โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แดงแต่งชุดนักโทษวิ่งมินิมาราธอนปล่อยนักโทษการเมือง - วิป รบ. ยัน ไม่ดันนิรโทษฯ

Posted: 11 Mar 2013 12:09 PM PDT

เสื้อแดงแต่งชุดนักโทษวิ่งมินิมาราธอนรอบพระนคร ร้องปล่อยนักโทษการเมือง ด้านวิปรัฐบาลมีมติไม่ดัน พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับนายนวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พท.เป็นวาระเร่งด่วน

ภาพโดย Panumas Khodchadat

10 มี.ค.56 เวลา 15.00 น. องค์กรช่วยเหลือประชาชนจากการเรียกร้องประชาธิปไตย หรือ อชป.ร่วมกับ กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย แต่งชุดนักโทษกว่า 200 คน  จัดกิจกรรมวิ่งมินิมาราธอน"วิ่งเพื่อเสรีภาพ ปล่อยนักโทษการเมือง" เพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับทราบปัญหาของนักโทษการเมือง และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ที่ยังถูกคุมขังอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง รวมถึงผู้ต้องขังในคดีอาญามาตรา 112 โดยเส้นทางที่กลุ่มดังกล่าวใช้วิ่งนั้นเริ่มจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - ศาลฎีกา - วัดพระแก้ว - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - กองทัพบก – องค์การสหประชาชาติ - รัฐสภาและวนกลับมาสิ้นสุดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

Voice TV รายงานด้วยว่า นายจิรปาณ ศรีเนียน หรือ จ.เจตน์ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า มีผู้ที่ยังถูกคุมขังอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ เป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ใช่ผู้นำทางความคิด หรือแกนนำ จึงเห็นว่านักโทษการเมืองเหล่านี้สมควรได้รับการปล่อยตัว หรือ ควรได้รับสิทธิในการประกันตัว

กิจกรรม "วิ่งเพื่อเสรีภาพ ปล่อยนักโทษการเมือง" ได้รับความสนใจจากอดีตนักโทษการเมือง และกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นจำนวนมาก  โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สวมเสื้อนักโทษ พร้อมติดชื่อนักโทษที่ยังถูกขุมขังไว้ด้านหลัง เริ่มต้นวิ่งจากจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง แล้วหยุดอ่านบทกวี เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของนักโทษการเมืองที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จากนั้นขบวนวิ่งจึงได้วิ่งต่อไปยังศาลฎีกา และกองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออ่านแถลงการณ์ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารสนับสนุนแนวทางช่วยเหลือนักโทษการเมือง และยังได้วิ่งต่อไปยังองค์กรสหประชาชาติ เพื่อส่งสัญญาณว่าประเทศไทยยังมีนักโทษการเมือง ก่อนที่จะวิ่งไปรัฐสภาเพื่อขอให้ สมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน ช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากนั้นจึงวนกลับมาที่หมุดคณะราษฎร ลานพระราชวังดุสิต และ กลับมาเข้าเส้นชัยที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

 

มติวิปรบ.ไม่ดันพรบ.นิรโทษฯฉบับวรชัยเป็นวาระเร่งด่วน

11 มี.ค. เมื่อเวลา 11.30 น. เว็บไซต์เนชั่นแชลแนล รายงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมวิปรัฐบาลว่า ในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ยังไม่มีมติที่จะต้องเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากยังมีกฎหมายที่ค้างการพิจารณาในสภาอยู่หลายฉบับ โดยในสัปดาห์นี้จะเป็นการพิจารณาระเบียบวาระปกติและไม่มีระเบียบวาระการประชุมเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พท.อยู่ในวาระการพิจารณา เพราะยังมีระเบียบวาระที่ต้องพิจารณาอีกมาก

"การประชุมวิปรัฐบาลในวันนี้เป็นการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาในวันที่ 13 และ 14 มีนาคม โดยไม่มีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับของนายวรชัย อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสัปดาห์นี้ เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเพิ่งยื่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในขั้นตอนของประธานสภารับไว้เท่านั้น และประธานสภาจะต้องรอบรรจุระเบียบวาระเสียก่อน และเมื่อบรรจุแล้วก็ต้องมีการพิจารณาในสภาอีกหากต้องการเลื่อนขึ้นมาพิจารณา"

เมื่อถามว่า นายวรชัย จะใช้เอกสิทธิ์เสนอขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน นายอำนวยกล่าวว่า สามารถใช้เอกสิทธิ์เสนอได้แต่จะต้องใช้ผู้รับรองถึง 250 เสียงขึ้นไป อย่างไรก็ตามหากนายวรชัยเสนอขึ้นมาให้พิจารณาเป็นวาระด่วนก็จะต้องพิจารณากันในสภาว่าสมควรจะนำขึ้นพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ โดยการโหวตถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.แต่ละคนว่าจะเห็นว่าควรจะนำมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่

เมื่อถามว่าทำไมไม่นำมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน นายอำนวยกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายๆฝ่ายอย่างที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ดำเนินการอยู่ คือ เชิญทุกหน่วยงานมาร่วมประชุมกันให้ตกผลึกก่อน และตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา เพื่อให้ออกมาเป็นพ.ร.บ. และไม่รู้ว่าจะสรุปออกมาอย่างไร ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนใครที่จะเสนอกฎหมายก็เสนอไปและใครจะประชุมหารืออย่างไรก็ทำคู่กันไป และท้ายที่สุดทั้งหมดมีกี่ฉบับก็จะรวมกันเพื่อนำมาพิจารณา

"จะไม่มีการนำพ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภามาพิจารณา เพราะถ้าไม่มีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาก็อยู่อย่างนั้น เพราะในสภาทุกคนรู้เท่าเทียมกันหมด คือ ต้องเอาสิ่งที่มีเหตุมีผลเข้ามาคุยกัน ส่วนใครจะเสนอกฎหมายอะไรก็เสนอได้ ขณะที่การพูดคุยก็ดำเนินต่อไป ดังนั้นอย่าไปคาดการณ์อะไรให้เกินขอบเขตมันไม่ดี"นายอำนวยกล่าว

 

ภาพกิจกรรมมินิมาราธอนปล่อยนักโทษการเมือง โดย Panumas Khodchadat

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ควีนอังกฤษเตรียมลงนาม 'กฎบัตรสิทธิเท่าเทียม' สำหรับประเทศเครือจักรภพ

Posted: 11 Mar 2013 11:58 AM PDT

กฏบัตร 16 ข้อระบุเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพการแสดงออก และความเท่าเทียมทางเพศ โดยจะรับรองในประเทศเครือจักรภพ 54 ประเทศ บ้างมองว่ากฎบัตรดังกล่าวนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิคนรักเพศเดียวกัน 

 

11 มี.ค. 56 - สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มีกำหนดจะลงนามใน 'กฎบัตรความเท่าเทียม' สำหรับประเทศในเครือจักรภพ 54 ประเทศ ในพิธีเฉลิมฉลองวันแห่งเครือจักรภพของอังกฤษวันจันทร์นี้ กฎบัตรดังกล่าวระบุเรื่องคุณค่าและหลักการที่สำคัญ อาทิ สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ หลักนิติรัฐ ความเท่าเทียมทางเพศ และการเพิ่มศักยภาพสตรี บ้างมองว่า กฎบัตรดังกล่าวเป็นการเห็นชอบสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษหลายประเทศ 
 
กฎบัตรดังกล่าว ซึ่งผู้นำประเทศในเครือจักรภพได้เห็นชอบร่วมกันในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แสดง "ความคัดค้านต่อการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบของเพศสภาวะ เชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ ความเชื่อทางการเมือง หรือเหตุผลอื่น" 
 
ถึงแม้กฎบัตรดังกล่าวจะไม่ได้ระบุเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันโดยตรง แต่เดลี่เมลล์รายงานว่า แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับราชวังเผยว่า พระราชินีทราบถึงนัยยะที่แฝงอยู่ในกฎบัตรเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการให้คำมั่นต่อความเท่าเทียมทางเพศ 
 
เบน ซัมเมอร์สกิล ประธานกลุ่ม 'สโตนวอลล์' ที่รณรงค์เพื่อสิทธิของเกย์และเลสเบี้ยน กล่าวว่า การลงนามในกฎบัตรดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ
 
"นี่เป็นครั้งแรกที่พระราชินีได้ยอมรับความสำคัญของพสกนิกรของพระองค์ที่รักเพศเดียวกัน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 6 ของทั้งหมด การคุกคามคนรักเพศเดียวกันที่เลวร้ายในโลกนี้เกิดขึ้นในประเทศเครือจักรภพ จากการที่อังกฤษเข้าไปปกครองเป็นอาณานิคม" เขากล่าว
 
อย่างไรก็ตาม โฆษกของพระราชวังเบคกิงแฮมกล่าวว่า พระราชินีจะไม่แสดงจุดยืนใดๆ ต่อเรื่องนี้ เนื่องจากพระองค์ทรงอยู่เหนือเรื่องการเมือง เพียงแต่ลงนามดังกล่าวในฐานะประมุขของเครือจักรภพเท่านั้น 
 
ทั้งนี้ การรักเพศเดียวกัน ยังถือว่าเป็นอาชญากรรมใน 41 ประเทศในเครือจักรภพ จากทั้งหมด 54 ประเทศ โดยในไนจีเรียและปากีสถาน กำหนดให้มีบทลงโทษเป็นการประหารชีวิต ในตรินิแดดและโตเบโก มีโทษจำคุก 25 ปี ในมาเลเซียมีบทลงโทษ 20 ปีพร้อมการเฆี่ยนตี และในเซียรา ลีโอน แทนซาเนีย อูกานดา บังกลาเทศ และกูยานา มีบทลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ในขณะที่การแต่งงานเพศเดียวกัน เป็นเรื่องถูกกฎหมายแล้วใน 5 ประเทศเครือจักรภพ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยพบ มัมมี่ยุคโบราณก็มีโรคหลอดเลือดตีบตัน

Posted: 11 Mar 2013 11:48 AM PDT

แม้จะมีความเชื่อว่าวีถีชีวิตในยุคสมัยใหม่เช่นการดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินจุ ออกกำลังกายน้อย จะเป็นที่มาของภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) แต่การสำรวจด้วยซีทีสแกนของงานวิจัยจากวารสาร Lancet เผยให้เห็นว่ามัมมี่จากต่างวัฒนธรรมและบางส่วนก็มีอายุมากว่า 4,000 ปี ก็มีภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันเช่นกัน

11 มี.ค. 2013 มีการสำรวจพบว่ามัมมี่ที่มีอายุตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาลก็เป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นโรคที่มักจะถูกมองว่ามีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในโลกสมัยใหม่เช่น การสูบบุหรี่, การกินจุ และการขาดการออกกำลัง

ผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์ Lancet ได้ชวนให้ตั้งคำถามต่อความเข้าใจเรื่องภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัน (atherosclerosis) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโรคที่มีส่วนทำให้เกิดอาการหัวใจวายและหลอดเลือดสมองตีบตัน

"การมีอยู่ของภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันในมนุษย์ก่อนยุคสมัยใหม่แสดงให้เห็นว่าโรคนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่อมนุษย์แก่ตัวลง และไม่เกี่ยวข้องกับการทานอาหารหรือวิถีชีวิต" กล่าวในบทสรุปของผลการวิจัย

แรนดอล ทอมป์สัน แพทย์โรคหัวใจผู้เป็นหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า "ก่อนหน้านี้มักมีการสันนิษฐานกันโดยทั่วไปว่าภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวจะเกิดเพิ่มมากขึ้นด้วยสาเหตุมาจากวิธีการใช้ชีวิต และหากมนุษย์ยุคใหม่สามารถกลับไปอยู่ในยุคก่อนอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งก่อนเกษตรกรรมได้ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะหลอดเลือดแดงตีบได้"

"แต่การค้นพบของพวกเขาก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อข้อสันนิษฐานดังกล่าว หรืออย่างน้อยก็เป็นไปได้ว่าคนเรายังมีความเข้าใจเรื่องสาเหตุของภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันไม่มากพอ และสาเหตุของโรคนี้อาจเกิดมาจากกระบวนการปกติเมื่อมนุษย์แก่ตัวลง" แรนดอลกล่าว

ขณะเดียวกัน เกรกอรี โธมัส หัวหน้าหน่วยแพทย์ของสถาบันหลอดเลือดและหัวใจในศูนย์การแพทย์ลองบีช ก็บอกว่ามันไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเลิกคิดเรื่องปัจจัยด้านการใช้ชีวิตโดยสิ้นเชิง

เกรกอรี โธมัส อ้างว่าก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าเราทุกคนมีความเสี่ยงเรื่องภาวะหลอดเลือดแดงตีบตัน และดีที่สุดหากพวกเรางดเว้นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ "แต่อย่างไรก็ตามการที่เราหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะป้องกันตัวเองจากโรคหลอดเลือดตีบได้"

อาการหลอดเลือดแดงตีบตัน คืออาการที่เส้นเลือดอาร์เทอรี่ซึ่งทำหน้าที่นำเลือดที่มีอ็อกซิเจนจากหัวใจเกิดภาวะแข็งและตีบลง จากการสะสมของไขมันหรือคอเลสเตอรอล

องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่า การสูบบุหรี่, ขาดกาารออกกำลังกาย, การทานอาหารที่มีเกลือมาก, มีไขมันสูง และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลมาก เป็นการสร้างปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดตีบตัน

ในงานวิจัยเรื่องมัมมี่ในครั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้เทคนิคสร้างภาพตัดขวางด้วยระบบซีทีสแกนจากคอมพิวเตอร์ โดยทำการสแกนมัมมี่ 137 ศพจาก 4 พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศอียิปต์, เปรู, ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา และ อลาสก้า

มัมมี่ที่ถูกนำมาศึกษามีตั้งแต่มัมมี่อายุกว่า 4,000 ปีที่แล้วจากอิยิปต์ยุคโบราณสมัย 2,000 ปีก่อนคริสตกาล มาจนถึงเผ่านักล่าสัตว์อุนานกาน ที่อาศัยอยู่บนเกาะเอลูเทียนของอลาสก้าในปี 1930

ทีมวิจัยวินิจฉัยว่ามีมัมมี่มากกว่าหนึ่งในสามที่มีความเป็นไปได้หรือมีโรคหลอดเลือดแดงตีบตันอย่างแน่นอน จากการตรวจพบแคลเซียมที่แข็งตัวเกาะอยู่ตามหลอดเลือดโดยเห็นผ่านการสแกน ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยโรคในปัจจุบัน

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาค้นพบการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวในคนโบราณที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม มีความแตกต่างด้านอาหารการกิน วิถีชีวิต และพันธุกรรม และมาจากพื้นที่และช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่มีความห่างกัน ทำให้ทราบว่าเรายังมีความเข้าใจเรื่องสาเหตุของภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวไม่มากพอ

นอกจากนี้แล้วยังพบว่ามัมมี่ที่มีอายุมากกว่ามีโอกาสแสดงให้เห็นสัญญาณของโรคมากกว่า เช่นเดียวกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน โดยที่มีงานวิจัยอีกชิ้นค้นพบว่าโรคหลอกเลือดแข็งตัวเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน และพบมากในชายอายุ 60 และหญิงอายุ 70

สถาบันหัวใจของอังกฤษกล่าววิจารณ์งานวิจัยชิ้นนี้ว่า พวกเขาไม่ได้ศึกษาเรื่องอาหารและการวิถีชีวิตของผู้ถูกศึกษามากพอที่จะทำให้แยกได้ว่าสาเหตุของโรคมาจากพฤติกรรมหรือพันธุกรรม

ขณะที่ เกรธ เทลล์ ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแย้งว่าการวิจัยดังกล่าวไม่ได้หักล้างว่าการใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกสุขอนามัยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบตัน เกรธอธิบายว่าคนที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัวทุกคนไม่ได้เกิดอาการหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองตีบตามมาเสมอไป แต่ปัจจัยการใช้ชีวิตอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการเหล่านี้

ในงานวิจัยเปิดเผยว่ากลุ่มประชากรโบราณทานอาหารที่หลากหลายตั้งแต่หอย, ปลา, สัตว์ป่า, ปศุสัตว์จำพวกวัว หมู แกะ เป็ด, ลูกเบอร์รี่หลายชนิด, ผลผลิตกสิกรรมอย่างแป้งข้าวโพด, ถั่ว และมันฝรั่ง รวมถึงเบียร์และไวน์ในกรณีมัมมี่ของอียิปต์ โดยไม่มีกลุ่มไหนที่เป็นมังสวิรัต และการออกกำลังกายน่าจะสูง ด้านการสูดควันอาจมีบทบาทในแง่ที่หลายชุมชนใช้การก่อไฟเพื่อหุงหาอาหารในครัวเรือน

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่ตั้งข้อสังเกตว่ามัมมี่ของอียิปต์โบราณเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันเนื่องมาจากชนชั้นสูงของอียิปต์ทานอาหารไขมันสูงเพราะคนจนในอียิปต์จะไม่ถูกทำเป็นมัมมี่ แต่ข้อสังเกตนี้ก็ถูกหักล้างไปในงานวิจัยชิ้นล่าสุด


เรียบเรียงจาก

Mummy Scans Reveal Clogged Arteries, Discovery, 11-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังคนญี่ปุ่นเล่าเรื่องที่ยังไม่จบ หลัง 2 ปีหายนะฟูกูชิมะ

Posted: 11 Mar 2013 11:36 AM PDT


11 มี.ค.56 มีการสัมมนาสาธารณะ "ชีวิตกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ – ครุ่นคิดจากประสบการณ์ของฟูกูชิมะ" ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย Mekong Watch (แม่โขงวอทช์) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จากนั้นเกิดคลื่นสึนามิ สูงถึง 40.5 เมตร และเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ โดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อยสามเครื่องได้รับความเสียหาย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิชิเกิดระเบิดขึ้น ประชาชนที่อาศัยในรัศมีใกล้เคียงถูกสั่งอพยพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 15,881 คนจากภัยพิบัติ และมีผู้สูญหาย 2,668 คน


การเตือนภัยที่ไม่เกิดขึ้น
ยูกะ คิคุจิ จาก แม่โขงวอทช์ กลุ่มเอ็นจีโอญี่ปุ่นซึ่งสนใจในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงสถานการณ์ความเสียหายหลังเกิดอุบัติเหตุฟูกูชิมะว่า การกระจายของสารกัมมันตรังสีนั้นไม่ได้กระจายเป็นวงกลม แต่ไปตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ โดยในเว็บโรงไฟฟ้า TEPCO ระบุว่ามีผู้ประสบภัยที่อพยพออกนอกพื้นที่ทั้งสิ้น 71,966 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน รายงานว่ามีทั้งสิ้น 160,000 คน

ขณะที่งบประมาณในการกำจัดกัมมันตรังสี ในช่วงปี 2011-2013 เป็นเงินราว 5.117 แสนล้านบาท ซึ่งไปตกกับบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ โดยที่เป็นเพียงการนำหน้าดินปนเปื้อนออกมากองแยกไว้เท่านั้น โดยยังไม่รู้ว่าจะไปเก็บที่ไหน

