โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภาวะหนีเสือปะจระเข้ของเกาหลีเหนือ

Posted: 08 Mar 2013 08:17 AM PST

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ เกาหลีเหนือได้รับความสนใจจากชาวโลกอีกครั้งโดยการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เป็นหนที่ 3 อันส่งผลให้สหประชาชาติได้ประณามเกาหลีเหนืออย่างรุนแรงเพราะความหวาดหวั่นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในย่านเอเชียตะวันออกรวมไปถึงทั่วโลก เพราะมีการเชื่อกันว่าในอนาคตเกาหลีเหนือจะสามารถพัฒนาได้ถึงระดับขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถยิงได้ถึงชายฝั่งตะวันตกของอเมริกา  สำหรับครั้งนี้มีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดเพราะจีนซึ่งเป็นลูกพี่ใหญ่และพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือที่สุดได้ร่วมประณามด้วยหลังจากสกัดกั้นไม่ให้สหประชาชาติดำเนินการใดๆ กับเกาหลีเหนือมานาน  จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าภายหลังใต้แรงกดดันจากชาวโลกมาร่วม 2 ทศวรรษทำไมเกาหลีเหนือจึงคงเพียรพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และเหตุใดจีนถึงมีท่าทีที่เปลี่ยนไป

สาเหตุที่เกาหลีเหนือต้องการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้มีการวิเคราะห์กันมากมาย การจะบอกว่าเกิดจากความทะเยอทะยานและความชั่วร้ายของรัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือเองก็ไม่ผิดแต่เหตุผลน่าจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ประโยชน์ของเกาหลีเหนือจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันก็เป็นที่ประจักษ์ได้ชัดเจนเช่นปัจจัยทางการเมืองในประเทศซึ่งผู้นำสูงสุดไม่ว่าคิม  จ็อง อิล หรือคิม จ็องอึนจำเป็นต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเอาใจกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพตามนโยบาย "กองทัพมาก่อน" (ซองกุง) เช่นมีการบรรจุอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือเพื่อประกาศว่าตัวเองเป็นรัฐนิวเคลียร์และตอกย้ำความเป็นรัฐทหารอันแข็งแก่งกล้าหาญต่อศัตรูภายนอกและที่สำคัญยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวของรัฐในด้านเศรษฐกิจและนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต 
 
ส่วนปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น การสิ้นสุดของสงครามเย็นในต้นทศวรรษที่ 90 ทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะปราศจากสหภาพโซเวียตที่ช่วยคุ้มครองและสนับสนุนมาตั้งแต่การก่อตั้งประเทศมา ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของตัวรัฐเกาเหลีเหนือซึ่งเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือรัฐอันธพาลตามสายตาของอเมริกา จึงต้องอาศัยอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องและสร้างอำนาจให้กับตัวเอง  การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นตัวคอยสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างเกาหลีและจีนซึ่งเป็นพันธมิตรที่สนิทที่สุดของเกาหลีเหนือเพราะจีนนั้นให้การช่วยเหลือและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับเกาหลีเหนืออย่างมหาศาล และเมื่อเกาหลีใต้ยุตินโยบายตะวันทอแสง (Sunshine Policy) ซึ่งให้การช่วยเหลือเกาหลีเหนืออยู่ร่วมทศวรรษ เกาหลีเหนือจึงจำเป็นต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นไปพร้อมๆ กับความไม่ไว้วางใจของกรุงเปียงยางว่าจีนอาจพยายามครอบงำและยึดครองประเทศตนในที่สุดดังนั้นเกาหลีเหนือจึงมักเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของจีนให้หยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสะท้อนว่าตนมีความเป็นอิสระทางการเมืองและการทหารจากจีน 
 
นอกจากนี้ท่าทีที่เปลี่ยนไปของจีนต่อเกาหลีเหนือเกิดจากความต้องการปรับปรุงภาพพจน์ของจีนในสายตาชาวโลกระหว่างที่จีนมีความขัดแย้งกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไปถึงการการเผชิญกับการโอบล้อมของอเมริกา และยังเป็นการต้องการปรามเกาหลีเหนือซึ่งมีท่าทีแข็งข้อโดยที่แท้จริงแล้วกรุงปักกิ่งไม่ได้เดือดร้อนกับการมีอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ มีการเรียกร้องให้นายสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีของจีนสร้างแรงกดดันเช่นหยุดส่งน้ำมันเพื่อให้เกาหลีเหนือยุติการพัฒนาอาวุธ ถ้าเกาหลีกระทำตามจีนก็แสดงว่าตัวเองตกอยู่ภายในอำนาจของจีน   นอกจากนี้อเมริกาซึ่งมีเสียงดังที่สุดในการกดดันเกาหลีเหนือได้ทำให้รัฐบาลกรุงเปียงยางอยู่ในภาวะลำบากมากขึ้น
 
ปัจจุบันเกาหลีเหนือกำลังอยู่ในภาวะเหนือเสือปะจระเข้ดังนี้
 
1.ถ้าเกาหลีเหนือยุติโครงการอย่างถาวรด้วยแรงกดดันที่ไม่ได้จากจีนเช่นจากสหประชาชาติหรืออเมริกาไม่ว่าเวทีใดๆ   อเมริกาก็จะได้แสดงว่าตนเพิ่มอำนาจแทรกแซงในการเมืองของเอเชียเหนืออีกระดับหนึ่งและเกาหลีเหนือก็ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นรวมไปถึงการยุติการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ แต่เกาหลีเหนือก็อาจประสบปัญหาจากการเมืองในประเทศดังที่ได้กล่าวมา นอกจากนี้ถ้าเกาหลีเหนือยอมให้อเมริกาเข้ามามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งทางการทูตและการค้าในอนาคตเพื่อหนีออกจากอิทธิพลของจีน เกาหลีเหนือก็อาจเข้าสู่กระบวนการเป็นประชาธิปไตยเหมือนพม่า และนำไปสู่การรวมประเทศกับเกาหลีใต้ อันจะทำให้ตระกูลคิมซึ่งสืบทอดอำนาจมาหลายทศวรรษหมดอำนาจไป แต่จีนจะไม่มีวันปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้เป็นอันขาดเพราะจะทำให้ตนสูญเสียประเทศพันธมิตรและผลประโยชน์ทางธุรกิจไป
 
2.ถ้าเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อเมริกาไม่โจมตีเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งหวาดระแวงเกาหลีเหนือก็เลือกที่จะร่วมมือกับอเมริกาในการสร้างเครือข่ายป้องกันขีปนาวุธ อันสร้างความวิตกกังวลให้กับจีนตามแผนการมีอิทธิพลในเอเชีย (Pivot towards Asia) ขออเมริกา เกาหลีเหนือดูเหมือนจะใช้กรณีนี้ในการต่อรองกับจีนได้ เพราะยิ่งข่มขู่โลกและอเมริกาในเรื่องระเบิดนิวเคลียร์มากเท่าไร อเมริกาก็จำเป็นต้องพึ่งพิงหรือกดดันจีนในการกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้น (ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดีหรือไม่ดีก็ได้ อันนี้แล้วแต่การเจรจาระหว่างจีนและอเมริกาว่าจะทำให้สถานการณ์เป็นแบบแพ้หรือชนะทั้งคู่) แต่การคว่ำบาตรของอเมริกาและนานาประเทศยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจอันเปราะบางของประเทศและจะทำให้เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนยิ่งขึ้นไปอีก
 
ดังนั้นเกาหลีเหนือจึงพยายามหาเลือกทางที่ 3 คือทั้งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และประกาศว่าเพื่อเป็นไปด้านสันติภาพหรือแม้แต่เพียงปกป้องตัวเองเหมือนกับอินเดียและปากีสถานซึ่งเหมือนเกาหลีเหนือคือไม่ได้อยู่ใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) หรือหยุดทดลองเป็นพักๆ เพื่อแสดงให้ชาวโลกรู้ว่าเพียงต้องการให้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงการต่อรองผลประโยชน์เท่านั้น แต่สื่อของตะวันตกกลับนำเสนอภาพพจน์ของเกาหลีเหนือว่าเป็นภัยคุกคามของต่อชาวโลกหรือแม้แต่ความพยายามในการปรับปรุงภาพพจน์ของประเทศเช่นเปิดให้ต่างชาติได้เข้าไปเยี่ยมชมประเทศหรือประชาสัมพันธ์ประเทศมากขึ้นก็อาจกลายเป็นดาบสองคมหรือสำหรับเกาหลีเหนือเพราะจะเป็นการเปิดเผยความล้มเหลวของรัฐบาลหรืออาจเปิดช่องให้ต่างชาติส่งสายลับเข้ามาจารกรรมความลับ แม้แต่การทำให้ประเทศมีความประชาธิปไตยมากขึ้นแม้จะเพียงผิวเผินเช่นให้มีการเลือกตั้งหรือให้เสรีภาพแก่สื่ออยู่บ้างก็เสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาล หรือการที่เกาหลีเหนือหันไปหาความช่วยเหลือประเทศที่ 3 เช่นรัสเซียหรือกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่ง แต่กลุ่มประเทศเหล่านั้นก็มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับอเมริกาคือต้องการให้เกาหลีเหนือยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง              
 
ดังนั้นจึงเป็นงานหนักของคิม จ็องอึนว่าจะหาทางออกจากทางตันเหล่านี้อย่างไร  
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องเล่าจากเวเนซุเอลา: ก่อนวันที่ ชาเวซ จะจากไป

Posted: 08 Mar 2013 07:27 AM PST

เรื่องเล่านี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในประเทศเวเนซูเอล่า ระหว่างปี 2001-2002 และได้มีโอกาสกลับไปเวเนซุเอลาอีกครั้งหลังผ่านไป 11 ปี เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 ที่ผ่านมา

ประเทศเวเนซุเอลาที่ฉันรู้จักเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นยุคต้นของการปกครองประเทศโดยประธานาธิปดี  อูโก ชาเวซ ด้วยข้อจำกัดทางภาษาในช่วงต้น ทุกวันของการอยู่ที่นั้นจึงเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ภาษาให้มากขึ้นมากกว่าสนใจเรื่องราวทางการเมืองภายในประเทศ รู้เพียงแต่ว่าคนรอบข้างหลายคนไม่ชอบประธานาธิบดีคนนี้ จนกระทั่งฉันได้ย้ายเข้าไปอยู่ในครอบครัว Romero มีพ่อที่เป็น Chavista[1] คนเดียวในบ้าน ความสนใจอยากรู้เรื่องการเมืองภายในประเทศก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล ชาเวซ ในวันที่ 11 เมษายน 2002 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้นำในกองทัพบางส่วน และกลุ่มชนชั้นนำที่สูญเสียประโยชน์จากนโยบายปฏิรูปธุรกิจน้ำมันในประเทศ

ฉันยังจำคืนวันปฏิวัติได้ เพื่อนๆ ของครอบครัวต่างมาที่บ้านเพื่อนปลอบใจพ่อ พ่อฉันนิ่งเงียบ แต่แอบมากระซิบบอกฉันในฐานะคนนอกว่า เค้าเชื่อว่า ชาเวซ จะกลับมาในพรุ่งนี้ และไม่รู้ว่าพ่อฉันมีความสามารถหยั่งรู้อนาคตหรืออย่างไร เช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของทหารที่ภักดีและประชาชนที่ให้การสนับสนุน ชาเวซ ก็ปฏิวัติกลับมาได้จริงๆ และฉันก็รอดพ้นไม่ต้องถูกส่งกลับประเทศก่อนกำหนด

 11 ปีผ่านไป ฉันได้กลับไปเวเนซุเอลาอีกครั้ง หนนี้ฉันกลับไปด้วยความกระตือรือร้นอยากรู้ว่าหลังผ่านการปกครองที่ยาวนานของ ชาเวซ และโลกได้รู้จักเวเนซุเอลามากขึ้นผ่านผู้นำประเทศฝีปากกล้าและนโยบายประชานิยมอย่างสุดขั้ว เวเนซุเอลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวเนซุเอลา พลิกมาติดโผประเทศอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นของโลกแทนที่โคลอัมเบีย ซึ่งถ้าเป็นที่ เมืองการากัส เมื่องหลวงของประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเท่าไร เพราะมี "ชื่อเสีย" เรื่องความปลอดภัยและสลัมขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่ในเมืองเล็กๆ ไกลแสนไกลจาก เมืองการากัส การเดินทางไปไหนคนเดียวของฉันกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ ที่พ่อกับแม่ต้องกำชับย้ำแล้วย้ำอีกว่า อย่าเอาของมีค่าติดตัวไปด้วย ให้ไปแต่ตัว จะนั่งรถเมล์ก็ห้ามหยิบของมีค่าออกมา อย่าพูดภาษาต่างประเทศถ้าไม่จำเป็น ฉันสังเกตเห็นว่าหลายบ้านนิยมทำรั้วไฟฟ้าแรงสูงเพิ่มขึ้น และจ้างยามถือปืนมาคอยเฝ้าบ้านให้ในเวลากลางคืน ครอบครัวที่ฉันรู้จักและสนิทอย่างน้อย 2 ครอบครัว หัวหน้าครอบครัวถูกจับไปเรียกค่าไถ่และฆ่าทิ้ง

ไม่เพียงแต่ความปลอดภัยในชีวิตที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ระบบสาธารณูปโภคอย่าง "ไฟฟ้า" และ "น้ำประปา" ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน ในเมืองเล็กๆ ที่ฉันอยู่เป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าฝนตกหนักแปลว่า วันนั้นและอีกหลายๆ วันน้ำอาจจะไม่ไหล เนื่องจากประปาเมืองอยู่บนภูเขา ในเวลาที่ฝนตกหนักตะกอนจะเข้าไปอุดตันท่อส่งทำให้น้ำไม่ไหลลงมาด้านล่าง สถิติที่น้ำไม่ไหลนานสุดที่ฉันเคยเจอคือ 1 อาทิตย์ หลายบ้านที่ไม่มีถังเก็บน้ำ ก็พากันไปอาบน้ำในลำธารกลางเมืองกันอย่างคับคั่ง กลายเป็นเรื่องโจ๊กพูดคุยกันไปทั่ว แต่ปัญหาน้ำประปาไม่ไหลอาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่ากับปัญหาไฟฟ้าดับ โดยเฉพาะเมื่อไฟฟ้าสัมพันธ์กับเรื่องความปลอดภัย เพราะแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีไฟฟ้าที่นี้ก็ยังดับอยู่บ่อยๆ เหมือนเคยและไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้า เป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกเรื่องหนึ่งในประเทศผลิตน้ำมันอันดับต้นของโลกและมีแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาล ทว่ายังคงต้องเจอกับปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ เพื่อนคนหนึ่งอธิบายให้ฟังว่า "ที่ไฟฟ้าดับบ่อยเพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องการจัดการพลังงานที่ชัดเจนและมักจะโทษไปที่รัฐบาลก่อนหน้านู้นว่าไม่ได้วางระบบที่ดีไว้เสมอ" 

