โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เราหวังว่ามันจะเป็นคอนเสิร์ตของความหวัง: The Fairly Tell Founding and the หมอลำ คอนเสิร์ต

Posted: 04 Dec 2017 09:02 AM PST


 

นี่คือสิ่งที่เราจะอธิบายคอนเสิร์ต The Fairly Tell Founding and the หมอลำ คอนเสิร์ต ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่  16 ธันวาคม 2560 นี้

เป็นเวลากว่า 1 ปี ของการก่อตั้งกลุ่มเล็กๆที่ชื่อ FAIRLY TELL  ซึ่งเกิดขึ้นจากการก่อตั้งของผู้หญิง 3 คน ได้แก่ กอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตนักโทษการเมือง ผู้ไม่เคยอยู่นิ่งๆแม้แต่ตอนอยู่ในคุก แจ่ม ฉัตรสุดา หาญบาง นักกิจกรรมทางสังคมที่มีอาชีพเป็นแม่ค้า และ กิฟท์ กมลชนก มั่นคง คนไทยในต่างแดนที่สนใจในการเยียวยาตนเองและผู้อื่น หลังจากช่วงชีวิตวัยรุ่นผ่านช่วงเวลาผันผวนทางการเมืองจนครอบครัวได้รับผลกระทบ

สิ่งแรกที่ทำขึ้นนามของ FAIRLY TELL คือการเขียนรายงาน ICCPR ชื่อ  Violation of the Rights of Women and Children at the Bangkok Central Women's

Correctional Institution เพื่อหวังว่าจะเป็นบันทึกหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวภายในกรงขังของประเทศไทย จากประสบการณ์ของกอฟ และ เพื่อนๆอดีตนักโทษหญิงในคดีอื่นๆ และต่อมาได้ส่งรายงาน CEWARW

"ไม่มีใครเล่าเรื่องในคุกได้แท้และจริงมากไปกว่าคนที่เคยติดคุก" เตรียมการนี้ถูกตระเตรียมมาตั้งแต่ที่กอฟถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำส่งต่อให้คนรักและเพื่อนอย่างแจ่มเก็บรักษาเอาไว้  เริ่มจากการชักชวนให้เพื่อนๆเห็นถึงความจำเป็นที่คุกจะต้องพัฒนาและเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน จนเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว ก็ได้ทำการติดต่อกับเพื่อนๆที่เคยใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงสูงด้วยกัน หลายต่อหลายคนกลัวที่จะพูดเรื่องคุก กลัวว่าจะมีคนรู้ว่าเคยอยู่ที่นั่น แต่ก็มีบางคนที่พร้อมจะเล่า พร้อมที่จะบันทึก ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนรายงานจึงเกิดขึ้น  โดยที่แต่ละคนในกลุ่มเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะให้ผลอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือไม่ ทั้งยังแทบไม่รู้จักกระบวนการเหล่านี้มาก่อนเลย แม้แต่ตัวของคนริเริ่มเองก็ตาม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ ถือเป็นการร่วมทีมและสร้างสมาชิกกลุ่มในขั้นแรก

แต่การเขียนรายงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและไม่ใช่จุดประสงค์หลักของกลุ่ม "เราจะต้องช่วยเหลือคนที่ออกจากคุกมาแล้ว ให้มีที่ยืน และพึ่งพาตัวเองได้" หลังจากพบว่า กอฟและเพื่อนๆอดีตนักโทษหลายคนต้องเผชิญกับภาวะบอบช้ำในจิตใจ จากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามที่ถูกคุมขัง ทั้งยังมีความเจ็บแค้นที่ก่อสุมอยู่ในหัวใจจากสิ่งที่ตนต้องเผชิญ ความรู้สึกผิดบาป และการถูกทอดทิ้ง จากมิตรและครอบครัวก่อเกิดบาดแผลใหญ่หลวงในใจของพวกเขา

"ทุกคนจะคิดว่า ออกจากคุมาแล้วก็จบกัน หาเงินให้สักก้อนเล็กๆแล้วปล่อยให้พวกเขาออกไปใช้ชีวิต แต่ไม่มีใครจะช่วยรักษาแผลที่ใจให้กับพวกเขา" ความจำเป็นของการเยียวยาที่เริ่มขึ้นจากจุดเล็กๆ ที่ทุกคนต้องเผชิญ คือการรักษาคามหวังและความฝัน ทั้งยังต้องฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพภายในที่สูญเสียให้กับพื้นกระเบื้องเย็นเฉียบหลังลูกกรง ด้วยการชักชวนกันเข้าโปรแกรมพูดคุย , กระบวนการละครเพื่อฟื้นฟูร่างกาย,โยคะ ,ศิลปะบำบัด ควบคู่ไปกับการสื่อสารเรื่องสิทธิที่ถูกจำกัด และการคอรัปชั่นในเรือนจำผ่าน  ลิปสติก ในโปรเจค ส่งความสวยให้สาวหลังกำแพง ร่วมกับเพจความงาม SiswalkSistalk

ส่งเสริมให้สมาชิกกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังกำแพงต่อเวทีสาธารณะ ทั้ง…. ไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารให้ผู้คนรับรู้ แต่คือการฟื้นคืนความมั่นใจที่สูญเสียไปให้แก่พวกเขา ….เพราะเราเชื่อมั่นว่า ถ้าหากพวกเขามีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น พวกเขาก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นๆต่อไป มันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเยียวยา แต่มันหมายรวมถึงการพัฒนาให้ผู้รับกลายเป็นผู้ให้อย่างเต็มภาคภูมิ อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ได้ช่วยบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นม่านลูกกรงแทนเพื่อนๆที่ไม่อาจสื่อสารได้จากข้างใน เพื่อพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ และไม่ต้องเผชิญการกระทำอย่างที่พวกเราเคยผ่านมา

"ถ้าเราเชื่อว่าทุกๆคนที่ถูกกระทำจากความไม่ยุติธรรม และ เกมส์การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของประเทศนี้ ในฐานะเหยื่อได้ เราก็ต้องเชื่อว่าเขา มีศักยภาพมากพอที่จะส่วนหนึ่งในพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน" ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเราทำจากความเชื่อมั่นที่ว่า คุกไม่สามารถพรากเอาความเป็นมนุษย์ไปจากผู้คนได้ แต่การถูกสังคมทอดทิ้งและความสงสารจากโลกข้างนอกต่างหากที่ค่อยๆฆ่าพวกเขา

ในคุกมีข้าวหลวงให้กิน แม้ว่ามันจะไม่ได้ดีนัก มีที่ซุกหัวนอน แต่เมื่อก้าวเดินออกมาจากกำแพง บางคนออกมาไร้ญาติขาดมิตร บางคนไม่มีงานทำ  ผู้คนรอบตัว ผู้คนในประเทศนี้ อยู่ไปโดยไร้ความหวัง … คนที่เสียสละต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยจนสูญเสียอิสรภาพไปแล้ว ยังต้องออกมาพบเจอสิ่งเหล่านี้อีกอย่างนั้นหรือ  ???