ด้านการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติจากกัมมันตรังสีของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น พบว่า ก่อนภัยพิบัติไม่ได้มีการฝึกชาวบ้านอย่างจริงจัง เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว รัฐบาลได้ประกาศขยายพื้นที่อพยพออกไปเรื่อยๆ จาก 3-10 กม. เป็น 20 กม. และ 20-30 กม. ในอีกสิบวันถัดมา ทั้งนี้ ต่อมาพบว่า รัฐบาลมีระบบเครือข่ายคาดการณ์ผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีอย่างรวดเร็วขณะฉุกเฉิน (SPEEDI) ซึ่งคาดการณ์ได้ใกล้เคียงกับความจริงขณะเกิดอุบัติเหตุฟูกูชิมะ แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยต่อประชาชนเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความโกลาหล อย่างไรก็ตาม กลับมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้กองทัพอเมริกา และเนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจน ทำให้มีคนอพยพหนีไปในทิศทางที่ปริมาณรังสีมาก

ยูกะกล่าวว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์ฟูกูชิมะ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังส่งออกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยสนับสนุนเวียดนามในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งกังวลว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะส่งผลต่อการแพร่ของมลภาวะผ่านระบบนิเวศน์ของลุ่มแม่น้ำโขงในวงกว้าง


กัมมันตรังสีที่กำจัดไม่เสร็จ
โนบุโยชิ อิโต ซึ่งขณะเกิดเหตุ เป็นผู้ดูแลศูนย์ฝึกอบรมด้านการเกษตรในหมู่บ้านอิเทเทะ อ.โซมะ จ.ฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ถูกปนเปื้อนจากกัมมันตภาพรังสี เล่าว่า หมู่บ้านอิเทเทะห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ 30-50 กม. ขณะเกิดเหตุ รู้สึกถึงแผ่นดินไหวไม่มากนัก จากนั้นคนในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบราว 1,200 คนอพยพมาที่นี่ โดยในวันที่ 21 มี.ค.53 รัฐบาลจ้างนักวิชาการมาบอกว่าที่นี่ปลอดภัย ทั้งที่วันเดียวกัน คนในหมู่บ้านตรวจพบสารไอโอดีนในน้ำประปา จึงสั่งปิดน้ำประปาและแจกน้ำดื่มแทน โดยสาเหตุที่หมู่บ้านอิเทเทะถูกปนเปื้อน เพราะวันที่ 15 มี.ค. ลมเปลี่ยนทิศเข้าแผ่นดิน เมฆที่มีสารปนเปื้อนพัดมา ฝนตกและกลายเป็นหิมะ ทำให้สารในอากาศตกลงมา

เขาบอกด้วยว่า จากที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย คนในหมู่บ้านที่เดิมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ต้องอพยพ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ส่วนมากที่เหลืออยู่จะเป็นผู้สูงอายุ ที่แอบกลับไปนอนในหมู่บ้าน เพราะที่พักฉุกเฉินที่รัฐจัดให้นั้นคับแคบ ขณะที่อิโตเองเทียวไปเทียวมา

ขณะที่การกำจัดกัมมันตรังสีของรัฐบาลนั้น อิโต เล่าว่า มีการตักหน้าดินออกวางกองไว้ในพื้นที่ที่รัฐบาลบอกว่าเป็น 'ที่ชั่วคราวของชั่วคราว' ซึ่งก็คือจะเก็บไว้ 3 ปี ก่อนจะย้ายไปเก็บในที่ชั่วคราวอีก 30 ปี ซึ่งเขามองว่าเฉพาะดินในพื้นที่ชั่วคราวของชั่วคราวนี้ก็มหาศาลแล้ว การจะสร้างที่เก็บดินนาน 30 ปี ดูแล้วไม่น่าจะสร้างเสร็จได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้วิธีเอาผ้ามาเช็ดกระเบื้องหลังคาทีละแผ่น จึงเชื่อว่าไม่มีเทคโนโลยีหรือเคมีอะไรที่จัดการกัมมันตรังสีได้ เพราะแม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังจัดการด้วยวิธีนี้ และก่อนหน้านี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีปิดเตาโดยใช้เวลา 30-40 ปี นั่นเท่ากับยังไม่มีเทคโนโลยีจัดการได้ในตอนนี้

อิโต ตั้งคำถามกับคำพูดที่ว่าต้นทุนนิวเคลียร์นั้นถูกกว่าจริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รวมค่าเชื้อเพลิง ค่าจัดการขยะจากโรงไฟฟ้า รวมถึงค่าปิดเตาเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือหมดอายุด้วย ขณะที่สุดท้ายประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายผ่านค่าไฟฟ้าและภาษี

อิโต ทิ้งท้ายว่า แม้เหตุการณ์ผ่านมาสองปีแล้ว กลับยิ่งสับสนมากขึ้น เพราะหากเกิดแต่สึนามิและแผ่นดินไหว ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังวางแผนได้ อาจแค่ก่อสร้าง แต่เมื่อเกิดการปนเปื้อน ผู้คนต่างก็เครียด เพราะไม่เห็นอนาคต ไม่มีใครตัดสินใจได้ว่าจะเอายังไง จะกลับบ้านได้ไหม และไม่ใช่ชาวบ้านตัดสินใจคนเดียว แต่ต้องฟังรัฐบาลและหมู่บ้านด้วย นอกจากนี้ คนอายุน้อยก็ไม่กลับไปที่บ้านอีกแล้ว มีเพียงคนชราที่อยากกลับ ต่อไป 10-20 ปีข้างหน้า อนาคตของหมู่บ้านก็คงไม่มีแล้ว


ความกดดันจากสภาพสังคม
ด้านพรศิริ ชีวาพัฒนานุวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระหว่างการทำวิจัยเรื่องทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น ว่า ชาวฟูกูชิมะที่อยากย้ายออกจากพื้นที่ ไม่สามารถทำได้เพราะมีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเท่าตัว ขณะที่การเปลี่ยนงานก็ทำได้ลำบาก เพราะญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนงานปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทั้งยังมีปัญหาด้านสังคม ที่อาจถูกสังคมไม่ยอมรับ หาว่าละทิ้งถิ่นฐาน ทำให้อาจไม่ได้รับความช่วยเหลืออีก จะแสดงความเห็นหรือแสดงความคิดเห็นต่างก็เกรงจะก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน โดยผู้ที่ให้ข้อมูลกับเธอนั้นค่อนข้างกังวลกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากการแสดงความเห็น

พรศิริ เล่าว่า ครูคนหนึ่งในฟูกูชิมะต้องการจะย้ายออก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากครูใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ครูจะต้องทำหน้าที่ช่วยชุมชน ถ้าครูออกไป อาจส่งผลถึงคนอื่นๆ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์อาสาสมัครในพื้นที่ฟูกูชิมะ พบว่า มีผู้เป็นไทรอยด์มากขึ้นในระยะ 1 ปี เด็กอ่อนเพลียง่าย จู่ๆ เลือดกำเดาก็ไหล ไม่ได้รับอนุญาตให้วิ่งเล่นนอกอาคาร มีอาการซึมเศร้า และตัวเป็นจ้ำ ซึ่งอาการนี้ตรงกับที่ผู้ที่เคยทำงานซ่อมบำรุงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้สัมภาษณ์ไว้

นอกจากนี้ พรศิริ พบว่า มีผู้อพยพไปภูมิภาคอื่น อาทิ คิวชู ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เช่น อดีตเจ้าของผับในฟูกูชิมะที่ย้ายไปทำการเกษตรปลูกผัก เพื่อส่งกลับไปให้พ่อและแม่ที่ฟูกูชิมะซึ่งไม่ได้ย้ายมาด้วย เนื่องจากเชื่อว่าน้ำ ผัก และดินที่นั่นไม่ปลอดภัย หรืออดีตพนักงานร้านสะดวกซื้อ ซึ่งย้ายมา เพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอีกแล้ว โดยเขาซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผักในร้าน พบว่าผักมีค่ากัมมันตรังสีสูงกว่าที่รัฐบาลบอกมาก จึงหาข้อมูลด้วยตัวเอง และเชื่อว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูล จึงตัดสินใจย้ายออกมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.ไทยพีบีเอสขอบคุณนักศึกษาใต้ รับปรับปรุงระบบงานข่าว

Posted: 11 Mar 2013 11:28 AM PDT

จากกรณีการนำเสนอข่าวภาคใต้ที่นักศึกษาออกมาประท้วง ผอ.ไทยพีบีเอสขอบคุณนักศึกษาชายแดนใต้ช่วยตรวจสอบการทำงาน เตรียมปรับกระบวนการทำงานข่าวให้รัดกุมขึ้น ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้เปิดเผยแหล่งข่าวเพราะเป็นมาตรฐานวิชาชีพ ยืนยันเดินหน้าเปิดพื้นที่ชายแดนใต้ให้รอบด้าน

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส

11 มี.ค.56 เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า กรณีไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ในข่าวภาคค่ำวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา จนมีข้อเรียกร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอรายงานข่าวชิ้นนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ถูกพาดพิง เรื่องนี้นำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบตามกรอบจริยธรรม โดยคณะอนุกรรมการสรุปว่า การนำเสนอข่าวขาดความรอบคอบ และให้เยียวยาเปิดพื้นที่การนำเสนอใหม่ที่รอบด้าน

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้อย่างรอบด้านมาโดยตลอด มีอิสระ มีแหล่งข้อมูลชัดเจน ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวสถานการณ์ภาคใต้ในข่าวภาคค่ำเมื่อวันที่ 24 ก.พ. นำไปสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พร้อมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง

ผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า การนำเสนอข่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล, ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลอื่น แต่ไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว  ควรให้มีการเยียวยาเปิดพื้นที่การนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน และให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ไทยพีบีเอสได้เปิดพื้นที่เยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว

ผู้อำนวยการการไทยพีบีเอสย้ำว่า ไทยพีบีเอส ยังคงยืนยันการทำหน้าที่สื่อสาธารณะที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน เช่น การทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมาย

มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายสมชัย ยังกล่าวขอบคุณกลุ่มนักศึกษา ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความล่อแหลม และความซับซ้อนของประเด็นปัญหามาก  การทำงานของสื่อมวลชนต้องระมัดระวัง ซึ่งการที่นักศึกษามาดูแลตรวจสอบและให้ข้อมูลอีกด้านถือเป็นประโยชน์ของการทำงานสื่อ  และตั้งความหวังว่าจะสามารถร่วมกันทำงานด้วยกันไปในอนาคต

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า  เมื่อพิจารณาดูชิ้นงานซึ่งขาดความรอบคอบที่ไม่ปรากฏการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลในเนื้อข่าว แม้จะมีการระบุในตัวโปรยก็ตาม  รวมถึงประเด็นขาดความรอบด้าน ที่นำเสนอพาดพิงกลุ่มบุคคล แต่ไม่ได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มที่ถูกพาดพิงนั้น  ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาด  โดยนำมาซึ่งข้อวินิจฉัยให้เข้มงวดการทำงานนั้น   เมื่อตนมารับหน้าที่เป็นผู้บริหาร ได้พยายามเริ่มกระบวนการปรับปรุงการทำงานของสำนักข่าวให้เป็นระบบมากขึ้น  แต่ยอมรับว่ายังไม่ตกผลึกชัดเจน  และการทำงานยังมีจุดอ่อนบางส่วน  ซึ่งในสัปดาห์นี้จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น  โดยกำหนดให้บรรณาธิการข่าวทุกภาคจะต้องรับผิดชอบในเนื้อหาและภาพที่นำเสนอ จัดวางระบบการมอบหมายงานข่าวที่ชัดเจน  ในเดือนมีนาคมนี้จะประกาศใช้คู่มือการทำงานข่าว ที่เป็นคู่มือซึ่งได้พัฒนาให้กรอบการดำเนินงานวัดขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานบุคลากรด้านข่าวของไทยพีบีเอส  ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีประกาศใช้ และในเดือนเมษายนนี้จะจัดการฝึกอบรมเพิ่มขีดความสามารถของทีมข่าว  โดยเน้นหนักการทำงานข่าวให้มีมาตรฐานตามกรอบจริยธรรมสื่อที่มีไว้   

กรณีคณะอนุกรรมการฯ  เห็นสมควรให้มีการเยียวยาและเปิดพื้นที่ให้รอบด้าน นายสมชัยกล่าวว่า หลังเกิดข้อร้องเรียน และก่อนที่จะมีมติของคณะอนุกรรมการฯ เราได้พยายามเปิดพื้นที่หลายลักษณะเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่นักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบคิดเห็น เช่น ประเด็นตำหนิการทำงานไทยพีบีเอส ประเด็นวิธีคิดทางสังคมของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่  ขณะที่เมื่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่กิจกรรมเสวนาเมื่อวันนักข่าว 5 มี.ค.  เรื่อง "บทเรียนการสื่อสารและการเปิดพื้นที่ทางการเมือง: กรณีไทยพีบีเอสกับกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ชายแดนใต้" ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอส  ไปร่วมรับฟังและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่  มีการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์และความรู้สึกของคนในพื้นที่นั้นโดยตรง  และสื่อสารผ่านหน้าจอหลักในช่วงข่าว  และวันนี้ในรายการดีสลาตันก็พยายามเปิดพื้นที่นำเสนอเนื้อหาให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงว่าไทยพีบีเอส น้อมรับการตรวจสอบจากภาคประชาชนหากมาตรฐานการทำงานของเราไม่ถึงขั้นที่เราเป็นผู้กำหนดไว้ในจริยธรรม  และจะพยายามรับฟังเสียงความคิดเห็นและหาวิธีการอื่นที่มากกว่านี้ที่จะปรับกระบวนการทำงานของเราให้สอดคล้องกับกระแสความรู้สึกและสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ทั้งนี้ในเดือนเมษายนนี้ไทยพีบีเอส ได้กำหนดวาระประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ที่กำลังมีความเคลื่อนไหวในกระบวนการสันติภาพไว้เป็นวาระสำคัญของสถานี และจะขอทำหน้าที่เป็นเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน รวมถึงนักศึกษาที่จะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารข้อมูล  ความคิดเห็นและความรู้สึกต่อสถานการณ์จริงในพื้นที่

ส่วนประเด็นที่จะให้ไทยพีบีเอส เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล นายสมชัยกล่าวว่า หลักการสากลของมาตรฐานการทำงานสื่อมวลชนทั่วไป  สื่อจะให้ความคุ้มครองปกป้องแหล่งที่มาของผู้ให้ข่าวไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งไทยพีบีเอส ขอรักษามาตรฐานจริยธรรมนี้ไว้

อนึ่ง คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เป็นกลไกที่กฏหมายกำหนดไว้ให้มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่เห็นว่ารายการที่เผยแพร่โดย ส.ส.ท. มีลักษณะขัดหรือละเมิดต่อจริยธรรมของสื่อ ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน คือ กรรมการนโยบายส.ส.ท. (2คน) ผู้บริหารองค์การ (1 คน) ผู้แทนองค์กรสื่อสารมวลชน (2คน) ผู้แทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค (1 คน) ผู้แทนสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ (1 คน) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก (2 คน) เพื่อให้การพิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

สรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ต่อกรณีข่าวนักศึกษาชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เป็นประธานในการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอข่าวเด่นประเด็นใต้ ในหัวข้อ "นักศึกษาถูกชักจูงเป็นแนวร่วม" เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องของสำนักข่าว มาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ประชุมได้อภิปรายซักถามและมีความเห็นว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้พยายามนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้อย่างรอบด้านมาโดยตลอด มีความเป็นอิสระและแหล่งข้อมูลอ้างอิงชัดเจน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวสถานการณ์ภาคใต้ที่เป็นเหตุให้นักศึกษามายื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นนั้น อนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า มีความบกพร่องเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ไม่เปิดเผยแหล่งข่าวหรือผู้ให้ข้อมูลที่ต้องอ้างถึง ทั้งที่การนำเสนอข่าวสามารถอ้างแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลได้ตามความเหมาะสม

ซึ่งการนำเสนอข่าวดังกล่าวข้างต้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ส.ส.ท. ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ.2552 ข้อที่ 10 คือ "จริยธรรมด้านการปกป้องและการปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม" ข้อที่ 12 คือ "จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมืองและนโยบายสาธารณะ" และข้อที่ 13 คือ "จริยธรรมในการนำเสนอเหตุการณ์ความขัดแย้ง การชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ การปราบปรามที่รุนแรง การก่อการร้าย และภาวะสงคราม"

โดยสรุปที่ประชุมมีมติดังต่อไปนี้

1. การนำเสนอข่าวชิ้นดังกล่าวขาดความรอบคอบ ไม่มีการอ้างที่มาของข้อมูล

2. การนำเสนอข่าวยังขาดความรอบด้าน ไม่สมดุล แม้พยายามไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สัมภาษณ์บุคคลที่ถูกพาดพิงในเนื้อข่าว

3. เห็นสมควรให้มีการเยียวยา และเปิดพื้นที่เพื่อการนำเสนอเรื่องราวใหม่ที่รอบด้าน โดยให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจ

4. ให้ฝ่ายบริหารเข้มงวดในการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการข่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ฮาเรมเชค เรียกร้องโอบาม่าสนับสนุนควบคุมการค้าอาวุธ

Posted: 11 Mar 2013 08:52 AM PDT

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2556 เวลา 16.30 น.สมาชิก อาสาสมัครและนักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กว่า 30 คน รวมตัวกันบริเวณตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ "โอบาม่าฮาเรมเชค" เต้นสะบัดสนับสนุนสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบาม่าลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง โดยผู้นำของประเทศต่างๆ จะร่วมประชุมกันครั้งสุดท้ายเพื่อเจรจาต่อรองร่างสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวในวันที่ 18 มีนาคม นี้

นางสาวนวพร ศุภวิทย์กุล ผู้ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าการจัดกิจกรรม "โอบาม่าฮาเรมเชค" ครั้งนี้เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่อยู่ภายใต้ "Global Action Week" ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าต้องการให้เยาวชนซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก มีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้คณะรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบาม่ายึดมั่นหลักการสิทธิมนุษยชนในการเจราจาดังกล่าว

"เนื่องด้วยในวันที่ 18 มีนาคมที่จะถึงนี้ ผู้นำของประเทศต่างๆจะร่วมประชุมกันครั้งสุดท้ายเพื่อเจรจาต่อรองร่างสนธิสัญญาซึ่งจะมีผลในการหยุดไม่ให้อาวุธตกไปอยู่ในมือของเผด็จการและทหารเด็ก คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบาม่าต้องแบกรับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในระหว่างการเจรจาครั้งนี้ ดังนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบาม่าต้องเป็นผู้นำที่นำทางให้เกิดสนธิสัญญาที่ยึดมั่นอยู่บนเสาหลักด้านสิทธิมนุษยชน คณะรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบาม่าจะต้องยืนหยัดร่วมกับนักกิจกรรมทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้เกิดสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งในระดับนานาชาติที่จะช่วยปกป้อง คุ้มครองชีวิตของผู้คนทั่วโลก"

