โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อดีตกษัตริย์เนปาลเผยต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ

Posted: 07 Jul 2012 10:54 AM PDT

นับเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยนัก หลังเนปาลยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551 โดยอดีตกษัตริย์คยาเนนทรายืนยันว่าไม่ต้องการมีบทบาททางการเมือง แต่ต้องการมีบทบาทเชิงพิธีการ

 

อดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังรัฐสภาเนปาลลงมติเมื่อปี 2551 ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ (ที่มา: nepaldemocracy.org/แฟ้มภาพ)

 

อดีตกษัตริย์เนปาลให้สัมภาษณ์ว่าต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่าอดีตกษัตริย์คยาเนนทรา ของเนปาลซึ่งสละราชสมบัติแล้ว กล่าวเป็นครั้งแรกว่าพระองค์ต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ

โดยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 พระองค์กล่าวว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้ทำข้อตกลงไว้กับพรรคการเมืองว่าเขาจะเป็นกษัติรย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลได้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551

โดยอดีตกษัตริย์เนปาลกล่าวว่า พระองค์ไม่ต้องการมีบทบาททางการเมืองเนปาล แต่ต้องการมีบทบาทในทางพิธีการ

ความเคลื่อนไหวของกษัตริย์เนปาล เกิดขึ้นในขณะที่เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบล่าสุดในเนปาล เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศยุบสภาเนื่องจากล้มเหลวในการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทำให้เนปาลมีสภาพอยู่ในสุญญากาศทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวบีบีซี จอห์น นารายาน ปาราจูลี ซึ่งประจำที่กรุงกาฐมาณฑุ กล่าวว่า ชาวเนปาลโดยทั่วไปต่างไม่พอใจในความล้มเหลวของบรรดานักการเมืองในการทำเรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น ปัญหาการว่างงาน

เขากล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องไม่แน่ชัด ที่หลายต่อหลายคนในเนปาลจะเห็นว่าการกลับมาของกษัตริย์ แม้แต่กลับมามีบทบาทเฉพาะในทางพิธีการ จะเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี

ในการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก คยาเนนทรา ชาห์ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 ว่า เขาถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงกับฝ่ายค้านในปี 2549 ไม่กี่สัปดาห์หลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาล อดีตกษัตริย์คยาเนนทรา กล่าวว่า "ข้อตกลงนี้รวมไปถึงการรื้อฟื้นสภาที่ถูกยุบไปด้วย และรวมทั้งการตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง"

อดีตกษัตริย์กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองเหล่านี้จะต้องตอบให้ได้ถึงพฤติกรรมของพวกเขา

 

จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบสาธารณรัฐ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2551 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลที่มาจากการเลือกตั้งลงมติให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐด้วยมติเห็นชอบ 560 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 601 คน โดยมีผู้คัดค้าน 4 คน

โดยก่อนหน้านี้กษัตริย์คยาเนนทราได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2544 หลังกษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชินีอิชวายาร์และพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์ในการ "สังหารโหดในพระราชวัง" โดยเจ้าชายดิเพนทราพระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย

ต่อมาในปี 2548 กษัตริย์คยาเนนทราได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและเปลี่ยนปกครองจากระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทน โดยกษัตรย์คยาเนนทราให้เหตุผลการยึดอำนาจว่าต้องการปราบกบฎเหมาอิสต์ แต่ทันทีที่พระองค์ยึดอำนาจ ได้เริ่มจับกุมฝ่ายต่อต้าน ขณะที่พระองค์ต้องต่อสู้กับฝ่ายกบฎเหมาอิสต์ที่นับวันก็กล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นในเนปาล

ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2549 เกิดการประท้วงกษัตริย์คยาเนนทราอย่างขนานใหญ่เพื่อเรียกร้องให้คืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลังจากพระองค์ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน กบฎเหมาอิสต์ก็ยุติสงครามกลางเมืองและร่วมกระบวนสันติภาพกับบรรดาพันธมิตรพรรคการเมืองทั้ง 7 ในสภา และในเดือนเมษายนปี 2551 ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ก็ได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้ง และมีการลงมติให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐในเดือนพฤษภาคมปี 2551

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยสินเชื่อรากหญ้า ‘Ar-Rahnu’ ยอดฮิตในอาเซียนใช้ทองคำค้ำประกัน

Posted: 07 Jul 2012 10:16 AM PDT

ปัตตานีเป็นเจ้าภาพประชุมสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม เผยสินเชื่อขนาดเล็กปลอดดอกเบี้ยระบบ Ar- Rahnu ขยายตัวใน 7 ประเทศ เปิดบริการ 736 สาขาทั่วอาเซียน ในไทยมี 4 แห่ง สหกรณ์อิสลามปัตตานี เผยสร้างกำไร 30 ล้านบาท เงินหมุนเวียน 800 ล้านบาท
 
 
สินเชื่อรากหญ้า - พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สันติบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Ar- Rahnu) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อ 7 กรกฎาคม 2555
 
เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี สหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานเลขาธิการสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Al-Rahnu Secretariat จัดประชุมใหญ่สันติบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Ar- Rahnu) ครั้งที่ 4 ประจำปี 2012 เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับโปรแกรมธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Micro Credit) ตามแนวทาง Ar- Rahnu มีผู้เข้าร่วมจากประเทศในอาเซียนประมาณ 2,000 คน โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน
 
นายเด่น โต๊ะมีนา ประธานคณะกรรมการสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด กล่าวรายงานว่า Ar- Rahnu คือ การดำเนินธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม โดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ที่ใช้ระบบอิสลามในไทยรวมประมาณ 30 แห่ง ไม่มีสหกรณ์ใดเปิดบริการแผนก Ar- Rahnu ทางสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด จึงเปิดแผนกนี้ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2542 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีรายได้น้อย หรือขาดเงินทุนในการประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือขาดเงินในการให้การศึกษาแก่บุตรหลาน ให้สามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย
 
นายเด่น รายงานอีกว่า แผนกนี้เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของสมาชิกสหกรณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมาประมาณ 13 ปี สมาชิกใช้บริการ 44,274 คน หมุนเวียนใช้บริการรวม 103,401 คน และมีเงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนถึง 2,866,410 บาท
 
นายเด่น รายงานอีกว่า สมาชิกได้ร้องขอให้เปิดบริการ Ar- Rahnu ในทุกอำเภอเพื่อความสะดวกในการใช้บริการ แต่สหกรณ์ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ครบ เพราะต้องใช้เงินทุนมากพอสมควร และต้องใช้ตู้นิรภัยสำหรับเก็บทองคำที่สมาชิกนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงิน
 
นายเด่น  รายงานต่อไปว่า ขณะนี้สหกรณ์เปิดบริการ Ar- Rahnu แล้ว 4 สาขา คือที่จังหวัดยะลา 1 สาขาและที่จังหวัดปัตตานี 3 สาขา มีสมาชิก 50,000 คน สหกรณ์มีกำไร 30 กว่าล้านบาท และมีทุนหมุนเวียนประมาณ 800 ล้านบาท
 
