โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วาติกันเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่จากอาร์เจนตินา

Posted: 13 Mar 2013 12:55 PM PDT

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระคาร์ดินัลจากทวีปอเมริกาใต้ และครั้งแรกในรอบกว่าพันปีที่พระสันตะปาปาซึ่งไม่ได้มาจากทวีปยุโรป ได้รับเลือกเป็นมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม โดยพระองค์จะใช้ชื่อภาษาละตินว่า 'ฟรานซิสที่ 1'

14 มี.ค. 56 - ราว 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงโรม ประเทศอิตาลี มีรายงานว่าการประชุมคัดเลือกพระสันตะปาปาได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากคณะพระคาร์ดินัลเริ่มหารือในวิหารน้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ณ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา โดยได้เลือกคาร์ดินัลจากอาร์เจนตินา จอร์เก้ มาริโอ เบอร์กอกลิโอ วัย 76 ปี เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หลังจากที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว

พระสันตะปาปาองค์ใหม่ลำดับที่ 266 นี้ มีกำหนดจะใช้ชื่อภาษาละตินว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 1 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระคาร์ดินัลจากทวีปอเมริกาใต้ และครั้งแรกในรอบกว่าพันปีที่พระสันตะปาปาซึ่งไม่ได้มาจากทวีปยุโรป ได้รับเลือกเป็นมุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม ในฐานะผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก 

การประกาศดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ควันสีขาวออกมาจากปล่องควันของวิหารน้อยซิสทีน ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารกับสาธารณะว่าคณะพระคาร์ดินัลได้เลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่สำเร็จ โดยการเลือกในครั้งนี้ มีพระคาร์ดินัลทั้งสิ้น 115 รูป ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ขึ้นไป หรือคิดเป็น 77 คะแนนเสียง

มีรายงานว่า ในการเลือกพระสันตะปาปาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เบอร์กอกลิโอเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสีรองจากราตซิงเงอร์ หรือพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มากที่สุด 

พระสันตะปาปาฟรานซิส ใช้เวลาทำงานในอาร์เจนตินาเป็นส่วนใหญ่ และมุ่งมั่นเรื่องความยุติธรรมทางสังคม อย่างไรก็ตาม เขายังอยู่ในเทววิทยาสายอนุรักษ์นิยม เมื่อเร็วๆ นี้ เขาคัดค้านการผ่านกฎหมายเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวของรัฐบาลอาร์เจนตินา 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา บอ.: รื้อวิธีคิด ‘บัณฑิตอาสา’-ทุกข์ยากของคนเล็กๆ-ความฝันและเสรีภาพ

Posted: 13 Mar 2013 11:24 AM PDT

 

13 มี.ค.56 สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อ "คนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยกับสังคมที่เป็นธรรม โดยกล่าวถึงความประทับใจในการทำงานกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี มธ.บทบาทและความสำคัญของป๋วยต่องานบัณฑิตอาสา

ในช่วงเวทีเสวนา "คนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อุเชนทร์ เชียงแสน อดีตเลขาธิการสหพันธ์ นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย , ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw , เพียงคำ ประดับความ อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร กวี-นักเขียน , ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS ดำเนินรายการโดย ดร. ภาสกร อินทุมาร อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เพียงคำ ประดับความ อดีตบัณฑิตอาสาสมัคร กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเองตกอยู่ในภาวะที่ไม่เชื่อว่า ตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ ความใฝ่ฝันที่เคยมีก็เก่าลงไปด้วย ความดี ความงาม ความจริง เริ่มพร่าเบลอ และไม่ค่อยเชื่อว่ามันมีอยู่ เมื่อเจอโจทย์นี้จึงไม่เชื่อว่าจะมีใครจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาสร้างสังคมนี้ให้เป็นธรรมได้ โดยเฉพาะปิดประตูคุยในห้องแอร์ในสถานศึกษานั้นยิ่งสะท้อนว่า การจะสร้างสังคมเป็นธรรมนั้นทำได้โดยคนมีการศึกษาเท่านั้น เหตุที่คิดอย่างนี้ เพราะเราได้ร่วมยุคสมัยกันในช่วงที่มีเหตุการณ์เชิงประจักษ์ทิ่มตำลูกตาเรา แล้วเกิดความสงสัยว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประเทศที่บอกตัวเองเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยเกือบร้อยปี ท้ายที่สุดได้ก่อเกิดคำถามว่า "เราเป็นคนหรือยัง"

"เรื่องความเป็นธรรม ไม่ต้องซับซ้อน เราย้อนกลับไปที่ความเท่าเทียมกันใหม่ ยังไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่น และอย่างน้อยที่สุด เราต้องเท่าเทียมกันทางกฎหมายก่อน เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเราคือ การมองคนไม่เท่ากัน เรายังต้องกลับมาเถียงกันอีกว่าใครมีสิทธิเลือกตั้ง อย่าเพิ่งไปฝันถึงอะไรถ้าเรื่องพื้นฐานแค่นี้ยังมองคนอื่นเป็นเท่ากันเรายังทำไม่ได้" เพียงคำกล่าว

เธอยังกล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะบัณฑิตอาสาสมัครเก่าว่า ตอนนั้นวาดฝันว่าตัวเองจะเข้าไปในหมู่บ้านที่ลำบากที่สุด ไฟฟ้าไม่มี ชาวบ้านใสซื่อ ไม่ถูกครอบงำด้วยทุนนิยมอันเลวร้าย แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่าบ้านของชาวบ้านเป็นตึกเป็นปูน จึงรู้สึกผิดหวังและขอย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านชนเผ่าตองเหลืองที่ต้องปีนเขาขึ้นไปเดินทางด้วยความยากลำบาก โดยคิดว่าตัวเองจะไปทำอะไรให้หมู่บ้านเขาดีขึ้น แต่ที่ไหนได้กลายเป็นภาระชาวบ้านเสียด้วย สิ่งเดียวที่ได้ในการลงพื้นที่ 7 เดือน ตามหลักสูตรบัณฑิตอาสาคือ การรู้จักการรอคอย

"ตรงนี้มันบอกว่า ตอนนั้นโคตรดัดจริตเลย เรามองว่าชาวบ้านเป็นอะไรที่ต่างจากเราหรือ ทำไมเราอยากจะสตาฟฟ์เขาไว้ในสังคมแบบเก่า ทัศนคติแบบนี้ คนจน ชาวบ้าน คนต่างจังหวัด เป็นได้แค่รอคอยการพัฒนา คนที่ทำอะไรได้มากกว่านั้นคือคนที่เป็นบัณฑิต ที่จะลงไปพัฒนาพวกเขา กรอบคิดแบบนี้ นำชาวบ้านสู่ โง่ จน เจ็บ แล้วมันสร้างปัญหา เมื่อเขาหย่อนบัตรเลือกตั้ง เสียงของเขาก็กลายเป็นเสียงไม่มีคุณภาพ มาจากมันสมองที่ไม่มีคุณภาพ"

"เราจะไม่สามารถสร้างสังคมที่เป็นธรรมได้ ตราบใดที่เราไม่สามารถมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่ทิ่มตาเราอยู่ สิ่งที่ทำก็คือ การที่เราเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความไม่เป็นธรรม"

เพียงคำยังเล่าเชื่อมโยงถึงประสบการณ์การเก็บข้อมูลญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่า สิ่งที่กระแทกอย่างจังคือ คนพวกนี้เป็นคนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นคนใช้ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ คนเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในวรรณกรรมไทย เขาเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศแต่เรามองไม่เห็นว่าเขาอยู่ที่ไหน หากเป็นเช่นนั้นก็ควรเลิกพูดถึงสังคมที่เป็นธรรม

นอกจากนี้เพียงคำยังพูดถึงกรณีที่ตัวเธอถูกรุ่นพี่บัณฑิตอาสาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเพจของโครงการบัณฑิตอาสาว่าเธอไม่เหมาะสมที่จะควรมาพูดในงานนี้ว่า พวกเขาให้เหตุผลว่าเพราะเธอ "แดง" นอกจากนี้ยังรื้อประวัติมามาว่าเคยเขียนกวีโต้กวีรัตนโกสินทร์ชิ้นที่เขียนก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ชื่อว่า "กบเลือกตั้ง" โดยเธอตั้งคำถามว่า การหมิ่นเนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั้นผิดด้วยหรือ และระบุเหตุผลที่ต้องวิจารณ์ ประณามบทกวีของเนาวรัตน์ว่า เป็นทัศนะที่มองคนไม่เท่าเทียม และทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

นาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า แม้ไม่ได้เรียนจบด้านข่าวโดยตรงแต่ก็ทำงานด้านนี้มาโดยตลอด เมื่อทำงานที่มติชนก็มีโอกาสเจอกับชาวบ้านที่เจอปัญหา ซึ่งอาจนิยามได้ว่าพวกเขาได้รับความไม่เป็นธรรม การจัดการโดยรัฐทำให้ชีวิตเขายากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านปากมูล กะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหลายๆ กลุ่ม เป็นต้น 2 ปีจากนั้นได้ไปทำข่าวหลายชิ้นที่เกี่ยวพันกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ได้รับความไม่เป็นธรรม และนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในทางที่ดีขึ้น จากนั้นไอทีวีก็ถูกซื้อหุ้นไป เธอและเพื่อนนักข่าวจำนวนหนึ่งได้เขียนแถลงการณ์คัดค้านการขายหุ้นของไอทีวี แล้วถูกไล่ออก แต่ยังคิดว่าสักวันหนึ่งจะมีสื่อที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานเกี่ยวกับชาวบ้านอีก คิดแต่ว่าคงมีสื่อที่ไม่ปล่อยให้ใครมาเทคโอเวอร์ได้อีก วันที่มีการตั้งไทยพีบีเอส ก็ไปสมัครงาน แม้หลัง 2549 เชื่อมาตลอดว่า ไม่มีดอกไม้งอกมาจากปลายกระบอกปืน แต่มันกลับมีไทยพีบีเอส และสุดท้ายต้องทำเพราะมันเป็นโอกาสแบบที่ต้องการ

นาตยาเล่าต่อว่า งานแรกคือการทำข่าวบางสะพาน ชาวบ้านสองกลุ่ม ลงพื้นที่จัดเวทีคุย งานที่ทำต่อเนื่องต่อประเด็นนี้นำสู่ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นแผนของประจวบฯ


เธอกล่าวถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์รุนแรงกลางกรุงเทพฯ ด้วยว่า ตอนนั้นมีไทยพีบีเอสแล้ว เธอทำข่าวและดูสถานการณ์ในเรื่องนี้โดยมองว่ามีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่เกิดความรุนแรงได้ไหม ส่วนเรื่องของอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งนั้น ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าสมัยใดคนตายมากกว่าย่อมผิดมากกว่า เพราะเพียงรัฐบาลเปิดช่องให้ใช้ความรุนแรงก็ผิดแล้ว นอกจากนี้ในช่วงนั้นไทยพีบีเอสยังถูกมองว่า พวกนำเสนอสันติวิธีอ่อนหัดเกินไปหรือเปล่า จนมันกลายเป็นเรื่องน่าอาย เรื่องนี้ก็คงถกเถียงกันไม่จบ แต่ก็ยังยืนยันจะทำงานต่อ

