โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิชาการ-ภาคปชช. ภาม สนง.สลากฯ แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจบอร์ดตีเช็คเปล่าพันล้านหรือไม่

Posted: 19 Dec 2017 11:25 AM PST

นักวิชาการ-ภาคปชช. จี้ สนง.สลากฯ ตอบคำถามสังคม แก้กฎหมายใหม่ เพื่อเพิ่มอำนาจให้บอร์ด ตีเช็คเปล่าพันล้าน-ฟันสลากรวมชุดหรือไม่ แนะตัดวงจรออกผลิตภัณฑ์ใหม่มอมเมาสู่การพนัน  อย่าให้การรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นแค่พิธีกรรม    

19 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่ มีเรื่องจับตา 4 ประเด็น1.โครงสร้างบอร์ดบริหารคือหัวใจสำคัญของสำนักงานสลากฯ เท่าที่สังเกตพ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพียงการเพิ่มบอร์ดบริหาร จากเดิม9 คน เป็น11คน ส่วนมากมาจากข้าราชการประจำ และการแต่งตั้งจาก ครม. ซึ่งอาจเป็นฝ่ายการเมืองหรือนักวิชาการ 2.ให้อำนาจหน้าที่บอร์ดมากขึ้น เช่น ออกผลิตภัณท์รูปแบบใหม่ได้เอง ไม่ต้องผ่านมติ ครม. เช่น สลากออนไลน์ หรือสลากที่มีความหลากหลาย ประเด็นนี้อาจนำสังคมไทยเข้าสู่ธุรกิจการพนันในอนาคต ซึ่งภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด 3.ควรใช้อำนาจกระจายสลากอย่างมีประสิทธิภาพและถึงมือผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องโค้วต้าและราคาที่ต้องควบคุมได้ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะนำเทคโนโลยีมาใช้แต่ราคาสลากก็ยังควบคุมไม่ได้ โครงสร้างเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ หากในอนาคตมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และ4.ขอชื่นชมที่เงินรายได้1%จัดสรรเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งนานาประเทศล้วนทำแบบนี้ สำนักงานสลากฯควรใช้เงินกองทุนตัวนี้ให้ตรงวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ เปิดเผยและตรวจสอบได้ และที่สำคัญต้องควบคุมการพนันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า อยากฝาก 3 คำถามต่อคณะกรรมการสลากฯ ในการแก้ไข พ.ร.บ.สลากฯ 1.ยังคงยืนยันจะเพิ่มอำนาจให้ตนเองสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ง่ายขึ้น ทั้งสลากล็อตโต้ สลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว สลากออนไลน์ และสลากอื่นๆ โดยไม่มีบทกำหนดกลไกและมาตรการกลั่นกรองใดๆ  แม้กระทั่งการผ่านมติของครม. ใช่หรือไม่ 2.ยังคงยืนยันให้กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม จำนวน1,000 ล้านบาทต่อปี อยู่ภายใต้การดูแลของตนเอง โดยไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายใดๆ เช่น ไม่กำหนดสัดส่วนการใช้เงินตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ ไม่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ และที่สำคัญไม่มีคณะกรรมการดูแลกองทุนที่เป็นอิสระหรือไม่ เพราะเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า 1,000 ล้านให้ตนเองใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ และ3.จะเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการสลากที่มากกว่าการห้ามขายสลากในสถานศึกษา และการห้ามขายสลากแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือไม่ เช่น เอาผิดกับกระบวนการรวมชุด การหลอกลวงเลขเด็ดต่างๆ เป็นต้น  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สังคมต้องการความชัดเจนและตรงไปตรงมา

มนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน  กล่าวว่า พ.ร.บ.สลากฯฉบับใหม่ ควรมีเนื้อหาในการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากฯ ที่ถือว่าเป็นเงินบาปแบ่งมาเพื่อพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของตัวเอง หรือจัดเป็นสวัสดิการเพื่อสังคมต่อกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสหรือสังคมผู้สูงอายุ ที่สำคัญต้องยอมรับว่าสลากคือการพนันอย่างหนึ่ง โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ และผู้ซื้อสลากฯส่วนใหญ่เป็นคนจน ดังนั้นเงินรายได้ควรกลับมาช่วยเหลือคนจนหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม และรัฐบาลต้องมีหน้าที่ปกป้องควบคุมการพนันไม่ปล่อยให้มอมเมาสังคม  และที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกันไปแล้ว ตกลงผลสรุปเป็นอย่างไร  รับฟังจริงหรือไม่  หรือเป็นแค่พิธีกรรมให้ครบองค์ประกอบ ต้องชี้แจงต่อประชาชนเจ้าของประเทศไม่ใช่เงียบจนผิดสังเหตุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วิชา' เผย กมธ.ส่วนใหญ่หนุนเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ดักฟัง - กก.ชุดปัจจุบัน อยู่ 9 ปี อ้างทำงานเข้าฝัก

Posted: 19 Dec 2017 09:51 AM PST

'มีชัย' ค้าน กมธ. สนช.เตรียมเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. สืบข้อมูลจากการดักฟังโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยว่าทุจริต ชี้เป็นดาบสองคม  'วิชา' เผย กมธ.ส่วนใหญ่หนุน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน อยู่ 9 ปี อ้างทำงานเข้าฝัก

19 ธ.ค. 2560 มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วิชา มหาคุณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... กล่าวถึง ร่างพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สามารถดักฟังข้อมูล ว่า ทาง ป.ป.ช.เป็นผู้เสนอขออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล 3 ประการ ได้แก่ 1.ดักฟังข้อมูล 2.สะกดรอย และ 3.อำพรางตัว ซึ่งเรื่องสะกดรอยและอำพรางตัว ทาง กมธ. ตัดทิ้ง ให้เฉพาะดักฟังข้อมูลในสื่อทุกประเภท ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ดักฟังได้เฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ และต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้อธิบดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้ให้อนุญาตพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีอำนาจดักฟังได้ในชั้นไต่สวนคดี ภายใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม กมธ. มีข้อสังเกตว่า เดิมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เปิดช่องให้พนักงานสอบสวนสามารถดักฟังข้อมูลได้อยู่แล้ว เมื่อ ป.ป.ช.เทียบเท่าพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจอยู่แล้ว ก็สามารถใช้ ป.วิอาญาได้ 

"ส่วนกรณีจะเป็นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ คิดว่าต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมาป.ป.ช.ในต่างประเทศดักฟังและนำข้อมูลอื่นๆมาแบล็คเมล์ ซึ่งไม่ทราบว่าหลุดไปได้อย่างไร และหน่วยงานนั้นๆก็ไม่สามารถควบคุมได้ เดี๋ยวนี้เรื่องไซเบอร์ถือเป็นอันตรายมาก คิดดูว่าไปทำอะไรกันสองคนแล้วออกสื่อได้อย่างไร ไปจ้ำจี้กัน ลบแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานข้อมูล อยู่ตลอดชีวิต สามารถกู้คืนได้ตลอด" วิชา กล่าว
 
สำหรับกรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหรือไม่ นั้น วิชา กล่าวว่า โอนให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการป.ป.ช.กำหนดหลักเกณฑ์ว่าแค่ไหน เพียงใดถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสฉันท์สามี ซึ่งต้องอยู่กินกันพอสมควร ส่วนคนที่เป็นกิ๊กอาจจะรอดไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ถ้ากิ๊กถือครองทรัพย์สินแทนไม่รอดแน่นอน เพราะโดยปกติป.ป.ช.ก็ใช้เกณฑ์ถือครองเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบอยู่แล้ว แม้จะเป็นกิ๊กก็จัดการมาหลายราย งานนี้ป.ป.ช.ปวดหัว
 
วิชา กล่าวอีกว่า สำหรับบทเฉพาะกาล เรื่องการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เสียงส่วนใหญ่ใน กมธ. ให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี อย่างไรก็ตาม กรธ.สงวนไว้แล้วและอาจถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งนี้ กมธ. เสียงส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ป.ป.ช.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานดี หรือเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่าทำงานเข้าฝักแล้ว อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลที่แตกต่างกันต่อการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆนั้น เป็นเรื่องการวางหลักที่เคยโต้เถียงกันแล้วว่าจะเป็นหลายมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอย่างไรก็ได้ทุกรูปแบบ