กิจกรรมฮาเรมเชคนี้ได้ถูกแนะนำให้สมาชิกและนักกิจกรรมจากทั่วโลกร่วมจัดขึ้นในประเทศของตัวเอง เพราะเป็นกิจกรรมรณรงค์ที่สร้างสรรค์ ทำได้ง่าย สามารถส่งผ่านเรื่องราวได้ดีและมีการถ่ายทอดที่เป็นสากล เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านภาษาในการทำงานรณรงค์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำเนินการช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบความรุนแรงจากการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นผลมาจากช่องว่างของการขนย้ายอาวุธในระดับนานาชาติ โดยได้รณรงค์ให้มีการเขียนไปรษณียบัตรและให้มีการล็อบบี้รัฐบาลเพื่อให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาคบวคุมการค้าอาวุธที่เป็นผลและให้มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล(สากล) คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ปกครองตนเองแบบ  ประชาธิปไตย เป็นอิสระไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือลัทธิใดๆ มีวัตถุประสงค์คือ การได้รับความมั่นใจว่าสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพ ปกป้องและคุ้มครอง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม
·  มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 794,000 - 1,115,000 คน อันเป็นผลโดยตรงจากการขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 2532 – 2553
· โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คนทุกปี โดยเป็นผลในทางอ้อมจากการขัดกันด้วยอาวุธ
· ประมาณว่าการฆ่าคนตายโดยบุคคลและแก๊งอาชญากรรมและด้วยการใช้ปืน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของการสังหารทั้งหมด
· มีเพียง 35 ประเทศที่ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วไปในระหว่างประเทศ และมีเพียง 25 ประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธอย่างแท้จริง
· ในปี 2553 มูลค่าการส่งมอบอาวุธทั่วไปในระดับโลกโดยคิดเป็นรายประเทศ รวมกันประมาณ 72,000 ล้านเหรียญ

แหล่งข้อมูล: องค์การสหประชาชาติ, TransArms, Uppsala Conflict Data Program, ปฏิญญาเจนีวา (Geneva Declaration)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช.เผย ค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 30% ตั้งอนุพัฒนาระบบรองรับอนาคต

Posted: 11 Mar 2013 08:41 AM PDT

หลังข้อมูลชี้ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงสุดในอาเซียน และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2564 ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ในภาวะพึ่งพิง
 
 นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 12.59 ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ 12.25 และเวียดนาม ร้อยละ 8.53 สำหรับในปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 7.5 ล้านคนและในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น  
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายสุขภาพของประเทศไทย ปี 2555 พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ประมาณการณ์ 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุมีจำนวน 1.4 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ และในอนาคตจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นด้วย   ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ได้เร่งปรับกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบบริหารและระบบบริการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ
 
 รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งดูแลประชากรกว่า 48 ล้านคน ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับตรงนี้ และเพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อทำหน้าที่ ประสานและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง วิเคราะห์สถานการณ์ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั้งในเชิงสุขภาพและสังคม โดยพิจารณาประเด็นย่อยร่วมด้วย เช่น ชุดบริการ ระบบการดูแล ระบบการเงินการคลัง และการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ รวมทั้งกำลังคนด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ และนำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อให้เกิดระบบได้จริงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด
 
อย่างไรก็ตาม  คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านผู้สูงอายุ เป็นประธาน นายแพทย์สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ เป็นรองประธาน อนุกรรมการประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ทั้งนี้ จากการที่บอร์ด สปสช.ศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายกับผู้บริหารและนักวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นในประเด็นการบริหาระบบการเงินการคลัง และการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งพิจารณาความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ซึ่งข้อสรุปที่ได้นั้นนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพา ทั้งระบบการดูแล ชุดบริการ บุคลากรและการเงิน โดยกระทรวงสาธารณสุขและJICA ได้มีการทดลองนำร่องไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาต่อเนื่องเฟสที่ 2 และการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงิน การคลังของระบบประกันฯ เพื่อให้หน่วยบริการและผู้ให้บริการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ประชาชนเป็นเจ้าของระบบและได้รับบริการที่มีคุณภาพด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเรียกร้องสืบสวนกรณีวีดิโอ 'ทารุณกรรม' ของฟิจิ

Posted: 11 Mar 2013 08:35 AM PDT

วีดิโอการทำร้ายชายสองคนด้วยไม้กระบองและยั่วให้สุนัขกัดถูกโพสท์ลงในยูทูบและถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวประณามผู้กระทำและเรียกร้องให้มีการสืบสวนนำผู้กระทำการมาลงโทษ ด้านนายกฯ ฟิจิ แจงชายสองคนเป็นผู้ต้องหาแหกคุก และเจ้าหน้าที่แค่ปฏิบัติตามหน้าที่

 

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2013 องค์การสหประชาชาติได้กล่าวประณามการกระทำทารุณกรรมที่ปรากฏในวีดิโอของยูทูบ ซึ่งวีดิโอดังกล่าวนำเสนอภาพของชายชาวฟิจิสองคนที่ถูกกระทำทารุณโดยเจ้าหน้าที่ทางการฟิจิ โดยทางสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของฟิจินำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีด้วย

โฆษกของ นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพฟิจิซึ่งกระการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2006 ดำเนินการสืบสวนเหตุการณ์ในวีดิโอดังกล่าวโดยปราศจากความลำเอียง

"พวกเรารู้สึกตื่นตระหนกกับเนื้อหาในวีดิโอที่ปรากฏในโซเชียลเน็ตเวิร์กและอินเตอร์เน็ตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นการกระทำทารุณ เหยียดหยาม และปฏิบัติอย่างไม่เป็นมนุษย์ ต่อคนที่ถูกสวมกุญแจมือสองคน"

"แม้ว่ายังไม่มีการสืบสวนให้ชัดเจนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวีดิโอ แต่การกระทำในนั้นเป็นเรื่องผิดกฏหมายอย่างเห็นได้ชัด และพวกเราก็ขอประณามการกระทำของพวกเขาอย่างเต็มที่" โฆษกของนาวี พิลเลยื กล่าว

วีดิโอที่ถูกโพสท์ลงบนยูทูบแสดงให้เห็นภาพของชายที่ถูกสวมกุญแจมือถูกทุบตีด้วยกระบองและแท่งเหล็ก อีกคนหนึ่งถูกสุนัขทำท่าจะเข้าไปกัดโดยมีคนฝึกสุนัขคอยยั่วยุ

ตำรวจฟิจิระบุว่ากลุ่มผู้กระทำทารุณเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่าวีดิโอคลิปนี้น่าจะถูกถ่ายทำไว้เมื่อปีที่แล้วและคนที่ถูกกกระทำทารุณเป็นนักโทษที่แหกคุก

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา วอเรค ไบนิมารามา นายกรัฐมนตรีของฟิจิได้ออกมากล่าวถึงวีดิโอคลิปนี้โดยบอกว่าเขาสนับสนุนการกระทำของเจ้าหน้าที่ในวีดิโอ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แค่ทำตามหน้าที่และเป็นการรักษาความสงบสุข ทั้งยังกล่าวหากลุ่มองค์กรเอ็นจีโอที่แสดงความกังวลต่อวีดิโอคลิปนี้ว่าพวกเขาถูกต่างชาติจ้างวานให้แสดงปฏิกิริยาต่อการกระทำของทางการฟิจิ

สำนักข่าวอัลจาซีร่าเปิดเผยว่าหลังจากที่วอเรคขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาก็ปกครองฟิจิด้วยกฏหมายที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ รวมถึงมีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และสั่งควบคุมสื่อในประเทศ

แม้ว่าวอเรคได้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2014 แต่ช่วงต้นปีที่ป่านมาเขาก็ออกกฏหมายซึ่งมีผลทำให้พรรคการเมืองภายในประเทศแทบทุกพรรคถูกยุบ และมีการกำหนดเงื่อนไขของผู้ที่สามารถดำรงตำแหน่งได้


เรียบเรียงจาก

UN call for inquiry into Fiji 'torture' video, Aljazeera, 11-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การควบคุมความรุนแรงด้านอาวุธและโศกนาฏกรรมในอเมริกา

Posted: 11 Mar 2013 08:25 AM PDT

 

 

ภาพ: prachatai.com/journal/2012/12/44390

            เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจไปทั่วโลก กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนแซนดี ฮุค (Sandy Hook Elementary) ในเมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคมปีที่ผ่านมา จากการกราดยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 ของ อดัม แลนซา ชายหนุ่มวัย 20 ปี ผู้ที่ถูกเลี้ยงมาพร้อมปืนจู่โจมอย่างโดดเดี่ยวกับผู้เป็นแม่ ซึ่งได้หย่าขาดจากพ่อของเขาที่เป็นถึงรองประธาน GE Capital, เกิดอะไรขึ้นในวันที่เขาตัดสินใจนำปืนจู่โจมคู่ชีพออกมาทำมาตุฆาต แล้วเดินออกไปก่อเหตุสังหารครูและนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวจนเสียชีวิตถึง 26 คน ก่อนเขาจะฆ่าตัวตายตาม

            ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงภาพยนตร์ Aurora ในรัฐโคโลราโด มีผู้เสียชีวิต 12 คน จนทำให้เกิดคำถามจากหลายคนว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมอเมริกา เมืองแห่งสิทธิเสรีภาพและโลกใหม่ที่ผู้คนใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยุคแรก ซึ่งเดินตามแนวทางระบอบทุนนิยมเสรีเต็มที่มาอย่างยาวนาน ผู้คนกว่า 300 ล้านคนบนพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนั้นร่ำรวยขึ้นมาจากความมั่งคั่งในด้านต่างๆ ของแผ่นดินอินเดียนแดง และเติบโตเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกในด้านต่างๆ มาโดยตลอดจนกระทั้งทุกวันนี้ โดยเฉพาะในด้านการเงินการธนาคาร เทคโนโลยีและพลังงาน

            แต่โลกแห่งความมั่นคั่งในมิติด้านเดียวนี้เอง ได้พลัดพรากความเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นไปไม่มากก็น้อย ในระบอบทุนนิยมที่สร้างผู้คนเป็นปัจเจกและแปลกแยกทางสังคมมากขึ้นทุกขณะ โดยทุกคนต้องดิ้นรนขวนขวาย มือใครยาวสาวได้สาวเอา เพื่อเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ In God We Trust, เงินตราเป็นพระเจ้าที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวันเพื่อนำมาจัดการความเป็นอยู่ของครอบครัวหนึ่ง จึงอาจไม่แปลกที่วิถีเหล่านี้ได้แยกพวกเขาออกห่างจากความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทั้งในระดับสังคมครอบครัวใหญ๋และในระดับครอบครัวเดี่ยว, ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ก็เช่นกัน ผู้คนตื่นเช้ามาเพื่อไปทำงาน และตกค่ำกลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำนอนเพื่อรอตื่นมาไปทำงานในเช้าวันใหม่ ทุกๆ วัน จนความเป็นสังคมและความอบอุ่นของครอบครัวถูกแยกห่างออกไปและถูกให้ความสำคัญน้อยลง

            การสะสมทรัพย์สินในโลกทุนนิยมเต็มที่ย่อมสร้างความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางความแตกต่างในโอกาสทางสังคมและนโยบายของรัฐบาล สังคมทุนนิยมทั่วไปจึงไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สะสมทรัพย์สิน อาชญากรรมมีแทบทุกที่ในอเมริกาและในประเทศที่พัฒนาแล้ว แน่นอน เมื่อเงินตราเป็นพระเจ้าที่ขาดไม่ได้ในแต่ละวัน พวกเขาจึงคิดแค่เพียงสะสมทรัพย์สินและหาวิธีการรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ให้ได้อย่างปลอดภัยเป็นหลัก สังคมที่โดดเดี่ยวในโลกทุนนิยมจึงรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และเพื่อรักษาทรัพย์สินเหล่านั้น อเมริกาจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลกราว 270 ล้านคน จนว่ากันว่าในจำนวนคนทุกๆ 10 คนนั้น จะมีปืนในครอบครองถึง 9 กระบอกเลยทีเดียว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอาชญากรรมในสังคมอเมริกาจึงเกิดจากอาวุธปืนเป็นหลัก

            ในเมื่ออาวุธปืนคือสัญลักษณ์ของความรุนแรงในตัวเองอยู่แล้ว ตลอดจนสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่บางส่วนส่งเสริมความรุนแรงในมิติต่างๆ ผนวกกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ไร้แก่นสารของผู้คนที่อยู่กับตนเองมากกว่ากับสังคม ในโลกเสมือนทางอินเตอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ กับความรู้สึกที่ไม่ได้สัมผัสชีวิตและความรู้สึกที่แท้จริงของผู้คนในสังคมมากนัก ผสมกับการเข้าถึงอาวุธได้ง่ายของพลเมือง จึงไม่ยากเลยที่ใครก็ตามจะมีจิตใจนิยมความรุนแรงตั้งแต่ยังเด็ก และเติบโตมาพร้อมกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกเหมือนกับ อดัม แลนซา

            เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกแต่อย่างใด และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์การสังหารหมู่โดยไร้เหตุผลขึ้นบ่อยครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญคือ การสังหารหมู่ที่โรงเรียน Columbine High School ในปี 2542 มีผู้เสียชีวิต 13 คน และเหตุการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในอเมริกาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2550 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คน ภายในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค และมือสังหารเชื้อสายเกาหลีใต้คนนั้นได้ฆ่าตัวตายตามเพื่อปลดปล่อยตนเองภายหลังจากก่อเหตุ

            เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้มีกฎหมายการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนผ่านสภาภายในเดือนมกราคม 2556 เพื่อหยุดยั้งโศกนาฏกรรมที่เกิดจากอาวุธปืนในสังคมอเมริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ว่ากันว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะย่อมได้รับการต่อต้านอย่างหนักจาก สมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (The National Rifle Association – NRA) ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากในสภา เพราะเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่รายหนึ่งของพรรคการเมืองอย่าง Republican ในขณะที่ผลประโยชน์ในด้านการค้าอาวุธของอเมริกานั้นมีมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ และสูงถึง 31,000,000,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2554 ยังไม่นับรวมธุรกิจของบรรษัทเอเจนซี่อื่นๆ ที่ควบคุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐในด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้พาญาติของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย 26 คนมาที่ทำเนียบขาว เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการผลักดันมาตรการควบคุมอาวุธปืนอย่างจริงจังตามนโยบายของโอบามา

            ในอเมริกานั้นมีสนามซ้อมยิงปืนไรเฟิลระยะไกลที่เข้าถึงง่ายในแทบทุกรัฐ เนื่องด้วยการเข้าถึงปืนไรเฟิลก็ง่ายเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกที่อาจมีคนอเมริกาหลายต่อหลายคนไม่ได้อยู่กับครอบครัวเป็นหลักมากเท่าใช้ชีวิตอยู่กับปืนและความรุนแรง

            สังคมทุนนิยมแบบอเมริกาและในประเทศพัฒนาเต็มที่แล้วในหลายๆ ประเทศ อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักในเวลานี้ ที่สังคมแห่งความรุนแรงได้กระจายไปทั่วพื้นที่ต่างๆ ทั้งผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอาวุธปืนที่เกลื่อนเมือง (ยกเว้นบางประเทศที่มีกฎหมายจำกัดการครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น) ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่แม้แต่เยาวชนก็ยังเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย และยิงกันตายบ่อยครั้งบนรถเมล์ประจำทางและหน้าร้านเหล้า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะคนธรรมดาเท่านั้น เพราะแม้กระทั่ง ส.ส. หรือประธานาธิบดี ก็เคยโดนลอบสังหารมาแล้วเช่นเดียวกันในประวัติศาสตร์

            คงถึงเวลาที่โลกเราจะต้องควบคุมการครอบครองและการเข้าถึงอาวุธอย่างจริงจังเสียที, Gun Control หรือการจำกัดการถือครองอาวุธในอเมริกาจะสำเร็จหรือไม่ต้องลุ้นเอาใจช่วยกันต่อไป โดยเฉพาะพลเมืองอเมริกาจะต้องออกมาเรียกร้องและสนับสนุนรัฐบาลของเขาอย่างเต็มที่ เพื่อประกาศว่า หมดเวลาแล้วสำหรับความรุนแรง หมดเวลาแล้วสำหรับสงครามภายในและภายนอกซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนไปไม่มากก็น้อยในอดีต หมดเวลาแล้วสำหรับเศรษฐกิจที่แลกมาด้วยความตายของผู้คน มนุษย์ผลิตอาวุธสงครามออกมาทำไม, ถ้าไม่ใช่เพื่อประหัตประหารมนุษย์ด้วยกันเอง และขณะนี้ผู้คนทั่วโลกกำลังออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามาลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายอาวุธไปสู่ประเทศเผด็จการและทหารเด็ก ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆ ได้มีวาระการประชุมร่วมกันเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 มีนาคมนี้

            ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยน่าจะนำนโยบาย Peace Zone ออกมาใช้อย่างจริงจัง ในการควบคุมอาวุธและตรวจตราการพกพาอาวุธปืนอย่างเต็มที่ อย่างน้อยอาจนำร่องในเขตกรุงเทพมหานคร หรือในบางพื้นที่, หากทำได้ เราคงมีสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น และลูกหลานของเราคงไม่ต้องพบกับโศกนาฏกรรมในคราวต่อไป.