นอกจากนี้เรายังตั้งสมมติฐานว่า ความยากลำบาก ความไม่เป็นธรรมในชีวิตชาวบ้านเป็นต้นเหตุให้เขามาร่วมชุมนุม จึงเดินไปถามชาวบ้านซึ่งเขาก็ระบุถึงสาเหตุว่าเพราะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม และมีปัญหาในพื้นที่ เช่น กลุ่มปัญหาที่ดินที่ลำพูน แต่บนเวทีของแกนนำก็ไม่ได้เปิดให้พวกเขาได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาเหล่านี้ ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลาง เราก็ได้เดินทางตามเขาไปแล้วฟังเสียงเขาพูด เป็นลักษณะการทำงานแบบทำไปคิดไปว่าจะทำอะไรที่จะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้น มันอาจยังไม่ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยเราก็คิดอ่านกันว่าจะทำอะไร

อุเชนทร์ เชียงเสน อดีตเลขาฯ สนนท. ได้อ่านสิ่งที่เตรียมมาโดยเริ่มต้นจากการถกเถียงกันในเฟซบุ๊คเรื่องการคัดสรรวิทยากรว่า จากทัศนะดังกล่าวอาจสะท้อนได้ว่าหากนี่เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของบัณฑิตอาสาอาจมีปัญหา เพราะพื้นฐานที่สุดในการเรียนด้านสังคมศาสตร์คือ ต้องทำให้คนคิด เข้าใจโลกภายนอก เข้าใจสังคมที่สลับซับซ้อนได้ คนมีพื้นฐานแบบนี้ไม่น่าพูดได้ว่า อาจารย์แดงเป่าหูให้นักศึกษาแดง หรือเชื่อว่าวิทยากรจะมาเป่าหูคนอื่นได้ เพราะการคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานของการคิดง่ายๆ ว่า คนชนบทที่ลงคะแนนเสียงให้กับคนหรือพรรคที่ตนเองไม่ชอบนั้น ถูกหลอกลวง ขายเสียง ฯลฯ วิจารณ์ชาวบ้านที่ตัวเองเข้าไปจัดตั้งตามอุดมการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือชาวบ้านทั่วๆไป ว่าขาดจิตสำนึก และดังนั้น ภารกิจของนักพัฒนาคือ การสร้างจิตสำนึกให้กับพวกเขาเหล่านั้น

นอกจากนี้เขายังระบุว่าจะพูดในหัวข้อสังคมที่เป็นธรรมในแง่กระบวนการการเมืองและประชาธิปไตย โดยเชื่อมโยงกลับมาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ปัญหาข้อขัดแย้งที่สำคัญ อยู่ที่ "สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์" และ ตามคำอภิปรายของศิษย์เก่านั้น อัตลักษณ์ความเป็นแดงถูกผูกไว้กับประเด็นนี้โดยตรง อย่างความไม่พอใจต่อความเป็นแดงของวิทยากรบางคนที่ผูกกับบทบาทของเขาในการรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งพวกเขาเห็นว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้เมื่อคิดถึงความเป็นธรรมทางสังคมก็สนใจในแง่ของมิติกระบวนการด้านการเมือง-ประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายหรือรูปแบบของสังคมที่เป็นธรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราไม่สามารถที่จะบังคับคนอื่นให้มีเหมือนเราได้ แต่ในแง่กระบวนการนั้นไม่คำนึงถึงเป้าหมาย สังคมที่เป็นธรรม ต้องเปิดให้ผู้คนมีเสรีภาพ ได้แสดงออกซึ่งความเห็นของตนเองอย่างเต็มที่และอย่างเปิดเผย อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเราเองจะเห็นด้วยหรือไม่รวมทั้งการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อไปสู่จุดหมาย อย่างสันติ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหว การจัดตั้งพรรคการเมือง หรือผ่านสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้รวมทั้งประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวให้ปฏิรูปหรือยกเลิก เปลี่ยนจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐก็ตาม โดยไม่ต้องกลายเป็นอาชญากร ถูกดำเนินคดีหรือต้องโทษจำคุก

กระบวนการเหล่านี้สำคัญ เพราะ 1) จะไม่มีใครต้องสูญเสียเลือดเนื้อและอิสรภาพ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อุดมการณ์ ที่แตกต่างกัน เพราะ 2) เปิดโอกาสทุกคนสามารถแสวงหา "สังคมที่เป็นธรรม" ในแบบฉบับของตนเองได้ และผลักดันไปสู่เป้าหมายได้ ด้วยการแข่งขันกับคนอื่นๆ เพราะ 3) เปิดโอกาสให้การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือการปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างสันติเป็นไปได้

อุเชนทร์กล่าวว่า บทเรียนที่อยากฝากไปถึงมิตรสหายบางส่วน ที่เคยคบค้าสมาคมด้วยก่อนการเกิดขึ้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการรัฐประหาร คือ ภายใต้สังคมที่เปิดมีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็น และเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เราและคนอื่นในฐานะเสียงข้างน้อยมีโอกาสที่จะกลายเป็นเสียงข้างมากได้ สามารถรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในแบบฉบับของตัวเองได้

"ไม่ว่าจะวิจารณ์การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร แต่ท้ายที่สุด นี่คือ วิธีการที่ดีที่สุด ในการกำหนดชะตากรรมร่วมกันของคนในสังคมการเมือง โดยไม่ใช่ความรุนแรง บีบบังคับ และทำลายเป้าหมายและอุดมคติเสียเอง ยกเว้นเสียแต่เราจะยึดหลักว่า เพื่อเป้าหมายอันสูงส่งในความคิดของเราแล้ว อะไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันหนึ่ง เราและลูกหลานของเราเอง อาจตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตกอยู่ในฐานะแบบเดียวกับคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรา แล้วเราสะใจอยู่ในตอนนี้ก็ได้" อุเชนทร์กล่าว

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์กล่าว ถึงพลังของเยาวชนผ่านประสบการณ์ส่วนตัวด้วยว่า เป็นวัยที่พร้อมจะสามารถทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่ฝันไว้ได้ เพราะมองเห็นโลกมาจำกัดจึงยังเชื่อว่าเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ แล้วจะเกิดผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ดังที่หวัง แต่คนรุ่นเก่ามองเห็นข้อจำกัดหลายๆอย่างมากกว่า พลังจึงลดลง อย่างไรก็ตาม การมีความฝันและพยายามไปถึงคือลักษณะของ "คนรุ่นใหม่" ซึ่งไม่เกี่ยวกับอายุ ส่วน "สังคมที่เป็นธรรม" นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งต่างคนต่างก็เชื่อแตกต่างกันไป และต่างคนต่างเดินไปตามเส้นทางที่ตัวเองเชื่อนั้นก็ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญคือ "โครงสร้าง" ที่มีต้องทำให้คนเท่ากัน แม้ในความเป็นจริงคนจะไม่เท่ากันเพราะศักยภาพตัวเองไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร และหากมีใครรู้สึกว่าโครงสร้างทำให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องสามารถส่งเสียงได้ หากคนอื่นๆ ในสังคมฟังเสียงนั้นแล้วร่วมกันแก้ไข นั่นคือสังคมอุดมคติที่เขาใฝ่ฝันถึง

สุดท้าย คนรุ่นใหม่ควรมีบทบาทใน 2 แง่มุม งานซ่อมแซมสังคมที่บิดเบี้ยวแล้ว ต้องการพลังสร้างสรรค์ สดใส คนใหม่ๆ ช่วยกันคิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้าง ใช้เวลายาว ใช้พลังเยอะ ใช้ความคิดใหม่ๆ นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ต้องคำถามกับกรอบเก่าๆ ทั้งหมดที่มี ไม่ได้บอกให้ไม่เชื่อ แต่คิดเอง หาคำตอบของตัวเองแล้วก็ต้องเคารพคนอื่นที่เขามีความเชื่ออีกแบบด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.แต่งดำประท้วงสภาดันร่าง ม.นอกระบบ - ม.ราชภัฏสวนดุสิต ผ่านวาระ1

Posted: 13 Mar 2013 10:13 AM PDT

สภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบแต่งดำประท้วง เผยเห็นด้วยมหาวิทยาลัยควรมีอิสระ แต่ต้องตรวจสอบและคานอำนาจได้จากนักศึกษาและประชาชน เผยเตรียมล่ารายชื่อเสนอ พ.ร.บ. สวนกลับ 'พิมพ์เขียวมหาวิทยาลัย'

วัฒนา เซ่งไพเราะ รับหนังสื่อเรียกร้อง ภาพโดย Kolf Iskra

 

13 มี.ค.56 เวลา 11.30 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน นักศึกษาประมาณ 20 คน จากแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ซึงเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สวมชุดดำเผาหรีดประท้วงสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมทั้งมีการยื่นหนังสือเรียกร้องถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรถอน 1.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ.…. 2.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.....3.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ..... ออกจากวาระการประชุมสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาในขั้นรับหลักการในวันนี้ พร้อมทั้งให้กลับมาพิจารณากันใหม่ในแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วม โดยเวลา 13.00 น. นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว

ช่วงเย็นที่ผ่ามา สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระ 1 ในร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 388 ต่อ 1 คะแนน งดออกเสียง 1 คะแนน และได้ตั้งคณะกรรมาธิการ 30 คนขึ้นมาพิจารณาแปรญัตติภายใน 7 วัน นอกจากนี้ที่ประชุมสภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 360 คะแนน โดยก่อนลงมติมีรายงานด้วยว่าเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นระหว่างการตรวจนับองค์ประชุม โดย ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลโต้เถียงกันไปมา เมื่อมีการทักท้วงความคืบหน้าการตรวจสอบการกดบัตรแทนกัน สุดท้ายต้องนับคะแนนโดยการขานชื่อก่อนจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว

นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวหลังทราบผลมติดังกล่าวว่า เราเสนอให้สภาฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกมาโดยตลอด โดยมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อทั้งประธานรัฐสภา ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้นำเอา ร่าง พ.ร.บ เหล่านั้นกลับมาทำประชาพิจารณ์ในมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วมก่อน เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดกระบวนการเหล่านี้ขึ้นในมหาวิยาลัยอย่างโปร่งใส

แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ได้ยกตัวอย่างกรณีปัญหาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับกระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้ การที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในขณะที่นักศึกษาไม่รู้และกำลังปิดภาคการศึกษา ถือว่าไม่แฟร์สำหรับนักศึกษาด้วย  รวมทั้ง พ.ร.บ.นี้เอื้ออำนวยต่อผู้บริหารมากเกินไป และไม่มีการตรวจสอบได้ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเราคิดว่าควรมีอะไรใน พ.ร.บ. เพื่อที่จะไปคาดอำนาจกับเขา เช่น กลไกจากนิสิตนักศึกษา หรือประชาชน เข้าไปคานอำนาจและตรวจสอบ

นายนิพิฐพนธ์ กล่าวย้ำด้วยว่า เราเห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยจะมีความอิสระและความคล่องตัวในการบริหาร แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบและคานอำนาจได้จากนักศึกษาและประชาชน รวมทั้งที่มาของผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยต้องมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง

แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวต่อไปของกลุ่มว่า เตรียมจะมีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเกี่ยวกับพิมพ์เขียวมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีอำนาจตรวจสอบผู้บริหาร ให้สิทธิกับนักศึกษาและบุคลากรมากขึ้น เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 มี.ค. 2556

Posted: 13 Mar 2013 08:58 AM PDT

 

ชวนแรงงานหญิงนักดื่ม! ร่วมปฏิญาณตนหันหลังให้น้ำเมาตัวการชีวิตตกต่ำ

(5 มี.ค.) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 10.00 น.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายสตรี และผู้ใช้แรงงานหญิงกว่า 100 คน จัดกิจกรรมรณรงค์ "หยุดสุรา หยุดอบายมุข เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง" เนื่องในโอกาส 8 มีนาคม วันสตรีสากล พร้อมทั้งร่วมกันปฏิญาณตนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข โดยภายในงานได้มีการแสดงละครชุด"ปลดพันธนาการแรงงานหญิง" เพื่อสะท้อนถึงพิษภัยจากอบายมุขที่ทำลายคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง จากเครือข่ายละครดีดี๊ดี
      
นางสาวมณี ขุนภักดี หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยผลสำรวจ"คุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของแรงงานหญิง" โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงทั้งหมด 526 ราย ใน 10 โรงงาน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ.-3 มี.ค.2556 พบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานหญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 2 ใน 3 หรือ 68.4% ส่วนใหญ่ดื่มเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน ทั้งนี้ปัญหาของแรงงานหญิงกลุ่มที่ดื่มคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ตามด้วยปัญหาหนี้สิน และมีภาระเลี้ยงดูคนในครอบครัว นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง มักจะหาทางออกของปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีดื่มสุราเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นการระบายทุกข์กับเพื่อน ตามด้วยดูหนังฟังเพลง และเที่ยวผับบาร์ ซึ่งกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำกว่า 76.7% ระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยคลายเครียด แต่ในกลุ่มที่ดื่มในโอกาสพิเศษ 68.9% ระบุว่าช่วยไม่ได้ ส่วนประเภทของเครื่องดื่มที่นิยมมากที่สุด คือเบียร์ รองลงมา เหล้าสี สปาย และยาดอง และเมื่อถามถึงรายจ่ายในแต่ละเดือน พบว่า กลุ่มที่ดื่มเป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายในการดื่ม 14.76% ของรายได้ และกลุ่มที่ดื่มบางโอกาส จะมีค่าใช้จ่ายดื่ม 11.0% ของรายได้ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นหวยเกือบ 10% ของเงินเดือน ที่น่าห่วงคือในกลุ่มที่ดื่มประจำ เกือบครึ่งนิยมดื่มจนเมาเต็มที่ หรือ 43.8%
      
"กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มสุราเป็นประจำกว่า 89% ระบุว่าแม้จะมีค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นอกจากนี้ 93.2% ยังระบุว่า แม้จะได้รับค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน แต่ถ้ายังมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น ค่าสุรา การพนัน บุหรี่ หวย เงินที่ได้จะไม่เพียงพอต่อรายจ่ายอยู่ดี ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มเป็นประจำ 87.7% และกลุ่มที่ดื่มเป็นบางโอกาส89.2% เห็นด้วยที่ว่า หากลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะเหล้านี้ได้ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นางสาวมณี กล่าว
      
นางสาวมณี กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มแรงงานหญิง เมื่อมีความเครียดจะหาทางออกด้วยการดื่มสุราเป็นอันดับแรก จึงทำให้ปัญหาที่ตามมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และผู้ชายต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเลี้ยงดูบุตร ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเลี้ยงลูก ไม่ควรปล่อยเป็นหน้าที่ผู้หญิงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ อยากเสนอให้กระทรวงแรงงาน คำนึงถึงคุณภาพแรงงานหญิงให้มากกว่านี้ โดยการมีสถานที่เลี้ยงเด็กของผู้ใช้แรงงาน และควรตรวจสอบโรงงานให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงานหญิง ไม่เลือกปฏิบัติจากความเป็นผู้หญิง นอกจากนี้กระทรวงแรงงานควรต้องมีส่วนร่วมเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อันว่าด้วยการห้ามดื่ม ห้ามขายในโรงงานให้กับคนงานและสถานประกอบการและติดตามการบังคับใช้อย่างจริง จัง นโยบายโรงงานสีขาวปลอดยาเสพติดต้องครอบคลุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการรณรงค์ลด ละ เลิก สุราและอบายมุขให้จริงจังด้วย
      
รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า จากสถิติการดื่มสุราในกลุ่มผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีแนวโน้มการดื่มเพิ่มมากขึ้น และปริมาณการดื่มก็มากขึ้นด้วย ส่วนช่วงอายุที่ดื่มมากที่สุด คือ 25-44 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยแรงงาน โดยส่งผลกระทบต่อ ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ สุขภาพ อย่างไรก็ตามควรมีการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงผลกระทบ ชี้ให้เห็นโทษ โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจนำปัญหาไปแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงระบบรองรับสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุม ดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งควรมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ผ่อนคลาย ได้ใช้เวลาว่างเพื่อสุขภาวะ เพราะจะเป็นผลดีทั้งต่อตัวนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ไม่ขาดลามาสาย
      
ขณะที่ นางสาวสุกัญญา เกิดทิม อายุ 45 ปี ผู้ใช้แรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข กล่าวว่า ตนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 13 ปี เข้ามาทำงานเมื่อปี 2531ที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีการเล่นพนันทั้งไพ่ ไฮโล หวย จนทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย ต้องกู้หนี้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน ช่วงนั้นเป็นหนี้ประมาณแสนกว่าบาท และปัญหาที่ตามมาคือ ครอบครัวแตกแยก ลูกสาวหมดอนาคตในการศึกษาเล่าเรียน มีปัญหากับลูกบ่อยครั้งจนลูกเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ยังโชคดีที่เพื่อนบ้านเข้ามาห้ามไว้ได้ทัน และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนต้องการเลิกดื่มเหล้า จากนั้นหันมาเข้าร่วมโครงการลดละเลิกเหล้า ประกอบกับมีหลานที่ต้องดูแล
      
"ตอนนี้เลิกเหล้าได้ 5 ปีแล้ว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ครอบครัวอบอุ่นขึ้นมีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อรถจักรยานยนต์และเสื้อวิน มาวิ่งรับจ้างหลังเลิกงานเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งต่างจากช่วงที่ติดพนันและดื่มสุรา เพราะไม่มีแม้แต่เงินจะกินข้าว สุขภาพก็ย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อยครั้ง ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ใช้แรงงานหญิงที่ยังดื่มอยู่ให้กลับตัวกลับใจ ก่อนที่จะสาย ควรหันหลังให้น้ำเมา ทำตัวให้ดีเพื่อคนที่เรารัก เพราะแม้จะขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่ถ้าเรายังเป็นนักดื่มก็ทำให้เราชักหน้าไม่ถึงหลัง ล่มจมหมดอนาคตได้" นางสาวสุกัญญา กล่าว


(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-3-2556)

 

'แรงงานสตรี' ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง จี้'ยิ่งลักษณ์'เร่งจัด'สวัสดิการ-ประกันสังคม-แรงงานชายลางานไปดูแลบุตร

ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เข้าพบ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย น.ส.ศันสนีย์ เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว จากนั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาล โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไรจะโยงไปถึงเรื่องดังกล่าวเสมอ และทุกเรื่องที่ยื่นผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ก็ขอให้มั่นใจว่านายกฯจะได้พิจารณาช่วยเหลืออย่างจริงจัง

น.ส.ศันสนีย์ กล่าวว่า ขอให้ทราบว่าเรามีความตั้งใจในการทำงาน และพยายามอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อเรียกร้องต่าง ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งการขอให้ สามีไปดูแลบุตร ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว. แรงงาน ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชนต่างๆ ให้แรงงานชายสามารถลางานไปดูแลบุตรได้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการปรับปรุงระบบประกันสังคม ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในสภา และการเรียกร้องในวันนี้ก็จะเป็นกระบอกเสียง ให้เรื่องดังกล่าวดำเนินการเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้เดินออกไปพบกับผู้ชุมนุม ที่รวมตัวกันบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญ กับข้องเรียกร้องต่างๆ พร้อมกับวางดอกไม้แสดงสัญลักษณ์ในการขอบคุณสตรีผู้เป็นเพศแม่ และการปลดปล่อยไม่ให้สตรีถูกกดขี่จากสังคม ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมพอใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเช้าวันเดียวกันนี้ น.ส.ธนพร วิจันทร์ พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง ประมาณกว่า 400 คน ได้รวมตัวกันที่ ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีการชุมนุมบนพื้นผิวจราจร สองช่อง ถนนพิษณุโลก เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสตรีสากลปี 56 โดยขอให้รัฐบาลจัดสวัสดิการและการประกันสังคม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงทำงาน 3 ข้อ 1.เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กในพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งปรับคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงทำงาน

2 .เพื่อให้รัฐบาลรับรองในอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่องการคุ้มครองความเป็นมารดา หรือนำหลักการของอนุสัญญานี้มาดำเนินการโดยเร็ว โดยให้แรงงานชายสามารถ ลางานไปดูแลบุตรได้ และ 3 .เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านสิทธิอนามัย เจริญพันธุ์ ที่สำคัญ มีสำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระและกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันใน คณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนเกิดโรค

(คมชัดลึก 8-3-2556)

 

จัดหางานเชียงใหม่แจ้งขยายเวลาให้นายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

นายฤชุชัย โปธา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ให้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เป็นเวลา 120 วัน (4 เดือน) เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) และได้รับอนุญาตให้เป็น ผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะกับนายจ้างเดิมต่อไป และให้นายจ้าง/สถานประกอบการมาขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งความประสงค์จะจ้างแรงงาน ต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ภายใน 1 เดือน นั้น ขณะนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ขยายเวลาให้นายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand Letters) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2556 เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

