โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เวเนซุเอลาชุมนุม 'แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล' กดดันรัฐบาลมาดูโรรอบใหม่

Posted: 20 Apr 2017 02:38 PM PDT

จากความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจและรู้สึกถูกรัฐบาลเวเนซุเอลาลิดรอนเสรีภาพ ทำให้ฝ่ายต่อต้านออกมาประท้วงในนาม "แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล" ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านที่กุมเสียงข้างมากในสภานัดชุมนุม อย่างไรก็ตามการประท้วงล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ทำให้องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติและจัดเลือกตั้งใหม่ ส่วนไม้เบื่อไม้เมาอย่างสหรัฐฯ ก็ออกโรงเตือนว่าจะเอาผิดรัฐบาลเวเนซุเอลาหากมีการปราบปราม

21 เม.ย. 2560 เวเนซุเอลาเผชิญการประท้วงใหญ่ทางการเมืองครั้งใหม่ หลังจากที่ฝ่ายค้าน เฮนริค คาปริลเลส ประกาศให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในนาม "แม่แห่งการประท้วงทั้งมวล" ในช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองในเวเนซุเอลากำลังคุกรุ่นโดยในการประท้วงเมื่อวันพุธที่ผ่านมามีเหตุปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย

หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุประท้วงครั้งนี้คือชายวัยรุ่นอายุ 17 ปีถูกยิงที่ศีรษะในย่านแห่งหนึ่งของกรุงคารากัส อีกหลายชั่วโมงหลังจากนั้นก็มีหญิงรายหนึ่งถูกสังหารด้วยอาวุธปืนขณะเดินขบวนอยู่ที่ตาชิรา ในภาคแอนเดียนติดกับประเทศโคลอมเบีย นอกจากนี้ยังมีผู้คนได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบราย รวมถึงคาปริลเลสเองที่มีอาการหายใจติดขัดจากการถูกแก๊สน้ำตาด้วย

แต่เมื่อถึงช่วงกลางคืนของวันพุธ (19 เม.ย.) ผู้ชุมนุมก็ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่จัตุรัสทางย่านฝั่งตะวันออกของคารากัสในขณะที่ผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้นพากันออกมาตีหม้อเคาะกระทะเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วง กลุ่มเยาวชนที่ปิดใบหน้าตัวเองนำป้ายบนถนนและป้ายโฆษณามาทำเป็นแนวกั้นชั่วคราว และใช้ก้อนหินและระเบิดขวดขว้างปาใส่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงทำให้มีการตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา โดยที่ฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาก็ยังคงเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อไป

สาเหตุที่พวกเขาจัดการชุมนุมในครั้งนี้เพราะเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาอธิบดีกรมบัญชีกลางของเวเนซุเอลาตัดสินสั่งห้ามไม่ให้คาปริเลสมีตำแหน่งราชการใดๆ ไปจนถึงปี 2575 โดยอ้างเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาว่านำงบประมาณไปใช้ผิดๆ

เดอะการ์เดียนระบุว่าคาปริเลสเป็นคนที่เกือบชนะการเลือกตั้งเวเนซุเอลาครั้งก่อนหน้านี้ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา และกล่าวหาว่าประธานาธิบดีนิโกลา มาดูโร เป็นเผด็จการ เหตุเหล่านี้ทำให้ประเทศเวเนซุเอลาเกิดความตึงเครียดระหว่างผู้สนับสนุนทางการเมืองสองฝ่าย

ในความตึงเครียดทางการเมืองครั้งนี้ มาดูโรยังสั่งให้นำกองกำลังออกไปบนท้องถนนและติดอาวุธให้กับกลุ่มพลเรือนที่สนับสนุนเขาราว 40,000 ราย รวมถึงเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมด้วย ขณะเดียวกันก็กล่าวหาว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการพยายามจะโค่นล้มเขาในครั้งนี้ อีกทั้งยังกล่าวหาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่าเป็น "กลุ่มฟาสซิสต์ฝ่ายขวา" ที่ทำการ "ก่อการร้าย"

จากการเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 รายในการประท้วงเมื่อวันพุธทำให้มียอดผู้เสียชีวิตในการชุมนุมรวม 7 รายแล้วในเดือนนี้

ผู้เสียชีวิตรายแรกชื่อ คาร์ลอส โมเรโน ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประท้วงแต่เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ฝ่ายต่อต้านเปิดฉากยิงใส่ทำให้โมเรโนโดนลูกหลงเสียชีวิต อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับเปาลา รามิเรซ แฟนหนุ่มของเธอเล่าว่าพวกเขากำลังอยู่บนรถจักรยานยนต์และมีกลุ่มคนขี่รถตามพวกเขา เขาจอดส่งแฟนเพื่อให้ไปเจอกับพี่สาวของเธอก่อนจะพยายามหาที่ซ่อนรถจักรยานยนต์แต่เขาก็ได้ยินเสียงปืนและพบว่าแฟนของเขาล้มอยู่ที่พื้นแล้ว

ผู้เสียชีวิตรายที่ 3 เป็นสิบเอกของกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติที่มีผู้ตรวจตราของสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเขาถูกสไนเปอร์ยิงเสียชีวิต ทางด้านองค์กรเฟโร เพนัล ที่สอดส่องดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าประชาชนอย่างน้อย 24 ราย ถูกคุมขังโดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ถึงแม้ว่าสื่อรัฐบาลเวเนซุเอลาจะเผยแพร่ภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนมาดูโร แต่กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านก็มีจำนวนหลายหมื่นคนทั่วเวเนซุเอลาที่ออกมาแสดงความไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาลสูงในการพยายามแทรกแซงครอบงำอำนาจฝ่ายบริหาร จากที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2558 กลุ่ม ส.ส. แนวร่วมฝ่ายต่อต้านมาดูโรครองที่นั่งเสียงข้างมากในสภาถึง 109 ที่นั่งต่อ 55 ที่นั่ง พลิกโผจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายค้านชนะ 64 ที่นั่ง หนึ่งในป้ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นป้ายผ้าระบุว่า "พอกันทีกับเผด็จการ"

ในเวเนซุเอลามีการประท้วงหลายครั้งก่อนหน้านี้ในช่วงสมัยประธานาธิบดีมาดูโร หนึ่งในความไม่พอใจมาจากกรณีที่ประเทศประสบภาวะขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้พื้นฐานอื่นๆ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และไอเอ็มเอฟก็ประเมินว่าอัตราการว่างงานในเวเนซุเอลาอาจจะสูงมากกว่าร้อยละ 25 ภายในปีนี้

มีผู้ประท้วงมาจากทุกชนชั้นในสังคม บางคนเป็นคนที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แต่วิกฤตในเวเนซุเอลาทำให้พวกเขาออกมาประท้วง หนึ่งในอดีตผู้สนับสนุนชาเวซบอกว่าพวกเขาเบื่อและสิ้นหวังกับการต้องมีชีวิตอยู่ในภาวะยากแค้น ในสมัยของชาเวซเงินเดือนของพวกเขามีค่า แต่ในตอนนี้ถ้าความหิวโหยไม่คร่าพวกเขาไปเสียก่อนพวกเขาก็เสี่ยงจะตายเพราะอาชญากรรม บ้างก็บอกว่าพวกเขาต้องการเสรีภาพและเศรษฐกิจที่ใช้การได้จากที่ในตอนนี้เศรษฐกิจตีบตัน

