โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: คำถามถึง 'คุณกนก' และ 'เนชั่น'

Posted: 23 Mar 2013 10:06 AM PDT

 

หลังจากมีข่าวว่ามี 'ชายสวมเสื้อแดง' (ที่เรียกกันว่าคุณเก้า แฟร์เท็กซ์) เข้าไปตามหา 'คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล' สื่อชื่อดังถึงที่สถานี 'เนชั่น' เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของ 'คุณกนก' นั้น

ล่าสุด 'คุณกนก' ได้ประกาศใน 'เฟซบุ๊ค' ถึงกรณีดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า :

"...ผมพร้อมเป็นเพื่อนกับเสื้อทุกสี..ยกเว้นเสื้อแดง! ขนาดนักข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือโปรดิวเซอร์ในเนชั่น ถ้าเป็นเสื้อแดง..ผมยังไม่คบค้าสมาคมด้วย..."

จากกรณีดังกล่าว ผมคิดว่า 'ผู้ชมช่องเนชั่น' น่าจะสงสัยว่า 

1. ในแง่ที่ 'คุณกนก' รับผิดชอบต่อความคิด 'ตนเอง' :

'คุณกนก' นิยาม 'คนเสื้อแดง' ว่าอย่างไร ? หากกรณีนี้ คุณเก้า แฟร์เท็กซ์ เป็นคนเสื้อสีอื่น แต่กระทำต่อ 'คุณกนก' เหมือนกันทุกประการ 'คุณกนก' จะมีความเห็นที่ต่างไปอย่างไร ? 

(สำหรับผม ใครที่ใส่เสื้อสีอะไร หากมารังควาญ 'คุณกนก' หรือใครถึงที่ทำงาน ผมก็ต้องถือว่าแย่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม)

2. ในแง่ที่ 'คุณกนก' รับผิดชอบต่อ 'ประชาชน' :

การที่ 'คุณกนก' เป็น 'ขุนพล' ของสถานี ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรายงานหรือนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ 'คนเสื้อแดง' ผมสงสัยเหลือเกินว่า 'คุณกนก' จะทำหน้าที่ 'สื่อมวลชน' โดยรักษา 'ความเป็นมืออาชีพ' และ 'จรรยาบรรณ' ในการทำงานโดยไม่ยึดติดกับอคติได้มากน้อยเพียงใด ? คำถามข้อนี้ยิ่งสำคัญเมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่า 'คุณกนก' เป็นผู้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อผู้รับชมข่าวสารมากคนหนึ่ง

3. ในแง่ที่ 'คุณกนก' รับผิดชอบต่อ 'เพื่อนร่วมงาน' :

ผมสงสัยว่า 'คุณกนก' นำเรื่องการคบหา 'คนเสื้อแดง' มาปะปนกับ 'การทำงานร่วมกัน' กับ 'พนักงานเนชั่น' คนอื่นที่เป็น 'คนเสื้อแดง' หรือไม่ ? ผมเดาว่า 'คุณกนก' คงมีอิทธิพลและเป็นที่เคารพใน 'เนชั่น' ในระดับหนึ่ง และคงมีผู้ร่วมงานที่ทำงานในฐานะ 'ลูกน้อง' ที่เคารพยำเกรง 'คุณกนก' อยู่ด้วยไม่น้อย ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า 'คุณกนก' จะให้ความเป็นธรรมกับ 'ลูกน้อง' ที่เป็น 'เสื้อแดง' (ไม่ว่าเขาจะเปิดเผยตัวหรือไม่ และ 'คุณกนก' จะมองออกเองหรือไม่) เท่ากับ 'ลูกน้อง' คนอื่น มากน้อยเพียงใด และ 'คุณกนก' เคยทำให้ 'ลูกน้อง' ที่เป็นเสื้อแดง รู้สึกลำบากใจ ในการทำงานร่วมกับ 'คุณกนก' หรือไม่ ? บรรยากาศการทำงานเช่นนี้ กระทบต่อความเป็นมืออาชีพของ 'เนชั่น' หรือไม่ ?

(ทั้งนี้ ผมไม่ได้มีเหตุใดที่จะต้องสงสัยว่า 'คุณกนก' ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน นอกไปจากความสงสัยทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อได้ฟังคำพูดของคุณกนกเอง)

4. ในแง่ที่ 'คุณกนก' เป็นหน้าเป็นตาของ 'เนชั่น' :

'เนชั่น' ต้องการเป็นสถานีข่าวที่ 'เลือกข้าง' ชัดเจน หรือไม่ ? หาก 'เนชั่น' ต้องการเป็นสถานีข่าวที่ 'เลือกข้าง' ชัดเจน ก็ย่อมเป็นเสรีภาพของสื่อ แต่ขอให้แสดงต่อประชาชนให้ชัด ว่าสถานีมีจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร (ซึ่งคงนิยามโดยสีไม่ได้) 

แต่ถ้า 'เนชั่น' ต้องการรักษาภาพว่าตนไม่เลือกข้าง ผมสงสัยว่า ผู้บริหาร 'เนชั่น' มีนโยบายอย่างไร ต่อการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการวางตัวของนักข่าวระดับ 'ขุนพล' ของสถานี เช่นที่ 'คุณกนก' แสดงออกในกรณีนี้ ? การที่ 'เนชั่น' มีรายการหนึ่งที่พิธีการประกาศตัวว่าไม่ชอบสีหนึ่ง กับอีกรายการหนึ่งที่พิธีกรคุยได้กับทุกสี นั้นเป็นการรับประกันคุณภาพและมาตรฐานยี่ห้อ 'เนชั่น' แล้วหรือ ? หรือประชาชนต้องเสี่ยงดวงเอาเองว่า จะเปิดไปเจอพิธีกรคนไหนในรายการอะไร ? 

'เนชั่น' เห็นด้วยกับ คอป. และนักวิชาการ หรือไม่ ว่าบทบาทของสื่อมวลชน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างและแก้ไขความขัดแย้ง ?

และผมสงสัยว่าผู้บริหาร 'เนชั่น' เห็นด้วยหรือไม่ หากผู้ใดจะสรุปว่า ที่ 'เนชั่น' อยู่ได้ ส่วนหลักก็เพราะมีนักข่าวที่ผู้ชมชื่นชอบและเชื่อถือ และเมื่อ 'คุณกนก' เป็น 'ขุนพล' ที่เป็นหน้าเป็นตาของสถานี 'ความน่าเชื่อถือ' ของ 'คุณกนก' ย่อมเกี่ยวโยงกับ 'ความน่าเชื่อถือ' ของ 'เนชั่น' และ 'เนชั่น' ย่อมพึงรักษาความน่าเชื่อถือของ'คุณกนก' ในมาตรฐานเดียวกับที่จะรักษามาตรฐานของสถานีเอง ใช่หรือไม่ ?

หากตอบว่าใช่ ผมคิดว่า 'เนชั่น' ก็น่าจะต้องตอบคำถาม ข้อ 1 -3 ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน.

---

ล่าสุด 'คุณสมภพ รัตนวลี' ในฐานะบรรณาธิการบริหารเนชั่นแชนแนล ก็ได้แสดงความเห็นเพื่อเน้นย้ำในเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง การรักษาความปลอดภัยของพนักงานสถานี การเคารพความหลากหลายทางความคิด และการทำงานของสื่อที่เป็นมืออาชีพ พร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย

สิ่งที่ 'คุณสมภพ' กล่าวมากว้างๆ ผมเห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดี ว่าผู้บริหาร 'เนชั่น' มองกรณีความเห็นของ 'คุณกนก' นี้อย่างไร ทัศนคติและวิธีการวางตัวของ 'คุณกนก' กระทบต่อ 'ความเป็นมืออาชีพ' ของตัว 'คุณกนก' และ 'เนชั่น' หรือไม่ ?

ในฐานะ 'ผู้ชม' คนหนึ่งที่ยังคอยเป็นกำลังใจ และเก็บความหวังไว้ต่อ 'เนชั่น' ผมเสนอว่า ถ้า คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ จะจัดรายการ 'คมชัดลึก' เรื่องวิธีการวางตัว และความเป็นมืออาชีพของ 'สื่อมวลชนไทย' โดยเปิดให้ผู้ชมได้แสดงความเห็นในรายการอย่างกว้างขวาง ถึงกรณีของ 'คุณกนก' (และอาจรวมไปถึงกรณีอื่น เช่น กรณีไร่ส้ม กรณีตอบโจทย์ กรณีสื่อไปดูงานกับประธานสภา และกรณีต่างๆ) ให้เราได้ชมกันอีกสักรอบสองรอบ (ซึ่งก็ย่อมสอดคล้องกับนโยบายการรับฟังความเห็นตามที่บรรณาธิการบริหารได้กล่าวไว้) ก็คงเป็นผลดี ต่อทั้ง 'เนชั่น' และ 'ผู้ชม' ไม่น้อย

'สื่อมวลชน' จะตรวจสอบผู้อื่นได้ ย่อมต้องไม่ลืมที่จะ 'ตรวจสอบตนเอง'.