ในการยื่นเอกสาร นายจ้างไม่ต้องนำแรงงานต่างด้าวมาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยบริการย่อย โทรศัพท์หมายเลข 053-223855-6 , 085-6955573 ทุกวันเวลาราชการ หรือที่เวปไซด์สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ www.cmemployment.org

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 9-3-2556)

 

ผู้แทน 4 ฝ่าย หารือใช้กฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้าน

10 มี.ค.- ผู้แทนไอแอลโอระบุการออกกฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้านฉบับใหม่ของไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองคนทำงานบ้าน พร้อมเสนอบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และวันหยุด รวมทั้งเสนอให้มีการคุ้มครองผู้ที่อายุ 15-18 ปี
 
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมเกี่ยวกับกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยลูกจ้างทำงานบ้านฉบับใหม่ ของไทย ว่า  การบังคับกฎกระทรวงฉบับนี้แม้จะไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงาน ระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทำงานในบ้าน ฉบับที่ 189 ที่กำหนดว่าแรงงานทำงานบ้านทั่วโลกจะต้องได้รับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานเท่า เทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆทั้งหมด  แต่ถือว่าแตกต่างจากอดีตซึ่งแรงงานทำงานบ้านไม่ได้รับการคุ้มครองเลย  เนื่องจากบางส่วนยังติดขัดข้อกฎหมายทำให้อาจไม่ได้รับสิทธิเหมือนแรงงานทั่ว ไป เช่น ค่าแรง 300 บาท ที่กฎหมายได้ครอบคลุมถึงแรงงานทำงานบ้านเนื่องจากมีลักษณะงานที่แตกต่างจาก แรงงานทั่วไป รวมถึงค่าใช้จ่าย เช่น แรงงานทั่วไปต้องเสียค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร แต่แรงงานทำงานในบ้านไม่ต้องเสีย  ซึ่งการให้กฎกระทรวงฯ สามารถบังคับใช้อย่างจริงจังเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลา โดยกระทรวงแรงงานยืนยันจะเดินหน้าให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุข
 
ด้าน นางเนลีนส์ ฮาสเปลส์ (Ms.Nelien Haspels) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมิติหญิงชายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าววว่า การประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวของไทยถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองสิทธิคน ทำงานบ้าน โดยเห็นว่ากฎกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวสามารถพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา  ช่วงเวลาการทำงานที่ชัดเจน และสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การคลอด นอกจากนี้จะต้องมีการป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กและผู้หญิงอย่างจริงจังโดย เร็ว  เช่น  มีการกำหนดโทษผู้ที่กระทำผิดกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีการคุ้มครองผู้ที่มีอายุ 15 -18 ปี โดยเฉพาะ รวมถึงห้ามนายจ้างยึดทรัพย์สินลูกจ้างไว้เป็นเครื่องค้ำประกันก่อนรับเข้าทำ งาน และห้ามล่วงละเมิดทางเพศ
 
ขณะที่ นางสมร พาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า  อยากให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทุกคนรับรู้และเข้าใจถึงกฎกระ ทรวงฉบับบนี้ เพราะยังมีนายจ้างบางส่วนไม่รู้ว่ามีการออกกฎกระทรวงฯ นอกจากนนี้อยากให้กระทรวงหาช่องทางให้คนทำงานในบ้านเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33 ได้

(สำนักข่าวไทย, 10-3-2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

FBI รุดสืบ หลังมือดีแฮกข้อมูลส่วนตัวคนดังโพสต์เว็บ-มิเชล โอบามาโดนด้วย

Posted: 13 Mar 2013 08:17 AM PDT

สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) และหน่วยตำรวจลับซึ่งมีหน้าที่อารักขาประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังสืบสวนกรณีมีการแฮกข้อมูลส่วนบุคคลของนักการเมืองและคนดัง ประกอบด้วย หมายเลขประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน และข้อมูลทางการเงิน มาโพสต์ในเว็บไซต์ exposed.su ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา  

โดยบุคคลที่ถูกนำข้อมูลมาเปิดเผย มีอาทิ มิเชล โอบามา ภรรยาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ, มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  พรรคริพับลิกัน, ซาราห์ เพลิน อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ อดีตนักแสดง และผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย, บียอนเซ่, ปารีส ฮิลตัน, บริทนีย์ สเปียร์, นักแสดงอย่างเมล กิ๊บสัน, โดนัลด์ ทรัมป์ เศรษฐีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ไทเกอร์ วูด, โรเบิร์ต มูลเลอร์ ผู้อำนวยการเอฟบีเอ

ทั้งนี้ ชื่อโดเมนของเว็บดังกล่าว เป็นโดเมนที่ใช้ในสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1990 ปัจจุบัน .su ถูกดูแลโดยรัสเซีย  ท้ายหน้าแรกของเว็บ มีชื่อของบุคคลสำคัญพร้อมลิงก์ไปยังข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน ล่าสุด (13 มี.ค.) มีผู้เข้าชมเว็บดังกล่าวกว่า 200,000 ครั้งแล้ว

 

 

เรียบเรียงจาก
FBI investigates hack on first lady
http://www.brisbanetimes.com.au/world/fbi-investigates-hack-on-first-lady-20130313-2g0jn.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชุมชนดอนฮังเกลือ’ ขุดลอกคลองแก้ปัญหา ‘ภัยแล้ง’ กระทบโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา

Posted: 13 Mar 2013 06:46 AM PDT

สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน โซนร้อยเอ็ด ร่วมกันขุดลอกคลองรอบ 'โรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลา' หวั่นพันธุ์ปลาสูญหายไปตามสภาวะแห้งแล้ง พร้อมวอนหน่วยงานภาครัฐ ลงมาร่วมหามาตรการจัดระบบจากการทำนาปรังมีอีกหนึ่งสาเหตุทำน้ำแห้ง

 
(13 มี.ค.56) จากสภาวะภัยแล้งในภาคอีสาน ส่งผลกระทบต่อพืชผัก แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตชาวประมงของ 'ชุมชนดอนฮังเกลือ' ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ทำให้โรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ของแหล่งน้ำบึงเกลือได้รับความเสียหาย
 
นายทองสา ไกรยนุช กรรมการโฉนดชุมชนดอนฮังเกลือ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปนั้นได้ส่งผลกระทบทำให้บึงเกลือ หรือที่เรียกว่าทะเลอีสานซึ่งมีเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ เหือดแห้งลงไปมาก ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายแก่พืชผักที่ปลูกไว้ ภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ ที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อต้นปี 2555
 
นายทองสา กล่าวด้วยว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการทำนาปรังที่ต้องสูบน้ำจากบึงเกลือไปใช้เป็นอย่างมาก ทำให้ปัญหาน้ำในบึงที่แห้งอยู่แล้วยิ่งลดระดับลงไปมากกว่าเดิม
 
"ส่วนตัวไม่ได้ขัด หรือห้ามการทำนาปรังแต่อย่างใด เพราะตัวเองก็เป็นเกษตรกร เป็นลูกชาวนา แต่ทั้งนี้อยากให้ทาง อบต.มีมาตรการหาทางออก ด้วยการลงประชามมติหาทางออกร่วมกัน" นายทองสา กล่าว
 
 
นายทองสา ยกตัวอย่างข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาว่า การทำนาในช่วงฤดูแล้ง อยากให้มีการสลับหมุนเวียนกันสูบน้ำจากบึงเกลือ ด้วยว่ามีคลองส่งน้ำถึง 3 แห่ง ทั้งคลองส่งน้ำบ้านน้ำจั้นน้อย คลองส่งน้ำบ้านหัวคู และคลองส่งน้ำน้ำบ่อแก เพื่อป้องกันภัยแล้ง ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งมาจากทางจังหวัด ลงมาสู่อำเภอ แต่ทางหน่วยงาน อบต. ก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันแต่อย่างใด นอกจากประกาศเสียงตามสายแจ้งเตือนไปหนึ่งครั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 56 แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะมาแจ้งหลังจากที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ทำนากันไปก่อนหน้านั้น จนบางที่ข้าวออกรวงไปแล้ว
 
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาของโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ นายทองสากล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนได้ร่วมกันขุดลอกคูคลอง ล้อมโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาเอาไว้ เพื่อรักษาแหล่งน้ำไว้ไม่ให้เหือดหาย ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับพันธ์ปลาที่อนุรักษ์ไว้
 
นายทองสา ให้ข้อมูลด้วยว่า แหล่งพักอาศัยของปลานี้ ใช้เนื้อที่กลางน้ำบึงเกลือประมาณ 2ไร่ เพื่อให้ปลาหลากหลายชนิดได้เข้ามาอาศัยและใช้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา ด้วยมีวัตถุประสงค์ในการพลิกฟื้นและร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยได้ตั้งกฎระเบียบขึ้นมาร่วมกันไว้ว่าไม่ให้มีการจับปลาในบริเวณโรงเรียน ในทุกๆ ฤดูกาล หากมีการฝ่าฝืน จะมีการปรับเงินไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งเงินค่าปรับ ทางกลุ่มจะนำมาบำรุงโรงเรียน หรือนำไปซื้อพันธุ์ปลา เพื่อนำมาขยายต่อไป
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ประกอบด้วยชาวบ้านจากบ้านหัวคู บ้านบ่อแก บ้านนาเลา และบ้านน้ำจั้น กว่า 31 ครอบครัวที่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนปี 2472 ต่อเนื่องมา ต่อมาปี 2542 องค์การบริหารส่วนตำบลบึงเกลือ ได้นำแผ่นป้ายมาติดประกาศ ให้ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณดอนฮังเกลือออกจากที่ดินทำกินทุกคน โดยหน่วยงานดังกล่าวจะนำพื้นที่มาก่อสร้างสนามกีฬา สถานที่ราชการ กระทั่งปัจจุบันมีโครงการจัดทำแหล่งท่องเที่ยว ด้วยว่าพื้นที่เป็นแหล่งน้ำบริเวณกว้าง
 
ช่วงปี 2542 – 2545 ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้รวมกลุ่มกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล กระทั่งได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายมนตรี บุพผาวัลย์ นายอำเภอเสลภูมิเป็นประธาน คณะทำงานมีมติร่วมกันว่า การประกาศเขตที่สาธารณะประโยชน์ดอนฮังเกลือไม่ถูกต้อง สมควรเพิกถอน ยุติการดำเนินการ และเอกสารสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
 
ต่อมาปี 2552 ชาวบ้านดอนฮังเกลือ สมาชิกในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อขอจัดทำโฉนดชุมชนเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 73 ตาราง ต่อรัฐบาล กระทั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่มีการลงมาตรวจสอบพื้นที่ แล้วมีมติจากคณะกรรมการว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแม้การบริหารจัดการที่ทำกิน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำที่ประสบปัญหา
 
ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการนำพื้นที่พิพาทมาทำประโยชน์ในการสร้างสนามกีฬา และปัจจุบันมีโครงการที่จะนำพื้นนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งมีแผนการที่จะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่มีใส่ใจการร่วมกันแก้ไขปัญหา
 
ส่วนการจัดการในชุมชน ได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง โดยมีการจดแจ้งการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในนามกลุ่มเกษตรกรทำนาบึงเกลือ อีกทั้งยังมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสมาชิกใช้กู้ยืมในยามฉุกเฉิน หรือนำไปจัดซื้อปัจจัยการผลิตในพื้นที่ และยังมีการรวมกลุ่มกันจับปลาบริเวณบึงเกลือ เพื่อนำไปขายแล้วนำเงินมาไว้เป็นกองทุนในการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องความชอบธรรม ต่อการจัดการทรัพยากรของในชุมชนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานร้อง 4 สถานทูต ช่วยแก้ปัญหานายจ้างต่างชาติเลิกจ้าง-ปิดงาน

Posted: 13 Mar 2013 05:50 AM PDT


(13 มี.ค.56) ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มคนงานจากสถานประกอบการ 4 แห่งได้แก่ สมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทยในส่วนลูกจ้างบริษัทลินฟ็อกซ์ ทรานสปอร์ตแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย  สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง และสหภาพแรงงานบริษัทอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย เดินทางไปยังสถานทูตออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และสวีเดน ตามลำดับ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติปฏิบัติกับแรงงานไทยโดยไม่เป็นธรรม

 

 

 

(ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่ เร็วๆ นี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้รัฐบาล-กสม. สอบสวนกรณีทหารยิงใส่โรฮิงญา

Posted: 13 Mar 2013 05:47 AM PDT

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่าทหารเรือในพังงายิงปืนใส่ชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยมาจากพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย ฮิวแมนไรท์วอทช์จึงเรียกร้องให้ไทยสอบสวนกรณีดังกล่าว และปฏิบัติตามหลักการใช้กำลังอาวุธสากล 

 

13 มี.ค. 56 - ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกรรมการสิทธิมนุษยชนสอบสวนกรณีที่ทหารเรือในจังหวัดพังงาใช้ปืนยิงกลุ่มชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยมาจากพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และให้หน่วยงานกองกำลังของรัฐไทยปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการใช้กำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐของสหประชาชาติ ซึ่งต้องใช้วิธีที่ไม่รุนแรงก่อน และหากจำเป็น ต้องใช้กำลังที่เหมาะสม 
 
ทั้งนี้ การรายงานข่าวของสำนักข่าวเอบีซีและการเก็บข้อมูลของฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า มีผู้เห็นเหตุการณ์ว่าทหารเรือยิงปืนใส่กลุ่มชาวโรฮิงยาที่กระโดดจากเรือลงในน้ำ และภายหลังมีศพชาวโรฮิงยา 2 ศพลอยมาตามน้ำ ศพหนึ่งมีรอยถูกยิงบริเวณศรีษะ ต่อมาถูกเอาไปฝังในสุสานอิสลามในอ.คุระบุรี จ.พังงา ในขณะที่กอ.รมน. ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
 
ในแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญา 130 คน ลี้ภัยโดยเรือมาจากพม่า โดยหวังจะมุ่งหน้าไปยังประเทศมาเลเซีย แต่เชื้อเพลิงหมด จึงหันเข้าฝั่งไทยบริเวณท่าเรืออ.คุระบุรีของจังหวัดพังงา โดยชาวประมงในพื้นที่ช่วยนำเรือดังกล่าวเข้าฝั่ง ต่อมาทหารเรือกลุ่มหนึ่งได้พยายามผลักเรือพร้อมชาวโรฮิงญาออกสู่ทะเลอีกครั้ง ด้วยความตกใจ ชาวโรฮิงญาบางส่วนจึงกระโดดลงน้ำ โดยผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เห็นทหารเรือยิงปืนใส่ชาวโรฮิงญาในน้ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่วนที่เหลือว่ายน้ำหนีเอาตัวรอด 
 
"ชาวโรฮิงญาที่หนีจากพม่าควรได้รับความคุ้มครอง มิใช่ถูกยิงใส่" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
 
"รัฐบาลไทยควรสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าเหตุใดทหารเรือจึงยิงปืนใส่ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในทะเล และดำเนินเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง" อดัมส์กล่าว 
 
แถลงการณ์ยังระบุว่า รัฐบาลไทยควรเปิดเผยสถานะและที่อยู่ของชาวโรฮิงญาที่เหลือจากเรือลำดังกล่าว ควรให้การปกป้องและที่พักแก่ผู้ที่รอดชีวิตอย่างเหมาะสม และอนุญาตให้ตัวแทนจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
 
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักข่าวเอพีว่า ทหารเรือไทยได้ผลักเรือที่มีชาวโรฮิงญา 130 คน ที่มาจากพม่ากลับออกสู่ทะเลโดยเอาเครื่องยนต์ของเรือออก ทำให้เรือดังกล่าวลอยอยู่ในทะเล 25 วัน เมื่อไปถึงชายฝั่งประเทศศรีลังกา ผู้ลี้ภัยที่รอดชีวิตระบุว่า เนื่องจากไม่มีน้ำและอาหาร ทำให้คนที่อยู่ในเรือดื่มแต่น้ำทะเล ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิต 97 คน จากทั้งหมด 130 คน 
 
ช่วงปีที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาลี้ภัยโดยเรือจากพม่าสู่ไทยมากเป็นพิเศษ เหตุลี้ภัยจากความยากจนและเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชาวอาระกันและชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยไทยมีนโยบายรับผู้ลี้ภัยและให้ความช่วยเหลือชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ กสทช.เร่งประมูลคลื่น 1800 ก่อน 'ซิมดับ'- อย่าอ้างผู้บริโภค ยืดสิทธิถือครอง

Posted: 13 Mar 2013 03:18 AM PDT

นับถอยหลัง 6 เดือน "ซิมดับ" กสทช.ประวิทย์ ชี้ทางแก้ดีที่สุดคือเร่งประมูลคลื่น 1800 ยืนยัน กสทช. ต้องไม่ทำผิดกฎหมายโดยอ้างผู้บริโภค

(13 มี.ค.56) ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนให้บริการอยู่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของกิจการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในลักษณะที่บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยุติลง ซึ่งจะทำให้การบริการของค่ายมือถือสองรายหายไป หรืออาจเรียกได้ว่า "ซิมดับ" คือใช้การไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทาย กสทช. โดยเฉพาะกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่จะต้องแสดงฝีมือให้ปรากฏ นั่นคือทำอย่างไรที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเรียบร้อย เป็นธรรม และที่สำคัญคือถูกต้องตามกฎหมายและกติกาของสังคม

"เรื่องซิมดับไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าจะมีผลกระทบจริง สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนและการเปลี่ยนผ่านเดินไปในกรอบของกฎหมายและเจตนารมณ์การปฏิรูปการถือครองทรัพยากรความถี่ ที่สังคมไทยมีฉันทามติร่วมกันมาก่อนแล้วว่าเราต้องการก้าวข้ามจากยุคสัมปทานมาสู่ยุคการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแล หลักการนี้คือจุดกำเนิดของ กสทช. เอง และปรากฏชัดเจนทั้งในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ดังนั้น กสทช. ต้องเคารพและต้องแสดงฝีมือให้สังคมไว้วางใจได้"

ประวิทย์ ระบุว่า ในส่วนของผู้บริโภคนั้น วิธีการดูแลที่ดีต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานคือ ทำให้ทราบและเท่าทันต่อสถานการณ์ที่ว่า เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งคนที่ใช้บริการของทั้งสองรายมีโจทย์ว่าจะต้องหาบริการทดแทน และถ้าหากต้องการรักษาเลขหมายที่ใช้อยู่ก็ควรต้องดำเนินการโอนย้ายค่าย หรือใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability) ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการทั้งหมด ที่จะต้องทำให้การโอนย้ายค่ายสามารถรองรับหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า หลังจากได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการแล้วจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ใน 3 วัน

ทั้งนี้ เกี่ยวกับการเตรียมการเรื่องดังกล่าว กสทช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก กสทช. ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กทค. แล้ว โดยแนะนำให้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคแต่เนิ่นๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพการคงสิทธิเลขหมาย เช่นเดียวกัน

พร้อมกันนั้น คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอให้ กทค. จัดหาและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการในสองส่วน ได้แก่ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีการสั่งการนอกรอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแนวทางการโอนย้ายผู้ใช้บริการและแนวทางป้องกันซิมดับ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นข้อกฎหมาย อันเป็นที่มาให้คณะอนุกรรมการเสนอว่า เห็นควรให้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจทำโดยบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) หรือโดยเอกชนคู่สัมปทาน นี่จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่ บมจ. กสท หรือ CAT เรียกร้องมาโดยตลอด และคราวนี้ยังเริ่มเปิดช่องเพิ่มไปถึงทรูมูฟด้วย

อย่างไรก็ดี ประวิทย์ ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวคือการทำผิดกฎหมายและจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง โดยจะเป็นเพียงการยืดเวลาของเหตุการณ์ซิมดับออกไป แต่เมื่อไรที่การจัดประมูลคลื่นเสร็จสิ้นและมีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ชนะการประมูลแล้ว การให้บริการในระบบเดิมนั้นก็ต้องยุติลงอยู่ดี เนื่องจากสิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่ย่อมเป็นของผู้ชนะประมูลที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ ดังนั้นถึงอย่างไรก็ย่อมจะเกิดช่องว่างหรือภาวะซิมดับในช่วงเวลาระหว่างที่รอผู้ชนะการประมูลเตรียมการจัดสร้างโครงข่ายและระบบต่างๆ สำหรับบริการใหม่

"ผมบอกได้เลยว่า การอ้างเรื่องป้องกันซิมดับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะถึงอย่างไรซิมก็ต้องดับ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง การขยายเวลาจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรแก่ผู้บริโภค แต่แน่นอนว่าจะช่วยผู้ประกอบการให้หารายได้กันต่อไป ปัญหาก็คือในการขยายเวลาบริการก็เท่ากับการไปขยายเวลาการใช้คลื่นความถี่และขยายอายุการอนุญาต รวมทั้งขยายอายุสัมปทานด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขัดกฎหมาย ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กิจการโทรคมนาคมไทยต้องหลุดพ้นจากยุคสัมปทานเสียที" ประวิทย์กล่าว

ประวิทย์เปิดเผยด้วยว่า เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายนั้น ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เองเคยชี้ชัดแล้วว่า เมื่อการอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ก็ถือว่าสิ้นสุดลงด้วย และสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่อมต้องกลับคืนไปยังสาธารณะ โดย กสทช. หรือ กทค. มีหน้าที่ในการเข้าไปบริหารจัดการคลื่นความถี่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 บัญญัติไว้

