โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชุมไทใหญ่-คะเรนนีเพื่อสันติภาพ เสนอใช้การเมืองแก้ปัญหา และ ร่าง รธน.ใหม่

Posted: 25 Mar 2013 02:11 PM PDT

จัดประชุมประชาชนจากรัฐฉาน-รัฐคะเรนนีว่าด้วยสันติภาพพม่า ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่าสันติภาพจะเกิดต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง และมีผู้ร่วมประชุมเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนรัฐธรรมนูญปี 2008

การประชุมเพื่อสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ล่าเสี้ยว เมืองทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งจัดเมื่อ 20-22 มีนาคมที่ผ่านมานั้น มีพรรคการเมืองและกลุ่มติดอาวุธไทใหญ่และคะเรนนี รวมทั้งหมด 25 กลุ่มเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีชาวพื้นเมืองในรัฐฉานอย่างชาวปะโอ ตะนุ ลาหู่ ดาระอั้ง หรือปะหล่อง ชาวไทใหญ่ โกก้างเป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 180 คน ซึ่งรวมถึงนักการทูตและนักสังเกตการณ์จากต่างชาติเข้าร่วมด้วย

นายโจ ฟิชเชอร์ เจ้าหน้าที่จากสถานทูตอังกฤษกล่าวว่า ทราบดีว่าการปฏิรูปประเทศในพม่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องประสบปัญหาความยากลำบากหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม เขากลับรู้สึกชื่นชมที่เกิดการประชุมในลักษณะนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันมาก่อน โดยกล่าว ทางอังกฤษพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับทางทูตอินโดนีเซียก็กล่าวว่า อินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติ และประสบปัญหาเช่นเดียวกับพม่า ดังนั้นอินโดนีเซียจึงผ่านประสบการณ์ปัญหาหลายอย่าง โดยกล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการที่พม่ากำลังทำอยู่ในขณะนี้ อาจจะประสบปัญหาอยู่บ้าง โดยหากอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือในเรื่องไหนก็พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที

ขณะที่การประชุมในวันแรก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แทนรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่รัฐบาาลทหารพม่าเป็นผู้ร่างขึ้น โดยผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ง่ายกว่าที่จะต้องไปตามแก้รัฐธรรมนูญปี 2008

ทางด้านอูอ่องมิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพม่าให้เป็นผู้นำทีมเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ และได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้กล่าวเรียกร้องให้ชนกลุ่มน้อยไม่ควรคิดถึงการเข้าป่าและก้าวถอยหลัง แต่แนะว่าทำสิ่งไหนได้ก็ทำไป จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น อูอ่องมินกล่าวว่าต้องใช้เวลาในการแก้ไข

ด้านผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการสู่สันติภาพจะยั่งยืนได้นั้นจะต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง ไม่ใช่การใช้การทหารเข้าแก้ปัญหาการเมืองอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะเหมือนการรักษาแผลไม่ถูกที่ และหากใช้การทหารแก้ปัญหาการเมืองต่อไป ยิ่งจะทำให่้ไม่มีความเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ขณะที่มีเยาวชนคนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวในที่ประชุมว่า พม่าได้ประธานาธิบดีคนใหม่และเข้าสู่การปฏิรูปและประชาธิปไตย ในขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งมีคำสั่งให้กองทัพพม่ายุติโจมตีชนกลุ่มน้อย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทหารยังคงเดินหน้าโจมตีชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคุกคามการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพม่า

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาวบอยผิวดำ ไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์

Posted: 25 Mar 2013 11:28 AM PDT

เมื่อพูดถึงคาวบอย เราอาจจะคุ้นภาพมือปืนควบม้าที่เป็นคนผิวขาวมากกว่าคาวบอยที่เป็นคนผิวดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วคาวบอยผิวดำไม่ได้แค่ในภาพยนตร์ 'จังโก้ ยอดคนแดนเถื่อน' เท่านั้น ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ คาวบอยคนผิวดำก็มีบทบาทสำคัญ ทั้งในบทผู้พิทักษ์กฏหมายและคนงานที่ทำงานหนักกว่าคาวบอยผิวขาว

ภาพจากhttp://www.flickr.com/photos/wolfgangkuhnle/8438866481/

เรื่อง 'จังโก้ ยอดคนแดนเถื่อน' หรือ Django Unchained ภาพยนตร์แนวคาวบอยตะวันตกผลงานกำกับของเควนติน ทารันติโน เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของภาพยนตร์ฮอลลิวูดที่มีคนผิวดำรับบทคาวบอย ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นคนผิวขาวรับบทคาวบอยมากกว่า แต่ในรายงานล่าสุดของสำนักข่าว BBC ก็เปิดเผยว่า ในความเป็นจริงแล้วมีคาวบอยหลายคนที่เป็นคนผิวดำ และมีบางคนที่เอาถูกนำเรื่องราวมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยให้คนผิวขาวแสดงอีกด้วย

เมื่อพูดถึงคาวบอย หลายคนคงนึกถึงภาพของคนพกปืน สวมบูธ และเป็นชายผิวขาวอย่าง จอห์น เวย์น หรือคลิน อีสท์วู้ด แต่จริงๆ แล้วดินแดนดาวบอยในภาพยนตร์ฮอลลิวูดเป็นสิ่งที่ถูกดัดแปลงให้ต่างจากความเป็นจริงในแบบฉบับของคนผิวขาว แต่มีความเป็นไปได้ว่ามีคาวบอยที่เป็นคนผิวดำอยู่มากถึงหนึ่งในสี่

จิม ออสติน นักธุรกิจวัย 45 ปี ก็เหมือนหลายๆ คนที่ไม่เคยได้ยินเรื่องของคนผิวดำในแดนคาวบอยมาก่อน แต่หลังจากเขาค้นพบเรื่องนี้ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขากับภรรยา กลอเรีย ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกพหุวัฒนธรรมตะวันตก (National Multicultural Western Heritage Museum) ขึ้นที่ ฟอร์ดเวิร์ธ รัฐเท็กซัส โดยพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงความเคารพต่อคาวบอยอย่างบิลล์ พิกเกทท์ แชมป์เปี้ยนนักแสดงขี่ม้าต้อนปศุสัตว์ผู้ที่คิดค้นเทคนิคที่เรียกว่า 'บูลด็อกกิ้ง' คือเทคนิคที่ผู้ขี่ม้าต้อนปศุสัตว์จะกระโดดลงจากม้าเพื่อควบคุมให้สัตว์ที่ต้อนล้มลงกับพื้น

"เด็กๆ ที่เรียนประวัติศาสตร์จากในโรงเรียนไม่ได้รับรู้เรื่องราวที่แท้จริงเกี่ยวกับแดนตะวันตก" จิม ออสติน กล่าว "พนันเลยว่า 9 ใน 10 ของคนในประเทศ (สหรัฐฯ) คิดว่าคาวบอยเป็นคนขาวทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ผมเคยคิด"

 

เบส รีฟฟ์ คาวบอยผิวดำผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่อง 'หน้ากากพิฆาตอธรรม'  (The Lone Ranger) ภาพจาก Wikipedia

ไมค์ เซียเลส ศาตราจารย์เกษียณอายุด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกุสต้าสเตท เปิดเผยว่าคาวบอยที่เป็นคนผิวดำมักจะได้งานเป็นคนฝึกม้าที่ไม่ได้ถูกนำมาขี่บ่อยนัก นอกจากนี้แล้วยังเป็นคนทำอาหารให้รถเสบียงเกวียน (chuck wagon) และมีความสามารถด้านดนตรี เป็นคนคอยทำให้ปศุสัตว์อยู่ในความสงบ

นักศึกษาของ ไมค์ เซียเลส มักจะเรียกเขาว่าคาวบอยไมค์ เพราะเขาชอบแต่งตัวสวมหมวกแบบคาวบอยมาสอนหนังสือ ไมค์เคยทำการวิจัยเรื่องคาวบอยโดยได้สัมภาษณ์อดีตทาสในยุค 1930s ที่ได้กล่าวว่า คาวบอยที่เป็นคนผิวดำได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า 'ความเท่าเทียมในทุ่งปศุสัตว์'

"ในฐานะที่คุณเป็นคาวบอย คุณจะมีอิสระในระดับหนึ่ง" ไมค์กล่าว "บางครั้งก็ไม่ค่อยมีหัวหน้างานคอยควบคุม เพราะพวกเขาต้องคอยอยู่บนหลังม้าและบางครั้งก็หายไปหลายวัน"

แต่อย่างไรก็ตามชีวิตความเป็นอยู่ของคาวบอยคนผิวดำก็ลำบากกว่าคนผิวขาว

วินเซนต์ จาคอบ อายุ 80 ปี อดีตโคบาลนักแสดงขี่ม้าจับปศุสัตว์แถวฮุสตัน รัฐเท็กซัส เล่าว่าก่อนหน้านี้เขาก็ประสบกับเรื่องการเหยียดผิวมาก่อน โดยมีการแบ่งแยกนักแสดงขี่ม้าเป็นคนผิวขาวกับผิวดำ และจะยอมให้คนผิวดำออกแสดงก็ต่อเมื่อให้คนผิวขาวออกไปในสนามทั้งหมดแล้วเท่านั้น

ทางด้าน คลีฟแลนด์ วอลเตอร์ส คาวบอยผิวดำอายุ 88 ปี ที่เมืองลิเบอร์ตี้ รัฐเท็กซัส บอกว่าการเป็นคาวบอยผิวดำถือเป็นงานหนัก

"ผมไม่ชอบเลยเวลานึกถึงการเหยียดผิวที่ผมได้พบเจอมา พอถึงเวลาต้องตีตราปศุสัตว์ พวกเขาจะต้องเอาวัว 20 ตัวเข้าคอก แล้วผมต้องเป็นคนไปจับพวกมัน ยื้อพวกมันไว้ คนตีตราเป็นคนผิวขาว พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนผิวดำจะเป็นคนทำงานหนักๆ สกปรกๆ ทั้งหมด" คลิฟแลนด์กล่าว

ทั้งคลีฟแลนด์และวินเซนต์เติบโตมาในยุค 1940s พวกเขาดูภาพยนตร์แนวเวสเทิร์นมาหลายเรื่องแต่ก็ไม่เคยเห็นนักแสดงหลักที่เป็นคนผิวดำ

BBC เปิดเผยอีกว่าภาพยนตร์บางเรื่องยังได้นำเรื่องจริงของคาวบอยผิวดำไปเป็นวัตถุดิบสร้างภาพยนตร์ที่มีคนแสดงเป็นคาวบอยผิวขาว เช่นเรื่อง 'หน้ากากพิฆาตอธรรม' (The Lone Ranger) เรื่องราวของพระเอกสวมหน้ากากมีผู้ช่วยเป็นชาวพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งน่าจะอ้างอิงมาจากเรื่องจริงของ เบส รีฟฟ์ ผู้พิทักษ์กฏหมายผิวดำ

ในภาพยนตร์ปี 1956 เรื่อง The Searchers ซึ่งสร้างจากนิยายของ อลัน เลอ เมย์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของ บริท จอห์นสัน คาวบอยผิวดำที่ลูกเมียของเขาถูกจับโดยกลุ่มคอมานเช่ในปี 1865 ในภาพยนตร์พระเอกจอห์น เวย์น รับบทเป็นทหารผ่านศึกสงครามกลางเมืองผู้ที่ออกตามหาหลานสาวที่ถูกคอมานเช่จับตัวไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีตัวละครผิวดำปรากฏตัวมากขึ้นในภาพยนตร์คาวบอยเช่นเรื่อง Posse ปี 1993, ไถ่บาปด้วยบุญปืน (Unforgiven) ปี 1992 และ จังโก้ ยอดคนแดนเถื่อน ปี 2012

ดูเหมือนว่าฮอลลิวูดจะเริ่มให้ความสำคัญกับคาวบอยผิวดำมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสมาชิกสมาคมขี่ม้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ทั้ง 200 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคาวบอยและคาวเกิร์ลในยุคสมัยใหม่ ก็ได้ให้การยกย่องวีรกรรมของคาวบอยผิวดำด้วยการจัดการเดินทางขี่ม้า 100 ไมล์ ในแบบลากเกวียนตะวันตกเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งมักจะมีการย้อนรอยไปตามเส้นทางที่อดีตทาสผิวดำเคยฝากรอยไว้

