โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จักรภพแถลงเตรียมเดินสายชี้แจงกรณีหมายจับคดีอาวุธสงคราม บางน้ำเปรี้ยว

Posted: 08 Dec 2017 08:09 AM PST

ผู้ลี้ภัยการเมือง อดีตรัฐมนตรี แกนนำคนเสื้อแดงโพสต์แถลงการณ์บนเฟสบุ๊ค ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและถูกใส่ร้ายจากกรณีตรวจพบอาวุธสงครามที่ จ.ฉะเชิงเทรา ประกาศเตรียมเดินทางชี้แจงทำความเข้าใจกับมิตรประเทศและตำรวจสากล  

หลังจากที่ศาลอาญาได้มีการอนุมัติหมายจับ 5 ผู้ต้องหา คือ นายชัยวัฒน์ ผลโพธิ์ นายสมเจตน์ คงวัฒนะ นายจักรินทร์  เรืองศักดิ์วิชิต พลโท มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 และนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และแกนนำคนเสื้อแดงที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และมีพฤติกรรมเป็นอั้งยี่ หลังมีการตรวจพบอาวุธสงครามจำนวนมากใน อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในวันที่ 7 ธันวาคม ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้ว

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ได้มีการโพสต์แถลงการณ์บนเฟสบุ๊ค จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair ปฏิเสธข้อหาดังกล่าว ว่าถูกระบอบเผด็จการยัดเยียดข้อกล่าวหา และยังระบุว่าได้เตรียมการเดินทางเยี่ยมเยือนมิตรประเทศ รวมถึงสำนักงานตำรวจสากล หรือ Interpol เพื่อชี้แจงเบื้องหลังของกรณีนี้ให้ได้รับรู้โดยละเอียด โดยจะไม่รอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการกล่าวโทษตนได้ก่อน

นอกจากนั้นจักรภพยังบอกว่าในการเดินทางเพื่อชี้แจงกรณีการออกหมายจับแล้ว ยังจะรณรงค์ให้ข้อมูลยืนยันว่าประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการเข้ามาลงทุนด้วย 

 

0000

แถลงการณ์ของ นายจักรภพ เพ็ญแข ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องอาวุธ (8 ธันวาคม 2560)

กราบเรียนพี่น้องมวลชนที่เคารพรัก

ในที่สุด ระบอบเผด็จการรัฐไทย ก็ใช้วิธียัดเยียดข้อกล่าวหาตัวผมและบุคคลอื่นๆ ว่าได้กระทำการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องอาวุธ แต่งเรื่องผูกโยงไปถึงอาวุธจำนวนหนึ่งที่อุตส่าห์ไปจัดฉากกันไว้ก่อนแล้วที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

กระบวนการยุติธรรมของไทยได้ทรุดต่ำลงมาก ถึงขั้นสนองตัณหาเผด็จการที่ทำเรื่องนี้ขึ้น ก็เพียงเพื่อจะได้ยืดอำนาจมาปล้นสดมภ์ประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป เมื่อสถาบันหลักของชาติสมคบคิดกันทำชั่วกันอย่างหน้าด้านเช่นนี้ได้แล้ว ก็เหลือเพียงสถาบันหลักของชาติบางสถาบันที่คงต้องเลือกแล้วว่า จะพายเรือให้โจรนั่ง เพื่อที่จะโดยสารไปกับโจรด้วย จะหลอกใช้โจรเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวไปพลางก่อน หรือจะเลือกอยู่ข้างประชาชนที่กำลังมองสถานการณ์ของบ้านเมือง มองเงินในกระเป๋าตัวเอง และมองอนาคตลูกหลานด้วยความกังวลห่วงใย ถ้าเลือกผิด เมืองไทยทั้งเมืองจะเดินไปสู่ห้วงเหวแห่งความหายนะในเวลาไม่นานนี้ โดยอาจเริ่มจากเครดิตเงินกู้ระหว่างประเทศของไทยที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ

สิ่งที่ผมจะทำต่อไปจากนี้คือ จะเดินทางเยี่ยมเยือนมิตรประเทศของเราจำนวนมาก รวมทั้งสำนักงานตำรวจสากลหรือ Interpol เพื่อแถลงความบริสุทธิ์ของเราและจะเล่าเบื้องหลังความฉ้อฉลของกรณีนี้ให้เขาได้รับรู้โดยละเอียด โดยจะไม่รอให้ระบอบเผด็จการไทยใช้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการกล่าวโทษได้ก่อน

ผมจะเล่าด้วยว่า ประเทศไทยของท่านและของผม ยังน่าลงทุน และยังควรค่าที่เขาจะเข้ามาร่วมงานทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย อย่าห่วงเรื่องโจรที่ครองบ้านครองเมืองอยู่ชั่วคราว และกำลังถอยหลังลงคลองอยู่เรื่อยๆ นี้เลย ผมจะเดินหน้าบริหารความสัมพันธ์เหล่านี้ตามระบบสากล อาจขอให้บางชาติร่วมกับเราอย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อขับไล่ฝูงโจรที่ใช้เท้ากดหัวคนไทยมาเนิ่นนานนับปีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อจะได้กลับมาร่วมมือกันอย่างสากล และเป็นประชาธิปไตยกันต่อไป

พี่น้องโปรดอย่าห่วงว่า เรื่องโกหกเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคของพวกเราในการทำงานสากล ตรงกันข้าม ผมจะทำงานง่ายขึ้นอีกมาก เพราะเทคนิคเผด็จการแบบนี้มันเก่าซ้ำซาก จนเขารู้ทันและหัวเราะเยาะกันอยู่ทั่วโลก.

จักรภพ เพ็ญแข
8 ธันวาคม 2560
นอกราชอาณาจักรไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ 101: เปิดปูมดราม่า เหตุผลที่โลกขยับเพราะประเทศเล็กๆ

Posted: 08 Dec 2017 07:42 AM PST

ทำความเข้าใจว่าทำไมนานาชาติประณามทรัมป์หลังยกเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอล ย้อนดูเงื่อนปมดราม่าอิสราเอล-ปาเลสไตน์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ นัยสำคัญของเยรูซาเล็ม และดอกผลความขัดแย้งที่โลกและไทยก็เคยได้รับ

กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้วสำหรับการประกาศยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและแผนการย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิสราเอลจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และกระแสความไม่เห็นด้วยจากนานาประเทศด้วยหวั่นว่าจะมีผลกระทบต่างๆ นานา

ประกายความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประชาคมโลกรวมทั้งสังคมไทยต่างได้รับดอกผลของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ของอิสราเอล สหรัฐฯ ปาเลสไตน์ และชาติมุสลิมในตะวันออกกลางมานานแล้ว

ประชาไทรวบรวมปมความขัดแย้งยาวนานบนพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ อัตลักษณ์ และผลกระทบต่อโลกและสังคมไทยมานำเสนอ

ทั่วโลกประณาม-ชาวปาเลสไตน์ประท้วง หลัง 'ทรัมป์' ประกาศเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล

เยอรมนียกเลิกถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต 'โรเจอร์ วอเตอร์ส' จากกรณีที่เขาบอยคอตต์อิสราเอล

ปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาจากไหน

หากจะดูเค้าลางการเกิดความขัดแย้งในพื้นที่อิสราเอลต้องย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พื้นที่ขัดแย้งในวันนี้เคยมีชื่อเรียกว่า ปาเลสไตน์ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสติเนียนที่เป็นอาหรับเสียส่วนใหญ่ ปาเลสไตน์ถูกครอบครองโดยจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ก่อนที่สหรัฐฯ จะมาร่วมทีมในปี 1917

ในช่วงปี 1915-1916 ก่อนสงครามเสร็จสิ้น ทางอังกฤษพูดคุยกับฮุสเซน บิน อาลี เจ้าผู้ครองนครเมกกะ ให้บิน อาลีลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิออตโตมันเพื่อสร้างศึกภายใน และหลังสงครามจะแบ่งดินแดนให้บิน อาลีสร้างจักรวรรดิอิสลามขึ้น

ในขณะที่เจรจากับบิน อาลี อีกด้านหนึ่ง อังกฤษก็พูดคุยกับฝรั่งเศสจนมีข้อตกลงชื่อว่าข้อตกลงไซเกส-ปิโกต์ (Sykes-Picot Agreement) ขึ้นมาเพื่อแบ่งดินแดนที่เคยเป็นของจักรวรรดิออตโตมันกันเสียใหม่ ซึ่งต่อมารัสเซียเองก็ให้การสนับสนุนข้อตกลงนี้ ตัวข้อตกลงระบุว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของดินแดนปาเลสไตน์จะอยู่ภายใต้การดูแลของนานาชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทกันระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและรัสเซียว่ามีใครไปยึดกุมพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเป็นมาทางศาสนามายาวนานแต่เพียงผู้เดียว

ดราม่ายิ่งซับซ้อนขึ้นอีกเมื่อในปี 1917 อังกฤษทำข้อตกลงกับฝรั่งเศสภายใต้แถลงการณ์บัลโฟร์ ที่มุ่งหาพื้นที่สร้าง "ชาติอันเป็นบ้าน" ให้กับชาวยิว จนกระทั่งในวันที่ 2 พ.ย. 1917 รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการกับกลุ่ม องค์กรไซออนิสต์โลก ให้จัดตั้งประเทศที่เป็นบ้านของชาวยิวขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์

ไซออนิสม์เป็นความเชื่อของชาวยิวที่ถือความเชื่อทางศาสนาของชาวยิว (ศาสนายูดาย) เป็นสัญชาติด้วย และเชื่อว่ายิวสมควรที่จะมีรัฐอิสราเอลเป็นของตัวเอง แนวคิดนี้ถูกนำมาตีแผ่จนเป็นลัทธิชาตินิยมแบบยิวในราวปี 1896 โดยนักข่าวเชื้อสายยิว-ออสเตรีย ชื่อว่าธีโอดอร์ เฮอร์ส

จากนั้นอิสราเอลค่อยๆ ก่อร่างสร้างรัฐขึ้นมาภายใต้สถานภาพการเป็นรัฐใต้อาณัติของอังกฤษ (รัฐเจ้าอาณัติคือสถานะรัฐที่มีรัฐหนึ่งคอยกำกับการสร้างรัฐก่อนที่จะปล่อยให้เป็นอิสระ) จากนั้นก็มีชาวยิวอพยพมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงที่ยุโรปมีการกวาดล้างชาวยิวภายใต้ระบอบนาซี

การสร้างรัฐของอิสราเอลไม่มีกลไกคุ้มครองสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นชนพื้นถิ่นเดิม ฝ่ายบริหารของทางการชาวยิวมีแต้มต่อในการเจรจากับยุโรปมากกว่ากลุ่มชาวปาเลสไตน์เพราะฝ่ายแรกมีสายสัมพันธ์อันดีกับองค์กรไซออนิสต์โลก ชาวยิวขับเคลื่อนการสร้างรัฐอิสราเอลผ่านทั้งการพูดคุยและการใช้กำลังเพื่อก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ประจำในปาเลสไตน์

