ประชาไท | Prachatai3.info |
- พิพิธภัณฑ์สะสม 'ความล้มเหลว' ในสวีเดน เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต
- รายงานพิเศษ: ทิศทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้สู่อนาคต
- หมายเหตุประเพทไทย #153 พลวัตสังคมเปลี่ยนละครไทย
- นักศึกษาและหลานคณะราษฎรเข้าแจ้งความหมุดอภิวัฒน์ 2475 หาย
- หน้ากากไผ่-บิลลี่-ชัยภูมิดำหัวปีใหม่ชาญวิทย์-นิธิกล่าวสุนทรกถาคนไทยในรัฐที่ไม่มีชาติ
- TCIJ: ใครๆก็เชียร์ ‘สายอาชีวะ’ แต่ทำไมเด็กไม่เลือกเรียน?
- สนช. เตรียมแก้ข้อบังคับ ขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมพ้นสมาชิกภาพ
- เครือข่ายนักวิชาการสิทธิพลเมืองเรียกร้องนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับคืนที่เดิม
- 'ซินแสโชกุน' รอดคดี ม.112 ตร.เผยยังไม่ชัดเจนว่าแอบอ้างถึงวังใด
- 11-15 เม.ย. อุบัติเหตุ 2,985 ครั้ง ตาย 283 ศพ เจ็บ 3,087 ราย
- เสนอทางออก สธ.แก้ปัญหาบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ
- นักเศรษฐศาสตร์ชี้ Preemtive Strike จากสหรัฐฯ อาจเกิด แต่กระทบไทยน้อย
- ทุกข์คนทำงาน: ทำงานก่อสร้างช่วง 10.00-13.00 น. อันตรายสุด
พิพิธภัณฑ์สะสม 'ความล้มเหลว' ในสวีเดน เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต Posted: 16 Apr 2017 06:51 AM PDT 16 เม.ย. 2560 "พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว" โดยซามูเอล เวสต์ นักจิตวิทยาองค์กรและนักวิจัยด้านนวัตกรรมผู้หลงใหลใน "ความล้มเหลว" และ "ความไร้สาระ" จากการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ของเขามีสิ่งของ ผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาดตั้งแต่ อาหารแช่แข็งลาซานญ่าเนื้อของคอลเกตต์ (ใช่...ชื่อบริษัทยาสีฟัน) ที่ออกมาแล้วสุดแสนจะเฟลล์ มีน้ำหอมกลิ่นเครื่องหนังของฮาเลย์ เดวิดสัน (บริษัทที่นักบิดน่าจะรู้จักดี) รวมถึงปากการุ่น "ฟอร์เฮอ" ของ Bic ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเอาใจผู้หญิงแต่กลับแฝงแนวคิดแบบเหยียดเพศเอาไว้ เวสต์บอกว่าเขาเบื่อหน่ายกับการที่ทุกคนเอาแต่บูชา "ความสำเร็จ" ในมุมมองของเขาแล้วความล้มเหลวทุกความล้มเหลวดูพิเศษในตัวมันเอง ขณะที่ภาพความสำเร็จนั้นมักจะเป็นอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ ชวนคลื่นเหียน สำหรับเวสต์แล้วนวัตกรรมที่แท้จริงจะเกิดจากการเรียนรู้ความซับซ้อนที่ซ่อนมาในความล้มเหลวแต่ละครั้งซึ่งบริษัทต่างๆ มักจะไม่ได้ทำให้การเรียนรู้ที่ว่านี้กลายเป็นทักษะติดตัวเอาเสียเลย พิพิธภัณฑ์ของเวสต์มีกำหนดเปิดในเมืองเฮลซิงบอรย์ ประเทศสวีเดน เดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลบการตีตราความล้มเหลวทั้งในระดับบุคคลและในเรื่องหน้าที่การงาน แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ดีๆ ทั่วไปตรงที่มีการจัดแบ่งประเภทหมวดหมู่ต่างๆ จนทำให้ผู้ชมสามารถเดินเข้าไปเจอกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีได้ เช่น ลาซานญ่าจากบริษัทยาสีฟันอย่างที่กล่าวไป หรือเครื่องดื่มโคคา โคลา รสกาแฟที่ชื่อ "โคคา โคลา แบล็ก" ที่ออกมาแค่ในบางพื้นที่ของประเทศตะวันตกในปี 2549-2551 เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ได้เพียงแค่ 2 ปี ก็ยกเลิกไป นอกจากนี้แล้วยังมีการยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เฟลล์ๆ อื่นๆ อย่างน้ำหอมกลิ่นเครื่องหนังของฮาร์เลย์ เดวิดสัน บริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ที่จริงๆ แล้วไม่ชวนให้รู้สึกถึงจิตวิญญาณเครื่องหนังของนักบิดเลย อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ชาวไอทียุคก่อนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างคือเครื่องเล่นเกมผสมสมาร์ทโฟนชื่อ "เอ็นเกจ" ของโนเกีย (Nokia N-Gage) เคยออกมาในปี 2546 และถูกมองว่าเป็นดีไซน์ที่แย่มากและมีการใช้งานโทรศัพท์ลำบาก อุปกรณ์ไอทีอีกชิ้นหนึ่งทีล้มเหลวคือ "ทวิตเตอร์พีค" ที่เป็นอุปกรณ์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เน้นเอาไว้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างการส่งอีเมลล์อย่างเดียวเท่านั้นโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนวุ่นวายและมีราคาถูกกว่าแต่การใช้งานส่งข้อความก็ถูกจำกัดในแบบทวิตเตอร์ไปด้วยคือส่งได้แค่ครั้งละ 140 ตัวอักษร อุปกรณ์นี้ยกเลิกไปในปี 2555 หลังจากที่ออกมาในปี 2551 ความล้มเหลวไม่ได้เกิดแต่กับแค่สิ่งของเท่านั้น พิพิธภัณฑ์นี้ยังบันทึกเหตุการณ์ที่ทำให้แบรนด์บางแห่งล้มเลวอีกด้วย เช่น กรณีการตามไม่ทันโลกของ "บล็อกบัสเตอร์" ร้านแฟรนไชล์เช่าสื่อบันเทิงอย่างดีวีดี ในตอนนั้นพวกเขาสั่งปลดกรรมการบริหารออกไปคนหนึ่ง เพราะเขาส่งเสริมให้เกิดระบบการเช่าดีวีดีแบบลงทะเบียนและส่งเสริมการเผยแพร่ภาพยนตร์ทางอินเทอร์เน็ตแบบที่เรียกว่า "สตรีมมิง" (streaming) เพื่อเป็นการตัดคู่แข่งที่ให้การสตรีม แต่การไล่กรรมการบริหารผู้นี้ออกก็กลายเป็นหายนะสำหรับบล็อกบัสเตอร์ทำให้ล้มละลายไปในปี 2556 จนเปิดทางให้ เน็ตฟลิกซ์ (Newflix) มาแทน อีกหนึ่งบริษัทที่ตามไม่ทันเทคโนโลยีใหม่คือโกดัค (Kodak) ที่ยังคงยึดติดกับการถ่ายภาพโดยต้องล้างภาพออกมาแบบเดิม และไม่ได้มองว่าในอนาคตภาพถ่ายจะเน้นแชร์กันตามเว็บโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ทำให้พวกต้องล้มละลายไปในปี 2555 ผลิตภัณฑ์บางชิ้นก็ดูตลกไปเลยอย่างหน้ากากที่ต้องการจะโปรโมทวิธีเสริมความงามโดยการช็อตไฟฟ้าที่หน้าซึ่งดูน่ากลัวมากกว่าจะชวนรู้สึกทำให้ "หน้าใส" เวสต์บอกว่าเขาต้องการจัดแสดงสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับในความล้มเหลวหรือผิดพลาดมากกว่าจะเย้ยหยันหรือละเลยความผิดพลาด เขาบอกอีกว่าการจะสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ได้ต้องอาศัยความปลอดภัยทางจิตวิทยา คือบรรยากาศที่ให้คนเป็นคน ให้คนมีความไม่สมบูรณ์แบบได้ ให้คนถามคำถามอะไร "โง่ๆ" ได้โดยไม่ถูกตัดสิน ความปลอดภัยทางจิตวิทยาไม่เพียงแค่ทำให้คนทำงานมีความสัมพันธ์กันได้มากขึ้นแต่ยังส่งเสริมกำลังการผลิต ความสำเร็จ และนวัตกรรม ด้วย จากการเรียนรู้ของซิลิคอนวัลเลย์ แหล่งบริษัทไอทีชั้นนำของโลก เวสต์บอกว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนให้ความล้มเหลวกลายเป็นความสำเร็จได้คือการเรียนรู้ "ดังนั้นถ้าคุณไม่เรียนรู้เวลาที่คุณทำพัง คราวนี้คุณจะได้ชิบหายของจริง"
เรียบเรียงจาก Sweden's Museum of Failure: A spectacular catalogue of the world's worst innovations, Quartz, 13-04-2017 This Sexist Bic Pen Ad Is Seriously The Wrong Way To Celebrate Women's Day, The Huffington Post, 11-08-2015 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
รายงานพิเศษ: ทิศทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้สู่อนาคต Posted: 16 Apr 2017 06:35 AM PDT ทวี สอดส่อง เห็นว่า "คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา" ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นทั้งโอกาสและสิ่งท้าทายต่อการศึกษาของชายแดนใต้ พร้อมเสนอแนวทางจัดการศึกษาบนฐานศักยภาพและบริบทของท้องถิ่นที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงการศึกษากับประเทศเพื่อนบ้านและโลกมุสลิม เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานครบรอบ 10 ปี การสถาปนาสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในงานมีการอภิปราย การบรรยายพิเศษ และการบรรยายธรรม โดยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้นำทางศาสนา หลายท่าน อาทิ Prof. Emeritus Dato' Dr. Mahmood Zuhdi Prof. Dr. Wankamal ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ ต่วนฆูรู บาบอ หะยี อิสมาแอ ดะอาล๊ะ (บาบออิสมาแอ สปันญัง) ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ การบรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้สู่อนาคต" โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายรัฐมนตรี
การศึกษาที่ดีคืออะไรพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เริ่มต้นการบรรยายด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาว่า "ถ้าจะดูอดีตของสังคมใดให้ดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ไปดูที่หน่วยปฏิบัติ แต่ถ้าจะดูอนาคตให้ไปดูที่สถาบันการศึกษา" และมองว่าในการพัฒนาสังคมหรือประเทศต้องคำนึงถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะ "อดีตคือบทเรียน ปัจจุบันและอนาคตคือภาระที่เราต้องรับผิดชอบ" พ.ต.อ.ทวี ยังมองว่าการศึกษา คือ แปรสภาพจากคนที่ไม่รู้ให้กลายเป็นคนที่รู้และมีคุณธรรม ดังนั้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการศึกษาต้องอยู่ที่ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจต่อชีวิต (เช่น หลักการชีวิตตามแนวทางศาสนา) และด้านวิชาการ/อาชีพ (เช่น ผู้เรียนมีความคิด มีปัญญา และรู้จักเทคโนโลยี) นอกจากนั้น รูปแบบการเรียนก็ยังมีความสำคัญ ต้องเข้าใจว่า "โรงเรียน ไม่ใช่โรงสอน" ในการเรียนควรต้องมีรูปแบบที่สร้างปฏิสัมพันธ์ในหลากหลายทาง ทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ปฏิสัมพันธ์จากนักเรียนสู่ครู ปฏิสัมพันธ์จากครูสู่นักเรียน และปฏิสัมพันธ์จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริงสู่ครูและนักเรียน ในกรณีหลังนี้ การจัดให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมหรือสภาพความเป็นจริงนั้นมีความสำคัญต่อประสิทธิผลการเรียนการสอนมาก ไม่ควรเน้นวิธีที่ครูหรือนักเรียนเป็นศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น การศึกษาต้องถูกตัดสินด้วยคุณภาพและความเป็นสากล (เมื่อเรียนจบแล้ว ผู้เรียนสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ ณ สถานที่ใดก็ได้ สามารถที่จะอยู่ร่วมกันผู้คนในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้) เขาได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคน โดยสิงคโปร์มีครูที่มีคุณภาพและมีนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม ต่อเนื่อง และเข้มแข็ง
