โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลทหารขอนแก่นสอบคำให้การคดีพูดเพื่อเสรีภาพ 8 จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอสู้คดี

Posted: 21 Dec 2017 12:09 PM PST

อัยการขอตัดกระบวนการตรวจพยานหลักฐาน อ้างเหตุผลเรื่องความรวดเร็วขณะที่ทนายยืนยันว่าเป็นสิทธิของจำเลย ไผ่จบการศึกษา พ่อแม่สวมครุยบัณฑิตให้หน้าศาล ขณะที่ไนท์ ดาวดิน 1 ใน 8 จำเลยถูกอายัดตัวคดีชูป้ายค้านรัฐประหาร 1 ปี เพื่อนระดมเงินหมื่นวางประกัน เสธพีทคนดังแขวะโรมหนีหมายจับ ถูกสวน เจอหน้าคุยกันบ่อยทำไมถึงไม่ทำการจับกุม

21 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 09.30 ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลย คดีงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ที่จัดขึ้นโดย ขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ที่ศาลาจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 2559 ในกิจกรรมได้มีการเสวนาอภิปรายในประเด็นรัฐธรรมนูญ คสช.และวิพากษ์วิจารณ์การทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ว่าขาดความชอบธรรม โดยมีนักวิชาการอาทิ ปิยบุตร แสงกนกกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ร่วมอภิปราย หลังจากนั้น ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้ถูกดำเนินคดีเบื้องต้นเป็นจำนวน 11 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. แต่มีผู้ต้องหา 2 ราย ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติจึงถูกยกเลิกการดำเนินคดี และอีก 1 ราย คือ นายรังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมนักศึกษาปริญญาโทนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ระบุว่าตนไม่ได้รับหมายเรียกให้มารายงานตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสืบสวนจนถึงปัจจุบัน


เวลาประมาณ 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลทหารจึงได้ออกนั่งพิจารณาคดี โดยศาลได้ถามคำให้การจำเลยทั้ง 8 ราย ว่าจะสู้คดีหรือไม่ จำเลยทั้ง 8 ราย ยืนยันขอต่อสู้คดี และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จากนั้นศาลถามทนายความจำเลยว่าติดใจจะตรวจพยานหลักฐานก่อนสืบพยานโจทก์หรือไม่ ทนายจำเลย แถลงต่อศาลว่าขอตรวจพยานหลักฐานก่อน แต่ พท.สะอาด จากนอก อัยการทหารแถลงคัดค้านว่า ขอให้สืบพยานเลยโดยตัดการตรวจพยานหลักฐานออกไป เนื่องจากเกรงว่าคดีจะล่าช้า และจะมีข้อโต้แย้งจากจำเลยที่  1 (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ว่าขังจำเลยเกินกำหนดอีก ด้าน น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายจำเลยได้กล่าวยืนยันว่าการตรวจพยานหลักฐานเป็นสิทธิของจำเลย ศาลมีคำสั่งให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนที่จะมีการสืบพยาน โดยนัดหมายครั้งต่อไปในวันที่  23 มีนาคม 2561 เวลา 0830 น.

ในส่วนคำให้การที่เป็นหนังสือของจำเลย มีใจความว่า การกระทำของจตุภัทร์, ณรงฤทธิ์, ฉัตรมงคล, ณัฐพร, ภานุพงศ์, และ นายชาดไท ในกิจกรรม 'พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?' เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)และในส่วนของ ดวงทิพย์ และนีรนุช เป็นผู้ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม

นอกจากนี้ ทั้ง 8 คน ยังเห็นว่า การกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากคำสั่งฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่การกระทำในคดีนี้ ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือมุ่งกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" ซึ่งเป็นการแสดงออกตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้มีความเห็นต่อเหตุผลของอัยการทหารในเรื่องความล่าช้าในการดำเนินคดีจึงขอให้ตัดกระบวนการนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปว่า "โดยทั่วไปความล่าช้าที่เกิดขึ้นในศาลทหารเกิดจากระบบวันนัดสืบพยานของศาลที่ไม่สามารถนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องได้ วันนัดสืบพยานวันหนึ่งมักสืบพยานได้เพียงคนเดียวในครึ่งวันเช้า และแทบไม่มีการสืบพยานต่อในครึ่งบ่าย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาศาลได้ในวันนัด ทำให้คดีต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเรื่อยๆ กว่าจะนัดสืบพยานนัดต่อไปได้อาจต้องรออีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน ต่างจากระบบศาลยุติธรรมที่นัดสืบพยานต่อเนื่อง สืบพยานได้หลายคนในหนึ่งวัน และศาลเข้มงวดให้คู่ความติดตามพยานมาเบิกความต่อศาล

บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีประชาชนประมาณ 50 คน มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและร่วมแสดงความยินดีกับ 'ไผ่ ดาวดิน'หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นบัญฑิตใหม่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนายวิบูลย์และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา ได้นำชุดครุยมาสวมให้กับบุตรชายบริเวณหน้าศาลทหาร  

ขณะเดียวกัน อัยการทหารได้ทำการอายัดตัวนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ไนท์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน อายุ 22 ปี (จำเลยที่ 4) ขณะสืบคำให้การจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพว่ามีหมายจับตามข้อกล่าวหาชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร โดยเหตุเกิดในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ซึ่งคดีนี้ได้มีนักกิจกรรม นศ.ถูกแจ้งความเอาผิดทั้งสิ้น 7 คน โดยมีไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลยที่ 1 ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีแชร์ข่าว บีบีซีไทย จึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเพียงคนเดียว สำหรับนักกิจกรรมส่วนที่เหลือ เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังอยู่ในระหว่างการติดตามตัว ส่วนนายภานุพงศ์ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยคดีชูป้ายจึงได้ถูกทางอัยการขออายัดตัว

จากนั้นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ทำคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ทางกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมได้รวบรวมเงินเพื่อเตรียมยื่นขอประกันตัว ในช่วงบ่ายหลังจากที่เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายภานุพงศ์ไปขังที่เรือนจำแล้ว ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ประกันตัวนายภานุพงศ์โดยใช้เงินสด 10,000 บาท และเมื่อเวลา 16.50 น.ภานุพงศ์จึงได้รับการปล่อยตัวที่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ขอนแก่น

ในขณะเดียวกัน พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าฝ่ายข่าว กกล.รส.จว.ขอนแก่น ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้มีการออกหมายจับนายรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวนี้ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อดำเนินการจับกุมตัว ตามความผิดร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง  จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จากการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นั้น นายรังสิมันต์ โรมกล่าวว่าตนไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามปกติ แต่ก็ไม่เคยได้รับแม้แต่หมายเรียกจากเจ้าพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด โดยส่วนตัวต้องการให้การแจ้งความเอาผิดเป็นไปตามกระบวนการ สำหรับกรณีที่ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเข้าใจว่าต้องการดิสเครดิตตนและกลุ่มนักกิจกรรม  รังสิมันต์กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีกรณี ไผ่ จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัว เขาก็เดินทางไปเยี่ยมไผ่ที่ศาลหลายครั้ง และส่วนใหญ่ก็ได้พบและทักทายกับ พ.อ.พิทักษ์พล แต่ก็ไม่เห็นว่า พ.อ.พิทักษ์พล จะได้ดำเนินการจับกุมแต่อย่างไร

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า "การให้ข่าวที่ไม่เป็นจริงและส่อเจตนาไปในทางสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงอาจเกิดจากที่ ก่อนหน้านี้ผมได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ พ.อ.พิทักษ์พล ในกรณีการปิดถนนมิตรภาพจัดงานแต่งงานบนเฟสบุ๊ค มีคนแชร์ไปและคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก จึงเข้าใจว่า เสธ.ฯคนดังเมืองขอนแก่นคงจะผูกใจเจ็บ"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปีในคุกของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ สิทธิประกันตัวคดี 112 ที่เขียนไว้แต่ไม่มีจริง

Posted: 21 Dec 2017 09:01 AM PST

ย้อนมองกระบวนการยุติธรรมในคดี 112 หลังครบรอบ 1 ปี ไผ่ ดาวดินถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัวด้วยเหตุ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" แม้สิทธิในการขอประกันตัวจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่เหมือนไม่มีอยู่จริง ท้ายที่สุดการถูกจองจำระหว่างพิจารณาคดีนำไปสู่ความจำยอมต้องสารภาพ

  

 


ภาพจาก Banrasdr Photo

21 ธ.ค. 2560 เขาสวมชุดครุยทับชุดนักโทษของกรมราชทัณฑ์ ท่ามกลางผู้คนที่มาให้กำลังใจ ก่อนขึ้นให้การในคดีจัดเวทีรณรงค์ประชามติ ที่ใช้ชื่อเวทีว่า "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่ศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร หนึ่งในห้าคดีที่เขากำลังเผชิญหน้า ซึ่งเขาได้รับมันมาหลังจากเกิดการรัฐประหาร

นอกจากครอบครัว เพื่อน และผู้คนที่สนใจติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของเขา ยังมีเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจ และขอบคุณที่เขาเคยช่วยสอนดีดพิณ เป่าแคน ก่อนที่น้องๆ กลุ่มนั้นจะเดินทางไปแข่งขัน พวกเขาถ่ายรูปร่วมกัน และแน่นอนว่า ไผ่ ดาวดิน ยังคงยิ้มอยู่

ย้อนกลับไป 364 วัน 22 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ตามหมายเรียกนัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน ซึ่งยื่นขอให้ศาลถอนสิทธิการประกันตัวของเขาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเข้าแจ้งความร้องทุกข์โดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท นายทหารที่มีหน้าที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยยกมูลเหตุแห่งคดีจากกรณีที่ไผ่แชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเขาราว 2,800 คน โดยพนักงานสอบสวนให้เหตุผลสำหรับการยื่นเพิกถอนสิทธิประกันตัวว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้โพสต์เฟซบุ๊กที่มีลักษณะ เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน ซึ่งต่อมาศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า

"ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน"

หลังจากวันนั้น ไผ่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอีกเลย แม้เขาจะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับจากศาลคือ "ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" จนกระทั่งเขาตัดสินใจยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด 15 ส.ค. 2560 คือวันพิพากษา ศาลสั่งจำคุกไผ่ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งในเวลานั้นไผ่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมาแล้วทั้งสิ้น 244 วัน
 

"เย้ยหยันอำนาจรัฐ" ไม่เคยเป็นเงื่อนไขเพิกถอนสิทธิประกันตัว แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวไว้ในงานเสวนาหัวข้อ "เมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป" ซึ่งจัดขึ้นที่ มธ. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ว่า ตามหลักการบุคคลซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีต้องได้รับการสันนิฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีการพิพากษา เมื่อมีหลักการแบบนี้เกิดขึ้นเวลาเจ้าพนักงานจะปฏิบัติหน้าที่กับใครสักคนจะปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ ต้องสันนิฐานว่าเขายังบริสุทธิ์อยู่ ฉะนั้น การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการ ดังนั้นการปล่อยตัวชั่วคราวจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เว้นแต่เข้ากรณีข้อยกเว้น ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัด และต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในรายละเอียด ตามข้อหาและต้องพิจารณาตามพฤติการณ์

เธอระบุต่อว่า การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1.การปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข 2.การปล่อยตัวโดยมีประกัน โดยผู้ขอประกันต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะมาตามนัด หรือหมายเรียกของศาล หากไม่มาตามกำหนดจะถูกปรับเงินตามที่ประกันไว้ 3.การปล่อยตัวโดยมีประกัน และหลักประกัน โดยผู้ขอประกันต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะมาตามนัด หรือหมายเรียกของศาล พร้อมทั้งวางประกันไว้  ทั้งนี้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไขได้ถ้าพฤติการณ์ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาจากสถิติจะพบได้ว่า ศาลจะเรียกหลักประกันเกือบทั้งหมด ซึ่งลักษณะนี้มีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นในต่างประเทศจึงกำหนดวิธีการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขขึ้นมา คือปล่อยโดยไม่มีหลักประกันแต่มีเงื่อนไขให้ แต่ประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น สำหรับกรณีของไผ่ เมื่อครั้งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแรกเขาได้ยื่นหลักประกัน แต่ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า ไผ่ได้ทำผิดเงื่อนไขที่ศาลระบุไว้ตอนต้นหรือไม่ สาวตรี ระบุว่า ไม่ผิดเงื่อนไข

สาวตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในการวิเคราะห์ว่าไผ่เย้ยหยันอำนาจรัฐว่า คำถามคือ หากไผ่มีเจตนาเย้ยหยันอำนาจรัฐจริงๆ การเย้ยหยันอำนาจรัฐนั้นถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ สาวตรีระบุว่า หากถามนักกฎหมายจะตอบได้ว่าไม่เป็นความผิด เพราะองค์ประกอบของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ประชาชน ดินแดนที่แน่นอน อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน ฉะนั้น การเยาะเย้ย หรือเย้ยหยันอำนาจรัฐ ก็เท่าว่าประชาชนกระทำต่ออำนาจของตัวเอง ทั้งนี้เมื่อศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาได้ แต่ต้องมีขอบเขต การใช้ดุลพินิจโดยไม่มีกรอบกฎหมายกำกับไม่สามารถทำได้ ซึ่งในกรณีการเพิกถอนสิทธิประกันการตัวของไผ่ อาจไม่อยู่ในข้อกฎหมาย

"ถ้าเราบอกว่าประเทศนี้ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ อำนาจรัฐเป็นของประชาชน คำถามคือประชาชนจะเยาะเย้ยอำนาจตัวเอง จะผิดตรงไหน" สาวตรี กล่าว
 

การไม่ได้รับสิทธิประกันเพื่อออกมาต่อสู้คดี เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่ความจำยอมต้องสารภาพ

"ด้านความรู้สึก ตอนนี้ผมไม่มีความรู้สึกอะไรแล้ว เพราะการไม่ให้ประกันมันได้กลายเป็นเรื่องปกติแล้วกับการที่โดนกระทำแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับการชกมวย ผมคงแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก แต่ผมก็ยังจะสู้แม้จะรู้ว่าแพ้ เพราะผมคิดว่ามันคือชัยชนะของคนแพ้" ไผ่ ดาวดิน (1 มี.ค. 2560)

"กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี...ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด...ลักษณะสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน คือ 112 แล้วสุดท้ายคนก็จะพากันรับสารภาพ" สาวตรี สุขศรี (19 มี.ค. 2560)

แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะระบุเรื่องสิทธิในการประกันตัว และระบุหลักการที่ว่า บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา ย่อมได้รับการสันนิฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด แต่สำหรับคดีหมิ่นกษัตริย์การได้รับสิทธิในการประกันตัว ยังคงถือว่าเป็นสิทธิที่ถูกจำกัดอยู่ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ ระบุว่า ช่วงเวลาหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22 พ.ค. 2557 ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2560 เท่าที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 73 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งหมด 46 ราย ที่ยื่นคำร้องขอประกันตัว มีเพียง 18 รายเท่านั้นที่ได้รับสิทธิประกันตัว

ขณะที่สาวตรีเคยกล่าวไว้ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ "คำพิพากศาล-สิทธิในการได้รับการประกันตัวชั่วคราวในคดี 112" ที่ มธ. เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2560 ว่า การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในคดีหมิ่นกษัตริย์ เป็นการบีบบังคับให้ผู้ต้องหาจำต้องรับสารภาพ เพราะภายใต้สภาวะที่ถูกจองจำเป็นเวลานานจะเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจ การขาดอิสรภาพย่อมกระทบความสามารถในการต่อสู้คดีเพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ อีกทั้งยังไม่สิทธิในการปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทั้งที่เป็นสิทธิที่อยู่ในกฎหมาย อีกทั้งคดีดังกล่าวศาลมักสั่งให้เป็นการพิจารณาคดีโดยลับ ห้ามไม่ให้ผู้อื่นนอกจากจำเลย และทนายเข้าฟังการพิจารณาคดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่มีลักษณะบีบบังคับ และสร้างความหวาดกลัว

"เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ศาลไทยยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ที่รอการไต่สวนในคดี 'ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์' การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบต่อผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะลงโทษพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้ไต่สวนด้วยซ้ำ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ (20 ส.ค. 2557)

21 ธ.ค. 2560 เขาสวมชุดครุยทับชุดนักโทษของกรมราชทัณฑ์ ท่ามกลางผู้คนที่มาให้กำลังใจ ก่อนขึ้นให้การในคดีจัดเวทีรณรงค์ประชามติ ที่ใช้ชื่อเวทีว่า "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่ศาลทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร หนึ่งในห้าคดีที่เขากำลังเผชิญหน้า ซึ่งเขาได้รับมันมาหลังจากเกิดการรัฐประหาร

นอกจากครอบครัว เพื่อน และผู้คนที่สนใจติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของเขา ยังมีเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาให้กำลังใจ และขอบคุณที่เขาเคยช่วยสอนดีดพิณ เป่าแคน ก่อนที่น้องๆ กลุ่มนั้นจะเดินทางไปแข่งขัน พวกเขาถ่ายรูปร่วมกัน และแน่นอนว่า ไผ่ ดาวดิน ยังคงยิ้มอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. ถกค้านเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ล้วงข้อมูลดักฟังโทรศัพท์ หวั่นเป็นภัยทางการเมือง

Posted: 21 Dec 2017 08:29 AM PST

ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช.ระบุ กมธ.พิจารณาเพิ่มมาตราสำคัญในร่างกฎหมายลูกด้วยเหตุและผล หวังเป็นเครื่องมือการปราบปรามการทุจริต และเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินคดี ด้าน สนช.ค้านเพิ่มอำนาจ ล้วงข้อมูลดักฟังโทรศัพท์ หวั่นเป็นภัยทางการเมือง
แฟ้มภาพ

21 ธ.ค. 2560 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันนี้ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... กล่าวระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงเหตุผลการเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 36 ว่าด้วยกรณีที่มีการฝ่าฝืนการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะของบุคคล ให้เลขาธิการดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว หากตรวจสอบพบให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูล หากเป็นกรณีที่กระทำโดยจงใจให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หากเลขาธิการไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเลขาธิการและให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ว่า การเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตราดังกล่าวมีความเชื่อมโยงการเพิ่มเติมมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 37/1 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดอื่นที่กฏหมายลูกนี้กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหนังสือสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบ เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวยืนยันว่า กมธ. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยเหตุและผล หวังให้เป็นเครื่องมือการปราบปรามการทุจริต เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดี อีกทั้งการพิจารณาหรือการกระทำใดๆ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบ ไม่ได้กระทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วประเด็นดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม สนช.

สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมาชิกสนช.อภิปรายรายมาตราตั้งแต่ในส่วนคำปรารภ ขอให้ตัดมาตรา36ต่อเนื่องไปถึงมาตรา 37 ประเด็นที่กรรมาธิการปรับแก้เพิ่มอำนาจ ให้ กรรมการป.ป.ช. ล้วงข้อมูล ดักฟังโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ที่ส่อทุจริตโดยเห็นควรให้ทบทวน

นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายตั้งแต่คำปรารภ ยกเว้นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ และขอให้ตัดตั้งแต่มาตรา 36 ต่อเนื่องมาตรา 37 โดยเฉพาะเรื่อง อำนาจในการตรวจสอบข้อมูล ในกรณีมีเหตุอันควรควรเชื่อได้ว่าข้อความใดที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือส่งทางอิเล็กทรอนิกส์เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.สามารถขออนุญาตให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ซึ่งเป็นการการให้อำนาจในการดักฟัง ดักรับข้อมูล เป็นเสมือนดาบสองคม หากไปอยู่ในมือคนไม่ดี จะเป็นอันตราย ทั้งนี้เห็นว่าในอดีตการทำงานของป.ป.ช.ในคดีสำคัญ ๆ เช่นคดีจำนำข้าว ก็ไม่ได้อำนาจในส่วนนี้ ก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต และเจ้าพนักงานไปไต่สวน และกรณีนี้จะเป็นภัยทางการเมืองสำหรับทุกคน 

"หากป.ป.ช.ท่านขออำนาจศาลตรวจสอบนักการเมืองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริต แต่ท่านอาจไปเจอเรื่องอื่นด้วยในการไปดักฟัง ซึ่งข้อเท็จจริงเคยมีการแบล็คเมล์เกิดขึ้นมากมายไปหมด อำนาจนี้จะกลับมาเล่นงานคนที่อยู่ในฝ่ายบริสุทธิืทั้งหมด เพราะแค่สงสัย ก็สามารถร้องขอตรวจสอบได้ ซึ่งจะนำไปสู่ภัยทางการเมืองของทุกคน"นายสมชาย กล่าว 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ขอความชัดเจนก่อนตัดสินใจว่า กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า และคณะกรรมการต้องขออนุมัติจากอธิบดีศาลอาญา และต้องขอข้อมูลจากป.ป.ง.ใช่หรือไม่ 

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม  สนช. ตั้งข้อสังเกตว่า หากป.ป.ช.ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการลงมติเพิ่มอำนาจเรื่องดังกล่าวจะถือว่า ผลประโยชน์ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ได้

ตวง อันทะไชย สนช. อภิปรายโดยยกมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การตรากฎหมายต้องไม่มีผลต่อการจำกัดสิทธิเกินควรกว่าเหตุ  เพื่อให้กรรมาธิการทบทวน เพราะเกรงว่าอาจมีการหยิบยกข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองในอนาคต พร้อมกังวลการที่ระบุว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทุจริตเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจซึ่งสามารถพิจารณาทางหนึ่งทางใด และนำไปสู่การกลั่นแกล้่งทางการเมืองได้ และที่ผ่านมาในเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งใช้กฎหมายลักษณะนี้ ที่เป็นบทบัญญัติในป.ป.ง. มาทำลายกันทางการเมือง

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่าการเพิ่มมาตราดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะต้องมีหลักฐานอ้างในศาลได้ เพราะแม้ได้ผลมาแล้ว แต่ถ้าไม่มีที่มาที่ไป ศาลก็ไม่รับฟัง ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร และก่อนที่จะมีการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นได้ จะต้องขออนุมัติจากศาลก่อน 

วิชา มหาคุณ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และอดีตกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า การใช้กฎหมายต่างๆในการตรวจสอบ ล้วนเป็นไปตามสนธิสัญญาการต่อต้านการทุจริต แต่ถ้าให้อำนาจป.ป.ช.มากเกินไปอาจจะกระทบกระเทือนเสถียรภาพขององค์กรได้ และถือเป็นการบั่นทอนอำนาจของรัฐ และประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด เพราะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ดำเนินการในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลแบบนี้ และเขียนไว้ในกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตศาลและอัยการ เพราะเมื่อข้อมูลไปถึงศาลแล้วหลุด ไม่เป็นที่ไว้วางใจ จึงจะเห็นว่าขนาดองค์กรที่มีอยู่แล้วยังไม่ไว้วางใจองค์กรซึ่งกันและกัน จึงอยากให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่เช่นนั้น "ดาบนั้นจะคืนสนอง"ได้

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สมาชิกยังคงมีการอภิรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง และมีข้อเสนอให้กรรมาธิการเสียงข้างมาก นำมาตรานี้ ไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิของประชาชน ประธานในที่ประชุมจึงสั่งพักการประชุม 10 นาที หลังจากนั้นประธานได้แจ้งว่า ระหว่างพักการประชุม ได้มีการหารือกันระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และวิป สนช. แต่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ยังคงยืนยันที่จะคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ และขอชี้แจงในข้อสงสัยที่สมาชิกอภิปรายมาและยังไม่ได้ตอบบางส่วน จึงเห็นว่าให้เลื่อนการประชุมไปประชุมต่อพรุ่งนี้ 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชาเล็งเสนอกฎหมายห้ามหมิ่นกษัตริย์

Posted: 21 Dec 2017 07:07 AM PST

รมว.มหาดไทยของกัมพูชา จ่อชงกฎหมายหมิ่นฯ แม้ก่อนหน้านี้จะมีคนถูกดำเนินคดีเพราะหมิ่นประมาทกษัตริย์มาแล้ว นักวิชาการหวั่น กม.ใหม่ถูกใช้ปกป้อง 'ฮุนเซน' และปิดปากฝ่ายตรงข้าม ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์เอเชียชี้ บางคนในรัฐบาลอยากเอากฎโบราณมาใช้แทนที่จะเดินหน้าสู่ศตวรรษที่ 21

(จากซ้ายไปขวา) พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชารัชกาลปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และพระราชินีโมนีก พระวรราชมารดา กัมพูชาถูกปกครองโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนมานานกว่า 32 ปีแล้ว

21 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวพนมเปญโพสต์ของกัมพูชา รายงานว่า ซอ เค็ง (Sar Kheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาได้จัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) เพื่อพูดคุยกันในประเด็นการบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการห้ามดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทย

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเมืองที่ตึงเครียดภายหลังจากมีการยุบพรรคฝ่ายค้าน และจับกุมผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ไปจนถึงการตรวจสอบเอ็นจีโอและสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจำนวนมาก โดยแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาระบุว่า การประชุมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะปกป้องพระมหากษัตริย์ โดยเขียว โสพี (Khieu Sopheak) โฆษกกระทรวงฯ ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีส่วนไหนที่ระบุว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกจำคุกนานเท่าใด

หลายองค์กรประณามกรณีกัมพูชาจับกุมฝ่ายค้านกลางดึก 'ล้าหลังอย่างวิบัติ'

รัฐบาลกัมพูชาเผยกำลัง 'จับตา' องค์กรประชาสังคม กล่าวหาวางแผนปฏิวัติ

กัมพูชาในวันที่ไร้พรรคฝ่ายค้าน-หลังศาลยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

พนมเปญโพสต์ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชาระบุสถานภาพของกษัตริย์ว่าเป็นผู้ที่ถูก "ล่วงละเมิดไม่ได้" แต่ไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจงในกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญกัมพูชายังประกันเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่ก็ยังมีการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อหา "ยุยงปลุกปั่น (incitement)"

โสพีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในบางประเทศ เช่นไทย ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ต่างก็มีกฎหมายแบบนั้น (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) กัมพูชาก็มีสถาบันกษัตริย์แต่กลับไม่มีกฎหมายแบบนั้น

ถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายหมิ่นฯ แต่ว่าอดีตรองนายกรัฐมนตรี ลู เล เซร็งก็ถูกแจ้งความด้วยสาเหตุที่เขาไปหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพรรคฟุนซินเป็ก พรรคฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เขาเคยสังกัด ลู เล เซร็งกล่าวถึงกษัตริย์สมเด็จนโรดมสีหนุว่าเป็น "ไก่ถูกตอน (castrated chicken)" ที่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ทางการเมืองได้ ผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์ส่วนตัว ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวถูกบันทึกเสียงเอาไว้แล้วนำมาแจ้งความ ผู้ที่แจ้งความคือนายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุนเซ็นและทางพรรคฟุนซินเป็ก

ชิน มาลิน (Chhin Malin) โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงกรณีข้างต้นว่าผลของคดีดังกล่าวขึ้นอยู่กับศาลและอัยการ "แม้ว่ากฎหมายอาญาของเราจะไม่ได้ระบุถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีกฎหมายมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลสาธารณะหรือเจ้าพนักงาน...ซึ่งข้อกฎหมายบางข้อสามารถนำมาใช้ในการกระทำผิดเช่นว่าได้"

ที่ผ่านมา การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lese Majeste) กลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และถูกใช้งานอย่างเข้มข้นขึ้นภายใต้ระบอบรัฐบาลทหาร มีกรณีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โพสต์รูปสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ในเชิงหยอกล้อก็ถูกจับกุมด้วยกฎหมายดังกล่าว

พอล แชมเบอร์ นักวิชาการชาวอเมริกันผู้สอนวิชากิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พนมเปญโพสต์ผ่านอีเมลว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของไทย "ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง" และ "เป็นเครื่องมือที่นักการเมืองและทหารไทยใช้สร้างความชอบธรรมในการยึดกุมอำนาจในระบบการเมืองไทยเอาไว้ต่อไป"

ภายใต้บริบทของประเทศกัมพูชา พอลกังวลว่า ฮุนเซนอาจจะใช้ข้อกฎหมายหมิ่นฯ ตอบสนองเป้าประสงค์ของตนเอง  "ในกรณีกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่นายกรัฐมนตรีได้รับการรับรองจากพระมหากษัตริย์ในทางสัญลักษณ์ อาจทำให้ศาลตีความกฎหมายหมิ่นฯ ให้กินอาณาบริเวณไปถึงใครก็ตามที่พูดจาดูหมิ่นฮุนเซนและจองจำพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้อย่างยาวนานได้"

"ถ้าหากลักษณะกฎหมายหมิ่นฯ ในแบบของไทยถูกนำไปใช้ในกฎหมายของกัมพูชา ก็สามารถคาดคะเนได้เลยว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่าง สม รังสี (Sam Rensi) เขม โสกา (Kem Sokha) มู โสเจือ (Mu Sochua) รวมถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นชาวต่างชาติจะถูกกฎหมายนี้ปิดปาก หรือไม่ก็คงจะเซ็นเซอร์ตัวเองไม่ให้พูดอะไรเกี่ยวกับฮุนเซน อีก" แชมเบอร์กล่าวเพิ่มเติม

โสก ซำ เอือน (Sok Sam Oeun) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกัมพูชาไม่ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แต่กล่าวว่ากฎหมายอาญาไม่สามารถมีผลย้อนหลังไปในความผิดที่กระทำก่อนกฎหมายจะออกได้ เช่นกรณีคดีของอดีตรองนายกฯ ลู เล เซร็ง ทั้งยังระบุว่า ฮุนเซนเองก็เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เสียเมื่อปี 2548

แชมเบอร์ ระบุเพิ่มเติมว่า "เป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายหมิ่นฯ จะถูกนำมาใช้กับฮุนเซน เนื่องจากพรรคพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ได้ครอบงำระบบศาลของกัมพูชาแล้วอย่างสมบูรณ์"

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำทวีปเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็เป็นหนึ่งคนที่เห็นแย้งกับข้อเสนอให้มีกฎหมายหมิ่นฯ โดยให้ความเห็นกับพนมเปญโพสต์ทางอีเมลว่า "หากมองจากประเด็นเสรีภาพการแสดงออก กฎหมายที่มีเอาไว้เพื่อพิทักษ์ชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์สร้างปัญหามาก แทนที่จะมองหาหนทางที่จะเดินหน้าไปสู่ศตวรรษที่ 21 แต่บางคนในรัฐบาลกัมพูชากลับมุ่งนำพิธีปฏิบัติโบราณในอดีตที่มองว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้ามากกว่าที่จะเป็นมนุษย์"

อดัมส์ยังเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันชิงจัดการกับกฎหมายหมิ่นฯ ก่อน "สมเด็จฯ นโรดม สีหมุนีควรใช้ประสบการณ์ในฐานะอดีตทูตยูเนสโกและผู้แทนของสหประชาชาติที่ได้รับหน้าที่ให้ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก ไปบอกเขียว โสพี และคนอื่นๆ ที่กระทรวงมหาดไทยว่ากัมพูชาไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ"

ด้าน อุม ดาราวุธ สมาชิกสำนักพระราชวังยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นจนกว่าข้อกฎหมายจะถูกแถลงต่อสาธารณะ

แปลและเรียบเรียงจาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจาเงินโบนัส-สวัสดิการไม่คืบ คนงานฟูจิคูระฯ ชุมนุมต่อเนื่อง นัดคุยนายจ้างใหม่ 22 ธ.ค.นี้

Posted: 21 Dec 2017 03:47 AM PST

ผลเจรจาคนงานบริษัทฟูจิคูระฯ ปราจีนบุรี กว่า 1,500 คน ปักหลักเรียกร้องเงินโบนัสและสวัสดิการต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ไม่คืบหน้า บริษัทฯ ยันการจ่ายโบนัส ในอัตรา 2.8+เงินพิเศษคนละ 7,000 รอลุ้นอีก 22 ธ.ค.นี้ รมว.แรงงาน ยันชุมนุมได้ ภายใต้กฎหมายกำหนด

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

21 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ครั้งที่ 12/2560 ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานทำความเข้าใจต่อสังคมกรณีที่พนักงานบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรี จำนวน 1,883 คน และสาขาพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,392 คน รวมทั้งสิ้น 3,275 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัสและสวัสดิการ ประจำปี 2560 โดย รมว.แรงงาน ได้กำชับให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรีและ จ.พระนครศรีอยุธยา เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัทฯ กับลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเน้นย้ำว่า พนักงานสามารถชุมนุมได้ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และสำหรับประเด็นที่สังคมมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการแข่งขันกีฬาชกมวยนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วการจัดชกมวยเด็ก ไม่ได้เป็นการจ้างแรงงานในลักษณะนายจ้าง – ลูกจ้าง แต่เกิดขึ้นจากเด็กที่ต้องการมีรายได้ หรือความชื่นชอบส่วนตัว จึงเข้ามาฝึกชกมวยตั้งแต่เล็ก ผู้จัดงานหรือเจ้าของค่ายมวย เมื่อนำเด็กไปขึ้นชก ก็จะมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งขณะนี้ คณะอนุกรรมาธิการการกีฬา ได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย ให้มีความชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมวยเด็ก ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ต้องรักษา การยกร่างพ.ร.บ.กีฬามวยฉบับใหม่ดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการกำหนดเรื่องมาตรการการคุ้มครองเด็กไว้ด้วย

เพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า กรณีสำนักงานประกันสังคม จ.ศรีสะเกษ เรียกเงินชดเชยคืนจากนายสาคร สาชีวะ ที่พบว่ายังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่ญาติได้รับแจ้งว่าเสียชีวิต และประกอบพิธีทางศาสนาไปเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมทั้งได้ยื่นหลักฐานการเสียชีวิตและรับเงินชดเชยสำหรับผู้ประกันตนกรณีเสียชีวิตไปเรียบร้อยแล้วนั้น จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ตรวจสอบเอกสารใบมรณบัตรที่ระบุชื่อผู้ประกันตนชัดเจน ตรงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ จึงได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2560 โดยจ่ายค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตาย จำนวน 21,999.80 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 28,222.66 บาท รวมทั้งสิ้น 90,222.46 บาท โดยจ่ายให้ผู้มีสิทธิ 2 ราย ได้แก่ สี สาชีวะ มารดา รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย จำนวน 50,222.46 บาท และ อัมพรศรี เหล็กดี พี่สาว รับค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบเพื่อชี้แจงรายละเอียดการคืนเงินต่อไป

สำหรับการชุมนุมประท้วงชุมนุมเรียกร้อง พนักงานบริษัท ฟูจิคูระฯ นั้น วานนี้ (20 ธ.ค.60) เนชั่น รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า บรรยากาศพบมีการตั้งเต็นท์ชุมนุมอยู่ริมถนนสายสุวรรณศร หรือ 33 (ปราจีนบุรี-ประจันตคาม) ตรงข้ามกับบริษัทฯ ที่ได้ชุมนุมเรียกร้องต่อจาก 19 ธ.ค.โดย 20 ธ.ค. ชุมนุมเรียกร้องเป็นวันที่ 2 พบมีการลงชื่อของพนักงานในการเรียกร้อง มีการร้องรำทำเพลงอย่างครื้นเครง สลับการประกาศข้อเรียกร้องความต้องการของพนักงาน และรับประทานอาหารร่วมกันอย่างสงบไม่รุนแรง ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร, อส.คอยดูแล และพบมีการไลฟ์สดการชุมนุมเรียกร้องของพนักงานที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา (สำนักงานใหญ่) ไปสู่บริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ รวม 7 แห่งผ่านเฟซบุ๊กให้พนักงานทราบความเคลื่อนไหวข้อเรียกร้องด้วย

