โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โลกวิจารณ์ 'ทรัมป์' กรณีประกาศ 'เยรูซาเลม' ละเมิดกฎหมายนานาชาติ

Posted: 10 Dec 2017 09:21 AM PST

บทบรรณาธิการสื่ออังกฤษวิจารณ์การที่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประกาศให้ 'เยรูซาเลม' เป็นเมืองหลวงอิสราเอลว่าเป็นการทำลายความเชื่อถือที่เขาพยายามสร้างไว้กับพันธมิตร ขณะที่สันนิบาตอาหรับและนักวิชาการด้านยิวศึกษาต่างก็วิจารณ์ว่าทรัมป์ทำตัวสุมเชื้อไฟความขัดแย้งให้บานปลาย อีกทั้งยังขัดต่อหลักการนานาชาติว่าด้วยการจัดการความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์'

 
 
11 ธ.ค. 2560 การตัดสินใจประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดแรงโต้ตอบจากนานาชาติและการประท้วงบนท้องถนนที่ประชาชนถูกปราบอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมากลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ได้เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ยกเลิกการประกาศดังกล่าว โดยบอกว่ามันเป็นการประกาศที่ "ละเมิดกฎหมายนานาชาติขั้นรุนแรง" และไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมายถือเป็น "โมฆะ"
 
กลุ่มสันนิบาตอาหรับซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรภูมิภาคอาหรับ 22 ประเทศ พวกเขาแถลงในการประชุมที่อียิปต์โดยมีองค์ประชุมครบ 22 ประเทศว่าการประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงโดยสหรัฐฯ จะทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคเลวร้ายลงกว่าเดิม ความโกรธแค้นไม่พอใจอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงและความโกลาหลที่เพิ่มขึ้นได้
 
เดอะการ์เดียนระบุว่าการที่กลุ่มชาติอาหรับประณามทรัมป์ในเรื่องนี้ทำให้เห็นภาพขัดกับตอนช่วงเดือน ม.ค. ที่กลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอาหรับพากันชื่นชมทรัมป์ในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ
 
เยบราน แบสซัล รัฐมนตรีต่างประเทศของเลบานอนเสนอในที่ประชุมสันนิบาตอาหรับว่าควรจะให้มีมาตรต่าง ๆ ต่อสหรัฐฯ เริ่มจากมาตรการทางการทูต ตามด้วยมาตรการทางการเมือง มาตรการทางเศรษฐกิจ และการคว่ำบาตร ตามลำดับ โดยที่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มมาตรการเหล่านี้ี้
 
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา นักวิชาการยิวศึกษา 120 รายทั่วสหรัฐฯ ประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็นการสุมเชื้อไฟความรุนแรงและทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วแย่ลงไปอีก รวมถึงเรียกร้องให้ทรัมปหาวิธีลดระดับความตึงเครียดและประกาศให้ชาวปาเลสไตน์ทราบว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับอนาคตของเยรูซาเลม
 
นักวิชาการยิวศึกษาระบุว่าชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมต้องทนกับความไม่เท่าเทียมกับระดับโครงสร้างระบบ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรงบประมาณของเมือง บริการเทศบาล ถูกปฏิเสธการอนุญาตก่อสร้างอาคารซึ่งอาคารต่าง ๆ รองรับแต่เฉพาะกับชาวยิวเท่านั้น รวมถึงถูกทำลายบ้านเรือนและถูกยึดครองทรัพย์สินที่ดินโดยชาวยิวจากการอ้างเรื่องกฎหมาย
 
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ประณามการกระทำของทรัมป์และมีการจัดประชุมด่วนในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา นิคโคเลย์ มลาเดนอฟ ผู้ประสานงานพิเศษของยูเอ็นเพื่อกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางกล่าวว่าคำประกาศของทรัมป์ขัดต่อหลักแนวทางของประชาคมโลกในเรื่องการเจรจาสันติภาพปาเลสไตน์-อิสราเอล
 
บทบรรณาธิการของสื่อเดอะการ์เดียน-ดิออบเซอร์เวอร์ ระบุว่าคำประกาศของทรัมป์เป็นการทรยศต่อประธานาธิบดีฟาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส ที่ฝ่ายการทูตสหรัฐฯ พยายามทำให้เขารู้สึกอยู่ข้าง ๆ ในกระบวนการสันติภาพที่กำลังร่อแร่ อีกทั้งยังมีนักวิเคราะห์และทูตมองว่าการประกาศเมืองหลวงของอิสราเอลล่าสุดเป็นการที่สหรัฐฯ ขัดกับหลักการของตนเองในแง่ที่พวกเขาเคยร่วมสนับสนุนกระบวนการสันติภาพตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงมติของยูเอ็นที่ยืนยันว่าสถานภาพของเยรูซาเลมควรจะต้องตกลงกันผ่ายการเจรจาหารือเท่านั้น
 
บทบรรณาธิการของดิออบเซอร์เวอร์ ประเมินว่าการกระทำของทรัมป์ถือเป็นการทำลายความพยายามของตนเองเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในการที่จะสร้างอิทธิพลกับประเทศอย่างอิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย เพื่อหวังควบคุมการแผ่ขยายอำนาจของอิหร่าน นอกจากนี้แม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างจอร์แดน หรืออียิปต์เองก็ยังต้องหันมาเล่นบทรับ รวมถึงผู้นำอิสราเอลเองด้วย
 
ดิออบเซิร์ฟเวอร์วิจารณ์ว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำไปเป็นการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบฝ่ายเดียวและไม่สร้างสรรค์ เพราะนโยบายการต่างประเทศควรมีลักษณะความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนี่อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นลักษณะของทรัมป์ที่ขาดความอดทน ไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรู้ความเข้าใจ และขี้โอ่ 
 
"หนึ่งในหลักการเบื้องต้นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการทูตที่ได้ผลจริงควรจะต้องปฏิบัติโดยมีวัตถุประสงค์ด้านนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจนอยู่เสมอ นั่นทำให้คำประกาศที่เต็มไปด้วยการแสดงออกล้นเกินและความอวดเบ่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องการยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและแผนการที่จะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเมืองเทลอะวีฟนั้น ไม่เพียงแค่อันตราย แต่ยังน่าแปลกใจอีกด้วย" ดิออบเซอร์เวอร์ระบุในบทบรรณาธิการ
 
ไม่เพียงแค่ในกรณีของตะวันออกกลางเท่านั้น ดิออบเซอร์เวอร์วิจารณ์ทรัมป์ในกรณีอื่น ๆ เช่น เอเชีย ที่ทรัมป์แสดงออกให้เห็นว่าตลอดช่วง 11 เดือน ที่เขาอยู่ในตำแหน่งเขาทำให้โลกนี้เข้าใกล้ความขัดแย้งมากขึ้นเรือย ๆ ทิ้งซากความเสียหายด้านการต่างประเทศไว้เป็นทาง ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาโลกร้อนปารีสไปจนถึงข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ในบทบรรณาธิการยังเรียกร้องให้ฝ่ายการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรรวมถึงสหภาพยุโรปสร้างวิสัยทัศน์ทางเลือกขึ้นและทำให้มาตรฐานของฉันทามติการต่างประเทศกลับคืนมา อย่าให้การกระทำของทรัมป์ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ
 
เรียบเรียงจาก
 
Trump Jerusalem move 'a dangerous violation' of international law, says Arab League, The Guardian, 10-12-2017
 
The Observer view on Trump and Jerusalem, The Guardian, 10-12-2017
 
120 Jewish Studies Scholars Condemn Trump's Jerusalem Declaration, Common Dreams, 08-12-2017
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาระบุ รธน.-เลือกตั้งใหม่ไม่สะท้อนเสียงประชาชน มุ่งสืบอำนาจ ตั้งโจทย์ผิด

Posted: 10 Dec 2017 09:17 AM PST

ฉากเมืองไทยเมื่อการเมืองไม่รับใช้คนเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติมุ่งย้อนเวลาในวันที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไม่ใช่แบบเดิม รธน. การเลือกตั้งมุ่งสืบทอดอำนาจ แนะ ปลดล็อคเมื่อไหร่ประชาชนเคลื่อนไหวให้สุด ไม่หยุดที่การเลือกตั้ง กำหนดสัดส่วนเลือกตั้งแบบใหม่ถือว่าตั้งโจทย์ผิด ให้ประชาชนตัดสินเองว่านโยบายคุ้มค่าหรือไม่

วิดีโอเสวนาหัวข้อ "โฉมหน้าอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" คาดคะแนโมเดล "นายกฯ คนนอก" รูปแบบต่างๆ โดยอภิชาต สถิตนิรามัย การเลือกตั้งแบบสืบทอดอำนาจโดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

จากซ้ายไปขวา: พงศกร ยาห้องกาศ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย

เมื่อ 10 ธ.ค. มีการเสวนา "โฉมหน้าอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" มี รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ  พงศกร ยาห้องกาศ นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมเสวนา งานจัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โฉมหน้าอนาคตเมื่อการเมืองไม่รับใช้คนเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติมุ่งย้อนเวลาในวันที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไม่ใช่แบบเดิม

อภิชาติกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าที่เป็นแบบสัดส่วนผสมที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตีลิสต์ แต่จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วใช้คะแนนที่ได้จาก ส.ส. เขต ไปคำนวณ ส.ส. ปาร์ตีลิสต์ในลักษณะแปรผกผัน ใต้ระบบบัตรเลือกตั้งนี้พรรคที่ได้ ส.ส. เขต เยอะก็จะได้สัดส่วนปาร์ตีลิสต์น้อย

ระบบเลือกตั้งที่มีบัตรใบเดียวแบบนี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งเรียกมันว่าไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน คือการเลือกตั้งกำมะลอ การเลือกตั้งทั่วไปเลือกสองอย่างคือ เลือกผู้ปกครองเรา คือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี สอง หน้าที่สำคัญคือการเลือกนโยบายที่เราถูกใจ การเลือกตั้งระบบนี้มันกำมะลอเพราะว่าจะไม่ได้ทั้งสองอย่าง คือไม่ได้รัฐบาลและนโยบายที่เราต้องการ

การเลือกตั้งใต้บัตรใบเดียวทำให้การเลือกตั้งแบบเดิมที่เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบไม่ได้อีกต่อไป เราต้องเลือกอันใดอันหนึ่งระหว่าง ส.ส. เขต กับนโยบาย ระบบนี้บุคคลสำคัญกว่านโยบายของพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้าการแข่งขันทางนโยบายที่ชนะการเลือกตั้งจะไม่เกิด นักการเมืองไม่มีแรงจูงใจที่จะชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายพรรค นโยบายสำคัญต่อการชนะเลือกตั้งน้อยลง จะเป็นการเน้นว่าเขตนี้ใครดีหรือไม่ดี การซื้อเสียงก็จะกลับมา ที่สำคัญระบบเลือกตั้งนี้ออกแบบโดยจงใจที่จะให้พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงลดลง ทำให้พรรคขนาดกลางและพรรคระดับภูมิภาคได้คะแนนเสียงมากขึ้น เพราะถ้าได้เขตเยอะก็จะได้ปาร์ตีลิสต์น้อย ประชาธิปัตย์และเพื่อไทยจะได้ ส.ส. โดยรวมน้อยลง จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของรัฐสภา พรรคขนาดกลางจึงมีอำนาจต่อรองมากในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

นอกจากนี้ยังมีการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกฯ สามคน เป็นวิธีการที่ให้คนที่ไม่เป็น ส.ส. เป็นนายกฯ หรือที่เรียกกันว่านายกฯ คนนอก เป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นชัดว่ามันกำมะลอ หนึ่ง เราเลือกตัวนายกฯ ไม่ได้ เลือกพรรครัฐบาลไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับพรรคขนาดกลางที่จะต่อรอง สาม นโยบายจะไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง คุณเลือกไปอาจไม่ได้นโยบายที่ต้องการเพราะตัวบุคคลสำคัญกว่า

ประเด็นที่สำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งไร้ค่าคือ ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีผลในการกำหนดนโยบาย ตอนนี้ก็มี พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว

ในมาตรา 65 ของ พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ฯ ระบุว่าการเลือกตั้งและวิธีการทำนโยบายที่ผ่านมามันเหมือนบันไดลิง พรรคหนึ่งชนะก็ขึ้นไปกำหนด พรรคที่แพ้ก็ลงมา มันจึงไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มียุทธศาสตร์ชาติว่าไทยควรไปทางไหน จึงสร้างแผนที่เป็นอำนาจบังคับ  เขาจะบังคับให้รัฐบาลมุ่งไปตามอุโมงค์แบบงูที่เดินทางในอุโมงค์

รัฐธรรมนูญกำหนดให้รับฐาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จต่อรัฐสภา โดยบังคับว่านโยบายรัฐบาลชุดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่านักการเมืองไม่สามารถมีนโยบายนอกกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ในการจัดทำ พ.ร.บ. รายจ่ายประจำปี รัฐบาลต้องแถลงว่างบประมาณสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรืือไม่อย่างไร เพื่อใช้เงินของรัฐบาลที่มาจากภาษีของเรา

ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือสภาผู้แทนคอยตรวจสอบว่าหน่วยงานใดปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ และมีอำนาจลงโทษหน่วยงานนั้นได้ถ้าไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 29 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ชุดแรก ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจในการพิจารณาว่าการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ และถ้าการดำเนินงานไม่สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผลจากมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการปฏิบัติงานเอง ครม. โดยตรง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และกรรการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาได้

องค์ประกอบยุทธศาสตร์ชาติมีทหารและข้าราชการ ตัวแทนจากสภาเกษตร สภาหอการค้า สภาธนาคาร สภาอุตสาหกรรม องค์ประกอบหลักยุทธศาสตร์ชาติถูกนำด้วยทุนใหญ่และข้าราชการที่นำโดยทหาร ผู้มีส่วนได้รับเลือกเป็นสมาชิกในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมี 3 คนที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่นายกฯ ไม่ใช่คนนอก ถ้าเป็นคนนอกก็เหลือแค่ 2 คน แต่ตอนนี้แต่งตั้งมาแล้ว 28 จาก 34 คน ก็เหลือ 6 คน ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะแต่งตั้งเข้ามาได้ จำนวนคนที่จะมาจากการเลือกตั้ง และที่แต่งตั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากที่สุดที่จะมาจากการเลือกตั้งคือ 9 คน จากทั้งหมด 34 คน

ยุทธศาสตร์ชาติในตัวมันเองถูกตีความได้สูงมาก จึงสามารถกลายเป็นลูกฟุตบอลทางการเมืองได้ตลอดเวลาว่านโยบายที่รัฐทำนั้นสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับยุทศาสตร์ชาติ เราจะเห็นสิ่งที่เป็นไปได้ 2-3 แบบ หนึ่ง สมมติว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง นายกฯ ไม่ใช่คนนอก มีปาฏิหาริย์ให้นักการเมืองหลายพรรคจับมือกัน เลือกนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ได้ จากระบบเลือกตั้งนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคที่อ่อนแอ เพราะว่าอำนาจต่อรองหลายพรรคหลากหลาย มันจะกลับไปเป็นภาพรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลเชาวลิต ยงใจยุทธเมื่อก่อนปี 2540 รัฐบาลชวน หลีกภัย หรือรัฐบาลหลังยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีพรรครัฐบาลผสม 5-7 พรรค รัฐบาลแตกง่าย ยุบสภาบ่อย ทะเลาะกันบ่อย ยังไม่รวมการถูกสอยจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่เปราะบางจะผลักดันประเทศไปทางไหนได้หรือไม่ ในทางเศรษฐกิจการผลักดันโดยรัฐบาลผสมนั้นยากเพราะไทยกำลังเป็นสังคมสูงวัย และแรงงานลดจำนวนลง เหตุผลที่ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งจะกลับมา แต่คิดว่าโอกาสเกิดฉากนี้ได้น้อย

แบบที่สอง เกิดนายกฯ คนนอก คือเปรมโมเดลปี 2520-2521 เป็นต้นมา คือเป็นนายกที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง จัดตั้งพรรคทหารในแบบกว้าง คืออาจเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยทหาร คือรัฐบาลประกอบด้วยนายกฯ ที่มาจากข้าราชการที่นำโดยทหารและเทคโนแครต ปัจจุบันเทคโนแครตไทยปัจจุบันมีไหม ตายไปหมดตั้งแต่ปี 2540 แล้ว แต่จะแย่กว่ารัฐบาลเปรมเพราะมีองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบทั้งแนวดิ่งและแนวราบ ปัญหาคือจะทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้ขัดขารัฐบาล หรือขัดขากันเอง ยกตัวอย่างที่ตอนนี้คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร จาก กกต. ก็ซัดกับคุณมีชัย ฤชุพันธ์ทุกวัน ที่สำคัญ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับมาเป็นนายกฯ จริง เขาจะไม่มี ม. 44 แล้ว เขาจะสามารถขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้าได้หรือเปล่า

ไม่ว่าจะเป็นฉากไหนก็ตาม เศรษฐกิจไทยไม่มีทางที่จะโตอย่างรวดเร็วปีละร้อยละ 4-5 เหมือนในอดีต เราจะไม่เห็นภาพอย่างนั้นไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปี เพราะตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการขาดความสามารถในการแข่งขัน ภาวะสังคมสูงวัยและระบบการศึกษาไม่ได้ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งพอ ถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข แรงกดดันต่อรัฐบาลก็มีมากขึ้น

ฉากที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าฉากหนึ่งหรือสองต่างก็ย้อนยุคทั้งนั้น กติกาที่จะไขนาฬิกากลับมันขัดกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ในเวลา 30-40 ปี ที่ผ่านมาให้กำเนิดตัวละครใหม่ คือชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่าง ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโตขึ้นร้อยละ 3 แต่คนจนเพิ่มขึ้น 9 แสนคน ทำไมคนจนจะไม่เพิ่มได้ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แม้จะดีขึ้นแต่ก็น้อยลง ค่าแรง 300 บาทที่ขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ตอนนี้ไม่ทันอัตราเงินเฟ้อแล้ว แล้วคนเหล่านี้ที่เขาเคยมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง คนที่เคยชอบประชาธิปไตยแบบกินได้ในปี 2540 ที่เลือกนโยบายได้ คุณจะเรียกว่าประชานิยมก็ตามแต่ พวกเขาจะอยู่เฉยหรือเปล่า

