หากมีความจริงใจขอให้ทำตามที่ผู้นำฝ่ายค้านขอไว้ โดยเอาเอกสารประกอบ พ.ร.บ. มาเป็นบัญชีแนบท้าย
2. หากมีโครงการใดก็แล้วแต่ที่หากล่าช้า ขอให้หมดสัญญาจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปเลย
3. โครงการใดที่จะยกเลิก ต้องไม่โอนเงินเพื่อกู้เด็ดขาด
4. ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต และต้องมีการทำอย่างเปิดเผย
5. ต้องการเห็นบทบาทภาคีการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบ หากมีกรณีใดที่พบว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ขอให้โครงการนั้นหมดสิทธิ์ไปเลย
6.ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลการขาดดุลทางงบประมาณ
7.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องดู GDP อย่างที่กล่าวอ้างไว้


ถามกู้ 2 ล้านล้าน หาเงินจากไหนใช้หนี้-ไร้ราคากลางส่อไม่โปร่งใส
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่าสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยคือ 1. ตนเห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศที่ขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกระทำขัดแย้งกับนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 ที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ว่าจะบริหารประเทศยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลทำสวนทาง ตนยืนยันไม่ค้านความเจริญ อยากเห็นประเทศก้าวหน้า แต่วันนี้การกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่ใช่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นแนวทางที่เรียกว่า "เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง" การพัฒนาประเทศต้องใช้งบประมาณประจำปีตนก็สนับสนุน และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตนเชื่อว่านโยบายนี้ "ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์กู้ รมว.คมนาคมใช้เงิน ประชาชนใช้หนี้"

และในกฎหมาย 19 มาตรา ตนได้อ่านละเอียดแล้วไม่มีตรงไหน บอกว่ากระทรวงการคลัง จะเอารายได้จากไหนใช้คืนหนี้ ที่การกู้เงินครั้งนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 5.16 ล้านล้านบาท จะเอามาจากไหน เพราะถ้าไม่ชัดเจนเรื่องรายได้ ก็หมายความว่าในวันข้างหน้า จะมีการรีดภาษีจากคนไทย หรือการขยายฐานภาษีเพื่อหาเงินมาใช้หนี้

"ผมไม่เชื่อในความสามารถของ รมว.คมนาคม จะบริหารโครงการนี้ให้สำเร็จได้ เนื่องจากการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่แก้ไขปัญหาในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ที่เจ๊งทั้งหมด ก็ยังไม่แก้ไข หากการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วก็ให้ รฟท.ดูแลอีก ก็จะเจ๊งแน่นอน

นอกจากนี้ การขอกู้เงินทำผิดรัฐธรรมนูญ หมวด 8 เรื่องการเงินการคลังและงบประมาณ ในมาตรา 166,169,170 การเสนอขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มี 3 ยุทธศาสตร์แต่กลับไม่มีรายละเอียด ไม่มีราคากลาง ทำให้ส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส รัฐบาลทำโครงการเป็นแสนล้าน ไม่มีปริมาณโครงการ ราคากลางไม่มี ก็จะนำไปสู่ให้ผู้รับเหมาเขียนราคากลางให้ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าท่านยังไม่พร้อม ทั้งนี้เรียกร้องให้นายกฯ ถอนร่างออกและขอไปทำประชามติไปสอบถามประชาชนก่อน


ย้ำเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านว่า ขอชี้แจง 3 ประเด็น คือ กรณีการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีหลักการโดยคำนึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะลดต้นทุนการขนส่งและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปกติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐควรลงทุนเอง แต่อาจมีบางส่วนที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้เอกชนมาลงทุนต่อเนื่อง หากในโครงการนี้ส่วนใดที่เปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ จะตัดการใช้เงินกู้ในส่วนนั้นออกไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจะลงนามความเข้าใจกับต่างประเทศที่จะมาลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขอชี้แจงว่า การลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะยังมีข้อขัดแย้งของ 2 ฝ่ายอีกมาก เช่น ประเทศที่ต้องการมาลงทุนต้องการใช้เทคโนโลยีของเขา ใช้ผู้รับเหมาของเขา ให้สัญญา 50 ปี ต้องให้สิทธิการใช้ที่ดิน ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการมาลงทุนไม่มีใครไม่ต้องการผลประโยชน์ หากลงทุนแล้วต้องเสียเปรียบหรือไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เราคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่จะต้องมีข้อยุติในอนาคต

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีรถไฟความเร็วสูงจะมีการเชื่อมโยงถึง จ.หนองคาย และมีการเชื่อมถึงปาดังเบซาร์แน่นอน เพียงแต่จะทำต่อเมื่อมีความเหมาะสม โดยต้องดูความพร้อม ขอย้ำว่าเราจะเชื่อมเมื่อทุกคนพร้อม ส่วนการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไป จ.เชียงใหม่ ก่อนเป็นนโยบายของรัฐบาล และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า จ.เชียงใหม่ จะได้ประโยชน์กว่า เพราะมีผู้ที่ต้องเดินทางมากกว่า จ.หนองคาย วันละ 10,000 คน


กิตติรัตน์ยันมีระบบสกัดคอร์รัปชั่น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในประเด็นที่ผู้นำฝ่ายค้านได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยกรณีที่จะมีผลต่อระดับหนี้สาธารณะให้ปรับสูงขึ้นและต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ที่ยาวนานนั้น ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะจะยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง หากมีอะไรที่เหนือความคาดหมายต่อระบบเศรษฐกิจ ก็หมายความว่า เรามีช่วงห่างของการกู้เงินที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้ได้ ส่วนที่มองว่าจะมีระยะเวลาที่ยาวนานในการชำระนี้ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ เราก็มีทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุน ซึ่งจะยังคงอยู่ยาวกว่าศตวรรษ

"กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายแรกที่บอกได้ว่า ถ้ากู้เงินแล้ว จะมีระยะเวลาการชำระหนี้หมดในช่วงใด ในอดีตไม่เคยมี และแม้ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายไปก่อนหน้านี้ จะไม่ได้ระบุ ระยะเวลาในการชำระหนี้ ก็เพราะเราแน่ใจว่า การก่อหนี้จะอยู่ในกรอบวินัยการคลัง"

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะใช้หนี้ก่อนกำหนด ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแค่เพิ่มต้นเงินกู้ในการชำระ ก็จะช่วยลดดอกเบี้ยได้อีก ส่วนที่อัตราดอกเบี้ยจะสามารถพุ่งไปถึง 3 ล้านล้านบาท ก็คงเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ยาวถึง 50 ปี แต่ด้วยแผนการกู้เงิน ที่เราจะกู้ในประเทศเกือบทั้งหมด ทั้งที่ตลาดต่างประเทศก็มีความต้องการเสนอเงินกู้ ฉะนั้น ถ้าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการระดมเงินทุน ดอกเบี้ยเหล่านี้ ก็จะตกอยู่กับคนไทยทั้งหมด

ส่วนกรณีที่มองว่า กฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนหน้าของกฎหมายที่น้อย และกังวลกรณีที่จะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริง คือ เรามีบัญชีแนบท้ายร่างกฎหมายอีกจำนวน 2 หน้า แต่ก็ไม่น้อยเมื่อเทียบกับกฎหมายฉบับเดิมๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ ในจำนวน 19 มาตราของกฎหมายนั้น ก็กำหนดสาระสำคัญในการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการทำงานที่รอบคอบ โดยกำหนดให้กระทรวงที่รับผิดชอบโครงการต้องเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

"ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องจัดระบบให้มีการติดตามการลงทุน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องรายงานผลการดำเนินโครงการให้แก่สภาฯและวุฒิสภาได้รับทราบภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ นอกจากนี้ ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ยังกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินโครงการ และมีเอกสารโครงการลงทุนประกอบการพิจารณาถึง 231 หน้า"

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับสูตรการคำนวณราคากลางที่เป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มเติมการคำนวณราคากลางในสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนตามร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย เช่น การคำนวณราคากลางของระบบราง หรือสะพาน เป็นต้น และได้มีหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการให้ปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง

 

ครป.จี้ประธานสภาฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
วันเดียวกัน นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่า 1.ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่ต้องเป็นผู้แบกหนี้ที่รัฐก่อขึ้นเป็นเวลาถึง 50 ปี จึงขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ตัดตอนกระบวนการตรวจสอบ ทำลายหลักนิติธรรม ส่อให้เห็นเจตนาทุจริตคอร์รัปชั่น

2.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เหมือนการทำสัญญากู้เงินล่วงหน้า โดยไม่ได้ให้รายละเอียด ถือเป็นการก่อหนี้สร้างภาระดอกเบี้ยโดยไม่ก่อประโยชน์แก่ประเทศ ทำลายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งอาจก่อหายะทางเศรษฐกิจ และ 3.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 และมาตรา 169  4.ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพราะการดำเนินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนการจัดการงบประมาณปกติได้อยู่แล้ว

"ครป.จึงขอเรียกร้องมา ฯพณฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาถอนญัตติร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยทันที เพื่อรักษาไว้ซึ่งการแบ่งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หนังสือดังกล่าวระบุ

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, เดลินิวส์, ข่าวสด, กรุงเทพธุรกิจ 1, 2, สำนักข่าวไทย, ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘24 ศัพท์บัญญัติ’ ที่ควรทำความเข้าใจก่อน-หลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค.นี้

Posted: 28 Mar 2013 12:15 PM PDT

 
 
"มาเลเซียเป็น 'ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย' หรือ Facilitatorไม่ใช่ 'ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย' หรือ Mediator" พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
 
นับเป็นการชี้ชัด สถานะและบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ภายหลังคณะทำงานนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทั้งหมด โดยเน้นประเด็นที่ว่า ภายหลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยและทางการมาเลเซียได้ยกร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ General Consensus on Peace Dialogue Process ร่วมกัน ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบ กติกา และการนัดวันพูดคุย ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิด "มีความหวัง" รวมทั้งทิศทางจากผู้นำรัฐบาล ผู้นำกองทัพและภาคส่วนต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่แสดงออกถึงความสนใจที่ "เอาด้วย" กับการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว
 
ระหว่างขั้นตอนก่อนการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายหลังการแสดงเจตจำนงการเข้าสู่กระบวนการสำคัญนี้ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายรวมทั้งการทำความเข้าใจศัพท์เฉพาะทาง(Technical Terms) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย) หรือ Mediator (ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย) ซึ่งนับได้ว่าศัพท์เฉพาะด้านสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งซึ่งได้ถูกนำมาหยิบใช้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความชัดเจนแก่ทุกๆฝ่าย
 
ก่อนการเริ่ม "พูดคุยสันติภาพ" การเตรียมตัวที่สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายตัวแทนก่อการ คนกลางหรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามปัญหาควรให้ความสำคัญ คือ การทำความเจ้าใจศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เพื่อการเตรียมตัวและสร้างความเข้าใจเบื้องต้นต่อคำศัพท์เหล่านั้นให้ตรงกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสามฝ่ายจะต้องเข้าใจและเห็นร่วมถึงความหมายของศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ในทิศทางเดียวกัน เพระความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสลับซับซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะท้องถิ่นที่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาในการแก้ปัญหาและเชื่อมโยงเข้ากับหลักศาสตร์สันติภาพสากล
 
ในการนี้ จึงขอหยิบยก 10 ศัพท์บัญญัติด้าน สันติภาพและการจัดการความขัดแย้ง (พร้อมคำศัพท์เทียบเคียงในภาษามลายูกลาง) ที่ถูกระบุใน "glossary of key terms" (ศัพท์ที่เป็นกุญแจสำคัญ) ซึ่งได้รับการนิยามโดย School of Peace and Conflict Management แห่ง Royal Roads University ประเทศแคนาดา (ซึ่งเคยจัดการเรียนการสอนร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันเครือข่าย) มาใช้เป็นตัวอย่างในการยกร่างการนิยามความหมายศัพท์เฉพาะดังกล่าว พร้อมทั้งการขยายความเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย
 
1. Peace Building การเสริมสร้างสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง pembangunan, binaan/keamanan) คือ กระบวนการพื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการสร้างความสันตินั้นต้องการการยอมรับความแตกต่าง การขอโทษ และการให้อภัย ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือรุนแรงที่ผ่านมาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทุกฝ่ายให้มาแทนที่ความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แข่งขัน การเสริมสร้างสันติภาพ ต่างจากคำว่า Peacekeeping การรักษาสันติภาพ (ภ.มลายูกลาง menjaga, mengawal/ keamanan) ตรงที่ศัพท์คำหลังหมายถึง การป้องกันหรือการยุติความรุนแรงระหว่างประเทศ หรือภายในรัฐชาติ (nation-state) โดยมีบุคคลที่สาม/ฝ่ายที่สามจากภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้คู่ขัดแย้งมีการปะทะต่อสู้กัน การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) แตกต่างจากการสร้างสันติภาพ (peacemaking) ที่เป็นการเจรจาต่อรองหาทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหนึ่งๆ โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการรักษาสันติภาพ คือการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทย เป็นการป้องกันและการพยายามที่จะยุติการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ โดยมีทางการมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายที่สามที่ไม่ใช้เจรจาต่อรอง หากแต่ใช้การพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก อันเป็นส่วนหนึ่งที่นับได้ว่าอยู่ในเงื่อนไขของการรักษาสันติภาพ
 
2. Negotiation การเจรจาต่อรอง (ภ.มลายูกลาง Perundingan) สามารถกล่าวได้ว่า การเจรจาต่อรอง เป็นรูปแบบพื้นฐานของการแก้ปัญหาข้อพิพาท ในการเจรจา จำเป็นต้องมี คู่กรณีเข้ามาร่วมกันในการพิจารณาถึง ความสนใจ (interests) และความต้องการ (needs) ของพวกเขา และร่วมมือกันในการหาทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย การเจรจาต่อรองสามารถสำเร็จลุล่วงได้เพราะความร่วมมือ ดังเช่นในหลักการเจรจาต่อรอง (principled negotiation) อีกทั้งยังสามารถเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันดังเช่นในการจำแนกเนื้อหาสาระของการเจรจาต่อรอง(distributive bargaining) การเจราต่อรองเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ เช่นเดียวกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการในชายแดนใต้ประเทศไทย
 
3. Third Party ฝ่ายที่สาม (ภ.มลายูกลาง pihak ketiga.) คือ บุคคลหนึ่งซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับความขัดแย้ง และพยายามที่จะช่วยให้คู่ขัดแย้งสามารถหาทางแก้ไขปัญหา  หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งทุเลาลง เช่น คู่ขัดแย้งมีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น หรือมีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น  บทบาทตัวอย่างของฝ่ายที่สาม ได้แก่ ผู้ไกล่เกลี่ย (mediators) อนุญาโตตุลาการ (arbitrators) ผู้ส่งเสริมการประนีประนอม(conciliators) และผู้อำนวยความสะดวก(facilitators) ในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนฝ่ายขบวนการปลายเดือนมีนาคมนี้ ฝ่ายที่ทำงานในบทบาทนี้คือ ทางการมาเลเซีย
 
