โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้

Posted: 26 Dec 2017 09:00 AM PST

อาจกล่าวได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือเชิงอรรถอีกแง่มุมหนึ่งของการก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ช่วยให้เห็นที่มาที่ไป ข้อเท็จจริง มุมคิด และก้าวต่อไปที่ควรจะเป็นจากปากคำผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มันเกิดขึ้น

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ได้รับการรู้จักครั้งแรกในชื่อ '30 บาทรักษาทุกโรค' คือแบรนด์ที่ผูกติดกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคไทยรักไทย เป็นนโยบายที่เข้านั่งอยู่ในหัวใจคนรากหญ้าจำนวนมากและพาทักษิณเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลาย

ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า หากไม่มีทักษิณ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาจไม่เกิดขึ้น อีกข้อเท็จจริงหนึ่ง ถ้าไม่มี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันแนวคิด ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็อาจไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

ทว่า คนที่เราจะลืมบทบาทไปไม่ได้ ที่ถือเป็นโซ่ข้อกลางให้ 2 คนข้างต้นได้พบปะกันคือ หมอเลี๊ยบ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายตำแหน่งในเวลาต่อมา

ประวัติศาสตร์บอกเล่าจาก นพ.สุรพงษ์ เผยให้เห็นบางแง่มุมของการก่อเกิดระบบที่เป็นหลังพิงให้คนไทย 48 ล้านคนในวันนี้ ยังคงเฝ้าดูสถานการณ์ และภัยคุกคามที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเขายืนยันว่า สิ่งนี้คือสิทธิของประชาชนและเราจะถอยหลังไม่ได้
 

โซ่ข้อกลาง

นพ.สุรพงษ์ เล่าย้อนกลับไปกลางปี 2541 ครั้งที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งก่อตั้ง ทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรคต้องการสร้างแนวทางพรรคการเมืองที่ต่อสู้กันด้วยตัวนโยบายที่เป็นรูปธรรม ใช้นโยบายเป็นจุดขาย และนำเสนอแก่ประชาชนผู้เลือกตั้ง มองในมุมนี้ถือเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องใหม่ของการเมืองไทย

ณ เวลานั้น นพ.สุรพงษ์เป็นผู้รับผิดชอบการทำนโยบายด้านสาธารณสุข เวลากล่าวถึงนโยบายสาธารณสุขหมายถึงอะไร? เช่น การลดอัตราตายของทารกแรกเกิด การควบคุมโรคติดต่อและไม่ติดต่อ เป็นต้น มันคือความคุ้นชินที่ทุกวันนี้ก็ยังคงได้ยินอยู่เสมอ คือการจัดการปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ นพ.สุรพงษ์กำลังมองหา สิ่งที่เขามองหาคือการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิรูปนโยบายสาธารณสุขของไทย

"พอดีผมรู้จักคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เป็นรุ่นพี่ผม 3 ปีที่คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และทราบว่าหมอสงวนทำเรื่องยุทธศาสตร์สาธารณสุขมานานพอสมควร จึงคิดว่ามีหลายเรื่องที่น่าจะมองเห็นภาพรวมและนำไปสู่บทสรุปที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการต่อไป ผมเลยนัดหมายหมอสงวนเพื่อพูดคุยว่าเขาคิดอย่างไร"

หากใครเคยได้ยินประวัติศาสตร์การก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาบ้าง เหตุการณ์ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้เป็นต้นทางแนวคิดระบบหลักประกันสุขภาพฯ เดินสายนำเสนอความคิดกับพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ไม่มีพรรคใดซื้อแนวคิดนี้แบบจริงจังด้วยเหตุผลหลักว่า ไม่มีเงิน แต่ทักษิณและพรรคไทยรักไทยกลับซื้อแนวคิดนี้ เรื่องเล่าจากปากคำของ นพ.สุรพงษ์ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างไปเล็กน้อย

นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ปี 2542 พรรคไทยรักไทยเกิดมาได้ไม่ถึง 1 ปี ยังไม่เคยลงสนามเลือกตั้งระดับประเทศ เป็นม้านอกสายตาที่ยังไม่มีใครสนใจ

"เรื่องราวไม่ใช่ว่าคุณหมอสงวนมาขอพบหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แต่เพราะพรรคไทยรักไทยต้องการเป็นพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้ประชาชนพิจารณา ตอนเราทำนโยบายก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครสนใจ ทุกคนมองข้ามว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งที่ ดร.ทักษิณ อยากจะลองทำการเมืองอีกครั้ง ผมจึงได้ขอนัดหมอสงวนและได้เจอกันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ที่เป็นโรงแรมที่จัดประชุมของกระทรวงสาธารณสุขบ่อยมาก

"ผมได้ขอพบหมอสงวนตอนพักเบรก แล้วบอกว่าผมขอใช้เวลาสั้นๆ แล้วก็ถามไปตรงๆ ว่า พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่ยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำบ้าง ไม่ต้องคุยเรื่องจิปาถะ เล็กๆ น้อยๆ คุณหมอสงวนก็บอกว่ามีความฝันสองเรื่องที่ชีวิตนี้ต้องทำให้เสร็จ หนึ่ง จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในไทยก็มีการจัดตั้งเป็นรูปร่างแล้วในขณะนั้น อีกเรื่องที่หมอสงวนบอกว่าอยากทำ แต่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหมคือเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หมอสงวนก็บอกว่าไปเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยสนใจจะลองเสนอดูก็ได้ แต่น้ำเสียงคือไม่ได้คาดหวังว่าพรรคไทยรักไทยจะนำนโยบายนี้ไปทำได้ เพราะพรรคไทยรักไทยยังเป็นพรรคเล็ก ตอนที่รับรู้แนวคิดนี้ผมก็คิดว่าน่าสนใจ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนโดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีหลักประกัน จึงขอให้หมอสงวนสรุปไอเดียพอสังเขปเพื่อนำเสนอหัวหน้าพรรคไทยรักไทย"
 

'30 บาทรักษาทุกโรค'

แนวคิดของ นพ.สงวน ถูกถ่ายทอดต่อในคณะรัฐมนตรีเงาที่พรรคไทยรักไทยตั้งขึ้น คำบอกเล่าของ นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงทักษิณที่พูดขึ้นในที่ประชุมตอนนั้นว่า ระหว่างลงพื้นที่ก็พบภาพคนแน่นโรงพยาบาลเป็นเรื่องปกติ แต่ นพ.สุรพงษ์ บอกกลับไปว่ายังมีคนป่วยอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงที่ญาติพี่น้องต้องขายวัวขายที่มาจ่ายค่ารักษา และก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีทางออกต้องยอมตายอยู่ที่บ้าน นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

นั่นคือจุดเริ่มต้นการนัดพบกันระหว่าง นพ.สงวน และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง นพ.สุรพงษ์ ยังจำวันนั้นได้ดี มันคือวันที่ 24 ธันวาคม 2542

หลังจากใช้เวลานำเสนอประมาณ 40 นาที อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยพูดขึ้นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องนี้ แต่ต้องศึกษาในแง่รายละเอียดว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ นพ.สุรพงษ์และ นพ.สงวนจึงต้องมาช่วยกันคิดต่อเพื่อสานความฝันนี้ให้เป็นจริง

"ในที่ประชุมนั้น ดร.ทักษิณพูดขึ้นมาคำหนึ่งที่ผมยังจำได้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี่ฟังยาก ไปบอกให้คนทั่วไปฟังคงไม่เข้าใจ ผมเองฟังก็ยังไม่เข้าใจ ต้องค่อยๆ ดูรายละเอียดที่นำเสนอ น่าจะพูดไปในทางว่า 15 บาทรักษาทุกโรค ชาวบ้านน่าจะเข้าใจมากกว่า" ก่อนที่วลีนี้จะแปรเปลี่ยน '30 บาทรักษาทุกโรค' ในท้ายที่สุด

นพ.สุรพงษ์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นทางพรรคไทยรักไทยกลับไปทำการบ้านต่อและออกสำรวจความเห็นประชาชนถึงนโยบายที่ต้องการ นั่นคือช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งไม่นาน ประชาชนยังคิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องสาธารณสุขตกไปอยู่อันดับท้ายๆ ของการสำรวจ เขาบอกว่าสิ่งนี้สะท้อนความคิดของประชาชนในขณะนั้นว่า ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากกว่านี้อีกแล้ว ยอมรับสภาพ ยอมรับการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

"ผลสำรวจออกมาแบบนี้ทุกครั้ง สะท้อนว่าสิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ได้อยู่ในความคิดของคนทั่วไป เพราะมองไม่ออกว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ ดร.ทักษิณก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แม้ผลสำรวจจะเป็นแบบนั้นทุกครั้ง สมาชิกพรรคก็มาสารภาพทีหลังว่าตอนนั้นไม่เชื่อว่าทำได้ เป็นนโยบายขายฝัน ถึงเวลาก็ต้องลืมๆ ไป หรือแม้แต่ตอนติดป้ายหาเสียงที่ชูนโยบายหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาทรักษาทุกโรค ป้ายหาเสียงจำนวนไม่น้อยลบคำว่า 30 บาทรักษาทุกโรคออกเพราะกลัวเป็นการผูกมัด เมื่อชาวบ้านทวงถามมาจะตอบไม่ได้

"ที่เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ได้เกิดแค่ความคิดอยากจะทำ การผลักดันไปสู่การปฏิบัติมันยากตั้งแต่ตอนเริ่มต้นวางเป็นนโยบายของพรรค ตอนหาเสียงกับชาวบ้านหรือแม้แต่ตัว ส.ส. ก็ไม่เชื่อ แต่พอหาเสียงไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเริ่มคิดว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยทำได้ก็อาจทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย พวกเราก็ไปติดป้ายเล็กๆ เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคกระจายไปเกือบทุกหมู่บ้านล่วงหน้าครึ่งปีก่อนจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทำให้ชาวบ้านมองว่านี่คือนโยบายที่เราตั้งใจอยากทำ


กำเนิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"พอเริ่มหาเสียง ความเข้าใจก็มีมากขึ้น ผลการเลือกตั้งเมื่อ 6 มกราคม 2544 ทุกคนคาดว่าเราจะได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงพอสมควร แต่ไม่มีใครคิดว่าจะได้มากขนาด 248 เสียง เกือบครึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เราสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งและนำไปสู่การดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างเต็มตัว ต้องยอมรับว่าหมอสงวนเป็นผู้ตกผลึกในด้านองค์ความรู้ แต่ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่ชูว่าเราจะทำนโยบายเสนอต่อประชาชนอย่างจริงจัง และถ้าประชาชนไม่เลือกตัวแทนได้ถึง 248 ที่นั่ง 30 บาทรักษาทุกโรคอาจจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ก็ได้"

ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ทาง นพ.สงวน เอ็นจีโอ และภาคประชาชน ต่างระดมสรรพกำลังเผยแพร่แนวคิด ร่างกฎหมาย และล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาล 1 เดือนหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การทดลองนำร่อง 30 บาทรักษาทุกโรคใน 6 จังหวัดก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 ก่อนจะเพิ่มเติมเป็น 21 จังหวัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2544 และขยายจนครบทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ระหว่างนั้นกระบวนการจัดทำกฎหมายก็เดินหน้าไปด้วย การนำเสนอร่างกฎหมายให้สภารับหลักการในวาระแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกฝ่ายเห็นภาพแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างไร

หลังนำเสนอเสร็จ ที่ประชุมสภารับหลักการ นพ.สุรพงษ์ เล่าถึงปรากฏการณ์สำคัญครั้งนั้นว่า เป็นการโหวตรับหลักการในวาระแรกที่ได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว แม้แต่ประธานในที่ประชุมก็สนับสนุน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภามักจะสงวนสิทธิ์ไม่ออกเสียง

"แต่ที่ลำบากคือช่วงนำร่อง 6-7 เดือนแรกที่คนไม่รู้ว่ารูปธรรมมันเป็นอย่างไร ก็ได้รับเสียงเยาะเย้ยถากถางมากมาย เช่น 30 บาทตายทุกโรค พอมีใครเจ็บป่วยตายก็จะโทษว่าเกิดจาก 30 บาทรักษาทุกโรค อาจจะโชคดีที่ตอนนั้นโซเชียลมีเดียไม่แข็งแรงแบบนี้ ถ้าโซเชียลมีเดียแข็งแรงแบบทุกวันนี้ ผมกับหมอสงวนคงอัดอั้นใจมากพอสมควรเพราะถูกถล่มทุกวัน แต่พอผ่านไป 7-8 เดือน ทุกคนรู้ว่ารูปธรรมเป็นแบบนี้ ตอนนำเสนอกฎหมายก็ไม่มีเสียงค้าน"


ยืนระยะ

การเริ่มต้นสิ่งใหม่ถือเป็นเรื่องยาก แต่การยืนระยะต่างหากเป็นสิ่งที่ยากเย็นกว่า นพ.สุรพงษ์ ยอมรับว่า จริง

"อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนในบทความลงหนังสือพิมพ์มติชนว่า ถ้าไม่รีบทำก็ไม่ได้ทำ ตอนที่เริ่มทำมีแนวคิดหลากหลาย นักวิชาการจำนวนหนึ่งบอกว่าอย่าเพิ่งรีบทำ ต้องละเอียด ประณีต ใช้เวลา 2 ปีจึงทำให้จบ ผมซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบายก็มองว่า 2 ปีน่าจะช้าเกินไปสำหรับสิ่งที่เราบอกว่าจะเป็นนโยบายเร่งด่วนและจะรีบทำให้จบ

"ผมเคยอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน รู้ว่าโดยองคาพยพแล้ว การจัดสรรงบประมาณไม่น่าจะใช้เวลานานมาก ถ้ามีงบประมาณประจำปีแล้ว 1 ปีก็ควรทำให้จบ ผมก็ตั้งเป้าไว้ 1 ปี แต่เราก็ทำได้เร็วกว่านั้น ต้องยกให้เป็นเครดิตของปลัดกระทรวงสาธารณสุขตอนนั้นคือ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นปัจจัยที่ประจวบเหมาะกับความตั้งใจจากฝ่ายนโยบาย นายกฯ และรัฐมนตรีที่นำเสนอนโยบายต่อประชาชน มีองค์ความรู้จากหมอสงวน ภาคประชาชนสนับสนุนในเชิงการเคลื่อนไหวทางสังคม ฝ่ายข้าราชการประจำก็มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จริงจัง นำหน้า ฟันธงการนำเสนอให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว หมอมงคลบอกกับเราตอนที่พวกเรารับตำแหน่งว่า เขาสนับสนุนนโยบายนี้เต็มที่ เราเดินหน้ากันเต็มตัว และทุกองคาพยพในกระทรวงสาธารณสุขก็เดินหน้ากันเต็มตัวจริงๆ จนจบภายในวันที่ 1 ตุลาคม วันที่หมอมงคลเกษียณพอดี บทบาทฝ่ายข้าราชการประจำสำคัญมาก ถ้าปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนไหนที่ไม่สนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือว่าอันตรายมาก"

