โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 ทั่วประเทศ - 'ปลัดแรงงาน' แย้มขึ้นแต่ไม่เท่ากัน

Posted: 20 Dec 2017 09:35 AM PST

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ คุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้าน 'ปลัดแรงงาน' แย้มขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดแต่ไม่เท่ากัน

20 ธ.ค. 2560 ไทยพีบีเอส รายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงจุดยืนคัดค้านแนวนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 การใช้กลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งมีเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของคนงาน

คสรท. ระบุว่า ผลจากการสำรวจหนี้ของคนงาน พบว่า มีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225 บาท 87 สตางค์ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จึงขอประกาศจุดยืนหลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรม ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ 2. ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 3. ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ (บอร์ดค่าจ้าง)  จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทีมวิชาการและมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี 4. ต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี และ 5. ต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เว็บไซต์ กระทรวงแรงงาน รายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ สาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. และคณะเข้าพบ เพื่อขอทราบแนวทางนโยบายด้านแรงงาน พร้อมข้อเสนอดังกล่าว รวมถึงแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษย์ชน และผลักดันอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ณ ห้องรับรองรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน

รมว. แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายเน้นหนัก ประจำปี 2561 ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 11 ด้าน นโยบายนโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) ให้จัดระบบการทำงานที่เชื่อมโยงเเละบูรณาการร่วมกัน 4 ด้าน และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) เน้นความมีเอกภาพ 6 ด้าน ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลจับต้องได้ ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาโดยใช้ระบบไตรภาคี โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณา ซึ่งแรงงานต้องอยู่ได้และดูแลผลต่อการทุน โดยต้องรับฟังทุกด้านเพื่อให้เกิดความสมดุล สำหรับเรื่องอื่นๆ พร้อมรับข้อเสนอไว้ดำเนินการ

'ปลัดแรงงาน' แย้มขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดแต่ไม่เท่ากัน

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวภายหลังการหารือว่า การปรับขึ้นค่าจ้างว่า เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นส่วนของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมี จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งเกียวข้องกับเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน  ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ส่วนข้อเสนอที่ทาง คสรท. เสนอมานั้นตนจะรับเป็นหลักการไว้  ทั้งนี้รัฐบาลต้องพิจารณาถึงการให้แรงงานสามารถอยู่ได้ และต้องมองถึงเรื่องของธุรกิจด้วย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ตนก็รับไว้เป็นหลักการเพื่อให้ทางบอร์ดค่าจ้างใช้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีเหตุผล ซึ่งเราจำเป็นต้องฟังเสียงของทุกด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้อัตราการขึ้นจะเท่ากันทุกพื้นที่ หรือขึ้นพื้นที่ใดก่อนจะต้องมีการพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติมและขอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

จรินทร์  กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างนั้น เราไม่ต้องการให้ขาดใคร เพราะถ้าขาดใครไปสักคนเกิดมีอะไรขึ้นมา จะบอกว่าไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้เข้าประชุม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี ดังนั้นจึงรอให้มีความแน่นอนก่อนจัดประชุม ทั้งนี้ไม่มีทางที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดได้ ซึ่งดูตามตัวเลขเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งดัชนีผู้บริโภคก็ไม่ตรงกัน เห็นได้ว่าถ้าครองชีพแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน อย่าง กทม. กับแม่ฮ่องสอน ค่าครองชีพคนละเรื่องกันเลย แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พังงา  กระบี่ อาจจะสามารถขึ้นได้เท่ากัน แต่ทั้งนี้คาดว่าทุกจังหวัดจะได้ขึ้นหมด แต่ก็ขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดว่าเสนอมาอย่างไร เพื่อให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาว่าสิ่งที่เสนอมาสมเหตุ สมผลหรือไม่ ทั้งนี้น่าจะทันในเดือนธ.ค. เพราะอย่างน้อยจะต้องได้อัตราค่าจ้างใหม่แล้ว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมวดเจี๊ยบ รับทราบข้อหาอีก 3 กระทง ผิด พ.ร.บ.คอมฯ-ยุยงปลุกปั่น โพสต์โจมตีประยุทธ์

Posted: 20 Dec 2017 08:04 AM PST

ร.ท.หญิง สุณิสา เดินทางพบ ตร.ปอท. รับทราบอีก 3 กระทง ผิด พ.ร.บ.คอมฯ-ยุยงปลุกปั่น หลังฝ่าย กฎหมาย คสช. แจ้งความเพิ่ม ปมโพสต์โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าตัวยันคำเดิม ทำสิ่งถูกต้อง วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปกป้องประเทศ ย้ำ "ทองแท้ ย่อมไม่ต้องกลัวไฟ"

ภาพ ร.ท.หญิง สุณิสา (คนกลาง) ขณะเข้า รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 3 กระทง ที่มาภาพ Banrasdr Photo 

20 ธ.ค. 2560 จากกรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันและปราบปราบการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ออกหมายเรียกให้ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือ หมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย มารับทราบข้อกล่าวหากรณี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการ ประจำกอง บัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแจ้งความดำเนินคดีกับกับ ร.ท.หญิงสุณิสา กระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 มาตรา 14 (2) จนทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 3 กระทง จากเดิมแจ้งไว้ 6 กระทง ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว นำเสนอบทความหรือข้อความอันเป็นเท็จและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กทั้ง 2 บัญชี กล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นั้น

ล่าสุดวันนี้ (20 ธ.ค.60) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา พร้อม นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ ที่เดินมารับทราบข้อกล่าวหากับ ร.ต.อ.สมบัติ สมบัติโยธา รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. พร้อมตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สมาพันธ์ยุโรป เจ้าหน้าที่ทางการทูตประจำประเทศไทย อาทิ ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี ประเทศนอร์เวย์ และอีกหลายประเทศ ร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองพรรคเพื่อไทย พร้อมบรรดาแฟนคลับการเมืองมาให้กำลังใจ

ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า ในส่วนข้อกล่าวหานั้นขอยืนยันคำเดิมว่าตนทำในสิ่งที่ถูกต้อง การที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นการปกป้องประเทศ ในครั้งก่อนทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 6 กระทง และมาแจ้งอีก 3 กระทง ซึ่งการแจ้งความนั้นได้นำเอกสารคือข้อความการโพสต์เก่าๆ ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 30 กันยายน และวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นใหม่ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาของพล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการซื้ออาวุธ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย อันเนื่องมาจากการเจรจาไทย-สหรัฐอเมริกา
 
ร.ท.หญิง สุณิสา เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือจากทาง บก.ปอท.ไปยังสถานทูตต่างๆ ประจำประเทศไทยที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เชิงข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า นายกรัฐมนตรี ท่านทำอะไรอยู่ นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของทางรัฐบาลอีกด้วย นักการทูตเพียงเข้ามาสังเกตการณ์ตามพันธกรณีในเรื่องของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นต่างประเทศก็มีความเกี่ยวข้องเพียงแค่ร่วมสังเกตการณ์เท่านั้น นักการทูตไม่สามารถแทรกทางการเมืองได้ อยากชี้ให้ประชาชนไทยได้เห็นมนุษย์เราทุกคนเกิดมานอกจากจะมีหน้าที่ของตนเองแล้วก็มีหน้าที่ปกป้องประเทศด้วยโดยการผลักดันในเรื่องของสิทธิมนุษยชน
 
"ถ้าหากเป็นทองแท้ ย่อมไม่ต้องกลัวไฟ หรือท่านเป็นเพียงสังกะสีผุๆ ที่ย่อมกลัวไฟ" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
 
นรินท์พงศ์ กล่าวว่า ในวันนี้ทราบว่าจะมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมจึงได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นเรื่องเก่าก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เบื้องต้นทางตนยังไม่ได้รับหมายจับ แต่ทราบจากทางนักข่าวจึงได้รีบเดินทางมา ก็ต้องดูว่าทางพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีและแจ้งข้อกล่าวหาอะไร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: บันทึกการบอกเล่าจากวงเล่า...ด้วยเรื่องเล่า

Posted: 20 Dec 2017 06:39 AM PST

 

"ไอ้เด็กเมื่อวานซืน
ผ่านวันคืน ผ่านกี่ศพ การพบเห็น
โธ่เอ๋ย ทำเป็นเก๋า ไอ้เด็กเวร
เดี๋ยวกูถีบแม่งกระเด็น ไอ้เวรตะไล"

"กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง
รู้ซึ้งรู้สึกลึกแค่ไหน
กูจะบอกทางลัดให้เดินไป
จดจำคำกูไว้...ไม่หลงทาง"

"โตก็โตให้มันจริงหน่อย
เด็กน้อย กูกะมึงมีความห่าง
เดี๋ยวกูเบิ๊ดกะโหลกโลกบางบาง
ปรับความคิด เปลี่ยนความกร่างเถอะเชื่อกู"

ฉันครุ่นคิดในเหตุผล...ไร้เหตุผล
เวียนวน ในประเด็น ที่เป็นอยู่
ยุ่งเหยิง ซับซ้อน ซ่อนฤดู
เส้นทางถูกปู...ด้วยมีดคม

ใช่ ฉันเป็นเด็กเมื่อวานซืน
ไฟฟืนแห่งชีวิต...เพิ่งหวานขม
แต่ฉันมีสิทธิ์ไหม...ในโลกใบกลมกลม
อย่าผูกปม อาวุโส ให้ฉันเลย

อย่าฝังชิปโซตัสไว้ที่ฉัน
เชื่อเถอะคืนวันมันระเหย
โลกหมุนไปในวันวารที่ผ่านเลย
ยุคสมัยจักเปิดเผย...ซึ่งความจริง

*คนที่สร้างยุคสมัย...คือคนที่อยู่ในยุคสมัย
ความเป็นไปจะขานรับสรรพสิ่ง
เสรีภาพ ความงาม และความจริง
จะโลดวิ่งในลมหายใจ...ของผู้คน

อย่าชี้ทาง นั่นความงาม นี่ความจริง
ฉันจะวิ่ง...บนเส้นทาง อันมืดมน



*คำพูดของราชานรก ซิลเวอร์ เรลย์รี่ จากการ์ตูนเรื่องวันพีซ ตอนที่ 400 (อนิเมะ) ผู้เขียน อิจิโร่ โอดะ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ค่ำนี้ เราหนาวเท่ากันไหม?

Posted: 20 Dec 2017 06:33 AM PST

 

เธอเพิ่งรู้สึกหนาวหรือที่รัก
ลมหนาวหนักทักทายอยู่ท้ายบ้าน
เย็นเยือกเกลือกฝันของวันวาน
เสียงครวญคร่ำว่าหนาวนานหนอปีนี้ฯ
.....
หนาวฉ้อฉลคนกดขี่อัปรีย์หนาว
ลมรวดร้าวเผด็จการผลาญบัดสี
หนาวหนักสะสามาหลายปี
มืดมิดธุลีไม่มีทางฯ
....
หนาวเนื้อห่มเนื้อเขาเถือหนัง
หนาวความหวังห่มความฝันอันรกสาง
หนาวเทียมเท่าเรามีไหมในเลือนราง
หนาวเหน็บเจ็บอ้างว้างประเทศไทยฯ
..
เผด็จการสถุลถ่อยที่คอยเข่น
เขาโลดเต้นโฉดฉาวเขาหนาวไหม?
เขาห่มเสื้อคลั่งร่างคลุมคอยสุมไฟ
เสพอุ่นไออุ่นอบจากศพเราฯ
.....