"หลายๆครั้งที่เราประสานไปหาใครต่อใครแล้วถูกปฏิเสธ เขาไม่ได้บอกเราตรงๆหรอกว่าเพราะอะไร แต่เราก็พอเดาได้ว่ามันเป็นเพราะว่าในกลุ่มเรามีอดีตนักโทษการเมืองอยู่ มีคนเคยโดน 112 ทำให้พวกเขาไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่ได้คิดว่าการดูแลกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว"

สิ่งที่ทำอย่างดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดมากมายทำให้ทีมได้เรียนรู้ทั้งแง่ดีและเลวร้ายของโลกที่ไม่ใช่เทพนิยาย

กลุ่มเล็กๆที่เริ่มด้วยอดีตนักโทษ 112 และอีก 2 คนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในมุมกว้าง องค์กรใหม่ ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้ หลายต่อหลายคนไม่กล้าแม้แต่จะทักทาย แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้าใจได้ แผนงานของกลุ่มจึงไม่ใช่แผนงานแบบองค์กร NGOs ความเหน็ดเหนื่อยจากการต้องเขียนหลักการและเหตุผลให้สอดคล้องกับแหล่งทุน และการถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พลังของสมาชิกหดหายและกลายเป็นสิ่งตอกย้ำว่า "ไม่มีค่า"  และเพราะความเป็นแม่ค้าที่มีอยู่ในตัวผู้ก่อตั้งกลุ่มทั้งสามคน ทำให้เราแสวงหาความมั่นคงและยั่งยืนในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนของบประมาณจากองค์กรต่างๆ เท่านั้น

สมาชิกทุกคนของเรามีอาชีพเป็นของตัวเอง ไม่ได้รับเงินเดือนจากกลุ่ม แต่ช่วยกันหาเงินเข้ากลุ่ม ตามศักยภาพของตัวเอง เพื่อไม่ให้การทำกิจกรรมบั่นทอนชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไป

การจ้างงานและการผลิตสินค้าของกลุ่ม การสร้างแผนงานธุรกิจขนาดตลาดนัดจึงถูกทดลองนำมาใช้ แต่ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่กลุ่มตั้งไว้ จึงต้องพัฒนาและทดลองในขั้นต่อไป เพื่อที่จะรองรับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษหญิง "เพื่อที่เราจะเป็นทางเลือกให้กับผู้คนต่อไป ได้ โดยที่ตัวเราเองต้องไม่เดือดร้อนไปด้วย เราต้องให้พวกเขาเริ่มต้นได้ ยืนได้ด้วยตัวเอง แล้วต่อไปเขาก็จะได้ช่วยคนอื่นๆต่อๆไป พวกเราก็จะได้วางมือได้"  ใช่แล้ว กลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะส่งต่อให้กับคนอื่นๆต่อไป

เมื่อพูดถึงนักโทษ ผู้คนอาจจะคิดว่าพวกเขาจะต้องทนทุกข์ ลำบาก หดหู่และสิ้นหวัง แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเราอยู่ในคุก เรามีความหวังถึงเช้าวันใหม่ในทุกๆวัน เราหวังกันแทบทุกนาที เราหวังว่า เมื่อเราพ้นโทษออกมาแล้ว ประเทศนี้จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็เปล่าเลย ทุกสิ่งยังคงเป็นเช่นเดิม หรือ เลวร้ายลงกว่าเดิม

การจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอดีตนักโทษการเมือง และเพื่อจะให้กลุ่มเองได้สรุปบทเรียนและความเป็นไปได้ของการทำงานในอนาคต "ถ้าไม่มีคนมา ขาดทุน ก็คือล้มเหลว เราก็แค่หาวิธีการใหม่ แต่ถ้ามีคนมา ได้ตามเป้า ก็แปลว่าประสบความสำเร็จ เราไม่สามารถบอกให้ทุกๆคนเห็นพ้องต้องกันกับเราได้ แต่เรานำเสนอได้ ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของคนซื้อบัตร " นี่คือวิธีการวัดผลง่ายๆสำหรับการจัดงานใหญ่ที่สุดเท่าที่กลุ่มเคยจัดมาในครั้งนี้

การจัดคอนเสิร์ตหมอลำในพื้นที่กรุงเทพนั้นถือว่ามีความเสี่ยงในระดับหนึ่งที่จะขาดทุน แต่เราก็พร้อมที่จะลองดู กับแบงค์   ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม อดีตนักโทษ 112 ผู้ที่เรียนรู้และร้องหมอลำมากว่า 10 ปี เพราะรักในการร้อง การลำ การฟ้อน การจะเป็นหมอลำนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับคนที่เกิดมาในยุคของเพลงสมัยใหม่ และ ไม่ง่ายที่จะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีสาน เพื่อกลั่นออกมาเป็นกลอนร้องขับกล่อมพี่น้องที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ชีวิต

หมอลำเป็นศิลปะพื้นถิ่นอีสานที่มักจะถูกจัดอยู่ในพวกของ ศิลปะ ขบถ ซึ่งรัฐก็พยายามจะเข้ามาจัดการควบคุมเนื้อหาต่างๆมาตั้งแต่อดีต จนทำให้หมอลำต้องปรับตัวไปอยู่ในเพลงลูกทุ่ง และพึ่งพิงการช่วยเหลือจากนายหน้าเพื่อการเจรจาต่อรองกับรัฐ แต่ปัจจุบันมีสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ฟังได้โดยตรง

"ฉันคิดว่าคอนเสิร์ตนี้คือพื้นที่ในการพบปะและถามไถ่ อยากให้ผู้คนรู้ว่า นักโทษการเมือง ทั้งฉัน และ คนอื่นที่ออกมาจากคุกแล้ว ไปอยู่ไหน ทำอะไร มีชีวิตยังไง ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนคิดถึงกันบ้าง"

แบงค์พูดถึงเป้าหมายของคอนเสิร์ตที่จะถึงนี้

หมอลำก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง มันถูกหยิบใช้เพื่ออุดมการณ์แบบไหนก็ได้ และในระหว่างถูกคุมขังกว่า 2 ปีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพนั้น แบงค์พยายามปลุกปลอบและให้ความหวังตัวเองด้วยการแต่งกลอนลำ

