ประชาไท | Prachatai3.info |
- รายงาน: ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ในการจัดการ 24 ช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ-ชุมชน
- จี้เร่งเปิดรับสมาชิกกองทุนออมแห่งชาติ รองรับแรงงานนอกระบบ-เกษียณ
- The King is dead, Long live the King ; คำถามที่คนรักสถาบันต้องตอบ ?
- อ่าน “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด” ความซับซ้อนของความรุนแรง
- ภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องเพศสถานะใน "การประชุมผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลก"
- มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย จากเหตุเพลิงไหม้ศูนย์อพยพที่ จ.แม่ฮ่องสอน
- รายงาน: ‘อยากให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไร’ เสียงของความหวังจากพื้นที่แห่งความรุนแรง
- OIC หวังพูดคุยสันติภาพไทย-BRN จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
- 'ซันเทค' ผู้ผลิต ‘แผงโซล่าเซลล์’ ยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศล้มละลาย
- “ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้”: ชัยชนะของ ‘สุภาพ เกิดแสง’ กับนัยยะที่ตามมา
- ศาลรธน.เกาหลีใต้ ฟันคำสั่ง 'ปักจุงฮี' ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน
- ไมโครซอฟท์ เผย รบ.ไทยขอข้อมูล 83 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา
- อดีตผู้นำสตรีพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสียชีวิตแล้วที่นราธิวาส
- จุฬาราชมนตรีขานรับเตรียมชงมุสลิมะห์เป็นกรรมการอิสลามทั่วประเทศ
- บรรษัทข้ามชาติอีเล็คทรอนิคเนเธอร์แลนด์ NXP ปิดงานคนงานไทย
รายงาน: ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ในการจัดการ 24 ช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ-ชุมชน Posted: 22 Mar 2013 09:55 AM PDT ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น (focus Group) ผู้บริโภคกับทีวีดิจิตอล ครั้งที่ 1 "ว่าด้วยทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนที่อยากเห็น" เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมเสวนาราว 60 คน จากทั้งภาคประชาสังคม ผู้บริโภค คนพิการ นักวิชาการ สื่อ มีข้อเสนอต่อ กสทช. ในการออกประกาศการอนุญาตบริการทีวีสาธารณะและทีวีชุมชน กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ดังนี้ -มีข้อเสนอให้ชะลอการออกใบอนุญาตทีวีสาธารณะและทีวีชุมชนออกไปก่อน โดยต้องหาหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะและชุมชนให้ชัดเจน รวมทั้งมีการศึกษาโมเดลทีวีสาธารณะและชุมชน โดยคำนึงถึงภูมิทัศน์ความหลากหลายของสังคมไทย บูรณาการภาคส่วนต่างๆ ในการกำหนดสัดส่วนและจัดสรรช่องรายการ เนื้อหา และรูปแบบการดำเนินการให้ใบอนุญาตให้มีความชัดเจน และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน -ทั้งยังขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งในด้าน (2) คุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการสาธารณะและชุมชน ควรมีความเป็นสาธารณะและความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง โดยเพื่อประชาชน และประชาชนเข้าถึงได้ โดยมีข้อเสนอว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องแสดงชื่อกรรมการ ผังรายการ โดยควรมีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ต้องแสดงที่มาของรายได้ และแสดงรายชื่อผู้ที่อุดหนุน ต้องแสดงแผนความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีกรรมการตรวจสอบการเงิน และรายงานผลการตรวจสอบต่อองค์กรกำกับ และควรมีหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทั้งจากองค์กรกำกับและสาธารณะ (3) เงื่อนไขการประกอบการทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะและชุมชน ควรพิจารณาเรื่องการโฆษณาและการหารายได้ของสถานี ที่อาจแอบแฝงในบริการประเภทสาธารณะและชุมชน การกำหนดขอบเขตเรื่องรายได้จากการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสาร หรือการเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการโดยมิได้โฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ กำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอโดยกำหนดให้ชัดเจน และในการออกแบบเงื่อนไขการประกอบการ ควรคำนึงถึงผู้เล่นรายใหม่ในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้สามารถหมุนเวียนได้ (4) ประเภทช่องรายการบริการสาธารณะ มีข้อวิจารณ์ว่า บริการสาธารณะประเภทที่ 1 ไม่มีการระบุช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนจำนวนช่องในแต่ละประเภทบริการว่าควรมีกี่ช่อง ทั้งนี้ ช่องรายการต้องมีเนื้อหาทีวีสาธารณะที่สามารถเข้าถึงครอบคลุมทุกกลุ่มคน ไม่ว่ากลุ่มเด็ก คนชรา ผู้ใช้แรงงาน คนชายขอบ คนพิการ คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล -ด้านการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาชน ควรมีการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาชน ในการประกอบกิจการ การผลิตรายการ การเป็นนักข่าวภาคพลเมือง และความพร้อมในเรื่องวิศวกรรม -สำหรับการให้ความรู้แก่ประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล มีข้อเสนอว่า ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของทีวีดิจิตอล การประกอบกิจการตามกฎหมายกำหนด สิทธิที่พึงมีพึงได้ สิทธิประโยชน์ของการเป็นเจ้าของคลื่น และจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ให้มีการเข้าถึงสื่อที่เท่าเทียม กระจายข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงคนที่หลากหลาย มีการจัดเวทีให้ความรู้ให้แก่ภูมิภาค และมีการออกเป็นหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการเท่าทันสื่อที่ชัดเจน -ด้านกลไกการกำกับดูแล มีข้อเสนอ ได้แก่ ด้านเทคนิค มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการจัดทำ Closed Caption สำหรับคนพิการ องค์กรกำกับควรมีการสนับสนุนศูนย์ในการผลิตและพัฒนา Closed Caption เพราะนอกจากจะใช้ได้กับคนพิการแล้วยังสามารถใช้ได้กับคนทั่วไปที่มีการใช้ภาษาอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จี้เร่งเปิดรับสมาชิกกองทุนออมแห่งชาติ รองรับแรงงานนอกระบบ-เกษียณ Posted: 22 Mar 2013 09:34 AM PDT
ขณะเดียวกัน มีผู้ร่วมการเสวนา ซึ่งเป็นตัวแทนจากแรงงานนอกระบบ แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำกฎหมายให้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเชื่อว่าไม่มีกฎหมายใดที่สร้างสำเร็จโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง เช่นเดียวกับการแก้กฎหมายเพื่อตามเอาผิดกับคนที่ใช้เทคโนโลยีกระทำความผิด จึงต้องการให้เปิดรับสมัครสมาชิกตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งประกาศใช้ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และภาคประชาชนซึ่งเคยไปร้องเรียนที่กรรมาธิการ การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยที่ กอช.จะอยู่ในพระราชบัญญัติประกันสังคม เพราะเจ้าหน้าที่มีพร้อมอยู่แล้ว โดยภาคประชาชนต้องการให้ตั้งเป็นองค์กรอิสระมาบริหารจัดการ ไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐเพราะในอนาคต กองทุนนี้จะมีเงินจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าประกันสังคม ดร.ลลิตา จันทร์วงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการออมเงินของประชาชนคือการมีความรู้ว่าออมอย่างไรจึงจะเหมาะสมเพียงพอ เพราะจากประสบการณ์การทำงานวิจัยกับคนในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีระดับความรู้สูง ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ออมเงิน แต่ไม่ได้คำนวณว่าจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบการออมจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ออมแต่ละคนในการพึ่งพาตนเองว่ารัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ช่วยเหลือมากเพียงใด เพราะไม่มีแบบแผนใดแบบแผนหนึ่งที่จะเหมาะสมกับคนทุกคน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
The King is dead, Long live the King ; คำถามที่คนรักสถาบันต้องตอบ ? Posted: 22 Mar 2013 09:21 AM PDT ภายใต้ข้อถกเถียงในประเด็นสาธารณะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น เชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่สามารถแยกออกได้ระหว่างพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ข้อเสนอของคนที่รักสถาบันที่อยากให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่กับสังคมไทยไปจนกาลปาวสาน ต้องตอบให้ได้ก่อนคือ สิ่งที่คุณรักนั้นคือสิ่งที่เรีกยกว่าสถาบันกษัตริย์หรือองค์พระมหากษัตริย์ ในขั้นต้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นปฐมก่อนคือความแตกต่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับองค์พระมหากษัตริย์นั้นมีความแตกต่างกัน ผู้เขียน จะย้อนไปถึงทฤษฎีหลักพื้นฐานทางกฎหมายเบื้องต้นเสียก่อนถึงความเป็นมาของสถาบันกษัตริย์ ในทางสังคมวิทยานั้น ออปเพิลไฮเมอร์แบ่งสังคมออกเป็น5 ยุค จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความไม่แน่นอนในการวางตัวผู้มีอำนาจ สังคมเกิดความสั่นคลอน จึงมีการพัฒนาเทคนิคทางกฎหมายขึ้นเพื่อรักษาความมีอยู่ของสถาบันไว้โดยใช้เทคนิคในเรื่องของการแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลและให้อำนาจทางการเมืองนั้นเป็นของสถาบันที่สมมุติขึ้น(institutionnalisation du pouvoir politique) สถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นนี้เรียกว่า "รัฐ" เทคนิคดังกล่าวแสดงออกทางหลักกฎหมายมหาชนได้ดังนี้ กษัตริย์ไม่ทรงสวรรคต ( Le roi ne meurt pas) กล่าวคือ เมื่อกษัตริย์องค์เดิมสวรรคต ราชเลขาธิการจะต้องประกาศว่ากษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ทันที และประชาชนจะกู่ตะโกนว่า กษัตริย์(องค์เดิม)สวรรคตแล้วขอกษัตริย์(องค์ใหม่)ทรงพระเจริญ(le roi est mort, vivre le roi, The king is dead, long live the king) หลักการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความถาวรของอำนาจ(perpétuel)ของอำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับที่โบแดงกล่าวไว้ว่า"อำนาจไม่ตายไปพร้อมตัวบุคคล" นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่ามีการแยกอำนาจออกจากตัวบุคคลไปไว้ที่สถาบันทางการเมืองหรือรัฐแล้ว หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ตัวคนตายได้แต่สถาบันและอำนาจไม่ตายตามตัวบุคคล ซึ่งหลักการดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นหลักเรื่องกษัตริย์ทรงมีสองพระวรกายคือ พระวรกายเนื้อและพระวรกายที่เป็นอมตะ[1] ส่งผลให้การสืบต่ออำนาจเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่แสดงออกมา เช่น กฎมณเพียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หรือการตั้งตำแหน่งรัชทายาท(Dauphin)นอกจากนี้หลักกฎหมายนี้ได้พัฒนาต่อจนกลายเป็นหลักกฎหมายปกครองยุคใหม่ในเรื่องความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะ(Continuité du service public) ต่อเมื่อสังคมพัฒนาจนมีระบบกฎหมายและรัฐธรรมมนูญขึ้น สถาบันกษัตริย์ก็ได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมตามกาลเวลา แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์นั้นรวมถึงองค์พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้เป็นที่สถิตย์ของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจทางการเมืองอีกต่อไป เพราะอำนาจทางการเมืองนั้นได้ถูกประดิษฐานมาไว้ที่รัฐ(สมัยใหม่)แล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงองค์กรที่ถูกจัดตั้งและรับรองสถานะโดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น จากหลักทฤษฎีดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า คำว่า สถาบันกษัตริย์กับองค์พระมหากษัตริย์นั้น เป็นคนละอย่างกัน สืบเนื่องมาจากประเด็นสาธารณะที่เรียกร้องให้มีการรักษาสถาบันกษัตริย์นั้น ผู้เขียนตั้งคำถามถึงคนรักสถาบันว่า แท้จริงแล้ววคุณรักพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันหรือต้องการรักษาสถาบันฯกันแน่ หากคุณรักและอยากให้สถาบันฯคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานเท่านาน คุณต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ก่อนว่า ทุกสังคมการเมืองย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลง มนุษย์เองยังต้องพัฒนาตัวเองหรือวิวัฒนาการไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการ สถาบันทางการเมืองเองก็เช่นกันต้องปรับตัวให้มีความเป็นพลวัตรเข้ากันได้กับสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบัน คนรักสถาบันฯไม่สามารถสตาฟหรือหยุดเวลาของสถาบันได้ให้อยู่ในยุค 2501ได้ตลอดไป หากคุณรักสถาบันด้วยใจจริงคุณต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้สถาบันสามารถดำรงอยู่ได้ในภาวะที่โลกได้เปลี่ยนเป็นสังคมประชาธิปไตย กันเกือบหมดแล้ว โดยการแยกให้ออกระหว่างความรักในตัวบุคคลกับความรักและเทิดทูนในสถาบัน ปัจฉิมบทแห่งข้อคิดเห็น คนที่อ้างว่ารักเจ้ารักในหลวงรักสถาบันต้องมีความกล้าหาญที่จะออกมาแสดงให้เห็นว่าตนเองนั้นต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใจจริงไม่ใช่รักเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น เพราะการยึดโดยติดกับตัวบุคคลนั้นย่อมจะทำให้สถาบันเสื่อมเร็วขึ้นก่อนกาล นอกจากนี้บุคคลดังกล่าว ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกให้ได้และอย่าพยายามทำให้สถาบันต้องหยุดชะงักอยู่กับที่ ดังที่ทำอยู่ในปัจจุบันเพราะรังแต่จะทำให้ภาพของสถาบันเสื่อมลงโดยไว การแสดงออกซึ่งความรักควรแสดงออกด้วยความเคารพไม่ใช่การพยายามไล่หรือเนรเทศคนที่ไม่เห็นด้วยออกไปจากแผ่นดินที่บรรพบุรุษของทุกคนในชาติร่วมกันสร้างมา
......คนรักเจ้าต้องตอบให้ได้ในวันนี้ว่ารักที่ตัวบุคคลหรือต้องการรักษาสถาบัน ?