ส่วนกรณีการขยายระยะเวลา คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายชี้ว่า แม้ตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเดิมจะกำหนดให้ กทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ แต่เมื่อมีการตรา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 45 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมว่าให้กระทำได้ด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่ได้มีการกำหนดให้ กสทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่จะไม่มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ ดังนั้น เมื่อระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่สิ้นสุดลง จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ได้

"ผมจึงไม่อยากให้อ้างผู้บริโภคแล้วกำหนดมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่อยากให้เร่งดำเนินการตามหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ดังนั้น กทค. ต้องไม่ประวิงเวลาในการประมูลคลื่น 1800 อีกต่อไป แต่ต้องเร่งกระบวนการให้เสร็จสิ้นใกล้เคียงกำหนดสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่ง ณ วันนี้เหลือประมาณครึ่งปีพอดี ถ้าเร่งทำก็ทำให้ทันได้ ด้วยวิธีนี้ซิมก็จะดับเพียงไม่นาน แล้วก็มีบริการใหม่บนคลื่นเดิมมาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคต่อไป" ประวิทย์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI: การบริหารหนี้สาธารณะ: สิ่งที่รัฐบาลและประชาชนควรเข้าใจ

Posted: 13 Mar 2013 03:14 AM PDT

หนี้สาธารณะคือหนี้ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามเกณฑ์ในการจำแนกประเภทเช่นการแบ่งตามแหล่งที่มาของเงินกู้การแบ่งตามระยะเวลาของการกู้การแบ่งตามลักษณะหนี้การแบ่งตามวิธีการก่อหนี้เป็นต้น

ในการนำเสนอของทีดีอาร์ไอในหัวข้อ "ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 และแนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556-2560"โดย ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ชี้ให้เห็นว่าการมีหนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยังมีฐานภาษีต่ำและต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในระบบความคุ้มครองทางสังคม ระบบสวัสดิการ

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงมากคือการบริหารหนี้สาธารณะให้มี 'พื้นที่การคลัง' (fiscal space) มากพอเพื่อที่จะรองรับความจำเป็นในอนาคตหากมีการขาดดุลเมื่อจำเป็น โดย ดร. สมชัย จิตสุชนได้เสนอแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะไว้ ดังนี้

· เพิ่มรายได้รัฐ (อย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ) เช่น การจัดระบบภาษีให้มีลักษณะอัตราก้าวหน้า (progressive) และตรงตามหลักความเสมอภาคทางภาษี และมีการเพิ่มภาษีใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากฐานทรัพย์สิน

· วางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง –ใช้จ่ายเพื่อสร้างฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงในสังคม

· บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใส – มีการวางแผนระยะปานกลางถึงยาว (5 ปีเป็นอย่างน้อย)บริหารภาระทางการคลังอย่างเหมาะสม

การประมาณการแนวโน้มหนี้สาธารณะ
งานนำเสนอได้ประมาณการแนวโน้มหนี้สาธาณะ โดยการคำนวณแนวโน้มหนี้สาธารณะดังกล่าว ภายใต้สมมติฐานหลายประการ เช่นอัตราการเพิ่มของรายจ่ายประจำ อัตราดอกเบี้ย การลงทุนปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ได้รวมผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะที่เกิดจากโครงการพิเศษทั้งด้านรายได้และด้านรายจ่าย ในช่วงปี 2556 – 2560 มีรายละเอียด ดังนี้

 

 

2555

2556

2557

2558

2559

2560

ขาดทุนโครงการจำนำข้าว

  170,000  

  200,000  

  200,000  

  200,000  

  200,000  

  200,000  

โครงสร้างพื้นฐานรองรับ AEC

        -

  26,899

 148,819

  263,038

  286,331

 383,154

การลงทุนป้องกันน้ำท่วม

      4,639

  20,000

 100,000

 100,000

 75,361

 

ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

         -

 75,000

 115,714

 124,971

 134,969

 145,766

รวมโครงการพิเศษ 1

  174,639

 321,899

 564,533

 688,009

 696,661

 728,920

เพื่มนโยบายอื่น

           -

 20,000

100,000

 100,000

100,000

 100,000

รวมโครงการพิเศษ 2

  174,639

 341,899

 664,533

 788,009

 796,661

 828,920

ทั้งนี้ ทางผู้วิจัยได้ทำการประมาณการภายใต้เงื่อนไขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1: เศรษฐกิจขยายตัว 4% ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา พ.ศ. 2556-2560

 

กรณีที่ 2: เศรษฐกิจขยายตัว 5% ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา พ.ศ. 2556-2560


กรณีที่ 3: เศรษฐกิจขยายตัว 6% ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา พ.ศ. 2556-2560

 

จากกรณีประมาณการแนวโน้มหนี้สาธารณะข้างต้น จะเห็นได้ว่าในระยะปานกลาง (พ.ศ.2556-2560) หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกรณี ทั้งนี้ ดร. สมชัยเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในภาวะเศรษฐกิจ 'ปกติ' การคลังไทยมีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐาน เนื่องจากรายได้รัฐบาลเพียงสามารถใช้สำหรับรายจ่ายประจำเท่านั้นอีกทั้งการมีโครงการพิเศษต่าง ๆ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สิ่งที่รัฐบาลควรระวังเป็นพิเศษคือในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำว่า 6% ต่อปี (ในกรณีที่ 1 และ 2 ) หนี้ต่อรายได้ประชาชาติจะอยู่ในระดับที่เกิน 60% หากไม่มีการควบคุมรายจ่ายและปรับลดงบพิเศษลง

การบริหารโอกาสและความเสี่ยง
ดร.สมชัยเห็นว่า ด้วยตัวเลขหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูงในระยะปานกลาง ในขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต การบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการบริหารโอกาส ดังนี้

· รัฐบาลควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงกว่าแนวโน้มระยะหลัง (ซึ่งอาจจะสูงถึง 6%)การลงทุนดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้แนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกิน 60%

· อย่างไรก็ตาม การจัดการใช้จ่ายในส่วนนี้ควรทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด มีการรั่วไหลน้อย และมีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

· รัฐบาลควรส่งเสริมมาตรการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาคน (การศึกษา แรงงาน) การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาสถาบันหลักของเศรษฐกิจ (ทั้งภาคการเมือง ราชการ เอกชน) เพื่อให้การขยายตัวระดับสูงมีความยั่งยืน ไม่เพียงหวังพึ่งการอัดฉีดลงทุนเท่านั้น อีกทั้งจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างแท้จริง

ในด้านการบริหารความเสี่ยง ผู้วิจัยมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น:
· ในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าเพียงต่ำกว่าร้อยละ 4 - 5 (ด้วยปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง) จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งสูงขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากระบบภาษีของไทยที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีปัญหา

· อัตราดอกเบี้ยแท้จริงอาจปรับตัวขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลให้ภาระหนี้และยอดหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็

ปัจจัยเสี่ยงระยะยาว
· ยังมีความไม่แน่ชัดว่า ไทยจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้หรือไม่ เนื่องจาก ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรมนุษย์และแรงงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทย ไม่เอื้อต่อการหลุดพ้นออกจากกับดักดังกล่าว

· รัฐบาลยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีอย่างที่ควรเป็น รัฐยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ภาษีจากภาษีบางประเภทได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี VAT เป็นต้น

ผู้วิจัยเห็นว่าการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้นควรเป็นการปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ตัวอย่างเช่นหากมีการปรับลดการขาดทุนที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวลงให้เหลือไม่เกินปีละ 70,000 ล้านบาทจะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเท่ากับประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ประชาชาติได้ในระยะเวลา 5 ปี สามารถช่วยสร้างความเชื่อมมั่นให้กับรัฐบาลไทยอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

บทสรุป
แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวจากน้ำท่วมใหญ่และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่การใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทำให้ควรมีการติดตามหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด ผู้วิจัยเห็นว่า รัฐบาลควรมีการสร้าง 'พื้นที่ทางการคลัง' เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากยังมีความเสี่ยงของแนวโน้มหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป แม้รัฐบาลควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่ควรพิจารณาปรับลดการใช้จ่ายในโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูงเกินจำเป็น เช่น โครงการรับจำนำข้าว ควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายประจำ และปรับเพิ่มรายได้จากภาษีบางประเภท ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย 'สมองไหล-ค่าตอบแทนน้อย-งานหนัก' ทำแพทย์ฉุกเฉินขาดแคลน

Posted: 13 Mar 2013 02:23 AM PDT

เปิดงานวิจัยแพทย์ฉุกเฉินขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ชี้เกิดสมองไหลเหตุค่าตอบแทนน้อย-งานหนัก พร้อมเผยอัตรากำลังที่เหมาะสมเพื่อให้การทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 (National EMS FORUM 2013)  และมีการเสวนาในหัวข้อ "แนวโน้มกำลังคนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน" โดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ใน การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญใน 3 ด้าน คือ การวางระบบที่ดี อุปกรณ์เครื่องมือที่พร้อม และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ต้องมีอย่างเพียงพอและมีศักยภาพ แต่ปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกำลังคนในส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หรือมีการโอนย้ายเป็นจำนวนมาก ขณะทีแนวโน้มการปฏิบัติการกลับมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในส่วนของแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและพยาบาลห้องฉุกเฉิน  ซึ่งในประเด็นนี้ สพฉ.ได้มีการทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางพัฒนาและป้องกัน ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้มีการแก้ปัญหาโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ รพ.เอกชน ด้วยเพื่อทดแทนอัตรากำลังคนที่ขาดแคลน

ด้าน ดร.นงลักษณ์ พะไกยะ นักวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ  ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "แนวโน้มกำลังคนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน" ว่า จากการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของกำลังคนด้านการแพทย์ฉุกเฉินในระยะเวลา 5 ปี และคาดการณ์กำลังคนรองรับของกำลังคนประเภทต่างๆ โดยศึกษาผ่านพื้นที่ต้นแบบ 6 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นที่ยอมรับ โดยผลการศึกษาในเบื้องต้นในปี 2555  พบว่า แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินมีเพียง 247 คน และในปี 2552 พบว่ามีแพทย์เฉพาะทางเพียงร้อยละ35.45 ที่ปฏิบัติงานในต่างจังหวัด และเมื่อมองในด้านศักยภาพการผลิตของโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปี 100 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเข้าสู่ระบบได้น้อยมาก และในด้านพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินนั้นพบว่ามีความขาดแคลนมาก แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีการผลิตบุคลากรให้มารองรับกับตำแหน่งเหล่านี้แล้ว แต่ส่วนหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำให้การปฏิบัติงานต่ำกว่าความเป็นจริง โดยพนักงานฉุกเฉินทางการแพทย์ (EMT-B) เหลือเพียง 873คน

