โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'องค์กรสิทธิกระเทย' ร้อง จนท.-สื่อ หยุดตีตรา-เลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา

Posted: 26 Apr 2017 10:56 AM PDT

องค์กรส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา 

26 เม.ย. 2560 จากกรณีที่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา กรณีตำรวจเข้าจับกุมสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพื้นที่พัทยา อันเนื่องมาจากจากการนำเสนอข่าวผ่านสื่ออังกฤษระบุว่าพัทยาเป็น 'นครแห่งบาป' เป็นเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ ส่งผลให้มีการดำเนินการปราบปรามการค้าประเวณี และเหตุการณ์ การทำร้ายร่างกายน้องสาวประเภทสอง ซึ่งเข้ามาร้องเรียนให้ดำเนินคดีวันที่  21 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี แต่กลับถูกเหมารวมจนเป็นข่าวในโลกออนไลน์และมีผู้แชร์เป็นจำนวนมาก ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา

ล่าสุด 25 เม.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิซิสเตอร์และองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกแถลงการณ์ เรื่อง การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสองและคนข้ามเพศในพัทยา  เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องไม่นำเอาความแตกต่างทางเพศสภาพและเพศวิถีมาเป็นเงื่อนไขในจับกุมและดำเนินคดี และไม่เหมารวมว่าสาวประเภทสองทุกคนเป็นอาชญากร 2. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่ข่มขู่ คุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ การจับกุม และใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ในดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม

3. สื่อมวลชนต้องนำเสนอหาเนื้อที่เป็นกลางและข้อมูลที่รอบด้าน และไม่ใช้ภาษาและถ้อยคำในการนำเสนอข่าวที่มีอคติและตีตรา เช่น สายเหลือง, กวาดล้าง, และเร่ค้ากาม เป็นต้น 4. ควรมีการศึกษาฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ให้เกิดความเข้าใจเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน 5. สร้างกลไกการมีส่วนร่วม และ/หรือ ระบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐกับหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่นจัดให้มีการประชุมและการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ร่วมกันโดยเร็ว และ 6. กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ทันต่อสถานการณ์

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า มูลนิธิซิสเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมระบบบริการสุขภาพและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสาวประเภทสองและคนข้ามเพศ ร่วมกับองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ รายชื่อปรากฏด้านล่าง ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องไม่เลือกปฏิบัตติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ ทั้งในการกระบวนการยุติธรรมและการนำเสนอข่าวของสื่อ โดยต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพซึ่งเป็นส่วนสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะเห็นได้ว่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดมาตรการไว้ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า "...ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทาง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และเพศ หมายความถึง เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศ..."

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ" หมายความว่า การกระทําหรือไม่กระทําการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด

หลักการยอกยาการ์ต้า หลักการข้อ 9. สิทธิในด้านการปฏิบัติในลักษณะความเป็นมนุษย์ระหว่างถูกควบคุมตัว มนุษย์ที่ถูกจํากัดเสรีภาพทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและอย่างเคารพต่อศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และอัตลักษณ์ทางเพศเป็นส่วนสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล

สำหรับ รายชื่อองค์กรภาคีและบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของของกะเทย สาวประเภทสองและคนข้ามเพศ ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ประกอบด้วย  1. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน 2. มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร 3. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมระหว่างเพศ 4. มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 5.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 6.มูลนิธิเอ็มพลัส 7.มูลนิธิเอเชียแปซิฟิคทรานเจนเดอร์เน็ทเวริ์ค 8. กลุ่มพะยูนศรีตรัง 9. องค์กรอันดามันพาวเวอร์ 10. กลุ่มโรงน้ำชา 11. มูลนิธิเดอะพอสโฮมเซ็นเตอร์ 12. องค์กรแคร์แมทเชียงใหม่ 13. องค์กรพิ้งมังกี้เพื่อความหลากหลายทางเพศประเทศไทย 14. องค์กรบางกอกเรนโบว์ 15. องค์กรสายรุ้งโพธาราม 16. เครือข่ายสุขภาพและโอกาส และ 17.มูลนิธิโอโซน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ปรับ 5 พัน มือโพสต์หมิ่น 'เจ้าแม่จามเทวี' ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 26 Apr 2017 10:32 AM PDT

ศาลตัดสินคงจำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กรณีโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น 'เจ้าแม่จามเทวี' ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศาลจังหวัดลำพูนได้มีการอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีหมายเลขดำที่ อ.2547/ 59 คดีหมายเลขแดงที่ 1086/60 พนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์ และ ทรงพล พุ่มมีศรี จำเลย คดีอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4-5 ก.พ. 2559 ได้มีผู้ที่ใช้นามแฝงในเฟซบุ๊กว่า Songpol TheBoom Phoommesri , ไม่เชื่อต้องลบหลู่ และสมเด็จ รวมถึงนามแฝงอีกหลายชื่อ ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายลามกอนาจาร ลักษณะเชิงดูหมิ่นดูแคลนเจ้าแม่จามเทวี หรือพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีผู้สร้างเมืองหริภุญไชย ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการสร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีไว้กลางเมืองลำพูน 
       
หลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก ประชาชนทั่วไปในโลกโซเชียลฯ ต่างพากันแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าวนั้น จึงมีการนัดกันทางโซเชียลฯ รวมตัวกันเพื่อล่ารายชื่อบริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี และถนนคนเดินจังหวัดลำพูน

ต่อมาวันที่ 29 ก.พ. 59 ตัวแทนกลุ่มประชาชนได้นำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกับดำเนินการแจ้งความต่อ ร.ต.อ.จิราวัฒน์ ประเสริฐกุลศิริ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำพูน เพื่อดำเนินการสอบสวนสืบสวนหาคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่น ข้อหาหมิ่นประมาท, ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
       
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลก็พบว่าผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวคาดว่าจะเป็น ทรงพล พุ่มมีศรี อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ออกหมายเรียกมาสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบตามลำดับ นำตัวส่งดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
       
รายงานข่าวระบุว่า ศาลจังหวัดลำพูนได้ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ตัดสินลงโทษจำเลยตามความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14 (4) ป.อ.ม.91, ป.อ.ม.78 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินคงจำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ร้องผู้นำอาเซียน ต้านการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรมในสงครามปราบยาเสพติดฟิลิปปินส์

Posted: 26 Apr 2017 10:13 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ร้องผู้นำอาเซียนแสดงจุดยืนต่อต้านสิ่งที่อาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมหลายพันครั้งใน "สงครามปราบปรามยาเสพติด" ในฟิลิปปินส์

26 เม.ย. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผู้นำในภูมิภาคให้แสดงจุดยืนต่อต้านสิ่งที่อาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งที่ 30 ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มะนิลาในสัปดาห์นี้ ในขณะที่มีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมหลายพันครั้งใน "สงครามปราบปรามยาเสพติด" ในฟิลิปปินส์

แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ระหว่างที่ผู้นำอาเซียนกำลังนั่งประชุมในสถานที่อันสะดวกสบาย พวกเขาควรระลึกบ้างว่าประชาชนหลายพันคนถูกสังหาร ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปราบปรามที่โหดร้ายของนายดูเตอร์เต เหยื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากชุมชนชายขอบที่ถูกละเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำสงครามกับคนยากจน

"ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีหลักฐานมากขึ้นเช่นกันว่า ทางการฟิลิปปินส์มีบทบาทในการนองเลือดครั้งนี้ การที่ฟิลิปปินส์เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ท่ามกลางความอื้อฉาวที่โหดร้าย ควรเป็นสิ่งกระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนในการสอบสวนการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพทั้งต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า จะมีการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และยุติการละเมิดที่น่าตกใจเช่นนี้"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องผู้นำอาเซียนให้ร่วมกันพิจารณาว่าการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์อาจถึงขั้นเป็น "การละเมิดอย่างร้ายแรง"ต่อธรรมนูญอาเซียน และโดยเฉพาะอาจถือเป็นการฝ่าฝืนต่อคำปฏิญาณตามธรรมนูญที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามข้อ 20(4) ของธรรมนูญ อาจจัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนในโอกาสดังกล่าวและพิจารณาแนวทางปฏิบัติร่วมกันได้

ในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้  ซึ่งลงนามโดยตัวแทนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่แนลกว่า 20 คนทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา ระบุว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกระตุ้นให้ทางการฟิลิปปินส์ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีการสอบสวนโดยทันที อย่างไม่ลำเอียง และมีประสิทธิภาพต่อการสังหารที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด และให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีตำแหน่งหรือสถานะใด

นับแต่เดือนกรกฎาคม 2559 มีผู้ถูกสังหารมากถึง 9,000 คนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง และโดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยหลายครั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งพลเมืองทั่วไปสังหารบุคคลที่ต้องสงสัยว่าใช้หรือจำหน่ายยาเสพติด แทนที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศและเคารพพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แถลงว่า หากไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังโดยทันที ทางศาลอาญาระหว่างประเทศควรพิจารณาเริ่มการไต่สวนในเบื้องต้นกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในระหว่างสงครามปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรงและอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในฟิลิปปินส์ รวมทั้งการเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะมีตำแหน่งและสถานะใด โดยใช้อำนาจตามธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute)  

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นการประชุมทุกครึ่งปีของบรรดาผู้นำรัฐภาคี 10 แห่งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่ออภิปรายถึงประเด็นปัญหาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกสมาคมนักข่าวฯ จ่อทวีความเคลื่อนไหว ค้าน ร่าง กม.คุมสื่อของ สปท.

Posted: 26 Apr 2017 09:57 AM PDT

นายกสมาคมนักข่าวฯ โพสต์อัด ร่าง กม.สื่อมวลชน ของ สปท. ชี้เป็นการ "ปิดปาก" สร้างนักข่าวภายใต้รัฐ จี้เลิกตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน ลั่นตรียมทวีความเคลื่อนไหว ค้าน

ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

26 เม.ย. 2560 จากกรณี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่าจะนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. เข้าสู่การพิจารณาของวิป สปท. คาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปท. ในวันที่ 8-9 พ.ค. นี้ โดยเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาคือเรื่องโทษ กรณีหากนักข่าวไม่ไม่มีใบอนุญาต ตามเวลาที่กำหนดจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมทั้งการขึ้นทะเบียนสื่อออนไลน์ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น

วานนี้ (25 เม.ย.60) ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความวิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Pramed Lekpetch' ในลักษณะสาธารณะ ในหัวข้อว่า "หยุด ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน"

ปราเมศ ระบุ ถึงสื่อภาคสนามทุกท่าน พร้อมระบุต่อว่า วันนี้มาถึงช่วงเวลาที่เราทุกคน ต้องรับรู้เรื่องจริงเกี่ยวกับวิชาชีพของเรา ที่เรากำลังเข้าสู่ช่วงที่ยากลำบากมาก เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะเลวร้ายจนเราคาดไม่ถึงด้วยซ้ำไป กฎหมายคุมสื่อ ภายใต้ชื่อที่เป็นวาทกรรมสวยหรู พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ขยับเข้ามาใกล้มากแล้ว 
 

เพื่อ "ปิดปาก" สร้างนักข่าวภายใต้รัฐ

นายกสมาคมนักข่าวฯ อธิบายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ คือกฎหมายที่กำหนดนิยามคำว่าสื่อใหม่ และมีเป้าหมายเพื่อ "ปิดปาก" พวกเราอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนพวกเราจะไม่สามารถหาข้อมูล ค้นข้อเท็จจริง การตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐ นำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบได้เลย พวกเรา จะกลายไปเป็นนักข่าวภายใต้การดูแลขององค์กรที่รัฐสร้างขึ้นมาที่ชื่อว่า สภาองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่งหมายถึงการใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมพวกเราอย่างแน่นอน
 
"คุณต้องไปทำบัตรขึ้นทะเบียนเป็นนักข่าวกับสภาองค์กรวิชาชีพ ถ้าเราที่ทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน ไม่ทำบัตร แต่ออกไปทำข่าว จะมีโทษจำคุก 6 เดือน และเรายังต้องผ่านการประเมินทุกๆ ปี สภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่ว่า จะเป็นคนประเมินคุณ 
แล้ว ถ้าคุณ เขียนข่าว ไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐ จะได้ต่อบัตรไหม ยังไม่รวม ความคลุมเครือ ว่า เนื้อหาข่าว ที่จะเป็นปัญหา คืออะไร" ปราเมศ โพสต์
 