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ตลาดนัดจตุจักร, 
สมาชิกอาสาสมัครและนักกิจกรรมจาก Amnesty International Thailand
ได้ร่วมกันทำกิจกรรม  "Global Action Week" โดยการเต้น OBAMA HARLEM SHAKE
เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามา ลงนามในสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ
เนื่องด้วยในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ผู้นำของประเทศต่างๆ จะร่วมประชุมกันเพื่อเจรจาร่างสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ
ซึ่งจะมีผลในการหยุดไม่ให้อาวุธตกไปอยู่ในมือของเผด็จการและทหารเด็ก 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:
• มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 794,000 - 1,115,000 คน อันเป็นผลโดยตรงจากการขัดกันด้วยอาวุธในระหว่างปี 2532 – 2553
• โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คนทุกปี โดยเป็นผลในทางอ้อมจากการขัดกันด้วยอาวุธ
• ประมาณว่าการฆ่าคนตายโดยบุคคลและแก๊งอาชญากรรมและด้วยการใช้ปืน คิดเป็นสัดส่วน 42% ของการสังหารทั้งหมด
• มีเพียง 35 ประเทศที่ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วไปในระหว่างประเทศ และมีเพียง 25 ประเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธอย่างแท้จริง
• ในปี 2553 มูลค่าการส่งมอบอาวุธทั่วไปในระดับโลกโดยคิดเป็นรายประเทศ รวมกันประมาณ 72,000 ล้านเหรียญ

แหล่งข้อมูล: Amnesty Internationa Thailand, องค์การสหประชาชาติ, TransArms, Uppsala Conflict Data Program, ปฏิญญาเจนีวา (Geneva Declaration)

http://www.oknation.net/blog/talkwithMetha/2013/03/11/entry-1

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมคำเบิกความทหาร เผยฉากยิงโต้ ‘ชายชุดดำ’ ใกล้วัดปทุมฯ ยันกระสุนไม่โดนใคร

Posted: 11 Mar 2013 08:17 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 ห้อง 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนการเสียชีวิตของ อัฐชัย ชุมจันทร์, มงคล เข็มทอง, รพ สุขสถิต, น.ส.กมลเกด ฮัคอาด และ อัครเดช ขันแก้ว ซึ่งเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ทหารคนที่ 1 – พื้นราบ
ร.ท.พิษณุ ทัสแก้ว พยานคนแรกให้การว่า เป็นทหารสังกัดกองพันทหาร ราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลา 3.00 น. พยานได้รับคำสั่งจาก พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผู้บังคับบัญชาของพยานให้จัดกองกำลังร่วมกับตำรวจเพื่อกระชับพื้นที่ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่บริเวณแยกปทุมวัน ต่อมาช่วงเช้าพยานได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมออกมาจากสี่แยกราชประสงค์โดยแจ้งว่าทหารร่วมมือกับตำรวจจัดรถโดยสารรอรับผู้ชุมนุมอยู่ที่สนามกีฬาแห่งชาติ เวลา 13.00 น. ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม มีผู้ชุมนุม นปช. 300-400 คนทยอยเดินออกจากที่ชุมนุมมาที่สนามกีฬาแห่งชาติซึ่งพยานประจำการอยู่ หลังจากที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ทยอยมาจนหมดก็เริ่มมีกลุ่มควันมาจากสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งไม่ทราบว่ามาจากจุดไหน ต่อมามีรถดับเพลิงหลายคันเข้าไปช่วยดับเพลิงในบริเวณดังกล่าว แต่เข้าไปได้เพียง 30 นาทีก็ต้องถอนตัวออกมา เพราะถูกยิง ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้พยานจัดกองกำลังคุ้มกันรถดับเพลิง พยานมียศนายสิบจึงใช้ปืนเล็กยาว ทราโว่ 50 ส่วนพลทหารใช้ปืนลูกซองยาว พยานได้รับกระสุนปืน 5.56 มิลลิเมตร หัวทองแดง ไม่มีสี 1 กล่องจำนวน 20 นัด

ร.ท.พิษณุ ให้การต่อว่า เวลาประมาณ 17.30 น. พยานเคลื่อนกำลังไปยังโรงภาพยนตร์สยาม ทาง ถ.พระราม 1 เพื่อคุ้มกันรถดับเพลิงที่เข้าไปดับเพลิง โดยแบ่งกองกำลังออกเป็น 4 ชุดย่อย ชุดละ 7 คน รวมทั้งสิ้น 28 คน ดูแลฝั่งซ้าย-ขวาของถนน พยานดูแลอยู่ฝั่งซ้ายซึ่งเป็นฝั่งด้านหน้าห้างสยามพารากอนและห้างสยามดิสคัพเวอรี่และเห็นมีกองยางรถยนต์วางขวางอยู่บนถนน นอกจากนี้บนฟุตบาทยังมีเต็นท์และสุขาของผู้ชุมนุมตั้งอยู่ระเกะระกะ การเคลื่อนกำลังจะเคลื่อนเป็นช่วงๆ ตามช่วงของตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ระหว่างที่พยานเคลื่อนกำลัง พยานเห็นมีผู้ชุมนุม นปช. หลายคนทยอยเดินออกมาจากวัดปทุมวนารามเป็นครั้งๆ ครั้งละ 1-2 คน ทหารได้แจ้งว่าหากต้องการจะกลับต่างจังหวัดให้ไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ ขณะเคลื่อนกำลังไปใกล้รถไฟฟ้า BTS  สถานีสยาม พบเห็นผู้ชาย 2 คนยืนอยู่บนเกาะกลางถนนใกล้กับป้ายรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม จึงตะโกนบอกว่าหากต้องการจะกลับต่างจังหวัดให้มาหาพยาน แต่ 1 ใน 2 คนนั้นใช้ปืน M16 ยิงมาที่พยาน พยานเคลื่อนกำลังตามผู้ชายทั้ง 2 ไปทางแยกเฉลิมเผ่า ผู้ชายที่มีปืนยิงปืนในลักษณะยิงไปถอยไป ระหว่างนั้นพยานเห็นมีรถยนต์ของผู้ชุมนุม นปช. 3 คันติดตั้งถังก๊าซ NGV จอดอยู่ริมถนนและมีถังก๊าซปิกนิกวางอยู่ใกล้ๆ ด้วยจึงหยุดตาม ผู้ชายที่มีปืนยิงใส่พยานโดยยิงโดนรางรถไฟฟ้า BTS และกระจกด้านหน้าห้างสยามพารากอน พยานจึงยิงเตือนไปที่แผงปูนกั้นซึ่งอยู่ด้านหน้าตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS จำนวน 10 นัดเพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับบัญชากำชับให้พยานปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังคือ เริ่มด้วยการใช้วาจา ตามด้วยการยิงไปในที่ที่ปลอดภัย หากหลีกเลี่ยงการยิงไม่ได้ให้ยิงร่างกายในส่วนที่ไม่ทำให้ทำให้เสียชีวิต ดังนั้นพยานจึงเลือกยิงไปที่วัตถุแทน การยิงดังกล่าวไม่ทำให้กระสุนแฉลบได้ แต่กระสุนจะฝังในคอนกรีตหรือไม่ก็แตกกระจาย ผู้ชายที่มีปืนยืนหลบอยู่หลังตอหม้อรถไฟฟ้า BTS เมื่อพยานหยุดยิงผู้ชายที่มีปืนโผล่ออกมา และยิงขึ้นไปด้านบนโดนร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบนชานชาลาของรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม ผู้บังคับบัญชาของพยานได้จัดกองกำลังอีก 1 ชุดเดินอ้อมมาทางด้านขวาซึ่งพยานไม่ทราบในวัตถุประสงค์ หลังจากเสียงปืนสงบลง ผู้ชายที่มีปืนวิ่งหลบหนี ส่วนผู้ชายที่ไม่มีปืนวิ่งหลบหนีไปทาง ถ.อังรีดูนัง และเข้าไปหลบในกองพิสูจน์หลักฐาน ขณะนั้นพยานยืนห่างจากผู้ชายทั้ง 2 คนประมาณ 100 เมตร

เขากล่าวว่า ระหว่างนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ พยานเพิ่งมาทราบภายหลังว่า ผู้ชายคนดังกล่าวเป็นตำรวจ และตำรวจคนดังกล่าวเคยไปให้การในที่ประชุมของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่า พบเห็นชายชุดดำในเวลาและบริเวณดังกล่าว ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้ถอนกำลังออกมายังลานจอดรถด้านข้างห้างสยามพารากอน เวลาประมาณ 20.00 น. ได้จัดกองกำลังเข้าไปรักษาความปลอดภัยให้กับรถดับเพลิงที่เข้าไปในโรงภาพยนตร์สยามอีกครั้ง กองกำลังของพยานมีการผลัดเปลี่ยนกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยจนถึงเวลา 9.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (20 พ.ค. 53) ต่อมาถูกสั่งให้วางกำลังที่แยกเฉลิมเผ่าเพื่อรอทีมงานของ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มาตรวจสอบตอหม้อและบริเวณใกล้เคียงพบปลอกกระสุนและประทัดยักษ์จำนวนหนึ่ง

ร.ท.พิษณุ เบิกความต่อว่า วันที่ 20 พ.ค. 53 เวลา 20.00 น. กองกำลังของพยานจึงได้เข้าไปในวัดปทุมวนารามเพื่อตรวจค้นและพบกระสุน M79, ระเบิดขว้าง, ปืน  M79 และเสื้อสีดำจำนวนหนึ่ง ต่อมามีการแบ่งกองกำลังเป็น 2 ชุดเพื่อเฝ้าดูแลวัดปทุมวนารามตลอดทั้งคืน  วันที่ 21 พ.ค. 53 ได้เข้าไปตรวจค้นสิ่งปลูกสร้างภายในวัดปทุมวนารามอีกและพบปืน, สายกระสุนปืนกล M60 จำนวน 2 สายๆ ละ 100 นัด กองกำลังของพยานวางกำลังอยู่ในวัดปทุมวนารามจนถึงวันที่ 24 พ.ค. จึงส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรุงเทพมหานคร

ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตได้ซักถามพยานเพิ่มเติมได้ความว่า ในวันดังกล่าวพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ถูกปิดกั้นจากฝ่ายทหาร ไม่มีบุคคลจากภายนอกเข้ามาได้ กองกำลังของพยานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค. จนถึงเวลา 15.00 น.ผู้ชายที่ยิงปืนที่พยานอ้างถึงสวมกางเกงขาสั้น เสื้อสีเข้ม ไม่สวมหมวก ถือปืน M16 ยืนห่างจากพยานประมาณ 150 เมตร ส่วนผู้ชุมนุม นปช. ที่ทยอยเดินออกมาจากวัดปทุมวนารามมีการตรวจค้นทุกคน แต่ไม่พบอาวุธแต่อย่างใด ช่วงที่ผู้ชายที่มีปืนยิงขึ้นไปด้านบนจนโดนร้านเซเว่นอีเลฟเว่น พยานไม่ทราบว่ากองกำลังคุ้มกันของพยานที่อยู่ด้านบนอยู่ตรงจุดไหน และไม่ทราบว่าการเคลื่อนที่ของกองกำลังคุ้มกันของพยานเคลื่อนกำลังอย่างไร นอกจากนี้พยานยังไม่ทราบว่ามีการเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามในวันดังกล่าวด้วย เพิ่งทราบข่าวจากสถานีโทรทัศน์ในวันรุ่งขึ้น

นอกจากนี้กฎการใช้อาวุธมีการกำหนดระยะห่างจากเจ้าหน้าที่กับผู้ที่มีอาวุธในการใช้อาวุธที่ระยะ 30-50 เมตรเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถใช้อาวุธตอบโต้ได้ ซึ่งทุกหน่วยงานต่างทราบคำสั่งนี้เป็นอย่างดี ปืนเล็กยาว ทราโว่ 50 ของพยานใช้กระสุนชนิด M855 ซึ่งสามารถใช้กับปืน M16 A2 ได้

พยานยืนยันว่า พยานยิงปืน 10 นัดและไม่มีผู้ใดยิงปืนไปที่แผงปูนกั้นซึ่งอยู่ด้านหน้าตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS อีก แต่จากรอยกระสุนบนแผงปูนกั้นซึ่งอยู่ด้านหน้าตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS เห็นได้ชัดว่า มีรอยกระสุนมากกว่า 10 นัด ปืนเล็กยาวทราโว 50 มีรัศมีการยิง 1,000 เมตร ซึ่งขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากวัดปทุมวนารามเพียง 300 เมตร แต่พยานยืนยันว่าบริเวณหน้าวัดปทุมวนารามมีสิ่งกีดขวาง เช่น เต็นท์, รถยนต์ จึงไม่น่ามีกระสุนเล็ดลอดไปได้ นอกจากนี้ยังยืนยันว่า กระสุนที่ยิงโดนคอนกรีตจะฝังอยู่ในคอนกรีต กระสุนที่ยิงโดนเสาเหล็กจะทะลุออกไป กระสุนที่ยิงโดนพื้นจะบี้กับพื้น กระสุนจะต้องโดนของแข็งมากเท่านั้นจึงจะสามารถแฉลบได้และไม่สามารถระบุทิศทางของกระสุนที่แฉลบได้

ภายหลังการไต่สวน โชคชัย อ่างแก้ว ทนายฝ่ายผู้เสียชีวิตให้สัมภาษณ์ว่า ทหารพยายามให้การในแนวทางว่า มีคนติดอาวุธอยู่ในวัดปทุมวนาราม ทั้งที่ผู้เสียชีวิตไม่มีผู้ใดมีอาวุธ อย่างไรก็ตาม เชื่อ กรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 น่าจะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 6 ศพภายในวัดปทุมวนารามมากที่สุด ขณะที่พยานรายนี้ให้การยอมรับว่า มีการยิงปืนจริง โดยที่ปากกระบอกปืนขนานไปกับพื้นถนนซึ่งขัดกับหลักความเป็นจริง เพราะรอยกระสุนบนแผงกั้นมีลักษณะเป็นมุมกด หากปากกระบอกปืนขนานไปกับพื้นไม่มีทางที่จะยิงแบบนั้นได้ อย่างไรก็ดี 5 ศพภายในวัดปทุมวนารามค่อนข้างชัดเจนว่า ถูกยิงมาจากรถไฟฟ้า BTS ขณะที่อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตถูกยิงเป็นแนวเส้นขนานกับพื้นด้านหน้าวัดปทุมวนาราม จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับทหารบนพื้นราบ แต่จากการไต่สวนที่ผ่านมาทหารพยายามไม่ยอมรับว่ากระสุนปืนสามารถแฉลบได้ ทั้งนี้ การไต่สวนน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค. นี้และคำตัดสินน่าจะออกประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้

 

 

ทหารคนที่ 2 – พื้นราบ

ส่วนวันที่ 28 ก.พ. 56 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิต 6 รายที่วัดปทุมเช่นเดียวกัน ได้แก่ อัฐชัย ชุมจันทร์, มงคล เข็มทอง, รพ สุขสถิต, กมลเกด ฮัคอาด และ อัครเดช ขันแก้ว ซึ่งเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

ช่วงเช้า พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ให้การว่า เดือน เม.ย. 53 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชากรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อดูแลรักษาความสงบการชุมนุมของ นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค. 53 ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ โดยกองร้อยของพยานและกองร้อยตำรวจจาก จ.ชลบุรี, จ.จันทบุรี และ จ.ตราด รวมตัวกันที่แยกปทุมวัน เมื่อเวลา 3.00 น. เพื่อรอคำสั่ง ต่อมาจึงใช้รถขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุมออกมาจากสี่แยกราชประสงค์และสยามสแควร์เพื่อมาขึ้นรถโดยสารที่จัดเตรียมไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ แต่ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดออกมา พยานคิดว่าอาจเป็นเพราะเวลานั้นผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม หรือเพราะความกลัวของผู้ชุมนุมต่อทหาร

เขาเบิกความว่า เวลา 13.30 น. หลังแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมจึงมีผู้ชุมนุม 300-400 คนมาขึ้นรถโดยสาร พยานสงสัยสาเหตุที่มีผู้ชุมนุมเดินทางมาขึ้นรถโดยสารน้อยอาจเป็นเพราะผู้ชุมนุมกลัวถูกทหารทำร้ายหรือถูกจับกุม เมื่อพยานตรวจค้นผู้ชุมนุมก็พบว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนขโมยเครื่องเพชรออกมาจึงจับกุมผู้ชุมนุมเหล่านั้นส่งให้ สน.ปทุมวัน ดำเนินคดี เวลา 15.00 น. พยานเห็นเพลิงไหม้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ จึงสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานไปดู ต่อมาพยานได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เข้าไปดับเพลิงในโรงภาพยนตร์สยามถูกผู้ชุมนุม นปช. ยิง จึงรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาของพยาน ผู้บัญชาการจึงมีคำสั่งให้พยานจัดชุดทหารเพื่อคุ้มครองรถดับเพลิงที่จะเข้าไปดับเพลิงโรงภาพยนตร์สยาม ซึ่งอยู่ในบริเวณสยามสแควร์ พยานจึงจัดชุดรบพิเศษ 1 ชุดเพื่อคุ้มครองรถดับเพลิง

เมื่อชุดรบพิเศษเดินทางเข้าไปตาม ถ.พระราม 1 จึงพบกองยางรถยนต์วางเป็นแนว มีลักษณะสูง มีไม้ไผ่แหลมปักโดยรอบขวางถนน 3 แนว ขณะที่ 2 ข้างถนนมีเต็นท์หลายหลัง โดยในแต่ละเต็นท์มีสิ่งของ เช่น อาหารอยู่ด้วย พยานรับทราบข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า อาจมีการวางกับระเบิดในกองยางรถยนต์ จึงสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาระวังตัว เมื่อชุดรบพิเศษของพยานเดินผ่านกองยางรถยนต์กองที่ 1 พวกเขาถูกกลุ่มชายติดอาวุธยิงในระยะประมาณ 50 เมตร โดยกลุ่มชายดังกล่าวหลบอยู่หลังตอหม้อใกล้รถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ พวกเขาจึงยิงตอบโต้ไปที่ตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS จนทำให้กลุ่มชายดังกล่าวหลบหนีไป เมื่อพยานได้รับรายงานจากพวกเขาจึงสั่งให้ถอนกำลังออกมา สาเหตุที่ทหารใต้บังคับบัญชายิงที่ตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS เพราะพยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานได้รับการฝึกไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน หากทหารใต้บังคับบัญชาของพยานยิงกลุ่มชายติดอาวุธดังกล่าวจนเสียชีวิต พวกเราก็จะถูกกล่าวหาว่า สังหารประชาชน นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ทหารใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด หลังจากที่สั่งให้พวกเขาถอนกำลังออกมาประมาณ 10 นาทีก็ยังไม่ออกมา พยานจึงเข้าไปดูและพบพวกเขากำลังเดินสวนออกมา เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่พวกเขาออกมาช้าก็ได้รับคำชี้แจงว่า ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานบางคนทำปืนตกลงไปในท่อระบายน้ำ แต่ไม่สามารถเก็บกู้ได้ จึงทำให้เสียเวลา ปืนกระบอกดังกล่าวได้รับการเก็บกู้คืนจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเวลาต่อมา

พ.ท.ยอดอาวุธ เบิกความต่อว่า หลังจากการถอนกำลังออกมา พยานได้จัดกองร้อยใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 กองร้อย และเคลื่อนกำลังเข้าไปอีกครั้ง ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานบางคนมีอาวุธปืนเล็กยาว 50 ทราโว ส่วนบางคนมีปืนลูกซอง พยานสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานอย่ายิงใครพร่ำเพรื่อ ให้ยิงได้เฉพาะผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและยิงให้บุคคลนั้นล้มลงเท่านั้น ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานบางส่วนขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้า BTS เพื่อคุ้มกันทหารที่อยู่ด้านล่าง เมื่อพยานเดินเข้าไปใกล้รถไฟฟ้า BTS สถานีสยามก็ได้รับแจ้งว่า มีการยิงจากแยกเฉลิมเผ่ามาที่แยกปทุมวัน พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้นและได้รับแจ้งว่ามีชายติดอาวุธหลบอยู่ตามเต็นท์และตอหม้อรถไฟฟ้า BTS นอกจากนี้ยังมีการขว้างระเบิดด้วย

พยานเบิกความอีกว่า เวลาเกือบ 18.00 น. มีผู้ยิงปืนจากด้านล่างกระทบคานของรถไฟฟ้า BTS ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานจึงยิงตอบโต้ไปที่ตอหม้อบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ต่อมาพยานเดินข้ามถนนไปฝั่ง ธ.กรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ และเห็นว่ามีรถบรรทุก 3 คันจอดอยู่ริมถนน รถบรรทุกบางคันมีถังก๊าซ NGV และมีถังก๊าซปิคนิควางอยู่ใกล้ๆ ทราบข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า อาจมีคาร์บอมบ์ จึงวิทยุไปรายงานกับผู้บังคับบัญชา ระหว่างนั้นทหารใต้บังคับบัญชาควบคุมตัวผู้ชาย 2 คนและเด็กผู้ชาย 1 คน เมื่อตรวจค้นย่ามพบระเบิดขว้างจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนจึงส่งตัวไป สน.ปทุมวัน