4. Positions จุดยืน/ตำแหน่ง (ภ.มลายูกลาง kedudukan, posisi) คือ สิ่งที่ผู้คน/แต่ละฝ่ายบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร  ซึ่งก็คือความต้องการคร่าวๆที่พวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง ผู้ที่จำแนกความแตกต่างระหว่าง ความสนใจเฉพาะ(interests)กับ จุดยืน/ตำแหน่ง (positions) เช่น นักวิชาการด้านการจัดการความขัดแย้งอย่าง Fisher และ Ury สรุปไว้ว่า "จุดยืน/ตำแหน่ง" เป็นสิ่งที่ผู้คนได้ทำการตัดสินใจเลือก ในขณะที่ "ความสนใจเฉพาะ" เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พวกเขาเลือกเช่นนั้น บ่อยครั้งที่จุดยืน/ตำแหน่งของคู่กรณีมีความขัดแย้งกัน แม้ว่าจริงๆแล้วแต่ละฝ่ายมีความสนใจเฉพาะที่เหมือนกัน  ในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นนี้สำคัญมาก แม้ทั้งสองฝ่ายจะแสดง "สิ่งพวกเขาต้องการจากฝ่ายตรงข้าม"ออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเผยท่าทีเบื้องต้น  ซึ่งเมื่อเกิดการพูดคุยกันแล้วจุดยืน/ตำแหน่ง อาจขยับเขยื้อนได้บ้างตามกรอบกติกาและความเป็นไปได้ของแต่ละฝ่าย เป้าหมายของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้คงต้องแสวงหาและเผยออกถึง จุดยืน/ตำแหน่งของทั้งสองฝ่าย ทั้งทางการไทยและฝ่ายขบวนการ ซึ่งฝ่ายหลังอาจมีความแตกต่างหลากหลายตามเป้าหมายของ(แต่ละ)กลุ่มขบวนการของตน(รวมถึงฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซียก็จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยจุดยืน/ตำแหน่งให้ชัดเจน) แต่การพูดคุยอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนจะส่งผลให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนดจุดยืน/ตำแหน่ง ใหม่ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนไป และอาจเกิดการน้าวโน้ม การสร้างการยอมรับหรือปฏิเสธในสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวังและต้องการการตอบสนองจากฝ่ายตรงข้าม
 
5. Mediation การไกล่เกลี่ย (ภ.มลายูกลาง pengantaraan) คือ การที่บุคคลที่สามเข้าไปมีส่วนในการแทรกแซง (intervention) คู่กรณีในการเจรจาหาข้อตกลงหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีมีทางเลือกที่จะยอมรับหรือไม่ก็ได้ ในบางกรณี ผู้ไกล่เกลี่ย mediators (ภ.มลายูกลาง pengantara) ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการเจรจาหาข้อตกลงให้แก่คู่พิพาทที่กำลังมีข้อพิพาทกันอยู่ ในกรณีอื่นๆ การไกล่เกลี่ยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์เพราะคาดว่าหากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีดีขึ้น อาจนำไปสู่ทางออกของข้อขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ ในกรณีการพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ยังไม่ใช่ขั้นของการไกล่เกลี่ยเพราะยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นพูดคุยอย่างเป็นทางการ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะต่อรอง หรือหาข้อตกลงแต่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
 
6. Facilitation การอำนวยความสะดวก (ภ.มลายูกลาง Fasilitasi, pemudahan) การอำนวยความสะดวก เป็นหน้าที่ของบุคคลที่สาม ในการช่วยให้คู่กรณีได้พบปะพูดคุย ผู้อำนวยความสะดวก(facilitor) จะช่วยคู่กรณีในการกำหนดกติการ่วมพื้นฐานที่บังคับใช้ต่อทุกฝ่าย และระเบียบวาระการประชุมในแต่ละครั้ง ช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้รับข่าวสารตลอดเวลาและดำเนินการค้นหาเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ตรงกัน ผู้อำนวยความสะดวก 'facilitor' อาจคล้ายคลึงกับผู้ไกล่เกลี่ย 'mediator' ในเรื่องของการมีส่วนช่วยเหลือในการหาทางแก้ไขปัญหา แต่ข้อยุติจากการหาทางออก(resolution) ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของผู้อำนวยความสะดวก ในกรณีนี้ตรงกับบทบาทและหน้าที่ของทางการมาเลเซียที่ต่อมีการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
 
7. Identity  อัตลักษณ์ (ภ.มลายูกลาง identiti) หมายถึง รูปแบบที่ผู้คนยึดถือด้วยตัวเขาเอง เช่น ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งในหมู่เหล่าต่างๆ หรือจุดยืนของตนที่ผู้คนใช้เพื่ออธิบายความเป็นตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ ประเด็นนี้ชัดเจนในกรณีปัญหาชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นเรื่องการกดทับและบังคับให้เป็นระหว่างเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แตกต่างและหลายประเด็นขัดกับอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ส่วนความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ Identity Conflict (ภ.มลายูกลาง konflik identity) คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของพวกเขา 'sense of self' ถูกคุกคาม ไม่ได้รับความชอบธรรม หรือไม่ได้รับความเคารพ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกถึงการไม่เป็นที่ยอมรับตัวตน อัตลักษณ์และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะและระบบคุณค่าในแบบเฉพาะจากรัฐไทยที่ปกครองคนในพื้นที่
 
8. Problem Solving การแก้ไขปัญหา (ภ.มลายูกลาง penyelesaian masalah) การแก้ไขปัญหาในบางครั้งหมายถึง การ วิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำสู่การแก้ไข โดยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาทางวิเคราะห์และแก้ไขความขัดแย้งที่มุ่งเน้นไปที่การระบุและจัดหาการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (the underlying human needs) ในสถานการณ์อื่นๆ การแก้ไขปัญหาหมายถึง วิธีการเข้าหาการไกล่เกลี่ยที่มุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขความขัดแย้ง  ซึ่งการปรับปรุงความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งจะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา นิยามความหมายของคำว่า Problem solving ในภาษามลายูกลาง คือ "Kaedah dan proses yang dilakukan untuk menyelesaikan masalah yang dihadapi" หมายถึง "วิธีการและกระบวนการ สำหรับใช้ในการแก้ไข/คลี่คลายปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ข้างหน้า"
 
9. Reconciliation ความสมานฉันท์ (ภ.มลายูกลาง  berdamai) คือ การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกลุ่มคนหนึ่งๆ ให้อยู่ในรูปแบบปกติ  John Paul Lederach นักวิชาการคนสำคัญด้านการสร้างสันติภาพกล่าวไว้ว่า ความสมานฉันท์ เกี่ยวพันกันสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน 4 อย่างคือ การหาความจริง ความยุติธรรม สันติภาพและความเมตตา เมื่อปัจจัย 4 ประการนี้มารวมกันความสมานฉันท์ก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศัพท์คำนี้ถูกใช้บ่อยครั้ง ใช้ตั้งชื่อ "คณะกรรมการอิสระ" ในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แม้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีรายงานที่เป็นข้อเสนอแก่รัฐบาลและกองทัพหลายประการ แต่ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติมากนัก แม้คำศัพท์คำนี้จะสร้างความชาชินผู้คนในพื้นที่แก่ผู้ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่ยังเป็นคำศัพท์ที่ไม่ควรถูกละเลย เพราะหากบรรลุผลทั้ง 4 ปัจจัยของคำๆนี้แล้วความสันติสุขย่อมมีโอกาสกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
10. World View  มุมมอง/โลกทัศน์ (ภ.มลายูกลาง pandangan dunia.) คือ ภาพลักษณ์พื้นฐานของโลกในมุมมองของบุคคลหนึ่งๆ หรือ ความเชื่อหลักของบุคคลหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เขาอยู่ มุมมอง/โลกทัศน์ ยังเกี่ยวพันถึงคุณค่าพื้นฐาน (fundamental values) ของบุคคลหนึ่งๆเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับ ความรู้สึกถึงตัวตน/อัตลักษณ์ของบุคคล (person sense of identity) เนื่องจากมนุษย์เชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตัวเอง ไม่ใช่กลุ่มอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการมีบทบาทเฉพาะในสังคมดังกล่าวและมีความสัมพันธ์แบบเฉพาะกับสมาชิกในกลุ่มนั้น ภาพลักษณ์ของบุคคลหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองของบุคคลนั้นที่มีต่อโลกและภาพลักษณ์ของเขาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ในประเด็นนี้สำคัญมากทั้งสำหรับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยเพราะมีมุมมองการพูดคุยหรือการเจรจาบนฐานของกฎหมาย รัฐธรรมนูญและกรอบอธิปไตยมีภาพลักษณ์ความเป็นรัฐชาติที่เป็นทางการกำกับ แต่ฝ่ายขบวนการปาตานีมีภาพลักษณ์ของหน่วยจรยุทธ์ใต้ดินมีมุมมองทั้งประวัติศาสตร์ ดินแดนและอัตลักษณ์ เป็นเครื่องมือต่อรองที่สำคัญในการสร้างความชอบธรรมในการบรรลุเป้าหมายการพูดคุยสันติภาพ
 
11. Political context บริบททางการเมือง (ภ.มลายูกลาง konteks politik) คือ สถานการณ์ที่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ถูกกระทบโดยระบอบทางการเมืองหรือโครงสร้างการตัดสินใจของชุมชน ท้องถิ่น หรือเชื้อชาติที่มีความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร ใครเป็นผู้กุมอำนาจในการเมือง ในชุมชนหรือสังคมดังกล่าว การลงมติหรือการหาทางออกจากความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆนั้น เป็นไปอย่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการหรือไม่อย่างไร หากมองประเด็นนี้บริบททางการเมืองในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้อำนาจทางการเมืองฝ่ายรัฐในกรณีที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ ครอบคลุมถึงการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเงิน ทางการทหารในการใช้สรรพกำลังและการชี้ขาดปัญหาทั้งทางด้านการเมืองและปกครอง โดยมีโครงสร้างการตัดสินใจที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง หรือที่นักข่าวต่างชาติเรียกว่า "รัฐบาลกรุงเทพฯ" บริบททางการเมืองในพื้นที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจในการบังคับใช้ ออกกฎหมายพิเศษควบคุมจากรัฐส่วนกลาง การเลือกใช้กฎหมายชนิดต่างๆ และการใช้ระบบรัฐสภาเพื่อร่วมตัดสินใจหาทางออกที่ควรจะเป็นจากความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาที่มาจากการถือครองทรัพยากร บุคลากร กลไกและงบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่
 
12. Social Context บริบททางสังคม (ภ.มลายูกลาง konteks sosial) หมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ภายในกลุ่มบุคคลหนึ่งๆที่กำลังอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจทางสังคมหรือทางการเงินเหนือกว่าหรือไม่  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จน้อยกว่า หรือเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายหรือไม่ กรณีปัญหาชายแดนใต้บริบททางสังคมอาจพิจารณาได้ถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ล้มเหลวที่ต่างฝ่ายเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ความไม่ไว้วางใจลดลงระหว่างกันหรืออาจหมายรวมถึงสภาพความหลากหลายของผู้คนในสังคมและวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การทำมาหากิน การอพยพย้ายถิ่น การรวมกลุ่มของสตรีหรือภาคประชาสังคม รวมทั้งประเด็นผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
 
13. Brainstorming การระดมสมอง (ภ.มลายูกลาง pemerahan otak) คือ กระบวนการที่คู่พิพาทถูกระบุให้คิดหาวิธีต่างๆ เพื่อให้มีตัวเลือกในการเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ มากเท่าที่จะทำได้ คู่พิพาทจะได้รับการกระตุ้นให้คิดอย่างสร้างสรรค์และต่อยอดความคิด (ideas) ของกันและกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายคือการได้มาซึ่งวิธีการใหม่ๆในการเข้าถึงปัญหา นอกเหนือจากวิธีการเดิมที่มีอยู่แล้ว
 
14. Consensus ฉันทามติ (ภ.มลายูกลาง sepersetujuan, konsensus,หรือ ijmak: คำหลังสุดมีรากศัพท์จาก ภ.อาหรับ) การหาข้อสรุปแบบ ฉันทามติ คือการที่ทุกคนมีความเห็นสอดคล้องกันในข้อสรุปหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่เพียงเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเหมือนแนวทางปฏิบัติเรื่องเสียงข้างมาก ในกระบวนการหาฉันทามติ สมาชิกทุกคนต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงที่ดีพอ (ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป) และเป็นข้อตกลงที่ทุกคนยินดียอมรับพร้อมทั้งปฏิบัติตาม ฉันทามติเป็นผลในระหว่างการพูดคุยในแต่ละครั้งและเป็นผลปลายทางการพูดคุยที่สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและตัวแทนกลุ่มขบวนการผู้ก่อการ รวมทั้งฝ่ายอำนวยความสะดวกอย่างมาเลเซีย
 
15 Stakeholders ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ภ.มลายูกลาง  pemegang taruh) คือ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อขัดแย้งหนึ่งๆ หรือข้อสรุปของข้อขัดแย้งนั้น ในที่นี้รวมไปถึงคู่กรณีที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนั้น และผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งดังกล่าวโดยตรง แต่อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมเพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์ของความขัดแย้งที่จะมีขึ้นในอนาคต ในกรณีนี้หลายฝ่ายมองว่าบทบาทนี้หมายถึง ประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แคบไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจครอบคลุมถึงประชาชนในพื้นที่ ประชาชนชาวไทยและมาเลเซียโดยรวม รวมทั้งสมาชิกของประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งภูมิภาค ย่อมได้ประโยชน์เช่นเดียวกันหากการพูดคุยสันติภาพ บรรลุผลเกิดการหยุดการใช้ความรุนแรง การพัฒนาที่มุ่งสู่สันติภาพอันจะส่งผลดีแก่ทุกฝ่าย
 
16. Values คุณค่า (ภ.มลายูกลาง nilai) คือ แนวคิดที่ผู้คนมีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องการแยกแยะดีชั่ว และสิ่งต่างควรจะเป็นไปในรูปแบบใดจึงเรียกได้ว่าเหมาะสม ผู้คนมีคุณค่าในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น บทบทของสามีที่ให้เกียรติภรรยา ในเรื่องของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เช่น แนวทางที่นายจ้างควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง และ ในเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น แนวทางที่เด็กควรจะปฏิบัติตนต่อผู้อาวุโส หรือ มนุษย์กับการนับถือศาสนา ในกรณีปัญหาชายแดนใต้แนวคิดเรื่องระบบคุณค่าของคนในพื้นที่มีรากฐานจากศาสนา อัตลักษณ์มลายูและประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มักขัดกับแนวคิด แนวปฏิบัติหลักของรัฐที่พยายามชูเรื่อง "ความเป็นไทย"ที่มีลักษณะเฉพาะและยึดประเพณีในศาสนาพุทธเป็นหลักทั้งในพิธีกรรมรัฐ การปกครองและระบบราชการ
 
17. Deadlines, กำหนดเวลาสิ้นสุด (ภ.มลายูกลาง Tarikh Akhir ) การกำหนด 'deadlines' และบทลงโทษของผู้ที่ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จภายในกำหนด สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณี ว่าการสรรหาข้อตกลงหนึ่งๆจะสำเร็จลุล่วง การกำหนด 'deadlines' ยังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องคู่กรณีไม่ที่ซื่อสัตย์ทำการขัดขวางข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย 'deadlines' ในกระบวนการเจรจาต่อรองช่วยสร้างความมั่นใจวาคู่กรณีฝ่ายใดที่ต้องการคงไว้ซึ่ง สถานะเดิม (status quo) ไม่สามารถยืดเวลาการเจรจาออกไปได้อย่างไม่มีกำหนด เมื่อคู่กรณีที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ ก็มีทางเป็นได้ที่จะออกแบบทางแก้ปัญหาตามที่มีข้อตกลงกันไว้ว่าขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย การแสดงความรับผิดชอบยังสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของข้อตกลงหนึ่งๆอีกด้วย การมีกำหนดเวลาสิ้นสุด เป็นเครื่องมือที่แสดงการให้โอกาสและการแสวงหาเส้นความเด็ดขาดที่สำคัญ ทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายก่อการ เพราะเกี่ยวข้องกับการค้ำประกันผลที่ควรเกิดขึ้นการพูดคุย และเพื่อให้สิ่งที่ตกลงกันมีผลในทางปฏิบัติตามตามข้อตกลงและมีผลในการบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการพัฒนาสันติภาพไปข้างหน้าได้
 
