โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหภาพอีเลคโทรลักซ์กังขาเงื่อนไขกลับเข้าทำงานใหม่ของบริษัท

Posted: 09 Mar 2013 11:24 AM PST

 

สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ชี้เงื่อนไข 8 ข้อของบริษัทไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทได้ตกลงกับผู้แทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ สวีเดน และผู้แทนจาก IF Metal ที่มีการระบุว่าคนงานจะได้รับการรับรองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง

 
10 มี.ค. 56 - สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทยแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 คณะอนุกรรมาธิการด้านแรงงานในสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้แทนบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีผู้แทนบริษัทคือ นายนกฤษ โกไศยกานนท์ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล และมีนายดุสิต สุขไศย ผู้แทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พร้อมด้วยนายอิทธิผล แผ่นเงิน ผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนจากสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย นายไพวรรณ์ เมทา พร้อมกรรมการอีก 3คน เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีบริษัทฯ เลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 129 คน ณ ห้องประชุม 212 อาคารรัฐสภา  
 
 
นายไพวรรณ์ เมทา ได้สอบถามผู้บริหารถึงเรื่องที่บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามผลการเจรจาระหว่างผู้แทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ สวีเดน และผู้แทนจาก IF Metal ได้ตกลงกับผู้บริหารของบริษัทฯ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีการตกลงกันว่าบริษัทฯ ตกลงรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเดิม และไม่มีการลงโทษพนักงานแต่อย่างใด แต่นายนกฤษ โกไศยกานนท์ อ้างว่าไม่ทราบว่ามีการเจรจาอะไรกัน และขณะนี้บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 8 คน 
 
 
 
จดหมายจากบริษัทฯ เรื่องเงื่อนไขการกลับเข้าทำงานใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ
 
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2556  พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับแจ้งทางจดหมายจากบริษัทฯ เรื่องเงื่อนไขการกลับเข้าทำงานใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ คือ
 
1. ท่านจะได้รับฐานเงินเดือนในอัตราเดิมของปี 2556
2. สถานภาพการจ้างงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ
3. กำหนดระยะเวลาทดลองงานตามระเบียบบริษัทฯ 119 วัน
4. ท่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หลังจากผ่านการทดลองงานแล้ว
5. ท่านสามารถใช้สิทธิลาพักร้อนได้หลังจากผ่านการทดลองงานแล้ว
6. อายุงานจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เริ่มกลับมาทำงานตามสัญญาจ้างใหม่
7. ท่านต้องลงชื่อในเอกสารรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
8. บริษัทฯจะพิจารณาบรรจุท่านเข้าทำงานในตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมในโรงงานระยอง
 
กรณีของคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 8 คน บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการรับกลับเข้าทำงานและอยู่ระหว่างขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้าง
 
ทั้งนี้สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ฯ เห็นว่าเงื่อนไขนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทได้ตกลงกับผู้แทนสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ สวีเดน และผู้แทนจาก IF Metal ที่มีการระบุว่าคนงานจะได้รับการรับรองว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก่อนที่จะมีการเลิกจ้างคนงานก่อนหน้านี้ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับชีวิตในที่สาธารณะ

Posted: 09 Mar 2013 10:55 AM PST

หลังจากทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้ว่าผลจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่ในฐานะที่ทำงานภาคสังคมโดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากไร้ที่สุดในประเทศไทย และในกรุงเทพมหานคร อดที่จะวิตกกังวลกับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องมาจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีคณะทำงานที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญด้านปัญหาสังคมอย่างแตกฉานเลยแม้แต่คนเดียว

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ปลายปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ที่อิสรชน เริ่มขยับเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมตัวทำงานในพื้นที่ สนามหลวง และเริ่มลงทำงานอย่างจริงจังในปลายปี 2547 พบว่า การทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ สนามหลวง คลองหลอด และปริมณฑล คำตอบไม่ใช่ การหาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าคำตอบมีมากกว่านั้นมากมาย แต่กว่าจะได้มาซึ่งคำตอบนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการทำงานเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างเข้มข้นและลงลึก

โดยการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาในระหว่างการดำรงตำแหน่งของอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 ท่าน สามวาระ อิสรชน ได้ติดตามการทำงานในภาคสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากไร ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และได้ทดลองและริเริ่มรูปแบบกิจกรรมเพื่อค้นหารากเหง้าของปัญหาร่วมกับคนสนามหลวงอย่างหลากหลายวิธี ที่พอจะสรุปได้ ได้แก่

  1. การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล
  2.  การสร้างความคุ้นเคยเบื้องต้น
  3. การคุยกลุ่มย่อยในพื้นที่
  4. การคุยกลุ่มย่อยนอกพื้นที่
  5. การทำประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นในพื้นที่
  6. การให้บริการพื้นฐานเฉพาะหน้า
  7. การออกหน่วยให้คำปรึกษาแบบเคลื่อนที่เร็ว
  8. การตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาแบบประจำจุด

การลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง พบว่า ปัญหาพื้นที่ ที่คนสนามหลวงต้องการเป็นการเร่งด่วน คือ การยืนยันสถานภาพบุคคลทางทะเบียนราษฎร เพื่อยืนยันความเป็นพลเมืองไทย และ นำไปสู่การได้รับสิทธิอื่น ๆ ที่พลเมืองไทยพึงได้จากรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจในการหางานทำเพื่อพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป

 

รูปแบบการให้บริการเชิงรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

จากการทำงานประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ภาครัฐเรียกว่า คนไร้ที่พึ่ง พบว่า สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ที่รัฐมีอยู่ ยังไม่สามารถรองรับสภาพปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ ของรัฐที่มีอยู่ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถให้บริการ ครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ครอบครัวเร่ร่อนไร้บ้านได้ โดยฌฉพาะการแยกการให้การดูแลครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะออกจากกัน แม้จะมีในบางกรณีที่สามารถให้แม่เด็กและเด็กอยู่ด้วยกันได้ แต่ก็แยกผู้เป็นสามีออกจากครอบครัว จากการทำงานพบว่า เกือบจะ 100% ของครอบครัวผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ได้รับการเชิญตัวเข้ารับการสงเคราะห์ในรูปแบบเดิม จากรัฐ จะกลายเป็นครอบครัวแตกในที่สุด เพราะเมื่อสามีหัวหน้าครอบครัว สามารถหาทางออกจากสถานแรกรับ หรือสถานสงเคราะห์มาได้ก่อน ภรรยามักจะมีครอบครัวใหม่ และเมื่อภรรยาเก่าออกมาพบ ก็เกิดการทะเลาะวิวาทกันในพื้นที่อยู่เป็นประจำ ยังไม่รวมการที่เด็กเมื่อได้รับการแยกให้การสงเคราะห์ออกไปมักจะได้รับการทอดทิ้งจากครอบครัว เป็นภาระของรัฐที่ต้องดูแลเด็กในฐานะเด็กถูกทอดทิ้ง

อิสรชน มีแผนการดำเนินการเปิด สถานพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(บ้านปั้นปูน) เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการด้านการสงเคราะห์เบื้องต้น แก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเปิดโอกาสให้สามารถอยู่ได้ในรูปแบบของครอบครัว โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์ ,นักพัฒนาคุณภาพชีวิต ประจำอยู่ในบ้านดังกล่าว เพื่อคอยให้คำแนะนำและประสานงานหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ หรือ ภูมิลำเนาของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กรณีมีความต้องการจะกลับภูมิลำเนา และ จัดให้มีการฝึกอาชีพเบื้องต้นในรูปแบบของการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเสริมศักยภาพของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก่อนจะดำเนินการส่งต่อ หรือ ส่งกลับภูมิลำเนา โดยพยายามบริหารกรอบเวลาให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมปัญหาให้มากที่สุด

 

การระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหา

การแก้ไข หรือบรรเทาปัญหา ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อนไร้บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมไปถึงภาคองค์กรธุรกิจด้วย เพื่อขยายพื้นที่การดูแลพลเมืองในสังคมอย่างทั่วถึงและสร้างทางเลือกให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ที่แสดงความจำนงจะเข้ามาช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหานี้ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนากลไกเดิมที่มีอยู่ในสอดรับสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

รัฐโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่องค์กรภาคธุรกิจให้ออกมาร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าทำงาน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่การยุติการใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างถาวรในอนาคต

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ 

  1. การตั้งหน่วยคัดกรอง (Drop In) ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวแก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทุกกลุ่ม โดยปราศจากเงื่อนไข ข้อจำกัด เพื่อให้เขารู้สึกถึงความปลอดภัยในการเข้ารับบริการ โดยรูปแบบเป็นการทำงานผสมผสานกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน  โดยภายในหน่วยคัดกรอง จะมีบริการพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการ พูดคุยกับ ผู้รับบริการ
  2. การมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามนอกเวลาราชการ เพื่อเป็นหน่วยเดินเท้าลงไปสร้างความคุ้นเคยชักชวนให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเต็มใจเข้ารับบริการในหน่วยคัดกรอง เพื่อประสานงานส่งต่อในการรับสวัสดิการด้านอื่น ๆ ต่อไป
  3. จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ในการส่งต่อไปยังหน่วยงานบริการด้านสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ รวมถึงการส่งกลับครอบครัว
  4. จัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียน ระหว่างการดำเนินการ หน่วยคัดกรองดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการให้บริการ ด้วยการกำหนดเวลา หรือวันในการให้บริการของแต่ละหน่วยบริการ ตลอดจนจัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อค้นหารูปแบบการทำงานที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอตุลย์ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ควรเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมมากกว่า