มีชัย ค้านอำนาจดักฟัง ชี้เป็นดาบสองคม

เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานด้วยว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงกรณีที่ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เตรียมเพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจ ป.ป.ช. สามารถสืบค้นข้อมูลด้วยวิธีการดักฟังโทรศัพท์ ข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมทุจริตได้ ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยและพยายามคัดค้านแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ เข้าใจว่าคนทำงานต้องการมีอำนาจเพิ่มขึ้น แต่การมีอำนาจมากเกินไปอาจกลายเป็นดาบสองคม และเป็นอันตรายได้ หากเขียนเนื้อหาไม่ระมัดระวังและไม่มีกลไกที่ดีพอ อาจขัดต่อหลักสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ อย่างไรก็ตาม หาก กมธ.วิสามัญ สนช. เห็นควรว่าจะเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช. แต่ส่วนตัวเห็นว่าผลของการเพิ่มบทบัญญัติดังกล่าวอาจกระทบต่อ สนช.เองในอนาคต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครอบครัว 'นตท.เมย' หอบหลักฐานแจ้งความเพิ่ม หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม-ตำรวจ

Posted: 19 Dec 2017 09:21 AM PST

ครอบครัว นตท.ภัคพงศ์ หอบหลักฐานแจ้งความเพิ่ม แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด รอให้ข้อมูลพนักงานสอบสวน หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม-ตำรวจมากที่สุด เพื่อหาหลักฐานข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เสียชีวิต

น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

19 ธ.ค. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาพล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง การเสียชีวิตของ นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย ได้แถลงข่าวสรุปผลการสอบสวนฯการเสียชีวิตของน้องเมย ที่กองบัญชาการกองทัพไทย แถลงสรุปผลการสอบสวนว่า การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ เกิดจากปัญหาสุขภาพ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่ได้เกิดจากการลงโทษ หรือปรับปรุงวินัยแต่อย่างใด เป็นการสอบปากคำจากผู้เกี่ยวข้อง 42 คน นั้น

วันนี้ (19 ธ.ค.60) ไทยพีบีเอสรายงานว่า พิเชษฐ สุกัลยา และ สุพิชา ตัญกาญจน์ ครอบครัวของภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ได้เดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายก จ.นครนายก เพื่อแจ้งความเพิ่ม และเข้าพบเข้าพบกับ พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครนายก รวมทั้งกลุ่มตำรวจที่เป็นคณะทำงานเฉพาะที่สืบสวน

สุพิชา กล่าวว่า ได้มาพบกับพนักงานสอบสวน ส่วนเรื่องข้อหาที่แจ้งความขอไม่เปิดเผย ขอเก็บข้อมูลไว้ให้พนักงานสอบสวนก่อน ในส่วนของเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ ทางครอบครัวยังไม่ทราบว่าผลถึงผลตรวจจะออกมาแล้ว หรือความคืบหน้าในการตรวจเป็นอย่างไร

และบีบีซีไทยรายงาน คำกล่าวของ สุพิชา ตอนหนึ่ง ซึ่งเธอกล่าวว่า "ตอนนี้หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม พึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด เพื่อหาหลักฐานข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เสียชีวิต"

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พล.ต.ต.นิพนธ์ พานิชเจริญ รองผูบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนครนายก ว่า ต้องรอดูว่า ครอบครัวตัญกาญจน์ จะแจ้งความข้อหาอะไร ซึ่งที่ผ่านมา ได้สอบปากคำไปแล้วครั้งเดียว และหากครอบครัวตัญกาจน์ มาแจ้งความวันนี้ จะเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ซึ่งต้องดูประเด็นก่อน จึงจะสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมได้

พล.ต.ต.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ครอบครัวตัญกาญจน์ให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี และได้มอบเอกสารประกอบการทำสำนวนคดีด้วย ถึงขณะนี้ตำรวจสอบปากคำบุคคลไปแล้ว 10 ปาก มีทั้งแพทย์ ญาติผู้เสียชีวิต บุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งต้องดูว่าจะสอบปากคำหรือหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของ ภคพงศ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะดำเนินการโดยเร็วที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าราชการคนหนึ่งพึงมีทรัพย์เท่าใด จึงไม่ใช่โกงมา

Posted: 19 Dec 2017 08:13 AM PST

 

ทำไมข้าราชการทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางท่าน รวยจัง ผมไม่ได้อิจฉาริษยาความรวยของท่านเหล่านั้นนะครับ การที่ท่านมีทรัพย์มากแสดงว่าท่านต้องมีความสามารถ จึงสะสมและถือครองทรัพย์ได้มากมายปานนั้น ส่วนที่มาก็อาจเป็นเพราะได้รับมรดก ทำการค้า ได้คู่ครองดีฯลฯ แต่ผมมาคิดในอีกแง่หนึ่งว่า ถ้าเป็นข้าราชการธรรมดา ที่ไม่ได้รวยเพราะมรดกหรืออื่นใด ไม่ได้เบียดเบียนเวลาราชการไปทำการค้า หรือไม่ได้ทุจริต อาจไม่ร่ำรวย ไม่มีทรัพย์สินมหาศาล ผมจึงลองทำตัวเลขมาให้ดู เอาไว้พิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม
 
 
สมมติคนๆ หนึ่งรับราชการมาตั้งแต่ พ.ศ.2519 เมื่ออายุ 22 ปี เช่น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีหรือท่านอื่นใด ปีนั้นรายได้ของข้าราชการชั้นตรี หรือนายทหารสัญญาบัตร อาจเริ่มต้นเพียงเดือนละ 1,500 บาท และเมื่อรับราชการมาจนครบเกษียณในปี 2557 หรือ 38 ปีต่อมา อาจมีรายได้ประมาณ 150,000 บาท (ซึ่งรวมเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งและอื่นๆ) หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า ก็เท่ากับว่าปีหนึ่ง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12.8838% โดยเฉลี่ยตามสูตร

 = {(รายได้สุดท้ายซึ่งรวมเงินเดือนและค่าประจำตำแหน่ง / เงินเดือนแรกเข้า) ถอดรากตามจำนวนปีที่รับราชการ)} -1

 = {(150,000 / 1,500) ^ (1 / 38)} -1

 = 12.8838%
 
เมื่อนำอัตราเพิ่มขึ้นของรายได้ 12.8838% ของเงินเดือนปีแรก มาเป็นตัวเพิ่มของรายได้ในปีถัด ๆ มา ก็จะได้เงินเดือน ๆ สุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการที่ 150,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า

ตามตารางข้างต้น รายได้ต่อปีก็เพียงคูณด้วย 12 เดือนเข้าไป โดยตั้งสมมติฐานง่าย ๆ ว่ารายได้ทุกบาททุกสตางค์จะไม่ได้นำไปใช้สอยอะไรเลย เช่น รายได้เดือนล่าสุดที่ 150,000 บาท คูณด้วย 12 เดือนก็เป็นเงิน 1,800,000 บาทนั่นเอง ส่วนรายได้ปีแรกเมื่อ พ.ศ.2519 ก็เป็นเงิน 18,000 บาทในปีนั้น

ถ้าเงินเดือนที่ได้ทุกเดือนนำไปฝากธนาคารไว้ โดยสมมติให้มีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 8% ต่อปี ทั้งนี้บางช่วงอาจมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่านี้ เช่น ในช่วงปี 2533-2539 แต่ก่อนหน้านี้และในปัจจุบัน ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำมาก แต่สมมติให้มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากันคือ 8% ทุกปี เงินที่ฝากไว้แต่ละปีก็จะเติบโตขึ้น เช่น เงินเดือน ๆ แรก 1,500 บาท หรือปีละ 18,000 บาท หากฝากธนาคารไว้โดยไม่ได้ใช้เลย ณ อัตราดอกเบี้ย 8% เป็นเวลา 38 ปี ก็จะเป็นเงินถึง 335,255 บาท ณ ค่าปัจจุบัน หรือรายได้เดือนที่ 2 ณ พ.ศ.2520 ก็จะเป็นเงิน 350,415 บาท ณ ค่าปัจจุบัน เป็นต้น

หากเอาเงินจำนวนนี้มารวมกันทั้งหมด ก็จะเป็นเงิน 34,191,338 บาท ซึ่งก็แปลว่า ในระยะเวลา 38 ปีที่รับราชการ หากไม่ใช้เงินสักสตางค์แดงเดียว ข้าราชการทหาร ตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนนั้นๆ จะมีทรัพย์หรือความมั่งคั่งตามตัวเลขเท่านี้โดยถือเป็นทรัพย์สูงสุดที่พึงได้ เพราะในความเป็นจริง คงไม่มีใครไม่ใช่สอยอะไรเลย

แต่หากคิดว่าเงินเก็บจริง ๆ 40% ของรายได้สุทธิ ณ ปัจจุบัน ความมั่งคั่งที่สะสมก็น่าจะเป็นเงินเพียง 13,676,535 บาท อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปข้าราชการมักบ่นว่าหลังเกษียณแล้ว ไม่ค่อยมีเงินเหลือเก็บหรือยังต้องอาศัยเงินบำนาญอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีเงินมากกว่าที่คำนวณไว้ จึงต้องถือว่ารวยด้วยกรณีพิเศษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการโกง แต่อาจเป็นเพราะ

