โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กรุงเทพฯ เมืองอาหารริมทางอันดับ 1 ของโลก-เตรียมห้ามแผงลอยทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

Posted: 18 Apr 2017 12:49 PM PDT

กรุงเทพมหานครที่เพิ่งได้รับเลือกจาก CNN ให้เป็นเมืองแห่งอาหารริมทางอันดับหนึ่งของโลก เตรียมห้ามขายของริมทางคืนทางเท้าให้คนเดิน เป้าหมายต่อไปเยาวราช-ข้าวสาร ด้านนายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสารชี้ควรจัดโซนให้ขายเพื่อให้คนมีงานทำและรักษาเสน่ห์เมืองกรุง

เยาวราชเป็นเป้าหมายต่อไปของการจัดระเบียบทางเท้า (ที่มาของภาพประกอบ: Sayompoo Setabhrahmana /Wikipedia)

18 เม.ย. 2560 กรุงเทพมหานครประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้มีการตั้งแผงลอยบนทางเท้าอีกต่อไปเพื่อความสะอาดและความปลอดภัย ทั้งที่เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพิ่งได้รับเลือกจาก CNN ให้เป็นเมืองแห่งอาหารริมทางอันดับหนึ่งของโลก

เนชั่นรายงานว่า กรุงเทพมหานครจะยกเลิกการขายอาหารริมทางให้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ โดยเป้าหมายต่อไปของการจัดระเบียบอาหารริมทางคือย่านเยาวราชและถนนข้าวสาร สองย่านที่โด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องอาหารริมทาง

วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า "ทาง กทม. กำลังขจัดร้านค้าแผงลอยใน 50 เขตของกรุงเทพฯ เพื่อคืนพื้นที่ให้กับคนเดินถนน แผงลอยยึดครองพื้นที่ข้างทางนานจนเกินไปแล้ว ทั้งนี้ เราได้เตรียมตลาดให้จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างถูกกฎหมายแล้ว"

ในขณะที่ปิยะบุตร จิวระโมไนย์กุล นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสารกล่าวว่า เขาไม่ทราบถึงแผนจัดการร้านค้าแผงลอยของทางกรุงเทพฯ และจะต้องมีการพูดคุยกับทางการต่อไป "ถนนข้าวสารมีร้านอาหารแผงลอยกว่า 200 ร้าน ถือเป็นเอกลักษณ์ของถนนข้าวสารที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก"

"กรุงเทพฯ ควรจัดพื้นที่ให้กับร้านค้าแผงลอยเพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงได้ประกอบธุรกิจและคงไว้ซึ่งเสน่ห์ในด้านร้านอาหารริมทางในกรุงเทพฯ...ผู้คนจะได้รับประโยชน์จากการขายสินค้า ในขณะที่นักท่องเที่ยวก็ได้มีความสุขไปกับอาหารริมทางอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ" ปิยะบุตร กล่าว

นโยบายห้ามขายดังกล่าว สวนทางกับการจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารริมทางที่ดีที่สุดในโลก เอาชนะกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น และฮอนโนลูลูของสหรัฐฯ CNN ให้ความเห็นว่า ร้านอาหารริมทางในกรุงเทพฯ นั้นมีความหลากหลาย แปลกใหม่และหารับประทานได้ตลอดเวลา "การหลบลี้หนีไปจากร้านอาหารแผงลอยในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะข้างถนนในแต่ละพื้นที่มีร้านค้าบริการหมุนเวียนกันทุกเวลา บางร้านขายอาหารเช้าเป็นน้ำเต้าหู้ บางร้านขายข้าวมันไก่ที่หุงข้าวหอมกรุ่นสำหรับอาหารกลางวัน ส่วนยามดึกก็มีอาหารหลายรายการตั้งแต่ผัดไทยไปจนถึงหมูสะเต๊ะ"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

CNN, Best 23 cities for street food -- from Mumbai and Miami to Marrakech, CNN, August 8, 2016 http://edition.cnn.com/2016/08/08/foodanddrink/best-cities-street-food/

The Nation, BMA bans all street food across Bangkok this year, The Nation, April 18, 2017 http://www.nationmultimedia.com/news/national/30312543

Time, The World's Street-Food Capital Is Banning Street Food, Time, April 18, 2017 http://time.com/4743955/bangkok-street-food-ban

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านร่างรัฐธรรมนูญสมัยรัชกาลที่ 7 “ฉบับพระยากัลยาณไมตรี” และ “ฉบับพระยาศรีวิสารวาจา”

Posted: 18 Apr 2017 11:33 AM PDT

เปิดร่างรัฐธรรมนูญสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ไม่เคยมีการประกาศใช้ ฉบับแรกเป็นของพระยากัลยาณไมตรี "ฟรานซิส บี. แซร์" มี 12 มาตรา ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อภิรัฐมนตรี และองคมนตรีสภา อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์ ส่วนอีกฉบับเป็นร่างของพระยาศรีวิสารวาจา พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ไม่เกินครึ่งหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2469 (ที่มาของภาพประกอบ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

(ซ้าย) พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ และ (ขวา) พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล) (ที่มาของภาพประกอบ: วิกิพีเดีย และ "อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, 8 มิถุนายน 2511")

 

ร่างรัฐธรรมนูญ 2467 "ฉบับพระยากัลยาณไมตรี"

ในบทความหัวข้อ "พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis Bowes Sayre)" เผยแพร่ในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศ โดยผู้มีส่วนช่วยร่างรัฐธรรมนูญคือ พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวอเมริกัน ผู้อยู่ในคณะเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

โดยรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี ร่างนั้นมีเพียง 12 มาตรา เรียกว่า "Outline of Preliminary Draft" เสร็จสิ้นในปี 2467 แต่ไม่ได้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

 

พระยากัลยาณไมตรีตอบรัชกาลที่ 7
ยังไม่ควรมีสภาเพราะประชาชนไม่พร้อม

อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขา "Problem of Siam" สอบถามพระยากัลยาณไมตรี 9 ข้อ ในจำนวนนี้มีคำถามที่เกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองได้แก่ ข้อ 3 "สักวันหนึ่งประเทศนี้จะต้องมีระบบการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่ และระบอบการปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล - แซ็กสัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือ" ข้อ 4 "ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองระบบผู้แทนราษฎรในรูปใดรูปหนึ่ง?" ข้อ 6 "เราควรมีนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ? ควรเริ่มใช้ระบบนี้ในตอนนี้เลยหรือไม่ ?" และข้อ 7 "เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่? องค์ประกอบสภาเช่นนี้ควรจะเป็นเช่นใด"

โดยพระยากัลยาณไมตรีตอบกลับมาในบันทึกหัวข้อ "Sayrt's Memorandum" โดยตอนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการมีสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าประชาชนไม่พร้อม โดยระบุว่า "การจะมีรัฐสภาที่ใช้งานได้จะต้องอาศัยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าใจระบอบการปกครองแบบนี้ดี หากไม่มีประชาชนที่มีสติปัญญามากำกับควบคุม รัฐสภามีแต่จะเสื่อมถอยไปเป็นองค์การที่เลวร้ายและเผด็จการ ตราบใดที่ปวงประชาชาวสยามทั้งหลายยังไม่ได้รับการศึกษาสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพยายามตั้งองค์กรเชิงรัฐสภาที่ประชาชนเลือกตั้งมามีแต่จะนำอันตรายใหญ่หลวงมาให้ ดังนั้น จึงดูไม่มีทางเลือกนอกจากการคงไว้ซึ่งระบอบการปกครองที่อำนาจเด็ดขาดยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยที่สุดในช่วงปัจจุบันนี้"

รัชกาลที่ 7 ทรงนำจดหมายตอบดังกล่าวให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งท่านก็ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการมีนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการนำร่างรัฐธรรมนูญ 12 มาตราของพระยากัลยาณไมตรีมาใช้แต่อย่างใด

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี (ฉบับแปลโดยวิษณุ เครืองาม)

มาตรา 1

อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 2

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบ ต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 3

ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา 4

ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา 5

ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้แต่ให้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา 6

ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

มาตรา 7

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี 5 นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

มาตรา 8

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9

ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่ง เป็นทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององค์มนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท

มาตรา 10

ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราว ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

มาตรา 11

อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 12

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดย พระมหากษัตริย์ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยาศรีวิสารวาจา-เรมอนด์ บี.สตีเวนส์

นอกจากนี้ในปี 2474 รัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระเนตรที่สหรัฐอเมริกาทรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ที่สหรัฐอเมริกาเรื่องการตั้งระบบเทศบาลขึ้นในประเทศ และเมื่อเสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง หรือ หุ่น ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนรัฐนิวแฮมเชียร์ สังกัดพรรคเดโมแครต รองประธานคณะกรรมการเดินเรือแห่งสหรัฐ และเป็นผู้แทนอเมริกันในสภาการขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้งสองร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม 2474 (หรือ 9 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า "An Outline of Changes in the Form of Government" หรือ "เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง" ร่างดังกล่าวได้กำหนดรูปแบบของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย

โดยพระยาศรีวิสารวาจาและนายเรมอนด์ บี.สตีเวนส์ ได้มอบร่างดังกล่าวให้แก่อภิรัฐมนตรี ในวันที่ 12 มีนาคม 2474 (หรือ 12 มีนาคม 2475 ตามปฏิทินสากล) เพื่อประชุมพิจารณาในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการประชุมพิจารณากันอย่างไร และไม่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน 2475