ในปี 1947 มติที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UNGA – United Nations General Assembly) ระบุให้พื้นที่ปาเลสไตน์แบ่งเป็นสองประเทศ มตินี้ส่งผลกระทบสองอย่าง หนึ่ง มติดังกล่าวส่งผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นในหลายเมืองที่อิสราเอลยึดครองเอาไว้ด้วยกำลังอยู่ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างไฮฟาและเมืองจาฟฟา สอง ชาติสมาชิกอาหรับ ได้แก่ อียิปต์ เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย อิรัก และเยเมน เป็นชาติที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวและพยายามหาแนวร่วมผลักดันให้ปาเลสไตน์เป็นของชาติอาหรับแต่สุดท้ายก็แพ้ในช่วงลงคะแนนเสียงไปด้วยคะแนน 33-13 ทั้งนี้ มติดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เกิดความพอใจขึ้นทั้งในฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายอาหรับ

ภายหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากปาเลสไตน์เพราะปัญหาเศรษฐกิจและปฏิเสธที่จะต้านทานความสูญเสียที่ได้รับจากการก่อการร้ายชาวยิวอีกต่อไป ก็ได้ส่งไม้ต่อให้ยูเอ็น จนวันที่ 14 พ.ค. 1948 อิสราเอลก็ประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการท่ามกลางความไม่พอใจของชาวอาหรับในภูมิภาคจนเป็นผลให้ชาติอาหรับส่งกองกำลังผสมจำนวน 21,500 นายเข้าโจมตีกองกำลังอิสราเอลในปาเลสไตน์ทันที

แต่ด้วยปัญหาเรื่องการสื่อสารกันในกองกำลังผสม การขาดความสามัคคีในหมู่ชาติอาหรับและกองกำลังที่น้อยเกินไปทำให้อิสราเอลสามารถป้องกันการโจมตีเอาไว้ได้ ทั้งยังยึดครองพื้นที่อาณัติปาเลสไตน์เพิ่มเข้าไปอีกเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมด สงครามดังกล่าวส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 7 แสนคนต้องพลัดถิ่นที่อยู่

ปัจจุบันชาวปาเลสไตน์จำนวน 2.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของอิสราเอล อีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ทางทิศตะวันออกของอิสราเอล ทั้งสองพื้นที่ปัจจุบันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอยู่ จนปัจจุบัน เว็บไซต์ข่าว VOX รายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ทั้งสิ้นมากกว่า 7 ล้านคน มากกว่าประชากรชาวยิวที่มีอยู่ในประเทศอิสราเอลในปัจจุบันเสียอีก หากวันหนึ่่งอิสราเอลเปิดประเทศให้ชาวปาเลสไตน์กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ชาวยิวจะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศทันที

แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของประชากรชาวยิวและปาเลสไตน์ สีเขียวแสดงพื้นที่ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ที่ชาวปาเลสไตน์ตั้งรกรากอยู่ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เยรูซาเล็มคืออะไร

เยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงก์ เป็นเมืองที่มีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนายูดายและอิสลาม จึงเป็นเมืองที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็หมายปองจะใช้เป็นเมืองหลวง

แนวคิดเรื่องการแบ่งเมืองเยรูซาเล็มอย่างยุติธรรมที่สุดยังคงเป็นปัญหาที่คุยกันไม่จบ ในช่วง 20 ปีแรกหลังอิสราเอลก่อตั้งประเทศ จอร์แดนเป็นเจ้าของพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเทมเปิลเมาท์ หน้าผาที่เป็นที่ตั้งของกำแพงเวสเทิร์นวอลล์อันเป็นกำแพงโบราณจากวัดยิวที่ยังเหลืออยู่ ถือเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของศาสนายูดาย และยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อัคซา และโดมทองแห่งเยรูซาเล็ม (Dome of the Rock) ที่เป็นทั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองศาสนาที่กล่าวมา แต่หลังสงครามกับชาติอาหรับที่มีขึ้นอีกครั้งในปี 1967 อิสราเอลก็ได้เยรูซาเล็มตะวันออกมาเป็นของตัวเอง

ภาพทางอากาศบริเวณทิศใต้ของเทมเปิลเมาท์ โดมสีทองตรงกลางคือ Dome Of Rock ส่วนโดมเล็กสีดำด้านหน้าคือมัสยิด อัล-อัคซา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ทุกวันนี้อิสราเอลใช้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็แทบไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับ สะท้อนจากการตั้งสถานทูตของหลายประเทศในเมืองเทล อาวีฟ แทนที่จะเป็นเยรูซาเล็ม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ประกาศยอมรับสถานภาพเยรูซาเล็มในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล เนื่องจากท่าทีเช่นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นตัวกลางสานสันติภาพ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา กระนั้นก็ตาม แม้ท่าทีของทรัมป์ในปัจจุบันจะค้านสายตานานาประเทศอย่างไร แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ให้เจรจาแบ่งกรุงเยรูซาเล็มกันได้อยู่ เพราะทรัมป์เองก็ไม่ได้พูดชัดๆ ว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงที่แบ่งให้ปาเลสไตน์ไม่ได้

ชาวปาเลสไตน์โต้ตอบอิสราเอลอย่างไรบ้าง

ชาวปาเลสไตน์เองก็มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธมาตอบโต้อิสราเอลเช่นกัน ที่ได้ยินชื่อกันบ่อยมีอยู่ 2 กลุ่มคือกลุ่มฮามาส และกลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) ฝ่ายแรกควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาและมีกำลังติดอาวุธถึง 25,000 คนตามรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน อีกฝ่ายคุมพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถรวมตัวกันติดเพราะความแตกต่างด้านอุดมการณ์ ทั้งนี้ ความพยายามในการรวมตัวยิ่งซับซ้อนขึ้นหลังอิสราเอลประกาศไม่เจรจารัฐบาลปาเลสไตน์หากมีกลุ่มฮามาสร่วมรัฐบาลด้วยเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

เคยมีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและกลุ่มปาเลสไตน์ มีการประชุมมาดริดในปี 1991-1993 และเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากอิสราเอล ปาเลสไตน์ และชาติอาหรับ (จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน) มีการเจรจาร่วมกันครั้งแรก แม้ตัวแทนจากปาเลสไตน์จะได้เป็นเพียงสมาชิกในชุดพูดคุยจากจอร์แดนเท่านั้น การแลกเปลี่ยนในที่ประชุมไม่ได้ไปถึงไหน จนกระทั่งยิตซัก ราบินได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องการพูดคุยสันติภาพกับปาเลสไตน์อีกครั้ง นำไปสู่กระบวนการยุติความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือข้อตกลงออสโล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการสร้างสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป้าหมายของข้อตกลงคือการบรรลุสิ่งที่เรียกว่า "ข้อตกลงสุดท้ายด้านสถานะ" (final status agreement) ที่จะทำให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ขึ้นบนฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ แลกกับการที่ชาวปาเลสไตน์จะยุติการใช้ความรุนแรงกับชาวอิสราเอล

ตั้งแต่การพูดคุยที่ล้มเหลวในปี 2001 ก็ยังไม่มีข้อตกลงอะไรออกมา ผนวกกับปัจจัยเรื่องการรวมตัวไม่ติดของกลุ่มฮามาสและพีแอลโอ และการที่ทั้งสองฝ่ายยังใช้ความรุนแรงต่อกันก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสำคัญอย่างไร

ที่ผ่านมา การปะทุของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์และชาติอาหรับสร้างผลกระทบให้กับโลกและไทยเป็นระยะๆ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อปี 1994 (พ.ศ.2537) มีความพยายามก่อเหตุระเบิดที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย คนขับรถชาวอิหร่านขับรถ 6 ล้อ บรรทุกระเบิดปุ๋ยยูเรียและระเบิดซีโฟร์มุ่งหน้าไปยังสถานทูตฯ แต่บังเอิญรถบรรทุกเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์บริเวณหน้าห้างย่านชิดลม คนร้ายจึงทิ้งรถบรรทุกระเบิดและหลบหนีไป

ในปี 1937 ความขัดแย้งที่ขยายวงภายใต้บริบทสงครามเย็นที่สหรัฐฯ และหลายชาติเข้ามาช่วยเหลืออิสราเอล ทำให้ชาติอาหรับ 12 ชาติที่เป็นสมาชิกองค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม (โอเปค) คว่ำบาตรสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สนับสนุนอิสราเอลในทางทหาร รวมถึงใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อในกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาค ด้วยการลดไปจนถึงงดส่งออกน้ำมัน ทำให้ในเวลาหกเดือนต่อมาราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นถึงสี่เท่าตัว ในเวลานั้น ค่าครองชีพในสหรัฐฯ สูงขึ้นและส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์ลดลงในตลาดการเงินโลก ทำให้ทั่วโลกเกิดความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ต่อมานโยบายดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชาติที่สนับสนุนอิสราเอลได้แก่ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสและแอฟริกาใต้ การคว่ำบาตรทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ต่างขวนขวายหาน้ำมันมาเก็บสำรองไว้และรู้ว่าสหรัฐฯ เองก็ช่วยอะไรเรื่องนี้ไม่ได้เพราะตัวเองก็ติดกับดักการพึ่งพาแหล่งน้ำมันจากภายนอกในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งยังต้องคอยคานอิทธิพลสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลาง รักษาสัมพันธ์กับชาติที่ผลิตน้ำมัน แถมยังต้องช่วยเหลืออิสราเอลอีก สุดท้ายสหรัฐฯ ต้องทำเจรจาคู่ขนาน ทางหนึ่งกับผู้ส่งออกน้ำมัน อีกทางหนึ่งจัดให้อิสราเอล อียิปต์และซีเรียมีการพูดคุยกันเพื่อขอให้อิสราเอลถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนายและที่ราบสูงโกลานที่ยึดเอามาจากอียิปต์และซีเรียตามลำดับ แม้ผลการเจรจาจะล้มเหลว แต่ก็ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับซีเรียได้ เป็นผลให้การคว่ำบาตรถูกยุติลงในเดือน มี.ค. 1974

แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางระบุว่าการคว่ำบาตรเช่นนี้สามารถทำได้ครั้งเดียว เพราะการคว่ำบาตรแต่ละครั้งส่งผลใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตน้ำมันเองที่จะทำให้มีผลเสียต่อพวกเขาในระยะยาว

หนึ่งประเด็นที่สำคัญในด้านความมั่นคงก็คือ อิสราเอลเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) รายงานว่า ในปี 2017 อิสราเอลมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองถึง 80 ลูก แถลงการณ์จากสหรัฐฯ รอบนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแล้วในหมู่ชาวปาเลสไตน์ว่าจะขยายวงออกไปสู่กลุ่มติดอาวุธหรือรัฐบาลชาติอาหรับอื่นๆ หรือไม่ และถ้ามี อิสราเอลที่มีกำปั้นดินระเบิดนิวเคลียร์เพียงผู้เดียวในภูมิภาคจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นคำถามที่ได้คำตอบในอนาคตอันสั้น

การออกตัวของทรัมป์ยังเป็นการตั้งคำถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงด้วยว่า การยืนข้างอิสราเอลอย่างชัดเจนจะเป็นชนวนใหม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นข้ออ้างในการปลุกระดมหาแนวร่วมหรือไม่ นอกจากนั้น เหตุรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลที่แม้ในช่วงที่ไม่มีชนวนในระดับระหว่างประเทศที่ใหญ่เท่านี้ก็มีเหตุรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมเป็นระยะอยู่แล้ว การออกตัวแรงของทรัมป์ครั้งนี้จะนำไปสู่อะไรยังเป็นประโยคคำถามที่ทั้งโลกรอคอยคำตอบอย่างระมัดระวัง