องค์กรสำรวจความขัดแย้งทางสังคม (Observatory of Social Conflict) ระบุว่าในปี 2559 เวเนซุเอลามีการประท้วงถึงเกือบ 5,000 ครั้ง มากกว่าปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 15

11 ประเทศจากองค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States : OAS) ร่วมกันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธีและเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ ทางสหรัฐฯ ก็ออกสาส์นแจ้งเตือนเวเนซุเอลาว่าผู้ใที่ปราบปรามประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชน จะถูกดำเนินการเอาผิดไม่ว่าจะจากประชาชนชาวเวเนซุเอลาเองหรือจากประชาคมโลก

เรียบเรียงจาก

Deaths and injuries reported amid 'mother of all marches' in Venezuela, The Guardian, 19-04-2017

Venezuela braces for the 'mother of all protests' as both sides call for rallies, The Guardian, 19-04-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่อง 'จอม เพชรประดับ' ในยูทูบ ขึ้นข้อความ "ไม่สามารถดูช่องนี้ได้ในประเทศของคุณ"

Posted: 20 Apr 2017 10:36 AM PDT

ภาพยูทูบช่อง 'jom voice' ที่ถูกระงับการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งโลเคชั่นในประเทศไทย

20 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายูทูบ ช่อง 'jom voice' ของ จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ซึ่งหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เรียกตัวเขาเพื่อเข้ารายงานตัวด้วยคำสั่ง คสช. 82/2557 ปัจจุบัน จอมได้ ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ และยังคงผลิตรายการสัมภาษณ์ผ่านทางยูทูบจำนวนมาก ผ่านช่องดังกล่าว ถูกปิดกันการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งค่าโลเคชั่นในประเทศไทย โดยเมื่อเข้าหน้ารวมของช่อง จะมีข้อความ "ไม่สามารถดูช่องนี้ได้ในประเทศของคุณ"

ตัวอย่างภาพรายการของจอม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเดิม ม.44 เวอร์ชั่นใหม่ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. งดสรรหาตุลาการศาล รธน. เลิกคำสั่งเดิม

Posted: 20 Apr 2017 09:49 AM PDT

ประยุทธ์ งัด ม.265 วรรคสอง รธน.ใหม่ + ม.44 ออกคําสั่ง หัวหน้า คสช. ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ที่ออกมาก่อนหน้า

20 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24 /2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สั่ง ณ วันที่ 20 เม.ย.2560

โดยระบุว่า ตามที่ได้มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ กําหนดให้มีการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ ตําแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนกําหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและ สรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว จึงสมควรดําเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และควรให้งดเว้นการคัดเลือกหรือ สรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เช่นเดียวกับกรณีของกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญดังกล่าว เห็นควรกําหนดการดําเนินการในกรณีการพ้นจากตําแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันจะเป็นการสอดคล้องกับมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ส่วนกรณีของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ยังคงมีปัญหา ข้อกฎหมายในเรื่องความชัดเจนของวาระการดํารงตําแหน่งและการพ้นจากตําแหน่งของผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว ดังนั้น เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องทางกฎหมายและเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นควรให้ดําเนินการในกรณีของกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปตามคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560  ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560

เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และข้อ 20 ของคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคําสั่งคสช. ที่ 23/2560  ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งออกตามความใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ 2 ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตําแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญตามข้อ 1 ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่น

ข้อ 3 ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากพ้นจากตําแหน่ง ตามวาระตามข้อ 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ 

ข้อ 4 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เกี่ยวกับ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ระบุถึงการสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้

ข้อ 4 เมื่อมีกรณีที่ผู้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อน วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง หรือจะพ้นจากตําแหน่งตามวาระภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดําเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งดังกล่าวแทน ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตําแหน่งดังกล่าวว่างลง หรือนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

ข้อ 5 การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา จากบุคคลที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ตลอดจนมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ ซึ่งจะต้อง พิจารณาให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ในกรณีที่ผู้ซึ่งพ้นจากตําแหน่งหรือจะพ้นจากตําแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดําเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ ตําแหน่งดังกล่าวว่างลง หรือนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาดังนี้ 

(1) กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้พิจารณา คัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ํากว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ไม่น้อยกว่าสามปี

(2) กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุด ให้พิจารณาคัดเลือกจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ํากว่าตุลาการศาลปกครอง สูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

ทั้งนี้ ให้มีการสัมภาษณ์หรือให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของ ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

การคัดเลือกให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย และผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกต้องได้รับคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้พิพากษาในศาลฎีกา หรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วแต่กรณี โดยในกรณีของศาลฎีกาให้รวมถึงผู้พิพากษาอาวุโสด้วย

การรับสมัครและวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานศาลฎีกา หรือประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้กําหนด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาตามข้อนี้ ให้ประธานศาลฎีกาหรือประธาน ศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีหน้าที่และอํานาจในการวินิจฉัย ซึ่งจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ก่อนสิ้นสุดกระบวนการคัดเลือกหรือสรรหา ทั้งนี้ คําวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาหรือประธาน ศาลปกครอง แล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นที่สุด

ข้อ 9 ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ 7 ประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหา

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ปลื้ม ตลาด อ.ต.ก. ถูก CNN จัดอันดับ เป็น 1 ใน 10 ตลาดสดที่ดีที่สุดในโลก

Posted: 20 Apr 2017 05:55 AM PDT

20 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดีที่เว็บไซต์ข่าว CNN ได้จัดอันดับให้ตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ ตลาด อ.ต.ก.ใน กทม.เป็น 1 ใน 10 ตลาดสดที่ดีที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 4 รองจากตลาดในสเปน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

"ท่านนายกฯ พอใจที่ตลาดสดของไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยถือเป็นตลาดสดสุดสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยผัก ผลไม้ อาหารทะเล อาหารสด อาหารปรุงสุก ของหวาน และอื่นๆ ที่หาได้เฉพาะในประเทศไทย รวมทั้งมีสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียจัดจำหน่าย และยังมีจุดเด่นคือ ความสะอาด และติดไฟสว่าง ทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้ออาหารได้สะดวก" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ตลาด อ.ต.ก.รักษาคุณภาพมาตรฐานเช่นนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีตลาดสดในความรับผิดชอบ และตลาดสดแห่งอื่น ๆ ของภาคเอกชน นำตัวอย่างการพัฒนาของตลาด อ.ต.ก. ไปปรับประยุกต์ใช้กับตลาดของตนให้ดียิ่งขึ้นด้วย

สำหรับ 10 อันดับของตลาดสดที่ดีที่สุดในโลก ได้แก่ 1.ตลาดลา โบเกเรีย เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน 2.ตลาดปลาสึกิจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 3.ตลาดยูเนี่ยน สแควร์ ฟาร์เมอร์ นิวยอร์ก สหรัฐฯ 4.ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ ประเทศไทย 5.ตลาดเซนต์ลอว์เรนซ์ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา 6.ตลาดโบโรห์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 7.ตลาดครีตา อาเยอร์ สิงคโปร์ 8.ตลาดแลงแคสเตอร์ เซนทรัล เพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ 9.ตลาดโพรวองกาล เมืองอองตีบส์ ประเทศฝรั่งเศส 10.ตลาดเกาลูน ซิตี้ ฮ่องกง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มดาวดินจัดวงเสวนา พ.ร.บ.ชุมนุม แนะชาวบ้านอย่ากลัวกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรม

Posted: 20 Apr 2017 05:15 AM PDT

กลุ่มดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จัดวงเสวนาชวนถกปมปัญหาใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แนะชาวบ้านอย่ากลัวกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรม เพราะการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านสำคัญกว่า

20 เม.ย. 2560 เวลา 13.30 น ที่บ้านนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง "สามัคคี(พ.ร.บ.)ชุมนุม"
การละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหว ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุม" ร่วมจัดโดยกลุ่มนักศึกษาดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม โดยกิจกรรมครั้งนี้มีชาวบ้าน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมฟังงานเสวนาประมาณ 40 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เดิมทีการเสวนาครั้งนี้มีกำหนดจักที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทางกลุ่มนักศึกษาดาวดินได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก่อนหน้าวันจัดกิจกรรม 1 วันว่า ไม่สามารถให้ใช้สถานที่ในการจัดงานได้ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดอยู่สังกัดภายในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามภายในงานเสวนาได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาสังเกตุการณ์ในงานเสวนาด้วย

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ: อย่ากลัวกฎหมายฉบับนี้มากเกินไป  

กรชนก แสนประเสริฐ กรรมการขบวนการอีสานใหม่ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่เรียกได้ว่าแย่มากอีกฉบับหนึ่ง และตนไม่เห็นด้วยแง่ของความชอบธรรมเรื่องที่มา ซึ่งส่งผลให้ไม่มีความชอบธรรมในฐานะของกฎหมาย เขาเห็นว่า การร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็ตามจะต้องยึดโยงกับหลักนิติธรรม คือเป็นการออกกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว กลับเป็นกฎหมายที่รักษาผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

กรชนก ยังระบุด้วยว่า ตามหลักการแล้วการร่งกฎหมายจะต้องยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ 1.ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน 2.ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน 3.คุ้มครองสิทธมนุษยชนสิทธิมนุษยชน และ4.เติมเต็มสิทธิมนุษยชน

กรชนก ขยายความต่อไปว่า การปกป้อง เคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือการที่ยืนยันหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคือ ต้องไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนในเรื่องการเติ่มเต็มคือหากมีส่วนไหนที่ขาดไหนไป ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้คนไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย เพราะนอกจากจะไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นกฎหมายออกมาเพื่อบังคับใช้ควบคุมประชาชน เป็นการปกป้องภาครัฐ และรัฐบาลซึ่งเป็นเผด็จการอยู่ในตอนนี้ ซึ่งชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการปกป้องประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว

กรชนก ระบุด้วยว่า การร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมักมีการยกเหตุผลข้อออ้างว่า มีความวุ่นวาย และความเสียหายจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ เช่นการปิดสนามปิด การยึดสถานที่ราชการ ปิดทำเนียบ หรืออื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกรณีที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฉะนั้นเหตุผลของการการออก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ คือการแสดงถึงความตั้งใจที่สกัดกั้น และห้ามไม่ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ สามารถออกมาชุมนุมได้

"ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการคุ้มครองประชาชน และไม่ได้ช่วยเติมเต็ม หากแต่เป็นกฎหมายที่ลดทอนสิทธิมนุษยชนแล้วด้วยซ้ำ และกลายเป็นว่า พ.ร.บ.เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทน โดยมีสถานะเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐในการจัดการกับประชาชน และมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นการชุมนุมของกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออย่างกรณีล่าสุด ซึ่งที่การออกมาบอกว่าหากมีการออกมาทวงคืนหมุดคณะราษฎร เข้าองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ" กรชนก กล่าว

"หากเราบอกว่ากฎหมายที่ดีควรเป็นไปตามหลักนิติธรรม กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ เพราะมันคือกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองคณะรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก หรือดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด"กรชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรชนก เห็นว่า ประชาชน ชาวบ้าน ไม่ควรท้อใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น อย่างน้อยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังพอมีช่องทางที่จะทบทวน พิจารณากฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้ควรยกเลิก

"อย่ากลัวกฎหมายฉบับนี้มากเกินไป เพราะมันไร้ความชอบธรรม และไม่ใช่กฎหมายที่ดี มันมีค่าน้อยกว่าสิ่งที่พี่น้องต่อสู้มาก เราต่อสู้คุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเรา เพื่อลูกหลาน สิ่งที่เราทำมีค่ามากกกว่า" กรชนก กล่าว

อ่านกฎหมายพบแต่โทษของผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ไร้โทษของเจ้าหน้าที่รัฐหากละเมิดสิทธิประชาชน

วงศกร สารปรัง เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ชี้ให้เห็นว่า เมื่อดูที่บทลงโทษพบว่า มีเพียงแต่การกำหนดโทษของผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โทษของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจจะละเมิดสิทธิของประชาชนกลับไม่มีการระบุอย่างชัดเจน

วงศกร ระบุต่อไปว่า ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกได้จากสิทธิการชุมนุม และสิทธิชุมชนเกิดขึ้นจากการที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีการพัฒนาขนานใหญ่ ซึ่งหลายๆ ครั้งการพัฒนาเหล่านั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองน้อยอยู่แล้ว การชุมนุมจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ปัญหาของชาวบ้านได้ถูกสื่อสารออกไปในวงกว้าง

วงศกร ชี้ให้เห็นอีกว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายายามออกกฎหมายฉบับนี้แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะภาคประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ในเวลานี้ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รัฐบาล คสช. ก็ผลักดัน และสุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ก็ออกได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน และเมื่อลงไปอ่านที่รายละเอียดในกฎหมายก็พบว่า มีความพยายามจัดการทำให้การชุมนุมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีหลากหลายขั้นตอน มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากมาย  และที่สำคัญมีการให้อำนาจการใช้ดุจพินิจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการที่จะให้การอนุญาติ หรือไม่อนุญาติให้จัดการชุมนุม

กฎหมายไม่ดี คนบังคับใช้ไม่เข้าใจ คนออกก็หมายไม่รู้บริบทของผู้ชุมนุม

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมไม่ใช่สิทธิโดยสมบูรณ์ สามารถจำกัดได้ แต่ไม่ใช่เป็นการกำกับที่กระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิ ซึ่งสิทธิในการชุมนุมเป็น เรื่องที่ถูกยอมรับอย่างเป็นสากล แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากความรุนแรง

ณัชปกร กล่าวต่อในเรื่องที่มาของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ว่า มีที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกิดจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. โดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และผู้ที่เข้าไปในนั่งในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติล้วนประกอบไปด้วย ข้าราชการ นายทหาร นายทุนที่มีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับ คสช. แทบทั้งสิ้น

"คนพวกนี้ไม่เคยเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ฉันไม่เคยได้รับผลกระทบแบบที่ชาวบ้านเคยได้รับผลกระทบ เวลาออกกฎหมายก็จากความไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรชาวบ้านถึงต้องออกมาชุมนุม พวกเขาเดือดร้อนอย่างไร คนพวกนี้ไม่เข้าใจเลย" ณัชปกร กล่าว