นายเด่น รายงานด้วยว่า ขณะนี้ในอาเซียนมีการเปิดบริการ Ar- Rahnu แล้วหลายประเทศ และได้ร่วมก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการ Ar-Rahnu ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2004 (พ.ศ.2547) มีสมาชิกก่อตั้ง 7 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และตีมอร์เลสเต้ เรียกว่า Sekretariat Ar-Rahnu Serantau 
 
นายอาบีบุลลอฮ ฮัจยีซัมซุดดีน เลขาธิการสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม รายงานว่า การประชุมใหญ่ครั้งนี้ คือภาพสะท้อนของความมุ่งมั่นของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือในโครงการ AR-Rahnu ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบอิสลาม และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
 
นายอาบีบุลลอฮ รายงานด้วยว่า ขณะนี้สมาชิกของสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม ประกอบด้วย สหกรณ์อิสลามปัตตานี สถานธนานุบาลอินโดนีเซีย ธนาคารอิสลามแห่งบรูไนดารุสซาลาม สมาคมอิสลามแห่งประเทศกัมพูชา สมาคมอิสลามแห่งประเทศติมอร์เลสเต และมูลนิธิพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามมาเลเซีย (YaPEIM) 
 
นายอาบีบุลลอฮ รายงานอีกว่า สันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อมก่อตั้งเปิดอย่างเป็นทางการ โดยนายนาจิบ รอซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เมื่อปี 2547 เนื่องในโอกาสการจัดการประชุม AR-Rahnu Serantau ที่จัดโดยมูลนิธิพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามมาเลเซีย (YaPEIM) มีการประชุมทุก 2 ปี 
 
นายอาบีบุลลอฮ รายงานด้วยว่า ทุกวันนี้ธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม Ar-Rahnu กำลังจะเปิดให้บริการ 736 สาขา ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขาที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันดี คือ สถานธนานุบาลอินโดนีเซีย (601 สาขา), มูลนิธิพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามมาเลเซีย (130 สาขา) สหกรณ์อิสลามปัตตานี (4 สาขา) และธนาคารอิสลามประเทศบรูไนดารุสซาลาม (4 สาขา) 
 
นายอาบีบุลลอฮ รายงานว่า ธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม Ar-Rahnuได้ให้บริการมากกว่า 7.8 ล้านคน และให้เงินสินเชื่อรวมคิดเงินเป็น 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา กระจายไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ และหนึ่งในผลประโยชน์ของโครงการจำนองในรูปแบบอิสลามที่ใหญ่ที่สุดคือ การส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็ก แต่ยังคงเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการด้วย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ
 
นายอาบีบุลลอฮ รายงานว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นรูปแบบ “การเสริมสร้างโปรแกรม Makro Ar-Rahnu ส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยจะมุ่งเน้นการสนทนาในลักษณะของความพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักในกลุ่มสมาชิกของสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อมและผู้เข้าร่วมโครงการ Ar-Rahnu ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณในการติดตามโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการทำงานของสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อมในการแพร่กระจายพันธกิจทางสังคม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลอง 20 ปีสหกรณ์ปลอดดอกเบี้ยปัตตานี ทรัพย์สิน 1,200 ล้านเตรียมขยายสู่อาเซียน

Posted: 07 Jul 2012 09:56 AM PDT

สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน สถาบันการเงินปลอดดอกเบี้ยรูปแบบอิสลาม ฉลองครบรอบ 20 ปี มีทรัพย์สินกว่าพันล้าน สมาชิก 7 หมื่น พร้อมขยายสู่อาเซียน 
 
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่หอประชุมใหญ่ของสนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟาน จำกัด จัดงานครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์แบบอิสลามซึ่งปลอดดอกเบี้ย โดยมีสมาชิกเข้าจำนวนมากกว่า 1,000 คน 
 
โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องเศรษฐกิจกับประชาคมอาเซียนในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายมีการบรรยายพิเศษการเตรียมความพร้อมของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด สู่ประชาคมอาเซียน ในมิติของโลกมุสลิม โดย ดร. อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และการบรรยายพิเศษการพัฒนาเศรษฐกิจอิสลามอาเซียนโดยดาโต๊ะซรีอันวาร์ บินอิบรอฮิม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซีย
 
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน เป็นประธานเปิดงาน กล่าวถึงผลการดำเนินงานของสหกรณ์อมมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 สาขา อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา โดยสาขาล่าสุดคือสาขาเบตง ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 7 หมื่นคน มีสินทรัพย์รวมกว่า 1,200 ล้านบาท
 
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจชุมชน” ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน เริ่มต้นจากเงินทุน 25,000 บาท มีสมาชิก 20 คน ปัจจุบันมีเงินออม 1,200 ล้านบาท มีสมาชิก 7 หมื่นคน ถือว่าเป็นสถาบันการเงินที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่มาก แต่ยังสามารถเติบโตได้อีกต่อไป โดยเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน ทำธุรกิจเพื่อสังคม เช่น ด้านสุขภาพ ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพเยอะ จึงสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ได้อีก และยังได้แนะนำว่า ให้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วย
 
ดร.แวอาแซ  แวหามะ ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน  เปิดเผยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานเริ่มก่อตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2535 ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิก 20 คน ด้วยเงินออมกว่า 20,000 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 200 คนภายในปีเดียว หลังจากนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
 
ดร.แวอาแซ เปิดเผยอีกว่า ช่วงปี 2539-2540 หรือช่วงต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวมากที่สุด แต่ด้วยสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานเป็นสถาบันทางการเงินที่ใช้หลักศาสนาอิสลามเข้ามาจัดการและบริหาร จึงทำให้ไม่ประสบปัญหาทางการเงินเหมือนสถาบันทางการเงินอื่นๆ และหลังจากนั้น 4 ปีสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2545 มีจำนวนเงินหมุนเวียนในสหกรณ์ถึง 300 ล้านบาท
 
“ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานมีเงินหมุนเวียน และอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งสิ้นถึง 1,200 ล้านบาท โดยขณะนี้ตนได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าใช้บริการและพนักงานผู้ให้บริการ ถึงการปรับตัวเข้าสู่เสรีอาเซียน ซึ่งการปรับตัวที่เป็นรูปธรรม คือ การให้ความรู้ด้านภาษาแก่พนักงานผู้ให้บริการ แต่เนื่องจากปัจจุบันพนักงานทั้งหมดของสหกรณ์อิบนูอัฟฟานใช้ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารเพื่อให้บริการแล้ว ตนจึงเพิ่มการอบรมภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับให้กับพนักงานทุกคนของสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานด้วย” ดร.แวอาแซ กล่าว
 
พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวในงานครบรอบ 20 ปีสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า ศอ.บต.ได้เตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจด้วยการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และตนมองว่าควรส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านศาสนาในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด
 
ส่วนบรรยายกาศในงาน มีการจัดวางของจำหน่ายของใช้ อาหารของกิน จากสมาชิกสหกรณ์และมีการจับรางวัลโครงการคืนกำไร 20 ปี 20 คัน สร้างความประทับใจ และดีใจให้กับเหล่าสมาชิกได้มากทีเดียว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วอนนายกเซ็นร่างแก้ พ.ร.บ.ยา เข้าสภาเพื่อขจัดการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรม

Posted: 07 Jul 2012 09:32 AM PDT

นักวิชาการด้านยาวอนนายกฯ ปู เซ็นร่างแก้ พ.ร.บ.ยา เข้าสภาเพื่อขจัดการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรม ชวนองค์กรวิชาชีพลงสัตยาบรรณเกณฑ์จริยธรรมควบคุม
 
7 ก.ค.55 - จากการที่บริษัทยา GSK ยอมที่จะจ่ายค่าปรับปรับเกือบแสนล้านบาทหลังทำความตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในความผิดทั้งอาญาและแพ่งในหลายข้อหา อาทิ การทำการตลาดยาทั้งที่ไม่ตรงกับข้อบ่งใช้ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ (FDA), ปิดบังความไม่ปลอดภัยของยา, ปั้นงานวิจัยว่า ยาปลอดภัย, ให้อามิสสินจ้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสั่งจ่ายยา, ขายยาเกินราคาให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ กรณีดังกล่าวไม่ใช่คดีแรก เคยมีการปรับบริษัทยาอื่น ๆ มานับแล้วมากกว่า 10 คดี แต่คดีนี้นับว่ามีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า แม้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดของคดีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมของบริษัทยาและบุคลากรทางการแพทย์ที่สมคบกันหาประโยชน์บนชีวิตผู้ป่วยอย่างไร้จริยธรรม แต่ผลของการกระทำไปทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็นำไปสู่ค่าปรับและการประนีประนอมทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาที่ทำผิดกฎหมายหรือแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาที่ความปลอดภัยไม่ความชัดเจนเพราะได้รับอามิสสินจ้าง หรือแม้แต่ปกปิดงานวิจัยของบริษัทถึง 3 ชิ้นที่ไม่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์งานวิจัยอันเป็นเท็จ
 
“ถึงแม้บริษัทยาจะถูกปรับราว 3,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบแสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับยอดขายของ GSK ปีที่แล้วปีเดียว 44,000 ล้านเหรียญ เป็นกำไรสุทธิ 9,000 ล้านเหรียญ ยาต่างๆที่มีปัญหาในคดีนี้ทำการตลาดในลักษณะที่ว่ามาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ฉะนั้น หากยังไม่มีกลไกที่ดีกว่านี้ เชื่อว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็จะยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิม แต่จะทำให้เนียนขึ้น เพื่อยากต่อการเอาผิด”
 
ทางด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า จากคดีดังกล่าว เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทยพบว่า สถานการณ์ส่งเสริมการขายยาอย่างขาดจริยธรรมนั้นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ยิ่งน่าวิตกกังวลมากกว่า เพราะกลไกกฎหมายเดิมยังล้าหลัง จนถึงขณะนี้ พรบ.ยา พ.ศ. 2510 และกฎระเบียบต่างๆในบ้านเรายังไม่สามารถเข้าไปเอาผิดกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเหล่านี้ได้เลย เช่น มีผู้ให้ข้อมูลว่า เมื่อราว 2 ปีที่แล้วมีอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่จ่ายยาเบาหวานที่อยู่ในกรณีนี้นั้นในปริมาณสูงสุดถูกให้ออก เพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม แม้จะถูกตักเตือนมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามระบบการควบคุมกันเองนี้ก็ยังไม่เข้มข้นมากพอ จึงต้องเร่งแก้ไข พรบ.ยา และออกเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรม
 
“อยากให้ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรลงนามในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาที่ภาคประชาชนนำเสนอเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาและขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ยาที่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาเข้าสู่สภาเช่นกัน เพราะทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและตัวแทนขายยาอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นปัญหาเปล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งชีวิตประชาชนและงบประมาณของประเทศอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็ขอเชิญชวนทุกสภาวิชาชีพต่างๆ โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลมาร่วมลงสัตยาบรรณรับรองเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมที่กำหนดกลไกการกำกับกันเองให้มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งเปิดให้กลไกการเฝ้าระวังและตรวจสอบที่เป็นทางการเพิ่มเติมขึ้น”
 
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม กล่าวเสริมว่าพระราชบัญญัติยาพ.ศ.2510 มีการควบคุมการโฆษณาแต่ไม่ได้มีการพูดถึงการส่งเสริมการขาย จึงเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้บริษัทยาทำการส่งเสริมการขายอย่างไร้จริยธรรมได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแก้ระบบยาให้โปร่งใสรวมทั้งให้บริษํทยา เปิดเผยโครงสร้างราคายาของตน  เพื่อให้สังคมสามารถติดตามตรวจสอบได้
 
“ในนามของสถาบันฯซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมีจริยธรรม ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ขอเรียกร้องเภสัชกร ตลอดจนผู้บริโภค เข้ามาร่วมกันเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบและเฝ้าระวังพฤติกรรมการขายยาที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วย หากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมขอให้แจ้งยังสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมจรรยาบรรณของวิชาชีพ และหากพบผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆเกี่ยวข้องด้วยก็ขอให้แจ้งยังสภาวิชาชีพนั้นๆเช่นกัน”
 
ทางด้านนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากคดี GSK ยังพบว่า มีการขายยาเกินราคาให้กับโครงการประกันสุขภาพของรัฐที่ให้การรักษาคนชราในสหรัฐฯ จนถูกสั่งปรับ 300 ล้านเหรียญ หรือเกือบพันล้านบาทนั้น ถือเป็นบทเรียนที่ดีกับระบบหลักประกันสุขภาพบ้านเราทั้งสามระบบ โดยเฉพาะระบบสวัสดิการข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจประมาณ 5 ล้านคน ที่ใช้งบประมาณจากภาษีอากร ปี 53 ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแล 47 ล้านคน ใช้งบประมาณประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณที่ใหญ่ที่สุดคือ ค่ายา ดังนั้นกรมบัญชีกลางและคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ 3 ระบบหลักประกันมีความเท่าเทียมนั้น ต้องมีการตรวจสอบราคายา ควบคุมราคายา ให้มีความเหมาะสม อย่าปล่อยให้บริษัทยาหลอกได้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรยากาศการเลือกตั้งในลิเบีย ท่ามกลางการต่อต้านของฝ่ายสหพันธรัฐนิยม