การศึกษาชายแดนใต้เป็นการศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสนา ภาษา วิถีชีวิตของประชาชนพ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้ให้ภาพลักษณะการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในแง่หนึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับทั่วไปเช่นเดียวกันกับที่ใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่นี่มีระบบการศึกษาเฉพาะที่ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสนา ภาษา วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เขาเล่าว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ให้ความสำคัญกับการศึกษาในด้านศาสนาของบุตรหลานอย่างมาก เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษานอกจากจะเรียนในโรงเรียนตามปกติในวันจันทร์ถึงศุกร์แล้ว ก็ยังไปเรียนศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดด้วย นอกจากนั้น หลังเลิกจากโรงเรียนในแต่ละวัน เด็กๆ ยังมักไปเรียนอัลกุรอานตามบ้านของผู้รู้ หรือ "ปราชญ์อัลกุรอาน" ในหมู่บ้าน เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็นิยมเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่าที่จะเรียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจัดการเรียนการสอน 2 หลักสูตรควบคู่กันไป คือ หลักสูตรสามัญศึกษา และ หลักสูตรอิสลามศึกษา เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนบางส่วนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในประเทศ ซึ่งที่ชายแดนใต้มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 7 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 2 แห่ง น่าสนใจว่าการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น ประเทศอียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จอร์แดน ซาอุดีอาระเบียน ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ เป็นที่นิยมของคนที่นี่จำนวนไม่น้อย ขณะที่บางส่วนให้ลูกหลานศึกษาต่อสายอาชีพที่วิทยาลัยชุมชนหรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 23 แห่ง สำหรับผู้ที่ต้องการมีความรู้ด้านศาสนาเพิ่มเติมก็เข้าศึกษาต่อในสถาบันปอเนาะ อันเป็นรูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่มีมานานนับร้อยปี ดำเนินการสอนโดยปราชญ์อิสลามศึกษาหรือโต๊ะครู
ปัญหาของการศึกษาที่ชายแดนใต้สำหรับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มองเห็นปัญหาหลายประการ เขาอ้างอิงข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในด้านการจัดการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมของตัวแทนนักเรียนและครูจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2558[1] ว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครูโรงเรียนเอกชนมีเงินเดือนต่ำและไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ขณะที่การจัดการเรียนสอนยังเน้นเฉพาะรูปแบบที่ครูเป็นศูนย์กลาง จนเด็กขาดการแสดงออก รวมทั้งปัญหาการขาดความสมดุลระหว่างหลักสูตรสามัญกับหลักสูตรศาสนา และปัญหารายวิชาที่มากเกินไป เนื่องจากต้องเรียนทั้งสองหลักสูตร จนทำให้การเรียนของเด็กไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ระบบการศึกษาในชายแดนภาคใต้ก็ยังขาดความเชื่อมโยงกับการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีปัญหาการเทียบโอนวุฒิหรือโอนหน่วยกิตของนักเรียนที่เรียนจบจากต่างประเทศ เช่น หากเรียนจบมัธยมจากประเทศมาเลเซีย ก็ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยได้เนื่องจากจำนวนปีในชั้นมัธยมปลายของสองประเทศแตกต่างกัน ในเชิงภาพรวมปรากฏปัญหาว่า เมื่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนจบการศึกษา ก็ดูเหมือนว่าการเข้ารับราชการหรือเป็นพนักงานราชการจะเป็นช่องทางเดียวในการประกอบอาชีพ และมักประสบปัญหาว่าตำแหน่งงานเหล่านี้มีอยู่น้อย จึงเกิดความผิดหวัง สิ่งนี้สะท้อนว่าการศึกษายังไม่เชื่อมโยงกับศักยภาพและความถนัดพื้นฐานของพื้นที่ ซึ่งก็คือ อาชีพทางด้านเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนยาง ทำสวนผลไม้ ทำนา และการปศุสัตว์ นอกจากนั้นการที่ค่าแรงงานในพื้นที่มีราคาถูก อาชีพเกษตรกรรมที่เสื่อมโทรม การแพร่ระบาดของยาเสพติด (โดยเฉพาะน้ำกระท่อม) และสถานการณ์ความไม่สงบ ได้ผลักดันให้เยาวชนส่วนหนึ่งจำต้องไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย ที่มีรายได้มากกว่าและสามารถเข้าทำงานโดยไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา
การศึกษากับแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้แม้การศึกษาจะยังคงมีปัญหาอยู่มาก แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็ยังมองว่าการศึกษาจะมีส่วนอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาของชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ความไม่สงบ และ การพัฒนาที่ก่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ เขามีข้อเสนอหลายอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่นี่ ประการแรก การทำให้สถาบันการศึกษาเป็นของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึง การเป็นที่รักและเป็นความภูมิใจของคนในพื้นที่จากการผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพ และผลิตงานวิชาการเพื่อช่วยแก้ปัญหาของท้องถิ่น กรณีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ที่รากฐานมาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยพยาบาล นั้น ควรจะต้องพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตมลายูมุสลิมในสาขาที่ท้องถิ่นต้องการ อันได้แก่ บัณฑิตด้านการเกษตร การพาณิชย์ วิศวกรรม พยาบาลและแพทย์ ตลอดจนผลิตผู้มีความสามารถด้านภาษาอาหรับ ภาษามลายูกลาง และภาษาอื่นๆ ที่ใช้อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษามลายูที่เป็นพื้นฐานสำคัญในฐานะภาษาแม่ของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นภาษาสากลด้วยในเวลาเดียวกัน ประการที่สอง การสร้างการศึกษาแบบไม่มีพรมแดนและเป็นสากล ที่ผ่านมาเนื่องจากความด้อยคุณภาพของการศึกษาภายในประเทศ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งลูกหลานไปเรียนต่อในต่างประเทศกันมาก นักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่คุณภาพระดับสากล และเป็นสิ่งที่รัฐต้องส่งเสริม พร้อมกับควรเร่งพัฒนาการศึกษาภายในประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ รวมทั้งควรสร้างความเป็นสากลของการศึกษา เช่น การมีหลักสูตรที่เป็นเอกภาพในประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเทียบโอนวุฒิ อนึ่ง ในการสร้างการศึกษาแบบไม่มีพรมแดนนั้น มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เองก็สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการจัดการศึกษากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ของประเทศในคาบสมุทรมลายูที่มีคุณภาพการศึกษาสูง (ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย) และเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในโลกมุสลิม ประการถัดมา การทำให้พื้นที่ชายแดนใต้เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาของประเทศไทย ที่ผ่านมามีชาวมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ นิยมส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนที่มีหลักสูตรอิสลามศึกษาและเรียนในปอเนาะใน จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก รวมทั้งนักเรียนชาวต่างชาติ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม เข้ามาเรียนด้วยจำนวนไม่น้อย พวกเขาเหล่านี้ได้กลับไปเปิดสถาบันปอเนาะที่ประเทศตนเอง ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะพัฒนาศักยภาพนี้ของพื้นที่ชายแดนใต้ให้เติบโต ประการสุดท้าย การนำศักยภาพของปัญญาชนท้องถิ่นมาพัฒนาการศึกษา ทุนทางความรู้ที่เป็นมรดกสำคัญของคนชายแดนใต้ก็คือ การมีพื้นฐานภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อยอด ที่สำคัญ เรามีปัญญาชนมุสลิมที่เรียนจบจากต่างประเทศจำนวนนับหมื่นคน ปัญญาชนเหล่านี้ปัจจุบันเป็นโต๊ะครูและอุสตาสในสถาบันการศึกษาต่างๆ และในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีคนจากชายแดนใต้ที่พำนักตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ เช่น ในมาเลเซียและในซาอุดิอาระเบีย เราควรต้องนำศักยภาพของปัญญาชนเหล่านี้มาพัฒนาการศึกษาและสร้างองค์ความด้านรู้ทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น รัฐธรรมนูญ 2560 กับการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในการบรรยายครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ยังได้ฝากข้อห่วงใยไปยัง "คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา" ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หลังการประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ประเด็นเหล่านี้เริ่มเป็นความวิตกกังวลของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้อกังวลเดิมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ ฉบับ พ.