ณัชปกร ได้ยกตัวอย่างถึงการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะในต่างประเทศ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ แต่ประเทศเหลานี้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมมากกว่าที่จะใช้ตัวกฎหมายมาปิดกั้นไม่ให้เกิดการชุมนุม หลักการสำคัญที่ประเทศเหล่านี้คำนึงถือเสมอเวลาใช้กฎหมายคือ การจำกัดการชุมนุมจะต้องไม่กระทบสาระสำคัญสิทธิ หมายความว่า จะต้องไม่ขัดขวางแสดงความคิดเห็นของประชาชน และจะต้องไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะต้องไม่เป็นการลดทอนอำนาจในการต่อรองของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทยผู้บังคับใช้กฎหมายกลับไม่เข้าใจในหลักการดังกล่าว

ณัชปกร ระบุด้วยว่า ตลอดเวลาหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในยุค คสช. นอกจากตัวกฎหมายเองจะมีปัญหาแล้ว การบังคับใช้ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน โดยข้อมูลที่ iLaw ก.ค. 2558 – ม.ค. 2559 พบว่ามีอย่างงน้อย 15 กรณีที่ผู้นำรัญบาบหรือเจ้าหน้าที่รัฐอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุที่สาธารณะ เพื่อข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็น

"กรณีเช่น การจัดค่ายเยาวชนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย การทำบุญสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส การชูป้ายผ้าของกลุ่มคัดค้านถ่านหินกระบี่ หรือการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเอากฎหมายมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายมาตรา 3 ระบุว่า การชุมนุมที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่นๆ ต้องได้รับการคุ้มครอง หรือปฎิบัติตามกฎหมายนั้นๆ เช่นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือในกรณีที่ทนายอานนท์ นำภา ถูกจับเพราะจัดกิจกรรมยืนเฉย เรียกร้องให้มีการวัฒนา เมืองสุข เองก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยทันที ทั้งที่ตามกฎหมายระบุว่าต้องมีการขอหมายศาลก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจในการจับกุมสิ่งเหล่านี้คือการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจกฎหมายนี้จริงๆ ด้วยซ้ำ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารคุมตัวแทน 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดคณะราษฎรหาย

Posted: 20 Apr 2017 04:28 AM PDT

วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย ระบุยังไม่มีการแจ้งข้อหา พร้อมขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร ขณะที่ ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'
 
หมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่หายไป
 
20 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
 

'วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย

ล่าสุดวันนี้ (20 เม.ย.60) Voice TV รายงานว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. จากกรณีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ระดับบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมให้ ปอท.ดำเนินคดี วัฒนา จากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในทางกฎหมาย ระบุว่าหมุดคณะราษฎรที่ถูกมือมืดถอดออกไปนั้นเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นความเท็จและกระทบต่อความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
แฟ้มภาพ

ยังไม่มีการแจ้งข้อหา

วัฒนา ระบุว่า แม้จะยังไม่มีการแจ้งข้อหาเกิดขึ้น แต่ตนก็มาแสดงตนเพื่อยืนยันในเจตนาบริสุทธิ์ของสิ่งที่ตนพูด โดยยืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นในทางกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นในทางกฎหมายและทางวิชาการไม่สามารถเป็นเท็จได้ตามกฎหมาย
 
วัฒนายังระบุว่าแต่เดิม ตนมีเจตนาที่จะแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ด้วย แต่เนื่องจากเมื่อมาแสดงตนแล้ว เห็นว่าเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากจากการถูกบีบบังคับ ตนจึงเกิดความสงสาร และตัดสินใจที่จะไม่เอาความต่อเจ้าหน้าที่ระดับล่างเหล่านั้น
 

ขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร

นอกจากนี้ Now 26 รายงานความเห็นของ วัฒนา เพิ่มเติม ด้วย โดยระบุว่า วัฒนา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นความผิด วันหนึ่งสื่อก็จะติดคุกด้วย เพราะว่าไม่สามารถจะแสดงความคิดเห็นอะไรได้ พร้อมยืนยันว่า ตนเองคือคนจริงไม่กลัวใคร แต่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือตามหาหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะจบภายในเท่านี้ ส่วนใครจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้   
 

ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รองสว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าที่หายไป
 
บุญสิน เปิดเผยว่า ต้องการเดินทางมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อให้ติดตามหาหมุดดังกล่าวซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกว่าประเทศไทยก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกลับคืนมาให้ได้ และเมื่อได้คืนมาแล้วขอให้นำไปเก็บรักษาไม่ใช่นำไปวางไว้กับพื้น เดิมทีตนตั้งใจจะไปขุดออกมาเก็บไว้อยู่แต่มีคนขุดเสียก่อน ทั้งนี้มั่นใจว่าจะต้องโดนอุ้มอย่างแน่นอนเนื่องจากตั้งใจว่าหลังจากเข้าแจ้งความเสร็จจะเดินเท้าไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง ต้องการให้ทหารหรือตำรวจมาอุ้มเพราะต้องการเข้าไปปรับทัศนคติให้กับบุคคลเหล่านั้นได้เข้าใจเสียใหม่ในเรื่องของระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ
 
ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ ผบก.สส.บช.น. พร้อม พ.ต.อ.นพศิลป์ พลูสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. ร่วมสอบปากคำนายบุญสิน เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
 
มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัว บุญสิน และสันติพงษ์ วินุราช อายุ 35 ปี เพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วย ไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 ออกทางประตูด้านหลังของสน. โดยนายบุญสิน มีสีหน้าเรียบเฉยและทักทายผู้สื่อข่าวพูดเพียงสั้น ๆ ว่า "ทางเจ้าหน้าที่ใจดี ช่วยพาขึ้นรถไปไม่ต้องเดินไปเพราะมันร้อน"
 

'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ

ขณะที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงกรณีนี้ ภายใต้ชื่อ 'รอยจารึกหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 ประวัติศาสตร์ที่ต้องทวงคืน' โดยเรียกร้อง ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คือ สืบหาผู้กระทำการอย่างอุกอาจในครั้งนี้ภายใต้เทคโนโลยีในยุค 4.0 และนำหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 อันเดิมกลับไปติดตั้งไว้ที่เดิม
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานรวมทั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงานต่างได้ซึมซับเรียนรู้เจตนารมณ์และการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมุดดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีตย่อมมีทั้งคนที่ชื่นชมยกย่อง และมีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ของอนุชนคนรุ่นต่อๆไป การกระทำดังกล่าวของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ได้ทำการรื้อถอนหมุดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แล้วนำหมุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดของผู้ไม่หวังดีถือเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายอำนาจรัฐ ทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ 
 

วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'

วานนี้ (19 เม.ย.60) มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีมีประชาชนเดินทางเข้าแจ้งความที่สน.ดุสิตให้ติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี หลังหมุดคณะราษฎรสูญหายสามารถทำได้หรือไม่ว่า ได้หรือไม่ได้ก็เห็นไปแจ้งความแล้ว ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ซึ่งตำรวจเขาก็รับแจ้งความแล้ว โดยเรื่องแบบนี้ตั้งเป็นเรื่องได้หลายเรื่อง แต่เมื่อคุณเลือกเอาทางนั้นแล้วก็เป็นทางหนึ่ง
 
"มันถึงมีคำ 2 คำในกฎหมาย คือคำว่า 'ร้องทุกข์' กับคำว่า 'กล่าวโทษ' ถ้าร้องทุกข์ก็เป็นผู้เสียหาย ถ้ากล่าวโทษก็แปลว่า ไม่รู้ใคร นี่ฉันเห็นเขาฆ่ากันตรงนั้น อย่างงี้ก็ทำได้ พลเมืองดี" วิษณุ กล่าว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ถกลับ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 3 วาระรวด