---
 

อ่านข้อความของ 'คุณกนก' : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=523386344378504&set=a.109854015731741.11151.100001214281852&type=1

 

อ่านข้อความของ 'คุณสมภพ'

http://www.facebook.com/sompop.ntv/posts/496895167024941

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดใจกลุ่ม Femen สาวนักประท้วงเปลื้องท่อนบน

Posted: 23 Mar 2013 10:05 AM PDT

Femen คือใคร มาจากไหน ทำไมพวกเธอต้องเปลือยท่อนบนประท้วง ทำไมต้องมีท่าทีก่อกวน พวกเธอต้องการต่อต้านอะไร ผู้สื่อข่าว The Guardian ได้เปิดอกเปิดใจพูดคุยกับพวกเธอ และพาไปรู้จักกับเฟมินิสต์เน้นปฏิบัติการที่พยายามหาวิธีเล่นกับสื่อและสัญลักษณ์

ภากจาก femen.org


คิรา โคชเรน ผู้สื่อข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานเรื่องของนักประท้วงกลุ่ม Femen ที่นำเสนอตนเองออกมาในรูปแบบของสตรีที่เปลื้องท่อนบน โดย Femen เป็นกลุ่มที่เริ่มก่อตั้งในประเทศยูเครนตั้งแต่ปี 2006 โดยมีเป้าหมายต่อต้านการครอบงำทางเพศ การเหยียดเพศและลัทธิชายเป็นใหญ่ โดยพวกเธอมักจะมีเป้าหมายต่อต้านเป็นนักท่องเที่ยวเซ็กส์ทัวร์ (การท่องเที่ยวเน้นการซื้อขายบริการทางเพศ), สถาบันศาสนา และองค์กรจัดหาคู่ข้ามประเทศ

รายงานจาก The Guardian เริ่มเล่าว่าเมื่อช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้ว สมาชิกรายหนึ่งของ Femen คือ อินนา เชฟเชงโก้ ซึ่งปัจจุบันอายุ 24 ปี ได้ไปขอเรียนวิธีการใช้เลื่อยไฟฟ้าจากพรานตัดไม้ที่นอกเมืองเคียฟ และในวันถัดมาเธอก็ออกไปที่ยอดเขาแห่งหนึ่งในเมืองเคียฟสวมแค่กางเกงเดนิมขาสั้น รองเท้าบู๊ต ถุงมือหนัง และหน้ากากป้องกันดวงตา ก่อนลงมือใช้เลื่อยไฟฟ้าโค่นไม้กางเขนขนาด 13 ฟุต ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2005 อินนา กระทำการเช่นนี้เพื่อเป็นการประท้วงต่อต้านศาสนาและแสดงความชื่นชมต่อวง Pussy Riot ซึ่งถูกตัดสินดำเนินคดีในวันนั้น โดยยังได้ระบายคำว่า 'Free Riot' ไว้บนตัวเธอด้วย

หลังจากนั้นอินนาก็ถูกขู่ฆ่า ทางการประกาศจับ โทรทัศน์ของรัสเซียและสื่อของยูเครนกล่าวว่าไม้กางเขนดังกล่าวเป็นอนุสรณ์ของเหยื่อจากการปกครองระบอบของสตาลิน แต่อินนาปฏิเสธว่าไม่จริง หลังจากนั้นก็มีชายที่น่าจะเป็นตำรวจลับเดินไปมาหน้าอพาร์ทเมนต์ของเธอ จนกระทั่ง 6 โมงเช้าวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาด้วยเสียงประตูห้องถูกถีบให้เปิดออก เธอหนีโดยกระโดดลงจากหน้าต่างหลังห้องออกทางระเบียงชั้นหนึ่ง และเดินทางไปยังวอร์ซอว์โดยไม่กล้ากลับไปยังเคียฟเพราะกลัวถูกจับ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็เดินทางไปฝรั่งเศสและเข้าร่วมกลุ่ม Femen กับเพื่อนของเธอ

"เป้าหมายของ Femen เป็นไปอย่างกว้างๆ สุดโต่ง และตรงไปตรงมา คือการประกาศสงครามกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ซึ่งมีด่านหลักๆ สามประการคือ การทำให้ศาสนา, เผด็จการ และอุตสาหกรรมทางเพศหมดสิ้นไป" The Guardian กล่าวในรายงาน

Femen มีพื้นที่รวมกลุ่มเป็นโรงละครร้างแห่งหนึ่งในกรุงปารีส อินนากล่าวว่านักรบ Femen จะไม่เคยยิ้ม พวกเธอไม่ได้ต้องการสร้างความพึงพอใจให้แก่ใคร โดยมีการฝึกสมาชิกให้ประท้วงอยู่ในท่าทีต่างๆ คือ ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น, ดูยึดมั่นจริงจัง และดูดุดัน พวกเขาประท้วงด้วยการเปลือยท่อนบนมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่ง The Guardian บอกว่าเป็นการใช้ร่างกายดึงดูดความสนใจ, ล่อนักข่าว แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์โดยบางคนว่าพวกเธอยังตกอยู่ในแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกทางเพศในเชิงเหมารวม

"ในห้องที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์และภาพบนผนัง มีคนพูดขึ้นมาว่าศาสนาเฮงซวย อีกคนบอกว่า ออกไปข้างนอก! แก้ผ้า! ชนะเลิศ! นักกิจกรรมยืนเรียงแถวหน้ากระดานตะโกนคำขวัญใส่กัน พวกเขาสวมเสื้อยืดและกางเกงกีฬา บางครั้งก็หยุดเพื่อดึ่มน้ำ นี่คือยิมฝึกซ้อมเพื่อการปฏิวัติ" ผู้สื่อข่าว The Guardian กล่าว

นอกจากการฝึกตะโกนสโลแกนแล้ว พวกเธอยังมีการฝึกซ้อมรับการตะลุมบอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการประท้วง จนบางครั้งมีการซ้อมกันถึงขั้นเลือดตกยางออก แต่ก็มีการสั่งหยุดและให้กำลังใจกันและกัน
อีกทั้งยังมีการฝึกลุกนั่ง วิดพื้น และวิ่งไปพร้อมๆ กับหวีดร้อง โดยพวกเธอแสดงให้เห็นตรงไปตรงมาว่าการฝึกเช่นนี้เป็นการฝึกเรียกร้องความสนใจจากสื่อ

The Guardian กล่าวว่าการเรียกร้องความสนใจากสื่อของพวกเขาได้ผลในระดับหนึ่ง ทุกครั้งที่ Femen ทำการประท้วงจะมีวีดิโอโผล่ขึ้นมาบนเว็บไซต์ทั่วโลก แต่ก็ตั้งคำถามว่าการเปลือยท่อนบนของพวกเขากลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาจริงๆ หรือไม่
ซึ่งคิราผู้สื่อข่าว The Guardian กล่าวว่าเป็นไปได้ที่นักกิจกรรมสตรีนิยมที่อยู่มานานจะรู้สึกเหนื่อยใจกับการใช้เรือนร่างของผู้หญิงในศิลปะ, การโฆษณา, การค้า จะไม่ยอมหยุดฟังว่าพวกเขาต้องการพูดอะไร

คิรากล่าวอีกว่า การประท้วงของ Femen ที่มีอยู่ทั่วและเล่นกับประเด็นหลายอย่างมากเกินไป อาจทำให้พวกเขาสูญเสียสิ่งที่พวกเขาต้องการจะวื่ออย่างแท้จริง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะพบ Femen ปรากฏตัวอยู่ตามการประท้วงสิทธิเกย์ที่จัตุรัสเซนส์ปีเตอร์ช่วงที่พระสันตปาปากำลังสวดมนต์ ประท้วงต่อต้านการใช้โมเดลหุ่นผอมบางในสัปดาห์แฟชั่นของมิลาน และพวกเธอก็เข้าไปคว้าถ้วยรางวัลในยูเครนช่วงฟุตบอลยูโร 2012 เพื่อประท้วงอุตสาหกรรมทางเพศ ในโอลิมปิด 2012 ของลอนดอน พวกเธอก็ทาตัวเองด้วยเลือดปลอมเพื่อประท้วงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลโดยกล่าวหาว่าคณะกรรมการฯ สนับสนุน 'รัฐบาลเคร่งอิสลามที่เหี้ยมโหด' เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมาพวกเธอก็ไปประท้วงต่อต้านการที่ผู้ชายมีบทบาทครอบงำเศรษฐกิจโลก และในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาพวกเธอก็เปลือยท่อนบนวิ่งงเข้าหาซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาเลียนขณะที่เขากำลังไปเลือกตั้งซึ่งชวนให้บางคนรู้สึกขำ

"หนึ่งในเป้าหมายหลังของพวกเรา ... คือการกระชากหน้ากากของผู้ที่สวมใส่มัน เพื่อให้รู้ว่าตัวจริงเขาเป็นอย่างไร รวมถึงระดับของแนวคิดชายเป็นใหญ่บ้าๆ ในโลกนี้" อินนากล่าว เธอบอกอีกว่าเธอต้องการเรียกร้องให้ร่างกายของผู้หญิงกลับมาเป็นของผู้หญิงอีกครั้ง

"ร่างกายของผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือของแนวคิดชายเป้นใหญ่มาตลอด" อินนากล่าว "พวกเขาใช้มันในอุตสาหกรรมทางเพศ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น มันอยู่ในมือผู้ชายมาตลอด พวกเขารู้ดีว่ากุญแจสำคัญคือการมอบร่างเปลือยเปล่ากลับสู่เจ้าของที่แท้จริง คือผู้หญิง และทำให้เกิดการตีความใหม่เกี่ยวกับการเปลือย... ฉันภูมิใจว่าในทุกวันนี้ผุ้หญิงเปลื้องผ้าไม่ได้แสดงตัวอยู่แค่บนหน้าปกนิตยสาร Playboy แต่มันยังกลายเป็นปฏิบัติการ, เป็นความโกรธ และทำให้คนรู้สึกขุ่นเคืองใจได้"

ผู้ที่เริ่มก่อตั้ง Femen คือ แอนนา ฮัทโซล, โอคซานา ชาโก และอเล็กซานดรา เชฟเชงโก ในยูเครน ไม่นานนักหลังจาก 'การปฏิวัติส้ม' (Orange Revolution) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ชาวยูเครนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อเล็กซานดรา หนึ่งในผู้ก่อตั้งเปิดเผยว่าพงกเขาต้องการทำให้ความรู้สึกของการปฏิวัติยังคงอยู่ จึงได้เริ่มตั้งกลุ่มเกี่ยวกับสตรี และต่อต้านประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมทางเพศ เนื่องจากเซ็กส์ทัวร์เป็น 'ปัญหาใหญ่' สำหรับยูเครน

ก่อนหน้านี้แนวคิดสตรีนิยมยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในยูเครน อินนาบอกว่าหากเมื่อก่อนคุณบอกว่าตัวเองเป็นนักสตรีนิยม มันเหมือนกับคุณบอกว่าตัวเองเป็นคนโง่ เป็นคนบ้า ทางด้านอเล็กซานดราบอกว่าเมื่อก่อนเธอก็เคยเชื่อภาพลักษณ์ที่แนวคิดชายเป็นใหญ่สร้างขึ้นว่านักสตรีนิยมเป็น "ผู้หญิงน่าเกลียดมีหนวดที่ต้องการตัดเครื่องเพศของผู้ชาย"

ในการแลกเปลี่ยนกันเรื่องสิทธิสตรีในวงของ Femen อินนาบอกว่า พวกเธอก็ไม่ได้ใช้หลักวิธี 700 หน้า แต่เป็นการเล่าประสบการณ์ที่ดูดิบตรงไปตรงมา และมีการแสดงความโกรธ พวกเธอถึงได้มีการแสดงออกบนท้องถนน