18. Conciliation การประนีประนอม (ภ.มลายูกลาง pendamaian) เกี่ยวเนื่องกับความพยายามของบุคคลที่สามในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาทให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การประนีประนอมนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรืออยู่เดี่ยวๆก็ได้ (independently) โดยปกติแล้ว บุคคลที่สามจะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขข้อเข้าใจผิด ลดความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคู่พิพาท ในบางครั้งการประนีประนอมเพียงอย่างเดียวก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นการปูทางไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยขั้นต่อไป ซึ่งการประนีประนอมนี้สำคัญทั้งสำหรับทางการไทยและฝ่ายขบวนการ
 
19. Impartiality ความเป็นกลาง (ภ.มลายูกลาง adil, saksama, tidak berat sebelah คำแรกมีรากศัพย์มาจากภาษาอาหรับ) ในที่นี้หมายถึง ทัศนคติของบุคคลที่สาม 'a impartial third party' จะต้องไม่เลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ต้องเข้าหาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับคู่กรณีทุกฝ่ายอย่าเท่าเทียมกัน ในทางปฏิบัติแม้ว่าบุคคลที่สามจะสามารถปฏิบัติต่อทุกฝ่ายได้อย่าเท่าเทียม แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากที่บุคคลผู้นั้นจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายถ้าบุคคลผู้นั้นมีความโน้มเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือโน้มเอียงไปทางเหตุผลของฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่าย ประเด็นความเป็นกลางนี้สำคัญมากสำหรับทางการมาเลเซียที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพในทุกครั้งนับจากนี้
 
20.  Dialogue การสานเสวนา (ภ.มลายูกลาง percakapan, dialog) คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจและความต้องการระหว่างกลุ่มคน ในรูปแบบที่เป็นมิตรและเปิดกว้าง โดยปกติแล้วจะมีบุคคลที่สามทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ การสานเสวนาแตกต่างจากการไกล่เกลี่ย (mediation) ซึ่งมีเป้าหมายคือการได้มาซึ่งข้อสรุปหรือทางแก้ไขปัญหาของข้อพิพาทหนึ่งๆ ในขณะที่จุดมุ่งหมายของการสานเสวนาเพียงแค่ต้องการเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างบุคคลเท่านั้นในกรณีปัญหาจังหวัดชานแดนใต้กระบวนการนี้เครื่องมือสำคัญที่ถูกหยิบใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งแวดวงวิชาการ ภาคราชการและภาคประชาคม ที่ใช้การสานเสวนาระหว่างเพื่อนต่างศาสนิก ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เน้นการรับฟังซึ่งกันและกัน อันจะนำสู่การเปิดใจละสร้างการยอมรับระหว่างกัน
 
21. Human needs ความต้องการของมนุษย์ (ภ.มลายูกลาง keperluan manusia) คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ เพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในสภาวะที่ปกติ Abraham Maslow นักจิตวิทยาคนสำคัญ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความต้องการของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าความต้องการที่แสดงออกทางกายภาพ อันได้แก่ ความต้องการอาหารและที่อยู่อาศัย เพราะความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ครอบคลุมถึงความต้องการทางด้านจิตใจ เช่น ความมั่นคงปลอดภัย ความรัก อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรี และความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย นักทฤษฎีทางด้านความขัดแย้งบางท่านเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ 'human needs' ไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและรุนแรงที่สุด คือความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ เกิดจากการปฏิเสธใน ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อาทิ อัตลักษณ์ ความมั่นคงปลอดภัย และการเป็นที่ยอมรับ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ในการที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวจะต้องคิดหาทางเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย โดยปราศจากการประนีประนอม ดังคำกล่าวที่ว่า "human needs are not for trading" "ความต้องการของมนุษย์ไม่ได้มีไว้สำหรับการซื้อขาย"
 
22. Interests ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง (ภ.มลายูกลาง kepentingan) คือ ความต้องการและความกังวลอันเด่นชัด ที่กระตุ้นผู้คนให้ระบุในจุดยืน (position) คือสิ่งที่คู่ขัดแย้งระบุว่าเขาต้องการเช่น "ฉันต้องการจะสร้างบ้านตรงนี้" ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจง คือเหตุผลที่สนับสนุนว่าคนๆหนึ่งเลือกจุดยืนนั้น "เพราะว่าที่ตรงนี้เป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามจุดหนึ่งในเมืองนี้" บ่อยครั้งที่ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายสามารถเข้ากันได้และสามารถเจรจาต่อรองได้ แม้ว่าความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละฝ่ายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงของทางการไทยคือ ในเบื้องต้นต้องการการยุติการใช้ความรุนแรงทั้งรายวันและการสร้างสันติภาพระยะยาว รวมถึงร่วมค้นหารูปแบบปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับชายแดนใต้ในกรอบรัฐธรรมนูญ สำหรับฝ่ายกลุ่มกระบวนอาจเปิดเผยชัดในประเด็นเฉพาะเจาะจง แต่อาจยังสงวนท่าที่ที่สามารถผ่อนปรน ซึ่งยังไม่ว่าจะมีทางออกเช่นไรก็ต้องพยายามน้าวโน้มการยอมรับและการเห็นด้วยจากทางการไทยด้วยเช่นกัน
 
23. Goal Clarification เป้าหมายที่ชัดเจน (ภ.มลายูกลาง Matlamat yang Penjelasan การประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งหนึ่งๆ ถือเป็นเรื่องยาก ถ้าหากบุคคลในความขัดแย้งเหล่านั้นไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของเขาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะฉะนั้นขึ้นตอนแรกสุดในการเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายเพื่อสรุปว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและวิธีไหนคือทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ในประเด็นนี้ชัดเจนว่าทางการไทยใช้การต่อรอง เจรจาพูดคุยสันติภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทย หากแต่ฝ่ายกลุ่มขบวนการอาจมีความแตกต่างหลากหลายในการพูดคุย ทั้งกลุ่มที่ต้องการเอกราช การปกครองตนเองหรือการปกครองในรูปแบบพิเศษที่เป็นที่ยอมรับหรือทางการไทยเห็นว่าเหมาะสม
 
24. Amnesty นิรโทษกรรม (ภ.มลายูกลาง pengampunan) คือ การอภัยโทษแก่ผู้เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำความผิดทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรสงคราม การนิรโทษกรรมเป็นอีกทางออกหนึ่งของปลายทางการพูดคุยสันติภาพที่ทางการไทยสามารถหยิบมาใช้ในกรณีที่ฝ่ายกลุ่มขบวนการให้ความร่วมมือ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเบาบางอดีตที่ทั้งสองฝ่ายเคยกระทำผิดต่อการโดยเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมการเดินหน้าสู่อนาคตร่วมกัน
 
 
สรุป
 
สำหรับวันที่ 28 มี.ค.นี้ การจะเรียกว่า "การพูดคุยสันติภาพ" หรือเรียกว่า "การเจรจา" เพียงแค่สองคำนี้ก็ต่างทั้งวิธีการ ขั้นตอน เนื้อหา สาระ รวมถึงเป้าหมาย และผลที่คาดหวังของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญทั้งสามฝ่ายยังต้องรักษาความไว้วางใจระหว่างกัน ในการหาทางออกต่อปัญหาความขัดแย้งที่มีอีกหลายๆ ฝ่ายในวงนอกที่คอยตามผลความก้าวหน้า ก้าวอยู่กับที่ หรือความถดถอยซึ่งเป็นไปได้ทั้งสามทาง อีกทั้งยังมีกองเชียร์ ฝ่ายคัดค้านและผู้ติดตาม ทั้งนักการเมืองและประชาชนทั้งที่สนับสนุนและเป็นกังวล หรือที่อยู่ข้างใดข้างหนึ่งของฝ่ายคู่ขัดแย้งที่คอยติดตามผลพูดคุยที่จะตามมา การทำความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้ชื่อเรียกหรือศัพท์แสงด้านสันติภาพและความขัดแย้งจึงสำคัญ เพราะด้วยการพูดคุยหรือเจรจาในภาษาและศัพท์ที่เขาเข้าใจ และเรากับเขาเข้าใจตรงกันในเนื้อหาสาระ จึงจะบรรลุผล จะด้วยภาษาไทยภาษามลายูหรือภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ หากจำเป็นต้องเลือกใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะที่มาจากภาษาอังกฤษแล้วควรอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายและทางการมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกต้องเข้าใจนิยามความหมายที่ตรงกันทั้งหมด
 
แต่อาจเป็นได้ที่ศัพท์เทคนิคเฉพาะ (Technical Terms) บางคำอาจสร้างความไม่เข้าใจต่อเนื้อหาสาระทั้งหมด หรือสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่กลุ่มขบวนการที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผู้ก่อการ อีกทั้งในฝ่ายขบวนการเองก็ไม่แน่ชัดว่าจะสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยด้วยภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ทั้งหมดหรือไม่ หรืออาจใช้หลายๆภาษาผสมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติภาพหรือเจรจาในภาษาใดก็ตามประเด็นสำคัญคือต้องให้ทางการมาเลเซียเข้าใจด้วย ทั้งสามฝ่ายและผู้ติดตามวงนอกจึงจะมีความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งเนื้อหาและสาระของทางออกในระยะเบื้องต้นและทิศทางในระยะยาวของกระบวนการสันติภาพที่หลายฝ่ายคาดหวังจะให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่จะก่อให้เกิดแนวทาง(Road Map)สู่ความสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
 
 
หมายเหตชื่อบทความเดิม: 24 ศัพท์บัญญัติด้านสันติภาพและความขัดแย้ง ที่ควรทำความเข้าใจก่อนและหลังการพูดคุยสันติภาพ 28 มี.ค.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถกวิกฤติพลังงานเดือน เม.ย.-นักวิชาการจี้รัฐฯ สร้างนโยบายหนุนพลังงานหมุนเวียน

Posted: 28 Mar 2013 11:49 AM PDT

ภาคประชาชน-เครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงาน ร่วมเสวนาถกปัญหาก๊าซพม่า-วิกฤตไฟฟ้า มีนักวิชาการร่วมคุย ก่อนได้ผลสรุปร่วมยื่นหนังสือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพรุ่งนี้ จี้สร้างความชัดเจนต่อสาธารณะ

 
28 มี.ค.56 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โครงการจับตาพลังงาน ร่วมเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้าโขง (MEE Net) จัดเสวนาหัวข้อ "ก๊าซพม่า&วิกฤตไฟฟ้า: วิกฤตพลังงานหรือวิกฤตธรรมาภิบาล" เพื่อหารือ กรณีการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่า ระหว่างวันที่ 5 -14 เม.ย.56 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานจากทั่วประเทศ 16 องค์กร และนักวิชาการนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วม
 
ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้า และนโยบายพลังงาน ภาควิชา วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงความมั่นคงทางพลังงานว่า รัฐควรสร้างนโยบายที่ทำให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างดี ไม่ใช้พลังงานฟอสซิล และจะอ้างว่าต้นทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงไม่ได้ เพราะถ้าทำในปริมาณมาก ต้นทุนก็ย่อมจะลดต่ำลงเป็นเรื่องปกติ
 
อีกทางหนึ่ง รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปพร้อมๆ กัน เช่นลดหย่อนภาษีให้ ในเมื่อเรื่องอื่นๆ เช่น นโยบายรถครันแรกยังทำได้ เรื่องพลังงานก็ย่อมจะทำได้ แทนที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าก็มาสร้างแผงโซลาเซลบนหลังคาบ้านใช้ในบ้านตัวเอง หากไม่พอจึงใช้ไฟของการไฟฟ้า เช่นนี้แล้ว นอกจากไม่ต้องใช้พลังงานสิ้นเปลืองก็ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการเผาผลาญเชื้อเพลิงมีน้อยลง
 
ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) ได้ร่วมเสนอมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อพูดถึงความมั่นคงของไฟฟ้า จะมีการพูดถึงไฟฟ้าสำรอง การพูดถึงว่าไฟฟ้าสำรองจะมีพอหรือไม่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การวัดปริมาณเพราะไฟฟ้ามีมิเตอร์วัดเป็นตัวเลขได้อยู่แล้ว หากว่าจะมีปัญหาก็อยู่ที่การให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือจงใจให้ตีความไปอย่างไร
 
ในความจริงซึ่งก็มีการทำวิจัยกันไปมากแล้ว ได้ระบุว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ผลิตมีความต้องการลงทุนสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูง จึงต้องสร้างความต้องการให้เกินความเป็นจริง ด้วยการบอกว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรองไม่พอ จึงต้องสร้างเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีดั้งกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ข่าวการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่าย่อมส่งผลให้คนเชื่อว่า ไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เปิดโอกาสให้การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทำได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน 
 
การประชุมนี้ได้ข้อสรุปว่า ในเวลา 10.00 น.วันที่ 29 มี.ค.56 เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงานที่เข้าร่วมประชุมจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ที่ชั้น 19 ตึกจามจุรีสแควร์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
 
เพื่อให้ตอบคำถามว่า ข่าวการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการผลิตต่างไปจากปกติจะถูกผลักให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (FT) หรือไม่ และจะมีรายระเอียดอย่างไรบ้าง เพราะในฐานะผู้บริโภคย่อมจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะด้วย
 
ทั้งนี้ องค์กรที่เชิญเข้าร่วมประชุม อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้าบางปะกง กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด อ.กันตัง จ.ตรัง เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.นครศรีธรรมราช (หัวไทร, ท่าศาลา)
 
เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น อ.ปะทิว จ.ชุมพร เครือข่ายรักษ์ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร เครือข่ายราชบุรี เครือข่ายประจวบคีรีขันธ์ (บ่อนอก บ้านกรูด ทับสะแก) กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี เครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด และเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพครูรัฐชิคาโก ประท้วงปิดโรงเรียน 54 แห่ง บอกเป็นการกระทำ 'เหยียดผิว'

Posted: 28 Mar 2013 09:50 AM PDT

สหภาพครูและผู้สนับสนุนราว 700-900 คน ร่วมชุมนุมและนั่งยึดพื้นที่ใกล้ศาลากลาง เพื่อประท้วงแผนการปิดโรงเรียน 54 แห่งในชิคาโกโดยอ้างเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ถูกสั่งปิดเป็นโรงเรียนในย่านคนแอฟริกัน-อเมริกัน

28 มี.ค. 2013 - สหภาพครูรัฐชิคาโกและผู้สนับสนุนรวมหลายร้อยคนมาชุมนุมประท้วงต่อต้านแผนการปิดโรงเรียน 54 แห่ง ในรัฐชิคาโก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ในช่วงการชุมนุมก่อนการเดินขบวนที่ดาเลย์พลาซ่า ประธานสหภาพครูรัฐชิคาโก คาเรน ลูอิส กล่าวถึงการตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียนของนายกเทศมนตรี ราห์ม เอมมานูเอล ว่าเป็นการกระทำ 'เหยียดผิว' เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ถูกสั่งปิดอยู่ในย่านชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

"อย่าแกล้งทำเป็นว่าเมื่อคุณปิดโรงเรียนในเขตทางตอนใต้และตะวันตกแล้ว เด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจะไม่ใช่เด็กนักเรียนผิวดำ" ลูอิสกล่าว "อย่าแกล้งทำเป็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องในเชิงเหยียดผิว"

เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้ราว 700-900 คน ขณะที่โฆษกของสหภาพครูชิคาโกบอกว่าพวกเขามีมวลชนอยู่ราว 5,000 ถึง 6,500 เตรียมพร้อมไว้แล้ว

เดวิด คัปลาน ครูสอนชีววิทยาบอกว่าครูที่มาชุมนุมในที่นี้หลายคนมาร่วมประท้วงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อโรงเรียนที่จะถูกสั่งปิด รวมถึงโรงเรียนของของเขาด้วย "เมื่อคุณจะเอาโรงเรียนออกไปจากย่านชุมชน คุณก็กำลังเอาหัวใจและจิตวิญญาณของชุมชนนั้นออกไปด้วย"

