โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผลการตรวจสอบชี้ หายนะโรงงานฟูกูชิมาเกิดจากฝีมือมนุษย์

Posted: 05 Jul 2012 01:09 PM PDT

รายงานทางการจากคณะกรรมการอิสระ เปิดเผยว่า คลื่นสึนามิไม่ใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวของการระเบิดของโรงไฟฟ้า หากแต่ความไม่ระวังของมนุษย์รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่ไม่รัดกุมเป็นสาเหตุสำคัญของหายนะครั้งนี้ 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีอุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมา ได้เผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5 ก.ค.) โดยระบุว่า ความผิดพลาดที่นำไปสู่เหตุการณ์โรงงานฟูกูชิมาระเบิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มาจากกฎระเบียบและข้อบังคับที่อ่อนแอและการรวมตัวกันอย่างไม่โปร่งใสระหว่างรัฐบาล ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า และกลุ่มผู้ตรวจสอบอุตสาหกรรม 

ในรายงานฉบับนี้ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐสภาเพื่อสอบสวนกรณีฟูกูชิมา ได้โต้แย้งผู้ปฏิบัติการของโรงงานคือ โตเกียว อีเล็คทริก พาวเวอร์ (เทปโก) ซึ่งอ้างว่าการหลอมละลายของโรงงานฟูกูชิมา มีสาเหตุจากคลื่นสึนามิซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้วเพียงอย่างเดียว โดยคณะกรรมการชี้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย 

นอกจากนี้ ยังระบุว่าเทปโกและผู้ดูแลจากหน่วยงานความปลอดภัยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ก็ได้ละเลยที่จะใช้มาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เสียงต่อการเกิดสึนามิและแผ่นดินไหว

"อุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงกันระหว่างรัฐบาล หน่วยควบคุมดูแล และเทปโก และการขาดความโปร่งใส" รายงานดังกล่าวระบุ

"พวกเขาได้ทำลายสิทธิของประชาชาติที่จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ดังนั้น เราขอสรุปว่าอุบัติเหตุดังกล่าวมาจากความผิดพลาดของมนุษย์อย่างชัดเจน

"เราเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริง ก็คือระบบขององค์กรและการควบคุมที่เอื้อให้เกิดการตัดสินใจและการกระทำที่ผิดพลาดไม่เหมาะสม มากกว่าที่จะมาจากความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่ง

"จากการตรวจสอบ ทางคณะกรรมการได้พบความมักง่าย และการละเลยอย่างให้อภัยไม่ได้ สำหรับผู้ใดหรือองค์กรใดก็ตามที่ทำงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ เราพบว่ามันมีการไม่ใส่ใจถึงเทรนด์สากลและความปลอดภัยของสาธารณะ" 

ประธานของคณะกรรมการ คิโยชิ คุโรคาวะ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวในบทนำด้วยว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุดังกล่าว 

เขาระบุว่า "สิ่งที่จำเป็นต้องยอมรับอย่างเจ็บปวด ก็คือว่า หายนะครั้งนี้ 'ผลิดในญี่ปุ่น' สาเหตุขั้นมูลฐานของมันยังมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ฝังรากลึก นั่นก็คือการยินยอมโอนอ่อนตาม การลังเลที่จะท้าทายต่ออำนาจ การยึดมั่นต่อความคุ้นเคยเดิมๆ ความเป็นพวกพ้อง และความโดดเดี่ยวของเรา

"ต่อให้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นคนญี่ปุ่นคนอื่นๆ แต่ผลที่ออกมาก็คงไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนัก" คุโรคาวะระบุ 

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าว ได้เผยแพร่ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางด้านตะวันตกของญี่ปุ่น กำลังจะเริ่มเปิดใช้ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากรัฐบาล ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนหลายพันคน ณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นประจำทุกวันศุกร์เพื่อคัดค้านการเปิดใช้โรงงานไฟฟ้า ในขณะที่ผลจากการสำรวจเปิดเผยว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลลดและยุติการใช้โรงงานนิวเคลียร์

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Fukushima reactor meltdown was a man-made disaster, says official report

http://www.guardian.co.uk/environment/2012/jul/05/fukushima-meltdown-manmade-disaster

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีระเบิด ร.ร.ลีการ์เด้น

Posted: 05 Jul 2012 09:14 AM PDT

ฉก.ทพ. 41 ควบคุมนายหมะดารี ดือราแม ผู้ต้องสงสัยคดีระเบิด ร.ร.ลีการ์เด้น เผยเป็นผู้นำทางเอาระเบิดเข้าพื้นที่

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งว่า เมื่อวันที่  4 ก.ค.55 เวลา 23.40 น.หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพราน 41  (ฉก.ทพ.41) ได้รับแจ้งว่าจากการปฏิบัติงานด้านการข่าวทราบว่า พบผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 31 มี.ค.55 หลบซ่อนตัวอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ผบ.ฉก.ทพ.41จึงได้ประสานกับหน่วยในพื้นที่เพื่อสนธิกำลังเข้าติดตามบุคคลเป้าหมาย จากการเข้าปิดล้อม ตรวจค้นใน บ้านเลขที่ 32 ม.6 ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ควบคุมตัวนายหมะดารี ดือราแม และ น.ส.รอกีเย๊าะ เจ๊ะสมอเจ๊ะ ซึ่งเป็นภรรยา

ในวันที่ 31 มีนาคมได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ขึ้นที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองของอ.หาดใหญ่ จ.สงขลาและในย่านการค้าของคนจีนและชาวพุทธในอ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 15 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน  

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินฯ ระบุว่า จากการซักถามขั้นต้นนายหมะดารียอมรับว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดที่โรงแรมลีการ์เด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 31 มี.ค.55 จริง โดยเป็นผู้นำทางในการนำระเบิดเข้าไปในพื้นที่

พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 41 (ผบ.ฉก.ทพ.41) ได้กล่าวกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า เป็นการเชิญตัวมาพูดคุยซักถาม เนื่องจากมีข้อมูลเชื่อมโยงกับเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้ปล่อยตัวไปแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชวนคุยต่อประเด็นลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอล-สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณะในงานดนตรี

Posted: 05 Jul 2012 08:16 AM PDT

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: ปัญหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอล (Broadcasting Rights) กับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Right of Communication to the Public) ในงานดนตรี [1]

 

อ้างถึงบทความของคุณอธิป จิตตฤกษ์ เรื่อง “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะจากดนตรีในคาเฟ่ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงบอลยูโร 2012” [3] ผู้เขียนเห็นว่าบทความดังกล่าวมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดที่สำคัญในบางส่วน ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ การนำเอางานดนตรีและกีฬามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน และองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ดังนี้

1. งานอันมีลิขสิทธิ์

ก่อนจะข้ามไปกล่าวถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ประเภทของสิทธิ การคุ้มครอง การละเมิดลิขสิทธิ์ และเรื่องอื่นๆ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาก่อนคือ งานนั้นๆ จัดว่าได้รับการคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย งานใดจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายประการ ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ประเทศ

หากกล่าวอย่างกว้างๆ โดยหลักแล้ว งานที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญดังต่อไปนี้
1) Originality and Creativity
[4] โดยทั่วไปหมายถึง ต้องเป็นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์เอง ไม่ได้ลอกงานที่มีอยู่ก่อน รวมถึงต้องแสดงให้เห็นถึงการอุทิศแรงกายแรงใจ สติปัญญา ความรู้ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในงาน บางกรณีอาจหมายถึงการแสดงออกให้ปรากฏซึ่งบุคลิก ลักษณะเฉพาะ หรือตัวตนของผู้สร้างสรรค์

2) Fixation (Idea/Expression Dichotomy)
[5] ลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองความคิด เว้นแต่ความคิดนั้นจะมีการแสดงออกให้ปรากฏในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

หากกล่าวถึงงานกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่นๆ งานประเภทดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาขององค์คณะใหญ่ (Grand Chamber) แห่งศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice - ECJ) ซึ่งได้มีคำตัดสินร่วมกันในคดี Football Ass’n Premier League Ltd. v. QC Leisure และคดี Murphy v. Media Protection Serv. Ltd เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 [6]

ข้อเท็จจริงคร่าวๆ ในคดีนี้มีอยู่ว่า Football Association Premier League Ltd (FAPL) ในฐานะบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนของสโมสรฟุตบอลอังกฤษได้ทำสัญญาอนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) การแข่งขันกีฬาดังกล่าวกับ Sky และ ESPN โดยให้บริษัทดังกล่าวได้รับสิทธิในการแพร่ภาพและเสียงในประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ในต่างประเทศ FAPL ยังได้ทำสัญญาอนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) กับ NOVA ซึ่งเป็นองค์กรแพร่ภาพและเสียงที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดสัญญาณในประเทศกรีซ

นาง Karen Murphy จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของผับชื่อ Red White and Blue ในเมืองพอร์ตสมัธของอังกฤษ ไม่ได้สมัครใช้บริการของ Sky แต่กลับซื้ออุปกรณ์แปลงสัญญาณของ NOVA และสมัครรับสัญญาณของ NOVA ซึ่งถูกส่งมาจากประเทศกรีซในราคาที่ต่ำกว่าของ Sky โดยนอกจากจะรับสัญญาณมาเพื่อรับชมเป็นการส่วนตัวแล้ว นาง Murphy ยังแพร่ภาพและเสียงรายการฟุตบอลให้แก่ลูกค้าในผับของตนได้รับชมด้วย

คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปโดยสรุปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลก็คือ กีฬาไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เพราะปราศจากสิ่งที่เรียกว่า Original and Creativity ตามที่กล่าวมาข้างต้น
[7] และนาง Murphy แม้จะอยู่ในอังกฤษก็สามารถรับสัญญาณการถ่ายทอดที่ส่งมาจากองค์กรแพร่ภาพและเสียงในต่างประเทศได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการรับชมเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ในขณะที่งานดนตรี โดยเนื้องานเองกลับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซ้อนทับกันอยู่หลายส่วน นับตั้งแต่สิทธิของผู้ประพันธ์ดนตรี (Composer) ผู้แต่งคำร้อง (Lyricist) สิทธิของนักแสดง (Performers’ Rights) หรือแม้แต่สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง (Phonogram Producers’ Rights) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

โดยสรุป สิ่งนี้คือส่วนที่แตกต่างกันอย่างสำคัญระหว่างงานทั้งสองชนิด


2. การนำเอางานดนตรีและกีฬามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

เมื่อพิจารณาว่างานใดได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่แล้ว ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือส่วนที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้สร้างสรรค์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ ว่าขอบข่ายของสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองนั้นเป็นประการใดบ้าง

โดยหลักขอบข่ายของลิขสิทธิ์สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ว่าด้วยสิทธิของผู้สร้างสรรค์ (Author’s Rights) และส่วนที่ว่าด้วยสิทธิข้างเคียง (Related Rights)

ความแตกต่างอย่างสำคัญของสิทธิทั้งสองประเภท อาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า สิทธิของผู้สร้างสรรค์ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นเอง ส่วนสิทธิข้างเคียง ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่บุคคลผู้ซึ่งกระทำการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นสู่สาธารณชน แต่อาจไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน [8]

1) สิทธิของผู้สร้างสรรค์ (Author’s Rights)

ในส่วนนี้ยังสามารถแยกออกเป็นสิทธิในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Rights) และสิทธิในเชิงศีลธรรม (Moral rights)
สิทธิในเชิงเศรษฐกิจของผู้สร้างสรรค์นั้น นอกจากสิทธิในการทำซ้ำ (Reproduction) ดัดแปลง (Adaptation) แจกจ่าย (Distribution) แล้ว ผู้สร้างสรรค์ยังมีสิทธิอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ ตัวอย่างสิทธิประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับบทความนี้ นั่นคือ สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public)


สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public)

ผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้มีการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน การเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นหมายความรวมถึง

(1) กรณีที่บุคคลอื่นนำเอางานดนตรีอันมีลิขสิทธิ์นั้นมาเล่นสด (Live Performance) หรือ
(2) กรณีที่บุคคลอื่นนำงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ (Wireless Broadcasting, Cabling) (ยกเว้นช่องทางอินเทอร์เน็ต อันจัดเป็นสิทธิพิเศษอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะยังไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้)

ทั้งนี้ อ้างอิงตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแห่งยุโรปในคดีเดียวกัน ซึ่งมีคำตัดสินว่า สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public) สมควรมีการตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการนำงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ไม่ว่าจะผ่านทางสื่อโดยใช้เทคนิคหรือวิธีการใดๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘เผยแพร่ต่อสาธารณะ’ ว่าหมายถึง การเผยแพร่ ‘ต่อสาธารณชนซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานที่ต้นทางที่งานนั้นถูกเผยแพร่’ [9]

ผู้เขียนเข้าใจว่าสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือ Right of Communication to the Public ประการนี้เอง คือสิทธิที่คุณอธิปกำลังกล่าวถึงในบทความว่า “สิทธิในการแพร่ภาพและเสียงรู้จักกันในภาษาระบบลิขสิทธิ์ในคำที่ความหมายมากกว่าว่า Performance Right หรือที่ผู้เขียนจะแปลในที่นี้ว่า “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” [10]