แปลและเรียบเรียงจาก

Everything you need to know about Israel-Palestine, VOX, Dec 6, 2017

Israel will not negotiate with Palestinian unity government if Hamas is involved, The Guardian, Oct 17, 2017

Charles Smith, The Arab-Israeli Conflict, in International Relations of the Middle East, Oxford University Press, 2013, pp. 254-261

Oil Embargo, 1973–1974, US Office of the Historian, retrieved on Dec 8, 2017

100 years on: The Balfour Declaration explained, Aljazeera, Oct 29, 2017

A century on:Why Arabs resent Sykes-Picot, Aljazeera, retrieved on Dec 8, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบาย ‘ปากว่า ตาขยิบ’ บทเรียนและทางออก ก.ม.คุมธุรกิจของต่างด้าว (1)

Posted: 08 Dec 2017 07:35 AM PST



ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลในการผลักดันประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามแนวคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการกำหนด เป้าหมายและการดำเนินการในหลายด้านรวมทั้งการผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลักที่ใช้ในการกำกับดูแลการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ คือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างด้าว ที่แปลงมาจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ปี พ.ศ. 2515 กลับไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและสภาพการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากว่า 45 ปี

พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 เป็นกฎหมายแม่บทในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวในประเทศ กฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่ง 2 ประการ คือ 1.กำหนดนิยามของบริษัทต่างด้าว และ 2.กำหนดประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการ

ในส่วนของนิยามของคนต่างด้าวนั้น กฎหมายนี้กำหนดให้พิจารณาสัญชาติ ของบริษัทจากตัวแปรเดียว คือ ดูสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว หากบริษัทใดมีบุคคลหรือบริษัทต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด จะถือว่ามีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างชาติ

สำหรับประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวดำเนินการนั้นจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท 1 เป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ เช่น การแพร่ภาพกระจายเสียงและสิ่งพิมพ์ การเลี้ยงสัตว์ การทำป่าไม้ เป็นต้น

ประเภท 2 เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของ ประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ การทำเหมือง เป็นต้น

ประเภท 3 เป็นธุรกิจที่คนไทย ยังไม่พร้อมแข่งขันกับกิจการของคนต่างด้าว เช่น การนำเที่ยว การขายทอดตลาด เป็นต้น หากแต่รายการที่ 21 ในบัญชี 3 ดังกล่าวได้ระบุให้ "บริการอื่นๆ" เป็นบริการที่ห้าม คนต่างด้าวประกอบกิจการซึ่งหมายความว่า ธุรกิจบริการทุกประเภทเป็นธุรกิจที่สงวนหมด

ที่ผ่านมา กฎหมายนี้มักจะถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ นิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวม การพิจารณาสัญชาติของบริษัทเพียงจากสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรง ทำให้ธุรกิจต่างชาติสามารถเข้ามามีอำนาจในการควบคุมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการบริษัทในทางปฏิบัติได้โดยการถือหุ้นทางตรงเต็มเพดานที่ 49% และถือหุ้นทางอ้อมผ่านผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทไทยอีกชั้นหนึ่งโดยไม่ผิดกฎหมาย

เรื่องที่สอง มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจาก ห้ามคนต่างด้าวลงทุนในธุรกิจบริการ "ทุกประเภท" ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเรื่องของบริการเกือบทั้งสิ้น

แม้กฎหมายจะอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ต้องการประกอบธุรกิจบริการสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นรายกรณีได้ แต่การศึกษาสถิติการให้อนุญาต พบว่า บริการที่ได้รับการอนุญาตส่วนมากจำกัดเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่มเป็นการเฉพาะ ธุรกิจที่เป็นคู่สัญญาในโครงการของรัฐ และธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนเท่านั้น

การมีนิยามของคนต่างด้าวที่หละหลวมกอปรกับข้อห้ามในการลงทุนในสาขาบริการแบบ "ครอบจักรวาล" ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจทำให้ทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามา ประกอบธุรกิจในฐานะนิติบุคคลไทย ทั้งอย่างถูกกฎหมายด้วยการถือหุ้น ทางอ้อม และอย่างผิดกฎหมายด้วยการ ถือหุ้นผ่านนอมินีหรือผู้ถือหุ้นที่เป็น คนไทย ปัญหาที่ตามมาคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะบัญญัติกฎหมายไว้เข้มงวดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในทางหนึ่ง หน่วยงานภาครัฐของไทย ต้องการสงวนอำนาจในการกลั่นกรอง การลงทุนของต่างชาติผ่านการกำหนด รายการประเภทธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยมีมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐกิจไทยยังต้อง พึ่งพาทุนต่างชาติ จึงมีการผ่อนปรนนิยามให้คนต่างชาติสามารถถือหุ้นทางอ้อมได้วิธีการดังกล่าวทำให้นโยบายการลงทุนของคนต่างชาติของไทยมีลักษณะ "ปากว่า ตาขยิบ" มาโดยตลอด

ผู้เขียนเห็นว่า ทางออกของปัญหา ข้างต้นนั้นควรดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นแบบ "package" โดยปรับปรุง ใน 2 ส่วนไปพร้อมกันทั้งการปรับปรุง นิยามของคนต่างด้าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และการปรับปรุงสาขาธุรกิจ ที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการซึ่งจะกล่าวถึงแนวทางการดำเนินการในบทความครั้งถัดไป

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2560

ที่มา: tdri.or.th/2017/11/the-amendment-on-foreign-business-act-1/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักบินเยอรมันแจง ไม่นำเครื่องที่มีผู้ลี้ภัยถูกส่งกลับขึ้น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

Posted: 08 Dec 2017 06:48 AM PST

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 สื่อดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่านักบินเยอรมันหลายคนปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำสั่งส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับบ้านเกิดรวมแล้วเป็นจำนวน 222 ราย นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกทางการเยอรมนีสั่งให้ส่งตัวพวกเขากลับไปยังอัฟกานิสถานในพื้นที่ที่ยังคงมีความรุนแรงแม้ว่าชาติตะวันตกจะเข้าไปทำสงครามและยึดครองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ทางการเยอรมนีระบุให้ประเทศอัฟกานิสถานเป็น "ประเทศต้นทางที่ปลอดภัย" ในบางกรณีแม้จะมีเหตุรุนแรงและการปราบปรามเกิดขึ้นอยู่ในบางพื้นที่ก็ตาม

กลุ่มที่เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้คือพรรค "ดายลิงเกอ" (Die Linke) หรือที่รู้จักกันในนามพรรคฝ่ายซ้ายของเยอรมนี การไม่ยอมบินส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่สนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ตามมาด้วยสนามบินโคโลญจ์-บอนน์ สายการบินส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับคือลุฟทันซา และสายการบินในเครือเดียวกันอย่างยูโรวิงส์

ไมเคิล แลมเบอร์ตี โฆษกของลุฟทันซากลุ่มว่าการเลือกจะไม่ส่งตัวผู้โดยสารไปยังที่หมายขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากนักบินเป็นรายกรณี โดยมีเกณฑ์ในการตัดสินใจคือถ้าหาก "มันส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน" รวมถึงพิจารณาจากข้อมูลเตือนล่วงหน้าว่าถ้าหากประเทศปลายทางที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเริ่มมีการยกระดับสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น

หนึ่งในนักบินของลุฟทันซาที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามกล่าวว่าเขาจะไม่นำเครื่องขึ้นถ้าหากเขาถามผู้ถูกส่งตัวกลับว่าอยากจะเดินทางในครั้งนี้ไหมแล้วผู้ถูกส่งตัวกลับตอบกลับมาว่าไม่ เขาให้เหตุผลอีกว่าเพราะเขาไม่อยากให้มีคนเกิดอาการแตกตื่นในช่วงที่มีการบินซึ่งถือเป็นการปกป้องผู้โดยสารคนอื่นๆ ไปในตัวด้วย

ดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่านักบินอาจจะถูกดำเนินมาตรการทางวินัยถ้าหากพวกเขาปฏิเสธจะนำเครื่องขึ้นด้วยสาเหตุในเรื่องเชิงจริยธรรม โฆษกอีกรายหนึ่งของลุฟทันซา เฮลมุต โทล์คสดอร์ฟ กล่าวว่าพวกเขาไม่พบกรณีของนักบินที่ปฏิเสธจะนำเครื่องขึ้นด้วยสาเหตุด้าน "จิตสำนึก" เลย

เยอรมนีเป็นประเทศที่รับจดทะเบียนผู้ลี้ภัยมากกว่าประเทศอียูอื่นๆ ทั้ง 27 ประเทศรวมกัน จากข้อมูลของยูโรสแตตระบุว่าสำนักงานกลางคนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยของเยอรมนี (BAMF) ตัดสินพิจารณากรณีขอลี้ภัย 388,201 กรณีในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560

นอกเหนือจากกรณีในเยอรมนีแล้วก่อนหน้านี้นักบินสายการบินบริติชแอร์เวย์ในสหราชอาณาจักรก็เคยปฏิเสธไม่เอาเครื่องขึ้นหลังจากที่พบว่าหนึ่งในผู้โดยสารคือ ซานิม บิกซาด ชาวอัฟกันที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ โดยบิกซาดขอลี้ภัยเนื่องจากเขาถูกกลุ่มติดอาวุธตอลีบันขู่สังหาร


เรียบเรียงจาก

Pilots stop 222 asylum seekers being deported from Germany by refusing to fly, The Independent, 07-12-2017
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/german-pilots-refuse-deport-asylum-seekers-lufthansa-angela-merkel-migrants-a8092276.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Q&A ภัทรา สังขาระ: ถ้าพิการและจน อยากได้สวัสดิการอะไรจากบัตร ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’

Posted: 08 Dec 2017 05:46 AM PST


ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี

 

ทราย-ภัทรา สังขาระ อายุ 29 ปี ใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่บนเตียงที่บ้าน หลังเกิดภาวะเนื้องอกทับเส้นประสาทที่หลัง จนทำให้ไม่สามารถเดินได้ แม้จะมีวีลแชร์ที่ใช้สำหรับไปไหนมาไหน แต่การนั่งก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ นั่นจึงทำให้การทำกิจวัตรนอกบ้าน หรือการประกอบอาชีพแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อปีสองปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศให้คนที่มีรายได้น้อย ลงทะเบียนทำบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าภัทราที่แทบจะไม่มีรายได้ประจำก็เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย แม้สิทธิที่ได้รับสามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในครอบครัวอย่างพวก แก๊สหุงต้ม ข้าว ผงซักฟอก ฯลฯ ได้บ้าง แต่กลับพบว่า สิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การเดินทางด้วยรถสาธารณะ เธอกลับไม่สามารถใช้มันได้เลย


ปกติใช้สวัสดิการอะไรบ้าง
ภัทรา: ช่วงนี้ไปโรงพยาบาล 6 เดือนครั้งนึง เพราะอาการไม่ค่อยมีอะไรแล้ว เวลาจะไปก็เรียกรถพยาบาลบ้าง หรือบางทีก็ไปรถที่บ้าน นอกนั้นก็สวัสดิการคนพิการทั่วไป