สำนักข่าวชิคาโกทริบูน รายงานว่า มีการผู้ประท้วง 150 คน ประท้วงด้วการนั่งยึดพื้นที่หน้าศาลากลาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวพวกเขาออกไปอย่างสงบโดยเอามือไพล่หลังแต่ไม่ได้ใส่กุญแจมือ โดยกลุ่มสหภาพครูได้เขียนในข่าวแจกบอกว่ามีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ซึ่งตำรวจยืนยันว่าพวกเขาแค่ออกใบสั่งผู้ประท้วง 127 คน ไม่ได้จับกุม

เรื่องการปิดโรงเรียนในรัฐชิคาโกทำให้เกิดความขัดแย้งมาหลายเดือนแล้ว จนกระทั่งสำนักงานเขตการศึกษาของชิคาโกเปิดเผยแผนการปิดโรงเรียนประถมศึกษา 53 แห่งและมัธยมศึกษา 1 แห่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากการประท้วงของสหภาพครูแล้ว ในวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน หลายสิบคนมาเยือนสำนักงานของนายกเทศมนตรี ราห์ม เอมมานูเอล เพื่อเรียกร้องให้ยุติการปิดโรงเรียนชั่วคราว

นายกเทศมนตรีชิคาโกกล่าวว่า การสั่งปิดโรงเรียนเป็นเรื่องตัดสินใจลำบากแต่ก็เป็นความจำเป็นเนื่องจากเป็นการจัดการกับภาวะขาดดุลงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 2.9 หมื่นล้านบาท)

ขณะที่ บาร์บารา เบิร์ด-เบนเนทท์ ประธาณบริหารสำนักงานเขตการศึกษาของชิคาโก กล่าวว่าเธอยอมรับว่าชุมชนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น แต่การที่ต้องสั่งปิดโรงเรียนนั้นเนื่องมาจากความเป็นห่วงในตัวเด็กนักเรียน ทำให้ต้องยุบโรงเรียนที่ขาดประสิทธิภาพเพื่อนำตัวเด็กนักเรียนไปอยู่ในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

มีนักเรียนราว 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชั้นประถมศึกษาที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนในครั้งนี้ตั้งแต่ช่วงปีการศึกษา 2013-2014 ประธานสหภาพครูแสดงความกังวลว่าหากมีการปิดโรงเรียนเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในย่านชนกลุ่มน้อย ทำให้เด็กนักเรียนต้องเดินทางผ่านย่านที่มีกลุ่มแก็งค์อันธพาล

ทางคณะกรรมการบอร์ดการศึกษา ซึ่งทั้งหมดแต่งตั้งโดยนายกเทศมนตรีจะทำการโหวตลงมติผ่านร่างข้อเสนอในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้


เรียบเรียงจาก

Hundreds protest over Chicago school closures, BBC, 28-03-2013

Loop rally, march targeting CPS closings lead to 127 detained, Chicago Tribune, 27-03-2013


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กำเนิดและพัฒนาการของแนวคิด “เชื้อชาติมลายู” ในบริติชมลายา (1)

Posted: 28 Mar 2013 07:57 AM PDT

 

บทนำ: ประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติมลายู

"ความเป็นมลายู" หรือ  อัตลักษณ์ในการเป็นคนมลายูเป็นเรื่องราวที่มีการศึกษาค้นคว้าเป็นระยะเวลานานพอสมควร บ่อยครั้งในแวดวงวิชาการมลายูศึกษา จะค้นคว้าและตั้งคำถามเพื่อที่จะค้นหาอัตลักษณ์มลายู ความเป็นมลายูมีความลื่นไหลเป็นอย่างมา จึงทำให้มีการนิยามความเป็นมลายูที่มีความหลากหลายทั้งนักวิชาการตะวันตกที่เข้ามาศึกษาเรื่องราวของชาวมลายู และรวมไปถึงวิชาการและนักการเมืองที่เป็นชาวมลายู ในบทความนี้จะนำเสนอมุมมองบางประการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด เชื้อชาติมลายู ในบริติชมลายา[1]ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และใครเป็นบุคคลสำคัญต่อแนวคิดดังกล่าวนี้

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ความเป็นมลายูได้ถูกกล่าวอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้จากการสถาปนารัฐมะละกา เป็นบริเวณที่สามารถกุมความเป็นมลายูได้อย่างเด่นชัด  แต่ภายหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรมะลากาความเป็นมลายูถูกเคลื่อนย้ายไปสู่รัฐยะโฮร์ที่มีการอ้างว่าได้อ้างการสืบทอดอำนาจจากรัฐมะละกา 

อย่างไรก็ตามความชัดเจนในเรื่องของเชื้อชาติเริ่มเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นภายหลังการเดินทางเข้ามาของชาวตะวันตก  พร้อมด้วยแนวคิดเรื่องชาติ  และวิทยาการสมัยใหม่ที่จะสามารถแบ่งกลุ่มคนได้โดยอาศัยจากปัจจัยหลายอย่าง  ความคิดของชาวตะวันตกได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางคิดของชาวพื้นเมืองที่แต่เดิมมีความคิดเรื่องชาติเพียงแค่หลวมๆเท่านั้น และแนวคิดเรื่องชาติได้ส่งอิทธิพลกระทั่งมาถึงปัจจุบัน "ความเป็นมลายู" จึงได้กลายเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจ  รวมไปถึงการถ่ายทอดแนวคิดเรื่องเชื้อชาติจากชาวตะวันตกสู่ชาวพื้นเมือง

แนวคิด "ความเป็นมลายู" นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสภาพทางสังคมของรัฐที่อยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู และได้มีการนิยาม "ความเป็นมลายู" ที่มีความหลากหลายและมีพัฒนาการอยู่ตลอดระยะเวลา  นับตั้งแต่การก่อตั้งมะละกาในช่วงศตวรรษที่  15  ทำให้ความเป็นมลายูถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเวลาดังกล่าว  ตามที่ปรากฏในเซอจาเราะห์ มลายู  (Sejarah Melayu) ซึ่งเป็นผลผลิตจากชาวตะวันตกที่ถ่ายทอดออกมาอย่างแพร่หลาย กับวิธีการจำแนกผู้คน  งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ในยุคจารีตของชาวมลายู เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการนิยามความหมายของเชื้อชาติมลายู มะละกากลายเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่หลังจากที่มะละกาล่มสลายลงในปี ค.ศ.1511 จากการพ่ายแพ้สงครามต่อโปรตุเกส  ส่งผลต่อการถูกยึดครองและทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นภายในดินแดนแห่งนี้  โดยในการต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวตะวันตกได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่งคือ  การจำแนกผู้คนแยกจากกันเป็นกลุ่ม  ตามที่อัตลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นรวมเป็นคนกลุ่มเดียวกัน  และหลังจากนั้นมีการประดิษฐ์สร้างจิตสำนึกภายในกลุ่มนั้นๆ แนวคิดใน "ความเป็นมลายู  ที่เกิดขึ้นหลังจากการจำแนกโดยชาวตะวันตก  ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติของตนในเวลาต่อมา  เมื่อมีการสืบย้อนไปในอดีตเกี่ยวกับที่มาของแนวคิด "ความเป็นมลายู"  ตามที่ปรากฏอยู่ในอยู่ในเซอจาเราะห์มลายู

อาณานิคมและแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ

สังคมมลายูภายหลังการเข้ามาของชาวตะวันตก ได้กลายเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ การตอกย้ำถึงอัตลักษณ์เชื้อชาติมลายูในช่วงที่ลัทธิอาณานิคมตั้งมั่นในพื้นที่ของชาวมลายู  การหลั่งไหลเข้าสู่ บริติชมลายาของชาวจีนและอินเดียมีจำนวนมากขึ้น แนวคิดเรื่องเชื้อชาติที่เป็นความ รู้แบบตะวันตกได้เข้ามาโดยนักวิชาการชาวตะวันตกที่เข้ามาศึกษาชาวมลายูคนที่มีความสำคัญนั่นก็คือ John Grawfurd  มีการศึกษาว่าอัตลักษณ์ที่แท้จริงของชาวมลายูนั้นเป็นอย่างไร  และอีกท่านคือ สแตมฟอร์ด แรฟเฟลล์ (Stamford Raffles)ได้กล่าวเอาไว้ว่า 

"ฉันไม่สามารถตัดสินคนมลายูหรือชาติมลายูเพียงคนเดียว จากการพูดหนึ่งภาษา  แม้ว่าจะกระจายกว้างขวางในช่วงเวลาหนึ่ง และคงสภาพไว้ซึ่งคุณลักษณะพิเศษและขนบธรรมเนียม ในรัฐใกล้ทะเลทั้งหมดระหว่างทะเลซูลูและมหาสมุทรตอนใต้ "

ในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 สำนึกเรื่องเชื้อชาติดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวของชาวมลายู แต่มีชาวมลายูกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเกิดสำนึกในเรื่องเชื้อชาตินั่นคือ กลุ่มยาวี เปอรานากัน

ยาวี เปอรานากัน มุนชี อับดุลลอฮ์ และคำอธิบายเรื่องเชื้อชาติมลายู

 

กลุ่มยาวี เปอรานากัน เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่เป็นลูกผสมระหว่างพ่อชาวอินเดียและแม่ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยูในบริเวณคาบสมุทรมลายู ส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บริเวณสเตรท เซทเทิลเมนต์ [2]  กลุ่มยาวี เปอรานากันเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาทั้งภาษามลายู ภาษาอาหรับรวมไปถึงภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเข้ามามีบทบาทในด้านการพิมพ์สูง  แลพวกเขาเหล่านี้ยังมีการถ่ายทอดแนวคิดของเชื้อชาติมลายูให้แก่ชาวพื้นเมืองทั่วไปผ่านงานเขียนของพวกเขา

ชาวพื้นเมืองคนแรกๆ และเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มยาวี เปอรานากัน ที่ได้รับแนวคิดการสำนึกถึงเรื่องเชื้อชาติในอาณานิคมกลับไม่ใช่ชาวพื้นเมืองมลายูแท้แต่เป็นชาวมลายูลูกผสมนั่นคือ   อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลกอเดร์ เป็นชาวมลายูเชื้อสายอาหรับ อินเดีย  เกิดที่มะละกา และใช้ชีวิตการทำงานทั้งมะละกาและสิงคโปร์  อับดุลกอเดร์ บิดาของอับดุลลอฮฺเป็นชาวอาหรับเดินทางมาเป็นครูสอนศาสนาและภาษาในมะละกาและได้สมรสกับชาวพื้นเมืองที่นั่น มุนชี อับดุลลอฮ  ได้อาศัยอยู่ท่ามกลาง ความหลากหลายทางเชื้อชาติและสังคมที่เป็นไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตกความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องของเชื้อชาติได้ซึมลึกลงไปในความคิดเขา

อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลกอเดร์ มุนชี หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า  มุนชี[3] อับดุลลอฮฺ   เป็นชาวมลายูที่มีเชื้อสายอาหรับและอินเดีย มุนชี อับดุลลอฮฺเกิดเมื่อ 1797 ที่มะละกาและเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1854 ที่เมืองเจดดาห์, ซาอุดีอาระเบีย และได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมลายูสมัยใหม่ เป็นปัญญาชนชาวพื้นเมืองคนแรกที่นำเสนอแนวคิด  "มลายูนิยม" โดยชูความยิ่งใหญ่ของชนชาติมลายู ตลอดเวลาเกือบทั้งชีวิต มุนชี อับดุลลอฮฺได้ใกล้ชิดกับชาวตะวันตก  จึงทำให้มุนชี อับดุลลอฮฺได้รับอิทธิพลทางด้านแนวคิดเรื่องเชื้อชาติจากทางตะวันตกอยู่สูงมากเลยทีเดียว  แต่ในขณะเดียวกันที่มุนชี  อับดุลลอฮฺได้ชูความยิ่งใหญ่ของชนชาติมลายู  จึงทำให้มุนชี อับดุลลอฮฺได้รับอิทธิพลทางด้านแนวคิดเรื่องเชื้อช และยังคงได้วิพากษ์ความเป็นอยู่แบบจารีตของสังคมมลายู  ที่มีความล้าหลังสังคมมลายูยังคงยึดติดกับจารีตแบบเดิม  และยังมีความกล้าหาญที่ได้กล่าววิพากษ์สุลต่านในระบอบเกอราจาอันที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความอ่อนแอจนต้องและกลายเป็นอาณานิคมตะวันตกในที่สุด

 

จากแนวคิดดังกล่าวของมุนชี อับดุลลอฮฺ  ได้สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนมลายูและยังเป็นที่ไม่ได้รับความนิยมจากชาวพื้นเมืองเท่าใดนัก  มุนชี อับดุลลอฮฺ  ได้สร้างวลีหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวกับสังคมมลายูที่เขาได้พบเห็นในช่วงเวลานั้นที่ว่า

"โลกเก่ากำลังถูกทำลายลง โลกใหม่ถูกสร้างขึ้น และรอบๆ ตัวเรามีความเปลี่ยนแปลง"

จากประโยคดังกล่าวข้างต้นได้มีความครอบคลุมสังคมมลายูใน ช่วงศตวรรษที่ 19 ได้เป็นอย่างดีในการเปลี่ยนแปลงของสังคมมลายู  ที่สังคมเก่าเริ่มที่จะเปลี่ยน แปลงไปตามอิทธิพลของตะวันตก

พหุสังคมและการเกิดขึ้นของเชื้อชาตินิยม

สำหรับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่นำสังคมของ บริติช มลายาเข้าสู่ลักษณะที่เป็น  "พหุสังคม" นั่นเป็นผลจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของอังกฤษ ผลจากการที่อังกฤษได้สถาปนา สเตรท เซทเทิลเมนต์ โดยมีการรวมพื้นที่ของ  สิงคโปร์  มะละกา  ปีนัง โดยวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมผลประโยชน์ของกิจการเดินเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา  โดยในช่วงเวลาดังกล่าวอังกฤษยังไม่แสดงท่าทีที่จะมีอำนาจทางการเมืองเหนือบรรดารัฐมลายูต่างๆ  ในตอนนั้น แต่อังกฤษใช้การปกครอง สเตรท เซทเทิลเมนต์  โดยมีข้าราชการโดยตรงจากอังกฤษมีอำนาจในการปกครองและการบริหารกิจการต่าง ๆ  ของสเตรท เซทเทิลเมนต์

 

จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านของการค้าและรวมไปถึงกิจการเหมืองแร่ดีบุกที่มีการขุดเจาะเป็นจำนวนมาก ทางการของอังกฤษมีความต้องการในการหาแรงงานเพื่อมาตอบสนองต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นที่น่าสังเกตุที่ว่าชาวพื้นเมืองมลายูส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเข้าเป็นแรงงานของกิจการเหมืองแร่  ทางการของอังกฤษจึงมีความจำเป็นที่จะนำเข้าแรงงานจากที่อื่นๆ โดยแรงงานที่มีความสำคัญต่ออังกฤษนั้นก็คือ  ชาวจีน และชาวอินเดีย โดยผู้คนทั้งสองเชื้อชาตินั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมาตั้งถิ่นฐานโดยถาวรจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ  สเตรท เซทเทิลเมนต์

การเข้ามาของชนชาติอื่นในมลายาส่งผลต่อแนวคิดทางด้านเชื้อชาติของชาวมลายูในระดับหนึ่ง  นอกจากการนำประเด็นเรื่องเชื้อชาติเข้ามาโดยชาติอาณานิคมแล้ว  ด้วยสำนึกบางประการและจากนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษทำให้ปฏิสัมพันธ์ของชาวมลายูต่อชนชาติอื่นลดน้อยลงไปด้วย  ความแตกต่างของผู้คนแต่ล่ะกลุ่มจะมีความชัดเจนอยู่สูงมากความแตกต่างของคนในพื้นที่ สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนมากทั้งลักษณะทางด้านกายภาพ วัฒนธรรม  และการนับถือศาสนา ในการที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้คนซึ่งมีความแตกต่างไปจากตนเอง

 

บรรณานุกรม

กรุณา  กาญจนประภากูล.  วิวัฒนาการของความคิดเกี่ยวกับคำว่า "เมอลายู" ในประวัติศาสตร์มลายู. สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์, 2537.