ศ. 2550 ที่รัฐจัดให้มีการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงชั้น ม.6/ปวช. แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช. ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามหลังออกมา แต่ผู้คนชายแดนใต้ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจกับอนาคต อีกประเด็นก็คือ การที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กล่าวถึงการให้บทบาทขององค์กรศาสนาในการจัดการศึกษาร่วมกันกับรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 วรรค 3 บัญญัติว่า "รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล....." ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงบทบาท "องค์กรทางศาสนา" ในการจัดการศึกษา ต่างจากในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 80 วรรค 4 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกัน" สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนที่องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนพระปริยัติธรรมของศาสนาพุทธ หรือโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนตาดีกาในศาสนาอิสลาม อนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกาจำนวน 2,103 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 204,550 คน และมีสถาบันการศึกษาปอเนาะจำนวน 473 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 44,658 คน หากรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ระบุถึงการสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนาจัดการศึกษา ก็เป็นที่น่ากังวลว่าในอนาคตสถาบันการศึกษาทางศาสนาเหล่านี้จะยังคงได้รับการดูแลจากรัฐอีกหรือไม่ อย่างไร นอกจากนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่ารัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งสิ่งนี้เคยมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า อีกทั้งยังกำหนดให้ตั้งกองทุนเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหน้าที่รัฐโดยตรง สุดท้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การที่จะมี "คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา" ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วันหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เขาเสนอว่า ในคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ควรมีผู้รู้ที่เป็นตัวแทนของภาคการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปร่วมอยู่ด้วย เพราะหากไม่มี เรื่องราวและโอกาสในการพัฒนาสถาบันการศึกษาของท้องถิ่น เช่น ปอเนาะ ตาดีกา และการส่งเสริมภาษามลายู ฯลฯ ก็อาจถูกหลงลืมหรือจะหายไป ผู้รู้ในพื้นที่ควรจะต้องทำการประชุมหรือ "ซูรอ" และหาผู้แทนไปร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นี้ แต่หากไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วม กฎหมายกำหนดว่าคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในเวลาสองปี คนชายแดนใต้จึงยังมีอีกช่องในช่วงการทำประชาพิจารณ์และถามความเห็นประชาชน ทั้งนี้ การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ประชาชนต้องสนใจการออกกฎหมายด้วย เพื่อให้เสียงของคนในพื้นที่ได้รับการเหลียวแล
เชิงอรรถ [1] The First ASEAN Youth Inter-Dialogue 2015 (เวทีเสวนาเยาวชนอาเซียนครั้งที่ 1 ปี 2558) จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ ศอ.บต. เมื่อ 5-13 มกราคม 2558
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
หมายเหตุประเพทไทย #153 พลวัตสังคมเปลี่ยนละครไทย Posted: 16 Apr 2017 06:03 AM PDT กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่
หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ คำ ผกา และแขกรับเชิญ ประภาภูมิ เอี่ยมสม พูดคุยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของละครไทยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 โดยที่ละครไทยไม่จำเป็นต้องน้ำเน่าเสมอไป มีทั้งละครในยุคที่ไม่คุมเข้มเซ็นเซอร์ ละครที่ทิ้งโจทย์ใหญ่ให้สังคมคิดเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงกับการแก้แค้นอย่างเรื่อง "ล่า" เคยมีละครที่ผู้หญิงมีบทบาทนำอย่าง "พิษกุหลาบ" ฯลฯ เมื่อผ่านยุครัฐประหาร 2 รอบคือ 2459 และ 2557 ในยุคนี้เริ่มมีการจัดเรตรายการทีวี และมีกลไกควบคุมสื่อรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตละครหลายเรื่องที่ผลิตซ้ำความคิดเรื่องปราบโกงนักการเมือง หรือละครแนวสั่งสอนศีลธรรมแบบ "มงกุฎดอกส้ม" "ดอกส้มสีทอง" แต่ช่องทางการรับชมละครไม่ได้จำกัดแค่ฟรีทีวี 6 ช่องอีกต่อไป เมื่อมีช่องทีวีดิจิทัลหลายสิบช่อง อีกทั้งยังมีแพลทฟอร์มใหม่ๆ เช่น LineTV ก็ทำให้เนื้อหาและรูปแบบของละครหลากหลายมากขึ้น เช่น "ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์" ฯลฯ พร้อมโจทย์ชวนขบคิดว่าแนวโน้มละครไทยจะความมีหลากหลาย มีเรื่องเล่าใหม่ๆ แข่งขันกับเรื่องเล่าของอุดมการณ์ชุดเดิมได้หรือไม่ หรือสุดท้ายก็เข้าอีหรอบเดิม ทั้งหมดนี้ติดตามได้จากรายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
นักศึกษาและหลานคณะราษฎรเข้าแจ้งความหมุดอภิวัฒน์ 2475 หาย Posted: 16 Apr 2017 03:25 AM PDT มีนักศึกษา 3 ราย และทายาทคณะราษฎรรุ่นหลานแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเรื่องหมุดคณะราษฎรว่าหายไปได้อย่างไร โดยตำรวจรับเรื่องเพราะทรัพย์ที่หายเป็นของราชการ-ผู้ใดก็ได้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ ขณะที่หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ชี้เป็นหมุดบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นของคนไทยทุกคน พร้อมถาม "อภิสิทธิ์" จะไม่ออกมาพูดหน่อยหรือ ทั้งที่ประชาธิปัตย์ก็กำเนิดขึ้นโดยหนึ่งในคณะราษฎร 16 เม.ย. 60 ที่ สน.ดุสิต กรุงเทพมหานคร มีผู้เดินทางมาแจ้งความขอลงบันทึกประจำวันให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหายไป ได้แก่ พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อายุ 30 ปี หลานชาย หลวงเสรีเริงฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมี ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ อายุ 19 ปี นิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณภัทร คะชะนา อายุ 22 ปี นิสิตปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้หมดเข้าพบ ร.ต.อ.มอ ระนา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวัน ที่มาของภาพ: เพจบ้านราษฎร์ โดยภัคจิรา ระบุว่า หลังจากทราบข่าวทางอินเทอร์เน็ต จึงเข้าลงบันทึกประจำวันพร้อมมาสอบถามว่าหมุดดังกล่าวหายไปได้อย่างไร ใครเป็นผู้ที่เอาไป และทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ยังไม่ได้สอบถามเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณลานพระรูปทรงม้า ว่าพบเห็นใครมาเอาหมุดดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตามจะคอยติดตามเรื่องนี้จนกว่าจะทราบว่าหมุดดังกล่าวหายไปได้อย่างไร ในคำร้องแจ้งความของกลุ่มนักศึกษาระบุว่า "รู้สึกกังวลใจเนื่องจากหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี คือมีอายุ 81 ปีแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนและติดตามโดยเร็ว" ที่มาของภาพ: เพจบ้านราษฎร์ ขณะที่พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขออาสาเป็นหนังหน้าไฟแทนผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่ไม่สบายใจ เนื่องจากตัวเขาอายุยังไม่มาก คิดว่าคงได้รับความเมตตาจากผู้หลักผู้ใหญ่ สำหรับหมุดนั้นเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเราได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดในประเทศไทย ส่วนของลูกหลานคณะราษฎรมีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ จึงขออาสามาในวันนี้ ด้วยความที่คณะราษฎรมีผู้เกี่ยวข้องทั้งพลเรือนและทหารจำนวนมากในยุคนั้น บุคคลเหล่านั้นยังอยู่ในราชการเป็นจำนวนมากและมีลูกหลานเติบโตต่อมา หลายท่านที่เป็นตำรวจ ทหารที่ทั้งรับราชการและไม่รับราชการ มีการใช้คำพูดรุนแรงมาก จึงมาเป็นตัวแทน เพราะอยากทราบว่าหมุดคณะราษฎรหายไปได้อย่างไร และอยู่ที่ไหน จะดำเนินการอย่างไร ไม่ได้จะเอาเป็นเอาตายแต่อย่างใด เรื่องผ่านมาจะ 100 ปีแล้ว ผู้ใหญ่ของตนก็ทำงานกับฝ่ายความมั่นคงของท่านรองนายกรัฐมนตรี ตัวเขาเองก็เรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ รุ่นเดียวกับลูกท่านนายกรัฐมนตรีด้วย สุดท้ายอยากถามไปยังรุ่นพี่ที่รักคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าพรรคของท่านพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่และได้กำเนิดขึ้นมาโดยหนึ่งในคณะราษฎรคนหนึ่ง ท่านไม่คิดจะออกมาพูดหรือแสดงความรับผิดชอบบ้างเลยหรือ หมุดคณะราษฎรไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของประชาชนคนไทย อย่างไรก็ตามตนได้ไปสอบถามทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วในเมื่อท่านบอกไม่ทราบตนก็เคารพในคำตอบ ด้าน ร.ต.อ.มอ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้แล้ว ผู้กล่าวหามาขอลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วให้ช่วยติดตามทรัพย์สินที่หายไปคืนมา สำหรับทรัพย์สินที่หายไปนั้นเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เป็นผู้ใดก็ได้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าวจะต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชาให้พิจารณาต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
