โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เกิดเหตุ 'ระเบิด-เผาเสาไฟ' หลายจุดชายแดนใต้ ส่งผลไฟดับ สัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย หลายพื้นที่

Posted: 06 Apr 2017 12:39 PM PDT

เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้ง ระเบิด เผาเสาไฟฟ้า โรยตะปูเรือใบ และเผายาง ใน ปัตตานี 11 จุด ยะลา 4 จุด นราธิวาส 8 จุด ส่งผลให้หลายพื้นที้ไฟฟ้าดับ สัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย บางส่วนตั้งคำถามเกี่ยวกับประกาศใช้ รธน. 60 หรือไม่

ภาพจาก สำนักสื่อวาร์ตานี

7 เม.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดระเบิดหลายจุดในพื้นที่ปาตานี หรือ จังหวัดชายแดนใต้ โดยเมื่อเวลาประมาณ 23.40 น. ของวันที่ 6 เม.ย. ต่อเนื่อง 00.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดและปฎิบัติทางอาวุธในหลายพื้นที่ ได้แก่ จ.สงขลา อ.จะนะ  จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.หนองจิก อ.โคกโพธ์ อ.กะพ้อ อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ อ.มายอ และ อ.เมือง จ.ยะลา ใน อ.รามัน และ อ.บันนังสตา   ส่วนใน จ.นราธิวาส มีเหตุการณ์ใน อ.เจาะไอร้อง อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก และ อ.สุไหงปาดี 

สำนักสื่อวาร์ตานี รายงานว่า มีการเผาเสาไฟฟ้าบริเวณ ม.5 บ.กาโสด ถนนสาย.ยะลา-เบตง จ.ยะลา มีการโรยตะปูเรือใบ และเผายางที่ มูโนะ สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และได้ยินเสียงระเบิดเกิดขึ้น 2 ครั้ง พื้นที่สุไหงโกลก  มีรายงานเพิ่มเติม มีระเบิดที่ ปาลัส อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่อ.รือเสาะ มีเสียงระเบิดดังขึ้น 2 ครั้ง ไฟฟ้าดับ มีการเผายางหน้าเทคนิคกาญจนา เส้นทางไปหาดใหญ่ จ.สงขลา ระเบิดที่ สะพานเกาะเปาะ ก่อนถึงวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่อ.ยะรัง ปัตตานี มีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความโกลาหนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างยิ่ง โดยในหลายพื้นที้ไฟฟ้าดับ สัญญาณ AIS ขาดหาย สัญญาณดีแทคใช้งานได้บางพื้นที่

โดยสรุป มีเกิดรุนแรงที่ จ.ปัตตานี 11 จุด จ.ยะลา 4 จุด จ.นราธิวาส 8 จุด

ภาพจาก ศูนย์แม่หลวง ปัตตานี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่บางส่วน ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งตั้งคำถามต่อรัฐบาลด้วยว่าเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญ 2560" ที่เพิ่งประกาศใช้ในวันเดียวกันนี้ (6 เม.ย.60) ด้วยหรือไม่  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังใช้ รธน.60 ว่าไม่ได้มาเพื่ออยู่ไปวันๆ แต่มาแก้ไขปัญหาที่ค้างคา

Posted: 06 Apr 2017 11:53 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงในโอกาสใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยยืนยันว่า คสช. และรัฐบาลจะอยู่กับประชาชนต่อไป คำสั่งและประกาศ คสช. ยังมีผลใช้ต่อไป ยอมรับไม่สามารถระบุได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด และอันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวัน เวลา ชัดเจนได้ ทราบแต่เพียงว่าวันนี้เริ่มต้นนับหนึ่งของการใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้นเหตุอื่นๆ จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ พร้อมแนะคนเราเมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิหรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวมิได้

คลิป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงเนื่องในโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

วันนี้ (6 เม.ย.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์เนื่องในโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีรายละเอียดดังนี้

พี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ เมื่อ 235 ปีที่แล้ว เป็นวันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เริ่มต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราจึงเรียกว่า "วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" และ "วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์" วันเวลาได้ผ่านพ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข และรักษาเอกราช อธิปไตย ยั่งยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้

วันเดียวกัน ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว

นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง 16 ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ 30 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้ คือ

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งใช้มาประมาณ 2 ปีเศษ เป็นอันสิ้นสุดลง

2. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เพราะคนเราเมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว มิได้ เช่นเดียวกับรัฐ ซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม

4. มีภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางการเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และด้วยวิธีการอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กัน คือ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ

ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก โดยระยะหนึ่งถึงกับพูดกันว่า "จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งแล้วจึงค่อยปฏิรูป" การดำเนินการทั้ง 2 ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเร็ววันนี้

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาอยู่ จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ ทั้งนี้ ได้เคยแจ้งแผนและขั้นตอนการทำงาน หรือที่เรียกว่าโรดแมป ให้พี่น้องทั้งหลายทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้วว่า ช่วงเวลาระยะที่ 1 จะเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือน

ช่วงเวลาช่วงต้นของระยะที่ 2 ก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ตลอดจนแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใช้เวลามาจนถึงบัดนี้ 2 ปีครึ่ง

ช่วงปลายของระยะที่ 2 ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มต้นแล้วในวันนี้

แผนและขั้นตอนการทำงานในช่วงปลายต่อจากนี้ไป คือการบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมการปฏิรูปประเทศ เตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานเหล่านี้ไว้แล้ว ดังที่เรียกตัวย่อว่า "ป.ย.ป."

นอกจากนั้น ในช่วงปลายของระยะที่ 2 นับจากวันนี้ไป จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ 1 เดือน

ต่อจากนั้น จึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับแรก เฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วย การสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 5 เดือน นับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ

รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้ เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรก คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริง ไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวัน เวลา ชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมา และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะ 3 ตามโรดแมปต่อไป

นับจากวันนี้ รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลาย และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้ว ยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ ใช้เท่าที่จำเป็น เร่งด่วน เพื่อรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม

พี่น้องประชาชนที่เคารพ รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไป เป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกทาง ในการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่สงบและสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกาใหม่ เมื่อเป็นวาระแห่งชาติสำคัญ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึก และเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย

รัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และช่วยกันขับเคลื่อนโรดแมป จนผ่านพ้นช่วงเวลาและขั้นตอนต่างๆ มาได้ด้วยดี และขอเดชะพระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไปตราบกาลนาน เทอญ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หน้าที่ 6 ประการของการสื่อสารด้วยภาษา: ข้อพิจารณาเกี่ยวกับข้อความ ‘แค็ป’ จากสื่อสังคม

Posted: 06 Apr 2017 11:08 AM PDT

 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษา ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิดแรกเริ่มของโรมัน ยาคอบสัน (Jakobson, 1960) นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซียสัญชาติอเมริกัน ที่มุ่งเน้นการอธิบายลักษณะจำเพาะของการใช้ภาษาในวรรณกรรม (Eagleton, 1996: 85-86) และต่อมาได้แพร่หลายไปสู่ผู้ศึกษากระบวนการสื่อสารด้วยภาษาโดยทั่วไป (Danesi, 2013: 375-376) แม้ว่าแนวความคิดนี้จะไม่ใช่แนวความใหม่ในวงวิชาการด้านภาษาและการสื่อสาร แต่เนื่องจากในปัจจุบันลักษณะของ 'สื่อ' ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ประเภทสื่อสังคม ที่ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันและการสื่อสารมวลชนกลายเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันได้ยากขึ้น การนำแนวคิดของยาคอบสันเกี่ยวกับปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษากลับมาพิจารณาใหม่บริบทปัจจุบัน ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ 'หลักฐานทางภาษา' เพื่อให้เห็นความละเอียดซับซ้อนของการสื่อสารด้วยภาษา อันจะนำไปสู่การเพิ่มความแม่นยำของการตีความหลักฐาน

ตามทฤษฎีของยาคอบสัน การสื่อสารด้วยภาษา (verbal communication) ต้องอาศัยปัจจัย 6 ประการ คือ

- ผู้ส่งสาร (addresser)

- สารหรือข้อความที่ถูกสื่อออกมา (message)

- ผู้รับสาร (addressee)

- บริบทของการสื่อสาร (context)

- ภาษาหรือรหัสที่ใช้ในการสื่อสาร (code)

- ช่องทางถ่ายทอดที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร (contact)

ในกรณีของการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ส่งสาร ได้แก่ผู้พูด-ผู้เขียน เป็นต้น คือต้นทางของ 'สาร' หรือความที่ผู้ส่งสารส่งให้ผู้รับสาร ส่วนผู้รับสาร ได้แก่ ผู้ฟัง-ผู้อ่าน เป็นต้น ทำความเข้าใจสารที่ถูกส่งมาโดยมีบริบท กาลเทศะ หรือเป้าประสงค์ของการสื่อสารเป็นเครื่องกำกับความหมายของการสื่อสาร และอาศัยภาษาหรือรหัสที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารใช้ร่วมกันเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ผ่านการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันทางช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เช่น การพูดคุยกันต่อหน้า การโทรศัพท์ระหว่างบุคคล หรือการพูดผ่านไมโครโฟนเพื่อขยายเสียงไปให้ถึงผู้ฟังหลายคนพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารด้วยภาษาอาจทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน โดยอาศัยปัจจัย 6 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น หน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษานี้ยาคอบสัน (1960) ระบุไว้ว่ามี 6 ประการตามปัจจัยของการสื่อสารด้วยภาษานั่นเอง ดังนี้

- หน้าที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกของผู้ส่งสาร (emotive)

- หน้าที่โน้มนำพฤติกรรมผู้รับสาร (conative)

- หน้าที่ชี้แสดงวรรณศิลป์ของสาร (poetic)

- หน้าที่ระบุความหมายตามบริบท (referential)

- หน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งสาร-รับสาร (phatic)

- หน้าที่อธิบายความหมายของตัวภาษาเอง (metalingual)

การส่งเสียงร้องเมื่อเจ็บปวด ตกใจ หรือประหลาดใจ เช่น โอ๊ย! เฮ้ย! โอ้แม่เจ้า! ทำหน้าที่บอกภาวะที่ผู้พูดกำลังประสบอยู่มากกว่าจะเป็นการส่งสารอย่างหนึ่งอย่างใดไปถึงผู้ฟัง ในขณะที่การถาม การขอร้อง หรือออกคำสั่ง เป็นการใช้ภาษาเพื่อก่อให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างในฝั่งของผู้รับสาร เช่น หยุดคุยกันได้แล้ว เปิดประตูให้หน่อย สองบวกสิบเจ็ดเป็นเท่าไหร่? ซึ่งไม่ได้เน้นบอกกล่าวความหมายในฝั่งผู้พูด แต่เน้นที่พฤติกรรมที่ผู้พูดคาดหมายจากผู้ฟัง นั่นคือการที่ผู้ฟังหยุดคุยกัน ประตูถูกเปิดออก และคำตอบ 19 เป็นต้น

ในบางกรณี สารบางอย่างอาจมีความสละสลวยงดงามเป็นพิเศษจนกระทั่งผู้รับสารให้ความสนใจกับตัวสารในระดับเดียวกับความหมายที่เฉพาะเจาะจงของมัน หรือบางครั้งก็ทำให้สารนั้นได้รับการพิจารณาในเชิงวรรณศิลป์ของตัวมันเอง โดยข้ามพ้นความจำกัดด้านกาลเทศะหรือบริบทที่สารนั้นถูกสร้างขึ้นในครั้งแรก ซึ่งเป็นกรณีที่สอดคล้องกับการใช้พิจารณาตัวบทวรรณคดี ที่บางครั้งตัวบทเองไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายทางศิลปะแต่แรก เช่น พระราชหัตถเลขาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ถึงพระโอรสธิดา ที่ภายหลังมีการนำมาศึกษาในฐานะตัวบทที่ทรงคุณค่าในตัวเอง แม้แรกเริ่มทีเดียวตัวบทดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการสื่อสารภายในบริบทที่เฉพาะเจาะจง ในฐานะจดหมายส่วนตัวระหว่างพ่อ-ลูกในยามที่อยู่ห่างไกลกัน