The Guardian เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ Femen เคยประท้วงโดยยังใส่เสื้อมาก่อน โดยมีการกระท้วงอุตสาหกรรมทางเพศด้วยการติดป้ายราคาให้ตัวเอง ซึ่ง Femen เรียกร้องมานานแล้วว่าอยากให้มีการใช้กฏหมายแบบสวีเดนว่าด้วยการค้าบริการทางเพศคือการเอาผิดผู้ซื้อแทนการเอาผิดผู้ให้บริการทางเพศ ช่วงหนึ่งพวกเธอประท้วงด้วยการใช้ชุดสีชมพูทั้งชุดทำให้นักข่าวเรียกพวกเขาว่าเป็นการปฏิวัติสีชมพู ในปี 2010 ในการประท้วงต่อต้านการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นชายทั้งหมด พวกเธอแต่งตัวเป็นชายแล้วต่อมาก็แก้สูทแสดงให้เห็นเสื้อผ้าผู้หญิงข้างใน

Femen แสดงการประท้วงด้วยการแก้ท่อนบนเป็นครั้งแรกในการประท้วงวิคเตอร์ ยานูโควิช ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีขณะที่เขากำลังลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้ง ทำให้ในวันถัดจากนั้นภาพของพวกเธอก็แพร่ไปทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Femen ตัดสินใจประท้วงด้วยการแก้ท่อนบนไปตลอด พวกเธอทำสลับกันคือบางครั้งก็แก้ท่อนบางครั้งก็ประท้วงโดยยังใส่เสื้อ แต่ก็พบว่าบางครั้งพวกเขาใส่เสื้อประท้วงในประเด็นที่สำคัญมากกว่าแต่ก็ถูกเมินเฉย

อินนาเปิดใจว่าในตอนแรกเธอไม่เห็นด้วยกับเรื่องแก้เสื้อประท้วงเพราะเธออายและรู้สึกไม่สบายใจ แต่จากการที่พวกเธอเรียนรู้กลยุทธการเรียกความสนใจก็เริ่มเขียนคำขวัญลงไปบนหน้าอกเธอโดยตรง อินนาบอกว่าตอนนี้ร่าวเปลือยเปล่าของพวกเธอเปรียบเสมือนเครื่องแบบ ขณะที่อเล็กซานดราบอกว่ามันคืออาวุธของเธอ

อย่างไรก็ตามกลุ่ม Femen ก็ถูกกล่าวหาว่าใช้แต่ผู้หญิงอายุน้อย ร่างผอมบาง และดูสวย แต่ในหนังสือเล่มล่าสุดเกี่ยวกับ Femen ที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสแสดงให้เห็นผู้หญิงที่มีรูปร่างแตกต่างกันในการประท้วง เป็นรูปที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งน่าจะเป็นสื่อเองที่เลือกรูปเฉพาะที่ดูดี อินนา บอกว่าพวกเธอไม่เคยเลือกคัดหน้าตาหรือน้ำหนักของผู้หญิง ขอแค่มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี

แม้ภาพจะดูแรงแต่ Femen ก็เป็นการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งอินนาเรียกว่ามันเป็น "การก่อการร้ายอย่างสันติ" แต่ตัวอินนาเองก็เคยได้รับบาดเจ็บมามากกว่าหนึ่งครั้ง และถูกทุบตีอย่างรุนแรงในช่วงการออกปฏิบัติการครั้งก่อนหน้านี้

ลักษณะการประท้วงของสมาชิกกลุ่ม Femen ต้องทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับอันตราย เช่น ในปี 2011 อินนาและนักกิจกรรมอีก 2 คน เดินทางไปยังกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เพื่อประท้วงอเล็กซานเดอร์ ลุกาเชงโก ชายผู้มีฉายาว่าเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป ที่หน้าอาคารสำนักงานของคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเคจีบี ทำให้อินนาบอกว่าพวกเธอถูกลักพาตัวโดยตำรวจลับของเบลารุส ซึ่งทางการเบลารุสออกมาปฏิเสธ

อินนาเล่าว่า มีกลุ่มผู้ชายมาจับตัวพวกเธอที่สถานีรถประจำทางและพาตัวพวกเธอเข้าไปในป่าเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ราดน้ำมันบนตัวพวกเธอและข่มขู่ด้วยมีดกับไฟแช็ก สั่งให้พวกเธอเปลื้องผ้าให้หมด ตอนแรกนึกว่าเธอจะโดนข่มขืนแล้ว แต่พวกเขาก็ใส่กุญแจมือนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าโดยเอามือไขว้หลังเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้ขยับเขยื้อนหรือพูดกัน

"พวกนั้นบอกว่า หายใจลึกๆ สูดอากาศให้เต็มที่ เพราะพวกเธอมีเวลาในชีวิตเหลือีกชั่วโมงเดียว นึกถึงภาพรอยยิ้มของแม่พวกเธอไว้ และนึกถึงภาพหน้าตาของแม่เธอตอนมาเจอศพของเธอ" อินนาเล่า และเมื่อเธอรู้สึกว่าเธอกำลังจะถูกสังหาร เธอก็เริ่มพิจารณาช่วงเวลาที่เธออยู่กับ Femen "ฉันรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตฉัน และเป็นสิ่งที่ฉันไม่รู้สึกเสียใจ แม้ในสถานการณ์ที่ฉันอาจจะถูกสังหารได้ แล้วมันก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับฉัน มันเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต แต่ก็เป็นวันที่ดีที่สุดด้วย เพราะมันทำให้ฉันได้เข้าใจตัวเอง"

หลังจากนั้นผู้หญิงที่งสามคนก็ถูกฝังกับหิมะ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้พวกเธอมีจิตใจแน่วแน่มากกว่าเดิม

ทางด้านอเล็กซานดราเล่าว่า เธอถูกตั้งข้อหาคดีอาขญากรรมในยูเครน ซึ่งมีอยู่สองถึงสามครั้งที่เธอถูกจับเข้าคุก แต่ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในเบอร์ลินและจัดตั้งนักกิจกรรม Femen สาขาเยอรมนี

Femen ต้องการให้การเคลื่อนไหวลามไปทั่วโลก และพยายามสนับสนุนผู้หญิงให้เริ่มตั้งสาขาใหม่ในประเทศของตน ปัจจุบันพวกเธอมีสมาชิก 200 คนทั่วโลก ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็สร้างแรงสะเทือนได้ พวกเธอมีสาขาในสวิตเซอร์แลนด์, โปแลนด์, สวีเดน, บราซิล, สหรัฐฯ, แคนาดา และอิตาลี โดยเมื่อไม่นานมานี้นักกิจกรรมในตูนีเซียก็โพสท์ภาพเปลือยท่อนบนทางอินเตอร์เน็ต ทำให้สองวันถัดมาพวกเธอถูกประกาศฟัตวา เรียกร้องให้มีการขว้างก้อนหินใส่พวกเธอจนตาย

อเล็กซานดรา บอกว่าตอนที่พวกเธอเริ่มตั้งกลุ่ม Femen พวกเธอต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารเรื่องแนวคิดสตรีนิยมต่อผู้หญิงที่ยังสาว อเล็กซานดราบอกว่าพวกเด็กสาวคงไม่อยากอ่านตัวหนังสือยาวๆ พวกเธอจึงทำให้มันเป็นการสื่อด้วยภาพ "พวกเรารู้ว่าคนเรารับข้อมูลข่าวสารมากมายผ่านทางสื่อ และพวกเราก็ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้พวกเขาประหลาดใจ ให้พวกเขาตื่น และเรียกความสนใจ"

อย่างไรก็ตาม The Guardian กล่าวว่าการที่พวกเธอไม่มีการอภิปรายกันก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่นในเยอรมนี พวกเธอถูกวิจารณ์จากการที่เอาอุตสาหกรรมทางเพศไปเปรียบกับลัทธิฟาสซิสม์และขับเน้นการเปรียบเทียมนี้ด้วยภาพของนาซี แน่นอนว่า Femen เกลียดชังฟาสซิสม์และประท้วงต่อต้านกลุ่มขวาจัดอยู่เสมอ แต่อเล็กซานดราก็ยังยืนยันจะใช้การเปรียบเทียบนี้ต่อไปแม้ว่านักกิจกรรม Femen สาขาเยอรมนีจะทักท้วงก็ตาม เนื่องจากพวกเธอต้องการให้รู้สึกว่า การค้าบริการทางเพศและศาสนาก็เป็นเรื่องเลวร้ายและควรถูกห้ามเช่นเดียวกับลัทธิฟาสซิสม์

อินนา ยอมรับว่า Femen เป็นนักยุยงก่อกวน และก็มีการโต้ตอบกลับโดยขึ้นอยู่กับว่าเธอไปก่อกวนใครมา สมาชิกหลายคนต้องสูญเสียการใช้ชีวิตแบบเดิม เสี่ยงต่อการถูกลักพาตัว ถูกจับ ถูกขังคุก ถูกขู่เอาชีวิต และโดนหัวเราะเยาะ "แต่คำขวัญหนึ่งของเราคือ 'สู้จนเลือดหยดสุดท้าย' " อเล็กซานดรากล่าว

เรียบเรียงจาก

Rise of the naked female warriors, Kira Cochrane, 20-03-2013

http://en.wikipedia.org/wiki/Femen

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FEMEN

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“รัฐต้องทบทวน ประชาชนต้องปรับตัว” ทัศนะนักกฎหมายมุสลิมต่อการพูดคุยสันติภาพ

Posted: 23 Mar 2013 10:01 AM PDT

เวที Bicara Patani ของฝากจากนักกฎหมายมุสลิมต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จี้รัฐต้องทบทวนหลายประการ ทั้งกระบวนการยุติธรรม ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้โอกาสประชาชน สร้างดุลอำนาจในพื้นที่ ชี้ประชาชนต้องปรับตัว กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อเดินไปข้างหน้า

 
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC] กล่าวปาฐกถาในเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani หัวข้อ "28 ก.พ.: สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี" หรือ "28 Feb : Petanda Baik atau Buruk Proses Damai Patani" เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มอ.ปัตตานี จัดโดยโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] ร่วมกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ โดยสรุปความได้ดังต่อไปนี้
 
 
 
นายอนุกูล อาแวปูเตะ (ภาพจากเฟสบุ๊กของ Bicara Patani @PSU Pattani)
 
 
ถ้าใครติดตามสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเห็นในมุมของความรุนแรงทางสื่อ แต่อีกมุมหนึ่งสังคมต้องการความช่วยเหลือ อีกมุมหนึ่งสังคมถูกกระทำหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจ สิ่งเหล่านี้คือเราะห์มัต(ความโปรดปรานของพระเจ้า) ที่ให้คนในพื้นที่มีโอกาสในการแสดงจิตใจสาธารณที่อยากจะช่วยเหลือโดยอาศัยพลังขององค์ความรู้
 
