โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฮ่องกงและความกังวลภายใต้การปกครองของจีนครบ 15 ปี

Posted: 06 Jul 2012 02:17 PM PDT

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงหลังอยู่ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนมา 15 ปี ขณะที่การประท้วงของชาวฮ่องกงนับแสนท่ามกลางการมาเยือนของหู จิ่นเทา มีความหมายอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 

นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน เดินทางถึงเกาะฮ่องกงเมื่อ 29 มิ.ย. 55 ในวาระครบรอบ 15 ปีการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับจีนจากอังกฤษและเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงสมัยที่ 4 (ที่มา: CCTV)

นายหู จิ่นเทา ตรวจกำลังพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ซึ่งประจำการที่เกาะฮ่องกง เมื่อ 29 มิ.ย. 55 ทั้งนี้ที่เกาะฮ่องกงมีทหาร PLA ประจำการอยู่ราว 6 พันนาย โดยเข้ามาประจำการนับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนในปี 2540 (ที่มา: CCTV)

พิธีเชิญธงชาติจีน และธงเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อ 1 ก.ค. 55 โดยพิธีการดังกล่าวมีการใช้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนกวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ (ที่มา: TVB)

รายงานข่าวการประท้วงของชาวฮ่องกงในวันที่ 1 ก.ค. 55 คัดค้านวิธีการแต่งตั้งผู้บริหารเกาะฮ่องกง และคัดค้านผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนใหม่ (ที่มา: TVB) (รายงานข่าวภาคภาษาจีนกวางตุ้ง คลิกที่นี่)

การประท้วงของชาวฮ่องกงในวันที่ 1 ก.ค. 55 (ที่มา: Itishappeninghk/youtube)

 
 

ผู้ชุมนุมนับแสนเดินขบวนค้านระบบแต่งตั้งผู้บริหาร
ในวันฮ่องกงคืนจีนครบ 15 ปี

การเยือนฮ่องกงเป็นเวลาสามวันของประธานาธิบดีจีนนายหู จิ่นเทาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 15 ปีการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับจีนจากอังกฤษและเข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงสมัยที่ 4 กลับต้องเผชิญกับการชุมนุมของประชาชนชาวฮ่องกงนับแสนคน ในขณะที่สื่อจีนรายงานถึงความสำเร็จของปกครองเกาะฮ่องกงภายใต้ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" นักวิเคราะห์มองว่า จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายของประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองในฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลต่อท่าทีของรัฐบาลต่อประชาชนผู้ที่เห็นต่างภายในประเทศเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนจากอังกฤษ มีรายงานว่า ประชาชนชาวฮ่องกงราวแสนคนได้ร่วมเดินขบวนในกลางกรุงฮ่องกง เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนใหม่ นายเหลียง เจิ้นอิง รวมถึงเสรีภาพที่ประชาชนมองว่าลดลงหลังจากอยู่ภายใต้การปกครองของปักกิ่ง

ทั้งนี้ เหลียงถูกมองจากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงว่าเป็น "หมาป่าในคราบลูกแกะ" เนื่องจากท่าทีที่ใกล้ชิดกับปักกิ่ง อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมากขึ้น ซึ่งเหลียงปฎิเสธข้อกล่าวหาเช่นนั้น

การชุมนุมดังกล่าว คาดการณ์ว่ามีคนราว 400,00 คนเข้าร่วม นับว่าเป็นการประท้วงของประชาชนชาวฮ่องกงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 โดยการชุมนุมในครั้งนั้นนำมาสู่การลาออกของผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนแรก คือนายต่ง เจี้ยนหัว

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. หู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เดินทางตรวจพลค่ายทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ประจำฮ่องกง และได้เข้าพบกับผู้ว่าการคนใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. รวมถึงผู้รับผิดชอบองค์กรบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ด้วย

นายหู จิ่นเทา กล่าวว่า จีนจะยังคงยึดมั่นระบบหนึ่งประเทศ สองระบบ และระบุด้วยว่า ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนต่อไปจะมาจากการเลือกตั้งเสมอภาคของชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนประกาศว่าจะใช้ในปี 2560 หลังจากที่ไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีในสภาประชาชนแห่งชาติในปี 2550

โดยในระหว่างการกล่าวปราศรัยของนายหู จิ่นเทา ได้มีผู้ประท้วงตะโกนเพื่อเรียกร้องให้ยุติระบบพรรคเดียวของจีน ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นสมาชิกของพรรคซีวิค และถูกตำรวจควบคุมตัวออกจากบริเวณดังกล่าว

มีรายงานว่า นักข่าวเองก็ถูกปิดกั้นในเหตุการณ์นี้ โดยตำรวจได้นำตัวนายเร็กซ์ ฮอน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แอปเปิ้ล เดลี่ออกจากงานดังกล่าว หลังตั้งคำถามกับนายหู จินเทาเรื่องการเยียวยาในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่เทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532

"เรายังไม่สามารถเลือกผู้บริหารของเราเองได้ และนั่นก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย" แอนดรูว์ ชุม วัย 25 ปีซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการจัดประท้วงดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับ นสพ. นิวยอร์กไทมส์ "ประชาชนไม่ไว้ใจผู้ว่าการฯ เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียงในการเลือกเขา"

ทั้งนี้ ที่มาของผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาจากการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 1,200 คน โดยตัวแทน 1,044 คนมาจากภาคเอกชนต่างๆ 60 คนมาจากภาคศาสนา และอีก 96 คนมาจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง

 

15 ปีและช่องว่างทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่า 15 ปีหลังจากที่ฮ่องกงถูกส่งคืนสู่จีน ฮ่องกงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย อาทิ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่มากที่สุดในเอเชีย และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผู้แทนของตนเองได้โดยตรง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ปักกิ่งจะเคยกล่าวว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการได้โดยตรงภายในปี 2017 แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใด มารับประกันเรื่องดังกล่าว

ดิ อิโคโนมิสต์ ตีพิมพ์บทวิเคราะห์โดยมองว่า การปฏิรูปในฮ่องกงที่จะมาถึงในอนาคตอาจส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยเฉพาะสิทธิการเลือกตั้งเสมอภาคที่จะนำมาปฏิบัติใช้ในฮ่องกงปี 2560 ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็คงจะหาวิธีเพื่อควบคุมรายชื่อผู้สมัครในฮ่องกง อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุด สาธารณชนก็จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ซึ่งต่างจากในปัจจุบัน ซึ่งผู้ว่าได้รับการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลจีน

นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีของจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนในปีหน้า น่าจะพบกับการเมืองฮ่องกงที่น่าหนักใจมากกว่าสมัยของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า นายเหลียงในฐานะผู้ว่าการคนใหม่ ได้แสดงความห่วงใยต่อกลุ่มคนยากจนในฮ่องกงมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากความนิยมที่ตกต่ำของเหลียงยังคงอยู่ มันก็อาจนำมาสู่วิกฤติการณ์แบบเดียวกับที่สามารถโค่นล้มนายตงได้เช่นเดียวกัน

หากนายสี จินปิงมีแนวโน้มที่จะปฏิรูปการเมืองในจีนมากกว่าหู จินเทา ในปักกิ่งเองก็คงจะเผชิญกับแรงกดดันที่น้อยกว่าเดิม การลงจากตำแหน่งของป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง (จุงกิง) ซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและไร้ความอดกลั้นต่อผู้ที่เห็นต่าง แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มอาจจะเป็นไปในทางที่ดี แต่จากนั้นมา ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการเปิดเสรีทางการเมืองในจีน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากกรณีพิพาทต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้เริ่มผ่อนปรนตามการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา อำเภอชีฟาง ในจังหวัดเสฉวนของจีน มีการประกาศว่าโรงงานคอปเปอร์-อัลลอยที่เดิมมีแผนจะสร้าง ถูกยกเลิกแล้วเนื่องจากเผชิญการคัดค้านจากชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางก็ตระหนักถึงอันตรายหากปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมรุนแรงเกินไป นอกจากนี้ สื่อของทางการจีน ยังได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ของจีนควรจะเรียนรู้จากสถานการณ์ในชีฟาง อย่างไรก็ตามก็ยังมีรายงานว่านักเคลื่อนไหวยังคงถูกข่มขู่และคุมขัง

ทั้งนี้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2384 หลังจีนพ่ายแพ้กับอังกฤษในสงครามฝิ่น โดยอังกฤษได้เซ็นสัญญาในสนธิสัญญานานกิงเพื่อปกครองเกาะฮ่องกงในฐานะอาณานิคม ต่อมา หลังจากที่จีนพ่ายแพ้อังกฤษในการทำสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ก็ได้ขยายเขตปกครองไปยังบริเวณคาบสมุทรเกาลูนและเขตนิวเทอร์ริทอรีส์ในปี 2412 และ 2441 ตามลำดับ โดยอังกฤษมีสิทธิเช่า 99 ปี และมีกำหนดส่งมอบคืนจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

In Hong Kong, Frustration 15 Years After Return to Chinese Rule, By KEVIN DREW, June 29, 2012 http://www.nytimes.com/2012/06/30/world/asia/in-hong-kong-frustration-after-return-to-chinese-rule.html?pagewanted=all

A city apart, The Economist, Jul 7th 2012 http://www.economist.com/node/21558267

Mass protests as Hong Kong marks 15 years under China, BBC, 1 July 2012 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-18664132 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิสิต.ม.เกษตร จัดเสวนาสภากาแฟ "กิจกรรมรับน้อง "รุ่น" ทำไมต้อง "เอา"

Posted: 06 Jul 2012 09:29 AM PDT

วงเสวนาวิพากษ์รับน้อง-SOTUS มีทั้งข้อดีและเสีย เผยแม้ไม่บังคับโดยตรงก็กดดันทางอ้อม เสนอไม่ยกเลิกไปเลยก็ปรับกิจกรรมสร้างสรรค์ เห็นถึงปัญหาสังคมนอกมหาวิทยาลัย รับไม่ได้สุดคือ “ว๊าก”

17.00 น. วานนี้(5 ก.ค.) ที่ห้องชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชน ตึกกิจกรรม 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นิสิตชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(คสยช) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และกลุ่มเสรีนนทรี ร่วมจัดเสวนาสภากาแฟ (https://www.facebook.com/WorldCafeKaset) ประเด็น "กิจกรรมรับน้อง "รุ่น" ทำไมต้อง "เอา" ท่ามกลางเสียงการซ้อมร้องเพลงมหาลัย ของอาคารใกล้เคียง โดย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ซึ่งมีทั้งนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น และกลุ่มกิจกรรม “สลึง” ร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งนี้วงเสวนาได้เปิดให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นการรับน้องและระบบ SOTUS ระบบที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยย่อมาจากภาษาอังกฤษ 5 คำประกอบด้วย Seniorityหรือ การเคารพผู้อาวุโส, Order การปฏิบัติตามระเบียบวินัย, Tradition การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี, Unity การเป็นหนึ่งเดียว และ Spirit คือ การมีน้ำใจ

ผู้ร่วมเสวนาในวงนี้มีทั้งแสดงความคิดเห็นไปในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับน้องและระบบ SOTUS ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลต่างๆ ไป เช่น ไม่ได้แสดงถึงการยกระดับความคิดเพื่อให้เข้าใจสังคมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง แสดงถึงการแบ่งชนชั้นระหว่างพี่กับน้อง ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบที่ผู้ถูกรับน้องรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกขัดแย้งในใจและรู้สึกว่ามีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเองตามคณะ เป็นต้น ด้านฝังที่เห็นว่าการรับน้องเป็นกิจกรรมที่ดีนั้นให้เหตุผลว่า เป็นการฝึกความอกทนต่อแรงกดดัน สร้างความเคารพยำเกรง ทำให้รู้สึกรักกันระหว่างพี่และน้อง รวมทั้งเป็นการควบคุมระเบียบของคนหมู่มาก เป็นต้น

ผู้เสวนาได้ร่วมกันนำเสนอ 2 แนวทางในการแก้ปัญหา ทางหนึ่งเสนอให้ยกเลิกไปกิจกรรมไปเลย กับอีกแนวทางคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม เช่น เปลี่ยนเป็นการรับน้องเชิงสร้างสรรค์ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมนอกมหาวิทยาลัยร่วมกัน หรือการสร้างความรู้จักกันและสนิทกันด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การว๊าก หรืออย่างน้อยมีการจัดระเบียบขอบเขตการว๊าก บางส่วนเสนอให้การรับน้องเป็นเพียงทางเลือกคือให้เป็นไปโดยสมัครใจของผู้ถูกรับ ไม่มีการบังคับหรือการกดดันทางอ้อม หรือการตั้งเป็นเฉพาะชมรม นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการรวมตัวช่วยเหลือในรูปแบบอื่นแทนการรวมตัวแบบ SOTUS เช่น เป็นสหภาพนักศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องต่อรองสวัสดิการของนักศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น

น.ส.บุญจิรา บัลลังก์ปัทมา นิสิตปี 3 คณะอุตสาหกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ จากชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชนในฐานะองค์กรร่วมจัดกิจกรรมนี้ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมกับผู้สื่อข่าวว่า ต้องการให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับน้องได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ส่วนมากที่มาในวันนี้เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ไปหลายช่องทาง โดยเฉพาะใน Facebook ก็มีคนที่เห็นด้วยกับการรับน้องมาตอบมาแสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่มาร่วมเสวนา ทั้งนี้ผู้จัดได้เตรียมเปิดเวทีด้านล่างของอาคารในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากไว้ด้วย

สำหรับกิจกรรมรับน้อง น.ส.บุญจิรา มองว่า “มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างเช่นว่าถ้ารับน้องด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น พาน้องไปปลูกป่า หรือว่าพาน้องไปทำสิ่งดีๆให้สังคมนี้ รับน้องแบบนี้หนูว่าเป็นการที่รุ่นพี่รักรุ่นน้องจริงๆ แต่ถ้ารับน้องใช้คำว่ารับน้องมาบังหน้า มีการว๊ากใส่อารมณ์ลงไป เหมือนเป็นการเอาคืนจากสิ่งที่ตัวเองโดนด่ามาอะไรแบบนี้ หนูว่าอย่างนี้มันไม่สร้างสรรค์และก็คิดว่ามันไม่เวิร์ค” น.ส.บุญจิรา ย้ำอีกว่าการว๊ากเป็นตัวปัญหาหลักของการรับน้อง ปัญหารองคือการที่รุ่นพี่มักบอกให้รุ่นน้องทำอย่างแต่ตัวเองกลับไม่ทำ เช่น บอกให้รุ่นน้องแต่งกายให้เรียบร้อยแต่รุ่นพี่กลับไม่แต่งตัวเรียบร้อย บอกให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ แต่ก็ทำตัวไม่น่าเคารพ หรือรุ่นพี่เองยังไม่เคารพอาจารย์เลย

จิฬาชัย พิทยานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ กิตติพงศ์ ทรงคาศรี นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ จากกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เปิดเผยเกี่ยวกับมุมมองของกลุ่มเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องว่ายังกำหนดไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ จิฬาชัย พิทยานนท์ ได้เปิดแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “มองกิจกรรมดังกล่าวเป็นทางเลือกมากกว่า เพราะเราจะไปชี้ถูกชี้ผิดให้เขาไม่ได้ การชี้ถูกชี้ผิดของเราก็คือมาตรฐานเรา การชี้ถูกชี้ผิดของเขาก็เป็นมาตรฐานเขา โดยส่วนตัวเลยคิดว่าอยากให้มีระเบียบแน่นอนแล้วก็ และใช้ความสมัครใจมากกว่า ไม่มีการบังคับ ไม่มีการถูกกำหนดเป็นกิจกรรมบังคับ”

จิฬาชัย พิทยานนท์ มองว่า “ตัวโซตัสที่มันแข็งแรงมันไม่ได้แข็งแรงเฉพาะการใช้กำลังอย่างเดียว ตัวระบบที่มันฟอร์มออกมาเป็นรูปเป็นร่างจากมหาลัยเองก็มี ตัวมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนทางด้านนี้ ลองไปดูป้ายในคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือว่าคณะวนศาสตร์ เขาก็จะมีการสนับสนุนอย่างชัดเจน โซตัสคืออะไรแบบนี้ เราก็เลยมองว่ามันเป็นระบบที่ถูกฟอร์มตัวมาจากข้างบนอยู่แล้ว เพื่อให้ตัวเด็กอยู่ในสถานะที่จำยอมแล้วก็คนที่ไม่พอใจก็จะกลายเป็นส่วนน้อยของสังคมไป”

“ทุกวันนี้มันยังมีการบังคับกันทางอ้อม เหมือนว่าเขาเอาทางระเบียบโดยตรงไม่ได้ จะเล่นทางจิตวิทยาแทน ภาษาชาวบ้านว่ามาไซโคน้องว่าถ้าคุณไม่เข้าก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณไม่เข้าคุณก็ไม่ได้เพื่อนไม่ได้รุ่น ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็ไม่มีเพื่อนไม่มีใครติดต่อ แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่มีผลกันเพราะว่าพอเรียนไปเรียนมาคนก็รู้จักกันเอง” กิตติพงศ์ ทรงคาศรี กล่าว สำหรับเพื่อนนิสิตคนอื่นในมหาวิทยาลัย กิตติพงศ์ ทรงคาศรี ประเมินว่า คนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลาง อาจจะไม่ชอบแต่ก็ไม่ต่อต้านเพราะกลัวโดน Social Sanction หรือโดนกดดัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่าวสั้นบันเทิง: The MozART GROUP วงคลาสสิกชวนหัวจากโปแลนด์

