โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สหรัฐอเมริกาทิ้ง "ระเบิดโคตรแม่" ที่อัฟกานิสถาน-อ้างมุ่งเป้าอุโมงค์ไอซิส

Posted: 13 Apr 2017 02:38 PM PDT

ผบ.กองทัพสหรัฐประจำอัฟกานิสถานแถลงว่าได้ทิ้งระเบิด GBU-43/B หรือ "ระเบิดโคตรแม่" เป็นครั้งแรกเพื่อทำลายเครือข่ายอุโมงค์ของกลุ่มไอซิสทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน โดยมีพลังทำลายล้างเทียบระเบิด TNT 11 ตัน เป็นระเบิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ซึ่งรุนแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เคยใช้มา การโจมตียังเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างหนักในซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน

ระเบิด GBU-43/B หรือระเบิดโคตรแม่ (MOAB) ภาพถ่ายเมื่อปี 2003 ขณะเตรียมนำไปทดสอบที่ Eglin Air Force Armament Center (ที่มา: แฟ้มภาพ/United States Department of Defence/Wikipedia)

แผนที่แสดงที่ตั้งของอำเภออะชิน ในจังหวัดนันกาฮาร์ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ซึ่งกองทัพสหรัฐอเมริกาอ้างว่าได้โจมตีทางอากาศด้วยระเบิด GBU-43/B โดยมุ่งเป้าไปยังเครือข่ายอุโมงค์ของไอซิส (ที่มา: Google Maps)

กองทัพสหรัฐอเมริกาแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นว่าได้ทิ้งระเบิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยใช้มาในสมรภูมิอัฟกานิสถาน โดยเป้าหมายคือ "เครือข่ายอุโมงค์" ของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิสในอัฟกานิสถาน และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาใช้ระเบิด GBU-43/B หรืออีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกคือระเบิดโคตรแม่ (mother of all bombs - MOAB)

อาวุธดังกล่าวซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 2545 ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทำลายเป้าหมายใต้ดิน และทะลุทะลวงในไปในพื้นผิวดิน โดยมีน้ำหนัก 10.3 ตัน และมีพลังทำลายล้างเทียบเท่าระเบิด TNT 11 ตัน โดยระเบิดถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินรบและระเบิดก่อนถึงพื้นดิน ซึ่งจะสร้างรัศมีของการระเบิดขนาดใหญ่ ทั้งนี้กองทัพสหรัฐฯ ยังมีอาวุธตามแบบซึ่งเป็นระเบิดลูกใหญ่กว่านี้อีกคือระเบิด GBU-57 ซึ่งมีน้ำหนัก 14 ตัน และยังไม่เคยนำมาใช้ในสงคราม

ทั้งนี้ผลในทางจิตวิทยาต่อผู้รอดชีวิตจากระเบิดและผู้ที่เห็นเหตุระเบิด ยังเป็นผลพวงหนึ่งของระเบิด GBU-43/B อีกด้วย

ขณะเดียวกันรัสเซียยังมีระเบิด "Father of All Bombs" (FOAB) หรือ "ระเบิดโคตรพ่อ" ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 2550 โดยอ้างว่ามีพลังทำลายล้างเทียบเท่าระเบิด TNT 44 ตัน หรือรุนแรงกว่า GBU-43/B ถึง 4 เท่า แต่นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกายังไม่เชื่อกับคำกล่าวอ้างนี้

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุเป็นปฏิบัติการปกติ
ไม่ได้ส่งสัญญาณต่อเกาหลีเหนือ

เมื่อถูกถามว่าเขาเป็นผู้สั่งการให้ใช้ระเบิดหรือไม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ตอบว่า "ทุกคนรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ผมทำคือผมมอบอำนาจแก่กองทัพ เรามีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และพวกเขาปฏิบัติการตามปกติ เรามอบอำนาจทั้งปวงแก่พวกเขา นี่คือสิ่งที่เราทำ และกล่าวอย่างเปิดเผยก็คือนี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไมล่าสุดนี้พวกเขาจึงประสบผลสำเร็จ"

เกี่ยวกับคำถามว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังเกาหลีเหนือหรือไม่ ทรัมป์ระบุว่า เขาไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นการส่งข้อความใดๆ หรือไม่ และมันไม่มีผลแตกต่างอะไร ไม่ว่าจะเป็นการส่งหรือไม่ส่งข้อความ เกาหลีเหนือคือปัญหาหนึ่ง และปัญหาจะต้องได้รับการดูแล เขายังพูดเป็นนัยว่าจีนเองก็ทำงานอย่างหนักต่อประเด็นนี้

 

ผบ.กองทัพสหรัฐฯ อ้างใช้ระเบิด GBU-43/B
เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน

ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถาน พล.อ.จอห์น ดับเบิลยู นิโคลสัน ระบุในแถลงการณ์ว่าได้ใช้ระเบิด GBU-43/B ต่อต้านกลุ่มไอซิสที่โคโรซาน หรือกลุ่ม Isis-K เนื่องจากกลุ่มไอซิสดังกล่าวใช้ ระเบิดแสวงเครื่อง บังเกอร์ และอุโมงค์ เพื่อทำให้แนวป้องกันแน่นหนาขึ้น ดังนั้นระเบิด GBU-43/B จึงเป็นระเบิดที่ถูกต้อง ใช้เพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ และรักษาแรงผลักดันการบุกของกองทัพสหรัฐฯ ต่อกลุ่ม Isis-K

ทั้งนี้มีการทิ้งระเบิดที่อำเภออะชิน (Achin) ทางตะวันออกของจังหวัดนันกาฮาร์ (Nangarhar) ประเทศอัฟนิสถาน เมื่อเวลา 19.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 22.02 น. ตามเวลาประเทศไทยซึ่งเร็วกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้กองทัพสหรัฐระบุว่าการใช้ระเบิด GBU-43/B ก็เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด สำหรับกองทัพสหรัฐอเมริกาและอัฟกานิสถานในการโจมตีกลุ่ม Isis-K ที่อำเภออะชิน โดยหลังการทิ้งระเบิด ทหารกองทัพสหรัฐและอัฟกานิสถานจะเข้าเคลียร์พื้นที่เป้าหมาย

ทหารอัฟกานิสถานรายหนึ่งระบุกับ "การ์เดียน" ในขณะที่เขากำลังเคลื่อนกำลังไปยังพื้นที่เป้าหมายว่า "แรงระเบิดที่เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกเหมือนแผ่นดินไหวใหญ่ แม้จะอยู่ในเขตใกล้เคียงก็ตาม"

ประมาณการว่ามีนักรบ Isis-K ราว 600-800 นายเคลื่อนไหวอยู่ในอัฟกานิสถาน และส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดนันกาฮาร์ ซึ่งรวมทั้งอำเภออะชินที่ถูกทิ้งระเบิดด้วย

ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐประจำอัฟกานิสถานระบุว่า "การโจมตียังระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อพลเรือน" แต่ในการแถลงดังกล่าว ไม่ได้ระบุถึงผลกระทบต่อพลเรือนอัฟกานิสถานแต่อย่างใด

 

โหมถล่มอิรัก-ซีเรีย-อัฟกานิสถาน
และข้อกังวลต่อความสูญเสียของพลเรือน

รายงานของเดอะการ์เดียนระบุด้วยว่า กองทัพสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับข้อกังวลที่ว่า การโหมใช้ระเบิดถล่มซีเรีย อิรัก และเยเมน กำลังสร้างความสูญเสียให้กับพลเรือน ทั้งนี้เหตุโจมตีเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่อาคารแห่งหนึ่งในโมซุล ประเทศอิรัก ก็อยู่ระหว่างการสอบสวนว่า ปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐเป็นเหตุทำให้พลเรือนชาวอิรัก 150 รายเสียชีวิตหรือไม่

สำหรับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นเดือนที่กองทัพสหรัฐใช้ระเบิดโจมตีไอซิสอย่างหนักหน่วงทั้งในอิรัก และซีเรีย ซึ่งเป็นสมรภูมิที่กินเวลามากว่า 3 ปี เครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดไป 3,878 ลูก ในเดือนมีนาคม แซงหน้าสถิติของเดือนมกราคมปีเดียวกันที่ทิ้งไป 3,600 ลูก

ส่วนในอัฟกานิสถาน เครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดไป 203 ลูกในเดือนมีนาคม เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา

โฆษกของทรัมป์คือ ฌอน สไปเซอร์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า การใช้ระเบิด GBU-43/B แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาต่อสู้กับไอซิสอย่างจริงจังเพื่อที่จะพิชิตกลุ่มดังกล่าว จำเป็นต้องไม่ให้กลุ่มเหล่านี้มีพื้นที่ปฏิบัติการ "อย่างที่เรากำลังทำในขณะนี้"

 

เรียบเรียงจาก

US drops largest ever non-nuclear bomb on Isis affiliate in Afghanistan, military says, The Guardian,  13 April 2017

GBU-43/B Massive Ordnance Air Blast, Wikipedia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนในฮังการี-ต้านกฎบีบมหาวิทยาลัยต่างชาติ

Posted: 13 Apr 2017 12:44 PM PDT

รัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของฮังการีเพิ่งเสนอกฎหมายฉบับใหม่พุ่งเป้ามาที่มหาวิทยาลัย 28 แห่งที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่อาจถูกปิดเพราะกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงจากเหล่านักศึกษาและบุคลากร พวกเขากล่าวหารัฐบาลฮังการีว่ากำลังวางแผนให้มหาวิทยาลัยของพวกเขาถูกปิด