Posted: 07 Jul 2012 09:17 AM PDT

การเลือกตั้งมีขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในลิเบียและผู้ใช้สิทธิบางส่วนยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกใคร ส่วนมากเป็นการได้ใช้สิทธิครั้งแรกในชีวิต ขณะเดียวกันกลุ่มสหพันธรัฐนิยม ซึ่งไม่พอใจที่จำนวนที่นั่งของภาคตะวันออกของประเทศมีน้อยกว่า ก็ต่อต้านการเลือกตั้งด้วยความรุนแรง
 

 
7 ก.ค. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ว่าประชาชนชาวลิเบียได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระครั้งแรกในรอบ 40 ปี แม้ว่าจะมีความรุงแรงจากผู้ประท้วงฝ่ายสหพันธรัฐนิยม (federalist) ผู้ที่ขู่จะบอยคอตต์และทำลายการเลือกตั้งครั้งนี้
 
ลิเบียเปิดให้มีการลงคะแนนตั้งแต่ช่วง 8 โมงเช้าของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น และปิดหีบเวลา 2 ทุ่ม ตามเวลาท้องถิ่นเช่นกัน ในขณะที่รัฐบาลรักษาการของลิเบียคือสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (NTC) ได้ประกาศว่าวันเลือกตั้งปละอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ใช้สิทธิ์ตามหน้าที่ของพลเมือง
 
โดยเมื่อวันศุกร์ (6 ก.ค.) ที่ผ่านมา เฮลิคอปเตอร์ที่ขนส่งอุปกรณ์การเลือกตั้งจากเมืองเบงกาซีทางฝั่งตะวันออกของประเทศลิเบียก็ถูกยิงยิงตกขณะที่กำลังบินอยู่ ทำให้สมาชิกคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งของลิเบีย (HNEC) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
 
"ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังบินจากโกดังอุปกรณ์ในเบงกาซีไปยังตูการา มันก็ถูกยิงโดยอาวุธขนาดเล็ก มีสมาชิกเยาวชนคนหนึ่งในทีมขนส่งถูกยิงและเฮลิคอปเตอร์ก็ต้องลงจอดที่ท่าอากาศยานเบนินา เพื่อนำตัวเขาส่งโรงพยาบาล" ลูอิ เอล มาการี จาก HNEC กล่าว
 
เอล มาการีเล่าอีกว่าสมาชิกเยาวชนดังกล่าวเสียชีวิตในขณะที่สมาชิก HNEC หลายคนยังคงอยู่ ทางทีมคณะกรรมาธิการก็กลับไปทำงานต่อ ไม่มีอะไรสามารถหยุดยั้งพวกเราได้
 
สำนักอัลจาซ๊ร่าเปิดเผยว่าความรุนแรงครั้งนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก
 
มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,800,000 คนในลิเบีย ซึ่งจะทำการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ (GNC) 200 ที่นั่ง โดย GNC จะเข้ามาแทนที่รัฐบาลรักษาการที่ปกครองประเทศอยู่ในช่วงหลังจากการโค่นล้มผู้นำลิเบีย มุมมาร์ กัดดาฟี
 
มีโฆษณาของภาครัฐผ่านทางโทรทัศน์แสดงให้เห็นถึงกระบวนการการเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งชาวลิเบียส่วนใหญ่ได้มีโอกาสใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตฃ
 
ที่สนามเลือกตั้งโรงเรียนทากัดดัม ในย่านใจกลางเมืองตรีโปลี มีสตรีจำนวนมากยืนต่อคิวอยู่หน้าสนามเลือกตั้ง ในขณะที่ประชาชนพยายามอดทนต่อความร้อนซึ่งน่าจะถึงจุดสูงสุด 44 องศาเซลเซียสในวันเสาร์นี้
 
"ทุกคนไม่รู้ว่าจะได้เจออะไร เพราะเป็นครั้งแรกสำหรับพวกเขา" เดวิด พอร์ท นักข่าวอัลจาซีร่ารายงาน "แต่ผู้มาใช้สิทธิ์ก็รอคอยด้วยความอดทนและตื่นเต้น"
 
 
ผู้ใช้สิทธิยังลังเล
 
การเลือกตั้งในลิเบียครั้งนี้มีผู้ลงสมัคร 3,700 ราย มีอยู่ 2,500 รายที่เป็นผู้สมัครอิสระ นอกนั้นเป็นผู้ที่สังกัดพรรคการเมือง พวกเขาสามารถหาเสียงให้จนถึงวันพฤหัสฯ (5 ก.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งทาง HNEC ได้ประกาศให้วันศุกร์เป็นวันหยุดพักหาเสียงหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง
 
อัลจาซีร่ารายงานว่า ในวันศุกร์ประชาชนชาวลิเบียจำนวนมากในกรุงตรีโปลียังไม่ได้ตัดสินใจว่าตนจะเลือกผู้ลงสมัครคนใดดี บางคนบอกว่า พวกเขาจะใช้เวลาช่วงพบปะกันของครอบครัวในการตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย
 
"ผมมีอยู่ในการตัดสินใจที่เหลือตอนนี้ 2 พรรค ผมอาจจะเลือกพรรค ฮิซบ์ อัล วาตัน (พรรคชาตินิยม) หรือ ทาฮาลอฟ อัล ไควา อัล วัททานียา (พรรคสมาพันธ์กองกำลังแห่งชาติ) ของอดีตนายกรัฐมนตรี มาห์มูด จิบริล" มานาล อัล มิลาดี นักศึกษาแพทย์อายุ 23 ปีจากกรุงตรีโปลีกล่าว
 
"ผมจะลงคะแนนให้พวกเขาจากโครงการที่พวกเขาเขียนไว้ตอนหาเสียง ส่วนการเลือกผู้สมัครรายบุคคลนั้น ผมยังคงต้องเลือกระหว่างผู้แทนอีกสองคน"
 
ฮูดา มุฟตาห์ นักศึกษาแพทย์อีกคนหนึ่ง อายุ 25 ปี กล่าวว่าเธอตัดสินใจแล้ว "ฉันลงคะแนนให้พรรคของจิบริล เพราะเขาเป็นสิ่งที่ลิเบียกำลังต้องการในตอนนี้"
 
"เขาเป็นคนที่มีการศึกษาดีและมีสายสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ นอกจากนี้แล้วเขาก็มีแผนการดีๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราต้องการในอนาคตอันใกล้ จากทุกๆ ฝ่าย ดังนั้นเขาจึงเป็นคนที่เหมาะกับช่วงเวลานี้" ฮูดา กล่าว
 
 
สมัชชาแห่งชาติจะไม่ได้สิทธิในการตั้งคณะกรรมการร่าง รธน. ฉบับแรกของประเทศ
 
สมัชชาแห่งชาติที่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่จะไม่ได้ทำหน้าที่เลือกคณะกรรมการที่จะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
 
