โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับ ‘ชื่นชม’: เปิดสัญญาขายก๊าซ รู้โครงสร้าง-รู้จักภาระ(ที่ไม่ควรเป็น)ของเรา

Posted: 19 Mar 2013 11:35 AM PDT

 

ใกล้ถึงวันหยุดส่งก๊าซจากพม่า 5-14 เม.ย.ไปทุกที แต่ข่าวสารตลอดเดือนที่ผ่านมาก็น่าจะทำให้เรื่องวิกฤตไฟฟ้าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว หลายคนเบาใจกับสถานการณ์ที่ การไฟฟ้าทั้งสาม น่าจะ "เอาอยู่" เหลือไว้แต่เพียงร่องรอยความทรงจำว่า "ก๊าซไม่แน่ไม่นอน ถ่านหินสิแน่นอนกว่า"  ถึงขั้นที่ กฟผ.เตรียมชงให้ถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเราใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ามากเกินไป (เกือบ 70%) 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดูเหมือนคลี่คลาย แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนจากมุมมองอื่นๆ อีกครั้ง
 

 

ชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิจัยด้านพลังงานกลับจากสหรัฐอเมริกามาเมืองไทยในช่วงเกิดวิฤตก๊าซจากพม่าพอดี 'ประชาไท' ชวนเธอพูดคุยถึงสถานการณ์นี้และได้ข้อมูลบางประการที่น่าสนใจ เช่น

กรณีนี้สมควรเป็นวิกฤตหรือไม่ ?  เป็นเรื่องจัดการไม่ได้จริงหรือ? ใครควรรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมาเป็นน้ำมันเตา/ดีเซล? รวมถึงเพราะอะไรพลังงานทางเลือกจึงเป็นหมัน แม้แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้สวยหรู ขยับจาก 1% เป็น 20%

เราเริ่มต้นคุยกันด้วยการเปิดสัญญาการซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับบริษัทร่วมทุนในฝั่งพม่าที่ขายก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุน

ปตท.เป็นผู้ผูกขาดการซื้อขายก๊าซรายเดียวของประเทศ ขณะที่บริษัทร่วมทุนฝั่งพม่าประกอบด้วย กระทรวงปิโตรเลียมของพม่า บริษัทพลังงานชั้นนำของโลก รวมถึง ปตท.สผ. บริษัทลูกของ ปตท. ด้วย

โดยสรุป สัญญาระบุไว้ว่า หนึ่ง การปิดซ่อมนั้นกระทำได้ ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน  สอง จะต้องแจ้งคู่สัญญาล่วงหน้า 1 ปีหรือย่างน้อยที่สุด 6 เดือนก่อนถึงวันซ่อม  สาม แม้จะซ่อมก็ต้องส่งก๊าซให้ได้ 50% ของที่เคยส่ง  สี่ หากไม่สามารถส่งได้ตามนั้นจะต้องลดค่าก๊าซให้ 25% ของจำนวนที่ขาดหายไป

 

ตารางรายชื่อบริษัทร่วมทุนในพม่า (ที่มา:โครงการพลังงานทางเลือก)

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามจึงเกิดขึ้นหลากหลายประเด็น

"อย่างนี้แสดงว่ารู้กันมาตั้งแต่อย่างน้อย 6 เดือนล่วงหน้า ถ้าจะเกิดไฟดับจริงทำไมเพิ่งมาตีปี๊บเดือนสองเดือนล่วงหน้า ทำไมไม่เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ " – คำถามที่หนึ่ง

"ถ้าไม่รู้ล่วงหน้า อยู่ดีๆ ฝ่ายบริษัทร่วมทุนเพิ่งมาแจ้งขอเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกละหุก อันนี้ถือว่าเขาผิดสัญญา ทำไม ปตท.ไม่รักษาสิทธิตามสัญญา เป็นประเด็นถามกลับไปยังกระทรวงพลังงานด้วยว่า คุณบริหารอย่างไร" – คำถามที่สอง

"การซ่อมทำได้ แต่การส่งก๊าซไม่ใช่หายไปเลยทั้ง 100% อย่างน้อยต้องส่งก๊าซ 50% เรื่องนี้ไม่มีการพูดถึงเลย ปีที่แล้วก็หายไปเลยทั้งหมดแบบนี้เหมือนกัน ปตท.เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในสัญญา ทำไมยอมให้เราเสียเปรียบขนาดนี้ แล้วส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภคอย่างเดียว หรือ ปตท.ได้ใช้สิทธิในการได้ราคาส่วนลดหรือเปล่า และถ้าได้ ได้แค่ไหน อยากให้เปิดเผย" – คำถามที่สาม

 

ที่มา: กฟผ.

คำถามเหล่านี้สำคัญเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของเรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้นสามารถผลักต้นทุนที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาส่งผ่านมาให้ผู้บริโภคได้ง่ายๆ ผ่าน "ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ" หรือที่เรารู้จักกันในนาม "ค่าเอฟที"

นักวิจัยด้านพลังงานคนนี้ระบุว่า ทุกการขึ้นค่าเอฟที 1 สตางค์ หมายถึงเงินที่ กฟผ.ได้เพิ่มขึ้น 1,500-2,000 ล้านบาท  และค่าเอฟทีในช่วงรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.ของปีนี้ มีการขึ้นค่าเอฟทีไปแล้ว 1 สตางค์ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตก๊าซพม่าอาจมีแนวโน้มจะทยอยเพิ่มในค่าเอฟทีของผู้บริโภคอีก

"แม้ยังไม่พูดชัดเจนว่าจะส่งให้ผู้บริโภค แต่ถ้าทาง กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ทำเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ก็คงหนีไม่พ้นผู้บริโภคที่จะต้องรับภาระ" ชื่นชมกล่าว

เธอเคยอธิบายถึงกลไกการคำนวณค่าเอฟทีไว้ว่า มันเป็นกลไกที่สามารถโปะต้นทุนทุกอย่างให้ทุกคนช่วยกันจ่าย ทั้งที่โดยปกติควรจะนับเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเดียวเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงมีความผันผวนสูง แต่ทำไปทำมาก็รวมส่วนอื่นเข้าไปด้วย เช่น ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)  ค่าเชื้อเพลิง ค่าประกันกำไร ค่าความเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญ หากทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้สูงเกินไปทำให้มีโรงไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น ก็จะนำเอาส่วนที่คำนวณเกินมารวมไว้ในเอฟทีด้วย

"โครงสร้างทั้งหมดของการคิดค่าไฟมีการประกันกำไรของโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนด้านไฟฟ้ามีความเสี่ยงน้อยมาก ส่วนใหญ่จะสามารถส่งผ่านให้ผู้ใช้ไฟรายย่อยได้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญ โครงสร้างของค่าไฟเอากำไรเป็นตัวตั้ง หารด้วยเงินลงทุน แปลว่า ยิ่งเงินลงทุนมาก ยิ่งกำไรมาก นี่คือโครงสร้างค่าไฟปัจจุบันซึ่งมันผิด" ชื่นชมกล่าว

จากคำอธิบายของชื่นชมจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายของเรานั้นเกี่ยวพันกับจำนวนโรงไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าสำรองด้วย แต่ปรากฏว่าโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังสำรอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงกลับได้รับคำตอบว่า "ใช้ไม่ได้"  "ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ" สั้นๆ เพียงแค่นั้น

หากย้อนดูข่าวที่ผ่านมา ธนา พุฒรังษี รองผู้ว่า กฟผ.เคยชี้แจงไว้ว่า กำลังการผลิตติดตั้งนั้นมีปริมาณ 33,056 เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจริงมีเพียง 31,166 เมกกะวัตต์ หายไป 1,890 เมกกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต

เมื่อประกอบกับวิกฤตการณ์ขาดก๊าซจากพม่าซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหายไป 4,101 เมกกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตเหลืออยู่ในระบบจริงเพียง 27,065 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ ข่าวหลายสำนักระบุว่า การหยุดส่งก๊าซนี้จะทำให้กำลังการผลิตหายไป 6,000 เมกกะวัตต์ แต่บางส่วนนั้นสามารถใช้น้ำมันเตา/น้ำมันดีเซลแทนได้ ทำให้เหลือส่วนที่ใช้ก๊าซอย่างเดียว 4,101 เมกกะวัตต์ (ดูรายละเอียดโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่าและไม่สามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงได้ในตาราง)
 

โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่า (ที่มา: ชื่นชม)


และด้วยเหตุที่ความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ พีค ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มากจนเกินไป (ในช่วงเดือนเม.ย.ของปีที่แล้ว พีคอยู่ที่ 26,121 เมกกะวัตต์ ปีนี้ก็มีการพยากรณ์ว่าอาจสูงถึง 26,300 เมกกะวัตต์)   ทำให้ กฟผ.และรมว.พลังงานออกมาให้ข่าวว่า มีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะดับ เพราะกำลังสำรองมีต่ำเกินไป

คำถามของชื่นชมต่อกรณีนี้คือ จริงหรือที่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่าจะเดินเครื่องไม่ได้

ว่าแล้วเธอก็เปิดสัญญาอีกฉบับ

สัญญาซื้อขายไฟระหว่าง กฟผ. และ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) อย่างราชบุรี , TECO, ราชบุรีพาวเวอร์นั้น กำหนดเงื่อนไขในสัญญาอยู่แล้วว่าจะต้องมีคลังเชื้อเพลิงสำรองไว้อย่างน้อย 3 วัน

"ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้คิดเรื่องนี้ไว้แล้วว่าก๊าซพม่าอาจขัดข้องได้ ดังนั้นเขาจึงระบุให้ทุกโรงไฟฟ้าต้องเตรียมคลังเชื้อเพลิงสำรองซึ่งก็คือน้ำมันดีเซล เก็บไว้ใช้ได้อย่างน้อย 3 วัน ถ้าพม่าหยุดส่งก๊าซมากกว่า 3 วันก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีใช้แค่ 3 วัน เพราะมันเติมได้ ดังนั้นที่บอกว่าไฟจะหายไป 4,100 เมกะวัตต์นั้น ข้อเท็จจริงคือไม่ได้หายไปไหน มีการเตรียมตรงนี้ไว้ชัดเจนแล้วตามสัญญา โครงสร้างพื้นฐานของคลังสำรองนี้ก็ถูกนำไปคิดคำนวณรวมไว้แล้วในค่าไฟ เราได้จ่ายค่าเตรียมความพร้อมรองรับการที่พม่าจะหยุดซ่อมไว้แล้ว ทำไมรัฐถึงบิดเบือนว่าก๊าซพม่าหยุดแล้วเราจะมีปัญหา รัฐบาลสร้างภาพเหมือนไฟไม่พอตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าหรือเปล่า" ชื่นชมกล่าว

ไม่เพียง ปตท.ที่ถูกทวงถามความรับผิดชอบ กฟผ.เองก็เช่นกัน ชื่นชมระบุว่า กฟผ.เป็นคู่สัญญาที่ย่อมต้องทราบเวลาในการปิดซ่อม เหตุใดจึงยอมให้ซ่อมในช่วงพีค แทนที่จะเป็น เดือน ธ.ค.หรือ ม.ค. ซึ่งช่วงนั้นไม่มีมรสุม และความต้องการใช้ไฟต่ำกว่าเดือนเม.ย.ประมาณ 3,000-4,000 เมกกะวัตต์ ดังนั้น ช่วงปลายปีต่อต้นปีจึงเป็นช่วงที่ปลอดภัยและต้นทุนต่ำที่สุด

ถามว่าเรื่องราวซับซ้อนทั้งหมดนี้จะแก้ไขได้อย่างไร ? นอกเหนือจากความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ชื่นชมยังเสนอทางออก ซึ่งเหมือนกับ ข้อเสนอของ กกพ.ว่า ควรเลิกให้ ปตท.ผูกขาดการซื้อขายก๊าซ

"ถ้าคุณอยากทำธุรกิจแล้วเป็นเอกชนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่อำนาจผูกขาดในการจัดหาก๊าซขอคืนมาเป็นของประชาชนจะได้ไหม ปตท.ไม่มีสิทธิผูกขาดอีกต่อไป สมมติการจัดหาในอนาคต แทนที่อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับก๊าซต้องมาผ่าน ปตท.หมด เราปลดล็อคตรงนี้ได้ไหม แม้แต่ กฟผ.เอง จะเจรจาตรงกับรายอื่นได้ไหม นิคมอุตสาหกรรม เอกชนบางราย บางทีก็อยากเจรจาทำสัญญาซื้อขายก๊าซโดยตรง ไม่ได้ต้องผ่านปตท." ชื่นชมกล่าว

แนวคิดนี้สอดคล้องกับความเห็นของเรกูเลเตอร์  ซึ่งกำลังผลักดันร่างระเบียบแข่งขันธุรกิจก๊าซฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.เพื่อพิจารณาในกลางปี 2556 นี้

"ในปัจจุบันนี้มีเพียง บมจ.ปตท. รายเดียวที่ขายก๊าซธรรมชาติ ทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งหากร่างระเบียบการแข่งขันฯ ฉบับนี้แล้วเสร็จ จะเกิดผู้ค้าก๊าซฯ รายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย สามารถใช้ระบบ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อ และคลังก๊าซแอลเอ็นจี ได้เทียบเท่ากับ ปตท.และผู้ซื้อโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเลือกใช้ก๊าซฯ จากท่อของบริษัทใดๆ ก็ได้ที่มีราคาถูก และให้บริการดีที่สุด สุดท้ายประชาชนทั่วประเทศก็จะได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมะสม"นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางกระแสวิกฤตไฟฟ้า "ถ่านหินสะอาด" ถูกชูโรงมากขึ้น  หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นทางออกทีดีเพราะเรามีเชื้อเพลิงนี้อยู่เอง แต่ชื่นชมตั้งข้อสังเกตว่าถ่านหินบ้านเรานั้นพอมีอยู่แต่เป็นถ่านหินคุณภาพต่ำซึ่งสร้างมลภาวะสูง ดังนั้น หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคาดว่าคงจะต้องมีการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

การสร้างภาพพจน์ใหม่ของถ่านหิน ถูกรองรับด้วยรูปธรรมในแผนพีดีพีล่าสุดที่ได้เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอีก 10,000 เมกะวัตต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ตอนนี้กระทรวงพลังงานเองได้ขายซองประมูลให้โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ไปแล้ว โดยภายหลังการปรับแผนพีดีพีใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา นำไปสู่การประมูลไอพีพี ทั้งหมด 5,400 เมกกะวัตต์ โดยล็อกสเป็กเป็นก๊าซทั้งหมด

"ไอพีพีที่ประมูลไปกว่าจะเข้ามาโรงแรกคือ 8 ปี นับจากปีนี้ ถือว่าไกลมาก หากว่าดีมานด์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ค่าโง่ก็จะบานเลย ถ้าเราสามารถทำให้คนที่ตัดสินใจผิดพลาดมารับผิดชอบต่อภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการวางแผนที่ผิดพลาดด้วย ตรงนี้อาจทำให้เขาฉุกคิดว่าที่ทำไปมันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะมันความเสี่ยงเยอะมาก และก๊าซราคาแพงมากด้วย ตอนนี้เราจ่ายค่าไปอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 3 บาทกว่า ซึ่งรวมตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ส่ง และจำหน่าย แต่ปากฎว่าการประมูล IPP รอบหลังนี้ค่าไฟเฉพาะผลิตอย่างเดียวจะอยู่ที่ 6-7 บาทต่อหน่วย จากข้อมูลที่มีการคำนวณมา"

หากการพึ่งพิงก๊าซมีปัญหาจริง นักวิจัยผู้นี้ก็เสนอให้มีการทบทวนการประมูลดังกล่าวโดยเห็นว่าการขายซองประมูลนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ยังยกเลิกได้ แล้วหันมาพูดคุยถึงความต้องการ การบริหารจัดการ และสัดส่วนเชื้อเพลิงการใช้ไฟฟ้ากันอย่างจริงจัง เปิดเผยและมีส่วนร่วม โดยอาจเปิดประมูลได้ใหม่แบบไม่ล็อคสเป๊กแค่ ก๊าซ อย่างเดียว

เมื่อพูดถึงสัดส่วนเชื้อเพลิง สัดส่วนสำคัญที่ไม่พูดไม่ได้ สัดส่วนสำคัญภาคประชาชนนำเสนอ แต่ดูเหมือนจะถูกตีตกทุกครั้งในเรื่องต้นทุนและความไม่เสถียร ก็คือ พลังงานหมุนเวียน หรือที่ กระทรวงพลังงานใช้คำว่า พลังงานทดแทน

ชื่นชมยืนยันว่าพลังงานมีศัยภาพในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ไม่ได้รับโอกาสและการสนับสนุน

แม้แผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ใช้อยู่จะบอกว่าเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 20% แต่หากดูโดยละเอียดพบว่านับรวมเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึงเขื่อนแบบสูบกลับเข้าไปด้วย ส่วนที่เป็นพลังงานหมุนเวียนจริง ก็กำหนดเพดานรับซื้อค่อนข้างต่ำ และยังตั้งกลไกคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้เกิด  "คอขวด" สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เส้นใหญ่เท่านั้น

"เดิมทีไม่มีระบบที่มากลั่นกรองว่าใครเข้าได้ใครเข้าไม่ได้ อาจตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไม่กี่คน เป็นนวัตกรรมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วแล้วนำมาใช้กับพลังงานหมุนเวียน อาจจะมีการวิ่งเต้นอะไรบ้างแต่มันระดับเล็กๆ เท่านั้นแต่ตอนนี้ พอเขาเห็นช่องในการหากิน เขาก็ตั้งมาเป็นคณะกรรมการ เรียกว่า คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทีนี้เหลือแต่คนที่เส้นใหญ่ๆ หรือเงินถึง ถึงจะได้สัญญา นำสู่การลงทุนสร้างรฟ.พลังงานหมุนเวียนได้"

"มันเริ่มมีธุรกิจคอรัปชั่นเข้ามาแฝงในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนด้วย ตอนนี้ใหญ่มาก มีการวิ่งเต้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20-30 ล้านต่อเมกกะวัตต์ สูงเท่าๆ กับราคาแผงเลย เหมือนกับเป็นค่าแอบแฝงที่มากับค่าไฟที่เราต้องจ่ายเป็นกำไรส่วนเกินให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจการเมืองด้วยที่มาหากินกับพลังงานหมุนเวียน"

อีกประการหนึ่งที่สำคัญแต่คนมักมองข้ามไปเน้นเรื่องการจัดหาแทนที่จะเน้นการจัดการในฝั่งผู้ใช้  ชื่นชมบอกว่าไม่อยากให้มองข้ามในเรื่องของการประหยัดพลังงาน เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศส่วนนี้ทำได้มากและมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนในการประหยัดยิ่งต่ำและยิ่งมีศักยภาพในการประหยัดเพิ่มขึ้น และยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม เช่น หลอดไฟที่มีศักยภาพประหยัดไฟได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศถึงกับมีการไฟฟ้าที่ทำในเรื่องของการประหยัดโดยเฉพาะ แทนที่จะให้การไฟฟ้าไฟสร้างโรงไฟฟ้าเลยทีเดียว

"สำหรับประเทศไทย ดูในเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราได้จากการใช้พลังงาน ปรากฏว่าต่ำมาก มันจะมีตัวชี้วัดหนึ่งเรียกว่าความเข้มข้นพลังงานวัดว่าเราใช้พลังงานเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนต่อมูลค่าเศรษฐกิจที่เราไดมา ซึ่งของไทยแนวโน้มมันมีแต่แย่ลง ค่อนข้างแย่ลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยิ่งมีการออกนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ทำให้เรายิ่งมีการใช้พลังงานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันจะเป็นตัวฉุดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ อยากจะให้มองตรงนี้เป็นทางเลือก เป็นพระเอกตัวจริง" ชื่นชมกล่าวทิ้งทาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ดันปฏิรูปกระจายอำนาจ ภาคประชาชนเสนอ ‘ปัตตานีมหานคร’ เตรียมล่าหมื่นชื่อ

Posted: 19 Mar 2013 10:35 AM PDT

 

19 มี.ค.56 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) จัดการประชุมเครือข่ายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีตัวแทนจากสภาพัฒนาการเมือง ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนจังหวัดจัดการตนเอง ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินการผลักดันกฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้มีร่างกฎหมายมารองรับการกระจายอำนาจอย่างถูกต้องเพื่อสร้างความเจริญในจังหวัดอื่นๆ ตามของต้องการของประชาชน