ชนชั้นกลางในเมืองอึดอัดหรือยังกับสภาพที่เป็นอยู่ งานสำรวจของผมพบว่าชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพฯ ไม่รู้สึกมั่นคงกับชีวิตตนเอง ไม่คิดว่าอนาคตในระยะสั้นของพวกเขาและระยะยาวในรุ่นลูกหลานจะดีขึ้น หลังจากไม่มี ม.44 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนายกคนในหรือนายกคนนอก ท่านคิดว่าพวกเขาจะอยู่เฉยทางการเมืองไหม ถ้าเขาไม่เฉย รัฐบาลก็จะมีแรงกดดัน ขนาดตอนนี้มี ม.44 ยังขาลงเลย ในอนาคตถ้าไม่มี ม.44 จะแก้ปัญหาขาลงแบบนี้อย่างไร ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นตามกฎหมายแล้วแก้ยาก แต่อย่างไรก็ขอให้ตั้งสติเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งคือการสืบทอดอำนาจรัฐ-ทุนเก่า แนะ ปลดล็อคเมื่อไหร่ประชาชนเคลื่อนไหวให้สุด ไม่หยุดที่การเลือกตั้ง

พล.ท.พงศกรระบุว่า เรื่องความมั่นคงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในแบบสันติหรือไม่สันติ แต่ก็ต้องตั้งสติเพราะการเปลี่ยนแปลงทุกแบบมีการเตรียมการ มีการตั้งตัว

ตอนนี้ประเทศไทยถือว่าถูกแช่แข็งแล้ว เพราะภาพใหญ่ในสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งเรื่องระบบสารสนเทศใหญ่เข้ามา ทำให้คนระดับล่างเกิดการตื่นตัวและรู้การเมือง เช่น คนต่างจังหวัดรู้ว่าเลือกอันนี้ก็จะได้อันนั้น คนในเมืองเลือกใครก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไร เลือกส่งเดชไป ตอนนี้สังคมไทยในความเห็นผมนั้นชัดเจนเหมือนประเทศในยุโรปหรือสหรัฐฯ คือแบ่งเป็นขวา-ซ้าย ชัดเจน เดิมสมัยพล.อ.เปรมยังกั๊กได้ ให้พรรคการเมืองมาฮั้วกัน แต่พอผ่านการเรียนรู้ทางการเมืองมาทำให้รู้ดีขึ้น

ทำไมต้องแช่แข็ง เพราะกลัวจะเกิดความไม่มั่นคงในระบบว่าใครจะกุมอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้ก็เปลี่ยนผ่านแล้ว รัฐธรรมนูญตัวนี้เป็นการออกแบบการเปลี่ยนผ่านเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ครองอำนาจให้นานพอเพื่อรอกระบวนการที่เปลี่ยนผ่าน

พงศกรระบุว่า อนาคตไทยหลังการเลือกตั้ง หากดูจากแผนที่เขาวางแล้วมันคือการสืบทอดอำนาจต่อไป ตอนนี้ฝ่ายขวาจัดมีทุนผูกขาดที่อิงกับข้างบน ที่ตอนนี้ข้างบนเขาตัดทิ้งแล้ว และพรรคการเมืองบางพรรคฝ่ายขวาจัดก็มีฝ่ายการเมืองเขาเองและพรรคทางใต้ พรรคกลางๆ หรือพรรคภูมิภาคต้องคุยกัน จับมือกันตั้งแต่ต้นเพื่อดูว่าจะมี ส.ส. เกิน 250 คนไหม ถ้าเกินแล้วโอกาสเกิดนายกฯ คนนอกก็ยาก การเอาคนนอกเข้ามานั้นขึ้นกับพรรคที่ไม่เอาขวาจัดว่ามีพันธมิตรพอไหม สมมติถ้าขวาจัดไม่ได้ คนในก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ต้องสนับสนุนขวาจัดหรือขวาเบาหน่อยจะจับตัวกับทุนใหญ่ แต่ถ้าคนนอกมา ฝ่ายทหาร หรือพรรคประชาธิปัตย์มาก็ต้องมาเจอกรรมการยุทธศาสตร์ สิ่งที่ตามมาคือ การเมืองเป็นระบบราชการปกครอง เศรษฐกิจเป็นทุนผูกขาด ช่องว่างระหว่างรายได้มากขึ้น คนจนจนลงเพราะเกษตรกรหมด คนจับจ่ายใช้สอยไม่มี แม่ค้าก็หมดเพราะไม่มีคนซื้อ

ประชาชนควรใช้โอกาสนี้เคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉบับนี้ทุเรศจริง ต้องแก้ระบบยุติธรรมที่ไม่ได้แก้ไขมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ควรคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดรัฐประหาร อาจจะแก้อะไรในกฎหมายที่ทำให้ทหารรัฐประหารไม่ได้ ภาคประชาชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตของราชการ วันนี้เราบอกว่านักการเมืองทุจริต แต่กระบวนการคอร์รัปชันเกิดจากระบบราชการ ข้าราชการก็ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน

กฎหมายในช่วง คสช. มีอะไรแปลกๆ เยอะ โดยเฉพาะการขูดรีดประชาชนผ่านภาษี กฎหมายที่มาจากรัฐประหารตั้งแต่ยุคต้นก็ต้องเอามาทบทวนใหม่ทั้งหมด เช่น เรื่องกระบะท้าย เรื่องภาษีรถเก่า 7 ปี ต้องเลิกไปหมด ฝ่ายขวาจัดที่อิงกับทุนใหญ่ต้องแก้กฎหมายผูกขาด เพื่อกระจายอำนาจและทุนให้คนทั่วไป

พงศกรยังระบุว่า ควรทำให้สังคมเป็นสังคมอุดมปัญญา ไม่ใช้ความเชื่อ ส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์มากๆ เตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีการตีกลับจากการดึงอำนาจไปมา ประชาชนต้องขยับต่อ ผลักดันต่อไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วก็จบ ประชาชนต้องออกตัวตั้งแต่มีการปลดล็อคการเมืองเพื่อให้ตัวแสดงอื่นขยับตาม

กำหนดสัดส่วนเลือกตั้งแบบใหม่ถือว่าตั้งโจทย์ผิด แจงวงเงินทำนโยบายก่อนเลือกตั้งเป็นการบีบให้นักการเมืองขาดนวัตกรรม คุ้มเงินหรือไม่ให้คนเลือกตั้งตัดสิน

พงศกรระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นในระบบเลือกตั้งคือมันกำลังจะบั่นทอนและดึงอำนาจจากมือประชาชนออกไป หลัง 2540 ใช้ระบบเลือกตั้งผสมมาตลอด คือพยายามสร้าง ระบบเขต พยายามสร้าง ส.ส. ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในเขต ระบบสัดส่วนเป็นพื้นที่ให้คนที่เก่งทางเทคนิคแต่ไม่เก่งการเลือกตั้งก็มีพื้นที่

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่สะท้อนเจตนารมย์ประชาชน สมมติว่าถ้าประชาชนอยากเลือก ส.ส. คนหนึ่งที่เราเห็นว่าดูแลเราดี แต่ในระดับชาติเราไม่ชอบนโยบายพรรคที่เราสังกัดเราก็เลือกไม่ได้ หรือถ้าอยากให้พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล แต่ ส.ส. พรรคนั้นในพื้นที่เขาแย่มาก ก็เลือกแยกไม่ได้

การเลือกตั้งแบบนี้จะเป็นการบั่นทอนสถาบันพรรคการเมือง ในเมื่อเรานำระบบบัญชีรายชื่อผูกไว้กับเขตเลือกตั้ง พรรคจะเน้นตัวบุคคล สิ่งที่เกิดคือมีการกว้านซื้อสมาชิกพรรคที่มีฐานเสียงเยอะ เพราะพรรคต้องการฐานคะแนนเสียง และถ้าใครได้อ่านคำถาม 6 คำถามของนายกฯ ที่ถามว่าอยากมีพรรคการเมืองใหม่หรือไม่  ถ้าพรรคการเมืองต้องการจะได้ระบบบัญชีรายชื่อก็จะต้องส่ง สส. ระดับเขต แล้วพรรคขนาดเล็กจะเอา สส. เขตจากไหนไปแข่งกับพรรคใหญ่

การออกแบบระบบเลือกตั้งไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุดที่ใช้ได้กับทุกประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องสะท้อนเจตนารมย์ประชาชนให้มากที่สุด ถ้าไปตั้งสมมติฐานว่าการเลือกตั้งดีที่สุดคือการทำให้ได้สัดส่วนตัวแทนที่ดีสุดก็เป็นการตั้งประเด็นที่ผิดไป

