โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โสมแดงแห่ขีปนาวุธติดเรือดำน้ำ-ขีปนาวุธพิสัยไกล-ฉลอง 105 ปีชาตกาลคิมอิลซุง

Posted: 15 Apr 2017 11:17 AM PDT

เกาหลีเหนือจัดสวนสนามเนื่องในงานวันเกิด 105 ปี คิมอิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ พร้อมแห่ขีปนาวุธพิสัยไกล และโชว์ขีปนาวุธประเภทยิงจากเรือดำน้ำเป็นครั้งแรก หลังยิงทดสอบมาแล้วหลายครั้ง โดยการสวนสนามเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเสริมกองเรือและเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วิลสันเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลี

ภาพจากสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี KCTV ของทางการเกาหลีเหนือ ถ่ายทอดสดการสวนสนามในโอกาส 105 ปี ชาตกาลคิมอิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือเมื่อ 15 เมษายน 2560 โดยนอกจากการสวนสนามแล้วยังมีการแสดงขีปนาวุธพิสัยไกล รวมทั้งนำขีปนาวุธแบบยิงจากเรือดำน้ำ (SLBM) มาโชว์เป็นครั้งแรกอีกด้วย (ที่มา: KCTV)

15 เม.ย. 2560 เกาหลีเหนือจัดงานสวนสนามในโอกาสครบ 105 ปี ชาตกาลคิมอิลซุง บิดาผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนืออย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสคิมอิลซุง ในกรุงเปียงยาง นอกจากการสวนสนามของกองทัพแล้ว ยังมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ และขีปนาวุธรุ่นใหม่ร่วมสวนสนามด้วย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ

งานรำลึกถึงผู้ก่อตั้งประเทศหรือ "วันพระอาทิตย์" ได้รับการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ KCTV ของรัฐบาลเปียงยาง โดย คิมจองอึน ประธานพรรคแรงงานเกาหลี (WPK) ผู้นำประเทศสูงสุด และเป็นหลานของคิมอิลซุง เป็นประธานในพิธีซึ่งห้อมล้อมไปด้วยสมาชิกอาวุโสพรรคแรงงานเกาหลีและบรรดานายทหาร

สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเกาหลีเหนือที่เป็นภัยคุกคามกับประเทศในภูมิภาคและพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วิลสัน จากสิงคโปร์ไปยังคาบสมุทรเกาหลีร่วมกับกองเรือญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อวาน (14 เม.ย.) ภาพดาวเทียมจับภาพความเคลื่อนไหวที่แท่นทดสอบขีปนาวุธ พุงเก-รี ได้ และเป็นที่วิตกว่าจะมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งหรือไม่ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และเฉพาะปี 2559 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ถึง 2 ครั้ง

โชยองเฮ รองหัวหน้าพรรคแรงงานเกาหลี กล่าวว่า เกาหลีเหนือพร้อมเข้าสู่สงครามถ้าสหรัฐฯ เริ่มต้นเปิดฉากใช้กำลังทางทหาร "เราจะตอบโต้ด้วยสงครามเต็มรูปแบบหมดหน้าตัก รวมถึงใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย"

ไฮไลท์ของการสวนสนาม ที่ผู้เชี่ยวชาญจับตาก็คือการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยปีนี้เกาหลีเหนือนำสิ่งที่คาดว่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลแบบข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM) ขีปนาวุธพิสัยกลาง (Intermediate-Range Ballistic Missile หรือ IRBM) รวมถึงขีปนาวุธที่ใช้ยิงจากเรือดำน้ำ (Submarine-launched Ballistic Missile หรือ SLBM) นำมาสวนสนามด้วย

"เครื่องมือในการรุกและรับที่ทรงพลังและทันสมัยที่สุดในแบบของเราเองที่จะเป็นจุดจบของอำนาจทางทหารของพวกจักรวรรดินิยม" โฆษกของสถานีโทรทัศน์เกาหลีเหนือบรรยายสรรพคุณของขีปนาวุธ

ทั้งนี้มีการแสดงจรวดปักกุกซอง-2 (Pukguksong-2) หรือที่ถูกเรียกว่า KN-15 ซึ่งอยู่ในขั้นการพัฒนา โดย KN-15 เป็นจรวดที่ตั้งต้นมาจากจรวดปักกุกซอง-1 หรือ KN-11 ที่เป็นขีปนาวุธติดเรือดำน้ำ สำหรับจรวดปักกุกซอง-2 ยิงได้ไกล 500 กม. จากการทดสอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และยังมีการจัดแสดงจรวดฮวาซอง-7 (Hwasong-7) หรือ Scud-ER ซึ่งจรวดฮวาซอง-7ถูกออกแบบให้เพิ่มพิสัยทำการให้ไกลขึ้น มุ่งเป้ามาที่ฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นจรวดที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบบ่อยครั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา และบางลูกได้ตกลงในน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงจรวดยิงจากพื้นสู่อากาศพ็องแก-5 (Pon'gae 5) หรือ KN-06 รวมทั้งจรวดต่อต้านเรือรบ และกระสุนปืนใหญ่รุ่น 300-mm

ขีปนาวุธอีกชนิดที่นำมาร่วมสวนสนามก็คือ KN-08 หรือที่เกาหลีเหนือเรียกว่าจรวดฮวาซอง 13 (Hwasong-13) ซึ่งเคยนำมาสวนสนามครั้งแรกเมื่อปี 2555 ทั้งนี้เชื่อกันว่า KN-08 เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป นอกจากนี้ยังมีการโชว์แท่นยิงขีปนาวุธสำหรับขีปนาวุธระยะไกลด้วย โดยจรวดสำหรับแท่นยิงนั้นเป็นไปได้ว่าพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา

คิม ด็องยับ ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธจากสถาบันตะวันออกไกลศึกษา มหาวิทยาลัยจุงนัม ในเกาหลีใต้ ระบุว่ามีแท่นยิงหนึ่งอาจจะเป็นแท่นยิงสำหรับจรวด KN-14 ซึ่งพัฒนามาจาก KN-08 โดยนำมาแสดงครั้งแรกในการสวนสนามเมื่อปี 2558 โดยเกาหลีเหนืออ้างว่าขีปนาวุธรุ่นนี้ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

ข้อสังเกตของนิวยอร์กไทม์ชี้ว่า แม้เกาหลีเหนือมักจะอ้างบ่อยครั้งว่าสามารถโจมตีสหรัฐฯ ได้ด้วยหัวรบนิวเคลียร์ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีเลยสักครั้งที่เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีขีดความสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้เลย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังสงสัยว่าเกาหลีเหนือมีขีดความสามารถในการพัฒนาหัวรบที่ยิงขึ้นไปแล้วสามารถกลับเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกได้หรือไม่ หรือเล็กเพียงพอที่จะบรรจุอยู่ในขีปนาวุธระยะไกลได้หรือไม่ นักวิเคราะห์ระบุว่าบรรดาขีปนาวุธข้ามทวีปหรือ ICBM ที่แสดงอยู่ในงานสวนสนามอาจเป็นขีปนาวุธจำลอง หรือยังเป็นจรวดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

อนึ่งในสุนทรพจน์ขึ้นปีใหม่ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนืออ้างว่าประเทศอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป

 

แปลและเรียบเรียงจาก:

Yonhap, N. Korea unveils new ICBM at military parade, Yonhap, April 15, 2017

N.K. stages massive military parade on founder's birthday, Yonhap, April 15, 2017

North Korea Shows Off Long-Range Missiles in Military Parade, CHOE SANG-HUNAPRIL, New York Times, April 15, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานเผย “ระเบิดโคตรแม่” สังหารไอซิส 90 ราย

Posted: 15 Apr 2017 07:37 AM PDT

15 เม.ย. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิด GBU-43/B หรือ "ระเบิดโคตรแม่" (Mother Of All Bomb - MOAB)" เป็นครั้งแรก เพื่อทำลายเครือข่ายอุโมงค์ของกลุ่มไอซิสทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน โดยมีพลังทำลายล้างเทียบระเบิด TNT 11 ตัน เป็นระเบิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ซึ่งรุนแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เคยใช้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย ผอ. กองทัพสหรัฐฯ อ้างว่าทิ้งระเบิดเพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ระเบิด GBU-43/B หรือระเบิดโคตรแม่ (MOAB) ภาพถ่ายเมื่อปี 2003 ขณะเตรียมนำไปทดสอบที่ Eglin Air Force Armament Center (ที่มา: แฟ้มภาพ/United States Department of Defence/Wikipedia)

แผนที่แสดงที่ตั้งของอำเภออะชิน ในจังหวัดนันกาฮาร์ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน ซึ่งกองทัพสหรัฐอเมริกาอ้างว่าได้โจมตีทางอากาศด้วยระเบิด GBU-43/B โดยมุ่งเป้าไปยังเครือข่ายอุโมงค์ของไอซิส (ที่มา: Google Maps)

ต่อมา อิสมาอิล ชินวารี (Esmail Shinwari) นายอำเภออะชิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งระเบิดกล่าวว่า "มีนักรบไอซิสถูกฆ่าตายอย่างน้อย 92 คนจากการทิ้งระเบิด" ในขณะที่อัตตอลาฮ์ โคยานี (Attaullah Khogyani) โฆษกประจำจังหวัดนันกาฮาร์ ที่อำเภออะชินสังกัดอยู่กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตจริง 90 ราย มากกว่ารายงานเมื่อวานที่พบจำนวนผู้เสียชีวิต 36 ราย

ชินวารี กล่าวว่า "ไม่มีประชาชนและทหารได้รับความเสียหาย" วันนี้กองทัพสหรัฐฯ และหน่วยคอมมานโดของอัฟกานิสถานจะเดินทางลงพื้นที่ทิ้งระเบิดเพื่อเก็บกวาดพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานกล่าวว่า ประชาชนส่วนมากในพื้นที่หลายพันคนได้อพยพหนีออกนอกพื้นที่ดังกล่าวไปก่อนเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว

จอห์น นิโคลสัน ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานกล่าวว่า "ศัตรูได้สร้างบังเกอร์ อุโมงค์และวางกับระเบิดเอาไว้ ระเบิด MOAB ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตัดปัญหาเรื่องอุปสรรคดังกล่าว ทำให้เราสามารถดำเนินการรุกคืบในจังหวัดนันกาฮาร์ต่อไปได้"

ประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน อัชราฟ ฆานี กล่าวว่า การโจมตีดังกล่าว "ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติและกองทัพสหรัฐฯ ให้ปฏิบัติภารกิจกวาดล้างพื้นที่ดังกล่าวได้"

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดว่า "ประสบความสำเร็จอย่างมาก"

ในขณะที่นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ โดยมิเชล คูเกิลมาน จากศูนย์ Woodrow Wilson Center กล่าวว่า "การทิ้งระเบิดของรัฐบาลทรัมป์ส่งเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น แต่สถานการณ์โดยรวมยังเหมืนเดิม ตาลีบัน(กลุ่มกองกำลังติดอาวุธในอัฟกานิสถานที่ตั้งรกรากมานานแล้ว) ยังคงเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เก่งกาจและจัดการยาก ถ้าเทียบกันแล้ว ไอซิสเป็นเพียงแค่ไม้ประดับเท่านั้น"

"การที่สหรัฐฯ เปิดฉากภารกิจใหญ่หลวงกับศัตรูที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามอันดับแรกของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ขณะที่ตาลีบันนั้นยังนั่งกระดิกเท้าสบายๆ จากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ ถือว่ายังหาข้อสรุปมาอธิบายไม่ได้"

แปลและเรียบเรียงจาก

US 'mother of all bombs' killed 90 Isis militants, say Afghan officials, The Guardian, Saturday 15 April 2017 11.06 BST

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมุดที่หายไป กับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์

Posted: 15 Apr 2017 06:06 AM PDT



ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ เมื่อวาน (14 เมษายน 2560) เป็นต้นมา กระแสข่าวในประเทศที่น่าจะเป็นที่สนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ "หมุดคณะราษฎร" ที่หายไป หรือว่าให้ถูกก็คือ โดนเปลี่ยนไป กลายเป็นหมุด "ประชาชนสุขสันต์หน้าใส" ที่ชาวเน็ตเรียกกันสั้นๆ ว่า "หมุดหน้าใส" (ซึ่งที่มาของคำว่า "หน้าใส" ก็อยู่ระหว่างการเดาและอภิปรายกันต่างๆ นานา)

เมื่อเกิดกระแสดังกล่าวขึ้น ก็ได้เกิดกระแสลุกขึ้นต่อต้านรวมถึงทวงคืนหมุดมากมาย รวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลของสิ่งที่เป็น "มรดกของคณะราษฎร" อื่นๆ นอกเหนือจากหมุดคณะราษฎรนี้ โดยรวมๆ ก็เป็นการอภิปรายถึงผลรวมของผลงานที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ โดยเฉพาะในเชิงอุดมการณ์ที่ต่อให้ทุบวัตถุทางกายภาพอันจับต้องได้อีกสักเพียงใด ก็ไม่อาจจะมาทำลายอุดมการณ์และคำประกาศที่คณะราษฎรได้วางรากฐานไว้ได้ เพราะมันฝังอยู่กับตัวตนเรา เป็นภาพที่ควบแน่นในมโนสำนึกอย่างชัดเจนจนไม่มีทางจะพรากไปได้อีกต่อไป อีกแง่มุมหนึ่งที่มีการพยายามอธิบายกันมากก็คือ การทำลายหมุดนี้เป็นความพยายามในการ "ลบอดีต ฆ่าประวัติศาสตร์ เขียนเรื่องราวความเป็นมาใหม่"