1. มีมรดกตกทอด

2. มีคู่ครองที่ทำการค้า

3. ถูกล็อตเตอรี่ สลากออมสิน สลากกาชาด ฯลฯ

4. เก็บเงินได้โดยบังเอิญ ฯลฯ

แต่นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การรวยอย่างผิดปกติ ก็ย่อมมาจากการทุจริต เช่น อย่างเบาก็คือการเบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจ เล่นหุ้น ตลอดจนไปถึงอย่างหนักก็คือการทุจริต กินสินบาทคาดสินบนคนเดียว หรือทำอย่างเป็นขบวนการ หรืออย่างหนักสุดก็คือการกรรโชก ปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น

ช่วยกันตรวจสอบเพื่อสังคมไทยโปร่งใส เมืองไทยน่าอยู่ตามนโยบายของทางราชการครับ



หมายเหตุ:
ดัดแปลงจากการนำเสนอครั้งแรก AREA แถลง ฉบับที่ 153/2557: 7 ตุลาคม 2557: ข้าราชการคนหนึ่งพึงมีทรัพย์เท่าไหร่ ดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/1SfsNKc

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแรงงาน-สตรี ออกจดหมายเปิดผนึก อัด KFC เลิกจ้างปธ.สหภาพแรงงานไม่เป็นธรรม

Posted: 19 Dec 2017 05:35 AM PST

58 องค์กร เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายเยาวชน ออกจดหมายเปิดผนึก ชี้ KFC เลิกจ้าง ประธานสหภาพแรงงานฯ ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้สนใจต่อกฎหมาย เหตุเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้อง
 
 
19 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายเยาวชน 58 องค์กร พร้อมด้วยนักวิชาการและบุคคล ออกจดหมายเปิดผนึกกรณี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือเคเอฟซี เลิกจ้าง อภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และมีตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน 
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่าการเลิกจ้างนี้เป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง (ILO) 
 
กลุ่มที่ออกจดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า การเลิกจ้าง อภันตรี เป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจ หน้าที่ ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆหรือเพิกเฉยก็ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งบริษัทควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมองค์กรในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงาน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่กีดกันการรวมตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติต่อพนักงานโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
รายละเอียด จดหมายเปิดผนึก : 

จากเครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน และเครือข่ายเยาวชน กรณี...เลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิงซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ

 
ตามที่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) ได้เลิกจ้างนางอภันตรี  เจริญศักดิ์  ตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และมีตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้นางอภันตรีฯ ได้เคยถูกบริษัทฯเลิกจ้างมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 นางอภันตรีฯได้ต่อสู้ในชั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส) และรวมทั้งในชั้นศาลจนชนะคดีมีคำสั่งให้บริษัทฯรับกลับเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งเดิม หน้าที่เดิม แต่ถูกกดดันหลากหลายวิธีมาตลอด 5 ปี
 
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง และการถูกเลิกจ้างครั้งนี้ในฐานะที่ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ อยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาชั้นฎีกา กรณีถูกเลิกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 2554 และขณะนี้อยู่ในช่วงของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง ที่ทางสหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560  แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จนเกิดข้อพิพาทแรงงานซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นัดเจรจาอีกครั้งที่ 4  ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 
 
เครือข่ายแรงงานสตรี ขบวนการแรงงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เห็นร่วมกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานของนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของ นางอภันตรีฯ และเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานดังนี้
 
1) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการแล้วชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ต้องการให้นางอภันตรีฯทำงานอยู่ต่อไปซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทของนางอภันตรีฯซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานฯ ที่ได้เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการให้แก่พนักงานและสมาชิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพ เกิดข้อวิตกกังวลและหวั่นไหวในเหตุการณ์ครั้งนี้ และนางอภันตรีฯ เป็นผู้นำแรงงานสตรี ที่ดูแลในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคให้กับสตรีและเยาวชน ได้มีบทบาทในสังคมให้ยุติความรุนแรงและสร้างเสริมความเสมอภาค ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้พยายามสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้องค์กร ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง(ILO) 
 
2) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องฯ"ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจ หน้าที่ ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆหรือเพิกเฉยก็ "ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ"มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
 
3. บริษัทควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมองค์กรในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงาน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่กีดกันการรวมตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติต่อพนักงานโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เครือข่ายแรงงานสตรีและเยาวชนทุกภาคส่วน จะพยายามแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และจะประสานความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศและจะสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะทุกรูปแบบเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและร่วมกันแก้ไขประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ตามกติกาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งคาดหวังว่าเจตนารมณ์ของการปกป้องสิทธิของ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกรณีอื่นๆจะได้รับการตอบรับที่ดีในการแก้ไขปัญหาจากนายจ้าง จากกระทรวงแรงงานและรัฐบาลดัง"คำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560
 
ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน และเครือข่ายเยาวชน
19  ธันวาคม 2560
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักการทูตยันไปสังเกต ‘หมวดเจี๊ยบ’ รับทราบข้อกล่าวหาจริง หลัง ปอท.ร่อน จม.ตรวจสอบ

Posted: 19 Dec 2017 04:32 AM PST

ปอท. ส่งหมายเรียก 'หมวดเจี๊ยบ' รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มกล่าวโจมตีพล.อ.ประยุทธ์  พรุ่งนี้ พร้อมร่อนจดหมายถึง 5 สถานทูต ตรวจสอบบุคคลอ้างมาสังเกตการณ์ ด้านนักการทูตตะวันตกยันที่ไปเป็นตัวจริงถึง  6 สถานทูต 

 

ภาพนักการทูตที่ร่วมสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ ปอท. ภาพจาก iLaw

19 ธ.ค. 2560 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันและปราบปราบการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ออกหมายเรียกให้ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือ หมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 20 ธ.ค. เวลา 09.00 น. กรณีฝ่ายกฎหมายคสช.มาแจ้งความดำเนินคดีกับกับร.ท.หญิงสุณิสา กระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 มาตรา 14 (2) จนทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 3 กระทง จากเดิมแจ้งไว้ 6 กระทง ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว นำเสนอบทความหรือข้อความอันเป็นเท็จและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กทั้ง 2 บัญชี กล่าวโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ ผู้ร่วมสังเกตการณ์ในการรับทราบข้อกล่าวหาของ ร.ท.หญิงสุณิสา ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจากสถานทูตต่างๆ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย, เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

กรณีการตรวจสอบผู้ร่วมสังเกตการณ์ของนักการทูตนั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สอบถามไปยังนักการทูตตะวันตกคนหนึ่ง ซึ่งปรากฏตัวที่ ปอท. เพื่อสังเกตการณ์ กรณี ร.ท.หญิง สุณิสา เข้ารับทราบข้อกล่าว เมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่า มีตัวแทนจากสถานทูตดังต่อไปนี้ คือ สหภาพยุโรปฯ สหรัฐฯ อังกฤษ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ไปร่วมสังเกตการณ์ที่ ปอท.

"สำหรับคดีที่ศาล มันเป็นเรื่องปกติที่สถานทูตจะแจ้งศาลก่อนการไปสังเกตการณ์ เพราะอยากให้แน่ใจว่ามีพื้นที่ว่างในห้องพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีในระดับตำรวจและอัยการ เราไม่ได้เข้าไปข้างในห้องที่ใช้สอบสวน ดังนั้นเราจึงไม่ได้แจ้งไปก่อน" นักการทูตตะวันตกกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า พื้นที่ที่ไปเป็นพื้นที่ด้านนอก ที่นักข่าวก็อยู่กัน ตอนไปครั้งก่อน ก็มีเจ้าหน้าที่ถามตนว่ามาจากไหน ตนชี้แจงตามปกติ และไม่แน่ใจว่ามีจดหมายส่งมาที่สถานทูตหรือไม่ เพราะยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในหนังสือระบุว่า วันที่ 13 ธ.ค. เวลา 10.30 น. ร.ท.หญิง สุณิสา มารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน ปอท. เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย ปรากฏว่ามีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์ จึงเรียนมาเพื่อขอทราบว่า สถานทูตได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกรณีนี้หรือไม่ หากส่งมา ขอความกรุณาแจ้งชื่อนามสกุล ตำแหน่ง หน้าที่ พร้อมประกอบเหตุผล ที่มาสังเกตการณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงาน ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น หากไม่ได้ส่งมาแสดงว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดี แอบอ้างสถานทูต เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดผลเสียต่อสังคมและกระบวนการยุติธรรมไทย ก่อให้เกิดความสับสนต่ออำนาจหน้าที่ของสถานทูต จึงขอความร่วมมือส่งตัวแทนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับผู้กระทำการแอบอ้างดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เตรียมใช้มาตรา 44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยันไม่กระทบโรดแมป