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของ คปก.ว่า คปก.มีแนวทางจะดำเนินการในสองเรื่องหลักๆ คือ 1.การจัดทำกฎหมายกลางขึ้นมา 2.สนับสนุนกฎหมายที่ประชาชนจัดทำอยู่แล้ว โดยจากการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า มี 3-4 ประเด็นสำคัญคือ 1.มีการบูรณาการกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมี 5 -6 รูปแบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และคปก.เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทบทวนและประมวลเรื่องนี้โดยยึดหลัก ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระทุกด้าน  รวมถึงต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งและมุ่ง้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน 2. เป็นความพยายามของประชาชนในระดับจังหวัด ถ้าประชาชนมีเจตจำนงที่จะปกครองตนเองในระดับจังหวัด ซึ่งพบว่ามีการตื่นตัวอย่างมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และอำนาจเจริญ โดยใช้คำว่า "จังหวัดจัดการตนเอง" นั้น คปก.ได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่า ควรจัดทำเป็นกฎหมายกลางขึ้นมา โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ1.มีความเป็นอิสระในทุกด้าน 2.มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง 3.เน้นการส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งคปก.มีแผนที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2556-2557 นี้

ไพโรจน์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้มีกฎหมาย โดยกำหนดแผนสำคัญ คือ 1.ผลักดันกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.แกนนำต้องตกผลึกในเนื้อหาและแนวคิด 3.ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารให้ประชาชนระดับจังหวัด ตำบลและหมู่บ้าน เข้าใจและรู้สึกว่าเป็นร่างกฎหมายของเขาเอง 4. การรวบรวมรายชื่อ ซึ่งต้องกระทำคู่ขนานไปกับแผนทำความเข้าใจ โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งหมื่นชื่อแต่จะให้ได้มากที่สุดเพื่อสะท้อนความต้องการ 5. แผนการสื่อสารกับสาธารณะในวงกว้าง ในทุกช่องทาง และ 6. แผนในการเข้าสู่สภา ซึ่งรวมทั้งวิธีการ ขั้นตอนและเทคนิคต่างๆเพื่อตรากฎหมาย

นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้แทนเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีกฎหมายการจัดการตนเองเชียงใหม่มีการเรียกร้องมานานแล้ว ในปี 2550-2551 มีการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการตนเอง จนในที่สุดจึงมีการยกร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ยกเลิกราชการส่วนกลาง คงไว้เพียงส่วนส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ส่วนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่างกฎหมายนั้น เริ่มที่มีการจัดเวทีลงที่พื้นที่ต่างๆ มีเวทีรณรงค์ 120 วัน เป็นต้น เวทีเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องในจังหวัดต่างๆ เช่น การศึกษา การบริหาร สิทธิสตรี เป็นต้น ต่อมาก็มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อผลักดันร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร ประเด็นหลักที่สำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนของร่างนี้คือ ให้สภาพลเมือง ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ มีการทดลองสภาพลเมืองไปแล้ว กรณีที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การย้ายเรือนจำที่ตั้งในเมืองไปอยู่นอกเมือง เป็นต้น

นายชำนาญ มีความเห็นต่อการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในรูปของจังหวัดจัดการตนเองว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า แม้ว่าจะมีแรงเหนี่ยวรั้งให้ไม่สำเร็จลุล่วงเต็มร้อยหรือทั้งประเทศ แต่สังคมโลกเปลี่ยนไป โลกหมุนไปเป็นยุคใหม่แล้ว ประเทศต่างๆก็มีการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนมากขึ้น  ประเทศไทยก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่สื่อมวลชนมีความสำคัญการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ก็ขยายออกไปได้ง่ายขึ้น เช่นการทำรายการทีวีของม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่มักพูดถึงกรณีนี้อยู่เสมอว่า ทำไมคนกรุงเทพเลือกผู้ว่าได้ แต่จังหวัดอื่นเลือกไม่ได้ ดูเสมือนว่าคนจังหวัดอื่นเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศหรืออย่างไร

ด้านศ.ดร.คณิต ณ นคร เห็นว่าการผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการริเริ่มเพื่อกระจายอำนาจ แต่ก็ทำโดยภาครัฐเสมอ ไม่ใช่มาจากภาคประชาชนดังที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้

ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเอง จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า  มีแผนดำเนินการในรูปแบบบันไดสามขั้นที่จะนำไปสู่จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งบันไดขั้นที่หนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนสำนึกของประชาชน จากผู้ที่ถูกปกครองมาเป็นผู้ที่ปกครองตนเองในระดับหมู่ ตำบล ถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งบันไดขั้นที่หนึ่งบรรลุผลไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555  โดยได้จัดทำธรรมนูญจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นสำนึกใหม่ของประชาชน หลังจากนั้นเราก้าวไปสู่บันไดขั้นที่สอง มองคนที่อยู่ในอำนาจเจริญทุกคนคือคนอำนาจเจริญ ที่จะมาคิดเรื่องของคนอำนาจเจริญร่วมกัน โดยสร้างเป้าหมายใหม่ร่วมกันโดยใช้ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่สังคมที่อยู่เย็น เป็นสุข อย่างไรก็ตามในขั้นตอนต่อไปคือ จะใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเปิดเวทีให้ทุกหมู่บ้านดำเนินการร่วมกัน คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการสร้างสำนึกร่วมกัน

ผู้แทนปัตตานีมหานคร กล่าวว่า เป็นเวลา 9 ปีแล้วที่เกิดเหตุความไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 5,100 คน และสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้น การให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐดำเนินการเพียงส่วนเดียวอาจจะไม่เกิดผลสำเร็จ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องเข้าไปร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราจึงได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ความเป็นมาลายู และการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม จึงได้มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กร และภาคส่วนต่างๆช่วยกันคิดสรุปว่าต้องการให้มีการปกครองตนเอง โดยมีโมเดล 4-5 โมเดล โดยมีโมเดลปัตตานีมหานคร น่าจะเป็นโมเดลที่ดีที่สุด ซึ่งตรงนี้เราใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี โดยยืนยันว่าโมเดลปัตตานีมหานครไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน โดยข้อเสนอปัตตานีมหานคร นั้นเราต้องเข้าใจร่วมกันว่า การใช้กำลังเข้าต่อสู้นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องใช้วีการเจรจา และการให้เขตปกครองพิเศษ เพื่อให้เกิดสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง

"การดำเนินการในระยะต่อไปจะเดินหน้าลงชื่อให้ได้ไม่น้อยหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายซึ่งคาดว่าจะได้รายชื่อครบภายในปลายปีนี้ ส่วนประเด็นที่ต้องสนับสนุนต่อไปคือ การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความเห็น ซึ่งเห็นว่าควรส่งเสริมการเริ่มต้นการพูดคุยให้เกิดขึ้น และยอมรับว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ในปัจจุบัน ชุมชนแบ่งย่อยเป็นหลายกลุ่ม ภาคประชาสังคมเองพยายามคิดวิเคราะห์ด้วยความยากลำบากว่า จะใช้วิธีใดในการเชื่อมโยงแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน และการขับเคลื่อนต้องระมัดระวัง เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ปัญหาสำคัญของการทำสันติภาพในสามจังหวัดต้องผ่าน 2 ปราการคือ ปราการอำมาตย์และปราการทหาร  หากพังปราการเหล่านี้ได้ก็จะทำให้มีสันติภาพเกิดขึ้นได้"ผู้แทนปัตตานีมหานคร กล่าว

นายณัชพล  เกิดเกษม ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม. กล่าวว่า ข้อดีของกรุงเทพมหานครคือ ไม่ต้องผลักดันให้มีกฎหมายเนื่องจากมีพ.ร.บ.กรุงเทพมหานครอยู่แล้ว แต่ก็ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรุงเทพฯมีขนาดใหญ่แต่อำนาจแขวนไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงท่านเดียวและการบริการงานโดยข้าราชการประจำ แม้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540และ2550 จะรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในพ.ร.บ.ก็ยังไม่ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมได้มากเท่าที่ควร ดังนั้น การขับเคลื่อนจึงเป็นไปโดยกลไกประชาชนและภาคประชาสังคม ส่วนสิ่งที่ควรแก้ไข ได้แก่ ควรแก้ไขที่โครงสร้างและการมีส่วนร่วม ด้านโครงสร้างควรแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนมหานคร โดยแบ่งจากเดิม 50 เขตเป็น 50 นครบาล โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่ากทม. และควรจัดให้มีสภาพลเมือง  ข้อเสนอโดยสรุป คือ แก้ไขพ.ร.บ.กรุงเทพมหานครในประเด็นการมีส่วนร่วม ซึ่งก็จะนำร่างนี้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นหลายระดับและเข้าชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

ผู้แทนจังหวัดจัดการตนเอง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การขับเคลื่อนในส่วนของภูเก็ตยอมรับว่าค่อนข้างล่าช้า เดิมทีจากบทเรียนในอดีตต้องมีหลักคิดในการปกครองพิเศษหรือการปกครองตนเอง เรามีแนวคิดว่า ความสามัคคีของภูเก็ตต้องคงอยู่ ทั้งนี้มีความเห็นว่าการปกครองและการพัฒนาภูเก็ตนั้นเรา ต้องการโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนา มีอำนาจที่เพียงพอ และต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งหนีไม่พ้นเป้าหมายเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องใช้เวลาทบทวน โดยวางแผนไว้ภายใน 3 ปีจะผลักดันกฎหมายให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของคนในพื้นที่ด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.จรัส  สุวรรณมาลา คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้คือ จะสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่จัดการตนเองนี้อย่างไร อาจจะหมายถึงเขตจังหวัดปกครองพิเศษ อย่างปัตตานีมหานคร ทั้งนี้พื้นที่จัดการตนเองอย่างที่เราพูดถึง คือ ต้องมีกฎหมาย เพื่อให้สถานะองค์กรปกครองตนเอง ให้สามรถเดินไปต่อในระดับปฏิบัติการได้ แต่ที่เป็นมองที่ปลายทาง แต่ขณะนี้ตัวต้นทางยังไม่เกิด จึงเป็นประเด็นพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะทำให้มีกฎหมายเกิดขึ้น

"ควรมีคณะทำงานร่วมฯขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจมีคปก.เป็นเจ้าภาพหลัก ก่อนจะพิจารณาขอบเขตหน้าที่ โครงสร้างภายในของจังหวัดจัดการตนเอง รวมถึงเรื่องการเงินกาคลัง การตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจ จึงจะสามารถยกร่างกฎหมายขึ้นมาได้ กฎหมายร่วมนี้จะเป็นช่องทางให้แต่จังหวัดขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนี้อาจจะมีกฎหมายเฉพาะ เช่น ปัตตานีมหานคร , กฎหมายกทม.ที่จะต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ขึ้นมาใหม่ในอนาคต ดังนั้นจึงมีสองสามจุดที่จะดำเนินการร่วมกัน  ขณะเดียวกันด็จะต้องมีกระบวนการขยายความคิดในระดับพื้นที่ และในระดับชาติ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร.จรัส กล่าว

นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ นักวิชาการอิสระ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงแผนจังหวัดจัดการตนเองขอนแก่นว่า จังหวัดขอนแก่นกำลังจัดทำพ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเองตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดของคณะกรรมการ ซึ่งยังไม่ตกผลึก นอกจากนี้ ยังได้แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐซึ่งส่วนที่เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดการตนเองได้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมักจะเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งเห็นว่ายังยึดติดกับลัทธิอำมาตย์นิยมอยู่ไม่จางหาย และควรใช้เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู้สิ่งที่ดีกว่า" เป็นแกนในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่สำคัญอีกประการในการขับเคลื่อนกฎหมายคือ งบประมาณ ส่วนหลักการของร่างพ.ร.บ.ขอนแก่นจัดการตนเอง คือ มีรูปแบบการปกครองพิเศษขอนแก่นมหานคร มีสภาพลเมืองโดยกำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาจากอาชีพ ซึ่งสมาชิกสภาจะต้องเข้าใจว่าสภาพลเมืองมีบทบาทในการดำเนินงานร่วมกับสภาจังหวัดอย่างไร ส่วนด้านการตรวจสอบนั้น ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนได้ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภาโดยลงคะแนนเสียงไม่น้องกว่า 5,000 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: วิพากษ์ทิศทางการเคหะแห่งชาติ

Posted: 19 Mar 2013 09:44 AM PDT

ตามที่การเคหะแห่งชาติ ได้จัดการสัมมนาวิชาการนานาชาติ "กระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองในประเทศไทย" เมื่อวันที่ 11-13 มีนาคม 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาด้วย และจึงขอเสนอความเห็นเพื่อช่วยการเคหะแห่งชาติวางบทบาทที่ช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาติในอนาคต

เรื่องการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน กรณีนี้การเคหะแห่งชาติต้องสามารถสวมบทบาทเป็นองค์การพัฒนาที่ดินมหานคร และใช้ความกล้าหาญในการใช้อำนาจของการเคหะแห่งชาติเองในการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาที่ดิน  ยิ่งกว่านั้นยังควรใช้เทคนิคที่การเคหะแห่งชาติไม่ได้กล่าวไว้ในบทสรุปก็คือ การจัดรูปที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาเมือง โดยใช้ความเห็นชอบของเจ้าของที่ดินและขนาดที่ดินรวมกันสองในสามเป็นสำคัญ

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้คำนวณให้เห็นว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สถานี ราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา ในที่นี้ที่ดินติดถนนในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า 2 ข้าง และลึกจากถนนใหญ่ระยะทาง 200 เมตร หรือรวมพื้นที่ 250 ไร่ มีราคาเฉลี่ยตกเป็นเงินตารางวาละ 192,548 บาท หรือตกเป็นเงินไร่ละ 77.019 ล้านบาท  รวมเป็นเงิน 2.157 ล้านล้านบาท  ที่ดินนี้หากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท

หากที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าจากอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่า (Land Value Increment Tax) จากการที่ราคาที่ที่ดินเพิ่มขึ้นเองโดยมิได้ลงแรงลงทุน (unearned increment of land value) ณ อัตราประมาณ 20% ของการเพิ่มขึ้นของมูลค่า ประเทศไทยก็สามารถมีภาษีจากผลของระบบรถไฟฟ้าถึง 287,538 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้าขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มปริมาณรถไฟฟ้าได้อีกนับเท่าตัว

ที่ผ่านมานับเป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่ได้พัฒนาที่ดินรอบรถไฟฟ้า ปล่อยให้ภาคเอกชนตักตวงผลประโยชน์ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้พัฒนารถไฟฟ้า เพราะขาดองค์กรเช่นการเคหะแห่งชาติหรือองค์กรบริหารที่ดินมหานครมาดำเนินการ นอกจากนั้นรัฐบาลยังไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปล่อยมีการพัฒนาที่ดินโดยไม่มีการเสียภาษีเพื่อการพัฒนาเท่าที่ควร

 

เรื่องการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่องนี้การเคหะแห่งชาติ ควรเข้าใจให้ชัดว่า นโยบายหลักด้านที่อยู่อาศัยของรัฐก็คือการให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการพัฒนาเอง (Enabling) โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าที่รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่นกรณีบ้านเอื้ออาทร ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา  วิสัยทัศน์ต่อการร่วมมือกับภาคเอกชนก็คือ การเคหะแห่งชาติเป็นผู้จัดหาที่ดินแปลงใหญ่ทั้งในเขตใจกลางเมืองหรือเขตชานเมืองเพื่อสร้างเมืองชี้นำหรือเมืองบริวาร โดยจัดสรรให้ภาคเอกชนไปจัดสรรเป็นโครงการที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า โรงพยาบาล ศูนย์ประชุม โรงแรม หรืออื่นๆ อีกทอดหนึ่ง เพื่อที่ภาคไม่ต้องดำเนินการเอง แต่เป็นผู้คอยกำกับ

 

เรื่องการบริหารจัดการเพื่อรองรับภาวะอุทกภัย คงไม่ใช่พันธกิจของการเคหะแห่งชาติโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล  ในระดับชุมชนที่สามารถดำเนินการได้จริงก็คือ การมีแผนรองรับเพื่อการย้ายถิ่นฐานชั่วคราว การจัดหาถิ่นฐานชั่วคราวเมื่อเกิดน้ำท่วม ซึ่งหากการเคหะแห่งชาติสามารถสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนในด้านนี้ได้จะเป็นคุณูปการและการเผยแพร่ชื่อเสียงของการเคหะแห่งชาติเอง  อย่างไรก็ตามแนวคิดประเภท "บ้านลอยน้ำ" คงเป็นจริงไปไม่ได้ในสังคมไทย และคงเป็นความชอบเฉพาะบุคคลมากกว่าที่จะนำมาใช้ได้โดยรวม

 

เรื่องการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ประเด็นหลักและเร่งด่วนที่การเคหะแห่งชาติสามารถนำเสนอเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและผู้ซื้อบ้านได้ก็คือ การเตือนภัยว่าระบบการเงินของไทยเปราะบางที่สัดส่วนเงินดาวน์ต่ำมากเพียง 5-10% ซึ่งต่างจากในประเทศอื่น เสี่ยงต่อสถาบันการเงิน  การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่อาจจะสูงเกินจริง ทำให้ผู้ซื้อบ้านแทบกู้โดยไม่ต้องดาวน์ ทำให้อาจทิ้งบ้านได้ในอนาคตหากเกิดวิกฤติ

ส่วนที่การเคหะแห่งชาติเสนอให้ส่งเสริมแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเอกชน โดยส่งเสริมให้บริษัทเอกชนจัดหาที่อยู่อาศัยแก่พนักงาน และลูกจ้าง โดยควรร่วมมือกับธนาคารต่าง ๆ นั้น คงจะเป็นจริงได้ยาก เพราะแม้แต่การเคหะแห่งชาติเองก็ไม่ได้จัดสวัสดิการในด้านนี้โดยเฉพาะ  และสำหรับหน่วยงานที่จัดสวัสดิการในด้านนี้ ก็อาจจัดได้ไม่เหมาะสม  ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล การจัดหาที่อยู่ให้เฉพาะที่อาจไม่เหมาะสมกับความต้องการจริ

 

เรื่องการพัฒนาเมือง  แทนที่การเคหะแห่งชาติจะเจรจากับกรุงเทพมหานครเพื่อขอเพิ่มอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ (FAR Bonus) ตามบทสรุปของการสัมมนา  การเคหะแห่งชาติควรที่จะเสนอแนะต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้จัดทำผังเมืองว่า ควรแก้ไขผังเมืองบางอย่าง

ตัวอย่างเช่น ในเขต ย.3 ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในร่างผังเมือง กำหนดให้สร้างอาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตร ต้องติดถนนกว้างถึง30 เมตร ซึ่งไม่มีถนนกว้างขนาดนั้นจริงในซอยเลย  การนี้เท่ากับกลั่นแกล้งไม่ให้ประชาชนพัฒนาอะพาร์ตเมนต์เพื่อการอยู่อาศัย  หรือในเขต ย.2 ห้ามสร้างทาวน์เฮาส์เลย ให้สร้างแต่บ้านเดี่ยว ซึ่งเท่ากับไล่ประชาชนไปอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เป็นการผลักปัญหาออกจากกรุงเทพมหานครนั่นเอง

ถ้าการเคหะแห่งชาติสามารถกำหนดบทบาทในเชิงสร้างสรรค์และเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเมือง  การเคหะแห่งชาติจะมีบทบาทสำคัญ พนักงานก็จะมีความภาคภูมิใจในการทำงานในหน่วยงานแห่งนี้ตลอดไป

 

เกี่ยวกับผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือAREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง 'MEDIA INSIDE OUT': เผา TPBS ไล่ภิญโญ?