อธิษฐ์ ปัณณวัฒนานันท์ ตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัทฟูจิคูระฯ กล่าวว่า ก่อนหน้าการชุมนุมพนักงานจำนวนหนึ่งได้ยื่นลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์อันดีต่อบริษัทฯ และได้มีการเจรจาข้อเรียกร้องไปแล้วก่อนหน้ารวม 7 ครั้ง โดยมีการเจรจาครั้งที่ 7 ในวันที่ 18 ธ.ค.60 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทางบริษัทฯ จึงสั่งปิดงาน ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.60 ทางลูกจ้างจึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมจนกว่าจะจบการเจรจา ทั้งนี้พนักงานที่ชุมนุมประกอบด้วย พนักงานที่ตั้งในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ชุมนุมหน้าบริษัทฯ จ.ปราจีนบุรี และพนักงานสำนักงานใหญ่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมนุมหน้าบริษัท จ.พระนครศรีอยุธยา

ในการประท้วงมีกำหนดข้อเรียกร้อง 7 ข้อ คือ 1.ผู้แทนบริษัทฯ นายจ้างยังคงยืนยันการจ่ายโบนัส ในอัตรา 2.8 เดือน และบวกเงินเพิ่มพิเศษ คนละ 7,000 บาท โดยไม่มีการประเมิน แต่หากอายุงานลูกจ้างไม่ครบ 1 ปี จ่ายตามอัตราส่วนอายุงาน โดยผู้แทนลูกจ้างขอให้บริษัทฯ นายจ้างพิจารณาจ่ายโบนัส ในอัตรา 2.8 เดือนและบวกเงินเพิ่มพิเศษคนละ 7,000 บาท และเงินเพิ่มพิเศษ นอกเหนือจากโบนัสอีกคนละ 10,000 บาท โดยไม่มีการประเมิน 2.ผู้แทนลูกจ้างนำเสนอ เรื่องหลักเกณฑ์การประเมินการปรับค่าจ้าง อัตราการปรับค่าจ้างให้บริษัทฯ นายจ้างยกเลิกการปรับค่าจ้างระบบระฆังคว่ำ และให้นำระบบคะแนนการประเมิน ตามความเป็นจริง

3.อัตราขึ้นเงินเดือน ให้อัตราร้อยละ 4 ของค่าจ้าง 4.ขอเพิ่ม 5.54 ค่าจ้างขั้นต่ำจ้างเกินขั้นต่ำ 5.ค่าครองชีพขอเพิ่ม 1,000 บาท 6.เรื่องการจ่ายเงินค่าอายุงาน อายุการทำงาน 5 ปี ขอ 18,000บาท อายุงาน 10 ปี 36,000 บาท อายุงาน 15 ปี 72,000 บาท อายุงาน 20 ปี 90,000 บาท และ 7.ค่าโอที 15 บาท ขอให้เพิ่มเป็น 20 บาท

"ข้อเสนอมาทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุปจึงมีมติจะประท้วงต่อไป ในส่วนพนักงานโรงงานที่ปราจีนบุรีที่หน้าบริษัทฯ จ.ปราจีนบุรี โดยร่วมกับพนักงานที่อยุธยา ที่ประท้วงอยู่ จ.อยุธยา กว่า 2,000คน และต้องได้ตามข้อเสนอมาเท่านั้นจึงจะยุติการประท้วงในครั้งนี้" นายอธิษฐ์  กล่าว

อฐิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า มาชุมนุมเพื่อสิทธิตามกฎหมาย บริษัทปิดงานโดยปิดโรงงานโดยไม่มีไม่มีวันหยุด พนักงานมาลงรายชื่อตามแรงงานสัมพันธ์เรียกร้องสิทธิหาความชอบธรรมตามกฎหมาย เรามารวมตัวกันเรียกว่ามันสมบูรณ์แบบพลาสติกแล้ว ก็จะมีกิจกรรมเพื่อให้ผ่อนคลายพนักงานเราจะอยู่กันในกองกฎหมายทุกอย่างพรบ.ชุมนุมทุกอย่างไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีการทำจึงผิดกฎหมายไม่เป็นไรจึงทรัพย์สินของบริษัทไม่มีการขัดขวางการจราจร

เนชั่นรายงานด้วยว่า ต่อมาเวลา 18.30 น. หลังจากที่พนักงานบริษัทฟูจิคูระ ทั้ง จ.ปราจีนบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประท้วงที่หน้าที่ทำงานของทั้ง 2 จังหวัด เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัส และสวัสดิการ ล่าสุด ทางฝ่ายบริหารบริษัทฯ กรมแรงงาน และผู้แทนพนักงาน ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างบริษัทฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับผู้แทนลูกจ้างฟูจิคูระที่สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อยุธยา พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สนง.แรงงานสัมพันธ์ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อยุธยา ได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานจังหวัด ระหว่างบริษัทฯ และลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ธ.ค. 60

โดยผลการเจรจาสรุปดังนี้ 1.ผู้แทนฯ นายจ้างยืนยันการจ่ายโบนัส ในอัตรา 2.8 เดือน+เงินพิเศษคนละ 7,000 บาท ตามข้อเสนอไว้เมื่อ 18 ธ.ค.60 หากลูกจ้างยอมรับข้อเสนอเรื่องโบนัสนี้ บริษัทฯ ยินดีจะพิจารณาข้อเรียกร้องอื่น 2.ผู้แทนลูกจ้าง ยืนยันข้อเสนอการจ่ายโบนัสตามข้อเสนอเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.60 คือ 2.8 เดือน+เงินพิเศษคนละ 7,000 บาท และขอเพิ่มโบนัสพิเศษอีกคนละ 10,000 บาท หากนายจ้างยอมรับข้อเสนอเรื่องโบนัสนี้ ทางฝ่ายลูกจ้างจึงจะเจรจาข้อเรียกร้องอื่นๆ และ 3.พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปทบทวนข้อเสนอดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปวันที่ 22 ธ.ค.60 เวลา 10.00 น. ที่ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ วางเป้า 10 ปี พระแข็งแรง-วัดมั่นคง-ชุมชนเป็นสุข

Posted: 21 Dec 2017 03:09 AM PST

ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พระพรหมวชิรญาณ ประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ วางเป้า10 ปี พระแข็งแรง-วัดมั่นคง-ชุมชนเป็นสุข

21 ธ.ค. 2560 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า วานนี้ (20 ธ.ค.60) ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีประกาศ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560" พร้อมด้วยคณะสงฆ์ร่วมในพิธี ต่อเนื่องด้วยพิธีการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติของผู้บริหารหน่วยงานหลัก ได้แก่ นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ทพ.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ วชิรา น่วมเจริญ ผู้ตรวจราชการ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่ง โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

พระพรหมวชิรญาณ กล่าวในพิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติว่า การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ เป็นการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" เนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจให้กับประชาชนและสังคม ดังนั้นสุขภาวะของพระสงฆ์จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติศาสนกิจ การประกาศใช้ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560" จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อน 3 ประการ ได้แก่ 1. พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ๓.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยยึดหลัก "ใช้ทางธรรมนำทางโลก"

"ขณะนี้สุขภาพของพระสงฆ์กำลังมีปัญหาทั้งจากอาหาร ซึ่งญาติโยมได้นำมาถวาย การออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมภายในวัดวาอารามต่างๆ ที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันให้ความรู้เพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์และชุมชนที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ระหว่างวัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้เกิด พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขให้ได้ภายใน 10 ปี นับจากนี้" พระพรหมวชิรญาณ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันคณะสงฆ์จากทั่วประเทศ กว่า 50 รูป ได้ประชุมร่วมกันในห้องเสวนานโยบายสาธารณะ เพื่อกำหนด "ก้าวย่างที่ 2 สู่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" โดยได้มีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ ทั้งให้มีกลไกระดับชาติและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ผ่านเจ้าคณะปกครองสงฆ์

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า หลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" ซึ่งนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาโดยภาคีเครือข่าย คฤหัสถ์ ญาติโยม ในการขับเคลื่อนมติฯ แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นร่วมกันให้มีกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 จากนั้นได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สสส., สปสช., สช., สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึง 5 เวที มีคณะสงฆ์เข้าร่วมกว่า 300 รูป จนเมื่อเสร็จสิ้นจึงได้เสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาเห็นชอบธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 และประกาศใช้ธรรมนูญฯ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560  ในวันที่ 20 ธ.ค. 2560

พระครูพิพิธสุตาทร รองประธานคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า หลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจกับการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ เช่น สปสช.กำลังมีแนวคิดปรับปรุงนโยบายการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์ในปี 2562 โดยให้พระสงฆ์ที่อาพาธสามารถไปรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่ต้องมีอุปสรรคเรื่องการส่งตัวหรือข้อจำกัดเรื่องพื้นที่บริการอีกต่อไป เนื่องจากพระสงฆ์บางรูปจำพรรษาหรือไปธุดงควัตรในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถกลับมารักษาตามสิทธิได้ นับว่าเป็นแนวปฏิบัติชัดเจนที่จะเกิดขึ้น หลังการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ   

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า การออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มองเรื่องของพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 แล้ว จะนำไปสู่การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดย สปสช. จะเชิญฝ่ายพระสงฆ์เข้าร่วมการออกแบบระบบบริการสุขภาพต่อไป

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.จะร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ สสส. สปสช. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดสุขภาวะที่ดี ตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับใหม่โดยมุ่งใช้ทางธรรมนำทางโลก          

"เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในระดับประเทศแล้ว จะต้องขับเคลื่อนทั่วประเทศ โดยอาจมีการจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพระดับชุมชน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามวิถีชีวิตและบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง" ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก 'จงฮยอน SHINee' สู่การหารือแนวทางรายงานข่าวดาราฆ่าตัวตาย

Posted: 21 Dec 2017 02:40 AM PST

จากกรณีการเสียชีวิตของนักร้องเคป็อปวง SHINee ทำให้สื่อเกาหลีใต้ ประเทศที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าพวกเขาควรจะมีแนวทางการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของดาราอย่างไรที่จะเป็นการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้รับสื่อ ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมคำนึงถึงผู้อื่นและถือเป็นงานของนักข่าวที่จะคำนึงถึงผู้รับสาร


คิมจงฮยอน SHINee
ภาพจาก
เพจ SMTOWN

21 ธ.ค. 2560 ขณะที่กรณีการเสียชีวิตของนักร้องจงฮยอน นักร้องนำวงเคป็อปชื่อดัง SHINee ถูกนำเสนอออกไปในแง่มุมต่างๆ ผ่านสื่อจำนวนมากทั้งในเกาหลีใต้และต่างประเทศช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สื่อ Korea Expose ก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวของดาราว่า ควรจะมีการหาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารกับความเสี่ยงต่อการเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหวอย่างไร

Korea Expose ระบุว่าตามหน้าสื่อต่างๆ มีทั้งการตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายลาตายของจงฮยอนและพูดถึงดาราดังคนอื่นๆ ที่ร่วมแสดงความเสียใจต่อการตายของจงฮยอน มีการรายงานข่าวคนดังฆ่าตัวตายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงกรณีโรบิน วิลเลียมส์ ดาราฮอลลิวูด แต่ทว่าในสังคมเกาหลีใต้ที่มีตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก เกิดคำถามว่า การรายงานข่าวในเรื่องพวกนี้อย่างล้นเกินรวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไม่สร้างสรรค์และไม่เคารพความเป็นมนุษย์ จะกลายเป็นอันตรายต่อผู้รับข่าวบางส่วนหรือไม่

เฮยุนกัง บรรณาธิการบริหารของ Korea Expose ยกตัวอย่างในบทความของเธอถึงกรณีของดาราหญิงเกาหลี ชอยจินซิล ผู้เสียชีวิตในปี 2551 ซึ่งในเกาหลีใต้ถือเป็นกรณีการฆ่าตัวตายของดาราที่มีข่าวใหญ่ที่สุดก่อนหน้าจงฮยอน ไม่เพียงเพราะเธอเป็นนักแสดงดังเท่านั้นแต่เพราะชีวิตส่วนตัวของเธอเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและถูกนำเสนอผ่านสื่อแท็บลอยด์อย่างสม่ำเสมอ พอเธอเสียชีวิตก็มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนตัวของเธอหลายอย่างทั้งจดหมายลาตาย รูปถ่ายที่ใช้ในงานศพ ภาพครอบครัวและเพื่อนฝูงแสดงความเสียใจ มีกรณีการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัวเธอคนอื่นๆ ตามมาภายหลัง ทำให้เรื่องการฆ่าตัวตายของชอยจินซิลมีคนค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตต่อซ้ำๆ

เฮยุนกังพยายามทำความเข้าใจโดยจำลองตัวเองเป็นสื่อที่ต้องทำเรื่องนี้และจำลองตัวเองเป็นผู้อ่าน ในฐานะสื่อเธออาจจะถูกกดดันให้ต้องนำเสนอภาพที่ใส่สีสันกับดาราเคป็อปที่เสียชีวิตและตามด้วยแฮชแท็กย้ำๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ในฐานะคนอ่านทั่วๆ ไปแล้วเธอคงรู้สึกสะเทือนใจเมื่อคนเป็นที่รู้จักเสียชีวิต แต่ก็คงอยากจะทำภารกิจในชีวิตประจำวันต่อไปมากกว่าจะรับรู้ว่ามีภาพงานศพเป็นอย่างไรหรือมีภาพคนโศกเศร้าเสียใจ

อย่างไรก็ตามเฮยุนกังยอมรับว่ามุมมองในแบบของเธอยังจำกัดเกินไป ต้องมีการมองความเสี่ยงในการเขียนถึงเรื่องการฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากพอสมควรแล้วว่าควรจะรายงานข่าวการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะของดาราอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพราะการเสียชีวิตของดาราจะส่งผลสะเทือนทางจิตใจต่อผู้รับชมมากกว่าคนดังอื่นๆ รวมถึงนักการเมืองโดยเฉพาะผู้มีแรงกระตุ้นหรืออารมณ์ชั่ววูบให้อยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว เคยมีการเก็บสถิติว่าหลังจากการเสียชีวิตของชอยจินซิลมีคนในเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 1,000 กรณีในช่วงสองเดือนหลังจากนั้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกัน

เหตุใดคนถึงฆ่าตัวตายตามดารา เรื่องนี้สตีเฟน สแต็ก นักวิจัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องการฆ่าตัวตายเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ไว้ว่าเป็นเพราะผู้คนมักจะนิยามตัวตนของตัวเองเข้ากับดาราเพราะดารามักจะเล่นบทของคนธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปเพราะร่ำรวยและโด่งดังกว่า ถ้าหากดาราเหล่านี้ฆ่าตัวตายก็อาจจะทำให้คนคิดว่า ถ้าหากคนรวยและคนมีเสน่ห์ดึงดูดเหล่านี้ฆ่าตัวตายแล้วคนธรรมดาที่ดูด้อยกว่าอย่างพวกเขาล่ะ สแต็กบอกอีกว่าการโหมประโคมข่าวเกี่ยวกับเรื่องฆ่าตัวตายเป็นเวลาหลายวันติดต่อกันจะมีโอกาสทำให้เกิดผลกระทบเรื่องการฆ่าตัวตายเลียนแบบเพิ่มมากขึ้น

ที่เวียนนา ออสเตรีย สถิติการฆ่าตัวตายเลียนแบบในสถานีรถไฟใต้ดินเพิ่มมากขึ้นในช่วง 30 กว่าปีที่แล้ว จนกระทั่งในปี 2530 ก็ลดลงอย่างรวดเร็วร้อยละ 75 และยังคงตัวเลขเดิมต่อไปอีก 5 ปีหลังจากนั้น โดยการลดลงนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีการออกแนวทางการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายโดยสมาคมเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายของออสเตรีย

ในเกาหลีใต้ก็มีการออกคู่มือจรรยาบรรณการรายงานข่าวฆ่าตัวตายโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเกาหลีใต้ เช่น การไม่ทำให้การฆ่าตัวตายดูเป็นเรื่องสวยงาม (romanticize) ไม่พูดถึงสถานที่หรือวิธีการฆ่าตัวตาย รวมถึงงดการใช้คำว่าฆ่าตัวตายในพาดหัวข่าว และไม่ทำให้การฆ่าตัวตาของดาราเป็นข่าวหลักของวัน

อย่างไรก็ตาม สื่อเอียงซ้ายของเกาหลีใต้ Media Us ก็เคยวิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อเกาหลีใต้ไว้เมื่อปี 2556 ว่าสื่อมักจะนำเสนอเรื่องดาราเสียชีวิต "ราวกับเป็นพิธีมอบรางวัลออสการ์" แต่เฮยุนกังก็เปิดเผยว่าในช่วงหลังๆ สื่อเกาหลีใต้ก็รายงานข่าวเรื่องการเสียชีวิตของดาราดีขึ้น และมีกรณีที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์กันเองรวมถึงมีการล่ารายชื่อเอาผิดสื่อที่รายงานเรื่องดาราเสียชีวิตในแบบใส่สีตีไข่กระตุ้นเร้าอารมณ์แบบไม่มีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ยังมีเรื่องผลกระทบของการนำเสนอแง่มุมผู้เสียชีวิตซ้ำๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว โอคาดะ จิการะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่นกล่าวว่าการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยาก บางครั้งภาพหรือคำก็อาจจะกระตุ้นให้คนที่มีอารมณ์ชั่ววูบฆ่าตัวตายตามได้