ถึงอย่างนั้น ข้อดีอย่างหนึ่งของการอยู่ที่เวเนซุเอลาคือ ทุกคนที่ฉันรู้จักล้วนแล้วแต่เป็นคนที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมืองกับคนที่คิดต่างได้เสมอ การพูดคุยเรื่องการเมืองถือเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในงานเลี้ยงก่อนที่อาหารจะถูกนำมาเสิร์ฟ ทุกคนจะหันเก้าอี้เข้าหากัน เพื่อพูดคุยถกเถียงตั้งแต่เรื่องการเมือง ราคาสินค้าข้าวของ เรื่องอัตราแลกเงินกันอย่างเมามันส์เสียงดังลั่น คงเพราะว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมีผลกระทบโดยตรงกับวิถีการดำเนินชีวิตชาวเวเนซุเอลา เช่น นโยบายควบคุมราคาสินค้าที่ทำให้จำนวนสินค้าในท้องตลาดลดลงอย่างมาก เช่น แป้งข้าวโพด (Harina de Maiz) ที่ใช้ทำอาหารประจำชาติของเวเนซุเอลาหรือแป้งที่ใช้ทำขนมปัง ซึ่งล้วนเป็นของหายากและมีการจำกัดจำนวนต่อหนึ่งครอบครัว ทำให้ขนมปังดีๆ ในเวเนซุเอลาหาทานยากมากขึ้น หลายร้านต้องปิดกิจการลงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนและขายในราคาที่รัฐกำหนดได้  หรือการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดจำนวนเงินดอลลาร์ ที่ชาวเวเนซุเอลามีสิทธิ์ถือครองหรือมีสิทธิ์นำไปใช้ในต่างประเทศ บทสนทนาส่วนใหญ่จึงมักวนเวียนอยู่กับเรื่อง "ปากท้องของกิน" เหล่านี้ และเพราะในช่วงเวลาที่ฉันได้กลับไปถือเป็น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งที่สำคัญทางการเมือง เพราะในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่าอาการป่วยของ ชาเวซ เป็นอย่างไร ทั้งประเทศจึงตกอยู่ในบรรยากาศของข่าวลือและการคาดการณ์ต่างๆ นานาถึงอาการของ ชาเวซ และอนาคตของประเทศหากไม่มี ชาเวซ

จนกระทั่งมาถึงวันนี้....วันที่ ชาเวซ จากเวเนซุเอลาไปจริงๆ

ฉันเห็นรายการทีวีไทยหลายช่องหรือบางบทความพูดถึง ชาเวซ และนโยบายต่างๆ ของ ชาเวซ ในทำนองแสนสวยงาม (Romanticize) หรือในสายตาของนักปฏิวัติหลายคนที่ยกให้ เวเนซุเอลาเป็นประเทศต้นแบบของรัฐสังคมนิยม ที่ต่อต้านบรรษัทต่างชาติและทุนนิยม มีโครงการฟื้นฟูและปฏิรูปเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมจากล่างสู่บน (Bottom-up) ที่เห็นผล ตัว ชาเวซ เองก็กลายมาเป็นฮีโร่ของใครหลายคนที่เกลียดชังอเมริกาและระบอบจักรวรรดินิยม

โดยส่วนตัวฉันเชื่อว่า ชาเวซ เป็นคนมีเจตนาที่ดีหลายอย่างในการพัฒนาประเทศ หลายคนที่ฉันรู้จักที่เป็น Anti-Chavista เองคิดเห็นเช่นนั้น แต่เมื่อประเทศขึ้นอยู่กับคนเพียงคนเดียว และคนๆ เดียวกลายเป็นประเทศ ทำให้ปราศจากระบบการตรวจสอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตของคนเวเนซุเอลาที่ควรดีขึ้นจากเงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากการจำหน่ายน้ำมัน จึงยังไม่สามารถนำมาเติมเต็มหลุมขนมครกยักษ์บนถนนหรือทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยได้อย่างที่ ชาเวซ วาดหวังไว้ภายใต้ชื่อโครงการ "The Grand Mission" (Grán Missión) ที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้ชีวิตคนเวเนซุเอลาทุกคนอยู่ดีมีสุขขึ้น

พี่ชายชาวเวเนซุเอลาของฉันเคยพูดไว้ว่า  "For the outsider, Venezuela is the revolutionist's dreamland but for Venezuelan people we just want to live well and walk on our street without worrying that someone is going to rob you" (สำหรับคนนอกภายนอก เวเนซุเอลาคือดินแดนในฝันของนักปฏิวัติ แต่สำหรับชาวเวเนซุเอลา สิ่งที่เราต้องการคือ มีชีวิตที่ดีและออกไปเดินบนถนนได้โดยไม่ต้องกลัวโดนใครปล้น) ท่ามกลางการวิเคราะห์ถึงอนาคตของเวเนซุเอลาที่ปราศจาก ชาเวซ ในสื่อต่างๆ  ฉันว่านี่คงเป็นสิ่งที่ชาวเวเนซุเอลาคาดหวังกับอนาคตของประเทศตัวเองมากที่สุด

 

! Viva la Revolución!

 

           

IMG_1884.jpg

* ภาพ Graffiti ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าการประจำแต่ละรัฐของเวเนซุเอลา เมื่อเดือนธันวาคม 2012 ที่ผ่านมา โดยเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรค Partido Socialista Unido de Venezuela (PSUV) ของ ชาเวซ และพรรค Primero Justicia ของ เอ็นริเก คาปริเลส ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นเสมือนจุดชี้ชะตาว่า คนเวเนซุเอลายังคงเชื่อมั่นในตัวประธานาธิปดี ชาเวซ อยู่หรือไม่ หลัง ชาเวซ บินไปรักษาตัวที่คิวบาและไม่ได้ออกสื่ออีกเลยนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิปดีในเดือนตุลาคม ซึ่งผลก็ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนพรรคของ ชาเวซ อย่างท่วมท้น

 




[1] Chavista เป็นคำใช้เรียกแทนคนหรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวประธานาธิปดี อูโก ชาเวซ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา 15 ปีองค์กรอิสระ: ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล

Posted: 08 Mar 2013 02:03 AM PST

เวทีองค์กรอิสระจากมุม วิชา มหาคุณ ป.ป.ช., พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส-สตง., วัลลภา แวนวิลเลียนวาร์ด และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจ โดยธนาธรวิพากษ์ องค์กรอิสระของไทยเป็นอิสระจากประชาชน ชี้ตราบเท่าที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์เดิม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระกี่ชั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้

8 มีนาคม 2556 ร.ร. พลาซาแอทธินี ประชาไท ร่วมกับ โครงการสะพาน และ USAID จัดเสวนาหัวข้อ ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล  ร่วมเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช., พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ดำเนินรายการโดย รศ. นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องมองในแง่สากลว่าโลกต้องการอะไรและเราต้องเดินตามแนวทางอะไร และต่างประเทศมีความสนใจว่าประเทศไทยมีแนวโน้มดำเนินการกับคดีทุจริตอย่างไรบ้าง และจะดำเนินการอย่างไรกับภาคธุรกิจที่ทุจริต ทั้งนี้ในภาคธุรกิจอาจจะไม่ต้องการทุจริตคอร์รัปชั่นถ้าไม่มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยจนทำให้เกิดทุจริตคอร์รัปชั่น

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้มีการประสานเครือข่ายทางศาสนา  เริ่มจากนักธุรกิจคาทอลิกที่จะไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นและรับสินบน เป็นกลุ่มที่กำลังดำเนินกระบวนการในกลุ่มของตัวเองอย่างแข็งขัน โดยใช้กลไกทางศาสนาและการศึกษา ภาคีองค์กรต่อต้านการทุจริตคณะหอการค้าไทย เริ่มมีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งระดมความคิดกันว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องรับไม่ได้

นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มมุสลิมซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ จากโพลล์ในประเทศไทยออกมาตลอดเวลาว่า "ไม่เป็นไรขอให้ได้ประโยชน์" ทำให้สังคมเสื่อมขนาดหนัก เพราะถ้าถามคำถามเดียวกันที่มาเลเซีย กว่า 80 เปอร์เซ็นต์บอกว่าแม้แต่คิดก็ผิดแล้ว เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานจากความเป็นมุสลิม ซึ่งก็ตรงกับที่ไปคุยกับจุฬาราชมนตรีที่เห็นด้วยกับแนวทางของป.ป.ช. การขับเคลื่อนผ่านองค์กรทางศาสนาจึงเริ่มดำเนินไปอย่างแข็งขัน แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือศาสนาพุทธเพราะมีองค์กรอยู่หลากหลายมาก

ศ.พิเศษ วิชา กล่าวต่อไปถึงวัฒนธรรมที่ผู้ให้สินบนมักจะถูกกันไว้เป็นพยานและรอดจากการดำเนินคดี โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อการทุจริตที่เกิดขึ้น โดยชี้ด้วยว่าภาพรวมของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทั่วสโลกตระหนักถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยสหประชาชาติประเมินว่าเป็นมูลค่าความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในระบบแบบไทยและญี่ปุ่นก่อนการพัฒนาประเทศนั้นยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ ระบบที่ขึ้นกับเจ้านาย แต่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงได้เพราะถือหลักจริยธรรมเดียวกับฝรั่ง คือการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

การร่วมมือกันเพื่อแก้ไขจึงมีความสำคัญมาก ต้องคุยกันว่าปัญหารากเหง้าคืออะไร ไม่กี่วันก่อนนี้มีการไต่สวนองค์กรรัฐวิสาหกิจที่กินกันจนพรุนแล้ว ไม่เหลือซากแล้วจึงเลิกองค์กรนั้นไป ข้าราชการที่ถูกเชิญมาไต่สวนบอกว่าองค์กรนี้เลิกไปตั้งแต่ปี 2550 ทำไมจึงเพิ่งเรียกมาไต่สวน คำอธิบายก็คือนี่คือเทคนิคของการร้องเรียน กว่าจะมาร้องเรียนก็ล่าช้า การปราบปรามนั้นมีลักษณะของการทำตามหลัง สู้อย่างไรก็ไม่ชนะ กระบวนการในการป้องกันและการสร้างจิตสำนึกของคนจึงมีความสำคัญมาก  และต้องสร้างคนให้เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธ

กรรมการป.ป.ช. ย้ำว่า ในกระบวนการเพื่อความโปร่งใสนั้นกลุ่มธุรกิจมีความสำคัญมาก และชี้แนวทางให้ภาครัฐได้

 

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สตง. นั้นเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องมาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 แต่หลังจากนั้นได้ยกระดับสำนักงานขึ้น

ที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ปัญหาที่ต่อเนื่องของวงราชการไทยก็คือเรื่องจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหาซื้ออย่างไรก็ได้ ความทุกข์ยากของประชาชนคือเหยื่ออันโอชะของฝ่ายที่มีอำนาจที่มาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง

เขากล่าวด้วยว่าเมื่อเร็วๆ นี้สตง. ส่งจดหมายไปแจ้งฝ่ายบริหารว่าสตง.ได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าโครงการหลายๆ โครงการมีเงินทอน 30, 5 และ 15 ในแต่ละขั้นตอน รวม 55 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นหักกำไรของฝ่ายธุรกิจที่ดีลกับหน่วยงานรัฐประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของที่ถึงมือหน่วยนงานรัฐก็มีคุณค่าเหลือเพียง 20-30 จากเงินที่จ่ายไป 100 บาท เป็นวงจรอุบาทว์ และทำให้ต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันและปราบปราม และมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น ทั้ง สตง. ป.ป.ช. แล้วก็มี ป.ป.ท. ขึ้น

ที่ปรึกษา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ทางสตง.พยายามหาทางออกโดยการแก้ปัญหาหวังว่าเรื่องทุจริตที่ตรวจพบจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่จะใช้เวลารวดเร็วพอสมควร แต่ก็มีขั้นตอนทางกฎหมาย และมีภาระในการนำสืบพิสูจน์อย่างมากมาย ขณะที่สตง. ก็ไม่มีฐานะมีอำนาจเหมือนฝ่ายบริหารที่จะไปยับยั้งความเสียหายที่อาจจะมีได้ กว่าจะดำเนินคดีก็มีความเสียหายต่อเนื่องอีกมาก

ในส่วนของภาคเอกชนนั้นข้อเท็จจริงคือหน่วยงานภาครัฐเป็นองค์กรบริโภคใหญ่ที่สุด งบประมาณเป็นล้านล้านบาทต่อปีและส่วนใหญ่ของงบประมาณเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และถ้าใครอยากได้งานโดยไม่คำนึงถึงธรรมภิบาลหรือจริยธรรมก็ทำได้ทุกรูปแบบขอเพียงให้ต่อติดกับฝ่ายผู้มีอำนาจ เอกชนที่หากินสุจริตก็จะหมดโอกาสนำไปสู่การผูกขาดตัดตอน

ที่ปรึกษาผู้ว่าการ สตง. กล่าวแสดงความหวังว่าจะได้ความร่วมมือจากภาคเอกชนที่อยู่ในปัญหาและรู้ปัญหา รวมถึงความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ระบบเรดาร์ ระบบดาวเทียม โดยช่วยจะให้ข้อมูลและเบาะแส

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินที่ขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล มีสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช่ประโยชน์รวมแล้วสองพันกว่าล้าน ปีที่ผ่านมามีการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินศัตรูพืชในจังหวัดภาคอิสาน 18 ครั้ง โดยใช้งบประมาณแก้ภัยพิบัติครั้งละ 50 ล้านบาท ผลจากการตรวจสอบพบว่ายากำจัดศัตรูพืชเป็นสินค้าควบคุม มีการทุจริตจัดซื้อยากำจัดศัตรูพืช จากงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท และเรื่องนี้หากจัดการได้เร็ว ภาคเอกชนก็จะได้ประโยชน์จากการไม่มีการกีดกันทางการค้า หรือฮั้วงานกัน

ที่ปรึกษาผู้ว่าการ สตง. ย้ำว่าภาคเอกชนจะรู้ปัญหาดีกว่าภาครัฐและองค์กรตรวจสอบ เพราะอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริงโดยตรง และควรอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับ ปปช. และสตง. ที่จะให้ข้อมูและเบาะแส ในส่วนของภาครัฐนั้น ค่าใช้จ่ายภาครัฐมีจำกัดในการดำเนินการตรวจสอบ อีกส่วนคือคนที่ให้ข้อมูลเบาะแสที่เป็นชาวบ้านที่เห็นความไม่ชอบมาพากล และเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียผลประโยชน์ที่มาอย่างล่าช้า เพราะกลัวอิทธิพล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการติดตามข้อมูล เนื่องจากบางกรณีล่าช้าเกินไปที่จะหาหลักฐาน ดังนั้นภาคเอกชนที่อยู่ใกล้ชิดข้อมูลควรจะช่วยเหลือตัวเองในการบอกความจริงต่อหน่วยงานตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม มีความสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้องเช่นกัน

"บ้านเมืองนี้ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะมีคนมาจัดระเบียบ แล้วบางทีเป็นระเบียบแบบไทยๆ" นายพิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าฎหมายของไทยระบุว่า การทุจริตมีโทษถึงประหารชีวิตแต่กลับไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เขาย้ำทัศนะส่วนตัวว่า ควรประหารชีวิตผู้ที่มีโทษฐานทุจริตอย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด กล่าวว่านอกเหนือจากเรื่องคอร์รัปชั่นแล้ว ความโปร่งใสยังเชื่อมโยงถึงความไม่ชอบธรรมของทิศทางการพัฒนา การผลักดันธุรกิจด้วยจีดีพีที่บำรุงโภคทรัพย์ของคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น

วัลลภาได้ยกแนวคิดเรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Index) ที่ตั้งคำถามกับธรรมภิบาลของจีดีพี ที่ส่งผลต่อการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การใช้ทรัพยากรที่มีธรรมาภิบาล ในบางประเทศที่ใช้ GNH Index ห้ามธุรกิจเหมืองแร่ ป่าไม้เชิงพาณิชย์ หรือการท่องเที่ยวที่ไม่คำนึงถึงระบบนิเวศ และวัฒนธรรม

ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมา จำกัด กล่าวว่าต้องสร้างดัชนีใหม่ๆ มาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาด้วย นอกเหนือจากประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ต้องพิจารณาถึงประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อมด้วยว่าจะตั้งคำถามกับการลงทุนที่มีคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีในการเกษตรอันดับสี่ของโลก ซึ่งสะท้อนว่าไทยกำลังพัฒนาอย่างเบียดบังทรัพยากร

หากตลาดและสังคมคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมนั้นอาจจะนำมาซึ่งการประกอบการทางสังคมใหม่ๆ เราต้องบอกว่าเราเป็นเมืองมากเกินไม่ได้ ต้องให้เมืองกับชนบทมาจัดสัดส่วนกัน ถ้าเรามีความเชื่อมั่นและมีการควบคุมคุณภาพ กลไกการตลาดที่มีอยูในปัจจุบันต้องถูกตั้งคำถาม เรามีบริษัทอาหารที่ผลิตอาหารให้เรากินมีอยู่แค่ไม่เกิน 5 บริษัท ถ้าไม่ทำให้ระบบการผูกขาดอาหาร แล้วเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยจะอยู่ได้อย่างไร

ธุรกิจคิดแต่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัว (Private Property) ขณะที่ รัฐมองแต่เรื่องทรัพย์สินสาธารณะ (Public Property) แต่จะทำอย่างไรให้เกิดทรัพย์สินร่วม (Common Property) จะทำอย่างไรให้เกิดการเกษตรที่เป็นพลังชุมชน ไม่ใช่เกษตรที่รัฐจัดการหรือธุรกิจเกษตร มองผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าประโยชน์ระยะสั้น

"เรามองจากภาคประกอบการทางสังคม และการสร้างวิธีคิดอิสระทางสังคม  และต้องการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่แค่การตรวจสอบด้วยกลไกทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องการการตรวจสอบจากมิติกระบวนทัศน์ใหม่ด้วย"

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท "ผมเห็นด้วยกับการสร้สางธรรมภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชนั่นเพราะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสังคมสมัยใหม่ แต่เราต้องพูดถึงบทบาทสถานะขององค์กรอิสระด้วย"

เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดเรื่องธรรมภิบาล กระแสธรรมภิบาลที่เข้าสู่เมืองไทยจริงๆ คือหลังวิกฤตปี 2540 มีการโปรโมตครั้งใหญ่ผ่านสองสามเรื่องคือ นักเลือกตั้งโกงกิน และคอร์รัปชั่นคือนักธุรกิจร่วมมือกันโกงกินกับราชการ เรากำลังไปกล่าวโทษความโลภทางธุรกิจ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังพูดเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดความคิดเรื่ององค์กรอิสระมากกว่ากลไกปกติ เพื่อจัดการกับความโลภ ความอยากที่ไม่สามารถเอาผิดได้ในกระบวนการกฎหมายปกติ

รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้มีองค์กรอิสระ 6 องค์กร ก่อนหน้าปี 2540 ไม่มีการพูดถึงองค์กรอิสระมาก่อน และสร้างความหวังว่านี่จะเป็นกลไกใหม่ เป็นความหวังที่จะสร้างให้ไทยสะอาดขึ้น แต่ว่าหลังจาก 15 ปีเราพบว่ามีปัญหาเรื่ององค์กรอิสระมากมาย

ปัญหาแรกสุดคือ องค์กรอิสระมีอำนาจที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ  เช่น กกต.ที่รวบอำนาจทุกอย่างเกี่ยวกับการเลือกต้ง ทั้งออกระเบียบได้ ตรวจสอบไต่สวนได้ และจัดการการเลือกตั้งได้ คือมีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ในองค์กรเดียว

เรื่องต่อมาคือ องค์กรอิสระมีอำนาจเหนือรัฐที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ยกตัวอย่าง ป.ป.ช. ไม่อยู่ในคำจำกัดความของหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร

ปัญหาต่อมาคือ การไม่ยึดโยงกับประชาชน  และเห็นได้ชัดมากขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 ยกตัวอย่าง  กกต. คณะกรรมการสรรหามาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองฯลฯ โดยสรุป 7 ตำแหน่งที่เป็นคณะกรรมการสรรหา มีเพียง 2 ตำแหน่งที่ยึดโยงกับประชาชนคือผู้นำฝ่ายค้านในสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นเป็นการยกคุณธรรมความดีงามมาแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะเชื่อว่าประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนดี เมื่อไปดูกรรมการสรรหาในองค์กรอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันคือมีอัตราส่วนจากคนที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่า

ประเด็นต่อไปสำหรับองค์กรอิสระก็คือ การกลายเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายหนึ่ง ถูกทำให้เป็นการเมืองมาก (politicized) ยกตัวอย่าง กกต. ชุดที่มีพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยมีกรณีที่กรรมการคนหนึ่งเสียชีวิต ซึ่งกรรมการคนนั้นเป็นโควตาแต่งตั้งของที่ประชุมศาลฎีกา แต่เพื่อดิสเครดิต กกต. ชุดนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาบอยคอต โดยไม่ตั้งกรรมการไปปฏิบัติหน้าที่แทน

"ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเรื่องสถาบันและสถานะขององค์กรอิสระ ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการจับผู้ร้าย ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างธรรมภิบาลในภาคธุรกิจและราชการ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาในเชิงบทบาทสถาบันขององค์กรอิสระที่อยู่เหนือรัฐและเป็นอิสระจากประชาชนอยู่"

สำหรับประเด็นธรรมภิบาล ก่อนจะพูดเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมไทยที่เป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยนิ่ง2475-2500 มีการก่อตั้งบริษัทของรัฐมากมายโดยวิธีการสะสมทุนของนายทุนในประเทศไทยคือการสะสมทุนโดยการหากินกับรัฐมาเนิ่นนาน ไม่ใช่เพิ่งมาเป็น และเป็นวิถีที่ต่างกับวิถีทุนนิยมตะวันตกอย่างมาก ซึ่งกรณีของทุนนิยมตะวันตกนั้นระบบพัฒนาด้วยเอกชน ด้วยการแข่งขัน ด้วยการเปิดเสรี

แต่ของไทยกลับถูกทำด้วยรัฐและนายทุนจำนวนหนึ่งซึ่งมีเครือข่าย มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐขณะนั้น เอาเข้าจริงทนนิยมไทยเพิ่งเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจหลังจากทศวรรษ 2530 มานี้เอง กล่าวคือ หลังจาก 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจแต่ผู้เดียว ตามด้วยจอมพลถนอม ประภาส มีคนกลุ่มเดียวที่เป็นนายทุนในไทยได้ คือกลุ่มที่พึ่งพิงอาศัยกับนายทหารเหล่านี้

หลังจากมีการเลือกตั้งจึงเริ่มมีนายทุนหน้าใหม่ๆ ขึ้นมา คือเมื่อมีพรรคชาติไทยและพรรคอื่นๆ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยเพิ่งมาเปิดเมื่อยี่สิบปีมานี้เอง ดังนั้นรากฐานเรื่องการหากินกับรัฐไม่ใช่เพิ่งมาเป็น

"เอาเข้าจริงการพูดถึงเรื่องนี้ผมไม่คิดว่าเรื่องการทุจริตหรือธรรมาภิบาลเป็นเรื่องแปลกแม้แต่ในสังคมที่มีทุนนิยมก้าวหน้า สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้ เราพูดถึงเยอะเกี่ยวกับปัญหาองค์กรอินสระ แต่สิ่งที่ไม่พูดกันคือแนวคิดเบื้องหลังคือเรื่องการต่อสู้กับการทุจริตเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลว-ซึ่งไม่ใช่ ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องสามัญมากในทุนนิยม ดังนั้นวิธีที่จะทำให้การทุจริตในสังคมให้น้อยลงเรามีทางเลือกทางนโยบายอยู่สามสี่ข้อ"

หนึ่ง การเอารัฐออกจากตลาด เช่น การรถไฟ ฯลฯ วิธีนี้คือทำให้รัฐไม่มีอำนาจ ให้เอกชนเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจแทน แน่นอนคนที่ไม่เห็นด้วย หรือคนที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟคิดว่าตลาดเลวร้ายกว่ารัฐ การเอาตลาดมาดำเนินการยิ่งทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

สอง การกระจายอำนาจ ทำให้งบประมาณออกจากรัฐบาลกลางให้เยอะที่สุด ให้ลงไปที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง โดยความเชื่อว่า เมื่องบเล็ก ท้องถิ่นใกล้ชิด มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเพราะการเมืองท้องถิ่นอาศัยความเชื่อถือ มีความสัมพันธ์มากกว่าการเมืองระดับชาติ แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่าจะทุจริตมากขึ้นเพราะคนจนในต่างจังหวัดโง่ เอาเงินมาฟาดหัวก็เสร็จแล้ว

"สิ่งที่อยากเสนอและคิดว่าสำคัญกว่าองค์กรอิสระ มากกว่าการเอาคนดีมาปกครององค์กรอิสระ คือการทำให้กระบวนการยุติธรรมปกติที่มีผลบังคับใช้จริงกับผู้ที่ทำการทุจริต เหตุผลคือกรรมการอิสระนั้น อิสระจากอะไร คำตอบคือ อิสระจากประชาชน สิ่งที่เราต้องการน้อยที่สุดคือองค์กรที่เป็นอิสระจากประชาชน เราต้องการองค์กรที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน ต้องทำให้กลไกยุติธรรมปกติทำงานได้ ไม่ต้องพูดถึงคนดีคนเลว ถ้าคนที่มีอำนาจสูงสุดไม่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายปกติ ต่อให้คุณตั้งกรรมการอิสระ องค์กรอิสระของอิสระอีกกี่ชั้นก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำให้คนที่มีอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญและที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญรับผิด คือไม่ว่าจะองค์กรแบบไหนก็ไม่สามาถจับบิ๊กเนมหรือคนที่มีภาษีทางสังคมสูงได้ และถ้าองค์กรยุติธรรมปกติทำไม่ได้ องค์กรอิสระก็ทำไม่ได้เพราะมันอยู่ในโครงสร้างอุปถัมภ์อันเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะให้ผมเสนออะไรก็คือเสนอให้องค์กรยุติธรรมใช้งานได้จริง" ธนาธร กล่าวในที่สุด

ในช่วงท้าย วิชา มหาคุณกล่าวว่า องค์กรอิสระไม่ใช่เรื่องความดี หรือคนดี แต่เป็นเรื่องความโปร่งใส ความรับผิด ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้หญิงอธิบายว่าเหตุใดสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธจึงช่วยรักษาชีวิตคนจำนวนมากได้

Posted: 08 Mar 2013 01:43 AM PST

 

ผู้หญิงเก่งสามคน ได้พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง

 
 
มีการคาดการณ์ว่าประชาชนอย่างน้อยครึ่งล้านเสียชีวิตจากอาวุธปืนทุกปี และยังมีผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่ต้องเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 200,000 คน ซึ่งเป็นผลในทางอ้อมจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธ และเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายอาวุธขนาดเล็กอย่างไร้การควบคุมดูแล
 
และสำหรับทุกชีวิตที่สูญเสียไปจากการสู้รบ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกทรมาน ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ถูกทำร้าย ถูกทำให้สูญหาย ถูกลักพาตัว หรือต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ มากกว่านั้นคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การมีงานทำ บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา
 
หลายล้านคนเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและอีกหลายพันองค์กร รวมทั้งผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนพยายามรณรงค์ให้รัฐบาลทั่วโลกสนับสนุนสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) เพื่อกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายอาวุธ
 
ผู้หญิงสามคนได้พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง
 
แมเร็น อากัตซา-บูกาชี (Marren Akatsa-Bukachi): "ผู้ชายคนเดียวที่มีปืนก็สามารถข่มขืนคนได้ทั้งหมู่บ้าน"
 
แมเร็น อากัตซา-บูกาชี เป็นผู้อำนวยการบริหารของหน่วยงานสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (Eastern African sub Regional Support Initiative for Advancement of Women - EASSI) ซึ่งทำงานกับผู้หญิงที่เคยเป็นเหยื่อความรุนแรง
 
"ผู้ชายและผู้หญิงได้รับผลกระทบจากอาวุธแตกต่างกัน
 
"ในแอฟริกา มักมีการใช้ปืนเพื่อให้สามารถข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงอ่อนแอ ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบตอนที่สามีเสียชีวิตหรือพิการเนื่องจากอาวุธขนาดเล็ก เพราะพวกเธอต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน
 
"ตัวดิฉันเองก็ได้รับผลกระทบจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ดิฉันมาจากเคนยา และที่ผ่านมาครอบครัวดิฉันได้เคยถูกคนที่ถือปืนบุกเข้ามาปล้นในบ้านถึงสองครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาสี่ชั่วโมง พวกเขาจับเรามัด คว่ำหน้าลงกับพรม ข่มขู่เรา คุกคามเราด้วยปืน พวกเขาเอาทุกอย่างที่เราหามาได้ไป
 
"ดิฉันโชคดีที่ไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็ยังรู้สึกขมขื่นใจ ทุกวันนี้ดิฉันอยู่ในประเทศยูกันดา แม้ว่าก่อนนอนแต่ละคืนจะรู้สึกร้อนมาก แต่ดิฉันก็ต้องจะปิดล็อกประตูและหน้าต่างทุกบาน แม้แต่ประตูห้องนอน ใครล่ะที่อยากจะมีชีวิตแบบนั้น
 
"เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธ ในแอฟริกา เราไม่รู้ว่าอาวุธเหล่านั้นมาจากที่ไหน
 
"เราจำเป็นต้องป้องกันประเทศที่มักมีการใช้ความรุนแรงทางเพศ ไม่ให้เข้าถึงอาวุธขนาดเล็ก
 
"ในการละเมิดสิทธิผู้หญิง คุณไม่จำเป็นต้องใช้ปืนถึงร้อยกระบอกหรอก "ผู้ชายคนเดียวที่มีปืนก็สามารถข่มขืนคนได้ทั้งหมู่บ้าน"
 
"ทุกวันนี้เราจัดอบรมในประเด็นชาย-หญิงในเขตทะเลสาบใหญ่ เป็นการทำงานที่ช้ามาก เราจัดอบรมให้พวกเขา แต่ก็ไม่สามารถอยู่ต่อเพื่อดูว่าพวกเขานำความรู้ไปใช้อย่างไร ในประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา มันเหมือนการเดินไปข้างหน้าสองก้าว และถอยหลังหนึ่งก้าว
 
"เป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเรามี ในเนื้อหาทุกหมวดของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธจะต้องมีประเด็นชาย-หญิงด้วย"
 
มาเรียม (Mariame): "มีคนที่ถูกสังหารในทุก ๆ ที่"
 
สองปีหลังวิกฤตหลังการเลือกตั้งในไอวอรี่โคสต์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงยังดำเนินต่อไป ทั้งการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวและการทรมานอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายที่กระทำต่อผู้ที่ต้องสงสัย หรือเชื่อว่าให้ความสนับสนุนกับอดีตประธานาธิบดีโลรองต์ บักโบ (Laurent Gbagbo) ผู้ทำการละเมิดส่วนใหญ่เป็นทหารของรัฐบาล (FRCI) สารวัตรทหาร และกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐอย่างเช่น กลุ่มดูโซ (Dozos) มาเรียมอาศัยอยู่ในไอวอรี่โคสต์ และเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธปืน สมาชิกในครอบครัวของเธอต้องเปลี่ยนชื่อทุกคน เพื่อความปลอดภัย
 