อีกไม่นานแล้ว ที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภา ในขณะที่พวกเรายังตั้งตัวกันไม่ติด เรายังรับรู้เรื่องนี้น้อยเกินไป ทั้งที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหนักหน่วง ที่สำคัญกว่าหน้าที่การงานของพวกเรา คือ วิชาชีพนี้ กำลังถูกทำลาย เราทุกคนจะกลายเป็นสื่อภายใต้อำนาจของรัฐ สุดท้ายถ้ากฎหมายผ่าน บรรยากาศการเขียนข่าว รายงานข่าว คงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความแหลมคมและความสวยงามบนตัวอักษรในวิชาชีพเราที่ใช้ตรวจสอบอำนาจรัฐ คงขาดหายไป และตอนนี้เขาตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้ว เขาเอา กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งเราต่อสู้เรียกร้องให้เกิดมานานนับ 10 ปี แต่ตอนนี้กำลังกลับเข้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไปแล้ว ทั้งที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก เขาเพิ่งปิดทีวีช่องหนึ่งไป 7 วัน ปิดสถานีวิทยุคลื่นหนึ่งไป 5 วัน นี้ขนาดเป็นองค์กรอิสระยังใช้อำนาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ขององค์กรอิสระ เมื่อกสทช.ตกอยู่ในอำนาจรัฐแล้ว เชื่อได้เลยสถานการณ์การปิดปากสื่อ ปิดหูปิดตาประชาชนจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และถ้าร่างกฎหมายคุมสื่อฯผ่านอีกละ ทุกอย่างก็เข้าไปสู่อำนาจรัฐทั้งหมด 

เตรียมทวีความเคลื่อนไหว

"พี่น้องสื่อครับ วันนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรตัวแทนวิชาชีพของเรา และองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆพยายามต่อสู้เรื่องนี้ภายใต้อำนาจรัฐที่ต้องการควบคุมสื่อเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด วันนี้ พลังของพี่น้องนักข่าวภาคสนามทุกคน เป็นความหวังของวิชาชีพ เราหวังให้พี่น้องจากสนามร่วมกันออกมาแสดงพลัง  ร่วมกันฉีกกฎหมายที่มีเจตนารมณ์อันอัปยศ ปิดปากสื่อ ปิดทางตรวจสอบการอำนาจรัฐฉบับนี้ และครอบงำประชาชนคนไทย ด้วยจิตคารวะ  แล้วรอติดตามเคลื่อนไหวไปด้วยกันที่ทวีจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ" ปราเมศ โพสต์ทิ้งทั้าย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแพ่งเลื่อนนัดชี้สองสถานคดี 'สิบโทกิตติกร' ตายในเรือนจำทหาร เป็น 12 มิ.ย.นี้

Posted: 26 Apr 2017 09:12 AM PDT

ศาลแพ่งเลื่อนนัดชี้สองสถานคดีมารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ฟ้องคดีแพ่งต่อกองทัพบก จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำ มณฑลทหารบกที่ 25 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกาย สิบโทกิตติกร จนเสียชีวิต

 
26 เม.ย. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า ศาลแพ่งเลื่อนนัดชี้สองสถานคดี บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์  ฟ้องคดีแพ่งต่อกองทัพบก จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำ มณฑลทหารบกที่ 25  กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกาย สิบโทกิตติกร จนเสียชีวิต ไปวันที่ 12 มิ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. 
 
รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองทัพบกเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 18,072,067 บาท ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ณ เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ บุตรชายของตนถูกสิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำในวันเกิดเหตุ กับพวก ร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ในขณะที่ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวน และศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 1131/2560 พร้อมทั้งศาลได้นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี ในวันที่ 26เม.ย. 2560
 
ต่อมาในวันนี้ (26 เม.ย.60) ณ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี คดีหมายเลขดำที่ พ. 1131/2560 ทนายความโจทก์ และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะทนายความจำเลยมาศาล โดยในวันดังกล่าวศาลได้ตรวจสำนวนแล้วปรากฎว่ากองทัพบก จำเลย ได้รับหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ซึ่งนับถึงวันนัดชี้สองสถานฯ ยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยยื่นคำให้การได้ ประกอบกับทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 เนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความเพื่อแก้ต่างคดีให้กับกองทัพบก จำเลย ในช่วงเวลากระชั้นชิดจึงไม่อาจรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำคำให้การได้ทันตามระยะเวลายื่นคำให้การตามกฎหมายหรือคำสั่งศาลได้ ประกอบกับศาลได้สอบถามทนายความโจทก์แล้วไม่ได้คัดค้านประการใด ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลจึงอนุญาตตามคำร้องให้ จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำให้การถึงวันที่ 26 พ.ค. 2560 นอกจากนี้ทนายความโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ซึ่งมีพยานที่ระบุเพิ่มเติมมาอีกจำนวน 6 ปาก เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร
 
ทั้งนี้ ด้วยเหตุจำเลย ยังไม่ได้ยื่นคำให้การ โดยศาลได้อนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยดังกล่าวข้างต้น ในวันนี้จึงไม่อาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก จึงได้เลื่อนนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีออกไปอีกเป็น วันที่ 12 มิ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ตามที่โจทก์และจำเลยมีวันว่างตรงกัน
 
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแพ่งนี้ กรณีนี้ได้มีการไต่สวนการตายในคดีวิสามัญไว้ด้วย โดยศาลจังหวัดสุรินทร์ได้อ่านคำสั่งอันเป็นผลของการไต่สวนการตายโดยระบุว่า "ผู้ตายคือ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ตายที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลทหารและพลอาสาสมัครจำนวน 4 นาย ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย" หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องของสิบโทกิตติกร ซึ่งถูกทำร้ายร่างจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการสอบสวนต่อไป
 
อนึ่งหลังจาการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ในปี 2559 แล้วยังปรากฎมีข่าวว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำทหารบางแห่งถูกซ้อมจนเสียชีวิต เช่น กรณีของพลทหารยุทธอินันท์ บุญเนียม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 เรือนจำค่ายวิภาวดี มณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมซื้อเรือดำน้ำจีน 'พท.-ปชป.' ขอ รบ.ทบทวน อธิบายสังคมให้รอบคอบ

Posted: 26 Apr 2017 06:43 AM PDT

'ยิ่งลักษณ์' ขอ รบ.คำนึงถึงปัญหาปากท้องปชช.มากกว่าเรือดำน้ำ 'สุรพงษ์' จี้ รบ.ทบทวน ชี้ทำให้ประเทศมีหนี้สินพอกพูน 'เลขาฯ ปชป.' ขอ รบ.ออกมาอธิบายให้รอบคอบ ชี้ถ้าประหยัดให้เช่าจากสิงคโปร์-เวียดนาม ด้าน ผบ.สส.ยันเรือดำน้ำจำเป็น ผบ.ตร. เปรียบปล่อยเสือเข้าป่า

26 เม.ย. 2560 จากกรณีรัฐบาลการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนเป็นเอกสารลับในราคากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขณะนี้

ยิ่งลักษณ์ อยากให้คำนึงถึงปัญหาปากท้องของปชช.มากกว่าเรือดำน้ำ

วันนี้ (26 เม.ย.60) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การจัดซื้อดังกล่าวต้องคำนึงถึงว่าเมื่อมีเม็ดเงินจำกัด ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาว่าจะใช้อะไรเป็นอย่างแรก เพราะทราบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นถึงขนาดจะยอมยกเลิก 30 บาท แต่กลับไปซื้อเรือดำน้ำตรงนี้ก็ต้องพิจารณาว่าอะไรเร่งด่วนกว่ากัน และอะไรคือความคุ้มค่า ในภาวะเช่นนี้ ทั้งนี้ ในฐานะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เข้าใจในเรื่องความต้องการที่จะมีเรือดำน้ำไว้เพื่อป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง แต่วันนี้บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะปกติ อาจมีบางส่วนที่สามารถที่จะชะลอได้ แล้วนำงบประมาณนั้นไปใช้ในสิ่งที่เร่งด่วนกว่า ซึ่งในวันข้างหน้าหากมีงบประมาณและมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น มีงบประมาณเหลือเพียงพอ ก็สามารถที่จะซื้อสิ่งที่ต้องการหรือต้องใช้ในอนาคตได้ เพราะการซื้อเรือดำน้ำเป็นการซื้อที่มีภาระผูกพันในอนาคต เป็นภาระด้านงบประมาณรายจ่ายต่อปี ค่าบำรุงรักษา จึงเป็นภาระระยะยาว ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษา การฝึกยุทโธปกรณ์ต่างๆ และจำนวนเรือดำน้ำ ซึ่งต้องดูประกอบว่าน่านน้ำที่ต้องการจะต้องใช้กี่ลำ เท่าที่ทราบต้องมีเป็นชุดไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานป้องกันได้ ถ้าสั่งมาเพื่อทดสอบอย่างเดียวก็สามารถซื้อในช่วงที่ไม่เกิดภาวะเร่งด่วนหรือว่ารัฐมีเงินงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะใช้ในส่วนนั้นได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งการใช้งบประมาณจะต้องคำนึงว่าเงินอะไรที่ใช้เร่งด่วนก็ต้องใช้สิ่งนั้นก่อน โดยเฉพาะความเป็นอยู่ เรื่องความจำเป็นในการบริหารบ้านเมืองและเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนจากนั้นสิ่งที่อยากได้ ก็จะเป็นความสำคัญอันดับสองรองลงมา ซึ่งฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเรื่องนี้

"ณ วันนี้ ในแง่ความจำเป็นในอนาคต ดิฉันเองก็เคารพความต้องการของกองทัพเรือ แต่ก็ต้องมาพิจารณาระหว่างความเร่งด่วนและความจำเป็นในการใช้เม็ดเงิน เพื่อความมั่นคงในการที่จะฝึกซ้อมของกองทัพเรือ หรือเทียบกับงบประมาณที่บ้านเมืองมีความต้องการในการใช้เม็ดเงินที่เป็นงบประมาณจากรัฐออกไปให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า อย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน และมีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม การนำเข้ามาพิจารณาในครม.ไม่ควรจะพิจารณาในลักษณะของวาระลับเพราะเรื่องนี้ประชาชนติดตามกันทั้งประเทศอย่างน้อยควรให้มีโอกาสได้รับทราบ ถ้าการใช้ริมแดงแบบนี้ตลอดจะไม่มีโอกาสได้รู้ แม้กระทั่งการตรวจสอบความคุ้มค่าในการลงทุนหรือแม้กระทั่งราคาซื้อ ประชาชนทุกคนต้องติดตามเงินงบประมาณที่เกิดจากเงินภาษีของประชาชน ยิ่งยามบ้านเมืองเช่นนี้จะต้องมาช่วยกันดู สมัยดิฉันเมื่อพิจารณาแล้วก็ได้ขอให้ทางกองทัพเรือชะลอในการจัดซื้อและเอาเงินไปพัฒนาส่วนอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแทน" ยิ่งลักษณ์ กล่าว

สุรพงษ์ จี้ รบ.ทบทวน ชี้ทำให้ประเทศมีหนี้สินพอกพูน

สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดเรือดำน้ำจากจีนนั้น เป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแบบผูกพัน จะทำให้ประเทศมีหนี้สินพอกพูน และในอนาคตหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณแบบเร่งด่วนหรือเกิดวิกฤติทางการเงินก็จะยากลำบาก นอกจากนี้จะมีปัญหาในการปกป้องดูแลความมั่นคง ตามแนวชายฝั่งทะเลของไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากชายฝั่งทะเลของไทยมี 2 ฝั่ง คือฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน แล้วฝูงเรือดำน้ำของกองทัพเรือจะดำน้ำข้ามฝั่งก็คงไม่ได้ นอกจากว่าจะต้องวิ่งอ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางนานและคงจะไม่ทันการที่จะปกป้องภัยคุกคามจากการรุกรานของต่างชาติ หรือไม่ก็ต้องหาเส้นทางลัด ซึ่งเท่าที่คิดได้ก็คือการขุดคอคอดกระ เพื่อเชื่อมต่อ 2 ฟากฝั่งทะเล

สุรพงษ์ ระบุด้วยว่า อยากขอให้นายกฯ พิจารณาทบทวนมติลับของครม.ในการซื้อเรือดำน้ำนี้ใหม่ จนกว่าประเทศไทยมีสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีเงินรายได้เข้าประเทศมากขึ้น และประชาชนมีความอยู่ดีกินดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือรอให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้สำเร็จก่อน

เลขาฯ ปชป. ขอ รบ.ออกมาอธิบายให้รอบคอบ 

ขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า ไม่อยากให้มองมุมแคบเพียงแค่ประเด็นเดียว ว่าลักลอบซื้อหรือปล้นงบประมาณต้องมองภาพให้กว้าง ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ซึ่งไม่เห็นมีใครพูดถึงมติทางเศรษฐกิจ มิติทางความมั่นคงของประเทศ มิติในอธิปไตยของประเทศไทย มิติของอำนาจการต่อรองทางการทหารและการต่างประเทศ รวมถึงมิติของความสมดุลระหว่างการรักษาความสัมพันธ์ของประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลออกมาชี้แจงในประเด็นเหล่านี้ให้ประชาชนฟัง และอธิบายถึงเหตุผลที่ซื้อเรือดำน้ำว่ารอบคอบหรือไม่ 

