โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับศรีสุวรรณถึงนาทีคุมขังในค่ายทหาร อัดรัฐตีเนียนกลบเกลื่อนหมุดคณะราษฎรหายไม่ได้

Posted: 19 Apr 2017 01:40 PM PDT

สัมภาษณ์ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' ถึงนาทีถูกคุมขัง ความสำคัญของ 'หมุดคณะราษฎร' ทางประวัติศาสตร์ ชี้เป็นทรัพย์สินราชการ รัฐจะนิ่ง-บ่ายเบี่ยงไม่ได้ ตีความนัยของ 'หมุดหน้าใส' คือการกลบเกลื่อนภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 ศรีสุวรรณ จรรยา (แฟ้มภาพ)

19 เม.ย. 2560 สืบเนื่องจากการหายไปของหมุดคณะราษฎรและถูกแทนที่ด้วย "หมุดหน้าใส" สร้างแรงกระเพื่อมจนภาคประชาชนตามแจ้งความ ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหาหมุดกลับคืนมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ที่นี่) โดยวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ประมาณ 6-7 นาย ควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ที่นี่)

ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.60) บีบีซีไทย รายงานว่า ศรีสุวรรณ ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว หลังถูกนำไปพูดคุยปรับความเข้าใจเป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมง โดย ศรีสุวรรณ กล่าวกับบีบีซีว่า ทหารขอให้ยุติความเคลื่อนไหวเนื่องจากหวั่นเหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย ก่อนปล่อยตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือให้ทำข้อตกลงใดๆ

"เขาขอให้ผมเพลาเรื่องนี้ลงไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มี invisible hands (มือที่มองไม่เห็น) อยู่เยอะ นี่คือคำที่เขาพูด" ศรีสุวรรณ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ตนจะยังคงทวงหมุดคณะราษฎรต่อไปและจะไม่ยุติการตรวจสอบรัฐบาล คสช.

ท่ามกลางความโกลาหลบนหมุดที่หายไป ประชาไทได้พูดคุยกับ ศรีสุวรรณ ในหลายประเด็นตั้งแต่นาทีที่ถูกคุมขังเอาไว้ในค่ายทหาร ไปจนถึงนัยสำคัญของหมุดคณะราษฎรและหมุดหน้าใสหรือหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่

ตอนโดนควบคุมตัว เขาทำอะไรบ้าง

เขาขอเชิญไปพูดคุยธรรมดาเพื่อทำความเข้าใจกัน ก็ไม่ได้สร้างความวิตกกับผมเพราะเข้าใจได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว เมื่อเขาเชิญไปเราก็ไปด้วยดี ก็พูดคุยทำความเข้าใจกันเนื่องจากว่าฝ่ายความมั่นคงเข้าใจว่า ผมเองทำงานเคลื่อนไหวเหล่านี้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้มีฝ่ายการเมืองฝ่ายใดเข้ามาสนับสนุนใดใดทั้งสิ้น  เมื่อผมเปิดประเด็นไปแล้วเริ่มเป็นกระแสแรงขึ้นมันก็อาจทำให้ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายอื่นที่ต้องการฉกฉวยโอกาสหรือประเด็นนี้ เข้ามาขยายปมหรือขยายตัวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น เขาจึงพยายามที่จะมาระงับเหตุที่ตัวผมก่อน เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจตกลงกันตรงนี้

ปกติที่ผมเคลื่อนไหวอะไรที่เป็นประเด็นหลักๆ ก็จะถูกเคลื่อนตัวไปกองทัพภาคที่ 1 บ้าง ไปทหารราบบ้าง ก็แล้วแต่ตามประเด็น โดยหลังรัฐประหารได้ไปเข้าค่าย 2 ครั้ง แล้วก็นอกค่าย 1 ครั้ง ส่วนที่มาที่บ้านไม่ต่ำกว่า20-30ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า เป็นการทำความเข้าใจเพราะว่าไม่อยากให้เป็นการจุดกระแสของกลุ่มที่ไม่หวังดี การที่ทำให้ผมระงับหรือเบาการกระทำในตอนนี้ ก็อาจจะทำให้ฝ่ายความมั่นคงทำอะไรได้ง่ายขึ้น

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับหมุดคณะราษฎร

มันเป็นสัญลักษณ์ในเชิงประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เราทราบระบอบประชาธิปไตยที่เรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของชาติ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนอย่างชัดแจ้ง หมุดคณะราษฎร จึงเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของการกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อมีใครมารื้อถอนเปลี่ยนแปลงมันไม่น่าจะถูกต้องหรือเหมาะสม ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐที่เข้ามาดูแลประเด็นนี้ก็น่าจะเอาใจใส่และทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนว่า ตกลงหน่วยงานใดหรือบุคคลใดที่เคลื่อนย้ายหมุดอันนี้แล้วเอาอันอื่นมาแทนที่ ก็เลยต้องไปยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

หมุดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ถูกสร้างขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย แล้วก็มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 และคนที่มาเป็นประธานในพิธีคือ นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา หมุดดังกล่าวเป็นของราชการโดยชัดเจน ดังนั้นหมุดของทางราชการหมายไป มันก็เป็นหน้าที่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดำเนินการสืบหาผู้กระทำความผิด ผมในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งจึงเห็นว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ควรจะเงียบหายไปกับสายลม จึงต้องไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ 

แล้วในกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ บอกผู้สื่อข่าวว่าหมุดคณะราษฎร ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน 

ก็เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นและความสนใจต่อสาธารณะชน แต่ผมคิดว่าทางนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฝ่ายความมั่นคง คงประเมินว่าเรื่องนี้จะเป็นกระแสต่อความสนใจของประชาชนจึงไม่อยากที่ใส่ไฟให้ลุกโชนมากกกว่านี้เลยพยายามที่จะเบี่ยงประเด็นไม่ให้คนสนใจเท่านั้นเอง

มีเรื่องไหนบ้างที่เราเรียกร้องไปแล้ว แล้วคสช.ทีท่าทีตอบรับแล้วดำเนินการต่อ

ก็มีหลายเรื่อง แต่ว่าส่วนใหญ่เขาบอกว่าถ้ามีอะไรที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชนเรื่องของความทุกข์ ความไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วมาร้องขอ ความช่วยเหลือที่ผม เขาก็ยินดีสนับสนุนให้ความช่วยเหลือและพร้อมที่จะดำเนินการให้เต็มที่ 

แต่เรื่องบางเรื่องอย่างกรณีหมุดเขาก็เห็นว่ามันก็อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการลุกลามบานปลาย แล้วความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น จึงมาขอร้องผมโดยเรื่องอื่นเขาก็สนับสนุนเต็มที่ ที่จะให้ผมเคลื่อนไหวต่อไป

การมาของหมุดหน้าใส บอกให้เห็นถึงอะไร

อาจจะพยายามสร้างประเด็นใหม่ๆในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เลยพยายามสร้างเรื่องกลบเกลื่อนหมุดคณะราษฎรหรือหมุด 2475 ดังกล่าวไป

ยังจะเคลื่อนไหวเรื่องหมุดต่อไปไหม

เรื่องนี้ผมทำจดหมายถึงหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป จริงจดหมายทุกฉบับผมส่งให้หมดแล้ว แต่การไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 9.15 น. ที่ สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ ณัฏฐา มหัทธนา ได้เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่เดิมทีอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ามาตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2479 หายไป ได้มีการเข้าพบ ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด โดยยุทพันธ์ กล่าวว่า บริเวณรอบลานพระบรมรูปทรงม้าฯ มีกล้องวงจรปิด 11 ตัว แต่สำนักงานจราจรของกรุงเทพมหานครมีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และยังไม่มีการติดตั้งกลับจนปัจจุบัน ขณะที่อภิสิทธิ์และณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีกล้องบริเวณดังกล่าวเลย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ที่นี่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์กับ 'ธำรงศักดิ์': หมุดคณะราษฎร ‘เสี้ยน’ ที่บ่งไม่ออก (สักที)

Posted: 19 Apr 2017 12:57 PM PDT

ท่ามกลางความมึนงงสงสัยว่าหมุดคณะราษฎรที่ฝังไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหายไปได้อย่างไร ใครนำไป พร้อมกับมีน้ำจิตน้ำใจเปลี่ยน "หมุดหน้าใส" มาใส่แทนที่ อาจพูดได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานี้คล้ายมีหมอกควันทึมเทามาบดบังความจริง และหมอกควันที่ว่าอาจมีผลข้างเคียงทำให้คนที่พยายามค้นหาความจริงสำลัก กระอักกระอ่วน ดีไม่ดีอาจถึงขั้นน้ำตาไหลและหายใจไม่ออก

หากเป้าหมายของการณ์นี้คือ ความต้องการรื้อถอนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เห็นทีคงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก และอาจจะเป็นดังที่ ชาตรี ประกิตนนทการ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ก่อนหน้านี้ว่า นี่คือความอ่อนหัดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ของ "หมุดหน้าใส" ให้มีคุณค่าทดแทนหมุดคณะราษฎรที่หายไปได้ กลับยิ่งทำให้ผู้คนตั้งคำถามและย้อนกลับไปหาความรู้เกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างหนักอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่คนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยน่าจะพอรับรู้คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมุดคณะราษฎรหายไป เพียงแต่ครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีหมุดใหม่มาใส่แทน คำถามสำคัญคือ ทั้งสองปรากฏการณ์มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไล่เรื่อยไปจนถึงคำถามถึงมรดกอื่นๆ ของคณะราฎรที่ยังคงอยู่และถูกทำให้หายไปก่อนหน้านี้มีอะไรบ้าง ประชาไทชวน ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อีกหนึ่งนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 มาพาผู้อ่านย้อนเวลาหาอดีตกันอีกครั้งท่ามกลางหมอกควันทึมเทาของปัจจุบัน  

  • คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475

  • หมุดคณะราษฎร คือ หมุดที่ฝังไว้ในจุดที่มีการอ่านประกาศวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

  • แต่การวางหมุดจริงๆ เกิดขึ้นในอีก 4 ปีต่อมา โดยวางวันที่ 10 ธันวาคม 2479 (วันที่ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ)

  • ในอดีตวันชาติ คือ วันที่ 24 มิถุนายน กำหนดเป็นวันหยุดราชการถึง 3 วัน

  • หมุดถูกเอาออกครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ปี 2503

  • เลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรนำหมุดไปเก็บไว้ที่สภาจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตจึงให้ กทม.นำมาวางคืน

  • หมุดคณะราษฎร กับ พระบรมรูปทรงม้า ทุกฝ่ายเคยให้ยอมรับว่าไปด้วยกันได้ในทางอุดมการณ์บางอย่าง

  • ประวัติศาสตร์คณะราษฎร-2475 ถูกอธิบายจากพระเอกเป็นผู้ร้าย หลังสิ้นสุดอำนาจในปี 2490

  • แวดวงวิชาการเริ่มส่งเสียงรื้อฟื้นคุณูปการคณะราษฎรในวาระครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • คำตอบต่อคำถาม ทำไมคณะราษฎรต้องยึดอำนาจบ่อยๆ

  • ธรรมศาสตร์เป็นมรดกคณะราษฎร จุฬาลงกรณ์ก็เช่นกัน

  • อีกมรดกที่สำคัญมาก คือ หลัก 6  ประการ คือ 1. เอกราชในบ้านเมือง ศาล เศรษฐกิจ 2. รักษาความปลอดภัยในประเทศ 3. บำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ จัดหางานให้ราษฎรทำ วางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ 4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่  5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักก่อนหน้า 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ประชาไท: หมุดคณะราษฎรเคยถูกเอาออกไปแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจตนาของครั้งนี้และครั้งนั้นต่างกันอย่างไร

ธำรงศักดิ์: ถ้าเรามองปรากฎการณ์ของการนำหมุดของคณะราษฎร หรือหมุด 2475 ออกจากลานพระบรมรูปทรงม้าในครั้งสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2503 กับครั้งนี้ ทั้งสองเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2490 เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นคู่ตรงข้ามของการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์การสร้างรัฐทหารในรูปแบบใหม่ที่ปฏิเสธการมีอยู่ของคณะราษฎร และรื้อฟื้นจิตวิญญาณของระบอบเก่าขึ้นมาในกรณีของยุคจอมพลสฤษดิ์ ครั้งนั้นเป็นการนำหมุดออกไปและไม่ได้มีอะไรมาทดแทน เป็นการเอาออกไปจากพื้นถนน