มีบัตรคนพิการอยู่แล้วทำไมต้องทำบัตรคนจนเพิ่มอีกหนึ่งใบ
ก็เราจนด้วย เป้าหมายของการทำมันไม่ใช่เงิน 300 บาท แต่คือความรู้สึกว่าช่วงนี้รัฐจะมีการปรับสวัสดิการ สิทธิการรักษาอะไรหลายๆ อย่าง เรากลัวว่าถ้าไม่ลงทะเบียนเราจะยังมีสิทธิใช้สิทธิการรักษาพวกนี้อยู่รึเปล่า การไม่มีสิทธิคืออะไรที่เป็นห่วงที่สุดก็เลยไปทำไว้

บัตรคนจนให้สวัสดิการอะไรบ้าง
คนที่ได้บัตรมีสองแบบคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี กับคนที่ได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่ถึง 100,000 บาท สิ่งที่ได้รับต่างกันคือเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ถ้ารายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้ 300 บาทต่อเดือน แต่ถ้าได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่ถึง 100,000 บาท ก็จะได้ 200 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นก็จะเป็นเงินซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท และค่าเดินทาง คนต่างจังหวัดก็จะมีบัตรอีกแบบนึงที่ไม่สามารถใช้กับบีทีเอสได้ แต่ใช้ได้กับรถ บขส.หรือรถไฟ แต่คนที่อยู่กรุงเทพฯ จะใช้ได้พวกรถเมล์ และรถไฟฟ้า

บัตรคนจนทำให้คนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือเปล่า และช่วยให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นไหม
ด้วยตัวเงินมันก็อาจจะช่วยได้ในระดับนึงคือเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 300 ต่อคน แต่ว่าในระยะยาวมันไม่ช่วยอะไรแต่ยิ่งทำให้เหมือนกับว่าคนจนต้องรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เขาหายจน

อย่างเรื่องคุณภาพชีวิต เงินนี้ก็ไม่ค่อยได้ช่วยให้ดีขึ้น แค่ช่วยให้มีเงินใช้เพิ่มขึ้น 300 บาท ซึ่ง 300 บาทเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามันไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ในมุมมองคนพิการเงินนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเมื่อเราไม่สามารถเอาเงินส่วนนั้นไปใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอส รถเมล์ เราก็ต้องให้คนอื่นเอาไป ซึ่งเราก็ให้แม่เอาไปใช้เพราะว่ามีชื่ออยู่หลังบัตรคนพิการ ไม่ใช่แค่ไม่สะดวกในการใช้เอง แต่เรารู้สึกว่าไม่สะดวกตั้งแต่ไปลงทะเบียนแล้ว รัฐทำโครงการมาแล้ว 2 ปี ทำไมเราต้องไปลงทะเบียนทุกปี เรารู้สึกว่าคนไม่ได้หายจนกันง่ายขนาดนั้นด้วยนโยบายแบบนี้ หวังว่าปีต่อไปจะไม่ต้องลงแล้ว

และที่ไม่สะดวกสุดๆ เลยก็คือเรื่องของการใช้ ซึ่งเราจะต้องใช้จ่ายตามที่รัฐกำหนดเอาไว้ให้ใช้หมดเดือนต่อเดือนเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ก็ไม่สามารถนำมาสะสมต่อได้ เช่น ค่าเดินทาง 500 บาท ถ้าเราไม่ได้ใช้เงินก็จะรีเซ็ตใหม่ตลอด ส่วนที่เราต้องการใช้ก็ใช้ไม่ได้ ตัวเองไม่ได้เดินทางด้วยบีทีเอส หรือรถเมล์ เงินส่วนนี้มันก็จะถูกรีเซ็ตทุกเดือน แต่ถ้าวันนึงเราต้องไปหาหมอ พอเรียกรถพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายประมาณ 1,800 ไป-กลับ กลับไม่สามารถเอาส่วนนี้ไปใช้ได้ ส่วนมากเลยใช้เดือนละ 300 เพื่อซื้อของเท่านั้น

เมื่อทั้งพิการและจน สิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการให้สนับสนุนมากที่สุด
ถ้าเป็นเงินก็น่าจะได้เอาไปใช้อะไรได้ง่ายกว่า เช่นพอเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี เราก็แค่กดเอทีเอ็มมาใช้ สามารถเอาเงินตรงนี้มาใช้ในการไปหาหมอ จ่ายค่ารถพยาบาลอะไรแบบนี้ได้ด้วยน่ะ

ถ้าเกิดว่ารัฐยังต้องการจะสนับสนุนคนจนที่มีความพิการด้วยการให้เงิน ก็คิดว่าการให้เป็นเงินสด โอนเข้าบัญชีที่คนพิการรับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว ก็จะง่ายกับคนพิการและคนดูแลด้วย อาจจะไม่ต้องมาต่อบัตรทุกปี อย่างตัวเราเองไม่ได้ออกไปไหนบ่อยๆ อยู่แล้ว เนื่องจากนั่งนานไม่ได้ เวลาต้องเดินทางไปก็ลำบากพอสมควร และไม่ใช่แค่กับคนพิการด้วยที่การให้เงินสดจะสะดวกกว่า แต่สำหรับคนไม่พิการก็เป็นการเอื้อให้เขาได้เอาเงินไปใช้ได้ตามที่เขาเห็นสมควร

การไม่ให้เงินสด ทำให้รัฐมีกลไกในการควบคุมการจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายกว่าหรือเปล่า
ก็ใช่ เขาก็อยากรู้ว่าเงินที่ให้ไปใช้มันอยู่ตรงไหนบ้าง เอาไปทำอะไร และในอนาคตเขาจะทำอะไรต่อ

การแก้ปัญหาคนจนถ้าไม่ใช้เงิน คิดว่าจะต้องใช้อะไร
วิธีมันมีอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำรึเปล่า มันเป็นปัญหาที่เชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายเดียว และไม่ใช่รัฐอย่างเดียว บางครั้งคนจนเขาไม่ได้เกิดมาจนอย่างเดียวแต่ถูกทำให้จนด้วย เพราะเป็นเรื่องยากที่คนจนจะถีบตัวเองขึ้นมาในสภาพสังคมแบบนี้ ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ ถ้ามีเงินอยู่ 200 บาท เราอาจจะซื้อของแบบยกแพ็คได้ ซึ่งจะถูกกว่า แต่ถ้าไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อเป็นแพ็ค ก็ต้องซื้อแบบแบ่งขาย ถึงเขาอยากจะประหยัดก็ประหยัดไม่ได้ ก็เท่ากับต้องซื้อของแพงไปตลอด

บางครั้งคนจนที่มีไอเดียในการทำธุรกิจก็ไม่มีเงินลงทุน เขาจะไปกู้ธนาคารก็ไม่ได้เพราะไม่มีหลักทรัพย์ การทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงค่อนข้างยาก นอกจากจนแล้วเหมือนกับว่าเขายังต้องขาดโอกาสหลายๆ อย่างด้วย

ถ้าขอสวัสดิการได้ 3 ข้อ จะขออะไร
อย่างแรกเลยคิดว่าควรมีค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมค่ารถพยาบาลสำหรับคนพิการ ไม่ว่าเขาจะไปหาหมอหรือต้องการไปทำกายภาพ หรือแม้แต่การเดินทางไปทำอย่างอื่น เพราะคนพิการหลายๆ คนเดินทางค่อนข้างลำบาก เงินในบัตรคนจนสำหรับค่าเดินทาง เขาจึงใช้ไม่ได้

สอง อินเทอร์เน็ตเพราะการเป็นคนพิการทำให้เราเจอคนน้อย อินเทอร์เน็ตจะทำให้โลกของคนพิการหรือแม้แต่คนไม่พิการกว้างขึ้น หรือจะหาความรู้อะไรได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนก็อาจจะช่วยให้พวกเขามีงานทำ หาความรู้ได้ ได้ดูข่าว ฯลฯ

สาม อาจจะไม่ใช่เชิงสวัสดิการ สำหรับคนที่ไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด รัฐควรมีโปรแกรมสำหรับคนพิการมือใหม่ อาจออกมาในรูปแบบที่มีนักบำบัดมาพูดคุยให้คนพิการมีความสบายใจขึ้น แนะนำเรื่องการใช้ชีวิต มีระบบจัดหางานที่เข้าถึงได้ง่าย แนวคิดนี้ มาจากตอนที่ก่อนหน้านี้เราเดินได้ปกติแต่พอพิการเราก็อยู่แต่แค่โรงพยาบาล นอกจากบัตรคนพิการแล้ว เขาก็ไม่เคยแนะว่าเราควรทำตัวแบบไหน ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตก็คงเคว้งเหมือนกันเพราะไม่มีคนให้คำปรึกษาว่าจะทำยังไงต่อ ใช้ชีวิตต่อไปยังไง เราจะหางานอะไรทำ แล้วต้องอยู่บ้านเฉยๆ แบบนี้น่ะเหรอ

คิดว่าคนกลุ่มไหนยังถูกละเลยจากบัตรคนจน หรือเข้าถึงบริการบางอย่างไม่ได้
เท่าที่เห็นคนจนเมืองในกรุงเทพฯ แต่ละคนมีบ้านเป็นของตัวเอง มีที่ดินเป็นของตัวเอง จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพราะในคุณสมบัติมีการกำหนดว่า ถ้ามีบ้านหรือที่ดินเกินเท่านี้ๆ ก็จะไม่ผ่าน แต่ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นคนจน เขาไม่มีอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากบ้านที่อยู่ จึงทำให้เขาเสียสวัสดิการตรงนี้ไป ซึ่งน่าเสียดาย ไม่ควรจะมองว่าเขามีที่อยู่แล้วคือไม่จน มันไม่ใช่

หรือในต่างจังหวัดบางคนเขามีที่ แต่ไม่ได้มีรายได้ หรือบางคนมีที่ทำนาแล้วมีหนี้ด้วยซ้ำ เรานับเขาเป็นคนจนด้วยรึเปล่าสมมติว่ามีที่ 3 ไร่ แต่ทำนาก็ขาดทุน นี่ยิ่งกว่าคนที่มีรายได้ 30,000 บาท เพราะเขาติดลบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติ 'น้องเมย' เผยผลชันสูตรพบรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่ง เชื่อว่าเกิดจากการถูกทำร้าย

Posted: 08 Dec 2017 05:39 AM PST

ญาติ 'น้องเมย' นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เผย ผลการชันสูตรชี้รอยช้ำตามร่างกายหลายแห่ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการถูกทำร้าย นอกจากนั้นยังระบุว่า ซี่โครง ซี่ที่ 4 ที่หัก ไม่ได้เกิดจากการทำ CPR อย่างแน่นอน

8 ธ.ค. 2560 เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าได้รับการเปิดเผยจากสุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวของ "น้องเมย" หรือ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลการชันสูตรรอบ 2 เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการว่า ทางครอบครัวได้รับผลการชันสูตรชุดที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้เดินทางไปรับผลเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผลการชันสูตรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเกี่ยวกับการชันสูตรร่างกายที่แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ผลการชันสูตรระบุชัดเจนว่า พบรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการถูกทำร้าย นอกจากนั้นยังระบุว่า ซี่โครง ซี่ที่ 4 ที่หัก ไม่ได้เกิดจากการทำ CPR อย่างแน่นอน
 
ส่วนผลการชันสูตรในชุดที่ 2 เกี่ยวกับการชันสูตรอวัยวะ ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
 
สุพิชา เผยว่าผลการชันสูตรที่ได้ทั้งหมด ทางครอบครัวจะใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินคดีทางชั้นศาลกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้องชายอย่างแน่นอน

