โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อวัตถุศึกษากับอธิป: เพลง ‘Harlem Shake’ จ่อโดนฟ้อง ฐานมี ‘เสียง’ ไม่ได้รับอนุญาต

Posted: 18 Mar 2013 11:06 AM PDT

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ 'อธิป จิตตฤกษ์' นำเสนอข่าวเพลง 'ฮาร์เลม เชค' อาจถูกฟ้อง เหตุมีแซมเปิลเสียงไม่ได้รับอนุญาต, ซีรีส์ 'Veronica Mars' เตรียมทำเป็นหนัง หลังผู้กำกับระดมทุนผ่านเว็บ Kickstarter ได้ในวันเดียว

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

Week 9

 

12-03-2013

Baauer เจ้าของเพลงไวรัลเพลงดังแห่งยุค Harlem Shake กำลังจะโดนฟ้องเนื่องจากเพลง Harlem Shake มีการใช้แซมเปิลที่ยังไม่ได้รับอนุญาต

Héctor Delgado นักร้อง Reggaeton เพิ่งจะพบว่าประโยคที่เขาชอบตะโกนจนเป็นเครื่องหมายการค้าว่า "Con Los Terroristas" ไปปรากฎในเพลงไวรัลดังแห่งยุคอย่าง Harlem Shake

นอกจากนี้ประโยคว่า "Do The Harlem Shake" ในเพลง Harlem Shake ก็ยังเป็นการแซมเปิลเสียงของ Jayson Musson แร็ปเปอร์จากฟิลาเดลเฟียอย่างไม่ได้รับอนุญาตอีก

ทั้งนี้เพลง Harlem Shake ได้อยู่บนชาร์ต Billboard Hot 100 มา 3 สัปดาห์แล้วและมียอดขายกว่า 800,000 ดาวน์โหลด เมื่อพิจารณาจากการฟ้องร้องที่ผ่านๆ มา Baauer ก็อาจจะเสียรายได้แทบจะทั้งหมดจากเพลง Harlem Shake ไปกับการฟ้องร้องขอส่วนแบ่งจากเจ้าของเสียงที่ถูกเอามาแซมเปิลในเพลง

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130311shake

 

14-03-2013

Vimeo เพิ่มบริการใหม่ให้คนทำวีดีโอสามารถคิดเงินค่าดูวีดีโอได้

โดยเจ้าของวีดีโอจะตั้งราคาวีดีโอขั้นต่ำที่ 0.99 ดอลลาร์ ซึ่งเขาจะได้เงิน 90% ส่วนอีก 10 จะเป็นของบริการจ่ายเงินออนไลน์เช่น Paypay หรือบริการเครดิตการ์ด

ทั้งนี้บริการนี้จะเป็นบริการสำหรับสมาชิกแบบ Vimeo Pro ที่ต้องจ่ายปีละ 199 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น ซึ่งสมาชิกแบบนี้นอกจากจะได้สิทธิ์พื้นที่ที่มากขึ้นและสิทธิ์ในการอัปโหลดวีดีโอแบบความละเอียดสูงแล้ว ก็ยังมีสิทธิ์ในการควบคุมการเข้าชมวีดีโอตนเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคิดเงินดังที่ได้กล่าวมา การจำกัดโซนในการดู การเลือกให้สามารถดูได้เฉยๆ หรือดาวน์โหลดได้อีกด้วย

ทั้งนี้ Vimeo ได้ใส่เครื่องมือ "กระป๋องทิป" ให้คนบริจาคให้คนทำวีดีโอตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 ที่แล้วโดยเจ้าของวีดีโอจะได้เงิน 85% ของเงินบริจาค

News Source: http://paidcontent.org/2013/03/12/vimeo-on-demand-launches-to-let-creators-charge-for-videos/

 

บริการฟังเพลงออนไลน์หรือ "สตรีมมิ่ง" ชื่อดังจากสวีเดน Spotify มีผู้ลงทะเบียนให้แบบจ่ายเงินจากทั่วโลกเกิน 6 ล้านคนแล้ว

News Source: http://gigaom.com/2013/03/12/spotify-hits-6-million-paid-users-as-market-for-music-streaming-heats-up/

 

โครงการระดมทุนทำภาพยนตร์ Veronica Mars กลายมาเป็นโครงการระดมทุนผ่านเว็บ Kickstarter ที่ระดมทุนได้เร็วที่สุดโดยระดมได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลา 4 ชั่วโมง และสองล้านเหรียญภายในเวลา 10 ชั่วโมง

Veronica Mars เป็นซีรี่ส์ทางโทรทัศน์เกี่ยวกับนักสืบสาววัยรุ่นที่ต้องจบลงอย่างค้างคาในซีซั่นที่ 3 ตั้งแต่ปี 2007 ล่าสุดผู้สร้างซีรี่ส์อย่าง Rob Thomas (คนละคนกับอดีตนักร้องวง Matchbox 20) ก็ได้พยายามระดมทุนผ่านเว็บระดมทุน Kickstarter หลังเขาได้รับอนุญาตจาก Warner Bros  มีผู้สนใจสนับสนุนอย่างรวดเร็วจนการระดมทุนเสร็จสิ้นภายในไม่ถึงหนึ่งวัน และเป็นการทำลายสถิติความเร็วในการระดมทุนบนเว็บ Kickstarter

ทั้งนี้นักแสดงหญิงของซีรี่ส์อย่าง Kristen Bell ก็ตื่นเต้นและยินดีมากที่จะได้รับบทบาท Veronica Mars ต่อในภาพยนตร์ตอนต่อจากซีรี่ส์ที่ว่านี้

News Source: http://paidcontent.org/2013/03/13/veronica-mars-movie-is-a-go/ , http://www.techdirt.com/articles/20130313/12234722314/warner-bros-lets-veronica-mars-crew-prove-demand-movie-via-kickstarter.shtml

 

โครงการแบบเรียนเสรีของ Boundless ที่ถูกฟ้องเนื่องจาก "ลอก" โครงสร้างไปจนถึงการจัดหน้าของแบบเรียนเชิงพาณิชย์ กำลังสู้กลับแล้ว

ทั้งนี้ Boundless นั้นได้ประกอบสร้างแบบเรียนใหม่ขึ้นมาจากแหล่งความรู้เสรี (open source) จำนวนมาก Boundless ไม่ได้ "ลอก" เนื้อหาแบบเรียนของพวกสำนักพิมพ์แบบเรียนใหญ่ๆ ทั้งหลาย

แต่ก็ไม่วายจะโดนฟ้องเนื่องจากลอกโครงสร้างไปจนถึงการจัดหน้า

ล่าสุด Boundless ได้ยื่นฟ้องแย้งโดยยืนยันว่าสิ่งที่ตนทำไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะสิ่งที่พวกแบบเรียนเชิงพาณิชย์อ้างว่า Boundless ไป "ลอก" มานั้นไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ หรือถ้าจะได้รับการคุ้มครอง การใช้ของ Boundless ก็อยู่ในข่ายของ "การใช้อย่างชอบธรรม" (fair use) ที่เป็นข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130313/03043822308/innovative-open-textbook-company-fights-back-against-publishers-copyright-infringement-lawsuit.shtml

 

15-03-2013

ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า Veoh ไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพียงเพราะเว็บไซต์สามารถใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

Veoh เป็นเว็บดูวีดีโอออนไลน์แบบเดียวกับ Youtube หรือ Vimeo ที่โดยทั่วไปก็ปฏิบัติตามคำเรียกร้องเอาคลิปที่มีลิขสิทธิ์ลองจากเว็บตามกฏหมาย DMCA ของสหรัฐ

อย่างไรก็ดีทาง Universal Music Group ก็ได้ฟ้อง Veoh เพราะเว็บไซต์สามารถใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ทางศาลชั้นต้นตัดสินว่า Veoh ไม่มีความผิดเพราะได้รับความคุ้มครองจากหลักการ "อ่าวปลอดภัย" (Safe Harbors) ของกฎหมาย DMCA ที่วางเงื่อนไขว่าเจ้าของเว็บไซต์ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์หากนำเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ลงตามข้อเรียกร้องของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกระบวนการในกฎหมาย DMCA

ล่าสุดศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการอ่าวปลอดภัยว่ายังทำงานอยู่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดีชัยชนะนี้ก็ราคาแพงสำหรับบริษัทตั้งใหม่อย่าง Veoh เพราะค่าต่อสู้ทางกฎหมายนั้นก็แพงมหาศาลจนทำให้บริษัทล้มละลายไปในกระบวนการสู้คดีอย่างที่สุด

และนี่ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งว่ากลไกของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีในอเมริกานั้นเอื้อให้ธุรกิจใหญ่ๆ สามารถทำลายธุรกิจเล็กๆ ตั้งใหม่ได้ด้วยการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น โดยการฟ้องนั้นไม่จำเป็นต้องมีแนวโน้มจะชนะแต่อย่างใด

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/03/win-safe-harbors-umg-v-veoh , http://www.techdirt.com/articles/20130314/16415922328/veoh-wins-important-case-against-universal-music-over-dmca-safe-harbors-again-is-still-dead-due-to-legal-fees.shtml

 

เจ้าของ Grumpy Cat ไปยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเคสมือถือ แก้วเบียร์ เกมส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางทนายของเจ้าของ Grumpy Cat ก็ออกมาประกาศว่าจะไม่เอาผิดคนทั่วไปที่ทำ "แฟนอาร์ต" (เข้าใจว่ารวมเล่นมีม) ต่างๆ ของเจ้าแมวหน้าบึ้งตัวนี้ แต่จะเอาผิดแค่คนที่พยายามจะพยายามนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์

สิ่งที่ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจคือ การกล่าวอ้างแบบนี้อาจดูค่อนข้างจะขัดแย้งเพราะภายใต้การคุ้มครองของเครื่องหมายการค้า การละเมิดเครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์เท่านั้นถึงจะเป็นความผิด (ถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิด) ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าจะไม่เอาผิดคนที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะเอาผิดไม่ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายสำหรับการยื่นจดทะเบียนนี้คือการคุ้มครอง "Grumpy Cat" ในฐานะเครื่องหมายการค้าจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด วลี "Grumpy Cat" ก็น่าจะคุ้มครองได้ และอาจรวมถึงรูป Grumpy Cat บางรูปที่เจ้าของได้ถ่ายไว้ด้วย

ป.ล. จริงๆ รูปทุกรูปที่เจ้าของถ่ายไว้ก็คุ้มครองด้านลิขสิทธิ์อัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะฟ้องแพ่งให้ได้ค่าเสียหายสูงสุด ต้องไปลงทะเบียนกับสำนักงานลิขสิทธิ์ก่อน

News Source: http://paidcontent.org/2013/03/14/grumpy-cat-shows-claws-vows-to-sue-infringers/

 

17-03-2013

คนทำ Stripped ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการ์ตูนที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter เมื่อทำสารคดีเสร็จแล้วต้องกลับมาระดมทุนอีกครั้งเป็นค่าใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ต่างๆ ในสารคดี

ทั้งนี้ การระดมทุนในตอนแรกคนทำเรียกร้องมาเพียง 58,000 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดระดมได้กว่า 109,000 ดอลลาร์ ซึ่งทั้งคู่ก็เอาเงินส่วนเกินนี้ไปเสริมส่วนต่างๆ ของสารคดีในทางเทคนิคเช่นการใส่อนิเมชั่น เพิ่มระบบเสียงไฮไฟ ฯลฯ ทั้งคู่ทำสารคดีเสร็จแล้ว แต่ในกระบวนการขั้นสุดท้ายในการขออนุญาตใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ 98% ให้ใช้งานฟรีๆ แต่อีก 2% เรียกร้องค่าใช้คลิปการ์ตูนเป็นเงินรวมกันกว่า 50,000 ดอลลาร์

ทั้งคู่ใช้เงินที่ระดมไปรอบแรกไปหมดแล้วจึงต้องมาระดมทุนเพิ่ม โดยเบื้องต้นทั้งคู่ตัดคลิปที่ต้องจ่ายเงินให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ซึ่งต้องจ่ายเงินรวม 33,000 ดอลลาร์เศษๆ ซึ่งตอนนี้ก็ระดมได้ทะลุเป้าแล้วและทั้งคู่ก็ขยายการระดมทุนให้สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ครอบทั้งหมดของคลิปในสารคดีในตอนแรก

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130308/03112522252/comic-strip-documentary-filmmakers-return-to-kickstarter-because-theyre-scared-fair-use-wont-protect-them.shtml

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำแถลงคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสไฟเขียว“ตอบโจทย์” ตอน 5

Posted: 18 Mar 2013 10:32 AM PDT

กรณี เมื่อวันที่ 15 มี.ค.56 ผู้บริหารของ ไทยพีบีเอสตัดสินใจชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์ชุด"สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ"ตอนที่ 5 เนื่องจากมีกลุ่มผู้มาชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศภายในสถานีฯ โดยถามหาถึงความเหมาะสมและจริยธรรมในการนำเสนอและผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ได้ตัดสินใจชะลอการออกอากาศรายการตามที่กำหนดไว้ในผังรายการ จากนั้นได้นำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนนั้น