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยาศรีวิสารวาจา-เรมอนด์ บี.สตีเวนส์ ที่มีผู้รวบรวมและแปลในเว็บไซต์ academia มีสาระสำคัญดังนี้

1. อภิรัฐมนตรีสภามีจำนวนไม่เกิน 6 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในนโยบายทั่วๆ ไป และห้ามสมาชิกในอภิรัฐมนตรีสภา ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

2. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของพระมหากษัตริย์และต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่องของการบริหารงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีสิทธิในการเลือกรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งจะต้องแจ้งให้พระมหากษัตริย์ทราบและยืนยันด้วย

3. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีและเป็นสื่อระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐมนตรี

4. สภานิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คนและไม่เกิน 75 คน สมาชิกที่มาจากเลือกตั้งและแต่งตั้งในจำนวนเท่าๆ กัน และการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์จะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่ง คณะรัฐมนตรีจะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติ ถ้าสภานิติบัญญัติใช้อำนาจไปเกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารมีสิทธิที่จะชี้แจงได้ในสภา มีสิทธิในการตอบคำถามต่างๆ

วิธีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ผู้ออกเสียงในแต่ละอำเภอเลือกผู้สมัคร ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนของมณฑล จำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและจำนวนผู้แทนของมณฑลต้องตั้งอยู่บนฐานของประชากร ผู้ที่ลงสมัครจะต้องอาศัยอยู่ในอำเภอนั้นๆ และจะต้องเสียภาษีในมณฑล

การเลือกตั้งจะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่หากมณฑลใดการเลือกตั้งล้มเหลวหรือมีที่นั่งว่างลงพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ คุณสมบัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติต้องมีเชื้อชาติสยาม และอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ต้องอ่านออกเขียนได้ ต้องจ่ายภาษี และต้องไม่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติดำรงตำแหน่ง 4-5 ปี วาระจะเท่ากับคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติจะต้องประชุมปีละไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษจะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญโดยพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ในบทความของชำนาญ จันทร์เรือง เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2558 เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเค้าโครงการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น มิใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง) เช่นเดียวกับ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่เห็นว่า "เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจอธิปไตยทั้งหมดยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว" (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง)

อนึ่งในบันทึกความเห็นประกอบ"เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง" ทั้งพระยาศรีวิสารวาจา และ เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ เสนอว่ายังไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้น เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองตนเอง โดยพระยาศรีวิสารวาจาได้ยกตัวอย่างว่าในประเทศพม่ามีการจัดตั้งเทศบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2427 และในอีกเกือบ 40 ปีต่อมาจึงมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นใน พ.ศ. 2466 ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยก็ควรจะพิจารณาประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลเสียก่อน เพื่อให้ท้องถิ่นต่างๆ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการปกครองตนเองในขอบเขตจำกัด ก่อนที่จะเข้ามามีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศโดยส่วนรวม

ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นว่าการมีนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นวิธีการในระบบรัฐสภา เมื่อยังไม่มีรัฐสภาก็ยังไม่ควรจะมีนายกรัฐมนตรี และทรงเห็นว่าปัญหาที่สำคัญของประเทศสยามในขณะนั้นมิใช่อยู่ที่จะมีหรือไม่มีนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อถูกคัดค้านจากทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญและอภิรัฐมนตรี จึงทำให้ไม่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน 2475 ต่อมาเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จึงทำให้ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ที่ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน 2475 กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

 

ที่มาของข้อมูล

ชำนาญ จันทร์เรือง. "83 ปี 24 มิถุนา 2475" ประชาไท, 25 มิถุนายน 2558 (เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 24 มิถุนายน 2558)

โชคสุข กรกิตติชัย. "พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis Bowes Sayre)" ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า https://goo.gl/OFgvjv

ธนพงษ์ โสดานา. "ร่างรัฐธรรมนูญ ของนาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา พ.ศ.2474, An outline of changes in the form of government" เผยแพร่ใน Academia.edu

วิษณุ เครืองาม. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี ใน วิกิซอร์ซ https://goo.gl/vgJWZy (เผยแพร่ครั้งแรกใน วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้า 132-4. กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์. (พ.ศ. 2523) ต้นฉบับภาษาอังกฤษดูที่นี่

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ "เค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง", บทความเผยแพร่ใน Facebook, 25 พฤศจิกายน 2557

สุภัทร คำมุงคุณ. "พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา" ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า https://goo.gl/bMcO6X

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจกรมศิลปากรฯ ชี้ 'หมุดคณะราษฎร' เพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง ศรีวราห์ระบุเอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้

Posted: 18 Apr 2017 11:17 AM PDT

กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้ ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที

หมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่หายไป

19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น

กรมศิลปากร ชี้เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 60 เวลา 20.46 น. เฟซบุ๊ก 'กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร' โพสต์ข้อความว่า ประเด็น "หมุดคณะราษฎร์" เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่? 

กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ได้บัญญัติให้ "โบราณวัตถุ" หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่งจากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นหมุดคณะราษฎร์จึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

รอง ผบ.ตร.ชี้ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือของแผ่นดิน เอาผิดลักทรัพย์ไม่ได้

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีความเคลื่อนไหวให้ดำเนินคดีลักทรัพย์กับผู้ที่ถอดเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ ไม่ว่ากรณีอ้างเป็นทายาท หรือเป็นเจ้าของก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เช่นอ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาก็ต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดกก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย ยังไม่มีเจ้าของมาบอกเลยว่าทรัพย์ของตนเองหายไป จะทำคดีได้อย่างไร ความผิดเกิดหรือยังก็ไม่รู้
 
"ตอนนี้คดียังไม่เกิด ถ้าคดีเกิดแล้วจึงจะมีอำนาจสืบสวนสอบสวนต่อ เจ้าหน้าที่จะเอาอำนาจอะไรไปทำ ความผิดยังไม่เกิด จะออกหมายเรียก หรือหมายจับใครได้อย่างไร ตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ใด หรือหน่วยงานใดเป็นเจ้าของทรัพย์นี้ จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีได้ ต้องว่ากันไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ใครที่จะยุยงปลุกปั่นให้เป็นเรื่องการเมืองก็ว่ากันไปตามหลักฐานแล้วกัน ผมจะว่าไปตามหลักฐานที่มี" รอง ผบ.ตร.กล่าว และว่า กฎหมายบอกว่าผู้ใดเอาทรัพย์สินผู้อื่นไป ถือว่าผิดฐานลักทรัพย์ จึงต้องมีเจ้าของมาบอกก่อนว่ามีคนเอาของของเขาไป แต่กรณีนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วจะเอาผิดได้อย่างไร คดีนี้เราทำการสืบสวนไม่นิ่งนอนใจ ต้องว่าตามกบิลบ้านกบิลเมือง
 

ผู้ว่าฯกทม.ปัดเกิดไม่ทัน2475 - ผอ.เขตยินดีเปิดกล้องหากมีคนขอ

มติชนออนไลน์ยังได้รายงานเพิ่มเติมดด้วยว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า "สำหรับกรณีการเปลี่ยนหมุดดังกล่าวตนไม่รู้จริงๆ อีกอย่างก็เกิดไม่ทัน ถ้าผมเกิดทันในปี 2475 ผมตอบให้เลยว่าหมุดหายไปไหน อีกอย่างผมก็ไม่รู้เรื่องและไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เปลี่ยน อีกอย่างที่สุพรรณบุรีก็ไม่มี ถ้าที่สุพรรณบุรีมีผมจะตอบให้หมดเลย"

ขณะที่ สุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ด้วยว่า ถึงกรณีหากจะมีหน่วยงานเข้าไปขอดูกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) บริเวณดังกล่าว สุธน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "หากจะมีผู้มาขอดูวงจรปิดบริเวณดังกล่าวทางกทม.ก็ยินดี"

ตร.สั่งห้ามถ่ายภาพ 'หมุดหน้าใส' ใครฝ่าฝืนต้องลบภาพทิ้งทันที

ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า เวลา 17.50 น. วันที่ 18 เม.ย. 60 ที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต มีประชาชนแวะเวียนเข้าไปดูที่หมุดตัวใหม่ที่มีผู้นำมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของเดิม โดยมีกำลัง จนท.ตร.191 จำนวน 10 นายเฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพและหากใครถ่ายรูปหมุดดังกล่าวจะถูกสั่งให้ลบทิ้งทันที

ตำรวจอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุด หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากฝ่าฝืนก็จะถูกควบคุมตัวทันที ทำให้ผู้ที่มาดูต่างผิดหวังกลับไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียวร่างความตกลง ไทยกับรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร

Posted: 18 Apr 2017 10:31 AM PDT

ครม. เห็นชอบจัดทำความตกลงระหว่าง ตร.สากลกรุงเทพ สตช. ว่าด้วยการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารองค์การตำรวจสากลโดยตรง รวมทั้งเห็นชอบร่างความตกลง ไทยกับรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร 

18 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (18 เม.ย.60) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้ 1. ให้กระทรวงกลาโหม จัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ  ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) 2. ให้เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ  และ 3. หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างความตกลงฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม

โดย สาระสำคัญของการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงอาวุธและยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง การสนับสนุนด้านความร่วมมือในการพัฒนาและการผลิตผลิตภัณฑ์ทางทหาร รวมทั้งการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความช่วยเหลือในการดำเนินโครงการร่วม การฝึกอบรมกำลังพล อันจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารที่จะนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศในอนาคต โดยร่างความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะขยายเวลาต่อไปอีก 5 ปี โดยอัตโนมัติ 

ครม. ยังมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบในการจัดทำความตกลงระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลประเทศไทย (ตำรวจสากลกรุงเทพ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารองค์การตำรวจสากลโดยตรง (Agreement between the INTERPOL National Central Bureau for Thailand in Bangkok and Royal Thai Police on Direct Access to the INTERPOL Information System)

2. มอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย เป็นผู้ลงนามความตกลงดังกล่าว 3. อนุมัติให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหากมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขในภายภาคหน้าโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

โดย สาระสำคัญของเรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 และได้กำหนดให้กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลประเทศไทย ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับสำนักงานกลางแห่งชาติของประเทศภาคีสมาชิกและสำนักเลขาธิการองค์การตำรวจสากล ตลอดจนดำเนินการเรื่องการประชุมขององค์การตำรวจสากล อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่ติดตั้งระบบติดต่อสื่อสารขององค์การตำรวจสากลที่เรียกว่า "I-24/7" ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมและอาชญากรรมข้ามชาติขององค์การตำรวจสากลที่แบ่งปันข้อมูลให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

2. ความตกลงระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติ ตำรวจสากลประเทศไทย (ตำรวจสากลกรุงเทพ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ. ว่าด้วยการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารองค์การตำรวจสากลโดยตรง มีสาระสำคัญดังนี้

วัตถุประสงค์ เพื่อระบุเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ตำรวจสากลกรุงเทพอนุญาตให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าถึงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานตำรวจองค์การตำรวจสากลได้โดยตรง แต่จำกัดเฉพาะการอ่านข้อมูลเท่านั้น เช่น เอกสารการเดินทางที่ถูกขโมยหรือสูญหาย ผลงานศิลปะ ภาพการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กระหว่างประเทศ ลายพิมพ์นิ้วมือ ยานพาหนะที่ถูกขโมย

ขอบเขตการเข้าถึงข้อมูล การอนุญาตให้มีการเข้าถึงระบบข้อมูลฯ จะต้องเป็นไปตามกฎองค์การตำรวจสากลว่าด้วยการประมวลผลข้อมูล และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดให้สำนักงานกลางแห่งชาติในประเทศต่าง ๆ ต้องจัดทำความตกลงกับหน่วยงานภายในประเทศสำหรับการอนุญาตให้มีการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารขององค์การตำรวจสากล

การบังคับใช้ ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับใน 30 วัน ภายหลังจากวันที่ตำรวจสากลกรุงเทพได้แจ้งผลการลงนามในความตกลงให้สำนักงานเลขาธิการองค์การตำรวจสากลทราบ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติ ขยายเวลายกเว้นภาษีวิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี - พักหนี้สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ 2 ปี

Posted: 18 Apr 2017 10:11 AM PDT

ครม.เห็นชอบตัดเงื่อนไข 'บ้านหลังแรก' ขยายเวลายกเว้นภาษีวิสาหกิจชุมชนรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี เพิ่มอีก 3 ปี รวมทั้ง พักหนี้สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ 2 ปี

18 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้มีการขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้  สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2562 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติ ครม.ดังกล่าวว่า เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับวิสาหกิจชุมชน  ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศกว่า 70,000 แห่ง  หวังสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเติบโตเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง  เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว จึงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มด้วยการให้วิสาหกิจชุมชนได้รับการยกเว้นภาษีต้องจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายประจำวัน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ยอมรับว่าการยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนมีการพัฒนาศักยภาพ การผลิตสินค้าและบริการของชุมชนให้เติบโตในระยะยาว 

ตัดเงื่อนไข 'บ้านหลังแรก'

กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการบ้านประชารัฐและโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทั้ง 2 โครงการ มียอดอนุมัติสินเชื่อน้อยมาก เนื่องจากมีข้อกำหนดเข้มงวดทางปฏิบัติ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอผ่อนปรนเงื่อนไขเพิ่ม สำหรับโครงการบ้านประชารัฐ 1.ยกเลิกข้อกำหนดคุณสมบัติ  "ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน"  เปลี่ยนเป็น  "มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเข้าร่วมโครงการได้"  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ขายบ้านไปแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีบ้านและต้องการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ 

2.แก้ไขการสินเชื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย (Post Finance) วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อราย จากข้อกำหนดเดิมให้รวมราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้กู้เงินสร้างบ้านน้อยมากและไม่จูงใจให้กู้เงิน  จึงเปลี่ยนเป็น  "ไม่ต้องนำราคาประเมินที่ดินมารวมคำนวณการสร้างบ้าน"  เพื่อให้ประชาชนขอกู้ทั้งซ่อมแซม และปลูกสร้างบ้านเพิ่ม เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบ้านประชารัฐอนุมัติสินเชื่อ 13,631 ราย วงเงินสินเชื่อ 11,335  ล้านบาท จากวงเงินทั้งโครงการ 40,000 ล้านบาท จากผู้ยื่นขอสินเชื่อ 36,394 ราย วงเงินสินเชื่อต้องการ 36,500 ล้านบาท นับว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของเป้าหมายเท่านั้น

สำหรับการดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เสนอแก้ไขปรับปรุง คือ โครงการเช่าระยะสั้นเปิดให้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเช่าอาศัยระยะเวลา 5 ปี จากเดิมกำหนดให้เพียงเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมีกรรมสิทธิ์เข้าพักอาศัยและมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือนในวันที่ยื่นจองสิทธิ์ เปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือนในวันที่จองสิทธิ์ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐย้ายงานมาจากต่างจังหวัดสามารถยื่นเช่าระยะสั้นได้ ส่วนโครงการเช่าระยะยาว จากเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมาก่อน เพิ่มเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้  

พักหนี้สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ 2 ปี

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบพักหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเป็นเวลา 2 ปี และจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้สมาชิกกลุ่มสหกรณ์  กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว ร้อยละ 3  ต่อปี ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  วงเงินสินเชื่อ 500,000 บาทต่อรายผ่านกลุ่มสหกรณ์  สมาชิก 287,676 ราย ยอดต้นเงินกู้ 25,596 ล้านบาท จากยอดภาระหนี้วันที่ 31 พ.ค. 2559  

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องใช้ ม.44 ปลดบอร์ดบินไทยยกชุด - ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจ รปถ. ออกไป 1 ปี

Posted: 18 Apr 2017 09:37 AM PDT

สร.บินไทย ร้องประยุทธ์ใช้ ม.44 ปลดบอร์ดยกชุด หลังบริหารผิดพลาด กลุ่มบริษัท รปภ. ขอประยุทธ์ใช้ ม.44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ออกไป 1 ปี พร้อมให้จัดศูนย์อบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

18 เม.ย .2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ. กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นำโดย ดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ใช้มาตรา 44 ปลดคณะกรรมการบริหารการบินไทย และฝ่ายบริหาร เนื่องจากมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ทั้งการตัดสินใจผิดพลาดที่ซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ถึง 17 ลำ จนต้องขายต่อๆ ทั้งที่มีอายุใช้งานเหลือประมาณ 6-8 ปี ทำให้งบการเงินปี 2551-2559 ขาดทุนประมาณ 30,134 ล้านบาท รวมถึงแผนปฏิรูปที่ล้มเหลว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้แจ้งผลประกอบการในปี 2559 ว่ามีกำไรประมาณ 47 ล้านบาท แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนก่อนมีภาษีเงินได้ประมาณ 1,417.42 ล้านบาท เมื่อหักออกด้วยภาษีที่ต้องจ่าย 1,464.24 ล้านบาทแล้ว ผลต่างจึงเป็นกำไรที่ได้กลับคืน จึงถือว่ากำไรได้คืนจากภาษี ไม่ใช่การดำเนินตามแผน

"หากยังปล่อยไว้ปัญหาในการบินไทยก็จะยังมีต่อไป หากใช้วิธีปกติก็ต้องให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้พิจารณา ถ้าไม่เกรงใจกันแล้วดูจากผลงานก็ไม่ควรให้อยู่ต่อ ควรจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามาบริหาร เพราะที่ผ่านมาการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ ตัวกรรมการเองก็ยังต้องจ้างที่ปรึกษามาอีกทอด แล้วทำไมไม่ให้ที่ปรึกษาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ใหญ่ไปเลย ส่วนคณะกรรมการบริหารการบินไทยก็มาจากข้าราชการประจำ กับนักธุรกิจสายอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการบินซึ่งไม่ได้ทำให้การบินไทยดีขึ้นเลย ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยกออกทั้งชุดเลย" ดำรงค์ กล่าว

ภูมิพัฒน์ สุคนธราช แกนนำกลุ่มบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ขนาดเล็ก 25 บริษัท ภาคตะวันออก ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้รัฐบาลชะลอการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558  ที่กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ต้องยื่นความประสงค์ขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่ ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560  หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามบทเฉพาะกาลของคำสั่ง คสช.ที่ 67/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2559 และมีบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ออกไปอีก 1 ปี  
       