ทุกๆ ความรู้ที่จะดำรงความยุติธรรมย่อมมีประโยชน์ และทุกความรู้มีความเท่าเทียมกัน ถ้ามีความบริสุทธิ์ใจ อินชาอัลลอฮ อัลลอฮตอบแทนในความพยายาม
 
ผมอยากให้พวกเราทบทวนเหตุการณ์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผมอยากให้ทิ้งภาพที่เลวร้ายเหล่านั้น แล้วนำมาสู่ภาพที่ดีกว่า แต่ผมไม่อาจให้คำตอบได้ว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นผลบวกหรือลบ และผมเชื่อว่าไม่มีใครตอบได้
 
แต่สัญญาณบางอย่างแสดงให้เห็นพลังของคนในพื้นที่ การเติบโตทางความคิด การตระหนักในเรื่องสิทธิมันเกิดขึ้นเป็นประจักษ์ เพราะผมเห็นตั้งแต่ชาวบ้านที่ไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่วันนี้มีความกล้า เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าพูด คำว่า "BRN" เป็นคำแสวงใจ แต่วันนี้มีการพูดทางสื่อเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าสังคมเปิดขึ้น
 
การพูดคุยคงไม่ใช่เป็นเรื่องของคน 2 คน แต่การเจรจาสันติภาพ การเจรจาเรื่องพื้นที่ความขัดแย้งนั้น เบื้องหลังของแต่ละคนมันคือชะตากรรมของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วันนี้เรายังมีคนที่ไม่กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง เรามีคนที่ถูกกดดันจากการใช้อำนาจของรัฐ สิ่งเหล่านี้คือปัญหาและอุปสรรค วันนี้เราต้องปลดล็อคตรงนั้นให้ได้ เวทีนี้ถือว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างกระแสหรือสร้างพื้นที่ทางการเมืองของคนในพื้นที่
 
ผมคิดว่าการพูดคุยจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้หยุดเหตุการณ์ในพื้นให้ได้ สำหรับคนในพื้นที่นอกจากจะต้องหยุดสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะต้องคิดที่จะสร้างสังคมที่ยั่งยืนในพื้นที่ เพราะเราต้องอยู่ที่นี่ เราไม่ได้อยู่ในมาเลเซีย เราจะปล่อยให้คนอื่นคิดไม่ได้ เราต้องคิดเพื่อตัวของเราเอง
 
สิ่งที่ผมอยากจะฝากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ในฐานะที่ผมทำงานภาคประชาชน ได้เจอกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน คิดว่าการส่งเสียงของผมมันคือความรู้สึกเดียวกันกับคนในพื้นที่
 
ประการแรก กระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมจริงๆ ไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายถ้าทำผิดจะต้องได้รับโทษเหมือนกันทุกคน ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะอยู่ลอยนวลเหนือกฎหมาย
 
อีกประการ คือกฎหมายพิเศษ เห็นจากสื่อว่าฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษเหมือนกัน ผมจะบอกว่า ผมก็เคยเรียกร้องให้ยกเลิกมาแล้ว เคยเรียกร้องให้รู้ว่ากฎหมายพิเศษมีปัญหาอย่างไร มีคนถูกซ้อมทรมานจากการใช้กฎหมายพิเศษเท่าไหร่ ผมมีสถิติ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ วันนี้ผมคิดว่าควรจะทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
 
ประการต่อมา ระบอบประชาธิปไตยที่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน อาจจะบอกว่ามีการเลือกตั้งแล้วทั้งระดับชาติและท้องถิ่น แต่มันไม่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ จึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาแนวทางใหม่ รูปแบบใหม่ขึ้นมา
 
เรื่องการศึกษา สถาบันการศึกษาต้องสร้างคน ต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดี ในพื้นที่เยาวชนมีจำนวนมาก แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาเยาวชนติดยาเสพติด ถูกมอมเมาด้วยวัตถุนิยม มันเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนัก
 
เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกเยอะคงพูดไม่หมด ผมคิดว่าการจัดเวทีครั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชน ต่อไปต้องขยายไปจัดแต่ละจังหวัด เปิดเวทีในชุมชน หมู่บ้าน และรัฐต้องมีเจตนาที่ดีในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีโอกาสเรียกร้องสิทธิของตนเอง มองเห็นความคิดที่แตกต่าง แล้วก็ยอมรับและเคารพในความคดที่แตกต่างเหล่านั้น
 
ถ้าเป็นอย่างนี้ มันจะสร้างดุลอำนาจขึ้นในพื้นที่ได้ เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ เมื่อไหร่ที่รัฐเปิดพื้นที่ขึ้น แม้อำนาจของรัฐจะต้องถูกลดทอนลงไปบ้าง แต่ก็สร้างสมดุลให้ในพื้นที่มีการถ่วงดุลมากขึ้น
 
ผมอยากให้ภาคประชาชนปรับตัว ผู้นำศาสนาต้องปรับตัว ผู้นำศาสนาต้องทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ต้องสร้างศักยภาพให้กับตนเอง
 
ส่วนทางราชการต้องเข้าใจว่า คนในพื้นที่ต้องการอะไร ผมเห็นการเติบโตของภาคประชาชน แต่ผมว่าต้องมีจุดที่จะเดินทางไปด้วยกัน วันนี้ต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นแนวเดียวกันที่จะเดินไปข้างหน้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยงานวิจัย “ย้ำชุมชนพึ่งตนเองได้ ถ้าดูแลรักษาฐานทรัพยากร”

Posted: 23 Mar 2013 03:58 AM PDT

คนบ้านหัวทุ่ง เชียงดาว ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมจัดงาน"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยตอกย้ำว่า ชุมชนพึ่งตนเองได้ ถ้าช่วยกันดูแลรักษาฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนให้ดี

 

 

แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่เดินทางออกจากตัวอำเภอเชียงดาว ไปตามถนนเลี่ยงเมืองเชียงดาว ผ่านสี่แยกถ้ำเชียงดาว ไปทางทิศเหนือไม่กี่กิโลเมตร  ผ่านเข้าไปบ้านทุ่งละคร ก็จะพบกับหมู่บ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะเจอกับชุมชนบ้านหัวทุ่ง เป็นชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ติดกับป่าต้นน้ำและดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งหมู่บ้านหัวทุ่ง แห่งนี้ถือว่าเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นชุมชนพึ่งตนเองและทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง จนชุมชนบ้านแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายหลายสิบรางวัล

โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ หรือรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา "ชุมชนสีเขียว" ระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมาอีกด้วย ซึ่งรางวัลเหล่านี้ ถือว่าได้สร้างกำลังใจให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก และยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอเชียงดาว และจังหวัดเชียงใหม่ไม่ใช่น้อย

นายสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากคนลัวะ คนไทลื้อ และคนยอง อพยพโยกย้ายมาจากจังหวัดลำพูน จนกระทั่งเข้ามาบุกเบิกที่ทำกินแห่งใหม่ โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันบริเวณบ้านทุ่งละคร จาก 10 หลังคาเรือนก็ขยับขยายมากขึ้นเรื่อยๆต่อมา ได้แยกจากหมู่บ้านทุ่งละคร มาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อ 'หัวทุ่ง' ปัจจุบันมีทั้งหมด 150 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 454 คน

จุดเด่นของบ้านหัวทุ่ง ก็คือ ชาวบ้านทุกคนได้ช่วยกันรักษาดิน น้ำ ป่า ดูแลป่าชุมชนกันมาอย่างยาวนาน            

เมื่อศึกษาดูประวัติหมู่บ้านก็จะรู้ว่าเมื่อก่อน ป่าผืนนี้เคยโดนสัมปทานป่า ต่อมาชาวบ้านก็ได้ช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำ จากรุ่นสู่รุ่น เพราะเมื่อก่อนนี้ชาวบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำแห้งน้ำแล้ง แต่พอเราช่วยกันปลูกป่าเสริม แล้วปล่อยให้ป่ามันฟื้นขึ้นมาเอง เพราะว่า จริงๆแล้ว ถ้าเราดูแลกันจริงๆ ไม่ให้มีการบุกรุกทำลายอีก โดยธรรมชาติ ป่ามันจะฟื้นขึ้นมา ก็ทำให้เรามีน้ำอุดมสมบูรณ์                                            

"ทุกวันนี้ ถ้าเดินเข้าไปดูข้างใน ก็จะเห็นป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำกันแล้ว"

ถ้าใครมีโอกาสไปเยือนบ้านหัวทุ่ง ก็จะรู้ว่า ชุมชนบ้านหัวทุ่ง นั้นตั้งอยู่ที่บนที่ราบชายขอบของผืนป่าขนาดใหญ่ติดกับเชิงดอยหลวงเชียงดาวและดอยนาง ขนาดพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่ (รวมป่าอนุรักษ์ ,ป่าชุมชน ,ป่าใช้สอยชุมชน)ทับซ้อนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว  ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาได้ใช้น้ำจากลำห้วยแม่ลุที่ไหลมาจากต้นน้ำ มารวมกับห้วยละคร ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง แน่นอน น้ำแม่ลุ จึงถือได้ว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสาขาอีกสายหนึ่ง ที่ได้ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนรวมทั้งเกษตรกรผู้ใช้น้ำถึง 5 หมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง บริเวณบ้านวังจ๊อม ของอำเภอเชียงดาว                                         

สถานที่ท่องเที่ยวของบ้านหัวทุ่ง ที่โดดเด่น หลายคนนิยมไปกัน นั่นก็คือ 'น้ำออกฮู' หรือน้ำออกรู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่งดงาม เมื่อจู่ๆ ก็มีน้ำใสไหลทะลักออกจากซอกรู โตรกผา ของตีนดอยนาง อันถือว่าเป็นดอยคู่พระคู่นางกับดอยหลวงเชียงดาว                                                                                                        

แม่หล้า ศรีบุญยัง ปราชญ์ผู้นำบ้านหัวทุ่ง ได้บอกเล่าถึงตำนานเรื่องเล่าของน้ำออกรู นี้ว่า "ในตำนานคนเฒ่าคนแก่ เขาเล่าว่า บนดอยหลวงเชียงดาว นั้นมีเจ้าพ่อหลวงคำแดงกับแม่นางอินเหลา ตอนหลังเขามาเปลี่ยนชื่อเป็นแม่นางคำเขียว ที่รักษาหัวน้ำรูแห่งนี้ ที่ว่าแปลก ก็คือ ลักษณะของดอยหลวงเชียงดาวนั้นมันเป็นเทือกเขาหินปูน ซึ่งถ้าพูดในเชิงวิชาการ เขาว่ามันเป็นเขาหินปูน มันเก็บน้ำไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงมีน้ำออกรูให้ชาวบ้านได้ใช้กันทุกวันนี้" 