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า หากมีเรือดำน้ำแล้วทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งตนก็เห็นด้วย เพราะขนาดประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีน่านน้ำเล็กกว่าไทยยังมีเรือดำน้ำ 3 ลำ เวียดนามมี 6 ลำ เราต้องคิดถึงมูลค่าขนส่งทางทะเลที่ต้องมีการดูแลรักษาความปลอดภัย หากเห็นว่าไม่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าจะเอาประหยัดจะใช้บริการเช่าเรือดำน้ำจากสิงคโปร์ หรือเวียดนามมารักษาอ่าวไทยได้หรือไม่

ผบ.สส.ยันเรือดำน้ำจำเป็น

ด้าน พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แถลงหลังการประชุมบัญชาการเหล่าทัพถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ และรอประสานการเซ็นสัญญากับจีน กระบวนการจัดซื้อต้องใช้ระยะเวลานาน แต่เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น ทางกองทัพเรือ จะแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง
 
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยืนยันว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือดำน้ำ ตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ เพื่อไม่ให้ตกเป็นรองต่างประเทศมากเกินไป
 
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในระหว่างการแถลงข่าว สื่อมวลชนได้พยายามขอให้ พล.ร.อ.ณะ อารีย์นิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ชี้แจงการกรณีนี้ แต่ พล.อ.สุพงษ์ ได้ขอให้รอการดำเนินการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ

ผบ.ตร. เปรียบปล่อยเสือเข้าป่า

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า ต้องดูว่าเรื่องดีหรือไม่ เหมือนเราปล่อยเสือสัก 1 ตัวเข้าในป่า ไม่รู้ว่าเสืออยู่ตรงไหน ใครจะกล้าเข้าไป เหมือนกัน ถ้าเรามีเรือดำน้ำ ปล่อยในทะเลไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ใครจะกล้าเข้ามา 

พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวด้วยว่า ไม่ขอวิจารณ์หน่วยอื่น ขอให้มองในแง่ดี ตนไม่ก้าวก่าย แต่ถ้ามีม็อบเข้ามาต้องเจอตำรวจแน่นอน ไม่ว่าจะม็อบอะไร ม็อบเรือดำน้ำมาก็เจอ ยอมรับว่าหน่วยงานความมั่นคงจับตามความเคลื่อนไหวทุกช่องทาง รวมถึงโซเชียลมีเดียด้วย เกี่ยวกับม็อบ ด้านความมั่นคง ทุกอย่าง มีการติดตามการข่าวอยู่แล้ว ช่วงนี้ตนสั่งการติดตามดูเป็นพิเศษ ไม่น่ามีอะไร เรื่องนี้ไม่กังวลเชื่อว่าจะไม่เป็นชนวนความรุนแรงหรือสร้างมวลชน

 

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิสิษฐ์ ยันเป็นสื่อออนไลน์ก็ต้องมีใบอนุญาต หากพบทำข่าวไร้ใบอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

Posted: 26 Apr 2017 06:39 AM PDT

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ชี้สื่อออนไลน์ต้องมีใบอนุญาต หากไม่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น ชี้เว็บกระปุกเข้าข่ายสื่อออนไลน์ ด้านผู้ก่อตั้งเว็บกระปุกแจง ควรแยกระหว่างนักข่าว กับบรรณาธิการเนื้อหา<--break- />

 26 ม.ย. 2560 มติชนออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เปิดเผยว่าจะนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. เข้าสู่การพิจารณาของวิป สปท. คาดว่าจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ สปท. ในวันที่ 8-9 พ.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาคือเรื่องโทษ กรณีหากนักข่าวไม่ไม่มีใบอนุญาต ตามเวลาที่กำหนดจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท รวมถึงองค์กรสื่อที่รับนักข่าวที่มีใบอนุญาตมาทำงานก็จะมีความผิดจำคุกและปรับเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ยังเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกไล่ออกจากที่หนึ่งไปทำงานกับอีกที่หนึ่ง

"เรื่องโทษที่เพิ่มขึ้นมานี้เจตนารมณ์ไม่ต้องการลงโทษใคร แต่มองเรื่องการบังคับว่าคุณต้องไปขอรับใบอนุญาต เรามานั่งคิดกันว่าหากคนที่ไม่ยอมขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตจะทำอย่างไร เราก็ไปเทียบเคียงกับกฎหมายที่มีอยู่ ขนาดนวดแผนโบราณไม่มีใบอนุญาตยังมีโทษจำคุกสองปีเบากว่าคุณอีก สื่อเวลาไปทำอะไรเสียหายทีผลกระทบวงกว้างกว่าเยอะ เรื่องใบอนุญาตสื่อนั้น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีความชัดเจน แต่จะมีประเด็นตรงสื่อออนไลน์ ซึ่งเราขีดวงจำกัดว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อออนไลน์นั้น ต้องมีเจตนา ทำต่อเนื่อง และมีรายได้ทั้งทางตรงทางอ้อมหรือไม่ ตรงนี้ทางสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะเป็นคนกำหนดรายละเอียด เราแค่วางกรอบคร่าวๆ " พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า บางเว็บเพจดังอย่าง Drama-addict ที่ยังก้ำกึ่งว่าเข้าข่ายสื่อออนไลน์จะต้องขึ้นทะเบียนด้วยหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ต้องดูเจตนารมณ์ การทำงาน และดูว่ามีรายได้จากที่ทำทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ ถ้ามีก็เข้าข่ายหมด อย่างเว็บไซต์ sanook kapook หรือข่าวทางไลน์ ที่มีรายได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ถือว่าเข้าข่าย ซึ่งเราเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมดไม่ได้ ต้องไปดูในอนาคตว่าจะทำกันอย่างไร

เมื่อถามว่าสื่อมวลชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้อย่างหนักจะมีการทบทวนเนื้อหาหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า 30 องค์กรสื่อไม่เอากับเราอยู่แล้ว สภาฯ ก็ไม่เอา ใบอนุญาตก็ไม่เอา รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็แค่เป็นกรอบจริยธรรม ซึ่งคนที่กำหนดก็คือสื่อ ตัวแทนภาครัฐ ประชาชน หากให้สื่อเขียนอย่างเดียวก็อาจเขียนเข้าข้างตัวเองไป สิ่งที่กังวลเราก็เอามาพิจารณา ไม่ใช่ไม่ฟัง เราก็ปรับ แต่หนึ่งหลักการต้องมีสภา สองใบอนุญาต ส่วนที่ไม่เอาใบอนุญาตก็ต้องถามกลับว่า ทำไมใบอนุญาตอาชีพอื่นต้องมี สื่อต่างจากอาชีพอื่นตรงไหน เราไม่ได้ว่าของเราถูกต้องทั้งหมด ยังต้องรับฟังคนอื่น ต้องผ่าน ครม. กฤษฎีกา สนช. และทำประชาพิจารณ์ตามาตรา 77 สุดท้ายไม่รู้ว่าจะเหลือเหมือนเดิมถึงครึ่งหรือไม่

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวอีกว่า เนื้อหาอีกส่วนที่มีการปรับคือเรื่อง เงินอุดหนุนสภาฯ ที่เดิมมาจากรัฐใช้ภาษีบาปแต่มีหลายคนท้วงว่าจะเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญจึง เปลี่ยนให้ไปขอจาก กสทช.ในช่วงเตรียมการ 2 ปีและดำเนินการ 5 ปี ก่อนเพื่อจะมีรายได้มาบริหารจัดการ จากนั้นค่อยมาคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อ

ด้าน ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กระปุกดอตคอม ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Poramate Minsiri ว่า ผู้ร่างกฎคุมสื่อมีความเห็นว่า Kapook เป็นสื่อ จะรับนักข่าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้มีแต่ข่าว เรามีเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับนิตยสารเช่นเรื่องผู้หญิง ท่องเที่ยว ทำอาหาร ฟุตบอล เทคโนโลยี แกตเจ็ต แต่งบ้าน ฯลฯ

Content Editor (บรรณาธิการเนื้อหา) ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำข่าว ไม่ควรจะจำเป็นต้องมีใบอนุญาตนักข่าวทางออกเรื่องนี้คือ รัฐควรออกใบอนุญาตใช้เฉพาะตอนที่นักข่าวที่ต้องไปทำข่าวจริงๆ ใครจะส่งนักข่าวมาทำเนียบ มาประจำที่หน่วยงานราชการ สภา ท่านจะให้ไปทำใบอนุญาตก่อนก็เป็นการสมควรจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร

ส่วนพนักงาน Content Editor ตามเว็บต่างๆ ที่มีมากมาย ถ้านิยามว่าเป็นนักข่าวทั้งหมด ก็จะวุ่นวายเกินไป ทุกคนที่มีเว็บ ไม่จำเป็นต้องมีนักข่าว ทุกเว็บที่มีข่าว ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเป็นนักข่าว

ทั้งนี้ ปรเมศวร์ เสนอให้รัฐออกบัตรอนุญาต ใบอนุญาต นักข่าวออนไลน์ ให้ติดบัตรอนุญาตแจ้งชื่อ และต้นสังกัดทุกครั้งที่ต้องเข้าไปทำข่าวในสถานที่ราชการเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่ได้ออกไปทำข่าว แต่อ่านข่าวจากแหล่งอื่นแล้วทำบทความวิเคราะห์ จะเป็นคอลัมนิสต์ประจำหรือแขกรับเชิญก็แล้วแต่ ก็ควรมองเป็นความเห็นของเขา ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ถ้าเขียนข้อมูลเท็จจนเสียหายก็มีกฎหมายฟ้องร้องที่ครอบคลุมอยู่แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: การบังคับให้เสียค่าสมาชิกพรรคการเมือง ขัดรัฐธรรมนูญ

Posted: 26 Apr 2017 04:11 AM PDT

 

"มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
...
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ... ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม... จะกระทำมิได้"

"มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง"

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

พลันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เข้าสู่สภานิติบัญญัติและได้ผ่านวาระแรกซึ่งเป็นวาระของการรับหลักการไปด้วยเสียงท่วมท้นในสภา 175 ต่อ 0 โดยมีเงื่อนไขที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างอื้ออึงทั้งจากพรรคการเมืองและนักวิชาการ ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านั้นก็เช่น ให้คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปีหรือไม่เกิน 2,000บาทตลอดชีพ,ผู้ขอยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองจะต้องจ่ายเงินลงขันตั้งกองทุนประเดิม 1 ล้านบาท,ต้องหาสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปี,ต้องหาสมาชิกเพิ่มให้เกิน 10,000 คน ภายใน 4 ปี ฯลฯ

ในภาพรวมทั้งฉบับถูกวิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคขนาดเล็กอย่างชัดเจน หรือแม้แต่พรรคขนาดใหญ่ก็มีความยากลำบากที่จะสามารถปฏิบัติตามได้ จึงเป็นที่สงสัยว่าวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้มีวัตถุส่งเสริมหรือทำลายพรรคการเมืองกันแน่


พรรคการเมืองคืออะไร

พรรคการเมือง(political party)มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Par (คำเดียวกันกับที่ใช้ในสนามกอล์ฟนั่นแหล่ะครับ)ซึ่งแปลว่า "ส่วน" พรรคการเมืองจึงหมายถึงส่วนของประชากรภายในประเทศ ซึ่งก็คือการที่แยกประชากรออกเป็นส่วนๆ ตามความคิดเห็นและประโยชน์ได้เสียทางการเมือง พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยบุคคลจำนวนมากที่มีภารกิจที่ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน พรรคการเมืองเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชักนำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

พรรคการเมืองจึงเป็นผู้ที่รวบรวมผลประโยชน์ของประชาชนมาเขียนไว้ในนโยบายของพรรคตน ประชาชนคนใดเห็นพ้องกับนโยบายของพรรคการเมืองใดก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองนั้นทั้งการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคนั้นด้วยตนเองหรือการเลือกสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา

จากหลักการดังกล่าวข้างต้นเมื่อนำมาประกอบเข้ากับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 45 ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วจะเห็นได้ว่าเนื้อของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อ สนช.นี้ขัดหลักการทางวิชาการและหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะเป็นจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากเป็นการยากที่จะสามารถรวบรวมเงินค่าสมาชิกจากทุกคนได้ จริงอยู่เงิน 100 บาทอาจจะดูไม่มากนักแต่ค่าใช้จ่ายในการติดตามอาจจะมากกว่ามูลค่า 100 บาทด้วยซ้ำไปและถือได้ว่าเป็นการสร้างอุปสรรคและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่สนใจจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ การที่จะอ้างเหตุผลว่าการที่สมาชิกเสียเงินแล้วจะได้มีความรูสึกเป็นเจ้าของนั้นฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกในการเป็นเจ้าของนั้นมีได้หลายวิธีไม่จำเพาะเพียงแต่การเสียเงินค่าบำรุงเท่านั้น และยิ่งไปสร้างข้อจำกัดว่าผู้ขอยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองจะต้องจ่ายเงินลงขันตั้งกองทุนประเดิม 1 ล้านบาทนั้นเป็นการกีดกันคนจนอย่างเห็นได้ชัด