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ทวนเข็มนาฬิกา

Posted: 20 Dec 2017 06:27 AM PST

บทกวีโดย อะริส ชีรูศ



เมื่อตาตาย นาฬิกาก็ตายตาม
ฉันไขลาน ไขเท่าไหร่ก็ไม่เดิน
ให้ช่างช่อม ซ่อมเสียซ่อมเสียซ้ำซ้ำ
เขาบอกฉัน เรือนนี้ไม่เหมือนเรือนใด
จะเดินดี ต้องทวนเข็มนาฬิกา
ฉันถามเขา ให้ดูเวลาอย่างไร
กับคนอื่น ให้นัดเวลาแบบไหน
เขาตอบฉัน ฉันเลือกได้เพียงอย่างเดียว
นาฬิกา อนุสาวรีย์ของตา
เก็บเอาไว้ เดินทวนเข็มนาฬิกา
หรือทิ้งมัน แล้วเดินตามเวลาไป
ฉันลังเล ฟังมันต๊อกติกต๊อกติก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานยื่นผลสำรวจ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แนวคิดขยายอายุรับเงินบำนาญประกันสังคม

Posted: 20 Dec 2017 03:50 AM PST

สภาองค์การลูกจ้างฯ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ยื่นข้อเสนอและผลสำรวจต่อแนวคิดการแก้กฎหมายประกันสังคม ระบุคนงานส่วนมากไม่เห็นด้วยแนวคิดขยายอายุรับเงินบำนาญประกันสังคม และหนุนผู้ประกันตนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมโดยตรง

เซีย จำปาทอง รองประธาน สพท. และบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (คนที่ 2 และ 3 จากซ้าย ตามลำดับ) เป็นตัวแทนยื่นข้อเสนอและผลสำรวจ

20 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา  13.00 น. ที่สำนักงานประกันสังคม ตัวแทน สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เดินทางเข้ายื่นข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมและรายงานสรุปแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม โดยมี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รับข้อเสนอและผลสำรวจ
 
ผู้สื่อข่าวสอบถาม เซีย จำปาทอง รองประธาน สพท. และหนึ่งในตัวแทนยื่นเอกสารในครั้งนี้ กล่าวว่า การยื่นหนังสือและทำแบบสอบถามเนื่องจากสำนักงานประกันสังคมได้จัดทำเวทีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ซึ่งกลุ่มตนไม่เห็นด้วยจึงได้สำรวจความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถามกับคนงานที่ร่วมอยู่กับองค์กรทั้ง 3 องค์กร คือ สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานฯ สพท. และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ จำนวน 7,000 ชุด มี 6 ประเด็นคำถาม 
 
ผลสำรวจพบว่า 1. คนงานส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจ จำนวน 5,730 คน ไม่เห็นด้วยกับ การขยายอายุรับเงินบำนาญหรือบำเหน็จ กรณีชราภาพจากเดิม อายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปี 2. ส่วนใหญ่ จำนวน 4,702 ไม่เห็นด้วยกับกับการเพิ่มฐานในการคิดคำนวณนำส่งเงินสมทบจากเดิมสูงสุดที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท 3. ส่วนใหญ่ จำนวน 4,507 คน ไม่เห็นด้วย กับการคิดคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเพื่อเป็นฐานจ่ายเงินบำนาญชราภาพจากเดิมค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเพิ่มเป็นตลอดระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ 4. ส่วนมาก จำนวน 5,169 คน เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้เลือกตั้งทางตรง จากผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือก 5. ส่วนมาก 5,466 คน ไม่เห็นด้วย กับการมีคณะกรรมการประกันสังคมจากการแต่งตั้ง โดยให้ คสช. หรือ นายกใช้ ม.44 และ 6. ส่วนใหญ่ 3,680 คน ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการมีคณะกรรมการประกันสังคม ให้เลือกตั้งทางอ้อม โดยให้สหภาพแรงงานสมาคมนายจ้างเลือก
 
เซีย กล่าวว่า เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่มารับรับข้อเสนอและผลสำรวจ รับปากว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ทำเวทีประชาพิจารณ์ที่ทำมา 12 ครั้ง 
 
เซีย เปิดเผยว่าหลังจากนี้ทางกลุ่มจะรอดูการพิจารณาของสำนักงานประกันสังคมในเรื่องขยายอายุบำนาญ ว่าจะไปทางได้ และจะมีการจัดเวทีเพื่อนำผลสำรวจนี้มาพูดคุยต่อสาธารณะต่อไป
 
ข้อมูลพื้นฐานกลุ่มประชากรที่สำรวจ เพศ ช่วงอายุ และประเภทอุตสาหกรรมที่ทำงาน
 
 
หนังสือที่ 3 องค์กรยื่นต่อ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม : 

เรื่อง      ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม

เรียน     เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

สิ่งที่ส่งมาด้วย    1. รายสรุปแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม

เนื่องด้วยสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้มอบหมายให้คณะทำงานติดตามการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคมไปแล้ว 12 ครั้ง คณะทำงานของสภาฯ ได้เข้าร่วมติดตามข้อมูลสังเกตการณ์ประชุมรับฟังความเห็น พร้อมทั้งได้มีการออกแบบสำรวจความคิดเห็นในสมาชิกสหภาพแรงงาน  จึงมีความเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจโดยสรุป (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 1) เพื่อการพิจารณา ดังนี้

1.      ประเด็นการขยายอายุเกิดสิทธิบำนาญ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมมีเสนอ 4 แนวทางให้เลือก ในเนื้อหาของสำนักงานประกันสังคมที่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรับฟังความเห็นในการประชาพิจารณ์  

สภาฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 แนวทางที่3 และแนวทางที่4 จึงให้คงสิทธิไว้ตามเดิม (แนวทางที่ 1) ด้วยเหตุผลคือ

ก.      ข้อมูลจากการสำรวจ ผู้ประกันตนไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายอายุการเกิดสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ

ข.      ผู้ประกันตนในวัยทำงานที่อยู่ในประเภทอุตสาหกรรม มีการทำงานอย่างหนักจากงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง  การทำงานที่ต้องเข้ากะ งานที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจากวัตถุดิบ สารเคมีตั้งต้นและสภาพของงานที่ต่างกัน  การกำหนดเกษียณอายุของสถานประกอบการแต่ละแห่งมีกำหนดเกษียณอายุที่ไม่เกิน 55 ปี (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 1)

ค.   ผู้ประกันตนทุกกลุ่ม (ม.33  ม.39 ) จะได้รับผลกระทบจากแนวทางวิธีการคิดคำนวณของสำนักงานประกันสังคม นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชย์ไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

2.      ประเด็นเพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพต่อเนื่องแก่ผู้รับบำนาญ ซึ่งจะหักเงินบำนาญของผู้ประกันตนส่วนหนึ่งเป็นเบี้ประกัน

สภาฯ ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการนำเงินบำนาญชราภาพไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ประกอบกับในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพให้รักษาพยาบาลฟรี (บัตรทอง) ซึ่งรัฐบาลมีเงินงบประมาณในการสนับสนุนให้โรงพยาบาลเป็นรายบุคคลรายละ 2950 บาทต่อคน/ต่อปี สามารถนำเงินนี้มาเข้าสู่ระบบรักษาสุขภาพตามสิทธิของผู้ประกันตน (ผู้ประกันตนถูกหัก 1.5% ของอัตรารายได้สูงสุด 15000 บาท เป็นเงิน 2700 บาทต่อคน/ต่อปี)     

3.      ประเด็นการปรับปรุงสูตรค่าจ้างเฉลี่ยในการคำนวณบำนาญ ตามแนวทางวิธีการคำนวณที่สำนักงานประกันสังคมเสนอ 3 วิธีการให้เลือกสภาฯ ไม่เห็นด้วย เหตุผลคือ

ก.      ข้อมูลจากการสำรวจ ผู้ประกันตนไม่เห็นด้วย ที่จะให้นำค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบมาเป็นฐานคิดคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ

ข.      มุ่งเน้นการแก้ไขในกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งผู้ประกันตน ณ เดือนตุลาคม  ม.39 มีจำนวน 1,365,339 คน  ส่วนผู้ประกันตน ม.33 มีจำนวน 10,695,748 คน จะได้รับผลกระทบจากการนำค่าจ้างเฉลี่ยตามระเวลาส่งเงินสมทบมากขึ้น (21ปี) จึงทำให้มีค่าเฉลี่ยที่ลดลงกว่าเดิม สภาฯ จึงเสนอให้นำเงินค่าจ้างสูงสุดของการเป็นผู้ประกันตน 60 เดือนในระยะเวลาการเป็นผู้ประกันตนมาเฉลี่ยเพื่อเป็นฐานคิดคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ

สภาฯ จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาระยะยาวให้สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน พิจารณาดำเนินการตามรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ที่ให้มีการปรับเปลี่ยนสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชน ทั้งนี้เพื่อการหารายได้อย่างยั่งยืน และต้องติดตามการชำระหนี้ของรัฐบาลที่มีกับสำนักงานประกันสังคมรวมทั้งต้องไม่ค้างชำระเงินสมทบ

ในการนี้สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยจึงใคร่ขอเสนอข้อมูลและเหตุผลประกอบการพิจารณาต่อท่านเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ประกันตนต่อไป

ขอแสดงความเคารพนับถืออย่างสูง

(นายบรรจง บุญรัตน์)

ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เดวิด เคย์' ชี้กฎกำกับเน็ตใหม่ของยุโรปส่อคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็น

Posted: 20 Dec 2017 02:22 AM PST

ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกของยูเอ็นหวั่นแนวทางคุมเฮชสปีชของกลุ่มประเทศยุโรป กระทบเสรีภาพในการแสดงออก เหตุเอกชนใช้ระบบอัตโนมัติในการคัดกรองข้อมูล ซึ่งเสี่ยงต่อการปิดกั้นความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกฎหมายไปด้วย


ภาพจาก Alexei Kuznetsov

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกของสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on Freedom of Expression) เขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ของยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก ลงในเว็บไซต์ https://www.foreignaffairs.com

เคย์ระบุว่าในขณะที่ในสหรัฐฯ มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างการใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชัง การแพร่ข่าวปลอม การเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศกระจายไปทั่ว และผู้คนก็มีความชอบธรรมในการเรียกร้องให้จัดการปัญหาเหล่านี้ แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงเอาใจกลุ่มทุนใหญ่และวางเฉยในระดับสภาร่างกฎหมายทำให้ไม่มีการจัดการเรื่องนี้

แต่ในยุโรป สภาพการณ์กำลังเป็นไปในทางตรงกันข้าม ในทุกๆ ภาคส่วนกำลังเริ่มจำกัดการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นรัฐ ฝ่ายบริหารประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และสหภาพยุโรปเอง เคย์มองว่าถึงแม้การกำกับดูแลเหล่านี้จะมีความชอบธรรมในการจำกัดการปฏิบัติไม่ดีในโลกออนไลน์ แต่ก็มีการจำกัดที่เสี่ยงต่อการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และมีโอกาสสูงที่เทรนด์การจำกัดแบบนี้จะแพร่ออกไปไกลกว่ายุโรป

พื้นฐานในเรื่องการกำกับดูแลการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ในยุโรปนั้นเน้นฐานเรื่องการคุ้มครองกลุ่มคนที่เสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมายของ "วาจาที่สร้างความเสียหาย" เช่นการจำกัดไม่ให้มีการแพร่กระจายคำกล่าวอ้างว่าการสังหารหมู่ชาวยิวไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เคย์ชี้ว่ามีกรณีแบบอื่นที่ไม่ใช่การคุ้มครองเช่นนี้แต่กลายเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น กรณีที่ศาลยุโรปเคยพิจารณาคดีเกี่ยวกับ "สิทธิในการที่จะถูกลืม" จากการฟ้องร้องในสเปนต่อกูเกิลในกรณีที่คนต้องการปกป้องชื่อเสียงของตนเองไม่ให้ถูกค้นเจอเรื่องแย่ๆ ในเว็บค้นหา ซึ่งศาลออกวามเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับการนำลิงก์ออกเพราะนอกจากขัดต่อผลประโยชน์ของกูเกิลแล้วยังขัดต่อหลักการที่ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

ทนายองค์กรเสรีภาพสื่อ วิจารณ์การอ้าง 'สิทธิในการถูกลืม' ของศาลยุโรป
ศาลอียูหนุน 'สิทธิในการถูกลืม' สั่งกูเกิลลบผลค้นหาที่ถูกร้องเรียน

กระนั้นก็ตามการตัดสินใจของกูเกิลสเปนกลับปรับเปลี่ยนอะไรเองโดยทำให้เว็บของพวกเขาเน้นรักษาชื่อเสียงของบุคคลมากขึ้นในระบบค้นหา ซึ่งเป็นการตัดสินนอกเหนือจากชั้นศาลไปสู่ระดับเอกชน โดยที่ศาลจะตัดสินหลังจากนี้ว่าควรจะจัดการให้ "สิทธิในการถูกลืม" นี้นำมาใช้ในระดับทั่วโลกหรือเฉพาะโดเมนของประเทศนั้นๆ

อีกกรณีหนึ่งที่จะส่งผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์คือปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาอาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยและผู้ลี้ภัย บีบให้บริษัทโซเชียลมีเดียและบริษัทไอทีต่างๆ พยายามกำกับดูแลพื้นที่ดิจิทัลมากขึ้นภายใต้การกดดันจากคณะกรรมการยุโรป โดยให้มีการจัดการนำ "เฮทสปีชผิดกฎหมาย" ออกจากเว็บภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่มีการแจ้งเตือน และยอมรับการเล่นบทโฆษณาชวนเชื่ออ่อนๆ อย่างการ "ให้ความหมายและส่งเสริมเรื่องเล่าต้านลัทธิรุนแรงสุดโต่งที่เป็นอิสระ" ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

