โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มหาวิทยาลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 1 : เมื่อเราไม่ได้พูดถึง “พลเมือง” คนเดียวกัน

Posted: 30 Apr 2017 01:01 PM PDT

สัมมนาสาธารณะถกปัญหาการศึกษาพลเมืองช่วงประชาธิปไตยขาลง ผอ.ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ชี้ต้องสร้างพลเมืองที่ต้านเผด็จการเพื่ออนาคต ดันยากหน่อย ทุกวันนี้เรายังพูดถึงพลเมืองคนละคนกันอยู่เลย

เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท จัดสัมมนาสาธารณะ "บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม" ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในงานมีการเชิญตัวแทนอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย นักวิชาการชาวไทยและต่างชาติ ตัวแทนจากฝ่ายธุรกิจ แรงงาน หน่วยงานระหว่างประเทศและนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมอภิปรายหลายประเด็น

ประชาไทเปิดบทที่ 1 ของสัมมนาสาธารณะด้วยบทสัมภาษณ์จาก ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ว่าด้วยความลักลั่นของการตีความพลเมืองในไทย ความจำเป็นที่แท้จริงของการสร้างพลเมืองผ่านการศึกษา ปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้างที่เป็นกับดักในการทำงานด้านการสร้างพลเมืองในประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน

ผมว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากมองไม่เห็นบทบาทตัวเองในการเตรียมพลเมือง เพราะเขามองตัวเองเป็นสถาบันวิชาชีพ วิชาการ เตรียมสถาปนิก วิศวกร วิชาชีพต่างๆ เขามองไม่เห็นว่าทำไมคนที่มีอาชีพเหล่านี้ต้องเรียนรู้เรื่องพลเมือง แล้วก็จัดพอให้มันมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ตามเกณฑ์การประเมิน ค่อนข้างผิวเผิน พลเมืองที่มหาวิทยาลัยเตรียมอยู่ก็จะออกมาแบบผิวเผิน


ประชาไท : ในประเด็นการสร้างพลเมืองผ่านสถาบันอุดมศึกษา ยังมีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ตกบ้าง

อรรถพล อนันตวรสกุล(ที่มา:exteen)

อรรถพล : ตอนนี้เวลาเราคุยเรื่องพลเมือง เราไม่ได้พูดถึงพลเมืองคนเดียวกัน รัฐก็ต้องการพลเมืองดีในความหมายคนที่เคารพกติกา เราจึงเห็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบนั้น วาทกรรมมันชัดมาก แต่เวลาเราพูดเกี่ยวกับการสร้างความเป็นพลเมือง เราไม่ได้พูดถึงแค่การเคารพกฎหมาย มันคือพลังของพลเมือง ให้เขารู้ว่าเขาเป็นคนของที่ไหน แล้วเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบ มีบทบาทในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันไกลกว่าเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามกติกาสังคมแล้ว มันคือการสอนเรื่องการตระหนักในพลังตัวเองว่าสามารถต่อรองได้ มีบทบาทในการตั้งคำถาม รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มสร้างกลไกที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้สังคมที่ตัวเองอยู่ดีขึ้น

นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากเพราะเรามองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน โรงเรียนมองแบบหนึ่ง มหาลัยมองแบบหนึ่ง สังคมมองแบบหนึ่ง นักวิชาการที่ขับเคลื่อนการศึกษาความเป็นพลเมืองก็มองอีกแบบ คิดเสียว่าเป็นโอกาสเพราะตอนนี้ประเด็นพลเมืองกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นโอกาสที่ทำให้เราแลกเปลี่ยนว่าพลเมืองที่เราต้องการเป็นยังไง ตอนนี้เห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำงานอยู่ แต่กระบวนทัศน์ของผู้ใหญ่ที่มองเรื่องพลเมือง ยังมองพลเมืองแค่ว่าต้องรับผิดชอบตัวเอง เคารพกติกา แค่เป็นคนบริจาคของบ้าง อาสาสมัครบ้าง แถมเป็นการอาสาแบบบังคับ นับชั่วโมงจิตอาสาอีก มันไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ ถ้าพลเมืองทำด้วยการถูกบังคับก็ไม่ใช่พลังพลเมืองสิ เป็นแค่ประชาชนที่เป็นหมากที่รัฐใช้ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นพลเมืองทำด้วยความมุ่งมั่นทางการเมือง มีความเต็มอกเต็มใจในการแก้ปัญหา ใช้พลังของตัวเอง ของกลุ่ม มีความเข้าใจสังคมในองค์รวมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำลังตื่นตัวในการเตรียมพลเมือง เพราะมีการกำหนดเป็นวาระของ สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ขึ้นมา แต่รูปแบบการผลิตของมหาวิทยาลัยมีเพียงแค่กิจกรรมจิตอาสา

ผมว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากมองไม่เห็นบทบาทตัวเองในการเตรียมพลเมือง เพราะเขามองตัวเองเป็นสถาบันวิชาชีพ วิชาการ เตรียมสถาปนิก วิศวกร วิชาชีพต่างๆ เขามองไม่เห็นว่าทำไมคนที่มีอาชีพเหล่านี้ต้องเรียนรู้เรื่องพลเมือง แล้วก็จัดพอให้มันมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ตามเกณฑ์การประเมิน ค่อนข้างผิวเผิน พลเมืองที่มหาวิทยาลัยเตรียมอยู่ก็จะออกมาแบบผิวเผิน แค่รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่เขากำหนดมาให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น ไม่ได้เชื่อเรื่องของการทำให้นักศึกษาเห็นบทบาทของตัวเองที่จะจบไปเป็นบัณฑิตที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ตอนนี้เวลาเขาจัดการเรื่องพลเมืองในมหาวิทยาลัยก็โบ้ยไปที่วิชาการศึกษาทั่วไป ถ้าคุณให้จัดด้วยอาจารย์รัฐศาสตร์ก็จะติดเนื้อหาของทางการเมืองหรือรัฐศาสตร์อยู่ แต่มันก็ไม่ใช่พลเมืองในความหมายที่เราบอก แต่พอไปให้อาจารย์ที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็จะติดกับดักพลเมืองผิวเผิน ไปทำจิตอาสากัน ดังนั้นจึงไม่เห็นภาพของพลเมืองที่จะเข้าใจสังคมตัวเองจริงๆ โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และมีกลไกการเมืองเชื่อมโยงในการตัดสินใจ มองไม่เห็นบทบาทตัวเองที่ต้องเรียนนอกห้องเรียน แล้วพอลงเรียนวิชาการศึกษาทั่วไป มันก็จัดการยาก ถ้าจะจัดให้เด็กทุกคน ขนาดงานมันใหญ่ ถ้าผลักทุกอย่างไปลงการศึกษาทั่วไปหมดก็หาคนมารับผิดชอบไม่ได้ อีกอย่างวิชาพวกนี้เป็นวิชาพัฒนาคุณลักษณะ ไม่ใช่วิชาความรู้ที่จะมาสอบ คุณจะไม่สามารถสอนด้วยการบรรยายได้ คุณต้องมีแนวทางบางอย่างในการพาผู้เรียนเข้าใจสังคมที่เขาอยู่ ซึ่งมันท้าทายครูมากเพราะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อนักเรียนใหม่ เขาไม่ได้เป็นแค่คนรับความรู้จากเรา แต่เขาจะกลายเป็นหนุ่มสาวที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นคนทำหน้าที่สนับสนุนเขา เราต้องเคารพความเป็นพลเมืองของเขา แล้วให้พลเมืองในตัวเขาทำงาน

ถ้ามหาวิทยาลัยคือช่วงที่ดีที่สุดของคนหนุ่มสาวในการแสดงพลังของตัวเองไม่ได้ให้โอกาสให้ทำอย่างนั้นเสียแล้ว แล้วเขาจะแสดงพลังได้ตอนไหน เหมือนที่ตัวแทนจากสหภาพแรงงานบอกว่า เมื่อเขาไม่เห็นว่าตัวเองเป็นอะไร มีสิทธิอะไรบ้าง เขาก็เป็นแรงงานสมยอม บริษัทดูแลไม่ดีก็ต้องจำยอมไป ไม่เห็นสิทธิในการต่อรองเพื่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน

ถ้าในมหาวิทยาลัย สภานักศึกษา คณะกรรมการต่างๆ ยังเป็นร่างทรงผู้ใหญ่อยู่ ความเป็นพลเมืองมันก็ไม่เกิด เพราะมันเป็นเพียงการเป็นมือเป็นไม้ผู้ใหญ่ในการทำงาน แต่ไม่ได้เป็นเสียงของหนุ่มสาวจริงๆ และมันไม่ใช่วิชาใดวิชาหนึ่งหรอกที่จะโบ้ยให้รับผิดชอบไป มันต้องอยู่ในเนื้อของทุกหลักสูตรในการเตรียม คุณจะเป็นนักวิชาการที่สายภาษาก็ดี สายรัฐศาสตร์ก็ดี หมวกหนึ่งของคุณคือการเป็นพลเมืองเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า

เวลาเราพูดคำว่าพลเมืองมันจะจบเฉพาะตรงคำว่าพลเมือง "ดี" ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ที่ต่างประเทศก็เป็น เพราะคอนเซปต์พลเมืองดีก็มาจากตะวันตก แล้วมันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ แล้วพลเมืองดีคืออะไร ก็ถกเถียงกันเกิดเป็นพลเมือง 3 แบบ พลเมืองดีคือคนรับผิดชอบตัวเอง พลเมืองดีคือคนที่พยายามมีส่วนร่วม ไปอาสาสมัคร หรือพลเมืองดีคือคนที่เข้าใจว่าสังคมมีความไม่เป็นธรรม เราต้องช่วยเหลือให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น

ดูเหมือนความเป็นพลเมืองเชิงรุก (Active Citizen) เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย

ผมว่ามันไม่เคยถูกตั้งคำถาม เวลาเราพูดคำว่าพลเมืองมันจะจบเฉพาะตรงคำว่าพลเมือง "ดี" ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ที่ต่างประเทศก็เป็น เพราะคอนเซปต์พลเมืองดีก็มาจากตะวันตก แล้วมันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ แล้วพลเมืองดีคืออะไร ก็ถกเถียงกันเกิดเป็นพลเมือง 3 แบบ พลเมืองดีคือคนรับผิดชอบตัวเอง พลเมืองดีคือคนที่พยายามมีส่วนร่วม ไปอาสาสมัคร หรือพลเมืองดีคือคนที่เข้าใจว่าสังคมมีความไม่เป็นธรรม เราต้องช่วยเหลือให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น มันมีการถกเถียงในเวทีนานาชาติ แล้วก็ส่งเสียงมาถึงเมืองไทย ทำให้วันนี้เราต้องมาคุยกันแล้วว่าพลเมืองของเราคือใคร ถ้ารัฐมองพลเมืองเป็นแค่คนที่รับผิดชอบ คุณก็เป็นแค่พลเมืองแบบ passive ทำทุกอย่างที่รัฐคาดหวัง ถ้าโรงเรียนมองอย่างนั้นโรงเรียนก็ต้องการแค่นักเรียนที่เคารพกติกา ไม่ต้องการให้เด็กส่งเสียง แต่ตอนนี้เราเริ่มพบแล้วว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคม การเมือง มันเรียกร้องพลเมืองที่ลุกขึ้นมาเอาบ้านเอาเมือง มีส่วนร่วมมากขึ้น แค่ก้มหน้าก้มตาทำดีในกลุ่มของเรามันไม่พอแล้ว มันปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกรัฐตอนนี้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำยังไงถึงจะทำให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมมากขึ้น มันต้องการพลเมืองที่มีส่วนร่วม ที่มองสังคมเป็น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ เกิดผลประโยชน์เท่าเทียม เป็นธรรมได้ เรื่องนี้ท้าทายมาก

ตอนนี้เริ่มมีการทำงานเรื่องนี้ แต่พอทำแล้วทุกคนก็กระโดดไปที่จิตอาสาหมด แล้วเด็กก็สงสัยว่า ทำไมจิตอาสาต้องบังคับ ทำไมเขาถึงไม่สามารถอาสาในเรื่องที่เขาสนใจได้ มหาวิทยาลัยก็ยังแก้โจทย์ไม่ออก ต้องมาทำงานกับเด็กเป็นพัน มันไม่สามารถรวบอำนาจไว้กับสำนักการศึกษาทั่วไปได้ มหาวิทยาลัยมีหลายคณะวิชา เขาถูกติดตั้งคอนเซปต์เข้าไปว่าเขาต้องเตรียมพลเมืองภายใต้วิชาชีพเขา เขาไม่สามารถผลักภาระได้ เภสัชกรไม่ใช่ว่าจะแค่จ่ายยาเป็น เขาต้องรู้ด้วยว่ายาที่เขาจ่ายทำจากอะไร ใช้โรงงานยังไง ทำไมมีราคาแพงราคาถูก ทำไมคนเข้าถึงยาไม่เหมือนกัน ซึ่งมุมแบบนี้คุณเอาคนต่างคณะมาพูดก็ไม่ได้ มันต้องติดตั้งคอนเซปต์ของพลเมืองสามแบบให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ได้ถกเถียง ให้เขารู้ว่าเวลาเตรียมนักวิชาการ นักวิชาชีพรุ่นใหม่ออกไป คนทำงานรุ่นใหม่เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ติดตัวไป อย่าไปติดกับดักแค่ว่า คุยเรื่องพลเมืองก็มาถกเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน คำพวกนี้พอหยิบขึ้นมาแล้วบางทีเป็นเรื่องเปราะบางในสังคม แต่ถ้าเรากลับมามองใหม่ว่าสิทธิมนุษยชนคือการเคารพกัน ประชาธิปไตยคือสังคมที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการอยู่ร่วมกันแล้วรับฟังกันได้ในสังคมที่หาทางออกร่วมกันได้ ถามว่าอันนี้คือสิ่งที่เราต้องการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้เป็นหรือเปล่า เราไม่ได้พูดถึงพลเมืองประชาธิปไตยคือแค่ต้องไปเลือกตั้ง เพราะถ้าเราพูดแค่การเลือกตั้ง มันก็จะเกิดกิจกรรมอย่างที่ในมหาวิทยาลัยที่ไปโหวตกันแล้วก็คิดว่านี่คือการเลือกตั้งแล้ว แต่มันเป็นแค่ตราประทับ เป็นร่างทรงของผู้ใหญ่ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งอยากให้เกิดกับพลเมืองของเรา

ความอยากทำให้กลุ่มหรือสังคมเราดีขึ้นมันติดตัวเรามา แต่ว่าถูกทำให้หายไปด้วยการศึกษา เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ใหญ่คิดว่าต้องคุมเด็กให้อยู่ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง เช่น กิจกรรมรับน้องที่พี่คุมน้อง ถ้าคุณจะปรับมุมมองเรื่องพลเมือง มันต้องไปทั้งองคาพยพ ไม่ใช่แค่ตั้งวิชามาหนึ่งวิชาแล้วแก้เข้าไปในกติกาของ สกอ.