มิหนำซ้ำกลับมองเห็นว่าอาจจะเป็นเจตนาที่จะจับผิดหรือทำลายพรรคการเมืองด้วยซ้ำไปหากสมาชิกชำระเงินที่ไม่ได้เป็นของตนเองซึ่งอาจจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น พรรคออกให้,สมาชิกพรรคคนอื่นออกให้ ฯลฯ โอกาสที่พรรคการเมืองจะถูกลงโทษจึงเป็นไปได้สูง ที่สำคัญเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา27ที่ว่าด้วยเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอีกเช่นกัน


กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเองจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

ดูเผินๆก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะตามระบบกฎหมายไทยและรัฐธรรมนูญปัจจุบันองค์กรที่อำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับร่าง พ.ร.บ.หรือ พ.ร.บ.ขึ้นไปใดจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมิใช่อำนาจของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ.นะครับ ที่สำคัญหากเรายังไม่ลืมตอนที่มีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการลงประชามติจาก กรธ.ไปศาลรัฐธรรมนูญมีการส่งกันกลับไปกลับมาตั้งหลายรอบ จนมีการเปรยๆว่าเห็นทีจะมีการเอาคืนกันบ้างเสียแล้วกระมัง มิหนำซ้ำศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยที่ 6/2559 ลว.28 ก.ย.59 ให้ กรธ.ปรับแก้บทเฉพาะกาลเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ ในเรื่องการขอยกเว้นใช้ข้อบังคับในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอจากเดิมที่ กรธ.ระบุให้เฉพาะ ส.ส. จำนวนกึ่งหนึ่งเท่านั้นมีสิทธิเป็นผู้เสนอของดใช้ข้อบังคับให้ปรับแก้มาเป็นสมาชิกรัฐสภาเสียอีก กอปรกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้แล้วดูเหมือนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนจะขาดคุณสมบัติเอาเสียด้วยหาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าศาลรัฐธรรมนูญมีผล

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุจำกัดของเวลาที่ สนช.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากมีการแก้ไขก็จะต้องตั้งกรรมการร่วมระหว่าง สนช.กับกรธ.หรือหากกฎหมายฉบับนี้ตกไปก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ผมจึงคิดว่าน่าจะมีทางออกในเรื่องนี้หากไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไปไม่ว่าจะเป็นในชั้นของ สนช.หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ผมจึงขอเสนอว่าน่าจะแบ่งประเภทของสมาชิกเป็นหลายประเภทอาจจะเป็นประเภทที่ต้องเสียค่าบำรุงหรือเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียค่าบำรุงแต่เป็นสมาชิกด้วยคุณสมบัติอื่น ซึ่งมีทางออกอีกเยอะแยะ

ส่วนในเรื่องอื่นๆ เอาให้พอดีๆ ก็แล้วกัน อย่าทำให้ถูกมองว่าเจตนาที่จะ "ทำหมัน"พรรคการเมืองตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดเลยครับ เพราะแทนที่จะได้ภาคภูมิใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านถือว่าใช้หนี้แผ่นดินแล้ว จะกลายเป็นติดหนี้แผ่นดินจนไม่อาจชดใช้ได้ไปเสียน่ะครับ

 

หมายเหตุ:  ปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 26 เม.ย. 59

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมกระแส Populism จึงกำลังจะครองโลก ฤาเสรีนิยมกำลังจะสูญพันธุ์?

Posted: 26 Apr 2017 03:53 AM PDT


 

ปี 2016 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกอย่างคาดไม่ถึง หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ Brexit ที่ สหราชอาณาจักรและชัยชนะของนายโดนัล ทรัมป์ในการเลือก ตั้งและกลายเป็นประธานาธิบดี สหรัฐคนปัจจุบัน โลกเสรีนิยมก็ดูเหมือนจะปั่นป่วนไปทั่วทั้งในทางการเมือง และโดยเฉพาะในทาง ความคิด กระแสการเมืองในโลกตะวันตกเรื่องการเหยียดผิว การต่อต้านผู้อพยพต่างชาติ และต้าน คนมุสลิมดูเหมือนจะแพร่หลายไปทั่วอย่างรวดเร็วด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการแพร่แนวคิดการ ต่อต้านความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุพาคี การต่อต้านการเปิดเสรีทางการค้า และการลง ทุนข้ามชาติ การปฏิเสธข้อตกลงในการค้า ในทางเศรษฐกิจและปฏิเสธการสร้างพันธมิตรทางการ ทหาร ในขณะเดียวกันก็เกิดความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารไปทั่วโลกอันเกิดจากนโยบาย ขวาจัดชาตินิยมของประธานาธิบดีสหรัฐ ข้อสังเกตในที่นี้ก็คือ "ทรัมป์ไม่สำคัญเท่ากับลัทธิทรัมป์" (Trumpism) และสิ่งที่น่ากลัวกว่าคือแนวคิด Populism ที่อยู่เบื้องหลัง

อันที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นมีพลังที่สำคัญอยู่ที่แนวคิด Populism ในโลกตะวันตก ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ นักรัฐศาสตร์ในตะวันตกเองก็มีข้อถกเถึยงกันว่าอะไรเกิดขึ้น เกิดปัญหาอะไรในสัญญาประชาคมที่ เป็นแกนกลางสำคัญในทฤษฏีของเสรีประชาธิปไตย ทำไมชนชั้นกลางและผู้ใช้แรงงานในสังคม ตะวันตกหันหลังให้สถาบันประชาธิปไตยและเสรีนิยม เมื่อเร็วๆนี้นักรัฐศาสตร์อเมริกันสองคนคือ Jeff D. Colgan และ Robert O. Keohane ได้เขียนบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจในวารสาร Foreign Affairs บทวิเคราะห์ดังกล่าวใช้การวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ต่อปรากฏการณ์ Populism อย่างเป็นระบบที่สุด เท่าที่จะมีในเวลานี้

บทความดังกล่าวชื่อว่า "ระเบียบโลกแบบเสรีถูกโกง: จะซ่อมมันเดี๋ยวนี้หรือจะดูมันสิ้นสลายไป" (The Liberal Order Is Rigged: Fix It Now or Watch It Wither) การวิเคราะห์ดังกล่าวน่าสนใจ สำหรับเหตุการณ์ปัจจุบันเพราะนักวิชาการทางรัฐศาสตร์อเมริกันเองเป็นผู้ที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน ต่อระบบความร่วมมือแบบพหุภาคีและความเข้มแข็งของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหา ความขัดแย้ง สนับสนุนความเจริญทางเศรษฐกิจและการสร้างสันติภาพในโลกซึ่งจะย้อนกลับมา สร้างความสุขและความยั่งยืนของสถาบันประชาธิปไตยในประเทศ แต่ระบบสากลดังกล่าวตอน นี้กลับถูกประณามว่าโกงและฉ้อฉลจากชนชั้นล่างในประเทศตนเองและโดยนักการเมืองแนว Populism สิ่งที่จะวิเคราะห์ต่อไปในบทความนี้เป็นการสรุปความคิดจากการวิเคราะห์ของนัก รัฐศาสตร์ดังกล่าวโดยผู้เขียนเองเพิ่มเติมตัวอย่างการวิเคราะห์ในบางส่วนเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

หมุดหมายที่สำคัญของคำว่า Populism ก็คือความเชื่อที่ว่าในทุกประเทศจะมีประชาชนดั้งเดิมที่แท้ จริงซึ่งเป็นเหยื่อจากการสมคบคิดกันระหว่างกองกำลังของต่างประเทศและชนชั้นนำในประเทศที่ เห็นแก่ผลประโยชน์ตนเอง ผู้นำที่เชื่อเรื่อง Populism นี้มักจะอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนประชาชนที่ แท้จริงเหล่านี้และเขาจะต้องพยายามบั่นทอนกำลังหรือทำลายสถาบันต่างๆเช่นรัฐสภา ศาลยุติธรรม และสื่อมวลชนและทำลายกรอบกฏเกณฑ์ต่างๆที่มาจากภายนอกประเทศเพื่อที่จะปกป้องอำนาจ อธิปไตยแห่งชาติ

Populism จะมีหลายสีสรรตามอุดมการณ์ทางการเมือง Populism ในปีกฝ่ายซ้ายจะสู้กับคนรวยด้วย ความเชื่อเรื่องความเสมอภาพ ฝ่ายขวาก็ต้องการจะขจัดอุปสรรคความมั่งคั่งด้วยการเน้นที่การเจริญ เติบโตในทางเศรษฐกิจ น่าแปลกที่ว่าถึงจุดหนึ่งฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัดมากลับมามีความเห็นตรงกัน ในฝรั่งเศสผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัดกลับสนับสนุนให้มีการแยกตัวออก จากอียูเหมือนกัน อย่างไรก็ดี จุดเด่นที่สำคัญของ Populism คือศรัทธาในตัวผู้นำที่เข้มแข็งและไม่ ชอบการไปจำกัดอำนาจอธิปไตยของชาติ ไม่ชอบสถาบันการเมืองต่างๆที่มีอำนาจ

สถาบันเหล่านั้นก็คือตัวแสดงบทบาทที่สำคัญในการจัดระเบียบของโลกเสรี ตัวอย่างเช่น องค์การ สหประชาชาติ (UN) ประชาคมทางเศรษฐกิจยุโรป (EU) องค์กรการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) และกลุ่มพันธมิตรทางการทหารเช่น NATO ระเบียบโลกได้ถูกสร้างขึ้นโดย การนำของวอชิงตันโดยผ่านสถาบันเหล่านี้ทำให้เกิดกลุ่มความร่วมมือหลายฝ่ายในทางการเมือง ระหว่างประเทศในประเด็นที่สำคัญตั้งแต่เรื่องความมั่นคงไปจนถึงการค้าและการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศ 

นักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อว่านับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมาระเบียบโลกแบบเสรีได้ ช่วยสร้างสันติภาพระหว่างมหาอำนาจ เสถียรภาพนี้ทำให้มีการกีดกันไม่ให้เยอรมันนี ญี่ปุ่น ซาอุดิ อารเบียและเกาหลีใต้ไม่ให้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

นักรัฐศาสตร์ยังเชื่อว่าการสร้างสันติภาพของระเบียบโลกแบบเสรีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่าง มาก ผลที่ตามมาก็คือระเบียบดังกล่าวช่วยทำให้โลกที่กำลังพัฒนามีความก้าวหน้าประชากรโลก จำนวนนับเป็นพันล้านคนก้าวพ้นความยากจนและเกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นจำนวนมากมาย แต่ใน ขณะที่ระเบียบโลกแบบนี้ขยายตัวและประสบความสำเร็จ สถาบันในประเทศของตัวเองก็กลับหลุด ขาดการเชื่อมต่อกับประชาชนในประเทศซึ่งเป็นผู้สร้างระเบียบนี้ขึ้นมา

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 ผลลัพธ์ของวาระนโยบายเศรษฐกิจแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้บั่นทอน สัญญาประชาคมซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นหลักประกันและตัวสนับสนุนระเบียบเสรีอันนี้ ประชา ชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เป็นชนชั้นคนงานและชนชั้นกลางในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆเริ่มจะเชื่อว่าระบบกำลังถูกโกงและฉ้อฉล--ด้วยข้ออ้างที่น่ารับฟังไม่น้อย

นักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องโลกาภิวัฒน์ ระเบียบโลกแบบเสรี และเชิดชูส่งเสริมระบบนี้ก็มีส่วนรับ ผิดชอบต่อการขยายตัวของ Populism ไปด้วย เพราะไม่ได้ให้ความสนใจต่อการที่ระบบทุนนิยมฉวย โอกาสจี้เอาโลกาภิวัฒน์เป็นตัวประกัน ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจได้ออกแบบสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ตัวเองและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างพวกเขาเองกับรัฐบาล แต่ ทว่าประชาชนที่เป็นคนธรรมดาสามัญกลับถูกทอดทิ้งและพากันโกรธเคืองกับระบบ 