ชุลีพร วุรุณหะ. ฮิกายัต อับดุลเลาะห์. ใน บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2540.

เทิร์นบุลล์, ซี. แมรี่.  ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน. ทองสุก เกตุโรจน์, ผู้แปล.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2540. 

ไพลดา  ชัยศร, ผลกระทบของระบบการปกครองของอังกฤษต่อความคิดทางการเมืองของชาวมาเลย์ในรัฐมลายูที่เป็นสหพันธ์ ค.ศ.1896-1941 (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

Hamzah Hamdani.  Hikayat Abdullah. Selangor: PTS Fotuna, 2007

Milner, Anthony. Invention of politics in colonial Malaya: contesting nationalism and the expansion of the public sphere. Cambridge ;New York: Cambridge University Press, 1995. 

................................................................................................

อธิบายภาพ

1. ภาพกริช อุปกรณ์สำคัญของชาวมลายู ภาพจาก http://talk.mthai.com/topic/127261

2. กลุ่มยาวี เปอรานากัน ภาพจาก http://mforum.cari.com.my/forum.php?mod=viewthread&tid=497813

3. มุนชี อับดุลลอฮ์ ภาพจาก http://thestar.com.my/metro/story.asp?file=/2007/9/15/central/18882527&sec=central

4.  สเตรท เซทเทลเมนต์ ภาพจาก http://th.wikipedia.org


[1] บริติชมลายา คือ อาณานิคมของอังกฤษบนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นประเทศมาเลเซียและสิงค์โปร์ในปัจจุบัน

[2] สเตรท เซทเทิลเมนต์ หรือ อาณานิคมช่องแคบ คืออาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเประ) รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน

[3] มุนชีเป็นชื่อที่ใช้เรียกครูสอนภาษา

 

 

ที่มา : PATANI FORUM

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองว่าด้วย 'พลังงานไทย' (ตอนที่สอง): ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงานจริงหรือ?

Posted: 28 Mar 2013 07:40 AM PDT

ขบวนการ "ทวงคืนพลังงานไทย" มีจุดประสงค์ที่แท้จริงทางการเมืองคือ อาศัยความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันแพง มาปลุกระดมความไม่พอใจ โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐบาล โดยอ้างว่า เบื้องหลัง ปตท.ก็คือ "กลุ่มผลประโยชน์" ที่เข้ามาควบคุม ปตท.ด้วยการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544 คนพวกนี้จึงเรียกร้องให้ "ทวงคืน ปตท." ซึ่งก็คือ ถอน ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกหุ้น ปตท. และหวนคืนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปดังเดิม

นิยายพลังงานไทยที่คนพวกนี้ผูกเรื่องขึ้นมาโดยคร่าว ๆ คือ ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน มีทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบปริมาณมหาศาล แต่คนไทยกลับต้องใช้น้ำมันราคาแพงเพราะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาฮุบทรัพยากร เริ่มตั้งแต่สมคบกับบริษัทขุดเจาะต่างชาติที่ได้สัมปทานแบ่งส่วนผลประโยชน์ให้รัฐไทยน้อยมาก แอบส่งออกน้ำมันดิบไทยไปขายในตลาดโลก แล้วนำเข้าน้ำมันดิบราคาแพงจากตะวันออกกลางเข้ามากลั่น บวกต้นทุนเทียมและตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเพื่อกินกำไรส่วนต่าง จัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีราคาขายปลีกแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก!

คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการปกปิดบิดเบือนข้อมูลโดยหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้อง และหันไปอ้างแหล่งข้อมูลต่างประเทศที่ดูขลังน่าเชื่อถือแทน เช่น การสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา หรืออีไอเอ เป็นต้น อ้างไปถึงว่า เป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือซีไอเอก็มี ทั้งที่ถ้าลงมือตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่า ข้อมูลพลังงานไทยจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศ เช่น อีไอเอ และบีพีโกลบอล ก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่หน่วยราชการไทยเผยแพร่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า แหล่งข้อมูลในต่างประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เอาข้อมูลจากหน่วยราชการไทยไปเผยแพร่อีกทีหนึ่งนั่นเอง

ความจริงคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นเศรษฐีพลังงานแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ แม้จะผลิตได้เองจำนวนหนึ่ง ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี ปริมาณสำรองที่มีอยู่ก็ไม่มากนักและถ้าไม่มีการค้นพบเพิ่มอีก ก็จะหมดไปในอีกไม่เกินสิบปี

ข้อมูลจากอีไอเอ บีพีโกลบอล และจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยให้ตัวเลขใกล้เคียงกัน ในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 10-10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอันดับที่ 42 ของโลก และเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของปริมาณสำรองทั้งโลก ไทยมีอัตราการผลิตก๊าซจำนวน 1.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ด้วยอัตรานี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่เพิ่มอีก ก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดไปภายใน 7-8 ปี แต่ประเทศไทยมีการบริโภคก๊าซธรรมชาติปีละ 1.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ผลก็คือ ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านปีละ 3 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต

ในส่วนน้ำมันดิบ ข้อมูลแหล่งต่าง ๆ ก็ยังให้ภาพรวมที่ใกล้เคียงกัน ในปี 2554 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วประมาณ 440 ล้านบาร์เรล เป็นอันดับที่ 47 ของโลกและเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของปริมาณสำรองทั้งโลก ในปี 2555 ไทยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบและคอนเด็นเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) รวมกันประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวันหรือราว 86 ล้านบาร์เรลต่อปี ในอัตราการผลิตนี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำดิบเพิ่มอีก น้ำมันดิบไทยก็จะหมดไปในเวลาเพียง 5 ปี

โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยใช้น้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลางเป็นหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติที่มีสารเจือปนน้อย (เช่น สารปรอท) และกลั่นได้น้ำมันดีเซลเป็นสัดส่วนมาก ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย แต่น้ำมันดิบที่พบในประเทศไทยบางส่วนมีสารเจือปนสูง และที่พบในอ่าวไทยก็มีองค์ประกอบที่กลั่นแล้วได้น้ำมันเบนซินในสัดส่วนสูง ถ้าโรงกลั่นในไทยรับซื้อและกลั่นออกมา ก็จะมีน้ำมันเบนซินเหลือเกินความต้องการของตลาด น้ำมันดิบไทยส่วนนี้จึงถูกส่งออกไปขายต่างประเทศแทน ทั้งนี้ ในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศเป็นปริมาณ 41,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าเพียง 51,000 ล้านบาทเท่านั้น นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกซึ่งส่งออกกันเป็นแสนเป็นล้านบาร์เรลต่อวัน

น้ำมันดิบไทยที่โรงกลั่นในไทยสามารถใช้ได้จึงมีราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ข้อมูลในอดีตแสดงว่า ในแต่ละปี น้ำมันดิบที่ผลิตในไทยสามารถสนองความต้องการใช้ในประเทศได้เพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น นอกนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะเลิกส่งออกน้ำมันดิบไทยโดยสิ้นเชิงและให้โรงกลั่นในไทยกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดเอง แต่ก็มีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่า ต้องมีการลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นปัจจุบันให้สามารถรับสารเจือปนปริมาณสูงได้ ซึ่งใช้เวลาหลายปี ที่สำคัญคือ น้ำมันดิบส่วนนี้มีปริมาณไม่มาก และเมื่อกลั่นออกมาก็จะได้น้ำมันเบนซินสัดส่วนสูง ก็จะต้องมีแผนการส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนเกินนี้ไปต่างประเทศอีกอยู่ดี ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่

พวก "ทวงคืนพลังงานไทย" อ้างว่า ประเทศไทยผลิตก๊าซและน้ำมันดิบได้มากกว่าประเทศเศรษฐีพลังงาน เช่น บรูไน ซึ่งก็เป็นความจริง ในปี 2554 บรูไนผลิตก๊าซธรรมชาติ 440,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (เป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย) ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทได้ 126,000   บาร์เรลต่อวัน (เป็นครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) แต่คนพวกนี้ไม่บอกว่า บรูไนมีประชากรเพียง 4 แสนคน มีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติเพียง 107,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและบริโภคน้ำมัน 16,000 บาร์เรลต่อวัน บรูไนจึงสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ 330,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบ 136,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นสามเท่าของประเทศไทย บรูไนจึงเป็นเศรษฐีส่งออกก๊าซและน้ำมัน

คนพวกนี้ชอบอ้างว่า ในประเทศเศรษฐีน้ำมัน ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก เช่น เวเนซูเอลา ซาอุดิอาระเบีย และที่อ้างบ่อยที่สุดคือ มาเลเซีย แต่ตรรกะที่ว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน คนไทยจึงต้องได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาถูก ก็เป็นตรรกะที่ผิดอย่างสิ้นเชิง ทรัพยากรธรรมชาติทั้งก๊าซและน้ำมันใช้เวลาก่อกำเนิดหลายร้อยล้านปี มีปริมาณจำกัด ใช้หมดไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ ถึงมีมากสักเพียงใด ก็มีวันหมด หนทางที่ถูกต้องจึงต้องประหยัดการใช้ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด ถ้าตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วใช้หมดในเร็ววัน เราและลูกหลานก็ต้องหาพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่ามาใช้ นโยบายของรัฐบาลในต่างประเทศที่อุดหนุนราคาให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจึงเป็นนโยบายที่ผิด ประเทศไทยไม่ควรเอาอย่าง ต้องให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับความหาได้ยากที่แท้จริงของทรัพยากร ส่วนความจริงที่ว่า ราคาน้ำมันบางชนิดในประเทศไทยมีราคาแพงเพราะนโยบายบิดเบือนราคาของรัฐบาลนั้น ก็เป็นความจริง ซึ่งก็ต้องวิจารณ์กันบนข้อเท็จจริง ไม่ใช่บนนิยายที่แต่งขึ้นมาหลอกกันเอง

 

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข" ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กานดา นาคน้อย: ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน

Posted: 28 Mar 2013 07:00 AM PDT

วันนี้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านเข้าอภิปรายในรัฐสภา มูลค่าโครงการนี้สูงถึง 20% ของผลผลิตประชาชาติทั้งปี พอๆ กับงบประมาณรัฐบาลต่อปี

ดิฉันเห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วยระบบรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในเขตกทม.และปริมณฑล แต่ไม่เห็นด้วยกับการ"รีบร้อน"ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อระดมทุน เนื่องจากรายละเอียดที่รมว.คมนาคมและผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เปิดเผยกับสื่อมวลชนขัดแย้งกับข้อเท็จจริง บางประเด็นก็ขัดแย้งกันเองทั้งๆ ที่เป็นโครงการเดียวกัน หลายประเด็นก็คลุมเครือมาก

 

1. ในรายการ Wakeup Thailand เมื่อวานนี้ รมว.คมนาคมเสนอว่าประเทศอื่นเขาก็กู้กันแบบนี้ [1]

ข้อเสนอดังกล่าวมีปัญหาดังนี้

1. โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ไต้หวันใช้วิธีให้สัมปทานแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) คือเอกชนที่รับสัมปทานเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง บริการจัดการ และเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วก็โอนกิจการและทรัพย์สินคืนแก่รัฐบาล ตั้งแต่ประมูลได้จนทดลองขับเคลื่อนรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ไต้หวันใช้เวลา 8 ปี [2]

2. เกาหลีใต้ตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยมีเงื่อนไขให้บริษัทร่วมทุนกู้เองด้วย รัฐบาลเอางบประมาณมารับภาระหนี้สิน 55% ของราคาโครงการเท่านั้น [3] ต่างจากข้อเสนอของร่าง พ.ร.บ.นี้ที่รัฐบาลไทยเอางบประมาณมาแบกรับภาระหนี้สิน 100% (ของค่าราง ค่าเดินรถยังไม่ได้ตัดสินใจ ประเด็นนี้ขอยกไปภายหลัง)

3. ในอดีตที่สหรัฐฯ บริษัทเอกชนระดมทุนทำรถไฟฟ้าข้ามมลรัฐเอง บริษัทที่ขาดทุนโดนรัฐบาลเข้าไปเทคโอเวอร์ให้เป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลัง บริษัทที่ไม่ขาดทุนคือบริษัทรถไฟฟ้าที่ขนส่งสินค้า

4. รัฐบาลญี่ปุ่นและอังกฤษลงทุนทำโครงการรถไฟฟ้าทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเอง แต่เดินรถขาดทุนจนโดนแปรรูป [4] [5]

5.ญี่ ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ และทุกประเทศที่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงในยุโรปมีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ดังนั้นเจ้าของที่ดินที่มูลค่าสูงขึ้นเพราะอยู่ใกล้เครือข่ายรถไฟฟ้าเสียภาษีเข้าคลังมากกว่าเจ้าของที่ดินที่อยู่ไกลจากเครือข่ายรถไฟฟ้า แต่ไทยไม่มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ทำให้การแบกภาระการใช้หนี้ในอนาคตไม่เป็นธรรมเท่าต่างประเทศ ปัจจุบันโครงสร้างภาษีของไทยก็ไม่เป็นธรรมอยู่แล้วเพราะรายได้ภาษีมาจากภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน) มากกว่าภาษีทางตรง (ภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและภาษีเงินได้นิติบุคคล)

6. รถไฟฟ้ามหานครในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลงทุนและบริหารโดยเอกชน รัฐบาลสนับสนุนด้วยการให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด

 

2. รมว.คมนาคมปฎิเสธข้อเสนอของรัฐบาลจีนซึ่งเสนอให้ร่วมทุนด้วยกันด้วยเหตุผลที่ว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์ไม่มีของฟรีในโลก (No free lunch) จะทำให้มีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามมา

ข้อเสนอนี้มีปัญหาดังนี้

1. ไม่มีหลักประกันว่าการลงทุนเอง 100% หรือร่วมทุนกับเอกชนสัญชาติเดียวกันจะทำให้กำไรมากกว่าร่วมทุนกับรัฐบาลต่างชาติ ที่สำคัญ เอกชนสัญชาติเดียวกันมีแค่บริษัทบีทีเอสที่มีประสบการณ์ในการบริหารรถไฟฟ้า ไม่มีบริษัทไทยที่มีประสบการณ์บริหารรถไฟฟ้าความเร็วสูง

2. ตราบใดที่ยังอยากบริโภคเทคโนโลยีที่ตนผลิตเองไม่ได้หรือไม่มีเงินมากพอจะไปซื้อหุ้นบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ความอิสระทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องโรแมนติกเพ้อฝัน ไม่ว่าระดมทุนแบบไหน ซื้อเทคโนโลยีจากประเทศไหนก็ไม่ใช่ของฟรีทั้งนั้น ถ้าฟรีจะต้องกู้ 2 ล้านล้านหรือ? ซื้อเทคโนโลยีจากใครก็จะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านการซ่อมแซมและอะไหล่ต่อไป

 

3. รมว.คมนาคมเสนอว่าโครงการนี้เน้นการทำรางทั้งในเขตกทม. รางคู่ทั่วประเทศและรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ส่วนตัวรถไฟฟ้าอาจจะให้เอกชนเข้ามาลงทุน ต้องไปคิดให้ตกผลึกว่าใครจะเป็นคนเดินรถ