"เพลงลาวแพนที่ฉันเอามาแต่งเนื้อหาใหม่ ที่จะขึ้นร้องในคอนเสิร์ตนี้ ฉันเขียนมันขึ้นมาเพื่อปลุกปลอบตัวเอง และบอกกับคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนที่ติดคุกอยู่ด้วยกัน และคนข้างนอก  ว่าต้องเข้มแข็ง ฉันจึงอยากจะสื่อสารให้พวกเขาได้รับรู้"

แบงค์พูดถึงบทเพลงพิเศษที่เขาเขียนจากในเรือนจำ และในคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายบทเพลงที่ไม่เคยได้เผยแพร่ที่ใดมาก่อน มาขับกล่อมพี่น้องที่จะเข้ามาร่วมงาน

แต่กว่าที่แบงค์จะเข้มแข็งและพร้อมที่จะออกมาโชว์พลังและศักยภาพของเขานั้น ไม่ง่ายเลย

"คนข้างนอกต่อสู้เรื่องปากเรื่องท้อง ทุกข์ทรมานอยู่แล้ว คนอยู่ในคุกนั้นทุกข์ยิ่งกว่าเพราะไม่มีเสรีภาพที่จะหาเลี้ยงปากท้องของตัวเอง ยิ่งเมื่อเราออกมาแล้ว เรายิ่งต้องสู้ให้หนักกว่าคนข้างนอก ต้องปรับตัวให้ตัวเองอยู่ให้ได้ ให้ตื่นมาทุกๆ วันได้ ให้มีลมหายใจ ให้มีข้าวกินในทุกๆ วัน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองให้ได้ ที่เราต้องทุกข์กว่า เพราะเราออกมาจากคุกไง สังคมไทยไม่ได้ให้โอกาสคนที่ออกมาจากคุก  แม้แต่ในคดีของฉัน ฉันจึงต้องอยู่ให้ได้ ก่อนที่จะอยู่ให้เป็น"

แบงค์เล่าถึงการปรับตัวและสิ่งที่ต้องเผชิญหลังจากออกมาจากคุก

และเมื่อเราถามแบงค์ว่าถ้าไม่ให้ร้องหมอลำ แบงค์จะไปทำอะไร 

"มันคือชีวิตของฉัน คือลมหายใจของฉัน ถ้าไม่ให้ร้องจะให้ฉันไปทำอะไร"

และเขากำลังทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนปกติ ทำมาหากินเป็นพลเมืองของรัฐ 

"หรือจะต้องให้ไปทำธุรกิจมืด"

เขาตั้งคำถามกลับ ซึ่งเราเองก็ตอบไม่ได้ และทั้งนี้แบงค์ยังได้เชิญชวนพี่ๆ ฝ่ายความมั่นคงที่จับตาดูอยู่ ให้ซื้อบัตรเข้ามาฟังด้วยกัน

"มาสนุกด้วยกัน หมอลำใครฟังก็ได้"

เขาทิ้งท้ายปนเสียงหัวเราะ

และเนื่องจากคอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสริตระดมทุน คำถามที่ตามมาก็คือ จะนำเงินที่ได้ไปทำอะไร สิ่งที่เราตอบได้ก็คือ "เราไม่รู้ว่าจะขายบัตรหมดไหม ถ้าขายไม่หมดพวกเราก็ขาดทุนและเป็นหนี้ แต่ถ้าขายหมดเราก็จะมีเงินเหลือ หมื่นกว่าบาท อาจจะพอแบ่งปันให้กับอดีตนักโทษการเมืองที่เข้าร่วมโครงการกับเรา ราวๆ 5 คนได้ ส่วนจะเป็นใครบ้างนั้น อยากให้ได้มาพบกันในงาน"

เพราะ FAIRLY TELL เราเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้เปิดตัวหวือหวา คนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เราแค่ทำงานของเราเงียบๆ แต่เรามั่นใจว่างานเรามีคุณภาพแน่นอน และสิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากที่สุดหลังจากการประชุมใหญ่ของกลุ่มคือ คำพูดที่ออกมาจากสมาชิกกลุ่ม ผู้เป็นอดีตนักโทษการเมืองคนหนึ่งว่า "เราไม่ได้อยากได้อะไรจากกลุ่มเลย เราอยากให้ตัวเองมั่นคงเร็วๆ เพื่อเราจะได้มาช่วยกลุ่ม มาช่วยคนอื่นที่กำลังจะออกมามากกว่า" นั่นเป็นเพราะว่า ทั้งรัฐหรือเอกชนนั้นไม่ได้เข้ามาให้การรองรับหรือเยียวยา ความเข้มแข็งของอดีตนักโทษจึงต้องเริ่มจากจิตใจภายในที่พร้อมจะเผชิญกับปัญหาและการยืนให้ได้ด้วยตัวเอง และคอยดูแลคนอื่นๆต่อไป

สิ่งที่เราผ่านพบมาตลอดกว่า 1 ปี ทำให้เรารู้ว่านอกจากการถูกปฏิเสธจากองค์กรต่างๆและคนที่มีชื่อเสียงในสังคมบางคนแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกหลายคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือและประคับประคองพวกเราไป และผู้คนเหล่านั้นก็เป็นผู้คนตัวเล็กๆที่ยังมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเราได้ทำลงไป

"เราอยากให้คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตแห่งความหวัง โดยศิลปินที่เต็มไปด้วยความหวังจริงๆ" เพราะถึงแม้ว่าผู้คนมากมายต้องติดคุกและใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น พวกเขาก็ยังมีความหวังและพยายามจะลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในประเทศนี้ก็ไม่อาจทำลายความหวังของผู้คนที่มีใจรักความเป็นธรรมได้ ขอให้พวกเขาได้ส่งต่อความหวังและความฝันให้กับพวกคุณ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

KFC เลื่อนเจรจา ปมเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงาน

Posted: 04 Dec 2017 08:48 AM PST

ผอ.กลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานฯ แจ้ง คสรท.พร้อมเครือข่าย อ้างหนังสือบริษัทยัมฯเลื่อนเจรจากระทันหัน ยันเลิกจ้างประธานสหภาพฯทำตามกฎหมาย ด้านที่ปรึกษาบูรณาการแรงงานสตรีมองเลิกจ้างระหว่างเจรจาข้อเรียกร้อง กระทำผิดกฎหมาย
 
 
 