ในยุคนั้นเราจะเข้าใจได้ทันทีว่า ยุคของจอมพลสฤษดิ์คือยุคทหารโดยสมบูรณ์ การกระทำของจอมพลสฤษดิ์เป็นการกระทำที่ไม่อาจมีคนโต้แย้งใดๆ อย่าลืมว่าการรัฐประหารปี 2501 นั้นหลังจากรัฐประหารแล้วได้กวาดทำลายปัญญาชน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการเข้าคุกทั้งหมด ดังนั้นเสียงที่ปฏิเสธจึงถูกทำให้เงียบงันตามมาตรา 17 ซึ่งก็คือบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน

การทำให้หมุดหายไปยังสัมพันธ์กับการยกเลิกวันชาติ ซึ่งคือวันที่ 24 มิถุนายน หมุดของคณะราษฎรเป็นหมุดที่ระบุว่า เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายนคือการสร้างชาติใหม่ สร้างระบอบทางการเมืองใหม่ และต่อมาถูกสถาปนาให้เป็นวันชาติ ซึ่งมีวันหยุดราชการถึง 3 วัน

ส่วนหมุดคณะราษฎรได้วางจริงๆ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 มันเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าวันที่ 10 ธันวาคมคือ วันรัฐธรรมนูญ มันเท่ากับว่าหมุด 24 มิถุนาแต่วางในวันที่ 10 ธันวา มันก็คือการยืนยันว่าสองเหตุการณ์นี้คือวันสำคัญ

รัฐธรรมนูญได้มาโดยคณะราษฎรไม่ได้มาจากการพระราชทาน ดังนั้นหมุดนี้จึงเป็นเสมือนประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์ ที่อธิบายต่อรัฐทหารหลัง 2490 ว่า สิ่งที่คณะราษฎรจะเดินไปคือประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง หมุดคณะราษฎรจึงเป็นเสมือนเสี้ยนที่ตำเท้ารัฐทหาร และระบอบเก่า

 

หมุดคณะราษฎรถ่ายในปี 2553 ที่มาของภาพ Jo Shigeru/Wikipedia

ภาพการแจกประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475

เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ยกเลิกวันชาติที่ 24 มิถุนายนลงในปี 2503 คณะทหารใหม่ที่สถาปนาอำนาจได้เบ็ดเสร็จและสามารถขับไล่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทายาทของคณะราษฎรคนสุดท้ายออกจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว จึงต้องทำให้หมุดนี้สาบสูญไป เพราะพื้นที่ตรงนั้นจอมพลสฤษดิ์จะใช้เป็นพื้นที่สวนสนามของกองทัพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสวนสนามในวันที่ 4 ธันวาคม ดังนั้นจึงไม่เพียงแค่กำจัดคณะราษฎรออกไปจากทุกมุมการเมือง แต่ยังต้องกำจัดเอาเสี้ยนตรงนี้ออกไปด้วย แล้วก็ทำให้เป็นเพียงพื้นปูนเปล่า

เพียงแต่มีคนที่ยังเห็นความสำคัญอยู่ คือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น ที่เห็นว่าถ้าไม่มีหมุด 2475 ตรงนี้ก็จะไม่เกิดสภาผู้แทนราษฎร (นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาฯ สมัยนั้น เห็นความสำคัญ จึงเก็บไว้ที่สภาฯ กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 จึงได้ให้ กทม. นำมาฝังไว้ที่เดิม-ประชาไท) นี่คือสำนึกที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังมีความรับรู้ที่เกี่ยวพันกันว่า หมุด 2475 ทำให้เกิดระบอบใหม่ และระบอบใหม่ทำให้เกิดสภาผู้แทนราษฎร 

ความแตกต่างของการถอนหมุดสมัยจอมพลสฤษดิ์กับครั้งนี้คือ ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้หมุดหายอย่างเดียว แต่ยังให้สิ่งหนึ่งปรากฏ และการปรากฏครั้งนี้แตกต่างจากสมัยจอมพลสฤษดิ์

ยุคจอมพลสฤษดิ์ต้องการให้เห็นถึงอำนาจของรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการ แต่หมุดที่ปรากฏในครั้งนี้ คือ หมุดหน้าใส ที่มีแนวโน้มชี้ให้เห็นถึงพลังราชานิยมไม่ใช่ทหารนิยม เป็น ultra royalist ไม่ใช่ militarism ถ้าเรามองแบบเปรียบเทียบ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

ประชาไท: พูดให้ชัดก็คือ การเปลี่ยนหมุดครั้งนี้ก็คือความพยายามรื้อถอนประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรอีกรอบใช่ไหม

ธำรงศักดิ์: โดยตัวของการกระทำมีแนวโน้มคือ ทำให้หลักฐานเชิงประจักษ์หายไปจากลานพระบรมรูปทรงม้า แต่สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือการวางหมุดความทรงจำของคณะราษฎรไม่กระเทือนถึงพระบรมรูปทรงม้า เพราะคณะราษฎรยอมรับว่าในยุคสมัยของพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นการนำไทยเข้าสู่โลกสมัยใหม่แบบโลกตะวันตก ส่วนคณะราษฎรก็นำไปสู่ความศิวิไลซ์ในแนวทางเดียวกัน เพียงแค่เลือกระบอบทางการเมืองที่แตกต่าง รัชกาลที่ 5 ใช้แนวทางวิธีรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระองค์ ในขณะที่คณะราษฎรมองถึงการกระจายทำอาจไปที่ท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

นี่คือ 2 เส้นทาง และ 2 อย่างนี้ต่างกัน 40 ปีเท่านั้นเอง ระหว่างเส้นทางที่รวมศูนย์อำนาจในปี 2435 กับการสร้างว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจร่วมกันและกระจายอาจในปี 2475

ดังนั้น การวางหมุดไว้เคียงข้างกันเป็นผลมาจากการยอมรับการดำรงอยู่ของยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ อีกด้านหนึ่งก็ยืนยันตัวตนการสร้างชาติของคณะราษฎรในการสร้างชาติ แต่ตอนนี้หมุดหน้าใสกลายเป็นความชิงชังโกรธแค้น เกลียดชังหมุดคณะราษฎร

ถ้าเป็นการทำให้หายไป ความหมายก็อย่างหนึ่ง แต่การเอาหมุดหน้าใสมาแทนหมุดของคณะราษฎร  เราแปลความได้ว่านั่นคือ การลบประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริงและพยายามสร้างเรื่องราวใหม่ ประวัติศาสตร์ที่พึ่งแต่งขึ้นใหม่ ณ จุดที่ตัวเองไม่มีความเกี่ยวพันเลย คำถามก็คือมันยิ่งก่อให้เกิดคำถามว่า "ทำไม" ซึ่งกลายเป็นพลังที่จะโจมตีหรือว่าโต้กลับหมุดหน้าใส ไม่ว่าอย่างไรหมุดหน้าใสก็ไม่อาจช่วงชิงพื้นที่ของหมุดราษฎรได้

เรื่องนี้สัมพันธ์กับการขยายและเติบโตของการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เริ่มมีการตั้งคำถามย้อนกลับ เช่น จากเดิมหลังรัฐประหาร 2490 วงวิชาการจะอธิบายว่า การปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม แต่งานฉลองครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปข้อมูลใหม่เพื่อตั้งคำถามว่า มันสุกงอมแล้วหรือเปล่า เขย่าทีเดียวแล้วร่วงเลย แสดงว่าปัจจัยภายในของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นกลวงข้างใน เพียงเจอกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งก็พังและถอยร่น และระบอบทางการเมืองในทางรัฐศาสตร์อธิบายว่า ระบอบทางการเมืองใดไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับบริโลกและบริบทของสังคมตัวเองได้ ระบอบนั้นก็จะถูกทำลายโดยตัวของตัวเอง 

คำถามใหม่ๆ ในทางรัฐศาสตร์ และการศึกษาทางประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทิศทางของการบริหารงบประมาณแผ่นดิน การเจริญเติบโตของประเทศที่แตกต่างกันมันส่งผลให้เกิดการรับรู้ต่อการปฏิวัติ 2475 ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ต่างจากช่วงก่อนหน้านั้นตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา มีอธิบาย 2475 ในด้านลบ เช่น คำถามที่ผมมักเจอ คือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 นั้นทำไมคณะราษฎรต้องมารัฐประหารอีกในเมื่อพึ่งรัฐประหารมา อีก 4 วันจะครบ 1 ปี คำตอบต่อคำถามนี้ก่อนหน้านี้มันไปในทางการแก่งแย่งชิงอำนาจ

แต่คำถามใหม่ๆ ที่เกิดในช่วงวาระครบรอบ 50 ปีธรรมศาสตร์นั้นเองทำให้ผมต้องมาศึกษาการปฏิวัติ 2475 ศึกษาคณะราษฎรและผู้นำระบอบเก่า แล้วก็เห็นว่า พลังของสองฝ่ายหลังปฏิวัติ 2475 มันสู้กัน ไม่มีใครยอมสยบอำนาจตัวเองโดยไม่ได้สู้ ดังนั้น มันจึงมีปฏิกิริยาต่อการปฎิวัติ 2475 ในทุกรูปแบบ ในที่สุดปฏิกิริยาครั้งแรกเกิดขึ้นโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผมจึงบอกว่าอยู่ดีๆ ไม่ใช่คณะราษฎรยึดอำนาจรัฐประหารอีกรอบเพื่อเอาอำนาจให้กับตัวเอง แต่พระยามโนปกรณ์ออกพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายชั้นล่างเพื่อมากระชับอำนาจให้ตัวเองแล้วกำจัดปรีดีพนมยงค์และคณะราษฎรในจุดต่างๆ

พระยามโนปกรณ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพราะกำหนดว่าในรัฐบาลชุดนั้นสามารถบริหารและออกกฎหมายได้โดยไม่ต้องมีสภา และพระยามโนฯ ก็ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์เพื่อกำจัดปรีดีเป็นคนแรก เราเริ่มเห็นแล้วว่านี่คือการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของระบอบเก่า เพื่อเอาชนะผู้นำทางการเมืองระบอบใหม่ คณะราษฎรก็สามารถยึดอำนาจคืนมาได้ ต่อมาอีก 3 เดือนก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 3 รัฐประหารครั้งนี้เรียกว่า "กบฏบวรเดช" ในช่วงเดือนตุลาคม 2476 เพราะช่วงเดือนตุลาคมนั้น คณะราษฎรได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนั้นประเทศยังไม่มีความพร้อมในเรื่องถนนหนทาง ความทุรกันดาร จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดยาวมากตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน ฝ่ายทหารที่ยังภักดีต่อระบบเก่าจึงรวมกันเพื่อล้มรัฐบาลคณะราษฎร ถ้าคณะราษฎรสามารถจัดการเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส. มา ความชอบธรรมของระบอบใหม่จะเริ่มทันที นี่เป็นการชิงการยึดอำนาจเพื่อควบคุมสภาผู้แทนราษฎร

ชาวพระนครต้อนรับทหารปราบกบฏบวรเดช ที่กลับมาเมื่อ 25 พ.ย. 2476 ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่/facebook Heaven Love

มันคือการสู้กันเพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญและการคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ระบอบเก่าก็พยายามปรับตัวเองว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรในเสื้อคลุมรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 

เมื่อคณะราษฎรถูกทำให้หายไปในปี 2490 ความเป็นผู้ร้ายจึงตกมาอยู่ที่คณะราษฎร พระเอกก็กลายเป็นกบฏบวรเดช และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อันนี้ชี้ให้เห็นถึงการลบความทรงจำและการปกปิดข้อมูล ช่วงราวๆ ปี 2527 ถึงปัจจุบัน หรือราวๆ 30 ปีที่แล้ว ความรู้ชุดใหม่เชิงบวกต่อคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 รวมไปถึงการช่วงชิงของอำนาจเก่าค่อยปรากฏขึ้น และกลายเป็นความรับรู้ที่แพร่กระจายของคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้การหายไปของหมุดคณะราษฎรที่หายไปพร้อมการปรากฏตัวของหมุดหน้าใส มันเหมือนโยนระเบิดนิวเคลียร์ หรือแม่ของระเบิด (Mother of All Bombs) ลงบนพื้นโดยไม่มีความเข้าใจ เพราะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงหมุดอาจทำให้มีคนโวยวายก็จริงแต่เดี๋ยวก็เงียบ ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบลึกลับ คนที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นหมุดหน้าใสก็ตระหนักดีว่าตนเองก็อยู่ในโลกสมัยใหม่ คุณจะเผยอหน้าออกมาว่าคุณได้ทำลายหมุด 2745 และสร้างหมุดหน้าใสหรือ แม้คุณจะออกมาปรากฏตัวได้ในช่วงนี้แต่พอกาลเวลาผ่านไปคุณก็จะกลายเป็นผู้ร้ายของหน้าประวัติศาสตร์ในสังคมไทย จึงต้องมีลักษณะแอบซ่อนอำพราง การไม่เปิดเผยแสดงว่าไม่ได้เกิดเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่น่าภูมิใจให้กับหมุดหน้าใสใดๆ ทั้งสิ้น