ที่มาของภาพ: I stand with CEU

13 เม.ย. 2560 วอชิงตันโพสต์รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมามีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนรวมตัวประท้วงกันทีกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี เพื่อแสดงการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและคุกคามกลุ่มภาคประชาสังคม

ผู้ชุมนุมเดินขบวนมารวมตัวกันที่จัตุรัสวีรบุรุษ สถานที่สำคัญในบูดาเปสต์ ผู้ชุมนุมบางส่วนยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สกัดกั้นพวกเขาไม่ให้เข้าไปในสำนักงานของพรรคฟิเดสซ์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน

และเกิดปะทะเล็กน้อย เมื่อมีผู้ชุมนุมพยายามผลักแนวกั้นของตำรวจ พอถึงช่วงกลางคืนผู้ชุมนุมหลายพันคนก็อยู่ที่รัฐสภาตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐบาล

ฟลอรา เฟเกเต นักศึกษาในฮังการีกล่าวว่าเธอเข้าร่วมการเดินขบวนเพราะไม่อยากให้รัฐบาลฮังการีนำวิธีการแบบเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียมาใช้กับฮังการี

การประท้วงนี้มีที่มาจากการที่รัฐบาลออร์บานพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่หลายคนมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่ก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส เศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2534 โดยที่โซรอสมีวิสัยทัศน์ในการเปิดกว้างทางสังคม ตรงกันข้ามกับออร์บานที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยม ต่อต้านผู้อพยพ และออร์บานมองว่ากลุ่มที่เปิดกว้างเหล่านี้กำลังทำให้ฮังการีเสียผลประโยชน์

ออร์บานและรัฐบาลพรรคฟีเดสซ์ต้องการแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อสร้างข้อจำกัดในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยแบบ CEU โดยจำกัดมหาวิทยาลัยที่จดทะเบียนจากต่างชาติและไม่มีมหาวิทยาลัยก่อตั้งอยู่ในประเทศตัวเอง โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะดำเนินการต่อไปต้องได้รับการยินยอมตกลงกันด้วยการลงนามระหว่างผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยกรณีปัจจุบันก็คือต้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามกับ นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี

รวมถึงเงื่อนไขที่สองคือ ต้องมีการจัดตั้งวิทยาเขตและคณะต่างๆ ที่ประเทศต้นทาง ในกรณีของ CEU คือต้องตั้งมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้จะต้องยกเลิกการดำเนินงานภายในปี 2564

ก่อนหน้าการประท้วงครั้งล่าสุดนี้เคยมีการประท้วงบนท้องถนนหลายครั้งแล้วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อแสดงการสนับสนุน CEU มีชาวฮังการีหลายร้อยคนและนักวิชาการจากต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัยต่างก็แสดงออกสนับสนุน CEU ที่มีนักศึกษาอยู่มากกว่า 1,400 คน

ทางรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลฮังการีสั่งระงับกฎหมายดังกล่าว ขณะที่โฆษกรัฐบาลฮังการีประกาศว่ากฎหมายไม่สามารถระงับได้แต่รัฐบาลจะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยบอกว่า "ถ้ามหาวิทยาลัยของโซรอสขับเคลื่อนด้วยเจตนาที่ดี ก็จะแก้ปัญหาได้"

อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยก็ระบุว่าการพูดผ่านสื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่พวกเขายังไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากทางการฮังการี และต้องการหารือกันโดยตรง

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าพรรคฝ่ายค้านของฮังการีพยายามยื่นฟ้องอุทธรณ์การพิจารณากฎหมายนี้ในศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่พรรครัฐบาลฮังการีกำลังพยายามออกกฎหมายที่บีบให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่รับทุนดำเนินงานจากนอกประเทศมากกว่า 7.2 ล้านฟอรินต์ (ราว 840,000 บาท) ต้องจดทะเบียนกับรัฐบาลไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งปรับหรือถูกสั่งปิด

ขณะที่ สเตฟาเนีย คาปรองเซย์ กรรมการผู้จัดการของสหภาพเสรีภาพพลเมืองฮังการีกล่าวตอบโต้ในเรื่องนี้ว่ารัฐบาลฮังการีเริ่มอดกลั้นต่อความคิดที่แตกต่างได้น้อยลงเรื่อยๆ

เรียบเรียงจาก

Tens of thousands protest Hungary's education, NGO policies, Washington Post, 12-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมทรัพย์สินฯ แจงใช้ ม.44 จัดการงานสิทธิบัตรค้างหลายปี ไม่ทำให้ราคายาสูงขึ้น

Posted: 13 Apr 2017 08:48 AM PDT

FTA Watch โวยพาณิชย์ไม่เคยเรียกคุย หลังยื่นหนังสือมา 1 เดือน ชี้การให้สิทธิบัตรส่งผลให้ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา ไร้การวิจัยนวัตกรรมยาใหม่ ด้าน กรมทรัพย์สินฯ โต้มีหลายหน่วยงานกำกับและดูแล แต่หากเห็นว่าราคายาแพงร้องให้มีการตรวจสอบและคัดค้านได้

 

13 เม.ย. 2560 จากกรณีกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกมาระบุว่ากรณีที่รัฐบาลเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรยา จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดยา ทำให้ยามีราคาแพงมาก และกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุขวงกว้างนั้น

ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นต่อกรณีดังกล่าว คือ เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้มีปริมาณงานค้างสะสมจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกิดความล่าช้า 

ทศพล กล่าวว่า  รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงสนับสนุนทั้งการเพิ่มบุคลากรผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรอีก 72 คน และงบประมาณพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า เกิดจากปัญหาด้านอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มีจำกัด ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่มายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรได้อย่างรวดเร็ว โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญามีอัตรากำลังผู้ตรวจสอบเพียง 24 คน ขณะที่มีปริมาณคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึงปีละ 9,000 คำขอ ส่งผลให้เกิดงานค้างสะสมสูงถึง 36,000 คำขอ และในจำนวนนี้เป็นคำขอที่ยื่นมาเกินกว่า 5 ปีมากถึง 12,000 คำขอ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์ล่าช้า ดังนั้น มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะนำมาใช้นี้เป็นมาตรการที่เรียกว่า "การตรวจสอบการประดิษฐ์แบบทางเลือก" ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบระหว่างสำนักงานที่ใช้ในหลายประเทศ หรือ "Work Sharing" เพื่อสะสางงานค้างสะสมที่ยื่นมาแล้วเกินกว่า 5 ปี โดยเป็นมาตรการทางเลือกชั่วคราว ลดขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำซ้อนกับสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมฯ สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการใช้มาตรการนี้ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอื่น ๆ ตามกฎหมายไทย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการออกสิทธิบัตรตามมาตรการดังกล่าว  นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเพิ่มช่องทางสำหรับการร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการออกสิทธิบัตร โดยเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นกลาง   

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคายานั้น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า  ยังมีกลไกสร้างความสมดุลระหว่างระบบสิทธิบัตรกับระบบสุขภาพของประเทศต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่ยามีราคาสูงขึ้นเกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น ต้นทุนทางการตลาด และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งการใช้สิทธิ์ในสิทธิบัตรนั้นจะต้องไม่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือเอาเปรียบผู้บริโภคและมีกลไกการกำกับดูแลราคายาปัจจุบันมีหลายมาตรการ เช่น กลไกการต่อรองราคายาและการกำหนดราคากลางของยาของกระทรวงสาธารณสุข หรือกลไกการควบคุมราคาสินค้าและบริการโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  (กกร.) ของกรมการค้าภายใน 

FTA Watch โวยพาณิชย์ไม่เคยเรียกหารือเลย

ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  กล่าวว่า ตั้งแต่เครือข่ายภาคประชาชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ส่งผลถึงเรื่องของสิทธิบัตรยา โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานให้มีการหารือร่วมกันแต่อย่างไร โดย ทาง กลุ่มเตรียมจะขอเข้าพบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอทราบความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการออกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังมีมาตรา 265 ซึ่งรับรองให้ คสช.สามารถใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ ทางกลุ่มเป็นห่วงเฉพาะในประเด็นการจดสิทธิบัตรยาที่อาจทำให้มีการจดสิทธิ บัตรยาที่ไม่ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น หากรัฐบาลใช้มาตรา 44 ควรแยกสิทธิบัตรยาประมาณ 3,000 รายการออกมา แต่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยบอกว่าแยกไม่ได้"

ภาพ เมื่อัวนที่ 1 มี.ค. 2560 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าค คสช. เพื่อคัดค้านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา และขอให้ทบทวนคำสังดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าระบบสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา จะกระตุ้นให้นักวิจัยประดิษฐ์คิดค้น จากที่เคยเข้าไปดูคำขอที่ค้างอยู่ในกรมทรัพย์สินทางปัญญา และดูเฉพาะในหมวดยา มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าฉบับ และยังไม่รวมคำขอที่เป็นชีววัตถุที่เป็นสารตั้งต้นเป็นยาได้ จึงประเมินว่าคำขอ 12,000 ฉบับ น่าจะมีประมาณ 3,000 ฉบับที่เป็นคำขอเกี่ยวกับยา

ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา ไร้การวิจัยนวัตกรรมยาใหม่

รองประธานกลุ่ม FTA Watch ระบุว่า หลักฐานจากงานวิจัยที่พบว่า คำขอที่ค้างเป็น Evergreening คือ ไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ถึง 84% โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เพียงเอายา 2 ตัวมารวมเป็น 1 เม็ด เป็นต้น หากให้สิทธิบัตรแบบนี้ออกไปจะถูกขยายระยะเวลาในการผูกขาดสิทธิบัตรยาออกไป เป็นสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย  ส่งผลให้ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา และทำให้ไม่มีการวิจัยนวัตกรรมยาใหม่ ขัดกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของ คสช.ที่สนับสนุนการเร่งผลิตนวัตกรรม ที่สำคัญสัญชาติผู้ขอสิทธิบัตรในไทย โดยข้อมูลปี 2542-2553 พบว่า 33% เป็นสหรัฐฯ รองลงมาเยอรมนี 13% ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ไทยมีเพียง 0.5% เท่านั้น

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน สนช.รับมอบ รธน. 60 ชี้จากนี้ต้องพิจารณา กม.ตาม ม.77 รับฟังรอบด้าน-เป็นระบบ

Posted: 13 Apr 2017 08:25 AM PDT

ประธาน สนช.รับมอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา คาดสามารถพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เตรียมเชิญหน่วยงานชี้แจงรับฟังความเห็นตามมา ม.77

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับมอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อัญเชิญมายังอาคารรัฐสภา 2 โดยมี สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วรารัตน์  อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา และข้าราชการรัฐสภา เข้าร่วมในพิธี จากนั้นจะนำไปประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ประธาน สนช. กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไว้จำนวน 3 ฉบับ โดย 1 ใน 3 ฉบับ จะนำมาประดิษฐานไว้ที่รัฐสภาตามโบราณราชประเพณี

พรเพชร ยังกล่าวถึงการประชุม สนช. ในวันที่ 20 เม.ย. นี้ว่า สนช.จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ สนช.สามารถแก้ไขเนื้อหาได้ตามสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวคาดว่า สนช. จะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้แล้วเสร็จได้ภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 กำหนดไว้ และหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้การทำหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การพิจารณากฎหมายของ สนช. ต้องดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. นั้น จะมีการตรวจสอบว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก็จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็นในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ สนช. ไม่สามารถส่งร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณากลับไปยังหน่วยงานไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ เพราะไม่มีอำนาจดำเนินการ

สำหรับมาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า  รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เมื่อรู้ตัว

Posted: 13 Apr 2017 07:33 AM PDT

 


เมื่อความดี แอบอ้าง สร้างปัญหา
เมื่อศรัทธา งมงาย กลายเป็นเขลา
เมื่อจงรัก หล่อหลอม จน-มอมเมา
เมื่อถ่านเถ้า ความตาย พ่นคายพิษ

เมื่อความเท็จ กล่าวย้ำ ซ้ำจนใช่
เมื่อต้นไม้ รูปปั้น มันศักดิ์สิทธิ์
เมื่อเชื่อเทพ เทวา ว่ามีฤทธิ์
เมื่อสิ่งผิด กลายเป็นถูก ซุกความจริง

เมื่อสังคม ก้มยอม พร้อมอ่อนข้อ
เมื่ออำนาจ ปืนจ่อ ก็หยุดนิ่ง
เมื่อสิทธิ  ถูกทำลาย ไม่ท้วงติง
เมื่อทอดทิ้ง เสรีภาพ ไปกราบกราน

เมื่อไอโอ(IO) โฆษณา กล้าสร้างฉาก
เมื่อเเบ่งสี แบ่งภาค ฉากร้าวฉาน
เมื่อโจรถ่อย ปกครอง ป้องคนพาล
เมื่อข่าวสาร ปกปิด มิดกะลา

เมื่อวันนี้ คนไทย ยังไม่ตื่น
เมื่อยอมกลืน ฝืนอยู่ แบบไร้ค่า
เมื่อเสื่อมถอย ความคิด ปิดปัญญา
เมื่อผู้กล้า เห็นต่าง ถูกขังคุม

เมื่อถอยห่าง ความจริง สิ่งพื้นฐาน
เมื่อหลักการ ถอยเท้า ก้าวลงหลุม
เมื่อยอมให้ อำนาจเถื่อน เคลื่อนเกาะกุม
"เมื่อรู้ตัว ก็จนมุม ในขุมนรก..."

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.เร่งหาหลักฐาน 'ซินแสโชกุน' โยงคลิปเสียง ผิด ม. 112

Posted: 13 Apr 2017 05:47 AM PDT

ผบช.ก.เผยเร่งชุดสืบสวนหาหลักฐานเชื่อมโยงคลิปเสียง 'ซินแสโชกุน' แอบอ้างเบื้องสูง จ่อแจ้งผิด ม.112 พร้อมสืบหาเส้นทางการเงินพบในบัญชีมี 3 ล้าน ตำรวจเสนอ ปปง.ยึดทรัพย์ หวั่นเคลื่อนย้ายโอนทรัพย์สิน

ใบประชาสัมพันธ์ทวร์ดังกล่าว

13 เม.ย. 2560 ความคืบหน้าคดีที่ พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ "ซินแส โชกุน" เจ้าของบริษัท บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ถูกกล่าวหาว่าหลอกสมาชิกว่าจะพาไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถพาไปได้จริง จนเกิดความวุ่นวายที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุดวันนี้ สื่อหลานสำนักรายงานว่า ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. เดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดี ก่อนเปิดเผยว่าไม่มีความกังวลเรื่องการสอบปากคำเพราะขณะนี้ได้ตัวผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหาสามารถพูดแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ แต่ตำรวจก็จะต้องตรวจสอบจากข้อมูลเชิงประจักษ์ คาดว่าภายหลังสงกรานต์จะมีการสอบสวนและได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนขึ้น

ผบช.ก.กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ในเรื่องการยึดทรัพย์แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน แต่จากการตรวจสอบการธุรกรรมกับธนาคารของ ซินแสโชกุนนั้น เบื้องต้นทราบว่ามีจำนวนเงินอยู่ประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งเงินบางส่วนที่มีการแปลงสภาพไปเป็นอสังหาริมทรัพย์แล้วนั้นจะเร่งตรวจสอบเพื่อจะได้นำเงินคืนสู่ผู้เสียหายให้เร็วที่สุด

"ส่วนกรณีที่ปรากฏคลิปเสียงของซินแสโชกุนมีการอ้างสถาบันเบื้องสูง ผิดมาตรา 112 นั้น ตอนนี้หลักฐานเอกสารยังไม่มีความเชื่อมโยง อยู่ระหว่างการเร่งหาอุปกรณ์ติดต่อ เช่น โทรศัพท์ของซินแสโชกุน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ อีกทั้งตอนนี้พนักงานสอบสวนได้มีการสืบทราบแล้วว่าเครือข่ายซินแสโชกุนนั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เป็นแม่ข่ายทั้งหมดประมาณ 30 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเชิญตัวทั้งหมดเข้ามาสอบปากคำ" ผบช.ก.กล่าว
       
พล.ต.ท.ฐิติราชกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในวันที่ 14 เม.ย.ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก พร้อมคัดค้านการประกันตัวเพราะผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งหรือทำลายพยานหลักฐานได้
       
ขณะที่ นิติศักดิ์ มีขวด ทนายความของ พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พร้อมขอเข้าพบเพื่อพูดคุยกับ พสิษฐ์ ในเรื่องคดี โดยภายหลังการพูดคุยเบื้องต้นนายนิติศักดิ์ทนายความยืนยันว่าผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาในการเดินทางหนี ส่วนเหตุผลที่เดินทางไปจังหวัดระนองเพราะหลังเกิดเหตุรู้สึกตกใจจึงเดินทางไปตั้งหลัก ก่อนจะมีการติดต่อทนายความเพื่อจะเดินทางเข้ามอบตัว แต่ติดขัดในเรื่องการเดินทางทำให้เดินทางไปไม่ทัน ก่อนที่ตำรวจจะเข้าควบคุมตัว พสิษฐ์ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเคยรับว่าความคดีเกี่ยวกับเช็คให้ผู้ต้องหามาแล้วครั้งหนึ่ง และไม่รู้ว่า พสิษฐ์ประกอบธุรกิจในลักษณะนี้ ตนก็เพิ่งทราบจาก พสิษฐ์หลังได้พูดคุยช่วงที่ติดต่อให้ไปพบที่ จ.ระนอง โดยขณะนั้นยังไม่มีการออกหมายจับ แต่ภายหลังทราบว่าศาลออกหมายจับจับ พสิษฐ์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ต่อจากนี้ต้องดูในข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนในเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะเอาผิดในความผิดหมิ่นเบื้องสูงต่อ พสิษฐ์ หรือไม่ ต้องรอดูทางพนักงานสอบสวนก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่าขณะนี้มีเพียง พสิษฐ์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกออกหมายจับ ส่วนครอบครัวยังไม่มีการออกหมายจับใดๆ ทั้งสิ้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า บรรยากาศที่กองปราบปราม มีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบตกเป็นเหยื่อของซินแสโชกุน ต่างทยอยเดินทางมาที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดี โดยทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ทำการสอบปากคำอย่างละเอียด โดยใช้ห้องประชุมชิวปรีชาเป็นสถานที่ในการสอบปากคำ ทั้งนี้ในการเข้าแจ้งความนั้นผู้เสียหายไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนบันทึกภาพแต่อย่าง ใด
       