วันนี้ (วันที่ 18 มี.ค.56)คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ออกแถลงการณ์ภายหลังการได้รับมติจากคณะอนุกรรมการฯ ว่าตามที่ได้มีการชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์วันที่ 15 มี.ค.56 หลังจากนั้นได้มีการนำเรื่องดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้วินิจฉัยแล้ว และเห็นว่าการชะลอการออกอากาศดังกล่าว เป็นการผิดข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ เกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อ 6.1 "ผู้บริหารหรือพนักงานต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง จากรัฐบาล กลุ่มและพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้สาธารณชนเชื่อมั่นในความเป็นอิสระและความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย"และเพื่อเป็นการยืนยันหลักการความเป็นอิสระและเสรีภาพของสื่อคณะอนุกรรมการฯจึงเห็นสมควรให้มีการเยียวยาผู้ชมรายการโดยการออกอากาศรายการดังกล่าวโดยเร็ว

แต่เนื่องจากการชะลอการออกอากาศรายการดังกล่าวเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและปกป้องทรัพย์สินขององค์การฯ   การตัดสินใจของ ผอ.ส.ส.ท. เป็นเหตุผลที่รับฟังได้

คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ยังยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 28(2) "คุ้มครองรักษาความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ และพนักงานให้ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ"

จากนั้นในเวลา 21.45 น. วันที่ 18 มี.ค.56 ไทยพีบีเอส ได้ดำเนินการออกอากาศรายการตอบโจทย์ตอน 5 ชุด "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ตามมติดังกล่าวทันที

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่าตนอยู่ในสองสถานะ หนึ่งคือหัวหน้ากองบรรณาธิการฯที่ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและยืนหยัดในการนำเสนอข้อมูล ขณะเดียวกันอยู่ในสถานะผู้บริหารองค์การที่จะต้องดูแลสวัสดิภาพของผู้ปฎิบัติงานและทรัพย์สินขององค์การฯ ช่วงเวลาตัดสินใจชะลอการออกอากาศในนาทีนั้น เพื่อลดการเผชิญหน้า เป็นการชะลอ  ไม่ได้ยุติการออกอากาศรายการนี้ไปเลย  และขณะนี้ขอน้อมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

นายสมชัยยังกล่าวถึงการพิจารณาประเด็น "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" มานำเสนอของ ไทยพีบีเอส ว่าเป็นการทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะเพื่อให้ประเด็นที่กำลังโต้เถียงกันมาปรากฏอยู่ในที่สาธารณะ  โดยเราต้องยอมรับว่าขณะนี้ประเด็น ม. 112 เป็นที่ถกเถียงกันมากในโซเชียลมีเดีย  หากประเด็นนี้ไม่พูดให้เป็นที่กระจ่างและตรวจสอบได้ก็จะเป็นอันตรายดังนั้นการนำผู้ที่เสนอประเด็นที่เห็นว่าจะต้องแก้ไขในเรื่องนี้มาเสนอในที่สว่าง  และให้มีการแลกเปลี่ยนกัน โต้แย้งกัน สังคมจะเกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวผ่านยูทูปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เลื่อนประมูล 4G ไปปี 2557

Posted: 18 Mar 2013 10:10 AM PDT

 

รองประธานกสทช. เผย เลื่อนประมูล 4G ไปปี 2557 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการประมูลกันในเดือน ต.ค. ปีนี้ ระบุติดปัญหาด้านกฎหมายและการถือครองคลื่นของบมจ.กสท โทรคมนาคม เตรียมตั้งคณะกรรมการจัดการประมูล 

 
ทั้งนี้ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทค. วันที่ 20 มี.ค.นี้ จะเสนอตั้งคณะกรรมการจัดการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะเป็นคณะทำงานสำหรับจัดการประมูลคลื่นความถี่ 4G (แอลทีอี)
 
คณะทำงานชุดนี้ จะมีลักษณะคล้ายกับคณะทำงานจัดการประมูลคลื่นความถี่ 3G 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยจะจัดทำแผนการประมูล วิธีการประมูล ราคาคลื่นความถี่ทั้ง 20 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4 ชุดคลื่นความถี่ จำนวนชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ว่าจะมีราคาเท่าไร จากเดิมคาดว่าแผนการประมูล 4จีจะเกิดเดือน ต.ค. 2556 แต่ต้องเลื่อนเป็นปลายปี 2557 เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย และการถือครองคลื่นของ บมจ.กสท โทรคมนาคม
 
วันเดียวกัน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม  เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT  ได้แสดงท่าทีว่าจะยื้อหรือไม่ยอมคืนคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในช่วงปลายปีนี้ มาให้ กสทช. ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น  ในเบื้องต้น กสทช.จะขอความร่วมมือดีๆก่อน แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางแพ่ง และอาญา ซึ่งกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต  ทั้งๆที่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่าหมดสิทธิ์ใช้ แต่หากยังมีการดื้อดึงฝ่าฝืนไปใช้คลื่นหรือไปสนับสนุนให้มีการลงทุนหรือหาลูกค้าเพิ่ม ก็เท่ากับว่ามีเจตนาจะกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงขอเตือนว่าผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องรับความเสี่ยงต่อบทกำหนดโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และถ้ามีการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระก็ต้องเรียงกระทงลงโทษ ส่งผลให้มีโทษมากขึ้น นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบอัตราโทษสูงถึงจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผลที่ได้รับคืออาจติดคุกหัวโต  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการขู่  แต่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ในส่วนบทบาทของ กสทช.เอง ก็ต้องดำเนินการมิฉะนั้นจะถูกข้อหาฐานปฎิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ไปด้วย
 
"กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า CAT ได้รับประโยชน์ตามบทเฉพาะกาล มิฉะนั้นจะมีบทเฉพาะกาลไว้เพื่ออะไร ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 82-84 ของพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯปี 2553 นั้น ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมาย เดิมไม่ให้หายไปพร้อมกับพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 ที่ถูกยกเลิกไป  ทั้งนี้เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ แต่บทเฉพาะกาลก็มิได้คุ้มครองให้สามารถใช้คลื่นได้ตลอดไป  มิฉะนั้นระบบใหม่คือระบบใบอนุญาตจะไม่สามารถเริ่มเดินหน้าได้เลย ในกรณีสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลา บทเฉพาะกาลรับรองสิทธิจนสิ้นสุดระยะเวลาของสัมปทานเท่านั้น โดยเมื่อสัญญาสัมปทานหมดอายุ สิทธิในการใช้คลื่นนั้นๆก็หมดตามไปด้วย ข้อกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนมากจะไปเอานักกฎหมายกี่สำนักมาตีความ หากมองตรงไปตรงมาโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ก็ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ ผมว่าน่าจะยอมรับความจริงกันได้แล้วว่าระบบสัมปทานให้ใช้คลื่นความถี่กำลังจะกลายเป็นอดีต หากเห็นแก่ประโยชน์ของชาติก็ไม่ควรที่จะอ้างเหตุต่างๆนานา เพื่อยื้อระบบสัมปทานให้อยู่ต่อไป เพราะถึงเวลาแล้วที่จะคืนคลื่นที่หมดสัมปทานมาให้กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย นำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง"
 
 ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ก็คือ จะมีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการอยู่ในระบบนี้จำนวน 17 ล้านเลขหมายอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะในขณะนี้ศักยภาพในการโอนย้ายเลขหมายได้เพียงวันละ 40,000 เลขหมายเท่านั้น หากจะโอนย้ายทั้ง 17 ล้านเลขหมาย ก็จะต้องใช้เวลาถึง 425 วัน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่สัญญาสัมปทานจะหมดลง หากความสามารถโอนย้ายได้ประมาณ 7 ล้านเลขหมาย คงเหลือผู้ให้บริการค้างอยู่ในระบบถึง 10 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกสทช.ที่จะต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มนี้ ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีกรรมการ กสทช.บางคนไปพูดว่าถึงอย่างไร ซิมก็ต้องดับ อีกทั้งยังยุยงให้ไปเร่งประมูลคลื่น 1800 โดยไม่ใส่ใจผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้มองว่า กสทช.เอาตัวรอด โดยละเลยหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นตนจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ทางกฎหมาย คือ การกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทานเพื่อมิให้บริการสาธารณะหยุดชะงัก แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กสทช. ต้องกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งแนวคิดในเรื่องนี้ตกผลึกแล้วและมีกฎหมายรองรับสอดคล้องกับแนวทางสากล หากภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมมือกับ กสทช. อย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหานี้จะถูกก้าวข้ามไปโดยง่ายและสามารถนำคลื่นความถี่มาจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
 
"ส่วนกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CAT หยิบยกประเด็นว่า กสทช.จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น ผมขอย้ำว่าที่ผ่านมา กสทช. โดยกทค.ได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบมาในขณะนี้ไม่ปรากฎนโยบายรัฐบาลที่ไม่ให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และไม่ปรากฎว่ามีนโยบายใดที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2553 อีกทั้งผมไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการไปขอมติครม. ให้ยื้อเวลาในการคืนคลื่นเพื่อใช้ประโยชน์ในคลื่น 1800 MHz ต่อไป ทั้งๆที่สัมปทานสิ้นสุดแล้ว เพราะเท่ากับเป็นการขอให้รัฐบาลทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกเช็คบิลจากภาคการเมืองและภาคประชาชน" ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริศนาหลังฉาก: ภาพ-เจรจา ของการพูดคุยสันติภาพ

Posted: 18 Mar 2013 09:10 AM PDT


 
หลังจากที่ประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง รัฐบาลไทยได้ตกลงใจว่าจะทำให้การลงนาม "ข้อตกลงสันติภาพ"ที่ทำกับกลุ่มผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต(Barisan Revolusi Nasional- Coordinate)เป็นจริงให้จงได้
 
กลุ่มดังกล่าวนำโดย ฮัสซัน ตอยิบ (Hasan Toib) ที่ตั้งตัวเองเป็น "ผู้ประสานงาน" (Liaison) ซึ่งแปลว่าผู้ที่จะต้องไปโน้มน้าวกลุ่มบีอาร์เอ็นให้เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยต่อไป
 
รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการครั้งนี้ และมีจุดมุ่งหมายในการโน้มน้าวกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆให้เข้าสู่โต๊ะเจรจา
 
บทบาทของทหารเองยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ยังจะต้องมีการดำเนินการต่อไปเพื่อให้กองทัพ เห็นด้วยกับกระบวนการนี้

การลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัวแทนจากทั้งรัฐบาลไทยและกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้มานั่งพูดคุยกัน การเจรจาคล้ายๆกันนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่เกาะลังกาวี (Langkawi) ประเทศมาเลเซีย ด้วยการสนับสนุนของนพ.มหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย และ ในปี 2552 ยูซุฟ คัลล่า รองประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซียในขณะนั้นก็ได้ร่วมสนับสนุนในการจัดการเจรจาที่เมืองโบกอร์ (Bogor) ด้วย
 
ปี 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ร้องขอองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งให้จัดกระบวนการพูดคุยระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับกลุ่ม พูโล ปีกของ กัสตูรี มะโกตา (Kasturi Mahkota) หนึ่งในบุคคลสามคนที่อ้างตัวว่าเป็นประธานกลุ่มพูโล
 
ในความพยายามทั้งหมดนี้ ผู้มีส่วนต่างก็อ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตไม่มากก็น้อย
 
ในวันนี้ ความเคลือบแคลงใจกับประเด็นการเป็นผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตยังมีอยู่ โดยทั่วไป หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่ากลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต อยู่ภายใต้การนำไม่ใช่ของบุคคลคนเดียวแต่ของสภาที่ปรึกษาที่รู้จักกันในนาม ดีพีพี (Dewan Penilian Party: DPP)
 
แหล่งข่าวจากBRNและรัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยว่า ฮัสซัน ตอยิบไม่ได้รับฉันทานุมัติจากสภาที่ปรึกษาหรือดีพีพี ในการลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การลงนามหนนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่าเป็นผลงานของฝ่ายไทยแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครอื่นเกี่ยวข้อง
 
แต่รัฐบาลไทยเชื่อจริงหรือว่า ฮัสซัน ตอยิบ สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำกลุ่มคนอื่นๆมาเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มันบอกเล่าอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่ออธิบายความสำคัญของปัญหาภาคใต้ที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราอาจจะต้องย้อนไปดูการรัฐประหารในปี2549
 