"ตอนที่พวกดูโซเข้ามาในพื้นที่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 (และมีปืนเล็กยาว (Kalashnikovs) เป็นอาวุธ) ทุกคนต้องหนีไปอยู่ในป่า เรารู้ว่าพวกเขาเป็นพวกดูโซ เพราะพวกเขาใส่เสื้อแบบคนพื้นเมือง ตอนนั้น ดิฉันและสามีพร้อมลูกหกคน พวกเราหนีไปพร้อม ๆ กัน แต่ต่อมาต้องแยกกัน ดิฉันไปกับลูกสามคน สุดท้ายเราไปจนถึงค่ายที่พักพิงซึ่งลูกพี่ลูกน้องของสามีดิฉันอาศัยอยู่
 
"พวกเขาเริ่มเปิดฉากยิง เราไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน แต่มีคนที่ถูกสังหารในทุก ๆ ที่ ลูกชายอายุสี่ขวบของดิฉันพลัดหลงไป ตอนที่ลูกชายพยายามหาพวกเราและตะโกนเรียก เขาก็ถูกพวกนั้นยิง แต่เพื่อรักษาชีวิตของลูก ๆ อีกสองคนไว้ เราจึงตัดสินใจหลบหนี
 
"เราหนีไปพบกับผู้ชายสองคน คนหนึ่งมีปืน อีกคนหนึ่งมีมีดดาบ คนที่มีมีดดาบจับตัวดิฉันไว้ แต่คนที่มีปืนบอกว่าอย่าเพิ่งฆ่าดิฉัน เรามาข่มขืนเธอก่อน พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ดิฉันรู้สึกอ่อนแรงมากเพราะไม่ได้กินข้าวมาสามวันแล้ว
 
"ลูก ๆ ร้องไห้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ชายเหล่านั้นปล่อยดิฉันและจากไป
 
"สุดท้ายดิฉันหาจนพบสามี และเขาได้ไปยังที่ที่ดิฉันถูกข่มขืน และได้พบกับศพลูกชาย ในวันนั้น พวกติดอาวุธสังหารชาวบ้านอย่างน้อยสิบคนในหมู่บ้าน รวมทั้งผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งครรภ์เก้าเดือน
 
"พวกเขายิงลูกสาวอายุ 12 ขวบของดิฉัน ยังมีกระสุนสองนัดที่ฝังอยู่ในหัวของเธอ และอีกหนึ่งนัดที่แขน แพทย์ไม่สามารถเอาออกได้ ถ้าไปกระทบกับอะไรสักหน่อย เลือดกำเดาของเธอก็จะไหล แค่โดนแสงแดดแรง ๆ เลือดกำเดาก็ไหลเหมือนกัน และเธอมักมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เราไม่มีปัญญาส่งเธอไปรักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้ง ๆ ที่จำเป็นได้
 
"ตอนที่สงครามเริ่มขึ้น ทุกอย่างในชีวิตเราก็จบลง กลุ่มติดอาวุธบุกเข้ามาโจมตีทุกหมู่บ้าน พวกเขามีทั้งมีดดาบและปืน บางคนยังมีขวาน ถ้าพวกเขารู้ว่าคุณเป็นเผ่าเกร่า (Guere) (เผ่าพื้นเมืองที่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนนายบักโบ) พวกเขาก็จะฆ่าคุณ"
 
อีมา เปเรซ กิล (Irma Pérez Gil): "การสังหารผู้หญิงมักเป็นผลมาจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ซึ่งซื้อหาได้จากตลาดมืด"
          
อีมา เปเรซ กิล นักรณรงค์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เม็กซิโก เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักเจรจาซึ่งทำหน้าที่ล็อบบี้สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธในเวทีองค์การสหประชาชาติ
          
"เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้วในการประชุมสหประชาชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอสนธิสัญญาที่เสนอโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อควบคุมการซื้อขายอาวุธระดับโลก เราได้เข้าร่วมในการประชุมใหญ่ ได้รับฟังความเห็นของแต่ละประเทศ และในช่วงพัก เราได้ขอเข้าพบบรรดาเอกอัครราชทูตทั้งหลายเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะของเรา
          
"การประชุมมีขึ้นสี่สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อย มีสีสันและน่าสนใจมาก เพราะว่าสุดท้ายแล้วในที่ประชุมได้อภิปรายเนื้อหาฉบับร่างของสนธิสัญญาอย่างละเอียด ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย การประชุมบางวันยืดเยื้อไปจนถึงตีสองครึ่งก็มี
          
"ในวันสุดท้าย ในช่วงที่นายโอบามากังวลกับการรณรงค์เพื่อเป็นประธานาธิบดีครั้งที่สอง ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาต้องการเวลามากกว่านี้เพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนให้ความเห็นชอบ ในขณะที่จีน รัสเซีย และแม้กระทั่งคิวบาก็สนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯ ทำให้การเจรจาล่มลง
          
"มีการกำหนดการประชุมครั้งใหม่ที่องค์การสหประชาชาติในเดือนมีนาคม 2556 นี้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย
          
"ในที่ประชุมสหประชาชาติ กระบวนการต่าง ๆ ดูเหมือนจะยืดเยื้อและยากลำบาก แต่สุดท้ายเราก็จะได้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลผูกพัน หากมีการลงมติรับรอง และหวังว่าจะยั่งยืนไปตลอดกาล
          
"ข้อบทอย่างหนึ่งในร่างสนธิสัญญาระบุไว้ว่า กรณีที่ประเทศหนึ่งจะส่งออกอาวุธ พวกเขาจะต้อง (will) "พิจารณา" ใช้มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธที่ตนส่งออก ถูกนำไปใช้เพื่อก่อความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องการให้ในเนื้อหาใช้คำว่า "จำเป็นต้อง" (shall) ดำเนินมาตรการมากกว่า
          
"เป็นปัญหาใหญ่มากในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น อเมริกากลาง เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวและการสังหารผู้หญิงมักเป็นผลมาจากการใช้อาวุธขนาดเล็ก ซึ่งซื้อหาได้จากตลาดมืด
          
"เช่นเดียวกับสนธิสัญญาอื่น ๆ สนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้เป็นเวทย์มนต์วิเศษ แต่ถ้ามีเนื้อหาเข้มงวดก็จะช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น"
 
---
ปกิณกะ
- มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 794,000 - 1,115,000 คน อันเป็นผลโดยตรงจากการขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 2532 – 2553
- โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คนทุกปี โดยเป็นผลในทางอ้อมจากการขัดกันด้วยอาวุธ
- ประมาณว่าการฆ่าคนตายโดยบุคคลและแก๊งอาชญากรรมและด้วยการใช้ปืน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของการสังหารทั้งหมด
- มีเพียง 35 ประเทศที่ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วไปในระหว่างประเทศ และมีเพียง 25 ประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธอย่างแท้จริง
- ในปี 2553 มูลค่าการส่งมอบอาวุธทั่วไปในระดับโลกโดยคิดเป็นรายประเทศ รวมกันประมาณ 72,000 ล้านเหรียญ
 
แหล่งข้อมูล: องค์การสหประชาชาติ, TransArms, Uppsala Conflict Data Program, ปฏิญญาเจนีวา (Geneva Declaration)
 
ที่มา: 
Women explain why an arms trade treaty can save many lives (amnesty.org, 7 March 2013)
http://www.amnesty.org/en/news/women-explain-why-arms-trade-treaty-can-save-many-lives-2013-03-07
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หญิงวัย 70 ถูกทำร้าย ขณะนั่งปฏิบัติฝ่าหลุนกง ตรงข้ามสถานทูตจีน

Posted: 08 Mar 2013 01:19 AM PST

 

(8 มี.ค.56) จริยา ผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกง อายุราว 70 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.30น. เธอถูกทำร้าย ขณะปฏิบัติฝ่าหลุนกง หน้าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ตรงข้ามสถานทูตจีน ถ.รัชดาภิเษก โดยขณะนั่งขัดสมาธิปฏิบัติฝ่าหลุนกงตามปกติ มีชายคนหนึ่งพยายามจะมาเอาป้ายรณรงค์ฝ่าหลุนกงของเธอไป แต่เธอไม่ยอม เนื่องจากสัปดาห์ก่อน ชายคนเดียวกันนี้เพิ่งมาเอาป้ายของเธอไป เธอจึงเข้าไปห้าม จนถูกตีและผลักจนล้มลง ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะขี่รถจักรยานยนต์หนีไป ทั้งนี้ มีผู้เห็นเหตุการณ์ได้ให้ความช่วยเหลือและช่วยจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ของชายคนดังกล่าวไว้ด้วย โดยเธอได้เดินทางไปแจ้งความ ที่ สน.ห้วยขวาง  แต่ต่อมาเปลี่ยนใจไม่แจ้งความ เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทางไปตรวจร่างกาย เพราะใช้เวลาและเหนื่อยมาก รวมถึงก่อนหน้านี้ที่ถูกทำร้ายสองครั้งเมื่อปีก่อน ก็ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้

จริยา ระบุด้วยว่า โดยปกติ เธอเดินทางมาปฏิบัติฝ่าหลุนกงบริเวณดังกล่าว เป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-13.00น. โดยอยากส่งสารถึงประเทศจีนให้มีความเมตตา และหยุดทำร้ายผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกงทั่วโลก 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานออกแถลงการวันสตรีสากล

Posted: 08 Mar 2013 01:06 AM PST

8 มี.ค. 56 - สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, องค์กรเลี้ยวซ้าย และองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการวันสตรีสากล โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์ 8 มีนา วันสตรีสากล 2556
 
ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้นครั้งยิ่งใหญ่ของกรรมกรหญิงทั่วโลกได้มาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นั้นก็คือวันที่ 8 มีนาที่เรียกกันว่าวันสตรีสากล โดยเฉพาะกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกนายทุนในระบบทุนนิยม กดขี่ขูดรีดทารุณ เห็นกำไรสำคัญกว่าชีวิตของความเป็นมนุษย์
 
กรรมกรหญิงและชายไม่ต่างอะไรกับทาส ทำงานวันละหลายชั่วโมงได้ค่าจ้างแรงงานเพียงน้อยนิด สภาพการทำงานในโรงงานเลวร้ายมีการเจ็บป่วยล้มตายไร้การเหลียวแล ทำให้กรรมกรทนไม่ได้กับระบบการกดขี่ขูดรีดจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ โดยใช้วิธีการนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 การต่อสู้ในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากกรรมกรทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่อทุนนิยมทั้งโลก และได้มีการเรียกร้องชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการ รวมถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในการรวมตัว
 
วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 มีผู้แทนสตรีจาก 18 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม สมัยที่ 2 ที่จัดขึ้นที่เมืองโคเปนเฮเกน เสนอให้มีการทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ที่เรียกว่าระบบสามแปด  ค่าจ้างแรงงานระหว่างชายกับหญิงต้องเท่าเทียมกัน มีการคุ้มครองสิทธิกรรมกรหญิงและเด็ก  โดยเฉพาะนักต่อสู้สตรีที่สำคัญเธอชื่อ คลาร่า แซทกิน ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมชาวเยอรมัน เธอเป็นผู้ยืนหยัดมาตลอดว่าการโค่นล้มทุนนิยมและการสร้างสังคมใหม่คือสังคมนิยม  จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดพลังแรงงานกรรมกรหญิงและชาย ถ้าพลังแรงงานกรรมกรหญิงยังถูกกดขี่ ขูดรีดอยู่ และไม่มีสิทธิใดๆ  และเธอก็ได้เผยแพร่ความคิดสังคมนิยมไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลก
 
ระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครองชอบสอนให้ประชาชน ผู้ใช้แรงงานเคารพค่านิยมครอบครัวอนุรักษ์นิยม แต่ระบบทุนนิยมทำให้ผู้หญิงออกไปทำงานในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีพัฒนาการความคิดที่ก้าวหน้า และระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้ผู้หญิงออกมาต่อสู้เพื่อการปลดแอกตนเองอยู่เสมอ
 
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และองค์กรสมาชิกและพันมิตร ส่งเสริมให้ผู้หญิงออกไปทำงานและสร้างความมั่นใจในตนเอง และต้องการเห็นชายกับหญิงร่วมกันต่อสู้ในสหภาพแรงงานหรือขบวนการประชาธิปไตย เราสนับสนุนข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่น สตรีมีสิทธิทำแท้งเมื่อไม่พร้อมมีบุตร ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน และสร้างรัฐสวัสดิการมาตรฐานเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย
 
วันสตรีสากล ชนชั้นกรรมาชีพทั้งหลายจงเจริญ
8 มีนาคม 2556
1.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (THE TEXTILE GARMENT AND LEATHER WORKERS FEDERATION OF THAILAND)(TWFT) 
2.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign)
3.องค์กรเลี้ยวซ้าย
4.องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รณรงค์วันสตรีสากล คนงานร้อง รบ.เร่งเพิ่มศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก-ขยายสิทธิประกันสังคม

Posted: 07 Mar 2013 11:39 PM PST

(8 มี.ค.56) เครือข่ายองค์กรแรงงานหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิเพื่อนหญิง เดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี นอกจากนี้ยังมีคนงานจากสหภาพแรงงานต่างๆ ที่ถูกเลิกจ้าง ร่วมเดินขบวนและเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วย อาทิ สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง, คนงานบริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต, สหภาพแรงงานเจเนรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม), สหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการสตรี เป็นตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมี ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งปรับคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงทำงาน 2. ขอให้รัฐบาลลงสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ฉบับที่ 183 เรื่องการคุ้มครองความเป็นมารดา และ 3. ขยายสิทธิประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงให้สำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระและกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันในคณะกรรมการประกันสังคม


กรรมการสิทธิฯ ประกาศเจตนารมณ์เป็น 'องค์กรปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน'
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นชอบให้นำกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ.2555 มาใช้บังคับแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. พร้อมประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรที่ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดการคุกคามทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ โดย วิสา  เบ็ญจะมโน  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็ก สตรีและความเสมอภาคของบุคคล ระบุว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายสำคัญในการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลปีนี้ด้วย

อนึ่ง ตามกฎ ก.ร.ข้อที่ 4 ที่ระบุว่า ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ใดกระทำการประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้ต่อข้าราชการด้วยกัน หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ  ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกสถานที่ราชการโดยผู้ถูกกระทำมิได้ยินยอมต่อการกระทำนั้น  หรือทำให้ผู้ถูกกระทำเดือดร้อนรำคาญ  ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ  ตามข้อ 3 (9)  คือ
1. การกระทำการด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ  เช่น การจูบ การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง  เป็นต้น
2. กระทำการด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย  พูดหยอกล้อ  พูดหยาบคาย  เป็นต้น
3. กระทำการด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น การใช้สายตาลวนลาม  การทำสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ใด ๆ เป็นต้น
4. การแสดงหรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ  เช่น  แสดงรูปลามกอนาจาร  ส่งจดหมาย  ข้อความ  หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น  เป็นต้น
5.  การแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

 

 

ส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอลลา เบเกอร์ นักเคลื่อนไหวหญิงผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการสิทธิพลเมืองอเมริกัน

Posted: 07 Mar 2013 10:45 PM PST

"คุณไม่เคยเห็นฉันทางโทรทัศน์ คุณไม่เคยอ่านข่าวเกี่ยวกับตัวฉัน  บทบาทที่ฉันพยายามเล่นคือการเก็บหรือปะติดปะต่อชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งฉันหวังว่ามันจะนำไปสู่การจัดตั้ง  ทฤษฎีของฉันก็คือ  ประชาชนที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง"