Posted: 20 Apr 2017 02:42 AM PDT

สนช. งดกระจายเสียง-แพร่ภาพโทรทัศน์วงจรปิดรัฐสภา ประชุมลับ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 3 วาระรวด  พรเพชร ระบุ เป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ - สนช.ยังมีมติ ให้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย

แฟ้มภาพ

20 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วันนี้ (20 เม.ย.) เริ่มเวลา 10.00 น. มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... รวม 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ที่ประชุมได้เลื่อนระเบียบวาระเสนอใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. ... ขึ้นมาพิจารณาก่อน โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการประชุมลับ ตามข้อบังคับการประชุม สนช. เนื่องจากคณะรัฐมนตรียังไม่ได้ปลดชั้นความลับ ขั้นลับที่สุด จึงขอดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรักษความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ให้เป็นเรื่องลับที่สุดทุกขั้นตอน ทั้งเอกสารและกระบวนการพิจารณา 

โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า วิษณุ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงว่า ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. ..... คณะรัฐมนตรีได้ขอให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการประชุมลับ ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พรเพชร กล่าวว่า เมื่อ ครม. เสนอให้เป็นการประชุมลับ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับจึงขอเชิญผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม งดการกระจายเสียงและแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดทางรัฐสภา
 
โพสต์ทูเดย์และ มติชนออนไลน์ ระบุตรงกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นารปรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหลือเพียง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักงานตำรวจราชสำนักประจำ และ 3 สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและได้ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง
 
สำหรับรายละเอียดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พรเพชร กล่าว เพียงว่า เป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้  
 

ให้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... นั้น สนช. มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง 
 
วิษณุ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า  ร่างที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของส่วน ราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ที่ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม  2560 จำนวนทั้งสิ้น 11,866,512300 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยหกสิบหกล้านห้าแสนหนึ่งหมื่น สองพันสามร้อยบาท) ไม่รวมงบกลาง โดยจะนำไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายสำหรับงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดสรรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมกล่าวย้ำว่า เจตนาสำคัญที่เสนอร่างดังกล่าวเข้ามาสู่การพิจารณาของ สนช. เพราะต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ตระหนักในการเบิกจ่ายหรือใช่งบประมาณให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งหากไม่สามารรถดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนดก็จะต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นได้ตระหนักรู้ และงบประมาณที่ได้โอนมาครั้งนี้จะนำไปตั้งเป็นงบกลางและนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในช่วงเวลาครึ่งปีหลังของงบประมาณนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษาสเปนถูกสั่งจำคุก-เพราะเล่นมุขเสียดสีเผด็จการในอดีตถูกระเบิดตาย

Posted: 20 Apr 2017 01:41 AM PDT

ในสเปนมีเรื่องชวนให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหลังจากมีการสั่งจำคุกหญิงนักศึกษาผู้โพสต์ข้อความล้อเลียนเหตุสังหารบุคคลในประวัติศาสตร์อย่าง พลเรือเอกหลุยส์ คาร์เรโร บลังโก ผู้รับใช้เผด็จการฟรานซิสโก ฟรังโก ที่เสียชีวิตจากการถูกวางระเบิดเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ขณะที่พรรคฝ่ายค้านแสดงความเห็นค้านศาลโดยระบุว่า "การพูดในเชิงตลกไม่ใช่อาชญากรรมและสเปนไม่ได้เป็นเผด็จการ"

คาสซานดรา เวรา นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ชาวสเปน (ที่มา: The Guardian)

พลเรือเอกหลุยส์ คาร์เรโร บลังโก เป็นนายกรัฐมนตรีสเปนที่อยู่ฝ่ายเผด็จการขวาจัด เขาถูกมองว่าเป็นผู้ที่จะสืบทอดต่อจากจอมเผด็จการนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก แต่ในวันที่ 20 ธ.ค. 2516 เขาก็ถูกสังหารจากการวางระเบิดของกลุ่มกบฏเอตา (ETA) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์ แสดงให้เห็นว่าเอตาสามารถจัดการกับจอมเผด็จการระดับสูงได้และกลายเป็นการแผ้วถางหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงสเปนสู่ประชาธิปไตย

เรื่องนี้กลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่มันก็ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกลงโทษจำคุกเพียงเพราะทวีตข้อความในเชิงล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าว จากการที่บลังโกถูกระเบิดจนรถสปอร์ตของเขามีเศษซากกระเด็นสูง 20 เมตรขึ้นไปอยู่บนโบสถ์ที่เขาเพิ่งเข้าร่วมพิธี

คาสซานดรา เวรา นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์อายุ 21 ปี จากแคว้นมูร์เซียทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน ศาลอาญาสูงสุดของสเปนสั่งจำคุกเธอ 1 ปี และสั่งห้ามไม่ให้เธอทำงานที่ได้รับเงินตอบแทนจากรัฐเช่นอาชีพครูเป็นเวลา 7 เดือน จากข้อความที่เธอโพสต์ในทวิตเตอร์สองข้อความตั้งแต่ปี 2556-2557 ระบุว่า "เอตามีนโยบายต่อต้านรถของทางการไปพร้อมๆ กับโครงการด้านอวกาศ" และอีก 5 เดือนต่อมาเธอก็โพสต์ข้อความล้อเลียนอีกว่า "คิสซิงเจอร์ (รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ สมัยนั้น) ทำให้คาร์เรโร บลังโก เห็นโลกพระจันทร์ไปส่วนหนึ่ง เอตาเป็นคนจ่ายค่าเดินทางให้"

ประเด็นนี้ทำให้เกิดความวิตกว่าจะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงคามคิดเห็นในสเปน ขณะที่พรรครัฐบาลอนุรักษ์นิยมพีเพิลปาร์ตี (PP) บอกว่าพวกเขาเคารพการตัดสินใจของศาล แต่หัวหน้าพรรคฝายซ้ายต้านนโยบายรัดเข็มขัดอย่างปาโบล อิกเลเซียส และเพื่อนร่วมพรรคของเขา แสดงการสนับสนุนเวรา อิกเลเซียสระบุว่า "การพูดในเชิงตลกไม่ใช่อาชญากรรมและสเปนไม่ได้เป็นเผด็จการ" และบอกว่าถ้าจะลงโทษคาสซานดราก็ต้องลงโทษพวกเขาด้วย

ศาลอ้างว่าเวรามีความผิดโทษฐานเชิดชูการก่อการร้ายและดูหมิ่นเหยื่อของการก่อการร้าย แต่เวราก็โต้แย้งว่าเธอไม่ได้มีเจตนาชื่นชมการก่อการร้ายหรือดูหมิ่นเหยื่อแต่อย่างใด มันเป็นแค่การพูดตลก เป็นอารมณ์ขันในแบบที่ชาวสเปนจำนวนมากยอมรับ เธอจึงไม่ได้มอะไรให้รู้สึกเสียใจในสิ่งที่ทำลงไป เวราบอกอีกว่าเธอกลัวที่ต้องถูกให้ขึ้นศาลอาญาระดับสูงสุดของสเปนที่มีแต่คดีทุจริตคอร์รัปชันหรือคดีคนค้ายา แต่เธอแค่ทวิตข้อความในเชิงติดตลกเท่านั้น

