โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่ายประชาชนฯ ร้องหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ กรณีปิดซ่อมท่อก๊าซ ทำ ‘ค่าไฟฟ้าขึ้น’

Posted: 29 Mar 2013 12:47 PM PDT

เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน ยื่นหนังสือถึง 'คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน' ร้องตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้น 'ค่าไฟ' ผ่าน 'ค่าเอฟที' จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า จี้เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อ-ขายก๊าซต่อสาธารณะ

 
เช้าวันที่ 29 มี.ค.56 เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน นำโดย นายวินัย กาวิชัย จากเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ตึกจามจุรีสแควร์ เพื่อเรียกร้อง ให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซ และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที
 
สืบเนื่องจากกระแส "วิกฤตไฟฟ้าดับ" โดยการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการขาดแคลนก๊าซเนื่องจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพม่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยเฉพาะในวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งอาจส่งผลให้ 'ไฟดับ' หรือ 'ไฟตก' แม้ภายหลังรัฐมนตรีพลังงานจะออกมาระบุว่าสถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน
 
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนฯ ตั้งคำถามว่า การหยุดซ่อมท่อก๊าซ ซึ่งปกติจะมีกำหนดซ่อมทุกปีอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงต้องกำหนดทำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่าแทนก๊าซ ทำให้ต้อง 'ขึ้นค่าไฟ' ผ่าน 'ค่าเอฟที' อันเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบว่า ผู้จัดหาก๊าซ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการจัดหาก๊าซหรือไม่ รวมทั้งให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการคิด 'ค่าเอฟที' ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยเครือข่ายประชาชนฯ เรียกร้องให้ทาง กกพ.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับหนังสือ
 
ด้านนายประเทศ สีชมพู ผู้อำนวยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้แทนประธาน กกพ.รับหนังสือพร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องใช้ข้อมูลหลายระดับในการตรวจสอบและชี้แจง โดยยืนยันว่า กกพ.จะตอบคำถามต่อประเด็นดังกล่าว ส่วนกระแสไฟฟ้าดับที่ออกมาพูดกันก่อนหน้านี้ ก็เป็นการสื่อสารของภาครัฐ ส่วนนี้จะไม่ขอพูดถึง 
 
 
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โครงการจับตาพลังงาน กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นวิกฤตธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ เนื่องจากเป็นการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซ้ำรอยกับปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเกิดวิกฤตไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในเดือนเมษายนเช่นกัน
 
นอกจากนี้ ข้อมูลของ กฟผ.ก็ขัดแย้งกันเองในกรณีที่ระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 4,100 เมกะวัตต์ แต่ข้อมูลของ กฟผ.เองก่อนหน้านี้ มีการระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตหายไปเพียง 1,380 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่รับก๊าซพม่าส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนได้ นั่นหมายความว่าสถานการณ์ไม่ได้วิกฤตจริงดังที่เป็นข่าว เพราะกำลังผลิตอีกหลายพันเมกะวัตต์ไม่ได้หายไปจริง
 
นายวินัย กาวิชัย จาก จ.ตราด ยังตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติว่า กรณีสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งยาดานา มีการระบุถึงเงื่อนไขในการหยุดซ่อมเพื่อป้องกันความเสียหายว่า ผู้จัดส่งก๊าซยังต้องส่งก๊าซให้ ปตท.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของก๊าซที่ต้องส่งตามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นการหยุดจ่ายก๊าซโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ
 
"การหยุดจ่ายก๊าซพม่าหรือก๊าซอ่าวไทยเป็นปัญหาในส่วนของผู้จัดหาก๊าซคือ ปตท.ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค แต่ทุกครั้งที่มีการหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากการขึ้นค่าเอฟทีมาตลอด ดังนั้น กกพ.ควรที่จะตรวจสอบสัญญญาซื้อขายก๊าซทั้งหมดว่ามีการกำหนดความรับผิดชอบของ ปตท.ไว้หรือไม่อย่างไร เป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่" นายวินัยกล่าว
 
นายวินัย เน้นย้ำด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอีก 6 โรง ซึ่งจะต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซผูกพันไปตลอด 25 ปี หากสัญญาเหล่านี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนผู้บริโภคก็ต้องถูกเอาเปรียบเพิ่มขึ้นไปอีก
 
อนึ่ง เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้ติดตามนโยบายพลังงานและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการด้านพลังงานในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายจากจังหวัดราชบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง และกรุงเทพฯ เป็นต้น
 
 
ทั้งนี้ หนังสือกับ กกพ.มีรายละเอียดดังนี้
 

 

 
29 มีนาคม พ.ศ. 2556
 
เรียน ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
 
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย สัญญาซื้อขายก๊าซ (Yadana Export Gas Sales Agreement: GSA) ระหว่างผู้ผลิตก๊าซแหล่งยาดานา กับ ปตท.
 
สืบเนื่องจากกระแสข่าวเกี่ยวกับภาวะวิกฤตพลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันที่ 5 เมษายน 2556 ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเหตุการณ์วิกฤตไฟฟ้า ในครั้งนี้ นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อ้างว่ามีสาเหตุมาจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ถือเป็นการวางแผนบริหารแหล่งเชื้อเพลิงอย่างไม่เหมาะสม
 
แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าความเสี่ยงต่อปัญหาไฟดับ ในวันที่ 5 เมษายน ได้คลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ผลพวงจากการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนี้ ทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันเตา และ/หรือ น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าทดแทน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของระบบเพิ่มขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภคผ่านค่าเอฟที ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (ปตท.) ไม่ใช่ปัญหาที่ก่อขึ้นโดยผู้บริโภค
 
ในฐานะที่ท่าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทางเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงขอร้องเรียนให้ท่านตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที พร้อมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะ ในประเด็นดังต่อไปนี้
 
1. จากเหตุการณ์ที่อ้างถึงการปิดซ่อมท่อก๊าซดังกล่าวข้างต้น มีผลให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีจำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร
 