Posted: 06 Jul 2012 09:17 AM PDT

พวกเขาจัดประเภทตัวเองว่าเป็นวงคาบาเรต์/ วงดนตรี( เครื่องสาย)ชวนหัว โดยเกิดจากการรวมตัวของนักดนตรี 4 คนเมื่อพ.ศ. 2538 สมาชิกประกอบด้วย Filip Jaślar – ไวโอลิน, Michał Sikorski- ไวโอลิน, Paweł Kowaluk- วิโอลา, และ Bolek Błaszczyk - เชลโล ทั้งหมดจบการศึกษาด้านดนตรีจากสถาบันดนตรีแห่งวอซอว์

หน้าเว็บของพวกเขาบอกไว้ว่า

"เราดำรงอยู่แม้ในคอนเสิร์ตฮอลอันเขร่งขรึม แม้ในความน่าเบื่อหน่ายของชีวิตนักดนตรีคลาสสิก

แม้ท่ามกลางความคลั่งไคล้ของผู้หลงรักในดนตรีคลาสสิก หรือแม้ในท่ามกลางบรรดาแฟนเพลงขาร็อก แร็พหรือป๊อปที่หวาดกลัวต่อเพลงคลาสสิกก็ตามที

เราปฏิบัติต่อเทวีแห่งศิลป์ด้วยตลกเสียดสี และมั่นใจว่าเธอย่อมไม่ต่อต้านต่อสิ่งที่เราทำ"

วงดนตรี (เครื่องสาย) ชวนหัววงนี้ได้รับรางวัลระดับประเทศของโปแลนด์หลายครั้ง.....แน่นอน เราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับโปแลนด์มากนัก (เหมือนที่เราก็ไม่ค่อยรู้อะไรๆ อีกหลายอย่างในโลกนี้นั่นแหละ!) และความข้อนี้ก็น่าจะเป็นที่รู้อยู่แก่ใจของชาวโปแลนด์อย่างน้อยก็คนนึง ความเห็นยอดนิยมท้ายคลิปนี้ โพสต์โดย olimp60 ตัดพ้อชะตากรรมของอัจฉริยบุคคลในโปแลนด์ยุคปัจจุบันว่า

“โปแลนด์ ประเทศของฉันนั้นมีบุคลากรที่น่าอัศจรรย์มากมาย ทั้งนักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา ฯลฯ แต่ทำไมโลกถึงไม่รู้จักพวกเขาน่ะเรอะ? ก็เพราะเรามีนักการเมืองปัญญาอ่อนอยู่ในรัฐบาลไงล่ะ” อย่างไรก็ตามผู้โพสต์อาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปนิด เพราะคิวการแสดงของ MozART Group ขณะนี้มีทั่วโลก ทั้งในมอสโคว ปารีส แคลิฟอร์เนีย ฯลฯ และคิวยาวเหยียดไปถึงปลายปีหน้าแล้ว

ดนตรีของพวกเขาไม่เหมาะแก่การรับฟังเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูไปพร้อมกันด้วย แล้วคุณจะทึ่งทั้งต่อความสามารถของนักแสดงและ อ้อ...เสียงปรบมืออันมีระเบียบของชาวโปแลนด์ด้วย 

ติดตามผลงานของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mozartgroup.org/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.นัดตัดสินแก้ รธน. 13 ก.ค. นี้

Posted: 06 Jul 2012 08:27 AM PDT

ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. เวลา 14.00 น. "เลขากฤษฎีกา” แจง รบ.ประกาศให้ทำประชามติ
 
6 ก.ค. 55 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลังจากออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนพยานทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ครบถ้วนแล้ว จนกระทั่งเวลาเมื่อเวลา 21.00 น.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวก่อนอ่านสรุปกระบวนการพิจารณาว่า คดีนี้ ทอดเวลาไปนาน มีแต่เรื่องไม่เป็นมงคล ดังนั้นถ้าตัดสินเร็วเกินไป ก็หาว่าลุกลี้ลุกลน มีธง แต่หากตัดสินล่าช้า ก็จะถูกกล่าวหาว่าดึงเกม สรุปแล้วไม่ว่าทำอะไรก็ผิด
 
ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อว่า ดังนั้นศาลให้เวลาพอสมควร หากจะยื่นคำแถลงปิดคดีให้ยื่นมาภายในวันพุธที่ 11 ก.ค. จากนั้นและวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ศาลจะนัดวินิจฉัยคดี เวลา 14.00 น. เบื้องต้นการตัดสินจะดูประเด็นข้อกฎหมาย วิธีการ และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนตัวมองว่าหากยื้ดเยื้อไปก็มีแต่ปัญหามากขึ้น
 
"เลขากฤษฎีกา”แจงรบ.ประกาศให้ทำประชามติ
 
ก่อนหน้านี้เวลา 20.00 น. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ในฐานะผู้แทนครม. ผู้ถูกร้องที่ 2 ไต่สวนต่อศาลว่า ก่อนการบริหารประเทศรัฐบาลได้มีการหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งและได้แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภาเป็นสัญญาประชาคมว่า รัฐบาลจะปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดคือจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีการทำประชามติ ซึ่งเป็นคำมั่นที่ผูกพันทางกฎหมาย ไม่ทำก็ผิดรัฐธรรมนูญเอง และต่อมา เมื่อประชาชน ส.ส.มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้ครม.ทำตามที่ได้แถลงไว้ จึงมอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ และเสนอครม. และกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเหมือนการตรากฎหมายปกติ โดยรัฐบาลได้ย้ำกฤษฎีกาไป 2 เรื่องว่า เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ ต้องไม่มีบทบัญญัติที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน 
 
นายอัชพร กล่าวว่า ในการตรวจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกฤษฎีกาได้มีการตรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญในอดีต เห็นว่ามาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญมีข้อความเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีต และเมื่อดูถึงองค์ที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็พบว่ามีการตั้งส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2489 และ 2540 และ 2550 และการแก้ไขสามารถแก้ไขเป็นรายมาตรามากน้อยแล้วแต่ผู้เสนอ หรือมีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ก็ได้ ซึ่งการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ครั้งนี้ยึดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2538 ที่กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้นถ้าจะมีการตีความว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ ก็ต้องตีความในสองลักษณะนี้ ซึ่งถ้าผ่านหลักเกณฑ์ของสภาในวาระ 3 บทบัญญัติที่มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมก็จะแทรกอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 และมีผลบังคับใช้ทั่วไป ดังนั้นที่ว่าครม.กระทำขัดมาตรา 68 นั้น ครม.เห็นว่ายังไม่มีการกระทำตามขั้นตอนดังกล่าว
 
“ซึ่งคำว่าและของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ขอชี้แจงต่อศาลว่า ในภาษาไทยไม่อาจตีความขยายไปในประโยคก่อนหน้านั้นได้ เพราะจะทำให้สภาพของกฎหมายมีปัญหา ดังนั้น การดำเนินการของผู้ร้องจึงไม่ต้องตามมาตรา 68”  นายอัชพร กล่าว
 
นายอัชพร กล่าวอีกว่า การจะยื่นตามมาตรา 68 ได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่สิ่งที่ครม.ดำเนินการเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการรัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือมีการห้ามมิให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ครบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติไว้ และกำหนดกรอบในการทำงานของส.ส.ร.ไว้ ว่าในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดมาเป็นต้นแบบ ซึ่งตนเห็นว่าคือรัฐธรรมนูญปี 2540
 
จากนั้นได้มีการซักค้านจากฝ่ายผู้ร้อง โดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้พยายามซักค้านว่าในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลนี้ที่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการคัดค้านแต่เนื่องจากจำนวนมือในสภามีน้อย ส่งผลให้การคัดค้านทำไม่สำเร็จ และขณะนั้นผู้ที่คัดค้านยังไม่มีการกระทำใดเกิดขึ้น จึงยังไม่มีการคัดค้าน และถ้านายอัชพรเห็นตรงกับที่นายโภคิน พลกุล ชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดว่าห้ามแก้ใน 2 เรื่องแล้ว เรื่องอื่นๆ แก้ได้ ทำไมจึงไปบัญญัติไว้ว่า ต้องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/17-18
 
นายอัชพร กล่าวว่า นอกจากข้อห้าม 2 ข้อแล้ว เห็นด้วยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ และที่รัฐบาลไม่ดำเนินการไปเลย เพราะได้ให้สัญญากับประชาชนว่าให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พล.อ.สมเจตน์ได้ซักต่อว่า การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/16 บัญญัติว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ตกไปให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1ใน 3 มีสิทธิเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ในกรณีนี้หมายถึงหากมีการตกไปของร่างรัฐธรรมนูญก็มีการเสนอใหม่จนกว่าจะสามารถทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นไปหรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า จะต้องไปดูในวรรคสองจะมีเงื่อนไขของการตกไปคือ 1.ตกไปเพราะขัดข้อห้ามยกเลิกทั้ง 2 ข้อ 2.รัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ 3.องค์ประกอบของสภาร่างไม่ครบ ไม่ใช่ประชาชนลงประชามติไม่เอาแล้ว สมาชิกรัฐสภาจะเสนอขึ้นมาใหม่ได้
 
อย่างไรก็ตามนายอัชพร กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าประชาชนผ่านประสบการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540-50 มา การที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งน่าจะเป็นโอกาสให้กับประชาชนอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ใช้ประสบการณ์บทเรียนทำรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายที่สอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชนมากที่สุด และการมาร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญนี้น่าจะเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกันใน ประเด็นที่ขัดข้องจนไปสู่จุดจบที่ทุกคนตกลงกันได้
 
จากนั้นนายสุวัตร์ อภัยภักดิ์ ตัวแทนผู้ถูกร้องที่2 ซักค้านว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้มีความผิดหรือไม่ และที่ไม่ทำอีกหลายเรื่อง เอาผิดได้หรือไม่ และถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ถ้าไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ก็ผิดอาจถูกถอดถอนได้ ส่วนแก้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลและรัฐสภาจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่า เนื้อหาจะออกมาอย่างไร
 
อย่างไรก็ตามในตอนท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง ได้ถามพยานถึงกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการบัญญัติมาตรา 291 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ รวมถึงจะมีการบัญญัติมาตรา 68 โดยระบุว่าห้ามมีการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลยหรือไม่
 
ซึ่งนายอัชพร ตอบว่า ตนไม่คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะคงมีอยู่ แต่ปัญหาที่จะไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คงต้องมีอีกแน่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าไม่อยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีกไม่ ก็ต้องมีการระบุถึงคะแนนเสียงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สูงขึ้นอีก เพื่อเป็นการป้องกันทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก ทั้งนี้คิดว่าคงไม่มีการระบุคำว่าห้ามหรือยกเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญลงไปในมาตรา 68 หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกระจายอำนาจไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง : ศึกษากรณีเชียงใหม่มหานคร

Posted: 06 Jul 2012 07:28 AM PDT

ขอขอบคุณสถาบันไทยคดีศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตแห่งนี้ที่ให้โอกาสผมได้มานำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจของไทยในวันนี้ ซึ่งจากการศึกษาของผมพบว่าสถาบันแห่งนี้ได้

ศึกษามาอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้งแล้ว ผมจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปเท้าความถึงความเป็นไปเป็นมาของวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นไทยให้มากนัก แต่การบรรยายของผมในวันนี้จะเป็นการไปต่อยอด Thai Studies in Japan, 1996-2006 ในหัวข้อ Decentralization ของท่านอาจารย์นาไก(Fumio Nakai)ซึ่งได้ทำไว้อย่างละเอียดและยอดเยี่ยมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมจะได้นำกรณีตัวอย่างของความก้าวหน้าเชียงใหม่มหานครมาเสนอให้เห็นถึงความตื่นตัวและความน่าสนใจที่เกิดการรวมตัวของผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วแต่เห็นตรงกันในเรื่องของการกระจายอำนาจและเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy)ที่เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามผมจะขอกล่าวถึงวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นไทยสั้นๆเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับท่านที่ยังไม่มีพื้นฐานในเรื่องนี้ว่าประเทศไทยได้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2476(1933) (ได้เคยมีการทดลองกระจายอำนาจ โดยจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม ในปี 2448(1905)) โดยการ ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลพุทธศักราช 2476 (1933)ขึ้น (แก้ไขเรื่อยมาจนถึง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496(1953)) กำหนดให้จัดตั้งเทศบาลขึ้น เป็นหน่วยปกครองตนเองของประชาชน โดยกำหนดเทศบาลออกเป็น 3 ประเภท คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ต่อมาในปี 2495(1952) รัฐบาลได้นำเอารูปแบบการปกครองท้องถิ่น แบบสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ออกมาประกาศใช้อีกครั้ง ตาม พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495(1952) เพื่อให้สามารถจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นได้ง่าย และกว้างขวางขึ้นอีก แม้จะมีลักษณะเป็นการปกครองท้องถิ่น ไม่เต็มรูปแบบ เท่ากับเทศบาลก็ตาม

ในปี พ.ศ.2498(1955) ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ได้เดินทางไปรอบโลก ได้เห็นราษฎรในท้องถิ่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในยุโรปมีส่วนร่วม ในการดูแลท้องถิ่น จึงกำเนิดความคิดในการ จัดตั้งสภาตำบลขึ้นในประเทศไทย ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 222/2499 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2499 (1956)เกี่ยวกับการจัดตั้งสภาตำบลทั่วประเทศ จำนวนกว่า 4,800 แห่ง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ตรา พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล พ.ศ.2499(1956) ขึ้นด้วย เพื่อจัดตั้งตำบลที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น เป็น "องค์การบริหารส่วนตำบล" เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกรูปแบบหนึ่ง นับว่าเป็นการจัดตั้งองค์กรระดับตำบล เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติประชาธิบไตยทั่วประเทศขึ้น เป็นครั้งแรก แต่ต่อมา องค์การบริการส่วนตำบลที่เป็นนิติบุคคลนี้ ถูกยกเลิกหมด เพราะความไม่พร้อมต่างๆ ทั้งด้านรายได้ และบุคลากร จึงคงเหลือแต่สภาตำบลเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2537(1994) ได้มีการจัดตั้งสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นนิติบุคคลทั่วประเทศ โดย ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ได้ผลักดันให้มีการ ตราพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537(1994) ขึ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537(1994) ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกสภาตำบลที่มีอยู่เดิมทั้งสิ้น และเกิดมีสภาตำบลขึ้นใหม่ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2538(1995) เป็นต้นมา จำนวน 6,216 แห่ง และมีสภาตำบล (ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง ไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท) จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จำนวน 618 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2538(1995) เป็นต้นมา ปัจจุบันมี อบต. จำนวน 6,745 แห่ง สภาตำบล จำนวน 214 แห่ง

ในปี 2498 (1955)เช่นกัน ได้มีการตรา พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 (1955)จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขึ้นเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค แต่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และสภาจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสภาเลือกตั้งจากประชาชน (ปัจจุบันมี อบจ. ในทุกจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง รวม 76 แห่ง ตาม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (1997)โดยมีฐานะนิติบุคคล และมีพื้นที่รับผิดชอบทั่วจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนั้น )

นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดตั้ง กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกด้วย ในปี พ.ศ.2518(1975) และ 2521 (1978)ตามลำดับ โดยกรุงเทพมหานคร เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พระราชบัญญัติระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518(1975) และเมืองพัทยา เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พระราชบัญญัติบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521(1978)

จากการที่การบริหารราชการแผ่นดินของไทยถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โครงสร้างการบริหารและปกครองในรูปแบบนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการบริหารราชการแผ่นดินของไทยนั้น ได้เน้นไปที่การรวมศูนย์มากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจากต้องการรักษาความมั่นคงของชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมายในระดับท้องถิ่นนั้นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากลักษณะการบริหารราชการไทยดังกล่าวสร้างปัญหา ได้แก่

1) ปัญหาทางด้านโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ปัญหาทางด้านอํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซ้อนทับกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องอำนาจ ภารกิจ งบประมาณและการประสานงาน ปัญหาด้านการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกินไป มีความพยายามของฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครองที่จะเข้าไปกํากับดูแลการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการกําหนดนโยบายและแผนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หรือปัญหาการไม่สามารถนํานโยบายไปปฏิบัติได้จริง  ภารกิจที่ถ่ายโอนให้กับ อปท. และงบประมาณที่จัดสรรให้แต่ละท้องถิ่นยังไม่มีความเหมาะสม ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เพราะความต้องการบุคลากรของท้องถิ่นกับข้าราชการที่จะโอนไม่ตรงกัน เนื่องจากในข้อเท็จจริงหากพิจารณาในเชิงคณิตศาสตร์ คือปริมาณ สามารถทำได้ แต่ในเชิงการบริหารและการจัดการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจที่จะรับโอน ทำให้การกระจายอำนาจคืบหน้าไปไม่ได้ เพราะด้วย อปท.เองยังคงคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเมือง มากกว่าที่จะมองถึงการพัฒนาของท้องถิ่น