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นผมเห็นด้วยทั้งสิ้น และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความโกรธเกรี้ยว งุนงง ปนเศร้ากับพวกเขาเหล่านั้นด้วย ที่จู่ๆ "หมุด" หายไป แต่พอเริ่มตั้งหลักได้ กลับมาลองคิดภาพทวนดีๆ กรณีของหมุดที่หายไปนี้อาจจะไม่ได้ผิดไปเสียหมดก็ได้ อาจจะขึ้นอยู่กับวิธีการมองประวัติศาสตร์และมองตัวหมุดนั้นเองด้วย

ภายใต้กระแสข้อถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องสารพัดนั้น หลักๆ แล้วจะมองเรื่องหมุดอยู่บน 2 สถานะหลักๆ นั่นคือ "ในฐานะวัตถุ" กับมองหมุดบนฐานของ "ความหมายของการมีอยู่ของตัวหมุด" นั้น ผมคิดว่าหลักๆ แล้วเท่าที่เห็นอภิปรายกันโดยมากวางอยู่บนฐานของการมองหมุดในฐานะ "วัตถุทางประวัติศาสตร์" นี้ ไม่ว่าจะมองในฐานะของมรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร หรือในฐานะวัตถุโบราณที่พึงอนุรักษ์ไว้ และถามหาความรับผิดชอบในการสืบหาจากกรมศิลปากร เป็นต้น หากมองบนฐานคิดนี้ผมก็คิดว่าไม่ผิดอะไร ถูกต้องแล้วและก็อยากจะขอร่วมเรียกร้องด้วยในที่นี้

แต่ส่วนที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ การอภิปรายเรื่องหมุดบนฐานของ "ความหมายของการมีอยู่ของตัวหมุด" เอง ว่ากันง่ายๆ ก็คือ หากหมุดดังกล่าวนี้มันเป็นเพียง "หมุดทั่วๆ ไป" มันก็เป็นเพียงแค่ฝาทองเหลืองแผ่นหนึ่ง ราคาหากสั่งทำคงสักหลักพันบาท (อาจจะหลายพัน) ว่าง่ายๆ ก็คือ ก้อนโลหะแปะถนนที่ราคาสูงสักหน่อยเท่านั้น แต่เพราะหมุดมันไม่ได้เป็นแค่ก้อนทองเหลืองธรรมดา มันแฝงด้วยความหมายหรือสัญญะโดยตัวมันเองว่า "ณ ตัวแหน่ง และวันที่ที่มีการปักหมุดนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศที่กำหนดและดำเนินกลไกการปกครอง ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งคนใดอีกต่อไป"

ความหมายหรือสัญญะเหนือตัวตนของหมุดนี้เองที่ทำให้เกิดกระแสการอภิปรายเรื่องการพยายาม "ลบ, บิดเบือน หรือเขียนประวัติศาสตร์ใหม่" เพราะฉะนั้นหากมองจากจุดยืนนี้ หมุดที่หายไปจึงเป็นอะไรที่ผิดมากกว่าการหายไปของวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ แต่มันคือการพยายามรื้อถอนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่พ่วงติดกับตัวหมุดนั้นออกไปจากความทรงจำของสังคมด้วย ซึ่งในตอนต้นผมเห็นด้วย แต่อย่างที่บอกว่าผ่านไปสักพักหนึ่งพอเริ่มขบคิดอะไรชัดเจนขึ้น ผมก็คิดว่าบางทีการอภิปรายแบบนั้นจากจุดยืนนี้อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว

คำถามหลักของผมคือ ความหมายจริงๆ ของหมุดที่ว่าไว้เมื่อสองย่อหน้าก่อนมันคืออะไร? สำหรับผมมันไม่ใช่การบอกกล่าวถึง "สภาวะปัจจุบันอันเป็นอยู่ของประเทศขณะที่ปักหมุด" นะ ว่า "ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว..." แต่ประเด็นหลักของความหมายของตัวหมุดนั้นมันคือเมสเสจที่บอกว่า "ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว"

ความหมายที่พ่วงติดบนตัวหมุด จึงไม่ใช่ความหมายที่มีขึ้นเพื่อจารึกสภาวะอันเป็นปัจจุบันในช่วงเวลาแห่งการลงหมุด ว่าตอนนี้ประเทศเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่มันคือหมุดหมายที่บอกว่า "เราเปลี่ยนแปลงไปจากกาลก่อน" ต่างหาก ฉะนั้นภาพของสภาวะอันเป็นปัจจุบันที่พ่วงอยู่กับตัวหมุดในฐานะสัญญะจึงมีตัวตนอยู่เพื่อบอกกับเราว่า "ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เราได้เปลี่ยนแปลงแล้ว เราได้ก้าวออกมาจากจุดเดิมที่เราเคยเป็น" ความหมายที่ซ่อนอยู่ในหมุดจึงไม่ใช่เพียงสภาพมิติเดียวของประวัติศาสตร์ หากแต่มันเชื่อมโยงมิติทางประวัติศาสตร์ใน 2 ช่วงเวลาเข้าไว้ด้วยกัน (ก่อน และหลังการเปลี่ยนแปลง) เพียงแต่ผ่านการจารึกภาพเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์แค่ฝั่งเดียว (คือฝั่ง "หลังการเปลี่ยนแปลง" แล้ว)

เมื่อความหมายหรือสัญญะที่พ่วงอยู่กับหมุดมันถูกวาดออกมาด้วยภาพประวัติศาสตร์เพียงฝั่งเดียว (คือฝั่ง "หลังการเปลี่ยนแปลง" แล้ว) หลายคนที่มองจากจุดยืนนี้และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหมุด จึงมองว่าการเปลี่ยนหมุด หรือการที่หมุดหายเป็นอะไรที่ "ผิด" เป็นความผิดทั้งทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ เพราะมองเพียงแต่ภาพผูกติดของมิติเดียวทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้มองถึงความหมายแท้จริงของหมุดที่บอกถึง ความเปลี่ยนแปลง

หากพวกเขามองสัญญะว่า "หมุด" แทนความหมายของ "การเปลี่ยนแปลง" อย่างจริงจังแล้ว จะพบว่าเอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัตินั้น "การเปลี่ยนหมุดนี้เป็นอะไรที่ถูกต้องในทางการเมืองและในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก" และอย่างมีนัยยะสำคัญทีเดียว เพราะหมุดคณะราษฎรเดิมนั้นเป็นหมุดหมายที่บอกกับเราว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนเข้ามาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่ประวัติศาสตร์การเมืองในความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมถูกต้องที่หมุดจะต้องถูกเปลี่ยน เพื่อเป็นหมุดหมายที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงในทางการปกครองที่เกิดขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน

เราเปลี่ยนแปลงอะไรอีก?

- เราอยู่ในยุคที่มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ยังคงมีมาตรา 44 ที่เกาะแน่นอยู่จนเรียกได้ว่ามีอำนาจพอๆ หรือมากกว่าตัวรัฐธรรมนูญเอง

- เราอยู่ในยุคที่รัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากที่ประชาชนได้ทำการลงมติเห็นชอบไว้ "เป็นอย่างมาก" โดยประชาชนไม่มีสิทธิรับรู้ก่อนได้เลยจนกระทั่งวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

- เราอยู่ในยุคที่รัฐธรรมนูญ รวมถึงตัวเนื้อหาพร้อมจะโอนอ่อนปรับเปลี่ยนได้ตามพระราชประสงค์[1]

เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา จึงเท่ากับเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการในทางกฎหมายว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งแล้ว นั่นคือเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการปกครองแบบ Monarchical Constitution เพราะฉะนั้นการจะมีหมุดใหม่เพื่อจารึกการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นี้ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งในทางการเมืองและในทางประวัติศาสตร์แล้วนั่นเอง

 

เชิงอรรถ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศิลปินแห่งชาติ' ขอคนเห็นคุณค่า 'หมุดคณะราษฎร' ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้

Posted: 15 Apr 2017 05:44 AM PDT

'ธีรภาพ โลหิตกุล' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ขอคนเห็นคุณค่า 'หมุดคณะราษฎร' เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ไม่ทำผิดซ้ำรอย ชี้ไม่ใช่ถอดเพื่อรักษาแต่จงใจเปลี่ยนเพื่อล้างความทรงจำยุคเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475 ด้านนักวิชาการประวัติศาสตร์เผยการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จัก หลังไร้คนสนใจมานาน

 
15 เม.ย. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่มีการถอดหมุดคณะราษฎร ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ออกและแทนที่โดยหมุดใหม่ ซึ่งมีความหมายปลุกใจให้ประชาชนร่วมเป็นพลังของแผ่นดิน ว่า ถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายกับการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากหมุดคณะราษฎรนั้น มีความสำคัญและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ เมื่อ ปี2475 และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตนมองว่าเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสร้างความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง 
 
ทั้งนี้ตนไม่คิดว่าการนำหมุดคณะราษฎรออกไปนั้นจะเป็นการนำออกไปเพื่อเก็บรักษา เนื่องจากวิธีรักษาสมบัติของชาติชิ้นสำคัญที่ผ่านมา เช่น พระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้นำของจริงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และสร้างแบบจำลองตั้งไว้ที่ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่าหมุดใหม่ที่นำมาปักแทนที่ได้เปลี่ยนข้อความและเปลี่ยนเนื้อหาของหมุดไปแล้ว ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นตนมองว่าเป็นความจงใจเปลี่ยน โดยมีนัยของการเปลี่ยนหมุดและข้อความนั้่น เพื่อไม่ให้มีความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเหลืออยู่ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ประชาชนออกค้นคว้า ตามหา และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหมุดคณะราษฎร 
 
"ผมขอเรียกร้อง ว่า หลักฐานประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือ ด้านลบ ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา หมุดถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ ที่ชัดเจนและสำคัญมาก รวมถึงมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลัง แม้แต่สถานที่ที่ประชาชนถูกสังหาร เช่น ตรวนเสลง ประเทศกัมพูชา, ค่ายกักกันนาซี ประเทศเยอรมนี ยังถูกเก็บรักษาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ดังนั้นขอให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และไม่ทำผิดซ้ำรอยประวัติศาสต์อีก" นายธีรภาพ กล่าว
 
นักวิชาการประวัติศาสตร์เผยการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จักหลังไร้คนสนใจมานาน
 
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ในเบื้องต้น ควรมีการทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไข "เหตุการณ์" ได้ ขอให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสิน ส่วนตัวของ "วัตถุ" คือ หมุดคณะราษฎรนั้น ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงควรมีคำตอบที่ดีกว่าคำว่า ไม่ทราบ
 
"ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องราวที่ผ่านพ้นไปไม่สามารถแก้ไขใดๆๆ นอกจากจะเป็นอุธาหรณ์และไม่มีคำว่า ถ้าหากไม่เกิด ทั้งนี้เพราะมันเกิดไปแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องก็ล้วนเป็นหลักฐาน ซึ่งเราไม่สามารถไปปฎิเสธมันได้ เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้อนุชนรุ่นหลังเขาตัดสินตามหลักฐาน และไม่ควรไปปฎิเสธด้วยว่าไม่ทราบ เพราะคุณทำหน้าที่ปกป้องสมบัติชาติและเที่ยวไปจับหรือจับผิดคนที่ทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ อย่างน้อยควรต้องคำตอบที่ดูดีกว่านี้"
 
ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว หมุดคณะราษฎร มีลักษณะเป็น "สัญลักษณ์" อย่างมาก โดยถูกติดตั้งไว้บนพื้น ซึ่งเดิมแทบไม่มีใครรู้จักหรือให้ความสนใจมากนัก  ยิ่งเมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูปทรงม้า ต้องถือว่าหมุดดังกล่าวแทบไร้ความหมาย แต่เมื่อมีการไปเปลี่ยนหมุด จึงกลายเป็นการให้ความสำคัญ สังคมหันมาสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างมาก
 
"หมุดนี้มีความเป็นสัญลักษณ์มากจนทำให้มันไร้ความหมายมานาน เมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูป เพราะแสดงสัญลักษณ์ที่สูงส่งแต่หมุดนี้กลับติดดิน และไม่มีใครสนใจ นั่งรถผ่านไปผ่านมา น้อยคนที่จะรู้ แต่การไปเปลี่ยนจึงกลายเป็นการไปให้ความสำคัญอีกครั้ง"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมภาร พรมทาเสนอนำเรื่องหมุดหายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