การสร้างพลเมืองในมุมของรัฐคือการทำให้พลเมืองเป็นเครื่องมือของรัฐใช่ไหม

รัฐทุกรัฐก็อยากทำให้พลเมืองอยู่ภายใต้กรอบของรัฐ แต่คำถามคือ รัฐทุกรัฐก็มีจุดอ่อน มีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่คำนึงถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม ถามว่าเป็นหน้าที่ใครที่ต้องแก้ไขมัน คำตอบก็คือพลังพลเมืองที่กล้าตั้งคำถาม มองรอบด้าน ถ้าเราเตรียมแค่พลเมืองที่เชื่อฟังก็จบเลย รัฐชอบอยู่แล้ว รัฐจะให้ทำอะไรก็ทำได้ แต่ในสังคมประชาธิปไตย สังคมที่เคารพสิทธิ มันคือสังคมที่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามออกมา มันคือโอกาสให้คนที่คิดต่างกันถกเถียงกัน เมื่อเรายอมฟังความต่างได้ ฝึกความอดทนอดกลั้นได้ มันคือการทำให้มีตัวเลือกใหม่ๆ ในการตัดสินใจ มีตัวเลือกที่ดีขึ้น ฉะนั้นมันไม่ต้องสอนเป็นตัววิชาโดยตรงก็ได้ แต่มันอยู่ในบรรยากาศการอยู่ร่วมกันในห้องเรียน มหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา หรือนักศึกษาด้วยกันเอง หรือบรรยากาศกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่มีหลากหลายโทนมากขึ้น ที่ไม่ได้มีแค่กิจกรรมประเพณีนิยมหรือกิจกรรมบันเทิง แต่หยิบโลกข้างนอกขึ้นมาคุยกัน ได้รับเสียงสะท้อนจากนักศึกษาที่อยากเอาประเด็นสังคมมาคุยกัน เอาข่าวมาคุยกัน ความเป็นหนุ่มสาวมันสนใจโลกภายนอกนะ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยขังเขาให้อยู่แต่ในห้องเรียน ปั๊มเขาออกไปเป็นแรงงานตามวิชาชีพอย่างเดียว ไอ้พลังพลเมืองมันหายหมดเลย

ผมคุยกับคุณวิเชียร (วิเชียร พงศธร ประธานบริษัทพรีเมียร์กรุ๊ป ตัวแทนจากภาคธุรกิจผู้ร่วมเสวนา)นอกรอบ เขาบอกว่าจริงๆ ความเป็นพลเมือง ความอยากทำให้กลุ่มหรือสังคมเราดีขึ้นมันติดตัวเรามา แต่ว่าถูกทำให้หายไปด้วยการศึกษา เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ใหญ่คิดว่าต้องคุมเด็กให้อยู่ หรือระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง เช่น กิจกรรมรับน้องที่พี่คุมน้อง มันทำให้คนไม่ฟังกัน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ Top down (บนลงล่าง) ไม่เกิดการต่อรองกัน ถ้าคุณจะปรับมุมมองเรื่องพลเมือง มันต้องไปทั้งองคาพยพ ไม่ใช่แค่ตั้งวิชามาหนึ่งวิชาแล้วแก้เข้าไปในกติกาของ สกอ. แต่มันคือต้องยอมให้เกิดความหลากหลายของมิติการเตรียมพลเมืองซึ่งไม่เหมือนกันในทุกวิชาชีพ อย่างผมเตรียมคนเป็นครู คุณก็ต้องเป็นพลเมืองด้วย คุณจะสอนอะไรก็ได้ตามที่รัฐบอกให้สอนโดยไม่ตั้งคำถามไม่ได้ เพราะสุดท้ายคือคุณกำลังรับผิดชอบต่ออนาคตสังคมไทยอยู่ ถ้าคุณไม่มีจิตสำนึกเรื่องพลเมืองแล้วคุณจะปั้นหนุ่มสาวในมือคุณให้เป็นพลเมืองแบบไหนล่ะ คุณเป็นหมอ แล้วไม่มีจิตสำนึกเรื่องพลเมือง ถ้าคุณเจอผู้ป่วยเป็นคนชายขอบ คนไร้รัฐ คุณจะไม่ช่วยเขาเหรอ จรรยาบรรณวิชาชีพคุณบอกต้องช่วยทุกคนนะ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ถ้าหมอไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนแล้วหมอจะเป็นหมอแบบไหน มันเป็นโจทย์ให้แต่ละคณะ แต่ละวิชาชีพสร้างความเป็นพลเมืองของตัวเอง

การแยกเป็นวิชาชีพนั้นอาจดูชัดเจน แต่ถ้าพูดในภาพรวมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น ระหว่างลูกกับพ่อแม่ นายจ้างกับลูกจ้าง ที่ต่างคนต่างโตมากับบริบทในสังคมไม่เหมือนกัน จะทำให้มันเกิดภาพของการตระหนักรู้ถึงความเป็นพลเมืองได้อย่างไร

สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดคือค่านิยม ถูกมั้ย เราเคยอยู่ในสังคมที่ความอาวุโสมันแข็งมาก ห้ามเถียง ทุกวันนี้เราเห็นเด็กคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ยังไม่นับรูปแบบแนวราบ เช่น โซเชียลมีเดียที่ทุกคนเท่ากัน ไม่เห็นอายุกัน ถกเถียงกันได้ แต่พอเจอหน้าเป็นผู้ใหญ่กว่าเราหงอละ หรือพอในห้องเรียน คนพูดเป็นครูเราก็ไม่กล้าเถียงแล้ว ค่านิยมอาวุโสใช่ว่ามันไม่ดี แต่มันมีอีกด้านที่ต้องถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือทีเดียว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เป็นระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลง ถามว่าสังคมไทยทุกวันนี้กับยี่สิบปีที่แล้วเหมือนกันหรือเปล่า ยี่สิบปีที่แล้วคุณจะเชื่อเหรอว่าชาวบ้านจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับรัฐบาล มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตมันไม่พูดถึงสิทธิชุมชนด้วยซ้ำไป พอมารัฐธรรมนูญปี 2540 มันมาจากการต่อสู้เรื่องพลเมือง เราจึงมีเรื่อง EIA ขึ้นมา มีกลไกการต่อสู้ขึ้นมา มีการทำประชาพิจารณ์ขึ้นมา มันไม่ได้เปลี่ยนกันวันสองวัน ฉะนั้นเวลาเราเตรียมพลเมืองวันนี้ เราเตรียมเพื่ออนาคต ถ้าคุณเตรียมเด็กเพื่อวันนี้มันไม่ได้ เพราะเขาอยู่กับคุณตอนนี้ปี 1 อีก 5 ปีสังคมไทยเปลี่ยนหมดแล้ว อย่าลืมสิตอนนี้รัฐธรรมนูญใหม่กำลังมีผลบังคับใช้แล้ว อีกกี่ปีเราจะเปลี่ยนผ่านมีการเลือกตั้ง กลับไปสู่สังคมประชาธิปไตย ถ้าคุณเตรียมเด็กที่หงอๆ กับระบบที่เป็นเผด็จการทุกวันนี้มันไม่พอแล้ว คุณต้องคิดถึงอนาคต ถ้าเราพูดถึงเด็กประถมนี่ชัดเลย ถ้าเราสอนเด็ก ป.1 กว่าเขาจะเรียนจบมหาวิทยาลัยมันเป็น 10 ปี คุณต้องคิดถึงโลกอนาคตว่าพลังพลเมือง พลังประชาธิปไตยมันเปลี่ยนสังคมให้เป็นอีกแบบ เรากำลังเตรียมคนให้เป็นอนาคตของสังคม ไม่ใช่เป็นพลเมืองของอดีต

ในเชิงนโยบาย รัฐมีการกำหนดคุณลักษณะของเด็กเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 บ้าง ไทยแลนด์ 4.0 บ้าง การที่มีนโยบายซ้อนทับไปเรื่อยๆ แบบนั้น มีผลอย่างไรหรือไม่

มีผลสิ โครงสร้างอำนาจแบบบนลงล่างจากส่วนกลางมีผลกับการจัดการศึกษา เพราะเมื่อทุกคนเข้ามาด้วยผลประโยชน์ระยะสั้น นักการเมืองเข้ามาดันนโยบายเพื่อเอาผลงานเชิงประจักษ์ ไม่ได้คิดถึงสังคม ต่อให้ปฏิรูปการศึกษาแค่ไหน ถ้ามีนโยบายระยะสั้นอย่างนี้ มันส่งผลระยะยาวให้ไม่มีความต่อเนื่อง การจะพัฒนาเด็กคนหนึ่งคือการฟูมฟัก ไม่ใช่แค่สอนให้ท่องเลข ตอบโจทย์เท่านั้น การสร้างนิสัย สร้างความคิดคนเป็นเรื่องระยะยาว แล้วถ้าคนที่อยู่ภายใต้กลไกแบบนี้ไม่ตระหนัก ไม่ตั้งคำถามกับมัน เป็นครูแล้วไม่ตั้งคำถามกับนโยบายรัฐแล้วคุณทำอะไร คุณก็เป็นแค่เครื่องมือของรัฐไปกระทำต่อลูกศิษย์คุณ คำถามคือ เด็กจะโตไปเป็นแบบไหน มาเทอมหนึ่งเจอนโยบายหนึ่ง อีกเทอมเจอนโยบายหนึ่ง แล้วคนทำงานไม่ตั้งคำถาม คิดแบบข้าราชการ ไม่ใช่ครูไม่ใช่พลเมืองที่สร้างสังคมที่ดีกว่าผ่านห้องเรียนของตัวเอง ถ้าหากคนทำงานไม่มีจิตสำนึกแบบนี้มันก็จบแล้ว

วันนี้เราเห็นแล้วว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการทำอะไรตามใจตัวเอง คุณมีหน้าที่ตอบโจทย์สังคม เพราะหน่วยต่างๆ ที่จะรับบัณฑิตของคุณไปอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ วิชาชีพต่างๆ หรือกลุ่มที่จะเชื่อมโยงเด็กของเราไประดับนานาชาติ เขาเห็นนะว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมคนที่มีคุณภาพ ส่วนเสียงของเด็กคือ เด็กคาดหวังอะไรกับการมามหาวิทยาลัย และตัวเขาถูกมหาวิทยาลัยดูแลอย่างไร เสียงที่ได้ฟังมาตั้งแต่เสวนารอบเช้าคือ เด็กคิดว่าถูกมหาวิทยาลัยทำให้เป็นเด็ก ต้องฟังผู้ใหญ่อย่างเดียว เถียงไม่ได้

ถ้าไม่มีกิจกรรมพัฒนาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องการศึกษาความเป็นพลเมือง แล้วเขาจะสร้างคนแบบไหนขึ้นมา นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตอนนี้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สอนในอีกแบบ คือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เข้าหาชุมชน เข้าหาโลก

หลักสูตรการศึกษาความเป็นพลเมืองที่มีทุกวันนี้ยังขาดเหลืออะไร

สกอ. มองไปที่ตัวเด็ก แต่มองไม่เห็นตัวแสดงที่เป็นอาจารย์ นโยบายเกณฑ์คุณภาพบัณฑิตมีว่าวิชาการศึกษาทั่วไปต้องสร้างเด็กแบบไหนขึ้นมา คำถามคือแล้วใครจะทำให้ตัวพวกนี้มันใช้งานได้ ถ้าไม่มีกิจกรรมพัฒนาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องการศึกษาความเป็นพลเมือง แล้วเขาจะสร้างคนแบบไหนขึ้นมา นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตอนนี้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สอนในอีกแบบ คือสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เข้าหาชุมชน เข้าหาโลก เอาประเด็นในชุมชน ในสังคมโลกมาถกเถียงกันได้ สร้างบรรยากาศของการเคารพกัน พูดคุยถกเถียงกันได้ ทักษะพวกนี้อาจารย์เองก็ดูเหมือนไม่มี เพราะทุกคนถูกเตรียมเป็นนักวิชาชีพหมด เอาความรู้ตัวเองมาส่งต่อให้ สกอ. มองข้ามตรงนี้ไป ตอนนี้จะเห็นบางมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาอบรมอาจารย์เอง เชิญวิทยากรข้างนอกมาอบรมอาจารย์ ส่งไปเรียนเกี่ยวกับการสอน

นี่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขาด เพราะนโยบายสั่งลงมาว่าต้องเตรียมพลเมือง วิชาการศึกษาทั่วไปต้องมีวิชาสอนความเป็นพลเมือง แต่คำถามคือจะให้เขาทำยังไง เขาไม่มี How to ไม่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติที่จะแลกเปลี่ยนกับคนอื่นได้ ดังนั้นต้องจัดรูปแบบของการเรียนรู้ ให้พวกเขา[อาจารย์] ได้แลกเปลี่ยนความเห็นหรือมีการกำหนดโปรแกรม พัฒนาอาจารย์ ส่งเสริมให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการทำงานเรื่องนี้ สกอ. ไม่ต้องอบรมเอง แค่กำหนดนโยบายว่าทุกมหาวิทยาลัยจะต้องลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการสร้างบรรยากาศการเรียน ผมว่าแค่ไฟเขียวแค่นี้มหาวิทยาลัยก็ไปต่อได้ แต่ตอนนี้มันไม่มีแรงส่ง มหาวิทยาลัยก็ปรับไปๆ มาๆ

สกอ. เป็นฝ่ายวางนโยบายก็ต้องมีภาพที่ใหญ่มากๆ ต้องดูว่าในสังคมโลกมันเป็นยังไง แนวทางใหม่ๆ เป็นอย่างไรแล้วก็ดึงมาที่ไทย การไปดูงานมันได้แค่กลุ่มๆ เดียว แต่ถ้าไปดึงผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอก แล้วมาเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละวิชาชีพมีโอกาสไปพัฒนาต่อยอดในแบบของเขาเอง แต่มีคุณค่าหลักร่วมกัน

ถ้าคุณเปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ คุณก็สร้างพลเมืองไม่ได้ ตอนนี้เราเห็นเด็กพร้อมแล้ว เด็กตั้งคำถามตลอด ผู้ใหญ่ต่างหากที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะเขาเองก็ถูกหล่อหลอมมาอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเป็นหนุ่มสาว เขาก็โตมากับความคิดแบบบนลงล่าง อำนาจนิยม

เรื่องใหญ่ที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จากงานวิจัยที่งานเสวนานี้นำเสนอเห็นแล้วว่า ความเข้าใจของพลเมืองยังเป็นแบบเดิมอยู่เลย คือ ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ถูกระเบียบ เคารพกติกามหาวิทยาลัย เด็กถามมากผู้ใหญ่ไม่อยากตอบเพราะรู้สึกว่าถูกท้าทายอำนาจ ถ้าคุณเปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ คุณก็สร้างพลเมืองไม่ได้ ตอนนี้เราเห็นเด็กพร้อมแล้ว เด็กตั้งคำถามตลอด ผู้ใหญ่ต่างหากที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะเขาเองก็ถูกหล่อหลอมมาอีกแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเป็นหนุ่มสาว เขาก็โตมากับความคิดแบบบนลงล่าง อำนาจนิยม เถียงไม่ได้ เขาก็สะท้อนออกมาผ่านตัวเขา แต่ทีนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยน เด็กรุ่นนี้อีก 20-30 ปีสังคมไทยก็ไม่เหมือนเดิม คุณจะใช้วิธีแบบนั้นมาทำกับเด็กกลุ่มนี้ก็จะเห็นแรงต้าน จะมีเสียงสะท้อนว่าไม่ชอบ อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าช่องว่างตรงนี้มันต้องการการเติมเต็ม จะเตรียมคนทำงานยังไงไม่ให้ติดกับดักอยู่ในห้องเรียน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานได้เปล่าชื่อ ‘นักศึกษาฝึกงาน’: สวัสดิการไม่ต้องมี โอทีไม่ปรากฏ บาดเจ็บ-ตายรันทดจบง่าย

Posted: 30 Apr 2017 12:34 PM PDT

รู้จัก "นักศึกษาฝึกงาน" กันแค่ไหน เปิดปัญหาสารพัดการเอาเปรียบและประสบการณ์ "เสียว" ของนักศึกษาฝึกงานที่คุณ (น่าจะ) ไม่เคยรู้ 

ปี 2556 ปรากฏข่าวว่ามีกลุ่มนักศึกษาฝึกงานรวมกลุ่มกันในนาม "แฟร์ เพลย์" รณรงค์ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน เพื่อปรับทัศนคติการฝึกงานแลกประสบการณ์แบบเดิมๆ รวมถึงมีแผนร่วมมือกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ เหตุการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนพลังของกลุ่มนี้ก็คือ คำตัดสินของศาลในนิวยอร์กที่ตัดสินว่า บริษัท ฟ็อกซ์ เสิร์ชไลต์ พิกเจอร์ ผิดจริงตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและล่วงเวลา ฐานไม่จ่ายค่าแรงนักศึกษาฝึกงานที่ช่วยทำหนังเรื่องแบล็ก สวอน ในปี 2010  

ในประเทศไทย ประเด็นเรื่องนักศึกษา/นักเรียนฝึกงาน ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างนัก ทั้งเรื่องค่าแรง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้นักศึกษาไม่รู้ถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ ไปจนถึงการเผชิญกับปัญหามากมายที่นักศึกษาจะต้องพบเจออย่างยากลำบากระหว่างฝึกงาน 

ที่มาของการฝึกงาน "สหกิจศึกษา" ตามแบบ สกอ.