ทางอาซาฮีเองก็ปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของตัวเองเพราะจิการะเชื่อว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) สร้างข้อจำกัดต่อสื่อมากเกินไป ทำให้พวกเขานำแนวทางของ WHO มาหารือแล้วปรับเป็นของตัวเอง และตัวแนวทางปฏิบัติเองก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการบังคับให้ต้องทำตาม แต่ต้องอยู่ที่ตัวนักข่าวเองว่าควรจะนำเสนอมากน้อยแค่ไหนถึงจะถือว่าเพียงพอจะให้สาธารณชนรับรู้และเป็นการเคารพต่อผู้ตาย "นี่เป็นวัฒนธรรมของความละเอียดอ่อนที่ต้องฝึกฝน อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่นักข่าวสามารถทำได้ นั่นเป็นงานของพวกเรา" เฮยุนกังระบุในบทความ
 

เรียบเรียงจาก

We Need to Talk About Suicide Reporting, Haeryun Kang, 19-12-2017
https://www.koreaexpose.com/suicide-reporting-shinee-jonghyun-kpop/

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุเผยใช้ม.44 แก้กฎหมายพรรคการเมือง ช่วยเกิดความเสมอภาค-กกต.สมชัยแย้ง

Posted: 21 Dec 2017 02:18 AM PST

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี เผยใช้ ม.44 แก้กฎหมายพรรคการเมือง จะช่วยทำให้พรรคการเมืองเสมอภาค ไม่มีพรรคไหนได้เปรียบเสียเปรียบ แย้มในคำสั่งจะบอกปลดล็อคเมื่อไหร่  ด้าน กกต. สมชัย เห็นต่างอย่างไรพรรคเก่าก็ได้เปรียบ ชี้การแก้ปัญหาที่ดีต้องรีบปลดล็อค

21 ธ.ค. 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมออกคำสั่ง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ขยายกรอบเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า จะทำให้พรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองเก่าอยู่ในสถานะที่จะเริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เช่นนั้น พรรคเก่าที่มีสมาชิก มีพรรค มีกรรมการบริหารพรรคอยู่แล้ว จะได้เปรียบ เพราะเมื่อให้ทำกิจกรรมได้ ก็สามารถเดินหน้าได้เลย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคการเมืองใหม่ ต้องเริ่มด้วยการจองชื่อพรรค หาสมาชิก และหากรรมการ บริหารพรรค แล้วไปยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งพรรค ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจะพิจารณาให้ตั้งหรือไม่ใน 1 เดือน ตรงนี้จึงถือว่าอาจเสียเปรียบพรรคเก่า ด้วยเหตุนี้จึงต้องถอยร่นเวลาออกมา 1 เดือน เพื่อให้พรรคใหม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อพรรคการเมืองใหม่ ได้รับคำจดทะเบียนจัดตั้งพรรคแล้ว ก็จะมีสถานะเหมือนกับพรรคการเมืองเก่า ส่วนเงื่อนเวลาที่จะมีการปรับนั้น ในคำสั่งคสช.ที่จะออกมา จะระบุไว้ชัดเจน โดยพยายามยึดเวลาเดิมของกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งในกรอบ 90 วันและ 180 วัน ที่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.60 ให้เปลี่ยนไปนับจากวันไหนสักวันหนึ่งแทน ส่วนคำสั่งจะออกมาเมื่อใดนั้นยังไม่ทราบ แม้จะเลื่อนการเริ่มนับวันทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ก็ยังไม่มีอะไรส่งผลกระทบกับกำหนดโรดแมปเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมทั้งหมดได้เมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า ในคำสั่ง คสช.ดังกล่าวจะบอกไว้ทั้งหมด ว่าจะปลดล็อกเมื่อไหร่ เพื่อให้รู้ล่วงหน้า เมื่อเห็นแล้วก็จะทราบทันที

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ขยายเวลาดำเนินการของพรรคการเมืองว่า ในส่วนของ กกต.ไม่มีปัญหาอะไร จะขยายหรือไม่ขยาย เราทำตามได้ทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ เพราะไม่รู้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะผ่อนคลายให้พรรคได้ทำกิจกรรมเมื่อใด ซึ่งคิดว่าต้องวางตารางกันให้ดี ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้มีอำนาจ เฉพาะวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องหารือกันอย่างรอบครอบ เนื่องจากตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้กำหนดสิ่งที่ต้องดำเนินการไว้มาก จึงต้องนำข้อเท็จจริงมาดูกัน ทั้งความเห็นของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ อย่าไปคิดเองว่าเขาทำทัน เพราะบางพรรคแม้เป็นพรรคเก่า แต่ไม่เข้มแข็งอาจทำไม่ทันได้ จะกลายเป็นเรื่องของความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงควรต้องพิจารณาให้ดี เพื่อที่ออกมาแล้วจะได้ไม่เป็นปัญหา หรือแก้ปัญหาได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว

"อย่างตัวเลขบางตัว ก็ไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจจะรู้หรือไม่ เช่น การขอตั้งพรรคใหม่ กกต.ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40 หน่วยงาน จึงขอเวลาในการตรวจสอบ 45 วัน ถ้าได้มีการพูดคุยกันว่าระยะเวลาดังกล่าว สามารถย่นย่อได้เพียงใด ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งหากมีการเชิญ กกต.ไปให้ข้อมูล เราก็พร้อม" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวด้วยว่า การปลดล็อคบางส่วนไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่ได้เปรียบ เพราะถึงอย่างไรก็ทำได้เพียงในเรื่องของการเตรียมการไว้ เมื่อมีการปลดล็อคทั้งหมด ก็จะถือว่าทุกพรรคการเมือง ทั้งเก่าและใหม่เริ่มสตาร์ทพร้อมกัน ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ยังมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการในเรื่องการจดแจ้งจัดตั้ง การประชุมต่าง ๆ ที่ย่อมเสียเปรียบกว่าพรรคการเมืองเก่าที่มีความเป็นพรรคไปแล้ว ยกเว้น คสช.จะให้พรรคใหม่จดทะเบียนจัดตั้งพรรคได้ตั้งแต่ขณะนี้เลย ก็จะไม่เป็นการเสียเปรียบพรรคเก่า

"เราคงทำให้ทุกพรรคเท่ากันไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ดีที่ คสช.พยายามจะทำให้เท่าเทียมกัน แต่ต้องคิดให้รอบคอบว่าใช้ ม.44 แก้ปัญหาแล้ว เขาจะทำได้ทันจริง ๆ ไม่ใช่ถึงเวลาสตาร์ทแล้วบางพรรคทำไม่ทัน ก็ส่งผู้สมัครไม่ได้ ผมยังเชื่อว่าถึงอย่างไรพรรคเก่าก็ทำทันตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อมีเจตนาดีก็ต้องคิดที่จะให้เขาทำทันด้วย ไม่ใช่ถึงเวลาก็ให้เขาทำกันแค่เป็นพิธีกรรม ก็จะกลายเป็นสังคมหลอกลวง เราก็ไม่อยากที่จะให้เป็นอย่างนั้น" สมชัย กล่าว

 

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย 1 , 2

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เผยยังไม่เห็น 'ภาพวงจรปิด' ในชั้นศาล

Posted: 21 Dec 2017 01:35 AM PST

ทนายครอบครัวชัยภูมิเผยภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุยังไม่ปรากฏในบัญชีพยานฝ่ายอัยการ ชี้ตำรวจเคยได้ฮาร์ดดิสก์แล้ว แต่เปิดไม่ได้ ส่งเรื่องขอภาพไปอีกครั้งตั้งแต่ก่อนส่งเรื่องให้อัยการ เล็งขอศาลเรียกเอาภาพจากหน่วยทหารที่จุดตรวจต้นปีหน้า พร้อมสำเนาถึงแม่ทัพภาคที่ 3 เพราะเคยบอกว่าดูแล้ว 


ชัยภูมิ ป่าแส

21 ธ.ค. 2560 ความคืบหน้าหลังศาลมีการไต่สวนคดีการตายของชัยภูมิ ป่าแส (จะอุ๊) เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าได้ขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ของชัยภูมิ และพบยาเสพติดประเภทยาบ้าเป็นจำนวนมากบรรจุซองพลาสติกซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณส่วนกรองอากาศของรถ ต่อมา ชัยภูมิ ได้ทำการขัดขืนต่อสู้เจ้าหน้าที่พร้อมทั้งจะใช้อาวุธระเบิดที่ชัยภูมิมีไว้ในครอบครองขว้างใส่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงสังหารชัยภูมิที่บริเวณจุดตรวจด่านบ้านรินหลวง

ปัจจุบัน ศาลได้สืบพยานไปแล้วจำนวน 3 ปากตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกจำนวน 4 ปาก ในวันที่ 13 และ 14 มี.ค. 2561 และนัดไต่สวนพยานผู้ร้องซักถามอีกจำนวน 11 ปาก ได้แก่วันที่ 15, 16 และ 20 มี.ค. 2561

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ผู้เป็นทนายความของครอบครัวชัยภูมิในการไต่สวนคดีการตาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ในการไต่สวนคดีการตายครั้งที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิดจากบัญชีพยานฝ่ายอัยการ

ต่อประเด็นที่ว่าทหารเคยส่งฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว ทนายของครอบครัวชัยภูมิระบุว่า ตำรวจได้ฮาร์ดดิสก์แล้ว แต่กองพิสูจน์หลักฐานระบุว่าไม่สามารถเปิดได้ ตำรวจจึงได้ดำเนินการขอภาพไปใหม่ตั้งแต่ก่อนที่จะส่งเรื่องให้อัยการ โดยในต้นปีหน้า สุมิตรชัยจะให้ศาลออกหมายขอภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังหน่วยที่ตั้งอยู่ที่ด่านรินหลวงอันเป็นที่เกิดเหตุ และทำสำเนาให้กับพลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาพที่ 3 ที่เคยระบุว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว


ภาพทหารตรวจค้นรถของชัยภูมิก่อนที่จะเกิดการเสียชีวิต

ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจบ้านรินหลวงในวันที่ชัยภูมิเสียชีวิต โดยเชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญต่อรูปคดีการตายของชัยภูมิ ปัจจุบัน มีผู้ที่ระบุว่าเห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วสองคน ได้แก่ พล.ท.วิจักขฐ์ แม่ทัพภาคที่สาม เจ้าของวลี "ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว" และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวว่า ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง

'ผบ.ทบ.' เมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด ปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด

ทหารส่งภาพวงจรปิดวิสามัญ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ทั้งฮาร์ดดิสก์ให้ตำรวจ

ที่ผ่านมา พ.ต.อ. มงคล สัมภวผล รอง ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับวงจรปิดนั้น ทหารได้ส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว โดยเอามาให้ทั้งฮาร์ดดิสก์ ตำรวจไม่กล้าเปิดดู กลัวจะเกิดการผิดพลาด จึงใช้สก็อตเทปพันและเซ็นชื่อกำกับ ส่งต่อไปยังกองพิสูจน์หลักฐานดำเนินการตรวจสอบก่อน หากทหารนำแผ่นซีดีมาให้เราสามารถเปิดดูได้ทันที แต่ส่งมาทั้งฮาร์ดดิสก์หากเปิดแล้วไม่มีภาพหรือขัดข้อง ตำรวจเดือดร้อนแน่จึงต้องรอกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบให้แน่นอนว่าภาพนั้นมีการตัดต่อหรือไม่ แต่ในการไต่สวนคดีการตายครั้งล่าสุดก็ไม่ได้มีภาพวงจรปิดเป็นที่ปรากฏ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุม หลังบริษัทไม่จ่ายโบนัสตามข้อตกลง

Posted: 21 Dec 2017 01:30 AM PST

คนงานไทรอัมพ์ฯ กว่า 1,000 คน ชุมนุม หลังบริษัทประกาศเลื่อนจ่ายโบนัส ทหาร-ตำรวจ เข้าสังเกตการณ์ เลขาฯ สหภาพแรงาน ชี้ละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้างงาน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนเจรจาประจำปี 60 นัดใหม่เดือนหน้า

21 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (20 ธ.ค.60) ช่วงเวลาหลังเลิกงานเวลาประมาณ 16.00 - 2.00 น. ของอีกวัน ที่บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ คนงานจำนวนกว่าพันคนชุมนุมภายในโรงงานเพื่อรอฟังคำชัดเจนหลัง บริษัทฯ แจ้งไม่สามารถจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2560 ได้ตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยที่ทำไว้เมื่อปี 2557 ได้ โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย ที่ห้องประชุมบริษัทดังกล่าว พร้อมด้วยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พ.ต.ท.ภาสกร มังกรแก้ว รองผู้กำกับ สภ.บางเสาธง และทหารจากกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อยสมุทรปราการ ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งนอกจากโรงงานที่บางพลีแล้ว โรงงานที่ จ.นครสวรรค์ ก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมและโต๊ะเจรจา

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม วรรณวิภา ไม้สน เลขาธิการสหภาพแรงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจาระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงาน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เหตุการณ์เกิดหลังจากวานนี้ ประมาณ 15.45 น. บริษัทได้ประกาศเสียงตามสายแจ้งพนักงานทุกคนว่าจะมีการเลื่อนจ่ายโบนัสไปเป็นเดือน ม.ค.2561 โดยขณะที่ประกาศเสียงตามสายนั้นได้มีการเรียกตัวแทนสหภาพเข้าไปพูดคุยด้วย หลังจากนั้นเมื่อคนงานเลิกทำงานเวลา 16.00 น. ด้วยเหตุที่ไม่มีสัญญาณเรื่องนี้มาก่อน และข้อตกลงเรื่องจ่ายโบนัสก็ตกลังกันไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้างงานที่ทำร่วมกันไว้เมื่อปี 57 ซึ่งระบุชัดว่าโบนัสครั้งที่ 2 ของพนักงานรายวัน ต้องจ่ายวันที่ 21 ธ.ค.60 ในมูลค่าเท่ากับค่าแรงหนึ่งเดือน บวกกับ 7,200 บาท ซึ่งทุกคนไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการเจรจาตกลงสภาพการจ้างครั้งใหม่ก็ดำเนินการต่อเนื่อง และงานก็กำลังผลิตออกได้มากกว่าปกติ การแจ้งของบริษัทเป็นการแจ้งก่อนไม่กี่ชั่วโมงที่จะต้องจ่ายโบนัสตามที่กำหนดไว้ การเลือนดังกล่าวนอกจากกระทันหันแล้วยังเป็นการละเมิดสภาพการจ้างงานด้วย
 
เลขาธิการสหภาพแรงานไทรอัมพ์ฯ ยืนยันว่า พนักงานไม่ยอม ขณะนี้ทั้งโรงงานที่บางพลีและนครสวรรค์ คนงานก็กำลังรอความชัดเจน ส่วนการเจรจานั้นต้องนัดกันอีกครั้ง รอความชัดเจนจากผู้บริหาร เพราะคนงานไม่ยอมเลื่อนและแบ่งจ่าย 3 งวด แต่ให้ยึดตมข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม
 
วรรณวิภา กล่าวด้วยว่า ตามประกาศของบริษัท บอดี้ฯ นั้น ระบุไว้ว่าเป็นเพราะบริษัท ไทรอัมพ์ฯ ไม่จ่ายค่าสินค้าหรือจ่ายค่าสินค้าล่าช้า ทำให้ทางสหภาพแรงงานฯ ได้สอบถามไปกับบริษัทไทรอัมพ์ฯ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเนื่องจากหลักปฏิบัติของทางบริษัทก็มี เหล่านี้เป็นมาตรการที่สหภาพแรงงานกำลังดำเนินการอยู่ 
 
สำหรับการเจรจราเพื่อปรับสภาพการจ้างงานรอบใหม่ปีนี้ ที่เจรจามา 14 ครั้งแล้วนั้น เลขาธิการสหภาพแรงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า มีนัดเจรจาครั้งใหม่วันที่ 19 ม.ค. 61 ซึ่งยังติดในเรื่องของการปรับค่าจ้างในปี 62 และ 63 ที่ยังตกลงกันไม่ได้ 
 
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2523 ในอดีตเป็นพนักงานบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จนปี 2533 มีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อการผลิตโดยใช้ชื่อว่า บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ และอื่นๆ ตั้งอยู่ นิคมอตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ แลต่อมาได้ขยายโรงงานผลิตเพิ่มเติมที่ จ.นครสวรรค์  การต่อสู่เรื่องสภาพการจ้างงานมีมาอย่างยาวนาน จนมีการเลิกจ้างคนงานครั้งใหญ่เมื่อปี 2552 เปลี่ยนแปลงผู้บริหารรวมทั้งรูปแบบการทำงาน จนปัจจุบันมีคนงานอยู่ที่บางพลี 1,400 คน จ.นครสวรรค์ประมาณ 1,200 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘อวสานซาวด์แมน’ กับ สรยศ ประภาพันธ์ หนังรางวัลเกี่ยวกับ ‘เสียง’ โดยคนทำเสียง

Posted: 20 Dec 2017 11:40 PM PST

'อวสานซาวด์แมน' หรือในชื่อภาษาอังกฤษ 'Death of the Sound Man' หนังสั้นล่าสุดของ สรยศ ประภาพันธ์ นักทำหนังอิสระและนักบันทึกเสียงในภาพยนตร์อิสระหลายเรื่อง คือหนังที่เดินสายเข้าประกวดในเทศกาลหนังนานาชาติตลอดปี 2560 นี้ ได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประเทศอิตาลี ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ในสายการประกวดภาพยนตร์สั้นอาเซียนยอดเยี่ยม และรางวัล Youth Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์ ได้รางวัลหนังสั้นยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติ Ekadeshma ประเทศเนปาล ได้รางวัลชมเชยจากเทศกาลหนังสั้นนานาชาติ Kurzfilmtage Winterthur ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และคาดว่าหนังของเขาจะไม่หยุดเดินทางเพียงเท่านี้

ขณะได้รับรางวัลชมเชยที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นธรรมเนียมที่ต้องขึ้นไปกล่าวสปีชบนเวที สรยศเล่าให้ฟังว่า "เราพูดขอบคุณทีมงาน พูดตลกอะไรของเราไป แล้วเราก็บอกว่าเราจะขอพูดซีเรียสบ้าง พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา แล้วเราก็พูดไม่ออก ภาษาอังกฤษเราพัง เลยเอามาเขียนสเตตัสแทน"

สเตตัสเฟสบุ๊กบางส่วนของเขาในวันที่ 14 พ.ย. 60 (แปลจากภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า "เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอนักทำหนังและนักบันทึกเสียงในหนังคนหนึ่งได้ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เขาจากไปและมีคนพูดกันว่าเขาเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด พวกเราขอให้มีการเปิดบันทึกกล้องวงจรปิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พวกเขาไม่ฟังเสียงของเรา ถ้าหากเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น ผมก็ยังจะทำหนังเรื่องนี้ แต่น่าเศร้าที่มันเกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงใส่เสียงปืนเข้าไปในหนังเพื่อเตือนตัวเองว่าพวกเขาทำอะไรกับพวกเรา"

ประชาไทชวนคุยกับ สรยศ ประภาพันธ์ ในวัย 30 ปี ถึงเส้นทางการทำหนังเดินสายประกวดของเขา นับตั้งแต่หนังสั้นเรื่อง 'บุญเริ่ม' 'ดาวอินดี้' 'ของฝากจากสวิตเซอร์แลนด์' จนถึงปีที่แล้วกับ 'รักษาดินแดน' และล่าสุด 'อวสานซาวด์แมน' คุยเรื่อง "เสียง" ทั้งในฐานะนักบันทึกเสียงในภาพยนตร์และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รู้สึกว่า 'เสียง' ไม่ค่อยถูกได้ยินนัก ไปจนถึงประสบการณ์ในฐานะที่เขาเดินทางไปหลายประเทศพร้อมกับหนังของเขา

 


สรยศ ประภาพันธ์ 


I.