2) สิทธิข้างเคียง (Related Rights)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สิทธิข้างเคียง ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่บุคคลผู้ซึ่งกระทำการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นสู่สาธารณชน แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน ผู้เป็นเจ้าของสิทธิข้างเคียงมีหลายประเภท เช่น สิทธิของนักแสดง (Performers’ Rights) สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง (Phonogram Producers’ Rights) สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights) เป็นต้น โดยแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดของสิทธิในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Rights) ที่แตกต่างกันไป


สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights)

องค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasting Organization) ได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม Rome Convention for the Protection of Performers, Producers of Phonograms and Broadcasting Organizations (1961) โดย Article 3(f) ของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวให้ความหมายของการแพร่ภาพและเสียงไว้ว่า หมายถึง ‘การส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์ไร้สายไปยังสาธารณชนที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณเสียง หรือรับสัญญาณภาพและเสียง’ ด้วยเหตุนี้ การส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์เคเบิลจึงไม่เข้าข่ายเป็นการแพร่ภาพและเสียงตามนิยามดังกล่าว [11]

นอกจากนี้ ในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreements on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS) ก็ยังได้กำหนดความคุ้มครองแก่ Broadcasting Organizations โดยอ้างอิงบทบัญญัติใน Rome Convention เช่นเดียวกัน โดยกำหนดสิทธิในเชิงเศรษฐกิจแก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงไว้หลายประการ [12]

สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasting Organization) ในกรณีนี้แตกต่างและแยกต่างหากจากกรณีที่ ‘บุคคลอื่นนำงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ’ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ กรณีนี้ไม่ใช่กรณีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ ‘ผู้สร้างสรรค์’ ในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ หรืออนุญาตให้มีการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชนแต่ประการใด

ตรงกันข้าม กลับเป็นกรณีที่กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของ ‘สื่อผู้เป็นตัวกลาง’ ในการเผยแพร่งานนั้นสู่สาธารณชนต่างหาก โดยไม่จำเป็นว่างานที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อนั้นจะเป็นงานอันได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังให้ความคุ้มครองแก่งานที่ถูกแพร่ภาพผ่านองค์กรแพร่ภาพและเสียงโดยไม่จำกัดเงื่อนไขว่างานนั้นจะต้องเป็น Originality เท่านั้นจึงจะได้รับการคุ้มครองด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอล (Broadcasting Rights) กับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Right of Communication to the Public) ในงานดนตรี ได้ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง งานดนตรี
สามารถแยกสิทธิออกได้เป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก สิทธิในการเผยแพร่งานดนตรีต่อสาธารณะถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ในการที่จะอนุญาต (Authorise) หรือกระทำการเผยแพร่ ดังนั้น เมื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีจะนำงานดนตรีนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด (Live Performance) หรือการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ (Wireless Broadcasting, Cabling) จะต้องได้รับอนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ของงานให้กับผู้สร้างสรรค์และบรรดาผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ตัวอย่างเช่น ผู้ประพันธ์ดนตรี (Composer) ผู้แต่งคำร้อง (Lyricist) และบริษัทผู้ผลิตสื่อบันทึกภาพและเสียง (Publisher)

ส่วนที่สอง ในการเผยแพร่ภาพและเสียงงานดนตรี (Broadcast) เมื่องานดนตรีถูกเผยแพร่ผ่านอุปกรณ์ส่งสัญญาณ จะก่อให้เกิด ‘สิทธิในการแพร่ภาพและเสียง’ (Broadcasting Rights) อันตกได้แก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงนั้นๆ ที่ได้ทำการเผยแพร่ภาพและเสียงงานดนตรีดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

กรณีที่สอง งานกีฬา
เมื่อโดยสภาพของกีฬาไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังที่กล่าวมาแล้ว การเผยแพร่งานกีฬาต่อสาธารณชนจึงปราศจากเงื่อนไขที่จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อผู้สร้างสรรค์หรือบรรดาผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ภาพและเสียงงานกีฬา (Broadcast) นั้นเข้าข่ายเป็นสิทธิข้างเคียงของลิขสิทธิ์อันตกได้แก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงผู้ได้รับสิทธิให้กระทำการถ่ายทอดสัญญาณครั้งแรก [13] ดังนั้น เมื่อสิทธิในการถ่ายทอดสดกีฬาตกเป็นขององค์กรแพร่ภาพและเสียงดังกล่าว ผู้อื่นจึงไม่สามารถนำสัญญาณภาพและเสียงนั้นที่ถูกเผยแพร่แล้วนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต (re-broadcast) มิฉะนั้นถือเป็นละเมิด เช่นกรณีของนาง Murphy ที่กระทำต่อบริษัท NOVA เป็นต้น

3. องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Collecting Society)

องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เช่น SACEM (France), SIAE (Italy), GEMA (Germany), PRS (UK), ASCAP (US) ในยุคแรกถือกำเนิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์เป็นหลัก แต่ต่อมาก็ได้รับการพัฒนาจนถึงยุคที่องค์กรเหล่านี้สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิข้างเคียงด้วย องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แต่ละองค์กรอาจเป็นตัวแทนของผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานต่างประเภทไป เช่น SPADEM ซึ่งเป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับศิลปินและตากล้องสำหรับการทำซ้ำงานสร้างสรรค์ในหนังสือหรือโปสการ์ด บางประเทศอาจมีองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์องค์กรเดียวเพื่อบริหารจัดการค่าลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกือบ - หรืออาจจะทุกประเภท บางประเทศมีองค์กรแห่งเดียวสำหรับบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public) และสิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights) ไปพร้อมๆ กัน [14]

ตามข้อเสนอของคุณอธิปที่ว่า ‘องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทางดนตรีเท่านั้นทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือกระทั่งกีฬาก็สามารถจะมีองค์กรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมได้’ [15]

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอนี้อาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง อย่างไรก็ดียังมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่างานสร้างสรรค์อื่นๆ ที่คุณอธิปกล่าวถึงนั้น ล้วนเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ในตัวเองทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ถือสิทธิทับซ้อนกันอยู่หลายราย ด้วยเหตุนี้องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จึงเข้ามาบริหารจัดการค่าลิขสิทธิ์ที่อาจทับซ้อนเพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นธรรมแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากงานฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีลิขสิทธิ์ในตัวเอง แต่ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลกลับไปตกอยู่กับองค์กรผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ภาพและเสียงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจมีอยู่เพียงหนึ่งหรือไม่กี่องค์กรที่ได้รับสิทธิในแต่ละประเทศเท่านั้น และแม้ว่าองค์ประกอบย่อยอื่นๆ ในการแข่งขัน เช่น ดนตรี โลโก้ ถ้วย เหรียญตรา ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่โดยมากก็มักเป็นลิขสิทธิ์ของทางสมาคมแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การนำองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์มาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬาจึงอาจยังไม่แน่ว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

 

 

อ้างอิง

[1] อนึ่ง คำว่างานดนตรีในที่นี้ ผู้เขียนขอให้คำนิยามในความหมายอย่างกว้างรวมถึงทั้งงานที่มีและไม่มีเนื้อร้อง
[2] ผู้เขียนขอขอบคุณ วรงค์ หลูไพบูลย์ ผู้ให้ความช่วยเหลือและมีส่วนสำคัญในการซักถาม ถกเถียง และเสนอข้อคิดเห็น กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นบทความฉบับนี้
[3] อธิป จิตตฤกษ์: สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะจากดนตรีในคาเฟ่ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงบอลยูโร 2012 http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41319
[4] มาจากคำว่า ‘intellectual creation’ ใน Article 9(1) of TRIPS ประกอบกับ Article 2(5) of The Berne Convention
[5] Article 9(2) of TRIPS
[6] ผู้สนใจสามารถศึกษาคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ http://curia.europa.eu/juris/celex.jsf?celex=62008CJ0403&lang1=en&type=NOT&ancre= ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์แล้วในคดีนี้ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า
[7] “FAPL cannot claim copyright in the Premier League matches themselves, as they cannot be classified as works. To be so classified, the subject-matter concerned would have to be original in the sense that it is its author’s own intellectual creation. ...sporting events cannot be regarded as intellectual creations classifiable as works within the meaning of the Copyright Directive. That applies in particular to football matches, which are subject to rules of the game, leaving no room for creative freedom for the purposes of copyright.” ; Joined Cases C-403/08 & C-429/08, Football Ass’n Premier League Ltd. v. QC Leisure &Murphy v. Media Protection Serv. Ltd., 1 C.M.L.R. 29 (2011) 96-98.
[8] ผู้สนใจโปรดดู J.A.L Sterling, World Copyright Law (Sweet & Maxwell 2008) 77
[9] Joined Cases C-403/08 & C-429/08, (2011), อ้างแล้ว
[10] อธิป จิตตฤกษ์, อ้างแล้ว
[11] ในบางประเทศเช่นฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษให้การคุ้มครององค์กรแพร่ภาพและเสียงไม่ว่าจะแพร่ภาพและเสียงผ่านทางอุปกรณ์ไร้สายหรือเคเบิล ทั้งนี้ตาม Article 6-9 of EC Rental/Lending and Related Rights Directive ส่วนสหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองแบบ sui generis ตาม Communication Act 1934; see above J.A.L Sterling (2008) p 78
[12] Article 2 และ Article 14 (3) of TRIPS ประกอบ Article 13 และ Article 3(f) of Rome Convention
[13] ในกรณีของยูฟ่า ผู้เขียนในฐานะที่ไม่ใช่แฟนกีฬาฟุตบอล เข้าใจว่ายูฟ่าในฐานะสมาคมฟุตบอลยุโรป ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ต้น ให้ตนเองและสมาชิกในสมาคมเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ในการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) หรืออนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลยุโรป ดังนั้น องค์กรแพร่ภาพและเสียงในแต่ละประเทศที่ต้องการเผยแพร่ภาพและเสียงของกีฬาฟุตบอลยุโรปในประเทศของตน จึงต้องเข้าไปเจรจาทำสัญญากับยูฟ่าโดยตรง; Article 48 Statutes of UEFA, 2012 edition, 01 June 2012 http://www.uefa.com/MultimediaFiles/Download/EuroExperience/uefaorg/WhatUEFAis/01/80/54/03/1805403_DOWNLOAD.pdf
[14] J.A.L Sterling, pp. 600-602
[15] อธิป จิตตฤกษ์, อ้างแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษียร เตชะพีระ

Posted: 05 Jul 2012 08:03 AM PDT

สถาบันและบุคคลที่ใช้อำนาจมากแต่มีสติ ปัญญากำกับอำนาจน้อยมันเป็นอย่างไร มันก็ชอบธรรมน้อยลง แล้วคนก็หัวเราะเยาะมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ใช้อำนาจแบบมหัศจรรย์มาก เปิดพจนานุกรมในการตีความบ้างละ เติมคำว่า “อาจจะ” เข้าไปตอนเรื่องเขาพระวิหารบ้างละ ตอนนี้ก็มาตีความมาตรา ๖๘ แบบมหัศจรรย์ลั่นโลก ขัดแย้งกับตัวเองด้วยซ้ำ คนเขาก็ดูเบาสติปัญญาคุณมากขึ้นเรื่อยๆ

บทสัมภาษณ์ นิตยสารสารคดีฉบับ ๘๐ ปีการเมืองไทย (มิ.ย. ๒๕๕๕)

ญาติผู้ประสบภัยม. 112 เดินหน้ารณรงค์ปล่อยตัวนักโทษ-ผู้ต้องหาคดีหมิ่น

Posted: 05 Jul 2012 05:06 AM PDT

"เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112" แถลงเปิดตัว เดินหน้ากิจกรรมรณรงค์เรียกร้องสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะเรื่องสิทธิพื้นฐานนักโทษคดีหมิ่น พร้อมเรียกร้องปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข 

 5 ก.ค. 55 - เวลาราว 11.00 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 นำโดยสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมของ "เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112" โดยมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีม. 112 ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า นอกจากกลุ่มจะมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยทันทีแล้ว ทางเครือข่ายยังหวังจะสร้างความเข้าใจกับสาธารณะในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษและผู้ต้องหา เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิการรักษาพยาบาล และสิทธิในการยอมรับในฐานะเป็นนักโทษการเมือง 

การแถลงข่าวในครั้งนี้มีญาติผู้ได้รับผลกระทบจากม. 112 มาร่วมแถลงด้วย อาทิ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กีเชียง ทวีวโรดมกุล บิดาของธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล โดยเล่าถึงกิจกรรมที่จะดำเนินต่อไปของกลุ่มว่า จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่จำเป็น ทำการรณรงค์และยื่นจดหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เครือข่ายญาติได้เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง และผลกระทบที่ครอบครัวได้รับ โดยนางปราณี กล่าวถึง สิทธิการรักษาพยาบาลของนักโทษคดีหมิ่นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากที่นายอำพล หรือ "อากง SMS" เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางเรือนจำจะส่งตัวนายสุรชัยไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ในกรณีของนักโทษหญิงอย่างกรณีดา ตอปิโด ยังพบกับความลำบาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเข้าเยี่ยม หรือการรักษาพยาบาล 