วันเดียวกัน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม รายงานว่า สมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชี้แจงกับสื่อมวลชน เรื่องผลการชัญสูตรศพ ภคพงศ์ ว่าวันนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้มอบมอบรายงานผลการตรวจศพให้กับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีและญาติของน้องเมยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลา 15.00 น. และได้สรุปผลการตรวจพิสูจน์ศพของน้องเมย ดังนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งศพนายภคพงศ์มาชันสูตรซ้ำที่สถาบันฯ ตามคำร้องขอของญาติ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2560 และสถาบันฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ เพื่อผ่าชันสูตรน้องเมย เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2560 โดยให้ญาติน้องเมยได้เข้าร่วมเป็นพยานในการตรวจชันสูตรศพ และพบว่าอวัยวะภายในบางส่วน ได้แก่ หัวใจ และสมอง ได้ถูกนำออกไปตรวจเพิ่มเติม
 
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2560 พนักงานสอบสวนและญาติน้องเมย ได้นำอวัยวะดังกล่าว มามอบให้สถาบันฯ ให้ทำการตรวจพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการตาย รวมทั้งตรวจหาสารพันธุกรรม เพื่อยืนยันว่าเป็นอวัยวะของน้องเมยจริง
 
ต่อมาสถาบันฯ ได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์อวัยวะต่างๆ และสารพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการแพทย์จึงได้จัดทำรายงานผลการชันสูตร มอบให้พนักงานสอบสวน
 
ขณะที่ข่าวของผู้จัดการรายงานว่าพี่สาวของน้องเมยออกมาเปิดเผยผลบางส่วน แต่ รายงานของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า สถาบันฯ ได้มอบผลให้ญาติน้องเมย ซึ่งได้แสดงเจตจำนงว่าไม่ต้องการให้ผลการตรวจชันสูตรถูกเปิดเผยออกไป 
 
หมายเหตุ : ประชาไท ได้มีการอัพเดทเนื้อหาข่าว พร้อมทั้งเปลี่ยนพาดหัวและโปรยข่าว เมื่อเวลา 23.20 น. วันที่ 8 ธ.ค.2560 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เรียก 'ดีแทค' แจงเหตุผู้ใช้ถูกระงับพร้อมยอดใช้งานสูงถึง 400 ล้านล้านบาท 12 ธ.ค.นี้

Posted: 08 Dec 2017 04:36 AM PST

กสทช. เรียก 'ดีแทค' แจงเหตุผู้ใช้ดีแทคถูกระงับสัญญาณพร้อมยอดใช้งานสูงถึง 400 ล้านล้านบาท และกรณีศุลกากร จ.สระแก้ว ยึดซิมดีแทคได้กว่า 50,000 ซิม 12 ธ.ค. นี้ ด้านดีแทคแจงระบบแจ้งยอดบริการผิดพลาด กระทบลูกค้ารายเดือน 1 แสนคน

8 ธ.ค.2560 สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชน กรณีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเครือข่าย ดีแทค ถูกระงับสัญญาณใช้งาน พร้อมทั้งมียอดการใช้งานสูงถึง 400 ล้าน ล้าน บาท และกรณีศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ยึดซิมโทรศัพท์ค่ายดีแทคที่ยังไม่ผ่านการใช้งานได้กว่า 50,000 ชิ้น นั้น สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ดีแทคเข้ามาชี้แจงกับสำนักงาน กสทช. ถึงกรณีดังกล่าว ในวันอังคารที่ 12 ธ.ค. 2560 เวลา 13.30 น.

ขณะที่ ไทยพีบีเอส รายงานด้วยว่า บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ชี้แจงกรณีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ถูกระงับสัญญาณใช้งาน พร้อมทั้งมียอดการใช้งานสูงถึง 400 ล้านล้านบาท ว่า เกิดความผิดพลาดระหว่างการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ กระทบผู้ใช้บริการระบบรายเดือน 100,000 ราย ทำให้ระบบแสดงผลยอดค่าใช้บริการขัดข้องชั่วคราว และผู้ใช้บริการที่ใช้งานครบกำหนดค่าโทรในแพ็คเกจแล้ว ไม่สามารถโทรออกและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดยบริษัทได้ออกมาตรการเยียวยาความเสียหายให้ผู้บริการทั้งหมด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาต้านคอร์รัปชัน แนะปลุกพลังสังคมกดดันรัฐ ใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ป้องกันอภิสิทธิ์ชน

Posted: 08 Dec 2017 03:40 AM PST

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเสวนาฯ 'ตามหาคน (โกง) หาย' แนะเร่งปลุกพลังสังคมกดดันรัฐ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ป้องกันอภิสิทธิ์ชนใช้เงินและเส้นสายลบความผิด  

8 ธ.ค.2560 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT รายงานว่า ACT จัดเสวนาหัวข้อ "ตามหาคน (โกง) หาย" ระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อหาแนวทางในการจับคนทุจริตมาลงโทษ แนะลดอิทธิพลทางการเมืองเพื่อไม่ให้ครอบงำกระบวนการยุติธรรมไทย  

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ACT กล่าวในงานเสวนา  หัวข้อ "ตามหาคน (โกง) หาย" ที่จัดขึ้นโดย ACT ว่า ที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รณรงค์ต่อต้านการทุจริตในไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการหลบหนีเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ผ่านมามีความล่าช้า เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของตำรวจจนถึงชั้นศาล  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับในการดำเนินคดีให้รวดเร็วที่สุด จากปัจจุบันที่ ใช้เวลานานมาก 10 ถึง 20 ปี

"การบังคับใช้กฎหมายของไทยไม่เข้มข้น มีบุคคลบางคนสามารถหลบหนีคดีได้ เพราะมีเงินและมีสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งจะต้องหาวิธีและแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไข เพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเกิดความศักดิ์สิทธิ์" ประมนต์ กล่าว

ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีกระบวนการคิดใหม่ เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีช่องโหว่ให้กับคนทุจริต เพราะระบบงานยุติธรรมของไทยเป็นรูปแบบใยแมงมุมที่ดักได้แต่แมลงตัวเล็กตัวน้อย ส่วนของเรื่องการไปจับคนบริสุทธิ์มาดำเนินคดีทางอาญานั้น พบว่าทำได้กับคนจนคนไม่มีเงิน  เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่มีกำลังแม้จะต่อสู้ หรือหาหลักฐานมาพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผิดกับบุคคลที่มีหน้ามีตาหรือมีอำนาจหน้าที่และการเงิน

ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวต่อว่า กฎหมายใหม่ได้บัญญัติไว้ว่า กรณีผู้กระทำผิดหลบหนีคดีจะไม่มีการขาดอายุความ เพราะอายุความจะหยุดลง และสามารถพิจารณาคดีได้หลังผู้กระทำผิดมอบตัวหรือถูกจับ หากไม่มารับโทษคดีก็จะติดตัวตลอดชีวิต ซึ่งแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการลุกลามสิทธิส่วนบุคคล สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือเรื่องของอาชญากรในเครื่องแบบที่อยู่ในเสื้อครุย เพราะบุคคลเหล่านี้จะอาศัยอำนาจและหน้าที่ทางกฎหมายในการก่ออาชญากรรม ซึ่งสังคมไทยไม่อาจจะรับรู้ได้อีกทั้งยังปราบปรามได้ องค์กรภาคเอกชนน่าจะช่วยได้เป็นอย่างดี ประกอบกับภาครัฐหากเราได้เบอร์หนึ่ง อาทิ นายกรัฐมนตรี ประธานศาล ประธานรัฐสภา หันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ มีความรักแผ่นดิน สังคม ประชาชน และมีความเมตตาสังคมมากกว่าเมตตาลูกน้องตัวเอง เชื่อว่าสังคมไทยจะดีขึ้น

เรื่องของการปล่อยตัวชั่วคราว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับหลักประกัน เจ้าหน้าที่จะต้องทำให้ถูกหลักและ  กฎกติกา ยกตัวอย่างเช่น คดีคนขับซาเล้งขายซีดีถูกเรียกเงินประกันหลักแสนบาท ผู้กระทำผิดเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาไม่มีเงินทอง จะไปหาหลักประกันที่ไหนมาให้ ขณะที่คดีชาวต่างชาติกระทำละเมิดทางเพศเด็กเรียกเงินประกันเพียงหลักแสนบาทซึ่งนับว่าน้อยมาก ขณะที่โทษปรับในบ้านเราใช้หลักความเสมอภาคไม่ว่าจะคดีเล็กหรือคดีใหญ่ แนวทางแก้ไขจะต้องคำนึงเป็นคดีๆ เพราะความยุติธรรมไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการปรับเป็นรายได้ หรือประมาณ 10% ของรายได้ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องปรับจากฐานของฐานะทางเศรษฐกิจ

กรณีกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วยในเรื่องริบทรัพย์ตามมูลค่านั้น ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวว่า จะต้องขยายมาใช้กับคดีอาชญากรรม ซึ่งปัจจุบันมีใช้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่เรื่องของขั้นตอนการสอบสวนจะต้องบันทึกเป็นขั้นตอน เพื่อให้ศาลอุทธรณ์จะต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งปี ศาลฎีกาจะต้องเสร็จภายในหกเดือน ทั้งนี้ จะต้องปรับอำนาจทางการเมือง โดยไม่ครอบงำระบบยุติธรรมทางอาญาทุกขั้นตอน โดยเฉพาะตำรวจซึ่งเหมือนกับยักษ์ในตะเกียงวิเศษ ทำให้กลไกอำนาจทางอาญาล้ำเกินเหตุเกินผล อำนาจที่สอง คือ เงิน สามารถใช้ผีนวดแป้งได้ มีความซับซ้อนยิ่งกว่าอำนาจทางการเมือง ขณะที่เรื่องของอำนาจเถื่อนในไทยไม่ค่อยปรากฎ  

นิวัติ แก้วล้วน อดีตเลขาธิการ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของความยุติธรรมไทย คือเรื่องของการอภัยโทษ จากโทษประหารเหลือติดคุกตลอดชีวิต หรือจากติดคุกตลอดชีวิตเหลือเพียง 15 ปี เราจะต้องปรับกระบวนการลงโทษของไทย จะต้องมีการกำหนดการลงโทษของไทยให้มีมาตรฐานตายตัว โทษประหารติดคุกไม่เกิน 17 ปี

อดีตเลขาธิการ สภาทนายความฯ มองว่าศาลคอร์รัปชันมีข้อดี โดยให้เหตุผลว่า คือ เพิ่มระบบริบทรัพย์ของคดีทุจริต โดยศาลหรืออัยการเป็น คนบังคับได้เอง ทั้งนี้ หากไม่มีตัวทรัพย์สินที่ทุจริตไป ศาลก็อาจประเมินราคาและบังคับเอากับทรัพย์อื่น ที่จำเลยมี โดย ป.ป.ช. หรืออัยการเป็นคนบังคับคดีได้เอง ที่ผ่านมาโทษจากการหลบหนี จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ขณะที่กฎหมายใหม่หากหลบหนีจะต้องได้รับโทษทางอาญา ส่วนการริบทรัพย์จากกฎหมายใหม่ ศาลสามารถริบทรัพย์ได้ หากทรัพย์ไปอยู่กับผู้อื่น ศาลสามารถริบทรัพย์ได้จากบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า มีความเชื่อว่าเรื่องสิทธิพิเศษในเรือนจำยังมีอยู่ ซึ่งแต่ละแดนจะมีสภาพการเป็นอยู่ไม่เหมือนกันคนที่มีชื่อเสียงจะอยู่แดนที่ 1 เป็นแดนที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแดนอื่นๆ หรืออยู่ในหน้าแดน ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ

สำหรับการเข้ารักษาในสถานพยาบาลในเรือนจำนั้น ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากมีผู้เข้ารักษาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพการเป็นอยู่ในเรือนจำที่มีความยากลำบาก ขณะที่การที่ได้เข้าไปอยู่ ในสถานพยาบาลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทุกคนจึงอยากเข้าไปอยู่ในพื้นที่พิเศษ โดยทั้งคนรวยและคนที่ มีเส้นสายที่ไม่ได้ป่วยจริงจะพยายามใช้สิทธิ์นี้เช่นกัน

"ไทยมีนักโทษมากกว่าศักยภาพของเรือนจำที่จะรองรับได้ 2 เท่า มีประชากรในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ทำให้คนมีเงินต้องใช้เงินเพราะถูกถ่วงเรื่องไว้จึงต้องยอมจ่าย" ยิ่งชีพ กล่าว  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.ขีดเส้น 30 วัน 'พล.อ.ประวิตร' แจงปมนาฬิกาหรู

Posted: 08 Dec 2017 01:56 AM PST

ปมนาฬิกาหรู 'พล.อ.ประวิตร'  ป.ป.ช.ขีดเส้น 30 วัน เข้าชี้แจง ประธาน ป.ป.ช. ยันไม่หนักใจแม้เคยร่วมงานมาก่อน ด้าน ศรีสุวรรณ ยื่นสอบ อาจเข้าข่ายแจ้งบัญชีเท็จ-ร่ำรวยผิดปกติ ยกคำสัมภาษณ์มัด

8 ธ.ค.2560 ความคืบหน้ากรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม สวมนาฬิกา "ริชาร์ด มิลด์" RM 029 และแหวนทองคำขาวหัวเพชร ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านบาทในระหว่างถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ปรากฎในเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เมื่อครั้งเจ้าตัวรับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2557 จนถูกวิพากษณ์วิจารณ์นั้น

วานนี้ (7 ธ.ค.60) รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ โดยมีวาระการประชุมที่ วรวิทย์ สุขบุญ รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ช. รายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม เพื่อแจ้งและขอมติที่ประชุมว่าทาง ป.ป.ช.จะให้สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ภายหลังการประชุม รักษาการเลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติรับทราบ รายงานของสำนักงานป.ป.ช. และเบื้องต้นจะส่งหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวโดยให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหาก พล.อ.ประวิตร จะมาชี้แจงด้วยตัวเองก็ได้ โดยกรอบตามกฏหมายต้องชี้แจงภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ ป.ป.ช.ส่งหนังสือไป หาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจงเอกสารหลักฐานแล้ว จะได้รวบรวมเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาต่อไป โดยเรื่องนี้ไม่มีความซับซ้อนหรือยุ่งยาก เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน 

ต่อกรณีคำถามว่า ป.ป.ช.ชุดนี้อาจถูกวิจารณ์ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ฟอกขาวให้กับ พล.อ.ประวิตร นั้น วรวิทย์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มาเกี่ยวข้องในขั้นตอนการตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งทางสำนักงานป.ป.ช.ดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติตามปกติเท่านั้น จากนั้นการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะทำตามพยานหลักฐาน ตนมั่นใจและเชื่อมั่นในคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ส่วนที่ พล.อ.ประวิตรระบุว่าได้ครอบครองนาฬิกาและแหวนซึ่งเป็นของเดิมอยู่แล้ว จะถือเป็นการปกปิดทรัพย์สินหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.นั้น วรวิทย์ กล่าวว่า คงต้องรอข้อเท็จจริงก่อน ขอให้สำนักงานป.ป.ช.ได้รวบรวมก่อน ดังนั้นอย่าเพิ่งสันนิษฐานอะไรกันไปมากกว่านี้ สำหรับกรณีที่นายศรีสุวรรณร้องให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตรย้อนหลังด้วยนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อมีผู้ร้องชี้ช่องพยานหลักฐานมาให้ สามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า การชี้แจงครั้งนี้ ป.ป.ช.ต้องการทราบว่า พล.อ.ประวิตรได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาอย่างไร และมีหลักฐานหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการได้มาโดยการซื้อหรือทางมรดก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและเปรียบเทียบกับรายการทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมต่อไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเฉพาะตอนเข้ามาดำรงตำแหน่งและตอนออกจากตำแหน่งเท่านั้น ส่วนระหว่างการได้ทรัพย์สินมาระหว่างดำรงตำแหน่งนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงต่อ ป.ป.ช. เว้นแต่จะเป็นกรณีพิเศษอย่างกรณีนี้ที่ ป.ป.ช.ต้องขอความร่วมมือให้ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจง ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดความล่าช้า เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรยืนยันมาตลอดว่าพร้อมชี้แจง

ต่อกรณีคำถามว่า ในฐานะที่เคยทำงานกับ พล.อ.ประวิตรมาก่อนในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะหนักใจกับการเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะเป็นการทำงานตามระเบียบของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว

ศรีสุวรรณ ยื่น ป.ป.ช.สอบ อาจเข้าข่ายแจ้งบัญชีเท็จ-ร่ำรวยผิดปกติ ยกคำสัมภาษณ์มัด

ขณะที่วันเดียวกัน (7 ธ.ค.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเรื่องผ่าน สุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ  เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนและยื่นฟ้องเป็นคดีฐานจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เนื่องจากพล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ระบุว่า "แหวนทองคำขาวหัวเพชรเป็นของเดิมที่เคยใส่มาอยู่แล้ว นาฬิกาก็ของเดิม" เป็นการยอมรับและชี้ให้เห็นว่านาฬิกาและแหวนเพชรดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ แต่กลับไม่ปรากฏในรายการที่แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. และเห็นว่ามีประเด็นที่อาจเข้าข่าย "การร่ำรวยผิดปกติ" ตามมาตรา 66 อีกด้วยเนื่องจากตามเอกสารบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งพล.อ.ประวิตรได้รายงานไว้ต่อ ป.ป.ช. นั้น มีบัญชีเงินฝากในธนาคารมากถึงกว่า 53 ล้านบาท  รวมทรัพย์สินอื่น ๆ แล้วมีมูลค่ามากกว่า 87 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏที่มาของเงินในบัญชีธนาคารและทรัพย์สินอื่น ๆ   

"หากประมาณการจากการที่พล.อ.ประวิตรรับราชการทหารมาประมาณ 40 ปี เป็นนักการเมืองมา 2 สมัยและไม่ได้มีธุรกิจใด ๆ เลยนั้นก็ไม่น่าที่จะมีรายได้มากมายถึงขนาดนี้ อีกทั้งมีพิรุธจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินรวม 4 ครั้ง ตั้งแต่ครั้งรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง เมื่อพ้นจากตำแหน่งหนึ่งปี และยื่นล่าสุดในรัฐบาล คสช. ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามลำดับคือ ครั้งแรก 56 ล้าน ต่อมาเพิ่มเป็น 69 ล้าน 79 ล้านและ 87 ล้านตามลำดับ" ศรีสุวรรณกล่าว  

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขอให้ป.ป.ช.ทำการไต่สวนและหากพบความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุด เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ กรณีที่ ป.ป.ช.เคยวางบรรทัดฐานมาแล้ว เช่น กรณีคดีซุกหุ้น ทักษิณ ชินวัตร คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นต้น ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของ ป.ป.ช.ด้วยว่ามีศักยภาพหรือไม่

ที่มา : ไทยพีบีเอส, ไทยโพสต์ และสำนักข่าไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ข้าวใคร

Posted: 08 Dec 2017 01:03 AM PST

 


พ.ศ.2560
"ข้าวห้อมมะลิไทยเป็นแชมป์โลก"
"ชาวนาไทยเศร้าโศกไม่สุดสิ้น"
ใครคนทำ? ใครคนขาย? ใครได้กิน?
ใครซบดิน? ใครย่ำเหยียบ? ใครหยันเย้ย?
ไหนดวงตาภาคภูมิอันเริงแรง?
"มีแต่แววแห้งแล้งเกินเอื้อนเอ่ย"
รัฐและเรา  "แปลกหน้าไม่คุ้นเคย"
เขาและทุนสิเหวย  "จึงคุ้นกัน"

พ.ศ.2560
"ข้าวไทยเป็นแชมป์อีกครั้งหนึ่ง"
ชื่อคงซึ้งสะเทือนทั้งสรวงสวรรค์
แต่ชีวิตคนทำนาสิจาบัลย์
มองตาช้ำ... ไหวสั่นหวั่นหัวใจ!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้เผยนักปกป้องสิทธิฯ ทั่วโลกถูกสังหารเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

Posted: 08 Dec 2017 12:06 AM PST

แอมเนสตี้ฯ เผยสถิติสังหารและอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องใน 'วันสิทธิมนุษยชน' ระบุถูกสังหารเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวช่วงปี 58 - 59 ส่วนรัฐบาลทั่วโลกต่างล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย

8 ธ.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เนื่องในโอกาส "วันสิทธิมนุษยชนสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานเรื่อง "Deadly but Preventable Attacks: Killings and Enforced Disappearances of Those who Defend Human Rights" หรือ "การโจมตีที่รุนแรงแต่สามารถป้องกันได้: การสังหารและการบังคับสูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" โดยพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 281 คนทั่วโลกถูกสังหารตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558 

แอมเนสตี้ฯ พบว่าประมาณ 49% ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารเป็นผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม ที่เหลือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการ (sex workers) สหภาพแรงงาน ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ทนายความ นักข่าว ไปจนถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งหรือถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธ และอื่นๆ

รายงานยังระบุว่า เมื่อย้อนดูสถิตินับตั้งแต่ปี 2541 จะพบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารไปแล้วประมาณ 3,500 คน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากมีหลายคนที่ถูกอุ้มหายจนไม่ทราบชะตากรรมที่ชัดเจน โดยทวีปอเมริกาเป็นพื้นที่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารมากที่สุดในโลก 

รายงานดังกล่าวได้มาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติและการสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารหรืออุ้มหาย ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกมาทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่นจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เรายังพบว่าวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งผู้ก่อเหตุสังหารหรืออุ้มหายไม่ถูกดำเนินคดี ยังเสริมให้การทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลกอันตรายมากขึ้นไปอีก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคนธรรมดาๆ ที่กล้าหาญและเสียสละในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกทางหนึ่ง แอมเนสตี้จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยอมรับและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการและจริงใจ ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกคุกคามหรือทำร้ายจากการทำงาน ตลอดจนควรนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการคุกคามทำร้ายต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งสอบสวนต่อการสังหารและการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสังคมโดยเร็วด้วย

แถลงการณ์ ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล :

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างล้มเหลวในการป้องกันการสังหารและการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างล้มเหลวในการทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองบุคคลซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิดการสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันได้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

ในรายงานฉบับใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ชื่อ "การโจมตีที่รุนแรงแต่สามารถป้องกันได้: การสังหารและการบังคับสูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" (Deadly but Preventable Attacks: Killings and Enforced Disappearances of Those who Defend Human Rights) ชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในรายงานประกอบด้วยคำให้การของเพื่อน ญาติ และผู้ร่วมงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศและสตรี ผู้สื่อข่าว และนักกฎหมาย ซึ่งต่างถูกสังหารหรือทำให้หายตัวไป หลายคนให้ข้อมูลว่า ผู้เป็นเหยื่อเหล่านี้ได้พยายามร้องขอความคุ้มครองจากทางการ แต่ถูกเพิกเฉย ส่วนผู้ที่ทำร้ายกลับรอดพ้นจากกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นการส่งเสริมวงจรการลอยนวลพ้นผิด

"เราได้พูดคุยกับครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหายทั่วโลก และมักได้ยินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือคนเหล่านี้รู้ตัวดีว่าชีวิตตนเองตกอยู่ใต้อันตราย" กวาดาลูเป มาเรงโก (Guadalupe Marengo) ผู้อำนวยการแผนกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับโลกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

"ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิตหรือหายตัวไป มักเกิดเหตุโจมตีทำร้ายหลายครั้ง โดยที่ทางการเพิกเฉย หรือยิ่งไปกว่านั้น ส่งเสริมให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น หากรัฐปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างเข้มข้นเมื่อได้รับรายงานว่ามีการคุกคามและการปฏิบัติที่เลวร้ายเช่นนี้ เราอาจสามารถช่วยปกป้องชีวิตคนเหล่านี้ไว้ได้"

รายงานใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประกอบด้วยเรื่องราวจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ การโจมตีทำร้ายที่สามารถป้องกันได้ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชี้ให้เห็นแบบแผนการลอยนวลพ้นผิดอันน่าตกใจดังกรณีต่อไปนี้

เบอร์ตา คาเซเรซ (Berta Cáceres)นักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านชนพื้นเมืองชาวฮอนดูรัส ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2559 โดยก่อนหน้านั้นเธอได้ถูกข่มขู่และทำร้ายมาเป็นเวลาหลายปี

ซูฮัซ มันนัน (Xulhaz Mannan) นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศซึ่งถูกฟันด้วยมีดจนเสียชีวิตที่บังคลาเทศ พร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งเมื่อปี 2559 หลังผ่านไป 18 เดือน ยังไม่มีการนำตัวใครมาลงโทษ

ปิแอร์ คลาเวอร์ เอ็มโบนิมพา (Pierre Claver Mbonimpa) ผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งบุรุนดี ซึ่งถูกยิงที่ใบหน้าและลำคอเมื่อปี 2558 หลายเดือนต่อมา ระหว่างพักรักษาตัวในต่างประเทศ ลูกชายและลูกเขยของเขาก็ถูกสังหาร

The "Douma 4" เป็นกลุ่มชาวซีเรียสี่คนซึ่งถูกลักพาตัวจากสำนักงานโดยกลุ่มติดอาวุธเมื่อเดือนธันวาคม 2556 และยังคงหายตัวไปจนถึงทุกวันนี้

อัตราการโจมตีทำร้ายที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2541 ประชาคมโลกแสดงพันธกิจที่จะปกป้องคนเหล่านี้ และยอมรับต่อการทำงานที่สำคัญของพวกเขา แต่รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยให้เห็นว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยังเป็นงานที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง โดยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายพันคนที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น ๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

จากข้อมูลของ Front Line Defenders ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 281 คนจากทั่วโลกได้ถูกสังหารในปี 2559 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งนี้ ตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกมากที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายแต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยให้เห็นแรงจูงใจต่อการโจมตีทำร้ายเหล่านี้ ว่ามีหลายสาเหตุและซับซ้อน บางคนถูกโจมตีทำร้ายเพียงเพราะอาชีพของตน (เช่น การเป็นผู้สื่อข่าว ผู้ทำงานด้านกฎหมาย นักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงาน) เพียงเพราะการยืนหยัดต่อต้านผู้มีอำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการแชร์ข้อมูลหรือการรณรงค์เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้

บุคคลบางกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทำร้ายมากขึ้น เพราะสิ่งที่พวกเขาทำและสิ่งที่พวกเขาเป็น ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกระทำด้วยความรุนแรง บุคคลเหล่านี้รวมถึงผู้ซึ่งปกป้องสิทธิสตรี พนักงานบริการ เลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ คนสองเพศ ชนพื้นเมือง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ส่วนบางกลุ่มถูกโจมตีทำร้ายเนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาอยู่ท่ามกลางสงครามความขัดแย้งหรือกรณีที่ชุมชนของพวกเขาอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และเป็นชุมชนที่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง

"แม้ว่าแรงจูงใจในการโจมตีทำร้ายอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความประสงค์ที่จะปิดปากคนที่ออกมาพูดต่อต้านความอยุติธรรม หรือท้าทายผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ การปิดปากคนเหล่านี้ส่งผลสะเทือนในวงกว้างต่อชุมชน ทำให้เกิดวงจรความหวาดกลัว และทำลายสิทธิของทุกคน" กวาดาลูเป มาเรงโกกล่าว

การลอยนวลพ้นผิดทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

กรณีที่ไม่มีการสอบสวนและลงโทษอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดการข่มขู่และการโจมตีทำร้าย ย่อมส่งผลให้เกิดบรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดที่บั่นทอนหลักนิติธรรม เป็นการส่งสัญญาณว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็อาจถูกโจมตีทำร้ายได้โดยไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

เบอร์ธา ซูนิกา (Bertha Zúniga) ลูกสาวของเบอร์ตา คาเซเรซ(Berta Cáceres)นักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านชนพื้นเมืองชาวฮอนดูรัส (ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม National Council of Popular and Indigenous Organizations of Honduras (COPINH) ที่ถูกสังหารเมื่อปีที่แล้ว)กล่าวว่า

"ก่อนที่คุณแม่จะเสียชีวิต มีการรวมตัวอย่างชัดเจนของกลุ่มผลประโยชน์ด้านธุรกิจ บริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มองค์กรอาชญากรรม โดยกลุ่มเหล่านี้มีส่วนร่วมต่อการสังหารคุณแม่ ซึ่งทำให้การสอบสวนอย่างรอบด้านเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น คุณแม่ดิฉัน [เบอร์ตา คาเซเรซ] ควรได้รับความเป็นธรรม เราจำเป็นต้องเปิดโปงการสมคบคิดกันของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารเช่นนี้อีกในอนาคต"

ข้อเสนอแนะ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทุกประเทศ ให้ความสำคัญต่อการยอมรับและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทางการต้องประกาศสนับสนุนการดำเนินงานของพวกเขาอย่างเปิดเผย และยอมรับบทบาทของพวกเขาในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยต้องมีการใช้มาตรการทุกประการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการโจมตีทำร้ายพวกเขาอีก และให้นำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีทำร้ายมาลงโทษ ทั้งนี้โดยดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิผล ต่อการสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ที่สำคัญ รัฐบาลควรประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะชนว่า จะไม่ยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ได้

"การโจมตีทำร้ายที่โหดร้ายตามข้อมูลในรายงานนี้ เป็นผลลัพธ์ซึ่งมีที่มาจากแนวโน้มที่น่าสะพรึงกลัว กล่าวคือ แทนที่ผู้นำหลายประเทศในโลกจะยืนหยัดคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกเขากลับทำให้บุคคลเหล่านี้เสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น มีการโจมตีใส่ร้ายพวกเขา มีการใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาในทางที่ผิดหรือการสร้างภาพลวงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ดำเนินการที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของเราทุกคน" กวาดาลูเป มาเรงโกกล่าว

"เพื่อแก้ไขการสร้างภาพที่อันตรายเช่นนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องประกาศยอมรับบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกเราต่างเป็นหนี้บุคคลเหล่านี้ ซึ่งได้เสี่ยงชีวิตทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของเราอย่างกล้าหาญ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานที่สำคัญของตนต่อไป"

ข้อมูลพื้นฐาน

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ "กล้า" (Brave) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศยอมรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประกันว่าพวกเขาจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร?

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นแกนนำชุมชน ผู้สื่อข่าว นักกฎหมาย ผู้ทำงานด้านสุขภาพ ครู นักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงาน ผู้เปิดเผยข้อมูล (Whistle-blower) เหยื่อหรือญาติของเหยื่อการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน สมาชิกกลุ่มสิทธิมนุษยชน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงหรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ 

พวกเขาอาจทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นอาชีพของตนเอง หรืออาจทำด้วยความสมัครใจ โดยอาจมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ หรือเพียงแต่ดำเนินการโดยส่วนตัวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอาจเป็นใครก็ได้ ไม่ว่ามีอายุเท่าไร มีอาชีพ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด มีสัญชาติหรือเป็นสมาชิกกลุ่มสังคมใด พวกเขาล้วนออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนหรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่มีการใช้ประโยชน์จากหรือสนับสนุนความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรง 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทั่วโลกประณาม-ชาวปาเลสไตน์ประท้วง หลัง 'ทรัมป์' ประกาศเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล

Posted: 07 Dec 2017 10:22 PM PST

ชาวปาเลสไตน์ในหลายที่ออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและบอกจะดำเนินการย้ายสถานทูตไปที่นั่น ซึ่งถูกมองว่าจะทำลายความเป็นตัวกลางของสหรัฐฯ ในการเจรจาหาข้อยุติความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

8 ธ.ค. 2560 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทำในสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างการประกาศยอมรับว่ากรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของอิสราเอล ทำให้เขาถูกประณามจากทั่วโลกรวมถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ตัวแทนของปาเลสไตน์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อบีบีซีระบุว่าการกระทำของสหรัฐฯ ถือเป็น "จูบแห่งความตาย" ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์หรือการกระทำที่จะก่อให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด

ขณะที่รัฐมนตรีของอิสราเอลเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ทำตามสหรัฐฯ แต่ประเทศซาอุฯ ก็ต่อว่าสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ว่า "ไร้ความชอบธรรมและไร้ความรับผิดชอบ" ส่วนฝรั่งเศสและอังกฤษก็เปิดเผยว่าพวกเขาไม่สนับสนุนการตัดสินใจเช่นนี้ของสหรัฐฯ ขณะที่อิสราเอลบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีหลายคนบอกว่าต้องการจะทำมาก่อนแต่ก็ไม่ได้ทำ

นอกจากการประกาศยอมรับกรุงเยรูซาเลมแล้ว สหรัฐฯ ยังประกาศว่าจะย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟมายังกรุงเยรูซาเลมด้วย บีบีซีระบุว่าการตัดสินใจสองประการนี้จะทำให้ทรัมป์สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ในช่วงหาเสียงและเป็นการเอาใจฐานเสียงฝ่ายขวาของทรัมป์ได้ แต่ก็เสี่ยงถูกต่อต้านทั้งจากพันธมิตรสหรัฐฯ จากโลกมุสลิมและอาจจะมีการประท้วงหรือก่อจลาจล นอกจากนี้ยังจะทำให้สหรัฐฯ ถูกมองว่าไม่เป็นกลางในการทำตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางด้วย

กับคำถามที่ว่าแล้วการยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลจะส่งผลอย่างไรนั้น เรื่องนี้บีบีซีระบุว่ามันมีผลต่อประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยที่ปาเลสไตน์จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มประเทศอิสลาม ในกรุงเยรูซาเลมโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองที่มีแหล่งศาสนสถานสำคัญต่อ 3 ศาสนาทั้งยูดาย, อิสลาม และคริสต์