2. ตามสัญญาซื้อขายก๊าซ ระหว่างผู้ผลิตก๊าซพม่าและ ปตท. มีเงื่อนไขว่า ในระหว่างการซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซ (ในกรณี Preventative Maintenance) ผู้ผลิตก๊าซยังมีภาระต้องส่งก๊าซให้แก่ ปตท. อย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณตามสัญญา แต่ในการหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่าที่ผ่านมาทุกครั้ง เหตุใดจึงต้องหยุดจ่ายก๊าซอย่างสิ้นเชิง ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาข้างต้น
 
3. นอกจากกรณีก๊าซพม่าแล้ว ในกรณีที่ก๊าซอ่าวไทยหยุดส่ง ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในทุกปี ผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้แบกรับค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันเตาและเชื้อเพลิงทดแทนเสมอ ดังนั้นจึงขอให้มีการเปิดเผยสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าต่อสาธารณะ เพื่อร่วมกันตรวจสอบว่าสัญญาเหล่านี้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ และมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่
 
4. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการหยุดจ่ายก๊าซในการผลิตไฟฟ้า ปตท. ในฐานะผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ มีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด และ อย่างไร
 
5. ขอให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการกำหนดปัจจัยต่างๆ ที่นำมาคิดค่าเอฟที และสูตรคำนวนการคิดค่าเอฟที
 
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงเรียกร้องขอให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้างต้น และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังเครือข่ายฯ รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะชน ภายในระยะเวลา 15 วันนับจากที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้
 
ด้วยความนับถือ
 
รายชื่อ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
ตามรายชื่อแนบท้าย
 
รายชื่อเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
 
1. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก
นายสมนึก จงมีวศิน
 
2. เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
น.ส.คำพัน สุพรม
 
3. เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด อ.กันตัง จ.ตรัง
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์
 
4. เครือข่ายรักษ์ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร
นายเด่น บุญยะกรณ์
 
5. กลุ่มอนุรักษ์ราชบุรี
นายธวัชชัย พลจันทร์
 
6. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์
 
7. กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี
 
8. เครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด
นายวินัย กาวิชัย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกต: เพื่อการอภิวัฒน์ระบบการศึกษา

Posted: 29 Mar 2013 09:28 AM PDT

 

ในช่วงขณะนี้กระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงศึกษามีความเข้มข้น และเป็นที่จับตาในสังคมอย่างมากทีเดียว การตื่นตัวของสังคมครั้งใหญ่ที่หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทางกระทรวงศึกษาธิการของไทยมีการแก้ไขกฎระเบียบเรื่องทรงผม1 การลดคาบเรียน2 และมีการออกแบบทำหลักสูตรใหม่ในเวลา 6 เดือน3 เป็นต้น TDRI ออกมาเสนอแผนปฏิรูประบบการศึกษา4 นอกจากนี้ก็มีเวทีคุยเรื่องการศึกษาเกิดขึ้นอย่างมากมาย

ในส่วนตัวของผู้เขียนแล้วก็มีความสนใจใคร่ที่จะเสนอเป็นข้อสังเกตเพื่อเป็นแนวทางในการอภิวัฒน์การศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้เขียนเป็นนักเรียนคนหนึ่งซึ่งกำลังดำเนินต่อไปในระบบการศึกษาไทย ซึ่งมีความดีใจที่เกิดการตื่นตัวเรื่องการศึกษาอย่างมากมาย แต่ดูจะจำกัดไปในทาง"ห้องเรียน"หรือ"ภายในโรงเรียน"เท่านั้น โดยลืมไปในเรื่องสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ชีวิตจริงหรือเรียกสั้นๆว่าสภาพแวดล้อม ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ การเรียนในห้องเรียนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และการดำรงชีวิตเป็นผลจากการศึกษา อีกนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจกับระบบการศึกษาภายในสังคมเดียวกันมิได้เป็นไปในลักษณะเป็นเส้นตรงทางเดียว ( Corresponding Principles) แต่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะวิภาษวิธี (Dialectic Relationship)5 การเปลี่ยนแปลงจึงต้องดำเนินไปพร้อมกันและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะ ทั้งสองส่งผลต่อกัน

เมื่อเราพิจารณาดูแล้วสภาพแวดล้อมที่ปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนนั้นก็สำคัญไม่แพ้กันเลย เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเหล่านี้ 1) ครอบครัว – มีเวลาและเอาใจใส่ลูกของตนแค่ไหน มีรายได้-รายจ่ายที่เพียงพอหรือไม่ พ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือไม่ 2) ผู้สอน – มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ มีชั่วโมงการสอนที่มากเกินไปหรือไม่ ตำแหน่งวิทยฐานะหนักใจหรือไม่ 3) ตัวผู้เรียนเอง – มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเองหรือไม่ ปฏิสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดนี้มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้และสภาพจิตใจของนักเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหานักเรียนนอกระบบ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บสถิติ การขึ้นทะเบียนเด็กใหม่เข้าสู่ระบบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่6 พบว่า เด็กนักเรียนที่เข้าเรียน ป.1 ตั้งแต่ปี 2544 จำนวน 1,073,212 คน อัตราการคงอยู่ของเด็ก ป.1 เมื่อเลื่อนชั้นถึง ป.6 ในปี 2549เหลือเพียง 974,265 คน พบว่า ช่วงเวลานี้เด็กมีอัตราคงอยู่ถึง 90.75% ออกกลางคัน 98,947คน และเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับชั้น ม.ต้น อัตราคงอยู่ 873,970 คน หรือ 93.13% ในปี 2552 มีนักเรียนออกกลางคัน 100,295 คน และอัตราการคงอยู่ชั้น ม.ปลาย เหลือเพียง 643,821 คน หรือ 93.04% มีนักเรียนออกกลางคันในช่วงนี้ถึง 230,149 คน รวมแล้วอัตราคงของของนักเรียนทั้ง 12 ปี พบว่า มีนักเรียนที่หลุดออกนอกระบบ 429,391 คน หรือ 59.99% ซึ่งในจำนวนตัวเลขนี้ยังไม่รวมโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของสังกัดอื่น
       