จากคู่มือการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการ จากการดำเนินงานสหกิจศึกษา หน้า 11 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยนำร่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี 2545

หลังจากนั้น สกอ. ได้เริ่มโครงการ "สหกิจศึกษา" ดำเนินการในลักษณะเดียวกันในปี 2547 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 60 แห่ง สถานประกอบการเข้าร่วม 2,000 แห่ง มีนักศึกษากระจายไปฝึกงานทั้งหมด 10,444 คน

มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาบัณฑิตในด้านต่างๆ และเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้​สัมพันธ์กับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต เพื่อให้องค์กรผู้ใช้​บัณฑิตได้​รับประโยชน์จากโครงงานหรืองานที่นักศึกษาปฏิบัติ ไปจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นักศึกษาฝึกงานในโรงงาน ทำงานเหมือนลูกจ้าง บาดเจ็บ-ตายไร้สวัสดิการ

สำหรับประเภทของนักศึกษาฝึกงานนั้น บุญยืน สุขใหม่ นักสิทธิแรงงานผู้คร่ำหวอดกับการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิแรงานกับคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย กล่าวว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหลายประเภทกว่าที่เราเข้าใจ แบบแรกคือ แบบทวิภาคี มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสถานประกอบการดังที่เราจะเห็นได้ทั่วไป แบบที่สองคือ แบบที่นักศึกษามาแสดงความจำนงขอฝึกงานด้วยตัวเอง

"คือเขาอายุไม่ถึงถ้าจะมาสมัครเป็นลูกจ้างมันก็จะเข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก ต้องแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เขาก็เลี่ยงมาใช้ช่องว่างตรงนี้แล้วเรีกว่า นักศึกษาฝึกงานแทน ซึ่งจะมีทั้ง ปวช. และ ปวส." บุญยืนกล่าว

บุญยืน เล่าว่า ปัญหาสำคัญที่นักศึกษาฝึกงานต้องเผชิญนั้นเผลอๆ จะหนักกว่าแรงงานโดยทั่วไป นั่นก็คือ การไม่ได้รับสิทธิในการลาป่วย การรักษาพยาบาล และเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ

โรงงานเอานักศึกษามาใส่กระบวนการผลิตแทนพนักงาน หากนักศึกษาหยุด หัวหน้างานก็ต้องลงมาทำงานแทน และมักเกิดการโต้เถียงกัน เมื่อเกิดปัญหาเขาก็ส่งตัวนักศึกษากลับ ทำให้ต้องดร็อปหรือหยุดเรียนไป 1 เทอม ทำให้นักศึกษาไม่สู้จะอยากลาป่วยกัน

บุญยืน กล่าวว่า ยังมีเรื่องของการทำงานล่วงเวลา อย่างนักเรียนนักศึกษาในช่วงอายุ 15-18 ปีอันที่จริงแล้วเป็นการใช้แรงงานเด็ก ตามกฎหมายโรงงานจะต้องแจ้งถึงกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่ในส่วนของนักศึกษาฝึกงานจะไม่มีหลักเกณฑ์นี้ พวก ปวช. โดยปกติเขาจะห้ามทำงานล่วงเวลา แต่บริษัทก็บังคับให้ทำงานล่วงเวลาทุกวัน  โดยปกติต้องห้ามเข้ากะ แต่ก็ต้อง เข้ากะทุกวันเหมือนพนักงานปกติ ขณะเดียวกันพวกนี้กลับไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ เลย

"คนพวกนี้จะใช้สิทธิลาป่วยตามปกติของพนักงานไม่ได้ เพราะไม่ได้ครอบคลุมประกันสังคม และเวลาเกิดอุบัติเหตุ เช่น แขนขาดกองทุนเงินทดแทนก็จะไม่เข้ามาดูแล เพราะไม่เข้านิยามคำว่า "ลูกจ้าง" กรณีตายก็มี ยกตัวอย่าง เครนยกน๊อตที่โรงงานหนัก 12 ตัน พอยกมันก็เกิดแรงเหวี่ยง นักศึกษาไม่เคยเข้าโรงงานก็ไม่รู้ว่าแรงเหวี่ยงมันช้าแต่มันกระแทกแรง กระทบหน้าอกยุบเสียชีวิต ถ้าเป็นพนักงานปกติกองทุนเงินทดแทนต้องให้ค่าจ้างทดแทน 8 ปี แต่สิทธินี้จะหายไปถ้าเขาเป็นนักศึกษาฝึกงาน" บุญยืน กล่าว 

แจ๊ค อดีตนักศึกษา ปวส.ที่ฝึกงานในบริษัทแห่งหนึ่งแล้วประสบอุบัติเหตุแขนขาด เนื่องจากโดนเครื่องทับแผ่นเหล็กทับแขนขณะปฎิบัติงาน "เครื่องปั้มเหล็กพัง เขาเลยปิดซ่อม เสร็จแล้วเขาก็ไม่ทดสอบ แล้วให้เด็กเข้าไปทำงาน จังหวะที่เราเข้าไปใส่งานสายไฮโดรลิคแตก เครื่องเลยร่วงลงมาทับแขนขาด" เขากล่าวด้วยว่า รักษาตัวในรพ.ราว 1 ปี ตอนแรกบริษัทจ่ายค่ารักษาที่เกินกว่าประกันสังคมจะสำรองจ่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ค่าแรงหรือค่าสูญเสียรายได้ จนต้องไปฟ้องร้องจนกระทั่งได้ค่าแรง 50% ได้รับเงินทดแทน 1 แสนบาทแล้วรับกลับเข้าทำงานด้วย คดีจบที่ชั้นไกล่เกลี่ยในศาล เมื่อปี 2552 มีกรณีคล้ายกัน มีคนนิ้วขาดทั้งมือแต่รับเงิน 4 แสน โดยไม่ขอกลับมาทำงานอีก   

นักศึกษาฝึกงานสายโปรดักชั่น ทำงานล่วงเวลา ไร้ค่าตอบแทน

มุฑิตา (นามสมมุติ) อาจารย์จากมหาลัยชื่อดังในจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงปัญหาการฝึกงานของนักศึกษาที่เธอดูแลว่า เวลาทำงานปกติคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน บางที่นักศึกษาทำงานโปรดักชัน เข้างาน 16.00 น. เลิกกอง 02.00 น. แต่นักศึกษาก็ไม่ได้ค่าตอบแทน กลับดึกๆ รถก็ไม่มีกลับ
 
"เราก็ต้องคอยถามนักศึกษาว่าไหวหรือเปล่า เด็กก็ชอบตอบว่าไหวๆ แต่ว่าถ้าเป็นเด็กผู้หญิงเราก็จะห่วงมาก เราก็เข้าไปคุยกับที่ทำงานขอให้เด็นทำงานเวลาปกติได้ไหม เขาก็บอกว่าปกติก็เข้างานกันเวลานี้ ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันไป ถ้าจะบอกว่าเป็นการขูดรีดแรงงาน เขาก็จะบอกว่าการทำงานมันก็อย่างนี้แหละ เด็กก็ต้องทำได้" มุฑิตา กล่าว

เรียนดีไซน์ จงไปเชื่อมเหล็ก

มุฑิตา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เจอมากอีกประการหนึ่งก็คือบริษัทไม่รู้ว่า "สหกิจศึกษา" คืออะไร เขาก็เข้าใจว่าเมื่อนักศึกษามาฝึกงานจะให้ทำอะไรก็ได้ อาจจะทำให้นักศึกษาทำงานได้ไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ได้เป็นเรื่องปกติ เช่น นักศึกษาเรียนออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์มา แต่บริษัทให้ถ่ายเอกสาร ซื้อของ แบกของ โดยอ้างว่างานออกแบบที่เขาทำกันอยู่มันสำคัญและยากเกินกว่าที่นักศึกษาจะทำ 
 
"มีนักศึกษาเรียนดีไซน์ แต่ถูกมอบหมายให้ไปเชื่อมเหล็กก็มี" มุฑิตาเล่า 
 
บุญยืน นักสิทธิแรงงาน ผมเคยสัมภาษณ์นักศึกษาเกือบทุกกลุ่ม ว่าเขาสามารถเอาที่สิ่งเขาฝึกงานไปต่อยอดให้ห้องเรียนได้ไหมส่วนใหญ่ก็ตอบว่าไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับที่เขาเรียนมา บางคนเรียนบัญชี แต่ต้องมาทำในสายงานผลิต มาตีอุปกรณ์มาประกอบอุปกรณ์ โรงงานก็จะคิดพวกหน้าตาดีดี แต่สัดส่วนน้อย คือความไว้วางใจเขาก็จะไม่มี เพราะโอกาสที่จะผิดพลาดมันสูง ส่วนใหญ่ให้เดินเอกสารบ้าง พนักงานต้อนรับบ้าง ซึ่งมันไม่ได้เพิ่มทักษะอะไร 

ค่าแรง - ได้บ้าง ไม่ได้เพียบ 

สำหรับค่าแรงหรือค่าตอบแทนของนักศึกษาฝึกงานนั้น มุฑิตากล่าวว่า นักศึกษาที่ฝึกงานบางส่วนได้ค่าตอบแทนบ้างแต่ได้ไม่เยอะ สถานประกอบการบางแห่งให้วันละ 200 – 500 บาท บางแห่งให้เป็นก้อน 4 เดือน 4,000 บาท 
 
"แต่ที่ให้ค่าตอบแทนนี่เป็นส่วนน้อยจริงๆ สมมุติว่าไปกัน 40 คน ก็จะมีไม่ถึง 10 คนที่ได้เงิน หน่วยงานราชการนี่ไม่ได้เลย เราคิดว่า ถ้าบริษัทจ้างฟรีแลนซ์เขาต้องจ่ายเงิน แต่ให้เด็กฝึกงานทำนี่ได้เป็นเกรดและข้าวกล่องตอนออกกองถ่าย ไม่ได้ค่าขนม บางบริษัทเขาจัดการอีกแบบ รู้ว่าเด็กฝึกงานมีฝีมือระดับเท่านี้ก็จะให้งานทำในส่วนหนึ่ง พอถึงเวลาเลิกงานปกติก็กลับบ้านได้เพราะเป็นเด็กฝึกงาน อันนี้เป็นเรื่องของเมตตาธรรมของบริษัทด้วย" มุฑิตา กล่าว
 
กลับไปที่สายโรงงานอีกครั้ง บุญยืนเล่าถึงเรื่องค่าตอบแทนว่า มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือในออฟฟิศ อีกส่วนคืองานการผลิต เรื่องนี้ไม่แน่นอนสถานประอบการบางแห่งจ่ายบางก็ไม่จ่าย จ่ายให้เป็นเงินก้อนบ้างก็มี แต่นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ที่อยู่ในสายงานการผลิตมักจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการก็ไม่ได้ 
 
"เช่น เข้ากะกลางคืนพนักงานปกติได้ 200 บาท คนพวกนี้อาจจะได้ 100 บาทหรือไม่ได้เลย ส่วนงานในออฟฟิศส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ค่าตอบแทน ในความเห็นผมคิดว่า มันควรที่จะได้ค่าตอบแทน เพราะก็เป็นการใช้แรงงานเป็นกรรมมาชีพเหมือนกัน การฝึกงานก็คือการสนับสนุนกระบวนการผลิต แม้กระทั่งคนส่งเอกสารยังได้ค่าแรงเลย นักศึกษาก็ควรได้เพราะเขาต้องกินต้องใช้ บางคนมาจากต่างจังหวัดต้องมาเช่าที่พัก ต้องเดินทางมาเอง ถ้าไม่มีค่าตอบแทนให้ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุน นอกจากจ่ายค่าเทอมแล้วต้องมาจ่ายสิ่งเหล่านี้อีก มันก็หนักมากสำหรับผู้ปกครอง" บุญยืน ให้ความเห็น
 
บุญยืน ยกตัวอย่างอีกว่า ถ้าพนักงานปกติทำล่วงเวลาก็จะได้ประมาณ 50 ชั่วโมงต่อเดือน ค่าตอบแทนตกประมาณ 20,000 บาทแต่ถ้าเป็นนักศึกษาฝึกงานทำงานล่วงเวลาไม่ได้หยุดทั้งเดือน ไม่หยุดเสาร์อาทิตย์ ได้ค่าตอบแทนเต็มที่เพียง 13,000-14,000 บาทและไม่มีสวัสดิการด้วย 
 
"ถามว่าเหมือนทาสไหม มันก็ดูไม่ได้ต่าง ผมเคยถามเขา ทำแบบสอบถามเลย เขาก็อยากจะหยุด แต่รายจ่ายก็จะรออยู่ ไม่ว่าค่าเทอม ค่าที่พัก" บุญยืน กล่าว

ค่ากินอยู่ ค่ามัดจำห้อง ค่าเดินทาง ค่า....