"ถ้าอะไรบางอย่างไม่ได้อยู่ในจินตนาการของคนทั่วไป มันก็จะไม่มีอยู่จริง" ไมค์ เซียเลสกล่าว

มีคำถามว่าเหตุใดฮอลลิวูดถึงเลือกนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติในแดนตะวันตกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

ไมค์ตอบว่า แดนตะวันตกมักจะถูกมองว่าเป็นจุดกำเนิดของอเมริกา ซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากฝั่งยุโรป

"แดนตะวันตกเป็นถิ่นที่คนผิวขาวสามารถแสดงความกล้าหาญออกมาได้ แต่ถ้าหากคนผิวดำสามารถเป็นวีรบุรุษและมีคุณสมบัติที่คุณมองว่าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมได้ แล้วคุณจะสามารถทำให้คนดำเป็นเหมือนทาสหรือคนที่ไม่ใช่มนุษย์ได้อย่างไร" ไมค์กล่าว


เรียบเรียงจาก

America's forgotten black cowboys, BBC, 22-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองการบริหารการศึกษาและเศรษฐกิจบริการสหราชอาณาจักร แล้วปรับยุทธศาสตร์ไทย

Posted: 25 Mar 2013 11:07 AM PDT


 


หากท่านใดคาดหวังว่าการมาเรียนต่อยังประเทศสหราชอาณาจักรจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก และมีเพื่อนชาวตะวันตกแล้วละก็ อาจจะพบกับความผิดหวังเอาได้ง่ายๆ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนในประเทศสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยคนจากภูมิภาคเอเชียที่อพยพเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นเวลานาน หรือนักเรียนต่างชาติที่มาจากกลุ่มประเทศในเอเชียจำนวนมหาศาล

นักเรียนชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมากที่สุด โดยบางสาขาวิชาอาจมีมากกว่านักเรียนชาวอังกฤษเสียอีก เช่น โรงเรียนสอนธุรกิจ นอกจากนี้ เป็นชาวจีนไต้หวัน จีนฮ่องกง จีนสิงคโปร์ จีนมาเลย์ รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสะท้อนสัดส่วนจำนวนประชากรเชื้อสายจีนในโลกได้ไม่น้อย

ส่วนที่มีมากอีกกลุ่มคือนักเรียนเชื้อสายอินเดีย (รวมไปถึงอาจารย์ชาวอินเดีย) ซึ่งก็เข้าใจได้ง่ายในแง่ประวัติศาสตร์อาณานิคมของสองประเทศ  เช่นเดียวกับกลุ่มชาวอาหรับที่มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะในคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์  ส่วนที่เหลือก็จะเป็นนักเรียนจากอัฟริกา  แต่ที่น่าสนใจ คือ นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวยุโรปที่สามารถชิงทุนเพื่อมาเรียนในกลุ่มประเทศยุโรปได้

ประเด็นสำคัญและเป็นข้อถกเถียงทางสังคมอังกฤษ คือ รัฐบาล และประชาชนเจ้าบ้านรู้สึกอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้ รวมถึงการเข้ามาทำงานของกลุ่มผู้อพยพที่มาจากต่างประเทศ และการกำหนดนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดออกเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ และมีพรรคซึ่งมีนโยบายกีดกันผู้อพยพ ขึ้นมาขายแผนการทวงคืนเอกราชและงานคืนจากแรงงานต่างด้าว แต่เอาเข้าจริงๆ คนที่ทำงานคลุกคลีกับนักเรียนต่างชาติหรือเป็นนายจ้างของแรงงานต่างด้าวก็รู้อยู่แก่ใจว่าพลังของคนต่างด้าวเหล่านี้คือแรงผลักดันเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง

การจัดการศึกษาของสหราชอาณาจักรเมื่อปอกเปลือกดูกันอย่างจริงจังว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อประเทศเขา เราจะพบว่าเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดให้คนมาใช้ชีวิตในช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งต้องกิน ดื่ม อยู่อาศัย ท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อของต่างๆ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ที่หลากหลายและต่อเนื่องมาก เพราะอย่างน้อยๆ ก็ต้องใช้เวลากันเป็นรอบปี ตัวอย่างคือ การซื้อเครื่องแต่งกายในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเปียกแปรปรวน รวมถึงมีความชันความลาดมากนี้ ต้องหาเครื่องแต่งกายรวมไปถึงอุปกรณ์ห่อหุ้มร่างกายให้เหมาะกับสถานการณ์ ต้องซื้อกันแทบจะเปลี่ยนตามแฟชั่นเลยทีเดียว เสื้อซูเปอร์ดราย และรองเท้าดอคเตอร์มาร์ติน มีประโยชน์อย่างไรก็มารู้กันตอนนี้  และเป็นการซึมซับวัฒนธรรมบริโภคนิยมด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจบริการต่อเนื่องจากภาคการศึกษา เช่น การจัดการหอพัก อาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง โทรคมนาคม ฯลฯ ก็มารองรับแรงงานที่ต้องสูญเสียงานจากการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่อุตสาหกรรมหนักต้องปิดตัวลง  โดยมีภาคบริการมารองรับแทนโดยอาจจะเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกัน หรือที่เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงมากกว่าคือ สตรี และเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านงานบริการหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือภาษาต่างชาติ จะมีโอกาสได้งานมากขึ้น  ซึ่งก็เป็นที่มาของนโยบายพรรคการเมืองที่จะไม่ให้สวัสดิการแบบกินเปล่าอีก แต่จะให้คนรุ่นใหม่มาทำสัญญาว่าจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อหางานทำ จึงจะได้งาน เพราะแต่เดิมมีกรณีการพยายามหาคู่และตั้งครรภ์มีบุตรเพื่อจะได้รับสวัสดิการต่างๆ รวมถึงที่อยู่อาศัย โดยไม่ต้องทำงาน

ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงต้องพยายามทุกวิถีทางในการดึงดูดคนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของตนให้ได้  ภาพลักษณ์ที่จะดึงดูดผู้คนที่ไม่เคยมาทดลองเรียนดูก่อน ก็คือ การเน้นสร้างอันดับและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยโดยการผลิตผลงานวิชาการรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ หนังสือ ตำรา บทความ วิจัย ฯลฯ เพื่อยึดพื้นที่แผงหนังสือ ห้องสมุด และไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลก  ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจัดระบบการทำงานภายในให้อาจารย์และนักวิจัยผลิตผลงานวิชาการ มากกว่าการสอน  (ภาระชั่วโมงสอนที่น้อยมาก และเวลาที่ให้นักศึกษาปรึกษาก็จำกัดอีกด้วย)

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยยังมีอีกสถานะเมื่อมองจากมุมยุทธศาสตร์การแข่งขันระดับโลก เนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในฐานะสายลับ ที่สะสมข้อมูล และดึงดูดคนเก่งได้เป็นจำนวนมาก  กล่าวคือ มหาวิทยาลัยสามารถส่งอาจารย์ นักวิจัย ไปทำดำเนินโครงการวิจัยในต่างแดนหรือกับคนต่างชาติเพื่อให้ได้ข้อมูลมาในนามของการวิจัย และรวมรวมข้อมูลต่างๆ กลับมา  นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนหรือการรับนักศึกษา นักวิจัยแลกเปลี่ยนเข้ามาผลิตผลงานวิชาการหรือคลุกคลีกันจนสามารถดูดข้อมูลมารวมไว้ในฐานข้อมูลทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

ปัจจุบันนักศึกษาทั่วสหราชอาณาจักรต้องส่งงานเขียนใดๆ ก็แล้วแต่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบว่าลอกเลียนแบบมาหรือไม่ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือการส่งข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปรวมศูนย์ไว้ในฐานข้อมูล เช่น วิทยานิพนธ์ที่เขียนเกี่ยวกับประเทศของนักศึกษา เป็นต้น  หากนักศึกษา นักวิจัยคนใดโดดเด่น ก็ให้ทุนหรือจ้างเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการและใช้ข้อสัญญาผูกมัดให้ทำงาน มอบผลงาน และปิดปากไม่ให้เปิดเผยความลับได้อีก

จึงไม่แปลกอะไรที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีการแข่งขันและการจ้างงานแบบทุนนิยมเข้มข้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่มีผลงานดีจนอันดับขึ้นก็จะได้งบประมาณเพิ่มจากรัฐและการรับนักศึกษาที่สนใจได้เพิ่มเติม  ดังนั้นอาจารย์จึงอาจย้ายที่ทำงานบ่อยครั้งตามแรงจูงใจที่ได้รับการเสนอจากที่อื่นๆ โดยไม่สนใจเด็กในที่ปรึกษาว่าหากท่านลาออกไปแล้ว ชีวิตที่เหลือของเขาจะเป็นอย่างไร หรือบางรายลาออกไปเขียนหนังสือหรือทำวิจัยอย่างเดียว เพราะผลงานสามารถผลิตรายได้มากกว่าการสอน
 
เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยในที่นี้จึงไม่ใช่สถานศึกษาอย่างในความคิดของคนโลกตะวันออก  แต่มันคืออุตสาหกรรมการศึกษา ที่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ว่ามี อาจารย์เจ๋ง วิจัยดี หนังสือออกมามากมาย ได้อันดับโลก แต่ถามจริงๆ ครับ อาจารย์เขาเอาเวลาที่ไหนไปนั่งทำ และมหาวิทยาลัยเอางบที่ไหนมาจ้าง ดังนั้นนักศึกษา (รัฐบาล/ผู้ให้ทุน) ที่มาเสียเงินค่าเทอมจ้างอาจารย์นั่งเขียนหนังสือคือผู้มีพระคุณตัวจริง อาจารย์และมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเลยมีผลงานมาทำแต้มติดอันดับสูงๆ ได้  ส่วนเวลาที่มีให้นักศึกษานั้นหรือก็น้อยนิด ยิ่งพวกมาเรียนกฎหมายนั้น เหมือนอาจารย์ให้รายชื่อเอกสารมาอ่านเองแล้วมาคุยกันจบปีได้สัมมนารวมไม่ถึง 80 ชั่วโมง หมายความว่าถ้าสืบว่าเขาอ่านอะไรและไปอ่านเองก็รู้เท่าเขาได้

ส่วนพวกอาจารย์นักวิชาการขั้นเทพนั้นจะได้อภิสิทธิ์ ภาระการสอนน้อย เพราะฉะนั้นถ้าอยากเจออยากได้เขามาเป็นที่ปรึกษา จึงต้องมาเรียนหลักสูตรที่ทำวิจัยเท่านั้น และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรพิจารณาคนไม่ยากเท่าประเทศอื่น เพราะนี่คือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการที่จ่ายเงินให้เขาระยะยาว และลงทุนน้อย อาจารย์ก็โล่งมีคนมาอยู่ในสังกัด เป็นทั้งผู้ช่วยวิจัย และคนจ่ายเงินค่าจ้างไปในตัว

อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรมีระบบควบคุมคุณภาพโดยใช้ระบบ External Examiner มีผู้ตรวจ/สอบซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมาตรวจ/สอบอีกชั้นหนึ่ง  ทำให้มหาวิทยาลัยต้องคงอัตราความเข้มข้นในการตรวจข้อสอบ เรียงความ วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์อย่างไม่ธรรมดา เพราะเขากลัวเสียหน้ากัน แต่คำถามคือ การเอาจริงตอนวัดผล แต่ตอนที่ควรจะสอน อาจารย์อยู่ ณ ที่ใด

ด้วยเหตุที่อาจารย์ไม่ต้องสอนมาก แต่เขียนหนังสือ ทำวิจัย ผลิตผลงาน ส่วนการสอนก็เน้นไปที่ระดับปริญญาเอก เพราะถ้าหากสามารถคุมนักศึกษาปริญญาเอก ก็สามารถคุมคลังสมองของรัฐอื่น ซึ่งยังส่งผลดีต่อการสร้างเครือข่ายทางวิชาการและบริหารด้วย