       "จากสถิติอัตราการคงอยู่ของนักเรียนทั้งช่วงชั้น พบว่า สูงขึ้นจาก 90 % เป็น 95% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้น และพบว่า จำนวนที่เด็กออกกลางคันลดลงในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูจำนวนนักเรียนที่ออกกลางคัน พบว่า จำนวนที่ออกการคันก็ยังเป็นหลักแสน เพราะมีการสะสมมาหลายปี ดังนั้น คิดว่าประเด็นนี้ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกันป้องกันและแก้ไข" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว 6

เหตุการณ์ดังกล่าวโยงกับสภาพแวดล้อมเชิงประจักษ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี(Gini coefficient) ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ถ้าค่าดัชนีใกล้ 0 คือความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ต่ำ ตรงกันข้าม ถ้าค่าสัมประสิทธิ์ไปทาง 1 คือความเหลื่อมล้ำในทางการกระจายรายได้สูง จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำทุก 2ปี พบว่าระหว่าง พ.ศ.2529-2549 ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ในสังคมไทยอยู่ในระดับสูงมาตลอด คืออยู่ในระดับ 0.48 ถึง 0.53 ปี 2550 ค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 0.57

ถ้าเราพิจารณาแล้ว การปฏิรูปการศึกษาจะไม่มีทางสำเร็จเลยถ้าปัญหาในทางสภาพแวดล้อมเชิงประจักษ์และเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข หลักสูตรที่ทันสมัยแต่คุณภาพชีวิตของประชากรไม่ได้ดีขึ้นไปด้วยเลย ในส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเช่นกัน ริชาร์ด วิลกิลสัน(Richard Wilkinson) และเคท พิคเกตต์ (Kate Pickett) เขียนไว้ในหนังสือชื่อความ (ไม่)เท่าเทียม(The Spirit Level)8 ของเขา เรามักจะคิดกันไปเองว่า ความปรารถนาที่จะยกระดับมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ในสาขาอย่างเช่นการศึกษานั้นเป็นคนละเรื่องกับความปรารถนาที่จะลดระดับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาภายในสังคม แต่ความจริงอาจเกือบตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าการยกมาตรฐานผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้สูงขึ้นจะต้องอาศัยการลดทอนความลาดชันทางสังคมของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละประเทศ โดยเราพิจารณาคะแนน PISA ของประเทศต่างๆ9 เราจะเห็นได้ชัดเจน ในหนังสืออ้างถึงงานวิจัยของนักระบาดวิทยา อาร์จูแมน สิดดีฆี(Arjumand Siddiqi)กับเพื่อนร่วมงานพิจารณาความลาดชันทางสังคมในทักษะการรู้หนังสือของเด็กวัย 15ปี โดยใช้ข้อมูลจาก PISA ปี2000 พวกเขาพบว่าเด็กในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการมายาวนานมีทักษะดีกว่า และรายงานว่าประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมของทักษะการอ่านน้อยกว่า10 ดังนั้น ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์สูงจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือค่าสัมประสิทธิ์จีนิต่ำ เรียกได้ว่า ระบบเศรษฐกิจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทักษะการเรียนรู้แทบทุกด้านเลย

ระบบวัฒนธรรมก็เป็นส่วนสำคัญ ในวัฒนธรรมของเรานั้นมีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่มาก ย่อมพัฒนาไปสู่ความงอกงามยาก เพราะมีการห้ามตั้งคำถามและตรวจสอบ โดยอิงไปกับไสยเวทและราชาชาตินิยมด้วยแล้วย่อมน่ากลัวอย่างยิ่งถ้าไม่ทะลุทะลวงและทำลายมายาภาพอันเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการศึกษา

อีกส่วนหนึ่งวัฒนธรรมของเราและเศรษฐกิจเป็นไปในทางระบบทุนนิยม(สะสมทุน กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล) ซึ่งมีข้อเสียเช่น เน้นการแข่งขัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผลกำไรสูงสุดเหนืออื่นใด เป็นต้น การแข่งขันเพื่อความมั่งคั่งของตนไม่ได้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการแล้ว ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะย่อมมีส่วนน้อยดังเห็นจากสภาพเศรษฐกิจที่มีคนรวยเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ขณะที่คนยากจนมีมากกว่าสามพันล้านคน11

จึงเป็นที่ต้องคิดว่าจะหันเหจากการแข่งขันด้วยค่านิยมอย่างนี้ได้อย่างไร การไปสู่การแข่งขันแบบมีมนุษยธรรมหรือการร่วมมือกันแทนได้อย่างไร การแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศและรับใช้สังคมได้อย่างไร ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาจมีข้อถกเถียงว่าการไม่แข่งขันหรือแข่งขันแบบน้อยลงนักเรียนจะมีแรงกระตุ้นเรียนได้อย่างไร ก็ขอให้ฟังคำของ อดัม เคิร์น นักการศึกษาและสันติศึกษา