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่กำลังคนขาดแคลน อาสาสมัครฉุกเฉินทางการแพทย์ (FR) จึงเป็นกำลังคนที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งบทบาทของสมาคมกู้ชีพกู้ภัย และอาสาสมัครจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องเผชิญเหมือนกันคือบางแห่งใช้การจ้างงานเฉพาะภารกิจ บางแห่งใช้การบูรณาการเข้ากับงานประจำของงานกู้ภัย จึงทำให้เจอปัญหาความไม่ชัดเจนของการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ชัดเจนของผู้ตรวจสอบการเงิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กก็มีความจำกัดในด้านทรัพยากรจึงไม่สามารถเข้าร่วมดำเนินการได้

ดร.นงลักษณ์  กล่าวต่อว่า จากสถิติที่ได้ทำการรวบรวมพบว่าแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 1คน ต้องปฏิบัติงาน 300ชั่วโมงต่อเดือน และอีก 80 เปอร์เซ็นต์มีงานเสริมอยู่ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเท่ากับแพทย์ 1 คนจะทำงานมากกว่าข้าราชการ2.5เท่า และสิ่งที่เป็นปัญหาที่คือแพทย์หลายคนเปลี่ยนสถานที่ทำงานบ่อย บางคนย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลที่มีความเพียบพร้อมมากกว่า จึงทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์สาขานี้ ทั้งนี้เหตุผลที่แพทย์แจ้งเมื่อต้องการเปลี่ยนงาน ก็คือค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ โอกาสในการพัฒนาตนเองก็มีน้อย และไม่มีการสนับสนุนจากหัวหน้างาน ซึ่งตนมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ฉุกเฉินตามจำนวนของภารกิจที่ปฏิบัติงาน และให้แพทย์มีความเป็นอิสระในการทำงานมากขึ้น

"สำหรับอัตรากำลังคนในส่วนของแพทย์ที่เหมาะสมสำหรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดง จะต้องมีจำนวน 500 คนเป็นอย่างต่ำ  และเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินสีแดงและสีเหลืองจะต้องมีจำนวน 300 คน ส่วนแพทย์ที่ให้บริการผู้ป่วยทั้งแดง สีเหลือง และสีเขียวจะต้องมีจำนวน 400 คน  ส่วนพยาบาลห้องฉุกเฉินจะต้องมีจำนวน 1,400-1,500 คน พนักงาน EMT-B จำนวน 2,994 คน จึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ" ดร.นงลักษณ์  กล่าว

ด้าน นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนแพทยสภา กล่าวว่า การดำเนินการจัดการในส่วนของการแพทย์ฉุกเฉิน อยากให้ความสำคัญกับศัลยแพทย์ฉุกเฉินด้วย เพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ แต่กำลังคนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ยังมีน้อยมา โดยกำลังการผลิตในแต่ละปีมีเพียง 80 คน เท่านั้น ดังนั้นอยากวิงวอนให้ภาครัฐช่วยกันส่งเสริมและผลิตศัลยแพทย์มารองรับในส่วนนี้ด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การพัฒนาใจกลางพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

Posted: 13 Mar 2013 02:15 AM PDT

            ในเขตใจกลางเมืองมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาเพื่อให้มหานครมีความหนาแน่น แต่ไม่แออัด อยู่มากมายหลายแปลง  หากมีการวางแผนการพัฒนาที่ดี จะทำให้การพัฒนามหานครมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
            ทุกวันนี้มีข่าวการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหลายแปลง เช่น กรณีมักกะสันคอมเพล็กซ์ ซึ่งมีงบลงทุนถึง 300,000 ล้านบาท บนที่ดินขนาดเกือบ 500 ไร่  หรือการพัฒนาที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 80 ไร่  การพัฒนาโรงงานยาสูบขนาด 600 ไร่ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือคลองเตย 2,500 ไร่ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ กม.11 จำนวน 400 ไร่ ที่สถานีแม่น้ำอีก 260 ไร่ รวมทั้งที่ดินของ กทม. 80 ไร่บริเวณ กทม. 2 เป็นต้น ทั้งนี้ผมมีความเห็นถึงมูลค่าตลาดของที่ดินในแต่ละแปลง ดังนี้
            1. กรณีมักกะสันคอมเพล็กซ์ 500 ไร่ ๆ ละ 200 ล้านบาท รวม 100,000 ล้านบาท
            2. ที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 80 ไร่ ๆ ละ 300 ล้านบาท รวม 24,000 ล้านบาท
            3. โรงงานยาสูบ 600 ไร่ ๆ ละ160 ล้านบาท รวม 960 ล้านบาท
            4. ที่ดินท่าเรือคลองเตย 2,500 ไร่ ๆ ละ 100 ล้านบาท รวม 250,000 ล้านบาท
            5. พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ กม.11 400 ไร่ ๆ ละ 60 ล้านบาท รวม 24,000 ล้านบาท
            6. สถานีแม่น้ำอีก 260 ไร่ 100 ล้านบาท รวม 26,000 ล้านบาท
            7. ที่ดิน กทม. 2 จำนวน 80 ไร่ ๆ ละ 100 ล้านบาท รวม 16,000 ล้านบาท
            รัฐบาลควรพิจารณาวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมดังนี้
            1. รัฐบาลควรนำที่ดินเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ของรัฐ ของประชาชนและเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างมีระบบระเบียบเพื่อการพัฒนามหานครอย่างมีประสิทธิภาพ
            2. รายได้ที่จะได้จากการนี้ ควรนำมาจัดสรรเพื่อการพัฒนาเมือง การพัฒนาประเทศโดยแจกแจงอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา แต่ไม่ควรให้นำเงินไปเข้าหน่วยงานใดโดยเฉพาะ
            3. ควรสร้างระบบทางด่วนหรือรถไฟฟ้าเชื่อมต่อแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า หรืออาจก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Monorailหรือ Light Rail) เป็นต้น
            4. ควรใช้วิธีการจัดสรรที่ดินให้เอกชนมาดำเนินการหลายรายแทนการประมูลเพียงรายเดียว เพื่อป้องกันการผูกขาด  ที่ดินแต่ละแปลงจัดสรรให้มีการสร้างเป็นอาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์สันทนาการ โรงแรม เป็นต้น
            5. ยกเลิกการกีดกันการสร้างตึกสูงในบริเวณใด ๆ ที่มี เช่น บริเวณโรงเรียนเตรียมทหาร 2 ที่กำหนดให้ก่อสร้างอาคารได้ไม่เกิน 45 ชั้น เป็นต้น
            6. ควรอนุญาตให้ที่ดินแต่ละแปลงสามารถสร้างสูงได้ถึง 15-20 เท่าของอาคาร แต่ให้เว้นระยะโดยรอบอาคารมากขึ้น ให้เว้นระยะเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สวนบนพื้นที่รอบอาคารมากขึ้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่โล่งและสีเขียวมากขึ้นตามแนวคิด "หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded)".
            ในอนาคตยังอาจนำที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการอื่น ๆ มาจัดสรรเพื่อการพัฒนาเมืองให้มีระบบระเบียบมากยิ่งขึ้นอีกต่างหาก เช่น ที่ดินของกรมกองต่าง ๆ ที่ดินเขตทหาร ซึ่งในปัจจุบันสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเขตใจกลางเมืองแต่อย่างใด เป็นต้น
            สำหรับแนวทางการการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าด้วยภาษีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน โดยไม่ต้องกู้ หรือใช้ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย แต่องคาพยพปัจจุบันของรัฐบาลไทย ไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดินอย่างมีบูรณาการ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จึงควรตั้งองค์การบริหารที่ดินแห่งชาติมาจัดการ  โดยข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า
            1. จากการศึกษาของศูนย์ฯ พบว่า ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า 112 สาย ราคาเฉลี่ยคือ 392,955 บาทต่อตารางวา
            2. ในที่นี้ที่ดินติดถนนในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า 2 ข้าง และลึกจากถนนใหญ่ระยะทาง 200 เมตร หรือรวมพื้นที่ 250 ไร่ มีผลต่อราคาที่ดินสูงสุด ที่ดินส่วนนี้จะมีขนาดประมาณ 250 ไร่ รอบสถานี (500 x 200 เมตร x 4 ด้าน)
            3. ประมาณการราคาที่ดินเป็นเงินตารางวาละ 192,548 บาท หรือเท่ากับที่ดินที่ดินถนนใหญ่ระยะ 500 เมตรมีค่าเท่ากับ 60% ของราคาแปลงที่ดินที่ดินถนนใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดถนน และหากเฉลี่ยกับที่ดินที่อยู่ในซอยอีกไม่เกิน 200 เมตรเป็นเท่ากับ 60% ของที่ดินทั้งผืน (392,955 x 70% x 70%) หรือตกเป็นเงินไร่ละ 77.019 ล้านบาท เมื่อรวม 250 ไร่ และ 112 สถานี ก็จะเป็นเงิน 2.157 ล้านล้านบาท
            4. ที่ดินนี้หากเทียบกับเมื่อปี 2541 จะมีค่าเป็น 339% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 1.438 ล้านล้านบาท
            5. หากที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเก็บภาษีมูลค่าจากอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่า (Land Value Increment Tax) จากการที่ราคาที่ที่ดินเพิ่มขึ้นเองโดยมิได้ลงแรงลงทุน (unearned increment of land value) ณ อัตราประมาณ 20% ของการเพิ่มขึ้นของมูลค่า ประเทศไทยก็สามารถมีภาษีจากผลของระบบรถไฟฟ้าถึง 287,538 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้าขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มปริมาณรถไฟฟ้าได้อีกนับเท่าตัว
            จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการบริหารและจัดการที่ดินและภาษีที่ดี รัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินมาสร้างรถไฟฟ้าเลย รัฐบาลสามารถนำเงินจากผู้ได้ประโยชน์จากการมีรถไฟฟ้าผ่านโดยเฉพาะบริเวณริมถนนรอบสถานี 500 เมตรลึก 200 เมตรก็เพียงพอที่จะนำมาก่อสร้างรถไฟฟ้าได้อีกมากมาย  ยิ่งกว่านั้นในหลักการพัฒนารถไฟฟ้า ผู้ใช้ยังเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ไปกู้เงินมาดำเนินการ
            ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลสามารถนำแนวคิดการร่วมพัฒนาที่ดินโดยรอบรถไฟฟ้าด้วยแนวคิดการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 โดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่มีจำนวนประชาชนและขนาดที่ดินรวมกันเป็นส่วนใหญ่เกินกว่า 2 ใน 3  การจัดรูปที่ดินโดยนำที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้ามาพัฒนาใหม่จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเพราะมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเศษในระยะเวลา 15 ปี
            นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถใช้แนวคิดการเวนคืนที่ดินมาสนับสนุนการพัฒนาบริเวณพื้นที่รอบ ๆ รถไฟฟ้าอีกด้วยซึ่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย สามารถดำเนินการสำเร็จด้วยดี  อย่างไรก็ตามตามกฎหมายเวนคืนของไทยมีปัญหา
            ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา ๔๒ ระบุว่า "การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น . . . . กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท"
            ดังนั้นการเวนคืนในประเทศไทยจึงเวนคืนมาเพื่อการพาณิชย์ไม่ได้ แต่ในขณะที่ในประเทศอื่นสามารถเวนคืนเพื่อนำมาพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์เพื่อการพัฒนาประเทศได้  นอกจากนั้นหากเวนคืนแล้วยังไม่ได้ใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด ยังต้องคืนเจ้าของที่ดินเดิมอีก ซึ่งอาจเป็นประเทศเดียวหรือไม่กี่ประเทศในโลกที่กำหนดไว้แปลก ๆ เช่นนี้  แต่ที่เป็นดังนี้คงเป็นเพราะที่ผ่านมา การจ่ายค่าเวนคืนมักจ่ายตามราคาประเมินของทางราชการที่ต่ำกว่าราคาตลาด และจ่ายล่าช้า จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจ
            อย่างไรก็ตามหากมีการเวนคืนที่เป็นธรรม และมีการจัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงรอบรับผู้ถูกเวนคืน หรือมีการแบ่งประโยชน์ระหว่างกันในลักษณะของการจัดรุปที่ดิน เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ และทำให้การพัฒนามหานครมีระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้นไม่ใช่แบบปัจจุบันที่ผู้ถุกเวนคืนนับว่าโชคร้ายและผู้ที่มีทรัพย์อยู่ในแนวรถไฟฟ้าแต่ไม่ถูกเวนคืนถือว่าโชคดี เป็นต้น
            การจะพัฒนารถไฟฟ้าหรือการขนส่งมวลชนระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินหรือบนดิน หรือรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Railหรือ Monorail) ก็ตาม รัฐบาลควรมีการวางแผนและประสานแผนอย่างเป็นระบบทั้งการเวนคืน การพัฒนาที่ดิน ในทำนองประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ แต่หากยังติดขัดอยู่กับแต่ละหน่วยงานโดยไม่ประสานงานกัน ก็จะทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ล่าช้า ไม่มีการกระจายประโยชน์สู่ประชาชนส่วนใหญ่ และมีผู้ได้ประโยชน์เพียงเฉพาะรายเป็นสำคัญ
            องค์การบริหารการพัฒนาที่ดินแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยลงทุนที่เป็นองค์การมหาชนมีหน้าที่รวบรวมจัดการพัฒนาที่ดินในเขตเมือง หรือ ในเขตชานเมืองเพื่อการพัฒนาเมือง และควรมีหน้าที่สำคัญคือ การจัดหาที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง โดยการซื้อที่ดินภาคเอกชนมาดำเนินการ หรือนำที่ดินของทางราชการมาจัดประโยชน์ ทั้งนี้สามารถดำเนินการประสานกับทางกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อให้การพัฒนาที่ดินเป็นไปตามผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ
            แนวทางการดำเนินการได้แก่ การสร้างอุปทานที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง หมายรวมถึงการจัดหาที่ดินเพื่อให้โครงการหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เช่น การจัดหาที่ดินพร้อมสาธารณูปโภคในย่านชานเมือง ประมาณ 5,000 ไร่ เพื่อจัดสรรให้โครงการที่อยู่อาศัยหลายประเภทไปซื้อเพื่อพัฒนาโครงการขายแก่ผู้ซื้อบ้านต่อไป
            ช่วยกันคิดเพื่อการพัฒนาที่ดินของชาติเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห่วงเยาวชนเข้าถึงพนันง่าย หลังรัฐเตรียมจำหน่ายผ่านหวยตู้