Posted: 09 Mar 2013 10:46 AM PST

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี) ระบุได้รับคำเชิญจากรองประะานสภา แต่ขอคัดค้านการนิรโทษกรรม น่าจะจะเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมมากกว่า

10 มี.ค. 56 - นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์  ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี)  แจ้งว่าได้รับคำเชื้อเชิญจากนายเจริญ จรรย์โกมล  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ ในวันที่  ๑๑  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น  นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์  ขอปฏิเสธการเข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ ดังกล่าว  เพราะเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมในขณะนี้ ควรจะเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม จากนั้นเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว มีชื่อใครได้รับโทษบ้างจึงค่อยมาพูดถึงการนิรโทษกรรมจะดีกว่า  ซึ่งขณะนี้กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินอยู่และยังไม่เสร็จสิ้น  ถ้าสภาฯ ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว  ก็จะเป็นการขัดขวางกระบวนการตุลาการให้สะดุดหยุดลง  ซึ่งเป็นการก้าวก่ายอำนาจตุลาการที่จะต้องปฏิบัติ  และขณะนี้พรรคเพื่อไทยพยายามเดินหน้าเพื่อช่วยพวกพ้องตัวเองที่มาชุมนุมช่วงปี 2552 - 2553  ดังนั้น ที่มีการย้อนถึงปี 2549 ก็แค่แก้เกี้ยวเท่านั้น    
 
โดย นพ.ตุลย์ ระบุว่าตนจึงขอคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความปรองดอง เพราะไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุความขัดแย้ง นอกจากนี้  การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังผิดหลักนิติธรรม เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบความถูกผิดทำให้ผู้ทำความผิดยังคงลอยนวล และโดยเฉพาะเหตุการณ์ เม.ย.- พ.ค. 2553 ยังมีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มเสื้อดำที่ไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายใด ใช้อาวุธทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของเจ้าหน้าที่ ประชาชน และผู้ชุมนุมจำนวนมาก หากออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม การตรวจสอบข้อเท็จก็จะถูกระงับไปโดยปริยาย ทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล
 
ทั้งนี้ นพ.ตุลย์ เห็นว่า การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่เพียงแต่ไม่เกิดความปรองดอง ยังปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนอล พร้อมจะก่อการอีกในอนาคต การด่วนออกมาเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพียงเพื่อให้ผู้เสนอมีภาพพจน์ที่ดีว่าต้องการความปรองดอง แต่ผู้เสนอบางคนยังมีเจตนาปกปิดความจริงบางอย่างไม่ให้สาธารณชนรับทราบ พวกเราจึงขอคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษจึงจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ทางกลุ่มฯมิได้ปฏิเสธความปรองดอง แต่ต้องการให้เกิดความยุติธรรมและความสงบสันติยั่งยืนในอนาคต
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อผู้หญิงในซีเรียต้องรับศึกสองด้าน

Posted: 09 Mar 2013 10:38 AM PST

อาร์วา ดามอน นักข่าวต่างประเทศอาวุโสของ CNN ได้นำเสนอรายงานเนื่องในวันสตรีสากล เรื่องบทบาทของผู้หญิงในการประท้วงของซีเรีย โดยขณะที่พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ในอีกทางหนึ่งก็ต้องสู้รบกับคติทางเพศ การถูกควบคุม และต้องต่อสู้เพื่อพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงด้วย

8 มี.ค. 2013 สำนักข่าว CNN นำเสนอรายงานของอาร์วา ดามอน นักข่าวอาวุโสผู้ลงพื้นที่ไปทำข่าวการประท้วงของซีเรียตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2011 และได้มีโอกาสพูดคุยกับสตรีผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงหรือมีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ในรายงานเริ่มต้นกล่าวถึงแคเธอรีน อัล-ทาลลี ซึ่งพ่อของเธอเป็นนักกิจกรรมที่ถูกกักขังเป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 1992 แคเธอรีนกล่าวถึงความยากลำบากในการพูดคุยกับสื่อเนื่องจากพวกเธอถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การสนทนาใน Skype ก็ต้องใช้แต่ตัวอักษร ไม่ใช้เสียง และต้องลบทิ้งทุกครั้งหลังพูดคุยเสร็จ

แคเธอรีนเป็นนักสิทธิมนุษยชนและนักกฏหมาย เธอเคยมีส่วนในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงดามาสกัสช่วงแรกๆ ในเดือนมี.ค. 2011 และถูกจับขังคุกเป็นเวลา 48 ชม. ในอีกสองเดือนถัดมา

แคเธอรีน เล่าว่ากลุ่มที่กุมขังพวกเขากระทำเหมือนผู้ต้องขังไม่ใช่มนุษย์ มีการบังคับให้ดื่มน้ำจากชักโครก และเรียกนักกิจกรรมผู้หญิงด้วยคำต่ำทราม หลังจากนั้นเธอก็ถูกปล่อยตัวออกมาเพราะว่าเธอเป็นนักกฏหมายที่มีคนรู้จักมาก แต่ก็ทำให้เธอต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ

อาร์วา เล่าว่าแคเธอรีนเป็นหนึ่งในสตรีที่เธอพบเจอในการประท้วงของซีเรียที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการประท้วง โดยแคเธอรีนมุ่งเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิ์โดยรัฐบาลซีเรียเพื่อเตรียมพยานหลักฐานสำหรับดำเนินคดีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลในอนาคต

แคเธอรีนเล่าว่ามีครั้งหนึ่งที่กลุ่มนักกิจกรรมได้เปล่งคำขวัญเรียกร้องความกลมเกลียวในหมู่ประชาชน ความกลมเกลียวระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสเตียน แต่ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบก็กระโดดมาขวางหน้าและยิงใส่ผู้ประท้วง ทำให้เธอเห็นคนรอบข้างเธอถูกยิงต่อหน้า

หญิงชาวคริสเตียนที่ใช้นามแฝงว่ามาเรียก็เล่าว่าเธอเกือบตายขณะออกไปประท้วงจากการที่เจ้าหน้าที่ยิงแก็สน้ำตาและตามด้วยกระสุนเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นนักกฏหมาย เรียกตัวเองว่าซานา ผู้เคยถูกกักขังอยู่ช่วงหนึ่ง และเริ่มทำงานเบื้องหลังเพื่อช่วยเหลือให้นักกิจกรรมรายอื่นๆ ได้ออกจากคุก

อาร์วากล่าวว่าหากมองสถานการณ์ในซีเรียผ่านจากข้างนอกเช่นจากวีดิโอของยูทูบแล้วอาจดูเหมือนว่าผู้หญิงไม่ได้มีบทบาทมากเท่าผู้ชาย แต่สำหรับเธอแล้วผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากในสถานการณ์ของซีเรีย ผู้หญิงในซีเรียเริ่มมีความคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น ทั้งยังมาจากหลากหลายภูมิหลังและความเชื่อที่แตกต่างกัน


ผู้หญิงซีเรียกับงานเบื้องหลังการชุมนุม

อาร์วา เปิดเผยอีกว่าเธอได้พูดคุยกับผู้หญิงสามคนที่สวมชุดคลุมสีดำจากหัวจรดเท้าในย่านคาฟาร์โซเซห์ ที่พวกเธอไม่ยอมออกไปประท้วงบนท้องถนนเพราะกลัวว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่จะล่วงละเมิดทางเพศ และถึงแม้ว่าพวกเธอจะมาจากพื้นเพนิกายซุนนีอนุรักษ์นิยมแต่พวกเธอก็ยืนยันว่าไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองด้วยกฏหมายอิสลาม

"พวกเราอยากให้มีคนฟังเสียงของเรา ผู้หญิงต้องการเสรีภาพ นี่ก็เป็นซีเรียของพวกเราเช่นกัน" หญิงทั้ง 3 คนกล่าวพ้องกัน

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยพากันครอปจากการเรียนและมาช่วยกันทำธงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและวาดหน้ากากให้กับพวกผู้ชายที่ออกไปประท้วง รวมถึงมีการสร้าง 'คลินิคใต้ดิน' เพื่อคอยปฐมพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการช่วยตามหาครอบครัวผู้เสียชีวิตหรือผู้ถูกกุมขังเพื่อช่วยเหลือด้านการเงินหรืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก่พวกเขา


ความกล้าหาญและความกลัว

อาร์วา ยังได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอได้พบกับผู้บัญชาการฝ่ายกบฏนิกายซาลาฟีในเมืองอเล็ปโป ผู้แสดงความไม่พอใจและมีท่าทีดูถูกเมื่อทราบว่า หญิงอายุ 19 ที่ใช้นามว่าอายา ละทิ้งสามีเธอเพื่อมาเป็นอาสาสมัครในหน่วยแพทย์ของฝ่ายกบฏ

"เธอไม่อยากให้ประเทศซีเรียที่เธอต่อสู้เพื่อให้ได้มาต้องถูกปกครองโดยผู้ชายแบบเขา" อาร์วากล่าวในรายงาน

อายาเปิดเผยว่าสามีเธอเข้าร่วมกับกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (Free Syria Army) แต่เธอเป็นผู้หญิงจึงไม่สามารถร่วมรบได้ เธอจึงตัดสินใจมาที่นี่เพื่อช่วยเหลือผู้คน อายาบอกว่าตอนแรกๆ ที่เธอเห็นเลือดเธอรู้สึกกลัว แต่อะไรบางอย่างข้างในบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เธอควรทำต่อไป

อายามาจากครอบครัวนิกายสุนนีอนุรักษ์นิยมเช่นกัน เธอหวังว่าอนาคตของซีเรียจะเป็นประเทศที่มีทั้งศาสนาอิสลามและมีความเป็นประชาธิปไตย