ประเด็นนี้ทำให้ นพ.สุรพงษ์ สรุปได้ข้อหนึ่งว่า บทบาทของฝ่ายข้าราชการประจำมีความสำคัญมาก แนวคิดของปลัดกระทรวงในแต่ละยุคมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบาย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เช่นกัน มันเป็นการต่อสู้ของ 2 แนวความคิดระหว่างความคิดที่ว่าหลักประกันสุขภาะถ้วนหน้าเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนกับแนวคิดที่ว่ารัฐควรช่วยคนยากจนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่องบประมาณและต่อโรงพยาบาล

 

บุคคลแห่งปี 2017: 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: "เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม" กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ

 

เสนอ 2 ประเด็นช่วยพัฒนาระบบ

บทสนทนานำไปสู่ข้อโจมตีสำคัญที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยอัตโนมัติที่ว่า มันทำให้โรงพยาบาลขาดทุน นพ.สุรพงษ์ อธิบายเบื้องต้นว่าการคิดกำไร-ขาดทุนกับเรื่องสุขภาพของประชาชนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผิด ประเด็นต่อมา การที่โรงพยาบาลขาดทุนหมายความว่ารายรับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีอาจน้อยกว่ารายจ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายไปกับการรักษาพยาบาล

"คำถามก็คือ ถ้าเงินมันน้อยจริงๆ มันควรมีภาวะขาดทุนทุกแห่ง แต่ทำไมมีโรงพยาบาลบางแห่งที่อยู่ได้ อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่เป็นองค์การมหาชน ทำงานมา 16 ปี ขาดทุนปีเดียว ปีล่าสุดมีกำไร 60 กว่าล้านบาทจากรายได้ 1,000 ล้านบาท ทำไมบ้านแพ้วไม่ขาดทุนทั้งที่ไม่ต่างจากโรงพยาบาลหลายแห่ง คืออยู่ในเมือง มีประชากรที่ต้องดูแลไม่เยอะมาก มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่ขาดทุน

"ผมเสนอว่า มันต้องไล่ดูรายรับ-รายจ่ายทุกโรงพยาบาล แล้วหาข้อมูลสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลากหลาย ไม่ได้เกิดจากปัจจัยหนึ่งเดียว บางโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาของตัวเอง ต่อให้พยายามแก้ไขอย่างไรก็ประสบภาวะขาดทุน เช่น โรงพยาบาลอุ้มผางที่จังหวัดตาก เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะสนับสนุนอย่างไร ผมจึงพยายามเชียร์ว่าแต่ละโรงพยาบาลควรทำงบดุลของตัวเองเหมือนงบดุลของบริษัท ที่ต้องมีกำไร-ขาดทุนประจำปี ทำอย่างโปร่งใส ให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถไล่ดูว่ารายรับ รายจ่ายที่ไม่สมดุลกัน อยู่ตรงไหน ถ้าเราพัฒนาศักยภาพเต็มที่แล้วและรายรับยังน้อยกว่ารายจ่ายก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องต่อสู้ของบประมาณให้ได้เพิ่มมา"

ในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.สุรพงษ์ แสดงทัศนะว่า มีอย่างน้อย 2 เรื่องที่ตัวระบบควรพัฒนาไปให้ถึง หนึ่งคือการทำให้เกิดโรงพยาบาลในลักษณะองค์การมหาชนแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้วซึ่งผูกโยงกับการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลอย่างแท้จริง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรผ่านการคัดสรรโดยคนในพื้นที่ที่เป็นผู้รับบริการ

ประการที่ 2 เพื่อความยั่งยืนและการพัฒนาทางการแพทย์ นพ.สุรพงษ์ตั้งคำถามว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังจะลงทุน 3.4 ล้านล้านบาทกับโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเคยคิดจะลงทุนกับระบบสุขภาพครั้งใหญ่หรือไม่

"โรงพยาบาลทุกวันนี้มีตึกน้อย ประชาชนมารักษาพยาบาลบางทีต้องมานอนแออัด ก็สร้างตึกเพิ่มได้ ถ้าเราลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือให้เพียงพอในโรงพยาบาลทุกระดับทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอ จะใช้เงินเท่าไหร่

"นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ ปัญหาการกระจุกและกระจายตัวของแพทย์ โดยรวมแล้วจำนวนแพทย์ต่อประชากรยังน้อยอยู่ ควรมีแพทย์และพยาบาลมากกว่านี้ไหม มันเคยมีความเชื่อหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนว่าผลิตแพทย์มากไม่ได้ เดี๋ยวตกงาน เพราะในบางประเทศแพทย์ต้องไปขับแท็กซี่เพราะไม่มีงานทำ ในวันนี้ อาชีพแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ยังคงรุ่ง โอกาสที่โซเชียลมีเดีย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมาแย่งงานไม่มี โอกาสที่หุ่นยนต์จะมาแทนที่ก็ยังไม่ชัด อาจจะได้เฉพาะหุ่นช่วยผ่าตัด แต่การมีแพทย์ที่มีทั้งความเข้าใจผู้ป่วยไม่ใช่อะไรที่หุ่นยนต์ทำแทนได้ ดังนั้น ควรส่งเสริมให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มผลิตแพทย์เพิ่มได้แล้ว ถ้าเพิ่มปีหนึ่งสักพันคน เราก็จะมีแพทย์เพิ่มเข้ามาช่วยในการดูแล

"ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุยิ่งอยู่นานก็มีโอกาสจะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และแต่ละโรคก็มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน ถ้าลงทุนตรงนี้สักแสนถึงสองแสนล้านผมเชื่อว่าคุ้มกว่าการลงทุน 3.4 ล้านล้านบาทมากมาย"


ภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คำถามที่เลี่ยงไม่ได้-อะไรคือภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลานี้

"ผมเชื่อว่าปัญหาใหญ่ที่คุกคามคือการทำให้ทุกคนมีความเข้าใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิ่งที่ดีที่สุดในสังคมที่มีอยู่ในตอนนี้ เราต้องมีความศรัทธา เราต้องทำให้การบอกว่าไม่ต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องถูกต่อว่า ต้องเป็นสิ่งที่ผิด ถ้าผ่านตรงนี้ไปได้ อุปสรรคทุกอย่างแก้ได้หมด วันนี้มีงบประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าต้องจัดสรรเพิ่มอีกหนึ่งถึงสองหมื่นล้านบาท แล้วไปประหยัดที่อื่น ถามว่าคุ้มไหม ยิ่งกว่าคุ้มครับสำหรับสุขภาพของคน"

แน่นอนว่าประเด็นนี้เลี่ยงยากที่จะไม่แตะรัฐบาล นับตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่ มันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคลอนแคลน นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หากทิศทางการเมืองในอนาคตยิ่งมีการรวมศูนย์มากขึ้น ก็น่าวิตกว่าระบบจะไม่คงทน ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงเป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศมากกว่า

"ผมต้องเรียนว่า คนจำนวนหนึ่ง แม้แต่ในวงการสาธารสุขก็เชื่อว่าการมีอำนาจที่เข้มแข็งจะนำไปสู่การปฏิรูป บางคนถึงกับบอกว่า ทุกครั้งที่มีอำนาจที่เข้มแข็งเข้ามา จะมีการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขทุกครั้ง คราวนี้ผมเชื่อว่าเริ่มไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้นได้อีกต่อไปแล้ว ผมยังมีความรู้สึกว่า การส่งเสริมให้คนมีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยผ่านเส้นทางประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ไม่มีทางลัดสำหรับประชาธิปไตย ไม่มีอัศวินม้าขาวหรอก ต้องทำให้ระบบมันเดินหน้าไปด้วยการพยายามให้ทุกคนเข้าไปช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้"

นพ.สุรพงษ์ ปิดท้ายบทสนทนาว่า

"ถ้าเราคิดว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิ เป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประเทศแรกและกลายเป็นแบบอย่าง ได้รับการศึกษาจากทั้งองค์การอนามัยโลก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เราต้องมีศรัทธาว่านโยบายนี้เรามาถูกทางแล้ว ทำได้ก่อนคนอื่นแล้ว การที่เราจะถอยหลังกลับไป ผมว่าเป็นความน่าอับอาย ถ้าบอกว่าเรามีข้อจำกัดบางอย่าง ก็ต้องกลับมาดูว่าจะฝ่าฟันข้อจำกัดไปอย่างไร ไม่ใช่ย้อนกลับมาถามคำถามเชิงหลักการว่าเราควรจะทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไปหรือไม่"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดของขวัญ? ครม.อนุมัติกว่า 100 โครงการ-กิจกรรม

Posted: 26 Dec 2017 08:47 AM PST

ตั้งแต่ สวดมนต์ข้ามปี ลดค่าครองชีพ ตะลุยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของขวัญเด็กแรกเกิด ชลประทานขนาดเล็ก ปีใหม่เที่ยวทั่วไทยสุขใจไปกับกระทรวงเกษตรฯ - ธอส. จ่ายเงินจำนวน 1,000 บ. ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน ที่ไม่เป็น NPLs จนถึงกระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 "9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ"  ฯลฯ

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผลภายหลังการประชุม ครม. (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

26 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารวรรณกลาง สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ซึ่งมีการรับทราบและอนุมัติมาตรการสำคัญที่น่าสนใจคือ โครงการต่างๆ ในช่วงปีใหม่ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

กล่องที่ 1 ของขวัญปีใหม่ 85 โครงการ/กิจกรรม 

ครม. มีมติรับทราบโครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนประจำปี 2561 รวม 85 โครงการ/กิจกรรม โดยจำแนกตามสาระสำคัญได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. โครงการ/กิจกรรมสำหรับเทศกาลปีใหม่ เช่น กิจกรรมส่งเสริมด้านศาสนา (กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ กิจกรรม "ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 ราชกาล") กิจกรรมการจัดการแสดงเนื่องในโอกาส ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ การอวยพรปีใหม่ผ่านระบบ Online (ส.ค.ส. Online) ชุดความเป็นไทยสู่ใจประชาชน เป็นต้น

2. โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการลดค่าครองชีพและลดรายจ่าย 2.1 การจัดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด เช่น กิจกรรมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และกิจกรรมรณรงค์ใช้สินค้าไทย ส่งความสุขแบบไทยเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นต้น 2.2 การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร เช่น โครงการ Application สุดล้ำเพื่อเกษตรกรไทย ยุค 4.0 โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลพื้นที่ด้านการเกษตรครอบคลุม 76 จังหวัด การบริการขนส่งข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาและขนส่งสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปในอัตราพิเศษ  2.3 การลดรายจ่ายและค่าครองชีพด้านอื่น เช่น สถานธนานุบาลท้องถิ่นทั่วไทย มอบของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน การลดค่าใช้จ่ายหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม การประนอมข้อพิพาทให้กับประชาชน เป็นต้น

3. โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการ 3.1 การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการเรียนรู้ เช่น กิจกรรม night at maya city เปิดเมืองมายาในช่วงกลางคืนโดยนำชมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และออกร้านจำหน่ายสินค้า กิจกรรมเปิดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้เข้าชมฟรี และกิจกรรมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย เป็นต้น 3.2 การบริการต่าง ๆ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ โดยติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน ๆ ละ 1 จุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายการให้บริการงานยุติธรรมผ่านระบบเทคโนโลยี ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ "แอปอุตุ" แอปเพื่อการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

4. โครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาคน สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  4.1 การพัฒนาคน เช่น กิจกรรมตะลุยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ รับปีใหม่ 2561 โดยเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ  จังหวัดปทุมธานี การจัดนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจ ด้านนวัตกรรม โดยนำเสนอผลงาน แนวคิด และความสำเร็จของผู้นำด้านนวัตกรรมที่หลากหลายสาขาอาชีพในประเทศไทยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่สาธารณชน เป็นต้น 4.2 การจัดระเบียบและพัฒนาสังคม เช่น โครงการตลาดประชารัฐ : สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยพัฒนาตลาดใหม่และขยายพื้นที่ตลาดที่มีอยู่เดิมให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย โครงการปีใหม่ปลอดภัย คนไทยปลอดทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ โดยจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเคลื่อนที่ ณ จุดอำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น 4.3 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการของขวัญปีใหม่ ประชาปลอดภัย บรรเทาอุทกภัยด้วยผังลุ่มน้ำ โดยดำเนินการวางผังลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั่วประเทศจำนวน 25 ลุ่มน้ำ โครงการป่าในเมือง "สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย" เป็นต้น

กล่องที่ 2 ของขวัญ 16 โครงการ/กิจกรรมของ 4 กระทรวง

ครม. ยังมีติรับทราบโครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนประจำปี 2561 รวม 16 โครงการ/กิจกรรมของ 4 กระทรวง ดังนี้

1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มี 9 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้  1.1 ของขวัญเด็กแรกเกิด (โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน) 1.2 แอปพลิเคชันครอบครัว (โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว)  1.3 Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้าน/สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม (โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) 1.4 ผู้สูงอายุอายุยืน......เยาว์ (โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ) 1.5 เปิดศูนย์บริการคนพิการ 4 มุมเมือง (โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) 1.6 1300 โทรสุขทั่วไทย ยิ้มไกลทั่วโลก (โดยสำนักงานปลัดกระทรวงฯ) 1.7 ลด แลก แจก แถม (โดยการเคหะแห่งชาติ)  1.8 มอบบ้านพอเพียงชนบท 2,561 หลัง [โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)] และ 1.9 ลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (โดยสำนักงานธนานุเคราะห์)

2. กระทรวงพลังงาน (พน.) จัดทำกิจกรรมภายใต้ชื่อ "ปีใหม่ ข้าวใหม่...อิ่มท้อง อิ่มใจช่วยชาวนา"

3. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี 3 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้  3.1 การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi – Speed Internet) สำหรับสถานศึกษา 3.2 กิจกรรมอาชีวะอาสา 3.3 โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มี 3 โครงการ/กิจกรรม ดังนี้ 4.1 การพัฒนาระบบบริการการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One day surgery : ODS) 4.2 การพัฒนานวัตกรรมโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application) "RDU รู้เรื่องยา"4.3 การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันสมุนไพรเฟิร์ส (Samunprai First) "ครบเครื่องเรื่องสมุนไพรไทยในแอปเดียว"

กล่องที่ 3 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ครม. รับทราบ โครงการ "ส่งความสุขปีใหม่ 2561 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เสนอ โดยมีสาระสำคัญของเรื่องคือ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่เกษตรกรและประชาชน โดยจัดทำโครงการ "ส่งความสุขปีใหม่ 2561 จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ดังนี้

1) "มอบของขวัญเกษตรกรไทย มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง" จำนวน 7 หน่วยงาน รวม 10 กิจกรรม เช่น โครงการชลประทานขนาดเล็ก ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหม่ (ข้าว ประมง) โครงการโคบาลสร้างอาชีพ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561/โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ/โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560 - 2561 โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน แจกปัจจัยการผลิต (ศูนย์หม่อนไหมฯ 21 ศูนย์) เป็นต้น