อาจจะมีการโต้แย้งในที่นี้ได้ว่า การศึกษาที่ขาดการแข่งขัน อาจจะทำให้ผู้ศึกษาปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ซึ่งก็คงมีส่วนจริงอยู่บ้างที่ความต้องการจะประสบความสำเร็จ และความกลัวต่อความล้มเหลว อาจจะเป็นสิ่งเร้า ที่กระตุ้นให้มนุษย์มีความพากเพียรพยายาม แต่เราก็รู้กันดีว่าการงานที่มีคุณค่ามากๆนั้น จะได้มาจากการงานที่เกิดจากความสนใจ คือผู้ทำพอใจที่ได้ทำงานนั้นๆและเราก็รู้เป็นอย่างดีด้วยว่า ไม่มีอะไรจะทำลายความสนใจของเด็กได้ดีกว่าการเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างไม่เหมาะสมกับธรรมชาติของเขา12 การเรียนการสอนจึงต้องเป็นไปในรูปแบบที่ก้าวพ้นห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ซึ่งแนวคิดการศึกษาที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ก็มีมากมาย และเกิดเป็นรูปธรรมแล้วอาทิ 21stSkill13 ที่เมืองไทยกำลังเห่ออยู่ หรือแนวคิดสายอื่นที่น่าสนใจเช่น วอลดอร์ฟ14 และการศึกษาสร้างคุณค่า(Soka Education)15 เป็นต้น ในส่วนสำคัญคือวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวไปแล้วนั้นก็จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา Teach Less Learn more นั้น แต่ประเทศต้นแบบของแนวคิดนี้ ก็มีแค่พรรคเดียวที่ปกครอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเรื่องคนไม่เห็นด้วยก็มีมาก16 แสดงว่าการเรียนรู้ถูกจำกัดในกรอบ เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ของเรานั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีความเท่าทัน การตระหนักรู้ในภาวะวิกฤติทางนิเวศที่กำลังเกิดขึ้น อาเซียนด้วยแล้วผลกระทบของ AECที่มีต่อเราและสิ่งแวดล้อม ต่อคนอื่นจะเป็นอย่างไร ก็ควรจะมีการเรียนการสอนมากกว่าบูชาตลาดงานอย่างเดียว คือต้องมีความเข้าใจและตื่นรู้ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่อยุติธรรมและรุนแรงทั้งภายในประเทศและในโลก  อีกนัยหนึ่งก็ดังที่ อุทัย ดุลยเกษม กล่าว ระบบคุณค่าและการพัฒนาบุคลิกภาพให้บัณฑิตมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวคือ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการและเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม มิใช่เพื่อการผลิตแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจการตลาดเพียงอย่างเดียว17 (ในส่วนนี้ที่เป็นเป้าหมายทางอุดมคติของ ผู้เขียนเสนอไว้ในบทความ " อภิวัฒน์ระบบการศึกษาไทย เพื่อพ้นจากการศึกษาแบบอัปรีย์ไป จัญไรมา" ซึ่งตีพิมพ์ลงในจุลสารปรีดี เมื่อปีที่แล้ว18)

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อเสนอว่าการแก้ไขหรือปฏิรูปการศึกษาอย่างเดียวไม่พอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างลึกซึ้งครบถ้วน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ โดยวัฒนธรรมนั้นก็เป็นไปทางการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ ในทางเศรษฐกิจก็จะต้องลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาไปในแนวทางรัฐสวัสดิการที่เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกคน หรือที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอมาแต่เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"19 นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไม่มาจากผู้เชี่ยวชาญ พวกข้าราชการชั้นสูง หรือรัฐมนตรี แบบ "บนลงล่าง" อย่างเดียวซึ่งการเดินตามวิธีนี้ไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน! แต่ต้องจากกลุ่มคนทุกระดับในสังคม ซึ่งนับว่าน่าสนใจที่มีกลุ่มสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น(ในส่วนเฉพาะของนักเรียน) เช่น สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย20 , กลุ่มแนวคิดเสรีปฏิวัติการศึกษา เป็นต้น และในหมู่โรงเรียนทางเลือกเองก็ดี หรือกลุ่มมหาลัยเถื่อน ล่าสุดก็จะมีการรวมกลุ่มเป็นสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูขึ้นมาอีก ในส่วนของแรงงาน ครู ผู้ปกครอง และองค์กรเอกชนต่างๆก็ดี ต่างสนใจต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ เราจำเป็นต้องมารวมพลังกันและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องรัฐสวัสดิการ ผลักดันให้มีรัฐสวัสดิการ ซึ่งคือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพลเมือง และการเรียนในสถาบันการศึกษา ไปพร้อมๆกัน อาจไม่เรียกว่าปฏิรูปแต่เรียกว่าอภิวัฒน์เลยก็ว่าได้

บรรณานุกรม (ในส่วนอินเทอร์เน็ตเข้าถึง 28 – 3 – 56)

1)                  เฮ!'ศธ.'ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่ (http://www.komchadluek.net/ detail/20130109/149050/เฮ!ศธ.ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่.html#.UVLA_Rdno0W)

2)                 เล็งหารือ ร.ร.ปรับจำนวนคาบเรียนต่อวัน (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000100912)

3)                 "ภาวิช"ขอแค่6เดือนทำหลักสูตรใหม่ (http://www.thaipost.net/news/110313/70685)

4)                 ทีดีอาร์ไอเสนอแผนปฏิรูปการศึกษาครบวงจร (http://tdri.or.th/priority-research/educationreform)

5)                 อุทัย ดุลยเกษม , การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่13 การศึกษากับการสร้างสังคมสันติประชาธรรม น.45, 2556

6)                  อึ้ง! ยอดเด็กนอกระบบศึกษามากถึง 4 แสนคน เหตุยากจน (http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000012511)

7)                 ชาย โพธิสิตา และคณะ , ฝ่าวิกฤติ "ความเป็นธรรม"นำสังคมสู่สุขภาวะ น.30-31, 2553

8)                 มีความน่าสนใจมากในหนังสือเล่มนี้ ดู ริชาร์ด วิลกิลสัน , สฤณี อาชวานันทกุล แปล, ความ (ไม่) เท่าเทียม, open world 2555

9)                  ดู บทที่ 8 น.146-163 ริชาร์ด วิลกิลสัน , สฤณี อาชวานันทกุล แปล, ความ (ไม่) เท่าเทียม, open worlds 2555

10)              อ้างแล้ว , น.154

11)              ดูรายละเอียด http://www.globalissues.org/article/26/poverty-facts-and-stats

12)              อดัม เคิร์น , การศึกษาเพื่อความเป็นไท, มูลนิธิเด็ก

13)             ดู เจม เบเลนกา , ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21, open worlds 2555

14)             ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Waldorf_education

15)             ดู http://www.joseitoda.org/education/soka_edu

16)              ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Human_rights_in_Singapore#Freedom_of_expression_and_association

17)             อุทัย ดุลยเกษม , อ้างแล้ว, น.72

18)             ดูบทความของผู้เขียน จุลสารปรีดี ปีที่2 (2555) ฉบับสันติภาพและรัฐสวัสดิการ    น.33-46

19)              ดู http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/social_welfare/05.html

20)             แถลงการณ์ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนฯ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352873734&grpid=03&catid=03     

ติดตามความเคลื่อนไหวhttps://www.facebook.com/Thailandstudentmovement

กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ http://www.thaisocialhealth.net/ เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: 'ข้อตกลงการค้าเสรีภาคพื้นแปซิฟิก' จะกระทบผู้ใช้เน็ต-โดจิน-คอสเพลย์?