"แต่ประชาธิปไตยก็ดีกว่า" อายากล่าว "พวกเราต้องการเสรีภาพ พวกเราต้องการประชาธิปไตย พวกเราอยากพูดในสิ่งที่เราต้องการ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่า 'ทำไมถึงพูดแบบนี้' "

อาร์วายังได้เล่าถึงนักกิจกรรมสตรีหญิงแกร่งอีกคนหนึ่งในอเล็ปโปที่ใช้นามแฝงว่าซามา อาร์วาบรรยายถึงซามาว่าเธอสวมกางเกงยีนส์และรองเท้าบูทที่เต็มไปด้วยโคลน มัดผมหางม้าหลวมๆ ถือเครื่องคอมพิวเตอร์และสะพายกล้องคล้องคอไปมารอบห้องในโรงพยาบาลของกลุ่มกบฏ ซึ่งทำให้อาร์วารู้สึกแปลกใจเพราะเธอคุ้นเคยกับบทบาทของ "นักกิจกรรมด้านสื่อ" ในซีเรียที่มักเป็นผู้ชายมากกว่า

ในช่วงเริ่มแรกของการลุกฮือ ซามาเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยอเล็ปโป ซามามีความฝันอยากเป็นผู้สื่อข่าวเธอจึงเริ่มคว้ากล้องมาถ่ายรูปผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งซามาบอกว่าเธอไม่เคยปรับตัวให้คุ้นชินกับมันได้เลย

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ซามาอยู่ในเหตุการณ์ที่มีลูกปืนใหญ่ตกใส่กลุ่มประชาชนที่มารอรับขนมปัง เธอบอกว่าเธออยากวางกล้องลงแล้วร้องไห้

"แต่เมื่อคุณบอกกับตัวเองว่า มันมีสารที่คุณต้องสื่อออกไป แม้จะหนักหน่วงและทารุณ แต่คุณก็ต้องสื่อมันออกไป มันเป็นความรับผิดชอบของคุณ คุณอาจซึมเศร้าได้ แต่คุณต้องบังคับตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งให้ได้" ซามากล่าว


การลุกฮือที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนแนวคิด

อาร์วาบอกว่าในโรงพยาบาลของฝ่ายกบฏที่เธอเข้าไปทำข่าวมีผู้คนจากหลากหลายภูมิหลัง ทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มคนที่กลางๆ กลุ่มศาสนาอิสลาม กลุ่มนิกายซาลาฟี และพวกเขาก็ถกเถียงกันเรื่องอนาคตของซีเรียเป็นประจำ และการลุกฮือที่เกิดขึ้นในซีเรียก็ทำให้กลุ่มคนที่ไม่เคยปฏิสัมพันธ์กันมาก่อนได้มาแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน

"ฉันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้นแล้ว การปฏิวัติก็เป็นทางแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ของกลุ่มอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นของชาวซีเรียทุกคน และชาวซีเรียก็มาจากหลากหลายนิกาย" ซามากล่าว


การตระหนักในบทบาทของผู้หญิง

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความรู้สึกเกิดขึ้นในหมู่นักกิจกรรมสตรีว่าควรมีการตระหนักถึงเรื่องการเสริมพลังให้กับผู้หญิงมากกว่าเดิม อาร์วา กล่าวว่าในความจริงแล้วผู้หญิงชาวซีเรียเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลแต่เรื่องนี้ถูกนำเสนอน้อยมาก

และแม้ว่าประเทศซีเรียจะมีผู้หญิงที่มีบทบาทในระดับสูงเช่นนักกฏหมาย, นักการธนาคาร และนักการเมือง แต่โดนรวมแล้วผู้หญิงในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งในและนอกประเทศซีเรียก็ยังถูกนำเสนอน้อยกว่าความเป็นจริง

หนึ่งในสตรีผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งคือ ราจา อัล-ทาลลี น้องสาวของแคเธอรีน ผู้ได้รับทุนไปศึกษาด้านคณิตศาสตร์ที่บอสตัน และเมื่อมีการลุกฮือขึ้นในบ้านเกิด เธอก็ร่วมจัดตั้งองค์กร ศูนย์เพื่อประชาสังคมและประชาธิปไตยในซีเรีย ในตอนนี้ราจาได้ไปอยู่ที่ทางตอนใต้ของตุรกีและเริ่มค้นคว้าเรื่องบทบาทของเพื่อนสตรีในการปฏิวัติซีเรีย และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างบทบาทของพวกเขา

ราจาได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัยพบว่าเรื่องหลักๆ ที่ผู้หญิงให้ความสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของซีเรียคือเรื่องการศึกษาและเรื่องเศรษฐกิจ ในเชิงการเมืองแล้ว พวกเขาต้องการเสรีภาพ ความยุติธรรม และการเคารพศักดิ์ศรี แม้ว่าบางส่วนยังคิดว่าผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทนำในการบริหารประเทศหรือในเชิงนิติบัญญัติ


การรับศึกสองด้านของสตรีในซีเรีย

อย่างไรก็ตาม ราจากล่าวผ่าน Skype ว่ามีผู้หญิงบางที่อยากเรียนรู้และมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่พวกเธอไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะไม่มีคนคอยผลักดัน และไม่มีทักษะในการล็อบบี้ ขณะที่ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเมืองมากกว่าและมีโอกาศในการเรียนรู้มากกว่าพวกเขา

ราจากำลังเน้นทำงานเพื่อเสริมพลังให้กับผู้หญิงจากหลากหลายชนชั้นทางสังคม โดยการสร้างทักษะวิธีการทำให้ความเห็นของผู้หญิงและความต้องการของผู้หญิงได้เป็นที่รับรู้

ราจาบอกว่าผู้หญิงยังผลักดันตัวเองไม่มากพอ และถ้าหากผู้หญิงไม่พยายามทำ ผู้ชายก็จะไม่สนใจ

ในการประชุมล่าสุดที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ มีนักกิจกรรมสตรีราว 15-20 คน มาร่วมอภิปรายและหนึ่งในหัวข้ออภิปรายนั้นคือบทบาทของผู้หญิงหลังยุคอัสซาด (บาชาร์ อัล-อัสซาด รัฐบาลปัจจุบันของซีเรีย) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบตุลาการ ระบบนิติธรรม การบริหาร และการให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการตัดสินใจ

กลุ่มสตรีตั้งเป้าหมายไว้สูงมากคือการผลักดันให้มีผู้แทนในรัฐบาลเป็นผู้หญิงร้อยละ 50 และพยายามเปลี่ยนแปลงพลวัติของสภาท้องถิ่นและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลโดยการเรียกร้องให้มีตัวแทนเป็นผู้หญิงมากขึ้น

ราจาและผู้หญิงคนอื่นๆ เล็งเห็นว่าในอนาคตอาจมีปฏหมายใหม่จากกลุ่มที่มีแนวคิดแบบสุดโต่งคอยควบคุมหรือผลักผู้หญิงออกไปอยู่ชายขอบ พวกเธอจึงต้องเสริมพลังให้กับผุ้หญิงมากกว่านี้

อาร์จา กล่าวว่า ผู้หญิงในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของซีเรียต้อต่อสู้แบบรับศึกสองด้าน ด้านแรกคือการ ต่อสู้กับรัฐบาลซีเรียและอีกด้านหนึ่งคือการต่อสู้ที่ยากลำบากพอกันคือการทำให้แน่ใจว่า สิทธิปัจเจกชนจะไม่ถูกลบล้างไปในกระบวนการและพลวัติของการลุกฮือเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของซีเรีย

"มันไม่ใช่เป้าหมายง่ายๆ และไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จ แต่ผู้หญิงชาวซีเรียส่วนใหญ่ที่ฉันพบเจอจากการทำงานข่าวในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็จะไม่นิ่งดูดายและเฝ้ามองเสรีภาพของตนถูกฉกชิงหรือปล่อยให้อนาคตของพวกเขาถูกควบคุม" อาร์จา กล่าว

เรียบเรียงจาก

Syria's women: Fighting a war on two fronts, CNN, 07-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Measuring National Wellbeing ความอยู่ดีมีสุขมวลรวมประชาชาติ

Posted: 09 Mar 2013 10:32 AM PST

ตัวชี้วัดหลักในการวัดความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถือเป็นเครื่องมือชี้วัดมูลค่าทางตัวเงินของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ ผู้ดำเนินนโยบายประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญกับขนาดและการเจริญเติบโตของ GDP เพราะเชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และอนุมานว่าสามารถบ่งชี้ความสำเร็จของสังคมและความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ ข้อจำกัดของ GDP ที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปในวงวิชาการว่าไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลที่ดีหรือไม่สามารถชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของประเทศได้

เหตุผลสำคัญก็คือ การมุ่งเน้นที่การผลิตหรือการบริโภคหรือรายได้เพียงอย่างเดียว ที่แต่ละประเทศมุ่งหวังจะให้ประเทศมีเศรษฐกิจขยายตัว มี GDP สูงนั้น ในบางครั้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมได้สร้างความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ให้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคม GDP มักไม่ได้รวมต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางธรรมชาติเข้าไปในการคำนวณ การที่เหล้าบุหรี่ขายได้มากขึ้นช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะดีขึ้น การที่ผู้คนในประเทศตัดไม้ทำลายป่านำออกขายก็ช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ อีกทั้งการที่ GDP เพิ่มก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะมีรายได้ที่ดีขึ้น หรือการที่คนส่วนใหญ่มีรายได้ดีขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสุขมากขึ้น ตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นเป็นที่มาที่ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาสนใจการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นแทนที่จะพัฒนาแต่การเพิ่ม GDP เพียงด้านเดียว