ในส่วนของราชการที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของกระจายอำนาจที่ได้วางไว้ มิหนำซ้ำยังถูกแรงต้านจากส่วนราชการที่มีหน้าที่หลักในการกระจายอำนาจ เช่น กระทรวงมหาดไทย  หรือสมาคมนักปกครอง ฯลฯ ตลอดจนมีการพยายามเพิ่มอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค เช่น หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549(2006) มีการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของกำนันผู้ใหญ่บ้านและวิธีการได้มาของกำนันแทนที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลับให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเอง

2) ปัญหาของการมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของประชาชนที่มีค่อนข้างน้อย คงมีเพียงแต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หลังจากนั้นประชาชนจึงไม่ค่อยมีส่วนร่วมอย่างอื่น ซึ่งทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดพลัง ขาดความร่วมมือ ขาดความสนใจจากประชาชนอันเป็นผลให้การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นการปกครองของคนในท้องถิ่นเองไม่ค่อยประสบความสําเร็จเท่าที่ควร ซึ่งไม่มีทางที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่คิดอยู่ในกรอบเดิม

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการกระจายอำนาจของไทยจะประสบปัญหาอย่างมากดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็ยังถือได้ว่ามีความก้าวหน้าบ้าง ดังนี้

1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและการจัดการบริการสาธารณะ  เพราะคุณวุฒิของบุคคลากรที่สูงขึ้นและมีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น

2. ประชาชนในท้องถิ่นมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ผ่านทางสภาท้องถิ่น หรือผ่านทางการเมืองภาคประชาชน

3. ทัศนคติของบุคคลากรในกระทรวง ทบวง กรม เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะจะเห็นได้จากแรงต่อต้านในเรื่องนี้ลดน้อยลงเมื่อมีการรณรงค์ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯโดยภาคประชาชน ซึ่งมีเนื้อหาที่ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้น และเริ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  เพราะในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆมีบุคคลากรรุ่นใหม่ๆที่มีการศึกษาสูงขึ้นและเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น

4. เจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ดังปรากฏตามรัฐธรรมนูญปี (1997) กรณีของการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. ร้อยละ 35 ในปี 2549 (2006) และบทบาทท้องถิ่นมีความชัดเจนมากขึ้น  เมื่อมีประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจและหน้าที่การจัดระบบบริการสาธารณะของ อบจ. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2547 (2004) แต่น่าเสียดายที่ถูกรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญไปเสียก่อนเมื่อ 19 กันยายน 2549  แต่ก็สามารถถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯในปี 2555(2012) นี้ จะทำให้ทิศทางของการกระจายอำนาจดีขึ้น เพราะมีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 (1997) แล้ว

ตัวอย่างของความตื่นตัวของพัฒนาการของการการกระจายอำนาจที่ผมจะนำมายกตัวอย่างให้เห็นในวันนี้ก็คือ การรณรงค์สนับสนุนให้มี พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ซึ่งได้มีความคืบหน้าเป็นอันมาก และได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องและจับจ้องคว่ามเคลื่อนไหวของ “เชียงใหม่มหานคร”จากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นจากประชาชนในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงมหาดไทยที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของไทยมาโดยตลอด

ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับการปัญหาขของการราวมศูนย์อำนาจของรัฐไทยไว้ที่ส่วนกลางมาโดยตลอด แต่ก็เป็นเพียงที่บ่นเป็นครั้งคราวแล้วก็หายไป จวบจนประมาณปี 2533(1990) ศ.ดร.ธเนศว์ เจริญเมือง ได้ยกประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมา แต่ก็เป็นการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวและมีแรงต้านจากข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างหนาแน่น

แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังคงต่อเนื่องต่อไปในรูปแบบของแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2551(1998)จากการนำแนวคิด “การพึ่งตนเอง” ในเรื่องเกษตรชุมชน เช่น ป่าชุมชนและเกษตรทางเลือก ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมายาวนานและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับ การนำบทเรียน จากวิกฤติทางการเมืองในช่วง 2547(2003) - 2549 (2005)เข้ามาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในเวทีย่อยๆของภาคส่วนต่างๆที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคม เช่น คณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) และสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) และ นักวิชาการอิสระต่างๆ ซึ่งแลกเปลี่ยนความคิดกันในเรื่องของการพึ่งตนเองและการแก้ปัญหาทางการเมือง

ต้นปี 2552(2009) เริ่มมีการยกกระแสแนวคิด “การจัดการตนเอง” ขึ้นมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนในเวที จากความร่วมมือของสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช ภาคเหนือ) และกลุ่มนักวิชาการอิสระในภาคเหนือ จัดเวที ขับเคลื่อนพัฒนาการเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็น ของการเมืองท้องถิ่น  ซึ่งเวทีนั้นได้พูดถึงแนวคิดปฏิรูปประเทศเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นขึ้น  เนื่องจากผู้ร่วมเวทีมีการแลกเปลี่ยนกันถึงการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทยที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยนำแนวคิด การพึ่งตนเองมาบูรณาการใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนและยังมีกลุ่มประชาชนสนใจน้อยมาก

ในช่วงปลายปี 2552(2009) สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับ และคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) จัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอเรื่อง “การจัดการตนเอง” ในประเด็นของอำนาจท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ในระดับจังหวัด  รวมถึงภายในเวทีได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิชาการหลายท่าน ถอดองค์ความรู้นโยบาย “ผู้ว่า CEO” ของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งแนวคิด “จังหวัดบูรณาการ” ขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลาง เป็นเพียงการร่างแผนโดยท้องถิ่น เรียกว่า “แผนประชาชน” เสนอจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อผู้ว่าราชการหมดวาระแผนฯนั้นก็ตกไป ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร 

แต่นโยบาย “จังหวัดบูรณาการ” ก็ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งมีนักวิชาการที่มีประสบการณ์การศึกษาจากต่างประเทศ  นำแนวคิด การบริหารจัดการท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตยจากประเทศที่มีความมั่นคงทางการบริหารจัดการ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นกรอบคิดในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับการบริหารท้องถิ่นของไทย ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จในระดับจังหวัด เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ มองพื้นที่เป็นตัวตั้งมากกว่าศูนย์กลาง ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวคิดเรื่องพื้นที่เป็นตัวตั้งในลักษณะรูปธรรมคือ  ท้องถิ่นและภูมิภาค เช่น อบต. เทศบาล อบจ. เป็นต้น ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จน้อยมาก  ผู้เข้าร่วมเวทีนั้นจึงมีความคิดเห็นตรงกันว่า ท้องถิ่นควรจะขยายอำนาจให้ใหญ่ขึ้นไปสู่ ระดับจังหวัด

และในช่วงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2552(1999)เป็นต้นมาซึ่งได้เกิดวิกฤตการณ์เสื้อสีต่างๆเกิดขึ้น มีการรัฐประหารซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือการเกิดขึ้นของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น(Peaceful Homeland Network)ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสีเหลืองและสีแดงที่มีการพูดคุยกันอันเนื่องปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พยายามที่จะเดินทางมาประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง โดยมีการระดมสรรพกำลังทั้งกำลังตำรวจและทหารเพื่อเตรียมการณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยจำนวนเป็นหมื่นๆคน

กระแสข่าวต่างรายงานประหนึ่งว่าเชียงใหม่ในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะมิกสัญญี นักท่องเที่ยวหดหาย นักลงทุนพากันถอนการลงทุน ฯลฯ ชาวเชียงใหม่ซึ่งมีทั้งเสื้อสีเหลืองและสีแดงต่างได้รับความเดือดร้อน จึงหันหน้ามาพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการตามร้านกาแฟต่างๆ จนในที่สุดได้มีรวมตัวกันอย่างเป็นทางการที่ที่ทำการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯภาคเหนือ ซึ่งในขณะนั้นมีนายชำนาญ จันทร์เรืองเป็นนายกสมาคม ที่ประชุมได้เลือกให้นายชำนาญ เป็นประธานเครือข่ายไว้เป็นตัวกลางในการประสานงานกับภายนอก ซึ่งเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นก็มีการพบปะแลกเปลี่ยนกันโดยตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือการปะทะกัน

ซึ่งในที่สุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทางไปประชุมหอการค้าฯที่เชียงใหม่ สถานการณ์ความร้อนแรงทางการเมืองก็คลี่คลายลง แต่การพบปะของเครือข่ายก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป แต่ประเด็นที่นำมาพูดคุยกันนั้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและความใหญ่โตของราชการส่วนภูมิภาคที่เทอะทะเพราะมีขั้นตอนที่มากมาย หัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัดซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดมีการโยกย้ายบ่อยมากและไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มาประท้วงที่หน้าศาลากลางซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นได้เพียงรับเรื่องแล้วส่งเรื่องต่อ ที่สำคัญที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากที่สุดคือปัญหาหมอกควันซึ่งกลไกต่างๆที่ผู้ว่าราชการมีอยู่ในแทบเป็นอัมพาตเพราะไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้วเห็นว่าหากเพียงแต่มีการรณรงค์เหมือนในอดีตที่ผ่านมาก็จะไม่ได้ผลอะไร เพราะเป็นเพียงการบ่นที่ผ่านมาแล้วผ่านไป จึงมีการเสนอให้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งนายชำนาญ จันทร์เรือง จึงได้ยกร่างขึ้นมาเป็นร่างแรกเมื่อ เดือนมกราคม 2554(2011)และกำหนดหมุดหมายในการขับเคลื่อน(milestone)ว่าจะยื่นร่าง พรบ.ดังกล่าวในกลางปี2555(2012)

ต่อมา ในเดือน เมษายน ปี 2554(2011) คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีนายอานันท์  ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการปฏิรูป และ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) โดยมี ศาสตราจารย์ประเวศ  วะสี เป็นประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป และมีสำนักงานปฏิรูปหรือ สปร.  ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ จึงได้มีการเสนอเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” สู่ สำนักงานปฏิรูป ซึ่งมีแนวทางสอดคล้องและเป็นช่องทางในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ออกหนังสือปกสีส้ม  "ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ" เรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง จึงได้ถูกบรรจุลงเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือปกสีส้ม  ในประเด็น การเสริมอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น หัวข้อ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้เป็นประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ซึ่งสอดคล้องกับการยกร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯที่ได้ยกร่างขึ้นมาก่อนนี้ในเดือนมกราคม2554(2011)พอดี

ต่อมา คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้นำประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง มาเป็นประเด็นในการเสนอมติและผ่านมาเป็นมติของสำนักงานปฏิรูป  คำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” จึงกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น รวมถึง สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้ด้วย เป็นการเพิ่มแนวทางขยายแนวความคิด โดยการดำเนินการจัดเวทีเพื่อขยายแนวความคิดและระดมภาคีในระดับภูมิภาคจนถึงระดับท้องถิ่น

ในเวลาเดียวกัน เกิดกระแสการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดนี้และหนังสือปกส้ม ฯ เพราะเล็งเห็นว่า ทำให้ขาดเอกภาพในการปกครองประเทศและอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้

ในเดือน พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางการเมืองภายในมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นจุดที่เหมาะสมและสำคัญที่สุด ในการกระจายและขยายแนวความคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถมองภาพแนวคิดนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยยกประเด็นความขัดแย้ง เป็นประเด็นตัวอย่างในการที่จะใช้ “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นประเด็นในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อที่จะก้าวข้ามประเด็นปัญหาทางการเมืองภายในไป  ซึ่งแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้รับการตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จึงได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญคือ เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นเครือข่ายที่สำคัญในการรวบรวมเครือข่ายและประสานงานขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงสามารถจัดเวทีประสานภาคส่วนต่างๆในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ภาคธุรกิจท้องถิ่น กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดง จึงสามารถไกล่เกลี่ยกันให้คลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ไปได้บางส่วน 

ต่อมาสถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) รวมทั้งองค์กรอิสระในพื้นที่ เช่น เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ภาคีคนฮักเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชนและสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันผลักดันประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อประสานงานในการจัดเวที ขยายความรู้ ขยายความคิด แลกเปลี่ยนความรู้และขยายไปยังภาคต่างๆ ของประเทศไทยจังหวัดจัดการตนเองจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการขยายองค์ความรู้และแนวความคิดมาโดยตลอด ก็เริ่มมีกลุ่มประชาชนและเครือข่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง จึงนำไปประยุกต์แลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ เช่น พื้นที่จัดการตนเอง จังหวัดปฏิรูป เกิดการขยายองค์ความรู้ไปยังภาคต่างๆ เช่น เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็น “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ภาคอีสาน ในปลายพฤษภาคม 2554(2011) ซึ่งรวมไปถึง ปัตตานีมหานคร

ซึ่งก่อนหน้านี้ แนวคิดปัตตานีมหานคร เป็นแนวคิดการรวมตัวกันของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเดียวกันและเกิดขึ้นมานานมาก แต่เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนและเสี่ยงต่อการเสียดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไป จึงไม่มีการเคลื่อนไหวในเชิงรูปธรรมมากนัก ในเดือน มิถุนายน  แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองได้นำเข้าไปเป็นประเด็นในรายการ เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย ช่อง Thai PBS ซึ่งนำผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวมาถกกันในประเด็น “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งรวมถึงผู้นำชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกันรวมทั้ง การขยายเวที “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ไปถึงภาคใต้ จึงมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบระหว่าง แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองกับแนวคิดปัตตานีมหานคร มากขึ้น ต่อมาในเดือน กรกฏาคม 2554 (2011)เกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นจังหวัดจัดการตนเองในภาคกลาง หลายๆจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำแนวความคิดจังหวัดจัดการตนเองไปต่อยอดความคิดเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการตนเองในรูปแบบที่เหมาะสมกับจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง

หลังจากที่มีการยกร่างพรบ.เชียงใหม่มหานครฯขึ้นแล้วก็ได้มีการออกเวทีรณรงค์ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำมาปรับปรุงเนื้อหาของร่าง พรบ.จนในที่สุดได้มีการกำหนดให้มีการรณรงค์ใหญ่ในวันที่ 24 มิถุนายน 2555(2012)ที่ผ่านมา ซึ่งในวันนั้นมีประชาชนชาวเชียงใหม่มาร่วมงานกันอย่างมืดฟ้ามัวดินเพื่อประกาศเจตนารมณ์โดยใช้สัญญลักษณ์ริบบินหรือธงผ้าสีส้มซึ่งเป็นการรวมหรือสลายสีแดงและเหลืองกลายเป็นสีส้ม อันเป็นตัวอย่างหรือตัวแบบที่หน่วยงานหรือสถาบันที่ศึกษาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้นำไปเป็นตัวแบบ(model)ในการศึกษากันอย่างกว้างขวาง

สาระสำคัญร่าง พรบ.ดังกล่าว คือ

1) ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น  เต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากรและกลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่นเพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล โดยจัดการปกครองเป็น2 ระดับ คือ ระดับบน(เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารงานในลักษณะของการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน

โดยการจัดให้มีการปกครองท้องถิ่น 2 ระดับ(two tiers)นี้ เป็นการประยุกต์มาจากญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีระดับเดียวที่รวมศูนย์อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และแตกต่างจากรูปแบบเมืองพัทยาที่กำหนดพื้นที่เฉพาะตรงไข่แดงเท่านั้น แต่เชียงใหม่มหานครนี้จะครอบคลุมเต็มพื้นที่แทน อบจ.ซึ่งจะถูกยุบเลิกไป เพราะทุกพื้นที่ของเชียงใหม่ประกอบด้วยคนเชียงใหม่เหมือนกัน การกำหนดเฉพาะพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ในระดับล่างมีการยกระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน คือ เทศบาล เพราะในปัจจุบันมีการลักลั่นกันมาก ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันในพื้นที่ตำบลเดียวกันมีทั้งเทศบาลและ อบต.มีนายกฯถึง 2 คน มีที่ทำการถึง 2 แห่ง

ในส่วนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งสังกัดราชการส่วนภูมิภาคก็ต้องเลือกเอาว่าจะกลับไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรม เดิมของตนที่ส่วนกลาง หรือเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ โดยสังกัดกับท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้บังคับบัญชา

สำหรับกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่จะกำหนดบทบาทและหน้าที่ให้ชัดเจนแยกออกจากผู้บริหารท้องถิ่น โดยเพิ่มบทบาทไปในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ในฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของตนเช่นเดียวกับตำรวจซึ่งต้องขึ้นกับท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเช่นในนานาอารยประเทศทั้งหลาย โดยจะยังคงมีกองปราบหรือFBI/DSI ฯลฯ เพื่อปฏิบัติการในกรณีคาบเกี่ยวในเขตพื้นที่หรือเป็นคดีสำคัญ ซึ่งการให้ตำรวจมาสังกัดท้องถิ่นนี้จะทำให้เกิดการคล่องตัวทั้งสายการบังคับบัญชาและงบประมาณที่จะทำให้ตำรวจท้องที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2) ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรม โดยมีระบบการตรวจสอบที่มีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างดุลยภาพ 3 ส่วนเพื่อป้องกันการ “ฮั้ว”กัน ซึ่งต่างจากโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นทั่วๆไปที่มีเพียง 2ส่วนคือฝ่ายบริหารกับฝ่ายออกข้อบัญญัติ โดยจัดโครงสร้างใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง (civil juries)รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจประชาชนโดยตรงในการกำหนดทิศทาง การพัฒนาตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ อาทิ สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ การจัดตั้งกรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร การจัดการปัญหาหมอกควัน ฯลฯ

3) การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30และคงไว้ที่เชียงใหม่มหานคร ร้อยละ 70 ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามที่ว่าแล้วเชียงใหม่มหานครมีรายได้เพียงพอหรือ  เพราะในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้เพียงจิ๊บจ๊อย เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ภาษีล้อเลื่อน ฯลฯ แต่เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างภาษีไปเช่นนี้แล้วปัญหาในเรื่องรายได้ก็จะหมดไป แล้วต่อคำถามที่ว่าแล้วใครจะเป็นคนเก็บล่ะ คำตอบก็คือผู้มีหน้าที่นั่นแหล่ะเป็นผู้เก็บ ซึ่งก็คือ สรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร ฯลฯ ที่เป็นข้าราชการหรือหน่วยงานสังกัดเชียงใหม่มหานครนั่นเอง ซึ่งอัตราส่วนแบ่งภาษีนี้อย่าว่าแต่ญี่ปุ่นมีส่วนแบ่ง 30/70 เลย จีนที่ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมสิทธิทางการเมืองอย่างเคร่งครัดยังมีส่วนแบ่งภาษี 40/60 เลย

ปฏิกิริยาที่มีต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้รับตอบรับกระจายไปทั่วประเทศ ประชาชนจังหวัดต่างๆถึง 45จังหวัดประกาศตัวเป็นแนวร่วมโดยให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่นำร่องไปก่อน บางจังหวัดถึงกับทำป้าย ทำเสื้อยืด เสื้อแจ็กเก็ตหรือแม้กระทั่งการขึ้นป้ายขอจัดการตัวเอง โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เองมีการรณรงค์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.ฯในพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอกันอย่างคึกคัก

แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ๆเช่นนี้ ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะความเข้าใจว่าอาจจะกระทบต่อสถานภาพของตนเองหรือกังวลในผลที่จะตามมาเพราะความไม่ไว้วางใจในคุณภาพของคนไทยกันเอง ซึ่งในเรื่องของความเห็นนั้นเป็นธรรมดาที่อาจะเห็นแตกต่างกันได้ แต่เมื่อได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันแล้ว หากไม่มีอคติจนเกินไปนักก็ย่อมที่จะเห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งในการรณรงค์นี้ได้มีตอบคำถามที่เป็นมายาคติและข้อสงสัยที่ว่า

1) เป็นการแบ่งแยกรัฐ

ไม่จริง เพราะแม้จะไม่มีราชการส่วนภูมิภาค รัฐก็ยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือน เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น อีกทั้งยังมีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกันกับไทย และท้องถิ่นจะไม่ทำอยู่ 4 เรื่อง คือ การทหาร การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และ ศาล

2) กระทบต่อความมั่นคง

ไม่จริง เพราะแม้แต่เกาหลีใต้ซึ่งไม่มีราชการส่วนภูมิภาคและยังอยู่ในสภาวะประกาศสงครามกับเกาหลีเหนืออยู่เลย ก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด

3) รายได้ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ

ก็แน่นอนสิครับ เพราะปัจจุบันเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้จิ๊บจ๊อย เช่น ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ภาษีล้อเลื่อน ฯลฯ แล้วจะเอารายได้ที่ไหนมาเพียงพอ แต่ร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดให้รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั้งหมดจะถูกจัดเก็บโดยท้องถิ่น แล้วจัดส่งไปส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ เอาไว้ใช้ในท้องถิ่น 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์นั้นก็จะไปช่วยเหลือที่อื่นที่ยากจน เช่น ญี่ปุ่นก็ส่งไปให้ฮอกไกโดหรือโอกินาวา เป็นต้น      

4) อบจ./อบต./เทศบาลจะมีอยู่หรือไม่

ในร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดไว้ให้มีการปกครองท้องใน 2ระดับ คือ ระดับเป็นชียงใหม่มหานคร ส่วนระดับล่างเป็นเทศบาล ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่นระดับเดียวโดยรวมศูนย์อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เดียว แต่ในรูปแบบใหม่นี้ อบจ.หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะหายไปกรณีของเชียงใหม่ก็จะมีเชียงใหม่มหานครเข้ามาแทน ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นในระดับบน ส่วนในระดับล่างก็เป็นเทศบาลเหมือนกันหมดไม่มีการแยกเป็นเทศบาลหรือ อบต.เพราะปัจจุบันบางตำบลมีทั้งเทศบาลและอบต.อยู่ในตำบลเดียวกัน         ความสัมพันธ์ระหว่างระบนกับระดับล่างเป็นไปในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มิใช่การบังคับบัญชา

5) จะเอาข้าราชส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน/นายอำเภอยังมีอยู่หรือไม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งมีวาระ 4 ปี ผู้ว่าราชการจังหวัดเดิมและข้าราชการส่วนภูมิภาคก็มีทางเลือกว่าจะกลับไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรมที่ส่วนกลางก็ได้หรือเลือกจะอยู่ในพื้นที่ก็สังกัดเชียงใหม่มหานคร เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนนายอำเภอที่มาจากการแต่งตั้งจากกรมการปกครองก็จะหมดไป มีผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดเชียงใหม่มหานครทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน มิใช่เป็นเช่นผู้อำนวยการเขตแบบ กทม.ที่มีอำนาจล้นเหลือเช่นในปัจจุบัน

6) เขตพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จะหายไป

ไม่จริง เขตการปกครองยังเหมือนเดิม แต่จะเรียกเป็น เขต แขวง แทน

7) กำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงมีอยู่หรือไม่  หากยังคงมีอยู่จะมีบทบาทอะไร

ยังคงมีอยู่ดังเช่นกรุงเทพมหานคร แต่บทบาทในด้านการพัฒนาจะหมดไปเพราะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นซึ่งมีงบประมาณเป็นของตนเอง แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความสงบเรียบของตำบลและหมู่บ้านตามกรณี มีอำนาจจับกุมคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

8) ประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ

ไม่จริง เพราะคำกล่าวที่ว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนเป็นอย่างนั้น” จะเห็นได้จากผู้แทนของคนกรุงเทพยังชกต่อยกันในสภาแต่ผู้แทนของคนจังหวัดอื่นยังไม่ปรากฏ และในตำบลหมู่บ้าน ตลาดสด เดี๋ยวนี้ชาวบ้านร้านค้าเขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่า ถึงคุยก็คุยน้อย แต่คุยเรื่องการเมืองกันทั้งนั้น ที่สำคัญเป็นการเมืองนอกสื่อกระแสหลักเสียด้วยสิ

9) นักเลงครองเมือง

ไม่จริง ตัวอย่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ละคนก็ไม่เห็นขี้เหร่สักคน(ถึงแม้ว่าจะมีคนขี้เหร่สมัครแต่ก็ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง) ที่สำคัญก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันแต่ละคนล้วนแล้วมาจากการแต่งตั้งซึ่งในบางยุคถึงกับมี “แก๊งแต่งตั้ง”ซึ่งเข้าใจง่ายก็คือถูกแต่งตั้งมาจากนักเลงนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ผู้ว่าฯเป็นนักเลง อย่างน้อยก็ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาด้วยมือของเขาเอง ไม่ได้ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้เช่นในปัจจุบัน ถ้าเปรียบเทียบแล้วผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งย่อมพบง่ายเข้าใจง่ายและต้องเอาใจประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา มิใช่คอยเอาใจเจ้านายที่ส่วนกลางที่เป็นคนแต่งตั้งเขา

10) ซื้อเสียงขายเสียง

อาจจะจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัจจุบันนี้จะดีกว่า และก็มิใช่ว่าใครมีเงินมากกว่าแต่มิได้ทำคุณงามความดีอะไรเลย หิ้วกระเป๋าบรรจุเงินไปแล้วจะได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เขาจะต้องกุมชะตาชีวิตประจำวันเขาอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญจะซื้อคนทั้งจังหวัดไหวหรือ

11) ทุจริตคอรัปชัน/เปลี่ยนโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก

ร่าง พรบ.ฯนี้กำหนดให้มีสภาพลเมืองหรือลูกขุนพลเมือง(Civil Juries)คอยถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงานของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วชี้มูลหรือส่งฟ้องศาล ซึ่ง กทม.ไม่มีเช่นนี้ ฉะนั้น จึงมิใช่การถ่ายโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก เพราะปัจจุบันนี้ท้องถิ่นต่างๆก็ทำตัวเป็นอำมาตย์เล็กอยู่แล้วดังจะเห็นได้จากการขออนุมัติ อนุญาตต่าง ต้องเสียเบี้ยไบ้รายทางตลอด แต่เมื่อเรามีสภาพลเมืองหรือลูกขุนพลเมืองคอยตรวจสอบแล้ว สภาพเช่นนี้จะดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน อีกทั้ง สตง., ปปช., ฯลฯ ก็ยังคงมีเหมือนเดิม

12) ผิดกฎหมาย

ไม่จริง เพราะเป็นการใช้สิทธิที่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 281 ถึงมาตรา 290 รองรับไว้

จากตัวอย่างของการณรงค์เรื่องเชียงใหม่มหานครนี้นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่การปกครองท้องถิ่นไทยหรือการกระจายอำนาจของไทยมีความก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้าดังเหตุปัจจัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น แต่หลังจากที่ได้มีการขับเคลื่อนประเด็นเชียงใหม่มหานครขึ้นแล้วมีการตื่นตัวกันอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะประชาชนชาวเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีแนวร่วมอีกถึง 45 จังหวัดที่พร้อมจะขับเคลื่อนตามมาหากเชียงใหม่ทำสำเร็จ

การขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครนี้จะช้าหรือเร็วต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และผมขอยกคุณงามความดีที่ผมได้มีโอกาสได้มาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นในช่วงระยะเวลา ซึ่งได้พบเห็นสิ่งดีๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่ผมได้นำไปเป็นแบบอย่างในการยกร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯ นี้ และคิดว่าคณะทำงานของเชียงใหม่มหานครคงจะได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานการเมืองการปกครองของญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยเกียวโตแห่งนี้เมื่อ พรบ.เชียงใหม่มหานครฯผ่านสภาแล้ว

ขอขอบคุณทุกๆท่านครับ/สวัสดีครับ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ ถึงสารคดีที่เตรียมฉาย "ความตายในพื้นที่สีเทา" และ "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"

Posted: 06 Jul 2012 07:03 AM PDT

ปะทุขึ้นของความความรุนแรงในภาคใต้ หากนับจากปี 2547 ที่พรากชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 5,206 รายและ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 9,137 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 2555).....สิ่งที่ยังคงดำเนินต่อไปในวันนี้ คือการตรึงกำลังของทหารกว่าสามหมื่นนาย ขณะที่จำนวนของหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าก็ยังคงมีตัวเลขเพิ่มขึ้น เรื่องเล่าจากต่างมุมมอง ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

Fine Tune Production and Friends คืออีกพยายามในการทำความเข้าใจและสื่อสารถึงสถานการณ์ในปลายสุดของแผ่นที่ประเทศไทยครั้งล่าสุด ผ่านสารคดีชุด 2 ตอนจบ ที่ชื่อ "ความตายในพื้นที่สีเทา" และ "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"

นวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม Fine Tune Production บอกว่านี่คือผลงานร่วมกันระหว่าง Fine Tune Production ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตงานข่าวผ่านรูปแบบวิทยุและมัลติมีเดีย, South Peace Media และ INSouth Media โดยลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เรื่องราวของสารคดีชุดนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะช่วยทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยนำเสนอผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปานาเระ

2 เดือนผ่านไป เป็นที่คาดหมายว่า ปลายเดือนกรกฏาคมนี้ ผลงานทั้งสองชิ้นจะสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้

ที่มาอันยาวนาน และการผสมผสานของทีมที่แตกต่างหลากหลาย

มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ

เวลา 2 เดือนอาจจะฟังดูรวดเร็ว แต่ที่มาที่ไปของการทำสารคดีชุดนี้ถือว่ายาวนานยิ่ง “บรี” มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ จาก South Peace Media ผู้ทำหน้าที่ช่างภาพและตัดต่อ บอกเล่าให้เราฟังว่า เขาได้พบกับ “พี่น้อย” นวลน้อย ธรรมสเถียร ซึ่งขณะนั้นทำงานกับ Internews ซึ่งมีโครงการฝึกอบรมการทำสารคดีให้กับนักข่าวพลเมืองในภาคใต้ร่วมกับไทยพีบีเอส นั่นก็คือย้อนเวลาไปปีครึ่ง

“ตรงนั้นแหละที่ทำให้เราได้เจอกับพี่น้อย จากปีครึ่งทีผ่านไป เราเห็นการทำงานของพี่ๆ ตอนทีพี่น้อยทำโครงการกับไทยพีบีเอส ผมก็ได้เป็นฟิกเซอร์ของทีพีบีเอสทีมหนึ่ง ก็คิดว่าเรามั่นใจว่างานฝีมือของเราหลังจากที่เราอบรมและดูจากคนที่ทำงานแบบมืออาชีพ เราก็คิดว่าฝีมือของเราใกล้เคียง ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าเราทำสารคดีได้ แต่ก็ต้องมีโปรดิวเซอร์ที่มีประสบการณ์ช่วยหนุนเสริมในเรื่องประเด็นเพราะเรายังอ่อนในเรื่องประเด็น เพราะต้องใช้เวลา แต่ในเรื่องเทคนิคนี่คิดว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้”

บรี กล่าวว่า เมื่อเริ่มทำงานชิ้นนี้ในเดือนพฤษภาคม พวกเขาลงพื้นที่เก็บข้อมูล และก็ลงพื้นที่ถ่ายทำทุกอาทิตย์ แต่ไม่ใช่ว่าการเป็นคนในพื้นที่เองจะเป็นจุดแข็งสำหรับการทำงาน เขาพบจุดอ่อนเช่นกัน

“การที่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ จุดอ่อนคือเราไม่สามารถเข้าพื้นที่คนไทยพุทธ บางทีเราเข้าไปยาก เหมือนคนไทยพุทธที่จะเข้าในพื้นที่มุสลิม จะมีปัญหาและเข้าไปไม่ถึง การเข้าถึงเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ เพราะว่าความเป็นมลายูถูกเพ่งเล็งอยู่แล้ว

“สองคือ เราไม่ใช่สื่อกระแสหลัก จะถูกถามว่าจากไหน แหล่งข่าวมักจะบอกไม่ว่าง ถ้าเป็นคนที่เคยทำงานมีประสบการณ์ในการเข้าหาเจ้าหน้าที่ ก็จะมีทักษะที่จะเข้าหาเจ้าหน้าที่ได้”

มะหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ

การผสมผสานทีมที่แตกต่าง ทั้งผู้สื่อข่าวมืออาชีพที่มาจากส่วนกลาง และนักข่าวพื้นที่ ทั้งพุทธและมุสลิมนั้น ทำให้งานของทีมเป็นไปได้มากขึ้น และนี่คือสิ่งที่บรี ประทับใจมากที่สุดสำหรับการทำงานต่อเนื่องมาตลอด 2 เดือน

“ความประทับใจ การที่ทำงานกับคนที่อาวุโส เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่เหมือนทำงานกับเจ้านาย หรือคนที่เจ้ากี้เจ้าการ เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน มีอะไรก็หยอกล้อกันได้ แม้พี่เขาจะอายุแตกต่างกับเรา ไม่เครียด สองคือเราได้ทำงาน พี่น้อยสามารถเติมเต็มส่วนที่เราขาดไป เราไม่ซีเรียสเรื่องเทคนิค เพราะเรามั่นใจ แต่ที่เราขาดคือเรื่องของเนื้อหา คิดไม่เป็นเพราะเราคิดเป็นมลายู แต่พอมาเป็นภาษาไทยเราคิดไม่ออก เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้งานของเราได้รับการยอมรับ หรือออกไปสู่สถานะที่ทุกคนรู้สึกว่าลำเอียง ไม่มีการถ่วงดุล ทำให้ทุกคนดูแล้วรู้สึกว่าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายทุกประเภท จากที่เราทำมา ก็เพื่อที่จะไปถ่วงดุลข้อมูลแต่เราทำได้ฝ่ายเดียว ด้านเดียว เพราะเราเข้าหาได้ด้านเดียว เช่นมุสลิม หรือผู้ได้รับผลกระทบเราไม่มีข้อมูลจากไทยพุทธ หรือคนที่คิดเห็นต่างกัน พี่น้อยเติมเต็มในส่วนนี้”