Posted: 29 Mar 2013 03:32 AM PDT


TPP หรือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (The Trans-Pacific Partnership - TPP) เป็นข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่มูลค่าประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำสำคัญและคาดหวังให้ TPP เป็นสะพานทอดไปสู่เอเชีย

ปัจจุบันมีสมาชิก คือ ชิลี นิวซีแลนด์ บรูไน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา เปรู สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก มาเลเซีย เวียดนาม และล่าสุด ญี่ปุ่นประกาศเข้าร่วม รัฐบาลไทยเองก็มีความสนใจจะเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว หลังจากการเจรจาแบบทวีภาคีกับสหรัฐอเมริกาชะงักไป

เนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมการค้าการลงทุนหลายสาขา รวมทั้งบทสำคัญว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ประเทศที่เข้าร่วม TPP จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้รับกับข้อตกลงนี้ด้วย

ปัจจุบันยังไม่ปรากฏกรอบข้อตกลง TPP ที่ชัดเจนและอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกัน แต่ก็ปรากฏกรอบการเจรจาของแต่ละประเทศที่หลุดรอดมาปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนไม่น้อย ทำให้คนที่สนใจสามารถวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กำเนิดและพัฒนาการของแนวคิด “เชื้อชาติมลายู” ในบริติชมลายา (2)

Posted: 29 Mar 2013 02:19 AM PDT

 

บังซามลายู จากแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์

ลักษณะที่เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ได้ส่งผลต่อแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ที่ได้พยายามนำเสนอ  บังซา มลายู หรือชาติของชาวมลายู  โดยมุนชี อับดุลลอฮ์   โดยสาระสำคัญของการนำเสนอประเด็นเรื่องของบังซามลายู ของมุนชี อับดุลลอฮ์นั่นก็คือ การรวมตัวกันของคนในการสร้างชาติ เรื่องของชาติพันธุ์มีความสำคัญที่สุด กว่าเรื่องอื่นๆ มุนชี อับดุลลอฮ์ได้นำเสนอแนวคิดบังซามลายูให้กับชาวมลายูโดยผ่านงานเขียนของเขา  แต่ด้วยแนวคิดของเขาได้ขัดต่อความเชื่อบางประการของคนมลายูส่วนใหญ่  แนวคิดของเขาจึงไม่ได้รับความนิยมจากชาวมลายูทั่วไป และรวมไปถึงรูปแบบของสังคมมลายูยังคงอยู่ในระบอบเกอราจาอัน  แนวคิดที่มาต่อต้านความเป็นอยู่ของชาวมลายูจึงถูกต่อต้านกลับไป

เป็นที่น่าสังเกตระหว่างแนวคิดบังซา มลายู กับการนิยามความเป็นมลายูในยุคจารีตสมัยมะละกาการเปรียบเทียบกันระหว่างสองแนวคิดนั่นก็คือ  "ความเป็นมลายู" ที่ถูกนิยามขึ้นในมะละกามีความหมายของอัตลักษณ์มลายูในลักษณะที่แคบคือ การให้ความหมายมลายูเฉพาะในพื้นที่มะละกาเท่านั้น  แต่ "ความเป็นมลายู"  ตามความหมายของมุนชี อับดุลลอฮ์ได้มีการเหมารวมผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายู  เกาะสุมาตรา  และบริเวณใกล้เคียงรวมไปถึงผู้ที่ใช้ภาษามลายู และวัฒนธรรมมลายู 

การให้ความหมายใน "ความเป็นมลายู" ของมุนชี อับดุลลอฮ์ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากแนวคิดเชื้อชาตินิยมของเขาเอง อันเนื่องมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวผู้อพยพทั้งชาวจีน และชาวอินเดียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ด้วยสำนึกในความเป็นมลายูเกรงว่าผู้อพยพจะเข้ามาครอบงำทางด้านการเมืองและมีอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มคนของตนเอง  จึงได้มีการรวมคนในพื้นที่บริเวณที่อยู่ใกล้เคียง

 

ฮิกายัต อับดุลลอฮ์ และกระบอกเสียงเผยแพร่แนวคิด

มุนชี อับดุลลอฮ์ได้วิจารณ์ระบบเกอราจาอันในงานเขียนของเขาที่มีความโดดเด่นทั้งสองชิ้นนั่นก็คือ กีซะห์ เปอลายาลัน  อับดุลลอฮ์  (Kisah Pelayalan Abdullah) และฮิกายัต อับดุลลอฮ์ (Hikayat Abdullah) ผลงานทั้งสองนี้ได้กล่าวโจมตีระบบเกอราจาอันว่า  เป็นเรื่องที่ล้าสมัยและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมมลายูไม่มีการพัฒนาและยังคงล้าหลัง จนทำให้สังคมอ่อนแอและทำให้ต้องกลายเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตกในที่สุด

งานเขียนของมุนชี อับดุลลอฮ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่ได้เกริ่นนำไว้แล้วช่วงก่อนหน้าคือ ฮิกายัต  อับดุลลอฮ์  เป็นงานเขียนที่มีความท้าทายและผิดแปลกไปจากงานเขียนที่เป็นเรื่องราวในยุคจารีตทั้งเซอจาเราะห์ มลายูและ ตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  ที่มีการยกย่องสถานะของสุลต่าน  แต่ถ้ามองในเนื้อหาที่มีการระบุถึงการสำนึกใน "ความเป็นมลายู"  ตามทัศนะของนักวิชาการมาเลเซียศึกษาทั้งในอันดาย่าและแมตทีสัน  ทั้งสองท่านได้เปรียบถึงงานเขียนสองชิ้นระหว่างฮิกายัต อับดุลลอฮ์และตุห์ฟัต อัลนาฟีร์ แนวคิดใน "ความเป็นมลายู"  งานเขียนที่ระบุถึงอัตลักษณ์ของมลายูในลักษณะที่แท้จริงของชาวมลายูตามทัศนะของท่านทั้งสองคือ ตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  อันเนื่องมาจากความคิดที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนชิ้นนี้ที่มีความชัดเจนว่าเขียนขึ้นโดยราชาอาลี ฮะจี  สาระสำคัญของตุห์ฟัต อัลนาฟีร์  เป็นเรื่องราวประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมที่จะทำให้อาณาจักรมีความยิ่งใหญ่  แต่ในงานเขียนของมุนชีเป็นงานเขียนที่ต่อต้านประเพณีแบบดั้งเดิมหรือ ประเพณีในราชสำนัก