การศึกษาในระดับปริญญาโท จึงต้องคำครหาเสมอมาว่ามหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรเน้นหากินกับนักเรียน โดยสร้างความลำบากให้เด็กสักหนึ่งปี เพื่อเอาไปเล่าต่อปากต่อปาก ให้ดูโหดขลัง (นักศึกษาได้ความรู้จากการอ่านเองเขียนเอง) แต่ในความเป็นจริงเมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่ก็ก็กินเที่ยวกันสนุกสนานไม่น้อย

กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยจึงสร้าง "ภาพลักษณ์" (Image) ชื่อเสียงอันดับ (Reputation) มาก่อนคุณภาพและการทุ่มเทในการสอน (Quality)  เพราะมั่นใจว่า นักศึกษาจะไม่เปิดโปงความจริงในที่สว่าง เพราะหากบอกไปตรงๆ ว่าคุณภาพไม่ดีตนก็จะเสียภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาจากการลงทุนไปเรียนเมืองนอกมาด้วย เรื่องนี้จึงเป็นทางเลือกที่เป็นข้อขัดแย้งซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยมาก

ข้อได้เปรียบอีกประการ คือ การเป็นผู้มีอำนาจในการจัดอันดับ สร้างเกณฑ์ ในการวัดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลกจะอยู่ในอันดับใด เพราะกฎย่อมสะท้อนเป้าหมายและผลประโยชน์ของผู้ออกเสมอ ดังนั้นสหราชอาณาจักรที่เป็นเจ้าของสำนักจัดอันดับชื่อดังก็คือ ผู้คุมเกม และสามารถปรับเกณฑ์กติกาเพื่อฉีกหนีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโลก ให้เหมาะกับเงื่อนไขของตนได้เสมอ 

โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ห้องทดลอง คือ พื้นที่จริง สถานที่จริง  ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม คือ สาระสำคัญ ซึ่งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่ ประเทศพัฒนาแล้วที่มั่นคง สงบ น่าเบื่อ?  ย่อมไม่อาจผลิตผลงานวิชาการระดับพื้นที่ได้เหนือกว่ามหาวิทยาลัยในสนามวิจัยเป็นแน่ แต่อาศัยการผลิตผลงานในโลกภาษาอังกฤษที่มีเข้าเกณฑ์ตัวชี้วัด และบังคับอ้อมๆ ให้งานในประเทศกำลังพัฒนาต้องแปลงมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตีพิมพ์ให้ได้คะแนนและอันดับ ยิ่งมีบทความตีพิมพ์วารสารยิ่งน่าเชื่อถือคนก็ยิ่งส่งมาตีพิมพ์วนไปเป็นวงจรเรื่อยๆ

มหาวิทยาลัยชายขอบโลกทุนนิยมทั่วโลกที่กำลังแข่งขันกันไต่เต้าการจัดอันดับโลก จึงกลายเป็นผู้ตาม โดยที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยรู้ตัวหรือไม่ว่าอยู่ในการแข่งขันที่ไม่อาจมีวันชนะได้อย่างง่ายดายด้วยพื้นฐานของเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน และตนก็ไม่ใช่ผู้ออกกฎ หรือผู้คุมกฎ

คำถามจึงอยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบภาษาอังกฤษ (สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา) จะทำอย่างไร  จะเดินตาม หรือจะฉีกไปสร้างแนวทางและจุดเด่น จุดขายของตนเอง  เพราะตามทฤษฎีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ผู้แข่งขันควรหาจุดเด่นจุดต่างที่ตนมีแต่ผู้อื่นไม่มีมาเป็นจุดขาย เพราะไม่มีใครสู้ได้และตนก็จะครองชัยชนะ

หากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยสามารถสร้างระบบการตรวจสอบคุณภาพและนำเสนอผลงานสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้เอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งการเอาชื่อไปแปะอยู่ในอันดับเกินร้อย (ซึ่งก็ไม่มีใครสนใจจะดูเมื่อเกิน 100 มามากอยู่แล้ว) การโฆษณาประชาสัมพันธ์เอง เพื่อดึงดูดนักศึกษาในเชิงรุกด้วยตนเองก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องคิดและสร้างขึ้นมาอย่างจริงจังมากขึ้น ดังมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรทำสำเร็จ (ผ่านตัวแทนรูปแบบต่างๆ และการให้ผลประโยชน์ตอบแทน)  แต่ในปัจจุบันก็ยังติดปัญหาการทำให้คุณวุฒิเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยต่างๆ (Harmonization and Certification) เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากกับนักศึกษา และมีการตรวจสอบรับรองคุณภาพได้มาตรฐาน  ก็อาจต้องใช้เวลา

เมื่อลองสำรวจความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทย (ผู้เขียนทำงานสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5 ปี และเคยศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ปี) จะพบว่า ข้อเด่น/ด้อย ดังนี้


จุดเด่น

  • สถานที่ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม น่าอยู่กว่าโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด
  • ค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนถูกกว่า รวมถึงงบประมาณในการลงพื้นที่วิจัยต่างๆก็ไม่แพงนัก
  • ประเด็นที่สำคัญมากสำหรับสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ คือ มีสนามจริงให้เลือกทำวิจัยหลากหลายประเด็นมาก ทั้ง ชนบท/เมือง, เกษตร/อุตสาหกรรม, ภาวะเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม รวมไปถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ท้องถิ่น เพสภาวะ ฯลฯ
     

จุดอ่อน

  • นักวิชาการภาระงานสอนเยอะมาก เนื่องจากการพึ่งพิงหลักสูตรการสอนในการหารายได้ มากกว่าการทำวิจัย (ประเทศไทยมีอัตราส่วนการวิจัยพัฒนาต่อ GDP ต่ำมาก)
  • ผลิตผลงานวิชาการน้อยและไม่มีแรงจูงใจในการผลิตผลงานหนังสือ (ภาษีหนังสือ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรที่สูงมากทำให้คนส่วนใหญ่ซื้อหนังสือไม่ได้)
  • นักวิชาการ(อาจารย์ และนักวิจัย) มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับตำแหน่งบริหารจัดการอำนวยการ
  • การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ ข้อมูล และการเจาะกลุ่มลูกค้าทางตรง (ในอนาคตอันใกล้นักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน) ยังไม่มีประสิทธิผล  เนื่องจากยังติดกับดักไปอิงกับระบบภาษาอังกฤษ ทั้งที่ควรจะเฉพาะเจาะจงไปที่วัฒนธรรมของกลุ่มที่ต้องการจะปฏิสัมพันธ์โดยตรง  ซึ่งจะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคภาษาอังกฤษไปได้ เพราะถ้าใครได้ภาษาอังกฤษจริงๆ คงไปเรียนในโลกภาษาอังกฤษ ไม่มุ่งมาเรียนในมหาวิทยาลัยชายขอบทุนนิยมอย่างไทยอยู่แล้ว


ข้อเสนอแนะ

  • เพิ่มจำนวนนักวิชาการทั้งอาจารย์และนักวิจัยประจำ หรือจัดจ้างพิเศษ หรือแลกเปลี่ยน
  • ลดภาระงานสอน โดยสร้างที่มารายได้อย่างอื่นให้สามารถดำรงชีพได้จริง เช่น งบวิจัย
  • เพิ่มเวลาและแรงจูงใจในการผลิตผลงานวิชาการ โดยเฉพาะให้ความยืดหยุ่นกับการวิจัยพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากจะเป็นตัวสร้างจุดต่าง จุดเด่นให้กับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น
  • การทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย และสร้างหลักสูตรที่เปิดกว้างให้กับภาษา และวัฒนธรรม ที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะภาษาที่ไม่ใช่อังกฤษ เช่น บาฮาซา พม่า ขแมร์ เวียต เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เห็นชอบเพิ่มเงินเดือนและค่าแรงสาธารณสุข 100 %

Posted: 25 Mar 2013 10:56 AM PDT

มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบเพิ่มเงินเดือนและค่าแรง สาธารณสุข 100 % ในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ชี้ข้อดีทำให้ รพ.รับรู้ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

บอร์ด สปสช.มีมติรวมเงินเดือนและค่าแรง รพ.สธ. ทั้งหมด 100% ในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังจากฐานการคำนวณเดิมใช้การตั้งงบเงินเดือน รพ.สธ.แยกโดย สปสช. ตั้งงบ 60% ที่เหลืออีก 40% สธ.ตั้งงบ เปลี่ยนเป็นให้ สปสช. ตั้งงบเงินเดือนหน่วยบริการ สธ. ทั้งหมด รวมถึงค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P อีก 3,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินเดือนในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ขอเพิ่ม 32,000 ล้านบาท ยืนยันไม่กระทบกับค่ารักษาพยาบาลในงบรายหัว เพราะมีการขอเพิ่มให้แล้ว ชี้ข้อดีทำให้ รพ.รับรู้ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้การวางแผนระบบค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ณ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระการเพิ่มเติมข้อเสนองบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 จำนวน 156,766.83 ล้านบาทนั้น ซึ่งในจำนวนนี้ได้คำนวณรวมเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดสธ.จำนวน 34,763 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของเงินเดือนหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสธ. (เนื่องจากคำนวณจากฐานคิดว่าบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 48 ล้านคน) และที่เหลืออีกร้อยละ 40 หรือประมาณ 29,186 ล้านบาทนั้น (เป็นการให้บริการประชากรในสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) กระทรวงสธ.จะตั้งงบประมาณเพื่อขอไปยังสำนักงบประมาณอีกที แต่ในการประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอว่า เพื่อให้หน่วยบริการรับรู้ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนและค่าแรงทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นควรให้มีการรวมการคิดคำนวณเงินเดือนและค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของสธ. ไว้ที่งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทีเดียว
 
ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) จึงได้มีมติให้มีการเพิ่มรายการ "งบเพิ่มเติมด้านค่าแรงของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข" ในข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557" เพิ่มอีก 3 รายการ รวมทั้งสิ้น 32,952.72 ล้านบาท ดังนี้ 1. เงินเดือนนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสธ. 29,186.98 ล้านบาท 2. เงินเดือนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการในสังกัดกรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค (จำนวน 24 แห่ง จากทั้งสิ้น 60 แห่ง) 765.74 ล้านบาท 3. ค่าตอบแทนส่วนเพิ่มแทนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับ 4, 6 และ 7 หรือค่าตอบแทนตามภาระงาน P4P จำนวน 3,000 ล้านบาท
 
"ดังนั้นข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 จะรวมเป็น 189,719.55 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ 64,715.72 ล้านบาท คงเหลืองบกองทุนที่ส่งให้สปสช. 125,003.83 ล้านบาท และเพิ่มงบในส่วนค่าตอบแทนส่วนเพิ่มแทนประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับ 4, 6 และ 7 หรือค่าตอบแทนตามภาระงาน P4P จำนวน 3,000 ล้านบาท"นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชินัว อาเชเบ

Posted: 25 Mar 2013 10:52 AM PDT

"Charity . . . is the opium of the privileged." "การกุศลคือยาฝิ่นของเหล่าอภิสิทธิชน"

นักเขียนชาวไนจีเรีย เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอายุ 82 ปี (ข้อความจากหนังสือ Anthills of the Savannah)

สาระ+ภาพ 3 มุม 3 ปากคำ ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์

Posted: 25 Mar 2013 10:52 AM PDT

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่ขึ้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด กสท.เคาะ 12 ช่อง 'ทีวีสาธารณะ' ช่อง 5,11 ฉลุยได้โควตา!