Posted: 15 Apr 2017 05:33 AM PDT

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเตรียมนำเรื่องหมุดคณะราษฎรหายและถูกแทนที่ด้วยหมุด "ประชาชนสุขสันต์หน้าใส" เข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2560 สมภาร พรมทา อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้โพสต์สเตตัสในเฟสบุ๊กแจ้งว่า "เรียนมิตรสหายทุกฝ่ายทราบ ผมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ตามกฎหมายมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (แต่ในทางปฏิบัติรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องทางวัฒนธรรมจะทำหน้าที่แทน) คิดว่าเรื่องการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรเป็นเรื่องสำคัญทางวัฒนธรรม ผมจะขออนุญาตที่ประชุมปรึกษาหารือเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งต่อไปครับ"

นอกจากนี้สมภารยังเพิ่มเติมข้อมูลดังนี้ "ขออนุญาตเพิ่มเติมข้อความดังนี้ครับ หนึ่ง-เรายังไม่ทราบข้อมูลว่าใครทำ ใช้อำนาจอะไรทำ สอง-ผมกำลังร่างหนังสือถึงปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้บรรจุเรื่องนี้เข้าในวาระการประชุมนัดหน้า สาม-โครงสร้างคณะกรรมการวัฒนธรรมส่วนหนึ่งกรรมการโดยตำแหน่งคือปลัดกระทรวงที่สำคัญ แปลว่าเรื่องนี้ถามในนี้ต้องรู้ที่มาที่ไป สี่-ผมจะขอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจของเราที่จะดูแลไหม เพราะอะไร หากเข้าข่าย ทุกอย่างก็ต้องเริ่มใหม่หมดครับ"

อนึ่ง "หมุดคณะราษฎร" ได้รับการประกอบพิธีฝังหมุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ในโอกาสขึ้นสู่ปีที่ 5 ของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร และรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและเป็นผู้อ่านประกาศคณะราษฎร เป็นผู้ฝังหมุดท่ามกลางชุมนุมคณะผู้ก่อการ

ก่อนที่ต่อมาในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 จะเกิดเหตุหมุดคณะราษฎรหายและถูกแทนที่ด้วยหมุดที่เขียนข้อความด้านในว่า "ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" และมีข้อความวงนอกของหมุดว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนความเคลื่อนไหววันเดียวกันนี้นั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ขอออกความเห็น ส่วนในรายงานของวอยส์ทีวี ศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าได้สั่งให้นิสิตทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎร นิสิตกลุ่มแรกเดินทางไปยังหมุดคณะราษฎรระหว่าง 1-2 เม.ย. ได้ถ่ายภาพและพบว่ายังเป็นหมุดคณะราษฎรเดิม แต่เมื่อนิสิตกลุ่มที่ 2 ลงพื้นที่สำรวจวันที่ 8 เม.ย. พบว่า หมุดเปลี่ยนไปแล้ว โดยศาสตรินทร์เสนอว่า หากจะมีการเปลี่ยนหมุดในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะทำในช่วงวันที่ 3-7 เมษายนที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ.ชงผู้ตรวจเลือกตั้ง 5-8 คน ผุด 'อาสาส่องเลือกตั้ง'

Posted: 15 Apr 2017 05:26 AM PDT

'มีชัย' เคาะผู้ตรวจเลือกตั้ง 5-8 คน แทน กกต.จังหวัด ผุด 'อาสาส่องเลือกตั้ง' ติดดาบสั่ง สตง.สอบเส้นทางเงินพรรคการเมืองห้ามคนนอกแจมหลักสูตรอบรม

 
15 เม.ย. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ กรธ.จะส่งให้ สนช.พิจารณาวันที่ 18 เม.ย.นี้ว่า รายละเอียดของร่างกฎหมายลูก กรธ.ได้นำขึ้นเว็บไซต์แล้ว ซึ่งจะเป็นเนื้อหาล่าสุดที่เราจะส่งให้กับ สนช. ในส่วนร่างกฎหมายลูก กกต.ไม่ได้ปรับไปจากเดิม เพียงแต่มีการเกลาถ้อยคำ หลักการใหญ่ยังเป็นแบบเดิมคือ เราไม่อยากให้มี กกต.จังหวัด เพราะมีปัญหาและข้อติฉินนินทาเยอะ ส่วนทาง กกต.ยังอยากให้มี กกต.จังหวัดแล้วก็ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย ตรงนี้จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ยิ่งเปลืองงบประมาณและไม่คุ้มค่า กรธ.ยังยืนในหลักของผู้ตรวจการเลือกตั้ง เฉพาะช่วงที่มีเลือกตั้ง เพราะหากเอาเขาไปอยู่ประจำ พอตกเย็นก็เจอหน้าคนในพื้นที่ แล้วจะไปจับใครได้ ตนไม่เข้าใจว่าจะอยากมี กกต.จังหวัดไปทำไมโดยโครงสร้างของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีจำนวน 5-8 คน จังหวัดไหนใหญ่ก็มีมาก และอาจจะมีส่วนกลางเป็นม้าเร็วไปเสริมได้ ซึ่งการจะส่งม้าเร็วลงไปก็ต่อเมื่อได้ข่าวว่าจะมีการทำการทุจริต ก็จะลงไปได้ทันที
       
นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่ายเรื่องการรีเซตกรรมการองค์กรอิสระนั้น ตรงนี้ก็แล้วแต่ทาง สนช. เพราะ กรธ.ก็ยังยืนยันคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้กำลังจะมีปัญหาเพราะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เขาสมัครใจอยากรีเซต ทีนี้ถ้าไปรีเซต กสม.ขึ้นมาก็จะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมองค์กรอื่นถึงไม่รีเซต องค์กรแรกที่จะต้องมาดูในเรื่องของคุณบัติคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะจะเป็นกฎหมายลูกที่เสร็จออกมาเป็นฉบับแรกซึ่งจะเป็นต้นแบบให้แก่องค์กรอิสระที่เหลือ
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่างกฎหมายว่าด้วย กกต. ที่ กรธ.ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีทั้งสิ้น 4 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 78 มาตรา ในส่วนขั้นตอนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระมีเนื้อหาดังนี้มาตรา 12 นอกจากประกาศรับสมัครการสรรเข้ารับสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นแล้ว คณะกรรมการสรรหา สามารถคัดเลือกจากบุคคลทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น โดยคำนึงถึงความหลายหลายและประสบการณ์ในแต่ละด้าน ให้กรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัครหรือให้ผู้สมัครแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม ประกอบการพิจาณาด้วย และให้นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้แก่การคัดเลือกในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วย
       
ส่วนการสรรหาให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ผู้ได้รับการสรรหาต้องได้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด หรือยังได้บุคคลไม่ครบจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่ หากยังไม่ได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่โดยผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบนี้ จะเข้ารับการสรรหาใหม่ไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้
       
สำหรับอำนาจหน้าที่ กกต.เช่น มาตรา 35 กกต.อาจตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถาบันการศึกษา ที่สมัครใจ ไปทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อ กกต.ได้ มาตรา 21 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง กกต.จะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรหรือโครงการใดไม่ได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ กกต.เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการมาตรา 32 กกต.อาจขอให้มีอำนาจดำเนินการดังนี้ (1) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบบัญชีของพรรคการเมือง อย่างเร่งด่วนในช่วยที่มีการเลือกตั้งก็ได้ 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 เม.ย. 2560

Posted: 15 Apr 2017 03:33 AM PDT

 
กระทรวงแรงงาน เผยอาชีพ 'งานขาย-ธุรการทั่วไป-บัญชี-การเงิน' ยังมีความต้องการแรงงานสูง
 
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แสดงข้อมูลว่าในเดือนมีนาคม 2560 ประเทศไทยยังมีอัตราการว่างงาน 1.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 99,000 คน และกลุ่มคนที่ว่างงานในเดือนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 274,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 49,000 คน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 125,000 คน ภาคการผลิต 105,000 คน และภาคเกษตรกรรม 44,000 คน นั้น
 
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตำแหน่งงานว่างของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานพบว่า ไตรมาสแรกปี 2560 ยังมีตำแหน่งงานว่างกว่า 50,000 อัตรา ในขณะเดียวกันข้อมูลจากภาคเอกชน เช่น JOBTHAI.COM ได้วิเคราะห์และคาดการณ์เรื่องสถานการณ์ความต้องการแรงงานไทยทั่วประเทศ ในไตรมาสที่ 2 พร้อมแนวโน้มของอาชีพที่ยังได้รับความนิยมสูงสุดของปี 2560 พบว่า ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศกว่า 87,000 อัตรา จังหวัดที่มีอัตราความต้องการแรงงานสูงสุดอันดับแรกคือ กรุงเทพฯ ต้องการจำนวน 45,752 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 52.70 จากจำนวนงานทั้งหมดทั่วประเทศ
 
โดยอาชีพที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย 5,728 อัตรา งานธุรการทั่วไป 1,420 อัตรา และงานบัญชี-การเงิน 806 อัตรา รองลงมาเป็นสมุทรปราการ จำนวน 6,770 อัตรา ชลบุรี 5,211 อัตรา ปทุมธานี 3,860 อัตรา และสมุทรสาคร 2,769 อัตรา ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์กรมการจัดหางานได้บรรจุงาน 23,617 คน เดือนมีนาคมบรรจุงาน 26,209 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 ประกอบกับตัวเลขของสำนักงานประกันสังคม พบว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีผู้ประกันตนใช้บริการกรณีว่างงานลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 10.72 และมีจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งพบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ 76.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนีอยู่ที่ 75.8 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 เดือน อีกทั้ง ยังมีดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในเดือนมีนาคม ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีอยู่ที่ 71.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ระดับ 70.3 อีกด้วย กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประชากรวัยแรงงานมีงานทำโดยการสร้างบริการที่สามารถเข้าถึงแหล่งการจ้างที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยหรือ สมาร์ทจ๊อบเซ็นเตอร์ 77 แห่งทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย (Job Coach Thailand Center) จัดกิจกรรมนัดพบแรงงานเป็นประจำในทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีบริการจัดหางานบนมือผ่าน Smart Job Application รวมถึงมีบริการแนะแนวอาชีพ และกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านสำหรับผู้ต้องการประกอบอาชีพอิสระอีกด้วย สามารถสอบถามรายละเอียดที่สายด่วน 1694
 
สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เปิดหลักสูตรอบรมหลากหลายวิชาชีพ ที่ศูนย์/สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศสามารถเลือกเข้ารับการอบรมได้ตามความถนัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dsd.go.th
 
 
นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักค่าจ้างลูกจ้างหรือยึดบัตรประชาชนมีโทษหนัก
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจงข้อกฎหมายนายจ้างนำค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย หรือค่าใช้จ่ายอื่นมาหักจากเงินค่าจ้างของลูกจ้าง หรือยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานไม่ได้ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า จากกรณีมีข่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบางส่วนถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าเช่าห้อง ถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานนั้น นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต่างๆ ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายใดๆ มาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่การหักเพื่อ 1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ 2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง 4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และ 5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักเงินจากลูกจ้างทั้ง 5 ประเภท ที่กล่าวข้างต้นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับ และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเท่านั้น จึงจะหักเงินทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวข้างต้นได้ การที่นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักจากค่าจ้าง มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อธิบดี กสร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้ โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยถือว่านายจ้างมีความผิด เพราะนายจ้างไม่สามารถยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างได้ 3 ประเภท คือ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งการเรียกหลักประกันจะต้องไม่เกินวงเงิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างได้รับ การที่นายจ้างยึดบัตรประชาชนไว้เป็นหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย ถูกยึดบัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักประกันการทำงาน สามารถร้องเรียนและเรียกร้องสิทธิประโยชน์คืนได้ โดยติดต่อที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 , สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
 
 
เปิดแอพ "SSO CONNECT" บริการผู้ประกันตน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ขานรับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อยกระดับจากไทยแลนด์ 2.0 สู่ 4.0 รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารภายในองค์กรและสามารถรองรับการปรับเปลี่ยนการทำงานในยุกดิจิทัล พัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเข้าถึงงานบริการภารรัฐในรูปแบบใหม่
 
ทั้งนี้การดำเนินการข้างต้นจะขับเคลื่อนด้วยกลไก "ประชารัฐ" โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้พลิกโฉมการให้บริการช่องทางใหม่เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 เชื่อมโยงการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกับผู้ประกันตน ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ เช็คสิทธิสถานพยาบาล สิทธิทันตกรรมแบบไม่ต้องสำรองจ่าย เช็คประวัติการเบิกสิทธิประโยชน์ ตรวจสอบยอดเงินสะสมชราภาพ รวมทั้งติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จากสำนักงานประกันสังคมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ทุกที่ทุกเวลา ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
นายสุรเดช กล่าวแนะนำผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนใช้งานง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co ใช้ได้ทั้งระบบ ios และ Andriod โดยจะเริ่มเปิดให้ผู้ประกันตนดาวน์โหลดอย่างเป็นทางการในวันนี้ (10 เมษายน 2560 ) เป็นต้นไป
 