เป็นที่ชัดเจนว่าหนึ่งในเหตุผลที่พลเอกสนธิ บุญญรัตกลิน อ้างในการทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ คือ วิธีที่ทักษิณจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทักษิณลดข้อครหาดังกล่าวหรือสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้นก็คือการทำให้สันติภาพบังเกิดขึ้นในสามจังหวัด หรือ อย่างน้อยที่สุดคือทำให้ดูประหนึ่งว่าตัวเองกำลังทำให้สถานการณ์ในสามจังหวัดนั้นคลี่คลายลง
 
หน้าฉาก ดูเหมือนว่ารัฐบาลแสดงทีท่าอย่างสำคัญโดยการใช้ชื่อประเทศไทยและตราของรัฐบาลประทับในข้อตกลง แต่หากสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ดีขึ้น ฝ่ายทักษิณก็สามารถจะอ้างได้ว่าได้ริเริ่มในเรื่องนี้แล้ว แต่กลุ่มขบวนการต่างหากที่ไม่ขานรับ
 
ส่วนรัฐบาลมาเลเซียก็กระโดดเข้าร่วมวงกับการริเริ่มของฝ่ายไทย เพราะว่าฝ่ายนำของมาเลเซียเองก็ต้องการให้ภาพว่าตนกำลังทำในสิ่งที่เหมาะสมถูกต้อง อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียกำลังจะมาถึง
 
หากพิจารณาเปรียบเทียบก็เหมือนกับที่ผ่านๆมาในการเมืองไทย คือ พรรคการเมืองไทยทุกพรรคได้ทำให้เรื่องภาคใต้เป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคของตนและใช้โจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม โดยเห็นความผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าความสงบในพื้นที่
 
การทำข้อตกลงที่เปิดเผยต่อสาธารณะทำให้บรรดากลุ่มบุคคลที่ไปลงนามรวมทั้งเป็นสักขีพยานในงานวันที่ 28 กพ.ต้องแสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
 
ฮัสซันได้พบกับทักษิณเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการพบปะกันครั้งนั้นมีหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนอีก ๑๕ คนรวมอยู่ด้วย เขานั่งถัดจากทักษิณซึ่งโดยพฤตินัยแล้วก็คือหัวหน้าของพรรคเพื่อไทย และผู้ที่อยู่ในการประชุมระบุว่าพวกเขาทั้งสองคนพูดคุยกันถูกคอเป็นเรื่องเป็นราว
 
ขณะที่ตัวแทนหนุ่มของบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตที่สภาที่ปรึกษาหรือดีพีพี (DPP)ส่งไปร่วมด้วยกลับนิ่งเฉยและไม่ได้เข้าร่วมในการพูดคุยวงย่อยกับทักษิณและคนอื่นๆแต่อย่างใด
 
ผู้ที่เข้าร่วมในการพบปะดังกล่าวบอกว่า ฮัสซันเริ่มขยับเข้าไปอยู่ในวงโคจรของ "ทีมทักษิณ" แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก "เรารู้ว่าฮัสซันกำลังคิดทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่มีใครสนใจจริงจังเพราะเขาไม่ได้มีอิทธิพลต่อพวกญูแว (juwae) ที่อยู่ในพื้นที่" ผู้นำพลัดถิ่นคนหนึ่งกล่าว "แต่ไม่มีใครคิดว่าเขาจะไปไกลถึงขั้นทำข้อตกลงกับฝ่ายไทย"
 
ในมุมมองของหัวหน้ากลุ่มต่อสู้แบ่งแยกดินแดน ประเด็นที่สำคัญไม่ใช่ว่ารัฐบาลกำลังคุยผิดคนเท่านั้น แต่บรรดาผู้นำตัวจริงของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตยังไม่พร้อมที่เข้าสู่กระบวนการสันติภาพในตอนนี้
 
ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไทยเองก็ยังไม่มีท่าทีที่จะไม่เอาผิดคู่เจรจา จากแหล่งข่าวในมาเลเซีย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างก็ยืนยันว่า หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการในเรื่องให้ความคุ้มกันทางการทูต (diplomatic immunity) ก็เป็นเรื่องยาก ที่กลุ่มผู้นำตัวจริงของกลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตที่คุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ จะออกมาพูดคุยในเรื่องสันติภาพ
 
อีกอย่าง ถ้อยคำภาษาที่คลุมเครือในข้อตกลงทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในเรื่องที่ว่า "จะมีการจัดหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับสมาชิกของคณะทำงานร่วมทุกคนและตลอดระยะเวลาของกระบวนการ" ก็ถือว่ายังไม่ดีพอ
 
กลุ่มนักรบญูแว (juwae) ในพื้นที่ได้แสดงท่าทีไม่ใส่ใจกับการทำข้อตกลงที่เกิดขึ้นในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ด้วยการก่อเหตุต่อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่ารัฐบาลไทยจะอ้างว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม และความเสียหน้าจากการที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ได้เกิดเหตุย่อยๆร่วมสี่สิบครั้งในอำเภอต่างๆเจ็ดอำเภอของยะลาทำให้ "ทีมประเทศไทย" หรือจะพูดให้ถูกก็คือ "ทีมทักษิณ" ต้องออกมาหาทางกู้หน้า
 
สภาความมั่นคงแห่งชาติต้องออกแรงหนักขึ้นเพื่อให้มีการรับรองการเจรจาและหาทางให้ "สะแปอิง บาซอ" เข้ามาร่วมวงด้วย สะแปอิง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในจังหวัดยะลา สะแปอิงได้หลบหนีออกนอกประเทศ หลังจากมีหมายจับที่ออกโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี ๒๕๔๘ ซึ่งหมายจับดังกล่าวลงนามโดย พ.ต.อ. ทวีสอดส่องนั่นเอง อุสตาสอีกเจ็ดคนจากโรงเรียนก็ถูกข้อกล่าวหาด้วยและทั้งหมดล้วนแต่กำลังหลบหนี
 
การที่มีนักเรียนจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำให้สะแปอิงอยู่ในฐานะที่อ่อนไหว ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สะแปอิง เป็นตัวแทนของเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไป มันเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้คนมลายูปาตานีแตกต่างไปจากคนไทยในส่วนอื่นๆของประเทศ
แม้ว่าสะแปอิงจะถูกกล่าวหาโดยรัฐไทยว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ของทางการไทยหลายคนเชื่อว่าถ้าหากสะแปอิงยอมเข้ามาสู่กระบวนการสันติภาพ เขาจะเป็นบุคคลที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความขัดแย้งได้ พวกเขาชี้ถึงสถานะของเขาต่อคนในชุมชนและข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นผู้เดียวที่รัฐไทยมองว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่
 
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับโรงเรียนธรรมาวิทยาตกต่ำในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๕๐ เมื่อครูโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจำนวน ๘ คนถูกยิงเสียชีวิตในระยะเผาขน
 
ภายหลังการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและภายในปีเดียวหลังจากเข้ารับตำแหน่งเขาก็ได้ประกาศยกเลิกการใช้ "บัญชีดำ" อันเป็นสิ่งที่ผู้คนเอาไปเชื่อมโยงเข้ากับการสังหารอย่างเจาะจงตัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้
 
ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่สะแปอิงก็ยังคงไม่ยอมเข้ามาสู่การเจรจาของฝ่ายไทย เจ้าหน้าที่ทางการไทยคนหนึ่งที่ได้อ่านแฟ้มคดีของสะแปอิงบอกว่าหากเรื่องไปถึงชั้นศาล สะแปอิงก็มีโอกาสสูงที่จะชนะคดี แต่ปัญหาก็คือคดีของสะแปอิงตอนนี้ยังคงค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
 
แม้ว่าในท้ายที่สุดจะมีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมจนผ่านพ้นและข้อกล่าวหาต่อสะแปอิงตกไป แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่าผู้นำจิตวิญญาณอาวุโสคนนี้จะยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา ผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายคนบอกว่า ถึงแม้สะแปอิง บาซอ จะยอมเข้าโต๊ะเจรจา แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า กลุ่มญูแว (juwae) ในพื้นที่จะเห็นด้วย พูดอีกอย่างก็คือว่า ไม่มีทางลัดสำหรับสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้
 
ซ้ำร้ายกว่านั้น ละครฉากนี้ยังดูแปลกเมื่อ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เคยขอให้ กลุ่มที่พวกเขาเจรจาด้วยนั้น พิสูจน์ว่าพวกเขามีสายบังคับบัญชาที่เชื่อมโยงกับกลุ่มญูแวในพื้นที่ และอาจจะดีกว่านี้ถ้ารัฐบาลแสดงความจริงใจว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลกำลังขอร้องแกมบังคับให้ฮัสซัน ตอยิบ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานที่ดีเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่จริงๆหันมาสนใจกระบวนการนี้ และรัฐบาลก็น่าจะออกตัวกับประชาชนเสียแต่เนิ่นๆว่าละครเรื่องนี้มันมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่จบลงด้วยฉากสันติสุข เพื่อที่ว่ารัฐบาลจะได้ไม่ต้องเสียหน้าเมื่อถูกนักข่าวถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงยังโดนโจมตีจากกลุ่มญูแวอยู่
 
 
 
Note: For more articles by Don Pathan on the conflict in Southern Thailand in English, please visit: http://seasiaconflict.com
 
ที่มา: PATANI FORUM
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจตอบโจทย์ฯ ปล่อยดีเบต สมศักดิ์-ส.ศิวรักษ์ ที่ถูกเลื่อนฉายแล้ว

Posted: 18 Mar 2013 08:02 AM PDT

ภาพจากเพจ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" แจ้งเผยแพร่รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5

 

เมื่อเวลาประมาณ 21.50 น. วันนี้ (18 มี.ค.) เพจของรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที 5" และเขียนสเตตัสว่า

"ตอบโจทย์ประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 ที่ถูกถามหามากที่สุด ถูกผิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ เชิญรับชมและตัดสินด้วยตนเอง ณ บัดนี้"

สำหรับคลิปรายการดังกล่าว สามารถติดตามได้ทางยูทิวป์ของรายการได้ที่ http://youtu.be/vKkxmj45bms

พร้อมๆ กันนั้น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศคลิปสัมภาษณ์นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส ตอบคำถามกรณีที่มีการเลื่อนฉายรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 ก่อนที่จะฉายรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนที่ 5 โดยการฉายเป็นการเผยแพร่ ภายหลังจากที่เพจตอบโจทย์ประเทศไทยเผยแพร่คลิปในเวลาไล่เลี่ยกัน

ภาพคัดลอกจากเว็บของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งคืนวันที่ 18 มี.ค. ได้ออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย หัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ตอนที่ 5 ซึ่่งเป็นตอนสุดท้าย โดยเป็นการดีเบตระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ส.ศิวรักษ์ ตอนสุดท้าย หลังจากเลื่อนออกอากาศตอนดังกล่าวมาเมื่อก่อนหน้านี้

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ "ไทยพีบีเอส" ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. เป็นต้นมา ได้มีการออกอากาศในหัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" โดยออกอากาศมาได้ 4 วัน ได้แก่ วันจันทร์ที่ 11 มี.ค. สัมภาษณ์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย วันอังคารที่ 12 มี.ค. สัมภาษณ์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วันพุธที่ 13 มี.ค. สัมภาษณ์พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนและนายตำรวจราชสำนักประจำ และวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. เป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์

และในวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา กำหนดที่จะเป็นการอภิปรายระหว่างสมศักดิ์ และ ส.ศิวรักษ์เป็นตอนสุดท้ายอย่างไรก็ตามมีการเลื่อนการออกอากาศตอนดังกล่าว หลังมีผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน เข้ามาชุมนุมต่อต้านภายในสำนักงานของไทยพีบีเอส โดยในวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการนำรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอน "หะยีสุหลง" ซึ่งเคยอออกอากาศแล้วมาออกอากาศซ้ำ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“บก.ตอบโจทย์” ลาออกอุปนายกสิทธิเสรีภาพ ส.นักข่าวทีวีฯ เหตุถูกแบน

Posted: 18 Mar 2013 07:48 AM PDT

 

น.ส.อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บ.ก.รายการตอบโจทย์ ขอลาออกจากอุปนายกสิทธิเสรีภาพ ให้เหตุผล หากไม่มีความสามารถที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับรายการของตนเอง ก็คงไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคลากรในวิชาชีพนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด

 

วันที่ 18 มี.ค. 2556 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่าน.ส.อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ บ.ก.รายการตอบโจทย์ประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ส่งจดหมาย 2 ฉบ้บ ฉบับแรก ถึงอนุกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ฉบับที่ 2 ถึงนายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ ขอลาออกจากการเป็น "อุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพของสมาคมนักข่าววิทยุฯ" หลังเกิดกรณียุติออกอากาศเทปรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 ที่มีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นแขกรับเชิญ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2556

 

เนื้อหาของจดหมายทั้ง 2 ฉบับมีดังนี้

(จดหมายฉบับที่ 1)

เรียนอนุกรรมการ ด้านสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุฯ ทุกท่าน

 