2) "เพิ่มพลังปีใหม่ ซื้อสินค้าเกษตรไทยคุณภาพดีในราคาพิเศษ" จำนวน 8 หน่วยงาน รวม 23 แห่ง เช่น สินค้าปศุสัตว์ราคาถูก (ปศ.) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา (กยท.) เทศกาลส่งความสุขด้วยผลไม้ไทย (อตก.) ตลาดสีเขียว (ผักอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้า OTOP) (อสค.) ตลาดเกษตรกร ตลาดนัดชาวดอย เทศกาลชิมชาและกาแฟ และวัฒนธรรมชนเผ่าดอยแม่สลอง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ (สวพส.) การจัดกระเช้า/ชุดของขวัญ จากสินค้าเกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสินค้าประมง NON - IUU (กสส. มกอช. อตก. อสป.) เป็นต้น

3) "ปีใหม่เที่ยวทั่วไทยสุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" (29 ธ.ค. 2560 - 2 ม.ค. 2561)  3.1) เปิดสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าชม (ศูนย์ศึกษา ศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และให้ความรู้ด้านการเกษตร) รวม 97 แห่ง เช่น ศูนย์ข้าว (กข.) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร (ขป.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านปศุสัตว์ (ปศ.) ชวนเที่ยวไทยตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 (สถานีเรดาห์ฝนหลวง) (ฝล.) ชิมหม่อน ชมไหม สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม (มม.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จังหวัดราชบุรี) (พด.) (ดอยผาหม่น/ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัด) (กสก.) โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร) (กวก.) อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ (สวพส.) เป็นต้น

3.2) เปิดสถานที่ให้ประชาชนเข้าชมฟรี/ไม่คิดค่าบริการ รวม 11 แห่ง เช่น สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ/พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (ปม.) ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (สปก.) ฟาร์มโคนมไทย - เดนมาร์ค (อสค.) และพิพิธภัณฑ์กษัตริย์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ (พกฉ.) เป็นต้น และ 3.3) ศูนย์บริการเฉพาะปีใหม่/จิตอาสา รวม 342 จุด (กข. 20 จุด/ชป. 133 จุด/ กตส. 77 จุด/ปม. 27 จุด/ปศ. 23 จุด/กวก. 32 จุด/สศก. 12จุด/อสค. 1 จุด และ กยท. 17 จุด) ระยะเวลาดำเนินการ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560 - ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561

กล่องที่ 4 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

ครม. รับทราบและเห็นชอบโครงการของขวัญปีใหม่ปี 2561 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบโครงการเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน  1.1 โครงการของขวัญปีใหม่ 2561 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะจ่ายเงินจำนวน 1,000 บาท ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน ที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) และมีวงเงินกู้รวมวงเงินกู้ทุกบัญชีภายใต้หลักประกันเดียวกันไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยต้องเป็นผู้กู้ที่มีการชำระเงินงวดของเดือนธันวาคม 2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 31 ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับของขวัญจำนวนประมาณ 165,107 ราย และ 1.2 โครงการชำระดีมีคืนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2561 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 สำหรับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 ไม่เกิน 300,000 บาท โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับของขวัญเป็นเกษตรกรจำนวน 2.3 ล้านราย

2. รับทราบโครงการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ธนาคาอาคารสงเคราะห์ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อยทั่วไป และบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและมีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดถึง 40 ปี รวมทั้งมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามที่ธนาคารกำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ไม่เกินวันที่ 28 ธ.ค. 2561 หรือเมื่อธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเต็มวงเงินโครงการแล้ว โดยมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย วงเงินโครงการรวม 30,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และร้อยละ 3.00 ต่อปี สำหรับกรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท 2.2 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บุคลากรภาครัฐ) สำหรับบุคลากรภาครัฐตามที่ธนาคารกำหนด วงเงินโครงการรวม 30,000 ล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ MRR-3.75 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี) และ 2.3 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงบุคลากรภาครัฐตามที่ธนาคารกำหนด ที่มีภูมิลำเนาหรือมีความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี วงเงินโครงการรวม 1,000 ล้านบาท วงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับ ผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับประชาชน ผู้มีรายได้น้อยและบุคลากรภาครัฐโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ใน 5 ปีแรก อยู่ที่ 2.50 ต่อปี

3. เห็นชอบการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ธอส.และ ธ.ก.ส. ดังนี้  3.1 ขอแยกบัญชีโครงการตามข้อ 1 และ 2 เป็น PSA เพื่อนำผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงให้นำส่วนดังกล่าวบวกกลับเป็นกำไรสุทธิเพื่อคำนวณโบนัสพนักงาน และ 3.2 สำหรับโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ตามข้อ 2.1 และ 2.3 ขอไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินโครงการเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของ ธอส. สำหรับกรณีที่ NPLs ภายใต้โครงการดังกล่าวส่งผลให้สัดส่วน NPLs ของ ธอส. สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม

กล่องที่ 5 กระทรวงแรงงาน 9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ

ครม. มติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน ส่งความสุขปี 2561 "9 ชื่นบาน แรงงานชื่นใจ" สำหรับเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงแรงงานมอบให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ชื่นชอบ ช่างแรงงาน โดยให้บริการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการจุดพักรถ พร้อมให้บริการเครื่องดื่ม ผ้าเย็น นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า จำนวน 77 แห่ง บนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2560 ถึงวันที่ 4 ม.ค. 2561

2. ชื่นชม ช่างประชารัฐ โดยจัดบริการช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน จำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ เดินสายไฟฟ้า ซ่อมประปา ล้างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีราคาถูก คุณภาพไว้ใจได้ มีความเต็มใจให้บริการ ด้วยมาตรฐานกระทรวงแรงงาน

3. ชื่นมื่น มีงานทำ โดยการจัดคู่คนให้ตรงงาน จัดหางานให้ตรงใจ จำนวนประมาณ 70,000 อัตรา เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีตำแหน่งงานรองรับการทำงานของผู้สูงอายุ จำนวน 2,500 อัตรา

4. ชื่นบาน บ้านประชารัฐ โดยให้ผู้ประกันตนกู้ยืมเงินซื้อบ้านในโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยมีวงเงินที่จัดสรรให้ธนาคารฯ ดำเนินการ จำนวน 5,000 ล้านบาท

5. ชื่นใจ ค่าเลี้ยงดูบุตร โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร อายุไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน ได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ดังกล่าว จำนวน 1,200,000 คน

6. ชื่นจิต สิทธิผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนแบบสมัครใจ ตามมาตรา 40 จำนวน 2,400,000 คน ที่จ่ายเงินสมทบในอัตรา 70 บาท และ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับการเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อนอนพักรักษาตัวจากวันละ 200 บาท เป็น 300 บาท กรณีเสียชีวิตรับเพิ่มเงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท และเพิ่มทางเลือกใหม่จ่ายเงินสมทบเพียง 300 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 200 บาท ถึง 300 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี หากทุพพลภาพรับเงินเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาทตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตรับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท รับเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่เกินคราวละ 2 คน รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60 ปี

7. ชื่นสุข เรียกรับสิทธิ เพิ่มช่องทางเรียกรับสิทธิแรงงาน โดยให้บริการลูกจ้างยื่นคำร้องออนไลน์ ทางเว็บไซต์ www.labour.go.th  เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และฮอตไลน์กระทรวงแรงงาน 1506

8. ชื่นชีวา ไร้โรคหน้าจอ โดยมอบ Application เพื่อรู้เท่าทันออฟฟิศซินโดรม โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม ส่งเสริมให้คนในองค์กรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม

9. ชื่นตา อาสาแรงงาน เพื่อให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่สื่อกลางในการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน และสร้างความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งตำแหน่งงานว่างเพื่อการมีงานทำ จากเดิมที่มีอยู่กว่า 7,200 คน ทุกจังหวัด โดยเพิ่มให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ 50 เขต อีก 253 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: กติกากลับกลอก

Posted: 26 Dec 2017 06:46 AM PST


 

สุเทพ เทือกสุบรรณ, ไพบูลย์ นิติตะวัน ไปยื่น สนช.ขอแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง "รีเซ็ต" สมาชิกพรรค โดยอ้างความเท่าเทียมเป็นธรรมระหว่างพรรคเก่าพรรคใหม่

สนช.ยังไม่ทันจัดให้ ก็มีคำสั่ง คสช. ขยายเวลาให้พรรคการเมืองทำงานธุรการ พร้อมกับ "รีเซ็ต" สมาชิกโดยปริยาย ให้สมาชิกพรรคเก่าต้องมีหนังสือยืนยันพร้อมจ่ายสตางค์ค่าสมาชิก ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ไม่เช่นนั้นถือว่าพ้นจากสมาชิก

แต่สำหรับพรรคใหม่ ท่านเอื้อให้ตั้งพรรคการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 เพื่อความเท่าเทียมเป็นธรรม

ส่วนคำถามว่า ถ้ารอจนยกเลิกประกาศ คสช.จึงให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ จะเลือกตั้งทันไหม เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดให้ต้องทำไพรมารีโหวตด้วย

ก็ไม่ต้องห่วง ไพบูลย์ไปหารือกับ สนช.แล้วเห็นพ้องกัน ว่าน่าจะงดเว้นไว้ก่อน ไว้ใช้ตอนเลือกตั้งครั้งหน้า

ฟังดูเหมือนดีทั้งนั้น พูดอีกก็ถูกอีก ต้องให้พรรคเก่าพรรคใหม่แข่งขันเท่าเทียมเป็นธรรม แต่ถามหน่อย ใครร่างกฎหมาย ใครผ่านกฎหมาย ถ้าไม่ใช่พวกท่าน แม่น้ำ 5 สาย

กรธ.ยกร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ไม่ยักรีเซ็ตสมาชิกพรรค สนช.ก็ไม่คัดค้าน จนกฎหมายผ่าน แถม สนช.ยังไปเพิ่มให้ทำไพรมารีโหวต ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ตอนนั้นก็มีคนเสนอ ให้เขียนบทเฉพาะกาลงดเว้นไว้ใช้ครั้งหน้า แต่ไม่ยอม ไม่เอา มาวันนี้จะเอาตามไพบูลย์

ร่างกฎหมายเสร็จสรรพ นำขึ้นทูลเกล้าฯ จนมีพระบรมราชโองการ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ต.ค. กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำงานธุรการทำกิจกรรมต่างๆ ภายใน 90 วัน 180 วัน ก็ตามที่พวกท่านเขียนมาทั้งนั้น แต่ คสช.ไม่ยอมปลดล็อก ไม่ยกเลิกประกาศห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม อ้าว แล้วรีบเขียนกฎหมายมาทำไม

พอพรรคการเมืองเรียกร้อง จนเวลากระชั้น จึงมีคำสั่งคสช.ปลดล็อกให้ ใช้คำสั่ง คสช.แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ยังไม่ทันใช้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย้อนถามสุเทพ ไพบูลย์ ว่าที่ผ่านมาก็เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล ไพบูลย์เป็นสปท.ด้วยซ้ำ ตอน กรธ.ร่างกฎหมาย สนช.ผ่านกฎหมาย พวกคุณไปอยู่ที่ไหน จนประกาศใช้แล้วค่อยโผล่มาขอแก้ไข

วัชระ เพชรทอง ก็แฉว่ามี "อดีตกำนันคนดังภาคใต้" อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคการเมืองใหม่ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนนอกหลังเลือกตั้ง นัยว่าอดีตกำนันวางแผนยึดพรรคเดิม แต่ไม่สำเร็จ

ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ใช่หลับหูหลับตาปัญญาอ่อน ฟังแค่นี้ก็รู้ว่า เพราะพรรคใหม่ตั้งไม่ทัน จึงมาเต้นแร้งเต้นกาขอรื้อกติกา แถมไม่ใช่พรรคขี้หมูขี้หมา เป็นพรรคที่ตั้งมาสอดคล้องกับ 6 คำถาม จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็เป็นสิทธิใช่หรือไม่

รู้กันขนาดนี้ คนไทย 46.71% ในดุสิตโพลยังเห็นว่าการตั้งพรรคขึ้นมาหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องเหมาะสม แม้มีคน 53.29% คัดค้าน

ถามจริง สังคมไทยวันนี้ยังให้ความสำคัญกับการมียางอายหรือเปล่า หรือขอเพียงเป็นคนที่ตัวเองเชียร์ ตัวเองเห็นว่าดี จะทำอย่างไรก็ได้

คนดีไม่ต้องเคารพกติกา? ทั้งที่เขียนกติกาขึ้นมาเอง ได้เปรียบแทบทุกอย่าง แต่พอมีช่องว่างที่กลัวการสืบทอดอำนาจสะดุด ก็ฉีกกติกาเขียนใหม่?

กระนั้น คนจำนวนมากก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ต่อไปสังคมนี้ต่ำตมขนาดไหน แต่ใครนะ ยังคุยว่าจะ "เทคออฟ" อ้อ คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคใหม่นั่นเอง

 

ที่มา: www.kaohoon.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มีเทพจุติอีกแล้ว!

Posted: 26 Dec 2017 06:28 AM PST

 


มีเทพจุติอีกแล้ว
ที่แนวป่าใหญ่ไกลสุดหล้า
ไม่แคล้วฉันต้องจัดพิธีปวารณา
ฝากตัวเป็นข้าสาวก

ต้องท่องจำบทสวดอีกบทหนึ่ง
ซึ่งเป็นบทที่ร้อยห้าสิบหก
อานุภาพยิ่งใหญ่ใช้หยิบยก
ดุจพกกระเป๋าแบรนเนมด์หนึ่งใบ

โลกนี้มีเทพมากเหลือเกิน
บ้างห่างเหินบ้างชิดใกล้
สถิตในฐานะที่พึ่งทางใจ
อยู่เหนือใครๆนับร้อยพัน

ณ นครร้างหลงลืม
ผู้คนด่ำดื่มดอกฝัน
จนลืมนับถือกันและกัน
ลืมความเชื่อมั่นในตนเอง

จำต้องรอเทพจุติ
ผู้ซึ่งวิริยะกล้าเก่ง
มากำราบอธรรมให้ยำเกรง
มาร้องเพลงปลุกปลอบวิญญาณ

ต้องท่องจำบทสวดอีกบทหนึ่ง
ซึ่งฉันตัดสินใจไม่อ่าน
แต่ท่ามเสียงดินฟ้าสาธุการ
อาจจำได้ติดกระบาลอย่างจำยอม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อีกแล้ว! ประยุทธ์ สัญญาปี 61 จะไม่หัวร้อน พร้อมเปิดคำสัญญาจัดการอารมณ์ปีก่อนๆ

Posted: 26 Dec 2017 03:11 AM PST

ป้าลุงยังจำได้ไหม? พล.อ.ประยุทธ์ สัญญาไว้ว่าอะไรในปีก่อนๆ เรื่องการจัดการอารมณ์ก่อนหน้านี้ ปีใหม่ 59 ตั้งใจจะเป็น Good Guy ได้ 12 วัน ระบุที่วีนแตกเพราะสื่อถามซ้ำๆ ชี้ต้องโทษทุกคน

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ สักการะพระอจนะ ณ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

26 ธ.ค. 2560 กลับมาอีกครั้งกับการให้คำมั่นสัญญาว่าจะอารมณ์ดี พูดจาไพเราะ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย ไทยพีบีเอส รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลที่จะมอบให้กับประชาชน ว่า ขณะนี้หลายกระทรวงได้เตรียมของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้กับประชาชนเกือบครบทุกกระทรวงแล้ว ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชน เพื่อเป็นการวางพื้นฐานในอนาคต และอยากให้ปีหน้าเป็นปีแห่งความสำเร็จ และเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล จึงอยากข้อร้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองกัน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอวยพรปีใหม่ให้ประชาชนมีความสุข และสมหวังตามความมุ่งมั่นทุกประการ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าในปี 61 จะเป็นนายกฯ ที่อารมณ์ดี พูดจาไพเราะตามที่ประชาชนต้องการ แม้จะมีใครพยายามทำให้หงุดหงิดก็ตาม

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้คำมั่นสัญญาในลักษณะนี้ แต่มีมาตลอดเมื่ออยู่ในอำนาจในฐานหัวหน้า คสช.