ทำไมต้องเป็นเสียง?
เราเรียนเอกฟิล์มมา อยากเป็นผู้กำกับมาตลอดแต่ก็รู้ว่าทำเป็นงานเลี้ยงชีพไม่ได้ เพราะน้อยคนที่เป็นเด็กจบใหม่แล้วจะทำงานเป็นผู้กำกับได้เลย มันเป็นเรื่องฝีมือด้วย เรื่องคอนเนคชั่นด้วยผสมกัน หรืองานโฆษณา เราก็ไม่ถนัดกับศาสตร์ของงานโฆษณา เคยได้ยินมาด้วยว่าเวลาทำหนังโฆษณาจะต้องใช้เวลากับลูกค้าตั้งแต่ขั้น pre-production (ก่อนเริ่มถ่ายทำ) ไปจนถึงขั้นตัดต่อ ก็ต้องเอาให้ลูกค้าดู มันกินเวลาเยอะ


แต่ในขณะเดียวกันถ้าไปทำงานถ่ายทำ เช่น  ทำซาวด์แมนกับกองโฆษณา ทำเช้าตอนเย็นรับเงิน ปวดหัวกับเขาแค่วันเดียว ค่าตัวก็จ่ายแบบแฟร์ๆ เลยคิดว่าถ้าไม่ใช่ผู้กำกับก็เป็นทีมงานในกองถ่ายนี่แหละเลี้ยงชีพได้

ตั้งแต่เรียนก็เลยเริ่มฝึกงานด้านเสียง เพราะพอเริ่มดูหนังเยอะขึ้นก็รู้สึกว่า เฮ้ย ภาพมันก็พอๆ กันหมด มันสวย แต่มู้ดแอนด์โทนมันไม่ออกเท่าเสียง หลับตาแล้วยังได้ยิน นึกภาพว่าเป็นภาพเดียวกันแต่ถอดเสียงออกแล้วใส่เสียงอื่น มู้ดแอนด์โทนมันก็เปลี่ยนไป เสียงมันเป็นตัวกำหนดทิศทางด้วยซ้ำ เช่น ภาพสนามหญ้าสีเขียว เอาเสียงออกก็จะเป็นมู้ดหนึ่ง ถ้าใส่เสียงเพลงก็ใช้เพลงเล่า ถ้าใส่เสียงคนคุยก็จะเป็นเสียงความจริง ณ โลเคชั่นนั้นเล่า มันคือภาพเดียวแต่เสียงมันใช้เล่าความหมายด้วย

ก็เลยไปฝึกงานด้านเสียง เอาจริงเอาจัง ออกกองเป็นคนทำเสียง ขั้น post-production (ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ) ก็เป็นคนทำเสียง ไปช่วยกองลุงบุญมีระลึกชาติ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2553) แล้วไปเจอซาวด์แมนของกองนี้ แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้จากพี่เขา บอกเขาว่า เรียกผมไปหน่อยอยากรู้เรื่องด้วย ไปทำงานกับเขาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ค่อยไปออกกองเอง ไม่เลือกเลย ทำอะไรก็ได้ทั้งหนังทีวี โฆษณา หนังสั้น

เริ่มทำหนังของตัวเองเมื่อไหร่?
พอเป็นซาวด์แมนไปเรื่องมันก็อยากทำหนังแหละ แต่ไม่อยากใช้เงินตัวเอง ถ้ามูลนิธิหนังไทยมีอะไรให้สมัคร ได้ทุน เราก็สมัครเรื่อยๆ มันก็มีโปรเจกต์ 'เกี่ยวก้อย' เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เขาให้คนที่เคยมีหนังฉายในโครงการส่งหนังเข้าร่วมได้ ซึ่งตอนนั้นเราบังเอิญทำหนังเรื่องก่อนแล้วได้ฉายในโครงการ เราก็สมัครแล้วก็ได้ ได้ทำเรื่อง 'บุญเริ่ม'

บุญเริ่ม เป็นชื่อคนรับใช้ที่บ้าน เราเห็นแม่เราจิกใช้เขาตลอดเวลา บางทีก็เราเองด้วยแหละ เราก็เลยทำหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเลย

แล้วตอนนั้นเราก็เริ่มเอาจริงเอาจังกับการเป็นคนทำหนังอิสระ เห็นพวกพี่ๆ เขามีหนังฉายเทศกาลนู่นนี่ ตอนนั้นได้ไปเวิร์กช็อปต่างประเทศ ลองเอาไปให้เพื่อนต่างชาติดู เขาก็บอกว่า เฮ้ย ได้ เป็นไปได้ ลองส่งเทศกาลดู ก็สมัครไป แล้วก็ได้เรื่อยๆ ก็ได้ฉาย เอาจริงตอนนี้ก็ 40-50 เทศกาลได้ แต่ไม่ได้เงิน ไม่ได้เก็บค่าฉาย

จุดเริ่มต้นของหนัง 'ดาวอินดี้'
มันมีหนังเรื่องหนึ่งของพี่นุช (พิมผกา โตวีระ) ได้ไปฉายที่ดูไบ มีผู้กำกับคนหนึ่งเห็นแล้วเขาชอบภาพของหนังมากก็เลยอยากทำงานกับทีมงานกลุ่มนี้ เราก็เลยได้ไปในฐานะทีมเสียง ทำแค่เดือนเดียวแต่เหมือนก่อร่างสร้างตัวได้ เหมือนไปค้าแรงงาน (หัวเราะ) พอกลับมาเราเลยกล้าซัดหนังสั้นด้วยเงินตัวเองเรื่องหนึ่งต่อเลย คือเรื่อง 'ดาวอินดี้' ฉายที่เทศกาลของมูลนิธิหนังไทยแล้วได้รางวัลชมเชย เกี่ยวกับนักแสดงหนังอิสระหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่หนังกำลังจะได้ไปฉายต่างประเทศ ผู้กำกับก็ชวน เฮ้ย ป้าไปด้วยกัน แต่นักแสดงคนนี้ไม่เคยมีพาสปอร์ต ก็พูดว่าทำพาสปอร์ตทำวีซ่ายุโรปมันยากยังไง แล้วมันก็เป็นช่วงปีเดียวกับที่มีการประท้วงใหญ่จนมีการปิดสถานที่ทำพาสปอร์ตไปด้วย มันเลยมีเลเยอร์ของปัญหาในประเทศและต่างประเทศ คนยุโรปที่ไม่เคยทำวีซ่าเชงเก้นก็จะไม่เข้าใจว่ามันยากยังไง มีเลเยอร์ของคนจนในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็แฮปปี้กับผลของมัน ทุนน้อยกว่า 'บุญเริ่ม' อีก ถ่ายวันเดียวเสร็จ แต่ได้ไปเทศกาลต่อเนื่องมากขึ้น

'ของฝากจากสวิตเซอร์แลนด์'
เราส่งตัวเองไปเวิร์กช็อปเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนหนังเรื่อง 'บุญเริ่ม' ได้เจอเพื่อนต่างประเทศ พอ 'ดาวอินดี้' ได้ไปฉายที่สวิตเซอร์แลนด์ เราก็เห่อเพราะทุกอย่างมันสวยงามไปหมด ก็เลย เอาวะ ถ่ายมั่วๆ ไปก่อน ก็ไปตั้งกล้องใช้ขาตั้งเล็กๆ แล้วก็นั่งไปเรื่อยๆ แต่ละที่ กดเรคคอร์ดสัก 5 นาที ไม่มีการเคลื่อนกล้อง

จนเพื่อนคนหนึ่งที่เจอในเวิร์กช็อปหลังไมค์มาบอกว่า อยู่สวิตเซอร์แลนด์เหรอ เราก็ เออ มันเป็นคนอัฟกานิสถานไม่ใช่เหรอวะ ทำไมมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จนได้ไปเจอกัน มันก็เล่าให้ฟ้งว่ามันเป็นผู้อพยพ เพราะมันวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตาลีบัน ก็นั่งคุยกับมันทั้งบ่าย

แล้วหลังจากเทศกาลหนัง เราก็นั่งรถไฟ แล้วอยู่ๆ มันก็คิดออก เราเห็นเป็นภาพวิวของสวิตฯ 7-8 ภาพ แล้วก็มีเสียงเรากลับไปคุยกับเพื่อนคนไทยว่า เฮ้ย กูไปสวิตเซอร์แลนด์มา กูไป Q&A มา คนแม่งขี้เหงาฉิบหาย แม่งแพงว่ะ แล้วอยู่ดีๆ ก็พลิก ถ้าสปอยล์หนังตัวเองก็คือ อยู่ดีๆ (น้ำเสียงเปลี่ยน) เออ กูไปเจอเพื่อนกูมา เพื่อนกูแม่งเป็นผู้อพยพเพราะโดนปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในบ้านตัวเอง เหมือนประเทศแถวไหนเนอะ ก็ว่ากันไป ก็เลยกลายเป็นหนังเรื่องนั้นแล้วได้ไปฉายในเทศกาลเรื่อยๆ อีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ 'ของฝากจากสวิตเซอร์แลนด์'

'รักษาดินแดน' (Fat Boy Never Slim)
จนหนังสวิตฯ หยุดเดินทาง เราก็เสี้ยนอยากไปเทศกาลอีกรอบหนึ่งก็เลยกัดฟันใช้เงินทำ 'Fat Boy Never Slim' เป็นเรื่องของเด็กอ้วนที่ต้องไปสอบเรียน รด. จิกกัดเสียดสีตามสไตล์เรา ซึ่งจริงๆ เป็นหนังสั้นที่เป็น side project ของหนังยาวของเราเรื่องหนึ่งซึ่งยังพักไว้อยู่
 


ภาพโดย จักรวาล นิลธำรงค์


II.

'อวสานซาวด์แมน' (Death of the Sound Man)
ปีนี้มันประจวบที่ว่า หมดรอบเดินทางของ Fat Boy ก็เลยทำ Sound Man เราอยากทำหนังเกี่ยวกับทีมงานอยู่แล้ว แล้วเราก็ต้องทำซาวด์ดิวะ "ทำหนังเกี่ยวกับเสียงในหนังกันเถอะ" นั่นคือสิ่งแรกที่คิด แล้วเราก็ติดนิสัยต้องใส่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศลงไปด้วย พูดแบบแย่ๆ ก็คือ มันจะได้ไม่เหมือนหนังยุโรปอันอื่น ถ้ามันพูดแต่เรื่องเสียงๆๆ ไปเลย มันก็จะไม่มีเลเยอร์ของการเมือง แต่เราก็เป็นคนรู้สึกกับการเมืองด้วยแหละ ไม่ใช่ไม่รู้สึกเลย แต่มันก็ไม่ใช่สาเหตุหลักให้เราทำหนัง

เสียงเราที่นี่มันไม่ค่อยมีคนฟัง เสียงมีสองแง่ คือเสียงในหนังด้วยกับเสียงที่เราพูดออกมาด้วย เราก็เลยคิดว่ามัน blend กันได้กับกิมมิกการฟัง แล้วก็ได้ไปฉายที่เทศกาลเวนิส เราไม่เคยได้ใหญ่ขนาดนี้

ชื่อหนัง
เราแค่เอาคำมาบิด จากอวสานเซลส์แมนเป็นอวสานซาวด์แมน เพราะมันได้คาแรกเตอร์หนังเราคือกวนตีน อันนี้เลเยอร์หนึ่ง อีกอันคือเราชอบพูดเวลาเราทำพลาด เวลาออกกองแล้วพลาด ลืมอัดซีนสำคัญ วันที่เราท้อ ช่วงที่เป็นวัยรุ่นอยู่ เราชอบกลับมาพิมพ์คำว่า "อวสานซาวด์แมน" แต่ความจริงก็คือเราทำหนังตลก

หนังที่เกี่ยวกับชัยภูมิ
ตอนแรกที่คิดจะทำหนังไม่ได้คิดถึง ตอนเขียนบทเขาก็ยังอยู่ แต่พอเขาตายเราอ่านชื่อเขาแล้วเราก็ เฮ้ย! มันชื่อคนในทีมงานหนังสั้นนี่หว่า แล้วเขาทำเสียงด้วย สุดท้ายก็ตัดสินใจใส่เสียงปืนเข้าไป เพราะมันเกิดขึ้นกับเขาแล้วเขาเป็นซาวด์แมน แค่นั้นแหละ จริงๆ ไม่ได้มีเหตุผลมากกว่านั้น เราไม่ได้อยากพูดว่าเราทำเพราะเขา เราจะทำอยู่แล้ว แต่ที่มันเหี้ยคือเขาเสือกซวยเกิดอะไรขึ้นแบบนั้น เราก็เลยทำส่วนนั้นเพิ่ม

เราเซ็งมาก เขาไม่ควรตาย เราบ่นกับตัวเองมากเลยนะว่าทำไมยังทำหนังการเมือง แต่ก็เพราะประเทศนี้มันยังมีเรื่องให้พูดถึงอยู่ มี material ให้พูดอยู่

แปลว่าถ้าเลือกได้ ไม่อยากทำหนังเกี่ยวกับการเมืองแล้ว?
รู้สึกว่ามันไม่ท้าทายความสามารถเรา ถ้าทำแล้วตัดเรื่องบริบทออก พูดถึงภาษาหนังเพียวๆ เลย สมมติเราไปดูหนังที่มันการเมืองมากๆ ของประเทศอิสราเอลเราก็ไม่เก็ต นึกออกมั้ย แล้วเรารู้สึกอยากขยายผู้ชมของเราให้เขาเก็ต โดยที่ยังเป็นหนังที่ดี แต่จริงๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะ เออใช่ หนังมันคือมนุษย์ มนุษย์มันไม่ได้มีชีวิตแค่ในโรงหนัง

ช่วยขยายความเรื่องเสียงในหนังของคุณหน่อย?
เราอยากให้หนังเราพูดมากกว่า ซึ่งหนังเรายังไม่ฉาย (หัวเราะ) มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ศิลปะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอยู่ และชีวิตประจำวันมันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง ไปคุยกับคนทำหนังอียิปต์คนหนึ่ง ทำหนังส่วนตัวนะ เป็นผู้หญิง คนดำเนินรายการก็ถามว่ารู้สึกหนังคุณเป็นหนังการเมืองไหม เขาบอกว่า ไม่ว่าฉันจะกิน จะเข้าห้องน้ำ จะอึ มันก็เป็นการเมืองอยู่ดีแหละ เพราะมันก็คือสิทธิที่พลเมืองได้จากรัฐ คือเขาพูดดีมาก แต่หนังเขาแอ็บสแตรกแบบพูดอะไรไม่รู้ แต่เขาพูดถูกนะ สุดท้ายแล้วมันก็การเมืองในรูปแบบหนึ่งเสมอ

แล้วที่ทำเรื่องนี้ออกมาคาดหวังอะไรบ้าง
พูดจริงๆ ก็คืออยากเป็นคนทำหนังที่ success ในโลกใบนี้ โอเคเราก็อยากทำคอนเทนต์ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด เรารู้สึกว่าเจตนาเราไม่ได้บริสุทธิ์ เป็นนักอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่ถ้าตัดเรื่องนั้นทิ้งก็ใช่ เราอยากพูดถึงเสียง เสียงที่บางครั้งเราพูดไปมีคนฟังเหรอวะ และไม่ใช่แค่พูด บางทีเสียงที่ไม่ได้พูด เช่น การแสดงออกอื่นๆ นั่นแหละ มีคนสนใจมันเหรอวะ