บทบาทความรับผิดชอบหลักๆ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถูกถอดออกจากสมัชชาแห่งชาติ โดยกฏที่ออกโดยสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (NTC) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเอาใจผู้ประท้วงจากภาคตะวันออกของประเทศลิเบียที่ต้องการให้มีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้นในภูมิภาคของตน
 
ความตึงเครียดเช่นนี้เกิดขึ้นในเมืองเบงกาซีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของลิเบีย รวมถึงเมืองอื่นๆ ในเขตภูมิภาคไซเรไนคา ทางภาคตะวันออกของลิเบีย ที่มีกลุ่มสหพันธรัฐนิยม (federalist) ประกาศจะบอยคอตต์และถึงขั้นจะทำลายการเลือกตั้งโดยใช้ความรุนแรง
 
ผู้อาศัยในภาคตะวันออกของลิเบียจำนวนมากรู้สึกว่าการแบ่งจำนวนที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติ (GNC) ดูเข้าข้างฝั่งตะวันตกของประเทศมากกว่า
 
นักวิจารณ์บอกว่า การถูกทำให้เป็นชายขอบของภูมิภาคนี้มีกว่านานหลายทศวรรษตั้งแต่ช่วงที่กัดดาฟีปกครองประเทศอยู่แล้ว และยังคงดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้
 
 
ฝ่ายสหพันธรัฐนิยมฯ ต้านการเลือกตั้งด้วยความรุนแรง
 
ทางสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติได้ปันส่วนที่นั่งของสมัชชาแห่งชาติตามจำนวนประชากร ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยแต่ก็ถูกฝั่งตะวันออกที่มีประชากรน้อยกว่ามองอยู่ไม่เชื่อใจ
 
ผู้ประท้วงสหพันธรัฐนิยมในเบงกาซีได้บุกเข้าไปในสำนักงานการเลือกตั้งของเบงกาซีเมื่อวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่แล้ว (1 ก.ค.) และทำลายสถานที่ ในวันพฤหัสฯ (5 ก.ค.) ผู้ประท้วงก็วางเพลิงโกดังอุปกรณ์ในเมืองอัจดาบิยาทางภาคตะวันออกของประเทศ ที่มีบัตรลงคะแนนและอุปกรณ์การเลือกตั้งอื่นๆ อยู่ในโกดัง
 
วัสดุทั้งหมดถูกทำลายในกองเพลิง ทำให้คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งต้องไปตีพิมพ์บัตรเลือกตั้งใหม่ในดูไบ และเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า พวกเขาได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะถูกนำมาใช้ได้ทันเช้าวันเสาร์
 
การปะทะกันระหว่างเผ่าในเขตคูฟรา ซึ่งเป็นเขตห่างไกลความเจริญของลิเบียในทางตอนใต้ของประเทศ ก็ทำให้คณะตรวจสอบการเลือกตั้งไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ทำให้เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในประเทศนี้
 
 
อัลจาซีร่าประเมิน พรรคของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมีอิทธิพลสูง
 
เมื่อปิดหีบเลือกตั้งในช่วงเย็นวันเสาร์ กองทัพอากาศของลิเบียก็ยืนยันว่าจะเป็นผู้เก็บบัตรลงคะแนนจากทั่วประเทศ เพื่อนำมาที่จุดนับคะแนนในเมืองตรีโปลี
 
อัลจาซีร่ารายงานว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทายผลการเลือกตั้ง เนื่องจากลิเบียยังไม่คุ้นเคยกับการสำรวจความเห็นก่อนการเลือกตั้งหรือกับเอ็กซิทโพลล์ แต่ก็ดูเหมือนว่าพรรค Justice and Construction Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นเสมือนแขนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ดูจะมีอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดในสภา
 
 
 
ที่มา:
Libyans vote amid fears of violence, Aljazeera, 07-07-2012
http://www.aljazeera.com/news/africa/2012/07/201276183657668246.html
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชายแดนใต้ได้เปรียบแต่ไม่พร้อม ชี้ผลิตคน 7 อาชีพชั้นสูงไม่ทันสู้กระแสอาเซียน

Posted: 07 Jul 2012 09:03 AM PDT

เลขาธิการอาเซียน ชี้ชายแดนใต้ได้เปรียบ คนพื้นที่พูดมลายูเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ต้องปรับสำเนียงให้ถูกต้อง แนะรัฐปรับมุมมองต่อคนพื้นที่ ชี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ย้ำสถาบันการศึกษาต้องปรับตัว พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพสูง ปัจจุบันยังผลิตคน 7 อาชีพที่เปิดเสรียังไม่พอ เกรงแข่งขันคนต่างชาติไม่ได้
 
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจชุมชน” ในงานครบรอบ 20 ปี สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความได้เปรียบมากกว่าส่วนอื่นของไทยในการเข้าสู่อาเซียน แต่สถาบันการศึกษาในพื้นที่โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยังส่งคนเข้าเรียนใน 7 สาขาอาชีพที่จะเปิดเสรีได้ยังไม่เพียงพอ
 
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในอาเซียนมี 7 อาชีพที่จะเปิดเสรี ซึ่งจะเรียนและทำงานที่ไหนก็ได้ ทั้ง 7 สาขาอาชีพดังกล่าว ได้แก่ อาชีพวิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ และแพทย์ ซึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งได้เปรียบกว่าที่อื่นของประเทศหากมีคนที่เรียนจบในสาขาอาชีพดังกล่าว 
 
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ในภาคใต้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะกว่า 400 แห่ง สามารถผลิตนักเรียนได้ปีละ 5,000 คน แต่ยังไม่สามารถส่งคนไปเรียนหมอ หรือเรียนใน 7 สาขาอาชีพดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต้องปรับตัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกกระแส ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเข้าใจอนาคตลูกหลานด้วยว่าจะต้องแข่งขันกับใครในเวทีอาเซียน ถ้าทำไม่ได้ ลูกหลานจะสู้คนอื่นไม่ได้ และจะอ่อนเปลี้ยทันทีเมื่อต้องแข่งขันกับคนอื่น
 
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ คนที่พูดภาษามลายู ซึ่งตนได้บอกกับรัฐบาลเสมอว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้พูดมลายูด้วย แต่เป็นมลายูท้องถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจที่ดีในการเตรียมเข้าสู่อาเซียน เนื่องจากสามารถเชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทยได้ และสามารถทำให้ตราสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับได้ของอาเซียนได้โดยคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในอาเซียน
 
“เมื่อวานที่กระทรวงมหาดไทย ผมพูดกับคนในกระทรวงมหาดไทยทั้งประเทศผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนท์ว่า ขอให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ เพราะคนในพื้นที่สามารถพูดกับคนในอาเซียนได้ ถ้ารู้วิธีผันสำเนียงให้เป็นภาษามลายูกลางได้ ซึ่งโอกาสก็จะยิ่งเปิดมากขึ้น แต่อนาคตอาเซียนจะมีแต่การแข่งขัน อาเซียนจะเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ทุกคนต่างมุ่งไปข้างหน้า ปัญหาคือ เรามีความพร้อมที่จะไปข้างหน้าหรือไม่” นายสุรินทร์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่เปลี่ยนไป