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมืองที่ระบุว่า การจัดตั้งพรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาทค่อนข้างเป็นอุปสรรคกับพรรคใหม่ และการที่จะต้องมีสมาชิกพรรค 5 พันคนในเวลาหนึ่งปีและเพิ่มเป็น 1 หมื่นคนภายในสี่ปี ถ้าดูจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดก็มีสมาชิกแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น เรายังมีอีกหลายพรรคที่มีสมาชิกพรรคน้อยมาก เราอยากได้พรรคการเมืองทางเลือกแต่ว่าระบบที่วางไว้กลับเป็นอุปสรรคเสียเอง นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองต้องบอกวงเงินที่จะใช้ในการทำนโยบายและวัดความคุ้มค่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเพราะคนที่ตัดสินความคุ้มค่าคือประชาชนเมื่อนโยบายนั้นๆ ดำเนินไป ถ้ามีคนอ้างว่าทุจริต มันก็จะต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งมากกว่าจะไปจำกัดกรอบให้นักการเมืองคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ เพราะที่ผ่านเราก็แทบจะหานักการเมืองที่มีนโยบายที่มีทางเลือกใหม่ พรรคการเมืองยังพัฒนาไปไม่ถึงความคาดหวังทางนโยบายของประชาชน

ประเด็นการเงิน ปี 2540 ไม่ได้กำหนดเงินบริจาคพรรคการเมือง พรรคเลยผูกขาดโดยกลุ่มทุน มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคใหญ่พรรคนั้นเป็นของนายทุน แต่จริงๆ แล้วก่อนปี 2540 พรรคการเมืองหลายพรรคได้รับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทจากบุคคลคนเดียว ตอนนี้มีการกำหนดเพดานไม่ให้บริจาคเกิน 10 ล้านบาท แต่ธุรกิจใหญ่ก็สามารถใช้บริษัทย่อยของตัวเองแบ่งกันบริจาคให้พรรคการเมืองเหมือนกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สหพันธ์นักศึกษาปาตานี' จัดวันสิทธิมนุษยชนสากล ย้ำคู่สงครามในพื้นที่ต้องเคารพในสิทธิ-เสรีภาพ

Posted: 10 Dec 2017 08:55 AM PST

PerMAS ออกแถลงการณ์ขอประชาชนจับตาสถานการณ์ด้านสิทธิฯ ในปาเลสไตน์ เฝ้าระวังและร่วมขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ่าวปาตานี ย้ำการแสวงหาทางออกความขัดแย้งในพื้นที่ คู่สงครามต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

10 ธ.ค. 2560 เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่ อาคาร สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดกิจกรรมงานมหกรรมนิทรรศการสิทธิมนุษยชนสากล โดยในงานมีการอภิปรายจากผู้ร่วมที่หลากหลายทั้งในแง่มุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ 1. สถานการณ์สิทธิภายใต้กฏหมายพิเศษ จาก ศูนย์ทนายความมุสลิม 2. ว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน การกระทำอื่นๆที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม จาก กลุ่มด้วยใจ 3. สถานการณ์สิทธิเด็กในปาตานี จาก Nusantara  4. สิทธิสตรีในบริบทความขัดเเย้ง จาก Perwani และ 5. สิทธิทางทรัพยากรเเละสิ่งเเวดล้อม จาก ผู้ประสานงานปัตตานี-สงขลา

ในกิจกรรมดังกล่าวยังมีเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ Respect-Right-Dignity of PATANI โดยวิทยากรมีดังนี้ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สุไฮมิง ดูละสะ รองผู้อำนวยการสถาบันปาตานี และ อาฟิส ยะโกะ ประธานสหพันธนิสิตนักศึกษานักเรียนเเละเยาวชนปาตานี PerMAS  เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1. ขอเรียกร้องให้เราประชาชนทุกคนเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนทุกชนชาติ โดยเฉพาะกรณี สิทธิความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชนชาติปาเลสไตน์ 2. ขอให้เราประชาชนทุกคนเฝ้าระวังและร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกรณี โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ่าวปาตานี มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสามารถยุติการสร้างโรงฟ้าฟ้าถ่านหิน ที่ถูกผลักดันด้วยอำนาจเผด็จการที่ไม่สนใจสิทธิและเสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ และ 3. ในกรณีการแสวงหาทางออกความขัดแย้งทางเมืองเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีนั้น ทาง PerMAS เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ด้วยสิทธิเสรีภาพในการกำหนดการปกครองของตนเองเท่านั้นที่จะสามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ได้ และขอเรียกร้องให้คู่สงครามเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี วันสิทธิมนุษยชนสากล

ด้วยวันที่ 10 ของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล "International Human right Day" ซึ่งในปีนี้เนื่องด้วยโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล ทางสหประชาชาติได้รณรงค์เชิญชวนให้ ทุกชาติทุกรัฐให้คุณค่าและความสำคัญต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยสถานะความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนล้วนเกิดมาด้วยอิสรภาพ  ความเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี แต่ด้วยอำนาจนิยม การล่าอาณานิคม โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน สิทธิของชนชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้งจนนำมาสู่การใช้อาวุธในการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของชนชั้นที่ถูกกดขี่

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสันติภาพปาตานี ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยพลังการขับเคลื่อนของประชาชนทุกคนจะสามารถเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เป็นคุณค่าร่วมที่สำคัญของเราทุกคน

ในโอกาสนี้ทาง PerMAS ขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.         ขอเรียกร้องให้เราประชาชนทุกคนเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนทุกชนชาติ โดยเฉพาะกรณี สิทธิความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชนชาติปาเลสไตน์

2.         ขอให้เราประชาชนทุกคนเฝ้าระวังและร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกรณี โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ่าวปาตานี มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสามารถยุติการสร้างโรงฟ้าฟ้าถ่านหิน ที่ถูกผลักดันด้วยอำนาจเผด็จการที่ไม่สนใจสิทธิและเสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่

3.         ในกรณีการแสวงหาทางออกความขัดแย้งทางเมืองเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีนั้น ทาง PerMAS เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ด้วยสิทธิเสรีภาพในการกำหนดการปกครองของตนเองเท่านั้นที่จะสามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ได้  และขอเรียกร้องให้คู่สงครามเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย

สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี

10 ธันวาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระวังจะเดือดร้อน! ทหารขู่เจ้าของสถานที่ไม่ให้หมอลำแบ็งค์จัดงาน ทีมงานยืนยันจัดต่อที่อื่น

Posted: 10 Dec 2017 08:38 AM PST

ชายแต่งกายคล้ายทหารขู่เจ้าของร้าน Zab Station ย่านซอยเสือใหญ่  ให้ยกเลิกการให้พื้นที่กลุ่ม แฟร์ลี่เทล จัดการแสดงหมอลำบักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง ขณะที่ทางคณะผู้จัดยืนยันจัดต่อแต่จะแจ้งสถานที่จัดงานต่อผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

จากกำหนดการจัดกิจกรรม "FAIRLY TELL FOUNDING and THE หมอลำ ม่วนคัก คอนเสิร์ต" ซึ่งเป็นการแสดงของ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือในชื่อการแสดงว่า หมอลำบักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา (แบงค์) อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560 นั้น ล่าสุด ชุติมา จินตกเวช ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มผู้จัดงานได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้จัดการร้าน Zab Station ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ใช้จัดงานได้โทรศัพท์มาแจ้งกับทางกลุ่มว่า  ขอยกเลิกการให้ใช้พื้นที่ของร้านในการจัดกิจกรรม เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาและเกิดผลกระทบกับทางร้าน เนื่องจากในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 20.00 น. ได้มีชายแต่งกายคล้ายทหารจำนวน 3 คน ทำทีว่ามาสั่งอาหารที่ร้าน แล้วจึงเรียกผู้จัดการมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานแสดงดังกล่าว และกล่าวว่าให้ระวัง อาจจะใช้อำนาจตาม ม.44 ถ้าไม่อยากมีปัญหาให้บอกยกเลิกการให้พื้นที่จัดงานกับคณะผู้จัด'งาน  "ระวังจะเดือดร้อน!" หัวหน้าชุดกล่าวสำทับ

ชุติมากล่าวว่า หลังจากได้ประชุมหารือกับทางกลุ่ม FAIRLY TELL ซึ่งเป็นคณะผู้จัดงานแล้ว พวกเรามีมติยืนยันที่จะจัดต่อไป เพื่อที่จะเป็นการบอกว่า "หมอลำ" คืองานศิลปะวัฒนธรรมแขนงหนึ่งที่ขับเคลืีอนสังคมให้มุ่งไปข้างหน้า และกิจกรรมที่เราทำเป็นการทำเพื่อแสดงสะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมในทัศนะของศิลปินผ่านศิลปะพื้นบ้านภาคอีสาน  เราเชื่อว่ามันคือสิ่งดีงาม เหตุผลที่เรายืนยันจะจัดก็คือเราต้องการยืนยันความเชื่อของเราว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะผู้จัดงานกล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้ทางทีมผู้จัดกำลังติดต่อสถานที่จัดงานแห่งใหม่ และจะแจ้งให้ผู้ที่ซื้อบัตรเท่านั้นให้ได้ทราบเพื่อตัดปัญหาการรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ตัวอย่างการแสดงของ แบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้มที่จะแสดงในงาน ภาพวิดีโอโดย Way Magazine