ชาวยิวราว 200,000 คนเข้าไปตั้งรกรากทางตะวันตกของเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนานาชาติแต่อิสราเอลก็โต้แย้งในเรื่องนี้ การที่สหรัฐฯ ยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลจะทำให้อิสราเอลสามารถอ้างความชอบธรรมในเรื่องการตั้งรกรากของพวกเขาได้ง่ายขึ้น ในส่วนกรณีการย้ายสถานทูตนั้นก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จริงในชื่อว่า "กฎหมายสถานทูตเยรูซาเลมปี 2538"

แต่การกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ ก็นำพาความไม่พอใจจากทั่วโลกสำหรับปาเลสไตน์เอง มานูเอล ฮัสซาเซียน ผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าการกระทำของสหรัฐฯ ถือเป็น "จูบแห่งความตาย" สำหรับการทำสัญญาสันติภาพและทางออกแบบสนธิสัญญาอยู่ร่วมกันระหว่างสองรัฐ และฟังดูเหมือนเป็น "การประกาศสงคราม"

ทางตุรกี ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ก็โต้ตอบสหรัฐฯ ว่าพวกเขากำลังเล่มเกมเข้าทางกลุ่มก่อการร้ายขณะที่เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษและพระสันตะปาปาฟรานซิสต่างก็กล่าวในทำนองต้องการรักษาจุดยืนเดิมต่อเยรูซาเลมตามแนวทางของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ยังมีประชาชนประท้วงแสดงความไม่พอใจตั้งแต่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์อย่างการที่ชาวปาเลสไตน์ปิดไฟคริสต์มาสในเมืองเบธเลเฮม เขตเวสต์แบงค์ ซึ่งเป็นเมืองกำเนิดดั้งเดิมของพระเยซู

ทั้งนี้ยังมีการประท้วงบนท้องถนนในเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา ในเมืองเบธเลเฮมเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 16 ราย ที่ฉนวนกาซามีผู้ประท้วงใกล้กับรั้วเขตที่ติดกับพรมแดนอิสราเอล มีการขว้างปาก้อนหินใส่ทหารอีกฝั่งหนึ่ง มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 2 รายได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริงมีหนึ่งรายที่อาการสาหัส

ทางด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหารือเกี่ยวกับการตัดสินใจของทรัมป์ภายในวันศุกร์นี้ (8 ธ.ค.) ท่ามกลางความกังวลว่าจะมีการประท้วงใหญ่ในช่วง "ละหมาดวันศุกร์" รวมถึงมีการสั่งเฝ้าระวังตามสถานทูตสหรัฐฯ
 

เรียบเรียงจาก

Trump Jerusalem move sparks Palestinian clashes, BBC, 07-12-2017
http://www.bbc.com/news/world-middle-east-42265337

Jerusalem: Trump recognition 'kiss of death' for peace, BBC, 06-12-2017
http://www.bbc.com/news/world-middle-east-42250399

Jerusalem status: World condemns Trump's announcement, BBC, 07-12-2017
http://www.bbc.com/news/world-middle-east-42261000

UN to discuss Trump recognition of Jerusalem amid West Bank clashes, The Guardian, 07-12-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/07/jerusalem-un-security-council-us-recognition-jerusalem-donald-trump-israel-capital

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีเสียงปืนดัง 20 กว่านัดในพื้นที่หมู่บ้านรอบเหมืองแร่เมืองเลย หวั่นเกิดเหตุรุนแรง

Posted: 07 Dec 2017 09:52 PM PST

กลางดึกของวันที่ 7 ธ.ค. เกิดเหตุเสียงปืนดังในพื้นที่บ้านนาหนองบง ชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ชาวบ้านระบุพบเห็นรถกระบะ และรถพ่วงขับเข้ามาในพื้นที่ ก่อนจะได้ยินเสียงปืน หวั่นเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยปี 2557


ภาพจากเพจ เหมืองแร่ เมืองเลย V2

8 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 ธ.ค. มีประชาชนในพื้นที่ บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย แจ้งข้อมูลด่วนว่า เมี่อเวลาประมาณ 21.45 น. ระหว่างที่ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองทำได้พบเห็น รถกระบะ 1 คัน ตามด้วยรถบรรทุกพ่วงอีก 2 คัน ทั้งหมดกำลังวิ่งไปทิศทางที่ตั้งเหมืองของบริษัททุ่งคำ จำกัด แต่พอรถทั้งหมดได้เห็นรถของ วิรอน ก็ได้วกรถกลับ ไปอีกทางหนึ่ง จากนั้นจึงได้ยินเสียงปืน จำนวนกว่า 20 นัด โดยเสียงปืนดังกล่าวดังไปถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ที่บ้านภูทับฟ้าหมู่ที่ 13 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

เมื่อได้ยินเสียงปืน วิรอนจึงโทรแจ้งสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง และชาวบ้านคนอื่นๆ ด้านสมัย ระบุว่าในช่วงเย็นที่ขับรถออกจากบ้าน ที่อยู่บ้านนาหนองบงออกไปหาหมอ ก็เห็นรถพ่วงจอดอยู่ทางเข้าบ้านกกสะทอน ในลักษณะเหมือนยางรั่วอยู่

หลังเกิดเหตุ กลุ่มชาวบ้านได้ประสานไปทางหน่วยงานส่วนจังหวัดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และพยายามรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วิรอน ให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้พบรถจักรยานยนต์ 1 คัน ขับไปมาในพื้นที่ 2 รอบแล้ว โดยคนขับเป็นคนรูปร่างใหญ่ ไม่มีใครซ้อน รอบแรก ไม่มีไฟฉายบนหัว แต่รอบสองมีไฟฉายบนหัว

ต่อมาเวลาประมาณ 23.30 น. มีรถยนต์วิ่งเข้ามานาหนองบงคุ้มน้อย แล้วก็วิ่งวนออกไป

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเกิดเหตุดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เดินทางมาร่วมชุมนุมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณีปัญหาของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ทำเนียบรัฐบาล ยังเดินทางกลับไปไม่ถึงพื้นที่

สำหรับพื้นที่ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เคยเกิดเหตุการณ์ ชายฉกรรจ์ราว 200 คน พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าทำร้ายชาวบ้านถึงในชุมชน โดยจับชาวบ้านมัดมือไขว้หลัง มัดเท้า แล้วให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นดิน ทำร้ายชาวบ้าน เพื่อให้มีการขนแร่จากบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการเหมืองทองคำออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 จนถึงเช้าวันที่ 16 พ.ค. 2557 แต่สามารถจับกุมดำเนินคดีผุ้กระทำผิดได้พียง 2 คน ทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

01.20 น. ของวันที่ 8 ธ.ค. 2560 สถานการณ์ล่าสุดทุกอย่างสงบเงียบลง ทางชาวบ้านคิดว่าเป็นเพราะชาวบ้านรู้ทันว่าอาจจะมีการขนแร่ แต่ก็ยังไม่วางใจ จึงนัดหมายอยู่เวรยามเฝ้าระวังกันต่อไป

 

-

แพทย์ในญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาเกือบ 64 ชั่วโมงต่อเดือน

Posted: 07 Dec 2017 09:46 PM PST

ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีด้านการแพทย์สูงลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่แพทย์ก็ยังทำงานหนัก สหภาพแรงงานสำรวจสภาพการทำงานพบแพทย์ญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาถึงเดือนละ 63.9 ชั่วโมง

ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/sasint (CC0)

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีด้านการแพทย์สูงลำดับต้นๆ ของโลก แต่กระนั้นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของญี่ปุ่นถือว่าไม่สูงมากนักอยู่ที่ 2 คนต่อประชากร 1,000 คน (ข้อมูล ณ ปี 2545) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับ 'ปานกลางค่อนข้างสูง' เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก (ดูเพิ่มเติม: Health > Physicians > Per 1,000 people: Countries Compared) และญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาเดียวกับหลายๆ ที่ในโลกนั่นก็คือการทำงานหนักของแพทย์

เว็บไซต์ Japan Press Weekly  รายงานเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่ามีการเผยแพร่ผลสำรวจของสหภาพแรงงาน ที่ทำการสำรวจสภาพการทำงานของแพทย์ในญี่ปุ่น 1,621 คน ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2560 พบว่าแพทย์ที่ทำงานเฉพาะกะกลางวันทำงานล่วงเวลา (OT) เฉลี่ย 53.3 ชั่วโมงต่อเดือน ส่วนแพทย์ที่ทำงานทั้งกะกลางวันและกะกลางคืนทำงานล่วงเวลาถึงเดือนละ 63.9 ชั่วโมง ในการสำรวจพบว่าร้อยละ 7.3 ของแพทย์เต็มเวลาที่ทำการการผ่าตัดกะกลางคืนทำงานล่วงเวลาเกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน นอกจากนี้ร้อยละ 8.2 มีประสบการณ์ในการทำงานโดยไม่มีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน

สำหรับคำถามเกี่ยวกับปริมาณงาน พบว่าร้อยละ 45.5% ของแพทย์ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขามีปริมาณงานที่หนักกว่าเมื่อสองปีก่อน ในบรรดาแพทย์ที่ทำงานเป็นกะร้อยละ 79 ระบุว่ารู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสมาธิในการทำงานหากทำงานมากกว่า 24 ชั่วโมงติดต่อกัน เมื่อถามถึงมาตรการในการปรับปรุงสภาพการทำงานของแพทย์ แพทย์ 785 รายตอบว่า 'ขอให้ตนเองสามารถใช้วันหยุดได้เต็มที่' ตามด้วย 'การลดจำนวนของคืนที่ทำงานต่อเดือน' (487 ราย) และ 'ลดชั่วโมงการทำงาน' (478 ราย) ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อเสนอดังกล่าว แพทย์ผู้ตอบแบบสอบถาม 1,024 ราย ระบุว่าการเพิ่มจำนวนแพทย์ให้มากขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 สหพันธ์แรงงานด้านการแพทย์ญี่ปุ่น (Japan Federation of Medical Workers' Unions - Iroren) หรือ 'อิโรเร็น' สำรวจสภาพการทำงานของผู้ประกอบอาชีพพยาบาลในญี่ปุ่นพบว่าร้อยละ 71.7 ของพยาบาลผู้ตอบแบบสอบถามมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง นอกจากนี้ร้อยละ 62.5 รู้สึกเครียด และร้อยละ 55.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีประสบการณ์ในการทำผิดพลาดหรือเกือบจะผิดพลาดทางการแพทย์ เกือบร้อยละ 75 ระบุว่าพวกเธอเคยคิดถึงการทิ้งอาชีพพยาบาลนี้ไปหางานใหม่ทำเพราะภาระงานหนักเกินไปเนื่องจากการขาดแคลนพยาบาลในญี่ปุ่น

โดยส่วนใหญ่พยาบาลในญี่ปุ่นต้องทำงานในโรงพยาบาลที่มีตารางการทำงาน 3 กะ โดยร้อยละ 36.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทำงานกะกลางคืนถึง 9 ครั้งหรือมากกว่าต่อเดือน ร้อยละ 47.3 ระบุว่าทำงานกะกลางคืนถึง 5 ครั้งหรือมากกว่าต่อเดือน และร้อยละ 90 ต้องทำงานล่วงเวลา (OT) (อ่านเพิ่มเติม: สหพันธ์แรงงานเผยผลสำรวจพยาบาลญี่ปุ่น 71.7% มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น