ด้านนายกีเชียง บิดาของธันย์ฐวุฒื หรือ "หนุ่ม เรดนนท์" เผยว่า หลังจากที่ธันย์ฐวุฒืถูกตัดสินจำคุกในคดีม. 112 ทางครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยลูกๆ คนอื่นที่ทำงานบริษัทเอกชนก็ถูกดูถูกเหยียดหยาม แม้แต่ญาติพี่น้องของตนเองก็ยังไม่อยากที่จะไปเยี่ยม "หนุ่ม" ที่เรือนจำเลย 

ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะจัดกิจกรรมครั้งต่อไปในวันเสาร์ที่ 7 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยงานเสวนาแถลงข่าวจะมีวิทยากรอาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนและอดีตผู้ต้องหาคดีม. 112 จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวนสพ. เดอะ เนชั่น ศราวุฒิ ประทุมราช สถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน และตัวแทนญาติผู้ได้รับผลกระทบจากม. 112  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีเจรจาล่ม นศ.วอล์กเอาต์ ชี้ผู้บริหารมหา'ลัยจัดเวทีหวังสร้างความชอบธรรมนำ มข.ออกนอกระบบ

Posted: 05 Jul 2012 04:58 AM PDT

เครือข่าย นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ปฏิเสธเวทีเจรจากับอธิการบดี มข.ชี้ไม่ใช่เวทีเจรจาต่อรอง แต่ถูกใช้เป็นพื้นที่ปราศรัยให้ข้อมูลของฝ่ายผู้บริหาร มุ่งสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง

 
 
สืบเนื่องจาก การทำกิจกรรมของเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เพื่อเรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วม ในการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายนักศึกษาฯ ได้จัดการชุมนุมใหญ่ และยกระดับการชุมนุมโดยทำการปิดถนนมิตรภาพบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกร้องการเจราจาร่วมกับผู้บริหาร
 
วันนี้ (5 ก.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น.เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบเดินทางเข้าร่วมประชุมกับ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ตึกอธิการบดี ตามที่ได้ตกลงกันหลังจากหนึ่งวันก่อนหน้านี้ (4 ก.ค.55) ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาฯ ส่วนหนึ่งได้ติดตามไปเข้ายื่นหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ถึงที่โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นรับปากและนัดเจรจากับเครือข่ายนักศึกษาฯ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีพูดคุยในครั้งนี้เริ่มจากการแนะนำตัวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นการให้ข้อมูลของทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ทำให้เวทีเจรจากลายเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมว่าทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการเจรจากับนักศึกษาที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบแล้ว สร้างความไม่พอใจให้เครือข่ายนักศึกษาฯ จนนำไปสู่การวอล์กเอาต์จากเวทีเจรจาในที่สุด
 
วรรณวิศา เกตุใหม่ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาฯ กล่าวว่า ฝ่ายผู้บริหารชี้แจงว่ากระบวนการทำประชาพิจารณ์ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และอ้างว่าไม่สามารถที่จะทำให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าใจทั้งหมด ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลนี้ ดังนั้นเวทีที่ผู้บริหารจัดแจงขึ้น จึงไม่ใช่เวทีตามที่ตกลงกันไว้ ทางเครือข่ายจึงขอปฏิเสธที่จะประชุมร่วมต่อไปจนจบและขออนุญาตลุกออกจากที่ประชุม เพื่อแสดงจุดยืนว่าเวทีที่จัดขึ้นวันนี้ไม่ใช่เวทีเจรจาและหาทางออกอย่างแท้จริง
 
วรรณวิศา กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาของเครือข่ายนักศึกษาฯ พยายามทำทุกวีถีทาง เพื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตั้งแต่ในปีก่อนๆ ที่มีการรณรงค์ทั่วมหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาวิชาการ แฟลตม็อบ รวมทั้งยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยพยายามแสดงจุดยืนให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้บิหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เคยกล่าวไว้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นด้วยและไม่มีใครคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นไม่เป็นความจริง
 
“การคัดค้านเราได้ทำมานานและต่อเนื่องพอสมควรจะท่านควรจะทราบว่าเราคัดค้าน” วรรณวิศากล่าว 
 
ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นประเด็นหลักหนึ่งในการออกมารณรงค์ครั้งนี้ เนื่องจากทางเครือข่ายนักศึกษาฯ เห็นว่า การจะนำมหาวิทยาลัยออกระบบจะต้องถามความคิดเห็นและจัดเวทีประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่มี และทางเครือข่ายเองได้มีการพยายามสอบถามความคิดเห็นจากนักศึกษาทั่วๆ ไปในมหาวิทยาลัย ผลที่ออกมาคือนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันนี้เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ยังได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในการไม่เข้าร่วมเวทีเจรจาหาทางออกเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยระบุยืนยันในหลักการทำประชาพิจารณ์ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.ยุติกระบวนการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบโดยการนำร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยขอนแก่นกลับมาพิจารณาใหม่
 
2.เปิดให้มีเวทีในการให้ข้อมูลกับประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ทราบถึงว่า ม.นอกระบบคืออะไร มีผลดีผลเสีย อย่างไรพร้อมทั้งตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วว่าเป็นเช่นไรอย่างทั่วถึง และ3.รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและเปิดให้มีการลงประชามติของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
“ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากเวทีดังกล่าวทางเครือข่ายเครือข่ายไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าการเจราจายังไม่ยุติ ทั้งนี้ทางเครือข่ายจะขอดำเนินการต่อสู้เพื่อกระบวนการมีส่วนร่วมในการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ (ฉบับที่ 3 )
แสดงจุดยืนในการไม่เข้าร่วมเวทีเจรจาหาทางออกเรื่อง ม.นอกระบบ
 
จากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเวทีเพื่อเจรจากับเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบในวันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00 น. ณ ตึกอธิการบดี เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหากรณีที่นักศึกษาออกมาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ซึ่งในเบื้องต้นทางเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมเวทีดังกล่าวเพื่อเจรจาต่อรอง แต่เนื่องจากเวทีที่จัดขึ้นนั้นมิใช่เวทีในการเจรจาต่อรองแต่อย่างใด กลับกลายเป็นเวทีในการปราศรัยให้ข้อมูลของทางฝ่ายผู้บริหารชี้แจงกระบวนการทำประชาพิจารณ์ ว่าได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และอ้างว่าไม่สามารถที่จะทำให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าใจทั้งหมดได้ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังมีประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกมากที่ยังไม่รับทราบข้อมูล และยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบอยู่ ดังนั้นกระบวนการที่อธิการบดีกล่าวอ้างนั้นแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกระบวนการมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย
 
ตามหลักการประชาธิปไตยแล้วนั้น ควรที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาและประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างทั่วถึง ซึ่งทางเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบขอยืนยันในหลักการทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
 
1.ยุติกระบวนการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบโดยการนำร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยขอนแก่นกลับมาพิจารณาใหม่
 
2.เปิดให้มีเวทีในการให้ข้อมูลกับประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ทราบถึงว่า ม.นอกระบบคืออะไร มีผลดีผลเสีย อย่างไรพร้อมทั้งตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วว่าเป็นเช่นไรอย่างทั่วถึง
 
3.รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและเปิดให้มีการลงประชามติของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
การที่อธิการบดีไม่ได้เปิดเวทีเจรจาที่แท้จริง แต่กลับเปิดเวทีอภิปรายเพื่อสร้างความชอบธรรมว่าได้เจรจากับนักศึกษาที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบนั้น ได้สร้างความเจ็บปวดให้ทางเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจนมิอาจที่จะกล้ำกลืนฝืนเข้าร่วมกับเวทีดังกล่าวได้ และขอคัดค้านด้วยการไม่เข้าร่วมเวทีที่จัดขึ้น
 
ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากเวทีดังกล่าวทางเครือข่ายเครือข่ายไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าการเจราจายังไม่ยุติ ทั้งนี้ทางเครือข่ายจะขอดำเนินการต่อสู้เพื่อกระบวนการมีส่วนร่วมในการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยต่อไป
 
ด้วยจิตแห่งความเป็นมนุษย์
5 กรกฎาคม 2555
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

80 ปีกับคำถามซ้ำๆ ซากๆ ของประชาธิปไตยไทย

Posted: 05 Jul 2012 04:33 AM PDT


(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

ถึงแม้ ‘ประชาธิปไตย’ ไทยจะครบรอบ 80 ปีแล้ว แต่คำถามหรือข้อกังขาบางอย่างซ้ำๆ ซากๆ ก็ยังวนเวียนคงอยู่มิได้หายไปไหน

‘คนไทยส่วนใหญ่พร้อมสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงหรือ?’

ผู้ที่มีการศึกษาสูง (ในระบบ) มักอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งยากจนและมีการศึกษาน้อยไม่เข้าใจประชาธิปไตย รู้จักแต่ขายเสียงแถมโง่และถูกนักการเมืองชั่วๆ หลอกง่ายและมักเป็นเหยื่อนโยบายประชานิยม บางคนคิดไกลไปถึงขนาดเสนอว่าประชาชนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่านั้นที่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง บางคนถวิลหาการปกครองระบอบเผด็จการทหารหรือแม้กระทั่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บุคคลเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาเหนือกว่าและมีคุณธรรมกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศและเข้าใจประชาธิปไตยดีถึงแม้คนส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้มักกลับให้การสนับสนุนรัฐประหารมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

ผู้เขียนจะไม่ฟันธงยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ หากอยากจะบอกว่าสังคมจะก้าวหน้าเท่าเทียมมีความยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตยไม่ได้หากคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินไม่มีโอกาสลองผิดลองถูกและใช้สิทธิทางการเมืองที่เราทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งการลองผิดลองถูกก็ไม่ต่างจากการหัดขับจักรยานซึ่งต้องมีพลาดบ้างล้มบ้างเป็นธรรมดา)

อย่างน้อยที่สุด ทุกวันนี้ประชาชนแทบทุกคนคงตระหนักแล้วว่าแต่ละคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน หากจะเพิกถอนสิทธิประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ สังคมไทยก็คงต้องกลับไปเป็นเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมอาจเกิดสงครามการเมือง

ไม่มีสังคมใดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้โดยปราศจากการต่อสู้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ในแง่นี้ความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิทางการเมืองและกดประชาชนให้เงียบหรือจัดการกับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกโดยวิธีการที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นตัวเร่งให้ประชาชนลุกออกมาสู้และเรียกร้องสิทธิของพวกเขา เพื่อสิทธิที่จะได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะเกิดมาจนหรือรวย เป็นคนดีหรือชั่ว หรือเลือกพรรคการเมืองใดก็ตาม

เมื่อเร็วๆ นี้นิด้าโพลเผยว่าคนกรุงฯ ฝันอยากได้ ส.ส.ที่มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความรู้มากสุด ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่าความคิดเช่นนี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับคนกรุงฯ เหล่านั้น

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถการันตีว่าสังคมจะได้นักการเมืองดีมาเป็นรัฐบาลเสมอไป หากระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงการันตีว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและสามารถเลือกและเปลี่ยนรัฐบาลที่ตนชอบหรือไม่ชอบได้อย่างสันติวิธี

มันเป็นการดีที่ประชาชนจะเป็นห่วงเรื่องคอร์รัปชั่นหรือนักการเมืองชั่ว แต่ตราบใดที่ทุกบุคคลสาธารณะทุกองค์กรทุกสถาบันไม่สามารถถูกตรวจสอบและวิพากษ์ได้อย่างเสมอภาค การเรียกร้องแต่ให้มีนักการเมืองดีและขจัดคอร์รัปชั่นแค่ในหมู่นักการเมืองและข้าราชการก็จะกลายเป็นการเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งสองมาตรฐานไปโดยปริยายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ไม่ว่าผู้อ่านจะถวิลหาระบอบการปกครองแบบใด ตราบใดที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันทุกคนอย่างแท้จริง ตราบใดที่ยังมีการปิดหูปิดตายัดเยียดข้อมูลด้านเดียวบางเรื่องอย่างไม่รู้จักพอเพียงและจับคนที่ตั้งคำถามเข้าคุก ตราบนั้นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็จักยังคงดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันดูถูกเหยียดหยามกดขี่และล้างสมองว่าตนเองด้อยกว่าตลอดชีวิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางการพม่าร้องขอ SSA "เหนือ" ถอนทหารแนวหน้าเพื่อลดการสู้รบ

Posted: 05 Jul 2012 04:23 AM PDT

กองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" ตัดสินใจถอนทหารประจำการฐานแนวหน้าบางส่วน หลังทางการพม่าร้องขอ เพื่อหวังลดการสู้รบระหว่างกัน