คณะกรรมการยุโรปเริ่มดำเนินการจริงจังมากขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาในการกดดันให้บริษัทไอทีต่อต้าน "เนื้อหาผิดกฎหมาย" โดยเฉพาะจากการใช้อัลกอริทึมอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ดาปห์เน เคลเลอร์ จากศูนย์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดวิจารณ์ว่า การอาศัยระบบอัตโนมัติในการจัดการกับ "เนื้อหาผิดกฎหมาย" เป็นไปไม่ได้ที่ระบบอัตโนมัติพวกนี้มันจะไม่เผลอกวาดเอาเนื้อหาที่ถูกกฎหมายไปด้วย เช่น เนื้อหาเชิงเสียดสี การอ้างเนื้อหาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ และเนื้อหาในบริบทอื่นๆ นั่นหมายความว่าระบบอัตโนมัติจะชี้ว่ามันผิดกฎหมายโดยไม่สนใจบริบทใดๆ เลย

เรื่องนี้ยังถูกวิจารณ์จากมุมมองของนักวิเคราะห์กฎหมายคือ เกรแฮม สมิทธ์ ว่ากระบวนการแบบของคณะกรรมการยุโรปเป็นการกลับหัวกลับหางกระบวนการเดิมที่ให้มองว่าถูกกฎหมายไว้ก่อนที่จะพิสูจน์ได้ว่าผิดกฎหมาย และการอุดช่องโหว่ก็อ่อนมากจนอาจจะทำให้บริษัทไอทีเน้นนำเนื้อหาออกแทน

ในประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลเท็จเพื่อใส่ร้ายป้ายสีหรือการโฆษณาชวนเชื่อนั้นแม้แต่กลุ่มที่มีจุดยืนส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหนักแน่นก็ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหา แต่ก็ใช้วิธีการประกาศแต่งตั้งคนในระดับสูงมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้

เคย์ระบุว่าเรื่องของการจำกัดเนื้อหายังแพร่กระจายจากส่วนกลางยุโรปมายังประเทศสมาชิกต่างๆ เช่น ในเยอรมนีที่มีการวางข้อผูกมัดกับบริษัทไอทีในการให้นำ "เนื้อหาที่ผิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง" ออกภายใน 24 ชั่วโมง ในอังกฤษก็มีการออกกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้โดยอ้างว่าจะคุ้มครองเด็กและเยาวชนจาก "เนื้อหาให้โทษ" ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการนำเนื้อหาแบบผู้ใหญ่ที่ถูกกฎหมายออกเพราะกลัวถูกลงโทษ ในสเปนก็มการพยายามปราบปรามกลุ่มคนที่ต้องการให้คาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระ สภานิติบัญญัติในฝรั่งเศสก็พยายามทำให้การเข้ารับชมเนื้อหา "ยกย่องการก่อการร้าย" เป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่ก็ถูกตีตกไปโดยสภารัฐธรรมนูญ โปแลนด์ก็มีการเพิ่มมาตรการทางอินเทอร์เน็ตโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติเช่นกัน

บทความของเคย์ยังระบุถึงสิ่งนอกเหนือจากเรื่องเฮชสปีช คือ การที่ชาติตะวันตกทั้งอียูและสหรัฐฯ พยายามร่างกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งจะกลายเป็นการปิดกั้นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ กฎหมายออนไลน์ใหม่ที่จะควบคุมลิขสิทธิ์มีลักษณะบีบให้บริษัทไอทีเอกชนดำเนินการต่างจากเดิม เดิมทีแล้วเอกชนจะปล่อยให้เนื้อหาต่างๆ คงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแจ้งเตือนให้นำเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ออก แต่กฎหมายใหม่จะบีบให้ผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์ "ป้องกันไม่ให้มี" เนื้อหาที่ถูกคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์ เอื้อต่อการทำให้บริษัทไอทีอาศัยเทคโนโลยีอัตโนมัติในการตรวจจับ ซึ่งสิ่งที่เคย์เรียกว่า "ความคลั่งใช้ระบบอัตโนมัติ" เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการกำกับควบคุมเกินกว่าเหตุ

แล้วอนาคตของการแสดงออก-แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์จะเป็นอย่างไร เคย์มองว่าผู้ที่คำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกควรแสดงความเป็นห่วงต่อการออกกฎหมายเหล่านี้ ที่ถึงแม้จะมีเจตนาดีในการต่อต้านการข่มเหงรังแกออนไลน์และเป็นการพยายามแก้ปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองกับปัญหาพรรคการเมืองขวาจัด แต่เครื่องมือที่ใช้แบบที่บีบให้เอกชนจัดการพื้นที่ตัวเองตามคำสั่งก็เสี่ยงจะเป็นการจำกัดการแสดงออกมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการถกเถียงอภิปรายและความคิดสร้างสรรค์

เคย์แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่าในยุคสมัยอนาล็อกผู้คนอาจจะมีประสบการณ์แบบหนึ่งเกี่ยวกับการต่อกรในเรื่องผู้เชื่อการสมคบคิดว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือผู้สนับสนุนการก่อการร้าย แต่ในโลกยุคดิจิทัลนั้นแตกต่างออกไป จากการที่บรรษัทใหญ่มีการบริหารจัดการซึ่งอาจจะส่งผลต่อพื้นที่อินเทอร์เน็ตในวงกว้างได้ การปิดกั้นเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นภัยอย่างหนึ่งอาจจะส่งผลอย่างช้าๆ ต่อความเสื่อมของเสรีภาพในการแสดงออก เช่นกรณีการสร้างระบบกรองเนื้อหาอัตโนมัติ

เคย์ระบุต่อไปว่าในยุคสมัยที่รัฐบาลมักจะลิดรอนเสรีภาพเช่นนี้ การสร้างระบบปิดกั้นอาจจะเป็นภัยต่อผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ดีเสียเอง เช่นคนที่เขียนบล็อกวิจารณ์การเผยแพร่ข้อมูลเท็จของผู้มีอำนาจในสังคมถูกสั่งปิดบล็อก เคย์มองว่าก่อนหน้านี้รัฐต่างๆ ในยุโรปที่มีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกดีแล้วโดยเฉพาะในรัฐแถบสแกนดิเนเวีย

ทั้งนี้ เคย์ก็สนับสนุนให้บริษัทไอทีต่างๆ ควรหาวิธีการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยต่างๆ สามารถต่อต้านการถูกข่มเหงรังแกได้โดยอยู่ภายใต้มาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน ควรมีการแจ้งเตือนเนื้อหาที่เป็นการคุกคามหรือรังแกได้โดยที่มีการเปิดเผยกระบวนการจัดการกับเนื้อหาเหล่านั้นอย่างโปร่งใส และยอมรับผิดเมื่อฝ่ายไอทีที่ดูแลเนื้อหาเหล่านี้ตัดสินใจพลาด สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ภาคประชาสังคมจำนวนมากพยายามผลักดัน ซึ่งจะดีกว่าการใช้วิธีแบบที่ภาครัฐหรือภาคส่วนอียูบีบให้เอกชนจัดการตัวเองแบบที่จะจำกัดการตรวจสอบที่เป็นประชาธิปไตย

 


เรียบเรียงจาก

How Europe's New Internet Laws Threaten Freedom of Expression, David Kaye} Foreign Affairs, 18-12-2017
https://www.foreignaffairs.com/articles/europe/2017-12-18/how-europes-new-internet-laws-threaten-freedom-expression

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 หาฉันทมติ 4 ระเบียบวาระ กิจกรรมทางกาย-ยาเสพติด-ขยะ-พื้นที่เล่น

Posted: 20 Dec 2017 01:46 AM PST

เปิดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิด "10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ" หาฉันทมติ 4 ระเบียบวาระ กิจกรรมทางกาย-ยาเสพติด-ขยะ-พื้นที่เล่น

20 ธ.ค.2560 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า วันนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดย สช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัด ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2560 ขึ้น ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด "10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ" โดยมีผู้แทนจากเครือข่ายพื้นที่ ภาคประชาสังคม ชุมชนและเอกชน ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคราชการ การเมือง กลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็น และผู้สนใจกว่า 3,000 คน

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมวันแรก (20 ธ.ค.60) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานพระคติธรรมแก่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2560 จากนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน สช. คนใหม่ กล่าวปาฐกถามีใจความสำคัญว่า 10 ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า หลักการ แนวคิด และเทคนิค กระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย เป็นกลไกสานพลังทางสังคมเพื่อพัฒนาสุขภาวะ และเป็นพื้นที่กลางในการเจรจาหาทางออกในประเด็นที่ขัดแย้ง จึงจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป
 
ส่วน ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวย้ำว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเวทีที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ของทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะสามารถทำเรื่องที่ยากให้สำเร็จลุล่วงได้
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ยังมีกิจกรรมสำคัญในวันแรก คือ พิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และการลงนามขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช.และ สช. เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คณะสงฆ์และฆราวาสร่วมกันจัดทำกรอบและแนวทางในการเสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยยึดหลักการใช้ทางธรรมนำทางโลก กำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์กันเอง การดูแลสุขภาพพระสงฆ์โดยญาติโยม และบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสุขภาวะชุมชน
 
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเปรียบเสมือนรูปธรรมความสำเร็จในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เข้ามาก่อรูปนโยบาย และขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติร่วมกัน
 
สำหรับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 มีประเด็นที่ได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 4 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น 2. การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน 3. พัฒนาการพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา 4. ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
 
"ทั้ง 4 ระเบียบวาระนี้ เป็นประเด็นที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งสุขภาวะโดยรวมของคนไทย จำเป็นจะต้องมีกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะอย่างเร่งด่วน และเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง" นพ.ศุภกิจ กล่าว
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เครื่องมือทั้ง 4 ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ อันประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และสิทธิด้านสุขภาพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม แต่การดำเนินงานในทศวรรษที่ 2 จำเป็นต้องขยายผลให้งอกงามขึ้น โดยเฉพาะสมัชชาสุขภาพที่ต้องยกระดับขึ้นไปสู่จุดที่กลายเป็นเครื่องมือของชาติ
 
สำหรับทิศทางสำคัญของการปรับเปลี่ยน เลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10  ระบุว่า ได้แก่ 1. สมัชชาสุขภาพต้องครบวงจร เมื่อขึ้นมติมาแล้วก็ต้องต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนได้จริง ที่สำคัญก็คือต้องมีความพิถีพิถันในการขึ้นมติ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์หรือข้อมูลวิชาการ และต้องเป็นเรื่องที่เร่งด่วน มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก อยู่ในวิสัยที่จะทำให้สำเร็จได้ และต้องมีเจ้าภาพของประเด็นที่ชัดเจน 2. สมัชชาสุขภาพต้องมีระบบฐานสมาชิกที่ทันสมัย แน่นอน มั่นคง และชัดเจน 3. สมัชชาสุขภาพจะต้องทำหน้าที่สานพลังข้ามกลุ่มต่างๆ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาต่อรองหาทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยไม่มีการเผชิญหน้าในฐานะคู่ขัดแย้งกัน
 
"ในประเด็นที่เย็น เราจะได้เห็นความเป็นนักสานพลังระหว่างภาคีต่างๆ ส่วนในประเด็นที่ร้อน เราจะได้เห็นบทบาทการเป็นกลไกไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกัน ฉะนั้นทศวรรษที่สองนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะต้องยกสถานะตัวเองให้เป็นเครื่องมือของชาติ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป" นพ.พลเดช กล่าว
 
รายงานข่าวยังระบุว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2560 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด "10 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ" โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะการเสวนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ อาทิ สุขภาวะชาวสวนยาง การส่งเสริมกีฬามวยไทยเด็ก...ยุติมวยเด็กหาเงิน การผลักดัน พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย "ทุกข์เศร้าใต้เงาเพศภาวะ : รากเหง้าของภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงและการบำบัดที่ยั่งยืน" เป็นต้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กลาโหม' แจงเพจ 'มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงป้อม' ไม่ใช่ของ พล.อ.ประวิตร

Posted: 20 Dec 2017 01:07 AM PST

โฆษกกระทรวงกลาโหมแจง เพจ 'มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงป้อม' ไม่ใช่ของ พล.อ.ประวิตร หรือทีมงาน ย้ำไม่มีนโยบายลักษณะนี้ คาดผู้ไม่หวังดีสร้างความแตกแยก ขอประชาชนขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการอ่านข่าวจากโซเชียลมีเดีย

ภาพตัวอย่างที่เพจ  'มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงป้อม' โพสต์

20 ธ.ค. 2560 จากกรณีมีผู้ตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ 'มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงป้อม' เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมียอกคนกดถูกใจ 3 พันกว่า เพจดังกล่าวโพสต์ข้อความชวนตั้งข้อสงสัยกับการสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ขณะนี้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในหลายประเด็น โดยเฉพาะการไม่ยื่นรายการนาฬิกาและแหวนเข้าบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.นั้น

วันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลตั้งเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีคนเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เพจดังกล่าวไม่ใช่ของ พล.อ.ประวิตร หรือทีมงาน กระทรวงกลาโหมไม่มีนโยบายทำงานในลักษณะดังกล่าว จึงคาดว่าผู้ที่ไม่หวังดีกลุ่มนี้มีเป้าประสงค์สร้างความแตกแยกให้เกิดในสังคม โดยใช้การโจมตี พล.อ.ประวิตร เป็นเครื่องมือปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ 