หมอลำเคยปลอบประโลมความว้าเหว่ของคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หมอลำเคยเป็นกระบอกเสียงในการต่อต้านการกดขี่จากส่วนกลาง หมอลำเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านคอมมิวนิสต์ในทศวรรษที่ 2510 หมอลำเป็นความทรงจำให้แรงงานเกษตร (ตกงาน) ที่เข้ามาทำงานในเมือง เตือนให้พวกเขาไม่ลืมว่าที่บ้านมีใครรออยู่ แน่นอนว่าหมอลำมีความเป็นการเมือง และแน่นอนที่สุด ตัวโน้ตในหมอลำมักเศร้าเสมอ

ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำจากเมืองหมอแคน ได้แต่งกลอนลำที่ชื่อ 'ลาวแพน' (new version) ขึ้นระหว่างถูกจองจำในที่คุมขัง ด้วยคดี 112 จากการที่เขาเล่นละครเวทีเรื่อง 'เจ้าสาวหมาป่า'

วันนี้เขาได้รับอิสรภาพแล้ว เรื่องราวและความรู้สึกในกลอนลำบทนี้บอกสภาพการเป็นอยู่และความรู้สึกของหมอลำผู้เพิ่งได้ออกมาเดินสายลำกลอนได้เป็นอย่างดี

คณะหมอลำ WAY ขอจูงมืออันสูงเกียรติของท่านไปสัมผัสกับกลอนลำบทนี้ - หมอลำ is now_

Way Magazine

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งคำถามประยุทธ์ 6 ข้อ เดินรำลึกรัฐธรรมนูญ-สิทธิมนุษยชนที่หายไป

Posted: 10 Dec 2017 06:04 AM PST

ตำรวจคุมเข้มกิจกรรมเดินรำลึกรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. - พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพอ่านคำถาม 6 ข้อถึงหัวหน้า คสช. น้องเกี่ยวก้อยจะสร้างความปรองดองได้จริงหรือ - มองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติหรือไม่ - 3 ปีกว่าที่ถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร มาวันนี้ ท่านคิดถึงประชาธิปไตยหรือไม่? ฯลฯ

10 ธ.ค. 2560 หลังกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญซึ่งจัดโดยกลุ่ม Third Way Thailand ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ต่อมาตั้งแต่เวลา 16.50 น. กลุ่มประชาชนได้รวมตัวที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินเท้าไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจุดเทียนรำลึกแสดงความคิดถึงรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน ที่หายไปนานหลังรัฐประหาร คสช. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอย่างใกล้ชิด

โดยหลังจากผู้ชุมนุมเดินเท้ามาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาในเวลา 17.45 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ตัวแทนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม ได้ตั้งคำถาม 6 ข้อ ถึง พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ท่านคิดว่า "น้องเกี่ยวก้อย" สามารถสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่ ถ้าอยากให้เกิดความปรองดองควรมีแนวทางเช่นไร

2. สิ่งที่รัฐบาลนี้ และคสช. ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

3. รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่

4. ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ว่าจะนำประเทศเราไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแท้จริงหรือไม่

5. ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลใดได้มากกว่ากัน ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหารเพราะเหตุใด

6. ตลอดเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมาเราถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร มาวันนี้ ท่านคิดถึงประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #187 ฝันถึงวันที่โลกมีเสรีภาพ

Posted: 10 Dec 2017 05:37 AM PST

เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี พูดคุยถึงคำว่า "เสรีภาพ" ถ้อยคำที่สร้างแรงบันดาลใจของการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ เช่น คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเพื่อแยกตัวจากอังกฤษ การเรียกร้องเอกราชและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ฯลฯ

โดยนิยามของคำว่า "เสรีภาพ" มีหลายระดับ ตั้งแต่เสรีภาพที่ไม่มีอุปสรรคกีดขวาง เสรีภาพที่มนุษย์สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และเสรีภาพที่ปราศจากการครอบงำ จริงอยู่ที่ว่าบางสังคมเหมือนผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เอาเข้าจริงเป็นเพียงการทำได้เฉพาะสิ่งที่รัฐรับรองว่าทำได้ แต่เมื่อผู้คนออกมาแสดงความเรียกร้องต้องการ ขอมีส่วนร่วมในการปกครอง รัฐก็อาจจะห้ามการแสดงความเรียกร้องต้องการเหล่านั้น รวมทั้งยึดเสรีภาพไปก็ได้ เสรีภาพในที่นี้จึงเป็นเพียงเสรีภาพชั่วคราวเพราะประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง และไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระบวนการออกกฎหมายมาแต่ต้น

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai 
หรือลงทะเบียนรับชมที่ 
https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รัฐธรรมนูญน้ำตา

Posted: 10 Dec 2017 04:53 AM PST

ธรรมนูญแห่งรัฐ
เธอถูกจัดว่าสูงค่ากว่าสิ่งไหน
คือบรรทัดฐานการช่วงใช้
อำนาจอธิปไตยเพื่อปวงประชา

แปดสิบห้าปีที่ผันผ่าน
ยิ่งนานเธอยิ่งน้อยเนื้อต่ำหน้า
คนถือปืนจับมือกับคนถือปากกา
กี่คราเขาก็เข้าชำเราเธอ

ธรรมนูญที่รัก
เธอถูกสลักร่องรอยยามผลอยเผลอ
ระทวยซมซบหมอนนอนละเมอ
ระหว่างที่เธอถูกย่ำยี

แปดสิบหกปีที่ใกล้ผ่าน
ฉันรู้เธอทรมานอยู่ทุกวันวี่
ปืนและปากกาคู่นั้นคู่นี้
ทำลายเกียรติเธอไม่มีดี ! ขยี้ยับ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: วันหยุดของผองเรา

Posted: 10 Dec 2017 04:48 AM PST

 

วาระอะไรถึงให้รำลึก     ใครจะนึกนักหนาว่ายุคสมัย

ว่าอำนาจแห่งนกกระจิบอธิปไตย     มีอะไรให้นึกถึงลึกซึ้งกัน


ก็แค่โต๊ะถูกล้มแล้วไม่แคล้วตั้ง     ผองพลังที่นั่งอยู่กรูผลุนผลัน

อำนาจนั่งเก้าอี้จองของชนชั้น     ล้อมโต๊ะพลันฉันเธอเผยอไย


ได้วันนี้ที่ได้หยุดงานผ่านอีกวัน........ประเทศฉันและเธอเออดีใช่

วันรัฐธรรมนูญคูณด้วยเลขอะไร     มายังไง พ.ศ.เท่าไหร่ให้ตรึกตรอง


ชนชั้นใดร่างกฎหมายก่ายกองแล้ว     คงไม่แคล้วแนวอย่างทางเจ้าของ

นั่งรถเก๋งไม่หวังถอยหลังเข้าคลอง     ชวนพี่น้องชาวไร่ชาวนาพาไปด้วยกัน


รัฐธรรมนูญฉบับล่าผ่านประชามติ     แน่นอนสิมิใช่ทิชชู่ดูมุ่งมั่น

ถ้ามีใครฉีกทิชชู่ก็รู้พลัน     สารพันที่ทิชชู่ที่คู่ควร


                                                                  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยอย่ากลัวเทคโนโลยีใหม่ในตลาดแรงงาน

Posted: 10 Dec 2017 02:46 AM PST

คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ไม่จำเป็นต้องกังวลผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงานมากเกินไป หากเตรียมตัวรับมือให้ดีจะเป็น 'โอกาส' มากกว่า 'ความเสี่ยง' หากนำเทคโนโลยีอัตโนมัติสร้างความมั่งคั่งและทำให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น และมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ตำแหน่งงานใหม่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นจากการการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม

 

 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพประชาไท) 
 
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ ได้มีการจัดการสัมมนาทางวิชาการตลาดแรงงานและโอกาสมีงานทำในอนาคต  ซึ่งจัดโดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้บรรยายเรื่อง 'ผลของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อัตโนมัติต่อตลาดแรงงาน ภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจ' โดยระบุว่ามีการวิจัยระบุว่า คนจะตกงานจำนวนมากจากหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ต้องมาทำงานแทนที่ โดยเฉพาะในรายงานของ "สำนักวิจัย แมคคินซีย์ โกลเบิล" ระบุว่าจะมีคนมากกว่า 800 ล้านคนตำทั่วโลกต้องสูญเสียตำแหน่งงานให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติระหว่างปี ค.ศ. 2016-2030 หรือคิดเป็นผลกระทบต่อคนประมาณ 1 ใน 5 ของตลาดแรงงาน เนื่องจากถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ และ แรงงานจำเป็นต้องไปฝึกทักษะใหม่ๆเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น หรือ งานที่เกี่ยวพันกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันจะได้ผลกระทบน้อยกว่า นอกจากนี้งานบางประเภทที่ต้องใช้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ยังไม่สามารถถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ แต่การนำระบบหุ่นยนต์มาใช้ในระบบเศรษฐกิจอาจกดดันให้ค่าแรงลดลงโดยเฉลี่ย 0.5% เป็นอย่างน้อย 
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าทางด้านองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าในสองทศวรรษข้างหน้า ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตำแหน่งงาน การจ้างงานและกิจการต่างๆในประเทศไทย ไอแอลโอประมาณว่าร้อยละ 44 ของการจ้างงาน (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) ในไทยเผชิญความสูงที่ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พนักงานเคาเตอร์และพนักงานตามเครือข่ายสาขาต่าง ๆ (ซึ่งเครือข่ายสาขาอาจปิดลงจากการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ)
 