 
ก.คลัง ออก 4 เกณฑ์ เลื่อนขั้นเงินเดือน "ลูกจ้างประจำส่วนราชการ" 1.5 แสนคนทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก
 
ก.คลัง ออก 4 เกณฑ์เลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำส่วนราชการครึ่งปีแรก เผยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ลูกจ้างประจำส่วนราชการ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ จะสามารถได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ เผยลูกจ้างประจำเมื่อได้รับอัตราค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงแล้ว ยังจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ตามเกณฑ์ด้วย เผย เกณฑ์ใหม่ยังมีผลถึงลูกจ้างเกษียณอายุให้ได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้างในการคำนวณบำเหน็จลูกจ้างด้วย
 
วันนี้ (9 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลัง ได้เวียนหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูง ปลัดกระทวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ อธิการบดี และผู้บัญชาการ เพื่อชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ ภายหลังได้กำหนดบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ และกำหนดบัญชีคุณสมบัติเฉาสะตำแหน่งและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขั้นสูงของลูกจ้างประจำของส่วนราชการให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ
 
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภท และระดับใดที่ได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูง หรือได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนสูงสุด (เงินเดือนต้น) เมื่อได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้วให้ได้รับเงินเดือนในระดับถัดไปของแต่ละประเภทตำแหน่ง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ต.ค. 2559 ทั้งนี้จะมีลูกจ้างของส่วยราชกรประจำได้รับประโยชน์ 155,053 คน
 
มีรายงานว่า หนังสือเวียนเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นสูงของลูกจ้างประจำฉบับนี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกคำสั่งให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีผลบังคับแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 แห้งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 เห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ สรุปได้ดังนี้
 
1. ลูกจ้างประจำผู้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ที่ได้รับค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างต้น) ของตำแหน่งในแต่ละระดับ เมื่อได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้ว ให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ดังนี้
 
1.1 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นสูงไว้ในบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีนกลุ่มนั้นๆ ยกเว้น ตำแหน่งช่างจัดสถานที่พิธีการ ระดับ ข2 ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงขั้นที่ 19.5 อัตราค่าจ้าง 54,170 บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป (ขั้นสูงสุด 54,820 บาท)
 
1.2 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนด ให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป จนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงของระดับถัดไป 1 ระดับ ในกลุ่มบัญชีถัดไป (โดยเทียบชั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีถัดไป)
 
1.3 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนด ให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ให้ได้รับค่าจ้างอัตราสูงขึ้นต่อไป จนถึงข้นที่ 29.5 อัตราค่าจ้าง 76,800 บาท (โดยขยายเพดานอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ขั้น เพื่อใช้เป็นขั้นวิ่งของตำแหน่งดังกล่าว)
 
2.ลูกจ้างประจำรายใด ที่ได้รับค่าจ้างตามข้อ 1 ให้ได้รับค่าจ้างในวันที่ 1 เมษายน หรือวันที่ 1 ตุลาคม ตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างประจำรายใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุให้ได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้างดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในกาคำนวณบำเหน็จลูกจ้าง ในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ
 
3. ลูกจ้างประจำรายใดได้รับค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ เมื่อได้รับค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงตามนัยข้อ 1 แล้ว ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ่างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
 
4. ลูกจ้างประจำรายใดได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อยู่ในวันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้มีผลบังคับใช้นำค่าตอบแทนพิเศษในรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 มารวมเป็นขั้นค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
 
ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าจ้างในหลักเกณฑ์นี้ เดิม ลูกจ้างประจำของส่วนราชการจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามผลการประเมินการปฏิบัติงานในวันที่ 1 เมษายน, 1 ตุลาคม ตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานไปจนกว่าจะได้รับอัตรา ค่าจ้างขั้นสูงสุด (ค่าจ้างตัน) ในส่วนที่เกินกว่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับ เงินเดือน หรือค่าจ้างถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
 
โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ลูกจ้างประจำสามารถได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ ดังตัวอย่างนี้
 
1. ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นสูงไว้ในบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงอัตราค่ำจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีในกลุ่มนั้นๆ เช่น
บัญชีกลุ่มที่ 1 ตำแหน่งพนักงานทั่วไประดับ 1 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 16,650 บาท ตำแหน่งพนักงานทั่วไประดับ 2 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 32 อัตราค่าจ้าง 17,880 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 21,010 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 1
 
บัญชีกลุ่มที่ 3 ตำแหน่งพนักงานธุรการระดับ 3 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 31 อัตราค่าจ้าง 34,110 บาท ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ 4 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 33 อัตราค่าจ้าง 36,450 บาท ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ 4/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 35 อัตราค่าจ้าง 39,050 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 41,610 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 3
 
บัญชีกลุ่มที่ 4 ตำแหน่งผู้ควบคุมวิทยุสื่อสารการบิน ระดับ ท3/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 24.5 อัตราค่าจ้าง 65,310 บาท ตำแหน่งนักบิน ระดับ ท3 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 25.5 อัตราค่าจ้าง 67,560 บาท ตำแหน่งช่างเครื่องบิน ท3/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 26.5 อัตราค่าจ้าง 69,800 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 4 ยกเว้น ตำแหน่งช่างจัดสถานที่พิธีการ ระดับ ช 2 ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้าง ขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป จนถึงขั้นที่ 19.5 อัตราค่าจ้าง 54,170 บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการ ตำแหน่งประเภททั่วไป (ขั้นสูงสุด 54,840 บาท)
 
กรณีตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างขั้นสูงขึ้นต่อไป จนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ ในกลุ่มบัญชีถัดไป (โดยเทียบขั้นใกล้เคียง ในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีถัดไป) เช่น
 
บัญชีกลุ่มที่ 1 ตำแหน่งพนักงานทั่วไป ระดับ ๒ /หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 21,010 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชี กลุ่มที่ 1) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีที่ 2) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 2 ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 25,670 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
 
บัญชีกลุ่มที่ 2 ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ ๒ อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 25,670 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชี กลุ่มที่ 2) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชี ที่ 3) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 3 ขั้นที่ 31 อัตราค่าจ้าง 34,110 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
 
บัญชีกลุ่มที่ 3 ตำแหน่งใดที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้บัญชีกลุ่มที่ 3 อัตรา ค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 41,610 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้าง ขั้นสูงสุด ของบัญชีกลุ่มที่ 3) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชี ที่ 4) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
ตัวอย่างที่ 4 ตำแหน่งนักบินและผู้ควบคุมหน่วยการบินระดับ 3/หัวหน้า ที่กระทรวงการคลัง กำหนดให้ใช้บัญชีกลุ่มที่ 4 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงขั้นที่ 29.5 อัตราค่าจ้าง 76,800 บาท (โดยขยายเพดาน อัตราค่าจ้างขั้นสูงจำนวน 1 ขั้น เพื่อใช้เป็นขั้นวิ่งของตำแหน่งดังกล่าว) ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือน ขั้นสูงสุดของข้าราชการตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ
 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9/4/2560
 
ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพียงคนเดียว สามารถกู้เงิน กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านได้แล้ว
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขยายโอกาสให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านเพียงรายเดียวก็สามารถกู้เงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านได้แล้ว ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 - 200,000 บาทอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี เผยปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 300 กลุ่ม สร้างรายได้กว่า 92 ล้านบาท
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ดำเนินการตาม 8 วาระปฏิรูปแรงงานของกระทรวงแรงงาน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานนอกระบบ เน้นสร้างหลักประกันทางสังคม เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีการส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน ด้วยการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกัน มีการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ในการรับงานไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง และยังสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกด้วย ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านได้กู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตหรือขยายการผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น กรมการจัดหางานจึงได้แก้ไขระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์การกู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน จากเดิมให้กู้ได้เฉพาะเป็นกลุ่มผู้รับงานฯ โดยแก้ไขให้รายบุคคลก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 - 200,000 บาท ทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล โดยผู้สนใจจะกู้เงินกองทุนฯ จะต้องเป็นผู้จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานและมีสถานที่อยู่และสถานที่รับงานเป็นหลักแหล่ง
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีการปล่อยกู้แล้ว จำนวน 309 กลุ่ม เป็นเงิน 28,111,000 บาท สร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 92,700,000 บาท หากผู้รับงานไปทำ ที่บ้านใดสนใจ สามารถไปจดทะเบียนหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งสถานที่รับงานของตน หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
ทหารปลดประจำการไม่ต้องกลัวตกงาน กพร.ฝึกอาชีพติดอาวุธให้เพียบ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมมือกันตามแนวทางประชารัฐในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการนั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในการตอบสนองความร่วมมือของทั้งสองกระทรวงมาโดยตลอด ด้วยการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศประสานหน่วยงานของกองทัพในพื้นที่จัดฝึกอบรมอาชีพตามความต้องการของทหารกองประจำการ เช่น ช่างปูนปั้นไม้เทียม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อเกษตร ช่างการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก บริการอาหารและเครื่องดื่ม และการประกอบอาหารไทย เป็นต้น ระยะเวลาการฝึกอบรม 12-60 ชั่วโมง การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยสามารถนำความรู้ที่ได้รับต่อยอดเป็นอาชีพประจำหรือธุรกิจส่วนตัวหลังปลดประจำการได้ จะสอดคล้อง 8 วาระปฏิรูปกระทรวงแรงงาน "มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำแรงงานทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ" ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในปี 2560 กพร.ได้วางเป้าหมายการฝึกอบรมไว้ที่ 3,020 คน แต่มีการเร่งดำเนินการฝึกอบรม 2,217 คน ในการตอบสนองความต้องการของสถานประกอบกิจการจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ รายได้เฉลี่ยทหารกองประจำการที่มีงานทำ 9,633 บาทต่อคนต่อเดือน
 
นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่าสำหรับในบางสาขาอาชีพที่ทหารกองประจำการสนใจเข้ารับการฝึกอบรม ก็ได้มีการเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรม เช่น ร่วมกับบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอบรมช่างติดตั้งโครงสร้างเหล็กและแผ่นเมทัลชีท ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ระยอง ชลบุรี และนครนายก มีทหารผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 295 คน ในอนาคตจะมีการจัดทำหลักสูตรกลางเพิ่มเติมในหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริมสาขาช่างติดตั้งโครงสร้างเหล็กและแผ่นเมทัลชีท ระดับพื้นที่ฐาน ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง นำไปใช้ฝึกอบรมให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดต่างๆ มากยิ่งขึ้น
 
"มีโอกาสได้รับฟังเสียงสะท้อนจากสถานประกอบกิจการที่รับทหารกองประจำการเข้าทำงาน ส่วนใหญ่ต่างชมว่าเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพทั้งในด้านร่างกายที่แข็งแรง มีระเบียบวินัยและใฝ่เรียนรู้ ส่วนด้านทักษะฝีมือที่ได้รับการฝึกอบรมจากกพร. ก็มีมาตรฐานจึงเป็นที่ต้องการของสถานประกอบกิจการ ขณะนี้มีอีกเพียง 14 จังหวัด ประกอบด้วยพัทลุง ปทุมธานี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ เชียงราย ปัตตานี เลย พะเยา หนองคาย และมุกดาหาร ยังไม่ได้ดำเนินการฝึกอบรม โดยจะเริ่มฝึกในช่วงเวลาเมษายนนี้ถึงกันยายน 2560" อธิบดีกพร.กล่าว
 
 
กรมการจัดหางาน ตั้งหน่วยบริการและอำนวยความสะดวก ส่งคนหางานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 สกัดถูกต้มตุ๋นจากแก๊ง 18 มงกุฏ
 
วานนี้ (12 เม.ย.2560) ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ได้รับมอบหมายจากกรมการจัดหางาน ร่วมกิจกรรม "ส่งคนหางานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560" ภายใต้โครงการ "ให้บริการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานตลอด 24 ชั่วโมง" จัดโดยสำนักงานจัดหางานกรุงเทพ มหานครพื้นที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจการให้บริการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน โดยให้บริการจัดหางานและรับเรื่องราวร้องทุกข์แก่ผู้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และประชาชนทั่วไป ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าว สารตลาดแรงงาน และคนหางาน โดยเฉพาะให้ประชาชนที่ใช้บริการ ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่ใช้โอกาสที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์มาหลอกลวงคนหางาน และชักชวนว่าสามารถจัดหางานให้ทำได้ และจัดส่งคนหางานให้กับนายจ้างเพื่อรับค่าตอบแทน
 
โดยได้จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำการให้บริการจัดหางานของรัฐแก่ประชาชนทั่วไป ณ จุดให้บริการสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 3 ผลัดคือ ผลัดที่ 1 เวลา 06.00 – 14.00 น. ผลัดที่ 2 เวลา 14.00 – 22.00 น. และผลัดที่ 3 เวลา 22.00 – 06.00 น. โดยปฏิบัติงานทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ทั้งนี้ในปี 2560 (มกราคม-มีนาคม) ได้ให้บริการจัดหางาน จำนวน 695 คน และได้ประชาสัมพันธ์การคุ้มครองคนหางานแก่ประชาชน จำนวน 1,418 คน
 