หน้าที่สื่อสารความหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงภายในบริบทหนึ่ง ๆ นี้เองที่เป็นการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้มากที่สุด เพราะภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้อาจใช้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ตามขอบเขตที่ของความหมายที่มันมีอยู่ โดยคำพูดคำเดียวกันหรือประโยคเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทที่แปรไป เช่น ใครเป็นคนพูด พูดกับใคร พูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผู้พูดผู้ฟังเข้าใจตรงกัน แต่ผู้ที่ได้ยินการสนทนานั้นอาจไม่ทราบเลยว่าคู่สนทนากำลังคุยถึงเรื่องอะไรกันอยู่

ส่วนการใช้ภาษาเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของช่องทางสื่อสารหรือสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้พูด-ผู้ฟังนั้น เราอาจพบเจอได้เป็นครั้งคราวในชีวิตประจำวัน เช่น การนับเลขเพื่อตรวจสอบว่าไมโครโฟนและลำโพงใช้งานได้ การสอบถามคู่สนทนาทางโทรศัพท์ว่าได้ยินข้อความหรือไม่ การคุยเรื่องดินฟ้าอากาศเพื่อแสดงความเป็นพวกพ้องกัน เป็นต้น

หน้าที่สุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือการใช้ภาษาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวภาษานั้นเอง ซึ่งใช้มากในทางวิชาการ เช่น การบอกประเภทและหน้าที่ทางไวยากรณ์ของคำในพจนานุกรม การให้นิยามของคำที่ใช้ เป็นต้น

ภาพที่ 1: ปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษา

ประเด็นปัญหาในการพิจารณารูปแบบสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทาง Facebook ผู้เขียนพบว่ามีความยากในการระบุความหมายของข้อความด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือการควบคุมขอบเขตของการสื่อสารหรือความเป็นส่วนตัว แม้ว่าการโพสต์ข้อความแสดงสถานะจะมีข้อกำหนดในการเห็นข้อความได้ก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ใช้ Facebook เชื่อมโยงถึงกันในลักษณะเครือข่าย ผู้ที่ได้เห็นข้อความของผู้โพสต์อาจจะไม่ใช้ผู้รับสารที่ผู้โพสต์จงใจจะให้เห็นข้อความนั้นก็ได้ ประการที่สอง บริบททางความหมายของการสื่อสารผ่านข้อความแสดงสถานะหนึ่ง ๆ อาจสัมพันธ์กับความเข้าใจร่วมระหว่างผู้โพสต์และผู้รับสารที่ผู้โพสต์ตั้งใจจะสื่อสารด้วย ซึ่งก็อาจจะระบุได้อย่างตรงไปตรงมา ผ่านการแท็กชื่อบุคคลที่อยากให้รับรู้ การโพสต์บนกระดานข้อความของผู้อื่นทำให้คนเหล่านั้นทราบว่าผู้โพสต์กำลังกล่าวถึงอะไรอยู่ ในขณะที่ผู้อ่านคนอื่นอาจเข้าใจความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เอง สารของข้อความในสื่อสังคมออนไลน์จึงมีความอ่อนไหวต่อบริบททางเวลาและหัวข้อการสื่อสารอย่างยิ่ง การพิจารณาความหมายของข้อความนอกบริบทเวลาและสถานการณ์ที่มันถูกเขียนขึ้นจะยิ่งทำได้ยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อความนั้นหลังจากข้อความถูกสร้างขึ้นในตอนแรกไประยะเวลาหนึ่ง นอกจากนั้นหากผู้พิจารณาข้อความมีความรู้พื้นหลังเกี่ยวกับข้อความนั้นแตกต่างไปจากที่ผู้รับสารเป้าหมายมากเท่าไร ผู้พิจารณาข้อความก็จะมีโอกาสในการเข้าใจความหมายของข้อความน้อยลงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้โปรแกรมจับภาพจากหน้าจอ หรือที่เรียกเป็นภาษาปากว่าการ 'แค็ปเจอร์' หรือ 'แค็ป' เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาก็ดี หรือเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้เขียนข้อความจงใจละเมิดกฎหมายด้วยวาจาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เป็นวิธีการที่เสี่ยงต่อการตีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากบริบทเดิมของข้อความ โดยเฉพาะเมื่อผู้พิจารณาความหมายของข้อความพิจารณาข้อความนั้นในบริบทเวลาและเหตุการณ์ที่ห่างไกลไปจากบริบทดั้งเดิมของการสื่อสาร

ดังนั้น การมีข้อมูลเกี่ยวกับบริบทในการสื่อสารของข้อความที่ถูก 'แค็ป' จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้พิจารณาความหมายและเป้าประสงค์ของข้อความที่อยู่ในการพิจารณา เพราะการกำหนดกรอบหรือบริบทของการพิจารณาย่อมส่งผลต่อการสรุปความหมายของข้อความ

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษาทั้ง 6 ประการตามที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ว่าผู้ส่งสารเป็นใคร อยู่ในสภาวการณ์เช่นไร เขากำลังสื่อสารอะไรด้วยความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ใครคือผู้รับสารที่เขาตั้งใจจะสื่อสารด้วย และด้วยความคาดหวังเชิงพฤติกรรมเช่นไร เขาใช้ช่องทางการสื่อสารแบบไหน อาทิ การสื่อสารด้วยการโพสต์สถานะส่วนตัวอาจแตกต่างจากการแช็ทผ่านกล่องข้อความระหว่างคนสองคนหรือเป็นกลุ่ม แตกต่างจากการโพสต์ข้อความลงบนกระดานของผู้อื่น แตกต่างจากการให้ความเห็นสนับสนุนหรือตอบโต้ในโพสต์ของคนอื่น เป็นต้น และภาษาที่เขาใช้เป็นการจำกัดวงเพื่อให้เข้าใจในกลุ่มเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่อย่างไร

การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยของการสื่อสารด้วยภาษาที่เสนอแนะไว้ข้างต้น แม้จะทำได้ยากแต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาความหมายของข้อความที่มีความละเอียดอ่อน อันส่งผลต่อการตัดสินความผิดถูกชั่วดีของผู้กล่าวหรือผู้ใช้ข้อความ มิฉะนั้นจะถือเป็นการด่วนสรุปและตัดสินบุคคลอย่างไม่ให้ความเป็นธรรม

 

 

Danesi, Marcel, 'Jakobson's Model of Communication,' in Encyclopedia of Media and  

     Communication (ed. Marcel Danesi), 2013.

Eagleton, Terry, Literary Theory: An Introduction (2nd edition), 1996.

Jakobson, Roman, 'Closing Statement: Linguistics and Poetics,' in Style in Language (edited

     by Thomas Sebeok), 1960.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.จับมือพันธมิตรลงนาม ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ สังคมได้รับรู้ข้อมูลถูกต้อง ไม่บิดเบือน

Posted: 06 Apr 2017 08:52 AM PDT

สปสช.จับมือ อสมท. และองค์กรพันธมิตร ร่วมขับเคลื่อน "ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์" หนุนเดินหน้ากลไกสร้างความเข้าใจกับประชาชน ให้ข้อมูลถูกต้องสู่สาธารณะ   

6 เม.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนกลไก "ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์" ร่วมกับบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหน่วยงานองค์กรพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์สู่ประชาชนอย่างถูกต้อง ซึ่ง สปสช.เป็นหน่วยงานดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้าสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วย ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนอย่างยิ่ง ดังนั้นข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่สื่อสารไปถึงประชาชน นอกจากเนื้อหาที่มีความถูกต้องแล้ว ยังต้องมีแหล่งที่มาข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนในด้านสุขภาพและการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ  

โฆษก สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในสื่อสังคมออนไลน์มีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการทำงานของ สปสช.อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลไม่จริง บิดเบือน และตัดตอนข้อมูลเพื่อต้องการดิสเครดิต สปสช. สร้างความเข้าใจผิดอย่างมาก อย่างกรณีนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมระดับประเทศ และการจัดงบประมาณต่างๆ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสื่อช่องทางต่างๆ และการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับศูนย์ชัวก่อนแชร์ครั้งนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นช่องทางให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง

 "จากความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนกลไกศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ที่มีหน่วยงานองค์กรพันธมิตรต่างๆ เข้าร่วมครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารหนึ่งที่สำคัญเพื่อร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงสู่สาธารณะ โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้และความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน เป็นกลไกนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน" โฆษก สปสช. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ 8 มาตราจากร่างฯประชามติ-ตัดองค์กรแก้วิกฤต-เพิ่มส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ

Posted: 06 Apr 2017 08:07 AM PDT

อ่านเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 กับฉบับร่างก่อนลงประชามติ โดยมีการแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง เปิดทางวุฒิสภาสมัยแรกที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขอีก 7 มาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้

โดยมีการตัดมาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต แก้ไขมาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง มาตรา 16 มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (แถวนั่งขวา) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (แถวนั่งซ้าย) และคณะองคมนตรีร่วมงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในงานพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงมีอำนาจในการบริหารประเทศต่อไปภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยตามมาตรา 265 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

 

6 เม.ย. 2560 ภายหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่ออ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 เปรียบเทียบกับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ พบว่า นอกจากส่วนของคำปรารภที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันแล้ว มีการแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2 ส่วน รวมแก้ไขทั้งสิ้น 8 มาตราดังนี้

ส่วนแรก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559

และ ส่วนที่สอง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตรา รวม 7 มาตรา ทั้งนี้เป็นตามที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติว่ากรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น

โดยในส่วนหลังนี้พบว่ามีการแก้ไขข้อความในรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย มาตรา 5 มาตรา 12 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 19 และมาตรา 182

โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีรายละเอียดดังนี้

 

มาตรา 5 ตัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับองค์กรแก้วิกฤต

ในส่วนของมาตรา 5 มีการตัดทอนข้อความเดิมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออกทั้งหมด 4 วรรค ตั้งแต่วรรค 3 จนถึง วรรค 6 โดยแต่เดิม ในมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอุดช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและองค์กรแก้วิกฤต ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมข้อความซึ่งแต่เดิมไม่เคยระบุทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

โดยมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่าให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด

โดยข้อความเดิมของมาตรา 5 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

 

ขณะที่ข้อความในมาตรา 5 รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการแก้ไขระบุว่า

"มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

 

มาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี

ในมาตรา 12 เกี่ยวกับคุณสมบัติขององคมนตรี ข้อความเดิมในมาตรา 12 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติระบุว่า

"มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ"

ส่วนในมาตรา 12 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

"มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ ในตำแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ"

 

มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง

โดยใน มาตรา 15 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา"

ขณะที่ในมาตรา 15 วรรคแรก รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดคำว่า "และสมุหราชองครักษ์" ออก ทำให้เนื้อหาในมาตรา 15 ล่าสุด ระบุว่า

"มาตรา 15 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา"

 

มาตรา 16 เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร
จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้

ในมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 โดยให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม

ทำให้เนื้อหาในมาตรา 16 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากเดิมเมื่อเทียบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยประกาศใช้มาก่อนหน้านี้

โดยข้อความเดิมในมาตรา 16 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

ส่วนมาตรา 16 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขข้อความเป็น

"มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

 

มาตรา 17 กรณีที่มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16

ในมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้ "คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

โดยข้อความในมาตรา 17 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

ขณะที่ในมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

"มาตรา17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"

 

มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก

ในมาตรา 19 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการเพิ่มเติมข้อความในวรรค 3 ระบุว่า "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก"

โดยในมาตรา 19 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ""

ขณะที่ในมาตรา 19 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

"มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก"

 

มาตรา 182 ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในมาตรา 182 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ"