ในปี 2016 รัฐสองรัฐที่เป็นตัวแสดงหลักในการสร้างระเบียบโลกแบบเสรีขึ้นมาคือ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรกำลังจะหันหลังให้มัน นั่นก็คือชัยชนะของ Brexit และ Trump ปรากฏการณ์ ทั้งสองสะท้อนให้เห็น"การล่มสลายของสัญญาประชาคมที่จุดแกนกลางของเสรีประชาธิปไตย" กลุ่มคนที่ได้ดีในสังคมตลาดได้เคยสัญญาว่าผู้เสียเปรียบจากพลังของตลาดจะไม่ตกหล่นไปไกลจาก ตนเอง แต่ที่จริงพวกเขาตกไปอยู่ ไกลมาก ในระหว่างปี 1974 และ 2015 รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน อเมริกันที่ไม่จบชั้นมัธยมตกต่ำลงถึงร้อยละ 20 แม้แต่พวกที่จบมัธยมปลายแต่ไม่ได้เรียนจบระดับ มหาวิทยาลัยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนตกลงมากถึงร้อยละ 24 แต่พวกที่จบมหาวิทยาลัยมีรายได้เฉลี่ย สูงขึ้น ในครัวเรือนอเมริกันทั้งหมดรายได้เฉลี่ยจะสูงขึ้นร้อยละ 17 ดังนั้นในภาพรวมคนที่จบการ ศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจะมีรายได้สูงกว่า  

นักรัฐศาสตร์ชื่อโรเบิร์ต พัทนั่มและมากาเร็ต แวร์ พบว่าแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เกิดสภาพที่คน อเมริกันอยู่ในโลกที่แตกต่างกัน คนที่มีฐานะดีจะไม่มีที่อยู่อาศัยใกล้กับคนจน และไม่มีปฏิสัมพันธ์ กันในสถาบันสาธารณะอย่างที่เคยทำ การแยกกันอยู่ได้บั่นทอนความเป็นเอกภาพทางสังคม แต่ชน ชั้นนำที่มีความคิดสากลนิยมหลายคนคิดว่าความมีเอกภาพทางสังคมนั้นไม่สำคัญสำหรับประชาธิป ไตยที่ปฏิบัติหน้าที่ดีอยู่แล้ว

ชนชั้นนำได้ฉวยประโยชน์จากระเบียบโลกแบบเสรีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจในหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยไม่ได้แบ่งรายได้และความมั่งคั่งให้คนชั้นกลางและคนชั้นล่าง คนอเมริกันที่ร่ำรวยและมีการ ศึกษาสูงพยายามผลักดันให้มีนโยบายภาษีอัตราถดถอย นโยบายสร้างข้อตกลงทางการค้าและการ ลงทุนที่ส่งเสริมการจัดจ้างคนภายนอกที่เป็นบริษัทต่างประเทศ และลดการให้งบประมาณแก่มหา วิทยาลัยของรัฐ (ทำให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับโดยลดงบประมาณลง) ผลของนโยบายดังกล่าวได้ ทำลายสิ่งที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยมที่ผูกพันกับสังคม (Embedded Liberalism) อันหมายความถึง ระเบียบโลกแบบเสรีที่สร้างด้วยสังคมแห่งตลาดเสรีได้แต่ก็ยังรักษารัฐสวัสดิการและนโยบายตลาด แรงงานเอาไว้ซึ่งจะฝึกอบรมให้การศึกษาใหม่แก่แรงงานที่มีทักษะแบบเก่า และชดเชยเยียวยาให้กับ ผู้ที่เสียงานให้กับการเปิดเสรีทางการค้าและยังให้การรับรองฐานะให้แก่พลเมืองทุกคนแม้กับผู้ที่ไม่ มีประสิทธิผลในทางเศรษฐกิจ

พวกชนชั้นนำก็ผลักดันและสนับสนุนมุมมองดังกล่าวแต่เพียงแค่ครึ่งเดียวคือตลาดเสรี การเปิดชาย แดนและการร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฝ่าย แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 พวกเขาก็เริ่มละ ทิ้งส่วนประกอบอื่นๆของแนวคิดเสรีนิยมเพื่อสังคม ซึ่งก็คือการมีตาข่ายนิรภัยทางสังคมที่แข็งแรง สำหรับผู้ที่ดิ้นรนต่อสู้ชีวิต การไร้สมดุลดังกล่าวบ่อนทำลายการสนับสนุนจากภายในประเทศต่อ ตลาดเสรีในโลก การสร้างพันธมิตรทางการทหารและสิ่งอื่นๆอีกมากมาย  

การเช็คบิลเก่าต่อปัญหาการล่มสลายของสัญญาประชาคมตามมาถึงกำหนดชำระหนี้ในปี 2016 นี้ เองที่ทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังไม่ให้ความ สำคัญต่อภัยคุกคามที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งมีผลต่อระเบียบโลกแบบเสรีนี้ บางคน โต้แย้งว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการบูรณาการในโลกมีมากจนล้นเกินไปกว่าที่รัฐบาลแห่ง ชาติจะหาทางย้อนกลับไปสู่ลัทธิเสรีนิยมไม่ว่าจะมีการเล่นโวหารในการรณรงค์หาเสียงหรือกระแสทัศนะของ Populism จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่านักการเมืองก็มักจะสนองตอบต่อ แรงจูงใจในการเลือกตั้งมากกว่าแม้ในชั่วขณะที่แรงจูงใจนั้นแยกทางกันกับผลประโยชน์ในระยะยาวของประเทศตนเอง และในระยะหลายปีที่ผ่านมาผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมากก็หันไปเห็น ด้วยกับกระแส Populism ที่ปฏิเสธโลกาภิวัฒน์และระเบียบโลกแบบเสรี

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำทางธุรกิจและตลาดหุ้นซึ่งน่าจะช่วยกันเหยียบเบรกกระแสคลั่ง Populism กลับไป ให้รางวัลตอบแทนด้วยข้อเสนอที่ให้ลดภาษีต่อนักธุรกิจอันไปเพื่มค่าใช้จ่ายในภาครัฐมากขึ้นอีกซึ่ง เป็นการกระทำที่สายตาสั้น การหยิบฉวยเอาผลประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์มากขึ้นในขณะที่ผลประ โยชน์ของชนชั้นกลางและชนชั้นคนงานเสียไปก็ยิ่งเป็นการทำลายการสนับสนุนทางการเมืองที่มี ต่อการสร้างบูรณาการของสายการผลิตเชิงอุปทานและแรงงานของผู้อพยพย้ายถิ่นอันเป็นสิ่งที่ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพาอยู่ จุดยืนเช่นนี้ทำให้นึกถึงวิธีการที่ชนชั้นสูงในฝรั่งเศสใน ศตวรรษที่สิบแปดทำโดยปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีในขณะที่เพลิดเพลินกับการผจญภัยทางการทหารใน ต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง พวกเขาเอาตัวรอดไปได้หลายปีจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ชนชั้น นำในทุกวันนี้กำลังเสี่ยงกับความผิดพลาดในแบบเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญก็ควรจะมีส่วนรับการตำหนิติเตียนด้วยจากการที่สนับสนุนให้ระเบียบโลกแบบเสรีเดิน ไปสู่ความผิดพลาด ผู้กำหนดนโยบายทำตามข้อเสนอทางวิชาการที่รวมถึงการสร้างสถาบันระหว่าง ประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกัน แต่พวกเขาสร้างมันขึ้นมาด้วยอคติและนักวิชาการก็ประเมิน ค่าความเสี่ยงต่ำไป พวกบรรษัททางการเงินและบรรษัทธุรกิจใหญ่ๆทั้งหลายได้รับอภิสิทธิ์ภายใน สถาบันแห่งระเบียบโลกที่เสรีซึ่งให้ความสนใจต่อผลประโยชน์ของคนงานน้อยมาก กฎของ WTO เน้นที่การเปิดตลาดกว้างและไม่สนใจการส่งเสริมมาตรการที่เป็นเบาะรองรับผลเสียจากการเปิด ตลาดต่อผู้ที่ด้อยโอกาสโดยเฉพาะคนงานในโรงงานภาคการผลิตแบบเก่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในขณะเดียวกัน สนธิสัญญาในการลงทุนซึ่งลงนามในช่วงทษวรรศที่ 1990 มีเงื่อนไขว่านักกฏหมาย ด้านธุรกิจสามารถตักตวงผลประโยชน์จากธุรกิจขนาดใหญ่ได้โดยละเลยประโยชน์ต่อผู้บริโภค และ เมื่อทางการจีนจัดการบิดเบือนการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนทำให้คนงานในอเมริกาเสียประโยชน์ รัฐ บาลวอชิงตันตัดสินใจว่ามีเรื่องอื่นในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาที่สำคัญมากกว่า จึงไม่มี การตอบโต้เรื่องนี้อย่างเต็มที่ 

คนอเมริกันที่เป็นผู้ใช้แรงงานไม่จำเป็นต้องเข้าใจรายละเอียดของการตกลงทางการค้าของโลก แต่ พวกเขามองเห็นชนชั้นนำอเมริกัน คนในจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆพากันร่ำรวยขึ้นอย่างรวด เร็วในขณะที่รายได้ของพวกเขาตกต่ำลง จึงไม่น่าประหลาดใจที่พวกเขาจำนวนมากเห็นด้วยกับนาย ทรัมป์และผู้สมัครประธานาธิปดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตอีกคนคือนายเบอร์นี่ แซนเดอร์ ทั้งสอง คนบอกว่า "เกมมันถูกโกงไปแล้ว"

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมีกก็ถูกป้ายไปที่เรื่องภายในอื่นๆที่ทำให้เกิดการปฏิวัติของ Populism เช่นการ  เหยียดสีผิว ความรู้สึกไม่พอใจต่อผู้เชี่ยวชาญ นโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลว แต่ไม่ค่อยมีคนให้ความ สนใจต่อปัจจัยสองประการที่เกิดจากระเบียบโลกโดยตรง ปัจจัยแรกคือความสูญเสียเอกภาพในชาติ ที่เกิดจากการที่สงครามเย็นยุติลง ในระหว่างความขัดแย้งของสงครามเย็น ความสำนึกต่อภัยคุกคาม จากสหภาพโซเวียตก่อให้เกิดสำนึกร่วมในความผูกพันต่อพันธมิตรของวอชิงตันและบรรดาสถาบันระหว่างประเทศ นักจิตวิทยาสังคมชี้ให้เห็นความสำคัญของการมอง "ฝ่ายอื่น" ในการก่อตัวของอัต ลักษณ์ทั้งของปัจเจกบุคคลและของชาติ ความรู้สึกที่ชัดเจนว่าใครไม่ใช่กลุ่มของเราทำให้เรารู้สึกไกล้ ชิดกันมากขึ้นกับคนที่เรามองว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ความล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้ไม่มีใคร เป็น "คนอื่น" ในจินตนาการทางการเมืองของอเมริกันและลดความผูกพันกันทางสังคมของสหรัฐ อเมริกา การที่สงครามเย็นยุติลงยังทำให้เกิดปัญหาในทางการเมืองต่อพรรครีพับลิกันซึ่งเคยเป็น ป้อมปราการหลักในการต่อต้านคอมมิวนิสต์มานาน เมื่อไม่มีโซเวียตก็ไม่มีนิทานเรื่องผีหลอกเด็กอีก จึงต้องหาเรื่องอื่นมาแทน ลัทธิทรัมป์แตกหน่อมาจากตรงนี้   
   
ในยุโรป จุดจบของสงครามเย็นมีผลกระทบหลายอย่าง ระหว่างสงครามเย็นนั้นผู้นำของยุโรปตะวัน ตกพยายามปกป้องอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายหลังปี 1989 เมื่อไม่มีขีดจำกัดแล้ว รัฐบาลและ ผู้นำในบรัสเซลส์ก็ขยายอิทธิพลชองอียูแม้จะต้องเผชิญหน้ากับการลงประชามติในเรื่องอียูอย่างต่อ เนื่องซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความไม่พอใจต่ออียูและสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญานเตือนว่าชนชั้นคนงานกำลังไม่พอใจ ในยุโรปตะวันออกการต้านโซเวียตที่แรงในช่วงปีทศวรรษที่ 1980 และ 1990 แต่ กระแสนี้ตกลงเมื่อไม่มีสหภาพโซเวียต และกระแส Populism และการต่อต้านเสรีนิยมก็เข้ามาแทน ที่ ทั้งในยุโรปและอเมริกา การหายไปของสหภาพโซเวียตทำให้ความเป็นเอกภาพทางสังคมถูกบ่อน เซาะรวมทั้งการขาดสำนึกร่วมกันในเป้าหมาย      

พลังประการที่สองที่กระตุ้นความไม่พอใจต่อระเบียบโลกแบบเสรีอาจจะเรียกว่า "การสร้างความ สัมพันธ์พหุภาคีจนเลยเถิดไป" ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเงื่อนไขบังคับให้ประเทศต่างๆสร้างข้อ จำกัดความเป็นอิสระหรือลดอัตบัญญัติเพื่อให้สถาบันอย่างเช่น  UN และ World Bank สามารถที่จะ ประสานความร่วมมือและแก้ปัญหาระหว่างกันได้ แต่แนวโน้มตามธรรมชาติของสถาบันเหล่านี้ก็ คือ ผู้นำองค์กรและระบบราชการของสถาบันดังกล่าวก็จะพยายามขยายอำนาจตัวเอง ซึ่งก็ไปทำให้ เกิดการจำกัดอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกและประชาชนเกิดรู้สึกว่ากองกำลังต่างชาติดำลัง ควบคุมชีวิตของพวกเขา สถาบันแบบพหุภาคีเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตยและเหินห่างจากสังคม ทำให้มีความแปลกแยกกับสาธารณะ      
      