4 ธ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมเครื่อข่ายแรงงานนอกระบบ สมาพันธ์แรงงานอุตสากรรมแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เดินทางมาเพื่อขอพบปลัดกระทรวงแรงงาน และเจรจาข้อเรียกร้องตามนัด พร้อมสอบคำตอบประเด็นเลิกจ้าง อภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และลูกจ้าง บริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือเคเอฟซี
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ประสิทธิ์ ปาจังคะโล ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง กองแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทางนายจ้าง คือบริษัทยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือเคเอฟซีได้ส่งหนังสือเพื่อขอเลื่อนการเจรจาเมื่อเช้านี้เอง โดยชี้แจงมายังกองแรงงานสัมพันธ์ว่า ได้ปฏิบัติตามกฏหมายในการเลิกจ้าง อภันตรี เจริญศักดิ์ แล้ว พร้อมจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมานคุ้มครองแรงงาน ซึ้งนายจ้างอ้างว่า เคยเสนอจ่ายค่าชดเชยให้มากกว่ากฎหมายด้วย แต่ อภันตรี ไม่ยอมรับข้อเสนอ ส่วนกรณีข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นนั้น เหลือเพียงประเด็นเดียวคือ เรื่องค่าอาหาร ที่จะให้กับพนักงานวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งทางเคเอฟซีชี้แจงว่า รอบอร์ดประชุมพิจารณา 
 
ประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของทางกระทรวงแรงงานคือต้องการยุติแบบสมบูรณ์แบบ แต่เขายังยืนยันว่าไม่คุย และยืนยันด้วยหนังสือ ซึ่งทาง อภันตรี ยังสามารถใช้กระบวนการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้ ทั้งนี้หาก อภันตรี ยังยืนยันจะขอกลับมเข้าทำงาน ทางกระทรวงแรงงานจะดำเนินการเพื่อนัดพูดคุยกับนายจ้างอีกครั้ง
 
ด้าน อภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ ซึ่งถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ เพียงค่าอาหารวันละหนึ่งมื้อ แต่ก็ยังเจรจาและตกลงกันไม่ได้ ทั้งที่เจรจามากว่า 7 เดือนแล้ว ส่วนประเด็นการที่ไม่เอาประธานสหภาพแรงงานฯนั้นมีการวางแผนไว้แต่ต้นหรือไม่ เพราะการเลิกจ้างครั้งนี้อ้างทำตามกฎหมายแล้วนั้น ไม่ใช่ และตอนนี้มีการที่จะเลิกจ้างคนอื่นๆ เพื่อที่จะให้เป็นเหตุเป็นผลในการเลิกจ้างตนนั้นถือว่าไม่เป็นธรรม และไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรี และทราบข่าวว่า กำลังจะเลิกจ้างพนักงานที่ผ่าตัดและป่วยอยู่โรงพยาบาล ทั้งที่น้องคนนั้นเป็นคนที่ทำงานดีและรักบริษัทมาก ถึงน้องจะไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ก็ยอมรับไม่ได้ แม้วันนี้จะประกาศเลิกจ้างประธานสหภาพฯแต่การเจรจาของสหภาพยังต้องเดินหน้าต่อ
 
ชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นการเลิกจ้าง อภันตรี ถือว่าเป็นการเลิกจ้างระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ แล้วทางกระทรวงแรงงานว่าอย่างไรด้วยทาง คสรท. ได้ยื่นหนังสือถึงท่านปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว วันนี้ อภันตรี ต้องการกลับเข้าทำงานไม่ได้ต้องการเงินค่าชดเชยเพิ่ม ประเด็นคือ ทางเราได้คุยกับทางไทยเบฟแล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับทางอภันตรี แต่ว่าการเลิกจากมาจากยัมเรสเทอรองตส์ อยากให้กระทรวงแรงงาน ช่วยดูแลประเด็นการเลิกจ้างนั้น ด้วยบริษัทเหลือที่จะเลิกจ้างคุณอภันตรี เพียงคนเดียว เนื่องจากคนทำงานในตำแหน่งเดียวกันไม่มีใครถูกเลิกจ้างเลย
 
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การกระทำการเลิกจ้างระหว่างการเจรจาต่อรอง และมีข้อพิพาทแรงงานกันอยู่นั้นกระทำผิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 31 ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ในการใช้อำนาจตามกฎหมายก่อนอย่าเพิ่งเตะลูกออกจากตัวเองด้วยการให้ไปใช้กระบวนการ ครส.เลย วันนี้ผู้ใช้แรงงานยังหวังว่ากรมกองจะให้ความช่วยไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาให้ลูกจ้างได้ ด้วยขณะนี้อยู่ในเงื่อนไขกระบวนการเจรจาไม่สามารถเลิกจ้างแล้วอ้างว่าทำตามกฎหมายแล้ว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ในนาม กอ.รมน. ข้าขอผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วยชีวิต

Posted: 04 Dec 2017 08:38 AM PST

<--break- />

 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพ่ิมเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ดูผิวเผินเหมือนกับว่ามีขึ้นมาเพื่อต้องการให้การปฎิบัติงานระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงเช่นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับหน่วยงานด้านการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐในทุกระดับเข้าด้วยกันเป็นหลัก ด้วยเหตุที่คำสั่งนี้มองว่าภัยคุกคามด้านความมั่นคงอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระทำของบุคคลและภัยจากธรรมชาติอันเป็นสาธารณภัย คล้าย ๆ กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2560 เรื่อง การจัดตั้ง​สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 52/2560 ที่ย้ายอธิบดีกรมชลประทานไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพราะมองเห็นว่าปัญหาใหญ่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัดของภูมิภาคต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาคือการไม่สามารถบูรณาการหน่วยงานหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จหรือ Single command ได้ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมไร้ทิศทาง ต่างคนต่างทำจนสะเปะสะปะไปหมด ซ้ำรอยความผิดพลาดไม่ต่างจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โชคดีก็เพียงแค่ว่าพื้นที่ที่ประสบภาวะน้ำท่วมรุนแรงเหล่านั้นเป็นพื้นที่นอกกรุงเทพฯและปริมณฑล จึงทำให้รัฐบาลละเลยและนิ่งเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชนมากเกินไปได้โดยไร้การตรวจสอบจากสื่อและภาคประชาชนอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้จึงออกคำสั่งตามที่กล่าวมาเพื่อให้หลากหลายหน่วยงานเกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 มีนัยซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องของความพยายามที่จะนิยาม 'ภัยคุกคามด้านความมั่นคง' ให้หลากหลายครอบคลุมกิจวัตรประจำวันในชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่าหากพิจารณาเพียงแค่คำสั่งนี้คำสั่งเดียวก็อาจจะกล่าวได้ว่าเพียงแค่สภาวะที่สังคมไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ตามที่เป็นอยู่ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งให้แก้ไขกฎหมายขยายอำนาจ กอ.รมน. เช่นนี้ เพราะสภาวะการปกครองโดยทหารก็เป็นการขยายอำนาจ กอ.รมน. ไปโดยปริยายอยู่แล้ว รัฐบาลโดยทหารและ กอ.รมน. สามารถแต่งชุดทหารเดินเข้าไปในทุกตรอกซอกซอยของหมู่บ้านเพื่อไปสร้างความสัมพันธ์ หรือบังคับ ข่มขู่และคุกคามต่อประชาชนได้ตามปกติแบบที่เคยทำได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องออกคำสั่งเพิ่มเติมอะไรอีก 