จากกรณีที่เกิดขึ้นกับรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ทางไทยพีบีเอส

 

ดิฉัน น.ส.อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงส์ ขอลาออกจากการเป็นอุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพ ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป

 

ด้วยตระหนักว่า หากดิฉันไม่มีความสามารถที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นกับรายการของตนเอง ดิฉันคงไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคลากรในวิชาชีพนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด หลังจากนี้

 

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

 

อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์

 

16 มี.ค.2556

 

000

 

(จดหมายฉบับที่ 2)

กราบเรียน กรรมการที่เคารพทุกท่าน

 

ดิฉันขอบพระคุณ ในความกรุณาของกรรมการทุกท่านมากค่ะ สำหรับโอกาสที่เปิดให้กับการทำงานในสมาคมวิชาชีพแห่งนี้ แม้ว่า เมื่อวานได้คุยท่านนายกสมาคมฯ เบื้องต้นว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับรายการตอบโจทย์ประเทศไทยอาจจะเป็นปัญหาภายใน

 

แต่หลังจากได้ใคร่ครวญ ขบคิดอย่างรอบคอบแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว ก็ยังมีความยึดโยงกับเสรีภาพของสื่อสารมวลชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำหน้าที่อุปนายกด้านสิทธิเสรีภาพ ขณะที่

 

โดยส่วนตัว ขณะนี้ดิฉันกำลังหยุดทบทวนการทำงานของตนเองว่ามีความเหมาะสมกับองค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่หรือไม่ ประกอบกับสถานการณ์ดังกล่าว ดิฉันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับรายการตอบโจทย์ประเทศไทยที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้

 

พิจารณาทั้งหมดเบื้องต้น เพื่อภาพรวมของสมาคมวิชาชีพและเพื่อที่จะตอบคำถามในใจของตนเองได้ ดิฉัน จึงขอแสดงความประสงค์ลาออกจากตำแหน่ง ตามจดหมายฉบับแรกที่ได้เรียนกับทุกท่านไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรวิชาชีพแห่งนี้ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ต่อ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อครหา

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้มีตำแหน่ง แต่ดิฉันก็พร้อมให้ความร่วมมือกับสมาคมฯในทุกๆด้านอย่างเต็มที่

 

จึงเรียนมาเพื่อทราบและกราบขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้

 

อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์

 

17 มี.ค.2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ภิญโญ' ตอบ - หลัง 'จิตตนาถ' ออกบทความ 'ตอบโจทย์พ่องฯ'

Posted: 18 Mar 2013 07:39 AM PDT

จิตตนาถ ลิ้มทองกุล เขียนวิจารณ์ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ลั่นมีแต่เอเอสทีวีที่เดียวที่กล้าตอบโจทย์ให้สังคมไทยอย่างแท้จริง - 40 ส.ว. อภิปรายในสภาอัด 'ตอบโจทย์' แฝงล้มสถาบัน-สร้างแนวคิดอันตรายแก่เยาวชน และอาจเข้าข่าย ม.112 - ด้านภิญโญเขียนจดหมายตอบจิตตนาถ แท้จริงนั้นนุ่นนวลและอ่อนโยนกว่าข้อเขียนยิ่ง หวังจิบน้ำชา "รำลึกความหลัง"

จิตตนาถ ตอบโจทย์ ภิญโญ ระบุเหมาเจ๋อตงไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่ากับในหลวง 

วันนี้ (18 มี.ค.) จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้เขียนบทความ "ตอบโจทย์ พ่อง(พ่อมึง)เหรอ!" ได้เขียนบทความถึงนายภิญโญ ไตรสุริยธรรม ผู้ดำเนินรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้จัดรายการตอน "สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ติดต่อกัน 4 วัน ก่อนที่จะมีการงดออกอากาศตอนสุดท้ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยมีรายละเอียดบทความของจิตตนาถ มีดังนี้

"บ่องตง (บอกตรงๆ) ผมไม่คิดว่าศิษย์เก่าเครือผู้จัดการอดีตเจ้าของหนังสือและสำนักพิมพ์ open ที่ถือว่ามีฝีไม้ลายมือเข้าขั้นจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนรุ่นใหม่เมื่อราวสิบปีที่แล้ว เป็นรุ่นพี่ที่เคยรู้จักมักคุ้นอย่างคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จะเป็นไปได้ขนาดนี้ กล่าวคือกระสันอยากจะให้มีการวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยเสรี เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต

ที่กล้าพูดเช่นนี้ก็เพราะได้ติดตามผลงาน ข้อเขียน และการพยายามนำเสนอประเด็นนี้ของคุณภิญโญ และเครือข่ายนักคิดนักเขียนที่แตกตัวมาจากสำนักคิดนี้มาโดยตลอด อาทิ ปราบดา หยุ่น และพวกนักเขียนสุดแนวต่างๆ

ได้เห็นกระบวนชุดความคิดและภารกิจที่คนกลุ่มนี้ในการพยายามที่จะอ้างว่าเป็นกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า โดยพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่นี้ให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย กับข้ออ้างว่าเป็นการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระยะยาว ประมาณว่าถ้าสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรีจะทำให้ลดแรงกดดันที่สังคมมีต่อสถาบันได้ เป็นการเอาคำพูดในที่มืดมาถกเหตุผลกันในที่สว่าง

แนวคิดดังกล่าวของคุณภิญโญ และพรรคพวก ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นความประสงค์ดี แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกเด็กให้กินขนมหวานที่มีแต่สารพิษ เพราะปัญญาชน (ส้นตีน) เหล่านี้มีแต่ทฤษฎีบนโต๊ะชา ตามแบบบางประเทศทางตะวันตก แต่ไม่เคยมองป่าทั้งป่าซึ่งก็คือความเป็นจริงของสังคมไทยในแต่ละข้อดังนี้

ข้อแรก สังคมของประเทศตะวันตกเป็นสังคมที่ประชาชนมีคุณภาพการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงการกระจายรายได้ในภาพรวมมากกว่าสังคมไทย ประชาชนจึงไม่ตกเป็นเหยื่อการปลุกปั่นของนักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุนและนักวิชาเกินได้ง่ายเหมือนสังคมไทย

ข้อสอง สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งปวงมายาวนาน และพิสูจน์โดยประจักษ์แก่คนไทยทุกหมู่เหล่าแล้วว่าได้ทำงานเพื่อชาวไทยให้เห็นเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพกว่านักการเมืองยิ่งนัก คนไทยทุกภาคส่วนสัมผัสได้ มิใช่การยัดเยียดเพื่อสั่งให้ประชาชนรักหรือล้างสมองเหมือนชุดความคิดของกลุ่มซ้ายตกขอบ

กระทั่งมีคนกล่าวว่าสาเหตุที่คอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศไทยไม่ได้นั้น เพราะเหมาเจ๋อตงไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เท่ากับในหลวง เมื่อเปรียบเทียบกัน พระองค์ท่านเสด็จไปพัฒนาทุกที่ ทั้งกันดารทั้งอันตราย อย่างยาวนานต่อเนื่องจนพระวรกายไม่สามารถตรากตรำได้อีกต่อไป

ที่สำคัญเมื่อบ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง สถาบันคือที่พึ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความเคารพ หากสถาบันอ่อนแอเป็นแค่สัญลักษณ์ ประเทศไทยอาจหลีกไม่พ้นสงครามกลางเมืองของคนไทยด้วยกันที่มีแนวคิดต่างกัน

ข้อสาม พิกัดของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ทั้งยุทธศาสตร์ทางทหารและการขนส่ง โดยเฉพาะขุมทรัพย์ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มทุนมหาอำนาจ มีความพยายามที่จะแบ่งแยกอาณาเขตของประเทศออกไปจากเหตุผลที่กล่าวข้างตน ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งเขมรและทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมมือกับกลุ่มทุนการเมืองในประเทศ

สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมใจให้คนไทยยังรักษาความเป็นชาตินิยมถือเป็นอุปสรรคของขบวนการเหล่านี้ ดังนั้นการรักษาไว้ซึ่งความผูกพันระหว่างสถาบันกับประชาชนคือการรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติโดยแท้จริง

ข้อสี่ จากข้อสามจึงเห็นว่า สถาบันกษัตริย์ของไทยจึงไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มมหาอำนาจอีกต่อไป ดังนั้นจึงมีการปลุกผีขบวนการล้มล้างสถาบันให้ฟื้นคืนผ่านทางกลุ่มทุนการเมือง นักวิชาการ จัดตั้งขบวนการใต้ดินขึ้น ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ของไทยจึงไม่อยู่ในสภาวะปกติดั่งเช่นประเทศทางตะวันตก หากแต่ถูกใส่ร้ายป้ายสี เพื่อล้มล้างดั่งที่ปรากฏ

ข้อห้า ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการล่มสลายของระบบทุนนิยมที่กำลังจะแสดงออกมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์ไปได้ และจะกลายเป็นทฤษฎีที่ทั่วโลกนำไปใช้หลังจากระบบทุนนิยมสุดขั้วล่มสลาย

ทั้งห้าข้อที่กล่าวมาคือภาพรวมและความเป็นจริงที่นักคิดนักเขียนสำนักคุณภิญโญกับผองเพื่อนไม่เคยนึกถึง มีแต่เพียงมิติคิดแคบๆ ว่าการวิพากษ์สถาบันได้โดยเสรีเหมือนอังกฤษจะทำให้คนไทยมีเสรีภาพมากขึ้น และพยายามที่จะพูดถึงโมเดลของประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นโดยไม่ได้ดูที่ความแตกต่างของสถานการณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ

ดังนั้นที่มาที่ไปในเบื้องลึกของรายการตอบโจทย์ตั้งแต่แรกจวบจนเทปสุดท้ายจึงไม่มีอะไรไปมากกว่าการสำเร็จความใคร่ในแนวคิดนี้ ผ่านทางทีวีสาธารณะเพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้ชุดความคิดตนเองเกิดประสิทธิผล การจับประเด็นทางการเมืองเรื่องต่างๆ มาออกอากาศถือเป็นการแวะพักผ่อนข้างทางเท่านั้น แต่จุดหมายปลายทางที่แท้จริงก็มีแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว

ที่น่าสมเพชกลับพยายามที่จะโชว์ความอาร์ตผ่านเพจตัวเองว่าทีมงานจะขอยุติบทบาทตัวเองเพราะโดนแทรกแซงจากทางสถานี ซึ่งถือว่าเป็นทีวีสาธารณะ

การพยายามสร้างภาพในครั้งนี้ ไม่สามารถเทียบได้กับกรณีละครเหนือเมฆ 2 ที่ช่อง 3 สั่งปลดกลางอากาศเพื่อเอาใจกลุ่มทุนการเมืองได้ เพราะละครเหนือเมฆมิได้กระทบความมั่นคงอันใดนอกจากไปแทงใจเจ้าของทุนการเมืองและบริวาร ซึ่งก็ไม่เคยเห็นรายการตอบโจทย์จะหาคำตอบเรื่องนี้ให้กับสังคมได้แต่อย่างใด ในทางกลับกันเนื้อหาของรายการตอบโจทย์นอกจากจะกระทบในเรื่องความมั่นคงของชาติ ดังที่อธิบายมาข้างต้นแล้วยังกระทบจิตใจคนไทยทั้งประเทศอีกด้วย

ถ้าจะเอาเรื่องเสรีภาพของคนไทยทั้งประเทศผ่านระบอบประชาธิปไตยมาอ้าง ก็อยากจะให้คุณภิญโญและพวกสำเหนียกกันบ้างว่า คนไทยทั้งประเทศ (ยกเว้นพวกคุณและสาวกของกลุ่มทุนสามานย์) ไม่มีใครต้องการให้สถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจถูกวิพากษ์วิจารณ์ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไม่เป็นธรรม ผ่านการแก้กฎหมายมาตรา 112 นี่คือเสรีภาพและฉันทามติของคนไทยในเรื่องนี้ที่ตกผลึกแล้ว

วัดได้ง่ายๆ จากดัชนีความสุขของคนไทยพุ่งขึ้นทุกครั้ง เสียงทรงพระเจริญที่กึกก้องไปทั่วของพสกนิกรเมื่อได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือเวลาที่คนไทยทราบข่าวจากสำนักพระราชวังถึงพระอาการที่แข็งแรงขึ้นจากการที่ทรงพระประชวร

การที่คุณภิญโญมักจะเอาโมเดลของต่างประเทศมาเปรียบเทียบแต่คุณภิญโญไม่เคยเอากรณีของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพสุดโต่งอย่างสหรัฐอเมริกาที่ชาวอเมริกันที่กล่าวอาฆาตมาดร้ายประธานาธิบดีของเขาผ่านอินเทอร์เน็ตยังต้องติดคุก