หน้ากากไผ่-บิลลี่-ชัยภูมิดำหัวปีใหม่ชาญวิทย์-นิธิกล่าวสุนทรกถาคนไทยในรัฐที่ไม่มีชาติ Posted: 16 Apr 2017 02:24 AM PDT หน้ากากไผ่ ดาวดิน บิลลี่ พอละจี และชัยภูมิ ป่าแส ร่วมดำหัวปีใหม่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-นิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยหลังรับพรแล้ว นิธิกล่าวสุนทรกถาโดยชี้ว่าชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม สะท้อนชะตากรรมของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัฐที่ปราศจากชาติ เพียงแต่โชคชะตายังไม่ได้ผันแปรให้เราต้องตกไปอยู่ในสถานะและจังหวะเวลาเดียวกับพวกเขาเท่านั้น วันสงกรานต์ปีนี้ใกล้ผ่านพ้น ประชาชนหน้าใสไร้เสรีภาพร่วมฉลองกันอย่างครึกครื้นราวกับไม่เคยมีความทุกข์มาก่อน คล้ายจะลืมไปว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสสนุกสนานตามสิทธิ์ที่พวกเขาพึงมีพึงได้ ก่อนที่ปีใหม่จะลาจากถอยหลัง ในวันเถลิงศก 2560 นี้ หน้ากากบิลลี่ พอละจี, ชัยภูมิ ป่าแส และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขอเป็นตัวแทนของผู้คนที่ถูกทำให้สูญหาย ผู้คนที่ถูกทำให้ตกตายโดยไร้ความผิด และนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำหลังลูกกรง จัดพิธีดำหัวปีใหม่ผู้อาวุโส ผู้เป็นที่นับถือ กล่าวคือ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริและ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พร้อมรับฟังสุนทรกถาจาก อ.นิธิและคำอวยพรจาก อ.ชาญวิทย์ เพื่อเป็นนิมิตหมายให้วันเถลิงศก 2560 คือวันเถลิงศักราชของอำนาจประชาชน เพื่อหมุนเข็มนาฬิกาเดินหน้าและเพื่อจุดประกายแสงสว่างแห่งความหวังของการก่อกำเนิดชาติไทยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ด้านชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวอวยพรว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อย่างไผ่ ดาวดิน กับเพื่อนๆ ของเขา รวมทั้งคนอย่างชัยภูมิ ชาวละหู่ ทำให้คนแบบพวกเราๆ ท่านๆ ที่สูงอายุแล้ว วัยชราแล้วยังพอที่จะมีความหวังกับสังคมไทยอยู่บ้าง ทำให้เราคิดว่ามันจะมีสักวันหนึ่งที่เราจะพบแสงสว่าง ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวสุนทรกถาหัวข้อ "รัฐที่ไม่มีชาติ" ว่า คนยิวส่วนหนึ่งเคยอยู่ในชาติที่ไม่มีรัฐ แต่คนไทยอยู่ในรัฐที่ไม่มีชาติสืบมาจนทุกวันนี้ ชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม – บิลลี่ พอละจี, ชัยภูมิ ป่าแส, และไผ่ ดาวดิน – สะท้อนชะตากรรมของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัฐที่ปราศจากชาติ เพียงแต่โชคชะตายังไม่ได้ผันแปรให้เราต้องตกไปอยู่ในสถานะและจังหวะเวลาเดียวกับพวกเขาเท่านั้น ทั้งสามคนล้วนเป็นผู้แข็งขืนต่อรัฐ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของเครือข่ายอุปถัมภ์ – กลุ่มด้วยกัน คือเครือข่ายแขนขาของรัฐสมัยใหม่ อันประกอบด้วยหลายเครือข่าย นับตั้งแต่กองทัพ ไปจนถึงกรมกอง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ, อีกเครือข่ายหนึ่งคือองค์กรธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ของเอกชน, ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ทั้งสอง ยังมีเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดเล็กในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งต้องเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่สองกลุ่มข้างต้น ความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายอุปถัมภ์ และภายในเครือข่ายอุปถัมภ์แต่ละเครือข่าย มีความตึงเครียดสูงเพราะต้องแข่งขันกันเอง และช่วงชิงความเป็นเจ้าของรัฐเหนือกลุ่มอื่นหรือเครือข่ายอื่น บารมีของบุคคลอาจช่วยบรรเทาความตึงเครียดดังกล่าวลงได้บ้าง แต่ไม่อาจขจัดไปได้หมดอย่างสิ้นเชิง บิลลี่แข็งขืนกับบางหน่วยงานในเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เป็นแขนขาของรัฐ เพื่อปกป้องสิทธิในชีวิตของตนเองและชุมชนของตน เท่ากับบิลลี่ประกาศความเป็นเจ้าของรัฐขึ้นมาบ้าง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เป็นเจ้าของรัฐใดๆ เลย บิลลี่หรือคนอย่างบิลลี่จึงไม่ควรมีอยู่ เขาหายตัวไปในวันหนึ่ง ร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้ไม่ถูกมองเห็นชั่วกัลปาวสาน ชัยภูมิ ป่าแส หนึ่งในคนอ่อนแอที่สุดในสังคมไทย เพราะเขาคือคนไร้รัฐที่แม้แต่ลมหายใจก็ต้องขอยืมจากรัฐไทย แต่เขาบังอาจแข็งขืนต่อเจ้าหน้าที่ระดับล่างสุดของเครือข่ายแขนขาของรัฐ จึงถูกเด็ดชีวิตลงอย่างย่อๆ ด้วยกระสุนนัดเดียว คนไทยที่ไม่อ่อนแอขนาดนั้นก็เคยสูญเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว การเสียชีวิตของชัยภูมิจึงถูก "ไม่นับ" ได้อย่างง่ายๆ เช่นนี้ กรณีของไผ่ ดาวดินน่าจะเป็นที่ตระหนกแก่คนไทยทั่วไปยิ่งกว่าทั่้งสองคนข้างต้น เขามีชื่อเสียงโดดเด่นเกินกว่าจะถูกอุ้มหาย โดยมองไม่เห็นร่องรอย หรือถูกฆ่าอย่างย่อๆ ด้วยกระสุนนัดเดียว การแข็งขืนของไผ่ ดาวดินกลายเป็นคำประกาศสร้างชาติของคนไทยทั้งหมด เพราะการแข็งขืนของเขาตั้งอยู่บนฐานคติว่าชาติย่อมเป็นสมบัติของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากเขาหรือคนอย่างเขาอยู่รอดปลอดภัย ชาติกำลังอุบัติขึ้นในรัฐไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไผ่จึงต้องถูกจัดการเป็นตัวอย่างให้ได้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายที่อ้างรัฐเป็นสมบัติส่วนตัว จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือรัฐในนามของชาติไม่ได้เลย ที่น่าตระหนกกว่ากรณีอื่นก็เพราะ เครือข่ายอุปถัมภ์ที่ครอบครองรัฐเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว จำเป็นต้องใช้กลไกรัฐที่เคยอำพรางความพิกลพิการของรัฐที่ไร้ชาติออกมาเป็นเครื่องมือเก็บไผ่อย่างโจ่งแจ้ง ทั้งสามกรณีไม่ได้สร้างความตระหนกแก่สังคมไทยมากนัก มีคนไทยจำนวนน้อยเท่านั้นที่ตระหนกว่า หากสามคนมีชะตากรรมเช่นนี้ได้ ชีวิตของเขาเองก็ตกอยู่ในอันตรายไม่น้อยไปกว่ากัน ชาติจะปล่อยให้เพื่อนร่วมชาติตกเป็นเหยื่อของอธรรมเช่นนี้ไม่ได้ เพราะชาติคือสิ่งสร้างทางสังคมและการเมือง เพื่อปกป้องพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มียกเว้น หากยกเว้นแม้เพียงรายเดียว คนอื่นที่เหลือทั้งหมดก็จะสูญเสียความมั่นคงปลอดภัยไปหมด ความเงียบสงบจนเกินไปต่อสามกรณีที่กล่าวนี้ พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า คนไทยอยู่ในรัฐที่ไม่มีชาติ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
TCIJ: ใครๆก็เชียร์ ‘สายอาชีวะ’ แต่ทำไมเด็กไม่เลือกเรียน? Posted: 16 Apr 2017 01:50 AM PDT รายงานพิเศษจาก TCIJ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ใคร ๆ ก็เชียร์ให้เด็กเรียน'สายอาชีวะ เพราะอยากให้ประเทศมี'แรงงานฝีมือ' แต่เด็กกลับไม่เลือกเรียน ปัญหาหัวเลี้ยวหัวต่อคือ ม.3 พบครูส่งเสริม-สนับสนุนให้เรียนต่อ ม.ปลาย ถึง 60.24% มีเพียง 39.76% ที่สนับสนุนให้เรียนต่อ ปวช. เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.5 พ่อแม่ยากจนมีแนวโน้มให้เด็กเรียนอาชีวะ หนำซ้ำมีภาพจำ'เกเร-หัวไม่ดี' เด็กจึงไม่เลือกเพราะอยากมีทางไปต่อที่ดีกว่า เด็กไม่เลือกเรียนสายอีวะ พบปัญหาหัวเลี้ยวหัวต่อคือ ม.3 ครูส่งเสริม-สนับสนุนให้เรียนต่อม.ปลาย ถึง 60.24% มีเพียง 39.76% ที่สนับสนุนให้เรียนต่อ ปวช. ที่มาภาพประกอบ: ภาพยนตร์โฆษณาชุด "ฝีมือชน คนสร้างชาติ" โดยมูลนิธิเอสซีจี ไทยแลนด์ 4.0 เห็นค่า 'คนจบอาชีวะ' แค่ 'แรงงานฝีมือ''ประเทศไทย 4.0' ถูกนำเสนอเป็นโมเดลพัฒนาประเทศในระลอกล่าสุด (ต่อจากยุค 1.0 ยุคพึ่งพิงภาคเกษตร, 2.0 ยุคพึ่งพิงอุตสาหกรรมเบา และ 3.0 ยุคพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก) มีการให้ความหมายกว้าง ๆ ของยุค 4.0 ไว้ว่าเป็นยุคของ 'เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม' ซึ่งโครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้คือต้องมีแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีการยกข้อมูลเปรียบเทียบจาก รายงาน Human Capital Report 2016 ระบุถึงสัดส่วนของแรงงาน ฝีมือของประเทศสวีเดน, เยอรมนี, สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ ที่ร้อยละ 48 ส่วนประเทศส่วนไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้น ในแต่ละปี ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาถือเป็น 'แรงงานฝีมือ' เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก แต่ระบบการศึกษาของไทยกลับผลิตออกมาได้น้อย สวนทางกับผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ (อ่านเพิ่มเติม: จบ ป.