แรงงานทั่วโลก รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสนใจในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนรับมือกับภาวะดังกล่าว ต้องมีการออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นธรรม สร้างระบบแรงงาน ตลาดแรงงานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของนวัตกรรม เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกับที่โลกเคยเชิญมาแล้วในช่วงปฏิวัติ (อภิวัฒน์) อุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องเรื่อยมา เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรม 1.0 จนถึง อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็วของความเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of things) กำลังปรับโฉมหน้าทุนนิยมโลกาภิวัฒน์รอบใหม่ พลิกโฉมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบบการผลิต ระบบห่วงโซ่อุปทาน และการตลาดและการเข้าถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อระบบแรงงานตลาดแรงงาน มาตรฐานแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติของเครื่องจักร สมองกลอัจฉริยะที่สามารถมาทำหน้าที่และทำงานแทนคนจำนวนมาก ด้วยความแม่นยำที่มากกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่า 
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงต้องเร่งส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่สามารถเป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้ในตลาดแรงงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ต้องทำงานกับระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำงานกับหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ ระบบเสมือนจริง และระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป 
 
เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้น  ต้องทำให้ "มนุษย์" ทำงานร่วมกับ "หุ่นยนต์" และ "สมองกลอัจฉริยะ" ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้ 
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าต้องปรับตัวสู่การทำงานและการผลิตที่ใช้ Capital Intensive and Knowledge Intensive Investment การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งโจทย์ว่า ประเทศต้องการคนแบบใดในอนาคต ระบบการศึกษาต้องผลิตคนแบบนั้น 
ในหนังสือเล่มชื่อ A Visionary Nation – Four Centuries of American Dreams&What Lies Ahead โดย Zachary Karabell ได้ข้อสรุปว่า การที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจ เจริญรุ่งเรืองทั้งที่เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อ 200 กว่าปีมานี่เอง เพราะ เสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ และ การประกอบการ รวมทั้ง ความสามารถในการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาค ทำให้ ผู้คนที่มีความรู้ความสามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่ การศึกษาวิจัยและนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้และเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแห่งเสรีภาพทางวิชาการ 
 
สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมอุดมปัญญา มีงานวิจัย งานประดิษฐ์และนวัตกรรมมากมายเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา จึงมีระบบเศรษฐกิจแบบฐานความรู้มากกว่าประเทศใดๆ เวลานี้ มีเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่เดินหน้าพัฒนาตัวเองสู่ ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (KNOWLEDGE-BASED ECONOMY) ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่การผลิตและการแพร่กระจายสินค้าและบริการ อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อสร้างความเติบโต ความมั่งคั่งและสร้างงานในทุกภาคเศรษฐกิจ ความรู้และนวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยหลัก ในการพัฒนามากกว่าเงินทุนและแรงงาน ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานความรู้ และทำให้องค์กรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่
 
ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม คือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนด้านการศึกษา การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การลงทุนทางด้านข้อมูลสารสนเทศ การสื่อสารโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกัน นวัตกรรมในกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน ความก้าวหน้าเรื่องระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ นวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลต่อตลาดแรงงาน และผมเห็นว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะต้องการแรงงานที่มีความรู้สูงขึ้นและมีคุณวุฒิสูงขึ้น งานของแรงงานทักษะต่ำหรือไร้ทักษะจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์มากกว่า แรงงานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือค่าจ้างสูงกว่าต้นทุนการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จะมีความเสี่ยงในการสูญเสียตำแหน่งงานมากกว่า แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ 
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า Richard Murnance และ Frank Levy นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนหนังสือเรื่อง The New Division of Labour (2004) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า งานบางอย่างจะหาย งานบางอย่างจะเพิ่มขึ้น และ จะมีแบ่งงานทำกันใหม่ งานที่มีลักษณะทำซ้ำๆ ใช้กำลังกาย มีลักษณะเป็นกิจวัตร เป็น Routine Manual จะถูกแทนที่โดย เทคโนโลยีอัตโนมัติ เช่น งานประกอบชิ้นส่วนในสายการผลิต กำลังแรงงานบางส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจะถูกปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ งานบันทึกข้อมูล ตลาดแรงงานของงานกลุ่มนี้จะหดตัวลงเรื่อยๆ ขณะที่ ตำแหน่งงานใหม่ๆจะขยายตัวในงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ และ งานที่ยุ่งยากในการเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้จะยังขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดิเรกเสวนา: เปิดพื้นที่ (ใหม่) ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองของประชาชน [วิดีโอ]

Posted: 10 Dec 2017 02:19 AM PST

วิดีโอจากงานดิเรกเสวนา "เปิดพื้นที่ (ใหม่) ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองของประชาชน" 8 ธันวาคม 2560 ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นำเสนอโดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

จัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื่องในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ "การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือ ของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

ช่วงการอภิปรายของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การนำเสนอของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล

การนำเสนอของสมชัย ภัทรธนานันท์

การนำเสนอของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น และช่วงถาม-ตอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทรนด์ใหม่ ผู้หญิงในจีนเสี่ยงถูก ‘เลิกจ้าง’ หาก ‘ตั้งครรภ์’

Posted: 10 Dec 2017 02:17 AM PST

แม้ก่อนหน้านี้จีนได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการจ้างงานสำหรับคุณแม่มือใหม่ แต่พบว่าปัจจุบันบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในจีนนิยม 'ลดเงินเดือน-เลิกจ้าง' พนักงานหญิงระหว่างตั้งครรภ์ ลาคลอด หรือช่วงเวลาการเลี้ยงบุตรมากขึ้น

ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/pedroserapio (CC0 Creative Commons)

10 ธ.ค. 2560 แม้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจีนได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองการจ้างงานคุณแม่มือใหม่ โดยห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกสัญญาหรือลดเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานที่ต้องการใช้เวลาในการแต่งงานและมีบุตร โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยระหว่างการลาคลอดบุตรซึ่งแตกต่างกันไปตามเงินเดือนและวันลาคลอด ซึ่งตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อยู่ที่ 98 วัน แต่รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในจีนให้มากกว่านั้น โดยกำหนดไว้ถึง 128 วัน เลยทีเดียว

แต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานหญิงโดยเฉพาะเมื่อนายจ้างรู้ว่าพวกเธอตั้งครรภ์ ข้อมูลจากสหพันธ์สตรีจีน (All-China Women's Federation) ระบุว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ามีพนักงานหญิง 1,273 รายที่ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการแรงงานในเขต Dongcheng ของกรุงปักกิ่ง โดยคำร้องของพวกเธอเกี่ยวข้องกับการได้รับค่าจ้างต่ำหรือถูกเลิกจ้างในระหว่างตั้งครรภ์ ลาคลอด หรือช่วงเวลาการเลี้ยงบุตร

แม้ในทางทฤษฎี จีนจะได้รับคะแนนในระดับนานาชาติที่สูงมากในการพิจารณาข้อบังคับว่าด้วยการคลอดบุตรของ ILO แต่ในทางปฏิบัติแล้วพบว่านายจ้างชาวจีนบางรายมักจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายของตน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพที่เปิดดำเนินการใหม่ที่ต้องการประหยัดงบด้านการจ้างงาน

จากการสำรวจผู้หญิงจาก 10,000 ครอบครัวเมื่อต้นปีนี้โดยสหพันธ์สตรีจีน พบว่ามีผู้หญิงถึงร้อยละ 54.7 ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานและแผนการมีบุตรของพวกเธอในระหว่างการสัมภาษณ์งาน ผู้หญิงร้อยละ 12.5 ระบุว่าพวกเธอถูกเลิกจ้างไม่นานก่อนที่จะได้ดำเนินการตามแผนที่จะมีบุตร

พนักงานหญิงบางส่วนจึงต้องซ่อนแผนการมีครอบครัวของพวกเธอไว้เพื่อรักษาตำแหน่งงาน บางกรณีถึงกับปกปิดการตั้งครรภ์ไม่ให้นายจ้างและฝ่ายบุคคลรู้

ศาสตราจารย์หลี่ หมิงชุน จากมหาวิทยาลัยสตรีแห่งประเทศจีน (China Women's University) ระบุว่าอาจมีการปะทะกันระหว่างผลประโยชน์ของนายจ้างและสิทธิการจ้างงานพนักงานหญิง ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับปรุงระบบการปกป้องพนักงานที่ตั้งครรภ์ "ค่าใช้จ่ายของผู้หญิงที่ลาคลอดควรเป็นความรับผิดชอบของสังคมโดยรวมไม่ใช่บริษัทเอกชนอย่างเดียว" ศาสตราจารย์หลี่ ระบุ