ภูมิพัฒน์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ทำให้ รปภ.เอกชนเดือดร้อนมากเพราะกลัวติดคุก เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตอาชีพ รปภ.จึงได้ทยอยลาออก นอกจากนี้ รปภ.ที่ทำงานได้ต้องฝึกอบรมตามมาตรา 34 แต่สถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ในต่างจังหวัด และไม่มีในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถไปฝึกอบรมได้ จึงขอให้นายกฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนรากหญ้าที่อยากทำงาน รปภ. ด้วยการขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ออกไป 1 ปี พร้อมให้จัดศูนย์อบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากแก้ไขปัญหาได้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน 

กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทรักษาความปลอดภัย ระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่สามารถนำ รปภ. ไปฝีกอบรมตามกฎหมายได้ เนื่องจากสถานฝึกอบรมที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกือบทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้ รปภ.ที่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรม ไม่กล้าที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ และทยอยกันลาออก เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมในที่สุด  บุคคลที่สมัครเข้ามาเป็น รปภ. บางคนเป็นเกษตรกรที่ว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยว  และทั้งหมดเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่การเรียกเก็บเงินค่าฝึกอบรม 2,500 บาทต่อคน ทำให้ไม่มีคนสมัครเข้ามาทำงาน  จึงขอเสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้มีการฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัย ผ่านศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายแทน 

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมุดหน้าใสคือความอ่อนหัดทางการเมืองของอนุรักษ์นิยม ชาตรี ประกิตนนทการ

Posted: 18 Apr 2017 09:17 AM PDT

นักวิชาการสถาปัตย์วิเคราะห์ 'หมุดหน้าใส' เกิดเพราะไสยศาสตร์ เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และรื้อถอนความทรงจำคณะราษฎร เหตุหมุดคณะราษฎรมีพลังทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง 2553 เชื่อไม่ได้หมุดคณะราษฎรคืน ตอกคนเอาออกเป็นความอ่อนหัดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรอย่างลึกลับ ไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งใดรับรู้ ไม่แม้แต่จะพยายามสืบค้น แล้วถูกแทนที่ด้วยหมุดที่ถูกเรียกอย่างลำลองว่า 'หมุดหน้าใส' ที่ก็ไม่มีใครรู้เช่นกันว่ามาสิงสถิตอยู่ ณ จุดนั้นได้อย่างไร หมุดคณะราษฎรหายไปไหน ทุกอย่างยังคงเป็นความลับ

สิ่งที่พอจะสันนิษฐานได้คือ นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งของกระบวนการทำลาย-รื้อถอนความทรงจำต่อคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า

"เราอย่ามองหมุดคณะราษฎรกรณีเดียว แต่ต้องมองกระบวนการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอันยาวนานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตย ต้องมองกรณีนี้เทียบกับกรณีอื่นตั้งแต่ศาลาเฉลิมไทย อาคารศาลฎีกา การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง มันคือกระบวนการภาพใหญ่ภาพเดียวกันและหมุดคณะราษฎรเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่ทั้งหมด"

ชาตรีวิเคราะห์การอุบัติขึ้นของหมุดหน้าใสและถ้อยคำบนหมุดว่ามีสาเหตุ 3 ประการ หนึ่ง-เหตุผลทางไสยศาสตร์ หากย้อนกลับไปดูในรอบสองสามปีที่ผ่านมามีหลายกลุ่มเคลื่อนไหวกับหมุดคณะราษฎรในลักษณะที่เชื่อว่า การตอกหมุดเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่คณะราษฎรตั้งใจทำไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีคนไปขีดข่วน เอายางมะตอยไปทับ นำพราหมณ์ไปทำพิธี คือรากทางความคิดหนึ่งของกลุ่มที่เกลียดคณะราษฎร

"การไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร"

สอง-อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เมื่ออ่านข้อความบนหมุดหน้าใสสามารถตีความได้ชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นชาตินิยมแบบไทยๆ หรือเป็นราชาชาตินิยมตามแนวคิดของธงชัย วินิจจะกูล กล่าวสรุปคือข้อความบนหมุดคือราชาชาตินิยม

และสาม-เป็นข้อความที่มาจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แม้ว่าจะไม่ใช่คำว่าไพร่ฟ้า แต่เป็นประชาชนสุขสันต์หน้าใส ทำให้เห็นถึงรากทางความคิดของคนกลุ่มนี้ที่มองสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติ เพราะกลุ่มที่ต่อต้านประชาธิปไตยมักพูดถึงสุโขทัยตลอดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 งาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างที่ดีที่มองว่าสุโขทัยเป็นภาพในอุดมคติของการเป็นประชาธิปไตยก่อนปฏิวัติ 2475 เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะราษฎร การปรากฏของคำว่าประชาชนสุขสันต์หน้าใสเกิดขึ้นบนรากความคิดนี้

ปรากฏการณ์ถอนหมุดคณะราษฎร ฝังหมุดหน้าใส จึงสะท้อนให้เห็นว่า วัตถุนี้มีพลังทางการเมืองที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้สึกไม่สบายอกสบายใจ เพราะ...

"ถ้ามันไม่มีความหมายอะไร ต่อใครเลย เขาจะเสียเวลาเอาออกทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 2490 ถึงก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่ถูกเพิกเฉย ทุกฝ่ายทางการเมืองมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์ ในทัศนะผมในช่วงนี้ คณะราษฎรไม่ได้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอะไร ในช่วงนี้เอง สัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็ถูกเพิกเฉย ในแง่นี้ว่าไม่เชิดชูและไม่ทำร้าย เพราะมันไม่มีค่า จะไปรื้อยังเสียดายงบในการรื้อ"

สำหรับชาตรี วัตถุสัญลักษณ์ใดๆ มีพลังมากกว่าการเป็นวัตถุ โดยเฉพาะกับหมุดคณะราษฎรที่ถูกสร้างความหมายโดยคนหลายรุ่น ยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน คนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงนักวิชาการหลายคน ซึ่งเขายอมรับว่าก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการเหล่านั้น ได้เข้าไปรื้อฟื้นและสร้างความหมายให้กับหมุดหรืองานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎร ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์หรือจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในสังคมไทย

พอความหมายนี้เริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง เริ่มมีพลังมากขึ้น มีมวลชนเข้ามาสัมพันธ์ ใช้หมุดตัวนี้ในฐานะเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรม กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือหลังปี 2553 ที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่ราชประสงค์ สัญลักษณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะความหมายล่าสุดของหมุดคณะราษฎรเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงต้องถูกเอาออก

"ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด เพียงแต่ ณ วันนี้ที่มาตั้งคำถามว่ามันไม่มีความสำคัญก็เป็นเพราะผลของรัฐประหาร 2557 ที่เราทุกคนถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา"

นักวิชาการคนหนึ่งวิเคราะห์หมุดหน้าใสไร้ที่มาที่ไป สุดท้ายแล้ว จะเป็นแค่วัตถุแปลกปลอม ไร้สถานะ และความชอบธรรมที่จะปกป้องตนเอง แต่ชาตรีกลับไม่คิดอย่างนั้น เขามองว่า ใช่, ในสภาวะรัฐปกติที่เป็นประชาธิปไตยหรือตั้งอยู่บนเหตุผลขั้นพื้นฐาน หมุดหน้าใสจะลงเอยเช่นที่ว่า แต่ในสังคมอปกติเวลานี้ การที่ผู้เกี่ยวข้องกับรัฐทำไม่รู้ไม่ชี้ ถือเป็นสภาวะที่น่ากลัว ซึ่งสะท้อนว่าหมุดนี้มีอะไรเหนือกว่าสิ่งที่เราคิดไว้เยอะมาก และเขาก็ว่าทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้ สภาวะที่ทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้นี่เองที่น่ากลัวและเป็นพลังให้กับหมุดหน้าใส

"มีหลายคนบอกว่าหมุดหน้าใสไม่เมคเซ๊นส์และอีกไม่ช้าหมุดเก่าจะกลับมา ซึ่งผมคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน ฟันธง และผมเชื่อว่าหมุดใหม่นี้มีสองทางเลือก หนึ่ง-ดำรงอยู่ต่อไป พอผ่านช่วงคนพูดเยอะๆ โดยไม่มีใครสนใจ มันก็จะอยู่อย่างนี้และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากข้อความ นัยของมัน และอาจจะนำไปสู่การปิดพื้นที่ตรงนั้น อาจมีการขยายพื้นที่ของอาณาบริเวณนั้นให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และวัตถุนี้จะกลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ กับสอง-ถ้ากระแสต่อต้านมากกว่านี้ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมากแค่ไหน มันก็จะถูกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนน"

"ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด"