Posted: 19 Mar 2013 09:30 AM PDT

รายการตอบโจทย์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มี.ค. (ที่มาของภาพ: คัดลอกจากไทยพีบีเอส)

 

"ตอบโจทย์" ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 กลับมาออกอากาศแล้ว ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนอะไร สถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง พวกที่โวยวายจะเป็นจะตาย ทั้งคนนอกคนใน ก็ไม่ยักมาคัดค้านอีก ยังกับว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

แต่ TPBS สิ เสียเครดิตไปแล้ว เสียความเชื่อถือ เสียโอกาสที่จะก้าวข้ามความเคลือบแคลงแบ่งฝ่ายไปสู่การเป็น "ทีวีสาธารณะ" ที่แท้จริงทั้งยังเสียภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และทีมงาน "ตอบโจทย์" ไปด้วย

เอ๊ะ หรือว่านี่จะเป็นวัตถุประสงค์ที่บรรลุแล้ว สำหรับคนนอก คือกลุ่มผู้ประท้วง ที่ต่อไปนี้คงไม่มีสื่อไหนกล้าเปิดเวทีถกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ไม่มีสื่อไหนกล้าเชิญสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไปออกอากาศอีก ทุกสื่อจะก้มหน้าก้มตาสรรเสริญพระบารมีแต่ถ่ายเดียวต่อไป (ไม่ต่างจากมติชนที่กลัวขึ้นหัวขมองจนยกข้อเขียนของเกษียร เตชะพีระ แล้วก็เสียเกษียรไป)

เอ๊ะ หรือว่านี่จะเป็นวัตถุประสงค์ที่บรรลุแล้ว สำหรับคนใน ที่ลุกฮือให้ "ชะลอ" การออกอากาศไปก่อน เพราะ "ชะลอ" จนภิญโญกับทีมงานออกไปแล้ว

 

ตอบโจทย์ Outsource

ใครที่เป็นแฟนประจำ คงทันสังเกตว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 รายการ "ตอบโจทย์" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ตอบโจทย์ประเทศไทย" และเพิ่มเวลาจาก 20-25 นาทีมาเป็น 45 นาที

"ตอบโจทย์" เดิมเป็นรายการของฝ่ายข่าว หรือสำนักข่าว ออกแบบมาคู่กับ "ที่นี่ทีวีไทย" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ที่นี่ Thai PBS" หะแรกกะให้เทพชัย หย่อง เป็นพิธีกร ซึ่งคงมันส์น่าดู แต่น่าเสียดาย กรรมการนโยบายท้วงว่าไม่เหมาะ ผอ.ไม่ควรเป็นพิธีกรเอง จึงหาพิธีกรมาเรื่อยจนได้ภิญโญเป็นพิธีกรเอก สลับกับคนอื่นๆ (ช่วงหลังเป็น ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน) โดยตอนแรก ทั้ง 2 รายการนี้ยังเป็นทีมงานเดียวกัน แต่ต่อมา "ตอบโจทย์" แยกเป็นอีกทีมหนึ่ง แต่ยังสังกัดฝ่ายข่าว

จนกระทั่งสมชัย สุวรรณบรรณ มาเป็น ผอ.คนใหม่ เห็นว่า "ตอบโจทย์" เป็นรายการ "เรือธง" ของ TPBS เรียกคนดูได้กว้างขวางที่สุด มีพลังที่สุด จึงปรับเปลี่ยนให้ "ตอบโจทย์" ไปอยู่ฝ่ายรายการ หรือสำนักรายการและสร้างสรรค์ ซึ่งมีสุวิทย์ สาสนพิจิตร์ เป็นผู้อำนวยการ โดยฝ่ายรายการจัดเวลาเพิ่มให้อีก 20 นาที เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้ และเปลี่ยนรูปแบบเป็น outsource หมายถึงจ้างคนนอกหมด ตั้งแต่พิธีกร ทีมงาน ค่าใช้จ่าย เดินทาง ค่าเช่าตั้งแต่กล้องไปถึงสตูดิโอ คงมีเพียงโปรดิวเซอร์ หรือบรรณาธิการรายการ อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ กับทีมงาน 2-3 คนยังเป็นพนักงาน TPBS พิธีกรก็เป็นภิญโญคนเดียว ดร.ณัฏฐาไม่ได้มา "ตอบโจทย์" อีก

นัยว่าการสังกัดอยู่ฝ่ายข่าว ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องไปแย่งกันใช้อุปกรณ์และห้องสตูดิโอ ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้ใครบ้างไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ เมื่อ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ไปสัมภาษณ์จินตนา แก้วขาว แล้วเรตติ้งกระฉูด ก็เจอใครบางคนวีนใส่ เพราะคุณเธอถือว่า NGO เป็นลูกค้าส่วนตัว อย่ามาแย่งตลาด

และที่แน่ๆ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม อรพินได้ส่งอีเมล์ถึงคนในกองบรรณาธิการร่วม 80 คน โวยว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดเวร

 

"เรียน ทุกท่าน

ดิฉัน อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้แจ้งคุณอำไพและคุณก่อเขตด้วยวาจาแล้วว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 56 ว่าวันเสาร์ติดเรียน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ และวันอาทิตย์ ติดเรียนภาษาเวียดนาม ไม่สามารถเข้าเวรบรรณาธิการได้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จึงขอไม่เข้าเวร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ดังนั้น หากในตารางเวร บก.เดือนมีนาคม 56 มีชื่อดิฉันเป็น บก.ค่ำในวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค.56 และ 24 มี.ค.56 จึงขอเรียนแจ้งอีกครั้งว่า ดิฉันไม่สามารถทำได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ยังมีตำแหน่ง Chief Editor หากไม่ติดเรียน ...แม้จะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการกลุ่มอย่าง Chief Editor ทั่วไป ดิฉันก็มาทำหน้าที่เข้าเวร บก.อย่างเต็มใจ

ดังนั้น ดิฉันจึงขอเรียนอีกครั้งว่า

1.วันที่ 10 และ 24 มี.ค. 56 ดิฉันคงมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งบก.ค่ำไม่ได้เนื่องจากเหตุผลข้างต้น

2.การจัดตารางเวร บก.มีความไม่ยุติธรรมและไม่เคยยุติธรรมก่อนหน้านี้มาตลอด

หากตำแหน่งบรรณาธิการกลุ่ม เป็นตำแหน่งที่ทรงภูมิ และเป็นผู้กุมประเด็นและทิศทางของฝ่ายข่าว ผู้ที่เป็นบก.เวร ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะในช่วงข่าวค่ำ ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ควรจะเป็นบรรณาธิการกลุ่ม และเมื่อมีการยุบ ตำแหน่ง Chief Editor กลับเห็น บก.กลุ่มมาทำหน้าที่เป็น บก.เวรน้อยลง

แล้วคำถามที่ตามมา บก.กลุ่ม ทำอะไร...?

โดยเฉพาะที่ผ่านมา ผู้ที่จัดตารางเวร ก็ไม่สามารถจัดการให้บก.กลุ่มทุกคนมาเข้าเวรได้อย่างยุติธรรม...กรุณาอย่าเลือกปฏิบัติค่ะ

อรพิน"

 

อรพินทำหน้าที่ บก.รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" แล้วนะครับ เพียงแต่ตัวเธอยังสังกัดสำนักข่าว

บก.กลุ่มคนหนึ่งปรี๊ดแตก! เขียนอีเมล์โต้ทันที

 

"เรียนเพื่อนร่วมงานทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกท่านที่เมล์นี้อาจจะรบกวนหลายท่านที่ไม่ทราบ ว่าตัวเองเกี่ยวข้องอย่างไร แต่เพราะว่าท่านถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องโดยรับทราบข้อร้องเรียนและอารมณ์ของอี เมล์ก่อนหน้านี้ ดิฉันจึงคิดว่าจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบในด้านอื่นบ้าง

ดิฉันหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมคุณอรพินจึงเลือกใช้วิธีเขียนอีเมล์ส่งถึงคนทั้งในสำนักและนอกสำนักข่าวมากถึงเกือบ 80 คน แต่ถ้าหากเป็นไปอย่างที่สงสัยในใจก็จะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีเลยในหมู่เพื่อนร่วมงาน ทั้งที่ปัญหาของคุณอรพินนั้นแก้ไขได้โดยไม่ยากเลย หากคุยกันแบบมิตร จริงจังในการแก้ไขปัญหา รับฟังและให้โอกาส แม้กระทั่งโอกาสที่คุณอรพิน จะต้องรับผิดชอบกับเรื่องส่วนตัวคือการเรียนเพิ่มเติมความรู้ของตัวเอง

เหตุผลที่ดิฉันต้องตอบเมล์มายังเพื่อนๆ ครั้งนี้ เป็นเพราะไม่อยากให้สิ่งที่สงสัยอยู่ในใจถูกละเลยให้คนบางคน กระทำบางสิ่งบางอย่างทำลายผู้อื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองอยู่ร่ำไป โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะถ้าผู้มีอำนาจบริหารฟังข้อมูล input ที่ผิดพลาดนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ก็จะเสียหายไปถึงผู้ใหญ่ท่านนั้นด้วย ดังเช่น การบริหารจัดการรายการตอบโจทย์ในเวลานี้ ที่ยังไม่มีคำอธิบายว่า การตัดสินใจจ้างคนนอกผลิตรายงานด้วยการเสนอราคาในช่วง 3 เดือน กว่าสิบล้านบาทนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ยังไม่รวมถึงการตัดขาดรายการตอบโจทย์ซึ่งเป็นรายการข่าวออกจากความรับรู้ของ กองบรรณาธิการข่าว และการจ้างคนจำนวนมากเข้ามาเป็นพนักงานโดยไม่มีโครงการรองรับ ไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้มิใช่หรือที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติ โดยที่ไม่แคร์คนส่วนใหญ่

ดิฉันเพียงแต่สงสัยว่า การป้อนข้อมูลที่จริงไม่หมด ทำให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจเช่นนั้น โดยไร้การปรึกษาหารือ ตรวจสอบข้อมูล ปรับปรุง พัฒนางานด้วยกัน ตามวิธีการที่พึงกระทำ ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งที่การพูดกันเพียงข้อมูลซ้ำๆ กล่าวร้ายเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ อาทิ "ฝ่ายข่าวเฮงซวย" "บก.ห่วยแตก" "คนในฝ่ายข่าวเป็นพวกเดทวู้ด" "โปรดักชั่นไม่เวิร์ค" ทำให้เกิดปรากฏการณ์ละทิ้งคนส่วนใหญ่ อุ้มชูคนที่ดูเหมือนเป็นฮีโร่ เปิดทางใช้งบประมาณในยามที่บอกว่ายากลำบาก และไม่ไว้วางใจคนทำงานทั้งหมดเพราะคำพูดในลักษณะนั้นของคนเพียงไม่กี่คน

สำหรับครั้งนี้ ข้อมูล และอารมณ์ของคุณอรพิน คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การแก้ปัญหารายการตอบโจทย์อีกครั้ง และคนที่มีรายชื่อในเมล์นี้เกือบ 80 รายชื่อ ก็คงไม่ทราบข้อมูลที่เป็นจริง ว่ามีเหตุผลใดบ้าง และมีปัญหาจริงๆ ใดบ้าง จึงเสี่ยงเกินไปสำหรับองค์กรที่ผู้เกี่ยวข้องจะเพิกเฉยต่อกรณีนี้อีกครั้ง

ดิฉันเสนอว่า ผู้รับผิดชอบ ควรรีบพูดคุยและพิจารณาแก้ปัญหานี้ให้กับคุณอรพินอย่างจริงจัง โดยกองบรรณาธิการข่าวต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อที่จะได้สามารถแสดงจุดยืนที่สมควรในยามที่มีสถานการณ์อ่อนไหวต่างๆ เข้ามาท้าทาย เช่นการถูกโจมตีจากสังคม, การใช้งบฯผลิตรายการข่าวที่สูงเกินไป หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจยกเลิกข่าวเที่ยงวันอาทิตย์ เป็นต้น

ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันขอบอกเล่าประสบการณ์จากการทำงานเลือกตั้งร่วมกับเพื่อนๆ หลายคนว่า ปัญหามีอยู่จริง แต่ก็เป็นธรรมดาของผู้คนที่หลากหลาย ท่ามกลางปัญหาเหล่านั้นมีความงดงามมากมายของคนไทยพีบีเอส ทั้งฝ่ายข่าว ฝ่ายผลิต ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายประชาสังคม และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้บางคนจะมีปัญหาส่วนตัวกันบ้างแต่เป้าหมายที่มีอยู่ร่วมกัน และการทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ทำให้หลังงานเลือกตั้งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า "ไทยพีบีเอส มีต้นทุนที่มีคุณค่าอยู่ในความเป็นทีม" งานใหญ่ครั้งนั้นสร้างผลลัพธ์และความรู้ใหม่ๆ ให้เราโดยไม่ต้องจ้างคนนอกเพราะดูถูกคนใน อย่างไร้เหตุผล

ก่อนที่งานเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นด้วยความสำเร็จ ดิฉันแอบคิดว่า แม้ว่าจะล้มแต่เราก็ยังมีเพื่อนล้มด้วยกันมากมาย ในฐานะกัลยาณมิตร

.............. / บก.กลุ่มข่าวที่ไม่ได้ทรงภูมิ เพียงแต่ทำงานไม่เคยมีวันหยุด

หมายเหตุ(สำคัญ)โปรดอย่านำจดหมายฉบับนี้ไปขยายความขัดแย้งสู่นอกองค์กร"

 

ขออภัยที่หมายเหตุตอนท้ายไม่สามารถเป็นไปได้ ฮิฮิ แต่อ่านเอาเองแล้วกันว่าความรู้สึกของคนในฝ่ายข่าวเป็นอย่างไร ต่อการแยกรายการตอบโจทย์ออกไป อรพินเธอโวยเรื่องจัดเวร บก.ไม่ยุติธรรม แต่โดนสวนเรื่องรายการตอบโจทย์เป็นชุด

3 เดือน 10 ล้านบาท ฟังเหมือนแพง แต่จัดทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ เดือนละ 22 วัน หารคร่าวๆ ตอนละ 1.5 แสนบาท จะแพงไปไหมก็ต้องไปเทียบมาตรฐานที่ TPBS จ้างคนนอกทำรายการอื่น แต่เท่าที่จำได้ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ก็ยกทีมลงไปทำรายการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยาวนาน 10 วัน ซึ่งเขาจ่ายเองทั้งหมด

ไม่เป็นไร ตอนนี้ภิญโญไปแล้ว "ตอบโจทย์" ก็จะกลับไปอยู่กับฝ่ายข่าว แต่ตอนแรกๆ คนที่อยากทำจะโดดมาทำเองก็น่าเกลียด ได้ยินว่าจะบังคับปวีณมัย บ่ายคล้อย ให้มาทำรายการตอนค่ำคล้อย รับหน้าแทนไปก่อน หลังจากนั้นสักพัก "ตัวจริง" จึงจะโผล่มาเสียบแทนปวีณมัย

 

กว่าจะตอบสมศักดิ์

การเอา "เสด็จพ่อสมศักดิ์ เจียมฯ" ออกจากเฟซบุคมาขึ้นจอทีวีสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะกล้าทำโดยพลการ

ก็รู้กันอยู่จะสร้างความขัดแย้งแค่ไหน แต่เนื่องจากสมศักดิ์ท้ายิกๆ ให้เอาตัวเองไปออก TPBS บ้างสิ           ทีมงาน "ตอบโจทย์ประเทศไทย" จึงเสนอไปยังผู้บริหาร ซึ่งก็ได้ไฟเขียว โดยในการถ่ายทำก็ยังเพลย์เซฟสุดขีด คือเอาสุรเกียรติ์ เสถียรไทย มาปะหน้า เอา พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร มาปะหลัง เทปสมศักดิ์ถ่ายทำไว้เป็นเดือนแล้ว ถ่ายสมศักดิ์ก่อน แล้วเอาประเด็นที่สมศักดิ์พูดมาให้ พล.ต.อ.วสิษฐหักล้าง พูดจริงๆทำอย่างนี้ไม่ค่อยเป็นกลางนะครับ แต่อย่างว่า เรื่องคอขาดบาดตาย เป็นใครก็เพลย์เซฟไว้ก่อน....

อ่านฉบับเต็มที่ Media Inside Out

 

หมายเหตุจากประชาไท ล่าสุด ใบตองแห้ง ได้เขียนสเตตัสชี้แจงเพิ่มเติมสำหรับบทรายงานฉบับนี้ว่า

 

"มีประเด็นที่ผมตกไป หลายคนอาจยังคาใจ ว่า "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ที่กลายเป็น outsource ตามที่คุณ บก.เขียนในอีเมล์ว่า 3 เดือน 10 ล้านบาทจริงไหม เพราะบางคนอาจบอกว่า โห 3 เืดือน 10 ล้านกับรายการนั่งคุยอย่างเดียวเนี่ยนะ
 
ผมเพิ่งสอบถามคนที่เกี่ยวข้องและได้ัรับรู้ว่า นั่นเป็นเพียงข้อเสนอ โดยเป็นข้อเสนอเมื่อทำรายการเต็มรูปแบบ คือจะมีทีมข่าวออกไปทำสกู๊ปข้างนอก 3-4 ชิ้น แล้วจึงเข้ารายการทอล์ค ซึ่งจะลดเหลือ 25 นาที โดยต้องจ้างทีมข่าวและเช่าอุปกรณ์เองหมด
 
แต่ที่ผ่านมา 2 เดือนครึ่ง ทางสถานีให้ทำไปก่อน โดยใช้รูปแบบทอล์คอย่างเดียว โดยยังไม่ได้ทำสัญญาอะไรเลย ยังไม่ได้ตกลงกันว่า ในช่วงที่ทำไปก่อนนี้ จะคิดตอนละเท่าไหร่ และยังไม่ได้จ่ายเงินสักสตางค์เดียว คือตลอด 2 เดือนครึ่่ง ภิญโญกับทีมงานยังไม่ได้เงินซักบาท ระหว่างนี้ ทางทีมงานก็เตรียมระดมคนที่จะเข้ามาทำสกู๊ปแล้ว นักข่าวมือดีๆ ทั้งนั้น บางคนก็ซวย เพราะเพิ่งลาออกจากที่เดิมแล้วมาเจอเรื่องนี้พอดี
 
เพียงแต่ข้อเสนอโปรเจกท์นี้ รู้ไปถึง บก.บางคนในฝ่ายข่าว (ไม่ใช่คนที่เขียนอีเมล์) แล้วก็เอาไปกระพือสร้างความไม่พอใจ โดยพูดไม่หมดว่า 3 เดือน 10 ล้านนี้รูปแบบเป็นอย่างไร และนี่เป็นแค่ข้อเสนอ ซึ่งทางสถา่นีก็ยังไม่ได้ตอบตกลง เพราะต้องเอาไปเทียบมาตรฐานการจ้างผลิตรายการอื่นๆ (แบบเทียบราคากลาง) แล้วจึงจะทำสัญญา
 
อันที่จริงถ้าพูดอีกด้าน ทีมงานตอบโจทย์ก็แฟร์ด้วยซ้ำเพราะทำให้ก่อน โดยยังไม่ได้ตังค์ และยังไม่รู้เลยว่าระหว่างที่ทำไปนี้จะได้ตอนละเท่าไหร่"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ศาลต้องตัดสินด้วยกฎหมาย

Posted: 19 Mar 2013 07:56 AM PDT

จากการที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาให้ความเห็นในการอภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในการจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" ว่าคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องมีคำวินิจฉัยที่มีความจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่านายวสันต์ออกมายอมรับผิดว่าตัดสินคดีนี้ผิดพลาด ซึ่งต่อมาโฆษกศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ออกมายอมรับว่าตัดสินผิดพลาดเพียงแต่ลำดับขั้นตอนการเขียนคำวินิจฉัยไม่ถูกต้องเท่านั้นเอง 
 
แต่ที่แน่ๆใครอ่านคำวินิจฉัยที่อ้างพจนานุกรมนั้นคงหัวเราะไม่ได้ร้องไห้ไม่ออกเป็นแน่ เพราะทีตุลาการไปสอนหนังสือแล้วรับค่าตอบแทนบอกว่าไม่ใช่การรับจ้างแต่เป็นการไปให้ความรู้ แต่ทีสอนให้ทำกับข้าวทางโทรทัศน์ซึ่งก็เป็นการให้ความรู้เช่นกันกลับเป็นการรับจ้างเล่นกันถึงต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว
 
ซึ่งการออกมาปฏิเสธนี้ก็ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมายของผมแต่อย่างใด เพราะเท่าที่ผมทราบยังไม่เคยได้ยินว่าศาลซึ่งไม่ว่าศาลไหนจะออกมายอมรับว่าตนเองตัดสินผิดพลาด ถึงแม้จะรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองก็ตาม แต่ที่แน่ๆคงต้องรอให้ไก่ออกลูกเป็นตัวเสียก่อนนั่นแหล่ะครับจึงจะได้เห็นว่าศาลออกมายอมรับว่าตนเองตัดสินผิด ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ เพราะศาลก็คือคน มีชีวิตจิตใจ มีรัก โลภ โกรธ หลง ความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ ที่แตกต่างกัน  ฯลฯ ในต่างประเทศจึงมีคณะกรรมการที่ออกมาวิจารณ์คำพิพากษาของศาลที่เรียกว่า Judicial Review Commission ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฏหมาย แม้ว่าจะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษาได้ก็ตาม แต่ก็มีผลต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและผลต่อการพิจารณาคดีใหม่เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่บ้านเรายังไม่มีคณะกรรมการเช่นที่ว่านั้นแต่อย่างใด 
 