แต่มันอาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่มีอำนาจที่ละอายการใช้อำนาจ ยิ่งอำนาจล้นเกินก็ยิ่งละอายการใช้อำนาจที่ล่้นเกิน การทำให้อำนาจนั้นมีสถานะเป็นกฎหมายรองรับก็เพื่อจะทำให้ความละอายนั้นลดน้อยลง และนำไปใช้อ้างสร้างความชอบธรรมได้หากมีการร้องเรียน ฟ้องคดี หรือต้องตอบคำถามแก่องค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมองในแง่มุมนี้การออกคำสั่งให้มีสถานะเป็นกฎหมายรองรับการใช้อำนาจที่ขยายตัวมากขึ้นก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล

เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากผ่านมาได้หนึ่งสัปดาห์นับแต่วันที่ออกคำสั่งฉบับนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ภายหลังจากที่กลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินทางไกลมาจากอำเภอเทพา จ.สงขลา เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่อำเภอเมือง จ.สงขลาถูกปราบปรามและจับกุมตัว 16 คน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ก่อนวันประชุม ครม. หนึ่งวัน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติตามมาอีก 4 เรื่อง[[1]] ดังนี้

           1. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

           2. ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

           3. ประกาศ เรื่อง กําหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

           4. ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 

ประกาศและข้อกำหนดตามมติ ครม. ทัั้งสี่ฉบับตามข้อ 1. - 4. เป็นประกาศและข้อกำหนดต่อเนื่องจากประกาศและข้อกำหนดของปีก่อนหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาความสงบจากความไม่สงบในส่วนของพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งคำสั่ง คสช. ที่ 51/2560 ประกาศและข้อกำหนดทั้งสี่ฉบับตามข้อ 1. - 4. และ 'หมายข่าวของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า  ถึงสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา'[[2]] เพื่อขอความร่วมมือให้ร่วมติดตามทำข่าวประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอเทพาและพื้นที่ใกล้เคียงที่รวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ณ ที่ว่าการอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.30 น. จะเห็นได้ว่าถึงแม้ประกาศและข้อกำหนดทั้งสี่ฉบับตามข้อ 1. - 4. จะมีสถานะและเจตนาเหมือนฉบับเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นเพื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในส่วนของพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ กอ.รมน. สามารถฉวยโอกาสใช้โดยผิดเจตนาได้ เช่น บังคับห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลาที่ประกาศกำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรืือการใช้ยานพาหนะ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาออกมารวมตัวกันได้

โดยข้อเท็จจริง นิยามของภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีลักษณะที่สามารถแบ่งแยกได้ชัดไปจากการต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและสุขภาวะอนามัยของประชาชน แต่ในยามที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยระบอบทหารกลับทำให้นิยามนี้คลุมเครือหรือพร่าเลือนไปเสีย ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ช่วงวันที่ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทหารจาก กอ.รมน.ขอนแก่น นำทัพโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น พร้อมกำลังผสมตำรวจ อาสาสมัครและพลเรือน ประมาณ 200 คน คุ้มกันรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 100 กว่าคัน ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ผ่ากลางหมู่บ้านนามูล-ดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าไปในพื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 (DM-5) ที่อยู่ห่างออกไปราวหนึ่งกิโลเมตร ท่ามกลางและรายรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ที่บริษัทฯ ได้มาจากการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 18 โดยกองกำลังที่นำโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ทำการสกัด บังคับ ข่มขู่ ชาวบ้านไม่ให้ประท้วงต่อต้านขัดขวางใด ๆ เป็นภาพข่าวในสื่อประเภทต่าง ๆ หลายสำนัก รวมทั้งสื่ออิสระทั่วไปด้วยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจทหารทำการกดขี่ข่มเหงจิตใจประชาชนอย่างรุนแรง คำถามที่สงสัยกันมากว่าทำไมรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ถึงแสดงบทบาทก้าวร้าวข่มเหงจิตใจชาวบ้าน เข้าข้างบริษัทฯจนออกนอกหน้ามากเกินไป 

คำตอบก็คือ การผูกมัดบังคับโดยกฎหมายให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนขอสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะต้องขายปิโตรเลียมที่ปากหลุมให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้ ปตท. สามารถผูกขาดการซื้อและขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดในแปลงสัมปทานต่าง ๆ ทั้งบนบกและในทะเลที่รัฐทำไว้กับเอกชน และที่นี่เองที่นายทหารยศพลเอกคนหนึ่งที่เป็นรองเลขาธิการ คสช. และเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. มีตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระในรัฐวิสาหกิจลูกผสมบริษัทเอกชนเกรดเอของประเทศไทยอย่าง ปตท. (ในช่วงเริ่่มต้นที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2557 มียศเป็นพลโท)

กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็คงไม่ต่างจากสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาดที่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงถูกกำหนดนิยามให้คลุมเครือและพร่่าเลือนด้วยผลประโยชน์

 

                                               

 

 [[1]]       1. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

           2. ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

           3. ประกาศ เรื่อง กําหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

           4. ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

[[2]]       เอกสารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศปชส.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เรียน สื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ลงนามโดยพันตรีชัยพร มีเฉลา หน้าแผนกประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น้ำชีลดเหลือแต่คันนา

Posted: 04 Dec 2017 08:06 AM PST

เคยได้ยินแต่สำนวน "น้ำลดตอผุด" แต่ในพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรนาน 4 เดือน จากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ที่อยู่ภายใต้โครงการโขง ชี มูน ที่มีการเริ่มก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี ตามมติครม. ตั้งแต่ปี 2532 ในสมัยนั้น และในลุ่มน้ำชีก็ทยอยสร้างเขื่อนประมาณปี 36 เดิมเป็นของกระทรวงวิทย์ฯ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  ทยอยเสร็จประมาณปี 43 เป็นต้นมา สมัยนั้นภาครัฐได้ใช้วาทกรรมจากเขื่อน มาเป็น "ฝายยาง" เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยในมิติของชาวบ้านเข้าใจว่าคงเป็นฝายขนาดเล็กคงขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งเขื่อนในลุ่มน้ำชีมีทั้งหมด 6 ตัว คือเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อจากฝาย มาเป็นเขื่อนทั้งหมด)

ครั้นทยอยทดลองการปิดเขื่อนประมาณปี 2543 ก็ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมขังยาวนานจนผิดปกติ ติดต่อกันมาหลายปี ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจนิเวศชุมชนทันที อย่างเช่นการทำนาในพื้นที่ทามซึ่งชาวบ้านได้ให้ความหมายว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าวที่สร้างรายได้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงระบบการเกษตรเป็นหลัก พื้นที่ปลูกผักริมแม่น้ำชีก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย พื้นที่เลี้ยงวัวควายซึ่งเป็นอีกฐานเศรษฐกิจในการออมทรัพย์ระยะยาวของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ระบบนิเวศน์ทั้งปลาในแม่น้ำ ป่าทามริมแม่น้ำก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