มุฑิตา กล่าวว่า เรื่องการฝึกงานในโครงการสหกิจศึกษานั้นเป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถเลือกไม่ไปก็ได้ แต่ต้องเรียนหรือทำโปรเจ็คต์วิชาอื่นแทน อย่างไรก็ตาม โดยนโยบายมหาวิทยาลัยนั้นอยากผลักดันให้นักศึกษาไปออกสหกิจมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายเช่นการเช่าห้อง เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เด็กเลือก
 
"เด็กมหาวิทยาลัยพี่บางคนก็ไปกลับ กรุงเทพ-ปทุมธานี เพราะไม่อยากจะเสียค่ามัดจำหอใหม่เพิ่ม และก็จะต้องจ่ายค่าจองหอเดิมไว้อีกเดี๋ยวกลับมาไม่มีหออยู่ เอาเข้าจริงๆ เด็กที่ไม่มีเงินก็อาจไม่มีโอกาสเท่าที่ควร แต่เด็กก็มีโอกาสเลือกเอง หลายบริษัทเช่นพวกโรงงานใหญ่ที่เด็กวิศวะไป เขามีที่พักให้เรียบร้อย เขานับเป็นพนักงานคนหนึ่งเลย บางที่เขาก็ให้นอนสำนักงานเลย"
 
บุญยืน ยกตัวอย่างกรณีการเช่าห้องของพวกนักศึกษาฝึกงานด้วยว่า มีกรณีที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งจ่ายค่าเช่าห้องให้นักศึกษาฝึกงานด้วย คนละ 2,500 บาท พร้อมทั้งจ่ายค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ไม่รู้ว่าทางอาจารย์จัดการอย่างไร สุดท้ายเช่าบ้านให้นักศึกษาอยู่รวมกันห้อง 5 คนใน 1 ห้อง
 
"กรณีนี้อาจารย์รับจากบริษัทเลย บริษัทจะจ่ายผ่านอาจารย์ แต่ออกมาเป็นแบบนี้"
 
"อีกกรณีหนึ่งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีพนักงานประมาณ 3,500 คน ใช้นักศึกษาประมาณ 40% หมุนเวียนกันไปทั้ง ปวช. ปวส. ใช้นักศึกษาเยอะมาก ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพราะเขาต้องการลดค่าแรง" บุญยืนกล่าว

บริษัทตั้งขึ้นเพื่อจ้างนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะ

สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจ้างนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะ มุฑิตากล่าวว่า เคยเจอ แต่ไม่บ่อยนัก มักเป็นบริษัทที่มีคอนเนคชั่นกับมหาวิทยาลัย โดยบริษัทที่ทำงานไม่ทันต้องใช้คนปิดงานเพิ่ม ต้องการคนช่วย เขาก็จะขออาจารย์ให้ส่งเด็กมา เด็กไปทำงานเสมือนพนักงานจริงแต่ไม่ได้เงิน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม เด็กได้ฝึกงานจริงแต่บริษัทก็ได้เงินโดยที่ให้พวกเขาเป็นแรงงานฟรี ตรงนี้อาจารย์ต้องติดตามว่าเขาให้ทำงานอย่างไรบ้าง บริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าอาจารย์เห็นว่าไม่ไหวต้องเข้าไปคุยแทน 

ปัญหาชู้สาว ท้องส่งกลับวิทยาลัย

บุญยืนยังเล่าถึงอีกปัญหาสำคัญของนักศึกษาฝึกงานโดยเฉพาะเพศหญิง โดยหยิบยกกรณีที่นักศึกษาหญิงท้องกับพนักงานชาย หรือกับนักศึกษาด้วยกันเอง กรณีแบบนี้ทางบริษัทจะส่งตัวกลับ
 
"พนักงานชายเวลาเห็นนักศึกษาฝึกงานสาวๆ มา เขาก็จะมองเป็นเนื้ออ่อนประมาณนั้น ก็จะชวนไปโน่นมานี่ ก็จะมีปัญหาชู้สาว พอตั้งครรภ์ขึ้นมาก็หมดอนาคต ผมมองว่ากรณีนี้การส่งตัวกลับไม่เหมาะสมเพราะผมคิดว่ามันเป็นการตัดอนาคต เรื่องของศีลธรรมก็ต้องตักเตือนกัน แต่แบบนี้เขาจะต้องสูญเสียโอกาส เสียเวลา และอับอายด้วย การเรียนเขาจะเสียไปเลย ถ้าเป็นกรณีพนักงานหญิงท้องไม่เป็นไร เลิกจ้างไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ แต่ถ้านักศึกษาท้องส่งตัวคืนทันที" บุญยืนกล่าว
 
บุญยืน ยังกล่าวอีกว่า อีกแบบหนึ่งซึ่งมักเป็นส่วนใหญ่ของปัญหาชู้สาวก็คือ ผู้ชายมีภรรยาอยู่แล้ว ทำให้ภรรยาตามมาตบตีกันที่โรงงาน กระทบงาน กรณีแบบนี้โรงงานไม่ไล่พนักงานออก เพราะไม่ชัดว่าจะยกเหตุอะไรเนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว และถ้าจะไล่พนักงานออกต้องจ่ายชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่กรณีของนักศึกษา การส่งตัวนักศึกษากลับ บริษัทไม่ต้องเสียอะไรเลยเพราะคำนิยามคำว่า "ลูกจ้าง" ไม่มีแต่ต้น

กฎหมายรับรองสิทธินักศึกษาฝึกงาน...ยังไม่มี

บุญยืน กล่าวว่ากฎหมายที่จะรองรับสิทธิหรือคุ้มครองสิทธินักศึกษาฝึกงานนั้นถึงวันนี้ยังไม่มี เขาเคยผลักดันเรื่องนี้หลายครั้งในยุคที่เป็นบอร์ดประกันสังคม โดยเคยเสนอในบอร์ดว่าควรแก้บทนิยามคำว่า "ลูกจ้าง" ในส่วนของประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิรักษาพยาบาล และในส่วนของกฎหมายเงินทดแทนที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุของการทำงาน เพราะเคยมีนักศึกษาแขนขาดนิ้วขาด นิ้วหัก พาไปรักษาที่โรงพยาบาลต้องจ่ายค่ารักษาเอง มหาวิทยาลัยไม่ได้รับผิดชอบอะไร กรณีของน้องที่แขนขาดเขาช่วยไปฟ้องแพ่งกับบริษัทให้ ทำให้ได้เงินมาหลายบาท โดยใช้มาตรา 420 ตามประมวลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะส่วนใหญ่เวลาเกิดอุบัติเหตุเขาก็จะเลิกจ้าง นักศึกษาก็ถูกส่งตัวกลับ ต้องเข้าใจว่าเขามาฝึกงานเพื่อศึกษาต่อ ไม่ใช่ฝึกงานเพื่อที่จะทำงาน เขาก็หมดอนาคต เราก็ต้องให้เขาอยู่ในสังคมนี้ให้ได้ 
 

บุญยืน ย้ำด้วยว่า จริงๆ แล้วควรแก้บทนิยาม คำว่า "ลูกจ้าง" ในกฎหมายแรงงานทุกฉบับ ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะสิทธิแรงงานขึ้นอยู่กับคำว่าลูกจ้างนี้เอง ลูกจ้างคือผู้ที่นายจ้างตกลงว่าจ้างที่จะทำงานให้นายจ้าง แต่นักศึกษาฝึกงานไม่ได้ใช้คำว่า ค่าจ้าง เวลาไปร้องประกันสังคม เขาก็บอกว่าไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปร้องกองทุนเงินทดแทนหากเสียชีวิตให้จ่ายเงินทดแทน 15 ปีของค่าจ้าง เขาก็ไม่บอกว่าเข้าบทนิยาม

ในส่วนของ ประกาศกระทรวงแรงงาน บุญยืนกล่าวว่า มันเป็นการทำประกันภัยกลุ่มทั่วไป ในทางปฏิบัติบริษัทประกันภัยจะปฏิเสธสิทธิ และทำวงเงินคุ้มครองน้อยมาก เพราะนักศึกษากระจายกันออกทำงาน การประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยทำได้ยากจึงทำแค่วงเงินจำกัดหรือเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้นและนักศึกษาก็ไม่ได้ทราบระเบียบหรือข้อกำหนดการประกันเลยว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง

ประกาศกระทรวงแรงงาน กรณีการให้ค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นเบี้ยเลี้ยง ไม่ใช่ค่าจ้าง ซึ่งกำหนดว่าบริษัทต้องให้ค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้ฝึกงาน

 

หมวด 3 ข้อที่17 ระบุว่า บริษัทดำเนินการจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการฝึก 

อาจารย์มุฑิตากล่าวว่า การฝึกสหกิจศึกษาเป็นการฝึกในระยะเวลา 4 เดือน ถ้ามหาวิทยาลัยทำ MOU ความร่วมมือกับองค์กรก็จะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ถ้าไม่ได้ให้รายได้แก่นักศึกษาก็จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนี้ไม่ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีหน่วยงานสหกิจอยู่ มหาวิทยาลัยต้องให้ความรู้กับทางบริษัท และนักศึกษาจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว

ในหนังสือคู่มือขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา ระบุว่า สำหรับสถานประกอบการที่รับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Intergrated Learning :WIL) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ได้แก่ ระบบฝึกงาน Apprentice หรือระบบทวิภาคี (Dual Training) หรือระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) หรือระบบฝึกหัด (Internship) สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิประโยชน์จากการนับจำนวนผู้รับการฝึกตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ได้ทั้งหมด โดยต้องมีระยะเวลาการฝึกในแต่ละหลักสูตรต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง 

ที่มา แผนภูมิ : คู่มือขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการจากการดำเนินงานสหกิจศึกษา หน้า 41-42
 

มหาวิทยาลัยต่อรองสิทธิ-สวัสดิการให้นักศึกษา...ลำบาก?!

เพ็ญนภา (นามสมมุติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวว่า ในสถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้เซ็น MOU ตามที่ สกอ.ที่กำหนด และหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำ แต่ความจริงแล้วต้องทำ การละเลยอาจเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานสหกิจ หรือเป็นความต้องการของตลาดด้วย เพราะการที่องค์กรจะมาเซ็นสัญญาด้วยจะต้องเห็นผลประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้เขา มหาวิทยาลัยต้องชี้ให้เห็นว่าเขาได้ได้รับผลประโยชน์ ฉะนั้นสถานประกอบการส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยเซ็นกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง

เพ็ญนภา กล่าวอีกว่า การเรียกร้องค่าสวัสดิการต่างๆ ตามที่คุ้มครองลูกจ้างตามกฎหมายเป็นเรื่องลำบาก เพราะมันจะบีบให้ตลาดของการฝึกงานปิดตัวทันที

"ตรงนี้บอกในฐานะของคนที่ส่งเด็กออกไป เพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมารัดคอตัวเองให้เสียผลประโยชน์ เพราะทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ไม่ใช่การกุศล ถ้าจะทำอย่างนั้นได้ นักศึกษาฝึกงานทุกคนต้องมีคุณภาพสูงสุด มหาลัยทำได้ไหม ไม่ได้ และบอกได้เลยว่าเขารับลูกจ้างชั่วคราวดีกว่า รับรองว่าไม่มีใครรับนักศึกษาฝึกงาน และการจะทำตามเกณฑ์สหกิจตามที่ สกอ.กำหนดจะต้องนัดพบองค์กร ให้พบกันเพื่อสัมภาษณ์ ยื่นใบสมัคร หรือหน่วยงานจะต้องมาหาถึงที่ หรือจัดประชุมต่างๆ รายสถานที่ประกอบการ และอาจารย์นิเทศน์งานก็จะต้องนิเทศถึงสองครั้ง ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณมหาศาล ที่เป็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย" อาจารย์เพ็ญนภา กล่าว

เพ็ญนภา กล่าวถึงประเด็นการฝึกงานไม่ตรงกับที่เรียนว่า อันที่จริงแล้วการฝึกงานมีหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ตอนเข้าไปเราก็ต้องให้นักศึกษาระบุว่าตัวเองเข้าไปทำงานในตำแหน่งอะไรก่อน และงานถ่ายเอกสาร งานประสานงานเป็นหน้าที่รอง ซึ่งสถานประกอบการหลายที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ได้สนใจ อาจารย์ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่เลิกส่งเด็กรุ่นหลังไป หรือทำได้เพียงเข้าไปอธิบายหลักเกณฑ์หรือขอให้ช่วยปรับการทำงาน

"ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่เขาเลือกไม่ฟังแล้วปฏิเสธก็ได้ มันก็ว่าด้วยข้อตกลง ถ้ามหาลัยต้องง้อก็ต้องง้อต่อ เราจะเรียกร้องอะไรเขาได้ เขาก็ไปสนใจคนที่ไม่เรียกร้อง มหาวิทยาลัยก็เสียผลประโยชน์ ในวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมความสัมพันธ์สำคัญกว่ากฎเกณฑ์ เพื่อให้งานมันดำเนินไปได้" เพ็ญนภา กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สมเเล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา" ไม่สามารถโพสต์ข้อความนี้ลงเฟซบุ๊กได้

Posted: 30 Apr 2017 12:02 PM PDT

เฟซบุ๊กบล็อกคำว่า "สมเเล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา" เตือนว่าเป็นสแปม ด้าน 'สมศักดิ์' แนะให้โพสต์โดยแก้คำว่า 'แล้ว' จากสระ 'แอ' เป็น สระ 'เอ' 2 ตัวแทน

1 พ.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนโพสต์แจ้งว่าไม่สามารถโพสต์คำว่า "สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา" ลงในเฟซบุ๊กได้ เช่น เฟซบุ๊กชือ 'Rackchart Wong-arthichart' โพสต์ภาพและข้อความยืนยันว่าไม่สามารถโพสต์ข้อความดังกล่าวได้ โดยเฟซบุ๊กระบุว่าเป็นข้อความสแปม

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์เชิงล้อเลียนพร้อมให้ทางแก้ปัญหาด้วยว่า เขาบอกว่า แทนที่จะพิมพ์ "สระ แอ" ตามปกติในคำที่สอง ให้พิมพ์ "สระ เอ" สองครั้งแทน ก็จะพิมพ์ประโยคข้างล่างนี้ได้ ("สม...") ไม่เช่นนั้น ถ้าพิมพ์ตามปกติ ระบบมันจะไม่ให้โพสต์

"ผมลองแล้ว ไม่ให้จริงๆ ขำหนักมาก ใครไม่เชื่อลองพิมพ์ตามปกติดูก่อนสิ ไม่ได้จริงๆ สมเเล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา" สมศักดิ์ โพสต์

ผู้สื่อข่าวได้ทดสอบโพสต์ข้อความดังกล่าว เมื่อเวลา 1.40 น. ที่ผ่านา พบว่าไม่สามารถโพสต์ได้เช่นกัน โดยเฟซบุ๊กเตือนว่า "การกระทำถูกบล็อก ระบบรักษาความปลอดภัยของเราพบว่ามีหลายคนพยายามโพสต์สิ่งเดียวกันพร้อมกัน ซึ่งอาจหมายความว่ามันเป็นสแปม กรุณาเขียนโพสต์ใหม่ หากคุณคิดว่าคุณกำลังเห็นสิ่งนี้โดยผิดพลาด โปรดแจ้งให้เราทราบ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยวิพากษ์ NGO ช่วยเด็กแอฟริกันที่ไม่ได้คิดว่าตัวเอง 'ถูกค้ามนุษย์' แค่อยากมีงานทำ