 
กระทรวงแรงงานเผยสถิติแรงงานระดับฝีมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในไทย พบฟิลิปปินส์ครองแชมป์นิยมทำงานมากสุด
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยสถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย ปี 2560 พบล่าสุดฟิลิปปินส์ครองแชมป์ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด จำนวน 14,830 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่ประกอบอาขีพด้านการสอน เน้นย้ำคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยสถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน ( 9 ประเทศ) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่า มีคนต่างด้าวกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จำนวน ทั้งสิ้น 1,380,349 คน โดยในประเภทระดับฝีมือชำนาญการนั้นมีจำนวน 24,823 คน เป็นมาตรา 9 (ทั่วไป) จำนวน 21,500 คน และมาตรา 12 ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 3,323 คน ซึ่งสัญชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. ฟิลิปปินส์ จำนวน 14,830 ตำแหน่ง 2. มาเลเซีย จำนวน 2,924 ตำแหน่ง 3. สิงคโปร์ จำนวน 2,034 ตำแหน่ง 4. เมียนมา จำนวน 1,948 ตำแหน่ง และ 5.อินโดนีเซีย จำนวน 1,279 ตำแหน่ง โดยอาชีพที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุดในกลุ่มทั่วไป (มาตรา 9) คือ ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน รองลงมาเป็นผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านธุรกิจ ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาตรา 12 อาชีพผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด รองลงมาเป็นสถาปนิก วิศวกร และช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนว่าคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในระดับฝีมือชำนาญการในประเทศไทยจะต้องได้รับการอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน อีกทั้งยังต้องไม่เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไข ดังนี้ 1. มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต 2.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 3.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 และ 4.ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต นอกจากนี้ คนต่างด้าวต้องไม่ขอทำงานตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ เช่น งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ งานให้บริการทางกฎหมาย งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว งานในวิชาชีพวิศวกรรม งานเร่ขายสินค้า งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว เป็นต้น โดยอายุของใบอนุญาตทำงานจะพิจารณาอนุญาตให้ตามความจำเป็นของงานหรือตามที่ขอ ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปีต่อครั้ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน โทร.02-245-2745 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 15/4/2560
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความซับซ้อนของสถานการณ์อาวุธปรมาณูเกาหลีเหนือ

Posted: 15 Apr 2017 02:51 AM PDT



สถานการณ์เกาหลีเหนือในตอนนี้ มีปมที่น่าสนใจหลายเรื่องคือ

1.รัฐบาลเกาหลีเหนือคิดว่าความอยู่รอดของตนขึ้นกับว่ามีอาวุธปรมาณูหรือไม่ เพราะถ้าไม่มี ต่อให้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก็อาจถูกบุกแบบเดียวกับซัดดัม ฮุสเซนในอิรัก และขีปนาวุธปรมาณูก็สกัดกั้นยาก หากขีปนาวุธดังกล่าวบินเข้ามาเหนือเขตแดนของประเทศเป้าหมายแล้ว ต่อให้ยิงจรวดสกัดกั้นได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ใช้อาศัยและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ นอกจากนั้นเกาหลีเหนือยังรู้ว่า ชาติตะวันตกไม่ได้สนใจปัญหาสิทธิเสรีภาพเท่ากับปัญหาปรมาณู ดังจะเห็นได้จากการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ ก็อาศัยเหตุผลเกี่ยวกับปรมาณูทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้เหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนเลย

2. รัฐบาลคิมจองอึนและเกาหลีเหนือในปัจจุบันที่อยู่ได้นอกจากการควบคุมและกดดันประชาชนแล้ว ยังมีปมต่างๆที่น่าสนใจจากประเทศต่างๆดังนี้

- รัฐบาลเกาหลีเหนือที่นำโดยคิมจองอึนชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นมิตรสนิทกับจีนมาก จะเห็นได้จากการสังหารจางซองแตก (ลุง) และ คิมจองนัม (พี่ชาย) ซึ่งใกล้ชิดกับจีน เพื่อกันมิให้จีนใช้เป็น "หุ่นเชิด" หากเกิด "รัฐประหารโค่นล้มคิมจองอึนโดยจีน"

- ท่าทีของรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องรอหลังเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งพรรคฝ่ายขวากำลังเพลี่ยงพล้ำจากคดีของประธานาธิบดีปาร์คกึนฮเย หากพรรคฝ่ายซ้ายได้ขึ้นมาน่าจะมีนโยบายลดการกดดันต่อเกาหลีเหนือ ทำให้ "ขบวนการกดดันเกาหลีเหนือ" รวนเรได้ นี่อาจทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ต้องดำเนินการในตอนนี้ และหันไปดึงญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาททางการทหารมากขึ้นแทน (ลองสังเกตดูว่าการทดลองขีปนาวุธส่วนใหญ่เล็งเป้าไปที่ญี่ปุ่นมากกว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าเกาหลีเหนือ "เล็งญี่ปุ่นมากกว่าเกาหลีใต้")

- สหรัฐอเมริกาที่ "ออกยักษ์" มากขึ้นในตอนนี้ เข้าใจว่าเป็นจากบุคลิกของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย เพราะทรัมป์เคยเป็นเด็กโรงเรียนประจำทหารมาก่อน ย่อมคิดแบบ "หัวโจกในโรงเรียนประจำ" ว่า "ถ้าไม่ไปข่มขู่กลั่นแกล้งเขา ย่อมต้องกลายเป็นเป้าของการถูกข่มขู่กลั่นแกล้ง" การที่เกาหลีเหนือเตรียมทดลองอาวุธปรมาณูครั้งที่ 6 เท่ากับ "ข่มขู่" สหรัฐอเมริกาว่า "ทำอะไรไม่ได้" ซึ่งเท่ากับตีขนดหางทรัมป์อย่างจัง

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีนเพิ่มขึ้นด้วย เช่นในตอนนี้จีนหันไปสั่งซื้อถ่านหินจากสหรัฐอเมริกาแทนที่ถ่านหินเกาหลีเหนือ

ส่วนอีกมุมที่ผมกำลังลองจับตาดูในระยะยาวคือ หากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปรามการสร้างอาวุธปรมาณูของเกาหลีเหนือได้ผล จะทำให้สัญญาใจกับเกาหลีใต้และญีปุ่นสั่นคลอนหรือไม่ ทั้งสองประเทศดังกล่าวจะพัฒนาการทหารที่ออกไปจากร่มธงสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หรือแม้กระทั่งพัฒนาอาวุธปรมาณูของตนเองหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเองแล้ว สหรัฐอาจมีอิทธิพลต่อทั้งสองประเทศลดลงไปอีก

-ญี่ปุ่นเองในยามที่กระแสฝ่ายขวาขึ้นสูง มีแนวโน้มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้กำลังทหารนอกประเทศได้สะดวกขึ้น ก็จะมีบทบาททางความมั่นคงในโลกมากขึ้น แต่จะทำให้กระแสต่อต้านญี่ปุ่นในจีนและเกาหลีใต้ทวีความเข้มข้นหรือไม่ ทำให้แนวร่วมต่อต้านเกาหลีเหนืออ่อนกำลังหรือไม่ และส่งผลต่อเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อ

- จีนน่าจะเป็นคนที่หัวเราะดังที่สุดในรอบนี้เพราะถ้าคิมจองอึนทดลองอาวุธปรมาณูจริง ย่อมถูกผลักให้ต่อต้านสหรัฐอเมริกามากขึ้น และต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น แต่ถ้าขัดขืนจีนหรืออำนาจสั่นคลอนเพราะยอมลงให้กับสหรัฐอเมริกาเกินไป จีนอาจใช้ข้ออ้างหาทางรัฐประหารในเกาหลีเหนือได้

ส่วนกับสหรัฐอเมริกา การที่จีนแสดงท่าทีร่วมมือมากขึ้น ย่อมแลกกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องอ่อนข้อให้กับจีน เช่น การยกเลิกข้อกล่าวหาว่า "ปั่นค่าเงิน"

แต่หากสมมติว่าเกาหลีเหนือถูกผลักไปเข้าข้างจีนมากขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นคิมจองอึนเอง หรือรัฐบาลของคนอื่นที่ทางปักกิ่งชูขึ้นมา เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาจะชอบหรือไม่ถ้ารัฐบาลหุ่นของปักกิ่งหรือกำลังของปักกิ่งเข้ามาถึงเส้นขนานที่ 38 ต้องรอดูอีกที

ตอนนี้จึงเป็นรายการวัดใจระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึนแล้วละครับ ผมกำลังรอดูต่อเหมือนทุกคนว่าผลลัพธ์จะออกแนวไหนครับ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน แฟนเพจ เฟซบุ๊ก สลักธรรม โตจิราการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Zootopia และ Get Out: มองการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของสหรัฐผ่านแผ่นฟิล์ม

Posted: 15 Apr 2017 02:07 AM PDT


 

ในสหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งในทุกๆ สังคม ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์สีผิว ชาติพันธุ์ หรือศาสนาได้ถูกนำไปผูกติดกับเรื่องของการเมือง อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐประสบกับความตึงเครียดทางสีผิว โดยเฉพาะปัญหาอคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่กระทำต่อพลเมืองผิวดำหรือแอฟริกันอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเทรวอน มาร์ติน เด็กหนุ่มผิวดำวัย 17 ปี ผู้ถูกปลิดชีวิตกลางถนนด้วยกระสุนจากพลเมืองผิวขาวผู้มีประวัติเกลียดชังคนผิวดำทั้งๆ ที่เทรวอนไม่ได้ครอบครองอาวุธใดใด (2012) การกราดยิงสังหารหมู่ในโบสถ์คนดำในเมืองชาร์ลตันโดยเด็กหนุ่มผิวขาววัย 21 ปี ผู้เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (2015) การเสียชีวิตของเอริค การ์เนอร์ (2014) ไมเคิล บราวน์ (2014) อัลตัน สเตอลิง (2016) ฟิแลนโด คาสตีล (2016) และพลเมืองผิวดำคนอื่นๆ ด้วยน้ำมือของตำรวจในระหว่างการจับกุม โดยฝ่ายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทำเกินกว่าเหตุ เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความคับแค้นใจในหมู่ชุมชนคนผิวดำในสหรัฐจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง การปะทะอย่างรุนแรงระหว่างมวลชนและตำรวจ รวมไปถึงการลอบทำร้ายฝ่ายตำรวจจนทำให้ตำรวจเสียชีวิตไปหลายนาย ในขณะที่ภาคประชาสังคมได้จัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า Black Lives Matter เพื่อตอกย้ำให้คนในสังคมตระหนักว่าคนผิวดำไม่ได้เกิดมาให้กลุ่มคนที่มีอำนาจหรือสถานะเหนือกว่ายิงทิ้งยิงขว้าง หากแต่มีชีวิตที่มีคุณค่าและความสำคัญเทียบเท่าคนสีผิวอื่น ฝ่ายองค์กรตำรวจและอนุรักษ์นิยมก็ได้จัดตั้ง "ขบวนการโต้กลับ" นามว่า Blue Lives Matter เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเห็นใจจากสังคมต่อตำรวจที่ตกเป็นเป้าหมายความรุนแรงด้วยเช่นกัน สภาวการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นไม่มากก็น้อยว่า สังคมอเมริกายังห่างไกลจาก "ยุคหลังสีผิว (post-racial)" สังคมอุดมคติที่ซึ่งรูปลักษณ์สีผิวไม่ได้เป็นตัวกำหนดปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในรัฐสภาหรือการเมืองในชีวิตประจำวัน มันดูจะเป็นต้นตอของความขัดแย้ง แตกแยก ปฏิปักษ์กันอย่างประสานกันไม่ได้

ในปริมณฑลของแวดวงบันเทิงสหรัฐ ฮอลลีวูดมักได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของพวกเสรีนิยม เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม และเป็นพลังขับเคลื่อนความคิดที่ก้าวหน้า บรรดานักแสดง นักร้อง คนดังส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคเดโมแครตอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็น ลีโอนาโด คีแคปรีโอ จอร์จ คลูนี่  เคธี่ เพอรี่  เจซี ฯลฯ เมื่อไม่นานมานี้ ดาราหญิงเจ้าบทบาทอย่าง เมรีล สตีฟก็เพิ่งกล่าวกลางงานรับรางวัลในลักษณะที่ต่อว่าความคับแคบและมีอคติทางชาติพันธุ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สำคัญ ดูเหมือนว่าฮอลลีวูดจะมีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องสีผิว โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้เกิดคำวิจารณ์ที่ว่า Oscar so white เนื่องจากผู้เข้าชิงรางวัลสำคัญๆส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว คำครหานี้ดูจะเลือนหายไปในปีนี้ เมื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของMoonlight (2016)หนังว่าด้วยชีวิตของเด็กผิวดำเกย์ที่มีแม่เป็นคนติดยา หากจะพูดภาษาเชิงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ นี่คือภาพยนตร์ที่เล่นกับ "ความเป็นชายขอบ" ทับซ้อนหลายระดับไม่ว่าจะเป็น สีผิว เพศสภาวะ และฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุป บ่อยครั้ง ฮอลลีวูดมักนำเสนอว่าตนกำลังทำหน้าที่พิทักษ์เสรีภาพและความเปิดกว้างที่กำลังจะหดหายไปเรื่อยๆหลังปรากฎการณ์ "เลี้ยวขวา"ในการเมืองสหรัฐและการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ มักสรรเสริญเชิดชูความแตกต่างหลากหลายและความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) นอกจากนี้ก็ยังยืนกรานที่จะวิพากษ์วิจารณ์หยอกล้อเหล่าผู้นำที่อยู่ในอำนาจ    