นอกจากนี้มีรายงานว่า พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ได้สั่งการเร่งด่วนผ่านวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยถึง ผบช.น., ผบช.ภ.1-9, ศชต. และ ผบช.ก.ให้ดำเนินการการดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการฉ้อโกงในครั้งนี้ และเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงให้ดำเนินการ ดังนี้ ให้ทาง บช.ก. (บก.ป.) เป็นหน่วยงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและดำเนินการเร่งรัดสืบสวนจับกุมกลุ่มบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดมาดำเนินคดี, ให้ทุก บช.ภ.กำชับพนักงานสอบสวนทุกพื้นที่ที่มีประชาชนได้รับความเสียหาย ให้ดำเนินการสอบปากคำรวบรวมพยานหลักฐานไว้เบื้องต้น และประสานการปฏิบัติกับทางกองปราบปรามเพื่อให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าพนักงานสอบสวนในพื้นที่ไม่รับดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดพิจารณาความบกพร่องแล้วรายงานให้ ตร.ทราบ

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ TNN24 และคมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดข้อสังเกต 'ศูนย์ทนายฯ -ไอลอว์' ต่อประกาศงดติดตามโพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์'

Posted: 13 Apr 2017 04:14 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ไอลอว์ ออกข้อสังเกตต่อประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ สั่ง ปชช. งดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่โพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์' ชี้ติดตาม หรือติดต่อบุคคลใดนั้นไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ระบุประกาศไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด 

13 เม.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (12 เม.ย.60) มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา

โดยภายหลัง สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว เปิดกับมติชนออนไลน์ ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นหนังสือราชการฉบับจริงที่ออกจากกระทรวง เพื่อการติดต่อสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าข้อมูลใดสามารถเผยแพร่ได้ หรือต้องใช้วิจารณญาณอย่างไร ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศาลอาญาที่ให้ระงับข้อมูลการที่เผยแพร่ออกไปอย่างไม่เหมาะสม

"สำหรับอำนาจหรือการพิจารณาว่าการติดต่อบุคคลดังกล่าวจะทำได้หรือไม่นั้น เช่น การไลค์หรือการแชร์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)" สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw ได้ออกข้อสังเกตต่อประกาศฉบับดังกล่าวด้วย ดังนี้

ศูนย์ทนายฯ ชี้ติดตามติดใคร ไม่ได้ผิดต่อกฎหมายใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อประกาศฉบับดังกล่าวต่อไปนี้

1. การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นแต่การกำหนดโดยกฎหมายประกาศฉบับดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนให้เลิกการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลของบุคคลทั้งสามนั้นกลับไม่มีการอ้างถึงฐานที่มาของอำนาจตามกฎหมายระบุไว้ ศูนย์ทนายความฯเห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นเพียงแต่การ "สื่อสาร" ของกระทรวงดิจิทัลต่อสาธารณชนเท่านั้น แต่ไม่ได้มีฐานะเป็น "กฎ" หรือ "คำสั่ง" ซึ่งจะมีสภาพบังคับต่อประชาชนแต่อย่างใด 

2. การระบุถึงเหตุในการออกประกาศดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่ชัดเจน "คำสั่งของศาลอาญาให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550" นั้นเป็นข้อความซึ่งประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าศาลมีคำสั่งต่อ "ข้อเท็จจริง" ใดที่เกิดขึ้น อีกทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลสั่งให้ประชาชนเลิกติดตามหรือติดต่อบุคคลใดได้ 

3. การติดตาม หรือติดต่อบุคคลใดนั้นไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายใด ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกได้ ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจาก "เนื้อหา" ที่เผยแพร่ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเผยแพร่ข้อมูลจากตัวบุคคลใดจะเป็นความผิดเสมอ ประชาชนทั่วไปย่อมมีวิจารณญานในการรับและเผยแพร่ข้อมูลจากบุคคลใดๆได้

4. การกระทำความผิดตามกฎหมายอาญานั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น หากเป็นการกระทำโดยไม่เจตนาแล้วโดยหลักแล้วไม่เป็นความผิด ยกเว้นแต่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้นไม่มีการกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาทไว้แต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต นั้นเป็นข้อเสนอแนะที่สร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเนื้อหาตามประกาศดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีตามกติการะกว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกไว้

 

ไอลอว์ระบุประกาศไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด 

ขณะที่ iLaw ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เมื่อพิจารณาตามประกาศฉบับดังกล่าว เปรียบเทียบกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีข้อสังเกตดังนี้


1. ตามที่ประกาศฉบับดังกล่าวอ้างถึงคำสั่งของศาลอาญา ที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลอันไม่เหมาะสมนั้น เรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ คำสั่งศาลให้ "บล็อคเว็บ" นั่นเอง ซึ่งจากสถิติเท่าที่ทราบ แต่ละปีศาลอาญามีคำสั่งบล็อกเว็บไซต์หลายพัน URL อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีนี้ ระบุว่า ศาลสั่งมีคำสั่งเรื่องบล็อคเว็บเท่านั้น แต่การไม่ให้ติดตามหรือติดต่อบุคคลทั้งสามเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งศาล (ดูสถิติการบล็อกเว็บเพิ่มเติมที่นี่ : https://freedom.ilaw.or.th/blog/webblockstat20132014)

2. เมื่อศาลมีคำสั่ง "บล็อคเว็บ" อาจเป็นเพราะศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในเว็บไซต์นั้นๆ มีเนื้อหาบางประการที่เข้าข่าย ตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ เป็นเนื้อหาที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และผิดต่อกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีคำสั่งให้บล็อคเว็บไซต์ใด ก็อาจสั่งให้บล็อคทั้ง URL แต่ไม่ได้หมายความเนื้อหาทุกส่วนของเว็บไซต์ที่ศาลสั่งบล็อคนั้นจะเป็นความผิดทั้งหมด

3. การพิจารณาว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดต่อกฎหมายและมีโทษหรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, 16 ซึ่งเอาผิดเฉพาะการ "นำเข้า" "เผยแพร่" "ส่งต่อ" ข้อมูล เรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การโพสต์หรือการแชร์ เท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เอาผิดการ "ติดตาม" หรือ "ติดต่อ" และการ "กดไลค์" 

4. การ "เผยแพร่" หรือ "ส่งต่อ" ข้อมูลที่มีลักษณะผิดกฎหมายอาจเป็นความผิดด้วย ส่วนการเผยแพร่หรือส่งต่อ ข้อมูลจากแหล่งต้นทางที่เคยถูกศาลอาญาสั่งบล็อคเว็บ จะเป็นความผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีการเผยแพร่หรือส่งต่อเป็นกรณีๆ ไป จะถือว่า การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลทุกอย่างจากแหล่งต้นทางที่เคยถูกศาลอาญาสั่งบล็อคเว็บเป็นความผิดเสมอไปไม่ได้

5. ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นประกาศในลักษณะแจ้งข้อมูลให้ทราบ เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น ประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายและไม่ได้กำหนดโทษ ประกาศกระทรวงที่ออกและลงนามโดยปลัดกระทรวงมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายลำดับรอง ไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด เพราะการกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดต้องออกเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่าน้้น 

ดังนั้น การจะพิจารณาว่า การกระทำใดบนโลกออนไลน์จะเป็นความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2550 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอื่นเท่านั้น ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกับตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้ การออกประกาศดังกล่าวไม่ได้ขยายขอบเขตการกระทำที่ผิดกฎหมายออกไป และไม่มีใครสามารถนำเอาประกาศกระทรวงมาใช้ลงโทษบุคคลใดได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจารณ์สื่อหนัก-หลังเปิดเผยข้อมูลภูมิหลังของผู้ถูกฉุดกระชากลงจากเที่ยวบินยูไนเต็ด

Posted: 13 Apr 2017 03:13 AM PDT

นอกจากกระแสวิจารณ์สายการบินยูไนเต็ดของสหรัฐอเมริกา ที่สุ่มผู้โดยสารลงจากเที่ยวบินด้วยวิธีฉุดกระชาก 'เดวิด ดาว' แพทย์เชื้อสายเวียดนามแล้ว สื่อมวลชนเองก็ถูกวิจารณ์ในเรื่องการนำข้อมูลส่วนบุคคลของ เดวิด ดาว มาเปิดเผยทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุที่เกิดขึ้น

ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia

KiniTV เผยแพร่คลิปแสดงให้เห็นเหตุการณ์ก่อนที่ เดวิด ดาว จะถูกฉุดลงจากเครื่องบินด้วย (ที่มา: KiniTV)

13 เม.ย. 2560  การใช้กำลังฉุดกระชากลากถูผู้โดยสารสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ให้ลงจากเครื่องบิน ไม่เพียงแค่เป็นกระแสที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากทางโซเชียลมีเดียเท่านั้น ในวงการสื่อเองก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้เช่นกัน แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมในการนำเสนอเรื่องของ เดวิด ดาว หรือ ดาวแถงดึ๊ก แพทย์เชื้อสายเวียดนาม-อเมริกัน ที่ถูกสุ่มบังคับให้ลงจากเครื่องบิน

เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์หลังจากที่สื่อบางแห่งอย่าง "เทเลกราฟ" ซึ่งปัจจุบันนำรายงานข่าวที่เป็นปัญหาออกแล้ว หรือหลุยส์วิลล์ คอร์เรียร์เจอนัล นำเสนอเรื่องราวชวิตในอดีตของเดวิด ดาว หรือ ด่าวแถงดึ๊ก ในเชิงสื่อว่าเหมือนคนมีปัญหา เช่น เคยถูกพิพากษาจำคุกในข้อหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์แลกกับใบสั่งยา อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการนำเสนอเรื่องนี้ไม่นานนักข่าวหลายคนก็กล่าววิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงที่อาจจะทำให้คนเอาเรื่องไปโยงกับเหตุการณ์แบบที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งถือเป็นการรายงานข่าวแบบขาดความรับผิดชอบ เนื่องจาก เดวิด ดาว เป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่คนมีชื่อเสียง

กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน 3411 สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2560 ในตอนนั้นมีปัญหาจองที่นั่งเกิน 4 ที่นั่ง เพราะมีความจำเป็นต้องให้พนักงานสายการบิน 4 คนเดินทางเพื่อไปปฏิบัติงานที่อื่น ทำให้มีการขอร้องผู้โดยสารโดยประกาศว่าใครจะอาสาสมัครลงจากเครื่องบินแลกกับเงินชดเชยและตั๋วที่พักโรงแรมฟรี แต่เมื่อไม่มีผู้อาสาสมัคร ทำให้มีการเลือกผู้โดยสาร 4 คน ให้ลงจากเครื่อง และหนึ่งในนั้นคือ เดวิด ดาว แพทย์อายุ 69 ปี ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามผู้ไม่ยอมลงจากเครื่องโดยบอกว่าเขาจำเป็นต้องเดินทางไปดูแลคนไข้

มีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าไปลากตัวเดวิด ดาวโดยที่เขาพยายามขัดขืนจนมีการต่อสู้ชุลมุนกันเขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกเจ้าหน้าที่จับศีรษะฟาดกับที่วางแขนของเก้าอี้ก่อนจะถูกลากไปตามพื้น ไม่นานหลังจากนั้นเดวิด ดาวก็กลับมาที่เครื่องบินได้โดยบอกว่า "ผมต้องกลับบ้าน" จนกระทั่งสลบไป จากนั้นจึงถูกนำขึ้นเตียง

โจเอล คริสโตเฟอร์ บรรณาธิการบริหารของคอร์เรียร์เจอนัลกล่าวอ้างว่าพวกเขานำเสนอเรื่องส่วนตัวของเดวิด ดาว ภายใต้บริบทที่เขาเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นจึง "เป็นไปได้ยากที่จะสื่อถึงเขาโดยไม่สื่อถึงอดีตของเขา" และบอกว่าคนอื่นๆ เข้าใจผิดว่าพวกเขาต้องการสื่อให้ผู้อ่านระดับประเทศรับทราบ

ทางด้านอินทิรา ลักษมานัน ประธานด้านจริยธรรมสื่อของ Poynter กล่าวว่าถึงแม้ เดวิด ดาว จะมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อนแต่มันไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับข่าวกรณียูไนเต็ดแอร์ไลน์เพราะ เดวิด ดาว ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาก่อกวนเจ้าหน้าที่ยูไนเต็ดแอร์ไลน์หรือรบกวนผู้โดยสารคนอื่น เขาแค่ถูกกล่าวหาว่า "ขัดขืน" แต่เขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ เขาแค่ขัดขืนไม่ยอมถูกบังคับให้ต้องลงจากเครื่องบินที่เขาซื้อตั๋วโดยสารและได้รับการรับรองที่นั่งแล้ว

ลักษมานันกล่าวว่าทางสายการบินไม่มีความชอบธรรมในการสุ่มเลือกลูกค้าที่จ่ายเงินแล้วและบีบให้พวกเขาต้องลงจากเครื่องบินโดยไม่เต็มใจ และลักษมานันก็มองว่าประวัติอาชญากรรมของเดวิด ดาวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เลยเพราะเขาไม่เคยมีปัญหากับการขึ้นเครื่องบิน ไม่เป็นผู้ถูกสั่งห้ามบิน

ทางด้านอัล ทอมป์คินส์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการแพร่ภาพและออนไลน์ของ Poynter มองอีกมุมหนึ่งว่าการที่เดวิด ดาวมีประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมก่อความวุ่นวายมาก่อนอาจจะทำให้เห็นเหตุการณ์เพิ่มเติม เช่นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลากตัวเกิดขึ้นเดวิด ดาวปฏิเสธที่จะลงจากเครื่องบินโดยบอกว่าให้เขาเข้าคุกดีกว่าให้ลงจากเครื่องบิน และเชื่อว่าการที่คอร์เรียร์เจอนัลตีพิมพ์เรื่องนี้เพราะคิดว่าผู้อ่านอาจจะอยากรู้ว่าหมอที่เคยมีคดีมาก่อนในชุมชนของพวกเขาจะเป้นคนเดียวกับที่เป็นช่าวทั่วโลกหรือไม่ แต่ก็วิจารณ์ว่าคอร์เรียเจอนัลควรจะใช้ภาษาอย่างระมัดระวังกว่านี้

เคลลี แมคไบรด์ รองประธานโครงการทางวิชาการของ Poynter ระบุว่าถึงแม้คอร์เรียเจอนัลจะมีหน้าที่ให้ข้อมูลประวัติของเดวิด ดาวในบริบทการนำเสนอแต่มันก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อเท็จจริงที่ว่ายูไนเต็ดแอร์ไลน์ไล่เขาลงจากเครื่องบินและไม่ได้ให้ความชอบธรรมในการขับไล่เดวิด ดาวแต่อย่างใด

แมคไบรด์ระบุอีกว่าถึงแม้คนอ่านจะมีความสำคัญแต่นักข่าวต้องให้ความสำคัญต่อเดวิด ดาวและครอบครัวของเขารวมถึงคำนึงถึงชุมชนคนเชื้อสายเอเชียและผู้อพยพรายอื่นๆ ด้วย

เรียบเรียงจาก

Was the United passenger's 'troubled past' newsworthy?, Poynter, 11-04-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/United_Express_Flight_3411_incident

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านระหว่างบรรทัดแถลงการณ์บีอาร์เอ็น เปิดแนวรบการเมืองระหว่างประเทศ

Posted: 13 Apr 2017 01:51 AM PDT


บีอาร์เอ็นไม่ได้สื่อสารกับสาธารณะมานาน การออกแถลงการณ์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อเดือนตุลาคม 2558 แถลงการณ์ครั้งนี้ออกมาในท่ามกลางเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายระลอก การปฏิบัติการที่ใช้คนมากที่สุดคือในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาซึ่งมีการก่อเหตุระเบิดและเผาใน 18 อำเภอทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างในปัตตานี การโจมตีนั้นต้องการแสดงให้เห็นศักยภาพทางการทหารมากกว่าทำลายชีวิต ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเครือข่าย "นักรบฟาตอนี" ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง

แถลงการณ์นี้ออกในนามของ BRN Information Bereau ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกแถลงการณ์เมื่อสองปีก่อนซึ่งนำโดยนายอับดุลการิม คาลิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนการพูดคุยของปาร์ตี้บีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าสนใจว่าพวกเขาเลือกที่จะสื่อสารผ่านสื่อต่างประเทศเป็นหลัก รายงานข่าวปรากฎออกมาก่อนใน AFP, Asia Times และอับดุลการิมได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย

หัวใจสำคัญของแถลงการณ์อยู่ที่ข้อเสนอ 3 ข้อดังนี้

1. การพูดคุยต้องเกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งสมัครใจที่จะหาทางออกร่วมกันและจะต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์

2. ผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติของนานาชาติ เช่น ต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องดำเนินการพูดคุยตามกระบวนการที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน

3. กระบวนการเจรจานั้นต้องได้รับการออกแบบและได้รับความเห็นชอบจากคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มต้น

กล่าวโดยรวม ข้อเสนอสามข้อนี้สะท้อนถึงสิ่งที่บีอาร์เอ็นน่าจะเห็นว่าเป็นความบกพร่องของการพูดคุยภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาในภาคใต้เพราะเป็นครั้งแรกที่มี "การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ" โดย พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้นและนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นได้ลงนามในฉันทามติร่วมว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 การพูดคุยดำเนินไปหลายเดือนอย่างกระท่อนกระแท่นจนในที่สุดก็ต้องยุติลงเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา   

ในแถลงการณ์นี้ บีอาร์เอ็นเรียกร้องว่ากระบวนการการพูดคุยจะต้องได้รับการออกแบบและเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การริเริ่มเกิดจากเจรจากันระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย โดยทางมาเลเซียได้พยายามร้องขอ แกมบีบบังคับให้บีอาร์เอ็นเข้าร่วมโดยแทบไม่มีเวลาตั้งตัว การปรึกษาหารือในสภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti –DPP) เกิดขึ้นหลังการลงนามไปแล้ว แต่ก็มีมติให้เดินหน้าต่อ บีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ในช่วงแรก แต่ก็ได้พยายามพลิกเกมด้วยการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อในเวลาต่อมา

เงื่อนไข 5 ข้อได้แก่ 1.รัฐบาลไทย (หรือที่พวกเขาเรียกว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม") ต้องยอมรับให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) 2.การพูดคุยจะเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย 3. ในการพูดคุยจะต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน OIC และองค์กร NGO ต่างๆ 4. รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิในความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี 5. รัฐบาลไทยต้องปล่อยผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข

ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถจะเดินหน้าต่อได้เพราะไม่สามารถหาคำตอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ มีการขอให้ทางบีอาร์เอ็นเขียนอธิบายข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในช่วงนั้นมาเลเซียเองก็เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญและอาจจะเรียกว่า "ล้ำเส้น" มีข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทของมาเลเซียในเรื่องความเป็นกลาง มีการตั้งข้อสงสัยว่ามาเลเซียอาจจะมีส่วนอย่างสำคัญในการร่างคำอธิบายข้อเรียกร้องใน "เอกสาร 38 หน้า" เพื่อผลักให้การพูดคุยเดินต่อไปได้ ซึ่งในช่วงนั้นทางฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็นได้ออกมาประกาศผ่านยูทูปไปแล้วว่าขอยุติการพูดคุยกับรัฐบาลไทย 