คนทั่วไปมีกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเกราะป้องกันเมื่อตนเองเชื่อว่าถูกกล่าวให้ร้าย ซึ่งปัจจุบันก็มีการฟ้องหมิ่นประมาทกันดาษดื่น แต่สถาบันไม่อยู่ในสถานะที่จะปกป้องตัวเองได้

เปรียบเทียบกันชัดๆ ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร กรณีที่ถูกบุคคลอื่นพาดพิงถึง จะเห็นว่า นช.ทักษิณ ทั้งๆ ที่หนีคดี ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของศาลไทยแต่กลับมอบอำนาจให้ทีมทนายไล่ฟ้องหมิ่นประมาทคนที่พาดพิงถึงตนไปทั่ว ตรงกันข้ามกับสถาบันกษัตริย์ที่หาใช่เรื่องจะให้สำนักพระราชวังไล่ฟ้องพสกนิกรของพระองค์เองหากพระองค์ถูกกล่าวให้ร้าย ดังนั้นกฎหมายมาตรา 112 จึงเป็นกฎหมายที่ป้องกันพระองค์ท่านไม่ให้ถูกล่วงละเมิดอย่างยุติธรรมที่สุด

จากประวัติศาสตร์เราจะเห็นการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ผ่านหลายยุคสมัยมาตลอด ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ช่องว่างของชนชั้นของคนไทยแคบลง อาทิ ร.5 ทรงเลิกทาส ร.7พระราชทานรัฐธรรมนูญ ร.9 รัชกาลปัจจุบันทรงช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้กล่าวมาแล้ว แนวคิดการแก้กฎหมาย ม.112 จึงไม่ได้เป็นการแก้ให้ช่องว่างในสังคมไทยแคบลงแม้แต่น้อย

การกล่าวอ้างว่ายอมโดนด่าในการเอาเรื่องที่คนวิจารณ์สถาบันในที่มืดมาสู่ที่สว่างนั้น เอาเข้าจริงยุคปัจจุบันก็ได้มีการทำกันอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีการใช้กันในวงกว้างของสังคมไทยอยู่แล้ว มีการกล่าวถึงคุณูปการ คำสอนและปรัชญาที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้พสกนิกรไทย หักล้างการใส่ร้ายป้ายสีของขบวนการล้มเจ้าและกลุ่มทุนการเมืองด้วยเหตุด้วยผล

นอกจากนี้ยังได้ปรากฏภาพถ่ายส่วนพระองค์ในอิริยาบถที่ผ่อนคลายในมุมต่างๆ ที่ทุกคนล้วนรู้สึกว่าจับต้องได้ ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันยิ่งขึ้น ในความเห็นของผม ประเทศไทยจะมั่นคง แข็งแรง ประชาชนและสถาบันจะต้องใกล้ชิดกัน ส่วนพวกที่จะต้องกันออกไปคือนักการเมือง กลุ่มทุน กลุ่มข้าราชการเจ้าขุนมูลนายเทคโนแครตทั้งหลาย เพราะพวกที่ขนาบกลางเหล่านี้ต่างหากคือตัวปัญหา เพราะคอยหาประโยชน์จากทั้งเจ้าและประชาชน

ในส่วนของการวิพากย์อย่างเป็นทางการนั้น ข้อมูลบรรยายการพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันของศาลก็มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน และเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ทางสาธารณะอยู่แล้ว มิใช่ข้อมูลลับที่เข้าถึงมิได้แต่อย่างใด ซึ่งหัวใจหลักที่ศาลนำมาพิจารณาคดีคือเรื่องของเจตนาว่าเป็นเจตนาเพื่อแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือเรียกร้องให้มีการพิทักษ์ปกป้องสถาบันหรือไม่ อย่างไร จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงเป็นเพียงข้ออ้างของพวกที่ต้องการโจมตีสถาบันโดยไม่ต้องติดคุกก็เท่านั้น

ที่เขียนมาผมไม่ได้กล่าวหาว่าคุณภิญโญมีแนวคิดล้มเจ้าแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับคนที่มีทัศนคติอาฆาตมาตรร้ายต่อสถาบันอย่างจักรภพ เพ็ญแข สมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือคนที่คอยย้ำทำในโทนที่ค่อนข้างชัดอย่าง สมศักดิ์ เจียม หรือปากว่าตาขยิบแอบให้ท้ายตัวพ่อ อย่างทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ชัดเจนว่าคุณภิญโญชงให้กลุ่มคนที่มีชุดความคิดเหล่านี้ตบลูกผ่านวาทกรรมสวยหรูโดยไม่ดูความเป็นจริง

ท้ายสุดนี้ นอกจากที่ผมจะเสียดายคนที่มีคุณภาพอย่างคุณภิญโญจะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังเสียดายชื่อรายการ ตอบโจทย์ ที่คุณภิญโญเป็นพิธีกรด้วยว่าไม่เคยจะตอบโจทย์ที่แท้จริงว่าสังคมไทยกำลังมีวิกฤตเรื่องอะไร เราควรจะแก้ปัญหาที่ถูกต้องกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตน้ำมันแพง วิกฤตชายแดนเขมรที่เรามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียพื้นที่อีกราว 2 ล้านไร่ในอนาคตอันใกล้ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และทฤษฎีสมคบคิดของทุนการเมืองในการยกระดับนครปัตตานีเพื่อผลประโยชน์พลังงาน วิกฤตเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญวิกฤตนักการเมืองไทยที่ไร้คุณภาพและขายชาติ

ด้วยความเคารพถ้าคุณภิญโญไม่จะคิดจะทำเรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยละก็ ผมเห็นด้วยครับที่จะยุติรายการที่ดีแต่ชื่อนี้เสีย ส่วนปัญหาใหญ่ของประเทศเหล่านี้ผมกล้าพูดอย่างไม่อายใครและภาคภูมิใจว่ามีแต่เอเอสทีวีที่เดียวที่กล้าตอบโจทย์ให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตอบโจทย์พ่อง (พ่อมึง) อย่างบางรายการที่สนองตัณหาของใครบางคน..."

 

"ภิญโญ" เชื่อ "จิตตนาถ" จัดให้นุ่มนวลแล้วเมื่อเทียบกับที่เขียนถึงคนอื่น หวังจิบชารำลึกความหลัง

ต่อมาในเพจ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" มีการโพสต์บทความ "จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ที่ผมรู้จัก" ลงชื่อท้ายบทความว่า "ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา อดีตบรรณาธิการนิตยสาร OPEN" ใช้ภาพประกอบดัดแปลงจากใบปิดหนังของภาพยนตร์ Stand By Me โดยมีรายละเอียดดังนี้

สืบเนื่องจากบทความของคุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ที่ลงในเว็บไซต์ผู้จัดการในวันนี้ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซึ่งไม่มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนเก่า จึงขอใช้เทคโนโลยีโบราณ ส่งจดหมายน้อยมาให้อ่าน พอให้หายคิดถึง

จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ที่ผมรู้จัก

----------------------------------

ผมรู้จักกับคุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ถ้านับเนื่องถึงวันนี้ ก็น่าจะยาวนานเกินทศวรรษ พุทธภาษิตกล่าวว่า เดินร่วมกัน 7 ก้าวนับเป็นมิตร เดินร่วมกัน 12 ก้าวนับเป็นสหาย อยู่ร่วมกันสักเดือนกึ่งเดือนนับเป็นญาติ ช่วงที่ผมเริ่มต้นนิตยสาร OPEN นั้น เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่คุณจิตตนาถบุกเบิกบุรพัฒน์ คอมมิคส์ เราจึงมีโอกาสได้ใช้เวลายามค่ำคืน ตามประสาคนนอนดึก สนทนากันหลายเรื่องหลายราวในชีวิต อันเป็นความฝันของคนหนุ่ม

ในวันที่เรารู้จักกัน คุณจิตตนาถ เป็นทายาทของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไทคูนสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ ส่วนผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำนิตยสารทางเลือกเล่มเล็กๆ ที่ต้องหมุนเงินเดือนชนเดือน

การที่คุณจิตตนาถให้เกียรติมาคบหาสมาคมกับผมด้วยมิตรจิตมิตรใจโดยไม่เคยถือยศถือศักดิ์เช่นนั้น คิดไป ผมก็ยังซาบซึ้งไม่หายจนถึงทุกวันนี้ บางคืนคุณจิตตนาถถึงขนาดชวนผมขับรถข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปกินก๋วยเตี๋ยวที่บอกว่าอร่อยที่สุดเจ้าหนึ่งในกรุงเทพฯ

คนที่ไม่เคยรู้จักตัวจริงของคุณจิตตนาถ อาจจะคิดว่าคุณจิตตนาถเป็นคนกร้าวร้าวดุดัน ดังข้อเขียน หรือคำให้สัมภาษณ์ของคุณจิตตนาถ ที่มีคนถอดเทปมาลงตีพิมพ์ในเว็บไซต์ผู้จัดการเสมอๆ แต่ในฐานะเพื่อนเก่า ผมยืนยันว่า คุณจิตตนาถที่ผมรู้จักนั้นเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ อันเป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม ที่อาจมิได้พบในตัวบุตรธิดาของผู้มีชื่อเสียงทุกคน

ในแง่นี้ ผมต้องขอแสดงความนับถืออย่างจริงใจต่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุลและภรรยา ที่ได้อบรมเลี้ยงดูคุณจิตตนาถมาได้ดีขนาดนี้ ผมเขียนประโยคนี้แล้ว ก็เกรงว่าคนจะไปตีความเอาผิดๆ ว่าผมประชดประเชียด ผมยืนยันว่าผมเขียนประโยคนี้จากใจจริง ผมเคยไปฟังคุณสนธิพูดที่สวนลุมไนต์บาร์ซาร์ ในโรงละครโจ หลุยส์ ว่าตอนคุณจิตตนาถยังเล็กนั้น เคยเอาคุณจิตตนาถนอนบนอกตนเอง คุณสนธิสอนให้คนรุ่นหลังถ่ายทอดความอบอุ่นให้ลูก รวมถึงสอนเรื่องการใช้ชีวิตในหลายแง่มุม

ผมฟังแล้วก็ยังจำได้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากคุณจิตตนาถแล้ว ผมเองก็รู้จักกับคุณปราบดา หยุ่น ทายาทคุณสุทธิชัย หยุ่น ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และถ้าจะกล่าวแล้ว เหตุที่ทำให้ทั้งสองท่านมาพบกัน ก็เนื่องจากต้องมาถ่ายรูปลงบทสัมภาษณ์ให้กับนิตยสาร open ร่วมกับคุณธรรมา มาลากุล ทายาทคุณ ปีย์ มาลากุล แห่งนิตยสารดิฉัน 

คุณธรรมานั้นเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่บัญชีจุฬา

เมื่อพูดถึงคุณธรรมาซึ่งได้ด่วนจากไปก่อนเวลาอันควรแล้ว ผมอยากบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า แม้จะเป็นทายาทคุณปีย์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสื่อสารมวลชน แต่คุณธรรมานั้น นุ่มนวลสุภาพกับเพื่อนฝูงยิ่งนัก คุณปีย์อาจจะไม่เคยรู้ว่า สมัยเรียนหนังสือนั้น พวกเราแอบไปนอนที่ห้องขนาดใหญ่ของปิ๊ปกันหลายครั้ง รายงานเรื่องหนึ่งที่เราทำส่งอาจารย์ คือเรื่องการผลิตรายการของแปซิฟิก ผมลงมือสัมภาษณ์ทีมงาน และเขียนรายงานเล่มนั้นเองในห้องสมุดที่บ้านคุณปีย์ โดยมีข้าวไข่เจียวจากครัวเป็นอาหารของทีมงาน เขียนเสร็จแล้ว ปิ๊ปก็ขับนิสสันเซฟฟิโร่ที่โก้มากในสมัยนั้น พากลุ่มพวกเราไปส่งรายงานในตอนเย็น ดูเหมือนจะได้คะแนนดีกันทุกคน

ถ้าคุณปีย์จะได้อ่านอยู่ผ่านตา ไม่ว่าในมิติอื่นปิ๊ปจะเป็นอย่างไร แต่ปิ๊ปเป็นคนที่มีน้ำใจกับเพื่อนฝูงยิ่งนัก

นอกจากทั้งสามท่านแล้ว ยังมีคุณระริน อุทกะพันธุ์ หรือคุณแพร ผู้นำหญิงแกร่งแห่งอมรินทร์ ทายาทคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ที่คนในวงการหนังสือนับถือกันมาก ก็ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์และถ่ายรูปร่วมกันในช่วงนั้นกับเพื่อนหนุ่มกลุ่มที่ได้กล่าวมา

คุณปราบดาเองหลังจากนั้น ได้มีโอกาสมาทำนิตยสาร OPEN ร่วมกันเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี มีคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ รวมอยู่ด้วยช่วยกันทำชวนกันเที่ยวกับทีมงาน นับเป็นปีที่สนุกสนานมากในชีวิตพวกเรา เมื่อ GM วางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ OPEN อยากเป็นอิสระ เราจึงแยกทางเดินออกมา แต่ก็ยังรักและนับถือคุณปกรณ์ พงศ์วราภามาจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีเสื่อมคลาย