Posted: 30 Apr 2017 10:38 AM PDT

นักวิจัยที่อยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานเห็นว่าความหวังดีผิดๆ ใน "การช่วยเหลือ" ของชาวตะวักตกเกี่ยวกับการค้ามนุษย์-ใช้แรงงานเด็กแอฟริกันกลับจะส่งผลร้ายต่อพวกเขา เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนเหล่านี้จงใจย้ายถิ่นฐานเพราะอยากไปหางานทำด้วยตัวเอง

30 เม.ย. 2560 เมื่อไม่นานมานี้มีการนำเสนอเรื่องราวการช่วยเหลือเด็กที่ถูกใช้แรงงานจากขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศโตโก และเบนินซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกา โดยมีการนำเสนอภาพตามแบบฉบับคือ "นายจ้างอันโหดร้ายกดขี่แรงงานเด็กไร้เดียงสา" "พ่อแม่ตกทุกข์อยู่ภายใต้ความยากจนจนต้อง 'ขาย' ลูกของพวกเขา" "ความล้าหลังทางวัฒนธรรมทำให้อะไรเลวร้ายลงกว่าเดิม" และ "เอ็นจีโอผู้เกื้อกูลเข้ามาช่วยแล้ว"

อย่างไรก็ตาม นีลล์ ฮาเวิร์ด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปและผู้ก่อตั้ง-บรรณาธิการ Beyond Trafficking and Slavery ที่ openDemocracy.net ระบุว่าข่าวเรื่องนี้ดูมีพลังมากก็จริง แต่ก็มีภาพที่บิดเบือนออกไปจากความเป็นจริงอยู่มากเช่นกัน เป็นการนำเสนอที่มองอะไรผิวเผินเกินไป และอาจจะยิ่งทำให้คนที่พวกเขาต้องการช่วยเหลืออยู่ในสภาพที่แย่กว่าเดิม ฮาเวิร์ดออกตัวว่าเขาเป็นคนที่วิจัยในเรื่องนี้มากว่า 10 ปี และเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ทำให้เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าสภาพการณ์ในชุมชนเหล่านั้นที่เขาคลุกคลีด้วยเป็นอย่างไรกันแน่

ฮาเวิร์ดเปิดเผยถึงเรื่องนี้ผ่านสื่ออัลจาซีราว่า ภาพลักษณ์ของผู้อพยพที่มาบนลำเรือที่ถูกมองว่าเป็น "การค้ามนุษย์" นั้นเป็นภาพลักษณ์มาตั้งแต่ตอนที่มีการสกัดกั้นเรือที่เดินทางจากเบนินไปกาบอนได้ในปี 2544 โดยที่มีเด็กและวัยรุ่นอยู่บนเรือจำนวนมากจนทำให้ยูนิเซฟตั้งชื่อว่าเป็นเรือทาส แล้วก็มีสื่อรายงานกันต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และเอ็นจีโอนับไม่ถ้วน จนทำให้การแปะป้ายชื่อเรียกแบบนี้ถูกมองว่าเป็นความจริงขึ้นมาจนมีความพยายามสกัดกั้น "การค้ามนุษย์ในเด็ก" อย่างหนัก 

แต่ทว่าการแปะป้ายเอาเองแบบนี้กลายเป็นปัญหา เมื่อฮาเวิร์ดมองว่าความเป็นจริงคือเด็กและวัยรุ่นในเรือเหล่านี้ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเหยื่ออาชญากรรมใดๆ และมันก็ไม่ใช่การลักลอบค้ามนุษย์เลย ในปี 2550 มีการสัมภาษณ์พวกเขาหลายคนบอกว่าพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่พยายามอพยพไปหางานทำ พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น "ผู้อพยพ" ไม่ใช่ "ทาส" พวกเขาจ่ายเงินให้คนลักลอบพาหนีหวังว่าจะมีงานให้ทำในสายการประมง พอหลังจากที่พวกเขา "ถูกช่วยเหลือ" จากทางการแล้ว พวกเขาก็กลับไปหมู่บ้าน เก็บเงินจนมากพอแล้วก็ออกมาอีก ส่วนใหญ่ก็ออกมาแทบจะทันที

ฮาเวิร์ดบอกว่าเขาใช้เวลาหลายปีทำงานในเบนินและไนจีเรีย เขาสัมภาษณ์เด็กหลายร้อยคนที่ถูกหาว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์แต่พวกเขาไม่มีใครเลยที่บอกว่าถูกลักพาตัวหรือถูกข่มขู่ให้ทำ นักวิจัยอื่นๆ ก็พบแบบเดียวกัน แน่นอนว่าสาเหตุที่เด็กเหล่านี้ต้องการเดินทางเป็นผู้อพยพออกจากประเทศก็เพราะต้องการไปหาเงินเหมือนกับทุกคนที่ยังอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้นในระดับอดอยากจนเกิดวาทกรรมว่า "ยากจนจนต้องขายลูก" มีคนที่จนขนาดหนักเช่นนี้อยู่น้อย แต่ทุกคนแค่ต้องการเงินเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าเตรียมพร้อมแต่งงาน หรือแค่อยากแบ่งเงินช่วยเหลือทางบ้าน ซึ่งต่างจากการใช้คำว่า "ขาย" พวกเขาไป

หรือบางทีแล้วปัญหาเหล่านี้จะมาจากการใช้คำแบบ "กระตุ้นเร้าความรู้สึก" (sensationalist) มากเกินไปในมุมมองของฮาเวิร์ด เขามองว่าเอ็นจีโอ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติและสื่อที่เผยแพร่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับคนกลุ่มนี้มากพอ และไม่ได้เข้าใจชีวิตของคนที่พวกเขาพูดถึง แต่พวกเขากลับมีสิ่งที่ฮาเวิร์ดเรียกว่า "อำนาจในการกำหนดความหมาย" จากถ้อยคำชวนให้เกิดความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่มีใครตั้งคำถาม

นอกจากนี้เด็กเหล่านี้ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกกระทำจนทำให้คนอื่นคิดแทนเขาว่าไม่ควรทำงานหรือเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และตีตนไปก่อนล่วงหน้าว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จากนั้นก็หันไปโทษผู้ปกครองพวกเขาว่าไร้ความรับผิดชอบ โทษรัฐที่อ่อนแอ หรือเรื่องความยากจนแบบนามธรรมๆ นักข่าวที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สหประชาชาติก็เลยคิดแบบนี้ตามไปด้วย

ปัญหายังอาจจะมาจากทัศนคติที่ดึงดูดต่อกระแสนิยมเองด้วย เช่น คนทำงานให้สหประชาชาติรายหนึ่งยอมรับว่าการนำเสนอเรื่องราวของเด็กยากจนที่อพยพเพราะความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ-การเมืองมันไม่ขายให้คนมาสนใจมากเท่าเรื่องการค้าทาสค้ามนุษย์ ซึ่งฮาเวิร์ดมองว่ามันเป็นปัญหาการสร้างภาพลักษณ์ว่าแอฟริกายังล้าหลังเพื่อกลบเกลื่อนว่าปัญหาความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ-การเมืองยังมีอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้จะขายคนผิวขาวผู้เสพสื่อตะวันตกซึ่งมีโอกาสจะบริจาคมากกว่า

ฮาเวิร์ดเชื่อว่าองค์กรต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่มันก็สร้างผลกระทบในแง่ลบกว่าเดิม มันยังเป็นเรื่องของการใช้สายตา "จับจ้อง" ตีความ (gaze) จากคนนอกที่เป็นการลดพลังของผู้คนที่ถูกจับจ้องตีความรวมถึงเป็นการแยกส่วนสภาพชีวิตผู้คนเหล่านี้ให้ดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และทำให้ความเจ็บปวดกับการกดขี่กลายเป็นเรื่องรายบุคคลแทนที่จะชวนให้มองถึงระบบโครงสร้างของโลกที่ทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความหวังดีกลายเป็นส่งผลร้ายในประเด็นเกี่ยวกับเด็ก ก่อนหน้านี้ในช่วงคริสตทศวรรษ 1990s วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ทอม ฮาร์คิน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กได้ออกข้อกำหนดสั่งแบนการนำเข้าสิ่งทอจากบังกลาเทศจนกว่าพวกเขาจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แม้จะเป็นการพยายาม "ช่วยเหลือ" แต่ข้อกำหนดของฮาร์คินกลับส่งผลให้เด็กถูกเลย์ออฟจำนวนมากแล้วก็อยู่ในสภาพเลวร้ายกว่าเดิม หลายคนกลายเป็นคนเร่ร่อน ไปทำงานบริการทางเพศ หรือทำงานในโรงงานที่อันตรายกว่า อยู่นอกเหนือการสำรวจมากกว่า ฮาเวิร์ดตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ฮาร์คินควรทำน่าจะเป็นให้บรรษัทสหรัฐฯ ซื้อจากโรงงานบังกลาเทศโดยมีข้อเรียกร้องเพิ่มสิทธิแรงงานให้กับเด็กและยืนยันว่าเด็กจะได้รับรายได้เหมาะสมมากกว่าหรือไม่ แทนการมองและตีความให้เป็นไปตามใจตัวเอง ฮาเวิร์ดแนะนำว่าสื่อควรจะคลุกคลีกับเรื่องราวที่พวกเขานำเสนอมากกว่านี้ รวมถึงควรคำนึงถึงโครงสร้างอำนาจและการกีดกันในระดับโลกที่เป็นชีวิตภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

เรียบเรียงจาก

When NGOs save children who don't want to be saved, Neil Howard, Aljazeera, 27-04-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2017/04/ngos-save-children-don-saved-170425101830650.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กยอมรับมีกรณีถูกใช้เป็นเครื่องมือ 'ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร' (IO)

Posted: 30 Apr 2017 09:30 AM PDT

แม้เฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้สื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เองก็นำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นเครื่องมือในการยุยง ปลุกปั่น ชักจูงประชาชนด้วยวิธีที่เรียกว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" (information operations หรือ IO) ซึ่งทางเฟซบุ๊กออกมายอมรับว่ามีรัฐที่ใช้เฟซบุ๊กทำเช่นนั้นอยู่จริง

ทีมงานด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กเปิดเผยในเอกสารอธิบายรายละเอียดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมาว่ามีรัฐหรือกลุ่มองค์กรอื่นๆ ใช้เทคนิควิธีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชวนให้ไขว้เขวและกระทั่งข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายของตัวเองอยู่จริง อย่างการพยายามชักจูงประชาชน กรณีนี้เคยมีการนำมาใช้แล้วในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส

วิธีการชักจูงประชาชนไม่ได้มีแต่การใช้ "ข่าวปลอม" เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้กลวิธีทำให้เนื้อหาของพวกเขาปรากฏได้ง่าย การเก็บข้อมูลของเป้าหมาย ทั้งยังมีการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อปั่นกระแสแนวคิดในทางเดียวหรือชวนให้ไขว้เขวด้วย

ในรายงานของเฟซบุ๊กยังเปิดเผยหนึ่งในวิธีการหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ด้วยการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมแล้วไปหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว สอดแนมเป้าหมาย หรือแฮ็กเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีการยุยงส่งเสริมเนื้อหาที่ผิดๆ ผ่านการรุมกดไลค์หรือสร้างกลุ่มในเชิงโฆษณาชวนเชื่อขึ้น

เจน วีดอน และวิลเลียม นูแลนด์ จากทีมป้องกันภัยทางข้อมูลข่าวสารของเฟซบุ๊กรวมถึงอเล็ก สตาร์มอส หัวหน้าหน่วยความปลอดภัยของเฟซบุ๊กระบุในรายงานว่า ภารกิจของเฟซบุ๊กคือการให้ผู้คนมีอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีคนบางกลุ่มที่ไม่มีวิสัยทัศน์เช่นนั้นและยังพยายามทำลายวิสัยทัศน์แบบพวกเขาด้วย แต่ทางเฟซบุ๊กก็พยายามสร้างระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์และปลอดภัยเหมาะแก่การแลกเปลี่ยนของประชาชนทั่วไป

ในรายงานเปิดเผยด้วยว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" ที่เน้นบิดเบือนความเชื่อของผู้คนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลต่างๆ นำมาใช้เพื่อกำจัดคู่แข่ง หรือทำลายการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งข่าวปลอมและการใช้บัญชีปลอมในการจงใจส่งต่อกระจายเนื้อหาที่บิดเบือน (False Amplifiers) รวมถึงการใช้ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีทำลายกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม

ขณะที่การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการกระทำของโปรแกรมอัตโนมัติที่เรียกว่า "บ็อต" (Bot) แต่เฟซบุ๊กรายงานว่าการกระทำเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากโปรแกรมอัตโนมัติ

เฟซบุ๊กระบุว่าพวกเขาต้องขยายขอบเขตความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่เน้นการป้องกันการแฮ็กบัญชี มัลแวร์ สแปม การหลอกลวงทางการเงิน พวกเขาต้องขยายขอบเขตไปป้องกันการพยายามชักจูงชี้นำประชาชนรวมถึงความพยายามหลอกลวงประชาชนด้วย

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยพยายามจัดการกับการใช้ชักจูงหรือหลอกลวงเช่นนี้มาแล้วโดยการสั่งระงับบัญชีที่น่าสงสัย 30,000 บัญชีในฝรั่งเศสก่อนช่วงที่จะมีการเลือกตั้งโดยดูจากพฤติกรรมการใช้งานและจำนวนผู้รับชม นอกจากนี้ในรายงานของเฟซบุ๊กยังระบุอีกว่าพวกเขาตรวจสอบพบหลายสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่เข้าข่าย "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" โดยการแชร์ข้อมูลที่ขโมยมาเพื่อจงใจใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการใช้บัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อชี้นำแนวทางความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้การกระทำเช่นนี้จะมีอยู่จริงในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2559 แต่เฟซบุ๊กก็ระบุว่า "ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร" เช่นนี้มีอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้นเมื่อนับในเชิงสถิติเทียบกับกิจกรรมทางการเมืองโดยรวม

เฟซบุ๊กให้คำมั่นว่าจะพยายามสอดส่องดูแลไม่ให้มีการใช้พื้นที่ของพวกเขากระทำเรื่องแบบนี้โดยการหาวิธีบ่งชี้บัญชีผู้ใช้ปลอม ให้ความรู้กับผู้คนถึงวิธีการทำให้ข้อมูลของพวกเขาปลอดภัย ร่วมมือกับกลุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริง และส่งเสริมโครงการของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่า "ในสภาพแวดล้อมของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่ในเวลาที่มีสถานการณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในการแสดงออกในชีวิตประจำวันด้วย"

 

 

เรียบเรียงจาก

Facebook admits: governments exploited us to spread propaganda, The Guardian, 27-04-2017
https://www.theguardian.com/technology/2017/apr/27/facebook-report-government-propaganda