เนื้อหาบางตอนในแถลงการณ์นี้จึงมีน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นกลางของ "ผู้ไกล่เกลี่ย" (หรือในภาษาที่รัฐบาลไทยยอมรับได้คือ "ผู้อำนวยความสะดวก") อยู่มากพอสมควร ดังที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 2 ของข้อเสนอแนะ แกนนำของบีอาร์เอ็นเองมีความสัมพันธ์แบบ "ทั้งรักทั้งกลัว" มาเลเซีย เป็นความลับที่รู้กันดีว่าผู้นำของบีอาร์เอ็นหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนี้ ฉะนั้นมาเลเซียจึงมีอำนาจกดดันให้พวกเขาเข้าร่วมการพูดคุย มิเช่นนั้นก็อาจเสี่ยงที่จะถูกจับกุมหรือส่งกลับประเทศไทย การพึ่งพิงมีผลทำให้พวกเขาต้องเกรงใจ ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวถึงข้อเสนอที่จะให้ประเทศอื่นเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกแทน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะทำให้บีอาร์เอ็นมีอิสระในการต่อรองมากขึ้น    

ข้อเสนอใหญ่สุดในแถลงการณ์ดูจะเป็นเรื่องการร้องขอให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์และการปฏิบัติตามหลักสากล ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีพึงพิจารณาคือการเรียกร้องในเรื่องนี้ย่อมหมายรวมถึงการที่ฝ่ายขบวนการจะต้องถูกตรวจสอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่ผ่านมามีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อโดยเฉพาะเด็ก องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ออกมาประณามเหตุการณ์เหล่านี้อย่างรุนแรง 

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ/สุขในปัจจุบันคือมาราปาตานีนั้นคุมกองกำลังในพื้นที่ได้เพียงไร บีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เป็นที่ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยในกรอบปัจจุบัน สมาชิกบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมกับมาราปาตานีมาในนามส่วนตัว มีความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกบีอาร์เอ็นในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ บีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรยังยืนยันเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ในขณะที่สมาชิกบางส่วนต้องการที่จะเปิดโอกาสและทดลองดู สิ่งที่ควรจะย้ำคือไม่มีกลุ่มใดที่ออกมาปฎิเสธกระบวนการสันติภาพในเชิงหลักการ ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างบีอาร์เอ็นกับมาราปาตานีอาจจะไม่ถึงกับเป็นศัตรู แต่มีลักษณะของการแข่งขันกันอยู่ 

หลักใหญ่ใจความในแถลงการณ์นี้เป็นการย้ำข้อเสนอเดิมที่ได้เคยยื่นให้กับรัฐบาลไทยไปแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง อาจมองได้ว่าบีอาร์เอ็นลดจำนวนข้อเรียกร้องลงก็เป็นได้เพราะไม่ได้พูดถึงทั้ง 5 ข้อ บีอาร์เอ็นอาจกำลังพยายามเสนอกรอบการพูดคุยใหม่ที่แยกต่างหากจากมาราปาตานี การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจเป็นความพยายามแย่งชิงการนำ แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าข้อเรียกร้องนี้จะถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงเช่นเคย เพราะประเด็นเรื่องการยกระดับไปสู่สากล (internationalization) เป็นสิ่งที่รัฐไทยหวาดกลัวที่สุด ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ที่มาราปาตานีประสบมาโดยตลอด

ถ้าใครจะสามารถทำให้รัฐไทยสามารถทะลุกรอบคิดหรือมายาคติในเรื่องนี้ได้ กระบวนการสันติภาพในภาคใต้ก็คงจะเดินหน้าไปกว่านี้มากแล้ว 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  Rungrawee's Blogs DeepsouthWatch
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)

Posted: 13 Apr 2017 01:39 AM PDT

 

แนวคิดเรื่อง "ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน"  หรือ Transitional Justice - TJ  เป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่ง ที่ได้รวบรวมจากความรับรู้และประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆทั่วโลก จากประเทศละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศในเอเชียและอาฟริกา รวมทั้งยุโรปในบางประเทศ  ความรุนแรงเหล่านั้นมักเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อให้สังคมดำรงอยู่ในสถานเดิมต่อไป กับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไปสู่สถานะใหม่  ในท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้เกิดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะกรณีที่รัฐใช้อาวุธต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านที่เป็นขบวนการประชาธิปไตย  มีผลทำให้ประชาชน พลเรือน โดยเฉพาะ ผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนเป็นกระบวนการที่ยึดถือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเป็นตัวตั้งหรือเป็นศูนย์กลาง โดยการสร้างพลังให้กับคนเหล่านั้น และให้สังคมร่วมกันทำงาน เพื่อเยียวยาบาดแผลจากความรุนแรง ทั้งที่เกิดกับตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด รวมทั้งผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงและ บาดแผลที่เกิดกับสังคม ให้สามารถฟื้นฟูและก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปได้  ที่สำคัญยิ่งคือ ไม่ให้สังคมหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก  โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการเปลี่ยนผ่านจากสังคมในระบอบอำนาจนิยมไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีสันติสุข และเป็นสังคมที่เข้มแข็งที่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice- TJ) เป็นกระบวนการของการขับเคลื่อนทางสังคมในประเด็นต่างๆที่เชื่อมโยง ส่งผลและเป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน คือ (1) การตรวจสอบค้นหาความจริง(Truth Seeking) (2)  การฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ(Reparations) (3) การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด(Prosecutions) และ (4) การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างในด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและการเมือง(Institutional Reform)

ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย  แม้จะไม่หนักหน่วงและกว้างขวาง จนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับแสนก็ตาม แต่ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ  อย่างต่อเนื่องและยาวนานมาหลายสิบปี นับแต่ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาล ในช่วงทศวรรษที่ 60-80, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535, เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม2553และ ความรุนแรงทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ประเด็นที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู้ความปรองดองของคนในชาติ คือความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการควบคุมการฝูงชนที่ผ่านมาหรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีทางการเมือง ซึ่งความขัดแย้งต่างๆเหล่านั้นได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก  ทรัพย์สินเสียหายมากมายยากที่จะคำนวณได้ และที่สำคัญคือความขัดแย้งและความสูญเสียดังกล่าว เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนเท่าทีควร

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ที่มีความสัมพันธ์และค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกได้ อาทิ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ การผูกขาดทางเศรษฐกิจนำไปสู่การกระจุกตัวของโภคทรัพย์และรายได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของประเทศ และคนยากจนที่เป็นชนส่วนใหญ่ รวมทั้งการเมืองและการปกครองในระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมที่ถูกควบคุมโดยสถาบันอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ทั้งสถาบันทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ฯลฯ กลายเป็นวงจรหรือห่วงโซ่ที่พันธนาการสังคมอย่างเหนียวแน่น จนดูเหมือนว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ประทุเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกกระยะสิบปี แสดงให้เห็นถึงการ  ดิ้นรนของสังคมที่ต้องการสลัดพ้นจากพันธนาการดังกล่าว หรือเป็นความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่พัฒนาไปไกลกว่าเดิม ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมแล้ว ความขัดแย้งอาจจะกลายเป็นความรุนแรงที่หนักหน่วงกว้างขวางจนเกิดความเสียหายต่อประชาชนยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาได้

ตลอดช่วงของความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้มีความริเริ่ม และความพยายามทั้งฝ่ายรัฐ และภาคประชาสังคม ที่ต้องการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว มีการนำแนวคิด และทฤษฎีต่างๆมาช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงแนวคิดในเรื่องความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านด้วย

การที่สังคมไทยได้มีการปรึกษาหารือ หรือถกเถียงกันถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองมาโดยตลอด เมื่อประกอปกับรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง  หรือ ป.ย.ป. ขึ้นมา จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประชาสังคมจะได้จัดเวทีคู่ขนานให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง นักวิชาการ และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดกับผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประสบการณ์จากประเทศอื่น และร่วมกันสำรวจความเคลื่อนไหวของกระบวนการปรองดองดังกล่าว และศึกษาแนวคิด ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทย ได้มากน้อยเพียงใดและอย่างไร

คณะทำงาน TJ Thailand จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทยมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ครั้งที่ 2 จัดไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำหนดจะจัดครั้งต่อไปที่ในวันที่ 26 เมษายน 2560 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมเชื่อว่าจากประสบการณ์ของการนำแนวคิดความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆประเทศทั่วโลกมาปรับใช้กับกรณีของไทยเรา จะเป็นแนวทางที่จะเกิดความสำเร็จเช่นกันและจะช่วยป้องกันไม่ให้สังคมหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก(preventing recurrence)หรือพูดสั้นๆว่า Never Again นั่นเอง

 

----------

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 12 เมษายน 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พสิษฐ์ วงษ์งามดี: ชาติสำคัญไฉน เหตุใดเราจึงต้องรับใช้?