จากการทบทวนเอกสารต่างๆ จะพบว่าในปัจจุบันรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ทั่วโลกให้ได้ให้ความสนใจกับการติดตามและประเมินความอยู่ดีมีสุข (Wellbeing) กันมากขึ้น ทั้งความอยู่ดีมีสุขในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับประเทศ โดยความอยู่ดีมีสุข หรือ Wellbeing ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของวาระการประชุมเชิงนโยบายหลากหลายวาระ ตั้งแต่เรื่องการผนึกรวมทางสังคมไปจนถึงเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ (National wellbeing) กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย (policymakers) และพลเมืองในการวัดความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะเสริมหรือทดแทน GDP

สำหรับมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้น GDP ตามบัญชีประชาชาติ มาให้ความสำคัญกับการพิจารณาคุณภาพชีวิตของประชาชนเข้าไปด้วย ประเด็นคำถามที่สำคัญ คือ เราจะวัดความอยู่ดีมีสุขของประเทศได้อย่างไร และเราจะนำผลจากการประเมินความอยู่ดีมีสุขนั้นมาออกแบบและประยุกต์ใช้ในนโยบายสาธารณะได้อย่างไร

ความอยู่ดีมีสุข หรือ Wellbeing มีการให้คำนิยามที่แตกต่างกันไปโดยมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพแต่ละบุคคล สุขภาพที่ดี ความสุข การมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ ความพึงพอใจในชีวิต         

 

Timeline of Recent Key Events in Measuring Wellbeing

1994           United Nations publishes first Human Development Index.

2000           First issue of the Journal of Happiness Studies is published.

2002           UK Cabinet Office Strategy Unit Report, Life Satisfaction: the State of Knowledge and Implication for Government.

2007           European Commission initiates the 'Beyond GDP' project.

2008           President Sarkozy establishes the Commission on the Measurement of Economic Performance and Social Progress.

2009           OECD starts Better Life Initiative and Work programme on measuring wellbeing and progress.

2010           The US government establishes a Commission on Key National Indicators, allocating $70 million to the project.

2010           The UK Office for National Statistics begins a programme to develop statistics to measure national wellbeing.

2011           US National Research Council, the National Institute on Aging and the UK Economic and Social Research Council jointly support an expert panel on subjective wellbeing and public policy.

2011           UN General Assembly Resolution on Happiness 65/309.

2012            UN High-Level meeting on happiness and wellbeing. Release of the UN World Happiness Report.

 

 

คณะกรรมการการวัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม (the Commission on the Measurement of Economic Performance and Social Progress หรือ the Stiglitz Commision) เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสในปีค.ศ. 2008 ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญ เช่น Josept Stiglitz และ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้แนะนำว่า ความอยู่ดีมีสุขของประเทศควรเป็นการวัดผลที่ครอบคลุม 8 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1.  มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชากร (รายได้ รายจ่ายและความมั่งคั่ง)

2. สุขภาพ

3. การศึกษา

4. กิจกรรมส่วนบุคคล (รวมถึงการทำงาน)

5. การมีส่วนร่วมทางการเมืองและธรรมาภิบาล

6. ความสัมพันธ์และการเชื่อมต่อทางสังคม

7. สิ่งแวดล้อม (ทั้งเงื่อนไขปัจจุบันและอนาคต)

8.  ประเด็นด้านความเปราะบางทั้งทางเศรษฐกิจและทางกายภาพ

 

การที่หลายประเทศเริ่มพัฒนาสถิติทางสังคมและมีการพัฒนาชุดของตัวชี้วัดที่สำคัญหรือ แดชบอร์ดของความอยู่ดีมีสุขของชาติ (Dashboards of national wellbeing) อาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดของคณะกรรมการสติกลิตซ์นี้ โดยการพัฒนาดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของระดับชาติและการจัดทำส่วนประกอบของดัชนีทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ความท้าทายที่สำคัญ คือการค้นหาว่าความอยู่ดีมีสุขหรือการมีชีวิตที่ดี มีอะไรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและควรให้น้ำหนักความสำคัญกับองค์ประกอบของดัชนีชี้วัดอย่างไร สำหรับกระบวนการในส่วนนี้ บางประเทศได้อาศัยความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบุตัวชี้วัดสำคัญ ในขณะที่บางประเทศเปิดโอกาสให้นักการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

กรณีศึกษาประเทศอังกฤษ

การวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ หรือ National Wellbeing ของประเทศอังกฤษได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องจากรัฐบาล โดย UK's Office for National Statistics (ONS) หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษได้เริ่มพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ ในกระบวนการดังกล่าวได้รับข้อคิดเห็น คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้เสีย ที่ปรึกษา และประชาชน ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศผู้นำในการพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ ในแง่ของการรวมความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย (subjective wellbeing) เข้าสู่การประเมินความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ได้ถามคำถามเกี่ยวกับ "ความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคล" โดยบรรจุคำถามให้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจประชากรแห่งชาติประจำปี และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลสำรวจครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ผลการสำรวจพบว่า "สามในสี่" ของประชาชนได้จัดอันดับพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาให้คะแนนเท่ากับ 7 หรือมากกว่าจากระดับคะแนนเต็ม 10 และมีประชาชนร้อยละ 80 ให้คะแนนอย่างน้อย 7 เมื่อถามว่าพวกเขารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งของคนว่างงานให้คะแนนน้อยกว่า 7 เป็นต้น

 

องค์ประกอบของมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขของประเทศอังกฤษ

สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ได้ปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญสาธารณะและนานาชาติเพื่อพัฒนาองค์ประกอบของมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติ (national wellbeing measures) ในการระบุชี้วัดนี้ประกอบด้วยกลุ่มการวัดปัจจัยที่มีอิทธิพล 2 กลุ่ม ได้แก่

> กลุ่มปัจจัยอิทธิพลโดยตรงที่กระทบต่อความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย (subjective wellbeing) ได้แก่ ความสัมพันธ์ สุขภาพ สิ่งที่เราทำ สถานที่เราอยู่ การเงินส่วนบุคคล การศึกษาและทักษะ

> กลุ่มปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพล ได้แก่ ธรรมาภิบาล ระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษ ยังระบุถึงปัญหาของความเสมอภาค ความเป็นธรรม และการนำไปใช้กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การสำรวจประชากรครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษแบบบูรณาการประจำปีของกลุ่มตัวอย่างประชากรขนาดใหญ่ (ผู้ใหญ่ (อายุ 16 ขึ้นไป) จำนวน 165,000 คน โดยการสำรวจจะสอบถามความคิดเห็น 4 คำถาม แล้วให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบโดยให้ระดับคะแนน 0-10 ระดับคะแนน 0 คือไม่อย่างสิ้นเชิง และระดับคะแนน 10 สมบูรณ์แบบ: คำถามมีดังนี้

>โดยรวมแล้ว คุณพอใจกับชีวิตของคุณในปัจจุบัน?

>โดยรวมแล้ว คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำในชีวิตของคุณคุ้มค่า?

>โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ คุณรู้สึกว่ามีความสุข?

>โดยรวมแล้ว เมื่อวานนี้ คุณรู้สึกกังวล?

คำถามของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศอังกฤษได้สอบถามข้อมูลในมิติที่ยอมรับกันโดยทั่วไปได้แก่ ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของอารมณ์เชิงบวกและลบ ความพึงพอใจกับชีวิตโดยรวม และชีวิตที่มีความหมายหรือมีเป้าหมายอย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาบางคนโต้แย้งว่าคำถาม 4 ข้อที่ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนนั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาจับภาพทุกด้านที่สำคัญอื่น ๆ ของชีวิตที่ดีนอกเหนือจากอารมณ์ได้ โดยนักวิจัยได้มีความพยายามเชื่อมโยงความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย (subjective wellbeing) กับข้อมูลชุดอื่นๆ ที่จะระบุความสอดคล้องกับคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะ ชีววิทยา ปัจจัยสถานการณ์ ปัจจัยสถาบัน ลักษณะทางประชากรศาสตร์ และการจ้างงานทางเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อม

การใช้มาตรวัดความอยู่ดีมีสุขส่วนบุคคลเชิงอัตวิสัย เพื่อเสนอเป็นนโยบายสาธารณะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าจะช่วยให้ประเทศกำหนดเป้าหมายทั้งพื้นที่หรือกลุ่มทางสังคม ทำให้การประเมินผลได้และต้นทุน (cost-benefit analysis) ครอบคลุมมิติที่สำคัญกับชีวิตมากไปกว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจแบบเดิมๆ

โดยสรุป จากตัวอย่างของประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่าการสร้างมาตรวัดความอยู่ดีมีสุขประชาชาติเป็นการเปิดยุคใหม่ของการปรึกษาหารือของประชาชนและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตให้เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่สามารถนำมาซึ่งการวางแผนพัฒนา กำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนในชาติมีความกินดีอยู่ดีมีสุขได้นอกเหนือไปจาก GDP ที่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน

เท่าที่ผู้เขียนทราบ ประเทศไทย มีการพัฒนาดัชนีความอยู่ดีมีสุขขึ้นมาบ้าง เช่น งานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ยังไม่มีความต่อเนื่องและเผยแพร่ในวงกว้างมากนัก ประเทศไทยยังคงใช้ดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก การตื่นตัวเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นช่วยเร่งให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาตัวชี้วัดใหม่ๆ ในอนาคตข้างหน้า เราจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาตัวชี้วัดความอยู่มีสุขประชาชาติขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งเป้าที่จะเป็นดัชนีชี้วัดที่เคียงคู่และต่อสู้กับ GDP ให้ได้ เพื่อสร้างประเทศที่น่าอยู่และประชาชนมีความสุขได้อย่างแท้จริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่วมสุนทรียะสนทนากับผู้หญิงจากโลกมุสลิม (ตอนที่ 1)

Posted: 09 Mar 2013 10:19 AM PST

 

ในเดือนมีนาคม ปีนี้ ประเทศออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ของผู้หญิงจากหลากหลายทั่วทุกมุมโลก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียร่วมกับรัฐบาลออสเตรเลียและองค์กรต่างๆ จะนำผู้นำหญิงทั่วโลกจาก 9 ประเทศ คือ อียิปต์ โมร๊อคโค เลบานอน จอร์แดน ปาเลสไตน์ อิรัก ลิเบีย อาหรับเอมิเรด และซาอุดิอราเบีย มาร่วมสนทนากัน แต่ละคนมีประวัติการทำงานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว เพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันในสังคมมุสลิม ทั้งยังพยายามส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้หญิงในสังคมมุสลิมให้มากขึ้น ที่มากไปกว่านั้นบางคนพยายามนำสังคมมุสลิมให้หลุดกรอบจากวิถีคิดแบบทวิทัศน์ (dualism) ระหว่างโลกมุสลิมกับสังคมตะวันตก อีกด้วย

 

Samar Fatany

ผู้หญิงแกร่งคนแรกชื่อ Samar Fatany เธอจบปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ ได้เขียนหนังสือออกมาทั้งหมดแล้ว 3 เล่ม ชื่อ Saudi Perceptions & Western Misconceptions, A New Era For Saudi Women and Saudi Challenges And Reforms. และกำลังจะออกหนังสือเล่มที่สีในเร็วๆ นี้

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า นอกจากจะเป็นหัวหน้าของสถานีวิทยุภาคภาษาอังกฤษของสถานีเจดด้า (Jeddah Radio Station) เป็นเครือเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศซาอุดิอราเบีย เป็นสมาชิกกลุ่มนักเขียนหญิงแห่งซาอุดิ ริเริ่มก่อตั้งและเป็นสมาชิกกลุ่มนักคิด NAAM ริเริ่มก่อตั้งและเป็นสมาชิกของ the Alkalimah Literary Society สมาชิกของ คณะกรรมการเพื่อเวทีเยาวชนของกระทรวงต่างประเทศ สมาชิกของคณะกรรมการซาอุดิเพื่อการค้าระหว่างประเทศ

สิ่งที่เธอนำเสนอในรายการวิทยุแห่งนี้ คือ การแนะนำวัฒนธรรมต่างๆ ศาสนา และเหตุการณ์การทำงานในช่วง งที่เธอนำเสนอในรายการวิทยุแห่งนี้ คือ การแนะนำวัฒนธรรมต่างๆ ศาสนา และเหตุการณ์การทำงานในช่วงระหว่าง 30 ปี ออกอากาศ

เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อสู้กับกลุ่มสุดขั้วต่างๆ โดยการสนับสนุนให้เยาวชนที่เป็นผู้หญิงให้ริเริ่มค้นหาบทบาทในสังคมซาอุดิอราเบียร่วมสมัย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน:

Saudi research centers promote development (SAUDI GAZETTE 29-Dec-2012)
http://saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20121229147486
Implement the budget the right way (SAUDI GAZETTE dated 5-JAN-2013)
http://saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20130105148166
Fighting depression among Saudi youth (SAUDI GAZETTE – 12 Jan. 2013)
http://www.saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20130112148996
Can political involvement of women influence change? (Saudi Gazette 19-JAN-2013)
http://saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20130119149807

 

Rana Hussein

ผู้หญิงแกร่งคนที่สองชื่อ Rana Hussein จากประเทศจอร์แดน

ถ้าใครทำงานด้านสื่อในประเทศจอร์แดน ย่อมรู้จักผู้หญิงคนนี้ดี  เพราะเธอได้รับรางวัลถึง 9 รางวัลจากในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ รวมทั้งได้รับเหรียญจาก HM King Abdullah II เมื่อปีพ.ศ. 2550 จากผลงานชิ้นเอกที่ชื่อว่า อาชญากรรมเพื่อศักดิ์ศรี (honour crimes) และยังมีรางวัลนักข่าวจาก ไทม์สจอร์แดน (The Jordan Times)

สิ่งที่เธอเขียนเพื่อสื่อสารกับสังคมในระดับต่างๆ รวมถึงระดับโลก คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมอันโหดร้ายจากครอบครัวของชาวจอร์แดนที่มีต่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ที่กระทำในนาม การรักษาศักดิ์ศรีของครอบครัว (The family honour)

มากกว่าการเป็นนักข่าวและนักเขียนเธอยังทุ่มเทการทำงานขยายออกไปถึงการพยายามยุติความไม่เป็นธรรมที่มีต่อผู้หญิง เพื่อช่วยให้ประเทศของเธอตระหนักว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นข้อห้ามที่มีต่อผู้หญิงมีความไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เธอทำได้รับการสอบสนองจากรัฐบาลจอร์แดนโดยการออกกฎหมายให้สามารถเอาผิดกับผู้ที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรมในทางกฎหมายได้

หนังสือที่เธอเขียนเกี่ยวกับ การฆ่าในนามของศักดิ์ศรี (Murder in the Name of Honour) มาจากประสบการณ์จริงของผู้หญิงที่ต้องประสบชะตากรรมในเรื่องดังกล่าว และได้รับการแปลออกมาแล้วหลายภาษาไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ อาหรับ และดัตช์

มากไปกว่านั้น เธอทำยังเป็นที่ปรึกษาและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงในตะวันออกกลางและประเทศจอร์แดนร่วมกับองค์กรอิสระท้องถิ่น ตัวแทนของ UN และองค์กรระหว่างประเทศ และยังเป็นที่ปรึกษาและนักเขียนอิสระให้กับ UN Women Equality Now และ Freedom House ในประเทศจอร์แดน

ด้านการอบรมและเป็นที่ปรึกษาสำหรับสถาบันสื่อของจอร์แดน (the Jordan Media Institute [JMI]) วิจัยนานาชาติและคณะกรรมการการแลกเปลี่ยน (the International Research and Exchange Board [IREX]) โดยมุ่งเน้นนักข่าวในท้องถิ่น นักเรียนด้านนิเทศน์ ให้สามารถนำเสนอประเทศเพศสภาพ สิทธิมนุษยชน และความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง

โครงการเฝ้าระวังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงผ่านหนังสือพิมพ์ของจอร์แดนยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของเธอด้วย

ดูผลงานของเธอเพิ่มเติมได้จาก :

http://www.ranahusseini.com/
http://www.pbs.org/speaktruthtopower/rana.html
http://www.worldpress.org/Mideast/2053.cfm
http://womensenews.org/story/journalist-the-month/030508/jordans-husseini-created-new-beat-honor-crimes
http://www.democracynow.org/2009/10/21/jordanian_journalist_rana_husseini_on_murder
http://www.theredalert.com/features/husseini.php
http://newint.org/columns/makingwaves/2005/04/01/rana-husseini/
http://www.youtube.com/watch?v=tQpi0cCp59o
http://www.youtube.com/watch?v=P8lSkYskGXE
http://blip.tv/grittv/grittv-rana-husseini-honor-killings-a-global-problem-2775523

 

Wafa' Abdel Rahman

ผู้หญิงแกร่งคนที่สาม ชื่อ Wafa' Abdel Rahman จากประเทศปาเลสไตน์ เธอจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาทางเลือกจากสถาบันการศึกษาสังคม The Hugue ประเทศเนเธอแลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2554 และปริญญาตรีจากคณะประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Bir Zeit, West Bank ประเทศปาเลสไตน์

Wafa' Abdel Rahman เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการทั่วไปของ FILASTINIYAT

FILASTINIYAT เป็นองค์กรอิสระ เน้นสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเยาวชนอย่างเป็นธรรมในทุกระดับ

เธอเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นนักสิทธิสตรีหญิงชาวปาเลสไตน์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอิสระ มีบทบาทสำคัญมากในด้านการสื่อสารสาธารณะ โดยการรวบรวมนักข่าวผู้หญิงจำนวน 177 คน จากกาซ่า (Gaza) และเวสต์แบงค์ (West Bank) ร่วมกันเป็นคณะกรรมการของ คลับนักข่าวหญิงแห่งปาเลสไตน์ ทั้งยังหัวหน้าเป็นบรรณาธิการให้กับ Feminist News Agency NAWA

ที่ผ่านมาช่วงระหว่าง พ.ศ. 2548 – 2553 ยังเคยเป็นสมาชิกของ คณะกรรมาธิการผู้หญิงนานาชาติ และตำแหน่งสำคัญต่างๆ เพื่อกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้หญิงอีกมากมาย

ดูผลงานของเธอเพิ่มเติมได้จาก :

www.filastiniyat.org
http://www.activisminstitute.org/joo/index.php/en/Meet-the-Activists/wafaa
http://news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/8267126.stm
http://www.bitterlemons-international.org/previous.php?opt=1&id=85#348
http://www.youtube.com/watch?v=7NPedLaB_Us
http://www.youtube.com/watch?v=2f2Yrkjb2qw

ภาษาอาหรับดูจากลิงค์:

http://www.youtube.com/watch?v=5LzmxrTYbTc
http://www.youtube.com/watch?v=Z99qWkBR2_Q

 

 

….