นอกเหนือจากนั้นงานเขียนของมุนชี อับดุลลอฮ์ยังถูกมองว่าเป็นงานเขียนที่เกิดจากความคิดที่มีความนิยมตะวันตกมากเกินไป  รวมไปถึงในความที่เป็นลูกผสมอาหรับ-อินเดีย-มลายูงานเขียนของเขาจึงถูกมองว่าไม่ใช่เป็นงานเขียนที่เป็นตัวแทนของชาวมลายูที่แท้จริง  "ความเป็นมลายู" ตามแนวคิดของมุนชี อับดุลลลอฮฺก็ไม่ต่างจากการนิยามในการเป็นมลายูที่ต้องปฏิเสธในรูปแบบจารีตของตนเอง  แต่อย่างไรก็ตามในวิถีชีวิตที่ต้องคลุกคลีกับชาวต่างชาติอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเป็นคนที่มีหลากหลายเชื้อชาติแต่มีความสำนึกในเรื่องเชื้อชาติมลายูอย่างจริงจังแม้ว่าจะยกย่องเชิดชูชาวตะวันตก

แต่เขาไม่ได้แสดงถึงการเหยียดหยามในเชื้อชาติมลายู  และไม่ได้ชี้นำให้ชาวมลายูต้องลอกเลียนวิถีชีวิตตามแบบอย่างของชาวตะวันตก

แม้ว่าแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ไม่ได้เป็นที่สนใจต่อชาวมลายูในช่วงเวลากลางศตวรรษที่ 20  เท่าใดนักแต่ภายหลังจากนั้นอิทธิพลทางแนวคิดของมุนชี  อับดุลลอฮ์ก็ได้รับการถ่ายทอดสู่ชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มของยาวี เปอรานากันในกรณีของเจ๊ะมูอัมมัด อูนูส บินอับดุลลอฮ์ (ค.ศ. 1876-1933) ท่านผู้นี้ได้รับแนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ผ่านทางสถาบันการศึกษาแรฟเฟิล (RafflesInstitution)  ท่านผู้นี้ได้มีส่วนร่วมในหนังสือพิมพ์อูตูสัน มลายู (Utusan Melayu)   โดยสาระสำคัญของเนื้อหาภายในหนังสือพิมพ์ชิ้นนี้นั่นก็คือ  การวิพากษ์ในการรุกล้ำในวิถีชีวิตของชาวมลายู  รวมไปถึงการตอกย้ำในความเป็นมลายูเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นของชาวมลายูภายใต้สังคมที่เริ่มเปลี่ยนไปจากการอพยพของชาวต่าชาติ

แนวความคิดหลักของ อูนูสต่อเขื้อชาติมลายูคือ  การเรียกร้องเพื่อสิทธิของคนมลายูในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากคนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย  รวมไปถึงประเด็นการสร้างแนวความคิดเรื่องบังสา มลายูต่อจากมุนชี อับดุลลอฮ์  และที่สำคัญการให้ความสำคัญต่อ "ความเป็นมลายู" ของผู้ที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากบริเวณอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันแต่แนวคิดของอูนูสมีความแตกต่างจากแนวคิดของมุนชี  อับดุลลอฮ์ตรงที่ว่า อูนูสไม่ได้มีแนวคิดที่โจมตีระบอบเกอราจาอันเช่นเดียวกันกับมุนชี อับดุลลอฮ์

 

สำหรับอีกท่านคือ อิบรอฮีม ยะห์กู๊บ(Ibrahim Jaacob)   แกนนำของขบวนการสหภาพมลายูหนุ่มหรือ  Kesatuan Melayu Muda ( Young Malays Union in Malay ) ท่านผู้นี้เคยโดนคุมขังในช่วงที่อังกฤษมีอิทธิพลเหนือมลายา KMM  ขบวนการนี้ได้ก่อตั้งข้นก่อนหน้าการเข้ามาของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1938  แต่ก็โดนคุมตัวโดยรัฐบาลเจ้าอาณานิคม   แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาก็ปล่อยตัว  และให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับญี่ปุ่น  เป็นผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมแบบมลายู  โดยเขาต้องการรวมดินแดนที่มีชาวมลายูอยู่นั่นก็คือ มาลายา และอินโดนีเซีย รวมเข้าไว้ด้วยกันหรือแนวคิดที่ว่า อินโดนี เซีย รายา (มลายู รายา)

 

การดำเนินงานของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บ และขบวนการของเขาได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในช่วงระยะเวลาแรก ๆ ของการปกครองภายใต้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือการดำเนินงานต่างๆ อย่างเช่น Warta Malaya เป็นวารสารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระจายแนวคิดชาตินิยมมลายูตามรูปแบบของ อิบรอฮีม  ยะห์กูบ  และ Kesatuan Melayu Muda  เป็นขบวนการที่มีความใกล้ชิดกลับญี่ปุ่น  แต่ญี่ปุ่นได้ใช้ขบวนการนี้เป็นเครื่องมือในการครอบครองมลายาแค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่ในการเผยแพร่แนวคิดของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บไม่เป็นที่ได้รับการยอมรับจากทางฝั่งบริติช มลายาและดัตช์อีสต์อินดีส

บทสรุป

จากการนิยามแนวคิด "ความเป็นมลายู" ดูเหมือนว่าลักษณะของเชื้อชาตินี้จะมีความลื่นไหลบางครั้งเป็นอัตลักษณ์ที่มีความหมายในลักษณะที่แคบ แต่บางครั้งมีลักษณะที่กว้าง  ตามแนวคิดของนักวิชาการแต่ละท่าน  หรือบางครั้งใน "ความเป็นมลายู"  ต้องหลีกเลี่ยงถึงประเพณีจารีตดั้งเดิมของตนเอง  การให้คำนิยามต่ออัตลักษณ์นี้ได้กลายเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายมาก และมีความสับสนพอสมควร  อีกทั้งยังกลายเป็นปัญหาหนึ่งในการแบ่งผู้คนชาวพื้นเมืองอื่นๆ ในมาเลเซียช่วงเวลาที่เพิ่งได้รับเอกราช

 

บรรณานุกรม

กรุณา  กาญจนประภากูล.  วิวัฒนาการของความคิดเกี่ยวกับคำว่า "เมอลายู" ในประวัติศาสตร์มลายู. สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์, 2537.