นักรัฐศาสตร์อเมริกันมองว่าการฉ้อฉลของระเบียบโลกแบบเสรีทำให้จำเป็นจะต้องให้ความสนใจ ต่อทั้งปัญหาเนื้อหาและความรู้สึกที่คนมีต่อมัน สหรัฐอเมริกาอ่อนแอเกินไปที่จะแก้ปัญหานี้ในการ ทำให้ระบบเป็นเสรีนิยมที่รับผิดชอบต่อสังคมแม้จะพยายามทำแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ ประเทศเยอรมันนี เดนมาร์คและสวีเดนทำได้ดีกว่าแม้ระบบจะยังมีความตึงเครียดอยู่ ประเทศฝรั่งเศสก็กำลังดิ้นรนเอา ตัวรอดอยู่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในขณะนี้ วอชิงตันยังมีผลงานที่ไม่น่าประทับใจเลยเมื่อดูที่ ตัวระบบราชการซึ่งเข้ากับสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ การปฏิรูปแบบข้างบนสู่ข้างล่างแบบประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ       

ดังนั้น เพื่อจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ วอชิงตันควรต้องทำตามหลักสามประการคือ ประการแรก การสร้าง บูรณาการของโลกจะต้องผนวกกับนโยบายภายในประเทศที่ทำให้ชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ในลักษณะที่ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมองเห็นได้ชัด ประการที่สองคือ ความร่วมมือระหว่างประเทศต้องได้ดุลกับผลประโยชน์แห่งชาติเพื่อป้องกันการ ทำอะไรเลยเถิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้กำลังทางทหาร ประการที่สามวอชิงตันต้องบ่มเพาะ ความเป็นอัตลักษณ์ทางสังคมแบบอเมริกันและวาทกรรมของความเป็นชาติ ซึ่งก็หมายความถึงการ กล่าวถึง"คนอื่น"ที่เป็นระบอบอำนาจนิยมและต่อต้านเสรีนิยม การต่อต้านระบอบเผด็จการไม่ได้ หมายความถึงการใช้กำลังบังคับจากภายนอก แต่จะต้องใช้การวิพากษ์วิจารณ์ในทางการฑูตเป็น ครั้งเป็นคราวต่อประเทศเช่นจีนและซาอุดิอารเบีย

ประธานาธิบดีต้องประกาศชัดว่าแม้สหรัฐฯมีความสนใจในการร่วมมือกับประเทศที่ไม่เป็นประชา ธิปไตย แต่สหรัฐฯก็สงวนสิทธิที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไคยเท่า นั้น การทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของอเมริกันและสร้างเอกภาพในชาติ ในบางครั้งอาจ จะต้องมีการจำกัดขอบเขตความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่ไม่เป๋นประชาธิปไตด้วย       
       
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ กระแสประชานิยมในระดับโลกหรือ Global Populism มีอุดมการณ์ที่ ชัดเจนและขายดีในตลาด ลักษณะก็คือ แข็งกร้าว ชาตินิยมและท้องถิ่นนิยม "อเมริกาเป็นอันดับ หนึ่ง" หรือ "ฝรั่งเศสเป็นอันดับหนึ่ง" เป็นสโลแกนที่มีพลัง การกล่าวตอบโต้ว่าเราต้องมีระเบียบ โลกแบบเสรีต้องมีสโลแกนชัดเจนเช่นกัน จึงต้องมีทางเลือกที่ดีและสนองปัญหาของชนชั้นคนงาน เช่น สำหรับพรรคเดโมแครทอาจจะใช้คำว่า "พรรคเพื่อการมีงานทำ" น่าจะดีกว่าใช้คำว่าพรรคนี้เรา ทำเพื่อเพื่มสวัสดิการโดยรวมในขณะที่จะลดความสูญเสียจากการค้าเสรีซึ่งอาจดูยึดยาดไป

ในอเมริกาถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันในแนวทางและการสื่อสาร พรรคการเมืองเก่าๆ ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด เวลานี้คนนอกได้ยึดกุมพรรครีพับลิกันไปแล้ว เดโมแครตก็กำลังถูกต้อน เข้ามุม ในยุโรปพรรคแรงงานของอังกฤษก็แตกระเบิดจากภายใน พรรคเก่าๆในฝรั่งเศสก็กำลังหลุด ออกจากกัน การจะปรับตัวให้ได้นั้น มีคำแนะนำของนักจิตวิทยาสังคมคนหนึ่งที่บอกว่า "พวกฝ่าย หัวก้าวหน้าคงจะต้องเรียนรู้ที่จะพูดถึงคำว่า เกียรติยศศักดิ์ศรี ความซื่อสัตย์จงรักภักดี และความมี ระเบียบกันบ้าง …. นอกเหนือจากคำว่า ความเสมอภาคและสิทธิ" ถ้าไม่เช่นนั้นเสรีนิยมอาจจะสูญ หายไปจากโลกนี้ในที่สุด        



เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวทางตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศ กระทบอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในระยะยาว

Posted: 26 Apr 2017 03:24 AM PDT

นิตยสาร Foreign Policy ระบุถึงกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งตัดงบประมาณให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยการตัดงบประมาณและการยุบรวมกระทรวงต่างประเทศกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกวิจารณ์จากในสหรัฐฯ เองว่าจะให้ผลต่อการเมืองระยะสั้นแต่จะทำลายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระยะยาว

แฟ้มภาพโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแถลงที่กระทรวงป้องกันมาตุภูมิ เมื่อ 25 มกราคม 2017 (ที่มา: U.S. Department of Homeland Security (DHS)/Wikipedia)

Foreign Policy นำข้อมูลเหล่านี้มาจากเอกสารการเงินภายในของสหรัฐฯ โดยระบุว่ามีการตัดงบประมาณช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 1 ใน 3 ในปีงบประมาณ 2561 แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดมากกว่านี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงความช่วยเหลือด้านการพัฒนาไปสู่โครงการแบบเน้นความมั่นคงของสหรัฐฯ แทน

เวด วอร์เรน รักษาการผู้อำนวยการขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ USAID กล่าวต่อพนักงานในที่ประชุมทางการว่าจะมีการยุบรวมหน่วยงานนี้กับกระทรวงการต่างประเทศ จากส่วนหนึ่งของการพิจารณาคำสั่งพิเศษของทรัมป์ที่ออกมาในเดือนมีนาคมโดยอ้างว่าเพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านการทูตและการพัฒนา

Foreign Policy ระบุว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2542 ที่หน่วยงานให้ทุนโครงการด้านข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมในต่างประเทศถูกปิดลงและมีหลายโครงการถูกพับไป หรือถูกลดขนาด แต่สุดท้ายแล้วการลดขนาดหรือปิดตัวโครงการสำคัญอย่างการป้องกันโรคและความมั่นคงทางอาหารก็ชวนให้เกิดการแบ่งขั้ว

แอนดรูว นัตสิออส อดีตผู้อำนวยการ USAID ในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกว่า เรื่องนี้จะทำให้พวกเขาสูญเสียผู้เชี่ยวชาญใน USAID และจะกลายเป็นหายนะในระยะยาว

ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสจะไม่อนุมัติข้อเสนอการตัดงบประมาณโดยทรัมป์ ลินเซย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกรีพับลิกันบอกว่าข้อเสนองบประมาณของทรัมป์นั้น "ล่มตั้งแต่ปากอ่าว" อย่างไรก็ตามมีการประเมินสถานการณ์ว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างงบประมาณสุดท้ายเพื่อลกระดับความช่วยเหลือ

ฝ่ายการต่างประเทศและ USAID ต่างก็ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อกรณีการยุบรวมสองหน่วยงานนี้โฆษก USAID แค่พูดว่าการดำเนินการจะเป็นไปเพื่อใช้เงินภาษีของสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน

มีการประเมินว่าการตัดงบในครั้งนี้จะส่งผลให้สูญเสียภาคกิจภาคสนามไป 30-35 ภารกิจ และลดขนาดสำนักงานภาคพื้นถิ่นลงราวร้อยละ 65 โดยที่ในปัจจุบัน USAID มีปฏิบัติการอยู่ในประเทศต่างๆ ประมาณ 100 ประเทศ โดยที่นัตสิออสมองว่าจะเป็นการทำลายเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯ ในการสร้างอิทธิพลต่อการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เงินทุนด้านสุขภาวะโลกถูกตัด 41 ประเทศ ลดลงราวร้อยละ 25 ทั้งๆ ที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะคงงบประมาณแผนการฉุกเฉินบรรเทาทุกข์โรคเอดส์ไว้ แต่การตัดงบประมาณตรงนี้ก็อาจจะส่งผลเสี่ยงกับชาวอเมริกันเองถ้าหากมีการระบาดหนักในอเมริกัน

ในหน่วยงานความมั่นคงทางอาหารมีโอกาสสูญเสียงบประมาณไปร้อยละ 68 แต่การลดงบหน่วยงานที่จะช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหารนั้นอาจจะทำให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นไปกับการช่วยเหลือด้านอาหารในยามฉุกเฉิน

ส่วนที่โดนตัดงบประมาณมากที่สุดคือภาคส่วนด้านมหาสมุทร สิ่งแวดล้อมและกิจการวิทยาศาสตร์ ที่ถูกตัดถึงร้อยละ 94.5 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินในการจัดการปัญหาโลกร้อนอย่างการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยที่สหรัฐฯ เคยให้พันธสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในข้อตกลงการประชุมโลกร้อนที่ปารีสไว้ในปี 2559

ภาคส่วนอื่นๆ ที่โดนตัดงบประมาณคือประเด็นสตรี ประเด็นไซเบอร์ และ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในแถบทวีปแอฟริกาเหนือ การตัดงบประมาณเหล่านี้ยังถูกเน้นนำไปใช้เป็นงบประมาณส่งเสริมเศรษฐกิจกับประเทศที่มีวัตถุประสงค์ร่วมทางยุทธศาสตร์แะทางการเมืองเฉพาะด้านกับสหรัฐฯ

สก็อตต์ มอร์ริส ประธานฝ่ายการริเริ่มนโยบายพัฒนาจากศูนย์เพื่อการพัฒนานานาชาติ บอกว่าการตัดงบประมาณเช่นนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง USAID กับกระทรวงการต่างประเทศอ่อนแอลง จึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เรื่องนี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลทรัมป์ดูจะสนใจเรื่องเป้าหมายทางการเมืองแค่ในระยะสั้นมากกว่า โดยที่สตีเวน ราเดลเลต อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ USAID กล่าวว่าก่อนหน้านี้กองทุนด้านวิทยาศาสตร์เคยเน้นใช้ช่วยเหลือพันธมิตรทางการเมืองของสหรัฐฯ

โดยทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของชาติจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็มองว่าการตัดงบประมาณเหล่านี้สร้างความเสี่ยงต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยจะเป็นการลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอื่นๆ

วิลเลียม เทย์เลอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนในสมัยบุชซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของสถาบันเพื่อสันติภาพของสหรัฐฯ บอกว่า หนึ่งในสิ่งที่เป็นทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในยูเครนคือการส่งเสริมให้พวกเขาหันไปหาสถาบันของยุโรปแทนสถาบันของรัสเซียซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า แต่เงินส่งเสริมการเมืองและเศรษฐกิจยูเครนโดยสหรัฐฯ ก็ถูกตัดไปร้อยละ 68.8

เรียบเรียงจาก

The End of Foreign Aid As We Know It, Foreign Policy, 24-04-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณคิด คสช.ทำ ดันกม.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ให้อำนาจยกเว้นกฎหมาย เอื้อต่างชาติเช่าที่ 99 ปี

Posted: 26 Apr 2017 03:18 AM PDT

เครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษชี้ร่างกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเปิดช่องยกเว้นการใช้กฎหมายเอื้อต่างชาติเช่าที่ 99 ปี ซ้ำทบทวนการอนุญาตไม่ได้ รัฐอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ย้ำไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่คนไทยกำลังถูกรอนสิทธิในการใช้ทรัพยากร ถามหากเกิดปัญหามลพิษตกค้างจากการใช้ที่ดินใครจะรับผิดชอบ

นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ประกอบด้วยพื้นที่ 3 จังหวัดคือฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กำลังเป็นนโยบายที่รัฐบาลทหารเร่งผลักดันอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ เรียกว่าประชาชนในพื้นที่เองก็แทบติดตามไม่ทัน ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ทำการร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปแล้ว