ที่มา :

http://www.ausarabwomensdialogue.org.au/delegates/
http://billboard.anu.edu.au/event_view.asp?id=100101
http://www.inclusivesecurity.org/network-bio/wafa-abdel-rahman/

สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ฝ่า..(ละอองทุกข์)

Posted: 09 Mar 2013 03:40 AM PST

 

 

 

๐ สวรรค์วิมานแมน__ณ ดินแดน บ่ ดีธรรม

เฟื่องกฎจะบดขย้ำ__ขยี้ข้างที่ต่างตน

 

๐ รุมรุกทุกองค์กร__อิสระ,ซ้อน อิทธิล้น

ตามแต่จำนงจน__จะร่ายรัดตัดสินใคร

 

๐ สายสานก็ซ่านซ้ำ__ประดิษฐ์คำนิยามใหม่

พจนานุกรมไหน__ก็แต่สารจะอ้างอวย

 

๐ หนึ่งนะก็หนึ่งนั่น__สองสิทั่นจะยำช่วย

อย่าถาม สามจะซวย__จำนนซะ ณ สารขัณฑ์

 

๐ คามคุกทุกเบื้องบท__ความขบถกำหนดปั้น

ตราหน้าประดาอัน__ผู้ต่างคิด ผิดทุกประตู

 

๐ ล่ามขาและขังคอก__ปิดทางออกปิดปากหู

เชือดไก่ให้ลิงดู__อย่าริค้นความคนไท

 

๐ กักข้ารึล้าแรง__มั่นโชนแสงที่ฝันใฝ่

อิสระแห่งหัวใจ__ฝ่าสรรพสิ่ง บ นิ่งยอม

 

๐ จอมเอยจอมปลวกเปลื้อง.......จอมปลอม

จอมนั่นมิอาจหลอม.................รักแล้

จอมใจประชาตรอม.................ตรม,ตื่น

ตน,ต่างพิสูจน์แท้...................สิทธิข้าควรขืน ฯ
 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ กรณี “อายุ” ไม่เป็นแค่ตัวเลข

Posted: 09 Mar 2013 02:46 AM PST

ต้องถือว่าภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบของทหาร ในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ภายใต้การนำของประธาน คือ นางอมรา พงศาพิชญ์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ในฐานะของผู้นำองค์กร อิสระสำคัญเฉกเช่นหน่วยงานนี้

 

 ประเด็นสิทธิมนุษยชนในอเมริกาได้รับความสำคัญเป็นอย่างมาก ถึงกับมีหน่วยงานเฉพาะด้านนี้ ทั้งในองค์กรการปกครองระดับท้องถิ่นหลายแห่ง  เช่น ตามเมือง(City)ต่างๆ ยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องสิทธิมนุษยชนเอาด้วยซ้ำ (เปรียบเทียบกับเมืองไทยเพื่อให้เห็นภาพ  คือ  ในระดับเทศบาลของอเมริกายังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำเทศบาลเลย) รวมถึงในระดับการปกครองในส่วนของรัฐบาลกลาง หรือในระดับประเทศ

 

ขณะที่วัฒนธรรมอเมริกันเองก็ถือว่า สิทธิมนุษยชน มีความสำคัญมากในอันดับต้นๆ ทั้งโดยตัวกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญและระบบวัฒนธรรมของอเมริกันเอง

 

ความจริงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยคนปัจจุบัน ก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากอเมริกา ดังนั้นไม่มากก็น้อย น่าจะเป็นเหตุทำให้น่าเชื่อได้ว่า ย่อมต้องได้รับการซึมซับ เรื่องราวเชิงความรู้และเชิงวัฒนธรรม ค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของอเมริกันมาก่อนอย่างแน่นอน       และย่อมต้องทราบดีว่า "สิทธิมนุษยชน" เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้ ในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ทั้งสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล  คือ เหมือนกันหมดทั่วโลก

 

เชื่อว่า เมืองไทยเองตระหนักถึงเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญ จนเกิดเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมา นับตั้งแต่ปี 2544 พร้อมกับข้อกำหนดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดเดียวกันนี้

 

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบฯใหญ่ครั้งล่าสุด คนไทยหลายๆคน คงไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯในเมืองไทยนั้นมีอยู่ด้วยซ้ำ  รวมถึงบทบาทหน้าที่ว่ามีอย่างไรบ้าง   แหละเป็นเหตุให้ที่ผ่านมา ทั้งสื่อและประชาชนมีคำถามมากมายต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระแห่งชาติชุดเดียวกันนี้

 

เหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปหรือองค์กรประชาชนที่เดือดร้อนเกี่ยวกับการถูกเบียดเบียนหรือละเมิดเรื่องสิทธิ์ ก็อาจไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ์ต่อคณะกรรมการสิทธิฯได้

 

หน้าที่บางประการของคณะกรรมการสิทธิฯ เช่น ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการ ,         หน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้เป็นต้นนั้น

 

มองอย่างพื้นๆแล้ว นอกเหนือไปจากการการละเมิดต่อชีวิต(ที่ถือว่าร้ายแรงมาก)ชัดเจนประการหนึ่งแล้ว ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆในเมืองไทยยังมีหลายรูปแบบที่มองไม่ใคร่เห็นกัน แต่มีอยู่ และไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการสิทธิฯได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะรับผิดชอบตามกฎหมายหรือไม่ หรือมองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับในสังคมไทย?

 

ความจริงสิทธิทำนองนี้ ก็จัดเข้าในหมวด "ความอยุติธรรม"ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน

 

ตัวอย่างเช่น การรับสมัครบุคลากรเข้าทำงานในองค์กรต่างๆในเมืองไทย ยังแบ่งแยกและถือเกณฑ์ตาม "เพศและอายุ" ซึ่งกฎหมายสิทธิ์เข้าไปคุ้มครองไม่ถึง  เพราะไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาเรื่องเพศและอายุเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

 

การที่เศรษฐกิจของประเทศจะเดินหน้าไปด้วยดีมีเสถียรภาพ(ดีกว่าที่เป็นอยู่)ได้นั้น ต้องอาศัยแรงงานและมันสมองของคนในประเทศโดยไม่ทำให้เรื่องเพศและวัย(อายุ)กลายเป็นข้อจำกัด ซึ่งน่าเสียดายประสบการณ์ของคนเหล่านี้ที่น่าจะเอามาสร้างสรรค์ประเทศได้มาก ยกเว้นในบางสาขาอาชีพที่มีลักษณะการทำงานรูปแบบพิเศษ เช่น ต้องใช้กำลังหรือความคล่องตัวด้านภายภาพ

 

ข้อจำกัดเรื่อง"เพศและวัย" ในการทำงานที่เห็นกันมากที่สุดในเมืองไทย เช่น การที่ผู้มีอายุเกิน 35 หรือ 40 ปีขึ้นไป ถูกปฏิเสธในการรับเข้าทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งนี่ก็คือ การแบ่งแยกหรือ Discrimination อีกอย่างหนึ่งที่มีการละเมิดจนเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นความ "อยุติธรรมที่คุ้นชิน" ในในสังคมไทย

   

เปรียบเทียบตัวอย่างในอเมริกา เพื่อนคนไทยที่ลาสเวกัส (รัฐเนวาด้า) คนหนึ่ง โดนเรียกตัวไปทำงานที่สำนักงานเอฟบีไอ หลังจากที่เขาผ่านการสอบสัมภาษณ์ ที่วอชิงตันดีซี ในขณะที่เขามีอายุ 55 ปีในตอนนั้น

 

นักศึกษาอเมริกันจำนวนมาก ในหลากหลายสาชาวิชา กว่าจะเรียนจบปริญญาตรี หรือหลักสูตรต่างๆ อายุก็ปาไปค่อนครึ่งชีวิต อย่างเช่น มีนักศึกษาแพทย์จำนวนมากเรียนจบเอาตอนที่พวกเขามีอายุ เลย 45 ปี แล้ว รวมทั้งคนอเมริกันอีกหลายคน ที่อาศัยความพยายามในการศึกษาอย่างไม่ย่อท้อ โดย "วัย"ไม่ถูกทำให้กลายเป็นข้อจำกัด ตราบเท่าที่ร่างกาย และจิตใจของพวกเขายังสามารถทำงานตามลักษณะของงานได้ที่กำหนดให้ทำได้

 

การทำงานอย่างไม่ย่อท้อและแข็งขัน โดยไม่ให้วัยกลายเป็นอุปสรรค เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอเมริกัน เพราะส่วนใหญ่หลังจากชั้นมัธยมปลาย(High school) แล้วก็ต้องหางานทำ ส่งเสียตัวเองเรียน

 

ดังนั้น การมองวัย(อายุ)ว่า เป็นข้อจำกัดในการทำงาน ถือเป็นความผิดปกติสำหรับวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน ขณะเดียวกันการไม่รับคนทำงานโดยข้ออ้างเรื่องวัย(อายุ)สำหรับการทำงานส่วนใหญ่ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอเมริกัน ผู้ที่โดนปฏิเสธการจ้างงานจากลักษณะดังกล่าวนี้สามารถนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลได้ (ยกเว้นงานบางประเภท ที่ต้องอาศัยความพิเศษทางด้านกายภาพ)

   

และนี่คือตัวอย่างแค่ ความเท่าเทียมเรื่องวัย ที่ให้ภาพที่แตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างชัดเจน

 