ถึงแม้ว่าเวราจะอยู่ในช่วงรอลงอาญาเพราะไม่ใช่การกระทำผิดจากการใช้ความรุนแรง แต่เวราก็กังวลว่ามันจะกลายเป็นตราประทับของชีวิตเธอ เพราะเธอต้องการจะเป็นครูแต่คดีของเธอทำให้เธอไม่สามารถขอทุนเรียนในมหาวิทยาลัยได้หลังจากนี้ นอกจากนี้เธอยังถูกขุดเรื่องที่เธอเคยเขียนไว้ในทวิตเตอร์ขึ้นมาโจมตีว่าเธอไม่เหมาะสมกับการเป็นครูโดยขุดเอาทวิตเตอร์ที่เธอเคยระบุว่าเกลียดเด็กขึ้นมาโจมตี นอกจากนี้เวรายังเคยถูกวิจารณ์ในเชิงเหยียดทางโซเชียลมีเดียจากที่เธอเป็นหญิงข้ามเพศ โดย ส.ส. ท้องถิ่นในวาเลนเซียจากพรรค PP ขอโทษเธอในเรื่องนี้แล้ว

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ชวนให้ประหลาดใจคือการท่ทนายความของเวราคือลูเซีย หลานสาวของบลังโก ถึงแม้ว่าเวราจะหมิ่นคนในครอบครัวของเธอจากเหตุการณ์ในอดีตแต่ลูเซียก็วิจารณ์คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ว่า "บ้าบอคอแตกอย่างเห็นได้ชัด" และเธอก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับบสังคมที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นทำให้คนถูกตัดสินจำคุก

เวราบอกว่า "คนในสังคมสเปนส่วนใหญ่ยอมรับอดีตที่เกิดขึ้นแล้วและรับรู้ว่าช่วงยุคเผด็จการเป็นยุคสมัยที่โหดร้าย" เธอบอกอีกว่าเธอยอมรับที่เรื่องตลกเกี่ยวกับบลังโกดูไร้รสนิยมแต่สำหรับเธอแล้วมันเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ แต่อัยการและผู้พิพากษาก็ไม่ได้ปรับตัวตามสังคม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติต่างก็วิจารณ์ว่ารัฐบาลสเปนมีการใช้กฎหมายลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุม จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่นักร้องนำวงดนตรีเดฟคอนดอสถูกตัดสินจำคุก 1 ปี เพราะทวีตเรื่องตลกว่ากลุ่มกบฎเอตาส่ง "เค้กระเบิด" ให้พระราชาธิบดีสเปน นอกจากนี้ยังมีการสืบสวนคนเล่นละครหุ่น 2 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าชื่นชมการก่อการร้าย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยืนยันว่าการแสดงของพวกเขานั้นเป็นการแสดงออกเชิงเสียดสีพวกเขาก็ถูกจับคุมขังไปแล้วเป็นเวลา 5 วัน

จูดิธ ซันเดอร์แลนด์ผู้ช่วยผู้จัดการสาขายุโรปและเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่าการตัดสินให้เวรามีความผิดถือเป็นเรื่อง "งี่เง่าโดยสิ้นเชิง" และเป็น "การลงโทษที่แรงเกินไป" รวมถึงการอ้างสาเหตุที่ทำให้เธอถูกลงโทษก็เป็นการพิจารณาที่แย่ ซันเดอร์แลนด์บอกว่าถ้าหากไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของเวราก็สามารถวิจารณ์ว่ารสนิยมแย่หรือโต้แย้งว่าเป็นการล่วงเกินผู้อื่นได้ แต่การถึงขั้นตัดสินให้มีความผิดในคดีถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นพื้นฐานของเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ทำให้เรื่องนี้ในสเปนน่าเป็นห่วง

 

เรียบเรียงจาก

Jail for a joke: student's case puts free speech under spotlight in Spain, The Guardian, 18-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เสรีเกษตร' โวย นิสิตนอกวิชาถูก ตร.กันเข้าฟังเสวนาไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่เลือกตั้งปี 60

Posted: 20 Apr 2017 01:00 AM PDT

กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ โวย เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิต วงเสวนา 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560' ยังโดนกีดกัน ระบุตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ล่าสุดยุติวงเสวนา

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์

20 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(20 เม.ย.60) เมื่อเวลา 14.27 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็น สน.บางเขน ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แม้แต่การจัดการเรียนการสอน เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิตก็ยังโดนกีดกัน และยังขัดขวางไม่ให้เสรีภาพในการเข้ารับฟังงาน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ทางวิทยากรท่านหนึ่งแจ้งว่าขณะเดินขึ้นลิฟท์ทางเจ้าหน้าที่ได้จับแขนไว้แล้วพามาด้านนอกตึกพร้อมแจ้งว่าไม่สามารถให้เข้าตึกได้ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตามหาเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ใช่ สน.บางเขน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา คณะผู้จัดแถลงว่า ไม่สามารถจัดได้ แล้ว  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์  อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้จัดงานกล่าวว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ ต้องการเสริมความรู้จากในห้องเรียนปกติให้กับนิสิต ในวิชามานุษยวิทยาการเมือง คิดว่าหลังจากเรียนเรื่องทฤษฎี จึงควรเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ จึงเชิญ วิทยากร มาเปิดมุมมองให้นิสิตเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมา รวมทั้งอยากให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปจึงได้ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนทั่วไปหรือนิสิตคณะอื่นที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน

"เป็นการเอาห้องเรียนออกจากห้องแคบๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับสังคมและให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม" ชลิตา กล่าวถึงเหตุผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว
 
ชลิตา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระแวงว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ว่าวิชานี้เป็นวิชามานุษยวิทยาการเมือง และวิทยากรที่เชิญมาก็เป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์  ดังนั้นสิ่งที่คุยกันจึงเป็นเรืองการเมืองแน่นอน เป็นการเมืองในแนววิชาการ ซึ่งมันจะต้องเป็นสิ่งที่เราพูดได้ มันไม่ใช่เรื่องผิด ต้องเป็นสิ่งที่พูดได้ในชีวิตประจำวันของเรา
 
 ชลิตา มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างลำเส้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประสานมายังผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้มีการกดดันเป็นทอดๆ เพื่อที่จะให้เลื่อน ซึ่งไม่รู้ให้เลื่อนไปเมื่อไหร่ วันนี้เราจัดไม่ได้จริงๆ เนื่องจาก ถูกใช้กำลังบังคับไม่ให้ขึ้นไปข้างบน เราก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราถูกห้าม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราถอยหรือยอมรับกับอำนาจที่มาล้ำเส้นของการเป็นสถาบันการศึกษา
 
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีชื่อว่า "The Fake Thailand" "(ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560)" จัดโดย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี และวิชามนุษยวิทยาการเมือง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยมีวิทยารคือ ผศ.ดร. ธนศักดิ์ สายจำปา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ปกรณ์ อารีกุล นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมเพื่อสังคม ตามกำหนดการจะจัดในวันนี้ (20 เม.ย.60) เวลา 14.00-17.00น. ตึกสังคมศาสตร์ 4 ห้อง 501  ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ใบประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา Thisable แนะรัฐเตรียมความพร้อมจัดเลือกตั้ง-ต้องอำนวยความสะดวกคนพิการ

Posted: 20 Apr 2017 12:58 AM PDT

เสวนา "บทบาทสื่อกับการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ" โดยเว็บไซต์ thisable.me ชี้สื่อต้องรณรงค์ให้คนพิการตระหนักถึงสิทธิการเลือกตั้ง รัฐควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพ ร่วมกับสื่อเพิ่มช่องทางนำเสนอข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งที่หลากหลายคำนึงถึงกลุ่มคนพิการ