 

ที่มาเรียบเรียงบางส่วนจาก

For Chinese Women, Getting Pregnant Can Be a Fireable Offense  (โดย Ni Dandan, sixthtone.com, 24/11/2017)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้เก็บภาษีโครงการ 'ก้าวคนละก้าว' และข่าวลือ 'ประยุทธ์' บริจาค 20 บาท ไม่เป็นความจริง

Posted: 10 Dec 2017 12:47 AM PST

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้กรณีการแชร์ข้อมูลออนไลน์ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีจากเงินที่ได้รับบริจาคทั้งหมดในโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลของรัฐ 7% และกระแสข่าว 'ประยุทธ์' ร่วมบริจาคเงินสมทบโครงการฯ  20 บาท ไม่เป็นความจริง 

 
 

 
 
10 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลกันในสื่อออนไลน์ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีจากเงินที่ได้รับบริจาคทั้งหมดในโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลของรัฐในอัตราร้อยละ 7 และนำไปปรับปรุงสถานีตำรวจในประเทศไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งใช้จัดหากล้องวงจรปิดและยานพาหนะของทางราชการว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยไม่แน่ใจว่าผู้ที่สร้างข่าวนี้ขึ้นมาต้องการอะไร แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายในลักษณะเช่นนี้ มีแต่สนับสนุนให้นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม และทีมงานทำโครงการที่ตั้งใจให้สำเร็จ ทั้งการมอบกำลังใจและสมทบเงินบริจาคด้วย
 
พลโท สรรเสริญ  ยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมบริจาคเงินสมทบโครงการฯ เป็นจำนวนเงิน 20 บาท ว่าไม่เป็นความจริง ส่วนจะบริจาคเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้สังคมนำไปเป็นประเด็นถกเถียงกัน เพราะการบริจาคเป็นเรื่องของจิตใจและความรู้สึกของแต่ละคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบาย ‘ปากว่า ตาขยิบ’ บทเรียน-ทางออก ก.ม. คุมธุรกิจต่างด้าว (จบ)

Posted: 10 Dec 2017 12:30 AM PST

 


บทความตอนที่แล้ว นโยบาย 'ปากว่า ตาขยิบ' บทเรียนและทางออก ก.ม. คุมธุรกิจของต่างด้าว (1)ได้กล่าวถึงสาระสำคัญ 2 ประการใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คือ การกำหนดนิยามของบริษัทต่างด้าว และการกำหนดประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ รวมทั้งปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่บทความในครั้งนี้ที่จะกล่าวถึงกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในต่างประเทศ และแนวทางการดำเนินการในการปรับปรุงกฎหมายฯ ของประเทศไทย

จากการศึกษาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ส่วนมากจะไม่มีกฎหมายแม่บท ที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในการประกอบธุรกิจใดๆ แต่จะมีกฎหมายเฉพาะในรายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือ เศรษฐกิจของชาติ ที่อาจมีบทบัญญัติที่จำกัดหุ้นส่วนต่างชาติ

นอกจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าวแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วมักมีกฎหมาย ที่ให้อำนาจรัฐในการกลั่นกรองการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามา ซื้อกิจการในประเทศ (mergers and acquisition) เช่น Exon-Florio Amendment ปี ค.ศ. 1975 ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐ ในการยับยั้งการเข้ามาซื้อกิจการในประเทศของบริษัทต่างชาติด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ที่ผ่านมา ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวในการปฏิเสธการลงทุนของจีน ในการเข้ามาซื้อกิจการ เช่น ในกรณีที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศจีน CNOOC ต้องการเข้ามาซื้อ Unocal ในปี ค.ศ. 2005 เป็นต้น

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีการกำหนดสาขาธุรกิจที่จำกัดหุ้นส่วนคนต่างด้าวที่ชัดเจนไม่มีการกำหนดประเภทของธุรกิจแบบ "เหวี่ยงแห" แบบเรา รวมทั้งมีระบบ ในการทบทวนรายชื่อธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเพื่อให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

หากประเทศไทยต้องการที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ผู้เขียน เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "ปลดล็อก" ข้อจำกัดในการลงทุนของคน ต่างด้าวในภาคบริการแบบเหมาเข่งที่มีอยู่ โดยปรับบัญชี 3 ประเภทของธุรกิจ ที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ (บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.) โดยมี ขั้นตอนในการดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. ปลดรายการที่ปรากฏใน บัญชี 3(21) ที่ระบุให้ "บริการอื่นๆ"เป็นธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการ ซึ่งจะทำให้กลายเป็น negative list ที่ระบุชื่อสาขาบริการที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน โดยกำหนด ระยะเวลาในการบังคับใช้หลังจากมีการแก้ไขกฎหมายประมาณ 1 ปี

2. ในช่วงเวลา 1 ปีก่อนที่จะปลดข้อจำกัดการลงทุนในภาคบริการ ให้มีการ ประกาศให้ ธุรกิจบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจาก ต่างประเทศ เข้ามายื่นเหตุผลและความจำเป็นที่ยังต้องการความคุ้มครอง ต่อไป แก่คณะกรรมการการประกอบกิจการของคนต่างด้าวเพื่อให้รายชื่อ ธุรกิจที่อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันจากต่างชาติครบถ้วน

3. เพิ่มกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของรายชื่อธุรกิจ เหล่านั้น โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินผลประโยชน์และ ต้นทุนต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณชน

4. เมื่อกระบวนการทบทวนความเหมาะสมของสาขาธุรกิจที่ควรได้รับ การคุ้มครองจบสิ้นลงแล้ว จึงจะเริ่มการปรับปรุงนิยามของบริษัทต่างด้าวให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยอาจเพิ่มตัวแปรที่ใช้ในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคล

ขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้การกำกับควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าว มีความกระชับ และยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะสามารถกำหนดสาขาธุรกิจบริการที่ต้องการเปิดหรือปิดได้ตามนโยบายการดึงดูดการลงทุนต่างชาติของรัฐบาลและตามความต้องการของเศรษฐกิจไทย

ในขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจที่เราไม่ต้องการทุนต่างด้าว เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการพนัน ธุรกิจบันเทิงที่ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดี ฯลฯ หรือ ธุรกิจที่เรายังไม่พร้อมแข่งขัน (ซึ่งควรมีกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองที่ชัดเจน) เราก็จะสามารถกำกับควบคุมได้อย่างรัดกุม

เมื่อมีการปรับบัญชี 3 เรียบร้อยแล้ว จึงควรที่จะพิจารณาปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้รัดกุมมากขึ้น โดยพิจารณาสัญชาติจากตัวแปร อื่นๆ ด้วย เช่น การถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัทโฮลดิ้ง การถือหุ้นที่มีสิทธิ ออกเสียง สัญชาติของผู้มีอำนาจในการลงนามผูกพันนิติบุคคล เป็นต้น

สุดท้าย เราควรตระหนักว่า กฎหมายการลงทุนที่ดี คือ กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจจริง และ มีความชัดเจนและตรงไปตรงมา มิใช่กฎหมายที่เขียนมาเมื่อ 45 ปีก่อน ซึ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจต้องแอบแฝงในร่างของธุรกิจสัญชาติไทย

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2560 
ที่มา: tdri.or.th/2017/12/the-amendment-on-foreign-business-act-2/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (1)

Posted: 10 Dec 2017 12:18 AM PST

 

กรณีแคมเปญก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม ที่ต้องการระดมทุน 700 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลรัฐก่อให้เกิดกระแสดราม่ามากมาย

ประชาชนส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนแคมเปญนี้ ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย

แม้เจตนาของการระดมทุนนี้เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเงิน แต่เราต้องมองให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นสาเหตุของการขาดแคลนเงินของโรงพยาบาล

ปัญหาการขาดแคลนเงินของหน่วยงานรัฐเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การหารายได้, การจัดสรรงบประมาณ และการทุจริต

1. การหารายได้: แต่ละปีรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีจากประชาชน ขณะที่รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่นำส่งรายได้ให้รัฐ หลายคนอาจสงสัย แต่ละปีเราจัดเก็บรายได้เท่าไร่ ?