พ.ต.จายละ โฆษกกองทัพรัฐฉาน SSA "เหนือ" เปิดเผยว่า หลังเกิดการสู้รบกันอย่างหนักตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างทหารกองทัพพม่าและทหารกองทัพรัฐฉานSSA "เหนือ" ทางฝ่าย SSA "เหนือ" ได้ทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลพม่าเพื่อหยุดทำการโจมตี และเมื่อบ่ายวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา อูเต็งจ่อ รองประธานคณะทำงานด้านสันติภาพของพม่า ได้แจ้งมายัง SSA "เหนือ" ว่า คณะทำงานด้านสันติภาพพม่ากำลังเร่งทำงานเพื่อให้เกิดสันติภาพ เพื่อเป็นการลดการเผชิญหน้าและการสู้รบของสองฝ่าย จึงได้ร้องขอให้ทาง SSA "เหนือ" อดทนและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทหารพม่า

"ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูการทำไร่ทำนา เพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสู้รบ เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) SSA "เหนือ" ได้จัดการประชุมและมีมติร่วมกันว่า จะถอนกำลังที่ประจำการอยู่ตามฐานแนวหน้าบางส่วน เพื่อลดการเผชิญหน้าตามที่ อูเต็งจ่อ รองประธานคณะทำงานสันติภาพพม่าร้องขอมา โดยฐานที่จะถอนนั้นมีอย่างน้อย 2 แห่ง อยู่ในพื้นที่เมืองสู้และเมืองต้างยาน ซึ่งเป็นฐานขนาดเล็กเท่านั้น" พ.ต. จายละ กล่าว 

ทั้งนี้ พ.ต.จายละ กล่าวด้วยว่า สองฝ่ายได้มีการตกลงกันว่าหาก SSA "เหนือ" ถอนกำลังออกจากฐานพื้นที่แนวหน้าแล้วทหารพม่าจะไม่ไปประจำการแทน ซึ่งหลังจากนี้ SSA "เหนือ" จะติดตามดูท่าทีของทหารพม่าว่าจะไปประจำการตามฐานที่ SSA "เหนือ" ถอนกำลังออกหรือไม่ ซึ่งหากทหารพม่าไปประจำการแทนทาง SSA "เหนือ" จะตอบโต้ทันที

ทั้งนี้ การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ครั้งใหม่ ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทหารพม่าได้ส่งกำลังเข้าพื้นที่เคลื่อนไหว SSA "เหนือ" และทำการโจมตี SSA "เหนือ" อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางฝ่าย SSA "เหนือ" ได้ทำการตอบโต้อย่างหนัก โดยการสู้รบสองฝ่ายเกิดขึ้นพร้อมกันหลายพื้นที่ของเมืองสู้ และเมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า แนวโน้มการสู้รบระหว่างทหารกองทัพพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ" ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือส่อเค้าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยกองทัพพม่าได้ส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่กว่า 10 กองพัน ซึ่งพลจัตวา ทุนทุนหน่อง แม่ทัพภาคตะวันออกกลางพม่า ได้ไปปักหลักสั่งการด้วยตนเองอยู่ที่เมืองสู้ ขณะที่พลจัตวาติ่นลวิน ผบ.กองบัญชาการยุทธการ 2 เมืองหนอง ไปปักหลักสั่งการอยู่ที่เมืองออด (เขตเมืองสู้) เพื่อกวาดล้างกองกำลังไทใหญ่ SSA "เหนือ"

ขณะที่มีรายงานว่า การสู้รบของสองฝ่ายในพื้นที่เมืองต้างยาน เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายทหาร SSA "เหนือ" สามารถสังหารทหารพม่า 5 นาย เป็นนายทหารยศร้อยโท 1 นาย และยศร้อยเอก 1 นาย นอกจากนี้ SSA "เหนือ" ยังได้ตรวจยึดอาวุธปืนจากฝ่ายทหารพม่า ซึ่งมีทั้งปืนกล เครื่องยิงลูกระเบิดชนิดปืนค. พร้อมด้วยกระสุน และอาวุธปืนประจำกายอีกหลายกระบอก

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/



"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw: “เชียงใหม่มหานคร” ก้าวแรกของการยกเลิกอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น

Posted: 05 Jul 2012 03:20 AM PDT

 

เจ็ดโมงเช้า วันที่ 24 มิถุนายน 2555 จักรยานกว่า 50 คันนัดเจอกันที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งในงานประกาศเจตนารมณ์ “เชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะจัดการตนเอง และขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่มหานคร” และเป็นจุดเริ่มของการรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ภายใน 120 วัน ตามเจตนารมณ์ “120 วัน ก้าวผ่าน 120 ปีของการรวมศูนย์อำนาจ”

ขบวนการขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง อาศัยความร่วมมือจากกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ ประชาสังคม นักธุรกิจ และองค์กรชุมชน ที่มองเห็นปัญหาร่วมกันของการนำนโยบายจากส่วนกลางมาบังคับใช้กับจังหวัดเชียงใหม่ โดยในกิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์ มีนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อดีตรองผู้ว่าเชียงใหม่ ตัวแทนจากวิทยุออนไลน์คนเมืองเรดิโอ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตัวแทนจากเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น สถาบันการจัดการทางสังคม เข้าร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายประชาชนฉบับนี้

ข้อเสนอหลักของร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร คือการผลักดันให้เชียงใหม่ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยคงส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไว้ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สภาเชียงใหม่ และสภาพลเมือง มีการจัดเก็บภาษีเอง และส่งให้รัฐบาลกลางร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือใช้บริหารจังหวัดในด้านต่างๆ โดยยกเว้นด้านการทหาร การศาล ระบบเงินตรา และการต่างประเทศ (ดูข้อเสนอเกี่ยวกับระเบียบการบริหารราชการเชียงใหม่)


อะไรคือ “เชียงใหม่มหานคร”
“ดูอย่างอเมริกาสิ มีทั้งวอชิงตันดีซี และนิวยอร์ค ทำไมเมืองไทยจะมีทั้งกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่มหานครไม่ได้”

“เชียงใหม่จัดการตัวเองมาหลายร้อยปีแล้ว พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครก็แค่คืนอำนาจกลับมาให้คนเชียงใหม่”

“คนกรุงเทพฯ ชอบพูดว่ากลับบ้านนอกกลับต่างจังหวัด ต่อไปเราไปกรุงเทพฯ เราก็จะบอกว่าไปต่างจังหวัดเหมือนกัน”
                                                                                               - ความคิดเห็นจากคนเมืองเชียงใหม่

การผลักดันเรื่องเชียงใหม่มหานคร เริ่มจากการมองเห็นปัญหาการใช้นโยบายจากส่วนกลางในท้องถิ่นของคนกลุ่มต่างๆ นำมาสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อผลักดันเชียงใหม่มหานครร่วมกัน

ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสถาบันการจัดการทางสังคม กล่าวว่า เชียงใหม่เติบโตเร็วรองจากกรุงเทพฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อน นโยบายจากส่วนกลางไม่สามารถตอบโจทก์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้เชียงใหม่มีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตนเอง การกำหนดการพัฒนาจากส่วนกลางทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เช่น โรงเรียนพูดภาษาไทย ไม่สอนภาษาท้องถิ่น เอาระบบชลประทานมาแทนฝาย กฎหมายการจัดการป่าของกรมป่าไม้ที่ขัดกับวิถีชาวบ้าน เกิดผลกระทบเป็นปัญหาให้ท้องถิ่น เห็นได้จากในอดีตการพัฒนาที่คิดมาจากส่วนกลาง ถูกคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ สถานเริงรมย์ ฯลฯ และเชียงใหม่ยังมีสถานศึกษา และองค์ความรู้ที่พร้อม เป็นเหตุผลที่ถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จะจัดการดูแลท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง

ดร.นิรันดร์ โพธิการ ประธานชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เล่าปัญหาโดยยกตัวอย่างการรณรงค์เรื่องการขี่จักรยาน ก็พบว่าท้องถิ่นไม่ค่อยมีอำนาจที่จะต่อรองกับตำรวจซึ่งเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคและกลายเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ทั้งๆ ที่การตัดสินใจต่างๆ ควรเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของท้องถิ่น

 

 

หลากคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร

เหมือนกรุงเทพมหานครไหม :
ในวงเสวนามีการตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร จะทำให้เชียงใหม่เป็นเหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่ ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครนี้ มีการจัดการปกครองที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ กล่าวคือ กรุงเทพฯ มีลักษณะรวมศูนย์และจัดการปกครองเป็นระดับเดียว ไม่มีเทศบาล ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมาก ขณะที่เชียงใหม่มหานครจะมีรูปแบบการปกครอง 2 ระดับ คือระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) นอกจากนี้ความต่างหลักอีกอย่างคือมีองค์กรที่ทำการตรวจสอบถอดถอน คือสภาพลเมือง การใช้คำว่ามหานครเป็นเพียงการแสดงความยิ่งใหญ่ และความพร้อมในการปกครองตนเองเท่านั้น


การมีส่วนร่วมของคนเมืองเป็นอย่างไร :

เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่และมีคนพื้นเมืองกระจายในพื้นที่กว้าง ผู้สนับสนุน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครคาดหวังว่า หากกำหนดให้เชียงใหม่จัดการตนเอง จะทำให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีที่สอดคล้องกับตนเองจริงๆ เช่น การจัดการศึกษานั้น หากเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น จะเห็นบทบาทของคนพื้นเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดความหลากหลาย เช่น การเรียนในภาษาคำเมือง ภาษาตามกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ

แบ่งแยกดินแดน ? :
คำถามยอดนิยมที่มักเกิดขึ้นต่อการเสนอให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งคือ สิ่งนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายยืนยันว่า สิ่งนี้ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน ประเทศยังเป็นรัฐเหมือนเดิม ทว่า พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครเพียงเรียกร้องการดูแลประเด็นในท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยทำหน้าที่บริหารงาน การเงิน และนโยบายสำหรับจังหวัด ดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัย น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง การศึกษา การรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการจัดการของส่วนกลางในด้านอื่นๆ ส่วนกลางยังคงมีหน้าที่ในการบริหาร 4 ด้าน อันได้แก่ด้านกองกำลังทหาร การจัดการระบบเงินตรา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การศาล และเรื่องสำคัญอื่นๆ ในระดับชาติ

การเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสในการบริหารได้จริงหรือ? :
ร่างกฎหมายนี้มีเงื่อนไขให้สมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ได้คราวละสองวาระ วาระละสี่ปี ดังนั้น หากชาวบ้านเห็นว่าผู้แทนทำงานไม่ดีก็ตัดสินใจใหม่ได้ในครั้งต่อไป นอกจากนี้เรื่องการครองอำนาจระยะยาวก็จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะมีข้อกำหนดว่าอยู่ได้ไม่เกินสองวาระ ทำให้นักการเมืองยึดอำนาจไว้ในมือได้ยาก นอกจากนี้แล้วกลไกการตรวจสอบที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นสภาพลเมือง จะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และความตื่นตัวในการเมืองท้องถิ่น ทำให้ประชาชนตระหนักในผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น

 

การจัดการตนเอง รอให้พร้อมโดยไม่เริ่มไม่ได้
“เปลี่ยนแล้วมันย้อนกลับยาก ควรจะศึกษาผลกระทบให้รอบคอบไม่ผลีผลาม”
“ทำไมต้องมาพัฒนาที่เชียงใหม่ เชียงใหม่มีเสน่ห์ของมันเองอยู่แล้ว เป็นเมืองที่คนอยากมาโดยไม่ต้องเป็นมหานคร”
“ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าภาษีจะมาลงที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ มันอยู่ที่ว่าจะบริหารเงินส่วนนั้น ให้มีประสิทธิภาพได้รึเปล่า”

การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับเชียงใหม่มหานคร มีทั้งเสียงตอบรับและคำถามจำนวนมาก คำถามที่พบบ่อยก็เช่น เป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่ อีกคำถามที่พบบ่อยคือเรื่องความพร้อม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนเห็นด้วยเชิงหลักการ แต่ยังมีข้อกังวลอยู่ในใจ

บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่าเรื่องนี้คงรอความพร้อมทั้งหมดจากทุกฝ่ายไม่ได้ หากไม่ทดลองทำก็คงไม่เห็นปัญหาที่จะเกิด และข้อกังวลก็จะเป็นเพียงข้อกังวลต่อไป เห็นได้จากเรื่องเทศบาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2538 ก็มีวิวัฒนาการ ปรับปรุงมาเรื่อยๆ เชียงใหม่มหานครก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ

บุษยา เล่าว่า อุปสรรคแรกที่พบในการดำเนินงานคือ การจินตนาการว่าท้องถิ่นจัดการตนเองต้องเป็นอย่างไร ควรมีโครงสร้างอย่างไร ซึ่งเป็นการออกแบบความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อตอบโจทก์ให้ครบถ้วน ส่งผลให้ต้องมีการวางโมเดล หลักการ การจัดการระบบการเงิน ระบบภาษี รูปแบบการมีส่วนร่วม และต้องให้การถกเถียงก้าวข้ามจากการเรื่องนโยบายสาธารณะมาคุยเรื่องกลไกให้ได้