"ที่ผ่านมากว่า 3 ปี สังคมไทยเดินห่างออกจากความขัดแย้งแล้ว จากเดิมที่สังคมผ่านการยั่วยุ ปลุกปั่น ป้ายสี สร้างความโกรธเกลียดกันเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยได้รับข้อมูลความจริงรอบด้านมากขึ้น และไม่ปรารถนาจะกลับไปถูกครอบงำทางความคิด การบิดเบือนข้อเท็จจริงดังเช่นอดีต" โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ขอผู้ที่กระทำการดังกล่าวมีความละอาย หยุดดำเนินการ หยุดการปลุกปั่นหรือปลุกระดม ทำให้เกิดความเกลียดชัง เพราะไม่อยากให้สังคม ต้องกลับไปขัดแย้งกันด้วยความคิดที่แตกต่าง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงให้เกิดขึ้นอีก และขอความร่วมมือประชาชน อย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือการสร้างความแตกแยก รวมถึงขอให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการอ่านข่าวจากโซเชียลมีเดีย หรือเพจต่างๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชื่อจีนยอมถอยระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเหตุกฏหมายบังคับ

Posted: 20 Dec 2017 12:23 AM PST

คณะทำงานจับตาการสร้างเขื่อนในจีน-ลาว-เขมร ถกทำงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง หลัง รมว.ต่างประเทศ ระบุ จีนยอมยุติโครงการโดยเชื่อว่าส่วนหนึ่ง จีนได้ออกกฏหมายใหม่ที่บังคับให้ภาคธุรกิจที่จะไปลงทุนต่างประเทศต้องปฎิบัติตามกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิ-สิ่งแวดล้อม
 
20 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า คณะทำงานเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้จัดประชุม ณ โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งล่าสุด ดอน ปรมัต์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาระบุว่า จีนยอมยุติโครงการ โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากจีนได้ออกกฏหมายใหม่ที่บังคับให้ภาคธุรกิจที่จะไปลงทุนต่างประเทศต้องปฎิบัติตามกฎหมาย ที่สำคัญคือการดำเนินการต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้มีการรายงานให้ทราบถึงตัวแทนบริษัทข้ามชาติของจีนได้เดินสายพบปะภาคประชาชนเพื่อเก็บข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทั้งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และเขื่อนตอนล่างในลาวและกัมพูชา ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเพราะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงทั้งสาย
 
ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาแม่น้ำโขงจนถึงปัจุบัน คือ กฎหมายที่จะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน ยังไม่มีพัฒนาการที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่ามีความคุ้มครองมากยิ่งขึ้นในโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขง แม้มีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ระหว่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แต่กลับพบว่ายังไม่สามารถไม่บังคับใช้ได้จริง และยังพบหลายกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงตีความให้ไม่ใช้ข้อตกลงดังกล่าว เช่น โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล และโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ซึ่งคิดว่าภาคประชาชนต้องผลักดันให้เกิดความคุ้มครองที่เป็นจริง
 
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่าการประเมินการคุ้มค่าในการลงทุนในแม่น้ำโขง ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ต้องทำการศึกษาก่อนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของแต่ละโครงการ เพราะทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประชาชน กลับไม่ได้นำมาพิจารณาในการวางแผนการพัฒนา รัฐจำเป็นต้องทบทวนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาตกอยู่กับประชาชนนับล้านที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำโขง
 
จีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าก่อนหน้านี้เขื่อนจิงหง ในมณฑลยูนนานลดการระบายน้ำลงเหลือ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยพบว่าตอนนี้น้ำแห้งลง แต่เป็นไปตามฤดูกาล เพราะฤดูแล้งไม่มีฝนตก แต่หากเขื่อนจิงหงเพิ่มการระบายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงก็จะเพิ่มขึ้นมา ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งโขงเกิดความสูญเสีย
 
"บนเกาะและดอนกลางลำน้ำโขง ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของนกอพยพต่างๆ ที่อพยพมาในช่วงฤดูหนาว ส่วนระบบนิเวศตามเกาะแก่ง ต้นไคร้ ที่เมื่อโดนเขื่อนจีนระบายน้ำลงมา น้ำเกิดท่วมในช่วงฤดูแล้ง ก็ตายไปเป็นจำนวนมาก การที่น้ำขึ้นลงผิดฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อที่อาศัยของนก สำหรับในฤดูน้ำหลาก เกาะแก่งและต้นไคร้เหล่านี้ก็เป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของปลา เมื่อถูกทำลายไปก็ส่งผลระยะยาวต่อปริมาณปลาในแม่น้ำโขง" ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดินดูงานกลางแปลง เมื่อคนรุ่นใหม่ออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง

Posted: 20 Dec 2017 12:23 AM PST

เล่าเรื่องเบื้องหลังการลงพื้นที่ของเยาวชน 4 ภาคถึงวัฒนธรรม ความสวยงาม องค์ความรู้และความท้าทายในยุคที่พื้นที่กำลังจะเปลี่ยนไป รร.เชียงของวิทยาคมคลอดหลักสูตรท้องถิ่นตามมาแล้ว เล่นเกม "พลังพลเมือง" สะท้อนปัญหาชุมชน สิทธิพลเมืองที่ถูกท้าทายโดยรัฐและทรัพยากรจำกัด

เมื่อ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ลานกว้างในพิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์ริมถนนพระอาทิตย์เป็นสถานที่จัดงาน "Behind กลางแปลง" ซึ่งรวมเอากิจกรรมเยาวชน คนรุ่นใหม่จากโครงการ Behind จากภาคใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมร้อยกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่จากทั้ง 4 ภาค

โครงการ Behind เกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายเด็กเยาวชน 4 ภาค จัดให้เกิดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ นักข่าวพลเมืองเด็ก เยาวชนและคนรุ่นใหม่ 4 พื้นที่ 4 ภาค

ในงานมีการเล่าเรื่องราวของพื้นที่การทำโครงการ Behind ทั้งในเรื่องความงดงาม ความน่าสนใจ ประเด็นปัญหา ความท้าทายที่คนในพื้นที่พบเจอจากปากคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นแผนการจัดตั้งโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่แม่น้ำลำเซบาย จ.ยโสธร การกลายสภาพเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย การบอกเล่าความสวยงามใน จ.สตูลที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อการมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นในท้องที่ ฯลฯ

"ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ก็จะกระทบกับวิถีเกษตรกรของคนที่นั่นแน่นอน เครือข่ายฯ จำนวนพันกว่าคนจึงใช้สิทธิยื่นหนังสือตามที่ต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ แม้แต่นายกฯ ประยุทธ์ พวกผมก็ไป แต่ยังถูกหน่วยงานราชการทหารไม่ให้เข้าใกล้เหมือนกรณีเทพา แกนนำต้องถูกควบคุมตัว แต่กลุ่มทุนได้เข้าไปหาผู้หลักผู้ใหญ่อย่างสบาย" อิสรา แก้วดี เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายขึ้นพูดบนเวทีในประเด็นการสร้างโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน จ.ยโสธร

"คนเห็นวัยรุ่นเป็นปัญหา คิดว่าออกจากบ้านไปก็ไปมั่วสาว มั่วยา ทะเลาะวิวาท เด็กแว้นที่นั่นจึงต้องการพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นว่าพวกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เมื่อมีกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เยาวชนก็รวมตัวกันทำกิจกรรมในพื้นที่ เก็บขยะ ปลูกป่า จากนั้นก็มีการทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ เยาวชนมีการวมตัวกันเพื่อส่งเสียงว่าชาวสตูลต้องการอะไร มีการช่วยเหลือเรื่องท่องเที่ยว ดำน้ำ ถ่ายภาพปะการังมาโพสต์ ไปปลูกข้าว ดำนา เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้ว่าดำนาอย่างไร มีกิจกรรมสองล้อรักษ์บ้านเกิดให้น้องๆ ใน จ.สตูลรู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง" นันทวัฒ ติงหวัง จากกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด เล่าเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มนักกิจกรรมวัยรุ่นที่รณรงค์และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในพื้นที่ จ.สตูล

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ Behind กลางแปลง กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดงานในมุมของการเติมเต็มการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับเยาวชนว่า เมื่อตั้งคำถามว่าการศึกษาเป็นของใคร ทำเพื่อใคร ก็พบว่าการศึกษานั้นเป็นของผู้เรียน คือเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และพบว่าการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงคุยกับไทยพีบีเอสในเรื่องโครงการ Behind Project ว่าทำไมเราไม่ให้เยาวชนออกแบบการศึกษา แสดงเบื้องหลังในสังคมที่ห้องเรียนไปไม่ถึง จึงเกิดเป็นโครงการที่กระจายไปทั้ง 4 ภาค ซึ่งองค์ความรู้ที่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ค้นเจอได้นำมาร้อยเรียงออกสู่สายตาสาธารณะที่พิพิธบางลำพู

โครงการที่อบรมเยาวชน มุ่งให้พวกเขาออกแบบการเรียนรู้และถอดองค์ความรู้จากพื้นที่ได้สร้างผลผลิตออกสู่สายตาสาธารณชนผ่านนิทรรศการ


วสันต์ สรรพสุข

วสันต์ สรรพสุข ครูจากโรงเรียนเชียงของวิทยาคม ที่ร่วมกับกลุ่ม Behind เชียงของลงพื้นที่กับเด็กและเยาวชน สะท้อนถึงผลผลิตของโครงการว่า "ปรกติเวลาเราพูดถึงการเรียนการสอนก็จะเน้นที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก กลุ่มพลเรียน (กลุ่มนักกิจกรรม ครู ที่ทำงานประเด็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามกับแนวทางการเรียนการสอน) ลงไปในพื้นที่ก็ให้เทคนิคใหม่ๆ ในการจัดกิจกรรม ซึ่งได้ไปเผยว่าในพื้นที่มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาอีกหลายอย่างที่จะเอามาใช้ได้ น้อง(กลุ่มพลเรียน) เข้ามาและใช้เทคนิคต่างๆ รวมถึงการทำสื่อเพื่อแสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังของ อ.เชียงของซึ่งปัจจุบันมันกลายเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ แต่ในพื้นที่ก็มีองค์ความรู้อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

"หลังจากที่น้องไปทำ Behind โรงเรียนก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่ชื่อว่า หลักสูตรคนเชียงของ เราเป็นภาคีผลักดันร่วมกับกลุ่มฮักเชียงของ โดยเน้นลักษณะความสัมพันธ์ 3 มิติ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คือความหลากหลายของคนในเชียงของ สอง ระหว่างคนกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำโขง ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับน้ำโขง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ สาม ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เราจะชี้ให้เห็นว่าเชียงของมีความเชื่ออะไรที่เกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และมันเป็นความรู้เฉพาะท้องถิ่น เช่น ปู่ละหึ่ง เด็กก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปู่ละหึ่ง และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขงและชุมชนตัวเอง

"หลักสูตรท้องถิ่นตอนนี้เริ่มใช้ในเทอมที่แล้วหนึ่งวิชา ในภาคการศึกษาที่สองเราเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 1-6 หลักสูตรเน้นให้เด็กออกไปค้นคว้าความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเด็กก็อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ก็ทำให้ง่ายในการไปดึงความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่หรือคนในท้องถิ่นออกมาและพัฒนาร่วมกัน ครูก็ไม่ใช่จะมีความรู้ทุกอย่าง แต่ครูได้เรียนรู้ไปกับเด็ก และในเดือน มี.ค. 61 เราจะจัดประชุมระหว่างโรงเรียนกลุ่มสาระสังคมกับกลุ่มฮักน้ำของเพื่อสรุปบทเรียนว่าเราได้อะไรบ้างจากการใช้หลักสูตรท้องถิ่น มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร มีอะไรที่ต้องพัฒนาเพื่อให้มันเป็นโมเดลและพัฒนาขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ปัจจุบันเราก็พยายามมีค่าย ตอนนี้ก็ทำค่ายร่วมกับโรงเรียนเชียงของ พาเด็กไปล่องเรือ ตรวจคุณภาพน้ำ เรียนรู้วิถีชีวิตคนลื้อที่บ้านหาดบ้าย (บ้านหาดบ้าย อ.เชียงของ)" วสันต์กล่าว

นอกจากมีเวทีให้ตัวแทนจากเยาวชนทำกิจกรรมร้อง เล่น เต้น และสะท้อนความรู้ที่พวกเขาค้นพบ ในงานยังมีการให้เล่นเกมกระดาน (บอร์ดเกม) บทบาทสมมติที่ชื่อว่า "พลังพลเมือง" เป็นเกมที่มุ่งสร้างความตระหนักแก่ผู้เล่นถึงประเด็นปัญหาที่พลเมืองในพื้นที่แต่ละโครงการ Behind พบเจอ และสิทธิที่พลเมืองมีและทำได้เพื่อแสดงพลังและข้อเรียกร้องของตัวเอง