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประเด็นข้างต้นแล้วนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังให้ความเห็นต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมา ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และกลุ่ม นปช. บุกบ้านพักของ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หากขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกัน บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงจะใช้ดุลพินิจไม่สั่งยุบพรรค เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย หาทางออกไม่เจอ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็แปลกดีพอถึงคราวคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กลับปล่อยให้คู่กรณีชกกันจนครบยกแล้วบอกว่าน้ำหนักเกิน
 
นอกจากนั้นยังให้ความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามมาตรา 68 หรือไม่นั้นว่า กว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติรับคำร้องใช้เวลาถกเถียงกันนานถึง 2 ชั่วโมงกว่า ตอนแรกถ้าไม่รับ สบาย ถ้ารับ เป็นเรื่อง แต่ก็กัดฟันรับไว้ก่อน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ไต่สวนและไม่มีไรก็จบ (ที่มาของข่าวทั้งหมดจาก www.matichon.co.th

จากประเด็นยุบพรรคกับประเด็นรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญใช้หลักเกณฑ์หรือหลักกฎหมายใดมาพิจารณากันแน่ เพราะปกติแล้วศาลมีหน้าที่พิจารณาคดีตามที่กฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนก็ให้นำกฎหมายที่เทียบเคียงใด้มาใช้ หากไม่มีเลยก็ใช้หลักกฎหมายทั่วไปเข้ามาจับ ผมไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่บอกว่า "ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย" หรือ "หากขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ...เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงจะใช้ดุลพินิจไม่สั่งยุบพรรค" แล้วมาตรฐานอยู่ตรงไหน ความถูกความผิดอยู่ตรงไหน หรือว่าประเทศเราปกครองด้วยศาลหรือผู้พิพากษาตุลาการ(Ruled by Judges)ไปแล้ว
 
ส่วนประเด็นที่ว่า "ตอนแรกถ้าไม่รับ สบาย ถ้ารับ เป็นเรื่อง แต่ก็กัดฟันรับไว้ก่อน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ไต่สวนแล้วไม่มีไรก็จบ" นั้นยิ่งฟังยิ่งทำให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่า "จะรับก็ได้ ไม่รับก็ได้" ทั้งๆที่เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน หลักกฎหมายเดียวกัน มิหนำซ้ำยังบอกอีกว่า "ไต่สวนแล้วไม่มีไรก็จบ" เสียอีกแน่ะ แล้วข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นน่ะมันจบจริงหรือเปล่า ความวุ่นวายตามมาเป็นโขยง ไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯที่ยังค้างเติ่งอยู่รอวาระ 3 เป็นจะเกือบปีอยู่แล้วทั้งๆรัฐธรรมนูญกำหนดให้ลงมติวาระ 3 เมื่อพ้นกำหนด 15 วันจากวาระ 2 มิหนำซ้ำยังวางยาไว้อีกว่าหากจะแก้ไขทั้งฉบับให้ไปลงประชามติเสียก่อน ทั้งๆที่ดูจากคำวินิจฉัยส่วนตนมีเพียงเสียงเดียวเท่านั้นที่เสนอความเห็นนี้ ไม่รู้ว่าไปบรรจุอยู่ในคำวินิจฉัยกลางได้อย่างไร เล่นเอาปั่นป่วนกันไปหมด 
 
บ้านเมืองที่ดีมีอารยธรรมนั้นปกครองด้วยหลักนิติรัฐซึ่งบรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ การควบคุมไม่ให้การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่ฝ่ายตุลาการจะไปบริหารเสียเองหรือบัญญัติสิ่งที่ไม่มีให้เกิดขึ้นหรือตีความนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยอ้างเหตุผลที่ไม่มีในกฎหมายเช่น "เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" หรือ "กัดฟันรับไว้" เป็นต้น
 
อำนาจตุลาการเป็นอำนาจหนึ่งในสามของการจำแนกการใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ได้อยู่เหนืออำนาจบริหารหรือนิติบัญญัติ มิหนำซ้ำเมื่อดูถึงที่มาแล้วยังยึดโยงกับประชาชนน้อยกว่าอีกสองอำนาจนั้นเสียด้วยซ้ำไป แต่ผลจากคำวินิจฉัยนั้นไปกดทับเหนืออำนาจบริหารและนิติบัญญัติจนไม่กล้าทำอะไร ทำให้บ้านเมืองสะดุดหยุดอยู่ และเชื่อว่าหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อนาคตประเทศไทยก็คงเป็นอันที่สิ้นหวังอย่างแน่นอน
 
-----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 มีนาคม 2556
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจารณ์ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ และ ‘คนไทย’ ในยุคหลังรายการ ‘ตอบโจทย์’

Posted: 19 Mar 2013 07:30 AM PDT

 

เราชาวไทยทั้งหลาย เมื่อเราได้รับชมรายการ 'ตอบโจทย์ประเทศไทย' ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไปครบแล้วทุกตอน หากพ้นค่ำคืนนี้ไป เราอาจสังเกตเห็นบางสิ่งได้ ดังนี้
 
1. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา ราชอาณาจักรไทยก็ยังคงเป็นราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ไทยก็ยังคงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดิม เรายังคงจ่ายตลาด  นั่งรถเมล์หรือขึ้นทางด่วนไปทำงานได้ตามปรกติ เรามิได้ออกมารบราฆ่าฟันกันอย่างบ้าคลั่งและไร้สติ ดังนั้น การถกเถียงกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุด้วยผล อย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผย แม้อาจเป็นสิ่งที่เรายังไม่คุ้นชิน แต่มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่บางฝ่ายต้องการข่มขู่ให้เรากลัว จริงหรือไม่ ?
 
2. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ 'สื่อมวลชน' มากขึ้นหรือไม่ ?
 
- การกดดันให้งดฉายรายการ กลับส่งผลให้รายการนั้นเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่ ?
 
- การไปชุมนุมประท้วงที่สถานีโทรทัศน์ นำพามาซึ่งสิทธิประโยชน์ในการรับประทานอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช่หรือไม่ ?
 
- วงการสื่อไทย มีความเหลื่อมล้ำ ความริษยาหมั่นไส้ระหว่างลูกจ้างประจำ กับ ทีมงานที่รับผลิตรายการจากภายนอกสถานี มากน้อยเพียงใด ?
 
- งบประมาณมหาศาลที่รัฐได้จัดสรรให้แก่ ไทยพีบีเอส และ สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของไทยพีบีเอส จากกลุ่มคนที่มาชุมนุมกดดัน ณ สถานีประมาณไม่เกิน 100 คน (และอาจเพิ่มขึ้น) มากน้อยเพียงใด ?
 
- การที่คณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ได้ออกแถลงการณ์ว่า การชะลอการออกอากาศโดย ผู้อำนวยการสถานีถือเป็นการทำผิดจริยธรรมของวิชาชีพ แต่มีเหตุผลรับฟังได้ แปลว่าอะไรกันแน่ ? เราสามารถอ้างเหตุผล เพื่อทำผิดจริยธรรมได้ด้วยหรือ ?
 
ฯลฯ
 
3. รุ่งเช้าที่เราตื่นมา เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ 'คนไทย' ด้วยกันเองมากขึ้นหรือไม่ ?
 
- หากเราไม่กล้าวิจารณ์โต้เถียงกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าตัวเรานั้นเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง ?
 
- การแบ่งแยกคนไทย ออกเป็น คนรักเจ้า คนไม่รักเจ้า คนโหนเจ้า เป็น royalist หรือ ultra-royalist นั้น สามารถแบ่งได้จริงหรือ และแบ่งแยกกันอย่างไร หรือมันแล้วแต่ใครจะเรียก ?
 
- คนเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกบางคนมองว่าพูดจาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงนั้น แท้จริงแล้ว เมื่อได้มีโอกาสพูดในโทรทัศน์สาธารณะ ก็มีวิธีพูดจาที่นุ่มนวลเสียยิ่งกว่าคนที่เรียกตนเองว่ารักเจ้า เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ใช่หรือไม่ ?
 
- คนที่อ้างว่าตนมีเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วกลับไม่เคารพเสรีภาพของผู้อื่นจะวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ตรงกับตนใช่หรือไม่ ? เช่น ตนอ้างเสรีภาพว่าตนวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ แต่พอมีผู้อื่นวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางอื่น กลับกลายเป็นผู้นั้นเป็นผู้อวยเจ้า โหนเจ้า หรือ เป็นนักแท็กเพื่อโหนประเด็น ? สุดท้ายแล้ว คนที่อ้างเสรีภาพเหล่านี้ จึงอ้างเพื่อมาเป็นหน้ากากบังหน้าอคติและความหมั่นไส้ริษยาที่มีต่อผู้อื่นที่คิดเห็นหรือวางตัวต่างไปจากตน ใช่หรือไม่ ?
 
- หากสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถถูกวิจารณ์ได้มากขึ้น คนไทยบางคนบางกลุ่ม เช่น องคมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ หรือ พระสงฆ์ ก็ควรสามารถถูกวิจารณ์ได้มากขึ้นเช่นกัน ใช่หรือไม่ ?
 
ฯลฯ
 
4. ที่สำคัญ รุ่งเช้านี้ เราเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับ 'สถาบันพระมหากษัตริย์' มากขึ้น หรือไม่ ?
 
- เมื่อสังคมไทยนิยมการนินทา และคนไทยคงหยุดการนินทาไม่ได้ เราควรเรียกร้องให้ประเทศไทยมี 'โฆษกประจำพระราชสำนัก' เพื่อชี้แจงแถลงไขในเรื่องราวที่ประชาชนสงสัย หรือข้องใจ ให้ชัดเจน หรือไม่ ?
 
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ควรคงไว้ตามเดิม หรือ ควรแก้ไขให้มีการลดโทษให้เบาลง มีวิธีการฟ้องที่รัดกุมมากขึ้น หรือ ยกเลิกไปเสีย ?
 
- สิ่งที่มีผู้กล่าวว่าเป็น 'เพลี้ย' หรือ 'กาฝาก' ที่กำลังเกาะกินสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้นมีจริงหรือไม่ และควรได้รับการจัดการอย่างไร ?
 
- มาตรา 112 ได้สร้างความกลัว หรือสร้างสภาวะ 'บังคับ' ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมี 'ความสมัครใจ' (consent) ที่จะรู้สึกหรือแสดงออกที่จะเคารพรัก หรือไม่เคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จริงหรือ ?

ฯลฯ
 

ข้อวิจารณ์ต่ออาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
 
ประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนสมควรได้รับการครุ่นคิดและถกเถียงกันเพิ่มเติม แต่ผู้เขียนจะขอยกประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งมาถกเถียงต่อ ได้แก่ ประเด็นใหญ่ที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  ("สศจ.") พยายามเน้นย้ำตลอดมาว่า เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยนั้น เป็นเรื่องของ 'การบังคับ' กล่าวคือ สศจ. เห็นว่า มาตรา 112 ได้สร้างความกลัว หรือสร้างสภาวะ 'บังคับ' ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมี 'ความสมัครใจ' (consent) ที่จะเลือกรู้สึกหรือแสดงออกที่จะเคารพรัก หรือไม่เคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างแท้จริง
 
ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่เป็นความคิดรากฐานที่ สศจ. นำมาสร้างเงื่อนไขในการอธิบายว่า การบังคับ คือ การไม่มีทางเลือกที่สมบูรณ์ (ที่จะแสดงออกในการไม่รักหรือต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์) และ การมี มาตรา 112 ก็คือ การไม่มีทางเลือก และย่อมไม่มีความสมัครใจอย่างแท้จริง ดังนั้น สำหรับ สศจ. แล้วคนไทยทุกคนจึงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครสามารถแสดงออกในเชิงไม่รักหรือต่อต้านสถาบันได้เต็มที่ และย่อมไม่มีคนไทยที่สามารถเลือกหรือแสดงออกที่จะรักหรือไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริงได้เลย

ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลของ สศจ. ข้อนี้ฟังสะดวก เข้าใจง่าย และอาจถูกใจใครหลายคน แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเป็นเหตุผลที่ลวกและรวบรัดเกินไป และไม่ได้เป็นผลดีต่อการยกระดับสติปัญญาของสังคมในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าใดนัก

และที่แย่ที่สุดก็คือ ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นผู้ใดออกมาโต้แย้งหักล้าง สศจ. ในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

ผู้เขียนขอเสนอข้อโต้แย้งว่า แม้วันนี้ มาตรา 112 จะยังดำรงคงอยู่ แต่ในทางหนึ่ง คนไทยทุกคน ก็ยังมีเสรีภาพที่จะไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในการคิด และการแสดงออก ทั้งนี้ เพราะการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในความคิด และการแสดงออกนั้น ย่อมมีได้หลายรูปแบบและไม่อาจตกอยู่ภายใต้การจำกัดความโดย สศจ. หรือ ใครได้ เช่น การไม่สนใจใยดี การไม่คิดแม้แต่จะวิจารณ์หรือพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่การเสแสร้งแอบอ้าง ก็ล้วนเป็นวิธีการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทั้งสิ้น

(ผู้อ่านโปรดแยกความต่างให้ชัดระหว่าง การ 'บังคับ' ห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ซึ่งผู้เขียนมิได้ปฏิเสธ กับอีกส่วน คือ การ 'บังคับ' ให้ต้องรู้สึกหรือแสดงออกในทางความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งผู้เขียนกำลังปฏิเสธว่าการ 'บังคับ' ที่ สศจ. อธิบายอบ่างหลังนั้น อาจไม่มีอยู่จริง)
 
ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การที่ผู้ใดไม่ไปแสดงออกในทางที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย หรือแม้แต่ในทางวิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ได้แปลว่าผู้นั้น 'กลัว' หรือ 'ไม่กล้า' หรือไม่มี 'ความสมัครใจ' ที่จะเลือกไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่การดำรงอยู่ของ มาตรา 112 นั้นย่อมทำให้พิสูจน์เชิงพฤติกรรม 'ความสมัครใจ' ที่จะเลือกไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำได้ยากเท่านั้น
 
นอกจากนี้ แม้ผู้เขียนจะเห็นว่า มาตรา 112 ได้สร้างอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และย่อมนำมาสู่ความไม่เท่ากันในการพิจารณาข้อมูลมาตัดสินใจ แต่นั่นก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าจะไม่มีผู้ใดที่สามารถคิดใคร่ครวญหรือแสวงหาข้อมูลเพื่อมีความคิดหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแบบที่ตนเอง 'สมัครใจ' ได้ 

หากจะอธิบายให้เห็นภาพ สมมติว่าเราทำการทดลองโดยบังคับให้คนไทย 100 คน ต้องรับชมข่าวในพระราชสำนักทุกวัน และบังคับเขาเหล่านั้นให้ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 112 แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ว่า จิตใจเขาเหล่านั้นจะต้องเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามเนื้อหาที่นำเสนอในข่าวพระราชสำนัก โดย คน 10 คน จาก 100 คนนั้น อาจจะไม่เคยเอ่ยปากชื่นชมหรือแสดงออกในทางที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ก็เป็นได้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่วัดความหมายของการแสดงออก หรือการไม่แสดงออกของเขา (ในการปฏิบัติตาม มาตรา 112) ได้อย่างแน่ชัดว่าดหมายความถึงการเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่ อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า พฤติกรรมที่ใครบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นการเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 หรือประเด็นความเคารพรักแม้แต่น้อย แต่อาจเป็นผลจากการตัดสินใจด้วยความสมัครใจเพื่อประโยชน์ของตนเอง ยกตัวอย่าง หากเราพิจารณาผู้ทำธุรกิจขายดอกไม้ ขายเสื้อเฉลิมพระเกียรติ หรือทำโรงพิมพ์ปฏิทิน เขาเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นผู้ที่ยกเคารพหรือยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาอาจไม่ได้เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่น้อย หรืออาจเคารพเป็นบางวัน แต่เหตุที่เข้าแสดงออกในทางเคารพยกย่องทุกวันเช่นนั้น อาจเป็นเพราะเขาเห็นว่าการแสดงออกในทางที่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อตัวเขา เขาจึงตัดสินใจโดยเหตุผลและความสมัครใจที่จะแสดงออกในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง

และในตัวอย่างดังกล่าวนี้เอง แม้สมมติว่า มาตรา 112 ได้ถูกยกเลิกไป ผู้เขียนก็ขอเสนอสมมติฐานโต้แย้งว่า ผู้ที่ทำธุรกิจขายดอกไม้ ขายเสื้อเฉลิมพระเกียรติ หรือทำโรงพิมพ์ปฏิทินเหล่านั้น แม้ใจจริงเขาจะไม่ได้ต้องการแสดงออกเพื่อเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เลยก็ตาม แต่สุดท้าย เขาอาจตัดสินใจเลือกด้วยตัวเขา ด้วย 'ความสมัครใจ' ที่จะแสดงออกในทางเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม เพื่อให้เขายังคงได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมิได้ใส่ใจว่า มาตรา 112 จะถูกยกเลิกไปแล้วหรือไม่


หากให้ยกระดับของกรณีตัวอย่างที่ไปไกลยิ่งกว่ามิติทางเศรษฐกิจ เช่น มิติความคิดในทางวิชาการ สมมติฐานของผู้เขียนก็ยังคงใช้ได้ในลักษณะเดียว เช่น นักวิชาการที่ 'สมัครใจ' เห็นด้วยในคำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์ต่อระบบกฎหมายและการปกครอง เขาอาจเลือกที่จะเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ คือสะพานเชื่อมระหว่างยุคก่อน พ.ศ. 2475 และ หลัง พ.ศ. 2475 และเขาอาจไม่นึกว่า พ.ศ. 2556 จะเปลี่ยนแปลงช้าเพียงนี้ หรือเขาอาจจะคิดว่า มันกำลังช้าพอดีแล้ว ฯลฯ สุดแท้แต่เหตุผลที่เข้าจะเลือกเชื่อ โดยปราศจากความเกรงกลัวต่อ มาตรา 112

จากตัวอย่างนี้ นักวิชาการที่เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อนั้น มิได้จำเป็นต้องเชื่อเพราะผลของความกลัว หรือถูกบังคับ เพียงแต่เขาเลือกที่จะเห็นต่างจากนักวิชาการรายอื่น ที่อาจปฏิเสธความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เคยแสดงความเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  เลยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ปฏิเสธก็คือ มาตรา 112 ได้ทำให้ความเชื่อของนักวิชาการฝ่ายแรก ถูกโต้แย้งได้อย่างจำกัด และทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งนั้นโต้แย้งได้อย่างเสียเปรียบ ภายใต้เงื่อนไข มาตรา 112 แต่สภาวะนี้ก็ไม่ได้แปลว่านักวิชาการฝ่ายใดจะต้องถูกบังคับ หรือกลัว มาตรา 112 หรือ และยิ่งเป็นการไม่เป็นธรรม หากจะสรุปว่านักวิชาการฝ่ายแรกเชื่อเพราะเพราะเขาเองไม่สามารถคิดเองได้อย่างรอบด้านเท่าเทียมกับอีกฝ่าย ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ มาตรา 112 เท่ากัน
 
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างของมิติทางเศรษฐกิจ และมิติความคิดในทางวิชาการ จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ 'บังคับ' การคิดหรือการแสดงออกในเชิงเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของทุกคนเสมอไป แต่การจะเคารพรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่ มีปัจจัยอื่นที่สลับซับซ้อนมากไปกว่า 'ความกลัว' หรือสภาวะ 'บังคับ' ตามที่ สศจ. อ้างอีกมาก

ผู้เขียนขอย้ำให้ชัดเจนอีกครั้งว่าสิ่งที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นการสนับสนุน มาตรา 112 หากแต่เป็นการอธิบายว่า การจะเสนอยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112 นั้น ไม่อาจอ้างเหตุผลเรื่องการ 'บังคับให้เคารพรัก' หรือ การทำลาย 'ความสมัครใจ' ได้ดังที่ สศจ. พยายามจะอ้างได้ เพราะในท้ายที่สุด หากเราไม่อาจพิสูจน์เข้าไปในใจของใคร ว่าเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ฉันใด เราก็ย่อมไม่อาจไปสรุปว่าการแสดงออกหรือไม่แสดงออกของผู้ใด นั้นหมายถึงการเคารพรักหรือไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ฉันนั้น