เมื่อถามว่าฝ่ายสนับสนุนการคงอยู่ของหมุดคณะราษฎรจะทำอะไรในสถานการณ์เช่นนี้ได้บ้าง ชาตรีแสดงความเห็นว่า ในเชิงการเคลื่อนไหวทางการเมือง การนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปทับไว้ วางไว้ ถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง เป็นการตอบโต้ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ทางที่สองคือหมุดคณะราษฎรกลายเป็นมวลชน (Mass) มาระยะหนึ่งแล้ว นี่ก็เป็นจังหวะอีกครั้งหนึ่งที่จะผลิตซ้ำหรือทำให้หมุดคณะราษฎรกลายเป็นวัตถุที่ 'ป็อป' ขึ้นเรื่อยๆ และแพร่กระจายไปให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวหมุดจริงๆ อยู่ เขากล่าวแบบนี้เพราะประเมินบนฐานว่าคงไม่ได้หมุดกลับมาอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและนำหมุดหน้าใสมาวางแทน ชาตรีมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายที่เอาหมุดออก ถ้าเป็นเขา เขาจะเลือกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนนแทน การเอาหมุดหน้าใสมาวางถือเป็นความอ่อนหัดในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

"ถ้าเอาหมุดออกไปเลย มันหาย พื้นถนนผ่านไปเดือนสองเดือนก็อาจจะกลืนกันไป เพราะฉะนั้นการไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มบุคคลเข้ายื่นหนังสือนายกฯ ชี้ข้อความในหมุดหน้าใสสื่อถึงเบื้องสูง แต่เอามาวางในที่ต่ำ

Posted: 18 Apr 2017 06:18 AM PDT

ปชก. เข้ายื่นหนังสือขอนายกฯ พิจารณาความเหมาะสมของการเปลี่ยนหมุด ระบุหมุดหน้าใส อยู่ที่ต่ำอาจถูกเหยียบย่ำ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะบนหมุดมีข้อความ "ประเทศสยาม-พระรัตนตรัย-พระราชา" ด้านศรีสุวรรณ ถูกพาไปเรือนจำพิเศษ มทบ.11

18 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้หลังจากที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นเกี่ยวกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและการนำหมุดใหม่มาฝังแทนที่ โดยขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมา พร้อมดำเนินคดีต่อผู้ที่นำหมุดเดิมไป แต่กลับถูกนำตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และต่อมาในเวลา 13.00 น. มีรายงานว่า ศรีสุวรรณถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งถูกใช้ควบคุมผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

ในวันเดียวกันนี้ ได้มีกลุ่มบุคคลในนาม คณะอธิปไตยปวงชนชาวไทย เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (ปชก.) ได้เดินทางเข้ายืนหนังสือในสถานที่เดียวกัน โดยเป็นหนังสือที่เรียนถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยหมุด โดยใช้ข้อความที่มีความหมายสื่อถึงสถาบันเบื้องสูง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บนพื้นถนน โดยได้มีเจ้าหน้าศูนย์บริการประชาชนออกมารับหนังสือ

สำหรับข้อความในหนังสือร้องเรียนดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่มีการเปลี่ยหมุดบนพื้นถนน บริเวณด้านข้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จากเดิมเป็นหมุดเพื่อระบุเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วมีการเปลี่ยนหมุดใหม่ ในวันที่ 14 เมษายน 2560 ซึ่งข้อความที่ระบุในหมุดอันใหม่นี้ มีข้อความที่สื่อถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เช่นคำว่า "ประเทศสยาม" "พระรัตนตรัย" และ "พระราชา" ซึ่งประชาชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ และเทิดทูลตลอดมา แต่หมุดอันใหม่ซึ่งมีข้อความตามระบุ ได้นำไปติดตั้งบนพื้นถนนซึ่งเป็นที่ต่ำ มีรถและคนสัญจรเหยียบย่ำตลอดเวลา เป็นการกระทำอันไม่สมควร และลบลู่ต่อสถาบันหลักของชาติ  เป็นการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ที่มีความเคารพเป็นพื้นฐาน และมีวัฒนธรรมไม่นำของสูงมาไว้ที่ต่ำ มีการเคารพกราบไหว้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามมาช้านาน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงขอให้รัฐบาล พิจารณาถึงความเหมาะสม การใช้ศัพท์ที่ระบุไว้ในหมดอันใหม่ที่มีข้อความสื่อต่อสถาบันเบื้องสูง โดยนำมาติดตั้งบนถนนมีคนเหยียบย่ำตลอดเวลา จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทย

จึงกราบเรียนมายัง ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โปรดพิจารณา โดยเร่งด่วนที่สุดภายใน 7 วัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมุดคณะราษฎร

Posted: 18 Apr 2017 05:52 AM PDT

"ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"
 
ซึ่งหายไปจากจุดเดิม โดยมีหมุดใหม่และข้อความใหม่เข้ามาแทนที่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

หน้าใส! เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น 721 กำลังพลใน คสช.

Posted: 18 Apr 2017 03:13 AM PDT

ประยุทธ์ เผยยังไม่มีแนวคิดปรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระบุรัฐบาลเน้นพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ขณะที่ ครม.ไฟเขียว เลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น 721 กำลังพลใน คสช. 

ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

18 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น นอกเหนือโควตาปกติให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 721 รายว่า เป็นค่าตอบแทนเรื่องสิทธิประโยชน์ของราชการ แต่ไม่ได้ให้เป็นเงิน เพราะเป็นเรื่องของความดีความชอบเหมือนข้าราชการทั่วไป
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การทำงานของ คสช .หรือ ชายแดนทั่วไป เป็นการเพิ่มหน้าที่จากหน้าที่หลักที่มีอยู่ เมื่อทำงานจึงต้องมีสิทธิประโยชน์ให้ โดยใช้งบประมาณจากต้นสังกัดเดิม เพราะทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง 
 
"บางทีก็เหมือนข้าราชการทั่วๆ ไป นั่นล่ะ มาทำงาน คสช. หรือทำงานชายแดน มันก็เป็นการทำหน้าที่ที่ 2 เพิ่มไปจากหน้าที่หลัก ที่เขาต้องอยู่ที่หน่วยเขามีอยู่แล้ว เมื่อไปทำงานก็ต้องมีสิทธิประโยชน์ให้เขา ทีนี้คนพวกนี้เมื่อเราออกมาทำงานขึ้น สิทธิประโยชน์เดิมที่ให้ไว้กับหน่วยเดิม หน่วยประจำอัตราสัดส่วนมันก็น้อยลง เพราะฉะนั้นกลุ่มพวกนี้ก็ต้องให้เขาบ้าง และนี่ก็เป็นใช้งบจากต้นสังกัดเดิมเขานะ จากกองทัพไหนก็กองทัพนั้นก็ใช้ไป มันทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น พล.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจตอนนี้ ซึ่งรัฐบาลมองมิติเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับฐานราก เพราะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมีจำนวนประชาชนหลายสิบล้านคน จึงจำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจระดับนี้ให้มีรายได้สูงขึ้น ยึดโยงกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้คนมีโอกาส มีทางเลือกมากขึ้นในการประกอบอาชีพ โดยรัฐบาลเน้นพัฒนาในกลุ่มจังหวัดให้มีฐานรากที่เข้มแข็งเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศต่อไป
 
นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ เเก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้เเจงกรณี ครม.มีมติ เห็นชอบเพิ่มบำเหน็จพิเศษให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 721 คน ด้วยว่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ จึงเห็นควรขอรับการสนับสนุนโควตาบำเหน็จประจำปี (2 ขั้น) ประจำปี 2560 เช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา ไม่ได้เพิ่งทำในปีนี้ แต่ทำมาหลายปีแล้ว 
 
"โดยเจ้าหน้าที่ คสช.ทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งมีทั้งคนที่ทำงานในหน่วยปกติ เเละทำงานพิเศษที่ได้รับมอบหมายจาก คสช. หรือบางคนไม่ได้ทำงานในที่ตั้งปกติ แต่มาทำงานพิเศษที่ คสช.มอบหมายให้ ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินจากหน่วยต้นสังกัด ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าบุคคลหลายคนที่อยู่ใน คสช.ทำงานค่อนข้างหนัก แม้กระทั่งช่วงเทศกาลวันหยุดก็ไม่มีโอกาสได้พักผ่อน" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายต่อว่า การเพิ่มบำเหน็จพิเศษดังกล่าว ไม่ได้ให้ทั้งหมด ให้แค่เพียง 3 เปอร์เซ็นต์จาก 2 หมื่นกว่าคน คิดเป็น 700 กว่าคนเท่านั้น 
 
โดยในจำนวน 700 กว่าคนนี้ล้วนเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นการให้ 2 ขั้น ซึ่งการให้ขั้นของแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน อย่างหน่วยปกติครึ่งปีแรกให้ 0.5 ขั้น ครึ่งปีหลังให้ 0.5 ขั้น รวมเป็น 1 ขั้น ซึ่งคนที่อยู่ใน 700 กว่าคนจะได้อีก 1 ขั้น รวมเป็น 2 ขั้น ซึ่งใน 1 ปี ข้าราชการคนหนึ่งเบ็ดเสร็จจะได้ไม่เกิน 2 ขั้น ไม่ใช่เพิ่มให้อีกเป็น 2 ขั้น หรือหากหน่วยให้ไปแล้ว 1.5 ขั้น ก็จะได้อีก 0.5 ขั้น เพื่อให้ครบ 2 ขั้น

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, ยูทูบ ทำเนียบ รัฐบาล และประชาชาธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ กำหนดวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ 26 ต.ค. 60