 

เอลลา เบเกอร์

 

คำพูดข้างต้นของเอลลา เบเกอร์ สามารถสรุปรวบยอดทั้งการดำเนินชีวิต ปรัชญาและความใฝ่ฝันของสตรีผิวดำที่เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งóแต่ไม่ค่อยเป็น ที่รู้จักóผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ซึ่งต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐอเมริกา  เอลลาทำงานเคียงข้างและเบื้องหลังผู้นำด้านสิทธิพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ในต้น ศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ว่าจะเป็น วิลเลียม เอ็ดเวิร์ด ดู บอยส์ (William Edward Du Bois)  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) หรือไบเอิร์ด รัสติน (Bayard Rustin ผู้เขียนจะเขียนถึงรัสตินในโอกาสต่อไป)  นอกจากนี้ เอลลายังเป็นครูของนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองรุ่นหลัง อาทิ ไดแอน แนช (Diane Nash)  สโตกลี คาร์ไมเคิล (Stokely Carmichael)  โรซา ปาร์กส์ (Rosa Parks) และ บ็อบ โมเสส (Bob Moses) เป็นต้น

 

หลานของทาสและความเป็นไท

เอลลา โจเซฟิน เบเกอร์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่เมืองนอร์ฟอล์ก รัฐเวอร์จิเนีย  บิดาและมารดาคือ เบลกและจอร์เจียนา เบเกอร์  พออายุได้ ๙ ขวบ ครอบครัวของเธอก็ย้ายมาอาศัยในบ้านเกิดของมารดาที่เมืองลิตเทิลตัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทของรัฐนอร์ทแคโรไลนา  ยายของเอลลาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อกบฏของทาสให้เธอฟัง  ยายของเอลลาเคยเป็นทาสและครั้งหนึ่งเคยถูกเฆี่ยนเพราะไม่ยอมแต่งงานกับ ผู้ชายที่นายทาสเลือกให้

เอลลาเริ่มชีวิตของการทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ขณะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชอว์ ในเมืองราลี รัฐนอร์ทแคโรไลนา  เอลลาท้าทายนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เธอเห็นว่าไม่เป็นธรรม  เธอจบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๒๗ และเป็นตัวแทนนักศึกษาที่กล่าวคำปราศรัยในวันรับปริญญา  จากนั้นเธอย้ายไปอาศัยอยู่ในย่านฮาร์เลม เมืองนิวยอร์กซิตี

ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๐  เอลลาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ American West Indian News  ต่อมาก็ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการผู้ช่วยในหนังสือพิมพ์ Negro National News  ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เอลลาเข้าร่วมในกลุ่มสันนิบาตเพื่อความร่วมมือของเยาวชนนิโกร (Young Negroes Cooperative League--YNCL) ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจของคนผิวดำด้วยการวางแผนร่วม กันเป็นหมู่คณะ เพียงไม่นาน  เอลลาก็ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการระดับชาติของกลุ่มนี้

ในช่วงแรกของการทำกิจกรรม เอลลาทำงานเน้นหนักไปในด้านการศึกษา  นอกจากทำงานให้ YNCL แล้ว เธอยังทำงานให้กับโครงการให้การศึกษาแก่แรงงานในสำนักงานบริหารความก้าวหน้า ในการทำงาน (Works Progress Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้ง ขึ้นตามโครงการนิวดีลของประธานาธิบดีแฟรงกลิน     ดี. รูสเวลท์ ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  เอลลาสอนวิชาต่างๆ ตั้งแต่การให้ความรู้แก่ ผู้บริโภค ประวัติศาสตร์แรงงานและประวัติศาสตร์อัฟริกา  เธอช่วยก่อตั้งสหกรณ์ของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ ของอเมริกา

การอาศัยอยู่ในย่านฮาร์เลมที่เต็มไปด้วยคนจนผิวสี ทำให้เอลลาซึมซับบรรยากาศทางการเมืองและวัฒนธรรมที่คึกคัก  เธอเข้าร่วมการประท้วงกรณีที่อิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย สนับสนุนการรณรงค์ให้ปล่อยตัวชายหนุ่มผิวดำสี่คนที่ถูกกล่าวหาเท็จว่าข่มขืน ผู้หญิงผิวขาว และทำงานให้องค์กรสตรีหลายแห่ง  นอกจากนี้ เอลลายังก่อตั้งสโมสรประวัติศาสตร์ชาวนิโกรที่ห้องสมุดฮาร์เลม  เข้าฟังการบรรยายและการประชุมที่สมาคม Young Womenís Christian Association (YWCA) อย่างสม่ำเสมอ  ได้รู้จักกับนักกิจกรรม นักเขียนและนักกฎหมายหลายคน ซึ่งต่อมาจะมีบทบาทในขบวนการสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ  มีหลายคนที่เป็นเพื่อนกับเธอไปจนวันตาย  บรรยากาศของการฟื้นฟูอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนผิวดำในย่านฮาร์เลม หรือที่เรียกกันว่า Harlem Renaissance ในยุคทศวรรษ ๑๙๒๐ และ ๑๙๓๐ นี้ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อเอลลาและรวมไปถึงขบวนการสิทธิพลเมืองด้วย

 

NAACP

ใน ค.ศ. ๑๙๓๘  เอลลาเข้าร่วมเป็นคณะทำงานขององค์กรสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของ ประชาชนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored PeopleóNAACP) ซึ่งต่อมาจะเป็นองค์กรหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกสี ผิว  NAACP จ้างเอลลาเป็นเลขานุการใน ค.ศ. ๑๙๔๑  แต่เธอไม่ได้ทำงานอยู่แต่ในสำนักงาน เอลลาเดินทางไปทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะในภาคใต้ของสหรัฐฯ ที่มีการเหยียดสีผิวรุนแรงที่สุด  เธอทำงานด้านระดมสมาชิก หาทุนและจัดการรณรงค์ในท้องถิ่น  

ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เอลลาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสาขา ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูงสุดในองค์กร  เป้าหมายของเอลลาคือการขยายองค์กร NAACP ไปทั่วทั้งภาคใต้  สร้างเครือข่ายรากหญ้าที่จะกลายเป็นฐานให้แก่ขบวนการสิทธิพลเมืองในทศวรรษ ถัดมา  ในขณะเดียวกัน เธอก็ต่อสู้เพื่อทำให้องค์กร NAACP เองมีความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรมากขึ้น  พยายามผลักดันองค์กรให้ลดความสำคัญของการต่อสู้ในเวทีกฎหมาย และหันมาทำงานเคลื่อนไหวในระดับชุมชนให้มากขึ้น

การที่เอลลาถอดใจลาออกจาก NAACP ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ สะท้อนถึงความขัดแย้งที่เธอมีกับผู้นำในองค์กร  นอกจากปัญหาการดูถูกเกี่ยวกับเพศแล้ว เอลลาเป็นคนตรงไปตรงมาและมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นในอุดมคติของความเท่า เทียม  เธอพยายามผลักดันให้องค์กรกระจายอำนาจการนำและสนับสนุนสมาชิกในการรณรงค์ ระดับท้องถิ่น  เอลลาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเยาวชนและผู้หญิง  ขณะที่นักจัดตั้งคนอื่นใช้ท่าทีอุปถัมภ์และแฝงความดูแคลนต่อชาวชนบทในภาคใต้ เอลลากลับปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยความเคารพ ทำให้เธอมีบทบาทอย่างมากในการสร้างเครือข่ายของชนชั้นล่าง  แต่ในท้ายที่สุด เธอก็ต้องถอดใจกับโครงสร้างการนำแบบลำดับชั้นในองค์กร  แต่ถึงแม้   เอลลาลาออกมาก็ตาม เธอก็ยังทำงานเป็นอาสาสมัคร ให้องค์กรต่อไป  เธอทำงานร่วมกับสาขาในนิวยอร์กเพื่อรณรงค์ในประเด็นการแบ่งแยกสีผิวใน โรงเรียนและการใช้ความรุนแรงต่อคนผิวสีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เอลลาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสาขาใน ค.ศ. ๑๙๕๒ แต่ก็ลาออกมาใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์กซิตี  น่าเสียดายที่ไม่ประสบความสำเร็จ

 

SCLC

ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เอลลา ไบเอิร์ด รัสตินและสแตนลีย์ เลวิสัน (Stanley Levison) ร่วมกันก่อตั้งองค์กร In Friendship ซึ่งมีเป้าหมายในการระดมทุนสนับสนุนการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิวในภาคใต้  โดยมีความเชื่อเบื้องหลังว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการระดมพลังมวลชนขนาดใหญ่  หลังจากการรณรงค์คว่ำบาตร รถประจำทางในเมืองมอนต์โกเมอรี (Montgomerry Bus Boycott) ซึ่งประชาชนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนในระดับชาติและระหว่างประเทศ  องค์กร In Friendship จึงคิดว่าพวกเขาจุดประกายมวลชนได้แล้ว

หลังจากการรณรงค์สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวบนรถโดยสาร ประจำเมือง องค์กร In Friendship ก็ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง  เอลลา รัสตินและเลวิสันเข้าไปหา ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่ผู้นำท้องถิ่น และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครง สร้างองค์กรระดับชาติที่จะสร้างเครือข่ายและขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ในภาคใต้  พวกเขาเชื่อว่า การรณรงค์ในเมืองมอนต์โกเมอรีแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักการต่อสู้ย้ายจากในศาลมาที่ปฏิบัติการระดับชุมชนและถึงเวลาของการ ประท้วงมวลชน  ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ องค์กรที่ประชุมผู้นำชาวคริสต์ภาคใต้ (Southern Christian Leadership Conference--SCLC) จึงก่อตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายของผู้นำท้องถิ่นและชุมชน ประสานการปฏิบัติงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผู้นำของ SCLC อย่างเป็นทางการคือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็จริง แต่ผู้ที่มีประสบการณ์สูงสุดในการจัดตั้งภาคสนามคือ เอลลา เบเกอร์  นอกจากนี้ เธอยังรู้จักเครือข่ายนักกิจกรรมทั่วทั้งภาคใต้มาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่กับ NAACP  ทว่าปัญหาก็คือ ดร.คิงและแกนนำของ SCLC ยอมรับไม่ได้ที่จะแต่งตั้งผู้หญิงเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร  ไบเอิร์ด รัสตินและสแตนลีย์ เลวิสันต้องช่วยกันโน้มน้าว ดร.คิง  จนสุดท้ายเขาจึงยอมแต่งตั้งเอลลาเป็นผู้อำนวยการชั่วคราวของ SCLC

SCLC เริ่มต้นด้วยสาขา ๖๕ สาขาในภาคใต้  เอลลาเป็นคนก่อตั้งและบริหารสำนักงานในแอตแลนตา  เธอเดินทางไปทั่วทั้งภาคใต้ตลอดสองปีครึ่งที่อยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการชั่ว คราว  ประเด็นหลักในการรณรงค์ของ SCLC คือสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนผิวดำ  เอลลายังคงทำงานตามอุดมคติของเธอ นั่นคือการสร้างองค์กรขึ้นมาจากรากหญ้าเบื้องล่าง  ในขณะที่แกนนำ SCLC คนอื่นๆ ยึดมั่นถือมั่นในการสร้างผู้นำเดี่ยวที่มีบารมี  โดยชู ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิงขึ้นมา  ไม่ว่าจะทำงานหนักและประสบความสำเร็จในการจัดตั้งแค่ไหน เอลลาก็ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการของ องค์กร  ปัญหาของการกีดกันผู้หญิงเป็นจุดอ่อนสำคัญใน SCLC และขบวนการสิทธิพลเมืองอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในภายหลัง

ความสัมพันธ์ของเอลลากับ ดร.คิงและแกนนำใน SCLC นับวันจะจืดจางลง  ในที่สุดเธอก็ลาออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ปล่อยให้องค์กรแต่งตั้งผู้ชายขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสมความปรารถนา  ส่วนเอลลาก็ค้นพบว่า เธอได้รับการยอมรับมากกว่าในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

 

ทำคลอด "สนิก"

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๐ ในเมืองกรีนสโบโร รัฐนอร์ทแคโรไลนา นักศึกษาผิวดำสี่คนถูกปฏิเสธการบริการในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย  พวกเขาจึงเริ่มต้นนั่งประท้วง  การประท้วงแบบนี้ลามไปทั่วทั้งภาคใต้ราวกับไฟลามทุ่ง  นักศึกษาหลายพันคนตามที่ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นผิวดำและมีผิวขาวปะปนอยู่บ้าง จะไปนั่งประท้วงตามเคาน์เตอร์ขายอาหารกลางวันที่มีนโยบายไม่ให้บริการแก่คน ผิวสี  การนั่งประท้วงในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นใน ๒ แง่ด้วยกัน  ในประการแรก นี่เป็นการดึงเอาความตึงเครียดของการแบ่งแยกสีผิวที่ซุกซ่อนอยู่ขึ้นมาให้ เป็นที่ประจักษ์  บ่อยครั้งมักลงเอยด้วยการที่คนขาวใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้นั่งประท้วง  กับอีกประการหนึ่งคือ ขบวนการนั่งประท้วงนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ไม่มีการติดต่อประสานกันนอกเหนือจากในระดับท้องถิ่น อีกทั้งไม่มีผู้นำที่ชัดเจน  มันเป็นขบวนการที่จัดตั้งตัวเองขึ้นมาในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง  ภายในเวลาแค่ปีครึ่ง การนั่งประท้วงเกิดขึ้นในกว่าร้อยเมืองในยี่สิบมลรัฐ มีผู้เข้าร่วมประท้วงราวเจ็ดหมื่นคนและมีผู้ถูกจับกุมถึง ๓,๖๐๐ คน

เอลลามองเห็นศักยภาพของขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่นี้ในทันที  ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๐  เธอจึงจัดการประชุมในเมืองราลีขึ้นและช่วยก่อตั้งองค์กรคณะกรรมการประสานงาน การใช้ความไม่รุนแรงของ  นักศึกษา (Student Nonviolent Coordinating Committee--SNCC  ออกเสียงว่า "สนิก") โดยมีเป้าหมายให้องค์กรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานขบวนการนักศึกษาเข้าด้วย กัน

การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนมาร่วมประชุมราว ๒๐๐ คน โดยที่เกือบครึ่งของจำนวนนั้นเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนไฮสกูล ๕๖ แห่ง  เอลลาเป็นองค์ปาฐกของการประชุมครั้งนี้  เธอเรียกร้องให้นักศึกษารักษาความเป็นอิสระ จัดตั้งองค์กรด้วยตัวเองและวางเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

ถึงแม้เอลลาจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร แต่องค์กร ìสนิกî มีการบริหารโดยนักศึกษาเองทั้งสิ้น  เยาวชนเหล่านี้มีที่ปรึกษาอาวุโสสองคน นั่นคือเอลลา เบเกอร์และเฮาเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn)  ìสนิกî กลายเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในยุคทศวรรษ ๑๙๖๐  สมาชิกองค์กรมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวที่เรียกว่า "Freedom Rides" ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ซึ่งเป็นปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเพื่อประท้วงการแบ่งแยกสีผิว  นอกจากนี้ ยังมีปฏิบัติการ "jail no bail" โดยยอมให้ตำรวจจับผู้ประท้วงขังจนล้นคุกและไม่ยอมประกันตัวจนกว่าการแบ่งแยก สีผิวจะยุติ