เบื้องหลังการทำงาน

ดูแล้วได้อะไร

“สิ่งทีเราทำสารคดีชุดนี้มันคล้ายๆ เป็นโมเดล ถ้าจะรู้เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มันเกิดอะไรขึ้น เกิดอย่างไร มีบริบทอย่างไร สารคดีชุดนี้มันจะบอกถึงเรื่องนั้นได้ครอบคลุม และผมเอาโมเดลของปานาเระที่มีความขัดแย้งและเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะมีตั้งแต่การที่ฝ่ายก่อการ และฝ่ายขบวนการถูกวิสามัญฆาตกรรมซึ่งหลังจากเสียชีวิตไปสามวัน ก็มีหลักฐานว่าเป็นอดีตนักเรียนจากโรงเรียน แห่งหนึ่ง ก็มีการปิดล้อมและจับกุมอุซตาซ และยิงคนไทยพุทธ มุสลิม มีการยิงในมัสยิด มันทำให้เห็นว่าปานาเระที่เราเลือกนั้นครอบคลุม เป็นตัวแทนเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในใต้ได้ส่วนหนึ่ง

แต่มันทำให้เห็นถึงความกลัว ความสงสัย เหตุที่เจ้าหน้าที่สงสัย เพราอะไรคนจึงไม่ไว้ใจกัน ต่างคนต่างกลัว ต่างคนต่างก็ระแวง”

“ธีมของเรื่องจริง จะนำไปสู่การที่เหตุการณ์ที่เกดขึ้นแล้วต้องมีตัวกลาง ผู้นำที่จะเป็นตัวกลางสำหรับการเชื่อมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน มันจะเชื่อมอย่างไรเพราะบางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ในสารคดีชิ้นนี้ก็ไม่ได้เข้าไปดูแลหรือเยียวยา หรือเขาเข้าไปไม่ถึง แต่มันก็มีตัวผู้นำหรือตัวกลางที่เข้ามาเชื่อมกับเจ้าหน้าที่ด้วย”

บรีตอบ เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เขาคิดว่าคนดูจะได้รับ

พร้อมฉายทั่วประเทศ ปลายเดือนนี้

เมื่อถามถึงความพร้อมในการนำเสนอ บรีบอกว่า อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ สารคดีสองตอนจบชุดนี้ก็จะพร้อมออกสู่สาธารณะ โดยการตระเวนฉายพร้อมจัดเวทีเสวนาวิชาการ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏาคมนี้ เริ่มจากที่ ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ ขอนแก่น และ เชียงใหม่ ส่วนสถานที่จะเป็นที่ไหนบ้างนั้น กำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน รอติดตามรายละเอียดกันอีกครั้งได้ที่ประชาไท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเขาบรรทัดถอดโฉนดชุมชนหวังดึงนักศึกษา ‘มอ.ตรัง’ ร่วมเคลื่อน

Posted: 06 Jul 2012 06:46 AM PDT

เครือข่ายฯ เขาบรรทัดถอดโฉนดชุมชน หวังดึงนักศึกษา มอ.ตรัง ร่วมขับเคลื่อน จวกรัฐ-แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมุ่งทุนนิยมเสรีเหยียบคนจน
 
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ที่ห้อง L1224 อาคารเรียนรวม 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้  จัดเสวนาหัวข้อ “ความรู้คู่ท้องถิ่น:จากความสูญสิ้นสู่ความยั่งยืน” โดยนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เป็นวิทยากร ซึ่งมีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด อาจารย์ และนักศึกษาร่วมรับฟังประมาณ 100 คน
 
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวถึงปัญหาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มุ่งสู่การเป็นรัฐทุนนิยมเสรี ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ถูกเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ประกาศทับที่อยู่ที่ทำกิน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านเขตป่าเพื่อเรียกร้องสิทธิทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
นายสมนึก อธิบายถึงแนวทางโฉนดชุมชนว่า เป็นกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของชุมชน โดยมีคณะกรรมการชุมชน ชาวบ้านมีสิทธิทำกินที่ดินในโฉนดชุมชน แต่ไม่สามารถซื้อ ขายได้ หรือจะขายที่ดินยกเค้าทั้งโฉนดชุมชนยิ่งเป็นไป แต่สามารถสืบทอดมรดกกันได้ ไม่ได้ ดังนั้นโฉนดชุมชนจึงเป็นแนวทางที่มั่นคงในการถือครองที่ดิน
 
นายสมนึก อธิบายอีกว่า โฉนดชุมชนนั้นไม่ใช่ต้องการแค่ให้ได้ที่ดินเท่านั้น แต่นัยจริงๆ แล้วนั้นคือการสร้างสังคมที่ต้องการของชุมชน และดำเนินการด้วยหลักการประชาธิปไตย โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมทั้งด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม มีธรรมนูญชุมชนเป็นกติกาการอยู่ร่วมกัน หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งบุกรุกป่าต้องขาดจากการเป็นสมาชิกภาพ
 
“จากนโยบายของรัฐทุกรัฐบาลที่สนองตอบแต่กลุ่มทุนไม่ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมไม่สนองตอบชาวบ้าน วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่มหาวิทยาลัย และนักศึกษาสนใจเรื่องของชาวบ้าน เราหวังว่าในอนาคตกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชนจะต่อสู้และขับเคลื่อนร่วมกับขบวนชาวบ้านต่อไป” นายสมนึก กล่าว 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพปลดแอกฯ เรียกร้องประชาชนปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประเทศชาติ

Posted: 06 Jul 2012 06:24 AM PDT

6 ก.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่ากลุ่มกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ปฏิบัติหน้าภายใต้พระปรมาภิไธย นำโดย น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายแซมดิน เลิศบุศย์ ได้มีหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 3 มีใจความว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้มีการเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองบางพรรค กลุ่มบุคคลและมวลชนบางกลุ่มที่ประกาศชัดเจนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555 ที่จะไม่ให้ความเคารพและแสดงการข่มขู่อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันสูงสุดของชาติ และตุลาการ การเคลื่อนไหวและการข่มขู่ได้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างร้ายแรง เพราะการข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผย โจ่งแจ้งเพื่อให้ตุลาการไม่มีศักยภาพที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างกำหนดไว้ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ 
 
ดังนั้นทางกองทัพปลดแอกประชาชน ฯ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังประชาชนเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประเทศชาติ เพื่อนำความสงบเรียบร้อยมั่นคงมาสู่บ้านเมืองโดยเร็ว โดยมีนายนนท์นิพัทธ์ โพธิ์เดชธำรง รักษาผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง เป็นผู้รับหนังสือ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพว้าปฏิเสธซื้ออาวุธเกาหลีเหนือ

Posted: 06 Jul 2012 05:31 AM PDT

กองทัพสหรัฐ UWSA ปฏิเสธข่าวการสั่งซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ ยืนยันไม่เคยรู้ช่องทางติดต่อมาก่อน

ทหารว้า UWSA กับรถฮัมวี่ที่ซื้อจากประเทศจีน (ภาพโดย SKH / SHAN)


ส่วนหนึ่งของยานพาหนะของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่ซื้อจากประเทศจีน (ภาพโดย SKH / SHAN)
 

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงในกองทัพสหรัฐว้า UWSA (United Wa State Army) คนหนึ่งได้เปิดเผยกับสำนักข่าวฉาน SHAN (Shan Herald Agency for News) ผ่านทางโทรศัพท์ว่า กองทัพสหรัฐว้า UWSA ไม่เคยสั่งซื้ออาวุธจากประเทศเกาหลีเหนือ ตามที่สำนักข่าวฉาน SHAN รายงานก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้นำระดับสูงของ UWSA คนดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในกองทัพสหรัฐว้า UWSA กล่าวว่า กองทัพสหรัฐว้า UWSA ไม่เคยรู้ช่องทางในการติดต่อซื้ออาวุธเกาหลีเหนือ อาวุธที่มีใช้ในกองทัพสหรัฐว้า UWSA เป็นอาวุธได้มาจากที่อื่น ไม่ใช่เกาหลีเหนือ 

โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักข่าวฉาน SHAN รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากชายแดนพม่า (รัฐฉาน) – จีน ว่า ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงต้นปี 2555 กองทัพสหรัฐว้า UWSA มีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่เมืองปางซาง รัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน ได้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากเกาหลีเหนือผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยอาวุธถูกบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ทยอยส่งไปกับรถบรรทุกจากเกาหลีเหนือผ่านเวียดนาม ลาว และเข้าสู่รัฐฉาน ถึงปลายทางแล้วรวม 42 ตู้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าอาวุธที่กองทัพสหรัฐว้า UWSA ซื้อจากเกาหลีเหนือเป็นชนิดใดบ้าง 

ทั้งนี้ มีข้อมูลรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2552 หลังกองทัพสหรัฐว้า UWSA ถูกทางการพม่ากดดันแปรสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) ซึ่งทำให้สองฝ่ายเกิดการเผชิญหน้าทางทหารช่วงหนึ่งนั้น กองทัพสหรัฐว้า UWSA ได้มีการสั่งซื้ออาวุธจากประเทศใกล้เคียงผ่านพ่อค้าคนกลางอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีใช้ในกองทัพสหรัฐว้า UWSA ส่วนใหญ่เป็นอาวุธจากจีนซึ่งรวมถึงรถบรรทุกทหารและรถหุ้มเกราะด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบแอปแปลกปลอมแอบขโมยข้อมูล-ส่งสแปม ในแอนดรอยด์-ไอโฟน

Posted: 06 Jul 2012 05:24 AM PDT

นักวิจัยไมโครซอฟต์ พบการส่งสแปมเมลจากเซิร์ฟเวอร์เมลของยาฮู ผ่านอุปกรณ์แอนดรอยด์ ด้าน แคสเปอร์สกี แล็บ พบมัลแวร์ใน "แอปสโตร์" เป็นครั้งแรก ล่าสุดถูกลบไปแล้ว

พบการส่งสแปมเมลจาก "แอนดรอยด์"
เทอรี ซิงก์ นักวิจัยจากไมโครซอฟต์ ออกมาเปิดเผยว่า ค้นพบการส่งสแปมเมลจากเซิร์ฟเวอร์เมลของยาฮู ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ทั้งนี้ ไมโครซอฟต์ เป็นเจ้าของวินโดวส์โฟน ซึ่งเป็นคู่แข่งของแอนดรอยด์

ก่อนหน้านี้ กูเกิล เพลย์ ซึ่งเป็นหน้าร้านซอฟต์แวร์ออนไลน์ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เจอกับปัญหาการปลอมแปลงแอปพลิเคชั่น เช่น การทำแอปฯ ละเมิดลิขสิทธิ์ แอปฯ ที่เป็นที่นิยม โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี อย่างแองกรีเบิร์ดสเปซและฟรุตนินจา

แต่นักวิจัยไมโครซอฟท์ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ค้นพบบอตเน็ต (botnet) หรือการควบคุมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากทางไกลในอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยมีการล็อกอินเข้าอีเมลยาฮูของผู้ใช้ และส่งสแปมเมลออกไป

จากการตรวจสอบหมายเลขไอพี พบว่า สแปมเมลเหล่านั้นถูกส่งอุปกรณ์แอนดรอยด์ ในชิลี อินโดนีเซีย เลบานอน โอมาน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย ยูเครน และเวเนซูเอลา โดยเนื้อหาของอีเมลดังกล่าวมีลักษณะคล้ายสแปมเมลทั่วไปที่หลอกขายยา

ด้านแกรม คลูลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสโซฟอส (Sophos) ระบุว่ามีแนวโน้มว่าการโจมตีจากอุปกรณ์แอนดรอยด์ จะได้ข้อมูลเท่าที่มีทั้งหมดไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้ ทั้งนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่สมาร์ตโฟนถูกใช้หาประโยชน์ในลักษณะนี้ โดยก่อนหน้านี้มีการทดลองว่าจะทำแบบนี้ได้หรือไม่โดยกลุ่มนักวิจัย ไม่ใช่โดยมิจฉาชีพ

เขาแนะนำว่า สิ่งที่ควรตอนนี้ทำคือ ตรวจสอบและติดตั้งระบบปฏิบัติการที่เป็นรุ่นล่าสุด และก่อนจะติดตั้งแอปฯ ลงในเครื่องก็ควรจะอ่านคำวิจารณ์จากผู้ใช้อื่นๆ ก่อนเพราะมีแอปฯ ปลอมจำนวนมาก

ขณะที่กูเกิลระบุว่าจะไม่ตอบสนองใดๆ เกี่ยวกับแอปฯ ดังกล่าว และขณะนี้กำลังปรับปรุงระบบความปลอดภัยบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า มีข้อมูลว่าครึ่งแรกและครึ่งที่สองของปี 2554 มีการดาวน์โหลดมัลแวร์ (ซอฟแวร์ที่เป็นอันตรายต่อคอมพิวเตอร์) จากกูเกิลเพลย์ลดลงถึง 40% นอกจากนี้ ยังมีบริการใหม่ในกูเกิลเพลย์ ซึ่งจะสแกนหามัลแวร์โดยไม่รบกวนการทำงานผู้ใช้หรือนักพัฒนาแอปฯ ด้วย


พบมัลแวร์ใน "แอปสโตร์" เป็นครั้งแรก ล่าสุดถูกลบไปแล้ว

แคสเปอร์สกี แล็บ (Kaspersky Lab) บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันข้อมูลจากการคุกคามทางไซเบอร์ ระบุในรายงานว่า พบแอปฯ "Find and Call" ซึ่งเป็นมัลแวร์ที่จะขโมยข้อมูลรายชื่อ-เบอร์โทรของเพื่อนทุกคนจากสมุดโทรศัพท์ของผู้ใช้และส่งสแปมเอสเอ็มเอสออกไป เสมือนว่าข้อความนั้นส่งจากผู้ใช้เอง โดยแอปฯ ดังกล่าวพบทั้งในกูเกิลเพลย์ และแอปสโตร์ของแอปเปิล

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า ทั้งกูเกิลเพลย์และแอปสโตร์ ได้ลบแอปฯ ดังกล่าวออกไปแล้ว

แคสเปอร์สกี แลป ระบุว่า การพบมัลแวร์ในกูเกิลเพลย์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการพบในแอปสโตร์ของแอปเปิล โดยยังไม่เคยมีรายงานเรื่องมัลแวร์ในแอปสโตร์มาก่อนตลอด 5 ปีที่เปิดตัวมา นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี แลป ยังระบุด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันว่า มีการใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ในลักษณะที่ไม่หวังดีด้วย

 



ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Android smartphones 'used for botnet', researchers say
http://www.bbc.com/news/technology-18720565

Apple approves, then removes App Store's "first-ever malware app"
http://timesofindia.indiatimes.com/tech/personal-tech/computing/Apple-approves-then-removes-App-Stores-first-ever-malware-app/articleshow/14713153.cms

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 'พัน คำกอง' พันโทยันเสียงกระสุนM16 -‘สรรเสริญ’ย้ำ 10 เมษา สั่งถอนทหาร 5 โมง

Posted: 06 Jul 2012 05:06 AM PDT

‘สรรเสริญ แก้วกำเนิด’ เบิกความไต่สวนการตาย ‘พัน คำกอง’ จากกรณียิงรถตู้ที่ราชปรารภ กลางดึก 14 พ.ค.53  ระบุไม่รู้เรื่องทางปฏิบัติ ย้ำ 10 เมษา ศอฉ.สั่งทหารออกตั้งแต่ 5 โมงเย็นแต่ออกไม่ได้โดนบล็อก ปัดไม่มีบันทึกคำสั่งเป็นหนังสือ ด้านทหารยศพันโทระบุเสียงปืนในคลิปที่เกิดเหตุเป็นเสียง ‘M16’ และลูกซอง ขณะที่พยานทหารคนอื่นบอกไม่สามารถระบุชนิดปืนได้เพราะเสียงก้อง – 5 ทหารยืนยันตรงกันไม่พบชายชุดดำในบริเวณที่เกิดเหตุ

5 ก.ค.55  ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา  มีการไต่สวนการเสียชีวิตของานาย พัน คำกอง คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค.ต่อกับวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยในวันนี้มีการไต่สวนทหารจาก ปราจีนบุรี 2 นายซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เบิกความในส่วนของเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึงหนึ่งในทหารผู้เบิกความถูกยิงที่บริเวณเหนือเข่า เหตุเกิดในการปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมรอบแรกช่วงบ่ายบริเวณถนนตะนาว และเห็นชายคนหนึ่งควักปืนมายิงจนตนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