ข้อเสนอดังกล่าวมีปัญหาดังนี้

1. ถ้ายังวางแผนกันไม่เสร็จ ยังไม่ตกผลึกไปถึงจุดที่ว่าเดินรถได้ แล้วสรุปได้อย่างไรว่าจะคิดค่าตั๋วเท่าไรจะลดต้นทุนการขนส่งได้เท่าไร? ถ้าจะทำแบบให้สัมปทานทำไมไม่คิดให้เสร็จไปเลยแบบไต้หวัน? ถ้ายังไม่ตกผลึกก็ไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้ล่วงหน้าผูกพันด้วยมูลค่ามหาศาลแบบนี้

2. เมื่อพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่จะบริหารรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคต พบข่าวในสัปดาห์นี้ว่ายังอยู่ในขั้นเตรียมตัวจัดตั้งบริษัท กระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)จะถือหุ้น 5%-10% [8] แต่ไม่พบรายละเอียดว่าบริษัทนี้จะบริหารแต่รางหรือจะบริหารการเดินรถในอนาคตด้วย

3. ขัดแย้งกับบทสัมภาษณ์ของผอ.สนข. เมื่อวันที่ 28 พย. 2555 ผอ.สนข.เสนอว่าจะใช้โมเดลญี่ปุ่น [9] ลักษณะสำคัญของโมเดลญี่ปุ่นคือไม่แยกรางออกจากบริษัทเดินรถ ผอ.สนข.เสนอด้วยว่าจะบริหารรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยรัฐวิสาหกิจ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผอ.สนข. แต่ถ้าผู้สื่อข่าวรายงานไม่ผิดก็แปลว่าสนข.เข้าใจผิด ทั้งๆที่สนข.รับผิดชอบวางแผนโครงการนี้มานาน ไปดูงานกันที่ญี่ปุ่นแต่ผอ.สนข.ยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลญี่ปุ่นแปรรูปรถไฟฟ้ารางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เรียกว่าชิงคังเซ็นให้เป็นเอกชน 100% ไปแล้วหลายสายโดยเฉพาะสายสำคัญที่สุดที่เชื่อมโตเกียวและโอซาก้า [10] [11] รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีแผนล้มเลิกการแปรรูปสายย่อย(ทั้งรถไฟฟ้าโดยสารและรถไฟฟ้าขนส่งสินค้า)ที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ยังไม่ขายหุ้นเพราะต้องรอจังหวะขายหุ้น แผนการการแปรรูปรถไฟฟ้ารางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่ปีพศ. 2530 สาเหตุคือขาดทุนและมีหนี้สินมาก [12] [13] ในขณะที่รถไฟฟ้าในเขตมหานครของเอกชนบริหารได้กำไรดี อย่างไรก็ดี ทั้งก่อนแปรรูปและหลังแปรรูป โมเดลญี่ปุ่นไม่เคยแยกรางออกจากการเดินรถ

5. สหรัฐฯ ก็ไม่แยกรางรถไฟฟ้ารางคู่และการเดินรถออกจากกัน เคยมีความพยายามแยกออกจากกันเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าข้ามมลรัฐแต่โครงการแปรรูปล้มเลิกไป รัฐวิสาหกิจดังกล่าวเคยเป็นบริษัทเอกชนหลายบริษัทที่รัฐบาลเทคโอเวอร์ให้เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว

6. อังกฤษแยกรางรถไฟฟ้าทางคู่และการเดินรถออกจากกันตอนแปรรูปเป็นเอกชน (เพราะรัฐทำแล้วขาดทุน) แต่สุดท้ายรางก็กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งแล้วการเดินรถเป็นเอกชน มีปัญหาหลายอย่างจนกระทั่งรัฐบาลเมืองลอนดอนตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าใต้ดินกลับคืนมาบริหารเองจนครบทุกสายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว [5] ส่วนรถไฟฟ้านอกลอนดอนยังแยกรางและตัวรถต่อไปแม้จะยังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ ประเทศยุโรปที่มีแผนจะแปรรูปกิจการรถไฟก็จับตามองโมเดลอังกฤษว่าจะแก้ปัญหากันต่อไปอย่างไร

กลับมาที่โมเดลญี่ปุ่นที่กนข.ชื่นชม ญี่ปุ่นรวยกว่าไทยและมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าของตัวเองยังทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง"ทีละสาย" พอวางรางเสร็จเดินรถเลยพลเมืองญี่ปุ่นได้นั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงทีละสาย พลเมืองไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการวางรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปทั่วประเทศทุกสาย? ได้ดูรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ไม่มีรถวิ่งหรือ?

 

4. รมว.คมนาคมเสนอว่าจะลดต้นทุนการขนส่งปีละ 2 แสนล้าน

ข้อเสนอนี้มีปัญหาดังนี้

1. คำนวณกันยังไงทั้งๆที่ยังไม่ได้วางแผนจนตกผลึกว่าใครจะรับผิดชอบเดินรถ? เอาตัวเลขประเมินการลดต้นทุนมาจากประเทศอื่นหรือเปล่า? ถ้าเอามาจากประเทศอื่น ประเทศนั้นบริหารด้วยโมเดลไหน?

2. ในทางสถิติตัวเลขนี้น่าจะเป็นค่าเฉลี่ย แล้ว standard error ของการประเมินเท่าไร? ระยะเวลาคุ้มทุนอยู่อยู่ในช่วงเวลากี่ปี?

3. สมมุติว่าเฉลี่ยแล้วลดได้ปีละ 2 แสนล้าน แล้วแบ่งกันยังไง? ลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบและผลผลิตแล้วจะส่งผ่านส่วนลดไปให้ผู้บริโภคเท่าไร? กลายเป็นรายได้ภาษีเข้าคลังเท่าไร? ผู้ผลิตและ distributor กักกำไรจากการลดต้นทุนไว้กะตัวเท่าไร?

4. คำนวณไปถึงความเสี่ยงด้านราคาของพลังงานไฟฟ้าแล้วหรือยัง? จะเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าแบบมากมายมหาศาล? หรือว่าไทยจะทำโรงไฟฟ้าเพิ่ม?

 

5. รมว.คมนาคมเสนอว่าอาจจะคุ้มทุนเร็วใช้หนี้ได้เร็วแบบใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ

ข้อเสนอนี้มีปัญหาตรงที่ว่า

1. ส่วนที่จ่ายก่อนกำหนดในเดือนกค.ปี 2546 นั้นคืองวดสุดท้ายและจ่าย 96 ล้านเหรียญสหรัฐ [14] ถ้าคิดด้วยอัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้น 42 บาทต่อดอลลาร์แล้วคิดเป็น 4 พันล้านบาท1 ใน 500 ของเงินกู้ 2 ล้านล้านในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น การยกหนี้ไอเอ็มเอฟมาอ้างอิงคือการบิดเบือนข้อมูลเพราะตัวเลขแตกต่างกันถึง 500 เท่า

2. หนี้ไอเอ็มเอฟเป็นหนี้ที่กู้มาเสริมเงินทุนสำรองระหว่างต่างประเทศ โดยกลไกทางเศรษฐศาสตร์แล้วเมื่อเงินบาทตกทำให้ราคาสินค้าไทยได้เปรียบในตลาดโลก เมื่อส่งออกมากขึ้นเงินตราต่างประเทศก็ไหลเข้าประเทศโดยธรรมชาติทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อดูสถิติส่งออกตลาดสหรัฐฯซึ่งได้รับอานิสงฆ์จากค่าเงินบาทโดยตรง ยอดส่งออกสุทธิจากไทยพุ่งขึ้นสูงหลังปีที่เงินบาทตกแล้วค่อนข้างคงที่จนถึงปีที่รัฐบาลทักษิณใช้หนี้ไอเอ็มเอฟงวดสุดท้าย[15] ด้วยเหตุนี้ ยากที่จะบอกว่ารัฐบาลทักษิณทำให้ส่งออกได้มากกว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้น

 

บทสรุป

ดิฉันคิดว่ารมว.คมนาคมและผอ.กนข.ยังตอบโจทย์ไม่เสร็จ ดังนั้นรัฐบาลไม่น่าจะรีบร้อนเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ในรัฐสภา รมว.คมนาคมเสนอว่าจะดึงภาคเอกชนเข้ามีมีส่วนร่วมในอนาคตเพื่อสร้างความโปร่งใส ทั้งๆ ที่ถ้า รมว.คมนาคมอยากดึงใครเข้ามาเพื่อสร้างความโปร่งใสก็ดึงได้เลยตอนนี้ไม่ต้องรอไปถึงอนาคต ที่สำคัญที่สุดคือดึงผู้เชี่ยวชาญที่กนข.เข้ามาสร้างความโปร่งใสด้านรายละเอียดของโครงการ และให้เวลาประชาชนทำความเข้าใจและตั้งคำถามกันในวงกว้างก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องวิธีการระดมทุน

 

ที่มา

[1] http://www.youtube.com/watch?v=eSSbFFcNOhE

[2] http://www.thsrc.com.tw/en/about/ab_comp.asp

[3] http://www.jrtr.net/jrtr40/f08_kim.html

[4] http://www.theatlanticcities.com/commute/2011/10/why-tokyos-privately-owned-rail-systems-work-so-well/389/

[5] http://www.theatlanticcities.com/commute/2012/09/why-britains-railway-privatization-failed/3378/

[6] http://www.theatlanticcities.com/commute/2011/10/why-tokyos-privately-owned-rail-systems-work-so-well/389/

[7] http://www.bloomberg.com/news/2012-08-26/u-s-taxpayers-are-gouged-on-mass-transit-costs.html

[8] http://www.home.co.th/Content/DataDetail/73250

[9] http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1354077994&grpid=00&catid=07&subcatid=0700

[10] http://www.japantimes.co.jp/news/2006/04/06/business/privatization-of-jr-tokai-complete-after-20-years/#.UVP8-Rxqn-o

[11] http://english.jr-central.co.jp/company/ir/factsheets/_pdf/factsheets2012-17.pdf

[12]http://www.jrtr.net/jrtr08/pdf/f04_nak.pdf

[13] http://www.jrtr.net/jrtr47/pdf/f26_Jap.pdf

[14] http://www.imf.org/external/np/sec/pr/2003/pr03131.htm

[15] http://www.census.gov/foreign-trade/balance/c5490.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แห่จรวดโชว์วันกองทัพพม่าปีที่ 68 - ขณะที่ยังรบคะฉิ่นไม่หยุด

Posted: 28 Mar 2013 06:03 AM PDT

นสพ.พม่าตีข่าว "ออง ซาน ซูจี" ร่วมชมพิธีสวนสนามวันกองทัพ ด้าน ผบ.กองทัพพม่ายันจะอยู่ปกป้องรัฐบาลและชาติจากเหตุขัดแย้งทางเชื้อชาติ-การเมือง เพื่อสันติภาพและความสงบ ขณะที่กองทัพพม่าและทหารคะฉิ่นยังมีการปะทะแม้ประกาศหยุดยิงแล้ว

ภาพการสวนสนามของทหารพม่า ในวันกองทัพพม่าปีที่ 68 เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เนปิดอว์ นอกจากการสวนสนามแล้วยังมีการแสดงปืนใหญ่แบบอัตตาจร และจรวดต่อสู้อากาศยานชนิด  S-125 Neva ผลิตในรัสเซียด้วย  (ที่มา: New Light of Myanmar, 28 March 2013)

ออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้านและประธานพรรคเอ็นแอลดี และบุตรสาวของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ได้รับเชิญให้ร่วมงานพิธีเป็นปีแรกด้วย (ที่มา: New Light of Myanmar, 28 March 2013)

ข่าววันกองทัพพม่าปีที่ 68 จากสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือดีวีบี

 

เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า มีพิธีสวนสนามเนื่องในวันก่อตั้งกองทัพพม่า หรือ 'ตั๊ดมาดอว์' ปีที่ 68 โดยมีนายทหารพม่าเข้าร่วมงาน รวมทั้งมีการเชิญนางออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้าน และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี บุตรสาวของนายพลออง ซาน เข้าร่วมพิธีด้วย นับเป็นครั้งแรกที่เชิญนางออง ซาน ซูจีเข้าร่วม

แม้จะได้รับอิสรภาพหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 และได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้ นาง ออง ซาน ซูจี ถูกวิจารณ์ต่อบทบาทที่ไม่แข็งขันในกรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกัน ระหว่างชาวยะไข่ และชาวโรฮิงยา รวมทั้งความขัดแย้งที่รัฐคะฉิ่น และก่อนหน้านี้ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีได้กล่าวผ่านรายการวิทยุของบีบีซีว่า ยังคงรักในกองทัพพม่า แม้จะเคยกักบริเวณเธอยาวนานถึง 15 ปี และกล่าวว่าขณะที่กองทัพพม่าได้ทำสิ่งเลวร้ายในพม่า ก็หวังว่ากองทัพควรที่จะกู้คืนชื่อเสียงของตน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับวันกองทัพพม่า ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี โดยเป็นวันที่นายพลออง ซาน บิดาของนางออง ซาน ซูจี เปลี่ยนข้างมาต่อต้านทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2488 โดยถือเป็นการรำลึกครบรอบปีที่ 68

ทั้งนี้ในหนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันนี้ (28 มี.ค.) รายงานคำกล่าวสุนทรพจน์ของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่าว่า กองทัพพม่าจะป้องกันประเทศ และปกป้องประเทศจากเหตุขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมือง นี่คือนโยบายแห่งชาติของกองทัพพม่า

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่ามุ่งหวังที่จะให้เกิดสันติภาพและความสงบ เพื่อการพัฒนาของชาติ "ชาติจะพัฒนาได้ก่อต่อเมื่อเกิดสันติภาพ เสถียรภาพ เอกภาพ และความเป็นระเบียบวินัยได้รับการก่อร่าง" โดยเขายังเรียกร้องให้มีความจริงใจ ความไว้วางใจ และความปรารถนาดีอย่างแท้จริงจากประชาชนเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ

ทั้งนี้ ผบ.กองทัพพม่ากล่าวด้วยว่า ทหารพม่าจะไม่สร้างความโหดเหี้ยมของสงครามใดๆ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า และย้ำชัดว่า "การปฏิบัติภารกิจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อการเมืองแห่งชาติของเชื้อชาติ แต่เป็นการใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อต่อต้านผู้ที่หวังโค่นล้มรัฐบาล"

ผบ.กองทัพพม่ายังเรียกร้องให้สร้างกองทัพพม่าที่เข้มแข็ง มีพละอำนาจ ทันสมัย และรักชาติ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างอิสระ แข็งขัน ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นกลาง และยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพและสันติภาพ

โดยการสวนสนามซึ่งเริ่มแต่เช้าตรู่ของวันที่ 27 มีนาคม โดยมีการสวนสนามโดยทหาร 6 กอง ได้แก่ ออง ซาน, อโนรธา, ญาณสิทธา, บายินนอง (บุเรงนอง), อองเซยะ และเซงพิวเซง (มังระ) และมีการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบติดปืนกลรุ่น Mi-8/17 ผลิตในรัสเซีย ปืนกล EMER K-3 รุ่น MA-3 ซึ่งกองทัพพม่าผลิตได้เอง และมีการโชว์จรวดต่อสู้อากาศยาน S-125 Neva ซึ่งผลิตในรัสเซีย

ทั้งนี้ในหนังสือ "Building the Tatmadaw: Myanmar Armed Force Since 1948" เขียนโดย Maung Aung Myoe ตีพิมพ์ในปี 2552 ระบุว่าในปี 2546 กองทัพพม่าได้ติดต่อกับเกาหลีเหนือเพื่อซื้อขีปนาวุธ "ฮวาซอง" ซึ่งพัฒนามาจากขีปนาวุธสกั๊ด และในปี 2547 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวหาว่าเกาหลีเหนือจัดหาขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้นให้กับพม่า และนักวิเคราะห์เชื่อว่ากองทัพพม่าน่าจะได้การจัดหาขีปนาวุธจากยูเครนแล้ว

ในพิธีสวนสนามดังกล่าว ผบ.กองทัพพม่า ได้รับความเคารพจากกองกำลังในพิธีสวนสนาม รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบด้วย โดยพิธีฉลองวันกองทัพพม่าสิ้นสุดเวลา 8.30 น.