Posted: 25 Mar 2013 10:50 AM PDT

บอร์ด กสท.เคาะช่องรายการทีวีสาธารณะ ช่อง 5-11 ได้คนละช่อง ไทยพีบีเอสคว้า 2 ช่องแลกยุติอนาล็อกเร็วขึ้นเป็นภายใน 3 ปี-คืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ คาดออกใบอนุญาตใน มิ.ย.นี้

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2556 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท. อนุมัติกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ประเภทสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็น 1-3 จะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการรายเดิมคือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยทุกช่องจะคงผังรายการเดิม และอายุการอนุญาตขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของช่อง 5 และ 11 ส่วนช่อง 4 ไทยพีบีเอส ที่จะต้องเน้นรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งในส่วนไทยพีบีเอสนั้นที่ได้สิทธิ 2 ช่อง เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนมายัง กสท.โดยจะยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกและเปลี่ยนเป็นดิจิตอลภายใน 3 ปี, คืนความถี่ UHF ทั้งหมดให้ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ เพราะทำให้มีช่องรายการแบบความคมชัดสูง (HD) เพิ่มมากขึ้น

ส่วนช่อง 5-12 จะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ โดยช่อง 5 จะเน้นรายการให้ความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ช่อง 6 เน้นรายการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ช่อง 7 เน้นรายการสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่อง 8 เพื่อความมั่นคงของรัฐ ช่อง 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ช่อง 10 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาขน ช่อง 11 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ช่อง 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเด็กและเยาวชนหรือความสนใจกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า สำหรับระยะเวลาการอนุญาตนั้น ช่อง 4-12 จะมีอายุการอนุญาต 4 ปี หลังจากนั้น กสทช.จะพิจารณาการออกใบอนุญาตให้อีกครั้งว่าจะอนุญาตให้ 15 ปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประกอบกิจการในช่วง 4 ปีที่ได้รับอนุญาตว่าเป็นไปตามคำนิยามการประกอบกิจการสาธารณะหรือไม่ ส่วนการหารายได้จากการโฆษณานั้น ช่อง 8 และ 9 สามารถหาโฆษณาเชิงธุรกิจได้ แต่ต้องเพียงพอและจำเป็นต่อการประกอบกิจการเท่านั้น ซึ่ง กสทช.จะกำหนดกฎเกณฑ์อีกครั้ง ส่วน 5, 6, 7, 10 ,11 ,12 สามารถโฆษณาได้ในเชิงภาพลักษณ์องค์กร (ซีเอสอาร์) ได้ในระยะเวลา 12 นาทีต่อชั่วโมง ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบนิยามประเภทช่องรายการทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง โดยช่องรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ช่อง หมายถึงช่องรายการที่เน้นการนำเสนอรายการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา ต้องมีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็ก ไม่แสดงออกรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ใช้คำหยาบคาย คำนึงถึงความเท่าเทียมและโอกาสของเด็กทุกสังคม ช่องรายการข่าวสารและสาระ 7 ช่อง หมายถึง ช่องรายการข่าว ข้อเท็จจริง วิเคราะห์ และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยเสนออย่างเที่ยงตรงรอบด้าน อิสระและเป็นกลาง เสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 75%

ช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดปกติ SD จำนวน 7 ช่อง และช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง HD จำนวน 7 ช่อง หมายถึง ช่องรายการที่นำเสนอรายการตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด และผังรายการ เนื้อหารายการ ตามที่ กสทช.กำหนด และไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

"กำหนดช่องรายการทีวีดิจิตอลสาธารณะ 12 ช่อง และคำนิยามทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่องนั้น จะเป็นกรอบการทำงานและกรอบการเชิญชวนผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องเข้าประมูลทีวีดิจิตอล โดยทีวีสาธารณะกฎเกณฑ์ต่างๆ จะเริ่มชัดเจนภายในเดือน เม.ย.นี้ และออกใบอนุญาตในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้"


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี ให้เข้มงวดดำเนินคดีรับน้องป่าเถื่อน เสนอ ปฏิรูป"รักน้อง"

Posted: 25 Mar 2013 10:47 AM PDT

กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ ยื่นข้อเสนอเพื่อแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมของการรับน้องใหม่ในปัจจุบันให้ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ชี้ผลกระทบและความรุนแรงในกิจกรรมรับน้องมหาลัย ประกาศเดินสายพูดคุยทุกภูมิภาค


วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2556 เวลา 09.30 น. ตัวแทนกลุ่ม เยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ นำโดย นายปิยรัฐ จงเทพ นำหนังสือ ข้อเสนอเพื่อแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมของการรับน้องใหม่ในปัจจุบัน มายื่นให้กับ ท่าน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ แต่เนื่องจากเป็นเช้าวันจันทร์ รมว.พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงมีภาระกิจติดประชุม จึงไม่สามารถมารับหนังสือด้วยตนเอง แต่ได้ส่ง นาง รักขณา ตัณฑวุฑโฒ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ มารับหนังสือแทน 

นาง รักขณา  กล่าวว่า "ท่านรัฐมนตรี ท่านใจดีค่ะ แต่ท่านติดภาระกิจ ยังไงเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของท่านอยู่แล้ว ดิฉันจะรีบแทงเรื่องนี้ถึงรัฐมนตรี เป็นหนังสือด่วนที่สุด เพื่อพิจารณาต่อไปค่ะ " เมื่อได้รับคำยืนยันจากผู้แทน ที่มารับมอบ เราทุกคนจึงแยกย้ายกัน ในเวลาต่อมา
 

 

กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ

www.facebook.com/antisotusTH

 โทร 08-33384-100

 

วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖

 

เรื่อง   ข้อเสนอเพื่อแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมของการรับน้องใหม่ในปัจจุบัน

เรียน   ฯพณฯ พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

            เนื่องจากว่าปัญหาการรับน้องใหม่ที่ใช้ระบบว้าก (SOTUS) ในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ของไทยกำลังส่งผลต่อระบบการศึกษาไทยอย่างเห็นได้ชัดขึ้นและขณะนี้ได้ขยายวงกว้างไปสู่รั้วมัธยมศึกษา โดยเริ่มจากโรงเรียนสาธิตซึ่งรับอิทธิพลมาจากมหาวิทยาลัยอีกทีหนึ่ง เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่ระบบโครงสร้างอันเป็นอุปสรรค์ใหญ่ต่อการพัฒนาคนพัฒนาชาติ หรือที่เราเรียกว่าระบบอุปถัมภ์กำลังเบ่งบานสวนทางกระแสแห่งโลกเสรี การตระหนักถึงความเป็นธรรมในสังคมและการยอมรับกันด้วยความสามารถและความพอใจของทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะอยู่ภายใต้ระบบดังกล่าวได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเราไม่อาจจะฝืนกระแสแห่งโลกได้อย่างแน่นอน ที่เราจะคงไว้ซึ่งระบบอันมิเคยสร้างประโยชน์และการยอมรับให้กับสังคมการศึกษาบ้านเราเลย มิหนำซ้ำกลับทำให้เราถูกเพื่อนบ้านหรือนานาชาติมองว่า นักศึกษาไทย ป่าเถื่อน ล้าหลังและ ขาดการใช้เหตุผล สั่งสอนให้นักศึกษาอดทนต่อความอยุติธรรมมากกว่าการใช้เหตุผลและการพึงรักษาสิทธิแห่งตน  

         กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ  ซึ่งกลุ่มของเรา รณรงค์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงพิธีกรรมรับน้องซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกเสรีประชาธิปไตย โดยเรารณรงค์มา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๕๔ จนถึงวันนี้กลุ่มเราได้มีสมาชิก ในกลุ่มกว่า ๔,๗๐๐ คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราจึงได้จัดงานประชุมใหญ่สมาชิกประจำปีและมีการเสวนา ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคาร ประชาสังคมอุดมพัฒน์  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหิดล ศาลายา ในหัวข้อ "การรับน้องกับการศึกษาไทยในอนาคต"  โดยเราได้เชิญกลุ่ม นิสิต นักศึกษา จากทั่วประเทศเข้าร่วมงานในครั้งนี้และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ กลุ่มแสงเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มรับน้องสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มประชาคมจุฬาฯ  เพื่อประชาชน เป็นต้น และได้เชิญ ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ ตัวแทนนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  มหาวิทยาลัยบูรพาและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

        ดังนั้นเราจะถือโอกาสที่ได้เปิดเวทีให้นักศึกษาได้ร่วมกันหาทางออกและวางแนวทางแก้ไขกิจกรรมรับน้องของไทยที่ มีระบบ SOTUS เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ โดยเราได้ร่วมกันร่างหนังสือ เพื่อนำมาเสนอต่อ ฯพณฯ รัฐมนตรี ซึ่งข้อร้องเรียนร่วมดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

๑.      ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงฯว่าด้วยการรับน้อง ให้รัดกุมและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อ นิสิต นักศึกษา มากขึ้น และขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรืออื่นๆ ว่าด้วยเรื่องการรับน้องในมหาวิทยาลัยและต้องลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎ อย่างจริงจัง ทั้งทางวินัยและทางอาญาตามที่ระบุโทษไว้

๒.     กระทรวงศึกษาหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล กิจกรรมการรับน้องใหม่ ควรมีการสอดส่องและเอาใจใส่มากขึ้นก่อนที่กิจกรรมเหล่านี้จะก่อปัญหาขึ้นในอนาคต

๓.      กระทรวงศึกษาหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควรจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์กระจายไปทุกๆโรงเรียน ทุกๆมหาวิทยาลัย ได้เข้าใจถึงการรับน้องที่ถูกต้องตามหลักการและความเหมาะสม

๔.     พวกเราทุกคนขอเสนอให้วันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปีเป็นวัน  "รักน้องใหม่"   เนื่องจากว่า ในวันดังกล่าวเป็นช่วงมีการรับน้องใหม่เกิดขึ้นในหลายสถาบันเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมรักน้องมากกว่าการทำกิจกรรมที่ส่อไปในทางความเป็นรุ่น และที่สำคัญ ๕ มิถุนายน เกิดเหตุการณ์สำคัญต่อสังคมการศึกษาประเทศไทย  ดังนี้

      ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๘    นิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อ โชคชัย รุ่งเรืองศรีศักดิ์ ได้ยิงตัวตายจากการทนรับสภาพการรับน้องที่ป่าเถื่อนและส่อไปทางลามก สร้างความอับอาย และการกดขี่จากรุ่นพี่ไม่ไหว  จึงเกิดเหตุสลดดังในหน้าสื่อทั่วไป เป็นที่น่าเวทนายิ่ง และทำให้ในปีดังกล่าวต้องยุติกิจกรรมรับน้องทั่วประเทศไปปริยาย

      ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔  นักรัฐศาสตร์บางท่านเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "ปฏิวัติดอกคูน" เนื่องจาก ดอกคูนเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และจากชื่อ ปฏิวัติดอกคูน เป็นเหตุการณ์ที่ นักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มหนึ่งไม่พอใจต่อการรับน้องที่ผู้เป็นรุ่นพี่ เผด็จการและใช้อำนาจเกินขอบเขต พวกเขาได้ออกมาถือป้ายประท้วงอย่างสันติ ในบริเวณสถานที่จัดงานประชุมเชียร์ จนนำมาสู่การปะทะคารมอย่างรุนแรง และท้ายที่สุด ผู้ใหญ่ก็ไม่เห็นความสำคัญในเรื่องเลวร้ายดังกล่าวที่เกิดขึ้น มิหนำซ้ำ อธิการบดี ในขณะนั้นเอง ได้ให้ สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า พวกนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องนั้น ต่างร้อนวิชา สิทธิมนุษยชน    การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความคิดที่คับแคบของผู้บริหารสถานศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้ระบบนี้ เพื่อการควบคุมนักศึกษาให้อยู่ในกรอบคิดและอำนาจของผู้บริหารอีกทีหนึ่ง

๕.     ขอความกรุณา ท่านรัฐมนตรีหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ช่วยชี้แนะช่องทางสำหรับการแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการรับน้อง ให้ทราบโดยทั่วกัน หากเป็นไปได้ กลุ่มของเรายินดีเป็นอีกหนึ่งศูนย์ที่พร้อมทำงานเป็นกลุ่มอาสา รับเรื่องร้องเรียนเพื่อนำข้อมูลที่กลั่นกรองแล้ว ประสานให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับชอบอีกทอดหนึ่ง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การร้องเรียนและขอความช่วยเหลือเข้ามายังกลุ่มฯ  มีมาตลอด แต่เราก็ไม่อาจจะช่วยเหลือเขาได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะเราไม่ทราบว่าช่องทางใดหรือหน่วยงานใดของรัฐที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับนิสิต นักศึกษา เหล่านั้นได้