มีหลายกระแสกล่าวว่า เชียงใหม่มหานครอาจเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นได้ แต่บุษยามองว่า แต่ละจังหวัดก็ต้องตัดสินใจเลือกโมเดลที่เหมาะสมกับตนเอง และจะต้องมาแลกเปลี่ยนกันว่าโมเดลควรจะเป็นอย่างไร ทำมาแล้วได้อย่างไร เพราะแต่ละจังหวัดมีการผลักดันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอเป็นสามจังหวัดสี่อำเภอ โดยมีรูปแบบการปกครองคล้ายกรุงเทพฯ ไม่มีเทศบาลเช่นเชียงใหม่ สำหรับแม่ฮ่องสอนและอำนาจเจริญ ก็จะไม่ได้พูดถึงเรื่องการจัดการอำนาจในการปกครองแต่จะพูดถึงนโยบายสาธารณะมากกว่า

นอกจากนี้ การดำเนินการเรื่องเชียงใหม่จัดการตนเองยังสามารถสะท้อนปัญหาทางการเมืองด้วย บุษยากล่าวว่า ความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ความเป็นสีหายไปกับเรื่องเชียงใหม่จัดการตนเอง เนื่องจากเป็นประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดจากการดึงอำนาจไปอยู่ที่ส่วนกลาง ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแต่ละครั้งมีผลกระทบอย่างไรคนท้องถิ่นก็ต้องรับสภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนผู้นำไม่ได้แก้ปัญหาให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการใช้กลไกการจัดการตนเองจะเป็นโครงสร้างที่แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยดึงอำนาจกลับมาให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ตัดสินใจนโยบายที่มีผลกระทบต่อตนเองได้ง่ายขึ้นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น คือ สามชั้นอำนาจในระเบียบบริหารราชการไทย แต่ที่ผ่านมาพบว่า อำนาจากส่วนภูมิภาคคืออุปสรรคใหญ่ต่อการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ภาคประชาชนเชียงใหม่จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ใน “ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร”

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.ilaw.or.th/node/1618

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มรับน้องสร้างสรรค์ มช. เรียกร้องให้ผู้บริหารทุกคณะจัดรับน้องไม่ละเมิดสิทธิ

Posted: 05 Jul 2012 01:46 AM PDT

พร้อมจี้ให้ตรวจสอบมีการรับน้องโดยใช้ความรุนแรงหรือไม่ และเปิดเผยว่ามีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ร้องเรียนเรื่องรับน้องโหด

จดหมายของกลุ่มรณรงค์รับน้องสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงคณบดีทุกคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดรับน้องโดยไม่ละเมิดสิทธิ

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 55 กลุ่มรณรงค์รับน้องสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นจดหมายถึงคณบดีทุกคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้แต่ละคณะดำเนินการเรื่องการรับน้องให้เป็นไปโดยไม่มีการละเมิดสิทธิ และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบมีการรับน้องโดยใช้ความรุนแรงหรือไม่

ในจดหมายยังขอให้ทางคณะได้ดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา การรับน้องไม่ควรมีการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการรับน้องที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน 

ส่วนหนึ่งของจดหมายร้องเรียนของนักศึกษาปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ กลุ่มรณรงค์รับน้องสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยด้วยว่า มีการร้องเรียนว่าการรับน้องในบางคณะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการบังคับข่มขู่ กดดัน โดยกลุ่มรณรงค์ระบุว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีความเครียดทางจิตใจ มีความหวาดระแวงและความกลัว อีกทั้งการรับน้องที่รุนแรงทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อคณะและมหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"จรัญ ภักดีธนากุล" ถอนตัวจากองค์คณะตุลาการ คดีแก้รัฐธรรมนูญ

Posted: 05 Jul 2012 01:08 AM PDT

หลังจรัญ ถูกร้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เพราะเคยเป็นกรรมาธิการร่าง รธน.50 ทำให้ขณะนี้เหลือตุลาการศาล รธน.อีก 2 ราย คือนายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน.50 นั่งบังลังก์ตุลาการศาล วินิจฉัยคดีนี้

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.05 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 หลังพักการไต่สวนพยานบุคคลฝ่ายผู้ร้องในช่วงเช้า เมื่อเปิดบัลลังก์พิจารณาไต่สวนต่อในช่วงบ่าย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบว่านายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะตุลาการทั้ง 5 สำนวน เพราะเนื่องจากถูกร้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติอนุญาตให้ถอนตัวได้ เพื่อความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม องค์คณะยังทำหน้าที่วินิจฉัยต่อไปได้ ทำให้เหลือ 8 จากองค์คณะ 9

โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ  กล่าวชี้แจงต่อไปว่า หากนายจรัญ ภักดีธนากุล ร่วมตัดสินใจคดีดังกล่าวทั้ง 5 สำนวน อาจถูกวิจารณ์ว่า รู้คำตอบล่วงหน้า

ทั้งนี้ในช่วงเช้า นายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้ถามนายจรัญ ภักดีธนากุล เกี่ยวกับคำพูดที่ขอให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550ไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขในภายหลัง ทำให้นายจรัญ ต้องลุกขึ้นชี้แจงเรื่องดังกล่าวในห้องพิจารณาคดี ว่า "ผมพูดตอนนั้นว่าถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2550 เราจะไม่พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น น่าจะต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน แล้วถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมไม่ควรก็แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแบบยกเลิกทั้งฉบับ ซึ่งคนละประเด็นกับคดีนี้ ดังนั้นแก้ไขมาตรานั้นมาตรานี้หรือ 100 มาตราก็ไม่มีปัญหา เพราะสังคมจะได้ตรวจสอบแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขแต่ละประเด็นแต่ละมาตรา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ"

ทั้งนี้เมื่อปี 2550 ในการดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่จัดโดยมูลนิธิองค์กลางเพื่อประชาธิปไตย นายจรัญกล่าวว่า "ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยหลังการถอนตัวของนายจรัญ ทำให้ขณะนี้เหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 ราย คือนายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั่งบังลังก์ตุลาการศาลวินิจฉัยคดีนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จรัญ ภักดีธนากุล (5 ปีที่แล้ว) เสนอให้รับ รธน.50 แล้วค่อยแก้มาตราเดียวเพื่อยกร่างใหม่

Posted: 04 Jul 2012 09:29 PM PDT

หมายเหตุ: ตามที่ในวันนี้ (5 ก.ค. 55) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่งบัลลังก์ศาล ได้ชี้แจงต่อผู้ถูกร้องจากพรรคเพื่อไทยว่า ในสมัยที่เขาเป็น ส.ส.ร.ปี 2550 นั้นเคยบอกว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เหมาะไม่ควรตรงไหนก็ให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ยกร่างทั้งฉบับนั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อวันที 3 ส.ค. ปี 2550 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิไตยได้จัดดีเบตระหว่างฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยหนึ่งในผู้อภิปรายฝ่ายสนับสนุนคือจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงที่ 2 ของการอภิปราย นายจรัญได้เสนอให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปก่อน เพราะเป็น "สิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน " และหลังจากนั้นสามารถแก้ไขมาตราเดียวแบบเดียวกับที่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยนายจรัญยืนยันว่าเป็นวิธีการที่ "ราบรื่น" กว่าการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีรายละเอียดของการอภิปรายดังนี้

 

"การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ‘ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที’ คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้"

จรัล ภักดีธนากุล, รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ส.ค. 2550

 

จรัญ ภักดีธนากุล
รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550

ผมก็ดีใจมาก ที่กิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่น จนถึงเวลาใกล้จะยุติลงได้ด้วยดี ขอเรียนว่าอย่างนี้ครับ ที่เราคุยกันมาทั้งหมด 3 ชั่วโมงนี้ ล้วนแต่เป็นความคิดเห็น และความเชื่อของแต่ละคนๆ ซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างกัน มีประสบการณ์ความรู้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความยึดมั่น ถือมั่นของพวกเรากันเองว่าจะรุนแรงเกินไปไหม ถ้าเราลดคลายทิฐิมานะลงบ้างทุกฝ่าย แล้วก็เริ่มต้นทำใจเป็นกลาง แล้วก็วิเคราะห์ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาของบ้านเมืองให้หาประโยชน์ให้ได้ว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการก้าวต่อไปของเราในการลงประชามติ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์มากกว่าหรือน้อยกว่าแล้วเราก็ตัดสินใจอย่างนั้น อย่าได้ถูกชี้นำหรือชักนำไปตามความคิดความเห็นของวิทยากรที่นำเสนอในวันนี้ นะครับ

ผมเองในฐานะได้รับมอบหมาย จากคณะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้สรุป ผมก็ต้องสรุปอย่างนี้ครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน (ปรบมือ)

ผมเคารพและได้ฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์วรเจตน์ชัดเจนวันนี้ เมื่อสักครู่นี้ ว่าท่านเห็นทางสะดวกของท่านเหมือนกัน แต่ว่า ท่านครับ นั่นคือความเห็นและความเชื่อไม่ชัดเจนแน่นอน ราบรื่นเท่ากับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้

จุดที่สองครับ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ‘ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที’ คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ (น้ำเสียงหนักแน่น) เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้

ท่านครับ ท่านไม่มีอะไรไปบังคับเขาได้นะครับ! ไม่มีเลย นี่เป็นความคาดหวังของเรา แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดละครับ อะไรจะเกิดขึ้น นะฮะ แต่ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดีจะเลว เราได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประเทศ เราได้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชน แล้วหลังจากนั้นครับ เราช่วยกันเถิดครับ ช่วยกันพาประเทศนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ที่เราทุกคนอยากได้อีกครั้งหนึ่งเถิดครับ

ส่วนร่างฯ มาตรา 309 ท่านครับ เจตนารมณ์ท่านอาจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ พูดชัดตรงกับเจตนารมย์ของเราว่า ต้องการคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ไม่ชอบไม่คุ้มครอง ท่านอย่าตีความไปอย่างอื่น เปิดช่องให้มีการเล็ดลอดออกไปอย่างนั้นครับ ผมคิดว่าจะเอาเจตนารมย์นี้ให้มั่น ณ วันนี้ว่า มาตรา 309 มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขอบคุณครับ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกลับมาของ "โค้ก" และความกังวลของผู้ผลิตน้ำอัดลมพม่า

Posted: 04 Jul 2012 07:53 PM PDT

หลังการประกาศเข้าไปลงทุนในพม่าของ "โคคาโคล่า" ทำให้เหลือเพียง "เกาหลีเหนือ" และ "คิวบา" เท่านั้นที่ยังไม่มีน้ำอัดลมยี่ห้อนี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นต่างกังวลถึงอนาคต หากต้องเข็นน้ำอัดลมยี่ห้อท้องถิ่นมาแข่งด้วย ในตลาดที่ผู้บริโภคชาวพม่าพร้อมเปลี่ยนมาดื่ม "โค้ก" แม้ราคาจะสูงเทียบค่าแรงขั้นต่ำ

แฟ้มภาพเมื่อปี 2551 เป็นภาพน้ำอัดลมที่ผลิตในพม่า ยี่ห้อ Fantasy รสส้ม และ Star น้ำอัดลมรสโคล่า ทั้งนี้ผู้ประกอบน้ำอัดลมพม่ากำลังเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่คือ "โคคาโคล่า" ที่ประกาศจะเข้าไปจำหน่ายน้ำอัดลมในเครือ และเข้าไปลงทุนในพม่า

 

โคคาโคล่าเตรียมกลับเข้าไปลงทุนในพม่า หลังถอนการลงทุนไป 60 ปี

ทั้งนี้บริษัทโคคาโคล่า ของสหรัฐอเมริกา หรือผู้ผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อโค้ก ระบุว่าจะเริ่มเข้าไปประกอบธุรกิจในพม่าโดยเร็วที่สุด หากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกใบอนุญาตให้เข้าไปประกอบธุรกิจในพม่า หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐอเมริกาได้เริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าชั่วคราว

ทั้งนี้พม่าเป็นหนึ่งในสามประเทศที่โคคาโคล่า ไม่เข้าไปดำเนินการทางธุรกิจมากว่า 60 ปีแล้ว โดยนอกจากพม่าแล้ว บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ได้ถอนตัวหลังจากคิวบาเกิดการปฏิวัติ และรัฐบาลของฟิเดล คาสโตรได้ยึดทรัพย์สินเอกชน นอกจากนี้โคคาโคล่าไม่เคยทำธุรกิจในเกาหลีเหนือ

แถลงการณ์ของโคคาโคล่าระบุว่า จะเริ่มต้นนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านก่อน ในระหว่างที่กำลังเริ่มสร้างฐานการผลิตในพม่า