ทั้งนี้ในวรรค 2 ของมาตรา 182 ไม่เคยมีการระบุเช่นนี้มาก่อนทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยเป็นการเพิ่มบทบัญญัติเข้ามาใหม่โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ในมาตรา 182 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขโดยตัดวรรค 2 ของมาตรา 182 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติออก โดยระบุแต่เพียง

"มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ"

 

มาตรา 272 เพิ่มเนื้อหาจากคำถามพ่วงประชามติ
เปิดทาง 250 ส.ว.แต่งตั้งสมัยแรก ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงในการลงประชามติ โดยผลของมาตรา 272 ทำให้ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ระบุว่าวุฒิสมาชิกในวาระเริ่มแรกทั้งหมดจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

ในมาตรา 272 วรรคสอง ระบุด้วยว่าหากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 ทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ต้องเข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภายกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ขึ้นไปเพื่อขอยกเว้น และหลังจากนั้นจะสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา 88 หรือคนนอกบัญชีก็ได้

โดยข้อความเดิมในร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ ระบุว่า

"มาตรา 272 ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ

ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"

ขณะที่ข้อความในมาตรา 272 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

"มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สงครามอาวุธเคมีในซีเรีย-พุ่งเป้าโรงเก็บอาวุธฝ่ายกบฏหรือโจมตีประชาชน

Posted: 06 Apr 2017 06:29 AM PDT

นานาชาติประณามเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท ที่เมืองอิดลิบ ประเทศซีเรีย ที่ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองมากว่า 6 ปีแล้ว แม้ทางการรัสเซียจะบอกว่ารัฐบาลซีเรียโจมตีโรงเก็บอาวุธเคมีของฝ่ายกบฏจนรั่วไหล แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็บอกว่ามีการโจมตีทางอากาศยานด้วยอาวุธเคมีโดยตรง

แผนที่แสดงสถานการณ์ล่าสุดในซีเรีย ในเดือนมีนาคม 2017 พื้นที่สีแดงเป็นของรัฐบาลอัสซาด พื้นที่สีเขียวเป็นของฝ่ายกบฎ พื้นที่สีเหลืองเป็นของกองกำลังชาวเคิร์ด และพื้นที่สีเทาเป็นของกลุ่ม IS (ที่มา: วิกิพีเดีย)

6 เม.ย. 2560 จากกรณีที่ผู้คนในเขตปกครองอิดลิบประเทศซีเรียถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียออกมาอ้างว่าระเบิดที่เหยื่อในเหตุการณ์เปิดเผยว่ามีการทิ้งมาจากเครื่องบินนั้น เป็นการโจมตีทางอากาศยานของฝ่ายรัฐบาลที่มุ่งเป้าทำลายคลังอาวุธของ "กลุ่มก่อการร้าย"

มีการประณามเหตุโจมตีในครั้งนี้จากนานาชาติ โดยเหตุโจมตีเกิดขึ้นที่เขตอิดลิบที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏในซีเรีย โดยทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรประณามว่าฝ่ายผู้นำซีเรียคือประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด เป็นผู้ก่อเหตุ ทางด้านองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าเหยื่อถูกโจมตีด้วยสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาท

แต่ละฝ่ายออกมาพูดถึงสาเหตุของอาวุธเคมีนี้ต่างกัน โดยฝ่ายรัสเซียอ้างว่าการเหตุในครั้งนี้เกิดจากการที่ปฏิบัติการทางอากาศของฝ่ายรัฐบาลโจมตีโดนโรงงานอาวุธเคมของฝ่ายกบฏทีอยู่บนพื้นดิน อย่างไรก็ตามองค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลบอกว่าพวกเขามีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการโจมตีในครั้งนี้เป็นการ "ใช้อาวุธเคมีที่ยิงมาทางอากาศยาน" ทีมงานของสื่อซีเอ็นเอ็นรายงานว่าพวกเขาพบเห็นว่ามีการทิ้งระเบิดเคมีจากเครื่องบิน องค์กรนานาชาติยังคงอยู่ในขั้นตอนสืบสวนว่ามีการใช้อาวุธเคมีชนิดใดในเหตุการณ์ครั้งนี้

มีการนำเหยื่อที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีจำนวนมากไปรักษาที่ตุรกี ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่อาวุธเคมีที่ใช้ในครั้งนี้จะเป็นสารส่งผลต่อระบบประสาทอย่างแก๊สซาริน มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าการโจมตีในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับทีมีการเจรจาหารือในประเด็นของซีเรียที่จัดโดยสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลล์ประเทศเบลเยียมเป็นเวลาสองวัน

กระทรวงกลาโหมของรัสเซียอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลรัสเซียโจมตีทางอากาศโดนแหล่งเก็บอาวุธเคมีในเขตนอกเมืองจากที่ "ผู้ก่อการร้าย" พยายามขนย้ายไปที่อิรัก การที่คลังอาวุธเคมีถูกโจมตีทำให้มันรั่วไหลไปกระทบกับผู้คน แต่ พ.อ. ฮามิช เดอ เบรตตัน-กอร์ดอน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธเคมีก็โต้แย้งว่ามีความเป็นไปได้สูงอาวุธเคมีที่ใช้จะเป็นแก๊สซารินที่มีความเป็นไปได้ยากที่จะแพร่กระจายจากโรงเก็บอาวุธ เขาบอกว่ารัสเซียแค่พูดเพื่อพยายามปกป้อง "พันธมิตรของรัสเซีย" อย่างรัฐบาลซีเรีย

ผู้เหมือนว่าคำอธิบายของรัสเซียจะถูกปฏิเสธและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ผู้บัญชาการกล่มกบฏในซีเรีย และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ ต่างก็นำเสนอหลักฐานว่าเหตุในครั้งนี้เป็นการโจมตีจากรัฐบาลซีเรีย

มีการนำเสนอภาพเหตุการณ์โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่จับตามองสถานการณืซีเรียเผยให้เห็นภาพของพลเรือนที่ถูกโจมตีในเมืองข่านเชคขุน มีหลายคนเป็นเด็ก มีอาการหายใจไม่ออกและมีฟองออกมาจากปาก นอกจากนี้ศูนย์สื่ออเลปโปซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมรายงานว่าในช่วงเวลาหลายชั่วโมงหลังจากเหตุโจมตีครั้งแรกก็มีการโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในเมืองเดียวกันที่มีคนได้รับบาดเจ็บกำลังรักษาตัวอยู่

มาซิน ยูซิฟ เด็กชายอายุ 13 ปี ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งน้ำตาว่าในช่วงเช้าวันเกิดเหตุมีเครื่องบินโจมตีใส่แถบหน้าบ้านของปู่เขา ทำให้เขาวิ่งไปดูเห็นปู่เขาล้มลงที่พื้นตัวเขาเองก็รู้สึกวิงเวียนและสลบไปหน้าโรงรถของปู่ รู้ตัวอีกทีเขาก็ปรากฏตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้เป็นย่าของเด็กคนนี้เล่าว่าเธอเห็นสีน้ำเงินกับสีเหลืองหลังจากที่เครื่องบินดังกล่าวทิ้งระเบิดเคมีลงมา ทำให้พวกเขารู้สึกหายใจไม่ออก เริ่มวิงเวียน และสลบไป คนในครอบครัวพวกเขามี 3 คนที่เสียชีวิต

เหยื่ออีกรายหนึ่งชื่อ อาห์เหม็ด อับเดล ราฮิม อายุ 31 ปี พูดถึงเหตุการณ์ว่ามีสารพิษปล่อยออกมาจากจรวดมิสไซล์ 3 ลำ ในตอนนั้นเขาอยู่ในบ้านและมีอาการหายใจลำบาก เขายังไม่ทราบเลยว่าครอบครัวเขาปลอดภัยดีหรือไม่

นักข่าวในพื้นที่รายงานว่าพวกเขาไม่พบเห็นว่ามีกองกำลังติดอาวุธใดๆ อยู่ในพื้นที่เมืองที่ถูกโจมตีแต่มีการวางกำลังกลุ่มกบฏเรียงรายอยู่อย่างหลวมๆ รอบเมือง

บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรกล่าวว่าหลักฐานต่างก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอัสซาดน่าจะเป็นคนก่อเหตุโดยใช้อาวุธที่ผิดกฎหมายและโจมตีประชาชนของตัวเองอย่างป่าเถื่อน ทางด้านโดนัลด์ ทรัมป์ เป็น "การสบประมาทต่อมนุษย์ชาติอย่างเลวร้าย"

ฝ่ายกองกำลังของอัสซาดปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ใช้อาวุธเคมีและอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่าย "ผู้ก่อการร้าย" ซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มกบฏในซีเรียไม่มีศักยภาพมากพอในการโจมตีทางอากาศ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าอาวุธเคีในครั้งนี้มาจากการโจมตีทางอากาศ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย ก่อนหน้านี้ในปี 2556 เคยมีเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีมาแล้วในย่านกูตาโดยที่ผู้ก่อเหตุยังไม่ถูกลงโทษ โดยในรายงานของยูเอ็นระบุว่าในครั้งนั้นมีการใช้แก๊สซารินโจมตีส่งผลให้มีพลเรือนผู้เสียชีวิตราว 1,400 คน

 
 
เรียบเรียงจาก
 
Syria chemical attack: Russia explanation rejected, CNN, 05-04-2017
 
Syria chemical 'attack': Russia faces fury at UN Security Council, BBC, 05-04-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[อ่านที่นี่] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Posted: 06 Apr 2017 04:35 AM PDT

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งหมด 279 มาตรา โดยมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และแก้ไขในส่วนที่นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็น ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 โดยมีรายละเอียดดังนี้

อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่นี่

6 เม.ย. 2560 ภายหลังจากมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามที่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ในเวลาต่อมาในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยส่วนของคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2560 มีรายละเอียดดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ตราไว้ ณ วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560

เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2560 พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม กุกกุฏสมพัตสร จิตรมาส ชุณหปักษ์ ทสมีดิถี สุริยคติกาล เมษายนมาส ฉัฏฐสุรทิน ครุวาร โดยกาลบริเฉท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกระหม่อม

ให้ประกาศว่า นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤติที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่และอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้เหมาะสม การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรมและมีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤติของประเทศตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยถือว่าการมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลักการจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้นแต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองส่วนรวม การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนเช่นเดียวกับการให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤติการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่น ๆ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ระบุไว้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุข บนพื้นฐานของความรู้รักสามัคคีปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญ และความหมายโดยผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป และจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันด้วย การออกเสียงประชามติ ปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระราชานุมัติ

จึงมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป

ขอปวงชนชาวไทย จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระราชปณิธานปรารถนาทุกประการ เทอญ

AttachmentSize
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560581.52 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติที่กำเนิดจากแรงงานต่างด้าว

Posted: 06 Apr 2017 04:09 AM PDT

 

ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยมีทั้งการเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเห็นได้จากการกลับคืนถิ่นช่วงเทศกาลทุกปี ปีละหลายแสนคนตลอดมา หลายคนมีครอบครัวและให้กำเนิดบุตรระหว่างการทำงานในประเทศไทย ทว่าบุตรที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคนชายขอบหรือผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้รับการคุ้มครองรับรองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน ซึ่งถือเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือบางคนไร้สัญชาติ และไร้รัฐ เมื่อมองในแง่ของความเสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกัน (the equality/inequality discourse) แล้ว "แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ" ยิ่งถูกตอกย้ำเรื่องความเป็นชายขอบหรือด้อยโอกาสมากขึ้นบนโลกใบนี้ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ยังสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ยังคงกลืนไม่เข้าและคายไม่ออกกับปัญหาเนื่องจากนโยบายการพัฒนาประเทศทดแทนการนำเข้าในภาคอุตสาหกรรม และนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม กอปรกับประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รวมถึงการหาทางออกเรื่องสวัสดิการบุตรผู้ไร้สัญชาติที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย 