Posted: 19 Dec 2017 01:56 AM PST

หลังประชุม ครม. และ คสช. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยเตรียมใช้ ม.44 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองจัดการงานธุรการ และจัดระบบสมาชิกพรรคการเมืองให้ ย้ำไม่ต้องกังวล ไม่กระทบโรดแมปการเลือกตั้ง

19 ธ.ค. 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุม คสช. ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการแก้กฎหมายพรรคการเมืองต้องใช้นาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินงานธุรการ และจัดการเรื่องระบบสมาชิกพรรคการเมือง

ทั้งนี้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองระบุว่า ให้พรรคการต้องดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคครบ 500 คน ภายใน 180 วันหลังกฎหมายบังคับ ทั้งนี้รัฐบาลจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายระยะเวลาที่บังคับไว้ในกฎหมายออกไป พล.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า ขอให้ประชาชน และพรรคการเมืองไม่ต้องกังวล พรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองเก่ายังมีระยะเวลาในการดำเนินการด้านธุรการ และเรื่องการทำระบบสมาชิกพรรคการเมือง  โดยทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมปเดิม

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไท, มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก 'คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558'

Posted: 19 Dec 2017 01:48 AM PST

ภาคประชาชนหลายองค์กรร่วมยื่นคำร้องยกเลิกคำสั่งข้อที่ 6 และ 12 ในคำสั่งที่ 3/2558 เหตุขัดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกันเสรีภาพในการชุมนุม และเพื่อยืนยันอำนาจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง มุ่งทดสอบกลไกศาลรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่

กลุ่มภาคประชาชนแถลงข่าวหน้าศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Banradsr Photo)

ที่ลานอเนกประสงค์ ภายในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ภาคประชาชน ประกอบด้วย นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กรชนก ธนะคูณ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นตัวแทนยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 6 และ 12 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายศาล และการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ตามลำดับ รวมถึงการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งข้างต้นว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่

นอกจากกลุ่มประชาชนข้างต้น ยังมีบุคคลที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 กลุ่ม  ดังนี้

  1. กรณีกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมที่หอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ณ วันที่ 22 พ.ค. 2558

  2. กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ถูกดำเนิคดีจากการสังเกตการณ์กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  3. กรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์

  4. กรณีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. 2559

  5. กรณีนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการแจกจ่ายเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

รังสิมันต์เป็นตัวแทนกล่าวถึงวัตถุประสงค์การมายื่นคำร้องวันนี้ว่า การยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่ง 3/2558 เพราะคำสั่งกระทบเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสรีภาพที่สำคัญที่ประชาชนพึงมีเพื่อลุกขึ้นเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในวันที่รัฐไม่ตอบสนองเจตนารมย์ประชาชนและกลายเป็นผู้กดขี่ประชาชนแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นหลักยืนยันอำนาจในการจัดการตนเองของประชาชน

เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" พวกตนจึงได้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุมและอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ พิทักษ์ผลประโยชน์และยกอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้เห็นว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบังคับใช้ได้จริง มิใช่ตกอยู่ใต้เงาของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญเผด็จการในอดีต และในอนาคตก็จะพยายามพิสูจน์คุณค่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าธาตุแท้ของกฎหมายสูงสุกที่ปกครองชีวิตพวกเขาอยู่นั้นเป็นอย่างไร

นิมิตร์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าประเทศไทยควรปกครองด้วยกฎหมาย ประชาชนควรมีสิทธิ เสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการรักษาพยาบาลที่แย่กว่าเดิม ทั้งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการเข้าไปให้ความเห็นก็ยากไม่ว่าจะในระดับกรรมการร่างฯ จนถึงการเรียกร้องผ่านการชุมนุม โดยการชุมนุมนั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่กลับถูกจำกัดด้วยอำนาจทหารแทนที่จะพูดคุยกันด้วยกฎหมาย วันนี้จึงมาร่วมเป็นอีกกลุ่มที่มาทดลองศาลรัฐธรรมนูญด้วยกัน

พูนสุขระบุว่า คำสั่งที่ 3/2558 เป็นฐานอำนาจให้คณะรัฐประหารละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำสั่งดังกล่าว ตนคิดว่าไม่มีอำนาจใดที่ถูกตรวจสอบไม่ได้ภายใต้นิติรัฐ ซึ่งวันนี้จะได้มาทดสอบกลไกที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

อัครเดช หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมตัวไปยัง มทบ. 11 ขณะที่ปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 ก.พ. 2560 กล่าวว่า ถ้าคำสั่งที่ 3/2558 ยังคงอยู่ จะเกิดปัญหาขึ้นในทุกพื้นที่ เพราะตอนนี้โครงการใหญ่ต่างๆ จากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเขื่อน เหมือง โรงไฟฟ้า กำลังเดินหน้า ประชาชนจึงควรที่จะมีสิทธิ เสรีภาพที่จะออกมาแสดงการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ตนเห็นว่าการไม่ให้ประชาชนออกมาเรียกร้องนั้นไม่เป็นธรรม จึงขอให้ศาลรับเอาไว้พิจารณา

กรชนกกล่าวว่า ตนเคยถูกจับขณะที่ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิ์ลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กับผู้ใช้แรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีเมื่อ 23 มิ.ย. 2559 ในวันที่ถูกจับนั้น ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใดๆ แต่ก็ถูกจับไปกักขังไว้ การชุมนุมเป็นเครื่องมือที่แรงงานเอาไว้ใช้ต่อรองกับนายจ้าง แต่ก็ถูกทหารปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ชุมนุม การชุมนุมแต่ละครั้งต้องขออนุญาตก่อน ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่ได้ วันนี้มายื่นคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะตอนนี้ประชาชนอยู่ใต้ความกลัว หวาดระแวง ส่วนสิทธิ เสรีภาพตอนนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นผ่านใบแจ้งข่าวของศูนย์ทนายฯ ว่า "คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถือว่าเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและการชุมนุมของบุคคล และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาตลอดตั้งแต่ปี 2558 เราเห็นว่าแก่นของหลักนิติรัฐ คือ ในระบบกฎหมาย เรายืนยันว่าไม่มีอำนาจอะไรที่ตรวจสอบไม่ได้ รวมถึงอำนาจมาตรา 44 ด้วยและการยื่นคำร้องครั้งนี้ถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจทางหนึ่ง"

กลุ่มผู้ยื่นคำร้องเข้ามานั่งรอในห้องแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ

อะไรคือคำสั่งที่ 3/2558

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)

พ.ศ.2557 มีรายละเอียดทั้งสิ้น 14 ข้อ เป็นมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

และการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่กลุ่มประชาชนมาเรียกร้องให้ยกเลิกในวันนี้คือข้อที่ 6 และ 12 ที่มีรายละเอียดดังนี้

ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

เมื่อมีเหตุอันจะต้องดําเนินคดีต่อบุคคลที่กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจดําเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซ่ึงแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2549

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความเห็นของศูนย์ทนายฯ จากใบแจ้งข่าวต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 6 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหมายศาลและเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานรักษาคามสงบเรียบร้อยควบคุมตัวบุคคลโดยที่ศาลไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ อันเป็นการจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยผิดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนในข้อที่ 12 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ไม่ได้สัดส่วนและสร้างภาระให้กับการใช้สิทธิในการชุมนุมของบุคคลในปัจจุบันมากจนเกินไป เพราะในปัจจุบันเรามีกฎหมายที่จำกัดสิทธิดังกล่าวในสถานการณ์ปรกติอย่าง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และในสถานการณ์ไม่ปรกติอย่างกฎหมายความมั่นคงต่างๆ จำนวนมากอยู่แล้ว

วัตถุประสงค์ของการยื่นคำร้อง "ทวงคืนสิทธิเสรีภาพ"

ในวันนี้ พวกเราได้มายื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญให้มีคําวินิจฉัยว่าคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558และการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่    รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุม และอํานาจของประชาชนในการกําหนดชะตากรรมตนเอง

สาเหตุที่เราเลือกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นสิ่งแรกที่นํามายื่นคําร้อง เพราะคําสั่งดังกล่าวกระทบต่อเสรีภาพที่มีความสําคัญต่อประชาชนมากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพในการชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมมีความสําคัญยิ่ง เพราะเป็นเสรีภาพที่ยืนยันถึงอํานาจของประชาชนในการกําหนดชะตากรรมตนเอง โดยปรกติประชาชนไม่จําเป็นต้องต้องใช้เสรีภาพนี้เนื่องจากรัฐได้ทําหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่ควรเป็นอยู่แล้ว แต่หากเมื่อใดที่รัฐไม่ยอมทําหน้าที่ของตน เปลี่ยนสถานะจากผู้รับใช้เป็นผู้กดขี่แล้ว ประชาชนย่อมต้องสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองได้  นั่นคือสาเหตุที่ประชาชนจําเป็นต้องมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะยังคงสามารถดําเนินการ ให้เป็นไปตามสิทธิของตนได้ มิใช่ทําได้เพียงงอมืองอเท้ารอความเมตตาจากรัฐไปวันๆ

เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพ     ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" หรือแม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้บรรดาสิทธิเสรีภาพที่เคยได้รับการคุ้มครองมาก่อนย่อมได้รับการคุ้มครองต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

ทว่าตลอดเวลาที่ คสช. ครองอํานาจ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือสําคัญในการปราบปรามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อํานาจรัฐที่ออกมาแสดงการคัดค้านหรือโต้แย้ง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม

เราจึงมายื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุมและอํานาจในการกําหนดชะตากรรม ตนเองอันไม่อาจถูกพรากไปจากมนุษย์ได้ แม้จะมีความพยายามจํากัดเสรีภาพและอํานาจนี้โดยไม่ชอบธรรมก็ตาม และ  เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้เห็นว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่รับรองเสรีภาพในการ  ชุมนุมจะใช้บังคับได้จริง มิใช่ตกอยู่ใต้เงาของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญเผด็จการในอดีต

2. เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพิทักษ์ผลประโยชน์ของ  ประชาชน และยกให้อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ หรือไม่ การยื่นคําร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ดังที่ กรธ.ได้โฆษณาไว้เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือไม่นั้น ลําพังเพียงตัวบทบัญญัติไม่อาจก่อให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพได้ในทางปฏิบัติ หากแต่ต้องอาศัยองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการบังคับใช้บทบัญญัติให้เป็นไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย ดังนั้นการยื่นคําร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ด้วยเช่นกันว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามที่รัฐรรมนูญบัญญัติไว้ได้จริงหรือไม่

ในช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังใช้บังคับอยู่ เมื่อมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับคําสั่งต่างๆ ตาม     มาตรา 44 ศาลมักวินิจฉัยให้บรรดาคําสั่งเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด แม้ว่าคําสั่งเหล่านั้นจะมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนก็ตาม แต่ในปั จจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2560 ใช้บังคับแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกคาดหวังจากสังคมให้ใช้บังคับต่อไปภายหลัง คสช. ลงจากอํานาจ    และสิ้นสุดระบอบรัฐประหารแล้ว เราจึงคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคําร้องตามมาตรฐานแบบประชาธิปไตยด้วย แต่หากศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนยันที่จะวินิจฉัยโดยให้ความชอบธรรมแก่การใช้อํานาจของคณะรัฐประหารดัง ที่เคยเป็นมาโดยตลอด ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ในตัวแล้วว่ากลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงที่ กรธ.เคยโฆษณาไว้ว่ารัฐธรรมนูญนี้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ในความเป็นจริงแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ก็ยังถูกล่วงละเมิดได้ ถ้อยคําสวยหรูที่พรํ่าพรรณนาไว้กลายเป็นการโกหกคําโตทั้งสิ้น

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมยังมักยกคําร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่น เช่นผู้ตรวจการแผ่นดิน   หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้หมดสิ้นเสียก่อน หากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงจะมาร้องต่อศาลใน  ท้ายสุดได้ อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กําหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นศาลจึงควรต้องตีความการใช้สิทธิไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน นั่นคืออนุญาตให้ประชาชนยื่นคําร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้น

และหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด การยื่นคําร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้นย่อมต้องสามารถกระทําได้เสมอ ไม่  สมควรกําหนดข้อห้ามใดๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เพราะการบังคับให้ต้องไปยื่นคําร้องผ่านช่องทางอื่นก่อนจะทําให้เกิด  ความล่าช้าจนอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิได้อย่างทันการณ์ และหากสุดท้ายหน่วยงานอื่นเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิ  เสรีภาพอย่างเกินเลย และทําให้คําโฆษณาของ กรธ. ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทําให้ศาลรัฐธรรมนูญ "เข้มแข็งและฉับไวขึ้น" กลายเป็นการโกหกอีกครั้ง เพราะกระบวนการที่กําหนดไว้จะไม่ต่างอะไรจากในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้เลย

กล่าวโดยสรุป เรามายื่นคําร้องครั้งนี้เพื่อพิสูจน์ด้วยว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และองค์กรตามรัฐธรรมนูญดัง   กล่าวนั้นพร้อมที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน หรือเอื้อผลประโยชน์แก่คณะรัฐประหารและพวกพ้องมากกว่ากัน  ซึ่งหากเป็นอย่างหลังแล้ว เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปเสีย

ในอนาคต เราจะพยายามพิสูจน์คุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป โดยอาจใช้วิธีการเดียวกันนี้หรือวิธีการ  อื่น เพื่อให้ประชาชนได้เล็งเห็นว่าธาตุแท้ของกฎหมายสูงสุดที่ปกครองชีวิตของพวกเขาอยู่นั้นเป็นเช่นไร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทม์เผย กลาโหมสหรัฐฯ แบ่งงบไปใช้ 'สำรวจยูเอฟโอ'

Posted: 18 Dec 2017 10:55 PM PST

สื่อนิวยอร์กไทม์รายงานถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ แบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปใช้ในการตรวจจับวัตถุนอกโลกลึกลับ หรือ 'ยูเอฟโอ' มาเป็นเวลาราวหลายปีแล้ว โดยโครงการนี้ก็ดูปกปิดลึกลับไม่แพ้สิ่งที่พวกเขาพยายามสำรวจ

18 ธ.ค. 2560 นิวยอร์กไทม์อาศัยการสัมภาษณ์ผู้ที่เข้าร่วมโครงการและข้อมูลจากบันทึก พวกเขาพบว่ามีการแบ่งงบประมาณกลาโหมรวม 600,000 ล้านดอลลาร์ออกไปจำนวน 22 ล้านดอลลาร์ (720.5 ล้านบาทไทย) เพื่อใช้ในโครงการที่ชื่อว่า "โครงการตรวจระบุภัยจากห้วงอวกาศขั้นสูง" (Advanced Aerospace Threat Identification Program) ตัวโครงการนี้เองที่ลึกลับและหายากมาก

โครงการนี้เป็นความลับชนิดที่กระทรวงกลาโหมปฏิเสธการมีอยู่ของมันโดยบอกว่ามันปิดตัวไปแล้วในปี 2555 แต่ผู้สนับสนุนโครงการนี้ยังบอกว่าในขณะที่กระทรวงกลาโหมจะเลิกให้งบประมาณโครงการนี้ในยุคนั้นแต่โครงการก็ยังคงมีอยู่ต่อมาตลอด 5 ปีต่อจากนั้น

ลูอิส เอลิซอนโด เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหารสหรัฐฯ เป็นเจ้าของโครงการนี้ โครงการสำรวจหายูเอฟโอนี้เริ่มต้นอย่างลับๆ ในปี 2550 ซึ่งมาจากคำขอของแฮร์รี่ รีด ส.ว. เสียงข้างมากประจำรัฐเนวาดาสังกัดพรรคเดโมแครตในยุคนั้น รีดเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องประกฏการณ์อวกาศมานานแล้ว และงบประมาณส่วนมากที่ถูกส่งไปให้บริษัทวิจัยเรื่องห้วงอวกาศของเศรษฐี โรเบิร์ต บิกกะโลว์ เพื่อนของรีด ซึ่งในปัจจุบันบิกกะโลว์ก็กำลังทำงานในองค์การนาซาเพื่อช่วยสร้างยานอวกาศให้มนุษย์

บิกกะโลว์เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อซีบีเอสว่าเขาเชื่ออย่างยิ่งว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริงและเคยมียูเอฟโอมาที่โลกแล้ว นอกจากนี้ยังเคยมีการเปิดเผยภาพยานพาหนะทางอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงและไม่แสดงให้เห็นตัวขับเคลื่อนใดๆ มีแต่การลอยอยู่กลางอากาศ หน่วยงานสำรวจยูเอฟโอยังทำการศึกษาวิดีโอที่เครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ค้นพบวัตถุที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ หนึ่งในนั้นคือวัตถุรูปทรงสีขาวขนาดเท่าเครื่องบินโดยสารปรากฏแถบชายฝั่งซานดิเอโกเมื่อปี 2547

อย่างไรก็ตาม ซารา ซีเกอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (M.I.T.) เตือนว่าการที่เราไม่ทราบที่มาของวัตถุนั้นๆ ไม่ได้หมายความว่ามันจะมาจากต่างดาวหรือจากกาแล็กซีอื่นเสมอไป ซีเกอร์บอกอีกว่าเวลาที่ผู้คนอ้างว่าพวกเขาพบเห็นปรากฏการณ์ประหลาดบางครั้งก็ควรจะมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทั้งนี้แม้แต่ในวิทยาศาสตร์เองก็มีบางเรื่องที่จะปล่อยไว้ให้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้