สำหรับชายติดอาวุธหลบอยู่ในโรงภาพยนตร์สยาม และหลบหนีไปทาง ถ.อังรรีดูนัง พยานเห็นว่า ชายติดอาวุธเหล่านั้นอาจใช้ยุทธวิธีรบไปถอยไปเพื่อหลอกให้พวกเราเข้าไปติดกับ อีกทั้งเวลานั้นก็มืดและไม่มีแสงไฟฟ้า พยานจึงสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาถอนตัวมาที่รถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม การปฏิบัติการในครั้งนี้มีนักข่าวฝรั่งเศสร่วมติดตามไปด้วย
หลังจากนั้นพยานได้รับคำสั่งให้จัดรถพยาบาลทหารเข้าไปรับผู้บาดเจ็บในวัดปทุมวนาราม แต่พยานเกรงผู้ชุมนุมกลัว จึงไม่ได้ส่งรถพยาบาลทหารเข้าไป เวลา 22.00 น. จึงมีรถพยาบาลของ รพ.ตำรวจ เข้าไปรับผู้ได้รับบาดเจ็บแทน โดย 1 ในผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นนักข่าวแคนาดา

พ.ท.ยอดอาวุธ กล่าวต่อว่า วันรุ่งขึ้น (20 พ.ค. 53) เวลา 6.00 น. พยานได้รับคำสั่งให้นำทหารใต้บังคับบัญชาเข้าไปในวัดปทุมวนารามเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัยก่อนส่งมอบให้กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ทันจะได้เข้าไปก็ได้รับแจ้งให้ตำรวจเข้าไปเคลียร์พื้นที่ก่อน เพราะยังมีผู้ชุมนุมจำนวนมากอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม พยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานยืนรออยู่ที่แยกเฉลิมเผ่า เมื่อตรวจค้นพื้นที่แยกเฉลิมเผ่าก็พบระเบิด, กระสุนปืน, น้ำมัน และระเบิดปิงปองซ่อนอยู่ใต้ตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ส่วนรถบรรทุกต้องสงสัย 3 คันยังคงจอดอยู่ พยานจึงเรียกหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดเข้ามาตรวจสอบ ระหว่างนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งอายุราว 25 ปี เดินออกจากวัดปทุมวนารามเข้ามาหาพยาน และร้องขอให้พยานถอนกองกำลังออกจากรางรถไฟฟ้า BTS ผู้ชายคนดังกล่าวอ้างว่า เขาเป็นแกนนำผู้ชุมนุมภายในวัดปทุมวนาราม แต่เมื่อพยานขอดูบัตรประชาชนผู้ชายคนดังกล่าวกลับวิ่งหลบหนีเข้าไปภายในวัดปทุมวนาราม หลังจากนั้นก็มีเสียงปืนดังออกมาจากวัดปทุมวนาราม ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานจึงยิงปืนไปที่ตอหม้อรถไฟฟ้า BTS เพื่อข่มขู่

เวลาประมาณ 13.00 น. พยานขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเพื่อเข้าไปในวัดปทุมวนาราม แต่เวลานั้นมีผู้ชุมนุมและรถยนต์จำนวนมากกำลังออกจากวัดปทุมวนาราม พยานจึงเดินขึ้นไปทางเซ็นทรัลเวิลด์ และเห็นรถยนต์จำนวนมากอยู่ริมถนน เวลาประมาณ 15.00 น. พยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานเข้าไปในวัดปทุมวนาราม พยานเดินเข้าไปหาเจ้าอาวาสที่ห้องพักแต่ไม่พบ ทหารเข้าตรวจพื้นที่รอบวัดปทุมวนารามพบกระเป๋า 3 ใบใต้พุ่มไม้ข้างที่จอดรถใกล้กับกุฏิของเจ้าอาวาส ภายในพบกระสุนปืน M79, ระเบิดขว้าง และเครื่องยิงลูกกระสุน เมื่อได้พบกับเจ้าอาวาสจึงขออนุญาตตรวจค้นภายในวัด เมื่อตรวจค้นรถยนต์ที่ยังคงจอดอยู่ภายในวัดปทุมวนารามก็พบเครื่องเพชรและปืนอยู่ในรถยนต์หลายคัน การตรวจค้นครั้งนี้มีสื่อมวลชน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นและพระสงฆ์ร่วมสังเกตการณ์

พ.ท.ยอดอาวุธ กล่าวว่า วันรุ่งขึ้น 21 พ.ค. 53 พยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานเข้าตรวจค้นรถยนต์ภายในวัดปทุมวนารามที่เหลืออยู่และพบระเบิดเพลิง ระเบิดปิงปอง นอกจากนี้ยังพบถุงหลายใบฝังอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้กุฏิพระสงฆ์ ภายในพบปืน M16 2 กระบอก, กระสุนปืน M16 กว่า 100 นัด และระเบิดขว้าง 2 ลูกอีกด้วย อาวุธที่พบทั้งหมดถูกรวบรวมไว้เพื่อส่งให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ .) ในเวลาต่อมา ต่อมาทหารใต้บังคับบัญชาของพยานพบผู้ชุมนุม 3 คนหลบอยู่ภายในกุฏิพระหลังหนึ่งจึงเรียกมาคุย โดยพยานเสนอให้พวกเขางมบ่อน้ำภายในวัดปทุมวนารามเพื่อค้นหาอาวุธที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในบ่อน้ำ เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี เมื่อพวกเขางมบ่อน้ำก็พบกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง ก่อนที่พยานจะปล่อยตัวผู้ชุมนุมทั้ง 3 คน นักข่าวคนหนึ่งแจ้งกับพยานว่า ผู้ชุมนุม 1 ใน 3 คนนี้เป็นผู้ที่บุกรุกเข้าไปใน รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 53 พยานจึงควบคุมตัวผู้ชุมนุมคนดังกล่าวส่ง สน.ปทุมวัน และวันรุ่งขึ้น (22 พ.ค. 53) พยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานตรวจค้นพื้นที่สยามสแควร์ และพบระเบิดจำนวนมาก

ทนายความญาติผู้เสียชีวิตซักถามพยานต่อ โดยพยานชี้แจงว่า พยานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งขึ้นตรงต่อ ศอฉ. พยานควบคุมกองกำลัง 3 กองร้อย โดยในช่วงแรกกองกำลังของพยานมีเพียงโล่/กระบอง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นปืนลูกซอง/ปืน เล็กยาว 50 ทราโว่ กองกำลังของพยานมีปืนเล็กยาว 50 ทราโว่อยู่ 40-50 กระบอก ซึ่งใช้กระสุนแบบ M855 สามารถยิงได้ไกลสูงสุด 1,000 เมตร ในวันที่ 19 พ.ค. 53 พยานได้รับคำสั่งให้กระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ แต่ไม่ทราบแผนปฏิบัติการณ์ทั้งหมดของ ศอฉ. และไม่ทราบว่าเหตุใด ศอฉ. จึงต้องกระชับพื้นที่ในวันนั้น ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้นเริ่มทยอยออกจากสี่แยกราชประสงค์ภายหลังจากแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งขณะนั้นกองกำลังของพยานยังคงอยู่ที่แยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมบางส่วนเดินผ่านกองยางรถยนต์มาขึ้นรถโดยสาร ขณะนั้นทหารใต้บังคับบัญชาแจ้งพยานว่า ยังมีผู้ชุมนุมหลบอยู่ภายในวัดปทุมวนารามจำนวนมาก พยานทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมก่อนวันที่ 19 พ.ค. 53 จำนวนหนึ่ง และทราบข่าวมีการปะทะกันระหว่างคนติดอาวุธและเจ้าหน้ารัฐจนมีผู้เสียชีวิต

เขาระบุด้วยว่า ในวันที่ 19 พ.ค. 53 พยานจัดกองกำลังเข้าไป ถ.พระราม 1 ภายหลังจากที่ทราบว่า เกิดเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้พยานยอมรับว่ามีทหารใต้บังคับบัญชาของพยานบางส่วนขึ้นไปอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS แต่ขณะนั้นพยานอยู่ด้านล่าง พยานแบ่งกองกำลังออกเป็น 2 ส่วนโดยเดินเลียบไปตาม 2 ฟาก ถ.พระราม 1 เมื่อทหารใต้บังคับบัญชาของพยานพบคนติดอาวุธที่แยกเฉลิมเผ่า พวกเขายิงปืนเป็นแนวราบไปที่ตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS หลังจากนั้นพวกเขาเข้าไปตรวจสอบว่า มีบุคคลใดซ่อนตัวอยู่ในบริเวณนั้นอีกหรือไม่ ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานไม่ได้เก็บปอกกระสุนที่ยิงออกไปแต่อย่างใด การยิงปะทะกันเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ กินระยะเวลาประมาณ 40 นาที ตั้งแต่ 17.30-18.30 น. มีคนติดอาวุธ 3 คน โดยแต่ละคนมีปืนคนละ 1 กระบอก และมีการขว้างระเบิดออกมาด้วย ในที่เกิดเหตุไม่พบกองเลือดแต่อย่างใด สาเหตุที่พวกเขาไม่สามารถจับกุมคนติดอาวุธเหล่านั้นได้ เพราะพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยและมีรถยนต์จอดกีดขวางเป็นจำนวนมาก พยานได้วิทยุคุยกับทหารใต้บังคับบัญชาของพยานที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS ซึ่งแจ้งว่า เห็นคนติดอาวุธหลบอยู่ใต้ตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ขณะนั้นพยานไม่ทราบว่าทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS กำลังทำอะไร และไม่ทราบว่า มีทหารจากหน่วยอื่นเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ ส่วนในวันที่ 19-22 พ.ค. 53 ทหารควบคุมพื้นที่แยกราชประสงค์ทั้งหมด ผู้ใดที่ต้องการเข้า/ออกพื้นที่ต้องขออนุญาตจากทหาร แม้แต่ตำรวจก็ต้องขออนุญาต แต่ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นสามารถเข้า/ออกได้ตามปกติ กระสุนที่งมพบในบ่อน้ำภายในวัดปทุมวนารามเป็นกระสุนปืน M60 ทั้งหมดเป็นของใหม่พร้อมใช้งาน ส่วนปืน M60 เป็นปืนที่มีใช้ในราชการทหาร

เขาตอบคำถามด้วยว่า วันที่ 19 พ.ค. 53 ตำรวจและพยาบาลเข้าไปช่วยพาผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บออกมาจากวัดปทุมวนาราม พยานไม่ทราบจำนวนผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนสาเหตุที่พยานไม่ส่งรถพยาบาลทหารเข้าไปรับผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บนั้นเพราะพยานเกรงจะถูกใส่ร้าย และไม่ทราบว่า มีคนร้ายซ่อนตัวอยู่ภายในวัดปทุมวนารามหรือไม่ แม้ว่าทหารจะไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ แต่พยานก็ไม่ได้ห้ามการช่วยเหลือแต่อย่างใด

ส่วนการปฏิบัติการณ์ในวันนั้นทหารใต้บังคับบัญชาของพยานมีกระสุนปืนคนละ 20-30 นัด กระสุนปืนดังกล่าวไม่ได้มาจาก ศอฉ. แต่มาจากกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ หลังปฏิบัติการณ์ที่สี่แยกราชประสงค์ปืนเหล่านั้นก็ถูกนำไปฝึกต่อ ส่วนกองกำลังยังคงอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS และถอนออกมาในวันที่ 20 พ.ค. 53 หลังวันที่ 20 พ.ย. 53 ไม่มีการยิงปืนใดๆ ส่วนพยานและทหารใต้บังคับบัญชาของพยานถอนออกจากการตรวจค้นพื้นที่วัดปทุมวนารามในวันที่ 23 พ.ค. 53

พ.ท.ยอดอาวุธระบุด้วยว่า การเคลื่อนที่ของทหารใต้บังคับบัญชาของพยานทั้งที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าและถนนด้านล่างสอดประสานกัน โดยทหารใต้บังคับบัญชาของพยานที่อยู่ด้านบนจะคอยระวังด้านล่าง มีการยิงปืนลงมาด้านล่างเพื่อระวังด้านล่างเท่านั้น พยานได้ยินเสียงปืนเป็นช่วงๆ โดยเป็นการยิงปืนไปที่ตอหม้อและคานของรถไฟฟ้า BTS คนติดอาวุธเหล่านั้นพยานไม่ทราบว่ามาจากทางไหน แต่พวกเขาไม่ได้วิ่งหลบหนีเข้าในวัดปทุมวนาราม พยานยอมรับว่า หน่วยรบพิเศษยังมีปืนพกอื่นอีกนอกจากปืนที่พวกเขาใช้กันอยู่ ทหารใต้บังคับบัญชาของพยานยิงปืนที่แยกเฉลิมเผ่าห่างจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งระยะดังกล่าวกระสุนปืนสามารถเข้าไปในวัดปทุมวนารามได้ ปืนเล็กยาว 50 ทราโว่หากยิงจากบนรางรถไฟฟ้า BTS ลงมาที่พื้นมีโอกาสที่จะแฉลบไปทิศทางอื่นได้

หลังไต่สวน ทหาร เจอ แม่น้องเกด

หลังการไต่สวนช่วงเช้าเสร็จ พ.ท.ยอดอาวุธ เดินทางกลับพร้อมกับทหารที่เข้าร่วมฟังการไต่สวนจำนวนหนึ่ง ระหว่างเดินออกจากศาลอาญากรุงเทพใต้ พ.ท.ยอดอาวุธ ได้พบกับ พะเยาว์ อัคฮาด ที่รออยู่ด้านล่าง ทั้งสองจึงพูดคุยกัน

พ.ท.ยอดอาวุธ แสดงความเสียใจต่อผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม แต่เขาเองก็ไม่เห็นด้วยที่ทหารถูกเพ็งเล็งจากกรณีนี้ และไม่อาจยืนยันว่าเป็นฝีมือของใคร แต่ควรจะมองบุคคลอื่นด้วย เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดที่แท้จริงลอยนวล ด้านนางพะเยาว์แสดงความเชื่อมั่นว่า กระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์กรณีนี้ตามพยานหลักฐาน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างนำเสนอพยานหลักฐานของตนเอง ตนเองก็ต้องการพิสูจน์กรณีนี้ เพราะไม่เชื่อกรณีที่มีบางคนกล่าวหาว่า การเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามเกิดจากการยิงกันเองของผู้ชุมนุม
 

ทหาร คนที่ 3 – บนราง BTS
ช่วงบ่าย จ.ส.ท.วิทูรย์ อินทำ เบิกความว่าวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลา 00.00 น. พยานได้เข้ามาประจำการณ์อยู่ในรถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ โดยเป็นทหารในกรมทหารราบที่ 31 กองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ จนเวลา 11.00 น. มีการประกาศทางเครื่องกระจายเสียงเรียกให้ผู้ชุมนุมมาที่สนามกีฬาแห่งชาติ แต่ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดมา

เวลา 15.00 น. พยานได้รับคำสั่งให้เข้าไปคุ้มกันการเคลียร์กองยางรถยนต์ที่ ถ.พระราม 1 เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าไปดับเพลิงที่โรงภาพยนตร์สยาม พยานขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้า BTS และพบมีถังบรรจุน้ำมัน, ขวดบรรจุน้ำมันซึ่งปากขวดมีผ้าชุบน้ำมันอุดอยู่วางอยู่บนพื้นชานชาลา ต่อมาได้ยินเสียงปืนจากแยกเฉลิมเผ่าห่างจากพยานประมาณ 60 เมตร โดยเสียงปืนดังกล่าวมีทิศทางมาหาพยาน พ.ท.ยอดอาวุธ จึงสั่งให้พยานถอนกำลังกลับไปที่รถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หลังจากนั้น พ.ท.ยอดอาวุธ สั่งให้ปรับกำลังออกเป็น 2 กองร้อย เวลา 17.30 น. มีคำสั่งให้เฝ้าระวังรถดับเพลิงที่จะขับเข้าไปในพื้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยพยานเดินอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS ชั้น 1 พยานมีปืนเล็กยาว M16 A2 พร้อมกระสุนกว่า 100 นัด เวลา 18.00 น. พยานเห็นกองยางรถยนต์ และตาข่ายเขียวอยู่บนพื้น ถ.พระราม 1 ส่วนบนรางรถไฟฟ้าพยานพบขวดบรรจุน้ำมัน และกล่องข้าวที่ทานเสร็จแล้ววางทิ้งไว้บนสถานีรถไฟฟ้า BTS

จ.ส.ท.วิทูรย์ กล่าวว่า พยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากด้านล่าง ซึ่งมีทิศทางมาจากแยกเฉลิมเผ่า และได้ยินทหารร้องขอความช่วยเหลือ พ.ท.ยอดอาวุธ จึงสั่งให้พยานเคลื่อนที่ไปด้านหน้า พยานพบเห็นชายชุดดำอยู่บริเวณตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS แยกเฉลิมเผ่า ซึ่งกำลังยิงปืนไปที่ทหารที่อยู่ทั้งด้านบนและด้านล่าง พยานยิงปืนไปที่ตอหม้อของรถไฟฟ้า BTS โดยไม่โดนผู้ใด หลังจากนั้นชายชุดดำก็หลบหนีไป การยิงปืนดังกล่าวเป็นการใช้ดุลยพินิจตามกฎการใช้กำลัง ซึ่งเริ่มจากเบาไปหาหนัก พยานไม่ได้ติดตามชายชุดดำเหล่านั้นไป เพราะพยานมีหน้าที่เฝ้าระวังทหารที่อยู่ด้านล่าง จากนั้นได้เคลื่อนที่ต่อไปจนถึงริมสระน้ำข้างวัดปทุมวนาราม และพบชายชุดดำ 4-5 คนหลบอยู่หลังรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้กับต้นไหม้ใหญ่ โดย 1 ในชายชุดดำนั้นยิงปืนมาที่พยาน พยานจึงก้มลงหลบอยู่ด้านหลังกำแพงของรางรถไฟฟ้า BTS พยานยิงปืนตอบโต้ไปที่ท้ายรถยนต์ 2 นัด โดยไม่โดนผู้ใด ชายชุดดำทั้งหมดวิ่งหลบหนีเข้าไปในวัดปทุมวนาราม

เขากล่าวต่อว่า ที่หน้าวัดปทุมวนารามมีรถยนต์จอดอยู่เป็นจำนวนมาก พยานเห็นผู้ชุมนุมหลบซ่อนอยู่ใต้รถยนต์ดังกล่าวประมาณ 20 คน พยานตะโกนเรียกคนเหล่านั้นให้ออกมาจากใต้ท้องรถยนต์ แต่ไม่มีใครยอมออกมา ระหว่างนั้นมีชายชุดดำ 1 คนเล็งปืน M16 มาที่พยาน พยานจึงยิงปืนไปที่พื้นถนนด้านนอกวัดปทุมวนาราม ห่างจากชายชุดดำคนนั้นประมาณ 1 เมตร ชายชุดดำคนดังกล่าวจึงวิ่งเลียบกำแพงหลบเข้าไปในวัดปทุมวนาราม แต่พยานไม่ได้ติดตามไป และตะโกนเรียกผู้ชุมนุมที่อยู่ใต้ท้องรถออกมาอีก ทหารบางคนยิงปืนขึ้นฟ้า 4 นัด โดยหันหัวปืนไปทางด้านเซ็นทรัลเวิลด์ หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุม 4-5 คน ทั้งหมดเป็นผู้ชายคลานออกมาจากใต้ท้องรถยนต์ พยานจึงสั่งให้พวกเขาถอดเสื้อเพื่อตรวจค้น ทหารที่อยู่ด้านล่างตรวจค้นไม่พบอาวุธใดๆ แต่สังเกตเห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งมีรอยคล้ายเลือดที่เอว จึงเรียกให้ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวไปรักษา แต่ผู้ชุมนุมคนดังกล่าววิ่งเข้าไปในวัดปทุมวนาราม

หลังจากถอนกำลังกลับไปรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม พยานได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบว่า พยานยิงปืน 5 นัดไปที่ใดบ้าง แต่ยืนยันว่า ไม่โดนผู้ใด ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค. 53 พยานอยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS เพื่อรักษาความปลอดภัย และถอนกำลังออกจากพื้นที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 53

ทนายความผู้ ร้องซักถามพยานต่อ โดยพยานยืนยันว่า พยานเป็นผู้ชำนาญการใช้อาวุธ ซึ่งปืน M16 A2 มีระยะการยิง 400-500 เมตร บริเวณที่พยานอยู่บนรางรถไฟฟ้า เป็นพื้นที่สูงข่ม สูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร มุมที่พยานยืนอยู่มีต้นไม้ขนาดใหญ่บังอยู่จึงทำให้มองไม่เห็นภายในวัดปทุมวนาราม พยานยิงลงไปที่พื้นถนน ซึ่งเป็นพื้นคอนกรีตในลักษณะทำมุมก้มยิงมากกว่า 45 องศา กระสุนปืนเมื่อกระแทกพื้นจะแตกออก โดยพยานยิงปืนเข้าไปในวัดปทุมวนารามเพียง 2 นัด และไม่ทราบว่ามีผู้ใดยิงปืนเข้าไปในวัดปทุมวนารามหรือไม่ พยานเห็นมีทหารบนรางรถไฟฟ้า BTS vอีก 5 คนยิงปืนอยู่ พยานไม่ทราบชายชุดดำยิงโดนผู้ใดหรือไม่ แต่พยานได้ยินเสียงปืนอยู่ห่างจากพยานประมาณ 20-30 เมตร วันรุ่งขึ้น (20 พ.ค. 53) ไม่มีการยิงปืนเข้าไปในวัดปทุมวนารามอีก

จ.ส.ท.วิทูรย์ กล่าวว่า อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS ตลอดจึงไม่รู้ว่า ด้านล่างมีทหารควบคุมพื้นที่หรือไม่ หากตั้งใจจะยิงผู้ชุมนุมในวัดปทุมวนารามสามารถยิงได้โดยง่าย เพราะอยู่ในระยะ 15-30 เมตรเท่านั้น แต่พยานก็ไม่ได้ยิงผู้ใด พยานยืนอยู่ในมุมที่มีต้นไม้ใหญ่บังอยู่จึงมองไม่เห็นผู้ชุมนุม/เต็นท์ที่อยู่ด้านหน้าของวัดปทุมวนาราม พยานเห็นแต่รถยนต์ที่จอดอยู่ด้านหน้าวัดปทุมวนารามเท่านั้น พยานไม่ได้เก็บปอกกระสุน เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเก็บ การเคลื่อนที่ของพยานจะเป็นลักษณะคู่ขนานกันระหว่างทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า BTS และทหารที่อยู่ด้านล่าง ตลอดเวลามีการสื่อสารกันเพื่อขอความช่วยเหลือ 1 ครั้งที่บริเวณรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม พยานได้ยิงเสียงปืนจากแยกเฉลิมเผ่ามายังทหารโดยได้ยินประปราย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความน่าสมเพชของแนวการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย

Posted: 11 Mar 2013 08:14 AM PDT

แนวความคิดที่นำไปสู่การก่อตั้งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีรากฐานมาจากนักสังคมนิยมในยุคก่อนๆ เช่นคาร์ล มาร์คซ์ หรือ คาร์ล เคทสกี้ และพวกสังคมนิยมเพ้อฝันในฝรั่งเศส แต่ในที่สุดแนวนี้แตกเป็นสองส่วนท่ามกลางสงครามโลกคือเป็นแนวปฏิวัติสังคมนิยม กับแนวปฏิรูปทุนนิยมให้เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ

ฝ่ายปฏิวัติเดินหน้าไปสร้างพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย โดยมีแกนนำสำคัญคือ เลนิน กับ ตรอทสกี้ ส่วนในเยอรมันคนอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ก็ไปสร้างกลุ่มสปาร์ตาคัส ซึ่งนำร่องและกลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์

ตัวอย่างของฝ่ายปฏิรูป คือผู้ที่สร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย SPD ในเยอรมัน และพรรคแรงงานในอังกฤษเป็นต้น รวมถึงพวกเมนเชวิคในรัสเซียด้วย

ทั้งๆ ที่สองซีกต่างอ้างเรื่อง "สากลนิยม" ที่สมานฉันท์ผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี1914 ฝ่ายปฏิรูปกระโดดเข้าไปสนับสนุนสงครามและแนวชาตินิยมของชนชั้นปกครอง ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการฆ่ากันเองระหว่างคนงานรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส กับคนงานเยอรมัน มีแต่พรรคปฏิวัติเท่านั้นที่ปกป้องแนวสากลนิยมของคาร์ล มาร์คซ์ และในที่สุดพรรคบอลเชวิคก็นำการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งมีผลในการยุติสงคราม ส่วนนักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ไลบนิค ในเยอรมัน ถูกรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยฆ่าทิ้งเพื่อยั้บยั้งการปฏิวัติสังคมนิยม กองกำลังที่รัฐบาล SPD ใช้ในการปราบฝ่ายปฏิวัติครั้งนี้ ในที่สุดก็แปรตัวเป็นกองกำลังฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์

"อาชญากรรมทางการเมือง" ของแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรปมีเรื่อยมา ล่าสุดคือการก่อสงครามในตะวันออกกลางโดยนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ จากพรรคแรงงานอังกฤษ และการหันหลังให้รัฐสวัสดิการ เพื่อรับกระแสคิดเสรีนิยมกลไกตลาด โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคแรงงาน ในทุกประเทศของยุโรปรวมถึงสแกนดิเนเวีย พรรครูปแบบเดียวกันในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือลาตินอเมริกาก็ไม่ต่างออกไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเหล่านี้ มีผลงานในการสร้างรัฐสวัสดิการในอดีต มีองค์ความรู้แนวซ้ายฝังลึกในปัญญาชนบางคนของพรรค และที่สำคัญคือล้วนแต่เป็นพรรคที่ก่อตัวออกมาจากขบวนการแรงงาน จนมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหภาพแรงงาน สายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ทำให้พรรคปฏิรูปสังคมนิยมทั่วโลกแตกต่างออกไปจากพรรคนายทุน เลนิน เคยวิเคราะห์ว่าพรรคแบบนี้เป็นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดนายทุน คือไม่พร้อมจะล้มทุนนิยม แต่อย่างน้อยมันมีแรงกดดันจากฐานเสียงของพรรคให้ปกป้องผลประโยชน์กรรมาชีพและสหภาพแรงงานบ้าง ข้อเสียในมุมกลับคือบ่อยครั้งขบวนการแรงงานกลายเป็นกองเชียร์ให้รัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่หักหลังอุดมการณ์ปฏิรูป ซึ่งไม่ต่างจากที่ นปช. กลายเป็นกองเชียร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์

แต่คนที่มักชอบพูดถึงแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทย เช่น เมธา มาสขาว หรือ YPD เป็นเรื่องตลกร้ายน่าสมเพช เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติของสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลก ในประการแรก คนอย่าง เมธา มาสขาวและพรรคพวก ไม่มีความสัมพันธ์อะไรจริงๆ กับสหภาพแรงงาน ไม่เคยร่วมต่อสู้คลุกคลีกับแรงงาน ไม่เคยมีประวัติการเป็นซ้ายในไทยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะซ้ายแบบ พคท. หรือไม่ เพราะเขาล้วนแต่เป็นสายเอ็นจีโอ ที่งอกออกมาจากองค์กรนักศึกษาภายใต้พี่เลี้ยงที่กลายเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง และเสื้อเหลืองเป็นพวกที่เลือกข้าง เป็นศัตรูของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน พวกนี้ไปกอดจับมือกับทหารปฏิกิริยาล้าหลังที่ทำรัฐประหาร และออกมาปกป้องทุกอย่างที่เป็นความอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย แม้แต่เรื่องการเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้า ในรูปแบบที่ชาวสังคมนิยมประชาธิปไตยสมัยก่อนได้สร้างไว้ พวกนี้ก็ปฏิเสธ เพราะไปยอมรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดผสมกับรัฐสวัสดิการฝ่ายขวาตามสูตร "แนวทางที่สาม-กลไกตลาด" แถม เมธา มาสขาว ยังเคยถูกกล่าวหาว่า มีประวัติอื้ฉาวในการละเมิดสตรี ซึ่งแปลว่าต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศไม่ได้

สังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยยุคนี้เป็นแค่โครงการหาทุนจากเอ็นจีโอต่างประเทศ เพื่อสร้างอาชีพให้ตนเองภายใต้หน้ากากของ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ที่ไม่มีความหมาย องค์กรที่ให้ทุนโครงการประเภทนี้จะเป็นพวก FES จากพรรค SPD เยอรมัน ที่ชอบส่งนักวิชาการมาสอนพวกเราที่ไทยว่า "สังคมนิยมหมดยุค" และ "เราต้องยอมรับแนวทางที่สาม" ตามก้นพรรค SPD หรือพรรคแรงงานอังกฤษที่รับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดมาเต็มๆ

ในยุโรปปัจจุบันพรรคเหล่านี้มองว่า คนทำงานธรรมดาต้องตกงาน ถูกตัดสวัสดิการ และถูกตัดรายได้ เพื่อฟื้นฟูกำไรให้กลุ่มทุนที่ลดลงจากวิกฤตการเงินที่พวกนายธนาคารสร้างแต่แรก ดังนั้นพรรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะในเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน หรือกรีซ และแม้แต่ในสแกนดิเนเวีย จะมีนโยบายที่เหมือนพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน และหักหลังขบวนการแรงงาน แต่ประชาชนจำนวนมากในยุโรปไม่พอใจกับนโยบายเสรีนิยม ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคที่มีนโยบายซ้ายกว่า เช่น "แนวร่วมซ้าย" ในฝรั่งเศส หรือพรรคไซรีซาในกรีซ

เราจะสังเกตเห็นว่า เมธา มาสขาว เชื่อว่าประเทศต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย รวมถึงเยอรมัน เป็น "สังคมนิยมประชาธิปไตย" ทั้งๆ ที่ทุกประเทศดังกล่าวมีหรือเคยมีรัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของนายทุนที่พยายามตัดรัฐสวัสดิการ พูดง่ายๆ ไม่มีการวิเคราะห์แยกแยะการเมืองระหว่างนโยบายของกลุ่มทุนและนโยบายของขบวนการแรงงานเลย

สรุปแล้วคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยตอนนี้กำลังตามก้นพรรคที่หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ในยุโรปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ยุค 1930 และเป็นพวกที่ใกล้ชิดกับเสื้อเหลืองและพวกเผด็จการในไทย

สังคมนิยมประชาธิปไตยไทยในอดีต
บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นนักสังคมนิยมคนหนึ่ง ในหมู่นักสังคมนิยมไทย เช่น ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ที่เราควรจะศึกษาและเคารพ ไม่เหมือนคนที่พูดถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนี้

บุญสนอง บุณโยทยาน มีบทบาทสำคัญในการนำแนวสังคมนิยมลงสู่ภาคปฏิบัติของการเมืองโลกจริงผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในยุคระหว่าง 14 ตุลา 2516 กับ 2519 การหาเสียงของพรรคนี้ในหมู่บ้านทางภาคเหนือของไทย ไม่เหมือนการหาเสียงของนักการเมืองนายทุนประเภทที่ไร้นโยบายในสมัยนั้นหรือสมัยนี้ เพราะมีการจัดเวทีประชุมใหญ่ๆ เพื่อเสนอนโยบายการเมืองแบบสังคมนิยมที่เป็นรูปธรรมกับชาวบ้านรากหญ้า โดยไม่มีการซื้อเสียง นอกจากนี้บุญสนองอธิบายว่า ในการเลือกเขตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคสังคมนิยมและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมพยายามลดความสำคัญของตัวบุคคลและเพิ่มความสำคัญของนโยบายทางการเมือง วิธีการนี้ได้ผลพอสมควรเพราะในการเลือกตั้งปี 2518 พรรคสังคมนิยมต่างๆ ได้ประมาณ 15 ที่นั่งในรัฐสภาไทย

วิธีการทำงาน และนโยบายต่างๆ ของพรรค สามารถท้าทายแนวกระแสหลักได้มากพอสมควร และมีประโยชน์ต่อประชาชนธรรมดา เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดินที่ให้ชาวนาทุกคนมีใช้อย่างเพียงพอ นโยบายการศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับพลเมืองทุกคน นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเสนอให้มีการวางแผนเพื่อการผลิต นโยบายการนำธนาคาร เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมน้ำมันมาเป็นของรัฐ ในขณะที่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำรงอยู่ให้รับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง หรือนโยบายกระจายอำนาจการปกครองให้คนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเขาชาวดอย ชาวมุสลิมในภาคใต้ หรือชาวเวียดนามอพยพ เพื่อให้เขาปกครองตนเอง นโยบายดังกล่าว ถือว่าก้าวหน้ามาก และในหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ซึ่งทำให้สังคมไทยล้าหลังอยู่ และยังตกอยู่ในยุคมืด

การต้านผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์ ผ่านการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สร้างความไม่พอใจในหมู่อำมาตย์ อย่างที่เราเห็นก่อนและหลังยุคนั้น ในภาพรวมมันทำให้เราเห็นว่าอำมาตย์พร้อมจะก่อความรุนแรง เหตุการณ์นองเลือด และรัฐประหาร เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองเสมอ บุญสนอง บุณโยทยาน จึงถูกยิงตายโดยมือปืนของฝ่ายขวาในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 เขา เหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ คือเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องสละชีพเพื่อการสร้างสังคมใหม่ และในงานศพเขาที่สนามหลวงมีประชาชนไปร่วมมากมาย

อย่างไรก็ตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยของบุญสนองมีจุดอ่อนสำคัญ ในประการแรกพรรคของเขาไม่ได้งอกออกมาจากขบวนการแรงงาน และไม่ได้อาศัยการทำงานในขบวนการแรงงานเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า ถ้าเกิดได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา จะไม่มีอำนาจจริง และไม่สามารถอาศัยพลังนอกรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนสังคม พูดง่ายๆ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยตอนนั้นเน้นเรื่องรัฐสภาเหนือสิ่งอื่น

ในประการที่สอง เมื่อเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีรากฐานส่วนหนึ่งในขบวนการแรงงาน เราจะเห็นว่า พคท. มีชุดความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับชุดความคิดนี้หรือไม่ ซึ่งช่วยให้พรรคดำรงอยู่ได้นานและไม่พึ่งบุคคลสำคัญๆ ไม่กี่คน ถ้าเทียบกับ พคท. แล้ว พรรคสังคมนิยมไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ เพราะไม่มีเอกภาพในทฤษฎี และหลัง 6 ตุลา 2519 พรรคสังคมนิยมจึงยอมเข้าป่าไปอยู่ภายใต้แนวของ พคท.

ในเรื่องความคิดของบุญสนอง ไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นปัญญาชนสังคมนิยมของฝ่ายซ้ายไทย เหมือน ปรีดี พนมยงค์ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นปัญญาชน เพราะงานเขียนเขาไม่ท้าทายระบบความคิดของชนชั้นปกครองเท่าไร เช่นในหนังสือ "มนุษย์กับสังคม" เกือบไม่มีการอ้างถึงแนวมาร์คซิสต์ หรือแนวอื่นในการวิเคราะห์สังคม และมีการนำเสนอแนวคิดสังคมศาสตร์แบบกระแสหลัก เช่น การเสนอว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นต่างๆ ร่วมมือกันได้ แต่อย่างน้อยเขาเป็นคนที่บริสุทธิ์ใจในการค้นหาแนวทางสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่เหมือนพวกที่อ้างสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยสมัยนี้

แล้วถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในไทยจะดีไหม?
ถ้าในอนาคตมีนักสหภาพแรงงานในไทย ที่เป็นนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ที่อยากสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพยายามรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการและการเพิ่มสิทธิแรงงาน ในหมู่แรงงานและคนก้าวหน้าที่ต่อต้านอำมาตย์ โดยไม่รับเงินจากที่อื่นในรูปแบบเอ็นจีโอ มันคงจะเป็นเรื่องดี ทั้งๆ ที่นักมาร์คซิสต์อย่างเราเข้าใจปัญหาและข้อผิดพลาดของการฝันถึงการปฏิรูปทุนนิยม เราคงร่วมมือร่วมสู้กับคนเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่เราคงจะไม่เสียเวลาไปร่วมสร้างพรรคปฏิรูป เพราะในที่สุดเราจะต้องแย่งชิงการนำ จากพวกที่ต้องการปกป้องทุนนิยมและการขูดรีดแรงงานภายใต้คำว่า "ปฏิรูป"

หน้าที่หลักของเราจะต้องอยู่ที่การสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมตามแนวมาร์คซิสต์ ที่มีรากฐานในขบวนการแรงงาน และมีผู้ปฏิบัติการหนุ่นสาวไฟแรง และพรรคนี้ต้องพร้อมจะทำแนวร่วมกับคนก้าวหน้าที่ต้องการสร้างสังคมใหม่ในความเข้าใจอันหลากหลายของคนเหล่านี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กว่าจะรู้สึกตัวก็ตายเสียแล้ว

Posted: 11 Mar 2013 07:48 AM PDT



จิมมี่ ซาวิลล์ (Jimmy Savile) ผู้ดำเนินรายการจัดอันดับเพลงท็อปชาร์ตชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักร และมีชื่อเสียงในการระดมทุนเพื่อการกุศล ต้องสูญเสียชื่อเสียงในยามที่หมดลม และประวัติศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับเขาต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ เนื่องจากหลังจากที่ตายไปได้มีผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายออกมาเปิดโปงว่าได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายผู้นี้ ในขณะที่ผู้เสียหายเป็นเยาวชน

แม้จะมีการวิเคราะห์กันว่าสื่อสำนัก Sky News ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ BBC News ได้พยายามขุดค้นเรื่องนี้เพื่อรุกไล่โจมตีทำลายชื่อเสียงของซาวิลล์ในฐานะภาพตัวแทน (Icon) ของสำนัก BBC แต่ด้วยการสอบปากคำและการดำเนินคดีของตำรวจพบว่าคดีดังกล่าวที่มีการร้องทุกข์เข้ามานั้นมีมูลความจริง และอาจนำไปสู่การขยายผลจับกุมและดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั้งเครือข่าย

จากเหตุการณ์นี้ได้สร้างผลสะเทือนไปยังผู้บริหารของสำนัก BBC ถึงขนาดต้องลาออกเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันจริยธรรมของ "การยืนอยู่บนความจริง" ของสำนัก BBC และป้องกันมิให้ลุกลามไปถึงขั้นการทำลายความน่าเชื่อถือของ BBC ในฐานะผู้ที่ล่วงรู้ความจริงแต่พยายามสมคบคิดกันปกปิดความจริง

จิมมี่ ได้รับเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิตพลเมืองอังกฤษเนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็น "ท่านเซอร์" (Sir James Wilson Vincent Savile, OBE KCSG) โดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธ

สาเหตุที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสหราชอาณาจักรก็เนื่องด้วย จิมมี่ ซาวิลล์ มีภาพลักษณ์เป็น "ผู้ใหญ่ใจดี มีสำนึกสาธารณะ อุทิศตนเพื่อการกุศล และสนุกสนานมีอารมณ์ขัน" ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ชาวบริติชรักใคร่ ภาคภูมิใจ และถึงขั้นให้ความเคารพนับถือ ในงานพิธีศพและไว้อาลัยมีประชาชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง มีการเรียงแถวกันเข้าโค้งคำนับศพ และจัดพิธีกรรมไปทั่วประเทศ เมื่อข่าวการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนแพร่สะพัดออกไปจึงกลายเป็นการตื่นตระหนกตกใจ เจ็บปวด และเกิดปฏิกิริยาโต้กลับเจ็บแค้นไปยังสำนัก BBC และการเขียนประวัติชีวิตของจิมมี่อย่างหนักหน่วง

หากมองในแง่ของข้อกฎหมายและการดำเนินคดีจะพบว่า ในช่วงที่เขามีชีวิต กฎหมายและรัฐไม่อาจทำให้เขาต้องรับผิดใดๆ ได้เลยแม้แต่น้อย เนื่องจากบารมีและภาพลักษณ์ในฐานะคนดัง มีจิตสาธารณะ ทำการกุศล ได้รับเกียรติระดับสูงจากราชวงศ์อังกฤษ สิ่งล้วนเป็นเกราะชั้นดีให้กับ "คนดี" ที่ชื่อ เซอร์จิมมี่ ซาวิลล์ ความตายและการเสื่อมลาภ ยศ สรรเสริญ จึงเป็นที่มาของการเปิดเผยความจริงในภายหลัง

ราคาของความจริงที่ถูกเปิดโปงนั้นสูงมาก เพราะความดีส่วนอื่นที่เขาได้เคยทำไว้ได้ถูกกลืนหายไปใต้ภาพลักษณ์ใหม่ของชายผู้วิปริตวิตถารและล่วงละเมิดเด็ก สิ่งที่ครอบครัวและองค์กรที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องต้องแบกรับนั้นก็มหาศาลเช่นกัน

ความจริงกับความตายจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ความตายที่คนต้องการรู้ความจริง" และ "ความจริงที่ทำให้คนเปิดเผยตาย" หรือ "ความจริงที่คนเปิดเผยอาจจะตาย" ดังกรณีวิกิลีกส์ จูเลี่ยน แอสสาจน์ และพลทหารแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ซึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพจากการเปิดเผยความลับ ซึ่งเอกสารที่เขานำมาเปิดเผยนั้น ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาและเช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรจะต้องเปิดเผยเมื่อผ่านพ้นไปครบ 50 ปี

หากมองไปที่ระบบกฎหมายข้อมูลข่าวสารของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเทียบกับระบบกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการของไทย จะพบว่ามีความแตกต่างอยู่ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเอกสารลับนี้ เนื่องจากระบบกฎหมายไทยไม่มีเรื่องเงื่อนไขเวลา หากเอกสารใดที่ไม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงก็จะไม่สามารถเปิดเผยได้เลย ส่วนกระบวนการเรียกร้องให้เปิดเผยก็จะต้องมีการร้องไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ และอุทธรณ์มาเรื่อยจนถึงระดับชาติ หากยังไม่เปิดเผยก็ต้องฟ้องศาลปกครองให้บังคับคณะกรรมการให้ออกคำสั่งบังคับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลให้เปิดเผย

แต่ยังมีทางลัดในทางปฏิบัติคือ อาจมีการฟ้องร้องคดีอื่นที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานราชการนั้น เพื่ออาศัยอำนาจศาลในการบังคับให้เปิดเผยข้อมูลในเอกสารดังกล่าว หากไม่กระทบชื่อเสียงส่วนบุคคลในเรื่องส่วนตัว ก็สามารถนำมาเผยแพร่ต่อได้เมื่อปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาล

ดังนั้นการเข้าถึงความจริงในเชิงประจักษ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอย่างเข้มข้นในรัฐไทย จึงจำเป็นต้องศึกษาคำพิพากษาต่างๆ และการผลักดันให้ศาลตีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาในฐานข้อมูลอินเทอร์เน็ตในทุกระดับชั้นศาล ดังที่ปรากฏในฐานข้อมูลคำพิพากษาในต่างประเทศ จึงจะมีส่วนช่วยในการเข้าถึงความจริง และพัฒนาภูมิปัญญา ปลดเปลื้องความไม่รู้ในหลายแง่มุม นำไปสู่การถกเถียงในเชิง "ความคิดเห็น" มิใช่การถกเถียงในเรื่อง "ข้อเท็จจริง" ดังที่เป็นอยู่ในหลายกรณี เช่น ใครฆ่า ใครเผา ใครจ้าง ใครล้มโต๊ะ ใครป่วน ใครเริ่ม ฯลฯ และอีกหลายคดีความขัดแย้งในสังคมไทย

หรือเราจะต้องรอให้ครบ 50 ปีแล้วไปเอาเอกสารที่ทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบันทึกไว้มายืนยันความจริง หรือแย่กว่านั้น คือ ต้องรอให้มีคนเสียสละต้องเผชิญโทษทางกฎหมายเพื่อนำข้อมูลลับทั้งหลายมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตดังกรณีวิกิลีกส์ ซึ่งความจริงเหล่านั้นมีต้นทุนสูงทั้งต่อผู้เผยแพร่ และการเข้าถึงของสาธารณชน การบังคับเผยแพร่ทุกคำพิพากษา (โดยปิดบังชื่อคู่กรณีในคดีส่วนตัว) ยังดีต่อการศึกษากฎหมายของประชาชนทั่วไปและผู้สนใจหาความจริงในหลายแง่มุมด้วย หรือใครกลัวความจริง?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอยแผลเก่า จาก อ.อ.ป. สู่การละเมิดสิทธิบริการขั้นพื้นฐาน

Posted: 11 Mar 2013 07:34 AM PDT

 

ถ้อยคำถาม เมื่อชุมชนจะมีการพัฒนาต่อไปด้วยการติดตั้งไฟฟ้า ย่อมมีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เหตุใด อ.อ.ป.ต้องเข้ามาขับไล่ ทั้งที่จริง พวกเขาเหล่านั้น มีสิทธิในพื้นที่ดินทำกินมาก่อน
 
ความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ คือ น้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย ความต้องการดังกล่าวนั้น แน่นอนว่า เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนในสังคมต้องได้รับด้วยความสมดุล ด้วยความเสมอภาคในการดำเนินชีวิตร่วมกัน ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายเรื่อง หลากมุม ที่ชีวิตคนในระดับรากหญ้ายังไม่เคยถูกคลี่ดู เช่น ชาวชุมชนบ่อแก้ว พบว่าสิ่งที่พวกเขากว่า 277 ครอบครัว ต้องตกอยู่ในสภาพความเป็นผู้ที่เดือดร้อนกรณีสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกิน
 
ท่ามกลางปัญหา อุปสรรค ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้สร้างขึ้นมา หากเป็นเพราะพวกเขาต่างประสบชะตากรรม ด้วยมาจากการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิ์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ที่เบียดขับให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนตกขอบไปจากเส้นทางเดินชีวิตขั้นพื้นฐานในผืนดินของพวกเขาเอง ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ กลายเป็นแรงงานรับจ้าง บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย เพราะไม่มีที่ดินทำกิน
 
 
กำเนิดชุมชนบ่อแก้ว
 
ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความร่วมแรง รวมใจ ของผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม พวกเขาเลือกที่จะยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ภายหลังที่ อ.อ.ป. ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกป่ายูคาลิปตัส (สวนป่าคอนสาร) เมื่อปี 2521
 
ทว่าผลลัพธ์ของการต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กลับถูกสนองด้วยการถูก ข่มขู่ คุกคาม จากผู้มีอิทธิพล ที่เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.ว่าจ้างมา กระทั่งมาสู่การดำเนินคดีกล่าวหาให้พวกเขาตกเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่เป็นพื้นที่ดินทำกินของพวกเขาเหล่านั้นมาก่อน มีการดำเนินการประกาศเขตป่าฯ
 
การกระทำของ อ.อ.ป.กลายให้พวกเขาเป็นคนพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย กระทั่งปรากฏการณ์เข้ามายึดผืนดินทำกินเดิมกลับคืนมา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.52 พร้อมลงหลักปักฐานเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการตนเองของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน
 
ด้วยการปลูกพืชผัก ทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ที่จะส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และเพื่อเป็นการให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เป็นการสร้างความมั่งคงอาหาร ด้วยการบริหารจัดการระบบผืนดินเพื่อให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนสืบทอดไปถึงลูกหลาน
 
 
เมื่อชีวิตถูกแขวนไว้ภายใต้กระบวนการยุติธรรม
 
แม้ชีวิตของพวกเขาไม่เคยมอดดับไปตามอุปสรรค แต่หัวใจที่เสมือนเป็นเชื้อไฟที่โหมพัด ทำให้พวกเขาไม่เคยละทิ้งในสิทธิที่ควรได้ที่ถูกความไม่เป็นธรรมฉวยโอกาสมาประกาศเขตป่าสงวนฯ ให้นายทุน หรือ อ.อ.ป.เข้ามาสัมปทาน แล้วขับไล่พวกเขาออกไปนั้น
 
การที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่ชอบธรรมดังกล่าว กลับถูก อ.อ.ป.ใช้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีกล่าวหาให้พวกเขาตกเป็นผู้บุกรุกสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ฟ้องดำเนินคดีขับไล่ผู้เดือดร้อนให้ออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.52
 
ระหว่างทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว เสมือนยิ่งเป็นการกดทับย้ำลงไปในคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ย่ำแย่ หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม เมื่อศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 30 คน ในวันที่ 21 ธ.ค.54 โดยอุทธรณ์ยืนตามศาลขั้นต้นว่า ชาวบ้านมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ
 
ให้ชาวบ้าน ที่ถูกดำเนินคดีพร้อมบริวาร ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาล
 
 
สู่ 2 มาตรฐาน ขวางพัฒนาไฟฟ้า
 
กว่า 4 ปี นับแต่ 17 ก.ค.52 ที่ชาวบ่อแก้วเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสวนป่าคอนสารกลับคืนมา ทุกช่วงจังหวะของชีวิตที่ล่วงผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน ชุมชนบ่อแก้วได้ขอใช้ไฟฟ้าเพื่อทำการเกษตร ด้วยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำการพัฒนาระบบน้ำ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แท้งค์น้ำที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรเป็นอย่างมาก
 
ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.56 ชาวบ้านจึงได้มีการยื่นขอไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน และนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่งที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนนำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอคอนสารได้อนุมัติและดำเนินการติดตั้งแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค.56
 
ต่อมาวันที่ 3 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จำนวน 5 คน ลักลอบเข้ามาด้านหลังของชุมชน สั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนไฟฟ้า ทั้งข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นของเขตสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และชาวบ้านต่างก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยอม พร้อมชี้แจงถึงสิทธิที่จะอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ทำกินเดิม
 
เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นในวันที่ 4 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสาร และขอให้การไฟฟ้าทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 เพื่อกดดัน ข่มขวัญให้ชาวบ้านหวาดกลัว
 
จากกรณีดังกล่าว เมื่อ 7 ก.พ.56 ชาวชุมชนบ่อแก้ว จึงรวมใจกันชุมนุมขอเข้าพบนายอำเภอคอนสาร เพื่อร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรม กรณีที่ อ.อ.ป.บุกเข้าไปสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชน โดยชาวบ้านระบุข้อเรียกร้องให้นายอำเภอคอนสาร ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคอนสาร กำนันตำบลทุ่งพระ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งพระ
 
เพื่อขอให้มีการชะลอและยุติการดำเนินการยกเลิกรื้อถอนระบบไฟฟ้าจากชุมชน
 
 
ล้มโต๊ะเจรจา เหตุ 'ออป.' ห้ามใช้ไฟฟ้า
 
การเจรจาเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติในการยกเลิกรื้อถอนไฟฟ้า ระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 11 ก.พ.56 โดยมีนายอำเภอคอนสารเป็นประธาน ณ หอประชุมอำเภอคอนสาร เป็นอันล้มเหลว เนื่องจากหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ในฐานะตัวแทน อ.อ.ป.อ้างเงื่อนไขของข้อกฎหมาย แม้ชาวบ้านพยายามยืนยันถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ก่อนที่ อ.อ.ป.จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เพื่อปลูกป่ายูคาฯ
 
และแม้ว่าชาวบ้านจะร่วมกันยกกรณีความไม่เป็นธรรมในอีกมุมหนึ่งของศูนย์ธรรมรัศมี ที่มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งชุมชนเพียง 200 เมตร ซึ่งมีทั้งการก่อสร้างถาวรวัตถุ มีการก่อสร้างอาคาร และมีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบาย
 
ขณะเดียวกันนายอำเภอคอนสารก็ยืนยันตาม อ.อ.ป.ให้เป็นผู้ตัดสินใจ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะร่วมประชุมกันต่อไป จึงได้พร้อมใจกันเดินออกจากที่ประชุมโดยที่การประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมประกาศยืนยันร่วมกันว่าจะชุมนุมเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรม
 
นับจากวันที่ 11 – 14 ก.พ. 56 ที่ชาวบ้านต้องกินนอนอยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ หากหน่วยงานภาคประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาค ไม่ออกแฉลงการณ์ร่วมกันประณามการกระทำของ อ.อ.ป.ที่ละเมิดสิทธิชาวบ้านมานับแล้วครั้งไม่ถ้วนแล้วนั้น อ.อ.ป.จะยุติเรื่องดังกล่าวหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมยุติลงพร้อมกับร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการติดตามแผนปฏิรูปที่ดิน โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข) ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข กรรมมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
 
ผ่านทางนายอำเภอคอนสาร นายไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ ที่ลงมาพบพร้อมกับรับหนังสือข้อเสนอแนะแผนการปฏิรูปที่ดินของชุมชน ที่ได้ประกาศเดินหน้าแผนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามข้อตกลงเดิม โดยจำแนกเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ร่วม ที่สาธารณะของชุมชน ป่าชุมชน และพื้นที่สิทธิ์การใช้ส่วนบุคคล
 
ก็ยังเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกขั้นตอน หลากหลายวิธีการที่ อ.อ.ป.หยิบขึ้นมาดำเนินการกับชาวบ้านนั้นเป็นไปด้วยความชำนาญ ตามความถนัดของพวกอันธพาล ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง เช่น มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ในกรณีนายวัก โยธาธรรม ที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ลักลอบนำอาวุธนั้นไปซุกไว้ใต้ถุนบ้าน เมื่อปี 2529
 
ล่าสุดมาสู่การขับไล่ชาวบ้านให้ทำการรื้อถอนไฟฟ้า เสมือนเป็นการยืมดาบฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น โดยทำเรื่องร้องเรียนต่อการไฟฟ้าให้ถอนมิเตอร์ พร้อมแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ให้ดำเนินคดีต่อทั้งชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ผู้รับเหมาติดตั้งไฟฟ้าให้กับชุมชนบ่อแก้ว ถือเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความละอายใจ ไม่มีศักดิ์ศรี ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์โดยอย่างยิ่ง
 
การที่ชาวบ้านต้องการความยั่งยืนบนผืนดิน ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเมื่อชุมชนจะมีการพัฒนาต่อไปด้วยการติดตั้งไฟฟ้า ย่อมมีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
 
เหตุใด อ.อ.ป.ต้องเข้ามาขับไล่ให้พวกเขาทำการรื้อถอน ทั้งที่จริง พวกเขาเหล่านั้น มีสิทธิในพื้นที่ดินทำกินมาก่อน
 
เพื่อลบรอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ถูก อ.อ.ป. กระทำมานานกว่า 35 ปี ให้สามารถจางลง และเหือดหายไปได้ และเพื่อให้ผืนดินทำกินนั้นกลับคืนสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของพวกเขาเหมือนดังที่เคยเป็น
 
เพราะฉะนั้น อ.อ.ป.ต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายออกไป รวมถึงต้องยกเลิกสวนป่าคอนสาร และคืนพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้าน พร้อมทั้งถอนการบังคับคดี และเร่งนำที่ดินจำนวน 1,500 ไร่ มาดำเนินการจัดการในรูปแบบ "โฉนดชุมชน"
 
ตามข้อตกลงที่ทั้งคณะทำงานในระดับพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาคมตำบลทุ่งพระ ลงมาสำรวจพร้อมมีมติร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินชาวบ้าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระบบอาหารที่ดีต้องสร้างเอง (ภาคคนปลูก)

Posted: 11 Mar 2013 02:06 AM PDT

เมื่อเร็วๆ นี้มีการตีพิมพ์บทความในประชาไทออนไลน์ ในหัวข้อ "เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก"  โดยเนตรดาว เถาถวิล 

บทความตั้งคำถามถึงแนวคิด แนวทางและกระบวนวิธีทำงานของเครือข่ายที่ทำงานเกษตรยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร ว่าคิดวิเคราะห์กันใหญ่ๆ โตๆ แต่พอลงมือทำก็ทำจุ๊กๆ จิ๊กๆ ระดับปัจเจก จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับทุนนิยมข้ามชาติครอบระบบอาหารได้หรือ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเนตรดาวที่เปิดประเด็นให้มีการถกเถียงพูดคุยกัน

 

เราเรียกและนิยามตัวเองอย่างไร  

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า พวกเราส่วนหนึ่งที่ทำงานร่วมกันภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และปัจจุบันมีการขยับเครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารไม่ได้ใช้ประเด็นหรือวาทกรรมเกษตรอินทรีย์ในการขับเคลื่อนงาน ด้วยเหตุที่การใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความไปในกรอบแคบเหลือแค่เพียงการผลิตอาหารปลอดภัยดังที่บทความของเนตรดาวกล่าวถึง

เครือข่ายเกษตรทางเลือกจึงเลือกใช้คำว่า "เกษตรกรรมยั่งยืน" ซึ่งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนได้นิยามไว้ว่า "เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นวิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษา ไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต ที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ชาติโดยรวม"

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านปรับปรุงระบบการผลิตตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนไปจนถึงระดับที่เลิกใช้สารเคมีการเกษตรได้ก็มักจะเรียกผลิตผล ผลิตภัณฑ์ของตนว่าผลผลิตอินทรีย์แบบรับรองตัวเองหรือรับรองกันเอง มีจำนวนน้อยที่เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีองค์กรตรวจสอบรับรองให้การรับรอง