1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ในท่ามกลางกระแสสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจโลกในรูปของการบูรนาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (economic integration) เครือข่ายเชื่อมโยงทางสังคม (social networking) และระบบติดต่อด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ที่ผลักดันให้มีการเปิดเสรีด้านการค้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่า การเปิดเสรีจะทำให้เศรษฐกิจและการบริโภคขยายตัวและส่งผลให้ระดับความเป็นอยู่ของประชากรสูงขึ้นทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศยากจนหรือร่ำรวยต่างตกอยู่ในในกระบวนการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อย่างลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศยากจน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนให้ทันต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ในฐานะที่แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการผลิต จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม เข้าสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น ผนวกกับความอ่อนแอทางสังคม ความด้อยโอกาส ทำให้ประชากรของโลกกลุ่มนี้ถูกลดทอนอำนาจ และกลายเป็นพลเมืองชายขอบของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับประเทศไทยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 : ปีงบประมาณ พ.ศ.2540-2544เน้นการพัฒนาคนเป็นเป้าหมายหลัก และกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาฯ รัฐบาลจึงผลักดันให้ประชากรมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น การสร้างสมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนนั้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและการขาดแคลนแรงงาน เป็นผลทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จาก ทุกๆ ปีที่ผ่านๆ มาในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีแรงงานต่างด้าว กลับภูมิลำเนาปีละหลายแสนราย โดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ คือ ลาว กัมพูชา และเมียนมา และปีนี้รัฐบาลไทยได้อำนวยความสะดวกให้กับคนต่างด้าวเหล่านี้ ในหลายๆ ด้าน โดยแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) และด้านหลังระบุวันหมดอายุ1พ.ย.60หรือ31มี.ค.61และแรงงานต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางแรงงานหรือพาสปอร์ตแรงงาน ตามข้อตกลงMOU จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้า ออกราชอาณาจักร รวมทั้งการขยายระยะเวลากลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

นอกจากแรงงานแล้ว บุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ยังสามารถร่วมเดินทางกลับได้ด้วย[1]พร้อมนี้ นายกรัฐมนตรียัง กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ตำรวจ ทหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ดูแลอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีมติให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานข้ามชาติ แต่การลักลอบเดินทางเข้า ออกนอกราชอาณาจักรตามช่องทางธรรมชาติ อาทิแม่น้ำ ภูเขาป่าไม้ ตลอดแนวตะเข็บชายแดนก็ยังคงดำเนินไปเป็นปกติ   

 ปัญหาเกี่ยวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยยังคงเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของราชอาณาจักรไทย ยิ่งไปกว่านั้น คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแม้จะเข้ามาโดยชอบตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หรือลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมายและภายหลังมักจะถูกปรับสถานภาพแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เป็นแรงงานเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยการพิสูจน์สัญชาติตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกับประเทศคู่ภาคีก็ตาม

แต่บุตรที่เกิดจากคนต่างด้าวเหล่านี้ในขณะที่บิดามารดาของเขาเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย กลายเป็นคนชายขอบหรือผู้ด้อยโอกาสที่จะได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมายทั้งตามกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติใดในโลกไม่ว่าจะเป็นสัญชาติพ่อ-แม่ หรือ แม้แต่สัญชาติถิ่นที่เกิด คือ สัญชาติไทย ขณะเดียวกันคนด้อยโอกาสเหล่านี้ยังสร้างปัญหาทางให้กับสังคมไทยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาทางธารณสุข ปัญหายาเสพติด และยังทำให้เกิดสภาวะคนที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาอยู่ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของชาติ เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นตามสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวว่าบุคคลเหล่านี้ได้สร้างปัญหาด้านความสงบเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง ก่ออาชญากรรมต่างๆ และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่เป็นประจำ

 อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ยังคงกลืนไม่เข้าและคายไม่ออกกับปัญหาเนื่องจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจำเป็นต้องใช้แรงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม กอปรกับประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน และต้องแบกรับภาระบุตรผู้ไร้สัญชาติที่เกิดจากคนต่างด้าวเหล่านี้ด้วยบทความนี้จะวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบที่เกิดจากบุตรผู้ไร้สัญชาติของคนต่างด้าว และศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทยได้รับรู้และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมโลกต่อไป


2 แนวคิดเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ

ความไร้สัญชาติ (statelessness) เป็นข้อความคิดทางกฎหมายซึ่งพรรณนาถึงการที่บุคคลไม่มีสัญชาติ (nationality) ใด ๆ เลย กล่าวคือ สภาวะซึ่งบุคคลไม่เป็นที่รับรองว่าเกี่ยวข้องกับรัฐชาติรัฐใด ๆ เลย บุคคลเช่นนี้เรียก คนไร้สัญชาติ (stateless person)โดยทั่วไปคนไร้สัญชาติ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ                           

1 ไร้สัญชาติโดยนิตินัย (de jure stateless) เป็นกรณีที่บุคคล "ไม่มีรัฐใดนับว่าเป็นผู้ถือสัญชาติโดยผลของกฎหมายแห่งรัฐนั้นเลย" (not considered as a national by any state under the operation of its law)           ผู้ไร้สัญชาติโดยนิตินัยอาจเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) ด้วย แต่มิใช่ว่าผู้ขอที่ลี้ภัย (asylum) ทุกคนจะไร้สัญชาติโดยนิตินัย[2]

2 ไร้สัญชาติโดยพฤตินัย (de facto stateless) เป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้อยู่ในรัฐที่ตนถือสัญชาติ และไม่อาจรับความคุ้มครองจากรัฐที่ตนกำลังอาศัยอยู่นั้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเบียดเบียนของรัฐ หรือการขาดความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐทั้งสองดังกล่าว[3]

 สำหรับประเทศไทยนั้น ตามพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า " คนต่างด้าวหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย " โดยทั่วไป คนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย จะมีทั้งเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วย พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง และผู้ที่หลบหนีเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ดังนั้นบุตรที่เกิดจากคนต่างด้าวขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงมีสถานะตามบิดา-มารดา      บุตรของต่างด้าวซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเช่นกัน เพียงแต่เด็กที่เกิดจาก บิดาและมารดา เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (เช่น เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ ชนกลุ่มน้อย ที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้) เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเช่นเดียวกับบิดามารดา[4]

 ทั้งนี้บุคคลที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่ ไม่ได้รับสัญชาติไทยและบางคนยังถือเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกด้วย
 

3 วิวัฒนาการคนไร้สัญชาติ

การเป็นคนไร้สัญชาตินั้นมีความเป็นมา ความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นมายาวนานหลายร้อยปีสำหรับประเทศไทยคงจะมองย้อนไปในอดีตขณะที่คนซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนขวานทองเริ่มอยู่ร่วมกันเป็นชนเผ่าแม้ยังไม่มีรัฐชาติ แต่การอยู่ร่วมกันนั้น เป็นการใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้กฎแห่งจารีตประเพณี ความเชื่อ และความศรัทธาซึ่งกันและกัน[5] ในเวลานั้นผู้คนเริ่มกำหนด เชื้อชาติ ชาติพันธ์ หรือสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดา และเผ่าพันธุ์เดียวกัน ในความหลากหลายของเผ่าพันธุ์และชาติพันธ์ รวมถึงความแตกต่าง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและเกิดสงครามระหว่างชนเผ่า หัวหน้าชนเผ่าใดมีกำลังมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหารหรือกำลังทรัพย์ ก็จะเป็นฝ่ายชนะสงคราม เมื่อเป็นผู้ชนะสงครามก็จะกวดต้อนประชาชนและทรัพย์สินของชนเผ่าที่แพ้สงครามนั้น โดยเชลยศึกจะนำไปเป็นทาสรับใช้และสู้รบเพื่อเสริมสร้างอำนาจ และบุตรที่เกิดจากเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมา ก็ตกเป็นทาสตามบิดามารดา ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้ถึงการแบ่งเชื้อชาติ ชาติพันธ์ ของคนในสมัยนั้น

อีกกรณีหนึ่ง คือการสมัครใจย้ายถิ่น เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่ได้มีการจัดระเบียบการปกครองที่ชัดเจน การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติปัญหาการขาดแคลนอาหารและทัพยากร ซึ่งเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้อาหารและทรัพยากรต่างๆ ย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอพยพย้ายถิ่นเข้าไปแย่งชิงอาหารและทรัพยากรของเจ้าของถิ่นอื่น หรือเข้าไปใช้อำนาจปกครองผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้น หรือเข้าไปอาศัยอยู่รวมกันจนกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกัน [6]

จากระบบชนเผ่าพัฒนามาเป็นการปกครองแบบเมือง มีผู้ปกครองเมืองต่างๆ แต่ยังคงใช้ระบบการปกครองและการทำสงครามแบบชนเผ่า คือเมื่อรบชนะก็จะกวดต้อนพลเมืองและทรัพย์สิน และมีเมืองประเทศราชมาสวามิภักดิ์ ภายในเมืองเป็นก็จัดระบบเป็นสังคมศักดินา ที่มีการแบ่งชนชั้นเพื่อควบคุมกำลังคน ทำให้มีการกำหนดเชื้อชาติ ชาติพันธ์ กำหนดสิทธิหน้าที่และฐานะของแต่ละบุคคลผู้ที่เป็นชาติพันธ์หลักจะได้รับเลือกเป็นผู้ปกครอง ผู้ควบคุมกำลังคนสูงสุด คือ พระมหากษัตริย์ รองลงมาได้แก่ ขุนนาง (ข้าราชการ) และผู้ถูกควบคุมคือ สามัญชนหรือไพร่หรือทาสที่ถูกกวดต้อนเข้ามาในเมืองการกำหนดเผ่าพันธุ์ชาติพันธ์ หรือเชื้อชาติชัดเจนเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นไม่สามารถกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกันได้ ไพร่และทาส ผู้คนที่ถูกกวดต้อนมา กลายเป็นคนไร้บ้านเกิดไร้เมืองที่เป็นชาติพันธ์หรือเผ่าพันธุ์ของตนเอง ไม่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวกับผู้ปกครอง

สำหรับประเทศไทยนั้น บันทึกความเป็นไทย ปรากฎในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ปกครองโดยพ่อขุนรามคำแหง แม้ว่าศิลาจารึกจะบันทึกถึงการปกครองที่เป็นแบบพ่อปกครองลูก หรือบันทึกเกี่ยวกับการค้าเสรีในสมัยนั้น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่างๆ กับสุโขทัยก็ตาม แต่การแบ่งชนชั้นระหว่างประชาชน ความไม่เท่าเทียมกัน การเป็นทาส ยังมีอยู่ เนื่องจากสุโขทัยขณะนั้นรับอิทธิพลอารยะธรรมลุ่มแม่สินธุของอินเดียเข้ามา จะเห็นได้จากการที่ประชาชนในสุโขทัยนับถือและเลื่อมใสศรัทธา และรับการถ่ายทอดพิธีกรรมต่างๆ มาจากศาสนาพราหมณ์และพุทธ มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ดังนั้นในสมัยนั้นจึงมีการแบ่งเผ่าพันธุ์ แบ่งเชื้อชาติ แบ่งแยกความเป็นไทย และเป็นทาส ทำให้คนในเมืองอื่น หรือชาติพันธ์อื่นไม่สามารถกลมกลืนเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์เดียวกันกับความเป็นไทยในกรุงสุโขทัยได้ ดังนั้นผู้คนที่ถูกกวดต้อนมา กลายเป็นคนไร้บ้านเกิดไร้เมืองย่อมต้องมีสถานะเป็นได้เพียงทาสหรือข้ารับใช้ บุคคลที่เป็นชาติพันธ์หลักในเมืองสุโขทัย

จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 อยุธยาเป็นชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์ โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนือ อย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก แม้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และในสมัยสมเด็จพระนเรศวรอยุธยาจะได้มีการปฏิรูปการปกครอง เพื่อให้อยุธยาในขณะนั้นมีเสถียรภาพในการปกครอง และการปกครองในส่วนภูมิภาคเป็นไปอย่างรัดกุมก็ตามแต่ประชาชนที่ถูกกวาดต้อนมาก็มีจำนวนไม่น้อย พลเมืองและประชาชน ยังมีความรู้สึกว่า ตนเองไม่ใช่เผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์ของอยุธยา จึงทำให้เกิดการต่อต้านและพยายามแยกตัวออกจากอยุธยาแม้ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรตุเกสได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านการค้ากับอยุธยา ทำให้อยุธยาได้รับวิทยาการ สมัยใหม่ในด้านการสงครามจากโปรตุเกส เช่น การทำปืนใหญ่ การหล่อกระสุนดำและการสร้างป้อม แบบฝรั่ง นอกจากนั้นยังมีการจ้างทหารโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารอาสาในกองทัพอยุธยาด้วยอย่างไรก็ตามการมีอาวุธที่ทันสมัยทำให้อยุธยามีอำนาจทางด้านการทหารมากยิ่งขึ้น และได้แผ่ขยาย อำนาจยกกองทัพไปโจมตีทางด้านตะวันตกเช่น เมืองมะริด ตะนาวศรีในดินแดนมอญ และทิศใต้ได้เข้าโจมตีมะละกาในแหลมมลายู แม้อยุธยาจะรวบรวมเมืองเหล่านี้เข้ามาเป็นปึกแผ่น แต่ก็ด้วยอำนาจที่มีในขณะนั้น หาได้เกิดจากความศรัทธาในชาติพันธ์ของกลุ่มเผ่าพันธุ์ต่างๆไม่ ทำให้มีการต่อต้านและแยกตัวเป็นเอกราชอยู่เสมอ และทำให้อยุธยาล่มสลายในที่สุด เนื่องจากประชาชนภายใต้การปกครองมีทั้งชาติพันธ์เดิม และเชลยศึกผู้ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา นอกจากนี้บุตรที่เกิดจากเชลยศึกก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มทาส ไม่มีความเป็นไทย ดังนั้นพวกเขาจึง ขาดความรู้สึกเกาะเกี่ยวกับบ้านเมืองและผู้ปกครอง ความไม่ยุติธรรม การแบ่งเชื้อชาติ ชาติพันธ์ทำให้คนในชาติรู้สึกว่าเขาต้องสู้เพียงเพื่อตัวเอง ไม่ได้สู้เพื่อชาติ

จนกระทั่งแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่แผ่อิทธิพลเข้ามา การพัฒนาในยุครัฐสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมตัวกันสร้างรัฐสมัยใหม่ที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการคือ

1.ประชาชน

2.ดินแดนที่แน่นอน

3.รัฐบาล

4.อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน [7]

รัฐสมัยใหม่มีแนวคิดที่ว่าประชาชนภายใต้อำนาจปกครองต้องมีลักษณะบางอย่างร่วมกันคือ สัญชาติ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐคือสัญชาติ  รัฐสมัยใหม่ถือว่า บุคคลใดที่จะเป็นผู้ไร้สัญชาติได้ ก็ต่อเมื่อรัฐที่ตนถือสัญชาตินั้นสิ้นสุดลงหรือตกอยู่ในการถูกควบคุมโดยรัฐอื่น และไม่มีรัฐใหม่มาสืบทอดต่อ[8]

ในการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ ทำให้ประชาชนเปลี่ยนแนวความคิด ประชาชนมีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้สู้เพียงเพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อรัฐชาติของพวกเขา ณ จุดนี้เองทำให้คนในชาติ ไม่ว่าเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์ใดมีความเกาะเกี่ยวกับรัฐชาติและผู้ปกครองของตนเอง ด้วยการเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น ๆ ทำให้เกิดความรักชาติ รักดินแดน หวงแหนอำนาจอธิปไตยและสำนึกในความเป็นความพลเมืองของรัฐชาตินั้นๆ

สำหรับรัฐไทยในอดีตการกำหนดสัญชาติตกอยู่ภายใต้หลักการที่ยอมรับกันในฐานะกฎหมายจารีตประเพณี เราพบคำว่า "สัญชาติไทย" เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งประกาศใช้โดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖กฎหมายจารีตประเพณีไทย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า "มูลนิติธรรมประเพณี" ในเรื่องความเป็นคนไทย เราพบว่า ความเป็นคนสัญชาติไทยเกิดขึ้นใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา (๒) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และ (๓) คนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ[9]

แม้จะมีรัฐชาติ และกำหนดสัญชาติของรัฐนั้นๆ แต่การเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศยังคงพบปัญหาคนไร้สัญชาติและไร้รัฐที่ไม่สามารถเป็นพลเมืองของรัฐใด ซึ่งต้องอาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก  แม้ประชาคมระหว่างประเทศ ได้มีการใส่ใจแก้ไขเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มใน ค.ศ.1954 เมื่อสหรัฐอเมริกาตกลงรับอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของคนไร้สัญชาติ (Convention relating to the Status of Stateless Persons) ซึ่งวางกรอบการคุ้มครองคนไร้สัญชาติ เจ็ดปีให้หลัง คือ ค.ศ.1961 จึงมีการทำอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ (Convention on the Reduction of Statelessness) ซึ่งประกอบด้วยข้อบทที่มุ่งหมายป้องกันและบรรเทาความไร้สัญชาติ ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก


4 การเพิ่มขึ้นของประชากรไร้สัญชาติ ไร้รัฐ

วันนี้จำนวนคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติยังมีจำนวนมากแม้ว่าประเทศไทยจะได้ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งยอมรับในข้อ ๑๕ ว่า " (๑) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (๒) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้ 

ประเทศไทยในวันนี้จะเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางแพ่ง ค.ศ.๑๙๖๖ ซึ่งข้อ ๑๔(๓) ยอมรับว่า "เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ" ก็ตามหรือแม้กระทั่ง นโยบายเกี่ยวกับการขจัดความไร้สัญชาติให้มีผลในทางปฏิบัติก็ตาม ปัจจุบัน ปัญหาสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งที่ยังคงร้ายแรงอยู่มากในสังคมไทย ก็คือ "ปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย" ในแต่ละนโยบาย กระบวนการทำงานเพื่อให้สัญชาติไทยหรือสถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายมักจะมีลักษณะยุ่งยากและซับซ้อน จึงเป็นไปอย่างช้ามาก และบางนโยบายไม่มีการนำไปปฏิบัติเลยก็มี และในหลายสถานการณ์มักจะเกิดปรากฏการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ความร้ายแรงและขนาดของปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย ก่อให้เกิดความสนใจจากทุกภาคส่วนที่จะพร้อมเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม ท่ามกลางความพยายามที่ดำเนินมาอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่คั่งค้างก็ยังไม่หมดไป ในขณะที่ปัญหาใหม่ก็ได้ก่อตัวเพิ่มมากขึ้น และในหลายๆปัญหา กอปรกับแรงงานข้ามต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เป็นผู้ด้อยโอกาสที่ขาดคุณภาพ ไม่ใส่ใจการวางแผนครอบครัว และไม่ได้รับคำแนะนำในเรื่องการวางแผนครอบครัว จึงเป็นผลทำให้จำนวนประชากรคนไร้สัญชาติ และคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ


5 นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบต่อปัญหาคนไร้สัญชาติ

ตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ โดยให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยขออนุญาตทำงานหรือไม่ รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยรหัส 00 และสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ซึ่งเป็นผลทำให้แรงงานข้ามชาติยกครอบครัวย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาพักอาศัยในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังสามารถให้กำเนิดบุตรภายในราชอาณาจักรไทยได้อีกด้วย[10] ดังนั้นเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้รวมทั้งครอบครัวและผู้ติดตาม ขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย อย่างถูกกฎหมายทำให้คนต่างด้าวเหล่านี้ ดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเสรี ภายในระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศ และสามารถต่อไปอนุญาตทุกครั้งที่ครบกำหนดโดยไม่รู้ชะตากรรมของตนเองและบุตรที่ดำเนินชีวิตแบบไร้สัญชาติ ซึ่งบางคนถือกำเนิดในประเทศไทยและเติบโตขึ้นมาโดยไม่ทราบว่าตนเองเป็นบุคคลไร้สัญชาติและไร้รัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายของรัฐบาลไทยแสดงออกถึงแนวคิดเรื่องพวกเรา-พวกเขา (the us/others discourse) ซึ่งทำให้"แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ" ถูกกีดกันออกจากสังคมส่วนใหญ่ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ระดับนโยบาย การออกกฎหมายพระราชบัญญัติ ระเบียบต่างๆ จนถึงในระดับปฏิบัติที่ส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ไม่ได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกับแรงงานอื่นทั่วไป ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการแรงงานภายใต้ระบบการประกันสังคมและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความไม่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่อยู่อาศัย ค่าจ้าง ค่าตอบแทน การดูแลสุขภาพ ความรุนแรงและการทารุณกรรมในที่ทำงาน และการถูกลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นโยบายที่แฝงด้วยแนวคิดเรื่องพวกเรา-พวกเขา ทำให้บุตรที่เกิดจากแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือบางคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากถูกปฏิเสธจากประเทศต้นทางมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมองในแง่ของความเสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียม (the equality/inequality discourse) แล้ว "แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ" จึงยิ่งถูกตอกย้ำเรื่องความเป็นชายขอบผู้ด้อยโอกาสมากขึ้น


6 สถานการณ์คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1948 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Right: UDHR) โดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการกำหนดมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสิทธิมนุษยชน (Human Right) ซึ่งหมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ[11]     เป็นที่น่าสังเกตว่า อันที่จริงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยคือการคุ้มครองเฉพาะคนไทยแท้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น พระราชบัญญัติ ระเบียบต่างๆรวมถึงนโยบายบุตรซึ่งเกิดจากแรงงานต่างด้าวขณะพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย นโยบายของรัฐบาลไทยหากพิจารณาสถานะทางการทะเบียนของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานต่างด้าว ร่วมกับประเด็น 'เด็กไร้สัญชาติ'ก็จะพบว่ามีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากปัจจุบันบุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกนับรวมว่าเป็น 'คนชาติ' (nationals) โดยกฎหมายของรัฐใดๆเลย แม้รัฐไทย ส่งผลให้เด็กที่เกิดจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง และไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองทางกฎหมาย เด็กกลุ่มนี้จึงถูกผลักให้เป็น "คนชายขอบผู้ด้อยโอกาส"อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ารัฐไทยได้พยายามที่จะดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วยการให้บุคคลไร้สัญชาติมีหมายเลขประจำตัว 13 หลักก็ตาม แต่หลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยหยิบยื่นให้เป็นเพียงภาพลวงตา กฎหมายบางฉบับยิ่งเพิ่มความเป็นชายขอบผู้ด้อยโอกาส ให้ประชากรกลุ่มนี้ เมื่อประเทศไทยไม่ได้ให้สัญชาติไทยกับลูกแรงงานที่เกิดในไทย ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็ไม่ได้รับรองสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศต้นทาง เช่น เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ชาวไทใหญ่จะกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ เพราะเด็กที่เกิดในประเทศไทยรัฐบาลพม่าไม่รับรองสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศและเมื่อผนวกกับอคติทางชาติพันธุ์ การไม่ยอมรับในชาติพันธ์ยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กชายขอบผู้ด้อยโอกาสที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไร้อนาคต ไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมายและมีโอกาสถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานรวมทั้งการขาดอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป จากข้อมูลการสำรวจเด็กและเยาวชน เด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย และไม่ได้แจ้งเกิดในประเทศใด ยังมีจำนวนมากซึ่งหมายความว่า เด็กกลุ่มนี้อาจกลายเป็น 'เด็กไร้สัญชาติ ไร้รัฐ' เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กไม่ได้ถูกบันทึก เมื่อไม่มีรัฐใดเลยที่ให้การรับรองคุ้มครองแก่บุคคลนี้ในฐานะคนชาติ และสุดท้ายพวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด หรือกลายเป็นอาชญากรในที่สุด