ทั้งนี้ระหว่างปี 2503 ถึง 2554 ประเทศพม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารซึ่งทำให้ฝ่ายค้านถูกปราบ และขณะที่ครองอำนาจอยู่ก็เผชิญกับการประณามและมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้เยือนพม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายๆ ทศวรรษ และได้ลดมาตรการคว่ำบาตรลงในขณะที่พม่าเองก็มุ่งปฏิรูปประชาธิปไตยในหลายๆ ด้าน

 

ความกังวลของผู้ประกอบการพม่า

ขณะเดียวกัน ข่าวการกลับเข้ามาลงทุนของพม่า หลังถอนตัวออกไปกว่า 60 ปี ได้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำอัดลมพม่าต่างกังวลถึงอนาคตของพวกเขา เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการน้ำอัดลมยี่ห้อที่คนรู้จากมากที่สุด ในสมรภูมิการค้าที่ต้องเข้าถึงหัวจิตหัวใจผู้บริโภคชาวพม่า โดย สำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า การที่สหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าชั่วคราว กำลังทำให้ประเทศพม่ากำลังค่อยๆ เลิกการทำตัวนอกคอก หลังถูกโดดเดี่ยวมาหลายทศวรรษ แต่สำหรับผู้ผลิตน้ำอัดลมในประเทศ นี่เป็นยิ่งกว่ายุคปิดฉาก และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอุตสาหกรรมท้องถิ่น

โดยความกังวลแรกคือ ผู้บริโภคชาวพม่าจะคำนึงเรื่องราคาสินค้ามากกว่าความจงรักภักดีต่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และจะย้ายข้างไปดื่มโค้กทันทีที่มันหาได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เพราะตอนนี้เครื่องดื่มยี่ห้อนี้ถูกถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพ โดยนายจาย จ๋าม ทุน ประธานบริษัทลอยแหง บริษัทผลิตน้ำอัดลมในพม่ากล่าวว่า "คนพม่าส่วนใหญ่จะเริ่มดื่มโค้ก เมื่อบริษัทนี้เข้ามาทำธุรกิจที่นี่"

ทั้งนี้ เครื่องดื่มโค้กสามารถพบเห็นอยู่แล้วตามเมืองใหญ่ของพม่า เนื่องจากการค้าระหว่างชายแดนไทย-พม่า โดยขายที่ราคากระป๋องละ 1,000 จ๊าต (36 บาท) ซึ่งเท่ากับค่าแรงทั้งวันของคนพม่าส่วนใหญ่ ในขณะที่ยี่ห้อที่ผลิตในพม่าขายกันที่ราคาขวดละ 100 จ๊าต (3.60 บาท) อย่างน้ำอัดลมยี่ห้อ Happy ยี่ห้อ Star และ ยี่ห้อ Sweety โดยที่ราคาส่วนต่างขนาดนี้ จะลดความถี่ห่างลงทันทีถ้าโค้กเข้ามาผลิตภายในประเทศ

หยี่ หยี่ ผู้จัดการด้านการตลาดของน้ำอัดลมยี่ห้อ Happy กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดีว่า "เมื่อพวกเขาตั้งโรงงานที่นี่ พวกเขาจะสามารถขายได้ในราคาเดียวกัน หรือราคาถูกกว่ายี่ห้อน้ำอัดลมในพม่า" นอกจากนี้หยี่ หยี่ ยังกล่าวด้วยว่ามีข่าวลือว่าบริษัทโคคาโคล่าจะลงทุนมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐในพม่า

 

ทางเลือกให้รอด: ถ้าไม่ร่วมมือก็ต้องแข่งกัน

จาย จ๋าม ทุน กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดี ว่ามีทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในพม่าคือ "ขายกิจการให้โคคาโคล่า ร่วมมือกับเขา หรือพยายามแข่งด้วย"

"เมื่อพวกเขามาที่นี่ พวกเราคงต้องไปเจรจาด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าแผนของพวกเขาเป็นอย่างไร ในบางประเทศ พวกเขาจะร่วมทุนดำเนินกิจการกัน ในบางประเทศพวกเขาจะลงทุน 100% ดังนั้นพวกเราต้องรอดูว่าพวกเขาจะทำอะไรที่นี่"

สำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า ในอดีต บริษัทน้ำอัดลมพม่าได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของบริษัทต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม ทั้งนี้ มีกรณีที่บริษัทเป็บซี่โค ออกจากพม่าในปี 2540 เพื่อตอบสนองต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอมริกา ทำให้เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และแรงงานทักษะจากโรงงานของเป็นซี่โคไปร่วมงานกับบริษัท MGS ผู้ผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อ Crusher และ Star Cola ซึ่งขายในราคาที่สูงกว่ายี่ห้ออื่นในตลาดพม่าคือขวดละ 300 จ๊าต (12 บาท)

ทั้งนี้ บริษัทจากต่างชาติ ถือเป็นภาวะคุกคามต่อบริษัทท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตก หรือผู้ผลิตน้ำอัดลมราคาถูก คุณภาพต่ำจากจีน ที่มาขายกดราคายี่ห้อท้องถิ่นและสำหรับผู้บริโภคชาวพม่า ผลิตภัณฑ์ต่างชาติถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาสามารถไว้ใจได้

นอกจากนี้ เพื่อลดกระแสวิจารณ์ ยังมีรายงานด้วยว่า บริษัทโคคาโคล่าวางแผนที่จะบริจาคเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในสถานที่ทำงานด้วย

 
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Burma’s Soft Drink Makers Brace for Big Changes, By MAY LAY / THE IRRAWADDY | June 28, 2012 | http://www.irrawaddy.org/archives/7975


Coca-Cola returns to Burma after a 60-year absence, BBC, 14 June 2012 
http://www.bbc.co.uk/news/business-18453401
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน

Posted: 04 Jul 2012 07:47 PM PDT

อ่านข่าวคนขับรถท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกพูดเรื่องนายถูกข่มขู่ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงใครคนหนึ่ง ที่ถูกข่มขู่อยู่เนืองๆ เมื่อสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เขาคือประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกทุบรถ ถูกอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง จนขี้เกียจจำ จำได้แต่ว่าทุกครั้งที่จะออกมาไล่รัฐบาล ประสงค์เป็นต้องถูกข่มขู่เอาฤกษ์เอาชัย ทั้งที่ได้ฉายาซีไอเอเมืองไทย (ซีไอเอโดนขู่ อย่างนี้มีแต่ในประเทศไทย)

ให้บังเอิ๊ญ ท่านวสันต์ท่านก็ออกมามี “บทบาททางการเมือง” ครั้งแรกในคดีที่เจ้าของฉายา “ปีศาจคาบไปป์” ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุกหุ้นฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งตอนนั้นผมก็ชูสองมือเชียร์ท่านสุดใจ ท่านพูดถูกครับ ตุลาการต้องตัดสินคดีไปตามเนื้อผ้า ต้องไม่เอาประเด็นทางการเมือง อคติ สุคติ มาชี้นำ เป็นห่วงเป็นใยว่าถ้าทักษิณผิดแล้วจะไม่มีใครบริหารประเทศ
 
คดีซุกหุ้นคือต้นกำเนิดของ “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งต่อมาอีกฝ่ายก็เอามาใช้ คิดว่าถ้าไม่เอาทักษิณให้ตาย ประเทศชาติจะพินาศฉิบหาย
 
ท่านวสันต์น่าจะเข้าใจดี และน่าจะยืนหยัดหลักที่ท่านพูดไว้
 
ท่านวสันต์ยังเป็นฮีโร่สำหรับผม เมื่อครั้งวิกฤติตุลาการปี 2534 ที่ท่านเป็นโฆษกฝ่าย “กบฎ” คัดค้าน อ.ประภาศน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม เข้ามาแทรกแซงอิสระของฝ่ายตุลาการ ในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา มองย้อนหลังไปอย่างไรผมก็เห็นว่าท่านทำถูกต้อง ท่านปกป้อง “ประชาธิปไตย” ของผู้พิพากษา ในการเลือกคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” เข้ามาเป็นประธานศาลฎีกา
 
กรณีนี้ “กบฎตุลาการ” ไม่ได้รบกับนักการเมืองนะครับ แต่รบกับ อ.ประภาศน์ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็เคารพนับถือ ไม่ใช่นักการเมืองเลวชั่วมาจากไหน ท่านเป็นคนดี แต่คิดแบบ “อำมาตย์” คือมองว่าคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” ไม่ใช่คนดี แล้วท่านก็พยายามใช้อำนาจสกัดกั้นสิทธิอิสระของตุลาการ จึงถูกผู้พิพากษารุ่นหนุ่มสมัยนั้นต่อต้าน ทั้งท่านวสันต์ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านวิชา มหาคุณ ฯลฯ ร่วมกับท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง ซึ่งท่านวสันต์ก็เจอวิบากกรรมจนถูกโยกย้าย
 
กาลเวลาพิสูจน์ว่า อ.ประภาศน์มองถูกบางเรื่อง แต่ “กบฎตุลาการ” ก็ต่อสู้ในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล หลักความเป็นอิสระ ของ ก.ต.ที่มาจากการเลือกตั้ง (1 คน 1 เสียง ฮิฮิ) “อำมาตย์” จะมาแทรกแซงไม่ได้
 
แต่ถ้าจะมีอะไรที่ผมไม่เห็นด้วยกับท่านวสันต์ ก็คือตอนที่ท่านผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเข้ามาแคนดิเดทเป็น กกต.แล้วไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา โดยย้อนว่าทำไมต้องแสดง ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือกว่าท่าน องค์กรอิสระที่วุฒิสภาเลือกก็มีปัญหามากมาย
 
ผมเชื่อนะว่าท่านไม่มีลับลมคมนัยอะไรจะต้องไปปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ท่านหยิ่งในศักดิ์ศรี ไอ้พวก ส.ว.ที่ชาวบ้านจน เครียด กินเหล้า เลือกเข้ามาเนี่ย มันบังอาจจะมาบังคับให้ตุลาการผู้สูงส่งอย่างท่านเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้อย่างไร
 
เอ้อ วุฒิสภาชั่วดียังไงก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ ท่านไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ “คนชั่ว” แต่ท่านต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อองค์กรที่ทำหน้าที่แทนประชาชน โดยส่วนตัว ท่านอาจเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีกว่า ส.ว.ทั้งหมดในสภา แต่เมื่อท่านจะเข้ามาทำหน้าที่ ท่านก็ต้องเคารพองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง
 
แบบเดียวกันที่ อ.ประภาศน์ต้องเคารพมติ ก.ต.ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ อ่อนด้อยมาจากไหน แต่นั่นคือองค์กรที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้พิพากษา
 
หลังท่านชัช ชลวร ลาออก ท่านวสันต์ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อย่างน่ากังขาว่าตำแหน่งนี้เปลี่ยนได้ด้วยหรือ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้โปรดเกล้าฯ ประธานพร้อมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แบบตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือบางองค์กร ที่เป็นตุลาการก่อนแล้วค่อยเป็นประธานอีกครั้ง
 
แต่เอาเถอะ ไม่มีใครยื่นตีความ ท่านวสันต์ก็กลายเป็นประธานที่มีสีสันที่สุด นับแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมา แหม จะไม่มีสีสันได้ไง ก็เล่นวลี “สีทนได้” สมแล้วที่เป็นรุ่นน้องของ “ซ้ายที่แปด” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (คอยดูซักวันท่านจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นบทกวี เอ๊ะ หรือจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหว่า)
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนท่านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ชะอำ อ่านแล้วมันส์มาก
 
“ผมก็ทำอาชีพด้านกฎหมายนี้มา 44 ปี แล้ว แต่ก็นึกขำและตลกอยู่เหมือนกัน ที่คนที่ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์หลายช่องเชิญนักวิชาการมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว ผมไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่ขำและแปลกใจเท่านั้น เมื่อพิธีกรถามนักวิชาการในเรื่องของเนื้อหากลับงง และตอบหน้าตาเฉยว่ายังไม่เห็นคำร้อง แต่ด่าได้เป็นฉากๆ”
 
ใครหว่า ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ผมเห็นแต่เจษฎ์ โทณะวณิก จบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา วิเคราะห์กฎหมายมหาชนเป็นคุ้งเป็นแคว นักวิชาการส่วนใหญ่เขาไม่ได้พูดเรื่องคำร้องนะครับ เขาวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาต่างหาก เขาบอกว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ามาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่ไม่มีอำนาจ
 
แต่ท่านก็ยังบอกอีกว่า “เราก็ไปดูในตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะโหวตในวาระ 3  ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้เหมือนกัน (ที่จะล้มล้างฯ) เพราะรัฐสภาชุดนี้ขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
 
ฟังแล้วงงดี แบบนี้รัฐธรรมนูญ 40 ก็ขายขาดไม่รับคืน แถมท่านยัง “สะบัดธง” (ไม่ใช่ฟันธง) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิด ซึ่งทำให้มีเสียงตอบโต้เซ็งแซ่ว่า ท่านทำผิดจริยธรรม แหม แต่ใครจะไปกล้าตีความ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งให้ใครตีความ
 