บางปีฝนตกไม่กี่ครั้งหรือฝนไม่ตกน้ำก็มาท่วม คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชียังเป็นพื้นที่รองรับน้ำ จากลำน้ำที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ก็คือ เขื่อนอุบลรัตน์(ลำน้ำพอง) เขื่อนลำปาว(ลำน้ำปาว) และยังมีลำน้ำยัง ที่ไหลมาสมทบอีก ความเหมาะสมของลุ่มน้ำชีที่มีความยาว 756 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายจังหวัดในพื้นที่ชัยภูมิ ขอนแก่น สารคาม กาฬสินธ์ุ ร้อยเอ็ด ยโสธร ไปบรรจบแม่น้ำมูนที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ บางส่วน จะทำใหเราเห็นว่าความแคบของแม่น้ำและการไหลคดเคี้ยวของแม่น้ำชีไม่เหมาะจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากลัษณะร่องน้ำกว้างและแคบสลับกันไปซึ่งคงเหมาะให้แม่น้ำชีทำหน้าที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูน หรือไม่งั้นก็ควรที่จะมีการบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กที่ให้ชาวบ้านเข้าถึงตามนิเวศน์นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการให้คุณค่าของคนในชุมชนได้เข้าใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง

เปลี่ยนหน่วยงานดูแลหลังจากการปฎิรูประบบราชการประมาณปี 2546 จากกระทรวงวิทย์ฯ มาเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ทำให้ชาวบ้านคาดหวังว่าจะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมซักที แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะไม่เป็นไปอย่างที่คิด เนื่องจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังคงอยู่ที่การรวมศูนย์เป็นหลัก ตามรูปแบบและโครงสร้างการเข้าร่วมของประชาชนในพื้นที่ซึ่งกรมชลประทานได้กำหนดไว้แล้ว จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในลุ่มน้ำชีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มปี 2553 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐเร่งรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็คงทำได้แค่ตั้งคณะกรรมการฯ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อประชุมตามหน้าที่ได้กำหนดไว้ (ยื้อเวลาซื้อเวลาหรือเอายาดม) ให้ชาวบ้านมีความหวังในการประชุมในแต่ละครั้ง จึงสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในลุ่มน้ำชีตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว

มาปีนี้ 2560 ปรากฏการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำชีกลับเพิ่มขึ้นอีกเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม น้ำระลอกแรกทำเอาพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านถูกน้ำท่วม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางพื้นที่ต่างหาตัวรอดในการร่วมกันนำกระสอบทรายที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น การบริจาคของภาคเอกชน การบริจาคกันเองของชุมชน เพื่อนำมาปิดกั้นทางน้ำที่จะไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน ท่วมถนน เป็นส่วนน้อยบางพื้นที่รอดพ้น แต่ส่วนมากหลายพื้นที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ  การไม่สรุปบทเรียนของภาครัฐ การไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ได้นำมาซึ่งความเสียหายแก่ชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลต่อระบบจิตใจของชาวนาลุ่มน้ำชี ระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ทำนาเป็นหลัก ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

น้ำลดตอผุด คงเป็นอีกสำนวนที่เปรียบเปรยถึงเวลามีน้ำมากก็จะมองไม่เห็นตอไม้ แต่เมื่อน้ำลดแห้งลง ก็จะเห็นตอผุดขึ้นมา คำนี้คนไทยเรามักจะรู้ดี แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีอาจจะเป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐ คือ "น้ำลดคันนาผุด" ซึ่งเปรียบให้เห็นว่าพื้นที่การเกษตรหรือนาทามที่ชาวบ้านลงทุนปลูกเพื่อไว้เก็บเกี่ยวผลผลิต และเป็นทุนต่อไป แต่กลับมาถูกนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำ บริหารจัดการน้ำผิดพลาดส่งผลให้ต้นข้าวที่รอวันเก็บเกี่ยวกลับกลายถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลา 4 เดือน พอน้ำลดต้นข้าวที่พอเป็นความหวังได้เน่าเสียหายไปตั้งแต่เดือนแรกที่น้ำท่วม แต่ยังคงสัญลักษณ์ที่เป็นร่องรอยให้เห็นบนที่นาคือ คันนา นั้นเอง

ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำชีที่ท่วมซ้ำซากและกินเวลายาวนานเริ่มชักจะทำให้ชาวบ้านได้เห็นแล้วว่าการบริหารจัดการน้ำภาครัฐไม่ได้มีความเข้าใจกับภูมินิเวศน์นั้นๆ เลย เพราะรัฐได้ตั้งธงทางแนวคิดบริหารจัดการน้ำไว้เบ็ดเสร็จตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงระดับล่าง การจัดประชุมแต่ละครั้งหรือการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ปรากฏการณ์อย่างนี้จะให้ชาวบ้านน้ำท่วมซ้ำซาก และ น้ำลดคันนาผุด อีกกี่ครั้งรัฐถึงจะลงมือแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์สั่ง จนท.สอบปมพบเครื่องกระสุนปืน-วัตถุระเบิด พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาราคายาง

Posted: 04 Dec 2017 05:22 AM PST

ประยุทธ์ สั่ง จนท.ตรวจสอบกรณีพบเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด เผยเป็นล็อตเดียวกับที่เคยจับกุมได้ พร้อมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขอบคุณ 'ตูน บอดี้สแลม' และทีมงาน พร้อมฝากคนไทยช่วยกันดูแลตลอดเส้นทางการวิ่ง

4 ธ.ค.2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.20 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีเจ้าหน้าที่พบเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดจำนวนมาก ถูกนำมาทิ้งไว้บริเวณริมคลองน้ำในเขต ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลใด แต่ที่หน้าเป็นห่วงมากกว่าคือจะมีอาวุธอยู่ที่อื่นอีกหรือเปล่า ทั้งนี้ ที่เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบเป็นอาวุธล็อตเดียวกับที่เคยจับกุมได้

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคายางพารานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา ภายใต้ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางมากที่สุด ต้องหารือว่าจะทำอย่างไรในการลดจำนวนการส่งออก เพื่อให้ราคายางพาราสูงขึ้น และหามาตรการเสริมการปลูกยางพารา พร้อมกล่าวยืนยันว่า ไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน

ขณะที่ช่วงเช้า เมื่อเวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ประธานโครงการ "ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ ตูน บอดี้สแลม และทีมงานที่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน พร้อมกล่าวขอบคุณครอบครัวนายอาทิวราห์ คงมาลัย แทนคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ และสิ่งสำคัญเป็นการสานต่อพระราชดำริโครงการจิตอาสา "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ซึ่งเป็นโครงการทำความดีร่วมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า การทำอะไรก็ตามถ้าไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีความตั้งใจ ก็จะไม่มีทางทำสำเร็จ สิ่งที่ อาทิวราห์ คงมาลัย และทีมงานได้ทำ ถือเป็นการทำงานอย่างมีแบบแผน มีการปรึกษา หารือ ทำงานร่วมกันเป็นคณะ สอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบันที่ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องสุขภาพของคุณนายอาทิวราห์ คงมาลัย ด้วยความเป็นห่วงพร้อมฝากให้คุณหมอและทีมงานช่วยกันดูแลสุขภาพ หากรู้สึกบาดเจ็บให้พักผ่อน อย่าฝืนวิ่ง พร้อมทั้งฝากถึงประชาชน และเจ้าหน้าที่ให้ช่วยกันดูแลตลอดเส้นทาง ระวังเรื่องการเซลฟี่เพราะเป็นการขัดจังหวะการวิ่งทำให้ได้รับบาดเจ็บ

จากนั้น อาทิวราห์ ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เมตตาตนเองและครอบครัว พร้อมกล่าวว่า สิ่งที่ตนและทีมงานตั้งใจทำ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ต้องการทำให้ดีที่สุด ส่วนผลที่ได้รับจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ และต้องการให้คนมีส่วนร่วมมากกว่าจำนวนเงินที่ได้รับบริจาค ซึ่งต้องการเงินบริจาคจำนวนน้อย ๆ จากคนจำนวนมาก มากกว่าเงินบริจาคจำนวนมากจากคนส่วนน้อย

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้บริจาคเงินส่วนตัวสมทบโครงการให้กับอาทิวราห์ คงมาลัย และนำออกมารับเงินบริจาค  จากข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าวภายในทำเนียบรัฐบาลก่อนเดินทางกลับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ชี้มีหลายปัจจัยพิจารณาปลดล็อคการเมือง '3 พรรค' ขออย่าตั้งเงื่อนไขเลื่อน

Posted: 03 Dec 2017 11:53 PM PST

ผบ.ทบ. ระบุ ปลดล็อคการเมืองต้องพิจารณาหลายปัจจัย ไม่ใช่จับอาวุธสงครามอย่างเดียว ด้าน 3 พรรคใหญ่ ขอ คสช. อย่าตั้งเงื่อนไข เลื่อนปลดล็อคและเลื่อนเลือกตั้ง ชี้จะซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วให้ทรุดกว่าเดิม

แฟ้มภาพ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพบก 

4 ธ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจยึดอาวุธสงครามที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เร่งรัดการทำงานของฝ่ายความมั่นคงให้กวาดล้างผู้มีอิทธิพล และอาวุธสงครามทุกพื้นที่ แต่ที่พบมากในช่วงนี้คาดว่าเพราะผู้ที่ครอบครองเกิดความเกรงกลัวจึงนำมาทิ้งไว้  

"จากการตรวจสอบอาวุธสงครามที่ฉะเชิงเทรา มีหมายเลข (ซีเรียลนัมเบอร์) เป็นล็อตเดิมกับที่ยึดได้ในปี 2557 และไม่ได้ผลิตในประเทศไทย เป็นอาวุธนอกระบบ คาดว่าเป็นของกลุ่มฮาร์ดคอว์ หัวรุนแรงทางการเมือง ส่วนจะเกี่ยวข้องกับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ หรือไม่อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลหาความชัดเจน แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องอาวุธสงคราม เพราะไม่ทราบว่าจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน  ซึ่งฝ่ายความมั่นคงพยายามกวาดล้างมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้นำไปใช้ก่อความรุนแรงในอนาคต" ผบ.ทบ. กล่าว 

กรณี พล.อ.ประวิตร ระบุว่าหากยังตรวจพบอาวุธสงคราม จะยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้หารือทุกครั้งเรื่องการปลดล็อคการเมือง แต่ไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องอาวุธสงครามเท่านั้นยังต้องคำนึงเรื่องข้อกฎหมายและสถานการณ์โดยรวมด้วย ช่วงนี้ยังไม่เหมาะสมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็เข้าใจฝ่ายการเมืองที่มีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้ 

"ตอนนี้เรายังตีความว่ามีความขัดแย้งอยู่ จึงต้องตีกรอบก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับประเทศ หากไม่มั่นใจก็ยังไม่ปล่อย แต่ทั้งหมดเพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกันคือการเลือกตั้งตามแนวทางที่กำหนด" ผบ.ทบ. กล่าว 

ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตร อ้างเรื่องตรวจพบคลังอาวุธ เป็นเงื่อนไขเลื่อนปลดล็อคพรรคการเมืองล่าช้า เป็นการเหมารวมอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้เข้าใจว่า กลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันกำลังต้องการยื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจ ขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน จากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ การขาดความเชื่อมั่น ความไม่แน่นอนในการนำประเทศกลับคืนสู่ระบบปกติที่สากลยอมรับ ดังนั้น ขอหยุดสร้างเงื่อนไข และเร่งคืนประเทศสู่ภาวะปกติ

วิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ เห็นตรงกันว่า ไม่ควรนำการตรวจพบอาวุธ มาเป็นเงื่อนไขเพื่ออ้างเลื่อนเลือกตั้ง เนื่องจากการประกาศเลื่อนเลือกตั้งจะซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วให้ทรุดกว่าเดิม

เช่นเดียวกับ นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันเท่านั้น ที่พรรคการเมืองต้องดำเนินกิจกรรมให้แล้วเสร็จ กังวลว่า การปลดล็อกล่าช้า จะส่งผลไปถึงความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง จนอาจเป็นปัญหาให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และวอยซ์ทีวี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตนักว่ายน้ำ ม.สแตนด์ฟอร์ด ยื่นอุทธรณ์คดีข่มขืน

Posted: 03 Dec 2017 09:01 PM PST

ทนายความของบร็อก เทอร์เนอร์ อดีตนักว่ายน้ำ ม.สแตนด์ฟอร์ด ผู้ถูกกล่าวหาก่อเหตุข่มขืนหญิงหมดสติยื่นคำร้องขออุทธรณ์โดยระบุว่าในกระบวนการไม่มีการซัก 'พยานเชิงลักษณะบุคคล' ที่จะพูดถึงคุณงามความดีของตัวเทอร์เนอร์ได้ ขณะที่ฝ่ายโจกท์ก็มองว่าผู้พิพากษายังตัดสินโทษเบาเพราะเข้าข้างจำเลยมากเกินไปและเรียกร้องให้มีการถอดถอนผู้พิพากษา