[1] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษธของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ, นิติธรรม, กรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า34.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อ่าน “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด” ความซับซ้อนของความรุนแรง Posted: 22 Mar 2013 08:58 AM PDT
นิยายขนาดสั้นเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนความซับซ้อน ลับ ลวง พลาง ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้ ปากคำ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้พบเห็น ผู้ได้สัมผัสต่อคดีประหลาด คือ คดีที่เกิดจากการฆาตกรรมอิหม่าม สะตอปา การ์เด นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของศิริวร แก้วกาญจน์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2549 หลังจากเหตุการณ์ไฟใต้รอบใหม่ได้ปะทุขึ้นไม่นาน อย่างไรก็ตาม แม้นเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 6 ปีหลังจากที่ครั้งแรกของนวนิยายเล่มนี้ ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ความซับซ้อน และปริศนาอยากที่จะเข้าใจต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด เป็นนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2549 และที่สำคัญนิยายชิ้นดังกล่าวนี้ยังคงถูกประทับตราว่าเป็น ผลงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายความมั่นคงของรัฐ เรื่องของนิยายชิ้นนี้เริ่มต้นที่ เหตุการณ์ที่ตันหยงบารู ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้น อยู่ท่ามกลางความเศร้าสลด ภายหลังจากการเสียชีวิตของอิหม่ามสะตอปาร์ การ์เด ซึ่งถูกฆาตกรรม โดยที่ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเป็นฝีมือของใคร ภายในงานชิ้นนี้ได้ดำเนินเรื่องราวผ่าน ปากคำ ของกลุ่มคนต่างๆ ทั้งคนของรัฐ ชาวบ้านทั่วไป ผู้นำศาสนา เรื่องราวจากปากคำถูกเรียงร้อยขึ้นมา เพื่อเล่าถึงเหตุการณ์การตายของอิหม่ามสะตอปาร์ ซึ่งดูแล้วปากคำของคนเหล่านั้น ได้สะท้อนถึงปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นที่ปากคำของประชา วงศ์โกสินทร์ ในฐานะของผู้ว่าราชการจังหวัด เดิมทีเขาผู้นี้มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน ตันหยงบารู แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมอิหม่าม ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับชาวบ้านได้ผันเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นความหวาดระแวง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านเช่นเดิม ได้กลายเป็น คนแปลกหน้า สำหรับชาวบ้านตันหยงบารู ปากคำของประชา วงศ์โกสินทร์ ยังคงได้สะท้อนถึง สิ่งที่เป็นไปในสถานการณ์ภาคใต้ได้หลายมิติทั้ง ความหวาดระแวงจากชาวบ้านที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในแง่ของการนำเสนอของสื่อหลังจากเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาบทหนึ่งระหว่างประชา วงศ์โกสินทร์ กับ สตรีมุสลิมท่านหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏตัวจากความเงียบสงบในตันหยงบารู สตรีมุสลิม ผู้ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาในหมู่บ้าน ได้เปล่งวาจาผ่านผ้าคลุมหน้าอย่างยืนหยัดว่า ชาวบ้านตันหยงบารู ยังคงดำเนินชีวิตเช่นนี้ต่อไป คือ ไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถที่จะให้ความกระจ่างต่อกรณีฆาตกรรมอิหม่าม แต่เมื่อรัฐช่วยอะไรไม่ได้ เราก็จะปิดหมู่บ้านเช่นนี้ต่อไป เพียงเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น สัมพันธ์ระหว่างผู้คนแปรเปลี่ยนไป เพราะภาพของตัวแทนรัฐ จึงถูกทำให้เป็นผู้ต้องหาจากปริศนาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ถูกฉายซ้ำอีกครั้ง ผ่านปากคำองการิม มะลาเต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านในตำบลตันหยงบารู จากปากคำของการิม มะลาเต๊ะได้กล่าวไว้ว่า "สาเหตุที่พวกปิดหมู่บ้านและไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ไม่ว่าทหารหรือตำรวจเข้ามานั้น เพราะเราไม่พอใจการกระทำของพวกเขา เราอดทนมานานแล้ว แต่ครั้งนี้มันหนักหนาสาหัสเกินไป มันลบหลู่ดูหมิ่นกันมากเกินไป ที่สำคัญ จะให้เราแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อเปิดหมู่บ้านแล้ว คนของเราจะไม่ถูกอุ้ม หรือถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นเช่นนี้อีก" การฆาตกรรมอิหม่ามสะตอปา การ์เด ยังได้แสดงถึงการจัดการปัญหาของภาครัฐ โดยมีการกล่าวสรุปเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของชาวบ้านเอง อันเนื่องมาจากการขัดผลประโยชน์ ทั้งจากผลประโยชน์ยาเสพติด รวมไปถึงการแบ่งแยกดินแดน ชีวิตอิหม่ามสะตอปา การ์เด จึงกลายเป็นจำเลยต่อเหตุการณ์ความไม่สงบเสียเอง อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาเช่นนี้ ถูกท้าทายจากปากคำของมูหัมหมัด การ์เด บุตรชายอิหม่าม ผู้ซึ่งอยู่กับอิหม่ามกระทั่งลมหายใจสุดท้าย ได้ให้ปากคำโดยอ้างมาจากคำของอิหม่ามสะตอปา การ์เดไว้ว่า "คนร้ายมากันห้าคน สามในห้าแต่งชุดลายพรางแบบทหาร และคนเหล่านั้นได้ทิ้งหลักฐานจากรอยรองเท้าบู๊ตเกลื่อนกลาด" ปากคำของมูหัมหมัด การ์เด จึงสรุปว่า บิดาของเขาถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องราวในกรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ซึ่งแฝงไปด้วย ความเป็นจริงของความซับซ้อน ของสถานการณ์ชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่าม สะตอปา การ์เด ปริศนาต่างๆ ได้ถูกกุมไว้ที่เด็กชายวัย 12 ปีเศษ ผู้ซึ่งมีแพะนามว่า อาดัม เป็นเพื่อนคู่ใจ เขาเลือกที่จะไม่พูดกับใคร เว้นเสียแต่แพะอาดัมตัวนี้ ซึ่งเด็กชายวัย 12 ปีเศษนี้คือ อาลี โต๊ะอิลชา ก่อนหน้านี้อาลี มีเพื่อนสนิทคือ ซะการีย์ยา จากปากคำของอาลี ซะการีย์ยา คือ เพื่อนสนิทของเขา ก่อนที่มิตรภาพของทั้งสองนั้นจะผันเปลี่ยนไป หลังจากที่ซะการีย์ยา เจอเพื่อนใหม่ และซะการีย์ยา ก็หายไปจากมิตรภาพของเขา และหายไปจากตันหยงบารู แต่ซะการีย์ยาก็กลับมา ด้วยท่าทีที่แปลกไปกว่าเดิม การกลับมาของซะการีย์ยาเพียงแค่สามวัน ครูในโรงเรียนถูกยิงตายหน้าบ้านพัก และหลังจากนั้นไม่นานโรงเรียนของเราก็ถูกลอบวางเพลิง ซะการีย์ยาเปิดเผยเหตุการณ์เหล่านี้กับอาลีว่าเป็นฝีมือของเขา ซะการีย์ยาเป็นผู้ลอบเผาโรงเรียนของเรา แต่หลังจากนั้นสามวัน ซะการีย์ยาได้จากอาลีไปอย่างไม่หวนกลับ เขาถูกยิงตายที่ร้านน้ำชา ไม่มีใครเลยในตันหยงบารูที่จะล่วงรู้ได้ว่า ใครฆ่าซะการีย์ยา นี้เป็นเพียงแค่บางส่วน บางตอน จากนิยายที่อยากจะชวนให้อ่าน เพื่อที่จะสัมผัสถึงเรื่องราวของเป็นไปของความซับซ้อนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนิยายเล่มนี้ได้สร้างความฉงนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะทำความเข้าใจต่อเรื่องราวของปากคำที่เกิดขึ้นในนิยายเล่มนี้ ก็มิอาจที่จะรับรู้ได้ว่า ปากคำ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปากคำที่เล่าให้ใครฟัง
เผยแพร่ครั้งแรกที่: PATANI FORUM ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องเพศสถานะใน "การประชุมผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลก" Posted: 22 Mar 2013 08:52 AM PDT เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการจัด "การประชุมผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลก" (1er Forum mondial des femmes francophones) เป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา du quai Branly กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยการริเริ่มของ Yamina Benquiqui รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบด้านประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (francophonie) ร่วมกับ Organisation internationale de la francophonie (องค์การประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสนานาชาติ) UN Women UNESCO และองค์กรภาคีอื่นๆ โดยมีผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสจากภาคประชาสังคมกว่า 400 คนจาก 5 ทวีปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าสิทธิของผู้หญิงทั่วโลกนั้นกำลังถดถอยลง โดยเฉพาะในพื้นที่ของประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (espace francophone) ซึ่งมีสมาชิก 77 ประเทศ นับเป็นประชากรกว่า 220 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนผู้หญิง 120 ล้านคน และคาดว่าในปี 2050 ประชากรผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน โดยในเอกสารปูพื้นเรื่องบริบทระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงนั้น มีการระบุถึงการตั้งคำถามในการประชุมนานาชาติหลายเวทีเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของผู้หญิงว่า เป็นสิทธิอันเป็นสากลจริงหรือไม่ และเริ่มมีการเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า "สัมพันธ์นิยมทางวัฒนธรรม" (cultural relativism) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการไม่ยอมรับสิทธิของผู้หญิงในนามของประเพณีโบราณอันเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ (เช่น ประเพณีการมีผัวเดียวหลายเมีย การตัดอวัยวะเพศผู้หญิง การคลุมถุงชน ฯลฯ) ปรากฏการณ์ระดับนานาชาติครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความพยายามอันสวนทางกับการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรุนแรงและสิทธิในการเจริญพันธุ์ เมื่อกล่าวถึง "พื้นที่ของประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส" (espace francophone) โดยทั่วไปจะหมายถึงประเทศที่มีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสำคัญในการสื่อสาร อาจเป็นได้ทั้งภาษาราชการเพียงภาษาเดียว (โดยเป็นภาษาแม่ เช่นกรณีของฝรั่งเศส หรือเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประชาชนที่มีภาษาเป็นของตัวเอง เช่นคองโก และหมู่เกาะ Ivory Coast) หรือภาษาทางการร่วมกับภาษาอื่นๆ (โดยเป็นภาษาแม่ เช่นในสวิสเซอร์แลนด์และเบลเยี่ยม หรืออาจเป็นภาษาที่ประชาชนจำนวนมากเรียนรู้เพิ่มและใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่นในคาเมรูนและเกาะ Seychelles หรืออาจจะใช้สื่อสารกันระหว่างประชาชนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น เช่นในหมู่เกาะ Comoros) หรืออาจหมายถึงประเทศที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสแต่ไม่ได้รับการประกาศให้เป็นภาษาราชการ เช่นในประเทศแอฟริกาเหนือ (Maghreb) อย่างตูนีเซีย โมร็อกโคและอัลจีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างลาว