ในช่วงบ่าย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ขึ้นเบิกความระบุว่าไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้ในวันที่ 15 พ.ค.53 เพราะรับผิดชอบในส่วนนโยบาย พร้อมเบิกความไล่เรียงตั้งแต่กลุ่ม นปช.เริ่มการชุมนุมเมื่อ 12 มี.ค.53 และเหตุที่ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมเปลี่ยน ศอรส. เป็น ศอฉ. เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่มีแนวโน้มความรุนแรง เนื่องจากผู้ชุมนุมบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม และยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึงท้ายที่สุดหากจะมีการใช้กระสุนจริงจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ ถ้าไม่ได้ผลจะยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ และจะยิงต่อเป้าหมายต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดกากระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

สั่งถอนทหารก่อน 5 โมงเย็น สั่งทางวิทยุ
นอกจากนี้เข้ายังเบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีการ “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าว่า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เริ่มมีการปะทะกันมากขึ้นขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการและถอนตัว เพราะในยามคำคืนอาจมีคนสวมรอยมาทำร้ายผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ได้ แต่บริเวณสี่แยกคอกวัวเจ้าหน้าที่ถอนกำลังไม่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมทั้งด้านหน้าด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย 

พ.อ.สรรเสริญ ตอบทนายถามว่า มีมติสั่งให้ถอนกำลังจริง ซึ่งในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่ด้วย ส่วนตนเองนั้นเดินเข้าๆ ออกๆ  สำหรับการออกคำสั่งของ ศอฉ.นั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะใช้วิธีสั่งการทางวิทยุทหาร โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปอยู่ในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไร อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบในรายละเอียด

ปืนหายหลายกระบอก
วันเดียวกันในช่วงบ่ายแก่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งยึดอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีปราศรัยแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนไดจำนวนมากแต่ก็ยังมีบางส่วนสูญหาย ซึ่งได้มีการแจ้งความไว้ที่ สน.บางยี่ขันได้แก่ ปืนทราโวล 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก

นอกจากนี้ พ.อ.สรรเสริญยังกล่าวถึงการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และจำนวน 19 กองร้อยปราบจลาจล ได้เข้าปิดเส้นทางบริเวณถนนราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค.53 ศอฉ.มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่กำลังทหารเข้าไปได้ไม่ถึงจุดที่มีการตั้งเวทีปราศรัย

5 ทหารเบิกความ 4 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.55 ก็มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนาย พัน คำกอง เช่นเดียวกัน โดยมีทหารจากกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งประจำการบริเวณดังกล่าวขึ้นเบิกความ 5 นาย ต่อจากวันที่ 3 ก.ค.ที่มีการเบิกความไปแล้ว  4 นาย

จัดกำลัง รปภ.สถานที่ และการควบคุมฝูงชน
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศ พ.อ.) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.) เบิกความโดยสรุปในช่วงแรกว่า วันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 11.00 น.ได้มีเหตุรื้อกระสอบทรายบริเวณแยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ให้ไปที่เกิดเหตุเนื่องจากการจราจรอัมพาตมากเข้าไปเพื่อไปเคลียสถานการณ์ให้เรียบร้อย โดยมีรองผู้บังคับกองพัน(พ.ท.ทรงสิทธิ ไชยยงค์) เป็นผู้คุมกำลังไป 1 กองร้อย หรือ 150 นาย ซึ่งที่เกิดเหตุนั้นมีกลุ่มประชาชนจำนวนมากได้รื้อกระสอบทรายที่เอาไว้ตั้งจุดตรวจ กำลังที่จัดไปนั้นเป็นกำลัง รปภ.สถานที่ และการควบคุมฝูงชน ที่กฎเกณฑ์การใช้อาวุธเป็นการใช้จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อะไรได้เพราะห้อมล้อมไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก ตนจึงได้รายงานไปยังผู้บังคับการกรมฯ ขอไปที่เกิดเหตุ นำกำลังไปเสริมอีก 1 กองร้อยหรือ 150 นาย ในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยได้นำกำลังไปลงที่ปากซอยรางน้ำฝั่งราชปรารภและนำกำลังเดินเข้ามายังแยกจตุรทิศ โดยในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวณดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากกำลังพล 2 คนที่อยู่บนรถลงมา ทีมของตนได้เข้าไปช่วยกำลังพลมาได้ แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ล้อมไว้

พ.ท.พงศกร อาจสัญจร  เบิกความต่อว่า ขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน อยู่บนสะพานจตุรทิศและด้านล่างก็มีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สัญจรเนื่องจากการจราจรขณะนั้นยังไม่ได้มีการปิด หลังจากนั้นตนพยายามแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าทีมาปิดหรือไม่แต่สัก 20 นาที ถนนก็ไม่มีรถเข้ามาแล้วขณะนั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. หลังจากที่ตนไปถึงก็ประเมินว่าคนจำนวนมากกำลังตนมีน้อยเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุม เกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งได้จึงได้แจ้งขอกำลังเพิ่มเติมไปกับผู้บังคับบัญชา โดยหลังจากนั้นมีกำลังของกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  (ป.พัน.31 รอ.) เข้ามาประมาณ 2 กองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับชุดของตนชุดของตนอยู่ทางด้านขวา และของ ป.พัน.31 รอ. อยู่ทางด้านซ้าย และตนเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณพื้นที่อีกด้วย

ประชาชนฝั่งหนึ่งตะโกนด่า ฝั่งหนึ่งเอาน้ำมาให้
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร  เบิกความว่า เวลา 16.00 น.ของวันที่ 14 พ.ค.53 สถานการณ์คลี่คลายลงไปในทางค่อนข้างที่จะดี ตนได้รับคำสั่งให้อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยตนดูจากสถานการณ์และรายงานผู้บังคับบัญชาว่า 1 กองร้อยจะอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาและอีก 1 กองร้อยที่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ นำมาจะอยู่ที่แอร์พอตลิงก์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 22 พ.ค.53 หลังจากที่ไปประจำจุดดังกล่าวบริเวณซอยที่เชื่อมไปซอยรางน้ำก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาตะโกนต่อว่า โดยฝ่ายทหารไม่ได้มีการตอบโต้อย่างใดแต่ได้นำเอารั้วลวดหนามไปวางกันไว้ จริงๆแล้วในพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดตรวจมาก่อนเพราะว่ามีการประกาศ พรก.ไปแล้ว มีการต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่บริเวณตรงที่ตนอยู่ก็พยายามอยากให้ผู้ชุมนุมออกจะได้ปลอดภัย เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็พยายามทำให้ปลอดภัย โดยสภาพโดยรวมบริเวณที่ตนอยู่ฝั่งรางน้ำก็จะมีคนมาตะโกนด่า แต่อีกฝั่งถนนพญาไทมีประชาชนเอาน้ำมาให้ทหาร เป็นภาพความแตกต่าง

ได้ยินเสียงระเบิดคล้าย M203 แต่ไม่ทราบเสียงปืนเพราะเสียงก้อง
พ.ท.พงศกร อาจสัญจร  เบิกความอีกว่า ช่วงค่ำมีข่าวแจ้งเตือนให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีการยิงมาในพื้นที่ และได้ยินเสียง M203 เป็นปืนเครื่องยิงลูกระเบิดยิงมาตกตรงไหนไม่แน่ชัด แต่ได้ยินเสียงแน่นอนเพราะเสียงมันก้อง เสียงดังมาจากทางประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 – 21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และจากการรายงานทางวิทยุโดย พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  ทำให้ทราบว่าตกอยู่ตรงสะพานลอยแถวถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทรา   ได้รับรายงานทางวิทยุสื่อสารเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงมันก้องๆ หลังจากเสียงปืนสงบลง

อัยการสอบถามเพิ่มเติมว่าพยานหรือพ.ท.พงศกร อาจสัญจร แยกออกไหมว่าเสียงปืนนั้นคือเสียงอะไร ในเมื่อเสียงระเบิดพยานทราบว่าเป็นเสียงระเบิดอะไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจเพราะว่าว่าเสียงก้อง และได้แจ้งกับ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ว่าหากมีสิ่งใดให้ปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาที่อยู่ตรงนั้นได้เลย เนื่องจากตรงจุดเกิดเหตุมีผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตนอยู่ด้วย คือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร

อัยการถามต่อว่าพยานทราบหรือไม่ว่าที่มีการยิงรถตู้มีการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกี่ราย พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ได้ยินรายงานทางวิทยุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล ตนรับทราบเพียงเท่านั้น

ไม่มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ จนเสร็จสิ้นภารกิจ
ตั้งแต่วันที่ 14 – 22 พ.ค.53 เสร็จสิ้นภารกิจ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ยืนยันว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ส่วนในการจัดกำลังพลนั้น พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความว่า 1 กองร้อยจะมี โล่ ตะบอก ปืนลูกซองกระสุนยาง ปืนลูกซองมี 30 กระบอก และมีลูกกระสุนยางกระบอกละ 10 นัด รวมเป็น 300 นัด กระสุนยางคนละอย่างกับลูกแบงก์ ลูกแบงค์ใช้ซ้อมรบจะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง ลูกแบงก์หัวจะเป็นจีบ แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 เมตร ความแรงของดินปืนจะทำให้เกิดการไหม้ได้ แต่ไม่มีหัว ส่วนกระสุนยางใช้กับปืนลูกซอง ในระยะ 10 เมตร ก็จะจุกแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต ไม่สามารถทะลุแผ่นเหล็กหรือไม้ได้

ทนายถามว่าตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 22 พ.ค.53 ที่บริเวณพยานปฏิวัติหน้าที่ พญาไท ราชปรารภ นั้น นอกจากหน่วยของพยานแล้วมีหน่วยอื่นหรือไม่ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยไหนบ้าง แต่ทราบว่ามี ป.พัน.31(กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์) และทนายถามอีกว่าในการสังการตอนนั้นในฐานะที่พยานเป็นผู้บังคับบัญชาสังการอย่างไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ

สามารถใช้กระสุนจริงได้บางกระบอก
พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.) เบิกความอีกว่า การใช้กระสุนจริงกับกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน ทิศทางการเล็ง เทคนิคก็จะต่างกัน จะยิงเพื่อให้เขาหนีหรือหยุดการกระทำ อัยการถามต่อถึงปืนที่ใช้กระสุนยางกับกระสุนจริงสามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์  ตอบว่าใช้ได้บางกระบอก บางกระบอกใช้ไม่ได้ใช้เฉพาะกระสุนยาง

มี M16 จำนวน 20 กระบอก และไม่ถูกปล้น
พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์   เบิกความว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 ไปด้วย 20 กระบอก โดยมีกำลังพลที่กำหนดตัวเป็นผู้ใช้ แต่มีข้อแม้อยู่คืออาวุธปืน M16 จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อน โดย พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร และ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์   เบิกความต่อว่าปืน M16 กับปืนลูกซองจะแตกต่างกัน ปืนลูกซองจะติดตัว ส่วนปืน M16 จะเก็บไว้ในที่มีกำลังพลรับผิดชอบดูความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแย่งชิงซึ่งการที่จะนำปืน M16 มาใช้ตนซึ่งเป็นรองผู้พันก็ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน สำหรับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบคือลูกแบงค์ ซึงจะแยกกันไประหว่างปืนกับกระสุนซึ่งมี 400 นัด โดยจะมีการบรรจุเหมือนกับลูกจริงคือมีซองกระสุน 20 นัดต่อกระบอก ลักษณะใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้

มี M79 และ RPG ปริศนาลงใกล้ทหาร

อัยการซักต่อว่าอาวุธและกระสุนของหน่วยถูกปล้นไปหรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีใครปล้นไป และคืนวันที่ 14 พ.ค.53 พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์   เบิกความว่าตนอยู่กับผู้การ พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร บนชั้น 2 แอร์พอร์ตลิงก์  และมีกำลังพลอยู่ชั้น 3 ของแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ส่วนพ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความอีกว่าในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังทุกทิศทุกทาง มีกระสุน M79 มาตกด้านหน้าแอร์พอร์ตลิงก์หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิดแต่มาเห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยแล้ววิเคราะห์เอา ว่าเป็น RPG บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา

อัยการถามถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้น พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่า ทราบจากรายงานทางวิทยุสื่อสารจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งเข้ามาจากทางประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว หลังจากรถตู้เข้ามาได้ยินเสียงอาวุธปืนดังขึ้น หลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้ง คนขับรถตู้(สมร ไหมทอง)และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)

เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ทหารชี้เสียงปืนลูกซองและ M16
หลังจากนั้นอัยการได้เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่น(http://www.youtube.com/watch?v=JBCyoTDdJok)ที่ถ่ายเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ [เป็นคลิปเต็มที่ยังไม่ได้ตัดต่อดังที่นำมารายงานข่าว-ประชาไท ] มีความยาวประมาณ 10 กว่านาที ถ่ายหลังทหารที่ยืนหลบอยู่ข้างเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ประมาณ 50-100 เมตร มีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ติดต่อกันเกือบ 20  นัด จนรถตู้หยุดสนิท ปิดไฟหน้า และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ โดยอัยการได้สอบถามถึงเสียงปืน 20 นัดดังกล่าวต่อ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เพื่อจำแนกว่าเป็นปืนชนิดใด โดยพ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ตอบว่ามีทั้งลูกซองและ M16 ส่วน 2 นัดสุดท้ายเป็นปืนยาวแต่เสียงไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเสียงที่ได้ยินเป็นลูกซ้อมหรือลูกจริง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยังได้เบิกความอีกว่ากระสุนซ้อมปืนเล็กยาวจะมีแสงประกายไฟได

ไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ
อัยการสอบถาม พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ถึงเรื่องได้พบเห็นชายชุดดำ ตลอดที่ปฏิบัติภารกิจถึงวันที่ 22 พ.ค.53 หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ

ปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง
ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก  ร. 1 พัน 3 รอ. ซึ่งเป็นผู้คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงก์ บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางการบรรจุกระสุนเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงใช้เหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่า เสียงลูกแบงก์หรือลูกซ้อมกับลูกจริงนั้นต่างกัน โดยลูกจริงจะดังแน่นกว่า

โดยเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.53 ทาง ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ได้เบิกความว่าตนนำกำลังไปที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพงและช่วงเกิดเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนอยู่ที่พักคอยจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก มาทราบช่วงเช้าจากที่มีการรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ โดยไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่มาทราบภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว        

อัยการมีการเปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่นอย่างเช่นเดียวกับพยานคนอื่นๆ โดยมาการสอบถามถึงประเภทของอาวุธที่ได้ยินเสียงกระสุน ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่าไม่สารมารถแยกได้ว่าเป็นปืนหรือกระสุนชนิดใด

หลังจากนั้นทนายได้ถามถึงอาวุธที่หน่วยของพยานมี ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ระบุว่าทางหน่วยมี M16A1 และทราโว ส่วนปืนลูกซองที่นำไปใช้ไม่ใช่ของหน่วย พึ่งได้รับมาช่วงเหตุการณ์ และกระสุนที่ใช้กับ M16A1 ของทางหน่วยเป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง

ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ยังได้เบิกความว่า ไม่ทราบว่าหน่วยไหนอยู่บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์บ้าง ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเลยเพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา

มีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด
สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์  หากหันหน้าไปทางประตูน้ำ หรือฝั่งคอนโด Ideao โดย สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า ตนมีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด ซึ่งได้มาตั้งแต่ลพบุรี ต้องดูแลรักษาและเอาไปคืน มีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธเมื่อตัวเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้กับ เด็ก สตรีและผู้ไม่มีอาวุธ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่า เวลา 19.00 น. วันที 14 พ.ค.53 ถึงเช้าวันที่ 15 พ.ค. ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่หลงเข้ามา

ไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร
ในช่วงเกิดเหตุยิงรถตู้ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้(คันเกิดเหตุ)กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลาประมาณ 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคลายเสียงปืนไม่ทราบทิศทางเพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด โดยรถตู่หยุดอยู่ที่ใต้สะพานแอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ และขณะนั้นไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าตนไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คนเป็นคนขับรถตู้ และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่

สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าชุดของตนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่มีการถูกช่วงชิง และทนายได้ถามความเข้าใจของ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ถึงชายชุดดำว่าเป็นอย่างไร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ตอบว่า คือชายชุดดำที่ถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ

ได้รับ M16 แจกเป็นอาวุธประจำกาย แต่ไม่ได้รับแจกกระสุน
สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์  (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี เบิกความว่าได้รับคำสังจากผู้บังคับบัญชาให้อยู่บริเวณฟุตบาท หน้าคอนโด Ideao  แอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่กับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับการกองร้อยจนถึงเช้า สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยงได้เบิกความต่ออีกว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ (ราชปรารภ 8) มีเสียงประกาศให้รถตู้ถอยกลับไปประมาณ 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป จุดดังกล่าว สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าชุดของตนเองอยู่ใกล้สุด ห่างประมาณ 80 เมตร โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางไว้ด้วย โดยปกติหากมีรั้วลวดหนามจะผ่านไม่ได้ อัยการถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าตนไม่ได้เข้าไปเตือนเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร และหลังจากนั้นรถตู้คันดังกล่าวออกจากซอยเลี้ยวซ้ายไปทางแอร์พอร์ตลิงก์  รถประชาสัมพันธ์ก็ยังประกาศเตือนต่อแต่รถตู้ก็ยังวิ่งเข้ามา หลังจากนั้นจึงได้ยินเสียงคลายเสียงปืนดังขึ้นไม่ทราบทิศทาง ตัวสิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกวามว่าขณะนั้นตนเองหลบเข้าที่กำบังนอนหมอบราบกับพื้น ไม่ได้มองว่าอะไรเกิดขึ้น เสียงปืนดังไม่นาน หลังเสียงปืนสงบก็ไม่ได้เข้าไปดูและไม่ได้ยินวิทยุสื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

อัยการได้สอบถามถึงชายชุดดำ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่พบชายชุดดำ โดยไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงช้ามบริเวณโรงแรมอินทราไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับการกองร้อย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

Posted: 06 Jul 2012 03:23 AM PDT

การแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้
 
ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ
 
ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง
 
ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก
 
· ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม
 
· ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา
 
ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย
 
ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
 
ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย
 
ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร
 
ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)
 
บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช.
 
สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย     
 
หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ
 
ติดตามบทความดี ๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีอิทธิพลจากโฆษณา ได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com  และ www.consumerthai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ยุบพรรคเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย?

Posted: 06 Jul 2012 03:16 AM PDT

กลาง พ.ศ.2550 หรือในทันทีที่มีการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย ผู้เขียนได้เขียนบทความชื่อ “การยุบพรรคคือการรัฐประหารเงียบที่ทำลายประชาธิปไตยรัฐสภายิ่งกว่ารัฐประหาร 19 กันยายน” สาระสำคัญของบทความนั้นมีสามข้อ ข้อแรกคือไม่พึงมองคดียุบพรรคผ่านแง่มุมทางกฎหมาย แต่ต้องมองผ่านแง่มุมของความเป็นการเมืองในกฎหมายและการใช้กฎหมายทางการเมือง ข้อสองคือต้องพิจารณาคดียุบพรรคเชื่อมโยงกับระบบพรรคการเมืองทั้งหมด และข้อสามคือข้อสังเกตว่าคำตัดสินในคดีนี้ไม่มีอะไรยึดโยงกับบรรทัดฐานเรื่องหลักประชาธิปไตยรัฐสภา

นอกจากพรรคไทยรักไทย ก็ยังมีพรรคการเมืองที่ประสบการณ์ถูกยุบพรรคทำนองเดียวกันอยู่อีกมาก ยิ่งกว่านั้นคือปริมาณของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ใช้วิธีให้ศาลรัฐธรรมนูญบังคับยุติสภาพความเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายตรงข้ามกลับมีมาจนปัจจุบัน แม้กระทั่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ข้อถกเถียงเรื่องการยุบพรรคมักรวมศูนย์ว่าการยุบพรรคเป็นมาตรการที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คำถามนี้คล้ายตอบง่ายเพราะประสบการณ์ในการเมืองไทยระยะใกล้ชวนให้ตอบได้ทันทีว่าไม่เป็น แต่ที่จริงการยุบพรรคเป็นมาตรการที่พบได้ในหลายสังคม ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยก็มี ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มาก การอภิปรายแบบกว้างๆ ว่าการยุบพรรคเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยจึงลดทอนความซับซ้อนของประเด็นนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ลองดูตัวอย่างของการยุบพรรคในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก่อนก็ได้ พม่ามีการยุบพรรค NLD ของอองซานซูจีในปี 2553 ด้วยเหตุผลเรื่องการคว่ำบาตรการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่พรรคเห็นว่ามีการใช้กฎหมายเพื่อสกัดไม่ให้ซูจีลงสมัครเลือกตั้ง การสู้คดีผ่านศาลฎีกาไม่ประสบความสำเร็จ ผลก็คือพรรคแตก สมาชิกพรรคบางส่วนแยกตัวไปจัดตั้งพรรคNDF ซึ่งสมาชิกพรรคได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาเพียง 16 ราย ส่วนพรรคที่เป็นตัวแทนของผู้นำทหารในพม่าชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ขณะที่ NLD เพิ่งฟื้นชีพเมื่อตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอีกครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ควรระบุด้วยว่าข้อกฎหมายที่ฝ่าย NLD เห็นว่าเกิดขึ้นเพื่อกีดกันนางซูจีคือบทบัญญัติที่ระบุว่าผู้ที่มีความผิดในคดีอาญาจะไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งไม่มีสิทธิในการลงคะแนน ซึ่งมองในแง่กฎหมายก็เป็นหลักกว้างๆ ที่คล้ายไม่ได้มุ่งผลทางการเมืองต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะเจาะจง

ถ้านิยามประชาธิปไตยในความหมายกว้างและไม่ซับซ้อนที่สุดว่าประชาธิปไตยหมายถึงการเลือกตั้ง แซมเบียก็เข้าข่ายเป็นประเทศประชาธิปไตยเพราะมีการปกครองแบบประธานาธิบดีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต่อเนื่องมาเกือบสามทศวรรษ แม้ข้อเท็จจริงอีกด้านคือแซมเบียเป็นประเทศที่อนุญาติให้มีพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียวมาตั้งแต่ปี 2515 นั่นก็คือพรรค UNIP (United National Independence Party) เท่านั้นที่ถือว่าเป็นพรรคที่ถูกกฎหมาย ส่วนพรรคการเมืองอื่นคือพรรคเถื่อนซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องมีสิทธิถูกดำเนินคดีอาญา

สภาพแบบนี้เปลี่ยนไปในปี 2534 เมื่อประธานาธิบดีจากพรรค UPP ถูกต่อต้านจนยอมแก้รัฐธรรมนูญให้การจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นเป็นไปได้โดยอิสระ ผลก็คือพวกสหภาพแรงงาน พวกหัวก้าวหน้า และปีกประชาธิปไตยใน UNIP ออกมาจัดตั้งพรรคใหม่ชื่อ MMD (Movement for Multi-Party Democracy) ซึ่งชนะการเลือกตั้งระดับประธานาธิบดีและรัฐสภาอย่างกว้างขวางจนมีอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่องในช่วง 2533-2543 แต่เริ่มชนะด้วยคะแนนน้อยลงเรื่อยๆ ในระยะต่อมา

ในปี 2554 พรรค Patriotic Front ซึ่งแยกตัวจาก MMD ชนะการเลือกตั้งทั้งในระดับประธานาธิบดีและรัฐสภา ส่วน MMD กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง จากนั้นในเดือนมีนาคม 2555 สำนักทะเบียนพรรคการเมืองของแซมเบียก็มีคำสั่งยุบพรรค MMD ด้วยข้อหาว่าไม่จ่ายค่าธรรมเนียมมาตั้งแต่ปี 2536 สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรค MMD ทั้งหมด 53 คน จึงถูกเพิกถอนความเป็นสมาชิกรัฐสภาไปโดยปริยาย

สถานการณ์ในปัจจุบันนี้คือพรรครัฐบาลปัจจุบันและคณะกรรมการการเลือกตั้งแซมเบียยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิอดีตสมาชิกพรรค MMD ในการเลือกตั้งและกิจกรรมการเมืองอื่นๆ ถึงขั้นไม่มีสิทธิให้ความสนับสนุนผู้สมัครรายใด ในแง่นี้การยุบพรรคในแซมเบียมีผลต่อสมาชิกพรรคหนักหน่วงกว่าพม่าที่อนุญาตให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ในบางระดับ ส่วนศาลแซมเบียไม่ให้สิทธินี้เลย

ถ้าการยุบพรรคในกรณีพม่าและแซมเบียเป็นตัวอย่างของการยุบพรรคในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและกึ่งประชาธิปไตย การยุบพรรคในสเปนก็เป็นตัวอย่างของการยุบพรรคในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นฐานแล้วสเปนมีการปกครองแบบรัฐสภาที่กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้การเมืองแบบหลายพรรคจนทศวรรษ 1990 ที่เริ่มเกิดระบบสองพรรคใหญ่ ส่วนพรรคเล็กที่มีบทบาทก็คือพรรคชาตินิยมและพรรคฝ่ายซ้ายในแคว้นต่างๆ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกรัฐสภามากน้อยไปมาตามแต่สถานการณ์

การยุบพรรคครั้งสำคัญของสเปนเกิดขึ้นในปี 2546 เมื่อรัฐสภาสเปนเสนอในปี 2545 ให้ศาลสูงสุดของสเปนมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง Batasuna (Unity of the People) ซึ่งเป็นปีกราดิกาลของกลุ่มเรียกร้องเอกราชในแคว้นบาสก์ ศาลมีมติยุบพรรคโดยไม่เป็นเอกฉันท์ ฝ่ายที่ถูกยุบต่อสู้คดีด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ก็ยืนยันคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด ผลก็คือพรรค Batasuna สู้ต่อโดยยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป (ECHR) ว่าการยุบพรรคเป็นการละเมิดสิทธิการรวมตัวและจัดตั้งองค์กรซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน

การยุบพรรคในกรณีนี้น่าสนใจเพราะเชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญสองเรื่อง เรื่องแรกคือการก่อการร้าย เรื่องที่สองคือการวางบรรทัดฐานของสหภาพยุโรปว่าอะไรคือขอบเขตของสิทธิในการรวมตัว

การยุบพรรค Batasuna เชื่อมโยงกับประเด็นก่อการร้ายเพราะประธานาธิบดีสเปนช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ผลักดันให้รัฐสภาแก้กฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 9 เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายโดยระบุว่าศาลสูงสุดสามารถประกาศให้พรรคการเมืองใดเป็นพรรคผิดกฎหมายได้ หากพรรคหรือสมาชิกพรรคดำเนินกิจกรรมซึ่งเป็นภัยต่อหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องโดยไม่หยุดยั้ง จากนั้นรัฐสภาก็วินิจฉัยว่า Batasuna เข้าข่ายนี้โดยตรง

สำหรับประเด็นของเขตของสิทธิในการรวมตัวนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการต่อสู้ของ Batasuna ในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นไปได้เพราะสเปนให้สัตยาบันรับรองเขตอำนาจของศาลนี้ บุคคลจึงมีสิทธิที่จะร้องทุกข์ในกรณีข้อพิพาทที่ผ่านการพิจารณาของศาลในประเทศครบถ้วนแล้ว เงื่อนไขของสเปนข้อนี้เปิดโอกาสให้ Batasuna ต่อสู้ในระดับสากลว่าการยุบพรรคเป็นการละเมิดเสรีภาพในการรวมกลุ่มในมาตรา 11 ของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นก็คือการต่อสู้โดยอิงหลักการว่าสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิที่ละเมิดไม่ได้ในทุกกรณี

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าย่อหน้า 2 ของอนุสัญญานี้ระบุว่าเสรีภาพนี้ถูกระงับได้ตามที่กฎหมายกำหนดและตามความได้สัดส่วนระหว่างความเป็นสังคมประชาธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติ ประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงข้อความย่อหน้านี้จนมีคำตัดสินในปี 2552 ให้ศาลสเปนสั่งยุบพรรคได้เพราะเป็นไปเพื่อปกป้องสังคมจากการก่อการร้ายซึ่งเกิดต่อเนื่องจนเป็นภัยต่อประชาธิปไตย

การยุบพรรคในตุรกีเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจสามข้อ ข้อแรกคือการยุบพรรคเกิดโดยศาลรัฐธรรมนูญตุรกีซึ่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ข้อสองคือสาเหตุในการยุบพรรคนั้นครอบจักรวาลจากการสนับสนุนความรุนแรงไปจนถึงการดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นสาธารณรัฐแบบฆราวาสที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และข้อสาม พฤติกรรมที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคไม่ได้มีเพียงแค่กิจกรรม แต่ยังรวมถึงการใช้สัญลักษณ์ การเผยแพร่เอกสาร หรือการมีระเบียบพรรคที่เอื้อต่อกิจกรรมในข้อที่แล้ว

ในแง่บริบทนั้น นับตั้งแต่ทหารแทรกแซงการเมืองตุรกีในทศวรรษ 1980 ก็พรรคการเมืองถูกยุบไปไม่ต่ำกว่า 24 พรรคจนการยุบพรรคเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง พรรคที่ถูกยุบหลายพรรคเป็นพรรคที่อิงศาสนาหรือคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นพรรค Refah ซึ่งประกาศตัวเองเป็นปากเสียงของคนอิสลามจนเป็นแกนตั้งรัฐบาลในปี 2539 แต่กองทัพซึ่งมองตัวเองเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญกลับเห็นว่าพรรค Refah เป็นภัยต่อสาธารณรัฐฆราวาสจนเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลและผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคนี้ในปี 2540 ส่วนหัวหน้าพรรคและสมาชิกรัฐสภาของพรรคก็ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากความผิดที่เล็กน้อยกระทั่งการใช้ทำเนียบประธานาธิบดีเลี้ยงอาหารผู้นำศาสนาในวันรอมฎอน

สมาชิกพรรค Refah ตั้งพรรคใหม่ชื่อ Fazilet ในปีเดียวกันโดยประกาศนโยบายที่เป็นกลางมากขึ้น แต่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอีกในปี 2544 ด้วยข้อหาเดียวกับการยุบพรรคครั้งที่แล้ว ข้อแตกต่างคือการยุบพรรคนี้อ้างหลักฐานจากคำปราศรัยของสมาชิกรัฐสภาที่ระบุว่าจะอนุญาติให้สตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมเข้ารัฐสภาได้ ,พฤติกรรมของสมาชิกรัฐสภาอีกรายที่กล่าวปฏิญญาตนในรัฐสภาโดยสวมผ้าคลุมแบบอิสลามเข้าไปจริงๆ และการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาสตรีที่ไม่ต้องการถอดผ้าคลุมขณะอยู่ในชั้นเรียน ผลคือสมาชิกรัฐสภาจากพรรคนี้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปอีกห้าปี

อดีตสมาชิกพรรค Fazilet ตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรค AKP ในปี 2544 โดยวางยุทธศาสตร์พรรคให้อิงศาสนาอิสลามน้อยลงและเดินหน้าสู่ความเป็นพรรคมวลชนมากขึ้นโดยนโยบายการเมืองแบบกลางค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม พรรคได้รับคะแนนนิยมจนชนะการเลือกตั้งปี 2545 และ 2550 แต่ในปี 2551 อัยการก็เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและเพิกถอนสมาชิกรัฐสภาอีกห้าปี ข้อกล่าวหาที่นำไปสู่การยุบพรรคคราวนี้คือพรรคดำเนินกิจกรรมขัดหลักสาธารณรัฐฆราวาสเพราะเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การอนุญาติให้สวมผ้าคลุมในมหาวิทยาลัย

คดียุบพรรค AKP ถูกวิจารณ์โดยคณะกรรมาธิการยุโรปว่าแม้พรรคจะขัดแย้งกับหลักพื้นฐานของรัฐตุรกีเรื่องสาธารณรัฐฆราวาส แต่ก็ไม่ได้เป็นภัยต่อต่อประชาธิปไตย ความคิดที่แยกรัฐกับประชาธิปไตยจนถึงจุดที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพของพรรคที่จะท้าทายรัฐแต่ไม่ล้มล้างประชาธิปไตยแบบนี้แตกต่างจากฝั่งตุรกีที่ถือว่ารัฐกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกันจนยุบพรรคที่ท้าทายรัฐโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องประชาธิปไตยได้ทั้งหมด

นอกจากศาลรัฐธรรมนูญตุรกีจะมุ่งยุบพรรคที่อิงศาสนาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมุ่งยุบพรรคที่อิงเชื้อชาติอีกด้วย การยุบพรรคในสภาพแวดล้อมนี้สะท้อนถึงความหวาดกลัวของชนชั้นนำว่าศาสนาและการแบ่งแยกดินแดนของบางเชื้อชาติจะทำลายสาธารณรัฐลงไป ข้อที่น่าสนใจคือการยุบพรรคในตุรกีเป็นกระบวนการที่ยาวนานและมีกรอบที่ใหญ่โตกว้างขวาง นั่นหมายความว่าไม่ง่ายที่ฝ่ายที่ถูกยุบจะโจมตีว่านี่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

การยุบพรรคที่มีแง่มุมน่าสนใจคือการยุบพรรคแบบที่เกิดขึ้นในอียิปต์ในเดือนเมษายนซึ่งฝ่ายที่ถูกยุบคือพรรค National Democratic Party ของอดีตประธานาธิบดีมูบารัค กล่าวโดยสรุปคือศาลปกครองสูงสุดของอียิตป์มีคำสั่งยุบพรรคพร้อมกับยึดทรัพย์สินทั้งหมดของ NDP เป็นของรัฐ ซ้ำยังอาจตัดสิทธิของพรรคในการส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน ข้ออ้างของศาลคือพรรคมีพฤติกรรมทุจริต โกงการเลือกตั้ง และผูกขาดอำนาจมาตั้งแต่ครั้งมูบารัคเป็นผู้นำ