กระนั้น คนรักเท่าผืนเสื่อคนชังเท่าผืนหนัง ไม่จีรังทุกสรรพสิ่ง คนชอบท่านก็เยอะเหมือนกัน จิ๊กโก๋แถวบ้านบอกว่าท่านพูดได้ชัดเจนดี ปากกับใจตรงกัน ต้องอย่างนี้สิ นักเลง ไม่มีอ้ำอึ้ง
 
“แล้วตกลงที่บอกว่าล้มล้างการปกครองก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาปฏิเสธว่ามีความคิดแนวนี้หรือไม่ ไม่เห็นมีใครปฏิเสธสักคำ เป็นคู่ความประสาอะไรมิทราบ โจทย์ฟ้องจำเลยแทนที่จำเลยจะไปสู้คดีกับโจทย์แต่กลับมาสู้กับศาลฯ ไม่รู้ว่าสภาทนายความสอนแบบนี้หรือ แล้วจะชนะความได้อย่างไร และการที่รับคำร้องเพราะรับไว้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้บอกว่าใครจะแพ้จะชนะ ก็ดันจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย์สั่งให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม”
 
โห ท่อนนี้ได้ใจเด็กเกรียนได้เสียงกรี๊ดไปเต็มๆ ครับ โดยเฉพาะที่ทิ้งท้ายว่า “ผมเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่ค่อนข้างที่จะลืมยาก จิ๊กโก๋แถวบ้านตีความว่า “ลงบัญชีไว้แล้ว เดี๋ยวเช็คบิลระนาว” มันยังยุส่งว่านี่ถ้าท่านตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบฯ ถอดถอนกราวรูด 461 ส.ส. ส.ว.ล้มรัฐบาลและรัฐสภาทั้งระบอบ ก็น่าถอดเสื้อเบ่งกล้ามทำหน้าถมึงทึง จะสะใจเป็นที่ซู้ด
 
ผมเลยตบหัวมันบอกว่า เฮ้ย นั่นมันมาริโอ บาโลเตลลี นี่ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน (แต่ขนาดนั้น เว็บไซต์บางแห่งก็ดันเอาภาพท่านไปเปรียบเทียบกับ ดอน จมูกบาน เวงกำ!)
 
ในช่วงเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ไป “วางบิล” เอ๊ย ยื่นถอนประกันจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้นักกฎหมายงงกันเป็นแถบว่าใช้อำนาจอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีก่อการร้าย แค่จตุพรวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันจตุพรได้เชียวหรือ
 
จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้วินิจฉัย หรือจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องสอด ร้องแทรก ร้องแส่ ฯลฯ
 
ถ้างั้นต่อไปนี้ จตุพร หรือจำเลยคดีอาญาคนอื่นๆ ไปเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระ กกต.ปปช.กสม. ฯลฯ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ทุกคนทุกหน่วยก็สามารถยื่นคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันได้ใช่ไหมครับ
 
สมมติเช่น สนธิ ลิ้ม อยู่ระหว่างประกันตัวคดีโกงแบงก์กรุงไทยติดคุก 85 ปี ไปวิจารณ์องค์การสวนสัตว์ ปลุกมวลชนขู่ล่าชื่อถอดถอน ผอ.องค์การสวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ก็น่าจะเลียนแบบศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนประกันสนธิ ลิ้ม มั่ง
 
ถ้าองค์การสวนสัตว์ยื่นคำร้องขอถอนประกันสนธิ ศาลจะรับไปไต่สวนไหม อธิบดีศาลอาญาจะออกมาพูดไหมว่า “ในข้อเท็จจริงแล้วแม้องค์การสวนสัตว์จะไม่ใช่คู่ความ แต่คำร้องที่องค์การสวนสัตว์ยื่นมานั้น มีผลกระทบต่อสังคมและพฤติการณ์ของนายสนธิตามที่ร้องมา ก็มีการเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชน ที่สามารถเห็นและรับรู้ได้ เป็นกรณีที่เห็นชัดแจ้งในสังคม และเข้าข่ายข้อกำหนดในการประกันตัว ถึงองค์การสวนสัตว์ไม่มีคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้ และการพิจารณาเรื่องการถอนประกันนั้น ก็ไม่ได้นำประเด็นจากเอกสารองค์การสวนสัตว์มาเป็นประเด็นพิจารณาหลัก แค่ใช้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น”
 
แหม ฟังแล้วปวดหัว ไม่รู้องค์การสวนสัตว์ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จิ๊กโก๋แถวบ้านมองว่าองค์การสวนสัตว์ไม่มีอำนาจบารมี แถมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ 8 ใน 9 คน ยังมาจากตุลาการศาลยุติธรรม (แม้บางคนเลี้ยวมาจากศาลปกครอง) เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในศาล มีลูกศิษย์ลูกหา ลูกน้อง อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่มากมาย แถมการที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี ความศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันตุลาการโดยรวม
 
ใช่ไม่ใช่ ท่านก็คงต้องชี้แจงพวกเอาจิตใจต่ำช้ามาวัดจิตใจวิญญูชนหน่อยละครับ
 
จอดป้ายไหนดี
ในขณะที่ใครต่อใครวิเคราะห์กันอื้ออึงว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร จะสั่งให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผิดมาตรา 68 หรือไม่ ผมว่าพวกท่านก็คงหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะหาทางลงแบบไหน
 
คือถ้าจะเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นข้ออ้างล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภา โดยมีอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตทหารปลดแอกประชาชนไทย มาเป็นบอดี้การ์ดระหว่างพิจารณา มันก็พิลึกกึกกืออยู่ นี่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลประชาชนโค่นล้มทุนนิยมให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือไร
 
โห ถ้าศาลวินิจฉัยทันทีวันที่ 6 รัฐบาลล้มทั้งยืน รัฐสภาสิ้นสภาพ แล้วพวกบอดี้การ์ดหน้าโหลไชโยโห่ร้อง “พรรคคอมมิวนิสต์จงเจริญๆๆๆ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน จงเจริญๆๆๆ” คงดูไม่จืดเลย
 
ผมเชื่อว่าศาลท่านก็น่าจะรู้ดี ถ้าวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็นองเลือด เพราะพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลคงยอมไม่ได้ ต่อให้บอกว่าเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ชนะ แต่ชนะแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ใครมันจะยอมครับ
 
ถ้าชี้เปรี้ยงวันที่ 6 อันที่จริงก็จังหวะดี เพราะวันเสาร์ที่ 7 การเมืองต้องหยุด 1 วัน ห้ามรบกัน เพราะเป็นวันในหลวงเสด็จฯ ชลมารค รัฐบาลและรัฐสภายังไม่ทันตั้งตัว วันอาทิตย์ พันธมิตร สลิ่ม ปชป.อาจออกมายึดสนามบิน ยึดทำเนียบ เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่จะล้มล้างระบอบฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล (หรือเรียกร้องนายกพระราชทาน ให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท) แต่ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาตั้งหลักได้ ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งศาล ระดมมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ เข้ามายึดกรุงเทพฯ ยึดจังหวัดสำคัญ ยึดค่ายทหาร ยึดสื่อ ยึดสถานีดาวเทียม ยึดทรู ยึดแกรมมี่ ฯลฯ ระดมกำลังทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ เตรียมต่อต้าน คงรบกันแหลก
 
คำถามคือศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะรับผิดชอบไหม กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยชี้ว่าท่านคือผู้จุดชนวน
 
อย่าลืมว่า การรับคำร้องมาตรา 68 ไม่ได้มีแค่นิติราษฎร์ หรือนักกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านนะครับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันอย่างคุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ปปช.ยังวิพากษ์ไม่มีชิ้นดี
 
ยิ่งพูดในหลักการและเหตุผล ก็ยิ่งเข้าตาจน ผมนึกภาพไม่ออกว่าตุลาการจะอธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบได้อย่างไร ในเมื่อจรัญ ภักดีธนากุล ก็พูดไว้ตอนดีเบตว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ โดยให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบปี 2540 มาคราวนี้ พวกท่านจะกลับไปเชื่อสมคิด เลิศไพฑูรย์ ว่ามาตรา 291 ห้ามแก้ทั้งฉบับ อย่างนั้นหรือ
 
พวกท่านต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าจะเชื่อจรัญ หรือเชื่อสมคิด หรือเชื่อเมียสมคิด (ฮา) (แหม น่าเสียดาย ข่าวล่าสุรพล นิติไกรพจน์ จะไปแทนซะแล้ว)
 
พวกท่านอธิบายไม่ง่ายนะครับ แม้แต่การห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 นักการเมืองเขาลากถูกันได้ แต่นักกฎหมายต้องมีหลัก สมมติท่านย้ำว่าห้ามแก้ แก้แล้วถือว่าล้มล้างระบอบฯ ก็จะมีคนโต้ว่า อ้าว ทีรัฐธรรมนูญ รสช.2534 ยังแก้ได้ หมวด 1 เพิ่มคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ระบอบนี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2534 เองนะ ก่อนหน้านั้นเขาใช้คำว่า “มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”)
 
รัฐธรรมนูญ รสช.ยังไปแก้หมวด 2 ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ทั้งที่เนื้อหาเดิมตั้งแต่ฉบับแรก 59 ปี เขาให้รัฐสภา “เห็นชอบ” ทั้งสิ้น มีอย่างที่ไหน รัฐประหารแล้วยังบังอาจมาแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์
 
อะไรคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำถามไร้สาระนี้ท่านต้องตอบให้ได้ เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สรุปได้ 2 อย่างเท่านั้นคือมีประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ (ตราบใดที่มีพระมหากษัตริย์ ก็ต้องเป็นประมุข) ส่วนอื่นๆ จะเป็นเหมือนอังกฤษ สวีเดน ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน ฯลฯ ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น
 
ท่านจะอ้างอย่างเทพเทือกว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งประธานศาลฎีกาเองแบบระบอบประธานาธิบดี เทือกเป็นนักการเมืองพูดเหลวไหลอย่างไรก็ได้ ท่านเป็นนักกฎหมายพูดเลอะเทอะอย่างนั้นไม่ได้ ระบอบอเมริกาเขาให้ประธานาธิบดีเสนอชื่อตุลาการศาลสูงผ่านรัฐสภา แต่ระบอบอังกฤษยิ่งหนักกว่าเพราะรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่มีที่ไหนบัญญัติว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอำนาจปวงชนเกี่ยวข้องกับประธานศาลฎีกา
 
อ้าง ก็ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด เขายังต้องผ่านการรับรองของวุฒิสภา เห็นอยู่ตำตา
 
ป้ายที่สอง ถ้าท่านจะตัดสินยกฟ้อง ไม่มีความผิด รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ พวกทหารป่าก็จะโห่ฮาป๋า หาว่าพวกท่านเป็นมวยล้มต้มคอมมิวนิสต์ เกรียนสลิ่มจะผิดหวัง จิ๊กโก๋แถวบ้านจะบ่นอุบ ว่าไม่ต่างจากบาโลเตลลีกร่างไม่ออก โดนสเปนขยี้ 4-0 อุตส่าห์เอาวากันมาถึงขนาดนี้ จะกลายเป็นโดนด่าฟรี เพราะพวกเสื้อแดงต้องด่าอยู่ดีว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า
 
ลงป้ายนี้ก็เสียศาล เอ๊ย เสียศูนย์เหมือนกันนะครับ
 
ป้ายที่สาม ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แต่ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ถอดถอนคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ให้ไปแก้ไขใหม่ นับหนึ่งใหม่ แก้เฉพาะมาตรา
 
ไอ้รัฐบาลขี้แขะขี้กลัวนี่มันคงจะยอมท่านหรอก แต่สมมตินะ สมมติ มีพวกยุแยงตะแคงรั่วเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เลือกตุลาการกันใหม่ คราวนี้ท่านจะทำอย่างไรละครับ เพราะถ้าท่านเข้าไปขัดขวาง เขาก็จะกล่าวหาว่าท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อนนี่หว่า หวงเก้าอี้นี่หว่า ตุลาการผู้มีคุณธรรมจริยธรรมคงหน้าบาง ไม่กล้าเข้าไปยับยั้งหรอก คริคริ
 
ป้ายที่สี่ ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะล้มล้างระบอบฯ ฉะนั้นก่อนลงประชามติ สสร.ร่างเสร็จ แทนที่จะให้ประธานสภาวินิจฉัย ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจข้อสอบก่อน
 
รัฐบาลขี้ขลาดก็คงจะยอมท่านอีกแหละ ซื้อเวลาต่อไป แต่คิดให้ดีนะครับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขแต่ละประเด็น ไม่ใช่จะรวบรัดเอาในเวลาสั้นๆ ต้องมีการหยั่งเสียงในสังคม ผ่านการถกเถียงทางสื่อ ทางเวทีสาธารณะ มีคนเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย จึงผ่านแต่ละประเด็นมาได้
 
สมมติเช่น จะแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สอง ให้สรรหาจากสัดส่วนต่างๆ เช่น ตุลาการ อาจารย์มหาลัย องค์กรทางสังคม ทางรัฐศาสตร์ ทางกฎหมาย มีที่มาหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ แล้วส่งชื่อให้วุฒิสภาเลือก
 