รูปแบบเกมคือการจำลองบทบาทให้ผู้เล่นเป็นพลเมืองที่อาศัยในชุมชนต่างกัน แต่ละชุมชนต้องแข่งขันกันว่าชุมชนใดจะมีเงินเยอะที่สุดเมื่อเกมจบ โดยในแต่ละรอบ ชุมชนต่างๆ จะต้องเลือกวิธีการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรจากพืชชนิดต่างๆ ที่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้น้ำที่เป็นทรัพยากรร่วมกันและมีอย่างจำกัด หรือเลือกที่จะขายแรงงานและไม่ต้องใช้น้ำ

นอกจากเงื่อนไขด้านทรัพยากรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ทำให้แต่ละชุมชนประสบปัญหาในการหารายได้ ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนตามการจับสลากแต่ละรอบ และหน่วยงานภาครัฐที่สร้างเงื่อนไขการใช้ทรัพยากรร่วมกันตลอดเกม แต่ละชุมชนก็ต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐสนใจและได้ทรัพยากรเพิ่ม และในทางกลับกัน ภาครัฐก็มีท่าทีตอบโต้การเรียกร้องของชุมชนด้วยกฎหมายมาตราต่างๆ รวมถึงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย โดยในงานมีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ให้ความสนใจเข้าเล่นเกมจำนวน 20 กว่าคน

"ถ้าหมู่บ้านลดลง ก็จะแพ้กันทั้งหมด...ถ้าช่วยกันมากกว่าแก่งแย่งกัน ก็จะทำให้สังคมพัฒนาไปได้" เป็นหนึ่งในเสียงของผู้เข้าร่วมที่สะท้อนหลังการเล่นเกมพลังพลเมือง


ทีมงานกลุ่มพลเรียนที่มานำเสนอและนำเล่นเกม
(ซ้ายไปขวา) อรรถพล ประภาสโนบล ชัชวาลย์ งานดี ธีรพงษ์ ภักดีสาร พีระศิน ไชยศร

พีระศิน ชัยศร (นิว) ครูองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอนสังคมศึกษาอยู่ที่ จ.ระยอง สมาชิกกลุ่มพลเรียน ที่มุ่งเคลื่อนไหวประเด็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการใช้เกมในระบบการศึกษาว่า

"ที่มาของเกม จริงๆ แล้วเกิดจากกิจกรรม Behind ที่ทำในแต่ละพื้นที่และผู้เรียนรู้ได้พบเจอปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ทำให้มีคำถามว่าเราจะทำกิจกรรมอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้เห็นภาพ Behind ในที่ต่างๆ อย่างไร เลยทำเป็นกิจกรรมเกมการเรียนรู้เป็นเกมกระดาน ซึ่งกลุ่มเราก็สนใจกันอยู่แล้วเนื่องจากทำงานเป็นครู เลยใช้เกมจำลองสถานการณ์มาสร้างเป็นกิจกรรมนี้ ชื่อเกมคือพลังพลเมือง ก็จำลองบทบาทเป็นเกษตรกรที่ต้องทำมาหากิน แข่งขันกันภายใต้ทรัพยากรจำกัด แล้วก็มีแอคชั่นหรือเงื่อนไขเข้ามาเพิ่มคือพลังในการใช้สิทธิ์เพื่อต่อสู้ ซึ่งก็จะมีหลายรูปแบบ และจะเห็นได้ว่มีตัวละครที่เป็นภาครัฐที่เข้ามาป้องกัน ปราบปรามความเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโครงการ Behind แต่ละที่ เราเลยนำสถานการณ์มาสร้างเงื่อนไขเกมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเล่นมีความปั่นป่วนในความคิดว่ามันเกิดเรื่องขึ้นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงถูกจำกัดสิทธิ์ ทำไมรัฐต้องทำแบบนี้ แล้วในฐานะพลเมืองพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้างภายใต้ชุมชนหรือการอยู่ร่วมกัน

"มีกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรที่ทำงานเรื่องการศึกษาและสนใจอย่างจริงจังและพัฒนาเกมจากประเด็นทางสังคมชื่อว่าเถื่อนเกม นำโดยอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด เราได้เข้าไปร่วมและได้เห็นว่าประเด็นต่างๆ ทางสังคมเอามาทำเป็นเกมและทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจ เปิดมุมมองต่างๆ ได้เห็นประเด็นต่างๆ ที่อยู่ในเกม เป็นการเรียนรู้ที่ง่ายและเข้าถึงกลุ่มต่างๆ ได้

"ที่ผ่านมาก็ได้เอาเกมเข้าไปใช้ในระบบการศึกษาตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่และได้ไปสอนในโรงเรียน ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีเกมที่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือแม้แต่เหตุการณ์สำคัญทางศาสนาที่ผมก็เอาไปใช้ในห้องเรียน แล้วแต่ว่าเราจะสอนเรื่องอะไรเราก็พัฒนาเกมนั้นขึ้นมา

"ปัจจุบันห้องเรียนมีลักษณะเป็นห้องเรียนกลับทาง ความรู้มีอยู่ทุกที่ไม่ใช่มีแต่ในตำรา เด็กหาความรู้ที่ไหนก็ได้ เปิดอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือก็ได้ แต่ประสบการณ์ ความคิด การตัดสินใจ เราไม่สามารถสร้างให้เขาได้จากที่อื่นนอกจากในห้องเรียน เกมจึงเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เขาคิด ตัดสินใจ ลงมือปฏิบัติผ่านสถานการณ์ เงื่อนไขในเกม" พีระศินกล่าว


บรรยากาศงาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงวิชาการระบุ ดับไฟใต้ต้องเข้าใจใหม่ มากไปกว่าความมั่นคง พร้อมหนุนสานเสวนาศาสนา

Posted: 20 Dec 2017 12:19 AM PST

ชี้ดับไฟใต้ไม่ได้ถ้ายึดติดกรอบคิดเดิม ให้ความมั่นคงผูกขาดการแก้ปัญหา ยกนักวิชาการ-มหา'ลัย กลไกสำคัญสร้างองค์ความรู้ สร้างแนวร่วมจากภายนอก-ภายใน มุสลิมต้องคุยกันเองในหลายเรื่องที่คนภายนอกศาสนาไม่เข้าใจ ปัญหาการสื่อสารจากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติเป็นอุปสรรคสานสันติภาพ

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ในเวทีเสวนาหัวข้อ "บทบาทของสถาบันวิชาการและนักวิชาการกับการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้" จัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA)

เวทีเสวนามี มาร์ค ตามไท ผู้อำนวยการกลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรักเชียงใหม่ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ สุชาติ เศรษฐมาลินี  ผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ และหัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ผู้แทน จ.เชียงใหม่) และเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เป็นวิทยากร

โคทม อารียา: คนนอกกับการสานวาทกรรมและจุดอ่อน หนุนคนในพื้นที่แก้ปัญหาชายแดนใต้
แย้งภาครัฐ คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังระแวง ความเกลียดชังแพร่ถึงห้องเรียน

 


ดับไฟใต้ไม่ได้ถ้ายังติดกรอบความมั่นคง

มาร์คกล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะฝันเรื่องนี้ หรือเขียนบทกวีถึงความปรารถนาเอกราชของปาตานี เพราะไม่ใช่คนที่อาศัยที่นั่น แม้อาจจะมีสิทธิ์ออกความเห็นในเรื่องอื่นในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่บางอย่างก็เป็นหน้าที่ของคนในที่จะแก้ปัญหา ถ้าคนนอกทำงานพวกนี้จะเป็นงานที่เน้นสันติสุขของประเทศไทยมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทบาทคนนอกในสามจังหวัดก็เยอะ และเราจะมาคุยเรื่องนั้นกัน

เขาตั้งคำถามว่า คนไทยเข้าใจปัญหาภาคใต้หรือไม่ และปัญหามีความสำคัญหรือไม่ สำคัญในที่นี้ไม่ใช่สำคัญแบบนามธรรมทั่วไป แต่สำคัญแค่ไหนที่จะมีความรู้เรื่องนี้ สำคัญกว่าเรื่องราคายางไหม สำคัญกว่าความรู้เรื่องความแห้งแล้งในบางเดือนของภาคอีสานหรือไม่ มีหลายปัญหา และมีหลายปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาอื่นที่คนควรจะรับรู้ เในกรณีตากใบ มีผลโพลชี้ว่าคนไทยร้อยละ 85 เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องรู้เพื่อจะได้ไม่ส่งต่อความรู้ที่ผิด และมีการพูดคุยออกความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา หากคนเอาความไม่เข้าใจไปบอกคนอื่นแล้วก็เชื่อกันไป ในที่สุดก็ส่งต่อความไม่รู้ลงไปในระดับต่างๆ

มาร์คชี้ว่า บทบาทสถาบันวิชาการคือการไม่ควรให้มีบัณฑิตคนไหนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยไทยแล้วไม่สามารถพูดเกี่ยวกับภาคใต้ได้ ส่วนจะสอนอย่างไรก็เป็นปัญหาหนึ่ง จะทำอย่างไรให้มีการบรรจุในหลักสูตร ให้บัณฑิตพูดได้ ไม่ต้องพูดได้หมด ไม่ต้องตัดสินข้อถกเถียง แต่สามารถเล่าข้อถกเถียงทุกด้านได้

บทบาทนักวิชาการที่อยากเสนอในฐานะนักวิชาการที่เป็นคนนอกพื้นที่คือ อยากให้พิจารณาจากเรื่องของเด็กที่แม่พาไปหาหมอฟันเพราะฟันผุ หมอฟันก็ดูและอ้างว่ากินขนมหวานเยอะไป แม่ก็เอากลับไปแล้วบอกว่าห้ามกินขนมหวานเดี๋ยวจะฟันผุ แต่เด็กก็ไปหาขนมจนได้ แล้วก็ฟันผุอีก จริงๆ คือแก้ผิดจุด เราบอกว่าอย่ากินขนม โดยไม่ถามว่าทำไมเขากินขนม แต่บางกรณีก็ไม่ได้ดื้อ แต่แค่ไม่สามารถคิดนอกกรอบนี้ ร่างกายต้องการแต่หมอ

"ผมกำลังคิดเรื่องความเข้าใจเรื่องความมั่นคงของสังคมไทย บางทีคนที่ศึกษาเรื่องนี้ทั้งในและนอกพื้นที่ ก็มีหลายคนที่ไปร่วมอบรมหลายครั้ง และก็ตั้งใจฟัง มีจัดเกมให้เล่น เล่นจำลองบทบาทต่างๆ แล้วก็ทำแบบเดิมแบบนี้มาหลายปี ทำไมทัศนะของคนทำงานด้านนี้ไม่เปลี่ยน ก็บอกให้เปลี่ยนผ่านการอบรม ผมก็มองเรื่องนี้แบบเดียวกับเรื่องหมอฟัน มันเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องความมั่นคง ตราบใดที่ความเข้าใจความมั่นคงไม่เปลี่ยน การอบรมสันติวิธีไม่น่าจะช่วยมากเพราะมันไปชนกับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ก่อน ไม่ได้วิเคราะห์และทำให้เข้าใจ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่เข้าใจปัญหาภาคใต้เพราะฝ่ายความมั่นคงบอกเป็นปัญหาความมั่นคง ตราบใดที่ปัญหาภาคใต้ยังจำกัดเป็นเรื่องความมั่นคงมันก็จะเป็นอย่างนี้ แต่มันเป็นปัญหาเรื่องจริยธรรมและการเมืองการปกครอง เป็นปัญหาของส่วนหนึ่งของประเทศมีความทุกข์บางอย่างและผู้มีหน้าที่แก้ไขนั้นแก้ไม่ได้ ปัญหาหลักไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง เพียงแต่มีเรื่องความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง"

มาร์ค กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงขาดคือคำว่าความมั่นคงแปลว่าอะไร คิดว่าไม่มีการศึกษาว่าที่มาของความหมายของความมั่นคงที่ติดในหัวคนทำงานมาจากไหน นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แปลว่านักวิชาการในพื้นที่ทำไม่ได้ แต่บางทีคนนอกพื้นที่ก็ทำได้ อาจจะช่วยถอยมามองเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความมั่นคงกับสถาบัน มันปนไปหมดตราบใดที่มันยึดติดอยู่กับอย่างเดียวก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ผล ไม่ได้แก้ตรงที่ว่าจริงๆ แล้วทำไมคุยกันแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ก็มันเปลี่ยนไม่ได้เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วมันกระทบหลายอย่าง