ประชาไท: อาจารย์มองว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนของความขัดแย้งหรือไม่

ธำรงศักดิ์: ผมเชื่อว่ามันทำให้คนที่เชื่อ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" มาตระหนักถึงความยอกย้อนของมัน ความคิดความเชื่อที่ถูกฝังถูกใส่ คนจำนวนมากที่มีอายุในรุ่น 50-60 ปีคือคนที่เติบโตมาในช่วงประวัติศาสตร์หน้าใหม่หลัง 14 ตุลา ไม่ว่าอุดมการณ์ที่ได้รับชัยชนะจะเป็นอย่างไร แต่กลุ่มคนที่มีการศึกษาและเริ่มต่อสู้เริ่มต้นในยุคแรก คุณคิดว่าเขาจะไม่คิดถึงสังคมของลูกหลานของเขาเหรอว่า ลูกหลานเขาจะอยู่ในสังคมแบบไหน มันไม่ใช่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้ว แต่มันเป็นการสร้างรัฐทหาร ระบอบเก่าที่ว่าคืออะไร ใครคือตัวแสดงบนเวที สิ่งไหนที่คุณเชื่อได้ ใครคือตัวแสดงแทนที่คุณมองไม่เห็นมันเหมือนควันไฟป่าที่ลามไปทั่ว หายใจไม่ออก และมองไม่เห็นเพราะมันแสบตา

ประชาไท: ย้อนกลับมาที่มรดกของคณะราษฎร แม้ตอนนี้เราไม่มีหมุดให้เห็นแล้ว แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่คณะราษฎรทำไว้ เรายังหลงเหลือมรดกอะไรอยู่อีกบ้าง

ธำรงศักดิ์: คณะราษฎรเขาไม่ได้มาตัวเปล่า แต่เขามาพร้อมกับหลักนโยบาย 6 ข้อ มาพร้อมกับความเจริญของประเทศชาติ การสร้างชาติตามคำว่าศิวิไลซ์ คือทำให้เจริญรุ่งเรือง มีความเป็นคน มีสิทธิของคุณมากขึ้น เมื่อลองไล่ดู หลักว่าด้วยเอกราช 50ปีที่ผ่านมาไทยเป็นเอกราช ทำไมถึงมีหลักเอกราช คือ คนอายุ 50-100 ปี ไม่ได้มองว่าประเทศนี้เป็นเอกราชโดยแท้จริง ภาษาอังกฤษเรียนว่า semi-colony เป็นประเทศกึ่งอาณานิคม เนื่องจากเป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปี 2398 ตามที่เราเรียนก็จะบอกว่าทำให้เราเปิดโลกการค้า แต่ทำให้เราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แล้วคำนี้ก็ถูกทำให้รู้สึกเฉยๆ แต่พอไปดูภาษาอังกฤษก็จะพบว่านี่คือลักษณะกึ่งอาณานิคม

ประเทศไทยถูกบังคับให้เปิดประเทศโดยอังกฤษ เหมือนที่ญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดประเทศโดยสหรัฐก่อนไทยแค่ปีเดียว เพราะกระแสของมันคือทำให้เกิดการค้าเสรี Free Trade  ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับ FTA เขตการค้าเสรี การที่ทำสนธิสัญญากับอังกฤษคือการล้มการค้าผูกขาดรัฐบาลของกษัตริย์แต่ละประเทศ เพื่อที่จะให้อังกฤษค้าขายกับใครก็ได้ในแผ่นดินนี้ แต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเรื่องการศาลและศุลกากร ประเทศคู่สัญญาไม่ต้องขึ้นศาลของประเทศนั้น ไปขึ้นศาลของตัวเองได้ หมายความว่าประทศไทยไม่มีอำนาจลงโทษคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศ เมื่อคนเหล่านั้นทำผิดกฎหมายไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชที่ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก นั่นหมายถึงไม่มีเอกราชอันสมบรูณ์ ซึ่งตามสัญญาระบุว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงสัญญาจะต้องปรับปรุงกระบวนการศาลให้มีความศิวิไลซ์เท่าโลกตะวันตก แต่รัฐสมบรูณาญาสิทธิราชย์ทำได้แค่นั้น จึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและส่งลูกไปเรียนต่างประเทศบ้าง และรัฐไทยก็เลือกส่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนแทนลูกเจ้านาย ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นก็เป็นประชาชนธรรมดาเช่น ปรีดี พมนยงค์ และ แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

นักเรียนเหล่านั้นได้ไปเรียนต่างประเทศเท่ากับว่าได้เห็นโลกใหม่ ตกลงประเทศไทยของเราไม่ได้มีเอกราชจริงอย่างนั้นหรือ? จึงเป็นความตั้งใจที่จะกู้เอกราชให้ได้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากความตั้งใจในการกู้เอกราชของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ เพียงแต่การการกู้เอกราชของเขาเป็นการกู้จากผู้ปกครองต่างชาติโดยตรงชัดเจน แต่ประเทศไทยมองไม่เห็น แต่เห็นระบอบหนึ่งที่คิดว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเรื่องงบการศึกษาของรัฐไทยก็น้อยมาก เรื่องสาธารณสุขก็เช่นกัน ด้วยประเด็นนี้จึงเป็นความตั้งใจหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมุ่งแต่เรื่องนี้ และสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ในปี 2481 เขาสามารถยกเลิกสัญญาที่ทำให้ไม่เป็นเอกราชโดยสมบรูณ์ได้หมด

คณะรัฐมนตรีชุดแรกของสยามประเทศ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี  (แถวล่างสุด คนกลาง)
ปรีดี พนมยงค์ (แถวบนสุด คนที่ 2 จากขวา) จอมพล ป.พิบูลสงคราม (แถวที่ 2 คนที่ 3 จากขวา)

ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่/facebook Heaven Love

เขาจึงลงหมุดอีกอันหนึ่งลงบนถนนราชดำเนินกลางนั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยตัวของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสัญลักษณ์ของมันได้บอกถึง 24 มิถุนายน 2475 และด้วยหลักการนโยบาย 6 ข้อของคณะราษฎร เหนือจากนั้นขึ้นไปคือรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความเจริญของประเทศ และวันเดียวกัน 24 มิถุนายน 2482 เป็นวันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์ แต่คนยุคหลังๆ หลายทศวรรษมานี้จะไม่รู้เรื่องนี้เลย เพราะอดีตถูกทำให้หายไป เราจึงไม่เห็นและไม่เข้าใจมรดกที่คณะราษฎรทำได้สำเร็จและในเวลาอันรวดเร็ว

หลักต่อมาว่าด้วยความปลอดภัย อาจจะสงสัยว่ารัฐทุกรัฐต้องดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เน้นความปลอดภัยของเจ้านาย ไม่ใช่ความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้นภารกิจกระบวนการของตำรวจจึงได้ขยายออกไปยังชุมชนเพื่อสร้างระเบียบ ความปลอดภัยให้ประชาชน ในทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล คุก ผู้พิพากษาสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าทำยังไงจึงจะสร้างความปลอดภัยประชาชน แต่ปัจจุบันมีแต่อคติและความไม่ปลอดภัย นี่ไม่ใช่ฝีมือคณะราษฎรแต่เป็นฝีมือของรัฐตำรวจ รัฐทหาร ในยุคของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคของเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจยุคของการเปลี่ยนแปลงปี 2490 รัฐทหารรุ่นใหม่ที่ฟื้นระบอบเก่าขึ้นมาด้วยได้ทำให้กลไกสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมพังทลาย กลับกลายเป็นว่ากลไกรักษาความปลอดภัยต่างๆ กลายเป็นกดขี่ข่มเหงประชาชน

หลักสิทธิเสมอภาค คือก่อน 2475 ผู้ชายคือคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ไม่ได้เกณฑ์ทุกคน คนที่เป็นเจ้านายไม่จำต้องเกณฑ์ หรือเป็นเครือญาติขุนนางก็ข้ามไป ถ้าเป็นสามัญชนต้องจ่ายค่าราชการบังคับจ่ายคนละ 6 บาท ไพร่ส่วยแทนเกณฑ์แรงงาน เมื่อเกณฑ์ทหารต้องจ่ายค่าช่วยราชการ ไม่ได้จ่ายทุกคน คนที่จ่ายคือสามัญชนคนที่เป็นราชการไม่ต้องจ่าย ดังนั้นคนก็ไม่เท่ากัน ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ถ้าไม่มีเงินเก็บก็ยึดทรัพย์ของเขา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วพอในสมัยรัชกาลที่7ต้องการเงินเยอะ มีการยึดที่ทางเอามาเป็นภาษีค่าราชการ และเงินค่าราชการมีมูลค่าเท่ากับ10% ของงบประมาณปีในรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเยอะมาก แต่งบการศึกษา 300,000 บาท ที่เหลือหายไปไหนหมด? นี่คือสิทธิที่ไม่เสมอภาค ร่างกายไม่ได้เป็นของคุณ หลัง2475 ร่างกายเป็นของคุณและคุณก็เท่ากับคนอื่น  เรื่องผู้หญิงก่อน2475 ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน การปฏิวัติ2475 ทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ได้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเป็นเจ้าของประเทศก่อนยุโรปบางประเทศและก่อนญี่ปุ่นอีก แต่ผู้หญิงไทยไม่เคยถูกเล่าถึงความเป็นหมุดในตัวเอง ถูกทำให้เหมือนกับว่าเรื่องเหล่านี้มาพร้อมกับการเกิดของผู้หญิง ถูกทำให้ข้อมูลเหล่านี้ลืมเลือนหายไป

หลักเสรีภาพ รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนหมดแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติ เสรีภาพคือ อะไรก็ตามที่คิดอยู่ในหัวย่อมคิดฝันทำอะไรก็ได้ผ่านทางการพูด การเขียน ทางร่างกาย ถ้าเมื่อไหร่คุณทำไม่ได้แสดงว่าคุณถูกจำกัดเสรีภาพ คณะราษฎรคือรัฐบาลที่ทำให้เราวิภาควิจารณ์รัฐบาลได้ แต่หลัง 2490 รัฐบาลทหารเขาบอกว่าเราจะสร้างประชาธิปไตย แต่ห้ามวิจารณ์ เราจะสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่ห้ามรณรงค์ต่อต้าน จะเป็นไปได้ยังไง?