กัมพูชาและเวียดนามก็นับเป็นประเทศในกลุ่มพื้นที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเพียงน้อยนิดก็ตาม จะเห็นว่าพื้นที่นี้ครอบคลุมอาณาบริเวณที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสหรือเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสยุคจักรวรรดินิยม คำว่า "ประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส" (francophonie) นี้เริ่มใช้อย่างจริงจังในความหมายปัจจุบันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อต้นทศวรรษ 1960 และได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างโดยนักคิดนักเขียนอดีตประธานาธิบดีประเทศเซเนกัล Léopold Sédar Senghor ในความหมายของ "การตระหนักรู้" ถึงการมีภาษาและวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศสเป็นจุดร่วมระหว่างคนจากหลากหลายชนชาติ มากกว่าที่จะเป็นผลของนโยบายราชการหรือสะท้อนข้อเท็จจริงเชิงอัตวิสัยใดๆ (objective) ต่อมา ภายใต้การริเริ่มผลักดันจากผู้นำจากหลายๆประเทศ เช่น ประธานาธิบดี Senghor และพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา การรวมตัวเป็นประชาคมข้ามพรมแดนนี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ในปัจจุบัน ประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเน้นประเด็นเรื่อง "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" เป็นแกนกลางสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยมีภาษาและวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ยึดโยงอัตลักษณ์ข้ามชาติ การจัดประชุมผู้หญิงผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสโลกในวันประชาคมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสนี้ (ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี) จึงมีนัยยะสำคัญในการพยายามผลัก "วาระผู้หญิง" ให้กลายมาเป็นวาระหลักเร่งด่วนของประชาคมที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศใน "แอฟริกาดำ" (Afrique noire) ซึ่งสถานะของผู้หญิงนั้นยังคงน่าเป็นห่วง โดยจุดมุ่งหมายหลักของการประชุมคือการยื่นข้อเรียกร้องของที่ประชุมต่อประธานาธิบดีฟรองซัว อัลลองด์ เพื่อขอให้ช่วยผลักดันข้อเสนอนี้ต่อไปยังผู้นำประเทศต่างๆในประเทศสมาชิก ในการประชุมครั้งนี้ มีการเปิดเสวนาโต๊ะกลมในสามหัวข้อ คือ 1 ความรุนแรงและการประกันสิทธิทางกฎหมายแก่ผู้หญิง ในภาวะความขัดแย้งและสงคราม 2 การเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิง 3 ผู้หญิงในฐานะกำลังสำคัญของการพัฒนา กรณีที่เรียกความสนใจและการแสดงความคิดเห็นที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนจากทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมมากเป็นพิเศษ คือปฏิบัติการข่มขืนหมู่รายวันในภาคตะวันออกของสาธารณรัฐคองโกโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งมีผู้หญิงจากคองโกยกมือแสดงความเห็นและความรู้สึกมากมายหลายคน นอกจากนี้ ยังมีการประนามกระแสความพยายามบิดเบือนวาทกรรม "สัมพันธ์นิยมทางวัฒนธรรม" เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมให้กับวิถีปฏิบัติที่กดขี่ผู้หญิง ต่อมา เมื่อมีคนยกประเด็นเรื่องหลักศาสนาซึ่งอาจเข้าข่ายกรณีนี้ขึ้นมาในการประชุม ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายในการแสดงความคิดเห็นเพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรียกว่าการประชุมปิดฉากลงด้วยประเด็นแหลมคมและอ่อนไหว แต่นี่ย่อมหมายถึงโจทย์ที่ผู้หญิงทั้งหลายจะต้องร่วมกันขบคิดต่อไปในอนาคต อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการกล่าวถึงความสามารถของผู้หญิงในการช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าควรมีการผลักดันให้ผู้หญิงกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเจราจาต่อรองเพื่อยุติปัญหาสงครามและความขัดแย้ง แน่นอนว่าดิฉันนึกถึงปัญหาเรื่องภาคใต้ในประเทศไทย ขอโอกาสเรียกร้องไปยังชายผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า ท่านควรจะรับประเด็นนี้เข้าไตร่ตรองอย่างจริงจัง และนอกจากนี้อาจจะต้องมองปัญหาภาคใต้ โดยนำมิติเรื่อง gender หรือเพศสถานะเข้ามาพิจารณาในการวิเคราะห์ผลกระทบและหนทางแก้ปัญหา ไม่ใช่มอง "ประชาชน" ในพื้นที่เป็นน้ำเดียวกันไปหมด เพราะเท่ากับว่าท่านกำลังมองว่าเป็น "ประชาชนเพศชาย" เท่านั้นโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น การประเมินผลกระทบของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่นั้น จะต้องทำโดยการประเมินผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่แตกต่างระหว่างหญิงกับชาย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อสรุปที่เห็นตรงกันในระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมคือ เรามีวาทกรรมสิทธิสตรี มีกฎหมายและหลักปฎิบัติที่ก้าวหน้ามากมาย แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่มีกลไกใดๆที่จะสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้ ทั้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมสำหรับผู้หญิง ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมวัฒนธรรม สำหรับดิฉัน ตัวแทนจากประเทศไทยนั้น เห็นพ้องกับเพื่อนๆ ในอาเซียน (ซึ่งมีตัวแทนจากลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ประเด็นของผู้หญิงในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียนนั้นไม่ได้รับการกล่าวถึง ไม่มีแม้กระทั่งตัวแทนบนเวทีการเสวนา สถานะการกลายเป็น "หญิงผู้ที่ไม่มีใครเห็น" นี้ไม่ได้หมายความว่าภูมิภาคของเราไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิสตรี ในทางตรงกันข้าม เรามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขายบริการ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร ฯลฯ และที่สำคัญ ในความคิดของดิฉัน หากแอฟริกามีปัญหาเรื่อง Obscurantism (ภาวะที่ความรู้ถูกปิดบังให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด) เราเองก็มีปัญหาเรื่องเดียวกันนี้เช่นกัน และอาจจะพ่วงด้วยปัญหาเรื่อง Moralism ลัทธิศีลธรรมนิยมอันเป็นเพดานความคิดที่ทำให้เรามองปัญหาเรื่องผู้หญิงได้อย่างคับแคบและติดกรอบความดี/ความเลว ดิฉันจึงรู้สึกประทับใจวิทยกรจากตูนีเซียท่านหนึ่งที่พูดถึงความสำคัญของประชาธิปไตยกับการผลักดันเรื่องสิทธิสตรี ว่าการเรียกร้องสิทธิสตรีนั้นไม่สามารถจะทำได้เลยหากประเทศยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นสากล หมายความว่า เราไม่สามารถจะพอใจและยอมรับคำอธิบายประเภท "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" (ที่แท้จริงคือการปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยนั่นเอง) ได้ หากเราเป็นคนที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี เพราะประชาธิปไตยแบบสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรมเช่นนี้นี่เองที่เป็นปฏิปักษ์กับหลักการเรื่อง "สิทธิ" และ "ความเท่าเทียม" ดังนั้น การเรียกร้อง "ความเป็นสากล" ของประชาธิปไตยและหลักการเรื่องสิทธิมนุษยนชน รวมไปถึงจุดยืนที่ไม่ประนีประนอมให้กับข้ออ้างเชิงวัฒนธรรมนิยมนี้เท่านั้นที่จะทำให้งานด้านสิทธิสตรีไม่สูญเปล่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเทียบเท่ากับภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนต่อไปอีกแล้วนั้น วาทกรรมที่ใช้ในการ "วางตำแหน่งแห่งหน" ให้กับภาษาฝรั่งเศส คือวาทกรรมทางวัฒนธรรมว่าด้วย "คุณค่าของสิทธิมนุษยชน" ดังเห็นได้จากการเลือกนำเสนอภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาที่มาพร้อมกับคุณค่าเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม ในกรณีนี้คือสถานภาพและสิทธิของผู้หญิง (ดูบทสัมภาษณ์ Yamina Benguigui กับ Voice TV ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในคณะของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฝรั่งเศส Jean-Marc Ayrault เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 http://shows.voicetv.co.th/divas-cafe/64891.html) อัตลักษณ์ของผู้ใช้่ภาษาฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างภาษาจีนหรืออำนาจทางการเมืองและการต่อรองอย่างภาษาอังกฤษ แต่เป็นคุณค่ามนุษยนิยมที่ยึดโยงกับมรดกทางอุดมการณ์และทางสังคมของการปฏิวัติฝรั่งเศส (มากกว่ามรดกจากยุคล่าอาณานิคม) การปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหนเช่นนี้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายทางสังคมที่ประธานาธิบดีจากฝ่ายซ้ายคนปัจจุบันเร่งผลักดันอย่างเต็มที่ เช่น การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน นับเป็นการเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์ที่น่าสนใจและน่าติดตามในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ
ภาพบรรยากาศการประชุม
นายฟรองซัว อัลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ร่วมงานและรับข้อเสนอจากที่ประชุม
ผู้เขียนและผู้ร่วมประชุมจากกลุ่มประเทศอาเซียน
บรรยากาศในการเสวนา วันที่ 20 มี.ค. 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย จากเหตุเพลิงไหม้ศูนย์อพยพที่ จ.แม่ฮ่องสอน Posted: 22 Mar 2013 07:37 AM PDT เมื่อช่วงเย็น วันนี้ (22 มี.ค.) เกิดเหตุไฟไหม้บ้านพักผู้อพยพภายในศูนย์พักพิงบ้านแม่สุริน ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โดยไฟไหม้บริเวณบ้านพักที่ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ และล่าสุดในเวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมเพลิงไว้ได้บางส่วนแล้ว ขณะที่บ้านพักในศูนย์อพยพได้รับความเสียหาย 400 หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่าอาคารโรงพยาบาลในศูนย์ อาคารสำนักงาน และอาคารเก็บข้าวสารและอาหารแห้งของ TBC ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลของคณะกรรมการชายแดน (TBC) ซึ่งเป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทยระบุว่า ศูนย์อพยพบ้านแม่สุรินดังกล่าว ที่ผู้อพยพอยู่ประมาณ 3,442 คน โดยอพยพหนีภัยสงครามมาจากรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า ทั้งนี้เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน มีค่ายผู้อพยพใน จ.แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่พักพิงบ้านในสอย ต.บางปางหมู อ.เมือง พื้นที่พักพิงบ้านบ้านแม่สุริน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม พื้นที่พักพิงบ้านแม่ลามาหลวง ต.สบเมย และพื้นที่พักพิงบ้านแม่ละอูน ต.สบเมย อ.สบเมย โดยมีผู้อพยพใน จ.แม่ฮ่องสอน ราว 44,339 คน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: ‘อยากให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไร’ เสียงของความหวังจากพื้นที่แห่งความรุนแรง Posted: 22 Mar 2013 05:42 AM PDT "ต้องการให้สันติภาพแก้ปัญหาอะไรในชีวิตประจำวัน" เป็นคำถามง่ายๆ ที่หวังจะให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรง ได้สะท้อนความต้องการออกมา ในขณะที่หลังจากการลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพในชายแดนใต้ของไทยระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น-โคออดิเนท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียเป็นพยานนั้น สื่อต่างๆมุ่งนำเสนออย่างเจาะลึกแต่ส่วนใหญ่ยังฉายภาพไปที่ตัวละครสองฝ่ายที่มีอาวุธอยู่ในมือเท่านั้น ต่อไปนี้เป็นเสียงจากคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่พยายามแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการดังกล่าว ที่สำคัญคือข้อเสนอแนะและความต้องการให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนในมุมมองของตัวเอง ได้แก่เสียงจากกลุ่มนักศึกษา คนทำงานและประชาชนต่อความหวังในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่มีมีมากกว่า 9 ปีแล้ว