ที่เล่ามายาวขนาดนี้ เพราะในช่วงเวลาที่ลมแรง และมีมรสุมผ่านเข้ามาในชีวิต การได้หยุดคิด แล้วมองย้อนกลับไปข้างหลัง ได้เขียนเล่าเรื่องเก่าๆ ไว้บ้างระหว่างทาง ก็ช่วยให้เรามีความสุขจากความทรงจำเก่าๆ ที่เราอาจจะหลงลืมไป

ความรักความหลังเหล่านี้เอง ที่ทำให้เมื่อคณะนักเขียนแสงสำนึก ซึ่งมีคุณปราบดา และคุณวรพจน์ ไปลงนามเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 กับเขาด้วย ปรากฏกายสู่สาธารณะ หลายคนจึงมักจะเหมารวมผมจากเรื่องเก่า ว่าผมก็เข้าไปลงชื่อกับเขาด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง รวมทั้งเรื่องที่ไปลงชื่อสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ ไปเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมศักดิ์ หรืออะไรจิปาถะอีกมากมายเกินกว่าจะมานั่งแจกแจงรายละเอียดไหว

คุณปราบดา ก็เช่นเดียวกับคุณจิตตนาถ เราเดินผ่านเข้ามาในชีวิตของกันและกัน เมื่อถึงเวลาเราก็ต่างแยกย้ายกันไปในทางของเรา คุณปราบดาแยกไปเปิดสำนักหนังสือไต้ฝุ่น ก่อนที่คุณวรพจน์จะแยกไปทำไรเตอร์และสำนักพิมพ์บางลำพูในเวลาต่อมา ทั้งสองคนมิเคยมาออกรายการตอบโจทย์ ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผมทำรายการมาแต่อย่างใด

ถ้าบอกกันตรงๆ ในฐานะมิตรสหาย คุณปราบดากับผมมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันหลายเรื่อง เช่นเดียวกับคุณวรพจน์ แต่ผมก็เคารพในความคิดของเพื่อนเก่าเสมอ และยินดียิ่งที่เวลาเขียนข่าว เว็บไซต์ผู้จัดการจะให้เกียรติแห่งมิตรภาพผูกพ่วงชื่อผมเข้าไปร่วมด้วยเสมอ แม้จะมิใช่ข้อเท็จจริง แต่ผมก็ยินดี เพราะเมื่อมีกรณีเกี่ยวกับผม ผมก็คิดว่าเพื่อนเก่าเหล่านี้ ก็น่าจะยินดี ที่ได้มีชื่ออยู่ข้างๆ ผม แม้ว่ามันจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ตาม

ถ้าจะคุยกันอย่างเพื่อนฝูง ผมอยากบอกคุณจิตตนาถง่ายๆ ว่า ในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีใครนับถือผมเป็นพวกเดียวกับเขาหรอกครับ เขาคิดว่าผมเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ผสมรอยัลลิสต์ด้วยซ้ำไป จะมาเป็นฝ่ายก้าวหน้าได้ เพราะผู้จัดการช่วยจัดให้บ่อยๆ ตามเนื้อข่าวก็เท่านั้น

ที่ผ่านมา คุณจิตตนาถก็คงจะเห็น ว่าผมไม่เคยตอบโต้ การลงข่าวของผู้จัดการเลย เพราะผมเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่นี่ ในวัยหนุ่ม คำว่า นักข่าวผู้จัดการ ทำให้ผมภาคภูมิใจ และความภาคภูมิใจนั้น ต้องยกเครดิตทั้งหมด ให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ที่มีคุณูปการณ์อย่างยิ่งต่อวงการหนังสือพิมพ์ไทย อย่างน้อยก็ในยุคที่ผมเริ่มต้นทำงาน

ผมจึงเคยเอ่ยปากกับคนใกล้ตัวไว้ว่า ไม่ว่าผู้จัดการเขาจะดุด่าอย่างไร ผิดจากข้อเท็จจริงเพียงไหน จะให้หรือไม่ให้เราชี้แจงตามวิถีปฏิบัติ ผมยินดีที่จะไม่ติดใจเอาความ ไม่ฟ้องร้อง หรือกระทั่งตอบโต้กลับ และผมเชื่อว่า ผมยังยินดีที่จะน้อมรับคำวิจารณ์ของผู้จัดการ ในมาตรฐานนั้น จนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวที่ผมจะยังคงมีความทรงจำดีๆ กับคุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และคุณสนธิ ลิ้มทองกุลตลอดไป

และหวังว่า เมื่อถึงเวลาฟ้าสว่าง เราต่างออกจากความขัดแย้ง ผมจะมีโอกาสได้นั่งจิบชากับคุณจิตตนาถรำลึกความหลัง โดยไม่ต้องมีความเชื่อที่เรายึดถืออยู่เป็นหัวโขน 

คุณจิตตนาถเคยขอเบอร์โทรศัพท์มือถือผมครั้งหนึ่ง แต่มีอยู่สองปีที่ผมเก็บตัวเข้าถ้ำอ่านหนังสือ จึงไม่เคยได้มีเบอร์มือถือเพื่อที่จะติดต่อสนทนากัน ผมจึงขอถือโอกาสเขียนจดหมายน้อยนี้ ส่งไมตรีมาถึงเพื่อนเก่า ผู้ที่ผมจะยังนับเป็นเพื่อนเสมอ 

คนที่อ่านความไม่แตก อาจจะคิดว่าคุณจิตตนาถเขียนถ้อยความรุนแรงกับผม
แต่ในฐานะที่ผมรู้จักกับคุณจิตตนาถมานาน ถ้อยคำที่เขียนถึงผมนั้น
จัดได้ว่านุ่มนวลมากแล้ว เมื่อเขียนถึงท่านผู้อื่นในระยะหลัง
ทั้งหมดนี้ ผมคาดเดาเอาเองว่า คุณจิตตนาถคงจะหลงเหลือความทรงจำที่ดี ในวันเก่าๆ ของเราอยู่บ้างเวลาเขียน
ความเมตตาจึงยังคงปรากฏอยู่ แม้คนอื่นอาจจะไม่รู้

แต่ผมเข้าใจ และตอบรับไมตรีนั้น ด้วยจดหมายน้อยฉบับนี้ จดหมายที่จะช่วยให้คนอ่านฝั่งตรงข้ามคุณจิตตนาถเข้าใจว่า คุณจิตตนาถที่แท้นั้นนุ่มนวล และอ่อนโยนกว่าข้อเขียนยิ่ง

ระลึกถึงเสมอ
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
อดีตบรรณาธิการนิตยสาร OPEN

 

40 ส.ว. อัด 'ตอบโจทย์' แฝงล้มสถาบัน-สร้างแนวคิดอันตรายแก่เยาวชน

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานวันนี้ (18 มี.ค.) ว่า ในการวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม กลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา หารือว่า ขอบคุณสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่งดรายการตอบโจทย์ประเทศไทยฯ ที่จะออกอากาศวันที่ 15 มี.ค. แต่ตนได้ดูช่วงที่ออกอากาศวันที่ 13-14 มี.ค. เห็นว่าคนที่เป็นอาจารย์หากนำแนวคิดดังกล่าวไปสอนลูกศิษย์อีกมากมาย เชื่อว่าจะสร้างแนวคิดใหม่ให้เยาวชนไทยเป็นอันตรายกับประเทศอย่างยิ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยต่างกับประเทศอื่น เรามีแผ่นดินอิสระ มีความสุข เพราะกษัตริย์องค์ก่อนทรงกอบกู้ชาติ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แผ่นดินและพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ทรงช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ด้วยโครงการพระราชดำริมากมาย พระราชดำรัสของพระองค์มีแง่คิด เป็นประโยชน์ เป็นข้อเท็จจริง 

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รายการดังกล่าวเหยียบย่ำจิตใจและสร้างความโกรธแค้นแก่คนไทยที่ได้ดูรายการมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนำนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ มาเป็นวิทยากรร่วมดีเบตวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ที่คนไทยให้ความเทิดทูน ออกรายการฟรีทีวี ไม่มีเรื่องอื่นหรืออย่างไร บอกว่าสถาบันไม่เป็นประชาธิปไตยโดยอ้างถึงประเทศอังกฤษ ทั้งที่บริบทของไทยและอังกฤษต่างกัน ดังนั้น ผอ.สถานีฯ ต้องรับผิดชอบร่วมกับคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการบริหารที่อนุมัติรายการ โดยให้ประชาชนเสนอเรื่องผ่านอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ตามมาตรา 46 และมาตรา 42 ของกฎหมายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เจตนารมณ์ที่นำคนที่ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้ง 2 คนมาดีเบตกัน ทั้งที่ควรเป็นผู้ที่เห็นต่างเพื่อความสมดุลแสดงถึงเจตนาแอบแฝงเบื้องหลังของผู้จัดรายการสถานี ไม่ควรใช้เงินภาษีประชาชน ปล่อยให้รายการออกอากาศเรื่องสถาบันที่กระทบจิตใจคนไทยทั้งชาติ และ กสทช.ต้องเข้ามาแก้ปัญหาทั้งกรณีนี้ และกรณีละครเหนือเมฆ 2 

ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สถานีไทยพีบีเอสที่ใช้เงินภาษีประชาชน ต้องรอบคอบรัดกุม อย่าคิดว่าเอาภาษีประชาชนไปสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อยากถามคณะผู้บริหารไทยพีบีเอสว่า ไม่มีรายการอะไรหรือคิดรายการอะไรไม่ได้แล้วหรือ รู้หรือไม่ว่าทำรายการแบบนี้เป็นประโยชน์อะไรกับใคร หรือก่อสติปัญญาตรงไหน มีแต่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ทำให้รัฐบาลโดนด่าฟรี ทั้งที่รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง คนทำหาเรื่อง หาเหาให้รัฐบาล สถานีเองก็เสียหาย ทำให้ประชาชนเข้าใจภาพลักษณ์สถานีผิด อย่าคิดว่าทำรายการแบบนี้แล้วดูก้าวหน้า ดูทันสมัย หรือดูเท่ส่วนตัวมองว่าหาเหาใส่หัวยังพอว่า แต่กรณีนี้เป็นการหาเห็บใส่หัว

 

จวกเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะกล่าวถึงพระราชดำรัสอย่างไม่บังควร

พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ส.ว.สรรหา อดีต ผอ.ททบ.5 กล่าวว่า ดูเนื้อหารายการเป็นการกล่าวร้ายดูหมิ่นสถาบัน กรณีที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการล่วงละเมิดดังกล่าวทางองค์การสื่อสารมวลชนแห่ง ประเทศไทย กสทช. และคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงเพื่อเผยแพร่สาธารณะ ควรเข้าไปตรวจสอบ ควบคุมและพิจารณาโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะจำเลยคนแรกคือสถานีโทรทัศน์ที่อนุมัติให้ออกอากาศ ส่วนผู้ร่วมรายการที่เกี่ยวข้อง สตช. และดีเอสไอ ต้องเร่งตรวจสอบ ดำเนินคดีกับผู้ดำเนินรายการ และผู้ให้สัมภาษณ์ด้วยข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และกล่าวร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ผู้รักษากฎหมายต้องดูแลและรักษาในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ขอให้ประธานวุฒิสภาแจ้งและดำเนินการต่อไป เพราะไทยพีบีเอสรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีละ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่ พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่าเนื้อหาของรายการถือว่าเข้าข่ายทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมีการกล่าวถึงพระราชดำรัสอย่างไม่บังควรและปราศจากความเคารพ จึงขอหารือไปยังผู้บริหารไทยพีบีเอส ที่ใช้เงินภาษีประชาชน ควรมีนโยบายหรือดำเนินรายการให้ตรงกับวัตถุประสงค์ และแสวงหาคำตอบให้สังคมไทย เช่น โครงการจำนำข้าว ที่สร้างหนี้ให้ประเทศ พฤติกรรมของฝ่ายบริหารที่เสี่ยงจะเสียอำนาจหรือดินแดนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทบคนเพียง 482 คน เพราะถึงไม่แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่ได้ทำให้ชาติล่มจม ไม่เข้าใจว่าความเป็นนักวิชาการทำไมเรื่องธรรมดาเหล่านี้ถึงไม่เข้าใจ หรือมีเจตนาแอบแฝงอะไร.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอ : ประเด็นที่ซับซ้อนในการบริหารหนี้สาธารณะ