อีกคนหนึ่งที่แสดงความสงสัยในเรื่องนี้คือ เจมส์ อี โอเบิร์ก อดีตวิศวกรกระสวยอวกาศของนาซาที่มักจะแก้ข่าวกรณีที่มีคนอ้างว่ามีการพบเห็นยูเอฟโอ โอเบิร์กบอกว่าการที่มนุษย์เราต้องเผชิญเรื่องน่าเบื่อทุกวันๆ กับสภาพการรับรู้จากประสาทสัมผัสของมนุษย์ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ขึ้นมา รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่ามีคนที่ทำอะไรบางอย่างให้เกิดวัตถุบนอากาศแบบซุ่มซ่อนโดยไม่อยากให้ใครรู้ อย่างไรก็ตามโอเบิร์กกล่าวว่าเขาสนับสนุนการศึกษาวิจัยปรากฏการณ์พวกนี้เพราะมันอาจจะมีประโยชน์

เอลิซอนโดเปิดเผยว่าถึงแม้กระทรวงกลาโหมจะเลิกให้งบประมาณโครงการค้นหายูเอฟโอมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ตัวโครงการยังคงดำเนินต่อไป โดยที่เขาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินและหน่วยงานข่าวกรองกลางหรือซีไอเอของสหรัฐฯ ในโครงการวัตถุลึกลับนอกโลก แต่ก็ลาออกเพื่อเป็นการประท้วงการปิดลับเรื่องเหล่านี้มากเกินไปและการถูกต่อต้านจากภายในเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แต่เอลิซอนโตก็บอกว่าเขามคนที่สืบต่องานของเขาแม้จะไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร

การพยายามสืบสวนค้นคว้าปรากฏการณ์ยูเอฟโอมีมานานแล้วในวงการกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีกรณีกล่าวอ้างว่าค้นพบยูเอฟโอมากกว่า 12,000 ครั้ง แต่จากการสืบสวนเรื่องราวเหล่านั้นทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่สิ่งที่คนอ้างว่าเป็นยูเอฟโอมักจะเป็น ดาวฤกษ์ เมฆ เครื่องบินทั่วไปหรือเครื่องบินสอดแนม แต่ก็มีปรากฏการณ์ 701 กรณีที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นอะไร

การสืบสวนหายูเอฟโอในยุคสมัยนั้นเรียกชื่อโครงการว่า "โปรเจกต์บลูบุ๊ค" (Project Blue Book) เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2495-2512 เลขาธิการกองทัพอากาศสหรัฐฯ สมัยนั้นคือ โรเบิร์ต ซี ซีแมน จูเนียร์ เขียนในบันทึกว่าเขาต้องยุติโครงการณ์นี้เพราะมันไม่มีความชอบธรรมทั้งในด้านความมั่นคงของชาติหรือในด้านผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

รีดกล่าวว่าเขาเคยพบเจอผู้คนที่สนใจในเรื่องวัตถุไม่ทราบที่มาทั้งหลาย และเรื่องวัตถุลึกลับเหล่านี้มักจะไม่มีการรายงานขึ้นไปตามระดับสายงานผู้บังคับบัญชาเพราะกลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะหรือถูกตีตรา

ในแง่ของโครงการช่วงปี 2551-2554 พวกเขายังอาศัยงบประมาณ 22 ล้านดอลลาร์ในการดำเนินโครงการทั้งการวิจัยและการประเมินอันตรายจากวัตถุลึกลับพวกนี้ รีดยอมรับว่ามันถูกเรียกว่า "เงินมืด" รวมถึงเขาและ ส.ว. คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่อยากให้มีการเปิดอภิปรายให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับการให้งบประมาณโครงการ

อย่างไรก็ตามบิกกะโลว์อ้างว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ตามคนอื่นไม่ทันในเรื่องการค้นหาวัตถุที่มาจากนอกโลกเพราะนักวิทยาศาสตร์กลัวถูกตัดขาดจากสังคมและสื่อก็กลัวถูกตีตรา เมื่อเทียบกับรัสเซียหรือจีน หรือแม้แต่ประเทศที่เล็กกว่าอย่างเบลเยียมหรือชิลี ที่บิกกะโลว์อ้างว่า "เปิดรับในเรื่องนี้มากกว่า" เพราะไม่มีการเยาะเย้ยกันแบบคนที่ยังไม่โต
 

เรียบเรียงจาก

Glowing Auras and 'Black Money': The Pentagon's Mysterious U.F.O. Program, The New York Times, 16-12-2017
https://www.nytimes.com/2017/12/16/us/politics/pentagon-program-ufo-harry-reid.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อานันท์ยก 'หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์' เป็น 'รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย'​

Posted: 18 Dec 2017 09:52 PM PST

อานันท์ ปันยารชุน เปิดงานครบ 10 ปี การจากไปของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ยกเป็น "รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย"​ เหตุทุ่มเททั้งชีวิต ศึกษาวิจัย ออกแบบระบบ ผลักดันนโยบาย จนเกิดเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 

19 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน "งานกับอุดมคติของชีวิต" ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นประจำปี 2560 โดยมีหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ที่ได้รับคัดเลือกเพราะมีผลงานดีเด่นอย่างต่อเนื่องได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก, สุดา โภชนากรณ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.กระทุ่มแบน และ เฉลิม สิริจันทเวท จิตอาสา รพ.พนมสารคาม ตามลำดับ งานนี้จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ประมาณ 300 คน วัตถุประสงค์เพื่อสานต่องานสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน และสนับสนุนงานจิตอาสา มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ตามปณิธานของนายแพทย์สงวน 

อานันท์ กล่าวเปิดงานว่า คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือ "รัฐบุรุษ ผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย" เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจาก คุณหมอสงวน ได้ทุ่มเททั้งชีวิต ศึกษาวิจัย ออกแบบระบบ ผลักดันนโยบายอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จนเกิดเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2545 ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการเมื่อยามจำเป็น ครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐบาลเป็นผู้ใช้เงินภาษีของประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน ประชาชนมากกว่าร้อยละ90 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในประเทศไทยอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีความท้าทายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คุณหมอสงวนได้วางรากฐานไว้แล้ว คือ เราจะสร้างความยั่งยืนให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆที่มีราคาแพงและอาจช่วยทำให้คนอายุยืนขึ้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อให้ประเทศสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้

"แนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความท้าทาย ดังกล่าว คือ การนำแนวทางตามพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข้งของบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชน เป็นต้น และที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการนำแนวคิดจิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย คนเมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการคนที่เข้าใจ และต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงของเพื่อนคนไข้ด้วยกัน เพราะการมีเพื่อนที่มีประสบการณ์หรือประสบปัญหาเดียวกันช่วยเหลือกัน ให้ข้อมูลกัน เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วย และครอบครัวสามารถยืนหยัดสู้กับโรคภัยได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงท้ายชีวิตของคุณหมอสงวน ได้พยายามพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของไทย" อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอทางออกเพิ่มเติม         

"ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการดำเนินงานจิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย ยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้จะมีอุปสรรคบ้าง รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องสนับสนุนให้ดำเนินต่อไป เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ ความเจริญของประเทศไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคม จะเติบโตได้ย่อมต้องเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจอาสาสมัครช่วยเหลือกัน สังคมก็จะมีความสงบสุข" อานันท์ กล่าวย้ำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ไม่มีเลือกตั้งก็ได้นะ

Posted: 18 Dec 2017 09:18 PM PST

 

รัฐบาลปลื้มใจโลกให้การยอมรับ มิชลินให้ดาวเจ๊ไฝไข่เจียวปู อียูกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ ธนาคารโลกยกไทยหลุดพ้นความยากจน สหรัฐฯ ก็ปลดพ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

อ้อๆ UN ยังรับรองวันที่ 12 ธ.ค. เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ตามข้อเสนอของกลุ่ม FGPH ที่ไทยเป็นประธาน เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ

รัฐประหารมา 3 ปีกว่า นายกฯเพิ่งยืดอกคุยได้ว่าชนะใจชาวโลก (ช่วยกันลืมๆ หน่อยนะว่า อียูตั้งเงื่อนไขไปสู่เลือกตั้ง) เหลือแต่คนไทยด้วยกันนี่แหละ จ้องทำลาย ไม่ลดราวาศอกเลย

โธ่เอ๋ย แค่เรื่องแหวนเพชรกับนาฬิกา ก็เอามารุกเร้าอยู่ได้ ไม่เห็นหรือ ดุสิตโพลยังอยากให้ลุงตู่สุภาพ ใจเย็น ไม่ดุ ถ้าจะให้ไม่ดุ ก็ต้องมีพี่ป้อมอยู่ช่วย รู้ไว้เสียด้วย