หลักว่าเศรษฐกิจ หลักเริ่มต้นจากการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะมีแผนทางเศรษฐกิจไม่ใช่ใครอยากทำอะไรก็ทำ จะสร้างแผนพัฒนาประเทศได้ถึงไหน จุดนี้เองที่พระยามโน และระบอบเก่าใช้ประเด็นคอมมิวนิสต์กำจัดปรีดี คำว่าด้วยการวางแผนทางเศรษฐกิจจึงเป็นคำของคอมมิวนิสต์ และประเทศจึงไม่อาจสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ จนยุคปราบคอมมิวนิสต์อเมริกาซึ่งเป็นพี่ใหญ่ และซับพอร์ตรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับบอกว่าจะปราบคอมมิวนิสต์ได้ต้องพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สำหรับคณะราษฎรคือการที่จะสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ต้องมีการวางแผนด้านเศรษฐกิจ

หลักการว่าด้วยศึกษา หลังการปฏิวัติ 2475 มีกฎหมายบังคับให้คนเรียนจบ ป.4 สังคมสมัยนั้นเป็นสังคมที่คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรามักจะบอกกันว่าวัดเป็นแหล่งการศึกษา ผู้ชายบวชเรียนที่วัด แต่โอกาสที่คนธรรมดาบวชเรียนได้จริงๆ มีแค่ไหน โรงเรียนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีแต่ในตัวจังหวัด การที่คณะราษฎรออกกฎหมายให้ต้องเรียนจบป.4 นั่นหมายความว่าคณะราษฎรผูกมัดว่าต้องมีงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น แผนการขยายโรงเรียนจะต้องเพิ่มขึ้น โรงเรียนจะต้องมาพร้อมกับที่ดิน อาคารเรียน บ้านพักครู หนังสือเรียน และจะนำไปสู่การกระตุ้นให้ชนชั้นนำในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ลูกหลานต้องเข้าเรียน ดังนั้น คนที่เกิดหลัง 2475 จึงได้เรียนหนังสือหมดเลย รวมถึงมรดกในสถาบันการศึกษาต่างๆมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผลผลิตมาจาก 2475 ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาเพื่อผลิตนักการเมืองรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบทางการเมือง ตามชื่อเดิม มหาวิทยาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

การเมืองของคณะราษฎรคือ ระบอบที่มี ส.ส. เป็นฐานความชอบธรรมทางการเมือง ระบอบท้องถิ่นคือเทศบาล ความฝันของคณะราษฎรคือเทศบาลทั้งหมด 4,000 ตำบล การเป็นเทศบาลได้ต้องขึ้นอยู่กับขนาดชุมชน ทำอย่างไรให้จัดตั้งได้คือต้องใช้งบประมาณ และจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่การเป็นผู้นำชุมชนได้ หากสร้างได้ เราจะเห็นฐานการเมืองท้องถิ่นของประชาธิปไตย แต่แนวทางระหว่างเดินไปนั้นติดกับดักสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทางเดินสู่ประชาธิปไตยของคณะราษฎรฝ่ายทหารเฉออกไป ทำให้มีการต่อสู้ของ 2 แนวทาง คือ ทหารบกที่นำโดยจอมพล ป.ได้ใช้กฎอัยการศึกยุติกระบวนการทางการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง ธรรมศาสตร์จึงเป็นตัวผลิตนักการเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มที่

จุฬาฯ เองก็เป็นมรดกของคณะราษฎรเช่นกัน แม้จะสร้างในรัชกาลที่ 6 แต่ที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คณะราษฎรก็คิดว่า จะทำอย่างไรจุฬาฯ จึงจะมีความมั่นคงมีที่ดินของตัวเอง จึงแปรเป็นพระราชบัญัญัติและโอนที่ดินให้จุฬาฯ ไป

นอกจากนี้ยังมีถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ใหญ่ เชื่อมกรุงเทพฯ ไปจนถึงภาคเหนือ เดิมชื่อ ถนนประชาธิปัตย์ ต่อมาเกิดชื่อพรรคประชาธิปัตย์จึงเปลี่ยนชื่อพหลโยธินเพื่อเป็นเกียติรแก่พระยาพหลฯ ถนนนี้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากมาย

จิตวิญญาณของคณะราษฎรอยู่ในตัวเราอีกมากมาย เช่น เรื่องฟันขาว การเลิกเคี้ยวหมาก เพราะทัศนะของคณะราษฎรก็คือการสร้างชาติให้เจริญ คือทำให้คนเจริญให้เท่ากับโลกตะวันตก นอกจากคุณจะต้องเป็นคนเท่ากันแล้ว ยังต้องเท่ากันกับโลกตะวันตกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เอนก' ค้านข้อเสนอเก็บเงินสมาชิก ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ชี้ขัดวัฒนธรรมไทย

Posted: 19 Apr 2017 12:43 PM PDT

ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง 'เอนก' ค้านปมเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาทต่อปี  ในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุใช้กับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยไม่ได้ เกรงจะทำให้คนในพรรคที่มีเงิน เป็นผู้จ่ายเงินให้กับสมาชิก

แฟ้มภาพ

19 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมวันนี้  (19 เม.ย.) พิจารณาเกี่ยวกับบทบาทและการพัฒนาพรรคการเมือง แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนในสาระของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับใหม่ แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่ก็เห็นต่างในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เอนก ระบุว่า ประเด็นที่ได้ยกขึ้นอภิปรายกัน อาทิ เรื่องการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาทต่อปี โดยเห็นว่าการกำหนดดังกล่าว ใช้กับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยไม่ได้ เกรงจะทำให้คนในพรรคที่มีเงิน เป็นผู้จ่ายเงินให้กับสมาชิก เพราะต้องไม่ลืมว่าในสังคมไทย ในวัฒนธรรมไทย ใครมีเงินก็ช่วยเงิน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีความรู้ก็เอาความรู้มาช่วย การปฎิรูปพรรคจะใช้แต่กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของการเมืองไทย ซึ่งวัฒนธรรมไทยยังคาดหวังหลายอย่างจากพรรคการเมืองและนักการเมือง ทั้งที่เรื่องนั้นก็ไม่ค่อยจะตรงกับกฎหมาย

"เราคุยกันไปไม่ได้มีอะไรขัดแย้ง แต่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งเสริมความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ว่าไม่อยากให้มองว่าพรรคการเมืองเป็นผู้ร้าย เป็นจำเลย แต่ต้องมองว่าพรรคการเมืองก็เหมือนกับองค์กรทั่วไป ที่มีทั้งคนดีและไม่ดี ทำถูกบ้างทำผิดบ้าง ทุกประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ล้วนมีพรรคการเมือง เราจะพัฒนาพรรคการเมืองอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนั้นคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการก็มีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะพยายามรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะที่จะส่งให้กับ กรธ.และ สนช. เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เคยบอกว่าอยากฟังความเห็นจากคณะกรรมการ" นายเอนกกล่าว และย้ำว่า จะเร่งส่งความเห็นของคณะกรรมการต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ผู้มีหน้าที่โดยเร็วที่สุด แม้จะมีเวลาเพียงน้อยนิด

เอนก กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือและมีข้อเสนอในอีกหลายเรื่อง เช่น อยากให้ตนไปร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในชั้นของ สนช. แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหนอย่างไร อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้มีความตั้งใจที่จะทำในเรื่องของการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคเป็นพลังในการขับเคลื่อนบ้านเมือง ซึ่งคณะกรรมการก็จะตั้งใจและพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งคณะกรรมการจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 30 พ.ค. นี้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ และสำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุโจมตีฐานปฎิบัติการและจุดตรวจ 13 จุด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 19 Apr 2017 10:06 AM PDT

เกิดเหตุโจมตีฐานปฎิบัติการและจุดตรวจในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้ง ขว้างระเบิด- ยิง M 79 ปัตตานี 3 จุด นราธิวาส 7 จุด สงขลา 3 จุด 

19 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดระเบิดหลายจุดในพื้นที่ปาตานี หรือ จังหวัดชายแดนใต้ โดยเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดและปฎิบัติทางอาวุธในหลายพื้นที่ ของ จ.สงขลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ส่วนใน จ.ยะลา เหตุการณ์ปกติ

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงาน  สรุปเหตุการณ์ เบื้องต้นจำนวน 13 เหตุการณ์ ดังนี้

ในพื้นที่ จ.ปัตตานี มีจำนวน 3 เหตุการณ์ 

1. ระเบิดในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.มายอ 
2. ขว้างระเบิดใส่ สภ.กะพ้อ 
3. ระเบิดฐาน มว.ฉก.นปพ.สภ.โสร่ง อ.ยะรัง
       
ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีจำนวน 7 เหตุการณ์ 
1. ขว้างระเบิดจุดตรวจ อส. ต./อ.ยี่งอ ไม่มีเจ็บ
2. ระเบิดกองร้อย อส. อ.ศรีสาคร 
3. ระเบิด ในพื้นที่ อ.รือเสาะ 
4. ยิง M 79 ใส่ฐาน นปพ.22 อ.ระแงะ 
5. เข้าตีฐาน ม.2 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ 
6. ขว้างระเบิดใส่เรือราษฎร ในพื้นที่ อ.แว้ง จำนวน 2 จุด
7. ซุ่มยิงชุด ชคต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จนท.อส.บาดเจ็บ 
       
ในพื้นที่ จ.สงขลา จำนวน 3 เหตุการณ์ 
1. ขว้างระเบิดป้อมยามหน้า สภ.จะนะ ไม่มีเจ็บ
2. ระเบิดบริเวณบ้านไร่ ม.5 ต./อ.สะบ้าย้อย จำนวน 2 ลูก
3. ซุ่มยิง ชุด ชคต. บ้านนาจวบ ม.2 ต.ท่าม่วง อ.เทพา
       
ในพื้นที่ จ.ยะลา (ไม่ปรากฏเหตุการณ์)

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ดูแลงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้เผยเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาได้เกิดเหตุไม่สงบหลายจุดในพื้นที่อย่างน้อย10 อำเภอ ในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยมีรายงานว่าคนร้ายอาจเสียชีวิต 2 ราย

ทั้งนี้ เหตุไม่สงบเกิดขึ้นในขณะที่คณะพูดคุยสันติภาพของไทยและกลุ่มมาราปาตานี ได้บรรลุข้อตกลงกำหนดพื้นที่ปลอดภัยขึ้นใน 5 อำเภอ ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการระบุว่าพื้นที่ปลอดภัยอยู่ในอำเภอใด

เมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ออกมาประกาศว่าไม่มีส่วนร่วมในกลุ่มมาราปาตานีที่กำลังพูดคุยหาแนวทางสันติภาพกับทางการไทย แต่ต้องการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลไทย ตามหลักการสากล คนกลางเจรจามีความน่าเชื่อถือ มีคุณลักษณะตามมาตรฐานนานาชาติ มีความยุติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
โดยที่ก่อนหน้านั้นได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 6 เม.ย. ต่อเนื่องจากถึงตีสามของวันที่ 7 เม.ย. ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง เหตุความไม่สงบใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ บางอำเภอของ สงขลา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความวิชาการเชิงเสียดสีประท้วงกรณี CEU ถ้าโลกไม่มี 'เสรีภาพทางวิชาการ'

Posted: 19 Apr 2017 09:47 AM PDT

กรณีที่รัฐบาลหัวอนุรักษ์นิยมของฮังการีพยายามบีบให้มหาวิทยาลัยที่ลงทุนจากต่างประเทศต้องปิดตัวลง หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) นักวิชาการสองคนเขียนบทความเชิงเสียดสีเอาไว้ในหัวข้อที่ว่า "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากพวกเราไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ"

ที่มาของภาพประกอบ: Twitter/‏@kernerzsolt

แบร์โทล์ด ริตต์แบร์การ์ ประธานภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิค ประเทศเยอรมนี ร่วมกับ เจเรมี ริชาร์ดสัน นักวิจัยสายรัฐศาสตร์จากนัฟฟิลด์คอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด นำเสนอบทความทางวิชาการผ่านเว็บเผยแพร่สื่อทางวิชาการออนไลน์ในหัวข้อชื่อ "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากพวกเราไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ"

บทความของพวกเขาเผยแพร่ในเว็บ เทย์เลอร์แอนด์ฟรานซิส ออนไลน์ (Taylor & Francis Online) ที่เป็นเว็บเผยแพร่บทความทางวิชาการพร้อมรายละเอียดต่างๆ เช่น บทคัดย่อ บทนำ ข้อถกเถียง การวิเคราะห์ บทสรุปและแนวทางการวิจัยต่อในอนาคต และคำถามที่ถาม

แต่ในบทความเรื่อง "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากพวกเราไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ" ก็ระบุในส่วนต่างๆ เหล่านี้ว่า "ไม่มีบทคัดย่อ" "ไม่มีบทนำ" "ไม่มีข้อโต้แย้งและการร่วมแลกเปลี่ยน" "ไม่มีการวิเคราะห์" "ไม่มีบทสรุปและไม่มีแนวทางการวิจัยต่อในอนาคต" และ "ไม่มีการถามคำถามใดๆ" ราวกับว่าถ้าไม่มีเสรีภาพทางวิชาการก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ตามนอกจากบทความที่เกือบจะสะท้อนความว่างเปล่าเมื่อปราศจากเสรีภาพแล้ว ที่ส่วนของบทคัดย่อยังมีการวางคำสำคัญเป็นคำว่า #IstandwithCEU ซึ่งแปลว่า "ผมยืนหยัดเคียงข้างมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU)"