การทำหนังของคุณมีความคิดเพื่ออยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไหม?
ไม่นะ แต่เราอยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ทำหนังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ถ้าพูดตรงๆ ก็คือทำหนังเพื่อด่าคนที่เราไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นภาพต่อภาพ เหมือนได้ตบหน้ามึงแล้ว แต่มึงจะเปลี่ยนแปลงรึเปล่าไม่รู้

มีช่วงที่อึดอัดเกี่ยวกับการทำหนังในประเทศนี้มั้ย?
มีๆ แค่เซ็นเซอร์มันยังไม่ลงตัวเลย ก็เห็นอยู่ว่ามีหนังหลายเรื่องที่ติดกระบวนการเซ็นเซอร์ อย่าง Insects in the Backyard 7 ปี กว่าจะได้ฉาย จนผู้กำกับบางคนเลือกที่จะไม่ส่งหนังให้กองเซ็นเซอร์ ไม่ฉายก็ไม่ฉาย จนกว่าวันหนึ่งที่กูรู้สึกปลอดภัยกูถึงจะโอเค ส่งกองเซ็นเซอร์

การใส่ความเป็นการเมืองเข้าไปเป็นสิ่งที่ทำให้หนังเราได้เปรียบมากขึ้นไหม เหมือนทำให้หนังมีคุณค่ามากขึ้น
เอาจริงๆ คิด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ว่าใครใส่แล้วคุณจะ success มันต้องใช้วิธีที่จริงใจด้วย วิธีที่เหมาะสมด้วย ไม่อย่างนั้นทุกคนก็แค่ใส่กันฟู่ฟ่าว แล้วก็ไปเดินพรมแดงกันทั่วโลก

แล้วที่คุณใส่เข้าไปในหนังแล้วคนชอบล่ะ มันคือวิธีอะไร
มุกตลก เรามั่นใจว่าเราตลก เราเล่นตลกกับความจริงเยอะ คนที่โดนเหมือนเรา พอผ่านมาได้มันก็มองว่า เชี่ย คนนี้แม่งเลวว่ะ อารมณ์ตลกร้าย

เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับหนัง 'อวสานซาวด์แมน' หน่อย
เกี่ยวกับซาวด์แมนสองคนไปอัดเสียง เวลาในกองถ่ายมันก็จะมีทุกตำแหน่ง แต่เวลาขั้น post-production ของแผนกเสียงก็จะมีแค่แผนกเสียงคุยกัน เสียงที่เราได้ยินในหนังมันเป็นเสียงที่เราทำกันใหม่บ้าง มาจากเซ็ตบ้าง เราอยากโชว์ว่า เสียงดูดน้ำเนี่ยมันก็เป็นเสียงที่เราทำกันใหม่ มันเลยเป็นเรื่องตั้งแต่ออกกองจนถึง post-production ติ๊ต่างว่าเป็นเราสมัยไปฝึกงานแล้วคุยกับพี่ที่ฝึกงาน มันก็จะมีคำถามโง่ๆ ว่า พี่ครับเสียงนี้อัดยังไง หนังก็จะคุยกันไปแบบนี้เรื่อยๆ แล้วก็โชว์ว่าอัดกันยังไง ซึ่งไม่อยากสปอยล์เพราะเรามั่นใจว่ามันตลกมาก (ยิ้ม)

คนไทยจะมีโอกาสได้ดูไหม
ได้แน่ๆ ก็คงส่งประกวดมูลนิธิหนังไทยปีหน้า
 


ภาพจากหนัง Death of the Sound Man

III.

แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้างนอกจากทำหนัง
ตอนนี้มีสอนหนังสือบ้าง ส่วนงานซาวด์แมนช่วงนี้ไม่ค่อยได้ทำ เพราะไม่มีคนเรียกไปทำ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ที่เราได้ทำหนังเพราะเราว่าง พอเราว่างเราก็ทำหนัง เราไม่ใช่ซาวด์แมนที่ต้องทำงานเดือนละ 25 วัน เราไม่ฮอตขนาดนั้น เราอยู่ได้เพราะอะไรก็ไม่รู้ จริงๆ เราอยู่ได้เพราะเราเกาะพ่อแม่ (หัวเราะ) ไม่ๆ ไม่ขนาดนั้น ไม่แย่ขนาดนั้น แต่ก็ต้องยอมรับแหละ เรามีบ้านในกรุงเทพฯ เราได้เปรียบหลายๆ คน ค่าใช้จ่ายเราประหยัดได้เยอะ ต่อให้เราไม่มีงานเราก็มีความปลอดภัยในบางอย่าง เราก็เลยทำหนังได้เรื่อยๆ

ส่วนว่าทำอะไรต่อ ก็ว่าจะเลิกทำหนังสั้นแล้วทำหนังยาวให้ได้ แต่ชอบพูดอย่างงี้แหละ รู้อีกทีก็ เปรี้ยง หนังสั้นอีกเรื่อง

ตอนนี้สอนที่ไหน
ที่มหาวิทยาลัยหนึ่ง เป็นอาจารย์พิเศษ สอนแค่วิชาเดียวแหละ แต่สิ่งที่เจอคือนักเรียนเราไม่ขยันดูหนัง และมันยากมากที่จะเป็นคนทำหนังที่เก่งแล้วไม่ดูหนัง ไม่มี archive มันก็เลยน่าเสียดาย แต่จริงๆ เราก็ว่าเขาไม่ได้ ตอนเป็นนักเรียนเราก็ไม่ขยันดูหนัง เราก็มาผันตัวเองทีหลังเหมือนกัน

แล้วอะไรที่ทำให้มาขยันดูหนัง ทำหนังส่งเทศกาล
ตอนทำใหม่ๆ หนังเราก็เป็นหนังซ้ำๆ กับนักศึกษาไทยทั่วไป แต่พอจบมามันรู้แล้วว่า อ๋อ สุดท้ายวิธีการเปิดโลกทัศน์ที่ดีที่สุดก็คือการดูหนัง เราอาจจะคิดว่าเราดูหนังเยอะ เป็นนักเรียนหนัง ดูหนังไทย หนังฮอลลิวู้ด แต่จริงๆ แล้วเราลืมดูหนังอิหร่านมาตลอด เราลืมดูหนังจีนอินดี้มาตลอด เราดูแต่จีนพันธมิตรพากย์ เราไม่เคยดูหนังบราซิลกันด้วยซ้ำ เราก็เริ่มค่อยๆ ดู แล้วก็ค่อยๆ ติด แล้วก็โอ้โห ว้าว เราก็เลยอยากทำหนังตามเขา ไม่อยากทำหนังตามฮอลลิวู้ด เราอาจจะไม่มีปัญญาด้วย แล้วก็ไม่ได้รู้สึกกับมันเยอะด้วย

ติดใจเพราะอะไร
เราว่ามันเรียลลิสติกมากกว่า เราว่าบางทีดูโรโบคอปแล้วมันไกลตัวไป ถึงวันนี้กูก็ไม่ได้รู้จักหุ่นยนต์สักตัว แต่ดูหนังพวกนี้มันจินตนาการได้ว่า อ๋อ มันก็เกิดอยู่ข้างบ้านเรานี่เอง สมมติดูหนังบราซิล มันก็เกิดขึ้นที่ถนนนี้เอง มันดูแล้วมันเห็นวัฒนธรรม มันเหมือนเราได้ไปเที่ยวนะดูหนังเนี่ย อ๋อ เขาพูดกันแบบนี้ ทำแบบนี้

ตอนไปสเปนสนุกมาก มีเพื่อนผู้หญิงอิหร่านได้รางวัลหนังสั้นที่หนึ่ง เขาไม่ได้ใส่ฮิญาบ แต่วินาทีแรกที่เขาได้เขาเอาขึ้นมาคลุมเลย เขาบอกว่าไม่ได้เลยนะ ภาพหลุดไปเขาจะซวยมาก เนี่ยมันก็คือการเห็นโลกอีกอย่างหนึ่ง ทั้งการทำหนังและได้ไปเทศกาล

ทำไมคุณถึงกระหายที่จะส่งหนังไปเทศกาล อยากเจอโลกกว้างเหมือนตอนดูหนัง?
ใช่และไม่ใช่ อีกแง่หนึ่งคือเรารู้สึกว่าเราไม่ค่อย success กับเรื่องอะไร นอกจากทำหนังแล้วเราก็ทำอะไรไม่ค่อยเป็น แล้วเราก็รู้สึกพวกนี้มันชอบกู กูก็ขอเอาเรื่อยๆ ก็เสพติดเหมือนกัน โอ้ วันนี้มีคนเลือกหนังเราโว้ย อะไรแบบนี้ มันก็รู้สึกว่าอันนี้คุณค่าของเรา

อันที่ดีใจมากๆ เลยคือ หนังเรื่องของฝากจากสวิตฯ เราทำหนังเรื่องนั้นตอนปี 2557 แล้วเพิ่งมาเจอกับเพื่อนอัฟกันรอบนี้ปี 2560 มันเพิ่งได้พาสปอร์ต บอกว่าที่ได้พาสปอร์ตเพราะหนังเรา เราดีใจมาก เรื่องนี้เราดีใจมาก เพราะมันส่งเรื่องขอพาสปอร์ต แล้วก็ส่งหนังเราแนบไปด้วย บอกไปว่าได้รับเลือกให้ฉายกี่ที่ๆ เขาก็เลย เออว่ะ คนนี้ควรสนับสนุน เพราะเรื่องนี้มันกระจายไปตามเทศกาล ไปตามต่างประเทศ ถ้าให้พาสปอร์ตก็ทำให้ภาพลักษณ์สวิตฯ ดีขึ้นด้วยว่ารับผู้อพยพ มันก็เลยได้พาสปอร์ตส่วนหนึ่งเพราะหนังเรา แม้เหมือนเราจะเอาผลประโยชน์จากเขา เอาเรื่องเขามาทำหนัง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งให้เขาได้

ระบบซีเนียริตี้ในสังคมฟิล์ม
เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราก็อยู่กับระบบนี้ และเราว่ามันก็อบอุ่น ในเชิงที่ว่าสมมติเราเข้าไปใหม่ เราจน ก็จะมีพี่แบบ เฮ้ย ยศ มาๆ กูเลี้ยงข้าวมึง แล้วเราก็แฮปปี้ที่ได้ส่งต่อเรื่องพวกนี้ แต่จริงๆ ถึงไม่มีก็อาจจะเลี้ยงข้าวกันเองได้อยู่ดี

แล้วพอเขียนแนะนำตัวหรือเล่าอะไรสักอย่างเป็นภาษาอังกฤษ เราจะชอบบอกว่า เคยมีรุ่นพี่บอกยังงั้นยังงี้ เราจะชอบเขียนว่า senior friends แล้วฝรั่งก็จะถามว่าอะไรคือ senior friends วะ friends ก็คือ friends เราก็บอก เพื่อนที่แก่กว่าไง เขาก็บอก ไม่เห็นต้องบอกเลยว่าแก่กว่า มันก็จะเป็นการใช้ภาษาผิด ผิดวัฒนธรรม เพราะศัพท์ไทยเป็นแบบนั้น ขนบไทยเป็นแบบนั้น

แต่ที่ไม่โอเคกับระบบนี้ก็คือตอนที่เราอยากเถียงแล้วก็จะมีว่า (เปลี่ยนเสียง) ฉันแก่กว่าเธอนะ เธอเป็นใคร เราก็อยากเถียง แต่ส่วนที่โอเคก็คือมันซัพพอร์ตกัน รุ่นนี้ทำดีก็ส่งให้รุ่นต่อไป มันก็อาจจะไม่ต้องเป็นระบบซีเนียริตี้ก็ได้ แต่มันก็เกิดขึ้นกับประเทศเรา และเราก็อุ่นใจเวลาไปขอคำปรึกษากับรุ่นพี่ มันก็มีความอบอุ่น แต่มันก็แยกยากว่านี่คือซีเนียริตี้รึเปล่า สุดท้ายมันอาจจะไม่จำเป็น เออ จริงๆ ไม่ได้คิดเรื่องนี้เยอะขนาดนั้น

สังคมเมืองนอก
ถ้าในเอเชียก็จะเป็นอีกแบบ ถ้าในยุโรปก็จะต่างในแบบที่เราชอบกว่า ถ้าเราไปยุโรปตอนแรกเราจะแบลงก์ มันเชี่ยอะไรวะไอ้พวกนี้มันคุยกันจัง แต่พอรู้ อ้าว มันเพิ่งรู้จักกันในวงนี้ บางทีคุยกันไปเป็นชั่วโมง อ๋อ มึงชื่ออะไรนะ คนแก่คนเด็ก กวนตีนกันได้หมด แต่ถ้าเป็นเอเชียมันต้องแนะนำตัว ผมชื่อนี้ คุณชื่อนี้ แล้วก็จะเห็นเขาโค้งกันไปมา ก้มหัวทุกครั้งที่คุยกับคนแก่
แต่เอาจริงตอนอยู่ยุโรปเราก็สนิทกับเพื่อนเอเชียมากกว่า แต่มันชอบมากกว่าตอนอยู่เอเชีย เหมือนว่าในยุโรปถ้าเป็นเอเชียเจอหน้ากันก็จะทักทายแล้วกลายเป็นเพื่อนสนิทกันเสมอ เพราะเราอาจจะมีเรื่องภาษาด้วย เราฟังไม่เก่งขนาดนั้น พอเป็นสำเนียงเอเชียเราฟังง่ายกว่า และน่าจะมีเรื่องเด๋อๆด๋าๆ ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วด้วย เช่นอย่างไปยุโรป ไปยืนรอข้ามถนนแล้วมึงไม่ข้ามสักที มึงข้ามได้เลย เขาเบรกให้มึงอยู่แล้ว เราก็เชี่ยลืม ซึ่งเราว่ามันดีนะ คนเดินถนนแม่งมีพาวเวอร์จังเลย อยู่เมืองไทยเดินฟุตบาธก็ลำบาก ลงถนน คนขับก็บีบไล่ ทุกคนเลยอยากมีรถ เพราะมันหลีกหนีเรื่องพวกนี้ไปได้ อยู่ที่นู่นมันคือ กูมีตีน ศักดิ์ศรีกูสูงสุด

สายตาของคนต่างประเทศที่มองหนังของคุณและมองประเทศไทย
มันจะมีสองประเภท คือเราพูดอะไรก็เชื่อหมด กับอีกประเภทที่มันรู้สึกว่ามันรู้ แต่มันก็เกี่ยวกับว่ามันมาเมืองไทยแล้วเพื่อนสนิทมึงเป็นใคร แนวคิดการเมืองยังไง ถ้าแนวคิดมันคนละทางมันก็กล้าเถียงเรา แต่ถ้ามาทางเดียวกันก็สบายเลย ไหลได้ แต่จะมีทั้งครั้งที่คุยและไม่คุย รอบที่เพิ่งไปมาก็คุย ก็ซัดกันมันดี ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเดิมๆ แหละ เขาก็บอกมันคอร์รัปชันนะ เราก็บอกว่ามันคอร์รัปชันทั้งคู่อยู่แล้ว แต่จะเอาแบบไม่มีสิทธิมีเสียง หรือมีสิทธิมีเสียงได้ล่ะ มันก็เงียบไป

แต่ไม่มีครั้งที่เถียงกันแล้วได้มุมมองหรอก เราขี้เกียจอธิบายเยอะ เรารำคาญ ยิ่งถ้าเป็นพับลิกเราจะไม่อธิบายเยอะ แต่ถ้าเป็นหลังไมค์เดินมานอกโรง เป็นคนที่อยากรู้อยากคุยจริงๆ ก็จะคุย

อย่างคนสวิสฯ มันดูน่าเบื่อ ทุกอย่างมันดีมันสงบไปหมดเลย อะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นมันตื่นตาตื่นใจไปหมดเลย ชีวิตมันง่ายไปหมดมั้ง แค่เห็นคนไทยเอากระเทียมไปหั่นมันยังมีความสุขเลย แบบ โห ครัวเราได้ใช้หั่นกระเทียม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชี้ล้างไตทางช่องท้อง ตอบโจทย์คนไทย ลดโหลดโรงพยาบาล

Posted: 20 Dec 2017 10:27 PM PST

แพทย์โรคไตโรงพยาบาลอยุธยา ยันการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน  สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งทางระบบสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ช่วยลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและความแออัดในโรงพยาบาล

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

21 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังมักพบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ตัวเลขที่สูงขึ้นยังมากจากการคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากกว่าในอดีต เนื่องจากนโยบาย PD First Policy ที่ให้ผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง โดยผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังสามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนด้านบุคคลากรทางการแพทย์และความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก

พญ.เสาวลักษณ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ด้วยตนเอง โดยทีมแพทย์ให้ข้อมูลและทางเลือกด้านการรักษาที่มากขึ้น ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการป้องกัน เช่น การกินยาชุด หรือยาลูกกลอนจะส่งผลเสียต่อไตอย่างไร รวมถึงการจัดตั้ง Health Group ให้ผู้ป่วยและญาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการรักษาซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยใหม่เห็นว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในด้านการรักษาที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยเปิดใจกว้างและยอมรับ พร้อมเลือกรับการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องมากขึ้น  ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาได้ทั่งถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้

"นอกจากนี้ รพ.อยุธยา ยังได้วางแผนสำหรับผู้ป่วยในเหตุการณ์วิกฤติต่างๆ เช่น น้ำท่วม โดยทำคู่มือดูแลตนเองในภาวะน้ำท่วม และมีการส่งน้ำยาล้างไตล่วงหน้าให้กับผู้ป่วย ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถออกมาได้ ทางโรงพยาบาลได้มีการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการขนส่งน้ำยาล้างไต โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียมทีมช่วยเหลือฉุกเฉินไว้ ทั้งมีการสำรองน้ำยาล้างไตไว้สำหรับผู้ป่วยวิกฤติอีกด้วย" พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์: วิกฤติที่วิชาชีพนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน

Posted: 20 Dec 2017 04:47 PM PST

"ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์"

นั่นเป็นคำประกาศของ คุณดำรง พุฒตาล ในวาระการปิดตัวของนิตยสารคู่สร้างคู่สม

สำหรับคนเคยเรียน เคยสอน และเคยทำงานในด้านนิเทศศาสตร์มาตลอดชีวิต คำพูดของคุณดำรงถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชวนคิด เรื่องนี้แวดวงการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ควรได้นำไปพิจารณากันให้ดี

ความเป็นจริงในอุตสาหกรรมสื่อวันนี้ปฏิเสธกันยากว่าคนทำงานสายนิเทศศาสตร์มีปัญหา ทีวีดิจิทัลวันนี้ร่อแร่ ล่าสุดช่องวอยส์ทีวีเพิ่งประกาศลดคนหลังจากหลายสถานีปรับตัวไปก่อนหน้าแล้ว สถานะของหนังสือพิมพ์ที่ถือเป็นสื่อใหญ่วันนี้ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โฆษณาไม่เข้าขณะที่ยอดขายตกและบางเจ้าก็ถอดคนออกเช่นกัน ด้านนิตยสารล่าสุดขวัญเรือน ดิฉัน และคู่สร้างคู่สมที่ต่างเคยเป็นเจ้าตลาดพากันประกาศยุติการพิมพ์ ส่วนวิทยุที่เคยแห่กันเข้ามาทำจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนราวหมื่นสถานีวันนี้ลดเหลือห้าพันกว่าและยังทยอยกันปิดตัวหรือขอเลิกกิจการกับกสทช.