ปีใหม่ 59 ตั้งใจจะเป็น Good Guy ได้ 12 วัน

1 ม.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนท้ายในรายการคืนความสุขฯ ว่าจะปฏิรูปอารมณ์ตัวเอง โดยตั้งใจจะเป็น Good Guy 

"ปีหน้าผมก็จะให้ของขวัญตัวเองเหมือนกัน ปีหน้าผมจะพูดให้น้อยลง หงุดหงิดน้อยลง ทะเลาะกับนักข่าวน้อยลง ต้องทำตัวเป็น Good Guy แล้ว ไม่ได้แล้ว 2 ปี แล้ว ที่ผมดุเดือดหน่อย 2 ปีเพราะว่าเป็นช่วงเริ่มต้น เพราะฉะนั้นช่วงปีต่อไปเป็นเรื่องการปฏิรูป ผมบอกแล้วทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ผมปฏิรูปตัวผมเองด้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว เมื่อ 1 ม.ค.59

แต่หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจะปฏิรูปอารมณ์ตัวเอง โดยตั้งใจจะเป็น Good Guy ไปเพียง 12 วัน ต่อมา 12 ม.ค.59 MGR Online รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ แถลงตอนหนึ่งถึงการถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ต่อมาตราการที่ให้กระทรวงที่ไปซื้อยางนั้น ไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณใหม่ให้ แต่ให้ใช้งบประมาณภายในทำไปก่อน ไม่ใช่ไปของบประมาณเพิ่ม

"1. ท่านบอกให้ผมไปทำถนน 2. ท่านบอกประโยชน์น้อย 3. ใช้งบประมาณเปลือง แล้วจะให้กูทำยังไงวะ ปัดโธ่ กระทรวงมหาดไทยจะทำถนนเส้นทางในหมู่บ้านก่อน พอแล้ว ผมขี้เกียจตอบคุณ ต่อไปนี้ผมจะตอบแต่นโยบายอย่างเดียว ผมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไปถามเขา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว เมื่อ 12 ม.ค.59

MGR Online รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้กล่าวขอบคุณนายกฯ โดยนายกฯ หันมาถามกลับว่า "ทำไม ไล่เหรอ ไม่ได้โมโห วันนี้จะพูดบอกว่าไม่โมโห นี่ไม่ได้โมโหแล้วนะ" จากนั้นนายกฯ เดินออกจากโพเดียม และหันไปเอ่ยปากขอโทษ พร้อมบอกว่า "ขอโทษนะอีหนูเอ้ย" จากนั้นได้สอบถามหาผู้สื่อข่าวที่ซักถามตนในเรื่องยางชื่ออะไร เมื่อได้เห็นหน้า ได้ทราบชื่อและสังกัดแล้วซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ตะโกนเรียกให้มาหาพร้อมชี้ไปยังเจ้าหน้าที่แล้วหยอกล้อว่า "ส่งไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ หน่อยวะ" 

ก่อนหน้านั้น (11 ม.ค.59) ข่าวสดออนไลน์ ได้รายงานตอนหนึ่งถึงการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีการแก้ไขปัญหาราคายาง ว่า  พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว และระหว่างเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าหลังการให้สัมภาษณ์ยังได้กระทืบเท้าอย่างไม่สบอารมณ์ด้วย 

ระบุที่วีนแตกเพราะสื่อถามซ้ำๆ ชี้ต้องโทษทุกคน

ต่อมาอีก 1 เดือน หลังจากเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเมื่อ วันที่ 2 ก.พ. 59  ต่อม 4 ก.พ. 59  MatichonTV ได้เผยแพร่วีดิโอคลิป บางช่วงในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้กล่าวถึงสาเหตุของอารมณ์ฉุนเฉียวนั้นด้วย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ตนหงุดหงิดมาหลายวัน นั้นเพราะถูกคำถามเดิม 2 ปีมาแล้ว รวมทั้งเวลาสัมภาษณ์นักข่าวก็จะถามซ้ำกัน
 
"ถ้าท่านฟังคำถามที่เขาถามผมจะรู้ว่าผมน่าจะหงุดหงิดได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำไป พูดแล้วพูดอีก พูดแล้วพูดอีก อะไรที่มันจะขัดแย้งก็ขอลดลงหน่อย ก็จะถามให้มันขัดแย้งอยู่ได้ นั่นล่ะคือสิ่งที่เป็นปัญหาประเทศเราวันนี้ ผมโทษใครไม่ได้ ต้องโทษพวกเราทุกคน คือเราไม่ได้ปลูกฝังความคิด หรือหลักการและเหตุผล เราปลูกฝังแต่เรื่องประชาธิปไตย เรื่องของสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ซึ่งวันหน้าไม่มีทาง ไม่มีทางอยู่กันได้" พล.อ.ประยุทธ์ อธิบาย
 

คำสัญญาและคำอธิบายครั้งก่อนหน้า :

25 ธ.ค.58 : วันนี้จะพูดแรงครั้งสุดท้ายแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในการปิดการแถลงสรุปผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 ว่า

"ไม่ใช่ว่าผมเก่งกว่าท่าน แต่ว่าผมเป็นคิดและเก็บทุกประเด็น วันนี้ผมถึงไม่ค่อยสบายเพราะโมโหนี้เหละ แล้ววันนี้จะพูดแรงครั้งสุดท้ายแล้วนะ ตั้งใจ เพราะเดี๋ยวจะปีใหม่ ปีหน้าจะให้รองนายกฯ มาดุแทน ผมก็จะยิ้มอย่างเดียว เพราะพูดมาเยอะแล้ว พูดมา 2 ปีแล้ว พูดจนลมเข้าท้องแล้ว พูดจนผอม เอาไปทำตามกันหน่อย เอาไปคิดกันหน่อย และอย่างไปสร้างความขัดแย้ง เราจะไม่แบ่งคนไทยให้เป็นซ้าย เป็นขวาอีกแล้ว เราต้องให้คนไทยมาอยู่ตรงกลางให้ได้ มากบ้าง น้อยบ้าง ช่างเขาเถอะ จะสีไหนๆ ก็เอากลับมา เพราะมันฆ่ากันไม่ได้ทั้งหมดให้กฎหมายทำงานไป จะเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถ้าไปเร่งทุกอย่างก็กลับมาที่เดิม ขอเพียงแต่เอาเข้ากระบวนการให้มันถูกต้องตามขั้นตอน"

(มติชนออนไลน์, 26 ธ.ค.58)

6 พ.ย. 58 :  ธรรมดาผมทหารเก่า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนท้ายในรายการคืนความสุขฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.58 ว่า

"วันนี้อาจจะพูดหนักนิด เบาหน่อยบ้าง ก็ขอโทษด้วย บางครั้งก็ดูผมอาจจะขี้โมโหไปบ้าง ก็ธรรมดาผมทหารเก่า"

(ประชาไท, 6 พ.ย.58)

28 ต.ค.58 : พูดเรื่องนี้ไม่ได้ โมโห

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.58 ว่า

"แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ผมเรียกมาปรับทัศนคติ ก็มีคนบอกว่าทำผิด ดังนั้นหากพบคนผิด ก็ไม่ต้องเรียกตัวอีก จับติดคุกไปเลยดีหรือไม่ ส่วนที่เรียกมาปรับทัศนคติ แล้วบอกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วปล่อยให้เป็นพ่อหรือไง แบบนี้บ้านเมืองเสียหายกันหมด พูดเรื่องนี้ไม่ได้ โมโห"

(ประชาไท, 28 ธ.ค.58)

15 ก.ย.58 : ขี้เกียจโมโห

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงหลังการประชุม ครม. ว่า

"ผมคิดว่าผมก็ทำดีที่สุดแล้วล่ะ ผมไม่ได้ต้องการมีอำนาจ ต้องการอะไรต่างๆ ผมขาดทุนลงทุกวันนะ ผมขาดทุนอะไรรู้ไหม เพราะผมไม่ได้ผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่ขาดทุนของผมคือขาดทุนชื่อเสียงผมถูกทำลายโดยคนใส่ร้ายป้ายสีผมเยอะพอสมควร ต่อต้านอะไรไม่รู้ มันชอบพูดเรื่องที่มันไม่ใช่เรื่อง ผมก็ขี้เกียจโมโหนะ นี่ผมขาดทุนแล้วนะ สองผมขาดทุนในเรื่องชีวิตผม ความปลอดภัยของผมก็ขาดทุนนะสามคือขาดทุนที่ผมจะไปพักผ่อนของผมเวลาผมก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ในการทำงานแบบนี้นะ ความกดดันก็สูง แล้วผมจะได้พักผ่อนเมื่อไหร่ แต่ทั้งนี้ผมก็จำเป็นต้องทำนะ เพื่อรักษาสถานการณ์ให้ได้และเดินหน้าประเทศให้ได้วางพื้นฐานให้ได้ เพราะอะไร เพราะว่าผมคิดแต่เพียงว่าผู้ได้รับกำไรต้องเป็นประชาชน ประชาชนเป็นผู้ได้รับกำไรจากที่ผมได้ขาดทุนไปแล้วนี่" 

(ประชาไท, 15 ก.ย.58)

4 ก.พ.58 : แกล้งหงุดหงิด ไม่ได้หงุดหงิดจริง

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.58 พล.อ.ประยุทธ์  ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า แม่น้ำ 5 สาย (คสช.-ครม.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่าง) ได้เป็นห่วงอารมณ์ของท่านนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า
"ผมเป็นคนอารมณ์ดีจะตาย ผมเป็นคนอารมณ์ดีนะจริงๆ แล้ว ผมเป็นคนตลก ก็ไม่เห็นเหรอเวลาผมตลกมา คุณก็ตลกผมตลอดอะ เวลาผมเสียงดังผมก็แกล้งก็ได้ ส่วนใหญ่ผมจะแกล้งนะเวลาหงุดหงิด แกล้งหงุดหงิด ไม่ได้หงุดหงิดจริง แต่อย่าทำบ่อยแล้วกัน อย่าแหย่บ่อย"
(Voice TV, 4 ก.พ.58

27 มี.ค.58 : จะไม่ให้ผมโมโหมีอารมณ์รุนแรงได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขฯ วันที่ 27 มี.ค.58 ว่า
"..บางสื่อก็คุมไม่ได้ อะไรไม่ได้ เขียนไปเรื่อย แล้วจะไม่ให้ผมโมโหมีอารมณ์รุนแรงได้อย่างไร.."
(ประชาไท, 27 มี.ค.58)

30 มี.ค.58 : ยอมรับว่าผมเป็นคนขี้โมโห แต่ตอนนี้ผมพยายามที่จะหยุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.58 ว่า

"ผมเตือนตัวผมเอง เพราะว่าผมปวดหัวไง พูดแล้วโมโหก็ปวดหัว เส้นโลหิตมันจะแตกเดี๋ยวตายก่อน ยอมรับว่าผมเป็นคนขี้โมโห แต่ตอนนี้ผมพยายามที่จะหยุด เพราะน้องๆ น่ารักทุกคน"

(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 30 มี.ค.58

19 ม.ค.58 : กำไลหินสีของลูกสาวก็ช่วยไม่ได้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.58 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงกำไรข้อมือที่ใส่เป็นเคล็ดอะไรว่า กำไรหินสี ลูกสาวซื้อให้ใส่ เขาเชื่อว่าหินมันเย็น ใส่แล้วอารมณ์จะเย็นลง แต่ไม่เห็นจะเย็น อารมณ์เสียแต่เช้า (มติชนออนไลน์, 19 ม.ค.58)

25 ธ.ค.57 : โมโห ทำให้เสียกริยา เสียมาดผู้นำหมด 

พล.อ.ประยุทธ์ วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน ในวาระครบรอบ 3 เดือน เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 57 ว่า

"ผมอดทนมานาน เป็นไร บ้าหรือไง ไม่ว่าใครเป็น ด่าทั้งหมด แล้วมันจะดีตรงไหนวะ ผมไม่อยากอ่าน อ่านแล้วมันโมโห ทำให้เสียกริยา เสียมาดผู้นำหมด คราวนี้ผมจะปิดจริงๆ ไม่งั้นจะมีกฎอัยการศึกไว้ทำไม มาตรา 44 ใช้ในทางสร้างสรรค์ ผมยังไม่เคยเอาใครมาติดคุกสักคน"

(ประชาไท, 25 ธ.ค.57)

2 ธ.ค.57 : ตั้งใจว่าต่อไปนี้จะเลิกเป็นคนขี้โมโห ให้หลัง 1 วันโมโหอีก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เชิญชวนประชาชนทำดี เนื่องในเดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเตรียมเข้าสู่ปีใหม่ 2558 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.57 ว่า

"ตั้งใจว่าต่อไปนี้จะเลิกเป็นคนขี้โมโห จะเป็นคนพูดจาเพราะๆ ไม่พูดจาเสียหาย กำลังคิดกำลังทำอยู่ น้องๆ (ผู้สื่อข่าว) เองก็จะไม่กวนโมโหอีก"

ขณะที่หลังจากนั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 3 ธ.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงสื่อบางฉบับด้วยว่า "ตอนนี้ไม่อ่านแล้วบางอันก็ขี้เกียจ อ่านแล้วโมโห ไม่อ่านดีกว่า" 

(ไทยรัฐออนไลน์, 5 ม.ค.58)

28 พ.ย.57 : ไม่ทำอะไรด้วยความโมโห 

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีถึงการเปลี่ยนรูปแบบรายการคืนความสุข ว่า