Facebook says it will crack down on government-led misinformation campaigns, The Verge, 27-04-2017
http://www.theverge.com/2017/4/27/15453368/facebook-fake-news-information-operations-political-propaganda

Facebook announces plan to fight misinformation campaigns, Tech Crunch, 27-04-2017
https://techcrunch.com/2017/04/27/facebook-announces-plan-to-fight-misinformation-campaigns/

รายงานฉบับเต็ม Information Operations and Facebook (version 1.0, 27-04-2017) โดย By Jen Weedon, William Nuland and Alex Stamos 
https://fbnewsroomus.files.wordpress.com/2017/04/facebook-and-information-operations-v1.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กางหนังสือ เปิดตำรา-นักเรียนไทยเรียนเรื่อง 2475 อย่างไร

Posted: 30 Apr 2017 09:15 AM PDT

 

เหตุการณ์หมุดคณะราษฎรหายเมื่อกลางเดือนเมษายน ทำให้เกิดการตั้งคำถามและพูดถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแพร่หลายอีกครั้งทั้งในโซเชียลและสื่อต่างๆ มากมาย  หลายคนแทบไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ยินว่ามีหมุดคณะราษฎรจนกระทั่งมันหายไป บางคนอาจเคยคุ้นหูกับชื่อ คณะราษฎร อาจเคยผ่านตาตอนเรียนหนังสือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475  แต่น่าจะมีไม่น้อยที่ไม่แน่ใจนักว่ามันคืออะไร มีนัยอย่างไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

เราพาย้อนกลับไปดูหลักสูตรการศึกษาไทยว่านักเรียน/ศึกษา-ครู/สอนกันอย่างไรในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

000

จากการสอบถามครูและนักเรียนจำนวนหนึ่งพบว่า มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และประชาธิปไตยเรื่อยๆ ในระดับชั้นต่างๆ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเริ่มสอนกันจริงจังในชั้นมัธยมศึกษา โดยมัธยมต้นจะปรากฏเล็กน้อยในวิชาการเมืองการปกครอง แต่ในระดับมัธยมปลายจะปรากฏเป็นหัวข้อเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475" โดยเฉพาะ บรรจุในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ม.4-6  ซึ่งเป็นไปตามตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งมีมาตรฐานของการ "เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจ และธำรงความเป็นไทย" มีตัวชี้วัดคือ  

1.วิเคราะห์พัฒนาการของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในด้านต่างๆ
2. วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
3. วิเคราะห์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์และอิทธิพลต่อการพัฒนาชาติไทย
4. วิเคราะห์บทบาทของไทยสมัยประชาธิปไตย

ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นกล่าวถึงสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้เพียงหลวมๆ เท่านั้น และอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เยาวชนยังไม่รู้จักหรือเข้าใจเรื่อง 2475 อย่างเพียงพอ

 

"เปลี่ยนแปลงโดยไม่พร้อม" - เวลาเรียนประวัติศาสตร์ไม่เพียงพอ

ในด้านครูผู้สอน กิตติยา วิริยะวีรวัฒน์ คุณครูประวัติศาสตร์ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติกาญจนบุรี กล่าวว่าการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นไปเพื่อให้เด็กรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทย แต่ไม่ได้ละเอียดมากนัก เพียงบอกให้เขารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคนไทยเรายังไม่พร้อม เมืองไทยจึงล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กๆ ควรจะต้องได้เรียนรู้ และควรได้เรียนรู้มากกว่านี้ แต่กลายเป็นว่าเวลาที่ให้มาไม่เพียงพอที่จะสอนได้หมด กลายเป็นวิชาเพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นวิชาที่เด็กไม่ชอบไม่ค่อยสนใจ สำหรับหมุดคณะราษฎรคุณครูบอกว่า แทบจะไม่ปรากฏในแบบเรียน ครูทำได้เพียงสรุปเพิ่มเติมให้เด็กๆ ฟังเท่านั้น

 

"2475" ตัวแถมในวิชาประวัติศาสตร์

อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า นักเรียนจะต้องเรียนเรื่อง2475 ตั้งแต่ป.6 ในวิชาประวัติศาสตร์ โดยจะเรียนวนลูปซ้ำๆ จากประถม ไปมัธยมต้น ไปมัธยมปลาย รวม 3 ครั้ง แต่รายละเอียดมีน้อยหากเทียบกับประวัติศาสตร์ช่วงอื่นๆ เช่น ม.ต้น เราใช้เวลาเรียนรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายคาบมากพอ แต่ตอนท้ายเรียนเรื่อง2475 อาจจะเป็น 1 ใน 10 ของทั้งหมด แม้กระทั่งในหนังสือเองก็เขียนเพียงรวบรัดสั้นๆ หรือข้ามประเด็นนี้ไปเลยก็มี

อาจารย์บอกอีกว่า นักเรียนไม่ชอบเรียนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และครูก็มักจะสอนประวัติศาสตร์สุโขทัย –อยุธยาอย่างเป็นล่ำสัน เรื่องราวตั้งแต่รัชกาลที่1-6 เยอะมาก แต่พอเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่รัชกาลที่7 เป็นต้นมา จะเหลือแค่สองคาบสุดท้ายทั้งที่เรียนเรื่อง ร.5 มา 10 คาบ

"ส่วนตัวมองว่าจริงๆ แล้วการเรียนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยต้องเรียนให้เยอะให้ลึกกว่าประวัติศาสตร์ก่อนหน้าเพราะมันเกี่ยวข้องถึงตัวเราในปัจจุบันมากที่สุด เป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่าเราก็ไม่ค่อยได้เรียน เราข้ามไป ด้วยความที่อยู่ส่วนท้ายของบทเรียนจึงเป็นธรรมชาติที่อาจจะตกหล่นไป ความรู้ความเข้าใจจึงน้อยมาก  2475 จะมีอยู่นิดเดียวแล้วก็เป็นเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ อย่าง 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา ซึ่งทั้งหมดนี้เรียนสองคาบเท่านั้น"

 

ประวัติศาสตร์ประชาชนของหายาก

อาจารย์ประวัติศาสตร์กล่าวอีกว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ประเทศไทยเน้นเรื่องของผู้นำเป็นหลัก ผู้นำในที่นี้คือพระมหากษัตริย์ และวนอยู่รอบๆ พงศาวดาร แต่เมื่อเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน จะเป็นส่วนน้อยมาก อีกอย่างหนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่รักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์ประชาชนในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันอยู่แล้ว

เขากล่าวอีกว่า สำหรับในตัวชี้วัดก็มักพูดหลวมๆ อยู่แล้วมันจึงขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าจะตีความเรื่องนั้นๆ ว่าอย่างไรส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นกลางก็จะเป็นลบไปเลยกับประวัติศาสตร์ 2475 เพราะว่าไม่ได้มีบริบทที่ครบรอบด้าน เป็นมุมมองฝ่ายเดียว หนังสือเรียนก็เป็นไปในทางเดียวกัน

"เรื่องหมุดคณะราษฎร ถามว่ามันถูกลบให้หายไปไหม คิดว่าไม่ใช่แค่หมุดคณะราษฎรหรอก ทุกวันนี้เราเรียน เรารู้จักคณะราษฎร แต่เรารู้ไหมว่าในคณะราษฎรมีใครบ้าง เด็กที่มีความรู้อาจจะนึกชื่อ ปรีดี พนมยงค์ออก แต่อาจจะนึกชื่อพระพหลพลพยุหเสนา ไม่ออกด้วยซ้ำ และเรายังไม่รู้เลยว่าคณะราษฎรมีกี่คน มีผลงานอะไรบ้างที่สำคัญ มรดกทางการเมืองของคณะราษฎรถูกทำเหมือนไม่มีเลย" อาจารย์กล่าว

 

ขาดแคลนคำถาม ขาดการวิเคราะห์

อาจารย์คนเดิมยังให้ความเห็นอีกว่า ทุกวันนี้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ตามเส้นเรื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ มันควรมีเคส มีเรื่องราว และเชื่อมโยงให้ได้ว่ามันสัมพันธ์กับเราในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ต้องเรียนทุกเรื่อง เรียนแม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่ชอบ เหมือนกับที่เยอรมันนีเรียนประวัติศาสตร์นาซีฮิตเลอร์ เขาทำไม่ดีแต่เราต้องเรียน เพื่อดูว่ามันมีความผิดพลาดอย่างไร เราจะไม่ทำความผิดซ้ำ เราจะทำให้สังคมดีกว่าเดิมได้อย่างไร

"นักเรียนต้องได้เรียนว่าทำไมคณะราษฎรถึงเกิดขึ้น คือมีคำถามเยอะมาก แต่เราไม่ถูกสอนให้ถาม ได้แต่ปล่อยไว้แบบนั้น กลายเป็นว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ที่นิพนธ์ไว้แล้ว ทั้งที่จริงๆ มันเป็นวิชาวิเคราะห์ เราต้องวิเคราะห์เอาหลักฐานมาดู เพื่อที่เราจะได้ค้นหาความจริงต่อไปอีก เรียนเพื่อให้มีความคิดมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันแล้วมาดูกันว่าแต่ละคนมีมุมมองยังไง" อาจารยก์กล่าว

 

มุมคนเรียน เรียนเหมือนฟังนิทาน

ส่วนมุมมองของผู้เรียนนั้น อริน ชิณณะเสถียร นักเรียนที่เพิ่งจบ ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ให้สัมภาษณ์ว่า ตอน ม.4 เรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมือง (สังคม)  ส่วนเนื้อหาที่มีในหนังสือ ก็ make sense เข้าใจตามเนื้อเรื่องของมัน แต่แค่สนใจรายละเอียดบางอย่างที่หนังสือเพียงแตะๆ หรืออาจจะไม่ได้เขียนไว้ ก็จะไปหาเพิ่มเติมเช่น เรื่องรัฐธรรมนูญที่ ร.7 จะพระราชทานให้เป็นต้น

"ผมอาจจะจำไม่ได้แม่นมาก แต่เท่าที่จำได้ก็มีการพูดถึง ซึ่งตัวเหตุการณ์ก็เพียงพอต่อความเข้าใจตามเนื้อเรื่อง คือมัน make sense ในตัวมันเองอยู่ แต่รายละเอียดจะเป็นชื่อคนกับลำดับเหตุการณ์ อะไรทำนองนี้เป็นหลัก สำหรับหมุดคณะราษฎรไม่แน่ใจว่ามีในหนังสือไหมแต่ครูพูดถึงอยู่ว่ามีหมุดนี้อยู่ ส่วนถ้าถามว่าสิ่งที่เรียนเพียงพอไหม คิดว่าเป็นปัญหาเดียวกันกับการเรียนประวัติศาสตร์โดยรวม สั้นๆ เลยคือเราเรียนกันเหมือนฟังนิทาน ทั้งที่มันควรปลูกฝังความเป็นนักประวัติศาสตร์เข้าไปให้มากกว่านี้ เช่นนิสัยการตั้งคำถาม การฝึกทักษะวิเคราะห์ ตีความ ประเมินค่า สังเคราะห์ เพื่อเป็นการสร้างนิสัยที่ดีให้กับผู้เรียน ไม่ใช่แค่ท่องหนังสือไปวันๆ" อรินกล่าว

ธีร์ พรหมบุตร นักเรียนที่เพิ่งจบชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวว่า เรื่องรายละเอียดนั้นรู้น้อยมากจากที่เรียน จึงอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เอง ทั้งจากหนังสือ สื่อออนไลน์ และการติดตามบุคคลที่พูดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้ครบทุกด้าน เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าในหนังสือเรียนนั้นไม่ได้เสนอข้อมูลครบทุกด้านอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดคำถาม ข้อสงสัยหลายอย่างที่การเรียนในหนังสือเรียนหรือในห้องเรียนไม่สามารถตอบได้ รู้สึกว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์หรือวิชาสังคมควรจะเป็นวิชาที่ตั้งคำถามได้ ไม่เพียงแต่เรียนแบบท่องจำเท่านั้น

กานต์รวี วิริยะวีรวัฒน์ นักเรียนชั้นม.5 กำลังขึ้นชั้น ม.6 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติกาญจนบุรีให้สัมภาษณ์ว่า รู้คร่าวๆ จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ในส่วนของรายละเอียดค่อนข้างมีน้อย

นักเรียนจากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวว่า ได้เรียนเรื่องนี้ในชั้น ม.5 เนื้อหาคร่าวๆ พอจะทราบว่าสาเหตุตอนนั้นเกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำ ประชากรเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากต่างประเทศ แกนนำคณะราษฎรมี 7 คน ส่วนใหญ่หนังสือจะเล่าตาม พ.ศ. ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างคร่าวๆ ในส่วนตัวคิดว่าเนื้อหาที่เรียนนั้นเพียงพอสำหรับตน

ตัวอย่างบทเรียน "2745" ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

ตัวอย่างบทเรียน "2475" ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์

สำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ใช้ในโรงเรียนนั้นมีของหลายสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์หลักที่จะหยิบยกเนื้อหาช่วง 2475 มาให้ดูเป็นตัวอย่างนั้นเป็นของ 1. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช หรือ วพ. 2. สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ หรือ อจท. โดยเรานำ "คู่มือครู" มาเป็นตัวอย่าง

เนื้อหาในคู่มือครูนั้นไม่แตกต่างจากหนังสือที่นักเรียนใช้เรียน แต่จะมีการเน้นจุดต่างๆ ให้ชัดเจนและล้อมกรอบเนื้อหาเพิ่มเติม รวมถึงการแนะนำให้นักเรียนทำกิจกรรมเสริมความรู้ต่างๆ และแนวคำถามที่จะถามนักเรียน

โดยสรุปคร่าวๆ พบว่า ทั้งสองสำนักพิมพ์ อธิบายการระลอกการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่ามีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ที่พยายามเปลี่ยนระบบการบริหาร การตั้งดุสิตธานีในรัชกาลที่ 6 การตั้งอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7 ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อจท.นั้นมีเนื้อหาที่สั้นกว่ามาก ขณะที่ วพ.มีรายละเอียดต่างๆ มากกว่าและอธิบายยาวมาถึงช่วงของ "เสรีไทย"  และยังมีการพูดถึงความพยายามเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัย ร.5 อย่าง คำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 นำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านาย และข้าราชการด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

LINE เผยเคยส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เพื่อสืบสวนคดีอาญาให้กับรัฐไทยและประเทศอื่นๆ

Posted: 30 Apr 2017 08:43 AM PDT

ไลน์เผยในรายงานความโปร่งใสว่าเคยให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ตามคำขอของทางการหลายประเทศรวม 997 กรณี หรือร้อยละ 58 ของคำขอทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีอาญาในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นคำขอจากในญี่ปุ่นเอง แต่ก็มีคำร้องจากสหรัฐฯ ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย โดยพยายามย้ำว่าจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ไลน์ คอร์เปอเรชัน บริษัทให้บริการส่งข้อความและแช็ตระบบ "ไลน์" (LINE) เคยเปิดเผยต่อสื่อญี่ปุ่น เจแปนไทม์เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า พวกเขาเคยนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โปรแกรมไลน์ส่งต่อให้กับรัฐบาลทั้งในและนอกประเทศในฐานะส่วนหนึ่งของการสืบสวนอาชญากรรม