ปรากฏการณ์จากรายการ "ตอบโจทย์" นั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มาตรา 112 หรือ ความมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่อาจบังคับอะไรต่อใครในลักษณะที่ สศจ. อ้างได้ และแม้ผู้ใดจะอ้างว่าบังคับได้ ผลการบังคับนั้นก็แสนจะหลวม จนคนไทยแต่ละคนสามารถคิดเห็นและแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้อย่างแตกต่างและหลากหลายมาก 
 
ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด หากสถาบันพระมหากษัตริย์ จะล้มพังหรือไม่พัฒนา ก็คงไม้ได้เป็นเพราะมีผู้ที่คิดเห็นแบบ สศจ. แต่คงเป็นเพราะเรายังขาด royalist หรือคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หลักแหลมเพียงพอที่จะทำให้สังคมไม่หลงคล้อยตามความคิดรวบรัดในทำนองที่ สศจ. นำเสนอ จนในที่สุด ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องซ้ำเดิมกับความหมั่นไส้กันว่าใครรัก ใครกลัว ใครถูกบังคับ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นภาพลวงตาที่ชวนเสียเวลาทั้งสิ้น.
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ว.สรรหาฮึ่ม 'ตอบโจทย์' มีอคติ-กระทำผิดกฎหมาย เล็งเรียกทีมงานมาชี้แจง

Posted: 19 Mar 2013 05:40 AM PDT

สมชาย แสวงการอัด 'ตอบโจทย์' เลือกโจทย์ผิด คำตอบที่ได้ก็ผิด ย้อนถาม 'ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา' ทำไมไม่ตั้งโจทย์นักการเมืองทุจริตอย่างทักษิณบ้าง ลั่นจะให้ กมธ.สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพเรียกผู้ผลิตรายการเข้ามาตอบโจทย์ในที่ประชุม

รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: คัดลอกจากเว็บไซต์ไทยพีบีเอส)

 

ตามที่เมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการเผยแพร่รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 เป็นการอภิปรายตอนจบระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและผู้ก่อตั้งศึกษิตสยาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยการออกอากาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาผู้บริหารไทยพีบีเอสตัดสินใจชะลอการออกอากาศ ก่อนทีคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จะมีผลวินิจฉัยว่าการชะลอดังกล่าวผิดข้อบังคับและให้ "เยียวยาผู้ชมรายการ" โดยการออกอากาศรายการดังกล่าวโดยเร็ว เป็นที่มาของรายการตอบโจทย์ประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค. นั้น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ระบุว่่ออกอากาศรายการได้ แต่ในเวลานี้ไม่เหมาะสม เพราะประเทศยังขัดแย้งนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นายสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิกระบบสรรหา (ที่มา: เว็บไซต์วุฒิสภา)

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รายการตอบโจทย์ฯ ที่นำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นในการพูดคุยที่ออกอากาศผ่านสถานีไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะว่า สถานีไทยพีบีเอสอาจจะทำหน้าที่เป็นทีวีสาธารณะไม่สมบูรณ์แล้ว เพราะการนำเรื่องสถาบันมากล่าวเช่นนี้ถือเป็นการสุ่มเสี่ยง การหยิกยกเรื่องสถาบันมาเป็นโจทย์ในรายการถือว่าเป็นการเลือกโจทย์ที่ผิด เพราะฉะนั้นคำตอบที่ได้ก็ผิดไปด้วย ประเทศไทยมีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายาวนานและจะมีต่อไปเรื่อยๆ

ซึ่งการตั้งคำถามว่าจะมีการปฏิรูปสถาบันอย่างไรช่วงหลังรายการนั้น อยากจะย้อนถามกลับว่า ทำไมถึงไม่ตั้งโจทย์ถึงการปฏิรูปนักการเมืองที่ทุจริตอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำไมนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ฯ ไม่ตอบคำถามตัวเองบ้างว่าเดินทางไปดูไบเพื่ออะไร และมีการรับเงินค่าจ้างเท่าไหร่ การกระทำของรายการตอบโจทย์ฯถือว่าเป็นการผิดกฎหมายอาญาอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษถึงการจำคุก การดำเนินรายการเช่นนี้เป็นการตั้งคำถามแบบมีอคติ เพราะฉะนั้นขอให้รายการตอบโจทย์ฯแสดงความรับผิดชอบโดยการยุติรายการดังกล่าวทันที ทั้งนี้ ทางกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จะเชิญผู้บริหาร ผู้ผลิตรายการตอบโจทย์ฯเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ. 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอแรงงานระดมชื่อกดดัน Electrolux รับกลับคนงานตามข้อตกลงวันที่ 26 ก.พ.

Posted: 19 Mar 2013 04:54 AM PDT

19 มี.ค. 56 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้เชิญชวนประธานสหภาพแรงงาน, สหพันธ์แรงงาน, สภาองค์การลูกจ้าง และองค์การลูกจ้าง รวมทั้งประชาชนทั่วไปลงชื่อในจดหมายขอให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงกับ IF METALL และประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธุ์ เรียกพนักงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทุกคนกลับเขาทํางานทันที

 
เนื่องจากเกิดกรณีปัญหาการเิลิกจ้างไม่เป็นธรรมของ บ.อีเลคโทรลักซ์ ซึ่งผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้าที่มีชื่อเสียง ดังที่ท่านทราบมาก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจึงสนับสนุนการต่อสู้กลับเข้าทำงานของสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ด้วยการประสานงานขอความร่วมมือขบวนการแรงงานทั้งไทยและต่างประเทศ จึงขอความร่วมมือจากท่านลงชื่อแนบท้ายจดหมายที่จะส่งถึงบริษัทในไม่ช้านี้
 
ทั้งนี้ได้แนบจดหมายมา 2 ฉบับ 
 
 
 
 

 

ภาพการรณรงค์ประกอบ

 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ผ่านร่าง พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน วุฒิฯ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

Posted: 19 Mar 2013 03:18 AM PDT

ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ สว.บางส่วนไม่เห็นด้วย และเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันนี้ (19 มี.ค.56) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ขณะที่ สว.บางส่วนไม่เห็นด้วย และเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาทได้จากภายในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หากใช้งบประมาณปกติแบบปีต่อปีจะไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่า โครงการภายใต้เงินกู้นี้ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส การมียุทธศาสตร์ แผนงาน และการระบุความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยร่าง พรบ.ดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมสภาในสัปดาห์หน้า

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถชำระคืนหนี้แล้วเสร็จภายใน 50 ปี โดยในปีแรกจะเป็นการชำระดอกเบี้ย ก่อนที่จะชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไป ปีละ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 10 ปีแรก จะมีการใช้เงินกู้เพื่องานก่อสร้างในหลายๆ โครงการที่เร่งด่วน

ทั้งนี้ โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การลงทุนเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟความเร็วสูงและท่าเรือต่างๆ และการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบขนส่งในการอำนวยความสะดวกและให้เกิดคล่องตัว เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย

ในขณะที่วุฒิสภามีการเสนอกรณีดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมด้วยโดย น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเตรียมออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ จำนวน 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินการคลัง  และเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ โดยวุฒิสภาเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันได้แสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรศึกษาผลกระทบก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย (1) (2), ไทยรัฐ และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ระบุ 'ตอบโจทย์' ฉายได้ตาม รธน. แต่ใครอยู่เมืองไทยแล้วอึดอัดขอให้ไปที่อื่น

Posted: 19 Mar 2013 02:56 AM PDT

ประยุทธ์บอกฉาย "ตอบโจทย์" ได้แต่เวลานี้ไม่เหมาะสม เพราะประเทศยังขัดแย้ง รับไม่กล้าก้าวล่วงสิทธิของสื่อว่าผิดหรือถูก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างตอบโจทย์ - คนส่วนน้อยที่คิดว่าอยู่เมืองไทยแล้วอึดอัดขอให้ไปอยู่ที่อื่น ด้าน 'รสนา โตสิตระกูล' ท้าไทยพีบีเอสออกทีวี 5 ตอน พูดเอง 1 ตอน มีลูกคู่ 2 ตอน และขอศึก ปตท. - กระทรวงพลังงาน 2 ตอน ถ้าฝ่ายหลังไม่มาถือว่าสละสิทธิ จะขอจัดเอง

ตามที่เมื่อเวลา 22.00 น. เมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการเผยแพร่รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 เป็นการอภิปรายตอนจบระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและผู้ก่อตั้งศึกษิตสยาม โดยการออกอากาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อ 15 มี.ค. ที่ผ่านมาผู้บริหารไทยพีบีเอสตัดสินใจชะลอการออกอากาศเนื่องจากมีผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศภายในสถานี ก่อนที่คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จะมีผลวินิจฉัยว่าการชะลอการออกอากาศเป็นการผิดข้อบังคับขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และให้มีการ "เยียวยาผู้ชมรายการ" โดยการออกอากาศรายการดังกล่าวโดยเร็ว เป็นที่มาของรายการตอบโจทย์ประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค. ดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ประยุทธ์บอกฉาย "ตอบโจทย์" ได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เหมาะสมในเวลานี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (แฟ้มภาพ/en.wikipedia.org/wiki/Prayuth_Chan-ocha)

 

ล่าสุดวันนี้ (19 มี.ค.) ที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน 1 รอ.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยแพร่รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 โดยมติชนออนไลน์ รายงานคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวว่า การกลับมาฉายใหม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เหมาะสมที่จะมานำเสนอในช่วงเวลานี้ เพราะประเทศไทยยังคงมีความขัดแย้ง ทั้งนี้อยากให้รำลึกว่า การที่ประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวโลก ส่วนหนึ่งก็มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งประเทศไทยเป็นแผ่นดินที่บรรพบุรุษต่อสู้รักษาไว้ และปัจจัยที่ทำให้ประชาชนกับแผ่นดินยึดเหนี่ยวด้วยกันได้คือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

อีกทั้งประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงทรงอ่อนแอเพราะไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงต้องมีกฎหมายมาคุ้มครอง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร พึ่งจะมามีปัญหาในช่วงหลัง

 

รับไม่กล้าก้าวล่วงสื่อ แต่คนส่วนน้อยที่คิดว่าอยู่เมืองไทยแล้วอึดอัดขอให้ไปอยู่ที่อื่น

ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวอีกว่า ตนไม่กล้าที่จะก้าวล่วงสิทธิ์ของสื่อ และไม่สามารถกล่าวได้ว่าผิดหรือถูก และคิดว่าคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศไม่ได้มีความคิดอย่างที่รายการตอบโจทย์ประเทศไทยนำเสนอ พร้อมยืนยันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยทำร้ายประชาชน ตรงข้ามกลับมีแต่ให้ประชาชนจากทรัพยากรที่ได้จากประชาชน

โดยส่วนตัวรู้สึกอึดอัดกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ยอมรับว่าเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หากผู้ใดทำผิด และรู้ว่าถ้าทำผิดกฎหมายแล้วจะถูกดำเนินคดีก็ขออย่าให้ทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเมื่อคนส่วนใหญ่รักสถาบันพระมหากษัตริย์คนส่วนน้อยก็ต้องยอมรับหากคิดว่าอยู่เมืองไทยแล้วอึดอัดที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์และมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ขอให้ไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตามยอมรับว่ากระบวนการล้มเจ้ามีมาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2475 แล้ว

ส่วนการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่หลายคนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า การที่พระองค์ท่านลงพระปรมาภิไธย เป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น เพราะขณะนั้นคณะรัฐประหารถือว่าเป็นรัฐบาลเมื่อมีการเสนอขึ้นไปพระองค์ก็ต้องลงพระปรมาภิไธยตามกฎหมาย

ดังนั้นต่อไปนี้ ต้องระมัดระวังอย่าให้พระองค์ท่านต้องเสื่อมเสีย และให้ไปตีความก่อนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และเรียกร้องให้ผู้ที่มีความคิดและพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวแต่เชื่อว่าสิ่งที่ตนร้องขอไปคงไม่สำเร็จและคนผู้นั้นก็ต้องรอรับผลทางกฎหมาย

 

รสนาท้า "ไทยพีบีเอส" ขอออกทีวีเรื่องผูกขาดพลังงาน 5 ตอน ขอศึก ปตท. - กระทรวงพลังงาน 2 ตอน

ขณะเดียวกัน ต่อกรณีที่รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ได้โพสต์สเตตัสเมื่อเช้ามืดวันนี้ (19 มี.ค.) เสนอให้ไทยพีบีเอส "ให้โอกาส" ไปออกอากาศสัก 3 ตอนในเรื่อง ปตท. นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุด รสนา ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคว่า

"เจ้าหน้าที่ตอบโจทย์ส่งข่าวมาว่า รายการตอบโจทย์ได้ปิดตัวเองไปแล้ว จึงไม่สามารถเชิญดิฉันไปออกรายการตอบโจทย์ได้ แต่ดิฉันขอท้าทายคุณสมชาย สุวรรณบรรณ ในฐานะ ผอ. TPBS ว่าแม้จะปิดรายการตอบโจทย์ ซึ่งจะปิดทำไมในเมื่อได้ออกตอนสุดท้ายครบทั้ง5ตอนแล้ว ไม่ได้ถูกอำนาจมืดใดๆบังคับให้ต้องยุติรายการ จึงไม่มีเหตุผลจะปิดรายการนี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบว่าได้ถูกบีบคั้นจนเสียความอิสระ

สิ่งที่เคยได้รับทราบจากทีมงานดิฉันว่าปีที่แล้ว ต่อต้นปีนี้ มีเจ้าหน้าที่TPBS เคยติดต่อว่าจะเชิญไปออกรายการ แต่ต้องการเชิญฝ่ายปตท. มาร่วมในรายการเดียวกัน ประมาณว่าให้มีทั้ง ฝ่ายโปร และฝ่ายคอน บนเวทีเดียวกันตามแบบของตอบโจทย์ แต่พอ ปตท.ปฏิเสธไม่มาออกรายการเดียวกัน กับดิฉัน TPBS ก็เลยไม่เชิญทีมงานของดิฉันค่ะ

ดิฉันก็เพิ่งได้รับคำยืนยันจากคน TPBS ว่าเหตุที่ไม่เคยเชิญดิฉัน เพราะฝ่ายปตท. ไม่ยอมมา เลยตัดสิทธิพวกเราในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน

แต่เหตุใดรายการตอบโจทย์วิพากษ์สถาบันฯ 5 ตอน จึงไม่มีฝ่ายที่เห็นค้านมาดวลกันบนเวทีเดียวกัน แต่กลับสามารถจัดได้

ดิฉันขอเสนอให้ TPBS จัดวิพากษ์ธุรกิจผูกขาดพลังงานแบบจัดคอนเสิร์ต ขอ โซโล่ 1 ครั้ง ดูโอ้ 2 ครั้ง และแบตเทิ่ลอีก 2 ครั้ง โดยให้ฝ่ายแบตเทิ่ลมีตัวแทนจาก ก.พลังงาน 1 ครั้ง ปตท. 1 ครั้ง แฟร์ดีไหมคะ?

ถ้าฝ่ายถูกท้าแบตเทิ่ลไม่มา ดิฉันและทีมงานยินดีรับแทน เพราะถือว่าฝ่ายถูกท้าสละสิทธิเอง

และการสละสิทธิของฝ่ายถูกท้า ไม่ควรเป็นเหตุผลให้ยกเลิกการจัด วิพากษ์ธุรกิจพลังงานผูกขาดได้ มิเช่นนั้นต้องถือว่าเหตุผลเช่นนี้เป็นเล่ห์กลที่จะไม่จัดวิพากษ์ค่ะ

หลังจากดิฉันโพสข้อความถึง TPBS เมื่อเช้ามืดวันที่19มีนาคมแล้ว เรตติ้งคนเข้ามาอ่านขยับจากที่บอกในโพสก่อนหน้านี้ว่ามีคนอ่านเพจของดิฉันในอาทิตย์นี้ 997,061 คน ขยับมาเป็น 1,018,702 คนในขณะนี้แล้ว พอจะเป็นจำนวนที่บ่งบอกความสนใจของสาธารณะที่อยากฟังประเด็นเรื่องพลังงานได้ไหมคะ?

อยู่ที่คุณสมชาย สุวรรณบรรณจะมีความกล้าพอไหมที่จะเปิดการวิพากษ์เรื่องนี้? หรือกล้าแต่วิจารณ์สถาบันฯ เพราะรู้ว่าจะไม่มีนักการเมืองมาตัดงบประมาณ TPBS อยู่แล้ว และกลุ่มธุรกิจพลังงานก็ไม่เดือดร้อนกับประเด็นนี้จนมาบีบคั้นในทางใดทางหนึ่งเหมือนการวิพากษ์ธุรกิจผูกขาดของเขา

ขอให้ถือว่าดิฉันโยนถุงมือท้าคุณค่ะ"

สเตตัสของรสนา ทิ้งท้ายไว้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12 - 18 มี.ค. 2556

Posted: 19 Mar 2013 02:04 AM PDT

 

แรงงานจ่อบุกประท้วงหน้าสถานทูต

ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ตัวแทนสภาพแรงงาน 4 แห่งประชุมร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างและปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในหัวข้อ"300 บาทรัฐจัดให้แต่นายจ้างปล้นคืน" โดยนายไพรวัลย์ เมทา ประธานสหพันธ์ุแรงงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ จ.ระยอง กล่าวว่าบริษัท มีทุนจดทะเบียนถึง 830 ล้านบาท มีพนักงานกว่า 800 คน ตนและพนักงานเก่าจำนวน 129 รายไม่ได้การรับปรับค่าแรงขั้นต่ำและค่าแรงเท่ากับการบรรจุพนักงานใหม่ ซึ่งผู้บริหารนำตัวคนงานเก่าออกจากโรงงานโดยอ้างว่าเป็นตัวปัญหาและถูกเลิก จ้างทั้งหมด โดยทางบริษัทพยายามที่จะสลายสหภาพแรงงาน นำรปภ. ตำรวจ สภ.อ บ้านค่าย มาล้อมกรอบเพื่อเลิกจ้างพวกเรา 129 คน และรับพนักงานซับคอนแทคมาในไลน์ 129 คนแทนทันที พวกเรามาปักหลักชุมนุมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลแต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆจาก รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน

ด้านนายวินัย จันทร์รักษา เป็นตัวแทนลูกจ้างบริษัทอีกแห่งหนึ่ง กล่าวว่าพนักงานขับรถทำทุกวันไม่มีวันหยุด ส่งของให้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งทั่วประเทศ ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท แต่สภาพคนขับรถต้องขึ้นของลงของเองทั้งหมดห้ามจอดรถหยุดนอน ทำให้คนงานเสียชีวิตหลายรายแล้วเพราะ หลับในชนท้ายเสียชีวิต ซึ่งบริษัททราบแต่ไม่เคยแก้ไขปัญหา วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ได้รับเงินเพิ่ม ทางบริษัทพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องเรทน้ำมันและระยะกิโลเมตรให้ การขนส่งทำเวลาเร็วขึ้นทำไม่ได้ถูกหักเงิน และทางบริษัทได้เลิกจ้างคนงาน 50 คนที่หยุดพักปั้มเข้าห้องน้ำและทำเวลาไม่ได้ตามระยะทาง

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าภายหลังที่รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยรัฐบาลพยายามออก ข่าวว่ามีคนงานถูกเลิกจ้างเพียง 2 พันคนและมาจากต่างประเทศยกเลิกคำสั่งซื้อ โดยไม่ยอมรับปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งๆที่เจ้าของบริษัทเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานไม่เป็นธรรมบนความเจ็บปวด และคราบน้ำตาของแรงงาน ในหลายสถานประกอบที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ลดเวลาการทำงานลงเพื่อลดภาระค่า จ้าง การปรับวันทำงาน การปรับการเข้าออกงานใหม่ นโยบายนี้ได้ฆ่าผู้ใช้แรงงานให้ตายทั้งเป็นมีทั้งหาเหุตเลิกจ้าง เพิ่มเวลาการทำงานจาก 5 วันเป็น 6 วันไม่ปรับค่าแรงพิ่ม ไม่มีการเงินวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยคนงาน ทำลายล้างองค์กรสหภาพแรงงาน บางแห่งมีการบังคับให้หยุดงาน เนื่องจากลูกจ้างเป็นรายวัน