รัฐบาลจัดให้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในความสำคัญอันดับแรกๆ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อันกินความรวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) จึงเป็นทางด่วนพิเศษให้กับนักลงทุนด้วยการเพิ่มแรงจูงใจจำนวนมากและลัดขั้นตอนทางกฎหมายลง

แต่ประเด็นที่ร้อนแรงขึ้นมาคือการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี ซึ่งทางกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 เหตุนี้ทางเครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โดยเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติบางประการต่อข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่าเป็นกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เขากล่าวว่า พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 เกิดขึ้นจากแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศเช่าที่ดินได้ 50+49 ปีอยู่จริง แต่ก็มีเงื่อนไขและรายละเอียดพอสมควรในการอนุญาตและระบุถึงการเพิกถอนไว้

โดยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ฉบับก่อนเข้าที่ประชุม ครม. มาตรา 43 ระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้รับสิทธิตามมาตรา 43(1) มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

และในมาตรา 46 ระบุว่า การเช่าหรือให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ

เนื้อหาใน 2 มาตราข้างต้นกล่าวไว้อย่างไร

มาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่า อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา

ส่วนมาตรา 5 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2542 ระบุว่า การเช่าที่ดินที่มีเนื้อที่เกินกว่าหนึ่งร้อยไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนในวรรค 3 ระบุว่า การจดทะเบียนการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดประเภทของพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ให้ทำการเช่า และการใช้หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้อสังหาริมทรัพย์ตามที่เช่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในวรรค 5 ระบุอีกว่า ให้อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าที่ฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามความในวรรคสองและวรรคสาม

"แต่กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกลับให้นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตแล้วจะถือที่ดินกี่แปลงก็ได้ ที่ดินแปลงนั้นจะใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมประเภทใดก็ได้ สมมติผมได้รับอนุญาตในการทำธุรกิจประเภทเอ แต่เมื่อผมได้รับอนุญาตแล้ว ผมอาจไปซื้อที่ดินเพื่อทำอุตสาหกรรมประเภทบี ประเภทซี ต่อไปก็ได้ ขณะที่กฎหมายเดิมจะต้องขออนุญาตเป็นรายแปลง" เดชรัต กล่าว

"นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ เคยมีการกำหนดไว้หรือเปล่าว่าใครจะต้องเข้ามาฟื้นฟู ดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ"

ข้อสังเกตประการต่อมา การได้มาซึ่งที่ดินของกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดว่า ที่ดินที่จะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษหรือใช้เพื่อการพัฒนาในเขตนี้ ภาครัฐสามารถซื้อ เช่า เช่าซื้อ เวนคืน หรือถมทะเลก็ได้ เมื่อได้ที่ดินมาแล้วก็สามารถนำไปปล่อยเช่าได้ โดยให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้กำหนดค่าเช่า การเช่าที่ดินนี้จึงแตกต่างจาก พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ เนื่องจากภาครัฐจะเป็นผู้จัดหาที่ดินมาให้เอกชนต่างชาติเช่า และเมื่อให้เช่าแล้ว การเพิกถอนก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะในร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ไปแล้ว

"ประเด็นการเช่าที่ดินจึงมีความน่าเป็นห่วง จะมีผลกระทบในแง่การนำที่ดินสาธารณะมาให้เช่าหรือไม่ จะเกิดการกระจุกตัวของที่ดินในพื้นที่สามจังหวัดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเด็นนี้ถูกมองในมุมชาตินิยมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเดชรัตกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม แต่เป็นเรื่องสิทธิ โดยเขาอธิบายว่าการที่เอกชนต่างชาติเช่าที่ดินจากรัฐ โดยรัฐบาลกำลังใช้สิทธิของความเป็นรัฐ เช่น การเวนคืนที่ดิน การถมทะเล แล้วนำที่ดินที่ได้มาแจกจ่ายให้แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำแม้แต่กับนักลงทุนไทยเอง ยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนต่างประเทศก็อาจจะยิ่งมีคำถามเพิ่มมากขึ้นว่าเหตุใดจึงใช้อำนาจรัฐในการรอนสิทธิ์ของประชาชนชาวไทย

"ถ้าถามผมว่าเป็นเรื่องชาตินิยมหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่มันเป็นการนำสิทธิที่มีอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งตามสิทธิดั้งเดิมมาให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีสิทธิดั้งเดิม รวมถึงการกำหนดสัญญาเช่าและอัตราค่าเช่าก็ให้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษเป็นคนกำหนดเอง ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความไม่สบายใจมากยิ่งขึ้น"

ด้านเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า ประชาชนของทุกประเทศมีสิทธิที่จะทำสิ่งใดก็ตามเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ กรณีการเช่าที่ดิน 99 ปีง่ายที่จะถูกดึงและปั่นเป็นกระแสชาตินิยม แต่สิ่งที่ตนมองคือหากมีการศึกษาทางวิชาการตามกรอบกติกามาตรฐานสากลแล้วพบว่าการเช่าที่ดิน 99 ปีส่งผลดี ทางเราก็ยินดีสนับสนุน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก็บัญญัติไว้ค่อนข้างรอบด้านว่า ต้องมีการประเมินอย่างไรและประชาชนควรมีส่วนร่วมอย่างไร

"เราไม่อยากพูดว่านี่เป็นเรื่องชาตินิยม หวงแหนประเทศไทย คนอื่นเข้ามาเช่าไม่ได้ แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาการจัดการทรัพยากร การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ไปให้ไกลกว่าเรื่องชาตินิยม อย่างหน่วยงานของเราทำเรื่องมลพิษอุตสาหกรรมมานาน สิ่งที่เราเจอเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าแตะ กล้าเปิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการวางแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหญ่ขนาดไหน อย่างไร

"ดิฉันอยากจะถามว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดระยอง พัฒนามาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเช่าต่อไปเป็น 99 ปี เมื่อหมดระยะเวลา พื้นที่ที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดใหญ่ขนาดนี้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับพื้นที่นี้ เคยมีการกำหนดไว้หรือเปล่าว่าใครจะต้องเข้ามาฟื้นฟู ดูแลรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ"

กัญจน์ ทัตติยกุล จากเครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก มองว่าเรื่องที่ดินกับชาตินิยมนั้น ในส่วนของชาวบ้านเห็นว่าเรื่องการใช้ที่ดินเกี่ยวเนื่องกับการใช้ทรัพยากร เรามองถึงสิทธิที่จะดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมากกว่า จุดนี้เป็นปัจจัยหลักที่ชาวบ้านคำนึง เพราะเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น การเข้าถึงแหล่งน้ำ ตอนนี้กลายเป็นว่าแหล่งน้ำที่ภาคเกษตรหรือชุมชนจะใช้ถูกผันไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและยิ่งมีปัญหาหนักขึ้น ช่วงสองสามปีมานี้ที่มีวิกฤตภัยแล้ง ภาคตะวันออกกระทบหนักมาก แม้กระทั่งน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำประปาก็ยังหาไม่ได้

ส่วนกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ วอทช์ กล่าวว่า ปกติเราไม่สามารถเช่าที่ดินได้ทุกพื้นที่ มันมีข้อจำกัดตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีคนต่างชาติก็เป็นเช่นนั้น ตามกฎหมายเดิมจะมีข้อจำกัดเหล่านี้อยู่และสามารถทบทวนได้ แต่การที่ระบุตามกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แทบจะไม่มีระบบทบทวนและการต่ออายุก็เหมือนจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ อีกทั้งประเด็นการทบทวนการเช่าที่ดินจะไปพัวพันกับการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติในภายหลัง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องชาตินิยม แต่เป็นการไปทำลายกฎระเบียบทั้งหมดที่เคยมีในการควบคุมการใช้ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ผังเมือง และอื่นๆ เพียงเพื่อจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีประชาชนคนใดเห็นร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล ทางเครือข่ายจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเรียกร้องไปทางรัฐบาลให้เปิดเผยเนื้อหากฎหมายและสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณ มาแล้ว จ่อยื่น ผู้ว่า สตง. สอบปมจัดซื้อเรือดำน้ำจีน พรุ่งนี้

Posted: 26 Apr 2017 02:48 AM PDT

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่น ผู้ว่า สตง. 27 เม.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ตรวจสอบกรณี ครม.อนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ หรือไม่

26 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อทำความจริงให้ปรากฏว่า การดำเนินการของคณะกรรมการจัดทำ TOR ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน S-26T ในเบื้องต้นจำนวน 1 ลำมูลค่า 13,000 ล้านบาท (จากเป้าหมาย 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท) และการใช้อำนาจของกองทักเรือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและคณะรัฐมนตรี เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ หรือไม่ ในวันที่ 27 เม.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซอยอารีย์ ถ.พระราม 6 กทม.

ศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่า การอนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ของฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ซึ่งประชาชนและเกษตรกรกำลังเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้าเลยนั้น การซื้อเรือดำน้ำจากจีนดังกล่าว มีข้อสงสัยจากสาธารณชนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ TOR ความสามารถอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานจริง อันเนื่องมาจากยุทธบริเวณที่ขัดต่อการปฏิบัติงาน เพราะอ่าวไทยมีระดับน้ำลึกเพียง 25-60 เมตรเท่านั้น ความโปร่งใสในการจัดซื้อ อุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งมา ความคุ้มค่ากับการใช้งาน และสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศรอบข้างก็ไม่มี จึงไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ในการสะสมยุทโธปกรณ์ดังกล่าว

"อีกทั้งไม่เปิดเผยความจริงที่ประเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกวงเงินดังกล่าวอีกมาก เช่น การจัดสร้างอู่เรือ การจัดตั้งกำลังพลมารองรับ การซื้อยุทโธปกรณ์มาเสริม และค่าซ่อมบำรุงประจำปี ซึ่งอาจมีมูลค่ามากกว่าราคาซื้อข้างข้างต้นอีกหลายเท่า ฯลฯ การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอาจฝ่าฝืนระบบวินัยการเงินการคลังของชาติ เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อมาตรา 62 ประกอบมาตรา 75 วรรคแรก และมาตรา 76 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้เงินที่นำมาใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินจากภาษีของประชาชนคนทั้งชาติ คณะรัฐมนตรีจะย่ามใจใช้จ่ายไปโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามทางกฎหมายย่อมไม่เหมาะสม" ศรีสุวรรณ ระบุ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารนัด ปธ.รักษ์เชียงของ ถกหน่วยความมั่นคง-กรมเจ้าท่า เหตุค้านจีนสำรวจแก่งน้ำโขง

Posted: 26 Apr 2017 01:45 AM PDT

ประธาน 'รักษ์เชียงของ' ถูกทหารมทบ.37 เชิญตัวเข้าคุยกับกรมเจ้าท่าภูมิภาคเชียงราย ฝ่ายความมั่นคง ระบุเพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อมูล จากเหตุค้านการสำรวจแม่น้ำโขงของจีน ด้านโฆษกรัฐบาล ยันยังไม่เริ่มแผนพัฒนาเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Niwat Roykaew 

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พ.อ.จรัส ปัญญาดี รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย ได้ประสานนัดหมายกับ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ "ครูตี๋" ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เข้าพูดคุย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กรมเจ้าท่าภูมิภาคเชียงราย และฝ่ายความมั่นคง ที่ร้านกาแฟจอมพล อ.เมือง จ.เชียงราย ในเวลาประมาณ 10.00 น. โดยระบุว่าเป็นการพูดคุยเรื่องการคัดค้านของกลุ่มรักษ์เชียงของต่อการสำรวจแม่น้ำโขง เพื่อทำเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าของประเทศจีน

นิวัฒน์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยอย่างสงบ เพราะเห็นว่าการสำรวจแม่น้ำโขงเพื่อออกแบบการระเบิดแก่ง-ปรับปรุงร่องน้ำให้เรือใหญ่เดินทางผ่านได้ถึงหลวงพระบาง ในขณะที่คุณค่าทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนกลับไม่ได้รับการศึกษาถึงคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์นิเวศ และผลกระทบจากการระเบิดแก่งตอนบนในจีน ลาว และพม่า เหนือสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งล้วนจำเป็นต้องศึกษาเพื่อทบทวนความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

นิวัฒน์ ยังระบุว่าการจัดทำโครงการในขณะนี้ ไม่มีขั้นตอนการศึกษาถึงผลกระทบและผลเสียต่อประเทศอย่างรอบด้าน ข้อมูลการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน สุดท้ายยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและไม่มีกลุ่มทุนใดมาหนุนหลัง

ทางฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงการเรียกพูดคุยว่าเนื่องจากเกรงว่าจะมีการคัดค้านโดยก่อเหตุรุนแรงกับเรือจากประเทศจีนที่กำลังทำการสำรวจ จึงอยากพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งพยายามสอบถามว่าทางกลุ่มรักษ์เชียงของจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยทหารระบุว่าจะมีการรายงานผลต่อแม่ทัพภาคที่ 3 ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการสำรวจแก่งน้ำโขงและการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น โดยเรือสำรวจของจีนจะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว มีกำหนดระยะเวลาดำเนิน 55 วัน