หากเป็นเมืองไทยอาจมีคำพูดที่ได้ยินกันจนชินว่า " คุณแก่เกินไป(ที่จะทำงาน)ซะแล้ว" ซึ่ง คณะกรรมการสิทธิฯอาจไม่ได้ยินคำพูดพวกนี้ก็ได้ หรือได้ยิน แต่ก็ชินหูจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

 

ความจริง ประเด็นใหญ่ใจความ กลับไม่ใช่เรื่องค่าจ้างที่มากหรือน้อย(ตามวัยและประสบการณ์)แต่อย่างใด หากประเด็นที่ถูกหมดเม็ดซ่อนเร้นเอาไว้ ก็คือ การแบ่งแยกในเรื่องวัย

 

สถานการณ์ในเมืองไทยนับว่า เป็นเรื่องติดตลก เพราะยึดติด "วัฒนธรรม(วัย)สี่สิบ"  คือ หากผู้ประสงค์อยากได้งานทำโดยที่ต้องไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท หรือที่ใดๆ แต่อายุเลยสี่สิบขึ้นไป จะพบกับความยากลำบากแสนสาหัสสากรรจ์เนื่องด้วยเกณฑ์สมบัติด้านอายุ ที่เปรียบเสมือนกำแพงใหญ่ในการได้(หรือไม่ได้)งานทำ

 

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นว่าพวกที่ต้องการงานทำเหล่านี้ จะได้ค่าจ้างในอัตราที่สูงตามวัย เพราะค่าจ้างเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับวัยหรือแม้กระทั่งประสบการณ์การทำงาน  ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประสงค์จะทำงานต้องการและพอใจทำงานนั้นหรือไม่ ขณะมีผู้ที่(จะ)ว่าจ้างก็ต้องพร้อมรับพิจารณาการจ้างโดยปราศจากการคำนึงถึงวัย(อายุ)ของผู้สมัครงาน

 

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเมืองไทย จึงเท่ากับเป็น "การประเมินค่าความสำเร็จของคนในเชิงเดี่ยว" ที่หมายถึง การประเมินค่าจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมเชิงวัตถุ + วัย (+ เพศ +….)  โดยขาดองค์ประกอบอย่างอื่นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ(มีความสุข)

 

ขณะเดียวกันการแบ่งแยกเรื่องวัย(อายุ) ไม่จำเป็นว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากเท่านั้น ผู้ที่อยู่อายุน้อย ก็อาจถูกกีดกันจากสังคมหรือองค์กรที่รับสมัครงานได้อีกด้วย

 

แม้กระทั่งการทำธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงินในเมืองไทย ข้อจำกัดในเรื่องอายุก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเกณฑ์จากบรรดาธนาคารทั้งหลายเช่นกัน เช่น การประเมินและการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ที่ใช้เกณฑ์เรื่องอายุของลูกค้าเพื่อการอนุมัติสินเชื่อ หรือธุรกรรมทั่วไปอย่างอื่นก็ตาม

           

ในเมื่อการรับคนเข้าทำงาน หรือการติดต่อทำธุรกรรมการเงินต่างๆ มีเงื่อนไขในเรื่องความมากน้อยของอายุ และรายละเอียดการแบ่งแยกที่เป็นข้อจำกัดหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ไยจะไปพูดถึงการส่งเสริมกิจกรรมด้านอื่นๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไกลออกไปจากที่เป็นอยู่ได้

 

เพราะวัย(อายุ) เป็นหลักพื้นฐานสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน(สากล) นั่นเอง และสามารถช่วยให้ประเทศวัฒนาไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีเสถียรภาพภายในในแง่ของสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาค(ยุติธรรม)

 

หากถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล คณะกรรมการสิทธิฯ ย่อมจะต้องรู้ว่า ยังมีหน้าที่และเรื่องที่ต้องสะสางเกี่ยวกับการยกระดับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำก้ำกึ่งเอารัดเอาเปรียบอยู่อีกหลายเรื่อง  ดังมี เรื่องอายุ(ไม่)เป็นเพียงตัวเลข นี้เป็นต้น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

Posted: 09 Mar 2013 02:07 AM PST

"สิ่งที่เราต้องการน้อยที่สุดคือองค์กรที่เป็นอิสระจากประชาชน เราต้องการองค์กรที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน ต้องทำให้กลไกยุติธรรมปกติทำงานได้ ไม่ต้องพูดถึงคนดีคนเลว ถ้าคนที่มีอำนาจสูงสุดไม่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายปกติ ต่อให้คุณตั้งกรรมการอิสระ องค์กรอิสระของอิสระอีกกี่ชั้นก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญและที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญรับผิดไม่ว่าจะองค์กรแบบไหนก็ไม่สามาถจับบิ๊กเนมหรือคนที่มีภาษีทางสังคมสูงได้ และถ้าองค์กรยุติธรรมปกติทำไม่ได้ องค์กรอิสระก็ทำไม่ได้เพราะมันอยู่ในโครงสร้างอุปถ้มภ์อันเดียวกัน"

8 มี.ค. 56, กล่าวใน เสวนาหัวข้อ ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล

Commodifying Nationalism: เมื่อ 'ชาติ' คือสินค้าที่ต้องขายเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งประเทศ

Posted: 09 Mar 2013 01:02 AM PST


ภาพโดย
Vlad Nikitin (CC BY 2.0)

 

คำถามตกค้าง สำหรับการศึกษาสายสังคมที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางในสาขาวิชาต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นมรดกของสมัยใหม่ เห็นจะเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นของการมี "รัฐ" และ "ชาตินิยม" เมื่อต้องตอบกันจริงๆ ว่า ยังจำเป็นต้องสร้างสำนึกรักชาติ หรือปกป้องชาติกันด้วยชีวิตอีกหรือไม่ ในยุคที่สงครามระหว่างรัฐไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กลับกันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและทลายพรมแดนระหว่างรัฐเป็นแนวโน้มที่ขยายไปทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

การตอบคำถามนี้ ผมขอกระทำโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นต้นทางความคิดเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างรัฐสมัยใหม่ รวมไปถึงกระบวนการประกอบสร้างวัฒนธรรม "ชาตินิยม" โดยชนชั้นนำไทยได้นำเข้ามาดำเนินโครงการเรื่อยมาอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้บริบทของสหราชอาณาจักรที่กำลังจะผนวกรวมเข้ากับสหภาพยุโรปอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการเปรียบเทียบกับรัฐไทยที่พยายามจะเป็นหัวขบวนชิงความได้เปรียบเมื่อภูมิภาคอาเซียนรวมตัวกัน

หลังจากที่ผมได้เหยียบเข้ามาในแผ่นดินราชอาณาจักร สิ่งที่หลายๆ ท่านรวมถึงผมจะสัมผัสได้ไม่ยาก คือ ประเทศบริเตนใหญ่ เอาจริงเอาจังกับการจัดแสดงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของป้ายโฆษณาหลากหลายที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี รวมไปถึงการออกแบบแผนที่สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับมหานครลอนดอน การจัดวางรูปภาพสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญและจัดหมวดหมู่ประเภทกิจกรรมดีมาก

เมื่อตะวันตกดิน สถานที่ซึ่งดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลไปรวมกันไม่ขาดสาย เห็นจะเป็นบริเวณ "เลสเตอร์สแควร์" ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ธุรกิจสำคัญต่างๆ รวมถึงย่านไชน่าทาวน์อันขึ้นชื่ออย่าง โซโห ร้านอาหารที่หลากหลายและรสชาติดี (เมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ ในอังกฤษ) ล้วนรวมกันอยู่ในบริเวณนี้ แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาของผู้คนได้ดีจนกลายเป็นจุดที่ต้องมาแวะถ่ายรูปและแชร์ขึ้นหน้าเฟซบุ๊ก เห็นจะไม่พ้นหน้าโรงละครต่างๆ ที่มีการจัดวางรูปปั้นหรือป้ายปิดขนาดใหญ่เชื้อเชิญให้เข้าชมมหรสพต่างๆ ที่รอแสดงอยู่ภายในโรงละครทั้งหลายที่แข่งกันดึงดูดผู้ชมด้วยสื่อจัดแสดงรูปแบบต่างๆ

แต่การแสดงที่บ่งบอกถึงความสามารถในการจัดแสดงได้ดีที่สุดของประเทศบริเตนใหญ่ เห็นจะเป็นพิธีเปิดและพิธีปิดมหกรรมกีฬา "โอลิมปิก 2012" ที่ได้มีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราว สื่อสาร สร้างอารมณ์ร่วม และแฝงไปด้วยความคิด สะท้อนตัวตนและความเป็นบริติชได้ดี อย่างที่การแสดงของโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ยากจะเทียบ

ด้วยเหตุที่ต้องการพิสูจน์ว่าความสามารถในการจัดแสดงของสหราชอาณาจักรเป็นของจริงหรือไม่ เราจึงต้องลองเข้าไปชมละครและการแสดงต่างๆ ในโรงละครโดยเฉพาะในลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลาง (สหราชอาณาจักรมีลักษณะรวมศูนย์ในหลายแง่เหมือนกับไทย โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม) ก็พบว่า การแสดงทั้งหลายยอดเยี่ยมคุ้มค่ากับราคาที่สูงลิบ และผู้ชมก็คงไม่เสียดายค่าตั๋ว แม้เมื่อเทียบแล้วอาจจะแพงกว่าการเข้าไปชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอยู่หลายเท่าก็ตาม