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องพยายามใช้เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเป็นสื่อกลางสะท้อนประเด็นปัญหาอัตลักษณ์ทางสีผิวในโลกแห่งความเป็นจริง บทความนี้ขอเปรียบเทียบภาพยนตร์สองเรื่องที่ดูอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลย  เรื่องหนึ่งเป็นการ์ตูนดิสนีย์ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีสีสันสดใส อีกเรื่องหนึ่งเป็นหนังสยองขวัญเรทอาร์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องกำลังพยายามเปิดโปงปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐผ่านเรื่องเล่าสมมติแฟนตาซีไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน สุดท้ายแล้วภาพยนตร์ทั้งสองก็มีชุดคำอธิบายและเสนอทางออกว่าด้วยการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางสีผิวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

***คำเตือน: เนื้อหาด้านล่างจะพูดถึงพล็อทสำคัญของหนังซึ่งจะสปอยเนื้อเรื่องและทำให้ผู้อ่านเสียอรรถรสในการชมได้***


Zootopia: ก้าวข้ามอคติทางสีผิว เราทุกคนต่างเป็นทั้งผู้กระทำการและเหยื่อของการเหยียด

Zootopia (2016) เป็นทั้งชื่อภาพยนตร์และชื่อเมืองในจินตนาการซึ่งภาพยนตร์ต้องการฉายภาพเล่าเรื่องราว Zootopiaคือชื่อมหานครของเหล่าสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วัตถุและภูมิปัญญา หนังปูเรื่องให้เราทราบคร่าวๆว่าโลกของสัตว์ได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงจุดที่สัตว์ต่างๆไม่ได้ไล่ล่าฆ่าฟันกันอย่างป่าเถื่อนอีกต่อไป สัตว์ใหญ่กินเนื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติกับบรรดาสัตว์เล็กกินพืช ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกของสัตว์ใน Zootopiaนั้นมีลักษณะล้อไปกับโลกของมนุษย์ในความเป็นจริง  กล่าวคือ เรากำลังพูดถึงโลกที่ห่างไกลกับสภาวะอนาธิปไตย หรือ state of nature ที่ซึ่งสมาชิกทุกคนทำสงครามต่อกันไม่จบสิ้น นี่ไม่ใช่โลกที่เต็มไปด้วยชีวิตอัน "โดดเดี่ยว แร้นแค้น น่ารังเกียจ โหดร้าย และแสนสั้น" (อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเป็นจริงตามมุมมองของผู้ผลิตภาพยนตร์หรือคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว) อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดูจะมีความมั่นคงตามแบบฉบับประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี Zootopiaก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอคติและความแตกต่างทางอัตลักษณ์ได้ ทว่า แทนที่จะเป็นสีผิว ภาษา เพศสภาวะ หรือศาสนาเฉกเช่นโลกมนุษย์ ปมปัญหาอัตลักษณ์ใน Zootopiaเกิดขึ้นจากอคติหรือการตีตราสัตว์ประเภทต่างๆตามขนาด ตามมายาคติที่ว่าสัตว์ประเภทผู้ล่าจะดุร้ายป่าเถื่อน หรือตามความเชื่ออื่นๆแบบเหมารวม เช่น พวกจิ้งจอกจะเจ้าเล่ห์ไว้ใจไม่ได้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จูดี้ ฮอปป์ กระต่ายน้อยตัวเอกของเรื่องจึงต้องอดทนและต่อสู้กับระบบที่แบ่งแยกและกีดกันเมื่อหล่อนตัดสินใจออกจากหมู่บ้านกระต่ายชานเมืองมาทำตามความฝันที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในมหานคร Zootopia ด้วยภาระหน้าที่ในการดูแลปลอดภัย เพื่อนร่วมงานของจูดี้ต่างเป็นสัตว์ใหญ่ทรงพลังแทบทั้งสิ้นและหล่อนเป็นกระต่ายตัวแรกที่ได้เข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจ

เรื่องราวซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออยู่ดีดี บรรดาสัตว์ประเภทผู้ล่าบางตัวใน Zootopia เกิดอาการคุ้มคลั่ง ไล่ขย้ำทำร้ายทุกอย่างที่ขวางหน้า อันเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนในโลกบุพกาล เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดทางอัตลักษณ์ขึ้นระหว่างสัตว์ใหญ่กินเนื้อส่วนน้อยและสัตว์เล็กไร้เขี้ยวเล็บซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเมือง ฝ่ายหลังต่างหวาดระแวงและเริ่มมองว่าฝ่ายแรกคือภัยคุกคามต่อชีวิตตน จูดี้เองก็ดันไปพลาดพลั้งออกความเห็นในที่สาธารณะว่าสาเหตุของปัญหาอาจจะเป็นเรื่อง "ชีวภาพ" หรือกมลสันดานที่ถูกกดทับมาหลายพันปี หล่อนเสียใจมากเมื่อทราบภายหลังว่าคำพูดเช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความแตกแยกร้าวฉานใน Zootopia มากยิ่งขึ้น แต่ยังทำร้ายจิตใจนิค จิ้งจอกเพื่อนของหล่อนอีกด้วย ภายหลัง จูดี้และนิคร่วมกันไขคดีจนค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้วอาการบ้าคลั่งป่าเถื่อนมีสาเหตุมาจากสารสกัดจากพืชที่ถูกยิงเข้าไปในร่างกายของสัตว์ผู้ล่า กลุ่มผู้ก่อเหตุกลับเป็นแกะขนปุยที่ดูไร้พิษสง โดยเป้าหมายของกลุ่มแกะก่อการร้ายก็คือ การทำให้สังคมถูกครอบงำไปด้วยความหวาดกลัวและความเกลียดชังต่อสัตว์ประเภทผู้ล่า เพื่อให้ในที่สุดแล้ว ประชากรสัตว์เล็กกินพืชจะได้ขึ้นมามีอำนาจปกครอง Zootopiaอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภาพยนตร์จบลงด้วยการที่สมาชิก Zootopiaทุกคนได้รับบทเรียนจากอคติเหยียดความแตกต่างทางอัตลักษณ์ จูดี้และนิค กระต่ายน้อยที่ดูจะอ่อนแอนุ่มนิ่มและจิ้งจอกที่สังคมตีตราว่าไม่ซื่อสัตย์ ได้รับการยอมรับให้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบของ Zootopia

แน่นอนว่า Zootopia กำลังส่งสารทางการเมืองเรื่องอัตลักษณ์บางอย่างให้แก่ผู้ชม มันเตือนไม่ให้เราด่วนตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอกหรือมายาคติเหมารวม ไม่มีใครเกิดมาต่ำต้อยด้อยค่า ดุร้ายป่าเถื่อน มีพฤติกรรมชั่วร้าย เป็นอาชญากรโดยสายเลือด แม้จะเป็นโลกในจินตนาการ คนดูก็อดไม่ได้ที่จะนำไปผูกโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง อีกนัยหนึ่ง Zootopia คือ utopiaของสังคมอเมริกันที่หนังใฝ่ฝันถึง โดยชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เป็นหัวใจสำคัญ มันคือโลกที่คนแอฟริกันอเมริกันสามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ โลกที่ภาษาที่เราใช้สื่อสารกันต้องมี "ความเป็นกลาง"ให้มากที่สุด สัตว์ใหญ่ไม่ควรเรียกจูดี้ว่าเจ้าปุกปุยตัวน้อยฉันใด ผู้ชายก็ไม่ควรเรียกคู่สนทนาผู้หญิงว่า หนูหรือคนสวยฉันนั้น กระต่ายเท่านั้นที่จะสามารถชมกระต่ายด้วยกันเองว่าน่ารักได้ฉันใด คนผิวดำเท่านั้นที่จะสามารถใช้คำว่า "นิกเกอร์" เรียกเพื่อนร่วมสีผิวได้ฉันนั้น (ในอเมริกา คนสีผิวอื่นๆ โดยเฉพาะคนผิวขาวห้ามเป็นอันขาดที่จะใช้คำข้างต้นหรือ "นิโกร" เรียกคนผิวดำ เพราะคำศัพท์เหล่านี้สะท้อนประวัติศาสตร์ของระบบทาสอันโหดร้ายและกดขี่ที่คนขาวกระทำต่อคนผิวดำ) นอกจากนี้ Zootopia ยังเตือนสติให้เราตระหนักอยู่เสมอว่าในบางครั้งเราก็แสดงออกถึงอคติเหยียดอัตลักษณ์โดยที่ไม่รู้ตัว และในบางครั้งเราก็ตกเป็นเหยื่อของมุมมองเหยียดอัตลักษณ์เสียเอง ดังจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของหนัง จูดี้ต้องกล้ำกลืนกับคำสบประมาทของเพื่อนร่วมงานร่างยักษ์และฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆมากกว่าคนอื่นเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนสามารถเป็นตำรวจที่ดีได้ ทว่าในครึ่งหลัง หล่อนกลับพลั้งปากตีตราสัตว์กลุ่มนักล่าและกลายเป็นผู้ผลิตความเกลียดชังเสียเอง

Zootopia อาจจะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมค่านิยมที่ก้าวข้ามการตัดสินเพื่อนมนุษย์รอบข้างด้วยอคติเหมารวม โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชมวัยเยาว์ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หนังสนับสนุนให้พวกเขามีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากตน อย่างไรก็ตาม อคติและการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันคือป้อมปราการเดียวที่หนังพยายามพังทลายและก้าวข้าม พูดง่ายๆก็คือ หนังไม่ได้แตะประเด็นเรื่องความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างและทางประวัติศาสตร์ สารทางการเมืองของ Zootopia เป็นตัวอย่างสะท้อนการลดทอนปัญหาทางการเมืองที่สลับซับซ้อนให้เป็นเพียงแค่ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์ซึ่งสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายผ่านการ "เปิดพื้นที่" "ความอดทนอดกลั้น" "ให้โควต้า" และการพูดจาภาษาดอกไม้ที่มี "ความถูกต้องทางการเมือง" ต่อกัน[1] อันที่จริงการเปรียบเทียบระหว่าง โลกของสัตว์ใน Zootopia และโลกของมนุษย์ในโลกแห่งความจริงดูจะมีความตื้นเขินหรือแม้กระทั่งผิดฝาผิดตัว  ในโลกแห่งความเป็นจริง การที่คนแอฟริกันอเมริกันไม่กี่คนสามารถดิ้นรนต่อสู้ ไต่บันไดแห่งอำนาจขึ้นไปดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศได้ มันแทบไม่ได้ช่วยทำให้อคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงในสังคม ดีขึ้นแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายกลับทวีความเข้มข้นมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

เหนือสิ่งอื่นใด ใน Zootopia ไม่มีกลุ่มสัตว์กลุ่มใดที่มีสถานะเหนือกว่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หนังนำเสนอว่าสัตว์ผู้ล่าตัวใหญ่ดูจะถือไพ่เหนือกว่าในแง่การเมืองแม้พวกเขาจะเป็นชนกลุ่มน้อยก็ตาม ดังจะเห็นได้จากสิงโตน่าเกรงขามที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหรือสัตว์ใหญ่ในสำนักงานตำรวจ แต่ภายหลังสัตว์กลุ่มผู้ล่ากลุ่มนี้กลับตกเป็นเหยื่อของอคติทางอัตลักษณ์ ถูกตีตราว่าเป็นภัยสังคม และถูกเกลียดชังอัปเปหิออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างง่ายดาย ในโลกแห่งความเป็นจริง โครงสร้างทางประวัติศาสตร์ที่เหลื่อมล้ำกดทับให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบทางอำนาจมาโดยตลอดทั้งในเชิง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นที่ทราบกันดีว่ามายาคติของคนผิวขาวว่าด้วยความดุร้ายป่าเถื่อนของชนพื้นเมืองนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล่าอาณานิคม และสถาปนาอำนาจในการปกครอง ทว่า Zootopia กลับฉายภาพว่าเราทุกคนต่างเป็นทั้งคนเหยียดและเหยื่อของการเหยียดได้เท่าๆกันหมด