ตรี ทะลักตลาดแรงงาน 7.38 แสนคน สวนทางนายจ้างต้องการมัธยมมากกว่า) โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการว่า ในปี 2560 นี้จะมีผู้จบการศึกษาระดับ ปวช.3 จำนวน 183,233 คน และจะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 35,584 คน ส่วนผู้จบการศึกษาระดับ ปวส.2 จะมี 161,924 คน แต่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 95,600 คนเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมใน 'จับตา: ผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน 'สายอาชีวะ' สาขาวิชาต่าง ๆ ปี 2559-2561') จาก กระแสเรียกร้องล่าสุดนี้ หลายภาคส่วนได้ผลักดันให้รัฐออกมาตรการส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนเรียนอาชีวศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงาน โดยมีการประกาศว่าภายใน 10 ปีจากนี้ ไทยตั้งเป้าหมายผลิตแรงงานฝีมือให้ได้ถึง 12 ล้านคน -- แต่เมื่อมองความเป็นจริงในปัจจุบันแล้วพบว่าทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครองเองมักจะไม่เลือกเส้นทางการศึกษาสายอาชีวะมากนัก หากเด็ก ๆ มีทางไปต่อในระบบการศึกษาที่ดีกว่า ภาพจำเด็กอาชีวะ 'ยกพวกตีกัน-หัวไม่ดี'นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกันและความรุนแรง เป็นอีกหนึ่งภาพจำในสังคมไทย ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย 'ภาพจำ' ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวะในสังคมไทย ก็คือความรุนแรงจากการ 'ยกพวกตีกัน' ของนักเรียนอาชีวะในกรุงเทพและปริมณฑล (ปัญหานี้จะพบได้น้อยกว่าในสถาบันอาชีวะตามต่างจังหวัด) หลายครั้ง สื่อมักประโคมข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงของนักเรียนอาชีวะ(ส่วนน้อยที่ก่อความรุนแรง) ให้ดูน่ากลัวเกินจริง และรัฐก็มักจะออกมาตรการควบคุมเด็กอาชีวะอย่างเข้มงวดในแต่ละครั้งที่มีข่าวแล้วก็หายไปเมื่อเรื่องเงียบ วนเวียนซ้ำๆ มาหลายยุคหลายสมัย (ล่าสุดหลังการรัฐประหาร 2557 ก็ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้ ม.44 โอนอำนาจการกำกับดูแลโรงเรียนอาชีวศึกษาของเอกชน ให้ไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) รวมทั้งมีความพยายามของสถาบันการศึกษาอาชีวะเองที่จะปรับภาพลักษณ์ตนเอง อย่างเมื่อปี 2558 สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยมีมติจากที่ประชุมผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการวิทยาลัยเอกชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 19 แห่งว่า จะให้สัตยาบันในการดูแลพฤติกรรมนักศึกษาอย่างเข้มงวดไปในทิศทางเดียวกัน โดยในปีการศึกษา 2559 จะไม่รับนักเรียนที่มีรอยสักและระเบิดหูเข้าเรียนตามเกณฑ์พิจารณาเรื่องบุคลิกภาพ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลทรงผม เครื่องแต่งกาย การพกอาวุธ และยาเสพติด ซึ่งมติสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ต่อมาก็ไม่มีการติดตามมาตรการนี้ว่ามีการบังคับใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีภาพจำว่า 'เด็กเรียนอาชีวะเป็นเด็กหัวไม่ดี' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ ครูแนะแนว (บุคคลสำคัญในการชี้อนาคตทางการศึกษาของเด็กโดยจะขอกล่าวในหัวข้อต่อไป) ผู้ปกครอง รวมทั้งตัวเด็กเองไม่เลือกเรียนอาชีวะ เพราะในรุ่นเดียวกันถ้าใครเลือกเรียนอาชีวะมักจะถูกมองว่าหัวไม่ดี ไม่ใช่เด็กเก่งที่มีศักยภาพจะเรียนต่อในสายสามัญได้ อดีตนักเรียนอาชีวะรายหนึ่ง ที่เรียนในสาขาช่างเชื่อมโลหะในระดับปวช. และ ปวส. แล้วสามารถจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าตอนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ขอโควต้าเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งในภาคเหนือในสาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ ซึ่งในขณะนั้น (จนถึงปัจจุบัน) ภาพลักษณ์ของเด็กที่เรียนต่อช่างเชื่อมโลหะคือเด็กที่หัวไม่ดี โควต้าของวิทยาลัยเทคนิคเองนั้นอันดับแรกที่เกรดสูง ๆ จะเป็น ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างไฟฟ้า, สถาปัตยกรรม, ช่างยนต์, ช่างกล, ก่อสร้าง และช่างเชื่อม ตนเองจบ ม.3 ก็เกรดไม่ดีนักแต่ยังได้โควต้าอยู่เพราะเด็กหัวดี ๆ ไม่ค่อยจะขอโควต้าช่างเชื่อม คนอยากเรียนช่างถ้าไม่ได้โควต้าก็จะไปสอบแข่งขันแทนก่อน และแม้ในหมู่เด็กเรียนช่างด้วยกันเองก็จะล้อเด็กที่เรียนช่างเชื่อมโลหะว่าเป็นเด็กที่หัวไม่ดี ตอนนี้หลานชายก็จบ ม.3 และครอบครัวส่งเสริมให้เรียนอาชีวะ ถ้าไม่เรียนสายนี้ก็ให้ออกมาทำงาน เพราะหลานชายเรียนไม่ค่อยเก่ง ทางครอบครัวเลยอยากให้เรียนอาชีวะ จะเรียนจบง่ายกว่าสายสามัญ "ตอนนี้หลานชายก็เลือกมาเรียนอาชีวะแล้ว คือหลานหัวไม่ค่อยดีเหมือนเราตอนนั้น ถามว่าถ้าย้อนเวลาไปได้ ถ้าเป็นเด็กหัวดีอยู่ห้องเก่งได้เกรดสามกว่า ๆ เราคงไม่เลือกเรียนอาชีวะ อยากเรียนต่อ ม.ปลายอยู่แล้ว" อดีตนักเรียนอาชีวะช่างเชื่อมโลหะรายนี้กล่าว นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส=กลุ่มเป้าหมายสถาบันอาชีวะอาจารย์ของสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งในภาคเหนือระบุกับ TCIJ ว่า ปัจจุบันนี้กลุ่มเป้าหมายสำคัญของสถาบันอาชีวะเอกชนในภาคเหนือ กลับกลายเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (โรงเรียนขนาดเล็กที่สอนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) ทุก ๆ ปีสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจะออกไป 'แนะแนวและแนะนำสถาบัน'แก่นักเรียนกลุ่มนี้ และโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ก็จะเป็นโรงเรียนประจำอำเภอรอบนอกต่าง ๆ ส่วนนักเรียนในตัวอำเภอเมืองในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและนักเรียนมีคุณภาพ มักจะไม่เลือกเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา จากข้อสังเกตของอาจารย์ท่านนี้ชี้ว่า เด็กที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถเรียนแข่งขันในระดับ ม.ปลาย และอุดมศึกษาได้แล้ว มักจะเรียนต่ออาชีวะ ทั้งเรื่องฐานะและเกรดเฉลี่ย แต่ก็มีน้อยรายที่จะคิดถึงเรื่องการจบไปเพื่อประกอบอาชีพ ยกเว้นเด็กที่มีฐานะยากจนจริง ๆ ที่อยากมีอาชีพแน่นอน หรือเด็กที่ถูกครอบครัวปลูกฝังและบังคับให้สืบทอดกิจการของครอบครัวที่ต้องใช้ทักษะทางช่าง เช่น ร้านซ่อมรถ หรือร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กของครอบครัว แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กที่เกเรมาก ๆ ที่ไม่สามารถเข้าระบบของโรงเรียนสายสามัญหรืออาชีวะของรัฐบาลได้ เด็กเกเรเหล่านี้ก็จะเข้ามาศึกษายังสถาบันอาชีวะเอกชนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องอัตราการออกกลางคันสูง "เด็กในระดับ ม.3 ไม่ได้มองอนาคตของเขายาวเท่าไร เขาคิดแค่หาที่เรียนต่อไปในปีต่อไปเทอมต่อเทอมเท่านั้น พวกที่เลือกเรียนเพื่อประกอบอาชีพจริง ๆ ก็มี แต่มักจะเป็นเด็กยากจนหรือเด็กที่มีหัวคิดหน่อยหรือที่บ้านทำงานช่างอยู่แล้วมากกว่า ส่วนเด็กเกเรที่ที่อื่นไม่เอาแล้ว เด็กพวกนี้ก็เป็นปัญหาของสถาบันเพราะพวกเขาแทบไม่ได้มาเรียนหาความรู้เลย สัดส่วนการออกกลางคันและเปลี่ยนที่เรียนของเด็กกลุ่มเกเรมีสูงมาก" อาจารย์จากสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนระบุกับ TCIJ อัตราการออกกลางคัน : สูงปัญหาสำหรับเด็กที่เรียนอาชีวะนั้นก็มีจริง ๆ เพราะด้วยวัยวุฒิที่ยังไม่สูงนักของเด็กที่เรียนจบ ม.3 แล้วศึกษาต่อในระดับ ปวช. ที่บางส่วนต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในขณะที่ยังไม่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตเพียงพอ ซึ่งต่างจากเด็กที่เรียนมัธยมปลายที่ส่วนใหญ่มักจะอยู่กับครอบครัวและบรรยากาศในโรงเรียนสายสามัญที่ค่อย ๆ ให้เด็กปรับตัวมีวุฒิภาวะสูงขึ้น คนละแบบกับสถาบันอาชีวะ ทำให้เด็กอาชีวะหลายต่อหลายคนไม่สามารถปรับตัวได้และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการ 'ออกกลางคัน' ที่ทำให้เด็กเหล่านั้นต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากการสำรวจเมื่อปี 2556 โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำการวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในสังกัดอาชีวศึกษา จำนวน 1,018 คน เรื่อง 'เด็กอาชีวะออกกลางคัน' จากการสอบถามเด็กอาชีวะในระดับชั้น ปวช .และ ปวส. พบว่าเด็กอาชีวะส่วนใหญ่ร้อยละ 73.38 เคยมีเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันออกกลางคันระหว่างเรียน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาส่วนตัว ร้อยละ 88.53 เช่น ไม่อยากเรียน ต้องทำงาน มีปัญหากับเพื่อน สุขภาพไม่ดี ติดแฟนและท้องระหว่างเรียน สาเหตุรองลงมา คือมีปัญหาครอบครัว ร้อยละ 85.27 เช่น ฐานะที่บ้านยากจนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่หย่าร้าง เลิกกัน และมีปัญหาเรื่องการเรียน ร้อยละ 80.84 เช่น เรียนยาก รู้สึกไม่ชอบสาขาวิชาที่เรียน เนื้อหาที่เรียนไม่ตรงตามที่ต้องการ เป็นต้น