มาร์คกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะแก้ปัญหาในอนาคต ต้องการสองอย่างจากคนไทย หนึ่ง ต้องการความใจกว้าง ไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายวิชาการอย่างเดียว เป็นหน้าที่ของครอบครัวไทยทุกครอบครัว ทุกหน่วยของสังคมที่ต้องปลูกฝังความใจกว้าง สอง ต้องการจิตเสรี เป็นหน้าที่ของสถาบันวิชาการโดยตรง การคิดอย่างเสรี จิตเป็นอิสระ ไม่ผูกพันกับกรอบอะไรในอดีต วางอยู่บนฐานของความเมตตาและการใช้เหตุผล จิตเสรีขาดมากในสังคมไทย จะโทษใครก็คงเป็นสถาบันวิชาการ ที่ทำให้นักศึกษาติดในกรงขังความคิดเหมือนนักโทษ

อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฯ กล่าวในประเด็นเรื่องการชื่นชมความต่างว่า แม่ผมเป็นคนอเมริกัน พ่อเป็นคนไทย ก็อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมและถูกล้อเลียน ผมเองก็ชั่งไม่ได้ระหว่างการชูความเป็นมนุษย์เหมือนกัน กับชื่นชมความต่าง ความคิดนี้ยังสู้กันอยู่ทุกวันนี้ บางครั้งก็ไปทางการเคารพความต่าง แต่พอดูตัวอย่างที่ทำงานจริงๆ การชูความเหมือนมีผลมากกว่า เวลาเอาคนที่ต่างกันมาก เช่น กองทัพภาค 3 ไปอยู่กับคนบนดอยที่เชียงราย เวลาเลกเชอร์เรื่องความงดงามของวัฒนธรรมที่แตกต่างไม่ได้อะไร แต่พอได้คุยกันในเรื่องธรรมดา เช่น ลูกป่วยทำอย่างไร มันเริ่มมีการสานสัมพันธ์กัน การเห็นความต่างและความงามของมันทำให้เปิดใจเห็นความเหมือนกันในฐานะมนุษย์ เมื่อเห็นความเหมือนกันในฐานะมนุษย์แล้ว การเคารพความต่างมันจะตามมาเอง แต่ถ้าเริ่มด้วยความต่าง มันไม่เห็นความเหมือน


ชี้นักวิชาการ-มหา'ลัย กลไกสำคัญสร้างองค์ความรู้

ฉันทนากล่าวว่า เรื่องสันติภาพมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ หนึ่ง ฐานพลเมืองผู้แสวงหาสันติภาพมีขอบเขตที่ไหน อย่างที่อาจารย์มาร์คพูดแล้วคือ ถึงเราจะอยู่ กทม. แต่ในฐานะที่เป็นสังคมเดียวกันอย่างไรเรื่องก็ต้องถึงตัวอยู่ดี ถ้าดูในเรื่องงบประมาณ สิบกว่าปีในชายแดนใต้ใช้งบไปกี่แสนล้านบาท แค่นี้ก็รู้แล้วว่าสำคัญกับสังคมอย่างไร สังคมส่วนใหญ่อาจจะเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายปัญหาสามจังหวัดก็ได้ ถ้าไม่อยู่ในความเข้าใจแบบเดียวกันก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา ฐานพลเมืองผู้แสวงหาสันติภาพได้ขยายตัวจนปัญหาชายแดนใต้มันขยายกลายเป็นโจทย์ของชาติแล้ว

สอง เราต้องการอะไรในกระบวนการสันติภาพ ไม่มีตัวอย่างอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ที่เอามาเลียนแบบได้เป๊ะๆ แต่มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคม กระบวนการสันติภาพที่ไม่มีการเรียนรู้จะไม่สามารถหาทางออกได้ กระบวนการเรียนรู้สำคัญมากซึ่งก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และต้องตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วบทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนอกพื้นที่จับเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขนาดไหน ก็พบว่ากระท่อนกระแท่น เว้นเสียแต่มหาวิทยาลัยมหิดล ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อาจจะมีการจัดตั้งกลไกที่มีความสืบเนื่องในการที่จะติดตามปัญหาต่อไป เห็นบทบาทการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน เช่น ไอร์แลนด์เหนือ พื้นที่มหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่กลางที่เอาไว้เชื่อมคนกลุ่มที่เห็นไม่ตรงกันให้ปรับจูนกันได้ คนคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่น่าจะปลอดภัยในการพูดเรื่องหนึ่งๆ ที่คนอาจจะคิดว่าพูดไม่ได้

ฉันทนา ตั้งคำถามว่า นักวิชาการด้านนี้อยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไร ถ้าถามว่านักวิชาการด้านสันติศึกษาได้สถาปนาลงไปในสังคมศาสตร์หรือยัง ก็คงตอบได้ว่ากระท่อนกระแท่น ก็คงเป็นสิ่งที่กำลังเติบโต และมหาวิทยาลัยก็ต้องตั้งคำถาม เห็นว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ 2-3 คนและพยายามสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา แต่ผู้บริหารก็ถามว่าอันนี้เป็นสาขาวิชา (discipline) อะไร จะเอาไปเปิดเรียนได้ไหม ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝ่าฟันไป

"งานของดิฉันไม่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ยกเว้นแต่งานวิจัยที่ทำเรื่องแรงงานเด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ตากใบ ในฐานะนักวิชาการอธิบายไม่ได้ว่าเรากำลังเข้าสู่โลกสมัยใหม่ สิ่งที่เราทำมันเรียกว่าอะไรกันแน่ นำมาสู่การตั้งคำถามว่าเราไม่มีความรู้ในการแก้ไข มาตรการทางทหาร การผนวกรวมทางวัฒนธรรมมันแก้ปัญหาไม่ได้ใช่ไหม คนที่ต่อต้านรัฐในสามจังหวัดฯ ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงๆ แล้วมันก็เป็นโจทย์การเมืองธรรมดาที่เราสามารถพูดคุยกันได้"

ฉันทนาเล่าถึงสถานการณ์หลังเหตุการณ์ตากใบว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเต็มไปด้วยอารมณ์ นักวิชาการ 148 คนจึงรวมตัวกันไปพบนายกฯ ในเวลานั้น เพื่อบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่โจรกระจอกอย่างที่ท่านว่า และตั้งคำถามว่าเราจะใช้วิธีการอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ถือเป็นองค์กรแรกๆ ของสังคมไทยที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำความเข้าใจปัญหาภาคใต้ใหม่อย่างเป็นทางการ นำไปสู่การคิด ทำความเข้าใจเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ในมุมใหม่

สถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้ตอนนั้นเหมือนเป็นเขาควายที่มีตัวแสดงสองกลุ่มคือรัฐและผู้ต่อต้านรัฐ ไม่มีคนอื่นพูดอะไร และไม่กล้าจะพูดเพราะกลัวถูกผลักเข้าทางใดทางหนึ่ง แล้วในความขัดแย้งนั้นมีคำถามว่า ใครมีความชอบธรรมในความขัดแย้งบ้าง ถ้าคนสามจังหวัดชายแดนใต้พูดอะไรไปคนจะฟังไหม ในสถานะนั้นใครจะตั้งประเด็นให้หลุดออกไป โจทย์หลังเหตุการณ์ตากใบคือ อะไรคือทางออกทางการเมือง เราจะแก้ปัญหาด้วยการเมืองได้หรือไม่ นำไปสู่โครงการวิจัยว่า ถ้าเราต้องการเห็นอัตลักษณ์ในระบบการเมือง ถ้าระบบการเมืองสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของคนในแต่ละที่ได้ จะทำให้เขามีความมั่นใจและภูมิใจที่จะอยู่เป็นสังคมร่วมเดียวกันได้หรือไม่ นี่ก็นำไปสู่การหาคำตอบเยอะ เช่น การพูดถึงปริศนาการปกครองตนเองรูปแบบต่างๆ ในการแก้ไขความขัดแย้งในชาติ การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนำไปสู่การค้นหาตัวแสดงอื่นๆ นอกจากสองฝั่ง บทบาทประชาสังคมก็ถูกตั้งคำถาม ในปี 2547-48 มีการวิจัย ปี 2551 สามารถผ่านกระบวนการวิจัย จัดประชุมประชาสังคมครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมเป็นร้อยองค์กร เริ่มมีหน้าตาตัวแสดงอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เวลานั้นคนในทำได้หรือไม่ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเขาควาย ต่างคนต่างระวังตัว สถาบันทางศาสนาและการพัฒนาก็ยังขยับไม่ได้ เลยเป็นคนข้างนอกที่มีบทบาทในการสร้างความชอบธรรมในการเปิดประเด็นและพื้นที่ที่มีความไม่ไว้วางใจสูง จากนั้นก็มีการขยับขยายนักวิชาการออกมามากขึ้นและมีการสนับสนุนโครงการวิจัย

ความจริงเรื่องสันติภาพเรื่องการเรียนรู้ การติดตามความคืบหน้า การตามผลบวก ลบงานนโยบายของรัฐบาลว่าไปทางไหนเป็นเรื่องที่ต้องทำ มาตรการที่ทำต้องได้รับการทบทวนตลอดเวลาเพราะใช้งบประมาณเยอะและกระบวนการสันติภาพมีพลวัตสูง นอกจากนั้นการสื่อสารกับสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบที่ดีเพียงพอ ไม่มีวาระ ไม่สามารถที่จะสถาปนากลไกการติดตามได้ชัดเจน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยที่ต่างไปจากในต่างประเทศ

อีกอันหนึ่งคือเรื่องการสร้างเสริมศักยภาพ คิดว่าถ้าเราใช้สันติวิธี พรมแดนของความรู้มันกว้างมากและต้องเอื้อมไปให้ถึงว่าประสบการณ์ที่อื่นมันเป็นอย่างไร การเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างคนข้างในและคนข้างนอกพื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ และตอนนี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับงานสามจังหวัดชายแดนใต้

ฉันทนากล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิชาการโดยสันดานจะต้องอยากรู้ โดยที่ยังไม่มีความรู้สึกอยากจะแก้ปัญหาอะไร แต่ความอยากรู้ก็จำเป็นให้เกิดการอธิบายและความเข้าใจ พื้นที่สามจังหวัดฯ มันมีเรื่องแนวคิดความเป็นชาติอยู่ การสร้างคำอธิบายปรากฏการณ์นั้นๆ การได้มาซึ่งคำอธิบายไม่ใช่จะมาบอกว่าเป็นของใคร แต่ต้องเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สามารถตอบคำถามของหลายฝ่ายได้ ไม่ใช่แค่ประเด็นสามจังหวัดฯ อย่างเดียว แต่ต้องตอบคำถามคนส่วนใหญ่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่หลุดพ้นพันธนาการทางความคิด เรื่องนี้ต้องการเวลา การทำงานระยะยาวและต่อเนื่อง

ส่วนตัวยอมรับว่ามีอุตสาหกรรมวิจัยเรื่องภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ถ้าการวิจัยเป็นการเรียนรู้ของคนทั่วไป มันก็มีประโยชน์ แต่มันแก้ไขปัญหาหรือไม่นั้นไม่การันตี สามจังหวัดฯ ต้องเป็นฝ่ายรุก สิบกว่าปีที่ผ่านมามีความตื่นกลัว และมีพลวัตสูงมาก งานวิจัยส่วนมากก็ยังไปจากส่วนกลาง ยุทธศาสตร์เรื่องการวิจัยและความต้องการงานวิจัยต้องมาจากภาคใต้ และมาใช้ทรัพยากรส่วนกลาง เท่าที่เห็นก็มีการร่วมมือกันระหว่างสถาบันต่างๆ แต่มันไม่เป็นวาระ ขณะที่อิทธิพลศาสนายังมีบทบาทมากกับการออกแบบงานวิจัย ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของงานวิจัยที่ต้องตั้งคำถามกับอะไรบางอย่าง

 

คนนอก-คนในยังซับซ้อน แนะมุสลิมคุยกันเองก่อน

สุชาติกล่าวว่า ส่วนตัวมีปัญหากับความเป็นคนนอกคนใน เพราะตัวเองก็พยายามจะมีส่วนในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเอาแผนที่มากางกันตัวเองก็คงไม่มีส่วนร่วม ตนเองเป็นมุสลิม แม้จะเป็นมุสลิมเชื้อสายจีนจากล้านนาแต่ก็ละหมาด 5 เวลา ถือศีลอดเหมือนกับคนในพื้นที่ ถามว่าแล้วตนจะสามารถเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ได้หรือไม่

สุชาติเล่าว่า เคยทำโครงการนำเยาวชนที่พ่อแม่เป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 40-50 คน ไปอบรมเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเวลา 7 วันเต็ม ที่ประทับใจคือการได้ไปพูดเรื่องมุสลิมจีนว่ามุสลิมไม่ได้มีแค่ในมลายู มุสลิมมีการปรับตัวตามโครงสร้างสังคม มุสลิมในจีนก็มีมัสยิดทรงเก๋งจีน ภาษาอาหรับก็มีลายตวัดเป็นลวดลายจีนที่ชาวอาหรับอ่านไม่ออก เด็กหลายคนก็ตาตั้ง ได้พาเด็กไปที่วัดพุทธที่ทำงานร่วมกับอิหม่าม เด็กมุสลิมคนหนึ่งมาบอกผมว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้เข้ามาเหยียบพื้นที่วัด ได้พูดคุยกับพระคุณเจ้าอย่างใกล้ชิด ได้เห็นแววตาเด็กพวกนี้ว่าเขาอยากเรียนรู้ความแตกต่าง แล้วอะไรที่เป็นตัวกั้น