สันติภาพต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม นายมูหามะบากรี อาบูดาโด๊ะ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของตนเองได้ "หากกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นประชาชนทุกฝ่ายไม่มีส่วนร่วม แต่เป็นกระบวนการที่มีเพียงฝ่ายรัฐหรือฝ่ายกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐเท่านั้น กระบวนการสันติภาพนั้นก็ไม่อาจเป็นสันติภาพที่แท้จริง" นายมูหามะบากรี กล่าว
ต้องยึดความต้องการสูงสุดของประชาชน นายอัสมาดี บือเฮง นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีใจระดับหนึ่งที่เห็นวี่แววและช่องทางที่จะคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ไม่ว่าการเจรจาครั้งนี้จะเป็นการจัดฉากหลอกลวงประชาชนหรือไม่ แต่มันคือพัฒนาการของการแก้ปัญหา ซึ่งย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย "หากเป็นการหลอกลวง มันก็ยิ่งตอกย้ำความคิดเดิมที่ว่ารัฐไทยไม่เคยจริงใจในการแก้ปัญหาปาตานี ส่วนดีคือ ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในวันนี้เริ่มปรากฏชัดขึ้น และเริ่มมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตัวกับอนาคตของตนมากขึ้น" นายอัสมาดี กล่าวอีกว่า การเจรจาครั้งนี้จะเป็นของจริงหรือไม่ เป็นคำถามคาใจของประชาชนในพื้นที่ หากรัฐไทยหรือฝ่ายมาเลเซียไม่ออกมาอธิบาย ประชาชนในพื้นที่ก็อาจจะหมดหวังก็ได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตราย เพราะประชาชนก็อยากรู้คำตอบ แต่ใครที่จะให้คำตอบ หรือใครที่จะกดดันให้ตอบคำถามนี้ "ผมเห็นด้วยกับกิจกรรมของนักศึกษา ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ที่พยายามขับขับเคลื่อนงานสันติภาพ ยิ่งงานที่เกี่ยวสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติภาพในปาตานี แต่มันติดอยู่ที่รัฐไทยและขบวนการว่าจะมีความเป็นสุภาพบุรุษพอหรือไม่ที่จะให้เกียรติแก่ความต้องการสูงสุดของประชาชน" นายอัสมาดี กล่าว
ต้องถอนทหารออกและเร่งสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย นายนูวาวี ยูนูฮ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอกประถมศึกษา ชั้นปี 5 กล่าวว่า การเซ็นสัญญากระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาหากเป็นของจริงตนสนับสนุนเต็มที่ แต่หากเป็นสันติภาพจอมปลอมตนก็ไม่สนับสนุน แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ตอบโจทย์กับประชาชนเลย นายนูวาวี กล่าวว่า สิ่งแรกที่ตนจะเสนอสำหรับแนวทางการเจรจาแบบยั่งยืน คือ ภาครัฐต้องเอาทหารออกนอกพื้นที่ไป ถือเป็นการลดไฟในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าการจับมือลงนามนั้นเป็นของจริง แต่ยังมีทหารอยู่เต็มในพื้นที่ นายนูวาวี กล่าวว่า ต่อมาที่ต้องการคือความเป็นประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการสร้างสันติภาพจะต้องไม่เกิดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อยากให้ประชาชนในพื้นที่ได้แก้ปัญหาของตนเองโดยการลงประชามติเรื่องการปกครองในพื้นที่ เพราะคิดว่าเรื่องการปกครองมีผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต เมื่อการปกครองเข้มแข็งระบบอื่นๆก็จะเข็มแข็งไปด้วย นายนูวาวี กล่าวอีกว่า อีกอย่างคือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบ จึงต้องการให้คนในพื้นที่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรเหล่านั้นด้วย ไม่อยากให้คนนอกพื้นที่มาแสวงหาผลกำไรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นางสาวนูรอัลวานีย์ สมาแอ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการเจราจาครั้งนี้หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมรับข้อเสนอของแต่ละฝ่าย เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนในพื้นที่ต่างก็เบื่อความรุนแรงเต็มที่แล้ว แต่การเจราจาของทั้งสองฝ่ายขอให้นึกถึงประชานในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่แค่หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว "การเจราจาครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ถึงแม้ว่ามันยังไม่ชัดเจนว่าจะประสบผลสำเสร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยความหวังที่จะให้ในพื้นที่ 3 จังหวัดสงบสุขนั้นยังมีอยู่และเป็นสิ่งทุกฝ่ายปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง" นูรอัลวานีย์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าการตั้งเป็นนครปัตตานีนั้นก็ดี เพราะทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายกระบวนการบีอาร์เอ็นจะได้ไม่ต้องสูญเสียไปมากกว่านี้ในการสู้รบแย่งแช่งดินแดน ถือว่าเป็นถอยคนก้าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยทุกระดับในสังคม นักศึกษามหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีคนหนึ่ง กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพต้องเป็นการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นโดยไม่จำกัดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ไม่เฉพาะแค่วงเสวนาทางวิชาการเท่านั้น เช่น ในร้านน้ำชา สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็สามารถเป็นพื้นที่พูดคุยเพื่อสันติภาพได้ เป็นต้น นักศึกษาคนเดิม กล่าวอีกว่า การดึงคนให้ออกมาพูดคุยเรื่องสันติภาพนั้น จะต้องมาจากฐานความคิดที่เป็นองค์ความรู้ เนื่องจากคำนิยามหรือความเข้าใจคำว่าสันติภาพของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้มาพูดคุยกันให้มาก เพื่อเป็นการแสวงหาจุดร่วมในกระบวนการสันติภาพ ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงความคิดของทุกฝ่าย อย่างมีเสรีภาพที่แท้จริง
ต้องยุติความรุนแรงเป็นอันดับแรก นางอันธิฌา แสงชัย อายุ 36 เจ้าของร้านหนังสือ Buku Pattani อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า อันดับแรกก่อนที่จะเกิดสันติภาพ ต้องยุติความรุนแรงก่อน ทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการจะต้องหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกันให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ยุติความรุนแรงได้ นางสาวดาราณี ทองศิริ เจ้าของร้านหนังสือ buku pattani อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสันติภาพเกิดขึ้น ดิฉันต้องการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งดิฉันคิดว่ากระบวนการสันติภาพเป็นมากกว่าแค่การเซ็นสัญญา การแก้ปัญหาจะต้องครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด นางสาวดาราณี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหลังการลงนามดังกล่าวก็ยังไม่ได้ส่งผลดีอะไรในพื้นที่ ชาวบ้านเองก็ไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนเดิม อีกทั้งนักศึกษาเองก็ถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐในการทำกิจกรรม นางสาวดาราณี กล่าวว่า การจัดงานวันสื่อทางเลือกในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการะบวนการสันติภาพ เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมาก และเมื่อสันติภาพเกิดขึ้นจริง การทำงานก็จะคล่อง เพราะความหวาดระแวงก็จะหมดไป เนื่องจากปัจจุบันทุกคนมีความหวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เอ็นจีโอ หรือคนในพื้นที่ ทำให้ทำงานลำบาก นางสาวไซนะ นาแว อายุ 22 ปี จากองค์กร Pattani Forum กล่าวว่า ต้องยุติความรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะความรุนแรงได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลแก่ประชาชนและสังคมวงกว้าง และยังสร้างความขัดแย้งที่ไม่รู้จักจบด้วย
ต้องเร่งแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ นางสาวนูรไอนี มะลี ครูอัตราจ้างโรงเรียนเรียนชุมชนบ้านปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาแล้วหลายรูปแบบมากแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ตนคิดว่าการพูดคุยเจราจาในครั้งนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะที่ผ่านมาแก้ปัญหาโดยรัฐเป็นฝ่ายเดียว โดยการปราบปรามและการเผชิญหน้ากันมากกว่าที่การพูดคุยกัน "การเจราจาครั้งนี้ ดิฉันหวังว่าทั้งสองฝ่ายนั้นจะมีข้อเสนอดีๆให้แก่กัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่กันอย่างสงบซักที เพราะคนในพื้นที่มีความทุกข์กันมานานมากแล้ว" นางสาวนูรไอนี กล่าวต่ออีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นครู ปัญหาแรกที่ควรเร่งแก้ไขโดยด่วน คือการศึกษาของเด็กในพื้นที่ เนื่องจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูถูกทำร้ายจนทำให้ต้องปิดโรงเรียนบ่อยครั้ง จนทำให้เด็กในพื้นที่ค่อยข้างจะเรียนช้าที่กว่าเด็กที่อื่น "การเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะปลูกฝังให้เด็กได้เติบโตเป็นคนดีต่อไปในอนาคต แต่ปัญหาคือครูขาดแคลน เนื่องจากครูที่เป็นต่างพื้นที่รู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดจนไม่กล้าที่จะมาสอนเด็กในพื้นที่ แต่เชื่อว่าหลังจากการเจราจาจบสิ้นลง ความรุนแรงอาจจะเบาบางลงก็เป็นได้