เมื่อไม่นานมานี้ CEU เสี่ยงจะต้องเผชิญปัญหาหลังจากที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมนำโดยวิคเตอร์ ออร์บาน ในฮังการีพยายามออกกฎในเชิงกีดกันนโยบายที่มีการจดทะเบียนในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ฮังการี โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะดำเนินการต่อไปต้องได้รับการยินยอมตกลงกันด้วยการลงนามระหว่างผู้นำรัฐบาลของทั้งสองประเทศ

ร่างกฎหมายใหม่ของรัฐบาลฮังการียังระบุอีกว่าเงื่อนไขที่สองคือ ต้องมีการจัดตั้งวิทยาเขตและคณะต่างๆ ที่ประเทศต้นทาง ในกรณีของ CEU คือต้องตั้งมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ถ้าหากมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้จะต้องยกเลิกการดำเนินงานภายในปี 2564 เรื่องนี้เคยมีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนรวมตัวกันประท้วงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วโดยระบุว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ

ซึ่งนอกจากปฏิบัติการบนท้องถนนแล้วในโลกออนไลน์ก็มีการใช้แฮชแท็ก #IstandwithCEU เพื่อรณรงค์หรือพูดถีงเรื่องนี้ด้วย โดยบทความวิชาการในเชิงแสดงออกของริตต์แบร์การ์ และริชาร์ดสัน ยังมีผู้คนหลายคนพากันแชร์ออกไปผ่านทวิตเตอร์ หนึ่งในนั้นคือ กาส มุดเด นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจีย ที่แชร์ออกไปพร้อมข้อความว่าเป็น "บทความในเชิงล้อเลียนเสียดสี" ที่เฉียบคมมากในวารสารเพื่อนโยบายสาธารณะของยุโรป (Journal of European Public Policy)

มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่ก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส เศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2534 โดยที่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยน้คือการเปิดกว้างทางสังคม ตรงกันข้ามกับแนวทางอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลฮังการี และออร์บานมองว่ากลุ่มที่เปิดกว้างเหล่านี้กำลังทำให้ฮังการีเสียผลประโยชน์

 

เรียบเรียงจาก

What happens when we do not defend academic freedom, Berthold Rittberger & Jeremy Richardson, Taylor & Francis Online, 18-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทบทวน 26 ปีเขื่อนแก่งเสือเต้น สัญลักษณ์การรวมศูนย์อำนาจ vs การจัดการน้ำของประชาชน

Posted: 19 Apr 2017 08:15 AM PDT

เขื่อนแก่งเสือเต้นหายไปจากหน้าข่าวนาน แต่ชาวบ้านเชื่อว่ามันจะโผล่ขึ้นมาเป็นทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีก สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้เป็นอย่างไร ชาวบ้านคิดการณ์ใหญ่ไปถึงไหน "สะเอียบโมเดล" การจัดการน้ำที่ชาวบ้านและสถาบันการศึกษาร่วมกันคิด เตรียมคลอดหรือยัง


ต้นน้ำยม ในตำบลสะเอียบ ในช่วงเดือนเมษายน


ผีเสื้อและแมลงปอ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้อย่างดี

 

ชุมชน สะเอียบ ในอำเภอสอง จังหวัดแพร่  นับเป็นพื้นที่ "สีแดง" ทางการเมืองแห่งการต่อต้านมายาวนาน นับตั้งแต่เริ่มมีดำริริเริ่มและมีการรับหลักการที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในปี 2534 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน

จากชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้จักเขื่อน นำมาสู่การต่อต้านและการเสนอโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่ และ ความหลากหลายทางชีวภาพอีกมาก

หากเราอยากจะทำความรู้จักชุมชนสะเอียบ เราอาจจะต้องย้อนไปดูประวัติ ราว 30 ปี ที่แล้วตั้งแต่มีการริเริ่มโครงการผันน้ำอิง-ยม-น่าน อันเป็นที่มาของเขื่อนแก่งเสือเต้น ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเขื่อนชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในภาคเหนือตอนบน อย่างไรก็ตาม เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ถูกให้ความหมายและวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ในปี 2553 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รื้อโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง รัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลช่วยเหลือทุกปี หากมีการสร้างจะเก็บน้ำจืดได้ถึง 3,700 ล้านคิวซึ่งรัฐบาลควรสร้างนานแล้ว และเป็นโครงการที่อยู่ในความคิดให้สร้างเขื่อนแต่แรก ตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯอยู่ แต่ถูกแรงต้านจากชาวบ้านสะเอียบอย่างรุนแรง ทำให้ต้องยกเลิกโครงการนี้ไป 

ผีแก่งเสือเต้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีการวางโครงการการจัดการน้ำครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อป้องกันการกลับมาของมวลน้ำมหาศาลในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านการนำของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี  และเช่นเดิมก็หลีกไม่พ้นการต่อต้านของชุมชนจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบในการสร้างเขื่อน จนต้องปรับแผนการมาสู่เขื่อนยมบน-ยมล่าง  

ประชาไท ชวนคุยกับ "น้อย" ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี หนึ่งในแกนนำของชุมชนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาและแผนพัฒนาจัดการน้ำของชุมชน "สะเอียบโมเดล" เพื่อพัฒนาระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


น้อย ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี

จุดเริ่มต้นของการเป็นพื้นที่สีแดงคัดค้านเขื่อน

น้อย กล่าวว่า ที่นี่อยู่มากัน 200 กว่าปี ชาวบ้านไม่รู้จักเขื่อนมาก่อน แต่ในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2532 มีการอนุมัติหลักการให้สร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นก็มีนักศึกษากว่า 16  สถาบันจากกรุงเทพฯ มาให้ข้อมูลว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ได้พบปะชาวบ้านจำนวนหนึ่งซึ่งเอาปลามาแลกข้าวมาหลายปีด้วย ชาวบ้านที่นี่ก็ถามว่าไม่มีที่นาทำกินหรือ พวกเขาบอกว่ามาจากบ้านท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งมีการสร้างเขื่อนสิริกิตติ์จนน้ำท่วมที่นาหมดแล้ว ต้องหาปลาเอามาแลกข้าวกิน ชาวบ้านสะเอียบจึงรู้สึกว่าถ้ามีเขื่อนอนาคตพวกเขาก็อาจจะไม่ต่างกัน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจลงพื้นที่เขื่อนสิริกิตติ์ว่าเขื่อนเป็นอย่างไร พอกลับมาก็ปรึกษาหารือกันได้ข้อสรุปว่า "เราจะไม่เอาเขื่อน" แล้วก็ตระเวนไปพูดคุยกับพี่น้องเขื่อนภูมิพลหรือที่ดอยเต่าซึ่งต้องย้ายหมู่บ้านอยู่ตลอดตามระดับน้ำ จนชาวบ้านกินข้าวเต็มเมล็ดไม่เป็น พอจะได้กินน้ำก็ขึ้น ต้องอพยพอยู่เรื่อยๆ จากนั้นไปดูที่เขื่อนศรีนครินทร์ เมืองวัดของหลวงพ่ออุตตมะที่จมหายไปกับบาดาล ที่เก็บกระดูกบรรพบุรุษก็กลิ้งเต็มไปหมด น้ำลดนักท่องเที่ยวก็มาเหยียบกระดูกพ่อกระดูกแม่ ชาวบ้านเห็นแล้วก็รับไม่ได้

น้อยกล่าวว่า ในโครงการพื้นที่ที่กำหนดจะย้ายชาวบ้านสะเอียบไปอยู่ ก็มีลักษณะเป็นป่าแพะ (ป่าผลัดใบประเภทหนึ่ง พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งที่ราบและที่เขาสูง ดินมักเป็นทราย และลูกรัง) หินแห่ (ลูกรัง) พลาญหิน ซึ่งมันอยู่ไม่ได้ นักการเมืองแพร่ก็บอกว่าจะจัดสรรที่ให้ใหม่ มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้หมด แต่ก็ไปกว้านซื้อพื้นที่โดยรอบไว้หมด พื้นที่ใหม่ที่ว่าก็เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนอื่น เขาก็บอกว่ามันเป็นของเขาถ้าเข้ามาก็เจอลูกปืน แล้วชาวบ้านจะไปอยู่ได้อย่างไร มันไม่ชอบมาพากล พอปี 2554 เขาก็มาเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเขื่อนเพราะเขื่อนชลประทานกับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งมันไม่เหมือนกัน เขาบอกว่ายังไงก็คุ้มเพราะจะทำให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพ ช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินกว่า 1.2 ล้านล้านถ้าน้ำท่วมเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยคิดจะกั้นแม่น้ำยมเพื่อไม่ให้น้ำไปท่วมกรุงเทพ ซึ่งเราเห็นว่าคิดแบบนี้ไม่ได้  ไม่มีความเป็นวิชาการแล้ว ในความเป็นจริงแม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดเล็ก ปริมาณน้ำท่าของลุ่มยมก็ไม่เกิน 1,100 ล้าน ลบ.ม. จะมาบอกว่าท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้ เขื่อนที่กั้นลำนำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลในปี 2554 เคยปล่อยน้ำออกมาราว 100 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน น้ำทะลักจนตลิ่งพังหมด เพราะเป็นลุ่มน้ำใหญ่มีน้ำเยอะต้องระบาย แล้วน้ำใต้เขื่อนจากอยุธยาและรังสิตอีก รวมๆ แล้วก็เป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร จึงท่วมกรุงเทพฯ น้ำไม่ได้มาจากลำน้ำยม และลำน้ำยมก็มีทุ่งรับน้ำอยู่

ตอนหลังมามีโครงการเขื่อนยมบนยมล่าง คราวนี้ชาวบ้านสะเอียบไม่ต้องอพยพ แต่ป่าก็ยังถูกน้ำท่วมเหมือนเดิม โดยจะมีน้ำท่วมอุทยานแห่งชาติกว่า 40 กม. เว้นสะเอียบไว้ เหนือขึ้นไปกว่าสะเอียบก็เป็นเขื่อนยมบนที่จะสร้างขนาดใกล้เคียงกับแก่งเสือเต้น นั่นหมายความว่า เขาจะแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน เขื่อนยมล่างจากเดิมที่จะสามารถจุน้ำได้ 1,175 ล้าน ลบ.ม.ลดเหลือ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เลย จากการคำนวณว่ามี 20,000ล้าน ลบ.ม.ที่จะท่วม แต่เขื่อนกักแค่ 500 ลบ.ม. ถ้าไม่ปล่อยเขื่อนก็แตก เขื่อนยมบนก็กักน้ำได้แค่ 166 ล้าน ลบ.ม. รวมกันสองเขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้ 666 ลบ.ม. เรียกว่าจำนวนกักเก็บลดลง แต่งบประมาณในการจัดทำกลับมากขึ้นถึง 15,000 ล้าน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของคนสะเอียบแต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ

สถานการณ์ในพื้นที่สะเอียบ ตอนนี้เป็นอย่างไร

น้อย กล่าวว่า แก่งเสื้อเต้นอาจจะถูกพักไปยาวๆ สถานการณ์ขึ้นอยู่กับการเมืองค่อนข้างมาก ตอนนี้รัฐบาลไม่มีเงิน ถ้ามีเงินก็อาจจะพูดอีกแบบหนึ่ง สำหรับพื้นที่สะเอียบนั้นหลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มีทหารเข้ามาในพื้นที่ แต่มาตามคำเชิญของ อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร มาดูงานกันเรื่องสะเอียบโมเดล นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมชลประทานด้วยที่เข้ามาดู  ถ้าชาวบ้านชวนหน่วยงานรัฐจะไม่มา แต่พอเป็นสถาบันการศึกษาเขาก็มากัน ความขัดแย้งเรื่องโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ดำเนินมานาน 20-30 ปีแต่ก็ยังไม่ได้สร้าง รัฐยังจะดันไปอีกกี่ปี ถ้ารัฐจะดันต่อชาวบ้านก็จะค้านต่อ ชาวบ้านไมได้ค้านทั้งหมดอะไรที่สร้างประโยชน์ชาวบ้านต้องการก็สนับสนุน เช่น การทำแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินคิดว่ารัฐบาลทหารน่าจะอยู่ยาว แม้เลือกตั้งแล้วทหารก็อาจยังอยู่ในการเมืองอีกสักสิบปี เพียงแต่เขาไม่มีเงินสร้าง