เผยเหตุเด็กไทยไม่เรียนอาชีวะ-ต้องพัฒนาครูแนะแนวให้เข้าใจจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเรียนสายอาชีวะนั้น น่าจะอยู่ในช่วงเวลาการตัดสินใจของนักเรียนระหว่างก่อนจบระดับชั้น ม.3 โดยในงานสำรวจรายงานผลการวิจัยเรื่อง 'ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีวะศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3' ของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2558 ที่ได้เก็บข้อมูลนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้น ม.3 ในปี 2558 จำนวน 6,308 คน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น นักเรียนจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับ ปวช. โดยได้รับข่าวสารจากครูหรืออาจารย์แนะแนวมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ครูส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 60.24 มีเพียงร้อยละ 39.76 เท่านั้นที่สนับสนุนให้เรียนต่อในระดับ ปวช.
ทั้งนี้จากผลการวิจัยของกองวิจัยตลาดแรงงาน มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ประการแรก ภาครัฐควรเร่งสร้างภาพลักษณ์ของการศึกษาสายอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญและความสำเร็จของผู้ที่ศึกษาในสายอาชีวศึกษา ประการที่สอง ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ โดยการร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ในการเข้าศึกษาดูงานในสถานประกอบการ เพื่อให้ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานและโอกาสความ ก้าวหน้าของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาที่ทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งจะได้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการแนะแนวการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับชั้น ม.3 ที่ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าครูมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนต่อในสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ดังนั้นเมื่อครู โดยเฉพาะครูแนะแนวมีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นก็จะให้ข้อมูลด้านการศึกษาในสายอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถเปรียบเทียบระหว่างสายอาชีวศึกษาและสายสามัญ และสามารถตัดสินใจเรียนต่อบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การประสบผลสำเร็จในชีวิตการเรียนและการทำงานในอนาคต ประการที่สาม การแนะแนวนักเรียนในระดับชั้น ม.3 ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานกับนักเรียนให้มาก เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจสภาพที่แท้จริงของตลาดแรงงานและสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และ ประการที่สี่ การแนะแนวการศึกษาและอาชีพควรให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพราะผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ปกครองเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเรียนต่อของนักเรียน โดยในเบื้องต้นอาจจัดกิจกรรมสัปดาห์แห่งการแนะแนวการเรียนต่อ ทุกปีในภาคการศึกษาที่นักเรียนจะสำเร็จการศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองมีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนต่อ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนค่านิยม และช่วยบุตรหลานในการตัดสินใจเรียนต่อในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยรูปแบบการดำเนินการอาจร่วมมือกันหลายภาคส่วน คือ กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงแรงงาน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับความรู้ที่ครอบคลุมครบถ้วน ทั้งด้านหลักสูตรสาขาวิชาที่จะเรียนต่อ สถานการณ์ตลาดแรงงาน และแนวโน้มความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรม
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
สนช. เตรียมแก้ข้อบังคับ ขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมพ้นสมาชิกภาพ Posted: 16 Apr 2017 12:13 AM PDT สนช. เตรียมแก้ข้อบังคับการประชุม ให้สอดคล้อง รธน.ใหม่ ผ่อนคลายกว่าเดิม ขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมต้องพ้นสมาชิกภาพ 16 เม.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ทำให้ สนช.ต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทันที่ที่เปิดประชุม สนช. วันที่ 20 เม.ย.นี้ จะเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการปรับแก้ระเบียบข้อบังคับการประชุมเป็นวาระแรก ก่อนพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ประธาน สนช. กล่าวว่า สำหรับระเบียบข้อบังคับการประชุมใหม่จะส่งผลต่อเรื่องระเบียบการลาของสมาชิก สนช. ที่จากเดิมจะนับการลาตามการลงมติ แต่ระเบียบใหม่จะนับการลาเป็นวัน ซึ่งหากขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ดังนั้นระเบียบใหม่นี้จะทำสมาชิกผ่อนคลายเรื่องกฎเกณฑ์ขาดสมาชิกภาพ เพราะจะไม่ทำให้ตัวเลขสถิติการลามากเหมือนที่ผ่านมา แต่ยังคงย้ำให้สมาชิก สนช. เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อลงมติผ่านกฎหมายสำคัญ เนื่องจาก สนช. ยังมีกฎหมายที่ค้านการพิจารณาอีกเป็นจำนวนมาก นายพรเพชร กล่าวว่าจากสถิติการลาของ สนช. 3 เดือนที่ผ่านมา การลงมติของเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีใครขาดเกินเกณฑ์ และมีเหตุผลการลาที่ชัดเจน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
เครือข่ายนักวิชาการสิทธิพลเมืองเรียกร้องนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับคืนที่เดิม Posted: 16 Apr 2017 12:03 AM PDT เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นำ "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต 16 เม.ย. 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การลักทรัพย์สมบัติสาธารณะและฉวยเปลี่ยน "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" อันมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่งคณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ" โดยระบุว่าความทรงจำร่วมเกี่ยวกับอดีตของคนในชาติหรือในสังคมไม่ได้หมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น หากยังหมายถึงความเข้าใจและความต้องการที่มีต่อสังคมในปัจจุบันและความคาดหวังที่มีต่อสังคมในอนาคตร่วมกันด้วย ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและบทบาทของคณะราษฎรในการนำระบอบรัฐธรรมนูญมาสู่ประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2475 คือการให้ความสำคัญแก่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นฐานในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และยังหมายถึงการที่ระบอบการปกครองดังกล่าวควรดำรงอยู่ในปัจจุบันและอนาคตด้วย ทั้งนี้ "เพื่อความเจริญของชาติ" อันหมายถึงชาติของประชาชน ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปัก "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และ "หลัก 6 ประการ" ดังนี้ 1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ 5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น 6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร การเปลี่ยน "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" ด้วยหมุดใหม่พร้อมข้อความที่ว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" และ"ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" จึงเป็นการทำลายความทรงจำร่วมที่มีคุณค่าพร้อมกับสร้างความทรงจำร่วมชุดใหม่ขึ้นมาซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อความในหมุดใหม่ไม่เพียงแต่ไม่ปรากฏคำว่ารัฐธรรมนูญ หากแต่ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในระดับรากฐาน เช่น "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัย" ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาอื่นอย่างเสมอหน้า และคำว่า "หน้าใส" บ่งถึงความเป็นไพร่และสังคมช่วงชั้นซึ่งขัดหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ การทำลายและเปลี่ยนหมุดบ่งถึงการไม่เคารพอดีตความเป็นมาของบรรพชนในทุกฝ่าย เนื่องจากอนุสาวรีย์มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบรรพชนในการสถาปนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของสังคมและชาติไทยเฉกเช่นนานาอารยประเทศ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต แสดงความรับผิดชอบต่อภารกิจในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและปกปักรักษาสมบัติสาธารณะ ทั้งนี้ ไม่เพียงในทางตัวบทกฎหมาย หากแต่ยังต้องสร้างความทรงจำที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันว่า หากไม่มีคณะราษฎรเสียแล้ว ราษฎรทั้งหลายรวมทั้งพวกท่านก็ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจปกครองตนเองดังในปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายและลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ที่ไม่เพียงแต่ขโมย "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" ไปจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังนำไปครอบครอง ซ่อนเร้น หรือทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน พร้อมกันนี้ คนส. ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้นำ "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