สื่อยักษ์ใหญ่เปรียบสถานการณ์ตอนนี้ว่า "ได้นอก เสียใน" ใช่เลย การเมืองภายในวันนี้ ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีแค่พวกเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ขยายไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ และอีกหลายพรรค ซึ่งกำลังตั้งแง่รัฐบาล "ต่อท่ออำนาจ" ขณะที่ฝั่ง NGO ภาคประชาสังคม ที่เคยใส่เสื้อเหลืองก็กลับมาเป็นปฏิปักษ์กับนโยบายการลงทุนแบบ "ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ" จนถึงจุดเดือดในวันสลายม็อบต้านโรงไฟฟ้า

แถมพี่ป้อมยังมาประสบอุบัติเหตุอีกต่างหาก ถูกรุมวิพากษ์เป็นกระแสสาธารณะ ขนาด "แอ๊ด คาราบาว" ยังออกมาโชว์นาฬิกา เห็นเลยว่าหนักหนาสาหัส

กระนั้นหากมองภาพรวม รัฐบาลก็ยังอยู่ได้สบายๆ ไม่มีใครโค่นได้หรอก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศ "เทคออฟ" ภาคธุรกิจการค้าชอบ อยากให้รัฐบาลอยู่นานๆ ด้วยซ้ำ เพราะมีความมั่นคงแน่นอน เศรษฐกิจฐานราก หลังเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็พยายามอัดฉีดครั้งใหญ่ เช่น จะปลดหนี้ ล็อบบี้ราคายาง แจกกระทั่งเบี้ยเลี้ยง อพปร. (เข้าใจตรงกันนะ ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรไม่มีทางแก้ได้ ต้องใช้วิธีอัดฉีดเงินลงชนบท เช่น ตำบลละ 5 ล้านหรือโครงการ 9101 ในช่วงที่ผ่านมา)

รัฐบาลมั่นคงแน่นหนาทุกอย่าง มีปัญหาอย่างเดียว คือการไปสู่เลือกตั้ง หรือพูดอีกอย่าง จะต่อท่ออำนาจไปสู่การเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่เข้มแข็งมั่นคงได้อย่างไร

แน่ละ รัฐธรรมนูญล็อคกลไกไว้หมด ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ สกัดพรรคการเมืองไม่ให้เป็นรัฐบาล แต่การเปลี่ยนไปสู่นายกฯ คนนอกที่ไม่มี ม.44 และต้องมีฐานเสียง ส.ส. ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน

ถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่เล่นด้วย แม้ไม่ร่วมมือกันแต่กระหนาบอยู่คนละข้าง จะเอา ส.ส.รัฐบาลมาจากไหน ถ้ากวาดต้อนนักการเมืองเก่าเข้าพรรคใหม่แบบสามัคคีธรรม จะอธิบายคนชั้นกลางในเมืองที่เป็นฐานเสียงอย่างไร ถ้าไม่มี ม.44 แม้ใช้อำนาจเข้ม แต่จะปิดกั้นเสียงวิจารณ์ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการชุมนุมเคลื่อนไหวได้อย่างไร

โจทย์เหล่านี้แก้ไม่ตก มีแต่ทางตันจึงเห็นบางคนออกอาการ อยากเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองก็รู้ทัน เมื่อไพบูลย์ นิติตะวัน ใจตรงกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปยื่นแก้กฎหมายพรรคการเมืองจึงถูกโวยลั่น เช่นเดียวกับสมศักดิ์ เทพสุทิน โผล่มาเสนอ ส.ส.ไม่สังกัดพรรค

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดถูกแล้วว่าถ้าอยากอยู่ยาว ไม่มีเลือกตั้ง ก็พูดให้ชัด เศรษฐกิจ การเมือง จะได้เห็นภาพแน่นอน

ไหนๆ ก็คุยว่าโลกยอมรับ ต่างชาติแห่ลงทุน ปีหน้าจะเทคออฟ ก็บอกไปเลย ไม่มีเลือกตั้ง อยู่อย่างนี้อีก 3 ปี 7 ปี เดิมพันไปเลย


ที่มา: คอลัมน์ ทายท้าวิชามาร นสพ.ข่าวหุ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เผด็จการ ปุ๋ยของคอร์รัปชั่น

Posted: 18 Dec 2017 09:08 PM PST

 

นักต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคเอกชนท่านหนึ่งแถลงข่าวว่าน่ายินดีที่จากการสำรวจของสำนักโพลแห่งหนึ่ง คนไทยจำนวนมากขึ้นแสดงความรังเกียจการคอร์รัปชั่นในแบบสอบถาม ซ้ำพร้อมจะให้ความร่วมมือในการแจ้งข่าวความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินสาธารณะด้วย นักลงทุนต่างประเทศบอกแก่ท่านว่า หน่วยงานราชการที่เรียกเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชาจากนักลงทุนลดลงนิดหน่อย

ท่านจึงคิดว่า มีท่าทีว่าคอร์รัปชั่นอาจกำลังเสื่อมสูญลงในเมืองไทย

ผมขอพูดตรงๆ ว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ตราบเท่าที่เมืองไทยยังรักษาระบอบเผด็จการไว้ โดยเปิดเผยหรือโดยจำแลงก็ตาม เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นนั้น ทำได้สำเร็จในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ตัวเลขขององค์กรความโปร่งใสก็ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ 2517 คนอื่นมีทรรศนะ (perception) ว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นสูงทั้งนั้น คืออยู่ในระดับเกินร้อยหรือใกล้ร้อยติดต่อกัน

ไม่มีระบอบเผด็จการที่ไหนหรอกครับที่ปราบคอร์รัปชั่นได้ บางคนอาจคิดถึงสีจิ้นผิงแห่งจีน ผมก็อยากเตือนแต่ว่าข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นและการปราบคอร์รัปชั่นในเมืองจีนยังไม่ได้เผยออกมาให้เห็นได้บริบูรณ์ คงอีกหลายปีกว่าเราจะประเมินได้ใกล้เคียงความเป็นจริงหน่อยว่า คอร์รัปชั่นในจีนช่วงนี้ถูกปราบลงจริงหรือไม่

โดยส่วนตัว ผมระแวงการปราบคอร์รัปชั่นของเผด็จการในช่วงแย่งอำนาจกันอย่างยิ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้ในปัจจุบันว่าเขาปราบคนโกง หรือปราบศัตรู (ซึ่งก็อาจโกงจริง แต่มองข้ามคนโกงในฝ่ายเดียวกัน) กันแน่

คอร์รัปชั่นในสังคมปัจจุบันอาจแบ่งออกได้เป็นสามชนิด คือการนำเอาทรัพย์สาธารณะไปเป็นของส่วนตัวหนึ่ง การนำเอาการบริการสาธารณะไปขายหรือให้ด้วยเกณฑ์ความสัมพันธ์ส่วนตัวหนึ่ง และชนิดที่สามซึ่งผมคิดว่าน่าจะนับรวมอยู่ด้วยคือ การกระทำหรือไม่กระทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เป็นธรรม ทั้งโดยรัฐหรือโดยพ่อค้าเอง

ผมขออนุญาตอธิบายคอร์รัปชั่นอย่างที่สามก่อน การกระทำอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เป็นการหักเหลี่ยมหักคูกันระหว่างพ่อค้าเท่านั้น แต่ทำได้ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อยู่ด้วย เพราะมักจะผิดกฎหมาย แม้ประเทศไทยมีกฎหมายประเภทนี้น้อย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจทักท้วงได้ ฉะนั้นเบื้องหลังของการกระทำเช่นนี้คือการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในรูปต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งกว่านี้ ผลของการทำเช่นนี้ยังกระทบผู้บริโภค อย่างน้อยทำให้สิทธิของการเลือกบริการหรือสินค้าของผู้บริโภคน้อยลง อย่างมากก็อาจหมายถึงการผูกขาดซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

คอร์รัปชั่นอย่างที่สอง คือการเอาบริการของรัฐไปขายหรือไปแจกทำกันเป็นปกติในหลายหน่วยงาน ที่คุ้นเคยกันมากก็คือโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งเอาเก้าอี้ไปขายให้ผู้บำรุงโรงเรียน หรือกระเป๋าผู้บริหาร หรือสมาคมผู้ปกครอง หรือแจ้งความแล้วยังไม่ได้รับบริการ ฯลฯ โดยสรุปการเรียกสินบาทคาดสินบนทั้งหลายก็มาจากการคอร์รัปชั่นประเภทนี้แหละ

ข้อเสียของการคอร์รัปชั่นประเภทนี้คือทำลายหลักความเสมอภาคของพลเมือง ความเสมอภาคเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น หากคนจำนวนมากยอมรับเสียแล้วว่าตนเป็นคนเล็กคนน้อย ย่อมเข้าไม่ถึงบริการจากรัฐเสมอกันกับคนอื่น จะให้เขามารายงานการทุจริตของคนใหญ่คนโต นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาถึงรัฐมนตรี ก็คงเป็นไปไม่ได้