สิ่งที่ปรากฏแทรกซึมมาด้วยเป็นระยะ คือ งานศิลปวัฒนธรรมและการแสดงของชาวบริติช ล้วนแต่เชื่อมโยงหรืออาจจะถึงขั้นหมกมุ่นอยู่กับความเป็นชาติและชาวบริติชอันน่าภาคภูมิใจเสียยิ่ง ไม่พักต้องพูดถึงการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่เป็นศูนย์รวมความภาคภูมิใจของชาวบริติชผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนมีการจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวอันสะท้อนจิตวิญญาณของผู้ชนะ (เช่น พิพิธภัณฑ์ Imperial War Museum) และสามารถครอบครองสารพัดสิ่งทั่วโลก ราวกับเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (แต่เป็นศูนย์กลางของโลกแน่ๆ - ถ้าไปเยี่ยมชม กรีนนิช ซึ่งแสดงจุดที่แบ่งโลกออกเป็น ซีกตะวันออก และตะวันตก ด้วยอำนาจของราชนาวี)

หากท่านเคลิบเคลิ้มไปกับการบอกเล่าของเขาก็เท่ากับตกเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเจ้าผู้ครองโลก และอยากเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ทรงแสนยานุภาพและครองโลกไว้ใต้อุ้งมือ และมีวัฒนธรรมอังกฤษเป็นศูนย์กลาง (แม้กระทั่งชาวสก็อต ยังโดนเหยียดเย้ยหยันในบางครั้ง) นั่นคือ ประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะที่ชื่อ สหราชอาณาจักร "ชาตินิยม" จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่เกรียงไกร สง่างาม และน่าพิสมัย

หากมองปัจจุบัน จะพบว่า ฟุตบอล English Premier League (EPL) กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่มีแฟนบอลทั่วโลกติดตาม และคาดหวังว่าจะมาเยือนที่สนามให้ได้สักครั้งในชีวิต (มาอยู่จริงจะพบว่า จองตั๋วยากมาก โดยเฉพาะทีมซึ่งเป็นที่รู้จักระดับโลก) จุดเด่นของ EPLไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามหรือแทคติกในการเล่น แต่อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอ เช่น การตัดสลับ เน้นสีหน้า อารมณ์ ความรู้สึก การวิเคราะห์ระหว่างเกมส์ พักครึ่ง ก่อนเกมส์ หลังเกมส์ การฉายภาพซ้ำ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเหนือกว่าลีกอื่นในแง่การจัดแสดง และแน่นอนการแสดงชุดนี้มีมูลค่าทางตรงและทางการตลาดสูงลิ่ว แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้เล่นผู้จัดการมาจากนานาชาติ

อีกรายการที่ควรพูดถึง คือ The Voice UK 2012 ซึ่งจัดในช่วงงาน Queen Jubilee และโอลิมปิก และเผยแพร่ในช่อง BBC ที่พยายามหาความหลากหลายของเสียงและโชว์ รวมไปถึงสัดส่วนของโค้ชที่ประกอบไปด้วย ชาวอังกฤษ (เจสซี่ เจย์) ชาวไอริช (แดนนี่ แม็คคอนาฮิลล์) ชาวเวลช์ (เซอร์ทอม โจนส์) และชาวอเมริกัน (วิล ไอแอม) แต่ไม่มีชาวสก็อตติช ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะมี เจมส์บอนด์ เป็นสายลับเชื้อสายสก็อต ที่มาปกป้องสหราชอาณาจักรแทน (ตัวแทนสก็อตแลนด์ยาร์ด และกษัตริย์เชื้อสายสก็อตคนแรกที่ปกครองอังกฤษ ชื่อ "คิงเจมส์") สิ่งที่สะท้อนในรายการก็คือ "บริติช" ประกอบไปด้วยความหลากหลาย แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือความสามารถในเชิงศิลปวัฒนธรรมขั้นสูง และทุกคนสามารถหลอมรวมเข้าสู่ธงยูเนี่ยนแจ็คได้ ผ่าน "ภาษาอังกฤษ" (ทุกเพลงในรายการเป็นภาษาอังกฤษ)

เมื่อผนวกกับคำแถลงการณ์ของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่ได้กล่าวในงานประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้กล่าวว่า "เราจะสร้างให้ บริติช กลายเป็นแบรนด์ที่ชาวบริติชภูมิใจและเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งโลก" ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหลายได้สะท้อนออกมาผ่านการแสดงรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นแผนโครงการขนาดใหญ่ที่กระตุ้นเร้า "ชาตินิยม" เพื่อสร้างความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับสัญลักษณ์ "บริเตนใหญ่" จนผู้คนทั้งที่เป็นชาวบริติชหรือไม่ใช่ล้วนตื่นเต้นและพร้อมจะเสียเงินซื้อและเสพกันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง เอาง่ายๆ ครับ แค่ถุงใส่สินค้าในร้านต่างๆ ถ้ามีรูปธงอยู่จะแพงขึ้นไปอีกเกือบปอนด์ เช่นเดียวกับของชำร่วยตราสัญลักษณ์ธงชาติที่มีอยู่ทั่วไป

ข้อพิสูจน์อีกประการ คือ ช่วงปลายปี 2012 มีการพยากรณ์และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่า สหราชอาณาจักรจะพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยด้วยมหกรรมทั้งหลายที่มีในช่วงครึ่งปีแรก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งการจับจ่ายของชาวบริติช และนักท่องเที่ยว (รวมถึงนักเรียนนานาชาติด้วย)

โครงการสร้าง "ชาตินิยม" นี้จึงเต็มไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ สร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น "ชาตินิยม" จึงต้องสร้างในลักษณะที่เปิดกว้าง ยอมให้มีความหลากหลายในความเป็นชาติ เพราะปัจจุบันผู้ที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ที่รัฐบาลต้องการผนวกให้เข้ามาภูมิใจใช้ของบริติช กินของบริติช และยังพัฒนาไปถึงเปิดกว้างให้ชาวโลกทั้งหลายปรารถนาและเข้ามาใช้ได้ตราบใดที่ยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศส่วนใหญ่ซีกโลกตะวันตกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักโดยเฉพาะประเทศในยุโรป การจัดเก็บภาษีเพื่อจัดทำบริการสาธารณะและนำไปจุนเจือเป็นสวัสดิการสังคมก็ทำได้ยากขึ้นทุกที และไม่ต้องพูดถึงการพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่สู้จีนไม่ได้แน่ๆ เมื่อดูการพัฒนาสินค้าในเชิงความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็สู้ อเมริกา ที่มีเสรีภาพทางความคิดด้วย First Amendment ไม่ได้อีกเช่นกัน สหราชอาณาจักรจึงต้องเลือกทางที่ถนัด คือ การขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงละคร "ชาตินิยม" นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ นักแสดงทั้งชาติต้องร่วมเล่นบทบาทไปด้วย คือ ร่วมกันสร้างชาติที่พึงปรารถนาให้ลูกค้าที่มีชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นพลเมืองในประเทศและคนที่มาจากภายนอกได้สัมผัสในชีวิตประจำวันอย่างรื่นรมย์ สมกับเป้าหมาย "บริติชอันน่าพิสมัยของทุกคน" การบ้าคลั่งชาติจนเหยียดผู้อื่น หรือการเหยียดเชื้อชาติวัฒนธรรมอื่น จึงกระทำไม่ได้และมีการกวดขันโดยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการเข้มงวด ภาพลักษณ์นี้จึงทำให้กระบวนการสร้างชาตินิยมต้องเป็นไปอย่างคำนึงถึง "ความหลากหลาย" ทั้งภายในสังคมตน และความรู้สึกของคนนอก เป็นอย่างมาก

หากมองสังคมไทยว่าเรา "ชาตินิยม" กันอย่างไร คงหดหู่ใจ เพราะเราได้ทำตรงกันข้าม ไม่รู้ที่มาที่ไป และแย่ที่สุด คือ ไม่รับรู้ถึงผลกระทบของ "ชาตินิยมแบบบ้าคลั่ง" ที่คับแคบ หรือแม้กระทั่ง "ชาตินิยมไร้เดียงสา" ที่ไม่รู้ว่าการกำหนดนิยามที่ขีดกันผู้อื่นให้อยู่นอกเหนือนิยาม "ความรักชาติ" ของตน ได้ทำให้เกิดการแตกแยกและพาลไปถึง เบื่อหน่ายไม่ร่วมโครงการพัฒนาชาติไทย?  และไม่ต้องพูดถึงความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านที่เราหวังว่าจะทำมาหากินกับเขาในอนาคตอันใกล้

ดังนั้นโครงการพัฒนาระยะใกล้สำหรับการสร้างความได้เปรียบเมื่อเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน หรือการออกจากภาวะสงครามกลางเมืองทางวัฒนธรรมที่เรากำลังเผชิญร่วมกันทั้งชาติ เห็นจะไม่พ้นการปรับความเข้าใจร่วมกันของนักแสดงและเหล่าผู้กำกับการแสดงทั้งหลายในโรงละครชาติไทย ว่าเราจะเล่นละครใดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย "ความเป็นไทย" ที่คนในชาติและชาวโลกปรารถนา

บางท่านอาจจะกล่าวว่า แบรนด์ชาติไทย มันเสียหายและมองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องแย่ๆ แต่หากมองต้นทุนรัฐไทยอย่างตรงไปตรงมา มิใช่วิสัยทัศน์แนวโลกสวยก็จะพบว่าไทยยังมีศักยภาพอีกมาก เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร สิ่งที่ต้องทำคือ พลิกด้านดีขึ้นมากลบด้านลบ "Flip it" อย่างที่บริติชชนทำเก่งก็เท่านั้นเอง ไม่ยากเกินความสามารถหรอกครับ อยู่ที่ว่าจะรอให้ล้มละลายกันก่อน หรือจะทำตอนนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น