จึงเรียนมา เพื่อขอ ฯพณฯ รัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาข้อเสนอข้างต้น เพื่อเป็นการพัฒนาให้การรับน้องของประเทศไทยไม่ถูกมองจากสังคมโลกโดยเฉพาะสังคมอาเซียนว่ามีความล้าหลัง ป่าเถื่อน และที่สำคัญเพื่อเป็นการตัดต้นต่อของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นเนื้อร้ายต่อสังคมไทยนี้มานาน ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามความถูกต้องดีงามต่อไป

 

                                                                          ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

(ปิยรัฐ จงเทพ)

เลขาธิการ กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ

 

เมื่อถามถึงความรู้สึกของตัวแทนกลุ่มว่ารู้สึกอย่างไร ปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการ กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความตั้งใจแรกเราต้องการยื่นหนังสือกับท่านรัฐมนตรี หรือคณะผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เนื่องจากว่าท่านติดภารกิจเร่งด่วนและเป็นความผิดพลาดในระหว่างประสานแจ้งกำหนดการกับทางกระทรวง จึงไม่เกินที่คาดการณ์ไว้เท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ สำนักงานรัฐมนตรี ทุกท่านบริการดีมากและไม่ได้กีดกั้นการเข้าพบรัฐมนตรีแต่อย่างไร อนุญาตให้เรารอพบได้แต่ทางคณะเราเองก็ไม่อาจจะอยู่รอพบ เนื่องด้วยไม่ทราบเวลาเสร็จสิ้นการประชุมที่แน่นอน จึงตัดสินขอให้ท่านส่งตัวแทนที่สามารถประสานงานเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด จึงเป็นไปตามที่รายงานไปตั้งแต่ต้น 

 
เมื่อถามว่าจะทำกิจกรรมอะไรต่อไป  ปิยรัฐกล่าวว่า กลุ่มฯ จะดำเนินการ รณรงค์อย่างเข้มข้น ทั้งใน facebook และในมหาวิทยาลัยเอง เนื่องจากว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงกิจกรรมรับน้อง ที่เดินทางมาสอบสัมภาษณ์ หรือมาสอบเข้าเรียนต่อ ในมหาวิทยาลัย จึงเป็นเสมือนการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับ เหยื่อรายใหม่    
 
เลขาธิการกลุ่มได้กล่าวต่อไปว่าจะเดินทางไปขยายเครือข่ายในส่วนภูมิภาคและเดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนๆสมาชิกกลุ่มใน ภูมิภาคต่างๆเพื่อพบปะพูดคุย และรับฟังปัญหาจากภาคต่างๆเพื่อนำมาวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนต่อไป    โดยประมาณวันที่ 26-30 มีนาคม จะเดินทางไป ภาคอีสานเป็นภูมิภาคแรก สถานที่ยังไม่ชัดเจน  มี 3แห่งคือ ม.อุบลราชธานี ม.มหาสารคาม และ ม.ขอนแก่น   วันที่ 3-6 พฤษภาคม จะเดินทางไปภาคเหนือ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ม.แม่โจ้ วันที่ 25-30   พฤษภาคม จะเดินทางไปภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สปสช.' เล็งบูรณาการรักษามะเร็ง มาตรฐานเดียวทั้งระบบ

Posted: 25 Mar 2013 10:33 AM PDT

คณะทำงานหลักประกันสุขภาพหารือแนวทางบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุนสุขภาพ ระดมนักวิชาการทั่วประเทศดูแลผู้ป่วยมะเร็งมาตรฐานเดียว

 

คณะกรรมการนัดถกครั้งแรกเพื่อเตรียมบูรณาการมะเร็งมาตรฐานเดียว 3 กองทุนสุขภาพ มีมติเริ่มบูรณาการมาตรฐานเดียวในโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยกำหนดแนวทางการรักษาเหมือนกันทั้ง 3 กองทุน เพื่อสร้างความเสมอภาค เป็นมาตรฐานเดียว หวังเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย เริ่มดีเดย์ตุลาคมนี้
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการการจัดบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนวทางการบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ (หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ)
 
ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ผู้ทรงคุณวุฒิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานกรรมการฯ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเสมอภาคด้านการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเริ่มต้นที่เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 1 เม.ย.2555 บูรณาการรักษาเอดส์และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1 ต.ค.2555 หลังจากนี้จะมีการกำหนดแนวทาง/ทิศทางการดำเนินงานจะเป็นการบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว  เนื่องมาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) ได้เสนอให้มีการรักษามะเร็งมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของไทยไปยังสำนักเลขาธิการครม. เมื่อส.ค.2555 ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรวมถึงสปสช. หลังจากนั้นได้มีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง 10 ครั้ง และได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวทางการรักษามะเร็ง โดยเชิญหน่วยบริการ กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สภาที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุม ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป
 
ประธานกรรมการฯ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเตรียมการการจัดการเพื่อบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ ซึ่งกรรมการประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจาก 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระบบการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลและที่บ้าน รวมถึงระบบการส่งต่อรับกลับ อันจะช่วยลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มอัตราการรอดชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการเตรียมชุมชนเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความรู้สึกมั่นคง ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวชุมชนได้อย่างเหมาะสม จนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต
 
ประธานกรรมการฯ กล่าวว่า มติที่ประชุมวันนี้ได้เริ่มให้มีการบูรณาการมาตรฐานเดียวในกลุ่มโรคมะเร็ง   คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่พบมากของประเทศไทย  ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้  โดยจะมีการกำหนดระบบบริการ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในโรคมะเร็งต่างๆ การรักษาอิงตามกระบวนการรักษาตามมาตรฐาน(protocol) ทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และยาเคมีบำบัดฮอร์โมน มีการดูแลต่อเนื่อง รวมถึงการรักษาแบบประคับประคอง การให้คำปรึกษาจากกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยแนวทางมิตรภาพบำบัด การดูแลระยะสุดท้าย ที่สำคัญคือมีฐานข้อมูลผู้ให้บริการเพื่อการส่งต่อเครือข่ายบริการ และระบบติดตามผล
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 มีจำนวนผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 2.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยได้รับการรักษา 127,000 คน/ปี โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5-7%     
 
ทั้งนี้ ข้อมูลแนวโน้มและการคาดการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในปี 2556-2558 พบว่า ทุกสิทธิ (หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ)  มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 12,539 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระบบหลักประกันสุขภาพ 9,235 คน   และผู้ป่วยมะเร็งตับทุกสิทธิ จำนวน 13,279 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยมะเร็งปอดทุกสิทธิมีจำนวน 10,281 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพ 7,643 คน ผู้ป่วยทุกสิทธิในมะเร็งปากมดลูก จำนวน 8,844 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 6,514 คน มะเร็งทุกสิทธิลำไส้ใหญ่ มีจำนวน 21,002 คน เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ 15,593 คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการสื่อแนะ กสทช.ไม่ต้องรีบ 'แจก' ทีวีดิจิตอลสาธารณะ

Posted: 25 Mar 2013 10:08 AM PDT

นักวิชาการสื่อให้ความเห็นต่อการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะ ชี้ยังไม่พร้อม ไม่ต้องรีบให้ เตือน กสทช. อย่าลืมหัวใจการปฏิรูปสื่อ แนะสำรวจความต้องการของประชาชนคนดูก่อน


(26 มี.ค.56) สำนักงาน กสทช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น "การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิตอลสาธารณะ : รูปแบบที่ควรจะเป็น" ณ โรงแรมเซนจูรี่ มีนักวิชากรจากสายนิเทศศาสตร์ และสายเศรษฐศาสตร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวคิดจัดสรรคลื่นทีวีใหม่ในช่องดิจิตอลสำหรับบริการสาธารณะ ซึ่งเบื้องต้นบอร์ด กสท.ตีความว่าจะไม่ได้เป็นเหมือนไทยพีบีเอส แต่เป็นทีวีสาธารณะซึ่งอิงจาก พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ 51 เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้หลายประการ และได้คัดค้านไว้ตั้งแต่ปี 51 แล้ว แต่เมื่อมีหน้าที่บังคับใช้ก็ต้องใช้ไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อขัดแย้งในสังคมขณะนี้คือลำพังเกณฑ์ใน พ.ร.บ.ฯ นั้นเพียงพอหรือไม่

สุภิญญา กล่าวว่า เมื่อเช้าที่ผ่านมา บอร์ด กสท.มีมติ 3:2 ว่าจะแบ่งช่องบริการสาธารณะ 12 ช่องในเชิงเนื้อหา แต่ไม่ได้แบ่งในเชิงความเป็นเจ้าของ ซึ่งส่วนตัวอยากให้แบ่งด้วย ขณะที่เกณฑ์การประกวดหรือ beauty contest ตอนนี้ก็ยังไม่มีการลงรายละเอียด

สุภิญญา กล่าวว่า จากมติบอร์ด กสท. ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง จะเหลือ 8 ช่องเป็นช่องใหม่ เนื่องจากจะแบ่ง  4 ช่องให้กับผู้ประกอบการรายเดิม คือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ได้ใช้ออกอากาศคู่ขนานไปจนกว่าจะยุติ  สำหรับไทยพีบีเอสนั้นขอ 2 ช่อง โดยอาจทำช่องเยาวชนและครอบครัวด้วยแต่มีเงื่อนไขว่าจะคืนอนาล็อกให้ กสทช.เมื่อไหร่ ขณะที่ช่อง 5 และ 11 ไม่มีเงื่อนไขว่าจะคืนเมื่อไหร่ ทั้งยังได้สิทธิทดลองออกอากาศดิจิตอลไปจนกว่าอนาล็อกจะยุติด้วย ซึ่งตนเองและ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช.อีกคน ไม่เห็นด้วย และมองว่าควรใช้โอกาสนี้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองให้ช่อง 5 และ 11 มีการเปลี่ยนแปลง

อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กรของช่องเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ดูเพียงเนื้อหาอย่างเดียว นอกจากนี้ ถามไปยัง กสทช.ว่าทำไมต้องรีบแจก แรงกดดันมาจากไหน หากไม่พร้อมยังไม่ต้องให้ได้หรือไม่ เพราะการแจกเท่ากับเราปล่อยให้โครงสร้างเก่าเดินหน้าและขยายพื้นที่ออกไปอีก สุดท้าย โครงสร้างเก่าก็ไม่เปลี่ยนเลย

ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า จากมติเมื่อเช้า อาจทำให้ทีวีสาธารณะกลายเป็นโทรทัศน์ของภาครัฐไปเลย  พร้อมยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมา ช่องไทยพีบีเอสได้งบประมาณจากภาษีเหล้าบุหรี่ปีละเกือบสองพันล้านบาท ยังเกือบไม่รอด ผังรายการเปลี่ยนบ่อย เรทติ้งต่ำ มาโชคดีตอนเหตุการณ์ไม่ปกติปี 53 เรทติ้งจึงขึ้นมา ทั้งยังมีความพยายามเอาแบบฟรีทีวีช่องอื่น ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่สนองเจตนารมณ์ทีวีสาธารณะอย่างชัดเจน หากจะแบ่งทีวีสาธารณะเป็น 12 ช่องตามมติ มองว่าเหมือนลงทุนมหาศาล ที่จะผลิต 12 ช่องที่ไม่มีคนดู ขณะที่เทรนด์โทรทัศน์ก็ลดความนิยมลง คนหันไปใช้โซเชียลมีเดีย แต่กลับมาเพิ่มช่องแบบช่อง 11 หรือไทยพีบีเอสเพิ่ม กำหนดสเปกแบบนี้ จะเสียเงินมหาศาล

เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ที่จะได้สัมปทานยังต้องจ่ายค่าใช้บริการโครงข่าย ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ภาคเอกชนที่จะทำงานสาธารณประโยชน์จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่รอด จะอยู่ได้ต้องใช้งบของรัฐอย่างเดียว พร้อมชี้ว่า ไทยพีบีเอสยังต้องมีงบ สสส.อุ้ม หากมีอีก 12 ช่อง จะทำอย่างไร จะมีปัญหาตามมาแน่นอน ทั้งนี้ ย้ำด้วยว่า การล็อกสเปกแบบนี้ จะเป็นการเอื้อกับราชการ จนไม่เกิดทีวีสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าชะลอหรือค่อยๆ ให้ จะดีกว่าออกมาทีเดียว

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฏหมายนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา กล่าวว่า ถ้า กสทช.ยังเดินหน้าต่อ สิ่งที่เห็นชัดคือ กสทช.กำลังทำสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะใช้เพียงดุลพินิจตัดสินให้ช่องบริการสาธารณะแล้ว 4 ช่อง ถามว่าเอาหลักเกณฑ์อะไรมาบอกว่าควรทำหรือชอบด้วยกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการทำ MOU ด้วย ถ้าเช่นนี้ถามว่าทุกที่ขอทำได้หรือไม่

สุวรรณา กล่าวต่อว่า กสทช.พยายามทำทีวีดิจิตอลโดยไม่คำนึงถึงการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเป็นหัวใจของกฎหมายต่างๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ มองว่า โรดแมปดิจิตอลจะช้า เพราะจะเกิดการฟ้องร้องขึ้น ที่ผ่านมาใช้เวลา 10 ปีเพื่อมี กสทช. แต่ กสทช.มา จัดสรรสื่อใช้เวลาไม่เกินสามเดือน ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทั้งนี้ เสนอว่า กสทช.จะต้องเปิดรับฟังความเห็น ตามกฎหมายที่ระบุว่าเรื่องใดที่กระทบกับความเป็นธรรมในการประกอบกิจการและสังคมในวงกว้าง กสทช.ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วย

นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ กสทช.คือการปฏิปสื่อ แต่ตอนนี้ กสทช. กำลังทำตัวเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ โดยลืมนึกถึงเป้าหมายว่าแจกเพื่ออะไร ต้องบรรลุอะไร ทั้งนี้ เห็นว่าไม่ควรรีบร้อนแจก พร้อมเสนอด้วยว่า กสทช.ควรทำสำรวจว่าคนดูอยากดูอะไรในช่องบริการสาธารณะทั้งหลาย เพื่อให้การตัดสินใจมีฐาน เป็นดุลพินิจที่ชอบ ที่อยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์

สุภิญญา กล่าวว่า จากการพูดคุยสรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม กสท.ในวันจันทร์หน้า (1 เม.ย.) ดังนี้
1.ผู้ประกอบการรายเดิม (ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส) ไม่ควรได้สิทธิออกอากาศคลื่นดิจิตอลคู่ขนานจนกว่าอนาล็อกจะยุติ โดยไม่ปรับตัว
2. ต้องสร้างเกณฑ์ตรวจสอบ "หน้าที่" และ "ความจำเป็น" ของผู้ประกอบการรายเดิม หน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ
3. จัดทำคำนิยาม "บริการสาธารณะ" และเนื้อหาประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน
4. แต่ละช่องต้องเสนอโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน ที่สะท้อนความเป็นกลาง เป็นอิสระจากภาคการเมือง
5. ต้องมีเกณฑ์การประกวด beauty contest ที่ชัดเจน และเปิดให้ประชาชนประชาพิจารณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แค่เรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทำไมแพทย์ชนบทต้องไล่รัฐมนตรี

Posted: 25 Mar 2013 10:02 AM PDT

วัตถุประสงค์สำคัญของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายหรือเบี้ยกันดารคือ การสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้ทำงานในชนบทให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เมื่อการคิดคำนวณอัตราการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจึงใช้ปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือ ความกันดารของพื้นที่และจำนวนปีที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 
 
การเพิ่มอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามความกันดารของพื้นที่นั้นก็เพื่อตอบโจทย์ที่มีบุคลากรวิชาชีพสุขภาพจำนวนไม่มากนักที่อาสาไปอยู่ไกลๆในชนบท  ดังนั้นใครที่เสียสละไปอยู่ยิ่งไกลปืนเที่ยงไปอยู่ในอำเภอที่มีความเจริญยิ่งน้อยยิ่งควรได้มาก ส่วนการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามระยะเวลาที่อยู่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ก็เพื่อแก้ปัญหาการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของวิชาชีพสุขภาพโดยเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ ที่มาทำงานเพียงปีหรือสองปีก็ย้ายออกไปทำงานในเมืองหรือไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นใครยิ่งอยู่นานจนเป็นเสาหลักของผู้ให้บริการสุขภาพในระดับอำเภอก็จะยิ่งได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมากขึ้น 
 
วิธีคิดของการเกิดขึ้นของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้นแม้จะไม่ได้ใช้ตัวภาระงานหรือปริมาณงานมากำกับโดยตรง แต่ก็มีการกำกับด้วยจำนวนวันทำการที่ต้องมีในแต่ละเดือนคือต้องทำงานมากกว่า 15 วันทำการจึงได้รับเบี้ยเลี้ยงในเดือนนั้นๆ  ซึ่งถือเป็นการกำกับโดยวิธีคิดแบบภาระงานที่ไม่ซับซ้อน  เหตุผลสำคัญของวิธีคิดของการให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ไม่มีการคิดภาระงานก็เพราะเข้าใจในบริบทของความเป็นโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย เพราะโรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร รวมทั้งพยาบาลจำนวนไม่มากนัก เฉลี่ยจำนวนแพทย์และเภสัชกรประมาณ 3-5 คน ทันตแพทย์ 2-3 คน เป้าประสงค์ในการให้เกิดการทำงานเป็นทีม ช่วยกันทำงาน เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สิ่งสำคัญ ไม่ใช่วัฒนธรรมงานแลกเงินหรืองานใครงานมัน อีกทั้งด้วยขนาดองค์กรที่เล็ก 
 
งานส่วนใหญ่คืองานบริการตรวจรักษาผู้ป่วย ซึ่งไม่ว่าผู้ป่วยจะมากหรือจะน้อยก็ต้องช่วยกันตรวจรักษาให้หมด ยากที่จะปฏิเสธการทำงานได้ ยิ่งใกล้ชิดกับชุมชนยิ่งยากที่จะปฏิเสธการดูแลผู้ป่วย 
งานด้านสุขภาพมีความซับซ้อนไม่เหมือนงานหน้าร้านเซเว่นที่นับผลงานง่าย หากจะคิดให้ยุติธรรมต้องมีระบบการคิดภาระงานที่ซับซ้อนยุ่งยากใช้แรงมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย เอาเวลาไปทำงานดูแลผู้ป่วยไม่ดีกว่าหรือ เราไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าในการเสริมพลังให้คนทำงานแล้วหรือ
 
เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งชิ้นที่สองของการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะแพทย์และทันตแพทย์ในชนบท เครื่องมือชิ้นแรกที่ได้ผลอย่างยิ่งคือการบังคับใช้ทุน 3 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2516 ด้วยค่าปรับ 400,000 บาทตั้งแต่บัดนั้นที่ราคาทองคำเพียงราคาบาทละ 400 บาท หรือเท่ากับการปรับด้วยทองคำน้ำหนัก 1,000 บาททีเดียว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการปรับอัตราค่าปรับอีกเลย   
 
การเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับวิชาชีพสุขภาพที่ทำงานในชนบทตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมานั้นสามารถเติมเต็มการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็จูงใจให้อยู่ชนบทนานขึ้น ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาคุณภาพบริการ คนชนบทก็ต้องการหมอที่อยู่ประจำเป็นเวลานาน รู้จักสนิทสนมคุ้นเคย เข้าใจบริบทชุมชน ไม่ใช่ต้องการแต่หมอใหม่ที่มาหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกปี และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์นี้ได้
 
การยกเลิกหรือลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แล้วทดแทนด้วยการจ่ายด้วยการจ่ายตามภาระงานหรือเบี้ยขยันหรือที่เรียกหรูๆว่า P4P จึงไม่ใช่คำตอบที่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนในวันนี้ สำหรับโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยแล้ว การคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไว้เช่นเดิม แล้วค่อยๆพัฒนาระบบการจ่ายเบี้ยขยันขึ้นเป็นกลไกเสริมแรงสำหรับการทำงานที่มีปริมาณงานมากด้วยระบบอาสาคือสิ่งที่เหมาะสมกว่า ณ วันนี้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ากลไกการจ่ายเบี้ยขยันสามารถตอบโจทย์ในการดำรงแพทย์ ทันตแพทย์ และวิชาชีพอื่นให้คงอยู่ในชนบทหรือโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยได้แน่ จึงค่อยประกาศใช้  ซึ่ง ณ วันนี้ความเชื่อมั่นว่าเบี้ยขยันจะสามารถดำรงแพทย์ ทันตแพทย์ อยู่ในชนบทนั้นยังไม่มี เพราะจะทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนหรือในเมืองใหญ่ก็ได้เบี้ยขยันเหมือนกัน เมื่อได้เหมือนกันแล้วจะมาขยันในชนบทไปทำไม อยู่ในเมืองไม่ดีกว่าหรือ สุดท้ายด้วยนโยบายและมาตรการที่ผิดๆ นี้ คนชนบทก็จะรับกรรมเพราะการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะตามมา
 
อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้ขัดข้องกับการใช้เบี้ยขยันในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานที่คนอยากย้ายเข้าไปอยู่ เพราะอยู่ในเมือง มีความเจริญ ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ สะดวกในการทำคลินิกหริอทำงานพิเศษในโรงพยาบาลเอกชน การจ่ายตามภาระงานจึงเป็นความสอดคล้องกับบริบทของสถานพยาบาลในเขตเมือง ซึ่งเป็นคนละบริบทกับโรงพยาบาลชุมชน 
 
เป้าหมายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขคือการสนับสนุนให้ทุกวิชาชีพสุขภาพทำงานในชนบทให้นานขึ้น โดยปัจจุบันมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่บัดนี้เสมือนว่ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกำลังมึนหนัก เอาการประกาศใช้เบี้ยขยันเป็นเป้าหมาย หลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงคือการสร้างระบบที่จูงใจให้ทุกวิชาชีพสุขภาพทำงานได้อย่างมีความสุขในชนบท ทำหน้าที่ดูแลคนไข้ดูแลชุมชนที่ขาดโอกาส เมื่อเครื่องมือเบี้ยขยันไม่ตอบเป้าหมาย ก็ไม่ควรถือทิฐิถิอศักดิ์ศรีมุ่งเอาชนะดันทุรังผลักดันต่อไป 
 
เมื่อรัฐมนตรีประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ดันทุรังเดินหน้าด้วยมิจฉาทิฐิไม่สนใจผลกระทบที่จะทำให้ระบบการดูแลสุขภาพคนชนบทถอยหลังลงคลอง ชมรมแพทย์ชนบทจึงต้องรักษาโรคที่ต้นเหตุด้วยการขอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุขุม นวลสกุล

Posted: 25 Mar 2013 09:41 AM PDT

สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็เคยพยายามแก้ไขมาตรา 190 แต่พอตอนนี้กลับออกมาค้าน สะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีหลักการใดๆ

23 มี.ค.56, นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ใน แก้รายมาตรา -ทางออก"รธน." คอลัมน์ รายงานพิเศษ ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 8150

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: สามัคคีวิจารณ์ ส.ศิวลักษณ์

Posted: 25 Mar 2013 08:20 AM PDT

 