7 บทสรุป

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ของประเทศไทย: ปีงบประมาณ พ.ศ.2540-2544 ซึ่งเน้นการพัฒนาคน และกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาฯเป็นเป้าหมายหลัก รัฐบาลจึงผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การสร้างสมรรถนะทางด้านเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนคุณภาพของประชาชนนั้นทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นผลทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาแสวงหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในราชอาณาจักรไทย นโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเข้ามาพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (เช่น เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือ ชนกลุ่มน้อย ที่มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้)เมื่อให้กำเนิดบุตรในราชอาณาจักรไทย เด็กก็จะมีสิทธิเช่นเดียวกับบิดาและมารดา คือ เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเช่นเดียวกับบิดามารดา[12]  ทั้งนี้บุคคลที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่ ไม่ได้รับสัญชาติไทยและแรงงานข้าวชาติบางคนถูกปฏิเสธจากรัฐต้นทางได้ลักลอบหลบหนีเข้ามาทำให้บุตรที่ถือกำเนิดในประเทศไทยมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกด้วย

ในฐานะที่อยู่ภายใต้โลกใบเดียวกันนี้ ธรรมนูญยูเนสโก ได้กำหนดแนวคิดไว้อย่างชัดเจนว่า สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ และมองว่าทุกสิ่งในโลกดำเนินไปเหมือนการทำงานของเครื่องจักร ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปหมดและเน้นย้ำให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบันเป็นการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยประชาชน ดินแดนที่แน่นอนรวมถึงการมีรัฐบาลในการบริหารประเทศและอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน สัญชาติเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเป็นหลักประกันที่ทำให้บุคคลมีสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิตามกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชนของรัฐนั้น ๆ และมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บุคคลมีสิทธิในทางการเมือง มีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต สามารถขอหนังสือเดินทางและเดินทางเข้าออกนอกประเทศและไม่ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางเข้าออก  โดยทั่วไปการแก้ปัญหาประเด็นบุคคลไร้สัญชาติอาจมีลักษณะข้ามชาติโดยเกี่ยวพันกับรัฐหลายรัฐตามอนุสัญญา รัฐบาลไทยได้ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ และ เป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางแพ่ง [13]ในฐานะประเทศสมาชิกควรที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ

แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ได้ในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องดำเนินการบัญญัติให้เป็นกฎหมายภายในโดยกระบวนการนิติบัญญัติเสียก่อนก็ตาม แต่ในฐานะที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารจัดการ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องผลักดัน และให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเด็กไร้สัญชาติ  ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศและก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำหน้าที่ประสานการทำงานให้กับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ และเน้นย้ำความร่วมมืออย่างบูรนาการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ บุคคลไร้สัญชาติเอง,หน่วยงานต่างๆของรัฐ, หน่วยงานอิสระต่างๆของภาคพลเมือง, นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติรวมถึง UNHCR,UNICEF,OHCHR, UNFPA,UNDP หน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ กำหนดกรอบทำงานที่สามารถใช้ได้กับหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการลดสภาวะการไร้สัญชาติ หรือการให้ความคุ้มครองบุคคลไร้สัญชาติ  รวมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนไร้สัญชาติ

ทั้งนี้รัฐบาลควรทำความเข้าใจกับประชาชนไทยให้ตระหนักในความยุติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และกฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนาสำหรับประชาชนคนไทยซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก ประชาชนชาวไทยต่างก็นับถือศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาใดๆ ก็ตามต่างก็มุ่งสอนให้คนไทยเป็นคนดี มีศีลธรรม คุณธรรม และเราก็มักจะได้ยินคนไทยกล่าวถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรมอยู่เสมอๆ คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ คุณธรรมแบบพุทธที่มีลักษณะที่ยืดหยุ่น   

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์นั้น เราต้องเข้าใจพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์ ซึ่งอับราฮัม มาสโลว์ ได้เสนอทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่าลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (อังกฤษ: Maslow's hierarchy of needs)แบ่งออกเป็น 5 ชั้นคร่าวๆของความต้องการต่างๆ คือ ความสมบูรณ์ของชีวิต (self-actualization), ความเคารพนับถือ (esteem), มิตรภาพและความรัก (friendship and love), ความมั่นคงปลอดภัย (security), และความต้องการทางกายภาพ ถ้าความเคารพนับถือ, มิตรภาพและรัก หรือ ความมั่นคงปลอดภัย ขาดพร่องไป แม้ร่างกายจะไม่ได้แสดงอาการใดๆออกมาแต่บุคคลนั้นๆรู้สึกกระวนกระวายและเกร็งเครียด  ซิกมันด์ฟรอยส์มีทรรศนะว่า ในคำถามที่ว่า การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์เขา มีจุดมุ่งหมายหรือมีความตั้งใจอะไรในชีวิต อะไรคือสิ่งที่ต้องการและปรารถนาจะบรรลุถึงคำตอบก็คือ มนุษย์แสวงหาความสุข เขาต้องการได้รับความสุข และรักษามันไว้ ในการแสวงหานั้นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลกระทำพฤติกรรมต่างๆ นั่นคือแรงจูงใจ (Motivation) คือ สิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในหรือภายนอกและมีทั้งแรงจูงใจในด้านลบและด้านบวก จะเห็นได้ว่า การที่แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย เพื่อสนองความต้องการตามทฤษฏีของมาสโลว์ เมื่อแรงงานเหล่านี้ได้รับความเสมอภาคความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนพวกเขาก็จะมีความสุขและรักษามันไว้ตามทรรศนะของ ซิกมันด์ฟรอยส์ ส่วนแนวคิดนักปรัชญาชาวอังกฤษ มิลส์เห็นว่ามนุษย์กับสัตว์มีความสุขบางอย่างที่มีได้เหมือนกันเช่น การกิน การนอน การสืบพันธุ์ ความพอใจของสัตว์ไม่อาจสนองความสุขของมนุษย์ได้ แต่เนื่องจากมนุษย์มีสมรรถนะที่มีระดับสูงกว่า มนุษย์มีการรับรู้ความสุขบางอย่างที่สัตว์มีไม่ได้ แต่ถ้าหากพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ยุติธรรม หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรี ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกิดแรงจูงใจในด้านลบ ซึ่งตามทฤษฏีแรงจูงใจ (Motivation) คือสิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่มนุษย์พยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจจะเกิดมาตามธรรมชาติหรือจากการเรียนรู้ก็ได้ เมื่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับแรงจูงใจในด้านลบ พวกเขาก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาผลประโยชน์เช่นนักค้ามนุษย์ นักค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลที่สร้างเสริมอำนาจ และเป็นอาชญากรในที่สุด 

 ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและตามหลักจริยธรรม คุณธรรมโดยคำนึงถึงความยุติธรรม ความชอบธรรม โทมัส ฮอบส์(Thomas Hobbes)  เสนอแนวคิด ในเรื่องความต้องการธรรมชาติมนุษย์โดยต้องมองเข้าถึงความต้องการของปัจเจกบุคคลและประนีประนอมกับการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ถึงเรื่องที่สังคมหรือผู้อื่นพึงได้รับโดยไม่ให้กระทบกระทั่งกับสมาชิกของสังคมเพื่อให้เป็นแนวคิดที่เป็นเรื่องที่ช่วยคลี่คลายปัญหาได้จริง ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องพยายามประนีประนอม ในการประนีประนอมนั้นต้อง ใช้มโนธรรมในการพิจารณา ซึงหมายถึงสำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติ เป็นเสียงในจิตใจมนุษย์ที่คอยเตือนมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์ตัดสินอะไรได้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดอย่างไร บัทเลอร์ นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า "ในตัวคนเรามีสิ่งที่เหนือกว่าความรู้สึกธรรมดาคือ มโนธรรมที่เป็นตัวชี้ขาดเกณฑ์ที่อยู่ในใจเราและตัดสินหลักแห่งการกระทำมโนธรรมจะตัดสินตัวของมันเอาเองและการกระทำของมนุษย์นั้นมันประกาศลงไปโดยไม่มีคำแนะนำใดๆ  มโนธรรมนั้นจะแสดงอำนาจของมันออกมาเพื่อให้ได้ความเห็นชอบหรือจะประณามผู้กระทำนั้น ตามแต่กรณีของผลการกระทำ"     

อีกหลักการหนึ่งของของชาวประโยชน์นิยม ถือว่า หลักการที่จะนำมาตัดสินการกระทำอันใดอันหนึ่งว่าถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรนั้น อยู่ที่ผลที่จะได้รับคือประโยชน์สุขที่มากกว่า แต่ประโยชน์สุขในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของผู้กระทำ แต่หมายถึงประโยชน์สุขของมหาชน สิ่งที่ควรทำคือ สิ่งที่ก่อประโยชน์ สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด หลักการนี้เรียกว่า "หลักมหาสุข" ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับ แนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความสุข ความดีคือความสุข แต่สิ่งที่ให้ความสุขแก่มหาชนคือสิ่งที่ดีที่สุด ประโยชน์นิยมถือเอาผลที่เกิดจากการกระทำว่าสำคัญกว่าเจตนาที่จูงใจให้การกระทำ ความสุขที่มากที่สุดจะเป็นตัวสุดท้ายที่จะตัดสินว่าเราทำถูกหรือทำผิด แต่มิใช่มองผลคือความสุขมากที่สุดสำหรับตัวเอง ประโยชน์นิยมไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว ไม่ได้สอนว่าสิ่งที่ฉันควรทำคือสิ่งที่ให้ผลประโยชน์แก่ฉันมากที่สุด แต่สอนว่าสิ่งที่ควรทำคือสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ในการตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป เรามองผลประโยชน์ที่จะได้รับอันเป็นความสุขส่วนรวม จะทำอะไรก็อย่าลืมตนเอง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น

 

 

เชิงอรรถ

 

[1]http://www.thairath.co.th/content/898320

[2] The 1954 Convention relating to the Status of Stateless Persons is of critical ... Article 1

[3] The Concept of Stateless Persons under International Law Summary Conclusions

[4] พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508

[5]สังคมวิวรรธน์๑(Social revolution1) อ.แนบสินทอง

[6]ทฤษฏีการย้ายถิ่น http://research.mol.go.th/2013/rsdat/data/doc/NDLKUe2/003NDLKUe2.pdf

[7]กำเนิดรัฐชาติ https://www.slideshare.net/rringabell/ss-41389286

[8]สหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียล่มสลาย http://www.ipu.org/pdf/publications/nationality_en.pdf

[9]http://www.archanwell.org/office/download.php?id=483&file=451.pdf&fol=1

[10]http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/2-MarginalisedPopulations-Kanchana.pdf

[11]สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน รองศาสตราจารย์ จรัญ โฆษณานันท์

[12] พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ ศ 2508

[13] http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/iccpr_th.pdf

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธนวัฒน์ มุ่งพาลชล เป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน (Minzu University of China) 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' จี้ตั้งกก.อิสระสอบเหตุ 'พลฯยุทธกินันท์' ถูกซ้อมตายในคุกทหาร ด่วน-โปร่งใส

Posted: 06 Apr 2017 03:10 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แนะ รบ.ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก กก.ต่อต้านการทรมาน ยูเอ็น ส่วน กองทัพต้องปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน ตรวจสอบเรือนจำ ให้เป็นไปตาม "ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง" ของสหประชาชาติ หรือ "ข้อกำหนดแมนเดลา"

ภาพพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ก่อนและหลังถูกทำร้ายร่างกาย จนเสียชีวิตในวันที่ 1 เม.ย. 2560

6 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ กรณีพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ถูกซ้อมจนเสียชีวิต ขณะถูกขังในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องและเสนอแนะ ประกอบด้วย แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก คณะกรรมการการต่อต้านการทรมาน องค์กรสหประชาชาติ กองทัพดำเนินการสำรวจตรวจสอบเรือนจำภายใต้สังกัดของตนทั้งหมด และปรับปรุง แก้ไขทั้งในด้านสถานที่ กฎระเบียบ ตลอดจนการกำกับดูแลให้เป็นไปตาม "ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง" ของสหประชาชาติ หรือ ที่เรียกว่า "ข้อกำหนดแมนเดลา" รวมทั้ง กองทัพ ต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข นโยบาย แบบแผน ทัศนคติ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน

โดยมีรายละเอียดดังนี้

สืบเนื่องจากกรณีที่มีรายงานข่าวอย่างกว้างขวาง เรื่องพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ทหารกองประจำการค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จ.สุราษฎร์ธานี กระทำความผิดทางวินัยจนถูกสั่งขังภายในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต และต่อมาถูกทำโทษภายในเรือนจำค่ายดังกล่าว โดยถูก ซ้อม ทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการทรมาน หรือทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม
ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 นั้น

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่กรณีแรกและพบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ อาทิเช่น เมื่อปี 2554 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ปี 2559 กรณีสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ผู้ต้องขังเรื่องจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ถูกผู้คุมเรือนจำทหารกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น

2. ภายใต้ข้อกำหนด พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทางทหาร พ.ศ. 2476 กำหนดให้ทหารที่กระทำผิดวินัยทหารนั้น อาจถูกลงโทษตามความร้ายแรงของความผิดที่กระทำ 5 ประการคือ (1) ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทําผิดมีความผิด อันควร ต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่ง สถานใดดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้น ให้ปรากฏหรือให้ทํา ทัณฑ์บนไว้ (2) ทัณฑกรรมนั้น ให้กระทําการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจําซึ่งตนจะต้อง ปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยาม นอกจากหน้าที่ประจํา (3) กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตาม แต่จะกําหนดให้ (4) ขังคือขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคําสั่ง (5) จําขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจําทหารนอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่หรือ ใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาดอาการบาดเจ็บสาหัสของพลทหารทั้งสองคนจนกระทั่งมีคนหนึ่งเสียชีวิตนั้นแสดงให้เห็นว่าวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาใช้ในการลงโทษทางวินัยพลทหารทั้งสองนั้นเป็นวิธีการที่ผิดไปจากกฎหมาย กำหนดอย่างชัดเจน

3.ถ้าหากปรากฎว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการลงโทษพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติอันไม่เป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทหารด้วย และยังเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ พบว่าประเทศไทยยังขาดหลักประกันทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่จะยุติการซ่อมทหารจนเป็นเหตุให้ถึงแก่บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการประติบัติอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยกำหนดให้ การทรมาน เป็นความผิดทางอาญา  เพื่อเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะสามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กำหนดมาตรการในการป้องกัน และการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานที่มีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมาได้ โดยเฉพาะการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร

4. การตายในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ตรวจสอบยาก โดยเฉพาะการตายโดยผิดธรรมชาติ หรือถูกทำร้ายหรือซ้อมทรมานด้วยวิธีการต่างๆจนถึงแก่ความตายนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะแพทย์นิติเวชที่ต้องทำการผ่าพิสูจน์ศพเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง

5. การสืบสวนสอบสวนการตายในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ต้องการเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และมีอำนาจ เพราะเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอิทธิพลอาจเกี่ยวข้องกับการตายดังกล่าว  ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนสำนวนการตายในกรณีเช่นนี้ จะต้องมีความพยายามมากขึ้นในการที่จะเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนและให้ความจริงปรากฏมากที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุที่เป็นสถานที่ของทางราชการฯ หรือของหน่วยงานอื่น อาจไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสถานที่  หรือยังไม่มีความเป็นกลาง ปราศจากอคติ หรือเป็นมืออาชีพมากพอ  ส่งผลให้ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ตรงและสอดคล้องกับความจริง ทำให้ไม่อาจพิสูจน์ความจริง หรือคดีไม่กระจ่างและคงไว้ซึ่งความสงสัยของสังคมและญาติส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมไทย

จากเหตุดังกล่าวมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีข้อเสนอแนะและขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีอำนาจให้สอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส และหากพบว่ามีผู้กระทำความผิด ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา เช่น ผู้บัญชาการผู้มีอำนาจสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม โดยทันที และจัดการเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียหายอย่างเหมาะสมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

2. ขอให้ทางกองทัพ มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข นโยบาย แบบแผน ทัศนคติ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน กรณีที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนตกเป็นผู้กระทำผิดทางวินัย หรือทางอาญา ให้มีการปฏิบัติอันเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด และไม่เป็นการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมิใช่การกระทำอื่นใดนอกเหนือวิธีการอันกฎหมายกำหนดไว้ เช่น การทำร้ายร่างกายทหารที่กระทำผิดวินัยโดยวิธีอันทารุณโหดร้าย เป็นต้น

3.  ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก คณะกรรมการการต่อต้านการทรมาน องค์กรสหประชาชาติ ว่าด้วย (ก) ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งโดยการตรวจเยี่ยมปกติ และการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยการตรวจสอบระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจสอบจากองค์กรเอกชน เพื่อป้องกันการทรมานและการประติบัติและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (ข) นำเสนอข้อเสนอแนะจากการตรวจเยี่ยมเผยแพร่สู่สาธารณะ และติดตามผลของระบบการตรวจสอบดังกล่าว (ค) เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ เวลา และระยะเวลา การตรวจสอบ รวมถึงการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตามสถานที่ที่ทำให้สูญสิ้นเสรีภาพ ตลอดจนข้อค้นพบและการติดตามผลของการตรวจเยี่ยมดังกล่าว (ง) ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และจัดตั้งกลไกป้องกันแห่งชาติ

4. ขอให้กองทัพดำเนินการสำรวจตรวจสอบเรือนจำภายใต้สังกัดของตนทั้งหมด และปรับปรุง แก้ไขทั้งในด้านสถานที่ กฎระเบียบ ตลอดจนการกำกับดูแลให้เป็นไปตาม "ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง" ของสหประชาชาติ หรือ ที่เรียกว่า "ข้อกำหนดแมนเดลา" (Mandela Rule) เนื่องด้วยเรือนจำทหารบางพื้นที่มีสถานที่ที่จำกัดไม่เพียงพอต่ออัตราส่วนของนักโทษในเรือนจำ ตลอดจนบุคคลากรหรือผู้ควบคุมดูแลนักโทษไม่เพียงพอเมื่อเทียบอัตราส่วนของผู้ควบคุมต่อจำนวนผู้ต้องขัง หรือบ้างยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนทัศนคติการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง และผู้บังคับบัญชาขาดการตรวจสอบดูแล

ทั้งนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอสนับสนุนท่าทีของผู้บัญชาการทหารบกต่อกรณีดังกล่าวและที่ได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ทหารให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างเต็มที่ในการคลี่คลายคดีนี้ อันส่งผลให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนศาลสามารถออกหมายจับและจับกุมทหารที่ตกเป็นผู้ต้องหาได้หลายค

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียมจากการที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของครอบครัว และคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยาการละเมิอสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในกรณีนี้ เหตุการณ์ในครั้งนี้และหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเป็นความทรงจำที่ก่อให้เกิดบทเรียนแก่กองทัพ เพื่อทางกองทัพจะดำเนินการ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข นโยบาย แบบแผน หรือปัจจัยอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในภายภาคหน้า 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ขอรัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดี ต่อนักปกป้องสิทธิฯ หลัง รธน.ใหม่ประกาศใช้

Posted: 06 Apr 2017 02:38 AM PDT

ผอ.สนง.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ถูกใช้เป็นม่านปกปิดการปฏิบัติที่มิชอบอย่างต่อเนื่อง ขอรัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิฯ ยกเลิกการดำเนินคดี ต่อนักปกป้องสิทธิฯ และผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ

6 เม.ย. 2560 วันนี้ (6 เม.ย.60) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ

รายงานข่าวจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แจ้งว่า แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยมีเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดเลือกตั้งทั่วไป และกำหนดแนวทางเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ถึงกระนั้นก็แทบไม่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงในประเทศ รัฐบาลทหารของไทยยังคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการปกครอง จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง อีกทั้งรัฐบาลใหม่ก็ได้รับอำนาจอย่างเสรีในการจำกัดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลมาจากข้อบัญญัติต่างๆ ที่กำกวม

แชมพา พาเทล กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ประกาศและมีคำสั่งมากมาย บังคับใช้โดยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยประกาศและคำสั่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม โดยมีการนำไปสู่การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ทางการไทยได้ประกาศแล้วว่า จะไม่มีการผ่อนปรนข้อห้ามต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ความหวังที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงในอนาคตคงเป็นไปได้อยาก

"เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ และยอมรับที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน ทางการควรยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใด ๆ ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และให้ยกเลิกกฎหมายจำนวนมากที่คุกคามต่อเสรีภาพอย่างไม่หยุดยั้งนับแต่รัฐประหารปี 2557" แชมพา พาเทล กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Posted: 06 Apr 2017 02:25 AM PDT

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เสด็จฯ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านกระแสพระราชปรารภ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

6 เม.ย. 2560 เมื่อเวลา 15.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดสด พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ภายในพระราชวังดุสิต ตามที่ระบุในหมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น

โดยในเวลา 15.05 น.  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์ หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบ พระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ

เวลา 15.08 น. ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงาน ประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทูลเกล้า ฯ ถวาย

เวลา 15.11 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไป ประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง

ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ชี้ 'ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก' นำประเทศมีรายได้สูง ขอปชช.อย่าตื่นตระหนก

Posted: 06 Apr 2017 02:02 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์  ระบุนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่โฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม นำประเทศมีรายได้สูง ชี้ต้องปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกาให้เหมาะสมกับการลงทุน ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

6 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (5 เม.ย.60) เวลา 14.00 น. ณ อาคารผู้โดยสาร (หลังใหม่) การท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า EEC จะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประเทศไทยโฉมใหม่ พัฒนาด้วยนวัตกรรม เชื่อมต่อความเจริญจากภูมิภาคสู่ภูมิภาค สร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศ ส่วนเอกชนที่สนใจจะลงทุนในพื้นที่ ต่างแสดงความพอใจ และมีแนวโน้มตอบรับที่ดีกับนโยบายนี้ แต่รัฐบาลยังคงต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงระหว่างรัฐกับเอกชน ปรับแก้ไขกฎระเบียบกติกา เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุน ทั้งยังต้องพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับการพัฒนาในยุคใหม่ ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมยึดแนวทางการสร้างผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณพื้นที่โดยรอบ EEC และ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อเดินหน้าอนาคตของประเทศ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลต่อ ๆ ไปจะต้องดำเนินการสานต่อตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

"รัฐบาลมีความเป็นห่วงเรื่องใช้จ่ายงบประมาณในอนาคต ที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติม เพราะหากอนาคตมีรายได้เพียงพอ จะมีความสามารถในการดูแลสวัสดิการให้ประชาชนทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาตัวเองของประชาชนให้ทันต่อเศรษฐกิจยุค 4.0 ประเทศไทยจึงต้องปรับกฎระเบียบกติกาให้เอื้อต่อการลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อทราบปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือ การลงนามในบันทึกข้อตกลงและการผลักดันโครงการสำคัญต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า EEC ถือเป็นก้าวแรกการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น เพื่อเชื่อมโยงกับทุกพื้นที่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดที่จะเชื่อมโยงกับ EEC และเชื่อมต่อไปยัง CLMV และประชาคมโลก ซึ่งจากการได้พบผู้บริหารภาคเอกชน ทุกคนมีความพึงพอใจในโครงการของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างผลประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และประชาชนโดยรวม ขอประชาชนในพื้นที่อย่าตกใจและขอความร่วมมือ  

โดยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เวลา 09:15 น. ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำต่างชาติที่สนใจลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้ 

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะภาคเอกชนในวันนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่มีให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด 

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แนะนำคณะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการหารือ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมย์อย่างมุ่งมั่น ที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทย ภูมิภาค CLMV รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในวันนี้จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการหารือถึงแผน EEC  การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ  เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิตัล  และการสร้างเมืองใหม่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น