ในเอกสารรายงานความโปร่งใสของไลน์ที่ระบุถึงการทำงานของพวกเขาในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2559 เผยให้เห็นว่าพวกเขาส่งข้อมูลของบัญชีผู้ใช้ 1,268 บัญชี รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้ อีเมลของผู้ใช้ และประวัติข้อความแช็ตของผู้ใช้ให้ทางการ

ในรายงานระบุว่า "พวกเราเชื่อว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัด และโดยทั่วไปแล้วข้อมูลของผู้ใช้จะไม่ถูกเผยแพร่ต่อให้กับกลุ่มบุคคลที่สามโดยไม่มีการขออนุญาตก่อน อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ จะมีการพิจารณาให้ข้อมูลดังกล่าวกับหน่วยงานของรัฐบาลถ้าหากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม"

ทั้งนี้มีคำร้อง 1,719 กรณี จากหน่วยงานสืบสวนสอบสวน ไลน์ตอบสนองต่อคำร้อง 997 กรณี หรือร้อยละ 58 ของคำร้องทั้งหมด ในบางกรณีมีการขอดูข้อมูลมากกว่า 1 บัญชี โดยที่ร้อยละ 87 ของการขอข้อมูลมาจากภายในประเทศญี่ปุ่นเอง ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ทำการขอข้อมูลจากไลน์ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ฮ่องกง, อิตาลี, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ไทย และสหรัฐฯ โดยที่ไลน์จะตอบสนองต่อคำขอจากประเทศอื่นตามกฎหมายและข้อตกลงความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย รวมถึงคำนึงถึงกฎหมายความร่วมมือนานาชาติในการสืบสวนสอบสวนด้วย

ไลน์ระบุในรายงานอีกว่าพวกเขาส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายอาญา ถ้าหากมีการออกหมายถึงผู้ใช้นั้นๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของการสืบสวนคดีอาญา หรือเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดหรือการฆ่าตัวตายที่เชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นในเวลากระชั้นชิด

รายงานของไลน์ระบุว่า "พวกเราจะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้รวมถึงการดักฟังหรือการเซนเซอร์ที่กระทำโดยรัฐบาล"

ไม่เพียงแค่ไลน์บริษัทเดียวเท่านั้นที่ให้ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เมื่อถูกเรียกร้องจากทางการเพื่อการสอบสวน บริษัทโทรศัพท์มือถือ เอ็นเอ็นที โดโคโม และบริษัทโทรคมนาคม เคดีดีไอ คอร์เปอเรชัน ก็เคยเตือนผู้ใช้งานว่าพวกเขาจะส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับทางการถ้าหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามโฆษกของไลน์ระบุว่าพวกเขาเป็นบริษัทแรกที่รายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณะในรายงานความโปร่งใสเนื่องจากมีผู้ใช้งานเป็นห่วงว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาได้รับการคุ้มครองหรือไม่พวกเขาจึงต้องเผยแพร่รายงานเพื่อให้เป็นการตรวจสอบได้

 

เรียบเรียงจาก

Maker of Line app says it has disclosed user information for criminal probes, The Japan Times, 25-04-2017 
http://www.japantimes.co.jp/news/2017/04/25/national/maker-line-app-says-disclosed-user-information-criminal-probes/#.WQIQYdR954_

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักพระราชวังแถลงการณ์พระอาการสมเด็จพระราชินี

Posted: 30 Apr 2017 07:15 AM PDT

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง กรณีพระอาการ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

 
 
30 เม.ย. 2560 แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 
 
คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร ได้รายงาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2560 คณะแพทย์ ฯ ได้กราบบังคลทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อถวายตรวจทางรังสีวิทยาติดตามผลการรักษา 
 
ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระปัปผาสะ (ปอด) และการตรวจพระสมอง ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่พบการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับผลการตรวจเดิม คณะแพทย์ ฯจึงได้กราบบังคลทูลเชิญ เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ 30 เมษายน 2560 
 
จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน 
 
สำนักพระราชวัง 
 
30 เมษายน 2560
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #155 ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน

Posted: 30 Apr 2017 06:20 AM PDT

กดติดตามเพื่อรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี พูดคุยกับ วริตตา ศรีรัตนา ผู้แปล "ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน" (Too Loud a Solitude/Příliš hlučná samota) ผลงานวรรณกรรมของโบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal) นักเขียนจากสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งชวนให้ผู้อ่านใคร่ครวญถึงคุณค่าหนังสือ และเสรีภาพที่เราทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียม

สำหรับวรรณกรรม "ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน" พิมพ์ครั้งแรกในปี 1977 เล่าเรื่องราวของ "ฮัญจา" เป็นคนบดอัดกระดาษขยะในกรุงปราก ผู้รักหนังสือและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ แต่ต้องประกอบอาชีพ "ทำลายหนังสือ" ในสมัยที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวาเกียเซ็นเซอร์งานเขียนและงานศิลปะ เป็นเวลากว่า 35 ปีที่เขาทำงานอย่างโดดเดี่ยวอยู่กับเครื่องไฮดรอลิกบดอัดกระดาษ มีสหายสนิทเป็น "เครื่องทำลายหนังสือ" เก่าคร่ำคร่า นับเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยวดายอันเกินต้าน

วริตตายังชี้ว่าวรรณกรรมของ "โบฮุมิล ฮราบัล" มักสะท้อนเรื่องราวของ คนสามัญธรรมดาที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองอำนาจนิยม แต่คนธรรมดาเหล่านั้นไม่อาจหาช่องทางที่จะเป็นขบถต่อระบอบได้เลย งานของเขาชี้ให้เห็นว่าการมองแบบคู่ตรงข้ามว่าระบอบทางการเมืองกดขี่คนธรรมดา เป็นการมองที่ง่ายเกินไป เพราะการกดขี่ที่แท้จริงมาจากตัวปัจเจกบุคคลที่ชอบอยู่ในฟองอากาศของระบอบและใช้ชีวิตของตนไปตามอัตภาพ ซึ่งนี่คือการกดขี่ตัวเอง

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ผู้สนใจวรรณกรรมแปล "ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน" สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักพิมพ์ Bookmoby Press หรือที่เพจ "ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เรียกให้จัดระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงมีมาตรฐานสากล

Posted: 30 Apr 2017 01:23 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไปจัดระบบให้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นผู้ใช้แรงงานในระบบเหมาช่วงจะถูกเอาเปรียบอย่างมาก

 
30 เม.ย. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้างจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรมและงานบางลักษณะ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะช่างประเภทต่างๆ อุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว บุคลากรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ งานแม่บ้านและกิจการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น มีแรงงานไทยจำนวนมากขึ้นตามลำดับที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ตัวเลขล่าสุดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 คนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศยอดรวมมากกว่า 150,000 คน สร้างรายได้กลับประเทศประมาณ 10,249 ล้านบาท (รายได้ส่งกลับประเทศจากการทำงานเฉพาะเดือนมีนาคม 2560) การไหลออกของแรงงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคต่างๆทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทักษะต่ำไม่สามารถทดแทนได้ เกิดความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน การปรับค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานฝีมือแรงงานจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาแรงงานทักษะและช่างเทคนิคให้ทำงานในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป 
 
ภาวะการเลิกจ้างยังคงมีอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น กิจการบริการสถานบันเทิงมีการเลิกจ้างสูงในช่วงที่ผ่านมา กิจการก่อสร้างขนาดเล็ก กิจการสื่อสารมวลชน (กระทบหนัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัลและธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม) กิจการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมส่งออกที่มีอัตราการเติบโตติดลบต่อเนื่องหลายปี เป็นต้น ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง การเลิกจ้างมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและอัตราว่างงานในช่วงครึ่งปีหลังไม่น่าจะเกิน 1% ตลาดแรงงานค่อนข้างตึงตัว แรงงานในบางประเภทขาดแคลน รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีการเปิดกว้างอนุญาตให้แรงงานบางประเภทเข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้นหรือพิจารณาให้มีการเปิดเสรีตลาดแรงงานในส่วนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน
        
แรงงานระดับล่างรายได้ต่ำยังคงมีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง สะท้อนว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต จึงขอเสนอให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีโดยต้องปรับขึ้นไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปี แนวโน้มในระยะนี้ อาจจะยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะนี้มีทำงานต่ำระดับ 2-3 แสนคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไม่เต็มเวลาและต้องการทำงานเพิ่มเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนการลดชั่วโมงการทำงาน OT มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมส่งออกที่เคยหดตัวหรือมีการเติบโตต่ำเริ่มมีสัญญาณขยายตัวดีขึ้น   
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้มีข้อเสนอแปดข้อต่อรัฐบาลและขบวนการแรงงาน องค์กรนายจ้าง เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติหรือวันกรรมกรสากล ดังนี้ ข้อหนึ่ง เสนอให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม ระบบคุ้มครองและระบบสวัสดิการแรงงานเพิ่มเติม หลังจากรัฐบาลได้ขยายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ) แล้ว ควรขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย แต่ควรเก็บสมทบเพิ่มทั้งจากนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินของเงินกองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะกองทุนชราภาพ ข้อสอง รัฐบาลควรจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าหรือระบบรัฐสวัสดิการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยหาแหล่งรายได้จากภาษีทรัพย์สิน นอกจากทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นแล้วยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่งด้วย อันนำไปสู่สันติสุขของสังคมและประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคง 
 
ข้อสาม พิจารณาดำเนินการแปรเปลี่ยน สำนักงานประกันสังคม จาก หน่วยราชการ เป็น องค์กรของรัฐหรือองค์กรมหาชนที่บริหารงานแบบเอกชนจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ระบบค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกองทุนประกันสังคมให้แข่งขันได้กับภาคเอกชนเพื่อดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน ซึ่งอาจจะใช้รูปแบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต เป็นต้น  ข้อสี่ เสนอให้มีการศึกษาเพื่อพิจารณาจัดตั้ง ธนาคารแรงงาน เพื่อกระจายกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตประเภท "ทุน" สู่ผู้ใช้แรงงาน ก่อให้เกิด "ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ" อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงของประชาธิปไตยทางการเมือง ธนาคารแรงงานจะเป็นสถาบันสำคัญในการพัฒนา ธุรกิจรายย่อย (Micro Business) และ วิสาหกิจหรือสหกรณ์ที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน (Social enterprise or Cooperative for workers and the poor) 
 
ข้อห้า รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการในไทยโดยภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น ต้องส่งเสริมให้ลูกจ้างได้รวมกลุ่มกัน และ กลไกองค์กรลูกจ้างและสหภาพแรงงานที่มีคุณภาพยังทำให้ ระบบแรงงานสัมพันธ์ดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย ข้อหก การเตรียมมาตรการรับมือกับผลกระทบจาก Disruptive Technology (เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ) ต่อแรงงานรวมทั้งมีมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ส่วนในระยะยาว หากมี Disruptive Technology and Innovation  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการผลิต ธุรกิจและเศรษฐกิจบวกเข้ากับพลวัตของระบบทุนนิยมโลก แล้วเราไม่มียุทธศาสตร์ในตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในระบบการศึกษาไทยให้สามารถผลิตคนคุณภาพใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ หากเรามียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เราจะไม่เผชิญกับปัญหาวิกฤติการจ้างงานและเศรษฐกิจในอนาคต มีการคาดการณ์โดยนักอนาคตศาสตร์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ความก้าวหน้าเทคโนโลยีจะทำให้ตำแหน่งงานแบบเดิมในบางอาชีพหายไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านตำแหน่งงาน ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆที่คนทำงานต้องมีทักษะใหม่ ๆ ซึ่งระบบการศึกษาไทยต้องทำหน้าที่ในการผลิตคนรองรับตั้งแต่วันนี้ ขณะเดียวกัน IMD คาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานในประเทศไทยจะหายไปจำนวนมากในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่าในหลายกิจการอุตสาหกรรม  
          
ข้อเจ็ด การสร้างระบบ กลไกและกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานในระบบเหมาช่วง กลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุด คือ บรรดาแรงงานทักษะต่ำและเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบการทำงานในบริษัทเหมาช่วงจะได้รับผลกระทบจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการผลิตและยอดขาย ปัญหาในระบบการผลิตแบบเหมาช่วงเป็นปัญหาในระดับสากล เรื่อง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการในระบบการผลิตแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็แสวงหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีความยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะ ส่งออกงานในบางลักษณะให้บริษัทเหมาช่วงรับไปทำเพื่อให้มีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น  จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไปจัดระบบให้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นผู้ใช้แรงงานในระบบเหมาช่วงจะถูกเอาเปรียบอย่างมาก หลักคิดของการยกระดับมาตรฐานระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครัว การกำหนดมาตรฐานแรงงานในระบบเหมาช่วงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน ความผันผวนของภาวะการผลิตและเศรษฐกิจเท่านั้น อีกประการหนึ่งลูกจ้างโดยเฉพาะในระบบเหมาช่วงมีอำนาจต่อรองน้อย ลูกจ้างในบริษัทเหมาช่วงมักไม่มีสหภาพแรงงาน 
 
และข้อแปด รัฐบาลควรเพิ่มการลงทุนทางด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งระบบความปลอดภัยในการทำงาน และรัฐบาลควรจัดสรรเงินงบประมาณให้สถาบันปลอดภัยฯ กระทรวงแรงงานให้เพียงพอ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาฯ ศูนย์กลางแรงงาน จี้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชน ต้องเลือกตั้งปีนี้

Posted: 30 Apr 2017 01:01 AM PDT

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันกรรมกรสากล เรียกร้องให้ คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย "เลือกตั้งปีนี้" ยกเลิก ม.44 และให้ผู้ใช้แรงงานใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ

 
 
 
30 เม.ย. 2560 สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันกรรมกรสากล โดยระบุว่า"วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" (May Day) กำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องทนกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14 - 16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน  ทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปในหลายประเทศทางยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
 
เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1886 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง 
 
สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปด โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 ในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดจากกรรมกรในหลายประเทศแถบยุโรป ที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส  จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันกรรมกรสากล" และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก
 
มติดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและคนงานอื่นๆ ก็สามารถทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงในทุกๆ แห่ง
 
1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ "วันกรรมกรสากล" เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ซึ่งกรรมกรทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยม
 
ในประเทศไทย การจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน
 
การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน"ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย" วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง
 
แต่แล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยรัฐบาลเผด็จการได้สั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล
 
ในปี พ.ศ.2499 "กรรมกร 16 หน่วย" จัดตั้งรวมตัว โดยมีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่างๆ และได้เคลื่อนไหวให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง แต่รัฐบาลเผด็จการมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
 
จากการควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการ ทำให้วันกรรมกรสากลถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด  เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร  ไม่มีการติดตามอย่างจริงจัง ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน  เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น 
 