'ซินแสโชกุน' รอดคดี ม.112 ตร.เผยยังไม่ชัดเจนว่าแอบอ้างถึงวังใด Posted: 15 Apr 2017 09:54 PM PDT 16 เม.ย. 2560 ความคืบหน้าคดีที่ พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ "ซินแส โชกุน" เจ้าของบริษัท บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ถูกกล่าวหาว่าหลอกสมาชิกว่าจะพาไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถพาไปได้จริง จนเกิดความวุ่นวายที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบกรณีที่ปรากฏคลิปเสียงของซินแสโชกุนมีการอ้างสถาบันเบื้องสูง อาจผิดมาตรา 112 ด้วยนั้น วานนี้ (15 เม.ย.60) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า จากพฤติการณ์เบื้องต้นของซินแสโชกุน ยังไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากพฤติการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ต้องหาแอบอ้างถึงวังใด พนักงานสอบสวนจึงยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตราดังกล่าว ใบประชาสัมพันธ์ของ "ซินแส โชกุน" พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมายังกองปราบปราม เพื่อเข้าสอบปากคำกลุ่มแม่ข่าย และบุคคลใกล้ชิด พสิษฐ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนจัดทัวร์ญี่ปุ่นแบบขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำแล้วปล่อยลอยแพผู้เสียหายนับพันคนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มแม่ข่ายนี้ได้ประสานพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อขอเข้าให้ข้อมูล และแสดงความบริสุทธิ์ หลังทราบข่าวซินแสโชกุนถูกดำเนินคดี พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ เป็นเพียงการสอบสวนเพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลที่ได้ถือเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป และในวันนี้ยังคงมีผู้เสียหายทยอยเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับซินแสโชกุนเพิ่มเติม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
11-15 เม.ย. อุบัติเหตุ 2,985 ครั้ง ตาย 283 ศพ เจ็บ 3,087 ราย Posted: 15 Apr 2017 09:23 PM PDT 16 เม.ย. 2560 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2560 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้สรุปสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน วันที่ 15 เม.ย. 2560 เกิดอุบัติเหตุ 600 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 53 ราย บาดเจ็บ 634 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 44.83 รองลงมาเป็น ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 24.83 ขณะที่การสรุปอุบัติเหตุบนถนน สะสม 4 วันตั้งแต่ วันที่ 11 จนถึงวันที่ 15 เมษายน เกิดอุบัติเหตุรวม 2,985 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 283 ราย บาดเจ็บ 3,087 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดสะสมคือ จังหวัดเชียงใหม่ 140 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ จังหวัดนครราชสีมา 17 ราย สำหรับจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดสะสมคือ จังหวัดเชียงใหม่ 145 คน โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นการเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์, รถกระบะ, และรถยนต์ ตามลำดับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
เสนอทางออก สธ.แก้ปัญหาบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ Posted: 15 Apr 2017 08:49 PM PDT นักวิจัยระบบสุขภาพ เสนอทางออกปัญหาบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ แนะ สธ.บรรเทาสถานพยาบาลที่เกิดวิกฤตทางการเงินจากการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพิ่มคู่สายฮอตไลน์ให้คำปรึกษา พร้อมกระจายอำนาจให้แต่ละ รพ.ปรับนโยบายให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ 16 เม.ย. 2560 นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางจัดระบบสุขภาพของรัฐเพื่อดูแลสิทธิสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ รัฐบาลพยายามจัดระบบโดยผ่านการซื้อบัตรประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ถ้าดูในต่างประเทศหลายแห่งก็จะทำเหมือนกัน เพื่อเอาคนเข้าสู่ระบบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี ทั้งนี้ นโยบาย One Stop Service ก็มีข้อดี คือ พยายามลดขั้นตอนทั้งหลาย ให้ทุกอย่างอยู่ในที่ๆ เดียวกัน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ โดยฉพาะเรื่องที่ว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในไทย ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบอย่างที่เข้าใจ ประเด็นนี้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ และก็น่าสังเกตว่า คำว่าแรงงานหมายถึงใคร คนที่ทำงานในระบบหรือนอกระบบ ซึ่งถ้าเป็นแรงงานในระบบ ก็สามารถติดตามหาคนเหล่านี้ได้ง่ายว่าอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบจะติดตามเขายาก ซึ่งที่ผ่านมาเรากำหนดให้แรงงานต้องมีนายจ้าง จึงเข้าสู่การประกันสุขภาพ เมื่อแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีนายจ้างแน่นอน ก็จะเกิดปัญหามีนายหน้าตามมา เพื่อจะพยายามลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนสูงขึ้นไปอีกจากระบบนายหน้า แรงงานข้ามชาติเองก็อาจถูกเอาเปรียบ ค่าใช้จ่ายที่สูงก็ทำให้คนหลีกเลี่ยงการซื้อบัตรประกันสุขภาพ โรงพยาบาลส่วนหนึ่งก็ขายบัตรไม่ออก หรือ ขายได้น้อย พอคนจะมาซื้อบัตรก็เป็นคนป่วยมากๆแล้ว ก็พาลไม่อยากขายบัตรเข้าไปอีกเพราะกลัวความเสี่ยงทางการเงินของสถานพยาบาล "พอ คสช. มีนโยบายหนักๆ มาที มันก็มีปัญหาเรื่องนายหน้าเยอะ เพราะแรงงานนอกระบบเขาไม่อยากซื้อบัตร เนื่องจากเขาไม่มีนายจ้างชัดเจน เขากลัวว่า จะถูกจับและถูกส่งกลับประเทศ เขาก็เลยต้องพยายามซื้อบัตรประกัน และก็ต้องไปหานายหน้า ถ้ารายใดไม่มี ก็ต้องไปหานายจ้างปลอม มันก็จะเปิดช่องให้นายหน้าที่ไม่ดี สามารถที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้" นพ.ระพีพงศ์ กล่าวว่า ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่า เราจะจัดการกับแรงงานนอกระบบอย่างไร อันนี้ยังรวมไปถึงว่า แรงงานนอกระบบคืออะไร เพราะเวลาเราใช้คำว่า แรงงาน เราไม่ค่อยระวัง หรือเวลาพูดถึง แรงงานข้ามชาติ นัยยะของรัฐไทย คือ แรงงานข้ามชาติที่อยู่กับนายจ้างไทย แต่ว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่กับนายจ้างคนไทย หรืออาจอยู่กับนายจ้างไทยแค่เพียงในนาม แต่ความจริงมีมีกิจการตนเอง เช่น ที่เราพบเห็นคนข้ามชาติค้าขายตามแผงลอย ในส่วนการแก้ปัญหาขอเสนอว่า 1.อาจต้องถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ซึ่งบางแห่งเขาพยายามแยกประเด็นเรื่อง การประกันสุขภาพ กับเรื่องแรงงานออกจากกัน เพราะบางทีไปผูกกันมากเกินไป จึงกลายเป็นว่า แรงงานข้ามชาติจะมีประกันสุขภาพได้ ก็ต้องมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น การประกันสุขภาพอาจผูกติดกับถิ่นที่อยู่ที่ลงทะเบียนและอาศัยอยู่จริงแทน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็น่าที่จะทำได้ 2.ในเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนควบคุมนโยบายนี้ อาจต้องมีกรอบบางอย่างว่า นโยบายจากส่วนกลางที่ให้พื้นที่ปฏิบัติ สิ่งไหนที่ต้องทำ หรือ เรื่องไหนที่สามารถอะลุ้มอะล่วยให้ปรับเข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของการดำเนินนโยบาย และเป็นทุกนโยบาย นั่นคือ นโยบายจากส่วนกลางอาจถูกบิด หรือปรับ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อลงสู่พื้นที่ เช่น ถ้ามีคนป่วยมาซื้อบัตรประกันสุขภาพ แม้ไม่ป่วยเป็นโรคต้องห้าม ป่วยแค่ไหนถึงจะให้ซื้อได้ หรือซื้อไม่ได้ หรืออย่างไรก็ให้อย่างไรก็ให้ขายบัตรทุกราย 3.ถ้ากระทรวงสาธารณสุขจะช่วยแก้ปัญหา ก็น่าจะต้องทำศูนย์ที่เข้มแข็งกว่านี้ กลุ่มประกันสุขภาพที่มีอยู่ก็มีข้อจำกัด เช่น ต้องมีคู่สายให้เขาติดต่อเพิ่มขึ้น ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง เพราะถ้าสายเดียวเหมือนในปัจจุบันมันไม่เพียงพออยู่แล้ว เพื่อให้พื้นที่ปรึกษาได้อย่างทันท่วงทีว่า กรณีแบบนี้จะจัดการอย่างไร ส่วนกลางช่วยตัดสินใจ ระบบที่ว่านี้อาจคล้ายฮอตไลน์ของ สปสช. สายด่วน 1330 และไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการแต่ผู้รับบริการก็สามารถร้องเรียนเข้ามาด้วย ซึ่งก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการไปในตัว และหากเกิดปัญหา ผู้ให้และผู้รับบริการก็ไม่ต้องไปพยายามเข้าร้องเรียนสื่ออย่างเดียวแบบในอดีต 4.