โอกาสนี้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อาทิ BMW แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในไทยมาโดยตลอด โดยเห็นว่า EEC จะเป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแก่บริษัทฯ และยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด  LAZADA กล่าวว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 5 ปี ในด้าน E-commerce โดยหวังให้รัฐบาลพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับด้านดิจิทัลในอนาคต Toyota กล่าวว่าบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยมีพื้นที่การผลิตหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องถนนหนทางที่ขาดแสงสว่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

PPT GC กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุน EEC อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการพัฒนาด้านการศึกษา เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ Google และ Microsoft ได้แสดงความคิดเห็นด้านนวัตกรรม และความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล 
 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ชี้ระเบิดหน้ากองสลากเก่า ชนิดแรงดันต่ำ ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต ไม่พบโยงเหตุระเบิดที่ผ่านมา

Posted: 06 Apr 2017 01:31 AM PDT

ที่มาภาพ สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

6 เม.ย. 2560 คืบหน้ากรณีเหตุระเบิดในถังขยะ บริเวณริมรั้วข้างกองสลากเก่า ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อคืนที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมติดตามคดีระเบิดหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อคืนที่ผ่านมา (5 เม.ย.) มีกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) กองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจสันติบาล และ สน.ชนะสงคราม เข้าร่วมประชุม  

พล.ต.ท.ศานิตย์ พร้อมเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานและอีโอดี เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเข้าตรวจสอบครั้งที่ 2 ในรอบวันนี้ (6เม.ย.) หลังรอบแรกพบชิ้นส่วนโลหะ วงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคล้ายท่อเหล็ก และแผงวงจรตั้งเวลา ทำให้ทราบว่าเป็นระเบิดทำจากท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว ประจุดินดำ แรงดันต่ำ จุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา อานุภาพทำลายล้างต่ำ ทำให้เกิดเสียงดัง ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต กำลังตรวจสอบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ หรือวัยรุ่นนำมาทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้น พร้อมเร่งตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อหาตัวคนนำระเบิดไปทิ้ง เบื้องต้นชนิดระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุไม่ใช่ชนิดแสวงเครื่อง แต่เป็นระเบิดปิงปอง หรือระเบิดแรงดันต่ำ หรือไปป์บอมบ์ ส่วนหัวนอตหรือสายไฟ น่าจะถูกพันมากับลูกระเบิดมากกว่า มีรายงานว่า ระเบิดที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นชนิดที่ใกล้เคียงเหตุระเบิดตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ฯ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2550  

พล.ต.ท.ศานิตย์ ได้กำหนดแนวทางสืบสวนไว้ทั้งหมดแล้ว พร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบไปตรวจสอบและเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงให้กองพิสูจน์หลักฐานลงพื้นที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐานอีกครั้ง และประชุมความคืบหน้าคดีในวันพรุ่งนี้ (7 เม.ย.) เวลา 13.00 น. ส่วนกลุ่มผู้ต้องสงสัยยังไม่สามารถระบุได้ อยู่ระหว่างตรวจสอบกล้องวงจรปิดและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งยังไม่สามารถระบุมูลเหตุจูงใจ ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน เบื้องต้นไม่พบความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดที่ผ่านมา 

พล.ต.ท.ศานิตย์ ยังสั่งการให้ทุกสถานีตำรวจนครบาล วางกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากปล่อยให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ อาจมีคำสั่งโยกย้ายหัวหน้าสถานีให้ไปช่วยราชการ เพราะต้องการให้ประชาชนและกรุงเทพมหานครเป็นเมืองปลอดภัย  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดชตือโป๊ยก่าย ตอน รถถังประจัญบาน

Posted: 06 Apr 2017 01:30 AM PDT


ภาพประกอบ รถถัง M41 ที่ประจำการในกองทัพไทยปัจจุบัน

นอกจากพ่อค้าอาวุธและผู้เสียภาษีชาวไทยแล้วในโลกนี้ไม่น่าจะมีใครตื่นเต้นอะไรมากมายกับข่าวกองทัพไทยใช้เงินอีก 2 พันล้านบาทซื้อรถถัง10 คันจากจีน นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เพียงแต่อมยิ้มเล็กน้อยกับหมากกลทางการเมืองมุขนี้ของรัฐบาลทหารไทย เพราะดูเหมือนว่ารถถังจะตอบโจทย์ทางการเมืองระหว่างประเทศมากกว่ายุทธศาสตร์ทางทหาร

ในความทรงจำระยะสั้นนับแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ถึง ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ รถถังของไทยไม่ได้มีภารกิจอะไรมากไปกว่า เป็นสัญลักษณ์ของการรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง หากไม่ขับออกมายึดอำนาจหรือข่มขู่พลเรือนแล้ว รถถังในกองทัพไทยส่วนใหญ่จอดไว้เฉยๆ งานหนักที่สุดของทหารม้าคือการหยอดน้ำมันป้องกันสนิมกินรถถัง แม้ในภาระกิจการฝึกรถถังก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้มากมายนัก เนื่องจากท้องเรื่อง (Theme) ที่ใช้ในการฝึกรบ เช่น คอบร้าโกลด์นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และการกู้ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และภัยคุกคามแบบใหม่อื่นๆที่เรียกตามภาษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า non-traditional security threat เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ซึ่งรถถังไม่มีบทบาทอะไรเลยในสงครามเหล่านั้น

รถถังถูกออกแบบมาเป็นอาวุธหนักที่เคลื่อนที่ได้เหมาะกับการใช้งานในสงครามในแบบ conventional warfare เช่นสงครามระหว่างประเทศเป็นหลักใหญ่ ความจริงกองทัพไทยได้ประเมินมาหลายปีแล้วว่า ในระยะสั้นหรือระยะปานกลาง (อย่างน้อยก็เท่ากับอายุใช้งานของรถถังที่ซื้อมาใหม่) จะไม่มีสงครามแบบนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้และในประเทศไทย สงครามรถถังประจัญบานนั้นอาจจะได้เห็นเฉพาะในภาพยนตร์อย่างเรื่อง Fury เท่านั้น

ที่พอจะมีอยู่บ้างคือการปะทะกันตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น การไล่ล่าพวกค้าไม้พยุง ค้ายาเสพติดและพวกลักลอบขนคนข้ามแดนหรือกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ไม่ใช่ทหารหลัก การปะทะกับกองกำลังหลักของประเทศเพื่อนบ้านอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ้าง เช่นกรณีข้อขัดแย้งปราสาทพระวิหารหรือเรื่องเขตแดน แต่ยุทโธปกรณ์ที่ใช้งานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในสถานการณ์แบบนั้นคือปืนเล็กของทหารราบ ปืนใหญ่ จรวดนำวิถี ยานลำเลียงพลและเฮลิคอปเตอร์

เท่าที่เคยเห็นกรณีปราสาทพระวิหารและปราสาทตาเมือนนั้น กองทัพไทยขนรถถังไปขับฉุยฉายตามถนนริมชายแดนเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นไม่ได้ออกปฏิบัติการจริง ยุทโธปกรณ์ที่เป็นหลักในการยุทธ์คราวนั้นคือ ปืนใหญ่และจรวดที่ยิงข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปฝั่งกัมพูชาได้

แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยก็ยังต้องจัดซื้อรถถังมาประจำการ เพราะผู้นำกองทัพไทยสมัยนี้ไม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสงครามสมัยใหม่ชัดเจนนัก พวกเขาตัดสินใจซื้อรถถังเพียงเพราะเห็นว่าที่มีอยู่มันเก่าแล้วต้องซื้อมาทดแทน ส่วนซื้อมาแล้วใช้คุ้มค่าหรือไม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่สามัญสำนึกของนักการทหารไทยเลยแม้แต่น้อย

กองทัพบกไทยตัดสินใจหารถถัง 49 คันสำหรับหนึ่งกองพันมาร่วม 10 ปีแล้วเพื่อทดแทนรถถังแบบ M41 (walker bulldog) ที่ซื้อมาจากสหรัฐเมื่อ 60 ปีก่อน (ความจริงรถถังที่ประจำการนานขนาดนั้นก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า มันไม่เคยถูกใช้งานเลย)


ภาพประกอบ รถถัง T84 ของยูเครน

ปี 2011 กองทัพเซ็นสัญญากับบริษัทแมรีเชฟ (Malyshev) แห่งยูเครนจัดซื้อรถถัง T48 (Oplot) จำนวน 49 คัน มูลค่า 241 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่สุดท้ายจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาเพราะโรงงานที่ยูเครนสามารถส่งมอบรถถังให้ได้เพียง 20 คันตลอดระยะเวลา 5 ปีนับแต่ลงนาม ความจริงสัญญาก็หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

กองทัพไทยจึงต้องมองหาแหล่งใหม่ในราคาที่ใกล้เคียงกันและด้วยเหตุผลทางการเมืองยุทโธปกรณ์จากจีนเป็นคำตอบที่ลงตัว เพราะรัฐบาลทหารต้องการแสดงความโน้มเอียงเข้าหาจีนเพื่อถ่วงดุลสหรัฐอยู่พอดี จึงได้เซ็นสัญญาซื้อรถถัง MBT 3000 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ VT4 จาก China North Industries Corporation (NORINCO) เมื่อปีที่แล้ว กองทัพไทยน่าจะเป็นลูกค้ารายแรกในโลกของบริษัทนี้ที่เปิดเผยข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อ

การอนุมัติการสั่งซื้อเมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน ความจริงแล้วเป็นล๊อตที่สองจำนวน 10 คัน ก่อนหน้านี้กองทัพไทยสั่งซื้อรถถังแบบเดียวกันนี้จากจีนสมัย พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนจำนวน 28 คัน และตั้งใจจะซื้อต่อไปอีกจนครบ 49 คันตามต้องการเพื่อบรรจุให้ครบ 1 กองทัพรถถังตามแผน รายงานข่าวบางกระแส เช่นจาก Jane บอกว่ากองทัพไทยอยากจะได้รถถังที่เป็น Main Battle Tank แบบนี้ไว้ประจำการถึง 150 คัน


ภาพประกอบ รถถัง VT4 ของจีน 

VT4 นั้นผู้สันทัดกรณีบอกว่าเป็นรถถังขนาด 52 ตัน จีนพัฒนารุ่นนี้เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ โดยอาศัยพื้นฐานจากรุ่น 99A ที่กองทัพประชาชนจีนใช้อยู่ในปัจจุบัน VT4 รุ่นนี้ติดปืนใหญ่ 125 มม ซึ่งมีระบบนำวิถี อีกทั้งมีปืนกลหนักติดตั้งอยู่ด้วย แต่รับประกันได้ว่าไม่เหมาะกับภารกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้แน่นอน

สื่อมวลชนรายงานกันอย่างเอิกเกริกเกี่ยวกับการซื้อรถถังจากจีนครั้งนี้เพื่อเป็นสัญญาณบอกไปทางสหรัฐที่มึนตึงกับไทยมาตั้งแต่มีการยึดอำนาจปี 2014 แต่ไม่มีใครถามถึงความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการเลือกรถถังยูเครนในตอนต้น ทั้งๆ ที่ในวงการต่างรู้กันดีแล้วว่า ยูเครนมีปัญหาในการผลิตและส่งมอบยุทโธปกรณ์มาโดยตลอด ไม่นับเรื่องคุณภาพ เพราะพัฒนาจากสิ่งที่คนในวงการเรียกว่าของโบราณ (antique) ในปี 1994 กองทัพที่มีภารกิจในการรบจริงๆไม่มีใครนิยมซื้อของจากแหล่งนั้น มีแต่กองทัพที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรบเท่านั้นที่ผลาญงบประมาณของชาติไปกับการซื้อของที่ไม่ได้ใช้มาไว้ประจำการ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Supalak Ganjanakhundee

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์

Posted: 06 Apr 2017 01:01 AM PDT

"เราจำเป็นต้องให้มีเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ"

โฆษกกองทัพเรือ, 5 เม.ย.2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น