Posted: 07 Jul 2012 08:31 AM PDT

อดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์ไทย หมดความเป็นคอมมิวนิสต์ไปนานแล้ว  ฐานะทางชนชั้นและจิตสำนึกทางชนชั้นก็หมดไปแล้ว ถ้าจะให้ตั้งพรรคใหม่ ก็รับรองได้ว่าคนเหล่านี้ไม่เอาแน่
 
บทความนี้ดัดแปลงมาจากบทความเดิมของผมเรื่อง “อสังหาริมทรัพย์กับอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ที่ได้จากการสำรวจครัวเรือนอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่บ้านในปราบ ม.5 ต.บ้านเสด็จ อ.เคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2551  ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคและไม่เคยเข้าป่า เพียงแต่ไปสัมภาษณ์บุคคลมาเท่านั้น
 
อดีตพลพรรคฯ นั้นส่วนมากเป็นบุคคลในวัยกลางคนคืออายุเฉลี่ย 54 ปี แต่เกือบทั้งหมดอยู่ในช่วงอายุ 44-64 ปี  ช่วงที่ออกมาจากป่ายังหนุ่มแน่น อายุเฉลี่ย 29 ปี แต่ในปัจจุบันมีครอบครัวแล้ว มีสมาชิกในครอบครัวรวม 4 คน  แต่ละครอบครัวมีที่ดินเฉลี่ย 55 ไร่  แรก ๆ บางคนอาจได้รับการจัดสรรที่ดินบ้าง แต่ส่วนมากซื้อหรือถากถางป่าเพิ่มเติมจนมีที่ดินมากขึ้น  มีเพียง 4 จาก 33 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับมรดกเป็นที่ดินมาจากบุพการี
 
รายได้เฉลี่ยจากการทำสวนยาง สวนปาล์มและสวนผสมต่อครอบครัวจึงเป็นเดือนละ 35,355 บาท หรือมีรายได้ต่อหัว 111,117 บาทต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทางอำเภอเคียนซาได้เคยสำรวจไว้ว่ารายได้ต่อหัวของตำบลบ้านเสด็จเป็นเงิน 89,851 บาทต่อปี  รายได้นี้สูงเกือบเท่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวในเขตกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัดโดยรอบที่ 36,096 บาทต่อเดือน  บางท่านได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรืองานรวมญาติอดีตพลพรรคฯ ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศมาแล้ว
 
ครอบครัวพลพรรคฯ มีทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินเกษตรกรรมเป็นเงินครอบครัวละ 6.1 ล้านบาทหรืออยู่ระหว่างช่วง 2.5-9.7 ล้านบาท ซึ่งยังสูงกว่าราคาบ้านเฉลี่ยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ราคา 3.1 ล้านบาท  พวกเขาเองก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสขยับฐานะทางเศรษฐกิจได้ขนาดนี้  บ้างก็มีฐานะทางสังคมหรือเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  ฐานะทางชนชั้นของครอบครัวพลพรรคฯ เหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ชาวนาผู้ไม่มีอะไรจะสูญเสีย  แต่เป็น “นายทุนน้อย” ตามศัพท์ของทางพรรคฯ
 
แม้ทุกคนที่สัมภาษณ์จะชื่นชมกับพรรคฯ ในอดีต แต่พอผมถามว่า ถ้ามีโอกาสก่อตั้งพรรคใหม่อีก จะเอาไหม ก็ไม่พบใครคิดจะฟื้นพรรคอีกเลย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ฮิตเลอร์และวาทกรรมต้านประชาธิปไตย

Posted: 07 Jul 2012 08:17 AM PDT

 
หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในทุกประเทศคือ การปกครองโดยเสียงข้างมากในกรอบเวลาที่ชัดเจน หมายถึงการที่พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งโดยได้เสียงในสภามากที่สุดจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และดำเนินนโยบายบริหารประเทศ แต่ในสังคมไทย มักจะมีการผลิตวาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตย โดยอ้างกันว่า ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่คือเสียงข้างมากลากไป และที่มักจะใช้ยกตัวอย่างกันเสมอก็คือ การเลือกตั้งในเยอรมนี ที่นำมาซึ่งการครองอำนาจของฮิตเลอร์
 
ในที่นี้จึงจะขออธิบายก่อนว่า ในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก มีการเลือกตั้งกันมาแล้วมากมาย แต่ก็ไม่ได้นำมาซึ่งการครองอำนาจแบบฮิตเลอร์ หรืออธิบายให้ชัดเจนขึ้นก็คือ การเกิดของระบอบแบบนาซีของฮิตเลอร์นั้นเป็นกรณีพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไป และสิ่งที่มักจะมองข้ามไป คือ บริบทหรือสถานการณ์ที่นำมาซึ่งระบอบเช่นนั้น
 
อด็อฟ ฮิตเลอร์เกิดในออสเตรียเมื่อ ค.ศ.๑๘๘๙ เขาเป็นผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมเยอรมันแบบขวาจัด ในวัยหนุ่มของเขา ได้เป็นทหารในกองทัพเยอรมนีไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับเหรียญกล้าหาญ ต่อมา ฮิตเลอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่พอใจที่เยอรมนียอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ.๑๙๑๙ โดยเห็นว่าเยอรมนีไม่ได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ แต่ถูกหักหลังจากฝ่ายพลเรือนและพวกสังคมนิยม ดังนั้น ฮิตเลอร์ยิ่งยอมรับไม่ได้กับสัญญาแวร์ซาย ที่ทำให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบในสงครามแต่ผู้เดียว ต้องเสียดินแดน เสียอาณานิคม เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และต้องถูกกระทำจนสิ้นสภาพมหาอำนาจ
 
ใน ค.ศ.๑๙๒๑ เขาได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยม หรือ พรรคนาซี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางขวาจัดที่สุด ที่มุ่งจะพื้นอำนาจเยอรมนี ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๒๓ เขาพยายามก่อรัฐประหารในเมืองมิวนิคที่รู้จักกันว่า กบฏโรงเบียร์ แต่ล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในระหว่างนั้นเองที่เขาเขียนบันทึกความทรงจำเป็นหนังสือชื่อ ไมน์คัมพฟ์(การต่อสู้ของข้าพเจ้า) หลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๔ เขาได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นจากความมั่นคงในการโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย และต่อต้านคอมมิวนิสต์ และจากการที่เขาเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์และจูงใจคน และหนังสือของเขาก็กลายเป็นหนังสือขายดี แต่กระนั้นในการเลือกตั้ง พรรคของเขาก็ยังได้คะแนนนิยมไม่มากนัก เช่น การเลือกตั้ง ค.ศ.๑๙๒๔ พรรคนาซีได้เสียง ๓ % ต่อมา เลือกตั้งใน ค.ศ.๑๙๒๘ พรรคนาซีเหลือ ๒.๖ % แต่พรรคนาซีมีลักษณะพิเศษคือ มีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวาของพรรคด้วย
 