เขาชี้ว่า การใช้ปัญญาญาณที่จะก้าวข้ามความแตกแยกทางสังคมสู่สายสัมพันธ์ที่ให้เกียรติกันเป็นเรื่องใหญ่ พร้อมตั้งคำถามว่าแต่ผ่านมาสิบปีเรายังไม่ได้ก้าวไปถึงไหนเลยหรือเปล่า จากการลงไปพูดที่นราธิวาส ได้มีการเชิญทั้งชาวพุทธและมุสลิมมานั่งฟัง ก็ได้ยินจากวงคุยกลุ่มย่อยว่า คอยดูนะ ถ้าพระสงฆ์ลงจากรถมา พวกเด็กมุสลิมจะถ่มน้ำลาย ซึ่งเด็กก็ทำตามนั้นจริงๆ ตนลงไปในพื้นที่อย่างไร้เดียงสามาก หลายคนตั้งคำถามเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมแต่ไม่พูดเรื่องโครงสร้างที่ถูกอธรรม เพราะไร้เดียงสาจริงๆ ในฐานะมุสลิมคิดว่ามีเรื่องที่ชาวมุสลิมต้องมานั่งคุยกันเอง

สุชาติกล่าวว่า ตนเคยได้ลงไปบรรยายในพื้นที่และได้ยกคำสอนขึ้นมาเรื่องหนึ่งว่า เราถูกสอนถ้าเรามีเมล็ดแล้วไปหว่าน แล้วนก คน สัตว์ไปกินก็จะเป็นผลบุญที่เราจะได้รับ อิสลามสอนเช่นนั้น ตนก็สร้อยต่อว่า อิสลามไม่เคยสอนว่าเอาระเบิดไปวางให้โดนคนเด็ก คนแก่ ผู้หญิง คนที่ไม่ใช่คู่สงครามแล้วจะได้ผลบุญ และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตนยกคำสอนศาสดามูฮัมหมัดขึ้นมาอ้าง พอบรรยายจบ บาบอ (ครู) ก็มาบอกว่า อาจารย์พูดแรงนะ อาจารย์เป็นคนนอกอาจารย์พูดได้ ผมเป็นคนในผมพูดไม่ได้ ส่วนตัวก็อยากบอกว่าผมเป็นคนนอกผมก็ตายได้เหมือนกัน

ประเด็นที่อาจารย์โคทม (โคทม อารียา) พูดเรื่องการตีความดารุลอิสลาม ญิฮาด มีความสำคัญและต้องมานั่งคุยกัน การจากลงไปในฐานะนักวิชาการด้วย มุสลิมด้วย คิดว่ามีเครื่องมือบางอย่าง อย่างน้อยนักวิชาการต้องไปรบกวนคำอธิบายแบบเดิมๆ ให้เขาเห็นว่ามีคำอธิบายที่หลากหลายในโลกอิสลาม ไม่ใช่ผูกขาดคำอธิบาย ต้องถกเถียงกัน ซึ่งไม่ใช่ความง่ายเลยในการสร้างการพูดคุยกันระหว่างภายในศาสนา บทบาทคือต้องทำให้เห็นถึงความหลากหลายของการตีความ ในปี 2547 ที่เคยเขียนเรื่องกรือเซะ เขียนเรื่องการเมือง อภัยวิถีลงในฟ้าเดียวกัน ยกตัวอย่างกรณีเรื่องที่เดินทางไปเจอมุสลิมอัฟกัน-อเมริกันที่เป็นอิหม่ามที่นั่น ลูกเขาถูกยิง และเขาก็วิ่งหนีไปหลบตำรวจที่บ้านอิหม่ามที่เป็นพ่อของเด็กที่ถูกยิง อิหม่ามก็คิดว่าจะจัดการกับคนที่ฆ่าลูกเขาตาย อิหม่ามเล่าให้ฟังว่าระหว่างที่เขายังอยู่กับเด็กคนนั้น เขาก็อยากชักปืนออกมายิงล้างแค้น แต่เมื่อนึกถึงหลักศาสนาอิสลาม เขาจึงเลือกที่จะให้อภัย ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามล้วนมีพลังในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนที่เอาศาสนาไปซ้อนรับอุดมการณ์ความรุนแรงต่างๆ

"เคยถูกนักเรียนถามว่า อิสลามถูกทำให้เป็นศาสนาแห่งสันติตั้งแต่เมื่อไหร่ ในฐานะครูบาก็ตอบว่าคำถามแบบนี้ไม่ใช่คำถามวิจัย เพราะทุกคนที่เป็นมุสลิมก็บอกว่าอิสลามคือสันติ คำถามที่เป็นคำถามวิจัยคือ อิสลามถูกทำให้เป็นศาสนาแห่งความรุนแรงตั้งแต่เมื่อไหร่ต่างหาก เป็นสิ่งที่เราต้องเอามาพูดคุยเยอะมาก"

สุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ลงไปทำหลังๆ คือเรื่องผู้หญิง การสร้างสันติภาพจากกลุ่มสตรีใน 14 จังหวัดภาคใต้ หลายเรื่องคิดว่ายังเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังต้องพูดคุยกันอีกเยอะ ในประเด็นทางศาสนา เวลาพูดถึงครั้งหนึ่งเคยเถียงกับบาบอว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนที่แก้ปัญหาด้วยการจับแต่งงานนั้นยังมีอยู่และเป็นเรื่องใหญ่ เราก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจว่าพื้นฐานครอบครัวอิสลามนั้นมาจากไหน มันมีประเด็นเยอะมาก เรื่องความไม่ถ่อมตนทางปัญญาของนักวิชาการ ในนักการศาสนาก็มี ความไม่ถ่อมตนทางปัญญา มีหนังสือเรื่อง Speaking in God's Name เป็นบทบาทที่นักวิชาการต้องมาคุยกัน ว่า คนนอกวันนี้ต้องทำความเข้าใจปัญหาสามจังหวัด เพราะวันนี้ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของสังคมและสร้างผลกระทบเป็นรูปธรรมกับจังหวัดอื่น เช่น จดหมายจากจังหวัดน่านที่ต่อต้านการสร้างมัสยิดก็สะท้อนชัด ญาติพี่น้องที่ทำงานในสามจังหวัดส่งต่อความรู้ผิดๆ หลายครั้งที่มีโอกาสลงไปพูดคุยก็ต้ั้งคำถามว่า คนที่ไม่ใช่อิสลามไม่รู้จักมุสลิมเพราะอะไร ไม่เพียงแต่เป็นเพราะคนที่ไม่ใช่ศาสนิกไม่มีความเข้าใจ หรือเป็นความผิดของเราที่ล้มเหลวในการอธิบายตัวเองด้วย
 

ปัญหาการสื่อสารจากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติเป็นอุปสรรคสานสันติภาพ

เอกพันธุ์กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดในสามจังหวัดมีความซับซ้อน หนึ่งในแนวคิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งคือการรื้อสร้างใหม่ ถ้าเรามองสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรงเหมือนอาคารผุพัง เราก็อยากสร้างมันขึ้นมาใหม่ แต่การสร้างก็จำเป็นที่จะต้องรื้อชิ้นส่วนว่าอะไรเป็นอะไรออกมาก่อน แต่ต้องรื้ออย่างเป็นระบบ แต่พอออกมาได้จึงมีโอกาสประกอบใหม่ อาจจะประกอบในลักษณะใหม่ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางสังคมในอนาคต เราไม่ควรมองภาพความรุนแรงเป็นอะไรที่ตายตัว แต่มันมีพลวัตที่ต้องได้รับการศึกษามากกว่านี้

ปัจจุบันสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา แบ่งงานเป็นหลายส่วน ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสันติศึกษา หนึ่งในสัดส่วนสำคัญของสถาบันฯ คือการทำงานประเด็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตอนแรกที่เกิดความรุนแรงนั้นไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ที่งุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น คนนอกพื้นที่เองก็งงที่เกิดความรุนแรงอย่างทันทีได้อย่างไร ความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายผู้ก่อการก็ค่อนข้างจะเยอะ ทางสถาบันฯ สันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ความรุนแรงไม่ใช่น้อยไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิฯ การอุ้มหาย การซ้อมทรมาน ทำให้การสานสัมพันธ์ทำได้ไม่ดีเพราะต่างฝ่ายยังต่อยกันนัวเนียอยู่

สถาบันฯ พยายามมุ่งเน้นว่า ก่อนที่เราจะสื่อสารทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ในทางกายภาพ จะต้องมีแนวความรู้บางอย่างที่จะเอามาอ้างอิงได้ หลายครั้งที่พยายามเอาทฤษฎีแปลกๆ ที่ไม่ได้รับการตีแผ่มาทดลองใช้ มาปรับกับบริบทสังคมเรา ในขณะเดียวกัน อีกจุดยืนหนึ่งคือ ความเชื่อคนทำงานเรื่องแนวทางแก้ปัญหาคือต้องเริ่มจากคนในชุมชน สโลแกนในระยะนั้นคือจากชุมชนสู่นโยบาย วิจัยที่ทำช่วงแรกๆ คือไปฟังความต้องการ ปัญหา และพยายามที่จะเอาไปเชื่อมโยงระดับโครงสร้าง ไปเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายได้ไหม ต้องเอาไปวิจัย และยังต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ทำนโยบายกับฝ่ายชาวบ้าน ซึ่งปัญหามีเยอะมาก เพราะผู้เชื่อมต่อก็ใช่ว่าจะรู้เรื่อง ตอนตนเองลงพื้นที่วิจัยครั้งแรกก็ไม่รู้เรื่อง บริบทต่างจากที่ศึกษามามาก ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีอยู่เพราะว่าเวลาเราคิดเป็นทฤษฎีนั้นแปลให้คนในวงกว้างเข้าใจได้ยาก เวลาผลักดันแนวคิดอะไรบางอย่างจึงต้องชำนาญทั้งการทำให้คนในชุมชนรับรู้ได้ ต้องแปลคลื่นความถี่ให้ตรงกับช่องทางรับสารของเขา ในฐานะนักวิชาการและคนทำงานด้านการศึกษาน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หลายครั้งที่ส่งสารไปมันไม่ตรงกับเครื่องรับ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็ไม่มีทางที่สารจะแปรไปสู่การเกิดกระบวนการสันติภาพ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านปาฝา งง ทำไมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทำ MOU ผิดตำบล

Posted: 19 Dec 2017 11:20 PM PST

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลปาฝา อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ประกาศจุดยืนชัดไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยขนาด9.9เมกะวัตต์ หวั่นผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งคำถามทำไมบริษัททำ MOU กับตำบลจังหาร ทั้งที่จะสร้างโรงไฟฟ้าในตำบลปาฝา

20 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ดกว่าสองร้อยคน ร่วมปรึกษาถึงข้อกังวลใจกรณีที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยขนาด 9.9 เมกะวัตต์ของบริษัทสยามพาวเวอร์เกรงเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม. พร้อมทั้งการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านยังไม่มีความชัดเจน เพราะขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

สัญญา ฉันวิจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลปาฝา กล่าวว่า เหตุที่ออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ทั้งด้านอากาศ ฝุ่นควันจากการเผาขยะ ทั้งสถานที่ก่อสร้างโรงงานนั้นใกล้กับชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งอาจเกิดปัญหาในด้านต่างๆ ตามมาเช่นเรื่องกลิ่นขยะ น้ำเน่าเสีย การคมนาคม อุบัติเหตุตามถนนเพราะหากมีโรงไฟฟ้าขยะ จะมีรถบรรทุกขยะเกือบร้อยคันผ่านตามท้องถนนตลอด

สัญญากล่าวต่อว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านในพื้นที่เกิดข้อสงสัยหลายอย่าง เพราะทางบริษัทเองได้พูดถึงแต่ข้อดีของโรงไฟฟ้าแต่ไม่มีข้อเสีย อีกทั้งการให้ข้อมูลต่อชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียนั่นไม่รอบด้าน บางคนยังไม่ทราบข้อมูลเลยก็มี ทั้งประเด็นการทำ MOU ของบริษัทเองกลับทำกับเทศบาลตำบลจังหารที่ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ และไม่มีส่วนได้เสียในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด แต่พื้นที่ที่จะสร้างจริงกลับเป็นพื้นที่ตำบลปาฝา ซึ่งชาวบ้านปาฝากลับไม่ทราบข้อมูลเรื่องการทำ MOU เลย