แม่หล้า ยังบอกอีกว่า "ชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อกันว่า ที่น้ำมันออกมารูแบบนี้ เขาว่ากันว่า ผีปั๋นกิน คือผีเจ้าป่าเจ้าเขาได้แบ่งให้กิน คือถ้าเราไปยืนดู ไปเห็นขุนน้ำ มันจะลาดเอียงไปทางบ้านถ้ำ น้ำมันน่าจะไหลไปทางบ้านถ้ำ แต่ทำไมน้ำถึงไหลลงมายังฝั่งบ้านหัวทุ่ง ซึ่งเราดูด้วยสายตาก็รู้ เพราะดอยหลวงกับดอยนางมันคู่กัน ดอยหลวงคือเจ้าพ่อหลวงคำแดง ส่วนดอยนางคือเจ้าแม่นางคำเขียว คล้ายกับปั๋นเมียเปิ้นมาเลี้ยงลูกหลานทางนี้"            

ซึ่งถ้ามองทั้งหมด พื้นที่ดอยหลวงกับดอยนาง นั้นถือว่าเป็นตัวรองรับน้ำ ซับน้ำแล้วก็แบ่งสรรปันส่วนกันมาให้ทั้ง 5 ลุ่มน้ำ 5 สายน้ำ คือ แม่กึ้ด แม่ลุ แม่ก๊ะ แม่นะ แม่แมะ ลำห้วยสายนี้ก็ล้วนไหลมาจากดอยหลวงเชียงดาวทั้งหมด

บ้านหัวทุ่ง จึงมีสโลแกนที่ทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนคือ "ป่าสวยน้ำใส สมุนไพรขึ้นชื่อ เรื่องลือข่าวเศรษฐกิจ วิถีชีวิตจักสาน สมานสามัคคี มีน้ำใจพัฒนา"                                                       

เรื่อง "สมุนไพร" ก็เป็นจุดเด่นอีกอันหนึ่งของชุมชนบ้านหัวทุ่ง                                                                 

"ถ้าพูดเรื่องสมุนไพรไม่ว่าคนในประเทศ คนต่างประเทศ หรือว่าเด็กก็สนใจ เราก็จะพาเดินไปในป่า ชี้ให้เขาดู เราทำเส้นทางการศึกษา ในบ้านก็มี ในป่าก็มี ครั้งหนึ่ง แม่หล้าไปทำงานได้งบของฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ประมาณ 4,000 บาท ก็เอามารวมตัวกันปลูกสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ ต่อมา ก็มีสาธารณสุขเข้ามาทำวิจัยเรื่องสมุนไพร ระยะหลังได้ถูกประกาศเป็นพืชคุ้มครองออก พ.ร.บ. คุ้มครองฯ อยู่ 113 ชนิด  ซึ่งพอเราสำรวจแล้ว มันไม่ใช่มี 113 ชนิด จริงๆ แล้วมันมีสมุนไพรเป็นพันๆ ชนิด แล้วระยะหลัง เราจึงได้มีการทำวิจัยเรื่องสมุนไพร จนเกิดกลุ่มสมุนไพรขึ้นมา" แม่หล้า บอกเล่าให้ฟัง                 

จุดเด่นอีกจุดหนึ่ง ของบ้านหัวทุ่ง ก็คือ 'การปลูกไผ่เศรษฐกิจ' ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนแห่งแรกที่มีการสานก๋วยของอำเภอเชียงดาว และก็เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการปลูกไผ่เพื่อชาวบ้านได้ช่วยกันดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน โดยมีทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ เข้ามาศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง                   

พ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ บอกเล่าให้ฟังว่า "ชาวบ้านได้ร่วมใจกันปลูกป่าไผ่ในสมัยพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง ซึ่งได้ได้ไปขอพื้นที่ของ นพค.32 กรป.กลาง ที่เขาได้ใช้ที่ดินเป็นที่เลี้ยงวัว ต่อมาได้ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ทางพ่อหลวงติ๊บ นอกจากชาวบ้านจะช่วยกันดูแลป่าชุมชนกันได้แล้ว  แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ละครอบครัวก็มีการสานก๋วย ซึ่งก็ต้องมีการตัดไผ่กันทุกวันๆ แล้วถ้าชาวบ้านตัดไผ่ โดยไม่มีการปลูกไผ่เสริมเลย วันหนึ่งมันก็หมด ทางพ่อหลวงติ๊บจึงได้ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา แล้วก็ไปขอที่ดิน นพค.เพื่อปลูกไผ่ ในเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ ซึ่งทำให้ตอนนี้ชาวบ้านหัวทุ่งได้รับประโยชน์ ก็คือชาวบ้านก็ไปตัดไม้ไผ่ที่ปลูกไว้ เพื่อเอาไปสานก๋วย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยที่ไม่ต้องไปตัดในป่าข้างนอก"                                                                                     

หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วจะตัดไผ่แบ่งกันอย่างไร จึงจะยุติธรรมและไม่มีความขัดแย้ง                                 

พ่อหลวงบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟังว่า "ตอนนั้นทางพ่อหลวงติ๊บ ได้ตั้งกฎระเบียบขึ้นมา การตัดไม้ไผ่วันไหน ก็จะใช้เสียงตามสายของหมู่บ้านประกาศให้ลูกสมาชิกไปช่วยกันตัด ช่วยกันแบกขน และเอามาคัดเป็นกองๆ จากคัดเรียบร้อยก็จะมาจับฉลาก จะมีเบอร์เขียนเอาไว้ ตอนแรกๆ นั้น มีทั้งหมด 95 คน ก็เขียนเบอร์ 1- 95"

"หมายความว่า เมื่อมีคนทั้งหมด 95 คน นี่หมายความว่าตัดแต่ละครั้งก็จะตัด 950 เล่ม ตัดแล้วเอามารวมกัน คนมีหน้าที่ขนก็ขน แล้วก็จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งคอยจัดแบ่ง แบ่งคนละสิบเล่ม เสร็จแล้วก็จะมาคัดตรวจ อันไหนเล่มใหญ่เล่มเล็ก ถ้าเล็กก็เอาไปเพิ่มให้ แล้วหลังจากนั้นก็จับฉลาก ทำแบบนี้ ก็ยุติธรรมดี ไม่มีการทะเลาะกัน" แม่หล้า เล่าเสริมให้ฟัง                                                                                                        

ปัจจุบัน โครงการปลูกไผ่เศรษฐกิจ ได้ขยายปลูกเพิ่มไป 37 ไร่ รวมทั้งหมดเป็น 78 ไร่ ว่ากันว่า แปลงปลูกไผ่โครงการล่าสุดนี้ ตอนนี้ใหญ่โตสมบูรณ์พร้อมใกล้จะตัดได้แล้ว                                                       

ทุกวันนี้ บ้านหัวทุ่ง จึงกลายเป็น พื้นที่ดูงานในเรื่องนี้ จนโด่งดังไปทั่ว จนชาวบ้าน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ จากหลายๆ ประเทศพากันศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง                                                              

"การศึกษาดูงานบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะบ้านเรานะ ต่างประเทศเขาก็สนใจ อย่างฝรั่ง ออสเตรเลียที่มาบ่อย เขาสนใจมาก ผู้นำของเวียดนามก็มาดูงานว่าทำไมต้องมีไผ่ ทำไมต้องสานก๋วย เนปาลก็สนใจ ก็สนใจระบบนิเวศทั้งหมด เพราะว่าการจัดการป่าของเรา มันเชื่อมโยง จนมาถึงเกิดไผ่เศรษฐกิจได้ ก็เพราะว่าการดูแลป่าชุมชนแล้วเพราะเรามองการณ์ไกลของอนาคตบ้านหัวทุ่งด้วย"                                                    

มาถึงตอนนี้ เราจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมบ้านหัวทุ่ง จึงได้รับรางวัลมากมายกว่าหลายสิบรางวัล และรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกรางวัลหนึ่งชาวบ้านหัวทุ่งภาคภูมิใจ                                                                                                            

"จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ ก็มีคนเข้ามาท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่พอดี การท่องเที่ยวโดยชุมชน ของซีบีที เขาเข้ามาในหมู่บ้านเราแล้วเขาก็นำเอานักศึกษาหรือว่าฝรั่งที่ชอบการท่องเที่ยวด้านนิเวศ แล้วก็มีประชาชนต่างถิ่น ยกตัวอย่าง อย่างคนเมืองกาญจนบุรีที่ได้เข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งรางวัลนี้บ้านหัวทุ่งก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รับรางวัล ก็ทำกันไปเรื่อยๆ ทำกันอย่างต่อเนื่องซึ่งจากรุ่นสู่รุ่น พอดีเขาก็แจ้งว่าทางการท่องเที่ยวและการกีฬาแห่งประเทศไทยแจ้งมาว่าบ้านหัวทุ่งได้รับรางวัล ก็คงเป็นเพราะว่า บ้านหัวทุ่งเราได้ดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกันมานานกว่า  20 ปีแล้ว

"การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้มีระบบการจัดการอย่างไรบ้าง" เราเอ่ยถาม                   

"พอดีการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนของบ้านหัวทุ่ง ตอนนี้ก็มีบริษัทการท่องเที่ยว เขามาสนับสนุนเรา โดยทางชาวบ้านก็มีการจัดบ้านพักโฮมสเตย์เอาไว้ โดยโปรแกรมก็เข้ามาอยู่ 1 คืน กับอีก 2 วัน เราก็จะเปิดต้อนรับที่ศาลาแล้วก็เข้าบ้านพัก พอตกเย็นก็จะพาเดินดูวิถีชีวิตของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ว่าอยู่อย่างไร จากนั้น วันรุ่งเช้า เราก็จะพาเข้าไปเที่ยวในป่าชุมชน ไปศึกษาดูว่าป่ามันฟื้นอย่างไร ในป่าก็จะมีจุดการศึกษา โดยจะมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านคอยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว หลังจากนั้นเราก็จะทานข้าวเที่ยงร่วมกัน สรุปแล้ว จุดเด่นก็คือ หนึ่ง เรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจหรือป่าไผ่ที่ชาวบ้านได้ปลูกกันไว้"                                                   