การปรับตัวของสถาบันการศึกษาอาจเป็นข่าวน้อยหน่อย แต่คนสอนหนังสือในสายนี้รู้ดีว่ากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ บางมหาวิทยาลัยควบรวมหรือปิดสาขาวิชาเพื่อลดต้นทุน ลดอาจารย์ลง และกดดันอาจารย์ให้หานักศึกษาเพื่อพยุงยอดเด็ก

วิกฤติที่วิชาชีพนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนประสบอยู่วันนี้ เหตุที่เห็นชัดที่สุดคือการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่าเป็น Disruptive Technology อินเทอร์เน็ต การหลอมรวมสื่อ การมีสื่อใหม่เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนใช้สื่อของคนในสังคม นี่คือเหตุสำคัญทำสื่อต่างๆที่เคยมีบทบาทอยู่เดิมในสังคมประสบหายนะทางธุรกิจ

แต่พิจารณาให้ลึกลงไปในธรรมชาติของมนุษย์และสังคม ถ้าถามว่าวันนี้คนไม่อ่านหนังสือ ไม่ดูหนังฟังเพลงกันแล้วหรือ ?
คำตอบคือคนก็ยังอ่านหนังสือ รับรู้ข่าวสารและแสวงหาความบันเทิงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่พวกเขาเปลี่ยนจากหนังสือกระดาษไปเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนจากดูจอทีวีเป็นจอมือถือ ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์ วันนี้คนไม่ได้ค้นหาเรื่องน่าสนใจจากนิตยสารแต่ค้นจากกูเกิ้ล เข้าร่วมกับกลุ่มในอินเทอร์เน็ต และหาคลิปหาข้อมูลจากสื่อใหม่

พิจารณาในเบื้องลึกเถิด ความต้องการพื้นฐานด้านข่าวสารความรู้และความบันเทิงของคนก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่ที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียงรูปแบบของสื่อและพฤติกรรมการใช้เท่านั้น ซึ่งทั้งสองประกอบกันแล้วก็คือ Disruption ในธุรกิจสื่อวันนี้

สิ่งจริงแท้คือสื่อเปลี่ยน คนเปลี่ยน แต่ความต้องการของคนไม่เปลี่ยน ความต้องการยังมีอยู่เหมือนเดิม

ความคิดที่ว่า "ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์" ก็อาจเร็วไปหน่อยรึเปล่า? เพราะที่สุดแล้วเนื้อหา สาระ ความรู้ความบันเทิง ก็ยังเป็นของที่มีคนต้องการ และความต้องการของคนที่ว่ายืนยันได้จากปริมาณเนื้อหาสาระและข้อมูลต่างๆ ที่แพร่หลายท่วมท้นอยู่บนอินเทอร์เน็ตวันนี้... นี่เข้ากับสัจธรรมทางการตลาด ของที่มีคนต้องการย่อมต้องมีคนผลิตและมีการกระจายจ่ายแจก เพียงแต่รูปแบบของสินค้า บริการ และการจ่ายแจกนั้น อาจแตกต่างไปจากรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ที่เคยรู้จักและเคยทำกันอยู่

สำหรับนักนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ของวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่คือคนที่สังคมผลิตมาในยุคของสื่อเก่า วิธีคิดวิธีผลิตสื่อยังติดรูปแบบอนาล็อก มีคนจำนวนไม่มากที่สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างที่เรียกกันว่าเป็นพวก Digital Immigrant .. สื่อเก่าและวิธีการอย่างเก่าๆ จึงตอบสนองคนรุ่นใหม่และสิ่งแวดล้อมใหม่ได้น้อย

โลกของสื่อดิจิทัลและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตวันนี้ คนรุ่นใหม่เป็นพวก Digital Natives ส่วนคนรุนก่อนที่ปรับตัวได้ก็เป็น Digital Immigrantไป ... พวกเขาเสพสื่อและรับสารจากสื่อใหม่ พวกเขาสื่อสารกันเองด้วยภาษาและไวยกรณ์ในยุคสมัยของพวกเขา ดังนั้นแม้ความต้องการพื้นฐานของพวกเขาจะยังคงเหมือนเดิม แต่สื่อและเนื้อหาที่พวกเขาต้องการก็แตกต่างไปจากเดิมมากแล้ว

ปัญหาวันนี้จึงวนกลับมาที่กระบวนการผลิตนักนิเทศศาสตร์ กระบวนการผลิตวันนี้ได้ปรับจิตสำนึกนักนิเทศศาสตร์ให้เป็นแบบดิจิทัลหรือเปล่า ? หรือว่ายังทำกันแบบเดิมที่เคยทำตามๆ กันมา

ถ้าวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังสอนนิเทศศาสตร์กันแบบเดิมๆ ด้วยครูที่มีจิตใจแบบอนาล็อก และหลักสูตรที่ออกแบบมาจากยุคอนาล็อก อย่าว่าแต่ คุณดำรง พุฒตาล เลย ที่นี่ก็คงจะบอกเหมือนกันว่า

"ผมจะห้ามลูกเรียนนิเทศศาสตร์"

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟสบุ๊ค Pana Thongmeearkom

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล่า2017: ความรุนแรงทางเพศหลากมิติ มากกว่าทำร้ายทุบตี ขืนใจ บังคับสอดใส่

Posted: 20 Dec 2017 04:34 PM PST


ที่มาภาพ https://tv.mthai.com

หลังจากที่ "ล่า" บทประพันธ์ของทมยันตี ถูกนำมาถ่ายทอดใหม่เป็นครั้งที่ 3 (ครั้งแรกในรูปแบบภาพยนตร์เมื่อปี 2520 และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี2537 ดังนั้นครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่2 ในรูปแบบละครโทรทัศน์) ไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ได้สร้างกระแสบนสังคมออนไลน์ไปไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของการตามล่าล้างแค้นผู้ชายทั้ง7คน ที่สร้างบาดแผลในชีวิตไว้ให้นางเอกและลูกสาว แน่นอนว่า ฉากสำคัญฉากหนึ่งอันเป็นที่มาของการที่ทำให้ผู้หญิงธรรมดาๆที่คิดร้ายต่อใครไม่เป็น ผู้หญิงธรรมดาๆที่เพียงอยากมีชีวิตเพื่อเป็นแม่ที่ดีของลูก กลับต้องลุกขึ้นมา "ล่า" เพื่อเอาคืนชายโฉด7คน ฉากนั้นก็คือฉากการ "รุมโทรมข่มขืน" 

ในส่วนของการสร้างละครภายใต้การกำกับดูแลของ "สันต์ ศรีหล่อแก้ว" เท่าที่ได้ดูการออกอากาศไปแล้ว โดยรวมๆผู้เขียนถือว่าทำได้ดีมาก ฉากที่นางเอกและลูกสาวถูกรุมโทรมข่มขืน ดูไม่ล่อแหลมเกินไปแต่สะเทือนความรู้สึกมาก รายละเอียดอื่นๆอาจมีข้อถูกท้วงติงบ้าง ซึ่ง ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ท่านได้กรุณาให้ความเห็นไปแล้ว แต่รวมๆผู้เขียนยังมองว่าละครเวอร์ชั่นนี้ทำได้ดีมาก (อย่างน้อยก็ดีกว่าละครไทยที่ผ่านมาอีกหลายเรื่องมากๆ)

แต่ผมอยากถ่ายทอดมิติความรุนแรงทางเพศ เมื่อการ "ข่มขืน" เป็นมากกว่าเพียงเรื่องการสนองอารมณ์ความต้องการทางเพศ

ถ้าใครได้ดูละครเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือได้อ่านบทประพันธ์ จะเห็นว่า มูลเหตุจูงใจของการข่มขืน ไม่ใช่เรื่องของความหื่นกระหายทางเพศ ยิ่งเรื่องประเด็นการแต่งตัวล่อแหลมของนางเอกและบุตรสาว ตัดออกไปได้เลย (และเรื่องแบบนี้ สำหรับผม ไม่อาจยอมรับเป็นเหตุผลได้ เพราะมันคือมิติความรุนแรงทับซ้อนในเชิงมายาคติ)  

มูลเหตุมาจากเรื่องที่นางเอก เอาของกลางคดีค้ายาเสพติดไปส่งให้ตำรวจ พวกผู้ร้ายในเรื่องจึงโกรธแค้น และพยายามตามมาแก้แค้น เมื่อมีช่วงสบจังหวะ จึงเข้าทำการฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราบนตึกร้าง

ตามบทโทรทัศน์ "ไอ้แป๊ว" หัวหน้าแก๊งค์ 7 ทรชนพูดขึ้นมาว่า "พวกมึงสองคน ต้องชดใช้สิ่งที่ทำกับพวกกูด้วยชีวิต!" ก่อนลงมือข่มขืน ตรงนี้อาจชี้ให้เห็นได้ว่า การรุมโทรมข่มขืนครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งการสนองอารมณ์ทางเพศเป็นหลัก (แม้ในฉากที่ผ่านๆมา ตัวละครบทร้ายทั้ง 7 คน อาจมีการแทะโลม ใช้วาจาส่อทางกามบ้าง แต่ก็ไม่มีทีท่าที่คิดจะคุกคามบังคับขืนใจนางเอกกับลูกสาว)

แต่มุ่งใช้การข่มขืนในการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อสองแม่ลูกตัวละครเอกของเรื่องนี้ ให้กลายเป็นบาดแผลในชีวิต ให้เหมือนตกนรกทั้งเป็น

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้คือ พฤติการณ์นี้ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมายาคติในสังคม ที่บ่อยครั้งพวกเราเอง อาจตกเป็นผู้มีส่วนร่วมกันโดยไม่รู้ตัว ไม่ทันได้คิด

ประการแรก สังคมไทยเรายอมรับการดำรงอยู่ของมายาคติในเรื่องที่ว่า การที่ผู้หญิงสักคนสูญเสียพรหมจรรย์* หรือความบริสุทธิ์ทางเพศให้ผู้ชายสักคน นั่นคือการสูญเสียความเป็นเจ้าของในชีวิต สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนให้กับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับตน ไม่ว่าโดยยินยอมก็ดี ไม่ยินยอมก็ดี

บางครั้ง เราก็มีวาทกรรมที่สะท้อนมายาคติที่แฝงความรุนแรงเช่นนี้ออกมาในรูปของการพูดหยอกล้อกันเล่นๆ เช่น "แม้ชีวิตจริงเราไม่ได้เป็นอะไรกัน แต่ในความฝันเธอเสร็จฉันตั้งนานแล้ว" สิ่งที่แฝงอยู่ในประโยคนี้นั่นคือการยอมรับว่า การที่ผู้ชายสำเร็จความใคร่กับผู้หญิงได้สำเร็จ นั่นคือการที่ชีวิต ร่างกายของผู้หญิงผู้นั้นจะต้องเป็นของผู้ชายแล้ว

หรือแม้กระทั่งการที่ผ่านมาจนครบรอบ10ปีแล้ว ที่เครือข่ายองค์กรสตรีได้ผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 ได้สำเร็จ  แต่สุดท้าย คนในสังคมจำนวนหนึ่ง ก็ยังไม่เข้าใจ หรือยอมรับในเรื่องความผิดฐาน "ข่มขืนภรรยา" นี่ก็เป็นผลพวงจากมายาคติการเอาเรื่องพรหมจรรย์ไปผูกติดกับการทำให้ผู้ชายมีความเป็นเจ้าของชีวิตของฝ่ายหญิง

และในอดีตที่ผ่านมา พบว่า เรายอมรับกันแม้กระทั่ง การให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่ข่มขืนตน เพื่อยุติปัญหา โดยไม่ได้นึกถึงว่านี่คือการตอกย้ำความรุนแรงทางเพศที่ซ้ำซ้อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากมิติการเอาเรื่อง ความเป็นเจ้าของในชีวิตร่างกายไปผูกติดกับเรื่องพรหมจรรย์แล้ว ประเด็นเรื่องการใช้การข่มขืนเพื่อย่ำยี ทำลายความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมโลก ที่ปรากฏว่าในหลากหลายสงครามนับแต่โบราณกาล ก็มีกรณีที่ทหารผู้รุกรานใช้การข่มขืนสนองตัณหาและย่ำยีประชาชนในดินแดนที่ตนไปรุกราน รวมถึงยังมีบางประเทศ ก็มีการใช้การรุมโทรมข่มขืน เป็นบทลงโทษผู้หญิงที่ถูกพิพากษาว่าประพฤติผิดระเบียบ ผิดจารีตของสังคมนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงมีปรากฏในบางประเทศจนถึงปัจจุบัน

อีกประการที่ต้องขอกล่าวถึง หากใครได้รับชมละครเรื่องดังกล่าวมาต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มออกอากาศ แม้ว่าเนื้อเรื่องเวอร์ชั่นนี้จะได้ปรับเข้ากับบริบทสังคมสมัยใหม่ แต่กระนั้น แนวคิดการยัดเยียดตราบาปให้ผู้ถูกกระทำ ก็ยังคงปรากฏผ่านตัวละครที่เป็นอดีตสามีของนางเอก ที่ตามมาอาละวาดที่โรงพยาบาล ว่าตนรู้สึกอับอาย ให้นางเอกและบุตรสาวที่เกิดกับตนไปเปลี่ยนนามสกุลและขอตัดขาด

ความจริงในสังคมคือ มายาคติการยัดเยียดตราบาปแก่ผู้ถูกกระทำ ยังมิได้หมดไปจากสังคมเสียทีเดียว มันยังคงปรากฏในรูปแบบของการหาเหตุผลต่างๆมากล่าวโทษหรืออ้างอิงเหตุการณ์  เช่น การกล่าวโทษเรื่องการแต่งกายของเพศหญิงว่าล่อแหลม ยั่วยวนให้เกิดการข่มขืน การกล่าวอ้างว่าผู้หญิงไม่ควรดื่มสุรา หรือแม้แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุข่มขืนที่เกิดในละครเรื่องนี้ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่มีทั้งเรื่องการแต่งกายล่อแหลม หรือการดื่มสุรา แต่ก็ยังมีความคิดเห็นบางส่วนจากผู้ชม ที่แม้แสดงออกว่าเห็นใจผู้ถูกกระทำ แต่ก็ยังไม่ก้าวข้ามมายาคติที่คิดว่า ผู้หญิงไม่ควรเดินในที่เปลี่ยว

แม้ในทางปฏิบัติ เราอาจต้องระมัดระวังพื้นที่เปลี่ยว พื้นที่สุ่มเสี่ยงอาชญากรรม แต่ผู้เขียนก็ขอเรียกร้องว่า หากเรายืนยันว่าความเสมอภาคของบุคคลคือสิ่งสำคัญ  ประเด็นการแต่งกาย การใช้ชีวิตไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่ควรเป็นเหตุรองรับการถูกข่มขืนทั้งสิ้น

การสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนต่างหาก ที่ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราในฐานะพลเมืองของสังคม

และผู้เขียนยังขอยืนยัน ณ ตรงนี้ในจุดยืนเดิมที่ยึดถือมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ผู้เขียนร่วมทำงานรณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกกรณี ผู้เขียนอยากให้คนในสังคมได้มองเห็นประเด็นร่วมกันจากละครเรื่องนี้ มากกว่าการเรียกร้องโทษประหาร หรือเพิ่มโทษในคดีการข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เขียนอยากให้ผู้คนในสังคมตระหนักร่วมกันในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ผู้เขียนอยากขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และหวังว่าผู้ชมละครทุกท่านจะรวมกันในสนับสนุน ให้มีการนำเอาเรื่อง Battered Person Syndrome หรือ "ภาวะกดดันจนต้องฆ่า" มาใช้ในการพิจารณาคดีที่อาจมีผลพวงมาจากการที่จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำความรุนแรงสะสมต่อเนื่อง

จริงอยู่ เราอาจไม่ยอมรับการแก้แค้น หรือแก้ไขปัญหาในสังคมกันด้วยความรุนแรง และกรณีอย่างในละครนี้ที่นางเอกได้ฆ่าชายโฉด 7 คน โดยไตร่ตรองวางแผนเป็นอย่างดี มันคือการแก้ปัญหานอกวิถีทางกระบวนการยุติธรรม แต่เนื้อเรื่องก็ได้นำเสนอภาพการถูกกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับตัวนางเอก ตั้งแต่การทำร้ายทุบตี นอกใจ เหยียดหยามดูหมิ่นโดยอดีตสามี ต่อเนื่องมาจนถึงการข่มขืนรุมโทรมโดยชายโฉด 7 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้แก่นางเอกได้เลย

อย่างการลงโทษในคดีข่มขืน ผู้เขียนเองก็มองว่า แม้บทลงโทษที่ระบุนั้น จะไม่ได้เบาเกินไป และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทลงโทษ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ความเสื่อมศรัทธาที่สังคมมีต่อกระบวนการยุติธรรม ก็คือการบังคับใช้ ที่ขาดประสิทธิภาพตั้งแต่การพิจารณาโทษ ไปจนถึงกระบวนการลงโทษ ที่ขาดการขัดเกลาพฤติกรรม การติดตามผลที่ดี จนสุดท้ายเรือนจำ ยังเหมือนจะกลายเป็น "โรงเรียนอาชญากรรม" สำหรับอาชญากรมือใหม่ไปเสียอีก !