เชวง บุรีวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปาฝา กล่าวว่า หากเป็นโรงไฟฟ้าตามกฎหมายหากมีขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องทำ EIA ซึ่งโรงไฟฟ้าที่จะสร้างที่บ้านปาฝาขนาด 9.9เมกะวัตต์ก็ไม่ต่างจากสิบเท่าไหร่ ทั้งการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่ยังน้อย ชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลมาก่อน ไม่มีการทำประชาคมให้รับรู้ข้อดีข้อเสียก่อน และนัดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ถามชาวบ้านเพียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยซึ่งมันกระชั้นเกินไป อักทั้งขยะจำนวน 600 ตันต่อวันที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเป็นจำนวนมหาศาลมาก ซึ่งสร้างความกังวลใจแก่คนในพื้นที่ตำบลปาฝาในด้านผลกระทบที่จะตามมาทั้งเรื่องความสะอาด การจราจร หากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนรอบด้าน ก็ไม่อยากให้สร้าง

เชวง กล่าวต่อว่า ตอนนี้ชาวตำบลปาฝาได้รับผลกระทบจากบ่อขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแกลบในตัวอำเภอเมืองร้อยเอ็ดอยู่แล้ว ทั้งด้านกลิ่น น้ำเสีย หากเข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มในพื้นที่ตำบลปาฝาอีก จะเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านมากขึ้นไปอีก พร้อมทั้งระบุว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านปาฝาขณะนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาโรคทางเดินหายใจซึ่งหากมีโรงไฟฟ้าขยะอาจมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอย ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ ตำบลปาฝา ชาวบ้านยังไม่เข้าว่าเพราะอะไร ทางบริษัทได้ทำข้อตกลงกับองค์การบริหารส่วนตำบลจังหาร แต่ทำไมจึงจะมาเนินการในพื้นที่ตำบลปาฝา อีกทั้งกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่ต้นไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยได้รับรู้ ตลอดจนกระบวนการดำเนินการที่ไม่ชอบธรรมในการเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะฟังเสียงสะท้อนของคนในพื้นด้วยว่า ทำไมชาวบ้านถึงคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลิกแผน แสดงหมอลำบนเฟสบุ๊ค ยอดคนดูกระฉูด ตัดปัญหาถูกคุกคาม

Posted: 19 Dec 2017 11:04 PM PST

เปลี่ยนแผนจัดเฟสบุ๊คไลฟ์งาน Fairly Tell Founding and The หมอลำม่วนคักคอนเสิร์ต ยอดขายบัตรพุ่ง ยอดคนดูหลักหมื่นหลังมีข่าวถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนต้องย้ายสถานที่จัดงานถึง 2 ครั้ง ขณะที่มีผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตาม ข่มขู่ กดดัน เจ้าของสถานที่จัดงานแสดงหมอลำเพื่อช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองถึงสองแห่ง หลังจากที่ กลุ่มแฟร์ลี่เทล ผู้จัดงานไม่สามารถหาสถานที่ในการจัดงานได้  ทางผู้จัดงานได้ตัดสินใจถ่ายทอดสดตามกำหนดการเดิมทางเฟสบุ๊คไลฟ์ บนแฟนเพจของกลุ่ม Fairly Tell และกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2560 เวลา 19.15 น.ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ส่งข่าวการไลฟ์ให้แก่ผู้ที่ซื้อบัตรรับชมคอนเสิร์ตเงียบๆ ก่อนจะเปิดเผยในเวลาแสดงจริงอีกครั้ง 

โดยที่หลังจากการถูกกดดันจนต้องย้ายสถานที่จัดงานในครั้งแรก ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดตามและสอบถามบันทึกข้อมูลการทำกิจกรรมและการถูกคุกคามโดยตลอดจนแล้วเสร็จ

ฉัตรสุดา หาญบาง ทีมงานผู้จัดการงานได้แจ้งยอดเงินที่ได้รับในกิจกรรมว่า มียอดจองบัตร 78,764 บาท เงินบริจาค13,612 บาท เงินโอนระหว่างไลฟ์ 10,386 บาท รวมทั้งสิ้นมีรายรรับ 102,762 บาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 83,584 บาท ทำให้มียอดเงินคงเหลือ 20,178 บาท

ฉัตรสุดา ชี้แจงว่าในระยะแรกทางกลุ่มขายบัตรได้เพียงแค่ 40 ใบเท่านั้น จนเมื่อโดนสกัดครั้งที่ 1 ก็ขายบัตรได้เพิ่มขึ้น เป็น 82 ใบ จนสุดท้ายถูกสกัดในครั้งที่ 2 เราก็ได้ยอดซื้อบัตรครบ 120 ใบ ซึ่งเกินเป้าที่เคยคาดหวังไว้มาก แต่ถึงแม้ว่าจะมีคนดูมากขึ้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นตามมา ทั้งตั๋วเครื่องบินที่ต้องเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางหาสถานที่จัดงานหลายรอบ ทั้งยังต้องหาคนคอยอยู่เป็นเพื่อนกับนักแสดง ทีมงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามโดยรัฐ  เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ต้นทุนเพิ่มเป็น 83,584 บาท แต่ก็ยังได้กำไรมากกว่าที่คิดไว้ตอนแรก 

แต่เป็นที่น่าสนใจว่า นอกจากยอดเงินที่เพิ่มขึ้นแล้ว การแสดงดังกล่าวยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในโลกออนไลน์ โดยได้ยอดวิว ทั้งหน้าเฟชบุ๊คของ Fairly Tell 3,100 วิว และ เพจพลเมืองโต้กลับสูงสุด 37,498  วิว ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ผลงานออกไปในมุมกว้างกว่าที่ทีมงานผู้จัดคาดคิดไว้

"ตอนแรกคิดว่าจะมีคนมาดูไม่เกิน 50 หรือ 70 คน ตอนนี้คนดูเป็นหมื่น ก็ตื่นเต้นมากและก็ดีใจมาก เพราะ ทีมงานตั้งใจทำงานกันมาก ซ้อมกันมาเป็นอาทิตย์ แบบไม่รู้ว่าจะได้เล่นหรือเปล่า ก็ขอขอบคุณท่านผู้สนับสนุนทุกๆ ท่านที่ทำให้พวกเราได้แสดงออกค่ะ"

"สำหรับเราเงินกำไรไม่สำคัญเท่าการมีพื้นที่แสดงออกถึงศักยภาพของอดีตนักโทษ ทั่งนักร้อง - หางเครื่อง และทีมงานเบื้องหลังที่เคยใช้ชีวิตอยู่หลังลูกกรงได้เผยโฉมต่อหน้าผู้คนนับหมื่นด้วยความมั่นใจอีกครั้ง เราจะใช้เงินนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลและพัฒนาศักยภาพอดีตนักโทษหญิงและนักโทษการเมืองต่อไป แต่จริงๆ อยากให้ทุกคนได้มาดูสดๆ เพราะว่าสนุกมากจริงๆ" 

"เรารับงานเต้นประกอบเพลงด้วยนะคะ ติดต่อเข้ามาได้ค่ะ รับรองจัดเต็มแน่นอนค่ะ"

ชุติมา จินตกะเวช ประชาสัมพันธ์กลุ่ม นางฟ้อน และอดีตนักโทษหญิงพูดถึงความรู้สึกต่อคอนเสิร์ตแรกของกลุ่ม 

ในส่วนศิลปินหมอลำ แบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือในชื่อศิลปิน ปฏิภาณ ฤาชา บักหนวดเงินล้าน กล่าวถึงภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองหลังจากได้รับอิสรภาพ เมื่อถูกถาม  "ตอนผมออกมา ก็ต้องปรับตัวเยอะมากๆ ผมต้องไปหาหมอ กินยา แต่หมอก็ตอบไม่ได้ว่าผมเป็นอะไร เพราะผมไม่ได้อยากจะตาย ผมอยากจะอยู่ อยากจะมีชีวิตอยู่ อยากจะอยู่ให้ได้ ก่อนที่จะอยู่ให้เป็น" 

"ผมมีความสุขมากที่ได้มอบความสุขให้พี่น้องทุกคน ผมคิดอยากลำอยากร้องให้ผู้คนได้รับชมรับฟัง อยากช่วยเพื่อนๆที่ออกจากคุกด้วยครับ ขอขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ทุกคนที่ช่วยกันผลักดันให้งานแล้วเสร็จ พร้อมทั้งขอขอบคุณแฟนๆ หมอลำทุกท่านด้วยที่ช่วยกันสนับสนุนและรับฟังด้วยความม่วน" แบงค์กล่าวสรุปถึงความรู้สึกหลังจากที่งานเสร็จลุล่วงด้วยดี 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายอวัยวะบัตรทอง 10 ปี เพิ่มโอกาสผู้ป่วยนับพันรับชีวิตใหม่

Posted: 19 Dec 2017 10:06 PM PST

รองเลขาธิการ สปสช. เผยสิทธิประโยชน์โรคเฉพาะปลูกถ่ายอวัยวะบัตรทอง 10 ปี เพิ่มโอกาสผู้ป่วยนับพันรายได้รับชีวิตใหม่ ทั้งปลูกถ่ายไต ตับ หัวใจ เปลี่ยนถ่ายกระจกตา และปลูกถ่ายไขกระดูก พร้อมให้การดูแลต่อเนื่อง ปี 61 จัดงบ 148 ล้านบ ปลูกถ่ายอวัยวะและดูแลยากดภูมิคุ้มกัน รุกความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสริมรับบริจาค-ปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มการเข้าถึง


นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

20 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานในผู้ป่วยรายที่มีข้อบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น ในอดีตจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะมีไม่มาก เนื่องจากข้อจำกัดจำนวนผู้บริจาคอวัยวะแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายปลูกถ่ายอวัยวะที่สูงมากซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งที่เป็นอวัยวะเองและไขกระดูกสเต็มเซล ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะยังต้องได้รับการดูแลไปตลอดชีวิต คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา โดยจับมือร่วมกับศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง และหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการปลูกถ่ายอวัยวะทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มจากการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) ในปี 2551 โดยบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายตับ (Liver Transplant) ในปี 2554, การปลูกถ่ายหัวใจ (Heart Transplant) ในปี 2555 และการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายกระจกตา (Corneal Transplantation) ในปี 2556

รองเลขาธิการ สปสช. ระบุว่า จากผลการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านมา ในส่วนการปลูกถ่ายไต มีผู้ป่วยเข้ารับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไตจำนวน 195 ราย ในช่วง 10 ปี (2551-2560) มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตแล้วจำนวน 1,350ราย หรือเฉลี่ย 135 รายต่อปี, ส่วนการปลูกถ่ายตับ ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายตับจำนวน 28 ราย ในช่วง 7 ปี (2554-2560) มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับแล้วจำนวน 155 ราย หรือเฉลี่ย 22 รายต่อปี และการปลูกถ่ายหัวใจ ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายหัวใจจำนวน 9 ราย ในช่วง 6 ปี (2555-2560) มีผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายหัวใจแล้วจำนวน 65 ราย หรือเฉลี่ย10.8 รายต่อปี  

สำหรับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา ปี 2560 รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า มีผู้ป่วยรับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา 421 ราย ในช่วงปี 2556-2560 (ปี2559 ชะลอการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ จากข้อทักท้วง คตร.) หรือในช่วง 4 ปี มีผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาแล้วจำนวน 1,702 ดวงตา หรือเฉลี่ย 425.5 ดวงตาต่อปี นอกจากนี้ยังมีการรักษาปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic Stem Cell Transplantation) ซึ่งบรรจุภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี2551 เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคไขกระดูกผิดปกติ รวมถึงโรคอื่นๆ ที่จำเป็น โดยปี2560 มีผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจำนวน 51 ราย รวมผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกในช่วง 10 ปี มีจำนวน 362 ราย หรือเฉลี่ย 36.2 รายต่อปี   

นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ปี 2561 นี้ สปสช.ยังคงสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยการปลูกถ่ายไต ตับ และหัวใจ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 148 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเข้าถึงบริการ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยภายหลังรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิไปตลอดชีวิต พร้อมกันนี้ยังกำหนดทิศทางความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ อาทิ การสนับสนุนหน่วยบริการดำเนินการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้เทคโนโลยีใหม่ทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาระบบเบิกจ่ายและแนวทางการลดขั้นตอนเบิกจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ความร่วมมือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการด้านคิวผ่าตัด เป็นต้น

"ตลอดระยะเวลา 16 ปีของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาและบริการสุขภาพครอบคลุมและทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษา แม้ในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูงอย่างเช่นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบนับพันราย ทั้งได้รับการดูแลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตขึ้น เสมือนมีชีวิตใหม่ แต่ยังช่วยให้ครอบครัวไม่ต้องประสบภาวะล้มละลายจากโรคค่าใช้จ่ายสูงนี้" รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น