พ่อหลวงสุขเกษม ได้บอกผ่านไปยังคนเชียงดาว คนเชียงใหม่และคนทั่วประเทศว่า ด้วยว่า "นี่เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกที่บ้านหัวทุ่งได้ทำสืบต่อกันมา อันนี้ก็อยากให้คนอำเภอเชียงดาว ไม่ว่าท่านผู้นำก็ดี หรือชาวบ้านที่อยากจะมาดูว่าบ้านหัวทุ่งเขาจัดการบริหารอย่างไรถึงได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่จริงๆ แล้วถ้าได้รับรางวัล แต่ไม่ลงทำ มันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งบ้านหัวทุ่งก็ทำด้วยจิตสำนึกมากกว่า มันเป็นจิตใต้สำนึกของคนบ้านหัวทุ่งไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ช่วยกันดูแล ซึ่งเรื่องนี้คนเชียงดาวก็คงไม่ค่อยรู้" ก่อนเดินทางกลับ แม่หล้า ศรีบุญยัง ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านหัวทุ่ง ได้ฝากคำบอกเล่าไปยังพี่น้องคนเชียงดาวและนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ได้เข้าใจวิถีของคนอยู่กับป่ามาช้านาน ว่า "ป่ามันคือชีวิต น้ำก็คือชีวิต ป่านี่เป็นปัจจัยสี่ ที่คนควรจะเข้าไปเอาใจใส่ดูแลมัน เราเข้าไปในป่า เราไม่มีเงินซักบาท เราก็ยังได้กิน เหมือนกับเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจน หรือเจ็บป่วยเราเข้าไปยาอันไหนดีมีที่นั่นเยอะแยะ แล้วก็มองเห็นว่าป่ามันมีชีวิตจริงๆ"           

ในขณะที่ แม่หล้า ศรีบุญยัง ก็ได้บอกย้ำว่า "อยากฝากไปถึงคนเชียงดาว  คนเชียงใหม่ คนที่ไม่มีป่า และคนที่อยู่ในเมืองคนทั่วประเทศ ด้วยว่า  ที่จริงแล้ว ชาวบ้านหัวทุ่งได้ช่วยกันดูแลป่านั้น ก็ไม่ใช่เพื่อชาวหัวทุ่งเท่านั้น เพราะอากาศบริสุทธิ์ มันก็ลอยไปทั่วประเทศ ทั่วโลก ขนาดเขาอยู่ต่างประเทศเขายังจะมาซื้ออากาศเรา เราในฐานะที่เป็นคนหัวทุ่ง ที่ดูแลป่ามาได้กว่า 20 ปี ก็อยากจะเชิญชวนคนเชียงดาวหันมาสนใจดูแลป่า ก็ได้น้ำ แล้วเอามาทำการเกษตร ในเมื่อมันครบวงจร ก็ทำให้วิถีชีวิตของคนเชียงดาวดีขึ้นมา  ทั้งอากาศ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค มลภาวะก็ดีขึ้น ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับป่า ขึ้นอยู่กับป่าทั้งสิ้น ถึงบ้านคุณไม่มีป่า อยู่ในเมือง ก็ขอส่งกำลังใจให้คนที่ดูแลรักษาด้วย" ผู้นำธรรมชาติบ้านหัวทุ่ง บอกย้ำ

ล่าสุด ในวันที่ 25 มีนาคม 2556 นี้ ทางชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ จะได้ร่วมกันจัดงาน"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน"  ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยงานดังกล่าว จะมีเวทีนำเสนอผลงานวิจัย "โครงการวิจัยการปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนบ้านหัว" ภายใต้ชื่องานว่า"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน"  ซึ่งจุดเด่นของกิจกรรมครั้งนี้ ก็คือ ชาวบ้านบ้านหัวทุ่ง ทุกคนล้วนเป็นนักวิจัย และจะนำเสนอผลการทำงานวิจัยในชุมชนของตนเอง ให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้

โดยงานดังกล่าว มีกิจกรรมหลากหลาย  อาทิเช่น ในเวทีวิชาการ จะเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยผ่านเวทีเสวนาและบทบาทของหน่วยงานในการใช้ประโยชน์และขยายผลงานวิจัย โดยจะมีการจัดนิทรรศการความรู้ ข้อมูลและผลงานวิจัยตลอดระยะเวลา 8 เดือน  ซึ่งเป้าหมายของการนำเสนอผลงานวิจัยระยะแรกของโครงการวิจัยในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการสื่อสารสังคม รูปธรรมของชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และหาทิศทางแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีพันธมิตรทั้งในและนอกพื้นที่ อ.เชียงดาว รวมทั้งเพื่อขยายเครือข่ายการจัดการชุมชนพึ่งตนเองต่อไป

โดยภายในงานนี้ จะมีการสาธิต ถ่ายทอด เพื่อสื่อสารภายใต้แนวคิด ชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารสู่การพึ่งตนเองโดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ (1) ดิน น้ำป่า (2) คน วัฒนธรรม สุขภาพ (3) เกษตรพึ่งตนเอง (4) การท่องเที่ยว (5) อาหารท้องถิ่น และ (6) ข้อมูลชุมชนพึ่งตนเอง (รวมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ)รวมทั้งการขายสินค้าพื้นบ้านภายใต้แนวคิดการจัดงาน โดยจะเน้นในเรื่องของผักพื้นบ้านและสมุนไพร เป็นหลัก

 



 

 

กำหนดการเวทีวิชาการ

"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน"

วันที่ 25 มีนาคม 2556 ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

เวลา 8.00 – 8.30 น. ลงทะเบียน

เวลา 8.30 – 8.40 น. การแสดง กลองสะบัดชัย

เวลา 8.40 – 8.50 น. กล่าวรายงานการจัดงาน โดย ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง

เวลา 9.00 – 9.30 น. กล่าวเปิดงาน โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เวลา 9.30 – 9.40 น. การแสดง ฟ้อนสาวเชียงดาว

เวลา 9.40 – 10.00 น. บรรยายพิเศษ "ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการชุมชน"

โดย ตัวแทน สำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ.

เวลา 10.00 – 10.20 น. วีดีทัศน์ "หนังสั้น เรื่อง ทรัพยากรกับคน ชุมชนบ้านหัวทุ่ง"

เวลา 10.20 – 12.00 น. เสวนา "ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน"

• รูปธรรมจากหัวทุ่ง

- ยุคบุกเบิก เริ่มเป็นชุมชนหัวทุ่ง โดย หล้า ศรีบุญยัง

- ยุคสานต่อแนวคิด โดย ประจักษ์ บุญเรือง

- ยุคสืบสาน พัฒนา โดย สุขเกษม สิงห์คำ

- ชุมชนหัวทุ่งในอนาคต โดย จิราวรรณ คำซาว

• บทบาทการสนับสนุน วันนี้และอนาคต โดย ผู้แทน สกว.

• พันธมิตรร่วมสานต่อ โดย ผู้แทนจาก สำนักงาน กศน. จังหวัด

เชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ

ดำเนินรายการโดย พิธีกร ช่อง 11 ท้องถิ่น

เวลา 11.00 – 12.00 น. สาธิต ถ่ายทอด และร่วมรับประทาน อาหารพื้นบ้านเพื่อความมั่นคง

เวลา 13.00 – 13.15 น. การแสดงระบำตัวหนอน ฟ้อนสาวเชียงดาว

เวลา 13.15 – 14.45 น. ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร โดย กลไกกลางงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ภาคเหนือ

เวลา 14.45 – 15.00 น. การแสดงปิด กล่าวสรุปและปิดงาน

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

- 'วิถีบ้านหัวทุ่ง ชุมชนคนกับป่า กับ'รางวัลท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ' สำนักข่าวประชาธรรม,15 ม.ค. 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เบรกหัวทิ่ม ก่อนช่อง 5,11 ได้โควตาทีวีสาธารณะ สุภิญญาแนะต้องบีบให้ปรับตัว

Posted: 22 Mar 2013 10:18 PM PDT

ในช่วงแบ่งเค้กทีวีดิจิตอล ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง 'สุภิญญา' เบรค ไม่ควรให้ช่อง 5, 11 ได้ช่องทันที ระบุต้องมีเงื่อนไขให้ปรับตัว ไม่อย่างนั้นเท่ากับ กสทช.พลาดโอกาสปฏิรูปสื่อ - เสนอหน่วยงานราชการที่จะขอช่อง ต้องมีโครงสร้างบริหารทีวีสาธารณะ ต้องมีกก.นโยบายจากภายนอก ไม่เช่นนั้น เสี่ยงเกิดช่อง 11 อีก 8 ช่อง

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงการจัดสรรทีวีดิจิตอลในส่วนของช่องสาธารณะ 12 ช่องว่า ขณะนี้ ดูเหมือนว่าอาจมีการกัน 4 ช่องให้กับรายเดิม คือ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอสสุภิญญา กล่าวว่า  สำหรับไทยพีบีเอสยังพอมีความชอบธรรม เพราะมีกฎหมายเฉพาะ ไม่มีการหากำไร แต่ถ้าช่อง 5 และ 11 ยังทำตัวแบบเดิม แล้วได้สิทธิอัพเกรด โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเลย ตั้งคำถามว่า เป็นธรรมกับรายใหม่ ที่จะเข้าประมูลช่องธุรกิจอีก 24 ช่องและรายเก่าอย่างช่อง 3, 7, 9 หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ กสทช. ต้องตอบ

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์นี้ (25 มี.ค.) อาจมีการพิจารณาให้ช่อง 5 และ 11 ได้ช่องทีวีบริการสาธารณะ ซึ่งส่วนตัวจะเสนอให้ กสท.ต้องสร้างเงื่อนไขให้ช่อง 5 และ 11 ปรับตัว ทำให้เห็นว่าจะเป็นสื่อบริการสาธารณะอย่างไร ตั้งคำถามว่าถ้าช่อง 5 ผังรายการและโฆษณาเหมือนเดิมจะต่างจากช่องอื่นอย่างไร อย่างน้อยต้องทำธุรกิจให้น้อยกว่า คนอื่นจะได้ไม่รู้สึกว่าเอาเปรียบ ลดสัดส่วนโฆษณา เพิ่มสัดส่วนรายการเพื่อสาธารณะ ขณะที่ช่อง 11 ถ้าจะเป็นทีวีสาธารณะต้องเป็นตัวแทนความคิดคนทั้งประเทศ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และคนที่ไม่มีฝ่าย ไม่ใช่แค่รัฐบาลฝ่ายเดียว และต้องโชว์ผังรายการให้เห็นชัดเจนว่าจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่ใช่รัฐบาลแค่ไหน ถึงจะเป็นการแสดงพันธกิจว่าจะเป็นทีวีสาธารณะ

สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เคยเสนอให้ปรับตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปรับเพราะ กสท.เองก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเรื่องนี้ ทั้งนี้ ถ้าแค่ทดลองออกอากาศ 1 ปี 6 เดือนก็เห็นด้วย แต่ถ้าจะได้อัพเกรดไปเลย ก็จะต้องปรับตัวบ้าง ไม่ใช่คลื่นอนาล็อกก็ไม่คืน ขณะที่คลื่นดิจิตอลก็ได้ด้วย ไม่ต้องจ่ายเลย ต่างจากรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องแข่งขันดุเดือด

"ถ้าช่อง 5 และ 11 มองว่ามีความจำเป็น จะอยู่ในช่องบริการสาธารณะ ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ไม่เช่นนั้นต้องไปแข่งกับ 3, 7, 9" สุภิญญากล่าวว่าและว่า ไม่อย่างนั้นจะเท่ากับเราเสียโอกาสในการปฏิรูปสื่อ

"ไม่มีโอกาสไหนอีกแล้วที่จะปฏิรูปสื่อของรัฐ นี่คือหน้าที่โดยตรงของ กสทช.ที่เราพูดมา 15 ปี ถ้าเราให้เขาไปแล้วอัพเกรดไปจนถึงหมดอนาล็อก แล้วเราจะสร้างเงื่อนไขไหนให้เขาปรับตัว ไม่มีอีกแล้ว นี่คือ last chance (โอกาสสุดท้าย) แล้ว" สุภิญญากล่าวและว่า การปรับสู่ดิจิตอลไม่ใช่แค่อัพเกรดเทคโนโลยี แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ส่งเสริมการแข่งขัน ให้มีเนื้อหาหลากหลาย

สุภิญญามองว่า ทีวีสาธารณะนั้นมีความสำคัญ ต้องมีกระบวนการคิดที่ละเอียด เพราะจัดแล้วจัดเลย เรียกคืนไม่ง่าย และจะออกอากาศก่อนช่องประเภทอื่น กรณีช่อง 5 และ 11 ถ้าได้รับอนุมัติปุ๊บ  ก็ย้ายไปเลย คนมีกล่องก็ดูได้เลย ขณะที่ช่องธุรกิจ กว่าจะประมูล กว่าจะได้เริ่มทำ เขาได้คนดูไปก่อนแล้ว หากเป็นช่องสาธารณะจริง ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้แย่งตลาดโฆษณากัน แต่ถ้าก้ำกึ่ง อย่างช่อง 5 ที่ถามว่า ต่างกับ 3, 7, 9 แค่ไหน ก็ไม่ต่าง แต่ได้ออกอากาศก่อน นอกจากนี้ แม้ว่าคนที่ได้รับผลกระทบจะฟ้องได้ แต่ช่องธุรกิจอื่นๆ คงไม่ทำ เพราะยังอยู่ใต้สัมปทานอยู่


เสนอต้องมีกก.นโยบาย-ผังรายการชัดเจน
ส่วนอีก 8 คลื่นที่เหลือ สุภิญญา ระบุว่า ในวันจันทร์นี้จะมีการถกกันว่าเกณฑ์ที่ละเอียดจะเป็นอย่างไร จะแบ่งโควต้าอย่างไร กฎหมายบอกเพียงว่าใครขอได้บ้างและขอไปทำอะไรได้บ้าง โดยคนที่ขอได้คือ หนึ่ง หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระต่างๆ สอง สถาบันการศึกษา สาม  มูลนิธิ สมาคม ต่างๆ เสนอว่าแบ่งเลยได้ไหม เช่น หน่วยงานราชการ 3-4 ช่อง สถาบันการศึกษา 2-3 ช่อง มูลนิธิ  2-3 ช่อง เพื่อเป็นหลักประกันว่า อีก 8 ช่องจะไม่ได้เป็นของราชการหมด ส่วนเป็นใครนั้น ควรมีเกณฑ์การประกวด beauty contest ที่ละเอียด 

สุภิญญา เสนอว่า ต้องมีโครงสร้างบริหารสถานีที่มีกรรมการนโยบายที่ชัดเจน โดยมีองค์ประกอบเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา ยกตัวอย่างหากกระทรวงต่างๆ สนใจขอทีวีสาธารณะ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ขอช่องการศึกษา กระทรวงกลาโหม ขอช่องความมั่นคง ซึ่งก็มีสิทธิทำได้ แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขว่าคนที่จะมาขอทำทีวีสาธารณะ ต้องมีโครงสร้างบริหารที่เป็นอิสระ เช่น มีกรรมการนโยบายที่มีคนนอก จะเกิดปัญหา ถ้าเกิดเรื่องร้องเรียน การตัดสินใจอาจกลับไปที่ปลัดกระทรวง หรือที่สุดขึ้นกับรัฐมนตรี
 

หวั่นเกิดช่อง 11 อีก 8 ช่อง
สุภิญญา กล่าวว่า อยากให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กลุ่มพรรคการเมือง ที่อยากมีปากเสียงในการพูดต่อไป ลุกมาปกป้องสิทธิ ไม่เช่นนั้น ทีวีสาธารณะอีก 8 ช่องอาจไปอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาลในเวลานั้นๆ ทำให้ฝ่ายค้านหรือกลุ่มไม่เห็นด้วยรัฐบาลเสียเปรียบทันที เพราะเท่ากับมีช่อง 11 อีก 8 ช่อง ซึ่งจะเป็นเสียงเดียวกับรัฐบาล เพราะไม่มีใครกล้าหือกับรัฐมนตรีที่ดูแล

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก แต่ยังอาจมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้นทันที ฝ่ายกุมอำนาจรัฐบาลจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่มีหลักประกันว่าฝ่ายเห็นต่างจะมีพื้นที่แสดงออก เรื่องนี้ แม้แต่รัฐบาลก็ต้องให้ความสนใจ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เป็นฝ่ายค้านในอนาคต

นอกจากนี้แล้ว หน่วยงานราชการจะต้องมีผังรายการที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ ที่กังวลที่สุดคือไม่อยากให้การปฏิรูปสื่อยุค กสทช.ย้อนยุค เรากำลังหนีจากระบบที่รัฐเป็นเจ้าของสื่อสัมปทานให้เช่าช่วง ถ้าให้กระทรวงทำ ถามว่ากระทรวงทำเองได้ไหม หรือต้องไปเช่าช่วงจากเอกชน ซึ่งก็จะเข้าสู่ระบบเดิม เอกชนไม่กล้าทำรายการที่วิจารณ์หน่วยงาน กระทรวง

สุภิญญา เสนอว่า ถ้ามีอีก 8 คลื่นให้หน่วยงานรัฐซึ่งไม่สามารถทำรายการเองได้ สู้ให้รายเล็ก รายกลาง ที่ประมูลคลื่นใหญ่ไม่ได้ใช้จะดีกว่า อย่างน้อยก็มีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ ไม่ต้องกังวลว่าทำแล้วจะต้องเกรงใจใคร


เสนอเกณฑ์ beauty contest ทำเช็คลิสต์ให้คะแนน
สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ beauty contest นั้น ควรมีการกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการประกวดนางงาม ที่ต้องมีการกำหนดอายุ สัดส่วน การศึกษา ความคิดต่อสังคม ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องตอบคำถามกรรมการ ทำเป็นเช็คลิสต์

สุภิญญา ยกตัวอย่าง beauty contest ที่สเปน ว่ามีการเช็คในสามเรื่องคือ หนึ่ง ความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี สอง การลงทุน มีงบจากที่ไหน จะต้องมี proposal สาม เนื้อหา ผังรายการว่าตอบสนองใคร ใครจะได้ประโยชน์ โดยอาจกำหนดสัดส่วนคะแนนเป็น 1:1:2 ตามลำดับ ในกรณีของไทย อาจดูที่ผลงานในอดีตประกอบด้วย จากนั้นจึงให้บอร์ด 5 คนลงคะแนน หากใช้วิธีนี้แล้ว แพ้ ตนเองก็ยอมรับ แต่ต้องเปิดเผยการลงคะแนนต่อสาธาณะ ต้องอธิบายกับสังคมได้ว่ากลุ่มนั้นๆ เด่นเรื่องอะไรจึงได้ ที่เสนอให้ลงคะแนนนั้น เพราะกังวลว่าลำพังการโหวตอย่างเดียวจะรวบรัด และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวหนังสือ ‘ม(า)นุษย์โรแมนติก’ by ธเนศ วงศ์ยานนาวา

Posted: 22 Mar 2013 09:13 PM PDT

 

บางส่วนของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา
 

นิติ ภวัครพันธุ์ , ปรารถนา จันทรุพันธุ์ , อธิป จิตตฤกษ์

 

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม  6 โมงเย็น ร้าน  Bookmoby Readers' Café ที่หอศิลป์ ชั้น 4 แน่นขนัดทั้งด้านใน ด้านนอก เพราะศิษยานุศิษย์และแฟนคลับ 'ธเนศ วงศ์ยานนาวา' ยังคงติดตามผลงานของเขาอย่างเหนียวแน่น สำหรับการเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด "ม(า)นุษย์โรแมนติก" ซึ่งเป็นการรวบรวมบทความเกี่ยวกับแวดวงมานุษยวิทยาที่เผยแพร่ในหลายที่ เช่น จุลสารไทคดี รัฐศาสตร์สาร เป็นต้น และมีส่วนที่เขียนใหม่เกือบครึ่งของบทนำที่ยาวกว่า 100 หน้า

 



นอกเหนือจากเป็นคอลัมนิสต์ให้วารสารหลายฉบับ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักเขียน เป็นนักวิจารณ์หนัง เป็นนักวิชาการแทบจะเรียกได้ว่าสหวิชา ไอดีที่คนรู้จักเขามากที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา หากแต่รู้จักเขาในฐานะ 'ธเนศ วงศ์ยานนาวา' นั่นแหละ

ภายในงานเปิดตัวด้วยการเสวนาของบุคคลที่ใกล้ชิดธเนศ โดยเฉพาะในปริมณฑลทางวิชาการ ได้แก่  
นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปรารถนา จันทรุพันธุ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อธิป จิตตฤกษ์ นักแปลงานวิชาการอิสระ ผู้อ่านงานของธเนศอย่างใกล้ชิด

การเสวนาดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง และพูดคุยถึงเรื่องราวของ "คนเขียน" เสียยิ่งว่า "หนังสือ" ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะสำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยศึกษาแล้ว ธเนศนั้นแปลกและอ่านยากยิ่งกว่าหนังสือที่เขาเขียนเสียอีก   โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของเขาอย่าง การวิพากษ์ศาสนา การพูดถึงเรื่องเพศแบบดุเดือด ตรงไปตรงมา (ในบริบทวิชาการ) ซึ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดคนรุ่นใหม่อย่างดี