เริ่มต้นด้วยนิรโทษกรรมและทบทวนคดีความมั่นคง นายวีฟาอี มอลอ นักจัดรายการวิทยุจากสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน กล่าวว่า ขั้นแรกของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากมีการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง เพราะปัจจุบันมีทั้งคนที่ทำผิดจริงและคนบริสุทธิ์แต่ตกเป็นแพะรับบาป นายวีฟาอี กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้ว ก็ควรที่จะนำคดีความมั่นคงทั้งหมดมาทบทวนใหม่ว่า มีความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ตั้งแต่การสืบสวน สอบสวน ไปจนถึงกระทั่งพิพากษาของศาล นายวีฟาอี กล่าวต่ออีกว่า ตนคิดว่าเมื่อกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น การทำงานในพื้นที่ก็จะง่ายขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันถูกจำกัดทั้งสิทธิในการสื่อสารหรือถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐ เช่น นักจัดรายการวิทยุบางคนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นก็จะทำให้คนในพื้นที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน นายอับดุลเลาะห์ บินอิสมาแอล ชาวบ้านตำบลสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกมากสำหรับการลงนามพูดคุยสัยติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น เพราะคนที่อยู่ในมาเลที่เป็นลูกหลานคนปาตานีทำไมพวกเขาไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ มันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในรัฐกลันตันและรัฐเคดะห์จะให้ความสนใจมาก แต่ทำไมคนในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีปฏิกิริยาอะไร "หลังการลงนามพูดคุยสันติภาพจนถึงวันนี้ สถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่หยุด และความรุนแรงบ่งบอกถึงอะไร มันยังเป็นข้อสงสัยอยู่ หรือคนที่สร้างสถานการณ์ความไม่สงบใช่ขบวนการบีอาร์เอ็นจริงหรือเปล่า" นายอับดุลเลาะห์ กล่าว นายอับดุลเลาะห์ กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่ต้องการให้แก้ไขคือความยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะความยุติธรรมในพื้นที่แทบไม่มี เช่น มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548) ซึ่งเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยก็ต้องถูกควบคุมตัวไปถึง 30 วันแล้ว จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนให้เกิดความยุติธรรมทั้งคนมุสลิมและคนไทยพุทธให้เท่าเทียมกัน นายอับดุลเลาะห์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมาคือต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คนฉลาด เพราะถ้าคนฉลาดก็จะส่งผลดีในเรื่องการปกครอง และการศึกษาของประชาชนด้วย บวกกับเมื่อมีความยุติธรรมจริงๆ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติภาพขึ้น นายอับดุลเลาะห์ กล่าวต่อไปอีกว่า ต้องการให้เกิดเขตปกครองพิเศษทางด้านภาษาและวัฒนธรรมมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และต้องการที่จะให้คนในพื้นที่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเอง "ต้องการให้มีการลงประชามติว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไร ถ้าคนในพื้นที่ต้องการอย่างนั้น ผมเองก็ต้องการเฉกเช่นเดียวกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกัน" นายอับดุลเลาะห์ กล่าว
การเจรจาต้องทำในพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี คนหนึ่ง กล่าวว่า การเจรจายังไม่มีความชัดเจนว่า มีการเจรจาเรื่องอะไรบ้าง ใครได้ประโยชน์บ้าง และประโยชน์จะตกแก่คนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อย ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่ได้เปิดเผย ทั้งที่เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ควรจะต้องรู้ ชาวบ้านคนเดิม เสนอว่า การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ควรเป็นเรื่องที่เปิดเผย เช่น มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ การแก้ปัญหาต้องทำในระดับนโยบายและต้องชัดเจนทุกหน่วยงาน เพราะจะแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา ชาวบ้านในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีคนหนึ่ง กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะยุติความรุนแรง เนื่องจากมีกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้แตกต่างกัน เช่น กลุ่มต่อสู้ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มที่ต้องการเอกราชจริงๆ แต่ที่ผ่านมาการเจรจาเป็นของกลุ่มผลประโยชน์ ทำให้การแก้ปัญหาไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะไม่เคยทำตามข้อตกลง ชาวบ้านคนเดิม กล่าวอีกว่า ดังนั้นการเจรจาพูดคุยของคนสองคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุติความรุนแรง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นตัวแทนของใครหรือของกลุ่มไหน หากเป็นแค่การสร้างภาพจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ และหากการเจรจาเป็นไปตามข้อตกลงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะมีผลดีหรือผลเสียมากว่ากัน แล้วกลุ่มอื่นๆอีกต้องการอะไร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
OIC หวังพูดคุยสันติภาพไทย-BRN จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน Posted: 22 Mar 2013 05:22 AM PDT สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซีย รายงานคำแถลงของเลขาธิการ OIC ที่หวังว่า "พูดคุยสันติภาพ" จะเปิดโอกาสผู้ส่วนได้เสียอื่นๆในชายแดนใต้ของไทยมีส่วนร่วมด้วยหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี (The Organization of the Islamic Conference – OIC) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 สำนักข่าว BERNAMA ออนไลน์ในประเทศมาเลเซีย รายงานแถลงการณ์ของนาย Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี (The Organization of the Islamic Conference – OIC) แสดงความคาดหวังว่า หลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่าง BRN กับ รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซีย จะเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นที่มีส่วนได้เสียในจังหวัดชายแดนใต้ เข้ามีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ OIC เชื่อมั่นว่า เพื่อการเติมเต็มความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ในการพูดคุยนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับรากเหง้าของปัญหา และตกลงบนประเด็นหลัก อย่างปัญหาทางอัตลักษณ์, วัฒนธรรม, ภาษา, ความยุติธรรม, การพัฒนา, การมีส่วนร่วมทางการเมืองและกิจการภายใน เลขาธิการ OIC ยังยืนยันถึงมิตรภาพระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐสมาชิกอีก 57 ประเทศของ OIC ที่มีผลหลังจากการเยือนไทยของคณะผู้แทนของ OIC เพื่อหารือเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ที่มา : http://www.bernama.com/bernama/v7/ge/newsgeneral.php?id=936166 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ซันเทค' ผู้ผลิต ‘แผงโซล่าเซลล์’ ยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศล้มละลาย Posted: 22 Mar 2013 04:54 AM PDT 'ซันเทค' หนึ่งในผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่สุดของโลกจากจีน ประกาศภาวะล้มละลาย ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทกำลังร่วมกันหาทางฟื้นฟูกิจการดังกล่าว (22 มี.ค.56) บริษัท อู๋ซี ซันเทค ผู้ผลิตแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอู๋ซี ทางภาคตะวันออกของจีน และเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ซันเทค เพาเวอร์ จำกัด (Suntech Power Holdings Co.,Ltd.) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยผลิตแผงโซล่าเซลล์ป้อนให้กับบริษัทแม่มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ประกาศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย และขอเข้ารับความคุ้มครองจากศาลเพื่อปรับโครงสร้างของบริษัทแล้ว ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทกำลังร่วมกันหาทางฟื้นฟูกิจการดังกล่าว สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า การประกาศล้มละลายนี้เกิดขึ้นหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบริษัทซันเทค ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่า 541 ล้านดอลลาร์ได้ และบริษัทแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 มี.ค.56) ว่า กำลังหาทางปรับโครงสร้างหนี้อยู่ ก่อนตัดสินใจประกาศล้มละลายเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร ด้านซันเทคปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว ที่ผ่านมา ผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์รายนี้ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการจัดหาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ล้นตลาด ประกอบกับการเกิดความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐและยุโรป ในข้อกล่าวหาจีนตัดราคาสินค้า และรัฐบาลแดนมังกรให้การอุดหนุนผู้ผลิต ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัว รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ในเมืองอู๋ซี ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของซันเทคว่า บริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้าง ภายใต้กระบวนการล้มละลาย ขณะที่นายหลิว เวินปิง หุ้นส่วนแซฟไฟร์ แคปิตัล บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ แสดงความเห็นว่า เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงในเรื่องนี้ และต้องการที่จะปรับโครงสร้างบริษัท พร้อมรักษาฐานการผลิตเอาไว้ การเคลื่อนไหวข้างต้น ยังเกิดขึ้นหลังในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ คณะกรรมการบริหารซันเทค ได้มีมติปลดนายฉือ เจิ้่งหรง ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แม้นายฉือจะออกมาประท้วงว่า มติดังกล่าวเป็นเรื่องผิดพลาด และผิดกฎหมาย ขณะหนังสือพิมพ์ทเวนตตี้เฟิร์สต์ เซ็นจูรี่ บิสซิเนส เฮอรัลด์ รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า นายฉือได้รับการสนับสนุนจากส่วนบริหารท้องถิ่นของเมืองอู๋ซี และอาจได้กลับเข้ามาบริหารงานซันเทคอีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ บริษัท ซันเทค เพาเวอร์ จำกัด ถือเป็นผู้ผลิตแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกำลังการผลิตที่เริ่มต้นในปี 2545 เพียง 10 เมกะวัตต์ และค่อยๆ เพิ่มกำลังผลิตให้โตขึ้นมาต่อเนื่องจนในปี 2551 เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ และจนถึงสิ้นปี 2554 ผลิตได้ถึง 2,400 เมกะวัตต์ มีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วโลก 30 แห่ง ในอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย จีน ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และเวเนซุเอลา เป็นต้น โดยมีพนักงานทั้งหมดทั่วโลกมากกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้จะมีบุคลากรสำหรับทำการวิจัยและพัฒนามากกว่า 450 คน ส่วนหนึ่งมาจากยุโรป และอเมริกา เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
“ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้”: ชัยชนะของ ‘สุภาพ เกิดแสง’ กับนัยยะที่ตามมา Posted: 22 Mar 2013 04:49 AM PDT ชื่อบทความ: "ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้": ชัยชนะของ 'สุภาพ เกิดแสง' กับนัยยะที่ตามมา [1]
ในขณะที่คนในแวดวงวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยกำลังตื่นเต้นกับการที่ธงชัย วินิจจะกูลได้ขึ้นเป็นประธานสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies) และสาธารณชนจำนวนไม่น้อยก็ยังตื่นเต้นกับแรงกระเพื่อมทางการเมืองของการออกโทรทัศน์ในรายการ "ตอบโจทย์" ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่นักวิชาการชาวไทยที่เป็นข่าวไปทั่วโลกกลับเป็นนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง สุภาพ เกิดแสง ที่ก็ไม่ได้ถูกจับตาในฐานะนักวิชาการ แต่ถูกจับตาในฐานะของพ่อค้าที่ชัยชนะของสิทธิทางการค้าของเขามีผลต่อสิทธิของผู้บริโภคโดยทั่วไปด้วย สุภาพเคยเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงราวๆ 1 ปีมาแล้วเมื่อสื่อเริ่มสนใจคดีที่สำนักพิมพ์ Wiley ฟ้องเขาฐาน "ละเมิดลิขสิทธิ์" เมื่อเขาได้นำเข้าแบบเรียนราคาถูกที่ทำมาขายเฉพาะในเอเชียของสำนักพิมพ์ Wiley ไปขายในสหรัฐอเมริกาในขณะที่เขากำลังศึกษาอยู่ [2] ในตอนนั้นคดีสู้กันไปถึงจบชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว และสุภาพก็แพ้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นมาจนถึงศาลอุทธรณ์ และยืนยันว่าจะสู้ต่อไปในชั้นศาลสูงสุด หรือจะเรียกว่าศาลฎีกาก็ได้ในบริบทไทย ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บรรดาสื่อที่ให้ความสนใจด้านลิขสิทธิ์ล้วนให้ความสนใจจับตามองคดีของสุภาพมาตลอด และสื่อจำนวนมากที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบลิขสิทธ์ หรือมีจุดยืนในการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ก็มักจะลงข่าวของเขาอย่าง "เชียร์" สุภาพมาโดยตลอด ซึ่งนี่เป็นภาพที่ต่างจากภาพของเขาในสื่อไทยมากๆ ที่คนมักจะมองเขาอย่างค่อนข้างลบ ซึ่งคนรอความพ่ายแพ้ของเขาในศาลสูงสุดของเขาอย่างใจจดใจจ่อก็มักจะเป็นผู้ที่หวาดกลัวว่าชัยชนะของเขาจะนำมาสู่จุดจบของแบบเรียนฉบับเอเชียราคาถูก อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุด ในวันที่ 19 มีนาคม 2555 ศาลสูงสุดก็กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และตัดสินให้เขาชนะคดีด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 โดยผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าวลี "lawfully made under this title" (น่าจะแปลไทยได้ว่า "ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้") [3] ในประมวลกฎหมายอเมริกาหมวดลิขสิทธิ์นั้นครอบคลุมถึงสิ่งที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย (เข้าใจว่าหมายถึงบรรดาประเทศคู่สัญญาด้านลิขสิทธิ์เท่านั้น) ดังนั้นสุภาพจึงมีสิทธิภายใต้ "หลักการขายครั้งแรก" (first sale doctrine) หรือมีสิทธิที่จะขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ที่ตนได้ซื้อมาอย่างชอบธรรมแม้ว่าเขาจะซื้อมาจากนอกอเมริกา กล่าวในอีกแง่หนึ่ง "หลักการขายครั้งแรก" ก็คือหลักที่ว่าสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะจบลงเมื่อผู้ซื้อได้ซื้อมันมาอย่างถูกต้องนั้นครอบคลุมไปในทุกที่ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าไม่ใช่แค่ในอเมริกา ที่น่าสนใจคือผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่เสริมในคำตัดสินด้วยว่า "หลักการขายครั้งแรก" เป็นหลักการที่มีระบุไว้ในกฎหมาย แต่สิทธิในการผูกขาดการตั้งราคาต่างกันในแต่ละพื้นที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่มีในกฎหมาย และก็ไม่น่าจะอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน แน่นอนอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ก็ออกมาประสานเสียงโวยวายกันกับคำตัดสินว่าคำตัดสินนี้จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอเมริกันมหาศาล และสื่อกระแสหลักในต่างประเทศก็มักจะแสดงออกซึ่งเสียงเหล่านี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่สื่อจำนวนมากไม่ค่อยจะกล่าวถึงก็คือถ้าคำตัดสินออกมาตรงกันข้ามจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าคำตัดสินออกมาตรงข้ามหรือตัดสินว่า "หลักการขายครั้งแรก" นั้นไม่ครอบคลุมถึงสินค้าในต่างประเทศผู้ที่เสียหายที่สุดเบื้องต้นคือเหล่าผู้บริโภคอเมริกันที่จะถูกลิดรอนสิทธิที่ตนมีทั้งหมดจากสินค้าลิขสิทธิ์นำเข้า แน่นอนว่าเบื้องต้นหนังสือ เสื้อผ้า ซีดี ฯลฯ ที่ผลิตในต่างประเทศนั้นจะไม่ถูกนำมาขายได้ในตลาดมือสองโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะหลังจาก "หลักการขายครั้งแรก" นั้นไม่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศแล้ว ผู้ที่มีสิทธิ์ขายสินค้านี้ไม่ว่าจะเป็นมือ 1 มือ 2 มือ 3 หรือมือที่เท่าไรก็มีแต่เพียงเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ผู้ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถจะนำไปขายได้ นอกจากนี้วลี "ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้" นั้นยังอยู่ในข้อยกเว้นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของการ "แสดงให้เห็น" (display) ด้วย [4] ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โปสเตอร์ หรือสติ๊กเกอร์ที่ประกอบไปด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศอย่างถูกต้องนั้นเมื่อนำมาสวมใส่หรือแค่ปะกำแพงไว้ในบ้านก็อาจถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกันหากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนนำมานำมาแสดงให้เห็น ซึ่งข้อจำกัดทางกฎหมายแบบนี้แทบจะทำลายประโยชน์ใช้สอยของสิ่งของจำนวนมากไปเลยหากเจ้าของต้องการจะปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ถ้าปัญหาของสินค้าเล็กๆ ทั้งหมดนี้แน่นอนนี้อาจยังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่ อันที่จริงแล้วสินค้าใหญ่ๆ นั้นก็อยู่ใต้หลักเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น หากจะมีผู้ขายบ้านขายบ้านแล้วมีองค์ประกอบใดๆ ในบ้านผลิตในต่างประเทศ ผู้ขายบ้านก็ไม่อาจแน่ใจว่าเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะมาฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ในการขายบ้านที่ประกอบไปด้วยสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ที่พ่วงอยู่ในบ้านหรือไม่ หรือแม้แต่รถยนต์สมัยใหม่ที่มีซอฟต์แวร์โปรแกรมติดอยู่ในรถ การนำรถมาขายเป็นรถมือสองก็มีความเสี่ยงที่จะละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของซอฟต์แวร์ และนี่ก็คือตัวอย่างที่ศาลสูงยกออกมาเองในคำพิพากษา บรรดาร้านขายสินค้ามือสองก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากผู้บริโภคในการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือมือสอง ร้านเสื้อผ้ามือสอง ร้านซีดีมือสอง ร้านรถมือสอง ฯลฯ บรรดาธุรกิจการค้าออนไลน์ต่างๆ ก็มีความเสี่ยงในการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งในระดับของร้านค้าที่นำสินค้าจากต่างประเทศมาขายเอง หรือที่เป็นตัวกลางการค้าของผู้บริโภคอย่าง Ebay ร้านค้าออนไลน์ชื่อก้อง นอกจากนี้ทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงคลังจดหมายเหตุก็มีความเสี่ยงที่กิจกรรมของตนจะละเมิดลิขสิทธิ์ได้ได้หากสิ่งที่ตนให้บริการแก่ผู้คนนั้นผลิตมาจากต่างประเทศ อาทิ การที่พิพิธภัณฑ์แสดงรูปของศิลปินที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์ (เช่น ปิกัสโซ) หรือการที่ห้องสมุดให้ยืมหนังสือที่พิมพ์นอกสหรัฐอเมริกานั้นก็อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งนั้นถ้าวลี "ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้" นั้นไม่ครอบคลุมถึงภาคและหนังสือที่ถูกสร้างขึ้นในต่างประเทศ หากจะกล่าวโดยย่นย่อแล้วถ้าคำตัดสินต่างออกไปจากนี้ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอีกมากมายก็จะได้รับความเสียหายเช่นกัน ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ไม่เคยกล่าวถึง เช่นเดียวกับที่เคยฉายภาพความชั่วร้ายของการทำสำเนาเถื่อนบนฐานของความเสียหายทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมและมองข้ามมูลค่าผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้จากการทำสำเนาเถื่อนโดยตรง (ยังไม่ต้องพูดถึงผลดีทางอ้อมที่เกิดขึ้นทั้งหมด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาพิจารณาด้วยก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจใดๆ นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนทันทีที่คำพิพากษาต่างออกไป แต่ในระยะยาวแล้วหลายๆ ฝ่ายก็มีการวิเคราะห์ว่าการที่ "หลักการขายครั้งแรก" ไม่ครอบคลุมสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศนั้นจะทำให้บรรดาอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ย้ายฐานการผลิตออกไปที่ต่างประเทศหมด เพื่อหาประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคในอเมริกันไม่มีสิทธิภายใต้ "หลักการขายครั้งแรก" อีกแล้ว เช่นการขายใบอนุญาตเพื่อใช้สินค้าต่างๆ [5] ซึ่งการย้ายฐานการผลิตที่ว่านี้จะทำให้ชาวอเมริกันที่ทำงานในภาคการผลิตต้องสูญเสียอาชีพไปอย่างมหาศาลแน่ๆ ปัญหาการที่งานไหลออกนอกประเทศนี้ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของระบบเศรษฐกิจอเมริกันและนี่ก็ไม่ใช่ภาพที่อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์จะฉายให้เห็นในกรณีที่สุภาพแพ้คดี ปัญหาอันซับซ้อนทั้งหมดนี้ที่จะเกิดขึ้นถ้าคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นไปในอีกทิศทางก็ดูจะไม่อยู่ในความสนใจของชาวไทยจำนวนมากที่มีความใส่ใจหลักเพียงแค่ "แบบเรียนจะแพงขึ้น" เนื่องจากความครอบคลุมของหลักการขายครั้งแรกนั้นจะทำให้มีบรรดาพ่อค้าทำการซื้อหนังสือที่ราคาถูกจากที่หนึ่งไปขายตัดราคาในที่ๆ ของขายแพงกว่าเช่นเดียวสุภาพกันเป็นล่ำเป็นสันจนบรรดาสำนักพิมพ์แบบเรียนไม่สามารถจะสร้างความเหลื่อมล้ำของราคาในแต่ละพื้นที่ได้ และขึ้นราคาแบบเรียนในเอเชียในที่สุด อย่างไรก็ดีการหมดสิ้นของความแตกต่างของราคาที่ว่านี้มันก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเป็นไปในทิศทางของการขึ้นราคาของแบบเรียนนอกอเมริกา เพราะแบบเรียนในอเมริกาเองนั้นก็อาจจะมีราคาลดลงมาเท่ากับแบบเรียนนอกอเมริกาก็ได้ เพราะอย่างน้อยๆ สำนักพิมพ์พวกนี้ก็ไม่ใช่นายทุนใจดีที่ตั้งใจจะพิมพ์หนังสือในเอเชียถูกๆ เพื่อให้เด็กเอเชียมีภูมิปัญญาทัดเทียมกับตะวันตก แต่พวกสำนักพิมพ์วิชาการในเชิงพาณิชย์คือ "นายทุนหน้าเลือด" อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ [6] ที่พร้อมจะขูดรีดเงินจากระบบการศึกษาทุกรูปแบบ ดังนั้นการที่แบบเรียนในเอเชียราคาถูกกว่านั้นดูจะสะท้อนให้เห็นกลยุทธ์การตั้งราคาตามกำลังซื้อของนักศึกษาในเอเชียเพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุดมากกว่า ดังนั้นการขึ้นราคาแบบเรียนในเอเชียจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะนั่นจะทำให้ยอดขายลดลงจนผลกำไรหดหายไป ซึ่ง "นายทุนหน้าเลือด" พวกนี้ก็ย่อมต้องการหลีกเลี่ยง ดังนั้นวิธีการที่ดูจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดกว่าก็คือการล็อบบี้ให้รัฐบาลตั้งกำแพงภาษีหนังสือจำพวกแบบเรียน ที่จะส่งผลให้ราคาแบบเรียนจากเอเชียบวกกับภาษีนำเข้านั้นพอๆ กับราคาแบบเรียนที่ขายในอเมริกา ซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจแบบนี้ย่อมลดแรงจูงใจในการที่คนอื่นๆ จะทำแบบเดียวกับสุภาพแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ในทางทฤษฎี จะเห็นว่าไม่มีการแก้กฎหมายใดๆ เท่านั้นที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่ Wiley พยายามแก้ด้วยการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีพอเรื่องมาถึงขั้นนี้ที่ศาลสูงตัดสินไปแบบนี้แล้ว อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ก็สั่นสะเทือนไปเรียบร้อยแล้วและมี "นักการเมือง" บางคนของอเมริกาออกมาโวยวายให้มีการแก้กฎหมายเพื่อสนับสนุนธุรกิจของบรรดา "นายทุน" ของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว น่าสงสัยเหลือเกินว่านายทุนพวกนี้จะรู้บ้างไหมว่ามีผู้คนจากประเทศโลกที่สามจำนวนไม่น้อยกำลังสนับสนุนเขาอยู่ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้แบบเรียนในเอเชียจะยังมีราคาถูกอยู่ ผู้สนับสนุนนายทุนเหล่านี้อย่างอ้อมๆ จะ "รู้ทัน" เหล่านายทุนพวกนี้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ผู้เขียนอยากจะแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้มีความรู้เพียงพอที่จะให้รู้ทันนายทุนเหล่านี้นั้นก็มาจากเว็บไซต์ที่ให้อ่านได้ฟรีๆ ที่น่าจะ "ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้หมวดนี้" ทั้งนั้น ไม่ได้มาจากแบบเรียนราคาถูกที่ผลิตในเอเชียใดๆ แม้แต่ฉบับเดียว อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลรธน.เกาหลีใต้ ฟันคำสั่ง 'ปักจุงฮี' ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน Posted: 22 Mar 2013 04:14 AM PDT ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ออกคำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์ ชี้กฤษฎีกาของประธานาธิบดีปักจุงฮีเมื่อ 39 ปีก่อนขัดรัฐธรรมนูญ ปูทางสู่การลบล้างคำพิพากษาที่เคยตัดสินคดีการเมืองด้วยกฎหมายเผด็จการทั้งหมด เมื่อวันพฤหัสบดี ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยเสียงเอกฉันท์ ว่า กฤษฎีกาฉุกเฉินของประธานาธิบดี ฉบับที่ 1, ฉบับที่ 2, และฉบับที่ 9 ซึ่งออกเมื่อปี 2517 และปี 2518 มีเนื้อหา "ไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย" โดยศาลมีมติเอกฉันท์ 8-0 ระบุว่ากฤษฎีกาฉุกเฉินดังกล่าว "จำกัดสิทธิและละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างเกินเหตุ" ปักจุงฮี บิดาของประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ปักกึนเฮ ได้ปกครองประเทศระหว่างปี 2504-2522 ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหาร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฤษฎีกาฉบับที่ 1 และที่ 2 ได้ "ห้ามวิจารณ์รัฐบาล" และ "ใช้อำนาจตุลาการในทางที่ผิด รวมทั้งละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิทางการเมืองของพลเมือง" คำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์นี้จะส่งผลให้บรรดาคำพิพากษาในอดีต ที่ได้ตัดสินคดีโดยใช้กฤษฎีกาซึ่งอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญยูชิน ปี 2515 เป็นโมฆะทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยดังกล่าวหลังจากอดีตนักโทษการเมือง โอจองซัง อายุ 71 ปี กับพวกอีก 5 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแห่งนี้เมื่อปี 2553 เมื่อปี 2517 โอได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดกฤษฎีกาฉุกเฉินของประธานาธิบดี ฉบับที่ 1 และกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ เขาถูกซ้อมทรมานและถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ฐานวิพากษ์วิจารณ์ปักจุงฮีกับเด็กหญิงมัธยมบนรถบัส ในปี 2550 โอได้ขอให้ศาลตัดสินคดีของเขาใหม่ตามคำแนะนำของคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ ต่อมาในปี 2553 ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาดังกล่าว และประกาศให้เขาพ้นผิดในทุกข้อหา ปักจุงฮีประกาศใช้รัฐธรรมนูญยูชินในปี 2515 เพื่อให้ตนสามารถครองอำนาจได้โดยไม่มีกำหนด เขาได้ออกกฤษฎีกาหลายฉบับ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 ของรัฐธรรมนูญยูชิน ซึ่งเปิดทางให้เขาใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่างๆผ่านหน่วยงานรัฐ เช่น องค์การข่าวกรองกลางเกาหลี ในการปราบปรามสื่อมวลชนและพลเมือง กฤษฎีกาฉุกเฉินของประธานาธิบดีฉบับที่ 1 ซึ่งออกในเดือนมกราคม 2517 ได้ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงความเห็นคัดค้านรัฐธรรมนูญยูชิน และฉบับที่ 2 ได้อนุญาตให้คุมขังบุคคลที่ละเมิดกฤษฎีกาฉบับที่ 1 ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ และกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ในปี 2518 ปักจุงฮีได้ออกกฤษฎีกาฉบับที่ 9 สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองทุกรูปแบบ เพื่อปราบปรามการประท้วงของนักศึกษา ปักจุงฮีได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2504 แล้วเข้าปกครองประเทศในฐานะผู้นำทหาร จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่สามของเกาหลีใต้ในปี 2506 และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2522 ที่มา: วอยซ์ทีวี, New York Times
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ไมโครซอฟท์ เผย รบ.ไทยขอข้อมูล 83 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา Posted: 22 Mar 2013 03:55 AM PDT ไมโครซอฟท์เผย รัฐบาลไทยขอข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้ 83 ครั้ง รวมผู้ใช้ 105 คน โดยไมโครซอฟท์เคยส่งข้อมูลให้ 73 ครั้ง อีกสิบครั้งนั้นไมโครซอฟท์ไม่พบข้อมูล เว็บไซต์บล็อกนัน เว็บข่าวไอที รายงานว่า ไมโครซอฟท์ บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยจำนวนการขอข้อมูลส่วนบุคคลจากรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกในปี 2555 ที่ผ่านมา โดยรวมแล้วมีการขอข้อมูล 70,665 ครั้ง รวมเป็นผู้ใช้ทั้งหมด 122,015 คน ประเทศที่ขอข้อมูลมากที่สุด คือ สหรัฐฯ ขอข้อมูล 11,073 ครั้งรวมผู้ใช้ 24,565 คน อันดับสองคือตุรกี 11,434 ครั้ง ฝรั่งเศส 8,603 ครั้ง, เยอรมนี 8,419 ครั้ง และไต้หวัน 4,381 ครั้ง ส่วนข้อมูลของไทยนั้น มีการขอข้อมูลไปทั้งสิ้น 83 ครั้ง รวมผู้ใช้ 105 คน และไมโครซอฟท์เคยส่งข้อมูลให้รวม 73 ครั้ง อีกสิบครั้งนั้นไมโครซอฟท์ไม่พบข้อมูล ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สำหรับไทยน่าแปลกใจว่า รายงานของกูเกิลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการขอข้อมูลผู้ใช้มากนัก แม้จะมีการขอให้ปิดกั้นข้อมูลจากประเทศไทยก็ตามที ขณะที่ฝั่งไมโครซอฟท์ กลับเป็นการขอข้อมูลโดยตรง
ที่มา: ดูเพิ่มเติมที่: ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อดีตผู้นำสตรีพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสียชีวิตแล้วที่นราธิวาส Posted: 22 Mar 2013 03:29 AM PDT "สุริอานี อับดุลลาห์" อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งมีบทบาทต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียชีวิตแล้วในวัย 89 ปี ที่บ้านพักใน จ.นราธิวาส มาเลเซียกินี รายงานว่า นางสุริอานี อับดุลลาห์ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) เสียชีวิตแล้วเมื่อเช้าวานนี้ (22 มี.ค.) ด้วยวัย 89 ปี ที่บ้านพักใน จ.นราธิวาส หลังจากต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ และอาการสูญเสียความจำมาเกือบ 5 ปี เหลือเพียงสามี นายอับดุลลาห์ ซีดี ประธานพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และบุตรสาวการิสมา โฆษกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา มัต อามิน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2467 ชื่อเดิมคืออิง หมิง ชิง เป็นชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน เกิดที่เซเตียวัน รัฐเประ โดยเรียนที่โรงเรียนมัธยมนาน ฮวา ที่บ้านเกิด โรงเรียนเดียวกับฉิน เผิง หรือที่ทางการไทยเรียกว่าจีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี ได้ร่วมกับขบวนการใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในปี พ.ศ. 2483 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สุริอานี มีบทบาทในการจัดตั้งกรรมกรหญิงในหุบเขาคินตา รัฐเประ และต่อมาเข้าร่วมกับกองทัพประชาชนมลายาต่อต้านญี่ปุ่น (MPAJA) โดยในปี พ.