ค.ศ.๑๙๒๙ เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้พรรคนาซีได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น ฮิตเลอร์รับอิทธิพลของพรรคฟาสซิสม์อิตาลี และหวังว่าแนวทางแบบฟัสซิสม์จะนำมาใช้แก้ปัญหาของเยอรมนีได้ ปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ค.ศ.๑๙๓๐ พรรคนาซีได้คะแนนถึง ๑๘.๓ % ทำให้ได้ที่นั่งในสภามากถึง ๑๐๗ เสียงจากจำนวน ๕๗๗ เสียง หลังจากนั้น พรรคนาซีก็ยิ่งได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เคยได้ถึงครึ่ง ใน ค.ศ.๑๙๓๒ ฮิตเลอร์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานธิบดีกับนายพลฟอน ฮินเดนบูร์ก วีรบุรุษสงคราม ฮิตเลอร์ก็ยังพ่ายแพ้ แต่พรรคนาซีของเขาได้เสียงเพิ่มเป็น ๓๗.๓ % คิดเป็นที่นั่งในสภา ๒๓๐ ที่นั่ง ซึ่งยังไม่ถึงครึ่ง แต่เขาเริ่มได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ ซึ่งหวาดวิตกในการเติบโตของฝ่ายสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังเห็นว่า นโยบายชาตินิยมขวาจัดของพรรคนาซี ตอบสนองต่อประชาชนจำนวนที่ขมขื่นกับสภาวะของสัญญาแวร์ซาย ซึ่งจะทำให้เยอรมนีมีเสถียรภาพ และฟื้นเกียรติในสายตานานาชาติ
 
ดังนั้น กลุ่มชนชั้นนำเยอรมนี จึงผลักดันให้ประธานธิบดีฮินเดนบูร์กตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคบริหารประเทศ โดยมีพรรคฝ่ายขวาอื่นเข้าร่วมด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจ เมื่ออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาขยายกองกำลังของพรรค และเริ่มใช้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์รุนแรงมากขึ้น
 
จากความขัดแย้งในรัฐบาลผสม ฮิตเลอร์จึงเสนอให้ประธานาธิบดียุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๓๓ แต่ปรากฏว่าในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ อาคารรัฐสภาเยอรมนีถูกวางเพลิง ฮิตเลอร์โจมตีว่าเป็นแผนการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และถือโอกาสออกกฤษฎีกาไฟไหม้สภา เพื่อควบคุมสิทธิพื้นฐานของประชาชน และเปิดโอกาสในการกวาดล้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ยุบพรรคคอมมิวนิสต์และกวาดล้างสมาชิกพรรคและกลุ่มฝ่ายซ้าย ทำให้ผู้ต้องสงสัยกว่า ๔,๐๐๐ คนถูกจับกุม จากนั้นก็มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักในเรื่องชาตินิยมเยอรมนี ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และฟื้นเกียรติยศแห่งชาติ ทำให้พรรคนาซีชนะได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังได้เสียงเพียง ๔๓.๙ % ได้ที่นั่ง ๒๘๘ ที่นั่งจาก ๖๔๗ ที่นั่ง และนี่เป็นการเลือกตั้งแบบหลายพรรคครั้งสุดท้ายในสมัยนาซี นั่นหมายความว่า ตามความจริงพรรคนาซีไม่เคยได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนในการเลือกตั้งเสรีเลย
 
หลังจากการเลือกตั้ง รัฐบาลฮิตเลอร์ได้เสนอรัฐบัญญัติยึดอำนาจ ให้รัฐสภาลงมติมอบอำนาจนิติบัญญัติให้รัฐบาลออกกฎหมาย โดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนได้ ๔ ปี รัฐบาลใช้วิธีการคุกคามให้พรรคฝ่ายกลางสนับสนุน และริดรอนสิทธิพรรคฝ่ายซ้ายที่จะคัดค้าน ทำให้รัฐสภาต้องผ่านกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียง ๔๔๔ ต่อ ๙๓ เสียง เมื่อได้อำนาจตามกฎหมายมาแล้ว รัฐบาลฮิตเลอร์ก็กลายเป็นเผด็จการเต็มรูปโดยการปราบคู่แข่ง ยุบพรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายกลางอื่น ยุบเลิกและทำลายสหภาพแรงงานทั่วประเทศ และกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมด ทำให้พรรคนาซีกลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกฎหมายเพียงพรรคเดียว  จากนั้น จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๓๓ โดยมีพรรคนาซีสมัครเพียงพรรคเดียว ทำให้ได้คะแนนเสียงทั้งหมด ๖๖๑ ที่นั่ง และนี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้ระบบนาซี เพราะสภาชุดนี้ได้รับการต่ออายุจนสิ้นอำนาจของนาซี
 
เดือนสิงหาคม ค.ศ.๑๙๓๔ ประธานาธิบดีฮินเดนแบร์กถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลได้ออกกฎหมายรวมอำนาจของประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นผู้นำสูงสุดอย่างเป็นทางการ เรียกว่า ฟือแรร์ หรือ ท่านผู้นำ ซึ่งโดยตำแหน่ง ฮิตเลอร์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด บัญชาการกองทัพเยอรมนีด้วย การรวมตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีได้รับการอนุมัติโดยการลงประชามติเมื่อ ค.ศ.๑๙๓๘ ซึ่งพรรคนาซีได้รับเสียงสนับสนุน ๙๐ % ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
 
สรุปแล้วระบอบของฮิตเลอร์คือระบอบเผด็จการฝ่ายขวา การได้อำนาจของพรรคนาซีต้องถือว่ามาจากการยึดอำนาจ หรือการก่อรัฐประหารโดยการสนับสนุนของกลุ่มนายทุนและนักอุตสาหกรรม ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย การรักษาอำนาจใช้การโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนัก ให้ถืออุดมการณ์ชาตินิยมเยอรมันสุดขั้ว แล้วสร้างให้ยิวกับคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูร้าย ความเสียหายเกิดขึ้นจากกการที่พรรคนาซีได้ใช้อำนาจในการขยายดินแดนในยุโรป แล้วร่วมมือกับอิตาลี กับ ญี่ปุ่น ก่อสงครามโลกครั้งที่สองที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก และการกีดกันเชื้อชาติโดยสังหารหมู่ชาวยิวอย่างเหี้ยมโหดผิดมนุษยธรรม
 
ตลอดเวลาที่พรรคนาซีอยู่ในอำนาจ ก็ไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลไหนมาควบคุมหรือถ่วงดุลเลย หรือกล่าวได้ว่าศาลทั้งหลายสมัยนาซีก็รับใช้พรรคนาซีทั้งสิ้น ไม่ได้มีเกียรติประวัติหรือความกล้าหาญในการตรวจสอบรัฐบาลฮิตเลอร์ อำนาจพรรคนาซีสิ้นสุดลงเพราะเยอรมนีแพ้สงครามใน ค.ศ.๑๙๔๕
 