"ผมไม่ได้ให้ใครมาชอบ ผมเพียงแต่ต้องการให้ได้ฟังว่าสิ่งที่พูดเคยมีใครพูดบ้างหรือไม่ ก็ไม่มี ผมเลยต้องพูดนานก็ยังมีคนไม่ฟังอีก จะให้บอกว่าทุกเรื่องทำแล้วเสร็จวันนี้พรุ่งนี้ไม่มีทาง ไว้รอชาติหน้าเถอะ ที่พูดมาไม่ได้บ่น เหนื่อย โมโหแต่ก็ทำเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะคนคาดหวัง มันก็กดดัน ทั้งตัวเองและคนอื่น ผมไม่ใช่พระอิฐ พระปูน แต่ผมไม่ทำอะไรด้วยความโมโห ทหารเป็นเช่นนี้แม้โมโหก็จะมีสติมากกว่าเดิม ถ้าไม่โมโห สติจะไม่ค่อยมี เวลาโมโหต้องควบคุมตัวเองให้ได้ แต่ปฏิกิริยาอาการออกได้ อยู่กับทหารเป็นแบบนี้ แต่ต้องรอบคอบ แม้โมโหจะอะไรใครสักคนจะต้องระมัดระวัง"
(มติชนออนไลน์, 28 พ.ย.57)

3 พ.ย.57 : วันนี้ก็เย็นลงไปเยอะแล้ว 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงอารมณ์ของตัวเองที่โมโหเร็วด้วยว่า
"ผมพยายามคุยอย่างเต็มที่ พูดกับพวกเราอย่างใจเย็นที่สุดแล้วนะ เพราะว่าผมก็รู้อะนะว่าผมค่อนข้างจะโมโหเร็ว วันนี้ก็เย็นลงไปเยอะแล้ว เพราะผมมองประเทศชาติเป็นหลักนะ"

25 ก.ย.57 : ถ้าโมโหแรงกว่านี้

ช่วงที่มีการปะทะกับ นางยุวดี ธัญญสิริ หรือเจ๊ยุ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับตัวด้วย เมื่อวันที่ 25 ก.ย.57 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวด้วยว่า  ก็จะต้องปรับทั้งสองฝ่าย ปรับให้ตนด้วย อย่าให้ตนปรับคนเดียว วันนี้ตนยังไม่ได้โมโหเลย ถ้าโมโหแรงกว่านี้  (ไทยรัฐออนไลน์)

19 ก.ย.57 : เป็นนายกฯ ต้องสุภาพเรียบร้อย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการควบคุมอารมณ์ของตัวเองและขอโทษผ่านรายการคืนความสุขฯ ด้วยว่า
"ผมต้องขอโทษบางครั้งพูดแรงไป ก็มีอารมณ์เหมือนกัน เพราะว่าท่านให้ร้ายกองทัพให้ร้ายอะไรต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้องขอโทษด้วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสุภาพเรียบร้อย"

8 ส.ค.57 : ทหารพูดจาไม่เหมาะสม ให้รายงานมา

ในช่วงแรกๆ ที่ คสช. ยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.57 ถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจของทหารด้วยว่า 
"บางคนบอกทหารพูดจาไม่เหมาะสม พูดจากระโชกโฮกฮาก กร่าง อะไร รายงานมาเลย ให้ถึงผมเลย จะลงโทษให้ทันที ผมย้ำไปหนักหนาแล้วว่าทำไม่ได้ ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งต้องบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งต้องอ่อนน้อมกับประชาชน"

ส.ค.55 : โมโหปกครองกองทัพ

เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเดือน ส.ค.55 พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงการใช้อารมณ์กับการปกครองกองทัพ ว่า
"ผมโมโหเป็นปกติผมอยู่แล้ว ไม่งั้นผมปกครองกองทัพผมไม่ได้หรอก ผมก็ต้องโมโหเป็นเหมือนกัน ไม่ใช่พระนี่หว่า"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ที่ปรึกษา TDRI ชี้ทางออกสังคมผู้สูงอายุ เก็บเบี้ยประกันวัยทำงานปีละ 500 บ. ตั้งกองทุนดูแล

Posted: 26 Dec 2017 01:55 AM PST

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ชี้ทางออกสังคมผู้สูงอายุ เสนอจัดตั้ง "กองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง" เก็บเบี้ยประกันประชากรวัยทำงาน เริ่มปีละ 500 บ. และปรับเพิ่ม 500 บ. ทุก 5 ปี หนุนเป็นค่าใช้จ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ขณะที่ครอบครัวและท้องถิ่น ร่วมจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล มอบ สปสช. บริหารกองทุน เชื่อได้รับการตอบรับ เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ซื้อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  
 
26 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวทีเสวนา "สานฝัน สร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนถ้วนหน้า ในงาน "งานกับอุดมคติของชีวิต" ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยมีข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ว่า เมื่อดูค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่รัอยละ 4 ของจีดีพีประเทศ และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อดูรายจ่ายสุขภาพพบว่าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้รายจ่ายสุขภาพประเทศเพิ่มขึ้นคือโครงสร้างประชากรประเทศที่เป็นจากผลนโยบายวางแผนครอบครัวในอดีต ทำให้ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าจะขยับขึ้นไปอยู่ร้อยละ 30 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17 ของประชากรประเทศ
 
วรวรรณ กล่าวต่อว่าขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยในกระทรวงสาธารณสุข พบว่า 5 โรคเรื้อรังหลักของคนไทย ได้แก่ มะเร็ง, เบาหวาน, ความดันโลหิต, โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจ มีส่วนอย่างมากในการใช้ทรัพยากรโรงพยาบาล หรือร้อยละ 20 และเมื่อดูการใช้ทรัพยากรผู้ป่วยในตามกลุ่มอายุภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในมากกว่าร้อยละ 50 ใช้กับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นั่นคือโรคเรื้อรัง
 
สำหรับภาพระบบการรักษาพยาบาลในอนาคต ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาจัดการปัญหาได้หรือไม่ แม้ว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่สามารถลดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทางเลือกหนึ่งคือ "การมีระบบประกันดูแลระยะยาว" เน้นการดูแลที่บ้านแทนที่จะให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุมาใช้ทรัพยากรที่โรงพยาบาล แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินงานอยู่ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรค ทั้งข้อจำกัดของระเบียบงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาจึงน่าจะมีแนวทางใหม่ในการจัดการ อย่างการจัดตั้ง "กองทุนระยะยาวเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง"
 
ที่ปรึกษา TDRI กล่าวว่า งบประมาณกองทุนฯ ร้อยละ 25 มาจากการจ่ายสมทบของประชาชนวัยทำงานอายุ 40-65 ปี เพื่อนำมาสนับสนุนในส่วนค่าวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ส่วนร้อยละ 37.5 มาจากท้องถิ่น และร้อยละ 37.5 มาจากการร่วมจ่ายของผู้รับบริการ หรือครอบครัวของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพื่อนำมาเป็นค่าจ้างผู้ดูแล มีการจัดระบบการดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลระบบดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) พร้อมกันนี้ยังดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วม ซึ่งกองทุนฯ นี้ดูแลเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ได้รับการประเมินโดยแพทย์
 
"ในการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ หากเริ่มปี 2560 นี้ เบื้ยประกันที่จัดเก็บจากประชากรวัยทำงานจะอยู่ที่ 500 บาทต่อปี และปรับเพิ่ม 500 บาททุก 5 ปี เพื่อให้ระบบยืนอยู่ได้ แม้ว่าภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการดำเนินกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) แต่เป็นการสนับสนุนงบประมาณโดยภาครัฐจากภาษีประชาชน ซึ่งแนวโน้มค่าใช้จ่ายดูแลจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ในปี 2590 จะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท จึงต้องมีระบบรองรับดูแลที่ยั่งยืน ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ เพราะนอกจากโรงพยาบาลเตียงเต็มเข้าไม่ถึงบริการแล้ว ยังไม่มีระบบรองรับการดูแลที่บ้าน" ที่ปรึกษา TDRI กล่าว
 
วรวรรณ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการกองทุนนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาบริหาร ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานกองทุน LTC อยู่แล้ว แต่ให้มีการจัดเก็บเบื้ยประกันสมทบเพื่อเข้ากองทุนและปรับให้เหมาะสม สำหรับข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนยั่งยืนเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นทิศทางที่ให้ประชาชนช่วยกันคิดว่า กองทุนลักษณะนี้ในสังคมไทยควรเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งในด้านวิชาการได้ศึกษาและคำนวณความเป็นไปได้แล้วว่า หากจัดเก็บเบี้ยประกันในรูปแบบและอัตราระดับนี้จะครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้ ไม่แต่เฉพาะบัตรทอง แต่ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคนในประเทศ   
 
"ข้อเสนอจัดตั้งกองทุนฯ นี้เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ ซึ่งในการเก็บประกัน ก่อนอื่นคนไทยต้องรู้ว่าจ่ายเบี้ยประกันนี้แล้วได้อะไร ดังนั้นเป็นเรื่องข้อมูลความรู้ที่ต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะมีส่วนในการคิดและตัดสินใจของประชาชน ที่ผ่านมาเรามักกลัวว่าประชาชนจะยอมร่วมจ่ายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงของการจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการจ่ายเพื่ออนาคต ไม่ให้เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ดร.วรวรรณ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาชี้ ปฎิรูปป่าไม้ไทยต้องเริ่มจากปลดล็อคกฎหมายเพิ่มมูลค่าไม้เศรษฐกิจ

Posted: 26 Dec 2017 01:25 AM PST

วงเสวนาแนวทางการปฎิรูปป่าไม้ฯ ชี้รัฐตีโจทย์เรื่องความมั่งคั่งผิด ทำไทยเสียโอกาสค้าไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล แนะปลดล็อคกกฎหมาย ขาย-ส่งออกไม้เศรษฐกิจต้องง่าย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้

เสวนา "เเนวทางการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า" โดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าจัดงานเสวนา "เเนวทางการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "การเสริมสร้างความสามารถในการทำไม้และการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในการทำไม้และการค้าไม้เพื่อให้ปฏิบัติตามกระบวนการวีพีเออย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย" เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อค้นพบเสียงสะท้อนจากเกษตรกรรายย่อยในการทำไม้และการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นำไปสู่การหารือแนวทางการปรับปรุงระบบการบริหารป่าไม้ของประเทศไทยให้มีความประสิทธิภาพและมีความพร้อมต่อการสร้างระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายไม้ของไม้ระหว่างภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยกับการตีโจทย์ความมั่งคั่งที่ผิด

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยตีโจทย์ "ความมั่งคั่ง" ตามนโยบายเศรษฐกิจThailand 4.0 ผิดไป เพราะมีกฎหมายที่ควบคุมการทําไม้มากกว่าส่งเสริมทําให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

"เราเริ่มต้นจากการกลัดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่แรก ตอนนี้จะให้แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้แล้ว มันต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ ตั้งแต่เรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ. สวนป่า ผมคิดว่าเราต้องมาเริ่มใหม่ มันแก้ที่ละจุดไม่ได้แล้วตอนนี้ และต้องตีโจทย์ใหม่คือ เรื่องความมั่งคั่ง ทำไงที่จะทำให้รู้สึกว่าทุกคนขายได้ และสามารถจะส่งออกได้ วันนี้ถ้าเกษตรกรปลูกไม้ ตัดและส่งออกได้ มันก็จะเกิดความมั่งคั่งขึ้นมา วันนี้เราไม่ได้บอกว่าเรื่องของกฎหมายป่าไม้ไม่ดี ทุกวันนี้เรามีกฎหมายป่าไม้ที่เรียกว่าเข้มแข็งที่สุดในโลก แต่เราควรมีมาตรฐานในในเรื่องของการค้าขายไม้ด้วย มีระบบที่ดี มีการตรวจสอบย้อนกลับ พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศสามารถทำให้ถูกต้องได้แค่ใส่ระบบลงไป ทุกแปลงที่ปลูกไม้ก็ทำระบบ เพื่อที่จะได้รู้ที่มาของไม้ แต่วันนี้กฎหมายป่าไม้บ้านเราไม่ใช่ 4.0 แต่เป็น 0.4 ยังห่างไกล เพราะเรามุ่งตีโจทย์เรื่องความยั่งยืนจะเกินเหตุ แต่ความยั่งยืนมันจะเกิดขึ้นได้จากความมั่นคง และมั่งคั่ง" จิรวัฒน์ กล่าว

ปลดล็อคกกฎหมาย ขาย-ส่งออกไม้ต้องง่ายและตรวจสอบแหล่งที่มาได้

จิรวัฒน์ยังกล่าวว่าในขณะที่ไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้ามตามพ.ร.บ. ป่าไม้ เช่น ไม้ยางพารา สามารถสร้างรายได้ กว่า 60,0000 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้อันดับหนึ่งของโลก

"เป็นเพราะประเทศไทยให้ส่งออกได้เฉพาะไม้ยางพารา แล้วเราก็อยู่เบอร์หนึ่งของการส่งออก สร้างรายได้ปีละ 60,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศเราไม่ได้มีดีแค่ไม้ยางพารา เรามีไม้เชิงเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่เรากลับมีกฎหมายที่ล็อคไว้ ในขณะที่การค้าอุตสาหกรรมไม้บ้านเรามีโอกาสที่ดีมาก เพราะมีเส้นทางเหนือจรดใต้ทะลุจีน แต่กลับซื้อขายไม้ไม่ได้ แต่สิงค์โปร์เขาซื้อไม้จากมาเลเซีย ส่งผ่านประเทศไทยไปขายต่อที่ประเทศจีน จริงๆเรามีโอกาสทางโลจิสติกส์ เราน่าจะทำการค้าตรงนี้ให้เกิดขึ้น แต่กฎหมายล็อคไว้ ตอนนี้นำเข้าไม้ได้ แต่ห้ามส่งออก ถ้าปลดล็อคแก้กฎหมายตรงนี้ได้การซื้อขายเราจะไปได้ไกลมาก"

เราต้องวางโจทย์เราความมั่งคั่งเอาไว้ก่อน แล้วมันจะกระจายไปสู่ชุมชน เพราะไม้ปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ และมันสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ วันนี้เราต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อการขาย ทำให้มันง่ายขึ้น แต่ต้องมีธรรมาภิบาลต้องสร้างระบบตรวจสอบ ไม่ใช่ว่านึกจะขายก็ขายได้ เช่นไม้ที่มาจากต่างประเทศต้องมีเอกสารนำเข้าอย่างสมบูรณ์เท่านั้นถึงจะนำมาส่งออกได้ ส่วนไม้ที่ปลูกเองต้องมีการขึ้นทะเบียนสวนป่า และต้องทำระบบให้ง่าย มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ คือเราต้องมีการรับรองตัวเองได้จากเกษตรกร (Self-certify) อย่างมีระบบ และทำให้มันน่าเชื่อถือ เช่นมีองค์กรที่เป็นบุคคลที่สามเข้ามาดูแล เเละผมเชื่อว่าจะง่ายด้วย หากเราจัดระบบจัดมาตรฐานในการดูแล ซึ่งระบบแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีคนเคยทำแล้ว เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกามีการรับรองไม้โดยสมาคม ซึ่งทำระบบได้ดีมาก สมมติว่าคุณอยู่ที่รัฐพอร์ตแลนด์ และเป็นสมาชิกสมาคม คุณอยากจะขายไม้ ก็ใส่ข้อมูลเข้าไปว่าจะขายไม้กองนี้ มันก็จะขึ้นมาโชว์เป็นระบบ"