ทั้งนี้กองทัพพม่ามีกำลังพลประจำการราว 400,000 นายโดยภายใต้รัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 กำหนดให้กองทัพพม่ามีเขตอำนาจศาลของตัวเองและเป็นอิสระจากศาลพลเรือน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดโควตาให้กองทัพพม่าแต่งตั้งคนในกองทัพเข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ และสภาท้องถิ่น ได้ร้อยละ 25 จากจำนวนทั้งหมด มีผลทำให้กองทัพมีอำนาจในการใช้สิทธิวีโต้ หรือลงมติยับยั้งในญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการมติเห็นชอบมากกว่าร้อยละ 75

โดยการตัดสินใจทางนโยบายทั้งหมดของรัฐบาล เชื่อว่ามาจากการกำหนดโดยสมาชิก 11 คนในสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (National Defense and Security Council) ซึ่งนับเป็นองค์คณะที่มีอำนาจสูงสุด โดยในสภาดังกล่าวมีผู้บัญชาการกองทัพพม่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และนายทหารอาวุโสอีก 3 นายรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ สำนักข่าวอิระวดี ยังรายงานด้วยว่า มีการปะทะระหว่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพพม่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานติดต่อกับรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองพลน้อยที่ 4 กองทัพ KIA โดยโฆษกกองทัพคะฉิ่น KIA กล่าวว่าการปะทะระลอกล่าสุดนี้จะไม่มีผลกระทบกับการเจรจาระหว่างคณะทำงานเสริมสร้างสันติภาพของรัฐบาลพม่า ซึ่งจะมีขึ้นก่อนวันที่ 10 เม.ย. นี้

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Tatmadaw's national politics is to safeguard country, the New Light of Myanmar, March 28, 2013

Govt Troops, KIA Engage in Fresh Clashes, By KYAW KHA/ THE IRRAWADDY, March 27, 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา PERMAS สนับสนุนการเจรจา แต่ต้องสากล ยื่นหนังสือแก่รัฐไทย-มาเลย์ ทบทวนบทบาท

Posted: 28 Mar 2013 04:38 AM PDT

ผลสืบเนื่องจากงานเวที BicaraPatani (เสวนาปาตานี) ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "28 กุมภา: สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ปาตานี"เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ณ มอ.ปัตตานี โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 7,000 คน และได้มีฉันทามติร่วมกันเป็นข้อเสนอจากคนในพื้นที่เพื่อยื่นให้แก่รัฐบาลไทยและมาเลเซีย เพื่อให้รัฐทบทวนถึงบทบาทของตนเองให้กระจ่างและชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา

26 มี.ค. 56 เครือข่ายภาคประชาชนปาตานี นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] และองค์กรเครือข่ายเดินทางยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกให้กับ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยผ่านทำเนียบรัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกให้กับ ฯพณฯ นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียผ่านสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และสถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา

PERMAS ในพื้นที่ยื่นจดหมายแก่รัฐไทยผ่าน ศอ.บต. และรัฐมาเลย์ผ่านกงสุลมาเลย์ สงขลา

เมื่อเวลา 11.00 น. นำโดยกริยา บิน วันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ PERMAS และองค์กรเครือข่ายรวมประมาณ 100 คน เดินทางไปยัง ศอ.บต. เพื่อยื่นหนังสือให้กับนายทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีนายอดินันท์ ปากบารารองเลขาธิการ ศอ.บต. ออกมารับหนังสือแทน

ต่อมาเวลา 14.00 น. นักศึกษากลุ่มดังกล่าวจำนวนประมาณ 200 คน เดินทางต่อไปยังสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกให้กับโมฮัมหมัด ไฟซอล บิน ราซาลี กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย โดยมีมูฮัมหมัด โรไซมี ฮารนกงสุลมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ออกมารับหนังสือแทน

PERMAS ส่วนกลางยื่นจดหมายแก่รัฐไทยผ่านทำเนียบรัฐบาล และรัฐมาเลย์ผ่านสถานทูตมาเลย์ ประเทศไทย

ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 12.00 น. นำโดยฮากิมบิน อับดุลเลาะห์พงติกอผู้ประสานงาน PERMAS จากส่วนกลาง และองค์กรเครือข่ายรวมประมาณ 300 กว่าคน เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้กับให้กับ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีประเทศไทย โดยมีพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ออกมารับหนังสือแทน

ต่อมาเมื่อเวลา 15.30 น. นักศึกษากลุ่มดังกล่าวนำโดยผู้ประสานงาน เดินทางต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกให้กับ ฯพณฯ ท่านดาโต๊ะนาซีเราะห์ฮุสเซ็น เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย

ข้อเสนอจากประชาชนปาตานีต่อรัฐบาลไทยและมาเลเซีย

ข้อเสนอจากเวที BicaraPatani(เสวนาปาตานี) ครั้งที่ 2 ดังกล่าวซึ่งมีผู้เข้าร่วมในนามเครือข่ายภาคประชาชนปาตานี ได้มอบฉันทานุมัติให้กับ PERMASและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆที่ประชาชนไว้วางใจ ยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยสองข้อด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. รัฐไทยต้องยอมรับว่า BRN นั้น คือคู่เจรจาไกล่เกลี่ยที่จำเป็นต้องมีคนกลาง (Mediator) ไม่ใช่คู่สนทนาคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างพลเมืองไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
  2. รัฐไทยต้องอย่าเอาข้อเรียกร้องที่เป็นของภาคประชาชนไปเป็นข้อต่อรองกับทางBRN เช่น ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ขอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน รัฐก็ควรที่จะต้องมาพูดคุยต่อรองกับภาคประชาชน

และข้อเสนอต่อรัฐบาลมาเลเซียมีเพียงข้อเดียวประกอบด้วย

  1. รัฐมาเลเซียต้องมีความขัดเจนว่าจะมีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐไทย กับ BRN ในสถานะของการเป็นผู้อำนวยการพูดคุย (Facilitator) หรือ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator)

ในการเดินทางไปยื่นหนังสือครั้งนี้กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวยังแสดงความคิดเห็นผ่านเวิร์ดดิ้ง[Wording] เพื่อให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงเจตนารมณ์ของคนปาตานีจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาและที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ อาทิเช่น

  • 28 กุมภา เป้าหมายคือ สันติภาพ กระบวนการคือ บีบบังคับ
  • เบื่อการเจรจาจัดฉาก การเจรจาจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐไทยยอมรับ BRN เป็นคู่เจรจาภายใต้กฎหมายสากล ไม่ใช่คู่ขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญ
  • การเจรจาเพื่อจัดฉาก เป็นของปลอม เป็นการหลอกลวงประชาชน ประชาชนเห็นแล้วพวกเขาจัดฉากให้เรา
  • No Freedopm No Peace / ไม่มีอิสรภาพ ไม่มีสันติภาพ / TiadaKebebasanTiadaKedamain
  • Freedom Peace Peple Peace the Power /อิสรภาพ สันติภาพ ประชาชนเป็นใหญ่/KebebasanKedamain Rakyat Menentu
  • หลังม่านการเจรจา การโกหกหลอกลวง คือ ความรุนแรงที่หนักกว่าการใช้อาวุธเสียอีก
  • สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ แต่ต้องเป็นการเจรจาตามหลักสากล
  • Patani Want Peace / ปาตานีต้องการสันติภาพ / PataniCintaDamai
  • แค่ Facilitatorยังไม่พอ
  • การพูดคุยสันติภาพต้อง Mediator
  • อีกทั้งยังมีการวาดภาพการเล่นบอล (กรรมการเตะบอลส่งให้กองหน้ายิงเข้าประตู)โดยมีพรรค UMNO เป็นกรรมการ มีพรรคเพื่อไทย เป็นกองหน้า และมีBRN เป็นนายประตู พร้อมทั้งมีข้อความเขียนว่า "ฟาวส์ตั้งแต่ยกแรกแล้ว กรรมการเล่นบอลได้ยังไง"

การเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนปาตานีที่ผ่านมาเป็นเสียงที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดช่วงเวลาการทำสงครามระหว่างรัฐไทยและกองกำลังติดอาวุธเพื่อเอกราชปาตานี แต่เสียงเหล่านั้นเสมือนกับเสียงที่ถูกลมพัดไป ไม่ว่าจะตะโกนดังแค่ไหนก็ไม่มีใครรับรู้ เห็นเป็นใจแม้แต่เสียงเดียว ทั้งที่รัฐเปรยมาตลอดเวลาว่าเสียงประชาชนเป็นเสียงที่บริสุทธิ์ที่สุด วันนี้เสียงเหล่านั้นดังกึกก้องมาอีกครั้งในวาระชะตากรรมของตนเอง เพื่อจะบอกให้รัฐ สังคมไทย และประชาคมโลกรู้ว่า "คนปาตานีต้องการกำหนดชะตากรรมตนเอง"28 กุมภาผ่านไป 28 มีนากำลังมาถึง เสียงเหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูตอนต่อไป

 

ข่าวและวิดีโอที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นไปได้ทางการเงินในการทำเมืองจักรยาน กรุงเทพมหานคร

Posted: 28 Mar 2013 03:56 AM PDT

 
แปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองจักรยานทำได้ทันที คุ้มค่า มีความเป็นไปได้ทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ แต่ที่ผ่านมาไม่ดำเนินการ คงเป็นเพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินน้อย มีโอกาสรั่วไหลไม่มาก
 
การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงเพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง เช่น เขตบางรัก พญาไท ยานนาวา สาทร ปทุมวัน วัฒนา คลองเตย และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
 
หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใดๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น
 
ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
 
หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
 
โดยนัยนี้ เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก ระวังอุบัติเหตุบนถนนในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังสามารถจัดทำอาคารจอดรถเพื่อการพักรถก่อนเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครโดยรถจักรยาน ตลอดจนการสร้างหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ สร้างห้องอาบน้ำสาธารณะ หรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
 
กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเรา
 
ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ ทำไมที่ผ่านมาส่วนราชการฝ่ายการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการโดยเร็ว แต่มารณรงค์กันในช่วงเลือกตั้งนี้ ผมเชื่อว่าคงเป็นเพราะโครงการนี้มีมูลค่าไม่มากนัก จึงอาจไม่จูงใจให้ดำเนินการเท่าโครงการที่มีมูลค่าสูงอื่นๆ
 
อนึ่งในภาพนี้ผมขี่จักรยานเช่าในกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนกันยายน 2555 ซึ่งผมได้รับเชิญไปประชุมในฐานะที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งสภาคองเกรสให้เป็นผู้ออกมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สิน และบรรยากาศการขี่จักรยานในยุโรป ซึ่งผมได้รับเชิญไปประชุมต่างๆ เป็นระยะๆ รวมทั้งเคยศึกษา ณ นครลูแวง ประเทศเบลเยียม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529
 
 
หมายเหตุ: AREA แถลง ฉบับที่ 31/2556: วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลอาญา

Posted: 28 Mar 2013 03:13 AM PDT

"องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่ในกฎหมายแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล"

คดีของเอกชัย (สงวนนามสกุล) จำเลยซึ่งถูกฟ้องจากกรณีขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งผลิดตโดยสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ 2 ฉบับ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยมีผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112

อัยการฟ้องแกนนำ พธม. เพิ่ม 11 รายคดีปิดดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

Posted: 28 Mar 2013 03:02 AM PDT

อัยการฟ้อง 11 แกนนำพันธมิตรฯ พ่วง 'ศรัณยู วงษ์กระจ่าง' โดยนัดสอบจำเลย 29 เม.ย. ขณะที่คดีนี้มีการฟ้องจำเลยแล้ว 114 ราย รวม 'สนธิ - จำลอง - พิภพ - สมเกียรติ - สมศักดิ์'

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มติชนออนไลน์  รายงานว่า อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เพิ่มอีก จำนวน 11 คน ประกอบด้วย นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง แกนนำพันธมิตรฯ รุ่นที่ 2 และดารานักแสดง นายสุรวิชช์ วีรวรรณ ผอ.สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์  นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ นายเติมศักดิ์ จารุปราณ น.ส.วรรษมน ช่างปรีชา นายสุนันท์ ศรีจันทรา น.ส.กมลพร วรกุล และนายชัชวาล ชาติสุทธิชัย ในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯ

ทั้งนี้นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง จำเลยคดีนี้ ร่วมกับจำเลยที่ 1-30 และพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง แบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะต่างๆ กัน ทั้งเป็นกลุ่มปลุกระดม ประกาศ ปราศรัย ชักชวน ปลุกเร้า และ จูงใจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ดัดแปลงเป็นเวลาปราศรัย และรถชนิดต่างๆ อีกจำนวนหลายคัน เป็นยานพาหนะนำพากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯดังกล่าว ไปชุมนุมที่อาคารวีไอพีของท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนอีกกลุ่มเดินทางด้วยยานพาหนะไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ วันที่ 24 พ.ย. - 3 ธ.ค.2551 โดยมีการถ่ายทอดสดแพร่ภาพและเสียงออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องเอเอสทีวี (ASTV) เพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯ และบุคคลทั่วไป ที่ถูกปลุกระดม ชักชวน รู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน

โดยอัยการขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

โดยศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.1204/2556 และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น. ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของพวกจำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด วงเงินคนละ 6 แสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีนี้มีทั้งหมด 114 คน ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายชุดแรก รวม 31 คน ประกอบด้วย 1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3. นาย พิธพ ธงไชย 4.นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข 5.นายสุริยใส กตะศิลา 6.นาย สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ 7.นาย ศิริชัย ไม้งาม 8. นายสำราญ รอดเพชร 9.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10.นาย สาวิทย์ แก้วหวาน 11.พ.ต.อ. สันธนะ ประยูรรัตน์ 12. นายชนะ ผาสุกสกุล 13. นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมร อมรรัตนานนท์ 14. นาย ประพันธ์ คูณมี 15.นาย เทิด ภูมิใจดี 16.น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก 17.นายพิชิต ไชยมงคล 18.นายบรรจง นะแส 19.นาย สุมิตร นวลมณี 20.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ 21.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 22.นายอธิวัฒน์ บุญชาติ 23.นายจำรูญ ณ ระนอง 24.นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร 25.นายไทกร พลสุวรรณ 26.นายสุชาติ ศรีสังข์ 27.นาย อำนาจ พละมี 28.พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ 29.นาย เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา 30. นายกิตติชัย หรือ จอร์ส ใสสะอาด และ 31.บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด

และชุดที่สอง อีก จำนวน 14 คน ประกอบด้วย นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายปราโมทย์ หอยมุกข์,นายสุทิน วรรณบวร,นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ , นางกรรณิกา วิชชุลตา น.ส.ต้นฝัน แสงอาทิตย์, พล.ร.ต.มินท์ กลกิจกำจร , นายสถาวร ศรีอำนวย,นายคมกฤษณ์ พงษ์สัมพันธ์ ,นายอนุชา ประธาน ,นายสมัชชา วิเชียร , นายสุพัฒน์ นิลบุตร , นายประทีป ขจัดพาล และ นายประมวล หะหมาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจากผู้ต้องขัง: ขอเป็นหุ้นส่วนสันติภาพ นิรโทษกรรมผู้ถูกคดีความมั่นคง

Posted: 28 Mar 2013 02:04 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ เผยข้อเสนอจากผู้ต้องคดีความมั่นคง ขอมีส่วนร่วมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ขอให้นิรโทษกรรม ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม เยียวยาตามหลักศาสนา ใช้กฎหมายชารีอะห์ในพื้นที่