นายชาลี กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐ ไม่ควรผลักภาระให้ลูกจ้างต่อรองกับนายจ้างตามลำพัง และไม่ควรถูกเลิกจ้าง เราเรียกร้องมาตลอด แต่รัฐไม่ใส่ใจและทำเป็นไม่ได้ยิน ขอประกาศว่าจะไม่ยอมจำนนต่อภาวะสถานการณ์แบบนี้อีกแล้ว บทเรียนที่ผ่านมาปัญหาทีเกิดขึ้นในหลายสถานประการไม่มีการแก้ปัญหาได้จริง ฝ่ายนายจ้าง กระทรวงแรงงาน เพียงแต่เจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งๆไป ไม่สามาถแก้ไขความเดือดร้อนของลูกจ้างได้ ซึ่งสะท้อนว่านโยบายเอื้อเอกชน ยกระดับการต่อสู้ถึงที่สุดโดยวันที่ 13 มีนาคม เราจะไปกดดันหน้าสถานทูตของบริษัทต่างๆมาลงทุนในประเทศไทยแต่กลับมากดขี่ขูด รีดคนงานไทย โดยจะไปสถานทูตออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ให้สถานทูตต่างๆรับทราบชะตากรรมที่มาทำธุรกิจกับประเทศไทย มาลิดรอนสิทธิลูกจ้างไทย

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ที่ปรึกษาสหพันธุ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัญหาเกิดจากทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ ได้ทำอย่างก้าวร้าวมาก โดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของพนักงานลูกจ้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะสร้างความเดือดร้อนไปจนถึง บริษัทซับคอนแทกที่อยู่ตามอยู่ห้องแถว ขณะนี้สถานนะลูกจ้างไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลยในสังคม แต่รัฐบาลประเทศไทยอ่อนแอเกินไปที่จะใช้กฎหมายให้ถูกต้องและเกรงใจทุนข้าม ชาติ

(เดลินิวส์, 12-3-2556)

 

อดีตลูกจ้างฟ้องเทศบาลเมืองหนองคาย เลิกจ้างโดยมิชอบ

12 มี.ค. 56 - นายสังวาลย์ ริมเขาใหญ่ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองหนองคาย จ.หนองคาย พร้อมด้วยนางสุดารัตน์ ชนะบุญ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 344 หมู่ 11 ต.โพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย และอดีตลูกจ้างเทศบาลเมืองหนองคาย ประมาณ 20 คน เปิดบ้านแถลงร้องความเป็นธรรมหลังจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค.55 ที่ผ่านมา ลูกจ้างชั่วคราวเทศบาลเมืองหนองคาย จำนวน 57 คนถูกยกเลิกสัญญาจ้าง

หลังจากนั้นคณะอดีตลูกจ้างทั้งหมดได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองหนองคาย และยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองคาย (ก.ท.จ.) และมีมติยื่นฟ้องศาลปกครองอุดรธานี โดยมีเทศบาลเมืองหนองคาย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และนายกำภล เมืองโคตร นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีนางสุดารัตน์ ชนะบุญ เป็นผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องทั้งหมดรวม 40 คน

นางสุดารัตน์ ชนะบุญ ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ลูกจ้างทั้ง 57 คนที่ถูกเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ ต้องการขอความเป็นธรรม เนื่องจากผู้บริหารเทศบาลชี้แจงถึงเหตุผลการเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวต่อ ก.ท.จ.หนองคายว่า ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของเทศบาลเมืองหนองคายสูงขึ้น ซึ่งจะกำหนดสูงเกินร้อยละ 40 ไม่ได้ จึงได้ปรับลดกรอบอัตรากำลังพนักงานจ้างลง 57 คน จากทั้งหมด 252 คน ซึ่งตามแผนอัตรากำลังพนักงานจ้าง 4 ปี พ.ศ.2556-2559 คิดเป็นร้อยละ 39.48 ของงบประมาณรายจ่าย เมื่อตัดลูกจ้างออก 57 คน คงเหลือค่าใช้จ่ายร้อยละ 35.89 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 40

ทั้งนี้ อดีตลูกจ้างทั้งหมดร้องขอความเป็นธรรมให้เทศบาลเมืองหนองคาย ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต่อสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีทั้ง 40 คน เข้าทำงานในตำแหน่งเดิม พร้อมทั้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีไม่จ้างผู้ฟ้องคดีทั้ง 40 คน ปฏิบัติงานต่อในปีงบประมาณ 2556 ระหว่าง 1 ต.ค.55-30 ก.ย.56 เท่ากับจำนวนเงินค่าจ้างรายเดือนและค่าครองชีพ พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 ต.ค.55

ด้านนายสังวาลย์ ริมเขาใหญ่ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศบาลเมืองหนองคาย ให้เหตุผลถึงการเลิกจ้างว่า ค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการ หรือพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับเงินอุดหนุนที่ได้รับต่ำกว่าประมาณการ อีกทั้งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ถูกแปรญัตติลดลงจากสภาเทศบาลเมืองหนองคาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลคิดเป็นร้อยละ 39.30 มีแนวโน้มสูงเกินกว่ากำหนด จึงหาแนวทางปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรด้วยการพิจารณาไม่ต่อสัญญาจ้างและ ปรับยุบเลิกภารกิจทั้ง 57 ตำแหน่ง

(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 12-3-2556)

 

"4 สหภาพ"บุกยื่นหนังสือสถานทูตออสซี่-อเมริกา-ดัตช์ ร้องนายจ้างต่างชาติไม่เป็นธรรม

หลังจากที่ในช่วงเช้าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มสหภาพแรงงานทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ 1.สหภาพแรงงานของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เจนเนอรัล  มอเตอร์ส เพาเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 2.สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง 3.สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทยในฐานะลูกจ้างบริษัทลินฟ็อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย และ 4.สหภาพแรงงานบริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำนวน 600 คน ได้เดินทางไปรวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการที่นายจ้างปฏิบัติต่อ ลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ที่สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ก็ได้เดินทางต่อมายังที่หน้าสถานทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ  โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มาชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาด้วยรถกระบะและรถเมล์ปรับ อากาศ ซึ่งมีการชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมและโห่ร้องมาตลอดทาง เมื่อมาถึงหน้าสถานทูตสหรัฐได้ตั้งแถวชูป้ายมีข้อความว่า "เราไม่เอาสัญญาทาส" "ต่อต้านสัญญาทาส บังคับแรงงาน ไม่จ่ายโอที" "รัฐบาลช่วยด้วย นายทุน CHEVROLET กดขี่แรงงานลูกจ้าง" ฯลฯ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เปิดเครื่องขยายเสียงประณามการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ของนายจ้างด้วย ทั้งนี้ นายสุริยา โพธิ์ชัยเลิศ ประธานสหภาพแรงงานบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์ (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูต โดยมีนาย BEN YATES ผู้ช่วยทูตฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้รับหนังสือ และจะนำไปแปลเพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หลังจากนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สถานทูต เนเธอร์แลนด์ต่อ 

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 3 แห่ง เพื่อชี้แจงต่อสถานการณ์ที่แรงงานในบริษัทต่างๆ ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ที่เป็นผู้ประกอบการมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อแรงงาน ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายแรงงานไทย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของแต่ละสถานทูตได้รับหนังสือและรับฟังความจริงจากฝ่ายแรงงาน โดยจะมีการแปลเอกสารเพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราหวังที่จะได้รับความเป็นธรรม

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นสิทธิที่คนงานสามารถเรียกร้องได้ตามกฎหมาย ภายใต้ความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ บางบริษัทที่เกิดปัญหาไม่ได้มาขอความช่วยเหลือที่กระทรวงแรงงาน จึงอยากเรียกร้องให้คนงานที่ประสบปัญหามาแจ้งข้อเท็จจริงให้รับทราบถึงที่มา ของปัญหา เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายต่างๆ รวมถึงสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนกรณีที่ผู้ใช้แรงงานไม่ค่อยไว้วางใจที่จะให้กระทรวงแรงงานเป็นตัวกลางใน การแก้ปัญหา เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ตนเห็นว่าเมื่อเกิดข้อพิพาทหรือปัญหาในโรงงานขึ้น ต้องยอมรับว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในการสร้างความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะเชิญผู้นำสหภาพแรงงานทั่วประเทศมาพูดคุยและสร้างความเข้าใจถึงกฎหมาย ว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้

(มติชนออนไลน์, 13-3-2556)

 

รมว.แรงงานสั่งกสร.ปรับเกณฑ์ "ซีโร่ เอ็กซิเดนท์"

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงกรณีพนักงานบริษัทลินฟ๊อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทยระบุบริษัทห่วงภาพลักษณ์ เนื่องจากเข้าร่วมโครงการซีโร่ เอ็กซิเดนท์ ลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ เพราะนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิ แต่ใช้วิธีให้ลูกจ้างไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆและนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่าย ภายหลัง เพื่อไม่ให้มีสถิติเรื่องเจ็บป่วยจากการทำงานเกิดขึ้นและไม่ต้องจ่ายเงิน เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นว่า ตนจะไม่สั่งการให้กสร.ไปตรวจสอบย้อนหลังเพื่อจะไปเอาผิดและริบรางวัลคืน จากบริษัทลินฟ๊อกซ์ฯหรือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซีโร่ เอ็กซิเดนท์ในปีที่ผ่านๆมาเพราะเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่อยากรื้อฟื้นขึ้นมาอีก

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้กสร.ไปตรวจสอบสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ช่วยตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลและสถาน พยาบาลต่างๆ และขอความร่วมมือไปยังองค์กรลูกจ้างต่างๆช่วยตรวจสอบว่าสถานประกอบการที่ เข้าร่วมโครงการในปี 2556 มีลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงานหรือไม่ด้วย

นอกจากนี้ ได้ให้กสร.ไปแก้ไขเกณฑ์การประเมินเพื่อรับรางวัลในโครงการซีโร่ เอ็กซิเดนท์ในปี 2556 โดยให้ไปเขียนเพิ่มเติมไว้เกณฑ์ว่า หลังจากสถานประกอบการรับรางวัลแล้ว หากตรวจสอบพบหรือมีลูกจ้างของบริษัทที่ได้รับรางวัลในโครงการร้องเรียนไม่ ให้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานไปใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนนอก จากบริษัทดังกล่าวจะถูกริบรางวัลคืนแล้ว ยังต้องถูกปรับเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มเป็น 2 เท่าด้วย

"หากลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ก็ขอให้ไปแจ้งต่อคลินิกโรคจากการทำงานหรือ สปส.เพื่อขอใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้นายจ้าง เป็นผู้แจ้ง หากสปส.ตรวจสอบแล้วพบว่าอาการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็ไม่มีปัญหาในการใช้สิทธิเพราะสามารถโอนไปใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมได้" นายเผดิมชัย กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 13-3-2556)

 

สปส.เตรียมปรับเพิ่มค่าฟอกไต

สปส.เตรียมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนกรณีผู้ป่วยโรคไตวาย เรื้อรังระยะสุดท้ายก่อนการเป็นผู้ประกันตน จากอัตราเดิม 1,000 บาท/ครั้ง เป็นอัตรา 1,500 บาท/ครั้ง และจากสัปดาห์ละ 3,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,500 บาท/สัปดาห์
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม เห็นชอบตามที่คณะกรรมการแพทย์ สปส. เสนอเพิ่มค่าฟอกไตของผู้ประกันตนที่ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายก่อนการเป็นผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิเพิ่มค่าฟอกไตจากอัตราเดิม ที่กำหนดครั้งละ 1,000 บาท/ครั้ง เพิ่มเป็นอัตรา 1,500 บาท/ครั้ง และจากสัปดาห์ละ 3,000 บาท เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 4,500 บาท  อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เรื่องลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพ โดยได้มีการบูรณาการสิทธิประโยชน์โรคไตภายใต้การดำเนินงานของ 3 กองทุน ในส่วนของผู้ประกันตนที่เคยใช้สิทธิบำบัดทดแทนไตกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมาก่อนที่จะเข้าระบบประกันสังคมจะ ได้รับสิทธิต่อเนื่องโดยมิต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติใหม่
 
นอกจากนี้ สปส.ยังได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุมัติให้แก่ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้อง ฟอกเลือดรายใหม่ให้ได้รับสิทธิรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการกระจายอำนาจการพิจารณาอนุมัติสิทธิให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกัน สังคม/จังหวัด/พื้นที่ สามารถอนุมัติสิทธิให้แก่ผู้ประกันตนได้โดยไม่ต้องส่งหารือคณะอนุกรรมการการ แพทย์ จาก สปส.หากมีข้อบ่งชี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ประกาศฉบับนี้จะเป็นการช่วยให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะ สุดท้ายได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ และยังช่วยให้ผู้ประกันตนได้รับการอนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตรวดเร็วขึ้น ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เมื่อได้รับการอนุมัติ สิทธิแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

(ประชาชาติธุรกิจ, 14-3-2556)

 

อาชีวะเน้นผลิตนักศึกษาคุณภาพเข้าตลาดแรงงาน

อุบลราชธานี - เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเผย ยกเครื่องการศึกษาระบบทวิภาคีเพิ่มทักษะการทำงานให้กับนักศึกษาเป็นมืออาชีพ ระหว่างเรียนก่อนจบเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพให้มีงานทำทุกคนที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
      
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวถึงรูปแบบการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2556 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนระบบ ทวิภาคี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาโดยมีภาคเอกชนเข้า มีส่วนร่วมในการจัดระบบการศึกษาในสถานศึกษาทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศโดยศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี ได้วางโมเดลจัดการศึกษาไว้ให้เลือกจำนวน 5 แบบ คือ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนทุกสาขาวิชาเข้าฝึกอาชีพได้ตลอดการเรียน อีกรูปแบบหนึ่งคือไม่มีสถานประกอบการในพื้นที่ตั้งสถานศึกษาแต่ผู้เรียนทุก สาขาวิชาจะเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการโดยมีการจัดที่พักใกล้กับสถานประกอบ การที่ไปฝึกมีครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุมดูแลใกล้ชิด หรือการจัดศึกษาทวิภาคีบางสาขาวิชา
      
"ซึ่งการจัดระบบศึกษาแบบนี้เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงในสถาน ประกอบการกับผู้เชี่ยวชาญก่อนจบการศึกษาออกไป จะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์สามารถเข้าทำงานอย่างมีคุณภาพตามที่สถานประกอบ การแต่ละแห่งต้องการไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกฝนเพิ่มเติมอีก"
      
ดร.ชัยพฤกษ์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับปีการศึกษาประจำปี 2556 ตั้งเป้าให้มีผู้เรียนในระบบทวิภาคีทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ประมาณ 1 แสนคน และมั่นใจนักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนในระบบนี้จะมีงานทำหลังจบการศึกษา ทุกคน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-3-2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ร้อง 'ยูเอ็น' หนุนสนธิสัญญาคุมการค้าอาวุธ

Posted: 19 Mar 2013 01:41 AM PDT

ตัวแทนจาก 157 ประเทศหารือในที่ประชุมยูเอ็น เพื่อพิจารณาการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ หากผลักดันสำเร็จ จะยุติการขายอาวุธที่ไม่มีการควบคุม ซึ่งแอมเนสตี้มองว่าเป็นสาเหตุการทารุณกรรมและละเมิดสิทธิในวงกว้าง

19 มี.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหประชาชาติหนุนการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty) เนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นเพื่อการควบคุมการค้าอาวุธเป็นครั้งแรกนี้ จะสามารถยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนที่ไม่มีการควบคุม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการทารุณกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กว้างขวาง

การประชุมรอบสุดท้ายเพื่อเจรจาหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนโดยไม่มีการควบคุม เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 มี.ค. ที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการอาวุธ ณ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยมีตัวแทนจาก 157 ประเทศเข้าร่วม 
 
มี 108 ประเทศ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว นำโดยเม็กซิโก รวมถึงเยอรมนีและอังกฤษ โดยระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นความสำคัญของสนธิสัญญาการค้าอาวุธ และสนธิสัญญาที่อ่อนแอ อาจสร้างความชอบธรรมให้กับการค้าอาวุธที่ไม่รับผิดชอบและผิดกฎหมาย จึงต้องหลีกเลี่ยงผลการเจรจาเช่นนั้น 
 
ตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ระบุว่าสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ จอห์น เคอร์รี กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นในการสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของสากล แต่ก็ระบุว่า จะไม่รับรองสนธิสัญญา หากส่งผลจำกัดต่อสิทธิของพลเมืองสหรัฐในการถืออาวุธ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในการเมืองสหรัฐ ในขณะที่สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้สนับสนุนการถืออาวุธปืนที่มีอิทธิผลในสหรัฐ กดดันรัฐบาลโอบามาไม่ให้รับรองสนธิสัญญาดังกล่าว  
 
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าประชาชนในซีเรีย มาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอันเป็นผลมาจากการซื้อขายอาวุธระดับโลกอย่างไม่บันยะบันยัง และทำกันเป็นความลับ
 
"เรารอไม่ได้อีกแล้วที่ต้องเห็นผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน และจะไม่รอให้มีการทำลายชีวิตเพิ่มเติมก่อนที่ผู้นำจะแสดงความกล้าหาญและดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานระดับโลกเพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศอย่างเป็นผล การประชุมนี้นับเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เหล่าผู้นำประเทศต้องฉวยโอกาสนี้ไว้และหาทางยุติไม่ให้เกิดการส่งมอบอาวุธที่จะถูกนำไปใช้เพื่อการทารุณกรรม"
 
0000
 

แอมเนสตี้ ฯ เรียกร้องสหประชาชาติหนุนการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่ช่วยชีวิตมนุษย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของโลกต้องแก้ปัญหาการซื้อขายอาวุธระดับโลกที่ขาดการควบคุม ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อประชาชนหลายสิบล้านคน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอีกนับไม่ถ้วนในแต่ละปี ในขณะที่การประชุมรอบสุดท้ายขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ได้เริ่มขึ้นที่กรุงนิวยอร์ก

การเจรจาระหว่างวันที่ 18-28 มีนาคม เป็นโอกาสที่รัฐต่าง ๆ จะตกลงกันเกี่ยวหลักเกณฑ์เพื่อยุติการส่งมอบอาวุธข้ามพรมแดนอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่จะแสดงพันธกิจของตนที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าประชาชนในซีเรีย มาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและศรีลังกา เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอันเป็นผลมาจากการซื้อขายอาวุธระดับโลกอย่างไม่บันยะบันยัง และทำกันเป็นความลับ

"เรารอไม่ได้อีกแล้วที่ต้องเห็นผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน และจะไม่รอให้มีการทำลายชีวิตเพิ่มเติมก่อนที่ผู้นำจะแสดงความกล้าหาญและดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานระดับโลกเพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศอย่างเป็นผล การประชุมนี้นับเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เหล่าผู้นำประเทศต้องฉวยโอกาสนี้ไว้และหาทางยุติไม่ให้เกิดการส่งมอบอาวุธที่จะถูกนำไปใช้เพื่อการทารุณกรรม"

การประชุมว่าด้วยสนธิสัญญาควบคุมการการค้าอาวุธจัดครั้งนี้จะมีการประชุมกัน 9 วันที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมสืบเนื่องจากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากการเจรจาขององค์การสหประชาชาติในครั้งนั้นยุติลงเพราะไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อันเนื่องมาจากมีเพียงไม่กี่รัฐที่ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายเหล่านี้ และใช้ยุทธวิธีเพื่อถ่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้เกิดข้อตกลงฉบับนี้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 157 รัฐลงมติเห็นชอบที่จะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งในเดือนนี้เพื่อจัดทำร่างสุดท้ายของสนธิสัญญาดังกล่าว

ในช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นแนวหน้าในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และมีพื้นฐานมาจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ความพยายามก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่จะจัดทำสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายดังกล่าว

การลงมติคว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธขององค์การสหประชาชาติ มักเป็นมาตรการที่นำมาใช้ภายหลังการทำทารุณกรรมเกิดขึ้นแล้ว และเนื่องจากไม่มีระบบควบคุมการส่งมอบอาวุธที่เห็นชอบร่วมกัน เป็นเหตุให้มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งยังคงเร่งให้เกิดการทารุณกรรมและการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง  