ชุลีพร วุรุณหะ. ฮิกายัต อับดุลเลาะห์. ใน บุหงารายา ประวัติศาสตร์จากการบอกเล่าของชาวมลายู. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2540.

เทิร์นบุลล์, ซี. แมรี่.  ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน. ทองสุก เกตุโรจน์, ผู้แปล.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2540. 

ไพลดา  ชัยศร, ผลกระทบของระบบการปกครองของอังกฤษต่อความคิดทางการเมืองของชาวมาเลย์ในรัฐมลายูที่เป็นสหพันธ์ ค.ศ.1896-1941 (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544

อันดายา, บาร์บารา วัตสัน. ลีโอนาร์ด วาย. อันดายา.  ประวัติศาสตร์ มาเลเซีย. ผู้แปล พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ; บรรณาธิการ มนัส เกียรติธารัย.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549. 

Cornelius-Takahama, Vernon. "Munshi Abdullah", website: National liberal Singapore. url: http://infopedia.nl.sg/articles/SIP_503_2004-12-27.html.

Hamzah Hamdani.  Hikayat Abdullah. Selangor: PTS Fotuna,2007

Milner, Anthony. Invention of politics in colonial Malaya: contesting nationalism and the expansion of the public sphere. Cambridge ;New York: Cambridge University Press, 1995. 

....................................................................................................................................................................

อธิบายภาพ

1. หนังสือ Hikayat Abdullah กระบอกเสียงเผยแพร่แนวคิดของมุนชี อับดุลลอฮ์ ภาพจาก http://www.goodreads.com/book/show/8608024-hikayat-abdullah

2. อิบรอฮีม ยะห์กู๊บ ภาพจาก http://unofficialversion.wordpress.com/2012/01/06/could-upsi-be-the-catalyst-for-change/

3. แผนที่อธิบายแนวคิดของอิบรอฮีม ยะห์กู๊บ ในจินตนาการอินโดนีเซีย รายา ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Greater_Indonesia

4. Kesatuan Melayu Muda ( Young Malays Union in Malay) ภาพจาก http://malayatimes.wordpress.com/tag/history/

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ ชี้ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ไม่ร่วมมือควบคุมการค้าอาวุธ

Posted: 28 Mar 2013 10:54 PM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยจากที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่า อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียมีเจตนาร้ายในการสกัดกั้นสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่ช่วยชีวิตคนได้

 
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยจากที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ว่า การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียได้พยายามขัดขวางการรับรองสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ถือเป็นเจตนาที่เลวร้ายในการยุติการส่งมอบอาวุธสงครามแบบทั่วไประหว่างประเทศ กรณีที่ประเทศผู้ส่งออกทราบว่าจะมีการนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้เพื่อทำหรือสนับสนุนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรืออาชญากรรมสงคราม
 
ประเทศทั้งสามต่างตกเป็นเป้าหมายของมาตรการแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามซื้อขายอาวุธ และต่างมีสถิติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้าย เป็นประเทศที่เคยใช้อาวุธยิงประชาชนของตนเอง เคยก่อความทารุณโหดร้ายซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามร่างสนธิสัญญาฉบับนี้
 
ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าในระหว่างที่ประธานฝ่ายการทูตของการประชุมจะนำร่างสนธิสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อให้มีการรับรองในสมัยประชุมนี้ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียตัดสินใจของที่จะขัดขวางไม่ให้มีการลงมติรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อร่างฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไร้คุณธรรม
 
"รัฐต่าง ๆ ต้องพยายามหาทางให้มีการรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้โดยเร็วสุด มติอันเป็นเหตุให้มีการประชุมด้านการทูตครั้งนี้ระบุว่า ถ้ารัฐภาคีต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ ทางที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินใจ และเคนยาซึ่งกล่าวในนามรัฐภาคีหลัก 11 แห่งได้แสดงท่าทีสนับสนุนต่อการกระทำเช่นนี้"
 
ร่างสนธิสัญญากำหนดให้รัฐบาลทุกประเทศประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะส่งมอบอาวุธ ยุทธภัณฑ์หรืออุปกรณ์ใด ๆ ให้กับประเทศอื่น โดยพิจารณาว่ามีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้เพื่อก่อการหรือสนับสนุนการละเมิดที่ร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่ กรณีที่คาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากและไม่อาจบรรเทาได้ รัฐเหล่านั้นจะต้องยุติการส่งมอบอาวุธ
 
วิดนีย์ บราวน์ (Widney Brown) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกฎหมายแหละนโยบายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียลงมติขัดขวางการรับรองเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนี้ สะท้อนถึงปัญหาท้าทายที่ภาคประชาสังคมและรัฐบาลที่สนับสนุนร่างสนธิสัญญาต้องเผชิญในระหว่างการเจรจา ในระหว่างการรณรงค์สนับสนุนสนธิสัญญาฉบับนี้ เราต่างเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ช่วยกันรักษาชีวิต และลดความทุกข์ยากของมนุษย์ และโชคดีที่รัฐบาลส่วนใหญ่รับฟังข้อเรียกร้องนี้"
 
คาดว่าที่ประชุมสมัชชาใหญ่จะรับรองร่างสนธิสัญญาในสมัยประชุมปัจจุบัน แต่การที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียสามารถขัดขวางไม่ให้เกิดเสียงที่เป็นฉันทามติได้ แสดงให้เห็นความเปราะบางของความตกลงเหล่านี้
 
แม้จะมีแรงสนับสนุนมากมายต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่รัฐบางแห่งยังคงอ้างผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมหาศาล การใช้อำนาจทางการเมืองของตน หรือแม้แต่การอ้างเรื่องอธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างชัดเจน อย่างเช่น การพุ่งเป้าสังหารประชาชนของตนเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ชี้สภาฯ ตีตก ร่าง กม.ประกันสังคม เสี่ยงขัด รธน.