มุมมองที่หมกมุ่นกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายทำให้สังคมหันไปให้ความสำคัญกับการนำเสนอ "ตัวตน" "ลักษณะเฉพาะตัว" ที่สวยงาม โดยมืดบอดหรือหลีกเลี่ยงที่จะขุดคุ้ยค้นหาต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของสังคม ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ควรได้รับการแก้ไขเชิงกฏหมายกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาของทัศนคติที่คับแคบและไร้ความอดทนอดกลั้นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยภาษาที่สุภาพและการสรรเสริญความหลากหลายให้มากขึ้นเท่านั้น ดังเนื้อเพลงป็อปที่หนีไม่พ้นเรื่องซ้ำซากจำเจว่า "You are beautiful no matter what they say. Words can't bring you down." หรือการยืนกรานว่า "I was born this way." สุดท้ายแล้ว ประเด็นปัญหาทางความรุนแรงและเหลื่อมล้ำที่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนกลับถูกลดทอนให้เป็นเพียงเรื่องความสวยงามเฉพาะตัวของตัวฉันหรือกลุ่มของฉัน ทุกวันนี้วาทกรรมเชิดชูอัตลักษณ์ที่หลากหลายเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง มันเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าและการสื่อสารผ่านเครือข่ายโซเซียลมีเดีย[2] การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดใดเลย มิหนำซ้ำ ความทุกข์ทางอัตลักษณ์ของทุกคนยังถูกมองว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด (ในอีกแง่หนึ่งก็คือไม่มีความทุกข์ของใครสลักสำคัญเลย) คนผิวขาวที่มีฐานะแต่ดันอาภัพเกิดมาเป็นคนเจ้าเนื้อก็สามารถนำเสนอว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอคติและการเหยียดไม่ต่างไปจากแรงงานเม็กซิกันหาเช้ากินค่ำ ด้วยเหตุนี้ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์แบบZootopia จึงไม่ได้กรุยทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง มันปฏิเสธการเมืองแบบปฏิปักษ์และการเผชิญหน้า มันเหนียมอายที่จะชี้หน้าประณามกลุ่มอภิสิทธิ์ชน utopiaในที่นี้จึงหมายถึงระบบระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน


Get Out: บทวิพากษ์มุมมองแบบPC และเสรีนิยมพหุวัฒนธรรมในหมู่คนผิวขาวหัวก้าวหน้า

Get Out (2017) เริ่มเรื่องด้วยฉากที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเทรวอน มาร์ติน ชายแอฟริกันอเมริกันคนหนึ่งกำลังเดินคุยโทรศัพท์อยู่บนทางเดินเท้าในย่าน "ชุมชนที่อยู่อาศัย" กลางดึก ดูเหมือนว่าเขากำลังหลงทาง เขารัวฝีเท้าด้วยความกังวลเมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังถูกจับตามองและติดตาม เขาตระหนักดีว่าเขากำลังอยู่ในย่านที่เขาไม่คุ้นเคยและไม่ปลอดภัยสำหรับ "คนอย่างเขา" และแล้วเขาก็เผชิญกับฝันร้ายของชาวแอฟริกันอเมริกันทุกคน บุคคลปริศนาที่ติดตามเขาลงมาจากรถและตรงปรี่มาทำร้ายเขาพร้อมจับตัวเขาใส่กระโปรงรถ ฉากเปิดเรื่องข้างต้นอาจทำให้ผู้ชมด่วนคิดไปเสียว่านี่คือหนัง 12 years a slave เวอร์ชั่นร่วมสมัย ที่กำลังจะเล่าเรื่องความรุนแรงที่พลเมืองชาวแอฟริกันอเมริกันประสบทุกวันนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มคลั่งคนขาว คลู คลักซ์ แคลน

เรื่องหาเป็นเช่นนั้นไม่ หนังแนะนำให้เรารู้จักพระเอกและนางเอกของเรื่อง คริส หนุ่มผิวดำผู้รักการถ่ายรูปและโรสสาวผิวขาวเป็นคู่รักกัน อยู่มาวันหนึ่ง คริสและโรสตัดสินใจเดินทางไปใช้เวลาสุดสัปดาห์กับครอบครัวของโรสที่บ้านเกิดของหล่อน นี่จะเป็นครั้งแรกที่คริสจะได้พบกับพ่อแม่ของแฟนเขา "นี่พ่อแม่คุณทราบหรือไม่ว่าผมเป็นคนดำ" คริสถามแฟนของเขาตรงๆ โรสส่ายหัวพร้อมยืนกรานว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกพวกเขา เพราะนั่นคือการตอกย้ำความแตกต่างทางอัตลักษณ์สีผิว หล่อนปลอบคริสว่าไม่มีอะไรน่ากังวล พ่อแม่ของหล่อนไม่ใช่คนเหยียดสีผิว พวกเขาอาจจะเป็นคนแก่ผิวขาวที่เชยๆเท่านั้น อย่างแย่ที่สุด พ่อของหล่อนอาจจะพยายามชวนคริสคุยเรื่องโอบามาและแจ้งให้คริสทราบว่าเขาคือผู้สนับสนุนโอบามาตัวยง จริงอย่างที่โรสว่า พ่อแม่ของโรสดูไม่มีพิษมีภัย พวกเขาทักทายคริสด้วยการสวมกอดอย่างไม่กระอักกระอ่วน แม้บ้านของพวกเขาจะใหญ่โตหรูหราตามแบบฉบับของคนผิวขาวมีอันจะกินที่อาศัยอยู่นอกเมืองท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พ่อและแม่ของโรสก็ไม่ใช่พวกโลกแคบ พวกเขาชื่นชมและรักที่จะเรียนรู้ "วัฒนธรรมอื่นๆ"ที่หลากหลาย พวกเขามีการศึกษา พ่อของโรสเป็นศัลยแพทย์ทางประสาท ส่วนคุณแม่ก็เป็นนักบำบัดจิตโดยใช้การสะกดจิต กระนั้น คริสก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล เริ่มต้นจาก ครอบครัวนี้มีแม่บ้านและคนสวนที่เป็นคนผิวดำ แต่พ่อของคริสก็รีบออกตัวเลยว่า เขารู้ดีว่ามันอาจจะดูน่าเกลียดแต่ทั้งสองทำงานให้ครอบครัวเขามานานและไม่อยากจะไล่ออก คริสอดไม่ได้ที่จะเข้าไปชวน "คนใช้"ผิวสีทั้งสองคุยเป็นการส่วนตัว แต่ทั้งสองกลับมีแสดงท่าทีแปลกประหลาด เหม่อลอย ร้องไห้ พูดจาไม่รู้เรื่อง

เรื่องราวดำเนินมาถึงจุดที่คริสรู้สึกแปลกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีใครจ้องทำร้ายเขา แต่เขารู้สึกเหมือนเป็นตัวประหลาดท่ามกลางคนผิวขาวผู้มีรอยยิ้มที่เป็นมิตรต่อเขา ในงานรวมญาติมิตรของครอบครัวโรส ลุงๆป้าๆต่างเข้ามาชวนเขาคุย ลุงคนหนึ่งถามว่าเขาชอบเล่นกีฬาอะไร ชอบเล่นกอล์ฟไหมเพราะตนชอบ พร้อมเอ่ยชื่อไทเก้อ วูด นักกอล์ฟผิวดำขึ้นมา แม้ว่าคริสจะบอกว่าเขาเล่นบาสเก็ตบอลแต่คุณลุงก็ยืนกรานให้เขาลองทำท่าสวิงไม้กอล์ฟให้ดูหน่อย ในวงสนทนา มีชายชาวเอเชียมาดอาจารย์คนหนึ่งตั้งคำถามเชิงวิชาการกับคริสอย่างสุภาพว่า "คุณคิดว่าประสบการณ์แบบแอฟริกันอเมริกันเป็นข้อดีหรือข้อเสียกันแน่?" คริสมึนงงไม่รู้จะตอบคำถามลักษณะนี้อย่างไร

 

"ไอ้มืด มึงออกจากที่นั่นเดี๋ยวนี้เลย!" เพื่อนเตือนคริสทางโทรศัพท์เมื่อคริสเล่าเรื่องผิดปกติต่างๆที่บ้านของโรสให้ฟัง แน่นอนว่ากว่าคริสจะรู้ตัว มันก็สายไปเสียแล้ว ภายใต้เปลือกนอกที่เป็นมิตร คริสกำลังจะกลายเป็น "สินค้า" ซื้อขายกันระหว่างญาติมิตรของครอบครัวโรส โดยแฟนสาวของเขาไม่เพียงรู้เห็นด้วยแต่ยังทำหน้าที่ล่อเหยื่อผิวดำเข้าบ้านมานับครั้งไม่ถ้วน นานมาแล้วที่พ่อของโรสทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายสมองระหว่างคนรู้จักผิวขาวของเขาและเหยื่อคนดำ ประกอบกับเทคนิคการสะกดจิตของแม่ของโรส ผลที่ออกมาก็คือ เหล่าคนขาวที่กำลังจะตาย ป่วย หรือไม่พอใจกับร่างกายของตนจะได้ใช้ชีวิตในร่างใหม่ ร่างของคนผิวดำ คนใช้ผิวสีสองคนของครอบครัวโรสแท้ที่จริงคือคุณปู่และคุณย่าของหล่อนนี่เอง ส่วนกรณีของคริส ร่างกายของเขากำลังจะถูกควบคุมโดยชายแก่ผิวขาวผู้อยากจะกอบกู้ทักษะการถ่ายรูปของตนอีกครั้งผ่านตาอันเฉียบคมของคริส องก์สุดท้ายของหนังถ่ายทอดการกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดของคริส เขาต้อง "ฆ่า" เพื่อ get out เขาปลิดชีวิตพ่อแม่และน้องชายของโรสทีละคน เขาหนีออกจากบ้านสุดสยอง วิ่งไปตามถนน โดยมีโรสไล่ยิงเขาด้วยปืนยาว ในฉากสุดท้าย คริสหนุ่มผิวดำผู้เหน็ดเหนื่อยกำลังคร่อมบนตัวโรสและบีบคอหล่อนอยู่กลางถนน แต่แล้ว แสงไฟกระพริบรถตำรวจก็สาดเข้าตาของเขา แววตาของคริสหมดหวัง (ถูกต้อง รถตำรวจมักจะโผล่มาในตอนท้ายของเรื่องเสมอ เราต่างคุ้นเคยกับความรู้สึกโล่งอกและเรื่องราวที่กำลังจะคลี่คลายเมื่อรถตำรวจเข้าฉากมาในตอนท้ายของหนังสยองขวัญ แต่ไม่ใช่ในกรณีนี้ ไม่ใช่ในบริบทความเป็นจริงที่ Black Lives Matter ปะทะกับ Blue Lives Matter) คริสยกมือทั้งสองขึ้นโดยอัตโนมัติ ณ จุดนี้ ผู้กำกับปราณีต่อคริสและคนดู ในโลกแห่งความเป็นจริง คริสน่าจะถูกวิสามัญฆาตกรรมไปแล้ว แต่ในโลกของ Get Out ผู้มาเยือนกลับเป็นเพื่อนรักของคริสผู้ขับรถมาช่วยเขา

Get Out คือหนังที่ตบหน้าคนผิวขาวเสรีนิยม ชื่นชม PC อย่างตื้นเขิน เป็นแฟนคลับโอบามา แต่ไม่รู้ตัวว่าคำพูดหรือการกระทำของตัวเองเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจในมุมมองของคนผิวสี จอร์แดน พีล ผู้กำกับผิวดำได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าเขาอยากทำหนังตีแผ่การเหยียดสีผิวที่ไม่เพียงแต่แฝงฝังในปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันทั่วไปแต่ยังอยู่ในรูปของความเป็นมิตร สุภาพ และเปลือกนอกแห่งพหุนิยมทางวัฒนธรรม นี่ไม่ใช่หนังที่ตัวร้ายเป็นนายทาสผิวขาวถือแซ่ผู้ดูแคลนว่าคนผิวดำต่ำต้อยด้อยค่า ป่าเถื่อน เป็นสัตว์ร้ายที่ต้องล่ามโซ่ตรวนไว้ หากแต่เป็นเหล่า "คนดี" ที่พูดจาภาษาดอกไม้ สาเหตุที่เหยื่อทุกคนเป็นคนดำก็เพราะลึกๆแล้ว คนดีเหล่านี้หมกมุ่นกับอัตลักษณ์ความ "ดำ" แทนความเกลียดชัง พวกเขาใฝ่ฝันที่จะครอบครองร่างกายที่กำยำ คล่องแคล่ว หรือสายตาที่เฉียบคมของคนดำ ความดำกลายเป็นสินค้า เป็นกระแสแฟชั่น บางที ตอนนี้มันอาจไม่มี Black skin, white masks หรือการที่คนดำพยายามฟอกขาวตัวเองอีกแล้ว แต่กลับเป็นยุคโพสท์โมเดิร์นที่คนขาวถวิลหา black skin และ black masks กระนั้นก็ตาม การยอมรับเชิดชูอัตลักษณ์ความดำก็เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการเห็นว่าชีวิตของคนดำนั้น "ยิงทิ้งยิงขว้างได้ (disposable, expendable)"[3] หนังทำให้เราสัมผัสได้ถึงโครงสร้างความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในโลกแห่งความเป็นจริง หากจะมีคนดำหรือพวกใต้ถุนสังคมสักสิบยี่สิบคนหายสาบสูญไปอย่างลึกลับ จะมีใครเล่าที่ออกตามหาพวกเขาอย่างจริงจัง มิพักต้องพูดถึงฉากจบที่ทำเอาผู้ชมในโรงใจหายวูบเมื่อเห็นแสงกระพริบรถตำรวจ พีลเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกและภาพตีตราคนดำที่เราทุกคนรู้ดี แม้ว่าคริสจะถูกทรมานและเพิ่งรอดพ้นจากการถูกชำแหละหัวมาหมาดๆ ชะตาของเขาคงถึงฆาตแน่ๆหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเขาในสภาพเลือดท่วมตัวพร้อมศพหญิงผิวขาวข้างกาย