แนวทางและหลักการจัดตั้งองค์กรของ ìสนิกî สอดคล้องกับอุดมคติของเอลลาอย่างแท้จริง  รากฐานที่สำคัญของ "สนิก" มีสองรากด้วยกัน รากแรกคือแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงแบบคานธี  ส่วนรากที่สองคือกระบวนการที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" (participatory democracy) ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๓ ประการคือ  (๑) การจัดตั้งของประชาชนในระดับรากหญ้าโดยมีการตัดสินใจเป็นของตัวเอง  (๒) ลดการนำแบบลำดับชั้น ลดบทบาทของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้นำเดี่ยว  และ (๓) ใช้ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าเป็นคำตอบ เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความกลัวที่ต้องโดดเดี่ยว ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงภูมิปัญญา  เอลลาเปรียบเสมือนทั้งหมอตำแยที่ทำคลอด ìสนิกî และแม่ที่วางหลักการพื้นฐานให้องค์กรเติบโตต่อไปข้างหน้า

"สนิก" คือแหล่งบ่มเพาะนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมาก  คนเหล่านี้จะมีบทบาทและสร้างโฉมหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวในทศวรรษ ๑๙๖๐ ทั้งในด้านสิทธิพลเมือง การต่อต้านสงคราม การต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ขบวนการเฟมินิสต์ ฯลฯ  "สนิก" สนับสนุนแนวคิดให้คนหนุ่มสาว "พักการเรียน" สักปีหรือสองปีเพื่อไปทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมก่อนจะกลับไปเรียนต่อ  มันผลักดันแนวคิดว่า การยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ถูกกดขี่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่ต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชนรากหญ้ามีปากเสียงในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบ ต่อชีวิตของตนเองด้วย  "สนิก" เข้าหาปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง กระตุ้นให้นักกิจกรรมและนักวิชาการไตร่ตรองทบทวนเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม ทางสังคม

ตัวอย่างหนึ่งของการจัดตั้งใน "สนิก" ก็คือ การก่อตั้ง "โรงเรียนเสรีภาพ" (Freedom School) ขึ้นในรัฐมิสซิสซิปปี  "โรงเรียนเสรีภาพ" มีเป้าหมายในการให้การศึกษาด้านการเมือง  เชื่อมโยงความเป็นจริงในชีวิตประจำวันเข้ากับการวิเคราะห์เชิงสถาบัน เน้นการสร้างกลุ่มผู้นำและฝึกอบรมนักจัดตั้ง  "โรงเรียนเสรีภาพ" คือการสร้างสถาบันคู่ขนานที่คัดง้างกับสถาบันกระแสหลัก  หลักสูตรที่เปิดสอนในโรงเรียนนี้มีตั้งแต่ "บทเรียนเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจ" ไปจนถึงการวิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยมใน "วิชาวัตถุและจิตวิญญาณ"  มีชั้นเรียนเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า  ชั้นเรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการครอบงำทางอุดมการณ์ ฯลฯ

เอลลากลับมาอาศัยในนิวยอร์ก ซิตี้ใน ค.ศ. ๑๙๖๔  เธอร่วมมือกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก่อตั้งพรรคการเมืองและองค์กรที่มีแนวทางสังคมนิยม รณรงค์สนับสนุนขบวนการเอกราชในเปอร์โตริโก ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในอัฟริกาใต้และทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิงจำนวนมาก  เธอยังคงทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไปจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๘๖

แต่ชีวิตและความใฝ่ฝันของเธอยังคงเป็นอมตะในบทเพลงชื่อ "Ella's Song" ของวงดนตรี Sweet Honey in the Rock  ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Fundi: The Story of Ella Baker (๑๙๘๑) ซึ่งกำกับโดยโจแอนน์ แกรนต์ (Joanne Grant)  คำว่า Fundi เป็นฉายาของเอลลา เป็นคำภาษาสวาฮิลี หมายถึงคนที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นต่อไป  นอกจากนี้ยังมีการ ก่อตั้ง Ella Baker Center for Human Rights ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมและการไม่ใช้ความรุนแรง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ร่วมองค์กรระหว่างประเทศ ห่วงการเข้าถึงยา ผลจากเอฟทีเอยุโรป-ไทย

Posted: 07 Mar 2013 10:20 PM PST

 

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.56 เฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล, อ๊อกซ์แฟม และ แอคชั่น อเก้นส์ เอดส์ เยอรมนี ออกแถลงการณ์ร่วม เกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ดังนี้

สัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม นายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาการค้าของไทยอยู่ระหว่างการเยือนกรุงบรัสเซลส์เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มต้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียูอย่างเป็นทางการ จากประสบการณ์ของพวกเราจากการเจรจาของสหภายุโรปที่มีก่อนหน้า พวกเรามีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดความตกลงด้านการค้าเสรีนี้ต่อการเข้าถึงยาในประเทศไทยและภูมิภาค

"จุดยืนของสหภาพยุโรปด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาในเอฟทีเอก่อนหน้า รวมทั้งการเจรจาที่ล้มเหลวอย่างการเจรจาระหว่างอียูกับอาเซียนชี้ให้เห็นว่า อียูจะผลักดันให้ไทยต้องยอมรับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา" นางสาวเทสเซล เมลลีมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายด้านนวัตกรรมและการเข้าถึงยาของ เฮลธ์ แอคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเกินเลย รวมถึงการถ่วงเวลาการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญ เพื่อรักษาสิทธิการผูกขาดตลาด คงราคายาให้สูงมากต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา ข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบทริปส์พลัสที่เกิดขึ้นในเอฟทีเอของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งนำไปสู่การขึ้นราคายา ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่ออินเดียในการเจรจาเอฟทีเอ ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา และภาคประชาสังคม จนทำให้ สภายุโรปตัดสินใจคว่ำความตกลงด้านการต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (ACTA) ที่มีการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากเกินซึ่งจะไปทำลายการแข่งขันของยาชื่อสามัญ

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขในยุโรป, สภายุโรป, ยูเอ็นเอดส์, ยูเอ็นดีพี, คณะกรรมาธิการด้านนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนา ของสหราชอาณาจักร, คณะกรรมาธิการด้านเอชไอวี/เอดส์และกฎหมาย ของสหประชาชาติ, นักวิชาการด้านทรัพย์สอนทางปัญญาระดับโลก และองค์การอนามัยโลก ต่างยอมรับว่า การเชื่อมโยงกันระหว่าง เนื้อหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าทริปส์ (ทริปส์พลัส) จะให้ประโยชน์แก่ผู้ทรงสิทธิมากจนเกินไป ขณะที่เกิดผลลบต่อการเข้าถึงยา

นอกจากนี้ พวกเรากังวลว่า ในการเจรจาเอฟทีเอ สหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะเรียกร้องให้ไทยต้องยอมรับกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ภายใต้เนื้อหาเช่นนี้ บรรษัทยาสามารถอ้างว่า กฎระเบียบด้านสุขภาพของรัฐบาลส่งผลลบต่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา   ทำให้บรรษัทยาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย โดยอ้างว่ามาตรการส่งเสริมการเข้าถึงยาของรัฐบาล เช่น การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ส่งผลลบต่อการลงทุนทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นนี้อาจเป็นการข่มขู่ที่น่ากลัวและเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยอาจไม่กล้าออกมาตรการในการลดราคายา: ธนาคารโลกประมาณการว่าถ้ารัฐบาลไทยใช้สิทธิตามสิทธิบัตร จะลดราคายาต้านไวรัสเอ็ดส์สูตรสองได้ร้อยละ   90 รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ได้ถึง 3.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2568.

สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและประชากรไทยได้เดินขบวนและส่งเสียงความห่วงใยต่อรัฐบาลในการเจรจากับสหภาพยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อราคายา เมล็ดพันธุ์ และผลิตผลการเกษตรในประเทศไทย ได้ร้องเรียนว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาสังคม ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ที่จัดโดยรัฐสภาไทยเป็นการหลอกลวง สัปดาห์ที่แล้วพลเมืองและนักกิจกรรมไทยกว่า 1,500 คนชุมนุมกันด้านนอกทำเนียบรัฐบาลเพื่อบอกกล่าวความกังวลของพวกเขา

สหภาพยุโรปควรละเว้นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์, ข้อบทว่าด้วยการลงทุน และเลิกใช้เอฟทีเอเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผลประโยชน์ทางการค้าของอุตสาหกรรมยาอย่างผิดๆ โดยไปทำลายโอกาสทางนวัตกรรมและการเข้าถึงยาในประเทศไทย

"สหภาพยุโรปควรรับรองว่า นโยบายการค้าของสหภาพยุโรปจะต้องตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สร้างการเข้าถึงยา สหภาพยุโรปต้องพิจารณาบริบทของพรมแดนและผลกระทบที่เกิดจากข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของตน การตั้งกำแพงการผูกขาดมีแต่จะทำให้ความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพและการพัฒนาดำรงอยู่ในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทสกำลังพัฒนา" นางสาวเลย์ลา โบดอกซ์ แห่ง อ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.บอยคอตไทยพีบีเอส กรณีผังโยงบีอาเอ็น เทียบ “ดาวสยาม” 6 ตุลา

Posted: 07 Mar 2013 09:54 PM PST

ด้านคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ส.ส.ท. เผยผลการพิจารณา การนำเสนอมีความผิดตามจริยธรรมวิชาชีพ ขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล เลขาธิการ สนนท. ยันเคลื่อนต่อ ผลการพิจารณาไม่ตอบข้อเรียกร้อง

 

7 มี.ค.56 เวลา 14.20 น.  ที่บริเวณหน้า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส(Thai PBS) หลักสี่ กรุงเทพฯ นักศึกษาจาก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(PNYS) ประมาณ 100 คน เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตร เพื่อติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้มายื่นข้อเรียกร้องไว้เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกแถลงการณ์กล่าวขอโทษกรณีการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสผ่านรายการ "ข่าวเด่น ประเด็นใต้" เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา (คลิกเพื่อชมรายงาน)ว่านักศึกษากลุ่มนี้เชื่อมโยงกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN-Coordinate รวมทั้งให้ชี้แจงแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อคลายความสงสัยข้องใจ ระบุองค์กรหรือนักศึกษาเป็นรายปัจเจกว่าเกี่ยวข้องกับ BRN-Coordinate อย่างไร พร้อมแสดงหลักฐานที่ชัดเจน และเปิดพื้นที่สาธารณะทางสื่อเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวหรือ สนนท. ได้เข้าร่วมพูดคุยและนำเสนอการทำงานขององค์กร

โดยนักศึกษามองว่าการนำเสนอข่าวผิดดังกล่าวทำลายการทำงานด้านสันติภาพและประชาธิปไตยที่ทำมาอย่างยาวนาน พร้อมเปรียบเทียบผังที่ไทยพีบีเอสโยงนักศึกษากับกลุ่มขบวนการฯที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เหมือนกับผังล้มเจ้าที่ศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. สร้างขึ้นเพื่อทำลายผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 รวมทั้งบทบาทของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเหมือนวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามสมัย 6 ตุลา 19 ที่นำเสนอข่าวใส่ร้ายและทำลายภาพลักษณ์ของนักศึกษาเป็นชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค.19

นอกจากนี้นักศึกษายังมีการจัดกิจกรรมในชื่อ "เสวนากลางแจ้ง Thai PBS สื่อที่ต้องรับผิดชอบ หัวข้อ สื่อ ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย" บริเวณหน้า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมี นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานที่ปรึกษา สนน.จชต. ร่วมเสวนา และ กล่าวด้วยว่านักศึกษามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนในพื้นที่ให้ความไว้วางใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะกำจัดนักศึกษาและสิ่งที่นักศึกษานำเสนอ นายอาเต็ฟ ยืนยันว่านักศึกษาที่ทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นพวกที่รักสันติ ต้องการสู้ในแนวทางประชาธิปไตย

นายจามาล กีไร ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชน นักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์นี่เป็นการผลักนักศึกษาโดยหวังว่าจะไม่ให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสันติภาพ แต่ผลกลับตรงกันข้ามเพราะมีนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอของไทยพีบีเอส เข้ามาร่วมกิจกรรมากขึ้น รวมทั้งนักศึกษาในพื้นที่จะบอยคอตไทยพีบีเอส จนกว่าจะได้รับคำตอบ และจะกล่าวหาว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อในบังคับของเผด็จการอำมาตย์กลับด้วย

กิจกรรมเสวนากลางแจ้ง

ทั้งนี้บริเวณที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวจัดกิจกรรมเป็นป้ายรถโดยสารประจำทาง ทำให้กลุ่มเสื้อแดงที่เสร็จจากการจัดกิจกรรมนักโทษการเมืองที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ซึ่งอยู่บริเวณนั้น ประมาณ 100 คน ได้เข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดย น.ส.วิ ศรแดง ตัวแทนกลุ่มเสื้อแดง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในวงเสวนาว่า ไทยพีบีเอสเป็นสื่อของประชาชน แต่ไม่ค่อยจะเข้าข้างประชาชนเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เหมือนกับที่เสื้อแดงถูกล่าวหาว่าและโยงเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้พวกตนผ่านมาเห็นนักศึกษาชุมนุมอยู่จึงเข้ามาดูเพราะคิดว่าต้องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสื่อนี้แน่นอน รวมทั้งตนเองและพวกจะสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มนี้ต่อไปด้วย

จนกระทั้งเวลา 16.00 น. นักศึกษากลุ่มนี้จึงได้ยุติการชุมนุม พร้อมแสดงความไม่พอใจจากการที่ไม่ได้รับคำตอบจากทางไทยพีบีเอส และประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นการรณรงค์บอยคอตไทยพีบีเอสในการนำเสนอประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสันติภาพ และจะมีการกลับมาทวงถามความคืบหน้าในสัปดาห์หน้า รวมทั้งจัดเวทีเสวนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถจัดได้เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น

 

เผยผลพิจารณา ชี้ นำเสนอมีความผิดตามจริยธรรมวิชาชีพ

ในช่วงค่ำของวันเดียวกันได้มีการเผยแพร่ผลการพิจารณา จากมติในที่ประชุมของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ชี้ว่า การนำเสนอข่าวเด่นประเด็นใต้ ในหัวข้อ "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม" เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 มีความบกพร่องเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ไม่เปิดเผยแหล่งข่าวหรือผู้ให้ข้อมูลที่ต้องอ้างถึง ทั้งที่การนำเสนอข่าวสามารถอ้างแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อที่ 10 คือ "จริยธรรมด้านการปกป้องและการปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม" ข้อที่ 12 คือ "จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมืองและนโยบายสาธารณะ" และข้อที่ 13 คือ "จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์ความขัดแย้ง การชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ การปราบปรามที่รุนแรง การก่อการร้าย และภาวะสงคราม" โดยสรุปที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้

1. การนำเสนอข่าวชิ้นดังกล่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล

2. การนำเสนอข่าวยังขาดความรอบด้าน ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว

3. เห็นสมควรให้มีการเยียวยา และเปิดพื้นที่เพื่อการนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน โดยให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ

4. ให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว

โดยคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ตัวแทนนักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งเป็นประธานในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

 