ต้องมีแผนสำรองให้กับผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล เพราะต่อให้บังคับแรงงานข้ามชาติให้มาทำบัตรประกันสุขภาพแค่ไหน แต่เขาก็ไม่มาก็ได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของตลาดสุขภาพ ตราบใดที่ยังใช้ระบบการซื้อขายบัตรอยู่ ควรมีแผนสำรองคือ ต้องไม่ให้ผู้ให้บริการรู้สึกว่า ตัวเองได้รับความกดดันทางเงินมากเกินไป มิฉะนั้น ผู้ให้บริการก็พูดได้เสมอว่า สถานพยาบาลขาดทุนเพราะขายประกันสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติไม่ออก ถ้าจะให้งบสนับสนุน ก็ค่อยมาพิจารณาว่างบนั้นมาจากไหน จากตัวบัตรเองที่เกลี่ยมาจากโรงพยาบาลอื่นที่ได้กำไร หรือเป็นงบประมาณกลางเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตกลงและความพร้อมในเชิงนโยบาย ว่าจะพร้อมสนับสนุนเพียงใด เช่น อาจจำกัดเฉพาะโรคที่เป็นภัยทางสาธารณสุข หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงก่อนก็ได้ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ก็พัฒนาระบบในลักษณะนี้มาแล้ว "ผมไม่อยากเห็นข่าวทุก 2-3 เดือน ที่ว่าโรงพยาบาลไม่อยากขายประกันสุขภาพเพราะขายแล้วขาดทุน เสร็จแล้วคนข้ามชาติร้องเรียน ก็เปิดขาย แล้วก็ขาดทุน แล้วก็ร้องเรียน แล้วไงต่อ อีก 2 เดือนก็มีข่าวแบบนี้วนไปมา แล้วทำไมต้องไปผ่านสื่อ ถ้าเรามีกลไกอย่างนี้ มันก็บรรเทาลง และแทนที่จะไปโทษโรงพยายาล กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องแอคชั่นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ แรงงานข้ามชาติและโรงพยาบาลเองก็จะรู้ด้วยว่า สิ่งไหนคุณทำได้หรือทำไม่ได้" นพ.ระพีพงศ์ กล่าว นพ.ระพีพงศ์ กล่าวถึงกรณีบุคลากรสาธารณสุขหน้างานที่ให้การรักษาแรงงานข้ามชาติ อาจมีความไม่เข้าใจในการปฏิบัติ จึงทำให้มีปัญหาบางครั้งว่า ปกติแล้วนโยบายจากบนที่สั่งการลงมา เมื่อมาสู่ระดับล่างมันจะถูกบิดไปได้เรื่อย ๆ เรื่องนี้เราต้องตั้งโจทย์ว่า เราอยากให้เขาบิด หรืออยากให้เขาดำเนินนโยบายถูกประการ ทั้งนี้ จากที่เคยสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาลบางท่านบอกว่า การดำเนินนโยบายแรงงานข้ามชาติไม่อยากให้เป๊ะ คือ อยากให้พื้นที่ได้ปรับตัวให้กับสถานการณ์ในพื้นที่ เช่น ต่อให้โรงพยาบาลขายบัตรประกันสุขภาพทุกคน แต่ก็เจอปัญหานายจ้างปลอมกดดัน หรือโรงพยาบาลขอขายเฉพาะคนที่สุขภาพแข็งแรงได้ไหม เพราะโรงพยาบาลก็ต้องอยู่รอดด้วย ถามว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของผู้ให้บริการหรือไม่ มันก็พูดได้ไม่เต็มปาก เขาก็ต้องบอกว่า มันเป็นความอยู่รอดของเขา ดังนั้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า ความไม่เข้าใจ แต่โรงพยาบาลเขาต้องทำอย่างนั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ Preemtive Strike จากสหรัฐฯ อาจเกิด แต่กระทบไทยน้อย Posted: 15 Apr 2017 07:22 PM PDT คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาสสองปี 2560 ปัจจัยภายในเป็นบวกเพิ่มขึ้น ปัจจัยภายนอกยังมีความไม่แน่นอนสูง ทิศทางตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี Preemtive Strike จากสหรัฐอเมริกาอาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคการลงทุนในเอเชียตะวันออกอย่างสูง ส่วนผลกระทบต่ออาเซียนและไทยมีจำกัด 16 เม.ย. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ได้ประเมินตัวเลขจีดีพีเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560 ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.4-3.5% เนื่องจาก ภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตมาสสี่ ภาคการลงทุนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภาคท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ส่วนภาคส่งออกได้ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในไตรมาสสองและประเทศต้องเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐอเมริกาในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองเติบโตได้ในระดับ 3.7-3.8% ส่วนภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสองจากระดับหนี้สินครัวเรือนลดลง รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรและภาคบริการท่องเที่ยวดีขึ้น โดยสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทั้งราคาและปริมาณโดยเฉพาะยางพารา ข้าว เป็นต้น ภาคท่องเที่ยวยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ในระยะสั้น ต้องทำให้ ภาคบริโภคฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากภาคบริโภคของเอกชนคิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนเอกชนคิดเป็น 19% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 6% ของการใช้จ่ายระบบเศรษฐกิจเท่านั้นเอง ส่วนทิศทางตลาดการเงินในไตรมาสสองนั้นจะผันผวนมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งซีเรีย คาบสมุทรเกาหลีและอัฟกานิสถาน เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาด ตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นจนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีอาจด้อยลง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ในช่วงที่ผ่านมายังไม่กระทบต่อความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้และผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวมยังจำกัดมาก อย่างไรก็ตาม ตั๋ว B/E ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจมีการความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้อีกในไตรมาสสอง ส่วน กฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และ พ.ร.บ. ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจะเป็นเครื่องมือในการทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายปีได้เปลี่ยนทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจการลงทุนอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันในไตรมาสสองน่าจะอยู่ที่ 53-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางปีทะลุระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสสองอย่างแน่นอน Preemtive Strike จากสหรัฐอเมริกาอาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคการลงทุนในเอเชียตะวันออกอย่างสูง ส่วนผลกระทบต่ออาเซียนและไทยมีจำกัด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||||
ทุกข์คนทำงาน: ทำงานก่อสร้างช่วง 10.00-13.00 น. อันตรายสุด Posted: 15 Apr 2017 07:06 PM PDT สมาคมผู้รับเหมาทั่วไปแห่งอเมริกาเปิดเผยข้อมูลสถิติ พบแรงงานในภาคก่อสร้างเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงเวลา 10.00-13.00 น. ของวัน การตกจากที่สูงยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งตามมาด้วยการเสียชีวิตจากการขนส่งวัสดุปอุปกรณ์ ที่มาภาพประกอบ: สมาคมผู้รับเหมาทั่วไปแห่งอเมริกา (AGC of America) 16 เม.ย. 2560 ข้อมูลจาก รายงาน Preventing Fatalities in the Construction Industry ของ สมาคมผู้รับเหมาทั่วไปแห่งอเมริกา (AGC of America) ระบุว่าแรงงานในภาคก่อสร้างเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงเวลา 10.00-13.00 น. ของวัน โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราเสียชีวิตสูงสุดในช่วงเที่ยง (ส่วนการศึกษาก่อนหน้านี้แรงงานจะเสียชีวิตมากที่สุดในช่วง 9.00 น.-13.00 น.) แรงงานในภาคก่อสร้างเสียชีวิตขณะการขนส่งวัสดุอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น แต่การเสียชีวิตจากเพลิงไหม้และสารเคมีของแรงงานกลับลดลง รูปแบบของสถานประกอบการณ์ขนาดเล็กที่มีพนักงาน 1-9 คน มีสัดส่วนที่แรงงานจะเสียชีวิตสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดที่แรงงานก่อสร้าง 26 คนต่อ 100,000 คนต่อปี (ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้ไม่ได้ศึกษาสถานประกอบการณ์ขนาดเล็กเหล่านี้) การเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดบนไฮเวย์และบนยานพาหนะ ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในสหรัฐฯ กลุ่มแรงงานชาวฮิสปานิค (Hispanic) เสียชีวิตบนท้องถนนถึงร้อยละ 20 ระหว่างปี 2010-2012 และในภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดของแรงงานภาคก่อสร้างคือภาคใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีแรงงานเข้มข้นมากที่สุด เทียบสัดส่วนกับทุกภูมิภาคการเสียชีวิตจะอยู่ที่ร้อยละ 46 และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่แรงงานก่อสร้าง 17 คนต่อ 100,000 คน จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 12 และลดลงต่ำสุดในฤดูหนาว เดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 5 การเสียชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีที่ร้อยละ 75 และลดลงต่ำมากในวันศุกร์และช่วงสุดสัปดาห์ โดยวันที่แรงงานเสียชีวิตน้อยที่สุดคือวันอาทิตย์ ที่ร้อยละ 4.7 ในด้านสถานที่ตั้งไซต์งานพบว่า สัดส่วนแรงงานก่อสร้างที่เสียชีวิตร้อยละ 25 อยู่ในไซต์งานโครงการที่พักอาศัย ร้อยละ 29 อยู่ในไซต์งานอุตสาหกรรมหนัก ที่เหลือเสียชีวิตในไซต์งานเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ร้อยละ 5 สาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานก่อสร้าง อันดับแรกยังคงเป็นการตกจากที่สูง ร้อยละ 33 ตามมาด้วยการเสียชีวิตจากการขนส่ง ร้อยละ 29 ส่วนใหญ่ของแรงงานก่อสร้างที่เสียชีวิตร้อยละ 79 เป็นพนักงานที่มีเงินเดือน ร้อยละ 19 เป็นคนที่ทำงานก่อสร้างกันเองในครอบครัวและแรงงานที่ไม่ได้เงินเดือน แรงงานอายุ 35-54 ปีมีอัตราเสียชีวิตสูงสุดร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น