"วันกรรมกรสากล" พี่น้องกรรมกรทุกคนจะต้องร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตกว่า 200 ปี ที่ปลดปล่อยกรรมกรจากการทำงานเยี่ยงทาส  ณ วันนี้ การต่อสู้ของกรรมกรยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เชื่อมั่นในพลังของเรา ต้องปลดปล่อยโซ่ตรวนทางความคิดที่คอยแต่พึ่งพา ร้องขอและยอมจำนน ไม่นำพาการต่อสู้ด้วยตนเอง  เพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวนของการกดขี่ขูดรีดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เฉกเช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้ต่อสู้และทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่ออนาคตของลูกหลานกรรมกรของเราและสังคมใหม่
 
สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ยืนหยัดร่วมต่อสู้กับมวลพี่น้องกรรมกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อปากท้องของทุกคน  ในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย กรรมกรต้องสร้างอำนาจประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นคืออำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อำนาจประชาธิปไตยทางด้านวัฒนธรรม "อำนาจอธิปไตย (ต้อง) เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
 
อำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง - คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย "เลือกตั้งปีนี้" - ให้ยกเลิก ม.44  - ให้ผู้ใช้แรงงานใช้สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ
 
อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ - รัฐ ต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า - ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ
 
อำนาจประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม - รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา - รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการ
 
ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรและราษฎรทั้งหลาย ตามหลักการ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวประจำรัฐสภาเรียกร้อง สปท.ถอนร่างกฎหมายคุมสื่อ

Posted: 30 Apr 2017 12:18 AM PDT

ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สปท.ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อน นักวิชาการแนะทุกฝ่ายพูดคุยหาทางออกร่วม ส่วนเพื่อไทยชี้กระทบกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน 'พล.อ.อ.คณิต' สปท.สื่อ จะเสนอตัดเรื่องสื่อฯ ต้องขอใบอนุญาตหากไม่ขอจะมีโทษอาญาจำคุกถึง 2 ปีออกไป

 
30 เม.ย.2560 ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สปท.ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
 
ด้าน ThaiPBS รายงานว่า ผู้ช่วยศาสตรจารย์ บุปผา บุญสมสุข ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เห็นด้วยหากจะให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่ควรปล่อยให้บุคคลากรในแวดวงสื่อสารมวลชนได้ทำหน้าที่ พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยหากต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบวชาชีพสื่อมวลชน เพราะเชื่อว่าจะกระทบต่อการทำหน้าที่
 
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถอนวาระร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ ออกจากการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เพื่อทบทวนเนื้อหาและหลักการสำคัญ ด้วยการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน รวมถึงสื่อมวลชนที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคสนามด้วย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและข้อเท็จอีกด้านหนึ่ง หลังเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ถูกคัดค้าน
 
เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมไปถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกำกับควบคุม จนมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ให้สิทธิ์ไว้ การผลักดันกฎหมายควรเป็นไปในลักษณะมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสร้างกลไกที่ธำรงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม และการใช้เสรีภาพบนพื้นฐานความรับผิดชอบ
 
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ยุติการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะกระทบกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศจากประชาคมโลก
 
ล่าสุด พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน (สปท.สื่อ) ระบุว่าจะเสนอต่อที่ประชุม สปท. ตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ ต้องขอใบอนุญาตหากไม่ขอจะมีโทษอาญาจำคุกถึง 2 ปีออกไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วัยแรงงานเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุดจากอุบัติเหตุยานยนต์

Posted: 30 Apr 2017 12:05 AM PDT

สพฉ. ห่วงคนวัยทำงานป่วยโรคฉุกเฉิน เหตุเครียด ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พร้อมเปิด 3 อันดับอาการที่วัยแรงงานเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุด อุบัติเหตุยานยนต์ครองแชมป์

 
 
30 เม.ย. 2560 เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวว่าวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงาน ซึ่งวัยแรงงานถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะมีโรคและอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุกคาม โดยตลอดปี 2559  สพฉ. ได้สรุปสถิติโรคฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับคนไทย โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน อายุ 20-60 ปี พบว่ามีการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ในเรื่องอุบัติเหตุยานยนต์มากที่สุด ซึ่งได้รับแจ้งเหตุในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ 35,758 ครั้ง ส่วนผู้หญิง 18,114 ครั้ง
 
รองลงมาคือมีอาการป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง โดยได้รับแจ้งเหตุในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเช่นกัน คือ ชาย ได้รับแจ้ง 15,773  ครั้ง หญิงได้รับแจ้ง 13,680 ครั้ง ขณะที่อันดับ 3  คืออาการปวดท้อง หลัง เชิงกราน ได้รับแจ้งเหตุในเพศชาย 10,024 ครั้ง และเพศหญิง 8,270 ครั้ง
               
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ  กล่าวต่อว่า  สาเหตุที่คนวัยทำงานเป็นโรคมากขึ้น เนื่องจากมีความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน และใช้เวลาอยู่กับการทำงานค่อนข้างมาก  ขณะที่คนเมืองยังต้องเผชิญกับความเครียดจากปัญหาการจราจรที่ติดขัด ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพอย่างหนักซึ่งหนึ่งในโรคที่น่าเป็นห่วง คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ (STROKE) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก ซึ่งคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง  มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ สูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งโรคนี้จะสังเกตอาการได้ง่าย ๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบ พลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน
                
และอีกโรค  คือ โรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
 
 "ดังนั้นอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเพื่อให้ปลอดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุก ๆ โรคที่สำคัญต้องออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และที่สำคัญคือต้องไม่เครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดจากการทำงานที่หากเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ให้รีบโทรฯ แจ้งสายด่วน 1669" 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษา 'ชาวบ้านบ่อแก้ว' จะถูกให้ออกจากที่ทำกินหรือไม่ 2 พ.ค.

Posted: 29 Apr 2017 11:48 PM PDT

ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษาคดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีกหรือไม่รู้ผล 2 พ.ค. นี้

 
 
กว่า 30 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน และเกือบ 8 ปี หลังจากเข้ายืดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาพร้อมกับพลิกฟื้นชีวิตและรักษาผืนดินให้มีความมั่นคง ยั่งยืน สืบทอดไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน
 
ซะตากรรมชีวิตชาวบ้าน ชุมชนบ่อแก้ว จะเป็นอย่างไร หลังจากวันที่ 2 พ.ค.2560 นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน เดินทางไปยังศาลจังหวัดภูเขียว เพื่อเข้านัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา  ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า คำพิพากษา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ  จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่
 
ในส่วนของพื้นที่พิพาทนั้น เกิดขึ้นนับแต่ ปี พ.ศ. 2521 หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ในบริเวณเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน  จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน  ชาวบ้านจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวมานับแต่นั้น กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม  ระหว่าง ออป.กับชาวบ้าน
 
ในปี 2547 ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับซ้อนที่ดินทำกินใน 5 ตำบล ของอำเภอคอนสาร ได้ร่วมกันจัดตั้ง "เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.) เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินพร้อมกับผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย และได้ร่วมกันชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 – 11 พ.ย. 2547 เพื่อให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และคืนที่ดินทำกินให้แก่ผู้เดือดร้อน
 
ต่อมาได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏการตรวจสอบมีความเห็นตรงกันว่า "สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป" อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก ออป. แต่อย่างใด
 
 
ในส่วนของการถูกดำเนินคดี เกิดขึ้นหลังจาก ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้าปฏิบัติการยึดพื้นที่พร้อมกับจัดตั้ง "ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ"  ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน นอกจากนี้เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า  ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่
 
นอกจากนี้ การเข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน
 
 
ผลการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน กลับกลายเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดี  โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552  ข้อกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
 
แต่ด้วยความที่ชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2496 เช่น หลักฐานประเภทใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ สค. 1 ใบแจ้งการครอบครอง และร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาท อีกทั้งความไม่เป็นธรรมที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินได้สร้างปัญหาผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ดังนั้น ชาวบ้านต่างยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ และเพื่อรักษาผืนดินให้ดำรงอยู่สืบต่อไปถึงลูกหลาน
 
เมื่อการต่อสู้เรียกร้องจากการถูกละเมิดสิทธิด้านที่ดินทำกิน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในวันที่ 28 เม.ย.2553  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลย ที่ 1 ถึง 31 และบริวารออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท  ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน 
 
ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึง กทม. ในวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร  ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว
 
ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. ในวันที่ 2 มีนาคม 2554 นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี  2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน ออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ ออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด  นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.2552
 
กระทั่ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยได้ฏีกา
 
 
จากผลกระทบดังกล่าว ถือเป็นความไม่เป็นธรรมเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งมิได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแม้แต่น้อย นอกจากความพยายามอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม สภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ชาวบ้านต้องแบกรับทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม คดีความ รวมทั้งสิทธิที่ถูกลิดรอนไป
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเข้ายึดพื้นที่ ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่โดยกำหนดเป็น "หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์"เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิก  และเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพราะจากผลผลิตจำพวกกล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด เป็นต้น ซึ่งเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของ ออป. จะเห็นว่ามีความที่แตกต่างกันมาก อีกทั้งการผลิตของชาวบ้านบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และสามารถนำออกขายเป็นรายได้ในครัวเรือน
 
 
แม้ชุมชนบ่อแก้ว จะได้รับผลกระทบอีกครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ให้ รื้อสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน อพยพออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน ชาวบ้านจึงเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
 
 
ต่อมา ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในวันที่  7 ต.ค. 2557 ณ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  มติที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
กว่า 30 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน และเกือบ 8 ปี หลังจากเข้ายืดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาพร้อมกับพลิกฟื้นชีวิตและรักษาผืนดินให้มีความมั่นคง ยั่งยืน สืบทอดไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน ซะตากรรมชีวิตชาวบ้าน ชุมชนบ่อแก้ว จะเป็นอย่างไร หลังจากวันที่ 2 พ.ค.2560 นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน เดินทางไปยังศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อเข้านัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา  ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า คำพิพากษา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ  จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายคุ้มครองเด็กและสตรีจี้เอาผิดผู้เกี่ยวข้องกรณีค้าประเวณีเด็กแม่ฮ่องสอน

Posted: 29 Apr 2017 11:38 PM PDT

กลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กและสตรี ออกแถลงการณ์กรณีค้าประเวณีเด็กที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้เร่งรัดการดำเนินคดี เพื่อเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจัดให้มีกระบวนการคุ้มครองพยานผู้เสียหายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งพยานที่เป็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

 
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมากลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กและสตรี ออกแถลงการณ์กรณีค้าประเวณีเด็กที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่าจากกรณีที่มีมารดาของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งตัวเด็กและเยาวชนผู้เสียหายเอง ได้ออกมาเปิดโปงขบวนการล่อลวงและบังคับให้เด็กและเยาวชนหญิงค้าประเวณี จนเป็นข่าวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีข้าราชการตำรวจในจังหวัดดังกล่าวพัวพันกับการเป็นธุระจัดหา และอาจเข้าข่ายกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ โดยมีการพาดพิงถึงข้าราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าเป็นหนึ่งในผู้ซื้อบริการจากการค้าประเวณีเด็กและเยาวชนดังกล่าว แม้ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้มีการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการล่อลวง บังคับ และเป็นธุระจัดหาในการค้าประเวณีแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการทางอาญากับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าซื้อประเวณี ขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกกล่าวหาว่าพัวพันในคดีดังกล่าว โดยผู้ถูกสอบยังคงประจำอยู่ในพื้นที่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไปตามปกติ
 
จากสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรีขอยืนยันว่า การค้าและการซื้อประเวณีเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะในลักษณะที่เด็กและเยาวชนถูกล่อลวงบังคับหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่สังคมต้องไม่ยอมรับให้เกิดขึ้นโดยปราศจากบทลงโทษที่จริงจังและเข้มงวด เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาประโยชน์ ล่วงละเมิด และกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของสังคมไทย ทั้งนี้โดยอาศัยเหตุจากความเป็นผู้เยาว์ของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น จึงเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและหลักจริยธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม และเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการจับกุม สอบสวน และเอาผิดตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องในทุกมิติอย่างแข็งขัน จริงจัง และโปร่งใส และมีกระบวนการคุ้มครองและเยียวยาเด็ก เยาวชน และครอบครัวซึ่งเป็นผู้เสียหายให้ปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรม
 
ในการนี้ กลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กและสตรีที่มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ ขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดการดำเนินคดี เพื่อเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดีดังกล่าว ทั้งผู้ที่เป็นธุระจัดหา และผู้ซื้อประเวณีจากเด็กและเยาวชน โดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ การซื้อประเวณีเด็กและเยาวชนเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องไม่ละเว้น หรือทอดเวลาในการดำเนินการทางอาญาต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ซื้อประเวณีจากเด็กและเยาวชน โดยอ้างเหตุว่าหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกกล่าวหาได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในหน่วยงานขึ้นแล้ว 2. ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ข้าราชการระดับสูงถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีนี้ สามารถทำคู่ขนานไปกับการดำเนินการทางอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่ควรเป็นกระบวนการตรวจสอบเฉพาะภายในของหน่วยงานด้วยกันเอง แต่ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการที่มีบุคคลภายนอก โดยเฉพาะตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อความเป็นกลาง โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหายและคนในสังคม ว่ากระบวนการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา ด้วยเหตุที่ผู้สอบและผู้ถูกสอบเป็นข้าราชการในสังกัดเดียวกัน
 
3. ในระหว่างที่มีการสอบสวนดำเนินคดี ให้กระทรวงมหาดไทยย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาออกจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่เดิม เพื่อลดโอกาสที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงจะสามารถใช้อำนาจหรืออิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ เข้าไปแทรกแซงหรือขัดขวางกระบวนการทางอาญาและการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าพยานผู้เสียหายจะไม่ถูกกดดันหรือคุกคามด้วยอำนาจและอิทธิผลตามตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา และ 4. ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจัดให้มีกระบวนการคุ้มครองพยานผู้เสียหายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งพยานที่เป็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ปลอดพ้นจากโอกาสที่อาจถูกข่มขู่ คุกคาม หรือทำร้าย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงที่สุด โดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ
 
ท้ายที่สุด กลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรีที่มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เสียหายและครอบครัว ที่กล้าออกมาเปิดโปงกระบวนการค้าและซื้อประเวณีเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน และพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย จะเร่งรัดให้มีการดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อเรียกร้องข้างต้นอย่างเร่งด่วน
 
โดบผู่ที่ลงชื่อ กลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรี มีดังนี้ 1. ทิชา ณ นคร ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก 2. จะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 3. สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม 4. กอบกาญจน์ ตระกูลวารี สหทัยมูลนิธิ 5. ณัฐิยา ทองศรีเกตุ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ 6. อาทิตา รอดสมนาม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 7. วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 8. จารุปภา วะสี แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 9. อภัสรินทร์ ขณะรัตน์ นักวิชาการอิสระ 10. วรภัทร วีรพัฒนาคุปต์ นักพัฒนาภาค CSR / ที่ปรึกษาเครือข่ายประธานนักเรียนฯ 11. อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยอิสระ 12. กัญจน์ณัฏฐ์ แซ่อึ้ง นักวิจัยอิสระ 13. มูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น