เลขาธิการ สนนท. ยันเคลื่อนต่อ ผลการพิจารณาไม่ตอบข้อเรียกร้อง

ภายหลังจากทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการดังกล่าว นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวจะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะมีการจัดวงเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และยกกรณีไทยพีบีเอสเป็นตัวอย่างถึงบทบาทของสื่อกับการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย รวมทั้งกระบวนการของแก้ปัญหาของไทยพีบีเอสต่อกรณีนี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด ต้องรอคำตอบจากผู้บริหารไทยพีบีเอสอีกทีในการที่จะแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพราะข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มตนร้องไปคณะอนุกรรมการฯ ก็ยังไม่ได้มีคำตอบสักข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำเสนอ การแสดงการขอโทษจากกรณีการนำเสนอข่าวดังกล่าว

เลขาธิการ สนนท. กล่าวด้วยว่าทาง สนนท. และเครือข่ายจะมีการไปยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกำกับไทยพีบีเอสอีกทีหนึ่งด้วย แต่ยังไม่ได้มีการระบุวันที่จะไปยื่นที่แน่นอน

 

ภาพบรรยากาศการชุมนุม :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย รพ.เอกชนบางแห่งจ่ายใต้โต๊ะให้นำคนเจ็บส่งรพ.ของตนหวังได้เงินอุดหนุน

Posted: 07 Mar 2013 09:47 PM PST

เวทีการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ "ศ.นพ.ไพบูลย์" เปิดข้อมูล รพ.เอกชนบางแห่งจ่ายใต้โต๊ะให้นำคนเจ็บส่งรพ.ของตนหวังได้เงินอุด หนุนจากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัย ปภ.ชูโมเดล กระจายการแพทย์ฉุกเฉินสู่ท้องถิ่น โดยให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพ

 
8 มี.ค. 56 - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 (National EMS FORUM 2013) ภายใต้ประเด็นหลัก คือ"ภาคีการแพทย์ฉุกเฉินไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน" โดยได้มีการเสวนาในหัวข้อ "เติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินไทย" เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนและการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
 
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สิ่ง ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้คือเราไม่มีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานโดยเฉพาะใน เรื่องของการดูแลเรื่องระบบสุขภาพผู้ป่วยหลายองค์กรหลายหน่วยงานไม่มีธรรมา ภิบาล กองทุนบางกองทุนที่จะต้องมาช่วยเรื่องสุขภาพของประชาชนแต่ก็ไม่ได้รับการนำ เงินมาใช้อย่างเต็มที่ หรือบางครั้งโรงพยาบาลเอกชนเองยังจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับอาสาสมัครเพื่อให้นำ คนเจ็บมาส่งที่โรงพยาบาลของตนเองเพื่อให้ตนเองได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุน คุ้มครองผู้ประสบภัยครั้งละ 15,000 บาท ซึ่งเงินจากกองทุนตรงส่วนนี้ตนก็ไม่เคยเห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์เลยแม้ แต่บาทเดียว นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญในการจัดทำแผนที่ทรัพยากร เหมือนกรณีของซานติก้าผับก็จะต้องจัดทำการถอดบทเรียนและจัดทำแผนที่ว่าหาก เกิดกรณีแบบซานติก้าผับขึ้นมาการเข้าไปช่วยเหลือควรเป็นในรูปแบบไหนและรพ.ใด ที่จะสามารถรับการรักษาต่อผู้ป่วยอาการเหล่านี้ได้
 
"ตนอยากฝากถึง ผู้ดูแลเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินในระดับมหภาคซึ่งอยู่กลไกส่วนกลางจะต้องคิดใน อนาคตคือทำงานให้ได้น้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และจะต้องกระจายอำนาจให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมนั่งในโครงสร้างของ การบริการระดับจังหวัด  ถ้าคนในส่วนกลางอยากจะช่วย จะต้องลงไปในพื้นที่และหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ให้เจอและสนับสนุนให้ เขาได้เติบโตเป็นเมล็ดพันธ์ที่งดงาม เราต้องปล่อยให้สำนักร่วมขับขานและปล่อยให้ร้อยบุปผาร่วมประชันโฉม"คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าว
 
มล.กิติบดี  ประวิตร   ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การกู้ชีพในยุคปัจจุบันของประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร จากข่าวในทีวี ที่เมื่อก่อนมีการดึงแขนดึงขา เพื่อช่วยเหลือคนเจ็บเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก้าวไกลมากกว่าเดิมแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราต้องมาพูดคุย และหาทางการจัดการแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งนี้ปภ.เอง ได้ตั้งขึ้นมาประมาณ 10 ปีแล้ว โดยมีแนวทางการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทางเราได้ให้การช่วยเหลือเยอะมาก  ซึ่งการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัว หันมาเน้นการป้องกันเหตุการณ์ก่อนเหตุกันมากขึ้น นอกจากนี้ทางปภ.เองสิ่งที่เราเน้นที่สุดคือการพัฒนาคน เพราะภัยที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ที่ผ่านจะเห็นว่ารัฐสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือในการเข้าถึงส่วนใหญ่ จะเป็นภาคประชาชน และหน่วยกู้ภัยเป็นหลัก การที่จะพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว จะใช้งบประมาณเยอะมาก ฉะนั้นทางปภ.เองจึงพยายามผลักดันในการพัฒนาภาคประชาชนเป็นอย่างมาก
 
มล.กิติบดี   กล่าวต่อว่า บทบาทของปภ.ในวันนี้ เราบอกชัดเจนว่า เราเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวกลางประสานเชื่อมต่อซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดย สพฉ.รวมถึงหน่วยกู้ภัยอื่นๆ ได้อย่างน่าพอใจ ขณะที่การแจ้งเหตุผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค อยู่ในความน่าพอใจ ประชาชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก  แม้การเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ค จะได้รับการตอบรับที่ดี  แต่สิ่งที่เราต้องเน้นและต้องคำนึงถัดมาและต้องพัฒนา คือการแบ่งเขตพื้นที่ในการบริการที่ต้องมีอย่างทั่วถึงไม่ ใช้เวลาไม่นาน เช่น เมื่อมีการแจ้งเหตุแล้ว จะทำให้ล้อหมุนภายใน 1 นาทีเพื่อทำการช่วยเหลือได้อย่างไร เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามตนอยากเสนอโมเดล ที่อยากให้ อบจ.ในแต่ละจังหวัดมาเป็นเจ้าภาพพร้อมทั้งมาตั้งสถานีรับแจ้งเหตุให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีอบต.เป็นผู้ดูแลควบคุมถัดมา ที่เหลือซึ่งเป็นจำนวนบุคคลากร ให้นำอาสาสมัครท้องถิ่นเข้ามาร่วม ซึ่งเหมือนกับที่ประเทศฮอลแลนด์ ที่ศูนย์ๆ หนึ่ง มีเจ้าหน้าที่มาประจำรับแจ้งเหตุและคอยประสานงานเพียง 2 คนเท่านั้น โดยแบ่งเป็นกะเป็นเวรมาทำงาน บุคลากรที่เหลือเป็นอาสาสมัครในท้องถิ่น  ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ต้องมาพูดคุยและผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป 
      
 ด้าน น.ส. สกาวรัตน์  สมสกุลรุ่งเรือง ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู การทำงานของมูลนิธิเราได้พัฒนากันมากขึ้น และจับมือสานสัมพันธ์กันมากขึ้นเพราะ สพฉ.ได้เข้ามาช่วยเป็นหน่วยงานกลางในการลงทะเบียนสานสัมพันธ์ในการทำงานกัน ทำให้การประสานงานและการทำงานของพวกเราเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และเราสามารถประสานการทำงานในจังหวัดใกล้เคียงได้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่ รุนแรง ทั้งนี้ในส่วนที่สองในเรื่องของการฝึกอบรมบุคลากรนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราได้รับการถ่ายทอดความรู้จากสพฉ.และเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปถ่าย ทอดต่อได้อีกด้วย  เช่นโครงการอบรมครู ก อาสาฉุกเฉินชุมชน อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาเราภาคเอกชนต้องพบเจอคือปัญหาการจ่ายซองใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่กูชีพของรพ.เอกชน ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้คนที่มีจิตอาสา มีอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงไป และทำให้คนที่เคยรักกันทะเลาะกันแบ่งแยกกลุ่มกัน ต้องฝากภาครัฐเข้าไปแก้ไขในเรื่องนี้ที่เรื้อรังกันมาหลายปีด้วย 
 
ตัวแทนจากมูลนิธิ ร่วมกตัญญูกล่าวว่า ทั้งนี้มูลนิธิของเราเองก็พยายามรณรงค์ไม่ให้มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้การช่วยเหลือประชาชนผิดพลาดแทนที่จะส่งรพ.ใกล้ที่สุด แต่กลับไปส่งรพ.อื่นที่ไปรับเงินมาจะยิ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชน มีมากขึ้น ซึ่งเกือบทุกโรงพยาบาลเอกชนมีการจ่ายใต้โต๊ะแทบทั้งสิ้น เราพยายามไม่อยากให้เกิดปัญหาตรงส่วนนี้แต่ปัญหานี้แก้ได้อย่างยากลำบากมาก เราพยายามให้ความรู้และความเข้าใจกับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของเราทุกๆคน เพราะมันไม่ได้เสียแค่ตัวบุคคลแต่เสียทั้งองค์กรด้วย
 
"อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีภาคเอกชนนัดรวมตัวกันออกรถตู้พยาบาลไม่ติดตราสัญลักษณ์ เข้าไปนำผู้ป่วยไปส่งต่อยังโรงพยาบาลที่เขาไปรับงานนอก การทำแบนนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมีชีวิตรอดปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเขาเสียชีวิตใครจะมารับผิดชอบในส่วนนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการและดูแลในเรื่องนี้โดยด่วนด้วย"ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญูกล่าว
 
นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์  นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า  การจัดการในส่วนของการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ขณะที่เขตรอบเมืองท้องถิ่นยังครอบคลุมน้อยมาก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าทั้งถิ่นเช่น อบต.มีข้อจำกัดในหลายๆเรื่อง ทั้ง งบประมาณ บุคคลากร อีกทั้งยังมีเรื่องที่ต้องทำที่ต้องพัฒนาท้องถิ่นอีกหลายเรื่อง ทำให้บางท้องถิ่นมีการมองข้ามเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินไป อย่างเรื่องงบประมาณ อาจมีความกังวลถ้าทำไปแล้วอาจถูกตรวจสอบโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ทำการเรียกเงินคืนได้  นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับนายกฯอบต.แต่ละท้องที่ด้วยว่า ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่  แต่โดยรวมแล้ว ยืนยันว่าท้องถิ่นทุกแห่งยังมีความจำเป็นในการจัดการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน  เพราะนอกจากคนท้องถิ่นที่จะได้ประโยชน์แล้ว คนนอกพื้นที่ ที่ต้องขับรถ นั่งโดยสารไปยังท้องที่ต่างๆ ก็ยังได้ประโยชน์หากเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย 
 
 นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่าแม้การแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นยังมีช่องว่าง ด้วยเหตุผลในหลายๆอย่าง แต่เราสามารถดำเนินการบริหารจัดการตรงนี้อย่างเป็นระบบได้ โดยอยากเสนอให้ ทางจังหวัดแต่ละแห่งเป็นแม่งาน และมาคิดต่อว่า การตั้งจุดบริการไว้ที่ไหน เพื่อให้มีการคลอบคลุมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การที่จะนำส่งโรงพยาบาล หากมีบริเวณไหนทำการส่งผู้ป่วยเกิน 8 นาที จำเป็นต้องเพิ่มจุดบริการหรือไม่ เพื่อช่วยร่นเวลาให้น้อยลง ขณะที่อาสาสมัครก็ไม่ต้องหาที่ไหนไกล เอาคนในพื้นที่ เพราะปัจจุบันนี้ คนในท้องถิ่นมีจิตอาสาที่สูงเพราะเห็นตัวอย่างทั้งจากดารานักแสดงมาเป็นอาสาสมัครกันจำนวนมากซึ่งทั้งหมดนี้ ทั้งโรงพยาบาล ท้องถิ่น  รวมถึงมูลนิธิ ต่างๆ ต้องมานั่งพูดคุยกัน ว่าจะตั้งจุดบริการที่ไหน เพื่อจะได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้ง100 เปอร์เซ็นต์ และให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ส่วนเรื่องสายด่วน  1669 ต้องยอมรับว่า ขณะนี้คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังเข้าไม่ถึง  เพราะด้วยตัวเลขที่จำยาก เป็นไปได้หรือไม่ ที่ควรมีหมายเลขเดียวเหมือนเช่นในต่างประเทศ เพื่อที่จะให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย  ส่วนการอบรมเพื่อพัฒนาคน เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรเพิ่มเนื้อหาอย่างอื่นไปด้วยหรือไม่เช่น การรู้เท่าทันภัยพิบัติที่ไม่เคยเจอ เช่น สารเคมี สารมีพิษเป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เปิดเวทีถกร่าง กม.หลักประกันธุรกิจเปิดทางนำทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกัน

Posted: 07 Mar 2013 09:23 PM PST

พบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีแค่ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง เท่านั้น เพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

 

8 มี.ค. 56 - ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยในงานเสวนา "ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... กับทรัพย์สินทางปัญญา"ณ ห้องประชุมศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเน้นไปที่การนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งจะพบว่าระบบกฎหมายหลักประกันในประเทศไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง หลักประกันอย่างอื่นนั้นเป็นเพียงความพยายามของนักกฎหมายที่จะต้องดัดแปลงข้อกฎหมายเพื่อความสะดวกในวงการธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก หรือรายย่อย มีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ต่ำลง สามารถทำการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักประกันในรูปแบบที่ 4 ขึ้น กล่าวคือ ให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าคงคลัง มาเป็นหลักประกันได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ผู้รับหลักประกันยึดถือไว้ดังเช่นการจำนำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ศ.ดร.กำชัย กล่าวว่า ผู้ประกอบกิจการสามารถนำกิจการทั้งกิจการมาเป็นหลักประกันได้ เช่น กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กิจการร้านขายอาหาร รวมไปถึงการนำทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินชนิดอื่นมาเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ในเชิงนโยบาย ร่างฯ ฉบับนี้ มีผู้เห็นด้วยหลายภาคส่วน ทั้งวงการธนาคาร ภาคธุรกิจต่าง ภาคการเมือง รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจได้นำร่างฯ ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
 
นายบุญมา เตชะวณิช ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า การมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้เป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งตนเห็นด้วยมาตลอด และพบว่า ระบบกฎหมายไทยสมควรที่จะมีกฎหมายหลักประกันที่นอกเหนือจากค้ำประกัน จำนำ จำนอง ความสบายใจ ความเชื่อมั่นของผู้ที่จะให้สินเชื่อเท่านั้นมีความสำคัญ รวมทั้งกระบวนการบังคับคดีต้องน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้มีการบังคับคดีได้โดยง่ายเกินไป ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การตีราคาทรัพย์สินทางปัญญาว่าจะทำการตีราคากันอย่างไร มีแนวคิดว่าจะต้องทำการตีราคาในขณะที่ทำการบังคับ โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ ทางบัญชี
 
นายบุญมา กล่าวว่า หลักการใหญ่เห็นด้วยกับร่าง พรบ.นี้ แต่มีข้อสังเกตคือตามมาตรา 8 นั้นกำหนดไว้ว่าทรัพย์สินประเภทใดสามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ 5 ประเภท ในการนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิเด็ดขาดอย่างหนึ่ง โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ในกรณีของทรัพย์สินมีทะเบียน คำนิยามบอกว่า ทรัพย์สินมีทะเบียนคือทะเบียนกรรมสิทธิ์ แต่ทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีการจดทะเบียน ที่มีการจดลิขสิทธิ์นั้นเป็นการจดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
 