Posted: 18 Apr 2017 02:39 AM PDT

18 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 เม.ย.60) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. เผยภาพหนังสือของราชเลขาธิการถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊ก 'Tongthong Chandransu'  พร้อมระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม กำหนดวันสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2560 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดของการพระราชพิธี กำหนดวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560

วิษณุ ขอให้รอกำหนดการฯ ฉบับเป็นทางการ

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ธงทอง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเผยแพร่กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ ดังกล่าวนั้น ว่า ในฉบับที่เป็นทางการ ส่วนตัวยังไม่เห็น แต่อาจจะได้รู้มาจึงยังไม่ยืนยัน ต้องรอให้มีฉบับทางการก่อน

"ตอนนี้เอาเป็นว่าฉบับอาจารย์ธงทองเผยแพร่ก็แล้วกัน ผมได้รับการบอกเล่ามา ซึ่งคนที่บอกอาจจะเห็นข้อมูลจากอาจารย์ธงทอง ผมยังไม่ขอพูดเพราะยังไม่เห็นตัวหมายกำหนดการ ส่วนจะต้องรอให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ คงไม่จำเป็น เพราะอาจจะใช้เวลาอีกหลายวัน แต่เอาเป็นว่าหากได้รับหมายกำหนดการมา รัฐบาลก็สามารถเผยแพร่ได้" วิษณุ กล่าว 

ส่วนที่มีการเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องของทางการ กรุณารอฟังฉบับที่เป็นทางการ ที่รัฐบาลออกข่าว หรือสำนักพระราชวังเผยแพร่ โดยจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกาย ต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อมีหมายพิธีการแล้ว ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดวันหยุดราชการอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากมีกำหนดการมาแล้วก็ต้องเผยแพร่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังอำพรางหรือซับซ้อน แต่ตอนนี้เข้าใจว่าหมายกำหนดการยังมาไม่ถึง หรืออาจจะได้รับแล้ว แต่ส่วนตัวยังไม่รู้ และในการประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีใครพูดอะไรกัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดภาพจากจุดเช็คอินลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนหมุดคณะราษฎรหาย

Posted: 18 Apr 2017 02:32 AM PDT

รวบรวมภาพจากจุดเช็คอินของเฟซบุ๊กที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณรอบๆ หมุดคณะราษฎร โดยเฉพาะในวันที่ 4 เมษายนจนถึงคืนวันที่ 5 เมษายน

18 เม.ย. 2560 กรณีหมุดคณะราษฎรหายและถูกแทนที่ด้วยหมุดที่เขียนข้อความด้านในว่า "ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" และมีข้อความวงนอกของหมุดว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" ซึ่งตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรวบรวมภาพจากจุดเช็คอินเฟซบุ๊กที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่มีผู้เช็คอินตั้งค่าสาธารณะตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณรอบๆ หมุดคณะราษฎร

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม อย่างช้าที่สุดตั้งแต่เวลา 22.40 น. เริ่มมีการตั้งนั่งร้านและคลุมตาข่ายกรองแสงสีเขียวบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า คล้ายกับมีการบูรณะ โดยยังไม่มีการนำแผงเหล็กมากั้นเป็นรั้ว

ต่อมาวันที่ 4 เมษายน อย่างช้าที่สุดตั้งแต่เวลา 08.30 น. มีการตั้งเต๊นท์บริเวณด้านข้างพระบรมรูปทรงม้าทางทิศตะวันออก เต๊นท์คลุมผ้าใบสีขาวทึบ และมีการนำแผงเหล็กมากั้นเป็นรั้วล้อมบริเวณพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบดังกล่าว ทั้งนี้มีการติดป้าย "ห้ามจอด" บริเวณแผงเหล็กกั้นด้วย

อย่างช้าที่สุดวันที่ 4 เมษายน ตั้งแต่เวลา 22.22 น. ไม่มีการตั้งนั่งร้านและคลุมตาข่ายกรองแสง บริเวณพระบรมรูปทรงม้าแล้ว คงเหลือแต่บริเวณด้านข้างพระบรมรูปทรงม้าที่ยังคงมีกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบ และมีแผงเหล็กกั้นรอบพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณด้านข้าง โดยกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบดังกล่าวปรากฏจนถึงคืนวันที่ 5 เมษายน

จนกระทั่งในวันที่ 6 เมษายน ไม่มีกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบแล้ว โดยภาพในช่วงกลางคืนมีคนมาสักการะพระบรมรูปทรงม้าเช่นทุกคืน

อนึ่งในรายงานของวอยส์ทีวี ศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลระบุว่าได้สั่งให้นิสิตทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎร นิสิตกลุ่มแรกเดินทางไปยังหมุดคณะราษฎรระหว่าง 1-2 เม.ย. ได้ถ่ายภาพและพบว่ายังเป็นหมุดคณะราษฎรเดิม

แต่เมื่อนิสิตกลุ่มที่ 2 ลงพื้นที่สำรวจวันที่ 8 เม.ย. พบว่า หมุดเปลี่ยนไปแล้ว โดยศาสตรินทร์เสนอว่า หากจะมีการเปลี่ยนหมุดในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะทำในช่วงวันที่ 3-7 เมษายนที่ผ่านมา

ส่วนความเห็นล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในวันนี้ (18 เม.ย.) ถึงกรณีมีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรว่าไม่ทราบว่าถูกถอดออกไปเมื่อใด โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามสืบสวนและสอบสวน แต่ไม่อยากให้เป็นประเด็นในเวลานี้ เพราะประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว และตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็เป็นประชาธิปไตย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

28 มีนาคม 22.40 น.

31 มีนาคม 01.10 น.

4 เมษายน 08.30 น.

4 เมษายน 22.22 น.

5 เมษายน 00.21 น.

5 เมษายน 19.35 น.

6 เมษายน 22.22 น.

6 เมษายน 22.58 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน กสม. ยัน กรรมการสิทธิฯ ทั้ง 7 มีความรู้ตรงสายงาน อิสระและเป็นกลาง

Posted: 18 Apr 2017 01:33 AM PDT

หลัง เครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิฯ กังวลปัญหา กสม.ไทย 'วัส ติงสมิตร' ออกคำแถลง แจง กสม.ทั้ง 7 คน แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ยันปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง 

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. (ที่มาภาพ เว็บ กสม.) 

18 เม.ย.2560 จากกรณีเมื่อวันที ่11 เม.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หรือ ANNI ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นการแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน กสม.ไทย เพราะสัญญาณของความขัดแย้งภายในองค์กร กสม. ปรากฎอย่างชัดเจนสืบเนื่องจากการยื่นหนังสือลาออกของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการ กสม. ซึ่งอ้างเหตุผลเรื่องความไม่พอใจต่อการจัดการและระบบการทำงานภายใต้การบริหารงานของประธาน กสม. คือ วัส ติงสมิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 เม.ย.60) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ได้เผยแพร่คำแถลงของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ความเห็นต่อแถลงการณ์ ANNI ดังกล่าว โดย ยืนยันว่า กระบวนการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง กสม. ตาม รัฐธรรมนุญฉบับใหม่ ต้องกำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังล่าวเกิดขึ้นโดยความมุ่งมันและร่วมมือร่วมใจของกรรมการและประธาน กสม. 

เรื่องความอิสระและความเป็นกลางของ กสม. วัส ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง ว่า กสม. ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉับบับใหม่ก็บัญญํติไว้อย่างชัดแจนเช่นกัน  สำหรับการลงคะแนนเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในที่ประชุม กสม. นั้น ส่วนใหญ่ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ มีน้อยครั้งที่ไม่เอกฉันท์ ซึ่งเป็นปกติของทุกองค์กร การที่เสียงข้างน้อยขอให้ระบุมติที่ประชุมในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของ กสม. ให้ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมย่อมทำได้และไม่ถือว่าเป็นการไม่ยอมรับมติเสียงข้างน้อย
 
ประธาน กสม. ยังยืนยันด้วยว่า กสม.ทั้ง 7 คน แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภาครัฐและเอกชน
 
รายละเอียดคำแถลงของประธาน กสม. มีดังนี้
 
 
 
สำหรับแถลงการณ์ของ ANNI นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานไว้ว่า  ANNI ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นการยืนยันอีกครั้งถึงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งของ กสม.ไทยที่ยังมีมาตรฐานไม่ดีพอ และส่งผลเป็นการจำกัดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานของ กสม. อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนแต่งตั้งกรรมการใหม่
 
ANNI ได้เคยประเมินกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสม.ที่ยังขาดการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการคัดเลือกบุคคลจากคุณสมบัติ โดยกระบวนการสรรหาดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อตัวกรรมการ กสม.เอง ซึ่งปรากฎเห็นได้ชัดจากกรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ กสม.ในปี 2558 นั้น มีผู้ได้รับเลือกคือ นางอังคณา นีละไพจิตร เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีความเชี่ยวชาญหรือเคยมีประสบการณ์ตรงต่อสายงานทางด้านสิทธิมนุษยชน
 
ANNI ขอเรียกร้องต่อประธาน กสม.ให้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ กสม.ในฐานะองค์กรซึ่งสมควรจะมีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยแทนที่จะให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในการลงมติของคณะกรรมการฯ แต่นี่ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ประธาน กสม.จะต้องหยิบยกประเด็นเรื่องความหลากหลายภายในคณะกรรมการ กสม.ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นเรื่องที่เชื่อมโดยตรงไปถึงความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงประชาชน
 