กระบวนการของฮิตเลอร์จึงไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็น”เผด็จการเสียงข้างมาก” หรือ “เผด็จการรัฐสภา” เพราะพรรคนาซีไม่ได้เผด็จการโดยอาศัยรัฐสภาแต่อย่างใด และความจริง พรรคที่บริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมาก แต่ถ้าพรรคนั้นบริหารผิดพลาด คราวต่อไปก็จะเป็นสิทธิของพรรคอื่นที่จะต้องมาด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน นี่เป็นกติกาประชาธิปไตย
 
ดังนั้นวาทกรรมเรื่องเผด็จการเสียงข้างมากก็เป็นวาทกรรมลวง และอ้างกันว่า ระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งนักการเมืองฮิตเลอร์แล้วต้องเอาศาลมาปกป้องก็เป็นเรื่องอ้างผิด สะท้อนถึงความโง่ในการอ้างเหตุผลของพวกฝ่ายขวาไทยนั่นเอง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการพม่ากวาดจับนักกิจกรรม ก่อนวันรำลึกนายพลเนวินสั่งปราบนักศึกษา

Posted: 07 Jul 2012 05:51 AM PDT

นับเป็นการจับกุมนักศึกษาระลอกใหญ่นับตั้งแต่พม่าดำเนินการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ตำรวจบอกผู้นำนักศึกษาว่า "อย่าขุดคุ้ยอดีต" ท่ามกลางกระแสปฏิรูปหลายด้านในพม่า รวมทั้งการที่รัฐบาลพม่าอนุมัติการลาออกให้รองประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยม "ทิน อ่อง มิ้นต์ อู" 

 

อาคารสหภาพนักศึกษาพม่า ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนถูกนายพลเนวินสั่งระเบิดทิ้งในวันที่ 7 ก.ค. ปี พ.ศ. 2505 (ที่มา: อิระวดี)

สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานเมื่อคืนวานนี้ว่า มีผู้นำนักศึกษาอย่างน้อย 20 รายถูกจับเมื่อคืนนี้ โดยเป็นการจับกุมผู้นำนักศึกษาครั้งใหญ่นับตั้งแต่รัฐบาลทหารถ่ายโอนอำนาจ โดยนักกิจกรรมกล่าวว่า การจับกุมเกิดขึ้นในคืนที่จะมีการชุมนุมเพื่อรำลึกการปราบปรามนักศึกษา

"มี 5 คนถูกจับที่ย่างกุ้ง 5 นักกิจกรรมนักศึกษาถูกจับที่ชเวโบ หกคนที่มัณฑะเลย์ และอีก 4 คนที่ล่าเสี้ยว" เต็ต ซอว์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาเมื่อปี 2531 หรือ รุ่น'88 กล่าว

นักกิจกรรมรุ่น'88 คนอื่นๆ กล่าวว่า คนที่ถูกจับที่ย่างกุ้ง ถูกจับโดยไม่มีการตั้งข้อหาอะไร แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า "ต้องการพูดคุยกับพวกเขา"

ผู้ที่ถูกจับโดยตำรวจสันติบาลของพม่า ประกอบด้วย นักศึกษารุ่น'88 นักศึกษากลุ่มสหภาพนักศึกษารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นนักศึกษายุคการประท้วงสมัยปฏิวัติชายจีวรในปี 2550 และนักศึกษากลุ่มสหพันธ์นักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABFSU)

ทั้งนี้พม่ามีการปฏิรูปในหลายด้าน นับตั้งแต่เต็งเส่งขึ้นมามีอำนาจเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและมีการเลือกตั้งซึ่งทำให้มี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอยู่ในสภา ขณะที่การประท้วงแสงเทียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อประท้วงเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ในประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าทำแต่เพียงเรียกผู้นำการประท้วงไปสอบสวนแล้วปล่อยตัวโดยไม่ได้ตั้งข้อหา

ผู้นำฝ่ายค้านอย่างนางออง ซาน ซูจี กล่าวระหว่างการเยือนยุโรปเมื่อสัปดาห์ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่ และขณะที่เกิดเหตุจับกุมนักศึกษา นางออง ซาน ซูจีอยู่ที่เนปิดอว์เพื่อร่วมประชุมรัฐสภา และมีกำหนดที่จะร่วมแถลงในรัฐสภาในวันจันทร์นี้ (9 ก.ค.)

ทั้งนี้ นักศึกษาที่ถูกจับกุมในหลายเมือง วางแผนที่จะเดินขบวนรำลึกเหตุการณ์ "7 ก.ค. 1962" ซึ่งวันที่นายพลเนวินสั่งปราบนักศึกษาพม่าจนมีผู้เสียชีวิต และต่อมาได้มีการระเบิดทำลายอาคารของนักศึกษาพม่า

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าตำรวจที่ภาคมัณฑะเลย์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (5 ก.ค.) โดยเตือนบรรดานักศึกษาว่า "อย่าขุดคุ้ยอดีต"

 

รองประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมได้รับอนุมัติให้ลาออกแล้ว
ด้านออง ซาน ซูจียืนยันจะใช้คำว่า "เบอร์ม่า"

ขณะเดียวกัน สาละวินโพสต์ รายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภาพม่า ได้รับรองการลาออกของนายทิน อ่อง มิ้น อู รองประธานาธิบดี โดยการลาออกจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. โดยทิ่น อ่อง มิ้น อู เป็นอดีตนายพลที่มีความสนิทสนมกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย และยังเป็นที่รู้จักในฐานะฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขณะที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งเตรียมที่จะปรับคณะรัฐมนตรี โดยเตรียมจะปลดและลดบทบาทรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนที่มีแนวคิดหัวอนุรักษ์นิยมขัดแย้งกับเขา เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

ส่วนกรณีที่ กกต.พม่า ตีพิพม์ประกาศในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ เตือนออง ซาน ซูจี และพรรคฝ่ายค้านให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนมาร์" แทนคำที่นางออง ซาน ซูจีใช้ระหว่างเยือนยุโรปว่า "เบอร์ม่า" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อ 5 ก.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า นาออง ซาน ซูจี กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่บ้านพักในนครย่างกุ้งว่า เสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เธอมีสิทธิจะเรียกชื่อประเทศพม่าต่อไปในแบบที่เธอต้องการจะเรียก และว่ารัฐบาลทหารพม่าในอดีตทำไม่ถูกต้อง ที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "เบอร์มา" เป็น "เมียนมาร์" โดยที่ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Student leaders arrested in Myanmar, Aljazeera, 6 July 2012,

Authorities Block Plans to Commemorate Key Anniversary By YAN PAI / THE IRRAWADDY July 6, 2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น