Posted: 28 Mar 2013 10:44 PM PDT

 

29 มี.ค. 56 – นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)เรื่อง สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร
 
คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยประชาชนว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2540 ที่มีความมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยได้กำหนดให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยและได้กำหนดเงื่อนไขเพียงว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
 
ดังนั้นสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายย่อมมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรการไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางการเมืองโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ยังเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่อาจไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอีกด้วยทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264คน พบว่า มีหลักการและสาระสำคัญเป็นการการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแก่คนทำงานที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีความเป็นอิสระ มีความโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ต้องการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้สมประโยชน์แก่ประชาชนผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรให้การสนับสนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่สามารถสะท้อนความต้องการเพื่อให้สถาบันรัฐสภารับรู้และสามารถออกกฎหมายได้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
 
คปก.เห็นว่า แม้ว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยรัฐบาลร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างสร้างสรรค์และโดยสันติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน ถือเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันเสมอมา  ด้วยเหตุดังกล่าวการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้แทนประชาชนได้เสนอเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้ในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด
 
ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
อนึ่ง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23-24 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ )เมื่อวันที่ 20 และวันที่21 มีนาคม2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมจำนวน 4ฉบับ และลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของนางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน และนายนคร  มาฉิม กับคณะ ดังนั้นจึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง2 ฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไปทั้งที่แนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาจะมีมติรับหลักการร่างกฎหมายรวมกันทุกฉบับโดยให้ถือเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจาะวงถกสันติภาพรัฐไทย-BRN ต่างมีข้อต่อรอง ‘ลดพื้นที่รุนแรง-นิรโทษกรรม’

Posted: 28 Mar 2013 10:08 PM PDT

เจาะวงถกรอบสองสันติภาพชายแดนใต้ ต่างมีข้อต่อรอง 'รัฐไทยขอให้ลดพื้นที่ก่อเหตุรุนแรง ฝั่งขบวนการขอให้ลบบัญชีดำ นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง นัดต่อไป 29 เมษาฯ เพิ่มตัวแทนฝ่ายละ 9 คน

 
ในที่สุดการพูดคุยสันติภาพแบบมาราธอน 12 ชั่วโมง ระหว่างตัวแทนกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐไทย – ตัวแทนรัฐบาลไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียรอบ 2 ตั้งแต่เช้าวันที่ 28 มีนาคม 2556 ก็สิ้นสุดลงในช่วงค่ำคืนวันเดียวกัน
 
ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประมวลข่าวหลายสำนัก รายงานว่า มีการสงวนคำขอในประเด็นร้อนอย่าง "หยุดก่อเหตุรุนแรง" ในพื้นที่ และ การ"นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง" การลบรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีดำหรือ Black list และให้รัฐอำนวยความยุติธรรมและความเป็นธรรมแก่ชาวฟาฏอนีย์
 
การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 2 นี้ มีตัวแทนกลุ่มต่อต้านรัฐมาร่วมประชุมครั้งนี้ มาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ BRN, PULO และ BIPP มีรายงานว่า ทางฝั่งขบวนการ BRN นั้นมาครบทุกปีก ส่วนขบวนการ PULO มาเพียงคนเดียวและไม่ใช่นายกัสตูรี มะห์โกตา ซึ่งเป็นคนที่อ้างว่าเป็นประธาน PULO-KMP
 
การประชุมลับครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ตามเวลาประเทศมาเลเซีย โดยรายชื่อของฝ่ายกลุ่มขบวนการ 6 คน ได้แก่ นายฮาซัน ตอยิบ นายซัลมาน อิสมาแอล และอาดัม มูฮัมหมัดนูร จาก BRN นายอะห์มัด ปอซัน จาก PULO นายฮาเซม อับดุลเลาะ จาก BIPP และอาบุลการีม คอเลด (ไม่ทราบสังกัด)
 
ส่วนตัวแทนฝั่งรัฐไทย  6 คน ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้นำทีม, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 และพล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม
 
เลขาธิการสมช. เปิดเผยหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า นายกัสตูรี มะห์โกตา ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ทางฝ่ายขบวนการจะประสานไปในการประชุมในครั้งต่อไปว่า อาจจะมีนายกัสตูรี ร่วมพูดคุยด้วย ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ซึ่งแต่ละฝ่ายจะเพิ่มตัวแทนการพูดคุยเป็น 9 คน 
 
เลขาธิการมช.ระบุว่า ประเด็นที่ใช้เวลาตกลงกันนานในการพูดคุยครั้งนี้คือ เรื่องการขอให้ลดพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งฝ่ายขบวนการจะขอเวลาประสานงานกับกลุ่มอื่นๆ ก่อน ส่วนประเด็นที่ฝ่ายขบวนการขอ คือการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง และขอให้ลบรายชื่อคนในฝ่ายขบวนการออกจากบัญชีดำ(Black list) ซึ่งฝ่ายรัฐขอกลับไปประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน และจะนำมาถกกันอีกในรอบต่อไป
 
พล.ท.ภราดร ให้ความเห็นกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ประเด็นที่ฝ่ายขบวนการขอให้มีการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นไปไม่ได้ และการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ไม่ยอมให้มีการคุยเรื่องการแบ่งแยกดินแดน
 
นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวสายความมั่นคง จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เกาะติดรายงานข่าวการพูดคุยครั้งนี้รายงานผ่านรายการข่าวดึกของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศถูกมาเลเซียกันไม่ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ภายในห้องประชุมได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น