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่รัฐต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่ออาวุธที่ตนส่งมอบ รวมทั้งการกำหนดเป็นหลักการสำคัญไว้ในสนธิสัญญา ว่ารัฐควรประเมินความเสี่ยงอย่างจริงจังว่าการส่งมอบอาวุธจะถูกใช้เพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือไม่ และหากมีความเสี่ยงเช่นนั้น ก็ไม่ควรปล่อยให้มีการส่งมอบอาวุธเกิดขึ้น

ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ไม่มีรัฐบาลและผู้นำการเมืองคนใดที่ยอมรับอย่างเปิดเผยในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ที่ก่ออาชญากรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าช่วงที่มีสงครามความขัดแย้งหรือช่วงที่สงบสุขก็ตาม แต่นับตั้งแต่มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้น ยังไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในสนธิสัญญาฉบับร่างเพื่อห้ามการส่งมอบอาวุธให้กับผู้กระทำความผิด

"ผู้คนทั่วโลกต่างจับตามองกระบวนการนี้ และหวังว่าผู้นำการเมืองจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ในขณะเดียวกันผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของการใช้อาวุธและครอบครัวของพวกเขา ต่างเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่เข้มแข็ง สามารถกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนและเป็นสากลเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าสมาชิกถาวรของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งประเทศจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ต่างแบกความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงเพื่อทำให้เกิดสนธิสัญญาที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ พวกเขาต่างมีหน้าที่ดูแลให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ในปี 2553 ประเทศเหล่านี้มีการค้าขายอาวุธรวมกันประมาณ 60% ของมูลค่าการซื้อขายอาวุธทั่วไป 70,000 ล้านเหรียญ คาดว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากการค้าอาวุธอาจมีเพิ่มสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผลกระทบในระยะยาวจากความโลภเช่นนี้ อาจสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับผู้หญิง สนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่มีข้อห้ามอย่างชัดเจนต่อการส่งมอบอาวุธที่อาจถูกนำไปใช้ในการละเมิดร้ายแรง อย่างเช่น ความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาพ และความรุนแรงทางเพศ โดยสนธิสัญญาฉบับนี้อาจช่วยยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ทุกวัน

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพร้อมกับผู้แทนจากทุกภูมิภาคทั่วโลก กำลังเข้าร่วมการเจรจาขององค์การสหประชาชาติ และทำหน้าที่กดดันผู้นำประเทศต่าง ๆ ให้เห็นชอบต่อสนธิสัญญาที่กำหนดหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายอาวุธ เพื่อประกันให้มีความเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการมีหลักเกณฑ์ที่เข้มแข็งดังนี้

  • ต้องช่วยควบคุมประเภทอาวุธทั่วไปอย่างเข้มงวด รวมทั้งอาวุธสงคราม ลูกกระสุน และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทหารและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายใช้
  •  จะต้องควบคุมการซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศในทุกแง่มุม ทั้งในรูปของการให้เป็นของขวัญ การเป็นนายหน้าเจรจาซื้อขายอาวุธ การขนส่ง และการเป็นแหล่งทุน
  • ต้องจัดทำกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้มีการส่งมอบอาวุธไปยังผู้รับซึ่งไม่ได้รับอนุญาต กำหนดให้มีการรายงานประจำปีต่อสาธารณะ และการเอาผิดทางอาญาต่อการลักลอบค้าอาวุธ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์ 'เจ้าสาวจัดส่ง' ของชาวโรฮิงยา ในมาเลเซีย

Posted: 19 Mar 2013 01:16 AM PDT

ชาวโรฮิงยาที่ลี้ภัยจากพม่าไปยังมาเลเซียได้สำเร็จ บางคนเกิดอยากมีคู่จึงใช้บริการจัดหาผู้หญิงในบ้านเกิดมาแต่งงานด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่า 'เจ้าสาวจัดส่ง' ผู้ไม่มีสัญชาติและอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จะต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง

 

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2013 มาเฮอร์ สัตตา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียที่ใช้บริการ 'เจ้าสาวทางไปรษณีย์' จากท้องถิ่นเดิมเพื่อมาเป็นคู่ชีวิตในมาเลเซีย

ในรายงานกล่าวถึงชายชาวโรฮิงยาที่ชื่อ ชัมซุล อะลาม ผู้ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยร้านขายผ้าและคนงานก่อสร้างหลังจากอพยพจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ไปยังประเทศมาเลเซีย ชัมซุล เล่าว่าเขาต้องทำงาน 12-14 ชั่วโมงต่อวันในไซต์งานก่อสร้าง ก่อนจะต้องรีบทานอาหารและหลบหนีไปอยู่บนภูเขาเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ทางการ

แต่ ชัมซุล ชายอายุ 30 ปีผู้นี้ก็เกิดอารมณ์กวีขึ้นมาเมื่อพูดถึงเรื่องที่เขาอยากแต่งงาน "ถ้าผู้ชายจะมีชีวิตอยู่ได้ เขาต้องมีผู้หญิงอยู่ด้วย ...คนเราต้องการคู่ชีวิตเพื่อจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้"

อย่างไรก็ตาม อัลจาซีร่าเปิดเผยว่า นอกจากชัมซุลแล้ว ชาวโรฮิงยาหลายคนที่อพยพไปใช้ชีวิตในมาเลเซียก็ประสบปัญหาเรื่องการหาคู่ชีวิตเช่นกัน จากการที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมต้อยต่ำ

"มีช่องว่างทางสังคมกว้างมากระหว่างชายชาวโรฮิงยากับผู้หญิงชาวมาเลย์" คริส เลวา ผู้อำนวยการอาระกันโปรเจกต์ องค์กรสนับสนุนด้านสิทธิให้กับชาวโรฮิงยากล่าว "พ่อของผู้หญิงชาวมาเลย์คงไม่อยากให้ลูกสาวกับคนที่บุคคลไร้สัญชาติ"

จากสภาพเช่นนี้ทำให้มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นคือ 'เจ้าสาวจัดส่ง' ของชาวโรฮิงยาในมาเลเซีย


กระบวนการจัดส่งเจ้าสาว

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เคยกล่าวไว้ว่าชาวโรฮิงยาไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลก พวกเขาถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างขณะอยู่ในพม่า ทั้งการเดินทาง การแต่งงาน และการมีลูก

มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาอยู่ราว 30,000 คนที่หนีจากความรุนแรงด้านเชื้อชาติในบ้านเกิดไปยังมาเลเซีย โดยกลุ่มคนส่วนมากที่เดินทางล่องเรือหนีมาเป็นชายโสด

เลวา เปิดเผยว่าในอดีตชายชาวโรฮิงยาจำนวนมากจะแต่งงานกับชาวอินโดนีเซียที่ไม่มีเอกสารรับรองหรือไม่ก็หญิงมุสลิมชาวพม่า แต่ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการส่งตัวเจ้าสาวโรฮิงยาจากหมู่บ้านผ่านสายการบิน

โดยนักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทำการประมาณจำนวนว่ามีเจ้าสาวชาวโรฮิงยาหลายร้อยคนถูกส่งข้ามประเทศตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยปีที่แล้วมีการส่งตัวเจ้าสาวข้ามประเทศถึง 67 ราย

ดีน โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเลดาในเมืองค็อกส์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ เล่าว่า ในค่ายผู้อพยพของเขามีชายหลายคนที่เคยเดินทางไปมาเลเซียแล้วเรียกร้องให้ช่วยส่งตัวผู้หญิงให้ไปแต่งงานด้วย

อัลจาซีร่าเปิดเผยว่าในกรณีนี้จะมี 'นายหน้า' รวมถึงสมาชิกครอบครัวที่อาศัยทั้งในพม่าและในค่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเพื่อตามหาผู้หญิงที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เมื่อหาพบแล้วก็จะมีการเจรจาตกลงกัน ฝ่ายผู้สู่ขอ ซึ่งมักจะเป็นพ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะตกลงกับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งมักจะมีเรื่องของสินสอดหรือเงินรายเดือนมาเกี่ยวข้องด้วยโดยมักไม่ค่อยมีการปรึกษาตัวผู้หญิงก่อน

จากนั้นฝ่าย 'นายหน้า' จะจัดเตรียมสิ่งต่างๆ อย่างพาสปอร์ตปลอม, ตั๋วเดินทาง และเอกสารอื่นๆ ให้สำหรับผู้หญิงกับคนเดินทางร่วมกับเธอซึ่งมักแสดงตัวว่าเป็นสามีของเธอเพื่อให้สามารถผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้


หันมาเดินทางผ่านเครื่องบิน หลังทางการไทยไล่ชาวเรือ

อัลจาซีร่ากล่าวว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการส่งตัวเจ้าสาวผ่านทางเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยที่อพยพมาทางเรือ เมื่อก่อนทางการไทยแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในเรื่องนี้ แต่ในปี 2009 ทางการไทยได้ผลักให้ผู้ลี้ภัยซึ่งต้องการอาศัยประเทศไทยในการเดินทางไปมาเลเซียกลับลงสู่ทะเล เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยต้องเสี่ยงกับภาวะขาดน้ำและปัญหาสุขภาพ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสการโดยสารเครื่องบินราคาถูกในเอเชีย โดยสายการบินอย่างแอร์เอเชียได้เพิ่มเส้นทางอีกจำนวนมากในปี 2008

นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็ดูรับได้มากกว่ากับการส่งตัวเจ้าสาวผ่านเครื่องบินแทนการให้ลูกสาวตัวเองต้องเสี่ยงกับการเดินทางบนเรือเล็กๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ชายเปลี่ยวอย่าง ชัมซุล อะลาม ได้ใช้เงินสะสมของเขาไปกับการหาตัวเจ้าสาว จ่ายให้นายหน้า และจ่ายค่าเครื่องบิน

ดีน โมฮัมเหม็ด เปิดเผยอีกว่า การนำตัวเจ้าสาวส่งผ่านเรือในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าการนำตัวเจ้าสาวผ่านเครื่องบิน โดยนายหน้าจะชาร์จค่าส่งผู้หญิงตัวผ่านเรือราว 2,280 ดอลลาร์ (ราว 67,000 บาท) ขณะที่ค่าตั๋วเครื่องบินจะตกอยู่ประมาณ 1,500 ดอลลาร์ (ราว 44,000 บาท) ค่าพาสปอร์ทและค่าเอกสารอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 250 ดอลลาร์ (ราว 7,400 บาท)

แต่อย่างไรก็ตาม ดีน บอกว่ามีผู้ลี้ภัยหลายคนที่ไม่สามารถเลือกให้เดินทางโดยเครื่องบินได้ จากการที่ไม่สามารถจัดหาพาสปอร์ทและเอกสารอื่นๆ ได้


อนาคตที่ไม่แน่นอนของ 'เจ้าสาวไร้สัญชาติ'

ซเยด คาริม ผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศที่เตรียมส่งลูกสาวผ่านเรือเพื่อไปแต่งงานที่มาเลเซียยังมีความกังวลกับสถานการณ์ เขารู้เพียงแค่ว่าเขาต้องส่งเงินที่ได้จากเจ้าบ่าวไปที่หนึ่งแล้วจะมีคนมารับลูกสาว โดยที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครรู้แค่ชื่อของเขา คาริมยังกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาวอายุ 21 ปีของเขา และลูกสาวเขาก็กังวลว่าจะไปถึงตัวเจ้าบ่าวได้อย่างไร

โมฮาเหม็ดเล่าว่าบางครั้งการเดินทางก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าสาวโรฮิงยาสองคนที่เดินทางด้วยเรือจากค็อกส์บาซาร์ไปยังมาเลเซีย ก็ประสบเหตุเรือล่มเนื่องจากคลื่นลมแรง

นอกจากความไม่แน่นอนในการเดินทางแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นของเจ้าสาวโรฮิงยาก็ไม่มีอะไรคาดเดาได้เช่นกัน

โมฮัมเหม็ด เล่าเรื่องของผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชายในมาเลเซียแล้วพบว่าเขามีเมียแล้วกับลูกอีกสองคน มีการยกเลิกการแต่งงานและฝ่ายหญิงก็อยู่ในภาวะตกปลัก

"พ่อแม่ของเธอไม่ได้ข่าวอะไรจากเธอเลยหลายเดือน ไม่รู้ว่าเธอเป็นตายร้ายดีอย่างไร จนกระทั่งเธอสามารถติดต่อพ่อแม่ได้และบอกพวกเขาว่าเธอตั้งใจจะหาสามีใหม่" โมฮัมเหม็ดเล่า

ทางด้านเลวากล่าวแสดงความกังวลเรื่องอนาคตของผู้หญิงซึ่งกลายคนยังอายุไม่มากนัก เลวาบอกอีกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะอยู่ภายใต้ความควบคุมของสามี และสามีก็ไม่ยอมให้เธอออกไปข้างนอกเพราะกลัวเธอถูกจับจึงเป็นเรื่องยากที่จะติดต่อกับผู้หญิงที่ข้ามมาแต่งงาน

"กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอได้แสดงความกังวลว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวในชุมชนชาวโรฮิงยา อย่างน้อยในหมู่บ้านที่พม่าคุณก็ยังมีญาติหรือผู้ใหญ่บ้านคอยช่วยเหลือ" เลวากล่าว "เจ้าหญิงแรกรุ่นไม่มีสัญชาติที่มาอยู่ในประเทศต่างแดนมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐและคนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ยังเสี่ยงต่อการถูกรังแกโดยผู้ลี้ภัยในชุมชนเดียวกันด้วย"


เรียบเรียงจาก

Rohingya refugees import 'mail-order' brides, Aljazeera, 17-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ได้เปิดพื้นที่ ไม่ได้มีเสรีภาพ ตอบโจทย์ย้ำปัญหาทางตันในไทยพีบีเอส

Posted: 18 Mar 2013 11:33 PM PDT

 

หลายคนถอนใจอย่างโล่งอกแทนไทยพีบีเอสที่หาทางออกให้ตัวเองในสถานการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนลงได้ ด้วยการที่กรรมการนโยบายลงมติให้เอารายการตอบโจทย์ตอนสุดท้ายออกฉาย ลงโรงไปแล้วเรียบร้อยโรงเรียนจีนเมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

ถ้าเป็นหนังก็ต้องเรียกมันว่า happy ending  - ยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มคนที่ไปเรียกร้องให้เลิกฉายซึ่งนัดรวมตัวกันใหม่แล้วกะจะไปถล่มไทยพีบีเอสอีกวันสองวันข้างหน้านี้ ประกาศรวมตัวที่เห็นกันในเฟซบุ๊กของพวกเขาพูดไว้อย่างมีนัยว่า ไทยพีบีเอสไม่ทำตามสัญญาที่ว่าจะไม่เอารายการออกฉาย (ทำให้น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าแล้วใครกันในไทยพีบีเอสที่ไปให้คำมั่นอย่างนั้นไว้กับกลุ่มคนเหล่านี้)

สำหรับคนนอกไทยพีบีเอส หรือสำหรับคนที่สนใจประเด็นเสรีภาพสื่อ ดีกรีปัญหาในเรื่องนี้อาจจะทุเลาลง แต่สำหรับคนในของไทยพีบีเอสเรื่องนี้ยังเป็นประเด็น และเป็นประเด็นใหญ่ซะด้วย

การออกโรงของกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส – ซึ่งอันที่จริงแล้วเดินตามข้อเสนอของคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ที่พิจารณาปัญหาการถอดรายการตอบโจทย์ (หรือจะเรียกให้สุภาพตามที่ฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสนำเสนอว่า "ชะลอ"ก็ยังได้) และสรุปว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณในเรื่องของการคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ (เพราะว่าดันเซ็นเซอร์ตัวเอง) แต่ทว่าพิจารณาโทษอย่างอะลุ้มอล่วยกล่าวคือตัดสินว่า เหตุผล (ที่ใช้ในการเซ็นเซอร์ตัวเอง) นั้นรับฟังได้ เพราะอ้างความปลอดภัยของพนักงานเนื่องจากเห็นว่าภัยคุกคามที่จะมีมาถึงตัวนั้นหนักหนาสาหัส (แต่ข้ออ้างอันนี้ฟังไม่ขึ้นสำหรับคนนอกคนอื่นๆ -ฮา) และคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์เสนอให้เยียวยาผู้ชมด้วยการนำรายการออกฉายทันที เมื่อมติของคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้รับการนำเสนอไปสู่กรรมการนโยบาย และกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบด้วยเมื่อเย็นวันที่ 18 ผลสรุปจึงออกมาให้นำตอบโจทย์กลับมาฉายในเวลาเดิมอย่างที่สาธุชนทั้งหลายได้เห็นกันไปแล้ว

มีประเด็นที่น่าสนใจจากบทเรียนนี้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือวิธีแก้ปัญหาของผู้บริหารไทยพีบีเอสที่เลือกจะใช้วิธีการตัดสินใจเป็นคณะเข้าแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือกระทำผ่านคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์และกรรมการนโยบาย

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาอันเกิดขึ้นระหว่างไทยพีบีเอสกับผู้ชม โดยเฉพาะปัญหาความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมความเป็นสื่อ

มองในแง่ดีนี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผลและสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่มองอีกด้านจะพบว่าการเลือกใช้วิธีการนี้แสดงให้เห็นจุดอ่อนในการบริหารงานบางส่วน

ในประเด็นแรกคือเรื่องรายงานชิ้นนักศึกษากับบีอาร์เอ็น  เป็นรายงานที่เชื่อมเรื่องของนักศึกษาว่าโยงใยขบวนการก่อเหตุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือบีอาร์เอ็น อันที่จริงรายงานชิ้นนั้นแม้แต่คนเริ่มเรียนเรื่องการทำข่าวก็มองออกว่าไม่สมประกอบอย่างแรง ไม่จำเป็นต้องถึงมือคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์และถึงกับต้องใช้เวลานานกว่าสัปดาห์ที่ฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสจะออกมาพูดจา "เยียวยา" ปัญหาที่เกิดขึ้นกล่าวคือยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด

รายงานที่ไม่แสดงความรับผิดชอบกับข้อมูลที่กล่าวหาคนด้วยข้อหาร้ายแรง ไม่บ่งบอกที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน ชี้นิ้วตัดสินและกล่าวหากลุ่มบุคคลโดยถ้อยคำในตัวรายงานเองอย่างชัดแจ้ง ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขข้อกล่าวหาอย่างสมน้ำสมเนื้อ แถมไม่มีชื่อผู้ทำรายงาน – นักข่าวที่ปรากฏใบหน้าในรายงานเป็นผู้ชาย แต่เสียงบรรยายกลายเป็นเสียงผู้หญิง สิ่งที่ข่าววงในเปิดเผยก็คือรายงานชิ้นนี้เป็นฝีมือของนักข่าวจากศูนย์ข่าวของไทยพีบีเอสในภาคใต้ ผสมด้วยความพยายามของคนในฝ่ายข่าวในส่วนกลาง

สิ่งที่เราได้เห็นตลอดห้วงระยะเวลาที่มีปัญหาเรื่องข่าวนักศึกษากับบีอาร์เอ็นก็คือการแก้ตัวของคนกลุ่มฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอสที่ออกมาปกป้องตัวเองในรายการของไทยพีบีเอสเองว่าข่าวของตนมีการถ่วงดุลแล้ว ไม่มีปัญหาใดๆ ในขณะที่ฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอสและผู้บริหารปากแข็ง ฝ่ายอื่นๆ ของไทยพีบีเอสกลับพยายามอย่างยิ่งที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา

ความผิดพลาดในการทำข่าวหนนี้หากจะบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ในตอนแรกอาจพอฟังขึ้น แต่เมื่อมีการท้วงติงแล้วย่อมมองเห็นได้ว่าผิดจริงแต่กลับไม่ยอมรับจนถึงกับต้องให้เรื่องไปถึงมือคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ แสดงว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ – ตีความได้ไม่ยากว่า เป็นไปได้สองเรื่องเท่านั้น คือไม่รู้หรือไม่ก็เจตนา ซึ่งถ้านี่เป็นข้อกล่าวหาก็ต้องนับว่าอุกฉกรรจ์สำหรับคนทำข่าวที่ไม่รู้จักคุณค่าข่าว แต่จะยิ่งอุกฉกรรจ์กว่าถ้าเป็นเรื่องของเจตนา เพราะต้องถามว่าเจตนาอะไร จะเล่นงานนักศึกษาแทนฝ่ายความมั่นคง  หรือว่าต้องการเล่นใครในไทยพีบีเอส