20 เม.ย. 2560 เมื่อวันที่ 18 เม.ย. thisable.me ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (FCEM) และเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ร่วมกันทบทวนองค์ความรู้ในการสื่อสารประเด็นคนพิการในสถานการณ์การเลือกตั้ง และผลิตคู่มือสำหรับสื่อมวลชนในการส่งเสริมสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก AGENDA (General Election Network for Disability Access) จัดงานเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "บทบาทสื่อกับการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ"

โดยการเสวนาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้องค์ความรู้และมีคู่มือสำหรับสื่อมวลชนในการส่งเสริมสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ ร่วมเสวนาโดย รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ และดำเนินรายการโดย นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ Thisable.me

 

อุปสรรคปัญหาทางกายภาพ การเข้าถึงข้อมูลของคนพิการ และข้อเรียกร้องต่อสื่อ

(จากซ้ายไปขวา) สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้, ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา และ รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ

รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

รักศักดิ์ กล่าวว่า การเข้าถึงสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะประเทศที่มีความพร้อม เป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่ได้ยกเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พลเมืองควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีข้อยกเว้นหรือการเลือกปฏิบัติ ประเด็นที่สื่อจะเข้ามาช่วยได้ มีสองลักษณะ

ลักษณะแรกคือ คาดหวังว่ากลางปีหน้าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะเข้าสู่การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทน เข้าไปบริหารหรือนำสิ่งที่เราคาดหวังปฏิบัติเป็นโยบายกลับมาสู่พวกเรา ผู้พิการต้องตระหนักถึงสิทธินี้ สื่อมวลชนควรเริ่มปลูกฝัง รณรงค์ ดึงจิตสำนึก ให้คนพิการรู้ว่าตรงนี้คือสิทธิพื้นฐาน รวมกลุ่มคนพิการ องค์กรคนพิการ หรือผู้จัดการศึกษาแก่คนพิการ เผยแพร่สื่อ สารคดี ให้น่าสนใจ ยิ่งมีช่องทางหลากหลาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ออนไลน์ โทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนพิการได้ รวมกลุ่มองค์กรคนพิการ ให้เขาตระหนักถึงสิทธินี้ ผลที่กลับมาจะทำอะไรได้บ้าง

ผ่านไปช่วงหนึ่ง รณรงค์ถึงวิธีการ สำหรับคนที่สนใจจริงๆ เรียนรู้ในเชิงลึก วิธีการเลือก ลักษณะ การเข้าถึง เช่น การเป็นพรรคการเมืองจะเป็นต้องเป็นอย่างไรบ้าง การเลือกบุคคลในเขตเป็นอย่างไรนอกเขตเป็นอย่างไร หรือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ สื่อเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ ขณะเดียวกันก็รณรงค์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กกต. กลุ่มองค์กรเกี่ยวกับคนพิการ เตรียมสาธิตอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รู้จักและสามารถใช้อุปกรณ์ได้จริง

ส่วนลักษณะที่สาม คือผู้ลงเลือกตั้งเองก็ต้องเป็นคนนำเสนอโยบายในรูปแบบของสื่อต่างๆ ให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในฐานะคนที่มองไม่เห็น ใบที่บอกให้เราไปเลือกตั้งเป็นกระดาษซึ่งเรามองไม่เห็น หน่วยงาน เช่น กกต. ควรมีทางเลือกเป็นระบบคอลเซ็นเตอร์ เมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งควรมีอักษรเบล ควรบอกด้วยว่ากาได้กี่เบอร์ กาแบบไหน ในหน่วยต้องมีตัวแผ่นทาบสำหรับคนพิการทางสายตา แผ่นทาบคือแผ่นกระดาษแข็งที่ไปเทียบกับใบเลือกตั้งจริงๆ ที่เราจะกา บางหน่วยยังไม่รู้ว่ามีและใช้อย่างไร และควรมีคลิปติดให้ ไม่งั้นอาจกาผิดบัตรเสีย ควรเตรียมอุปกรณ์ให้ครบ

 

สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้

สว่างกล่าวว่า ปัญหาคือการเข้าถึงทางกายภาพ เช่น บันได หรือการเดินทางจากบ้านไปคูหา ก็มีปัญหา ถ้าดูจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการมาตรา 29 แบ่งอุปสรรคการเลือกตั้งของคนพิการ มีสามกลุ่ม หนึ่งคือขั้นตอนและกระบวนการ สองคือสิ่งอำนวยความสะดวก สามคือสื่อและวัสดุต่างๆ ที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงข้อมูล รัฐต้องมีงบที่สนับสนุนในด้านนี้

"สำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว ถ้าผมใช้แขนไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องมีคนมากาให้ คำถามคือทำได้ไหม ผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือเปล่า หรือถ้าต้องมีผู้ช่วยเข็นเข้าไปทำได้ไหม ต้องทำให้ชัดเจน อันไหนต้องทำให้มันยืดหยุ่นสำหรับคนพิการแต่ละประเภทก็ต้องชัด บางอย่างเช่นการเลือกตั้ง ไม่มีใครห้าม แต่วิธีการที่จะเข้าถึงมันทำไม่ได้" เขากล่าว

สว่างเล่าถึงข้อเสนอของยูเอ็น ที่ได้เสนอทางเลือก เช่น ระบบผู้ช่วย เช่น คนหูหนวกเห็นการปราศัยแต่ไม่เข้าใจว่าคืออะไร หรือรับรู้ข้อมูลน้อยมาก ต้องมีวิธีการยังไง เช่น ทำเป็นนโยบายให้พรรคการเองที่จะลงสมัครเลือกตั้งต้องเตรียมอะไรให้คนพิการเข้าถึง การปราศัย การให้ข้อมูล หรือติดป้ายโฆษณาหาเสียงที่คนพิการทางสายตามองไม่เห็น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก วิธิการช่วยเหลือที่ทำให้เขาเข้าถึงการเลือกตั้งได้ ซึ่งภาครัฐต้องคิดถึงเรื่องนี้

หากเขาไร้ความสามารถในการโหวตด้วยตัวเอง ยูเอ็นเสนอให้มีผู้ช่วยในการตัดสินใจ แต่ระบบนี้เรายังไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา บางที่สภาพทางกฎหมายเขาถูกตัดออกไปเลย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา ผิดอนุสัญญา มันต้องหาวิธีการให้เขาตัดสินใจและลงคะแนนเสียงได้ เช่น คนพิการทางจิต เราอาจต้องมีการอธิบายเป็นภาษาง่ายๆ วาดภาพ ให้เขาเข้าใจ กกต. ผลักดันให้นักการเมืองเตรียมให้กับประชาชน

สว่างยังเสนอว่า ในประเด็นการเลือกตั้ง ต้องพูดถึงประเด็นคนพิการกับการเลือกตั้งให้มากขึ้น หรือคนพิการที่อยู่สถานสงเคราะห์ เขายังมีสิทธิอยู่และควรอำนวยความสะดวกให้เขาสามารถไปเลือกตั้งได้