ในชีวิตจริง การฆาตกรรมหรือพยายามฆ่า ที่เกี่ยวข้องกับผลพวงจาก Battered Person Syndrome มีไม่น้อย ดังเช่นคดีฆาตกรรมอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ ที่บุคคลผู้เป็นภรรยาตัดสินใจจ้างมือปืนมาฆ่าสามีของตน เนื่องจากตนถูกสามีทำร้ายร่างกายมาตลอด แม้ว่าเรื่องราวตกเป็นข่าวดัง แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การช่วยเหลือของ "แม่พระหน้าสื่อ" ก็เป็นเพียงฉากสร้างภาพที่ไม่ได้ทำงานกระบวนกับต้นตอปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขที่เหมาะสม !

เมื่อกระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้ ความรุนแรงยังเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด ความกดดันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การฆ่า จึงอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ผู้เปราะบางทางสังคม จะสามารถใช้เป็นหนทางออกจากความกดดันที่ตนแบกรับได้

และผู้เขียนยังเชื่อว่า มีผู้ถูกกระทำกดดันสะสมอีกจำนวนมาก ที่ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่า พยายามฆ่า หรือกำลังคิดที่จะฆ่า !

การหยิบเรื่อง Battered Person Syndrome มาใช้พิจารณาคดี แม้ต่อให้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมอย่างเหมาะสมได้เต็มที่ แต่อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และพลเมืองอย่างเราๆ จะได้ใส่ใจต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงต่อเด็กที่ยังมีอยู่อีกมากมายในสังคม เพราะเชื่อได้ว่า เรื่องนี้มิเพียงแต่เป็นวงจนที่ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็น "ผู้กระทำ" อันเป็นผลจากการถูกกระทำจนต้องหาทางออกด้วยการฆ่าเท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เรื่องการถูกกระทำความรุนแรงสะสมในรูปแบบต่างๆ ยังทำให้เด็กและเยาวชนของเราจำนวนอีกไม่น้อย กำลังเตรียมพร้อมที่จะกลายเป็น "ผู้กระทำ" ต่อผู้อื่นต่อไปได้อีก

แม้ในชีวิตจริง เรื่องการมีองค์กรลับที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน กลายเป็นนักฆ่า ตามล้างแค้นผู้ชายที่ย่ำยีตนอย่างในละครอาจไม่มีอยู่จริง แต่ละครเรื่องนี้ ก็น่าจะพอทำให้เราได้เห็นภาพว่า หากเราไม่ร่วมมือกัน ใส่ใจจริงจังต่อปัญหาความรุนแรงที่ถูกถ่ายทอดส่งผ่านในสังคมตั้งแต่โครงสร้างจนถึงฐานราก ผู้ถูกกระทำก็สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นผู้กระทำ และความรุนแรงจะยังดำรงอยู่ในสังคมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !
 

ข้อเสนอเพิ่มเติม: ผู้เขียนอยากให้ทางผู้จัดละครและผู้กำกับ ได้พิจารณาหาทางสอดแทรกเนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวภูมิหลังของผู้กระทำทั้ง 7 คน ที่แต่ละคนอาจเคยเป็น "ผู้ถูกกระทำ" มาก่อน เพื่อชี้ให้เห็นว่า การกำเนิดอาชญากรนั้น มีที่มาที่ไป บาดแผลความรุนแรงที่เปลี่ยนเยาวชนเป็นอาชญากร คือสิ่งที่ถูกส่งต่อผ่านสังคมที่พวกเราอยู่ทุกวันนี้ เพื่อกระตุกต่อมคิดให้ผู้คนได้ร่วมกันขบคิดถึงความรุนแรงแฝงกันมากขึ้นและตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อวางรากฐานความดีงามให้เด็กและเยาวชนของเรา มากกว่าที่จะมุ่งแนวคิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน  หากไม่เป็นภาระแก่ผู้จัดละครและสถานีโทรทัศน์มากเกินไปก็โปรดพิจารณา

 

หมายเหตุ: *พรหมจรรย์ ในความหมายตามตัวอักษร หมายถึง ความประพฤติบริสุทธิ์สะอาด แต่ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตนำมาใช้ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในสังคมไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร?(2​): คุณภาพการศึกษาและกำลังคนตกต่ำ ไม่มีใครช่วยได้เชียวหรือ?

Posted: 20 Dec 2017 04:18 PM PST

 


หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานหรือคนทำงานไทยที่สถานศึกษาระดับต่างๆผลิตขึ้นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะให้ได้คำตอบนี้เราต้องทำความเข้าใจว่าขณะนี้พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่

เมื่อเดือนตุลาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรไทย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 65.75 ล้านคนอยู่ในวัยแรงงาน (work force) จำนวน 56.05 ล้านคน (ดูแผนภาพที่ 1) เปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน น่าจะอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตราบเท่าทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากประชากรวัยแรงงานจำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.22 ล้านคน ซึ่งผู้เขียนขอใช้เวลาพูดถึง กลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.83 ล้านคน (33%) ซึ่งแน่นอนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไม่ได้หรือยังไม่ได้อยู่ในฐานะสร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น แม่บ้าน 5.72 ล้านคน เป็นคนทำงานที่คอยสนับสนุนคนในบ้านที่ต้องออกไปทำงานภาคเศรษฐกิจไม่ถือว่าเป็นภาระของสังคม เนื่องจากมีคนหารายได้ให้ใช้อยู่เบื้องหลัง แต่ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน เกือบ 100% อยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้งบประมาณมากกว่า 20.3% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งประเทศ เพื่อหวังว่าจะผลิตบุคลากรจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ แต่คุณภาพของผู้เรียนที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เป็นผลจากการที่คุณภาพการศึกษาตกต่ำมาเป็นเวลานาน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ส่งต่อผู้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

แผนภาพที่ 1  โครงสร้างประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (ตุลาคม 2560)


ข้อเท็จจริงของความล้มเหลวคือไม่สามารถรักษาเด็กแต่ละชั้นเรียนให้คงอยู่ในสถานศึกษา เช่น จำนวนเด็กก่อนจะถึงอายุ 15 ปีนั้น ในปี 2559 เป็นเด็กอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ (6-14 ปี) ซึ่งมีประชากรวัยนี้อยู่ 7.4 ล้านคน แต่ปรากฏว่าได้รับการศึกษาเพียง 7.2 ล้านคน หลุดจากระบบการศึกษาจากแต่ละชั้นเรียนถึง 2 แสนคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในสังกัด ศธ. และผู้ปกครองจะต้องนำเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ แต่ความเป็นจริงหน่วยงานที่รับผิดชอบยังปล่อยให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการศึกษา และพบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเด็กด้อยคุณภาพ  ถ้าตกจากระบบนานนับ 10 ปี และไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้รับการฝึกอบรมอีกเลยจนอายุถึง 18 ปี ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงงานหรือคนทำงานทักษะต่ำ (low skilled) ทำงานรับจ้าง รายได้ต่ำวนเวียนในวัฏจักรของความยากจน 
 
ตัวเลขนักเรียนไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก็มีมาก ในปี 2559 อยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ. ซึ่งกลุ่มนี้มีอายุ 12-14 ปี มีประชากรวัยนี้ 2.6 ล้านคน แต่ไม่ได้เรียนต่อถึง 11.4% หรือประมาณ 3 แสนคน เป็นสถิติที่น่าตกใจมากเนื่องจากอายุยังไม่ถึงวัยทำงาน ไม่มีใครกล้าจ้างเด็กเหล่านี้เข้าทำงาน (เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็ก) นับเป็นความสูญเปล่าที่ยังไม่ได้แก้ไขให้สำเร็จ   ยิ่งกว่านั้น เมื่อเข้าสู่วัยที่ต้องเลือกเรียนต่อสายสามัญและอาชีวศึกษาพบว่า มีเด็กวัย 15-17 ปีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านคน เรียนต่อเพียง 2 ล้านคน แบ่งเป็นเรียนต่อสายสามัญ 1.3 ล้านคน (48.9%) อาชีวศึกษา 0.7 ล้านคน (23.8%) (ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการให้มีผู้เรียน ปวช. ถึง 60-70%)  ดังนั้น ยังมีผู้ไม่ได้เรียนต่อถึง 0.7 ล้านคน (27.1%) นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติเช่นกัน เพราะเด็กกลุ่มนี้หากจะทำงานก็ทำได้ไม่เต็มที่แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแต่นายจ้างก็ไม่อยากสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้ว แต่ยังปล่อยให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควรเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลน และเยาวชนยากจน เป็นต้น 

ปัญหารองลงมาเป็นเรื่องที่ผู้เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะ (ช่วงอายุ 18-21 ปี) ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนถึง 43.7% หรือประมาณ 308,000 คน ไม่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา(หรืออนุปริญญา) โดยเด็กเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าทำงานได้ทันทีทั้งหมด เนื่องจากบางส่วนอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องรอเกือบปีเต็มและเป็นช่วงที่เด็กจะอ่อนไหวต่อการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองเพื่อรอเข้าสู่ตลาดแรงงาน (ถ้าไม่กลับเข้าไปเรียนต่อ) จึงมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เกิดความสูญเสียต่อประเทศชาติจนไม่อาจประเมินได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กศน. และ/หรือหน่วยงานประชารัฐจะต้องจัดฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มีโอกาสเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลนแรงงานนี้จำนวนนับแสนคนได้  นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เข้าเรียนอุดมศึกษาปีที่ 1 ไม่ได้มาลงทะเบียนหรือออกจากระบบการศึกษาถึง 38.6% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเช่นกัน นับเป็นความสูญเปล่าต่อประเทศเป็นอย่างมาก 

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องนำนักเรียนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับกลับเข้าเรียนหนังสือและ/หรือเทียบการศึกษา (อาจจะโดย กศน.) เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความรู้ติดตัว (อย่างน้อยให้อ่านออกเขียนได้) เพื่อสามารถเข้ารับการฝึกอบรมในระดับเหมาะสมกับวัยและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชารัฐ

ที่จริงแล้วการสูญเสียอันเกิดจากเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนทุกคนนั้นเป็นความสูญเสียเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่ทั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงานอีกส่วนคือคนว่างงานและข้อมูลส่วนอื่นๆ จากตัวเลขจากตารางที่ 1 จะเห็นว่าเกือบ 1.2 ล้านคน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่สามารถสนับสนุนมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศและยังเป็นภาระให้กับประเทศอีกด้วย ถ้าตัดกลุ่มพระและเณรออกไปกลุ่มที่เหลือเข้าข่าย "เสียของ" โดยเฉพาะผู้ต้องโทษหรือผู้อยู่ในสถานพินิจฯ ถึงแม้ว่าจะได้รับอิสรภาพแล้วแต่จะมีปัญหาในการเข้าทำงานในตลาดแรงงานในระบบเป็นส่วนใหญ่อันเกิดจากสังคมยังไม่เปิดกว้างยอมรับกำลังแรงงาน "มีตำหนิ"เหล่านี้ทำให้อยู่ในภาวะ "ถูกรอนสิทธิ" การช่วยเหลือกลุ่มนี้คือการส่งเสริมให้ทำงานอาชีพอิสระหรือสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมผ่อนปรนกฎระเบียบให้รับผู้ต้องขังเข้าทำงานให้มากขึ้น
 
ตารางที่ 1 ประชากรวัยแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร
จำนวนผู้อาจจะมิได้อยู่ในกำลังแรงงาน  จำนวน (คน)
1. ผู้มิได้เรียนต่อทุกชั้นเรียน/ปี ประมาณ 56,000
2. ว่างงาน (ณ ตุลาคม) ประมาณ  480,000
3. พระและเณร ประมาณ  330,000
4. ผู้ต้องขัง ประมาณ  300,000
5. อยู่ในสถานพินิจ เด็ก/เยาวชน ประมาณ  30,000
รวม  1,196,000
หมายเหตุ: ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (1) ที่เหลือ (2-5) อยู่นอกกำลังแรงงาน
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

เมื่อย้อนกลับไปดู ประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคนเป็นผู้มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ 36.65 ล้านคน มีพลังในการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไม่เท่ากันเนื่องจากแรงงาน/คนทำงานมีคุณภาพ (การศึกษา) สูงต่ำแตกต่างกัน ถ้าจำแนกแรงงานกลุ่มนี้ออกไป 2 ส่วน คือแรงงานในระบบ (ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมีเพียงประมาณ 15.34 ล้านคน หรือ 41.2% เท่านั้น) ถ้าตัดนายจ้างออก 0.94 ล้านคน จะเหลือลูกจ้างเอกชนเพียง 14.4 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการสร้างรายได้ในรูปมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยจากกำลังแรงงานเพียง 41.8% เป็นแรงงานที่มีคุณภาพระดับ semi-skilled ขึ้นไป แต่กำลังแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงาน (หรือคนทำงาน) นอกระบบ (ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย) จำนวน 21.31 ล้านคน หรือ 58.2% แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในภาคเกษตรถึง 11.04 ล้านคน มากกว่า 51.8% ของแรงงานนอกระบบ ส่วนมากมีคุณภาพ (ระดับการศึกษา) ระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าเกือบ 50% ทำการผลิตทางการเกษตรเชิงเดี่ยวมีผลิตภาพต่ำทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำมาก อีก 10.27 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัวซึ่งมีจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการหารายได้ที่มั่นคงซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งที่จะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในระดับที่สูง(ช่วยสนับสนุนให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว)
 
สิ่งที่ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้วคือ พยายามนำประเทศไทยให้ก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางไปให้ได้ โดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศระยะยาว 20 ปี พร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมุ่งสู่นวัตกรรม 4.0 (ไทยแลนด์ 4.0) ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมๆ รวมเวลา 55 ปี พิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจได้ช้ากว่าประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กัน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย  จุดอ่อนของประเทศไทยคือ มีปัญหาที่การผลิตและพัฒนากำลังคน (ด้านอุปทาน) และปัญหาการผลิตและการค้าที่ขาดนวัตกรรม (ด้านอุปสงค์)  การที่ประเทศไทยกำลังปรับโครงสร้างการผลิต/อุตสาหกรรมบริการในช่วง 20 ปีข้างหน้า นับว่าเดินมาถูกทาง แต่รัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการหรืออย่างน้อยจะพบว่า ประเทศไทยยังขาดนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความสามารถระดับโลก สังเกตได้จากรายชื่อมหาวิทยาลัยวิจัยที่ไทยมีอยู่ติดลำดับไม่ถึง 100 ของโลก มีนวัตกรรมในรูปสิทธิบัตรค่อนข้างน้อยและมีผลงานวิจัยที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ค่อนข้างจำกัด มีผู้มีงานทำที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นับล้านคนแต่ส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่ศึกษา มีกำลังแรงงานเพียง 41% ของกำลังแรงงานที่อยู่ในข่ายสนับสนุนทั้งหมด 8.12 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรม (หรือ 21.8% ของกำลังแรงงาน) และมีแรงงานสาขาเทคนิคหรือจัดในกลุ่ม productive work force ไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งยังมีน้อยมากเทียบกับกำลังแรงงาน 37.2ล้านคน

ผู้เขียนจึงเสนอแนะกิจกรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เด็กวัยเรียน ทุกคนต้องได้เรียนและระหว่างเรียนต้องรักษาอัตราคงอยู่ทุกชั้นเรียนให้ได้ใกล้เคียงกับ 100% ผู้บริหาร ศธ. ทุกระดับและครูทุกคนต้องรับผิดชอบกับคุณภาพเด็กนักเรียนทุกคนที่ไม่ได้มาตรฐานให้กลับมาเป็นพลังในการพัฒนาประเทศให้ได้  

2. เก็บตกเด็กวัยเรียนทุกคนให้ได้เรียนและ/หรือฝึกฝีมือแรงงาน เด็กและเยาวชนที่พ้นวัยเรียนรวมทั้งผู้ที่ตกจากระบบมาก่อนให้พวกเขาทุกคนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้ทุกคน

3. ใช้กระบวนประชารัฐที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานความร่วมมือในการเตรียมผู้จบการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง

4. ขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาทุกช่วงวัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

5. รัฐควรจะต้องดูแลกำลังคนที่เป็นแรงงานในระบบและคนทำงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม

ดังนั้นก่อนที่จะคิดถึงอะไรที่ไกลความเป็นจริง รัฐก็ควรจะดำเนินการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้อง 5 ข้อข้างต้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
 
 

 

 56,000

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น