Posted: 18 Mar 2013 03:25 AM PDT

ปกรณ์  วิชยานนท์

1.บทนำ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากได้ประสบทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาหนี้สาธารณะอย่างรุนแรง ทั้งนี้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยูโรโซน ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 229% ของ GDP ในปี 2554 ในขณะที่ของกรีซและอิตาลีก็สูงเช่นกัน (160%และ 120%ตามลำดับ) สิ่งที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งคือแม้สหภาพยุโรปจะมีกฎเกณฑ์ควบคุมส่วนขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3%ของ GDP และหนี้สาธารณะคงค้างไม่ให้เกิน 60% ของ GDP แต่ประเทศสมาชิกและญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินมาตรการการคลังในหลายรูปแบบเพื่อพยุงฐานะของประชาชนและเศรษฐกิจส่วนรวม มาตรการและสวัสดิการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดทั้งค่าใช้จ่ายและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐดำเนินมาตรการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องหรือช่วยเหลือมากขึ้นด้วยซ้ำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บทบาทของมาตรการการคลังได้เปลี่ยนไปจากที่เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาในระบบเศรษฐกิจชั่วคราวกลายเป็นเครื่องมือถาวรตามที่ประชาชนต้องการ และในยามที่รัฐไม่สามารถหารายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายและภาระหนี้เก่า รัฐก็จำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่สะสมเพิ่มเติมหรือเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของหนี้สาธารณะ

สถานการณ์ของไทยก็คล้ายคลึงกับเรื่องน่าเศร้าข้างต้น แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะและส่วนขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ของไทย(41%และ 4%ตามลำดับ) ยังต่ำกว่าของประเทศในยูโรโซนมาก แต่พรรคการเมืองหลายพรรคก็พึ่งเงินของรัฐในการดำเนินมาตรการประชานิยมหลายรูปแบบเช่น รับจำนำข้าว ซื้อรถคันแรก รถประจำทางฟรี ช่วยธุรกิจขนาดเล็กและชาวนารายได้ต่ำให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ก่อนที่จะหาช่องทางบริหารหนี้สาธารณะที่เหมาะสมเราควรทบทวนบทบาทพื้นฐานของหนี้สาธารณะในประเทศต่างๆ ประการแรก เงินกู้เหล่านั้นทำหน้าที่เสริมรายได้จากภาษีอากรเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ประการที่สอง เงินกู้เหล่านั้นทำให้รัฐสามารถดำเนินมาตรการการคลังเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ประการที่สาม พันธบัตรรัฐบาลมักทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเงินออมกับเงินลงทุนและบริโภค นอกจากนั้น พันธบัตรของรัฐยังเป็นเครื่องมือที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นพอที่จะทำหน้าที่เป็นแกนหลักสำหรับการกู้ยืมและลงทุนหรือปรับสภาพคล่องผ่านตลาดรองอีกด้วย

2. กฎข้อบังคับของไทยและข้อบกพร่อง

บทบาทที่สำคัญของหนี้สาธารณะในประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นคงทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่าแล้วในกรณีของไทย เรามีกฎเกณฑ์ควบคุมหรือไม่ และกฎเกณฑ์เหล่านั้นรอบคอบเพียงพอไหมที่จะช่วยให้ไทยไม่ประสบภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะดังเช่นประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น กฎเกณฑ์เหล่านั้น
มีดังต่อไปนี้

  1. ตาม ม.9 ทวิ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ ปี พ.ศ. 2502 ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐจะกู้ได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและไม่เกิน 80% ของงบรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้(อีกนัยหนึ่งคือ รัฐสามารถกู้เงินมาต่ออายุหนี้เก่าได้)
  2. ตาม ม.3 พ.ร.บ. การกู้จากต่างประเทศ ปี พ.ศ. 2519 ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐจะกู้จากต่างประเทศได้ไม่เกิน 10%ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  3. อัตราส่วนภาระหนี้ของรัฐสู่แหล่งเงินทุนทั้งในและนอกประเทศต้องไม่เกิน 13%ของงบรายได้ประจำปีงบประมาณนั้นๆ
  4. อัตราส่วนภาระหนี้ต่างประเทศต้องไม่เกิน 9% ของรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าและบริการ
  5. ตาม ม.30 พ.ร.บ. เงินตรา ปี พ.ศ. 2501 รัฐต้องมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 60%ของธนบัตรที่ออกใช้

กฎข้อบังคับที่กล่าวข้างต้นอาจชี้แนะว่าประเทศไทยระมัดระวังตัวพอที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สาธารณะได้ แต่หากศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นมีช่องโหว่หลายประการ ดังเช่น

  1. ข้อผูกพันทางการเงินของรัฐวิสาหกิจมีข้อจำกัดแต่เพียงวงเงินที่รัฐค้ำประกัน ตัวอย่างเช่น หากองค์กรมหาชนเป็นบริษัทจำกัดหรือสถาบันการเงิน จำนวนวงเงินค้ำประกันทั้งสิ้นในแต่ละปีงบประมาณจะต้องไม่เกิน 10%ของงบประมาณรายจ่าย ในแต่ละกรณีหากผู้กู้เป็นบริษัทจำกัด
    จำนวนเงินค้ำประกันจากรัฐจะต้องไม่เกิน 6 เท่าของเงินกองทุนของบริษัทนั้นๆ หากผู้กู้เป็นสถาบันการเงิน ขอบเขตการประกันเท่ากับ 4 เท่าของเงินกองทุน แต่หากองค์กรมหาชนผู้กู้เป็นหน่วยงานอื่นๆ (เช่น กฟผ., กฟภ., กปน., กปภ., ขสมก., รฟท., กสทช., ทีโอที) ไม่มีขอบเขตของจำนวนเงินที่รัฐสามารถเข้าค้ำประกัน แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่กิจการสาธารณูปโภคเช่น
    การลงทุนและการดำเนินงานด้านไฟฟ้าและน้ำประปา รวมไปถึงการโทรคมนาคมและขนส่ง
  2. ในบางปี รัฐได้ออกพระราชกำหนดเปิดโอกาสให้กู้เงินเพิ่มเติมด้วย เช่น พรก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (400,000 ล้านบาท), พรก. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 (300,000 ล้านบาท), พรก. ส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 (50,000 ล้านบาท), พรก. วางระบบน้ำ พ.ศ. 2555 (350,000 ล้านบาท), พรก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบการเงิน พ.ศ. 2555 แม้กฏหมายเหล่านี้อาจจะฟังดูมีเหตุผล แต่กฎหมายเหล่านี้ก็อาจจะขัดแย้งกับ ม. 9 ทวิ ที่จำกัดการกู้เงินของรัฐไม่ให้เกิน 20%ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งสามารถก่อปัญหาหนี้สาธารณะแก่ประเทศไทยได้
  3. มาตรการประชานิยมของรัฐซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากเช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ประกันสุขภาพ 30 บาท รถเมล์ฟรี และจำนำข้าว ก่อให้เกิดรายจ่ายหรือสร้างแรงกดดันทางการเงินแก่รัฐ
    เป็นอันมาก จนอาจทำให้รัฐบาลไทยติดปัญหาวงจรหนี้อุบาทว์ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งรัฐได้ประสบปัญหาในการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อมาชดเชยส่วนขาดดุล เนื่องจากความน่าเชื่อถือ
    ทางเครดิตของรัฐตกต่ำลงเพราะฐานะทางการเงินของรัฐสั่นคลอน
  4. แม้รัฐบาลไทยจะได้ประกาศเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ว่าต้องไม่ให้เกิน 50%หรือ 60%แต่ขอบเขตนี้ก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย จึงอาจเกิดปัญหาที่น่าวิตกได้

3. ช่องทางปรับปรุงและเหตุผล

(1) สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารหนี้สาธารณะคือ ความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability) คุณสมบัตินี้หากรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่องจะทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเกื้อหนุนหรือแก้ไขปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ หลายประเทศ (เช่น อินโดนิเซีย) เชื่อมั่นในหลักเกณฑ์ Maastrictที่จำกัดส่วนขาดดุลทั้งสิ้นของรัฐ(consolidated) ในดุลเงินสด(overall cash balance)ไม่ให้เกิน 3%ของ GDP ทุกปี และอัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลกลางรวมกับรัฐบาลท้องถิ่นแล้วต้องไม่เกิน 60%ของ GDP กฎนี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางการคลังและขจัดช่องโหว่ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย เพราะความหมายของ "ส่วนขาดดุลทั้งสิ้นของรัฐ" และ "ดุลเงินสด" ครอบคลุมถึงรายได้รายจ่ายทั้งในและนอกงบประมาณของรัฐบาลทุกระดับและรัฐวิสาหกิจ

(2) ในการจำกัดหนี้ให้เหมาะสม รัฐควรศึกษาความสามารถในการชำระหนี้อย่างละเอียดในแง่มหาภาค ตัวอย่างของปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่รายได้ในอนาคตจากภาษีอากรและโครงการที่พึ่งเงินกู้ รัฐมีขอบเขตของความสามารถในการชำระหนี้เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ เพราะไม่สามารถเข้าพึ่งธนาคารกลางได้เสมอไปเนื่องจากอาจขัดแย้งกับนโยบายเข้มงวดทางการเงิน ทางด้านภาษีอากรก็เช่นกันรัฐอาจไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ตามใจชอบเพราะอาจประสบอุปสรรคทางการเมือง นอกจากนั้นรัฐอาจออกพันธบัตรกู้เงินจากนักลงทุนภายในและ/หรือนอกประเทศได้ลำบาก หากระดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของรัฐในขณะนั้นลดต่ำลง หลักการหนึ่งที่จะช่วยให้รัฐปลอดภัยทางการเงินคือกระจายภาระหนี้ในอนาคตให้ไม่กระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่ง และทำตามข้อผูกพันทางการเงินอย่างสม่ำเสมอและ
ตรงต่อเวลา

(3) ประสิทธิภาพของการใช้เงินกู้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อรัฐทำการจัดสรรเงินกู้ ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่โครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงและก่อความเสี่ยงต่ำ กู้เงินเพื่อโครงการลงทุนมักคุ้มกว่ากู้เงินเพื่อมาตรการประชานิยม

(4) การที่จะใช้ทรัพยากรเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอมักต้องพึ่งการประสานงานและความร่วมมือที่ดีระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งภาครัฐและเอกชน การประสานงานและความร่วมมือเช่นนั้นจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่สูงขึ้นตามขนาดของการลงทุน (economy of scale) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในแง่นี้คือ โครงการโทรคมนาคมและขนส่ง ซึ่งครอบคลุมทั้งการวางแผนช่องทางที่รอบคอบ เลือกใช้วิธีติดต่อสื่อสารขนส่งที่ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดตารางเวลาที่เหมาะสมด้วย

(5) ตารางเวลา (time profile) นับเป็นมิติที่สำคัญมากในการบริหารหนี้สาธารณะในหลายแง่มุม นอกเหนือจากรัฐจะต้องพิจารณาความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงเวลาต่างๆ ของหลายหน่วยงานแล้ว รัฐยังต้องพิจารณาโครงสร้างภาระหนี้ผูกพันที่ได้ก่อไว้แล้วในอดีตอีกด้วย เพราะมีจุดประสงค์ที่จะเลือกอายุของหนี้ใหม่ให้เหมาะสมในแง่ที่ภาระหนี้ใหม่และหนี้เก่าไม่เกาะกลุ่มในช่วงเวลาใดมากเป็นพิเศษ
ในอนาคต การหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้นจะช่วยลดโอกาสที่จะประสบปัญหาหนี้ นอกจากนั้น การติดตามโครงสร้างภาระหนี้อย่างใกล้ชิดประกอบกับสภาพตลาดเงินทุนของโลกจะช่วยชี้แนะหรือเปิดโอกาสให้รัฐปรับปรุงโครงสร้างภาระหนี้สาธารณะให้ดีขึ้น โดยการกู้เงินใหม่มาชำระหนี้เก่าก่อนกำหนดหรือเพื่อต่ออายุหนี้เก่าในสกุลเงินเดิมหรือใหม่ให้เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

(6) สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการบริหารหนี้สาธารณะคือ ความสอดคล้องกับนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เพราะทั้งสามมาตรการนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2556 นี้ มีเป็นจำนวนมากที่เข้ามาซื้อพันธบัตรออกใหม่ของรัฐที่ผูกผลตอบแทนกับอัตราเงินเฟ้อ จึงมีส่วนผลักดันให้ค่าเงินบาทสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก (3.4%) ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนจากปลายปี พ.ศ. 2555 ดังนั้น การประสานงานทั้งในแง่เวลาและปริมาณระหว่างมาตรการการคลัง การเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบในแง่ลบระหว่างกันและกัน

ข้อเสนอแนะทั้ง 6 ประการที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการบริหารหนี้สาธารณะ แม้กระนั้นก็ตาม รัฐยังคงควรที่จะพยายามปรับปรุงขบวนการต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติของหนี้สาธารณะ ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะประสบการณ์ของต่างประเทศได้ให้บทเรียนไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อประเทศใดประสบภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะแล้ว ความน่าเชื่อถือทางเครดิตที่ลดต่ำลงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สั่นคลอนจะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กินเวลายาวนานเป็นอันมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชัย สุวรรณบรรณ