การถกเถียงเรื่องการยุบพรรคในอียิปต์ยอมรับว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องการเมือง ผู้สนับสนุนการยุบพรรคจำนวนมากเห็นว่าเห็นว่าการยุบพรรคเป็นขั้นตอนสำคัญในการนำอียิปต์ไปสู่การมีระบบหลายพรรค ผู้นิยมมูบารัคจึงต่อสู้ว่ากฎหมายไม่ได้ให้ศาลปกครองมีอำนาจกระทำการนี้ แต่การยุบพรรคก็ดำเนินไปท่ามกลางการผลักดันของสาธารณะที่เห็นแค่การยุบพรรคอาจไม่พอเมื่อคำนึงถึงความโหดเหี้ยมที่ระบอบมูบารัคกระทำต่อพลเมืองอียิปต์เป็นเวลาหลายสิบปี

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในอียิปต์น่าสนใจมากขึ้นเมื่อคำนึงว่ารัฐสภาอียิปต์เคยผ่านกฎหมายการเลือกตั้งที่เพิกถอนสิทธิในการลงสมัครเลือกตั้งของบุคคลที่เคยมีตำแหน่งในรัฐบาลมูบารัคในช่วงสิบปี จากนั้นก็การออกกฎหมายว่าด้วยชีวิตทางการเมืองที่ฉ้อฉล (The Corruption of Political Life) ที่ขยายความไปอีกว่าแม้กระทั่งผู้นำพรรคของมูบารัคในรอบสิบปีก็ถือเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือมีตำแหน่งสาธารณะอะไรต่อไปอีกหนึ่งทศวรรษ นี่จึงเป็นตัวอย่างสำคัญของการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือทางการเมืองโดยแท้จริง

เมื่อพิจารณาประสบการณ์การยุบพรรคในประเทศต่างๆ แล้ว ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง การยุบพรรคไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นกระบวนการซึ่งพบได้ในทุกสังคมตั้งแต่สังคมเผด็จการ (พม่า) สังคมกึ่งเผด็จการ (ไทย) สังคมประชาธิปไตย (สเปน) สังคมกึ่งประชาธิปไตย (แซมเบียและตุรกี) และสังคมในระยะเปลี่ยนผ่าน (อียิปต์) การยุบพรรคโดนตัวเองจึงไม่ใช่เครื่องชี้วัดว่าสังคมใดเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

สอง ลักษณะทางการเมืองของสังคมแสดงออกผ่านคำอธิบายที่สังคมใช้ในการยุบพรรค สังคมเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการมักอ้างเหตุในการยุบพรรคด้วยเรื่องเล็กน้อยอย่างการมีสมาชิกบางคนถูกดำเนินคดีอาญา (พม่า) ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม (แซมเบีย) สมาชิกบางคนทำผิดกฎหมาย (ไทย) ส่วนสังคมประชาธิปไตยหรือสังคมกึ่งประชาธิปไตยอ้างเหตุในการยุบพรรคจากสิ่งที่เรียกว่า “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างการปกป้องประชาธิปไตยจากการก่อการร้าย (สเปน) ความเป็นรัฐฆราวาส (ตุรกี) หรือการสร้างระบบการเมืองแบบหลายพรรค (อียิปต์)

สาม การยุบพรรคในสังคมเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการมักดำเนินไปแบบไม่ซับซ้อน ขณะที่การยุบพรรคในสังคมประชาธิปไตยหรือกึ่งประชาธิปไตยมีการให้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อนเพราะถือว่าพรรคการเมืองสัมพันธ์กับสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานเรื่องเสรีภาพของเอกบุคคลในการรวมกลุ่ม (freedom of association) และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเรื่องการแสดงออกทางการเมือง (freedom of expression) การยุบพรรคในสังคมประชาธิปไตยเป็นมาตรการเพิกถอนสิทธิที่ใช้ได้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นและในขอบเขตที่เหมาะสม หาไม่แล้วรัฐก็ย่อมก้าวล่วงเข้ามาในอาณาบริเวณส่วนบุคคล

สี่ สังคมเผด็จการหรือสังคมกึ่งเผด็จการมักอ้างว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องทางกฎหมาย ขณะที่สังคมประชาธิปไตยหรือสังคมกึ่งประชาธิปไตยยอมรับว่าการยุบพรรคเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีความเป็นการเมือง การยุบพรรคในกรณีนี้แสดงให้เห็นระบบคุณค่าบางอย่างที่รัฐเลือกจะปกป้องหรือจรรโลงเอาไว้ เช่น หลักรัฐฆราวาสในตุรกี การกวาดล้างเครือข่ายอำนาจเก่าในอียิปต์ การต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนด้วยวิธีก่อการร้ายในสเปน ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขในไทย

เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคล้วนเคยยื่นคำร้องให้รัฐยุบพรรคการเมืองอื่น ก็ต้องยอมรับว่าการยุบพรรคกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองในสังคมไทยไปแล้ว ข้อความคิดสำคัญที่ควรเกิดขึ้นในบริบทนี้คือทำอย่างไรที่การยุบพรรคในสังคมไทยจะมีอารยะเหมือนสังคมประชาธิปไตยอื่น นั่นคือการยุบพรรคต้องเริ่มต้นจากการตระหนักว่าพรรคเป็นเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงออกทางการเมือง การใช้อำนาจในการยุบพรรคจึงต้องเป็นไปอย่างจำกัด ภายใต้เงื่อนไขที่เคร่งครัด ควรแก่เหตุ และด้วยหลักฐานที่ประจักษ์ชัดเท่านั้น

มองไปข้างหน้าต่อไป ประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาก็คือทำอย่างไรที่การยุบพรรคจะสัมพันธ์กับการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาธิปไตยในสังคมไทย

โจทย์ที่ควรคิดคือ ข้อแรก เป็นไปได้หรือไม่ที่การยุบพรรคจะคำนึงถึงความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง เช่นสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและนโยบายพรรคหรือไม่ สมาชิกถอดถอนผู้บริหารพรรคได้หรือเปล่า พรรคมีหรือไม่กลไกภายในที่จะจัดการกับสมาชิกซึ่งนำพรรคไปสู่การทำลายประชาธิปไตย

ข้อสอง เมื่อคำนึงปัญหาเฉพาะหน้าของสังคมไทยที่การรัฐประหาร การละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย เป็นไปได้หรือไม่ที่การยุบพรรคจะคำนึงบทบาทของพรรคการเมืองในการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ทำลายรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยรัฐสภา

อย่างไรก็ดี การยุบพรรคด้วยเหตุทั้งสองข้อนี้ต้องมีเงื่อนไขที่เคร่งครัด ควรแก่เหตุ และด้วยหลักฐานที่ประจักษ์ชัด เพื่อป้องกันไม่ให้ละเมิดหลักเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง


/////////////////////
หมายเหตุ:
ผู้เขียนปรับปรุงจากคำบรรยายเรื่อง "ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมือง: ทำลายหรือพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" โดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย วันที่ 27 พฤษภาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: เป้าหมายครั้งนี้คือ บดขยี้คนเสื้อแดง!

Posted: 06 Jul 2012 02:55 AM PDT

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ว่าด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนสำคัญที่แสดงว่า การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งล่าสุดของฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมได้เริ่มขึ้นแล้ว
 
พวกเขาได้หันมาใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย จนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พวกเขายิ่งทำ ก็ยิ่งโจ่งแจ้ง ไร้ยางอาย เป็นที่ประจักษ์สายตาแก่ประชาชนทั่วไป
 
พวกจารีตนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับฝ่ายประชาธิปไตยมาแล้วห้าครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 จนถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ที่พวกเขาเชื่อว่า จะสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่กลับประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน จึงเป็นที่ชัดเจนว่า สนามเลือกตั้งได้กลายเป็นสนามหลักของฝ่ายประชาธิปไตยไปแล้ว พวกเขาไม่มีทางที่จะเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งได้ในอนาคตอันใกล้
 
พวกจารีตนิยมจึงยังคงใช้วิธีการเดิมที่ทำสำเร็จมาแล้วทุกครั้งตลอดหลายสิบปีมานี้ คือการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี โจมตีผ่านสื่อกระแสหลัก สนับสนุนอันธพาลการเมืองออกมาก่อจลาจลบนท้องถนน ให้นักวิชาการและเนติบริกรออกมาทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ให้พรรคประชาธิปัตย์ก่อความวุ่นวายทั้งในและนอกสภา ทั้งหมดเพื่อให้รัฐบาลอ่อนเปลี้ยเสียขวัญ ไม่สามารถควบคุมสั่งการระบบราชการ ไม่อาจทำงานบริหารต่อไปไม่ได้ กลายเป็น “รัฐบาลเป็ดง่อย” แล้วท้ายสุดคือ ให้ทหารก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลในที่สุด
 
นับแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายเผด็จการก็ได้มีนวัติกรรมใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญคือ การใช้ตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเริ่มมีขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมึอทางการเมืองทำร้ายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ จงใจสร้างวิกฤตทางกฎหมายที่ไม่มีทางออก ก่อเป็นสถานการณ์สุกงอมที่นำไปสู่การแทรกแซงโดยกองทัพ
 
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นอาจเพียงแต่นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย (และพรรคร่วมรัฐบาล) แต่ยังไม่อาจโค่นล้มรัฐบาลได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ฉะนั้น ขั้นตอนต่อไปคือ การใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่มากมาย ทำลายนายกรัฐนมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจไปถึงสส.และสมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดอีกด้วย เป็นการทำลายทั้งรัฐบาลและรัฐสภาไปพร้อมกัน ซึ่งก็คือ ใช้อำนาจตุลาการก่อ “รัฐประหารเงียบ” ทำลายอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นกระบวนการ
 
คำถามคือ ในการรุกใหญ่ครั้งนี้ ฝ่ายจารีตนิยมหมายมุ่งเพียงการเปลี่ยนรัฐบาล อุ้มสมให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง ดังเช่นที่ทำมาแล้วกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2551  หรือพวกเขามีเป้าหมาย “สูงไปกว่านั้น”?
 
คำตอบขึ้นอยู่กับว่า ในการรุกคราวนี้ เป้าหมายของฝ่ายเผด็จการอยู่ที่ไหน?
 
ถ้าเป้าหมายอยู่เพียงแค่การทำลายพลังทางการเมืองในระบบเลือกตั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2551 พวกเขาก็จะทำลายแต่เพียงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย แต่ยังรักษาสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ แล้วบีบให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนและพรรคร่วมรัฐบาล “ย้ายขั้ว” มาร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้จำนวนคะแนนเสียงในสภามากพอที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่
 
แต่การรุกใหญ่ของพวกจารีตนิยมในครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งในอดีต คือไม่ได้มีเป้าหมายอยู่เพียงที่พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เป้าหมายที่แท้จริงในครั้งนี้คือ การทำลายล้างขบวนการคนเสื้อแดง!
 
บทเรียนสำคัญคือ ความล้มเหลวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ใช้กลไกรัฐและมาตรการต่าง ๆ ทั้งแจกสินบนและข่มขู่ ไปสลายขบวนคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง จนถึงการสังหารหมู่เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2554 แต่ก็ไม่อาจทำลายขบวนคนเสี้อแดงลงได้ ข้อจำกัดของระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ 2550 คือไม่สามารถใช้กำลังรุนแรงทำลายล้างขบวนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบได้ เพราะในระบอบรัฐธรรมนูญที่ยังอ้างหลักนิติรัฐอยู่นั้น รัฐบาลถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการมีอยู่ของพรรคฝ่ายค้านในสภา เหล่านี้เป็นปัจจัยขัดขวางที่จำกัดการใช้กำลังรุนแรงต่อประชาชนให้อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายเปิดช่องไว้ให้เท่านั้น
 
ฉะนั้น ในการรุกใหญ่ครั้งนี้ จะไม่เป็นเพียงการทำลายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แล้วอุ้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาแทนที่ภายในระบบเลือกตั้งตามปกติของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่จะเป็นการนำไปสู่ระบอบการปกครองเผด็จการอย่างเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ ทั้งด้วยกำลังทหารและกองกำลังติดอาวุธนอกระบบที่พวกเขาได้จัดตั้งรอไว้แล้ว โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญในยามสันติอีกต่อไป
 
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะเลือกเส้นทางยอมจำนน ประจบเอาใจ หวังรอ “ความเมตตา” จากพวกจารีตนิยมสักเพียงใดก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยแก้ตัวตลอดมาว่า การประนีประนอมก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งขั้นรุนแรงและการนองเลือดของประชาชน แต่ถึงกระนั้น การปะทะรุนแรงและการนองเลือดก็เกิดขึ้นอยู่ดี ดังเช่นเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2554 และก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเบื้องหน้านี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในความสูญเสียของประชาชนได้ เพราะการที่พรรคเพื่อไทยดำเนินแนวทางยอมจำนน ก็คือการปล่อยให้ขบวนประชาชนต้องตกอยู่ในสถานะโดดเดี่ยว และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เอื้อให้ฝ่ายเผด็จการสามารถดำเนินแผนตามขั้นตอน ไปสู่การสูญเสียของประชาชนนั่นเอง ในการนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยก็คือ ผู้ที่ยืนตัวสั่นงันงก มองดูการปราบปรามประชาชนอยู่ต่อหน้า อ้างเรื่อง “ปรองดอง” “หลีกเลี่ยงความรุนแรง” มาปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งปวง
 
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ใหม่ ในเบื้องต้น พวกเขาอาจประสบความสูญเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ขบวนประชาธิปไตยก็คือนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ผ่านสมรภูมินองเลือดเมษายน-พฤษภาคม 2554 มาแล้ว พวกเขาจึงมีทั้งขวัญ กำลังใจ และประสบการณ์ ปราศจากความหวั่นเกรงต่อภัยคุกคามที่อยู่เบื้องหน้า พร้อมที่จะต่อสู้และเสียสละอย่างยืดเยื้อยาวนาน เพื่อไปสู่ชัยชนะของประชาธิปไตยในที่สุด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนรอยประธานศาลรธน. เคยระบุว่า รธน.ถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง เขียนใหม่ก็ได้

Posted: 06 Jul 2012 02:22 AM PDT

รวมความเห็นต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญในหลายโอกาส ขณะที่ในวันนี้นายวสันต์ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะไต่สวนคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าเคยพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุมไม่ยอมให้ถอนตัว

ที่มาของคลิป: วอยซ์ทีวี, 18 ส.ค. 54

ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนในประเทศหลายฉบับได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในหลายโอกาส โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 54 วอยซ์ทีวี รายงานว่า นายวสันต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไข ก็ควรแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 หรือ สสร.มายกร่างใหม่ทั้งหมด และนำข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้แทนการสวมทับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องระบบศาลยุติธรรมอยู่

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 55 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่ข่าวพาดหัวว่า "ประธานศาลรธน.ชี้อย่ามองแก้รัฐธรรมนูญในแง่ร้าย" โดยเผยแพร่ความเห็นของนายวสันต์ต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เขายังไม่ได้เขียนเลย แล้วเราไปรู้ได้ยังไงว่าจะแก้เพื่อคนนั้นคนนี้ ควรดูเขาก่อนและตอนนี้ก็กำลังที่จะเริ่มตั้ง ส.ส.ร.ใหม่ และเรายังไม่รู้เลยว่าใครจะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.บ้างยังไม่เห็นตัวบุคคลเลย แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร มันอาจไม่ใช่ก็ได้ 

ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญก็ถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง เขียนใหม่ก็ได้ เพราะบ้านเราเขียนรัฐธรรมนูญเปลืองเกินไป อยากเขียนใหม่อยากเขียนอะไรก็เขียนไปพอเขียนไปแล้วอีกฝ่ายที่มีอำนาจขึ้นมาแล้วไม่เห็นด้วยก็บอกว่าไม่ถูกต้องและต้องแก้ไขหรือบางทีแม้แต่ฝ่ายตัวเองเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็บอกว่าอยากแก้แล้ว

“อย่าเพิ่งไปวิตกจริตขนาดนั้น ทางที่ดีเราก็ต้องรอดูก่อนเพราะทุกคนก็เป็นคนไทยมีสำนึกมีความรับผิดชอบ เราอย่าไปคิดว่าคนนั้นจะต้องเลวหรือมองคนในแง่ร้ายเกินไป แต่ตอนนี้สังคมก็เป็นอย่างนั้นนะ ต้องพวกฉันถึงจะเป็นคนดี ถ้าคนไม่ใช่พวกฉันทำอะไรก็ผิดหมด"

ล่าสุดในวันนี้ (6 ก.ค. 55) นายวสันต์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาติให้นายสุพจน์ ไข่มุก นายนุรักษ์ มาประณีต ถอนตัวจากการเป็นองค์ในการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ภายหลังมีการร้องเข้ามาว่าทั้งสองคนมีส่วนได้เสียกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในฐานะเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าไม่เข้าลักษณะให้ถอนตัวได้

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังไม่อนุญาตให้ตัวเขาถอนตัวเช่นกันภายหลังมีการเผยแพร่คลิปเสียงของตนเองในยูทูปที่มีเนื้อหาการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะคล้ายกับนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่เข้าเงื่อนไขให้ถอนตัวได้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น