เกริก มีมุ่งกิจ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กทีในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศมองว่าขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตทําไม้ควรที่จะสะดวกที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจเป็นอาชีพ และลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ

"กลุ่มผมเป็นเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มเล็กที่ปลูกต้นไม้ เรารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำธนาคารต้นไม้ เกษตรกรแต่ละคนเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่พยายามจะทำให้ถูกต้องมากฎหมาย คือการตัดไม้ที่หวงห้าม หรือการขอเอกสารสิทธิ์ เราก็มาดูว่าอะไรบ้างที่ต้องทำตามกฎหมาย พูดกันง่ายเกษตรกรรายย่อยจะทำได้ยาก แต่ถ้าเป็นคนมีเงินที่ทำธุรกิจค้าไม้อาจจะง่ายกว่า เอาแค่เดินทางไปขออนุญาตตัดไม้ ไปกลับ แค่นี้ก็หมดเงินไปเยอะแล้ว ฉะนั้นหากว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องง่าย และส่งเสริมให้ทำ ก็คงต้องฝากไปยังรัฐมนตรีด้วยว่า ไทยเป็นประเทศที่ค้าไม้มากที่สุด แต่ทุกวันนี้เรานำเข้าไม้ปีละ 3-4 แสนล้านบาท แต่ส่งออก 60,000 ล้านบาท นี่เป็นตัวเลขที่สวนทางกัน" เขากล่าว

คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร รัฐบาลคิดอย่างไรที่เห็นคนกว่า 40 ล้านคนยังจนอยู่ เรามีวิธีที่จะทำให้เขารวยได้ และไม่ได้รวยเฉพาะเกษตรกรแต่มันจะส่งผลความเติบโตทางเศรษฐกิจไปทั่งประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร และรัฐก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้น ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความจนก็จะหมดไป หากเกษตรกรสามารถที่จะปลูกไม้ไว้สำหรับขายได้ เช่นในช่วงอายุประมาณ 30-40 เกษตรกรคนหนึ่งปลูกต้นไม้เชิงเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 ไร่ รวม 1,000 ต้น เมื่อโตเต็มที่ผ่านไป 20 ปีตีราคาได้ต้นละ 20,000 บาท เกษตรกรอาจจะไม่จำเป็นต้องตัดขายทั้งหมด แต่การมีอยู่ของต้นไม้ และการมีโอกาสที่จะค้าขายได้ก็จะเป็นหลักประกันให้กับชีวิตของเกษตรกร " 

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ 

ปลดล็อคกฎหมายป่าไม้ทั้งระบบ

ในขณะที่พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมกล่าวว่าการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้จะต้องปลดล็อคกฎหมายทั้งระบบเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ไม้ในพื้นที่เอกสารสิทธิให้มีความสะดวกขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่ยกเลิกชนิดไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ และคําสั่ง คสช. 106/2557 

"วันก่อนผมไปปลูกต้นไม้ที่อยุธยา ท่านนายกฯเป็นประธาน มีต้นไม้มาปลูก มียางนา เขาหันมาถามว่า ที่บ้านผมก็มียางนาผมจะตัดได้ไหม ก็มีเจ้าหน้าที่ของมหาดไทยบอกว่า อยู่ในที่ท่านตัดได้ครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ของป่าไม้บอก ตัดได้ครับแต่ต้องขออนุญาต ท่านายกก็พูดว่าอย่างนี้คนไทยก็ไม่เข้าใจใช่ไหม แล้วการขออนุญาต ขอจากใคร แล้วยากไหม"

"ผมก็เห็นใจข้าราชการ ถ้ามาดูนโยบาย เรื่องพื้นที่เอกสารสิทธิ์ ผมให้เขาเขียนมาหลายครั้งแล้ว แก้มาหลายครั้งก็ยังไม่โดนผมก็ให้เขาแก้มาใหม่ เอาง่ายๆ ปลูกง่าย ขายง่าย ตัดง่าย ซึ่งจะมีขั้นตอนปฏิรูปกฎหมายค่อยเป็นค่อยไปเพื่อมั่นใจว่าไม้ไม่ได้มาจากการสวมตอ คือวันนี้ต้องแบ่งให้ชัด ระหว่างคนทำไม้เถื่อน กับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ เหมือนการผ่านรูตันเส้นเลือดตีบในวันนี้"

ขวัญชัย ดวงสถาพร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการปฏิรูปป่าไม้ไทยไม่ใช่แค่ยกเลิกชนิดไม้หวงห้าม ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 และคําสั่ง คสช. ในการเพิ่มชนิดไม้หวงห้าม แต่ต้องมีการแก้กฎหมายการทําไม้ทั้งระบบ

"มาตรา 7 ตัวเดียวไม่จบ ผมจึงเรียนว่าแก้ มาตรา 7 ยังเดียวไม่จบ เพราะมันเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นด้วย เรื่องการขออนุญาตตั้งโรงเลื่อย พ.ร.บ. ป่าไม้ อะไรมันไม่ใช่เรื่องเดียว แล้วที่สำคัญคือถ้าไปขึ้นทะเบียนเป็น พ.ร.บ.สวนป่า จะติดเรื่อง พ.ร.บ. สวนป่าด้วย เพราะฉะนั้นการบอกให้แก้ของท่านอย่างเดียวไม่จบหรอกครับ ต้องมองทั้งระบบ ปฏิรูปทั้งระบบ"

ปฏิรูปอำนาจการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขวัญชัย ยังกล่าวถึง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่เรียกร้องกันมานานว่าต้องมีการปฏิรูปการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ทําให้ พ.ร.บ. ต่างๆ เช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ หรือพ.ร.บ. ป่าชุมชน มีการล่าช้าในการบังคับใช้

"พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่เรียกร้องกันมานาน ซึ่งเคยออกได้แล้ว ผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 แต่ปรากฏว่าขณะนั้นมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญ เรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ก็เลยเอาร่างรัฐธรรมนูญมาปรับใหม่ ขวัญชัยกล่าวว่าพอไปอ่านความเห็นของหน่วยงานของรัฐต่อ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ปรากฏว่าทุกหน่วยงานอย่างเช่น กฤษฎีกาบอกว่าไม่ควรมี พ.ร.บ. นี้ หรือ กระทรวงการคลังบอกว่าไม่ควรนำพื้นที่สูงมาเป็นป่าชุมชน "ทุกคนไม่อ่านกฎหมายดีๆ ว่าการที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ป่าชุมชนจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินนั้นก่อน ทุกคนไม่อ่านแต่ทุกคนมีหน้าที่นั่งกอดที่ดินตัวเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่ที่ดินของเรา คือที่ดินของส่วนรวม เขาก็เขียนเอกสารมาว่าไม่เห็นด้วย พอไม่เห็นด้วยกฎหมายก็ชะงักเข้าสู่ ค.ร.ม. ไม่ได้"

ในขณะที่ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีความเห็นตรงกับขวัญชัยว่าข้อท้าทายของการคือปฏิรูปป่าไม้ไทยคืออำนาจในการตีความเนื้อหากฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

"ปัญหาของการร่างกฎหมายของไทยที่เป็นอยู่คือกฎหมายที่มีการร่างมาอย่างดีโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญากลับถูกแก้ไขในชั้นของกฤษฎีกา ซึ่งทำการแก้ไขไม่ใช่เพียงแค่ตัวกรอบวิธีการ แต่แก้ไขที่ตัวเนื้อหาด้วย จึงทำให้ผลของกฎหมายที่ออกมาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะทำยังไงที่จะทำให้กระบวนการในการปรับแก้ กฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรับรองก็ตามควรมีช่องทางที่แยกส่วนออกมาจากากกฤษฎีกาออกมา นี่คือหัวใจหลักสำคัญที่มันเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่ตอนนี้ คือ กฤษฎีกา" ขวัญชัยกล่าว

สร้างพื้นที่ทดลองนำร่องก่อนร่างกฎหมาย

นอกจากนี้เขายังมองว่าการแก้กฎหมายจะแก้ทีละจุดไม่ได้ และบางครั้งอาจเกิดความเสียหาย หรือผลกระทบที่ไม่คาดหวังได้ ดังนั้นจึงเสนอว่าปฏิรูปกฎหมายควรเริ่มจากการสร้างแนวคิดบน "พื้นที่ทดลองนำร่อง" หรือการทำSandbox แล้วทดลองทำเหมือนการทดลองวาดภาพในพื้นที่นำร่องขึ้นมา หลังจากนั้นจึงค่อยถอดชุดประสบการณ์นี้ออกมาเป็นกฎระเบียบ และหลักกฎหมายที่บังคับใช้ในอนาคต

"เมื่อก่อนมันเป็นกฎระเบียบ เป็นบทบัญญัติ ปัจจุบันเราจะร่างกัน ก็มีข้อถกเถียง จนวงแตกกัน ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์กับเรื่องทรัพยากร ต้องมาเริ่มจากการทำของจริงให้ดูก่อน เรามาดูว่าใครที่ทุ่มเท ใครที่มีจิตสำนึกจริงๆ จะต้องแยกแยะและนำไปสู่การทดลองจริง ถึงจะปฏิรูปสำเร็จ" ขวัญชัยย้ำ 

เกริก มีมุ่งกิจ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กที ยื่นข้อเสนอเสนอเพื่อการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย  ธรรมาภิบาล เเละการค้า ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

หลังจากเสวนา เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม-เฟล็กที ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการปฎิรูปป่าไม้ไทยเพื่อการปรับปรุงกฎหมาย ธรรมาภิบาล เเละการค้า ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาส่งเสริมสิทธิการใช้ไม้ของประชาชนและเกิดการปฏิรูปประเทศเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยข้อเสนอสำคัญคือการสร้างมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมปลูกป่าและสร้างเศรษฐกิจจากฐานป่าไม้ สร้างความชัดเจนและการรับรองสิทธิการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม การลดความยุ่งยากและซับซ้อนของการจัดการและทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติสวนป่า รวมถึงสร้างความชัดเจนในการประสานงานและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  เเละนําไปสู่การปรับปรุงธรรมาภิป่าป่าไม้ไทยที่มีความยั่งยืนจากการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ.ย. 2560 ผู้ประกันตนว่างงาน 145,172 คน ถูกเลิกจ้าง 22,212 คน

Posted: 26 Dec 2017 12:41 AM PST

เดือน พ.ย. 2560 พบแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 145,172 คน ถูกเลิกจ้าง 22,212 คน ส่วนตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุดคือ 'คนขับรถ'

ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/geralt (CC0)

26 ธ.ค. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงานประจำเดือน พ.ย. 2560 พบว่าด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือน พ.ย. 2560 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จานวน 10,781,241 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.90 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,477,172 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 304,069 คน สาหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม มีจำนวน 145,172 คน มีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.63 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.40 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2560 มีจำนวน 144,590 คน อัตราการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 1.35 ทั้งนี้อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 22,212 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2560 ที่ร้อยละ 0.20

สถานการณ์การจ้างงาน จากข้อมูล ณ เดือน พ.ย. 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,781,241 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน พ.ย. 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,477,172 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (%YoY) ของเดือน พ.ย. 2560 เทียบกับเดือน ต.ค. 2560 พบว่าในเดือน พ.ย. 2560 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.90 ขยายตัวจากเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.45 สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

สถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูล ณ เดือน พ.ย. 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 145,172 คน มีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.63 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน พ.ย. 2559) ซึ่งมีจำนวน 146,168 คน และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน ต.ค. 2560) พบว่ามีจำนวน 144,590 คน โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.40 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน พ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 1.35

มีอัตราคงที่เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.35 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสานักงานสถิติแห่งชาติ เดือน พ.ย. 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 มีอัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.3

สถานการณ์การเลิกจ้างอัตราการเลิกจ้าง ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจานวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือน พ.ย. 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 22,212 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2560 ที่ร้อยละ 0.20 แต่ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.29

ในด้าน สถานการณ์ตลาดแรงงาน เดือน พ.ย. 2560 พบว่าความต้องการแรงงานในประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.23 โดยเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด ความต้องการแรงงานที่นายจ้างแจ้งความต้องการการกับกรมการจัดหางานไว้มี 31,337 อัตรา สถานประกอบการ 69 แห่ง ต้องการแรงงาน 1,772 อัตรา ผู้มาสมัครกับกรมการจัดหางานเอง 7,671 คน และมีผู้ได้รับการบรรจุ 16,295 คน

โดยตำแหน่งที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการแรงงานมาก 10 อันดับแรก คือ 1.พนักงานขับรถยนต์ 2.แรงงานทั่วไป 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขายและผู้นาเสนอสินค้า 5.พนักงานธุรการ 6.พนักงานบริการลูกค้า 7.เจ้าหน้าที่คลังสินค้า 8.เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขาย 9.พนักงานบัญชี และ 10.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์โวยแก้ ก.ม.พรรคการเมือง จงใจแกล้งพรรคใหญ่-วิษณุยันไม่เคยเอื้อประโยชน์ใคร

Posted: 26 Dec 2017 12:08 AM PST

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือน คสช. ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด โวยกรณีแก้กฎหมายเลือกตั้ง เป็นการจงใจกลั่นแกล้งพรรคใหญ่ ด้านรองนายกฯ วิษณุ ระบุแก้กฎหมายเพื่อเช็คจำนวนสมาชิกที่แท้จริง ยันไม่ได้เอื้อประโยนช์ให้พรรคใหม่

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางธุรการได้ว่า การนำมาตรา 44 มาแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปไม่กี่เดือน และมีปัญหาก็เพราะมาตรา 44 ที่ประกาศใช้ก่อนหน้านั้น จึงทำให้รู้สึกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไม่ได้มีความชัดเจน ว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์บ้านเมืองให้เปลี่ยนผ่าน แบบเป็นระบบอย่างไร ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. พยายามทำคือ การลำดับการจัดการเรื่องกฎหมาย โดยจัดทำกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน จากนั้นตามด้วยกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่งสว.เพราะมีชัยรู้ว่าทันทีที่กฎหมาย 4 ฉบับเสร็จ และต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อต้องปฎิรูป พรรคการเมืองและ กกต. จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปทำให้พรรคการเมืองกับ กกต. ต้องเปลี่ยนแปลงแล้วเหลือเวลา 150 วันในการจัดเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความโกลาหล และความยากลำบากต่อผู้เกี่ยวข้อง กรธ.จึงทำกฎหมายสองฉบับแรกออกมาเร็ว แต่อยู่ดีๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับนำการทำงานของพรรคการเมืองไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ว่าต้องประกาศใช้ก่อน

"คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาก็ยังเขียนว่าเอาเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งควรจะเตรียมการก่อนการเลือกตั้งไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งที่มีเวลาแค่ 150 วัน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรเลย และที่อ้างว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ผมแปลกใจว่าอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ทำไมผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความตระหนัก หรือรอบคอบพียงพอที่จะรู้ว่าแผนการที่วางเป็นขั้นตอนด้วยเหตุด้วยผลคืออะไร ผมไม่อยากเชื่อว่าไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอาจจะมีความต้องการอะไรบางอย่าง และถ้ามีความต้องการในเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีความกล้าหาญที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าเป็นชายชาติทหาร อยากจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะมีเหตุผลที่ดีเพื่อส่วนรวมก็บอกมาตรงๆ ไม่เอามาตรา 44 มาแก้ พอถึงเวลาเกิดขรุขระทำอะไรไม่ทันก็เอามาตรา 44 ออกมาอีก โดยที่ไม่บอกให้สังคมและประชาชนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าผู้มีอำนาจกำลังมองปัญหาอย่างนี้ ยิ่งทำเช่นนี้ และยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด อย่าใช้พร่ำเพื่อ อำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไปปักอยู่บนขี้เลน มันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ปฏิรูป ทั้งที่กฎหมายทั้งหมดก็มาจาก คสช.และแม่น้ำ 5 สายทั้งนั้น มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามใจชอบ เปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ และถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จที่ใช้ไปเพื่อประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวก ซึ่งทำได้ทั้งนั้น แต่อยากให้ระมัดระวังแล้วย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเวลาใช้อำนาจแล้วขาดความชอบธรรมผลสุดท้ายผู้ใช้อำนาจจะต้องเผชิญกับอะไร ก็อยากจะเตือนไว้เท่านั้น" อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ประกาศดังกล่าวบอกให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 ใครอยากตั้งพรรคให้เริ่มต้นดำเนินการได้ ซึ่งหนีไม่พ้นต้องไปหาสมาชิกด้วย จึงเป็นเรื่องแปลกว่ากฎหมายได้อนุญาตให้เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มหาสมาชิกพรรคได้ แต่ขณะที่พรรคการเมืองเก่าไม่มีสิทธ์ทำอะไรเลย และต้องรอเดือนเม.ย.เท่านั้น จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ดังนั้นการที่คสช.ระบุว่าในระหว่างนี้พรรคเก่าไปเตรียมการกับสมาชิกพรรคเก่า ก็ต้องถามว่าทำได้หรือไม่ ในเมื่อยังมีคำสั่งคสช.ห้ามเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งคสช.ต้องบอกให้ชัด ถ้าเป็นห่วงเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง ตนขอถามว่าทำไมคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวได้ โดยไม่กลัวว่าจะวุ่นวาย หรือรู้อยู่แล้วว่าจะมีใครตั้งพรรคใหม่ แล้วทำไมกลุ่มคนอื่นเคลื่อนไหวแบบเดียวกันไม่ได้ เป็นเรื่องไม่มีเหตุมีผล

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตามคำสั่งที่ออกมา ในเดือนเม.ย.นี้ ใครเป็นสมาชิกพรรคเก่ายืนยันและชำระเงิน เพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของตนเอง ซึ่งพรรคที่ได้รับผลกระทบก็คือพรรคที่มีสมาชิกอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกเกือบ 3 ล้านคน การจะติดต่อคน 3 ล้านคน โดยถูกห้ามเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมอยู่ และให้ 3 ล้านคนทำหนังสือยืนยันกลับมาภายใน 30 วัน ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ หากไม่ยืนยันก็ต้องหลุดไป ซึ่งเหมือนกับรีเซ็ตสมาชิกพรรค ซึ่งไม่ได้เป็นศูนย์แต่กลายเป็นติดลบ เพราะสมาชิกพรรคที่หลุดไปเสียความรู้สึกกับพรรคที่เขาผูกพันอยู่ ไม่แน่ใจว่า ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. พวกตนจะสามารถไปทำงานเชิงธุรการที่จะให้สมาชิกเก่าทำหนังสือยืนยันและชำระเงินได้กี่คน ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรไม่ใช่ง่ายๆ แต่พรรคใหม่เขาเดินไปชักชวนใครก็ได้ ตนถึงบอกว่า ถ้ากล้าหาญพอทำไมไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา

อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ให้สมาชิกต้องยืนยันด้วยหนังสือ แทนที่จะให้ยืนยันทางอิเล็กทรอนิคส์ ตนไม่ได้มีปัญหาในเชิงการแข่งขัน เพราะถึงเวลาจริงๆ คือการหาคนมาลงคะแนนให้ สมาชิกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่พูด พูดในมุมผูกพันทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ของสมาชิกและพรรคการเมือง มาทำลายตรงนี้เพื่ออะไร และถ้ามองการเมืองแค่เรื่องการเลือกตั้งจำนวนสมาชิกก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่วันก่อนนายกพูดว่าการเมืองที่ดีต้องปรับปรุงระบบตัวแทนต้องมีส่วนร่วม มีความผูกพัน แต่นี่คือสิ่งที่ท่านกำลังทำลายจากการที่อยู่ดีๆบังคับให้พรรคภายใต้คำสั่งคสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีคนอื่นๆอีกหลายล้านคนต้องทำหนังสือยืนยัน แต่วิธีการและรูปแบบกำหนดอย่างไรในขณะนี้ยังไม่ทราบได้ เพียงเพื่ออะไรก็ไม่ทราบ จริงๆการให้อนุญาตดำเนินการตามคำสั่งไม่สุ่มเสี่ยงต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าหรือ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงกว้าง

"อยากบอกกับสมาชิกพรรคที่มีหัวใจเป็นประชาธิปัตย์ ก็เป็นประชาธิปัตย์ต่อไป กฎหมายจะมากลั่นแกล้งบีบคั่นแบบนี้เพื่อให้หลุดไปก็ไม่เป็นไร แต่เชื่อว่าคนที่ยังมีอุดมการณ์ก็ยังมีอุดมการณ์อยู่ แต่การทำลายความผูกพันระหว่างสมาชิกกับพรรคแบบนี้ มองไม่เห็นประโยชน์ส่วนร่วม และทำให้ความอ่อนแอทางการเมืองมีมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะกลายเป็นการแข่งขันเฉพาะหน้า" อภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53/2560 เป็นการรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง และอาจส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งต้องขยับออกไป ว่าไม่ใช่การรีเซต ไม่ใช่การเซตซีโร่ และอธิบายไปแล้วว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะของเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขระบุเอาไว้ว่าพรรคต้องยืนยันเรื่องสมาชิก อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบเจตนาของเขาที่ออกมาบอกว่าเป็นการรีเซต แล้วแต่จะมองกัน แต่เจตนาของ คสช. ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เพราะมองว่าที่ผ่านมาหลายคนเป็นสมาชิกหลายพรรค บางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นสมาชิก บางทีมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปล่าลายเซ็นมาโดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิก หรือบางคนเป็นสมาชิกจริง แต่ระยะเวลานานจนคิดว่าพรรคคัดชื่อออกไปแล้ว เราจึงต้องการให้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ โดยให้สมาชิกเป็นคนยืนยันมาที่พรรค แต่ถ้าไม่อยากยืนยัน ก็ให้อยู่เฉยๆ พอพ้นเวลา 1 เดือนจะพ้นจากสมาชิกไปเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ยืนยันสมาชิกพรรคไม่ได้เปิดช่องให้รีเซตสมาชิกอย่างที่มีการวิจารณ์ใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่รู้คำว่ารีเซตแปลว่าอะไร แต่ย้ำว่าไม่ใช่การรีเซต แต่เพื่อตรวจสอบสมาชิกให้ชัดเจน และยืนยันไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองใหม่ เพราะเขาต้องทำเรื่องสมาชิกเหมือนกัน แต่จะง่ายกว่าคือเริ่มนับจากศูนย์ ตั้งแต่ไม่มีสมาชิกที่ค้างสต๊อกไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ลำบาก เพราะไม่ทราบว่าคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกของพรรคอื่นอยู่หรือเปล่า เนื่องจากตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 มีความวุ่นวายเรื่องของสมาชิกพรรค ไม่รู้ว่าใครอยู่พรรคไหนอย่างไร และมีชื่อซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก บางคนไม่คิดว่าเป็นสมาชิกพรรคก็มี เพราะคิดว่าการที่มานำชื่อไปเพื่อการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ เพียงหนเดียวแล้วจบ แต่ปรากฏว่ายังเป็นสมาชิกอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

"สิ่งที่เขาเป็นกังวลอยู่ในขณะนี้คือ การให้ยืนยันสมาชิกภายใน 30 วัน จะทำไม่ทัน แต่ในความเป็นจริงไม่มีปัญหา เพราะถ้าพ้นเวลา 30 วันไปแล้ว ยังสมัครสมาชิกใหม่ได้ ไม่มีปัญหา สามารถยืดออกไปได้ตลอด จะขอขยายเป็นชาติก็ได้ ถ้าพรรคใดกลัวว่าสมาชิกจะเหลือน้อย ให้รีบติดต่อทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2561 ให้สอบถามสมาชิกของตัวเองไป โทรศัพท์ หรือทางออนไลน์ สอบถามกันไป เพื่อให้วันที่ 1 เม.ย. 61 จะยื่นสมัครพร้อมกับเสียค่าสมาชิกได้ในทันที" วิษณุกล่าว

ต่อข้อถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช. วิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นไร ทำได้ ไม่มีปัญหา ไม่ว่ากัน เป็นสิทธิ และถ้ายื่นจริงจะไม่ส่งผลให้คำสั่ง คสช.ต้องสะดุด กระบวนการยังเดินต่อไปได้

เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โสภณ' ชี้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มาแล้ว

Posted: 25 Dec 2017 11:40 PM PST

โสภณ ระบุฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มาแล้ว  แนะ ให้มีสัดส่วนเงินดาวน์เพิ่มขึ้น คุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านเป็น "ภาคบังคับ" ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อผ่อนภาระของผู้กู้ และจำกัดและควบคุมการออกหุ้นกู้ของบริษัทมหาชน และให้การคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้ให้มากขึ้น

26 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ว่า จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ฯ พบข้อมูลที่อาจถือเป็นการเตือนภัยก็คือ ณ พ.ศ.2560 มูลค่าโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ จะมากที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาในรอบ 23 ปี ตั้งแต่ปี 2537 ที่อยู่ในยุคบูมสุดๆ 

โสภณ ระบุว่า จากตารางข้างต้นในรอบ 11 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนโครงการใหม่ 364 โครงการ ลดลง 15% จากในช่วงเวลาเดียวกัน มีจำนวนหน่วยเปิดใหม่แล้ว 107,353 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าสินค้าเปิดใหม่ 408,970 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 14% และเมื่อนำตัวเลขข้างต้นมาประมาณการทั้งปี จึงคาดว่าในปี 2560 จะมีโครงการเปิดตัวใหม่ 397 โครงการ น้อยกว่าปีก่อน 13%  แต่มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 8% โดยมี 117,112 หน่วย  และมีมูลค่ารวมสูงถึง 446,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 22%

โสภณ ตั้งข้อสังเกต ว่าตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย สินค้าเฉลี่ยมีราคา 3.81 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วสินค้าราคาเฉลี่ย 3.365 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13%  แสดงว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าแต่ก่อน  ปรากฏการณ์ประหลาดนี้ก็คือสินค้าราคาถูก หรือราคาปานกลางค่อนข้างถูก ขายได้ยาก  แต่สินค้าราคาแพงหรือปานกลางค่อนข้างแพงกลับขายดีกว่า ทุกวันนี้แม้แต่ บมจ.แอลพีเอ็นดีเวลลอปเมนท์ ที่มีคุณูปการต่อชาติเป็นอย่างยิ่งที่สร้างบ้านราคาถูกขายแก่ประชาชน ก็ยังหันมาสร้างบ้านราคาสูงขึ้น เพราะบ้านราคาถูกไม่มีคนซื้อ ไม่ใช่คนไทยรวยขึ้น แต่เพราะคนจนมีฐานะแย่ลง ไม่มี "ปัญญา" ซื้อ  แต่คนรวยกลับรวยขึ้นต่างหาก  โดยนัยนี้การจะส่งเสริมให้คนจนซื้อบ้าน จึงเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยาก  ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนซื้อบ้าน เพราะซื้อกันเองอยู่แล้วโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีรายได้ค่อนข้างสูงหรือมีรายได้ที่แน่นอน เช่น พวกข้าราชการ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ
       
โสภณ ระบุว่า การที่มีโครงการที่มีมูลค่ารวมสูง ๆ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเรากำลังเริ่มเกิดฟองสบู่ชัดเจนแล้วในปี 2560 แต่ไม่ใช่ฟองสูงสินค้าระดับล่าง แต่เป็นระดับสูงที่มีคนซื้อไว้เก็บกำไรมากขึ้นทุกที  และหากกระแสเก็งกำไรมีมาก และหากวันหนึ่งเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ปล่อยทิ้งสินค้า ซึ่งมักมีสัดส่วนเงินดาวน์ต่ำ ทำให้เกิดวิกฤติแก่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินและสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ได้
       
แถลงของ โสภณ ระบุต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายน อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการเปิดตัวโครงการคึกคักมากเป็นพิเศษ หลังจากมีการชะลอการเปิดตัวไปในเดือนตุลาคม โดยในเดือนนี้มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ทั้งหมด 49 โครงการ เป็นการพัฒนาในกลุ่มที่อยู่อาศัย 48 โครงการ และเป็นอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ 1 โครงการ มีจำนวนหน่วยขายทั้งหมด 16,368 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 82,226 ล้านบาท เมื่อเจาะลึกลงในเดือนล่าสุด จำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้มีทั้งหมด 16,368 หน่วย โดยประเภทที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดในเดือนนี้ยังคงเป็นอาคารชุดเช่นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนหน่วยเปิดขาย 9,251 หน่วย (56.5%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 4,052 หน่วย (24.8%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 2,369 หน่วย (14.5%) ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด
         
ผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (มหาชน) จำนวน 15 บริษัท  บริษัทมหาชนครองส่วนแบ่งในตลาดถึง 80% บริษัท SMEs กลับร่อยหรอลง นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวมากเช่นกัน  ปรากฏการณ์นี้จะแก้ไขอย่างไร มีทางออกดังนี้  1. การให้มีสัดส่วนเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เช่น แทนที่จะเป็น 5% อาจเป็น 15%-20% เพื่อความมั่นใจในการซื้อ-ขายที่แน่ชัด 2. ให้มีการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านเป็น "ภาคบังคับ" เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์  3. ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อผ่อนภาระของผู้กู้ เพราะสถาบันการเงินก็มีรายได้ทางอื่นอยู่มากแล้ว ระบบธนาคารมีกำไรดีและมั่นคงโดยพบว่า "สำหรับผลประกอบการของธนาคารในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 33,953 ล้านบาท. . .รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 23,272 ล้านบาท. . .รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 11,419 ล้านบาท" 
 