ศ. 2518 สุริอานี ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ทั้งนี้พิธีฝังศพของสุริอานี เป็นไปตามหลักของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และญาติมิตรไปร่วมงานได้ร่วมกันแบกโลงศพไปฝังในสุสานที่ห่างออกจากบ้านพัก 1 กม. (ดูภาพประกอบที่นี่) เจมส์ วง วิน ออน นักสังเกตการณ์การเมืองมาเลเซีย ให้ข้อมูลกับมาเลเซียกินีว่า ในการประชุมนานาชาติที่ปักกิ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 2490 สุริอานีได้รับการยกย่องให้เป็น "วีรชนแห่งการต่อต้าน" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเธอปรากฏตัวต่อสาธารณะไม่บ่อยนัก ที่สำคัญคือการปรากฏตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในฐานะบุคคลสำคัญ เพื่อร่วมในพิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์มลายากับรัฐบาลมาเลเซีย และในราวปี 2533 สุริอานี และสามีคืออับดุลลาห์ ซีดี ซึ่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสุลตานรัฐเประ และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 พวกเขาได้ไปร่วมพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จุฬาราชมนตรีขานรับเตรียมชงมุสลิมะห์เป็นกรรมการอิสลามทั่วประเทศ Posted: 22 Mar 2013 03:23 AM PDT คปก. ผลักดันระเบียบเสนอผู้หญิงเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เผยจุฬาราชมนตรีขานรับข้อเสนอให้มีมุสลิมะห์เข้าร่วมทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามทั่วประเทศ เพื่อรองรับประเด็นอ่อนไหวเฉพาะของผู้หญิง ชี้ไม่มีข้อห้ามตามหลักการศาสนา เมื่อวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2556 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เวทีขับเคลื่อนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ "ผู้หญิงกับกระบวนการยุติธรรม" ณ โรงแรมเมอร์เคียว กระบี่ ดีวาน่า จังหวัดกระบี่ ผู้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ศูนย์ทนายความมุสลิม ตัวแทนเครือข่ายสตรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี นักวิชาการอิสระ และสมาชิกวุฒิสภา คือนายสุริยัน ปันจอร์ และ ดร.วรวิทย์ บารู ดร.วิระดา สมสวัสดิ์ ผู้นำการเสวนาได้รายงานความคืบหน้าประเด็นที่จะมีการนำเสนอต่อจุฬาราชมนตรี ให้มีการพิจารณาให้ผู้หญิงสามารถเป็นคณะกรรมการอิสลามได้ โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่าขณะนี้จุฬาราชมนตรีขานรับข้อเสนอ และยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามแต่อย่างใด นายสุริยัน ปันจอร์ สว.จังหวัดสตูลและรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสตูล กล่าวยืนยันในเวทีพร้อมให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยเคยมีคณะกรรมการอิสลามที่เป็นผู้หญิงมาแล้ว ที่มัสยิดต้นสน กรุงเทพมหานคร แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการจังหวัดอื่นๆ แต่เมื่อดูหลักการศาสนาอิสลามแล้ว ที่ระบุว่า คำว่า "มุสลิม" เท่านั้น โดยสามารถตีความได้สองความหมายคือ มุสลิมที่แปลว่า ผู้ชาย หรือเป็นที่ใช้เรียกผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วไปไม่แยกเพศ จึงทำให้คณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้มีผู้หญิงเป็นคณะกรรมการอิสลามได้ในขณะนั้น นายสุริยันกล่าวว่า เมื่อสองปีที่แล้วเคยมีการหารือถึงประเด็นดังกล่าวในคณะกรรมการอิสลามในประเทศไทย แต่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าผู้หญิงมุสลิมสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอิสลามได้หรือไม่ มีเพียงความเห็นว่า ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวจะร่วมทำงานกับมุสลิม(ชาย)ที่เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เหมาะสมในตอนนั้น และกระบวนการเสนอชื่อคัดเลือกตัวแทนเพื่อเข้าชิงตำแหน่งทางศาสนายังจำกัดในวงของผู้ชาย ตั้งแต่การเลือกโต๊ะอิหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ทำให้ผู้หญิงไม่เคยได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวเลย "ที่ผ่านมาการคัดเลือกตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามมาจากผู้ที่เข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ ซึ่งในประเทศไทยผู้หญิงไม่ได้ไปร่วมละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดด้วย ฉะนั้นที่ผ่านมาการเสนอชื่อคณะกรรมการอิสลามในการเข้าชิงตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามจึงไม่มีผู้หญิงถูกเสนอเลย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดต่อหลักการแต่อย่างใด" นายสุริยัน ปันจอร์ กล่าว นายวรวิทย์ บารู สว.จังหวัดปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมเวทีดังกล่าวด้วย แสดงความคิดเห็นว่า คณะกรรมการอิสลามต้องรับผิดชอบในทุกกิจการของมุสลิม ซึ่งตนเห็นด้วยกับการเสนอให้มีผู้หญิงมาทำงานในคณะกรรมการอิสลามเพื่อดูแลประเด็นผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเคยมีการยกประเด็นดังกล่าวเมื่อสองปีที่แล้ว โดยสมัยดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอามีร์การประกอบพิธีฮัจย์ เคยเสนอให้มีกิจการสตรีสำหรับผู้ประกอบกิจการฮัจย์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็นประเด็นเฉพาะของมุสลิมะห์ที่ควรจะมีการดูแลเฉพาะ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ต้องมีผู้ที่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นเพื่อเสนอและผลักดัน สว.ปัตตานี ยังสะท้อนปัญหาประเด็นที่ไม่มีผู้หญิงในคณะกรรมการอิสลามด้วยว่า เนื่องจากองค์กรการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นศาสนาในประเทศไทยยังมีสถานะที่ไม่ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งทำให้กิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้มากนัก เพราะคนทำงานเองทำงานด้วยความสมัครใจ และตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากคนส่วนใหญ่ บางพื้นที่ได้ผู้ทำงานไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำงาน โดยเฉพาะขาดองค์ความรู้ด้านกฎหมายอิสลาม ซึ่งส่งผลต่อการตีความประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นการยอมรับผู้หญิงเข้ามาทำงานในกิจการอิสลามด้วย ทั้งๆที่หลักการได้เปิดกว้าง นายวรวิทย์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่ให้พื้นที่ทางการเมืองสำหรับผู้หญิงเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลกที่กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงที่จะเข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองในโครงสร้างการปกครองของประเทศ 35 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าชิงทั้งหมดอย่างชัดเจน จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้เห็นว่า บางประเทศให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมบางอย่างที่เดิมทีไม่เคยมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้าชิงตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่คาบเกี่ยวกับศาสนา นายธีรภทร์ วารีย์ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตำแหน่งใดๆ ทางศาสนาผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จะสามารถเข้ารับเลือกดำรงตำแหน่งได้ แต่ต้องเข้าใจว่า หลักการอิสลามได้ระบุว่า ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรใดๆควรให้ผู้ชาย เนื่องจากความเหมาะสมหลายอย่าง ในส่วนความเห็นจากผู้เข้าร่วมที่เป็นมุสลิมะห์ในวงเสวนา ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นการเสนอผู้หญิงทำงานเพื่อผู้หญิงไม่ควรเอาการเมืองมาเกี่ยวข้องและควรมีความโปร่งใสในการคัดสรรบุคคลเข้ามาทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการต่อต้านผู้หญิงเข้ามาทำงาน ซึ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือพยายามจะลากสู่ประเด็นที่ไม่พอใจต่อที่มาของการได้ตำแหน่งของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อหลักการศาสนา l ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บรรษัทข้ามชาติอีเล็คทรอนิคเนเธอร์แลนด์ NXP ปิดงานคนงานไทย Posted: 22 Mar 2013 03:13 AM PDT สมาชิกสหภาพแรงงานหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากสายพานการผลิตที่โรงงาน NXP หลักสี่ กรุงเทพฯ เที่ยงคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยบริษัทให้คนงานลงชื่อเพื่อยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่ หากคนงานไม่ยอมรับให้ออกไปจากโรงงาน 22 มี.ค. 56 - เว็บไซต์ industri all รายงานว่านับแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา สหภาพแรงงานและบริษัทได้มีการเจรจาข้อตกลงสภาพการทำงานโดยบริษัทได้พยายามผลักดันให้สหภาพแรงงานยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่ที่พนักงานการผลิตต้องทำงานต่อเนื่อง 4 วันและหยุด 2 วัน; วันสุดสัปดาห์ไม่มีค่าล่วงเวลา; บริษัทสามารถให้พนักงานทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า; ลดวันลาพักผ่อนประจำปี จาก 12 วันเป็น 8 วัน; ยกเลิกโครงสร้างการปรับค่าจ้างและการปรับเลื่อนตำแหน่งพนักงานรายวันออกจากข้อตกลงที่ทำกับสหภาพแรงงาน โดยให้เป็นอำนาจของผู้บริหารแต่ฝ่ายเดียวในการตัดสินใจ ประธานสหภาพแรงงาน NXP วัลลภ ชูจิตร์ กล่าวว่าบริษัทได้แทรกแซงกระบวนการเจรจาต่อรองร่วม โดยการข่มขู่และบังคับคนงานให้ยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่ 'บริษัทขู่ว่าหากคนงานไม่ยอมรับ จะตกงาน เพราะบริษัทจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น "คนงาน NXP ได้รับการแจ้งว่า หากไม่ยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่ พวกเขาจะตกงานเพราะบริษัทจะย้ายการผลิตไปยังประเทศอื่น พวกเรารู้สึกแย่มากๆ ที่ได้ยินว่าบริษัทไล่คนงานออกจากโรงงานกลางดึกโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานโดยเฉพาะพนักงานหญิงซึ่งบางคนตั้งครรภ์" NXP ขู่ว่าจะย้ายการผลิตไปยังโรงงานที่จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ คนงานหญิง NXP กล่าวว่า "โรงงานนี้ก่อตั้งมา 38 ปี คนงานส่วนใหญ่ทำงานที่นี้มากกว่า 10 ปี คนงานส่วนใหญ่มีครอบครัว ระบบการทำงานแบบใหม่ที่บริษัทเสนอ ทำให้พวกเราไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์และไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว" วันที่ 1 มีนาคม คนงานร่วมการนัดยุดงานกับสหภาพแรงงานและชุมนุมที่ริมถนนนอกรั้วบริษัทเพื่อประท้วงในเรื่องปัญหาการบังคับทำงานล่วงเวลา ปัญหาการลดลงของค่าจ้าง และปัญหานโยบายการเลือกปฏิบัติของบริษัทต่อพนักงานรายวัน วันที่ 13 มีนาคม ภายใต้ธงของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำโดยชาลี ลอยสูง สมาชิกสหภาพแรงงาน NXP เดินขบวนหน้าสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ที่กรุงเทพฯ NXP ในประเทศไทยจ้างงาน 3200 คนพนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน 345 บาท NXP เป็นบริษัทชั้นนำของโลกในด้านการออกแบบและผลิตแผงวงจรอีเล็คทรอนิค (IC-Integrated Circuits) บริษัท NXP เป็นซัพพรายเออร์ของ Apple, Samsung, Nokia, Dell, GM, BMW, Ford, Mercedes, Audi, ตลอดจนสายการบินต่างๆ สหภาพแรงงาน NXP จะเข้าร่วมขบวนการแรงงานสากลโดยร่วมกับสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อีเล็คทรอนิค ยานยนต์และโลหะ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น