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในทัศนะของ Get Out นั้นมืดมนกว่า Zootopia อย่างเทียบกันไม่ติด มันบอกอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ในโลกมนุษย์กลมๆใบนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็น "ผู้ล่า" อย่างชัดเจน "ผู้ล่า"เหล่านี้อาจจะนำเสนอว่าตนเองมีความใจกว้าง เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย มีการศึกษา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมือสะอาดไม่ได้มีส่วนในการสืบสานโครงสร้างความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสีผิว ไม่เพียงเท่านั้น เราสามารถตีความจากหนังได้ว่า ในบางครั้ง ในบางสถานการณ์ คนผิวดำมีเพียงความรุนแรงและการฆ่าเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง เขาไม่สามารถหวังพึ่งระบบกฏหมายและเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบได้เลย หนังกลับหัวกลับหางพล็อตเรื่องทั่วไปที่มักจะให้ตัวละครคนดำต้องถูกสังเวยชีวิตในฐานะตัวประกอบหรือตัวร้ายของเรื่อง ฉากไล่สังหารคนผิวขาวของคริสถือเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นบ่อยในหนังฮอลลีวูด (พีลประกาศตรงๆว่า เขาดีใจเมื่อเห็นผู้ชมคนดำลุกขึ้นเชียร์พระเอกอย่างเมามันส์ในโรงหนัง) สุดท้ายแล้ว หนังไม่ได้จบลงด้วยสภาวะสมานฉันท์ปรองดอง และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ตรงกันข้าม บทเรียนราคาแพงของคริสกลับเป็นการอยู่ให้ห่างไกลจากคนขาวได้มากที่สุด ไม่ต้องไปพูดถึงการริอ่านมีแฟนคนขาวอีกสักคน   
 

บทสรุป

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ถือเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงที่เผ็ดร้อนและความขัดแย้งที่ประสานกันไม่ได้ทั้งในและนอกแวดวงวิชาการ กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์และกังขามักมองว่าบ่อยครั้งที่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์สุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนทุกๆปัญหาความขัดแย้งให้เป็นแค่เรื่องความแตกต่างหลายหลายทางวัฒนธรรม การขาดความอดทนอดกลั้น และอคติเหมารวม ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธีการง่ายๆ ผ่านการเคารพต่อกันให้มากขึ้น  เปิดพื้นที่เสรีภาพให้ทุกคน และส่งเสริมการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง บ่อยครั้งโลกอุดมคติของนักพหุวัฒนธรรมนิยมมักจะหยุดอยู่ตรงที่บรรดากลุ่มคนส่วนบนของอำนาจยังครองสถานะที่เหนือกว่าต่อไป ท่ามกลางการแก่งแย่งขอพื้นที่ (ทางเศรษฐกิจ สังคม และโซเซียลเน็ทเวิร์ค) ในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเองและจำกัดการใช้คำศัพท์ดูถูกดูแคลนต่อกันให้ได้มากที่สุด

Get Out สะท้อนความเข้าใจต่อปัญหาทางอัตลักษณ์และการเหยียดสีผิวจากมุมมองของคนผิวดำ ดูเหมือนว่าสารทางการเมืองของหนังจะแทบไม่เกี่ยวข้องกับการสรรเสริญเชิดชูวาทกรรมประเภท "black is beautiful" แม้แต่น้อย ตรงกันข้าม มันตะโกนบอกว่า "ครั้งหน้าเวลาเจอคนดำ อย่าชวนกูคุยเรื่องโอบามาหรือไทเก้อร์ วูดเลย มันสะท้อนว่ามึงเห็นความดำมาก่อนลักษณะความเป็นคนอื่นๆของกู" แม้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในทัศนะของ Get Out จะรื้อทำลายมายาคติ ขีดเส้นแห่งความเป็นปฏิปักษ์ และกระตุ้นให้นักพหุวัฒนธรรมเสรีนิยมย้อนกลับมามองวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของตัวเอง กระนั้น มันก็ไม่ใช่หนังแห่งการปฏิวัติต่อสู้ของคนยากเสียทีเดียว หนังยังขาดแง่มุมเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้น หนังอาจถูกตีความได้ว่ากำลังเล่าเรื่องราวความทุกข์ของคนดำชนชั้นกลางมีการศึกษาที่รู้สึกแปลกแยกจากชนชั้นกลางผิวขาว สุดท้ายแล้วประเด็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์เป็นเพียงปัจจัยหรือองค์ประกอบหนึ่งที่ตอกย้ำสืบสานความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในสังคม บ่อยครั้งการพิจารณาและแก้ปัญหาแบบแยกส่วนอาจลงเอยส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจหลักที่ครอบงำดำรงอยู่ต่อไป

               

เชิงอรรถ

[1] ผู้ที่สนใจงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องความอดทนอดกลั้น ดู Wendy Brown, Regulating Aversion: Tolerance in the Age of Identity and Empire (Princeton: Princeton University Press, 2008).

[2] ดูงานต่อไปนี้ของ Jodi Dean ซึ่งวิพากษ์ประเด็นเรื่องการหมกมุ่นต่ออัตลักษณ์ผ่านโซเซียลเน็ทเวิร์ค ทุนนิยม  และความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายเสรีนิยม Jodi Dean, Crowd and Party (New York: Verso, 2016)  และ Jodi Dean, "Not us, Me," (November 26, 2016), http://www.versobooks.com/blogs/2970-not-us-me.

[3] สำหรับผู้อ่านที่สนใจการแบ่งประเภทชีวิตตามลำดับสูงต่ำผ่านกรอบแนวคิดชีวอำนาจในปัจจุบันดู Costas Douzinas, "The Many Faces of Humanitarianism," Parrhesia, no. 2 (2007): 1-28. Henry A. Giroux, "Reading Hurricane Katrina: Race, Class, and the Biopolitics of Disposability," College Literature 33, no. 3 (Summer, 2006): 171-196, Didier Fassin, Humanitarian Reason: A Moral History of the Present (University of California Press, 2011).

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนดุสิตโพลล์ชี้คนหนุนผ่อนปรนทำกิจกรรมทางการเมือง

Posted: 15 Apr 2017 01:46 AM PDT

สวนดุสิตโพลล์สำรวจเรื่องคนไทยคิดอย่างไรกับพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่เรียกร้องให้ผ่อนปรน ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ อยากเห็นพรรคการเมืองเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง คัดเลือกผู้สมัคร กำหนดวิสัยทัศน์และนโยบาย

       
 
15 เม.ย. 2560 สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องคนไทยคิดอย่างไรกับ "พรรคการเมืองไทย" ณ วันนี้ จากที่มีการรัฐประหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องยุติบทบาทชั่วคราว แต่หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ทำให้พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้ คสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองไทย ซึ่งจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,287 คน ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2560 สรุปผลได้ ดังนี้
       
เมื่อถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ที่พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้ คสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองไทยสามารถ ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ อันดับ 1 เห็นด้วย 42.83% เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทุกพรรคย่อมมีสิทธิเสรีภาพ อยากเห็นแนวคิด วิสัยทัศน์ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่ละพรรคต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 30.15% เพราะที่ผ่านมาก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดแต่มีมาตรา 44 ควบคุมอยู่ ถ้าไม่มีอาจสร้างความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 27.02% เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.อาจเป็นการออกมาเรียกร้องเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
       
เมื่อถามว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนอยากเห็นบทบาทของพรรคการเมืองไทยเป็นอย่างไร อันดับ 1 เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ไม่สร้างความแตกแยก 74.44% อันดับ 2 มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือบ้านเมือง พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น 71.87% อันดับ 3 เคารพกฎหมาย กติกา และระบอบประชาธิปไตย 65.19%
       
เมื่อถามว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนอยากเห็นกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมืองไทยในเรื่องอะไรบ้าง อันดับ 1 เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง คัดเลือกผู้สมัคร กำหนดวิสัยทัศน์และนโยบาย 64.65% อันดับ 2 ลงพื้นที่พบปะประชาชน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 55.71% อันดับ 3 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพรรคการเมือง เสริมสร้างความปรองดอง 51.75%
       
เมื่อถามว่าลักษณะของพรรคการเมืองไทยที่ประชาชนอยากให้เป็นรัฐบาล ควรเป็นอย่างไร อันดับ 1 ยึดหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ สุจริต คำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ 80.26% อันดับ 2 สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 77.78% อันดับ 3 มาจากการเลือกตั้ง มาจากการตัดสินใจของประชาชน 69.08% 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุบัติเหตุ 11-14 เม.ย. 2,385 ครั้ง ตาย 226 ราย เจ็บ 2,457 ราย

Posted: 15 Apr 2017 01:24 AM PDT

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. เป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ พบเกิดอุบัติเหตุ 642 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 57 ราย ผู้บาดเจ็บ 664 คน รวม 4 วัน (วันที่ 11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,385 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 226 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,457 ราย

15 เม.ย. 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 โดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย.นี้ว่า เป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 642 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 57 ราย ผู้บาดเจ็บ 664 คน รวม 4 วัน (วันที่ 11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,385 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 226 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,457 ราย

 
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ 315 ครั้ง ร้อยละ 44.08 ขับรถเร็ว 189 ครั้ง ร้อยละ 27.41 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 554 คัน ร้อยละ 84.45 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 41.12 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 32.09 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.84 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 19.14 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,041 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,177 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 847,333 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 149,345 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 41,755 ราย ไม่มีใบขับขี่ 39,197 ราย
 
สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่และอุดรธานี 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และเพชรบูรณ์จังหวัดละ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่และอุดรธานีจังหวัดละ 32 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (วันที่ 11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,385 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 226 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,457 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 12 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 4 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 114 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 13 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 119 คน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรรเสริญไม่ทราบเรื่องหมุดคณะราษฎรหาย 'ศรีสุวรรณ' ขอให้นายกฯ สอบสวน

Posted: 15 Apr 2017 12:13 AM PDT

กรณีหมุด "ประชาชนสุขสันต์หน้าใส" ถูกนำมาติดตั้งแทนหมุดคณะราษฎรนั้น พล.ท.สรรเสริญ ไม่ทราบและไม่ขอออกความเห็น ด้านศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้สอบสวนเรื่องเปลี่ยนหมุด ขณะที่อาจารย์ ม.เกษตร เผยกับวอยส์ทีวีว่า เมื่อ 1-2 เม.ย. เพิ่งให้นิสิตไปทำรายงานและหมุดคณะราษฎรยังอยู่ แต่พอ 8 เม.ย. นิสิตอีกกลุ่มพบว่าหมุดเดิมถูกเปลี่ยนแล้ว

กรณีหมุดคณะราษฎรหายและถูกแทนที่ด้วยหมุดที่เขียนข้อความด้านในว่า "ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" และมีข้อความวงนอกของหมุดว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

วันนี้ 15 เม.ย. ในเฟสบุ๊คของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้โพสต์สเตตัสว่าได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบกรณีเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร โดยระบุในสเตตัสว่า "วันนี้ทำหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการให้มีการสอบสวน-ตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือหน่วยงานใด ที่เข้ามาดำเนินการฉกและสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร อันเป็นการบิดเบือนและทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติครับ ถ้านายกฯไม่สั่งการหรือดำเนินการตามคำร้องนี้ ก็คงต้องขอทดสอบมาตรา 51 แห่ง รธน. 2560 ต่อไปครับ"

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีหมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยนว่า "โดยส่วนตัวผมไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้ และไม่ขอออกความเห็นเรื่องดังกล่าว"

อนึ่งในรายงานของวอยส์ทีวี ได้สัมภาษณ์ ศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่าได้สั่งให้นิสิตทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎร นิสิตกลุ่มแรกเดินทางไปยังหมุดคณะราษฎรระหว่าง 1-2 เม.ย. ได้ถ่ายภาพและพบว่ายังเป็นหมุดคณะราษฎรเดิม

แต่เมื่อนิสิตกลุ่มที่ 2 ลงพื้นที่สำรวจวันที่ 8 เม.ย. พบว่า หมุดเปลี่ยนไปแล้ว โดยศาสตรินทร์เสนอว่า หากจะมีการเปลี่ยนหมุดในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะทำในช่วงวันที่ 3-7 เมษายนที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น