Posted: 13 Apr 2017 01:29 AM PDT

กลายเป็นดราม่าใหญ่โตในอินเตอร์เน็ตถึงเรื่องระบบการเกณฑ์ทหารของไทย เมื่อคุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาหัวก้าวหน้าแห่งจุฬาฯ ยื่นขอผ่อนผันการคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่คุณเนติวิทย์ใช้เพื่อสนับสนุนคำขอผ่อนผันของตัวเองนั้นก็คือการบอกว่าตนเองกำลังรับใช้ชาติอยู่ แต่เป็นการรับใช้ชาติที่ออกจะประหลาดจากนิยามของรัฐไทยหน่อยเท่านั้นเอง โดยคุณเนติวิทย์บอกว่าตนกำลังรับใช้ชาติโดยการเรียนหนังสือ

ฝ่ายคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักการเมืองผู้กล้าที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารมาแล้ว เมื่อเห็นคุณเนติวิทย์ประกาศขอผ่อนผันด้วยเหตุผลที่ดูจะ "ไม่สมศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย" แถมยังชวนคนอื่นๆให้ไม่ต้องไปเป็นทหารเหมือนตนอีกด้วย ก็ออกมาตำหนิคุณเนติวิทย์ทันที โดยกล่าวว่า "หากไม่อยากรับใช้ชาติ ก็อย่าไปชวนคนอื่นเลย" พร้อมแสดงความเห็นว่า "การเรียนหนังสือไม่ใช่การรับใช้ชาติ แต่เป็นการรับใช้ตัวเองและครอบครัว"[1]

ผมเห็นว่าประเด็นเรื่องการรับใช้ชาติที่ทั้งคุณชูวิทย์และคุณเนติวิทย์พูดถึงนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงอยากจะชวนท่านผู้อ่านมาคิดว่า ในทางปรัชญาการเมืองแล้ว "ชาติสำคัญอย่างไร? เราควรรับใช้ชาติด้วยหรือ? และการเป็นทหารเกณฑ์เป็นการรับใช้ชาติหรือไม่"

ผมคิดว่าคำถามนี้คงเป็นคำถามที่แปลกมากสำหรับประชาชนภายใต้ระบบรัฐชาติจำนวนมาก เพราะภายใต้ระบบรัฐชาติที่ระบาดไปทั่วโลกนี้ ชนชั้นนำของรัฐเกือบทุกแห่ง (รวมถึงรัฐไทยด้วย) ล้วนต้องปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกรัก หวงแหง และต้องปกป้องชาติของตน[2] เพราะความรู้สึกชาตินิยมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างและรักษารัฐชาติให้ธำรงอยู่ได้ การปลูกฝังความรักชาตินี้มีประสิทธิผลจนถึงระดับที่ทำให้ประชาชนในรัฐ ยอม "รับใช้ชาติ" ด้วยการเสียสละทรัพย์สิน (ในรูปของภาษี) หรืออาจจะยอมรับใช้ชาติถึงขั้นสละชีพของตน (โดยการเป็นทหาร) เลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ครั้นจะบอกว่าเราควรรับใช้ชาติ เพราะชนชั้นนำของรัฐชาติต้องการให้เรารับใช้ ก็ดูจะเป็นคำตอบที่กำปั้นทุบดินไปเสียหน่อย และผมไม่เชื่อว่าแค่ลูกไม้ของชนชั้นนำจะทำให้ลัทธิชาตินิยม และรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่แพร่กระจายไปทั่วโลกได้ขนาดนี้ หากราศจากหลักการอะไรบางอย่างที่น่าเชื่อถือมารองรับ

ผมเข้าใจว่าวาทกรรมการรับใช้ชาติมีอิทธิพลต่อประชาชนทั่วโลกได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันตั้งอยู่บนหลักปรัชญาการเมืองที่ทรงพลัง อย่างน้อยก็ในระดับที่เพียงพอจะช่วยให้ชนชั้นนำเอาหลักปรัชญาเหล่านั้นมาใช้กล่าวอ้างเพื่อชักจูงให้ประชาชนชั้นล่างเสียสละเพื่อรัฐของตนได้

หลักปรัชญาข้อแรก คือ ข้อถกเถียงที่ว่าคนเรามีภาระรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสาธารณะ นักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls) สังคมในอุดมคติของรอล์ส สรุปง่ายๆแล้วมีอยู่ 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ หนึ่ง สังคมนั้นจะต้องเป็นสังคมที่ผู้คนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของคุณได้ และสอง การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้คนในสังคมนั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเรายังมีภาระอะไรบางอย่างที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่เราต้องการ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการสร้างรอยยิ้มอาจหาเงินจากการเป็นดาราหรือนักแสดง คนที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นหมอหรือวิศวะกร แต่สุดท้ายแล้วทุกคนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องจ่ายภาษี เพื่อนำภาษีที่ได้นั้นไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม รอล์สเชื่อว่าไม่มีใครมีคุณค่าทางศีลธรรมมากพอที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการสะสมความมั่งคั่งไว้กับตนเองเพียงคนเดียวโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อสังคมเลย

หลักปรัชญาข้อที่สอง คือ แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) เบนแธม กล่าวว่า ความยุติธรรมคือการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมโดยรวม เช่น ถ้าคุณไปทานข้าวกับเพื่อน 3 คน และคุณเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คุณรู้ว่าเพื่อนทั้ง 3 คนชอบทานก๋วยเตี๋ยว ในขณะที่ตัวคุณเองเพียงคนเดียวชอบทานส้มตำ ในกรณีนี้ ความยุติธรรมคือการเลือกไปทานก๋วยเตี๋ยว เพราะมันเป็นตัวเลือกที่ทำให้คนในสังคมได้รับประโยชน์สูงสุด

รอลส์ และ เบนแธม เป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลมากในวงการปรัชญาการเมือง จะเห็นได้ว่าแนวคิดของทั้ง 2 คน แอบซ่อนนัยยะของการให้ "ปัจเจกบุคคล" ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อ "สังคมส่วนรวม" เอาไว้

แนวคิดสองข้อนี้เอง เป็นพื้นฐานให้กับวาทกรรมการ "รับใช้ชาติ" เพราะชาตินั้นก็เป็นสังคมแบบหนึ่ง ฉะนั้น เราจึงมักเห็นผู้นำของรัฐชาติออกมาถามว่า "คุณสามารถเสียสละเพื่อส่วนรวมได้หรือไม่?" หรือถามว่า "คุณเป็นคนไทยรึเปล่า?" ถ้าเป็นคนไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของชาติไทย คุณก็ควรจะต้อง "ช่วยๆกันหน่อยสิ ปัดโธ่!?"

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมควรจะกล่าวให้ชัดเจนว่าผมเห็นด้วยกับหลักการของรอลส์และเบนแธมเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมเชื่อว่าคนเราควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่าปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมจนละเลยความสำคัญของสิทธิของตน จนยอมให้ผู้ปกครองเรียกร้องอะไรก็ได้โดยใช้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นข้ออ้าง และผมเห็นว่าการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารภายใต้บริบทปัจจุบันของรัฐไทยนั้น แม้ดูเร็วๆ (at the first glance) จะคล้ายกับแนวคิดของรอลส์และเบนแธม แต่โดยรากฐานแล้วมันกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วาทกรรมการ "รับใช้ชาติ" ถูกสร้างขึ้นมาโดยแอบอิงหลักการของรอลส์และเบนแธมเพียงผิวเผิน เพื่อใช้อ้างเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำเท่านั้น

เหตุผลที่ใช้สนับสนุนแนวคิดของผมมีดังนี้

ข้อแรก ผมเห็นว่าคำว่า "ชาติ" ที่ชนชั้นนำไทยใช้อ้างถึงเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละนั้น มีความหมายคับแคบมาก และไม่ได้ผนวกรวมปัจเจกทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ความคับแคบและการกีดกันคนบางกลุ่มออกไปนี้ ขัดแย้งกับหลักผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมของเบนแธมอย่างมาก

ผมเข้าใจว่านิยามของคำว่า "ชาติ" ที่ชนชั้นนำไทยนิยมใช้นั้น ถ้ามิได้หมายถึง "อณาเขตบนแผนที่ของรัฐไทย" ก็มักจะหมายถึง "ความเกรียงไกรของชนชั้นนำ" เรามักจะเห็นชนชั้นนำไทยเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องชาติในความหมายนี้เสมอผ่านวาทกรรม "เสียดินแดน"อยู่เสมอ สรุปคร่าวๆคือ ชาติในความหมายนี้ ชนชั้นนำไทยยอมให้ประชาชนตายเท่าไหร่ก็ได้ ขอเพียงแค่ไม่เสียดินแดนสักตารางนิ้วหนึ่งก็พอ นิยามของคำว่าชาติในลักษณะนี้ ไม่ได้ให้คุณค่ากับผลประโยชน์ของประชาชนแต่อย่างใด[3] แต่ให้คุณค่ากับบารมีของชนชั้นนำแทน หากประชาชนคนตาดำๆตายสักพันคนก็ย่อมได้ถ้าช่วยให้บารมีของชนชั้นนำเพียงหยิบมือหนึ่งมั่นคงหรือเจิดจำรัสขึ้น[4] อาทิ กรณีของปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักจะเห็นชนชั้นนำไทยและคนไทยจำนวนมากเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่ยอมเสียสละเสี่ยงชีวิตกับการสู้รบเพื่อให้ประเทศไทยไม่เสียดินแดนอีกเป็นครั้งที่ 15 โดยมิได้สนใจถึงชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของคนในพื้นที่เลย