"ทั้งนี้ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีทะเบียนคุมง่ายกว่า แต่จะมีปัญหาในกรณีของการเพิกถอน ผู้ที่รับหลักประกันนั้นจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกเพิกถอน ทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าจะเขียนคำนิยามให้กว้างขึ้นได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามระบบการจัดเก็บทะเบียนนั้นในส่วนของทะเบียนกิจการต่างๆ อยู่ในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญานั้นอยู่มี่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าควรให้เป็นอีกหนึ่งนายทะเบียนหรือไม่"
 
นายบุญมา กล่าวด้วยว่า ยังมีปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์ ซึ่งตามหลักแล้วไม่มีทะเบียน เป็นการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายโดยอัตโนมัติและในกรณีของความลับทางการค้า วิสัยของเจ้าของก็คงไม่อยากให้ใครรับรู้ นอกจากนี้การได้ทรัพย์สินไปในทางการค้าปกติ ควรจะมีการกำหนดหรือไม่ว่าหากมีการทุจริตนั้นจะไม่ได้ไปโดยปลอดหลักประกัน
 
ศาสตราจารย์(พิเศษ)วิชัย อริยะนันทกะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า สิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหลักประกันการชำระหนี้ การค้าระหว่างประเทศในยุคแรกคือการค้าสินค้าที่มีรูปร่าง แต่ในปัจจุบันมูลค่าการค้าที่สูงมากคือ Intangible Property บริษัทใน Fortune 500 นั้นก็เป็นบริษัทที่ประกอบรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา หากระบบกฎหมายใดไม่สามารถนำทรัพย์สินประเภทนี้มาเป็นหลักประกันได้ก็จะเกิดปัญหา ทั้งระบบหลักประกันเดิมซึ่งมี 3 ประการนั้น ก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว
 
"การปฏิรูปกฎหมายไทยในอดีตนั้นเกิดจากความจำเป็นทั้งสิ้น เพียงแต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญามากนักในสมัยนั้น จึงยังไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ใช่ทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์"
 
ศาสตราจารย์(พิเศษ)วิชัย กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีการบังคับอย่างรวดเร็ว ควรจะมีการแยกออกมาเป็นพิเศษ ขณะที่ปัญหาระบบจดทะเบียน เป็นปัญหาของราชการทั่วโลกสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีระบบทะเบียน เช่น ลิขสิทธิ์ ระบบจดทะเบียนหรือจดแจ้งลิขสิทธิ์ในอเมริกานั้นก็เกิดปัญหามาก ประชาชนมักจะอ้างอิงรัฐ ทั้งๆ ที่กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์คุ้มครองตั้งแต่มีการสร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ขึ้นมา เกิดปัญหาการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เช่น กรณีการจดลิขสิทธิ์กงเต๊ก จึงเห็นว่าไม่ควรสร้างระบบการจดทะเบียน จดแจ้งขึ้นมา เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดดำเนินการเป็นผลสำเร็จ
 
"การตั้งองค์กรการตีราคานั้น มีความเกาะเกี่ยวกับศาลทรัพย์สินฯ เนื่องจากการฟ้องคดีแพ่งนั้น ความเสียหายของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญานั้น การตีราคาจะต้องมีการใช้หลักวิชาบัญชีต่างๆ มาประกอบด้วย มิใช่เพียงแต่เป็นการใช้ดุลพินิจ"
 
ศ.ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ศาสตราภิชาน ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าหลักประกันซึ่งเกิดปัญหาขึ้น จะมีการเฉลี่ยกันอย่างไร เนื่องจากการบังคับคดีของทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีความยุ่งยาก การตีราคานั้นสถาบันการเงินก็ยังไม่มีความเชี่ยวชาญพอในการตีราคาทรัพย์สินทางปัญญา
 
ศ.สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิชาชีพกฎหมายชั้นสูงสภาทนายความ กล่าวว่าโดยหลักการเห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะต้องใช้กฎหมายฉบับนี้ หากจะต้องออกกฎหมายเฉพาะอีกฉบับนั้นก็คงไม่มีความจำเป็น เพียงแต่จะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในขอบเขตของคำนิยามคำว่ากิจการอยู่แล้ว การซื้อกิจการนั้น รวมหมดทั้งทรัพย์ที่มีรูปร่าง เช่น เครื่องจักร และรวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาหรือแรงงานคนด้วย ในคำนิยามตามมาตรา 8 นั้น หากต้องการให้มีความชัดเจนมากขึ้นอาจจะทำการเขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่ารวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาได้ด้วยหรือไม่ประเด็นปัญหา คือ กรณีที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาแยกออกมาเป็นหลักประกันต่างหากจากกิจการได้หรือไม่
            
ศ.สุชาติ กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันมาก จึงมีปัญหาของตนเองโดยเฉพาะ เช่น ความลับทางการค้า มีหนังสือจดแจ้งเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น จะเป็นหลักประกันได้หรือไม่ สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อหรือไม่หากไม่ทราบรายละเอียด หากมีการเปิดเผยก็จะหมดสภาพการเป็นความลับทางการค้าไป การตีราคาความลับทางการค้าจะทำอย่างไร หรือในกรณีของ GI (Geographical Indication) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิของเฉพาะบุคคล แต่ GI นั้นเป็นสิทธิที่ยึดต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ แล้ว GI คืออะไร จึงมีประเด็นปฏิบัติอย่างมาก นอกจากนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำการเขียนไว้ว่าจะต้องมีลักษณะร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะสามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ เช่น จะต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจดทะเบียนได้หรือไม่
 
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์  อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันนั้น โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถให้กู้ได้ทั้งหมด จะต้องมีการเขียนแผนธุรกิจมาประกอบการขอกู้ด้วย อาจอยู่ในคำนิยามของกิจการอยู่แล้ว ทั้งนี้จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของร่างฯ นี้ คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยการนำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันนั้นโดยหลักจะเป็นผู้ประกอบกิจการรายเล็กรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ รายใหญ่คงไม่นำทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันมากนัก ส่วนการนำเครื่องหมายการค้าเป็นหลักประกันนั้นอาจจะเป็นไปได้ แต่สิ่งที่จะมีปัญหาคือสิทธิบัตร เพราะสิทธิบัตรนั้นจะต้องมีการลงทุนอีกมากในวงเงินที่สูง อาจจะมีการตั้งองค์กรตีราคาหรือผู้เชี่ยวชาญในการตีราคา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสวัสดิการกับเรื่องผู้หญิง

Posted: 07 Mar 2013 09:03 PM PST

 
การกดขี่ผู้หญิงมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะในรูปแบบของภาระหน้าที่ที่ต้องเผชิญ ทัศนคติทางวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียมในสิทธิระหว่างหญิงชาย หลายปีที่ผ่านมากลุ่ม องค์กรพัฒนาสังคมต่างๆพยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ดูเหมือนแนวทางในการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อลดการกดขี่ผู้หญิงจะไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเลย
 
ถามว่าการมีรัฐสวัสดิการจะช่วยลดการกดขี่ผู้หญิงอย่างไร?
 
คำตอบคือการมีรัฐเข้ามาแบ่งเบาภาระของผู้หญิง โดยการเข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องการตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาจะเอื้อให้ผู้หญิงมีโอกาสในการทำงานนอกบ้านมากขึ้น และการมีอำนาจในทางเศรษฐกิจจะทำให้ผู้หญิงดูแลตนเองได้ และเพิ่มอำนาจการต่อรองแทนการพึ่งพา  รูปธรรมที่ชัดเจนที่บอกว่า รัฐสวัสดิการช่วยลดการกดขี่ผู้หญิงได้จริง ตัวอย่างเช่นประเทศสวีเดนที่มีระบบรัฐสวัสดิการครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย สวีเดนช่วยลดการกดขี่ผู้หญิงโดยการนำเอางานบ้านและการเลี้ยงดูลูกมาเป็นภาระของรัฐด้วยนโยบายสวัสดิการสำหรับแม่และเด็กในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด รัฐออกกฎหมายให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหญิงเหล่านี้หยุดงานหรือเปลี่ยนงานได้ ในสภาวะที่ตัวงานไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพร่างกายและจิตใจ โดยการแจ้งนายจ้างล่วงหน้า 1 เดือน  นายจ้างจะต้องหางานที่เหมาะสมให้ หากไม่สามารถหาได้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าช่วยเหลือเป็นเงิน 50 วัน นอกจากนี้ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ยังได้เงินช่วยเหลือเป็นเงิน 80 % ของรายได้ต่อปี ตัวเลขคูณด้วย 0.989 แล้วหารด้วย  365 วัน ต่อปี เมื่อคลอดลูกแล้วก็สามารถลางานหรือหยุดงานไปเลี้ยงลูกได้เป็นเวลาถึง 1 ปี 3 เดือน ซึ่งการลางานในก็จะได้เงินค่าช่วยเหลือในรูปเงินทดแทนจากการขาดรายได้ และยังมีเงินช่วยเหลือเด็กอีก เด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือพ่อแม่เด็กเกษียณแล้ว ก็จะได้เงินช่วยเหลือจนกว่าเด็กจะอายุครบ 16 ปี หรือ 19 ปีในกรณีที่เด็กต้องเรียนต่อ เด็กสามารถได้รับค่าเลี้ยงดูจากรัฐเท่าๆกันหมดโดยที่ไม่สำคัญว่าเด็กคนนั้นจะต้องเป็นคนยากจนที่สุดหรือไม่
 
เมื่อเด็กคนหนึ่งเข้าสู่วัยเรียน รัฐสวัสดิการสวีเดนจัดให้มีการเรียนฟรี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจคือมีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนให้กับผู้พ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงานฟรี ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ดังนั้นผู้หญิงจึงมีอำนาจการต่อรองอย่างท่าเทียม โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างหรือผู้รับภาระเพียงผู้เดียวในการเลี้ยงดูบุตร สถานที่เลี้ยงเด็ก โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่รัฐตั้งขึ้นนั้น ก็มีคุณภาพเท่าเทียมกันหมด แม้แต่โรงเรียนเอกชนก็ยังให้เรียนฟรี โดยรับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ เด็กทุกคนจึงสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย เมื่อมีงานกิจกรรมที่โรงเรียนพ่อแม่เด็กสามารถลางานไปร่วมกิจกรรมของสมาคมผู้ปกครองได้ สิ่งนี้สะท้อนการเข้าใจต่อคุณภาพชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐพึงมีต่อพลเมืองของตน
 
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำแท้งเป็นเรื่องของสิทธิผู้หญิง ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะเลี้ยงดูเด็กที่จะเกิดมา หรือไม่ก็ได้ตามสิทธิในร่างกายและเนื้อตัวของตนเอง แม้แต่หญิงที่อายุต่ำกว่า 15  ปี ต้องการทำแท้งแล้วไม่ต้องการให้พ่อแม่รู้ เรื่องการทำแท้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ก็จะเก็บเป็นความลับ ในประเทศสวีเดนการทำแท้งถือเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และสถานบริการทำแท้ง เป็นสถานบริการที่ปลอดภัยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา เท่านั้นยังไม่พอยังมีการแนะนำการคุมกำเนิด และแจกจ่ายยาคุมกำเนิดฟรี ยังรวมไปถึงการทำหมันฟรีทั้งหญิงชายอีกด้วย
 
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างประเด็นเดียว เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงและเด็ก และรัฐสวัสดิการครบวงจรในประเทศสวีเดน  การสร้างรัฐสวัสดิการนั้น นอกจากเป็นการช่วยแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุด แล้วยังช่วยทำให้ผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  การกดขี่ทางเพศลดลง การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของผู้หญิงจึงไม่ควรแยกจากการเรียกร้องรัฐสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม  สิทธิความเท่าเทียมกับระหว่างหญิงกับชายที่พวกนักสตรีนิยมพูดซ้ำซากถึงต้นต่อปัญหา ว่าเกิดจากชายเป็นใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะผู้ถูกกดขี่ไม่ใช่มีเพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็ถูกกดขี่ในระบบทุนนิยมด้วย ดังนั้นการรณรงค์เรื่องสิทธิผู้หญิง เราจึงไม่ควรแบ่งเพศ ผู้ชายก็สามารถเข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้หญิงได้ การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ เราต้องรู้ว่าศัตรูคือใคร และต้องหลุดจากวาทกรรมลวงๆที่ชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือในการสลายพลังสามัคคีระหว่างเพศสักที
 
 
อ้างอิง: 
บุญส่ง ชเลธร (2553), รัฐสวัสดิการสวีเดน,
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานภาคเหนือออกแถลงการณ์วันสตรีสากล

Posted: 07 Mar 2013 08:38 PM PST

8 มี.ค. 56 - กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ และสมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน ออกแถลงการณ์ "วันสตรีสากล" เชิดชูบทบาทสตรี รวมพลังทุกชนชั้น ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์ "วันสตรีสากล"
เชิดชูบทบาทสตรี รวมพลังทุกชนชั้น
ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม
 
วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 
 
ใน ปี ค.ศ.1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก 
 
จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา และมี "คลาร่า เซทคิน"นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว 
 
บทบาท ของ"คลาร่า เซทคิน" นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ 
 
เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน
 
คลาร่า เซทคิน มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"
 
ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
 
อย่างไรก็ตามแม้การเรียก ร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น 
 
ต่อ มาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
 
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 
 
คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน 
 
พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย 
 
ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล 
 
ย้อน มองสังคมไทย ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในสังคมไทย ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากในโลกทุนนิยม ก็หาได้ยอมจำนนต่อระบบทุนนิยมที่เอารัดเอาปรียบผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานกลายเป็นเพียงสินค้า เป็นเพียงปัจจัยการผลิตเสมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งในสายพานการผลิต ผู้ใช้แรงงานก็ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเสมอมา ทั้งเรื่องการปรับปรุงสภาพการจ้าง การคุ้มครองหลักประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ก้าวสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่น กัน
 
การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานนั้น เป็นการต่อสู้ทั้งระดับชีวิตประจำวัน และปัญหาทางโครงสร้างนโยบายกฎหมาย โดยมีทั้งระดับปัจเจกชน ระดับกลุ่ม ทั้งรูปแบบสหภาพแรงงาน และรูปแบบอื่นๆ เช่น กลุ่มย่านต่างๆ 
 
เช่น เดียวกัน การต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย เพื่อประชาธิปไตย ในสังคมไทยห้วงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีผู้หญิงจำนวนมากหลากหลายฐานะ อาชีพ ชนชั้น ตลอดทั้งผู้ใช้แรงงาน
 
โดยมีเป้าหมายเดียวกัน "อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน" มีความเชื่อว่า "ทุกคนเท่ากัน" "ไพร่ก็มีหัวใจ" ได้ต่อสู้อย่างอดทน เผชิญกับความยากลำบาก อย่างไม่ท้อถอยในนาม "คนเสื้อแดง"
 
"วันสตรีสากล"  จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้ความทรงจำกับผู้หญิงผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกได้ตระหนักการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ ดีกว่า เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาคและเพื่อประชาธิปไตย
 
สำหรับสังคมไทยแล้ว วันสตรีสากลในปีนี้ ย่อมทำให้ต้องตระหนักว่า สิทธิของผู้ใช้แรงงาน และระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้
 
เฉกเช่นการต่อสู้ของ "คลาร่า เซทคิน" มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล ผู้ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงาน และคัดค้านอำนาจนิยมเผด็จการฮิตเลอร์เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย 
 
กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ
สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน(สสร.)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น