เมื่อไม่นานมานี้ ในการประชุมสากลองค์กรชาวนาโลกเรื่องเกษตรนิเวศและเมล็ดพันธุ์ (The La Via Campesina First Global Encounter on Agroecology and Seeds) จัดขึ้นที่ จ.สุรินทร์ มีการทบทวนชื่อและนิยามความหมายของระบบเกษตรที่พึงปรารถนาร่วมกัน ที่ประชุมถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะเรียกชื่อร่วมหรือไม่อย่างไร สายละตินอเมริกาพยายามจะผลักดันให้เรียกชื่อระบบเกษตรว่า เกษตรนิเวศ เหล่าเครือข่ายที่เป็นสมาชิกในประเทศไทยก็ยังคงยืนยันจะเรียกว่า เกษตรยั่งยืนต่อไป ด้วยว่าใช้กันมายี่สิบกว่าปีจนคุ้นและเข้าใจตรงกันดีแล้ว ที่ประชุม[1]จึงมีข้อสรุปร่วมกันในเชิงหลักการตอกย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญสามประการในระบบเกษตรที่พึงปรารถนาขององค์กรชาวนาโลก ได้แก่ ระบบนิเวศ สังคม และการเมือง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าเกษตรนิเวศ เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกต่ำ เกษตรยั่งยืน หรือชื่ออื่นใด สำหรับองค์กรชาวนาโลก ระบบเกษตรที่จะยังความยั่งยืนให้กับชาวนาชาวไร่อย่างแท้จริงนั้นมาจากการฟื้นฟูความรู้วิถีการผลิตแบบพื้นบ้านผสมผสานกับนวัตกรรมเชิงนิเวศ การควบคุมและปกป้องดินแดนหรือฐานทรัพยากร และเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงความเท่าเทียมของบทบาทหญิงชาย  

เมล็ดพันธุ์: เครื่องมือสำคัญในการยึดระบบอาหาร

คงไม่มีข้อโต้แย้งว่า ปัญหาหลักที่เป็นอยู่ในระบบอาหารคือปัญหาที่มีใจกลางอยู่ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

หมายความว่า "อำนาจตัดสินใจ" หรือ "อำนาจในการเลือก" ไปอยู่กับใครบางคน บางกลุ่มเท่านั้น เกษตรกรรายย่อยก็เหลืออำนาจน้อยมากในการกำหนดว่าจะผลิตอะไร อย่างไร ขายให้ใคร ที่ไหน ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมาเป็นแพคเกจ คนกินก็มีทางเลือกเหลืออยู่แต่ว่าจะกินอาหารยี่ห้ออะไร ผักปนเปื้อนแบบมีตรา Q หรือไม่มีตรา Q

กระบวนการผูกขาดระบบการผลิตในประเทศไทยก็เหมือนกับที่อื่นๆ ในโลก ไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ด้วยเป็นกระบวนการของกลุ่มบรรษัทกลุ่มเดียวกัน คือกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและเคมีเกษตร นำขบวนโดยมูลนิธิร๊อกกี้ เฟลเลอร์[2] และมูลนิธิฟอร์ด จัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute: IRRI) ขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2503 ทำการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวจาก 70 กว่าประเทศทั่วโลก และปรับปรุงพันธุ์ข้าว ตลอดจนให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการทำนาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือทำนา การใส่ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช  ในปี 2509  IRRI อีรี่ก็ได้นำเสนอข้าวพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงถึง 1 ตันต่อไร่ ชื่อ IR 8 หรือเรียกกันว่า "ข้าวมหัศจรรย์" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพันธุ์ข้าวหมายเลขต่างๆ ของไทย เริ่มตั้งแต่   กข.1 ในปี 2512 

ความสำเร็จของกระบวนการอีรี่ทำให้มีการสนับสนุนให้จัดตั้งสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศ (International Agricultural Research Centers: IARCs) ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 16 แห่ง บริหารโดยคณะที่เรียกว่า Consultative Group on International Agricultural Research: CGIAR ซึ่งมีประธานโดยตำแหน่งมาจากการเสนอชื่อของธนาคารโลก สถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศ มีบทบาทในการขยายการปฏิวัติเขียว ด้วยกระบวนการวิจัยพัฒนาพันธุ์ การเพิ่มผลผลิต จัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่นักวิทยาศาสตร์การเกษตรกว่าห้าหมื่นคนในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา

การยึดเมล็ดพันธุ์หรือพันธุกรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการผูกขาดระบบเกษตรกรรม เมื่อเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้ก็เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ ได้ เฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น ข้าวพันธุ์ กข. ทั้งหลายจะเติบโตให้ผลผลิตดีดังใจก็เมื่อได้ปุ๋ยเคมี หรือที่ชาวไร่ข้าวโพดรู้กันดีว่าถ้าใช้พันธุ์ข้าวโพดตองแปด (888) ไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีเท่านั้น ต้องเป็นปุ๋ยเคมีตรากระต่ายของบริษัทเดียวกันอีกด้วย

ภายในเวลาไม่ถึงสามสิบปี การรุกคืบผูกขาดระบบการผลิตเกษตรและอาหารของบริษัทในบ้านเราประสบความสำเร็จอย่างงดงาม พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับพันนับหมื่นสายพันธุ์หายไปจากแปลงนาเกือบเกลี้ยง เหลือไว้แต่พันธุ์ให้ผลผลิตสูงกินปุ๋ยดีไม่กี่สายพันธุ์ พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไม่ได้เป็นของบริษัทเพียงไม่เกิน 6 บริษัทครองตลาดถึง 90 % เช่นเดียวกับพันธุ์ผักต่างๆ

เรื่องพันธุ์สัตว์ ตัวอย่างที่พูดกันบ่อยสุดคือไก่ ที่นับตั้งแต่ซีพีไปจูงใจให้อาร์เบอร์ เอเคอร์ส มาร่วมทุนถ่ายทอดเทคโนโลยีเมื่อปี 2514 มาบัดนี้การเลี้ยงไก่เนื้อที่คนไทยกว่า 65 ล้านคนกินกันคนละเฉลี่ย 14 กก.ต่อคนต่อปีนั้น 70 % ก็เป็นของบริษัทเพียง 3 บริษัท

 

Think global act local คิดไปเองหรือเปล่า ?

บทความ "เกษตรอินทรีย์ กับระบบอาหารโลก" ชี้ว่า "...พบว่าข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหากลับไปเน้นที่ปัจเจกบุคคล เช่น การเรียกร้องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ใช้แรงงานตัวเองทำการเกษตร ปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อกินเอง เท่ากับว่าการรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย เน้นการเรียกร้องโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยอัตโนมัติ" 

ก็คงต้องพิจารณาตัวเองกันว่างานรณรงค์ที่ทำ ๆ กันนอกจากแทบจะไม่มีผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายด้วยแรงผลักทางการเมืองยังน้อยนิด การทำให้ผู้คนรับรู้เข้าใจก็ยังไม่ค่อยได้ผลอีกด้วย ไม่ว่าการคัดค้านต่างๆ ทั้งเรื่องเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่จะเอื้อต่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มากยิ่งขึ้น การเปิดทดลองจีเอ็มโอในไร่นาโดยที่เรายังไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพ การรณรงค์ควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูให้มีมาตรฐาน การรณรงค์นโยบายและมาตรการต่างๆ นานาที่จะส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน รวมถึงการเข้าไปร่วมในคณะกรรมการระดับชาติเพื่อชิงการนิยามความหมายความมั่นคงทางอาหารที่มีมิติเศรษฐกิจการเมือ

กลับมาที่การทำงานในระดับปัจเจก หรือในที่นี้อยากจะเรียกว่า "ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย" น่าคิดว่าหากไม่สร้างปฏิบัติการในระดับฟาร์มครัวเรือน เราจะเริ่มต้นที่ตรงไหน

และจริงอย่างที่สุด ที่ปฏิบัติการระดับปัจเจกไม่น่าจะส่งผลการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างโดยอัตโนมัติ หากนั่งทำจุ๋มๆ จิ๋มๆ อยู่คนเดียว

ปฏิบัติการสำคัญของเครือข่ายคือการพัฒนาทางเลือกและปฏิบัติการระดับฟาร์มครัวเรือน ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการเชื่อมโยงผู้คนระหว่างผู้ผลิตเกษตรกรด้วยกันเอง และระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค และสร้างคำอธิบายที่จะไปต่อกรกับระบบคิดที่ขับเคลื่อนระบบการผลิตอาหารอยู่ในปัจจุบัน  ในการนี้ หากมีแนวร่วมนักวิชาการมาช่วยอธิบายก็จะน่าจะยิ่งมีพลัง 

เครือข่ายเกษตรทางเลือกในฐานะสมาชิกองค์กรชาวนาโลกก็ได้พยายามนำเอาแนวคิดสิทธิและอธิปไตยทางอาหารขององค์กรชาวนาโลกที่ประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2539 มาตีความปรับใช้สร้างคำอธิบายในประเทศ พยายามใช้อย่างทุลักทุเลอยู่หลายปีไม่ขยับ ด้วยพูดขึ้นมาทีไรก็เกิดเครื่องหมายคำถามบนใบหน้าของคนฟัง และส่วนใหญ่ก็มีจินตนาการคำว่าอธิปไตยเป็นเรื่องรัฐและดินแดนไปเสีย ในที่สุดก็มาลงตัวที่คำว่า "ความมั่นคงทางอาหาร" และได้มีการทำการศึกษาการอธิบายของชุมชนเกษตรกรรมหลายชุมชนต่อคำนี้ สรุปเป็นชุดความคิดได้ว่า ความมั่นคงทางอาหารหมายถึง

"การมีอาหารกินอย่างเพียงพอตลอดปี โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองด้านอาหาร สิทธิในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาหารที่บริโภคต้องปลอดภัย มีโภชนาการ มีตลาดที่เป็นธรรม มีรายได้ที่เพียงพอ  มั่นคง และมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแล รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนในระบบอาหาร "[3]

แน่นอนว่า ในภาวะวิกฤตอาหาร การรณรงค์ให้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยตั้งเป้าหมายการผลิตเพื่อกินเองให้พอ มีความสำคัญพอๆ กับการขายเป็นรายได้ อย่างไหนมาก่อนก็ขึ้นกับวิธีคิด ความรู้ การวางแผนการผลิต ขนาดที่ดิน จำนวนและการจัดการแรงงานที่มี เครื่องมือเครื่องจักร การจัดการเวลา (ใน/นอกภาคเกษตร) และการเข้าถึงตลาดแบบต่างๆ ของตัวเกษตรกรเอง ตลอดจนความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย และก็แน่นอนว่าการทำเกษตรแบบนี้ส่วนใหญ่ต้องทำงานเต็มเวลา คืออยู่ในไร่นาสวนเกือบทุกวัน


ยึดคืนเมล็ดพันธุ์ !!! ชาตินี้จะทันหรือ ?

หากจะอธิบายต่อถึงความหมายของการจัดการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งประกอบด้วยการค้นหา การเก็บ การคัดเลือก และการปรับปรุงพันธุ์ กระบวนการเหล่านี้คือการอนุรักษ์พันธุกรรมในถิ่นที่อยู่ เพื่อรักษาฐานพันธุกรรมเอาไว้พัฒนาตอบสนองความต้องการที่หลากหลายตามสถานการณ์ในวันหน้า เป็นการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ราคาเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์การผลิตที่มีคุณภาพ และเอื้อต่อการลดการใช้สารเคมีการเกษตร ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็หมายถึงลดต้นทุน หลายกลุ่มสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าเป็นรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก

ตัวอย่างเรื่องพันธุ์ข้าว ระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา บุคคล กลุ่ม และเครือข่าย ได้พากันค้นหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย รวมถึงไปทวงคืนมาจากธนาคารพันธุกรรมของกรมการข้าว มาเก็บรวบรวม แบ่งกันไปปลูกรายละสิบยี่สิบสายพันธุ์ตามใจสมัคร เพื่อเก็บรักษาและคัดเลือก บางคนพัฒนาไปถึงขั้นสามารถปรับปรุงพันธุ์ได้ ขณะนี้เครือข่ายรวบรวมพันธุ์เก็บไว้ระดับแปลงนาราว 1,000 สายพันธุ์ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนับสิบกลุ่มกำลังผลิตรวมราวๆ 150 ตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต

หรือมาดูที่วิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม แกนนำกลุ่มได้วิชามาจากการทำเกษตรพันธะสัญญาปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมให้บริษัท มาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมขายแข่งกับยักษ์ใหญ่ ยอดขายกลุ่มละ 60 ล้านบาท รวมเป็น 120 ล้านบาท จำหน่ายในภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก เฉพาะที่จังหวัดน่านแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบรรษัทได้ 10 %

เครือข่ายที่ทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักก็กำลังคึกคักขยายตัว มีการรวบรวมพันธุ์ผักไว้กว่า 250 สายพันธุ์ และมีความต้องการตลาดสูงขึ้นเป็นลำดับ ขณะนี้มีกลุ่มที่ทำเมล็ดพันธุ์ผักพันธุ์แท้ (เก็บเมล็ดปลูกต่อได้) มาบรรจุซองขายซองละ 10 บาท (กำลังจะขึ้นราคา) ราว ๆ 7-8 ราย ยอดขายต่อปีเป็นหลักแสน น่าจะยังไม่ถึง 0.1 % ของยอดขายของบริษัท กระนั้นเครือข่ายก็ยังพยายามทำการผลิตเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดเมล็ดผักตราเรือบิน (ของตระกูลเจี่ย) ต่อไป ทั้งยังหวังว่าจะทำให้คู่แข่งหนาวสะท้านในวันหน้า

นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่บรรษัทครอบครองอยู่ แต่ก็นับเป็นการท้าทายการผูกขาดด้วยปฏิบัติการจริงของเกษตรกรรายย่อยจำนวนหนึ่ง และเพื่อส่งข่าวสารบอกสังคมไทยว่า หากเราเลือกจะทำ เราก็สามารถกำหนดระบบการผลิตอาหารการกินของเราได้ เราเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของเราเองได้ และในอนาคตไม่ไกล หากผู้บริโภคมาเป็นเพื่อนเรามากขึ้น เราน่าจะมีเสียงดังขึ้น ผลักดันทางการเมืองได้มากขึ้น

การแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทรัพยากรสาธารณะก็อาจเป็นเรื่องใกล้ความจริงขึ้นมาได้

 

 

 


[1] http://viacampesina.org/en/index.php/main-issues-mainmenu-27/sustainable-peasants-agriculture-mainmenu-42/1334-surin-declaration-first-global-encounter-on-agroecology-and-peasant-seeds

[2] วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ และคณะ. 2551. จากปฏิวัติเขียว สู่พันธุวิศวกรรม: บทเรียนสำหรับอนาคตเกษตรกรรมไทย

[3] สุภา ใยเมือง.  2555.  ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: ชนชั้นนำอุษาคเนย์

Posted: 11 Mar 2013 01:25 AM PDT

รับชมแบบ HD คลิกที่นี่

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ติดตามการวิเคราะห์ลักษณะของชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแต่ละประเทศมีผู้นำที่มียุทธศาสตร์ในการครองอำนาจและพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันไป ถ้าจะมองให้ลึกซึ้งต้องทำความเข้าใจกลุ่มชนชั้นนำในโครงสร้างทางการเมืองของรัฐต่างๆ โดยที่โครงสร้างทางการเมืองหลังได้รับเอกราชของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังได้ มีผลอย่างยิ่งยวดต่อกุศโลบายของชนชั้นนำ ทั้งนี้หนังสือ The Cambridge History of Southeast Asia ซึ่ง Nicholas Tarling เป็นบรรณาธิการนั้น แบ่งโครงสร้างรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

หนึ่ง โครงสร้างแบบปฏิวัติ รัฐเหล่านี้จะผ่านการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยสงคราม และการปฏิวัติ เช่น รัฐในอินโดจีน กรณีเวียดนาม และกรณีอินโดนีเซีย สมัยซูการ์โน

สอง โครงสร้างแบบพหุภาพ กรณีพม่าและมาเลเซีย ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ กรณีพม่า สมัยนายพลออง ซาน พยายามให้เกิดเขตปกครองพิเศษ และให้หลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ก็ถูกลอบสังหาร พออูนุขึ้นมาเป็นผู้นำก็ปฏิเสธความเป็นพหุรัฐ และยิ่งปฏิเสธหนักในสมัยที่เนวินขึ้นมาเป็นรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร

กรณีต่อมาคือ มาเลเซีย เกิดจากการรวมตัวของหน่วยการเมืองหลากหลายในสมัยอาณานิคม รวมทั้งประชากรหลายเชื้อชาติทั้งจีน อินเดีย มลายู มาเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยผู้นำทางการเมืองมาเลเซียใช้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มต่างๆ ในประเทศ โดยมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ นอกจากนี้มาเลเซียก็ยอมแยกสิงคโปร์ออกไปเป็นรัฐเอกราช ซึ่งผิดกับพม่าที่ไม่ยอมให้รัฐใดแยกออกไปเป็นเอกราช

และสาม โครงสร้างแบบรัฐบาลใช้อำนาจแบบเต็มพิกัด เมื่อบ้านเมืองโกลาหล มักจะมีผู้นำที่รวบสถาบันทางการเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ใต้อาณัติเพื่อปกครองอย่างมั่นคง เช่น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในฟิลิปปินส์ ซูฮาร์โตที่ครองอำนาจกว่า 30 ปี ในอินโดนีเซีย เนวิน ผู้นำเผด็จการพม่าที่ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505 หรือกรณีของไทยคือในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถอนม กิตติขจร

โดยสามโครงสร้างหลักยังดำรงอยู่และมีผลต่อการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อคำถามที่ว่าหลักการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ดุลยภาคกล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนโครงสร้าง หรือภูมิทัศน์ทางการเมือง ชนชั้นนำอาจไม่ใช่แค่กองทัพหรือชนชั้นนำโดดๆ อาจมีการผนึกเกาะเกี่ยวของชนชั้นนำที่หลากหลาย เดี๋ยวร่วมมือกัน เดี๋ยวขัดแย้งกัน ขณะที่การเป็นอาเซียนภิวัฒน์จะทำให้มีการสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่างชนชั้นนำของประเทศเพื่อนบ้าน มีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ 

และนอกจากอาเซียนภิวัฒน์ ยังมีเอเชียภิวัฒน์ มีตัวแสดงชนชั้นนำใหม่ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติจากชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้ามาร่วมด้วย และในอนาคตเราอาจจะถวิลหาการรวมกันให้เหนียวแน่นในอาเซียน แต่อย่าลืมว่าผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นอัตตาธิปไตย เพราะฉะนั้นคนพวกนี้สนใจแต่อำนาจ ฐานพวกพ้องวงศ์วาน แม้แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในรัฐตนเองยังมีปัญหา นับประสาอะไรกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นอัตตาธิปไตยจะเป็นสลักระเบิดอยู่ท่ามกลางอาเซียนภิวัฒน์

 

คำอธิบายภาพปก: ผู้นำบางส่วนของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO องค์กรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านค่ายสังคมนิยม โดยผู้นำเหล่านี้ถ่ายภาพร่วมกันในเข้าร่วมการประชุม SEATO ที่มะนิลา 24 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ในจำนวนนี้มีผู้นำจากชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นผู้นำอำนาจนิยมด้วย เช่น นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีจากเวียดนามใต้ (ปัจจุบันถูกผนวกกับเวียดนามเหนือกลายเป็นเวียดนามใน พ.ศ. 2518) เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีจากไทย

ในภาพจากซ้ายไปขวา นายกรัฐมนตรีเงวียน เกา กี (นายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้), แฮโรลด์ โฮลด์ (นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย) ปัก จอง ฮี (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้) เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) เคท โฮลีโยอัค (นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์) พลจัตวาเงวียน วัน ทิว (ประธานาธิบดีเวียดนามใต้) จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกรัฐมนตรีไทย) และลินดอน บี จอห์นสัน (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) 

ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/SEATO / Frank Wolfe/White House Photo Office/Lyndon B.Johnson Library (public domain)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น