หรือถ้ามีข้อตกลงที่ตกผลึก เช่น การแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ให้ศาลเสนอผู้มีอาวุโสสูงสุด 3 ลำดับมาให้คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แข่งกับคนนอกอีก 3 คน ที่มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยต้องเป็นศาสตราจารย์กฎหมายมา 5 ปี มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบถ้วน มีการอภิปรายลับแล้วลงมติ ฯลฯ สังคมฟังแล้ว เออ เห็นด้วย เข้าท่าดี
 
ถามว่าตอนนั้นท่านจะไปขัดขวางเขาอย่างไร จะเอาตรงไหนไปชี้ว่าล้มล้างระบอบ
 
เฮ้อ คิดแล้วก็น่าปวดกบาลแทนนะครับ จะเลือกลงป้ายไหน ก็มีเด็กอาชีวะรออยู่ทุกป้าย ไม่น่าขึ้นรถเมล์มาเลย
 
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอยุส่งมั่ง เลือกทางไหนก็ได้ครับที่ให้มันจบเร็วๆ ขี้เกียจยืดเยื้อ ล้มโต๊ะไปเลย หรือไม่ก็ถอยไปเลย อย่างหลังยังพอจะด่ากลับได้ว่า เห็นไหม พวกจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย๋ให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับผู้กำกับ "Oxygen" การแสดงที่เล่นกับลมหายใจ

Posted: 04 Jul 2012 04:09 PM PDT

 

“Oxygen” ธาตุอากาศที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากเปรียบเสรีภาพเป็นออกซิเจนที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อากาศที่เราใช้หายใจกันทุกวันนี้กลับเหลือน้อยลงเต็มที... และทุกลมหายใจที่สูดเข้าไปภายในร่าง...อากาศแบบไหนกันนะที่กำลังขับเคลื่อนตัวของเรากันอยู่?                                           (ข้อความจากหน้าประชาสัมพันธ์ Oxygen)

 


บางฉากจาก Oxygen

กลุ่มละครบีฟลอร์ กลุ่มละครร่วมสมัยวัย 13 ปีจัดการแสดง Oxygen ถ่ายทอดห้วงจังหวะการหายใจและความเป็นไปของเสรีภาพท่ามกลางบริบทแบบไทยๆ โดยเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ และกาล่าดินเนอร์ เพื่อระดมทุนเป็นค่าเดินทางไปแสดงงานเรื่องเดียวกันนี้ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของผู้จัด Underground Zero Festival เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
 


ธีระวัฒน์ มุลวิไล

ธีระวัฒน์ มุลวิไล เล่าว่า Oxygen เป็นเรื่องสุดท้ายของงานไตรภาคที่เขากำกับ โดยเรื่องแรกแสดงในปี 53 ชื่อ "Flu-O-Less-Sense" หรือชื่อภาษาไทยว่า "ไข้ประหลาดระบาดไทย" เป็นการสะท้อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายถึง 91 คน โดยในช่วงที่กำลังซ้อมละคร ก็เกิดเหตุการณ์นี้พอดี จึงอยากสะท้อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ และพูดเรื่องการใช้สื่อทั้งทางเว็บ เฟซบุ๊ก ทุกอย่างบิวด์ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมา

"น่าตกใจว่าทำไมคนมันสุดขั้วหรือสุดโต่งขนาดนี้ ทั้งที่ข้อมูลเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่บิวด์ขึ้น เราก็รู้สึกว่ามันสร้างบรรยากาศให้นึกถึงหนัง Hotel Rwanda" ธีระวัฒน์กล่าว

ธีระวัฒน์ มองว่า การรับสื่อไม่ว่าจากเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ก็จะต้องเกิดผลบางอย่าง ส่วนคนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องอะไรก็จะรู้สึกว่าโดนคุกคาม พร้อมตั้งคำถามว่า ปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่ จริงๆ แล้วเรากำลังพูดถึงเสรีภาพ แล้วก็ความเป็นธรรมด้วย ใช่หรือเปล่า ตรงไหนคือจุดที่จะบรรจบกัน แล้วคำว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ที่แน่ๆ เขาบอกว่า จุดที่ไม่เห็นด้วยคือที่มีคนตาย

ในการแสดงครั้งนั้นใช้พร็อพไม่เยอะ ใช้จานเป็นสัญลักษณ์ แทนทุกอย่าง แทนการเล่น การ playful ใช้เสียงจานกระทบกับโต๊ะให้เหมือนกับเสียงปืนที่ยิงออกไป รวมถึงมีเอฟเฟกต์ของการใช้โปรเจคเตอร์เพื่อเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ แต่สำหรับ Oxygen เลือกจะเล่นกับการหายใจ

"เราเล่นกับเรื่องการหายใจอย่างเดียวเลย ดูว่าเราหายใจยังไง ได้กี่วิธี ได้กี่แบบ มันเกิดจากตรงนี้ เพราะการหายใจมันทำให้เกิด movement ก่อนจะเกิดอะไรอย่างอื่นต่อ พอมันมี movement ก็มีการสูบฉีด เกิดการไปต่อ" ธีระวัฒน์กล่าว

ต่อมา ใน "Fool Alright" ผู้กำกับหนุ่มบอกเล่าว่า เรื่องที่สองนี้เขาพยายามจะสืบย้อนไปว่าก่อนหน้านี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ของการบ้านการเมืองไทย นึกถึงนายอิน จัน มั่น คง หรือที่เรียกกันว่าผีราษฎร มีพิธีพราหมณ์ เพื่อทำให้บ้านเมืองได้รับการปกปักรักษา โดยวิธีการประหลาดๆ ที่เรียกหาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง ในตอนกลางคืน นำคนเหล่านั้นมาจับโยนลงไปในหลุม เอาเสาทับ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบอกว่านี่คือเรื่องจริง-ไม่จริง หรือความเชื่อก็แล้วแต่ แต่มันก็มีเรื่องนี้เกิดขึ้นให้เราได้ยินกัน เกิดเป็นคำถามว่า ถ้าการสร้างเมืองเริ่มขึ้นจากความตาย แล้วเราจะเจอกับอะไร

นอกจากนี้ เขายังคิดต่อไปถึงแนวความคิดเรื่องชนชั้น การสร้างรัฐธรรมนูญ เรื่องของฝ่ายขวา การทำลายหลัก 6 ประการ เล่าผ่านสัญลักษณ์อย่างกระดาษแฟกซ์และการเขียน พูดถึงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เรามีความคิดแบบทุกวันนี้ ... รากเหล่านี้มันลงลึก


บางฉากใน Oxygen

 

สำหรับ "Oxygen" ธีระวัฒน์ บอกว่า เมื่อนึกถึงอากาศ แอร์ ที่ทำให้รู้สึกว่าต้องการ หายใจไปกับมันด้วยความสบายใจ เราไม่ต้องการมลพิษอยู่แล้ว แต่คำถามคือเราเลือกได้ไหม นอกจากนี้ อากาศยังเป็นสิ่งที่แม้จะมองไม่เห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริง เช่นเดียวกับคำว่าเสรีภาพหรือประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็น อุดมการณ์บางอย่างไม่ใช่สิ่งที่เห็นหรือคว้ามันได้ ทำให้บางทีเมื่อเรามองไม่เห็น ก็อาจรู้สึกว่ามันไม่มี หรืออาจมองว่ามันไม่จำเป็นก็ได้

นอกจากนี้ ไอเดียของการหายใจก็เหมือนการรับความคิด เหมือน “You are what you eat.” กินอะไรไป คุณก็ได้รับสิ่งนั้น เรารับหรือเสพความคิดอะไรเข้าไปเยอะๆ ระบบการศึกษาเอย ความเชื่ออะไรบางอย่างก็สะสมไปในตัวเรา มันก็มีผลทำให้เราตัดสินใจอะไรบางอย่าง ปัญหาบางอย่างที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีคนถามอะไร เราต้องตอบแบบนี้ เพราะเรามีพื้นฐาน เราก็รู้สึกว่ามันเรื่องเดียวกัน สิ่งที่เราหายใจกับความคิดที่เราเอาเข้าไป ถือเป็นเรื่องเดียวกัน

ธีระวัฒน์บอกว่า ขณะที่งานสองเรื่องแรกแบ่งเป็นบทๆ เป็นงาน collage (ตัด-ปะ) ค่อนข้างชัดเจน เพื่ออธิบายความ แต่กับ Oxygen มันไหล เมื่อเริ่มอย่างหนึ่ง ต่อไปหาอีกอย่างหนึ่ง นัวเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเน้นไปที่ movement มากกว่าที่จะอธิบายความ เป็นการแสดงที่ผสมทั้งแดนซ์ ละครใบ้ visual arts ไม่ใช่ละคร และอาจจะอยากรู้ว่าผู้ชมรู้สึกไปยังไงกับผู้แสดง

"เราหายใจตาม" เพื่อนที่ไปด้วยกันบอก ธีระวัฒน์พยักหน้าและถามต่อว่า บางช่วงมันอึดอัด มันหายใจไม่ได้ใช่ไหม บางช่วงมัน "เฮ้ออ..." (ถอนหายใจโล่งอก)

เขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่อยากทำ เพื่อดูว่าจังหวะของนักแสดงกับผู้ชมจะจูนกันไหม

เมื่อถามถึงบทที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปหากต้องนำไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา ธีระวัฒน์บอกว่า ไม่ต่างกัน เพราะเรื่องนี้ใช้บริบทในประเทศน้อย โดยแม้จะมีภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ออกมา ก็ยังรู้สึกว่าเรื่องที่สื่อออกมามันเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

เขาบอกว่า สิ่งที่จะแตกต่างไปคงมีเพียงการจัดที่นั่งคนดู และฉาก ที่คงทำเต็มรูปแบบเหมือนที่เมืองไทยไม่ได้ ที่ทุกอย่างอยู่ในมือ จัดการได้หมดในหนึ่งอาทิตย์ ที่นู่น คงลำบาก คงต้องปรับบ้าง


สมาชิกจากกลุ่มละครใบ้ เบบี้ไมม์ มาช่วยสร้างความบันเทิง ระหว่างประมูลงาน

 

สำหรับการระดมทุน ที่เริ่มตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา จนถึงวันที่มีการประมูลงานและขายบัตรรอบปฐมทัศน์ รวบรวมเงินได้ทั้งสิ้น 380,510 บาท ซึ่งจุดนี้ เจ้าตัวบอกว่า น่าปลื้มใจแล้ว โดยต้นทุนของทีมทั้งหมด 12 คน มีทั้งค่าวีซ่า ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากินอยู่ ส่วน Underground Zero festival ที่เชิญไปแสดงนั้นสนับสนุนที่พักให้ และแบ่งบอกซ์ออฟฟิศกัน 40:60 ตอนนี้มองว่า ค่าตั๋วคงโอเค ส่วนค่ากิน คงเป็นเรื่องที่แต่ละคนคงต้องควักกันเอง

ทั้งนี้ นอกจากการแสดง Oxygen แล้ว บีฟลอร์ยังจะมีอีกสองโปรแกรมนั่น คือการแสดงเรื่องรสแกง โดยผู้กำกับ จารุนันท์ พันธชาติ และเวิร์คชอปกับคณะ Ping Chong and Company Theatre company http://www.pingchong.org/ คณะคนจีนที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา กว่า 20-30 ปีแล้ว โดยกลุ่มนี้จะสนใจเรื่องเชิงสังคมค่อนข้างมาก ใช้การสัมภาษณ์ผู้คน แล้วเอาบทมาทำละครด้วย

ก่อนจาก ธีระวัฒน์ บอกเล่าถึงเบื้องหลังแนวคิดในการทำงานของเขาไว้ว่า เราสนใจเรื่องสังคมการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ก็สนใจศิลปะ วัฒนธรรม เราสนใจว่าเราจะจัดสมดุลยังไง สมัยก่อนเราก็เคยทำละครที่เป็นแบบ provocative มากๆ ประเด็นแรงและตรงๆ ด้วย แต่ทีนี้เรากำลังสนใจหาบาลานซ์ที่ทุกคนก็น่าจะดูได้ แชร์กันได้ ไม่เช่นนั้นถ้าทำแรง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่มา พยายามจะหาเซนส์แบบกลางๆ ว่ามันคืออะไร เรารู้สึกว่าเรายินดีต้อนรับทุกความคิด ทุกฝ่าย เพราะท้ายที่สุดมันคือการแชร์กัน

"ถ้าคนไม่มาดู art มันก็ไม่ไปไหน หรือประเด็นหรือหัวข้อมันก็ไม่ไปไหน" บทสนทนาทิ้งท้ายจากคนละคร

 

 


//////////////////////
หมายเหตุ:
ละคร Oxygen จะแสดงในวันที่ 5-16 กรกฎาคม 2555 (เว้นวันอังคาร-พุธ) ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55
สนใจดูรายละเอียดได้ที่www.bfloortheatre.com http://www.bfloortheatre.com
https://www.facebook.com/Bfloor.theatre.group

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น