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2475 ตามระบบปฏิทินเก่าซึ่งขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ดังนั้น เมื่อถืงเดือนมีนาคม ปีนี้ จึงเป็นปีอายุ 80 ปีพอดี และได้มีการจัดปาฐกถาเพื่อเป็นเกียรติเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดย คุณสุลักษณ์ปาฐกถาในเรื่อง "สังคมสยามตามทัศนะของปัญญาชนไทยหมายเลข 10" แต่ในบทความนี้ จะลอง"สามัคคีวิจารณ์"บทบาทของ ส.ศิวลักษณ์ ในสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า ส.ศิวลักษ์นั้นเป็น"ปัญญาชนสยาม" ที่มีความโดดเด่นมาก เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด และนักวิชาการ มีผลงานที่เป็นงานเขียนมากกว่า 200 เล่ม และที่ไม่ค่อยทราบกัน คือ มีงานเขียนที่เป็นวิชาการจริง เช่น ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาการเมืองฝรั่ง นโยบายสหรัฐอเมริกาในเอเชียอาคเนย์ เรื่องพระเจ้าอโศก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นงานวิชาการที่มีคุณภาพ แต่ผลงานจำนวนที่มากกว่า มาจากการแสดงข้อคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ ศาสนา การเมือง และสังคมไทย

ส.ศิวรักษ์ได้เล่าประวัติของตัวเองช่วงแรกในหนังสือเล่มหนา ชื่อ ช่วงแห่งชีวิต เล่าว่า จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญและได้ผ่านการบวชเป็นสามเณรที่วัดทองนพคุณในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทำให้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งมากในเรื่องศาสนา ต่อมา หลัง พ.ศ.2495 ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดีมหาวิทยาลัยเซนต์เดวิด ที่เมืองแลมปีเตอร์ในแคว้นเวลส์ จากนั้น ก็กลับมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2504 .ในระหว่างนี้ได้เริมมีผลงานทางวิชาการแล้ว จากเรื่องแรกที่มีหลักฐานคือ "เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุโรป" (2501)

พ.ศ.2505 ส.ศิวลักษณ์ ได้เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการคนแรกของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารนี้จะมีส่วนสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ความคิดที่จะปูทางมาสู่กรณี 14 ตุลาคม ส.ศิวรักษ์เองก็เริ่มแสดงบทบาทในฐานะปัญญาชนคนสำคัญที่ต่อต้านระบบทหาร แต่ข้อที่น่าสังเกตคือ การต่อต้านเผด็จการของ ส.ศิวลักษณ์ มาจากจุดยืนอนุรักษ์นิยม ส.ศิวลักษณ์แสดงบทบาทชัดเจนในฐานะผู้ชื่นชมชนชั้นเจ้า-ขุนนาง ชื่นชมแบบแผนเก่า ประเพณีเก่า และนุ่งผ้าม่วง รวมถึงการต่อต้านปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เพราะเชื่อมโยงคณะราษฎรเข้ากับเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นกระแสความคิดในขณะนั้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า กระแสประชาธิปไตย 14 ตุลาด้านหนึ่งมาจากกระแสอนุรักษ์นิยม

ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานของส.ศิวรักษ์ยังชี้ให้เห็นถึงความสนใจในด้านศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เขาน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนเรื่อง ทะไลลามะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการแสดงความสนใจในพุทธศาสนาแบบอื่น แต่ก็ทำให้ ส.ศิวลักษณ์ มีแนวคิดที่ต่อต้านจีนและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นเช่นกัน

หลังกรณี 14 ตุลาคม ปรากฏว่า ส.ศิวรักษ์ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของขบวนการนักศึกษา ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เช่น ส.ศิวรักษ์ ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อกระแสสังคมนิยมที่เป็นกระแสสำคัญของขบวนการนักศึกษา ยังแสดงท่าทีแบบอนุรักษ์นิยมนุ่งผ้าม่วง และผลักดันกระแสอหิงสา ซึ่งไม่ตรงกับกระแสชนบทล้อมเมือง และยังมีข้อมูลว่า ขบวนการนักศึกษาไม่ค่อยไว้ใจ ส.ศิวลักษณ์ ว่าอาจจะติดต่อกับซีไอเอ. และมีเป้าหมายทำลายขบวนการประชาชน

กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญทีสุดของ ส.ศิวรักษ์ จะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนความคิดในเรื่อง ปรีดี พนมยงค์ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่อคณะราษฎร และขบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด โดย ส.ศิวรักษ์ยอมรับว่า การประเมินปรีดี พนมยงค์ในอดีตนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด ปรีดี พยมยงค์ เป็นคนดี และทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในบทความชื่อ "ปรีดี พนมยงค์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" (2526) ส.ศิวรักษ์วิพากษ์ความคิดตัวเองอย่างเป็นระบบ วิจารณ์รากฐานความคิดอนุรักษ์นิยม และเปลี่ยนมาสนับสนุนประชาธิปไตยและการต่อสู้ของชนชั้นล่าง ซึ่งต้องถือว่าเป็นกระบวนการอันยิ่งใหญ่มาก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลอันสำคัญที่พอสรุปได้คือ

ประการแรก การเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน เพราะ ศ.ศิวลักษณ์จะกลายเป็นเอ็นจีโอ หรือ ผู้สนับสนุนเอ็นจีโอที่ชัดเจน ดังนั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2525 ส.ศิวลักษณ์ต่อสู้ร่วมกับเอ็นจีโอทั้งหลายในแทบกรณี เช่น สนับสนุนตั้งแต่เรื่อง ต่อต้านเขื่อนนำโจน สนับสนุนชาวบ้านบ่อนอกหินกูด สนับสนุนสมัชชาคนจนในเรื่องปากมูล และปัญหาอื่น ต่อมา ได้กลายเป็นผู้นำต่อต้านกรณีท่อแก้สเมืองกาญจนบุรี การสนับสนุนเอ็นจีโอ.นำมาผลสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการรังเกียจนักการเมือง เห็นว่านักการเมืองทั้งหลายจะต้องทุจริต ทำลายบ้านเมืองอยู่เสมอ

ประการต่อมา คือ การเปลี่ยนท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส.ศิวรักษ์จะเริ่มมีท่าทีในเชิงวิพากษ์มากขึ้น และทำให้ ส.ศิวรักษ์ เริ่มถูกจับดำเนินคดีตามมาตรา 112 เริ่มจากการเขียนหนังสือเรื่อง "ลอกคราบสังคมไทย"  ทำให้ถูกดำเนินคดีครั้งแรก ต่อมา หลังกรณีรัฐประหาร พ.ศ.2534 ได้ปาฐกถาเรื่อง "วิพากษ์ รสช.และลอกคราบนายอานันท์ ปัณยารชุน" ก็ได้ถูก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานาภาพ จนต้องลี้ภัยต่างประเทศระยะหนึ่ง จนหลังกรณีพฤษภา 2535 จึงได้กลับประเทศ

ในระยะนี้ ส.ศิวรักษ์ก็ยังแสดงตนเป็นนักคิด และนักวิพากษ์สังคมอย่างสม่ำเสมอ แนวคิดที่น่าสนใจ เช่น การโจมตีการคลานเขาและหมอบกราบ การปฏิเสธ บทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ วิพากษ์ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 การโจมตีความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและยกย่องประชาชนระดับล่าง โดยเฉพาะการวิพากษ์ศักดินา ศ.ศิวลักษณ์ มีข้อมูล และคำสัมภาษ์จำนวนมาก ที่สะท้อนถึงแนวคิดและพฤติกรรมอันเลวร้ายของชนชั้นสูงอย่างชัดเจนมาก ที่ยากจะหาผู้อื่นมาทำลักษณะเดียวกันได้  เช่นเรื่อง "ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.5" ก็เป็นหนังสือดี ที่เสนอภาพของรัชกาลที่ 5 ในแง่มุมที่ไม่เคยปรากฏในหนังสืออื่นมาก่อน

ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เอ็นจีโอทั้งหลายก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส.ศิวรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มขบวนการ โดยปาฐกถาเรื่อง "ขจัดทักษิณ : ธนาธิปไตย" แสดงทัศนะนี้ได้ดี ในระยะแรก เขาเสนอภาพในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตร นั้นเป็นศัตรูของประชาธิปไตย จึงเสนอคำขวัญว่า "เอาทักษิณคืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา"

ต่อมา เมื่อกระแสการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การต่อต้านรัฐประหาร ส.ศิวรักษ์ ก็ยังคงสนับสนุนการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เช่น ทักษิณเป็นเครื่องมือของโลกาภิวัตน์ รับใช้ต่างชาติ ทักษิณทำลายพุทธศาสนา และในขั้นสุดท้าย ก็คือ โจมตีว่า ทักษิณเป็นศัตรู และต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเกลียดชังที่มีต่อผีทักษิณ กลายเป็นการเกลียดฝังใจ และกลายเป็นที่มาของสองมาตรฐานแบบของ ส.ศิวรักษ์ในขณะนี้ จนถึงล่าสุด ที่ ส.ศิวรักษ์ ออกมาสนับสนุนให้เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากเหตุผลว่า "ทักษิณเลวกว่าประชาธิปัตย์" ก็เพียงพอโดยไม่ต้องพิจารณาในเรื่องอื่น เช่น นโยบายที่ดีกว่า และความเหมาะสมของบุคคลของฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือ ความล้มเหลวในการบริหารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ในอดีต

กล่าวโดยสรุปแล้ว เห็นได้ว่า ในระยะที่ผ่านมา บทบาทของ ส.ศิวรักษ์ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการวิพากษ์ศักดินา แต่กระนั้น อคติที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้การพัฒนาความคิดหยุดชะงัก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณจะกระทำมิได้ แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักฐานและข้อมูล แต่การใช้อคติ ใส่ร้ายป้ายสี วาดภาพเกินจริง ย่อมไม่ถูกต้อง และยิ่งใช้ข้อหา"ล้มเจ้า"ไปโจมตี ยิ่งไม่ถูกต้อง

นี่เป็นการสามัคคีวิจารณ์อย่างเป็นจริง

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 404  วันที่ 23 มีนาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: สามัคคีวิจารณ์ ส.ศิวลักษณ์

Posted: 25 Mar 2013 08:17 AM PDT

 

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2475 ตามระบบปฏิทินเก่าซึ่งขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ดังนั้น เมื่อถืงเดือนมีนาคม ปีนี้ จึงเป็นปีอายุ 80 ปีพอดี และได้มีการจัดปาฐกถาเพื่อเป็นเกียรติเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดย คุณสุลักษณ์ปาฐกถาในเรื่อง "สังคมสยามตามทัศนะของปัญญาชนไทยหมายเลข 10" แต่ในบทความนี้ จะลอง"สามัคคีวิจารณ์"บทบาทของ ส.ศิวลักษณ์ ในสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า ส.ศิวลักษ์นั้นเป็น"ปัญญาชนสยาม" ที่มีความโดดเด่นมาก เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด และนักวิชาการ มีผลงานที่เป็นงานเขียนมากกว่า 200 เล่ม และที่ไม่ค่อยทราบกัน คือ มีงานเขียนที่เป็นวิชาการจริง เช่น ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาการเมืองฝรั่ง นโยบายสหรัฐอเมริกาในเอเชียอาคเนย์ เรื่องพระเจ้าอโศก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นงานวิชาการที่มีคุณภาพ แต่ผลงานจำนวนที่มากกว่า มาจากการแสดงข้อคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ ศาสนา การเมือง และสังคมไทย

ส.ศิวรักษ์ได้เล่าประวัติของตัวเองช่วงแรกในหนังสือเล่มหนา ชื่อ ช่วงแห่งชีวิต เล่าว่า จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญและได้ผ่านการบวชเป็นสามเณรที่วัดทองนพคุณในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทำให้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งมากในเรื่องศาสนา ต่อมา หลัง พ.ศ.2495 ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดีมหาวิทยาลัยเซนต์เดวิด ที่เมืองแลมปีเตอร์ในแคว้นเวลส์ จากนั้น ก็กลับมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2504 .ในระหว่างนี้ได้เริมมีผลงานทางวิชาการแล้ว จากเรื่องแรกที่มีหลักฐานคือ "เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุโรป" (2501)