 

 

สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดนี้ก็เป็นการฉายภาพให้เราได้เห็นข้อถกเถียงสำคัญๆ ของนักมานุษยวิทยาที่กระเทือนวงการมานุษยวิทยาโลก (ตะวันตก)

หากอยากรู้ว่ามันลื่นไหลเพียงไหน และน่าสนใจเพียงใดสำหรับแวดวงมานุษยวิทยา ก็อาจต้องยกคำของนิติที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ธเนศนั้นเหมือน "ร่างทรง" ที่บอกเล่าเรื่องราว วิธีคิดของบรรพบุรุษอย่างลื่นไหล โดยที่เราไม่รู้เลยว่า เขาได้เอาตัวเองใส่ไว้แค่ไหน ตอนไหน เท่าไร รอยเท้าที่เราเห็นนั้นเป็นรอยเท้าของอากงอาม่าหรือรอยเท้าของธเนศเอง

 

 

โดยสรุปแล้ว นอกจากงานนี้จะเป็นการพบปะกันของผู้สนใจหรือศึกษาด้านมานุษยวิทยาหลากรุ่นโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ แล้ว ก็ยังทำให้เห็นว่า -ถ้าใช้ภาษาธเนศ - "ธเนศ" เป็น "สินค้า" หรูหราในพารากอน ที่ยังคงน่าพิสมัย ขายได้ ขายดี ไม่ใช่กับคนที่มีกำลังซื้อ แต่กับคนที่มีพลังความสงสัยใคร่รู้ ... ส่วนว่าอ่านหนังสือเขาแล้วจะอ่านรู้เรื่องไหมนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง (ฮา)   

 

ส่วนหนึ่งของการเสวนา

 

อธิป....

"ตั้งแต่ปี 2550 อาจารย์ธเนศออกเล่มนี้มาเป็นเล่มที่ 9 เล่มที่ผ่านๆ มาก็ครอบคลุมแทบทุกโหมด การบริโภค ศิลปะก็มีแล้ว เรื่องเพศก็มีแล้ว และกำลังจะมีอีกเล่ม แต่เล่มนี้น่าจะเป็นเล่มแรกที่เกี่ยวกับมานุษยวิทยา แต่มันยังพูดถึงการปะทะกันของ discipline ต่างๆ บางบทความชัดมากกว่าบทความในเล่มก่อนๆ"

"มีข้อวิพากษ์มานุษยวิทยาที่น่าสนใจหลายอัน แต่ก็มีบางประเด็นที่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยอัพเดทเท่าไร"

"โดยรวมๆ นับเอาบทที่ยังไม่เคยอ่านมาก่อน อย่างบทแรก อ่านแล้วก็ประทับใจมาก เพราะเป็น 2 ดีเบตใหญ่ในวงมานุษยวิทยา"

"เราอยู่กับ discipline เราเอง เราจะไม่มีทางไปเจอข้อมูลหรือข้อถกเถียงอะไรแบบนี้ แต่เนื่องจากอาจารย์ธเนศเป็นคนที่นอกจากอ่านงานลึกแล้ว ยังอ่านงานกว้างมากๆ จะทำให้เราเจอคำถามหลายๆ อย่างที่ปกติจะไม่เจอ หรือคุยกับคนในสาขาวิชาการเดียวกันก็ไม่เจอ หรือคุยกับนักวิชาการไทยก็อาจไม่เจอ ... อย่างตอนทำธีสิส เจออาจารย์ธเนศวิจารณ์มาจุดนึง ต้องนั่งอ่านหนังสืออยู่ปีนึง"

 

นิติ.....

"อาจารย์ธเนศกับผมรู้จักกันนาน อาจจะนานเกินไป ธเนศเขียนงานดีหมด ยกเว้นเรื่องเซ็กส์ เล่มนี้ก็เป็นเล่มหนึ่ง ผมโดยเทรนนิ่งก็มาทางมานุษยวิทยา รายละเอียดในหนังสือเยอะถ้าจะพูด ...เวลาเราพูดถึงธเนศ ผมคิดว่าที่ธเนศเขียนดีที่สุดคือภาษาอังกฤษเรื่องอาหาร หลังจากนั้นธเนศก็เข้ารกเข้าพงไปเรื่อย(หัวเราะ) ก็ไม่ว่ากัน มีงานนี้ที่รู้สึกว่าเข้าท่า"

"ดีเบตอันหนึ่งสำคัญมากที่พูดถึง subject ของคนพื้นเมือง เล่มนี้ถ้ารื้อใหม่ เพื่อพิมพ์ขายหลอกคน ต้องเอาเรื่อง Subject ขึ้นมาก่อน เป็น Subject ของนักมานุษยวิทยาและในแง่หนึ่งก็เป็น autherด้วย ธเนศเป็น auther ทั้งหมดนี้ธเนศโม้มา เป็น Subject ที่โม้เกี่ยวกับ Subject คนอื่น"

"ถ้าอ่านเล่มนี้จะเห็นว่า ธเนศไม่เคยทิ้งวิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยาเลย จะพูดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ฐานที่แน่นมากของแกคือ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และ from การมองก็เป็นแบบนั้น เช่น มีอยู่บทหนึ่งเถียงเรื่อง rationality ซึ่งธเนศคิดว่ามีข้อจำกัดเยอะ อยากจะไปให้ไกลกว่านั้น นักมานุษยาวิทยาเราก็ไม่พูดเรื่องนี้แล้ว ตอนนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Supermodernity อาจารย์ธเนศเป็นคนอ่านเรื่องพวกนี้ไม่หยุด แต่เราจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ได้เลย ถ้าคุณไม่มีฐานที่แน่น คนอาจบอกผมหัวเก่า แต่ผมโดนเทรนมาแบบนี้ ทุกอย่างที่ธเนศ consume เข้าไป เขามีฐานที่แน่นมากแล้วรู้ว่าที่มามันคืออะไร ทำไมมันมาถึงตรงนี้"

 

ปารถนา......

"คุณูปการของหนังสือเล่มนี้มันช่วยมากที่จะทำให้ในภาคเข้าใจว่าอาจารย์ธเนศมีความเป็นมานุษยวิทยาอย่างไร ย้อนมาที่บทนำ ที่ศิลปากรเวลาที่เราสอนชื่อเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่เราทุกคนต่างรู้จัก แต่มันเป็นก้อนๆ แต่ไม่ได้ถูกพูดเชื่อมโยงถึงกันว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร..สำหรับนักศึกษา เป็นเรื่องแปลกมาก เวลาเขาไปสอน ทุกคนจะรักเขา คิดว่ามันคงมีความโรแมนติกบางอย่างอยู่ ทุกคนจะสนุกสนานตั้งใจมาเรียน ยิ้มแย้มแจ่มใส จนกระทั่งวันสอบ ทุกคนจะไม่อยากรู้จักผู้ชายคนนี้อีกต่อไป"

 

ธเนศ .....

"หนังสือนี้ ผมไม่ได้ตั้งชื่อนะ ปู (เจ้าของร้านบุ๊คโมบี ผู้มีส่วนจัดพิมพ์) เป็นคนตั้งชื่อ จริงๆ เขาอยากให้มีชื่อว่า รวมบทความมานุษยวิทยา แต่มันก็ไม่ใช่ใน sense แบบนักมานุษยวิทยาไทย ... โดยหลักแล้วผมพยายามที่จะมองนักมานุษยวิทยาในฐานะที่ทิ้งวิชาม. โดยเฉพาะในการลง field มา 30 กว่าปี เพราะผมเห็นว่าการลงฟิลด์ไม่ใช่สิ่งที่ให้คำตอบกับเรา เพราะในที่สุดแล้ว ความสำคัญระหว่างข้อมูลกับส่งที่อยู่ในสมองของคุณนั้นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ผมถึงเสียเวลาอธิบายดีเบตของสองคน (ในหนังสือ) แม้จะเป็นดีเบตเก่า แต่ผมคิดว่าผมไม่ควรจะมาทำดีเบตใหม่ นั่นคือ ดีเบต Derek Freeman  กับ Margaret Mead ในทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยพยายามจะชี้ให้เห็นว่านี่คือพื้นฐาน โดยไม่ต้องพูดถึงดีเบตใหม่ เราพูดถึงปรมาจารย์รุ่นเก่า จะตายห่าลงโลงกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Marshall Sahlins ก็ดี หรือ Gananath Obeyesekere ...ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมันไม่ใช่แค่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เราเห็น เราลง field เรามีความรู้สึก มีความคิด แล้วก็ไปด้วยชุดความคิดจำนวนมาก สภาวะอันนี้ เป็นสภาวะที่ชัดเจนมากว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และนักวิชาการตะวันตกอยู่ภายใต้ความคิดชุดหนึ่งว่า เราจะคุยกันให้รู้เรื่อง แต่ผมคิดว่ามันคุยกันไม่รู้เรื่อง เพียงแต่โลกวิชาการตะวันตก มีสตางค์มากพอที่จะสร้างสำนักของตัวเอง แล้วผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย"

"สิ่งพวกนี้เป็นระบบวิธีคิดของรัฐไทย ซึ่ง centralizing ทุกอย่าง รวมทั้ง centralizing สกอ.ด้วย ฉะนั้น ถ้ามึงไม่พอใจมึงก็ออกจากบ้านนี้ไป สำหรับผม ไม่ใช่เป็นแค่ใครบางคนคิดแบบนี้ แต่วิธีคิดแบบนี้มันอยู่ทุกที่ ทุกระบบ ทุกอณูในสังคมไทย เพียงแต่ว่ามันจะแสดงออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นความแตกต่างอันนี้ โดยยกระดับปรมาจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่เป็นคนรุ่นเก่าทั้งหมดแล้วมันก็ถกเถียงกัน ใครจะถือหางใครก็เลือกเอา...เพียงแต่การตอบโต้ของนักวิชาการตะวันตกมัน civilize"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Asean Weekly : ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ CLMV

Posted: 22 Mar 2013 07:51 PM PDT

ประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกท้ายๆ ของอาเซียนนั้น หากมองจากแง่ของการพัฒนาประเทศ ดูจะยังแตกต่างจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เนื่องจากปัญหาสงครามและปัญหาการเมืองในประเทศที่ต่อเนื่องมาในยุคอาณานิคมและสงครามเย็น 

มาชมการวิเคราะห์วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่น่าสนใจของประเทศ CLMV ในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เพื่อเตรียมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กับสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น