วันที่ 27 มีนาคม 2556 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มด้วยใจ เผยแพร่รายงานข้อเสนอสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคงชายแดนใต้ เพื่อหนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยรายงานดังกล่าวได้ยื่นเสนอต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ผู้บัญชาการเรือนจำและสถาบันพระปกเกล้า เพื่อพิจารณาให้กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ผนวกเสียงของคนกลุ่มต่างๆ ให้ครอบคลุม เพื่อให้เป็นวาระของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนสองกลุ่มตกลงกันเพียงอย่างเดียว

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า ข้อเสนอจากผู้ต้องขังดังกล่าวมี 2 ประเด็น คือ เรื่องกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยา

สำหรับประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงต้องการให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยข้อเสนอส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า การไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เป็นต้น
ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น พวกเขาต้องการให้มีกระบวนการเยียวยาที่ไม่ขัดหลักศาสนาอิสลาม ต้องการให้มีการใช้กฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) มาบังคับใช้ในพื้นที่ และขอให้นิรโทษกรรมพวกเขาด้วยในฐานะที่พวกเขาเป็นนักโทษทางการเมือง

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า กลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ เข้าใจว่าพวกเขาเองถูกมองว่าเป็นทหารของฝ่ายขบวนการที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ รัฐมองว่าเป็นผู้คิดต่าง มีพฤติกรรมต่อต้านรัฐและถูกตัดสินว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง ซึ่งรัฐเองก็อธิบายมาตลอดว่า การจะยุติความขัดแย้งรุนแรงนี้ได้ ต้องคุยกับผู้ใช้ความรุนแรง พวกเขาเป็นตัวแทนเสียงของคนกลุ่มนั้นที่ควรจะรับฟัง ซึ่งมุมมองดังกล่าว เป็นมุมมองทางการเมือง ดังนั้นพวกเขาก็คือนักโทษทางการเมือง
ดังนั้น ในกระบวนการเจรจาก็ต้องมีเรื่องของการนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงด้วย ทั้งนี้ เข้าใจกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ว่ายังไม่ใช่การเจรจา แต่อยู่ในขั้นของกระบวนการพูดคุย อย่างไรก็ตามเสียงของพวกเขาเหล่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพูดคุยก็ต้องให้ความสำคัญด้วย และสังคมเองก็ต้องรับฟัง

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นผลจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 4 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาระหว่างวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2556 ภายใต้โครงการเปิดพื้นที่การพูดคุกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา มีผู้ต้องขังเข้าร่วมกิจกรรม 177 คน โดยมีนายเมธัส อนุวัตรอุดม จากสถาบันพระปกเกล้าและนางสาวธีรดา ศุภะพงษ์ จาก Center for Humanitarian Dialogue (HDC) เป็นวิทยากร และมีการทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อดึงข้อเสนอจากผู้ต้องขัง จนได้ข้อสรุปและจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้กลุ่มด้วยใจและวิทยากร ให้จัดกิจกรรมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่ไว้วางใจในกระบวนการสันติภาพ จึงอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในครั้งนี้ด้วย
"พวกเขาอยากได้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าบ้านเมืองของพวกเขาในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร"

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า ตัวเองเป็นญาติกับของอดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกศาลพิพากษายกฟ้อง ได้ผันตัวเองมาทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ทั้งจากการเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้ต้องขัง และให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและการการประกันตัวตั้งแต่ ปี พ.ศ.2550

"ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงความต้องการลึกๆ ของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จึงต้องทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความไว้วางใจ ทั้งกับตัวผู้ต้องขังเองและครอบครัว จนกระทั่งสามารถดึงความต้องการที่อยู่ในใจลึกๆ ของพวกเขาออกมาได้" นางสาวอัญชนา
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Spamhaus ถูก DDoS อย่างหนัก เกือบทำระบบเน็ตยุโรปล่ม

Posted: 28 Mar 2013 01:07 AM PDT

Spamhaus ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลบัญชีดำหมายเลขไอพี สำหรับใช้ในการกรองอีเมลขยะที่มีผู้ใช้บริการสูงมากของโลกรายหนึ่งได้ถูก กระหน่ำโจมตีอย่างหนักด้วย DDoS เกือบทำอินเทอร์เน็ตยุโรปล่ม

เว็บไซต์บล็อกนัน รายงานว่า เมื่อประมาณวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา Spamhaus ซึ่งเป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลบัญชีดำหมายเลขไอพี (IP blacklist) สำหรับใช้ในการกรองอีเมลขยะที่มีผู้ใช้บริการสูงมากของโลกรายหนึ่งได้ถูกกระหน่ำโจมตีอย่างหนักมาเรื่อยๆ จนต้องย้ายไปใช้บริการ CloudFlare ในวันที่ 19 มีนาคมเพื่อช่วยลดภาระของเครือข่ายที่ตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์หลักของระบบ Spamhaus ลง

หลังจากย้ายระบบไปได้หนึ่งวัน ทาง CloudFlare ก็ได้ออกรายงานฉบับแรกถึงการโจมตีที่เข้าไปหา Spamhaus ว่าเป็นความพยายามในการทำให้ระบบฐานข้อมูลบัญชีดำหมายเลขไอพีที่ส่งอีเมลขยะใช้การไม่ได้ เพื่อลดความเข้มงวดของระบบกรองอีเมลขยะทั่วโลกลง ซึ่งในการโจมตีครั้งนั้นมีปริมาณการโจมตีเบื้องต้นประมาณ 10Gbps และไปแตะระดับถึง 75Gbps ภายในวันเดียวกัน โดยต้นทางของการโจมตีส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เทคนิคที่เรียกว่า DNS Amplification Attack ไปยังเครื่องที่ให้บริการ DNS แบบเปิดจำนวนมาก ซึ่งด้วยโครงสร้างการทำงานของ CloudFlare ทำให้การโจมตีครั้งแรกนี้ล้มเหลวไป (เพื่อให้เห็นภาพ: ความเร็ว 75Gbps ทำให้คุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพยนตร์บลูเรย์ขนาด 50GB ได้ภายในเวลา 5 วินาทีนิดๆ หรือสามารถดาวน์โหลดไฟล์ดีวีดีปกติได้ภายในเวลา 0.5 วินาที)

จากนั้นในวันที่ 22 มีนาคมก็ได้มีการโจมตีเข้ามาอีกครั้งที่ระดับ 120Gbps เข้าไปยังเครือข่ายของ CloudFlare แต่เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้มีการเบนเป้าหมายไปโจมตียังผู้ให้บริการที่ CloudFlare เชื่อมต่ออยู่บางส่วนแทน โดยมีรายงานจากทางผู้ให้บริการเครือข่ายระดับ Tier 1 ถึงการโจมตีกว่า 300Gbps จนทำให้เครือข่ายในบางพื้นที่แถบยุโรปใช้งานได้ช้าลงเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ การโจมตีดังกล่าวยังทำให้ London Internet Exchange (LINX) ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเครือข่ายของลอนดอนล่มไปชั่วโมงกว่าๆ ในวันที่ 23 มี.ค. อีกด้วย

ทั้งนี้ทางทีมวิศวกรเครือข่ายของ CloudFlare ได้ร่วมกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายเหล่านี้ในการปรับปรุงความปลอดภัยเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อให้ทนทานต่อการโจมตีรูปแบบนี้ไว้แล้ว และนอกจากนี้ยังได้แนะนำว่า สำหรับท่านที่ติดตั้ง DNS server ไว้ อย่าเปิด Recursion เพื่อไม่ให้เครื่องของท่านถูกใช้ในการการโจมตีเครื่องคนอื่นได้

อนึ่ง สำหรับขนาดการโจมตีระดับ 300Gbps ที่เกิดขึ้นนี้ สามารถตัดขาดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของประเทศไทยออกจากโลกภายนอกได้ทันที หรือหากเป็นการโจมตีภายในประเทศด้วยกันก็สามารถล่มระบบของผู้ให้บริการรายใหญ่รายใดก็ได้ทันทีเช่นกัน

 


หมายเหตุ: Distributed Denial of Service (DDoS) คือ ลักษณะหรือวิธีการหนึ่งของการโจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์เป้าหมายหรือระบบเป้าหมายบนอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ระบบเป้าหมายปฏิเสธหรือหยุดการให้บริการ การโจมตีจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันและมีเป้าหมายเดียวกัน กระแสข้อมูลที่ไหลเข้ามาในปริมาณมหาศาลทำให้ระบบเป้าหมายต้องทำงานหนักขึ้นและช้าลงเรื่อยๆ เมื่อเกินกว่าระดับที่รับได้ก็จะหยุดการทำงาน

 

ที่มา:
Spamhaus ถูก DDoS 300Gbps ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เกือบทำอินเตอร์เน็ตยุโรปล่ม, http://www.blognone.com/node/42551
CloudFlare Blog ผ่าน Fox News

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 2 ปี-รอลงอาญา คดีนักกิจกรรมปีนสภา ต้าน กม.สนช. ฐานชุมนุมมั่วสุม-บุกรุก-ใช้กำลังประทุษร้าย

Posted: 27 Mar 2013 09:26 PM PDT

<--break- />สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ซึ่งมีประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดการออกกฎหมายแบบเร่งด่วน โดยมีประชาชนกว่าร้อยคนปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งหน้าห้องประชุม ต่อมา เอ็นจีโอ 10 คนถูกฟ้องฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย


 

 

ล่าสุดวันนี้ (28 มี.ค.56) ศาลอาญา รัชดา ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุม บุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหากบฏ ล้มล้างขัดขืนไม่ให้มีการออกกฎหมายนั้นให้ยกฟ้อง ตัดสินให้ลงโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 ซึ่งถือเป็นผู้นำการชุมนุม จำคุก 2 ปี ปรับ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 9, 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท
 
แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุให้ลดโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและการกระทำการครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้รอการลงโทษ 2 ปี
 
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
 
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 10 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยระบุว่า ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็นโดยสันติวิธี แม้ต่อมาจะมีการปีนรั้วอาคารรัฐสภาและเข้าไปชุมนุมหน้าห้องประชุมสภา สนช.โดยจำเลยที่ 1-6, 8-10 ร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวด้วย แต่ไม่ได้มีพยายามระบุชัดว่าจำเลยยุยง สั่งการให้ผู้ชุมปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา และจากหลักฐานวีซีดีไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ว่ามีการปราศรัยดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 10 เตรียมบันไดและเหล็กครอบกันเหล็กแหลมเพื่อปีนรั้วรัฐสภา แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า และเป็นการตัดสินใจของผู้ชุมนุม อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ไม่ได้ปีนเข้าไปในรัฐสภา
 
ส่วนข้อกล่าวหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควร และใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายนั้น ศาลพิจารณาว่า แม้การชุมนุมจะเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดให้มีการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยการใช้สิทธิเสรีภาพต้องสมดุลกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
 
การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การที่ผู้ชุมนุมใช้โซ่ล่ามประตู มีผู้ชุมนุมกว่า 100 คน ปีนบันได้เข้ามาบริเวณอาคารรัฐสภา และมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาเพื่อเข้าไปหน้าห้องประชุม นั้นถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอยู่แล้วในตัว อีกทั้งการเข้าออกรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการต้องขออนุญาต ไม่ใช่สถานที่ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ การเข้าเป็นในรัฐสภาของผู้ชุมนุมจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองพื้นที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป เพราะเป็นการใช้สิทธิละเมิดผู้อื่นเกินสมควร
 
กรณีนี้ที่มีการเบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อยับยั้งการออกกฎหมาย 11 ฉบับของ สนช.ซึ่งได้พยายามคัดค้านในทุกวิถีทางแล้วไม่ประสบผล ศาลเห็นว่า การพิจารณากฎหมายย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และผู้ชุมนุมมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ สื่อมวลชน และ สนช.ให้รับทราบ แต่จะเห็นด้วย หรือทำตามหรือไม่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งผู้ชุมนุมได้แสดงออกแล้วไม่จำเป็นต้องปีนรั้วรัฐสภา
 
การปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อให้ สนช.ทำตามความเห็นนั้นเป็นการใช้สิทธิเกินสมควร ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การทำให้รัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่ใช่ใช้กำลังโดยพลการ  
 
ส่วนประเด็นที่ว่า สนช.ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ และมีส่วนน้อยที่มาจากภาคประชาชนจะไม่ใส่ใจในการพิจารณาออกกฎหมาย และพิจารณาผ่านกฎหมายโดยไม่ครบองค์ประชุม ศาลพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญให้ สนช.ทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และประชุมสภานัดแรก การพิจารณาว่า สนช. มีการพิจารณาผ่านกฎหมายโดยครบองค์ประชุมหรือไม่นั้นศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 ต้องเข้าไปในรัฐสภา
 
ศาลตัดสินให้จำเลยทั้ง 10 มีความผิดตาม มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 มีความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา 365
 
แฟ้มภาพ 12 ธ.ค.50
 
จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยที่ 1 กล่าวหลังทราบคำตัดสินว่า เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ทุกคนทำไปโดยจิตสำนึกที่ดี ส่วนตัวคิดว่าจะมีการอุทธรณ์แน่นอน แต่คงต้องปรึกษาหารือกันก่อน ทั้งนี้ มีความกังวลต่อผลของคำพิพากษา ซึ่งมีการตีความเรื่องผลักดันกันไปมาบริเวณประตูว่าเป็นเหตุประทุษร้าย เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วโลก การผลักดันกันไปมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และจากการชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลย์ในลักษณะเดียวกันก็มีการตัดสินแล้วว่าผู้ชุมนุมไม่มีความผิด จึงเป็นห่วงว่า คำว่า "การใช้กำลังประทุษร้าย" จะถูกขยายความและเอามาใช้กับผู้ชุมนุมโดยทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วในระดับโลก การผลักดันกันไปมาอยู่ในระดับการชุมนุมโดยสันติวิธี
 
อนิรุทธ์ ขาวสนิท จำเลยที่ 5 กล่าวว่า พอใจในผลการตัดสินคดีระดับหนึ่ง เพราะมีการระบุโทษหนัก-เบา โดยดูตามสถานการณ์และอำนาจหน้าที่ ส่วนจะเป็นบทเรียนให้การชุมนุมครั้งต่อไปรอบคอบมากขึ้นหรือไม่นั้นกำหนดไม่ได้ เพราะการชุมนุมขึ้นอยู่กับสถานการณ์
 
อนิรุทธ์ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้ ทุกคนมาชุมนุมเพื่อความถูกต้อง เป็นไปโดยสมัครใจ เพราะกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจาก สนช. มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง ส่วนตัวเป็นเกษตรกร ซึ่งต่อสู้เรื่องทรัพยากร การออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในขณะนั้น ทำให้ห่วงว่า อาจมีผลกระทบต่อชาวนาจนต้องซื้อน้ำมาทำนา และยังมีกฎหมายที่น่ากลัวอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ ด้วย
 
ไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่ 8 กล่าวว่า ผลของคดีนี้ เป็นการต่อสู้ของแนวความคิดสองแนวความคิดคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันไม่ชอบ กับแนวความคิดเรื่องความมั่นคง ซึ่งศาลยังให้น้ำหนักกับเรื่องความมั่นคงมากกว่า มองเรื่องความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก
 
ต่อการสู้คดีครั้งนี้ ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนตัวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี คิดว่าการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ต้องมีการสูญเสียสิทธิเสรีภาพบางอย่างอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการพัฒนาสิทธิมนุษยชน เราก็ได้มีการชั่งน้ำหนัก ไม่ได้ต้องการปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม
 
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผลของคดียังไม่มีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด คิดว่าคงมีการอุทธรณ์แน่นอน แต่ต้องดูรายละเอียดก่อน
 
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย
 
จำเลยที่ 1 จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น