บร็อก เทอร์เนอร์ อดีตแชมป์นักกีฬาว่ายน้ำมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด เคยถูกตัดสินให้มีความผิดฐานข่มขืนหญิงที่กำลังหมดสติคนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค. 2559 แต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมานิวยอร์กไทม์รายงานว่าเขากำลังยื่นขออุทธรณ์ในเรื่องนี้

อิริค โมยทัลป์ ทนายความของเทอร์เนอร์ระบุในคำร้อง 172 หน้า ที่ยื่นอุทธรณ์ว่าเทอร์เนอร์ไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมด้วยหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือการไม่ยอมให้พยานเชิงคุณลักษณะบุคคล (character witness) ให้การเกี่ยวกับความสามารถในการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของเขาและพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของเขา ในคำร้องดังกล่าวมีราว 60 หน้าที่เน้นย้ำถึงเรื่องที่เหยื่ออยู่ในสภาพมึนเมาเพียงใดในคืนที่เกิดเหตุ โดยที่ทนายความไม่แสดงความคิดเห็นมากกว่านี้

ทางด้านอัยการท้องถิ่นซานตาคลารา เจฟฟ์ โรเซน กล่าวว่าเทอร์เนอร์ได้รับการพิจารณาคดีและตัดสินอย่างเป็นธรรมดีแล้ว และไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนเรื่องที่เหยื่อนามสมมติ เอมิลี โด ได้สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการข่มขืนได้

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ในช่วงที่เทอร์เนอร์ในวัย 19 ปี ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้พิพากษาอาร์รอน เพอร์สกี จากศาลสูงของซานตาคลาราตัดสินให้เขาจำคุก 6 เดือนและภาคทัณฑ์เป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่เขาก่อเหตุข่มขืนในฐานะคดีอาญาอุกฉกรรจ์ 3 กระทง ซึ่งตามกฎหมายเทอร์เนอร์มีโอกาสได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 14 ปี นอกจากการลงโทษจากศาลแล้วเทอร์เนอร์ยังถูกระงับทุนการศึกษาของนักกีฬาว่ายน้ำและถูกขึ้นทะเบียนไว้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศ

คดีของเทอร์เนอร์ทำให้เกิดการความไม่พอใจจากประชาชนอย่างมากจนมีทำให้เกิดความสนใจในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้พิพากษาเพอร์สกีปราณีกับเทอร์เนอร์เกินไปที่สั่งลงโทษจำคุกเพียง 6 ปี คดีนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาว่ามีอคติเข้าข้างเพศชายและอภิสิทธิ์ทางชนชั้น

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากสแตนฟอร์ด มิเชลล์ เดาเบอร์ เป็นประธานกรรมการเรียกร้องให้ถอดถอนผู้พิพากษาเพอร์สกี เธอกล่าวถึงประเด็นคำตัดสินว่าลูกขุนได้รับรู้หลักฐานและตัดสินใจไม่เข้าข้างเทอร์เนอร์ผู้พยายามใช้วิธีการโทษเหยื่อ ปัญหาของคดีนี้จึงไม่ใช่ว่าผู้พิพากษาไม่เป็นธรรมต่อเทอร์เนอร์ แต่ไม่เป็นธรรมต่อเหยื่อ

ในคดีนี้มีพยานเป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษาของสแตนฟอร์ด 2 คนขี่จักรยานมาพบเห็นเทอร์เนอร์กำลังก่อเหตุข่มขืนเหยื่ออายุ 22 ปี ที่ไม่ได้สติอยู่ข้างถังขยะ ในขณะที่เทอร์เนอร์กำลังจะหนีไปทั้งคู่ก็ไล่ตามและจับตัวเทอร์เนอร์ส่งตำรวจไว้ได้ ขณะที่เหยื่อผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาสแตนฟอร์ดให้การว่าเธอจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เธอทราบแค่ว่ามีคนพบเธอใกล้กับถังขยะ มีผู้พบเห็นเหตุการณ์บอกว่าเธอมีคนขึ้นคร่อมตัวอยู่ในขณะที่ไม่ได้สติและสวมเสื้อผ้าเพียงบางส่วน

ทนายฝ่ายจำเลยยังโต้แย้งผ่านคำร้องอุทธรณ์ด้วยว่าอัยการเน้นใช้คำว่า "ถังขยะ" ในคำให้การมากเกินไปราวกับเน้นทำให้จำเลยดูเป็นคนที่ "เสื่อมทราม" จากนัยของคำที่พยายามสื่อไปถึง "ความสกปรก" "เศษขยะ" และ "การก่ออาชญากรรม" ที่ถูกโยงเข้ากับ "ถังขยะ"

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตในคำร้องอุทธรณ์อีกว่าที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ข้างถังขยะนั้นอยู่ในพื้นที่เปิดให้คนพบเห็นได้ใกล้กับสนามบาสเก็ตบอลที่มืดและอีกด้านหนึ่งก็มีสมาคมนักศึกษาชาย ฝ่ายจำเลยระบุว่าเทอร์เนอร์และเหยื่อไม่ได้ทำในที่ลับตาคน

เทอร์เนอร์ถูกตัดสินว่ามีความผิด 3 ฐานคือการข่มขืนบุคคลที่หมดสติ การข่มขืนบุคคลที่มึนเมา การข่มขืนโดยมีเจตนาเพื่อกระทำชำเรา จากถ้อยแถลงต่อศาลก่อนถูกตัดสินเทอร์เนอร์ยืนยันว่าการมีเพศสัมพันธ์ของเขานั้นกระทำไปด้วยความสมัครใจ แต่เทอร์เนอร์ก็ยอมรับว่าเขา "ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความบอบช้ำทางใจ" ต่อเหยื่อ

ในกรณีของการเรียกร้องถอดผู้พิพากษาเพอร์สกีนั้นฝ่ายเพอร์สกีเองก็พยายามปิดกั้นไม่ให้มีการส่งคำร้องล่ารายชื่อถอดถอนเขา แต่ศาลอุทธรณ์ก็ปฏิเสธไม่ให้เพอร์สกีสามารถปิดกั้นกระบวนการได้ เดาเบอร์กล่าวพอใจที่ศาลอุทธรณ์ไม่ยอมรับข้อเสนอของเพอร์สกี โดยในปัจจุบันมีผู้ลงนามถอดถอนมากกว่า 76,000 ชื่อแล้วและยังมีเป้าหมายต้องการถึง 90,000 ชื่อ


เรียบเรียงจาก

Brock Turner Is Appealing His Sexual Assault Conviction, New York Times, 02-12-2017
https://www.nytimes.com/2017/12/02/us/brock-turner-appeal.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/People_v._Turner

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น