พระครูสุธรรม ชัยสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดดอนชัย ให้ข้อมูลว่า หลังทหารยึดอำนาจ 2-3 ปีมานี้มีหน่วยงานราชการเข้ามาบอกจะช่วยดูเรื่องสะเอียบโมเดลอยู่บ้าง

"ชาวบ้านก็ดูท่าทีไปก่อนแต่ก็ยังบ่ไว้ใจ ที่ผ่านมามันสอนเฮาว่า ไว้ใจใคร(หน่วยงานของรัฐ)บ่ได้" 

สะเอียบโมเดล คืออะไร

น้อยให้ข้อมูลว่า สะเอียบโมเดลคือแผนการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง ตั้งแต่ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัด

เขาบอกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาชลประทาน ที่ผ่านมาทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ไม่ผ่าน ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก็ยังไม่ได้ทำ ที่ผ่านมา ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย เข้ามาทำการศึกษาในพื้นที่และยืนยันว่าบริเวณที่จะทำเขื่อนมีรอยเลื่อนเปลือกโลก กรมโยธาฯ จึงไปจ้างจุฬาฯ ให้ไปศึกษาเรื่องรอยเลื่อนด้วยงบประมาณ 8 ล้านบาท จุฬาฯ บอกว่ามีรอยเลื่อนจริง แต่สร้างได้โดยต้องออกแบบวิศวกรรมการสร้างแบบใหม่เพื่อป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินไหว และด้วยเหตุนี้งบที่จะสร้างจึงเพิ่มจาก 4,700 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท โดยการเอาเสาเจาะลงไปในดินมากกว่าตึก 5 ชั้น

น้อยกล่าวว่า เมื่องบประมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในทางเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มทุนนั้นก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ควรจะยกเลิกไปเลย แต่กรมชลประทานก็ยังยืนยันคุ้มทุน ขณะที่ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI บอกว่าไม่คุ้มทุนแล้ว

ฉะนั้นในมุมมองของชาวบ้าน การจัดการน้ำที่ยั่งยืนคือ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กเป็นจุดๆ แล้วให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสัมพันธ์วัฒนธรรมชุมชนในหมู่บ้าน แล้วสะเอียบยังมีวิจัยชาวบ้านที่จัดทำโดยคณะวิจัยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งพูดถึงระบบนิเวศแม่น้ำยมตอนบน สังคมวัฒนธรรม รายชื่อทรัพยากรกรในป่า พืชผัก พันธุ์ปลา สมุนไพร พันธุ์ไม้ อ่านต่อที่นี่ (แม่น้ำยม ป่าสักทอง.. วิถีชีวิตของคนสะเอียบ )

ตอนนี้สะเอียบโมเดลกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและสรุปโดยคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

เขื่อนคือสัญลักษณ์ของการรวมศูนย์อำนาจ?

น้อย กล่าวว่า เขื่อนคือการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ ถ้ารัฐกระจายการจัดการออกไปหาอ่างเล็กอ่างน้อย ให้ชาวบ้านเป็นคนมีอำนาจในการตัดสินใจว่าเขาจะทำนาปรังไหม หากเขาทำนาปรังเขาก็ต้องยอมรับว่าปีนี้น้ำจะแห้ง ถ้าดูแล้วน้ำในอ่างมี90% ก็ทำไป ผิดถูกก็ต้องรับผิดชอบในอำนาจการตัดสินใจของตัวเอง ที่ผ่านมารัฐผูกขาดอำนาจการตัดสินใจการจัดการน้ำมา 112 ปี แล้วมันก็ยิ่งแล้งกว่าเดิม ยิ่งท่วมหนักกว่าเดิม คุณบริหารยังไง ต้องเปลี่ยนให้ชาวบ้านได้บริหารบ้าง ท่วมก็ช่างมัน เพราะชาวบ้านสั่งปิดเปิดเอง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นผลกระทบขนาดย่อม เพราะมันไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่ เราจะทำอย่างไรให้อำนาจการตัดสินใจมาสู่ประชาชนทั่วไป

น้อย กล่าวว่า ที่สะเอียบชาวบ้านตกลงกันว่าห้ามปลูกข้าวโพดเพราะมันใช้น้ำเยอะ ให้ปลูกพริกปลูกผักที่หลากหลาย ที่ สะเอียบเป็นระบบเหมืองฝาย พอน้ำมามันก็เข้าเหมืองผ่านที่นา นี่คือวิธีคิดแบบชาวบ้านแล้วก็ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ดี ใครที่แหกมติชาวบ้านก็จะถูกมองหน้าจากประชาคม กรรมการชุมชนเป็นคนบอกว่า วันนี้น้ำจะมา คุณก็ไปรอเปิดน้ำเข้า ถ้าคุณได้น้ำเยอะแล้วหน้าที่ของคุณคือไปปิดน้ำ ให้น้ำไหลไปตามลำเหมือง คนสุดท้ายจะได้น้ำช้ากว่าคนอื่นประมาณ2อาทิตย์ สำหรับกลไกการตรวจสอบของคนท้ายเหมือง เขาก็จะไปดูว่าคนต้นเหมืองใช้น้ำเยอะเกินไปหรือไม่ และเขาจะมาประกาศที่วัดว่าขอให้ไปปิดน้ำ มันจึงเป็นระบบการจัดการน้ำที่เอื้ออาทรกัน คนที่อยู่ปลายน้ำก็ไม่ใช่ใครที่ไหนล้วนเป็นญาติมิตรกัน ใครที่จัดการไม่ดีก็จะถูกลงโทษ ไม่ต้องให้นายช่างใหญ่มาเปิดให้ และหากเกิดความผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอสุรเชษฐ์ อดีต กสม. ยันล้างไตช่องท้อง ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย

Posted: 19 Apr 2017 07:56 AM PDT

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิฯ ยันล้างไตช่องท้อง ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย ชี้เป็นนโยบายทางเลือกแรกที่ไม่บังคับ มีจุดเด่น หลายประการ คุณภาพชีวิตดีกว่า ไม่ต้องเดินทาง ค่าใช้จ่ายไม่แพง

19 เม.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย เพราะถือเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy) แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องได้ เช่น เคยผ่าหน้าท้องมาแล้ว หรือ ทำแล้วมีโรคแทรกซ้อนแล้วทำต่อไม่ได้ ก็สามารถเปลี่ยนมาฟอกเลือดแทน ตรงนี้จึงยืนยันว่า ไม่ละเมิดผู้ป่วย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อดีของการล้างไตหน้าท้อง คือ 1 ไม่ต้องเดินทางไปถึงที่โรงพยาบาล เพราะถ้าเป็นผู้สูงอายุจะต้องฟอกเลือดมากสุดสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะมีค่าเดินทางสูง  2. ผู้ป่วยสูงอายุที่หัวใจไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงต่อการฟอกเลือดเนื่องจากการล้างเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องเอาเลือดออกมาครั้งละ 2-3 ลิตร แล้วฟอก แล้วเอาเลือดกลับคืนร่างกาย จากนั้นเอาน้ำที่ใส่ไปข้างในร่างกายออกมาข้างนอก ทั้งหมดทำให้ ปริมาณเลือดในร่างกายถูกดึงออกอย่างรุนแรง แต่ถ้าล้างช่องท้องจะไม่มีลักษณะอย่างนี้ วิธีการจะธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากคนหนุ่มที่เป็นโรคไตวาย ถ้ารักษาด้วยการฟอกเลือดอาจใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง

3.ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดสูง ต่อให้มีเงินมากพอก็ยังมีปัญหาไม่จบ ไม่เท่านั้นญาติต้องพามา และต้องขาดงาน  4.ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีเครื่องฟอกเลือดไม่พอเฉลี่ยไม่ถึง 10 เครื่อง แต่ละวันก็ฟอกได้ 3-4 รอบ แต่การล้างหน้าท้องมาทำที่บ้านเองไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในการรักษา 

"มันเป็น pd first  ซึ่งในทางนโยบายกว่าจะตัดสินเรื่อง  pd first ก็คุยกันยาวนาน มีการปรึกษา เปรียบเทียบ มีขัอมูลมทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ที่ฮ่องกงก็ใช้ระบบนี้ หรือที่อินโดนีเซีย มีเกาะจำนวนมาก และมีไม่กี่ที่มีเครื่องฟอกไต เขาก็ใช้ระบบนี้ แต่ถ้าล้างด้วยหน้าท้อง ทำที่บ้าน หลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาทำได้  แม่ผมก็ยังใช้ ตอนนี้อายุ 87 ปี ฟอกมา 15 เดือนแล้ว ใช้สิทธิ์ข้าราชการ มีสิทธิ์เลือกฟอกเลือด แต่ผมยังเลือกให้ล้างทางช่องท้อง ทั้งหมดนี้จะแนวทางไหน ก็แล้วแต่วัย แล้วแต่คน มีข้อดีข้อเสีย เลือกเอาได้ แต่การให้ทำ pd first นั้น ไม่ได้ละเมิดสิทธิแน่นอนเพราะได้รับบริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน"

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหมออาวุโสยังปรับตัวไม่ได้กับการใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องเพราะไม่คุ้นชินจึงไม่ชอบ อีกทั้งต้องมีกระบวนการไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ซึ่งในกรุงเทพ ช่วงแรกไม่มีหมอยอมฟอกเลือดทางหน้าท้อง เพราะมีปัญหาเรื่องการติดตามดูผู้ป่วย แต่ต่างจังหวัดมีโดยเฉพาะระบบพยาบาลครอบครัว อย่างไรก็ตาม ระบบการล้างไตทางช่องท้องมีโดดเด่นหลายที่ เช่น หนองคาย พระนครศรีอยุธยา หรือที่ รพ.บ้านแพ้ว ก็เคยมาช่วยตั้งสาขาล้างไตหน้าท้องที่สุขุมวิทมาแล้ว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ที่พูดกันมากว่า ล้างไตทางหน้าท้องติดเชื้อง่ายกว่าความจริงก็ทั้ง 2 แบบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การทำความเข้าใจ บุคลากรทางสาธารณสุขต้องให้ข้อมูลครบทั้ง 2 ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเขาอาจจะยังไม่คุ้นชินเพราะเคยทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดกฎหมาย รองอธิบดีอัยการ โพสต์ยันตร.ต้องรับแจ้งความ หมุดคณะราษฎรหาย

Posted: 19 Apr 2017 07:17 AM PDT

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โพสต์แจงข้อกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น "เจ้าของทรัพย์" ตร. มีหน้าที่รวบรวมหลักฐาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาล

19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก "ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" ของ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการรับเเจ้งความเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่หาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า จะต้องทำความเข้าใจด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน เพราะทุกวันนี้เราเพี้ยนหลักกฎหมายเกือบหมด ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8) บัญญัติว่า "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น "เจ้าของทรัพย์"

ปรเมศวร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่มีผู้คนไปแจ้งความว่า "หมุดประชาธิปไตย" ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลแห่งสยามประเทศ ณ เวลานั้นหายไป ก็แสดงว่าต้องการให้พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 121) รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา (มาตรา 131) นี่คือข้อกฎหมายที่นายตำรวจทุกผู้ทุกนามควรจะทราบในขณะที่เข้ารับการตำรวจเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์

"การที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนตั้งคำถามแบบไม่มีความฉลาดให้เห็น ว่าใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้เสียหาย แจ้งความได้หรือไม่ ยกตัวบทกฎหมายมาให้อ่านขนาดนี้ ถ้าไม่รู้อีกก็ไม่รู้ว่าจะมาเป็นตำรวจทำไม บางคนบอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทรัพย์สินทุกเรื่องเหรอ นี่ยิ่งไม่ฉลาดและรู้เรื่องกฎหมายเลยแม้แต่น้อย หนักกว่านั้นผู้ใหญ่บางคนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องปากท้องประชาชน อยากถามสักนิดเถอะครับว่า เรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบิน มันเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนที่ไหนครับ ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ยิ่งเดินหน้ากลับรู้สึกยิ่งถอยหลัง มีแต่ประโยชน์พวกพ้อง ให้ขั้นในรางวัลแก่พวกตัวเอง เรามักจะพูดกันว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ต้องเพิ่มเติมอีกประโยคครับ "ชนชั้นอาชีพใดปกครองประเทศก็เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ชนชั้นอาชีพนั้นๆ" ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากชนชั้นปกครองเลย" ปรเมศวร์ โพสต์