แม้หลายๆครั้งเราจะเห็นว่าชนชั้นนำไทยมักจะเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละเพื่อ "ชาติ" แต่ "ชาติ" ในความหมายของชนชั้นนำนั้น ไม่ได้หมายถึง "สังคมส่วนรวม" ตามที่รอลส์และเบนแธมเชื่อ แต่กลับหมายถึงตัวของ "ชนชั้นนำ" เอง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม คำว่าชาติจึงเป็นเพียงคำสุภาพเสมือนสีพาสเทลที่ช่วยให้การปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำดูดีขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างการเรียกร้องให้ประชาชนทำเพื่อชาติ/ชนชั้นนำ ที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ เช่น ชนชั้นนำเรียกร้องให้ประชาชนรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร เพื่อสละชีพปกป้องอณาเขตบนแผนที่ หรือ เรียกร้องให้ประชาชนรับใช้ชาติโดยการเป็นทหารเพื่อให้ทหารระดับสูงมีคนรับใช้ฟรีด้วยภาษีประชาชน หรือ เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชนชั้นนำได้ซื้ออาวุธจากต่างประเทศ และเพื่อเพิ่มความเกรียงไกรแก่ชนชั้นนำ หรือ เรียกร้องให้ประชาชนอดทนรอไม่ต้องให้มีการเลือกตั้งสักพัก เพื่อให้ชนชั้นนำได้ "ปฏิรูป" ประเทศไปในแนวทางที่ชนชั้นนำต้องการ เป็นต้น ฉะนั้น นิยามคำว่าชาติของชนชั้นนำจริงๆแล้วจึงไม่ใช่การเรียกร้องให้ประชาชนส่วนน้อยเสียสละเพื่อสังคมส่วนมาก แต่เป็นการเรียกร้องให้ประชาชนส่วนมาก เสียสละเพื่อชนชั้นนำส่วนน้อยต่างหาก

นอกจากนี้ โดยหลักการแล้วเบนแธมให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในการคำนวณประโยชน์สูงสุดของสังคม คนทุกคนจะถูกนับโดยไม่มีการถ่วงน้ำหนักบุคคลกลุ่มไหนมากกว่ากลุ่มอื่นเป็นพิเศษ แต่ในวาทกรรม "เสียสละเพื่อชาติ" หรือ "รับใช้ชาติ" ของชนชั้นนำไทย ดูเหมือนประโยชน์ของชนชั้นนำไทยจะได้รับการถ่วงน้ำหนักให้มีความสำคัญเหนือประโยชน์ของตาสีตาสาตาดำๆเสมอ

ข้อสอง ผมคิดว่าถ้ายึดตามหลักการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมของเบนแธมแล้ว การไม่เกณฑ์ทหารแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนทำสิ่งที่ตนเองถนัด น่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่าการบังคับให้ทุกคนเกณฑ์ทหาร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คำว่าชาติในวาทกรรม "รับใช้ชาติ" ของชนชั้นนำนั้น หมายถึงการเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชนชั้นนำ ถ้าอิงตามนิยามชาติแบบคับแคบนี้ แน่นอนว่าการเป็นทหารเกณฑ์ย่อมเป็นการรับใช้ชาติอันสูงสุด เพราะทหารเกณฑ์ต้องเสี่ยงชีวิตปกป้องบารมีของชนชั้นนำ หรือ เสียสละเวลาไปเป็นคนรับใช้ของชนชั้นนำ ชนชั้นนำย่อมได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากการบังคับให้ชายไทยทุกคนเกณฑ์ทหารอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเรานิยามคำว่า "ชาติ" ให้กว้างขวางครอบคุลมมากขึ้น โดยให้มีความหมายถึง "สังคมส่วนรวม" หรือ "มนุษยชาติที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่เรียกว่าประเทศไทย" ผมสงสัยเหลือเกินว่าการบังคับเกณฑ์ทหารจะไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติในความหมายที่กว้างขวางนี้ เพราะชายไทยจำนวนมากจะต้องเสียเวลาอันมีค่าไปกับการเสี่ยงโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร โดยไม่เกิดประโยชน์กับใคร พวกเขาเสียรายได้ที่สามารถแปรเป็นภาษีให้กับส่วนรวม และเสียโอกาสที่จะประกอบอาชีพตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งการทำอะไรที่ตนเชี่ยวชาญน่าจะให้ประโยชน์กับสังคมมากกว่าแน่นอน

มีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่พอจะสะท้อนให้เห็นได้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการ "รับใช้ชาติ" ด้วยการเกณฑ์ทหาร เช่น มีข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมายในช่วงเกณฑ์ทหารว่าชายไทยโห่ร้องดีใจเมื่อจับได้ใบดำ ในทางตรงกันข้าม ชายไทยบางคน (หรือครอบครัวของชายไทยกลุ่มนั้น) ถึงกับเป็นลมหรือร้องไห้เมื่อผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจับได้ใบแดง ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้แอพลิเคชั่น People Poll Thailand ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้ใช้แอพลิเคชั่นว่า เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหารหรือไม่ ผลปรากฎว่าผู้เข้ามาโหวตร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหาร หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารไม่ได้สอดคล้องกับหลักการประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมของเบนแธม (แต่อาจจะสอดคล้องต่อหลักประโยชน์สูงสุดแก่ชนชั้นนำของรัฐไทย)

ข้อสาม แนวคิดของรอล์สนั้น แม้จะให้ความสำคัญกับภาระรับผิดชอบที่ปัจเจกบุคคลทุกคนมีต่อสังคม แต่สิ่งที่รอล์สให้ความสำคัญไม่แพ้กันนั้นก็คือ สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรจะถูกละเมิด ฉะนั้น ในบริบทของกองทัพไทยในปัจจุบัน ที่ชายไทยทุกคนจะต้องเกณฑ์ทหาร และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการฝึก จึงน่าจะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของรอล์สอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ภาระรับผิดชอบต่อสังคมที่รอล์สกล่าวถึงนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยนิยามอันคับแคบเหมือนอย่างที่ชนชั้นนำไทยทำ เพราะภาระรับผิดชอบที่รอล์สให้ความสำคัญที่สุดนั้น คือ "การเสียภาษี" เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคม ไม่ใช่การสละชีพเพื่อสร้างความเกรียงไกรให้แก่ชนชั้นนำ หรือการรับใช้ชนชั้นนำแต่อย่างใด

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องรัฐชาติและชาตินิยมได้รับฐานสนับสนุนจากปรัชญาการเมืองของรอล์สและเบนแธม ที่ว่าปัจเจกบุคคลในสังคมควรมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แนวคิดของรอล์สและเบนแธมก็ถูกบิดเบือน (manipulate) จากชนชั้นนำของรัฐชาติเพื่อหาประโยชน์ให้กับตัวของชนชั้นนำเองเช่นกัน

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของรอล์สและเบนแธมว่า ปัจเจกบุคคลทุกคนที่อยู่ในสังคมควรมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ และควรจะ "ทำเพื่อสังคม" อย่างไรก็ดี การทำเพื่อสังคมนั้น จะต้องไม่ใช่การสละซึ่งสิทธิและเสรีภาพของตนเองอย่างสิ้นเชิง มนุษย์ทุกคนไม่มีใครที่สมควรจะถูกซ้อม ไม่มีใครที่สมควรจะต้องสละเวลาไปรับใช้คนอื่นโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่านิยามของการ "ทำเพื่อสังคม" ไม่ควรจะถูกนิยามอย่างคับแคบเหมือนอย่างวาทกรรม "รับใช้ชาติ" ของชนชั้นนำไทย ผมเห็นว่าการทำเพื่อสังคมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกผูกขาดอยู่กับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเช่นทหารเพียงอาชีพเดียวเท่านั้น ทุกอาชีพสามารถ "ทำเพื่อสังคม" ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา สื่อ ตลอดจนถึงชาวนาและผู้ยากไร้ หรือแม้กระทั่งอาชีพที่มักจะถูกชนชั้นนำไทยดูหมิ่น เช่น Sex workers ก็สามารถทำเพื่อสังคมได้ เช่น หมอทำเพื่อสังคมผ่านการช่วยเหลือคนไข้ ชาวนาทำเพื่อสังคมผ่านการผลิตอาหาร นักศึกษาทำเพื่อสังคมผ่านการเตรียมความพร้อมไปประกอบอาชีพที่ตนต้องการ และ Sex workers ทำเพื่อสังคมผ่านการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ[5] และในเวลาเดียวกัน ทุกอาชีพก็ทำเพื่อสังคมได้ด้วยการเสียภาษี (ซึ่งชนชั้นนำพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยง)

การทำเพื่อสังคมส่วนรวมนั้นน่ายกย่อง แต่การรับใช้ชาติ (ซึ่งหมายถึงชนชั้นนำส่วนน้อย) นั้น ไม่ควรค่าแก่การยกย่องแต่อย่างใด

 

เชิงอรรถ

[2] ผ่านการใช้เพลง คำขวัญ การสร้างอนุสาวรีย์ การสร้างศัตรูร่วมกัน การสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ การเรียนการสอนในโรงเรียน ฯลฯ

[3] มิพึงต้องเอ่ยถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชน

[4] โปรดดูบทวิเคราะห์ว่าด้วยนิยามของชาติในลักษณะนี้เพิ่มเติมจาก ธงชัย วินิจจะกูล (2559) 'เสียดินแดนเป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน (เพราะไทยไม่เคยเสียดินแดน)', ใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม. หน้า 125-130. และ ประชาไท (2016) หมายเหตุประเพทไทย ตอนที่ 102: Descendants of the Sun สอนให้รักชาติจริงไหมจ๊ะ. https://www.youtube.com/watch?v=RNhf6RtLy70. และ โปรดดูนิยามของชาติกระแสหลักที่ถูกชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้นใน โสภา ชานะมูล (2550) ชาติไทยในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า. กรุงเทพ: มติชน.

[5] เอาเข้าจริงแล้วถ้าดูจากปริมาณ GDP ที่ sex workers สร้างขึ้นให้กับประเทศไทย อาจจะถือว่าพวกเขาทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าชนชั้นนำไทยเสียอีก

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  พสิษฐ์ วงษ์งามดี เป็นอาจารย์ผู้สอน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น