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาอันวิกฤติของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ANNI ขอเรียกร้องต่อ กสม.ให้ยกระดับการทำงานในแง่ของความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพขององค์กร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ภายในองค์กรถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำให้โครงสร้างขององค์กรสอดคล้องกับหลักการปารีส ตามคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับการ (Paris Principles-compliant Commission)
 
ที่สำคัญ ประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กสม. ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ดีกว่าเดิมในเรื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการ, การได้รับความคุ้มกันอย่างแท้จริงในการทำหน้าที่, ประสิทธิภาพในการรับมือประเด็นสิทธิมนุษยชนภายในเวลาที่เหมาะสม, ความเป็นอิสระและเป็นกลางขององค์กร ฯลฯ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการยกร่าง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทย์ฯ นัดชุมนุมใหญ่ในวันคุ้มครองโลก เรียกร้องการเมืองโลกสนใจข้อเท็จจริง มากกว่าความรู้สึกส่วนตัว

Posted: 18 Apr 2017 01:21 AM PDT

ในโลกที่ข้อเท็จจริง ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าความรู้สึกส่วนตัว (Post-truth) เหล่านักวิทยาศาสตร์นักรวมตัวกันเดินขบวนในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ที่ 22 เม.ย. เพื่อเรียกร้องให้การเมืองโลกหันกลับมาพิจารณากันตามข้อเท็จจริงและมุ่งสนับสนุนการสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ต่อผู้คน

18 เม.ย. 2560 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์มีแผนการออกมาชุมนุมทั่วโลกในวันที่ 22 เม.ย. ที่จะถึงนี้ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลกหรือ 'Earth Day' ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์นัดชุมนุมกันในชื่อ 'การเดินขบวนเพื่อวิทยาศาสตร์' หรือ #MarchForScience โดยให้เหตุผลว่าในยุคปัจจุบันทั้งนักวิทยาศาสตร์ คนออกนโยบายที่เน้นหลักฐานเป็นตัวเป็นตนและ แนวคิดวิทยาศาสตร์เองกำลังถูกโจมตี ไม่ว่าจะจากการตัดงบประมาณ การเซนเซอร์นักวิจัย ข้อมูลที่หายไป รวมถึงการละเลยประเด็นที่สำคัญต่อโลก พวกเขาจึงต้องออกนัดออกมาเดินขบวนในครั้งนี้ "เพื่ออวยชัยและปกป้องวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับโรงเรียนท้องถิ่นไปจนถึงระดับหน่วยงานรัฐบาลกลาง"

อย่างไรก็ตามบทความใน Project Syndicate โดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนจากที่ต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันเขียนระบุว่าการนัดหมายเดินขบวนของนักวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ยังมีคามหมายมากกว่านั้นด้วย

ในโลกแห่ง "Post-truth" หรือ "โพสต์ทรูธ" ที่แปลว่า ยุคสมัยที่ผู้คนไม่สนใจข้อเท็จจริงแต่เชื่อว่าสิ่งใดจริงเพราะแค่มันเข้ากับความรู้สึกหรือความเชื่อส่วนตัวมากกว่า คำนี้ถูกบรรจุในพจนานุกรมของอ็อกฟอร์ดเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เรื่องนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่กับหลักการและข้อเท็จจริงอยู่เฉยกันไม่ได้ เพราะแนวคิดแบบโพสต์ทรูธกำลังระบาดไปสู่การเมืองโลกและในแนวคิดทั่วไปของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์จริงทั้งที่มีหลักฐานชี้ให้เห็นมากมาย การที่ผู้คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เป็นโรคออทิสติค และอ้างว่าแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ทำให้เกิดมะเร็งได้

ไม่เพียงแค่ฝ่ายทรัมป์เท่านั้นที่ละเลยข้อเท็จจริง เหล่าผู้กำหนดนโยบายในยุโรปและสหรัฐฯ ต่างก็เน้นใช้แนวคิดที่เรียกว่า "มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ" เอามาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะในประเด็นจีเอ็มโอ (อาหารตัดต่อพันธุกรรม) พลังงานนิวเคลียร์ ไปจนถึงการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า 'เบร็กซิต' ไปจนถึงมีการใช้โซเชียลมีเดีนโจมตีการฉีดวัคซีนในอินเดียโดยมีการอ้างทั้งทฤษฎีสมคบคิด ความกังวลเรื่องความปลอดภัย และการกังขาต่อแรงจูงใจ แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นได้ว่าการละเลยข้อเท็จจริงอาจจะส่งผลร้ายต่อชีวิตผู้คนได้

ถึงแม้ว่าเรื่องที่ผู้คนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ โดยไม่สนหลักฐานที่มีมาก่อนนานแล้วในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อเรื่องโลกแบนยังคงอยู่กับชาวโลกมาอีกนานแม้จะมีคนนำเสนอหลักฐานตรงกันข้ามมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่นักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยนำเสนอผ่าน Project Syndicate ว่าในตอนนี้โลกกำลังมาถึงช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลง การยึดติดในความเชื่อของตัวเองโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงได้เข้ามาสู่กระแสหลักทางการเมือง มีอิทธิพลต่อนโยบาย และส่งผลต่อทั้งสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกและต่อโลกนี้เอง

นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์อย่างพวกเขาระบุว่าคนที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นคุณค่าหลักในสังคม อย่างการสังเกต วัดผล และตั้งสมมุติฐาน อย่างเป็นระบบในการมองมนุษย์ พวกตัวเอง และมองโลกมาหลายศตวรรษ ต้องออกมาปกป้องบทบาทในการนำการถกเถียงอภิปรายและกระบวนการตัดสินใจ พวกเขายังย้ำเตือนว่าเหล่าผู้มองโลกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต้องระวังไม่กลายเป็นผู้ใช้ "โพสต์ทรูธ" เสียเอง งานทางวิทยาศาสตร์จึงต้องมีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันที่มีหน้าที่ต้องแยกงานที่หลอกลวงออกมาให้ได้

บทความใน Project Syndicate ระบุว่านอกจากนี้แล้วนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานให้ดีกว่านี้ในการอธิบายว่า "ความแน่นอน" ทางวิทยาศาสตร์คืออะไรเพื่อให้ผู้คนแยกแยะออกจากสมมุติฐานและทฤษฎีที่ยังไม่มีการพิสูจน์ โดยพูดถึงกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีการทดสอบกับหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วและกระทำภายใต้สภาพควบคุมจนมีการสังเกตเห็นผลแบบเดียวกันหลายๆ ครั้งกระทั่งสามารถสรุปได้ และแน่นอนว่าต้องพิสูจน์ซ้ำโดยนักวิจัยอื่นๆ ได้ การทดสอบที่ไม่ได้อยู่ในสภาพควบคุมยังคงถูกนับเป็นการคาดการณ์

การที่นักวิทยาศาสตร์ควรมีความสามารถในการสื่อสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการค้นพบที่ส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้นอกจากเพื่อปกป้องวิธีการแบบวิทยาศาสตร์แล้วยังเป็นไปเพื่อสร้าง 'การรับรู้เข้าใจวิทยาศาสตร์' (science literacy) ในหมู่ประชาชน สื่อมวลชน และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้ยอมรับวิทยาศาสตร์ รวมถึงไม่พยายามอย่างไร้เหตุผลในการทำลายความเชื่อถือในวิทยาศาสตร์และในตัวของนักวิทยาศาสตร์

เรียบเรียงจาก

Why Scientists Are Marching, Project Syndicate, 17-04-2017

https://www.project-syndicate.org/commentary/scientists-march-against-post-truth-policy-by-stephen-matlin-et-al-2017-04

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขอให้ “รักจงเจริญ”: คุยเรื่องรักกับ ‘มึนอ’ ภรรยาบิลลี่และ 3 ปีที่ตามหาความเป็นธรรม

Posted: 18 Apr 2017 01:15 AM PDT


"มันเกินจะบรรยาย เขาเป็นได้ทุกอย่าง ตอนเราไม่สบายเขาก็เป็นหมอคอยดูแล ตอนเราหิวเขาก็เป็นพ่อครัวทำกับข้าว เขาเป็นทั้งสามี เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครูของเรา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไร"

นี่คือคำพูดของมึนอ ภรรยาของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมด้านชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงผู้หายสาบสูญ

เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่บิลลี่ หายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นบิลลี่ เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวในวันที่ 17 เมษายน 2557 ด้วยข้อหาลักลอบขนน้ำผึ้งจำนวน 6 ขวด ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนถึงปัจจุบันนอกจากจะไม่มีผู้รับโทษต่อการหายตัวไปของบิลลี่ เจ้าหน้าที่ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง และดำเนินชีวิตต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

บิลลี่เป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาจากการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า และการอุ้มหาย ทำให้ญาติไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเหยื่อเสียชีวิตจริง หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถมาแจ้งความด้วยตนเองได้ สิ่งที่ญาติของเหยื่อสามารถทำได้คือแจ้งความในคดีคนหาย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเฝ้ารอให้คนที่พวกเขารักกลับมาเองอย่างไม่มีจุดหมาย ยิ่งเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว การหาตัวผู้กระทำผิดแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มฆ่าอุ้มหาย และสัญญาจะเดินหน้าให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าว แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วาระ 1 โดยให้เหตุผลว่าร่างดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งๆ ที่ก็มีตัวแทนของภาคประชาสังคม และนักวิชาการเข้าร่วมอยู่ตลอดกระบวนการร่าง ไม่ต่างจาก "กฎหมายฉบับอื่นๆ" ที่ออกมาภายใต้รัฐบาล คสช.