พ.ศ.2505 ส.ศิวลักษณ์ ได้เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการคนแรกของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารนี้จะมีส่วนสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ความคิดที่จะปูทางมาสู่กรณี 14 ตุลาคม ส.ศิวรักษ์เองก็เริ่มแสดงบทบาทในฐานะปัญญาชนคนสำคัญที่ต่อต้านระบบทหาร แต่ข้อที่น่าสังเกตคือ การต่อต้านเผด็จการของ ส.ศิวลักษณ์ มาจากจุดยืนอนุรักษ์นิยม ส.ศิวลักษณ์แสดงบทบาทชัดเจนในฐานะผู้ชื่นชมชนชั้นเจ้า-ขุนนาง ชื่นชมแบบแผนเก่า ประเพณีเก่า และนุ่งผ้าม่วง รวมถึงการต่อต้านปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เพราะเชื่อมโยงคณะราษฎรเข้ากับเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นกระแสความคิดในขณะนั้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า กระแสประชาธิปไตย 14 ตุลาด้านหนึ่งมาจากกระแสอนุรักษ์นิยม

ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานของส.ศิวรักษ์ยังชี้ให้เห็นถึงความสนใจในด้านศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ พ.ศ.2507 เขาน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนเรื่อง ทะไลลามะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการแสดงความสนใจในพุทธศาสนาแบบอื่น แต่ก็ทำให้ ส.ศิวลักษณ์ มีแนวคิดที่ต่อต้านจีนและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นเช่นกัน

หลังกรณี 14 ตุลาคม ปรากฏว่า ส.ศิวรักษ์ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของขบวนการนักศึกษา ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เช่น ส.ศิวรักษ์ ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อกระแสสังคมนิยมที่เป็นกระแสสำคัญของขบวนการนักศึกษา ยังแสดงท่าทีแบบอนุรักษ์นิยมนุ่งผ้าม่วง และผลักดันกระแสอหิงสา ซึ่งไม่ตรงกับกระแสชนบทล้อมเมือง และยังมีข้อมูลว่า ขบวนการนักศึกษาไม่ค่อยไว้ใจ ส.ศิวลักษณ์ ว่าอาจจะติดต่อกับซีไอเอ. และมีเป้าหมายทำลายขบวนการประชาชน

กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญทีสุดของ ส.ศิวรักษ์ จะเห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนความคิดในเรื่อง ปรีดี พนมยงค์ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่อคณะราษฎร และขบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด โดย ส.ศิวรักษ์ยอมรับว่า การประเมินปรีดี พนมยงค์ในอดีตนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด ปรีดี พยมยงค์ เป็นคนดี และทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในบทความชื่อ "ปรีดี พนมยงค์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก" (2526) ส.ศิวรักษ์วิพากษ์ความคิดตัวเองอย่างเป็นระบบ วิจารณ์รากฐานความคิดอนุรักษ์นิยม และเปลี่ยนมาสนับสนุนประชาธิปไตยและการต่อสู้ของชนชั้นล่าง ซึ่งต้องถือว่าเป็นกระบวนการอันยิ่งใหญ่มาก การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลอันสำคัญที่พอสรุปได้คือ

ประการแรก การเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน เพราะ ศ.ศิวลักษณ์จะกลายเป็นเอ็นจีโอ หรือ ผู้สนับสนุนเอ็นจีโอที่ชัดเจน ดังนั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2525 ส.ศิวลักษณ์ต่อสู้ร่วมกับเอ็นจีโอทั้งหลายในแทบกรณี เช่น สนับสนุนตั้งแต่เรื่อง ต่อต้านเขื่อนนำโจน สนับสนุนชาวบ้านบ่อนอกหินกูด สนับสนุนสมัชชาคนจนในเรื่องปากมูล และปัญหาอื่น ต่อมา ได้กลายเป็นผู้นำต่อต้านกรณีท่อแก้สเมืองกาญจนบุรี การสนับสนุนเอ็นจีโอ.นำมาผลสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการรังเกียจนักการเมือง เห็นว่านักการเมืองทั้งหลายจะต้องทุจริต ทำลายบ้านเมืองอยู่เสมอ

ประการต่อมา คือ การเปลี่ยนท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส.ศิวรักษ์จะเริ่มมีท่าทีในเชิงวิพากษ์มากขึ้น และทำให้ ส.ศิวรักษ์ เริ่มถูกจับดำเนินคดีตามมาตรา 112 เริ่มจากการเขียนหนังสือเรื่อง "ลอกคราบสังคมไทย"  ทำให้ถูกดำเนินคดีครั้งแรก ต่อมา หลังกรณีรัฐประหาร พ.ศ.2534 ได้ปาฐกถาเรื่อง "วิพากษ์ รสช.และลอกคราบนายอานันท์ ปัณยารชุน" ก็ได้ถูก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานาภาพ จนต้องลี้ภัยต่างประเทศระยะหนึ่ง จนหลังกรณีพฤษภา 2535 จึงได้กลับประเทศ

ในระยะนี้ ส.ศิวรักษ์ก็ยังแสดงตนเป็นนักคิด และนักวิพากษ์สังคมอย่างสม่ำเสมอ แนวคิดที่น่าสนใจ เช่น การโจมตีการคลานเขาและหมอบกราบ การปฏิเสธ บทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ วิพากษ์ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 การโจมตีความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและยกย่องประชาชนระดับล่าง โดยเฉพาะการวิพากษ์ศักดินา ศ.ศิวลักษณ์ มีข้อมูล และคำสัมภาษ์จำนวนมาก ที่สะท้อนถึงแนวคิดและพฤติกรรมอันเลวร้ายของชนชั้นสูงอย่างชัดเจนมาก ที่ยากจะหาผู้อื่นมาทำลักษณะเดียวกันได้  เช่นเรื่อง "ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.5" ก็เป็นหนังสือดี ที่เสนอภาพของรัชกาลที่ 5 ในแง่มุมที่ไม่เคยปรากฏในหนังสืออื่นมาก่อน

ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เอ็นจีโอทั้งหลายก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส.ศิวรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มขบวนการ โดยปาฐกถาเรื่อง "ขจัดทักษิณ : ธนาธิปไตย" แสดงทัศนะนี้ได้ดี ในระยะแรก เขาเสนอภาพในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตร นั้นเป็นศัตรูของประชาธิปไตย จึงเสนอคำขวัญว่า "เอาทักษิณคืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา"

ต่อมา เมื่อกระแสการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การต่อต้านรัฐประหาร ส.ศิวรักษ์ ก็ยังคงสนับสนุนการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เช่น ทักษิณเป็นเครื่องมือของโลกาภิวัตน์ รับใช้ต่างชาติ ทักษิณทำลายพุทธศาสนา และในขั้นสุดท้าย ก็คือ โจมตีว่า ทักษิณเป็นศัตรู และต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเกลียดชังที่มีต่อผีทักษิณ กลายเป็นการเกลียดฝังใจ และกลายเป็นที่มาของสองมาตรฐานแบบของ ส.ศิวรักษ์ในขณะนี้ จนถึงล่าสุด ที่ ส.ศิวรักษ์ ออกมาสนับสนุนให้เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จากเหตุผลว่า "ทักษิณเลวกว่าประชาธิปัตย์" ก็เพียงพอโดยไม่ต้องพิจารณาในเรื่องอื่น เช่น นโยบายที่ดีกว่า และความเหมาะสมของบุคคลของฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือ ความล้มเหลวในการบริหารของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ในอดีต

กล่าวโดยสรุปแล้ว เห็นได้ว่า ในระยะที่ผ่านมา บทบาทของ ส.ศิวรักษ์ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการวิพากษ์ศักดินา แต่กระนั้น อคติที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้การพัฒนาความคิดหยุดชะงัก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณจะกระทำมิได้ แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักฐานและข้อมูล แต่การใช้อคติ ใส่ร้ายป้ายสี วาดภาพเกินจริง ย่อมไม่ถูกต้อง และยิ่งใช้ข้อหา"ล้มเจ้า"ไปโจมตี ยิ่งไม่ถูกต้อง

นี่เป็นการสามัคคีวิจารณ์อย่างเป็นจริง

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 404  วันที่ 23 มีนาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอฟทีเอ ว็อทช์' เตือนเจรจา 'EFTA' ไม่ระวัง ไทยเสียเปรียบสิทธิบัตรยา

Posted: 25 Mar 2013 07:37 AM PDT

เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้ กรมเจรจาฯ อย่าลักไก่ดันการเจรจา EFTA เหมือนคราวสหภาพยุโรป ระบุ เจรจาหลายกรอบพร้อมกัน เสี่ยงด้อยคุณภาพ

 

ตามที่นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟต้า ( EFTA) ในเร็วๆนี้
 
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนและรัฐสภา จะดำเนินการเช่นไร กรอบเวลาเมื่อไร ไม่ควรลักไก่เช่นเดียวกับการพิจารณากรอบเจรจาไทย-อียู ที่การรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบ ทำก่อนเข้ารัฐสภาจริงแค่ 2 วัน โดยที่เนื้อหาการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ส่งแนบไปพร้อมกับการพิจารณาของรัฐสภา
 
"ข้อเรียกร้องของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟต้า ( EFTA) ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ คือ ต้องการให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะว่า     สวิตเซอร์แลนด์ และ ลิคเคนสไตน์ เป็นประเทศแม่ของบริษัทยาข้ามชาติจำนวนมาก ซึ่งหากไทยยอมตามทั้งเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรโดยอ้างความล่าช้าต่างๆ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยราชการ, การผูกขาดข้อมูลทางยาเพื่อกีดกันยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด, การยอมให้มีการยึดยา ณ ท่าขนส่ง แค่เพียงต้องสงสัยว่าจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการละเมิดสิทธิบัตร ที่ไม่อาจดูได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ยาจะมีราคาแพง และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญ นอกจากนี้ EFTA ยังเรียกร้องให้คุ้มครองการลงทุนด้วยการให้ไทยยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อล้มนโยบายต่างๆ รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจากภาษีของประชาชน ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเกาหลีใต้กำลังคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะที่เกาหลี้ใต้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีการค้านไปทบทวนเอฟทีเอและความตกลงการค้าการลงทุนทุกฉบับที่มีเนื้อหาเช่นนี้อยู่"
 
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า การเร่งโหมการเจรจาหลายๆ ความตกลงในเวลาเดียวกันและมีข้อจำกัดด้านเวลา เพราะหวังต้องต่อสิทธิทางการค้าให้ภาคเอกชนที่ประเทศร่ำรวยให้กับประเทศด้อยพัฒนาแต่ภาคเอกชนไทยยังต้องการอยู่นั้น จะทำให้อำนาจต่อรองและความพร้อมในการเจรจาของไทยลดลง
 
"ค่อนข้างเป็นห่วงผู้เจรจาฝ่ายไทยที่ขณะนี้ต้องเร่งเจรจาหลายกรอบในคราวเดียวกัน ทั้งกับสหภาพยุโรป, EFTA, TPP และ RCEP โดยที่อธิบดีกรมเจรจาฯ ในฐานะเลขาฯของทีมเจรจาไม่มีประสบการณ์ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเลย เรื่องนี้เป็นที่ห่วงใยแม้แต่ในหมู่บรรดากุนซือของรัฐบาล จะทำให้ไทยกลับไปเป็นดังที่ นายราล์ฟ บอยซ์ ฑูตสหรัฐฯที่เคยเขียนโทรเลขไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และถูกนำมาเผยแพร่ผ่าน WikiLeaks อย่างน้อยจำนวน 3 ฉบับ ใน 2 ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยระบุชัดเจนว่า ทีมเจรจาฝ่ายไทยขาดการเตรียมความพร้อม ความอ่อนด้อยประสบการณ์ในการเจรจาและการขาดภาวะผู้นำของหัวหน้าทีมเจรจาและทีมเจรจาของประเทศไทย ซึ่งข้อวิจารณ์เหล่านี้ รัฐบาลและผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องเก็บไปพิจารณาปรับปรุง"
 
โดยในวันพรุ่งนี้ เอกอัครราชฑูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ได้เชิญนักวิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อหารือถึงข้อห่วงใยในการเจรจาเอฟทีเอกับ EFTA ในเวลา 11 นาฬิกา 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น