Posted: 18 Mar 2013 01:34 AM PDT

"เราต้องถือว่า ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ชมผู้ฟังจำนวนหนึ่ง ที่เราต้องฟังเสียงเหมือนกัน ภายใต้สถานการณ์นี้เราขอเวลาที่จะตั้งสติว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไรจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมายของไทยพีบีเอส"

17 มี.ค. 56, ผอ.ไทยพีบีเอส แถลงประเด็นการชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์ ตอน 5

อดีตผู้พิพากษาอ่านจม.ถึงผู้พิพากษา “ทางเดียวจะกลับมาเป็นหลัก ต้องปฏิรูปตัวเอง”

Posted: 17 Mar 2013 10:37 PM PDT

ภายในเวที "ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย" หลังการเสวนาสิ้นสุดลง ไฮไลท์ของงานอย่างหนึ่งคือ สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฏีกา ได้เป็นตัวแทนขึ้นอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการทั่วประเทศ

วิดีโอคลิป วรเจตน์ ภาคีรัตน์การกล่าวแนะนำสถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา
และการอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการทั่วประเทศโดยสถิตย์ ไพเราะ (รับชมแบบ HD คลิกที่นี่)

โดยเขาได้กล่าวความในใจก่อนอ่านจดหมายเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้เป็นระยะ อธิบายถึงสาเหตุที่รับหน้าที่อ่านจดหมายว่า เนื่องจากเป็นข้าราชการเกษียณรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากให้องค์กรตุลาการที่ตนเองสังกัดได้รับการปรับปรุงพัฒนา

สำหรับเนื้อหาของจดหมาย ระบุถึงปัญหาที่มาที่องค์กรตุลาการเข้ามาเกี่ยวพันทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา และทำให้เสียความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ใช้และตีความกฎหมายต่างๆ ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 112 และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่มา ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ตลอดจนความพร้อมรับผิดต่อการใช้อำนาจของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการ

"เมื่อพิจารณาจากบทบาทขององค์กรตุลาการที่แสดงออกผ่านคำวินิจฉัยและคำพิพากษา ในคดีที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมาแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้องค์กรตุลาการในภาพรวมมิได้ดำรงอยู่ในฐานะ "คนกลาง" ที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับและนับถือให้คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นยุติอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการกลับมาเป็นหลักแก่สังคม คือการต้องปฏิรูปตนเอง การละเลยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการดังที่ได้เรียนมาข้างต้น ย่อมจะส่งผลให้องค์กรตุลาการถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประชาธิปไตย และยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยนโดยพลังจากภายนอกได้ในที่สุด" ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก

 

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการ

 

วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๖

 หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เรียน ผู้พิพากษาและตุลาการ

 

โดยที่ปรากฏชัดว่าหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อันเป็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการแย่งชิงอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรมนั้น องค์กรตุลาการไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ได้เข้ามามีบทบาทในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรตุลาการเป็นไปโดยสอดคล้องกับอุดมการณ์แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของหลักนิติรัฐหรือไม่

บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นขอเรียนว่า บทบาทขององค์กรตุลาการที่ก่อให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงเช่นนั้น ย่อมเห็นได้จากการที่องค์กรตุลาการได้นำเอาประกาศของคณะรัฐประหารมาใช้บังคับแก่คดีทั้ง ๆ ที่คณะรัฐประหารได้สูญสิ้นอำนาจในทางความเป็นจริงไปแล้ว ส่งผลให้สาธารณชนตลอดจนผู้พิพากษาและตุลาการที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมภายหลังจากการทำรัฐประหารนั้นเป็นกระบวนการที่รับเอาภารกิจของการทำรัฐประหารมาสานต่อ เพื่อทำให้การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ การตัดสินคดีหลายคดีที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มิใช่เป็นปัญหาเฉพาะในทางหลักการเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบในทางปฏิบัติด้วย เพราะบรรดาบุคคลตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งที่ปรากฏชัดแจ้งและที่แฝงเร้นซึ่งได้รับประโยชน์จากคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต่างอ้างคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นเป็นบรรทัดฐาน โดยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า คำวินิจฉัยและคำพิพากษาดังกล่าวมีที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับการแย่งชิงอำนาจรัฐที่ปราศจากความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวถึงเนื้อหาของคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้าย หรือแม้แต่การขยายความบทบัญญัติที่มีโทษอาญาออกไปจนกระทั่งมีลักษณะเป็นการเทียบเคียงบทกฎหมายเพื่อลงโทษบุคคล การอ้างอิงคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่มีลักษณะเช่นนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องมาในสังคม ซึ่งความขัดแย้งเช่นว่านั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากองค์กรตุลาการใช้และตีความกฎหมายโดยซื่อตรงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และปฏิเสธที่จะบังคับใช้บรรดาประกาศตลอดจนคำสั่งทั้งหลายของคณะรัฐประหาร

สำหรับบทบาทขององค์กรตุลาการที่มีลักษณะไม่สนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้น ย่อมเห็นประจักษ์ชัดจากกรณีของการใช้และการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อันบัญญัติถึงความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดฐานนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในหลายประการและหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราโทษที่สูงเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถเป็นผู้กล่าวโทษบุคคลอื่นต่อเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้น หากได้รับการปรับใช้ไปตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐแล้ว ก็ย่อมมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายเช่นว่านั้นได้ แต่เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณชน การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีข้อที่เห็นได้ว่าน่าจะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น การที่ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ แตกต่างไปจากคดีความผิดฐานอื่นที่มีอัตราโทษใกล้เคียงกัน ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ (๗) ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗ สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ย่อมผูกพันองค์กรของรัฐในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ซึ่งหมายความว่าหากศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ ซึ่งจะมีผลเป็นการปฏิเสธสิทธิในทางรัฐธรรมนูญของผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ศาลจะต้องให้เหตุผลที่หนักแน่นมั่นคงในอันที่จะปฏิเสธสิทธิในทางรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น แต่เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ คำสั่งปฏิเสธคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนหลายคำร้องไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลในชั้นใด ศาลไม่ได้ให้เหตุผลโดยการชั่งน้ำหนักสิทธิในทางรัฐธรรมนูญของจำเลยกับข้อกฎหมายที่ศาลอาจใช้อ้างในการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเลย นอกจากนี้ ในหลายกรณียังปรากฏด้วยว่า ศาลได้ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติโดยการกำหนด "เหตุ" แห่งการปฏิเสธการปล่อยชั่วคราวขึ้นเสียเอง เช่น "คดียังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์" หรือ "เป็นความผิดที่สะเทือนจิตใจประชาชน" เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่ง  ยิ่งไปกว่านั้น หากพิเคราะห์คำพิพากษาในบางคดีโดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายหลายประการ เช่น คดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ที่ศาลพิพากษาลงโทษนายอำพล ด้วยเหตุผลประการหนึ่งว่า "แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ ฯลฯ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น" ซึ่งขัดกับหลักเรื่องภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ในอันที่จะต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ชัดแจ้ง และขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น" และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย" การวินิจฉัยในลักษณะที่เป็นปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลพิพากษาจำคุกนายสมยศ ๑๐ ปี ด้วยข้อสันนิษฐานว่า เมื่อจำเลยเป็นบรรณาธิการ จำเลยย่อมต้องรู้ข้อความ รวมทั้งความหมายในบทความที่เขียนขึ้นโดยบุคคลอื่นอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดรองรับ

นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕ ที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยโดยตลอดแล้วย่อมเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยนี้แสดงให้สาธารณชนเห็นถึงทัศนะที่ยึดถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนืออุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตยของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการจำนวนหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในคำวินิจฉัยฉบับนี้โดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายที่มีน้ำหนักว่า มาตรา ๑๑๒ จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างพอสมควรแก่เหตุแล้ว นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยด้วยว่าบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปีกรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด โดยให้เหตุผลว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพรรณนาความแสดงให้เห็นถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการพรรณนาเช่นนั้นย่อมไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมายที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้  อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังนำมาตรา ๑๑๒ มาปะปนกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘ ที่ว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" โดยมิได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ของบทบัญญัติมาตรานี้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงแสดงให้เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมปราศจากค่าบังคับทันทีเมื่อเผชิญหน้ากับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยศาลให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์มากกว่าระบอบประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งๆที่ระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หาใช่อยู่เหนือระบอบประชาธิปไตยไม่

ตัวอย่างที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ ย่อมทำให้สาธารณชนทั่วไปเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในระบบกฎหมายในเวลานี้มีปัญหาอย่างไร ปัญหาทั้งปวงข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในระดับอุดมการณ์เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยระบบการอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา อีกทั้งไม่สามารถแก้ไขได้โดยระบบของการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะในเชิงโครงสร้าง องค์กรตุลาการในระบบกฎหมายไทยเป็นระบบปิดหรือกึ่งปิด ระบบเช่นนี้ทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการมีลักษณะเป็นการตรวจสอบกันเองภายในเป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นความผิดอาญาในกรณีที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการตีความกฎหมายอย่างบิดเบือนก็ยังไม่มีปรากฏในระบบกฎหมายไทย การแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวย่อมจะต้องกระทำโดยการปฏิรูปองค์กรตุลาการทั้งระบบให้องค์กรตุลาการมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐเป็นอุดมการณ์ที่จารึกอยู่ในจิตใจของผู้พิพากษาและตุลาการทุกคน ประการสำคัญคือต้องทำให้ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนตระหนักว่าอำนาจตุลาการที่ตนใช้อยู่นั้น แม้จะกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หากแต่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจดังกล่าวเป็นของประชาชน หาใช่เป็นของบุคคลอื่นใดไม่

 

            ในชั้นต้นนี้ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น ขอเรียกร้องไปยัง  ผู้พิพากษาและตุลาการดังนี้

            1. ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการตระหนักว่า ท่านเป็นผู้พิพากษาและตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ในการใช้และการตีความกฎหมายทั้งปวงนั้น ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนจะต้องใช้และตีความกฎหมายโดยยึดถือเอาอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง อีกทั้งจะต้องถือว่าหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมเป็นคุณค่าสูงสุดในระบบกฎหมายด้วย

             2.ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการทบทวนแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและคุณค่าของหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

              3.ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเคารพต่อหลักนิติรัฐ ดำเนินการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่มา ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ตลอดจนความพร้อมรับผิดต่อการใช้อำนาจของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนะของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการอื่นๆ ให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ เป็นอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในจิตใจของผู้พิพากษาและตุลาการเหล่านั้น

บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นขอเรียนว่า เมื่อพิจารณาจากบทบาทขององค์กรตุลาการที่แสดงออกผ่านคำวินิจฉัยและคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมาแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้องค์กรตุลาการในภาพรวมมิได้ดำรงอยู่ในฐานะ "คนกลาง" ที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับและนับถือให้คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นยุติอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการกลับมาเป็นหลักแก่สังคม คือการต้องปฏิรูปตนเอง การละเลยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการดังที่ได้เรียนมาข้างต้น ย่อมจะส่งผลให้องค์กรตุลาการถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยนโดยพลังจากภายนอกได้ในที่สุด

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้พิพากษาและตุลาการจะได้ครุ่นคิดตรึกตรองถึงประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดในสารที่ส่งมาด้วยความปรารถนาดีฉบับนี้ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตุลาการเพื่อให้องค์กรตุลาการเป็นหลักให้แก่สังคมไทยต่อไป

 

คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ (ครก. ๑๑๒)                                       
กลุ่ม ๒๔ มิถุนา ประชาธิปไตย
คณะนักเขียนแสงสำนึก
กวีราษฎร์
ปฏิญญาหน้าศาล                                                                               
คณะนิติราษฎร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สามัคคีวิจารณ์ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์

Posted: 17 Mar 2013 08:58 PM PDT

17 มีนาคม 2556 มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป / ปาจารยสาร / ป๋วยเสวนาคาร / สถาบันสันติประชาธรรม / เสมสิกขาลัย ร่วมจัดงานปาฐกถาปาจารยสาร "สังคมสยามตามทัศนะของปัญญาชนไทยหมายเลข 10" เนื่องในโอกาส อายุ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่สวนเงินมีมา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

ในงานดังกล่าวนี้ มีการจัดเสวนา "สามัคคีวิจารณ์ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์" โดยวิทยากรสามคน ได้แก่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะศิลปศาสตร์ มธ. ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬา และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จากคณะ อักษรศาสตร์ จุฬา ร่วมอภิปรายความคิดและผลงานของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ด้วย

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "สามัคคีวิจารณ์ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์"

 

ไชยันต์ ไชยพร "สามัคคีวิจารณ์ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์"

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ "สามัคคีวิจารณ์ 80 ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น