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังแสดงให้เห็นถึงการจัดเก็บรายได้ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559-กันยายน พ.ศ. 2560 กว่า 2.35 ล้านล้านบาท

รายได้เหล่านี้มาจากกรมสรรพากรกว่า 1.79 ล้านล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กว่า 742,199 ล้านบาท

- ภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 625,978 ล้านบาท

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากว่า 314,892 ล้านบาท

ปัจจุบันกระทรวงการคลังใช้วิธีสุ่มตรวจการเสียภาษีเป็นรายกรณี เนื่องจากไทยขาดเทคโนโลยีระดับสูงที่จะตรวจสอบการเสียภาษี ส่งผลให้เกิดการเลี่ยงภาษีจำนวนมาก เช่น การออกใบกำกับภาษีปลอม และการตกแต่งบัญชี

หากรัฐลงทุนในเทคโนโลยีตรวจสอบภาษีระดับสูงจะช่วยให้กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บภาษีมากขึ้น นี่คือวิธีการแก้ปัญหาเพื่อหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ขณะที่รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ให้รัฐกว่า 162,265 ล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายรัฐวิสาหกิจปรากฎว่ามีเพียงกว่า 10 แห่งจาก 55 แห่งที่นำส่งรายได้ให้รัฐ

หลายรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทย, ทีโอที และการรถไฟแห่งประเทศไทย ประสบภาวะขาดทุนมหาศาลในแต่ละปี สร้างภาระให้กับงบประมาณรัฐจำนวนมาก

การขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การขาดความสามารถในแข่งขันกับเอกชน และการทุจริตในองค์กร

หากรัฐแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้กับเอกชน โดยรัฐถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าจะช่วยให้เอกชนมีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ขณะที่รัฐมีภาระการอุดหนุนน้อยลง

เมื่อรายได้ของรัฐมากขึ้น การอุดหนุนลดลง รัฐก็จะสามารถจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่จำเป็นมากขึ้น



เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค เอกชัย หงส์กังวาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ที่ต้อง "รอไปก่อน" นับร้อยกว่าปี

Posted: 10 Dec 2017 12:16 AM PST

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 'หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย' ชวนมองวิกฤตลึกลงไปในประวัติศาสตร์การเมืองนับแต่ รัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน พบเรายังวนเวียนอยู่กับคำตอบเดิม ประชาธิปไตยต้อง "รอไปก่อน"

คลิปปาฐกถาหัวข้อ หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

10 ธ.ค. 2560 ที่ห้อง 201 ชั้น 2 อาคารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Third Way Thailand  และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้จัดงานนิทรรศการการเมืองเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยมีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 'หนึ่งร้อยปีวิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองของสยามประเทศไทย' โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

"วิกฤตประชาธิปไตยของเราในปัจจุบัน ถ้าขยายความ เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญ กับวิกฤตของการเลือกตั้ง และผมจะตบท้ายด้วยการดูเรื่องอำนาจกับบารมี คนบางคนมีอำนาจ แต่ไม่มีบารมี บารมีเป็นเรื่องที่ต้องสะสม และอันนี้เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญประเทศของเรา" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ เริ่มต้นด้วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นชวนให้หันกลับไปดูอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะช่วยทำให้เห็นว่าวิกฤตประชาธิปไตย นั้นเป็นเรื่องเดียวกับกับวิกฤตรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และกินระยะเวลาที่ยาวนานนับร้อยปี

เขากล่าวต่อไปว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย เรากำลังอยู่ในช่วง Long History ซึ่งเป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่ยาวกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปี เขาตั้งต้นด้วยย้อนกลับไปดูว่าความคิดเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งปรากฎว่ามีการแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทย โดยหมอบรัดเลย์ แม้ผู้ที่ได้อ่านก็มีเพียงคนไม่กี่คน แต่ก็นับได้ว่า ตั้งแต่จุดนั้นประเทศไทยก็ได้เดินผ่านประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งเรื่อยมา

ชาญวิทย์ ระบุต่อไปว่าจากช่วงรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 มีการขอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในปี ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) โดยเจ้านายกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็เริ่มผลิดอกออกผล โดยมีความพยามยามที่จะชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันนั้นได้มีรัฐธรรมนูญแล้ว แล้วเหตุใดสยามซึ่งมีการปฏิรูปครั้งใหญ่พร้อมๆ กันประเทศญี่ปุนถึงยังไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการเสนอขอให้มีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ขอให้รอไปก่อน"

เขาอธิบายต่อไปว่า หลังจากนั้นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งคนไทยอาจจะลืมไปแล้วคือ กบฎ ร.ศ.130 (2454-2455) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติซุน ยึดเซ็น ที่ประเทศจีน ประมาณหนึ่งปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศญี่ปุ่น การเปลี่ยนในประเทศจีน หรือการแปลงเปลี่ยนในประเทศสหรัฐอเมริกา กระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งอิทธิพลเข้ามาในสยามแล้ว ซึ่่งผู้ปกครองไม่สามารถสร้างกำแพงกั้นได้

"ฉะนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เราก็จะเห็นว่ามันมีความพยายามที่จะยึดอำนาจ ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติในระดับโลกคือ การปฎิวัติในจีน ของซุน ยึดเซ็น และการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง เรื่อยมาเราก็รู้ดีว่าในสมัยราชกาลที่ 6 มีการทดลองเมืองจำลองดุสิตธานี แต่มันก็กลับมาที่คำตอบเดิมคือ รอไปก่อน"

ชาญวิทย์เห็นว่า ปัญหาของวิกฤตรัฐธรรมนูญที่มีมาในระยะเวลายาวนาน เป็นปัญหาระหว่าง "การรอได้" กับ "การรอไม่ได้" หรือพูดอีกอย่างคือ เป็นปัญหาที่ว่าด้วยการปฏิรูปก่อนมีรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิรูปก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังเกิดขึ้นตลอดในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

"ในสองร้อยปีที่ผ่านมา หรือร้อยกว่าปีของไทยก็ตาม มันเป็นเรื่องของยุคในโลกโลกาภิวัตน์ ที่เป็น modern world เป็น modernity ซึ่งจะมีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ฉะนั้นเราจะเห็นว่าสถาบันกษัติรย์ที่มั่นคงและดูจะสถาวร ก็จะมีให้เห็นเช่นอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร และญี่ปุน ซึ่งเขาปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปแล้ว ให้ไปได้กับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง ส่วนประเทศที่ไม่สามารถปฎิรูปสถาบันให้ไปกับสิ่งเหล่านี้ได้ก็ล้มสลายไป เช่นจีน และรัสเซีย"

เขาอธิบายต่อไปว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นโดย คณะราษฎร เขาสรุปว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญในช่วงแรกนั้นกินระยะเวลา 48 ปี นับจากการขอให้มีรัฐธรรมนูญของกลุ่มเจ้านายในปี พ.ศ.2427 (รศ.103) มาจึงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ในวิกฤตรัฐธรรมนูญในช่วงหลังนั้นกินระยะเวลายาวนานจาก พ.ศ.2475 มาจนถึงปัจุบัน

"คณะราษฎรเข้ามากุมอำนาจได้เพียง 10 ปี แต่หลังจากสงครามโลครั้งที่ 2 คณะราษฎรก็แตกสลายด้วยวิกฤตการณ์ที่ใหญ่มากคือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จึงทำให้ผู้นำเก่า อำนาจเก่า บารมีเก่า เงินเก่า และความคิดเก่า สามารถใช้กรณีสวรรคตอ้าง อิง โหนสถาบันกษัตริย์ปราบปรามความคิดและกลุ่มการเมืองประชาธิปไตยให้ราบเรียบไป โดยเริ่มจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ฉะนั้นความคิดที่มันแตกต่างหลากหลาย เช่นประชาธิปไตย เสรีนิยม ก็ถูกขจัดไป"

ชาญวิทย์ ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีสวรรคตคือ ฝ่ายทหาร โดยเฉพาะทหารบก ฝ่ายเจ้า และอำมาตย์ ได้ร่วมมือกันกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และหลังจาก พ.ศ.2490 เป็นต้นมารัฐบาลที่ได้มาจาการเลือกตั้งก็กลายเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ พร้อมกับการสถาปนาสิ่งที่เรียกในวงวิชาการว่า พระราชอำนาจนำ (Royal Hegemony) ขึ้น ซึ่งเด่นชัดในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และเหตุการณ์หลังเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535

ชาญวิทย์ ระบุว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยคือ วัฏจักร วังวน ซึ่งทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร และการร่างรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหากนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2475 จะเห็นว่าการเมืองไทยมีทหารรวมอยู่ด้วยตลอด เพียงแต่การปฏิวัติ 2475 นั้นทหารเลือกอยู่ฝั่งประชาธิปไตย

"ฉะนั้นในอนาคตผมคิดว่า ถ้าเราดูในกรณีของประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ เช่นพม่า อินโดนีเซีย พิลิปปิน มันก็จบด้วยการที่ทหารกลุ่มหนึ่งเล่นเกมส์ประชาธิปไตย ในกรณีของอินโอนีเซีย มันก็มีทหารเข้ามาเป็นส่วนประกอบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงจะนำประชาธิปไตยมาได้"

ชาญวิทย์ ทิ้งทายด้วยว่า วิกฤตการเมืองล่าสุดนับตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมา ได้ทำให้เกิดการรัฐประหาร 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557  ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่านี่คือการเปลี่ยงแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย และเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่สำคัญคือ ช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น คำถามที่สำคัญที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบคือ ทำอย่างไรการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะไม่เกิดความเสียหายที่รุนแรงอย่างกรณีของรัสเซีย จีน หรือกัมพูชา ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเสียหาน้อยที่สุด และกินระยะเวลาสั้นที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น