แม้แต่จะหวังให้เขารังเกียจการคอร์รัปชั่นก็เป็นไปไม่ได้ด้วย ในสังคมที่ขาดความเสมอภาค ความใฝ่ฝันของผู้คนคือเขยิบฐานะให้พ้นจากการเป็นพลเมืองชั้นสองด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ตนเข้าถึงทั้งทรัพย์สาธารณะ บริการสาธารณะ และปิดตลาดคู่แข่งทางการค้า

คอร์รัปชั่นในสังคมที่ขาดความเสมอภาค คือการทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นเป้าหมายปกติธรรมดาในชีวิตของผู้คน

ที่สำรวจโพลแล้วไม่พบทัศนคติอย่างนี้ก็เพราะเขาต้องตอบแบบสอบถามท่ามกลางการโหมโฆษณาต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งจากภาครัฐและเอกชน (ที่ได้ดีเพราะการรัฐประหาร) นอกจากนี้ผู้ตอบก็รู้เกณฑ์ทาง "ศีลธรรม" ของสังคมอยู่แล้ว (ซื่อสัตย์, ขยันหมั่นเพียร, อดออม, อดทน ฯลฯ จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า) ใครจะโง่ตอบให้ผิดไปจากนี้ได้ล่ะครับ ผลโพลคืออารมณ์ชั่วแล่น, การปิดบังตัวเอง, การเผยตัวเองให้ตรงตามความคาดหวัง ฯลฯ จึงอย่าซีเรียสกับโพลนัก

ส่วนคอร์รัปชั่นประเภทที่หนึ่งนั้น เข้าใจกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดอะไร เพียงแต่ต้องย้ำว่านั่นไม่ใช่คอร์รัปชั่นอย่างเดียวที่มีมากในเมืองไทย

อันที่จริง คอร์รัปชั่นส่วนใหญ่กระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่นไม่สามารถเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ แจ้งความแล้วไม่เกิดอะไร จองคิวแต่โดนแทรก, เขื่อนพังจนน้ำท่วมบ้าน, ถนนพังตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ ฯลฯ

ทำไมเขาจะไม่อยากโวย ขอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือโวยแล้วต้องได้ผล มีการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม และเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้จริง ช่องทางโวยในปัจจุบันมีมากขึ้น ที่สำคัญคือสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้สามารถโวยโดยไม่เปิดเผยตัวเองได้ แต่รัฐขมีขมันที่จะตรวจสอบการโวยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อผู้โวยเป็นชาวบ้าน และการโวยไม่เป็นไวรัล

 

ที่จริงกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในหลายสังคม (เช่นฮ่องกง) ก็แค่นี้แหละ คือไม่ปล่อยให้เรื่องอื้อฉาวเงียบหายไปเฉยๆ ไม่ว่าผู้ตกเป็นตัวละครในเรื่องอื้อฉาวนั้นจะเป็นใคร เขาอาจสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แต่ตัวองค์กรไม่ใช่ที่มาของความสำเร็จเท่ากับการเอาจริงและเที่ยงธรรม จนเป็นที่เคารพเชื่อถือของผู้คน การไปลอกองค์กรมาตั้งขึ้นบ้างเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่ความสำเร็จ สรุปให้เหลือได้คำเดียวคือ "โปร่งใส" หรือตรวจสอบได้ทุกเรื่องและทุกขั้นตอน

เราชอบอ้างผลการสำรวจทัศนคติต่อระดับการโกงของประเทศต่างๆ ซึ่งจัดทำโดย "องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ" (ที่จริงเขามีข้อเสนอที่มาจากการวิจัยเกี่ยวกับการต่อสู้คอร์รัปชั่นอีกมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) ชื่อขององค์กรเน้นย้ำวิธีการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น นั่นคือต้องโปร่งใสหรือเปิดให้การดำเนินงานที่เป็นสาธารณะทั้งหลายต้องถูกตรวจสอบได้เสมอ ประเทศที่อยากปราบคอร์รัปชั่นจริงต้องคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแสดงเจตจำนงต่อสู้คอร์รัปชั่นเฉยๆ

ซ้ำยังมักปกป้องบางคนมิให้ถูกตรวจสอบเสียอีก โดยเฉพาะบางคนที่เป็นคนใหญ่คนโต

แต่การปราบคอร์รัปชั่นที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้มากที่สุดคือจับโกงของคนใหญ่คนโตนั่นแหละ เมื่อไรที่คนใหญ่คนโตถูกสงสัยเรื่องนี้ ต้อง "โปร่งใส" หรือตรวจสอบให้เต็มที่อย่างไม่มีทาง "ลดราวาศอก" เป็นอันขาด จับคนใหญ่คนโตที่ขี้โกงได้แต่ละครั้ง สะเทือนถึงคนโกงที่เล็กลงมาตลอดแถว ที่สำคัญกว่านั้นทำให้ทั้งสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าการโกงทำกำไรให้ไม่คุ้มกับความเสี่ยง

ที่เขาเขียนในกฎหมายให้เอาผิดผู้จ่ายสินบนด้วยนั้น ที่จริงเป็นกลวิธีจับคนโกงที่อยู่ในอำนาจได้ดี เพราะจะมีผู้จ่ายสินบนคนไหนที่อยากให้การปรักปรำคนใหญ่คนโตล่ะครับ ในเมื่อเขายอมจ่ายเองและได้ผลตอบแทนไปแล้ว แต่ข้อกำหนดนี้เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถโน้มน้าวให้เขาร่วมมือแต่โดยดี เพื่อแลกกับการถูกกันเป็นพยาน ตัวเขาเสียชื่อเสียงแต่ยังดีกว่าเสียชื่อเสียงด้วยและติดคุกด้วย วิธีนี้จึงช่วยให้จับการโกงของคนใหญ่คนโตได้ "คาหนังคาเขา" ซึ่งทำให้การต่อสู้คอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพกว่าจับตัวเล็กตัวน้อย แล้วปล่อยให้ตัวใหญ่ๆ ลอยนวล

การลงโทษผู้คอร์รัปชั่นนั้นมีสองอย่าง หนึ่งคือโทษทางอาญา ซึ่งเข้าใจกันอยู่แล้ว โทษอย่างที่สองซึ่งสำคัญมากคือโทษทาง "การเมือง" ซึ่งถูกใช้ในบ้านเราไม่มากพอ

ใช่ว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นจะสามารถนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้เสมอไป คนโกงที่ไหนๆ ก็ย่อมเตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดทางอาญาจึงยากมาก แต่ความโปร่งใสหรือการตรวจสอบอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาอาจเป็น "เหตุให้เชื่อได้ว่า" บุคคลผู้นั้นไม่สู้จะซื่อสัตย์นัก (เช่นไม่อาจบอกที่มาของทรัพย์สินตนเองได้อย่างน่าเชื่อถือ) เขาก็ต้องรับผิดทางการเมือง

ความผิดทางการเมืองไม่ได้ใช้กับ "นักการเมือง" ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เราทุกคนเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนอื่น ย่อมมี "การเมือง" หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคนอื่นทั้งสิ้น การกลายเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่แต่เพียงทำให้ไม่มีใครอยากให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังรวมถึงตำแหน่ง, สถานะ, บทบาท ฯลฯ ในบริษัท, หน่วยราชการ, ในวงเพื่อนฝูง, การเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ อีกด้วย

อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป ใครจะอยากให้คนที่มีคาวในเรื่องนี้เป็นประธานทอดผ้าป่าล่ะครับ ทั้งนี้ยกเว้นแต่มีอำนาจพิเศษของระบอบเผด็จการ มาทำให้การตอบสนองต่อคนอื้อฉาวผิดธรรมชาติไป และนี่คือเหตุอีกอย่างหนึ่งที่การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการโดยตัวของมันเอง ย่อมเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

โทษทาง "การเมือง" ในความหมายนี้ ทำให้ต้นทุนการคอร์รัปชั่นสูงขึ้นมาก เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้กันในสังคมไทยเท่าไรนัก ดังนั้นคำเตือนว่า "อย่าคบคนโกง" จึงไร้ความหมาย ในเมื่อคนที่ถูกสงสัยโดยคนทั่วไปว่าโกง กลับได้ดิบได้ดีไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหาให้สิ้นสงสัย ซ้ำยังเตือนโดยคนที่ประคองตนเองทางการเมืองมายาวนาน โดยมองข้ามความซื่อสัตย์ของผู้ให้การสนับสนุนตน

ดังนั้น ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังอยู่ในระบอบเผด็จการทั้งเปิดเผยหรือจำแลง คอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางในทุกวงการก็จะยังอยู่ในสังคมไทยอยู่ตราบนั้น

 

ที่มา: www.matichon.co.th

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น