และเป็นเรื่องเข้าใจยากหากจะบอกว่าคนระดับสมชัย สุวรรณบรรณที่ผ่านงานข่าวมามากรวมทั้งในระดับบีบีซีที่จะไม่รู้ในข้อนี้ และถ้าอนุโลมว่าสมชัยรู้แต่ทำไก๋ คำถามก็คือมันเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการแก้ปัญหาภายใน และวิธีรับมือกับความผิดพลาดของสมชัยซึ่งดูเหมือนจะมีปัญหา หรือว่ามีระยะห่างอันมีนัยสำคัญระหว่างสมชัยและฝ่ายข่าวในองค์กรของตัวเองหรือไม่ 

ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก ปัญหาที่สองที่ไทยพีบีเอสเจอคือเรื่องการถอดรายการตอบโจทย์ รายการนี้ไทยพีบีเอสรู้ตัวว่าโดนด่ามาตั้งแต่เริ่มออกอากาศจากบรรดาแฟนานุแฟนกลุ่มที่มองว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควร ผลของเสียงค้านที่ลอยมาทั้งในและนอกองค์กร ทำให้คณะกรรมการนโยบายต้องประชุมพิจารณาว่าควรเอาออกหรือไม่ แล้วก็มีมติว่าให้นำเสนอต่อไป

ในวันที่จะออกอากาศมีเหตุการณ์สองสามอย่างเกิดขึ้น นั่นคือ อย่างแรก มีการเรียกประชุมกลุ่มคนระดับบรรณาธิการให้ร่วมกันพิจารณาว่าควรทำอย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ยังมีข้อสรุปให้เดินหน้าฉายต่อ ประการที่สองในวันนั้นมีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติยี่สิบกว่าคนไปรวมตัวกันที่ไทยพีบีเอสประท้วงให้ถอดรายการ แอคชั่นอีกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือการ "ตบเท้า" เข้าพบ ผอ.ของบรรณาธิการจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการสั่งถอดรายการ แต่เมื่อมีเสียงด่าขรมตามมา รวมทั้งมีประกาศวางมือจากทีมตอบโจทย์ทำให้ข่าวและเสียงตำหนิระบาดอย่างรวดเร็วราวไวรัสไข้หวัดนก ผอ.ไทยพีบีเอสก็จึงออกมาแก้เกี้ยวว่า เป็นเรื่องของการให้ชะลอไม่ใช่ถอดรายการ

คำให้สัมภาษณ์แรกของสมชัย สุวรรณบรรณที่บอกกับวอยซ์ทีวีบอกเล่าชัดเจนว่า "มีความขัดแย้งภายใน" และมีข้อถกเถียงกันในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการทำรายการนี้

ในขณะที่สเตตัสในเฟซบุ๊กของเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง และณาตยา แวววีรคุปต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบรรณาธิการสามรายที่ข่าวของศูนย์ข่าวอิศราอ้างว่า "ตบเท้า" ไปพบสมชัยนั้นก็บอกเล่าให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยของทั้งสองรายต่อการทำประเด็นข้อถกเถียงเรื่องสถาบันในรายการตอบโจทย์ เสริมสุขถึงกับเท้าความดั้งเดิมว่า ภิญโญนั้นพยายามจะทำประเด็นที่ไม่ควรทำมานานแล้วตั้งแต่เรื่องจักรภพ ทักษิณ แต่ดีที่เทพชัย หย่อง อดีต ผอ.ยับยั้งไว้ได้

เป็นที่รู้กันว่าในสมัยที่เทพชัย หย่องดูแลไทยพีบีเอส ภิญโญเคยไปสัมภาษณ์ทักษิณแต่สถานี "ชะลอ" หรือดองอยู่นาน ตอนแรกเข้าใจกันว่าโดนทิ้งลงถังไปแล้ว จนเจอเสียงวิจารณ์ทนไม่ได้จึงได้เอาออก – กล่าวอีกนัยหนึ่งสเตตัสของเสริมสุขในเฟซบุ๊กยืนยันความพยายามเซ็นเซอร์ตัวเองของไทยพีบีเอสว่ามีมาตั้งแต่สมัย ผอ.คนเดิม

ในขณะที่สเตตัสเฟซบุ๊กของณาตยาก็แสดงความกังขาเรื่องวิธีการทำงานของภิญโญว่าไม่ตกผลึกในเรื่องห้วงเวลาและวิธีการไม่รอบคอบ เสริมสุขตั้งคำถามเรื่องการให้พื้นที่กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลว่ามากเกินพอดี และว่านี่เป็นความไม่เป็น "มืออาชีพ" ของภิญโญ (แล้วเจอใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ของประชาไทตำหนิเอาว่าเสริมสุขควรจะย้อนกลับไปดูตัวเองสมัยรายงานข่าวรันเวย์ร้าวในบางกอกโพสต์  - หุหุ)

น่าสังเกตว่าประเด็นเดียวกันนี้ถูกตั้งคำถามโดยเทพชัย หย่อง ในบทความที่เขาเขียนลงเดอะเนชั่นในวันรุ่งขึ้นหลังมีการระงับการออกอากาศ บทความของเทพชัยรับลูกสอดคล้องกันอย่างเหมาะเหม็งกับความเห็นของณาตยาและเสริมสุขว่า การเชิญสมศักดิ์นั้นเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะสมศักดิ์เป็นคน extreme แข็งกร้าวมากที่สุดในเรื่องสถาบันซ้ำยังติดคดีหมิ่น ข้อความในบทความของเทพชัยขานรับน้ำเสียงของเสริมสุขที่ย้อนรำลึกความหลังอันน่ายกย่องสมัยเทพชัย โดยบอกว่า การถอดรายการตอบโจทย์นับเป็นการกระทำที่ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรในฐานะสื่ออิสระที่สั่งสมมานานตลอดห้าปีที่ผ่านมา – อันเป็นเวลาที่เทพชัยครองตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส เทพชัยชี้ว่า เรื่องนี้ฝ่ายจัดการต้องรับผิดชอบ

ผสานกับท่าทีภายในของบรรดา บก.ที่ต่างเริ่มแสดงอาการถอยตัวเองจากเหตุการณ์ ต่างบอกว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสมชัย "เดี๊ยนไม่เกี่ยว"

ทั้งๆ ที่แหล่งข่าวภายในไทยพีบีเอสระบุชัดว่า ในวันที่จะออกอากาศ บก.หนึ่งในกลุ่มที่ตบเท้าเข้าพบสมชัยได้ลงไปพบปะกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านยี่สิบคนที่ไปประท้วงในไทยพีบีเอส แถมยังให้สัญญากันไว้ว่าจะไปดำเนินการเพื่อไม่ให้มีการออกอากาศตอบโจทย์ตอนสุดท้ายนี้

สมชัย สุวรรณบรรณอ้างว่าการตัดสินใจ "ชะลอ" รายการตอบโจทย์ก็เพราะเกรงอันตรายที่จะเกิดกับสถานีและพนักงาน เขาบอกว่าคนกลุ่มนี้กำลังเรียกระดมพลดูแล้วน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่สมชัยพูดนั้นอาจถือได้ว่าเป็น perceived threat คือภัยในสายตาของสมชัย ทว่าภัยจริงๆ อาจจะไม่ถึงขั้นนั้นก็ได้  (หลายฝ่ายแนะไปแล้วว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสควรทำคือขอกำลังคุ้มครองจาก ตร. ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างถอดรายการดั่งที่เห็น)   เรื่องนี้กลายมาเป็นเหตุผลหลักในการถอดรายการ แต่ในการให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวี สมชัยเอ่ยถึงความขัดแย้งภายในและปัญหาต้นทุนในการทำรายการตอบโจทย์ว่าเป็นประเด็นด้วย เมื่อมาภายหลังกลับย้ำเรื่องเหตุผลเรื่องความปลอดภัย รวมความแล้วดูเหมือนว่าความขัดแย้งภายในและประเด็นโต้เถียงเรื่องต้นทุนทำรายการที่ทำให้ บก.หลายคนไม่พอใจได้รับการยืนยันจากคนในว่าเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกกันจริงแม้ในนาทีสุดท้ายก่อนถอดรายการ

หากเป็นเช่นนี้จริง ก็น่าเสียดายที่ว่า ชื่อเสียงของสถานีไม่ได้เป็นเรื่องหลักของ บก.เหล่านี้มากเท่ากับการต้องการเห็นรายการถูกถอดออกไป เพราะถ้าเลือกออกอากาศรายการอีกตอนเดียวแล้วไปจัดการปัญหาอื่นกันทีหลังย่อมรักษาชื่อขององค์กรดีกว่ากันมาก

การอ้างเหตุผลต่างๆ นี้มีอาการปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของสาธารณะอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนปัญหาการบริหารงานในภาวะวิกฤติและภายใต้แรงกดดันภายใน และไม่ใช่ไทยพีบีเอสคนเดียวที่ผีเข้าผีออก อาการนี้ก็เกิดขึ้นกับสื่ออีกรายคือศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวคือในตอนแรกเมื่อมีการถอดรายการ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรารายงานว่า การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มี บก.สามคน มีณาตยา แวววีรคุปต์ บุตรรัตน์ บุตรพรหม และณัฏฐา โกมลวาทิน "ตบเท้า" ไปพบสมชัย ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่แหล่งข่าวในไทยพีบีเอสอีกหลายรายระบุ แต่ในวันรุ่งขึ้นเมื่อกลุ่มสาม บก.โดนรุมวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจนอ่วมไปแล้ว เว็บไซต์นี้ก็ออกข่าวใหม่เป็นการยูเทิร์นทันทีว่า ไม่มีการตบเท้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะณัฏฐานั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากไปออกอากาศอยู่ในระหว่างที่มีการประชุม พร้อมอ้างแหล่งข่าวในไทยพีบีเอสท้วงติงความคิดที่ว่า การถอดตอบโจทย์นั้นเป็นเรื่องไม่สมควรด้วยการระบุว่า ตอบโจทย์เป็นรายการที่ไทยพีบีเอสจ้างทำ ในเมื่อจ้างทำก็ขึ้นอยู่กับสถานีที่จะเป็นผู้ตัดสินใจนำมาออกอากาศหรือไม่ – กูมีสิทธิว่างั้นเหอะ – ซึ่งยิ่งเป็นการแก้ตัวที่ประหลาดล้ำ แฝงทัศนะนายจ้างผู้ยิ่งใหญ่

แต่ที่น่าสังเกตคือมันเป็นการเปิดทาง "ถอย" ให้กลุ่มคนที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับการ "ตบเท้า" หนนั้นออกจากสถานะการเป็นผู้มีส่วนออกแรงกดดันให้มีการตัดสินใจถอดรายการโดยทันที

สอดรับกับบทความของเทพชัย หย่อง ที่สรุปอย่างเรียบง่ายว่า ไม่ว่าจะมีปัญหาภายในอย่างไร คนที่ต้องรับผิดชอบคือฝ่ายจัดการ – ซึ่งก็ย่อมหมายถึงสมชัย สุวรรณบรรณ เป็นการร่วมด้วยช่วยเปิดทางถอยให้กับกลุ่มลูกน้องเก่ากลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวในหนนี้

เป็นที่รู้กันว่า เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรานั้นผลิตโดยสมาคมนักข่าวซึ่งในปัจจุบันเกาะกุมโดยกลุ่มคนในวงการสื่อที่เป็นทีม "เสื้อเหลือง" และโดนตำหนิมาตลอดเรื่องการมีท่าทีเป็นมืออาชีพเฉพาะกรณี กล่าวคือเรียกร้องให้ปกป้องเสรีภาพสื่อทุกครั้งที่มีการคุกคามสื่อเสื้อเหลือง แต่เพิกเฉยทุกครั้งที่สื่อเสื้อแดงเป็นเหยื่อการคุกคาม

ส่วนหนนี้เป็นอย่างไรก็ดูกันเอาเอง

เว็บข่าวอิศราภายใต้การนำของคนในสมาคมนักข่าว ดูแลโดยประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดีต บก.มติชน นอกจากนั้น ครั้งหนึ่ง เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บก.ข่าวความมั่นคงของไทยพีบีเอสก็เคยเป็น บก.โต๊ะข่าวภาคใต้ให้กับเว็บอิศรามาแล้ว

งานมหกรรมยำผู้บริหารไทยพีบีเอสในเรื่องนักศึกษากับปัญหารายการตอบโจทย์ ส่งผลสองอย่างในไทยพีบีเอส  อันแรกคือช่วยรวมพลคนเกลียดสมชัยซึ่งเริ่มสะสมขึ้นมาจำนวนหนึ่งจากการที่สมชัยเข้าไปทำงานหักดิบในเรื่องการใช้งบประมาณเกินตัวในหลายจุด รวมทั้งอาการไม่พอใจของพนักงานทั่วไปที่ไม่ได้เงินเดือนขึ้น ให้สามารถหลอมรวมกับอีกปีกที่ไม่พอใจสมชัยจากกรณีเบียดพื้นที่คนในไปให้คนนอกทำรายการ และที่สำคัญทำรายการอย่างรายการตอบโจทย์ที่เปิดพื้นที่ให้กับประเด็นสถาบันที่พวกเขาทั้งไม่ชอบและที่เครือข่ายของพวกเขาก็ไม่ชอบด้วย มันช่างสะดวกดีแท้

อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันทำลายขวัญและกำลังใจคนที่ตั้งใจทำงานจริงในไทยพีบีเอส พนักงานจำนวนหนึ่งถึงขั้นคิดว่าจะเปิดหมวกอำลาองค์กรแห่งนี้เพราะหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ผสมผสานกับความรู้สึกว่า ไทยพีบีเอสไม่มีทางจะแก้ปัญหากลุ่มแก๊งค์อิทธิพลที่คอยครอบงำกำหนดทิศทางการทำงานขององค์กรให้รับใช้กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์อันเดียวกันพร้อมทั้งพากันสร้างอาณาจักรของตัวเองอันเป็นปัญหาเก่าที่สะสมมานานได้ คนเหล่านี้คือคนที่กำลังเจอวิกฤติศรัทธาในองค์กรของตัวเอง

ปัญหาว่ากลุ่มคนที่สร้างอาณาจักรในไทยพีบีเอส มีเครือข่ายเพื่อนสื่อทั้งในและนอกองค์กรและเพราะความเป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ทำให้การเคลื่อนไหวในองค์กรของพวกเขาไม่มากก็น้อยเป็นการสอดรับประเด็นกลุ่มการเมืองจากภายนอกที่จะทำให้การทำงานของพวกเขาตอบสนองแรงขับเคลื่อนทางการเมืองมากกว่าประเด็นความเป็นมืออาชีพ – กับผู้บริหารที่ทำงานไม่สอดคล้องกับประเด็นของพวกเขาที่มีจุดอ่อนในการบริหารงานอย่างสมชัยจะอยู่ในองค์กรนี้ได้อย่างไร

เรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่จะฝังตัวอยู่ในไทยพีบีเอสสร้างสมการการช่วงชิงกันอย่างไม่รู้จบ ส่งผลให้คนทั่วไปยังเบื่อหน่ายบทบาทของไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะอีกต่อไป สื่อมืออาชีพนอกจากจะอำลาจากไปเหมือนกรณีภิญโญ คนอื่นที่จะเข้าไปก็จะไม่กล้า คนกล้าที่อยู่ภายในก็จะเงียบ

กรณีฉายรายการตอบโจทย์จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น

เว้นเสียแต่ว่าจะต้องมีการทำความสะอาดบ้านกันครั้งใหญ่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการไทยได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งสำคัญระดับโลกด้านเอเชียศึกษา

Posted: 18 Mar 2013 11:12 PM PDT

ศาตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้รับการเลือกตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมเอเชียศึกษา หรือ Association for Asian Studies (AAS) ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการในการประชุม AAS ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคมนี้ ที่เมืองซานดิเอโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.ดร.ธงชัย นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งที่ทรงเกียรตินี้ สืบต่อจาก ศ.ดร. Thoeodore C. Bestor แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

สมาคมเอเชียศึกษายังเป็นเวทีทางด้านวิชาการ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมถึงเป็นองค์กรที่ไม่ต้องการสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และยังเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับเอเชียหรือการศึกษาเรื่องของเอเชียสมัครเข้าเป็นสมาชิก ปัจจุบันนี้ สมาคมเอเชียศึกษามีสมาชิอยู่ทั่วโลกประมาณ 8,000 คน มาจากทุกภูมิภาคและทุกประเทศของเอเชีย และมาจากทุกๆ สาขาการศึกษาทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเอเชีย สมาคมเอเชียศึกษานับว่าเป็นกรอบทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับสมาคมอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลก

สมาคมเอเชียศึกษานับเป็นการวางเครือข่ายที่เชื่อมโยงสมาชิกโดยผ่านสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ งานเขียนออนไลน์ การจัดการประชุมในระดับภูมิภาคและการประชุมประจำปี สมาคมนี้ได้รับการก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1941 ในระยะเริ่มแรกเป็นเพียงสมาคมที่จัดทำสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า Far Eastern Quarterly หรือปัจจุบันคือวารสารเอเชียศึกษา (Journal of Asian Studies) ต่อมาได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสมาคมที่ขยายตัวกว้างขึ้น ทั้งในแง่สาขาวิชาและความสนใจในภูมิภาคที่กว้างขึ้นของกลุ่มสมาชิก

ในปี ค.ศ. 1970 ได้มีการจัดตั้งสภาเอเชีย (โดยมีสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้ง) ใน ภูมิภาค ได้แก่ จีร เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก การจัดตั้งสภาตามภูมิภาคนี้มีส่วนในการให้หลักประกันว่า การศึกษาเอเชียจะมีความครอบคลุมมากขึ้น และจะมีการส่งตัวแทนที่มาจากทุกภูทิภาคเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของสมาคม ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 สภาแห่งการสัมมนาได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวเชื่อมกับการประชุมในระดับภูมิภาคที่มีอยู่มากมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียในกลุ่มนักวิชาการทั้งที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ

การประชุมในปีนี้ที่จะมีขึ้นอีกไมกี่วันที่เมืองซานดิเอโก้นั้น จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมนับพันคนและจะมีการจัดการสัมมนา ทั้งในรูปของการเสนอผลงานเป็นรายบุคคล การจัดการสัมมนาแบบกลุ่ม (panel) หรือการจัดการถกเถียงแบบโต๊ะกลม (roundtable) ที่ครอบคลุมในทุกสาขาวิชาและทุกประเทศในเอเชีย

กรณีที่นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนายการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ได้ออกมากล่าวว่า "ในกลางปี 2556 นักล็อบบี้พวกนี้วางแผนผลักดันให้มีการอภิปรายเชิงวิชาการในที่ประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา (Association of Asian Studies) ซึ่งมีคนไทยที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอยู่ การอภิปรายดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งโจมตีสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นการเฉพาะ" ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล การกล่าวอย่างไม่มีหลักฐานและเลื่อนลอย สะท้อนให้เห็นถึงการวิเคราะห์ข่าวแบบ "ชุ่ย" ของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อต้านการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยในเชิงวิชาการ เพียงเพื่อต้องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการ แม้ว่าการแสดงออกทางวิชาการนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม การวิเคราะห์ของนายภุมรัตน์นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของกลุ่มที่ต้องการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประโยชน์ต่อการโจมตีกลุ่มนักวิชาการที่ต้องการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบัน

สมาคมเอเชียศึกษานี้ไม่ใช่มีเพียงการถกเถียงในทางวิชาการในเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้กับการเสวนาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ ในหัวข้อต่างๆ กันไปดังที่ได้กล่าวข้าวต้น การจัดการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องประเทศไทย หรือเรื่องสถาบันกษัตริย์ของไทยโดยเฉพาะนั้น จึงเป็นเพียงหนึ่งในการสัมมนาหลายๆ สัมมนาที่จะเกิดขึ้นที่ซานดิเอโก้

ที่สุด สำนักข่าวกรองเองก็น่าจะรู้ว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ของไทยนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพราะต่างมีศัตรูร่วมกัน นั่นคือภัยจากคอมมิวนิสต์ การที่นายภุมรัตน์ออกมาระบุว่า ล็อบบี้อิสท์ของสหรัฐฯ ต้องการโจมตีสถาบันกษัตริย์จึงเป็นการกล่าวที่ขาดเหตุผลและหลักฐาน ไม่น่าเชื่อว่านายภุมรัตน์จะเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมงานข่าวกรองของไทยจึงไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การประโคมข่าวว่า สมาคมเอเชียศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักวิชาการไทยนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกินจริงแล้ว ยังเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ถือเป็นการกล่าวที่ไร้สติอย่างที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น