ตั้งแต่ วันที่ 19 เม.ย. 60 เรือสำรวจภาคสนามของจีน จำนวน 6 ลำ เป็นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ และเรือเล็ก แบบเรือสำรวจภาคสนามอีก 3 ลำ ได้เริ่มเข้าเทียบท่าเรือเชียงแสน 1 ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน ทำให้ทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสำรวจระเบิดแก่งแม่น้ำโขงของเรือจีน เพราะเห็นว่าไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นการทำลายระบบนิเวศที่สำคัญของโลก และทรัพยากรข้ามพรมแดนที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ

ส่วนทางกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย เพื่อขอให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจพื้นที่เพื่อระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง พร้อมให้จัดส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการสำรวจทั้งหมดให้แก่ทางกลุ่มฯ ภายใน 15 วัน

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา นิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เรือสำรวจของจีนได้เริ่มต้นทำการสำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่อำเภอเชียงแสนไปถึงอำเภอเวียงแก่น และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ว่าขณะนี้ชาวบ้านได้ติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ไม่แน่ใจว่าเรือสำรวจจีนจะมาถึงคอนผีหลงในพื้นที่อำเภอเชียงของเมื่อใด แต่ชาวบ้านได้ประชุมร่วมกันแล้วว่าจะมีการทำกิจกรรมเพื่อคัดค้านโครงการที่เกิดขึ้น ทั้งที่จุดคอนผีหลงและแก่งผาได 

โฆษกรัฐบาล ยันยังไม่เริ่มแผนพัฒนาเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

ขณะที่วันเดียวกัน (25 เม.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานคำชี้แจงจากรัฐบาล โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า โครงการเกี่ยวกับแผนพัฒนาเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2015-2025 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเดินเรือดังกล่าว ในเดือนธ.ค. 2559 โดยให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ติดต่อประสานงาน ซึ่งภายหลังมีกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมตัวยื่นคัดค้านและให้ยกเลิกการดำเนินการตามแผนดังกล่าว เนื่องจากกลัวว่าจะมีการไประเบิดแก่ง หรือไปปรับปรุงเส้นทางน้ำจนเสียสภาพจากธรรมชาติ และเกิดผลกระทบในทางหนึ่งทางใดกับผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะในขณะนี้มีเรือขนาดใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ติดต่อกับกรมเจ้าท่า เพื่อขอเข้ามาสำรวจลำน้ำโขง

"นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงว่า กลุ่มที่คัดค้านเรื่องดังกล่าว จะเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการ ดังนั้นขอยืนยันว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ และศึกษาผลดีและผลเสียว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งอยากให้ทุกคนเปิดใจรับฟังผลจากการศึกษา ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรหรือไม่ และไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลตกลงจะปรับปรุงหรือระเบิดเกาะแก่งใด ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน แล้วสุดท้ายจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และออกมาเป็นมติของคณะรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการ จึงจะมีผลในทางปฏิบัติ วันนี้จึง เป็นเพียงการเดินเรือของประเทศจีนที่เข้ามาดำเนินการตามแผนที่ตกลงกันไว้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว -

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องคนร้าย”หน้าใส”ขโมยหมุด

Posted: 25 Apr 2017 04:52 PM PDT

ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน เป็นต้นมา ได้เกิดการแชร์ข่าวแพร่สะพัดในสังคมออนไลน์เรื่องการที่หมุดคณะราษฎร ที่เคยติดตั้งอยู่ที่บริเวณข้างพระบรมรูปทรงม้า หน้าสนามเสือป่า ได้ถูกคนร้ายขโมยและเปลี่ยนเอาหมุดใหม่มาใส่ โดยหมุดใหม่ที่ฝ่ายคนร้ายเอามาใส่แทนมีข้อความอันแปลกประหลาด ชาวสังคมออนไลน์จะเรียกหมุดใหม่ของฝ่ายโจรลักหมุดนี้ว่า "หมุดหน้าใส" ถือได้ว่าประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างอย่างยิ่ง

คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า หมุดคณะราษฎรดั้งเดิมนั้น มีความหมายทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็น "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" หมุดนี้ฝังไว้ ณ จุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านประกาศยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาสู่ราษฎร เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ต่อมา กระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ได้สร้างหมุดทองเหลืองเพื่อระลึกเหตุการณ์การปฏิวัติ โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในการทำพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2479 บนหมุดทองเหลืองมีข้อความว่า  "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

สำหรับหมุดอันใหม่ที่ถูกกลุ่มคนร้ายนำมาปักไว้แทน มีข้อความ 2 ส่วน ในส่วนแรกอยู่บนวงกลมล้อมรอบความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" ข้อความท่อนนี้ นำมาจากคาถาสุภาษิตที่อยู่บนตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์  และส่วนที่สองอยู่ตรงกลางหมุดมีข้อความว่า "ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน" ในส่วนนี้เป็นข้อความผสมใจความตามใจผู้เขียน เอาคำว่า "ประเทศสยาม"มาใส่ ทั้งที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 คำว่า "หน้าใส" ก็มาจาก ไพร่ฟ้าหน้าใส" ในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่โดยรวมแล้วข้อความทั้งหมดของหมุดอันใหม่ ไม่ได้สะท้อนลักษณะทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเลย ถือว่าเป็นข้อความไว้สาระวลีหนึ่งเท่านั้น จนกระทั่ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์สอนประวัติศาสตร์สมัยใหม่คนสำคัญ ได้อธิบายว่า ข้อความนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ทำการลักหมุดเปลี่ยนข้อความเป็นพวกปัญญาอ่อนมาก

ผลกระทบโดยตรงทันทีของเหตุการณ์ คือ เกิดกระแสสูงของเรียกร้องทวงคืน"หมุดคณะราษฎร" รวมทั้งการเรียกร้องให้คืนหมุดคณะราษฎร และเสนอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับโจรลักหมุดมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว แต่ในกระแสตรงข้าม คือกลุ่มปฏิกิริยาฝ่ายขวาทั้งหลาย ก็ถือโอกาสพยายามหาเรื่องและถึงขั้นสร้างเรื่องมาโจมตีคณะราษฎร เพื่ออธิบายความชอบธรรมของการถอนหมุดคณะราษฎรครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งถูกต้อง

ที่น่าสังเกตคือ ในส่วนฝ่ายราชการหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร ฝ่ายสำนักงานดุสิต ที่เป็นฝ่ายดูแลรับผิดชอบพื้นที่ หรือ กรมศิลปากรที่เป็นฝ่ายดูแลวัตถุทางประวัติศาสตร์ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยว หรือรับผิดชอบกรณีนี้ ทั้งที่หมุดคณะราษฎร คือสมบัติของทางราชการ การรื้อหมุดและปักหมุดใหม่ ต้องมีการขุดซีเมนต์และโบกปูน ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะไม่รับรู้ และจากข้อมูลของนายศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐปรศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ที่ส่งนักศึกษาลงไปทำรายงาน ยืนยันว่า การโขมยเปลี่ยนหมุดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน ซึ่งเป็นที่วิเคราะห์ได้ว่า การเปลี่ยนหมุดนี้น่าจะเกิดขึ้นราวคืนวันที่ 6 เมษายน ที่ทางราชการกำลังปิดถนนบริเวณดังกล่าว เพื่อบูรณะพระบรมรูปทางม้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะไม่ทราบเรื่อง

ความจริงแล้ว ถ้าพิจารณาในบริบทที่กว้างขึ้น การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมไทยถอยหลังสู่เผด็จการ และกลายเป็นอนุรักษ์นิยมขวาจัดมากยิ่งขึ้น ในระยะ 3 ปีที่ผ่าน ได้มีความพยายามในการสร้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการ และทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยตามแบบสากล จนในที่สุด แนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของประชาชนถูกละเลย ระบอบรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งถูกดูแคลน และหันไปเชื่อถือยอมรับสภาจากการแต่งตั้งของฝ่ายทหารที่ทำงานไม่ได้เรื่อง เช่นเดียวกับการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่ที่ประกอบด้วยมาตราเผด็จการ ทำลายอำนาจประชาชน รักษาอำนาจองค์กรอิสระ ในภาวะการเมืองปฏิกิริยาเช่นนี้ จึงนำไปสู่การย้อนประวัติศาสตร์ ด้วยการปฏิเสธความชอบธรรมของคณะราษฎร ปฏิเสธความถูกต้องของระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และนำมาสู่ความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำลายสัญลักษณ์ของคณะราษฎร คณะโจรลักหมุดกลุ่มนี้ จึงเป็นเพียงแนวหน้าของพวกขวาจัด ที่รับเป็นผู้ดำเนินการด้วยความมุ่งหวังจะลบอดีต เปลี่ยนประวัติศาสตร์ และเขียนเรื่องราวใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบด้อยสติปัญญา

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำอธิบายเช่นกันว่า การเปลี่ยนหมุดครั้งนี้ สะท้อนสังคมการเมืองที่เป็นจริงของไทยปัจจุบัน ที่ประชาธิปไตยและระบอบรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมไม่มีแล้ว มีแต่ระบอบการเมืองกึ่งสุกกึ่งดิบที่ดำเนินไปตามอำเภอใจชนชั้นนำ ซึ่งถ้าจะเรียกว่า ระบอบการเมืองแบบ"หน้าใส"ก็น่าจะเก๋ไม่น้อย และยิ่งมีการประเมินว่า ความตั้งใจรื้อหมุดและลงหมุดใหม่ เกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ ก็ยิ่งสะท้อนความเหลวไหลของระบอบการเมืองแบบหน้าใสมากขึ้น

แต่ในอีกกระแสหนึ่ง ก็ยังมีความเห็นว่า ความพยายามในการลักขโมยเปลี่ยนหมุด เพื่อทำลายประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ เพราะมรดกของคณะราษฎรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองมีหลายลักษณะ ตั้งแต่ที่เป็นสิ่งรูปธรรม ก็เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาคารสองฝั่งราชดำเนินกลาง โรงแรมรัตนโกสินทร์ สะพานเฉลิมวันชาติ เป็นต้น และที่ถูกรื้อไปแล้ว คือ อาคารที่ทำการศาลฎีกาข้างสนามหลวงเดิม และ ศาลาเฉลิมไทย แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะรื้อถอนเสียทั้งหมด

แต่ยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่ดำเนินการไปแล้ว และคงรื้อถอนได้ยาก เช่น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร(บางเขน) ทรัพย์สินที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ที่รัฐบาลคณะราษฎรมอบให้ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2482) และยังมีรัฐวิสาหกิจแทบทั้งหมดที่ตั้งในสมัยคณะราษฎรแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผลงานเชิงนามธรรม เช่น กลายเปลี่ยนชื่อประเทศให้เป็นประเทศไทย การให้กำเนิดเพลงชาติไทย การเคารพธงชาติ การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากล(1 มกราคม) ส่วนระบอบการเมืองที่ถูกเปลี่ยน เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบก็คงจะไม่ย้อนกลับคืนมา การเมืองที่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา(ไม่ว่าเป็นแบบไหน)ก็คงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับราชการแบบใหม่ที่ขึ้นกับการสอบวัดความรู้เพื่อบรรจุ และการมีระบบเงินเดือนตามลำดับขั้น ก็คงไม่ย้อนกับไปสู่ราชการแบบเก่าที่การเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนขึ้นกับความพอใจของเจ้านาย เศรษฐกิจอิงศักดินาแบบก่อน พ.ศ.2475 ก็พังทลายจนฟื้นกลับไม่ได้แล้วกลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขึ้นกับการค้า การลงทุน ภาคการเงิน และภาคบริการ โครงสร้างสังคมแบบเดิมที่เป็นสังคมชนชั้นที่มีฐานันดร รองรับด้วยระบอบชายเดียวมากเมีย ก็คงจะไม่หวนกลับมาอีก

สรุปแล้ว การทำลายความทรงจำทางสังคม และทำลายดอกผลประชาธิปไตยของคณะราษฎรและรื้อฟื้นโลกเก่าแบบจารีตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การกระทำของคณะโจรเปลี่ยนหมุด จึงเป็นเรื่องที่น่าสมเพท บทความนี้จึงจบด้วยกลอนของ กุลวดี ศาสตร์ศรี ที่กล่าวถึงหมุดคณะราษฎร ดังนี้ครับ

"มิใช่เพียงแผ่นโลหะเหล็กดาดดาด แต่เป็นหมุดประวัติศาสตร์สำคัญยิ่ง

แจ้งให้รู้เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ไม่อาจกลิ้งกลับวงล้อที่หมุนแล้ว"



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 613 วันที่ 22 เมษายน 2560


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น