และ 4. จำกัดและควบคุมการออกหุ้นกู้ของบริษัทมหาชน และให้การคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้ให้มากขึ้นในทางตรงกันข้าม ยังควรห้ามดำเนินการ 2 ประการคือ 1. ห้ามธนาคารเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ทุกวันนี้ธนาคารได้รับการผ่อนผันให้ประเมินค่าทรัพย์สินในวงเงินสินเชื่อถึง 100 ล้านบาท ทำให้กลับเข้าสู่กลียุคเดิมที่สถาบันการเงินล้มระเนระนาดเพราะปล่อยกู้โดยการประเมินกันเอง ควรให้บริษัทประเมินที่เป็นกลางเป็นผู้ประเมินให้ ควรสร้างความโปร่งใสมากกว่านี้ 2. ไม่ควรให้ธนาคารเลือกปฏิบัติด้วยการปล่อยกู้แต่โครงการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเท่ากับทำลายบริษัทพัฒนาที่ดินระดับ SMEs ถ้ารัฐบาลบังคับให้ทุกบริษัทคุ้มครองเงินดาวน์ คุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกัน ก็จะทำให้ธนาคารอำนวยสินเชื่อโดยเท่าเทียมมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากขึ้น ประชาชนมีโอกาสเลือกซื้อมากขึ้น เป็นต้น
       
สำหรับ ภาวะฟองสบู่ โสภณ อธิบายว่าคือการเกิดขึ้นของโครงการที่น่าจะมากเกินความต้องการ เฟื่องฟูกันใหญ่เลย โดยแรก ๆ จะมีคนซื้อคนขายกันคึกคัก แต่ในช่วงต่อมาก็จะมีแต่คนขาย มีการผลิตมากมาย แต่คนซื้อชักหดตัว เรียกว่า Oversupply หรือ Overbuilt สุดท้ายฟองสบู่ก็แตก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540  ที่โครงการต่าง ๆ พากันลงเหวกันยกใหญ่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อะไรดลใจให้ชาวเยอรมันคนหนึ่งเปิดฮอตไลน์ รับฟังกลุ่มขวาจัด

Posted: 25 Dec 2017 11:38 PM PST

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชาวเยอรมนีหวาดหวั่นในปีนี้คือการที่พรรคฝ่ายขวาจัดได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาก อาลี แคน ชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกีอยากศึกษาทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนถึงกลัวผู้ลี้ภัย จึงจัดตั้งฮอตไลน์สายด่วนรับฟังปัญหาคาใจ ทำให้เขาได้รับรู้จิตใจของมนุษย์ได้มากกว่าแค่การตัดสินความคิดทางการเมืองแบบขาว-ดำ

26 ธ.ค. 2560 สื่ออัลจาซีรานำเสนอเรื่องที่ชายชาวเยอรมันคนหนึ่งเปิดสายด่วนรับฟังกลุ่มขวาจัดในเยอรมนี หลังจากที่เขาพบว่ากระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเองเป็นปัญหา

เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการรับผู้ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศตน โดยในปี 2558 มีการรับผู้อพยพและลี้ภัยมากราว 900,000 ราย อย่างไรก็ตามก็มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านคนนอกในเยอรมนีหลายเหตุการณ์ แต่ก็มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่กระตุกใจอาลี แคน ชายอายุ 24 ปี ผู้ที่ครอบครัวของเขาเป็นผู้ลี้ภัยมาจากตุรกีตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2559 ที่มีผู้ลี้ภัย 20 คน นั่งรถบัสเข้ามาที่เมืองเคลาส์นิตซ์ เมืองทางตะวันออกของเยอรมนี แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับกลุ่มม็อบที่มาปิดถนนและตะโกนใส่ผู้ลี้ภัยที่กำลังประสบปัญหา มีการนำเสนอภาพเหตุการณ์นี้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มต่อต้านผู้ลี้ภัย วิดีโอนี้ทำให้เคนรู้สึกไม่สบายใจ "อาจจะเป็นผมที่อยู่บนรถบัสนี้ก็ได้" เคนกล่าว

เคนอยากจะรู้ว่าความเกลียดชังนี้มาจากอะไร และทำไมคนถึงไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เคนเริ่มออกเดินทางทัวร์เยอรมนีตะวันออกตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 เขาไปเยือนแหล่งของกลุ่มต่อต้านผู้อพยพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพกิดาในเมืองเดรสเดนที่ต่อต้านอิสลามโดยมีการเดินขบวนต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการทำให้ตะวันตกกลายเป็นอิสลาม หรือในการประท้วงอื่นๆ ด้วยความอยากรู้เคนไปพูดคุยกับพวกนีโอนาซีและกลุ่มต่อต้านผู้อพยพเหล่านี้เพราะอยากรู้ว่าพวกเขามีแรงจูงใจอะไร

แต่นั่นก็ทำให้เกิดเรื่องน่าแปลกใจเมื่อหญิงขวาจัดคนหนึ่งที่เขาพบเจอในที่ประท้วงโทรศัพท์หาเขาบอกว่าเธอเคยเจอผู้ลี้ภัยที่ทำให้เธอรู้สึกดีอย่างไร ทำให้แคนมองว่าเธอน่าจะไม่มีใครที่สามารถคุยเรื่องนี้ด้วยได้ ข้อสรุปของแคนคือผู้คนต้องได้พูดออกมา ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีอคติและกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหยียดเชื้อชาติเสมอไป

นั่นทำให้แคนโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของตัวเองลงไปในคลิปวิดีโอประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยในเคลาส์นิตซ์ระบุว่า "คุณสามารถติดต่อผมได้ด้วยเบอร์นี้ถ้าหากพวกคุณกังวลใจ โกรธ หรือมีคำถามเกี่ยวกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มมากขึ้นในเยอรมนี" หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์รวมแล้วประมาณ 200 สาย โดยเขาเปิดสายด่วนรับฟัง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เขาบอกว่าบางครั้งก็มีคนโทรเข้ามามากกว่าปกติและผู้ที่โทรหาเขาก็แสดงความก้าวร้าวออกมามากขึ้น

แคนเคยเป็นคนที่เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการในการสอนผู้คนเกี่ยวกับผู้อพยพมาก่อน เรื่องที่คนโทรหาเขามักจะขอปรึกษากับเขาบ่อยๆ คือเรื่องการหลอมรวมผู้ลี้ภัยเข้ากับเยอรมนีทำให้ชาวเยอรมันหลายคนกลัวว่าเยอรมนีจะปลอดภัยน้อยลงเพราะมองว่าวัฒนธรรมของเยอรมนีไม่เข้ากับวัฒนธรรมของอิสลาม แคนสรุปได้ว่า "การเหยียดเชื้อชาติและอคติมักจะมีรากฐานมาจากความกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมให้กับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก รวมถึงโครงสร้างความคิดแบบเก่า" จึงควรมีการสำรวจศึกษาความกลัวของผู้คนเหล่านั้น

ตัวแคนเองกำลังศึกษาเพื่อเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน เขาเองเคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อนจึงอยู่ในสถานะที่เหมาะสมกับการขจัดความหวาดกลัวของผู้คนโดยยกตัวอย่างตนเอง "ผมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการหลอมรวมทางวัฒนธรรมสามารถสำเร็จได้" แคนกล่าว

ในการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างเอเอฟดีได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ทำให้แคนอยากเข้าถึงกลุ่มคนพวกนี้ งานหลักๆ ของเขาคือการฟังและพยายามมองว่าเขาจะเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ผู้โทรมาปรึกษาได้หรือไม่ โดยไม่ได้เน้นการพยายามหักล้างข้อเท็จจริงของผู้ที่โทรหาเขา แต่พยายามมองว่ามีอะไรที่พวกเขามองคล้ายกันบ้าง เช่น ถ้ามีคนโทรหาเขาเพื่อบอกว่าอยากลดจำนวนการรับผู้ลี้ภัยเพราะคิดว่ามันจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย แคนก็จะบอกว่าเขาเองรู้สึกอยากให้ประเทศปลอดภัยเหมือนกัน

แคนมองว่าบทสนทนาเหล่านี้เน้นการสะท้อนตัวองในแบบที่มีวิจารณญาณ ไม่ใช่การพยายามสั่งสอนหรือทำให้พวกเขาเชื่อตาม แคนยังเชื่อว่าการที่ผู้คนได้พูดเกี่ยวกับความหวาดกลัวของตัวเองจะทำให้พวกเขามีโอกาสหันไปหาพวกฝ่ายขวาลดลง

โฮลเกอร์ เลงเฟลด์ นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกผู้ศึกษาวิจัยคนที่โหวตให้พรรคเอเอฟดีกล่าวว่า ฮอตไลน์ของแคนเป็นสิ่งที่ดี การที่ผู้คนได้พูดคุยกันเป็นเรื่องดีเสมอ คนที่มีมุมมองต่างกันควรจะได้แลกเปลี่ยนกัน "หนึ่งในรากฐานของประชาธิปไตยคือการที่คุณจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นแม้ว่าคุณจะไม่ชอบมันก็ตาม" เลงเฟลด์กล่าว

อย่างไรก็ตามเลงเฟลด์ก็รับรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเปิดกว้างกับการพูดคุยแลกเปลี่ยน นั่นทำให้เกิดภาวะหนีเสือปะจระเข้เพราะคุณจะพูดคุยกับคนที่พร้อมจะเต็มใจพูดคุยเท่านั้น

ในตอนนี้แคนกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับฮอตไลน์สายด่วนที่เขาทำ นอกจากโทรศัพท์แล้วบางครั้งเขาก็ได้รับอีเมลหรือมีคนไปพบปะเขาเป็นการส่วนตัว เช่น มีผู้โหวตให้พรรคเอเอฟดีไปที่ร้านอาหารของพ่อแม่เขาเพื่อไปเจอกับแคนและครอบครัวหรือบางครั้งก็ไปซื้ออาหารในร้านพวกเขา

แคนบอกว่าเขาต้องการสร้างพื้นที่สีเทาๆ ให้กับสิ่งที่ถูกทำให้ดูเป็นขาว-ดำ และถึงแม้จะฟังดู "ไร้เดียงสา" แต่เขาก็เชื่อว่า "ความรักจะเข้มแข็งกว่าความเกลียดชัง" และแคนก็มองไม่ออกว่าจะมีหนทางอื่นที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้

 

เรียบเรียงจาก

Why this German man opened a hotline for the far right, Aljazeera, 25-12-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/features/german-turk-opened-hotline-171224063904243.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชัย ซัด สนช. ทำงานง่ายเกินไปหลังพอใจคำชี้แจง 4 บรรทัดของศาล กรณีสรรหา กกต.

Posted: 25 Dec 2017 10:18 PM PST

สมชัย ศรีสุทธิยากร เผยคำชี้แจงของศาลฎีกา ปมลงคะแนนลับสรรหา กกต. ยังไม่ชัดเจน ซัด สนช. ทำงานง่ายเกินไปไม่สนใจหลักการสำคัญของการลงคะแนนโดยเปิดเผย ย้ำหากใครจะฟ้อง สนช. ขอร่วมฟ้องด้วย

แฟ้มภาพสำนักข่าวไทย

26 ธ.ค. 2560 มติชนออนไลน์ สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตั้งกรรมาธิการ(กมธ.) ตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่ 7 กกต. โดยไม่ติดใจกระบวนการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ก่อนหน้านี้เคยมีสมาชิกทักท้วง และประธาน สนช.มีหนังสือสอบถามประธานศาลฎีกา และได้รับหนังสือตอบจากเลขานุการศาลฎีกา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตอบมามีใจความว่า ศาลฎีกาขอเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกกต.จำนวน 2 คน ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. 2560 มาตรา 12 วรรคสาม ครบถ้วนแล้ว จึงเรียนมาเพื่อทราบ

สมชัย กล่าวอีกว่า การชี้แจงของศาลฎีกา แค่จดหมายหนึ่งหน้ากระดาษ สนช. ถือว่าได้ถามและตอบจนเป็นกระจ่างชัดแล้ว ไม่ได้สนใจในรายละเอียดวิธีการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร เป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผยตามกฎหมาย หรือลงคะแนนลับ ซึ่งผิดกฎหมาย ไม่ได้สนใจจะสืบเสาะข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ไม่สนใจในเอกสารที่นำส่งว่ายังขาดรายละเอียด ทั้งจำนวนและรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด และคะแนนที่แต่ละคนได้รับ รวมถึงก้าวข้ามวิธีลงคะแนนที่ให้ผู้พิพากษาแต่ละคนลงคะแนนในบัตรที่ไม่มีหมายเลขกำกับ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร

สมชัย กล่าวว่า ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญของคำว่า ลงคะแนนโดยเปิดเผย ที่เขียนไว้ใน มาตรา 12 วรรคสาม ของพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. ซึ่ง สนช.ไม่สนใจสร้างแบบอย่างบรรทัดฐานของการดำเนินการตามกฎหมายว่า ต่อจากนี้ หากการลงคะแนนในบัตรและนำไปหย่อนในหีบโดยไม่สามารถล่วงรู้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร ถือเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย เนื่องจากได้รับการยืนยันจากศาลฎีกาแล้วว่าทำได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับการลงคะแนนในเรื่องสำคัญขององค์กรต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการลงคะแนนการเลือกตั้ง

"สนช.ทำงานง่ายเกินไปหรือไม่ กับการพอใจจดหมายตอบจากศาล ที่มีสาระสำคัญเพียง 4 บรรทัดที่แทบไม่มีการอธิบายรายละเอียดใดๆ แค่บอกว่า ทำตามกฎหมายแล้วหากจะมีใครสักคน ฟ้อง สนช.ว่ากระทำการโดยประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ กรุณาบอกผมด้วย เผื่อว่าผมอาจร่วมลงชื่อ" สมชัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จแล้ว เพิ่มจำกัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้ง

Posted: 25 Dec 2017 09:31 PM PST

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หารือแล้วครบ 178 มาตรา โฆษกระบุแก้ไข 17 มาตรา ให้อำนาจ กกต. ลงมติ 2 ใน 3 กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หากมีเหตุจำเป็น ห้ามผู้สมัครจัดพาหนะพาคนไปลงคะแนน และเพิ่มการจำกัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ทวีศักดิ์  สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าว่า กมธ.มีการหารือแล้วครบทั้ง 178 มาตรากมธ.มีการแก้ไข จำนวน 17 มาตรา อาทิ ให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถมีมติ 2 ใน 3 จากจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือการห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเพื่อการเลือกตั้ง การห้ามสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต นอกจากนี้ ได้เชิญ สนช. 4 คน ที่เสนอแปรญัตติรวม 8 มาตรา เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ขณะที่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตไว้ท้ายรายงานจำนวน 3 มาตรา

รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า กมธ. ยังมีมติให้รอการพิจารณาใน 4 มาตรา คือ มาตรา 35 , 68 , 72 และ 129 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุผลอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิพื้นฐาน ประการ ได้แก่ สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. และสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะเดียวกัน กมธ.จะพิจารณาเรื่องการจำกัดสิทธิ ระยะเวลาการตัดสิทธิเพิ่มเติม รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาและวิธีการหาเสียงด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ และการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พบว่ายังมีข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้ กมธ.จะนำประเด็นทั้งหมดมาหารือเพิ่มเติมเพื่อปรับแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งนำความเห็นของประชาชนที่ส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ของ สนช. ซึ่งจะครบกำหนดปิดรับฟังในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ มาประมวลประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น