"ผมเสนอว่าให้ลองอ่านข้อมูลอนุสัญญาสิทธิคนพิการ จะทำให้เราช่วยจับประเด็น เวลาลงพื้นที่สัมภาษณ์ เนื่องจากผมก็ติดต่อกับสื่อประมาณหนึ่ง มีการล้ำเส้น คือให้ความสนใจกับความพิการของเรามากกว่าประเด็นที่เรานำเสนอ เช่น มาถ่ายขา

อย่างการทำทางลาด เราทำเพราะเขาพิการ หรือทำเพราะมันมีคนต้องใช้ทางลาด สองวิธีคิดนี้ไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำเพราะเขาพิการความพิการของเขาจะเป็นปัญหา คนก็จะไปโฟกัสตรงนั้น โฟกัสจะอยู่ที่เราพิการมากกว่าปัญหาหรือประเด็นที่เขาเผชิญอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรไปโฟกัสที่ความพิการของเขา" สว่างกล่าว

 

พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ์ สมาคมผู้ปกครองทางสติปัญญา

พรสวรรค์ กล่าวว่า ในกรณีคนพิการทางสติปัญญามีปัญหาค่อนข้างเยอะ ในครอบครัวเด็กในกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเป็นคนเลือกให้เด็ก ต้องสร้างการตระหนักรู้ว่าตัวเด็กเองต้องการอะไร ชี้แนะให้เข้าใจ

"ปกติเราจะพาลูกไปเลือกตั้งด้วย ให้เด็กรู้ว่าเราก็มีสิทธิ ปกติเวลาเลือกตั้งก็จะมีบัตรแจ้งมีชื่อลูกเราด้วย พอไปถึงเจ้าหน้าที่ไม่เคยมาถามสักคำว่าลูกมีสิทธิเลือกมั้ย และสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้กับพวกเขา คือไม่มีสถานที่จำลองให้เด็กเหล่านี้ไปเรียนรู้การเลือกตั้ง อดีตที่ผ่านมา เวลาเลือกตั้งเด็กเหล่านี้แทบไม่มีสิทธิ อยู่กับบ้าน แต่จริงๆ เด็กก็อยากเลือก และที่สำคัญเวลาเลือกตั้งจะมีการพูดวิสัยทัศน์ แต่เด็กเราไม่รู้เลย เราอยากให้ใช้ภาษาง่ายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งเองได้" พรสวรรค์กล่าว

นอกจากนี้พรสวรรค์ยังเสริมว่า ปัจจุบันไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงเลยว่าคนพิการก็มีสิทธิเลือกตั้งได้ ไม่เคยกล่าวถึงเลย อยากให้สื่อออกมาพูดว่าคนพิการทุกประเภทมีสิทธิเลือกตั้งถ้าบุคคลนั้นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จัดสถานที่ให้เหมาะสม ให้มีสถานที่จำลอง หรือกระทั่งใบเลือกตั้งให้เหมือนของจริง ให้ลองเลือกตั้งเอง คิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ แต่ไม่ใช่เพียงวันเดียวชั่วโมงเดียวเด็กทำไมได้

 

นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต

นุชจารีกล่าวว่า ในส่วนคนพิการทางจิต สังคมทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจผู้ป่วย คนพิการทางจิตมีสองแบบ คือคนที่จดทะเบียนก็จะเรียกคนพิการ กับอีกแบบคือยังไม่ได้จดทะเบียน หากอยู่โรงพยาบาลก็จะเรียกผู้ป่วย หรือครอบครัวไม่ให้จดทะเบียนคนพิการทางจิตเพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ เสียหายต่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

สำหรับคนพิการทางจิต ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือทำนิติกรรมใดๆ ได้ แต่ความจริงถ้าจะเป็นบุคคลไร้ความสามารถต้องให้ศาลสั่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการจดทะเบียนเป็นคนพิการทางจิตแล้วจะไม่สามารถไปเลือกตั้ง คนพิการทางจิตถ้าหมอรักษาสม่ำเสมอ กินยา รักษาแล้ว ชุมชนให้การสนับสนุน ก็สามารถไปเลือกตั้งได้ คนพิการทางจิตไม่เหมือนคนพิการอื่น ทุก 8 ปีต้องให้หมอประเมินใหม่ เป็นความพิการชั่วคราว เขาอาจไม่ต้องจดทะเบียนเป็นคนพิการทางจิตเพียงแต่เป็นผู้ป่วยที่ต้องกินยา

"คนพิการมีสิทธิตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป คนพิการไม่ใช่คนผิดปกติ เราบกพร่องบางอย่าง คำบางคำที่เกี่ยวข้องกับคนพิการอยากให้สังคมเรียนรู้ด้วยกัน ใช้คำที่เราเข้าใจเหมือนกัน เช่น อย่าใช้คำว่าคนปกติกับคนผิดปกติ ควรใช้คำว่าคนทั่วไปกับคนพิการ" นุชจารีกล่าว

นุชจารีเสริมว่า เชื่อว่าถ้าให้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งในช่องทางต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ จะมีคนพิการออกมาใช้สิทธิอีกจำนวนมาก ทุกวันนี้เรารณรงค์คนทั่วไปให้ออกไปใช้สิทธิ์ แต่เราลืมว่ามีคนพิการอีก 1.7 ล้านคนที่ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากมีการผลักดันถึงแม้จะไม่ถึง 1.7 ล้านคน ก็จะมีคนใช้สิทธิเพิ่มขึ้น

ส่วนในข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งอยากให้มีช่องทางพิเศษสำหรับคนพิการ ให้เขารอน้อยที่สุด เพราะคนพิการทางจิตจะมีความอดทนน้อยกว่าคนทั่วไป


 

ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

ปรียานุชเล่าถึงประสบการณ์การเลือกตั้งของเธอว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข่าวสารเลย เหมือนเราห่างไกลการรับข้อมูล ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเข้าใจ รูปหาเสียงก็ไม่รู้เลยว่าคนนี้คือใคร มีนโยบายยังไง มีแต่ผู้ใหญ่บอกให้เลือกหมายเลขนี้นะ พ่อแม่บอกให้กาแบบนี้ก็ตามพ่อแม่ เราไม่รู้เลยว่าผู้แทนคนนี้ดีไม่ดี

ปรียานุชเสนอว่า ก่อนการเลือกตั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ ควรมีการอบรมการเลือกตั้งให้ครบทุกขั้นตอน และให้คนหูหนวกเองมาทำสื่อ มีสื่อเป็นภาษามือและรูปภาพสำหรับคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือ รวมทั้งประวัติผู้สมัครก็ควรมีล่าม มีตัวอักษร มีภาษามือ และในวันนับคะแนนเสียงควรมีล่ามในแต่ละคูหา ในส่วนคนต่างจังหวัดที่มาทำงานกรุงเทพฯ ควรบอกก่อนว่าเลือกก่อนได้เมื่อไหร่ ที่ไหน

เธอเล่าว่า ตัวเธอเองกลับไปเลือกที่เชียงใหม่ ดูจากเว็บไซต์ว่าคูหาอะไร เดินไปถึงมีเจ้าหน้าที่มาทัก พอบอกว่าเธอเป็นคนหูหนวก ไม่มีอาสาสมัครคอยแนะนำเลย เธอจึงอยากให้มีคนที่ผ่านการอบรมมาช่วยแนะนำ ในคูหาควรมีรูปภาพแนะนำขั้นตอนวิธีการทำ กาอันเล็กหรืออันใหญ่ มุมซ้ายหรือมุมขวา เธอไม่รู้เลยจึงต้องแอบมองคนอื่นว่าทำอย่างไรแล้วทำตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น