การบังคับอุ้มหาย (enforced disappearance) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ปกป้องสิทธิของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินในจังหวัดชัยภูมิ โดยทั้งสองคดียังไม่มีการพบศพ หรือผู้ได้รับโทษแต่อย่างใด

บิลลี่ก็เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิ์ที่ต้องประสบชะตากรรมดังกล่าว เขามีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานที่บุกรุกเผาทำลายหมู่บ้านของพวกเขา ก่อนจะหายตัวไปบิลลี่มีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างหมู่บ้านของเขากับสังคมภายนอก เขาเป็นผู้ที่ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความยากลำบาก และความอยุติธรรมที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานต้องประสบพบเจอ ผ่านการเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ เวทีสาธารณะ กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และภาพยนตร์สั้น

การหายตัวไปของเขานำมาซึ่งความกลัว และความเงียบงันในชุมชนของเขา เพราะไม่มีชาวบ้านคนใดอยากเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย มีเพียงแต่ "มึนอ" พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ที่ยังคงยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสามีของเธอ พร้อมกับต้องเลี้ยงดูลูกๆ อีกห้าคนเพียงผู้เดียว เธอเป็นผู้ยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้รับเอาคดีของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ แต่ทาง DSI ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่ามึนอมิได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ จึงไม่สามารถเป็นเจ้าทุกข์ในคดีได้

เพื่อเป็นการรำลึกถึงการหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ ประชาไทได้มีโอกาสพูดคุยกับมึนอ แต่มิใช่ในฐานะผู้เรียกร้องความเป็นธรรม แต่ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียชายผู้ที่ "เป็นทุกอย่าง" ของเธอไปอย่างไม่มีวันกลับมา

หนึ่งในเป้าหมายหลักในการต่อสู้ของบิลลี่ คือการพา "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงวัย 106 ปี
กลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน
ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่คุ้มครองของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 
ตอนนี้ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางอุทยานจัดหามาให้ 

มึนอพบกับบิลลี่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้น ม.3 เธอจำได้ดีว่ามันคือ วันที่ 26 ธันวาคม 2545 มีการจัดงานวันคริสมาสต์ที่โรงเรียนป่าเด็งวิทยาที่เธอเรียนอยู่ พี่ชายของเธอพาบิลลี่มาทำความรู้จัก พร้อมแนะนำว่าเขาเป็นคนนิสัยดี เรียนเก่ง ในตอนนั้นเธอไม่ได้มีความสนใจในตัวเขา เธอมัวแต่พูดคุยกับเพื่อนของเธอ เมื่อหันกลับมาบิลลี่ก็หายไปแล้ว

ต่อมาพี่ชายของเธอต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้านและต้องไปพักอยู่กับบิลลี่ พี่ชายบอกให้มึนอโทรหาเขาบ้างเพื่อเป็นเพื่อนคุยแก้เหงา เมื่อโทรไปหาพี่ชาย กลับกลายเป็นบิลลี่ที่รับสายตลอดเวลาและบอกว่าพี่ชายของเธอไม่อยู่ มึนอเริ่มสานสัมพันธ์กับบิลลี่ผ่านเบอร์มือถือของพี่ชายไปได้ซักพักหนึ่ง จนได้ข่าวว่าบิลลี่เพิ่งจะผิดหวังกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอจึงพูดเชิงหยอกออกไปว่า "พี่ๆ ได้ข่าวว่าเพิ่งอกหักมา ให้เราต่ออกให้เอาไหม" บิลลี่เงียบไปซักพักหนึ่ง ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงเริ่มคบหาดูใจกัน มึนอยอมรับเลยว่าพี่ชายของเธอทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อที่ขยันขันแข็งอย่างยิ่งในความสัมพันธ์นี้

หลังจากคบหาดูใจกันได้หนึ่งปี ทั้งสองก็แต่งงานกัน บิลลี่ย้ายมาอยู่กับบ้านของมึนอที่ตำบลป่าเด็ง แต่ก็ยังทำงานเป็นสมาชิก อบต. ที่บ้านบางกลอย มึนอเล่าว่าบิลลี่มักเอาเหล็กมาดัดเป็นรูปหัวใจ และใส่รูปของเขาลงไปที่ด้านหนึ่ง และใส่รูปของมึนออีกด้านหนึ่ง เอามาทำเป็นสร้อย หรือพวงกุญแจให้เธออยู่บ่อยๆ เมื่อถามว่าบิลลี่มีความสำคัญอย่างไรสำหรับเธอ เธอตอบสั้นๆ ว่า "เขาเป็นทุกอย่าง"

"มันเกินจะบรรยาย เขาเป็นได้ทุกอย่าง ตอนเราไม่สบายเขาก็เป็นหมอคอยดูแล ตอนเราหิวเขาก็เป็นพ่อครัวทำกับข้าว เขาเป็นทั้งสามี เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งครูของเรา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไร" มึนอกล่าวด้วยนำเสียงเปี่ยมความคิดถึง

"ตอนรู้ว่าเขาหายไปเราเสียใจมาก ถ้าไม่มีลูกเราอาจจะตามเขาไปแล้วก็ได้ ทุกวันนี้ที่อยู่คืออยู่เพื่อลูก ถ้าไม่มีเรา พวกเขาก็ไม่มีที่พึ่ง ก็เลยต้องทนต่อไป"

นอกจากจะเป็นสามีที่ดีของมึนอแล้ว บิลลี่ยังเป็นพ่อที่ดีของลูกๆ อีกด้วย มึนอเล่าว่าบิลลี่เป็นคนที่รักครอบครัวมาก ทุกวันหลังจากทำงานบิลลี่มักจะซื้อไก่ หรือไส้กรอกกลับมาทำอาหารให้ลูกทานอยู่เสมอ ในช่วงวันหยุด เขามักจะพาลูกๆ ไปงมหอยที่แม่น้ำ และกลับมาเข้าครัวทำผัดเผ็ดหอยให้กินอยู่เสมอ หากถามลูกๆ ของเธอว่าคิดถึงอะไรของพ่อที่สุด ก็เห็นจะเป็นอาหารฝีมือของพ่อนี่แหละ

มึนอจำวันสุดท้ายที่เจอบิลลี่ได้อย่างแม่นยำ มันคือวันที่ 15 เมษายน เขาเตรียมข้าวของเพื่อจะออกไปทำหน้าที่สมาชิก อบต. ของเขาที่บ้านบางกลอย เขาออกจากบ้านไปพร้อมกับเป้สะพายหลังสีเขียว พร้อมกับกระเป๋าเล็กๆ อีกหนึ่งใบ ข้างในกระเป๋ามีสร้อยพระ 2 เส้น ลูกประคำ โทรศัพท์ 2 เครื่อง และกล้องถ่ายรูป 1 อัน เขาขอเงินมึนอไปสองพันบาท โดยบอกว่าจะเอาไปซื้อเม็ดเสลียงไปขายต่อในเมือง และขับมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าสีเขียวเหลืองดำ ป้ายทะเบียน ขงพ. 988 เพชรบุรี ออกจากบ้านไป และไม่เคยกลับมาอีกเลย

มึนอรู้ข่าวว่าบิลลี่โดนจับกุมในวันที่ 18 เมษายน ในตอนแรกเธอยังไม่เป็นกังวล เพราะคิดว่าน่าจะเป็นแค่การควบคุมตัวเพียงสั้นๆ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มชัดเจนแล้วว่าบิลลี่หายตัวไป แม้จะเสียใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่เธอทำใจไว้นานแล้ว เพราะตั้งแต่บิลลี่เริ่มเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เขาก็ถูกคุกคามมาโดยตลอด บิลลี่เคยบอกกับเธอว่าหากวันหนึ่งเขาหายตัวไป ไม่ต้องตามหาเขา เพราะมันจะนำอันตรายมาสู่ตัวมึนอเอง แม้แต่คนรอบข้างของเธอ ก็ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของเธอ หลายคนเตือนให้เธอยุติการเรียกร้องความเป็นธรรมให้สามี เพราะกลัวว่าเธอจะเป็นอันตรายไปอีกคน

"หลายคนก็บอกว่าหยุดเถอะ อย่าไปยุ่งกับเขา เดี๋ยวก็ตายหรอก ถ้าเราไม่เป็นผู้หญิงเขาอาจฆ่าเราไปแล้วก็ได้ แต่เราก็จะทำต่อไปตามที่กฎหมายเขาให้เราทำ ทำไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด"

มึนอกล่าวอีกด้วยว่าเมื่อไม่นานมานี้ DSI ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับแม่ของบิลลี่เรื่องการดำเนินคดี โดยให้เหตุผลว่าหากแม่ของบิลลี่เป็นคนแจ้งความจะเป็นประโยชน์ต่อคดีมากกว่าเนื่องจากเป็นเจ้าทุกข์โดย ถือว่าเป็นเชื้อไฟเล็กๆ ให้กับความหวังในการทวงคืนความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ แม้ว่ากระบวนการทั้งหมดจะต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้งก็ตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น