Posted: 13 Mar 2013 02:12 AM PDT

แนะออกกฎชัดเจนกำหนดอายุผู้เล่น  เสนอนำต้นแบบการจัดตั้งกองทุนในต่างประเทศมาใช้เพื่อพัฒนาสร้างการรู้เท่าทัน เชื่อเยาวชนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ ขณะที่กองสลากรับข้อเสนอนำเลข 13 ตัวมาใช้จำกัดอายุผู้เล่น

โครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาการพนัน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์ จัดประชุมวิชาการเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม  

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิวงศ์  กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากกิจกรรมที่คล้ายการพนันทั้งในระดับองค์กรและระดับปัจเจก เนื่องจากมีข้อเท็จจริงจากงานวิจัยและจากการดำเนินงานของเครือข่ายระบุชัดว่าการพนันทุกรูปแบบมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน แม้ในประเทศที่เป็นต้นแบบของการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการพนันก็ยังพบว่าเด็กและเยาวชนยังได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การอนุญาตให้มีการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว โดยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเข้าถึงการพนันของเด็กและเยาวชน

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบจากการจำหน่ายสลากเลขท้ายด้วยเครื่องอัตโนมัติและมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนในประเทศ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย  พบว่า ประเด็นเรื่องการห้ามขายสลากกับเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอย่างเข้มข้น โดยมีการออกข้อกำหนดเรื่องอายุของผู้ซื้ออย่างชัดเจน เช่น ในประเทศอังกฤษห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ซื้อสลากโดยเด็ดขาด ขณะที่ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีซื้อสลากโดยเด็ดขาดเช่นกัน อีกทั้งในประเทศออสเตรเลียยังห้ามผู้ใหญ่ฝากเด็กซื้อและห้ามเด็กรับรางวัลอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการว่าจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ คือจะต้องติดป้ายอย่างชัดเจนว่า ห้ามจำหน่ายให้เด็กและเยาชน ซึ่งในประเด็นนี้ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้มาตรการที่น่าสนใจที่ในหลายประเทศนำมาใช้และน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศไทย คือการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะและให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน สร้างการรู้เท่าทันการพนัน เพื่อเป็นการป้องกันนักเล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการพนัน อาทิ กองทุน Big Lottery Fund ในประเทศอังกฤษ   กองทุน Ping Wo Fund ของฮ่องกง โดยกองทุนเหล่านี้ดำเนินงานเป็นอิสระและมีคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน

ขณะที่  ดร.สุรชัย ชูผกา อาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง  กล่าวว่า อยากเสนอให้ชุมชนที่จะมีตู้จำหน่ายสลากได้ทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ประกอบการหรือภาครัฐ  โดยจัดทำเป็น "1ชุมชน 1 ประชามติ" เพื่อหาทางออกร่วมกันและสร้างเป็นมติของชุมชนในการป้องกันเด็กและเยาวชนที่จะเข้าถึงการพนัน แต่ทั้งนี้สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือเรื่องคนเดินโพยที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนคน ว่าจะหาแนวทางป้องกันอย่างไร เนื่องจากคนเดินโพยสามารถเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ขณะที่ตู้จำหน่ายสลากนั้นมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างชัดเจน

ด้าน นายธนวัฒน์ พงศ์วิไล นายกสมาคมผู้ค้าสลากออนไลน์ไทย กล่าวว่า การขายสลาก 2 ตัว 3 ตัวผ่านเครื่องจำหน่ายนั้น ตัวแทนจำหน่ายทุกคนต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานสลากอย่างชัดเจน และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสำนักงานกองสลากอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการถูกยึดใบอนุญาต ทั้งนี้เห็นว่าการซื้อขายสลากของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเด็กและเยาวชนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนี้ แต่อย่างไรก็ตามพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันนักเล่นวัยใสเหล่านี้เข้าสู่วงจรการพนัน

นางอุษา ทาบโลหะ สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากระบุชัดเจนว่าต้องห่างจากวัดและโรงเรียนอย่างต่ำ 100 เมตร นอกจากนี้สำนักงานสลากกินแบ่ง ยังได้ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์จากรายได้ของสลากมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องข้อเสนอการใช้เลข 13 หลักในบัตรประชาชนเพื่อซื้อสลากจากเครื่องนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเด็กและเยาชน เราจำเป็นต้องหารือกันก่อนเพราะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากเครื่องจำนวน 12,000 ตู้ไม่มีโปรแกรมดำเนินการเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งก็พร้อมจะให้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในเรื่องนี้ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานสมัชชาผู้บริโภค กดดันรัฐเร่งองค์การอิสระ

Posted: 13 Mar 2013 02:05 AM PDT

13 มีนาคม 2556 เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคราชการ จำนวน 400 คน เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา เร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในวันสิทธิผู้บริโภคสากล วันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรมเดี๋ยวนี้ (Consumer Justice Now) เพราะผู้บริโภคถูกหลอกถูกโกงทุกวัน และยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้
 
การประชุมวิชาการเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล วันที่ 13-15 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด็น กรุงเทพ ฯ ได้ร่วมกันทบทวนและแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมรับฟังปัญหาผู้บริโภคที่ประสบจากทั่วประเทศ เช่น การถูกหลอกให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าขายตรง(ตะเกียงรักษาโรค) หรือถูกหลอกให้ซื้อตะเกียง มีมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท เก้าอี้แร่จากประเทศเกาหลีราคาแสนกว่าบาท เข็มขัดแม่เหล็ก ครีมเมือกทากสูตรฮิตจากเกาหลี เครื่องผลิตจากน้ำแร่แม่เหล็กราคา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากยีสต์ดำ ยาลดการติดเชื้อที่ให้ทานก่อนการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ยาสมุนไพรที่อ้างเพิ่มภูมิคุ้มกัน (CD4) เป็นต้น
 
รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "ประเทศไทยยังมีความอ่อนแอในการคุ้มครองผู้บริโภคมาก เปรียบกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนที่มีการเรียกคืนสินค้าอันตรายหรือสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แต่ประเทศไทยไม่มีการรายงานงานหรือจัดการเรื่องนี้เลย และรัฐบาลควรเร่งกำหนดนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้ "เมื่อประเทศหนึ่ง ห้ามใช้สินค้าใด ต้องห้ามใช้ในทุกประเทศ" (One Ban, All Ban Policy) จากปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค"
 
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการปัญหาสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย ในงานผู้บริโภคยังสามารถทดสอบความเป็นนักคุ้มครองผู้บริโภคในตัวคุณ ว่า มีมากแค่ไหน
 
นอกจากนี้ จะร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น จะมีการบทสนอเรียนการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ  ด้านบริการสาธารณะ ด้านการเงิน/ธนาคาร ด้านสินค้าและบริการทั่วไป และ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม
 
สำหรับในวันพรุ่งนี้ จะมีการนำเสนอประสบการณ์ และการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายในอนาคต ร่วมกับหน่วยงานรัฐ พร้อมชมผลงานประกวดสปอตโทรทัศน์ "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครอง ผู้บริโภครู้จัก อยากได้ โดยด่วน (Consumer Justice Now) ผู้บริโภคจากนักศึกษาทั่วประเทศ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น