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ปฏิเสธตอบ ปมประกาศงดติดตามโพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์'

Posted: 19 Apr 2017 06:51 AM PDT

19 เม.ย.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา

ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก สุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้สัมภาษณ์กรณีที่กระทรวงดิจิทัลฯ ออกประกาศ ห้ามประชาชนติดตามโซเชียลมีเดียของ ทั้ง 3 คนดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยอ้างคำสั่งศาลอาญา ว่า เท่าที่ตรวจสอบเป็นคดีตั้งแต่ช่วงปี 2558-2559 ซึ่งเรื่องการปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมก็มีอยู่เรื่อยๆ สองวันนี้ก็มีเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลฯ ยื่นคำร้องขอปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมอยู่ ซึ่งศาลดูแล้วถ้าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็ปิด เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราปิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

เมื่อถามว่า หากประชาชนติดตามบุคคลตามประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ แล้วมีความผิดหรือไม่ สุภัทร์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ปฏิเสธไม่ขอตอบ โดยระบุว่า เนื่องจากเราเป็นศาล หากมีคดีเข้ามาแล้วเราจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ขอสร้างความสงบ มากกว่าทวงคืน 'หมุดคณะราษฎร' ย้ำบ้านเมืองกำลังก้าวหน้า

Posted: 19 Apr 2017 06:23 AM PDT

ทีมโฆษก คสช. ขอความร่วมมือว่าบรรยากาศของบ้านเมืองตอนนี้กำลังก้าวหน้า ขอทุกฝ่ายสร้างความสงบ มากกว่าทวงคืน 'หมุดคณะราษฎร'  'พล.ต.อ.ศรีวราห์' ยันผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ หากไม่ใช่จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ

หมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่หายไป

19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น

วันนี้ (19 เม.ย.2560) พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มคนยังคงเคลื่อนไหวทวงคืนหมุดคณะราษฎร ว่า คสช.ขอความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นแนวทางดีที่สุด ทุกคนทุกฝ่ายในฐานะที่เป็นคนไทย ควรสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นหลักมากว่าจะมาจุดประเด็นเรื่องทวงคืนหมุดคณะราษฎร

ต่อกรณีคำถามว่า คสช. ขอความร่วมมือกับ ศรีสุวรรณ จรรยา อย่างไร พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า เราเป็นคนไทยด้วยกัน การพูดจาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ทางคสช. ขอความร่วมมือว่าบรรยากาศของบ้านเมืองตอนนี้กำลังก้าวหน้า และมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สิ่งใดที่จะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย เราก็ต้องขอความร่วมมือ ความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง ส่วนมีกระแสข่าวว่าจะเรียก วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย พูดคุยในค่ายทหารนั้น พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มี คงเป็นเพียงข่าวลือ ซึ่งกระแสข่าวเรื่องต่างๆที่มีอยู่ตอนนี้ คสช.ขอความร่วมมือโดยเฉพาะกับสื่อมวลชน

"สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาเคลื่อนไหว ในขณะนี้คสช.รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐที่ถือกฎหมาย มีขั้นตอนมาตรการต่างๆ อยู่แล้ว เริ่มจากขอความร่วมมือ ชี้แจงทำความเข้าใจ การพบปะพูดคุย โดยพยายามจะไม่ใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งบางเรื่องสามารถคลี่คลายได้ด้วยการพูดคุย เป็นปัญหาของคนไทยด้วยกัน เป็นเรื่องภายในประเทศของเรา ซึ่ง คสช.จะพยายามทำให้ปัญหาต่างๆคลี่คลายให้ดีขึ้น"พ.อ. ปิยพงศ์ กล่าว

ศรีวราห์ ระบุไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหมุด

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.)ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีประชาชนแจ้งความกับตำรวจสืบสวนติดตามหมุดคณะราษฎรอันเก่าที่หายไปนั้น ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประชาชน สามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ แต่ยังไม่เป็นคดียังไม่รับเป็นเลขคดี จากนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องสืบสวนและสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมีผู้เสียหายหรือไม่หากมีผู้เสียหายตามกฎหมาย ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะต้องรับเป็นคดีสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีต่อไป ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น คำว่าร้องทุกข์และกล่าวโทษนั้นต่างกัน ในเบื้องต้นนั้นประชาชนหรือใครใครสามารถกล่าวโทษได้ แต่จะร้องทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ กรณีนี้ได้รับการยืนยันจากทางสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากรว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหมุดดังกล่าว 

แจงผู้ร้องทุกข์หากไม่ใช่เจ้าของทรัพย์จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ

รองผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า กรณีนี้ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนรับการกล่าวโทษตั้งแต่แรก และก็ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอยู่ ทั้งการตรวจสอบหน่วยงานราชการที่สันนิษฐานว่าจะเป็นเจ้าของหมุด ตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อหาภาพผู้ที่เข้ามาทำการใดใดกับหมุดดังกล่าว ทุกอย่างดำเนินการอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่แรก ซึ่งทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็สั่งการให้คลี่คลายเรื่องนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้คนที่มาอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์แล้วร้องทุกข์ว่าทรัพย์นั้นหายไป ต่อมาหากสืบสวนสอบสวนทราบว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ดังกล่าว ก็จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จได้ คดีลักษณะเช่นนี้เห็นบ่อยๆ กรณีมีการลักน้ำมันจากคอกน้ำมัน ตำรวจเห็นลูกจ้างลักน้ำมันจากคอก ดำเนินคดีเลย ต่อมาเจ้าของคอกน้ำมันไม่เอาเรื่อง บอกว่าถือว่าให้ส่วนต่าง ไม่สนใจเอาความไม่รับว่าตนเสียหาย แต่ตำรวจดำเนินคดีไปแล้ว เพราะเห็นความผิดเกิด ตำรวจถูกฟ้องกลับ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆยกมาเทียบกัน 

เตือนกลุ่มเคลื่อนไหว จนท.จับตาอยู่ หากผิด กม.ดำเนินคดีต่อไป

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวด้วยว่า ขอเตือนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว มารวมตัว ให้ดูสถานที่ที่เคลื่อนไหวด้วยว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากละเมิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี และหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทางฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ก็จับตาดูอยู่ ถ้าหากพบว่ามีความพยายามยุยงปลุกปั่นทางทหารก็จะส่งมาให้ตำรวจดำเนินคดีต่อไป

 

ที่มา : Voice TVmatichonweekly และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 องค์กรสิทธิฯ ร่อน จม.เปิดผนึก จี้นายกฯ ดำเนินคดีและนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับมา

Posted: 19 Apr 2017 03:02 AM PDT

จดหมายเปิดผนึก ร้องนายกฯ ติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ 

หมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่หายไป

19 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา(ผสพ.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ความจริงต่อไป

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึก

กรณีหมุดเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร : จงคืนความจริงกลับสู่สังคมไทย

โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการทำให้สูญหายและเปลี่ยนแปลง "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ"ของคณะราษฎร อันมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ" และนำหมุดที่มีข้อความอย่างอื่นมาแทนที่โดยไม่ทราบความเป็นไปเป็นมา และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั้น

องค์กรท้ายจดหมายนี้ เห็นว่า

1. การสูญหายของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการนำหมุดอื่นมาแทนที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงความจริงในทางประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย ย่อมเป็นข้อมูลที่ประชาชนในชาติต้องรับรู้และร่วมตัดสินใจหาใช่เป็นเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคลใดจะตัดสินใจกระทำการตามอำเภอใจอย่างปกปิดซ่อนเร้น โดยไม่มีหน่วยงานใดของรัฐบาลต้องรับผิดชอบและให้ความกระจ่างชัดต่อสาธารณชน

2. การฝังหมุดคณะราษฎรเพื่อบอกเล่าหลักหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนในการสืบสานและสืบทอดความจริงของประวัติศาสตร์ด้วยการเคารพความจริงในการสร้างการเรียนรู้และความทรงจำร่วมทางสังคม เพื่อที่จะไม่ก่ออาชญากรรมทางปัญญาต่อชนรุ่นหลัง

3. แม้ว่าการให้ความหมายหรือการให้คุณค่าสำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร หรือผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรอาจแตกต่างกัน แต่จะต้องไม่ปฏิเสธความจริงที่ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องการเปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียงอย่างเสมอหน้า อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

4. นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวอาจผิดกฎหมายฐานลักทรัพย์หรือทำลายโบราณสถาน

ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีติดตามสอบสวนและลงโทษผู้กระทำการให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรสูญหายและนำหมุดอื่นมาแทนที่ โดยให้นำหมุดเดิมกลับมาไว้ที่เดิม และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ อีกทั้งขอให้ประชาชนร่วมกันปกป้องรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ความจริงต่อไป

ด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

19 เมษายน 2560

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา(ผสพ.)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(HRDF)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายความมั่นคงขอเลื่อน เสวนา 'วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี' ออกไปก่อน

Posted: 19 Apr 2017 02:09 AM PDT

ทหาร ตำรวจ และปลัดอำเภอ ขอให้เลื่อนเสวนา 'วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี' ออกไปก่อน จนท.มูลนิธิสืบฯ เผยทหารเข้าใจว่าจะจัดเสวนาหมุด ขณะที่ 'เดชรัต' ยันตนเองยังไม่เลื่อน รบ.แจง กม.เดิมไม่ใช่ร่างใหม่ ขณะที่ รมว.อุตฯ ปัดต่างชาติเช่าพื้นที่อีอีซี 99 ปี สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี

 

19 เม.ย. 2560 จากกรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเตรียมจัดงานเสวนา "วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร?" ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมวิพากษ์ เช่น เดชรัต สุขกำเนิด สมนึก จงมีวศิน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และพรพนา ก๋วยเจริญ 

ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.60) เมื่อเวลา 10.58 น. ที่ผ่านมา เดชรัต หนึ่งในรายชื่อผู้ร่วมงานดังกล่าว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแจ้งว่า  ตอนนี้ถูกเลื่อนไปแล้ว

"เช้านี้ ผมได้รับแจ้งจากผู้จัดว่า ฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และปลัดอำเภอ มาคุยที่มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ขอให้เลื่อนไปก่อน เพราะยังไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมาย ขอให้ประชาชนใจเย็นๆ อยู่เฉยๆ ไปก่อนครับ"  เดชรัต ระบุ

เดชรัต ยังโพสต์ด้วยว่า ตนยังไม่เลื่อน ใครอยากฟังประเด็นนี้ ช่วยชี้แนะด้วย ว่าอยากฟังทางไหนดี หรือที่ไหนดีครับ วันอาทิตย์เวลาเดิม ตนจะคุยให้ฟัง

ขณะที่ วอยซ์ที่วี รายงานด้วยว่า อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุกับ "วอยซ์ทีวี" ว่า เหตุที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เข้ามาที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอให้งดจัดเสวนาวิชาการ "วิพากษ์การเช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร?" เพราะทางทหารได้รับข้อมูลมาที่ส่งต่อผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเขียนแค่ว่า จะจัดเสวนาหมุด ทำให้เข้าใจว่าจะจัดเสวนาเรื่องหมุดคณะราษฎร ทั้งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่ได้จัดเสวนาในประเด็นหมุดคณะราษฎร แต่ทางทหารก็มองว่าแม้จะพูดเรื่องเช่าที่ดินก็ตาม แต่ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ เพราะเห็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียวแล้วจะมีคนมาฟังเสวนาจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มที่มวลชนรวมตัวกันได้ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีมติให้เลื่อนการจัดเสวนาวิชาการ เช่าที่ดิน 99 ปีในวันที่ 23 เม.ย. นี้ออกไปก่อน

"เขาตีความข้อความทางไลน์ ว่าจะจัดเสวนาเรื่องหมุดที่มูลนิธิสืบฯ ชื่องานเสวนาก็ยังไม่มี เขาคงเข้าใจผิด" หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ

รบ.ยันต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี กม.เดิมไม่ใช่ร่างใหม่

ขณะที่วานนี้ (18 เม.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยการเช่าที่ดินระยะยาวเป็นเวลา 50 ปี และขยายเวลาอีก 49 ปี รวมเป็นเวลา 99 ปี  ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษใหม่เพิ่ม แต่เพื่อนำมาเขียนในร่าง พ.ร.บ.อีอีซีให้นักลงทุนทราบอย่างชัดเจน เนื่องจากการเช่าระยะยาวดังกล่าวระบุไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปี 2542 มาตรา 540 กำหนดว่าให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาวใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมมากกว่า 50 ปีช่วงแรกและขยายเวลาได้อีก 49 ปี โดยจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน

รมว.อุตฯ ปัดต่างชาติเช่าพื้นที่อีอีซี 99 ปี สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี

ขณะที่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณีมีข่าวว่านักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเวลา 99 ปี ว่า น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำหนด ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  2.ต้องเป็นโครงการที่สนับสนุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ 3.ทุกโครงการต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ เช่น ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ผลกระทบที่เกิดกับชุมชน และการแนวทางการเยียวยา และ 4.ก่อนการอนุมัติโครงการต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีการเปิดเผยผลการศึกษา และร่างผังของเขตส่งเสริมที่จะขอรับการสนับสนุน

"ขอเรียนชี้แจงถึงกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินในเขตพื้นที่อีอีซี ไม่ใช่ 99 ปี แต่สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี และขยายได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปี เหมือนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเป็นไปตามกฎหมายที่ปฏิบัติปัจจุบัน ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการพาณิชย์ พ.ศ.2542 ซึ่งการให้สิทธิเช่าที่ดินระยะยาวเป็นสิ่งที่หลายประเทศดำเนินการเป็นปกติ 50 ปี สามารถขยายได้ 49 ปี เช่น ประเทศมาเลเซียให้เช่าที่ดินได้ 60 ปี ขยายรวมได้ไม่เกิน 99 ปี แต่การให้ระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่แต่ละผลการศึกษาของแต่ละโครงการควรจะได้เท่าใด จึงจะเหมาะสม" อุตตม กล่าว 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแม่น้ำโขงแถลงค้านรบ.ไทยร่วมบริษัทจีนระเบิดแก่งโขง

Posted: 19 Apr 2017 01:48 AM PDT

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ค้านมติ ครม. พัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง หวั่นกระเทือนชีวิตชาวบ้าน สัตว์น้ำ และทำไทยเสียดินแดน

19 เม.ย. 2560 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ฉบับที่  2 คัดค้านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558-2568 และจะให้มีบริษัทจีนเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาวในวันนี้

ภาพเรือสัญชาติลาว (ที่มา:flickr/prachatai)

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม กรีนนิวส์ รายงานว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิก คือ จีน ลาว เมียนมา และไทย ได้จัดตั้งคณะสำรวจร่วมกันโดยเห็นควรมีการปรับปรุงรองน้ำทางเดินเรือและปรับปรุงเกาะแก่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อสำรวจและจัดทำรายงานการออกแบบปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ โดยกำหนดแผนงานการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือทั้งหมด 2 ระยะ เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินทางได้โดยสะดวกและปลอดภัย

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายงานว่า วันนี้(19 เม.ย.) เรือสำรวจนำร่องน้ำโขงของบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด บริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมลูกเรือง 60 คน นำเรือสำรวจระวางน้ำหนัก 450 ตัน 3 ลำ เรือเร็วอีก 4 ลำเดินทางจากแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว เข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยได้รับการดูแลจากกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือไทย หัวหน้าคณะสำรวจงดให้ความเห็นกับสื่อมวลชน

แผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาในจีน ถึงเมืองหลวงพระบางในลาว แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ โดยจะปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 631 กม. จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบางเพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง

ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กม. จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง

แถลงการณ์ฉบับแรกจากเครือข่ายฯ มีใจความโดยสรุปว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การทำลายแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่ 1.6 กม. บนแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว จะทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอาหารของผู้ใช้ชีวิตริมฝั่งโขงทั้งสองฝั่ง ทั้งในปัจจุบัน การค้าขายบริเวณชายแดนก็มีการเติบโต มีเรือจากมณฑลยูนนานเข้าถึงเชียงแสนได้ตลอดปีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น มติ ครม. ดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านความเห็นจากรัฐสภาซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ และการดำเนินโครงการบนแม่น้ำนานาชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ชอบถูกต้อง และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์บริเวณร่องน้ำลึก ทำให้ไทยเสียดินแดน (อ่านตัวเต็ม ที่นี่)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับกรีนนิวส์ว่า ความคิดเรื่องการปรับปรุงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีแผนที่จะระเบิดเกาะแก่งบริเวณคอนผีหลง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากกระทรวงกลาโหมทัดทานว่า หากปล่อยให้จีนระเบิดเกาะแก่ง ร่องน้ำลึกจะขยับเข้ามาทางประเทศไทย ไทยก็จะเสียดินแดน เนื่องจากการปักปันพรมแดนไทย-ลาวบนแม่น้ำโขงใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวแบ่ง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตุว่า "ในสมัยทักษิณแม้เอ็นจีโอจะประท้วงเรื่องนี้ แต่รัฐบาลไม่ยอมฟัง แต่พอกระทรวงกลาโหมทักท้วง นายกฯ ทักษิณจึงยอมรับ ฉะนั้นหากรัฐบาลปัจจุบันยอมให้ระเบิดคอนผีหลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมโดนกระทืบ เพราะจะเท่ากับขายชาติ"

แถลงการณ์ฉบับที่ 2
เครือข่ายประชาชนไทย 8  จังหวัดลุ่มน้ำโขง
คัดค้านการสำรวจ-ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ของบริษัท CCCC ประเทศจีน


19 เมษายน 2560

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่ง คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) และล่าสุดกรมเจ้าท่า ได้มีจดหมายถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่าบริษัทจีน CCCC Second Habor Consultants จะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในวันนี้ (19 เมษายน 2560) โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนิน  2 เดือน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และองค์กรเครือข่ายภาคีลุ่มน้ำโขง ซึ่งทำงานติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมาโดยตลอด  ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559  ตลอดจนจัดเวทีสาธารณะ และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว นำไปสู่กระแสความไม่เห็นด้วยจากสาธารณะเนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ และโครงการนี้จะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศสำคัญของโลก ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรข้ามพรมแดนที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ

ในครั้งนี้ เมื่อกรมเจ้าเท่า อนุญาตให้บริษัท CCCC Second Habor Consultants ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ของจีนที่ได้รับการสัมปทานเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทย-ลาว จึงเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ทางอธิปไตยของประเทศให้กับจีนได้ทำการสำรวจ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

ดังนั้นพวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงจึงขอแสดงจุดยืนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับมติครม. ดังกล่าว และถือเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงที่รัฐไทย ยินยอมให้ดำเนินโครงการที่จะสร้างความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรง และขอเรียกร้องดังนี้

1.    ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการสำรวจครั้งนี้  ห้ามมิให้บริษัทเอกชนจีน เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ในแผ่นดินไทย อันเป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งในทางระบบนิเวศธรรมชาติ และในทางความมั่นคงระหว่างประเทศ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ประเด็นสำคัญระหว่างประเทศนี้ กำลังถูกดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่รับจ้าง และหน่วยงานรัฐไทยระดับกรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรเป็นการตัดสินใจโดยรัฐบาล เพราะหากเกิดความเสียหายแล้วจะไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้อีก

2.    ขอให้มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการระเบิดแก่ง แม่น้ำโขงในระยะที่ 1 และการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน-สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเปรียบเทียบกับการค้าขายกับจีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และหาทางออกในการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน

เครือข่ายประชาชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการดังกล่าวทันที เพื่อปกป้องผืนดินไทย และระบบนิเวศอันทรงคุณค่า

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหา "หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายงานว่า วันนี้(19 เม.ย.) เรือสำรวจนำร่องน้ำโขงของบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด บริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมลูกเรือง 60 คน นำเรือสำรวจระวางน้ำหนัก 450 ตัน 3 ลำ เรือเร็วอีก 4 ลำเดินทางจากแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว เข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยได้รับการดูแลจากกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือไทย หัวหน้าคณะสำรวจงดให้ความเห็นกับสื่อมวลชน" เข้าไปในเนื้อหา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 เวลา 1.30น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปอท.เอาผิด 'วัฒนา' นำข้อมูลเท็จ ปมโพสต์ 'หมุดคณะราษฎร' เป็นโบราณวัตถุ

Posted: 18 Apr 2017 11:58 PM PDT

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เผย ปอท.ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อ วัฒนา เมืองสุข นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จผิด พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ทำให้ ปชช.เข้าใจผิดออกมาเคลื่อนไหว อาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น คาดเร็วๆ นี้จะมีการออกหมายเรียก

แฟ้มภาพ

19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น

และเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า หมุดดังกล่าว เป็น "โบราณวัตถุ" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมุดดังกล่าวจึงถือเป็นสมบัติของชาติ

ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.60) สื่อหลายสำนัก เช่น มติชนออไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ที่กองบินตำรวจ ดอนเมือง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามกรรกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีต่อวัฒนา เมืองสุข ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า หมุดคณะราษฎรที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ ให้คนไทยเรียกร้องทวงคืน ซึ่งเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดออกมาเคลื่อนไหว อาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการออกหมายเรียก วัฒนา รับทราบข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ หมุดคณะราษฎร หรือ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ถูกติดตั้งบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งความหมุดหาย สน.ดุสิต-เลขาผู้ว่าฯ กทม.แจงไม่มีภาพ CCTV เพราะถูกถอดช่วงเปลี่ยนไฟจราจร

Posted: 18 Apr 2017 11:57 PM PDT

ประชาชน 2 รายไป สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรหายไปจากตำแหน่งติดตั้งเดิม ขณะที่เลขาผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด 11 ตัวรอบลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากถูกถอดออกไปในช่วงปรับเปลี่ยนไฟจราจรเมื่อ 31 มี.ค.

อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์  และณัฏฐา มหัทธนา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังเข้าแจ้งความที่ สน.ดุสิต

ประชาชนเข้าพบยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอดูภาพกล้องวงจรปิด แต่ กทม. ขอพิจารณาก่อนว่าตำรวจรับแจ้งความหรือไม่ นอกจากนี้ยังระบุว่ากล้องวงจรปิด 11 ตัวรอบลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกถอดออกในช่วงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจร

19 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.15 น. ที่ สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ ณัฏฐา มหัทธนา ได้เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่เดิมทีอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ามาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2479 หายไป

ทั้งคู่ยืนยันว่าเป็นการแจ้งความโดยส่วนตัวไม่ได้ทำในนามกลุ่มหรือองค์กรใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะทำไปตามความถูกต้องตามกฎหมาย โดยหลังจากแจ้งความแล้วเสร็จ ทั้งคู่มีแผนจะเดินทางไปศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อขอดูภาพกล้องวงจรปิดด้วย

โดยในคำขอแจ้งความทั้งคู่ยืนยันว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และระบุด้วยว่าหมุดดังกล่าวเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย

ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพนคร ทั้งอภิสิทธิ์ และณัฏฐา เข้าพบยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด ยุทธพันธ์กล่าวว่า พื้นที่โดยรอบจะมีระดับการรักษาความปลอดภัยค่อนข้างสูงกว่าบริเวณอื่นๆ ในเรื่องของกล้องวงจรปิดมีการใช้หลายรูปแบบ ขณะนี้ยังไม่สามารถให้ดูภาพจากกล้องได้เพราะต้องขอตรวจสอบก่อน อีกทั้งต้องพิจารณาอีกครั้งว่าตำรวจรับแจ้งความทั้งคู่หรือไม่ หากมีการรับแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องมาขอภาพจากกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว

ยุทธพันธ์ ระบุด้วยว่า บริเวณรอบลานพระบรมรูปทรงม้าฯ มีกล้องวงจรปิด 11 ตัว แต่สำนักงานจราจรของกรุงเทพมหานครมีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และยังไม่มีการติดตั้งกลับจนปัจจุบัน ขณะที่อภิสิทธิ์และณัฏฐาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีกล้องบริเวณดังกล่าวเลยและได้ขอดูภาพกล้องวงจรปิดในบริเวณที่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม เลขาผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษจำนวนมากอยู่แล้ว โดยหลักเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร

เมื่อเวลา 11.58 น 'แชมป์ 1984' นำตลับเมตรไปวัดบริเวณหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎร จากนั้น จนท.ห้าม ถ่ายรูปและพาตัวออกจากบริเวณดังกล่าว (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Banrasdr Photo)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น